[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 31 มีนาคม 2560 17:14:17



หัวข้อ: พระไตรปิฎก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 31 มีนาคม 2560 17:14:17

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/97150443121790_70234cf72_696x400_1_.jpg)

พระไตรปิฎก

จากหนังสือ “เก็บเพชรจากคัมภีร์พระไตรปิฎก” เสฐียรพงษ์ วรรณปก เขียนถึงวิธีศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกไว้ว่า พระไตรปิฎกคืออะไร พระไตรปิฎกคือคัมภีร์บันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้า (คำสอนของคนอื่นที่พระพุทธองค์ทรงรับรองก็นับรวมในที่นี้ด้วย) แบ่งเป็น ๓ ปิฎกคือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก

๑.พระวินัยปิฎก ว่าด้วยสิกขาบทของพระภิกษุสงฆ์ และภิกษุณีสงฆ์ รวมถึงความเป็นมา ความเป็นอยู่ของสงฆ์ ระเบียบวิธีปฏิบัติอันเรียกว่าสังฆกรรม การก่อกำเนิดและวิวัฒนาการของภิกษุณีสงฆ์ นอกจากนี้ยังมีพุทธประวัติช่วงหลังตรัสรู้จนถึงการวางรากฐานพระพุทธศาสนา และประวัติสังคายนาครั้งที่ ๑ และที่ ๒ ด้วย แบ่งโดยย่อๆ เป็น ๓ หมวด คือ วิภังค์ ขันธกะ และปริวาร

๒.พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยเทศนาของพระพุทธเจ้าและพระสาวกสำคัญบางรูป ตลอดถึงภาษิตของเทวดาที่ทรงรับรองว่าเป็นสุภาษิต แบ่งเป็น ๕ นิกาย หรือหมวด คือ ๑.ทีฆนิกาย ว่าด้วยพระสูตรที่มีเนื้อหา ยาวมาก ๒.มัชฌิมนิกาย ว่าด้วยพระสูตรที่มีเนื้อหายาวปานกลาง ๓.สังยุตตนิกาย ว่าด้วยการประมวลพระสูตรที่มีเนื้อหาทำนองเดียวกันไว้ในหมวดเดียวกัน ๔.อังคุตตรนิกาย ว่าด้วยประมวลหมวดธรรมตามจำนวนหัวข้อธรรมจากน้อยไปหามาก และ ๕.ขุททกนิกาย ว่าด้วยหมวดเบ็ดเตล็ดที่ตกหล่นจากการจัดหมวดข้างต้น

เนื้อหาในพระสุตตันตปิฎกทั้ง ๕ นิกายนี้ นักปราชญ์ทั้งหลายถือว่า ๔ นิกายแรกนั้นเก่าแก่ โดยเฉพาะทีฆนิกายน่าจะเก่าแก่กว่าทุกนิกาย ส่วนขุททกนิกาย ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นนิกายปลีกย่อยหรือปกิณกะเพิ่มเติมมาภายหลัง เนื้อหาบางส่วน ส่อเค้าว่าเพิ่มเติมมาในศรีลังกาเสียด้วยซ้ำ เช่น ขุททกปาฐะ จริยาปิฎก ยกเว้นสุตตนิบาต และธรรมบทที่ถือกันว่าเก่าแก่มาก

๓.พระอภิธรรมปิฎก ว่าด้วยการอธิบายธรรมในพระสูตรนั้นแลให้ละเอียดพิสดาร ในแง่วิชาการที่เป็นระบบ มี ๗ หมวดคือ ๑.ธรรมสังคณี ประมวลหัวข้อหมวดธรรมเข้าด้วยกัน ๒.วิภังค์ อธิบายหมวดธรรมในข้อ(๑) นั้นโดยพิสดาร ๓.ธาตุกถา อธิบายวิธีจัดข้อธรรมต่างๆ เข้าในขันธ์ ธาตุ อายตนะ ๔.ปุคคลบัญญัติ บัญญัติเรียกบุคคลต่างๆ ตามคุณธรรมที่มี ๕.กถาวัตถุ วินิจฉัยทัศนะของนิกายพุทธต่างๆ เน้นความถูกต้องของนิกายเถรวาท ๖.ยมก ยกข้อธรรมขึ้นถามตอบ โดยตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ๆ และ ๗.ปัฏฐาน อธิบายปัจจัยที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ๒๔ แบบ

พระอภิธรรมปิฎก เชื่อกันว่าวิวัฒนาการมาในยุคหลัง ภาษาที่ใช้ก็เป็นภาษาหนังสือที่เรียบเรียงเป็นขั้นเป็นตอน ในแง่ประวัติความเป็นมาก็บ่งบอกว่าได้แตกแขนงออกจากธรรม-วินัย ซึ่งมีมาแต่ดั้งเดิม โดยเป็นแขนงหนึ่งของ “ธรรม” นั่นเอง

พระธรรมปิฎก ได้กล่าวถึงประโยชน์ของการศึกษาพระไตรปิฎกไว้ ๖ ประการ ดังนี้
๑.เป็นที่รวมไว้ซึ่งพุทธพจน์ คือพระดำรัสของพระพุทธเจ้า คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ได้ตรัสไว้เอง เท่าที่ตกทอดมาถึงเรา มีมาในพระไตรปิฎก เรารู้จักคำสอนของพระพุทธเจ้าจากพระไตรปิฎก

๒.เป็นที่สถิตของพระศาสดาของพุทธศาสนิกชน เพราะเป็นที่บรรจุพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ให้เป็นศาสดาแทนพระองค์ เราจะเฝ้าหรือรู้จักพระพุทธเจ้าได้จากพระดำรัสของพระองค์ที่ท่านรักษาไว้ในพระไตรปิฎก

๓.เป็นแหล่งต้นเดิมของคำสอนในพระพุทธศาสนา คำสอน คำอธิบาย คัมภีร์ หนังสือ ตำรา ที่อาจารย์และนักปราชญ์ทั้งหลายพูด กล่าวหรือเรียบเรียงไว้ ที่จัดว่าเป็นของในพระพุทธศาสนา จะต้องสืบขยายออกมาและเป็นไปตามคำสอนที่เป็นต้นเค้า หรือฐานเดิมในพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นตำราแม่บท

๔.เป็นหลักฐานอ้างอิงการแสดงหรือยืนยันหลักการที่กล่าวว่าเป็นพระพุทธศาสนา การอธิบายหรือกล่าวอ้างเกี่ยวกับหลักการของพระพุทธศาสนาจะเป็นที่น่าเชื่อถือหรือยอมรับได้ด้วยดี เมื่ออ้างอิง ขั้นสุดท้ายสูงสุด

๕.เป็นมาตรฐานตรวจสอบคำสอนในพระพุทธศาสนา คำสอนหรือคำกล่าวใดๆ ที่จะถือว่าเป็นคำสอนในพระพุทธศาสนาได้จะต้องสอดคล้องกับพระธรรมวินัย ซึ่งมีมาในพระไตรปิฎก (แม้แต่คำหรือข้อความในพระไตรปิฎกเอง ถ้าส่วนใดถูกสงสัยว่าจะแปลกปลอมก็ตรวจสอบด้วยคำสอนทั่วไปในพระไตรปิฎก)

และ ๖.เป็นมาตรฐานตรวจสอบความเชื่อถือและข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนา ความเชื่อถือหรือข้อปฏิบัติตลอดจนพฤติกรรมใดๆ จะวินิจฉัยว่าถูกต้องหรือผิดพลาด เป็นพระพุทธศาสนาหรือไม่ ก็โดยอาศัยพระธรรมวินัยที่มีมาในพระไตรปิฎกเป็นเครื่องตัดสิน


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/83398837182256_pinantol_1_.jpg)

จอมมโนถามถึงความเป็นมาของพระไตรปิฎกและประโยชน์ของการศึกษา คำตอบมาจากหนังสือ “เก็บเพชรจากคัมภีร์พระไตรปิฎก” เสฐียรพงษ์ วรรณปก เขียนถึงวิธีศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก ตอบเรื่องพระไตรปิฎกคืออะไร และประโยชน์ของการศึกษาไปแล้ว วันนี้มาถึงเรื่องความเป็นมา

พระไตรปิฎกมีความเป็นมาอย่างไร
๑.สมัยพุทธกาลไม่มีพระไตรปิฎก พระพุทธองค์ทรงแสดง ธรรม-วินัย หรือพรหมจรรย์เท่านั้น ดังเวลาจะทรงส่งพระอรหันตสาวก ๖๐ รูป ไปประกาศพระพุทธศาสนา ตรัสสั่งให้ไป “ประกาศพรหมจรรย์” อันงามในเบื้องต้น (งามด้วยอธิศีลสิกขา) งามในท่ามกลาง (งามด้วย อธิจิตสิกขา) และงามในที่สุด (งามด้วยอธิปัญญาสิกขา) และเมื่อจวนจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็ตรัสว่า “หลังจากเราตถาคตล่วงลับไป ธรรมและวินัยที่เราได้แสดงและบัญญัติแก่พวกเธอ จะเป็นศาสดาของพวกเธอแทนเรา”

๒.ต่อมาเมื่อพระมหากัสสปะรวบรวมพระอรหันต์ทรงอภิญญา ๕๐๐ รูป กระทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ก็ยังคงสังคายนาพระธรรม-วินัยอยู่ แม้เมื่อกาลล่วงไปประมาณ ๑๐๐ ปี พวกภิกษุวัชชีบุตรได้ เสนอขอแก้ไขพระวินัยบัญญัติบางข้อ อ้างว่าพระพุทธองค์ประทานนโยบายไว้ให้แล้ว พระสงฆ์ทั้งหลายได้ประชุมสังคายนาวินิจฉัยข้อเสนอ (วัตถุ ๑๐ ประการ) ของพวกภิกษุวัชชีบุตรแล้วไม่ยอมรับ การทำสังคายนาครั้งนั้นก็ยังเรียกว่า ธัมมวินยวิสัชชนา (การวิสัชนาพระธรรม-วินัย) หรือธัมมวินยสังคีติ (การสังคายนาพระธรรม-วินัย)

๓.ช่วงระหว่างหลังสังคายนาครั้งที่ ๒ จนถึงครั้งที่ ๓ นี้เอง มีผู้สันนิษฐานว่า ธรรม-วินัย ได้แตกแขนงออกเป็น ๓ หมวด (เรียกว่า เตปิฎก = ไตรปิฎก) คือ ธรรมแตกออกเป็นพระสุตตันตปิฎกกับพระอภิธรรมปิฎก วินัยเป็นพระวินัยปิฎก

มีหลักฐานในจารึกสาญจิ กล่าวถึงคุณสมบัติของพระเถระ และเถรีบางรูป ว่าเชี่ยวชาญในปิฎกต่างๆ หรือบางส่วนของ พระสุตตันตปิฎก เช่น เปฏกิน = พระเถระผู้เชี่ยวชาญในปิฎกทั้งหลาย สุตตันตินี = พระเถรีผู้ทรงพระสุตตันตะ (พระสูตร) ทีฆภาณิกา = พระเถระผู้สวดทีฆนิกายได้ ปัญจเนกายิกา = พระเถระผู้ทรงจำนิกายทั้ง ๕ ได้ และมีหลักฐานอีกแห่งหนึ่ง พระโมคคัลลีบุตรได้แต่งกถาวัตถุในคราวทำสังคายนาครั้งที่ ๓ และกถาวัตถุถูกผนวกเข้าเป็นหนึ่งในอภิธรรม ๗ คัมภีร์ แสดงว่าพระไตรปิฎกเพิ่งจะมาครบสมบูรณ์ในพุทธศตวรรษที่ ๓ นี้เอง

๔.พระไตรปิฎกได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมาโดยระบบท่องจำ จนกระทั่งไปถึงศรีลังกา เมื่อ พ.ศ.๔๕๐ ได้รับการจารึกลงเป็นลายลักษณ์อักษร ในการทำสังคายนาครั้งที่ ๕ จารึกด้วยอักษรสิงหล จากนั้นก็ถ่ายทอดเป็นอักษรของชาติต่างๆ ที่สืบทอดพระไตรปิฎก แม้ประเทศไทยก็ได้พระไตรปิฎกมาจากประเทศ ศรีลังกา

๕.พระไตรปิฎกบันทึกด้วยภาษามาคธี (แขนงหนึ่งของภาษาตระกูลปรากฤต) ต่อมาได้เปลี่ยนมาเรียกเป็นภาษาบาลี หรือตันติภาษา เมื่อจารึกลงเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว เนื่องจากภาษาบาลีเป็นภาษาถิ่น (ภาษาตลาด) ไม่มีอักขระเป็นของตน ผู้ประสงค์จะเรียนพระไตรปิฎกจึงต้อง “ถอด” (transliterate) เป็นอักขระของตน เช่น เรียนที่ประเทศตะวันตกก็ถอดเป็นอักษรโรมัน เรียนที่ประเทศไทยก็ถอดเป็นอักษรไทย

๖.พระไตรปิฎกที่ใช้อ้างอิงแพร่หลายในปัจจุบันคือ ๑.ฉบับโรมัน (ของสมาคมปาลีปกรณ์) ๒.ฉบับสิงหล ของประเทศ ศรีลังกา ๓.ฉบับพม่า ของประเทศพม่า ๔.ฉบับไทย ที่ถือกันว่าถูกต้องสมบูรณ์คือฉบับสยามรัฐ

ปัจจุบันมีพระไตรปิฎกที่บันทึกลงในแผ่น CD-ROM ของมหาวิทยาลัยมหิดล และ Chatta Sangayana CD-ROM ของสถาบันค้นคว้าวิปัสสนา ธรรมคิรี อิคัทปุรี อินเดีย บรรจุพระไตรปิฎกทุกเวอร์ชั่น มีแผ่นบางๆ แผ่นเดียวก็สามารถ สืบค้นพระไตรปิฎกอักษรต่างๆ ได้สบาย ไม่จำต้องใช้หนังสือ ดังแต่ก่อน



ที่มา : ข่าวสดออนไลน์