[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 17 มีนาคม 2560 20:00:54



หัวข้อ: เยือนวัดบรรพตคี (วัดภูจ้อก้อ) กราบอัฐธาตุหลวงปู่หล้่า เขมปัตโต จ.มุกดาหาร
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 17 มีนาคม 2560 20:00:54

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/62045288830995_1.jpg)
หุ่นขี้ผึ้ง หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
ประดิษฐานในเขมปัตตเจดีย์ วัดภูจ้อก้อ จ.มุกดาหาร

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/87450007680389_11.jpg)

เยือนวัดบรรพตคี (วัดภูจ้อก้อ)
Wat Banpot Khiri (phu jo kho)
ตำบลหนองสูงใต้ อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร

วัดบรรพตคีรี (วัดภูจ้อก้อ) เป็นวัดวิปัสสนากรรมฐาน และสถานที่ปฏิบัติธรรมที่เงียบสงบ ตั้งอยู่บนเขาโดด ต้องขึ้นบันได ๒๐๐ ขั้น วัดนี้เคยเป็นที่พำนักของหลวงปู่หล้า เขมปัตโต พระเถราจารย์สายวิปัสสนากรรมฐาน  ภายหลังท่านละสังขารแล้ว ได้มีการจัดสร้างเขมปัตตเจดีย์ บรรจุอัฐ สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๒ เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ ถวายเป็นอนุสรณ์แด่หลวงปู่หล้า เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้สานุศิษย์ทั้งหลายได้รำลึกถึงบารมีธรรม คำสั่งสอน และเป็นที่สักการะของพุทธศาสนิกชนทั่วไป ชั้นบนเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงประวัติ ผลงาน และเครื่องอัฐบริขารส่วนตัว รวมทั้งประดิษฐานหุ่นขี้ผึ้งจำลองหลวงปู่

วัดบรรพตคีรีถือได้ว่าเป็นศาสนสถานที่สำคัญของชาวพุทธและชาวมุกดาหาร ที่ยังคงความยิ่งยงสง่างาม เป็นที่พึ่งทางใจแก่พุทศาสนิกชนให้สว่างแจ่มใสแห่งพระธรรมอย่างยั่นยืน


• ประวัติสังเขป หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
หลวงปู่หล้า เขมปัตโต วัดบรรพตคีรี (ภูก้อจ้อ) ตำบลหนองสูงใต้ อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร ถือกำเนิดในสกุล เสวตร์วงษ์ เมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๔ ปีกุน ตรงกับวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๕๔ เวลาเช้า ณ บ้านกุดสระ หมู่ที่๒ ตำบลกุดสระ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โยมบิดาชื่อ นายคูณ  โยมมารดาชื่อ นางแพง ท่านมีพี่น้องรวม ๘ คน โดยท่านเป็นบุตรคนสุดท้อง ครอบครัวมีอาชีพทำนา

ในวัยเด็กได้เข้ารับการศึกษา ณ โรงเรียนประชาบาล ตำบลกุดสระ อำเภอหมากแข้ง จังหวัดอุดรธานี ได้เรียนหนังสือสูตรสวดมนต์ หนังสือธรรมใบลาน และเรียนนักธรรม

พ.ศ.๒๔๗๑ อายุ ๑๘ ปี บรรพชาเป็นครั้งแรก ณ วัดบัวบาน บ้านกุดสระ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ได้เรียนหนังสือสูตรสวดมนต์ หนังสือธรรมใบลาน และเรียนนักธรรม

พ.ศ.๒๔๗๒ สอบได้นักธรรมชั้นตรี บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ ๓ พรรษา จึงลาสิกขาเพื่อไปคัดเลือกทหาร แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก

ครั้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๗๔ อายุ ๒๐ ปี จึงได้อุปสมบทตามประเพณี ณ วัดบัวบาน เป็นเวลา ๑ พรรษา สอบได้นักธรรมชั้นตรีอีกครั้งหนึ่งแล้วลาสิกขาไป

หลังจากลาสิกขาได้ ๖ เดือนก็แต่งงาน มีบุตรหญิงด้วยกันคนหนึ่งก็เลิกกัน อีกปีหนึ่งต่อมาก็แต่งงานเป็นครั้งที่ ๒ การแต่งงานครั้งนี้ได้ครองชีวิตคู่อยู่ด้วยกัน ๙ ปี มีบุตรด้วยกัน ๓ คน เป็นชาย ๒ คน หญิง ๑ คน ซึ่งบุตรหญิงนั้นได้ถึงแก่กรรมแต่ครั้งเยาว์วัย ต่อมาภรรยาป่วยถึงแก่กรรม จึงเป็นเหตุให้เห็นห้วงทุกข์ในชีวิตฆราวาส และตระหนักถึงภัยในวัฏสงสาร จึงได้บรรพชาอุปสมบทอีกครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๖ อายุ ๓๒ ปี ด้วยกุศลจิตคิดถวายชีวิตแด่พระศาสนา ณ วัดบัวบาน บ้านกุดสระ และได้เรียนนักธรรมต่อสอบได้นักธรรมชั้นโท แล้วเรียนและสอบนักธรรมชั้นเอก แต่หาได้อาลัยในผลสอบไม่ เพราะใจหนักในทางปฏิบัติแต่แรกที่ออกบวช

พ.ศ.๒๔๘๘ อายุ ๓๔ ปี ได้ขอญัตติคืออุปสมบทซ้ำ ณ วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี โดยท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระเทพกวี เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๘ เวลา ๑๓.๑๕ น.แล้วได้จำพรรษาแรกกับหลวงปู่บุญมี ชลิโต วัดป่าโพธิ์ชัย บ้านหนองน้ำเค็ม ตำบลเชียงยืน อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ครั้นออกพรรษาแล้วได้ออกธุดงค์ไปตามเส้นทางอุดรธานี-นครพนม-สกลนคร เพื่อไปศึกษาปฏิบัติธรรมกับพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทัตตเถร และได้มอบกายถวายตัวกับพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทัตตเถร ณ วัดป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๘๙

พ.ศ.๒๔๘๙-๒๔๙๒ อยู่จำพรรษากับพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทัตตเถร ณ วัดป่าบ้านหนองผือ จังหวัดสกลนคร จนพระอาจารย์ใหญ่มั่นละสังขาร เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๒ ณ วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกุลนคร

พ.ศ.๒๔๙๓ อยู่จำพรรษากับหลวงปู่เทศก์ เทสรังสี ณ วัดโคกกลอย อำเภอโคกกลอย จังหวัดพังงา

พ.ศ.๒๔๙๔-๒๔๙๕ อยู่จำพรรษากับหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ ณ วัดป่าตะโหนด สวนพริก อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา เมื่อภายหลังออกพรรษา ปี พ.ศ.๒๔๙๕ เดือนมกราคม พ.ศ.๒๔๙๖ จึงเดินทางกลับอีสาน

พ.ศ.๒๔๙๖-๒๔๙๙ อยู่จำพรรษากับหลวงปู่มหาบัว ญาณสัมปันโน ณ วัดป่าบ้านห้วยทราย กิ่งอำเภอคำชะอี อำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม (ในขณะนั้น)

พ.ศ.๒๕๐๐ จำพรรษา ณ ภูเก้า กิ่งอำเภอคำชะอี อำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม (ในขณะนั้น) เป็นเวลา ๑ พรรษา

ครั้นออกพรรษาแล้ว ได้มีญาติโยมอาราธนาให้มาจำพรรษา ณ ภูก้อจ้อ กิ่งอำเภอคำชะอี อำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม ซึ่งปัจจุบันคือ วัดบรรพตคีรี (ภูจ้อก้อ) อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร และได้จำพรรษา ณ วัดบรรพตคีรีนี้ต่อเนื่องมาจนกระทั่งมรณภาพด้วยโรคเส้นเลือดในสมองแตกรุนแรง และมีภาวะแทรกซ้อน โดยมีการติดเชื้อที่ปอด ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ เป็นต้น เมื่อวันศุกร์ แรม๑๕ ค่ำ เดือน ๒ ปีกุน ตรงกับวันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๙ เวลา ๑๓.๕๙ น. สิริอายุ ๘๔ ปี ๑๑ เดือน พรรษา ๕๑



(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/22195752378966_3.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/84692208303345_4.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/69631947121686_5.jpg)
อัฐบริขารและเครื่องใช้ประจำตัวของหลวงปู่หล้า เขมปัตโต

• อัฐบริขารและเครื่องใช้ประจำตัวของหลวงปู่หล้า เขมปัตโต
อัฐบริขาร คือ ของใช้ประจำตัวของพระภิกษุที่มีพระพุทธานุญาตให้พระภิกุมีไว้ใช้ได้อย่างละหนึ่งคือ
๑.บาตร สำหรับใช้รับภิกษา หรือภัตตาหาร
๒.จีวร หรืออุตราสงค์ สำหรับห่ม
๓.สบง หรือ อันตรวาสก สำหรับนุ่ง
๔.สังฆาฏิ คือ ผ้าจีวรสองชั้น สำหรับห่มกันหนาว
๕.ประคดเอว สำหรับรัดผ้านุ่งให้กระชับกาย
๖.กระบอกกรองน้ำ หรือ ธมกรก สำหรับกรองน้ำดื่มน้ำใช้
๗.กล่องเข็ม สำหรับใส่เข็ม
๘.มีดน้อย หรือ มีดโกน สำหรับปลงผม
ส่วนบริขารอื่นๆ นอกเหนือจากบริขาร ๘ อย่างนี้ เช่น กลด รองเท้า กาน้ำ แส้ และของจำเป็นอื่นๆ ที่ไม่ขัดต่อสมณสารูป มีพระพุทธานุญาตให้พระภิกษุมีไว้ใช้ได้ตามความจำเป็น

สำหรับกลดต้นนี้ หลวงปู่ได้ใช้ในคราวออกวิเวก ภายหลังพระอาจารย์ใหญ่มั่นละสังขารแล้ว หัวกลดหลวงปู่มหาบัวเป็นผู้กลึง ส่วนตัวกลดหลวงปู่หล้าทำด้วยตัวของท่านเอง

บริขารเหล่านี้ สิ่งใดสามารถจัดทำเองได้ เช่น กลด สบง จีวร เป็นต้น หลวงปู่จะจัดทำขึ้นด้วยตนเอง บางครั้งก็จัดทำถวายพ่อแม่ครูบาอาจารย์ท่านอื่นๆ ด้วย

บริขารเหล่านี้ หลวงปู่จะใช้จนกว่าจะชำรุดใช้ไม่ได้แล้ว หลวงปู่จึงจะเปลี่ยนใหม่



(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/96500692516565_1.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/93740333244204_4.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/37630479989780_5.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/64982194784614_2.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/16477062387598_3.jpg)

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต นอกจากจะเมตตาเทศนาสั่งสอนพุทธศาสนิกชนในโอกาสต่างๆ อยู่เสมอแล้ว หลวงปู่ยังเมตตาเขียนธรรมะ เขียนคำตอบปัญหาธรรมะที่ศิษยานุศิษย์เขียนถามมา เขียนอัตตชีวประวัติของหลวงปู่เองให้ศิษยานุศิษย์อ่านตามที่ได้รับการร้องขอ ข้อเขียนของหลวงปู่จึงมีจำนวนมาก และงานเขียนของหลวงปู่แต่ละชิ้น หลวงปู่บรรจงเขียนด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาดงดงาม ในบั้นปลายของชนม์ชีพ หลวงปู่เขียนหนังสือทุกวัน ส่วนมากเป็นการเขียนตอบปัญหาธรรมปฏิบัติที่ศิษยานุศิษย์และผู้สนใจในการปฏิบัติธรรมเขียนถาม

หลวงปู่ขยันเขียนหนังสือ เพราะหลวงปู่เห็นคุณค่าของหนังสือ ดังที่หลวงปู่เขียนอธิบายไว้ ดังนี้


๑.หนังสือ คือ ตา๑๓. หนังสือ คือ พงศาวดาร
๒.หนังสือ คือ แว่น ๑๔.หนังสือ คือ แบบฉบับ
๓.หนังสือ คือ กล้อง ๑๕.หนังสือ คือ เป้าวิจัย
๔.หนังสือ คือ ลูกกุญแจ ๑๖.หนังสือ คือ เป้าคำนึง
๕.หนังสือ คือ ครูอาจารย์๑๗.หนังสือ คือ เป้าพิจารณา
๖.หนังสือ คือ มิตร ๑๘.หนังสือ คือ ควรเลือกเฟ้น
๗.หนังสือ คือ เข็มทิศ ๑๙.หนังสือ คือ เรื่องที่เป็นแก่นสาร และไม่ ฯลฯ
๘.หนังสือ คือ ป้ายบอกทาง ๒๐.หนังสือ คือ เรื่องดีและชั่วปะปนกันก็มี
๙.หนังสือ คือ แสงสว่าง๒๑.หนังสือ คือดีล้วนๆ ชั่วล้วนๆ ก็มี
๑๐.หนังสือ คือ ตำรา ๒๒.หนังสือ คือ หนังหุ้มอยู่โดยรอบ
๑๑.หนังสือ คือ คำจำกันลืม ๒๓.หนังสือ คือ จิตตสังขารที่สมมติขึ้น
๑๒.หนังสือ คือ คติเตือนใจ ๒๔.หนังสือ คือ สมมติ และ วิมุตติ
๒๕.หนังสือ คือ อัตตา และ อนัตตา

นอกจากนี้ หลวงปู่ยังได้เมตตาเทศน์อบรมสั่งสอนพระภิกษุสามเณร และฆราวาสญาติโยมที่มาเกี่ยวข้องในโอกาสต่างๆ จึงได้บันทึกลงไว้ในแถบบันทึกเสียง (cassette) นับเป็นพันม้วน ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๔๑ เป็นต้นมา ทางวัดภูจ้อก้อได้แปลงแถบบันทึกเสียงดังกล่าวลงในแผ่นดิสก์ (disc) เพื่อคงคุณภาพของต้นฉบับไว้



(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/35570751254757_2.jpg)
หุ่นขี้ผึ้ง หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
ประดิษฐานในเขมปัตตเจดีย์ วัดภูจ้อก้อ จ.มุกดาหาร

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/29185625000132_12.jpg)
อัฐธาตุของหลวงปู่หล้า เขมปัตโต
ประดิษฐานในเขมปัตตเจดีย์ วัดภูจ้อก้อ จ.มุกดาหาร

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/36043206643727_13.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/96851970213982_10.jpg)
เขมปัตตเจดีย์ หลวงปู่หล้า เขมปัตโต

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/63126991523636_7.jpg)
กุฏิสงฆ์ ของวัดภูจ้อก้อ

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/79429737395710_1.jpg)
ศาลาวัดภูจ้อก้อ

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/60351523674196_2.jpg)
ศาสนสถานวัดภูจ้อก้อ สร้างอย่างเรียบง่ายด้วยวัสดุไม้ที่มีตามธรรมชาติเป็นสำคัญ

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/54203948171602_4.jpg)
ทางจงกรมของหลวงปู่หล้า บนยอดภูจ้อก้อ

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/57502765167090_8.jpg)
ธรรมชาติอันร่มรื่น เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรของสงฆ์วัดป่าภูก้อจ้อ

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/33773774736457_9.jpg)
บันได ๒๐๐ ขั้น ทางขึ้นสู่กุฏิที่พำนักปฏิบัติธรรมของหลวงปู่หล้า เขมปัตโต
ซึ่งองค์หลวงปู่ต้องหาบน้ำจากข้างล่างขึ้นไปบนยอดเขาไว้ใช้สอยและบริโภค
และสมัยเมื่อหลวงปู่เข้าไปอาศัยเมื่อแรกเริ่มคงไม่มีบันไดสำหรับเดินขึ้นลงเขา
สะดวกสบายดังเช่นที่เห็นในภาพ

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/76550486311316_7.jpg)
ปีบน้ำและคานหาม ที่หลวงปู่หาบจากพื้นราบข้างล่างขึ้นไปใช้สอยบนยอดภูจ้อก้อ

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/25771452320946_5.jpg)