[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม => ข้อความที่เริ่มโดย: มดเอ๊ก ที่ 14 ธันวาคม 2560 10:02:09



หัวข้อ: 1200 ปีความฝันแห่งท่านคูไค
เริ่มหัวข้อโดย: มดเอ๊ก ที่ 14 ธันวาคม 2560 10:02:09
(https://pbs.twimg.com/media/B8RAaMFCcAEk1ck.jpg)

1200 ปีความฝันแห่งท่านคูไค

ปีนี้เป็นศุภมงคลเฉลิมฉลองครอบรอบ 1,200 ปี แห่งการสถาปนาพุทธสถานบนเทือกเขาโคยะซัน (高野山) ขุนคีรีแห่งนี้เป็นศูนย์กลางของนิกายมนตรยาน หรือนิกายชินงอน (真言宗) นำเผยแพร่ที่ญี่ปุ่นโดยท่านโคโบ ไดฌิ หรือท่านคูไค

มนตรยาน บางทีก็เรียว่า คุยหยาน (密宗 - มี่จง) หมายถึงสำนักที่สอนรหัสนัยแห่งพุทธศาสนา

คุยหยานฝ่ายตะวันออก (东密 - ตงมี่) หรือคุยหยานสายราชวงศ์ถัง (唐密 - ถังมี่) ซึ่งต่างจากคุยหยานฝ่ายตะวันตก (西密 - ซีมี่) หรือมนตรยานแบบทิเบต ตรงที่เริ่มต้นในแผ่นดินจีนสมัยราชวงศ์ถัง แล้วท่านคูไค นำไปเผยแพร่ที่ญี่ปุ่น สถาปนาเทือกเขาโคยะเป็นสีมาแห่งนิกาย รุ่งเรืองตั้งแต่ยุคนาระตราบจนถึงทุกวันนี้เป็นเวลา 1,200 ปีแล้ว

เหตุแห่งการสถาปนาโคยะซัน เริ่มจากเวลานั้นท่านคูไควัยได้ 18 ปี ศึกษาพระธรรมในเมืองหลวงนาระ แต่พุทธจักรยุคนั้นแบ่งฝักฝ่าย ปกครองโดยขุนนางพระ ศึกษาแต่พระปริยัติธรรม ไม่สนใจการปฏิบัติ ไม่ยึดถือพระวินัย วัตรปฏิบัติจึงเหลวแหลก ยุคนี้เรียกหว่า "ยุค 6 นิกาย" ท่านคูไคจึงแสวงหาที่ภาวนาไปเรื่อยๆ กระทั่งพบว่าโคยะซันเป็นสัปปายะ จึงปักหลักที่นี่ ต่อมาหลังจากศึกษามนตรยานที่อาณาจักรถังแล้ว แสดงปาฏิหาริย์จนราชสำนักยอมรับ ท่านได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมาจากจักรพรรดิซางะในปีพ.ศ 1358 สถาปนาโคยะซันเป็นอาราม มีสิทธิสามารถอุปสมบทกุลบุตรได้เองโดยไม่ต้องพึ่งสีมาของนิกายทั้ง 6 ที่เมืองหลวง และใช้โคยะซันเป็นปะรำพิธี ประกอบพุทธาภิเษกภาวนาปกป้องบ้านเมืองต่อเนื่องไม่ขาดสาย นับแต่นั้นนิกายชินงอน จึงมีศักดิ์และศรียิ่งใหญ่ เป็นนิกายสำคัญของญี่ปุ่นจนถึงปัจจุบัน

ช่วงนี้หากเดินทางไปญี่ปุ่น จะมีแคมเปญเกี่ยวกับการฉลองโคยะซันในสถานที่ต่างๆ ผมเองไปร้านหนังสือเห็นจัดพื้นที่พิเศษให้งานนี้โดยเฉพาะ หากจะคิดหาหนังสือ หรือเครื่องเคราเกี่ยวกับนิกายชินงอนแบบครบถ้วน ต้องมาปีนี้ถึงจะเหมาะ หนังสือที่สะดุดตาผมเป็นพิเศษคือ KOYASAN Insight Guide ซึ่งเป็นภาษาญี่ปุ่น เนื้อหาค่อนข้างละเอียดแต่ไม่หนักเกินไป เพราะเลย์เอาต์ทันสมัย ภาพสวยๆ เยอะ หากอ่านญี่ปุ่นไม่ออก แต่มีความรู้เรื่องมนตรยาน/วัรชรยานก็จะเข้าใจได้ไม่ยาก 

หนังสือเล่มนี้โปรยหน้าปกไว้ว่า ความฝันแห่งท่านคูไค (空海の夢 - คูไคโนะยูเมะ) เป็นคำโปรยที่ไพเราะและสอดคล้องกับชีวิตของท่านคูไคมาก เพราะชีวิตของท่านเต็มไปด้วยความฝัน และนิมิต โคยะซันเองก็ปักสีมาขึ้นมาเพราะนิมิต

ก่อนท่านจะถือกำเนิด มารดาฝันไปว่า มีภิกษุสมณสารูปงดงามรูปหนึ่งมาขอพักอาศัยในบ้าน มาขอแล้วก็วูบหายเข้าไปในครรภ์ของมารดา ครั้นคลอดออกมาท่านพนมมือนมัสการพระรัตนตรัยในทันที

เมื่อเจริญวัยเป็นกุมาร ท่านฝันไปว่า นั่งอยู่บนดอกแปดกลีบ ปุชฉาพระธรรมกับพระพุทธเจ้า แต่ผู้คนคิดว่าท่านละเมอเพ้อพกไปเอง

เมื่อเติบใหญ่ได้ศึกษาพระธรรมที่นาระ เฝ้าภาวนากับพระพุทธเจ้าทั้ง 3 โลกธาตุ ขอให้ท่านได้เข้าใจหลักแห่งพุทธศาสน์ ต่อมาจึงมีสุบินนิมิตเห็นบุรุษผู้หนึ่งบอกว่า หลักพุทธศาสน์สถิตอยู่ ณ วัดคุเมะเดระ ณ ที่แห่งนั้นท่านค้นพบพระมหาไวโรจนสูตร พระสูตรสำคัญแห่งวัชรยาน หากแต่เขียนเป็นภาษาสันสกฤตไม่าอาจเข้าใจ ท่านจึงมุ่งมาดปรารถนาที่จะไปอาณาจักรถัง เพื่อเรียนวิชาทางธรรมให้รู้แจ้งแทงตลอด

เมื่อกลับมาแล้ว ท่านใช้วิชาที่เรียนจากพระอาจารย์ฮุ่ยกั่ว (恵果) อธิษฐานขอมินิตตั้งสถานที่เจริญภาวนา แล้วโยน "วัชระ" ที่ตกทอดมาจากบูรพาจารย์ขึ้นเเหนือเศียรเพื่อเสี่ยงทาย วัชระกลับลอยข้ามทะเลมาตกลงที่เทือกเขาโคยะซันแห่งนี้ ต่อมาจึงเรียวัชระนี้ว่า "วัชระเหินหาว" เป็นวัตถุชิ้นสำคัญของขุนเขาโคยะซัน

ชื่อ คูไค (空海) อันเป็นสมัญญานามของท่าน ก็มาจากนิมิตครั้งภาวนา ณ ถ้ำริมทะเล เพ่งเวิ้งว้างของฟ้าและกว้างสุดสายตาของท้องน้ำ เกิดเ ล็งเห็นศูนยตาแห่งสรรพสิ่ง จึงขนานนามท่านเองว่า คู (ฟ้าว่าง) ไค (ทะเลเวิ้ง) 

โคยะซัน นั้นท่านตั้งใจให้เป็นนิมิตแห่ง "ครรภโกศธาตุมณฑล" และ "วัชรธาตุมณฑล" อันเป็นกำเนิดของสรรพสิ่งจากพระไวโรจนพุทธะ ตามหลักนิกายชินงอน สถานที่สำคัญบนโคยะซันล้วนแต่มีความนัยตามนิกายนี้ทั้งสิ้น แม้แต่สุสานของท่านคูไค หรือ "โกเบียว" ก็ถือกันว่ามิใช่สุสาน แต่เป็นกุฎีเข้าฌานสมาบัติ เพราะเชื่อกันว่าท่านยังไม่ดับขันธ์ จึงมีพิธีส่งจังหัน และตามประทีปเรื่อยมาไม่ขาดสายนับพันปีแล้ว

ตำนานเล่าว่า ครั้งหนึ่งจักรพรรดิไดโกะ ทรงสุบินถึงท่านคูไค ทูลกับพระองค์ว่าหลังจากเข้าสมาบัติได้ 84 ปีแล้วท่านยังไม่ดับขันธ์แต่จำแลงร่างสอนพระธรรมแก่ผู้คน จาริกไปทั่วญี่ปุ่นจนจีวรขาดรุ่งริ่ง เมื่อผู้คนทราบดังนั้นจึงมีพิธีถวายจีวรให้อีกโสดหนึ่งด้วย

หมายเหตุ
-ลิงก์ตัวอย่างหนังสือ  KOYASAN Insight Guide
http://issen.co.jp/book/koyasan-insight-guide/ (http://issen.co.jp/book/koyasan-insight-guide/)

จาก  https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=10152740468811954&substory_index=0&id=719626953 (https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=10152740468811954&substory_index=0&id=719626953)