[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 07 เมษายน 2560 13:49:58



หัวข้อ: พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฏก ปรัชญาพื้นฐานเกี่ยวกับการสอน
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 07 เมษายน 2560 13:49:58

(http://www.learntripitaka.com/History/Images/D14.jpg)

พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฏก (๑)
ปรัชญาพื้นฐานเกี่ยวกับการสอน

ตามหลักพระพุทธศาสนานั้น ทุกข์ (ปัญหาต่างๆ ในชีวิต) เป็นสิ่งที่มนุษย์ทั้งหลายจะพึงเผชิญ ไม่มีมนุษย์คนไหนที่เกิดมาแล้วจะไม่ประสบพบเจอความทุกข์

ทุกข์ระดับพื้นฐานก็คือ ความขัดข้องต่างๆ ในชีวิต ความเดือดร้อน ลำบาก ความเจ็บปวด ความสูญเสีย ความพลัดพรากจากสิ่งที่เรารัก ความประจวบกับสิ่งที่เราไม่รักไม่ปรารถนา เช่น พบหน้าคนที่เราเกลียด ก็เป็นทุกข์  รวมไปถึงทุกข์ระดับสุดยอดแห่งชีวิตคือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย การเวียนว่ายในสังสารวัฏ

สรุปแล้ว ชีวิตของมนุษย์เรานี้มีปัญหา ว่ากันด้วยภาษาที่สื่อสารกันได้ง่ายๆ อย่างนี้เถอะครับ

การแก้ทุกข์ หรือการแก้ปัญหาที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา มิใช่ว่าจะต้องปิดหูปิดตาไม่ยอมรับรู้ว่ามันมีทุกข์ มิใช่แกล้งลืมๆ มันเสีย มิใช่วิ่งหนีมันจนสุดโลก ถ้าแก้ปัญหาโดยวิธีนี้ แก้จนตายก็ไม่มีทางพ้นทุกข์ได้

ทางที่ถูกที่ควรคือ ต้องหันหน้าเข้ามาประจันกับความทุกข์ หันหน้าเข้ามาทำความรู้ความเข้าใจกับปัญหาให้มันถูกต้อง

การจะรู้จะเข้าใจปัญหาให้ถูกต้อง จะต้องรู้ลึกไปถึงต้นตอ รากเหง้า หรือเหตุเกิดของทุกข์หรือปัญหาด้วย จึงครอบคลุมถึงการรู้จักต้นตอของมันด้วย

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ทุกข์หรือปัญหาสารพัดรูปแบบนั้น ดูเผินๆ แล้วมีสาเหตุหรือต้นตอมากมาย แต่ดูให้ลึก ดูให้ดีแล้ว มันมาจากสาเหตุหรือต้นตอใหญ่เพียงประการเดียวคือ ตัณหาความอยากไม่มีที่สิ้นสุดของมนุษย์

และตัณหานั้นมาจาก อวิชชา (ความไม่รู้ ไม่เข้าใจ) อีกต่อหนึ่ง เพราะความไม่รู้ ไม่เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น อันมีความอยากเป็นตัวกระตุ้น สนับสนุน มนุษย์จึงกระทำการต่างๆ ในทางที่ก่อให้เกิดความยุ่งยากแก่ตัวเองและสังคมรอบด้าน ยิ่งทำยิ่งเคลื่อนไหวมาก ก็ยิ่งเพิ่มปัญหามากยิ่งขึ้น ในที่สุดแทนจะเป็นการแก้ปัญหา กลับเป็นการสร้างปัญหาหนักขึ้นไปจนบางทียากที่จะแก้ไข ไม่ผิดอะไรกับลิงติดตัง ว่ากันอย่างนั้น

ไม่เล่าก็เห็นภาพนะครับ ขอเล่านิทานแทรกตรงนี้เสียเลย

ไอ้จ๋อมันซอนไปตามธรรมชาติของลิง วันหนึ่งเห็นคนเขาเอาตังสำหรับดักสัตว์มาวางไว้ ด้วยความซนอยากรู้ว่ามันเป็นอย่างไร จึงเอามือขวาไปจับตัง ตังติดมือแกะไม่ออก มันก็เอามือซ้ายจับอีกมือหนึ่ง ติดอีก  คราวนี้ไอ้จ๋อมันจึงเอาเท้าซ้ายยัน เท้าซ้ายกลับติดหนึบ

มันจึงเอาเท้าขวายันออก เท้าขวาก็ติดอีก คราวนี้ไอ้จ๋อผู้น่าสงสารจึงดิ้นเต็มที่ มันกลิ้งหลุนๆ ดั่งหนึ่งลูกฟุตบอลที่โดนดาวซัลโวเตะ น่าสงสารอย่างยิ่ง

วาดภาพเอาก็แล้วกัน คนที่ถูกอวิชชาความไม่รู้ตามความเป็นจริงครอบงำ ถูกตัณหา ความทะเยอทะยานอยากไม่รู้จบผสมหรือสนับสนุนเข้าอีกแรงหนึ่ง ก็จะตกอยู่ในสภาพไม่ต่างกับไอ้จ๋อติดตังฉันนั้น

ในทางพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธองค์ตรัสสอนว่า การจะแก้ปัญหาและต้นตอของปัญหาได้จะต้อง “ศึกษา” ตามศัพท์แปลว่าสำเหนียกรู้และปฏิบัติ ระบบการศึกษาตามนัยพระพุทธศาสนาคือ การฝึกฝนอบรมบุคคลให้พัฒนาปัญญา มีเจตคติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง ปฏิบัติและจัดการกับสิ่งทั้งหลายตามที่ควรจะเป็น

เอ๊ะ พูดไปยาวชักจะเป็นวิชาการเกินไป ใช้ศัพท์ใช้แสงฟังไม่รู้เรื่อง “เจตคติ” บ้าง “พัฒนาปัญญา” บ้าง เอางี้แล้วกัน พูดให้เข้าใจง่ายๆ การศึกษาที่ว่านี้คือ ฝึกให้เกิดความรู้ความเข้าใจนั่นเอง

คนเราเมื่อเข้าใจแล้ว ปัญหาย่อมหมดไปเอง บางทีไม่ทันจะคิดแก้เสียด้วยซ้ำ พอร้อง “อ๋อ เข้าใจแล้ว” เท่านั้น ปัญหาหมดไปเลย เหมือนเปิดสวิตซ์ปั๊บ แสงสว่างมีปุ๊บ ความมืดมันหายวับไปกับตาทันทีเลย  ไอ้ที่รู้ผิดๆ มาก่อน พอเกิดความรู้ที่ถูกต้องแล้ว ก็หายสงสัยยังกลับปลิดทิ้ง

พูดถึงเรื่องนี้นึกถึงหลวงปู่อูติตถิระ แห่งประเทศพม่า (ป่านนี้ท่านคงมรณภาพไปนานแล้ว เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๐ ประมาณนั้น ผมยังบวชพระอยู่ ไปศึกษาวิชาภาษาบาลีและสันสกฤตที่มหาวิทยาลัยเก่าแก่แห่งหนึ่งที่ประเทศอังกฤษ  ระยะนั้นวัดไทยพุทธปทีป (ปทีป นะครับ อย่าเขียน ประทีป) เพิ่งเปิดใหม่ๆ เวลาปิดเทอมผมก็ลงมาช่วยงานพระธรรามทูตที่ลอนดอน จำได้ว่า ปีนั้นทางวัดได้จัดงานวันวิสาขบูชา ค่อนข้างใหญ่โต

พระเถระพม่า พระเถระลังกา และนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา อาทิ คริสต์มาส ฮัมฟรีย์ส นายกพุทธสมาคมกรุงลอนดอน มิสเตอร์และมิสซิสวอลซ์ สองสามีภรรยาผู้มีความรู้ในทางพระพุทธศาสนา ได้รับนิมนต์และรับเชิญมาแสดงธรรมและกล่าวธรรมกถาด้วย

หลวงปู่อูติตถิระถูกกำหนดให้แสดงธรรมเรื่อง “นิพพาน” หลวงปู่กล่าวว่า เรื่องนิพพานไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมาพูดกัน ผู้พูดก็ไม่รู้ ผู้ฟังก็ไม่รู้ ไม่รู้กับไม่รู้บวกกันก็ยิ่งจะเข้ารกเข้าพงกันไปใหญ่

“เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน” หลวงปู่ว่า “อาตมาจะเล่านิทานให้ฟังก็แล้วกัน”  แล้วท่านก็เล่านิทานว่า หญิงสาวคนหนึ่งยังไม่เคยแต่งงาน ไม่รู้ว่าการการแต่งงานนั้นเป็นอย่างไร (ความจริงท่านต้องการจะพูดว่า การมีเพศสัมพันธ์นั้นเป็นอย่างไร แต่ท่านเป็นพระท่านไม่ใช้คำนี้ ใช้คำให้รู้กันเอาเอง) จึงไปถามแม่ว่า “การแต่งงาน” เป็นอย่างไร

แม่บอกว่า มันไม่ต่างอะไรกับตีนคุดทะราดเหยียบกรวดดอกลูกเอ๋ย

ลูกสาวได้ยินดังนั้น ก็เข้าใจผิด เกิดความกลัวการแต่งงานมาแต่บัดนั้น เมื่อมีผู้มาสู่ขอกี่รายๆ ก็ปฏิเสธหมด

จนกระทั่งในที่สุด พ่อแม่ต้องใช้วิธีบังคับให้แต่งงาน เมื่อขัดพ่อแม่ไม่ได้ก็จำใจแต่งงาน แต่ไม่ยอมมีเพศสัมพันธ์ฉันสามีภรรยา เพราะความเข้าใจผิดที่ฝังอยู่มาเป็นเวลานาน  ในที่สุดสามีก็พยายามจนประสบความสำเร็จ หลังจากนั้นเมื่ออยู่สองต่อสองกับแม่ หญิงสาวจึงเอากำปั้นทุบหลังแม่บอกว่า “หนูรู้แล้ว ไม่เป็นอย่างที่แม่บอกสักหน่อย”

หลวงปู่อูติตถิระ เล่าถึงตรงนี้ก็สรุปว่า เบื้องแรกหญิงสาวได้ “คอนเซ็ปต์” (concept) ผิดเพราะผู้ให้การศึกษาไม่ทำตนเป็นกัลยาณมิตร จึงไม่เข้าใจตามความเป็นจริง ต่อมาเมื่อมีประสบการณ์ตรง รู้ตามความเป็นจริง ความเข้าใจผิด ความสงสัยต่างๆ ได้ปลาสนาการไปหมดสิ้น ไม่จำต้องถามใครอีกต่อไป พระนิพพานก็เช่นกัน ไม่ใช่จะมัวแต่มาถามคนอื่น อยากรู้ก็ต้องลงมือปฏิบัติให้แจ้งกระจ่างด้วยตัวเอง ท่านว่าอย่างนั้น นับเป็นการเทศนาที่แจ้งจางปางอะไรเช่นนั้น

รวมความก็คือ ปัญญาหรือความรู้ (เรียกว่าวิชชาก็ได้) เป็นตัวแก้ปัญหา การศึกษาคือ การฝึกฝนอบรมคนให้มีปัญญา เมื่อมีปัญญาแล้ว รู้ตามความเป็นจริงแล้วปัญหาก็จะแก้ไขได้

สิ่งที่ควรทำความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสอนวิธีการแก้ปัญหาก็คือ
๑.ปัญญา หรือความรู้ที่ว่านี้เป็นสิ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นในตัวผู้เรียนเอง มิใช่สิ่งที่ครูอาจารย์หยิบยื่นให้ มิใช่สิ่งที่ครูบอกว่า นี่คือความรู้ นี่ไม่ใช่ความรู้ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่นับว่าเป็นความรู้
๒.ผู้สอน คือครูบาอาจารย์ จะต้องเป็นกัลยาณมิตร คือเป็นผู้ชี้แนะที่ถูกต้องให้ ถ้าชี้แนะผิดๆ ก็อาจพาไปนอกทาง หรือผิดพลาดไปได้ อย่างไรก็ตาม บทบาทของครูอาจารย์อยู่ที่ “ชี้แนะแนวทาง” มิใช่เดินทางเอง ครูที่ทำแทนศิษย์เสียเอง มิใช่กัลยาณมิตร (ทำวิทยานิพนธ์แทนศิษย์นั่นไง ถึงศิษย์จะจบมาก็ไม่มีความรู้อะไร นับว่าล้มละลายทางศีลธรรมทั้งศิษย์และอาจารย์ทีเดียวแหละจ้า)
๓.วิธีสอน อุบายและกลวิธีต่างๆ จำเป็นในการสอน เพราะช่วยเป็น “สื่อ” หรืออุปกรณ์ผ่อนแรงการเรียนการสอน และเสริมให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างรวดเร็วและดีขึ้น
๔.อิสรภาพในทางความคิด เป็นสิ่งสำคัญในกระบวนการเรียนการสอน ครูไม่ใช่ผู้เผด็จการทางปัญญา ครูมิใช่ผู้ให้ “สูตรสำเร็จ” แก่ศิษย์ ครูต้องช่วยให้เด็กดึงศักยภาพของตัวเองออกมาคิดวิเคราะห์ด้วยตัวเองอย่างอิสระ โดยไม่ถูกครอบงำ

พระพุทธองค์ทรงเป็นตัวอย่างในเรื่องนี้เป็นอย่างดี ทรงเป็นอย่างไรจะนำมาเสนอให้ฟังคราวหน้า

ขอแถมอีกนิดหน่อยก่อนจะจบตอนนี้ ปัญญาเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในกระบวนการศึกษา สมควรเข้าใจสักเล็กน้อยว่า ปัญญาคืออะไร

ปัญญามักแปลเป็นไทยว่า “ความรู้” ควรแยกความรู้ออกเป็น ๒ ระดับ คือ
๑.ความรู้ระดับสดับตรับฟัง หรือเล่าเรียน อ่าน หรือรับการถ่ายทอดจากแหล่งต่างๆ ผู้มีความรู้อย่างนี้มากจะเรียกว่า พหูสูต (ผู้คงแก่เรียน) ความรู้ระดับนี้ถึงจะมีประโยชน์มากในการดำรงชีวิต แต่มิใช่เป้าหมายแท้ของระบบการศึกษาตามแนวพระพุทธศาสนา  มีความรู้ระดับนี้ก็ดีกว่าไม่มี แต่ถ้ามีความรู้ระดับนี้มากๆ แล้วหลงผิดใช้ความรู้มากสร้างความเดือดร้อนแก่ตนและคนอื่น สู้ไม่มีเสียดีกว่า
๒.ความเข้าใจสภาวะ รู้คิด รู้เลือกวินิจฉัย และรู้จักจัดการให้ถูกต้อง รู้แล้วปล่อยวาง โลภ โกรธ หลง เบาบางลง ยึดมั่นถือมั่น ทิฐิมานะลดน้อยลง ความรู้อย่างนี้ท่านเรียกว่า ปัญญา เป็นเป้าหมายสำคัญในระบบการศึกษาแบบพุทธ

ที่เรียกว่า ระบบการฝึกฝนอบรมตามแนวพระพุทธศาสนา คือ สร้างปัญญา (ความรู้) ให้เกิดขึ้นนั้น หมายถึงปัญญาประเภทนี้ขอรับ

ปัญญา หรือความรู้ประเภทนี้ มิได้วัดกันด้วยปริญญาบัตร คนไม่มีปริญญาบัตรแม้แต่ใบเดียวก็มีปัญญาประเภทนี้ได้

พระอรหันต์ทั้งหลายไม่เห็นท่านต้องมีใบปริญญาบัตรเลยครับ



ที่มา : พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฏก (๑) ปรัชญาพื้นฐานเกี่ยวกับการสอน โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ หน้า ๖๗ ฉบับที่ ๑๙๑๒ ประจำวันที่ ๗-๑๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๐


หัวข้อ: Re: พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฏก ปรัชญาพื้นฐานเกี่ยวกับการสอน
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 21 เมษายน 2560 16:18:36

(http://content.answers.com/main/content/img/BritannicaConcise/images/37225.jpg)

พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฏก (๒-๓)
(ผู้สอน : คุณสมบัติที่พึงประสงค์)

คราวที่แล้วพูดถึงปรัชญาพื้นฐานของการสอน ได้พูดว่า ตามหลักพระพุทธศาสนาถือว่า ทุกข์ คือ ปัญหาของชีวิตนั้น มาจากสาเหตุคือตัณหา ความทะยานอยากในรูปแบบต่างๆ และตัณหาความอยากเองก็มาจากอวิชชา หรือความไม่รู้ตามเป็นจริงอีกต่อหนึ่ง การอบรมสั่งสอนคนก็เพื่อเป้าหมาย คือให้เกิดปัญญา ความรู้แจ้งเห็นจริงซึ่งสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริงเพื่อที่จะได้ลดละตัณหาอวิชชานั้นเอง

ได้พูดว่า ปัญญานั้นมี ๒ ระดับ คือปัญญาระดับพื้นฐาน เป็นความรู้ที่ได้จากการสะสม เช่น ได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่าน ได้ศึกษาจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ปัญญาระดับนี้ว่าความจริงแล้วไม่เรียกว่า “ปัญญา” ดอกครับ ท่านเรียกว่า “สุตะ” ถ้ามีมากๆ ท่านเรียกว่า “พาหุสัจจะ” (ความเป็นผู้มีสุตะมาก. ความเป็นผู้คงแก่เรียน)

อีกระดับหนึ่งได้แก่ ความรู้ความเข้าใจสภาวะ รู้คิด รู้เลือกคิดวินิจฉัย และรู้ที่จะจัดการ เป็นความ “สว่างโพล่งภายใน” เป็นประสบการณ์ตรง ไม่ใช่จำมาจากคำบอกเล่าของผู้อื่น ทางพระท่านเรียกว่า วิชชาบ้าง โพธิบ้าง ปริญญาบ้าง ปฏิสัมภิทาบ้าง วิปัสสนาบ้าง

ที่ตรงมากที่สุดและพูดถึงบ่อยกว่าคำอื่นคือ ญาณ (การหยั่งรู้) ฝรั่งแปลว่า insight, enlightenment

ท้ายที่สุดได้พูดว่า ปัญญานั้นเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นในตัวผู้เรียนเอง มิใช่สิ่งที่ครูไปยัดเยียดให้ ผู้สอนทำหน้าที่เป็นเพียง “กัลยาณมิตร” (ผู้แนะนำที่ดี) และอิสรภาพในทางความคิดเป็นสิ่งสำคัญสำหรับกระบวนการเรียนการสอนตามแนวพุทธ

วันนี้ก็จะขอ “เทศน์” ต่อ (สงสัย ๓๐ ตอบจบ)

เมื่อถึงกระบวนการเรียนการสอน สิ่งแรกที่จะพูดถึงนอกจากผู้เรียนแล้ว ก็คือผู้สอน หรือครู ครูควรมีคุณสมบัติอย่างไร จึงจะทำให้กระบวนการเรียนการสอนเป็นไปด้วยดี หรือประสบความสำเร็จ

เมื่อ “แหงนดู” พระบรมศาสดาผู้ทรงเป็นพระบรมครู (เป็นครูชั้นยอด) ของโลกเราจะมองเห็นคุณสมบัติของพระองค์เด่นอยู่ ๒ ประการคือ บุคลิกภาพ กับคุณธรรม

ก.ด้านบุคลิกภาพ
จะไม่พูดว่าบุคลิกภาพคืออะไร เดี๋ยวจะหมดไปอีกสามสี่ตอน เอาเป็นว่ารู้ๆ กันอยู่แล้วว่าคืออะไร (เข้าใจว่าอย่างนั้น) พระพุทธเจ้าทรงมีบุคลิกภาพดีเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นทางด้านความสง่างามแห่งพระวรกาย พระสุรเสียง ที่มีพลังโน้มน้าวจิตใจ

และพระบุคลิกลักษณะอันควรแก่ศรัทธาปสาทะทุกประการ

๑.ในด้านความสง่างามแห่งพระวรกายนั้น เรามักจะได้ยินเสมอว่าพระพุทธองค์ทรงประกอบไปด้วยปุริสลักษณะ (ลักษณะอันสง่างามของบุรุษ) ๓๒ ประการ และอนุพยัญชนะ (รายละเอียดปลีกย่อยอีก) ๘๐ ประการ มีอะไรบ้างนั้นเป็นรายละเอียดที่ต้องไปค้นหาเอาภายหลังครับ

สรุปสั้นๆ พระพุทธองค์นั้น “หล่อ” อย่างหาผู้เปรียบปานมิได้ มีผู้ชมพระองค์ด้วยคำสั้นๆ แต่ได้ความสมบูรณ์ว่า “พระสมณโคดม มีพระรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีพระฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก วรรณะและพระสรีระดุจดังพระพรหมน่าดูน่าชมนักหนา”

เด็กหนุ่มคนหนึ่ง ทันทีที่เห็นพระพุทธองค์ ก็ติดใจในความหล่อเหลาของพระองค์ ติดตามไปดู

ดูอย่างไรก็ไม่เบื่อ มีแต่ความเพลิดเพลิน เจริญเนตรเป็นอย่างยิ่ง

เรียกว่า ไม่อิ่มในการดู  จะว่าเธอเป็นเกย์ก็คงไม่ใช่ คงเป็นบุคคลประเภท “รูปัปมณิกา” (พวกที่เลื่อมใสเพราะรูปงาม, พวกที่ถือบุคลิก สง่างามเป็นประมาณ) มากกว่า

เพื่อจะได้ดูได้เห็นตลอดเวลา จึงตามไปขอบวชอยู่ด้วย

ต่อมาเมื่อ “อินทรีย์แก่กล้า” (เป็นภาษาพระหมายถึง เมื่อมีความพร้อมแล้ว) พระพุทธองค์จึงตรัสสอนด้วยคำแรกๆ ว่า ประโยชน์อะไรด้วยการมาจ้องดูรูปกายอันเน่าเปื่อยนี้

วักกลิเอ๋ย ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม

ภิกษุหนุ่มรูปนี้ชื่อ วิกกลิ เธอได้ฟังคำตักเตือนจากพระพุทธองค์แล้วตอนแรกก็เสียใจที่ถูกพระองค์ขับไล่ไม่ให้มานั่งจ้องดูอีกต่อไป คิดจะทำลายตัวเองด้วยเข้าใจว่าพระพุทธองค์ไม่เมตตาปราณีตนอีกต่อไปแล้ว

ในที่สุดก็ได้รับการช่วยเหลือจากพระพุทธองค์ให้บรรลุพระอรหันต์

พราหมณ์คนหนึ่งมีบุตรสาวสวยงาม ใครมาสู่ขอก็ไม่ยอมให้ (ที่จริงน่าจะเป็นไม่ยอมให้ลูกสาวสู่ขอใครมากกว่า เพราะธรรมเนียมแขก ฝ่ายหญิงเป็นผู้ขอฝ่ายชาย)

วันหนึ่งพบพระพุทธเจ้าประทับใจในความหล่อเหลาของพุทธองค์ ดีใจว่าลูกสาวตนจะได้คู่ครองที่เหมาะสมกันแล้วคราวนี้ บอกพระพุทธองค์ว่า สมณะๆ อย่าเพิ่งไปไหนนะ รออยู่ที่นี่ก่อน ข้าพเจ้ามีลูกสาวสวยมากคนหนึ่ง คู่ควรแก่ท่าน รอเดี๋ยวจะพาเธอมาหาท่าน

ว่าแล้วก็รีบไปเรือนตะโกนบอกให้ลูกสาวรีบแต่งตัว จะพาไปดูหนุ่มหล่อที่คู่ควรกัน

พราหมณ์เฒ่าและภรรยารีบจูงมือลูกสาวมาเพื่อพบพระพุทธเจ้า

แน่นอนบรรดาชาวบ้านทั้งหลายรู้ข่าวเข้าก็ตามมาเป็นขบวน ไม่ว่าชนชาติไหนย่อมมีความอยากรู้อยากเห็นเหมือนๆ กันแหละครับ อย่านึกว่าจะมีแต่ “ไทยมุง”  “แขกมุง” ก็มีเหมือนกัน

เมื่อพบพระพุทธองค์แล้ว ได้รับฟังธรรมเทศนาจากพระองค์ พราหมณ์เฒ่าสองคนเข้าใจในธรรม ไม่คิดยัดเยียดลูกสาวให้เป็นคู่ครองพระพุทธองค์อีกต่อไป

พราหมณ์เฒ่าอีกคนหนึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการดูบุคลิกลักษณะ พูดให้ทันสมัย ก็คือเป็นหมอดูโหงวเฮ้ง จะคบใคร จะนับถือใคร ต้องดูโหงวเฮ้งก่อน

ถ้ามีลักษณะดีงามครบตามคัมภีร์จึงจะยอมรับ

แกได้ข่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงมีบุคลิกลักษณะครบสมบูรณ์ ได้ข่าวว่าพระองค์เสด็จมาอยู่ที่หมู่บ้านของตนจึงส่งศิษย์หนุ่มไปดู

บังเอิญศิษย์หนุ่มแทนที่จะไปดูมหาปุริสลักษณะของพระพุทธองค์ กลับไปแสดงความโอหัง ดูหมิ่นพระพุทธองค์ จนถูกพระองค์ “ปราบ” ด้วยเหตุผลจนรู้สำนึก

ขณะเดียวกันก็ถูกพวกพราหมณ์อื่นๆ ในที่ประชุมเล่นงานเอาจนอับอาบ กลับไปหาอาจารย์ถูกอาจารย์ตำหนิอย่างแรงอีก ฐานไปทำเกินคำสั่ง

พราหมณ์เฒ่าจึงต้องไปดูด้วยตนเอง ทันทีที่เห็นมหาปุริสลักษณะของพระองค์ครบ ๓๒ ประการตามตำรา ก็ก้มลงกราบแทบเท้า ยอมนับถือทันที

ยิ่งได้ฟังธรรมจากพระองค์อีกก็ยิ่งเลื่อมใสมากขึ้น

เล่ามาสามเรื่องนี้เพื่อจะบอกว่าพระพุทธองค์ทรงมีพระบุคลิกษณะสง่างาม น่าเลื่อมใสเพียงใด

๒.พระสุรเสียงไพเราะ ไม่เฉพาะแต่รูปงาม สมาร์ต องอาจ ผึ่งผายเท่านั้น เสียงก็ไพเราะด้วย เสียงพูดก็เป็นอีกคุณสมบัติหนึ่งที่จูงใจให้ผู้ได้ยินได้ฟังติดใจ โดยเฉพาะสุภาพสตรี ถ้าเพียงแต่รูปร่างสวยงาม แต่เสียงที่เปล่งออกมายังกับเสียงวัวถูกเชือด เสน่ห์ที่มีก็คงลดไปไม่น้อย จริงไหมครับ

พราหมณ์คนหนึ่งนามว่า จังกี ได้สนทนากับพระพุทธเจ้า กล่าวชมพระองค์อย่างจริงใจว่า “พระสมณโคดม มีวาจาไพเราะ รู้จักตรัสถ้อยคำงดงาม มีพระวาจาสุภาพ สละสลวย ไม่มีโทษยังผู้ฟังให้เข้าใจความได้ชัดแจ้ง”

เด็กหนุ่มคนอีกคนหนึ่ง กล่าวชมพระพุทธองค์หลังจากที่ได้สนทนากับพระองค์ว่า “พระสุรเสียงที่เปล่งออกมานั้น ประกอบด้วย คุณลักษณะ ๘ ประการ คือ แจ่มใส ๑, ชัดเจน ๑, นุ่มนวล ๑. ชวนฟัง ๑. กลมกล่อม ๑. ไม่พร่า ๑. ซึ้ง ๑ กังวาน ๑”

เสียงที่มีลักษณะครบทั้ง ๘ องค์ประกอบนี้เป็นอย่างไร เชื่อว่ายังไม่มีใครได้ยิน อย่างเก่งก็เพียงหนึ่งหรือสองอย่างเท่านั้น เพียงแค่นี้ก็น่าฟังยิ่งแล้วครับ

พระอากัปกิริยามารยาท พระพุทธองค์นั้นทรงมีคุณสมบัติผู้ดีครบถ้วน ทรงมีมารยาทอันเป็นที่ยอมรับของสังคม การเคลื่อนไหวพระอิริยาบถเป็นไปด้วยงามสงบ สำรวม องอาจ สง่างาม ชวนให้อยากเข้าใกล้ชิด ชวนให้อยากเข้าไปสนทนาปราศรัย

พราหมณ์แก่คนหนึ่ง หลังจากแบ่งสมบัติให้ลูกชายและลูกสะใภ้ทุกคนแล้ว นึกว่าลูกๆ จะช่วยกันเลี้ยงดู พอเขาได้สมบัติแล้วเขาก็ขับไล่ไสส่ง อยู่บ้านลูกคนไหนก็ไม่ได้ จนต้องเร่ร่อนขอทานเขากิน พราหมณ์เฒ่าซัดเซพเนจรเข้าไปพบพระพุทธองค์ พระองค์ตรัสปฏิสันถารเขาด้วยอัธยาศัยไมตรี จนเขาคลายทุกข์โศกและทรงแนะนำอุบายให้บรรดาลูกๆ สำนึกผิดและรับกลับไปดูแลได้สำเร็จ (อุบายนั้นคืออะไร มีโอกาสค่อยเล่าภายหลัง)

ที่ต้องการพูดตรงนี้คือ อีตาพราหมณ์ทันทีที่ได้สนทนากับพระองค์ เปล่งอุทานขึ้นมาว่า พระสมณโคดมทรง “อุตตานมุขี” (มีพระพักตร์เบิกบาน) “ปุพพภาสี” (ทักทายแขกก่อน) สุขีสัมภาสี” (พูดไพเราะ ฟังแล้วมีความสุข)

สามข้อนี้น่านำมาปรับใช้สำหรับคนที่ต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนหมู่มาก โดยเฉพาะนักประชาสัมพันธ์ หรือผู้มีหน้าที่รับแขก พูดง่ายๆ ว่าเป็นหลักมนุษยสัมพันธ์อย่างดีทีเดียว

ไม่ต้องครบถึง ๓ ข้อดอกครับ เพียงแค่ข้อแรกก็เกินพอแล้ว “อุตตานมุขี” แปลตามศัพท์ว่า มีหน้าหงาย ก็คือหน้าไม่คว่ำเป็นจวักตักแกงหรือ “หน้ารับแขก” ไม่ใช่ “หน้าไล่แขก” เพียงเห็นหน้ายังไม่ทันพูดก็เปิงแล้ว

สรุปสำหรับวันนี้ก็คือ คุณสมบัติของผู้สอนโดยดูตามพระจริยาวัตรของพระพุทธองค์ผู้ทรงเป็นบรมครูก็คือ
บุคลิกภาพต้องดี
และมีคุณธรรม น่าเลื่อมใส
บุคลิกภาพได้พูดมาจนจบแล้ว

ข.ด้านคุณธรรม
ผู้ที่เป็นครูอาจารย์สอนคน จะต้องมีคุณธรรมตามอย่างพระบรมศาสดา ๓ ประการใหญ่ๆ คือ ความรู้ ความดีงาม และน้ำใจ  ซึ่งจะขอสาธยายไปตามลำดับมากน้อยแล้วแต่น้ำลายจะแตกฟองมากน้อยเพียงใด

๑.ความรู้ หรือปัญญา
ปัญญาเป็นคุณธรรมประการแรกและสำคัญที่สุดสำหรับคนที่จะสอนคนอื่น ไม่มีความรู้แล้วจะเอาอะไรไปสอนเขาเล่าครับ จริงไหม พระพุทธเจ้านั้นทรงมีความรู้ที่เรียกว่าทศพลญาณ (ความหยั่งรู้อันเป็นกำลัง ๑๐ ประการ) และปฏิสัมภิทา (ความแตกฉานในด้านต่างๆ ๔ ประการ) การสอนของพระองค์จึงประสบความสำเร็จ สามารถเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้แพร่หลายในเวลาอันรวดเร็ว ท่ามกลางหมู่ชนผู้มีความความเชื่อ “ฝังหัว” ในเรื่องเก่าๆ แปลกๆ นานัปการ

ก.ทศพลญาณ
ผมอยากแปลง่ายๆ ว่า “กำลังภายใน ๑๐ ขั้น” ตามประสาคนที่ชอบดูหนังกำลังภายใน

กำลังภายใน ๑๐ ขั้นนี้เองที่ทำให้พระพุทธองค์สอนใครแล้วคนนั้นได้บรรลุทันที

กำลังภายใน ๑๐ ประการคือ
๑.ฐานาฐานญาณ (ญาณหยั่งรู้ว่าอะไรเป็นไปได้ อะไรเป็นไปไม่ได้) ตีความง่ายๆ ก็คือ ทรงรู้ขีดขั้นความสามารถของผู้เรียนรู้ว่าแค่ไหนรับได้ แค่ไหนรับไม่ได้ ควรสอนอะไรได้แค่ไหน ที่ว่าเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ มุ่งไปที่ผู้เรียนว่ารับได้ไหม รู้ไหม เข้าใจไหม ควรจะสอนตื้นลึกเพียงใด เป็นต้น

นึกถึงเหตุการณ์ครั้งหนึ่ง ขณะเสด็จพุทธดำเนินไปในป่าสีสปาวัน (แปลกันว่า ป่าสีเสียดบ้าง ป่าประดู่ลายบ้าง) พระพุทธองค์ทรงหยิบใบไม้ขึ้นมากำมือหนึ่ง แล้วตรัสถามภิกษุสงฆ์ที่ตามเสด็จว่า “ภิกษุทั้งหลาย ใบไม้ในกำมือตถาคตกับใบไม้บนต้นไม้ในป่าอย่างไหนมากกว่ากัน”

“ในพระหัตถ์ของพระองค์มีนิดหน่อย แต่บนต้นไม้ในป่ามีมากกว่าพระเจ้าข้า” ภิกษุทั้งหลายกราบทูล

พระพุทธองค์ตรัสว่า “เช่นเดียวกันนั่นแหละ ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เราตถาคตรู้นั้น มีมากดุจใบไม้ในป่า แต่สิ่งที่เราตถาคตรู้แล้วนำมาสอนมีนิดเดียว ดุจใบไม้ในกำมือตถาคต”

ถามว่า ทำไมพระพุทธองค์ไม่สอนทุกเรื่องที่พระองค์ตรัสรู้ คำตอบก็คือ สอนน่ะสอนได้ แต่ผู้ฟังจะรับไปได้หรือไม่นั้นต่างหากเป็นสิ่งสำคัญ ความสามารถที่จะรับรู้ของผู้ฟังมีขีดจำกัด พระองค์จึงนำมาสอนเฉพาะที่เข้ารับได้และจำเป็นที่สุด

อาจารย์สอนเซนบางรูป เมื่อรับศิษย์ไว้ในสำนักแล้ว กว่าจะลงมือสอนก็ปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปตั้ง ๔-๕ ปี ศิษย์ก็ทำหน้าที่ฝ่าฟืนบ้าง ตักน้ำบ้าง หุงต้มบ้าง กวาดลานวัดบ้าง นึกน้อยใจว่าอาจารย์ไม่เมตตาสอนให้สักที ทั้งนี้เพราะอาจารย์รู้ขีดจำกัดของศิษย์ว่ายังไม่พร้อมที่จะรับสอน จึงจำต้อง “ปูพื้นฐาน” หรือสร้าง “เบสิก” ให้ศิษย์ก่อน

อย่างนี้ถ้าจะว่าไปแล้ว อาจารย์ผู้สอนท่านรู้จักใช้ “ฐานาฐานญาณ” นั้นเอง

ในพระไตรปิฎกก็มีเรื่องพระวักกลิ และเรื่องพระรูปนันทาเถรี เป็นต้น ที่พระพุทธองค์ไม่รีบสอนจนกว่าทั้งสองท่านจะมีความพร้อมที่จะรับ

๒.กัมมวิปากญาณ (ญาณหยั่งรู้การกระทำและผลของการกระทำ) ถอดความง่ายๆ ว่า หมายถึงเข้าใจกระบวนพฤติกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะผู้เรียนเป็นอย่างดีว่าเขาทำอย่างนี้ในขณะนี้เพราะอะไร มีเหตุจูงใจหรือมีแรงกดดันอะไรจึงได้ทำอย่างนี้

กำลังภายในข้อนี้สำคัญมาก ถ้าครูผู้สอนไม่มีหรือมีน้อย จะสอนศิษย์ไม่ประสบความสำเร็จเลย เพราะไม่รู้ปัญหาในใจของศิษย์และไม่รู้วิธีแก้

ลูกชายเพื่อนผมคนหนึ่ง เมื่อตอนเด็กมีนิสัยชอบขโมยของเพื่อน โดยเฉพาะของเล่น พอเพื่อนเผลอเป็นหยิบ ทั้งๆ ที่พ่อแม่ก็มิใช่ยากจน มีฐานะพอสมควร  ครูจับได้ก็สอนไม่ให้ทำอีกก็รับปาก แต่พอเพื่อนเผลอก็หยิบอีก  ครูเองก็จนปัญญา ไม่รู้จะสอนอย่างไรจึงจะให้ศิษย์คนนี้เลิกหยิบของของคนอื่น

พอดีครูนึกขึ้นมาได้ว่า เด็กอาจมีปัญหากดดันจากทางบ้าน จึงไปคุยกับพ่อแม่ของเด็ก สังเกตเห็นว่าพ่อแม่เข้มงวดมาก ไม่ยอมให้ลูกดูทีวี ไม่ยอมให้ลูกมีของเล่นเหมือนเด็กอื่นๆ อ้างว่าเป็นของฟุ่มเฟือย เด็กอยู่ในวัยกำลังเล่น เห็นเพื่อนมีของเล่น ตัวเองไม่มีก็เกิดความอิจฉา เมื่อมีโอกาสก็หยิบฉวยเอาของเล่นของเพื่อน บางทีได้มาแล้วก็ไม่เอามาเล่น เอามาทำลายทิ้งเพื่อให้ “สะใจ” อะไรทำนองนั้น

ครูจึงอธิบายให้พ่อแม่ของเด็กเข้าใจ ขอให้ซื้อของเล่นให้ลูกเล่นเหมือนเด็กอื่นๆ บ้าง จากนั้นมาไม่นานพฤติกรรมมือกาวของเด็กนั้นค่อยหายไป  นี่คือตัวอย่างของครูที่รู้จักกระบวนพฤติกรรมของศิษย์และหาทางแก้ไข ความสามารถอย่างนี้นับเป็นกำลังภายในอีกขั้นหนึ่ง

๓.สัพพัตถคามินีปฏิปทาญาณ (ญาณหยั่งรู้วิธีปฏิบัติให้บรรลุผล) กำลังภายในขั้นนี้ตีความง่ายๆ คือรู้จักอุปสรรคและวิธีแก้ไขอุปสรรคให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการนั่นเอง

มีเรื่องเล่าว่า เมืองสองเมืองทำศึกสงครามกัน เมืองแรกมีขุนศึกที่เก่งกาจในการวางแผนการรบ รบทีไรก็กำชัยชนะที่นั้น จนกระทั่งเจ้าเมืองอีกเมืองหนึ่งขยาด ระดมกุนซือที่สำคัญๆ มาปรึกษาหารือกันวางแผนรบ ไม่ว่าจะวางแผนอะไร ก็จะถูกตีได้จากฝ่ายตรงข้ามเสมอ

เพราะขุนศึกของเมืองแรกนั้นแกมีหูทิพย์สามารถได้ยินว่าฝ่ายตรงข้ามกำลังวางแผนอะไร

ต่อมามีคนล่วงรู้ความลับนี้ ไปกระซิบบอกเจ้าเมืองของเมืองที่สอง เสนาบดีหนึ่งเสนอแนะว่า เวลาจะวางแผนโจมตีเมืองข้าศึก ให้ปรึกษากันท่ามกลางเสียงอึกทึกครึกโครม ว่าแล้วก็สั่งให้คนมาตีกลองตูมตามๆ จนแสบแก้วหูขณะกำลังปรึกษาวางแผนการรบกันอยู่

ถึงเวลารบจริง เมืองที่สองสามารถเอาชนะเมืองที่หนึ่งได้ เพราะขุนศึกเมืองที่หนึ่งนั้น ไม่สามารถล่วงรู้ความลับล่วงหน้า

เรื่องเล่านี้ชี้ความจริงว่า เมืองที่สองไม่รู้อุปสรรคของการรบของตนอยู่ที่ไหนจึงแก้อุปสรรคไม่ได้ รบทีไรจึงพ่ายแพ้ทุกครั้ง ข้าศึกรู้ล่วงหน้าทุกครั้ง ไม่ว่าจะวางแผนโจมตีแบบไหนก็ตาม แต่พอรู้ปัญหาหรืออุปสรรคแล้ว และรู้วิธีป้องกันและแก้ไขแล้วก็สามารถรบชนะอย่างง่ายดาย

การสอนคนก็ไม่ต่างกัน บางคนไม่มีหัวหรือไม่ชอบทางคำนวณ พ่อแม่หรือครูอาจารย์จะเคี่ยวเข็ญให้ท่องจำ ท่องสามสี่เดือนก็ไม่ไปถึงไหน ได้แล้วลืมอยู่อย่างนี้ตลอด จนพี่ชายจนปัญญาสอน ออกปากขับไล่

พระพุทธองค์ทรงทราบว่าอุปสรรคของการเรียนของพระจูฬปันถกอยู่ที่การท่องจำ พระองค์จึงไม่ทรงให้ท่อง แต่ให้เธอทำกรรมฐานโดยนั่งเอามือลูบผ้าขาวกลางแจ้ง เมื่อเธอลูบผ้าขาวนานเข้าๆ ผ้ามันเปื้อนด้วยเหงื่อมือ ขณะนั้นจิตของพระจูฬปันถกเป็นสมาธิแน่วดิ่งลืมโลกภายนอกหมดสิ้น วิปัสสนาญาณก็เกิด คิดเปรียบเทียบผ้าขาวที่สะอาดกับสกปรก ดุจจิตใจของตน เดิมมันสะอาดแต่มาสกปรกเพราะกิเลสที่จรมา เมื่อเข้าสู่ทางที่ถูกต้องแล้ว เธอก็เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง จนกลายเป็นพระอรหันต์ในที่สุด

การรู้อุปสรรคและวิธีแก้ไขอุปสรรคแห่งการเรียนรู้ จึงเป็นกำลังภายในขั้นที่สามที่ครูพึงมีด้วยประมาณฉะนี้.


ที่มา : พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฏก (๒-๓) ผู้สอน : คุณสมบัติที่พึงประสงค์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ หน้า ๖๗ ฉบับที่ ๑๙๑๓-๑๙๑๔ ประจำวันที่ ๑๔-๒๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๐


พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฏก (๔-๖)
(ผู้สอน : คุณสมบัติที่พึงประสงค์)

(๔)นานาธาตุญาณ (ญาณหยั่งรู้ธาตุต่างๆ) ในตำราพูดถึง ธาตุ ขันธ์ อายตนะ ของบุคคลว่าสภาวะมันเป็นอย่างไร

ธาตุก็คือองค์ประกอบใหญ่ๆ ของชีวิตคือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ขันธ์คือหมวด หรือกลุ่มของรูปธรรมกับนามธรรม อายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นต้น

สรุปด้วยคำพูดง่ายๆ ก็คือ เป็นครูสอนคนอื่น ต้องรู้จักองค์ประกอบต่างๆ และการปฏิบัติหน้าที่ขององค์ประกอบเหล่านั้นในกระบวนการเรียนรู้ของบุคคล อันจะเป็นเครื่องเพิ่มประสิทธิภาพในการสอนให้ได้ผลดี

คงไม่ต้องเกณฑ์ให้ครูต้องไปฝึกถือมีดผ่าศพ เพื่อจะเรียนรู้ส่วนประกอบต่างๆ ของร่างกายว่า ตับไตไส้ปอดเป็นอย่างไร เอาเพียงแค่ให้เรียนรู้หน้าที่ขององค์ประกอบเหล่านั้นในกระบวนการเรียนรู้ของศิษย์ แล้วรู้จักเสริมเติมต่อให้การเรียนรู้นั้นเป็นไปด้วยดี

ตามีหน้าที่ดู หูมีหน้าที่ฟัง จมูกมีหน้าที่สูดกลิ่น ลิ้นมีหน้าที่ในการลิ้มรส กายมีหน้าที่รับสัมผัส ใจมีหน้าที่คิด จะต้องดูอย่างไร คิดอย่างไร ที่จะให้เกิดการเรียนรู้และปฏิบัติอย่างถูกต้อง ครูต้องเก่งในการให้คำแนะนำ

พระพุทธเจ้านั้น พระองค์ทรงรู้ดีว่า ปุถุชนทั่วไปมักจะไม่รู้จักวิธีปฏิบัติต่อองค์ประกอบเหล่านี้อย่างถูกต้อง พระองค์จึงทรงสอนให้มีสติสัมปชัญญะ (รู้เท่าและรู้ทัน) มีสังวร (ระวังควบคุมการแสดงออก) หาไม่แล้วจะตกเป็นทาสของกิเลสตัณหาซึ่งจะเกิดขึ้นจากการที่ได้เห็นได้ยิน เป็นต้นนั้น

ในพระสูตรหนึ่ง พระองค์ตรัสเปรียบเทียบว่า มีสัตว์อยู่ ๖ ตัว คือ งู นก จระเข้ สุนัขบ้าน สุนัขป่า และลิง เมื่อเอามาผูกติดกันไว้ ต่างก็จะดิ้นรนเพื่อไปสู่ที่ที่ตนเคยชิน จระเข้จะลงน้ำ สุนัขบ้านจะวิ่งเข้าบ้าน สุนัขป่าจะวิ่งเข้าป่า ลิงจะปีนขึ้นต้นไม้ ฉันใด

ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของคนมักจะทำหน้าที่ ดู ฟัง สูดกลิ่น ลิ้มรส สัมผัส และคิดคำนึงตามความเคยชินของมัน

ถ้าปล่อยให้มันเป็นไปตามความอยาก ไม่รู้จักควบคุม ก็จะถูกกิเลสตัณหาเข้าครอบงำฉันนั้นแล

ผู้เรียนรู้บางคนตกเป็นทาสตา ชอบแส่หาแต่สิ่งที่สวยงาม หรือสิ่งที่ชอบใจดู เช่น เรียน ไม่เรียน ชอบเที่ยวเตร่ไปดูหนังดูละคร ดูคอนเสิร์ต ดูลิเกละคร

บางคนก็ตกเป็นทาสของลิ้นหรือปาก เช่น ชอบหากินแต่อาหารที่เอร็ดอร่อย อยู่ไกลถึงไหนก็อุตส่าห์ถ่อสังขารไปกิน

หรือบางคนก็ชอบลิ้มชอบลองยาบ้า ยาเสพติดจนตกเป็นทาสถอนไม่ขึ้น บางคนก็ตกเป็นทาสทุกข์ “อายตนะ” ไม่ว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เอาหมดทุกอย่าง ขอแต่ให้ “อยาก” ทางไหน ก็พยายามแสวงหามาปรนเปรอหมดสิ้น

พระพุทธองค์ไม่ทรงห้ามดู ห้ามฟัง แต่ทรงสอนให้ดู ให้ฟัง เท่าที่จำเป็น หรือดูฟังด้วยสติสัมปชัญญะ เมื่อมีสติสัมปชัญญะกำกับขณะเห็น ได้ยิน จะรู้เท่ารู้ทัน เกิดญาณปัญญา

บางคนเวลาดูเวลาฟังก็พอจะมีสติสัมปชัญญะเท่าทันดี แต่เวลาคิดแล้วมักจะไม่สามารถควบคุมได้ พระพุทธองค์จะมีวิธีสอนที่เหมาะแก่เขา ขอยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่ง

พระภิกษุรูปหนึ่ง เกิดความท้อแท้ไม่อยากบวชอยู่อีกต่อไป เพราะเกิดความรู้สึกว่าศีลมีวัตรที่จะต้องรักษามากเกินไป จะทำอย่างนั้นก็ไม่ได้ ทำอย่างโน้นก็ไม่ได้ พูดอีกนัยหนึ่งว่า จะหันไปทางไหนก็ผิดหมด แทบกระดิกตัวไม่ได้อะไรทำนองนั้น จึงคิดจะลาสิกขาไปครองเรือนตามประสาโลกียชนต่อไป

อุปัชฌาย์นำตัวเข้าเฝ้า พระพุทธองค์ตรัสถามสาเหตุว่าทำไมจึงคิดสึก พระหนุ่มก็กราบทูลตามนั้น พระองค์ตรัสถามอีกว่า “ถ้าเธอคิดว่า ศีลวัตรมีมากเกินไป ตถาคตจะลดให้เหลือศีลข้อเดียวให้เธอรักษา เธอจะยินดีอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ต่อไปไหม” ภิกษุหนุ่มรับปากทันที เพราะรักษาศีลเพียงข้อเดียวง่ายกว่ารักษา ๒๒๗ ข้อ เป็นไหนๆ

พระพุทธองค์ตรัสว่า “ต่อไปนี้ ขอให้เธอรักษาจิตของเธอให้ดี”

ข้อเดียวจริงๆ ครับ แต่ถ้ารักษาข้อนี้ได้ ก็เท่ากับรักษาได้ทุกข้อนั่นแล

สรุปตรงนี้ก็คือ เป็นครูสอนคนก็ต้องมีนานาธาตุญาณคือ รู้จักวิธีพัฒนาการเรียนรู้ผ่านองค์ประกอบทางร่างกายต่างๆ เป็นอย่างดี ศิษย์คนใดควรจะเน้นองค์ประกอบใดเป็นพิเศษหรือไม่อย่างใด ครูต้องรอบรู้ทั้งปัญหา อุปสรรค และวิธีการแก้ไขเป็นอย่างดีดังที่พระพุทธองค์ทรงแก้ไขให้สาวกของพระองค์ในเรื่องข้างต้น

(๕) นานาธิมุตติกญาณ (ญาณหยั่งรู้ความโน้มเอียงของผู้เรียน) ว่ากันว่าแต่ละคนมีอัธยาศัย ความโน้มเอียง แนวความสนใจ ความถนัดไม่เหมือนกัน  ไม่ต้องดูอื่นไกล พ่อแม่มีลูกสามคน คลานตามกันออกมาจากท้องเดียวกัน อยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน ได้รับการเลี้ยงดูอย่างเดียวกัน คนโตชอบวาดรูป เขียนรูปเก่ง ทั้งๆ ที่ไม่ได้ฝึกฝนมาจากไหน  คนกลางดูกีฬาโดยเฉพาะฟุตบอลเป็นชีวิตจิตใจ เปิดดูทีวี จ้องดูแต่บอล มีเงินเท่าไหร่ก็ซื้อแต่หนังสือกีฬา วันไหนไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับกีฬาให้รู้สึกหงุดหงิด อารมณ์เสีย  คนเล็กหนังสือไม่ชอบอ่าน ชอบช่วยคุณแม่ทำครัว ทำอาหารเป็นแทบทุกอย่าง มีความสุขมากที่ได้เข้าครัวทำอาหาร

แนวความสนใจ หรือความโน้มเอียงไปคนละทาง เมื่อชอบเรื่องใดก็จะทำเรื่องนั้น ทำบ่อยๆ เข้าก็เกิดความเคยชินและชำนาญ เรียกว่ามีความถนัดในด้านนั้นๆ ใครถนัดทางด้านใด ถ้าครูผู้สอนรู้ดีก็จะทำหน้าที่สอนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี  เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นจะต้องสังเกตรู้แนวโน้มความถนัดของศิษย์ แล้วสอนให้เหมาะแก่แนวโน้ม ความถนัดนั้นๆ

พระพุทธเจ้าทรงเป็นตัวอย่างอย่างดีที่สุดในเรื่องนี้ ขอยกเรื่องเดียวสั้นๆ พระสารีบุตรมีสัทธิวิหาริก (ศิษย์ที่ท่านบวชให้เอง) รูปหนึ่ง ท่านพยายามให้กรรมฐาน เพื่อให้ศิษย์ฝึกฝนปฏิบัติ ศิษย์ที่คร่ำเคร่งปฏิบัติตามคำแนะนำของอาจารย์ ทำอย่างไรๆ ก็ไม่ก้าวหน้าสักที มีแต่ถดถอย จนอาจารย์เองก็เกือบๆ จะ “ถอดใจ” อยู่แล้ว  วันหนึ่งท่านนำนักศึกษาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสถึงเรื่องนี้และขอพระสารีบุตรว่าพระองค์จะให้กรรมฐานแก่ศิษย์พระสารีบุตรเอง

จากนั้น พระองค์ทรงนำเธอไปยังริมน้ำแห่งหนึ่ง ประทานดอกบัว (ตำราว่าทรงเนรมิตดอกปทุมขึ้นดอกหนึ่ง) ให้เธอ รับสั่งให้ปักที่กองทรายแล้วนั่งเพ่ง ขณะภิกษุหนุ่มเพ่งดอกบัวพลางบริกรรมหรือท่องในใจเบาๆ กำกับไปด้วย สักพักหนึ่งดอกบัวค่อยๆ เหี่ยวเฉาลง

เธอมองเห็นแล้วเกิดความคิดเปรียบเทียบ มองเห็นไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) สักพักใหญ่ๆ ก็บรรลุพระอรหัต

คัมภีร์บอกว่า พระสารีบุตรผู้อุปัชฌาย์ ไม่รู้อธิมุติ (ความถนัด) ของศิษย์ สอนให้ศิษย์พิจารณาดูความไม่งามของร่างกาย สอนยังไงๆ ศิษย์ก็มองไม่เห็นความน่าเกลียดของร่างกาย ยิ่งมองก็ยิ่งเห็นแต่ความงดงาม ความน่าพิศวงของร่างกาย ทั้งนี้เพราะในชาติปางก่อนไม่รู้กี่ชาติๆ ภิกษุหนุ่มเกิดเป็นช่างทอง วันๆ ขลุกอยู่กับการหลอมทองคำเครื่องประดับทองแบบต่างๆ ล้วนแต่สวยสดงดงามทั้งนั้น

เมื่อมาเกิดชาตินี้นิสัยชอบสวยชอบงามเป็นพื้นของจิตอยู่แล้ว เมื่อมีใครไปสอนว่าให้มองอะไร ว่าน่าเกลียดไม่สวยงาม ก็จะขัดกับแนวโน้มความสนใจ  ทางที่ถูกก็ต้องเอา “หนามบ่งหนาม” คือ สอนให้ดูความงามของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ดังพระพุทธเจ้าให้เธอจ้องดูดอกบัว เมื่อสิ่งที่จ้องดูนั้นมันแปรสภาพไป เธอก็จะเกิดความ “ฉุกคิด” ขึ้นมาเอง มิพักต้องให้ใครชี้นำ

อย่าลืมว่า ความรู้เกิดขึ้นที่ผู้เรียนเอง มิใช่สิ่งที่ครูยัดเยียดให้ และอย่าคิดว่าครูชอบอะไรแล้วจะต้องบังคับให้ศิษย์ชอบตามด้วย ครูคิดอย่างไรแล้วต้องให้ศิษย์คิดเหมือนตนด้วย ถ้าคิดอย่างนี้เมื่อไหร่ หน้าที่การสอนศิษย์จะล้มเหลว

ดูละครเรื่องหนึ่ง พ่อเป็นวิศวกรก็เคี่ยวเข็ญให้ลูกซึ่งชอบศิลปะ เรียนวิศวะ ในที่สุดก็หมดโอกาสที่ชื่นชมกับวิศวกรหนุ่มหล่อที่วาดหวังเอาไว้ เพราะลูกชายเมื่อถูกเคี่ยวเข็ญหนักเข้าก็เลยฆ่าตัวตาย น่าสงสารแท้ๆ

(๖) อินทริยปโรปริยัตตญาณ (ญาณหยั่งรู้ความยิ่งหรือความหย่อนแห่งอินทรีย์) ตีความง่ายๆ ไม่ต้องให้คิดให้ปวดสมองก็คือ รู้ความพร้อมของศิษย์ ว่าศิษย์แต่ละคนพร้อมที่จะให้สอนเรื่องนี้เมื่อไร

อย่าว่าแต่การสอนเลย เรื่องอื่นๆ เช่น ปลูกมะม่วงเอาผลมากิน ก็ยังต้องการความรู้ชนิดนี้เลย ไม่ต้องยกคนอื่นดอก ยก (ความโง่) ของตัวเองนี่แหละ มีมะม่วงที่หน้าบ้านต้นหนึ่ง เพื่อนเขาให้มาปลูก เป็นมะม่วงสามฤดู ปีหนึ่งออกลูกไม่รู้กี่ครั้ง ไม่ค่อยได้ดูแลเพราะไม่มีความรู้ ออกดอกแล้วก็ติดบ้างไม่มาก ส่วนมากโดนแมลงดูดกินเกสรหมด เห็นว่ามะม่วงมันโตพอสมควรแล้ว ก็ไปยืมตะกร้าสอยมะม่วงจากเพื่อนบ้านมาสอยลงบ่มไว้สามสี่วัน กะว่าจะกินมะม่วงให้อิ่มอร่อยสักหน่อย  เปิดออกมาดูปรากฏว่ามะม่วงทั้งตะกร้าเน่าหมด กินไม่ได้แม้แต่ลูกเดียว ถามคนรู้เรื่องมะม่วงว่าทำไมเป็นอย่างนั้น เขาอธิบายให้ฟังพร้อมหัวเราะไปด้วยว่า “มะม่วงมันยังไม่แก่พอ เอามันมาบ่มมันก็ไม่สุกน่ะสิ” แล้วเขาก็สอนวิธีดูมะม่วงว่า แค่ไหนอย่างไร ยังอ่อนอยู่แค่ไหน แก่พอเอามาบ่ม ไม่ใช่เห็นลูกใหญ่ๆ แล้วนึกว่าใช้ได้

มะม่วงยังไม่แก่พอก็บ่มไม่สุก คนที่อินทรีย์ยังไม่แก่ คือคนยังไม่มีความพร้อมที่จะรับสอน สอนยังไงก็ไม่สำเร็จ ฉันใดก็ฉันนั้นแล.


ที่มา : พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฏก (๔-๖) ผู้สอน : คุณสมบัติที่พึงประสงค์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ หน้า ๖๗ ฉบับที่ ๑๙๑๕ ประจำวันที่ ๒๘ เมษายน - ๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๐



หัวข้อ: Re: พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฏก ปรัชญาพื้นฐานเกี่ยวกับการสอน
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 15 พฤษภาคม 2560 16:54:10

(http://content.answers.com/main/content/img/BritannicaConcise/images/37225.jpg)

พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฏก (๕)
ผู้สอน : คุณสมบัติที่พึงประสงค์ ตอนที่ ๔

(๗) ญานาทิสังกิเลสาทิญาณ (ญาณหยั่งรู้เหตุที่ทำให้ญานเป็นต้นเสื่อม หรือเจริญ) อันนี้ตีความง่ายๆ ว่าได้แก่ รู้ปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้การเรียนรู้ล่าช้าหรือเจริญแล้วรู้จักแก้ไขให้หรือหนุนให้ดำเนินก้าวหน้าไปด้วยดี

นอกจากอุปสรรคที่กีดกั้น มิให้เรียนรู้ได้สำเร็จแล้ว ยังมีเงื่อนไขปัจจัยอย่างอื่นอีกด้วยที่คอยถ่วงให้ล่าช้ายิ่งขึ้น ที่ครูผู้สอนจะต้องรู้ให้หมด การแก้ไขจึงจะบรรลุผลโดยเร็ว เช่น คนที่ความจำไม่ดี ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเรียนนั้น อาจมิใช่เพราะสมองไม่ดีหรือสมรรถนะแห่งมันสมองเสื่อม

แต่อาจเป็นเพราะจิตใจผู้เรียนไม่สงบ เพราะมีปัญหาบางอย่างเข้ามาทับถมก็ได้ เมื่อรู้ว่าเงื่อนไขปัจจัยที่เข้ามาผสมอย่างนี้แล้ว แก้ไขให้ถูกประเด็นปัญหา ผู้เรียนก็สามารถเรียนวิชาที่ต้องท่องจำได้ โดยไม่จำต้องเปลี่ยนไปเรียนวิชาอื่นที่ไม่ต้องท่องจำ เป็นต้น

เคยมีข่าวเด็กหญิงคนหนึ่ง ตอนแรกๆ ก็เรียนหนังสือดี สอบได้เกรด ๓ เกรด ๔ แทบทุกวิชา แต่ต่อมาการเรียนของเธอตกต่ำลง ชอบขาดเรียนบ่อยๆ  ครูได้แต่คาดโทษบ้าง ทำโทษบ้าง ก็ไม่ดีขึ้น มีแต่ตกต่ำลง  ความทรงจำก็เสื่อมลง สมาธิก็ลดน้อยลง  ต่อมาครูได้ทราบข้อเท็จจริงว่า เธอต้องรับภาระเลี้ยงดูแม่ หรือยายก็จำไม่ได้ ผู้พิการ จนไม่มีเวลาทำการบ้านหรือท่องหนังสือ สมาธิในการเรียนของเธอจึงลดลง ผลการเรียนตกต่ำลง  เมื่อสังคมได้ช่วยผ่อนเบาภาระเลี้ยงดูบุพการีผู้พิการของเธอบ้างแล้ว เธอก็มีสมาธิในการเรียน  ผลการเรียนก็กระเตื้องขึ้นโดยลำดับ

(๘) ปุพเพนิวาสนุสสติญาณ (ญาณหยั่งรู้อดีตชาติ) ครูอย่างพระบรมศาสดาแน่นอนทรงหยั่งรู้อดีตชาติของผู้รับสอน เพราะทรงบรรลุสัพพัญญุตญาณ พระองค์จึงทรงสามารถสอนให้คนเข้าถึงธรรมได้ทุกคนที่ตัดสินพระทัยสอน  แต่สำหรับครูทั่วๆ ไป ไม่ต้องเอาถึงขนาดนั้น  กำลังภายในในข้อที่ ๘ ตีความง่ายๆ คือรู้พื้นเพเดิม หรือที่ภาษาการศึกษามักจะพูดว่ารู้ประสบการณ์เดิมของผู้เรียน  

ประสบการณ์เดิมนี้สำคัญ ถ้าเขามีประสบการณ์หรือมีความ “เสพคุ้น” (ภาษาพระแปลว่า ทำบ่อยๆ จนชิน)  ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็จะฝังใจอยู่ในเรื่องนั้น และทำตามนั้นโดยไม่รู้ตัวก็มี

นายเกสีคนฝึกม้า มีประสบการณ์เดิมเกี่ยวกับม้า เพราะวันๆ ขลุกอยู่แต่กับการฝึกม้า  เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปพบ จะทรงสอนธรรมแก่เขา ทรงรู้ประสบการณ์เดิมของเขาจึงชวนคุยเรื่องม้า (การฝึกม้าครับ ไม่ใช่เรื่องสนามม้า หรือแข่งม้า)

ตรัสถามเขาว่ามีเทคนิคในการฝึกม้าอย่างไร

นายเกสีภูมิใจมากที่ตรัสถามเรื่องที่เขารู้ดี จึงบรรยายวิธีการฝึกม้า ๓ วิธีให้พระพุทธองค์ฟังว่า ใช้วิธีเข้มคือ กวดขันอย่างหนัก ตีได้ก็ตี เพื่อให้หลาบจำบ้าง

ใช้วิธีละมุนละไม ค่อยๆ สอน ค่อยๆ ฝึกบ้าง ใช้ทั้งสองวิธีผสมกันบ้าง แล้วแต่โอกาสเหมาะ

เมื่อถูกถามว่า ถ้าใช้ทั้งสามวิธีแล้วไม่ได้ผล จะทำอย่างไรกับม้าตัวนั้น นายเกสีกราบทูลว่า “ก็ฆ่ามันทิ้งเสีย”

พระพุทธองค์ทรงทราบประสบการณ์เดิมของนายเกสีอย่างนี้แล้ว ก็ทรงปรับวิธีการสอนให้เหมาะแก่ประสบการณ์เดิมและการเรียนรู้ของเขา  ความสามารถในด้านนี้แหละครับ นับเป็นกำลังภายในขั้นที่ ๘

(๙) จุตูปปาตญาณ (ญาณหยั่งรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย) ความหมายเดิมก็คือ มีตาทิพย์มองดูรู้เลยว่า นายคนนี้ นางคนนั้นที่มาเกิดเป็นอย่างนี้ เพราะทำกรรมอะไรไว้ ทำบาปทำบุญไว้มากน้อยเพียงไหน จะแก้ไขโดยการช่วยให้เพิ่มบุญลดบาปได้แค่ไหนเพียงใด นั่นเป็นความสามารถของพระบรมครู

อย่างเรื่องพวกศากยะพระญาติของพระองค์ ทรงรู้ด้วยตาทิพย์ว่าชาติปางก่อนเคยร่วมกันฆ่าสัตว์ตายเป็นเบือ ผลกรรมนั้นทำให้ได้รับผลสนองมาแล้วหลายร้อยชาติ ชาติสุดท้ายเศษกรรมก็จะบันดาลให้ได้รับ นั่นก็คือจะถูกพระเจ้าวิฑูฑภะเชื้อสายของพวกตนทำลายล้าง ขณะที่วิฑูฑภะยาตราทัพเข้ามาจากเขตโกศลรัฐเข้าสู่เขตศากยรัฐ

พระพุทธเจ้าเสด็จไปดัก โดยประทับใต้ต้นไม้เงาโปร่งต้นหนึ่ง  วิฑูฑภะเห็นพระพุทธองค์ก็เสด็จไปนมัสการกราบทูลว่า ทำไมพระองค์ไม่เสด็จไปประทับใต้ต้นไม้ที่มีร่มเงาหนากว่า จะได้เย็นสบาย

บังเอิญว่าต้นไม้ต้นที่วิฑูฑภะชี้ไปนั้น อยู่ในเขตแดนโกศลรัฐ พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “มหาบพิตร ร่มเงาของญาติย่อมร่มเย็นกว่า”

เพียงเท่านี้วิฑูฑภะก็ทราบทันทีว่า พระพุทธองค์เสด็จมาปกป้องพวกศากยะ ด้วยความเกรงพระทัย จึงยกทัพกลับ  เพราะพระพุทธองค์ทรงมีจุตูปปาตญาณ จึงทรงทราบชะตากรรมของพวกศากยะ และทรงหาทางผ่อนปรนชั่วคราว แต่กรรมนั้นแก้ไม่ได้ ลบล้างไม่ได้ ใครทำใครได้ ในที่สุดก็ทรงปล่อยให้เป็นไปตามวิถีของมัน ไม่เสด็จไปขอร้องพระเจ้าวิฑูฑภะอีก  พวกศากยะจึงถูกวิฑูฑภะยกไปทำลายล้างในที่สุด ที่หลงเหลือจากสงครามครั้งนั้นไม่มากนัก

พวกศากยะจึงหายไปจากประวัติศาสตร์มาแต่บัดนั้น

มาโผล่อีกทีเมื่อจันทร์คุปต์ มหาโจรแย่งชิงบัลลังก์กษัตริย์วงศ์นันทะเมืองปาตลีบุตร สถาปนาตนเป็นพระเจ้าจันทรคุปต์ราชวงศ์เมารยะ ซึ่งอ้างตนว่าสืบเชื้อสายมาจากพวกศากยะพระญาติวงศ์ของพระพุทธเจ้า

ที่พูดกันว่าพระเจ้าอโศกเป็นเชื้อสายศากยะก็เพราะเหตุนี้แหละครับ ก็พระเจ้าอโศกท่านเป็นหลานพระเจ้าจันทรคุปต์นี่ครับ  

เมื่อผมเปรยเรื่องนี้ให้เพื่อนคนหนึ่งฟังเขาอุทานว่า “มิน่าล่ะ พระเจ้าอโศกจึงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างแข็งขัน ขนาดประกาศพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” เขาว่าอย่างนั้น

(๑๐) อาสวักขยญาณ (ญาณหยั่งรู้ความสิ้นอาสวะ) อาสวะก็คือกิเลส กิเลสก็คือ สิ่งที่หมักดองอยู่ในจิตสันดานเกาะติดอย่างเหนียวแน่นมากจนแกะไม่ออก

กิเลสมีมากมาย สรุปแล้วมี ๓ ลักษณะคือ อยากได้ อยากเอา อยากกอบโกยมาเพื่อตน ไม่ว่าจะโดยวิธีใดก็ตามนี้ลักษณะหนึ่ง

อยากทำลาย อยากขจัดให้มันพังพินาศฉิบหายไป ไม่ชอบหน้ามันก็สั่งลูกน้องเอาปืนไปยิงทิ้งอะไรอย่างนี้ นี้ลักษณะหนึ่ง

อีกลักษณะหนึ่งโง่เง่าไม่รู้ตามเป็นจริง เชื่อสิ่งใดเข้าใจอย่างใดก็ฝังหัวอยู่อย่างนั้น ไม่รู้ไม่รับฟังอะไรอื่น เช่น เชื่อว่าผู้นี้เป็นอัจฉริยะเป็นคนบริสุทธิ์ ขนาดเยี่ยวยังหอมอะไรทำนองนั้น

ครั้นใครพิสูจน์ให้เห็นว่า ที่แท้มันก็อลัชชีลวงโลก ก็ย่อมเปลี่ยนความเชื่อที่ฝังหัว

อาสวักขยญาณนี้เป็นกำลังกายในชั้นสูงสุดของพระพุทธองค์ด้วยเหตุผลอย่างน้อย ๒ ข้อคือ

(๑) พระองค์ทรงรู้วิธีขจัดอาสวะกิเลสให้หมดไปจากจิตใจของพระองค์ ได้กลายเป็นผู้สะอาดบริสุทธิ์ จิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์นั้น จะไม่มีความคิดที่จะได้เอามาเพื่อตน ไม่มีความคิดที่จะทำให้ผู้อื่นลำบาก ไม่มีความเชื่อหรือเข้าใจผิด ไม่มีการยึดติดในอะไรผิดๆ การกระทำอะไรทุกอย่างโดยเฉพาะทำหน้าที่เป็นผู้สอนชาวโลกก็จะทำด้วยความรักความปรารถนาดีต่อพวกเขาอย่างแท้จริง

(๒) เหนือสิ่งอื่นใด เมื่อจะทรงสอนให้เขาทำอะไร เป็นอย่างไร พระองค์ทรงทำได้อย่างนั้น เป็นอย่างนั้นมาก่อน พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ทรงเป็นตัวอย่างที่ดีหรือทรงทำได้ตามที่สอนเขา เมื่อพระองค์มีคุณสมบัติอย่างนี้ งานการสอนคนอื่นก็ประสบสัมฤทธิผลอย่างง่ายดาย

กำลังภายในขั้นที่ ๑๐ นี้ ถ้าเป็นครูธรรมดาๆ ครูที่ยังเป็นปุถุชน (ปุถุชนแปลว่า คนมีกิเลสหนาอยู่ โลภ โกรธ หลง ยังเต็มอัตราศึกอยู่) ก็หมายเอาเพียงว่าความรู้ชัดแจ้งว่าผลสัมฤทธิ์ที่เป็นจุดหมายนั้นคืออะไร เป็นอย่างไร และตนก็สามารถทำผลสัมฤทธิ์นั้น ให้เกิดขึ้นได้จริงๆ

นึกถึงครูสังคม ทองมี สอนเด็กให้วาดภาพจนส่งเข้าประกวดระดับนานาชาติ ขณะรางวัลที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม มากมาย สร้างความอัศจรรย์แก่สังคมชนิดที่ไม่เคยมีใครคิดมาก่อน

เด็กที่ครูสังคมปลุกปั้นขึ้นมานั้น ตรงกับคำพูดที่ว่า “ปั้นดินให้เป็นดาว” จริงๆ คือเป็นเด็กบ้านนอก ที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาจริงๆ ที่ใครๆ ประมาทว่าไม่มีสติปัญญาสู้คนในกรุงไม่ได้  แต่ครูสังคม มองเห็นศักยภาพของเด็กเหล่านี้ว่าทุกคนมีศักยภาพที่จะพัฒนาขึ้นมาเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงได้ตรงตามแนวพุทธดำรัสว่าสัตว์ทั้งโลกทั้งปวงเป็นเวไนยสัตว์ (ผู้ที่พึงฝึกฝนอบรมได้)

เมื่องมองเห็นผลสัมฤทธิ์ที่เป็นจุดหมายนี้ชัดเจน ครูสังคมจึงพยายามหาเทคนิควิธีในการปลุกปั้น หล่อหลอมเด็กๆ เหล่านี้ให้พัฒนาตนขึ้นมาจนกลายเป็นศิลปินวาดภาพที่เก่งที่สุด ส่งภาพเข้าประกวดระดับนานาชาติ ประสบชัยชนะจนได้รับรางวัลจำนวนมากมาย  นี้คือตัวอย่างของครูที่มีอาสวักขยญาณ (ในความหมายสามัญ) คือ รูว่าผลสัมฤทธิ์ที่เป็นจุดหมายนั้นอยู่ที่ไหน อย่างไร และตนเองก็สามารถผลักดัน หรือกระทำผลสัมฤทธิ์นั้นให้เกิดขึ้นได้  
อาจารย์สอนนักยิงธนูคนหนึ่ง เมื่อศิษย์ผู้กระหายวิชามาขอเรียนยิงธนูด้วยก็รู้ทันทีว่า ถ้ารีบสอนให้ศิษย์คนนี้ไม่มีทางเรียนสำเร็จเพราะ “อยากมาก” เกินไป
ผลสัมฤทธิ์ที่เป็นจุดหมายนั้น หาเข้าถึงได้ด้วยความกระหายวิชาไม่  จึงบอกให้ศิษย์กลับบ้าน กลับไปเอาเหาผูกเส้นไหม แล้วนั่งเพ่งทุกวัน เพ่งให้เหานั้นใหญ่ขึ้นๆ เท่ากำปั้นแล้วค่อยกลับมาหาอาจารย์  ศิษย์กลับไปเพ่งเหาจนเหาตายไปหลายสิบตัว ในที่สุดสามารถเพ่งให้เหาโตเท่ากำปั้นได้ จึงกลับไปหาอาจารย์

อาจารย์บอกให้เขากลับบ้านอีก ไปเพ่งเหาตัวเดิมให้เล็กลงเท่าเดิม และให้เพ่งตุ่มน้ำให้เล็กเท่ากำปั้น เขากลับไปทำได้ตามคำสั่ง แล้วไปหาอาจารย์ อาจารย์จึงบอกว่า บัดนี้เธอพร้อมที่จะเรียนวิชายิงธนูแล้ว จึงสอนศิษย์เพียงไม่กี่วันก็สำเร็จ

ถามว่าทำไมจึงสำเร็จเร็วนัก ตอบว่า วิชายิงธนูเป็นเรื่องของการเล็งเป้าและยิงให้ถูกเป้า ถ้าสามารถขยายเป้าได้โตแล้ว การยิงก็ไม่พลาดเป้า ยิงทีไรก็ถูกทุกที ยิ่งกว่าลี้คิมฮวง “เซียวลี้ปวยตอ” (มีดน้อยบินมิพลาดเป้า) เสียด้วยซ้ำ

แทนที่จะเสียเวลากับการสอนให้จับคันธนู ยิงธนู อาจารย์ก็ใช้เวลากับการฝึกศิษย์เพ่งกสิณจนสามารถมองอะไรใหญ่โตได้ ย่อให้เล็กได้ นี่แหละครับกำลังภายในชั้นสุดท้ายของครู


ที่มา : พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฏก (๕) ผู้สอน : คุณสมบัติที่พึงประสงค์ ตอนที่ ๔ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ หน้า ๖๗ ฉบับที่ ๑๙๑๖ ประจำวันที่ ๕-๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๐


พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฏก (๖)
ผู้สอน : คุณสมบัติที่พึงประสงค์ ตอนที่ ๕

ข.ปฏิสัมภิทา  ตามศัพท์แปลว่า ปัญญาแตกฉาน

พอได้ยินคำแปลว่า “แตกฉาน” มันทำให้เกิดภาพกระจ่างขึ้นมาทันที  จะต้องเป็นความรู้ที่กระจายไปวงกว้าง

ความรู้ที่กว้างขวางดุจดินฟ้ามหาสมุทร ความรู้เล็กๆ น้อยๆ รู้งูๆ ปลาๆ ไม่นับเป็นความรู้แตกฉาน  

ความรู้แตกฉานมี ๘ ประการ คือ
(๑) อรรถปฏิสัมภิทา (แตกฉานในอรรถ)
อรรถะ มีความหมาย ๒ ประการ คือ
-เนื้อความ หรือความหมายของหัวข้อธรรม หรือเรื่องราวต่างๆ เช่น พอเห็นคำปุ๊บก็รู้ความหมาย สามารถแยกแยะอธิบายได้เป็นฉากๆ ไม่ว่าจะอธิบายโดยรากศัพท์ที่ไปที่มาทางไวยากรณ์ ว่าคำคำนี้เป็นรากศัพท์มาจากธาตุอะไร ปัจจัยอะไร เป็นคำประเภทใดในทางไวยากรณ์ หรือไม่ว่าจะในด้านการตีความ อธิบายความว่า ถ้าแปลตามคำศัพท์แล้วแปลอย่างนี้ แต่ถ้าแปลเอาความหมายที่แท้จริง หมายถึงอย่างนี้ หรือไม่ว่าในแง่ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของคำว่าคำนี้ เดิมที่ใช้ในความหมายอะไร ปัจจุบันนิยมใช้ในความหมายอะไรบ้าง ฯลฯ อะไรเป็นต้นเหล่านี้ รู้หมด เรียกว่า มีความแตกฉานในอรรถ ในความหมายหนึ่ง

ขอยกตัวอย่างเมื่อเห็นคำว่า นาค คำเดียว ผู้ที่แตกฉานในอรรถก็จะบอกทันทีว่าในแง่นิรุกติศาสตร์ คำว่า นาค
-แปลว่า เหมือนภูเขา (ใหญ่ หรือมั่นคงดุจภูเขา)
-แปลว่า ไม่ไป ไม่เคลื่อนไหว หรือมั่นคง
-แปลว่า ไม่มีใครประเสริฐเท่า หรือผู้ประเสริฐ

และรู้ในแง่ที่เป็นความหมายทั่วไป คำว่า นาค แปลว่างูใหญ่ก็ได้ แปลว่าช้างก็ได้ แปลว่าผู้ประเสริฐก็ได้ (ความหมายหลังนี้คือ พระอรหันต์) โดยรู้วิธีอธิบายความหมาย หรือขยายความให้คนเข้าใจแจ่มแจ้ง เช่น สิ่งใดที่ใหญ่ๆ เรียกว่านาคได้ เพราะฉะนั้น งูใหญ่ที่สุดก็เรียกว่า นาค  ช้างซึ่งเป็นสัตว์ใหญ่ที่สุดก็เรียกว่านาค  สิ่งใดใหญ่มักจะมั่นคง ไม่เคลื่อนไหว ถ้าเป็นคุณสมบัติของจิต ผู้ใดมีจิตไม่หวั่นไหว มีจิตมั่นคง ผู้นั้นก็เรียกว่านาค เป็นคนประเสริฐที่สุดที่พึงหาได้

พระอรหันต์ผู้หมดกิเลสแล้วเท่านั้นจึงจะนับว่าเป็นคนมีจิตใจมั่นคงไม่หวั่นไหวจริงๆ คนอื่นนอกจากนี้จิตย่อมหวั่นไหววอกแวกได้เป็นครั้งคราวหรือบ่อยๆ เพราะเหตุนั้นคำว่า นาคจึงหมายถึงพระอรหันต์ในอีกความหมายหนึ่งได้

อย่างนี้เรียกว่า แตกฉานในการอธิบายความ จากนั้นก็อาจจะโยงให้เห็นความเป็นมาของคำในแง่ประวัติ เช่น มีนาค (งูใหญ่ที่มีฤทธิ์) ตัวหนึ่งเกิดความเลื่อมใสพระพุทธศาสนา อยากบวช จึงปลอมเป็นมนุษย์มาบวช

ครั้นต่อมาความลับถูกเปิดเผย พระพุทธองค์ตรัสห้ามสัตว์เดียรัจฉานบวช

ในธรรมเนียมการบวชพระ จึงมีคำถามผู้มาขอบวชว่า ท่านเป็นมนุษย์หรือเปล่า เพื่อให้แน่ใจว่ามิใช่สัตว์เดียรัจฉานผู้มีสัมฤทธิ์ปลอมมาบวชและรู้ประวัติสืบต่อไป

ต่อมานักปราชญ์ไทยได้แต่งเพิ่มเติมว่า นาคนั้นเสียใจมากที่ต้องออกจากพระศาสนา จึงกราบทูลขอพระพุทธเจ้าว่า ถ้าต่อไปภายหน้า ใครมาขอบวชขอให้เรียกผู้นั้นว่า “นาค” เถิด พระพุทธองค์ก็ทรงประทานอนุญาต ตั้งแต่นั้นมาผู้กำลังจะบวชเรียกชื่อว่า “นาค” กันทุกคน

อย่างนี้เรียกว่า รู้ความเป็นมาของคำว่านาคตั้งแต่ต้นจนปัจจุบัน

เล่าขานกันมานานว่า ครูที่แตกฉานจริงๆ คนหนึ่งคือ พระยาอนุมานราชธน ท่านเป็นพหูสูตรู้แทบทุกเรื่อง เวลาเข้าสอน ท่านจะสอนแบบจุดประกายความคิดแก่ศิษย์ ท่านจะถามว่า วันนี้ใครสงสัยอะไร เมื่อใครสักคนยกคำถามขึ้นมาสักคำถามหนึ่ง ท่านก็จะอธิบายเชื่อมโยงไปเรื่องต่างๆ ฟังเพลินและได้ความรู้ความเข้าใจ นี่คือตัวอย่างของผู้สอนที่แตกฉานในอรรถ
- ผล เช่น มองเห็นอะไรบางอย่างแล้วสามารถบอกได้ว่าผลจะเป็นอย่างไร ยกตัวอย่างที่จัดเจนเรื่องหนึ่งคือ มโหสถบัณฑิต สมัยยังเด็ก ในหมู่บ้านที่มโหสถอยู่ มีเหยี่ยวโฉบเอาเนื้อที่ชาวบ้านตากไว้เสมอ ชาวบ้านวิ่งไล่เหยี่ยวสะดุดตอไม้บ้าง ก้อนดินบ้าง ล้มได้รับบาดเจ็บไปตามๆ กัน และไม่สามารถไล่ทันเหยี่ยวมันด้วย

มโหสถเห็นผลที่เกิดขึ้นคือ ชาวบ้านหัวร้างข้างแตก ถูกหนามตำเท้า จึงโยงไปหาเหตุที่แท้จริงว่ามันมาจากไหน ในที่สุดก็รู้ว่า เหตุที่แท้จริงคือ ชาวบ้านไม่ได้ดูทางที่วิ่งไป มัวแต่แหงนดูเหยี่ยวบนท้องฟ้า มันก็ต้องสะดุดตอไม้ล้มเป็นธรรมดา

วันต่อมาเมื่อเหยี่ยวโฉบเอาเนื้ออีก มโหสถจึงวิ่งไล่ โดยมองตามเงาเหยี่ยวบนพื้นดิน ไม่แหงนหน้าขึ้นบนท้องฟ้า เมื่อไล่ทันเงาเหยี่ยวแล้ว ก็หยุดแหงนหน้าขึ้นตะโกนไล่ด้วยเสียงดัง เหยี่ยวตกใจ เผลอปล่อยชิ้นเนื้อลงสู่พื้นดิน ชาวบ้านก็ได้ชิ้นเนื้อคืน

เพราะการรู้ผลเชื่อมโยงไปหาเหตุของมโหสถด้วยประการฉะนี้

(๒) ธัมมปฏิสัมภิทา (แตกฉานในธรรม)  โดยมีความหมาย ๒ ประการ คือ
- ธรรมะ หรือหลักการหรือคำสอนต่างๆ ก็รู้กันจนแตกฉาน ยกตัวอย่าง เช่น ครูมีหน้าที่สอนคน จะรู้ว่า ธรรมะประเภทใดควรสอนใคร เช่น เวลาให้กรรมฐานแก่ศิษย์ไปปฏิบัติก็ต้องดูว่า ศิษย์คนไหนมีราคจริตมาก คนไหนมีวิตกจริตมาก คนไหนมีศรัทธาจริตมาก ธรรมะใดหรือกรรมฐานประเภทใดควรให้แก่ศิษย์ประเภทใด อย่างนี้เป็นต้น เรียกว่าแตกฉานในธรรมเหมือนกัน

- เหตุ เช่น เมื่อเห็นเหตุแล้วสามารถพยากรณ์ผลทันที ว่าจะเกิดผลอย่างไร เช่น เห็นเด็กนักเรียนหนีโรงเรียนเที่ยวตามศูนย์การค้า ตามผับตามบาร์ ไม่สนใจเรียน ชอบคบเพื่อนเกเร ชอบยกพวกตีกัน ก็มองทะลุถึงผลเลยว่า เด็กเหล่านี้อนาคตจะเป็นอย่างไร อย่างนี้เรียกว่า ธัมมปฏิสัมภิทา (แตกฉานในเหตุ) เช่นเดียวกัน

ความแตกฉานทั้งในเหตุและผลนี้ เป็นคุณสมบัติทางปัญญาที่ครูพึงมีอย่างยิ่ง

(๓) นิรุตติปฏิสัมภิทา (แตกฉานในภาษา) มีความหมาย ๒ นัย คือ
-มีความรู้ในภาษาต่างๆ ที่จำเป็นในการค้นคว้า หรือถ่ายทอด อาทิ รู้ภาษาบาลี สันสกฤต อังกฤษ ญี่ปุ่น เป็นต้น ครูที่รู้หลายภาษาและแตกฉานด้วย เป็นครูที่เก่งคนหนึ่ง
-รู้เพียงภาษาเดียวหรือสองภาษา แต่รู้ถึงแก่น มีเทคนิควิธีในการอธิบายด้วยการใช้คำที่เหมาะเจาะแจ่มแจ้ง ทำให้ผู้เรียนเข้าใจดี

อย่างนี้เรียกว่า นิรุตติปฏิสัมภิทา เช่นกัน

(๔) ปฏิภาณปฏิสัมภิทา แตกฉานในปฏิภาณ ปฏิภาณ มี ๒ ประการ คือ พูดจาโต้ตอบได้ฉับพลัน เรียกว่าปฏิภาณ แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีก็เรียกว่า ปฏิภาณเหมือนกัน ครูจะต้องมีปฏิภาณ

ทั้ง ๒ ประการนี้ จึงจะทำให้การสอนมีประสิทธิภาพ

๑. ด้านความบริสุทธิ์
คุณธรรมสำคัญประการหนึ่งของครูผู้สอนคือ ความบริสุทธิ์ คำนี้แปลได้หลายนัย
-บริสุทธิ์ หมายถึง จิตใจผุดผ่อง ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ หรือมีกิเลสเหล่านี้น้อย ความบริสุทธิ์ในแง่นี้หมายเอาจิตใจสะอาด จิตใจสูงส่ง

บริสุทธิ์ หมายถึง ทำได้ตามที่สอนเขา เช่น สอนเขาไม่สูบบุหรี่ ตนก็ไม่สูบบุหรี่ด้วย สอนเขาให้เสียสละ ตนก็เป็นคนเสียสละด้วย

-บริสุทธิ์ หมายถึง ไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทนจากการสอน ไม่ใช่สอนเพราะอยากได้เงินค่าสอนมากๆ หรือสอนศิษย์คนนี้ เพราะเป็นลูกคนสำคัญ คนใหญ่คนโต ตนอาจได้อาศัยใบบุญ หรือผลประโยชน์อะไรบางอย่างได้บ้าง

ถ้าผู้สอนมีความบริสุทธิ์ ๓ ประการนี้ การสอนของเขาก็ประสบความสำเร็จ

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับผู้สอนที่ทำไม่ได้ตามสอนหรือที่ดีแต่สอนคนอื่น “หลวงตาแพรเยื่อไม้” ผู้เป็นนักเขียนเรื่องสั้นชื่อดัง เขียนนิยายอิงธรรมะเรื่องหนึ่งยกเอาหลวงตาพระนักเทศน์เป็นตัวเอก พระนักเทศน์เอกรูปนี้มีความภูมิใจในการเทศน์ของตนมาก เนื่องจากเป็นพระมีคารมคมคาย ไปเทศน์ที่ไหนญาติโยมตามไปฟังเต็มศาลาวัดทุกคราว

คราวหนึ่ง ขณะขึ้นธรรมาสน์เทศน์ เห็นญาติโยมแน่นศาลาวัด หัวใจก็พองโตด้วยปีติที่แฟนๆ มามากหน้าหลายตา หลวงตาขึ้นเทศน์ด้วยความสุข มีความรู้สึกว่าวันนั้นเทศน์ได้ดีเป็นพิเศษ ไม่มีใครแสดงอาการว่าง่วงเหงาหาวนอนเลย  ลงจากธรรมาสน์มารับกัณฑ์เทศน์ สายตาก็เหลือบไปเห็นขวานเล่มหนึ่งวางอยู่บนถาดปนกับเครื่องไทยทานอื่นๆ จึงเอ่ยถามว่า “กัณฑ์เทศน์มีขวานด้วยหรือ โยม”

โยมอาวุโสคนหนึ่งกล่าวตอบว่า “ครับ ขวานนี้คมนะครับ ถากอะไรได้ทุกอย่าง นิมนต์เอาไปใช้ในวัด แต่เสียอย่างเดียว...” โยมหยุดแค่นั้น
“เสียอย่างเดียวอะไร โยม”
“มันถากด้ามของมันไม่ได้ ครับ”

ว่าพลางยกถาดกัณฑ์เทศน์ขึ้นถวาย

หลวงตานักเทศน์นั่งรถกลับวัด ครุ่นคิดถึงคำพูดของโยมอยู่นาน “ขวานคม ถากได้สารพัด เสียอย่างเดียว มันถากด้ามของมันไม่ได้ เอ มันว่ากูหรือเปล่าหนอ)

พลันพระนักเทศน์เอกก็สะดุ้งไปทั้งตัว

ช่างด่าได้ล้ำลึกและเจ็บแสบอะไรเช่นนั้น!


ที่มา : พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฏก (๕) ผู้สอน : คุณสมบัติที่พึงประสงค์ ตอนที่ ๕ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ หน้า ๖๗ ฉบับที่ ๑๙๑๗ ประจำวันที่ ๑๒-๑๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๐


พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฏก (๗)
ผู้สอน : คุณสมบัติที่พึงประสงค์ ตอนที่ ๖

๓.ความกรุณา
คุณธรรมด้านสุดท้ายของครู นอกจากความรู้ (ปัญญา) และความบริสุทธิ์แล้วยังมีความกรุณา ความรู้สึกสงสารและคิดช่วยเหลือศิษย์

ความสงสารเป็นเรื่องของจิตใจ ส่วนการช่วยเหลือเป็นเรื่องของกายและวาจา อันเป็นผลมาจากความสงสารคิดช่วยเหลือนั้น

บางครั้ง ศิษย์อาจเห็นว่า การช่วยเหลือของครูเป็นการซ้ำเติม หรือกลั่นแกล้งก็ได้ แท้ที่จริงแล้วอาจเป็นอุบายหนึ่งของการช่วยเหลือศิษย์โดยที่ศิษย์ไม่รู้ (ต่อเมื่อรู้ภายหลังแล้วก็อดยกย่องสรรเสริญครูไม่ได้)

ยอกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่ง

ชายหนุ่มคนหนึ่งไปฝากตัวเป็นศิษย์เรียนวิชาฟันดาบกับอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง ศิษย์คนนี้ไปด้วยความมุ่งมั่นที่จะเรียนอย่างจริงจัง

อาจารย์เห็นศิษย์มีความมุ่งมั่นมากก็ถาม (เพื่อให้ระบายความในใจและจะหาโอกาสเตือนสติ) ว่า “เธออยากเรียนวิชาฟันดาบมากหรือ”

“อยากเรียนมากครับ อาจารย์  ผมมุ่งมั่นมา ๔ ปีแล้ว” เมื่อเห็นอาจารย์นั่งนิ่ง ศิษย์ผู้มากไปด้วยความมุ่งมั่น ก็ถามอาจารย์ว่า”อาจารย์ครับ ถ้าผมจะตั้งอกตั้งใจฝึกอย่างจริงจัง จะใช้เวลาสักกี่มากน้อยจึงจะเรียนสำเร็จ”

“๕ ปี” อาจารย์ตอบขรึมๆ
“โอ ทำไมนานขนาดนั้น ถ้าผมจะเพิ่มความมุ่งมั่นขึ้นอีกสักสองเท่าจะใช้เวลากี่ปีครับอาจารย์” ศิษย์ถามอีก

“ถ้ามุ่งมั่นขนาดนั้นก็ต้อง ๑๐ ปี” อาจารย์ตอบเหมือนแกล้ง

เมื่อเห็นศิษย์อึ้ง ทำสีหน้าไม่ค่อยพอใจ อาจารย์จึงว่า การเรียนศิลปวิทยาอะไรก็ตาม ความมุ่งมั่นน่ะจำเป็นต้องมี แต่อย่าอยากมากจนกลายเป็นความกระวนกระวาย ไม่เช่นนั้นจะเรียนไม่สำเร็จ เอาเป็นว่าเธอเริ่มเรียนได้ตั้งแต่บัดนี้ ทำใจให้สบายๆ ทุกอย่างจะดีเอง

ว่าแล้วก็ให้ศิษย์ไปพักผ่อน ตกเย็นมาก็ใช้ศิษย์ตักน้ำใส่ตุ่ม ฝ่าฟืนสำหรับหุงต้ม เสร็จงานนั้นก็ให้ทำงานโน่นนี่เรื่อยไป วันๆ แทบไม่มีเวลาว่าง ศิษย์ก็คิดน้อยใจว่า อาจารย์ไม่เต็มใจรับตนเป็นศิษย์ รับอย่างเสียไม่ได้ รับมาแล้วก็ไม่สอนให้ ทำอย่างนี้เหมือนแกล้งกันชัดๆ แล้วเมื่อไรจะเรียนสำเร็จสักทีล่ะ

ขณะคิดน้อยใจอยู่นี้ ศิษย์กำลังฝ่าฟืนอยู่ เงื้อขวานไปคิดไป อาจารย์ย่องมาข้างหลังอย่างเงียบๆ เอาไม้เคาะหัวดังโป๊ก ศิษย์เอามือคลำหัวป้อยๆ ขณะอาจารย์หัวเราะหึหึเดินผ่านไป

วันต่อมาขณะศิษย์นั่งยองๆ ก่อไฟที่เตาจะต้มน้ำ อาจารย์ก็ย่องมาข้างหลังอย่างเงียบเชียบเช่นเดิม แพ่นกบาลศิษย์อีกโป๊ก แล้วเดินผ่านไป

เหตุการณ์สองครั้งสองคราเกิดขึ้นติดต่อกัน ศิษย์ก็เกิดความตื่นตัวขึ้นแล้วสิครับว่า อาจารย์อาจย่องมาเมื่อใดก็ได้ เวลาทำอะไร ก็มีสติอยู่ตลอดเวลาคอยสังเกตว่าอาจารย์จะแอบมาหรือเปล่า ไม่ได้ทำงานไป เหม่อลอยไปเหมือนที่แล้วๆ มา

วันหนึ่งขณะศิษย์กำลังกวาดพื้นอยู่ อาจารย์ก็ย่องๆ เข้ามาข้างหลัง คราวนี้เธอไม่เหม่อลอยเหมือนคราวก่อนแล้วครับ กำหนดอาการเคลื่อนไหวของอาจารย์ได้ คอยระวังอยู่ พออาจารย์ฟาดไม้หมายแพ่นกบาล ศิษย์ก็หลบวูบ ตีไม่ถูกครับ

อาจารย์ยิ้มพูดว่า “เออ ใช้ได้” แล้วก็เดินผ่านไป

ตั้งแต่วันนั้นมา อาจารย์ก็เริ่มสอนวิชาฟันดาบให้ ไม่ช้าศิษย์ผู้มากไปด้วยความมุ่งมั่นก็ได้สำเร็จการศึกษา ศิลปะการฟันดาบนี้เป็นตัวอย่างของความกรุณาของอาจารย์ที่มีต่อศิษย์

ครูที่มีความกรุณาต่อศิษย์ จะเป็นครูที่มี “องค์คุณของกัลยาณมิตร ๗ ประการ” ตามที่พระบรมศาสดาตรัสไว้คือ
๑.น่ารัก น่าวางใจได้อย่างสนิทสนม อยากเข้าไปหาเพื่อปรึกษาหารือ สอบถามเรื่องวิชาการและอื่นๆ
๒.น่าเคารพ เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจที่ได้เข้าไปหา รู้สึกว่าเป็นที่พึ่งพาได้อย่างปลอดภัย
๓.น่ายกย่อง เป็นผู้ทรงภูมิปัญญา มีความสามารถในวิชาการนั้นๆ และในเรื่องอื่นๆ อย่างน่าทึ่ง เป็นความภาคภูมิใจของศิษย์ที่มีความรู้สึกว่ามีอาจารย์เก่ง
๔.รู้จักพูด คอยให้คำแนะนำ ว่ากล่าวตักเตือน เป็นที่ปรึกษาที่ดีรู้ว่าขณะใดควรพูดอย่างใด ให้คำแนะนำประเภทไหน อันนี้รวมถึงความสามารถที่จะสอนที่จะถ่ายทอดอย่างมีประสิทธิภาพด้วย
๕.อดทนต่อถ้อยคำ พร้อมที่จะรับฟังการซักถามต่างๆ ของศิษย์เสมอ ไม่เบื่อหน่าย มีวิญญาณของความเป็นครู รักการสอน การถ่ายทอดวิชาความรู้อย่างแท้จริง
๖.แถลงเรื่องลึกซึ้งได้ มีความสามารถในการอธิบายเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างลึกซึ้ง เรื่องยากๆ อธิบายให้เป็นที่เข้าใจง่ายได้ และเรื่องง่ายๆ บางครั้งก็สามารถอธิบายได้อย่างลึกซึ้งละเอียดพิสดาร
๗.ไม่ชักนำในทางเสียหาย เป็นครูที่ดีจะต้องไม่ชักจูงให้ศิษย์ไปในทางเสียหาย

อันนี้รวมถึงตัวครูมีความประพฤติเป็นแบบอย่างที่ดีงามของศิษย์ด้วย

พระบรมครู หรือครูชั้นยอด ที่เป็นแบบอย่างที่ดีงามของครูทั้งปวง คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อเวไนยสัตว์ทุกถ้วนหน้า พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์แสดงออกให้เห็นทางพุทธกิจ ๕ ประการ ซึ่งเห็นได้ชัดว่า วันเวลาแต่ละวันของพระองค์นั้นทรงใช้เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นแทบทั้งสิ้น

พุทธกิจ ๕ ประการนั้นท่านแต่งเป็นคาถาประพันธ์ ดังนี้
ปุพฺพณฺเหร ปิณฺฑปาตญจ   สายณฺเห ธมฺมเทสน์
ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ   อพฺฒรตฺเต เทว ปญหนํ
ปจฺจูเสว คเต กาเล   ภพฺพาภพฺเพ วิ โลกนํ

เช้า เสด็จออกบิณฑบาต บ่าย ทรงแสดงพระธรรมเทศนา
ค่ำ ประทานโอวาทแก่ภิกษุ กลางคืน ทรงตอบปัญหาเทวดา
จวนสว่าง ทรงตรวจดูสัตว์โลก ผู้ที่ควรและไม่ควรโปรด

รายละเอียดของพุทธกิจ ๕ ประการนั้น พระอรรถกถาอาจารย์ท่านอธิบายไว้ ท่านเจ้าคุณพระพุทธโฆษาจารย์ได้เคยนำมาถ่ายทอดอีกทีหนึ่งในหนังสือ “เทคนิคการสอนของพระพุทธเจ้า”

ผมขอถือโอกาสลอกมาลงไว้ดังนี้
๑.ปุเรภัตตกิจ พุทธกิจภาคเช้าหรือภาคก่อนอาหาร ได้แก่ ทรงตื่นพระบรรทมแต่เช้า เสด็จออกบิณฑบาต เสวยแล้วทรงแสดงธรรมโปรดประชาชนในที่นั้นๆ เสด็จกลับพระวิหาร รอให้พระสงฆ์ฉันเสร็จแล้วเสด็จเข้าคันธกุฎี

๒.ปัจฉาภัตตกิจ พุทธกิจภาคบ่ายหรือหลังอาหารระยะที่ ๑ เสด็จออกจากพระคันธกุฎี ทรงโอวาทภิกษุสงฆ์ เสร็จแล้วพระสงฆ์แยกย้ายกันไปปฏิบัติธรรมในที่ต่างๆ พระองค์เสด็จเข้าพระคันธกุฎี ทรงโอวาทภิกษุสงฆ์ เสร็จแล้วพระสงฆ์แยกย้ายกันไปปฏิบัติธรรมในที่ต่าง ๆ พระองค์เสด็จพระคันธกุฎี อาจทรงบรรทมเล็กน้อย แล้วถึงระยะที่ ๒ ทรงพิจารณาตรวจดูความเป็นไปของชาวโลก ระยะที่ ๓ ประชาชนในถิ่นนั้นมาประชุมในธรรมสภาทรงแสดงธรรมโปรด

๓.ปุริมยามกิจ พุทธกิจยามที่ ๑ (ของราตรี) หลังจากพุทธกิจภาคกลางแล้ว อาจทรงสรงสนามแล้วปลีกพระองค์อยู่เงียบๆ พักหนึ่ง จากนั้นพระภิกษุสงฆ์มาเฝ้าทูลถามปัญหาบ้าง ขอกรรมฐานบ้าง ขอให้ทรงแสดงธรรมบ้าง ทรงใช้เวลาตลอดยามแรกนี้ สนองความประสงค์ของพระสงฆ์

๔.มัชฌิมยามกิจ พุทธกิจในมัชฌิมยาม เมื่อพระสงฆ์แยกย้ายไปแล้ว ทรงใช้เวลาที่สองตอบปัญหาพวกเทพเจ้าทั้งหลายที่มาเฝ้า

๕.ปัจฉิมยามกิจ พุทธกิจในปัจฉิมยาม ทรงแบ่งเป็น ๓ ระยะ
ระยะแรก เสด็จดำเนินจงกรมเพื่อให้พระวรกายได้ผ่อนคลาย
ระยะที่ ๒ เสด็จเข้าพระคันธกุฎีทรงพระบรรทมสีหไสยาสน์อย่างมีพระสติสัมปชัญญะ
ระยะที่ ๓ เสด็จประทับนั่งพิจารณาสอดส่องเลือกสรรว่า ในวันต่อไปมีบุคคลผู้ใดที่ควรเสด็จไปโปรดโดยเฉพาะเป็นพิเศษ

เมื่อทรงกำหนดพระทัยไว้แล้ว ก็จะเสด็จไปโปรดในภาคพุทธกิจที่ ๑ คือ ปุเรภัตตกิจ  


ที่มา : พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฏก (๗) ผู้สอน : คุณสมบัติที่พึงประสงค์ ตอนที่ ๖ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ หน้า ๖๗ ฉบับที่ ๑๙๑๘ ประจำวันที่ ๑๙-๒๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๐



หัวข้อ: Re: พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฏก ปรัชญาพื้นฐานเกี่ยวกับการสอน
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 26 พฤษภาคม 2560 15:28:09

(http://www.buddhamuseum.com/bronze-buddha/quan-yin_0922.jpg)

พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฏก (๘)
ผู้สอน : คุณสมบัติที่พึงประสงค์ ตอนที่ ๗

คุณสมบัติด้านกรุณานี้ ครูควรดูพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง  พระองค์ทรงทำหน้าที่ครูของชาวโลกได้สมบูรณ์ เพราะพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวโลกอย่างใหญ่หลวง

พระองค์ทรงมี “วิญญาณครู” อย่างแท้จริง

คิดดูง่ายๆ อย่างนี้ก็แล้วกัน ไม่ว่าจะไกลแสนไกล เดินทางลำบากขนาดไหน ถ้าทรงเห็นว่าบุคคลที่ทรงมุ่งไปสอนนั้นจะรู้เรื่องที่ทรงสอน หรือได้บรรลุมรรคผล หรือจะ “รู้สำนึก” กลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดี พระองค์ก็ไม่ทรงย่อท้อ เสด็จไปสอนจนได้

แม้พระทั่งทรงพระประชวรหนัก ก็ไม่เว้นทำหน้าที่ครู ดังกรณีองคุลีมาล และกรณีสุภัททปริพาชก เป็นต้น

เอ่ยแล้วก็ต้องเล่า แม้ว่าท่านผู้อ่านจะรู้แล้วก็ตาม คงมีบางคนสิน่าที่ยังไม่เคยฟังเรื่องนี้

องคุลีมาลนั้น เดิมทีชื่อ อหิงสกะ เป็นบุตรของปุโรหิตในพระราชสำนักพระเจ้าปเสนทิโกศล เมืองสาวัตถี มิใช่ลูกมหาโจรอะไรที่ไหน  แต่ชะตาชีวิตหักเหกลายเป็นมหาโจรลือชื่อ ขนาดพระเจ้าแผ่นดินต้องสั่งยกกองทัพย่อยๆ ไปปราบ

จะว่าไปแล้วก็เพราะวิชาโหราศาสตร์หรือพยากรณ์ศาสตร์ของผู้เป็นพ่อด้วยนั่นแหละเป็นสาเหตุ  ทันทีที่ลูกเกิด พ่อ ซึ่งขณะนั้นอยู่ในพระราชสำนัก ทำนายว่าเด็กที่เกิดตามเวลานี้จะเป็นมหาโจร เพราะดาวโจรลอยเด่นกลางท้องฟ้า

พอกลับจากที่เฝ้า เดินทางกลับมาถึงบ้าน ได้รับข่าวว่าภรรยาสุดที่รักคลอดลูกชายพอดี จึงหวนกลับไปกราบทูลในหลวงว่า เด็กที่ว่านั้นคือบุตรชายข้าพระพุทธเจ้าเอง จะให้ฆ่าทิ้งไหม

พระราชาตรัสถามว่า มหาโจรที่ว่านี้เป็นโจรธรรมดา หรือโจรแย่งชิงราชสมบัติ  เขากราบทูลว่าโจรธรรมดา ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อราชสมบัติ  พระราชาตรัสว่า ถ้าอย่างนั้นก็ช่างเถอะ เด็กน้อยก็รอดตัวไป

พ่อตั้งชื่อว่า อหิงสกะ แปลว่าผู้ไม่เบียดเบียน  อหิงสกะโตมาก็เป็นเด็กฉลาด เรียนหนังสือเก่ง เป็นเด็กว่านอนสอนง่าย  พ่อส่งไปเรียนที่ตักศิลา ซึ่งเป็นเมืองมหาวิทยาลัยสมัยโน้น ถึงคราวเคราะห์ของอหิงสกะหรืออย่างไรไม่ทราบได้ ไปได้อาจารย์ที่ไม่เป็น “กัลยาณมิตร” ชักชวนให้ไปฆ่าคน เอานิ้วมาแลกกับเคล็ดลับวิชาที่ไม่เคยถ่ายทอดให้ใคร (ที่อาจารย์หลอกศิษย์ให้ทำบาปถึงขั้นนี้ เพราะหลงเชื่อคำยุยงของศิษย์อื่นๆ ว่า อหิงสกะจะคิดล้างครู พวกที่ยุยงนั้นอิจฉาอหิงสกะเรียนเก่ง และเป็นคนโปรดของอาจารย์ กอปรกับอาจารย์ก็หูเบา ขนมผสมน้ำยา โบราณว่าอย่างนั้น)

ด้วยความอยากได้วิชา อหิงสกะเลยต้องออกไปฆ่าคนเอานิ้วมือ ใหม่ๆ คงลำบากน่าดู   แต่เมื่อฆ่าได้สองสามคนแล้วคงชินไปเอง  ไม่ช้าไม่นานก็มีข่าวลือให้แซดว่า เกิดมีมหาโจรพิสดารฆ่าคนแล้วตัดเอานิ้วมือด้วย สร้างความหวาดหวั่นแก่ประชาชนทั่วไป  จนพระเจ้าปเสนทิโกศล ต้องรับสั่งให้ยกกองทัพย่อยๆ ออกไปปราบ

แม่อหิงสะรู้ว่าลูกชายกำลังตกอยู่ในอันตราย จึงเดินทางมุ่งหน้าไปยังที่ลูกชายอยู่เพื่อแจ้งข่าว

พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณว่า ถึงองคุลีมาลพบแม่ก็คงจำแม่ไม่ได้ เพราะจิตฟั่นเฟือนเสียแล้ว เกรงว่าองคุลีมาลจะถลำถึงขั้นทำ “มาตุฆาต” (ฆ่ามารดา) อันเป็นบาปหนัก จึงเสด็จไปดักหน้า สิ้นระยะทางไกลแสนไกล เพื่อโปรดองคุลีมาล  และในที่สุดก็โปรดเธอสำเร็จ เธอกลับเนื้อกลับตัวบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์ และบรรลุพระอรหัตผลในที่สุด  

นี้คือพระมหากรุณาธิคุณที่เด่นชัดเรื่องหนึ่ง

เรื่องที่สอง ขณะทรงพระประชวรหนัก จวนจะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานได้ต้นสาละทั้งคู่ ณ สาลวโนทยาน ของเหล่ามัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา  

ปริพาชก (นักบวชนอกศาสนาพุทธ) คนหนึ่ง รีบร้อนเข้ามาเพื่อเฝ้า และทูลถามปัญหาข้อข้องใจของตน  พระอานนท์พุทธอุปฐาก เห็นว่าพระพุทธองค์ทรงพระประชวรหนัก จึงไม่อนุญาตให้เขาเข้าเฝ้า

เสียงโต้ตอบกันได้ยินไปถึงพระพุทธองค์ ผ่านม่านซึ่งกั้นอยู่  พระองค์รับสั่งให้เข้าเฝ้า เขาได้กราบทูลถามข้อข้องใจของตน และได้รับวิสัชนาจนหายสงสัย จึงทูลขอบวชเป็นสาวกของพระองค์  ธรรมเนียมมีอยู่ว่าคนที่เป็นเดียรถีย์ (หมายถึงคนนับถือศาสนาอื่น) มาขอบวชจะต้องให้อยู่ “ปริวาส” (อยู่ประพฤติตนเพื่อทดสอบศรัทธา) ก่อนเป็นเวลา ๔ เดือน จึงจะอนุญาตให้บวชได้  แต่กรณีของสุภัททะนี้ไม่มีเวลาเช่นนั้น เพราะพระพุทธองค์กำลังจะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน จึงทรงประทานอนุญาตพิเศษให้เธอบวชในทันที

ด้วยเหตุนี้แหละสุภัททะจึงได้เป็นพระสาวกองค์สุดท้ายของพระพุทธเจ้า

สาวกองค์สุดท้ายในที่นี้หมายถึง องค์สุดท้ายที่พระพุทธเจ้าทรงประทานการอุปสมบทให้ด้วยพระองค์เองนะครับ  ไม่ได้หมายถึงความว่าถัดจากสุภัททะแล้วไม่มีสาวกองค์อื่นอีกเลย อะไรอย่างนั้นหามิได้

พูดอย่างภาษาสามัญก็ว่า จะตายแล้วยังสอน มีครูที่ไหนทำได้อย่างนี้เล่าครับ  พระองค์ทรงมี “วิญญาณครู” ปานฉะนี้ จึงทรงเป็นพระบรมครูแท้จริง

พระมหากรุณาของพระพุทธเจ้า ยิ่งชัดเจนในใจชาวพุทธ เมื่อมองไปที่พระจริยาของพระองค์ อันเรียกว่า พุทธจริยา ๓ ประการ คือ
๑.โลกัตถจริยา พระจริยาเพื่อประโยชน์แก่ชาวโลก
๒.ญาตัตถจริยา พระจริยาเพื่อประโยชน์แก่พระประยูรญาติ
๓.พุทธัตถจริยา พระจริยาที่ทรงประพฤติในฐานะทรงเป็นพระพุทธเจ้าที่กล่าวมาข้างต้นและที่เขียนถึงคราวที่แล้วนั้น เป็นพระจริยาที่ทรงประพฤติเพื่อประโยชน์แก่ชาวโลกทั้งนั้น จึงไม่จำเป็นต้องพูดซ้ำอีก จะขอยกตัวอย่างเฉพาะสองจริยาสุดท้าย

แม้ว่าพระพุทธองค์ทรงเป็น “บุคคลของโลก” แล้ว พระองค์ก็ยังไม่ทรงลืมที่จะอนุเคราะห์พระประยูรญาติของพระองค์ตามสมควร และตามความเหมาะสม

ดังเสด็จนิวัติกรุงกบิลพัสดุ์หลังประกาศพระศาสนาเป็นปึกแผ่นแล้วเพื่อไปโปรดพระพุทธบิดาและพระประยูรญาติ ทรงชักนำศากยกุมารและโกลิยกุมารออกบวช เช่น พระอานนท์ พระอนุรุท พระเทวทัต  เสด็จขึ้นไปเทศนาโปรดอดีตพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นการทดแทนบุญคุณพระมารดาบังเกิดเกล้าสถานหนึ่งด้วย (จนเกิดประเพณีเทศอภิธรรมโปรดมารดาสืบมาจนถึงปัจจุบันนี้ ดังพระยาลิไท กษัตริย์สุโขทัย ทรงพระราชนิพนธ์ “ไตรภูมิพระร่วง” หนังสืออธิบายพระอภิธรรม ทรงบอกจุดประสงค์ไว้ข้อหนึ่งว่าเพื่อโปรดพระมารดา)

การสงเคราะห์พระประยูรญาติที่สำคัญสองครั้งที่ไม่ควรลืมก็คือ เมื่อทรงช่วยปราบกษัตริย์วิฑูฑภะมิให้ยกทัพไปฆ่าพวกศากยะถึงสามครั้งสามครา  แต่ครั้งที่สี่ทรงเห็นว่าพวกศากยะเคยทำกรรมหมู่มาแล้วในอดีตชาติ กรรมตามทันจะทัดทานอย่างไรก็คงไม่ได้ จึงไม่ได้เสด็จไปปราบวิฑูฑภะ

รายละเอียดเรื่องนี้อยู่ในอรรถกถาธรรมบทภาค ๓ ถ้าจำไม่ผิด (ถ้าผิดก็ขออภัยมณีศรีสุวรรณแล้วกัน)

ที่จะขอเล่าก็คือการที่ทรงห้ามพระญาติทั้งสองฝ่าย ที่ยกกองทัพออกมาท้าตีท้าต่อยกัน ณ สองฝั่งแม่น้ำโรหิณี เพื่อแย่งน้ำไปทำเกษตรกรรม

ต้องทำความเข้าใจกันตรงนี้สักเล็กน้อย

แคว้นโกลิยะกับศากยะตั้งอยู่ ณ สองฝั่งแม่น้ำ ชื่อ โรหิณี

ชาวเมืองทั้งสองเป็นญาติพี่น้องกัน อาชีพส่วนใหญ่ทำนาครับ จึงจำเป็นต้องอาศัยน้ำในแม่น้ำโรหิณีไปทำการเพาะปลูกข้าวกล้าและพืชผลอื่นๆ  บางปีน้ำก็ไม่พอ จึงเกิดการแก่งแย่งกัน เกิดการกระทบกระทั่งกัน  ศึกแย่งน้ำมีอยู่เป็นครั้งคราว แต่ไม่ถึงกับรุนแรง  มีอยู่ครั้งหนึ่งที่รุนแรงมากถึงกับต้องยกทัพออกมาต่อสู้กัน เรียกว่าฟาดฟันให้ตกตายกันไปข้างหนึ่ง ว่าอย่างนั้นเถอะ

พระพุทธองค์ทรงเห็นว่า ขืนปล่อยให้พระญาติทั้งสองฝ่ายรบราฆ่าฟันกัน ความพินาศย่อยยับจะเกิดขึ้นอย่างใหญ่หลวงแก่พระญาติวงศ์ทั้งสองฝ่าย จึงเสด็จไปห้าม

ในพระธรรมบท ท่านพรรณนาไว้ว่า พระองค์เสด็จไปถึงขณะกองทัพที่นำโดยแม่ทัพทั้งสองฝ่ายกำลังประจัญกันอยู่ จึงตรัสถามว่า มหาบพิตรทั้งหลายทำอะไรกัน (ทรงรู้อยู่แล้วว่ากำลังทำอะไร แต่เพื่อเตือนสติจึงตรัสถาม)

เมื่อทรงเห็นว่าทั้งสองฝ่ายต่างก้มหน้าไม่ยอมตอบ (เพราะรู้อยู่แล้วกำลังทำอะไร) จึงตรัสถามว่า มหาบพิตรทั้งหลายเป็นญาติกัน พี่น้องกัน การถืออาวุธมาประหัตประหารกันอย่างนี้มันคุ้มแล้วหรือ อะไรคือสาเหตุให้ต้องทำอย่างนี้

ทั้งสองฝ่ายต่างก็รีบรายงานว่า น้ำคือสาเหตุใหญ่ ต่างฝ่ายต่างก็กล่าวหาว่าอีกฝ่ายหนึ่งเอาเปรียบแย่งเอาน้ำไปมากกว่าที่ควรจะเอา เมื่อตกลงกันไม่ได้ เรื่องมันจึงเลยเถิดมาดังที่เห็นนี้แหละ

พระพุทธองค์ตรัสถามว่า ระหว่างน้ำกับโลหิตของญาติทั้งสองฝ่ายจะต้องหลั่งไหลนองดิน อะไรมีค่ามากกว่ากัน ลองตอบที
เมื่อพระญาติทั้งสองฝ่ายกราบทูลว่า โลหิตมีค่ามากกว่า จึงตรัสสอนว่า ถ้าเช่นนั้น ไฉนต้องมาฆ่าฟันกันให้เลือดต้องหลั่งชโลมดินเพียงเพราะน้ำอันมีค่าเล็กน้อยนี้เล่า คิดดูให้ดี มันคุ้มหรือ  เมื่อต่างก็เห็นว่าไม่คุ้ม จึงเชื่อฟังพระพุทธองค์ พระองค์ประสานสามัคคีในหมู่พระประยูรญาติ ให้ต่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน แบ่งน้ำกันใช้เสมอภาคกัน ทรงระงับสงครามเลือดไว้ได้ เป็นพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของพระบรมครูแท้จริง

เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ ชาวพุทธจึงได้สร้างพระพุทธรูปปางห้ามพระญาติ ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว

ส่วนพระมหากรุณาธิคุณในฐานะที่ทรงบำเพ็ญพุทธัตถจริยานั้น จะเห็นได้จากพระจริยาที่ทรงทำอยู่ ๔ ประการคือ
๑.ช่วยสรรพสัตว์ให้ข้ามห้วงทุกข์ คือทรงช่วยสัตว์โลกทั้งปวงให้บรรลุมรรคผล นิพพาน เพื่อข้ามพ้นทุกข์ในสังสารวัฏ
๒.ปูพื้นฐานแห่งกุศลธรรม ในกรณีที่บางคนไม่สามารถบรรลุมรรคผล ก็ทรงไม่ทอดทิ้ง ทรงปูทางให้เขาก้าวไปข้างหน้าในโอกาสต่อไป ดังกรณีพระเทวทัตทรงทราบก่อนแล้วว่าบวชมาแล้วจะทำสังฆเภทและมุ่งร้ายพระพุทธองค์ แต่การที่เอามาบวชย่อมมีโอกาสได้ประพฤติพรหมจรรย์อันจักเป็นอุปนิสัยปัจจัยภายหน้าได้
๓.ปิดทางอบาย ในบางกรณีถ้าปล่อยให้ไปตามยถากรรม บางคนอาจถลำลงลึกถึงกับตกนรกหมกไหม้ ก็ทรงช่วยปิดทางอบายให้เขาเสีย ดังกรณีองคุลิมาล เป็นต้น
๔.สถาปนาพระพุทธศาสนา ทรงก่อตั้งคณะสงฆ์อันเป็นชุมชนตัวอย่างขึ้นในสังคม รวมทั้งตั้งสถาบันพระพุทธศาสนาขึ้นคือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทรงเตรียมบุคลากรของแต่ละสถาบัน เพื่อสืบทอดพระพุทธศานา

ทั้งหมดนี้ทรงทำเพราะทรงมีพระมหากรุณาต่อชาวโลกนั้นเอง.  


ที่มา : พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฏก (๘) ผู้สอน : คุณสมบัติที่พึงประสงค์ ตอนที่ ๗ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ หน้า ๖๗ ฉบับที่ ๑๙๑๙ ประจำวันที่ ๒๖ พฤษภาคม-๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๐


พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฏก (๙)
บทที่ ๓ : หลักสำคัญที่ควรทราบ

คราวที่แล้วว่าด้วยคุณสมบัติของผู้สอน โดยยกเอาพระครูของพระพุทธเจ้ามาเป็นแบบอย่างในด้านอุดมคติ แล้วปรับมาใช้กับครูทั่วๆ ไป  พูดง่ายๆ ก็คือ ครูทั่วไปไม่สามารถมีคุณสมบัติเทียบเท่าพระพุทธองค์ก็ขอให้ได้แม้เพียงเศษเสี้ยวธุลีก็ยังดีกว่า อย่างนั้นเถอะ

คราวนี้ขอว่าด้วยหลักสำคัญของการสอน  หลักสำคัญคือ หลักการใหญ่ๆ ที่ครอบคลุมหลักการใหญ่ๆ ของการสอนไม่ว่าจะสอนเรื่องอะไรก็มีอยู่ ๓ หลักคือ
๑.หลักเกี่ยวกับเนื้อหาที่สอน
๒.หลักเกี่ยวกับตัวผู้เรียน
๓.หลักเกี่ยวกับตัวการสอน

ก.เกี่ยวกับเนื้อหา
เรื่องที่จะสอนนี้สำคัญ  คนจะสอนคนอื่นต้องรู้ว่าจะเอาเรื่องอะไรมาสอนเขาเสียก่อน ไม่ใช่คิดแต่วิธีการสอนว่าจะสอนอย่างไร  ก่อนจะถึงขั้นนั้นต้องคิดก่อนว่า จะเอาอะไรไปสอนเขา  พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้สอนต้องคำนึงเสมอว่า

๑.ต้องสอนสิ่งที่รู้เห็นหรือเข้าใจง่ายไปหาสิ่งที่เข้าใจยาก  หรือพูดให้โก้ก็ว่าสอนจากรูปธรรมไปหานามธรรม เนื้อหาต้องเป็นเนื้อหาที่คนฟังเข้าใจง่ายหรือเข้าใจอยู่แล้ว แล้วค่อยโยงไปหาเรื่องที่เข้าใจยากหรือยังไม่เข้าใจ  ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นชัด ก็ดูที่การสอนอริยสัจของพระพุทธเจ้าเป็นหลัก เวลาพระองค์ทรงสอนอริยสัจ ทำไมพระองค์ยกทุกข์ขึ้นมาแสดงก่อน ทำไมไม่ยกสมุทัยขึ้นมาแสดงก่อน  คำตอบก็คือ เพราะทุกข์เป็นสิ่งที่เห็นได้ง่าย ทุกคนประสบความทุกข์อยู่แล้ว ไม่รูปแบบใดก็รูปแบบหนึ่ง มากบ้างน้อยบ้าง ไม่เคยมีใครที่ไม่เคยมีความทุกข์ เพราะฉะนั้น เมื่อพระพุทธองค์ตรัสว่าโลกนี้เป็นทุกข์ หรือความจริงอย่างหนึ่งก็คือทุกข์  คนฟังก็ร้องอ๋อทันทีว่า อ๋อ แม่นแล้วๆ มันทุกข์จริงๆ

การยกเรื่องที่คนฟังเข้าใจง่าย หรือรู้เห็นอยู่แล้วขึ้นมาพูดก่อน นอกจากทำให้กระบวนการเรียนการสอนเป็นไปด้วยดีแล้ว ยังดึงความสนใจของผู้ฟังได้ดีด้วย พอได้ยินปั๊บ “ปิ๊ง” ทันที  หลังจากนั้นแล้ว พระองค์ก็โยงไปหาสาเหตุว่าทุกข์ที่เรามี เราเป็นอยู่นี้รู้ไหม มันมีสาเหตุหรือต้นตอมาจากอะไรบ้าง  คราวนี้ผู้ฟังก็คิดหนักละ เพราะเรื่องสาเหตุหรือสมุทัยนั้น มันมองไม่เห็นง่ายๆ  บางทีนึกว่าใช่ มันไม่ใช่ก็มี นึกว่ามีสาเหตุเดียว มันมีเป็นสิบเป็นร้อยก็มี

พระพุทธองค์จึงต้องอธิบายสาธยายว่า สาเหตุมันมีอย่างนั้นอย่างนี้  คนเรานั้นเวลามีทุกข์ก็รู้อยู่ดอกว่ามันทุกข์ แต่สาเหตุมาจากไหนบ้างไม่รู้กันนักดอก แม้แต่เรื่องง่ายๆ เช่น สามีภรรยาทะเลาะกัน ตบตีกันแทบเป็นแทบตาย สาเหตุมาจากไหนไม่รู้ดอก มองกันไม่ค่อยจะออก ต้องให้ผู้มีปัญญาคอยชี้แนะจึงจะรู้และแก้ไขได้  ดังนิทานเรื่องหนึ่ง ซึ่งผมเขียนเล่ามาเป็นครั้งที่ร้อยเก้าสิบเก้าแล้วครับ

สามีภรรยาทะเลาะกันทุกวัน สามีรำคาญที่ต้องถกเถียงกับภรรยาจึงหนีออกจากบ้าน หายไปสองสามคืนบ้าง สี่ห้าคืนบ้าง พอกลับมาเจอหน้ากันก็ทะเลาะกันอีก บางครั้งถึงกับลงไม้ลงมือเรียกว่า “เลี้ยงกันด้วยลำแข้ง” ว่าอย่างนั้นแหละ  วันหนึ่งภรรยาไปหาหลวงพ่อที่วัดข้างบ้าน เล่าความทุกข์ให้ฟัง  หลวงพ่อหลังจากนั่งฟังมานาน เอ่ยขึ้นว่า “โยม ทุกข์ของโยมนี้แก้ไม่ยากดอก โยมเอาน้ำมนต์นี้ไป เห็นหน้าสามีเดินเข้าบ้านมา ให้นึกถึงคุณพระคุณเจ้าแล้วก็อมน้ำมนต์นี้ไว้ รับรองไม่เกินเจ็ดวัน สามีจะกลับมาอยู่บ้านไม่ไปไหน จะเลิกทะเลากัน” หลวงพ่ออธิบายวิธีใช้น้ำมนต์

สีกาผู้มีความทุกข์ มีหน้าแช่มชื่นขึ้น รับขวดน้ำมนต์จากหลวงพ่อกลับมาบ้านนั่งรอสามีอยู่ถึงประมาณเที่ยงคืน สามีก็เมาสะเงาะสะแงะกลับมา เห็นหน้าภรรยาก็พูดจายียวนตามเคย ถ้าเป็นวันอื่นคุณภรรยาคงด่าตอบไปแล้ว แต่วันนี้หลวงพ่อบอกว่าให้นึกถึงพระแล้วอมน้ำมนต์ จึงรีบอมน้ำมนต์ทันที

สามีนอนหลับด้วยความเมา ตื่นขึ้นมาก็รีบออกจากบ้าน กลับมาอีกทีประมาณตีหนึ่ง คราวนี้ว่าภรรยาหนักกว่าเดิม “อีแร้งทึ้ง” ทำไมมึงยังไม่นอนมายืนขวางประตูหาวิมานอะไร  ภรรยาฉุนกึก แต่นึกถึงคำสั่งของหลวงพ่อได้ จึงรีบอมน้ำมนต์ทันที รุ่งเช้าขึ้นสามีมานั่งนึกถึงสองคืนที่ผ่านมา ภรรยาไม่มีปากไม่มีเสียง แก้มตุ่ยทั้งวัน บรรยากาศเปลี่ยนไปจากเดิม “ดีเหมือนกันวะ มีเมียเป็นใบ้ ไม่หนวกหู” สามีนึก

ตั้งแต่วันนั้นมา สามีไม่หนีออกจากบ้านไปเลย เพราะไม่รำคาญเสียงบ่นเสียงด่าของภรรยา ความสงบสุขก็กลับคืนมา สองสามีภรรยาไม่ทะเลาะกันอีกเลย ภรรยาไปหาหลวงพ่อด้วยใบหน้าอันยิ้มแย้มกราบงามๆ สามครั้งแล้วกล่าวว่า “แหม น้ำมนต์ของหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์จริงๆ ไม่ถึงเจ็ดวันเลย สามีดิฉันไม่หนีไปไหนแล้ว อยู่บ้านอยู่ช่องตามเดิมและเราก็ไม่ทะเลาะกันอีกแล้วเจ้าค่ะ”

หลวงพ่อกล่าวว่า “น้ำมนต์ก็น้ำธรรมดา ไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์อะไรดอก มันศักดิ์สิทธิ์ที่ปากโยมมากว่า” นี่แหละครับ ความทุกข์น่ะรู้ แต่สาเหตุมาจากอะไรไม่รู้ เพราะสาเหตุแห่งความทุกข์นั้นมันละเอียดอ่อน หลักการสอนประการแรกคือต้องเอาเรื่องที่รู้กันอยู่แล้วหรือเข้าใจง่ายๆ มาสอนก่อนแล้วย้อนไปหาเรื่องที่ยากขึ้นตามลำดับ

๒.สอนเนื้อหาที่ลุ่มลึกลงไปตามลำดับ
อย่างพูดเรื่องลึกๆ แล้ว มาต้นหรือตื้นแล้วดิ่งลึกสุดเลยอะไรทำนองนี้ ต้องเป็นขั้นๆ ค่อยลึกลงๆ ตามลำดับ

มีคำเปรียบเทียบในพระคัมภีร์ (คือพระไตรปิฎก) แห่งหนึ่งว่า พระธรรมของพระพุทธเจ้านั้นดุจมหาสมุทร  มหาสมุทรนั้นฝั่งมันค่อยลาด ลุ่มลึกตามลำดับฉันใด พระธรรมของพระพุทธองค์ก็ฉันนั้น ถ้าจะดูการสอนของพระพุทธองค์ ก็ขอให้ดูการสอนหลักธรรมต่างๆ ล้วนอยู่ในแนวนี้ทั้งนั้น เช่น หลักอนุปุพพิกถา เนื้อหาเจาะลึกตามลำดับ

(๑) ทานกถา (พูดเรื่องทาน) ทานเป็นเรื่องง่าย คือเข้าใจง่ายและปฏิบัติง่าย ทุกคนทำทานได้

(๒) สีลกถา (พูดเรื่องศีล) ศีลยากกว่าทานขึ้นมาอีก เพราะการรักษาศีลเป็นเรื่องของการควบคุมกาย วาจา ให้อยู่ในกรอบ ไม่ทำความชั่ว ๕ ประการ บางคนทำทานสบายๆ แต่รักษาศีลไม่ได้

(๓) สัคคกถา (พูดเรื่องสวรรค์) สวรรค์มองไม่เห็นด้วยตา บางคนสงสัยว่ามีจริงหรือเปล่า เรื่องสวรรค์จึงเป็นเรื่องลึกลงไปตามลำดับ และการปฏิบัติเพื่อให้ได้สวรรค์ก็ยิ่งต้องทำทั้งทาน ทั้งศีลให้สมบูรณ์ ก็ยิ่งเป็นเรื่องยากขึ้นไปอีก

(๔) กามาทีนวกถา (พูดเรื่องโทษของกาม) การชี้โทษของสิ่งใดก็ตามแก่ผู้ที่ลุ่มหลงอยู่ในสิ่งนั้น ยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นเขาเสียอีก ปุถุชนทั้งปวงล้วนเห็นว่า กามเป็นของดี ต่างก็มัวเมาหมกมุ่นอยู่ในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส (ดุจดังหนอนดำผุดดำว่ายอยู่ในหลุมคูถ เปรียบอะไรปานนั้น) ต่อให้สิบให้ร้อยพระอริยเจ้ามาบอกว่า กามไม่ดีมีโทษก็ไม่เชื่อ  ดังนิทานเรื่องหนอนกับเทวดา (ได้ทีเล่านิทานเสียเลย)

ขณะที่หนอนอ้วนตัวหนึ่งดำผุดดำว่ายอยู่ในหลุมคูถ (ถานของพระ) เทวดาตนหนึ่งก็มายืนน้ำตาไหลอยู่ใกล้ๆ หนอนอ้วนแหงนมาเจอเข้าจึงทักว่า

“ฮาย ญาติตายหรือไง จึงยืนร้องไห้”
“ไม่ใช่ ฉันสงสารนายตะหาก” เทวดาตอบ
“สงสารเรื่องอะไร”
“สงสารที่นายต้องมาทนทุกข์ในหลุมคูถนี้ นายรู้ไหม แต่ก่อนนายเป็นเทวดาเหมือนฉันนี้แหละ นายจุติมาเกิดเป็นหนอน นายกลับไปอยู่บนสวรรค์ด้วยกันเหมือนเดิมเถอะ” เทวดาชักชวน
“สวรรค์ดีอย่างไร” หนอนอ้วนกังขา
“บนสวรรค์นั้นมีแต่สิ่งทิพย์ มีวิมานทิพย์ สมบัติทิพย์ อาหารทิพย์ อยากได้อะไรเนรมิตเอา จะได้ทุกอย่าง” เทวดาบรรยาย หนอนส่ายหน้า
“ถ้างั้นไม่ไปล่ะ อยากได้อะไรต้องเสียแรงเนรมิต เหนื่อยตาย สู้ที่นี่ไม่ได้ อยากกินอะไรก็ไม่ต้องเนรมิต ถึงเวลาหลวงพ่อท่านก็จะมาเนรมิตให้เอง”

ว่าแล้วหนอนอ้วนก็มุดหายไปในกองอาจมอันเหม็นหึ่งนั้นแล

การชี้ให้เห็นโทษของกาม เป็นเรื่องยากและเรื่องลึกกว่าการสอนให้บำเพ็ญทานศีล เพื่อให้ได้ไปสวรรค์เสียอีก

(๕) เนกขัมมกถา (พูดเรื่องการออกจากกาม) การออกจากกาม ด้วยการออกบวชประพฤติพรหมจรรย์หรือไม่บวชแต่จิตใจสละกามได้ เป็นขั้นตอนต่อจากการเห็นโทษของกาม

บางทีบางคนมองเห็นว่า บุหรี่มีโทษต่อร่างกายอย่างไรบ้าง แต่จะให้เลิกบุหรี่ที่ติดมานานปีมิใช่ของง่ายๆ รู้น่ะรู้ว่ามีโทษแต่เลิกไม่ได้

ฉันใดก็ดี บางคนเรารู้ว่ากามมีโทษ แต่จะให้เลิกนั้นมันยาก เพราะฉะนั้น การละกามจึงเป็นขั้นตอนที่ยากกว่า

เรื่องทั้ง ๕ นี้เรียกว่า “อนุบุพพีกถา” เรื่องที่แสดงถึงความลุ่มลึกลงตามลำดับ เพื่อขัดเกลาจิตใจคนให้ละเอียดประณีตเป็นชั้นๆ  ครูสอนคนอื่นจึงต้องมีหลักการสอนที่สอดคล้องกับเนื้อหาของอนุปุพพิกถา คือ สอนเนื้อเรื่องที่ค่อยๆ ลุ่มลึกลงตามลำดับชั้น และต่อเนื่องกันเป็นสายลงไป

ผู้ฟังจึงจะเข้าใจดีด้วยประการฉะนี้แล.  


ที่มา : พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฏก (๙) บทที่ ๓ : หลักสำคัญที่ควรทราบ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ หน้า ๖๗ ฉบับที่ ๑๙๒๐ ประจำวันที่ ๒-๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๐



หัวข้อ: Re: พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฏก ปรัชญาพื้นฐานเกี่ยวกับการสอน
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 16 มิถุนายน 2560 16:53:01

(http://www.buddhamuseum.com/bronze-buddha/quan-yin_0922.jpg)

พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฏก (๑๑)
บทที่ ๔ : หลักสำคัญที่ควรทราบ
(๓)

ข.เกี่ยวกับตัวผู้เรียน
๑.พุทธองค์จะทรงสอนใคร ทรงดูบุคคลผู้รับการสอนหรือผู้เรียนก่อนว่าบุคคลนั้นๆ เป็นคนประเภทใด มีพื้นความรู้ ความเข้าใจ หรือความพร้อมแค่ไหน และควรจะสอนอะไร แค่ไหน

เวลาอ่านพระสูตร จะเห็นข้อความประเภทนี้บ่อยๆ คือ
“เหล่าสัตว์มีธุลีในดวงตาน้อยก็มี มีธุลีในดวงตามากก็มี มีอินทรีย์กล้าก็มี มีอินทรีย์อ่อนก็มี มีอาการดีก็มี มีอาการทรามก็มี ที่จะสอนให้รู้ง่ายก็มี ที่จะสอนให้รู้ยากก็มี ตระหนักถึงภัยในปรโลกก็มี”  สรุปแล้ว ทรงดูบุคคลที่จะทรงสอนก่อนว่าเป็นอย่างไร

ในพระสูตรอีกนั่นแหละ ทรงจำแนกบุคคลไว้หลายระดับ ดังทรงพูดถึงบุคคล ๔ ประเภท คือ
๑.อุคฆติตัญญู คือบุบคลผู้อัจฉริยะรู้ได้ฉับพลันเพียงยกหัวข้อธรรมขึ้นพูดเท่านั้นก็ “รู้” ทันที (คำว่ารู้ในที่นี้หมายถึงตรัสรู้)
๒.วิปจิตัญญู คือ บุคคลผู้ฉลาด อธิบายขยายความให้พิสดาร ก็รู้ทันที
๓.เนยยะ คือ บุคคลผู้พึงนำมาฝึกฝนอบรม ต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง สำหรับให้มีการฝึกฝน ในที่สุดก็รู้ได้
๔.ปทปรมะ คือ บุคคลผู้รู้มาก สดับรับฟังมามาก รู้หลักวิชาการมาก แต่ไม่สามารถรู้ธรรมหรือตรัสรู้ได้ในชาตินี้ (แต่การที่เขาได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ ก็จะเป็นเหตุปัจจัยแห่งมรรคผลในภพหน้า)

เมื่อทรงรู้ว่าใครเป็นบุคคลประเภทไหน พระพุทธองค์ก็ทรงสอนเนื้อหาที่เหมาะสำหรับบุคคลประเภทนั้น การสอนของพระองค์จึงสัมฤทธิผลทุกครั้งที่สอน

ครูทั่วไป พึงยึดถือพระพุทธองค์เป็นแบบอย่าง มิใช่ว่าสอนอยู่เรื่องเดียว แบบเดียว วิธีเดียว ไม่ว่าผู้ฟังจะเป็นใครก็ตาม ดังหลวงตาอาจารย์ของเด็กชายตึ๋ง (ขอเล่านิทานหน่อย เปรี้ยวปากเต็มที)

หลวงตาอาจารย์ของเด็กชายตึ๋ง มีกัณฑ์เทศน์ “กัณฑ์เก่ง” อยู่คัมภีร์เดียว ไม่ว่าไปเทศน์งานไหน หลวงตาก็ให้เด็กชายตึ๋งถือคัมภีร์เล่มนั้นไปเทศน์ทุกครั้ง วันหนึ่งขณะที่หลวงตากำลังเทศน์อยู่ เด็กชายตึ๋ง ซึ่งออกมาเล่นลูกหินกับเด็กคนอื่นไม่ไกลจากศาลานัก ก็บอกเพื่อนว่า “เลิกแค่นี้เถอะ หลวงตากูใกล้จะเทศน์จบแล้ว”

“มึงรู้ได้อย่างไร ว่าหลวงตามึงจะจบแล้ว” เพื่อนอีกคนถาม

“รู้สิ พอถึงนิทานลิงขยี้รังนก แสดงว่าใกล้จบแล้ว กูฟังมาห้าร้อยครั้งแล้ว” เด็กชายตึ๋งบอกเพื่อน

หลวงตาท่านไม่คำนึงว่า คนฟังเป็นใคร ท่านก็มีคัมภีร์เทศน์อยู่คัมภีร์เดียว ไปเทศน์ที่ไหนก็อ่านแต่คัมภีร์นั้น เทศน์สอนอย่างนี้กี่ปีกี่ชาติก็ไม่ได้ผล

ครูที่ทำหน้าที่สอนคนอื่น จึงไม่ควรเอาอย่างหลวงตาในนิทานนี้เป็นอันขาด

๒.นอกจากดูความแตกต่างของผู้เรียนแล้ว ยังต้องดูความพร้อมของผู้เรียนด้วย ซึ่งทางพระเรียกว่า “ความสุกงอมแห่งอินทรีย์” (อินทรียปริปากะ) บางทีบางคนมีพื้นความรู้พอจะเข้าใจได้ แต่ยังไม่ถึงเวลาหรือยังไม่มีความพร้อมก็ไม่สามารถรู้ได้

ยกตัวอย่างเรื่อง นางรูปนันทาเถรี  

ภิกษุณีรูปนี้ก่อนบวชเป็นสตรีที่สวยมาก และหลงใหลในความสวยของตนมาก  แม้เมื่อบวชเข้ามาแล้วยังไม่ทิ้งนิสัยรักสวยรักงาม เพื่อนภิกษุณีชวนไปฟังพระพุทธเจ้าเทศน์ก็ไม่ยอมไป เพราะรู้ว่าพระผู้ทรงเป็นพระเชษฐาของตน (นางรูปนันทาเป็นน้องสาวพระนันทะ เป็นพระกนิษฐาต่างพระมารดาของพระพุทธเจ้า) ชอบตรัสตำหนิความสวยงามว่าเป็นของไม่ยั่งยืนจึงไม่ประสงค์จะได้ยิน

พูดง่ายๆ ว่านางไม่อยากได้ยินใครมาพูดว่า ความสวยไม่จีรังยั่งยืน ฟังแล้วมันบาดหัวใจ ว่าอย่างนั้นเถอะ

พระพุทธองค์ทรงทราบว่า อินทรีย์ของนางยังไม่แก่กล้า จึงมิได้ทรงเรียกนางมาสั่งสอนอะไร หรือแม้นางจะมาฟังเทศน์กับภิกษุณีอื่นๆ เป็นบางครั้ง พระองค์มิได้ตรัสเตือนอะไรนาง

จนกระทั่งวันหนึ่ง เมื่อนางมี “ความพร้อม” ที่จะรู้ธรรมแล้ว พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็น นางนั่งแอบอยู่ข้างหลังภิกษุณีอื่นๆ ทรงใช้อิทธิฤทธิ์บันดาลให้นางมองเห็น ประดุจหนึ่งว่า มีพระพุทธองค์กับนางเพียงสองคนเท่านั้น

ขณะที่นางมองพระพุทธองค์อยู่ พลันสายตาก็มองเห็นภาพของหญิงสาววัยรุ่นกำดัดนางหนึ่งสวยสดงดงามมาก นั่งถวายงานพัดพระพุทธองค์  “หญิงสาวคนนี้เป็นใครกันหนอ ช่างสวยงามเหลือเกิน งามกว่าเราอีก” นางรูปนันทาภิกษุณี รำพึงเบาๆ สายตาจ้องดูนางไม่กะพริบ

ด้วยอิทธิฤทธิ์ของพระพุทธองค์ หญิงสาวนั้นก็ค่อยๆ เปลี่ยนสภาพจากสาวน้อยเป็นสาวใหญ่ เป็นหญิงมีบุตรหนึ่งคน สองคน สามคน เป็นหญิงชราแก่หง่อมหนังเหี่ยว จนกระทั่งตายเป็นศพขึ้นอืดมีหมู่หนอนไต่ยั้วเยี้ยๆ ส่งกลิ่นเหม็นหึ่ง

ขณะนางมองดูความเปลี่ยนแปลงแห่งภาพข้างหน้า นางก็ค่อยๆ ได้คิดตามลำดับว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่จีรังยั่งยืน แม้รูปร่างที่สดสวยงดงามนี้ก็เปลี่ยนแปรไปเป็นไม่สวยงามและในที่สุดก็แตกดับสลาย เมื่อได้คิดก็มองเห็นไตรลักษณ์ เมื่อพระพุทธองค์ตรัสย้ำอีกว่า
“ร่างกายนี้ธรรมชาติสร้างให้เป็นเมืองกระดูก ฉาบด้วยเนื้อและโลหิต เป็นที่สถิตแห่งชราและมรณะ ความเย่อหยิ่ง และความดูถูกบุญคุณกัน” ถึงตอนนี้ นางรูปนันทามีความพร้อมจะรู้ธรรมแล้ว เมื่อได้ฟังพุทธดำรัสตรัสเตือนเท่านั้น นางก็บรรลุธรรมทันที

๓.สอนให้ผู้เรียนทำด้วยตนเอง บางทีพูดปากเปียกปากแฉะ ผู้ฟังก็ยังไม่แจ่มกระจ่าง ถ้าอยากจะให้ “แจ้งจางปาง” จริงๆ ขอให้ผู้เรียนได้ทำด้วยตนเอง จะได้เกิดประสบการณ์ตรง

ดังเรื่อง พระจูฬปันถกเป็นตัวอย่าง  

เอ่ยแล้วไม่เล่าดูกระไรอยู่ ขอเล่าให้ฟังเสียเลย

จูฬปันถกเป็นน้องชายของพระมหาปันถก ซึ่งเป็นพระนักปราชญ์มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย   ท่านจูฬปันถกเป็นพระหัวทึบ ท่องคาถาสี่บาทสี่บรรทัดสามเดือนจำไม่ได้ พี่ชายจึงประณาม (ขับไล่) ออกจากวัด

ท่านจูฬปันถกเสียใจมากจึงคิดจะไปฆ่าตัวตาย บังเอิญพระพุทธเจ้าเสด็จมาพบเข้า ตรัสถาม ทรงทราบเรื่องราว แล้วจึงตรัสปลอบใจว่า ท่องไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เธอยังมีทางอื่นที่จะเข้าใจได้โดยไม่ท่อง อะไรทำนองนี้

ท่านจูฬปันถกได้ยินดังนั้น กำลังใจก็มาทันที นึกภูมิใจและมั่นใจในตนเองว่า ตนเองมิใช่คนไร้ค่าโดยสิ้นเชิง  

พระพุทธองค์ตรัสว่า มีทางจะเข้าใจธรรมได้ เมื่อพระพุทธองค์ทรงเห็นว่าจูฬปันถกมีความพร้อมเต็มที่แล้ว จึงประทานผ้าขาวให้ผืนหนึ่ง ตรัสสั่งให้เอามือลูบพร้อมบริกรรม (ท่อง) คำสั้นๆ ว่า “รโชหรณัง รโชหรณัง” (แปลว่าผ้าเช็ดธุลีๆ)

ขณะนั้นผ้าที่ขาวสะอาดเมื่อไม่กี่นาทีที่ผ่านมาถูกเหงื่อมือเข้าก็กลายเป็นผ้าสกปรก จูฬปันถกฉุกใจคิดว่า เอ ผ้าขาวสะอาดเมื่อครู่บัดนี้กลายเป็นผ้าสกปรกไปแล้วเพราะเหงื่อมือ

จิตใจคงเหมือนผ้าขาวผืนนี้ เดิมทีก็คงสะอาดหมดจด แต่เมื่อถูกกิเลสจรมาครอบงำก็กลายเป็นจิตสกปรกได้  เมื่อนึกเปรียบเทียบดังนี้ จิตใจก็เห็นแจ้งไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) ไม่ช้าไม่นานก็บรรลุธรรม

พระจูฬปันถก ได้ลงมือทำด้วยตนเอง คือ สัมผัสผ้าขาวด้วยตนเอง เมื่อผ้าขาวเปลี่ยนแปลงเป็นผ้าสกปรกเพราะเหงื่อ ก็ฉุกคิดได้ข้อเปรียบเทียบกับจิตใจของตนเดินเข้าสู่ทางแห่งวิปัสสนาโดยไม่รู้ตัว  

ความรู้ความเข้าใจแจ่มแจ้ง ซึ่งสภาวธรรมทั้งหลายอย่างนี้ ถ้าเพียงแต่ฟังคนอื่นบรรยายเฉยๆ อาจไม่เกิดขึ้นได้

ต่อมาผู้ปฏิบัติได้ทำด้วยตนเอง ได้ทดลองด้วยตนเองนั้นแหละ จึงเกิดการหยั่งรู้อันเป็นประสบการณ์ตรงเอง

๔.ผู้เรียนจะต้องมีบทบาทร่วมด้วย เวลาสอนนั้นมิใช่ครูตั้งหน้าตั้งตาบรรยายไปคนเดียว โดยผู้ฟังไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนการสอนเลย ควรจะให้ผู้ฟังมีส่วนร่วมด้วย เช่น อาจจะเป็นการสอนกึ่งสนทนา เป็นการถาม-ตอบ โดยคนสอนตั้งคำถามให้ผู้เรียนช่วยกันคิด และช่วยกันตอบ

พระพุทธเจ้าเมื่อทรงเทศน์สอนปัญจวัคคีย์ ก็ทรงถามให้พวกเธอตอบ ดังในอนัตตลักขณสูตร นั่นไงล่ะครับ แทนที่จะทรงบรรยายพระองค์เดียว พระองค์กลับตั้งคำถามให้พวกเธอช่วยกันคิดว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละอย่างมันเที่ยงหรือไม่เที่ยง เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เมื่อพวกเธอกราบทูลหลังจากคิดหลายตลบแล้วว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ พระองค์ก็ทรงถามให้คิดอีกว่า ถ้ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ควรจะยึดถือมันเป็นของเขาหรือว่าเราเป็นเช่นนั้นไหม พวกเธอก็ตอบว่าไม่ควรอย่างยิ่ง

การให้ผู้ฟังมีส่วนร่วมด้วยนี้ ดูเหมือนว่าจะเป็นวิธีที่พระพุทธองค์ทรงใช้บ่อยและเป็นวิธีที่ได้ผลด้วย ผู้ฟังบางคนพอได้โอกาสแสดงความคิดเห็นของตนก็เกิดความภูมิใจ มั่นใจ แลพร้อมที่จะรับฟังด้วยความสนใจ

เมื่อมีความสนใจเต็มที่ ไม่ว่าจะสอนอะไร เขาก็รับรู้ได้ง่ายดังพุทธวจนะว่า สุสฺสูสํ ลภเต ปญญํ ฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญาแล

๕.ครูต้องเอาใจใส่ผู้เรียนที่มีปัญหาเป็นพิเศษ  
ในหมู่ผู้เรียนอาจมีบางคนที่มีปัญหาเช่นเรียนไม่ทัน เพราะมีความว้าวุ่นในใจบางอย่าง ไม่เกี่ยวกับวิชาเรียน แต่มัน effect การเรียน ว่าอย่างนั้นเถอะ

ยกตัวอย่างนักเรียนคนหนึ่ง แต่ไหนแต่ไรมาก็เรียนได้คะแนนดี แต่ต่อมาการเรียนตกลง มาโรงเรียนก็สาย  ครูเห็นผิดปกติ ตามไปดูบ้านจึงรู้ว่า นักเรียนคนนี้ต้องรับภาระเลี้ยงยายผู้พิการ ก่อนไปโรงเรียน ก็หุงข้าวหุงปลาไว้ให้ ขณะพักเที่ยงก็รีบมาดูยายที่บ้าน เสร็จแล้วจึงวิ่งไปที่โรงเรียน บางครั้งก็ไม่ทัน

พอโรงเรียนเลิกก็ต้องรีบกลับบ้าน  เมื่อครูรู้ปัญหาก็เปิดเผยความจริงให้สังคมทราบ สังคมก็ยินดีให้ความช่วยเหลือสนับสนุน เพราะเป็นว่าเป็นเด็กกตัญญู

หลังจากนั้นมาเด็กคนนี้ก็ไม่มีปัญหาในการเรียน


ที่มา : พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฏก (๑๑) บทที่ ๔ : หลักสำคัญที่ควรทราบ (๓) โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ หน้า ๖๗ ฉบับที่ ๑๙๒๒ ประจำวันที่ ๑๖-๒๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๐


บทที่ ๔: หลักสำคัญที่ควรทราบ (๔)

ปัญหาบางอย่างครูแก้ไม่ได้ในขณะนั้น แต่ก็สามารถผลักดันให้สังคมมีส่วนช่วยแก้ไขให้ได้ ดังกรณีเด็กคนดังกล่าว

ถ้าย้อนดูพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงให้ความสำคัญแก่ผู้ฟังที่มีปัญหาเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งเราควรดูเอาเป็นแบบอย่าง

ในที่นี้ขอเล่าสักสามเรื่อง (เรียกว่ารู้จัก “ยึดเรื่อง” ว่าอย่างนั้นแหละ)

เรื่องที่หนึ่งว่า สมัยหนึ่งพระพุทธองค์เสด็จไปยังเมืองหนึ่งจำชื่อไม่ได้ เพื่อทรงแสดงธรรม ประชาชนจำนวนมากต่างก็พากันมาเพื่อฟังธรรมเทศนาจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ประทับนั่งบนธรรมาสน์ ไม่ตรัสอะไรเป็นเวลานาน ประชาชนเมื่อเห็นพระองค์ประทับนั่งดุษณีภาพ ต่างก็นิ่งเงียบเช่นเดียวกัน

ในช่วงเวลานี้ มีชาวนาคนหนึ่ง ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกได้ยินข่าวการเสด็จมาของพระพุทธเจ้าแล้ว ว่าจะไปฟังธรรม แต่บังเอิญวัวแกหาย จึงออกไปตามวัว กว่าจะพบและนำมาผูกไว้เวลาก็ล่วงไปมากแล้ว แกคิดว่าคงไม่ทันแล้ว แต่ไหนๆ ก็ตั้งใจจะไปฟังแล้ว ได้ฟังแค่ตอนท้ายๆ ก็ยังดี

จึงกระหืดกระหอบไปนั่งท้ายฝูงชนที่นั่งสงบเงียบอยู่ 

พระพุทธเจ้ารับสั่งให้คนหาอาหารมาให้ชาวนาคนนั้นกินจนอิ่มเสียก่อน จึงทรงแสดงพระธรรมเทศนา หลังจากทรงเห็นว่าเขามีความพร้อมที่จะฟังธรรมแล้ว

นี้เรื่องหนึ่ง ต่อไปเป็นเรื่องที่สองดังต่อไปนี้  คราวนี้เป็นเด็กหญิงลูกสาวช่างหูก แห่งอาฬวี ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าครั้งแรก เรื่อง มรณัสสติ (สติระลึกถึงความตาย) ว่าชีวิตนี้ไม่แน่นอน ความตายต่างหากแน่นอน คนเราเกิดมาแล้วมีความตายเป็นที่สุด ไม่ควรประมาทในชีวิต เพราะเราไม่รู้ว่าเราจะตายเมื่อใด

เธอรู้สึกซาบซึ้งเมื่อพระพุทธองค์เสด็จจากไปแล้ว พระโอวาทนั้นยังก้องอยู่ในจิตใจของเธอ

เธอจึงเจริญมรณัสสติทุกวันไม่ได้ขาดเป็นเวลา ๓ ปี

สาวน้อยธิดาช่างหูกตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะไปเฝ้าพระองค์ผู้ทรงเป็น “บิดาในทางธรรม” ให้ได้

แต่บังเอิญว่าวันนั้น บิดาของนางสั่งให้นางกรอด้ายหลอดให้ เสร็จแล้วนำไปส่งตนที่โรงหูก

นางคิดว่าต้องทำงานให้บิดาก่อน เสร็จแล้วจะรีบไปฟังธรรม ภาวนาขอให้ทันฟังธรรมจาก “เสด็จพ่อ” ทีเถิด

เมื่อกรอด้ายหลอดเสร็จแล้วก็รีบถือกระเช้าด้ายหลอดเดินทางไปเพื่อส่งบิดา

คิดอย่างไรไม่ทราบว่า ก่อนไปขอแวะถวายบังคมพระพุทธเจ้าก่อน จึงเดินทางไปยืนอยู่ท้ายพุทธบริษัทที่นั่งเฝ้าพระพุทธองค์อยู่ ขณะพระพุทธองค์ทรงชะเง้อพระศอทอดพระเนตรดูนางพอดี

นางเกิดปีติยินดี แม้อยู่ท่ามกลางฝูงชนมากมาย พระพุทธองค์ทรงคอยการมาของเราจึงถวายบังคม พระพุทธองค์ตรัสถามว่า กุมาริกา เธอมาจากไหน

“ไม่ทราบ พระเจ้าข้า” นางตอบ
“แล้วเธอจะไปไหน” ตรัสถามอีก
“หม่อมฉันก็ไม่ทราบ พระเจ้าข้า”
“เธอไม่ทราบหรือ” ตรัสถามอีก
“ทราบ พระเจ้าข้า” นางตอบดังหนึ่งเล่นลิ้น
“เธอทราบหรือ” ตรัสถามเป็นครั้งสุดท้าย
“ไม่ทราบ พระเจ้าข้า” นางตอบเสียงชัดเจน

เสียงดังฟังชัด จนฝูงชนที่นั่งอยู่ส่งเสียงอึงคะนึง ตำหนินางว่า เป็นแค่เด็กสาวลูกนายช่างหูก ยังกล้ามาเล่นลิ้นกับพระพุทธเจ้า ช่างไม่รู้ที่ต่ำที่สูง พ่อมันมัวแต่ทอหูกอยู่หรือไร ไม่รู้จักอบรมสั่งสอนลูก

พระพุทธองค์ทรงปรามให้พุทธบริษัทเงียบเสียง แล้วตรัสถามต่อไปว่า กุมาริกา เราถามว่า มาจากไหน ทำไมเธอตอบว่าไม่ทราบ ถามว่าจะไปไหน ก็ตอบว่าไม่ทราบอีก ครั้นถามว่า ไม่ทราบหรือ กลับตอบว่า ทราบ ครั้นถามต่อไปว่าเธอทราบหรือ กลับตอบว่าไม่ทราบ เป็นอย่างไรกันแน่

นางกราบทูลว่า พระองค์ทรงทราบอยู่แล้วว่า หม่อมฉันมาจากบ้าน

เมื่อทรงถามว่ามาจากไหน พระองค์ไม่หมายอย่างนั้นแน่ คงหมายถึงว่าหม่อมฉันมาจากไหน จึงเกิดมาเป็นธิดาช่างหูก หม่อมฉันไม่ทราบ จึงกราบทูลอย่างนั้น

เมื่อพระองค์ตรัสถามอีกว่า จะไปไหน คงทรงหมายถึงว่า หลังจากหม่อมฉันตายแล้ว จะไปเกิดที่ไหน หม่อมฉันไม่ทราบ จึงกราบทูลตามนั้น ครั้นทรงถามอีกว่า ไม่ทราบหรือ คงทรงหมายถึงว่าหม่อมฉันไม่ทราบหรือว่าจะต้องตายแน่ หม่อมฉันทราบว่าต้องตายแน่ จึงกราบทูลว่าทราบ

ครั้นทรงถามว่าทราบหรือ คงทรงหมายความว่า ทราบหรือว่าจะตายเมื่อใด หม่อมฉันไม่ทราบ จึงกราบทูลว่าไม่ทราบ

ประชาชนเงียบกริบ พระพุทธองค์ทรงประทานสาธุการว่า ดีละๆ กุมาริกา เธอฉลาดเฉียบแหลม แล้วทรงแสดงธรรมต่ออีกหน่อยหนึ่ง นางได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน

เสร็จแล้วกุมาริกาก็กราบถวายบังคมลาพระพุทธองค์รีบไปยังโรงหูก เพื่อนำกระเช้าด้ายหลอดไปส่งบิดา บิดาเธอนั่งรอลูกสาวจนม่อยหลับคาหูก มือหนึ่งยกฟืมค้างอยู่

นางไม่ทันสังเกต ยื่นกระเช้าไปให้บิดา บิดาตกใจตื่นกระชากฟืมที่ยกค้างอยู่เข้ามาหาตัวแรง ปลายฟืมกระแทกทรวงอกลูกสาวซึ่งกำลังยื่นกระเช้าด้ายหลอดมาให้พอดี นางล้มลงดิ้นตายอยู่ตรงนั้นเอง

เรื่องนี้จบด้วยความเศร้า

ชาวนาเลี้ยงโควิตกกังวลที่โคหาย พอตามหาโคพบแล้วรีบไปฟังธรรม มีปัญหาคือความเมื่อยล้า หิวข้าว ถ้าพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมขณะที่เจ้าท้องร้องจ๊อกๆ ถึงจะตั้งใจฟังอย่างไรก็คงควบคุมจิตให้เป็นสมาธิได้ยาก

พระพุทธองค์จึงทรงแก้ปัญหาโดยให้เขารับประทานอาหารให้อิ่มเสียก่อน เมื่อหายหิวจิตใจก็สบาย พร้อมที่จะฟังธรรม

สำหรับธิดาช่างหูก ปัญหาของนางก็คือต้องรีบนำกระเช้าด้ายหลอดไปให้พ่อที่โรงทอผ้า กลัวว่าไปก่อนแล้วกลับมาฟังธรรมอาจไม่ทัน จึงแวะมาดูก่อน นางมีความวิตกกังกลมาก แต่พอแวะมา เห็นพระพุทธองค์ทรงชะเง้อพระศอมองนางอยู่ ความกังวลก็หมดไป มีแต่ความปลาบปลื้ม พระองค์ทรงรู้ว่าเป็นจังหวะเหมาะ จึงรีบแสดงธรรมให้ฟัง โดยวิธีถามตอบปัญหาแล้วตะล่อมเข้าหาเรื่องที่ต้องการสอน

อีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องนางมาคันทิยา นางเป็นบุตรสาวของมาคันทิยพราหมณ์ สวยสดงดงามดังหยาดฟ้ามาดินเชียวแหละ พ่อไม่ยอมยกนางให้ชายใดเลย มักพูดว่าไม่เหมาะสมกับลูกสาวตน

อยู่มาวันหนึ่งพราหมณ์เห็นพระพุทธเจ้าเข้า จึงบอกว่า สมณะ เรามีลูกสาวสวยอยากยกให้เป็นภรรยาของท่าน ท่านอย่าเพิ่งไปไหน รออยู่ที่นี้แหละเดี๋ยวจะไปตามลูกสาวมาให้ท่านดูตัว

พระพุทธองค์มิประทับอยู่ ณ จุดเดิม ทรงประทับรอยพระบาทไว้แล้วเสด็จไปประทับนั่งใต้ต้นไม้ใกล้ๆ

ที่นั้น พราหมณ์และนางพราหมณีจูงมือลูกสาวมา ตามด้วยบรรดา “แขกมุง” มากมาย  นางพราหมณีเห็นรอยพระบาทนั้น ก็บอกสามีว่า เจ้าของรอยเท้านี้เป็นคนไม่ยินดีในกามคุณแล้ว เพราะนางดูลายเท้าเก่ง

พราหมณ์ไม่เชื่อ มองไปมองมาเห็นพระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ใต้ต้นไม้จึงเข้าไปหาบอกจะยกลูกสาวให้ พระพุทธองค์ตรัสสองสามคำ ทำให้พราหมณ์และพราหมณีได้สตินั่งลงฟังธรรมจนบรรลุเป็นพระโสดาบัน

ในขณะที่นางมาคันทิยาไม่ได้บรรลุอะไร มิหนำยังผูกอาฆาตพระพุทธองค์อีก (เพราะพระองค์ตรัสตำหนิความงามว่าเป็นสมบัติภายนอก ไม่น่ายินดีอะไร พระองค์มีชายาสวยกว่านี้หลายเท่ายังสละมาได้ อะไรทำนองนี้ ทำให้นางรู้สึกว่าถูกเหยียดหยาม)

เป้าหมายของพระองค์คือสองสามีภรรยามีปัญหาที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ จึงทรงเอาพระทัยใส่ และสอนธรรมที่เหมาะแก่สองคนนั้น

ส่วนคนที่ยังไม่พร้อมจะเข้าถึงก็ปล่อยไปก่อน ดังทรงมุ่งเป้าไปที่ชาวนาคนเดียวหรือหญิงสาวคนเดียว ขณะที่คนอื่นๆ นั่งฟังอยู่เป็นจำนวนมาก ฉะนั้นแล

หลักสำคัญในส่วนที่เกี่ยวกับผู้เรียนก็จบเพียงแค่นี้ ต่อไปจะพูดถึงส่วนที่เกี่ยวกับตัวการสอนครับ. 


ที่มา : พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฏก (๑๒) บทที่ ๔ : หลักสำคัญที่ควรทราบ (๔) โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ หน้า ๗๑ ฉบับที่ ๑๙๒๓ ประจำวันที่ ๒๓-๒๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๐



หัวข้อ: Re: พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฏก ปรัชญาพื้นฐานเกี่ยวกับการสอน
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 30 มิถุนายน 2560 15:46:21

(http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/3/33/Prajnaparamita_Java.jpg/210px-Prajnaparamita_Java.jpg)

พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฎก (๑๓)
บทที่ ๔: หลักสำคัญที่ควรทราบ (๕)

ก.เกี่ยวกับตัวการสอน
๑.สร้างความสนใจ ในการสอนคนนั้น สิ่งแรกที่ควรทำก็คือสร้างความสนใจแก่ผู้เรียน

วิชาการสมัยใหม่เขาจะเรียกว่าอะไรก็ช่างเถอะ (ดูเหมือนเรียกว่าการนำเข้าสู่บทเรียน อะไรทำนองนั้น) ในกรณีที่ไม่ได้สอนเป็นชั้นเป็นห้อง เป็นเพียงการ “คุยกัน” ก็ไม่ต้องดัดจริตเรียกว่าชั้นนำสู่บทเรียน เดี๋ยวคู่สนทนาจะวิ่งหนีก่อน

เอาแค่ว่าเป็นการสร้างความสนใจให้คู่สนทนาก็พอ เป็นการดึงความสนใจ และนำสู่เนื้อหาที่ต้องการได้อย่างดี

ดูพระพุทธองค์ก็จะเห็นพระจริยวัตรที่เป็นแบบอย่างในเรื่องนี้ชัดเจน ขอยกตัวอย่างมาให้ดูสักสองสามเรื่อง

ครั้งหนึ่ง ขณะบรรดาชฎิลสามพี่น้องพร้อมบริวารเป็นจำนวนพันแวดล้อมพระพุทธองค์อยู่ พระองค์ตรัสเปรยขึ้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย สรรพสิ่งร้อนเป็นไฟ”

ทันทีที่ตรัสจบ ชฏิลเหล่านั้น ซึ่งบัดนี้ได้มาบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์แล้ว “หูผึ่ง” เลยเกิดความสนใจเป็นพิเศษขึ้นมาทันที

ถ้าถามว่าทำไมท่านเหล่านี้จึงมีอาการที่เรียกว่า “หูผึ่ง” คำตอบก็คือ

ท่านเหล่านี้อดีตเป็นนักบูชาไฟ อยู่กับไฟ อยู่กับความร้อน ถ้าใครมาพูดว่าไฟมันร้อน ย่อมจะรับรู้ทันทีว่าใช่ เพราะพวกตนเคยอยู่กับไฟตลอด ย่อมรู้ในข้อนี้
แต่การที่ใครก็ตามเอาเรื่องที่คนส่วนมากรู้กันอยู่มาพูด แสดงว่าต้องมีจุดหมายอะไรสักอย่าง  เพราะฉะนั้น ถ้าพระพุทธองค์อยู่ๆ ตรัสขึ้นว่า ไฟมันร้อนนะ ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอก็อาจจะเงี่ยหูฟังต่อไปว่า แล้วเป็นอย่างไรต่อไปล่ะ คือยังไงๆ พวกเธอก็คงสนใจจะฟังอยู่นั่นเอง

แต่ถ้ามีใครมาพูดว่า “ทุกสิ่งมันร้อน” ท่านเหล่านี้ยิ่งจะต้องสนใจฟังอย่างยิ่ง เพราะเท่าที่รู้นั้น ไฟเท่านั้นร้อน แต่สิ่งอื่นร้อนนี่มันอะไร และที่ว่าทุกสิ่งร้อนนี้มันร้อนอย่างไร

จริงอย่างว่า พอได้ยิน “สรรพสิ่งร้อนเป็นไฟ” เท่านั้น ก็ on the alert ทันที

พระพุทธองค์เมื่อทรงเห็นว่าพวกอดีตนักบวชผมยาวเกิดความอยากรู้เต็มที่แล้ว จึงทรงขยายต่อไปว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความคิดคำนึง... ร้อนเป็นไฟ ร้อนด้วยไฟหรือราคะ โทสะ โมหะ อธิบายอย่างละเอียด บรรยากาศการเรียนการสอนเป็นไปด้วยความราบรื่นยิ่ง ผู้ฟังก็ได้บรรลุมรรคผลกันทุกผู้ทุกนาม

พระบรมศาสดาเป็นผู้แสดงครับ พระธรรมเทศนาจึงสัมฤทธิผลสูงสุด

ครูธรรมดาๆ ก็เถอะ ถ้าสามารถสร้างจุดสนใจให้ผู้เรียนในเบื้องต้นอย่างดี การสอนก็ย่อมเป็นไปด้วยดี คือผู้เรียนมีความเข้าอกเข้าใจเป็นอย่างดีแน่ ที่สอนแล้วศิษย์บ่นว่าสอนอะไรไม่รู้เรื่องนั้น ส่วนมากไม่มีศิลปะในการสร้างความสนใจ เมื่อคนฟังไม่สนใจฟังแล้วมันจะรู้เรื่องได้อย่างไร

อีกเรื่องหนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จไปพบคนฝึกม้าคนหนึ่งนามเกสี จึงเสด็จเข้าไปสนทนากับเขา เพียงองค์พระศาสดามานั่งคุยด้วย นายเกสีก็ปลื้มแล้ว ยิ่งพระองค์ตรัสถามในเรืองที่ตัวมีความรู้ความชำนาญอยู่ด้วย เขายิ่งมีความสนใจกระตือรือร้นที่จะสนทนา

พระพุทธองค์ตรัสถามว่า เกสี เธอมีวิธีฝึกม้าอย่างไร

เขากราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าใช้ ๓ วิธี คือ วิธีละมุนละม่อม ถ้าใช้วิธีละมุนละม่อมไม่สำเร็จ ก็จะใช้วิธีเข้มงวด ถ้าใช้วิธีเข้มงวดไม่สำเร็จ ก็ใช้วิธีละมุนละม่อมและวิธีเข้างวดปนกัน

พระพุทธองค์ตรัสถามต่อไปว่า ถ้าใช้วิธีทั้ง ๓ วิธีนั้นไม่สำเร็จล่ะ เธอทำอย่างไร

นายเกสีกราบทูลว่า ข้าพระองค์ก็ฆ่ามันทิ้งเสีย เพราะไม่มีประโยชน์ต่อไปแล้ว

พระพุทธองค์ดำรัสต่อ สร้างความสนใจให้นายเกสี “หูผึ่ง” ทันที คือพระองค์ตรัสว่า “เราตถาคตก็เหมือนกัน เวลาฝึกสาวก เราก็ใช้ ๓ วิธี แต่ถ้าใช้ทั้ง ๓ วิธีแล้วใครยังฝึกไม่ได้ เราตถาคตก็ฆ่าทิ้งเหมือนกัน”

ยิ่งทรงเน้นคำว่า “ฆ่าทิ้ง” ด้วย นายเกสียิ่งสนใจอยากรู้ยิ่ง เพราะเท่าที่รู้มาสมณะทั้งหลายไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต จึงกราบทูลว่า การฆ่าไม่สมควรแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลายมิใช่หรือ พระเจ้าข้า

จึงเป็นจังหวะที่พระพุทธองค์จะทรงอธิบายว่า “ฆ่า” ของพระองค์ คือการไม่ให้ความสนใจบุคคลผู้นั้นอีกต่อไป ไม่ว่ากล่าวสั่งสอนอีกต่อไป ในที่สุดบุคคลผู้นั้นก็จะสำนึกตัวได้เอง

๒.สร้างบรรยากาศให้ปลอดโปร่ง บรรยากาศในการเรียนการสอนก็สำคัญ ถ้าผู้เรียนรู้สึกอึดอัด ไม่ปลอดโปร่งโล่งสบายใจ จะเป็นด้วยสถานที่เหมาะ หรือครูผู้สอนเองเป็นต้นเหตุแห่งความอึดอัด จะด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งก็ตาม การเรียนการสอนก็ไม่ราบรื่นแน่นอน

ครูบางคนเวลาเข้าห้องสอน ทำหน้าบอกบุญไม่รับทั้งวัน บางทีโกรธใครมาจากข้างนอก เข้าห้องเรียนก็แว้ดเอากับศิษย์ก็มี อย่างนี้ถึงจะตั้งใจสอนอย่างไรก็เชื่อแน่ว่าไม่ได้ผล เพราะผู้เรียนรู้สึกอึดอัด จะเอาสมาธิมาจากไหน

นักเรียนบางคนถูกครูประจานให้อับอาย เชื่อมขนมกินได้เลยว่า เจ้าหมอนั่นถึงจะนั่งเรียนตลอดทั้งวันก็เรียนไม่รู้เรื่อง เพราะมัวคิดแต่เรื่องอับอายเพื่อนฝูงที่เกิดขึ้นในห้องเรียนทั้งๆ ที่ผ่านไปหลายชั่วโมงแล้ว

มีเรื่องน่าสนใจอยู่เรื่องหนึ่ง เล่าไว้เสียเลย สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปยังเมืองหนึ่ง พราหมณ์นามว่า โสณฑัณฑะ เข้าไปเฝ้าพร้อมกับบรรดาพราหมณ์ผู้คงแก่เรียนจำนวนมาก

พราหมณ์คนนี้ใครๆ ก็ยกย่องว่าเป็นผู้คงแก่เรียน แต่แกรู้มาว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นพระสัพพัญญู มีสติปัญญากว้างขวาง ถ้าตนไปสนทนากับพระองค์ ถูกพระองค์ชวนคุยในเรื่องที่ตนไม่มีความรู้ ตนก็จะอับอายพวกพราหมณ์หนุ่มๆ

พราหมณ์แกนึกภาวนาไปตลอดทางว่าขอให้พระองค์ชวนเราคุยในเรื่องที่เรารู้เถิด

เมื่อโสณทัณฑะพราหมณ์ไปถึง ถวายบังคมแล้วนั่งอยู่พร้อมกับพวกพราหมณ์อื่นๆ จำนวนมาก พระองค์ก็ตรัสถามเรื่องคุณสมบัติของผู้ที่เป็นพราหมณ์ว่า จะต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง

เรื่องอย่างนี้เป็นของง่ายสำหรับโสณทัณฑะ แกมีความดีใจมากที่พระพุทธเจ้าตรัสถามในสิ่งที่แกมีความรู้ความชำนาญอยู่แล้ว จึงกราบทูลได้อย่างฉาดฉานด้วยความมั่นใจอย่างยิ่ง

บางทีผู้อ่านคงอยากทราบกระมังว่า เรื่องที่พระพุทธองค์ตรัสถามพราหมณ์ว่าอย่างไร คือพระองค์ตรัสถามว่า คนที่เรียกว่าพราหมณ์นั้นต้องมีคุณสมบัติเท่าไร  พราหมณ์ตอบว่า ต้องมีคุณสมบัติ ๕ ประการ คือ ๑.มีชาติตระกูลดี  ๒.ท่องมนต์ในพระเวทได้คล่อง  ๓.มีปัญญา ๔.มีศีล  ๕.มีปัญญา

พระพุทธองค์ตรัสถามต่อไปว่า คุณสมบัติเหล่านี้จะตัดออกเหลือ ๔ หรือ ๓ หรือ ๒ ได้ไหม  พราหมณ์กราบทูลว่าได้ แล้วก็ลดจนเหลือ ๒ ข้อคือ ศีลกับปัญญา เมื่อตรัสถามต่อไปว่า จะลดอีกได้ไหม พราหมณ์ตอบว่าไม่ได้อีกแล้ว พราะศีล (ความประพฤติ) กับปัญญา (ความรู้) สำคัญที่สุด

จากนั้นพระพุทธองค์ก็สนับสนุนคำตอบของเขา แล้วสรุปสาระที่พระองค์ทรงประสงค์

๓.มุ่งสอนเนื้อหา  มุ่งให้ผู้ฟังเกิดความรู้ความเข้าใจและเปลี่ยนพฤติกรรมในทางดีเป็นสำคัญ ในคุณสมบัติของนักแสดงธรรมมีอยู่ข้อหนึ่งว่าสอนตรงตามเนื้อหา มุ่งแสดงอรรถ แสดงธรรม ไม่กระทบกระทั่งผู้อื่น ก็เห็นจะต้องขอร้องให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นตัวอย่างอีกนั่นแหละ

ทุกครั้งที่มีถามทำนองกระทบคนอื่น หรือให้พาดพิงคนอื่น พระองค์จะทรง “ตัดบท” ว่าเรื่องของคนอื่นช่างเถอะ เอาเป็นว่าเราตถาคตจะแสดงธรรมให้ฟังอย่างนี้ทุกครั้ง อ่านพระสูตรแล้วจะพบข้อความทำนองนี้เสมอ ยกตัวอย่างเช่น ในกาลามสูตร หรือเกสปุตติสูตร

ชาวกาลามะแห่งหมู่บ้านเกสปุตตนิคม เมื่อพบพระพุทธเจ้า ก็พากันมารายงานว่าเจ้าลัทธินั้นผ่านมาก็พูดยกย่องคำสอนของตนว่าถูกต้อง ของคนอื่นผิด เจ้าลัทธิโน้นผ่านมาก็บอกว่าคำสอนของตนเท่านั้นที่ถูกต้อง ของคนอื่นผิด พวกข้าพระพุทธเจ้าสับสนไปหมด คำสอนของใครถูกต้อง ใครพูดจริง ใครพูดเท็จกันแน่

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ใครผิดใครถูกช่างเถิด เราจะบอกเพียงหลักการกว้างๆ สมควรแล้วพวกเธอจะพึงสงสัย เพราะเป็นเรื่องควรสงสัย ขอให้ยึดหลักว่าสิ่งใดเป็นอกุศล (ไม่ดี) มีโทษ ผู้รู้ตำหนิ เมื่อยึดถือปฏิบัติแล้วจะเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ ท่านทั้งหลายพึงละเสีย แต่ถ้าตรงกันข้ามพึงถือปฏิบัติ

เสร็จแล้วพระองค์ก็ตรัสหลักการหรือท่าทีที่ถูกต้องไว้ให้ ๑๐ ประการ

คือ อย่าเพิ่งด่วนเชื่อเพราะได้ยินได้ฟังมา เพราะการถือสืบต่อกันมา เพราะข่าวเล่าลือ เพราะอ้างตำรา เพราะเหตุผลทางตรรกะ เพราะการอนุมาน เพราะการคิดตรองตามเหตุผล เพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจแล้ว เพราะรูปลักษณ์น่าเชื่อถือ และเพราะผู้พูดเป็นครูของตน

ให้ใช้ปัญญาพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเสียก่อนแล้วค่อยเชื่อถือ

๔.ตั้งใจสอน สอนโดยเคารพ ให้ถือว่างานสอนเป็นงานที่สำคัญ การให้ความรู้แก่คนอื่นเป็นงานที่น่าภาคภูมิใจ

ยิ่งสามารถกลับพฤติกรรมของคนจากคนชั่วให้กลายเป็นคนดีได้ เป็นงานที่มีค่าที่สุดในชีวิตทีเดียว

บางคนสอนเพราะเห็นแก่อามิส เมื่อไปวางราคาไว้ที่อามิส งานสอนก็กลายเป็นงานที่ไม่บริสุทธิ์ เป็นการจ้างและรับจ้าง  ไปงานไหนได้ค่าจ้างน้อยหรือทำท่าจะไม่ได้ค่าจ้างก็ไม่เต็มใจสอน หรือสอนอย่างแกนๆ สักแต่ว่าทำ

เคยได้ยินนักพูดบางคนพูดว่า พอเห็นคนฟังน้อยก็เลยไม่อยากพูด อย่างนี้ก็แสดงว่า ผู้พูดนั้นวางค่าของการพูดการบรรยายไว้ที่จำนวนคนฟัง

ถึงจะไม่ใช่เรื่องอามิสโดยตรงก็แสดงให้เห็นว่า เป้าหมายของการพูดการบรรยายของเขามิได้อยู่ที่หลักการที่ว่าผู้ฟังควรจะได้อะไร แต่อยู่ที่ว่าตนควรจะได้อะไร

หน้ายังไงเล่า ถ้าผู้ฟังน้อยก็ไม่ได้หน้า คนฟังมากก็ได้หน้า ใช่ไหมเล่า

นักปาฐกท่านหนึ่งรับเชิญไปพูด บังเอิญงานนั้นมีคนฟังน้อย ผู้จัดเกรงว่าท่านจะเสียกำลังใจจึงกล่าวขอโทษ ท่านตอบว่าไม่เป็นไรดอก คนฟังแค่นี้ก็มากแล้ว

เมื่อครั้งพระพุทธองค์แสดงธรรมครั้งแรกมีคนฟังแค่ ๕ คนเท่านั้น (ปัญจวัคคีย์)  

นี้แสดงว่าท่านผู้นี้เข้าใจหน้าที่ และคุณค่าที่แท้จริงของงานสอน

๕.ใช้ภาษาเหมาะสม ผู้สอนคนอื่นควรมีความสามารถสื่อสารด้วย คำพูดที่ถูกต้องและเหมาะสมกับบุคคลและสถานการณ์ สมัยนี้มักจะถามว่า ครูควรดุด่าศิษย์หรือไม่ การดุด่านั้นทำได้ แต่ต้องดุด่าด้วยจิตเมตตามุ่งให้ศิษย์สำนึกและกลับพฤติกรรม ใช้ถ้อยคำรุนแรงได้ แต่รุนแรงด้วยจิตเมตตากับรุนแรงด้วยความโกรธความชิงชังเราสามารถ “สัมผัส” ได้

ขอยกตัวอย่างเรื่องจริง เมื่อ “ยาขอบ” เป็นนักเรียนประถม ไม่ตั้งใจฟังครูอธิบาย

ครูถามว่า “มานะ ธรรมะคืออะไร”

เด็กชายมานะลุกขึ้นตอบว่า “ธรรมะคือคุณากรครับ”

ครูโมโหมาก ด่าว่า “ไอ้อัปรีย์”

คำพูดด้วยความโกรธปราศจากเมตตาจิตของครู เด็กชายมานะ “สัมผัส” รู้ได้เดินออกจากห้องเรียน

ครูสำนึกได้ว่าตนผิดจริงจึงกล่าวแก้ว่า ที่ครูว่าอัปรีย์ ครูไม่ได้ด่านะ หมายถึง อับ-ปรีชา (คือมีความรู้น้อย จึงตอบผิด)

คงเป็นคำแก้ตัวที่ฟังไม่ขึ้น เด็กชายมานะจึงไม่มาโรงเรียนอีกเลย

แต่ก็มี “มานะ” สมชื่อ ต่อมาได้กลายเป็นนักประพันธ์ยิ่งใหญ่ นามว่า “ยาขอบ”

เป็นครูสอนคนอื่น หรือคนที่มีหน้าที่ “สื่อสาร” กับคนส่วนมากรู้จักใช้ภาษาหรือถ้อยคำเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ต้องใช้ให้ถูกต้องเหมาะสม แม้ถูกต้องเหมาะสมแล้วยังต้องให้ถูกกาลเทศะด้วย

เรื่องนี้พูดได้ยาว เอาเพียงแค่นี้ก็แล้วกัน จะได้ไปพูดเรื่องอื่นบ้าง


ที่มา : พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฏก (๑๓) บทที่ ๔ : หลักสำคัญที่ควรทราบ (๕) โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ หน้า ๖๗ ฉบับที่ ๑๙๒๔ ประจำวันที่ ๓๐ มิถุนายน - ๖ กรกฎาคม  พ.ศ.๒๕๖๐


พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฎก (๑๔)
บทที่ ๕ : หลักการสอนทั่วไป

คำว่าหลักการทั่วไป ในแง่วิชาจะหมายถึงอะไร ผมไม่สนใจ ผมหมายเอาตามที่ผมต้องการ คือต้องการจะให้ใจว่า หมายถึงหลักกว้างๆ เกี่ยวกับการสอน หลักการมักจะคู่กับวิธีการ หลักการเป็นเรื่องกว้างๆ ครอบคลุมแต่พูดไม่ชัดแจ้ง ส่วนวิธีการเป็นเรื่องของรายละเอียด ว่ามีขั้นตอนในการทำอย่างไรบ้างอะไรอย่างนี้

ยิ่งพูดมากก็ยิ่งงงเนาะ ขอบอกเสียเลยดีกว่าหลักการทั่วไปของการสอนนี้คืออะไร

พระพุทธเจ้านั้น ทรงเป็นพระบรมครู ยอดครูของผู้สอนคน พระองค์ทรงมีหลักการในการสอนมากมายหลายหลักการ จะขอยกมาสัก ๑ หมวด ที่เรียกกันว่า “หลัก ๔ ส” เพราะแต่ละข้อขึ้นด้วยอักษร ส คือ
๑.สันทัสสนา อธิบายให้เห็นชัดแจ้ง เหมือนจูงมือให้มาดูด้วยตาพูดอธิบายให้ผู้ฟังแจ้งจางปาง ไม่มีข้อสงสัยว่าอย่างนั้นเถอะ เรียกสั้นๆ ว่า “แจ่มแจ้ง”
๒.สมาทปนา ชักจูงให้เห็นจริงเห็นจังตาม ชวนให้คล้อยตามจนยอมรับเอาไปปฏิบัติ เรียกสั้นๆ ว่า “จูงใจ”
๓.สมุตตเตชนา เร้าใจให้เกิดความกล้าหาญ มีกำลังใจ มั่นใจว่าทำได้ไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคที่พึงมีมา ไม่ว่าจะใหญ่และยากสักปานใดก็ตามเรียกสั้นๆ ว่า “หาญกล้า”
๔.สัมปหังสนา มีวิธีสอนที่ช่วยให้ผู้ฟังร่าเริง เบิกบาน ฟังไม่เบื่อ เปี่ยมล้นไปด้วยความหวัง เพราะมองเห็นคุณประโยชน์ที่ตนพึงได้รับจากการปฏิบัติ เรียกสั้นๆ ว่า “ร่าเริง”

สรุปหลักการทั่วไปของการสอน ด้วยคำพูดสั้นๆ ว่า แจ่มแจ้ง-จูงใจ-หาญกล้า-ร่าเริง ที่เรียกว่าหลักการทั่วไป ก็เพราะไม่ละเอียด เพียงบอกกว้างๆ ว่าการสอนที่ดีนั้น จะต้องสอนให้แจ่มแจ้ง โน้มน้าวจิตใจให้ผู้ฟังเกิดความกล้าหาญ ร่าเริง แต่ไม่ได้บอกรายละเอียดว่าอย่างไร มีขั้นมีตอนอย่างไร เพราะนั่นจะไปอยู่ในเทคนิควิธีการสอนซึ่งจะพูดต่างหาก

เมื่อพระพุทธองค์ทรงสอนเวไนยสัตว์นั้น พระองค์ทรงใช้หลักการสอนทั้ง ๔ ข้อนี้ครบถ้วน ดังเรื่องดังต่อไปนี้

ครั้งหนึ่ง พระพุทธองค์ต้อนรับพราหมณ์เฒ่าคนหนึ่ง พราหมณ์เฒ่าคนนี้ถือว่าตนเป็นผู้ทรงไตรเพท เจริญด้วยวัยวุฒิ พูดง่ายๆ ว่าถือว่าตนแก่กว่าพระพุทธเจ้า จึงหวังว่าเมื่อพบกัน พระพุทธเจ้าต้องลุกขึ้นต้อนรับแสดงความเคารพในฐานะที่ตนมีอาวุโสกว่า แต่เมื่อเห็นพระองค์ประทับเฉยอยู่ พราหมณ์จึงขัดใจด่าพระพุทธองค์เป็นชุดๆ เลยว่าคนไม่มีรสมีชาติ คนฉิบหาย คนเผาผลาญ คนไม่ผุดไม่เกิด

ขออภัย คำด่าคงไม่ไพเราะอย่างนี้ดอก คงจะเป็น “ไอ้คนไม่มีรส มีชาติ ไอ้ฉิบหาย ไอ้ล้างผลาญ ไอ้ไม่ผุดไม่เกิด” อะไรทำนองนี้มากกว่า

พระพุทธองค์ทรงอธิบายให้พราหมณ์เฒ่าแจ้งจางปางตามลำดับดังนี้

ที่ท่านว่าเรา “ไม่มีรสมีชาติ” นั้นถูกต้องแล้ว เราตถาคตเป็นคนที่ไม่มีรสชาติจริงๆ เพราะรสชาติที่ชาวโลกเขายอมรับและยกย่องกันคือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสนั้น เราตถาคตละได้หมดสิ้นแล้ว เราไม่มีสิ่งเหล่านี้แล้วจึงเป็นคนไม่มีรสมีชาติ

ที่ว่าเราตถาคต “ฉิบหาย” นั้นก็จริงอีก เพราะเราตถาคตสอนธรรม เพื่อทำลายกิเลสคือ โลภ โกรธ หลง ให้มันฉิบหายไป คำสอนของเราทั้งหมดก็เพื่อจัดประสงค์จะทำลายกิเลสอาสวะไปจากจิตใจเวไนยสัตว์ เพราะฉะนั้น เราจึงเป็นคนฉิบหายโดยแท้

ที่ว่าเราเป็น “คนล้างผลาญ” ก็จริงคือ เพราะเราสอนวิธีล้างผลาญ โลภ โกรธ หลง จากใจของคนทั้งปวง เราวางหลักคำสอนเพื่อให้ประชาชนนำไปปฏิบัติเพื่อล้างผลาญกิเลสทุกขั้นตอน ตั้งแต่ระดับต้นๆ จนขั้นสูง เราจึงควรได้สมญานามว่าคนล้างผลาญแท้จริง

ที่ว่าเรา “ไม่ผุดไม่เกิด” ก็จริงอีก เพระคนที่จะเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏนั้นต้องมีกิเลส ตัณหา อันเป็นเสมือนเชื้อที่ทำให้ไฟลุกไหม้ กิเลสตัณหาเหล่านั้น เราตถาคตละได้หมดแล้ว ดับสนิทแล้ว จุดไฟหมดเชื้อ ไม่มีเหตุจะต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

เราจึงควรได้นามว่าผู้ไม่ผุดไม่เกิดอีกต่อไป

ความจริงพราหมณ์เฒ่าต้องการด่าว่า พระพุทธองค์ไม่รู้จักคารวะต่อผู้เฒ่าผู้แก่ พระองค์เป็นคนไม่มีรสชาติ คือไม่รู้จักขนบธรรมเนียมของคนที่เจริญแล้ว พูดอีกนัยหนึ่งพราหมณ์ต้องการด่าให้แสบว่า “พ่อแม่ตายตั้งแต่เล็กหรืออย่างไร” จึงไม่มีเวลาสั่งสอนว่าเราผู้น้อยพบผู้ใหญ่ควรทำตนอย่างไร ช่างไม่มีรสนิยมของอารยชนเอาเสียเลย

พระองค์ก็ทราบว่าพราหมณ์หมายความว่าทำนองนั้น แต่ทรงตีความไปอีกทางหนึ่ง แล้วก็อธิบายให้เข้าใจแจ่มแจ้งแดงแจ๋ไปเลย

พราหมณ์แกต้องการด่าว่าคนที่ไม่รู้จักสัมมาคารวะเป็นคนล้างผลาญขนบธรรมเนียมอันดี เป็นคนทำให้ขนบธรรมเนียมอันดีงามที่สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษฉิบหาย คนอย่างนี้ไม่มีมีวันผุดวันเกิดในชาติต่อไป เพราะมิได้ทำคุณงามความดีอะไรไว้ อะไรทำนองนั้น แต่ทรงตีความไปอีกทางหนึ่ง แล้วก็อธิบายให้เข้าใจแจ่มแจ้งแดงแจ๋ไปเลย

พราหมณ์แกต้องการด่าว่าคนที่ไม่รู้จักสัมมาคารวะเป็นคนล้างผลาญขนบธรรมเนียมอันดี เป็นคนทำให้ขนบธรรมเนียมอันดีงามที่สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษฉิบหาย คนอย่างนี้ไม่มีวันผุดวันเกิดในชาติต่อไป เพราะมิได้ทำคุณงามความดีอะไรไว้ อะไรทำนองนั้น พระพุทธองค์ก็แปลความไปอีกนัยหนึ่งว่าพระองค์เป็นผู้สอนธรรมะ เพื่อขจัดทำลายกิเลสตัณหา จึงนับว่าเป็นคนฉิบหาย และพระองค์เองก็ละกิเลสตัณหาได้แล้ว จึงไม่ผุดไม่เกิดอีกต่อไป

จึงควรแท้ที่จะเรียกว่าคนไม่ผุดไม่เกิด

นี่เป็นเพียงจับใจความคำโต้ตอบสนทนาระหว่างพระพุทธองค์และพราหมณ์มาเล่าให้ฟังเท่านั้น

ถ้าอ่านต้นฉบับจริงๆ จะเห็นว่า พระพุทธองค์ทรงอธิบายตัวอย่างให้พราหมณ์เฒ่าเข้าใจชัดแจ้งอย่างไรบ้าง

เช่น ทรงเปรียบพระองค์เหมือนลูกไก่ที่ทลายกระเปาะไข่ออกมาเป็นตัวแรก ก็ต้องนับว่าเป็นพี่ของลูกไก่ทั้งหมดฉันใด พระองค์ก็ทรงทำลายกระเปาะไข่คืออวิชชาเป็นคนแรกของโลก จึงสมควรเป็น “พี่ใหญ่” ของสัตว์โลกทั้งปวง ฉันนั้น

แล้วพี่ควรจะไหว้น้องหรือ น้องต่างหากควรไหว้พี่ใช่ไหมครับ

พราหมณ์เฒ่าแกเกิดความสว่างกลางใจ หายข้อสงสัยใดๆ เพราะคำพูดของพระองค์ชัดเจนเหมือนกัน จึงเปล่งอุทานออกมาด้วยความดีใจว่า “แจ่มแจ้งจริงๆ พระดำรัสของพระองค์ดุจเปิดของที่ปิด หงายภาชนะที่คว่ำ และจุดประทีปส่องนำทางในทางที่มืดให้สว่าง ทำให้คนตาดีมองเห็นทางฉะนั้น”

นี้เป็นตัวอย่างของหลักการสอนข้อที่ว่าสอนให้แจ่มแจ้งอีกคราวหนึ่ง

คราวนี้ขอยกสาวกของพระพุทธองค์มาเป็นตัวอย่างบ้าง ขณะพระอัสสชิน้องสุดท้องแห่งปัญจวัคคีย์ เดินบิณฑบาตอยู่ตามถนนในเมืองราชคฤห์ มาณพน้อยคนหนึ่งนามว่าอุปติสสะ เห็นว่าบุคลิกลักษณะอันสงบสำรวมของพระเถระก็ประทับใจ เดินตามห่างๆ ด้วยคิดว่ามีโอกาสเหมาะเมื่อใดจะขอสนทนาธรรมกับท่าน พอดีพระเถระได้อาหารพอฉันแล้ว นั่งฉันข้าว ณ ที่เหมาะแห่งหนึ่ง (สมัยพุทธกาล พระท่านได้อาหารแล้วก็จะหาที่เหมาะนั่งฉัน ฉันเสร็จก็จะกลับวัด)

อุปติสสะจึงเข้าไปนมัสการท่าน ขอให้ท่านแสดงธรรมให้ฟัง ท่านออกตัวว่าเพิ่งบวชไม่นาน แสดงสั้นๆ ก็ได้ พระเถระจึงกล่าวคาถาอันว่าด้วย “แก่น” แห่งอริยสัจ ๔ ประการให้มาณพน้อยฟัง

มาณพน้อยได้ฟังเกิดวงตาเห็นธรรมทันที เรื่องนี้เป็นตัวอย่างของการสอนที่ “จูงใจ” จูงใจอย่างไรลองพิจารณาดูก็ได้

หนึ่ง บุคลิกภาพของพระเถระ กิริยาอาการเคลื่อนไหวอิริยาบถสงบสำรวม ประทับใจมาณพน้อย นี้เป็นการจูงในประการแรก

สอง การที่ท่านกล่าวอย่างถ่อมตนว่า ท่านเพิ่งเข้ามาสู่พระศาสนา ไม่สามารถแสดงธรรมโดยพิสดารได้ ขอแสดงโดยย่อ ประทับใจอุปติสสะ ซึ่งเป็นนักศึกษาปรัชญา นักศึกษาปรัชญาส่วนมากมักคุ้นเคยอยู่กับนักปราชญ์ที่โอ้อวดว่าตนรู้มาก คนอื่นรู้น้อย แต่พอมาพบผู้ที่รู้ที่ถ่อมตน จึงรู้สึกประทับใจ

สาม เนื้อหาที่ท่านกล่าวสั้นๆ ก็เป็นหลักวิชาที่สรุปความจริงทั้งหมดเป็นระบบคำสอนทั้งหมดของพระพุทธศาสนา คือมีทั้งปรมัตธรรม (เป้าหมายสูงสุดแห่งชีวิต) และแนวทางเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดนั้น เหมาะสมแก่นักศึกษาปรัชญาอย่างอุปติสสะจะพึงสดับเป็นอย่างยิ่ง และก็จริงดังนั้น พอได้ยินเพียงสังเขป อุปติสสะก็สามารถขยายความให้ละเอียดพิสดารเข้าใจทะลุปรุโปร่งที่เรียกว่า “เกิดความสว่างกลางใจ” ปราศจากความสงสัยทันที

ทั้งหมดนี้เพราะพระอัสสชิ ท่านรู้จักใช้หลักการจูงใจผู้ฟังคืออุปติสสะ ตั้งแต่วาระแรกที่ได้เข้าพานพบท่าน

ยกมาพอเป็นอุทาหรณ์เพียงสองเรื่อง จะยกมากกว่านี้ก็ได้ เพราะผมผู้เขียนชอบเล่านิทาน แต่ขอยุติเพียงแค่นี้ คราวหน้าค่อยว่าต่อก็แล้วกัน


ที่มา : พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฏก (๑๔) บทที่ ๕ : หลักการสอนทั่วไป โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ หน้า ๖๗ ฉบับที่ ๑๙๒๕ ประจำวันที่ ๗-๑๓ กรกฎาคม  พ.ศ.๒๕๖๐


หัวข้อ: Re: พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฏก ปรัชญาพื้นฐานเกี่ยวกับการสอน
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 21 กรกฎาคม 2560 16:49:17

(http://www.buddhamuseum.com/bronze-buddha/quan-yin_0922.jpg)

พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฎก (๑๕)
บทที่ ๖ : วิธีสอนแบบต่างๆ

การสอนคนแม้ในเรื่องเดียว ก็ต้องมีรูปแบบแห่งการสอนหลายแบบ จึงจะประสบความสำเร็จตามต้องการ เพราะคนฟังมีหลายประเภท หลากความสนใจ และพื้นภูมิความหลัง

พระพุทธเจ้าเองเมื่อทรงสอนเวไนยสัตว์ ทรงนำเอาแบบการสอนต่างๆ มาสอนตามความเหมาะสม

แบบการสอนเหล่านี้คือ
๑.การสอนแบบสนทนา (สากัจฉา หรือ ธรรมสากัจฉา) เป็นวิธีที่ทรงใช้บ่อยที่สุด อ่านพระไตรปิฎกแล้วจะเห็นว่าพระองค์ชอบใช้วิธีนี้ อาจเป็นด้วยว่าผู้ฟังได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น ทำให้การเรียนการสอนสนุกไม่รู้สึกว่าตนกำลัง “เรียน” หรือกำลัง “ถูกสอน” แต่จะรู้สึกว่าตนกำลังสนทนาปราศรัยกับพระพุทธองค์อย่างสนุกสนาน

ในการสนทนานั้น พระพุทธองค์จะทรงทำหน้าที่นำสนทนา คือ ทำหน้าซักถามโยนปัญาให้ขบคิด แล้วตะล่อมเข้าจุดสรุปเข้าหาประเด็นที่ต้องการ

บางทีเพียงตรัสเป็นนัยๆ คู่สนทนาก็อาจสรุปได้เอง

ขอยกตัวอย่างสักเรื่อง (เขียนไม่ยกตัวอย่างมันรู้สึกว่าไม่เข้าใจยังไงไม่รู้สินะ)

ภิกษุหนุ่มลูกชายเศรษฐีชื่อโสณะ บำเพ็ญเพียรขะมักเขม้นในป่าสีตะวัน เดินจงกรมจนเท้าแตกทั้งสองข้างก็ไม่บรรลุมรรคผลที่ต้องการ  วันหนึ่งเธอนั่งครุ่นคิดอยู่ผู้เดียวว่า ในบรรดาผู้ที่ตั้งหน้าทำความเพียร เราก็นับเป็นผู้หนึ่งทำไมพากเพียรจนขนาดนี้แล้วจึงไม่บรรลุมรรคผลอะไร

เราเองก็เป็นบุตรของตระกูลมั่งคั่ง โภคทรัพย์ก็มากมาย อย่ากระนั้นเลย เราลาสิกขาไปทำบุญทำทานรักษาศีลตามวิสัยของอุบาสกผู้ครองเรือนจะดีกว่า

พระพุทธเจ้าทรงทราบความคิดของภิกษุหนุ่ม จึงเสด็จมาเทศนาสั่งสอนเธอ พระองค์ทรงเลือกแบบสนทนาดังต่อไปนี้
พระพุทธจ้า : โสณะ เธอเกิดความคิดเช่นนั้น (ดังข้างต้น) จริงหรือ
โสณะ : ถูกแล้ว พระเจ้าข้า
พระพุทธเจ้า : เธอคิดอย่างไร เวลาสายพิณเธอตึงเกินไป เสียงพิณของเธอไพเราะกระนั้นหรือ
โสณะ : หามิได้ พระเจ้าข้า
พระพุทธเจ้า : เวลาสายพิณเธอหย่อนเกินไป เสียงพิณของเธอไพเราะกระนั้นหรือ
โสณะ : หามิได้ พระเจ้าข้า
พระพุทธเจ้า : แต่คราวใดสายพิณเธอไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป ตั้งอยู่ระดับพอดี เสียงพิณของเธอไพเราะเหมาะจะใช้การใช่หรือไม่
โสณะ : ถูกแล้ว พระเจ้าข้า
พระพุทธเจ้า : ฉันนั้นเหมือนกัน โสณะ ความเพียรที่ระดมมากเกินไปย่อมเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน ความเพียรที่หย่อนเกินไป ย่อมเป็นเพื่อความเกียจคร้าน เพราะฉะนั้น เธอพึงกำหนดความเพียรให้พอดีๆ พอเหมาะ พึงเข้าใจความพอดีแห่งอินทรีย์ (สภาพที่เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน เช่น ปัญญาเป็นใหญ่ในการใช้เหตุผล วิริยะเป็นใหญ่ในการระดมพลัง)

วิธีการสนทนานี้ พระพุทธองค์ทรงส่งเสริมให้พระสาวกใช้กัน

ดังทรงยกย่องว่า “การสนทนาธรรมตามอุดมกาลเป็นอุดมมงคล”  และปรากฏว่ามี “อุปัฏฐานศาลา” (หอฉันที่ใช้เป็นโรงธรรม ทำนองศาลาอเนกประสงค์อะไรทำนองนั้น) สำหรับให้พระภิกษุสงฆ์มานั่งสนทนาธรรมกันทุกฝ่าย

เมื่อไม่สามารถตกลงกันได้ในบางเรื่อง บางประเด็น พระพุทธองค์ก็เสด็จมา ทรงอธิบายให้พวกเธอหายข้องใจ

๒.แบบบรรยาย การสอนแบบนี้ก็ทรงใช้เสมอ ส่วนมากจะเป็นโอกาสที่มีผู้ฟังมารวมกันมากๆ ดังที่ทรงแสดงพระธรรมเทศนาในพระเชตวันมหาวิหารในช่วงบ่ายของทุกวัน และที่น่าสังเกตคือ ผู้ฟังมักจะมีพื้นความรู้ หรือมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนั้นในขั้นพื้นฐานมาบ้างแล้ว มาฟังการบรรยายเพิ่มเติมเพื่อเกิดความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น

ดังเมื่อทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ ครั้งแรกก็ทรงใช้วิธีบรรยาย แบบทรงบรรยายถึงความล้มเหลวของแนวทางปฏิบัติ ๒ แนวทางคือ การทรมานกาย กับการหมกมุ่นอยู่ในกามคุณ เสร็จแล้วก็ทรงชี้ทางสายกลาง แล้วทรงแสดงอริยสัจ ๔ ประการ โดยละเอียดพิสดาร

ถ้าถามว่า ทำไมแสดงธรรมครั้งแรก พระองค์ก็ทรงใช้แบบบรรยาย

คำตอบก็คือ ผู้ฟังคือปัญจวัคคีย์ มิใช่ “คนใหม่” หากเป็นศิษย์เก่าที่เคยรับรู้ว่าพระพุทธองค์แสวงหาทางตรัสรู้ พระพุทธองค์ก็ทรงทดลองปฏิบัติด้วยพระองค์เอง โดยมีปัญจวัคคีย์คอยเฝ้าดูแล ด้วยหวังว่าเมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้วก็จะทรงเผื่อแผ่ความรู้นั้นให้พวกตนด้วย

ครั้งพระองค์ทรงค้นพบแนวทางใหม่ที่ไม่ต้องอดอาหาร หากแต่ต้องการกินอาหารให้ร่างกายแข็งแรง เพื่อเกื้อกูลให้สุขภาพสมบูรณ์จะได้นำไปสู่การตรัสรู้ง่ายเข้า ปัญจวัคคีย์ก็ผิดหวังจึงหนีไปอยู่ในป่าอิสิปตนมฤคทายวัน  หลังจากพระองค์ตรัสรู้แล้วจึงเสด็จไปชี้แจงให้พวกเธอหายเข้าใจผิดว่าการทรมานตนมิใช่แนวทางบรรลุทาง สายกลางต่างหากนำไปสู่การรู้แจ้ง

เมื่อมีโอกาสทำความเข้าใจกับอดีตศิษย์ทั้ง ๕ ของพระองค์ พระองค์จึงทรงเลือกวิธีการบรรยาย เพราะจะต้องใช้เหตุใช้ผลชี้แจงยืดยาวให้พวกเธอเห็นดีเห็นชอบด้วย เพราะเหตุนี้ธัมมจักกัปปวัตนสูตร (พระธรรมเทศนากัณฑ์แรกว่าด้วยอริยสัจ ๔) จึงเป็นแบบบรรยายล้วน

๓.แบบตอบปัญหา ผู้ถามปัญหาอาจถามด้วยจุดประสงค์หลายอย่าง บางคนถามเพื่อต้องการคำตอบในเรื่องที่สงสัยมานาน

บางคนถามเพื่อลองภูมิว่าคนตอบรู้หรือไม่

บางคนถามเพื่อข่มหรือปราบให้ผู้ตอบอับอาย บางคนถามเพื่อเทียบเคียงกับความเชื่อหรือคำสอนในลัทธิศาสนาของตน

พระพุทธองค์ตรัสรู้ว่าการตอบปัญหาใดๆ ต้องดูลักษณะของปัญหาและเลือกวิธีตอบให้ถูกต้องเหมาะสมด้วย

พระองค์จึงทรงจำแนกประเภทของปัญหาไว้ ๔ ประการ คือ
๑) ปัญหาบางอย่างต้องตอบตรงไปตรงมา ตอบตายตัว ไม่มีเงื่อนไข (เอกังสพยากรณียปัญหา) บางเรื่องมีคำตอบตายตัวแน่นอนแล้ว ใครๆ ก็รู้ต้องตอบตามนั้น ดุจดังถามว่า หนึ่งบวกหนึ่งเป็นเท่าไร คำตอบคือเป็นสอง

คำตอบนี้ตายตัว ใครๆ ก็รู้ใครๆ ก็ยอมรับ จะไปตอบว่าเป็นสาม เป็นสี่ไม่ได้ (แม้ว่าอาจตอบได้ และอาจอธิบายโดยนัยอื่นว่าเป็นเช่นนั้นได้ก็ตาม)

ตัวอย่างที่ชัดเจนในทางพระพุทธศาสนา เช่น อริยสัจ คืออะไร มีเท่าไร คำตอบคือ อริยสัจ คือความจริงอันประเสริฐ ๔ อย่าง คำตอบอย่างนี้เรียกว่าเอกังสยากรณ์

ในการสอน ครูพึงรู้ว่าปัญหาชนิดใดที่พึงตอบตรงไปตรงมา ตายตัวแล้วพึงใช้ให้เหมาะสม การเรียนการสอนจึงจะเป็นไปด้วยดี

๒) ปัญหาบางอย่างต้องย้อนถามก่อนจึงตอบ (ปฏิปุจฉาพยากรณียปัญหา) ไม่พึงด่วนตอบทันทีในแง่ใดแง่หนึ่ง เพราะอาจผิดพลาดได้

ในคัมภีร์ท่านยกตัวอย่างว่า ถ้าเขาถามว่าตากับหูเหมือนกันหรือไม่ ผู้ตอบอย่าพึงด่วนตอบ พึงย้อนถามว่าที่ถามนั้นหมายถึงแง่ใด

ถ้าเขาตอบว่าในแง่ของการทำหน้าที่  พึงตอบว่าไม่เหมือนกัน ตามีหน้าที่ดู ส่วนหูมีหน้าที่ฟัง

แต่ถ้าเขาถามว่าในแง่ความอนิจจังล่ะเหมือนกันไหม พึงตอบว่าเหมือน (เพราะทั้งตาและหูต่างก็ไม่เที่ยงแท้ถาวรเหมือนกัน)

ในชีวิตประจำวัน มีคำถามให้เราตอบมากมาย ถ้าจะลองพิจารณาลักษณะของปัญหาแล้วค่อยตอบจะเป็นการดียิ่ง และจะเป็นการตอบที่ตรงประเด็นอย่างยิ่ง

๓) ปัญหาบางอย่างต้องแยกคำตอบ (วิภัชชพยากรณียปัญหา) คำถามที่คลุมๆ อย่าพึงด่วนตอบ ตอบไปก็มีแต่จะผิดพลาด ต้องแยกตอบเป็นเรื่อง เป็นประเด็นๆ ไป

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ถ้าถามว่า คุณประยุทธ์กับคุณทักษิณใครดีกว่ากัน  ถ้าด่วนตอบว่าคุณประยุทธ์ดีกว่า หรือคุณทักษิณดีกว่า ย่อมมีโอกาสผิด เพราะแต่ละคนอาจมีส่วนดีกว่ากันในบางเรื่องบางประเด็น

วิธีตอบที่น่าจะใกล้เคียงความจริงที่สุดก็ต้องแยกประเด็นตอบ เช่น (เช่นอะไรบ้าง ลองแยกเอาเอง ผมเพียงชี้แนะพอเป็นแนวทางเท่านั้น)

ในคัมภีร์ท่านยกตัวอย่างว่า พระพุทธเจ้าทรงติเตียนตบะ (ความเข้มงวด) ทุกอย่างใช่หรือไม่

อย่ารีบตอบว่าใช่ เพราะมีส่วนผิด

ต้องแยกประเด็นตอบคือ แยกตามตบะที่เข้มงวดมาก เช่น การทรมานตนเอง พระพุทธองค์ทรงติเตียน ตบะคือความอดกลั้น (ตีติกขาขันติ) พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญว่าเป็นยอดตบะ

สรุปในที่นี้ก็คือ ตบะในความหมายว่าทรมานตนเอง เช่น ทุกรกิริยา พระพุทธเจ้าตรัสติเตียน แต่ตบะในความหมายว่า ความอดกลั้น เช่น ขันติ หรือความเข้มงวด เช่น ธุดงค์ พระพุทธองค์ไม่ตำหนิกลับสรรเสริญเสียอีก ดังนี้เป็นต้น

๔) ปัญหาบางอย่างต้องตัดบทไปเลย ไม่ตอบ (ฐปณียปัญหา หรืออัพยากตปัญหา) มีบางเรื่องบางประเด็จตอบไปก็เท่านั้น สู้ตัดบทเสียดีกว่า เช่น ปัญหาที่ชวนให้ทะเลาะกับคนอื่น หรือปัญหาที่ตอบไปแล้วก็ไม่ทำให้ดีขึ้น

พระพุทธเจ้านั้น เวลามีใครมาถามว่า ศาสดานั้นสอนอย่างนั้น ศาสดาโน้นสอนอย่างโน้น อยากทราบว่าคำสอนของใครถูกต้อง คำสอนของใครผิด ถ้าถามอย่างนี้พระองค์มักจะทรงตัดบทว่า เรื่องนั้นพักไว้ก่อน เราตถาคตจะแสดงธรรมให้ฟัง นี้คือพระจริยาวัตรของพระพุทธองค์ที่ครูพึงเอาแบบอย่าง

คนเราในปัจจุบันนี้ มักตอบปัญหาที่ไม่ควรตอบ และเวลาตอบก็แสดงสีหน้าสะใจว่า ตนรู้มาก รู้ลึก คนอื่นโง่หมด ตนบริสุทธิ์ผุดผ่อง คนอื่นสารเลวสิ้นดี เป็นอย่างนั้นเสียด้วย
 


ที่มา : พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฏก (๑๕) บทที่ ๖ : วิธีสอนแบบต่างๆ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ หน้า ๖๗ ฉบับที่ ๑๙๒๖ ประจำวันที่ ๑๔-๒๐ กรกฎาคม  พ.ศ.๒๕๖๐


พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฎก (๑๖)
บทที่ ๗: เทคนิควิธีสอน
[/center]

เมื่อรู้ว่าหลักการสอนคืออะไร วิธีสอนมีกี่อย่างแล้ว ก็ควรจะรู้ว่าเทคนิควิธีการสอน มีอย่างไรบ้าง

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแบบอย่างของผู้ที่มีเทคนิควิธีสอนหลากหลาย

ขอยกมาสาธยายตามลำดับต่อไปนี้
๑.ทำนามธรรมให้เป็นรูปธรรม หรือทำของยากให้ง่าย ธรรมะเป็นเรื่องนามธรรมที่มีเนื้อหาสาระลึกซึ้ง ยากที่จะเข้าใจ ยิ่งเป็นธรรมะระดับสูงสุด ก็ยิ่งลึกล้ำคัมภีรภาพยิ่งขึ้น

ด้วยเหตุนี้แลในเบื้องต้น พระพุทธองค์จึงทรงมีความลังเลที่จะตรัสสอนธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้แก่สัตว์โลกผู้ยังตกอยู่ในวงวนแห่งกามคุณ แต่ด้วยพระมหากรุณาอันใหญ่หลวง ด้วยความสามารถพิเศษในการสั่งสอนธรรม พระองค์จึงเสด็จออกไปโปรดเวไนยสัตว์ เริ่มด้วยเสด็จไปเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์เป็นเบื้องแรก และทรงบำเพ็ญพุทธกิจทั้ง ๕ ประการ (ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องสั่งสอนประชาชน) โดยมิทรงเห็นแก่ความเหนื่อยยากตลอดพระชนม์ชีพ

ความสำเร็จแห่งภารกิจการสั่งสอนประชาชนส่วนหนึ่ง เพราะพระองค์ทรงใช้เทคนิควิธีการทำของยากให้ง่าย

ซึ่งมีรายละเอียดต่อไปนี้คือ
ก.การใช้อุปมาอุปไมย วิธีนี้เป็นวิธีที่ทรงใช้บ่อยที่สุดวิธีหนึ่ง เพราะทำให้ผู้ฟังมองเห็นภาพและเข้าใจง่าย โดยไม่ต้องเสียเวลาอธิบายความให้ยืดยาว  อุปมาอุปไมยในพระสูตรต่างๆ ที่พระพุทธองค์ทรงนำมาเปรียบเทียบให้ผู้ฟังเข้าใจธรรมมีมากมาย ล้วนแต่ “คำคม” ทั้งนั้น

ขอยกตัวอย่างให้ดูสัก ๒-๓ เรื่องดังต่อไปนี้
๑) เรื่องที่หนึ่ง เมื่อมีผู้มาถามปัญหาเชิงอภิปรัชญา เช่นพระอรหันต์ตายแล้วยังคงอยู่หรือไม่ เป็นต้น

พระองค์ไม่ทรงตอบ

เมื่อผู้ถามรุกว่า ถ้าไม่ตอบให้หายข้องใจจะหนีไปนับถือลัทธิศาสนาอื่น

พระองค์ทรงยกอุปมาอุปไมยมาเล่าว่า สมมติว่านายคนหนึ่งถูกเขายิงด้วยลูกศรอาบยาพิษ ญาติพี่น้องหามไปหาหมอ หมอเตรียมจะถอนลูกศรและใส่ยาสมานแผลให้

นายคนนั้นยกมือห้ามว่า อย่าเพิ่งถอนลูกศรออก ข้าพเจ้าอยากรู้ว่าใครยิงข้าพเจ้า ชื่อโคตรอะไร บ้านอยู่ที่ใด มันโกรธแค้นข้าพเจ้าด้วยเรื่องอะไร ลูกศรที่ยิงมันได้มาจากไหน ทำเองหรือซื้อเขามา ซื้อมาด้วยราคาเท่าไร ขนนกที่ติดปลายลูกศรนี้เป็นขนนกตะกรุมหรือนกแร้ง

จนกว่าข้าพเจ้าจะรู้รายละเอียดทั้งหมด ข้าพเจ้าจึงจะให้ถอนลูกศรนี้ออก

เมื่อทรงเล่าอย่างนี้แล้ว จึงตรัสถามคนนั้น (ความจริงเป็นภิกษุชื่อ มาลุงกยบุตร) ว่า เธอคิดอย่างไร บุรุษนั้นฉลาด หรือโง่

เขากราบทูลว่าโง่

ตรัสถามว่าโง่อย่างไร 

เขากราบทูลว่า ทำไมไม่ให้หมอถอนลูกศรรักษาแผลให้หายก่อน แล้วค่อยไปถามรายละเอียดต่างๆ เหล่านั้นภายหลัง ถ้าไม่อย่างนั้นเขาอาจจะเสียชีวิตก่อนที่จะรู้เรื่องราวทั้งหมดก็ได้

พระพุทธองค์ตรัสว่า เช่นเดียวกันนั้นแล มีเรื่องราวมากมายในโลกนี้ที่ไม่จำเป็นจะต้องรู้ เพราะรู้ไปก็ไม่ทำให้อะไรดีขึ้น คือไม่ทำให้กิเลสหมดไปได้ จึงไม่จำเป็นต้องรู้ ควรรีบเร่งสนใจในสิ่งที่จำเป็นเฉพาะหน้ามากกว่า สิ่งที่จำเป็นเฉพาะหน้าที่พึงรู้และรีบกระทำก็คือ ทำอย่างไรจึงจะทำทุกข์ให้หมดไปได้

ข้อเปรียบเทียบนี้แจ้งจางปางไหมครับ

๒) เรื่องที่สอง ทรงสอนเด็ก ๗-๘ ขวบ คือสามเณรน้อยราหุล พระพุทธองค์ทรงเทน้ำล้างพระบาท ทรงเหลือน้ำไว้หน่อยหนึ่ง แล้วตรัสถามราหุลว่า “ราหุล” เห็นน้ำที่เราเหลือไว้ในภาชนะหน่อยหนึ่งไหม ราหุลกราบทูลว่า “เห็นพระเจ้าข้า”

“ดูก่อนราหุล คนที่พูดเท็จทั้งที่รู้ มีคุณงามความดีเหลืออยู่น้อย ดุจน้ำในภาชนะนี้แหละ ตรัสแล้วจึงทรงเทน้ำที่เหลือหน่อยหนึ่งนั้นทิ้ง แล้วตรัสถามว่า “ราหุล เธอเห็นน้ำหน่อยหนึ่งที่เราเททิ้งไหม”

“เห็น พระเจ้าข้า”
“เช่นเดียวกันนั่นแหละ ราหุล คนที่พูดเท็จทั้งที่รู้ ย่อมเทคุณงามความดีที่มีอยู่ออกไปหมด ดุจน้ำที่เทจากภาชนะจนหมดนี้”

เสร็จแล้วพระองค์ทรงคว่ำภาชนะลง ตรัสถามว่า “ราหุล เธอเห็นภาชนะที่เราคว่ำลงนี้ไหม”
“เห็น พระเจ้าข้า” ราหุลน้อยกราบทูล
“เช่นเดียวกันนั่นแหละ ราหุล คนที่พูดเท็จทั้งที่รู้ ย่อมไม่มีความดีงามอะไรเหลืออยู่เลย ความเป็นสมณะของผู้นั้นเป็นอัน ‘คว่ำแล้ว’ ดุจภาชนะที่คว่ำนี้ไม่มีน้ำเหลืออยู่แม้แต่หยดเดียว”

เนื่องจากทรงสอนเด็ก การเปรียบเทียบจึงทำเป็นขั้น เป็นตอน เพื่อให้เด็กเข้าใจได้คือ ทรงเทน้ำแล้วเหลือไว้ในขันหน่อยหนึ่ง เทน้ำหน่อยหนึ่งนั้นทิ้ง คว่ำขันลงแล้วทรงเปรียบเทียบกับการพูดเท็จทิ้งที่รู้ในทุกขั้นตอนที่ทรงทำให้ดู

๓) เรื่องที่สาม ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย แมลงเอฬกะ (หนอนรันขี้ หรือ ภาษาอีสานว่า กุดจี่) กินขี้วัว ขี้ควายเต็มท้อง มีขี้วัวขี้ควายกองใหญ่อยู่ข้างหน้ามันคุยอวดหนอนรันขี้ตัวอื่นว่า กูกินขี้เต็มท้องแล้วยังมีเหลืออยู่ข้างหน้ากูกองใหญ่อีกเห็นไหม

ฉันใดก็ฉันนั้นแหละ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบางรูป ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของลาภสักการะ และชื่อเสียงไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ได้อาหารมาเต็มบาตร ฉันแล้วกลับวัด (สมัยพุทธกาล พระได้อาหารพอฉันแล้วก็หาทำเลที่เหมาะนั่งฉันเสร็จจึงกลับวัด) คุยอวดภิกษุอื่นว่า ผมได้อาหารพอแก่ความต้องการแล้ว วันนี้ทายกยังนิมนต์ผมเพื่อไปฉันในวันรุ่งขึ้นอีกด้วย แถมยังได้จีวร บิณฑบาตเสนาสนะ และยารักษาโรคอีกเป็นอันมากด้วย (สมัยนี้น่าเพิ่มรถเบนซ์ด้วยกระมังหวา)

ภิกษุนั้นตกอยู่ในอำนาจของลาภสักการะและชื่อเสียงย่อมดูหมิ่นภิกษุผู้ทรงศีลอื่นๆ ว่ามีบุญน้อย มีศักดิ์น้อย ไม่ร่ำรวยปัจจัยสี่เหมือนตน ข้อนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหายเพื่อความทุกข์แก่ภิกษุนั้นตลอดกาลนาน

ชาวกรุงไม่เคยเห็นหนอนรันขี้ หรือกุดจี่อาจไม่เห็นภาพ แต่ถ้าเป็นลูกบ้านนอกอย่างผม อ่านข้อความนี้แล้วมันแจ้งจางปาง ไร้ความสงสัยใดๆ พระพุทธองค์ช่างเข้าใจเปรียบเทียบได้เจ็บแสบดีแท้

“หลวงเสี่ย” ทั้งหลายอ่านแล้วรู้สึกเป็นยังไงบ้าง ก็ช่วยบอกด้วยก็แล้วกัน

ข.ยกนิทานประกอบ นี่ก็เป็นเทคนิค หรือกลวิธีหนึ่งที่ทรงใช้บ่อย ขอยกมาเล่าสัก ๒ เรื่องคงพอนะครับ
๑) เรื่องที่หนึ่ง เดิมผมคิดว่าเป็นนิทานอีสป ที่ไหนได้มีอยู่ในพระไตรปิฎกนี้เอง พระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่องสมณพราหมณ์ทั้งหลายทะเลาะกัน ยึดความคิดเห็นของตนเท่านั้นถูก ของคนอื่นผิดหมด

พระองค์ตรัสว่า ผู้ที่รู้เห็นอะไรเพียงแง่มุมเดียวไม่แคล้วจะต้องทะเลาะกัน ดุจตาบอดคลำช้าง

แล้วทรงเล่านิทานให้ฟังว่า พระราชาองค์หนึ่ง รับสั่งให้นำช้างมาให้คนตาบอด ๙ คนดู ดูแล้วให้บอกว่าช้างเป็นอย่างไร

คนหนึ่งคลำศีรษะช้าง แล้วก็บอกว่าช้างเหมือนหม้อน้ำ
อีกคนหนึ่งคลำหูช้าง แล้งบอกว่าช้างเหมือนกระด้ง
อีกคนหนึ่งคลำงาช้าง แล้วบอกว่าช้างเหมือนผาล
อีกคนหนึ่งคลำงาช้าง แล้วบอกว่าช้างเหมือนงอนไถ
อีกคนหนึ่งคลำตัวช้าง แล้วบอกว่าช้างเหมือนฉาง
อีกคนหนึ่งคลำเท้าช้าง แล้วบอกว่าช้างเหมือนเสาเรือน
อีกคนหนึ่งคลำหลังช้าง แล้วบอกว่าช้างเหมือนครกตำข้าว
อีกคนหนึ่งคลำโคนหางช้าง แล้วบอกว่าช้างเหมือนสาก
คนสุดท้ายคลำปลายห้างช้าง แล้วบอกว่าช้างเหมือนไม้กวาด

คนตาบอดเหล่านั้นต่างทุ่มเถียงกันว่า ช้างเป็นอย่างนี้ มิใช่อย่างนั้น (โว้ย) ต่อหน้าพระที่นั่ง

พระราชาทรงพระสรวลด้วยความขบขันเป็นอย่างยิ่ง

ข้อนี้ฉันใด อันเดียรถีย์และปริพาชก (ที่ไม่รู้จริง) ทั้งหลายเป็นดุจคนตาบอดไม่รู้ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ไม่รู้ธรรมและมิใช่ธรรม ต่างทะเลาะกัน ทิ่มแทงกันด้วย “หอกคือปาก”

นิทานเรื่องนี้สอนใครต่อใครได้ดีนักโดยเฉพาะพวก “นักวิชาการแสนรู้” ทั้งหลายอ่านแล้วคงสะอึก

๒) เรื่องที่สอง พระพุทธองค์ทรงเห็นภิกษุสงฆ์ สาวกพระองค์ ไม่เคารพกันตามลำดับอาวุโส ทรงต้องการจะสอนพวกเธอทางอ้อม จึงทรงเล่านิทานให้ฟังว่า  ณ กาลครั้งหนึ่ง มีสัตว์ ๔ สหาย คือ ช้าง ลิง กระต่าย นกกระทา อยู่ด้วยกันในป่าแห่งหนึ่ง  อยู่มาวันหนึ่ง สี่สหายคิดว่า พวกเราอยู่โดยไม่เคารพผู้อาวุโสอย่างนี้ไม่ดี ควรที่จะแสดงคารวะต่อผู้อาวุโส เมื่อมีเสียงถามว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าใครอาวุโสที่สุด ก็มีผู้เสนอว่าเอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ใครเห็นต้นไทรนี้มาตั้งแต่เมื่อใด ใครเห็นก่อนก็ผู้นั้นแหละมีความอาวุโสสูงสุดเป็นที่เคารพของสหายอื่นๆ

ช้างบอกว่า “ข้าเห็นต้นไทรนี้มาตั้งแต่ข้าเป็นลูกช้างตัวเล็กๆ เวลาข้าเดินข้ามมันกิ่งไทรมันยังระสะดือข้าเลย ข้าต้องแก่กว่าพวกแกแน่ๆ”

“ข้าต่างหากเว้ยแก่กว่า” กระต่ายแย้ง “ข้าเห็นต้นไทรนี้มาตั้งแต่มันยังเป็นต้นเล็กๆ ตอนนั้นข้ายังเป็นลูกกระต่ายอยู่ ข้ายังกัดกินยอดมันเลย”

“อย่าคุยไปเลย ข้าต่างหากแก่กว่า ตอนข้ายังเป็นลูกลิง ข้ายังเด็ดยอดไทรต้นนี้เล่นจนแม่ข้าร้องห้ามเลย ถ้าแม่ไม่ห้าม ป่านนี้ไม่มีต้นไทรใหญ่ต้นนี้ดอก “สหายจ๋อกล่าว

นกกระทานั่งฟังอยู่นาน ในที่สุดก็เอ่ยอย่างขรึมๆ

“เพื่อนเอ๋ย เพื่อนรู้ไหมว่าต้นไทรเดิมทีมันไม่ได้อยู่ที่นี่”
“อยู่ที่ไหน” สหายทั้งสามถามขึ้นพร้อมกัน
“ห่างจากที่นี่ไปอีกสี่ห้าโยชน์ มีต้นไทรอยู่ต้นหนึ่ง ข้ากินผลต้นไทรนั้นแล้วบินผ่านมาทางนี้ พอดีข้าปวดอึก็เลยอึมาตรงจุดนี้พอดี ต้นไทรต้นนี้เกิดขึ้นจากกองอึของข้านั่นเอง คิดกันเอาเองก็แล้วกันว่าข้าอายุเท่าไร (ให้มันรู้บ้างว่าไผเป็นไผ ว่าอย่างนั้นเถอะฮิฮิ)” นกกระทาหยอดท้าย

“โอ ถ้าอย่างนั้นสหายก็เกิดก่อนพวกเราแน่นอน สหายเป็นผู้ที่มีอาวุโสที่สุดในหมู่เรา” สามสหายร้องขึ้นพร้อมกัน

ตั้งแต่นั้นสัตว์ทั้งสามก็เคารพนบนอบนกกระทา และทั้งหมดก็อยู่ด้วยกันอย่างสมัครสมานสามัคคีกันจวบจนอายุขัย

เล่านิทานจบพระพุทธองค์ก็สรุปว่า แม้แต่สัตว์ดิรัจฉานยังเคารพกันตามลำดับอาวุโส พวกเธอเป็นมนุษย์ก็ควรจะอยู่ด้วยกันด้วยคารวธรรม (ไม่อย่างนั้นอายสัตว์มัน) 


ที่มา : พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฏก (๑๖) บทที่ ๗ : เทคนิควิธีสอน โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ หน้า ๖๗ ฉบับที่ ๑๙๒๗ ประจำวันที่ ๒๑-๒๗ กรกฎาคม  พ.ศ.๒๕๖๐


หัวข้อ: Re: พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฏก ปรัชญาพื้นฐานเกี่ยวกับการสอน
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 01 สิงหาคม 2560 14:37:25

(http://www.amuletscience.com/wp-content/uploads/2015/07/%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%9B%E0%B8%95%E0%B8%B03.jpg)

พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฎก (๑๗)
บทที่ ๗ : เทคนิควิธีสอน (๒)

ค.ใช้อุปกรณ์หรือสื่อการสอน เทคนิควิธีสอนด้วยการทำของยากให้ง่ายหรือทำให้เข้าใจนามธรรมนอกจากใช้อุปมาอุปไมยและเล่านิทานประกอบแล้วยังมีอีกวิธีหนึ่งอันเป็นวิธีที่พระพุทธองค์ทรงใช้มากพอๆ กับสองวิธีข้างต้นคือ การใช้อุปกรณ์หรือใช้สื่อการสอน

ในปัจจุบันนี้ ถ้าครูคนใดสอนหนังสือโดยไม่ใช้สื่อเลย ก็ถูกตำหนิว่า “เชย” หรือไม่ทันสมัย

ที่จริงแล้วมิใช่เรื่องเชยหรือไม่เชย การสอนให้คนเข้าใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้น ถ้าสามารถให้เขามองเห็นจะจะกับตาเขาแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องพูดมากให้เปลืองน้ำลาย สื่อการสอนนี่แหละเป็นเครื่องช่วยอย่างดี ถ้าใช้สื่อให้เหมาะสมและใช้ถูกใช้เป็น นอกจากจะทำให้ผู้ฟังเข้าใจง่าย เข้าใจเร็วแล้ว ยังช่วยประหยัดลายและพลังงานของผู้สอนด้วย

พระพุทธเจ้าทรงเป็นตัวอย่างในการใช้สื่อการสอน

พระองค์ทรงใช้ทุกอย่างที่อยู่ใกล้ตัวมาเป็นสื่อการสอนได้หมด

อันนี้ก็เข้ากับทฤษฎีสมัยใหม่ว่า สื่อการสอนไม่จำเป็นต้องแพงหรูหรา อะไรก็ได้ที่ง่ายๆ และเหมาะกับกิจกรรมการเรียน การสอน ให้นำมาปรับใช้ได้

นักการศึกษาคนหนึ่งบอกผมอย่างนั้น ผมเองไม่ประสีประสาดอก เรื่องแบบนี้เพียงจำขี้ปากเขามาว่า

ลองดูพระพุทธองค์เป็นตัวอย่างดีกว่า

สมัยหนึ่งขณะเสด็จดำเนินไปในป่าแห่งหนึ่ง มีพระสงฆ์หมู่ใหญ่ตามเสด็จ พระองค์ทรงหยิบใบไม้ขึ้นมากำหนึ่ง ตรัสถามภิกษุทั้งหลาย เห็นใบไม้ในกำมือตถาคตไหม

“เห็น พระเจ้าข้า” พระสงฆ์ตอบพร้อมกัน

นี่คือบรรยากาศการเรียนการสอน แม้ปัจจุบันนี้เวลาครูยกวัสดุบางอย่างขึ้นมาแล้ว ถามว่านี่อะไรนักเรียน นักเรียนก็จะตอบพร้อมกัน แสดงว่าทั้งห้องกำลังเรียนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

“พวกเธอเห็นใบไม้บนต้นไม้ในป่าไหม” ทรงชี้พระดรรชนีไปยังต้นไม้ต้นหนึ่ง

“เห็น พระเจ้าข้า” ตอบพร้อมกันอีก
“ใบไม้ไหนมากกว่ากัน ในมือตถาคตหรือบนต้นไม้” ตรัสถามอีก
“บนต้นไม้มากกว่า พระเจ้าข้า” แหงอยู่แล้ว เห็นๆ อยู่กับตาใบไม้ในพระหัตถ์ของพระองค์มีนิดเดียว พระองค์ก็ทรงทราบว่า พระสาวกทั้งหลายจะต้องตอบอย่างนั้น

ถามว่า ถ้าทราบอยู่แล้วถามทำไม อ้าว การสอนด้วยการใช้สื่อก็ต้องถามย้ำอย่างนี้แหละ เพื่อให้นักเรียนสนใจและติดตามทุกขั้นตอน

เสร็จแล้ว พระองค์ก็ตรัสต่อไปว่า ใบไม้ในมือนี้ก็เหมือนสรรพวิทยาที่พึงเรียนรู้ วิทยาการมีมากมายดุจใบไม้บนต้นไม้ในป่า แต่วิชาการที่เป็นประโยชน์จริงๆ นั้นมีนิดเดียวดุจใบไม้ในกำมือ

ในการอธิบายสรุปหลังจากการใช้สื่อเหล่านี้นั้น พระพุทธองค์ทรงยกพระองค์เองเป็นตัวอย่างว่า พระองค์ตรัสรู้สิ่งทั้งปวงมากมาย ดุจใบไม้ในป่า

แต่สิ่งที่ทรงรู้แล้วนำเอาสั่งสอนประชานั้นมีนิดเดียวดุจใบไม้พระหัตถ์ของพระองค์ เสร็จแล้วก็ตรัสบอกว่า “นิดเดียว” ที่ทรงสอนนั้นคืออะไร

อีกสักเรื่องหนึ่ง ขณะพระพุทธเจ้าประทับอยู่ในวิหาร ตรัสถามสามเณรราหุลว่า ราหุล กระจกมีไว้สำหรับอะไร
“มีไว้สำหรับส่องหน้า พระเจ้าข้า” สามเณรน้อยกราบทูล
“อันนี้ก็เหมือนกัน ราหุล ก่อนที่เราจะทำอะไร พูดอะไร คิดอะไร ต้องดูเสียก่อน สติสัมปชัญญะเป็นดุจกระจกส่องดูกาย วาจา ใจ ดุจเดียวกับไว้ส่องใบหน้าฉะนั้น”

๒.ทำตนเป็นตัวอย่าง ในแง่ของการสอนอาจแบ่งออกเป็น ๒ อย่างคือ
๑)ทำให้ดู หรือสาธิตให้ดู
๒)ปฏิบัติให้ดูเป็นตัวอย่าง

ทำให้ดู เช่น เวลาครูสอนปั้นดินเหนียว สมมติว่าปั้นเป็นแจกัน ครูก็ต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่าง แล้วให้เด็กทำตาม อย่างนี้เรียกว่าทำให้ดูในเรื่องที่สอนนั้นๆ

ส่วนปฏิบัติให้ดูเป็นตัวอย่าง เช่น อยากให้ศิษย์เป็นนักเสียสละ ครูจะต้องบำเพ็ญตนเป็นนักเสียสละให้เขาเห็น แล้วเขาจะได้ซาบซึ้งและถือเอาเป็นแบบอย่าง

การที่ได้แต่สอนให้เขาทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ตัวเองทำไม่ได้นั้นไม่ได้ผล มิหนำซ้ำ “ดาบนั้นจะคืนสนอง” ได้ หรือว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง อะไรทำนองนั้น

ขอยกตัวอย่างสั้นๆ สักเรื่องหนึ่ง นักเทศน์รูปหนึ่งพอใจที่ตนเป็นนักเทศน์เอก ไปเทศน์ที่ไหนญาติโยมนิยมไปฟังกันแน่นศาลาวัดทุกครั้ง

วันหนึ่งขณะเทศน์จบ พระนักเทศน์เอกก็ลงจากธรรมาสน์ด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม ที่วันนั้นมีผู้ฟังหนาแน่นกว่าวันก่อนๆ มานั่งประจำที่รอรับ “กัณฑ์เทศน์” (ของถวายพระเทศน์) ตามธรรมเนียมของการทำบุญฟังเทศน์

โยมคนหนึ่งยกถาดใส่เครื่องไทยธรรม (ของถวายพระ) ซึ่งมีของใช้สอยหลายอย่าง รวมทั้งเงินในซองด้วย กำลังจะรับประเคนก็ชะงัก

สายตาเหลือบไปเห็นขวานขนาดย่อมๆ วางอยู่ในถาด จึงเอ่ยถามว่า “กัณฑ์เทศน์ มีขวานด้วยหรือโยม” เทศน์มากี่แห่งๆ ก็ไม่เคยมีใครเอาขวานมาใส่กัณฑ์เทศน์ ท่านจึงสงสัย

“ครับ วันนี้ขอถวายขวานแก่ท่าน ขวานนี้ดีนะครับ ถากอะไรได้สารพัด แต่เสียอย่างเดียว” โยมหยุดพูดต่อ ยิ้มน้อยๆ มองพระคุณเจ้า
“เสียอะไรโยม”
“มันถากด้ามของมันไม่ได้” โยมตอบ

เล่นเอาพระคุณเจ้าสะอึก เพราะรู้ว่าโยมกำลังว่าตนที่ได้แต่ทำตัวเป็น “ขวาน” ถากคนอื่น คือสอนแต่คนอื่น แต่ตนเองก็ทำไม่ได้ตามที่สอนเขา

เมื่อดูพระพุทธองค์ จะเห็นว่าเป็นตัวอย่างที่ดีในทั้งสองด้านคือ ในด้านการทำให้ดูเวลาสอน และทรงปฏิบัติพระองค์ให้เป็นแบบอย่างแก่เหล่าสาวก ขอยกตัวอย่างให้ดูดังนี้
๑)ทรงสาธิตให้ดู ภิกษุรูปหนึ่งเป็นไข้พุพอง ร่างกายพุพอง มีหนองไหลเยิ้มไปทั้งตัว แถมส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งอีกด้วย ภิกษุอื่นๆ ไม่มีใครดูแลเธอ ต่างก็หนีไปไกลๆ ด้วยความรังเกียจ ปล่อยให้เธอนอนแซ่วรอความตายอยู่บนแคร่เพียงลำพัง

พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่อง จึงทรงชวนพระอานนท์ พุทธอุปฐาก เสด็จไปยังห้องที่ภิกษุรูปนั้นนอนอยู่ เสด็จเข้าไปทอดพระเนตรอาการของเธออย่างใกล้ชิด มิได้ทรงมีความรังเกียจแต่ประการใด

รับสั่งให้พระอานนท์ไปต้มน้ำ เอาน้ำร้อนมาผสมกับน้ำเย็นให้อุ่นพอประมาณ แล้วทรงใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นถูร่างกายภิกษุรูปนั้น ยังกับพยาบาลทำความสะอาดให้แก่คนไข้ก็มิปาน

แน่นอน การกระทำของพระพุทธองค์ อยู่ในสายตาของบรรดาภิกษุสงฆ์ในพระอาราม พวกเธอรู้สึกผิด ที่ให้พระองค์ต้องทรงปรนนิบัติภิกษุไข้เอง แทนที่พวกตนจะเป็นผู้ทำเสียเอง จึงพากันมานั่งเจี๋ยมเจี้ยมต่อหน้าพระพักตร์

พระพุทธองค์ตรัสสอนว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่มีมารดา ไม่มีบิดา เมื่อพวกเธอไม่พยาบาลกันเอง ใครเล่าจักพยาบาล” ยิ่งไปกว่านั้น ทรงสอนให้สำนึกว่าพระสงฆ์สาวกของพระองค์ไม่มีพ่อแม่คอยดูแล เมื่อมาอยู่ร่วมกันต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ดูแลกัน ไม่ใช่ปล่อยให้สมาชิกคนใดคนหนึ่งตกระกำลำบาก ขาดการเหลียวแลดุจภิกษุผู้น่าสงสารรูปนั้น

ได้ผลครับ จากนั้นมาก็ไม่มีเหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นอีก

๒)ทรงปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง ว่าไปแล้ว พระพุทธองค์ทรงปฏิบัติพระองค์ให้เป็นแบบอย่างในทุกด้าน ดังคำพูดถึงพระองค์ตอนหนึ่งว่า พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพระพุทธะ (ผู้ตรัสรู้แล้ว) ด้วยพระองค์เองแล้ว

จึงทรงแสดงธรรมเพื่อการตรัสรู้ ทรงเป็นผู้ฝึกเองแล้วจึงทรงแสดงธรรมเพื่อฝึกคนอื่น ทรงสงบเองแล้ว จึงทรงแสดงธรรมเพื่อความสงบ ทรงข้ามพ้นทุกข์เองแล้วจึงทรงแสดงธรรมเพื่อความข้ามพัน ทรงดับเย็นแล้ว จึงทรงแสดงธรรมเพื่อความดับเย็น

ไม่ต้องตัวอย่างก็ได้ รู้กันทุกคนแล้วว่าพระพุทธองค์ทรงมีพระจริยาวัตรเป็นแบบอย่างแก่ชาวโลกในทางใดบ้าง แจ้งประจักษ์แก่ใจทุกผู้ทุกนามแล้ว

สำหรับผู้มีหน้าที่สอนคนอื่น จะโดยอาชีพหรือไม่ก็ตาม อย่างเราๆ ท่านๆ นี้ไม่ต้องเอาอะไรมากเพียงแค่ทำตามที่สอนคนอื่นได้บ้างเล็กๆ น้อยๆ ไม่ทั้งหมดก็เกินพอแล้วครับ


ที่มา : พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฏก (๑๗) เทคนิควิธีสอน (๒) โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ หน้า ๖๗ ฉบับที่ ๑๙๒๘ ประจำวันที่ ๒๘ กรกฎาคม - ๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๐


หัวข้อ: Re: พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฏก ปรัชญาพื้นฐานเกี่ยวกับการสอน
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 04 สิงหาคม 2560 13:09:53

(http://www.ksv.ac.th/tb/cai/social/images/kuntara.jpg)

พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฎก (๑๘)
บทที่ ๗ : เทคนิควิธีสอน (จบ)

๓.ใช้ถ้อยคำเหมาะสม  การสอนที่จะประสบความสำเร็จ ผู้สอนจะต้องรู้จักใช้คำแรง แต่ก็ต้องให้ผู้ฟังรู้สึกว่า ผู้พูดพูดด้วยเมตตาจิต มิใช่พูดด้วยความมุ่งร้าย

อ่านประวัตินักประพันธ์เอกนาม “ยาขอบ” ทราบว่า สมัยยาขอบ (ชื่อจริง มานะ แพร่พันธ์) เป็นเด็กนักเรียนชั้นประถม ครูถามว่า ธรรมะคืออะไร เด็กชายมานะ ตอบว่า “ธรรมะคือคุณากรครับ” ครูด่าด้วยความโมโหสุดขีดว่า “ไอ้อัปรีย์”

เด็กชายมานะไม่กลับไปเรียนหนังสืออีกตั้งแต่บัดนั้น โชคดีที่เด็กชายมานะ มานะสมชื่อ ได้ฝึกฝนตนเองในเวลาต่อมา จนกลายเป็นนักประพันธ์เอกแห่งเมืองไทย

นี้ยกตัวอย่างของผู้สอนที่ไม่รู้จักใช้คำพูด ในเรื่องการที่ใช้คำที่ไม่เหมาะสมนี้ ควรเอาพระพุทธองค์เป็นแบบอย่าง ขอยกตัวอย่างดังต่อไปนี้
๑) ใช้คำพูดเดิม คำพูดเก่าที่ใช้กันอยู่ก่อนแต่เปลี่ยนความหมายใหม่บางทีไม่จำเป็นต้องบัญญัติศัพท์แสงใหม่ คำศัพท์เดิมที่ใช้อยู่ก่อนแล้วนั่นแหละ เพียงนำมาอธิบายในความหมายใหม่ ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจดีขึ้น และทำให้เกิดความรู้เปรียบเทียบไปในตัวด้วย

ขอยกตัวอย่างเรื่องเดียว พราหมณ์คนหนึ่งชื่อภารัทวาชะ ไปชวนพระพุทธเจ้าให้อาบน้ำในท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์ด้วยกัน พระองค์ตรัสถามว่า อาบทำไม

พราหมณ์บอกว่า อาบแล้วบาปที่ทำไว้จะหายไป กลายเป็นผู้บริสุทธิ์

แนวความคิดของคนสมัยนั้นคิดว่า การอาบน้ำ (อาบจริงๆ) ทำให้เป็นผู้บริสุทธิ์

พระพุทธองค์ก็ตรัสรับรองเหมือนกันว่า “การอาบน้ำทำให้บริสุทธิ์ แต่มิใช่อาบแบบที่คนเขาทำกัน หากแต่เป็นการ ‘อาบใจ’ ด้วยน้ำคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าอาบอย่างนี้ละก็เป็นผู้บริสุทธิ์แน่ บริสุทธิ์ขึ้นไปตามลำดับ ด้วยลดละนิวรณ์จนกระทั่งหมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ในที่สุด”

นี่คือการยอมรับคำศัพท์เดิม แต่นำมาใส่ความหมายใหม่ที่ดีกว่า ทำให้ผู้ฟังคล้อยตามและตัดสินได้ว่า ความหมายไหนดีกว่าความหมายไหน

จะเห็นได้ว่า คำอื่นๆ เช่น พรหม พราหมณ์ อริยะ ยัญ ตบะ ไฟ ภิกษุ ฯลฯ  ซึ่งใช้กันอยู่ก่อนในความหมายอื่น พระองค์ก็ทรงนำมาอธิบายใหม่ที่เหมาะสมว่า

๒) ใช้ตรรกะ หรือเหตุผลง่ายๆ เพื่อให้สะดุดใจคิด บางเรื่องไม่ควรเสียเวลาอธิบายเหตุยาวยืด (เพราะสถานการณ์ไม่ให้ หรือเพราะอธิบายไป ยิ่งทำให้สับสน) พระองค์ก็ทรงใช้เหตุผลง่ายๆ ทำให้ผู้ฟังสะดุดคิด ขอยกตัวอย่างสัก ๒ เรื่อง

เรื่องแรก ภิกษุสาวกพระพุทธองค์ ถูกพวกพราหมณ์ด่าว่าเป็นคนต่ำต้อยเพราะเกิดจากเท้าพระพรหม พวกเขาเกิดจากปากพระพรหม โต้เถียงสู้พวกเขาไม่ได้ จึงไปกราบทูลพระพุทธเจ้า

พระองค์ตรัสว่า “ทำไมพวกเธอไม่ย้อนพราหมณ์พวกนั้นไปว่า พวกเขาพูดเท็จ”

เมื่อภิกษุพวกนั้นกราบทูลว่า เท็จอย่างไร พระองค์ตรัสว่า
“ก็พวกเขาพูดว่า เกิดจากปากพระพรหม มิใช่หรือ”
“ใช่พระเจ้าเจ้า” ภิกษุทั้งหลายรับ
“นั่นแหละ พวกเขาพูดเท็จ เมื่อนางพราหมณีตั้งครรภ์ อุ้มครรภ์นานถึงแปด-เก้าเดือน ใครๆ ก็รู้ ก็เห็น ก็คลอดจาก ‘โยนี’ ของนางพราหมณี เห็นกันอยู่แท้ๆ อย่างนี้ยังมาพูดว่าคลอดจากปากพระพรหมอีกหรือ”

แจ้งจางปางไหมครับ ตรรกะง่ายๆ อย่างนี้ไม่เป็นที่สงสัยเลย ทันทีที่ฟังก็เห็นด้วยหรือคนโต้เถียงก็เงียบเสียงทันที เพราะความเป็นจริงก็เห็นๆ กันอยู่

เรื่องที่สอง เรื่องนี้ก็รู้กันมาก นายขมังธนู ถูกว่าจ้างโดยพระเทวทัตให้ไปยิงพระพุทธเจ้า

พระเทวทัตได้วางแผนการไว้แนบเนียน โดยวางคนไว้ ๑๖ จุด ให้ฆ่าคนที่เดินผ่านมาเป็นทอดๆ โดยนัยนี้ ถ้าแผนการสำเร็จจะจับมือใครดมไม่ได้ ไม่มีทางสาวหาต้นตอพบ

บังเอิญแผนการไม่สำเร็จ

ขณะนายขมังธนูจะปล่อยศร พระองค์ตรัสสนทนาด้วยการใช้ตรรกะง่ายๆ ว่าทำอะไร เขาตอบว่า ยิงละซิ

ตรัสถามว่ายิงทำไม เขาตอบว่ายิงให้ตาย

พระองค์ตรัสถามด้วยคำถามง่ายๆ ว่า “ถ้าไม่ยิง เราไม่ตายหรืออย่างไร” เขานิ่งคิดพักหนึ่งแล้วรับว่า ถึงเขาไม่ยิง พระองค์ก็จะต้องตายเมื่อถึงเวลานั้น แล้วพระองค์ตรัสถามว่า แล้วจะยิงทำไม

ยิงแล้ว เขาก็ได้ทำบาปเพราะฆ่าพระพุทธเจ้า และอาจติดคุกหรือถูกฆ่าหรือจองจำ ทุกข์สองเท่าว่างั้นเถอะ

๔.เลือกสอนเป็นรายบุคคล ผู้สอนต้องรู้ว่าคนฟังนั้นต่างภูมิหลัง ต่างความสนใจ ต่างระดับสติปัญญาการเรียนรู้ เพราะฉะนั้นการเลือกสอนเป็นรายบุคคล จะช่วยให้การสอนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ถ้าทำได้ก็ควรใช้วิธีนี้ แม้จะสอนเป็นกลุ่มก็ต้องเอาใจใส่นักเรียนที่มีปัญญา เป็นรายบุคคลให้ได้

พระพุทธเจ้านั้น เป็นที่รู้จักกันว่า พระองค์ทรงคงใช้เทคนิคนี้บ่อยดังในพุทธกิจ ๕ ประการ ก็จะระบุไว้เลยว่า ก่อนจะเสด็จไปโปรดใคร ด้วยเนื้อหาอะไร พระองค์จะตรวจดูด้วย “ข่าย คือพระญาณ” ก่อน ว่าคนไหนควรจะไปโปรดก่อน แม้ว่าจะเลือกคนที่จะโปรดแล้วก็ต้องดูด้วยว่าต้องสอนเรื่องอะไร สอนอย่างไรด้วย หาไม่ ก็อาจไม่ประสบความสำเร็จ

ขอยกสักเรื่องมาเป็นอุทาหรณ์ พระสารีบุตรมีลัทธิวิหาริก (ศิษย์ที่ท่านบวชให้เอง) รูปหนึ่ง ท่านพยายามฝึกสอนให้ปฏิบัติกรรมฐานเป็นเวลานาน ศิษย์ก็ไม่ประสบความก้าวหน้าในการปฏิบัติ ท่านจึงพาศิษย์มาเฝ้าพระพุทธเจ้า

พระพุทธองค์ตรัสว่า พระองค์จะฝึกศิษย์ของพระสารีบุตรเอง แล้วก็ทรงพาเธอไปริมฝั่งน้ำ ทรงนำดอกบัวที่มีผู้ถอนทิ้งไว้มาดอกหนึ่ง ให้เธอปักไว้ที่กองทราย แล้วให้พิจารณาถึงความสวยงามของดอกบัวนั้น ณ ตรงนั้นเป็นเวลานานๆ

ภิกษุหนุ่มนั่งเพ่งดอกบัวนั้นตามรับสั่ง เวลาล่วงเลยไปตามลำดับ ดอกบัวนั้นค่อยๆ เหี่ยวเฉาลงตามลำดับ เธอได้พิจารณาเห็นความไม่เที่ยงแท้ของสังขาร เข้าสู่ทางวิปัสสนาไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหันต์

พระพุทธองค์ทรงรู้ว่า พระสารีบุตรไม่รู้ภูมิหลังของภิกษุหนุ่มผู้เป็นศิษย์ดี ให้เธอฝึกอสุภกรรมฐาน (เพ่งมองร่างกายว่าเน่าเปื่อย น่าขยะแขยง) แต่ยิ่งเพ่งก็ยิ่งเห็นร่างกายมันงาม ไม่สามารถมองเห็นดังที่อาจารย์สอน เพราะในชาติก่อนหลายร้อยชาติ ภิกษุหนุ่มเคยเกิดเป็นบุตรนายช่างทอง วันๆ เอาแต่หลอมทองอันสุกปลั่ง จิตใจคุ้นเคยกับความสวยงามแห่งทองคำ  มาชาตินี้นิสัยนั้นยังติดอยู่ส่วนลึกแห่งดวงใจ พอถูกสอนให้มองในทางตรงข้าม จึงเกิดปัญหาดังกล่าวข้างต้น

พระพุทธองค์ทรงรู้ภูมิหลังของเธอดี จึงทรงสอนให้เพ่งมองความงามของดอกบัว เทคนิควิธีนี้เรียกว่า “เอาหนามบ่งหนาม” กระมังครับ

ผมได้รับคำยืนยันจากนายแพทย์คนหนึ่งว่า เรื่องนี้เป็นความจริง ตัวท่านเป็นศัลยแพทย์ ตามปกติก็มองเห็นตับไตไส้พุงคนงดงามและมหัศจรรย์อยู่แล้ว เมื่อไปปฏิบัติกรรมฐานอาจารย์สอนให้เพ่งเหล่านี้ว่ามันสวยงาม ยิ่งเพ่งก็ยิ่งเห็นว่ามันสวยงาม ธรรมชาติช่างสร้างตับไตไส้พุงมาเป็นระเบียบดีเหลือเกิน มองยังไงๆ ก็ไม่เห็นว่ามันน่าเกลียด

ผลที่สุดก็ปฏิบัติไม่ก้าวหน้า

๕. รู้จักจังหวะและโอกาส คนที่สอนเขาเห็นจะต้องรู้จักคอยจังหวะอันเหมาะสมด้วย เรียกว่า ดูความพร้อมของผู้เรียน

ถ้าผู้เรียนไม่พร้อม สอนไปก็เหนื่อยเปล่า เราได้ยินเรื่องพระวักกลิบ่อยๆ ว่าเธอบวชอยู่กับพระพุทธเจ้า เพราะติดในรูปสมบัติของพระองค์ แต่พระองค์ไม่ว่าอะไร คงปล่อยให้เธอนั่งจ้องพระองค์อย่างนั้น

ทั้งนี้เพราะทรงเห็นว่า วักกลิยังไม่พร้อมจะรับคำสอน เมื่อทรงเห็นว่าเธอพร้อมแล้วจึงได้สอน

อีกเรื่องหนึ่ง นางรูปนันนทาเถรี พระกนิษฐาของพระองค์ ก็ติดในความสวยความงามของตน ไม่ยอมไปฟังธรรมจากพระองค์ เหมือนภิกษุอื่น  เพราะเกรงพระพุทธองค์จะตำหนิความสวยงามของเธอ พระองค์ก็ยังคงปล่อยเธอไว้ก่อน จนกว่าเธอมีความพร้อมแล้วจึงทรงสอนอย่างนี้เป็นต้น

ดูว่าทั้งสองเรื่องเคยพูดถึงแล้ว ไม่จำเป็นต้องยกมาพูดอีก

๖.ยืดหยุ่นในการใช้เทคนิควิธี นี้ก็เป็น “เคล็ดแห่งความสำเร็จ” ประการหนึ่งของการสอน โบราณเล่าว่า ชาวนาเห็นกระต่ายวิ่งชนตอไม้ตาย ก็นึกว่าจะมีกระต่ายตัวที่สอง ตัวที่สามมาชนตอไม้อีก จะได้กินกระต่ายอีกจึงนั่งคอยอยู่ตรงนั้น วันแล้ววันเล่าก็ไม่มีกระต่ายตัวที่สองตัวที่สามชนตอไม้อีกเลย

เทคนิควิธีบางอย่างใช้ได้ผลในวันนี้ ต่อไปวันข้างหน้าอาจใช้ไม่ได้ก็ได้ จึงควรยืดหยุ่นวิธีการ   ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ พระพุทธเจ้าตรัสกับคนฝึกม้าชื่อเกสี ว่าพระองค์ก็ทรงฝึกสาวกดุจเดียวกับนายเกสีฝึกม้า คือใช้วิธีนุ่มนวลบ้าง วิธีเข้มงวดบ้าง มีทั้งสองวิธีผสมกันบ้างตามกาลอันสมควร

๗.การเสริมแรง มีคำสรรเสริญพระพุทธเจ้าว่า ทรงชมคนที่ควรชม ตำหนิคนที่ควรตำหนิ การชมเป็นการยอมรับความสามารถของสาวกหรือให้กำลังใจให้ทำอย่างนั้นยิ่งๆ ขึ้นไป การตำหนิเป็นการตักเตือนมิให้ประพฤติเช่นนั้นอีกต่อไป

ตัวอย่างเช่น ทรงชมเชยพระสาวกผู้มีคุณสมบัติพิเศษต่างๆ ว่าเป็น “เอตทัคคะ” ด้านนั้นด้านนี้ ก็เป็นการให้กำลังใจ หรือการไม่ทรงอนุญาตภิกษุจากชนบทผู้ส่งเสียงอื้ออึงเข้าเฝ้า ก็เพื่อตักเตือนว่า ผู้ประพฤติเช่นนั้นมิใช่สาวกของพระพุทธองค์

หรือรับสั่งให้เหล่าภิกษุที่สำคัญว่าตนบรรลุมรรคผลไปดูซากศพในป่าช้าผีดับก่อนเข้าเฝ้า ก็เพื่อเตือนให้พวกเธอสำนึกว่า ที่พวกเธอนึกว่าได้บรรลุจริง 

ยังคงมีอีกหลายวิธีหลายตัวอย่าง แต่ขณะเขียนนึกไม่ออก และก็รู้สึกว่าชักจะเมื่อยล้าเต็มที จึงขอยุติข้อเขียนว่าด้วยเทคนิควิธีการสอนของพระพุทธเจ้าไว้เพียงแค่นี้


ที่มา : พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฏก (๑๙) เทคนิควิธีสอน (จบ) โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ หน้า ๖๗ ฉบับที่ ๑๙๒๙ ประจำวันที่ ๔-๑๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๐