[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สยาม ในอดีต => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 21 มีนาคม 2560 19:56:41



หัวข้อ: ประเพณีทูลเกล้าฯ ถวาย "ฎีกา" ร้องทุกข์
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 21 มีนาคม 2560 19:56:41

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/95924286171793_b1.gif)
ซองบุหรี่ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ - ของชิ้นเอกในกรมศิลปากร

ประเพณีทูลเกล้าฯ ถวาย "ฎีกา" ร้องทุกข์

ฎีกา คือ คำร้องทุกข์ที่ราษฎรยื่นถวายต่อพระมหากษัตริย์ อาจเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องด้วยคดีความหรือความทุกข์ยาก และความเป็นอยู่ 

ในสมัยโบราณ การอุทธรณ์ฎีกาเป็นการฟ้องตัวตุลาการว่าตัดสินคดีความไม่ยุติธรรม

ปัจจุบัน การฎีกาเป็นการร้องขอหรือยื่นคำร้องคัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์โดยขอให้พิจารณาความใหม่ในศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลสูงสุด นอกจากการฎีกาต่อศาลฎีกาแล้วยังคงมีการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อองค์พระมหากษัตริย์ต่อมาจนถึงปัจจุบัน

คำว่า ฎีกา มีหลายความหมาย ตามที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ระบุไว้เช่น เป็นคำอธิบายขยายความ หนังสือที่เขียนนิมนต์พระสงฆ์ ใบแจ้งการขอเบิกเงินจากคลัง ใบบอกบุญเรี่ยไร คำร้องทุกข์ที่ยื่นถวายพระเจ้าแผ่นดิน หรือคำร้องขอคำคัดค้านที่คู่ความยื่นต่อศาลชั้นสูงสุด และเก็บคำว่าฎีกาเป็นคำโบราณ หมายถึงใบเรียกเก็บเงิน ในเอกสารเก่าบางกรณีที่ใช้ควบกับคำอื่น เช่น ตั๋วฎีกา หมายถึง ใบเสร็จรับเงินก็ได้

การใช้คำว่า “ฎีกา” ในเรื่องของคดีความและการร้องทุกข์ต่อพระมหากษัตริย์นั้นมีมาแต่สมัยสุโขทัย รัชกาลพ่อขุนรามคำแหงมหาราช โปรดให้แขวนกระดิ่งไว้ที่ประตูเมือง เพื่อให้ราษฎรที่เดือดร้อนทุกข์ยากมาสั่นกระดิ่งร้องทุกข์ต่อพระองค์ได้โดยตรง สมัยอยุธยาการถวายฎีกาจะทำได้ต่อเมื่อราษฎรได้ดำเนินการฟ้องร้องต่อมูลนาย ลูกขุน ณ ศาลา และหัวหมื่นมหาดเล็กตามลำดับมาแล้ว และไม่มีผู้ใดสนใจพิจารณาความให้ เมื่อนั้นจึงจะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์ได้

ตามความในกฎหมายตราสามดวง พระราชกำหนดเก่า มาตรา ๑๘ หากผู้ใดไม่ปฏิบัติตามพระราชกำหนดนี้จะถูกลงโทษเฆี่ยน ๓ ยก (๓๐ ครั้ง) แล้วให้คืนใบฎีกาและส่งตัวให้มูลนาย  สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีพระราชกำหนดใหม่ มาตรา ๖ ห้ามทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาฟ้องร้องเป็นหนังสือ ให้ผู้ที่จะถวายฎีกาฟ้องลูกขุน ณ ศาลา และลูกขุน ณ ศาลหลวง เข้าไปยังที่ทำการลูกขุนทั้ง ๒ และแจ้งต่อจ่าศาลหรือขุนดาบทั้ง ๔ ที่อยู่เวร และขุนศรีธรรมราชหรือจ่าศาลให้เขียนคำฟ้องร้องต่อหน้าลูกขุนเพื่อพิจารณาว่าสมควรจะลอกฟ้องกราบบังคมทูลหรือไม่ หากเป็นคดีร้องทุกข์ให้ผู้ร้องทุกข์ไปร้องต่อตำรวจเวรด้วยวาจาเพื่อนำตัวไปเขียนคำฟ้องต่อหน้าเจ้ากรมปลัดกรมตำรวจ แล้วจึงลอกคำฟ้องขึ้นกราบบังคมทูลต่อไป

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นถึงความทุกข์ยากของราษฎรในการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ซึ่งทำได้เฉพาะเมื่อพระองค์เสด็จออกนอกพระราชวัง แต่พระองค์ไม่โปรดที่จะเสด็จนัก จึงโปรดให้นำกลองใบใหญ่ทำด้วยไม้รักที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เมื่อครั้งเป็นเจ้าพระยาพระคลัง ทำถวาย เมื่อออกไปบูรณะเมืองจันทบุรี ใน พ.ศ.๒๓๘๐ และพระราชทานชื่อว่า กลองวินิจฉัยเภรี ไปตั้งไว้ที่ทิมดาบ กรมวัง ใส่กุญแจไว้ ผู้ใดจะไปร้องถวายฎีกาให้กรมวังไขกุญแจให้เพื่อตีกลองร้องทุกข์โดยไม่ต้องเสียเวลาเสด็จออก เรียกว่า ตีกลองร้องฎีกา เมื่อตีกลองแล้วตำรวจเวรจะไปรับตัวและเรื่องราวของผู้ตีกลองลงมา แล้วนำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการมอบหมายให้ผู้หนึ่งผู้ใดชำระความฎีกานั้น   ในทางปฏิบัติ ราษฎรที่จะเข้าไปตีกลองร้องฎีกาที่ทิมดาบกรมวังนั้นต้องทุกข์ยากยิ่งขึ้น เพราะจะต้องเสียเงินเป็นค่าไขกุญแจให้แก่เจ้าพนักงาน บางครั้งก็ถูกเจ้าพนักงานโบยตีก่อนจะให้ตีกลอง

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลิกประเพณีตีกลองร้องฎีกา ออกประกาศให้ราษฎรทราบกำหนดเวลาที่พระองค์จะเสด็จออกรับฎีกาที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ เดือนละ ๔ ครั้ง หากไม่เสด็จออกด้วยพระองค์เองก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส เสด็จออกรับฎีกาแทนพระองค์ เวลาที่จะเสด็จออกนั้นโปรดให้ตีกลองวินิจฉัยเภรีเรียกผู้ที่จะถวายฎีกามาชุมนุมกันที่หน้าพระที่นั่ง  เมื่อพระองค์ทรงรับฎีกาแล้วจะพระราชทานเงินบำเหน็จแก่ผู้ถวายฎีกาคนละ ๑ สลึง หากชำระได้ความจริงตามฎีกาแล้วจะพระราชทานรางวัลอีก ๑ สลึง เป็นค่ากระดาษดินสอ แต่ถ้าผู้ใดฎีกาความเท็จก็จะถูกลงพระอาญาตามจารีตประเพณี  ทั้งนี้ ผู้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาจะต้องเขียนคำฎีกาลงในกระดาษแบบสมุดฝรั่งแทนการลงในกระดาษม้วนยาวๆ เพื่อสะดวกในการอ่านและต้องใช้คำพูดสุภาพ ออกนามผู้ที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้อง พร้อมทั้งลงชื่อผู้ถวายฎีกาหรือผู้ถวายแทนให้เรียบร้อย นอกจากนั้นยังพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ราษฎรถวายฎีกาทูลถามเรื่องข่าวลือได้ด้วย

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิรูประบบกฎหมายและการศาลและทรงตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้นใน พ.ศ.๒๔๓๔ เพื่อรวบรวมศาลที่กระจายอยู่ตามส่วนราชการต่างๆ มารวมอยู่แห่งเดียวกัน ในส่วนของศาลฎีกาซึ่งเรียกเป็นศาลอุทธรณ์คดีหลวงนั้นขึ้นตรงต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทำหน้าที่พิจารณาความอุทธรณ์คำพิพากษาตัดสินของศาลชั้นต้น รวมทั้งพิจารณาฎีกาทั้งปวงซึ่งยังคั่งค้างอยู่ แต่ราษฎรยังสามารถทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาได้ หากมีเหตุผลสมควรด้วยความเห็นชอบและยินยอมของผู้พิพากษา หรือเสนาบดีกระทรวงหนึ่งกระทรวงใด หรือเทศาภิบาล หรือเจ้ากรมอัยการ หรือเนติบัณฑิตไทย ๒ คน ลงชื่อรับรองในหนังสือฎีกาตามความในประกาศเรื่องทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ลงวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๔๑ และในการพิจารณาฎีกานี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมอบหมายให้กรรมการตัดสินความฎีกาประกอบด้วย พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิริธัชสังกาศ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ (กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์) พระยาอนุชิตชาญไชย และนายอาร์.เย เกิกปาตริก (Mr. Richard J. Kirkpatrick) ชาวเบลเยี่ยม ทำหน้าที่พิจารณากราบบังคมทูลเสนอความเห็น จนกระทั่งต่อมาเกิดการฎีกาอุทธรณ์กรรมการฎีกาขึ้นอีกอย่างหนึ่ง เรียกกันว่า “ฎีแกโดยเยาะ”

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกศาลฎีกาไปสังกัดอยู่ในกระทรวงยุติธรรม เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๕ และมีพระราชดำริว่า การทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาของราษฎรที่เป็นอยู่ขณะนั้นยังไม่เป็นระเบียบแบบแผน เพราะการทรงรับฎีกาเสมือนว่าทรงรับอุทธรณ์จากศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลอุทธรณ์ชั้นสูงสุดแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออก “พระราชกฤษฎีกาวางระเบียบการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา” ลงวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๗  กำหนดว่า การทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาจะต้องเป็นการขอพระราชทานพระมหากรุณาลดหย่อนผ่อนโทษคำตัดสินของศาลต่างๆ หรือขอรับพระราชทานพระราชานุเคราะห์เป็นการส่วนตัว หรือกล่าวโทษเจ้าหน้าที่ผู้ประพฤติทุจริตและใช้อำนาจกดขี่ราษฎร ในฎีกาที่ทูลเกล้าฯ ถวายจะต้องลงนามตำแหน่งและสถานที่อยู่ให้ชัดเจน เพื่อสะดวกในการดำเนินการ ส่วนการทูลเกล้าฯ ถ้าเป็นข้าราชการชั้นสัญญาบัตรให้ทูลเกล้าฯ ถวายด้วยตนเองในวันเสด็จออกขุนนาง หรือหากเป็นการด่วนให้ส่งที่ทำการราชเลขานุการ ถ้าไม่ใช่ข้าราชการชั้นสัญญาบัตรให้คอยทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาที่หน้าพระลานสวนดุสิต ถ้าประทับอยู่สวนดุสิต หรือที่ถนนหน้าพระลานริมประตูวิเศษไชยศรี ถ้าประทับในพระบรมมหาราชวัง โดยให้นายตำรวจไปยืนคอยรับฎีกาในเวลาที่เสด็จพระราชดำเนินผ่านไป หรือหากเป็นการด่วนให้ส่งที่ทิมดาบกรมพระตำรวจ ในกรณีที่จะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาทางไปรษณีย์ให้สอดฎีกาในซองสลักหลังว่า “พระราชทานทูลเกล้าฯ ถวาย” โดยเปิดผนึกซองไว้ แล้วสอดใส่ในซองอีกชั้นหนึ่งจ่าหน้าซองถึงราชเลขานุการ ปิดผนึกซองและติดแสตมป์ส่งทางไปรษณีย์ หากผู้ใดไม่ปฏิบัติตามระเบียบ ภายในเขตพระราชฐานให้เจ้าพนักงานกระทรวงวังและกรมพระตำรวจว่ากล่าวตักเตือน ถ้าเป็นเขตนอกพระราชฐาน ในกรุงเทพฯ ให้เจ้าพนักงานกรมกองตระเวนว่ากล่าวห้ามปราม ในหัวเมืองให้เจ้าพนักงานกรมตำรวจภูธรว่ากล่าวห้ามปราม หากผู้ใดปฏิบัติผิดระเบียบให้ปฏิบัติใหม่ให้ถูกต้องตามระเบียบจึงจะรับฎีกานั้น การทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์ยังคงมีสืบมาจนกระทั่งปัจจุบัน แม้ในระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/46435063911808_b1.gif)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/21853851568367_b2.gif)
ซองบุหรี่ เลขทะเบียน ๒๔๓/๓
ฝาซอง “ฝีมืออ้ายจีนอั้งกี่สานซองบุหรี่ถวายพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงค์ราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย...”
ตัวซอง “...ได้ทรงพระกรุณาโปรดปล่อย ข้าพระพุทธเจ้าเป็นสัตย์ผู้ยากสักครั้งหนึ่ง สานเมื่อวันที่ ๑๖/๘/๑๒๔”


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/77943669880429_3.JPG)
การร้องทุกข์ต่อพระมหากษัตริย์นั้นมีมาแต่สมัยสุโขทัย รัชกาลพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
โปรดให้แขวนกระดิ่งไว้ที่ประตูเมือง เพื่อให้ราษฎรที่เดือดร้อนทุกข์ยากมาสั่นกระดิ่งร้องทุกข์
ต่อพระองค์ได้โดยตรง....ภาพจาก อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย


ที่มา : อักขรานุกรมประวัติศาสตร์ไทย กรมศิลปากรจัดพิมพ์ พุทธศักราช ๒๕๓๘