[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ อนามัย => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 03 มกราคม 2561 15:10:50



หัวข้อ: "กระดูกพรุน" อย่ามองข้าม ภัยร้ายคนสูงวัย
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 03 มกราคม 2561 15:10:50

(http://www.siamsporttalk.com/images/knowledge/health/health46.png)
"กระดูกพรุน" อย่ามองข้าม ภัยร้ายคนสูงวัย

สําหรับผู้สูงอายุ สิ่งที่ควรต้องระมัดระวังให้มากที่สุดคือ "กระดูกพรุน" ที่อาจเป็นภัยร้ายตามมา ในเวลาที่หกล้ม

ผศ.นพ.สมบัติ โรจน์วิโรจน์ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า "กระดูกพรุน" มีสาเหตุเกิดจากการสูญเสียมวลกระดูก ทำให้กระดูกบางลง หากนึกภาพไม่ออกให้นึกถึงเปลือกไข่เปราะๆ บางๆ แตกหักง่าย ทำให้บางคนตัวเตี้ยลง เนื่องจากกระดูกโปร่งบางและยุบตัวช้าๆ

ที่น่าเป็นห่วง คือผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนมีโอกาสเกิดกระดูกแตกหักง่ายกว่าคนทั่วไป

ผศ.นพ.สมบัติกล่าวต่อว่า โดยทั่วไปกระดูกที่พรุนหรือมวลกระดูกบางลงจะไม่มีอาการแสดงออก เรียกว่าเป็นภัยเงียบที่ซ่อนเร้นอยู่ วิธีการตรวจคือการสกรีนด้วยอัลตราซาวด์ที่ข้อมือและข้อเท้า เพื่อเป็นการตรวจคัดกรอง หากพบความผิดปกติก็จะต้องตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องตรวจวัดมวลกระดูก

ผู้สูงอายุเวลามีกระดูกพรุนจะไม่ได้พรุนเฉพาะจุด จึงต้องตรวจวัดที่สะโพกและกระดูกสันหลัง เพราะเป็นจุดที่เห็นชัดที่สุดที่ถือเป็นมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ถ้าใครตรวจแล้วพบว่าต่ำกว่า ลบ 2.5 จะถูกวินิจฉัยว่า "กระดูกพรุน" ต้องได้รับการรักษา

สำหรับการรักษากระดูกพรุนมีหลักการคือ การให้ร่างกายเสริมสร้างโครงกระดูกด้วยการสะสมแคลเซียม เช่น การเสริมอาหารหรือการเสริมแคลเซียมในปริมาณที่พอเหมาะ ทั้งนี้อาจจะต้องใช้ยาช่วยยับยั้งการสลายแคลเซียมจากกระดูก หรือยาฮอร์โมนบางประเภทร่วมด้วย ยาฉีดที่เป็นฮอร์โมน เรียกว่า "พาราไทรอยด์ฮอร์โมน" ที่ช่วยกระตุ้นในการสร้างกระดูกและช่วยรักษาให้การดูดซึมของแคลเซียมออกจากกระดูกน้อยลง และต้องได้รับการดูแลโดยแพทย์อย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันการหัก

หากผู้สูงอายุหกล้มกระดูกหัก จากข้อมูลทั่วไปพบว่าหาก "ข้อมือหัก" หรือ "กระดูกสันหลังทรุด" กระดูกจะมีรูปร่างบิดเบี้ยวไป หลังก็ค่อมลงๆ แต่มักจะไม่ถึงขั้นเสียชีวิต ยกเว้นกรณีที่ทรุดไปมากหรือมีการกดทับเส้นประสาท ก็ต้องรับการรักษาเฉพาะทาง

ถ้า "กระดูกสะโพกหัก" ปัญหาคือความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน ไม่สามารถลุกยืนเดินได้ ต้องนอนติดเตียงเสี่ยงกับโรคแทรกซ้อนต่างๆ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งเกินกว่าร้อยละ 95 ต้องได้รับการผ่าตัดเร่งด่วน ที่สำคัญคือการรักษาแบบองค์รวมของหลากหลายสาขาอย่างมีระบบจะช่วยให้เกิดความรวดเร็ว ปลอดภัย

ส่วนวิธีการผ่าตัดในผู้ป่วยแต่ละคนนั้นแพทย์ต้องเลือกว่าเหมาะกับการรักษาวิธีใด เพราะมีรูปแบบการรักษาต่างๆ เช่น ผ่าตัดใส่แท่งโลหะยาวๆ มีสกรูยึด หรือมีเรื่องของการใช้ซีเมนต์เสริม บางรายอาจใช้ข้อสะโพกเทียม

หลังจากผ่าตัดเสร็จแล้ววันที่ 2-5 ผู้ป่วยต้องเริ่มทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูสภาพ พยายามให้ลุกออกจากเตียง ฝึกการนั่ง ยืน เดิน และการทรงตัว ซึ่งตรงนี้มีความสำคัญมาก เพราะผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักส่วนใหญ่ที่นอนติดเตียงอาจส่งผลร้ายตามมา

มีข้อมูลที่มีการอ้างอิงออกมาว่า เมื่อกระดูกสะโพกหักแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย 20% มักเสียชีวิตภายใน 1 ปี 30% พิการถาวร 40% ต้องใช้เครื่องช่วยพยุงในการเดิน ที่สำคัญคือไม่สามารถกลับมาทำกิจวัตรประจำวันได้เหมือนเดิม ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เหมือนปกติก่อนกระดูกหัก

ฉะนั้นจึงเน้นย้ำเสมอว่าอย่าให้มีกระดูกหักครั้งแรก เพราะก็อาจจะมีครั้งต่อๆ ไปตามมา จนเข้าสู่ "วงจรเศร้าสลด" หมายความว่า ผู้สูงวัยเมื่อไหร่ที่เริ่มล้ม ก็มีโอกาสที่จะล้มซ้ำได้อีก เมื่อล้มแล้วล้มอีกก็ต้องทนทุกข์ทรมานผ่าตัดซ้ำๆ อยู่แบบนี้ สุดท้ายก็ต้องเสียชีวิตจากโรคอื่นที่แทรกซ้อนและรุมเร้าเข้ามา

ดังนั้นจึงต้องป้องกันไม่ให้ล้มซ้ำ