[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 27 เมษายน 2561 16:21:38



หัวข้อ: ตัดเวรตัดกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 27 เมษายน 2561 16:21:38

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/88365120150976__3588_3634_3606_3634_.jpg)
ต้นฉบับลายมือ ตำราตัดเวรตัดกรรม

ตัดเวรตัดกรรม : ตำรา

ตัดเวรตัดกรรม เป็นพิธีกรรมเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง นั่นคือเมื่อชะตาถึงเคราะห์ อับโชค ไม่เจริญก้าวหน้า ทำมาหากินไม่รุ่งเรือง และมักจะเจ็บไข้อยู่เนืองๆ  ชาวอีสานเชื่อว่าเป็นผลมาจากเวรกรรมที่กระทำไว้ในชาตินี้และชาติก่อน  ฉะนั้น จึงต้องทำพิธีตัดเวรตัดกรรม เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และเพื่อส่งส่วนกุศลให้แก่เจ้าหนี้นายเวร พิธีกรรมตัดเวรตัดกรรมมักใช้พระภิกษุเป็นผู้กระทำพิธี (คล้ายกับบุญต่ออายุ)

พิธีตัดเวรตัดกรรมนั้นมีหลายตำรา แต่ละท้องถิ่นย่อมกระทำพิธีสืบทอดต่อกันมาแตกต่างกันตามท้องถิ่น  ในที่นี้จะใช้ตำราของ นายบัวศรี ศรีสูง เจ้าพิธีกรรมเวทมนต์และไสยศาสตร์ อยู่บ้านดงเค็ง ตำบลท่าสองคอน อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ได้รับยกย่องเป็น คนดีศรีสังคม เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๔ (ถึงแก่กรรม พ.ศ.๒๕๓๕) ตำราเล่มนี้เขียนในสมุดข่อยขาว เขียนด้วยอักษรตัวธรรม รวมอยู่กับตำราดูฤกษ์ยามและพิธีกรรมอื่นๆ  พิธีตัดเวรตัดกรรมมีอยู่ ๒ หน้าสมุดข่อย ดังนี้

เนื้อเรื่อง (ในวงเล็บผู้เรียบเรียงเพิ่มเติมเพื่อให้อ่านเข้าใจ)
ผิว่าผู้ใด จักตัดกรรมตัดเวรนั้น ให้แต่งเครื่องเป็นบังสุกล ๔ กอง แล้วให้ใส่กระทอเดียวกัน (กระทอ - คล้ายชะลอมสานด้วยไม้ไผ่)
ถ้วย ๔ ใบ พริก แจ่ว พอสมควร   (แจ่ว – เครื่องจิ้มน้ำพริก)
(นิมนต์พระสงฆ์ ๔ รูป) ให้พระสงฆ์ (ถวายเครื่องคาวและสิ่งของแด่พระสงฆ์)

(๑) ผู้สิตัดว่าดังนี้เทิน (ผู้เข้าพิธีตัดกรรมตัดเวรว่าดังนี้เทอญ)
“องค์เป็นเจ้าข้อยน้อยนี้แล้ว เป็นกรรมเป็นเวร ชาตินี้ชาติหลังก็ดี ขอให้พระภิกขุเจ้าตัดกรรม ตัดเวรให้ผู้ข้า แล้วกรรมแล้วเวรแต่ในกาละบัดนี้ ก็ข้าเทิน” (แล้วกรรมแล้วเวร – สิ้นกรรมสิ้นเวร)

(๒) เอาเทียนนิมนต์ (พระภิกษุ) องค์ละคู่ แล้วเอาฝ้าย ๒ เส้น มาผูกปากกระทอ (ให้มีปลาย) เป็น ๔ เส้น มีดน้อย ๑ ดวง (เล่ม) ใส่ปากกระทอ แล้ว (พระภิกษุ) จึงสูด (สวด) ว่าดังนี้
อุปปิริกะกัมมัญจะ
อุปเสธะกะกัมมัญจะ
อุปคาธะกะกัมมัญจะ
อุปเวธะกะกัมมัญจะ วีโนเทนติ ฯฯ

(๓) ให้สูด (สวด) ๑๑ คาบ (๑๑ จบ) แล้วผู้เจ้ากรรมเจ้าเวรนั้นจึงนิมนต์พระภิกษุ ๔ องค์ว่าดังนี้ “พระเป็นเจ้าขอให้พระเป็นเจ้า จงตัดกรรมตัดเวรให้ผู้ข้า ขอให้แล้วกรรมแล้วเวรในกาละบัดนี้ก็ข้าแลฯฯ”

เจ้าภิกษุองค์แก่ (อาวุโส) จึงบายเอามีดไว้ปากกระทอนั้นแล้ว จึงว่า (บาย – หยิบ)
“กัมมัสโกมหิ กัมมะทายาโท กัมมะโยนี กัมมะพันธุ กัมมะปฏิสรโณ ยังกัมมัง กริสสามิ ตัสสาฯฯ” ว่า ๓ ทีแล้ว (ใช้) มีดน้อยตัดเส้น (ด้าย) เส้นหนึ่ง  พระภิกษุองค์ลำดับถัดเข้าไป ตัด (กรรมตัดเวร) ให้ว่าดังหลังนั้นเทิน ดีแลฯฯ (พระภิกษุสวดคาถาดังกล่าวทั้ง ๔ รูป และตัดเส้นด้ายด้วยปากกระทอทั้ง ๔ เส้น)

แล้วบรบวรจึงให้ผู้ตัดกรรมตัดเวรนั้น แต่งไก่ต้ม เฮ็ดดีแล้ว ให้พระภิกษุ ๔ รูปนั้นฉัน เหลือมากเท่าใด อย่าเอาเมือเทิน ให้ฝังดินเสียเทิน ดีแท้แลเจ้าเฮยฯฯ (แล้วบรบวร– สร็จบริบูรณ์  เฮ็ด–ทำ   เมือ– ลับ  เทิน–เทอญ)



ธวัช ปุณโณทก เรียบเรียง
สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน
มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดพิมพ์เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒  





หัวข้อ: Re: ตัดเวรตัดกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 03 พฤษภาคม 2561 14:09:53

ตัดเวรตัดกรรม : พิธี

ตัดเวรตัดกรรม เป็นพิธีกรรมต่ออายุผู้ป่วยวิธีหนึ่งที่ชาวอีสานโบราณเชื่อว่า สาเหตุที่ผู้ป่วยเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นเวลานาน รักษาให้หายยาก บางคนป่วยเป็นอัมพาต เพราะกรรมเก่าตั้งแต่ชาติก่อนได้ทำกรรมไม่ดีไว้มาก ทุกข์หรือความเจ็บป่วยจึงตามมาสนองในชาตินี้ เพื่อให้ผู้ป่วยหายจากโรคภัยไข้เจ็บ บรรดาญาติมิตรจึงประชุมให้มีพิธีตัดเวรตัดกรรมให้แก่ผู้ป่วย

อุปกรณ์เครื่องใช้ในพิธี
ในการทำพิธีตัดเวรตัดกรรมนั้น มีอุปกรณ์ต่างๆ ดังนี้

- โทงหน้างัว (กระทงสามเหลี่ยม) ๔ อัน
- หม้อดินเผา (ต้องใช้หม้อใหม่) ๔ ใบ
- ผ้าขาว ๔ ผืน
- อาหารคาวหวาน
- ห่อพริก ๔ ห่อ
- ห่อเกลือ ๔ ห่อ
- ห่อปลาร้า ๔ ห่อ
- ปลาเค็ม ๔ ห่อ
- บุหรี่ ๔ มวน
- หมาก ๔ คำ
- ด้ายสายสิญจน์ (ยาว ๒ วา)      ๔ เส้น
- เทียน ๔ เล่ม
- มีดน้อย (มีดพับ) ๔ เล่ม
- สตางค์ (เหรียญ) ๔ เหรียญ
- ขัน ๕ (กรณีป่วยหนักต้องขัน ๘)
- หมาก พลู บุหรี่ (สำหรับถวายพระสงฆ์)

พิธีกรรม
๑) ในตอนเย็นให้นิมนต์พระสงฆ์ ๔ รูป ไปนั่งด้านทิศตะวันออกของต้นโพ (ต้นโพในบริเวณวัด หรือถ้าในวัดไม่มีก็ให้ใช้บริเวณต้นโพที่ใกล้วัดที่สุด) พระสงฆ์หันหน้าเข้าหาต้นโพ
๒) ให้คนป่วยนั่ง (หรือนอน) ตรงกลาง บรรดาญาติมิตรนั่งทิศตรงข้ามกับพระสงฆ์ (ทิศตะวันตก) หันหน้าเข้าหาต้นโพ
๓) เอาขัน ๕ หรือ ขัน ๘ ใส่พานหรือขันกะหย่อง
๔) นำอุปกรณ์ทั้งหลายห่อด้วยผ้าขาวที่เตรียมไว้ ๔ ห่อ แล้วใส่ลงในหม้อ หม้อละ ๑ ห่อ จนครบ ๔ ใบ จากนั้นนำหม้อทั้ง ๔ ใบไปวางไว้รอบต้นโพ ทิศเหนือ ๑ ใบ ทิศใต้ ๑ ใบ ทิศตะวันออก ๑ ใบ ทิศตะวันตก ๑ ใบ
๕) ใช้ด้ายสายสิญจน์ผูกรอบปากหม้อทุกใบ โยงด้ายสายสิญจน์จากหม้อแต่ละใบไปให้พระสงฆ์จับสายสิญจน์องค์ละ ๑ เส้น และมีดพับองค์ละ ๑ เล่ม
๖) ญาติผู้ป่วยหรือเจ้าพิธีนำสวดมนต์ไหว้พระ อาราธนาศีล รับศีล พระสงฆ์เจริญพุทธมนต์ ตอนท้ายสวดตัดเวรตัดกรรม
๗) พระสงฆ์สวดตัดกรรม
     กัมมัส โกมหิ กัมมทายาโท กัมมโยนิ
     กัมมพันธุ กัมมปฏิสรโณ ยังกัมมัง
     กริสสามิ กัลยาณัง วาปาปกัง

๘) เมื่อสวดตัดกรรมจบ ให้ใช้มีดที่มือตัดด้ายสายสิญจน์
๙) พระสงฆ์สวดตัดเวรว่า
     นหิ เว รน เวรานิ สัมมันติธ
     กุทาจนัง อเวเรน จสัมมันติ
     เอส ธัมโม สนันตโต ตัด

๑๐) เมื่อสวดตัดเวรจบใช้มีดตัดด้ายสายสิญจน์ส่วนที่เหลือ
๑๑) พระสงฆ์เสกด้ายผูกข้อมือคนป่วย
๑๒) บรรดาญาติมิตรถวายจตุปัจจัย พระสงฆ์อนุโมทนา
๑๓) ญาติมิตรนำหม้อทั้ง ๔ ใบ พร้อมด้ายสายสิญจน์ที่เหลือไปฝังที่โคนต้นโพทั้ง ๔ ทิศ (บางท้องถิ่นนำหม้อทั้ง ๔ ใบ ไปลอยในแม่น้ำ) เป็นเสร็จพิธีตัดเวรตัดกรรม


พิชญ์ สมพอง เรียบเรียง
สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน
มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดพิมพ์เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒