[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ จิบกาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 03 เมษายน 2560 20:00:38



หัวข้อ: กลอนดอกสร้อย "รำพึงในป่าช้า"
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 03 เมษายน 2560 20:00:38

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/43602187310655_DSC_0013.jpg)
หลุมฝังศพ ณ เมืองเซอร์แมท (Zermatt) สวิตเซอร์แลนด์
ถ่ายภาพ : กิมเล้ง - logation ประกอบเรื่องอยู่ไกลถึงต่างประเทศค่ะ เพราะหาภาพป่าช้าในเมืองไทยค่อนข้างยาก

กลอนดอกสร้อย "รำพึงในป่าช้า"
จากภาษาอังกฤษซึ่งท่านเสฐียรโกเศศ แปลให้
ข้าพเจ้า (นาคะประทีป) ได้แต่งดัดแปลงให้เข้าธรรมเนียมไทยบ้าง


กถามุข
ดังได้ยินมา สมัยหนึ่ง ผู้มีชื่อต้องการความวิเวก เข้าไปนั่งอยู่ ณ ที่สงัดในวัดชนบท 
วลาตะวันรอนๆ จนเสียงระฆังย่ำบอกสิ้นเวลาวัน   ฝูงโคกระบือและพวกชาวนาพากันกลับที่อยู่
เป็นหมู่ๆ เมื่อสิ้นแสงตะวันแล้ว ได้ยินแต่เสียงจังหรีดเรไรกับเสียงเกราะในคอกสัตว์   นกแสกจับ
อยู่บนหอระฆังก็ร้องส่งสำเนียง ณ ที่นั้นมีต้นไทรต้นโพธิ์สูงใหญ่ ใต้ต้นล้วนมีเนินหญ้า กล่าวคือ
ที่ฝังศพต่างๆ อันแลเห็นด้วยเดือนฉาย ศพในที่เช่นนั้นก็เป็นศพพวกชาวไร่ชาวนานั่นเอง ผู้น้้น
มีความรู้สึกซึ้งเยือกเย็นใจอย่างไรแล้วรำพึงอย่างไรในหมู่ศพ ได้เขียนความในใจนั้นออกมาสู่กัน
ดังต่อไปนี้



(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/35327390746937_DSC02266.jpg)
ภาพจาก : ตำบลเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์

๑. วังเอ๋ยวังเวงหง่างเหง่ง! ย่ำค่ำระฆังขาน
ฝูงวัวควายผ้ายลาทิวากาล ค่อยค่อยผ่านท้องทุ่งมุ่งถิ่นตน
ชาวนาเหนื่อยอ่อนต่างจรกลับ ตะวันลับอับแสงทุกแห่งหน
ทิ้งทุ่งให้มืดมัวทั่วมณฑล และทิ้งตนดูเปลี่ยวอยู่เดียวเอย
๒. ยามเอ๋ยยามนี้ ปฐพีมืดมัวทั่วสถาน
อากาศเย็นเยือกหนาวคราววิกาล สงัดปานป่าใหญ่ไร้สำเนียง
มีก็แต่จังหรีดกระกรีดกริ่ง! เรไร หริ่ง! ร้องขรมระงมเสียง
คอกควายวัวรัวเกราะเปาะเปาะ! เพียง รู้ว่าเสียงเกราะแว่วแผ่วแผ่วเอย

๓. นกเอ๋ยนกแสก จับจ้องร้องแจ๊กเพียงแถกขวัญ
อยู่บนยอดหอระฆังบังแสงจันทร์ มีเถาวัลย์รุงรังถึงหลังคา
เหมือนมันฟ้องดวงจันทร์ให้ผันดู คนมาสู่ช่องพักมันรักษา
ถือเป็นที่รโหฐานนมนานมา ให้เสื่อมผาสุขสันต์ของมันเอย
๔. ต้นเอ๋ยต้นไทร สูงใหญ่รากย้อยห้อยระย้า
และต้นโพธิ์พุ่มแจ้แผ่ฉายา มีเนินหญ้าใต้ต้นเกลื่อนกล่นไป
ล้วนร่างคนในเขตประเทศนี้ ดุษณีนอนราย ณ ภายใต้
แห่งหลุมลึกลานสลดระทดใจ เรายิ่งใกล้หลุมนั้นทุกวันเอย

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/36921200777093_DSC_0595.jpg)
บรรยากาศยามค่ำคืน วัดขุนอินทประมูล ตำบลอินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง

๕. หมดเอ๋ยหมดห่วง หมดดวงวิญญาณลาญสลาย
ถึงลมเช้ารวยชื่นรื่นสบาย เตือนนกแอ่นลมผายแผดสำเนียง
อยู่ตามโรงมุงฟางข้างข้างนั้น ทั้งไก่ขันดุเหว่าระเร้าเสียง
โอ้เหมือนปลุกร่างกายนอนรายเรียง พ้นสำเนียงที่จะปลุกให้ลุกเอย
๖. ทอดเอ๋ยทอดทอดทิ้ง ยามหนาวผิงไฟล้อมอยู่พร้อมหน้า
ทิ้งเพื่อนยากแม่เหย้าหาข้าวปลา ทุกเวลาเช้าเย็นเป็นนิรันดร์
ทิ้งหนูน้อยร่อยร่อยรับ เห็นพ่อกลับปลื้มเปรมเกษมสันต์
เข้ากอดคอฉอเลาะเสนาะกรรณ สารพันทอดทิ้งทุกสิ่งเอย
๗. กองเอ๋ยกองข้าว กองสูงราวโรงนายิ่งน่าใคร่
เกิดเพราะการเก็บเกี่ยวด้วยเคียวใคร ใครเล่าไถคราดพื้นพื้นแผ่นดิน
เช้าก็ขับโคกระบือถือคันไถ สำราญใจตามเขตประเทศถิ่น
ยึดหางยามยักไปตามใจจินต์ หางยามผินตามใจเพราะใครเอย


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/89385641945732_DSC01930.JPG)

๘. ตัวเอ๋ยตัวทะยาน อย่าบันดาลดลใจให้ใฝ่ฝัน
ดูถูกกิจชาวนาสารพัน และความครอบครองกันอันชื่นบาน
เขาเป็นสุขเรียบเรียบเงียบสงัด มีปวัตติ์เป็นไปไม่วิตถาร
ขออย่าได้เย้ยเยาะพูดเราะราน ดูหมิ่นการเป็นอยู่เพื่อนตูเอย
๙. สกุลเอ๋ยสกุลสูง ชักจูงจิตฟูชูศักดิ์ศรี
อำนาจนำความสง่าอ่าอินทรีย์ ความงามนำให้มีไมตรีกัน
ความร่ำรวยอวยสุขให้ทุกอย่าง เหล่านี้ต่างรอตายทำลายขันธ์
วิถีแห่งเกียรติยศทั้งหมดนั้น แต่ล้วนผันมาประจบหลุมศพเอย
๑๐. ตัวเอ๋ยตัวหยิ่ง เจ้าอย่าชิงติซากว่ายากไร้
เห็นจมดินน่าสลดระทดใจ ที่ระลึกสิ่งไรก็ไม่มี
ไม่เหมือนอย่างบางศพญาติตบแต่ง เครื่องแสดงเกียรติเลิศประเสริฐศรี
สร้างสถานการบุณย์หนุนพลี เป็นอนุสาวรีย์สง่าเอย
๑๑. ที่เอ๋ยที่ระลึก ถึงอธึกงามลบในภพพื้น
ก็ไม่ชวนชีพที่ดับให้กลับคืน เสียงชมชื่นเชิดชูคุณผู้ตาย
เสียงประกาศเกียรติเอิกเกริกลั่น จนกระเทือนถึงกรรณน้้นอย่าหมาย
ล้วนเป็นคุณแก่ผู้ยังไม่วางวาย ชูเกียรติญาติไปภายภาคหน้าเอย

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/88875707031952__MG_9238.JPG)
ภาพจาก : วัดพนมยงค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

๑๒. ร่างเอ๋ยร่างกาย ยามตายจมพื้นดาษดื่นหลาม
อย่าดูถูกถิ่นนี้ว่าที่ทราม อาจขึ้นชื่อลือนามในก่อนไกล
อาจจะเป็นเจดีย์มีพระศพ แห่งจอมภพจักรพรรดิกษัตริย์ใหญ่
ประเสริฐสัตตรัตน์จรัสชัย ณสมัยก่อนกาลบุราณเอย
๑๓. ความเอ๋ยความรู้ เป็นเครื่องชูชี้ทางสว่างไสว
หมดโอกาสที่จะชี้ต่อนี้ไป ละห่วงใยอยากรู้ลงสู่ดิน
อันความยากหากให้ไร้ศึกษา ย่นปัญญาความรู้อยู่แค่ถิ่น
หมดทุกข์ขลุกแต่กิจคิดหากิน กระแสวิญญาณงันเพียงนั้นเอย
๑๔. ดวงเอ๋ยดวงมณี มักจะลี้ลับอยู่ในภูผา
หรือใต้ท้องห้องสมุทรสุดสายตา ก็เสื่อมซาสิ้นชมนิยมชน
บุปผชาติชูสีและมีกลิ่น อยู่ในถิ่นที่ไกลเช่นไพรสณฑ์
ไม่มีใครได้เชยเลยสักคน ย่อมบานหล่นเปล่าดายมากมายเอย
๑๕. ซากเอ๋ยซากศพ อาจเป็นซากนักรบผู้กล้าหาญ
เช่นชาวบ้านบางระจันขันรำบาญ กับหมู่ม่านมาประทุษอยุธยา
ไม่เช่นนั้นท่านกวีเช่นศรีปราชญ์ นอนอนาถเล่ห์ใบ้ไร้รักษา
หรือผู้กู้บ้านเมืองเรืองปัญญา อาจจะมานอนจมถมดินเอย


โปรดติดตามตอนต่อไป



หัวข้อ: Re: กลอนดอกสร้อย "รำพึงในป่าช้า"
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 16 ตุลาคม 2560 13:13:37

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/21912823534674_DSC_0409.JPG)
พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย
ทุ่งมะขามหย่อง ตำบลบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

๑๖. คุณเอ๋ยคุณเหลือ ผู้เอื้อเฟื้อเกื้อชาติซึ่งอาจหาญ
แน่วนับถือซื่อสัตย์ต่อรัฐบาล ไม่เห็นการส่วนตัวไม่กลัวตาย
แสวงชอบกอบคุณอุดหนุนชาติ กษัตริย์ศาสน์แม้นชีวิตปลิดถวาย
ไว้ปวัตติ์แก่ชาติญาตินิกาย ได้อ่านภายหลังลือระบือเอย
๑๗. ชาวเอ๋ยชาวนา วาสนากั้นไว้ไม่วิตถาร
ไม่ชั่วล้นดีล้นพ้นประมาณ สองประการนี้แหละขวางทางคระไล
คือไม่ลุยเลือดนั่งบัลลังก์ราช นำพินาศนรชนพ้นพิสัย
แต่ปิดทางกรุณาอันพาไป ยังคุณใหญ่ยิ่งเลิศประเสริฐเอย
๑๘. มักเอ๋ยมักใหญ่ ก่นแต่ใฝ่ฝันฟุ้งตามมุ่งหมาย
อำพรางความจริงใจไม่พร่างพราย ไม่ควรอายก็ต้องอายหมายปิดบัง
มุ่งแต่โปรยเครื่องปรุงจรุงกลิ่น คือความฟูมฟายสินลิ้นโอหัง
ลงในเพลิงเกียรติศักดิ์ประจักษ์ดัง เปลวเพลิงปลั่งหอมกลบตระหลบเอย
๑๙. ห่างเอ๋ยห่างไกล ห่างจากพวกมักใหญ่ฝักใฝ่หา
แต่สิ่งซึ่งเหลวไหลใส่อาตมา ความมักน้อยชาวนาไม่น้อมไป
เพื่อนรักษาความสราญฐานวิเวก ร่มชื้นเฉกหุบเขาลำเนาไศล
สันโดษดับฟุ้งซ่านทะยานใจ ตามวิสัยชาวนาเย็นกว่าเอย
๒๐.ศพเอ๋ยศพไพร่ ไม่มีใครขึ้นชื่อระบือขาน
ไม่เกรงใครนินทาว่าประจาน ไม่มีการจารึกบันทึกคุณ
ถึงบางทีมีบ้างเป็นอย่างเลิศ ก็ไม่ฉูดฉาดเชิดประเสริฐสุนทร์
พอเตือนใจได้บ้างในทางบุณย์ เป็นเครื่องหนุนนำเหตุสังเวชเอย
๒๑. ศพเอ๋ยศพสูง เป็นเครื่องจูงจิตให้เลื่อมใสศานติ์
จารึกคำสำนวนชวนสักการ ผิดกับฐานชาวนาคนสามัญ
ซึ่งอย่างดีก็มีกวีเถื่อน จารึกชื่อปีเดือนวันดับขันธ์
อุทิศสิ่งซึ่งสร้างตามทางธรรม์ ของผู้นั้นผู้นี้แก่ผีเอย
๒๒. ห่วงเอ๋ยห่วงอะไร ไม่ยิ่งใหญ่เท่าห่วงดวงชีวิต
แม้คนลืมสิ่งใดได้สนิท ก็ยังคิดขึ้นได้เมื่อใกล้ตาย
ใครจะยอมละทิ้งซึ่งสิ่งสุข เคยเป็นทุกข์ห่วงใยเสียได้ง่าย
ใครจะยอมละแดนแสนสบาย โดยไม่ชายตาใฝ่อาลัยเอย
๒๓. ดวงเอ๋ยดวงจิต ลืมสนิทกิจการงานทั้งหลาย
ย่อมละชีพเคยสุขสนุกสบาย เคยเสียดายเคยวิตกเคยปกครอง
ละถิ่นที่สำราญเบิกบานจิต ซึ่งเคยคิดใฝ่เฝ้าเป็นเจ้าของ
หมดวิตกหมดเสียดายหมดหมายปอง ไม่ผินหลังเหลียวมองด้วยซ้ำเอย
๒๔. ดวงเอ๋ยดวงวิญญาณ เมื่อยามลาญละพรากไปจากขันธ์
ปองแต่ให้ญาติมิตรสนิทกัน คล่าวน้ำตาต่างบรรณาการไป
ธรรมดาพาคะนึงไปถึงหลุม หรือที่ชุมเพลิงเผาเฝ้าร้องไห้
คิดถึงกาลก่อนเก่ายิ่งเศร้าใจ ตามวิสัยธรรมดาเกิดมาเอย
๒๕. ท่านเอ๋ยท่านสุภาพ ผู้ใคร่ทราบสนใจศพไร้ศักดิ์
รู้เรื่องราวจากป้ายจดลายลักษณ์ บางทีจักรำพึงคิดถึงตน
มาม้วยมรณ์นอนคู้อยู่อย่างนี้ คงจะมีผู้สังเกตในเหตุผล
ปลงสังเวชวาบเสียวเหี่ยวกมล เหมือนกับตนท่านบ้างกระมัง เอย.
๒๖. บางเอ๋ยบางที อาจจะมีผู้เฒ่าเล่าขยาย
รำพันความเป็นไปเมื่อใกล้ตาย จนตราบวายชีวาตม์อนาถใจ
"อนิจจา! เห็นเขาเมื่อเช้าตรู่ ออกจากหมู่บ้านเดินสู่เนินใหญ่
ฝ่าน้ำค้างกลางนามุ่งคลาไคล ผิงแดดในยามเช้าหน้าหนาวเอย
๒๗. ต้นเอ๋ยต้นกร่าง   อยู่ที่ข้างเนินใหญ่พุ่มใบหนา
มีรากเขินเผินพ้นพสุธา กลางวันเขาเคยมาผ่อนอารมณ์
นอนเหยียดหยัดดัดกายภายใต้ต้น           ฟังคำรนวารีมี่ขรม
กระแสชลไหลเชี่ยวเป็นเกลียวกลม เขาเคยชมลำธารสำราญเอย
๒๘. ป่าเอ๋ยป่าละเมาะ ยังอยู่เยาะเย้ยให้ถัดไปนั่น
เขาเดินป่ามานี้ไม่กี่วัน ปากรำพันจิตรำพึงคะนึงใน
บัดเดี๋ยวดูสลดระทดจิต เหมือนสิ้นคิดขัดหาที่อาศัย
หรือคล้ายคนทุกข์ถมระทมใจ หรือคู่รักร้างไม่อาลัยเอย
๒๙. ต่อเอ๋ยต่อมา ณเวลาวันใหม่มิได้เห็น
ทั้งกลางนากลางเนินเผอิญเป็น ใต้ต้นกร่างว่างเว้นเช่นเมื่อวาน
เห็นคนหนึ่งเดินไปใจว่าเขา แต่ไม่เข้ากลางนามาสถาน
ที่เขาเคยพักผ่อนแต่ก่อนกาล ทั้งไม่ผ่านป่าเล่าผิดเขาเอย
๓๐. ถัดเอ๋ยถัดมา เห็นเขาพาศพไปใจสลด
เสียงประโคมครื้นครั่นน่ารันทด ญาติทั้งหมดตามมาโศกาลัย
ทำการศพตบแต่งที่ระลึก มีบันทึกถ้อยคำประจำไว้
อยู่ที่ดงหนามนั้นถัดนั่นไป ความอย่างไรเชิญท่านไปอ่านเอย



(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/18830473596850_DSC_0449.JPG)

                   คำจารึก
๓๑. ที่เอ๋ยที่นี้ อนุสาวรีย์ศรีสถาน
แห่งชายไม่ประจักษ์ศักดิ์ศฤงคาร แม้สกุลคุณสารต่ำปานไร
ขอจงอย่าขึ้งเคียดรังเกียจเขา ขอจงเคารพงามตามวิสัย
มัจจุราชรับพาเขาคลาไคล ทิ้งร่างไว้ทวงเคารพผู้พบเอย
๓๒. น้ำเอ๋ยน้ำใจ ซึ่งเนาในร่างกายผู้ตายนี้
ล้วนสุภาพผ่องใสด้วยไมตรี อีกโอบอ้อมอารีมีในคน
คุณนี้นำชำร่วยอวยสนอง บำเหน็จมองมูลมากวิบากผล
คือห่วงใยยั่วหยัดอัสสุชล จากฝูงคนผู้ใฝ่อาลัยเอย
๓๓. แต่เอ๋ยแต่นี้ เป็นหมดที่ใฝ่จิตริษยา
เป็นหมดที่อุปถัมภ์คิดนำพา เป็นนับว่า "อโหสิกรรม" กัน
เขาจะมีดีชั่วติดตัวไป เป็นวิสัยกรรมแต่งและแสร้งสรร
เรารู้ได้แต่ปวัตติ์ปัจจุบัน ซึ่งทิ้งอยู่คู่กันกับนามเอย.

----------------------------


หัวข้อ: Re: กลอนดอกสร้อย "รำพึงในป่าช้า"
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 16 ตุลาคม 2560 14:49:55
(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcT-9fmkfRdDFoMe1AGm0nPuCcX9dx4z-A3z4rEhyFbL9_NhWfnSdw)

กลอนดอกสร้อยรำพึงในป่าช้า

เรื่องนี้ท่านผู้ประพันธ์ (พระยาอุปกิตศิลปสาร) ได้บอกไว้ดังนี้ “...ท่านเสฐียรโกเศศแปลให้ ข้าพเจ้าได้แต่งตัดแปลงให้เข้ากับธรรมเนียมไทยบ้าง”  เมื่อท่านผู้ประพันธ์บอกไว้ดังนี้ เราคงใคร่จะทราบว่าเรื่องเดิมคือเรื่องอะไร เรื่องเดิมเป็นโคลงภาษาอังกฤษชื่อ Elegy Written in a Country Churchyard ผู้แต่งเป็นกวีชื่อ โธมาส เกรย์ (Thomas Gray)

การอ่านกลอนดอกสร้อยเรื่องนี้ ไม่จำเป็นต้องรู้ไปถึงต้นเรื่องเดิมในภาษาอังกฤษ รู้เฉพาะเรื่องเป็นดอกสร้อยนี้ ก็เป็นการเพียงพอแล้ว

กลอนดอกสร้อยรำพึงในป่าช้านี้ เป็นที่ติดอกติดใจของผู้อ่าน เป็นกลอนดอกสร้อยดีที่สุดเรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะบทแรกที่ว่า “วังเอ๋ยวังเวง หง่างเหง่งย่ำค่ำระฆังขาน” นั้น เพียงแต่อ่านครั้งเดียว เราก็อาจจำได้ทันที เพราะข้อความสั้นๆ นั้นจับความรู้สึก ถ้อยคำที่ใช้ก็เป็นคำสามัญๆ ที่ทำให้เราอ่านแล้วรู้สึกนึกเห็นภาพและได้ยินเสียง ในกถามุข คือคำนำของเรื่องนี้ ผู้ประพันธ์ได้บอกให้เรารู้ว่า มีใครคนหนึ่งไปนั่งอยู่ที่เงียบในป่าช้าในวัดชนบทแห่งหนึ่ง ที่ป่าช้านั้นแม้จะมีหลุมศพอยู่มาก แต่เป็นที่ร่มรื่นน่าสบาย ขณะนั้นเป็นเวลาพลบ ชาวนานำวัวควายกลับบ้าน คนๆ นั้นได้นั่งอยู่จนพระจันทร์ขึ้น เมื่อได้อยู่ในที่สงบสงัด ได้เห็นชาวนาและวัวควายของเขาเดินกลับบ้านอย่างเหนื่อยอ่อน ได้เห็นตะวันลับไป พระจันทร์ขึ้น เห็นนกกลับเข้ารัง เห็นหลุมศพอันเยือกเย็นเงียบเหงา คนผู้นั้นก็เกิดความรู้สึกนึกคิดขึ้นในใจ แล้วเขียนความรู้สึกในใจนั้นออกมาสู่กันฟัง ตามเรื่องเดิม นายโธมาส เกรย์ ได้เขียนโคลงภาษาอังกฤษเรื่องนี้ขึ้นตามความรู้สึกตอนที่เขาได้ไปนั่งโดดเดียวในป่าช้า เวลาจวนพลบจริงๆ

เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องแสดงอารมณ์ความรู้สึก เมื่อเราได้พบปะเหตุการณ์อะไรที่ประทับใจ เช่นเมื่อเห็นอะไรที่น่าเกลียดน่ากลัว น่าสงสารเวทนา หรือไปอยู่ในสถานที่สงบสงัด ก็ต้องมีความนึกคิดอะไรเกิดขึ้นในใจ ความนึกคิดนั้นบางทีก็ลึกซึ้งหรือเกิดเป็นคติธรรมขึ้น ทำให้ตนเองแลเห็นข้อเท็จจริงของชีวิต บางคนโดยเฉพาะกวี เมื่อเกิดความรู้สึกดังนี้ ก็มักจะแสดงออกมาให้ผู้อื่นรู้ โดยแต่งเป็นกาพย์กลอน คนอื่นที่อ่านกาพย์กลอนนั้น ก็พลอยเกิดความรู้สึกตามไปด้วย ถ้าความรู้สึกนึกคิดและกาพย์กลอนที่กวีแต่งนั้นดี ลึกซึ้งไพเราะ เป็นที่นิยมของผู้อ่าน กาพย์กลอนนั้นก็นับว่าเป็นวรรณคดี เช่นเรื่องกลอนดอกสร้อยรำพึงในป่าช้า นี้


(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRf9e3Tu6a5BH2qhcOMC3xKtRfC5-FgIETy579nsUL9JYb3rrh7Tg)

ลักษณะของดอกสร้อย
กลอนดอกสร้อยเดิมเป็นกลอนขับร้องเช่นเดียวกับกลอนสักวา แต่งเป็นเรื่องโต้ตอบระหว่างหญิงชาย แต่ก่อนเป็นการเล่นที่นิยมกันมาก ในเวลาที่มีการรื่นเริงสนุกสนานกัน จะเป็นที่บ้าน ตามวัดหรือตามลำน้ำ เวลามีการทอดกฐินก็มักมีการเล่นสักวาหรือดอกสร้อย ลักษณะการเล่นดอกสร้อยนั้น มักเป็นการว่าโต้ตอบกันระหว่างฝ่ายชายกับฝ่ายหญิง เช่นตัวอย่างต่อไปนี้

                              ชาย
         นอนเอ๋ยนอนกลางวัน ใฝ่ฝันว่าได้พบมารศรี
         เจ้าสาวสวัสดิ์กษัตรีย์ อยู่ดีหรือไข้เจ้าแน่งน้อย
         เรียมรักเจ้าสุดแสนทวี ตัวพี่ไม่ไข้แต่ใจสร้อย
         ดังหนึ่งเลือดตาจะหยดย้อย เพราะเพื่อน้องน้อยเจ้านานมา
                              หญิง
         น้ำเอ๋ยน้ำคำ หวานฉ่ำก็ล้ำโอชา
         นอนวันว่าฝันใฝ่หา ว่าได้มาพบเจ้าทุกราตรี
         ถามข่าวเจ้ากล่าวเกลี้ยงถึง     แสนคะนึงก็สุดชีวีพี่
         เหตุว่าลิ้นลมคารมดี เพียงเท่านี้ก็พอรู้เท่าทัน

จะเห็นว่าต้องยกหัวข้อขึ้นว่าก่อน เช่น นอนเอ๋ยนอนวัน – น้ำเอ๋ยน้ำคำ หรือ มดเอ๋ยมดแดง – โรงเอ๋ยโรงเรียน ฯลฯ แล้วแต่งต่อไปให้ได้ ๔ คำกลอนเป็นจบบท ไม่ต้องลง เอย ส่วนฝ่ายที่จะแต่งตอบต้องหาคำมารับสัมผัสกับบทก่อน อย่างเช่นตัวอย่างนั้น บทแรกส่งด้วยคำว่า “มา” บทตอบคือบทหญิง ก็ต้องแต่งหาคำมารับสัมผัสกับ “มา” คือ “โอชา

มาในปัจจุบันการแต่งบทดอกสร้อยมีระเบียบเช่นเดียวกับสักวา คือว่า แต่งบทหนึ่งสี่คำกลอน แล้วลงท้ายด้วยคำว่า “เอย” แบบสัมผัสเหมือนกับกลอนสุภาพ ดังนี้


      กองเอ๋ยกองข้าว กองสูงราวโรงนายิ่งน่าใคร่
เกิดเพราะการเก็บเกี่ยวด้วยเคียวใคร       ใครเล่าไถคราดพื้นพื้นแผ่นดิน
เช้าก็ขับโคกระบือถือคันไถ สำราญใจตามเขตประเทศถิ่น
ยึดหางยามยักไปตามใจจินต์ หางยามผินตามใจเพราะใครเอย

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/30128365548120__3585_3621_3629_3609_.gif)

๐ = หนึ่งคำหนึ่งพยางค์ เช่น อย่า ใจ ให้ ครอบ ครอง  นับเป็นหนึ่งพยางค์ หนึ่งคำ แต่ สกุล ปวัตติ์ กษัตริย์ ประเสริฐ สมัย ถึงแม้จะเป็นสองพยางค์ คือออกเสียงสองครั้ง ก็อนุโลมเป็นคำเดียวได้

จะเห็นว่าดอกสร้อยบทหนึ่งบรรจุคำประมาณ ๖๐ คำ ถ้าไม่นับคำขึ้นต้นก็มี ๕๖ คำ  กวีต้องบรรจุความลงให้รัดกุมใน ๕๖ คำนี้ ต้องมีแง่คิดและคารมดี บทดอกสร้อยจึงจะจับใจชวนฟัง การแต่งอย่างดาดๆ เช่น จะแต่งว่า ดอกเอ๋ยดอกบัว แล้วพูดว่าดอกบัวสีอะไร ใช้ทำอะไร ดังนี้ก็ไม่มีอะไรชวนคิด  บทดอกสร้อยที่นับว่าดีนั้น ควรจะประกอบด้วยคำที่ใช้ที่ให้ความหมายดี สัมผัสดี คารมและแง่คิดดี บทดอกสร้อยรำพึงในป่าช้านี้ นับว่าถึงพร้อมด้วยคุณลักษณะทั้งสามประการนั้น


ประวัติพระยาอุปกิตศิลปสาร
อำมาตย์เอก พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) เป็นอาจารย์ภาษาไทยผู้แต่งตำราไวยากรณ์ไทย ๔ เล่ม คือ อักขรวิธี วจีวิภาค วากยสัมพันธ์ ฉันทลักษณ์  อันเป็นตำราไวยากรณ์ไทยบริบูรณ์ที่สุดเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๒๒ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๔  ท่านได้แต่งเรื่องที่เป็นคำประพันธ์ไว้หลายเรื่อง เช่น คำฉันท์ยอเกียรติชาวนครราชสีมา และสงครามภารตะคำกลอน เป็นต้น โดยที่ท่านเป็นอาจารย์ภาษาไทย เป็นมหาเปรียญ เรื่องที่ท่านแต่งจึงมีระเบียบถูกต้องตามหลักภาษา ควรถือเป็นแบบฉบับได้