[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 19:59:26



หัวข้อ: หลวงพ่อโหน่ง อินทสุวัณโณ วัดคลองมะดัน (วัดอัมพวัน) อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 19:59:26

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/24781004836161_1_394_1_.jpg)

หลวงพ่อโหน่ง อินทสุวัณโณ
วัดคลองมะดัน (วัดอัมพวัน) อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี

“หลวงพ่อโหน่ง อินทสุวัณโณ” วัดคลองมะดัน (วัดอัมพวัน) อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี อดีตพระเกจิชื่อดังแห่งเมืองสุพรรณบุรี

เป็นชาวสุพรรณบุรีโดยกำเนิด เกิดที่บ้านสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง เมื่อปีพ.ศ.2408 ในสกุลโตงาม มีความประพฤติดี ชอบช่วยเหลือผู้อื่น มักน้อย และรักสันโดษมาโดยตลอด

อายุ 24 ปี ในปี พ.ศ.2433 เข้าพิธีอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดสองพี่น้อง มี พระอธิการจันทร์ เจ้าอาวาสวัดทุ่งคอก เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์ดิษฐ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการสุต เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้รับฉายา “อินทสุวัณโณ” ซึ่งแปลว่า ผู้มีผิวกายดุจพระอินทร์

ในสมณเพศมีความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติ ใฝ่ใจศึกษาพระธรรมวินัย คันถธุระ และวิปัสสนาธุระ เมื่อครบกำหนดท่านจึงตัดสินใจไม่ลาสิกขา ตั้งใจมุ่งมั่นจะสืบสานพระพุทธศาสนาต่อไป จากนั้นออกเดินทางไปยังวัดทุ่งคอก เพื่อฝากตัวเป็นศิษย์พระอธิการจันทร์ พระอุปัชฌาย์ ผู้มีชื่อเสียงและกิตติศัพท์ด้านวิปัสสนากัมมัฏฐานและวิทยาคมแขนงต่างๆ

ศึกษาอยู่ 2 พรรษา จึงลาพระอาจารย์เดินทางไปฝากตัวเป็นศิษย์ หลวงพ่อเนียม วัดน้อย อ.บางปลาม้า อีก 2 พรรษา แล้วจึงกลับมาจำพรรษาที่วัดสองพี่น้องตามเดิม ในช่วงศึกษาที่วัดน้อยนั้นท่านได้รู้จักกับหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้เดินทางมาฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อเนียมเช่นกัน โดยท่านนับเป็นศิษย์รุ่นพี่ หลวงพ่อเนียมยังได้เคยปรารภกับหลวงพ่อปานว่า “ถ้าข้าตายแล้วสงสัยธรรมข้อใดให้ไปถามท่านโหน่งเขานะ เขาพอแทนข้าได้”

เมื่อกลับมาจำพรรษาที่วัดสองพี่น้อง หลวงพ่อโหน่งยังมีความเกี่ยวพันกับพระเกจิชั้นผู้ใหญ่ 2 รูป ซึ่งเป็นคนบ้านสองพี่น้องเช่นเดียวกัน เมื่อครั้งอุปสมบทที่วัดสองพี่น้อง คือเป็นพระกรรมวาจาจารย์ของสมเด็จป๋า (ปุ่น ปุณณสิริ) วัดโพธิ์ สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 17 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นพระอนุสาวนาจารย์ของหลวงพ่อวัดปากน้ำ (สด จันทสโร) แห่งวัดปากน้ำภาษีเจริญ

หลวงพ่อโหน่ง เป็นพระผู้มีปฏิปทาและจริยวัตรงดงาม เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนทั่วหน้า ชื่อเสียงและเกียรติคุณของท่านเริ่มขจรขจาย ทั้งด้านวิปัสสนากัมมัฏฐานและวิทยาคมต่างๆ หลวงพ่อแสง เจ้าอาวาสวัดคลองมะดัน หรือวัดอัมพวัน อ.สองพี่น้อง ผู้เก่งกล้าในวิทยาคม ทราบถึงกิตติศัพท์ จึงเดินทางมาพบและสนทนาธรรมอยู่เป็นเนืองนิจ จนมีความสนิทสนมกันมาก และชักชวนหลวงพ่อโหน่งให้มาอยู่ด้วยกันที่วัดคลองมะดัน ซึ่งหลวงพ่อโหน่งตอบตกลงด้วยความเต็มใจ เนื่องจากต้องการศึกษาความรู้เพิ่มเติมจากหลวงพ่อแสงเช่นกัน

หลวงพ่อแสงชราภาพลงมาก ญาติโยมอาราธนาให้กลับไปอยู่ภูมิลำเนาเดิมที่มหาชัย จ.สมุทรสาคร ด้วยความไว้วางใจจึงมอบหมายให้หลวงพ่อโหน่งดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดคลองมะดันเป็นรูปที่ 2 สืบแทน

ท่านได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดและเสนาสนะต่างๆ สร้างกุฏิ ศาลาการเปรียญ พระวิหาร ฯลฯ จนวัดคลองมะดันเจริญรุ่งเรือง หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ศิษย์รุ่นน้อง ยังเดินทางมาสนทนาธรรมและแลกเปลี่ยนความรู้กับท่าน ณ วัดคลองมะดัน อย่างสม่ำเสมอ มรณภาพในปี พ.ศ.2477 สิริอายุ 69 ปี พรรษา 46


อริยะโลกที่ 6