[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => เกร็ดความรู้ งานบ้าน งานครัว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 27 เมษายน 2560 11:19:06



หัวข้อ: 'ปลาทู' หนึ่งในเมนูคู่ครัวไทย
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 27 เมษายน 2560 11:19:06
(http://pasusat.com/wp-content/uploads/2015/04/Indian-Mackerel.jpg)
ภาพจาก : site pasusat.com

'ปลาทู' หนึ่งในเมนูคู่ครัวไทย

หนึ่งในเมนูคู่ครัวไทย มีปลาทูเป็นดาราชูโรง นับเป็นปลาที่ผูกพันสนิทกับวิถีชีวิตคนไทย ด้วยเป็นอาหารทะเลหลักมาช้านาน ปลาทูเป็นปลาทะเลที่อยู่ในสกุล Rastrelliger วงศ์ Scombridae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับปลาโอ ปลาอินทรี และปลาทูน่า ชื่อภาษาอังกฤษคือ chub mackerel ในน่านน้ำไทยพบทั้งหมด 3 ชนิด ได้แก่ ปลาทู หรือ ปลาทูสั้น (Rastrelliger brachysoma) เป็นชนิดที่นิยมบริโภคมากที่สุด, ปลาทูปากจิ้งจก (Rastrelliger faughni) และ ปลาลัง หรือ ปลาทูโม่ง (Rastrelliger kanagurta)

มีประวัติด้วยว่า ในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้จ้าง ดร.ฮิว แมกคอร์มิก สมิธ นักมีนวิทยาชาวอเมริกัน (มีนวิทยา-Ichthyology เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปลา) มาเป็นที่ปรึกษากรมรักษาสัตว์น้ำ(กรมประมงในปัจจุบัน) เพื่อสำรวจพันธุ์ปลาต่างๆ ในประเทศไทย โดยมี หลวงมัศยจิตรการ(ประสพ ตีระนันทน์) เป็นผู้ช่วยและวาดภาพปลา ท่านผู้นี้เป็นผู้วาดภาพปลาทูภาพแรกในประเทศไทย โดยในพ.ศ.2468 ไทยนำเรืออวนตังเกจากจีนมาใช้และทำให้จับปลาทูได้มากจนมีเหลือทำเป็นปลาทูเค็มส่งไปขายต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง ภาษาอินโดนีเซียเรียกปลาทูเค็มว่า Ikan Siam

พ.ศ.2503 รัฐบาลไทยนำเครื่องมืออวนลากจากเยอรมนี ตะวันตกมาใช้ และเมื่อมีประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกทำให้การประมงขยายตัวมากขึ้น จนกระทั่งจำนวนปลาทูในอ่าวไทยลดจำนวนลง ทั้งนี้ ในอดีตเชื่อกันว่าปลาทูที่จับได้ในอ่าวไทยมาจากเกาะไหหลำ แต่ปัจจุบัน พบว่าปลาทูเกิดในอ่าวไทยนี่เอง และปัจจุบันกรมประมงก็เพาะขยายพันธุ์ปลาทูในระบบปิดได้สำเร็จแล้ว

ปลาทูมีลำตัวแป้น ยาวเพรียว ตาโต ปากกว้าง จะงอยปากแหลม เกล็ดเล็กละเอียด มีม่านตาเป็นเยื่อไขมัน บนขากรรไกรมีฟันซี่เล็กๆ มีซี่เหงือกแผ่เต็มคล้ายพู่ขนนก มีครีบหลัง 2 อัน ครีบหลังอันแรกมีก้านแข็ง ส่วนอันหลังก้านครีบอ่อน ครีบท้องมีก้านครีบแข็ง 1 อัน ครีบอกมีฐานครีบกว้างแต่ปลายเรียว สีตัวพื้นท้องสีขาวเงิน บริเวณที่ชิดโคนครีบหลังตอนแรกมีจุดสีดำ 3-6 จุดเรียงอยู่ 1 แถว ผิวด้านบนหลังมีสีน้ำเงินแกมเขียว ช่วยพรางตัวให้พ้นจากศัตรู มีความยาวประมาณ 14-20 เซนติเมตร

ปลาทูอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ในน่านน้ำที่เป็นทะเลเปิด ได้แก่ อินโด-แปซิฟิก อ่าวไทย ทะเลอันดามัน ทะเลจีนใต้ และทะเลญี่ปุ่น โดยอาศัยใกล้ฝั่งที่มีสภาพน้ำลึกไม่เกิน 30 เมตร มีอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 17 องศาเซลเซียส หากินในเวลากลางคืน กินอาหารจำพวกแพลงตอนและสัตว์น้ำขนาดเล็ก วางไข่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ไข่ของปลาทูเป็นแบบไข่ครึ่งจมครึ่งลอยน้ำ มีหยดน้ำมันและถุงไข่แดงเพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานให้กับระบบร่างกาย ไข่มีขนาดประมาณ 0.80-0.96 มิลลิเมตร ใช้ระยะเวลาในการฟักประมาณ 16-17 ชั่วโมง ถุงไข่แดงของลูกปลาเริ่มยุบและหมดไปภายใน 3 วัน

ปลาทูนำมาเป็นอาหารไทยทั้งในรูปแบบปลาทูสดและปลาทูนึ่ง วางขายในภาชนะที่เรียกว่า เข่งปลาทู ที่ยอดนิยมคือนำมา ทอดรับประทานคู่กับน้ำพริกกะปิ หรือทำเป็นน้ำพริกปลาทู ส่วนปลาทูสดนิยมนำมาทำเป็นต้มยำปลาทู เนื้อปลาทูมีคุณค่าทางอาหารมากมาย ได้แก่ กรดไขมันโอเมกา-3 ที่มีค่อนข้างมาก ในเนื้อปลาทู 100 กรัมมีกรดไขมันโอเมกา-3 ราว 2-3 กรัม ทั้งยังมีกรดไลโนเลอิก ซึ่งเป็นตัวควบคุมระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือด ลดความหนืดของเลือด ทำให้ความข้นในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ ช่วยลดอาการโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดตีบ และมีกรดโคโคซาเฮ็กชิโนอิก(ดีเอชเอ) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของเซลล์สมอง

ในประเทศไทย แหล่งที่ได้ชื่อว่ามีปลาทูชุกชุมและรสชาติอร่อยแห่งหนึ่งคืออำเภอเมืองสมุทรสงคราม ปลาทูจากที่นี่มีชื่อเรียกว่า ปลาทูแม่กลอง ส่วนหน้ามีลักษณะเป็นสามเหลี่ยม ลำตัวสั้นแบน สีเงินหรืออมเขียว ตาดำ เนื้อแน่นแต่นุ่ม เมื่อกดลงไปที่ตัวปลาเนื้อปลาจะกลับคืนสภาพเดิมไม่บุ๋มลงไปตามรอยแรงกด รวมทั้งมีเอกลักษณ์สำคัญที่เรียกว่า "หน้างอ คอหัก"


(https://f.ptcdn.info/742/040/000/o3pfjuabhZhIs10Rrdk-o.jpg)
ภาพจาก : f.ptcdn.info


ขอขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์