[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สยาม ในอดีต => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 18 มกราคม 2561 14:07:39



หัวข้อ: ทำไม “วันยุทธหัตถี” จึงตรงกับวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๑๓๕ ไม่ใช่ ๒๕ มกราคม
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 18 มกราคม 2561 14:07:39
(https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2018/01/พระนเรศวร2-696x345.jpg)
จิตรกรรมฝาผนังพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตอน ยุทธหัตถี ภายในพระวิหารวัดสุวรรณดาราราม จ.พระนครศรีอยุทธยา

ทำไม “วันยุทธหัตถี”
จึงตรงกับวันที่ “๑๘ มกราคม” พ.ศ. ๒๑๓๕
ไม่ใช่ ๒๕ มกราคม


วันกองทัพไทย ซึ่งทางการไทยให้ยึดเอาวันยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมาเป็นวันเฉลิมฉลองกิจการของกองทัพนั้น เคยใช้วันที่ ๒๕ มกราคม มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ เพิ่งจะมีการเปลี่ยนมาเป็นวันที่ ๑๘ มกราคม ตามมติคณะรัฐมนตรีที่มีขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๔๙ นี่เอง

แต่ความจริง นักวิชาการได้ติดตามทักท้วงการยึดเอาวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ.๒๑๓๕ เป็นวันยุทธหัตถีว่าเป็นการคำนวณที่ผิดพลาด อย่างน้อยๆ ก็ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๘ ดังที่อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ปราชญ์เมืองเพชรท่านเล่าว่าได้อ่านหนังสือเถลิงศก ๕๒๘๕ ปี ของอาจารย์ทองเจือ อ่างแก้ว ในปีดังกล่าว ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า

“เพราะการอ้างอย่างผิดหลักวิชาของนายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ และทางราชการกลาโหมเอาไปใช้เป็นวันกองทัพบก ซึ่งจะเป็นเหตุให้เป็นที่ถูกดูหมิ่นจากชาวต่างประเทศทั่วโลกว่า คนไทยแม้แต่วันประวัติศาสตร์ก็ยังคิดไม่ถูก แล้วจะทำอะไรได้”

และอีกตอนหนึ่งว่า

“วันชนช้างตามประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องตามกฎเกรกอเรี่ยนแบบอังกฤษ คือวันที่ ๘ มกราคม ไม่ใช่วันที่ ๒๕ มกราคม ตามที่นายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ อ้างแก่ทางราชการกลาโหมแน่ เพราะผิดทั้งกฎสุริยยาตร์ กฎเกรกอเรี่ยน”

ด้วยเหตุนี้อาจารย์ล้อมจึงเห็นว่า วันกระทำยุทธหัตถีเป็นเรื่องที่จะต้องนำมาถกเถียงให้กระจ่างกันเสียที โดยท่านได้นำเอาวันที่ตามที่ระบุไว้ในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ ที่นักประวัติศาสตร์เห็นตรงกันว่ามีการบันทึกลำดับเหตุการณ์ที่น่าเชื่อถือที่สุดมาเป็นฐานในการคำนวณ ซึ่งพงศาวดารฉบับนี้ได้ระบุเอาไว้ว่าวันยุทธหัตถีตรงกับ วันจันทร์เดือนยี่แรมสองค่ำ ของ ปีมะโรง จุลศักราชที่ ๙๕๔

วิธีการหาวันที่ตามบันทึกเดิมให้ตรงกับปฏิทินปัจจุบันนั้น อาจารย์ล้อมกล่าวว่า วิธีที่ง่ายที่สุดคือการทำปฏิทินเทียบวันเดือนปีของจันทรคติและสุริยคติขึ้นมา ก็จะรู้ได้ว่าเดือนยี่แรมสองค่ำนั้นตรงกับวันจันทร์หรือไม่ และตรงกับวันที่เดือนใดในระบบสุริยคติ

และจากการคำนวณของอาจารย์ล้อมพบว่า วันยุทธหัตถีตามบันทึกของพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐแท้จริงแล้วตรงกับวันที่ ๑๘ มกราคม ตามปฏิทินปัจจุบันที่เป็นระบบเกรกอเรี่ยน แต่หากไปเทียบกับปฏิทินแบบเก่าที่เป็นระบบจูเลี่ยนก็จะตรงกับวันที่ ๘ มกราคม ตามที่อาจารย์ทองเจือได้คำนวณไว้

ส่วนวันที่ ๒๕ มกราคมในปีเดียวกันนั้น ตรงกับวันจันทร์เช่นกันแต่เป็นวันแรม ๙ ค่ำ คลาดเคลื่อนไป ๗ วัน หาใช่วันยุทธหัตถีไม่

ซึ่งสุดท้ายข้อมูลตามที่อาจารย์ล้อมได้เคยเสนอไว้ก็ได้รับการยอมรับจากทางกองทัพ แม้จะต้องใช้เวลาค่อนข้างนานไปสักนิด โดยทางกระทรวงกลาโหมได้ยื่นเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อให้เปลี่ยนแปลงวันกองทัพไทยจากวันที่ ๒๕ มกราคม มาเป็น ๑๘ มกราคม และทางคณะรัฐมนตรีก็มีมติให้ถือตามข้อเสนอดังกล่าว ตามมติลงวันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๙ เพียงไม่ถึงหนึ่งเดือนก่อนการรัฐประหารในปีเดียวกัน


--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ้างอิง: ล้อม เพ็งแก้ว. “วันยุทธหัตถี พ.ศ. ๒๑๓๕ ตรงกับวันที่ ๒๕ มกราคม จริงหรือ?”. ใน เจดีย์ยุทธหัตถี มีจริงหรือ?, ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ. พิมพ์ครั้งแรก : มกราคม ๒๕๓๙


silpa-mag.com