[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 31 มกราคม 2561 19:52:19



หัวข้อ: เจดีย์มอญ วัดปรมัยยิกาวาส อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 31 มกราคม 2561 19:52:19
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/27908967890673_1.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/71804221595327_2.jpg)

พระเจดีย์แบบมอญ วัดปรมัยยิกาวาส สัญลักษณ์โดดเด่นของเกาะเกร็ด ลักษณะเป็นพระเจดีย์ทรงระฆังเตี้ย
แบบพระธาตุมุตาว ประเทศพม่า  ชาวรามัญได้สร้างขึ้นคู่มากับวัดปากอ่าว ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
ได้บรรจุพระธาตุ มีความสูง ๙.๓๔ เมตร ยอดพระเจดีย์มีฉัตรสูง ๒.๒๘ เมตร มีอายุราว ๓๐๐ ปี กรมศิลปากร
ได้ทำการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘

คนมอญมีคติความเชื่อว่า การสร้างพระเจดีย์เป็นบุญกุศลสูงสุด การสร้างพระเจดีย์เปรียบดั่งการสร้างพระหนึ่งองค์
เจดีย์เป็นสิ่งสักการบูชาแทนพระพุทธเจ้า เมื่อมีการก่อสร้างองค์พระเจดีย์เสร็จแล้วจะต้องมีการยกฉัตรขึ้นไว้บนยอด
สุดขององค์เจดีย์ ฉัตรมักทำด้วยทองเหลือง ประดับกระดิ่ง ระฆังใบโพธิ์ขนาดต่างๆ ทองคำ เพชรนิลจินดา ที่คนมีฐานะ
นำออกจากตัว กระพุ่มมือยกขึ้นจบเหนือศีรษะ ตั้งจิตอธิษฐานผูกไปกับฉัตรเจดีย์นั้นๆ เพื่อเป็นการบูชาพระพุทธเจ้า

วัดปรมัยยิกาวาส
ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี  

วัดปรมัยยิกาวาส ตั้งอยู่บริเวณที่ราบริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและลำน้ำลัดเกร็ด ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี  เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร  มีเนื้อที่ประมาณ ๒๑ ไร่เศษ เป็นวัดเก่าแก่ แต่เดิมมีชื่อว่า “วัดปากอ่าว” คนมอญเรียกว่า “เพียะมุเกี๊ยะเติ้ง”  ชาวรามัญที่อพยพลี้ภัยพม่าเข้ามาในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เกาะเกร็ด ได้ร่วมกันสร้างวัดนี้ขึ้น  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จมาทรงทอดผ้าพระกฐิน ณ วัดปากอ่าว เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๗ ได้ทอดพระเนตรอาคารเสนาสนะต่างๆ ชำรุดทรุดโทรมมาก จึงโปรดฯ ให้ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ให้สวยงาม เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร ซึ่งได้อภิบาลพระองค์มาแต่ยังทรงพระเยาว์ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามวัดใหม่ว่า “วัดปรมัยยิการวาส” แต่ชาวบ้านบางคนยังคงเรียกวัดนี้ว่า “วัดมอญ” และรับสั่งให้วัดนี้ริเริ่มสวดเป็นภาษามอญ

โบราณวัตถุสถานที่สำคัญของวัดเป็นศิลปะการสร้างแบบรามัญ ได้แก่ พระบรมสารีริกธาตุเจดีย์ พระเจดีย์รามัญ ซึ่งรัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๑ แล้วได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๗

ภายในวิหารมีพระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่ที่มีลักษณะพิเศษกว่าที่อื่น เป็นที่ประดิษฐาน “พระนนทมุนินท์” พระพุทธรูปประจำจังหวัดนนทบุรี และมีพระไตรปิฎกฉบับภาษามอญฉบับแรกของประเทศไทย ปัจจุบันนับเป็นวัดเดียวที่ยังเก็บรักษาพระไตรปิฎกภาษามอญไว้  

ในวัดปรมัยยิกาวาสมีต้นสามกษัตริย์ โดยมีต้นโพธิ์ ต้นไทร และต้นหว้า ขึ้นอยู่รวมกัน ร้อยรัดพันเกลียวอายุกว่า ๑๐๐ ปี และมีพระเจดีย์มุเตา (เจดีย์เอียง) ทรงรามัญที่จำลองแบบมาจากพระธาตุเจดีย์มุเตา เมืองหงสาวดี ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เด่นของเกาะเกร็ด  นอกจากนี้ที่วัดปรมัยยิกาวาสยังมีโรงเรียนปริยัติธรรมสำหรับพระภิกษุสามเณรด้วย

ที่เกาะเกร็ดมีหมู่บ้านทำเครื่องปั้นดินเผาแบบมอญโบราณที่มีชื่อเสียงหรือกวานอาม่าน โดยตั้งอยู่หลังวัดปรมัยยิกาวาส การเดินทางไปยังวัดปรมัยยิกาวาสสามารถเดินทางไปได้โดยลงเรือข้ามฟากจากฝั่งวัดสนามเหนือ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตัวอำเภอปากเกร็ดมากนัก


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/87763737059301_1.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/70417033011714_2.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/51945510548022_3.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/51945510548022_3.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/45010210490888_4.jpg)
พระพุทธไสยาสน์สมัยอยุธยาตอนปลาย ความยาว ๙.๕๐ เมตร

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/41066700799597_1.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/75314977020025_2.jpg)
พระพุทธรูปแกะสลักจากหินสีครีม ทั้งองค์พระและฐานอยู่บนหินก้อนเดียว (ไม่ทราบว่าใช่หยกหรือเปล่า)
ใต้ฐานชุกชี แกะสลักอักษรตัวสีทอง ด้วยคำว่า พระปฏิมากรองค์นี้ซานชิวซูน ทูลเกล้าถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ร.๕)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/98398638309703_1_2_.jpg)
พระนนทมุนินท์ ประดิษฐานด้านหลังพระวิหารวัดปรมัยยิกาวาส เกาะเกร็ด นนทบุรี

พระนนทมุนินท์ เป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัดนนทบุรี หล่อด้วยโลหะผสม ปางขัดสมาธิเพชร หน้าตักกว้าง ๓ คืบพระสุคต ประมาณ ๔๐ นิ้ว สูง ๕๐ นิ้ว ห่มจีวรสังฆาฏิพาด ประดิษฐานบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย สูง ๘ นิ้ว ๔๗ นิ้ว วัดความสูงตลอดถึงเกศ ๖๕ นิ้ว โดยพระศาสนโสภณ (อ่อน) แต่ครั้งยังเป็นพระธรรมไตรโลกาจารย์ วัดพิชัยญาติการาม ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลกรุงเทพฯ ขึ้นมาตรวจราชการคณะสงฆ์เมืองนนทุรี สืบค้นพระพุทธรูปประจำจังหวัดนนทบุรี ไม่พบพระพุทธรูปสำคัญ จึงดำริกับพระคุณวงศ์ (สน) เจ้าอาวาสวัดปรมัยยิกาส และพระยานนทบุรีศรีเกษตราราม ผู้ว่าราชการเมืองนนทบุรี  ร่วมจัดหาทุนทรัพย์ในการหล่อพระพุทธรูปประจำจังหวัด โดยกำหนดเททองเมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ร.ศ.๑๑๘ (พ.ศ.๒๔๔๓) เมื่อทำการแต่งองค์พระเสร็จแล้ว พระธรรมไตรโลกาจารย์ จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานนามพระพุทธรูป

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานนาม เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ร.ศ.๑๑๙ พ.ศ.๒๔๔๔ ว่า "พระนนทนารถชินวร"  ครั้นเมื่อวันที่ ๙ เมษายน ร.ศ.๑๑๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงพระธรรมไตรโลกาจารย์ให้งดอย่างเพิ่งถวายพระนาม เพราะจะทรงพระราชทานนามใหม่ว่า "พระนนทมุนินท์" แล้วทรงยกให้เป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัดนนทบุรี



(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/94510530804594_10.jpg)
พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ประดิษฐานที่เกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/93189190038376_9.jpg)
พระรูปหล่อ พระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร
ประดิษฐานที่เกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/77250203324688_12.jpg)
ศาลารับเสด็จ
ศาลารับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้สร้างศาลา ๒ หลัง ตรงข้ามกัน อยู่บริเวณริมแม่น้ำลัดเกร็ด มีถนนผ่ากลางไปยังหน้าอุโบสถ ศาลาหลังด้านทิศใต้ พังไปหมดแล้ว เนื่องจากน้ำกัดเซาะตลิ่ง คงเหลือศาลาหลังปัจจุบันอยู่ทางด้านทิศเหนือ ห่างจากศาลาพักราชกาารประมาณ ๑๐ เมตร ศาลาดังกล่าวยกพื้นสูงจากถนน ๑ ศอก เสาก่ออิฐถือปูน ขื่อกว้าง ๒ วา ยาว ๔ วา ลงพะไลรอบทั้ง ๔ ด้าน ด้านละ ๖ ศอก มุงกระเบื้องราง ช่องเสารองรับพะไล ก่ออิฐถือปูน สูง ๑ ศอก กั้นเป็นกำแพง พื้นปูศิลา ใช้พักเสด็จของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร เวลาเสด็จมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลที่วัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร ต่อมาเมื่อ ๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๙ ใช้เป็นที่พักเสด็จของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ และ ครั้งหลังสุด เมื่อ ๒๙ กรกฏาคม พ.ศ.๒๕๕๑ เป็นที่พักเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/63060759297675_3.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/80092512236701_4.jpg)
พระประธานในพระอุโบสถวัดปรมัยยิกาวาส ปางมารวิชัย ฝีพระหัตถ์พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ ผู้สร้างพระสยามเทวาธิราช
รัชกาลที่ ๕ ทรงยกย่องว่าพระประธานองค์นี้งามด้วยพระพักตร์ มีชีวิตชีวาเหมือนคนจริง

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/83090193569660_7.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/14800357570250_6.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/53819017857313_5.jpg)
พระอุโบสถมีการตกแต่งด้วยวัสดุนำเข้าจากประเทศอิตาลี ศิลปะยุโรปแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๕

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/18248627541793_8.jpg)
จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถ วัดปรมัยยิกาวาส

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/44930851997600_1.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/58941766826642_2.jpg)
ตราพระเกี้ยว ตราประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ประดิษฐานที่บานหน้าต่าง-ประตูพระอุโบสถวัดปรมัยยิกาวาส

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/92794089474611_15.jpg)
ในวัดปรมัยยิกาวาสมีต้นสามกษัตริย์ โดยมีต้นโพธิ์ ต้นไทร และต้นหว้า ขึ้นอยู่รวมกัน ร้อยรัดพันเกลียวอายุกว่า ๑๐๐ ปี

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/12970647464195_3.jpg)
วัดสนามเหนือ มีท่าเรือนั่งข้ามฟากมายังเกาะเกร็ด