[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 11 ตุลาคม 2560 15:23:59



หัวข้อ: "บายศรี"พราหมณ์ทมิฬชาวอินเดียนำเข้าสุวรรณภูมิสมัยอาณาจักรฟูนัน
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 11 ตุลาคม 2560 15:23:59

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/67166335259874__MG_3421.JPG)

บายศรี
พราหมณ์ทมิฬชาวอินเดียนำเข้าสุวรรณภูมิสมัยอาณาจักรฟูนัน

ถ้าพูดถึง “บายศรี” ใครๆ ก็นึกเห็นทันทีว่าเป็นใบตองเย็บทำให้เป็นยอดแหลมใส่ชามบ้าง เย็บด้วยใบตองทั้งตัวเป็นรูปกระทงเจิมอย่างวิจิตรบรรจงบ้าง เย็บติดกับแป้นไม้ซ้อนกันเป็นชั้นๆ เหมือนฉัตรบ้าง ใช้เป็นเครื่องบวงสรวงสังเวยเทวดาในพิธีต่างๆ ร่วมกับของสังเวยอื่นๆ มีหัวหมู เป็ด ไก่ ขนมต้มขาว ขนมต้มแดง มะพร้าวอ่อน กล้วยน้ำว้า และเหล้า แต่บางทีก็มีของอื่นๆแปลกไปกว่านี้อีกบ้างในพิธีเล็กน้อย เช่น แก้สินบน ยกศาลพระภูมิ ฯลฯ ใช้บายศรีใส่ชามซึ่งเรียกกันว่าบายศรีปากชาม แต่พิธีใหญ่ๆ เช่น โกนจุก บวชนาค แต่งงาน ฯลฯ ใช้ใบศรีตองขนาดใหญ่ ๓ ชั้น ๕ ชั้น แล้วแต่จะทำงานใหญ่โตเพียงไร

บายศรี จะมีมาแต่ครั้งไรไม่รู้ พูดอย่างกำปั้นตีดินก็เห็นจะมีมาพร้อมกับพราหมณ์ทมิฬชาวอินเดียที่อพยพมาสู่สุวรรณภูมิในสมัยฟูนัน  เจนละ (เสียมรัฐ) ทวาราวดี เป็นอาณาจักรดึกดำบรรพ์โพ้น หนังสือเก่าที่ได้พบคำบายศรีก็เห็นจะเป็นกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ ซึ่งออกในแผ่นดินพระเจ้าอู่ทองปฐมกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ประมาณเกือบ ๖๐๐ ปีมานี้

สำหรับตัวหนังสือนั้น นับตั้งแต่กฎหมายเก่าคร่ำคร่าโบราณมาจนปทานุกรมแปลไว้ว่า ข้าวอันเป็นสิริ ข้าวขวัญ อธิบายว่า บายเป็นภาษาเขมร แปลว่าข้าว จึงทำให้ต้องมาถามตัวเองต่อไปว่า ข้าวอันเป็นสิรินั้นคืออะไร ถ้าจะหมายความคร่าวๆ ก็ต้องเป็นข้าวที่หุงปรุงรสโอชาอย่างดีเหมาะสมที่จะเป็นเครื่องสังเวยให้เทวดาโปรด

ในพิธีเกี่ยวกับเทวดาของทมิฬ มีคตินิยายในเรื่องมีอยู่อย่างหนึ่ง เขาว่าสิ่งที่เป็นสีนั้นย่อมเป็นเครื่องล่อเทวดาภูตผีปีศาจต่างๆ หรือจะพูดอีดนัยหนึ่งก็ว่าสีเป็นของสะดุดตาเทวดา เทวดาชอบสี พิธีใดเป็นพิธีเทวดาโดยตรง หรือต้องการอัญเชิญเทวดามาเป็นประธานสำคัญ จึงต้องหาของดีเป็นสีต่างๆ สำหรับล่อให้สะดุดตาเทวดา เช่น พิธีเทวดาวิธานำ คือพิธีบูชาเทวดานพเคราะห์ของพระเจ้าแผ่นดิน ต้องปักธงสีต่างๆ ๙ คัน มีธงสีแดง สีขาวเหลือง สีชมพู สีเหลือง สีทอง สีขาว สีดำ สีควันไฟ เช่นอย่างพิธีสะเดาะเคราะห์ของชาวบ้าน ก็ทำบัตรหยวกกล้วย ก้านกล้วยปักธงเล็กๆ สีต่างๆ รอบ  เนื่องจากคตินิยมที่ถือว่า เทวดาภูตผีปีศาจชอบสีนี้ ทมิฬจึงมีเคล็ดลับความเชื่อในเรื่องใช้ข้าวย้อมสีตามสีประจำองค์เทวดาเป็นเครื่องสังเวยเทวดาฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งใช้สีล่อเทวดาร้ายหรือภูตผีปีศาจให้ไปรวมกันเสียต่างหากพวกหนึ่ง เพื่อจะได้ไม่มาทำอัปมงคลหรือให้โทษแก่บุคคลหรือมณฑลพิธี  สีล่อเทวดาร้ายนี้ เขาใช้ขมิ้นกับปูนมาผสมกันสาดหรือย้อมของอันใดเข้าให้เป็นสีแดงแล้วโยนรอบๆ เพื่อให้เทวดาร้ายหรือภูตผีปีศาจไปรวมกันเสียเป็นหมู่ต่างหากไม่ให้มารบกวนอันจะก่อให้เกิดโทษหรืออัปมงคลแก่พิธีหรืออัปมงคลแก่พิธีหรือบุคคลได้

เท่าที่พรรณนานามาเราจะเห็นว่าขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยกับทมิฬได้เป็นมาอย่างเดียวกัน ทั้งนี้ก็เพราะทมิฬมาเป็นครูถ่ายทอดวัฒนธรรมทางขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ให้ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพิธีบวงสรวงเทวดา มีขนมต้มขาว มะพร้าวอ่อน กล้วย เป็นเครื่องสังเวย  ข้าวย้อมสีก็ย่อมจะต้องติดมาด้วยไม่มีปัญหา  พิธีทิ้งข้าวแม่ซื้อใช้ข้าวปั้นก้อนย้อมขมิ้นกับปูน พิธีสะเดาะเคราะห์ใช้ข้าวปั้นก้อนย้อมสีต่างๆ ปรากฏเป็นพิธีของไทยชัดอยู่ อันนี้ทำให้คิดต่อไปว่าข้าวเหนียวเหลือง (หน้ากุ้ง) ข้าวเหนียวดำ (หน้ากะฉีก) ข้าวเหนียวแดง กระยาสารท ขนมถ้วยสีต่างๆ ขนมขี้หนูสีต่างๆ ฯลฯ ของเหล่านี้ อาจจะเป็นของสังเวยอะไรมาแต่เดิมก็ได้โดยไม่ต้องสงสัย และขอสันนิษฐานต่อไปว่า คำว่า “ขนม” ของเรานั้นไม่ใช่เป็นคำที่ถือกันว่ามาจาก “คนุม” ภาษามอญ  “ขนม” อาจเป็นข้าวเคล้านม ซึ่งเดิมจะเรียกกันว่า ข้าวนม เช่นเดียวกับข้าวมูลกะทิ ดังเรามีประโยคว่า “ขนมนมเนย” พูดกันเป็นสามัญติดปากอยู่ “ข้าวนมเนย” นี้ อาจจะเป็นข้าวปรุงนมเนยสังเวยเทวดา ทำนองเดียวกับข้าวปายาศมาแต่โบราณ ภายหลังเรียกเพี้ยนเข้าจนเลือน และไม่เข้าใจความหมายเดิมก็เลยกลายเป็น “ขนม” ไป


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/91988641727301__MG_3427.JPG)

ที่พูดมานี้ พูดในแง่ที่ว่าบายศรีเป็นอาหาร ทีนี้ลองพูดในแง่เป็นภาชนะบ้าง มีพระบรมราชาธิบายในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือนถึงเรื่องบายศรีว่า “เมื่อพิเคราะห์ ดูเครื่องที่ตั้งมาในการสมโภชทั้งปวงก็ล้วนแต่เป็นของบริโภคทั้งสิ้น บายศรีแก้ว บายศรีทอง บายศรีเงิน ก็เป็นภาชนะเครื่องรองอาหารเหมือนโต๊ะ หรือพาน บายศรีตองก็เป็นกระทงที่สำหรับบรรจุอาหาร แต่เป็นการออกหน้าประชุมคนพร้อมๆ กัน ก็คิดตบแต่งให้งดงามมากมาย ชะรอยบายศรีแต่เดิมจะใช้โต๊ะกับข้าวโต๊ะหนึ่ง จานเรียงซ้อนๆ กันขึ้นไปสูงๆ เหมือนแขกเขาเลี้ยงที่เมืองกะลันตัน ภายหลังเห็นว่าไม่เป็นของแน่นหนาและยังไม่สู้ใหญ่โตสมปรารถนาจึงเอาพานซ้อนกันขึ้นไปสามชั้นห้าชั้น แล้วเอาของตั้งรายตามปากพาน คนที่วาสนาน้อยก็ไม่มีโต๊ะไม่มีพาน ต้องเย็บเป็นกระทงตั้งซ้อนกันขึ้นไปสามชั้น ห้าชั้น เจ็ดชั้น แต่ถ้าจะใช้กระทงเกลี้ยงๆ ดูไม่งาม ก็เจิมปากให้เป็นกระทงเจิมให้เป็นกระทงงดงาม

ข้ามมาไทยศิลปศาสตร์เจริญขึ้น กระทงใบตองก็ถูกประดิดประดอยให้สวยงามเป็นกระทงเจิม คือประดับประดาตกแต่งปากกระทงให้งดงามด้วยประการต่างๆ มีกระจัง มียอดแหลมๆ ตามศิลปะไทย (ถ้าเป็นเขมรก็คงเป็นรูปอย่างปราสาทนครวัด หรือทมิฬก็อย่างเทวสถานในกาญจีปูรัม (Conjeevaram)  กระทงใบตองก็กลายเป็นของสำคัญเกี่ยวกับงานพิธี คือเป็นทั้งความศักดิ์สิทธิ์ศิริมงคลในตัวและเป็นศิลปะในฝีมือช่างพร้อมไว้ด้วยกัน  นำมาใช้เฉพาะใส่ข้าวสีหรือบายสีสังเวยเทวดา ส่วนของสังเวยอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น มะพร้าวอ่อน กล้วย ก็วางเรียงรายไว้รอบๆ ต่างหาก พูดให้เข้าใจง่ายก็คือเป็นอย่างที่เราจัดบายศรีปากชามบวงสรวงเทวดาในการแก้สินบนหรือยกศาลพระภูมิเดี๋ยวนี้แหละ

บายศรีปากชามนี้เราจะเห็นว่า บางทีก็ใช้ขันเงิน ขันทอง ขันถมแทนชามก็มี สุดแต่ว่าจะมีของดีอะไรที่เห็นว่าเทวดาจะโปรดมากขึ้น ก็นำมาใช้เป็นภาชนะ แต่ก็ยังคงเรียกว่า บายศรีปากชาม เป็นการรักษาประเพณีนิยมไว้อีก คำว่า บายศรีปากชามกลายเป็นชื่อชนิดของบายศรีเล็ก

ต่อมาศิลปศาสตร์เมืองไทยเจริญขึ้นก็เกิดความคิดพลิกแพลงเย็บกระทงตั้งให้ซ้อนกันขึ้นไปเป็นชั้นๆ ๓ ชั้นบ้าง ๕ ชั้นบ้าง เอากระทงข้าวสีคือ นายสี เดิมไว้ยอดเพราะเป็นของสำคัญ ของสังเวยอื่นๆ ไว้ล่างต่อๆ ลงมา แล้วก็เอาผลไม้เนื้อแน่นมาแกะเป็นรูปภาพเรื่องราวประดับประดากระทงทุกชั้นให้งดงาม จึงเกิดคำที่เรียกว่า “แกะบายศรีขึ้น

ความเป็นมาของบายศรีคงจะเป็นดังพรรณนาไว้นี้ คือเริ่มจากสังเวยข้าวสีใส่กระทงเจิมก่อน เครื่องสังเวยเรียกว่า “บายสี” ในที่สุดข้าวสี คือบายสีแท้ๆ ก็หายไปแต่ภาชนะคือกระทงเจิมอย่างวิจิตรบรรจงยังคงอยู่ ความเข้าใจก็เลยพลอยเลือนมา จนลงท้ายคือ กระทงใบตองเป็นสำคัญ แต่คงเรียก “บายสี” อยู่อย่างเดิม   บายสีจึงกลายเป็นเหมือนกระทงใบตอง ซึ่งเท่ากับเป็นภาชนะไปเลย จานใส่อาหารที่ซ้อนกันเป็นชั้นๆ เรียกว่า”จานเชิง” ก็น่าจะออกจากกระทงเจิมซ้อนกันนี่เอง คือคิดเปลี่ยนจากใบตองของเดิมให้เป็นของถาวรเสีย บายศรีแก้ว บายศรีทอง ก็น่าจะเป็นทำนองเดียวกัน  

บายสีจึงกลายเป็นเหมือนเป็นภาชนะจริงๆ ยิ่งมาเปลี่ยน “สี” เป็น “ศรี” อีกชั้นก็เลยไปกันใหญ่ คือเป็นอย่างที่พูดกันว่า “ไม่ได้ความ”


จาก นิตยสารสยามอารยะ (ในพระบรมราชูปถัมภ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช) ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๙ พุทธศักราช ๒๕๓๖

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/53207149191035__3610_3634_3618_3624_3619_3637.gif)