[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 30 มกราคม 2560 16:42:41



หัวข้อ: วิเวก - ธุดงค์ - จาริก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 30 มกราคม 2560 16:42:41

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/87758567598130_1.jpg)
ภาพ : ป่าศักดิ์สิทธิ์ "คำชะโนด" อ.บ้านดุง จ.อุบลราชธานี
วิเวก

ท่านพุทธทาสภิกขุ เคยอธิบายเรื่องวิเวกไว้ว่า วิเวกเป็นสิ่งที่ควรรู้จัก และควรมี คำว่า วิเวก นี้ ดูจะเป็นที่รังเกียจของคนทั่วไป บางคนคิดว่าเป็นคำครึคระ สำหรับพวกอยู่ป่า ฤๅษี ชีไพร ถ้าเคยเข้าใจอย่างนั้น ให้มาศึกษาใหม่ จะมีประโยชน์อย่างมาก มันมีความลับซ่อนอยู่ แล้วคนก็ไม่รู้จัก ไม่ต้องการ

ให้เข้าใจคำว่า วิเวก เป็นตัวหนังสือก่อน ภาษาบาลี วิเวก แปลว่า เดี่ยว ไม่มีอะไรรบกวน แต่ภาษาไทยมีแต่จะเปลี่ยนความหมาย เป็นวิเวกวังเวง เป็นไม่ต้องการ ไม่น่าจะพอใจ คนธรรมดาก็ไม่ชอบวิเวก เพราะเขาไม่อยากอยู่คนเดียว อย่างน้อยก็มีเด็กๆ เพื่อน คนหลายๆ คน อบอุ่น นั่นไม่เป็นไร แต่ความหมายวิเวกมันลึกกว่านั้นมาก มันจำเป็นต้องมีด้วยซ้ำไป ถ้าไม่มีเสียบ้าง มันอาจจะตาย ก็ลองคิดดูว่า เดี่ยว และไม่มีอะไรมารบกวน มันจะสบายไหม

วิเวกแบ่งเป็น ๓ ชนิด หนึ่งคือทางกาย กายที่ไม่มีอะไรมา รบกวน สองคือทางจิต จิตที่ไม่มีอะไรมารบกวน และสาม อุปธิวิเวก ไม่มีอะไรมายึดมั่น ถือมั่น หอบหรือถือหนักอะไร เอาไว้ เปลี่ยนความคิดมาสนใจ พอใจ เรื่องวิเวกบ้างก็ได้

วิเวกทางกาย คือ กายที่ไม่มีใครมารบกวน แต่ในความจริง มันอยากมีอะไรมารบกวน มายุ่งด้วย จะยิ่งดี แต่ก็มีบางเวลาที่ไม่อยากให้มีใครมายุ่ง อยากมีอิสระ อยู่คนเดียว ไม่มีวัตถุ ไม่มีบุคคลมารบกวน สงบสงัด แต่ไปเข้าใจว่า สงัดคือน่าเบื่อ เป็นอย่างนั้นอีก เคยนึกชอบไหม เคยบ้างไหมบางเวลาอยากอยู่เดี่ยว

วิเวกทางจิต จิตที่ไม่มีอะไรมารบกวน คงจะสังเกตเห็นได้ว่า สิ่งที่รบกวนจิตมันมีมากมาย จิตมันคิดนึกปรุงแต่ง ยกตัวอย่างจำนวนหนึ่งเป็นเครื่องสังเกต ศึกษา ทดสอบ ก็ได้ เช่น ถ้าความรักมารบกวน มันก็นอนไม่หลับ ไฟมันลนหัวใจเสมอ หรือความโกรธ เป็นไฟชนิดหนึ่ง ทุกคนโกรธมาแล้วทั้งนั้น บางคนไม่อยากโกรธ มันก็โกรธ มันอดไม่ได้ ความเกลียด เกลียดใครไว้ เกลียดภาพอะไรไว้ สิ่งเหล่านั้นมารบกวน ความกลัว ก็กลัวต่างๆ นานา กลัวคน กลัวตาย กลัวจะสูญเสียสิ่งที่ไม่อยากให้สูญเสีย มีร้อยแปดอย่าง ความตื่นเต้น มันได้ยิน ได้เห็นอะไร มันก็ตื่นเต้น มันถึงกับนอนไม่หลับได้เหมือนกัน ความวิตกกังวลถึงเรื่องที่มีอยู่ในอดีต มันฝังแน่น ไม่ลืม ในอนาคต คิดถึงเรื่องที่จะเป็นไปได้

ความอาลัยอาวรณ์ คงจะรู้จักกันดี ความอิจฉาริษยา อันนี้หนักสุด ใครมีคนนั้นบาปหนา หาความสงบสุขยาก ความหวง หรือที่เข้มข้นคือความหึง มันรบกวนอย่างยิ่ง ความยกตนข่มท่าน เหล่านี้รู้จักกันดี ความระแวง กลัวทุกคนไม่ชอบเรา กลั่นแกล้งเรา มันก็นึกอยู่คนเดียว โดยที่ฝ่ายนู้นเขาไม่รู้เรื่องก็มี คลุ้มคลั่งอยู่ คนเดียว มันรบกวนจิต แล้วจะเป็นวิเวกได้อย่างไร มันจะสงบ เย็น มีเสรีภาพได้อย่างไร

อุปธิวิเวก แปลว่าสิ่งที่ยึดถือเอาไว้ แต่เป็นเรื่องทางจิตใจ หอบหิ้วเอาไว้ กอดรัดเอาไว้ เทิดทูนเอาไว้ เป็นเรื่องวัตถุ สังขาร ร่างกาย กามารมณ์ ตัวกูร้ายกาจที่สุด คนโง่ชอบนักหนา บรมโง่ อย่างนี้เรียกว่าไม่วิเวก คิดดู ถ้าถือก้อนหินเอาไว้ จิตมันจะสบายได้อย่างไร ที่จัดไว้อันหลังสุด เพราะมันร้ายกาจกว่าสองอันแรก รบกวนทางกายไม่เท่าไร รบกวนทางจิตก็ไม่เท่าไร แต่อุปธิวิเวกรบกวนตลอดเวลา ทุกวินาที เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง แต่ก็ไม่ค่อยรู้กันมากนัก ไม่ปรารถนาที่จะวิเวก วิเวกมันในหน้าที่ มันเกี่ยวข้องกับคนทั่วไปธรรมดาสามัญ วิเวกเมื่อใดมันก็เป็นสุขภาพทางจิตใจเมื่อนั้น ไม่มีอะไรมารบกวนกาย สุขภาพกายก็ดี ไม่มีอะไรมารบกวนจิต สุขภาพจิตก็ดี

พระอรหันต์ไม่มีสิ่งรบกวน ที่เรียกว่าวิเวก อาจจะมีของไปรบกวน คนไปรบกวน สัตว์ไปรบกวน แต่ก็เหมือนไม่รบกวน ทางจิตก็ไม่มีนิวรณ์ไปรบกวน ทางอุปธิ ก็ปล่อยวางหมดแล้ว พระอรหันต์ท่านก็มีวิเวกครบสมบูรณ์

นี่ก็เป็นเครื่องเปรียบเทียบ สำหรับให้เรารู้จักพระอรหันต์โดยถูกต้อง และเราก็ไม่ต้องอวดดีว่าจะเป็นพระอรหันต์กันเดี๋ยวนี้ ฉะนั้นควรเอาอย่างท่าน เพื่อสุขภาพอนามัย ที่จริงมันก็มีอยู่ ตามสมควร แต่คนโง่มันมองไม่เห็น ถ้าไม่มีวิเวกเลย มันตายไปนานแล้ว มันเป็นบ้า เวลาที่ไม่มีอะไรรบกวนมันพอมี แม้แต่คนกิเลสหนา มันยังพอมี แม้นาทีเดียวก็ถือว่ามี แต่คนไม่สังเกต เห็น ไม่สนใจ ไปหาสิ่งมารบกวนอีก หาสิ่งที่มาช่วยประโลมใจ ไม่ให้ว่าง มีธรรมะเป็นเครื่องประโลมใจ มันก็ดี มีกามารมณ์เป็น เครื่องประโลมใจ มันก็วินาศ


ธุดงค์ - จาริก

ธุดงค์ มาจากภาษาบาลีว่า ธุตงฺค เป็นวัตรปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ แต่ไม่บังคับ แล้วแต่ผู้ใดจะสมัครใจปฏิบัติ เป็นอุบายวิธีกำจัดขัดเกลากิเลส ทำให้เกิดความมักน้อยสันโดษยิ่งขึ้น ไม่สะสม เพื่อให้เบาสบายไปมาได้สะดวกด้วยไม่มีภาระมาก เหมือนนกที่มีเพียงปีกก็บินไป มิใช่เพื่อสะสมหรือเพื่อลาภสักการะและชื่อเสียง ถ้าทำเพื่อลาภเพื่อชื่อเสียง ต้องอาบัติทุกกฎ

โดยรูปศัพท์ ธุดงค์ แปลว่า องค์คุณเป็นเครื่องกำจัดกิเลส, องค์คุณของผู้กำจัดกิเลส หรือการสมาทานเพื่อเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอันอันตรายต่อสัมมาปฏิบัติ เป็นศัพท์เฉพาะที่ปรากฏในพระไตรปิฎกเถรวาท โดยพระพุทธเจ้าตรัสแสดงธุดงค์ลักษณะต่างๆ ไว้หลายพระสูตร เมื่อรวมแล้วได้ทั้งหมด ๑๓ ข้อ ทรงอนุญาตไว้ให้แก่พระสงฆ์สำหรับเลือกนำไปปฏิบัติ เพื่อมุ่งให้เป็นแนวปฏิบัติเพิ่มเติมของพระสงฆ์ที่ตั้งใจสมาทานความเพียรเพื่อมุ่งขัดเกลาทางจิตเพื่อกำจัดกิเลส ธุดงค์เป็นเพียงวัตร หรือแนวทางการประพฤติ ไม่ใช่ศีลของพระสงฆ์ พระสงฆ์จึงเลือกปฏิบัติหรือไม่ก็ได้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ

ในเมืองไทย มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับธุดงค์อยู่มาก ส่วนใหญ่เข้าใจกันว่าการธุดงค์คือการที่พระสงฆ์ห่มจีวรสีเศร้าหมอง สะพายบาตร แบกกลด แล้วเดินจาริกไปในสถานที่ต่างๆ ค่ำที่ไหนก็ปักกลดนอนที่นั่น ความเข้าใจคลาดเคลื่อนเช่นนี้เนื่องจากคนไทยเอาเรื่องการจาริก การท่องออกไปเพื่อโปรดสัตว์ ผสมกับธุดงค์ คือการปฏิบัติขัดเกลากิเลสเพื่อความมักน้อย สันโดษ จนแยกออกจากกันไม่ได้ระหว่างการจาริกกับธุดงควัตร

การจาริกสมัยพุทธกาล คือการที่พระสงฆ์เดินทางท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ เพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลก เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนเป็นอันมาก ค่ำที่ไหนก็ปักกลดนอนที่นั่น เป็นการจาริกตามปกติของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา มีจุดประสงค์หลักเพื่อโปรดสัตว์ แต่การจาริกเช่นนี้ ต้องมีกำหนดระยะเวลา พระพุทธองค์ทรงอนุญาตเฉพาะ ๘ เดือน นอกฤดูฝนเท่านั้น

ธุดงควัตร อันเป็นข้อปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลสที่พระพุทธองค์ตรัสไว้มี ๑๓ อย่าง ได้แก่

๑.ปังสุกูลิกังคะ ถือการใช้ผ้าบังสุกุล ไม่ใช้ผ้าสำเร็จรูปที่มีผู้ถวาย
๒.เตจีวริกังคะ ถือการใช้เพียงผ้าไตรจีวร พระภิกษุผู้ถือธุดงค์ข้อนี้จะใช้เพียงผ้าไตรจีวร ๓ ที่อธิษฐานเท่านั้น
๓.ปิณฑปาติกังคะ ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นประจำ ไม่รับกิจนิมนต์ ฉันอาหารจากบิณฑบาตเพียงอย่างเดียว
๔.สปทานจาริ กังคะ ถือการบิณฑบาตไปตามลำดับบ้าน ไม่ข้ามไปบ้านนั้นบ้านนี้
๕.เอกาสนิกังคะ ถือการฉันมื้อเดียว บางครั้งเรียกว่าฉันบนอาสนะเดียว คือนั่งแล้วก็จะฉันไปจนอิ่ม เมื่อลุกแล้วจะไม่ฉันอีกเลยในวันนั้น
๖.ปัตตปิณฑิกังคะ ถือการฉันเฉพาะในบาตร ไม่ฉันในสำรับที่เขาจัดถวาย
๗.ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ถือการลงมือฉันแล้วไม่รับเพิ่มอีก
๘.อารัญญิกังคะ ถือการอยู่ป่า
๙.รุกขมูลิกังคะ ถือการอยู่โคนต้นไม้
๑๐.อัพโภกาสิกังคะ ถือการอยู่กลางแจ้ง
๑๑.โสสานิกังคะ ถือการอยู่ป่าช้า
๑๒.ยถาสันถติกังคะ ถือการอยู่แต่ในที่ที่เขาจัดให้
๑๓.เนสัชชิกังคะ ถือการนั่งไม่นอน ทั้งนี้ ธุดงค์นั้นไม่ใช่กิจจำเป็น ตามแต่พระภิกษุรูปใดจะสมัครใจถือปฏิบัติเท่านั้น

ส่วนคำว่า จาริก เป็นศัพท์ในพระไตรปิฎก หมายความถึงการเดินทางไปเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ศัพท์นี้ถูกนำมาใช้บ่อยครั้งในประเทศไทยโดยมีความหมายเดียวกับในพระไตรปิฎก เช่น จาริกธุดงค์, โครงการธรรมจาริก เป็นต้น ปัจจุบันการจาริกขยายความหมายไปถึงการเดินทางเพื่อไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสังเวชนียสถานด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้คำว่า จาริกแสวงบุญ

ลักษณะของการจาริกตามนัยพระไตรปิฎก การจาริกมีองค์ ๔ เป็นบาทพระคาถา ว่า ไม่ไปด้วยพาหนะ ๑ ถ้าจำเป็นอาจสามารถขึ้นเรือโดยประสงค์ข้ามฟากได้(โดยไม่ประสงค์ล่องตามลำน้ำ) ๑ ไม่ไปด้วยฤทธิ์ ๑ ไปด้วยกำลังแห่งปลีแข้ง(คือเดินเอา) ๑ ประสงค์ให้ถือเพื่อใช้ในการเผยแผ่ มักถือร่วมกับธุดงค์เพื่อประกาศพรหมจรรย์ เพราะการจาริกไปย่อมพบเจอเข้าถึงผู้คนมากกว่า เช่น ถ้านั่งรถไปก็จะไม่ค่อยพบผู้คน หรือญาติโยมไม่กล้าเข้ามาพูดคุย อาจทอดทิ้งคนที่อาจอยากสนทนาด้วย

และเพื่อให้ผู้พบมีจิตศรัทธาจากการประพฤติธรรมหรือการเผยแผ่ด้วยการไม่พูดสอน แต่ทำให้ดู ดังคำพุทธพจน์ที่ให้แก่พระภิกษุสงฆ์กลุ่มแรก (๖๐ รูป) ในการส่งไปประกาศพระศาสนาว่า “จรถ ภิกขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย ธมมํ ภิกขเว เทเสถ” แปลว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไป จงแสดงซึ่งธรรม(ประกาศพรหมจรรย์) เพื่อประโยชน์ อนุเคราะห์ เพื่อความสุขแก่ชนหมู่มาก”


เรื่อง :  หนังสือพิมพ์ข่าาวสด