[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 09 ตุลาคม 2560 20:10:28



หัวข้อ: ประเพณีการวางพวงหรีดในประเทศไทยครั้งแรกมาจากไหน ?
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 09 ตุลาคม 2560 20:10:28
ประเพณีการวางพวงหรีด

(https://scontent.fbkk2-2.fna.fbcdn.net/v/t1.0-9/22279869_295171187556429_5031900640257337465_n.jpg?oh=0f0d5c5a25d26c84abdac0cfc18fb2a8&oe=5A3B59DF)

พวงหรีดมีต้นกำเนิดตั้งแต่สมัยอารยธรรมอีทรัสคันในแถบทวีปยุโรปตอนใต้ จากการพบมงกุฎทองสำหรับนักรบเมื่อเวลาออกรบเพื่อเป็นเกียรติยศโดยแกะเป็นลายใบไม้และดอกไม้
อายุราว 400 ปีก่อนคริสตกาล ในยุคโรมันโบราณมีการใช้หรีดมาประดับศีรษะ โดยเรียกว่า ลอเรลหรีธ (laurel wreath) โดยใช้ใบไม้สานกัน

ประเพณีการวางพวงหรีดเพื่อแสดงความเศร้าโศกที่คนไทยรับมาใช้นั้น คาดว่ามาจากอารยธรรมตะวันตกเริ่มแพร่หลายอย่างมากในยุคล่าอาณานิคม
สันนิษฐานว่าน่าจะมีขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีการรับเอาอารยธรรมตะวันตกหลายอย่างเข้ามาในประเทศไทย
โดยปรากฏหลักฐานภาพถ่ายการนำดอกไม้หลากหลายชนิดมาตกแต่งเป็นพวงกลมคล้ายพวงหรีดครั้งแรก ในพระเมรุของสมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา หรือ เจ้าจอมมารดาเปี่ยม
พระสนมเอกในรัชกาลที่ 4 ในพ.ศ. 2447 ด้วยเหตุนี้เองทำให้คาดการณ์ได้ว่าพวงหรีดได้ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยและใช้เป็นสื่อแทนความโศกเศร้าตั้งแต่สมัยนั้น

และยังมีหลักฐานปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพวงหรีดมีคำจารึกว่า

อ้างถึง

    "ทรงรฦกถึงความจงรักภักดีและที่ได้เคยอยู่ด้วยกันเปนนิจช้านาน"


วางที่โกศศพของเจ้าพระยาสุรวงษวัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) ในวันทำบุญครบรอบปีตรงกับวันที่ถึงแก่กรรม
นายพลโท เจ้าพระยาสุรวงษ์วัฒนศักดิ์ (นามเดิม: โต บุนนาค; พ.ศ. 2394 - 8 ตุลาคม พ.ศ. 2452) เป็นบุตรของเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค)
กับท่านผู้หญิงอ่วม สุรวงษ์ไวยวัฒน์ จบการศึกษาวิชาทหารปืนใหญ่จากประเทศอังกฤษ เริ่มรับราชการเมื่อ พ.ศ. 2421 ในรัชกาลที่ 5
เป็นที่พระอมรวิสัยสรเดช ผู้บังคับการกองทหารปืนใหญ่ เป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยทหารบก ราชองครักษ์ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้รับโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาสีหราชเดโชชัย ต่อมาในปี พ.ศ. 2443 ได้รับสถาปนาเป็นเจ้าพระยาสุรวงษ์วัฒนศักดิ์ อรรคยโสดมบรมนารถ วรุตมามาตยมหาเสนาบดีฯ
ดำรงตำแหน่งสุดท้ายที่สมุหราชองครักษ์

เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) มีบุตรธิดารวม 27 คน นับเป็นลำดับชั้นที่ 6 ท่านได้สมรสกับท่านผู้หญิงตลับ ธิดาพระสุพรรณสมบัติ (ถมยา โอสถานนท์)
มีบุตรธิดาได้แก่
• พระยาสุริยานุวงศ์ประวัติ (เต็น)
• พระยาสุรวงศ์วิวัฒน์ (เตี้ยม)
• พันตำรวจตรีพระอดิศักดิ์อภิรัตน์ (เต็มสุรวงศ์)
• และท่านเจ้าจอมเลียมในรัชกาลที่ ๕

มีบุตรธิดาที่เกิดกับภรรยาอื่น ได้แก่
• พระยาชัยสุรินทร์ (ตาล)
• พระยาสุพรรณสมบัติ (ติน)
• พระยาอภิบาลราชไมตรี (ต่อม)
• และพระยาสุริยานุวงษ์ประวัติ (เต๋า) เป็นต้น
ธิดาได้แก่
• คุณหญิงประภากรวงศ์ (เรียบ บุนนาค)
• คุณหญิงโภช ภรรยาพระยาอร่ามมณเฑียร (เอื้อม บุนนาค)
• หม่อมชื้น ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุริยงประยูรพันธ์กรมหมื่นไชยาศรีสุริโยภาส
• หม่อมชั้นและหม่อมฟื้น ในหม่อมเจ้าวัลภากร วรวรรณ
• และหม่อมดำริห์ในหม่อมเจ้าสิทธิยากร วรวรรณ เป็นต้น

เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าชั้นที่ 1 (ปฐมจุลจอมเกล้าในปัจจุบัน) เหรียญดุษฎีมาลา เป็นราชการในพระองค์
เหรียญอื่นๆ ในการพระราชพิธีต่างๆ และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากต่างประเทศด้วย ท่านถึงอสัญกรรม พ.ศ. 2452
ในระหว่างตามเสด็จประพาสเพชรบุรี รวมอายุ 58 ปี ได้รับพระราชทานโกศไม้สิบสองบรรจุศพ





ที่มา : Wikipedia
ที่มา 2 : Facebook กลุ่ม เล่าเรื่องรัฐฉานกับล้านนาและล้านช้าง ในสยามประเทศ โพสท์โดยผู้ใช้ วรรธคม อินคำปัน อ้างอิง รักสยามหนังสือเก่า / t_2539
ภาพ : Facebook กลุ่ม เล่าเรื่องรัฐฉานกับล้านนาและล้านช้าง ในสยามประเทศ