[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ => เครื่องราง ของขลัง พุทธคุณ => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 07 มกราคม 2561 18:57:53



หัวข้อ: พระแม่ธรณี : สัญลักษณ์ความอุดมสมบูรณ์
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 07 มกราคม 2561 18:57:53

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/34974188233415_bud07280360p2_1_.jpg)

พระแม่ธรณี : สัญลักษณ์ความอุดมสมบูรณ์

พระศรีวสุนธรา หรือที่เรียกขานกันในนาม “พระแม่ธรณี หรือ พระแม่ธรณีบีบมวยผม” เป็นที่เคารพนับถือว่าเป็นเทพแห่งพื้นแผ่นดิน มีปรากฏในตำนานทั้งศาสนาพราหมณ์, ฮินดู และพุทธศาสนา โดยเชื่อว่า ‘แผ่นดิน’ เป็นจุดก่อเกิดสรรพสิ่งทั้งปวงในโลก จึงเปรียบเสมือน ‘มารดา’ ผู้หล่อเลี้ยงโลก และยกย่องเป็นเทพีผู้ค้ำจุนโลกและสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ จะเห็นได้จากการสร้าง “รูปเคารพพระแม่ธรณี” ตามสถานที่หรือหน่วยงานต่างๆ มากมาย

พระแม่ธรณียังปรากฏความสำคัญในพุทธประวัติ กล่าวคือ … ในคืนที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ พญามารวัสดีและกองทัพมารเข้ารบกวนโดยอ้างเอาบัลลังก์เป็นของตน พระพุทธองค์ทรงเปล่งวาจาอ้างเอา “ธรณี” เป็นพยาน จากนั้นมีเสียงดังกัมปนาท แผ่นดินสั่นสะเทือนเลื่อนลั่น พระแม่ธรณีต้องปรากฏกายเป็นพยานเอก แสดงการบิดน้ำจากมวยผมเพื่อแสดงให้เห็นถึงกุศลที่พระพุทธองค์กระทำมาตั้งแต่อดีตชาติ จนน้ำที่กรวดลงบนพื้นแล้วแม่ธรณีรับไว้นั้นมากถึงขั้นเป็นมหาสมุทร พัดเอาเหล่าพญามารกระจัดกระจายหายไป… ต้นเหตุนี้ทำให้เกิด ‘พระพุทธรูปในปางมารวิชัย’ ขึ้นในกาลต่อมา

คติความเชื่อเรื่องการบูชาพระแม่ธรณี ได้เผยแพร่มาจากอินเดียสู่ไทย เนื่องจากอิทธิพลคัมภีร์พระพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ อาจกล่าวได้ว่า ‘ก่อนที่จะทำอะไร ก็ให้บูชาบอกกล่าวต่อพระแม่ธรณีก่อน’ เพราะทุกอย่างในโลกล้วนกำเนิดขึ้นบนดินทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน ก็ต้องบอกกล่าวขอขมา เพราะจะกระทบกระเทือนพื้นดินตั้งแต่เริ่มตอกเสาเข็มหรือขึ้นเสาเอก ฯลฯ หรือ เกษตรกรก่อนจะเพาะปลูก ก็มักจะทำพิธีบอกกล่าวแก่พระแม่ธรณี และขอพรให้ประสบความสำเร็จ พืชผลเจริญงอกงาม

ทางภาคอีสาน ยังมีวิชาเฉพาะที่เกี่ยวกับ “พระแม่ธรณี” หลายอย่าง เช่น ตะกรุดหัวใจพสุธา ในสายสมเด็จลุน นครจำปาศักดิ์ หรือ พิธีเบิกโขลนออกจับช้าง ก็มีมนต์ที่กล่าวอ้างถึงแม่พระธรณี… โอมเผนิกเบิกแนกแยก พระกำกวมงวม พระธรณี ทางเส้นนี้ก็เคย ล่วงปล่อยทางนี้ เคยเที่ยว โอมสวาหุโน นะโมตัสสะ… ทางภาคเหนือ ก็มีพิธีกรรมเกี่ยวกับแม่พระธรณีอยู่มากที่นับถือเป็นประเพณี มีอาทิ พิธีบนนางธรณี เป็นต้น

“พระแม่ธรณี” ยังปรากฏในวรรณคดีไทยหลายเรื่อง อาทิ หนังสือเทศน์มหาชาติปฐมสมโพธิกถา ลิลิตตะเลงพ่าย เป็นต้น โดยมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น นางพระธรณี พระแม่สุนธราพสุธา


(https://www.bloggang.com/data/sharefeeling/picture/1227893351.jpg)

รูปลักษณ์ทางจิตรกรรมของแม่พระธรณี จะเป็นเทวดาผู้หญิงที่มีรูปร่างใหญ่ แต่อ่อนช้อยงดงาม พระฉวีสีดำ พระพักตร์รูปไข่ ยิ้มละไมอยู่เสมอ แสดงถึงความมีพระทัย เยือกเย็น มวยพระเกศายาวสลวย สีเขียวชอุ่มเหมือนกลุ่มเมฆ พระเนตรสีเหมือนดอกบัวสาย คือ สีน้ำเงิน พระชงฆ์เรียว พระพาหาดุจงวงไอยรา นิ้วพระหัตถ์เรียวเหมือนลำเทียน ภาพเขียนรูปพระแม่ธรณีที่ถือกันว่างดงามที่สุดในประเทศ คือ “ภาพที่ฝาผนังด้านหน้าพระประธานในพระอุโบสถ วัดชมภูเวก อ.เมือง จ.นนทบุรี”

รูปลักษณ์ทางประติมากรรมของแม่พระธรณีตามศิลปะไทย จะทำเป็นรูปหญิงสาว รูปร่างอวบใหญ่ล่ำสันอย่างได้สัดส่วน มีความงามประดุจเทพธิดา นั่งในท่าคุกเข่า แต่ยกเข่าขวาขึ้นสูงกว่าเข่าซ้าย หรือบางแห่งสร้างให้อยู่ในท่ายืน แต่ที่เหมือนกันคือ ‘มวยผมปล่อยยาว มือขวายกข้ามศีรษะไปจับไว้ที่โคนมวยผม ส่วนมือซ้ายจับมวยผม แสดงท่ากำลังบิดให้สายน้ำไหลออกมาจากมวยผม’

ส่วนเครื่องทรงไม่มีแบบแผนแน่นอน เป็นไปตามแต่จินตนาการของผู้สร้าง บางแห่งสวมพัสตราภรณ์เฉพาะช่วงล่าง แต่บางแห่งทั้งนุ่งผ้าจีบและห่มสไบอย่างสวยงาม ประดับเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ มีกรอบหน้าและจอนหู เป็นต้น

มาถึงยุคปัจจุบัน พระแม่ธรณี หรือพระแม่ธรณีบีบมวยผม ยังคงได้รับการเคารพศรัทธาและกราบไหว้บูชากันอยู่ไม่เสื่อมคลาย เพราะเราต้องอาศัยพื้นแผ่นดินอยู่ทั้งชีวิต เพื่อให้มีที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ค้าที่ดินยิ่งต้องบูชาพระแม่ธรณีแล้วจะสำเร็จสมประสงค์ ตามความเชื่อโบราณที่ว่า ‘อยากเป็นเศรษฐีที่นา เป็นราชาที่ดิน ต้องบูชาพระแม่ธรณี’ ครับผม


(https://img.priceza.com/img/product/20020/20020-20170509173623-6678754218028210.jpg)

เมื่อกล่าวถึงงานด้านจิตรกรรมของ "พระแม่ธรณีบีบมวยผม" ที่งดงามที่สุดไปแล้ว ก็ควรได้กล่าวถึงงานด้านประติมากรรมอันงดงามและทรงคุณค่ากันบ้าง ซึ่งคงไม่มีใครเกิน "เทวาลัยพระศรีวสุนธรา" หรือ "ศาลพระแม่ธรณีบีบมวยผม" ณ เชิงสะพานผ่านพิภพลีลา ใกล้บริเวณท้องสนามหลวงไปได้ ซึ่งนอกจากความงดงามและศักดิ์สิทธิ์แล้ว ยังเปี่ยม ด้วยพระเมตตาบารมีแห่งสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกด้วย

เทวาลัยพระศรีวสุนธรา หรือศาลพระแม่ธรณีบีบมวยผม ณ เชิงสะพานผ่านพิภพลีลา มีประวัติความเป็นมาจากหนังสือ "ถาม ตอบศิลปะไทย" ของครู น. ณ ปากน้ำ ความว่า ...

"... สถานที่นี้เรียกว่า "อุทกทาน" มีประวัติว่า ปีพุทธศักราช 2460 ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ที่พระราชวังบางปะอิน ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลบริจาคพระราชทรัพย์ สร้างรูปนางพระธรณีบีบมวยผม ไว้เป็น "อุทกทาน" ให้ประชาชนบริโภค ..."

องค์พระแม่ธรณีบีบมวยผม สร้างจากพระราชดำริของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง เพื่อแจกจ่ายน้ำดื่มบริสุทธิ์ให้ผู้คนทั่วไป ซึ่งในการนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาล ที่ 6) ขณะทรงดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้าวชิราวุธฯ พระราชทานคำแนะนำให้สร้าง "อุทกทาน" เป็นรูป "พระแม่ธรณีบีบมวยผม" โดยปั้นขึ้นด้วยฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ร่วมกับพระยาจินดารังสรรค์ (พลับ)

การจัดสร้างแล้วเสร็จและประกอบพิธีเปิดในวันที่ 27 ธันวาคม ปี พ.ศ.2460 อันเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง ปรากฏหลักฐานจาก "พระราชหัตถเลขา" ถึงเจ้า พระยายมราช ความตอนหนึ่งว่า ...

"พรุ่งนี้ฉันจะทำบุญวันเกิด ให้คุณจัดเปิดรูปนางพระธรณีท่ออุทกทาน ซึ่งฉันได้ออกทรัพย์ให้หล่อขึ้นสำเร็จ ตั้งไว้ ณ เชิงสะพานผ่านพิภพลีลา และขออุทิศท่ออุทกทานนี้ให้เป็นสาธารณทานแก่ประชาชนผู้เป็นเพื่อนแผ่นดินใช้กินบำบัดร้อนและกระหาย เป็นความสบายตามปรารถนาทั่วกันเทอญ"

ล่วงมาถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นยุคที่ ข้าวยากหมากแพง "อุทกทาน" นี้ได้ถูกชาวบ้านเข้ามาขโมยเอาอุปกรณ์ท่อน้ำต่างๆ ไป จนทำให้ใช้การไม่ได้ มาได้รับการซ่อมแซมให้ใช้ได้เหมือนเดิมในสมัย "รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์" แต่ก็ไม่ได้ใช้เป็นที่แจกจ่ายน้ำสะอาดที่สามารถดื่มกินได้อีกต่อไป คงเหลือเพียง "ศาลศักดิ์สิทธิ์" ให้ผู้เคารพศรัทธาได้มากราบสักการะและขอพรเท่านั้น

ยังว่ากันว่า "ของถวาย" ที่ "พระแม่ธรณี" โปรด ซึ่งควรนำไปสักการะ คือ มาลัยดาวเรือง ผ้าสไบ และ ธูปหอม

พระแม่ธรณีบีบมวยผมเป็นเทพแห่งแผ่นดิน เป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ ที่เป็นที่เคารพศรัทธาอย่างกว้างขวาง จึงถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ในหลายหน่วยงาน อาทิ การประปา หรือพรรคประชาธิปัตย์ นอกจากนี้ พระเกจิคณาจารย์ผู้ทรงพุทธาคมหลายสำนัก ยังได้จัดสร้างเป็นวัตถุมงคลมากมายหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้ผู้เคารพศรัทธาได้สักการบูชายังเคหสถานหรือพกพาเพื่อความเป็นสิริมงคลและความราบรื่นในการดำเนินชีวิต และก็เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย อาทิ หลวงพ่อกวย วัดโฆสิตาราม จ.ชัยนาท, หลวงปู่หงษ์ สุสานทุ่งมน จ.สุรินทร์ ฯลฯ

ปิดท้ายกันด้วย "คาถาหัวใจพระแม่ธรณี" ท่องนะโม 3 จบ แล้วว่า "เม กะ มะ อุ" ซึ่งถอดออกมาจาก พรหมวิหาร 4 : "เม" คือ เมตตา "กะ" คือ กรุณา "มะ" คือ มุทิตา และ "อุ" คือ อุเบกขา ซึ่งเชื่อกันว่าใช้ได้สารพัดอย่าง โดยเฉพาะด้านเมตตา จะใช้เสกสีผึ้งทาปากก็ได้ เสกแป้งผัดหน้าก็ได้ หรือโดยทั่วไปให้ภาวนา 3, 9 หรือ 21 (ตามกำลัง) จบ

ก็จะไม่มีใครสามารถทำอันตรายได้ครับผม


พันธุ์แท้พระเครื่อง
ราม วัชรประดิษฐ์