[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ใต้เงาไม้ => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 20 มิถุนายน 2561 15:56:08



หัวข้อ: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 20 มิถุนายน 2561 15:56:08
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/68429866515927_35927174_410501056132247_38455.jpg)

พระราชพิธีสิบสองเดือน
พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชนิพนธ์คำนำ พระราชพิธีสิบสองเดือน

พระราชพิธีซึ่งมีสำหรับพระนคร ที่ได้เคยประพฤติมาแต่ก่อนถึงปัจจุบันนี้ อาศัยที่มาเป็น ๒ อย่าง อย่างหนึ่งมาตามตำราไสยศาสตร์ที่นับถือพระเป็นเจ้า อิศวร นารายณ์ อย่างหนึ่งมาตามพระพุทธศาสนา แต่พิธีที่มาจากต้นเหตุทั้งสองอย่างนี้ มาคละระคนกันเป็นพิธีอย่างหนึ่งขึ้นก็มี ด้วยอาศัยเหตุที่แต่เดิมพระเจ้าแผ่นดินและชาวพระนครถือศาสนาพราหมณ์ การใดๆ ซึ่งนับว่าเป็นศรีสวัสดิมงคลแก่พระนครตามคัมภีร์ไสยศาสตร์ก็ประพฤติเป็นราชประเพณีสำหรับพระนครตามแบบอย่างนั้น ครั้นเมื่อภายหลังพระเจ้าแผ่นดินและราษฎรนับถือพระพุทธศาสนา ถึงว่าพระพุทธศาสนาที่เป็นต้นเดิมแท้ไม่มีฤกษ์ภาพิธีรีตองอันใด ด้วยพระพุทธเจ้าย่อมตรัสว่าฤกษ์ดี ยามดี ครู่ดี ขณะดี การบูชาเซ่นสรวงดี ทั้งปวงย่อมอาศัยความสุจริตในไตรทวาร ถึงแม้ว่าการซึ่งจะเป็นมงคลและเป็นอวมงคลก็ดี ก็อาศัยที่ชนทั้งปวงประพฤติการสุจริตทุจริตเป็นที่ตั้ง เพราะฉะนั้น การพระราชพิธีใดๆ ซึ่งเกี่ยวข้องเจือปนในอยู่ในพระพุทธศาสนา ซึ่งมีคำอ้างมาว่าตามทางพุทธศาสนานับเอาเป็นคู่ไสยศาสตร์นั้น จะอ้างว่าพระพุทธเจ้าบัญญัติหรือแนะนำไว้ให้ทำนั้นไม่ได้ มีอย่างเดียวแต่การพระราชพิธีทั้งปวง บางอย่างต้องกับคำที่พระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญ บางอย่างต้องกับคำที่พระพุทธเจ้าตรัสติเตียน เมื่อว่าโดยย่อแล้ว การอันใดที่เป็นสุจริตในไตรทวาร พระพุทธเจ้าก็ตรัสสรรเสริญการสิ่งนั้นว่าเป็นดี การสิ่งใดที่เป็นทุจริตก็ย่อมทรงติเตียนว่าการสิ่งนั้นเป็นการชั่ว เพราะฉะนั้นการพระราชพิธีที่อ้างว่าตามพระพุทธศาสน์นั้นควรจะต้องเข้าใจว่า เป็นแต่ตัวอย่างประพฤติของผู้ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาได้ประพฤติมาแต่ก่อน การที่ประพฤตินั้นไม่เป็นการมีโทษที่พระพุทธเจ้าจะพึงติเตียน การพระราชพิธีเช่นนี้นับว่าเป็นการมาตามทางพุทธศาสน์

แต่ส่วนพระราชพิธีซึ่งคละปะปนกันทั้งพุทธศาสน์และไสยศาสตร์นั้น ก็เกิดขึ้นด้วยเดิมทีพระเจ้าแผ่นดินและราษฎรนับถือศาสนาพราหมณ์ดังว่ามาแล้ว ครั้นเมื่อได้รับพระพุทธศาสนามาถือ พระพุทธศาสนาไม่สู้เป็นปฏิปักษ์คัดค้านกันกับศาสนาอื่นๆ เหมือนศาสนาพระเยซูหรือศาสนามะหะหมัด พระพุทธเจ้ามีพุทธประสงค์อย่างเดียว แต่ที่จะแสดงเหตุที่เป็นจริงอยู่อย่างไร และทางที่จะระงับดับทุกข์ได้ด้วยอย่างไร ตามซึ่งพระองค์ตรัสรู้ด้วยพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ พระองค์ไม่พยากรณ์กล่าวแก้ในถ้อยคำความเห็นของชนทั้งปวงที่กล่าวแก่งแย่งกันอยู่ต่างๆ ด้วยเห็นไม่เป็นประโยชน์อันใด เมื่อว่าโดยอย่างที่สุดแล้ว ผู้ที่ถือพระพุทธศาสนาแท้ก็ไม่มีเหตุอันใดซึ่งสมควรจะนับถือลัทธิไสยศาสตร์ แต่ผู้ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาในชั้นหลังซึ่งยังไม่ได้บรรลุมรรคผล ย่อมมีความหวาดหวั่นสะดุ้งสะเทือนด้วยภัยอันตรายต่างๆ และมีความปรารถนาต่อความเจริญรุ่งเรืองแรงกล้า เมื่อได้เคยประพฤตินับถือกลัวเกรงพระเป็นเจ้าและเทพยดา ซึ่งว่ามีฤทธิ์อำนาจอาจจะลงโทษแก่ตนและผู้อื่นได้ในเหตุซึ่งมิใช่เป็นความยุติธรรมแท้ คือบันดาลให้เกิดไข้เจ็บต่างๆ โดยความโกรธความเกลียดว่าไม่เคารพนบนอบบูชาตน หรืออยู่ดีๆ สบใจร้ายขึ้นมาก็ทำพิษสงให้คนทั้งปวงลำบากด้วยความเจ็บไข้กันดารด้วยเสบียงอาหารเป็นต้น จึงได้คิดทำการบูชาเซ่นสรวงให้เป็นเครื่องป้องกันความผิด อันผู้มีอำนาจมีใจเช่นนั้นจะถือว่าเป็นการหมิ่นประมาทไม่เคารพนบนอบ หรือประจบประแจงไว้จะได้สบายๆ ใจไม่มีใจร้ายขึ้นมา ความเชื่อถือมั่นหมายในการอย่างนี้มีฝังอยู่ในใจคนทั้งปวงสืบลูกหลานมาหลายสิบชั่วคน และอาศัยเหตุผลซึ่งเป็นการเผอิญเป็นไปเฉพาะถูกคราวเข้ามีอยู่เนืองๆ เป็นเครื่องประกอบให้คิดเห็นว่าเป็นเพราะผีสางเจ้านายกริ้วโกรธเช่นกล่าวมาแล้ว จึงทำให้ความหวาดหวั่นกลัวเกรงนั้นไม่ขาดสูญไปได้ เมื่อมีความกลัวอันตรายอยู่ดังนี้แล้ว ส่วนความปรารถนาจะอยากดีอยากสบายนั้นแรงกล้า ก็ชักพาให้หันเข้าหาความอ้อนวอนขอร้องเซ่นสรวงบูชาให้ช่วยแรงเข้าอีก ตามความปรารถนาอันแรงกล้า ด้วยเหตุดังนี้แล ถึงแม้ว่าคนไทยถือพระพุทธศาสนาก็ยังหาอาจที่จะละทิ้งการบูชาเซ่นสรวงไปได้ไม่ การพระราชพิธีตามไสยศาสตร์จึงไม่ได้เลิกถอน เป็นแต่ความนับถือนั้นอ่อนไป ตกอยู่ในทำไว้ดีกว่าไม่ทำ ไม่เสียหายอันใดนัก

แต่การพิธีทั้งปวงนั้นก็ย่อมเลือกฟั้นแต่การสุจริตในไตรทวาร ไม่รับลัทธิซึ่งเป็นการทุจริตของพวกพราหมณ์ฮินดูบางพวกซึ่งมีลัทธิร้ายกาจ เช่นฆ่าสัตว์บูชายัญเป็นต้น มาถือเป็นธรรมเนียมบ้านเมืองให้เป็นการขัดขวางต่อพระพุทธศาสนา และการพระราชพิธีอันใดซึ่งมีแต่พิธีพราหมณ์อย่างเดียว ก็ย่อมเพิ่มเติมการพระราชกุศลซึ่งเป็นส่วนทานมัย ศีลมัย ภาวนามัย เจือปนเข้าในพระราชพิธีนั้นยกเป็นต้นเหตุ การบูชาเซ่นสรวงเทพยดาพระอิศวร พระนารายณ์เป็นต้น เปลี่ยนลงไปเป็นปลายเหตุ ทำไปตามเคย ตกอยู่ในเคยทำมาแล้วก็ทำดีกว่าไม่ทำ และการที่ทำนั้นก็ไม่เป็นการมีโทษอันใด และไม่เปลืองเบี้ยหอยเงินทองอันใดมากนัก ซึ่งกล่าวมาทั้งปวงนี้เพื่อจะแสดงให้ทราบชัดในเบื้องต้นว่าพระราชพิธีทั้งปวงนั้นทำสำหรับประโยชน์อันใด และเพื่อว่าผู้มีความสงสัยว่าพระเจ้าแผ่นดินและราษฎรก็ถือพระพุทธศาสนา เหตุใดจึงทำพิธีตามลัทธิไสยศาสตร์อยู่ความดำริของท่านผู้ที่ปกครองแผ่นดินมาแต่ก่อนคิดเห็นการดังเช่นกล่าวมานี้แล จึงยังได้ทำการพระราชพิธีทั้งปวงซึ่งเป็นการสำหรับพระนครสืบมา

ก็แหละพระราชพิธีที่มีมาในพระราชกำหนดกฎมนเทียรบาล ซึ่งได้ตั้งขึ้นแต่แรกสร้างกรุงทวาราวดีศรีอยุธยาโบราณ แสดงพระราชพิธีประจำเดือน ๑๒ เดือนไว้ ว่าเป็นการซึ่งพระเจ้าแผ่นดินได้ทรงทำ ว่าเป็นการเป็นมงคลสำหรับพระนครทุกปีมิได้ขาดนั้น คือ

          
เดือนห้าการพระราชพิธีเผด็จศก ลดแจตรออกสนาม
เดือนหก พิธีไพศาขย์ จรดพระราชนังคัล
เดือนเจ็ด ทูลน้ำล้างพระบาท
เดือนแปด เข้าพรรษา
เดือนเก้า ตุลาภาร
เดือนสิบ ภัทรบทพิธีสารท
เดือนสิบเอ็ด อาศยุชยแข่งเรือ
เดือนสิบสอง      พิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคม
เดือนอ้าย ไล่เรือ เถลิงพิธีตรียัมพวาย
เดือนยี่ การพิธีบุษยาภิเษก เฉวียนพระโคกินเลี้ยง
เดือนสามการพิธีธานยเทาะห์
เดือนสี่ การพิธีสัมพัจฉรฉินท์

การพระราชพิธีที่กล่าวมา ๑๒ อย่างนี้ คงได้ทำอยู่ที่กรุงเทพฯ นี้แต่เดือนห้า เดือนหก เดือนสิบ เดือนสิบสอง เดือนสี่ แต่พิธีเดือนอ้ายเปลี่ยนมาเป็นเดือนยี่ ตามที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า เปลี่ยนมาแต่กรุงเก่าแล้ว ด้วยเหตุว่าเดือนอ้ายพึ่งเป็นเวลาน้ำลด ถนนหนทางเป็นน้ำเป็นโคลนทั่วไป ย้ายมาเดือนยี่พอให้ถนนแห้ง แต่พระราชพิธีเดือนเจ็ด เดือนเก้า เดือนสิบเอ็ด เดือนยี่ ที่เปลี่ยนขึ้นไปเป็นเดือนอ้าย และพิธีเดือนสามนั้นตำราสูญเสีย ไม่ได้ทำที่กรุงเทพฯ ถึงที่กรุงเก่าก็ทำบ้างเว้นบ้าง ไม่เป็นการเสมอทุกปีตลอดไป แต่พิธีเดือนแปดนั้นเป็นการส่วนการพระราชกุศลในพระพุทธศาสนา เห็นจะเป็นส่วนเกิดขึ้นใหม่เมื่อถือพระพุทธศาสนา แต่พิธีพราหมณ์เดิมนั้นสาบสูญไม่ได้เค้าเงื่อนเลย ถึงพิธีที่ว่าสูญเสียไม่ได้ทำในกรุงเทพฯ นี้ ก็ได้เค้าเงื่อนทุกๆ พิธี เว้นแต่เดือนแปด หรือชะรอยจะเป็นพิธีซึ่งไม่เป็นการสุจริตในไตรทวารอย่างหนึ่งอย่างใด ไม่สมควรแก่ผู้ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาจะทำ จึงได้ยกเลิกเสียตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดินถือพระพุทธศาสนามา เปลี่ยนเป็นพิธีตามพุทธศาสน์จึงได้สูญไป ที่ว่านี้เป็นแต่การคาดคะเน ส่วนการพระราชพิธีที่กรุงเทพฯ นี้ คงตามอย่างเก่าแต่เดือนห้า เดือนหก เดือนสิบ เดือนสิบสอง เดือนยี่ เดือนสี่ เท่านั้นก็ดี ยังมีพระราชพิธีที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมขึ้นใหม่ จนเกือบจะครบสิบสองเดือนเหมือนของเก่า ซึ่งคิดจะกล่าวต่อไปในเบื้องหน้านี้

การซึ่งคิดจะเรียบเรียงพระราชพิธีสิบสองเดือน ลงในหนังสือวชิรญาณครั้งนี้ ด้วยเห็นว่าคำโคลงพระราชพิธีทวาทศมาส ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ ทรงแต่งขึ้นไว้ กรรมสัมปาทิกกลายนี้ ได้นำมาลงไว้ในหนังสือวชิรญาณเกือบจะตลอดอยู่แล้ว แต่คำโคลงนั้นท่านก็ทรงไม่ทันจบครบสิบสองเดือน และในสำเนาความนั้นว่าความละเอียดทั่วไปจนการนักขัตฤกษ์ ซึ่งเป็นส่วนของราษฎร ข้อความที่ว่าพิสดารมากกว่าตัวโคลงที่จะทำ จึงต้องประจุถ้อยคำลงให้แน่น บางทีผู้ซึ่งไม่สู้สันทัดในการกาพย์โคลงก็อ่านไม่เข้าใจ และในครั้งนี้ได้คิดที่จะช่วยกันแต่ง เรียบเรียงข้อความในความประพฤติของราษฎรประชาชนในกรุงสยาม ซึ่งได้เล่นการนักขัตฤกษ์ตามฤดูปีเดือน เพื่อจะให้เป็นประโยชน์ที่ให้คนภายหลังทราบการงาน ซึ่งเราได้ประพฤติเป็นประเพณีบ้านเมืองอยู่ในบัดนี้ หรือในชั้นพวกเราทุกวันนี้ที่ยังไม่ได้ทราบได้เห็นการประพฤติทั่วไปของชนทั้งปวงก็จะได้ทราบ เหมือนอย่างช่วยกันสืบสวนมาเล่าสู่กันฟัง ส่วนในการพระราชพิธีประพฤติเป็นไปอยู่ในราชการนี้

ก็เป็นข้อสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเวลาประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการพร้อมกันคราวหนึ่ง ครั้นจะรวบรวมลงเป็นเรื่องเดียวกันกับการนักขัตฤกษ์ของราษฎร ก็จะเป็นความยืดยาวปะปนฟั่นเฝือกันไป จึงได้คิดแยกออกไว้เสียต่างหาก คิดกำหนดแบ่งข้อความเป็น ๑๒ ส่วนส่วนละเดือน กำหนดจะให้ได้ออกในวันสิ้นเดือนครั้งหนึ่งไปจนตลอดปี แต่เดือนหนึ่งจะมากบ้างน้อยบ้างตามการที่มีมากและน้อย หวังใจว่าคงจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ซึ่งจะใคร่ทราบเวลาประชุมราชการได้ ตามสมควรแก่เรื่องราวซึ่งนับว่าเป็นแต่พระราชพิธี ดังนี้ ๚



(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/66283886507153_CX_EV_CR91_1_.jpg) (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/99790366035368_35927174_410501056132247_38455.jpg)

เดือน ๑๒  
• พระราชพิธีจองเปรียง • พิธีกะติเกยา
• การพระราชกุศลฉลองไตรปี    • การลอยพระประทีป
• พระราชกุศลกาลานุกาล • การพระราชกุศลแจกเบี้ยหวัด
• พระราชพิธีฉัตรมงคล
-----------------------------------


เดือนสิบสอง
พระราชพิธีจองเปรียง

๏ การพระราชพิธีในเดือน ๑๒ ซึ่งมีมาในกฎมนเทียรบาลว่าพิธีจองเปรียง ลดชุดลอยโคม ตรวจดูในความพิสดาร ในกฎหมายนั้นเองก็ไม่มีข้อความใดกล่าวถึงเสาโคมและการจุดโคมอย่างหนึ่งอย่างใดชัดเจน หรือจะเป็นด้วยเป็นการจืด ผู้ที่แต่งถือว่าใครๆ ก็เห็นตัวอย่างอยู่แล้วไม่ต้องกล่าว มีความแปลกออกไปนิดเดียว แต่ที่ว่าการพิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคม และเติม “ลงน้ำ” เข้าอีกคำหนึ่ง คำที่ว่า “ลงน้ำ” นี้จะแปลว่ากระไรก็สันนิษฐานยาก จะเข้าใจว่าเอาโคมที่เป็นโครงไม้ไผ่หุ้มผ้าที่ชักอยู่บนเสามาแต่ต้นเดือนลดลงแล้วไปทิ้งลงน้ำก็ดูเคอะไม่ได้การเลย หรืออีกอย่างหนึ่งจะเป็นวิธีว่าเมื่อลดโคมแล้ว ลอยกระทง สมมติว่าเอาโคมนั้นลอยไปตามลัทธิพราหมณ์ ที่พอใจลอยอะไรๆ จัดอยู่เช่นกับลอยบาปล้างบาป จะถือว่าเป็นลอยเคราะห์ลอยโศกอย่างใดไปได้ดอกกระมัง การก็ตรงกันกับลอยกระทง ลางทีจะสมมุติว่าลอยโคม ข้อความตามกฎมนเทียรบาลมีอยู่แต่เท่านี้

ส่วนการพระราชพิธี ซึ่งได้ประพฤติอยู่ในปัจจุบันนี้นับว่าเป็นพระราชพิธีพราหมณ์ มิได้เกี่ยวข้องด้วยพระพุทธศาสนาสืบมา กำหนดที่ยกโคมนั้น ตามประเพณีโบราณว่า ถ้าปีใดมีอธิกมาสให้ยกโคมตั้งแต่วันขึ้นค่ำหนึ่งไปจนวันแรมสองค่ำเป็นวันลดโคม ถ้าปีใดไม่มีอธิกมาสให้ยกโคมขึ้นสิบสี่ค่ำ เดือนอ้ายขึ้นค่ำหนึ่ง เป็นวันลดโคม อีกนัยหนึ่งว่ากำหนดตามโหราศาสตร์ว่า พระอาทิตย์ถึงราศีพิจิก พระจันทร์อยู่ราศีพฤษภเมื่อใด เมื่อนั้นเป็นกำหนดที่จะยกโคม อีกนัยหนึ่งกำหนดด้วยดวงดาวกฤติกาคือดาวลูกไก่ ถ้าเห็นดาวลูกไก่นั้นตั้งแต่ค่ำจนรุ่งเมื่อใด เป็นเวลายกโคม การที่ยกโคมขึ้นนั้นตามคำโบราณกล่าวว่ายกขึ้นเพื่อบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสาม คือพระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม การซึ่งว่าบูชาพระเจ้าทั้งสามนี้เป็นต้นตำราแท้ ในเวลาถือไสยศาสตร์ แต่ครั้นเมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงนับถือพระพุทธศาสนา ก็กล่าวว่าบูชาพระบรมสารีริกธาตุ พระจุฬามณีในดาวดึงสพิภพ และบูชาพระพุทธบาท ซึ่งปรากฏอยู่ ณ หาดทรายเรียกว่านะมะทานที เป็นที่ฝูงนาคทั้งปวงสักการบูชาอยู่ แต่ถึงว่าโคมชัยที่อ้างว่าบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระพุทธบาทดังนี้แล้ว ก็ยังเป็นพิธีของพราหมณ์พวกเดียว คือตั้งแต่เริ่มพระราชพิธี พราหมณ์ก็เข้าพิธีที่โรงพิธีในพระบรมมหาราชวัง และเวลาเช้าถวายน้ำพระมหาสังข์ตลอดจนวันลดโคม เทียนซึ่งจะจุดโคมนั้นก็ทาเปรียง คือไขข้อพระโคซึ่งพราหมณ์นำมาถวายทรงทา การที่บูชากันด้วยน้ำมันไขข้อโคนี้ก็เป็นลัทธิพราหมณ์แท้ เป็นธรรมเนียมสืบมาจนแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่าการพระราชพิธีทั้งปวงควรจะให้เนื่องด้วยพระพุทธศาสนาทุกๆพระราชพิธี จึงโปรดให้มีการสวดมนต์เย็นฉันเช้าก่อนเวลาที่จะยกเสาโคม พระสงฆ์ที่สวดมนต์นั้น พระราชาคณะไทย ๑ พระครูปริตรไทย ๔ พระราชาคณะรามัญ ๑ พระครูปริตรรามัญ ๔ รวมเป็น ๑๐ รูป เวลาทรงศีลแล้วก่อนสวดมนต์ มีอาลักษณ์อ่านคำประกาศแสดงเรื่องพระราชพิธี และพระราชดำริซึ่งทรงจัดเพิ่มเติม และพระราชทานแผ่พระราชกุศลแก่เทพยดาทั้งปวง แล้วพระสงฆ์จึงได้สวดมนต์ต่อไป เวลาเช้าพระฤกษ์ทรงรดน้ำสังข์และเจิมเสาโคมชัยแล้วจึงได้ยก พระสงฆ์สวดชยันโตในเวลายกเสานั้นด้วย ครั้นพระสงฆ์ฉันแล้วถวายไทยทานขวดน้ำมัน, ไส้ตะเกียง, โคม ให้ต้องเรื่องกันกับพระราชพิธี การสวดมนต์เลี้ยงพระยกโคมนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกไม่ใคร่จะขาด เสาโคมชัยประเทียบนั้นตั้งอยู่หน้าพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์แต่เดิมมา มีโคมชัยสามต้น โคมประเทียบสามต้น เสาใช้ไม้แก่นยาว ๑๑ วา เสาโคมชัยที่ยอดเสามีฉัตรผ้าขาวโครงไม้ไผ่ ๙ ชั้น โคมประเทียบ ๗ ชั้น เสาและตะเกียบทาปูนขาวตลอด มีหงส์ลูกพรวนติดชักขึ้นไปให้มีเสียงดัง ตัวโคมโครงไม้ไผ่หุ้มผ้าขาว โคมบริวารเสาไม้ไผ่ ๑๐๐ ต้น ฉัตรยอด ๓ ชั้นทำด้วยกระดาษ ปลายฉัตรเป็นธง ตัวโคมโครงไม้ไผ่ปิดกระดาษ โคมชัยโคมประเทียบเป็นพนักงานสี่ตำรวจ โคมบริวารเป็นพนักงานตำรวจนอกตำรวจสนม รอบพระราชวังมีโคมเสาไม้ไผ่ ตัวโคมข้างในสานเป็นชะลอม ปิดกระดาษเป็นรูปกระบอกตรงๆ เป็นของกรมล้อมพระราชวังทำปักตามใบเสมากำแพงมีจำนวนโคม ๒๐๐ ครั้นเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้มีเติมขึ้นที่หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม[๑] โคมชัย ๒ ต้น โคมบริวาร ๑๐ ต้น แต่ใช้โคมแก้วกระจกสีเขียว, สีแดง, สีน้ำเงิน, สีเหลือง, สีขาว อย่างละคู่ การพระราชพิธียกเสาโคมชัยนี้ เมื่อเวลาเสด็จประทับอยู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ก็ทำที่พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ เมื่อเวลาเสด็จไปประทับอยู่ในพระที่นั่งฝ่ายบุรพทิศ ก็ทำที่พระที่นั่งสุทไธศวรรย์บ้าง ด้วยมีเสาโคมชัยขึ้นในที่นั้น และเมื่อเสด็จพระราชดำเนินประพาสตามหัวเมือง มีพระราชวังแห่งใด ก็โปรดให้ยกเสาโคมชัยสำหรับพระราชวังนั้น คือที่วังจันทรเกษม วังนารายณ์ราชนิเวศน์ และพระนครคิรี และที่วังปฐมเจดีย์ทุกแห่ง เทียนซึ่งสำหรับจุดโคมชัยคืนละ ๒๔ เล่ม (หรือมีเสาโคมชัยทางพระที่นั่งอนันตสมาคมก็เป็น ๓๒ เล่ม) ฟั่นที่ห้องมนัสการเล่มยาวๆ พอจุดได้ ๓ ชั่วโมง ยังเหลือเศษ ในเวลาสวดมนต์ยกโคมชัย เจ้าพนักงานนำเทียนนี้ไปเข้าพิธีด้วย แล้วจึงเก็บไว้ถวายวันละ ๒๔ เล่มหรือครบสำรับหนึ่ง เวลาพลบเสด็จพระราชดำเนินออกประทับที่เสาโคมชัย มหาดเล็กนำพานเทียน ๒๔ เล่มกับเทียนชนวนซึ่งเสียบอยู่กับเชิงเล่ม ๑ วางมาในพานเล่ม ๑ ขึ้นถวายพระมหาราชครูพิธีจึงนำตลับเปรียงขึ้นถวาย บ่ายพระพักตร์สู่ทิศศรีของวันนั้น แล้วทรงเจิมทั้งมัดนั้นด้วยเปรียง เป็นรูปอุณาโลมด้วยคาถา “อรหํ สัมมาสัมพุทโธ” แล้วจึงทรงทาเปรียงทั่วทุกเล่มเทียน ชักเทียนออกจากมัด ๖ เล่ม พระมหาราชครูจึงจุดเทียนชนวนซึ่งมีมาแต่โรงพิธี จากโคมซึ่งตามเพลิงพิธีมานั้นถวาย ทรงเทียนชนวนซึ่งเสียบมากับเชิงจุดเพลิงจากเทียนชนวนพราหมณ์ แล้วทรงบริกรรมคาถา “ทิวา ตปติ อาทิจ์โจ” จนถึง “มังคลัต์ถํ ปสิท์ธิยา” แล้วจึงทรงจุดเทียน ๖ เล่มนั้น เมื่อติดทั่วกันแล้วทรงอธิษฐานด้วยคาถา “อรหํ สัมมาสัมพุทโธ” จนตลอดแล้วจึงได้พระราชทานเทียนเล่ม ๑ ให้กรมพระตำรวจรับไปปักในโคมชัยต้นที่หนึ่ง ที่เหลือนั้นอีก ๕ เล่ม พระราชทานพระเจ้าลูกเธอไปทรงจุดในโคมชัยโคมประเทียบ ในเวลาเมื่อทรงชักสายโคมชัย เจ้าพนักงานประโคมแตรสังข์ฆ้องชัยพิณพาทย์จนสิ้นเวลาที่ยกโคม มีแต่ยามแรกยามเดียว เมื่อยกโคมเสร็จแล้วจึงพระราชทานเทียนสำหรับโคมชัยโคมประเทียบ ที่ยังเหลืออยู่อีก ๑๘ เล่ม สำหรับไว้เปลี่ยนอีก ๓ ยาม และเทียนชนวนที่เสียบอยู่บนเชิง ให้กรมพระตำรวจรับไปจุดโคมบริวาร เทียนชนวนซึ่งเหลืออยู่อีกเล่มหนึ่งนั้น พระราชทานพระมหาราชครูพิธีสำหรับจะได้นำมาเป็นชนวนจุดเพลิงถวายในคืนหลังๆ ต่อไป

การจุดโคมชัยนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกทรงจุดเองไม่ใคร่จะขาด แต่ครั้งเมื่อมีเสาโคมทางหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมขึ้น ไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงยกโคมทางพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์นี้ โปรดให้พระเจ้าลูกเธอเสด็จมาทรงยกโคมที่หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมเอง ตลอดจนโคมบริวารทั้ง ๑๒ ต้นโดยมาก แต่การซึ่งยกโคมนี้ได้ความว่า เมื่อในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลายกโคมยามแรกเป็นเวลาเข้าที่พระบรรทม ไม่ได้เสด็จออกทรงยกโคมเลย ต่อคราวที่ ๒ เวลาเสด็จออกทรงธรรม มหาดเล็กจึงได้นำเทียนถวายทรงจุดพระราชทานให้กรมพระตำรวจออกเปลี่ยน แต่ในแผ่นดินปัจจุบันนี้เสด็จออกบ้างไม่ออกบ้าง ถ้าไม่เสด็จออกพราหมณ์ต้องส่งเปรียงและเพลิงเข้าไปข้างใน ทรงจุดพระราชทานพระเจ้าลูกเธอออกมายกโคม เหมือนอย่างในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ในเวลาที่ไม่ได้เสด็จออกนั้น และมีเสาโคมในพระบรมมหาราชวังปักประจำทุกตำหนักเจ้านาย ถ้าเป็นตำหนักเจ้าฟ้าใช้เสาไม้แก่นทาขาว ฉัตรผ้าขาว ๕ ชั้น โคมโครงไม้ไผ่หุ้มผ้าขาวอย่างเดียวกันกับโคมประเทียบมีครบทุกพระองค์ ถ้าเป็นตำหนักพระองค์เจ้าหรือเรือนข้างในใช้เสาไม้ไผ่ โคมโครงไม้ไผ่ปิดกระดาษอย่างโคมบริวารมีทั่วทุกตำหนัก แต่โคมทั้งปวงนี้ใช้ตามตะเกียงด้วยถ้วยแก้วหรือชามทั้งสิ้น เหมือนโคมบริวารข้างนอก ตามวังเจ้านายซึ่งอยู่นอกพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่พระราชวังบวรฯ เป็นต้นลงไปมีเสาโคม แต่ในพระราชวังบวรฯ เท่านั้น มีโคมชัย, โคมประเทียบ, โคมบริวาร คล้ายในพระบรมมหาราชวัง วังเจ้าฟ้ามีเสาโคมเหมือนโคมชัยแต่ใช้ฉัตร ๕ ชั้น เจ้านายนอกนั้นตามแต่เจ้าของจะทำ

ในการพระราชพิธีจองเปรียงนี้ มีหน้าที่ของกรมมหาดเล็กซึ่งมักจะลืมหรือไม่รู้สึกบ่อย คือเวลาเย็นพลบพนักงานนำเทียนออกมาส่ง ลางทีก็ไม่มีใครรับ เวลาจะทรงก็ต้องเรียกกันเวยวายอย่างหนึ่ง หรือถ้ารับเทียนมาแล้ว เวลาจะนำเข้าไปถวายมักจะจุดเทียนชนวนเข้าไปถวาย การที่มหาดเล็กทำดังนี้เป็นการไม่ระวังในหน้าที่ของตัวและไม่รู้จักจำ อีกอย่างหนึ่ง เมื่อเสด็จออกพระราชทานเทียนให้พระเจ้าลูกเธอ หรือไม่ได้เสด็จออกพระราชทานเทียนให้พระเจ้าลูกเธอออกไป ก็เป็นหน้าที่ของมหาดเล็กที่จะเชิญเสด็จพระเจ้าลูกเธอไปทรงจุดโคมทุกๆ เสา และช่วยชักสายในเวลาที่ทรงชักโคมนั้นด้วย

ส่วนพนักงานของกรมพระตำรวจนั้น เป็นหน้าที่เจ้ากรมปลัดกรมจ่าเจ้าของเวร ต้องมาคอยรับเทียนไปติดในโคมชัยใบแรกที่จะทรงชัก เมื่อเวลาทรงชักต้องคอยโรยหางเชือก หรือถ้าเวลาฝนตกลงมาเชือกเปียกชื้นชักฝืด ก็ต้องเข้ามาช่วยสาวเชือกชักโคมนั้นด้วยอีกคนหนึ่ง แล้วรับเทียนสำหรับเปลี่ยนโคมและเทียนชนวนไปจุดโคมบริวาร ในการพระราชพิธีจองเปรียงมีการที่สำหรับจะไม่เรียบร้อยพร้อมเพรียงอยู่เพียงเท่านี้ ๚


[๑] พระที่นั่งอนันตสมาคมในพระราชนิพนธ์นี้หมายว่าองค์แรก สร้างเมื่อในรัชกาลที่ ๔ อยู่หลังพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ เดี๋ยวนี้รื้อเสียแล้ว


เดือนสิบสอง
พิธีกะติเกยา

๏ การพระราชพิธีกะติเกยา ตามคำพระมหาราชครูพิธี[๑] ได้กล่าวว่าการพระราชพิธีนี้แต่ก่อนได้เคยทำในเดือนอ้าย แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เลื่อนมาทำในเดือนสิบสอง การซึ่งจะกำหนดทำพระราชพิธีเมื่อใดนั้น เป็นพนักงานของโหรต้องเขียนฎีกาถวาย ในฎีกานั้นว่าโหรมีชื่อได้คำนวณพระฤกษ์ พิธีกะติเกยากำหนดวันนั้นๆ พระมหาราชครูพิธีจะได้ทำพระราชพิธีเช่นนั้นๆ ลงท้ายท้าว่าจะมีคำทำนาย แต่ไม่ปรากฏว่าได้นำคำทำนายขึ้นมากราบเพ็ดกราบทูลอันใดต่อไปอีก ชะรอยจะเป็นด้วยทำนายดีทุกปีจนทรงจำได้ แล้วรับสั่งห้ามเสีย ไม่ให้ต้องกราบทูลแต่ครั้งใดมาไม่ทราบเลย การซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เลื่อนพิธีมาทำในเดือนสิบสองนั้น คือกำหนดเมื่อพระจันทร์เสวยฤกษ์กฤติกาเต็มบริบูรณ์เวลาไร เวลานั้นเป็นกำหนดพระราชพิธี การซึ่งทรงกำหนดเช่นนี้ก็จะแปลมาจากชื่อพิธีนั้นเอง การที่พระมหาราชครูพิธีว่าเมื่อก่อนทำเดือนอ้ายนั้น เป็นการเลื่อนลงมาเสียดอก แต่เดิมมาก็ทำเดือนสิบสอง ครั้งเมื่อพิธีตรียัมพวายเลื่อนไปทำเดือนยี่แล้ว การพิธีนี้จึงเลื่อนตามลงไปเดือนอ้าย เพราะพิธีนี้เป็นพิธีตามเพลิงคอยรับพระเป็นเจ้าจะเสด็จลงมา ดูเป็นพิธีนำหน้าพิธีตรียัมพวาย ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้กลับขึ้นไปทำเดือนสิบสองนั้น ก็เพราะจะให้ถูกกับชื่อพิธีดังที่ว่ามาแล้ว พระราชพิธีนี้คงตกอยู่ในระหว่างกลางเดือนสิบสอง เคลื่อนไปข้างหน้าบ้างข้างหลังบ้างเล็กน้อย คงจะเกี่ยวกับพระราชพิธีจองเปรียงอยู่เสมอ การที่ทำนั้น คือปลูกเกยขึ้นที่หน้าเทวสถานสามเกย สถานพระอิศวรเกย ๑ สถานมหาวิฆเนศวรเกย ๑ สถานพระนารายณ์เกย ๑ เกยสูง ๔ ศอกเท่ากัน ที่ข้างเกยเอามูลโคกับดินผสมกันก่อเป็นเขาสูงศอกหนึ่งทั้ง ๔ ทิศ เรียกว่าบัพโต แล้วเอาหม้อใหม่ ๓ ใบถักเชือกรอบนอกเรียกว่าบาตรแก้ว มีหลอดเหล็กวิลาดร้อยไส้ด้ายดิบเก้าเส้น แล้วมีถุงข้าวเปลือกถั่วงาทิ้งลงไว้ในหม้อนั้นทั้ง ๓ หม้อ แล้วเอาไม้ยาว ๔ ศอก เรียกว่าไม้เทพทัณฑ์ปลายพันผ้าสำหรับชุบน้ำมันจุดไฟ ครั้นเวลาค่ำพระมหาราชครูพิธีบูชาไม้เทพทัณฑ์และบาตรแก้ว แล้วอ่านตำรับจุดไฟในบาตรแก้ว แล้วรดน้ำสังข์จุณเจิมไม้นั้น ครั้นจบพิธีแล้วจึงได้นำบาตรแก้วและไม้เทพทัณฑ์ออกไปที่หน้าเทวสถาน เอาบาตรแก้วตั้งบนหลักริมเกยเอาปลายไม้เทพทัณฑ์ที่หุ้มผ้าชุบน้ำมันจุดไฟพุ่งไปที่บัพโตทั้ง ๔ ทิศเป็นการเสี่ยงทาย ทิศบูรพาสมมติว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทิศทักษิณสมมติว่าเป็นสมณพราหมณ์ ทิศประจิมว่าเป็นอำมาตย์มนตรี ทิศอุดรว่าเป็นราษฎร พุ่งเกยที่หนึ่งแล้วเกยที่สองที่สามต่อไป จนครบทั้งสามเกยเป็นไม้สิบสองอัน แล้วตามเพลิงในบาตรแก้วไว้อีกสามคืน สมมติว่าตามเพลิงคอยรับพระเป็นเจ้าจะเสด็จลงมาเยี่ยมโลก เมื่อพุ่งไม้แล้วกลับเข้าไปสวดบูชาข้าวตอก บูชาบาตรแก้วที่จุดไฟไว้หน้าเทวสถานทั้ง ๓ สถาน ต่อนั้นไปอีกสองวันก็ไม่มีพิธีอันใด วันที่สามนำบาตรแก้วเข้าไปในเทวสถาน รดน้ำสังข์ดับเพลิง เป็นเสร็จการพระราชพิธี

การพระราชพิธีกะติเกยานี้ เป็นพิธีพราหมณ์แท้ และเหตุผลก็เลื่อนลอยมาก จนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่รู้ที่จะทรงเติมการพิธีสงฆ์หรือแก้ไขเพิ่มเติมอันใด ได้แต่เปลี่ยนกำหนดให้ถูกชื่ออย่างเดียว คงอยู่ด้วยเป็นพิธีราคาถูกเพียง ๖ บาทเท่านั้น ๚


-------------------------------------------------------------------------------------
[๑] พระมหาราชครูคนนี้ ชื่ออาจ


หัวข้อ: Re: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 20 มิถุนายน 2561 16:08:25
เดือนสิบสอง
การพระราชกุศลฉลองไตรปี

๏ การฉลองไตรนี้ ไม่ปรากฏว่าเป็นธรรมเนียมมีมาแต่ครั้งกรุงเก่าหรือประการใด แต่เป็นธรรมเนียมมีมาในกรุงรัตนโกสินทรนี้แต่เดิม ไม่นับว่าเป็นพระราชพิธี เป็นการพระราชกุศลประจำปีซึ่งนำมากล่าวในที่นี้ด้วย เพราะเหตุว่าการฉลองไตรนี้เนื่องอยู่ในพระราชพิธีจองเปรียง และลอยพระประทีป ความประสงค์ของการฉลองไตรนั้น คือว่าพระสงฆ์ซึ่งได้รับยศเป็นราชาคณะฐานานุกรมเปรียญพิธีธรรมบางองค์ หรือคิลานภัตร พระทรงรู้จัก พระช่าง สามเณรเปรียญ และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวชเป็นภิกษุก็ดี สามเณรก็ดี เกินกว่าพรรษาหนึ่งขึ้นไป ท่านทั้งปวงนี้ได้พระราชทานไตรจีวรสำรับหนึ่งในเวลาเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานพระกฐินทุกปี มิใช่เกี่ยวในการกฐิน พระสงฆ์และสามเณรทั้งปวงเหล่านี้มีจำนวนทั้งในกรุงและหัวเมืองปีหนึ่งอยู่ใน ๕๐๐ เศษขึ้นไปถึง ๖๐๐ รูป ทั้งที่ได้รับกฐินหลวงด้วย เมื่อผ้าไตรที่ได้พระราชทานไปแก่พระสงฆ์เป็นอันมากดังนี้ ก็ควรจะเป็นที่ชื่นชมยินดีในการพระราชกุศลที่ได้ทรงบริจาคไปเป็นอันมากนั้น จึงได้มีการพระราชกุศลขึ้นในกลางเดือนนั้น กำหนดวันขึ้น ๑๓ ค่ำ ให้นิมนต์พระราชาคณะฐานานุกรมเปรียญทั้งปวง บรรดาซึ่งได้รับพระราชทานไตรปีมาประชุมพร้อมกันในพระบรมมหาราชวัง ทั้งในกรุงหัวเมือง ยกเสียแต่หัวเมืองไกล ถ้าการสวดมนต์ฉลองไตรนี้ทำที่หมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระสงฆ์ไทยสวดมนต์ที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยทั้งสิ้น พระสงฆ์รามัญสวดมนต์ที่พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ ถ้าทำข้างพระที่นั่งฝ่ายบุรพทิศ พระสงฆ์ไทยคณะมหานิกายสวดมนต์ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม คณะธรรมยุติกนิกายสวดมนต์ที่พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทในปัจจุบันนี้ แต่ครั้นเมื่อภายหลังรื้อพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ทำใหม่ ก็ยกมาสวดมนต์รวมกันในพระที่นั่งอนันตสมาคมทั้ง ๒ คณะ แต่คณะรามัญนั้นคงสวดอยู่ที่พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ การสวดมนต์มีแต่วันขึ้น ๑๓ ค่ำวันเดียว ต่อนั้นไปแบ่งพระสงฆ์ออกเป็นสามส่วน มาฉันในท้องพระโรงวันละส่วน เข้าบิณฑบาตในพระบรมมหาราชวังวันละ ๒ ส่วน เปลี่ยนกันไปตลอดทั้ง ๓ วัน คือในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ วันแรมค่ำ ๑ การทรงบาตรในพระบรมมหาราชวังจัดอย่างนักขัตฤกษ์ คือมีผ้าลาดตามทางที่พระสงฆ์เดิน และมีเครื่องนมัสการพานทองน้อยเครื่องห้าตั้งที่ทรงบาตร มีของปากบาตรทวีขึ้นกว่าแต่ก่อน เมื่อครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าจอมข้างในแต่งตัวตักบาตรฉลองไตรนี้ ห่อผ้าห่มนอนตาดและเยียรบับแพรเขียนทองหรือแต่งตัวต่างๆ ไปอีกก็มีเป็นคราวๆ แต่ไม่เป็นการเสมอตลอดไป ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ แรมค่ำ ๑ เวลากลางคืนมีทรงธรรม พระราชาคณะผู้ใหญ่ถวายเทศนากฐินทาน อนุโมทนาการพระราชกุศลที่ได้เสด็จไปพระราชทานพระกฐินกัณฑ์ ๑ จีวรทาน อนุโมทนาพระราชกุศลที่ได้พระราชทานไตรปีแก่พระภิกษุสงฆ์ทั้งปวงกัณฑ์ ๑ ปฏิสังขรณทาน อนุโมทนาที่ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระอารามทั้งปวงกัณฑ์ ๑ เครื่องกัณฑ์เทศน์ทั้ง ๓ กัณฑ์ นับในจำนวนเทศนา ๓๐ กัณฑ์ ซึ่งเป็นจำนวนการพระราชกุศลประจำปี คือมีเครื่องกัณฑ์คล้ายๆ บริขารพระกฐิน คือมีตะบะยาเป็นต้น มีเงินติดเทียน ๑๐ ตำลึง และขนมต่างๆ ที่เกณฑ์พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในเป็นเจ้าของกัณฑ์

การฉลองไตรนี้ ในรัชกาลก่อนๆ ก็สวดมนต์เลี้ยงพระและเทศนาที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยตลอดมา ครั้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ย้ายสวดมนต์เลี้ยงพระไปพระที่นั่งฝ่ายบุรพทิศ แต่ยังคงมาทรงธรรมที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เพราะเป็นทางที่จะได้เสด็จลงทรงลอยพระประทีปในเวลาเมื่อทรงธรรมแล้ว ในปัจจุบันนี้ทรงพระราชดำริเห็นว่าพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่กว้างขวาง ใหญ่กว่าพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย จึงโปรดให้การฉลองไตรทั้งปวงคงอยู่เหมือนเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

คำตักเตือนในการฉลองไตรนี้ เมื่อวันขึ้น ๑๓ ค่ำพระสงฆ์ที่สวดมนต์ถึง ๕๐๐ เศษหรือ ๖๐๐ รูป เทียนซึ่งถวายพระสงฆ์ในเวลาสวดมนต์จบนั้นมาก มหาดเล็กควรจะต้องคอยรับ และเวลาที่พระเจ้าลูกเธอจะไปถวายควรต้องคอยยกตาม อย่าให้ต้องรั้งรอกันเนิ่นช้าไป

อนึ่ง จะต้องเตือนอย่างจืดๆ อีกอย่างหนึ่งว่า ถ้าเวลาพระสงฆ์ฉันแล้วจำจะต้องยถา จำจะต้องทรงพระเต้าษิโณทก ไม่มีเหตุการณ์อันใดที่จะยกเว้นพระเต้าษิโณทกได้เลยในเวลาพระสงฆ์ฉันแล้ว ซึ่งมหาดเล็กบางคนทำอึกๆ อักๆ ไม่แน่ใจว่าจะทรงหรือไม่ทรง หรือทอดธุระเสียว่าไม่ทรงนั้นเป็นการเซอะแท้ ไม่มีข้อทุ่มเถียงอย่างไรเลย

อนึ่ง ในเวลาเมื่อสวดมนต์จบและเวลาเลี้ยงพระแล้ว มีเสด็จออกขุนนางข้าราชการเฝ้าทูลใบบอกและข้อราชการต่างๆ ได้เหมือนออกขุนนางตามเคย

อนึ่ง ในเวลาค่ำที่ทรงธรรมนั้น พอเสด็จออกมหาดเล็กก็ต้องนำเทียนชนวนเข้าไปตั้ง ทรงจุดเครื่องบูชาเทวดาแล้วต้องคอยรับเทียนที่บูชาพระมหาเศวตฉัตร ซึ่งจะปล่อยให้ทรงจุดทรงวางในตะบะอย่างเช่นมหาดเล็กเคยทำมาบ่อยๆ นั้นไม่ถูก เมื่อรับเทียนนั้นไปแล้วเคยไปติดที่บัวหลังพระมหาเศวตฉัตร ซึ่งไม่เห็นมหาดเล็กไปติดมาช้านานแล้ว จะไม่มีใครรู้หรือประการใดสงสัยอยู่ เมื่อทรงจุดเทียนเทวดาแล้วทรงจุดเทียนดูหนังสือ ไม่ต้องรอคอยจนทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการแล้วจึงยกไปให้เป็นการช้ายืดยาว พอทรงจุดแล้วก็ยกไป ถ้าธรรมาสน์กว้างตั้งบนธรรมาสน์ทั้งเชิง ถ้าธรรมาสน์แคบมีจงกล ถอนเทียนออกปักที่จงกล ถ้าธรรมาสน์แคบมีม้าตั้งข้างๆ ให้ตั้งบนม้า การที่ถอนเทียนออกติดกับกงธรรมาสน์นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรด ได้กริ้วมาหลายครั้งแล้ว แต่เดี๋ยวนี้ก็ดูมีรายๆ อยู่บ้างไม่สู้หนานัก ขอให้เข้าใจว่าไม่โปรดเหมือนกัน ๚



เดือนสิบสอง
การลอยพระประทีป

๏ การลอยพระประทีปลอยกระทงนี้ เป็นนักขัตฤกษ์ที่รื่นเริงทั่วไปของชนทั้งปวงทั่วกัน ไม่เฉพาะแต่การหลวง แต่จะนับว่าเป็นพระราชพิธีอย่างใดก็ไม่ได้ ด้วยไม่ให้มีพิธีสงฆ์ พิธีพราหมณ์อันใดเกี่ยวข้องเนื่องในการลอยพระประทีปนั้น เว้นไว้แต่จะเข้าใจว่าตรงกับคําที่ว่าลอยโคมลงน้ำเช่นกล่าวมาแล้ว แต่ควรนับว่าเป็นราชประเพณีซึ่งมีมาในแผ่นดินสยามแต่โบราณ ตั้งแต่พระนครยังอยู่ฝ่ายเหนือ เมื่อตรวจดูในกฎมนเทียรบาลซึ่งได้ยกมาอ้างในเบื้องต้น ต่อความที่ว่าพิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคมลงน้ำไป มีความต่อไปว่า “ตั้งระทาดอกไม้ในพระเมรุ ๔ ระทา หนัง ๒ โรง” การเรื่องนี้ก็คงจะตรงกันกับที่มีดอกไม้เพลิงที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และที่ชลาทรงบาตรบูชาหอพระในพระบรมมหาราชวัง ต่อนั้นไปก็ว่าด้วยการลอยประทีป การลอยประทีปที่ว่าในกฎหมายนี้มีเนื้อความเข้าเค้าเรื่องนพมาศ ซึ่งว่าท้าวศรีจุฬาลักษณ์ซึ่งเป็นท้าวพระสนมเอก แต่ครั้งพระเจ้าอรุณมหาราชคือพระร่วง ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามตั้งแต่กรุงตั้งอยู่ณ เมืองสุโขทัย ได้กล่าวไว้ว่า ในเวลาฤดูเดือนสิบสองเป็นเวลาเสด็จลงประพาสในลำน้ำตามพระราชพิธีในเวลากลางคืน พระอัครมเหสีและพระสนมฝ่ายใน ตามเสด็จในเรือพระที่นั่งทอดพระเนตรการนักขัตฤกษ์ ซึ่งราษฎรเล่นในแม่น้ำตามกำหนดปี เมื่อนางนพมาศได้เข้ามารับราชการ จึงได้คิดอ่านทํากระทงถวายพระเจ้าแผ่นดิน เป็นรูปดอกบัวและรูปต่างๆ ให้ทรงลอยตามสายน้ำไหล และคิดคําขับร้องขึ้นขับถวายให้พระเจ้าแผ่นดินทรงพระดําริจัดเรือพระที่นั่ง เทียบขนานกันให้ใหญ่กว้าง สำหรับพระสนมฝ่ายในจะได้ตามเสด็จประพาสได้มากๆ ขึ้นกว่าแต่ก่อน และพระสนมที่ตามเสด็จประพาสในการพระราชพิธีนั้น ย่อมตกแต่งประดับประดากายเป็นอันมาก เมื่อพระสนมทั้งปวงได้ตามเสด็จด้วยกันโดยมากดังนั้น พระเจ้าแผ่นดินก็ต้องพระราชทานเครื่องวัตถาภรณ์ต่างๆ ทั่วไปเป็นที่ชื่นชมยินดีทั่วกัน มีข้อความพิสดารยืดยาว เนื้อความก็คล้ายคลึงกันกับจดหมายถ้อยคําขุนหลวงหาวัด ซึ่งได้กล่าวว่า พระเจ้าแผ่นดินกรุงเก่า หรือเป็นพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศนั้นเอง เสด็จลงเรือพระที่นั่ง ทรงพระภูษาขาว เครื่องราชอาภรณ์ล้วนแต่ทําด้วยเงิน แล้วล่องลงไปตามลําน้ำ มีจุดดอกไม้เพลิงที่หน้าพระอารามต่างๆ ข้อความยืดยาวอีก แต่ไม่รับประกันว่าฉบับที่ตีพิมพ์ไว้นั้นเป็นความจริงทั้งสิ้น เพราะข้าพเจ้าได้อ่านฉบับเดิมนั้นช้านานมาแล้ว จะถูกต้องกันหรือไม่ถูกต้องไม่ได้ตรวจตราละเอียด แต่ข้อความก็ลงเป็นรอยเดียวกันกับที่มีอยู่ในกฎมนเทียรบาลได้ความว่า ในฤดูเดือนสิบสองเป็นเวลาที่น้ำในแม่น้ำใสสะอาดและมากเต็มฝั่ง ทั้งเป็นเวลาที่สิ้นฤดูฝน ในกลางเดือนนั้นพระจันทร์ก็มีแสงสว่างผ่องใส เป็นสมัยที่สมควรจะรื่นเริงในลำน้ำในเวลากลางคืน พระเจ้าแผ่นดินจึงได้เสด็จลงประพาสตามลำน้ำพร้อมด้วยพระราชบริพารฝ่ายใน เป็นประเพณีมีมาแต่กรุงสุโขทัยฝ่ายเหนือโน้นแล้ว

การเก่ายกไว้ จะขอว่าแต่ที่กรุงเทพฯ นี้ การลอยประทีปในเดือน ๑๒ เป็นการใหญ่กว่าลอยประทีปในเดือน ๑๑ ด้วยอากาศปราศจากฝน และการพระราชกุศลก็เป็นการกลางวันมากกว่ากลางคืน นับว่าเป็นเวลาว่างกว่าเดือน ๑๑ ที่ในพระบรมมหาราชวังหน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีดอกไม้พุ่มบูชา ๑๐ พุ่ม แต่ไม่ได้เสด็จพระราชดําเนินไปทรงจุด ชาวที่นำเทียนชนวนมาถวายทรงจุดในเวลาทรงธรรมกลางคืน แต่ส่วนซึ่งบูชาหอพระในพระบรมมหาราชวังปักพุ่มดอกไม้ย่อมๆ ที่ชลาที่ทรงบาตรข้างพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เสด็จพระราชดําเนินทรงจุดดอกไม้ก่อนที่จะออกทรงธรรม มีแตรสังข์พิณพาทย์ผู้หญิงประโคมด้วย

การลอยพระประทีปเป็นเวลาที่เสด็จออกนอกกําแพงพระราชวัง และกําแพงพระนครเวลากลางคืน จึงได้จัดการป้องกันรักษาแข็งแรง การที่จัดทั้งปวงนี้ก็เป็นธรรมเนียมเดิม ในเวลาที่บ้านเมืองไม่ปรกติเรียบร้อย และจะให้เป็นการครึกครื้นในแม่น้ำ ถ้าจะว่าตามอย่างโบราณที่เป็นการเสด็จพระราชดําเนินประพาสลำน้ำก็เป็นการสมควรกันอยู่ ด้วยเรือที่ทอดทุ่นรักษาราชการนั้นก็เป็นเรือในกระบวนเสด็จพระราชดําเนินทั้งสิ้น แต่ถ้าจะเทียบกับการชั้นหลังในปัจจุบันนี้ ที่เสด็จไปวังเจ้านายในเวลากลางคืน หรือเสด็จลงทอดพระเนตรโคมในเวลาเฉลิมพระชนมพรรษา การป้องกันรักษาน้อยกว่าลอยพระประทีปมากหลายเท่า ก็เป็นไปตามเวลาที่บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป แต่การลอยประทีปนี้ยังคงอยู่ตามแบบเดิมเหมือนอย่างเสด็จพระราชดําเนินพระราชทานพระกฐินและเสด็จประพาสตามธรรมเนียมฉะนั้น ที่แพลอยหน้าท่าราชวรดิษฐ์ มีเรือบัลลังก์สองลำจอดขนานกัน ในเรือบัลลังก์นั้นแต่เดิมลำในกั้นม่านเป็นที่พระบรรทม, ที่สรง, ที่ลงพระบังคน ดูเหมือนว่าจะเป็นที่ประทับอยู่นานๆ ตั้งแต่หัวค่ำไปจนดึก เครื่องที่สำหรับตั้งนั้นก็มีพระสุพรรณราช และมีขันพระสุธารสอย่างเช่นเสวยพระกระยาหาร การป้องกันรักษา ห้ามเรือที่ไม่ให้เดินในทุ่นตั้งแต่หัวค่ำไปจนดึกเวลาเสด็จขึ้น ดูเหมือนว่าในครั้งใดครั้งหนึ่งพระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จลงไปประทับอยู่ตั้งแต่หัวค่ำจนสิ้นเวลาลอยพระประทีป สรงเสวยในที่นั้น แต่ครั้นมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้ารับสั่งให้เลิกที่สรงที่พระบรรทมเสีย คงแต่เครื่องพระสุธารสซึ่งเจ้าพนักงานยังจัดอยู่ตามเคย ในเรือบัลลังก์ทั้งสองลํานั้นกั้นม่านสกัดทั้งหัวเรือท้ายเรือ ข้างหัวเรือท้ายเรือเป็นข้างหน้า ที่ตรงม่านสกัดหัวเรือท้ายเรือมีม่านยืดออกไปในน้ำ บังมิให้เจ้าพนักงานที่อยู่หัวเรือท้ายเรือแลเห็นเข้ามาข้างใน ต่อเมื่อเวลาจะปล่อยเรือกระทงจึงได้ชักม่าน ข้างเหนือมีม่านทองสกัดเสมอแนวพนักข้างในอีกชั้นหนึ่งเพราะใกล้ที่ประทับ ในระหว่างม่านนั้นเป็นที่สำหรับท้าวนางเถ้าแก่ประจำคอยรับเรือกระทง ข้างใต้เป็นที่สำหรับเจ้าคุณท้าวนางเถ้าแก่หรือเจ้านายซึ่งไม่ต้องจุดกระทงเฝ้าในเรือบัลลังก์ลำนอก เรือบัลลังก์ลำในเป็นที่พนักงานนั่งนอกพนัก ในพนักเป็นที่เจ้าจอมอยู่งานนั่ง ส่วนในพนักเรือบัลลังก์ลำนอกนั้นทอดพระยี่ภู่ตั้งพระแสงเป็นที่ประทับ มีเจ้าจอมอยู่งานเฝ้าอยู่ในนั้นแต่เฉพาะที่เชิญเครื่อง กับพระเจ้าลูกเธอที่ตามเสด็จ ชานเรือบัลลังก์ลำนอกตรงช่องพนักทอดที่ประทับเป็นที่ทรงจุดกระทง ต่อนั้นไปเป็นที่เจ้านายและเจ้าจอมจุดกระทง ที่หัวเรือบัลลังก์นอกม่านมีเจ้าพนักงานลงประจำคือกรมวัง ๑ กรมทหารในจางวางเจ้ากรมปลัดกรมขุนหมื่น ๘ กรมพระแสงต้น ๑ กรมพระตำรวจนายเรือ ๒ รวมหัวเรือ ๑๒ ท้ายเรือบัลลังก์กรมวัง ๑ จางวางหัวหมื่นมหาดเล็ก ๖ กรมทหารในเจ้ากรมปลัดกรมขุนหมื่น ๗ กรมพระแสงต้น ๑ กรมตํารวจนายเรือ ๑ ภายหลังเติมราชเอดเดอแกมป์คน[๑] ๑ บ้าง ๒ คนบ้าง และเติมทหารปืนแคตตลิงกัน[๒] ๑ ข้างหัวเรือบัลลังก์มีโขลนลงเรือสำปั้น มีโคมเพชรจอดประจําอยู่เสมอแนวที่เจ้าคุณนั่งลำ ๑ ข้างท้ายเรือบัลลังก์มีเรือทหารในลำ ๑ เรือพันพรหมราชสำหรับปล่อยกระทงลํา ๑ การล้อมวงในลําน้ำทอดทุ่นเป็นสามสาย สายในมีแพหยวกรายเป็นระยะ มีไต้ประจําทุกแพตลอดหน้าเรือบัลลังก์ เรือประจําทุ่นสายในข้างเหนือน้ำ กรมกองตระเวนขวา ๑ กรมกองกลางขวา ๑ ประตูกรมพระกลาโหม ๑ เจ้ากรมพระตํารวจนอกขวา ๑ เจ้ากรมพระตํารวจสนมขวา ๑ เรือกรมสรรพากรในสรรพากรนอก ๑ ใต้น้ำหัวเรือบัลลังก์ทุ่นสายในกรมกองตระเวนซ้าย ๑ เรือประตูกรมมหาดไทย ๑ กรมกองกลางซ้าย ๑ เจ้ากรมพระตํารวจนอกซ้าย ๑ เจ้ากรมพระตำรวจสนมซ้าย ๑ เรือทุ่นกรมท่ากลาง ๑ ภายหลังนี้เติมเรือทหารทอดสมอสกัดเหนือน้ำท้ายน้ำขึ้นอีก ข้างเหนือน้ำกรมทหารหน้า ๔ ลํา ข้างใต้น้ำทหารหน้า ๒ ลํา

ทุ่นสายกลางเหนือน้ำ เรือทุ่นกรมอาสาจาม ๒ ลํา เรือทุ่นกรมเรือกันขวา ๑ เรือสิงโตกรมอาสาใหญ่ขวา ๑ เรือสางกรมทวนทองขวา ๑ เรือเหรากรมอาสารองขวา ๑ เรือกิเลนกรมเขนทองขวา ๑ เรือทุ่นสามพระคลังทอดเชือก ๑ ข้างใต้น้ำ เรือกรมอาสาจาม ๒ ลํา เรือกรมเรือกันซ้าย ๑ เรือสิงโตกรมอาสาใหญ่ซ้าย ๑ เรือสางกรมทวนทองซ้าย ๑ เรือเหรากรมอาสารองซ้าย ๑ เรือกิเลนกรมเขนทองซ้าย ๑ เรือทุ่นสามพระคลังทอดเชือก ๑

ที่ทุ่นกลางตรงหน้าบัลลังก์ มีเรือดอกไม้เพลิง ๒ ลํา เรือพิณพาทย์เหนือน้ำ ๑ ลํา ท้ายน้ำ ๑ ลํา เรือกลองแขกเหนือน้ำ ๑ ลํา ท้ายน้ำ ๑ ลํา มีเรือเจ้ากรมพระตํารวจในซ้าย ๑ ใหญ่ซ้าย ๑ อยู่ใต้น้ำ เรือเจ้ากรมตํารวจในขวา ๑ ใหญ่ขวา ๑ อยู่เหนือน้ำ จับทุ่นสายกลางทั้งสิ้น มีเรือทหารปืนใหญ่เติมใหม่อยู่นอกทุ่นสายกลางเหนือน้ำ ๑ ลํา ท้ายน้ำ ๑ ลํา

ทุ่นสายนอกเหนือน้ำ มีเรือกรมกองตระเวนขวา ๑ เรือประตูกรมมหาดไทย ๑ เรือทุ่นกรมอาสาวิเศษขวา ๑ กรมทําลุขวา ๑ กรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่งขวา ๑ กรมคู่ชักขวา ๑ ท้ายน้ำกรมกองตระเวนซ้าย ๑ เรือประตูกรมพระกลาโหม ๑ เรือกรมอาสาวิเศษซ้าย ๑ กรมทําลุซ้าย ๑ กรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่งซ้าย ๑ กรมคู่ชักซ้าย ๑

บรรดาเรือที่ทอดทุ่นทั้งปวงมีปืนหลักทอง ปืนจ่ารงค์ มีโคมเพชรโคมสานประจําทุกลําเรือ แต่เจ้ากรมพระตํารวจนั้นแห่เสด็จลงไปถึงท่าราชวรดิษฐ์แล้วจึงได้ลงเรือไปจับทุ่นตามหน้าที่ เวลาเสด็จขึ้นเจ้ากรมพระตำรวจไม่ได้แห่เสด็จ ในเวลาเมื่อลอยพระประทีปนั้นมีเรือคอนปักโคมกลีบบัวพายขึ้นล่องอยู่ทั้งข้างนอกข้างในทุ่นสายในจนตลอดเวลาเสด็จขึ้น บนฝั่งข้างฝั่งตะวันตกมีเจ้ากรมปลัดกรมไพร่หลวงประจํารักษาตรงหน้าเรือบัลลังก์ ๕ กอง ข้างฝั่งตะวันออกบนชลาพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยมีพิณพาทย์ผู้หญิงสำรับ ๑ โขลนนั่งรายตามชลาเจ้าจอมอยู่งานประจําโมงยามและเถ้าแก่รับเสด็จบนพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย ทหารรักษาป้อม ๒ ป้อมและรายทางตลอดเข้ามาจนในพระบรมมหาราชวัง เจ้ากรมปลัดกรมไพร่หลวงตั้งกองอีก ๒ กอง คือข้างใต้ฉนวนกอง ๑ ท่าขุนนางกอง ๑

กระทงหลวงซึ่งสำหรับทรงลอยที่มีมาแต่เดิมนั้น คือเรือรูปสัตว์ต่างๆ เรือศรี เรือชัย เรือโอ่ เรือคอน และมีเรือหยวกติดเทียน ๒ เล่มธูปดอก ๑ ห้าร้อย แต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าโปรดให้ลดเรือหยวกลงเสีย เหลืออยู่สี่สิบห้าสิบลำ และเรือที่ลอยประทีปนั้นของหลวงชำรุดทรุดโทรมไป โปรดให้ขอแรงพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทําขึ้นทุกกรม เรือหลวงที่ยังเหลืออยู่ เรือพระบรมวงศานุวงศ์ที่สิ้นพระชนม์ส่งมาเป็นหลวงถวายทรงจุดก่อนตอนหนึ่ง แล้วจึงถึงเรือสำเภาซึ่งพระยาโชฎึกราชเศรษฐีเป็นผู้แต่ง แล้วจึงถวายเรือพระบรมวงศานุวงศ์ต่อไป แต่เรือข้าราชการนั้นเป็นเรือกระบวน เมื่อรับสั่งให้ปล่อยเมื่อใดจึงจุดเทียนปล่อยมาตามกลางน้ำหว่างทุ่นชั้นในกับเรือบัลลังก์ เคยปล่อยอยู่ในเวลาจุดดอกไม้

เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ปีระกาสัปตศก ๑๑๘๗ ปีจออัฐศก ๑๑๘๘ โปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการทํากระทงใหญ่ถวาย เจ้าพระยาทิพากรวงศ์จดหมายไว้ว่า “ครั้นมาถึงเดือนสิบสองขึ้นสิบสี่ค่ำ สิบห้าค่ำ แรมค่ำหนึ่ง พิธีจองเปรียงนั้นเดิมได้โปรดให้ขอแรงพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าฝ่ายใน และข้าราชการมีกําลังพาหนะมากทํากระทงใหญ่ ผู้ต้องเกณฑ์ต่อเป็นถังบ้าง ทําเป็นแพหยวกบ้าง กว้างแปดศอกบ้าง เก้าศอกบ้าง กระทงสูงตลอดยอดสิบศอกสิบเอ็ดศอก ทําประกวดประขันกันต่างๆ ทําอย่างเขาพระสุเมรุทวีปทั้ง ๔ บ้าง และทําเป็นกระจาดชั้นๆ บ้าง วิจิตรไปด้วยเครื่องสด คนทําก็นับร้อย คิดในการลงทุนทํากระทง ทั้งค่าเลี้ยงคนเลี้ยงพระช่างเบ็ดเสร็จก็ถึงยี่สิบชั่งบ้าง ย่อมกว่ายี่สิบชั่งบ้าง กระทงนั้นวันสิบสี่ค่ำเครื่องเขียว สิบห้าค่ำเครื่องขาว แรมค่ำหนึ่งเครื่องแดง ดอกไม้สดก็เลือกหาตามสีกระทง และมีจักรกลไกต่างกันทุกกระทง มีมโหรีขับร้องอยู่ในกระทงนั้นก็มีบ้าง เหลือที่จะพรรณนาว่ากระทงท่านผู้นั้นทําอย่างนั้นๆ คิดดูการประกวดประขันจะเอาชนะกัน คงวิเศษต่างๆ กัน เรือมาดูกระทงตั้งแต่บ่าย ๔ โมง เรือชักลากกระทงขึ้นไปเข้าที่แต่บ่าย ๕ โมง เรือเบียดเสียดสับสนกันหลีกไม่ใคร่จะไหวดูเป็นอัศจรรย์ เรือข้าราชการและราษฎรมาดูเต็มไปทั้งแม่น้ำ ที่ต้องขอแรงทำกระทงนั้น ในพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ คือ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ ๑ กรมหมื่นรักษ์รณเรศ (คือหม่อมไกรสร) ๑ กรมหมื่นเดชอดิศร (คือกรมสมเด็จพระเดชาดิศร) ๑ กรมหมื่นพิพิธภูเบนทร์ (คือกรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์) ๑ ขุนนาง ท่านเจ้าพระยาอภัยภูธร ๑ ท่านเจ้าพระยาพระคลัง (คือสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่) ๑ ท่านเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ (คือสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย) ๑ พระยาพิชัยวารี (คือเจ้าพระยานิกรบดินทร์) ๑ พระยาราชมนตรี (ภู่) ๑ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน) ๑ รวม ๑๐ กระทง”

คำเล่าถึงกระทงใหญ่ ๒ ปีนี้มีพิสดารเรื่องราวยืดยาวมาก ครั้นจะว่าก็จะยืดยาวหนักไป เห็นว่าที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่าไว้นี้ก็พอสมควรอยู่แล้ว แต่กระทงใหญ่เช่นนี้ไม่มีต่อไป เพราะทรงทราบว่าต้องลงทุนมาก จึงให้เลิกเสีย เจ้านายข้าราชการฝ่ายในจึงรับทํากระทงใหญ่แทน กระทงใหญ่ฝ่ายในเช่นที่ทำกันนี้น่าสงสัยว่าจะมีมาแต่รัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ แล้ว แต่ไม่ปรากฏในจดหมายแห่งใด และไม่มีตัวผู้ที่จะบอกเล่า จึงไม่สามารถที่จะกล่าวว่าเป็นธรรมเนียมเดิมได้ กระทงข้างในนั้นขนาดย่อมลงมาเพียง ๓ ศอก ๔ ศอก จนถึง ๖ ศอก ในชั้นหลังลงมาตัวผู้ที่ทํานั้น คงเป็นผู้ทํายืนที่ประจําทั้ง ๓ วันอยู่แต่กรมขุนกัลยาสุนทร กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ และเจ้าคุณปราสาท นอกนั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอเข้ากันทําวันละกระทง พระเจ้าน้องนางเธอเข้ากันทําวันละกระทงหนึ่งบ้างสองกระทงบ้าง พระองค์เจ้าดวงเดือนมีวันหนึ่ง พระองค์เจ้าวังหน้าซึ่งเสด็จลงมาอยู่ในพระบรมมหาราชวังทําวันหนึ่ง คงอยู่ในมีกระทงวันหนึ่งเจ็ดกระทงแปดกระทง ใช้ประดับด้วยเครื่องสด รูปภาพฟักทองมะละกอ ไม่มีเครื่องกลไกอันใด รูปกระทงก็ยืนที่ไม่ได้เปลี่ยน ผู้ใดเคยทําอย่างใดก็ทําตามเคย ประกวดประขันกันแต่รูปภาพเครื่องสดและดอกไม้ที่ร้อยประดับตกแต่ง กระทงหนึ่งก็สิ้นอยู่ในสองชั่งสามสิบตำลึง มีมาจนตลอดรัชกาลที่ ๓ รูปกระทงเหล่านี้เขียนอยู่ที่วัดยานนาวารามหลายอย่าง

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ มีติดต่อมาอีก ๒ ปี ทรงทราบว่าเป็นการเปลืองเงิน พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในมีผลประโยชน์น้อยจึงโปรดให้เลิกเสีย เกณฑ์เรือพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าเติมขึ้นตามที่กล่าวมาแล้ว และภายหลังจึงโปรดให้มีเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือชัยแต่งแทนกระทงใหญ่สองลํา บรรดาเครื่องสูงที่ประจําตามกระทงเปลี่ยนเป็นฉัตรเทียน หว่างฉัตรมีบังแทรก ธงที่นักสราชถือหัวเรือท้ายเรือก็มีเทียนประจํา ตามกระทงเรือตั้งเชิงเทียนใหญ่ มีเทียนเล่มยาวๆ จุดทุกกระทง ในบุษบกเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชตั้งพระพุทธสิหิงค์น้อย หน้าบุษบกตั้งเครื่องนมัสการทองทิศ แต่เรือชัยลำหลังตั้งพานพุ่มไม่มีเครื่องนมัสการ ทรงจุดเทียนเรือพระที่นั่งสองลำก่อน แล้วจึงได้จุดเทียนเรือกระทงต่อไป เรือพระที่นั่งนั้นพายร้องเห่ล่องลงไปตามลำน้ำ แล้วจึงทวนน้ำกลับขึ้นมาในระหว่างทุ่นสายกลางกับสายนอก

ครั้นถึงในแผ่นดินปัจจุบันนี้ เรือชัยลำหลังเปลี่ยนเป็นเรือสุพรรณหงส์ซึ่งชำรุดทรงซ่อมแซมขึ้นใหม่บ้าง พระพุทธรูปพุทธสิหิงค์น้อย ยกเป็นพระพุทธรูปประจําพระชนมพรรษาวันรัชกาลที่ ๔ จึงได้เปลี่ยนพระไชยวัฒน์ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ลงในเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชแทน ส่วนกระทงใหญ่นั้นทรงพระปรารภว่ายังไม่เคยทอดพระเนตรมาแต่เดิม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมสมเด็จพระบําราบปรปักษ์ และพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน จึงได้พร้อมกันทําถวายทอดพระเนตร กระทงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอนั้นมีเครื่องจักรกลไกอย่างกระทงข้างหน้าแต่ก่อน แต่กระทงพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในเป็นอย่างกระทงข้างใน เมื่อได้ทอดพระเนตรแล้ว ก็ไม่ได้โปรดให้มีต่อไปทุกปี นานๆ จึงจะมีคราวหนึ่ง จนในครั้งหลังที่สุดนี้ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชเทวี พระนางเจ้าพระราชเทวี ได้ทําถวายเป็นอย่างกระทงข้างหน้า มีเครื่องจักรกลไกทั้งสามกระทงอีกคราวหนึ่ง กระทงใหญ่นั้นทรงจุดภายหลังเมื่อสิ้นเรือลอยประทีปทั้งปวง ถ้าปีใดมีกระทงใหญ่ก็เป็นการครึกครื้นเอิกเกริกยิ่งกว่าทุกปี

อนึ่ง การลอยพระประทีปนั้น แต่เดิมมาข้าราชการซึ่งเข้ามาเฝ้าในพระบรมมหาราชวัง สิ้นเวลาแล้วก็ต่างคนต่างกลับไปบ้าน อยู่แต่ที่ต้องประจําราชการในหน้าที่ แต่ครั้นเมื่อปีที่มีกระทงใหญ่ ท่านเสนาบดีผู้ซึ่งถูกเกณฑ์กระทง ทึ่งหรือเหวกระทงของตัวลงไปคอยรับเสด็จอยู่ที่หลังตำหนักแพ ครั้นเมื่อเสด็จพระราชดําเนินลงไปถึงที่นั้น ก็ได้ทรงทักทาย เวลาเสด็จขึ้นก็พระราชทานส่วนพระราชกุศลและชมเชยกระทงต่างๆ บ้าง ครั้นภายหลังมาถึงว่าการที่เกณฑ์กระทงใหญ่นั้นเลิกแล้ว ท่านผู้ใหญ่ทั้งปวงก็ปรึกษากันเห็นว่าการซึ่งข้าราชการตามเสด็จลงไปอยู่หลังตําหนักแพนั้นเป็นการสมควร ด้วยประเพณีจะเสด็จออกจากพระราชวังไปในที่แห่งใด มีเสด็จพระราชดําเนินเยี่ยมไข้ และพระราชทานเพลิงเป็นต้น ท่านเสนาบดีและข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยก็ต้องไปรับเสด็จพระราชดําเนินทุกแห่ง การลอยพระประทีปนี้เป็นเวลาเสด็จออกจากพระราชวังเวลากลางคืน ก็สมควรจะมีข้าราชการลงไปรักษาอยู่ด้านหลังให้เป็นการมั่นคงแข็งแรงยิ่งกว่าเวลาอื่น เมื่อท่านผู้ใหญ่ปรึกษาพร้อมกันดังนี้แล้วก็ได้มาคอยเฝ้าประจำอยู่จนเวลาเสด็จขึ้นทุกวัน ทั้งเดือนสิบเอ็ดเดือนสิบสอง จนตลอดอายุของท่านผู้ต้นปรึกษาทั้งปวงนั้น ครั้นตกมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านเสนาบดีสำรับเก่ายังอยู่บ้าง สำรับใหม่ก็ทําตามกันเป็นธรรมเนียมยั่งยืนมา ในฤดูเดือนสิบเอ็ดมักจะยังไม่ขาดฝน ข้าราชการที่มาคอยรับเสด็จต้องเปียกฝน จึงโปรดให้ต่อเฉลียงเป็นหลังคาเก๋งออกมาจากฉนวน เป็นที่สำหรับข้าราชการเฝ้า แต่เฉลียงนั้นเป็นอย่างเตี้ยๆ สำหรับหมอบ ครั้นแผ่นดินปัจจุบันนี้เปลี่ยนเป็นยืน ข้าราชการเข้าไปยืนในนั้นก็ไม่แลเห็นหน้า ครั้นเมื่อปีจออัฐศกกีดทางแห่ลงสรงจึงได้รื้อเสีย ยังหาได้ทําขึ้นใหม่ไม่ แต่ท่านเสนาบดีที่มาเฝ้าอยู่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ครั้นภายหลังลงมาเสด็จลงลอยพระประทีปดึกๆ หนักเข้า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าเสนาบดีอยู่ในเวลานั้น นอนหัวค่ำเว้นไม่ได้ มาบ้างไม่มาบ้าง จนปลายๆ ลงมา พอเกิดเลิกธรรมเนียมเสนาบดีเข้าวังก็เลยหายสูญไปด้วยกันทั้งหมด คงมาอยู่แต่ปลัดทูลฉลองและข้าราชการที่หมั่นๆ เฝ้าประจำอยู่ จนตลอดมาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้[๓]

กำหนดที่หมายในการเสด็จลงลอยพระประทีป พอเสด็จพระราชดำเนินถึงเกย ก็ชักโคมสัญญาณขึ้นที่เสาธง เมื่อโคมขึ้นแล้วจึงประโคมพิณพาทย์กลองแขกและแตรวงทั่วกัน เมื่อเสด็จลงประทับในเรือบัลลังก์แล้วรออยู่จนเรือตํารวจออกจับทุ่น จึงได้เสด็จพระราชดําเนินออกประทับที่ชานเรือบัลลังก์ พระเจ้าลูกเธอที่ทรงพระเยาว์บางองค์ออกประทับด้วย แต่มักใช้รัดตะคดรัดบั้นพระองค์ไว้กับเสาพนัก ข้างขวาเป็นที่สมเด็จพระบรมราชเทวี พระราชเทวี ประทับจุดเทียนข้างตอนท้ายเรือกระทงข้างซ้าย ธรรมเนียมในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า มีพระเจ้าลูกเธอพระองค์หนึ่งบ้างสองพระองค์บ้าง คือกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพเป็นต้น ต่อนั้นไปเจ้าจอมอยู่งานที่เป็นคนโปรดผลัดเปลี่ยนกันอีก ๔ คน ครั้นมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า แต่แรกเจ้าจอมอยู่งานจุด แต่ครั้นเมื่อมีเหตุการณ์ถ้อยความขึ้น ก็เปลี่ยนเป็นพระเจ้าน้องนางเธอ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอจุด แล้วก็กลับเป็นเจ้าจอมอยู่งานบ้าง เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ พระเจ้าน้องนางเธอจุดเสมอตลอดมา คงอยู่อย่างเช่นเมื่อในปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอันใด เมื่อจุดเรือกระทงไปถึงเรือสำเภามาเป็นกําหนดจุดดอกไม้ จึงทรงจุดดอกไม้ชนวน เมื่อเรือดอกไม้เห็นดอกไม้ชนวนที่เรือบัลลังก์ จึงได้จุดดอกไม้มีพุ่ม, กระถาง, ระทา, พุ่มตะไล, พะเนียงมะพร้าว, กรวด, พลุ, มะพร้าว และมีเรือทหารในจุดดอกไม้น้ำในทุ่นชั้นในไปกว่าจะเสด็จขึ้น ในเรือบัลลังก์มีดอกไม้น้ำถวายทรงจุดสองตะลุ่ม

อนึ่ง ในเดือนสิบสองนี้ มีเรือผ้าป่าของหลวงเรียกว่าผ้าป่าบรรดาศักดิ์คืนละ ๘ ลํา ยึดทุ่นสายกลางอยู่ข้างเหนือน้ำ ผ้าป่านี้พระราชทานแด่พระราชาคณะ พระครูหัวเมือง ที่เข้ามาในการฉลองไตรเปลี่ยนไปวันละ ๘ รูป เวลาลอยพระประทีปแล้วทรงพระเต้าษิโณทกแล้วเสด็จขึ้น ลดโคมสัญญาณเป็นกําหนด

อนึ่ง การทอดผ้าป่าวิเศษซึ่งเป็นของหลวง แต่ก่อนเคยมีมาบ้างเป็นครั้งเป็นคราว แต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีผ้าป่าวัดปทุมวันติดๆ กันไปหลายปี พึ่งมาขาดตอนในปลายแผ่นดิน ในการผ้าป่านั้นเสด็จพระราชดําเนินโดยเรือกระบวนอย่างพระราชทานพระกฐิน เวลาบ่ายพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ในพระอุโบสถ มีเรือกระจาดผ้าป่าจอดเรียงรายอยู่ในน้ำหน้าพระอุโบสถ มีเครื่องประโคมพิณพาทย์และการเล่นคือเพลงและลาวขับแพนเป็นต้น เล่นในเรือเวลาสวดมนต์จบ ประทับแรมที่พระที่นั่งเก๋งที่ริมสระนั้นคืนหนึ่ง เวลารุ่งเช้าพระสงฆ์รับบิณฑบาตเรือในสระ ๓๐ รูป เวลาเพลรับพระราชทานฉันแล้ว เสด็จพระราชดําเนินกลับ


หัวข้อ: Re: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 20 มิถุนายน 2561 16:11:27
เดือนสิบสอง
การลอยพระประทีป (ต่อ)

ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ มีที่วัดปทุมวันครั้งหนึ่ง เป็นการเอิกเกริกโกลาหลยิ่งใหญ่ ขอแรงพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการแต่งเรือผ้าป่า ตามแต่ผู้ใดจะแต่งอย่างไร บ้างก็ทําเป็นรูปยักษ์รูปสัตว์ต่างๆ บ้างก็เป็นกระจาดซ้อนกันสามชั้นห้าชั้น ประกวดประขันกันโดยความคิด แล้วมีเรือการเล่นต่างๆ ละคร มอญรำ ขับแพน เพลง เสภารำ พิณพาทย์หลายสำรับ ชักผ้าป่าผ่านหน้าพระที่นั่งชลังคณพิมาน[๔]เป็นกระบวนแห่ มีเรือราษฎรมาช่วยแห่ผ้าป่าหลายร้อยลํา ชักผ้าป่าแต่เวลากลางวันจนเวลาค่ำ จึงได้ถึงปทุมวัน แล้วจอดเรือผ้าป่าเรียงรายอยู่ตามในสระตอนข้างหน้าวัด วางเรือการเล่นเป็นระยะไปรอบสระ มีเรือราษฎรเข้าไปขายของกินต่างๆ ตามแต่ผู้ใดจะไป ในเวลาค่ำวันนั้นเรือราษฎรที่ไปดูผ้าป่าเต็มแน่นไปทั้งสระ จนเวลาจวนสว่างจึงได้ทอดผ้าป่า ประทับแรมคืนหนึ่ง และสวดมนต์เลี้ยงพระเหมือนอย่างแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผ้าป่าวัดปทุมวันนี้คงได้ทอดอยู่ในข้างแรมเดือน ๑๒ เวลาฉลองไตรปีแล้วทุกครั้ง ต่อมาเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปประทับอยู่บางปะอินเนืองๆ เมื่อยังไม่ได้สร้างวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ ก็ได้มีการผ้าป่าวัดชุมพลนิกายาราม มีกระบวนแห่บ้างไม่มีบ้าง เสด็จพระราชดําเนินเข้าในกระบวนแห่ก็มี เป็นการเบ็ดเตล็ดนอกธรรมเนียม เครื่องของไทยทานเป็นของหลวงบ้าง ของกรมพระตํารวจและมหาดเล็กที่ตามเสด็จพระราชดําเนินจัดถวายช่วยในการพระราชกุศล คนละสิ่งสองสิ่งบ้าง ครั้นเมื่อมีวัดนิเวศน์ธรรมประวัติก็เพิ่มจํานวนของผ้าป่ามากขึ้นพอทั้งสองวัด เวลาค่ำมีการฉลองผ้าป่าในสระ มีเรือการเล่นต่างๆ ตามสมควร และเรือราษฎรที่อยู่ในหมู่บ้านเหล่านั้นเข้ามาดูการเล่นเป็นอันมาก ครั้นเวลาดึกก็ชักผ้าป่าไปทอดทั้งสองวัด เสด็จพระราชดำเนินบ้าง ไม่ได้เสด็จบ้าง มีแต่การทรงบาตร ไม่ได้สวดมนต์เลี้ยงพระ ถ้าปีใดเสด็จพระราชดําเนินพระราชทานพระกฐินเดือน ๑๑ ก็มีผ้าป่าเดือน ๑๑ ถ้า พระราชทานพระกฐินเดือน ๑๒ ก็มีผ้าป่าเดือน ๑๒ ถ้าไม่ได้เสด็จพระราชดําเนิน การผ้าป่านั้นก็เลิก ถ้ามีที่เสด็จพระราชดําเนินขึ้นไปเมืองลพบุรี ก็มีผ้าป่าวัดมณีชลขันธ์ เพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่ง ราษฎรชักผ้าป่าแห่ไปตามลําน้ำตั้งแต่เวลาเช้า ตามแต่พวกใดจะพาไปแห่งใดไม่มีกําหนด ต่อเวลาค่ำจึงได้มาจอดเรือที่หน้าแพที่ประทับในท้องพรหมาศ มีการเล่นและจุดดอกไม้เพลิงเป็นการฉลอง จนเวลาดึกจึงได้ชักผ้าป่าไปทอด การทอดผ้าป่าตามวัดต่างๆ เช่นนี้ไม่เป็นการมีเสมอ เป็นการนอกแบบ แล้วแต่จะโปรดให้มีแห่งใดก็มีขึ้นเป็นครั้งเป็นคราว วัดอื่นๆ ที่ไม่เคยมีผ้าป่า เช่นวัดราชบพิธเป็นต้นก็มี จะพรรณนาก็จะยืดยาวไป ๚

-------------------------------------------------------------------------------------
[๑] คือราชองครักษ์ เมื่อทรงพระราชนิพนธ์ยังเรียกกันว่า ราชเอดเดอแกมป์
[๒] คือ ปืนกล
[๓] ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อทรงจัดสภาเสนาบดีแล้ว มีการประชุมเสนาบดีไม่ขาด ถึงไม่ใช่วันประชุม เสนาบดีต้องเข้ามาเฝ้าทุกวัน คราวมีราชการก็ต้องผลัดเปลี่ยนกัน หรือพร้อมกันนอนประจํา
ในพระบรมมหาราชวัง
[๔] พระที่นั่งองค์นี้อยู่ในหมู่พระที่นั่งท่าราชวรดิษฐ์ เดี๋ยวนี้รื้อเสียแล้ว
 

เดือนสิบสอง
พระราชกุศลกาลานุกาล

๏ การพระราชกุศลซึ่งเรียกว่า กาลานุกาลตามเคย เป็นการเกิดขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพิเศษขึ้นกว่าเก่าที่เคยมีแต่สงกรานต์ครั้งหนึ่ง มีเดือนเว้นอยู่ห้าเดือน คือเดือนเจ็ด เดือนเก้า เดือนอ้าย เดือนยี่ เดือนสาม เดือนนอกนั้นมีต่อท้ายการพระราชพิธี หรือการพระราชกุศลทุกๆ เดือน ในเดือนสิบสองนี้กาลานุกาลควรจะตกอยู่ในวันแรมค่ำหนึ่งเหมือนเดือนสิบเอ็ด แต่เพราะเวลาเช้ายังติดเลี้ยงพระสงฆ์ฉลองไตร ซึ่งปันเปลี่ยนกันฉันเป็นสามพวก เป็นพระสงฆ์มีจำนวนมาก จึงได้แยกไปทำเสียในวันแรมสองค่ำ ต่อการฉลองไตร อนึ่งพระสงฆ์ซึ่งต้องนิมนต์สดับปกรณ์กาลานุกาลตามรายองค์พระอัฐิในจำนวนเดือนสิบสองนี้ ก็ใช้พระราชาคณะฐานานุกรมเปรียญหัวเมืองซึ่งต้องแบ่งฉันในวันแรมค่ำหนึ่งนั้นด้วย การพระราชกุศลกาลานุกาลในเดือนสิบสองนี้ทำที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ไม่ได้ยกไปพระที่นั่งอนันตสมาคมตามการฉลองไตร ด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดให้เชิญพระบรมอัฐิและพระอัฐิไปตั้งที่พระที่นั่งอนันตสมาคมแต่เดิมมา เมื่อติดการตกแต่งหรือซ่อมแซมพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ก็ได้ทำที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทบ้าง พระที่นั่งสุทไธศวรรย์บ้าง จำนวนพระบรมอัฐิพระอัฐิซึ่งสดับปกรณ์ในวันกาลานุกาลทั้งปวงเท่ากันทุกๆ เดือน เว้นไว้แต่สงกรานต์ พระสงฆ์นั้นใช้พระอารามซึ่งเป็นที่พระอัฐินั้นได้ทรงปฏิสังขรณ์หรือสร้างขึ้นใหม่ ถ้าพระอัฐิใดไม่ได้ทรงปฏิสังขรณ์และทรงสร้างพระอาราม ก็ใช้พระอารามซึ่งเป็นที่พระญาติวงศ์อันใกล้ชิดได้ทรงสร้างและทรงปฏิสังขรณ์ หรือที่พระสงฆ์องค์นั้นนับเนื่องในพระวงศ์ทางหนึ่งทางใด ก็ใช้ได้บ้าง ในการกาลานุกาลอื่นๆ พระสงฆ์มักจะคงเหมือนกันทุกๆ คราว ไม่ใคร่เปลี่ยนแปลง แต่ในเดือนสิบสองนี้เปลี่ยนเป็นหัวเมือง มีพระนามและรายชื่อวัดตามที่ได้จดหมายต่อไปนี้

๑.พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก วัดสุวรรณดาราราม
๒.พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย วัดชัยพฤกษ์มาลา
๓.พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดศาลาปูน
๔.พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดเสนาสนาราม
๕.สมเด็จพระปฐมบรมมหาปัยกาธิบดี วัดสุวรรณดาราราม
๖.กรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี วัดพนัญเชิง
๗.กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ วัดปฐมเจดีย์
๘.สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี วัดอัมพวันเจติยาราม
๙.กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ วัดอัมพวันเจติยาราม
๑๐.กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ วัดเสนาสนาราม
๑๑.กรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย วัดคงคาราม
๑๒.กรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ
๑๓.สมเด็จพระปฐมบรมอัยยิกาเธอ วัดอัมพวันเจติยาราม
๑๔.สมเด็จพระเจ้าอัยยิกาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ วัดบรมวงศ์อิศรวราราม
๑๕.สมเด็จพระเจ้าอัยยิกาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพวดี วัดเจ้าคณะใหญ่ในเมืองราชบุรี
๑๖.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑลโสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกษัตริย์ วัดมหาสมณาราม
๑๗.สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ
๑๘.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ
๑๙.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ
๒๐.สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าตรีเพชรุตม์ธำรง วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ
๒๑.สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ
๒๒.สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ วัดปรมัยยิกาวาส
๒๓.สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี วัดชุมพลนิกายาราม
๒๔.พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ
๒๕.พระชนกในกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย วัดศาลาปูน
๒๖.พระชนกในกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ วัดกระวิศราราม
๒๗.พระชนนีในกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย วัดศาลาปูน
๒๘.พระชนนีในกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ

พระพุทธรูปซึ่งตั้งในการกาลานุกาลนี้ ใช้พระชนมพรรษาวันในรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ เป็นพระพุทธรูปอุ้มบาตร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นด้วยทองคำ แล้วทรงพระราชอุทิศถวายทั้ง ๒ พระองค์ พระห้ามสมุทรสำหรับรัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างขึ้นด้วยทองคำในแผ่นดินปัจจุบันนี้ แล้วทรงพระราชอุทิศถวาย พระพุทธสิหิงค์จำลองประจำรัชกาลที่ ๔ พระพุทธรูปยืนอุ้มบาตรตามพระชนมพรรษาวันกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระพุทธรูปยืนถวายเนตรตามพระชนมพรรษาวันกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ทรงหล่อด้วยทองคำในรัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชอุทิศถวาย พระพุทธรูปสมาธิทรงหล่อด้วยทองคำในรัชกาลปัจจุบันนี้ ทรงพระราชอุทิศถวายกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ เป็นพระพุทธรูป ๗ องค์ด้วยกัน

เวลาเช้าเสด็จออกพระสงฆ์ฉัน เมื่อทรงประเคนแล้วเจ้าพนักงานกรมภูษามาลา จึงได้เชิญพระบรมอัฐิพระอัฐิ ทรงพระราชยานกงสี่ คือพระราชยานกงองค์หนึ่งพระบรมอัฐิ และพระอัครมเหสี และพระญาติวงศ์อันสนิทในรัชกาลนั้นรวมกันไป แล้วจึงมีพระเสลี่ยงเชิญพระอัฐินอกนั้นต่อไปอีก พระบรมอัฐิพระอัฐิที่ตั้งบนพระที่นั่งเศวตฉัตร[๑] คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสี่พระองค์ สมเด็จพระปฐมบรมมหาปัยกาธิบดี กรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ สมเด็จพระศรีสุลาลัย สมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ สมเด็จพระเจ้าปฐมบรมอัยยิกาเธอ สมเด็จพระเจ้าอัยยิกาเธอ กรมหลวงศรีสุนทรเทพ กรมหลวงเทพวดี สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑลโสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกษัตริย์[๒] ตั้งที่ชั้นลดพระที่นั่งเศวตฉัตร สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย เจ้าฟ้าตรีเพชรุตม์ธำรง เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ ตั้งที่โต๊ะจีนข้างพระที่นั่งเศวตฉัตร สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ พระชนกในกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระชนกในกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระชนนีในกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระชนนีในกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์[๓] มีเครื่องทองน้อย ตั้งที่ฐานเคียงพระที่นั่งเศวตฉัตรด้านตะวันออก สำหรับทรงนมัสการพระบรมอัฐสี่สำรับ พระสงฆ์ฉันแล้วทรงทอดผ้าห่มนอนสองชั้น มีฉลากพระนามพระอัฐิสดับปกรณ์ แล้วถวายไทยธรรมหมากพลูธูปเทียนร่มรองเท้า แล้วมีสดับปกรณ์อีก ๕๐๐ รูป พระสงฆ์ที่มาฉันขึ้นไปสดับปกรณ์ในพระราชวังบวรฯ ๕ รูป คือกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท วัดสุวรรณดาราราม กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ วัดทรงธรรม กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ วัดไพชยนต์พลเสพ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดสมุหประดิษฐ กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ วัดศาลาปูน แล้วมีสดับปกรณ์รายร้อยอีก ๑๐๐ รูป พระราชทานสดับปกรณ์พระอัฐิพระบรมวงศานุวงศ์ในหอพระนาค ๑๐๐ รูป

อนึ่ง ในการฉลองไตร สามเณรเปรียญที่ได้รับไตรปีได้เข้ามาบิณฑบาตในพระบรมมหาราชวังทั้ง ๓ วัน แต่ไม่ได้ฉัน จึงได้เคยยกมาฉันในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พร้อมกับวันพระราชกุศลกาลานุกาลนี้ด้วยแถวหนึ่งต่างหาก

การซึ่งมักจะขาดในการพระราชกุศลกาลานุกาลนี้ คือหุ้มแพรไม่ได้เป็นธุระในการตั้งเครื่องนมัสการ ให้แต่มหาดเล็กเวรไปตั้ง ครั้นเมื่อถวายเทียนชนวนทรงจุดตะบะถมแล้วก็นึกว่าเป็นพอ สิ้นธุระ ครั้นเมื่อจะทรงจุดเครื่องนมัสการทองน้อย ต้องเรียกเทียนชนวนวิ่งเวยวายอยู่เนืองๆ

อีกอย่างหนึ่งอาลักษณ์ขาดไม่มาถวายฉลากสดับปกรณ์ ทรงทอดผ้าไปได้กึ่งกลางแล้วจึงวิ่งกระหืดกระหอบมาภายหลัง ต้องเสด็จพระราชดำเนินกลับขึ้นมาทอดฉลากอีกเที่ยวหนึ่ง นอกนั้นก็ไม่ใคร่จะมีการขาดอันใด ด้วยเคยมีอยู่เนืองๆ เว้นไว้แต่โรคของมหาดเล็ก ซึ่งเป็นโรครักษาไม่หายเหมือนโรคกระสาย คือพระเต้าษิโณทก คงจะนั่งพูดพล่ามหรือนั่งหลับตาเสีย ต้องเรียกเอะอะเนืองๆ ๚


-------------------------------------------------------------------------------------
[๑] พระแท่นเศวตฉัตรองค์นั้น ในรัชกาลปัจจุบันนี้ย้ายไปตั้งท้องพระโรง ตั้งพระบรมอัฐิบนพระที่นั่งบุษบกมาลา
[๒] ภายหลังเพิ่มพระบรมอัฐิ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระองค์ ๑ พระอัฐิสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์พระองค์ ๑ สมเด็จกรมพระยาสุดารัตน
ราชประยูร พระองค์ ๑
[๓] พระอัฐิที่ตั้งชั้นลด และที่ตั้งโต๊ะจีน ต่อมา ตั้งรวมบนพระแท่นเศวตฉัตร ๗ ชั้น อีกองค์ ๑


เดือนสิบสอง
การพระราชกุศลแจกเบี้ยหวัด

๏ การแจกเบี้ยหวัดไม่มีกำหนดแน่ว่าวันใด แต่คงอยู่ในวันจันทร์หรือวันพุธข้างแรมเดือนสิบสอง ธรรมเนียมการแจกเบี้ยหวัดนี้แต่เดิมก็ไม่มีการมงคลอันใด พึ่งมีขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยทรงพระปรารภเรื่องเจ้านายที่ทรงผนวชแต่ก่อนมาเคยได้เบี้ยหวัดตามกรมเหมือนอย่างฝ่ายคฤหัสถ์ ผู้ซึ่งมารับเบี้ยหวัดแทนเจ้าซึ่งทรงผนวชนั้น ไม่ได้สลักสำคัญอันใดมาจากเจ้านายเป็นคำอนุญาตให้รับ เมื่อรับไปแล้วไปนุ่งเสียก็มีโดยมาก ไม่เป็นประโยชน์อันใดแก่ผู้ที่ได้ ครั้นจะว่ากล่าวทวงถามขึ้นก็เป็นการขัดอยู่ด้วยสิกขาบท อีกประการหนึ่งการซึ่งพระราชทานเบี้ยหวัด ขึ้นชื่อว่าเป็นพระราชทานเงินแด่พระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวชโดยตรงๆ พระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวชทรงปฏิบัติตามวินัยโดยเคร่งครัด ก็เป็นที่รังเกียจว่าเงินนั้นเป็นอกัปปิยไม่ควรรับ พระราชทรัพย์ซึ่งต้องจำหน่ายไปเป็นอันมากนั้น ก็ไม่เป็นประโยชน์แด่พระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งทรงผนวชโดยมาก พระราชทรัพย์หลวงก็เป็นอันเสียเปล่า เพราะพระองค์ได้ทรงผนวชอยู่นาน ได้ทรงทราบการทั้งปวงเหล่านี้แล้ว จึงได้ทรงคิดแก้ไขเสียใหม่ ทำเป็นตั๋วทรงพระราชอุทิศต่อสิ่งซึ่งควรแก่สมณบริโภค ตามจำนวนเงินเบี้ยหวัด มีพระราชหัตถเลขาและพระราชลัญจกรประจำเป็นสำคัญ พระราชทานแด่พระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งได้รับเบี้ยหวัดนั้น มอบให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งเป็นกัปปิยการก มารับเงินจากเจ้าพนักงาน และในท้ายตั๋วสำคัญนั้น มีพระบรมราชานุญาตว่า ถ้ากัปปิยการกปฏิบัติไม่บริบูรณ์ตามสมควร ก็ให้มาร้องต่อพระยาราชภักดีได้ด้วย

การซึ่งจะพระราชทานตั๋วสำคัญเช่นนี้ ก็เป็นเหตุที่ควรจะต้องให้มีเวลาที่พระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวชได้เข้ามาทรงรับต่อพระหัตถ์ อีกประการหนึ่งทรงพระราชดำริเห็นว่า พระราชทรัพย์ซึ่งจะจับจ่ายไปเป็นอันมาก ก็ควรจะเริ่มจำหน่ายในการพระราชกุศลในพระพุทธศาสนาก่อนจำหน่ายไปแก่ผู้อื่น อนึ่งก็ควรจะมีการสมโภชให้เป็นมงคลแก่สิริราชสมบัติ เมื่อทรงพระราชดำริดังนี้แล้ว จึงโปรดให้มีการมงคลในวันแรกแจกเบี้ยหวัด ให้เชิญเฉพาะแต่พระราชวงศานุวงศ์ บรรดาที่ทรงผนวชเข้ามารับพระราชทานฉัน สำรับต้นเป็นสำรับหลวง ต่อนั้นไปเป็นของเจ้าพนักงานกรมพระคลังมหาสมบัติหามาคนละสำรับ และให้ตั้งโต๊ะเชิญพระสยามเทวาธิราช มีเครื่องสังเวย ตั้งแร่ทองคำซึ่งเกิดในพระราชอาณาเขต อันก่อเป็นเขามออย่างย่อมๆ และเงินซึ่งจะแจกเบี้ยหวัด ทั้งสมุดบัญชีและกระดานสำหรับแจกเบี้ยหวัด ตั้งบายศรีแก้วทองเงิน พระสงฆ์ฉันแล้วทรงจุดเทียนเครื่องสังเวยเทวดา โหรว่าบูชาเทวดาแล้วอาลักษณ์อ่านคำประกาศกระแสพระราชดำริดังซึ่งกล่าวมาแล้ว แต่มีข้อความเติมพิสดารออกไปอีกข้อหนึ่ง ว่าพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งทรงผนวชไม่ได้ช่วยราชการแผ่นดินอันใด ก็ชอบที่จะยกเบี้ยหวัดเสียเหมือนข้าราชการที่กราบถวายบังคมลาบวชล่วงพรรษาหนึ่งไปแล้ว แต่ทรงพระราชดำริเห็นว่าพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งทรงผนวช ก็นับว่าเป็นผู้มีความชอบอยู่ ที่ได้นำให้พระบรมราชวงศ์เป็นญาติในพระพุทธศาสนา ความในคำประกาศข้อนี้ ข้าพเจ้าไม่สู้เห็นชอบด้วย เพราะเห็นว่าพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งมิได้ทรงผนวช แต่มิได้ช่วยราชการแผ่นดินอย่างหนึ่งอย่างใด และที่ซ้ำประพฤติความชั่วให้เป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศ เช่นพระองค์เจ้าลำยอง ก็เห็นแต่สูบฝิ่นอยู่กับวังก็ยังได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดถึง ๕ ชั่ง และเงินขึ้น ซึ่งเดี๋ยวนี้เรียกว่าเงินกลางปี ก็ยังคงได้ไม่ได้ลดทอนอันใด นี่เป็นตัวอย่างว่าไม่เป็นแต่ไม่ได้ช่วยราชการ ซ้ำประพฤติความชั่วด้วย ที่ไม่ได้ช่วยราชการอยู่เฉยๆ เปล่าๆ เช่นเจ้าวังหน้า มีพระองค์ทัดทรงเป็นต้น ก็มีเป็นอันมาก ถ้าจะเทียบกันในหม่อมเจ้าพระกับหม่อมเจ้าที่เป็นคฤหัสถ์นั้นเล่า หม่อมเจ้าที่รับราชการมีหลายองค์จริงอยู่ แต่ที่ไม่ได้รับราชการมีโดยมาก ที่สุดจนที่สูบฝิ่นก็ยังได้เบี้ยหวัดอยู่ปีละ ๖ บาท ถ้าจะว่าไม่ได้ช่วยราชการควรตัดเบี้ยหวัดแล้วต้องนับว่าควรตัดทั้งสิ้น ถ้าจะว่าไปพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวชต้องเข้ามาราชการในการพระราชพิธีต่างๆ มากกว่าพระองค์เจ้าหม่อมเจ้าที่อยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรโดยมาก ความข้อนี้ดูไม่น่าจะยกขึ้นประกาศ แต่ไม่อาจแก้ไข ด้วยเห็นว่าคำข้างต้นเป็นการยกโทษพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งทรงผนวชอยู่หน่อยๆ ก็จริง แต่ยกโทษขึ้นเพื่อจะแสดงความชอบที่ได้นำให้พระบรมราชวงศ์เป็นญาติกับพระพุทธศาสนา ความยกย่องอันนี้ จะเป็นที่ต้องพระทัยพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวช ไม่มีผู้ใดนึกระแวงรังเกียจข้อต้นที่กล่าว ถ้ายกความข้อนี้เสีย บางทีก็จะเป็นที่วิตกกินแหนงของพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวช ซึ่งเคยทรงฟังคำประกาศนี้มาแต่ก่อน ว่าข้าพเจ้าไม่นับถือยกย่องความชอบของท่านเหมือนอย่างเช่นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกย่อง อีกประการหนึ่ง การใดๆ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไว้แล้วถ้าไม่เป็นการขัดข้องต่อกาลสมัยอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าก็ไม่ได้คิดจะเปลี่ยนแปลงรื้อถอนอย่างหนึ่งอย่างใดเลย เพราะฉะนั้นจึงได้คงคำประกาศนั้นไว้ ครั้นจะไม่ว่าไว้ในที่นี้ ผู้ซึ่งมักสังเกตตรวจตราละเอียดก็จะสงสัยว่าข้าพเจ้าเก็บข้อความในคำประกาศนั้นไม่หมด หรือถ้าผู้ซึ่งมักตริตรองจะคิดเห็นเหตุซึ่งไม่ควรจะกล่าวในคำประกาศซึ่งข้าพเจ้าคิดเห็น ก็จะกล่าวคัดค้านต่างๆ จึงกล่าวไว้เพื่อจะให้เห็นว่าคำประกาศข้อนี้ได้เห็นเหตุแล้วว่ามีทางที่จะคิดได้ แต่ยังเป็นที่ชอบพระทัยของพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวชที่เป็นเจ้าของพระนามอยู่ จึงมิได้ยกถอนเปลี่ยนแปลง ด้วยการเคยเป็นมาแล้วไม่อยากจะก่อให้เป็นที่วิตกสงสัยต่างๆ ในท้ายประกาศนั้นก็เป็นทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลแก่เทพยดาเป็นต้น เมื่ออ่านประกาศจบแล้ว เจ้าพนักงานประโคมแตรสังข์พิณพาทย์ ทรงรดน้ำพระมหาสังข์ทรงเจิมเทวรูปและทองคำเงิน พราหมณ์รดน้ำสังข์เจิมภายหลัง แล้วพระราชทานตั๋วสำคัญแก่พระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวชทุกพระองค์ แล้วทรงพระเต้าษิโณทก พระสงฆ์ยถาสัพพี แล้วสวดคาถาทานัญจะ ปิยะวาจาจะ แล้วอติเรกถวายพระพรลา เมื่อพระไปแล้วจึงได้เริ่มแจกเบี้ยหวัดกัปปิยการกของพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวชนำตั๋วเข้ามารับเงินแจกเสร็จแล้ว จึงได้พระราชทานเบี้ยหวัดพราหมณ์โหร ต่อนั้นไปจึงถึงทหารในช่างสิบหมู่ตามธรรมเนียม

คำเตือนในการเริ่มแจกเบี้ยหวัดนี้ เทียนชนวนซึ่งสำหรับทรงจุดเครื่องสังเวยนั้น เป็นหน้าที่ของมหาดเล็กไม่ควรจะเหลียวเล่อล่าอย่างหนึ่งอย่างใดเลย อนึ่ง เงินพระคลังข้างในซึ่งเคยพระราชทานเติมเบี้ยหวัดพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ๑๐ ชั่ง เป็นหน้าที่ของมหาดเล็กต้องรับมาจากเถ้าแก่นำไปส่งเจ้าพนักงานคลัง อาลักษณ์ต้องคอยถวายตั๋วสำคัญตั้งแต่เวลาที่ทรงเจิมเงินแล้วไป พระเต้าษิโณทกต้องทรง เว้นไม่ได้ ๚



เดือนสิบสอง
พระราชพิธีฉัตรมงคล

๏ ธรรมเนียมแต่ก่อนมีมาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อเปลี่ยนปีใหม่ถึงเดือนหกพนักงานข้างหน้าข้างในบรรดาซึ่งรักษาเครื่องราชูปโภคและรักษาตำแหน่งหน้าที่มีพระทวารและประตูวังเป็นต้น ต้องทำการสมโภชเครื่องราชูปโภคและตำแหน่งซึ่งตนรักษาคราวหนึ่ง ข้างฝ่ายหน้าแต่ก่อนมาถึงมีสวดมนต์เลี้ยงพระด้วยก็มี แต่ข้างฝ่ายในนั้นมีแต่เครื่องสังเวยเครื่องประโคม แล้วร้อยดอกไม้เป็นตาข่ายอุบะมาลัยแขวนตามกำลังมากและน้อย เป็นส่วนของเจ้าพนักงานทำเอง หาได้เกี่ยวข้องเป็นการหลวงไม่ ครั้นมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกในวันพฤหัสบดีเดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีกุนตรีศก จุลศักราช ๑๒๑๓ จึงทรงพระราชดำริว่าวันบรมราชาภิเษกนั้นเป็นมหามงคลสมัย ซึ่งประเทศทั้งปวงที่มีพระเจ้าแผ่นดินปกครองย่อมนับถือวันนั้นว่าเป็นวันนักขัตฤกษ์มงคลกาล แต่ในกรุงสยามนี้เฉยๆ อยู่มิได้มีการนักขัตฤกษ์อันใด ครั้งนี้การบรมราชาภิเษกของพระองค์เฉพาะตรงกับสมัยที่เจ้าพนักงานเคยสมโภชเครื่องสิริราชูปโภคแต่เดิมมา ควรที่จะมีการสมโภชพระมหาเศวตฉัตรให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติ จึงได้ทรงพระราชดำริจัดการพระราชกุศล ซึ่งพระราชทานชื่อว่าฉัตรมงคลนี้ขึ้น แต่ข้อความซึ่งจะอธิบายในพระราชดำริให้เข้าใจกันในเวลานั้นว่า เป็นการทำบุญวันบรมราชาภิเษก เป็นการเข้าใจยากของคนในเวลานั้น หรือจะเป็นข้อทุ่มเถียงท้วงติงไปว่าเป็นการไม่เคยมี จึงได้ทรงพระราชดำริให้ปรากฏว่า เป็นการสมโภชเครื่องราชูปโภคอย่างเก่าซึ่งไม่มีผู้ใดจะทุ่มเถียงได้ จนผู้หลักผู้ใหญ่ก็ไม่มีใครทราบว่าฉัตรมงคลแปลว่าทำบุญอะไร ยกไว้แต่กรมสมเด็จพระเดชาดิศรซึ่งข้าพเจ้ามิได้ฟังรับสั่งท่านเอง แต่สังเกตได้ในคำฉันท์กล่อมพระมหาเศวตฉัตร ซึ่งรู้ได้ว่าท่านเข้าพระทัย และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ซึ่งได้สนทนากัน เพราะฉะนั้น การพระราชพิธีฉัตรมงคลในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีการสวดมนต์ในวันเดือน ๖ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ฉันที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขึ้น ๑๔ ค่ำสวดมนต์ ๑๕ ค่ำฉันที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ขึ้น ๑๕ ค่ำสวดมนต์ แรมค่ำ ๑ ฉันที่พระที่นั่งอนันตสมาคม

ครั้นมาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้ การพระราชพิธีฉัตรมงคลท่านผู้บัญชาการก็ให้คงทำอยู่เดือนหกเช่นนั้น ข้าพเจ้าได้ทักท้วงขึ้นก็ไม่ตลอดไปได้ ด้วยกรมหลวงวงศาธิราชสนิท และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ไม่เห็นด้วย เถียงไปตามทางที่เป็นสมโภชพระที่นั่ง อ้างคำฉันท์ก็ไม่อ่าน ข้าพเจ้าเป็นเด็กมีน้ำหนักน้อย และดูก็เป็นการไม่พอที่จะวิวาทกันด้วยเหตุไม่เป็นเรื่องจึงได้นิ่งระงับเสีย มีผู้เห็นด้วยแต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอองค์เดียว แต่ท่านก็เถียงไม่ขึ้นหรือไม่สู้อยากเถียงเป็นธรรมดา การจึงได้ทำเดือน ๖ เรื่อยมาจนถึงปีระกาเบญจศก เมื่อสร้างตราจุลจอมเกล้าเปลี่ยนได้ด้วยพาโลเป็นทำบุญตามพระราชบัญญัติวันประชุมตราจุลจอมเกล้า ก็นับได้อยู่ว่าเพราะเครื่องราชอิสริยยศจุลจอมเกล้า พาให้เป็นที่ยินยอมพร้อมใจกันเปลี่ยนมาเดือน ๑๒ ได้โดยไม่มีใครทักท้วงว่ากระไร ลืมการที่ได้เถียงกันในปีมะเส็งเอกศกนั้นเสียสิ้น ในปีจอฉศกเป็นปีแรกทำการฉัตรมงคลในเดือน ๑๒ เป็นการเรียบร้อยเหมือนไม่ได้เคยมีการฉัตรมงคลมาแต่ก่อนเลยทีเดียว

การฉัตรมงคลนี้คงทำตามแบบอย่างซึ่งได้ทำมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเต็มตามตำราทุกอย่าง เพิ่มขึ้นแต่อาลักษณ์อ่านคำประกาศ ยิงสลุตในวันแรม ๑๒ ค่ำ พึ่งเกิดมีขึ้นเมื่อปีมะเมียจัตวาศก ๑๒๔๔ กับการที่ประชุมถวายบังคมพระบรมรูปซึ่งมีขึ้นตามกฎหมายตราจุลจอมเกล้า ตั้งแต่ปีจอฉศกมาจนปีมะเส็งตรีศกถวายบังคมพระบรมรูปที่พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ ต่อถึงปีมะเมียจัตวาศกจึงได้ย้ายมาพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท กับพระที่นั่งซึ่งมีการสมโภชนั้นยักย้ายไปบ้าง คือเวลาต่อมุขพระที่นั่งอนันตสมาคม ย้ายมาทำที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย การแล้วก็กลับไปทำที่พระที่นั่งอนันตสมาคมตามเดิม เวลาซ่อมพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ย้ายมาทำที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท การที่ย้ายไปย้ายมาเช่นนี้ เป็นแต่ตามเหตุผลครั้งหนึ่งคราวหนึ่งแล้วก็คงที่ไปตามเดิม การพระราชกุศลนั้นดังนี้ คือพระราชาคณะ พระครูมีนิตยภัตวันละ๓๐ รูปสวดพระพุทธมนต์ เวลาเช้าฉัน สำรับที่เลี้ยงพระเป็นของหลวงสำรับหนึ่ง นอกนั้นขอแรงพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่ได้รับพระราชทานพานทองเป็นต้น หาสำรับคนละสำรับถวายพระสงฆ์ ในวันแรม ๑๑ ค่ำวันหนึ่ง แรม ๑๓ ค่ำวันหนึ่ง วันแรม ๑๒ ค่ำเป็นของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน ผู้ซึ่งต้องเกณฑ์สำรับมีของไทยทานเล็กน้อย ถวายพระซึ่งได้ฉันสำรับตัวด้วย ที่นมัสการตั้งพระชัยสำหรับแผ่นดินห้ารัชกาล ที่พระแท่นเศวตฉัตร ตั้งเครื่องราชกกุธภัณฑ์และพระแสงประจำแผ่นดิน มีเครื่องนมัสการทองน้อยทั้งเวลาเย็นเวลาเช้า และตั้งต้นไม้ทองเงิน ๒ คู่ เวลาเช้าตั้งเครื่องเสวย ตั้งบายศรีแก้วทองเงิน มีแว่นเวียนเทียน เวลาค่ำเสด็จออกทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการ แล้วอาลักษณ์อ่านคำประกาศเป็นกลอนลิลิต สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ทรงแต่ง แสดงพระราชดำริเรื่องพิธีตลอดจนถึงกฎหมายตราจุลจอมเกล้า ลงปลายขอพรตามธรรมเนียมคำประกาศทั้งปวง แล้วพระสงฆ์จึงได้สวดพระพุทธมนต์ เวลาเช้าทรงประเคน พระสงฆ์ฉันแล้วถวายเครื่องไทยทาน ยถาสัพพี สวดยานีและคาถารัตนสูตรแล้วจึงถวายอติเรก แต่ในวันกลางคือแรม ๑๒ ค่ำ ซึ่งเป็นวันพระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกายฉันนั้น มีตั้งครอบพระกริ่ง จุดเทียนดับเทียนในเวลาสวดคาถารัตนสูตรด้วย น้ำปริตนี้ถวายสรงในเวลาเย็นวันนั้น แต่วันแรม ๑๑ ค่ำ ๑๓ ค่ำไม่มี พระสงฆ์กลับไปแล้วทรงจุดเทียนเครื่องสังเวย โหรบูชา พราหมณ์อ่านดุษฎีคำฉันท์ซึ่งกรมสมเด็จพระเดชาดิศรทรงแต่งจบแล้ว จึงได้จุดแว่นเวียนเทียนพระบรมวงศานุวงศ์เคยมีธูปเทียนจุดบูชาพระมหาเศวตฉัตรในเวลานั้นด้วย เวลาเวียนเทียนมีขับไม้ เวียนเทียนแล้วทรงเจิมพระมหาเศวตฉัตร และเครื่องราชกกุธภัณฑ์และพระแสงแล้ว พราหมณ์จึงได้รดน้ำสังข์จุณเจิม โหรผูกผ้าสีชมพูที่พระมหาเศวตฉัตรต่อไป เป็นเสร็จการสมโภชเวลาหนึ่งๆ ทั้งสามวัน

การพิเศษในวันแรม ๑๒ ค่ำ คือเวลาเช้า ๒ โมง เวลาเที่ยง เวลาบ่าย ๕ โมง ทหารบกทหารเรือยิงสลุตตำบลละ ๑๐๑ นัด แบ่งเป็น ๓ เวลา เวลาบ่าย ๕ โมง พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการประชุมพร้อมกันที่พระที่นั่งอนันตสมาคม นุ่งผ้าม่วงสีน้ำเงินสวมเสื้อเยียรบับเข้มขาบอัตลัดชั้นใน ประดับด้วยเครื่องอิสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทาน สวมเสื้อครุยชั้นนอก ผู้ซึ่งได้รับพระราชทานสายสร้อยตราจุลจอมเกล้าสวมสายสร้อยด้วย เสด็จพระราชดำเนินออกพระที่นั่งอนันตสมาคม พระบรมวงศานุวงศ์และมหาดเล็กเฝ้าประจำที่อยู่ก่อน ข้าราชการเดินเข้ามาเฝ้าเป็นลำดับแล้วไปประจำตามที่ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ผู้ซึ่งควรจะได้รับตามกฎหมายแล้ว พระราชทานพรผู้ซึ่งได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เก่าใหม่และข้าราชการทั่วกัน แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินสู่พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท ทรงจุดเครื่องนมัสการทองทิศสี่สำรับ ถวายบังคมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสี่พระองค์ เจ้าพนักงานประโคมแตรสังข์มโหรทึกกองชนะ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชทรงจุดเครื่องทองน้อยสี่เครื่อง พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยจุดเทียนติดที่ราวถวายบังคมพระบรมรูปต่อไปตามลำดับ พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการฝ่ายในและภรรยาข้าราชการ บรรดาที่ได้รับพระราชทานกล่องและหีบจุลจอมเกล้า ประชุมที่พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทมุขตะวันตก จุดธูปเทียนถวายบังคมพระบรมรูปเหมือนข้างหน้า เป็นเสร็จการประชุมตามกฎหมายตราจุลจอมเกล้าในวันเดียวนั้น


หัวข้อ: Re: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 20 มิถุนายน 2561 16:15:55
เดือนสิบสอง
พระราชพิธีฉัตรมงคล (ต่อ)

คำตักเตือนในการฉัตรมงคล พระสงฆ์ที่จะมาสวดมนต์และรับพระราชทานฉัน ควรจะใช้ตาลิปัตรรองและฝาบาตรเชิงบาตร ในการบรมราชาภิเษกในปีระกาเบญจศก และถ้าพอจะมาได้ไม่ควรจะบิดเบือนเชือนแชไปเที่ยวสวดมนต์เที่ยวฉันเสียที่อื่น เช่นพระธรรมเจดีย์ วัดอรุณ และพระธรรมภาณพิสาศวัดประยูรวงศ์[๑]  เพราะเป็นการสำคัญคล้ายถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ ถ้าไม่ป่วยไข้มากก็ไม่ควรจะขาด ในเวลาถวายบังคมพระบรมรูปซึ่งเป็นการแสดงความเคารพนับถือต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งห้าพระองค์ปีละครั้ง ถ้าอยู่ดีๆ ก็ควรที่จะมาเวียนเทียนสมโภชพระมหาเศวตฉัตร ซึ่งเป็นหน้าที่ของตนจะต้องพิทักษ์รักษาโดยความซื่อสัตย์กตัญญูทุกเวลา มหาดเล็กอย่างลืมเทียนชนวนเครื่องทองน้อย ทั้งเวลาเช้าเวลาค่ำและเวลาจุดเครื่องสังเวย กับทั้งโรคสำคัญ คือพระเต้าษิโณทก ภูษามาลามักจะไม่ใคร่จำได้ในการที่จะเชิญพระครอบพระกริ่งมาตั้งในวันสวดมนต์วันแรม ๑๑ ค่ำ และไม่ใคร่จะคอยเชิญพระครอบขึ้นตั้งที่ ในเวลาพระสงฆ์กลับไปแล้ว ในวันแรม ๑๒ ค่ำ และซ้ำเซอะไม่ได้เตรียมที่จะเข้ามาตั้งถวายในที่สรง และเจ้าเข่ง[๒]ผู้สำหรับรับเข้ามาก็เคยโคมทุกปีมิได้ขาดเลย

อนึ่ง ขึ้นชื่อว่าผู้หญิงแล้วดูจืดง่ายเป็นธรรมดาโดยมาก เพราะไม่ใคร่มีผู้ใดที่จะใส่ใจตรวจตรานัก ถือน้ำก็ไม่ใคร่มา ว่าไม่ได้อะไรก็แล้วไป แต่ถวายบังคมพระบรมรูปนี้ อยากได้กล่องอยากได้หีบจนตัวสั่น แต่ครั้นได้ไปแล้วก็เกียจคร้านไม่ใคร่มีใครมาถวายบังคมพระบรมรูปตามแบบอย่าง
การพระราชพิธีและพระราชกุศล ในเดือนสิบสองเป็นเสร็จสิ้นเพียงฉัตรมงคลเพียงเท่านี้ ๚


-------------------------------------------------------------------------------------
[๑] พระธรรมเจดีย์ ชื่อทอง ต้องลดยศลงเป็นพระเทพมุนี ภายหลังกลับได้เป็นพระธรรมไตรโลก; พระโพธิวงศ์ ชื่อผ่อง เป็นพระโพธิวงศ์ (เสมอเทพ) ต้องลดลงเป็นพระธรรมภาณพิลาศ ภายหลังได้พระราชทานพัดแฉกประดับพลอยอย่างเดิม
[๒] พระวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงยี่เข่งในพระเจ้าราชวรวงศ์เธอชั้น ๑ พระองค์เจ้าเพชหึง


หัวข้อ: Re: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 23 มิถุนายน 2561 16:35:18
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/66283886507153_CX_EV_CR91_1_.jpg) (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/99790366035368_35927174_410501056132247_38455.jpg)

พระราชพิธีเดือนอ้าย
• การพระราชกุศลเลี้ยงขนมเบื้อง
• การพระราชกุศลเทศนามหาชาติ
-----------------------------------

๏ การพระราชพิธีในเดือนอ้าย ตามที่มาในกฎมนเทียรบาลว่าไล่เรือ เถลิงพิธีตรียัมพวาย เช่นได้นับและอธิบายในคำนำนั้นว่าเป็นพิธีเปลี่ยนกันกับเดือนยี่ แต่การที่เปลี่ยนกันนั้นประสงค์ว่าแต่ตรียัมพวายซึ่งยังเป็นพิธียังคงทำอยู่ในกรุงเทพฯ แต่พิธีไล่เรือซึ่งอยู่หน้าพิธียัมพวายนั้นคงยังเป็นเดือนอ้ายอยู่ พิธีนี้เป็นพิธีไล่น้ำตามคำที่กล่าวกันมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้รับสั่งอยู่เนืองๆ เป็นต้นว่าการที่ยกโคมชัยในพิธีจองเปรียงนั้น ถือกันว่าถ้าเสาโคมยังไม่ได้ลดแล้ว น้ำยังไม่ลด นัยหนึ่งว่าถ้าไม่ยกเสาโคมแล้วน้ำจะลด การที่ยกเสาโคมนั้นเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งให้น้ำอยู่เลี้ยงต้นข้าวให้แก่ทั่วถึงก่อน เป็นพิธีอุปการะแก่การนาอยู่ด้วย และมีคำกล่าวว่าในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ถ้าเวลายังไม่ได้ลดโคมชัย ถึงว่าจะหนาวเท่าหนาวอย่างไร ที่จะสวมเสื้อเข้าเฝ้านั้นไม่ได้ กริ้วว่าแช่งให้น้ำลด รับสั่งให้ไปวิดน้ำเข้านาท้องสนามหลวง แต่ข้อที่ว่าโคมชัยเป็นทำนบปิดน้ำนี้ ถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่าเขาว่าเขาว่าอยู่ ก็ไม่เห็นลงในประกาศพระราชพิธีจองเปรียง จะเป็นด้วยทรงเห็นช่างเถอะหนักหรืออย่างไร แต่นับว่าเป็นพิธีที่กระวนกระวายขวนขวายจะให้น้ำอยู่เลี้ยงต้นข้าวให้นานหน่อยหนึ่ง

ส่วนการพระราชพิธีไล่เรือนั้นเป็นพิธีข้างจะให้น้ำลดเร็วๆ คือถึงเดือนอ้ายแล้วน้ำยังมากไม่ลด เมล็ดข้าวในรวงแก่หล่นร่วงลงเสียในน้ำ ถึงโดยว่าจะค้างอยู่ก็เป็นข้าวเมล็ดหักละเอียดไป เพราะเกี่ยวไม่ได้ด้วยน้ำมาก จึงต้องกระวนกระวายขวนขวายที่จะให้น้ำลด การพิธีนี้คงจะต้องทำในเดือนอ้าย จะเลื่อนไปเดือนยี่ก็เป็นเวลาเกินต้องการไป ตามในกฎมนเทียรบาลกล่าวไว้ว่า พระเจ้าแผ่นดิน และพระอัครมเหสี พระเจ้าลูกเธอ หลานเธอ และพระสนม แต่งอย่างเต็มยศโบราณลงเรือพระที่นั่ง เจ้าพระยามหาเสนาตีฆ้อง มีจดหมายไว้ว่า ครั้นถึงท้ายบ้านรุนเสด็จออกยืนทรงพัชนี ครั้นถึงประตูชัยทรงส้าว ดูอยู่ข้างจะทำธุระเหลือเกินมาก แต่การที่ทำอย่างนี้ คงจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดองค์หนึ่ง ซึ่งมีพระอัธยาศัยและพระอาการที่ประพฤติว่องไวเช่นนั้นเป็นปรกติพระองค์ เหมือนอย่างแผ่นดินพระเพทราชาที่ทรงถือพัชนีฝักมะขามเสมอๆ เสด็จออกในการชักพระบรมศพทรงโบกพัชนีสามครั้งให้ทิ้งทาน ก็คงจะไม่เป็นตำแหน่งสำหรับพระเจ้าแผ่นดินที่จะต้องทรงโบกพัชนีเช่นนั้นทั่วไปทุกพระองค์ เป็นแต่เฉพาะพระอัธยาศัยของพระเจ้าแผ่นดินองค์นั้นเป็นเช่นนั้น ซึ่งจะเอามาเรียบเรียงหนังสือในครั้งอื่นคราวอื่น ว่าทรงโบกพัชนีฝักมะขามเช่นนั้นก็เป็นการไม่จริง และเป็นการไม่ควรด้วย เหมือนทรงส้าวนี้ก็คงจะเป็นเฉพาะพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดพระองค์หนึ่งได้เคยทรงทำเช่นนั้นแล้วจดหมายไว้ เหมือนอย่างพระเพทราชาโบกพัชนีฝักมะขาม ที่จะว่าถ้าตั้งพระราชพิธีไล่เรือแล้วจะต้องทรงส้าวอี๋ ทรงส้าวอี๋ไปเสมอนั้นไม่ได้ และพิธีไล่เรือนี้ก็เห็นได้ชัดว่าไม่เป็นพิธีที่ทำเสมอ ใช่ว่าแต่ไม่เสมอทุกปี ไม่เสมอทุกแผ่นดินด้วย เพราะฉะนั้นจึงควรสันนิษฐานว่า ซึ่งอ้างว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงเช่นนั้นเป็นการเฉพาะพระองค์ต้องเข้าใจว่าไม่เป็นพิธีทำทุกปี ทำแต่ปีใดจะต้องการที่จะให้น้ำลด

พิธีนี้ได้ทำที่กรุงเทพฯ ครั้งหนึ่งเมื่อปีเถาะ[๑] ตรีศก ๑๑๙๓ เป็นการที่รู้แน่ชัดว่าได้ทำ แต่เมื่อปีมะเส็งสัปตศก ๑๑๔๗ แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จะได้ทำหรือไม่ได้ทำไม่มีผู้ใดเล่าให้ฟัง สังเกตได้แต่ในคำประกาศเทวดาซึ่งมีอยู่เป็นสำนวนครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า แต่ฉบับนั้นคงจะเป็นเขียนคัดลอกใหม่เมื่อปีเถาะตรีศก พอจะสังเกตสำนวนและลายมือในสองรัชกาลได้ จึงควรเข้าใจว่าการพิธีนี้คงจะทำในปีมะเส็งสัปตศก แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกครั้งหนึ่ง ในปีเถาะตรีศกแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งหนึ่ง แต่ไม่ได้เรียกว่าพิธีไล่เรือ เรียกว่าพิธีไล่น้ำ ครั้นมาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้ปีมะแมตรีศก ๑๒๓๓ น้ำมากเกือบจะเท่ากับที่น้ำมากมาแต่ก่อนก็ไม่ได้ทำ เป็นอันเลิกสูญกัน

บัดนี้จะยกแต่รายการพระราชพิธีไล่น้ำเมื่อปีเถาะตรีศกมาว่าไว้พอเป็นตัวอย่าง ด้วยพิธีนี้คงจะไม่มีอีกต่อไปภายหน้า การที่ทำนั้นว่าขึ้นไปตั้งประชุมกันที่วัดท้ายเมืองแขวงเมืองนนทบุรี มีอาลักษณ์หรือราชบัณฑิตอ่านคำประกาศตั้งสัตยาธิษฐานนมัสการพระรัตนตรัยและเทพยดา และพระเจ้าแผ่นดินซึ่งนับเป็นสมมติเทพยดา แล้วอ้างความสัตย์ซึ่งได้มีความนับถือต่อเทพยดาทั้งสาม คือวิสุทธิเทพยดา อุปปาติกเทพยดา สมมติเทพยดา ขอให้น้ำลดถอยลงไปตามความประสงค์ ข้อใจความในคำประกาศมีอยู่เพียงเท่านี้

แต่พระพุทธรูปซึ่งใช้ในการพระราชพิธีไล่น้ำนี้ ที่ปรากฏในคำประกาศ มีชื่อแต่พระชัย พระคันธารราษฎร์ หามีพระห้ามสมุทรไม่ แต่ได้ทราบจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ว่าเมื่อเวลาปีเถาะตรีศกนั้นท่านพึ่งทรงผนวชได้ ๓ พรรษา ทราบว่าเกิดมีข้อเถียงกันด้วยเรื่องพระห้ามสมุทรซึ่งจะเชิญไปไล่น้ำ ว่าจะเป็นอย่างที่ยกพระหัตถ์เดียวหรือสองพระหัตถ์เป็นห้ามสมุทรแน่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงตัดสินไว้ว่ายกสองพระหัตถ์ เป็นเหตุให้พอสันนิษฐานได้ว่าพระสำหรับไล่น้ำตามคำประกาศ ซึ่งอ้างถึงว่าพระคันธารราษฎร์ดูไม่เข้าเรื่องกันกับที่จะให้น้ำน้อยนั้น ถ้าจะได้ใช้คงจะได้ใช้ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ด้วยเป็นเวลาที่แรกทรงสร้าง อยู่ข้างจะโปรดปรานมาก การที่เอามาใช้ในการไล่น้ำ ก็คงจะถือว่าพระพุทธปฏิมากรอย่างนั้น เป็นที่ทำให้น้ำฝนตกลงมาได้ ก็คงจะทำให้แห้งได้ ด้วยในเวลานั้นตำรับตำราอันใดก็สูญหาย เป็นแต่ทำไปตามอัตโนมัติ หาเหตุผลที่จะเกณฑ์ให้พระพุทธเจ้าทำพิธีมีเค้าเงื่อนอันใดก็ยกหยิบเอามา พอเป็นเหตุที่ตั้งให้การพระราชพิธีเนื่องในพระพุทธศาสนาซึ่งถือว่าเป็นที่ตั้งแห่งความสวัสดิมงคลยิ่งใหญ่กว่าเทพยดา ครั้นตกมาแผ่นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จะไปเห็นเค้าเรื่องที่ทรมานชฎิล พระพุทธเจ้าเสด็จอยู่ในที่มีน้ำท่วมโดยรอบก็ไม่ท่วมถึงพระองค์ เป็นเค้ามูลดีกว่าพระคันธารราษฎร์ จึงได้เปลี่ยนพระห้ามสมุทร การซึ่งโจษเถียงกันนั้นก็จะเป็นด้วยไม่เคยใช้มา แต่พอรู้ได้ว่าคงใช้พระห้ามสมุทรเป็นแน่

แต่การพิธีที่ขึ้นไปทำอย่างไรต่อไป ก็ไม่ได้ตำราชัดเจนเป็นแต่ได้ทราบตามคำบอกเล่าว่ามีกระบวนแห่คล้ายเสด็จพระราชดำเนินพระกฐิน เชิญพระพุทธปฏิมากรลงเรือพระที่นั่งมาหน้า แล้วมีเรือศรีโขมดยาสำหรับพระสงฆ์ตามมาภายหลัง เรือลำหนึ่งมีพระราชาคณะรูป ๑ มีฐานานั่งสองข้าง กลางตั้งเครื่องนมัสการแต่เวลาที่มาตามทางนั้นพระสงฆ์จะสวดคาถาอันใดก็ไม่ได้ความ ได้ทูลถามพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ก็ไม่ทรงทราบ ด้วยเวลานั้นยังมิได้ทรงเกี่ยวข้องในการพระราชพิธี การทั้งปวงนี้ตกอยู่วัดพระเชตุพนทั้งสิ้น จะหาเค้ามูลอันใดที่ควรจะใช้ในการพระราชพิธีนี้ก็ไม่เห็นมี บางทีจะเป็นคาถาเก็บเล็กประสมน้อย ทำขึ้นใหม่คล้ายคาถาสวดหล่อพระชัย ซึ่งกรมสมเด็จพระปรมานุชิตทรงแจกให้สวดในรัชกาลที่ ๔ เป็นคาถาที่มีคำไชยะไชยะบ่อยๆ เห็นว่าจะยกมาจากมหาชัย คาถาไล่น้ำนี้ถ้าโดยจะมีวิเศษ ก็คงจะเป็นของทำใหม่คล้ายเช่นนั้น

การซึ่งมีกระบวนเสด็จพระราชดำเนิน อย่างพิธีไล่เรือครั้งกรุงเก่านั้น ในปีเถาะตรีศกนี้ทราบว่ากรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ เสด็จขึ้นไปแทนพระองค์ มีกระบวนเรือดั้งเรือกันเรือตามเหมือนอย่างกระบวนกฐิน ไปตั้งกระบวนมาแต่เมืองนนทบุรี ลงไปจนถึงปากน้ำเหมือนกัน แต่เชื่อได้แน่ว่าไม่ทรงส้าวเป็นแน่ การพระราชพิธีไล่เรือหรือไล่น้ำเก็บความได้เพียงเท่านี้

ส่วนพิธีเดือนยี่ที่มีมาในกฎมนเทียรบาล ซึ่งว่ายกขึ้นมาเดือนอ้าย คือพิธีบุษยาภิเษกอย่างหนึ่ง พิธีเฉวียนพระโคกินเลี้ยงอย่างหนึ่ง ทั้ง ๒ นี้พิธีก็ไม่ได้ทำที่กรุงเทพฯ เลย พิธีบุษยาภิเษกนั้นถ้าจะเทียบชื่อกับพิธีกะติเกยาก็เป็นชื่อพิธีสำหรับเดือนยี่ แต่ครั้งกรุงเก่าจะยกมาทำเดือนอ้ายหรือไม่ยกมาก็ยังว่าแน่ไม่ได้ ด้วยพิธีกะติเกยาที่เป็นชื่อพิธีเดือนสิบสองยังยกไปเดือนอ้ายได้ แต่ถ้าพิธีนี้ยังคงอยู่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคงจะโปรดให้ไปทำเดือนยี่เป็นแน่ ได้พบในจดหมายคำให้การขุนหลวงหาวัดว่าไว้ในเดือนยี่ เพราะฉะนั้นจึงจะต้องยกพิธีบุษยาภิเษกไปว่าในเดือนยี่ แต่เฉวียนพระโคกินเลี้ยงนั้นคงจะยกมาทำในเดือนอ้ายแน่ การพระราชพิธีเฉวียนพระโคกินเลี้ยงนั้น มีในกฎมนเทียรบาลว่านำพระโคอุสุภราชซึ่งแต่งตัวเขาบุทองประดับเนาวรัตน์ มีเครื่องประดับกีบตาบหูสายสะพายใช้ไหม ขึ้นยืนบนแท่นสูง ๒ ศอก มีเงินทองแก้วแหวนและแพรพรรณต่างๆ กองอยู่ใต้ท้อง ตั้งพานทองรองหญ้า คนโททอง พระโคนั้นแปรหน้าไปทางทิศอุดร ตั้งกุณฑ์คือกองเพลิงพิธี ตรงหน้าพระโค มีบายศรีสมโภช พระราชครูประจำที่สี่มุม ทำพิธีบูชากุณฑ์ตลอดคืนยังรุ่ง พระราชกุมารป้อนหญ้า ครั้นเวลารุ่งเช้ามีกระบวนแห่เสด็จ พระเจ้าแผ่นดินทรงถือดอกบัวทอง พระอัครมเหสีทรงถือดอกบัวเงิน แห่ประทักษิณพระโคอุสุภราชเก้ารอบแล้วมีสมโภชเลี้ยงลูกขุน พระราชพิธีนี้ทำในพระราชวัง แต่เห็นจะเลิกมาเสียช้านานทีเดียว จนในคำให้การขุนหลวงหาวัดก็ไม่มีปรากฏ พิธีเฉวียนพระโคนี้ เป็นพิธีใบโตเต็มที จึงไม่ตั้งอยู่ได้ช้านาน ซึ่งเก็บมาว่านี้เพราะในเดือนอ้ายไม่มีพิธีอันใด มีแต่การพระราชกุศลประจำปี ๚
 
-------------------------------------------------------------------------------------
[๑] ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๗๔ นี้ ที่เรียกว่าปีเถาะน้ำมาก ในรัชกาลที่ ๓


เดือนอ้าย
การพระราชกุศลเลี้ยงขนมเบื้อง
๏ กำหนดเลี้ยงขนมเบื้องนี้ ว่าเมื่อพระอาทิตย์ออกสุดทางใต้ตกนิจเป็นวันที่หยุด จะกลับขึ้นเหนือ อยู่ในองศา ๘ องศา ๙ ในราศีธนู เป็นถึงกำหนดเลี้ยงขนมเบื้อง ไม่กำหนดว่าเป็นกี่ค่ำวันใด การเลี้ยงขนมเบื้องนี้ ไม่ได้มีสวดมนต์ก่อนอย่างเช่นพระราชพิธีอันใด กำหนดพระสงฆ์ตั้งแต่เจ้าพระ พระราชาคณะ ๘๐ รูปฉันในพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย ขนมเบื้องนั้นเกณฑ์พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน ท้าวนาง เจ้าจอมมารดาเก่า เถ้าแก่ พนักงานดาดปะรำตั้งเตาละเลงข้างท้องพระโรง การซึ่งกำหนดเลี้ยงขนมเบื้องนี้นับเป็นอย่างตรุษคราวหนึ่ง และเฉพาะต้องที่กุ้งมีมันมากจึงเป็นเวลาที่เลี้ยงขนมเบื้อง แต่การเลี้ยงขนมเบื้องในแผ่นดินปัจจุบันนี้ ไม่ได้เสด็จออกมาหลายปีแล้ว ค่อนอยู่ข้างจะเป็นการมืดๆ ๚  


เดือนอ้าย
พระราชกุศลเทศนามหาชาติ
๏ มีการพระราชกุศลในเดือนอ้ายนี้อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นการประจำปีอยู่ แต่เป็นการซึ่งเลือนๆ มา มิใช่แบบกำหนด คือเทศนามหาชาติ

เทศนาสำหรับแผ่นดิน เป็นพระราชกุศลนิจสมัยมีมาแต่เดิมนั้น ๓๓ กัณฑ์ ซึ่งมีกำหนดเครื่องกัณฑ์คล้ายบริขารกฐิน คือผ้าไตรแพร เงิน ๑๐ ตำลึง ขนมต่างๆ ดังเช่นกล่าวมาในเทศนาเดือน ๑๒ นั้น ธรรมเนียมแต่เดิมเคยเป็นเทศนามหาชาติ ๒ จบ ๒๖ กัณฑ์ อริยสัจ ๔ กัณฑ์ เดือนสิบสอง ๓ กัณฑ์ รวมเป็นเทศนาวิเศษสำหรับแผ่นดิน ๓๓ กัณฑ์

ในรัชกาล ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ในเดือนสิบเอ็ดวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำมีมหาชาติ แรมค่ำ ๑ มีอริยสัจ ครบทั้ง ๓๐ กันฑ์ เมื่อเทศนาจบแล้วจึงเสด็จลงลอยพระประทีป แต่ในรัชกาลที่ ๓ นั้น ถ้าปีใดมีพระองค์เจ้าหม่อมเจ้าทรงผนวชเป็นภิกษุและสามเณรมาก ปีนั้นก็มีมหาชาติ ปีใดไม่ใคร่มีพระองค์เจ้าและหม่อมเจ้าทรงผนวชก็เปลี่ยนเทศนาปฐมสมโพธิแบ่งวันละ ๑๐ กัณฑ์ ครั้นมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กลางเดือนสิบเอ็ดต้องกับการฉลองพระพุทธรูปพระชนมพรรษา ซึ่งทรงทำการเติมขึ้น ในเมื่อรัชกาลที่ ๓ แรกมีพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษานั้น เคยฉลองในวันเดือน ๕ ขึ้นค่ำ ๑ ด้วยวันเฉลิมพระชนมพรรษาในรัชกาลที่ ๓ นั้น คงตกอยู่ในเดือน ๔ ข้างแรม เดือน ๕ ข้างขึ้น พระพุทธรูปหล่อในเดือน ๔ ข้างขึ้น ถึงเดือน ๕ ขึ้นค่ำ ๑ ก็ได้ฉลองทุกปี ครั้นมาถึงในรัชกาลที่ ๔ วันประสูติเดิมอยู่ในเดือน ๑๑ จึงได้โปรดให้เลื่อนการหล่อพระชนมพรรษามาหล่อในเดือน ๑๐ การฉลองพระชนมพรรษา จึ่งได้มาฉลองในเดือนสิบเอ็ดขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำที่พระที่นั่งอนันตสมาคม เทศนามหาชาติก็ต้องเลื่อนไป มีเทศนาวิเศษเปลี่ยนแทนวันละกัณฑ์ การเทศนามหาชาตินั้นคงไปตกอยู่ในเดือน ๑๒ ข้างขึ้นบ้าง ข้างแรมบ้าง ไม่กำหนดแน่ แต่มักจะโปรดให้มีแต่จบเดียว แล้วมีอริยสัจรวมเป็น ๑๗ กัณฑ์ ยกมหาชาติ ๑๓ กัณฑ์นั้นไปเป็นเทศน์วิเศษ ในกลางเดือนสิบเอ็ด ๓ กัณฑ์ ในการเฉลิมพระชนมพรรษา ๔ กัณฑ์ ยังคงเหลือเทศน์วิเศษอยู่อีก ๖ กัณฑ์ ไว้สำหรับรายใช้ไปในการพระราชกุศลต่างๆ ไม่ให้ต่ำกว่าจำนวนเดิม ๓๓ กัณฑ์ ถ้าบางปีมีเจ้าพระเจ้าเณรบ้าง อย่างเช่นปีข้าพเจ้าบวชก็มีมหาชาติ ๒ จบเต็ม ๓๐ กัณฑ์บ้าง ถ้าเป็นเช่นนั้นเทศน์วิเศษก็คงเป็นอันเติมขึ้นอีก ๗ กัณฑ์ รวมเป็น ๔๐ กัณฑ์ แต่ครั้นตกมาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้ ถ้าว่าการฉลองพระพุทธรูปพระชนมพรรษาไม่ตกเดือนสิบเอ็ดก็จริง แต่ต้องทำบุญวันประสูติวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในกลางเดือน ๑๑ จึงเลื่อนมหาชาติมามีตามเดิมไม่ได้ ยังซ้ำเดือน ๑๒ เมื่อเลื่อนฉัตรมงคลมาทำในเดือน ๑๒ ก็ทำให้การในเดือน ๑๒ มากจนไม่ใคร่มีเวลาว่าง เทศนามหาชาติจึงต้องเลื่อนต่อไปเดือนอ้าย ซึ่งเป็นเดือนว่าง แต่ถึงกระนั้นก็ถูกคราวเสด็จหัวบ้านหัวเมืองเสียไม่ได้มีเนืองๆ และเจ้านายที่ทรงผนวชก็ไม่ใคร่มีใครอยู่ถึงเดือนอ้าย จึ่งไม่ชวนจะให้มีด้วย เพราะฉะนั้นเทศน์มหาชาติจึ่งได้มีบ้างไม่ได้มีบ้าง บางปีก็มี ๒ จบ บางปีมีจบเดียว สุดแท้แต่มีเวลาพอสมควรเท่าใด แต่มีจบเดียวโดยมาก

การเทศนามหาชาติแต่ใน ๓ รัชกาลก่อนนั้น เทศน์บนพระที่นั่งเศวตฉัตร ในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยแห่งเดียว ยกไว้แต่มีพระบรมศพอยู่บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท จึ่งได้ยกขึ้นไปเทศนาบนพระแท่นมุก พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เคยยกไปมีที่พระที่นั่งอนันตสมาคม แต่แรกข้างในฟังไม่ได้ยิน จึงได้ย้ายเข้าไปมีที่พระที่นั่งทรงธรรมข้างใน ข้าราชการที่เข้าไปในการเทศนานั้น เฉพาะแต่เจ้านาย เจ้าพนักงานกรมพระตำรวจและมหาดเล็ก บนพระที่นั่งทรงธรรมเป็นข้างในฟังทั้งสิ้น ครั้นแผ่นดินปัจจุบันนี้ย้ายกลับมาเทศน์ที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยไปตามเดิม เพราะเสด็จอยู่ทางนี้ เมื่อพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยต้องซ่อมแซมใหม่ จึงได้ยกมาเทศน์ที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

การตกแต่งเครื่องบูชาเทศนานั้น แบบที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย หลังพระที่นั่งเศวตฉัตรผูกกิ่งไม้ มีดอกไม้ร้อยห้อยย้อยเป็นพวงพู่ผูกตามกิ่งไม้ทั่วไป บนพระแท่นถมตั้งพานพุ่มดอกไม้พานทองสองชั้นขนาดใหญ่ขนาดเล็กเรียงสองแถว ตะบะถมตั้งหญ้าแพรก ข้าวตอก ดอกมะลิ ถั่ว งา และมีพานเครื่องทองน้อยแก้วห้าสำรับ ตั้งตะเกียงแก้วแทรกตามระหว่างเครื่องทองน้อยตรงหน้าพระที่นั่งเศวตฉัตรออกไป ตั้งหมากพนมพานทองมหากฐินสองพาน หมากพนมใหญ่พานแว่นฟ้าสองพาน แล้วพานนี้เปลี่ยนเป็นโคมเวียน มีต้นไม้เงินทองตั้งรายสองแถว กระถางต้นไม้ดัดลายคราม โคมพโอมแก้วรายตลอดทั้งสองข้าง หน้าแถวมีกรงนกคีรีบูน ซึ่งติดกับหม้อแก้วเลี้ยงปลาทองตั้งปิดช่องกลาง ปลายแถวตั้งขันเทียนคาถาพัน ตามตะเกียงกิ่งที่เสาแขวนฉากเทศน์ทั้ง ๑๓ กัณฑ์ หน้าท้องพระโรงมีซุ้มตะเกียง ๔ ซุ้ม มีราชวัติฉัตรธงผูกต้นกล้วยต้นอ้อยตามธรรมเนียม เล่ากันว่าเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นเวลาเล่นเครื่องแก้วกำลังมีราคามากนั้น ในห้องฉากซึ่งเป็นที่ประทับในพระเฉลียงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยนี้ ตั้งเครื่องแก้วเป็นเครื่องนมัสการโต๊ะหมู่ และมีเครื่องประดับต่างๆ งดงามยิ่งนัก เจ้านายข้าราชการฝ่ายในก็มีตะบะเครื่องบูชาเป็นเครื่องแก้ว เครื่องทอง เครื่องถม ประกวดประขันกันเป็นการสนุกสนานมาก แต่ชั้นหลังมานี้ ในพระฉากมีแต่เครื่องนมัสการแก้วโต๊ะประดับกระจกสำรับเดียวเท่านั้น แต่เจ้านายข้าราชการฝ่ายในยังมีเครื่องบูชา ชั้นแก่ๆ จึงใช้ตะบะอย่างเก่าๆ ชั้นสาวๆ ก็เป็นโต๊ะเป็นพานย่อๆ ลงไป เล่นแต่สีดอกไม้ ดอกไหล้ ไม่แข็งแรงเหมือนอย่างแต่ก่อน แต่ถ้าเทศน์ที่พระที่นั่งทรงธรรม จัดม้าหมู่ตรงหน้าธรรมาสน์ มีเครื่องแก้วต่างๆ ฝรั่งบ้างจีนบ้างมากกว่าที่เทศน์ท้องพระโรง แต่ยกต้นไม้เงินทอง ใช้ตั้งต้นไม้สดรายออกไปถึงที่ตั้งเครื่องกัณฑ์

ในเทศนามหาชาติหลวง ได้มีเป็นการใหญ่ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เกณฑ์พระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการ ทำกระจาดใหญ่บูชากัณฑ์เทศนาคราวหนึ่ง มาเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ข้าพเจ้าบวชเป็นเณรได้ถวายเทศน์ มีกระจาดใหญ่เป็นรูปเรือสำเภา ทำที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ เป็นกัณฑ์เทศน์เฉพาะตัวคนเดียวคราวหนึ่ง

ธรรมเนียมเสด็จออกมหาชาติ กัณฑ์แรกทศพร เจ้ากรมปลัดกรมพระตำรวจต้องนำตะเกียงที่ซุ้มเข้ามาถวายทรงจุดซุ้มละตะเกียง ต่อไปไม่ต้องถวายอีก มหาดเล็กต้องคอยเปลี่ยนเทียนเครื่องนมัสการ ในเวลาที่เสด็จไปทรงประเคนเครื่องกัณฑ์ให้แล้วเสร็จ ทันเสด็จกลับมาประทับทุกครั้ง เวลาทรงจุดเทียนแล้วต้องรับเทียนประจำกัณฑ์ และเทียนคาถาพันทุกคราว ไม่มีเวลายกเว้น นอกนั้นไม่มีการอันใดซึ่งจะต้องขาดเหลือ ๚
 


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/66283886507153_CX_EV_CR91_1_.jpg) (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/99790366035368_35927174_410501056132247_38455.jpg)

พระราชพิธีเดือนยี่
• การพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย
• การพระราชกุศลถวายผ้าจำพรรษา
-----------------------------------

๏ การพระราชพิธีในเดือนยี่นี้ คงนับพระราชพิธีบุษยาภิเษกมาไว้ เพราะเหตุผลอันได้กล่าวไว้แล้วในเดือนอ้าย ในคำให้การขุนหลวงหาวัดได้กล่าวไว้ว่า พระเจ้าแผ่นดินเสด็จขึ้นประทับบนกองดอกไม้เจ็ดสีแล้วจำเริญพระนขา พราหมณ์ทั้ง ๘ คนถวายพร แต่ในคำที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ ทรงเล่าให้ฟังนั้น ว่าทำเป็นมณฑปดอกไม้สด พระเจ้าแผ่นดินทรงเครื่องถอดอย่างสรงมุรธาภิเษก ประทับในมณฑปดอกไม้สดนั้นแล้วสรงมุรธาภิเษก เมื่อสอบกับกฎมนเทียรบาลในการพระราชพิธีบุษยาภิเษกนี้ ก็ไม่ได้กล่าวพิสดารในที่แห่งใด แต่ไปสมกันกับคำที่กล่าวว่าสรงมุรธาภิเษกนี้อยู่แห่งหนึ่ง ในจำนวนพระราชพิธีมีสนาน ๑๗ อย่าง มีชื่อบุษยาภิเษกในจำนวนนั้นด้วย จะหาข้อความให้ละเอียดขึ้นไปกว่านี้ไม่ได้ ด้วยเป็นพระราชพิธีโพยมยานอย่างเขื่อง เหมือนพิธีเฉวียนพระโคกินเลี้ยงจึงได้สูญเร็ว ๚  


เดือนยี่
การพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย

๏ การพระราชพิธีตรียัมพวาย ซึ่งเปลี่ยนมาแต่เดือนอ้าย การพิธีนี้ซึ่งกำหนดทำในเดือนอ้าย คงจะเป็นเหตุด้วยนับเปลี่ยนปีเอาต้นฤดูหนาวเป็นปีใหม่ของพราหมณ์ตามเช่นแต่ก่อนเราเคยใช้มา แต่การที่เลื่อนเป็นเดือนห้านั้นจะไว้ชี้แจงต่อเมื่อว่าถึงสงกรานต์ การที่เลื่อนมาเป็นเดือนยี่นี้ก็ได้กล่าวแล้วในคำนำ บัดนี้จะขอกล่าวตัดความแต่เพียงตรียัมพวายตรีปวายนี้เป็นพิธีปีใหม่ของพราหมณ์ ตรงกันกับพิธีมะหะหร่ำจองพวกแขกเจ้าเซ็น นับเป็นทำบุญตรุษเปลี่ยนปีใหม่ จึงเป็นพิธีใหญ่ของพราหมณ์

พราหมณ์พวกซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ บัดนี้ ก็เป็นเทือกเถาของพราหมณ์ซึ่งมาแต่ประเทศอินเดีย แต่ในขณะแต่ก่อนเมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองใหญ่ข้างฝ่ายใต้ เรือลูกค้าไปมาค้าขายอยู่ทั้งสองฝั่งทะเล คือข้างฝั่งนี้เข้าถึงเมืองนครศรีธรรมราช ข้างฝั่งตะวันตกเข้าทางเมืองตรัง พราหมณ์จึงได้เข้ามาที่เมืองนครศรีธรรมราชมาก แล้วจึงขึ้นมากรุงเทพฯ เป็นการสะดวกดีกว่าที่จะเดินผ่านเขตแดนพม่ารามัญ ซึ่งเป็นปัจจามิตรของกรุงเทพฯ ตั้งสกัดอยู่ข้างฝ่ายเหนือ เพราะฉะนั้นเชื้อพราหมณ์ในเมืองนครศรีธรรมราชไม่มีสิ้นสุดจนถึงบัดนี้ มีเทวสถาน มีเสาชิงช้าซึ่งพราหมณ์ยังคงทำพิธี แต่เป็นอย่างย่อๆ ตามมีตามเกิด เช่นพิธีตรียัมพวายเอาแต่กระดานขึ้นแขวนเป็นสังเขปเป็นต้น ที่เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ในชั้นหลังๆ นี้ก็มีโดยมาก จนพูดสำเนียงเป็นชาวนอกอยู่ก็มี เช่นพระครูอัษฎาจารย์บิดาหลวงสุริยาเทเวศร์[๑] เดี๋ยวนี้เป็นต้น ลัทธิเวทมนตร์อันใดก็ไม่ใคร่ผิดแปลกกัน เป็นแต่เลือนๆ ลงไปเหมือนพระสงฆ์ในกรุงเทพฯ และหัวเมือง ชะรอยหัวเมืองข้างใต้ตั้งแต่เมืองนครศรีธรรมราชขึ้นมา จะเป็นเมืองที่มีพราหมณ์โดยมาก จนเมืองเพชรบุรีก็ยังมีบ้านพราหมณ์ตั้งสืบตระกูลกันมาช้านานจนถึงเดี๋ยวนี้

ลัทธิของพราหมณ์ที่นับถือพระเป็นเจ้าต่างๆ บางพวกนับถือพระอิศวรมากกว่าพระนารายณ์ บางพวกนับถือพระนารายณ์มากกว่าพระอิศวร บางพวกนับถือพรหม บางพวกไม่ใคร่พูดถึงพรหม บัดนี้จะว่าแต่เฉพาะพวกพราหมณ์ที่เรียกว่าโหรดาจารย์ ซึ่งเป็นผู้ทำพระราชพิธีตรียัมพวายตรีปวายอันเป็นต้นเรื่องที่จะกล่าวแต่พวกเดียว พราหมณ์โหรดาจารย์พวกนี้เป็นพราหมณ์ที่สำหรับใช้การพระราชพิธีในกรุงสยามทั่วไป ตั้งแต่การบรมราชาภิเษกเป็นต้น เว้นไว้แต่ที่เกี่ยวข้องด้วยช้าง จึงเป็นพนักงานพราหมณ์พฤฒิบาศ พราหมณ์โหรดาจารย์พวกนี้นับถือพระอิศวรว่าเป็นใหญ่กว่าพระนารายณ์ นับถือพระอิศวรคล้ายพระยะโฮวา หรือพระอ้าหล่าที่ฝรั่งและแขกนับถือกัน พระนารายณ์นั้นเป็นพนักงานสำหรับแต่ที่จะอวตารลงมาเกิดในมนุษยโลก หรืออวตารไปในเทวโลกเอง คล้ายกันกับพระเยซูหรือพระมะหะหมัด แปลกกันกับพระเยซูแต่ที่อวตารไปแล้วย่อมทำร้ายแก่ผู้กระทำผิด คล้ายมะหะหมัดซึ่งข่มขี่ให้มนุษย์ทั้งปวงถือศาสนาตามลัทธิของตน ควรจะเห็นได้ว่าศาสนาทั้งสามนี้มีรากเง่าเค้ามูลอันเดียวกัน แต่ศาสนาของพราหมณ์เป็นศาสนาเก่ากว่าสองศาสนา ชะรอยคนทั้งปวงจะถือศาสนามีผู้สร้างโลกเช่นนี้ทั่วกันอยู่แต่ก่อนแล้ว เพราะความคิดเห็นว่าสิ่งใดจะเป็นขึ้นเองไม่ได้ ย่อมมีผู้สร้าง การที่มนุษย์ทั้งปวงจะได้รับความชอบความผิดต้องมีผู้ลงโทษและผู้ให้บำเหน็จ เมื่อเห็นพร้อมใจกันอยู่อย่างนี้จึงเรียกผู้มีอำนาจนั้นว่า ศิวะ หรือยะโฮวะ หรืออ้าหล่า ตามสำเนียงและภาษา ก็เพราะศาสนาพราหมณ์เป็นศาสนาเก่า ได้กล่าวถึงพระนารายณ์อันรับใช้พระอิศวรลงมาปราบปรามผู้ซึ่งจะทำอันตรายแก่โลกเนืองๆ เมื่อมีผู้คิดเห็นขึ้นว่าความประพฤติของมนุษย์ทั้งปวงในเวลานั้นไม่ถูกต้อง ก็เข้าใจว่าตัวเป็นพระนารายณ์ผู้รับใช้ของพระอิศวรลงมาสั่งสอน หรือปราบปรามมนุษย์ แต่กระบวนที่จะมาทำนั้นก็ตามแต่อัธยาศัยและความสามารถของผู้ที่เชื่อตัวว่าอวตารมา หรือแกล้งอ้างว่าตัวอวตารมาด้วยความมุ่งหมายต่อประโยชน์ซึ่งจะได้ในที่สุด อันตนเห็นว่าเป็นการดีการชอบนั้น พระเยซูมีความเย่อหยิ่งยกตนว่าเป็นลูกพระยะโฮวา คือพระอิศวร แต่ไม่มีกำลังสามารถที่จะปราบปรามมนุษย์ด้วยศัสตราวุธ ก็ใช้แต่ถ้อยคำสั่งสอนจนถึงอันตรายมาถึงตัว ก็ต้องรับอันตรายกรึงไม้กางเขน พวกศิษย์หาก็ถือว่าเป็นการรับบาปแทนมนุษย์ ตามอาการกิริยาซึ่งพระเยซูได้ประพฤติเป็นคนใจอารีมาแต่เดิมตามความนับถือที่จะคิดเห็นไป ฝ่ายมะหะหมัดเกิดภายหลังพระเยซู เพราะไม่สู้ชอบใจในคำสั่งสอนของพระเยซู จนคิดจะเปลี่ยนแปลงอยู่แล้วนั้น จึงสามารถที่จะเห็นได้ว่าซึ่งพระเยซูอ้างว่าเป็นลูกพระยะโฮวานั้นเป็นการเย่อหยิ่งเกินไปและไม่สู้น่าเชื่อ ทั้งการที่จะป้องกันรักษาชีวิต ตามทางพระเยซูประพฤติมานั้นก็ไม่เป็นการป้องกันได้ จึงได้คิดซ่องสุมกำลังศัสตราอาวุธปราบปรามด้วยอำนาจแล้วจึงสั่งสอนภายหลัง อ้างตัวว่าเป็นแต่ผู้รับใช้ของพระอ้าหล่า ให้อำนาจและความคิดลงมาสั่งสอนมนุษย์ทั้งปวง การซึ่งมนุษย์ทั้งปวงเชื่อถือผู้ซึ่งอ้างว่ารับใช้พระอิศวรหรือพระยะโฮวาพระอ้าหล่าลงมาเช่นนั้น ก็ด้วยอาศัยในคัมภีร์ของพราหมณ์ได้กล่าวไว้ว่าพระนารายณ์ได้รับใช้พระอิศวรลงมาเป็นคราวๆ นั้นเอง จนถึงปัจจุบันเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่สิ้นความคิดเห็นอย่างนี้ ยังมีมะหะดีอวตารลงมาตามคำทำนายของมะหะหมัด มุ่งหมายจะประกาศแก่มนุษย์ทั้งปวงว่าเป็นอวตารตามอย่างเก่า แต่เป็นเวลาเคราะห์ร้ายถูกคราวที่มนุษย์ทั้งปวงเจริญขึ้นด้วยความรู้ไม่ใคร่มีผู้ใดเชื่อถือ จนเราอาจทำนายได้เป็นแน่ว่า สืบไปภายหน้าพระอิศวรคงจะไม่อาจใช้ใครลงมาได้อีก ถึงลงมาคงจะไม่มีผู้ใดเชื่อถือ

แต่ถึงว่าศาสนาทั้งสามเป็นศาสนาเดียวกันก็ดี ข้อความที่ลงกันอยู่ก็แต่เหตุผลที่เป็นรากเง่า แต่วิธีที่จะบูชาเซ่นสรวงและอาการความประพฤติของพระเป็นเจ้านั้น ย่อมเปลี่ยนแปลงยักเยื้องกันไปตามความประพฤติที่จะเข้าใจง่ายในประเทศนั้น และตามสำนวนคนในประเทศนั้นๆ ตกแต่งเรียบเรียงขึ้น ก็บรรดาคัมภีร์สร้างโลกทั้งปวงย่อมกล่าวกิจการซึ่งพระเป็นเจ้าได้ทำนั้นแปลกประหลาดต่างๆ ตามแต่จะว่าไป ที่ไม่น่าทำไปทำก็มี ที่ควรจะทำได้เร็วไปทำช้า การที่เห็นว่าน่าจะต้องทำช้าไปทำได้เร็วๆ การที่ไม่พอที่จะวุ่นวายก็วุ่นวายไปได้ต่างๆ การที่ไม่พอที่จะเพิกเฉยก็เพิกเฉย จะยกหยิบเรื่องมาอ้างก็ชักจะยืดยาวหนักไป จะขอย่นย่อข้อความลงตามความประสงค์ในเหตุที่จะกล่าวบัดนี้ว่า บรรดาหนังสือเรื่องใดๆ ซึ่งเป็นของแต่งไว้แต่โบราณ ผู้แต่งย่อมมีความรู้และวิชาน้อย ด้วยยังไม่มีเวลาที่ได้ทดลองสืบสวนเทียบเคียงการเท็จจริงให้ตลอดไป มุ่งหมายแต่ความดีอย่างหนึ่ง แล้วก็แต่งหนังสือเรื่องราวตามชอบใจของตน ซึ่งคิดเห็นว่าจะเป็นเหตุชักล่อใจคนให้นับถือมากขึ้น แล้วจะได้เชื่อฟังคำสั่งสอนในทางที่ดีซึ่งเป็นที่มุ่งหมาย มิใช่จะกล่าวมุสาโดยไม่มีประโยชน์ จึงเห็นว่าไม่เป็นการมีโทษอันใด เมื่อคิดเห็นเช่นนั้นแล้วจะเรียบเรียงหนังสือลงว่ากระไรก็เรียงไปตามชอบใจ ไม่คิดเห็นว่าคนภายหลังจะมีวิชาความรู้มากขึ้นจะคัดค้านถ้อยคำของตน หรือแม้แต่เพียงนึกสงสัยประการใดไม่ ความคิดของคนแต่ก่อนเช่นนี้ก็ใช่ว่าจะเป็นการผิดไปทีเดียว ด้วยเหตุว่ามนุษย์ทั้งปวงในเวลานั้น ก็ย่อมมีความรู้ความเห็นน้อยกว่าผู้ที่แต่งหนังสือนั้น ต้องเชื่อถือหนังสือนั้นว่าเป็นความจริงความดีสืบลูกหลานต่อๆ มา ถึงว่าลูกหลานต่อลงมาภายหลังจะนึกสงสัยสนเท่ห์บ้าง ก็เป็นความผิดใหญ่ที่จะหมิ่นประมาทต่อความประพฤติของพระเป็นเจ้า แต่ผู้ซึ่งจะไม่คิดเลยเพราะเคยนับถือเสียตั้งแต่เกิดมานั้นมีโดยมาก น้อยก็คงต้องสู้มากไม่ได้อยู่เป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นคัมภีร์ศาสนาพราหมณ์ หรือพระยะโฮวา หรือพระอ้าหล่า จึงได้มีเรื่องราวและถ้อยคำที่ไม่น่าเชื่ออยู่ในนั้นทุกๆ ฉบับ คำซึ่งข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไปภายหน้านั้น บางทีจะดูเหมือนล้อๆ พระเป็นเจ้าไปบ้าง จึงขอแสดงความประสงค์ไว้เสียแต่เบื้องต้นว่า ข้าพเจ้าไม่ได้คิดจะยกข้อทุ่มเถียงว่าพระเป็นเจ้ามีหรือไม่ในเรื่องที่จะกล่าวต่อไปนี้ เป็นอันยกเว้นเสียไม่กล่าวถึงในข้อนั้นทีเดียว เพราะใช่กาละที่จะกล่าวถึงและจะทุ่มเถียงกันในเวลานี้ ถ้าจะเป็นคำหมิ่นประมาทบ้างก็ไม่ได้คิดหมิ่นประมาทพระเป็นเจ้าอันจะมีอยู่จริงหรือไม่จริงนั้น เป็นแต่เห็นประหลาดในถ้อยคำของผู้ที่แต่งเรื่องราวอันไม่ยุติด้วยเหตุด้วยผล เพราะเป็นการล่วงเวลาที่ควรจะใช้จึงเป็นการขบขันไปบ้างเท่านั้น เมื่อท่านทั้งปวงได้จำถ้อยคำที่กล่าวนี้ไว้แล้วจงอ่านเรื่องราวต่อไปนี้เถิด


หัวข้อ: Re: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 23 มิถุนายน 2561 16:41:02
เดือนยี่
การพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย (ต่อ)

เมื่อจะว่าด้วยความประพฤติของพระเป็นเจ้าทั้งปวง ซึ่งผู้อยู่ในประเทศใดแต่งคัมภีร์ พระเป็นเจ้าก็ประพฤติพระองค์เป็นคนชาตินั้น ดังเช่นกล่าวมาแล้วนั้น พระอิศวรของพราหมณ์ที่อยู่ในกรุงสยามนี้ประพฤติพระองค์เป็นอย่างชาวอินเดีย คือไม่เสวยเนื้อสัตว์ โปรดข้าวเม่า, ข้าวตอก, กล้วย, อ้อย, มะพร้าว, เผือก, มัน, นม, เนย ตามที่พวกพราหมณ์ในประเทศอินเดียกินเป็นอาหารอยู่ และถือกันว่าพระอิศวรนั้นเป็นพระคุณ คือเป็นผู้ที่จะสงเคราะห์เทพยดามนุษย์ยักษ์มารทั่วไป ไม่มีที่จะลงโทษแก่ผู้ใด โดยจะต้องทำบ้างก็เป็นการจำเป็นโดยเสียไม่ได้ หลงๆ ลืมๆ เช่นครั้งปราบตรีบุรำเป็นต้น เมื่อแผลงศรไปไม่สำเร็จแล้วก็ไม่ตั้งความเพียรที่จะทำต่อไป มอบธุระให้พระนารายณ์เสียทีเดียว โดยว่ามักจะทรงกริ้วโกรธสนมกำนัลที่มีความผิดเล็กน้อยในการปฏิบัติวัดถาก มีจุดตะเกียงเป็นต้น จะสาปสรรให้ลงมาทนทุกข์ทรมานโดยกำลังกริ้วครั้งหนึ่ง ก็ยังทรงพระเมตตาให้มีกำหนดพ้นโทษ และให้เป็นประโยชน์แก่การเรื่องอื่น มีให้เป็นเมียหนุมานเป็นรางวัล และบอกหนทางพระรามเป็นต้น เพราะพระอิศวรเต็มไปด้วยความกรุณา ไม่เลือกว่าคนดีหรือคนชั่ว เพราะใครไปตั้งพิธีรีตองจะขออันใดก็ได้สมปรารถนา จะไปดีหรือไปชั่วตามแต่ตัวผู้ได้ไป เพราะพระทัยดีมีพื้นอันใหม่อยู่เป็นนิตย์ดังนี้ จึงได้มีพระนามปรากฏว่าพระคุณ

ส่วนพระนารายณ์มีพระอาการตามที่กล่าวว่า เมื่ออยู่ปรกติเสมอย่อมบรรทมอยู่ในกลางทะเลน้ำนมเป็นนิตย์ ต่อเมื่อเวลาใดมีการอันใดซึ่งพระอิศวรจะต้องการ รับสั่งใช้ให้ไปปราบปรามผู้ซึ่งประทุษร้ายแก่โลกทั้งปวงจึงได้ปลุกขึ้น เพราะฉะนั้นพระนารายณ์จึงเป็นแต่ผู้ทำลาย ที่สุดโดยปลุกขึ้นเพื่อการมงคลเช่นโสกันต์พระขันธกุมาร ก็ทรงขัดเคืองบริภาษจนพระเศียรพระขันธกุมารหายไป พระอิศวรต้องซ่อมแซมแก้ไขด้วยศีรษะช้าง เพราะเหตุฉะนั้นจึงมีคำกล่าวว่าพระนารายณ์ย่อมไม่ประสิทธิพรอวยสวัสดิมงคลแต่สักครั้งหนึ่งเลย ที่สุดจนเครื่องบูชาในเวลาพระราชพิธีตรีปวายก็ห้ามไม่ให้นำมาถวายด้วยกลัวพิษ จะแจกให้แก่ผู้ดีมีหน้าก็ไม่ได้ ต้องแจกให้แก่ยาจกวณิพก และถือกันว่าถ้าวันแรม ๕ ค่ำ ซึ่งเป็นวันส่งพระนารายณ์นั้นต้องวันพิษ มักจะเกิดเหตุตีรันฟันแทงกันชุกชุม (เพราะเดือนมืดคนไม่ใคร่ไปดู) พราหมณ์ทั้งปวงจึงต้องระวังกันเป็นกวดขัน เพราะพระนารายณ์เป็นพนักงานแต่ล้างผลาญเช่นนี้ จึงได้มีนามปรากฏว่าพระเดช เป็นคู่กันกับพระคุณ

ส่วนพระมหาวิฆเนศวรนั้น คือพระขันธกุมารซึ่งพระเศียรเป็นช้าง เป็นโอรสพระอิศวร เป็นครูช้าง พราหมณ์ย่อมนับถือโดยฤทธิเดชของพระองค์เองบ้าง โดยจะให้ถูกพระทัยพระอิศวรเป็นการสัพพีบ้าง จึงเป็นพระเป็นเจ้าอีกองค์หนึ่ง
เทวสถานซึ่งเป็นของสำหรับพระนครจึงทำเป็นสามสถาน สถานหนึ่งพระอิศวร สถานกลางพระมหาวิฆเนศวร อีกสถานหนึ่งพระนารายณ์ การพระราชพิธีตรียัมพวายและตรีปวายนี้ ทำที่เทวสถานทั้งสามนั้น

ความมุ่งหมายของการพิธีตรียัมพวายที่ทำนี้ ว่าพระอิศวรเป็นเจ้าเสด็จลงมาเยี่ยมโลกปีละครั้ง ครั้งหนึ่งกำหนด ๑๐ วัน วันเดือนอ้ายขึ้น ๗ ค่ำเป็นวันเสด็จลง แรมค่ำ ๑ เป็นวันเสด็จกลับ ต่อนั้นในวันค่ำ ๑ พระนารายณ์เสด็จลง แรม ๕ ค่ำเสด็จกลับ การที่เลื่อนมาเดือนยี่เกินกำหนดซึ่งเสด็จลงมาแต่ก่อนก็จะไม่เป็นการยากอันใด ด้วยพราหมณ์ย่อมถือตัวว่าเป็นผู้ถือประแจสวรรค์คล้ายกันกับโป๊ป เมื่อไม่อ่านเวทเปิดประตูถวายก็เสด็จไม่ได้อยู่เอง การซึ่งรับรองพระอิศวรนั้นก็จัดการรับรองให้เป็นการสนุกครึกครื้นตามเรื่องราวที่กล่าวไว้ คือมีเทพยดาทั้งหลายมาเฝ้าประชุมพร้อมกัน เป็นต้นว่าพระอาทิตย์ พระจันทร์ พระธรณี พระคงคา ซึ่งพราหมณ์ทำเป็นแผ่นกระดานมาฝังไว้หน้าชมรม โลกบาลทั้งสี่ก็มาเล่นเซอคัสโล้ชิงช้าถวาย พระยานาคหรือเทพยดาว่ากันเป็นสองอย่างอยู่ ก็มารำเสนงพ่นน้ำหรือสาดน้ำถวาย บรรดาในการพระราชพิธีตรียัมพวายส่วนพระอิศวรนั้น เป็นการครึกครื้น มีผู้คนไปรับแจกข้าวตอกข้าวเม่าที่เหลือจากสรวงสังเวยเป็นสวัสดิมงคล แต่ส่วนการพระราชพิธีตรีปวายของพระนารายณ์นั้นทำเป็นการเงียบ ด้วยพระองค์ไม่โปรดในการโซไซเอตี มีพื้นเป็นโบราณอยู่ตามที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ความมุ่งหมายของการพระราชพิธีมีความนิยมดังกล่าวมานี้

มีความพิสดารในกฎมนเทียรบาลแต่เฉพาะว่าด้วยเรื่องสนาน คือสรงมุรธาภิเษกอย่างเดียว ลงท้ายไปว่าด้วยเรื่องถวายอุลุบ ก็เป็นบรรยายแต่ชื่อพนักงานผู้รับ หาได้ความชัดเจนอย่างไรไม่ แต่ข้อซึ่งว่าพิธีตรียัมพวายมีสรงมุรธาภิเษกด้วยนี้เป็นการเลื่อนลอยไม่ได้ยินในที่อื่น ถึงในพระราชพิธีที่นับว่ามีสนาน ๑๗ อย่างก็ไม่มีพิธีตรียัมพวาย แต่ถ้าจะคิดดูตามเวลาที่พระเจ้าแผ่นดินทรงนับถือไสยศาสตร์มาก อย่างเช่นพระนารายณ์มหาราช ทีจะเป็นด้วยทรงรื่นรมย์ในพระนามว่าเป็นพระเป็นเจ้าจนคนเห็นปรากฏว่าเป็นสี่กร หรือเป็นด้วยทรงเล่นวิชาช้างม้าอยู่คงกระพันชาตรีเพลิดเพลินไปอย่างใด จนมีจดหมายแห่งหนึ่งได้กล่าวไว้โดยคำชัดเจนว่า สมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้าทรงนับถือไสยศาสตร์มากกว่าพุทธศาสน์ดังนี้ เมื่อจะเทียบดูเหตุผลซึ่งมีปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารที่คนเป็นอันมากได้อ่านก็จะพอเห็นได้ว่า คำที่กล่าวด้วยเรื่องทรงนับถือไสยศาสตร์นั้นจะไม่เป็นคำที่กล่าวโดยไม่มีมูลทีเดียวนัก คือได้ทรงสร้างเทวรูปหุ้มด้วยทองคำทรงเครื่องลงยาราชาวดีประดับหัวแหวน สำหรับตั้งในการพระราชพิธีเป็นหลายองค์ และในการพระราชพิธีตรียัมพวายก็เป็นอันปรากฏชัดว่าได้เสด็จไปส่งพระเป็นเจ้าถึงเทวสถานทุกปีมิได้ขาด จนถึงเวลาที่มีเหตุอันเข้าใจว่าพระไตรภูวนาทิตยวงศ์ คิดจะประทุษร้ายในวันซึ่งเสด็จส่งพระเป็นเจ้าเป็นแน่ชัดแล้วก็ยังรับสั่งว่าจะทำอย่างไรก็ตามเถิด แต่จะไปส่งพระเป็นเจ้าให้ถึงเทวสถานจงได้ มีพยานเจือคำกล่าวไว้ดังนี้จะพอสันนิษฐานได้ว่าพระนารายณ์เป็นเจ้าทรงนับถือไสยศาสตร์ (ถึงไม่ยิ่งกว่าตามที่เขาว่าก็คงจะ) มาก ก็ประเพณีพระเจ้าแผ่นดินซึ่งจะทำการบรมราชาภิเษก เบื้องหน้าแต่รับพระสุพรรณบัฏแล้วก็ต้องทรงรับสังวาลพราหมณ์ อันมหาราชครูพิธีประสิทธิถวายทรงก่อนที่จะรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ทั้งปวง นับว่าเหมือนบวชเป็นพราหมณ์สามเส้นครั้งหนึ่งทุกพระองค์ ก็ในพิธีตรียัมพวายนี้พราหมณ์ทั้งปวงต้องสนานกายสระเกล้าเพื่อจะรับพระเป็นเจ้าทั่วกัน ถ้าพระเจ้าแผ่นดินซึ่งทรงรู้สึกพระองค์ว่าเป็นพราหมณ์อยู่หน่อยๆ หนึ่งเช่นนั้นจะสรงมุรธาภิเษกจริงดังว่าได้ดอกกระมัง

ในจดหมายคำให้การขุนหลวงหาวัด ที่ตรงนี้ดูเลอะๆ ไม่ได้ออกชื่อพิธีตรียัมพวาย แต่พรรณนาถึงเรื่องเสาชิงช้าถีบชิงช้า และพระยาพลเทพยืนชิงช้าต้องยืนตีนเดียว ยืนสองตีนถูกริบเป็นต้น ไม่มีข้อความละเอียดว่าด้วยแห่แหนหรือการพิธีในเทวสถานประการใด แต่การสรงมุรธาภิเษกตามซึ่งกล่าวไว้นั้นไม่ได้มีในกรุงรัตนโกสินทรนี้เลย การที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้คงดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า

แต่ก่อนมาเป็นแต่พิธีพราหมณ์ พระราชทานเงินและสีผึ้งช่วยและมีการแห่แหนตามสมควร แต่ครั้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนับว่าพิธีนี้เป็นเหมือนพิธีมะหะหร่ำของแขกเจ้าเซ็น และวิสาขบูชาในพระพุทธศาสนา เป็นพิธีใหญ่สำหรับพระนครอยู่ข้างจะทรงเป็นพระราชธุระมาก จึงได้โปรดให้มีพิธีสงฆ์เพิ่มเติมขึ้นด้วย พระสงฆ์รับพระราชทานฉันที่พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ในวัน ๗ ค่ำเวลาเช้าซึ่งเป็นวันทอดพระเนตรแห่กลับ เสด็จออกเลี้ยงพระเสร็จแล้วพอทันเวลาแห่กลับ พระสงฆ์ฉันพร้อมกันทั้ง ๑๕ รูป คือพระราชาคณะ ๓ รูป พระพิธีธรรม ๑๒ รูป มีเครื่องไทยทานสบง, ร่ม, รองเท้า, หมากพลู, ธูปเทียน และมีกระจาดข้าวเม่า, ข้าวตอก, เผือก, มัน, กล้วย, อ้อย, มะพร้าว, น้ำตาลทราย ถวายให้ต้องกันกับการพิธี เวลากลางคืนในวันขึ้น ๗ ค่ำ ขึ้น ๘ ค่ำ ขึ้น ๙ ค่ำ แบ่งสวดมนต์ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามวันละ ๕ รูป พระราชาคณะรูป ๑ พิธีธรรม ๔ รูป ทุกคืน ในชั้นแรกเสด็จพระราชดำเนินออกทุกคืน แต่ภายหลังมาก็จืดๆ ไป การที่เสด็จออกนั้นดูเป็นแทนเสด็จเทวสถานซึ่งพระเจ้าแผ่นดินในกรุงเก่าเสด็จทุกปี ที่หน้าพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต มีพานข้าวตอก มะพร้าว กล้วย อ้อย ตั้งบูชาเหมือนเช่นพราหมณ์ตั้งที่หน้าเทวรูปในเทวสถาน ทรงจุดเครื่องนมัสการแล้วราชบัณฑิตอ่านคำบูชา แสดงพระราชดำริในเบื้องต้นที่ทรงเห็นว่าการพระราชพิธีนี้ควรจะเนื่องด้วยพระพุทธศาสนา แล้วจึงได้ว่าสรรเสริญพระพุทธคุณ ถวายข้าวเม่า ข้าวตอก ผลไม้ต่างๆ เป็น ๓ ครั้ง มีข้อความต่างๆ กัน ถ่ายอย่างที่พราหมณ์ยกอุลุบถวายพระเป็นเจ้า เมื่อจบคำบูชาถวายข้าวตอกนั้นแล้วจึงได้สวดมนต์ต่อไปทั้งสามวัน ครั้นวันแรม ๕ ค่ำ เริ่มพระราชพิธีตรีปวายก็มีพระสงฆ์รับพระราชทานฉัน พระราชาคณะไทย ๑ รามัญ ๑ พระครูปริตรไทย ๕ รามัญ ๔ ถวายเครื่องไทยทานเหมือนอย่างพระราชพิธีตรียัมพวาย เวลาค่ำสวดมนต์ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่ไม่มีคำบูชาเจือ อยู่ข้างจะบำบัดพิษหน่อยๆ การพิธีสงฆ์ที่เกี่ยวในสองพิธีมีอยู่เท่านี้

ในการพระราชพิธีนี้ต้องมีข้าราชการผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งรับที่สมมติว่าเป็นพระอิศวรเป็นเจ้าลงมาเยี่ยมโลก ตามที่พราหมณ์คอยอยู่นั้น ตำแหน่งผู้ซึ่งรับสมมตินี้ แต่ก่อนเคยคงอยู่ในเจ้าพระยาพลเทพซึ่งเป็นเกษตราธิบดีผู้เดียว เป็นตำแหน่งเดิมแต่ครั้งกรุงเก่ามาจนตลอดถึงรัชกาลที่ ๓ ในกรุงรัตนโกสินทรนี้ข้างตอนต้น ครั้นตกมาตอนปลายเจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม) ถึงแก่อสัญกรรม ไม่ทรงตั้งเจ้าพระยาพลเทพต่อไป โปรดให้เจ้าพระยานิกรบดินทร์ ซึ่งยังเป็นพระยาราชสุภาวดียืนชิงช้าแทนปีหนึ่ง ต่อไปก็เปลี่ยนเป็นเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (เสือ) ซึ่งยังเป็นพระยาราชนิกูลเป็นผู้ยืน มีคำเล่าว่ารับสั่งให้ข้าราชการออกมาแห่ ครั้นเวลาเสด็จออกขุนนางรับสั่งถามว่างามอย่างไรบ้าง มีผู้ทูลว่างามเหมือนห่อพระอังคาร ต่อไปเป็นเจ้าพระยายมราช (ศุข) เมื่อยังเป็นพระยาสุรเสนายืนชิงช้า แต่ไม่เปลี่ยนทุกปี ยืนปีหนึ่งแล้วก็ซ้ำๆ ไป ต่อถึงรัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชดำริเห็นว่าเจ้าพระยาพลเทพต้องแห่ทุกปี ปีละสองครั้งก็เฝือนักจนกระบวนแห่ก็กรองกรอย เป็นการโกโรโตเตไปไม่ครึกครื้น แต่ก่อนมาท่านเสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่อื่นๆ ยังมีช่องมีคราวที่ต้องถูกแห่สระสนานใหญ่ ครั้นเมื่อเกิดพระราชพิธีคเชนทรัศวสนานขึ้นแทนการสระสนาน ท่านเสนาบดีและข้าราชการทั้งปวงก็เป็นอันไม่มีที่จะได้โอกาสแห่แหนอันใดให้เป็นเกียรติยศอย่างแต่ก่อน อนึ่ง บางทีก็เป็นที่บ่นกันว่าต้องถูกแห่ทุกปี ต้องแจกบ่ายเลี้ยงดูกระบวนเปลืองเงินทองไปมาก จึงทรงพระราชดำริเห็นว่าข้าราชการผู้ใหญ่ที่ได้รับพระราชทานพานทอง เป็นผู้ได้รับยศประโคมกลองชนะมีบโทนแห่ ควรจะให้ได้แห่ให้เต็มเกียรติยศเสียคนละครั้งหนึ่งๆ จึงได้โปรดให้ข้าราชการที่ได้รับพระราชทานพานทองเปลี่ยนกันยืนชิงช้าปีละคน บางท่านที่มีคุณพิเศษต่างๆ ก็พระราชทานเสลี่ยงบ้าง กลดบ้าง ลอมพอกโหมดเกี้ยวลงยาบ้าง เป็นการเพิ่มเติมวิเศษขึ้นกว่าสามัญ จึงเป็นธรรมเนียมติดต่อมาจนถึงรัชกาลปัจจุบันนี้

ข้าราชการผู้ซึ่งต้องยืนชิงช้านั้นต้องกราบทูลถวายบังคมลาเข้าพิธีก่อนหน้าที่จะไปยืนชิงช้า คนที่เข้ากระบวนเป็นคนจ่ายกำหนดอยู่ใน ๘๐๐ คือตำรวจสวมเสื้อคาดรัตคดถือหวายเส้น ๑๖ ดาบเขน ๓๐ ดาบโล่ ๓๐ ดาบดั้ง ๓๐ ดาบสองมือ ๓๐ พร้าแป๊ะกัก ๓๐ ดาบเชลย ๓๐ สวมกางเกงริ้วเสื้อแดงหมวกหนัง สารวัตรสวมเสื้ออัตลัดโพกผ้า ๑๘ คน บโทน ๓๐๐ เป็นคนในตัว นุ่งตาโถงคาดผ้าลายริ้ว เสื้อปัศตูแดงปัศตูเขียว ตะพายกระบี่เหล็ก ขุนหมื่น ๒๐๐ เสื้ออย่างน้อยแพรสีต่างๆ นุ่งม่วงโพกแพรขลิบทองตะพายกระบี่ฝักทองเหลือง สารวัตรขุนหมื่น ๕๐ นุ่งยกเสื้อเข้มขาบ โพกแพรขลิบทอง ตะพายกระบี่ฝักเงิน กลองชนะ ๑๐ คู่ สวมเสื้อแดง จ่าปี่ ๑ เสื้อริ้วตุ้มปี่แดง กรรเชิงแดงหน้า ๒ คัน หลัง ๒ คัน สวมเสื้อมัสรู่ กางเกงปูม คนหามเสลี่ยงโถงไพร่หาม ๑๒ คน กางเกงปัศตู เสื้อขาว คาดเกี้ยว คู่เคียง ๘ คน หลวงในกรมท่า ๒ กรมเมือง ๒ กรมวัง ๒ กรมนา ๒ แต่งตัวนุ่งสนับเพลา นุ่งยก เสื้อเข้มขาบ โพกตาด อภิรมกั้นสัปทนแดง ๑ บังตะวัน ๑ สวมเสื้อมัสรู่ริ้ว กางเกงแดง ริ้วหลังขุนหมื่น ๕๐ แต่งตัวเป็นอย่างข้างหน้า หว่างริ้วทนายของตัวเองตับละ ๖ คน นุ่งผ้าไหมจีน เสื้อเข้มขาบอัตลัด ตับที่หนึ่งที่สองถือดาบกระบี่ ตับที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ถือเครื่องยศ ต่อนั้นไปถือหอกง้าวทวนเป็นตับๆ ต่อไปเป็นทหารเลวอีก ๒๐๐ ตามแต่จะมี  ริ้วนอกถือปิไสหวาย ๓๐ ถือง้าว ๓๐ ตระบองหุ้มปลาย ๓๐ ถือทิว ๑๐๐ ทิวนี้เคยมีมาแต่โบราณไม่เคยขาดเลย สมมติกันว่าถุงปืน แต่ที่จริงดูถูกลมสะบัดปลิวก็งามดีอยู่ กระบวนที่เกณฑ์กำหนดเพียงเท่านี้ แต่ผู้ซึ่งต้องแห่คิดแต่งกระบวนตามกำลังของตัวเอง เพิ่มเติมเป็นกระบวนหน้าบ้างกระบวนหลังบ้าง ถึงสองพันสามพันจนสี่พันคนก็มี

อนึ่งมีธรรมเนียมเกิดใหม่ คือใครเป็นผู้ต้องแห่ได้รับราชการอยู่กรมใด ก็ทำธงเป็นรูปตราตำแหน่งเย็บลงในพื้นปัศตูแดงนำไปหน้ากระบวน เป็นของเกิดขึ้นเมื่อมีทหารแห่เสด็จถือธงนำหน้าก็ลงเป็นตำราใช้กันมา ตลอดจนถึงขบวนที่เป็นของเจ้าของหามาเองนั้น ถ้าผู้ใดอยู่กรมใดก็มักจะจัดเครื่องแห่นั้นให้เข้าเรื่องกัน เป็นต้นว่าได้ว่าการคลังก็มีคนถือกระดานแจกเบี้ยหวัด เป็นสัสดีก็มีคนถือสมุด เป็นอาสาหกเหล่าก็มีคนหาบโพล่แฟ้มเป็นต้น ไม่มีกำหนดนิยมว่าอย่างไร แต่ลงท้ายแล้วคงเป็นโค้งๆ โฉ่งฉ่างเป็นอยู่ธรรมดาทุกๆ กระบวน

ตัวพระยาผู้ยืนชิงช้าแต่งตัวนุ่งผ้าเยียรบับ แต่วิธีนุ่งนั้นเรียกว่าบ่าวขุน มีชายห้อยอยู่ข้างเบื้องหน้า สวมเสื้อเยียรบับ คาดเข็มขัด สวมเสื้อครุยลอมพอกเกี้ยวตามบรรดาศักดิ์ การแห่ชิงช้านี้เป็นหน้าที่ของกรมเกษตราธิการ หรือจะเรียกว่ากรมนา เป็นต้น หมายและจัดกระบวนทั่วไป การซึ่งหน้าที่ยืนชิงช้าตกเป็นพนักงานของกรมนาอยู่นี้ ก็ชะรอยจะติดมาจากจรดพระนังคัล ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมนาแท้ การยืนชิงช้านี้ถ้าจะว่าข้างหน้าที่ที่ใกล้เคียงแล้ว น่าจะเอาเจ้าพระยายมราชมากกว่า แต่เห็นจะเป็นมาเพราะง่ายที่ได้เคยแล้วจึงได้รวมอยู่คนเดียว

วันขึ้น ๗ ค่ำเวลาเช้า ตั้งกระบวนแห่แต่วัดราชบุรณ ไปตามทางถนนรอบกำแพงพระนครเลี้ยวลงถนนบำรุงเมือง ในวันแรกหยุดพักโรงมานพ หรือ “มาฬก” ปลูกไว้ริมเชิงสะพาน นอกเฉลวกำหนดเขต พราหมณ์นำกระดานชิงช้าซึ่งสมมติว่าจะไปแขวนมารับพระยา เมื่อพระยามาถึงโรงมานพแล้ว ก็นำกระดานนั้นกลับคืนไปไว้ในเทวสถาน แล้วปล่อยกระดานซึ่งแขวนไว้ที่เสาชิงช้าเสร็จแล้ว เอาเชือกรัดให้ตั้งติดอยู่กับเสานั้นลง สมมติว่าเอากระดานแผ่นที่เอาไปเก็บไว้ในเทวสถานขึ้นไปแขวนแล้วจึงได้รดน้ำสังข์จุณเจิมเสร็จแล้ว นำพระยาไปที่ชมรม โรงชมรมนั้นทำเป็นปะรำไม้ไผ่ดาดผ้าขาวเป็นเพดานมีม่านสามด้าน กลางชมรมตั้งราวไม้ไผ่หุ้มขาวสำหรับนั่งราวหนึ่ง สำหรับพิงราวหนึ่ง นำพระยาเข้าไปนั่งที่ราว ยกเท้าขวาพาดเข่าซ้าย เท้าซ้ายยันพื้น มีพราหมณ์ยืนข้างขวา ๔ คน ข้างซ้ายเกณฑ์หลวงในกรมมหาดไทย ๒ คน กรมพระกลาโหม ๒ คนไปยืน มีพราหมณ์เป่าสังข์อยู่เบื้องหน้า ๒ คน เมื่อพระยาไปถึงชมรมแล้ว ส่งธูปเทียนไปบูชาพระศรีศากยมุนีในวิหารวัดสุทัศน์ทั้งเวลาเช้าเย็น เมื่อแต่ก่อนที่ข้าพเจ้าไปดูอยู่ เห็นตัวพระยาเข้าไปในวัดนมัสการพระถึงวิหารทีเดียวก็มี เวลาที่ไปนั้นมีกลองชนะตีนำหน้าเข้าไป และตีนำกลับออกมา แต่ภายหลังนี้ว่าไม่ได้เข้าไป เห็นจะเป็นย่อกันลง ด้วยเสด็จออกเย็นจะไม่ทันเวลาโล้ชิงช้าเป็นต้น จึงได้เลยเลือนไปทีเดียว นาลิวันขึ้นโล้ชิงช้ากระดานละ ๔ คน ๓ กระดาน มีเสาไม้ไผ่ปลายผูกถุงเงินปักไว้ กระดานแรก ๓ ตำลึง กระดานที่สอง ๑๐ บาท กระดานที่สาม ๒ ตำลึง นาลิวันซึ่งโล้ชิงช้านั้นแรกขึ้นไปนั่งถวายบังคม และนั่งโล้ไปจนชิงช้าโยนแรงจึงได้ลุกขึ้นยืน คนหน้าคอยคาบเงินที่ผูกไว้บนปลายไม้ คนหลังคอยแก้ท้ายให้ตรงเสาเงิน ครั้นโล้ชิงช้าเสร็จสามกระดานแล้ว ตั้งกระบวนกลับมาตามถนนบำรุงเมือง เลี้ยวลงถนนท้องสนามชัย เมื่อกระบวนแห่มาถึงหน้าพลับพลา กระบวนที่ถืออาวุธต้องกลับปลายอาวุธลง แต่ก่อนมาก็ไม่ได้มีเสด็จพระราชดำเนินออกทอดพระเนตรเลย พึ่งมีขึ้นในรัชกาลที่ ๔ เมื่อเสลี่ยงมาถึงท้ายพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ พระยาลงจากเสลี่ยงเดินมา จนถึงหน้าพระที่นั่งที่ปูเสื่ออ่อนไว้ถวายบังคม พระราชทานผลกัลปพฤกษ์ ๒๐๐ ผล ถวายบังคมอีกครั้งหนึ่ง แล้วเดินไปจนสุดท้ายพระที่นั่ง ขึ้นเสลี่ยงกลับไปที่ชมรม วัน ๘ ค่ำเป็นวันเว้น มีแต่พิธีพราหมณ์ วัน ๙ ค่ำตั้งกระบวนแต่วัดราชบุรณมาคอยหน้าวัดพระเชตุพน เวลาเสด็จออกให้เรียกกระบวนแห่เมื่อใดจึงได้เดินกระบวน หยุดถวายบังคมและพระราชทานผลกัลปพฤกษ์ ๒๐๐ ผล เหมือนอย่างวัน ๗ ค่ำ กระบวนเดินเลี้ยวออกถนนบำรุงเมือง พักที่โรงชมรมที่หนึ่งข้างตะวันออกเหมือนวัน ๗ ค่ำแต่ไม่ต้องพักโรงมานพ และไม่ต้องมีกระดานมารับ ด้วยแขวนอยู่เสร็จแล้ว นาลิวันโล้ชิงช้า ๓ กระดาน เงินที่ผูกปลายไม้ก็เท่ากันกับวันแรก เมื่อโล้ชิงช้าแล้วนาลิวันทั้ง ๑๒ คนยกขันที่เรียกขันสาคร มีน้ำเต็มในขันมาตั้งหน้าชมรม รำเสนงสาดน้ำกันครบสามเสนง แล้วพระยาย้ายไปนั่งชมรมที่ ๒ ที่ ๓ นาลิวันก็ยกขันตามไปรำเสนงที่หน้าชมรม สาดน้ำแห่งละสามเสนงๆ เป็นเสร็จการ แห่กลับลงไปตามถนนบำรุงเมืองข้างตะวันออก เลี้ยวถนนริมกำแพงพระนครไปที่ประชุมหน้าวัดราชบุรณ ในการยืนชิงช้านี้มีเงินเบี้ยเลี้ยงของหลวงพระราชทานสิบตำลึง พระยาผู้ยืนชิงช้าเคยแจกคู่เคียงคนละตำลึงหนึ่ง ตัวนายคนละกึ่งตำลึงบ้างบาทหนึ่งบ้าง นายรองคนละสองสลึง ไพร่แจกคนละสลึงเสมอหน้า ถ้ามีกระบวนมากก็ต้องลงทุนรอนกันมากๆ ทั้งเงินที่เข้าโรงครัวเลี้ยงและเงินแจก และผ้านุ่งห่มเครื่องแต่งตัวกระบวนเพิ่มเติมบ้าง
ในการโล้ชิงช้านี้ เคยมีเจ้านายเสด็จไปทอดพระเนตรเนืองๆ เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพเสด็จครั้งหนึ่ง เจ้านายฝ่ายในก็ตามไปมากด้วยกัน ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าลูกเธอเสด็จด้วยทุกปีมิได้ขาด เสด็จไปเป็นกระบวนช้าง บางคราวเวลาเย็นถึงทรงเกี้ยวทรงนวมก็มี แต่ที่เป็นปรกติและเวลาเช้านั้น ทรงยก คาดแพรสีติดขลิบทอง ทรงสร้อยประแจ ข้าพเจ้าเคยเป็นผู้ไปอยู่เสมอไม่ขาด ความที่อยากไปดูนั้นก็ใจเต้นเกือบนอนไม่หลับ แต่ความเหม็นเบื่อเครื่องแต่งตัวนั้นก็เป็นที่สุดที่แล้ว ยังเวลาแต่งตัวเช่นนั้น แต่ก่อนไม่ใช้สวมเสื้อ เล่นผัดฝุ่นกะเนื้อนั่งไปบนหลังช้าง ถ้าถูกปีที่หนาวขนชันไปตลอดทาง ยังจำกลิ่นอายรสชาติได้อยู่ ถ้าเวลาเจ้านายเสด็จเช่นนั้น ไปประทับที่ศาลาวัดสุทัศน์หลังตะวันออกแห่งประตูพระวิหาร ที่เป็นพลับพลาเปลื้องเครื่อง ผู้ซึ่งกำกับไปมักจะบังคับให้แหวกม่านหลังชมรมให้แลเห็นตัวพระยา และไล่คนที่ไปยืนมุงเป็นกลุ่มให้แหวกช่อง เมื่อถึงเวลารำเสนงมักจะให้เยื้องขันมาอยู่ข้างๆ ชมรม ด้วยศาลาที่ดูนั้นอยู่หลังชมรม ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ก็มีลูกเธอไปดูอยู่เนืองๆ เป็นกระบวนช้างบ้าง รถบ้าง วอบ้าง เป็นการปัจจุบันไม่ต้องเล่า

ส่วนการพระราชพิธีที่พราหมณ์ทำนั้น ตั้งแต่วันขึ้น ๖ ค่ำ บรรดาพราหมณ์ทั้งปวงก็ประชุมกันชำระกายผูกพรต คือคาดเชือกไว้ที่ต้นแขนข้างหนึ่งเป็นวันจะตั้งพิธี ตั้งแต่นั้นไปต้องกินถั่วงา ไม่กินเนื้อสัตว์และไม่อยู่ด้วยภรรยา พราหมณ์ทั้งปวงผูกพรตอยู่สามวัน คือตั้งแต่วันขึ้น ๗ ค่ำ ๘ ค่ำ ๙ ค่ำ พ้นนั้นไปก็ออกพรต เว้นไว้แต่พระมหาราชครูพิธีที่เป็นผู้จะทำพิธีต้องผูกพรตไปตลอด ๑๕ วัน และนอนประจำอยู่ในเทวสถาน ไม่ได้กลับไปบ้าน ครั้นวันขึ้น ๗ ค่ำเวลารุ่งเช้า พระมหาราชครูอ่านเวทเปิดประตูเรือนแก้วไกรลาสศิวาลัยเชิญพระเป็นเจ้าเสด็จลง แล้วจึงได้ไปรับพระยาที่โรงมานพตามซึ่งกล่าวมาแล้วนั้น เวลาค่ำเป็นเวลาทำพระราชพิธีเริ่มทำอวิสูทรชำระกายจุณเจิม และทำกระสูทธิ์อัตมสูทธิ์อ่านตำรับแกว่งธูปเป่าสังข์บูชาเสร็จแล้ว มีพราหมณ์คู่สวดยืนเรียงซ้อนต่อๆ กัน ๔ คน ยกพานข้าวตอกสวดคนละบท วรรคต้นชื่อมหาเวชตึก วรรคสองคนที่สองสวด เรียกโกรายะตึก วรรคสามคนที่สามสวด เรียกสาระวะตึก วรรคสี่คนที่สี่สวด เรียกเวชตึก เมื่อจบทั้ง ๔ คนแล้วจึงว่าพร้อมกันทั้ง ๔ คน เรียกลอริบาวาย ในเวลาว่าลอริบาวายนั้นเป่าสังข์ ว่าสามจบหยุดแล้วสวดซ้ำอย่างเดิมอีก ถึงลอริบาวายเป่าสังข์อีก เป่าสังข์ครบสิบสามครั้งเรียกว่ากัณฑ์หนึ่งเป็นจบ ต่อนั้นไป พระมหาราชครูยืนแกว่งธูปเทียนกระดึงเป่าสังข์บูชาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อจบแล้ววางธูปเทียนถวายแล้วบูชาพานดอกไม้ อ่านเวทถวายดอกไม้รายชื่อพระเป็นเจ้าทั้งปวงจบแล้ว คู่สวดทั้ง ๔ คนนั้น ยกอุลุบอย่างเช่นเข้ามาถวายในท้องพระโรงอีกคนละครั้งเป็นการถวายข้าวตอก แล้วจึงเอาข้าวตอกนั้นแจกคนที่ไปประชุมฟังอยู่ในที่นั้นให้กินเป็นสวัสดิมงคลกันเสนียดจัญไร เป็นเสร็จการในเทวสถานใหญ่ แล้วเลิกไปทำที่สถานกลางต่อไปอีก การพิธีที่สถานกลางคือสถานพระมหาวิฆเนศวรนั้นก็เหมือนกันกับสถานใหญ่ คือสถานพระอิศวร แต่สวดต้องมากขึ้นไปเป็นสิบเจ็ดจบจึงจะลงกัณฑ์ แล้วก็มีแจกข้าวตอกเหมือนสถานใหญ่ การพิธีนี้ทำเหมือนๆ กันอย่างที่กล่าวมาแล้วตลอดทั้งสิบคืน ที่หน้าเทวรูปทั้งสองเทวสถานนั้นตั้งโต๊ะกองข้าวตอก มัน เผือก มะพร้าวอ่อน กล้วย อ้อย สิ่งละมากๆ เป็นกองโตทุกคืน
การซึ่งคนพอใจพูดกันชุมๆ ว่า กระดานลงหลุมๆ เป็นเครื่องสำหรับทำให้หนาว หรือเขตของความหนาวอย่างไรก็ไม่เข้าใจชัด เห็นแต่ร้องกันว่ากระดานลงหลุมแล้วหนาวนัก บางทีก็พูดดังโก๋ๆ ไม่รู้ว่าเขาหมายเอาเหตุการณ์อันใด คือในเดือนยี่หนาวจัดแล้วมีคนบ่นขึ้นว่าหนาว มักจะมีคนผู้ใหญ่ๆ ว่านี่ยังกระดานลงหลุมเดือนสามจะหนาวยิ่งกว่านี้ พูดเป็นจริงเป็นจังไปไม่รู้ว่ากระดานอะไรลงหลุมในเดือนสาม แต่ที่มีกระดานลงหลุมอยู่เรื่องหนึ่งในพิธีนั้นลงเสียแต่ก่อนคำที่ว่านั้นแล้ว คือเมื่อวันขึ้น ๘ ค่ำเวลาจวนรุ่ง พระมหาราชครูเชิญกระดานสามแผ่น แผ่นหนึ่งยาวสี่ศอก กว้างศอกหนึ่ง สลักเป็นรูปพระอาทิตย์พระจันทร์แผ่นหนึ่ง เป็นรูปนางพระธรณีแผ่นหนึ่ง เป็นรูปพระคงคาแผ่นหนึ่ง ทาสีขาว สมมติว่าเป็นพระอาทิตย์ พระจันทร์ พระธรณี พระคงคา ลงมาประชุมเฝ้าพระอิศวร บูชาในเทวสถานแล้ว จึงเชิญออกมาที่หลุมขุดไว้ตรงหน้าชมรม หลุมนั้นกว้างศอกสี่เหลี่ยม ลึกสี่นิ้ว ในนั้นปูอิฐวางขลังคือหญ้าคา ซึ่งพราหมณ์มักจะใช้รองอะไรๆ ในการพิธีทั้งปวง แล้วมีราวสำหรับพิงกระดาน เอากระดานนั้นวางลงในหลุมพิงอยู่กับราว มีชมรมสี่เสาดาดเพดานกั้นม่านลายรอบ ข้างนอกมีราชวัติ ๔ มุม ปักฉัตรกระดาษผูกยอดกล้วยยอดอ้อย พระอาทิตย์ พระจันทร์นั้น ลงหลุมที่หนึ่งข้างตะวันออก นางพระธรณีลงหลุมกลาง พระคงคาลงหลุมสุดท้ายข้างตะวันตก หน้ากระดานนั้นหันมาข้างใต้ตรงชมรมที่พระยานั่ง การที่เชิญกระดานลงหลุมนี้ ทำแล้วเสร็จในเวลาจวนรุ่งขึ้นวัน ๙ ค่ำ ซึ่งเป็นวันแห่เวลาเย็นนั้น แล้วกระดานนี้อยู่ที่หลุมสามวัน วันขึ้น ๑๒ ค่ำ เวลาย่ำรุ่งเชิญกระดานขึ้นจากหลุมไปเก็บไว้ในเทวสถานตามเดิม

ในวันเดือนยี่ แรมค่ำหนึ่ง เป็นวันพิธีตรียัมพวายและตรีปวายต่อกัน เวลาเช้าตรู่พราหมณ์ประชุมกันที่สถานพระนารายณ์ พระมหาราชครูอ่านเวทเปิดทวารเหมือน  อย่างเช่นเปิดถวายพระอิศวร เวลาเย็นประชุมกันที่สถานพระนารายณ์อีกเวลาหนึ่ง สวดบูชาอย่างเช่นที่ทำในสองสถานก่อนนั้น เป็นแต่เปลี่ยนชื่อเป็นพระนารายณ์ คงสวดมหาเวชตึก แปลกกันแต่ว่าขึ้น  ศิวาสะเทวะ ต่อไปก็สวดโกรายะตึก สาระวะตึก เวชตึก แล้วสวดโลขัดตุโน พร้อมกัน ๔ คน เป่าสังข์สวด ๙ จบ เป็นกัณฑ์หนึ่งตามที่บังคับไว้ แต่เวลาสวด พราหมณ์คู่สวดยืนเรียงเป็นตับ เสมอหน้ากันทั้ง ๔ คน ต่อนั้นไปก็ทำเหมือนอย่างเช่นที่กล่าวมาแล้ว เสร็จการที่สถานพระนารายณ์แล้วมาทำที่สถานมหาวิฆเนศวร เหมือนอย่างเช่นที่เคยทำอยู่นั้นอีก พิธีทั้งสองสถานนี้ต้องรีบให้แล้วเสียแต่เย็นเพราะจะต้องเตรียมการที่จะทำที่สถานใหญ่ต่อไป เป็นวันเหนื่อยมากของพราหมณ์ เพราะทั้งรับทั้งส่ง ครั้นเวลาค่ำพอเดือนขึ้นเดินกระบวนแห่ซึ่งเรียกกันตามสามัญว่าแห่พระนเรศวร์ หรือที่ร้องกันว่าพระนเรศวร์เดือนหงายพระนารายณ์เดือนมืด แห่พระนเรศวร์นั้น คือแห่พระอิศวรเวลาจะเสด็จกลับจากโลกนี้  โปรดแสงสว่าง จึงให้แห่ในเวลาเดือนขึ้น กระบวนนั้นเกณฑ์ขุนหมื่นกรมม้าแซงนอกแซงในเกราะทอง และขอแรงเชลยศักดิ์ตามที่จะหาได้ ขี่ม้าถือเทียนเป็นกระบวนหน้า แล้วถึงตำรวจนำริ้วถือธงมังกรคู่ ๑ ตำรวจถือโคมบัว ๘๐ กลองแขกเดินหว่างกระบวนหาม ๔ ตี ๒ ปี่ ๑ ถัดมาพิณพาทย์หาม ๔ ตี ๓ ปี่ ๑ ต่อนั้นมากลองชนะ ๒๐ มีจ่าปี่จ่ากลอง สังข์ ๒ แตรงอน ๖ แตรฝรั่ง ๔ เครื่องสูงที่แห่พระนั้นใช้พื้นขาว เครื่องหน้าห้าชั้น ๖ เจ็ดชั้น ๗ บังแทรก ๔ พวกพราหมณ์ขุนหมื่นถือเทียนเดินสองแถว ต่อกลองชนะมาจนถึงหน้าเสลี่ยงหงส์ ฉัตรเทียน ๔ คัน เป็นของพราหมณ์ทำถวาย เดินหน้าเสลี่ยงหงส์ ๒ คัน เดินหลังเสลี่ยงเทวรูป ๒ คัน เสลี่ยงที่ตั้งหงส์และตั้งเทวรูปนั้นใช้เสลี่ยงโถง แต่เสลี่ยงหงส์ใช้เพดานตรงๆ เสลี่ยงเทวรูปเป็นฉัตรซ้อนๆ ขึ้นไปห้าชั้นระบายสีขาวทั้งสิ้น รอบเสลี่ยงมีราวติดเทียน เทวรูปซึ่งตั้งมานั้นมีรูปพระอิศวร พระอุมา พระมหาวิฆเนศวร มีพราหมณ์ถือสังข์เดินหน้า ๔ คน มีพัดโบก บังสูรย์ พระมหาราชครูและปลัดหลวงขุนเดินเป็นคู่เคียง นุ่งจีบชายหนึ่ง โจงชายหนึ่ง ถือเทียนเล่มใหญ่ๆ ไปข้างเสลี่ยงพระเครื่องหลังเจ็ดชั้น ๒ ห้าชั้น ๔ บังแทรก ๒ ต่อนั้นไปเกณฑ์ละครผู้หญิงสาวๆ แต่งเป็นพราหมณ์ถือเทียนเดินแห่สองแถวอยู่ในร้อยคน ต่อนั้นไปถึงโคมบัวตำรวจอีก ๔๐ แล้วถึงม้ากรมม้าและม้าเชลยศักดิ์ตามแต่จะหาได้ อยู่ภายหลังอีก เดินแห่แต่เทวสถานมาตามถนนบำรุงเมือง เลี้ยวลงถนนสนามชัย ในเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกทุกปีมิได้ขาด โปรดให้ปักพุ่มดอกไม้เพลิงบูชาพระเป็นเจ้า ๑๐ พุ่ม พอเสลี่ยงพระมาถึงหน้าพระที่นั่ง บ่ายเสลี่ยงหันหน้าเข้าตรงพระที่นั่ง พราหมณ์เป่าสังข์โองการถวายชัย ทรงจุดดอกไม้เพลิงแล้ว จัดเทวรูปในห้องภูษามาลา ซึ่งเป็นเทวรูปสำหรับเข้าพิธี ในพระแท่นมณฑล องค์เล็กๆ สามองค์ คือ พระอิศวร พระอุมา มหาวิฆเนศวร ขึ้นบนพานทองสองชั้น มีดอกไม้สดประดับในพานนั้นเต็มทั้งสองชั้น กับธูปเทียนเครื่องนมัสการ ทรงเจิมและประสุหร่ายแล้วจุดเทียนนมัสการ ๒ คู่ เหลือไปสำหรับบูชาที่เทวสถาน ๒ คู่ แล้วภูษามาลาเชิญเทวรูปไปขึ้นเสลี่ยง กั้นกลดกำมะลอ ออกประตูเทวาพิทักษ์ไปส่งขึ้นเสลี่ยงโถงที่ตั้งพระเป็นเจ้าแห่มานั้นไปขึ้นหงส์ด้วย

แต่เทวรูป ซึ่งสำหรับส่งไปแห่นี้มีเรื่องราวที่จะต้องเล่าอยู่หน่อยหนึ่ง คือรูปมหาวิฆเศวรนั้นเป็นของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ พระราชทานพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่ยังทรงพระเยาว์ ด้วยถือกันว่าถ้าบูชามหาวิฆเนศวรแล้วทำให้จำเริญสวัสดิมงคล แต่ผู้ซึ่งจะรับไปบูชานั้นถ้าไม่ได้รับจากผู้ที่เคยปฏิบัติบูชามาแต่ก่อน เอาไปไว้มักจะมีไข้เจ็บต่างๆ จึงต้องมอบกันต่อๆ ไป ครั้นเมื่อข้าพเจ้าอายุได้ ๙ ขวบ ทรงคิดชื่อเจ้ากรมให้เป็นหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ เวลาแห่เทวรูปเช่นนี้ จึงรับสั่งว่าไหนๆ ก็ไปเอาชื่อเอาเสียงท่านมาชื่อแล้ว จะให้พระองค์นี้ไปสำหรับบูชาเหมือนอย่างเช่นพระองค์ท่านได้เคยทรงบูชามาแต่ก่อน จึงพระราชทานน้ำสังข์ทรงเจิมแล้ว มอบพระองค์นั้นพระราชทาน เอาพระองค์อื่นไปขึ้นหงส์แทนจนตลอดรัชกาล ครั้นมาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้ ข้าพเจ้าจึงได้นำบุษบกเล็กๆ บุทองคำตั้งเทวรูปนั้นไว้แล้ว จึงได้ใช้บุษบกทองคำนั้นตั้งบนพานทองสองชั้นอีกทีหนึ่ง สำหรับเชิญไปขึ้นหงส์ เทวรูปมหาพิฆเนศวร ก็เปลี่ยนเอาองค์ที่ได้พระราชทานนั้นไปขึ้นหงส์ตามเดิม



หัวข้อ: Re: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 23 มิถุนายน 2561 16:43:44
เดือนยี่
การพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย (ต่อ)

ที่หน้าเทวสถานนั้นมีหนังโรงหนึ่ง ทั้งวันแรมค่ำหนึ่ง และวันแรมห้าค่ำ หนังและดอกไม้เพลิงนี้เกิดขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นการอนุโลมตามพระราชพิธีลดชุดลอยโคม ที่มีมาในกฎมนเทียรบาล ในคำซึ่งว่าที่หน้าพุทธาวาสตั้งระทา ๔ ระทา หนัง ๒ โรง เมื่อแห่กลับไปถึงเทวสถานแล้วทำพิธีต่อไป คือมีเตียงตั้งพระอิศวรเตียง ๑ ชั้นรองลงมาเรียกว่าภัทรบิฐ ทอดขลัง โรยแป้งอย่างเช่นที่พระที่นั่งภัทรบิฐซึ่งสำหรับบรมราชภิเษก เตียงหนึ่งตั้งเบญจคัพย์แล้วสังข์ตั้งข้างขวา กลดตั้งข้างซ้าย กลางเทวสถานตรงที่ตั้งหงส์ตั้งศิลาบดอันหนึ่ง เรียกว่าบัพโต คือต่างว่าภูเขา ท่านเก่าๆ ท่านก็พอใจบ่นกันว่าทำไมจึงไม่ใช้ก้อนหิน มาใช้ศิลาบด แต่ก็ไม่เห็นมีใครอาจแก้ไข เพราะเคยใช้มาแต่ก่อน พระมหาราชราชครูทำกระสูทธิ์อวิสูทธเจิมจันทน์ อ่านเวทสอดสังวาลพราหมณ์ ซึ่งเรียกว่าธุรำและแหวกเกาบิลแล้ว พราหมณ์คู่สวด ๔ คน สวดบุถุ ๑๓ จบ กัณฑ์หนึ่ง เหมือนเช่นอย่างสวดมาทุกคืน พระครูแกว่งธูปประน้ำอบ บูชาข้าวตอกดอกไม้ แล้วคู่สวดยกอุลุบเช่นทุกวัน แต่ในวันนี้ไม่แจกข้าวตอกแก่คนทั้งปวงที่ไป ยกไว้เป็นของส่วนถวายหลวง แล้วพระมหาราชครูอ่านเวทจบหนึ่งชื่อทรงสาร จบสองชื่อโตรพัด แล้วทักษิณบูชาศาสตร์  รินน้ำเบญจคัพย์ลงถ้วย ถวายธูปเทียนดอกไม้ บูชาสังข์กลด แล้วอ่านเวทสนานหงส์อีกจบหนึ่ง แล้วจึงเชิญพระอิศวร พระอุมา พระมหาพิฆเนศวร สรงน้ำด้วยกลดแล้วสังข์ แล้วจึงเชิญขึ้นภัทรบิฐ ทำศาสตร์อย่างบูชาอ่านเวท  ชื่อสารเหลืองจบแล้ว ที่สองชื่อมาลัย ที่สามชื่อสังวาล แล้วจึงเชิญเทวรูปตั้งบนพานทองขาว เดินชูประทักษิณไปรอบที่ตั้งหงส์  เมื่อถึงศิลาบดเรียกบัพโตนั้น ยกเท้าขวาก้าวเหยียบขึ้นบนศิลาครั้งหนึ่ง แล้วก็เดินเวียนต่อไป เมื่อมาถึงศิลาก็เหยียบอีกจนครบสามครั้งจึงเชิญเทวรูปขึ้นบนบุษบกหงส์ ในระหว่างนั้นเป่าสังข์ตลอดจนพระขึ้นหงส์แล้วจึงได้หยุด แล้วอ่านเวทบูชาหงส์ บูชาพระสุเมรุ แล้วจึงว่าสรรเสริญไกรลาส เหมือนพระเจ้าแผ่นดินขึ้นภัทรบิฐ พราหมณ์ก็ว่าสรรเสริญไกรลาสอย่างเดียวกัน แล้วอ่านเวทส่งพระอุมาจบแล้ว อ่านสดุดี แล้วอ่านสรงน้ำพิเนศ จุดเทียน ๘ เล่ม มีดอกไม้ตั้งไว้ ๘ ทิศ อ่านเวทเวียนไปตามทักษิณาวรรตทั้ง ๘ ทิศ เรียกว่าโตรทวาร ต่อไปพราหมณ์ ๒ คนจึงได้ว่าช้ากล่อมหงส์ อย่างเดียวกันกับกล่อมขึ้นพระอู่เจ้านาย ๓ บท เป่าสังข์ ๓ ลา แล้วอ่านเวทส่งสารส่งพระเป็นเจ้าบท ๑ แล้วจึงอ่านเวทปิดทวารศิวาลัยอีกจบ ๑ จึงได้เป็นเสร็จการในเวลาค่ำนั้น กว่าจะแล้วเสร็จคงอยู่ใน ๗ ทุ่มหรือ ๘ ทุ่มเศษ ทุกปีไม่ต่ำกว่านั้น

การช้าหงส์นี้ เป็นธรรมเนียมโบราณ ที่พระเจ้าแผ่นดินเคยเสด็จไปส่งพระเป็นเจ้าถึงเทวสถาน ตามเช่นที่กล่าวมาแล้ว แต่พระเจ้าแผ่นดินในพระบรมราชวงศ์ปัจจุบันนี้ ไม่ได้มีการเสด็จพระราชดำเนินส่งพระเป็นเจ้าเช่นแต่ก่อนเลย พึ่งมามีขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนช้างตามอย่างแต่ก่อนครั้งหนึ่ง การที่เสด็จส่งพระเป็นเจ้านี้ มีแบบแผนหรือเกือบจะว่าร่างหมายติดอยู่ในกรมช้างเข้าใจกันซึมซาบดี และเล่ากันต่อมาว่าเสด็จนั้นทรงช้างพระที่นั่งละคอ นายสารใหญ่เป็นควาญพระที่นั่ง ทรงพระแสงของ้าว เครื่องช้างพระที่นั่งใช้เครื่องแถบกลม เพราะเป็นเวลากลางคืน มีเจ้านายและขุนนางขี่ช้างพลายพังตามเสด็จด้วยหลายช้าง การซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินด้วยกระบวนช้างนั้นก็เป็นการลองเล่นตามอย่างเก่า ถ้าจะพูดตามโวหารเดี๋ยวนี้ ก็เรียกว่าอี๋ได้ ไม่ทรงเห็นเป็นการจำเป็นอย่างใดเป็นแน่ และมีครั้งเดียว ต่อมามีเสด็จพระราชดำเนินอีกก็เป็นกระบวนพระราชยาน อยู่ข้างเป็นการพาพระเจ้าลูกเธอไปทอดพระเนตรมากกว่าเป็นส่งพระเป็นเจ้า แต่พระเจ้าลูกเธอเสด็จไปทอดพระเนตรนั้นมีเนืองๆ เกือบจะแทบทุกปีก็ว่าได้ เหมือนอย่างพิธีเจ้าเซ็น จนพระมหาราชครูต้องหาของแจกพระเจ้าลูกเธอเตรียมไว้เป็นของประจำปี คือขวดปากกว้างอย่างย่อมๆ กรอกข้าวเม่าข้าวตอกลูกบัวถั่วลิสงเป็นต้นแจกให้ทั่วกัน ถ้าปีใดเจ้านายไม่ได้เสด็จไป ก็ตามเข้ามาถวายถึงในวังพร้อมกับวันถวายอุลุบ คล้ายกันกับของแจกในเวลาไปดูเจ้าเซ็น คือมีขวดแช่อิ่มและเครื่องหวานๆ ต่างๆ มีเปลือกส้มโอเป็นต้น แปลกกันแต่เจ้าเซ็นมีเทียนมัดและน้ำชะระบัดด้วยเท่านั้น ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ก็เคยเสด็จครั้งหนึ่งเป็นกระบวนรถ แต่ที่พระเจ้าลูกเธอไปทุกปีนั้นเลิกไป ด้วยเห็นว่าเป็นเวลาดึกมาก การซึ่งเสด็จพระราชดำเนินเก่าใหม่ และเจ้านายเสด็จไปนี้ ก็มีแต่เฉพาะวันแรมค่ำหนึ่งวันเดียว วัน ๕ ค่ำไม่มี ด้วยกลัวพิษดังกล่าวมาแล้ว

รุ่งขึ้นวันแรม ๒ ค่ำ พระมหาราชครูและพราหมณ์ทั้งปวงจัดของถวายเข้ามาตั้งในท้องพระโรง มีพาน ๒ ชั้น ข้าวตอก ๒ พาน นอกนั้นมีข้าวเม่า, กล้วย, มะพร้าวอ่อน, อ้อย เลยไปจนกระทั่งถึงขนมหลายสิบโต๊ะ เวลาเสด็จออกพระมหาราชครูถวายน้ำสังข์ พราหมณ์ ๒ คนเป่าสังข์ แล้วเจ้ากรมปลัดกรม ๓ คนยกพานข้าวตอกว่าอุลุบคนละครั้งครบ ๓ คราวแล้วเป็นเสร็จการ การที่ยกอุลุบนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า ถ้าเจ้านายที่พระมารดาเป็นเจ้าควรรดน้ำพระเต้าเบญจคัพย์ และว่าสรรเสริญไกรลาสในเวลาเสด็จขึ้นพระอู่ได้แล้ว ก็ถวายอุลุบได้ เมื่อข้าพเจ้าเป็นพระเจ้าลูกเธออยู่ตั้งแต่เล็กมา ถ้าพราหมณ์มายกถวายอุลุบเมื่อใดก็โปรดให้ยกอุลุบให้ข้าพเจ้าครั้งหนึ่งทุกปีมิได้ขาด ในปีแรกที่จะยกพระมหาราชครูพิธี (พุ่ม) เป็นผู้ยกเอง ไม่ได้ตัดคำบรมราชาข้างท้าย รับสั่งว่าไม่ถูก ซึ่งเคยยกถวายพระองค์ท่านมาแต่ก่อน เคยตัดคำบรมราชาข้างท้ายออกเสีย แต่นั้นมาก็ยกอุลุบไม่มีคำบรมราชาตลอดมาจนข้าพเจ้าเป็นเจ้าแผ่นดิน ครั้นเมื่อลูกชายใหญ่โตขึ้น พระมหาราชครูพิธี (พุ่ม) ตายเสีย พระมหาราชครูเดี๋ยวนี้[๒] เป็นผู้ยกก็ว่าบรมราชาเรื่อยไป เห็นจะจำของเก่าไม่ได้ด้วยเลิกร้างมาเสียนาน เตือนก็รวมๆ ตกลงเป็นไหลกันอยู่จนบัดนี้ เมื่อเวลายกอุลุบถวายแล้วแจกเงินพระราชทานพระมหาราชครูปีหนึ่ง ๑๐ ตำลึงก็มี ๑๒ ตำลึงก็มี แต่ในเกณฑ์นั้น ๕ ตำลึง นอกนั้นเป็นรางวัลใช้ทุนที่เห็นของถวายมาก เจ้ากรมอีกคนหนึ่ง ๓ ตำลึง ปลัดกรม ๒ ตำลึง หลวงสุริยาเทเวศร์ตำลึงกึ่ง พราหมณ์นอกนั้นที่ทรงรู้จักคุ้นเคย ๔ บาทบ้าง กึ่งตำลึงบ้าง บาทหนึ่งบ้าง จนถึงสลึงหนึ่ง แล้วโปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอที่รับอุลุบนั้นแจกด้วยคนละเล็กละน้อยอีกส่วนหนึ่ง ต่อนั้นไปพราหมณ์ไปถวายวังหน้าและเจ้านายและขุนนางทั้งปวง เขาจะแจกบ่ายกันอย่างไรไม่ทราบเลย แต่ปีหนึ่งก็จะได้มากๆ อยู่

ต่อนั้นไปก็ทำพิธีตรีปวายในสถานนารายณ์แห่งเดียว เช่นทำมาในวันแรมค่ำหนึ่งนั้นทุกวัน ตลอดจนถึงวันแรมห้าค่ำแห่พระนารายณ์อีกครั้งหนึ่ง กระบวนแห่ทั้งปวงก็เหมือนกันกับแห่พระอิศวร ยกเสียแต่เสลี่ยงหงส์ ในเสลี่ยงพระนั้นตั้งรูปพระนารายณ์ พระลักษมี พระมเหศวรี แห่ก่อนเวลาเดือนขึ้น เดินมาตามถนนบำรุงเมือง มาลงถนนสนามชัยเหมือนวันก่อน เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จพระราชดำเนินออกทรงจุดดอกไม้ และส่งเทวรูปน้อยมีแต่รูปพระนารายณ์องค์เดียว ตั้งบนพานทองสองชั้น แต่ในแผ่นดินปัจจุบันนี้เสด็จออกบ้าง ไม่ได้เสด็จออกบ้าง ไม่ได้ออกเป็นพื้น ภูษามาลาก็นำเทวรูปมาถวายทรงเจิม และพรมสุหร่ายที่พระที่นั่งจักรี แล้วเชิญขึ้นเสลี่ยงกั้นกลดไปเหมือนอย่างแต่ก่อน การซึ่งทำพิธีในเทวสถานนั้นก็เหมือนกันกับที่สถานพระอิศวร แปลกแต่ตัวเวทมีถ้อยคำยักเยื้องกันไปบ้างเล็กน้อย และมีหนังด้วยเหมือนคราวส่งพระอิศวร การพระราชพิธีตรีปวายก็เป็นอันเสร็จลงในวันแรม ๕ ค่ำนั้น

ของพระราชทานในพระราชพิธีตรียัมพวายตรีปวายสองพิธีนี้ พระมหาราชครูได้เงินทักษิณบูชาสถานละ ๖ บาท ทั้ง ๓ สถาน ค่ากุมภ์อีก ๒ สถานๆ ละบาทเฟื้อง คู่สวดสถานละ ๔ คน ได้คนหนึ่งวันละเฟื้อง สถานใหญ่ สถานกลาง มีพิธี ๑๐ วัน เป็นเงินสถานละ ๕ บาท สถานนารายณ์มีพิธี ๕ วัน เป็นเงิน ๑๐ สลึง ของบูชาเทวรูปสถานใหญ่ สถานกลาง สถานละ ๑๐ ตำลึง สถานนารายณ์ ๕ ตำลึง สีผึ้งหนัก ๕๗ ชั่ง ๑๐ ตำลึง

อนึ่งในการพิธีตรียัมพวายตรีปวายนี้ พราหมณ์ได้มีการสมโภชเทวรูปและทำบุญตามทางพุทธศาสนาด้วย คือวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๒ เวลาบ่ายมีสวดมนต์ที่ในเทวสถาน ๑๑ รูป รุ่งขึ้นวันแรม ๖ ค่ำเวลาเช้าเลี้ยงพระที่สวดมนต์ สำรับที่เลี้ยงพระและไทยทานของพราหมณ์เอง ในเวลาเช้าวันเลี้ยงพระมีราษฎรพาบุตรหลานมาโกนจุกที่เทวสถาน มีจำนวนคนตั้งแต่ ๑๕๐ คนเศษขึ้นไปจน ๓๙๐ คน พระราชครูพิธีได้แจกเงินคนละเฟื้องทั่วกัน และแจ้งความว่ามีจำนวนมากขึ้นทุกปี ครั้นเวลาบ่ายมีเวียนเทียนเทวรูปของหลวงมีบายศรีตองซ้ายขวา แตรสังข์พิณพาทย์กลองแขกไปประโคมในเวลาเวียนเทียนด้วย ๚
 

-------------------------------------------------------------------------------------
[๑] พระครูอัษฎาจารย์คนนั้น ชื่อ เอียด หลวงสุริยาเทเวศร์ ชื่อ รุ่ง ต่อมาได้เป็นที่พระครูอัษฎาจารย์
[๒] พระมหาราชครูชื่อ อาจ เป็นบุตรพระมหาราชครูพุ่ม


เดือนยี่
การพระราชกุศลถวายผ้าจำพรรษา

๏ การพระราชกุศลอันนี้ เกิดมีขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อาศัยเหตุที่ทรงพระปรารภเรื่องพระบรมอัฐิซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระอารามบ้าง ด้วยพระราชประสงค์จะบำเพ็ญพระราชกุศลเพิ่มเติมให้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน ตามเยี่ยงอย่างผู้ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาแต่โบราณได้ทำมาบ้าง จึงได้เกิดถวายผ้าจำพรรษาวัดอรุณราชวรารามและวัดราชโอรสขึ้น แต่วัดพระเชตุพนไม่มี ด้วยพระมาก เจ้านายในรัชกาลที่ ๑ ก็มีน้อยพระองค์เหลือเกินที่จะกะเกณฑ์ผู้ใด แต่กำหนดที่จะถวายเมื่อใดนั้นไม่แน่ สุดแต่ว่างราชการเวลาใดในเขตจีวรกาล คือตั้งแต่เดือน ๑๒ แรมค่ำหนึ่งไปจนถึงเดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำเป็นใช้ได้ทั้งสิ้น

การที่ทำนั้นเวลาค่ำก่อนวันที่จะเลี้ยงพระ พระสงฆ์สวดมนต์ในพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม แต่ไม่ได้เป็นการเสด็จพระราชดำเนิน ครั้นรุ่งขึ้นจึงเสด็จพระราชดำเนินเลี้ยงพระ พระสงฆ์ฉันในพระอุโบสถสำรับหลวง ๒๐ รูป พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เคยเสด็จทรงเลี้ยงพระ เป็นส่วนในพระบวรราชวังที่พระวิหาร ๑๐ รูป ต่อมาว่างวังหน้าก็ไม่มีส่วนวังหน้า เมื่อวังหน้ามีก็เป็นส่วนวังหน้า ๑๐ รูป นอกนั้นแต่ก่อนเกณฑ์เจ้านายในรัชกาลที่ ๒ ทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน ไม่เกณฑ์เจ้านายสำรับอื่น ครั้นเมื่อท้ายรัชกาลที่ ๔ เจ้านายรัชกาลที่ ๒ บกพร่องไปบ้าง จึงโปรดให้เจ้านายลูกเธอบางองค์ที่ทรงพระเจริญแล้วช่วยด้วยบ้าง ครั้นมาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้เจ้านายในรัชกาลที่ ๒ ยิ่งน้อยลง ก็ต้องเกณฑ์เจ้านายราชวรวงศ์ และน้องเธอ และวรวงศ์เธอเข้าช่วย จนภายหลังมานี้ต้องเป็นอันรับสองบ่าทั้งเจ้านายราชวรวงศ์และน้องเธอ คือราชวรวงศ์ต้องถูกเลี้ยงพระวัดราชโอรสด้วย น้องเธอต้องถูกเลี้ยงพระวัดราชประดิษฐ์ด้วย ปีหนึ่งต้องถูกเกณฑ์เลี้ยงพระหลายๆ องค์ ของหลวงนั้นเลี้ยงพระแล้วถวายผ้าขาวเป็นของสงฆ์ ๒๐ พับ พระที่ฉันถวายสบง, ร่ม, รองเท้า, หมากพลู, ธูปเทียน และอ่างมังกรบรรจุข้าวสารผักปลา จ่ายเงินให้มหาดเล็กนายเวรหุ้มแพร ๔ เวรให้เป็นผู้จัดเป็นเงินอ่างละ ๑ บาท ในเย็นวันนั้นสวดมนต์วัดราชโอรส รุ่งขึ้นเลี้ยงพระเหมือนวัดอรุณ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินเลย แต่ในแผ่นดินปัจจุบันนี้เสด็จบ้างบางปี พระสงฆ์ที่ฉันส่วนของหลวงในวัดราชโอรสลดลงเป็น ๑๐ รูป ผ้าขาว ๑๐ พับ ของไทยทานก็เหมือนวัดอรุณ ส่วนเจ้านายนั้นในสองวัดนี้ท่านเคยสดับปกรณ์พระบรมอัฐิทุกปี แต่ไม่เป็นการมากมายอันใด คือองค์ละร้อยเฟื้องหรือร้อยสลึง หรือใบชาร้อยห่อ เป็นสดับปกรณ์สามัญแต่เฉพาะเจ้านายในแผ่นดินนั้น เจ้านายอื่นๆ ที่ขอแรงไปช่วยก็ไม่ได้มีผู้ใดทำ การซึ่งทรงพระราชดำริให้มีถวายผ้าจำพรรษาขึ้นแต่แรกนี้ ก็ดูเป็นที่นิยมยินดีของเจ้านายฝ่ายในที่ได้เป็นเวลาไปเที่ยวคราวหนึ่ง ได้พบปะกันกับเจ้านายผู้ชายที่เป็นพี่น้อง และพระญาติวงศ์ที่เป็นผู้ชายมาเฝ้าถวายข้าวของกันเป็นของเรือกของสวนต่างๆ เมื่อกลับมาแล้วก็นำของถวายที่ได้มานั้นขึ้นถวายทุกๆ พระองค์ และยังเล่ากันถึงวันนั้นไปได้นานๆ เป็นการสนุกหนุงหนิงรื่นเริงมาก แต่ครั้นภายหลังมาซ้ำทุกปีๆ เข้าก็จืด ชักให้เจ้านายทรงเกียจคร้านไม่ใคร่เสด็จ และการที่เกณฑ์สำรับนั้นก็มากขึ้นๆ ตามลำดับ ด้วยสิ้นพระชนม์ไปองค์หนึ่งผู้ยังอยู่ก็รับมรดก ถูกเข้าองค์หนึ่งถึง ๔ ถึง ๕ ทุนรอนก็บกพร่องเข้าไปจนเหลือสนุก ส่วนผู้ซึ่งเคยมาเฝ้ามาแหนก็ล้มตายหายจากหรือเบื่อหน่ายไปด้วยกัน ในชั้นหลังมานี้เป็นการฝืดเต็มที เห็นว่าการเรื่องถวายผ้าจำพรรษานี้ หน้าที่จะต้องเป็นการผลัดเปลี่ยนไปตามสมัย ด้วยมีตัวอย่างวัดพระเชตุพนก็เคยยกเว้นมาแล้ว ถ้าจะยืนอยู่เช่นนี้ต่อไปเจ้าแผ่นดินมากขึ้นๆ วัดก็คงจะต้องมีทุกองค์ เจ้านายในรัชกาลก่อนๆ หมดไป ต้องเกณฑ์เจ้านายที่ยังมีอยู่ไปใช้เนื้อแทนก็คงจะต้องเกณฑ์มากขึ้น จนถึงเจ้านายองค์หนึ่งต้องเลี้ยงพระเก้ารูปสิบรูปหรือยี่สิบรูปก็เห็นจะมากเกินไปนัก ถ้าเจ้านายในรัชกาลไหนสิ้นไปแล้วควรจะยกเว้นวัดนั้นได้ คงไว้แต่ผ้าขาวของหลวงที่เป็นส่วนของสงฆ์ก็เห็นจะดี แต่ถ้าจะทำเช่นนี้เข้า เขาจะนินทาว่าทำให้ผิดอัปริหานิยธรรมหรืออย่างไรก็ไม่แน่ใจ แต่เจ้านายคงเห็นด้วยโดยมาก จะเป็นก็แต่ที่อารามและในเวลานี้ก็ยังไม่ควรที่จะจัดด้วย จึงตกลงเอาเป็นพักไว้ที

แต่วัดราชประดิษฐ์ วัดราชบพิธสองวัดนี้ เป็นคนละอย่างกันอยู่กับวัดอรุณ วัดราชโอรส วัดราชประดิษฐ์นั้นคิดว่าถ้าธรรมเนียมที่มีสามัญสมาชิกในหอสมุดวชิรญาณยังคงอยู่ตราบใด การเลี้ยงพระถวายผ้าจำพรรษาคงยังมีอยู่ได้ไม่มีที่สุด ด้วยเหตุว่าส่วนเงินค่าเช่าตึกหน้าวัดประยูรวงศาราม ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่พระเจ้าลูกเธอแบ่งเป็น ๔๔ ส่วน ตามพระราชประสงค์เดิมนั้น ข้าพเจ้าได้เอามาแบ่งเป็น (๕๘) ส่วนแจกให้แก่เจ้านายที่มีตัวอยู่พอให้ทั่วกัน แล้วมีข้อบังคับสำหรับที่จะเป็นส่วนแบ่งปันสืบไปภายหน้าไว้ว่า ส่วนซึ่งแบ่งไว้เป็น (๕๘) ส่วนนั้น ไปแบ่งเป็นส่วนเดิม ๔๔ ส่วนพิเศษ (๑๔) ถ้าเจ้านายซึ่งเป็นเจ้าของส่วนเดิมสิ้นพระชนม์ ยกส่วนเดิมให้แก่ผู้ซึ่งได้ส่วนพิเศษ ถ้าเจ้านายผู้ซึ่งได้รับส่วนเดิมเปลี่ยนส่วนพิเศษแล้ว หรือได้แต่ส่วนพิเศษอยู่สิ้นพระชนม์ไป ให้ยกส่วนพิเศษนั้นเสีย เมื่อต่อไปภายหน้าเหลือแต่ส่วนเดิม ๔๔ ส่วนแล้ว จะไม่แจกส่วนให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่งซ้ำเป็นสองส่วนสามส่วนต่อไป จะเลือกคัดผู้ซึ่งเนื่องในพระราชวงศ์ หรือผู้ที่ได้มีอุปการะแก่ราชตระกูลอันสืบมาแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้รับส่วนให้คงอยู่ ๔๔ ส่วนเสมอ ผู้ซึ่งได้รับส่วนทั้ง ๔๔ นั้น นับเป็นสามัญสมาชิกในหอสมุดวชิรญาณ พระสงฆ์วัดราชประดิษฐ์คงไม่มีมากเกินกว่า ๔๙ รูป คือเป็นส่วนสำรับหลวง ๕ รูป ส่วนสามัญสมาชิก ๔๔ รูป สามัญสมาชิกคงต้องเกณฑ์เลี้ยงพระปีละครั้งเสมอคนละรูปเท่านั้น จึงเห็นว่าถ้าธรรมเนียมที่แจกเงินค่าเช่าตึกหน้าวัดประยูรวงศ์ และหอสมุดนี้ยังคงอยู่ตราบใด การเลี้ยงพระถวายผ้าจำพรรษาวัดราชประดิษฐ์ยังจะคงอยู่ได้ตราบนั้น

แต่การเลี้ยงพระถวายผ้าจำพรรษาวัดราชประดิษฐ์ในปัจจุบันนี้ ก็มีสวดมนต์ต่อกันกับวันเลี้ยงพระวัดราชโอรส รุ่งขึ้นเสด็จเลี้ยงพระ แต่พระสงฆ์มีน้อยไม่พอเจ้านายที่มีตัว ก็คงเป็นแต่ของหลวงและเจ้านายพี่นางน้องนางเธอต้องเกณฑ์ แต่ท่านพวกนี้ท่านเล่นกันใหญ่ มีของถวายพระองค์ละรูป ลงทุนลงรอนกันองค์ละมากๆ แล้วซ้ำมีสดับปกรณ์เหมือนอย่างเช่นท่านแต่ก่อนท่านทำกันมาในสองวัดนั้นด้วย ผ้าของสงฆ์ส่วนหลวง ๕ พับ

แต่ส่วนวัดราชบพิธนั้นเป็นคนละเรื่องคนละอย่างกับสามวัดนี้ เดิมก็ไม่ได้มีมา ครั้นเมื่อเกิดขึ้นก็ไม่มีสวดมนต์สวดพรอันใด ไม่เป็นราชการแท้ เหตุที่ปรารภมีขึ้นนั้นเพราะเวลาเช้าๆ ออกไปเที่ยวที่สวนสราญรมย์ในเขตจีวรกาล เกิดคิดพร้อมกันขึ้นอยากจะไปเที่ยวที่วัดอย่างหนึ่ง เพราะมีศพลูกเล็กๆ ที่ไม่ได้เผา ฝังทิ้งไว้ในวัด และมีกระดูกไปฝังไว้ในวัด เป็นโอกาสที่จะหาช่องไปทำบุญเยี่ยมเยือนที่ฝังศพฝังกระดูกอีกชั้นหนึ่งจึงได้มีขึ้น แต่ภายหลังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ[๑] ท่านทรงเห็นเป็นการเถื่อนๆ ไม่เข้าแบบเข้าอย่างไป ท่านก็ไปเกณฑ์ให้พระสวดมนต์คล้ายๆ กับสามวัด การที่เลี้ยงพระนั้นยังคงอยู่ตามเดิม เมื่อตอนแรกๆ ลูกน้อยกว่าพระก็เกณฑ์ให้หาสำรับเลี้ยงพระคนละองค์ เหลือนั้นเป็นของเจ้านายและเจ้าจอมมารดาที่ได้ผลประโยชน์มาก สุดแต่มีพระมากน้อยเท่าใดก็เกณฑ์ลงไปตามลำดับ ครั้นทีหลังลูกมากขึ้นเท่าพระก็คงเกณฑ์แต่ลูก เมื่อลูกมากไปกว่าพระก็เกณฑ์ท้องละคนหนึ่งบ้างสองคนบ้าง รวมกันเป็นสองคนต่อสำรับก็มีคนเดียวก็มี แต่เป็นสำรับเจ้าของหามาไม่ใช่ของหลวงทั้งสิ้น เมื่อฉันแล้วเจ้าของสำรับถวายไทยทานแก่พระสงฆ์ กำหนดให้มีเพียงจีวรหรือสบงผืนหนึ่ง กับไทยทานเล็กน้อย แต่ก็ไม่ฟังกัน หาไทยทานไปคนละมากๆ เกือบเป็นขึ้นกุฏิ มีผ้าไตรทุกคน คิดดูราคาของที่ซื้อคนหนึ่งอย่างแรงถึงสามชั่ง อย่างต่ำเพียงชั่งหนึ่ง ทำเช่นนี้มาหลายปี จนเมื่อปีกุนนพศกคิดเห็นว่าของซึ่งลงทุนซื้อมาเป็นราคามาก ส่วนพระสงฆ์ผู้ที่ได้รับไปนั้น ที่ชอบและต้องการใช้ก็มี ที่ไม่ชอบใจไม่ต้องการ จะไปเก็บตั้งทิ้งไว้ก็ไม่เป็นประโยชน์อันใด เหมือนอย่างเป็นของไม่มีราคา ก็มักจะเอาของนั้นไปเลหลังแลกเปลี่ยนเอาสิ่งของที่ต้องการใช้โดยราคาถูก ส่วนผู้ที่ลงทุนนั้นต้องลงทุนมาก แต่ประโยชน์ผู้ได้ได้น้อยไป มีประโยชน์อยู่แต่ผู้ขายของ จึงคิดเห็นว่าเสนาสนะซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์ ก็เป็นเครื่องเกื้อกูลแก่ความสุขของพระสงฆ์ทั่วกัน ไม่เฉพาะหน้า และพระสงฆ์ที่ป่วยไข้ขัดสนก็มี ควรจะยกเงินค่าซื้อของนี้ ไว้เป็นสำหรับปฏิสังขรณ์เสนาสนะ และสำหรับเป็นคิลานภัตรพระสงฆ์ป่วยไข้เป็นต้น จึงได้ทูลปรึกษาพระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากรและพระสงฆ์ในวัดราชบพิธก็เห็นชอบด้วยพร้อมกัน จึงได้จัดการที่เปลี่ยนธรรมเนียมใหม่ในปีกุนนพศก ให้มีแต่สำรับและผ้าธูปเทียนหมากพลู แล้วให้เรี่ยไรเจ้าลูกเธอเสมอองค์ละชั่งทั่วกัน รวมเงินนั้นไว้เป็นของกลางสำหรับวัดเช่นกล่าวมาแล้ว ส่วนผ้าซึ่งถวายเป็นของทั่วไปนั้น คือบรรดาเจ้าจอมมารดาและเจ้าจอมอยู่งานมีผ้าสบงบ้างผ้าชุบอาบน้ำบ้าง คนหนึ่งตั้งแต่ ๒๐ ผืนลงมาจนผืนหนึ่ง ไปกองกลางโบสถ์แล้ว ว่าคำถวายตามธรรมเนียมถวายผ้าอย่างธรรมยุติกนิกาย ตามแต่พระสงฆ์จะแบ่งผ้ากันเอง ส่วนของหลวงมีแต่เบี้ยหวัด วัดราชประดิษฐ์ถวายสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดราชบพิธถวายพระองค์เจ้าพระอรุณ เป็นการนอกธรรมเนียมส่วนพระคลังข้างที่ เมื่อเสร็จการเลี้ยงพระแล้วจึงออกไปทำบุญที่ๆ ฝังศพฝังกระดูกวางพวงมาลัยดอกไม้ ซึ่งเก็บจากในสวนสราญรมย์ทำไปสำหรับที่ทุกๆ แห่ง หรือผู้อื่นใครจะมีไปก็ตาม เที่ยววางตามชอบใจ แล้วทอดผ้าสดับปกรณ์ของหลวง ผ้าขาวพับเท่าจำนวนพระสงฆ์สามเณรในวัดนั้น เที่ยวทอดไว้ตามที่ฝังศพและฝังกระดูกไม่เป็นกำหนดแน่ว่าแห่งใดเท่าใดนัก ส่วนมารดาญาติพี่น้องของศพและกระดูกนั้น ก็มีของทำบุญไปทอดไว้ที่ๆ ฝังศพที่ฝังกระดูกตามแต่ใครจะมีมากน้อยเท่าใด แล้วพระสงฆ์จึงออกมาชักเป็นผ้าบังสุกุล ตามแต่จะแบ่งปันกัน เป็นเสร็จการทำบุญที่วัดราชบพิธ

การซึ่งเก็บเงินค่าของไทยทานรวมเป็นเงินกลางนี้ เจ้านายพี่นางน้องนางเธอ น้องยาเธอ คิดเห็นชอบด้วยหลายองค์ นัดกันไว้ว่าในปีชวด สัมฤทธิศกนี้ จะออกเงินเรี่ยไรสำหรับวัดราชประดิษฐ์บ้าง แต่คิดกำหนดกันว่า จะตั้งจำนวนเพียงองค์ละ ๕ ตำลึง ด้วยวัดราชบพิธนั้นจะลดจากจำนวนเดิมลงมามากนักไม่ควร จึงคงเป็นองค์ละชั่ง ถึงว่าจะเป็นเงินลดต่ำลงกว่าจำนวนเดิมบ้าง ก็ยังมีส่วนผู้ที่เกิดใหม่เพิ่มขึ้นใช้เนื้อ และผู้ซึ่งถูกเกณฑ์รวมกันเป็นสองคนต่อสำรับ ก็ต้องแยกกันออกไปเป็นคนละชั่ง เงินไม่ต่ำกว่าจำนวนราคาสิ่งของที่พระสงฆ์ได้อยู่แต่ก่อนนัก แต่เพราะลงทุนเดิมไว้แรงเสียแล้วเงินจึงได้สูงอยู่ ส่วนวัดราชประดิษฐ์นี้เจ้านายข้างหน้าไม่ได้ถูก จึงคิดเฉลี่ยที่เจ้านายข้างในเคยเสียอยู่แบ่งเฉลี่ยออกมาข้างหน้า ก็เห็นว่าจะไม่ต่ำกว่าแต่ก่อน แต่การซึ่งเรี่ยไรเงินสำหรับวัดนี้ ไม่เป็นหน้าที่ของผู้ซึ่งเป็นสามัญสมาชิกของหอสมุดซึ่งมิได้เป็นพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะต้องเสีย เป็นแต่จะขอแรงให้เลี้ยงพระอย่างเดียว เมื่อเจ้านายที่เป็นพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหมดไปแล้ว เงินส่วนกลางนี้ก็ต้องเป็นอันหมดไปด้วยอยู่เอง

ส่วนวัดราชบพิธนั้น ในเรื่องเงินเรี่ยไรก็เหมือนกันกับวัดราชประดิษฐ์ แต่ไม่เป็นการจำเป็นที่สามัญสมาชิกในหอสมุดเดี๋ยวนี้จะต้องไปเลี้ยงพระเหมือนอย่างวัดราชประดิษฐ์ ได้คิดไว้ว่าจะหาประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใด เป็นส่วนสำหรับให้แก่หอสมุดทำนองเดียวกันกับตึกหน้าวัดประยูรวงศ์ ให้มีสามัญสมาชิกขึ้นใหม่อีกพวกหนึ่ง เป็นการเกื้อกูลแก่หอสมุด และสำหรับเลี้ยงพระวัดราชบพิธต่อไปด้วย แต่การนี้ยังหาสำเร็จตลอดไปไม่

คำตักเตือนสำหรับถวายผ้าจำพรรษาที่วัดอรุณ วัดราชโอรส ถ้าเสด็จก็มีเครื่องสำหรับขาดต้องโวยวายอยู่ ๒ สิ่ง คือพานเทียนและพระเต้าษิโณทก แต่ที่วัดราชประดิษฐ์นั้นมีวิเศษออกไป คือมหาดเล็กต้องรับเบี้ยหวัดสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์จากข้างในออกไปคอยถวายในเวลาเมื่อเลี้ยงพระแล้ว อาลักษณ์ต้องเขียนตั๋วเตรียมไว้ด้วย แต่ส่วนวัดราชบพิธนั้นเป็นกระบวนข้างใน อาลักษณ์ต้องส่งตั๋วเข้ามาข้างใน นอกนั้นก็ไม่มีการ ๚
 
 
-------------------------------------------------------------------------------------
[๑] คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์




หัวข้อ: Re: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 23 มิถุนายน 2561 16:44:53
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/66283886507153_CX_EV_CR91_1_.jpg) (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/99790366035368_35927174_410501056132247_38455.jpg)

พระราชพิธีเดือนสาม
• พิธีศิวาราตรี
• การพระราชกุศลมาฆบูชา
• การพระราชกุศลเลี้ยงพระตรุษจีน
-----------------------------------

๏ การพระราชพิธีในเดือนสามนี้ กฎมนเทียรบาลจดบัญชีไว้ว่าพิธีธานยเทาะห์ แต่ในจดหมายขุนหลวงหาวัดจดไว้ว่าธัญเทาะห์ เนื้อความก็เป็นอย่างเดียวกัน คือพิธีเผาข้าว ซึ่งเรียกกันเป็นภาษาไทยก็เรียก แต่ในกฎมนเทียรบาลจำหน่ายตำราสูญว่าเผาข้าวไม่มี ในจดหมายคำให้การขุนหลวงหาวัดเล่าถึงตำราพระราชพิธีนี้ว่า พระจันทกุมารเป็นผู้ฉลองพระองค์ออกไปทำการพิธี ตั้งโรงพิธีที่ทุ่งนา เห็นจะเป็นทุ่งหันตราซึ่งเป็นทุ่งนาหลวง มีกระบวนแห่ออกไปเช่นแรกนา แล้วเอารวงข้าวมาทำเป็นฉัตรปักไว้หน้าโรงพิธี พระจันทกุมารนั่งที่โรงพิธี แล้วจึงเอาไฟจุดรวงข้าวที่เป็นฉัตรนั้นขึ้น มีคนซึ่งแต่งตัวเสื้อเขียวพวกหนึ่ง เสื้อแดงพวกหนึ่ง สวมเทริด ท่วงทีจะคล้ายๆ กับอินทร์พรหมหรือโอละพ่อ สมมติว่าเป็นพระอินทร์พวกหนึ่ง พระพรหมพวกหนึ่ง เข้ามาแย่งรวงข้าวกัน ข้างไหนแย่งได้มีคำทำนาย แต่คำทำนายนั้นก็คงจะอยู่ในเค้าพิธีกะติเกยาดีทั้งนั้น

การซึ่งทำพิธีเสี่ยงทายเช่นนี้มีบ่อยๆ หลายพิธี ผู้ซึ่งจะแรกคิดพิธีขึ้นนั้น คงจะเป็นคนที่มีใจหวาดหวั่นต่อภัยอันตราย อยากรู้ล่วงหน้าว่าจะดีจะร้ายอย่างใดอยู่เสมอๆ แต่ไม่มีท่าทางที่จะรู้ได้เช่นนั้นให้ได้ทันใจทุกคราว เพราะจะแหงนดูดาวดูฟ้าลางทีเฉยๆ อยู่ก็มีเหตุมีการได้ หรือไม่รู้ได้ทันใจก็ต้องเล่นเสี่ยงทายอย่างเดียวกันกับแทงพระบท[๑] เป็นการแก้กระหายไปคราวหนึ่งๆ ถ้าไม่ฉะนั้นก็จะเป็นอุบายซึ่งจะระงับใจคนที่ฟุ้งซ่านซึ่งเชื่อนิมิตเชื่อลาง แล้วคิดการทุจริตเป็นผีซ้ำด้ำพลอยให้เกิดการยุ่งยิ่งหยุกหยิกขึ้น เมื่อเห็นว่าเสี่ยงทายได้นิมิตดีอยู่ ก็จะไม่อาจคิดอ่านฟุ้งซ่านฝืนฟ้าและดินไปได้ จึงได้พอใจเสี่ยงทายให้คนเห็นมากๆ เป็นการแสดงน้ำใจฟ้าดินและพระบารมีของพระเจ้าแผ่นดินให้เป็นที่เกรงขามแก่คนทั้งปวง แต่ครั้นเมื่อการซ้ำเข้าทุกๆ ปีดีเหมือนกันเป็นตีพิมพ์ก็กลายเป็นจืดไปไม่ต้องถามถึง จึงได้เลื่อนขึ้นเป็นโคมลอย แต่ในการพิธีเผาข้าวนี้มีจดหมายในพระราชพงศาวดารแผ่นดินพระบรมราชาธิราช ซึ่งเรียกกันตามปรกติของแผ่นดินที่ล่วงหน้าไปก่อนหน้าแผ่นดินปัจจุบันว่าพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ

ขออธิบายนอกเรื่องหน่อยหนึ่ง ว่าการที่เรียกพระบรมราชาธิราชพระองค์นี้ ว่าพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศติดมาจนปัจจุบันนี้นั้น เพราะเป็นพระราชบิดาของเจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต ที่เรียกกันว่าขุนหลวงหาวัด ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ ๓๒ และเจ้าฟ้าเอกทัศน์ ซึ่งเป็นกรมขุนอนุรักษ์มนตรีพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งเรียกว่าพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามรินทร์ที่สุดบรมราชวงศ์นั้น คำที่เรียกในพระบรมโกศ เรียกมาแต่แผ่นดินของพระองค์ที่ออกพระนามก่อนแต่อยู่ในราชสมบัติน้อยวัน และยังทรงพระชนม์อยู่ไม่ได้เป็นที่ในพระบรมโกศแทนพระองค์ก่อน ฉายาบรมโกศจึงได้ติดอยู่ในพระบรมราชาธิราชซึ่งเป็นผู้อยู่ในพระบรมโกศภายหลังใครๆ หมด การซึ่งเรียกติดต่อมาถึงที่กรุงเทพฯ นี้ก็ด้วยเหตุว่า เจ้านายและข้าราชการก็ล้วนแต่เป็นขุนนางเก่า เคยเรียกติดปากมาแต่กรุงยังไม่เสียแล้ว และพระเจ้าแผ่นดินซึ่งสิ้นพระชนม์ภายหลัง ก็เป็นพระองค์ที่สุดซึ่งไม่ได้ทรงพระบรมโกศ เป็นแต่ลงหีบฝังไว้ เมื่อจะถวายพระเพลิงก็ต่อลุ้งพอสังเขปถวายพระเพลิง ถ้าจะเรียกพระบรมหีบหรือพระบรมลุ้งก็ดูขัดอยู่ จึงได้ออกพระนามเฉไปเป็นพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ที่ว่านี้ในแผ่นดินพระพุทธยอดฟ้า แต่ครั้นเมื่อล่วงมาตั้งแต่แผ่นดินพระพุทธเลิศหล้าลงมา พระเจ้าแผ่นดินองค์ใดที่สวรรคตลงใหม่ ก็เรียกว่าในพระบรมโกศทุกพระองค์ แต่ในพระบรมโกศเก่าท่านไม่มีฉายาอื่น ก็คงเรียกในพระบรมโกศอยู่ตามเดิม แต่มักจะเข้าใจกันเฉๆ ไป มีผู้ถามข้าพเจ้าว่าทำไมท่านถึงชื่อโกศเช่นนั้น ถ้าชื่อแต่ยังมีพระชนม์อยู่ก็ดูเป็นการทักเต็มที ก็ต้องอธิบายตามเช่นกล่าวมานี้ ส่วนที่กรุงเทพฯ นี้ พระเจ้าแผ่นดินเคยไม่โปรดให้เรียกในพระบรมโกศมาตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๓ แล้ว ครั้งนั้นเรียกพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๑ ว่า พระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศบ้าง แผ่นดินต้นบ้าง เรียกพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๒ ว่า พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศบ้าง แผ่นดินกลางบ้าง จึงได้โปรดให้ออกพระนามตามพระนามพระพุทธปฏิมากรในวัดพระศรีรัตนศาสดารามว่า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้นเสียชั้นหนึ่งแล้ว ครั้นพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๓ สวรรคต ก็กลับเรียกพระนามเป็นพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศขึ้นอีก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรด จึงได้ถวายพระนามเสียเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แทนฉายาที่ว่าพระที่นั่งนี้พระที่นั่งนั้น และมีคำประกาศกริ้วไว้ก็มี ส่วนพระองค์เองก็ทรงตั้งพระนามเสียเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัว เพื่อจะกันในพระบรมโกศ และจะกันพระที่นั่งนี้พระที่นั่งนั้นด้วย แต่ครั้นสวรรคตลงก็ไม่ฟัง ขืนเรียกกันไปทั้งแผ่นดินแผ่นทราย เรียกไม่ใช่เรียกเปล่าๆ ค่อนเป็นทักข้าพเจ้าอยู่ด้วย ตามกิริยาและเสียงที่เรียกกับทั้งเหตุการณ์ที่เป็นอยู่ในเวลานั้น ถ้าผู้ใดได้อ่านพระราชพงศาวดารในท่อนแผ่นดินพระบรมโกศกับแผ่นดินสุริยามรินทร์ก็พอจะคะเนเค้าได้บ้าง แต่ผู้ซึ่งเรียกไม่ได้คิดจะทัก เป็นแต่พูดตามเขาไปนั้นมีโดยมาก แต่ถึงจะนึกอย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าไม่ชอบใจในถ้อยคำที่จะเรียกเช่นนั้น ให้ออกรำคาญใจ เห็นเป็นเขาทักอยู่ร่ำไป จึงได้ฝืนแก้เสียจนสงบหายไปได้นานมาแล้ว ยังอยู่แต่คนแก่คนเฒ่าที่ซึมซาบไม่รู้หายเพ้อเจ้อไปบ้างไม่ควรจะถือ บัดนี้จะขอกล่าวถึงเรื่องความในพระราชพิธีนั้นต่อไป ในพระราชพงศาวดารแผ่นดินพระบรมโกศนั้นจดหมายไว้ว่า ถึงหน้านวดข้าวเสด็จออกไปที่นาหลวงทุ่งหันตรา บรรทุกข้าวลงในระแทะ แล้วให้พระราชวงศานุวงศ์และพระสนมกำนัลฝ่ายในเข็นข้าวเข้ามาในพระราชวัง แล้วเอาพวนข้าวทำฉัตรใหญ่ และยาคูไปถวายพระราชาคณะตามพระอารามหลวงทุกปีมิได้เว้น การเข็นข้าวตามที่ว่านี้ต่อกันกับพิธีเผาข้าว ในแผ่นดินพระบรมโกศนี้เล่นพิธีมาก ด้วยเป็นฤดูเวทมนตร์คาถาอยู่คงกระพันชาตรีหมอดูกระทำขลังนัก รวบรวมใจความลงว่า การพิธีเผาข้าวนี้เป็นการคู่กันกับพิธีจรดพระนังคัล เพื่อให้เป็นการสวัสดิมงคลแก่ธัญญาหาร ซึ่งเป็นเสบียงสำหรับพระนคร ได้ข้อความตามพิธีเผาข้าวแต่เท่านี้ ๚
 

-------------------------------------------------------------------------------------
[๑] ตําราหมอดูโบราณสําหรับใช้เสี่ยงทายโดยวิธีเอาไม้แทง


เดือนสาม
พิธีศิวาราตรี

๏ ส่วนการพิธีของพราหมณ์  ซึ่งเรียกว่าศิวาราตรี ซึ่งเป็นพิธีมีมาแต่โบราณ จะขาดสูญเสียแต่ครั้งใดก็ไม่ปรากฏ ตั้งแต่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์นี้มายังไม่เคยทำ พึ่งมามีขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหมู่กริ้วพระสงฆ์ว่าไม่ทำปวารณาและไม่ทำอุโบสถในวันอุโบสถ เป็นการละเลยข้อสำคัญตามวินัยบัญญัติเสีย ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในเดือนสิบเอ็ด

ส่วนพิธีศิวาราตรีนี้ เป็นพิธีลอยบาปของพราหมณ์คล้ายๆ มหาปวารณา จึงโปรดให้ทำตามธรรมเนียมเดิม พิธีนี้ทำในเดือน ๓ ขึ้น ๑๕ ค่ำ คือเวลาค่ำพระมหาราชครูทำพิธีเริ่มแต่กระสูทธิ์อัตมสูทธิ์ตามแบบเหมือนพิธีทั้งปวง แล้วเอาเสาปักสี่เสา เชือกผูกคอหม้อโยงเสาทั้งสี่ ภายใต้หม้อตั้งพระศิวลึงค์ เจาะหม้อให้น้ำหยดลงมาได้ทีละน้อย เอาขลังสอดไว้ในช่องหม้อที่เจาะนั้นเฉพาะตรงพระศิวลึงค์ ให้น้ำหยดลงถูกพระศิวลึงค์ทีละน้อยแล้วไหลลงมาตามรางซึ่งรองรับพระศิวลึงค์ ซึ่งพราหมณ์ในประเทศอินเดีย ซึ่งข้าพเจ้าเคยไปเห็นเรียกว่าโยนิ แล้วมีหม้อรองที่ปากรางนั่น เติมน้ำและเปลี่ยนหม้อไปจนตลอดรุ่ง เวลาใกล้รุ่งทำพิธีหุงข้าวหม้อหนึ่งในเทวสถาน เจือน้ำผึ้งน้ำตาลนมเนยและเครื่องเทศต่างๆ สุกแล้วแจกกันกินคนละเล็กคนละน้อยทุกคนทั่วกัน พอได้อรุณก็พากันลงอาบน้ำในคลอง สระผมด้วยน้ำที่สรงพระศิวลึงค์ ผมที่ร่วงในเวลาสระนั้นเก็บลอยไปตามน้ำ เรียกว่า ลอยบาป เป็นการเสร็จพิธีศิวาราตรีในวันเดียวนั้น แต่การพิธีนี้ไม่มีของหลวงพระราชทาน เป็นของพราหมณ์ทำเอง เมื่อพิเคราะห์ดูการที่ทำนี้เห็นว่าจะเป็นการย่อมาเสียแต่เดิมแล้ว

ในเมืองเบนนารีส คือเมืองพาราณสี ซึ่งข้าพเจ้าเคยไปเห็นเองในที่นั้น เบื้องหน้าแต่เวลาจวนอรุณ พราหมณ์ทั้งปวงนับด้วยพันคน มีหม้อทองเหลืองคนละใบทูนศีรษะเดินลงไปริมฝั่งแม่น้ำคงคา นั่งที่แท่นก่อบ้าง ก้อนศิลาในน้ำบ้าง เอาหม้อทองเหลืองตักน้ำขึ้นมาเสกบ่นแล้วบ้วนปากล้างหน้า เสกอะไรต่อไปอีกหน่อยหนึ่ง แล้วโดดลงในน้ำดำศีรษะลงในน้ำสามครั้ง แล้วควักดินที่ท่านั้นมาถูตัวแทนสบู่ เวลาจะถูก็บริกรรมคาถาอะไรอีกแล้วอาบน้ำล้างตัวหมดจดนุ่งผ้าห่มผ้า เอาหม้อทองเหลืองตักน้ำทูนศีรษะเดินมาที่วัดพราหมณ์ ในวัดนั้นมีที่ไว้เทวรูป สัณฐานเหมือนปรางค์อย่างโบราณ มีมุขยื่นออกมา ที่มุขนั้นพราหมณ์หรือฤๅษีกลายๆ ยืนอยู่ มีพวงมาลัยดอกดาวเรืองร้อยสวมดอกกองอยู่เป็นอันมาก ที่รอบบริเวณเทวสถานนั้นมีเป็นระเบียงคล้ายพระระเบียงล้อมรอบ ในระเบียงนั้นมีโคสีเทาๆ คล้ายกับที่เชระนี[๑] เอามาเล่นเซอคัส ล่ามแหล่งไว้หลายตัว ในลานตั้งแต่เทวสถานถึงระเบียงรอบนั้นประมาณสัก ๑๐ วาโดยรอบ เต็มไปด้วยศิวลึงค์ตั้งอยู่บนฐานที่เรียกว่าโยนิ สูงตั้งแต่ ๕ นิ้ว ๖ นิ้วขึ้นไปจน ๒ ศอก เศษ ๒ ศอก หลายร้อยจนนับไม่ถ้วน ที่อย่างเล็กๆ เพียงนิ้วหนึ่งสองนิ้ว ตั้งไว้บนฐานบัทม์ของเทวสถานก็มีโดยรอบ หล่อด้วยทองเหลืองก็มี ทำด้วยศิลาก็มี เมื่อคนที่เข้าไปพอถึงประตูเทวสถาน ท่านฤๅษีหรือพราหมณ์ผู้ใหญ่ที่อยู่บนมุขเทวสถานนั้นโยนพวงมาลัยดอกดาวเรืองมาเฉพาะสวมคอทุกครั้ง เมื่อข้าพเจ้าไปนั้นไม่รู้ตัวว่าจะเล่นกันอย่างไร เป็นแต่บอกว่าถ้าจะเข้าไปดูต้องถอดรองเท้า ขุนนางอังกฤษที่เป็นผู้พาไปนั้นก็ต้องยอมถอดรองเท้าเข้าไปเหมือนกัน พอโผล่ประตูเข้าไปรู้สึกว่าอะไรหวิวลงมาที่หัว แลดูเห็นพวงมาลัยดอกดาวเรืองสวมคออยู่แล้ว ยังไม่รู้ว่ามาจากแห่งใด ต่อคนที่ตามเข้าไปภายหลังได้รับพวงมาลัยนั้นอีก จึงได้เห็นว่าท่านฤๅษีคนนั้นขว้างแม่นอย่างเอก ถี่เร็วฉับๆ ไม่ได้ขาดมือเลย เห็นคนที่เข้าไปก่อนๆ นั้น เอาน้ำในหม้อทองเหลืองที่ทูนศีรษะไปรดศิวลึงค์ แล้วเอาหม้อใบนั้นเองรองน้ำที่ไหลทางรางแล้วเดินทูนศีรษะกลับออกมา ในพื้นลานเทวสถานนั้นเป็นน้ำนองเปรอะไปทั้งสิ้น บางคนจึงจะไปไหว้วัว แต่ที่เข้าไปรดน้ำแล้วกลับนั้นมีโดยมาก ถามได้ความว่าศิวลึงค์ที่มากแน่นเต็มไปเช่นนี้ สุดแต่เกิดมาเป็นพราหมณ์พวกนั้นแล้วต้องสร้างศิวลึงค์รูปหนึ่งๆ ทุกคนสำหรับที่จะรดน้ำสระหัว วัดหรือเทวสถานเช่นนี้ในเมืองเบนนารีสมีหลายสิบแห่ง มักจะตั้งอยู่ริมๆ น้ำ กว้างบ้างแคบบ้าง สูงบ้างต่ำบ้าง แต่ท่วงทีคล้ายๆ กันทั้งนั้น ครั้นเมื่อกลับออกมาจากที่นั้นแล้ว เห็นตามทางกำลังหุงข้าวเกือบจะทุกแห่ง หุงด้วยหม้อทองเหลืองใบนั้นเอง คนหนึ่งก็หุงหม้อหนึ่ง กินคนเดียวไม่ปะปนกับผู้ใด เรื่องที่อาบในแม่น้ำนี้ ถึงตัวมหารายาเบนนารีสเอง และสนมกำนัลก็ต้องลงอาบเหมือนกัน ตัวท่านมหารายาได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังเอง ที่จะอาบนั้นใช้เรือขนานศีรษะเป็นรูปสัตว์ คล้ายกับที่รับข้าพเจ้าข้ามฟากไปที่รามนครซึ่งเป็นที่วัง แต่ฟังดูตามเล่านั้นเห็นจะเป็นการนุ่งกันได้บ้างดังโรเรไม่ทุกวัน หรือจะใช้หนี้คล้ายอัชชะมะยาได้บ้างอย่างไรไม่ทราบเลย พิธีศิวาราตรีนี้คงจะมาจากเรื่องนี้นี่เอง ถึงเรื่องหุงข้าวก็เป็นอาหารอร่อยของชาวอินเดีย ซึ่งข้าพเจ้าได้เคยไปกินเลี้ยงแล้วนั้นเอง ได้ถามดูรสชาติที่พระมหาราชครูก็บอกว่ากลืนไม่ใคร่ลง เพราะพราหมณ์พวกนี้เป็นไทยเสียแล้ว จึงต้องย่อพิธีด้วยความประพฤติแปลกกัน จึงได้กลายเป็นพิธีตามที่คนชั้นใหม่ๆ เช่นเราเข้าใจว่าเป็นการต่างว่าหรือย่อๆ ดังนี้ ๚
 

-------------------------------------------------------------------------------------
[๑] เชระนี เป็นฝรั่งชาติอิตาลี เจ้าของละครม้า


เดือนสาม
การพระราชกุศลมาฆบูชา

๏ การมาฆบูชานี้ แต่เดิมก็ไม่ได้เคยทำมา พึ่งเกิดขึ้นเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตามแบบโบราณบัณฑิตได้นิยมไว้ว่า วันมาฆบุรณมีพระจันทร์เสวยฤกษ์มาฆะเต็มบริบูรณ์ เป็นวันที่พระอรหันต์พุทธสาวก ๑๒๕๐ ได้ประชุมกันพร้อมด้วยองค์สี่ประการ เรียกว่าจาตุรงคสันนิบาต พระพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนาโอวาทปาติโมกข์ในที่ประชุมสงฆ์ เป็นการประชุมใหญ่ และเป็นการอัศจรรย์ในพระพุทธศาสนา นักปราชญ์จึงได้ถือเอาเหตุนั้นกอบการสักการบูชาพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ ๑๒๕๐ พระองค์นั้นให้เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสและสังเวช การพระราชกุศลนั้นเวลาเช้าพระสงฆ์วัดบวรนิเวศน์และวัดราชประดิษฐ์ ๓๐ รูป ฉันในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เวลาค่ำเสด็จออกทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการแล้ว พระสงฆ์สวดทำวัตรเย็นเหมือนอย่างที่วัดแล้ว จึงได้สวดมนต์ต่อไป มีสวดคาถาโอวาทปาติโมกข์ด้วย สวดมนต์จบทรงจุดธูปเทียนรายตามราวรอบพระอุโบสถ ๑๒๕๐ เล่ม มีประโคมด้วยอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงได้มีเทศนาโอวาทปาติโมกข์กัณฑ์ ๑ เป็นเทศนาทั้งภาษามคธและภาษาสยาม เครื่องกัณฑ์จีวรเนื้อดีผืนหนึ่ง เงิน ๓ ตำลึงและขนมต่างๆ เทศน์จบพระสงฆ์ซึ่งสวดมนต์รับสัพพีทั้ง ๓๐ รูป การมาฆบูชานี้เป็นเดือนสามบ้าง เดือนสี่บ้าง ตามวิธีปักษคณนาฝ่ายธรรมยุติกนิกาย แต่คงอยู่ในเดือนสามโดยมาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทุกปีมิได้ขาด แต่ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ เสด็จออกบ้าง ไม่ได้ออกบ้าง เพราะมักจะเป็นเวลาประสบกับที่เสด็จประพาสหัวเมืองบ่อยๆ ถ้าถูกคราวเสด็จพระราชดำเนินไปประพาสบางปะอินหรือพระพุทธบาท พระพุทธฉาย พระปฐมเจดีย์ พระแท่นดงรัง ก็ทรงทำมาฆบูชาในสถานที่นั้นๆ ขึ้นอีกส่วนหนึ่งต่างหากนอกจากในพระบรมมหาราชวัง ๚  


เดือนสาม
การพระราชกุศลเลี้ยงพระตรุษจีน

๏ การนี้เกิดขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยทรงพระปรารภของซึ่งพวกจีนนำมาถวายในตรุษจีน เป็นของสดสุกรเป็ดไก่พร้อมกันหลายๆ คน มากๆ จนเหลือเฟือ ก็ควรที่จะให้เป็นไปในพระราชกุศล จึงได้โปรดให้มีเลี้ยงพระสงฆ์ที่พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยขึ้นทั้งสามวัน แต่ไม่มีสวดมนต์ พระสงฆ์ฉันวันละ ๓๐ รูปเปลี่ยนทุกวัน ตามคณะกลาง คณะเหนือ คณะใต้ โปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์และท้าวนางข้างในจัดเรือขนมจีนมาจอดที่หน้าตำหนักแพ พวกภรรยาข้าราชการผู้ใหญ่ๆ ที่ทรงรู้จักเคยเฝ้าแหนก็จัดเรือขนมจีนมาถวายผลัดเปลี่ยนเวรกันไปทั้งสามวัน ตัวก็มาเฝ้าด้วย แล้วให้ทนายเลือกกรมวังคอยรับขึ้นมาถวายพระสงฆ์ฉัน แล้วจึงได้เลี้ยงข้าราชการต่อไป พระสงฆ์ฉันแล้วถวายสบงผืนหนึ่ง หมากพลูธูปเทียนกับใบชาห่อหนึ่ง แต่วิธีอนุโมทนาของพระสงฆ์ในการตรุษจีนนี้ ไม่เหมือนกันทั้งสามวันแต่ไหนแต่ไรมา ลางวันก็มีสัพพะพุทธา ลางวันก็ไม่มี แต่เห็นว่าเป็นการพระราชกุศลตามธรรมเนียมเช่นนี้ โดยจะไม่มีสัพพะพุทธาก็ไม่เป็นการขาดเหลืออันใดทั้งมีและไม่มี และในการตรุษจีนนี้จ่ายเงินให้ซื้อปลาปล่อยวันละ ๑๐ ตำลึงบรรทุกเรือมาจอดอยู่ที่แพลอย เวลาทรงพระเต้าษิโณทกแล้วโปรดให้พระเจ้าลูกเธอนำลงไปรดที่เรือปลา แล้วตักปลานั้นปล่อยไปหน้าที่นั่ง

ครั้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รับสั่งว่าการที่ทำบุญตรุษจีนเลี้ยงขนมจีนนั้นไม่ใช่ของจีน เป็นแต่สักว่าชื่อเป็นจีน ให้ทำเกาเหลาที่โรงเรือยกเข้ามาเลี้ยงพระสงฆ์แทนขนมจีน เป็นของหัวป่าก์ชาวเครื่องทำ แล้วทรงสร้างศาลหลังคาเก๋งขึ้นที่น่าพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยศาลหนึ่ง ให้เชิญเทวรูปและเจว็ดมุกในหอแก้วลงไปตั้ง มีเครื่องสังเวยทั้งสามวัน อาลักษณ์อ่านประกาศเป็นคำกลอนลิลิตตามเนื้อความของคาถายานี และขอพรข้างปลายเป็นการเทวพลีให้เข้าเค้าอย่างเซ่นข้างจีน ที่พระพุทธรูปก็มีเครื่องเซ่นอย่างจีนตั้งเพิ่มเติมข้าวพระด้วย และให้มีโคผูกต่างบรรทุกของถวายตรุษจีน คือแตงอุลิด ขนมเข่ง กระเทียมดอง สิงโตน้ำตาลทราย ส้ม เป็นต้น วันละ ๓ โค ถวายพระราชาคณะผู้ใหญ่ซึ่งนำฉัน  โคนั้นบรรทุกของแล้วยืนถวายตัวที่โรงเรือริมทางเสด็จ แต่โคบางตัวก็บรรทุกได้ครึ่งหนึ่งบ้าง ค่อนหนึ่งบ้าง บางตัวก็บรรทุกไม่ได้เลย เป็นแต่ผูกต่างมายืนโคมๆ อยู่ ของก็กองอยู่หน้าโคเป็นพื้น การเลี้ยงพระที่พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยนั้น เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสงฆ์นั่งข้างตะวันออก ที่ประทับอยู่ข้างตะวันตกริมน้ำ เพื่อจะได้ทอดพระเนตรทางแม่น้ำได้สะดวก ครั้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รับสั่งว่าธรรมเนียมซึ่งจะตั้งที่ประทับต้องอยู่ข้างพระราชวังสำหรับที่จะหนีง่ายตามแบบเก่าที่เตรียมหนีมากกว่าเตรียมสู้ ซึ่งเคยทรงเยาะเย้ยธรรมเนียมต่างๆ มีผูกพระคชาธารให้เป็นเงื่อนกระทกเป็นต้น แต่ธรรมเนียมเช่นนั้นลงเป็นแบบแผนใช้มาช้านานและธรรมดาเจ้าของบ้านเจ้าของเรือน ก็คงจะต้องรับแขกอยู่หน้าประตูที่จะเข้าเรือน หันหน้าออกข้างนอก ผู้ซึ่งมาหาก็ต้องมาจากภายนอก หันหน้าเข้าข้างใน จึงรับสั่งให้เปลี่ยนพระสงฆ์ไปนั่งทางตะวันตก ทอดที่ประทับทางตะวันออก ใช้มาจนตลอดรัชกาล ครั้นถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ท่านเห็นว่า ซึ่งที่ประทับมาอยู่ข้างในนั้น ไม่เป็นทางที่จะเห็นน้ำเห็นท่าให้เป็นที่สบาย จึงได้ขอกลับเปลี่ยนไปอย่างแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอให้มีเรือขนมจีนขึ้นอย่างเก่า ให้ภรรยาของท่านและเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ จัดขนมจีนมาถวายและมาเฝ้าเหมือนอย่างแต่ก่อน ในการตรุษจีนสมเด็จเจ้าพระยาอยู่ข้างจะเป็นธุระเห็นสนุกสนานมาก ตัวท่านเองก็อุตสาห์มาเฝ้าพร้อมกับขุนนางทั้ง ๓ วันทุกๆ ปีมิได้ขาดเลย เพราะเป็นการเวลาเช้าถูกอารมณ์ท่านด้วย เพราะฉะนั้นการเลี้ยงตรุษจีนจึงได้มีขุนนางผู้หลักผู้ใหญ่มาพรักพร้อมแน่นหนากว่าพระราชพิธีหรือการพระราชกุศลอื่นๆ แต่เรื่องเกาเหลาเลี้ยงพระนั้น เป็นของที่อันเหลือที่จะอัน, แล้วผู้ทำก็ล้มตายหายจาก กร่อยๆ ลงก็เลยละลายหายไปเอง คงอยู่แต่เรือขนมจีนจนทุกวันนี้ ที่พระสงฆ์นั่งนั้นภายหลังมาก็กลายเป็นอย่างแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยครั้งนั้นท่านทรงตัดสินธรรมเนียมทอดที่ลงไว้เป็นแบบอย่างเสียแล้ว ผู้จัดการทั้งปวงก็ต้องวนลงหาแบบนั้นเป็นหลักฐาน

การตรุษจีนนี้มีในเดือนยี่บ้าง เดือนสามบ้าง ตามอย่างประดิทินจีนเขาจะตัดสินวันใดเป็นปีใหม่ และการภายหลังนี้มีเพิ่มเติมขึ้นมาในพระยาโชฎึกราชเศรษฐี และพระยาสวัสดิวามดิษฐ์เดี๋ยวนี้[๑] จัดเครื่องโต๊ะอย่างจีนมาตั้งเลี้ยงเจ้านาย ปีแรกที่เก๋งพุทธรัตนสถาน ครั้นต่อมาก็เป็นอันเลี้ยงที่ท้องพระโรง ในเวลาบ่ายวันเชงเหมงนั้นตลอดมาจนทุกวันนี้

คำตักเตือนในการตรุษจีน ในการเลี้ยงพระตรุษจีนนี้ นอกจากพระเต้าษิโณทกที่เป็นโรคสำหรับตัวมหาดเล็ก ก็ยังมีเทียนชนวนที่สำหรับพระราชทานพระเจ้าลูกเธอไปจุดเทียนสังเวยเทวดา มหาดเล็กต้องคอยเชิญเสด็จหรือตามเสด็จไปด้วย อนึ่งเมื่อพระราชทานน้ำพระเต้าษิโณทก ให้พระเจ้าลูกเธอไปปล่อยปลา มหาดเล็กต้องเชิญเสด็จหรือตามเสด็จลงไปที่แพลอยระวังรักษาพระเจ้าลูกเธอ ภูษามาลาต้องถวายพระกลดองค์น้อย นอกนั้นก็ไม่สู้มีอันใดขาดเหลือนัก ๚
 

-------------------------------------------------------------------------------------
[๑] พระยาโชฎึกนี้ ชื่อเถียร พระยาสวัสดิวามดิษฐ์ ชื่อฟัก ภายหลังได้เป็นพระยาโชฎึก


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/66283886507153_CX_EV_CR91_1_.jpg) (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/99790366035368_35927174_410501056132247_38455.jpg)

พระราชพิธีเดือนสี่
• กาลานุกาล พิธีตรุษ
-----------------------------------

๏ ในกฎมนเทียรบาลบัญชีย่อพระราชพิธีว่า เดือนสี่การสัมพัจฉรฉินท์ แต่ครั้นเมื่อค้นดูความพิสดารที่นับเป็นรายเดือนไปละลายเสียไม่ได้ความชัดเจน จะเป็นด้วยเดือนสิบสอง เดือนอ้าย มีพิธีหลายอย่าง คือจองเปรียงลดชุดลอยโคม ไล่เรือ งานแจกดอกไม้ วงมงคล ผู้ที่เก็บฉบับมาเรียบเรียงเดิมนึกว่าจะเรียงเป็นเดือนๆ ให้ตลอดทั้งสิบสองเดือน ครั้นมีพิธีแทรกๆ เข้ามากเผลอไปว่าเป็นแต่เรียงพิธีทั้งปวง ว่าตรียัมพวาย แล้วจึงถึงเฉวียนพระโคแล้วบอกจำหน่ายเผาข้าวไม่มี ต่อไปพิธีเบาะพก ว่าพิสดารยืดยาวแต่มืดรวมอย่างยิ่งจนไม่รู้ว่าทำอะไร ลงปลายจึงได้เลยป่ายไปอินทราภิเษกวุ่นไป คงได้ความลอดออกมานิดหนึ่งแต่ว่า การพระราชพิธีเผด็จศกตั้งในปรัศว์ซ้ายพระที่นั่งกลางพระโรง และว่าเพ้อไปด้วยตำแหน่งเฝ้าแหนจนไม่ได้ความว่ากระไร พูดเหมือนรู้กันอยู่แล้ว เป็นแต่บอกว่าจะทำที่นั่นหนาที่นี่หนา แต่การพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์นี้ ย่อมเป็นการติดต่อกันกับเดือนห้าทั้งแต่ก่อนมาและในปัจจุบันนี้ จะแยกเดือนกันให้ขาดก็ยาก จึงเป็นการจำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงพิธีสัมพัจฉรฉินท์หรือตรุษนี้เลยไปจนกระทั่งถึงเดือนห้าก่อนหน้าสงกรานต์บ้าง

เมื่อว่าเช่นนี้ตามทางโบราณ มีพระราชพิธีอันหนึ่งซึ่งติดต่อกันกับสัมพัจฉรฉินท์เรียกว่า ลดแจตร  คำลดแจตรนี้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเป็นรดเจตร คำลดนั้น เปลี่ยนตัว ร เป็น ล ไป คำแจตรนั้นเกินไม้หน้าไปอันหนึ่ง ถ้าเปลี่ยนตัว ล เป็นตัว ร อ่านว่า รด ลดไม้หน้าแจตรเสียอันหนึ่งอ่านว่า เจตร คงได้ความว่า รดน้ำเดือนห้า ตัวพิธี รดเจตรนี้ คงจะเป็นพิธีเดิม ที่สืบมาแต่ข้างลาวพุงดำ เพราะในทุกวันนี้ หัวเมืองลาวพุงดำ เช่นเมืองเชียงใหม่ เมืองนคร เมืองลำพูนเป็นต้น เจ้าเมืองยังต้องลงอาบน้ำในแม่น้ำเป็นพิธีเดือนห้า แต่เขาไว้ในหมู่สงกรานต์ มีอยู่จนทุกวันนี้ จะขอยกเรื่องราวในพิธีเมืองลาวไว้ไม่กล่าวในที่นี้ เพราะผู้ที่ไปเห็นมามีมากด้วยกัน จะเรียบเรียงได้ดีกว่าข้าพเจ้า ที่กล่าวเดี๋ยวนี้จะขออ้างเพียงว่าพิธีนี้เป็นอย่างของลาวพุงดำ ก็บรมราชวงศ์เชียงรายตั้งแต่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ลงมาเป็นเชื้อสายของเงี้ยวหรือลาว จึงได้มีธรรมเนียมนี้ติดต่อลงมาจนถึงกรุงเก่า แต่จะได้ทำลงมาเพียงแผ่นดินใดก็ไม่ปรากฏ มีเหตุพอที่จะเชื่อได้ว่าในรัชกาลหลังๆ ลงมาที่กรุงเก่าก็ไม่ได้ทำ จดหมายขุนหลวงหาวัดก็ไม่ได้พูดถึงเลย

พิธีรดเจตรที่มีมาในกฎมนเทียรบาลนั้น ดูเหมือนหนึ่งจะปลูกโรงหรือจอดแพอยู่กลางแม่น้ำ แพนั้นถ้าจะทำก็คล้ายๆ กับที่ลงสรง ข้างลาวเขาใช้เป็นซุ้มใบไม้ปักกลางน้ำเพราะน้ำตื้น แต่ของเราน้ำลึกดีร้ายจะใช้เป็นแพ ในแพที่สรงนั้นกั้นเป็นข้างหน้าข้างในดูในว่านั้นปันเป็นสามส่วน ส่วนหนึ่งเป็นข้างหน้าสำหรับพระสงฆ์และเจ้านายขุนนาง ส่วนกลางเป็นที่สรง ส่วนข้างในเป็นที่สำหรับพระอัครมเหสีหรือในจดหมายนั้นเขาเรียกว่า สมเด็จพระภริยาเจ้าทั้งสอง และลูกเธอ หลานเธอ แม่เจ้าพระสนมออกเจ้าทั้งปวง ในที่สรงนั้นมีเรียกว่าไม้พุ่มปักไว้ ไม้นั้นหุ้มผ้าแดง ทีจะเช่นหลักโผในแพลงสรง เป็นยศชั้นสูงชั้นต่ำด้วย เวลาที่ลงสรงนั้นมีกำหนดถึงสามเวลา เวลาเช้าทรงลายทั้งสำรับ เวลากลางวันทรงไพรำทั้งสำรับ เวลาเย็นไม่ปรากฏว่าทรงอันใด เวลาสรงน้ำเช้าและกลางวันเสร็จแล้วมีเลี้ยงลูกขุน เวลาบ่ายมีการมหรสพโมงครุ่ม คุลาตีไม้ เล่นแพน ป่ายเชือกหนัง พุ่งหอก ยิงธนู ที่ออกสนามนั้นเป็นพลับพลาหรือมณฑปมีกำหนดยศเป็นชั้นๆ ว่า พระราชกุมารบนปราสาทสามชั้น พระราชนัดดาคูหาตอนเดียว นาหมื่นเอกมณฑปห้าชั้น นาหมื่นโทมณฑปสามชั้น นาห้าพันราชคฤห์สามตอน นาสามพันสองพันหกคฤห์สองตอน นาพันสี่พันสองคฤห์ตอนเดียวมีบังหา นาพันคฤห์ตอนเดียว นาแปดร้อยหกร้อยเพดานปะรำมีริม นาห้าร้อยสี่ร้อยปะรำเปล่า เป็นที่เฝ้าอย่างออกสนาม เทือกเบญจาหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำขึ้น เพื่อประสงค์จะเปลี่ยนการออกสนามอย่างโบราณ ครั้นเวลาบ่ายสรงอีกครั้งหนึ่ง บรรดาข้าราชการผู้ใหญ่ต้องมีผ้านุ่งห่มสามสำรับสำหรับเปลี่ยนลงอาบน้ำ แต่เวลาเย็นนั้นมีจดหมายไว้ว่าเสด็จลงสรงแล้วทรงสำอางเสร็จ เสด็จลงเรือเข้ามา ท้าวพระยาลูกขุนนุ่งผ้าลงน้ำมาทีเดียว ในที่นี้จะว่าผลัดผ้าแล้วโดดน้ำว่ายตุ๋มตั๋มตามเสด็จมาทีเดียวหรือ หรือจะว่านุ่งผ้าที่ลงน้ำนั้นมาทั้งเปียกๆ ก็ไม่ได้ความชัด วิสัยคนโบราณหรือคนเก่าๆ ทุกวันนี้ก็มี ถ้าจะจดหมายเป็นตำรับตำราอันใดมักจะจดย่อๆ ให้ผู้ที่ไปอ่านนั้นไม่ใคร่จะเข้าใจ ต้องไต่ถามด้วยปากอีกทีหนึ่ง เมื่ออ่านไม่เข้าใจต้องถามดังนั้นแล้ว ก็มักจะยิ้มแย้มรื่นเริงไปว่าถ้อยคำที่ตัวกล่าวเป็นลึกซึ้ง จนนิดหนึ่งก็กินความมาก แต่ผู้ที่อ่านหากเป็นเด็กเล็กและไม่มีปัญญา ใจเร็วไม่ตริตรองเทียบเคียงจึงไม่เข้าใจ เมื่อเวลาแปลให้ก็ย่อมจะกล่าวว่าง่ายๆ นิดเดียว ลางทีก็บอกเป็นใบ้เป็นพรางให้คิดตีเอาเอง ถ้าผู้ที่ถามนั้นยังไม่เข้าใจก็เอาเป็นเซอะซะเสียคน ถ้าผู้ที่ถามนั้นตีใบ้ออกเข้าใจก็ไม่เป็นความฉลาดของผู้ที่คิดตีใบ้ออก เป็นความกรุณาของท่านผู้ที่บอกเล่า ต่อตีใบ้ให้ถึงได้แล้วหัวเราะสำทับว่าง่ายนิดเดียวต่อไปใหม่ กินทั้งขาขึ้นขาล่อง วิธีสั่งสอนของคนโบราณเช่นนี้ ท่านผู้อ่านคงจะได้เคยพบปะบ้างฉันใด จดหมายตำรับตำราอันใดก็มักจะทำย่อๆ ล่อให้คนปาคนทุ่มเช่นนี้โดยมาก เพราะฉะนั้นจะเอาข้อความอันใดในเรื่องรดเจตรนี้ก็ไม่มีหลักฐานต่อไปอีก ได้เนื้อความเพียงเท่านี้

มีแววชอบกลอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งปรากฏในร่างรับสั่งการพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ แต่ก็เป็นธรรมเนียมที่รวมเลิกไปเสียแล้ว แต่จะเข้าเค้าเรื่องรดเจตรนี้ได้บ้างดอกกระมัง ด้วยการพระราชพิธีรดเจตรนี้ได้ความตามกฎหมายนั้นชัดเจนว่า เป็นการที่ทำก่อนออกสนามใหญ่ คือสระสนาน หรือคเชนทรัศวสนาน ซึ่งสงกรานต์จะมีมาก่อนคเชนทรัศวสนานนั้นมีไม่ได้อยู่แล้ว จึงไม่ควรจะคิดเห็นว่า การรดเจตรนี้จะเป็นรดน้ำพระสงฆ์ในเวลาสงกรานต์ ถ้าจะเป็นในเดือนห้าก็คงเพียงวันขึ้นค่ำหนึ่งเท่านั้นเป็นแน่ เพราะฉะนั้นถ้าจะเทียบกับการที่ได้ทำอยู่ในกรุงเทพฯ คราวหนึ่งซึ่งยังปรากฏอยู่ในร่างหมายจะเข้าเค้าได้ดอกกระมัง คือในการพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ มีกำหนดให้ปลูกโรงที่พระสงฆ์สรงน้ำ มีตุ่มซึ่งเรียกว่านางเลิ้งไปตั้งหลายใบ มีขันเชิงคู่หนึ่ง มีกาลักน้ำบัวตะกั่วและผ้าชุบสรงพร้อม แล้วให้ภูษามาลารับน้ำอบแป้งสดไปสำหรับถวายพระสงฆ์ แลดูอยู่ข้างธุระมาก เกินกว่าที่จะเห็นว่าเป็นแต่สำหรับพระราชพิธี เพราะพระสงฆ์ต้องมาสวดอยู่วันยังค่ำคืนยังรุ่ง จะได้พักผ่อนอาบน้ำได้ คือเกณฑ์ให้มีพวงดอกไม้สดไปแขวนที่โรงพระสรงน้ำนั้นถึงวันละยี่สิบพวง ดูโรงก็จะไม่เล็กนัก จึงได้แขวนดอกไม้มากถึงเพียงนั้น เกินกว่าที่จะจัดไว้สำหรับพระสงฆ์เพียง ๕ รูป แต่ผู้ซึ่งรวมๆ เสียในชั้นหลังๆ ต่อมาเห็นจะเป็นเข้าใจว่าสำหรับพระสงฆ์ ๕ รูป ด้วยพระแล้วดูท่านไม่ใคร่อยากอาบน้ำกันโดยมาก จะไม่มีผู้ใดไปอาบ จัดไว้เก้อๆ จึงได้เลยเลิกไป ที่จริงของเดิมเห็นจะจัดสำหรับพระสงฆ์ที่มาฉันในการพระราชพิธีสรงทั้งหมด ถ้าการที่พระสรงน้ำนี้จะเป็นเรื่องรดเจตรแน่แล้ว ก็คงจะเป็นการย่อลงมากว่าแต่เดิมหลายย่อมาแล้ว เพราะการที่รดเจตรกันอย่างเดิมนั้น อยู่ข้างจะกาหลเหลือเกิน และต้องทําธุระมากวันยังค่ำไม่ได้หยุดได้หย่อน จึงได้ตกลงรวมๆ ลงมาจนเลยละลายไป เดี๋ยวนี้ถามใครก็ไม่มีใครรู้ถึงเรื่องโรงสรงน้ำพระนี้เลย ได้ความในเรื่องซึ่งจะเกี่ยวข้องในเรื่องรดเจตรหรือลดแจตรอยู่เพียงเท่านี้

แต่ในจดหมายคําให้การขุนหลวงหาวัด มีความแจ่มออกไปกว่านี้ เป็นธรรมเนียมชั้นหลัง มีว่าถึงตั้งอาฏานาฏิยสูตร สวมมงคล สมโภชพระ สมโภชเครื่อง แต่ว่าเรื่อยไปจนถึงทอดเชือกและสระสนาน ซึ่งเป็นการในเดือนห้าก่อนสงกรานต์ ที่นับว่าเป็นปลายตรุษด้วยในการชั้นหลังนี้คงจะไม่ผิดกับที่ได้ทำอยู่ในกรุงเทพฯ ทุกวันนี้นัก


หัวข้อ: Re: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 23 มิถุนายน 2561 16:47:12
พระราชพิธีเดือนสี่ (ต่อ)

วิธีทําบุญปีอย่างเช่นทําอยู่ในพิธีสัมพัจฉรฉินท์นี้ เป็นวิธีการบูชาของชาวลังกาเขาทําบุญปีใหม่ พร้อมกันจัดเครื่องสักการบูชาพระรัตนตรัย เป็นการนักขัตฤกษ์ใหญ่ นิมนต์พระสงฆ์มาสวดสามวัน วันที่สามจึงได้ประกาศเทวดาแผ่ส่วนบุญให้แก่เทพยดาและยักษ์ นาค กุมภัณฑ์ บรรดาอมนุษย์ทั้งปวงตลอดถึงสัตว์ดิรัจฉาน ขอพรให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข คําให้ส่วนบุญทั้งปวงเป็นภาษาลังกา ยังใช้ต่อมาจนถึงการพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ทุกวันนี้ การพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ซึ่งเป็นส่วนเนื่องในพระพุทธศาสนา แต่มิใช่ทําตามพุทโธวาท เป็นของคนที่ถือพุทธศาสนามาแต่ก่อนประกอบการทําขึ้นนี้ มีแต่แถบข้างล่างที่ริมๆ ทะเล สืบดูในหัวเมืองลาวทั้งฝ่ายตะวันออกตะวันตก ก็ไม่ได้ความว่าเมืองใดได้ทําการพิธีสำหรับเมืองคล้ายคลึงกันกับพิธีตรุษนี้ มีที่ปรากฏว่าได้ทําอยู่แต่เมืองนครศรีธรรมราช กับเมืองเขมรอีกสองแห่ง เมืองเขมรแต่ก่อนก็เป็นเมืองมีท่าลงทะเล และเมืองนครศรีธรรมราชก็เป็นเมืองท่าค้าขายดังได้กล่าวมาแล้วในเดือนยี่ จึงเห็นว่าพิธีนี้มีเฉพาะแต่ที่เมืองลังกา ไม่ได้มีมาแต่ประเทศอินเดีย เป็นพิธีเกิดขึ้นใหม่เมื่อพระพุทธศาสนาตกมาอยู่ในลังกาทวีป[๑ ]

บรรดาการพระราชพิธีทั้งปวงซึ่งเนื่องด้วยพระพุทธศาสนาแล้ว พิธีสัมพัจฉรฉินท์นี้อยู่ข้างกาหล และวุ่นวายมากกว่าทุกพิธี ด้วยเป็นความคิดของคนในชั้นหลังที่มีความรู้แล้ว ความเชื่อถือพระพุทโธวาทเสื่อมลง หวาดหวั่นต่อภัยอันตรายกล้าขึ้น จึงได้คิดอ่านแก้ไข หันเหียนลงหาการที่ถืออยู่เป็นปรกติบ้านเมือง ฝ่ายข้างประเทศอื่นๆ คือแถบเรานี้ ที่เป็นเมืองนับถือพระพุทธศาสนาและนิยมยินดีในความรู้ของชาวลังกา ประกอบด้วยความหวาดหวั่นต่อภัยทั้งปวง เมืองใดไปมาถึงกัน ทราบฉบับธรรมเนียมก็เลียนลอกถ่ายแบบมาทําบ้าง เพราะพิธีนี้มาทางทะเลข้างฝ่ายทิศตะวันตกข้างใต้ จึงไม่แผ่ขึ้นไปถึงหัวเมืองลาวข้างฝ่ายเหนือเหมือนลัทธิพิธีอื่นๆ และการที่รับพิธีมาทํานั้นคงจะเป็นเมืองนครศรีธรรมราชได้รับก่อน ด้วยเมืองนครศรีธรรมราชนี้ปรากฏเป็นแน่ชัดว่า เป็นเมืองประเทศราชใหญ่มาช้านาน มีหลักฐานที่ควรจะอ้างอิงหลายแห่ง มีจารึกที่ฐานพระในวัดพระมหาธาตุเป็นต้น คงจะเป็นใหญ่มาก่อนตั้งกรุงอยุธยาโบราณ เมื่อตั้งกรุงศรีอยุธยาขึ้นแล้ว เมืองนครศรีธรรมราชก็ต้องอ่อนน้อมขึ้นกรุงศรีอยุธยา แต่เห็นยังจะเป็นเจ้าประเทศราชต่อมาช้านาน ด้วยระยะทางตั้งแต่กรุงออกไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช ด้วยเรือใบเรือพายก็เป็นทางไกล ถ้าคิดตามกำหนดหนังสือวงศ์วงศ์ทั้งหลาย ที่เป็นหนังสือสำหรับอ่านกันอยู่ในไทยๆ ก็พอสมควรแก่ระยะที่จะเป็นเมืองพ่อตาหรือลูกเขย ซึ่งเป็นอย่างไกลที่สุดก็อยู่ในห่างกันสิบห้าวัน พอยักษ์มารจะขโมยได้กลางทางสบายดีอยู่แล้ว นับว่าเป็นเมืองไกลเกือบสุดหล้าฟ้าเขียวจึงต้องเป็นเมืองมีอํานาจมาก ที่สำหรับจะปกครองหัวเมืองฝ่ายใต้และเมืองมลายูทั้งปวง แต่คงต้องถวายต้นไม้เงินทองกรุงเทพฯ ซึ่งยังมีเชื้อสายติดต่อมาจนทุกวันนี้ แต่ต้นไม้เงินทองทุกวันนี้เป็นอย่างเตี้ยๆ คือต้นไม้ทอง ๖ ต้น หนักต้นละบาท ต้นไม้เงิน ๖ ต้น หนักต้นละบาท ซึ่งเป็นต้นไม้เล็กไปอย่างนี้เห็นว่าจะเป็นขึ้นเมื่อเลิกไม่ให้เป็นประเทศราช แต่ก่อนมาเมืองสงขลา เมืองพัทลุง เมืองพังงา เป็นเมืองใหญ่ขึ้นเมืองนครศรีธรรมราชทั้งสามเมือง เพื่อจะให้กําลังเมืองนครศรีธรรมราชน้อยลง จึงได้ตัดเมืองทั้งสามนี้มาขึ้นกรุงเทพฯ เสีย ต้นไม้เงินทองเมืองนครศรีธรรมราชแต่ก่อนคงเป็นต้นไม้หนักต้นละ ๒๔ บาท เมื่อยกสามเมืองมาขึ้นกรุงเทพฯ เสียแล้ว จึงได้แบ่งออกเป็นสี่ส่วน ให้เมืองนครศรีธรรมราชคงทําส่วน ๑ เมืองสงขลาส่วน ๑ เมืองพัทลุงส่วน ๑ เมืองพังงาส่วน ๑ คงเท่าจํานวนเดิม แต่ครั้นภายหลังเมืองพังงาถูกแยกเมืองถลาง เมืองภูเก็ต เมืองตะกั่วป่าออกไป เมืองพังงาร่วงโรยลงเป็นเมืองน้อย จึงได้ยกต้นไม้เงินทองไปให้เมืองตะกั่วป่าทำ หัวเมืองทั้งสี่ยังส่งต้นไม้เงินทองอยู่จนทุกวันนี้ แต่ต้นไม้เงินทองสี่หัวเมืองนี้เป็นต้นไม้ปีละครั้ง ถ้าคิดว่าเมืองนครศรีธรรมราชส่งเมืองเดียวสามปีครั้งหนึ่งเหมือนเมืองประเทศราชทุกวันนี้ ก็จะเป็นต้นไม้เงินทองหนักต้นหนึ่งถึง ๗๒ บาท เป็นต้นไม้อย่างขนาดใหญ่ทีเดียว เพราะเมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองประเทศราชใหญ่อยู่แต่เดิมดังนี้ คงจะมีพระราชพิธีใหญ่ๆคล้ายกับที่กรุง จึงได้รับพิธีสัมพัจฉรฉินท์นี้มาทํา แต่ที่กรุงจะไปรับต่อมาอีกเมื่อครั้งใดคราวใดไม่ได้ความปรากฏ เชื้อสายของการพิธีในเมืองนครศรีธรรมราชก็ยังมีติดต่อมาจนถึงในปัจจุบันนี้ เมื่อข้าพเจ้าไปเมืองนครศรีธรรมราชคราวนี้ก็ได้ลองให้พระสงฆ์ที่วัดหน้าพระลานสวดภาณวารและภาณยักษ์ฟังดู ทํานองภาณวารมีเสียงเม็ดพราย ทํานองครุคระมากขึ้นกว่าทํานองภาณวารในกรุงเทพฯ นี้มาก นโมขึ้นคล้ายๆ ภาณยักษ์ แต่ภาณยักษ์เองนั้นสู้ที่กรุงเทพฯ ไม่ได้ ที่กรุงเทพฯ เอามาตกแต่งเพิ่มเติมเล่นสนุกสนานกว่ามาก แต่คงยังได้เค้าคล้ายๆ กันทั้งสองอย่าง

การที่มุ่งหมายในเรื่องทําพระราชพิธีตรุษสุดปีมีสวดอาฏานาฏิยสูตรซ้ำๆ ไปตลอดคืนยังรุ่งนี้ ด้วยประสงค์จะให้เป็นการระงับภัยอันตรายแก่มนุษย์ทั้งปวงทั่วพระราชอาณาเขต ตามพระบรมพุทธานุญาต แต่ตามที่เข้าใจกันโดยมากว่า ซึ่งพระสงฆ์สวดภาณยักษ์หรือภาณพระนั้นเป็นการขู่ตวาดให้ผีตกใจกลัว แล้วยิงปืนกระหน่ำสำหรับให้วิ่ง จนถึงคนแก่คนเฒ่าต้องหาขมิ้นกับปูนตั้งไว้ตามข้างที่หลับที่นอนในเหย้าในเรือน สำหรับผีญาติพี่น้องและผีเหย้าผีเรือน จะตกใจปืนเที่ยววิ่งปากแตกสีข้างหัก จะได้เอาขมิ้นกับปูนทา แล้วทําต้นไม้ผูกของกินเล็กๆ น้อยๆ มีกระบอกเล็กๆ กรอกน้ำแขวนกิ่งไม้ผูกไว้ที่บันไดเรือน เรียกว่าข้าวผอกกระบอกน้ำ สำหรับเจ้าพวกผีที่วิ่งตามถนน จะต้องวิ่งไปวิ่งมาเหน็ดเหนี่อยหิวโหยโรยแรง จะได้หยิบกินไปพลาง ห้ามไม่ให้ถ่ายปัสสาวะลงทางล่อง ด้วยเข้าใจว่าผีนั้นวิ่งชุลมุนอยู่ตามใต้ถุนรุนช่องจะไปเปียกไปเปื้อน บางทีที่เป็นโคมใบโตๆ จึงร้องไห้ร้องห่มสงสารคนนั้นคนนี้ที่ตัวรักใคร่ก็มี การซึ่งว่าขับผีเช่นนี้ ในตัวอาฏานาฎิยสูตรเองก็ไม่ได้ว่า พระสงฆ์ก็ไม่ได้ขู่ตวาดขับไล่ผี ตามความที่คาดคะเนไปมีความจริงอยู่อย่างหนึ่ง แตในคำประกาศเทวดาเวลาค่ำขับผีซึ่งมิได้นับถือพระพุทธศาสนาเป็นมิจฉาทิฐิ มิอาจที่จะรักษาพระเจ้าแผ่นดิน และพระบรมวงศานุวงศ์ ราษฎรได้ให้ออกไปเสียนอกขอบเขาจักรวาล ชะรอยจะได้ยินคำประกาศอันนี้ส่อให้เข้าใจภาณยักษ์ภาณพระว่าเป็นขู่ตวาดไล่ผี ดูเข้าใจกันซึมซาบเกือบจะแปลได้ทุกคำตลอดทั้งภาณยักษ์ภาณพระ มงคลนั้นก็ถือลัทธิกันไปต่างๆ ไม่ถูกทั้งขึ้นทั้งล่อง คือพวกที่เข้าใจกันซึมซาบว่าวันนี้เป็นวันไล่ผี ถ้าไม่สวมมงคลและพิสมรถือกระบองเพชรหรือเอาวางไว้ใกล้ๆ ตัว ผีจะวิ่งมาโดนหกล้มหกลุกหรือจะมาแลบลิ้นเหลือกตาหลอก หรือจะทำให้ป่วยไข้อันตรายต่างๆ ข้างพวกที่ไม่เชื่อถือในเรื่องผีวิ่งผีเต้นนี้เล่าก็มักจะอดไม่ได้ อยากจะสำแดงอวดกึอวดเก่งอวดฉลาดว่าตัวเป็นคนไม่กลัวผี ไม่เชื่อว่าผีวิ่ง ไม่ยอมสวมมงคลพิสมร ไม่ยอมถือกระบองเพชร หัวเราะเยาะเย้ยผู้ซึ่งสวมซึ่งถือไปต่างๆ ความคิดทั้งสองอย่างนี้เป็นผิดทั้งสิ้น

การพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ เป็นการพิธีประจําปีสำหรับพระนคร ทําเพื่อจะให้เป็นสวัสดิมงคลแก่พระนคร และพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการฝ่ายหน้าฝ่ายในตลอดจนราษฎร การที่ให้สวมมงคลและพิสมรแจกจ่ายกระบองเพชรให้ถือ ก็เพื่อจะให้เป็นที่หมายว่า ผู้นั้นได้เข้าอยู่ในพระราชพิธี หรือให้แลเห็นว่า สิ่งซึ่งเป็นมงคลอันจะเกิดขึ้นด้วยคุณปริตรที่พระสงฆ์สวดนั้น ตั้งอยู่ในตัวผู้นั้นแล้ว เมื่อจะเปรียบดูอย่างง่ายๆ ว่าการบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมนเทียร เวลาสวดมนต์พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงพระมหามงคล การโกนจุกลงท่าแต่งงานบ่าวสาว เจ้าตัวผู้ซึ่งจะรับสวัสดิมงคล อันพระสงฆ์จะมาเจริญปริตรให้เฉพาะผู้นั้นก็สวมมงคล ผู้ที่สวมมงคลซึ่งออกชื่อมาเหล่านี้ย่อมมีสายสิญจน์โยง ตั้งแต่แท่นหรือม้าเตียงที่ตั้งพระหรือใช้สายเดียวกับที่พระสงฆ์ถือผูกโยงติดไว้กับท้ายมงคล การซึ่งใช้สายสิญจน์ก็ดี ใช้มงคลก็ดี เป็นเครื่องให้สะใจของผู้ปรารถนา คือผู้ปรารถนาสวัสดิมงคลจากที่พระสงฆ์เจริญปริตร เมื่อนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญปริตรเปล่าๆ ก็เป็นสวัสดิมงคลอยู่แล้ว แต่ดูไม่เห็นจริงสะอกสะใจ จึงได้ทำมงคลสวมที่ศีรษะโยงสายสิญจน์มาให้ถึงเป็นสายโทรศัพท์ ให้สวัสดิมงคลนั้นแล่นมาทางนั้นเป็นเครื่องปลื้มใจอุ่นใจเจริญความยินดีมาก ในการบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมนเทียรก็ดี การโกนจุกลงท่าแต่งงานบ่าวสาวก็ดี ก็ไม่ได้สวดภาณยักษ์ภาณพระ ไม่ได้อ่านคําประกาศเรื่องขับผีขับสางและไม่ได้ยิงปืนเวลาค่ำ ซึ่งจะเป็นเครื่องให้ผีตื่นตระหนกตกใจ เหตุใดจึงต้องใช้มงคล ก็เหตุด้วยประสงค์จะให้เป็นทางมาของความสวัสดิมงคล และเป็นเครื่องปลื้มใจว่าตัวได้รับสวัสดิมงคลอันเกิดจากปริตรคุณ เพราะฉะนั้นจึงต้องกล่าวว่าผู้ซึ่งเข้าใจว่ามงคลพิสมรกระบองเพชรเป็นเครื่องกันผีที่วิ่งวุ่นวายเฉพาะในวันนั้นวันเดียวนั้น เป็นการเข้าใจผิดกลัวมากเกินไป ข้างฝ่ายที่อวดกล้าอวดเก่ง อวดปัญญาไม่ยอมสวมมงคลพิสมรถือกระบองเพชรนั้น หมายว่าตัวพ้นกลัวผีพ้นเชื่อผี หรือที่แท้ไม่พ้นกลัวผีเชื่อผีจริง ยังอวดเก่งอวดฉลาดในการที่คนทั้งปวงกลัวตัวทำได้ ถึงจะพ้นกลัวก็ยังอยู่ในไม่พ้นเชื่อ โดยว่าจะไม่เชื่อได้จริงๆ ก็ยังไม่เป็นคนมีปัญญาตามที่อยากจะอวดทั้งสามประการ คือ อวดกล้าอวดเก่งรู้ไม่เชื่อ อวดปัญญา ถ้ามีปัญญาจริงย่อมจะคิดเห็นได้ว่าการที่พรรณนามาแล้ว คือการเฉลิมพระราชมนเทียร การโกนจุกลงท่าแต่งงานบ่าวสาวนั้น เขากลัวผีหรือไม่เขาจึงได้สวมมงคล ถ้ามีปัญญาจริงแล้วจะต้องพิจารณาเห็นว่าการซึ่งสวมมงคลนั้น เพื่อจะให้ปรากฏว่าตัวเป็นผู้ได้รับสวัสดี ในการพระราชพิธีใหญ่สำหรับพระนคร ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินสู้ออกพระราชทรัพย์ให้ทํามงคลพิสมรกระบองเพชร สำหรับพระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งปวงทั่วไป ไม่ได้ทรงทำโดยทรงตื่นเต้นเหมือนอย่างผู้ที่กลัวผีงกเงิ่นดังได้กล่าวมาแล้ว ถ้าจะเถียงว่าแต่ก่อนท่านจะกลัวกันบ้างดอกกระมัง จะเป็นพูดแก้แทนกันไปก็จะอ้างพยานให้เห็นได้ว่าสวดมนต์วันพระในท้องพระโรงหรือพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ ซึ่งเป็นเวรประจําพระราชวังมาแต่โบราณนั้นก็สวดมนต์ตามลำดับอย่างเก่า มีภาณยักษ์ภาณพระเหมือนกัน ถ้าเช่นนั้นวันพระใดจะถึงภาณยักษ์ภาณพระ จะมิต้องแจกมงคลให้สวมกันหมดหรือ ควรจะต้องคิดเห็นว่า เพราะพระเจ้าแผ่นดินทรงพระมหากรุณาแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งปวง จะให้ได้รับความสวัสดิมงคลทั่วกัน จึงแจกมงคลให้สวมตามบรรดาศักดิ์ แต่วิธีที่ถือว่ามงคลที่สวมเป็นเครื่องรองรับความสวัสดิมงคลนั้น เป็นลัทธิโบราณเคยถือมาอย่างเดียวกันกับทำน้ำมนต์ ต้องเอาเทียนคว่ำลงให้มีสีผึ้งหยดลงในน้ำเป็นดอกพิกุล ด้วยเสกเปล่าๆ ดูเป็นน้ำเฉยๆ ไป ไม่มีไม่เห็นเป็นก้อนเป็นดุ้นสะอกสะใจ เป็นธรรมเนียมที่ถือกันมา มิใช่ของพระเจ้าแผ่นดินชั้นหลังๆ คิดขึ้นใช้เป็นประเพณีบ้านเมืองทั่วไปตลอด ถึงผู้ที่จะเอะอะอวดเก่งไม่ยอมสวมมงคลนั้น ถ้าจะมีการทำบุญอันใดที่บ้านก็คงจะยังโยงสายสิญจน์ให้พระสวดอยู่ทุกแห่งไม่ใช่หรือ การซึ่งพระเจ้าแผ่นดินยังพระราชทานมงคลอยู่นั้น ก็เหมือนกันกับผู้ที่อวดเก่งยังใช้สายสิญจน์อยู่นั้นนั่นแหละ เพราะฉะนั้นถ้าผู้ใดเข้ามาในวันพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ ก็ไม่ควรเลยที่จะทํารังเกียจอวดดีหรืออับอายขายหน้า เอามงคลไปขยี้ขยําหัวเราะเยาะเย้ยเป็นการอวดดีต่างๆ ซึ่งน่าจะเห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาทพระเจ้าแผ่นดินและคนทั้งปวงว่าเซอะซะงุ่มง่ามไปหมด ฉลาดแต่ตัวคนเดียว การที่เพ้อเจ้อมาด้วยเรื่องมงคลนี้ ใช่ว่าจะตื่นเต้นโปรดปรานมงคลอย่างหนึ่งอย่างใด เว้นแต่เมื่อยังไม่เลิกเสียก็ยังไม่อยากให้ผู้ใดหมิ่นประมาท แต่ถ้าจะเลิกเมื่อใดก็จะยอมเลิกโดยง่าย ไม่เป็นข้อขัดขวางอันใด เพราะเหตุว่ามงคลทั้งปวงย่อมจะเกิดได้ด้วยกายวาจาใจอันตั้งอยู่ในความสุจริต การที่พระสงฆ์มาเจริญปริตรพุทธมนต์อันใดจะเป็นสวัสดิมงคลก็เป็นได้ทางหูทางใจ ไม่ได้มาทางสายสิญจน์ บัดนี้จะกล่าวถึงอาฏานาฏิยสูตรโดยสังเขป เพื่อให้เป็นเครื่องรับรองกับการที่จะกล่าวมาข้างต้นว่ามิได้ขู่ตวาดไล่ผีนั้น ความในอาฏานาฎิยสูตรนี้ว่าท้าวมหาราชทั้งสี่ลงมาเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วกราบทูลว่า บรรดาฝูงอมนุษย์ทั้งปวงที่นับถือพระพุทธเจ้าก็มี ที่ไม่นับถือก็มี เพราะพวกอมนุษย์เหล่านั้นเกลียดชังบัญญัติที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ละเว้นมีเบญจเวรวิรัติเป็นต้น เพราะฉะนั้นเมื่อสาวกของพระพุทธเจ้าไปอยู่ที่ราวป่าที่เปลี่ยว พวกอมนุษย์ทั้งปวงเหล่านั้นย่อมจะมาเบียดเบียนต่างๆ ท้าวมหาราชทั้งสี่จึงได้ขออนุญาตต่อพระพุทธเจ้า ให้โปรดให้สาวกจําคาถานมัสการพระพุทธเจ้าทั้งเจ็ดพระองค์ มีวิปัสสิสสะนะมัตถุเป็นต้นนี้ไว้ เมื่อจะไปอยู่ในราวป่าหรือที่สงัดที่เปลี่ยว พวกอมนุษย์ทั้งปวงจะมาเบียดเบียนประการใดก็ให้สวดคาถานมัสการนี้ขึ้น อมนุษย์ทั้งปวงก็จะมีความกลัวเกรงหลบหลีกไปไม่ทำอันใดได้ พระพุทธเจ้าทรงรับด้วยดุษณีภาพ ท้าวมหาราชทั้งสี่ก็ลากลับไป นี่เป็นข้อใจความของภาณยักษ์ ภาณพระนั้นกล่าวถึงเวลารุ่งขึ้นเมื่อพระสงฆ์ประชุมพร้อมกัน พระพุทธเจ้าตรัสเรียกพระสงฆ์ทั้งปวงแล้วก็ทรงเล่าเรื่องที่ท้าวมหาราชลงมาทูลนั้นตามเนื้อความเหมือนภาณยักษ์ และอนุญาตให้พระสงฆ์จําคาถาคํานมัสการนั้นไว้ มีข้อใจความในภาณพระเท่านี้

แต่วิสัยอาจารย์ผู้แต่งหนังสือคิดจะแต่งให้เพราะ ให้ความพิสดาร ก็ไปเก็บเอาเรื่องราวต่างๆ อย่างเช่นยกมาจากคาถามหาสมัยสูตรเป็นอันมาก ตามนิทานที่เล่าเป็นของเก่าแก่อยู่บ้างเพิ่มเติมลง เล่าถึงเรื่องบ้านเรื่องเมืองที่อยู่ของท้าวมหาราช ซึ่งพระภาณยักษ์มาสวดเรียกกันว่าร้อง ตามคนที่ไม่เข้าใจแปลกันว่าพระท่านปลอบผีให้ไปเสียดีๆ ส่วนคำที่ซ้ำๆ นั้นก็เป็นตำราของภาษามคธ จะแต่งหนังสืออันใดก็แต่งซ้ำๆ ซากๆ จนเขียนเป็นภาษาไทยไม่ได้ อย่าง เช่น ยัก์โข วา ยัก์ขินี วา ซึ่งเป็นแต่ออกชื่อยักษ์ผู้ชายยักษ์ผู้หญิงดีๆ ไม่ได้โกรธขึ้งเลยนั้น ก็เข้าใจกันว่าเป็นการขู่เข็ญขับไล่ ผู้ฟังไม่เข้าใจก็ว่าพระท่านขู่ผี เป็นอันทั้งขู่ทั้งปลอบให้ผีไป การที่ยืดยาวเลื้อยเจื้อยไปทั้งหลายนี้ เป็นสำนวนของอาจารย์ชาวลังกาผู้ที่แต่งหนังสือจะให้ไพเราะพิสดาร

แต่ยังส่วนตัวสูตรนี้เองที่อ้างว่าท้าวมหาราชลงมาเฝ้านี้ ถ้าเป็นผู้ที่มักจะคิดก็จะมีความสงสัยว่าจะเป็นการช่างเถอะอย่างไรอยู่ ความข้อนี้จะขอไกล่เกลี่ยได้ว่า สูตรนี้เห็นจะมาตามทางธชัคสูตรซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสเอง เปรียบเอาเรื่องโบราณที่เล่าๆ กันอยู่เป็นพื้น แล้วมายกขึ้นเปรียบว่าเมื่อพระอินทร์รบกับยักษ์ มีกำหนดในหมายธงเทวดาที่เป็นแม่ทัพฉันใด สาวกของพระพุทธเจ้าที่ไปอยู่ในราวป่าที่เปลี่ยว ก็ให้ผูกใจมั่นในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็จะเป็นเครื่องบําบัดความกลัวหวาดหวั่นสะดุ้งสะเทือน การที่พระพุทธเจ้ายกเอาเรื่องพระอินทร์รบกับยักษ์ขึ้นเป็นเหตุที่จะสั่งสอนสาวกนั้น ก็ใช่ท่านจะยืนยันว่าพระอินทร์รบกับยักษ์คราวหนึ่งเป็นแน่ละ ตถาคตได้เห็นเองรู้เองก็หาไม่ เป็นแต่ท่านว่าเขาเล่ากันมา เกือบจะเหมือนกับยายกับตาปลูกถั่วปลูกงาให้หลานเฝ้า ที่เล่ากันอยู่ในปัจจุบันนี้ แต่เป็นเรื่องเหมาะที่จะยกมาเปรียบจึงได้ยกมาเปรียบ ส่วนคนภายหลังที่ได้ยินพระสูตรอันนี้ ไม่ประพฤติตามแต่พระพุทธเจ้าอนุญาตสั่งสอนให้ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยในเวลาอยู่ที่เปลี่ยว ไปเข้าใจผิดเชื่อเอาว่าพระอินทร์ได้รบกับยักษ์เป็นแน่เพราะพระพุทธเจ้าได้เล่า การซึ่งเป็นทั้งนี้ก็เพราะพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง ๒๔๐๐ ปีเศษ การซึ่งคนแต่ชั้น ๒๔๐๐ ปีพูดกันเป็นการจืดๆ อยู่สาบสูญไป คงอยู่แต่ในสูตรนี้ก็เข้าใจเอาเป็นการแปลกหูมา เหมือนไม่มีผู้ใดรู้ รู้แต่พระพุทธเจ้าซึ่งบรรลุวิชาสามารถจะระลึกกาลที่ล่วงมาแล้วได้ ชักให้เข้าใจเลอะเทอะไป ส่วนข้อที่พระพุทธเจ้าอนุญาตให้ระลึกคุณพระรัตนตรัยในเวลาอยู่ที่เปลี่ยว และเวลาตกใจด้วยภัยอันตรายนั้นเล่า ใช่ท่านจะตรัสว่า เออตกใจอะไรให้นึกถึงตถาคตเถิด ตถาคตจะไปช่วย เหมือนอย่างเช่นนิทานเล่าๆ กันว่ายักษ์หรือนาคและฤๅษีอะไรซึ่งพอใจจะสั่งไว้กับผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นผู้มีคุณหรือเป็นที่รัก แต่หากเป็นคนที่จะเรียกว่ามีบุญหรือเคราะห์ร้ายอย่างยิ่งไม่ได้ เช่นกับตัวที่มีในเรื่องนิทานกลอนๆ ทั้งปวง มีฤทธิ์มีเดชมากเหาะเหินเดินอากาศได้ แต่ไม่มีความสุขจนข้าวก็ไม่ใคร่ได้กิน เดินทอกแทกอยู่ในกลางป่า ซึ่งมีผู้อยากจะเป็นเช่นนั้นชุมๆ เพราะได้ฆ่าพ่อตาเอาลูกสาวเป็นเมีย ก็หาไม่ คำที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่สาวกเช่นนี้ประสงค์เพื่อจะอุดหนุนสาวกซึ่งยังไม่บรรลุมรรคและผล มีความหวาดสะดุ้งต่อภัยอยู่เป็นนิตย์ ให้มีความแกล้วกล้า โดยเชื่อในความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าแล้วออกไปอยู่ในที่สงัดบำเพ็ญเพียรให้ได้มรรคและผลตามประสงค์ วิสัยพระพุทธเจ้าจะตรัสเทศนาสั่งสอนผู้ใดย่อมตัดไปโดยทางตรง มุ่งหมายแต่ประโยชน์ ไม่ใช้ทางอ้อมค้อมซึ่งเป็นการจะทําให้เสียเวลา หรือไม่พอแก่วิสัยของปุถุชนจะเชื่อถือได้ เช่นกับจะนั่งแปลอยู่ว่าผีไม่มีดอก อย่าให้กลัวเลยดั่งนี้ จะต้องอธิบายยืดยาวเสียเวลา จึงได้ตัดเสียว่าให้เชื่อพระคุณความรู้ของพระพุทธเจ้าและหนทางอันดีของพระธรรมซึ่งจะนำให้ผู้ปฏิบัติตามบรรลุธรรมวิเศษ และให้เชื่อคุณความปฏิบัติของพระอริยสงฆ์ ซึ่งได้บรรลุวิชาเต็มที่ตามพระพุทธเจ้าตรัสสอนแล้วนั้นให้มั่นใจ ก็จะไม่มีภัยอันตราย ความมุ่งหมายที่จะต้องการ คือให้สาวกซึ่งเป็นปุถุชนหายกลัวผีนั้นก็ได้เหมือนกัน แต่เป็นทางลัดได้ง่ายเร็วกว่าที่จะอธิบายแก่ผู้ซึ่งมีปัญญาและความเชื่อยังอ่อน การซึ่งชนภายหลังเข้าใจพระสูตรต่างๆ เกินกว่าความต้องการไปเช่นนี้ จึงเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนากลายเป็นพิธีรีตองเสกๆ เป่าๆ ไปได้โดยมาก

ในเรื่องอาฏานาฏิยสูตรนี้ ถ้าจะพูดตามความเห็นที่คิดเห็นว่าจะเป็นการช่างเถอะแล้ว ก็เห็นว่าจะมาจากธชัคสูตรนี้เอง แต่วิสัยลังกาหรือลาวก็ดี ที่จะไหว้แต่พระพุทธเจ้าโคตมะพระองค์เดียว ดูจะไม่ใคร่จะพออิ่มไม่สะใจ อยากให้ท่านมาช่วยกันมากๆ หลายไม้หลายมือ เช่นสัมพุทเธไหว้พระพุทธเจ้าตั้งพันตั้งหมื่น อาฏานาฏิยสูตรนี้อยากจะให้พระพุทธเจ้ามากองค์ออกไปช่วยแรงกันให้มากขึ้น จึงได้แต่งขึ้นใหม่ เก็บธชัคสูตรบ้าง มหาสมัยสูตรบ้าง ผสมกันเข้าเป็นอาฏานาฎิยสูตรขึ้นตามความต้องการ ที่ยังไม่สะใจแท้ถึงเติมนโมเมสัพเข้าด้วย อย่างเช่นสวดมหาราชปริตรสิบสองตํานานก็มี แต่เมื่อจะไฉล่ไกล่เกลี่ยลงก็ควรจะกล่าวได้ว่า ข้อสำคัญทั้งสูตรก็อยู่เพียงคํานมัสการ ถ้าผู้ที่เชื่อถือมั่นในคุณพระรัตนตรัย มีภัยอันตรายคับขันสะดุ้งสะเทือนในใจ หรือเป็นแต่ใจอ่อนไปไม่กล้าหาญ เมื่อกล่าวคำนมัสการโดยความถือมั่นต่อพระคุณความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ก็คงจะให้ประโยชน์ต่อผู้ซึ่งกล่าวคาถานั้น ให้มีใจมั่นคงไม่หวาดหวั่นต่อภัยอันตราย คงเป็นการมีคุณอยู่บ้างเป็นแท้ แต่การที่เอามาเอะอะสวดซ้ำๆ ซากๆ กันนี้ก็อยู่ข้างจะมากสักหน่อย และวิธีที่สวดนั้นเลยเป็นเล่นไป เนื้อความนั้นก็จะเป็นสรภัญญะแต่ค่อยๆ มากขึ้นเพลินไปจึงชักให้ความเฟือน แต่ถึงอย่างไรก็ดีเป็นประเพณีบ้านเมืองที่ได้เคยประพฤติมา เมื่อยังไม่ได้เลิกถอนเสียก็ควรจะถือเอาตามสมควรแก่ที่พิจารณาเห็นว่าเป็นดีเพียงไร ตามใจของตนๆ


แต่ถึงว่าได้ปฏิเสธไว้ในข้างต้นว่า การที่สวมมงคลพิสมรถือกระบองเพชร ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเหตุที่พระเจ้าแผ่นดินกลัวผีจะวิ่งมาโดนเป็นต้นก็จริง แต่จะปฏิเสธว่าผู้แรกตั้งตำราพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ขึ้นนี้ไม่เชื่อผีไม่ได้ ด้วยการที่ตระเตรียมทำทั้งปวงอยู่ข้างจะขับผี มีในคำประกาศที่กล่าวอ้างถึงขับผีมิจฉาทิฐิเป็นหลักอยู่อย่างหนึ่ง ยังปืนที่จะยิงเล่าหมอนก็ใช้ใบหนาด ใบสาบแร้งสาบกา ซึ่งถือว่าเป็นใบไม้ที่ผีกลัว มีถุงข้าวเปลือกข้าวสารเล็กๆ ๑๐๘ ถุงสำหรับบรรจุในปืนอย่างฟาดข้าวไล่ผีด้วย ถึงข้าวผอกกระบอกน้ำของหลวงก็มี แต่ไปมีที่วัดสระเกศ ไม่ได้มีในรั้วในวัง แต่ข้าวผอกกระบอกน้ำวัดสระเกศก็ได้เลิกมาเสียช้านาน จะเป็นด้วยเข้าใจว่าขับแต่ผีที่เป็นมิจฉาทิฐิ ก็ธรรมดาป่าช้าที่เป็นที่ไว้ศพปลงศพมากๆ เช่นนี้ คนที่ประพฤติตัวชั่วช้าเป็นมิจฉาทิฐิก็คงจะมีโดยมาก ที่ได้ไปไว้ไปฝังไปเผาในที่นั้น ผีมิจฉาทิฐิเหล่านั้นคงจะได้ความลําบาก จึงได้จัดเสบียงอาหารไปให้เป็นการให้ทาน เพราะธรรมดาผู้ซึ่งมีศรัทธาทำทานหรือตะกลามบุญในไทยๆ เรานี้มักจะหาช่องทําบุญเล็กๆ น้อยๆ ด้วยเชื่อว่าจะได้กำไรมาก ก็ข้าวผอกกระบอกน้ำนี้ไม่ต้องลงทุนรอนอันใด หักแต่กิ่งไม้มา เกลาไม้ไผ่เป็นกระบอกเล็กๆ แบ่งข้าวแบ่งปลาที่เหลือกินกรอกลงเล็กๆ น้อยๆ เศษผ้าผ่อนอันใดที่จะทิ้งเสียก็เอาแขวนกิ่งไม้ปักให้เป็นทาน ไม่ต้องลงทุนลงรอนอันใด แต่คงจะกลับได้ประโยชน์ในภายหน้ามาก ข้าวกระบอกหนึ่งบางทีก็จะได้เป็นกระบอกละเกวียน น้ำกระบอกหนึ่งบางทีก็จะบันดาลให้พระยาโชฎึกมีความรักใคร่นับถือ ยอมให้ใช้น้ำก๊อกเปล่าๆ สามวันเจ็ดวัน[๒] เศษผ้าเท่าฝ่ามือก็จะทำให้ได้ผ้าชิ้นละกุลีได้ดอกกระมัง เมื่อไม่ต้องลงทุนอะไรแต่คิดกำไรที่จะได้มากเช่นนี้ ถึงจะไม่สู้เชื่อถือผีสางอันใดนักก็ทำไว้ดีกว่าไม่ทำ เพราะได้กำไรมากจึ่งได้ทำตามๆ กันไป แต่ควรเห็นได้ว่าความคิดซึ่งจะเห็นญาติพี่น้องหรือผีในเหย้าในเรือนออกวิ่งด้วยนั้น ไม่เป็นความคิดที่มีในราชการมาแต่ก่อน ลัทธิทั้งหลายเหล่านี้ที่เจือปนเข้ามาในราชการด้วย ข้าพเจ้าขอปฏิเสธว่าไม่ได้มาทางพระพุทธศาสนา ด้วยเหตุว่าอาฏานาฎิยสูตรที่ได้แสดงใจความย่อมานั้น ถ้าเป็นผู้ที่พิจารณาตริตรองอยู่ก็จะสงสัยว่าจะเป็นการช่างเถอะอยู่บ้างแล้วนั้นไม่ได้กล่าวถึงการเหล่านี้เลย วิธีที่ถือผีสางกระจุกกระจิกเหล่านี้จะมีมาก็ตามลัทธิพราหมณ์อย่างหนึ่งตามความเข้าใจผิด หรือกลัวสั่นเกินไปของคนทั้งปวงแต่โบราณจนตกลงเป็นธรรมเนียมที่เคยทําก็ทําไป เพราะเหตุว่าใบไม้ที่จะเป็นหมอนปืนและข้าวสารที่บรรจุในปืน ก็ต้องส่งไปที่โรงพิธีพราหมณ์เสกเป่ากันมาก่อน ไม่ได้เอามาเข้ามณฑลในส่วนพระพุทธศาสนาเหมือนอย่างมงคลพิสมรกระบองเพชร เพราะฉะนั้นการที่ปฏิเสธมาแต่ก่อนนั้น ปฏิเสธข้อหนึ่งว่าคําอาฏานาฏิยสูตรไม่ใช่คําพระพุทธเจ้าอนุญาตไว้สำหรับให้ขู่และปลอบผี อีกข้อหนึ่งว่าที่ให้สวมมงคลพิสมรและถือกระบองเพชร ไม่ใช่สำหรับกลัวผีหลอก เพราะปรารถนาความสวัสดิมงคล การซึ่งกล่าวแรงไปจนถึงว่าการที่กลัวผีเป็นผิดนั้น เป็นความเห็นของข้าพเจ้าเองผู้แต่งหนังสือ และว่าได้ว่าพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนคงจะไม่ทรงกลัวผีสั่นไปเหมือนอย่างคนทั้งปวงกลัวดังเช่นกล่าวมา แต่ที่จะปฏิเสธว่าไม่ทรงเชื่อว่าผีมีอยู่ และขับได้อยู่ตามลัทธิโบราณที่ถือมานั้นปฎิเสธไปไม่ได้ เพราะใครๆ ในเวลานั้นก็ย่อมถือเช่นนั้นทั่วหน้ากัน แต่จะลงเอาเป็นแน่ว่าทรงเชื่อถือแท้ก็ว่าไม่ได้ บางทีจะเป็นแต่โบราณเคยทำมาก็ไม่ให้เสียโบราณ ด้วยคนทั้งปวงย่อมเชื่อถืออยู่ด้วยกันโดยมาก เป็นพระบรมราโชบายอย่างหนึ่ง ซึ่งจะเป็นเครื่องระงับความกระวนกระวายร้อนใจของคนทั้งปวงให้เป็นที่เย็นอกเย็นใจได้ อย่างทําก็ไม่เสียหายอันใดมากนัก แต่ได้ประโยชน์ให้เป็นที่เย็นใจของคนทั้งปวงอันอาศัยในพระราชอาณาเขตเช่นนี้ก็จะมีบ้าง เหมือนอย่างพระราชพิธีอาพาธพินาศก็คือทําอย่างสัมพัจฉรฉินท์นี้เอง เป็นแต่เปลี่ยนชื่อ

พระราชพิธีอาพาธพินาศนี้ จะสืบสาวเอาเหตุผลให้ได้ความว่ามีมาแต่ก่อนหรือไม่ก็ไม่ได้ความ ได้พบแต่ร่างหมายพระราชพิธีอาพาธพินาศ เมื่อปีมะโรงโทศก ๑๑๘๒ อ้างถึงพระราชพิธีอาพาธพินาศที่ได้ทํามาแต่ก่อนเมื่อปีมะแมตรีศกศักราช ๑๑๗๓ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้นเองทั้งสองคราว แต่ไม่ได้ความว่าคราวแรกนั้นทําด้วยเหตุอันใด ตรวจดูในจดหมายเหตุก็ไม่ได้กล่าว ถึงท้ายปูมก็ไม่ได้แทงไว้ แต่การที่ทําขึ้นนั้นก็คงจะอาศัยเหตุที่เกิดโรคภัยที่เป็นมากๆ ทั่วกัน เช่นไข้ทรพิษหรืออหิวาตกโรค เพราะเมื่อเทียบเคียงดูกับประเทศอื่น ก็เห็นว่าจะเป็นอหิวาตกโรค เพราะในระยะนั้นอหิวาตกโรคเกิดขึ้นที่ประเทศอินเดียก่อนแล้วเป็นระรานต่อมา แต่จะสอบปีให้ตรงกันกับศักราชเท่านี้ว่าเป็นคราวเป็นใหญ่ก็ไม่ตรง แต่ไข้เจ็บเช่นนี้เป็นขึ้นที่แห่งหนึ่งแล้วก็ค่อยๆ แผ่ไป จะกำหนดเวลาให้ตรงกันเป็นแน่ก็ไม่ได้อยู่เอง อหิวาตกโรคเกิดขึ้นในประเทศอินเดียเมื่อปีขาลโทศกจุลศักราช ๑๑๓๒ เป็นคราวแรก แล้วแผ่ไปทั้งประเทศยุโรปและประเทศเอเซีย คงจะมีเข้ามาถึงกรุงสยามนี้ด้วย แต่จะไม่ใหญ่โตมากมายเหมือนปีมะโรง จึงไม่มีผู้ใดจำผู้ใดเล่า การซึ่งเกิดทําพิธีกันขึ้นนั้นก็คงจะเป็นด้วยเหตุความตกใจหวาดหวั่น ในการที่เกิดโรคอันมีพิษร้ายแรงเสมอด้วยพิษงูขึ้นใหม่ๆ และเป็นมากๆ พร้อมกัน เมื่อจะคิดเสาะแสวงหาเหตุผลว่าเกิดขึ้นด้วยอันใด ก็ไม่สามารถที่จะทราบได้ในเวลานั้น ด้วยมิได้เคยทดลองสังเกตสังกามาแต่ก่อน ยาที่จะกินนั้นเล่าก็ต้องเป็นยาเดาขึ้นใหม่ทั้งสิ้น กินยาก็ต้องเป็นการลองไปในตัว คนจึงได้ตายมาก จนลงเห็นกันว่าเป็นไม่มียาอันใดจะแก้ไขได้ ความคิดที่เชื่อพระผู้สร้างโลก เชื่อผีผู้ดีคือเทวดา เชื่อผีไพร่คือปิศาจ ก็เข้าครอบงําความคิดคนทั้งปวงในเวลานั้นตามแต่ใครจะถนัดทางใด พวกที่ถือว่ามีพระผู้สร้างโลก คอยให้บําเหน็จคอยลงโทษก็ต้องว่าเป็นการที่พระผู้สร้างโลกนั้นลงโทษ พวกที่เชื่อผีก็ต้องว่าผีมาแขก ความคิดคนทั้งสองพวกนี้ก็เป็นความคิดอันเดียวกันนั้นเอง ใครจะหัวเราะเยาะใครก็ไม่ได้ ข้างฝ่ายแขกฝ่ายฝรั่งก็คิดอ่านแก้ไขตามทางที่ตัวคิดเห็น คืออ้อนวอนขอร้องออดแอดไปแก่พระผู้เป็นเจ้า จนถึงเขียนยันต์เขียนไม้กางเขนปิดประตูสัพพีพระเยซู ให้ถูกพระทัยพระเป็นเจ้า ข้างฝ่ายไทยเราออกเชื่อผีมาแต่เดิมแล้ว ก็ตกลงกันโทษเอาว่าผีมาแขก เล่ากันเป็นจริงเป็นจังไป ก็ต้องคิดอ่านสัพพีพวกผีนั้นต่างๆ ตามแต่ใครจะนึกทํา มีเสียกบาล เป็นต้น ส่วนผู้ซึ่งมีใจเชื่อถือในพระรัตนตรัยมากกว่าผีสางเทวดา แต่ความสะดุ้งหวาดหวั่นต่อภัยอันตรายอันมีมาใกล้ตัวเข้าครอบงําแรงกล้า จนไม่สามารถที่จะรักษาน้ำใจให้สงบระงับอยู่โดยพระพุทโธวาทในทางพิจารณาพระไตรลักษณ์เป็นต้น ก็คิดเสาะแสวงหาไปกว่าจะหาเหตุผลหนทางอันใดให้เป็นเครื่องป้องกันอันตรายเหล่านี้ ให้เจือในพระพุทธศาสนาได้


หัวข้อ: Re: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 23 มิถุนายน 2561 16:49:52
พระราชพิธีเดือนสี่ (ต่อ)

ก็ความกลัวอันตรายเช่นนี้ ใช่ว่าจะพึ่งมีขึ้นในชั้นภายหลังนี้ก็หาไม่ ย่อมมีมาแต่ในเวลาใกล้ๆ ที่พระพุทธเจ้ายังดำรงพระชนม์อยู่ ผู้ซึ่งเคยคิดแก้ไขมาแต่ก่อนได้ทําเป็นตัวอย่างไว้มีมาแล้ว เช่นคาถารัตนสูตรสำหรับอธิษฐานบําบัดโรคภัยไข้เจ็บ ด้วยอาศัยอ้างคุณพระรัตนตรัยเป็นต้นมีตัวอย่างมา เมื่อภัยเกิดขึ้นเช่นนี้ และซ้ำมีข้อสงสัยว่าเป็นด้วยผี ก็ไม่มีอะไรจะเหมาะยิ่งกว่าอาฏานาฏิยสูตร ซึ่งกล่าวมาว่าสำหรับปราบปรามพวกภูตปิศาจไม่ให้ทําร้ายมนุษย์ จึ่งได้คิดตั้งพระราชพิธีให้มีสวดอาฏานาฏิยปริตร แต่ตั้งชื่อว่าอาพาธพินาศตามความต้องการ ให้เป็นการที่เย็นใจของชนทั้งปวงซึ่งนับถือพระพุทธศาสนา แต่การพระราชพิธีนั้นเป็นการคาดคะเนทําขึ้น มิใช่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสั่งสอนไว้ให้ทำสำหรับแก้ไขโรคภัยเช่นนี้ และความเข้าใจที่คะเนเอาว่าโรคนี้เกิดขึ้นด้วยผี จึ่งได้คิดขับไล่ผีเป็นการผิดอีกชั้นหนึ่งด้วย เพราะโรคนี้ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยผี เกิดขึ้นด้วยดินฟ้าอากาศ และความประพฤติที่อยู่ที่กินของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีวิญญาณจะขับไล่ได้ เพราะฉะนั้นการพระราชพิธีจึงไม่ได้มีประโยชน์อันใด คำซึ่งบอกเล่าในการพระราชพิธีที่ทำนี้ มีเรื่องราวอันเป็นที่พิลึกพึงกลัวเป็นอันมาก เป็นต้นว่าคนที่เข้ากระบวนแห่และหามพระพุทธรูป และพระสงฆ์เดินไปกลางทางก็ล้มลงขาดใจตาย ที่กลับมาถึงบ้านแล้วจึ่งตายก็มีมาก และตั้งแต่ตั้งพิธีแล้วโรคนั้นก็ยิ่งกำเริบร้ายแรงหนักขึ้น ด้วยอากาศยิ่งร้อนจัดหนักขึ้นตามธรรมดาฤดู คนทั้งปวงก็พากันลงว่าเพราะการพิธีนั้นสู้ผีไม่ได้ผีมีกําลังมากกว่า ตั้งแต่ทําพิธีอาพาธพินาศในปีมะโรงโทศกนั้นไม่ระงับโรคปัจจุบันได้ ก็เป็นอันเลิกกันไม่ได้ทําอีกต่อไป คงอยู่แต่พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ตามธรรมเนียม ถึงเมื่อปีระกาเอกศกในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีโรคปัจจุบันหนามากก็ไม่อาจทําพิธีนี้ ใช่จะเป็นด้วยคิดเห็นว่าความคิดที่จะอาศัยพระพุทธวจนะ ซึ่งมาในอาฏานาฎิยสูตรไม่ต้องกันกับเหตุการณ์ที่เป็นขึ้นดังเช่นกล่าวมา เลิกยกเว้นเสียด้วยไม่เป็นที่ชอบใจคนทั้งปวง คนทั้งปวงถือว่าการที่ทําพิธีนั้น เหมือนไปยั่วไปผัดล่อให้ผีมีความโกรธคิดเอาชนะมากไป เท่ากับคนชั้นหลังๆ คิดเห็นว่ากินขนมจีนน้ำยาในเวลาที่โรคปัจจุบันชุกชุมเหมือนอย่างไปผัดไปล่อช้างน้ำมันฉะนั้น

การพระราชพิธีอาพาธพินาศที่เคยทํามานั้น ก็คล้ายคลึงกันกับพิธีสัมพัจฉรฉินท์ที่ทําอยู่ทุกปี เป็นแต่มีเพิ่มเติมขึ้นบ้างคือเชิญพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต มาตั้งเตียงพระมณฑลที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทด้วย ในวันแรม ๑๕ ค่ำเวลาเช้า มีสรงพระมุรธาภิเษกที่ชาลาข้างตะวันออกแห่งพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ซึ่งเวลานั้นเรียกว่าพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานตลอดไป แล้วแบ่งพระสงฆ์เป็นพวกๆ มีกระบวนแห่พระพุทธรูปในฝั่งตะวันออกนี้เป็นสามกระบวน กระบวนที่หนึ่งพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกตทรงยานมาศ มีรายกระบวนต่อไปดังนี้  ธงหน้า ๑ ธงนำริ้ว ๒ ธงฉาน ๒ ธงจีน ๓๐ นุ่งกางเกงแดง เสื้อเสนากุฎ หมวกหนัง คู่แห่นุ่งสองปักลาย เสื้อครุย ลอมพวก หน้า ๔๐ หลัง ๒๐ เครื่องสูงสำรับหนึ่ง ๑๐ บังสูรย์ ๑ บังแทรก ๖ นุ่งกางเกงยก เสื้อมัสรู่ คาดผ้าปัก คู่เคียง ๑๐ เกณฑ์ขุนนางผู้น้อยตลอดลงไปถึงหลวงป้อม แตรงอน ๑๐ แตรฝรั่ง ๔ สังข์ ๑ เป็น ๑๕ กลองชนะ ๒๐ จ่าปี่ ๑ จ่ากลอง ๑ ปี่กลองมลายูสำรับหนึ่ง ๖ คน พิณพาทย์ ๓ วง หามสองผลัดเป็นคน ๓๖ คน ปืน ๕๐ กางเกงปัศตูแดงเสื้อดํา หมวกขาว ดาบ ๕๐ เสื้อเขียวตะแบงไหล่ ผ้าลาย หามยานมาศสองผลัด ๘๐ นุ่งกางเกงปัศตูแดง คาดผ้าลาย หามวอพระสงฆ์ ๕ วอ สองผลัด ๔๐ คน ยกบาตรน้ำบาตรทรายอย่างละ ๕ บาตร สองผลัด ๒๐ คน นุ่งกางเกงดำลำพู รวมคนในกระบวนที่หนึ่งนี้ ๔๔๓ คน พระราชาคณะขี่วอตามกระบวนประน้ำมนต์โปรยทราย ๕ รูป เดินกระบวนออกจากประตูวิเศษชัยศรี เลี้ยวลงไปออกประตูท่าพระ เลี้ยวขึ้นตามถนนริมกําแพงพระนครข้างนอก จนถึงป้อมพระสุเมรุทางหน้าบ้านพระยาบําเรอภักดิ์ แต่พระยาบําเรอภักดิ์ครั้งนั้นจะตั้งบ้านเรือนอยู่แห่งใดก็ไม่ได้ความ จะกลับเข้าในพระนครทางประตูใดก็ไม่ปรากฏ พิเคราะห์ความในหมายนั้นดูเหมือนว่าเมื่อถึงบ้านพระยาบำเรอภักดิ์แล้ว เดินตามถนนลงมาหน้าพระราชวังบวรฯ ศาลาสารบาญชีหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ไปหยุดที่วัดพระเชตุพน จะกลับเข้าพระราชวังทางใดก็ไม่ได้ความ สั่งสั้นกันอยู่เพียงเท่านั้น อีกกระบวนหนึ่งเป็นกระบวนพระชัย ก็มีกระบวนแห่คล้ายกันกับพระแก้วมรกต คือมีธงหน้าธงนำริ้วยกธงจีน คู่แห่ลดลง หน้า ๓๐ หลัง ๒๐ เครื่องสูงกลองชนะคงที่ คู่เคียงลดลงเพียง ๖ คน แตรงอนลดลงเพียง ๖ คน แตรฝรั่ง คู่ ๑ สังข์ ๑ พิณพาทย์ลดลงเป็น ๒ วง แต่ปืนกลับขึ้นไปเป็น ๖๐ กระบอก ดาบเท่ากัน เสลี่ยงพระพุทธรูปว่าใช้เสลี่ยงงาหามสองผลัด ๑๖ คน วอเท่ากัน คนยกบาตรน้ำบาตรทรายก็เท่ากัน รวมคนในกระบวนที่สองนี้ ๓๑๗ คน แต่พระสงฆ์ที่ตามมีจํานวนมากขึ้น คือพระราชาคณะขี่วอ ๕ รูป พระอันดับ ๑๕ รูป รวมเป็น ๒๐ รูป เดินออกประตูวิเศษชัยศรีเหมือนกัน ว่าเลี้ยวลงประตูท่าพระ ดูเหมือนหนึ่งว่าจะออกไปนอกกําแพง แต่อย่างไรหวนกลับมาเข้าประตูสกัดเหนือไปออกประตูสกัดใต้ แล้วเลี้ยวขึ้นถนนท้ายสนม เลี้ยวมาทางหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์กลับเข้าประตูวิเศษชัยศรี พิเคราะห์ดูจำนวนพระสงฆ์มากขึ้น แต่ระยะทางกลับสั้นไปกว่ากระบวนพระแก้วมรกต ไม่รู้ที่จะเอายุติอย่างไร อีกกระบวนหนึ่งนั้นเป็นกระบวนพระห้ามสมุทรเท่ากันเหมือนกับกระบวนพระชัยมาก แต่ยังไม่เว้นที่แปลกทีเดียว คือมีธงจีนเติมขึ้น ๑๐ คัน กลองชนะลดลงเป็น ๑๐ แตรงอนคงแต่ ๒ คู่ แตรฝรั่งและสังข์เท่ากัน นอกนั้นก็เหมือนกับกระบวนก่อนทั้งสิ้น เว้นแต่คนหามวอพระเลยสูญไปข้างไหนไม่ทราบ ไม่เห็นมีบัญชี รวมคนในกระบวนที่สามนี้ ๒๘๓ คน มีวอพระสงฆ์ ๕ วอ พระอันดับ ๑๕ รูป กระบวนแห่และพระสงฆ์เดินออกจากประตูวิเศษชัยศรีไปเลี้ยวที่ศาลาสารบาญชี คือที่ตรงศาลหลักเมืองออกมา แล้วลงถนนโรงม้าคือที่ศาลายุทธนาธิการเดี๋ยวนี้ แต่เดิมเป็นโรงม้าก้าวก่ายเกะกะกันไปทั้งสิ้น แล้วไปถนนเสาชิงช้า ถนนรี ถนนขวาง ที่เรียกถนนรี ถนนขวางนี้จะเป็นถนนอันใดก็ไม่ได้ความ เห็นจะเป็นบํารุงเมืองเฟื่องนครนั้นเอง ดูกระบวนนี้อยู่ข้างต้องเดินมากกว่ากระบวนอื่นหมด ยังอีกกระบวนหนึ่งสำหรับฟากข้างโน้น เกณฑ์ให้เจ้าสามกรม คือ กรมหมื่นนราเทเวศร์ กรมหมื่นนเรศร์โยธี กรมหมื่นเสนีบริรักษ์ ซึ่งเป็นพระโอรสกรมพระราชวังหลังเป็นผู้จัดกระบวน เห็นจะเป็นข้าไทในกรมพระราชวังหลังทั้งสิ้น ด้วยในขณะนั้นกรมพระราชวังหลังพึ่งสิ้นพระชนม์ไม่ช้านัก เจ้าสามกรมซึ่งเป็นลูกก็เป็นคนมีกําลังและอํานาจใหญ่ คงจะรวบรวมผู้คนไว้ได้ไม่แตกแตนร่วงโรยไปได้มากนัก จ่ายแต่คนถือปืน ๕๐ ถือหอกดาบ ๕๐ เพิ่มเติมไปให้จำนวนพระสงฆ์พระราชาคณะ ๕ อันดับ ๑๔ รวมเป็น ๑๙ รูป ให้แห่ประน้ำมนต์ในพระราชวังหลัง และถนนในพระนครฟากตะวันตก เป็นจำนวนคนที่เข้ากระบวนแห่ทั้งสี่กระบวนพันร้อยสี่สิบสามคน พระสงฆ์ ๖๔ รูป แต่ครั้นเมื่อตรวจดูบัญชีรายเกณฑ์เลี้ยงพระเพลก็โคมไปอีกใบหนึ่งต่างหาก ว่าพระสงฆ์ฉันที่พระสังฆราช ๘ ที่ พระวันรัต ๗ ฉันที่ป้อมตรงวัดสระเกศ ๑๕ ฉันที่วัดระฆัง ๑๕ พระเหลือนั้นสูญหายไปไหนก็ไม่เห็นกล่าวถึง การพิธีกลางเมืองและปิดประตูเมืองก็เหมือนพิธีสัมพัจฉรฉินท์ทุกวันนี้ เป็นแต่มีกําหนดหม้อน้ำมนต์โรงละ ๙ ใบ โรงพิธี ๑๐ แห่ง เป็นหม้อน้ำมนต์ ๙๐ ใบ บังคับว่าวันแรม ๑๕ คํ่า ให้มาคอยพร้อมที่หน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มงคลพิสมรกระบองเพชรก็ดูใช้น้อยกว่าหมายรับสั่งการพิธีสัมพัจฉรฉินท์ในปัจจุบันนี้ แต่มียันต์กระดาษไทยเติมขึ้นอีก ๓๕๐ แผ่น สำหรับเที่ยวปิดตามตําหนักในวัง มีแผ่นดีบุกบริสุทธิ์ในหมายว่าให้ส่งไปที่พระองค์เจ้าพระวัดพระเชตุพน คือกรมสมเด็จพระปรมานุชิต ให้ราชบัณฑิตไปเป็นผู้ลง แล้วส่งมากรึงพระแกลพระทวาร มีสายสิญจน์วงรอบพระที่นั่งและตําหนักเจ้านายในพระบรมมหาราชวัง แต่ในท้ายร่างรับสั่งนี้มีเนื้อความว่า ให้ทําพระราชพิธีระงับความไข้อย่างปีมะแมตรีศกนั้น แต่ยิงปืนและแห่พระชัยพระสงฆ์ประน้ำโปรยทรายในพระราชวังหลวงนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเสีย การแต่ก่อนจะทํามากกว่านี้อีกอย่างไรไม่ทราบเลย แต่หมายพิธีสัมพัจฉรฉินท์ทุกวันนี้ใช้หมายกรมวัง พิธีอาพาธพินาศนี้ใช้หมายกรมเมือง เจ้าพระยายมราชรับพระราชโองการ จะเป็นด้วยมีแห่และเกณฑ์ให้ปราบลู่ปราบทางอย่างไร จึงได้กลายเป็นกรมเมืองไป การพิธีอาพาธพินาศนี้คงจะไม่มีสืบไปภายหน้า นับว่าเป็นพิธีที่เลิกแล้วจึงมิได้นับเข้าในพระราชพิธีประจําเดือนทั้งปวง

การพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ ซึ่งทําอยู่ในปัจจุบันนี้ เริ่มตั้งน้ำวงด้ายในวันแรม ๑๑ ค่ำ พราหมณ์ได้เข้าโรงพระราชพิธีแต่วันแรม ๑๑ ค่ำ แต่ที่จริงนั้นพราหมณ์ไม่ได้ทําพิธีวันแรม ๑๑ ค่ำ คงทํา ๑๒ ค่ำ หมายกันไปหลวมๆ อย่างนั้นเอง

แต่พิธีพราหมณ์ ในการสัมพัจฉรฉินท์นี้เป็นพิธีใหญ่ มีโหมกุณฑ์ พระมหาราชครูว่าแต่ก่อนเคยโหมกุณฑ์ทั้งพิธีจองเปรียงและพิธีสัมพัจฉรฉินท์ แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้งดการโหมกุณฑ์ในพิธีจองเปรียงเสีย คงอยู่แต่พิธีสัมพัจฉรฉินท์ การที่ทําพิธีโหมกุณฑ์เดี๋ยวนี้ คงเป็นมีแต่บรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมนเทียร กับพิธีสัมพัจฉรฉินท์ประจําปีละครั้ง และเมื่อลงสรงสยามมกุฎราชกุมารได้ให้มีโหมกุณฑ์อีกครั้งหนึ่ง โรงพระราชพิธีแต่ก่อนเคยปลูกที่หน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สุดแต่จะทําพิธีอันใดก็ปลูกใหม่ทุกคราว ครั้นมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างโรงพิธีขึ้นเป็นฝาก่ออิฐถือปูนหลังคามุงกระเบื้องเคลือบขาว มีช่อฟ้าใบระกา พระราชทานชื่อว่าหอเวทวิทยาคม สำหรับทําพิธีไม่ต้องปลูกใหม่ ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ ย้ายมาจากหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มาอยู่ที่มุมโรงกระษาปณ์เก่าจนทุกวันนี้ การที่จัดโรงพระราชพิธีนั้นมีคร่าวไม้ติดเสาถึงกันทุกเสาตามตําราพราหมณ์เรียกว่าพรหมโองการ แล้วจึงพาดผ้าโตรทวาร ในหอราชพิธีนั้นมีเตียงสามเตียง ตั้งลดเป็นลำดับลงมาตามแบบที่ตั้งพระของพราหมณ์คล้ายกันทุกพิธี ชั้นต้นตั้งพระอิศวร พระนารายณ์ พระมหาพิฆเนศวร และพระอิศวรทรงโค ซึ่งมีพระอุมาทรงอยู่ด้วย ม้ารองลงมาตั้งเทวรูปนพเคราะห์  ม้าที่สามตั้งเบญจคัพย์ กลด สังข์ เตาซึ่งสำหรับโหมกุณฑ์นั้นอยู่ที่พระคลังในซ้าย เป็นเตาทองแดง ตั้งในโรงพิธีนั้นด้วย แล้วมีหม้อกุมภ์ตั้ง ๙ ใบ หม้อกุมภ์นั้น หม้อข้าวเราไทยๆ นี้เอง ไม่แปลกประหลาดอันใด

การที่ทําน้ำมนต์ด้วยหม้อข้าวนี้  เป็นแบบมาจากอินเดียแน่แท้ ข้างพราหมณ์ก็คือหม้อทองเหลืองซึ่งหุงข้าวและตักน้ำที่ได้กล่าวแล้วในเดือนสาม ข้างส่วนพระสงฆ์ก็ใช้บาตรๆ นั้นก็คือหม้อข้าวเป็นลัทธิประเทศเดียวกัน เป็นแต่ไม่ใช้หุง ใช้สำหรับขอ ตามลัทธิที่ท่านค้นคว้าตำรับตำรากันก็ได้ความว่าเล็กๆ ขนาดหม้อข้าวใหญ่ๆ ที่โตขึ้นไปเดี๋ยวนี้สำหรับรับของที่ห่อใบตองเป็นต้น เหตุด้วยอาหารของเรากับประเทศอินเดียห่างไกลกันมาก ซึ่งจะเห็นว่าทําบาตรโตเพราะตะกลามนั้นก็คงจะเป็นบ้างในบางจําพวก แต่บาตรที่ท่านใช้กันแต่ก่อนก็ใช้ตักน้ำเหมือนกัน เช่นกับที่มีเรื่องปรากฏมาว่าพระพุทธเจ้าจะเสวยน้ำให้นำบาตรไปทรงตัก เมื่อบาตรใช้ตักน้ำฉันเช่นนั้นแล้วก็คงใช้ทําน้ำมนต์ด้วยบาตรได้ แต่บาตรนั้นยักลัทธิเสีย ไม่ใช้ทองเหลืองเหมือนฮินดูพราหมณ์ทั้งปวงซึ่งใช้กันอยู่เป็นพื้นเมือง ใช้ดินและเหล็กเป็นภาชนะที่พระสงฆ์จําจะต้องมีองค์ละใบเหมือนพวกฮินดูต้องมีหม้อข้าวคนละใบ จึงได้ใช้บาตรทําน้ำมนต์มาจนทุกวันนี้

หม้อกุมภ์ทั้ง ๙ ใบนั้นตั้งอยู่กลางใบหนึ่ง รอบ ๘ ใบ ในหม้อกุมภ์นั้นมีเงินเฟื้องหนึ่งทุกๆ หม้อ พิธีที่ทําทุกวันนั้น กําหนดทําตั้งแต่เวลา ๘ ทุ่ม การพิธีพราหมณ์ทั้งปวงที่จะทําแล้วมักจะทํากลางคืนดึกๆ ทุกพิธี เว้นไว้แต่ที่เป็นการจําเป็นจะต้องทํากลางวัน เช่นวันพิธีตรียัมพวายกับตรีปวายต่อกันเป็นต้น ชะรอยว่าท่านผู้ต้นตำราจะเป็นค้างคาวอย่างเอก ถ้าพระมหาราชครูเป็นกาจะได้ความเดือดร้อนหาน้อยไม่ เริ่มทําพิธีอวิสูทธ์อัตมสูทธ์ชำระตัว ตามแบบพิธีทั้งปวงและบูชา ๘ ทิศอ่านตํารับ เมื่อจบลงแล้วบูชาพระอิศวรแล้วจึงได้บูชาเบญจคัพย์เอาน้ำรินลงในถ้วย อ่านตํารับบูชากลดสังข์บูชากุมภ์แล้ว จึงได้เอาน้ำผสมกันกรอกในกลดในสังข์และในหม้อกุมภ์ทั้ง ๙ หม้อ หม้อกุมภ์ใบกลางนั้นเป็นของพระมหาราชครูไปเก็บน้ำนั้นไว้ถวายในวันทรงเครื่องใหญ่และวันพิธีทั้งปวง อีก ๘ หม้อก็แจกกันไปตามเจ้ากรมปลัดกรม เป็นน้ำที่ไปเก็บไว้สำหรับถวายและเที่ยวรดใครๆ ต่อนั้นไปก็บูชากุมภ์ใบไม้โหมกุณฑ์ที่เรียกว่าใบไม้สมมิทธิมีในหมายรับสั่งมากอย่าง คือ ใบรัก ใบมะม่วง ใบตะขบ ใบยอ ใบขนุน ใบมะเดื่อ ใบเงิน ใบทอง ใบเฉียงพร้านางแอ ใบมะผู้ ใบระงับ ใบพันงู สิ่งละ ๕๐ ใบ มะกรูด ๑๕ ผล ส้มป่อย ๑๕ ฝัก แต่ที่ได้ใช้โหมกุณฑ์อยู่เดี๋ยวนี้แต่สามอย่าง คือใบตะขบ ๙๖ ใบทอง ๓๒ ใบมะม่วง ๒๕ ใบตะขบนั้นสมมติว่าเป็นที่หมายแทนฉันวุติโรค ๙๖ ประการ ใบทองแทนทวดึงสกรรมกรณ ๓๒ ประการ ใบมะม่วงว่าแทนปัญจวีสมหาภัย ๒๕ ประการ จำนวนใบไม้ก็ไม่ถูกกันกับในหมายจะเป็นคนละเรื่องหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ ใบไม้ที่กล่าวมาข้างต้นจะสำหรับทําพิธีอย่างหนึ่ง แต่พราหมณ์จะตื้นเสียเลยไม่มีตํารา ตกลงเป็นเก็บมากองไว้เปล่าๆ แต่ใบไม้สามอย่างซึ่งกล่าวทีหลังนั้นทําเป็นสามมัด ถ้าในเวลาการบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมนเทียร พระมหาราชครูนํามาถวายให้ฟาดพระองค์เวลาสวดมนต์เย็น แต่การพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์นี้ไม่ได้นำมาถวาย เป็นแต่ทําไปตามเคย ที่เตากุณฑ์นั้นมีดินและมูลโครองในนั้น แล้วมีเต่าทองตัวหนึ่งหนักสองสลึงเฟื้อง สำหรับวางในกลางกองกุณฑ์ ฟืนที่สำหรับจะใช้โหมกุณฑ์นี้ใช้ไม้พุทรายาวดุ้นละ ๙ นิ้ว มัดละ ๙ ดุ้น วันละ ๒๐ มัด เมื่ออ่านเวทติดเพลิงถึงกําหนดแล้ว เอาใบไม้ชุบน้ำผึ้งรวงและน้ำมันดิบโหมกุณฑ์ เมื่อโหมกุณฑ์เสร็จแล้วก็เป็นเสร็จการพระราชพิธีส่วนวันนั้น แต่ยังไม่ได้ดับกุณฑ์ ต่อวันเสร็จพระราชพิธีจึงได้อ่านเวทดับกุณฑ์ด้วยน้ำสังข์ ประโยชน์ของพราหมณ์ที่ได้ในการพระราชพิธีนี้ คือเต่าทองสำหรับโหมกุณฑ์หนักทองสองสลึงเฟื้อง เงินทักษิณบูชา ๖ บาท เงินหม้อกุมภ์หม้อละเฟื้อง เป็นเงินบาทเฟื้อง ผ้าขาวห่อตํารับผืนหนึ่ง ผ้าพันหม้อกุมภ์ผืนหนึ่ง รองนพวรรคผืนหนึ่ง เบญจคัพย์ผืนหนึ่ง รองอาสนะพระผืนหนึ่ง รองอาสนะพราหมณ์ผืนหนึ่ง ผ้าโตรทวาร ๔ ผืน ผ้านุ่งผืนหนึ่ง ผ้าห่มผืนหนึ่ง หม้อข้าวเชิงกรานสำหรับหุงข้าวบูชาเทวดา หม้อคะนนใหญ่สำหรับน้ำใช้หม้อหนึ่ง หม้อน้ำมนต์จุ ๑๒ ทะนานหม้อหนึ่ง นมเนย ข้าวเปลือกรองหม้อ ข้าวสารสำหรับหุงบูชาเทวดา มะพร้าวอ่อน ส่วนเงินที่แบ่งปันกันในพราหมณ์ พระมหาราชครูได้กึ่งตําลึง พระครูอัษฎาจารย์ได้บาทเฟื้อง ปลัดสองคนๆ ละหนึ่งบาท ขุนหมื่นสี่คนๆ ละสองสลึง หมดเงินเจ็ดบาทเฟื้อง

ส่วนการพระราชพิธีสงฆ์ ทําที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเป็นนิตย์ เว้นไว้แต่มีพระบรมศพหรือพระศพอยู่บนนั้น จึงได้ย้ายไปทําที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามก็มี พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ก็มี พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยบ้าง พระที่นั่งอนันตสมาคมได้เคยมีสองครั้ง การจัดตั้งพระแท่นพระมณฑลแต่ก่อนก็ดูโหรงๆ พระพุทธรูปก็อยู่ในใช้แต่พระบรมธาตุ พระชัย พระห้ามสมุทร พระปริยัติธรรม เว้นไว้แต่การอาพาธพินาศจึ่งเชิญพระแก้วมรกตมาตั้งด้วย พระเต้าน้ำพระพุทธมนต์ก็มีปรากฏอยู่แต่พระเต้าเบญจคัพย์ พระมหาสังข์ ๓ พระเต้าปทุมนิมิตของเก่า ๔ หม้อดินกลีบบัว พระเต้าทอง พระเต้าเงิน นอกนั้นก็เป็นหม้อทองเหลือง บาตรเหล็กและเต้าทองเหลืองสำหรับรดน้ำช้างม้า พระแสงที่ใช้ก็ดูน้อยกว่าเดี๋ยวนี้ เพราะพระแสงประจํารัชกาลยังไม่มีใช้ คงใช้แต่พระแสงสำหรับแผ่นดิน คือ อัษฎาวุธ จักร ตรี พระแสงหอก พระแสงง้าว ธงกระบี่ธุช ครุฑพ่าห์ พระกรรภิรมย์และเครื่องต้นเครื่องพิชัยสงครามคงตัวยืนอยู่เหมือนทุกวันนี้ แต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเพิ่มเติมขึ้นมาก ดูเหมือนหนึ่งพระแท่นมณฑลจะเปลี่ยนไปคนละท่ากับแต่ก่อนทีเดียว พระบรมธาตุระย้ากินนรนั้นก็ทรงหล่อรูปพระเจดีย์ถมตะทองครอบ แต่ก่อนมาการพระราชพิธีเคยเชิญพระแก้วมรกตมาตั้งอยู่บ้างนั้น ทรงเห็นว่าแต่ก่อนพระแก้วตั้งอยู่ต่ำจะยกจะรื้อก็ค่อยง่าย แต่ถึงดังนั้นก็เป็นของหนักยกไปมาน่ากลัวเป็นอันตราย ครั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทําพระเบญจาตั้งบุษบกสูงขึ้นไปแล้ว ก็เลยเป็นอันเลิกไม่ได้เชิญมาเข้าพระราชพิธีต่อไป ด้วยจะยกขึ้นลงลำบาก มีแต่สายสิญจน์โยงออกไปจากพระแท่นมณฑลถึงที่บุษบกด้วยทุกครั้ง ในการพระราชพิธีใหญ่ๆ จึงโปรดให้เชิญพระพุทธบุษยรัตนออกมาตั้งเป็นประธานในการพระราชพิธี แทนพระแก้วมรกต ส่วนพระสำหรับแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้พระนากสวาดิเรือนแก้วซึ่งได้มาแต่เมืองเวียงจันท์ พระในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้พระแก้วเชียงแสนเป็นพระของเดิม พระในแผ่นดินปัจจุบันนี้ใช้พระพุทธบุษยรัตนน้อย แต่การซึ่งตั้งพระแก้วประจำแผ่นดินนี้ไม่เป็นสลักสำคัญอันใด ไม่ได้ตั้งมาแต่แรกเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระเจ้าแผ่นดินโปรดพระองค์ใดถึงได้มาภายหลังก็ตั้งเพิ่มเติมขึ้น พระที่เป็นสำคัญในการพระราชพิธีนั้น คือพระชัยทั้ง ๕ รัชกาล และพระชัยเงินองค์น้อยของเดิมในพระพุทธยอดฟ้า พระชัยเนาวโลหะน้อยซึ่งสำหรับเสด็จประพาสหัวเมือง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างแล้วพระราชทานข้าพเจ้าเมื่อใกล้จะเสด็จสวรรคต และพระเจดีย์ทองคําบรรจุพระบรมธาตุมาแต่เมืองลังกาใหม่ พระห้ามสมุทรทอง พระห้ามสมุทรเงิน พระธรรมสามคัมภีร์ พระเต้าที่ตั้งนั้นคือพระเต้าเบญจคัพย์ใหญ่ เบญจคัพย์น้อย เบญจคัพย์ห้าห้อง พระเต้าปทุมศิลาแดง พระเต้าปทุมยอดเกี้ยว พระเต้าศิลาลงอักษรสอง พระครอบพระกริ่ง พระมหาสังข์ห้า พระมหาสังข์สาม พระเต้าห้ากษัตริย์ พระขันหยกตั้งเชิงเทียนทองสำหรับพระราชพิธี พระเต้าปทุมนิมิต พระเต้าศิลากลีบบัว พระเต้าทองขาวชาวที่ พระเต้านพเคราะห์ พระเต้าเทวบิฐ พระเต้าไกรลาส พระมหามงกุฎ พระมหาชฎา เดิมใช้พระชฎาเดินหน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทูลขอพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นไปตั้งพิธีในพระบวรราชวัง จึงได้ใช้พระชฎาพระกลีบแทน ครั้นเมื่อได้พระชฎาเดินหนคืนลงมาก็ไม่เปลี่ยนพระชฎาพระกลีบ คงใช้พระชฎาพระกลีบไปตามเดิม ฉลองพระองค์เครื่องต้น ฉลองพระองค์พิชัยสงคราม พระมาลาเส้าสูงประดับเพชร พระมาลาเบี่ยง หีบพระเครื่องพิชัยสงคราม ขวดน้ำมันพิชัยสงคราม ตลับพระธํามรงค์ หีบเทวรูป เทวดาเชิญหีบพระราชลัญจกร และเชิญธารพระกรเทวรูป ธารพระกรศักดิ์สิทธิ์ พระแสงกั้นหยั่น พระแสงศรสาม พระแสงจักร พระแสงตรีเพชร พระแสงปืนนพรัตน์ พระแสงคาบค่าย พระแสงใจเพชร พระแสงญี่ปุ่นฟันปลาประดับพลอยแดง พระแสงแฝด พระแสงทรงเดิม พระแสงฝักทองเกลี้ยงประดับเพชร พระขรรค์ชัยศรี พระขรรค์เนาวโลหะ พระแส้หางช้างเผือก พระแส้จามรี พระแสงของ้าว พระแสงขอไม้เท้าคร่ำทอง ชนักต้น พระแสงด่อน พระแสงหอกเพชรรัตน์ และพระแสงหอกอื่นอีกสามองค์ พระแสงง้าว พระแสงทวน พระแสงดาบโล่ถมตะทองอย่างละสี่ละสี่ พระแสงปืนคาบชุด ๑ พระแสงคาบศิลา ๑ พระแสงดาบ ๒ พระกรรภิรมย์เศวตฉัตร ๙ ชั้นที่สำหรับถวายในวันบรมราชาภิเษก ธงราชกระบี่ธุช ครุฑพ่าห์คู่ ๑ ธงบัวคู่ ๑ ทั้งนี้ผูกเสาพระแท่นทั้งสี่ ตรงหน้าพระพุทธรูปตั้งพระสุพรรณบัฏ ดวงพระชันษา และหีบเครื่องพิชัยสงครามอีก ๒ หีบ ที่ฐานเฉลียงรองพระแท่นมณฑลนั้นตั้งพระเต้าก้าไหล่ทอง พระเต้าเงินสำหรับสรงเจ้าโสกันต์ และพระเต้าน้ำเงิน น้ำสระแก้ว สระเกศ สระคา สระยมนา สำหรับสรงมุรธาภิเษก กับหม้อทองเหลืองที่สำหรับพระสงฆ์ทําน้ำมนต์ เมื่อดับเทียนชัยมีจํานวนหมายว่า ๓๐ แต่หายหกตกหล่นไปไหนเหลืออยู่เล็กน้อย เต้าทองเหลืองสามลอนสำหรับรดช้างม้า ในใต้ฐานเฉียงนั้นบรรจุกระบองเพชรมีจำนวน ๑๐๐๐ พิสมรดอกเล็ก ๑๐๐๐ สาย พิสมรใหญ่สำหรับช้าง ๑๐๐ สำหรับม้า ๑๐๐ มงคลเข้าบรรจุหีบไว้หลังพระแท่นตามจำนวนเจ้านาย ข้าราชการ มงคลเป็นชั้นๆ ตามบรรดาศักดิ์ ข้างเหนือพระแท่นมณฑลตั้งโต๊ะจีนไว้พระนิรันตรายทองคํา ข้างใต้พระแท่นมณฑลตั้งโต๊ะจีนไว้พระสยามเทวาธิราช กับเทวรูปอีก ๔ องค์ และพระมหาสังข์ พระเต้า ต่อโต๊ะพระนิรันตราย โต๊ะพระสยามเทวาธิราชออกไป ตั้งปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบ ทองเหลืองรางเกวียน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหล่อขึ้นเป็นสังเขป แทนปืนใหญ่ซึ่งมีชื่ออย่างเดียวกันนี้ สำหรับใช้ยิงและตั้งในการพระราชพิธีทั้งปวง มีการหล่อพระชัยวัฒน์และยกพระมหาเศวตฉัตรเป็นต้น

มุขตะวันตก ตรงหน้าพระแท่นมณฑลตั้งพระแท่นพระสงฆ์ สวดภาณวาร ตรงหน้าพระแท่นลงมาตั้งกระโจมเทียนชัย โยงสายสิญจน์ตั้งแต่พระแท่นมณฑลไปจนถึงเทียนชัย และพระแท่นพระสวดเป็นสองสาย สายสิญจน์ที่เรียงพระแท่นต่อพระแท่นถึงกันนี้ถือกันว่า ถ้าผู้ใดได้ลอดเป็นระงับเสนียดจัญไร เพราะฉะนั้นการเกศากันต์ในพิธีตรุษจึงไม่ต้องหาฤกษ์ ถึงจะต้องวันอุบาทว์ วันโลกาวินาศ ร้ายแรงประการใดก็ใช้ได้ทั้งสิ้น เทียนชัยนั้นฟั่นที่วัดพระเชตุพน เป็นพนักงานพระครูลงเครื่องได้ฟั่น และลงเลขยันต์ตามตำราหลวง กําหนดด้ายไส้เทียน ๑๐๘ เส้น สีผึ้งหนัก ๑๐ ชั่ง ยาว ๓ ศอก ที่ผนังด้านตะวันตกท้ายอาสน์ ตั้งเตียงโถงสำหรับพระราชาคณะนั่งปรกเตียงหนึ่ง ข้างเตียงนั้นโยงสายสิญจน์ลงไปสำหรับราชบัณฑิตนั่งภาวนาชักประคำ ตลอดวันยังค่ำคืนยังรุ่ง จนเสร็จการพระราชพิธี ที่เสากลาง[๓] ตรงมุขตะวันตกโยงสายสิญจน์ออกทั้งสองข้าง ปล่อยลงข้างเสากลางนั้นสองเส้น ที่เสามุมตรงรักแร้ข้างละเส้นสำหรับพระถือสวดมนต์ แต่ส่วนสายที่มาข้างรักแร้ตะวันตกเฉียงใต้นั้นเลี้ยวมาตามฉาก จนถึงเสากลางมุมตะวันตกสำหรับโยงมงคลเจ้าโสกันต์ และวงสายสิญจน์รอบพระราชมนเทียรทั่วทุกแห่ง และวงสายสิญจน์กรองด้วยหญ้าคารอบกําแพงพระราชวังและกําแพงพระนคร
พระสงฆ์ที่สวดมนต์นั้น มีจํานวน ๖๘ รูป เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่เรียกว่าแม่การ ๘ รูป พระราชาคณะยกและฝ่ายวิปัสสนาธุระสำหรับนั่งปรก ๑๒ รูป พระครูคู่สวดในกรมสมเด็จพระปรมานุชิต ๒ ในกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ๒ สวดธรรมจักร ในสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ที่พระสังฆราช ๒ ในสมเด็จพระวันรัต ๒ สวดมหาสมัยสูตร พระพิธีธรรม ๔๐ พระพิธีธรรมนี้แต่เดิมก็เป็นพระอนุจรถือตาลิปัตรใบตาลตามธรรมเนียม แต่เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในตอนกลางๆ แผ่นดินทรงพระราชดําริเห็นว่า พระพิธีธรรมต้องถูกราชการสวดพระราชพิธีในพระราชวังอยู่เสมอตลอดลงไปถึงสวดพระจัตุเวททุกวันพระ จึงโปรดให้ทําตาลิปัตรพื้นแพรติดริ้วไหมทอง ที่นมตาลิปัตรประดับมุกว่าพระพิธีธรรมเป็นสี่สี คือสีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน สีขาว สำรับหนึ่งใช้สีต่างกันทั้งสี่ พระสงฆ์พิธีธรรมนั้นจ่ายไว้ตามวัด ให้จัดฝึกซ้อมกันสำหรับรับราชการเป็นเหมือนหนึ่งตําแหน่งฐานา คือเดิมมีวัดมหาธาตุสำรับ ๑ วัดหงส์สำรับ ๑ วัดพระเชตุพนสำรับ ๑ วัดสุทัศน์สำรับ ๑ วัดโมฬีโลกย์สำรับ ๑ วัดอรุณสำรับ ๑ วัดราชบุรณะสำรับ ๑ วัดระฆังสำรับ ๑ วัดสระเกศสำรับ ๑ วัดราชสิทธิ์สำรับ ๑ ภายหลังในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้มีสวดภาณยักษ์เปลี่ยนทํานองเป็นสรภัญญะวัดบวรนิเวศน์ขึ้นอีกสำรับ ๑ จึงได้ยกพระพิธีธรรมวัดโมฬีย์โลกออกเสียสำรับ ๑ แต่ยังไม่มีคู่ซึ่งจะสวดภาณพระ จึงโปรดให้ถามดูตามพระว่า วัดใดจะรับอาสาสวดภาณพระอย่างธรรมยุติกาให้เข้าคู่กันได้บ้าง ครั้งนั้นวัดสุทัศน์รับอาสาสวด วัดสุทัศน์จึงได้สวดอย่างธรรมยุติกาติดมาจนทุกวันนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่ข้างจะโปรดมาก ถ้าสวดภาณยักษ์ภาณพระจบที่ ๑ ที่ ๒ จบใดดีก็ได้รางวัล แล้วได้ขึ้นภาณยักษ์จบแรกเปลี่ยนกันอยู่ในสามวัด คือ วัดมหาธาตุ วัดระฆัง วัดหงส์ จบที่ ๓ ที่ ๔ เป็นวัดบวรนิเวศน์และวัดสุทัศน์ ทรงฟังอยู่จนถึงจบที่ ๕ ที่ ๖ บ้างทุกปี พระสงฆ์นั่งสวดมนต์ พระราชาคณะ ๒๐ รูปนั่งทางผนังมุขตะวันออกและมุขเหนือ พระครูและพระพิธีธรรมนั่งมุขตะวันตกเป็นสี่แถว แถวกลางหันหลังเข้าหากัน


หัวข้อ: Re: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 23 มิถุนายน 2561 16:51:38
พระราชพิธีเดือนสี่ (ต่อ)

และการพระราชพิธีนี้ มีโรงพิธีตั้ง ๘ ประตูเมือง และกลางพระนคร ๒ ตําบล คําที่ว่าพระนครในที่นี้ ไม่ได้กําหนดกําแพงที่กรุง ตั้งแต่ยกเมืองธนบุรีขึ้นเป็นกรุงเทพมหานคร ก่อกําแพงพระนครสองฟากน้ำ เอาแม่น้ำไว้กลาง อย่างเมืองพิษณุโลก โอฆบุรี ต่อมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ยกวังข้ามมาอยู่ฝั่งตะวันออก ทรงพระราชดําริเห็นว่าการที่เอาแม่น้ำไว้กลางเมืองเป็นช่องกว้างใหญ่รักษายาก และต้องลัทธิเขากล่าวว่าเป็นเมืองอกแตกไม่ถาวรยืนยาว อีกประการหนึ่งที่ปลายแหลมซึ่งตั้งพระราชวังขึ้นใหม่นี้ เป็นที่แม่น้ำอ้อมโอบเป็นคูอยู่เกือบครึ่งหนึ่งเป็นชัยภูมิอันดี จึงโปรดให้รื้อกําแพงฝั่งตะวันตกยกมาต่อก่อฝั่งตะวันออกโดยรอบ ขุดคลองบางลําพู คลองโอ่งอ่างเป็นคูพระนคร ด้านตะวันออกบรรจบแม่น้ำทั้งสองข้าง จึงน่าที่จะเข้าใจว่าตั้งโรงพิธี ๘ ประตูเมือง และโรงพิธีกลางเมืองนั้น น่าจะอยู่ฝั่งตะวันออกนี้ทั้งสิ้น แต่การพระราชพิธีนี้ไม่ได้เปลี่ยนมาตามกําแพงเมือง คงทําเป็นเมืองสองฟากน้ำอยู่อย่างแต่ก่อน โรงพิธีกลางเมืองฟากตะวันออกนี้ ตั้งที่วัดสุทัศน์ซึ่งถือกันว่าเป็นกลางเมือง จึงได้ทำเทวสถานและปักเสาชิงช้าในที่นั้น และวัดสุทัศน์ที่จะสร้างนั้นก็ว่าเป็นศูนย์กลางเมืองจึ่งได้สร้างวัดขึ้น แต่ที่จริงทำแผนที่อย่างใหม่นี้เห็นว่าไม่ตรงศูนย์กลางเมืองเลย การวัดเส้นเชือกและวางที่แต่ก่อนนี้ดูไม่มีตรงเลย จนที่สุดที่จะก่อสร้างขึ้นก็เบี้ยวๆ บูดๆ ทุกแห่ง เช่นโรงแสงและโรงม้าเป็นต้น แต่ที่วัดสุทัศน์นี้นับว่าเป็นกลางเมือง เมื่อยังไม่ได้สร้างวัดสุทัศน์ขึ้นก็ต้องปลูกโรง ครั้นเมื่อมีวัดสุทัศน์แล้ว ก็อาศัยศาลาวัดสุทัศน์ได้ เมื่อวัดสุทัศน์ยังไม่มี ใช้พระสงฆ์วัดมหาธาตุมาสวดมนต์ในที่นั้น ๒๐ รูป แต่ครั้นมีวัดสุทัศน์ขึ้นก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง ยังคงพระวัดมหาธาตุต้องเดินไปสวดมนต์ถึงวัดสุทัศน์ตามเดิม ประตูเมืองฝั่งตะวันออก ๔ ประตูนั้น ไม่ได้สวดที่ประตู เป็นแต่ชื่อว่าประตูเมือง คงขึ้นสวดบนป้อม ด้านเหนือป้อมพระสุเมรุ พระสงฆ์วัดสังเวชสวดมนต์ ๑๐ รูป ด้านตะวันออกเหนือป้อมมหากาฬ พระสงฆ์วัดสระเกศสวดมนต์ ๑๐ รูป ด้านใต้ป้อมมหาชัย พระสงฆ์วัดราชบุรณะสวดมนต์ ๑๐ รูป ด้านตะวันตกป้อมมหาฤกษ์ พระสงฆ์วัดพระเชตุพนสวดมนต์ ๑๐ รูป และฝั่งตะวันตกนั้นต้องปลูกโรง เพราะไม่มีที่อาศัย กำหนดให้ปลูกโรงกลางเมือง ขื่อกว้าง ๖ ศอก ยาว ๓ วา ๒ ศอก มีพาไลเฉลียงรอบ ยกพื้นในประธานสูงศอกคืบ พาไลเฉลียงศอกหนึ่ง เป็นหน้าที่กรมพระนครบาลปลูก โรงประตูเมืองอีกสี่โรงนั้น ขื่อกว้าง ๕ ศอก ยาว ๙ ศอก มีพาไลเฉลียงรอบ ยกพื้นในประธานศอกคืบ พาไลเฉลียงศอกหนึ่ง โรงทั้งสี่นี้กรมท่าโรง ๑ กรมนาโรง ๑ กรมวังโรง ๑ กรมเมืองก็ถูกอีกโรง ๑ โรงกลางเมืองฝั่งตะวันตกนั้นปลูกที่ถนนอาจารย์ พระสงฆ์วัดระฆังสวดมนต์ ๒๐ รูป ประตูด้านตะวันออกปลูกที่วัดอรุณราชวราราม พระสงฆ์วัดอรุณสวดมนต์ ๑๐ รูป ประตูด้านใต้ปลูกที่วัดโมฬีย์โลก พระสงฆ์วัดโมฬีย์โลกสวดมนต์ ๑๐ รูป ประตูด้านตะวันตกปลูกที่ศาลหลวงเก่า พระสงฆ์วัดระฆังสวดมนต์ ๑๐ รูป ประตูด้านเหนือปลูกที่วัดอมรินทร์ พระสงฆ์วัดอมรินทร์สวดมนต์ ๑๐ รูป เวลาเย็นพระสงฆ์สวดมนต์ ตั้งแต่วันแรม ๑๒ ค่ำ ๑๓ ค่ำ วัน ๑๔ ค่ำสวดอาฏานาฏิยสูตรคืนยังรุ่ง เมื่อสวดไปถึงกำหนดยิงปืนก็หยุดรอจนยิงปืนแล้ว จึ่งได้สวดต่อไปเป็นระยะ การเลี้ยงพระกําหนดเกณฑ์เจ้านายเลี้ยงอยู่หกแห่ง คือกลางเมืองทั้งสองฟากและประตูเมืองฟากตะวันออก เจ้านายองค์หนึ่งต้องเกณฑ์เลี้ยงพระวันหนึ่ง ตามที่ผู้ใดถูกตําบลพระมากพระน้อย ถ้าถูกตําบลพระมากก็ต้องเลี้ยงเช้า ๒๐ เพล ๕ รูป ถ้าตําบลพระน้อยก็ต้องเลี้ยงเช้า ๑๐ รูป เพล ๕ รูป แต่ที่ประตูเมืองฟากตะวันตกนั้นเกณฑ์กรมท่า กรมนา กรมวัง กรมเมือง เลี้ยงกรมละตําบล ต้องเลี้ยงเช้าเพล ๒ เวลาสามวัน เลี้ยงแต่เช้าเวลาเดียววันหนึ่ง พระพุทธรูปที่ตั้งตามโรงพิธีทั้งปวง ใช้พระห้ามสมุทรแล้วแต่จะหาได้ เป็นพนักงานของสังฆการี มีผ้าดาดเพดานผ้าขาวสำหรับตั้ง และราวเทียนเป็นราวเหล็กตามธรรมเนียม ตั้งหน้าพระสำหรับจุดเทียนบูชาราวหนึ่ง มีบาตรน้ำมนต์ ตั้งโรงพิธีกลางเมืองแห่งละ ๒ บาตร โรงประตูเมืองแห่งละบาตร หม้อคะนนใหญ่โรงพิธีกลางเมืองแห่งละ ๘ หม้อ โรงประตูเมืองโรงละ ๔ หม้อ

ในการพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์นี้ แต่เดิมมาก็ไม่มีเจ้านายเกศากันต์นอกจากพระเจ้าลูกเธอโสกันต์ ต่อตกมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หม่อมเจ้าหลานเธอบ้าง หม่อมเจ้าในกรมซึ่งเป็นที่ทรงคุ้นเคยโปรดปรานบ้าง โปรดให้มาเกศากันต์พร้อมกับพระเจ้าลูกเธอนับว่าเป็นเกียรติยศใหญ่ ต่อตกมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้หม่อมเจ้าในวังหลวงเข้ามาโสกันต์ได้ในวังทั้งสิ้น แต่หม่อมเจ้าวังหน้านั้นในกรมซึ่งรับราชการอยู่ในวังหลวง ก็โปรดให้มาเกศากันต์ในวังหลวงบ้าง นอกนั้นไปเกศากันต์ในพระราชพิธีในพระบวรราชวังทั้งสิ้น การเกศากันต์ในพิธีวังหน้านี้มีมาแต่เดิมเป็นครั้งเป็นคราว ไม่เสมอและไม่ทั่วไป เมื่อไม่มีวังหน้า หม่อมเจ้าวังหน้าก็มาสมทบเกศากันต์ที่วังหลวง กําหนดฟังสวดเกศากันต์ตั้งแต่วันตั้งน้ำวงด้ายแต่แรม ๑๑ ค่ำไป ถ้าเป็นพระองค์เจ้าแต่ก่อนมาเคยมีตํารวจนําตามแต่เจ้าของจะหามามากบ้างน้อยบ้าง ตัวพระองค์เจ้าทรงเสลี่ยงงา กั้นพระกลดกํามะลอ มีพราหมณ์โปรยข้าวตอกคู่ ๑ โปรยข้าวสารดอกมะลิคู่ ๑ บัณเฑาะว์คู่ ๑ สังข์คู่ ๑ ข้าหลวงตามมากๆ หม่อมเจ้าทรงเสลี่ยงงา กั้นกลดกํามะลอ มีพราหมณ์โปรยข้าวตอกข้าวสารคน ๑ บัณเฑาะว์คน ๑ สังข์คน ๑ มีแต่ข้าหลวงตามไม่มีตํารวจ แต่ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ พระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าน้องนางเธอ โสกันต์รวมกับพิธีตรุษเช่นที่ว่านี้น้อยพระองค์[๔] คงเป็นหม่อมเจ้าเกศากันต์เป็นพื้น

การพระราชพิธี เริ่มสวดมนต์วันแรม ๑๑ ค่ำ พระราชาคณะ ๒๐ รูป รุ่งขึ้นวัน ๑๒ ค่ำ พระสงฆ์ฉันพร้อมกันทั้ง ๖๘ รูป จุดเทียนชัยนั้นมีฤกษ์ ถ้าฤกษ์เช้าก็จุดก่อนพระฉัน ถ้าฤกษ์สายก็จุดภายหลัง ไฟซึ่งจะจุดเทียนชัยนั้นใช้ไฟฟ้าส่องด้วยพระแว่นกรอบลงยาราชาวดี เวลาจะส่องไฟมีคาถาสำหรับจะส่องเหมือนกันกับจุดเทียนจองเปรียง เลี้ยงเพลิงไปจนถึงเวลาที่จะจุดเทียนชัย เมื่อเวลาจะจุดเทียนชัยนั้น พระเจ้าแผ่นดินต้องทรงจุดเทียนทองซึ่งตั้งอยู่กลางพระขันหยกสำหรับพระราชพิธี ทรงตั้งสัตยาธิษฐานแล้วจึงส่งถวายแด่ท่านผู้เป็นประธานในการพระราชพิธี แต่ก่อนมาดูเป็นหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ครั้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้กรมสมเด็จพระปรมานุชิตทรงจุด ตั้งแต่การบรมราชาภิเษกมาจนตลอดสิ้นพระชนม์ทุกๆ พระราชพิธี ต่อมากรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ได้ทรงจุดมาจนถึงปัจจุบันนี้ ในเวลาที่จุดเทียนชัยนั้น พระสงฆ์สวด พุทโธ สัพพัญญุตัญญาโณ บนพระที่นั่งที่ตั้งพิธี พราหมณ์เป่าสังข์คู่ ๑ ขับไม้บัณเฑาะว์คู่ ๑ ประโคมแตรสังข์ฆ้องชัยพิณพาทย์ พระสงฆ์ฉันและกลับแล้วทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการตระบะมุก และเทียนดูหนังสือเล่ม ๑ พระพิธีธรรมสำรับแรกขึ้นสวดภาณวาร พระราชาคณะนั่งปรก ราชบัณฑิตชักประคํา จนถึงเวลาเพล ฉันเพล ๕ รูป แล้วสวดต่อไปจนถึงเวลาเที่ยงเปลี่ยนสำรับใหม่ ผลัดกันสวดสำรับละ ๖ ชั่วโมงทั้งกลางวันกลางคืน เวลาค่ำพระสงฆ์สวดมนต์อีกทุกวัน จนถึงวันแรม ๑๔ ค่ำเวลาเช้า พระองค์เจ้าหม่อมเจ้าที่จะโสกันต์ แต่งเครื่องถอดออกไปนั่งรายเป็นแถวตรงหน้าพระสงฆ์ที่มุขตะวันออก ถ้ามากแถวก็ยาวออกไปถึงกลางปราสาท แบ่งพระเกศาเสร็จแล้วพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ แล้วทรงพระธํามรงค์พระมหาวิเชียรบ้าง พระมหาเพชราวุธบ้าง แล้วทรงจรดกรรไตรกรรบิด โปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์ทรงบ้าง เวลานั้นพระสงฆ์สวดชยันโตบนพระที่นั่ง พราหมณ์เป่าสังข์คู่ ๑ ขับไม้บัณเฑาะว์คู่ ๑ ประโคมแตรสังข์ฆ้องชัยพิณพาทย์ ที่สรงแต่ก่อนนั้นปลูกเป็นร้านขึ้นที่รักแร้พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทข้างตะวันตกเฉียงใต้ เสด็จพระราชดําเนินพระราชทานน้ำทางพระแกล ยังใช้มาเช่นนี้ช้านาน ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดในทางที่เข้าออกทางพระแกล และโปรดให้ทําเขาไกรลาสด้วยศิลาที่ชาลาด้านตะวันตกพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท จึ่งให้เจ้านายโสกันต์ไปสรงที่เขาไกรลาส เลิกพระแท่นสรงเสียทีเดียว ใช้เพดานพระแท่นสรงตั้งที่เขาไกรลาส ครั้นภายหลังการที่จะปิดน้ำเปิดน้ำกาหลมากนัก เวลาเสด็จพระราชดําเนินเข้าไปพระราชทานน้ำ ถ้าไม่ปิดน้ำเสียก่อนก็เปียก จึงได้เกิดที่สรงขึ้นที่รักแร้พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทตามเดิม แต่ลดพื้นเตี้ยลง เป็นที่สำหรับพระราชทานน้ำ ธรรมเนียมแต่เดิมมา ถ้าโสกันต์พระองค์เจ้าจึงได้พระราชทานพระมหาสังข์สาม ถ้าเป็นแต่หม่อมเจ้าก็ใช้แต่หม้อเงินหม้อทองและพระเต้าศิลากลีบบัว แต่ครั้นเมื่อหม่อมเจ้าเกศากันต์พร้อมกับพระองค์เจ้า ก็พลอยได้พระราชทานพระมหาสังข์สามด้วย ก็ตกลงเป็นธรรมเนียม ถึงเกศากันต์แต่หม่อมเจ้าก็คงได้พระราชทานพระมหาสังข์สามตลอดมา พระเต้าซึ่งพระราชทานอยู่ในบัดนี้ คือพระมหาสังข์สาม พระเต้าไกรลาส พระเต้าเทวบิฐ พระเต้าจารึกอักษร หม้อทอง หม้อเงิน พระสังข์อุตราวัฏของเดิมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระมหาสังข์ประดับเพชรเป็นที่สุด ถ้าเป็นพระองค์เจ้าเคยพระราชทานพระเต้าห้ากษัตริย์บ้างก็มี แต่ดูไม่สู้ทั่วไป พระราชทานน้ำแล้ว พระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งเป็นต่างกรมผู้ใหญ่ และท่านเสนาบดีก็รดต่อไป ในเวลาสรงนั้นมีแต่เครื่องประโคมดังเช่นกล่าวมาแล้ว แต่พระสงฆ์สวดถวายพรพระ เมื่อพระราชทานน้ำแล้วเสด็จขึ้นมาทรงประเคน พระสงฆ์รับพระราชทานฉัน ในวันนี้สำรับพระสงฆ์ฉันทั้งเช้าทั้งเพล ไม่ได้ใช้เนื้อสัตว์ เป็นเครื่องกระยาบวชใช้ถั่วงาทั้งสิ้น เครื่องสังเวยพระสยามเทวาธิราชก็เป็นเครื่องกระยาบวชเหมือนกัน ลัทธิที่พระสงฆ์ฉันบวชมีแต่เฉพาะวันพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์วันเดียว เห็นจะเป็นมาจากลัทธิพราหมณ์ที่ถือติดชินมาแต่ก่อน ถ้าจะทําอะไรให้ขลังดีวิเศษก็ไม่กินของสดคาว จนไม่รู้ว่ามาจากแห่งใด การที่เกิดขึ้นในพระราชพิธีนี้ก็เพื่อจะให้ขลังอย่างเดียว และในการเลี้ยงพระตรุษซึ่งนับว่าวัน ๑๔ ค่ำนี้เป็นวันต้นไป มีข้าวบิณฑ์ทั้งเครื่องนมัสการด้วย มีแต่เฉพาะวันแรม ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ เดือนห้าขึ้นค่ำหนึ่งสามวัน พระสงฆ์ฉันแล้วประกาศเทวดา ตําแหน่งผู้ประกาศนี้เป็นหน้าที่ของพระพิมลธรรม อย่างเจ้าพระยาพลเทพสำหรับแรกนายืนชิงช้า ถ้าพระพิมลธรรมประกาศได้ก็เป็นพระพิมลธรรมประกาศองค์เดียว แต่พระพิมลธรรมมักจะชราเสียบ้าง เสียงไม่เพราะบ้าง ขัดข้องไป จึ่งต้องเปลี่ยนให้พระราชาคณะผู้อื่นว่าแทน คําประกาศนั้นไม่ได้อ่านหนังสือเหมือนประกาศทั้งปวง ใช้เล่าจนจําได้แล้วว่าปากเปล่า เพื่อจะมิให้พลาดพลั้ง จึ่งต้องมีผู้ทานหนังสือตามไปด้วยอีกองค์หนึ่ง ใช้พระราชาคณะผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ชำนาญหนังสือไทยด้วย

ในคําประกาศเทวดา ที่ใช้อยู่ในกรุงเทพฯ แต่เดิมมานั้นมาจากเมืองลังกา ภาษาที่ใช้ก็ใช้เป็นภาษาลังกาแปลเป็นไทยบ้างไม่ได้แปลบ้าง พระนามที่ใช้ในคําประกาศแต่ก่อนใช้พระนามรามาธิบดี แต่จะค้นหาฉบับเดิมก็ไม่ได้ พบแต่คำประกาศวังหน้าครั้งพระปิ่นเกล้าฯ ก็คงจะคล้ายคลึงกัน อยู่ข้างจะเร่อร่ากว่าที่ประกาศอยู่ทุกวันนี้สักหน่อยหนึ่ง คือไต่ถามเทวดาถึงรับศีลแล้วหรือยัง ชวนให้รับศีล และการขับไล่ผีสางก็เป็นจริงเป็นจังมากไปสักหน่อยเป็นต้น ทํานองที่ใช้ก็เป็นทำนองเทศน์มหาชาติหรือขัดตํานานบอกอนุศาสน์ตามแต่จะสนัดว่า แต่ครั้นตกมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเพิ่มเติมแก้ไขเสียมากตัดเป็นตอนๆ ภาษามคธ ภาษาไทย ภาษาลังกา แทรกสลับกันไปดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า พระนามนั้นก็ทรงเปลี่ยนพระนามใหม่ลง แต่สร้อยพระนามในภาษาลังกายังใช้สร้อยเดิมอยู่มาก พระนามนี้ทรงถือว่าพระบรมรามาธิบดีเดิมนั้นเป็นพระนามสำหรับกรุง เหมือนอย่างคําโคลงแช่งน้ำก็คงใช้ได้ไม่ผิด รับสั่งว่าถ้าใครเป็นเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาก็ต้องเป็นรามาธิบดีด้วย ถึงในสร้อยพระนามใหม่ก็มีรามาธิบดีไว้ด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นพระนามในภาษาสิงหลนี้จึงได้คงใช้ปนๆ กันอยู่กับของเก่า เช่นว่า บรมบพิตรปะระมินทะ มะหาจุฬาลังกรณะ ปะตินทระเทพยะมะหามะกุฎ บุรุษยะรัตนะราชะระวิวังษะ วรุตตะมะพังษะปริพัทธะ วระขัติยะราชะนิกะโรตตะมะ จาตุรันตะปะระมะมหาจักรพัติราชาธิปรัตเตยยะ บุณะรุจจิริทธรามิศะเรยะมเหยยะมหิทธิริทธิเตโชเชยยะ ตรีโลกะเชษฐาธิมะหาพุทธางกุเลยยะ วะระธรรมิกะราชาธิราชะ รามาธิปรัตเตยยะมหาสวามินทะ ปะวะระรัตนะโกสินทะมหินทราโยทธะยามหานะคะรินทะนุวะระวะเสยยะ เป็นต้น  คําประกาศนั้นคงเป็นสามภาษาอยู่ตามเดิม ตัดแต่ที่รุงรังถามจู้ๆ จี้ๆ ออกเสียบ้าง ที่จะตัดออกไม่ได้เป็นท่อนยาวก็คงว่าแต่ภาษาลังกาไม่แปลเป็นไทย เวลาประกาศนั้น พระสงฆ์ผู้ประกาศกราบพระแล้วว่านโมสามหนที่หน้าพระแท่น แล้วออกมายืนบนอาสนะท้ายอาสนสงฆ์กลางพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท หันหน้าไปทิศตะวันตก เริ่มคําประกาศเป็นภาษามคธ ตั้งแต่สุณันตุ ทิพพโสเตนะ จนจบ คุตติงสังมิทะหันตุจาติ แล้วจึงว่าคําแปลเป็นภาษาไทยออกชื่อท้าวมหาราชทั้งสี่และเทพยดา หมู่ยักษ์ คนธรรพ์ กุมภัณฑ์ นาค ขอให้มาประชุมกันในเวลาค่ำวันนี้ เพื่อจะอนุโมทนาในส่วนพระราชกุศล มีพระพุทธบูชาเป็นต้น ซึ่งทรงแผ่ส่วนพระราชกุศลให้ และขอให้ปลดเปลื้องสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ นำมาซึ่งความสิริสวัสดิ์แก่พระเจ้าแผ่นดิน และมหาชนอันอยู่ในพระราชอาณาเขต ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินในสยามวงศ์ทรงชนะ แล้วต่อนั้นไปว่าเป็นภาษาลังกานำพระนามเจ้าแผ่นดินตั้งแต่มินยะปะฑินนะเป็นต้น แล้วจึงว่าพระนามเจ้าแผ่นดินเต็มตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ คือตลอดจนถึงชื่อกรุง ลงปลายสักทัติยวิษณุกรรมประสิทธิ์ตามอย่างเก่า แล้วว่าตามภาษาลังกาอีกตอนหนึ่งแสดงพระราชอาณาเขต แล้วจึ่งออกชื่อหัวเมืองขึ้นกรุงเทพฯ ทั่วทุกหัวเมือง มีจํานวนนับรวมยอดข้างท้ายสี่ร้อยสามสิบแปดแล้วออกชื่อกรุงเต็มชื่อ จึ่งมีคําขอเทพยดาซึ่งรักษาพระราชอาณาเขต ออกนามพระกาฬชัยศรี พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระหลักเมือง ขอให้บริบาลรักษาพระเจ้าแผ่นดิน และพระมหานครขอบเขตประเทศราชทั้งสี่ทิศ ให้ปัจจามิตรยําเกรงอย่าให้คิดประทุษร้าย ขอให้พระบรมวงศานุวงศ์ เสนามาตย์ราชพิริยโยธาผู้ใหญ่ผู้น้อย จงมีสมัคสโมสรซื่อสัตย์สุจริตต่อกันสิ้นกาลนาน และขออย่าให้มีอันตรายมาพ้องพานแก่มนุษย์และสัตว์จตุบททวิบาท ให้วัสโสทกตกตามฤดูกาล เป็นอุปการะแก่ธัญญาหารบริบูรณ์ทั่วพระราชอาณาเขต เมื่อจบคําประกาศตอนนี้แล้วพระสงฆ์ผู้ประกาศหันหน้าไปข้างทิศเหนือ มีสังฆการีสองคนเข้ามายืนรับคําสั่ง จึงสั่งเป็นภาษามคธว่า อัม์โภ เทวดา อาราธกะ เป็นต้น สังฆการีรับสาธุๆ คะมิส์สามิ ภัน์เต แล้วพระสงฆ์ผู้ประกาศจึงสั่งเป็นภาษาสยาม ให้รับสังฆาณัติไปเชิญเทพยดา อันเป็นที่มหาชนนับถือทั้งปวงมาประชุมกันในการพระราชพิธี เพื่อจะสดับพุทธภาษิตในเวลาค่ำวันนี้ สังฆการีรับว่าสาธุๆ พระพุทธเจ้าข้า แล้วท่านผู้ประกาศว่าภาษาสิงหลต่อไป ตั้งแต่วิหาระภูตุลูเป็นต้น ถึง อิยะยุต์ตะเยติ เป็นจบประกาศเวลาเช้า

และในเวลาที่พระสงฆ์ฉันและอ่านคําประกาศอยู่นั้น เจ้าที่เกศากันต์แต่งตัวเสร็จแล้ว ก็มานั่งเก้าอี้เรียงเป็นลำดับอยู่ที่มุขตะวันออกหันหน้าเข้าหาเตียงพระมณฑล เมื่อพระสงฆ์ประกาศเทวดาจบแล้วพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ใบมะตูม และทรงเจิมเจ้าที่เกศากันต์ทุกองค์ แล้วพระสงฆ์ถวายยถา ในวันนี้มีสัพพพุทธาก่อนอติเรก เป็นส่วนให้พรแก่เจ้าที่เกศากันต์ ในการพระราชพิธีนี้ในวัน ๑๒ ค่ำ ๑๓ ค่ำ ไม่ต้องมีอนุโมทนาอย่างอื่น นอกจาก ยถา สัพพี อติเรก ภวตุสัพพ์ เมื่อพระสงฆ์อติเรกก็โปรดให้เจ้าที่เกศากันต์นั้นกลับ พระราชาคณะ ๒๐ รูป ซึ่งนับว่าเป็นสวดมนต์ในการเกศากันต์นั้น ได้รับกระจาดเครื่องบริโภคของแห้งตามธรรมเนียมการโสกันต์ด้วยในวันนี้องค์ละกระจาด เวลาบ่ายตั้งบายศรีแก้วทองเงินที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เวียนเทียนสมโภช เจ้าที่เกศากันต์ทรงเสลี่ยงออกทางประตูสนามราชกิจ สมโภชแล้วขึ้นมาคอยเฝ้าบนพระที่นั่ง พระราชทานน้ำพระมหาสังข์อุตราวัฏของเดิมในรัชกาลที่ ๑ และทรงเจิม พระราชทานเงินสมโภชตามแบบ พระองค์เจ้าในพระบรมมหาราชวัง ๓ ชั่ง พระองค์เจ้าในพระราชวังบวรฯ ๒ ชั่ง หม่อมเจ้าในพระบรมมหาราชวังชั่ง ๑ หม่อมเจ้าในพระราชวังบวรฯ ๑๐ ตําลึง แต่ที่เป็นพระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าน้องนางเธอ หรือหม่อมเจ้าในพระเจ้าน้องยาเธอ ก็พระราชทานเงินพระคลังข้างที่เพิ่มเติมอีกบ้าง ไม่เป็นการเสมอหน้าทั่วไป

ครั้นเวลาเย็นพลบตั้งกระบวนแห่พระสงฆ์ แต่หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีกําหนดกระบวนหน้ามีทหารในเกณฑ์ร้อยหนึ่ง บางทีก็มีทหารมหาดเล็กทหารเรือมาสมทบแห่บ้าง บางปีก็มีทหารล้อมวังลากปืนแคตลิงคันเข้ากระบวนด้วย แต่ไม่เป็นการแน่นอนลงได้ และมีม้าเกราะทอง ๑๒ ม้า ธงศึกคือธงยันต์ ๓๐ ปืนแดง ๓๐ ดาบสองมือ ๓๐ ดาบโล่ ๓๐ ดาบเขน ๓๐ ทวน ๓๐ ดั้ง ๓๐ กระบวนเหล่านี้เดิน ๒ แถว แล้วถึงพระแสงปืน พระทรงสวัสดิ พระสุบินบันดาล ขึ้นแคร่หาม เป็นพนักงานกรมแสงกำกับ แต่พระแสงสององค์นี้ในแผ่นดินปัจจุบันไม่ได้แห่ คงแห่แต่ปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบ ลากล้อ เป็นพนักงานกรมกองแก้วจินดา แล้วถึงแตรงอน ๑๐ แตรฝรั่ง ๖ สังข์ ๒ แล้วจึงถึงสังฆการีแต่งสวมเสื้อครุยลอมพอก ซึ่งเป็นพนักงานขานคำตอบพระสงฆ์ ต่อไปนั้นเป็นกระบวนพระสงฆ์ ที่หนึ่งพระวอกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ มีคนเชิญตาลิปัตรนำหน้า ที่ ๒ พระวอกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ต่อไปวอสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ สมเด็จพระพุฒาจารย์[๕] ต่อนั้นไปแคร่พระราชาคณะ ที่เป็นเจ้านายกั้นพระกลด ที่เป็นพระราชาคณะกั้นสัปทนแดง มีตาลิปัตรนำหน้าทุกองค์ เป็นแคร่ ๗ คู่ ขาดคู่อยู่แคร่หนึ่ง เพราะติดนั่งปรกบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ต่อนั้นไปพระครู ๘ รูป พระพิธีธรรม ๓๖ รูป เดินถือตาลิปัตรเป็นตับๆ ละสี่รูป ๑๑ ตับ ต่อไปจึ่งถึงกระบวนหลัง คือคนถือกระบอง ๓๐ ถือง้าว ๓๐ ตรี ๓๐ ดาบเชลย ๓๐ การที่มีกระบวนแห่พระนี้ ก็เป็นการย่อมาจากอาพาธพินาศเทือกเดียวกันกับคเชนทรัศวสนาน เป็นการย่อของสระสนาน พอกระบวนแห่ถึงกำแพงแก้วก็ประโคม พระสงฆ์ขึ้นนั่งเรียบร้อยแล้วเสด็จออกทรงจุดเครื่องนมัสการ ในเวลาวันนี้มีเทียนเล่มหนึ่งหนัก ๖ บาท ฟั่นเล่มสั้นๆ ปิดทองคำเปลว ปักเชิงเทียนทองคำ ๔ เชิง เล่มที่หนึ่งทรงจุดเมื่อแรกพระสงฆ์สวดปริตรพร้อมกันแล้วตั้งไว้บนเตียงพระมณฑล เล่มที่สองจุดเมื่อสวดธรรมจักร เล่มที่สามจุดเมื่อสวดมหาสมัยสูตร เล่มที่สี่จุดเมื่อสวดอาฏานาฎิยสูตรภาณยักษ์จบแรก เทียนทั้งสามเล่มข้างหลังนี้จุดที่เตียงพระสวดทั้งสามเล่ม


หัวข้อ: Re: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 23 มิถุนายน 2561 16:53:43
พระราชพิธีเดือนสี่ (ต่อ)

เมื่อพระสงฆ์สวดมนต์จบแล้ว มีประกาศเทวดาอีกคราวหนึ่ง แต่อาสน์สงฆ์ซึ่งสำหรับพระสงฆ์ยืนประกาศเทวดาในเวลาค่ำนี้ใช้ผ้าขาวพับหนึ่งให้พระสงฆ์ยืน เมื่อประกาศเทวดาเสร็จแล้ว ทรงประเคนผ้าขาวพับแก่พระสงฆ์ผู้ประกาศเทวดา ในเวลาค่ำวันนี้พระสงฆ์ยืนหันหน้าข้างเหนือ ถามสังฆการีซึ่งเป็นผู้รับสังฆาณัติไปเชิญเทพยดาด้วยภาษามคธก่อน เริ่มต้นตั้งแต่ โย โส อัช์ชะ ปพ์พัณ๎ห เป็นต้น สังฆการีตอบ อิทาหํ ภัน์เต อาคัน์ต๎วา ฐิโตม๎หิ ท่านผู้ประกาศจึงถามต่อไปว่า อัช์เฌสิตา นุ โข เต เป็นต้น สังฆการีตอบ อามะภัน์เต จนถึง อัย์ยัส์สะ วะจะนะสะวะนายะ เป็นที่สุดแล้วจึงถามเป็นภาษาไทยต่อไปว่า ราชบุรุษผู้ซึ่งเราได้สั่งไปเชิญเทพยดานั้นได้กลับมาแล้วหรือยัง สังฆการีรับว่า ได้มายืนอยู่ที่นี่แล้ว (คำที่ว่ายืนนี้ยืนจริงๆ มิใช่พึ่งยืน เมื่อก่อนยืนทั่วกันแต่เดิมก็ยืนมาแล้ว ทําตามลัทธิเทวดาที่มาหาพระตั้งแต่เฝ้าพระพุทธเจ้าเป็นต้น มักจะมีเรื่องราวที่ว่ายืนมากกว่านั่งทุกแห่ง) ท่านผู้ประกาศจึงได้ถามว่า ได้อาราธนาเทพยดาแล้วหรือ สังฆการีตอบว่า ได้ไปบวงสรวงยกหนังสืออาราธนาแล้ว และกลับมาในที่นี้โดยความเข้าใจว่า ถ้าเทพยดานั้นเป็นสัมมาทิฐิ คงจะไม่ขัดอาณาสงฆ์ คงจะมาด้วยอทิสมานะกาย ในคําประกาศตอนนี้เป็นแปลกกว่าของเก่ามาก คนละทางกันทีเดียว ของเก่านั้นเอาสังฆการีสองคนนั้นต่างว่าเป็นเทวดาทีเดียว พระสงฆ์จึงได้ถามถึงรับศีลแล้วหรือยัง และอะไรต่างๆ เป็นเล่นฟัน[๖] กันแท้น่าหัวร่อ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงแก้เสียทั้งมคธ ภาษาไทยให้เป็นถามกันอย่างใหม่ดังกล่าวมานี้ ดูก็ไม่น่าหัวร่อต่อกระซิกอันใด แต่คนที่เข้าใจว่าสมมติว่าตาสองคนนั้นเป็นเทวดาตามอย่างเก่าไม่เอาหูฟัง ยังหัวเราะเพ้อๆ ไปบ้างก็มี ที่หัวเราะเพราะแก่ติดกระอึกกระอักบ้างก็มี ถ้าหัวเราะอย่างหลังแล้วก็ควรอยู่ แต่ถ้าหัวเราะอย่างก่อนแล้วเป็นเคาะเน้อ อย่าเพ้อต่อไป เมื่อสังฆการีตอบภาษาไทยแล้ว ผู้ประกาศจึงได้ถามเป็นภาษาลังกาตามแบบของเดิมต่อไปว่า เทวดา อาราธนา วัต์ตกิโย อาวุย์ยะ สามครั้ง สังฆการีตอบว่า อวิติน์ท๎รี วิตินัน์นะ สามครั้งเหมือนกันแล้วจึงถาม เทวุย์โย อาวุย์ยะ สังฆการีตอบ อามา จะ เทวุย์โย สยัม์ปริวาเรนะ พยัพ์ตะสิกี สามครั้งเหมือนกัน ต่อนั้นไปผู้ประกาศเทวดาได้ประกาศเทวดาเป็นภาษาไทย ตามเนื้อความในคำประกาศเดิมไม่ได้แก้ไข ออกชื่อเทพยดาซึ่งมาประชุมในสถานที่นั้น คือ ท้าวมหาราชทั้งสี่ ขอให้ตั้งโสตลงสดับพระธรรม และขออานุภาพพระรัตนตรัยให้สถิตในพระบรมธาตุ พระพุทธบุษยรัตน พระชัย พระห้ามสรรพอุปัทว พระแก้วเรือนทอง พระปิฎกธรรม ซึ่งเชิญมาไว้ในการพระราชพิธี ขอให้เป็นศรีสวัสดิมงคลกันสรรพภัยทั่วพระราชอาณาเขต และขออํานาจท้าวโลกบาลทั้งสี่ และเทพยดาทั้งปวง จงบันดาลให้เครื่องราชูปโภค คือพระสุพรรณบัฏ พระขรรค์ชัยศรี และเครื่องนานาสรรพวราวุธ ทั้งพระมหามาลา พระมหามงกุฎ ฉลองพระองค์ เครื่องสรรพาภรณ์พิชัยยุทธ์ ธงชัยกระบี่ธุชครุฑพ่าห์และพระกรรภิรมย์ พระมหาสังข์ พระธํามรงค์ พระราชลัญจกร อีกมงคลพิสมร น้ำพระพุทธมนต์ บรรดาที่ได้ตั้งไว้ในการพระราชพิธีให้มีฤทธิ์อํานาจ บรรดามนุษย์และอมนุษย์ซึ่งเป็นราชปัจจามิตร ให้คิดครั่นคร้ามขามขยาด มาตรแต่ว่าเห็นสิ่งของในพระราชพิธีก็อย่าให้มีจิตคิดประทุษร้ายได้ และขอให้นำทิพยวารีมาโปรยปรายในภาชนะที่เต็มด้วยปริตโตทก เมื่อประปรายต้องกายผู้ใด ก็ให้พ้นสรรพทุกข์โศกโรคภัยทุกประการเป็นจบตอนหนึ่ง ต่อนั้นไปเป็นคําประกาศว่า ถ้าเทพยดาหมู่ใดที่ถือสัมมาทิฐิ จงตั้งโสตลงสดับพระธรรมจักกัปปวัตนสูตร และมหาสมัยสูตรในเวลาค่ำวันนี้ แล้วจงพิทักษ์รักษาพระบรมราชาธิราช อันมีพระนามประกาศประกาศิต ออกพระนามเต็มเหมือนอย่างเวลาเช้า แต่ไม่ได้ออกนามกรุง ในคําประกาศพิธีตรุษนี้เรียงลำดับพระบรมวงศานุวงศ์แปลกกว่าที่เรียงลําดับในอื่นๆ ทั้งสิ้น เป็นของมีมาแต่โบราณ คือเมื่อลงท้ายพระนามว่า จุลจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม แล้วต่อไปว่าทั้งองค์พระอัครบรมรัตนราชนารี แต่ของเดิมเห็นจะเป็นมเหสี ซึ่งถือว่าเป็นคําไม่เพราะ แล้วต่อไปว่าสุรางคนิกรกัญญา พระบรมบุตรบุตรี พระราชนัดดา ทั้งพระประยูรวงศาเสนามาตยราชมนตรีกวีชาติ พฤฒามาตย์ราชปุโรหิต บัณฑิตสมณพราหมณ์ประชาราษฏรทั้งหลาย การที่นับพระนามพระราชวงศานุวงศ์ไม่มีแก่กว่าพระเจ้าแผ่นดินเลยเช่นนี้เป็นอย่างเก่าแท้ เช่นมีมาในกฎหมายตําแหน่งนาพลเรือน ต่อไปนั้นก็ขอพรให้บริบูรณ์ทุกประการ แล้วจึงรื้อความว่า อนึ่งเทวดาหมู่ใดถือมิจฉาทิฐินอกพระพุทธโอวาท มิอาจรักษาพระบรมราชาธิราช อันมีพระนามประกาศประกาศิต พระบาทบรมบพิตร สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฎบุรุษยรัตนราชรวิวงศ์ ทั้งองค์พระบรมรัตนราชนารีสตรีพระสนม และพระบรมราชบุตรบุตรีนัดดา พระญาติประยูรวงศา เสนามาตย์ราชกวีชีพราหมณชนทั้งหลายและสัตว์ทั้งปวงได้ไซร้ เทวดาหมู่นั้นจงเร่งถอยหนีออกไปนอกขอบเขตจักรวาลจงเร็วๆ พลันๆ อย่าให้ทันพระสงฆ์สวดอาฏานาฎิยสูตรอันวิเศษ อันท้าวเวสวัณไพสพมหาราชหากอาราธนาแด่สมเด็จพระสรรเพชญพุทธเจ้าไว้ ให้สำทับขับภูตปิศาจชาติฝูงยักษ์ คนธรรพ์กุมภัณฑ์นาคนิกรสัตว์ โดยสมเด็จพระสรรเพชญพุทธเจ้าตรัสบัณฑูรไว้ฉะนี้ ความตอนนี้ที่คัดมาลงไว้เป็นตัวการเรื่องขับผีของพิธีนี้มีอยู่เพียงเท่านี้ ที่เป็นต้นเหตุให้เห็นกันเป็นวิ่งชุลมุนชุลเกตามเช่นเล่าๆ กันนั้น ต่อนั้นไปตามที่จดหมายในตําราว่า เป็นคําเรียกเทวดาในกําพูฉัตร ให้มาช่วยขับยักษ์มิจฉาทิฐิ แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า เป็นคำเขากรวดน้ำแผ่ส่วนบุญเป็นภาษาลังกา ยืดยาว ไม่มีคำแปลเป็นไทย ขึ้นต้นแต่ เมต์ตะยัน์ติ ไปจนถึง รุจ์จะติ สังฆัส์สาติ เป็นจบ การที่ไม่ได้แปลเป็นภาษาไทยนั้นก็เพราะยืดยาวเสียเวลาพรรณนาชื่อเทวดาต่างๆ ที่แผ่ส่วนบุญนั้นก็เป็นการเหลวๆ อยู่ จึงได้ยกไว้ ใช้แต่ภาษาลังกาพออย่าให้เสียธรรมเนียมเดิม เป็นเสร็จคําประกาศในเวลาค่ำเพียงเท่านี้

เมื่อประกาศเทวดาเสร็จแล้ว ทรงจุดเทียนทองตระบะมุกเทียนดูหนังสือ แล้วทรงทอดผ้าขาว ๔ พับ เฉพาะพระสงฆ์นั่งบนพระแท่น พระครู ๔ รูปขึ้นสวดตั้งนโมสรณาคมน์ แล้วพระราชาคณะที่ประกาศเทวดาขึ้นไปบนพระแท่นขัดตํานาน พระสงฆ์สวดธรรมจักกัปปวัตนสูตร แต่เดิมสวดลงสังโยคอย่างตามธรรมเนียม แต่เมื่อถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่าช้านัก ถ้าเสด็จออกล่าไปหน่อยหนึ่งยามเศษก็ไม่ได้ยิงปืนตามกำหนด จึงโปรดให้สวดเสียอย่างธรรมยุติกา พระราชาคณะที่ขัดตํานานนั้นลงมานั่งปรกจนจบ แล้วเสด็จไปทรงจุดเทียนทองอีกเล่มหนึ่ง ทรงทอดผ้าอีก ๔ พับ พระครูอีก ๔ รูป ขึ้นบนพระแท่นตั้งนโมแล้ว พระราชาคณะที่นั่งปรกขึ้นไปขัดตํานานแล้วกลับลงมานั่งปรก พระครูสวดมหาสมัยสูตร ที่คาถาก็สวดเป็นสรภัญญะ ถึงมหาสมัยสูตรนี้แต่ก่อนก็สวดเป็นสังโยคเหมือนกัน เปลี่ยนพร้อมกันกับธรรมจักร เป็นสวดอย่างธรรมยุติกาถึงว่าฐานาสมเด็จพระปรมานุชิต สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ สมเด็จพระวันรัต จะเป็นพระสงฆ์มหานิกาย ก็ต้องซ้อมสวดอย่างธรรมยุติกาให้เป็นการเร็วขึ้น ในระหว่างนั้น เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตอนแรกๆ เสด็จพระราชดําเนินลงไปพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ และทรงเจิมพระแสงปืน มหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบ ทั้ง ๔ กระบอก ครั้นภายหลังมาพระราชทานให้ข้าพเจ้าลงไปรดน้ำและเจิมทุกปีมิได้ขาด ทั้งพระทรงสวัสดิ พระสุบินบันดาล และพระแสงปืนหลักก็รดน้ำและเจิมด้วย ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ตำแหน่งนี้ตกอยู่ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ จนสิ้นพระชนม์ จึงได้ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จลงไปรดน้ำและเจิมพระแสง ต่อมาสวดสมัยสูตรจบแล้วทรงจุดเทียนทองอีกเล่มหนึ่ง พระสงฆ์พิธีธรรมสำรับแรกขึ้นพระแท่นตั้งนโมสรณาคมน์ นโมและสรณาคมน์ของภาณยักษ์อย่างเร็วอยู่ใน ๒๕ มินิต อย่างช้าก็ถึง ๓๐ มินิต เมื่อจบสรณาคมน์พระราชาคณะนั่งปรกขึ้นไปขัดตำนานแล้ว กลับมานั่งที่อาสนะในหมู่ตามเดิม พระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระไปนั่งปรกแทนต่อไป พระสงฆ์สวดภาณยักษ์ เมื่อจบแล้วก็เปลี่ยนกันไปตามลำดับ กำหนดที่ได้ยิงปืนคราวแรกอยู่ในยามเศษ ภาณยักษ์จบแรกยิงปืน ๓ ครั้งๆ ที่หนึ่งที่ ตายํเวลายํ ครั้นสวดไปถึงวิปัสสิสในคราวแรก พระสงฆ์ซึ่งนั่งอยู่ข้างล่างจับสายสิญจน์สวดคาถาวิปัสสิสจนตลอดจบหนึ่ง ต่อไปไม่ได้สวดอีก ในจบแรกยิงปืนครั้งที่สองที่อุชชาเปตัพพัง เรียกกันว่าอุชชาใน ยิงปืนอีกครั้งหนึ่งที่อุชชาเปตัพพังหลัง เรียกว่าอุชชานอก ต่อไปตั้งแต่จบที่สองภาณพระยิงจบละสองคราวปืน คือที่ตายํเวลายํคราวหนึ่ง ที่อุชชาในอีกครั้งหนึ่ง เป็นสองครั้งตลอดไปทุกจบ สวดตลอดคืนยังรุ่งอยู่ในสิบเอ็ดจบ ถ้าเสด็จออกหัวค่ำเป็นสิบสองจบบ้าง บางทียิงปืนอยู่ใน ๒๓ คราวปืนเป็นธรรมดา แต่ถ้าเป็นสิบสองจบก็เป็น ๒๕ คราวปืน

ปืนที่ยิงในวันยิงอาฏานานี้ แต่เดิมมาใช้สังฆการีตีฆ้อง เมื่อถึงกําหนดจะยิงใช้กรมพระแสงปืนต้นยิงปืนสัญญาณบนชาลาพระมหาปราสาท แล้วทนายปืนกรมพระตํารวจ ยิงปืนคาบศิลายิงเป็นตับเป็นสัญญาณแล้วจึงได้ยิงต่อๆ กัน ครั้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเกิดรักษาพระองค์ปืนทองปรายขึ้น ก็ให้รักษาพระองค์ปืนทองปรายยิง เมื่อเกิดเกณฑ์หัดปืนแดงขึ้น ก็ให้เกณฑ์หัดปืนแดงมายิงอีกพวกหนึ่ง ครั้นตกมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทหารปืนทองปรายคงยิงอยู่ตามเดิมพวกหนึ่ง ถอนเกณฑ์หัดปืนแดง เอาทหารเกณฑ์หัดปืนอย่างยุโรปยิงแทนอีกพวกหนึ่ง ครั้นเมื่อหล่อปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบ ขึ้นพร้อมกันกับที่ทรงสร้างพระแสงปืนนพรัตน์สำหรับเข้าพิธี ก็ทรงพระแสงปืนนพรัตน์ ซึ่งเป็นปืนอย่างที่เรียกว่าโก๊อย่างเก่าๆ ทรงยิงเองทางช่องพระแกลที่ ๒ ด้านเหนือมุขตะวันออก เป็นสัญญาณให้ยิงปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบ พระแสงปืนนพรัตน์นั้นไม่สู้สะดวกนัก จึงได้โปรดให้จัดพระแสงปืนหลักที่สำหรับลงหน้าเรือพระที่นั่ง ขึ้นมาตั้งที่ชาลาหน้าพระมหาปราสาท ตรงช่องพระแกลที่กล่าวแล้ว ล่ามสายไหมเบญจพรรณถักติดกับไกปืนขึ้นมาผูกกับพนักพระแกล เจ้าพนักงานประจุปืนอยู่ข้างล่าง เมื่อเวลาถึงกําหนดยิง ก็ทรงกระตุกเชือกยิงพระแสงปืนหลักนั้นเป็นสัญญาณ ซึ่งให้เป็นสององค์ไว้นั้นเพื่อจะสับปลับเมื่อไม่สับปลับก็ทรงทั้งสององค์ ภายหลังมาเมื่อพระแสงปืนพระทรงสวัสดิเข้ามาถึง เป็นพระแสงปืนใหญ่บรรจุท้ายซึ่งได้เข้ามาถึงกรุงเทพฯ ในครั้งแรกโปรดยิ่งนัก ได้ทรงทดลองที่ปทุมวันและที่ลานเทหลายครั้ง ครั้นเมื่อถึงพระราชพิธีก็โปรดให้มาตั้งที่ตรงหน้าพระแกล โยงเชือกขึ้นมาทรงกระตุกเป็นสัญญาณ พระแสงปืนหลักทั้ง ๒ องค์นั้นก็คงไว้ด้วย ครั้นมาภายหลังเมื่อปลายๆ แผ่นดินทรงพระสุบินไป ว่ามีปืนอย่างหนึ่งซึ่งเป็นรูปปืนใหญ่แต่ยิงได้หลายๆ นัด มีครกหันเหมือนอย่างปืนที่เรียกกันว่าโก๊ตั้งไว้ที่หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม มีเจ้านายหลายพระองค์เสด็จเข้ามาเฝ้า ทรงจําได้ว่ากรมขุนวรจักรองค์หนึ่ง ได้ทรงยิงปืนนั้นเป็นสลุตรับ จึงมีพระราชหัตถเลขาสั่งออกไปให้ทําตามกระแสพระสุบิน แต่ผู้ที่ทํานั้นจะคิดหันให้เป็นอย่างปืนโก๊ก็ไม่ไว้ใจ จึงทําเป็นรางบรรจุปัศตันยาวๆ สอดเข้าไปในช่องข้างท้ายบอกปืน เลื่อนไปทีละช่องยิงได้ตับละหลายๆ นัด เมื่อได้ทอดพระเนตรก็รับสั่งว่าไม่เหมือนที่ทรงพระสุบิน แต่ยิงได้หลายนัดคล้ายคลึงกัน จึงพระราชทานชื่อว่าพระสุบินบันดาล ให้ตั้งยิงในการพระราชพิธีนี้ด้วย ในปีแรกๆ ทรงเที่ยวหนึ่งๆ อยู่ใน ๖ นัด ครั้นภายหลังมาพระราชทานให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ยิงเนืองๆ สายล่ามไกนั้นโยงขึ้นมาที่พระแกลที่หนึ่ง ไม่ได้รวมอยู่ในพระแกลที่สองซึ่งเป็นที่ประทับ พระแสงปืนอย่างเช่นทรงพระสุบินนั้น ภายหลังก็ทรงสั่งมาอีกจนได้แต่พึ่งมาถึงภายหลังไม่ทันจะพระราชทานชื่อ การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระราชธุระในเรื่องยิงปืนมากนี้ ทรงเป็นการแปรกติสฝึกหัดให้คุ้นเคยในการยิงปืน ด้วยเวลาอื่นนอกจากยิงอาฏานาฏิยสูตรนี้แล้วก็ไม่ได้ทรงเลย ในเมื่อตอนแรกยังเสด็จอยู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานเคยทรงพระแสงปืนเล็กทางสีหบัญชรเนืองๆ เอาหม้อข้าวกรอกน้ำเสียแล้วนั้นไปแขวนไว้บนต้นไม้ตามที่คลังและที่โรงหม้อ ทรงยิงหม้อข้าวนั้น เผอิญครั้งหนึ่งกระสุนปืนเข้าไปตกถึงพระที่นั่งวังจันทร์ ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรทุกวันนี้ ในขณะพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเสด็จอยู่ก็เป็นที่ตกพระทัย เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปพระราชทานทองคำสมโภชลิ่มหนึ่ง แต่นั้นมาก็ไม่ได้ทรงพระแสงปืนอีกเลย นอกจากเวลาพิธี ถ้าจะติดดินพระแสงองค์ใดลองก็รอไว้การพิธีทุกครั้ง แต่ถ้าจะติดกระสุนลองแล้วก็ไปลองที่ปทุมวันหรือที่ลานเท ที่ปทุมวันนั้นภายหลังก็เป็นอันเลิกไป เมื่อกระสุนไปถูกกระบือที่คนจูงมากระบือล้ม แต่คนไม่เป็นอันตราย แต่นั้นมาก็คงมีอยู่ที่ลานเทแห่งเดียว ต่อเมื่อพระแสงใหม่มีมาจึงได้ลอง เป็นการนานๆ มีทีหนึ่ง เพราะฉะนั้นเมื่อถึงการพระราชพิธีตรุษนี้แล้วจึงได้ทรงยิงปืนเป็นการฝึกซ้อมให้ชำนาญทุกปีมิได้ขาด เมื่อมีทหารผู้หญิงอยู่แต่ก่อน ก็เคยโปรดให้มายิงที่ชาลาข้างพระที่นั่งวิมานรัถยาพร้อมกับคราวปืนข้างหน้ามาช้านานหลายปี ถ้าเวลาตั้งแต่ยิงปืนยกแรกไปแล้ว ไม่ใคร่จะได้เสด็จพระราชดำเนินไปประทับทางเจ้านายขุนนาง ประทับอยู่ที่ตรงพระแกล ตรัสกับกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์อยู่จน ๗ ทุ่ม ๘ ทุ่ม จึงได้เสด็จขึ้นทุกปี ถึงทหารก็เหมือนแต่ก่อนมา ไม่ได้เคยฝึกซ้อมติดดินในที่อื่น ต้องผลัดเปลี่ยนกันเข้ามายิงอาฏานา เป็นการหัดติดดินตลอดมาถึงทหารมหาดเล็กในแผ่นดินปัจจุบันนี้ก็ยังถือว่าเป็นการฝึกหัดเช่นนั้นเหมือนกัน แต่พระแสงปืนที่สำหรับยิงเป็นสัญญาณนั้นเลิก คงใช้สัญญาณระฆังตามเดิม จำนวนและตำบลลำดับที่ยิงปืน ดังจะว่าต่อไปนี้

ฝั่งตะวันออก คือในพระบรมมหาราชวังชั้นกลาง ที่ชาลาหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทหารมหาดเล็ก ๓๐ คนยิงปืนอินฟินพวกหนึ่ง ทหารรักษาพระองค์ ๓๐ คน ทหารแคตลิงคัน ๓๐ คน ยิงปืนสามแหมทั้งสองพวก กรมกองแก้วจินดาเจ้ากรม ปลัดกรม ขุนหมื่น ๑๕ คน ยิงปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบ พวกหนึ่ง เป็นสัญญาณใน

กรมทหารปืนใหญ่ ยิงปืนทองฟินลินปิด ๒ บอก ยิงที่หน้าประตูวิเศษชัยศรี เป็นสัญญาณนอก
กรมทวนทองซ้ายขวา กรมเขนทองซ้ายขวา คุมปืนทองอย่างไทร ๒ บอก ยิงที่ประตูมณีนพรัตน์
กองอาสารองซ้ายขวา ปืนทองฝรั่งเปิดหมวก ๒ บอก ยิงที่ถนนหน้าศาลพระหลักเมือง
กรมฝีพายคู่ชักซ้ายขวา ปืนทองรางแท่น ๒ บอก ยิงที่ถนนหน้าศาลพระเสื้อเมืองพระทรงเมือง
กรมล้อมพระราชวัง คุมปืนเหล็กหามแล่น ๑๒ บอก ปืนคาบศิลา ๕ บอก ยิงบนป้อมรอบพระบรมมหาราชวัง ๑๒ ป้อม
กรมตํารวจและพลพันทหารใน คุมปืนหามแล่น ๑๘ บอก ยิงบนเขื่อนเพชรกำแพงวัง ๑๐ ตำบล คือ
กรมทหารในซ้ายขวา ยิงที่เขื่อนหน้าโรงทานบอก ๑ เขื่อนตรงท่ากระแซบอก ๑
กรมพลพันซ้าย ยิงที่เขื่อนด้านวัดพระเชตุพน
กรมพลพันขวา ยิงที่เขื่อนโรงไหม
กรมตำรวจสนมซ้าย ยิงที่เขื่อนริมอุโมงค์
กรมตำรวจสนมขวา ยิงที่เขื่อนบันไดตรงวัดพระเชตุพน
กรมพระตำรวจนอกซ้าย ยิงที่เขื่อนเหนือและใต้พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท
กรมพระตำรวจนอกขวา ยิงที่เขื่อนบันไดริมป้อมสัญจรใจวิง
กรมพระตำรวจในซ้าย ยิงที่เขื่อนท้ายพระที่นั่งสุทไธสวรรย์
กรมพระตำรวจใหญ่ขวา ยิงที่เขื่อนริมป้อมสัญจรใจวิง พวกที่ว่ามานี้ปืนแห่งละ ๒ บอกทั้งสิ้น
กรมกองแก้วจินดา ปืนทองมนิลา ๒ บอก ยิงบนป้อมเหนือป้อมใต้พระที่นั่งสุทไธสวรรย์
กรมรักษาพระองค์ซ้ายขวา ปืนทองรางแท่น ๒ บอก ยิงที่ป้อมพรหมอํานวยศิลป์ ป้อมอินทร์อํานวยศร
กรมเรือดั้งทหารใน ปืนทองอย่างไทร ๒ บอก ยิงที่หน้าประตูศรีสุนทร ๑
กรมพระตำรวจนอกซ้าย ยิงที่ท่าพระ ๑ หน้าวัดมหาธาตุ ๑ ยิงที่ประตูดินพระราชวังบวร ฯ ๑
กรมพระตำรวจใหญ่ขวา ยิงที่ท่าช้างพระราชวังบวรฯ ๑ ประตูใหญ่หน้าบ้านเจ้าพระยามหาโยธา ๑
กรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่งซ้าย ยิงที่ประตูใหญ่หน้าวังกรมหมื่นกษัตริย์ศรีศักดิเดช ๑
กรมพระตำรวจใหญ่ซ้าย ยิงที่หน้าบ้านพระยานาวานุโยค ๑ มุมบ้านเจ้าพระยาธรรมา คือประตูใหญ่ริมบ้านพระยานรรัตน ๑ ประตูใหญ่วัดบวรนิเวศ ๑
กรมพระตำรวจในขวา ยิงที่ประตูใหญ่วัดรังสีสุทธวาส ๑ ประตูใหญ่ป้อมมหากาฬ ๑
กรมพระตำรวจในซ้าย ยิงที่ประตูหน้าวัดเทพธิดา ๑ ประตูเหนือป้อมหมูหลวง ๑
กรมพระตำรวจสนมขวา ยิงที่หน้าประตูสำราญราษฎร์ ถนนบํารุงเมือง ๑ ประตูถนนเจริญกรุง ๑
กรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่งขวา ยิงที่ประตูหน้าวังกรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ คือวังบูรพาภิรมย์เดี๋ยวนี้
กรมพระตํารวจสนมซ้าย ยิงที่ประตูสะพานหัน ๑ ประตูใหญ่วัดราชบูรณะ ๑
กรมพระตำรวจนอกขวา ยิงที่ประตูวัดพระเชตุพน ๑ ประตูท่าเรือจ้างศาลต่างประเทศ ๑ ปืนหามแล่นแห่งละ ๒ บอกทั้งสิ้น

ฝั่งตะวันตกกรมอาสาวิเศษซ้าย ยิงที่ป้อมวิชัยประสิทธิตําบล ๑
กรมอาสาใหม่กรมท่าขวา ยิงที่ถนนวัดโมฬีย์โลกตำบล ๑
กรมอาสาใหม่กรมวังซ้าย ยิงที่ถนนวัดอมรินทร์ตำบล ๑
กรมอาสาใหม่กรมวังขวา ยิงที่ถนนวังกรมหมื่นเทวานุรักษ์ ตําบล ๑
กรมเรือกันซ้ายขวา ยิงที่ถนนอาจารย์ตำบล ๑ ปืนหามแล่นแห่งละ ๒ บอกเหมือนกัน

รวมตำบลซึ่งยิงปืนฝั่งตะวันออก สัญญาณใน ๑ สัญญาณนอก ๑ ประตูวัง ๒ ป้อมหมู่วัง ๑๖ เขื่อนเพชร ๑๐ ถนนใหญ่ ๒ ประตูใหญ่รอบพระนคร ๒๐ รวม ๕๒ ตําบล ฝั่งตะวันตกป้อม ๑ ถนน ๔ รวม ๕ ตําบล รวม ๕๗ ตําบล

จํานวนปืนที่จ่ายไปยิง ปืนอินฟิน ๓๐ ปืนสามแหม ๖๐ ปืนคาบศิลา ๕ ปืนทอง มหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบ ๔ ปืนฟินลินปิดสัญญาณนอก ๒ ปืนอย่างไทร ๔ ปืนฝรั่งเปิดหมวก ๒ ปืนทองมนิลา ๒ ปืนทองรางแท่น ๒ ปืนหามแล่น ๘๐ บอก รวมปืนเล็ก ๙๕ ปืนใหญ่ ๙๖ รวม ๑๙๑ บอก กำหนดที่ยิงปืนนั้นยิงปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบก่อน แล้วจึงยิงปืนตับ เมื่อยิงปืนตับแล้วจึงยิงปืนสัญญาณนอกที่ประตูวิเศษไชยศรี แล้วปืนป้อมเขื่อนเพชรยิงไปเป็นลำดับ ประทักษิณรอบพระราชวังและพระนคร

อนึ่ง เมื่อเวลายิงปืนนั้น มีกรมพระตํารวจกับกรมต่างๆ ซึ่ง จะว่าต่อไปเป็นกองตรวจตําบลที่ยิงปืนตามประตูเมืองฝั่งตะวันออก ๔ กอง ฝั่งตะวันตก ๑ กอง คือพระยามหามนตรี พระราชโยธาเทพไปตรวจแต่ประตูใหญ่ศาลต่างประเทศถึงประตูสำราญราษฎร์ ๖ ตําบล พระยามหาเทพ หลวงราชมานู ไปตรวจแต่ประตูเหนือป้อมหมูหลวงถึงหน้าวัดรังสี ๔ ตําบล พระอินทรเทพ หลวงสุรินทรเดชะ ตรวจแต่หน้าวัดบวรนิเวศถึงมุมบ้านเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ ๕ ตําบล พระพิเรนทรเทพ หลวงเสนาภิมุข ตรวจแต่ท่าช้างพระราชวังบวรฯ ถึงท่าพระหน้าประตูศรีสุนทร ๕ ตําบล พระพรหมบริรักษ์ พระสุริยภักดี ไปตรวจฝั่งตะวันตกทั้ง ๕ แห่ง

การสวมมงคลธรรมเนียมแต่เดิม เจ้านายข้าราชการทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายในต้องสวมมงคลตั้งสามวัน ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลาค่ำวัน ๑๑ ค่ำ ๑๒ ค่ำ ๑๓ ค่ำ ไม่ได้เสด็จพระราชดําเนินพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเลย ถึงจะมีการโสกันต์พระเจ้าลูกเธอก็ไม่เสด็จ แต่เวลาเช้านั้นเสด็จทุกวันไม่ได้ขาด ด้วยการถวายสังฆทานและเลี้ยงพระ ในเวลานั้นถือว่าเป็นการสำคัญพระราชกุศลมาก แต่ถึงไม่ได้เสด็จพระราชดําเนินอย่างนั้น เจ้าพนักงานก็ตั้งผอบพระมหามงคล และที่สรงพระพักตร์ตามแบบทั้งวัน ๑๒ ค่ำ ๑๓ ค่ำ ส่วนเจ้านายและข้าราชการซึ่งจะเข้าไปเฝ้าในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ก็ต้องสวมมงคลทั้งสองคืน ต่อเวลาค่ำวันแรม ๑๔ ค่ำ จึงได้เสด็จพระราชดำเนิน ถ้าเจ้านายและข้าราชการสวมมงคลตั้งแต่เวลาเสด็จออกไป แต่ที่ทรงเองนั้นต่อเวลาสวดสมัยธรรมจักรจบแล้ว พอภาณยักษ์ขึ้นจึงได้เสด็จพระราชดําเนินขึ้นในม่าน ประทับราชอาสน์สรงพระพักตร์ ทรงพระมหามงคลซึ่งโยงสายสิญจน์ประทับอยู่จนภาณยักษ์จบแรกจบ ทรงพระมหามงคลคู่ผลัดแล้ว เสด็จพระราชดําเนินกลับ ไม่ได้ทรงฟังภาณยักษ์จบสองต่อไป ครั้นมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดําเนินออกทั้งเช้าทั้งเย็นไม่ได้ขาดเลย แต่เจ้านายข้าราชการซึ่งเฝ้าในวัน ๑๒ ค่ำ ๑๓ ค่ำ โปรดให้ยกเลิกเสียไม่ต้องสวมมงคล พระมหามงคลซึ่งตั้งไว้นั้นก็พระราชทานสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอบ้าง พระเจ้าลูกเธอบ้างทุกวัน แต่พระเจ้าลูกเธอซึ่งทรงพระเยาว์อยู่นั้น อยู่ข้างจะตื่นทรงมงคลกันจู๋จี๋มาก ที่ได้ทรงวันเดียวไม่สะพระทัยบ่นออดแอดกันไปต่างๆ จึงโปรดให้มีมงคลมาสวมพระราชทานวันละสองพานแว่นฟ้าทั้งสามคืน การที่ทึ่งมงคลนี้ก็มีมาจนเจ้านายเล็กๆ ทุกวันนี้ ต้นเหตุที่จะทึ่งหนักทึ่งหนาเพราะอยากโสกันต์เป็นเบื้องหน้า เห็นเจ้านายเข้ามาฟังสวดและเข้ามาเกศากันต์เวลาเช้ามันให้อยากใจเต้นไปไม่หาย เป็นเช่นนี้ด้วยกันโดยมาก ได้สวมมงคลเข้าก็ดูค่อยสบายวางหน้าวางตาเป็นเจ้าโสกันต์ ถ้าถึงวันยิงอาฏานาได้ถือกระบองเพชรเข้าด้วยยิ่งคมคายขบขันขึ้นมาก ถึงจะหาวนอนให้หวอดๆ เท่าไรก็ทนได้ไม่เป็นไร ใครอยากดูให้เห็นจริงคอยดูพิธีตรุษปีนี้ได้ การทรงพระมหามงคลในวัน ๑๔ ค่ำนั้น เมื่อเวลาภาณยักษ์ขึ้นเสด็จขึ้นข้างในทรงพระมหามงคล แต่ทรงเด็ดเสียที่โยงสายสิญจน์ พระมหามงคลคู่ผลัดก็ทรงสวมพระกรออกไปด้วย บางทีก็พระราชทานผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งยังไม่ได้พระราชทานในสองวันล่วงมาแล้ว บางทีก็ไม่ได้พระราชทาน ทรงอยู่เพียงยิงปืนครั้งแรกแล้วก็เปลื้อง ด้วยประทับอยู่นาน เวลาจะเสด็จกลับทรงสวมพระกรทั้งสองข้าง ไม่ได้ทรงกลับมา กระบองเพชรและพิสมรจ่ายในเวลาภาณยักษ์ เป็นหน้าที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอทรงจ่ายมาแต่เดิม ถึงเวลาก็เสด็จขึ้นไปหลังพระแท่นกับเจ้าพนักงานหยิบถุงออกมา แล้วถวายกระบองเพชรทรงซึ่งจารึกคาถา อริโย อุต์ตโม มัค์โค เป็นต้น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้จารึกใหม่แปลกกันกับกระบองเพชรสามัญซึ่งจารึก สัพเพเทวาปิสาเจวะ เป็นต้น แล้วจึงได้นำไปที่มุขเหนือส่งข้างในและแจกเจ้านายข้าราชการฝ่ายหน้า แต่คําที่เรียกว่าแจกนี้เป็นแต่สักว่าแจก น่าที่จะเรียกว่าแย่งมากกว่า และเวลาจ่ายแล้วเสียงดั่งเฮอลั่น แล้วกระทบกันดังกรอกแกรกๆ จนเกือบไม่ได้ยินภาณยักษ์ ถ้าโยนลงไปกลางหมู่คนสักมัดหนึ่งคงจะแย่งกันเหมือนแย่งติ้วเป็นแน่

ในวันยิงอาฏานานี้ เป็นประเพณีมาแต่เดิม เจ้านายและข้าราชการต้องเข้ามาประชุมเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งผู้ใหญ่ผู้น้อย ไม่ใคร่มีใครค่อยเว้นว่าง ด้วยเป็นพระราชพิธีซึ่งจะให้เป็นมงคลทั่วกัน และเป็นเวลายิงปืนกลางคืนค่อยจะอยู่ข้างขับขัน ถึงชั้นเสนาบดีนอนหัวค่ำก็ยังคงรักษาแบบอย่างเดิมอยู่ ไม่ใคร่จะขาดเหมือนการพระราชพิธีอื่นๆ

วันแรม ๑๕ ค่ำ ตั้งแต่เวลารุ่งไปพระสงฆ์ที่สวดภาณยักษ์หยุดแล้ว ขึ้นสวดแผ่เมตตาพรหมวิหารจนเวลาเสด็จออกเลี้ยงพระ เมื่อเลี้ยงพระเสร็จแล้วทรงจุดเทียนหลังครอบพระกริ่งถวาย กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ชาวที่ยกหม้อน้ำมนต์ทองเหลืองตั้งรายตามหน้าพระราชาคณะ แล้วสวดทําน้ำมนต์ตั้ง นโม นัต์ถิเม ยํกิญ์จิ รตนํ โลเก แล้วจึงสวดคาถารัตนสูตร แต่ก่อนสมเด็จพระพุฒาจารย์ ภายหลังสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ดับเทียนชัยด้วยใบพลู เมื่อถึงปลายคาถารัตนสูตร แล้วสวด สัพ์พโรควินิมุต์โต ลงท้าย ยถา ทีโป จ นิพ์พโต เป็นเสร็จการทำน้ำมนต์ พระสงฆ์ซึ่งเข้าพระราชพิธีทั้งที่พระมหาปราสาทและที่กลางเมืองและประตูเมือง ได้ผ้าสบงองค์ละผืนทั่วกัน การอนุโมทนาวันนี้มีสัพพพุทธาภายหลังอติเรกอีกวันหนึ่ง เป็นส่วนในพระเจ้าแผ่นดิน พระสงฆ์ไปแล้วพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ แล้วทรงเจิมพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งปวง แต่น้ำนั้นใช้ในน้ำพระพุทธมนต์ในครอบพระกริ่งที่เหลืออยู่อีกมากน้อยเท่าใด ภูษามาลานำเข้ามาตั้งถวายในที่สรงข้างใน เทียนชัยซึ่งดับแล้วเหลืออยู่นั้นส่งพนักงานพระศรีหุงสีผึ้งสีพระโอษฐ์
ในเวลาวันนี้พระสงฆ์ที่เข้าในพระราชพิธีนี้กลับไปแล้ว ต้องเที่ยวประน้ำมนต์กําหนดตามหมายรับสั่งของเดิมว่า ประน้ำโปรยทรายเข้าในพระบรมมหาราชวัง พระสงฆ์ ๑๐ รูป บาตรน้ำ ๘ บาตรทราย ๒ ชาวที่ใหญ่รับบาตร รอบพระบรมมหาราชวังชั้นกลาง พระสงฆ์ ๑๐ รูป บาตรน้ำ ๘ บาตรทราย ๒ เหมือนกันเป็นแห่ง ๑ ในโรงพิธีฝั่งตะวันออก พระสงฆ์วัดสุทัศน์ ๑๒ รูป หม้อน้ำ ๑๐ บาตรทราย ๒ ประแต่วัดสุทัศน์มาถึงถนนสี่ทิศ คือแยกถนนบํารุงเมือง ถนนเฟื่องนคร แล้วแยกไปข้างเหนือ ๖ รูป ข้างใต้ ๖ รูป จนถึงป้อมสุดถนนเฟื่องนครทั้งสองข้างแห่งหนึ่ง พระสงฆ์โรงพิธีป้อมพระสุเมรุ ๖ รูป หม้อน้ำ ๕ บาตรทราย ๑ ประไปจนถึงป้อมมหากาฬแห่ง ๑ พระสงฆ์ที่โรงพิธีป้อมมหากาฬ ๖ รูป มีหม้อน้ำบาตรทรายเท่ากันกับที่ป้อมพระสุเมรุ ประไปถึงป้อมมหาชัยแห่ง ๑ พระสงฆ์ที่โรงพิธีป้อมมหาชัย ๖ รูป ประไปถึงป้อมมหาฤกษ์แห่ง ๑ พระสงฆ์ที่โรงพิธีป้อมมหาฤกษ์ ๖ รูป ประไปถึงป้อมพระสุเมรุแห่ง ๑ รวม ๕ แห่ง ผู้ถือบาตรน้ำบาตรทรายกรมพระนครบาล ในฝั่งตะวันตก พระสงฆ์ที่โรงพิธีวัดโมฬีย์โลก ๖ รูป ประไปถึงศาลหลวงเก่าแห่ง ๑ พระสงฆ์ที่โรงพิธีศาลหลวงเก่า ๖ รูป ประไปถึงโรงพิธีวัดอรุณแห่ง ๑ พระสงฆ์ที่โรงพิธีวัดอรุณ ๖ รูป ประไปถึงโรงพิธีถนนอาจารย์แห่ง ๑ พระสงฆ์ที่โรงพิธีถนนอาจารย์ ๖ รูป ประไปถึงวัดอมรินทร์แห่ง ๑ พระสงฆ์วัดอมรินทร์ ๖ รูป ประรอบพระราชวังหลังแห่ง ๑ รวม ๕ แห่ง หม้อน้ำบาตรทรายก็เท่ากับโรงพิธีประตูเมืองฝั่งตะวันออก และเป็นธุระกรมพระนครบาลรับหม้อน้ำบาตรทรายด้วยเหมือนกัน แต่การที่ประทำน้ำมนต์นอกพระราชวังนี้ จะเลิกเสียแต่เมื่อครั้งใดก็ไม่ทราบ หรือจะเป็นแต่รวมๆ กันไปเอง แต่หมายยังคงขึงแต้อยู่ตามเดิม ที่ประอยู่ทุกวันนี้มีแต่ในพระบรมมหาราชวัง พระราชาคณะ ๔ รูป บาตรน้ำ ๒ บาตรทราย ๒ ขึ้นประบนพระราชมนเทียรทุกแห่งตลอดจนที่พระบรรทม ในเวลาเย็นเจ้าพนักงานเวียนเทียนพระแท่นมณฑลสมโภชพระพุทธรูปและเครื่องราชูปโภค เป็นเสร็จการพระราชพิธี

แต่ในส่วนตรุษนั้น มีการพระราชกุศลประจําปี คือมีการทรงบาตรพระสงฆ์มากขึ้นกว่าปรกติอย่างเทศกาล และมีน้ำอบที่เรียกกันว่าแป้งสด แต่เป็นคำที่เรียกกันอย่างโบราณ ทุกวันนี้ไม่มีใครเรียก ดูกลิ่นอายเหมือนกับจะหอมเย็นๆ แต่สันนิษฐานว่าเป็นอย่างดีหรืออย่างเลวทายไม่ถูก ต้องสืบถามจึงได้ความว่าแป้งสดนั้น คือน้ำอบที่อบด้วยตะคันอย่างเช่นใช้กันอยู่ธรรมดานั้นเอง ปรุงก็ปรุงด้วยแป้งรํ่า แต่เจือน้ำดอกไม้สดลงไปเพื่อจะให้หอมเย็นหรือจะให้เปลืองน้อยอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่คงใช้เป็นน้ำอบอย่างเลว แต่ก่อนมาพนักงานในพระบรมมหาราชวัง มีคนหนึ่งเรียกว่าพนักงานแป้งสด อยู่ในบัญชีต่อท้ายพนักงานพระสุคนธ์ พระสุคนธ์นั้นเป็นน้ำอบอย่างดี แป้งสดเป็นน้ำอบอย่างเลว หน้าที่ของพนักงานแป้งสด มีอยู่สองอย่างเท่านั้น คือทำน้ำอบสำหรับสรงพระศรีมหาโพธิในเวลาตรุษคราวหนึ่ง สงกรานต์คราวหนึ่ง ทําน้ำอบที่สำหรับพระราชทานรดเจ้านาย ข้าราชการ ในเวลาสงกรานต์อย่างหนึ่ง นอกนั้นไม่มีธุระอันใด ตัวพนักงานมีมาแต่เดิม ก็ปล่อยให้อยู่ไปจนสิ้นชีวิต ครั้นเมื่อสิ้นชีวิตไปแล้วก็โปรดให้เลิกเสีย แต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว การแป้งสดตกอยู่ในพนักงานพระสุคนธ์เป็นผู้ทํา เมื่อเวลาเช้าทรงบาตรแล้ว เคยกรอกขวดคอปล้องขนาดใหญ่ ๕ ขวด ผ้าสีชมพู ๕ ผืน รองพานทอง หม้อน้าเงิน ๕ หม้อ มาตั้งถวายตัวที่ท้องพระโรงทุกวัน กําหนดมากน้อยเท่าใดนั้นจะเป็นตามจํานวนพระศรีมหาโพธิซึ่งทรงนับถือ คือวันที่หนึ่งไปสรงพระพุทธรูปและพระศรีมหาโพธิ วัดพระเชตุพนแห่ง ๑ วัดมหาธาตุ ซึ่งเรียกว่าวัดพระศรีสรรเพชญตามเดิมแห่ง ๑ วันที่สอง วัดอรุณราชวรารามแห่ง ๑ วัดสุทัศน์เทพวรารามแห่ง ๑ วันที่สาม วัดบรมนิวาสแห่ง ๑ วัดสระเกศแห่ง ๑ วัดบวรนิเวศวิหารแห่ง ๑


หัวข้อ: Re: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 23 มิถุนายน 2561 16:59:26
พระราชพิธีเดือนสี่ (ต่อ)

อนึ่งในตรุษสามวันนี้ มีตั้งศาลาฉ้อทาน ๕ ตําบล คือหน้าวัดบวรนิเวศตําบล ๑ หน้าวัดมหาธาตุ ซึ่งยังคงเรียกอย่างเก่าว่า หน้าวัดพระศรีสรรเพชญตำบล ๑ วัดสุทัศน์เทพวรารามตำบล ๑ วัดพระเชตุพนตําบล ๑ วัดอรุณราชวรารามตําบล ๑ แต่เดิมว่าในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีที่หน้าวัดราชโอรสด้วย จะเป็นเลิกที่หน้าวัดราชโอรสมาวัดบวรนิเวศหรือประการใดไม่ทราบ มีโรงปลูกขึ้นใหม่ทุกแห่ง วิเสทห้าโรง เป็นผู้ทําครัวและเป็นผู้เลี้ยง และมีผู้กํากับ คือกรมสัสดี มหาดไทย กลาโหม ชาววังตัวสี่ ชาวคลัง สรรพากร มหาดเล็ก วังนอกซ้ายขวา จ่ายข้าวสารโรงหนึ่งข้าวขาววันละ ๕ ถัง ข้าวแดงวันละ ๑๐ ถัง ห้าโรงเป็นข้าวขาววันละ ๒๕ ถัง ข้าวแดงวันละ ๕๐ ถัง สามวันเป็นข้าวขาว ๗๕ ถัง ข้าวแดง ๑๕๐ ถัง แต่ส่วนที่ซื้อกับข้าวนั้นเมื่อถึงกําหนดตรุษและสงกรานต์แล้ว ท้าวอินทร์สุริยาก็นำเงิน ๑๐ ชั่งมาถวายทรงจบพระหัตถ์ แล้วจึงไปจ่ายให้แก่นายวิเสททั้ง ๕ โรง และมีในหมายเกณฑ์ให้กรมแสงจัดมีดโกนและกรรไตรไปประจําอยู่ที่โรงทานทั้ง ๕ ตําบล สำหรับราษฎรจะได้ตัดผม ดูการที่จัดนั้นจะเป็นการสนุกอย่างศาลาฉ้อทานพระเวสสันดรอย่างเก่าๆ จะให้มีพรักพร้อมทุกอย่าง แต่การเลี้ยงทั้งปวงนั้นไม่ต้องสงสัยเลยคงเป็นอย่างสูง[๗] เป็นแน่ ของอาหารอย่างสูงเช่นนี้ต้องใช้ท้องเหล็กจึงจะพอรับรอง แต่มีที่พิเศษอยู่อย่างหนึ่ง คือเจ้านายขุนนางมักจะได้สำรับที่ท้าวอินทร์สุริยา ไปเที่ยวแจกถึงวังถึงตำหนัก ถ้าเป็นของเช่นนี้แล้วอยู่ข้างจะทำพอใช้ แต่เจ้านายที่ในวังนี้ บางแห่งก็เข้าใจกันว่าของที่ท้าวอินทร์สุริยาไปให้นั้นเป็นให้สำหรับทำบุญนำไปถวายพระสงฆ์เสียก็มี ที่จะเสวยเองนั้นมีน้อย ข้าหลวงกินนั้นมีมาก แต่ที่แท้นั้นสำหรับจะได้มาลงในริโปถหางว่าวถวายพระราชกุศล ซึ่งกรมวังสำหรับมาตะโกนตรงหน้าพระที่นั่งอย่างปลาปล่อย อ้างได้ว่าพระบรมวงศานุวงศ์เสวยเท่านั้นองค์ ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยเท่านั้น พระสงฆ์และราษฎรเท่านั้น หางว่าวถวายพระราชกุศลนี้จะเหมือนกันทุกปีหรือแปลกกันก็แคลงอยู่ เพราะไม่ใคร่จะได้ฟัง แว่วๆ บ้างก็ไม่จํา ด้วยรู้ว่าเป็นการช่างเถอะโดยมาก ได้ขอจำนวนหางว่าวที่กรมวังมาเก็บยอดบัญชีลงไว้เป็นตัวอย่างปีหนึ่งมีจำนวนดังนี้ โรงทานทั้ง ๕ โรงมีคนกินเลี้ยง ๓ วัน พระสงฆ์ ๔๑๒ สามเณร ๒๘๓ ข้าราชการ ๒๔๑ ราษฎรชายหญิง ๓๓๓ นักโทษ ๒๒๕ รวม ๑๔๙๔ จำนวนสำรับที่เลี้ยง สำรับเอก ๓๑๓ สำรับโท ๒๕๙ สำรับตรี ๓๑๒ รวม ๘๘๔ สำรับ ๚  

-------------------------------------------------------------------------------------
[๑] เมื่อทรงพระราชนิพนธ์นี้เรื่องนี้แล้วช้านาน เสด็จประพาสชวาทวีปครั้งหลัง เมื่อประทับอยู่ที่เมืองโซโลราชธานีของสุรเขต สบเวลาเจ้านครสุรเขตทำพิธีปีใหม่ พิธีนั้นมียิงปืนขับไล่แม่มดแทนปิศาจ
    ทํานองเดียวกับแบบพิธีตรุษอย่างโบราณ ทรงพระราชดำริว่าพิธียิงปืนอาฎานาที่จริงเดิมเห็นจะเป็นพิธีในอินเดีย ลังกาเป็นแต่เอาพระพุทธศาสนาเข้ามาปนในพิธี
[๒] พระยาโชฎึก (เสถียร) เป็นผู้ทําน้ำประปาจําหน่ายในสําเพ็งก่อน
[๓] เสาในพระมหาปราสาท เอาออกเมื่อพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทั้ง ๔ เสา
[๔] เพราะโปรดให้จัดเป็นการพิเศษ และมีแห่เป็นพื้น
[๕] สมเด็จพระวันรัตไปเป็นประธานทำพิธี ในพระราชวังบวรฯ
[๖] เล่นฟัน หมายความว่า เล่นตลก
[๗] คําว่าสูงตรงนี้ มาแต่ภาษาอังกฤษ หมายความว่าจวนบูด


เดือนสี่
กาลานุกาล พิธีตรุษ

๏ การพระราชกุศลกาลานุกาล ที่เรียงลงในเรื่องพิธีสิบสองเดือนแต่ก่อนว่าเกิดขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้งสิ้น ยกไว้แต่สงกรานต์นั้นเป็นการผิดไป บัดนี้ได้ความมาว่ากาลานุกาล ท้ายพระราชพิธีตรุษ พระราชพิธีสารท เข้าพรรษา ออกพรรษา และท้ายฉลองไตรปีนี้เป็นของมีมาแต่เดิม ท้ายวิสาขบูชาเกิดขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็กาลานุกาลท้ายพระราชพิธีตรุษนี้ ได้ทําในวันเดือน ๕ ขึ้นค่ำหนึ่ง ที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย มีพิธีการพระราชกุศลทั้งปวงเหมือนเช่นได้กล่าวมาแล้วในการกาลานุกาลท้ายฉลองไตร แต่พระสงฆ์ใช้พระสงฆ์กรุงเทพฯ สดับปกรณ์ ใช้ผ้าสบงผืนหนึ่ง หมากพลู ธูป เทียน ร่ม รองเท้า จำนวนพระสงฆ์รายวัดประจำพระอัฐิซึ่งสดับปกรณ์นั้น เห็นว่าความในเดือนนี้มากแล้ว จะว่าก็จะยาวหนักไป การสดับปกรณ์กาลานุกาลเดือน ๖ มีจำนวนพระเหมือนกัน จึ่งจะของดไปไว้ว่าเดือน ๖ ต่อไป

ในการพระราชพิธีเดือน ๔ กับเดือน ๕ นี้ติดเนื่องกัน เพราะตัวนักขัตฤกษ์ ที่เรียกว่าตรุษเองนั้นก็คาบปี คือวันแรม ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ขึ้นค่ำหนึ่งเสียแล้ว การจึงต้องติดเนื่องพัวพันกันไป ครั้นจะตัดเอาสงกรานต์เป็นเดือน ๕ ก่อนสงกรานต์เป็นเดือน ๔ ตามความจริงซึ่งเป็นอยู่ดังนั้น คือถือน้ำในเดือน ๕ ก็เรียกว่าถือน้ำพระราชพิธีตรุษ เป็นต้น ก็จะต้องว่าตลอดจนคเชนทรัศวสนานซึ่งเป็นคู่กัน จะชักให้ยืดยาวเหลิงเจิ้งมากแล้วจะต้องฝืนชื่อเดือนอยู่ ครั้นจะตัดเอาแรม ๑๕ ค่ำ และขึ้นค่ำหนึ่งให้ขาดเป็นรายเดือนไป การพระราชกุศลในกระบวนตรุษก็ขนาบคาบเกี่ยวกัน จึงได้ขอแบ่งการวันใด ซึ่งเห็นว่าควรจะว่าในเดือน ๔ เสียให้เสร็จทีเดียวเช่นกาลานุกาล เพราะเป็นของต่อพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ก็จะว่าเสีย ที่เป็นเรื่องยืดยาวตั้งแต่การปีใหม่เป็นต้น ขอตัดไปไว้เดือน ๕

การที่ควรจะตักเตือนนั้น ที่เป็นข้อสำคัญยิ่งใหญ่เกือบจะว่าไม่ใคร่จะมีปีที่พร้อมเพรียงได้นั้น คือ วันแรม ๑๒ ค่ำ เวลาเช้าจุดเทียนชัย ถ้าไม่ทรงพระประชวรหรือไม่มีที่เสด็จพระราชดำเนินแห่งใด จะเสด็จพระราชดําเนินในการพระราชพิธีนั้นไม่ได้ขาดเลย แต่ก่อนมามหาดเล็กมักจะโรเรไม่ใคร่มีใครมา จะเรียกโคมไฟฟ้าซึ่งสำหรับจุดชนวนเทียนชัยไม่ใคร่จะได้ วิ่งกันตังตังตังเปล่าไป ขอให้จําไว้ว่าวันนั้นแล้วเป็นโคมไฟฟ้าขาดไม่ได้ และวัน ๑๔ ค่ำ เป็นหน้าที่ของมหาดเล็ก ซึ่งจะต้องถวายเทียนทอง ๔ เล่ม และโคมไฟฟ้าด้วยเหมือนกัน หน้าที่กรมภูษามาลาก็มีหลายแห่ง แต่อยู่ข้างจะดีไม่สู้จะขาดนัก คือในวัน ๑๔ ค่ำนั้น ต้องเชิญพระมหาสังข์และพระธํามรงค์มาตั้งไว้ที่ที่ทรงกราบ เมื่อเจ้าเกศากันต์แล้วต้องเชิญพระมหาสังข์ลงไปพระราชทานที่สรงอีกครั้งหนึ่ง เมื่อสรงแล้วต้องเชิญพระมหาสังข์ขึ้นมาตั้งไว้ที่โต๊ะข้างพระเก้าอี้ ต้องมีใบมะตูมด้วย แต่ใบมะตูมนี้ภูษามาลาค่อนอยู่ข้างจะเคอะเหลือที่จะเคอะ ถ้าได้จะเก็บใบอ่อนก็อ่อนจนเป็นสีแดงพับไปพับมา ถ้าได้จะแก่ก็เป็นเขียวแข็งกราก ถ้าได้จะโตก็โตจนกว้างเกือบนิ้วกึ่ง ถ้าได้จะเล็กก็จนพอผลิออกมาเป็นสามใบ เกิดมาเป็นภูษามาลาเห็นเก็บใบมะตูมเป็นอันอย่างยิ่งเป็นนิจนิรันดร์ ไม่ได้เคยเหมาะแต่สักครั้งเดียว ควรจะไปขอทานพราหมณ์หรือไปเรียนตำราเก็บใบมะตูมมาเสียให้ได้จะดีขึ้น เมื่อพระราชทานน้ำเจ้าซึ่งขึ้นมาเฝ้าบนพระมหาปราสาทแล้ว ต้องเก็บพระมหาสังข์และพระมหาธำมรงค์ขึ้นตั้งที่เดิม เวลาค่ำเมื่อสวดธรรมจักรและสมัยต้องเชิญพระมหาสังข์ถวายสำหรับทรงรดน้ำและเจิมปืน วัน ๑๕ ค่ำ เวลาเช้าต้องเชิญครอบพระกริ่งลงมาตั้งไว้ที่ที่ทรงกราบ และเชิญหรือคอยรับพระมหาสังข์ ซึ่งพระราชทานน้ำพระบรมวงศานุวงศ์แล้วขึ้นตั้งไว้ที่ ถ้าไม่ได้เสด็จพระราชดําเนินออกพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ต้องเชิญพระครอบพระกริ่งถวายพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ทรงดับเทียน ในเวลาดับเทียนชัยแล้ว เชิญพระครอบและพระมหาสังข์มาคอยถวายที่ท้องพระโรงพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

ในวัน ๑๔ ค่ำเวลาเย็น เสด็จพระราชดำเนินออกทอดพระเนตรแห่พระ ข้าราชการตํารวจมหาดเล็กต้องสวมมงคลแต่เวลาเย็น แต่พระบรมวงศานุวงศ์ไปสวมต่อเสด็จขึ้นไปเฝ้าบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท การอื่นๆ อันใดไม่ใคร่จะมีขาดนัก ถึงพระเต้าษิโณทกที่พระมหาปราสาทนี้มหาดเล็กอยู่ข้างจะดีกว่าทุกแห่ง เพราะมิใช่เวลาแต่งตัว ถ้าถูกเสื้อเยียรบับแล้วจะอยู่ข้างวุ่นๆ เสมอไป เพราะมัวมองดูหน้าอกเนืองๆ จึงได้เผลอ ๚



หัวข้อ: Re: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 27 มิถุนายน 2561 19:56:42
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/66283886507153_CX_EV_CR91_1_.jpg) (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/99790366035368_35927174_410501056132247_38455.jpg)

พระราชพิธีเดือนห้า
• การสังเวยเทวดา สมโภชเครื่อง เลี้ยงโต๊ะปีใหม่ • พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล
• พระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน • พิธีทอดเชือก ดามเชือก
• แห่สระสนานใหญ่ • คเชนทรัศวสนาน
• พิธีสงกรานต์ • การพระราชกุศลก่อพระทรายและตีข้าวบิณฑ์
• คำตักเตือนวันมหาสงกรานต์  

-----------------------------------

๏ การพระราชพิธีในเดือน ๕ ได้กล่าวไว้แล้วว่าจําเป็นจะต้องเกี่ยวท้ายพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ในเดือน ๔ เพราะการในวันขึ้นค่ำหนึ่งเดือน ๕ ซึ่งได้แบ่งว่าไปแล้วบ้าง เช่นการพระราชกุศลกาลานุกาล แต่ส่วนการซึ่งออกชื่อว่าเป็นสำหรับปีใหม่ที่เกี่ยวอยู่ในการพระราชพิธี คือการสังเวยเทวดาและเลี้ยงโต๊ะ กับทั้งการซึ่งอยู่ในเดือน ๕ แท้ แต่เรียกติดท้ายพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ เช่นถือน้ำตรุษ ได้ยกมาไว้ในเดือน ๕

การพระราชพิธีในเดือน ๕ ที่มีมาในกฎมนเทียรบาลไปเริ่มกล่าวถึงการออกสนามใหญ่ คือสระสนานหรือคเชนทรัศวสนานทีเดียว หาได้กล่าวถึงการเถลิงศกสงกรานต์ที่เป็นส่วนพระราชกุศลอย่างใดไม่ ส่วนจดหมายถ้อยคําขุนหลวงหาวัดซึ่งเป็นคู่ยันกัน ก็หาได้กล่าวถึงการพระราชพิธีทอดเชือกตามเชือก สระสนานหรือคเชนทรัศวสนานในเดือน ๕ ไม่ ไปกล่าวถึงแต่การพระราชกุศลสงกรานต์อย่างเดียว พิเคราะห์ดูโดยอนุมานเห็นว่ากฎมนเทียรบาลเป็นธรรมเนียมเก่า ชั้นต้นการพระราชกุศลอยู่ข้างจะห่างเหินไม่ใคร่จะมีมากนัก การพิธีอันใดยังไต่ตามทางลัทธิพราหมณ์มากกว่าที่เจือปนพระพุทธศาสนา เป็นต้นว่าการบรมราชาภิเษก เมื่อสอบสวนดูโดยละเอียดตามพระราชพงศาวดาร ก็เห็นได้เป็นแน่ว่าตลอดลงมาจนแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถมหาราช การบรมราชาภิเษกหาได้เกี่ยวด้วยพระราชพิธีสงฆ์ไม่ แต่จะวินิจฉัยให้ละเอียดในที่นี้ก็จะชักให้ยาวความไป เพราะเป็นเหตุที่เพียงแต่ยกมาเปรียบ เมื่อมีโอกาสอื่นซึ่งสมควรจะอธิบายข้อความนั้นให้แจ่มแจ้งจึ่งจะอธิบายภายหลัง คงต้องการในที่นี้เพียงว่าการพระราชพิธีซึ่งเจือปนเป็นการพระราชกุศล พึ่งจะมามีชุกชุมขึ้นเมื่อเปลี่ยนบรมราชวงศ์เชียงรายแล้วโดยมาก เพราะฉะนั้นในกฎมนเทียรบาลจึงหาได้กล่าวการพระราชกุศลในเดือนห้านี้ไม่ ส่วนจดหมายขุนหลวงหาวัดซึ่งมิได้กล่าวถึงการสระสนาน หรือคเชนทรัศวสนานนั้นเล่า ก็เป็นด้วยหนังสือนั้นกล่าวถึงปัจจุบันกาล ในเวลาอายุของท่านผู้แต่ง การพระราชพิธีสระสนานในชั้นหลังลงมาตลอดจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์นี้ เกือบจะมีแผ่นดินละครั้งคล้ายๆ กับสักกลับ[๑]  เดินสวนเดินนา ที่จะได้ซ้ำสองไม่มี มีแต่เว้นว่างไปไม่แห่ การคเชนทรัศวสนานซึ่งแห่กันอยู่ปรกติทุกวันนี้ เป็นการเกิดขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๔ เพราะฉะนั้นก็น่าที่ขุนหลวงหาวัดจะไม่ได้เคยเห็นสระสนานหรือเห็นแต่จําไม่ได้เลย และถือว่าไม่เป็นพระราชพิธีประจำเดือน จึ่งได้ยกเสียมิได้กล่าว กล่าวถึงแต่การพระราชกุศลสงกรานต์ ซึ่งเป็นการใหม่ทำอยู่ในเวลานั้น

แต่การถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาคงมีกล่าวทั้งสองแห่ง แต่ในกฎมนเทียรบาลหาได้กล่าวไว้ในพิธีประจำเดือนไม่ เห็นจะเป็นเพราะปีหนึ่งสองคราวเหมือนกัน จึงยกไปไว้เป็นเอกเทศต่างหาก แต่ข้อความที่มีอยู่นั้นก็สั้น ว่าแต่เพียงกําหนดตําแหน่งถือน้ำฝ่ายในหรือในราชตระกูล คือว่า “พระภรรยาเจ้าทั้งสี่ พระราชกุมาร พระราชนัดดา ถวายบังคมถือน้ำในหอพระ กว่านั้นนั่งในมังคลาภิเษก” ดูเป็นว่าด้วยธุระของกรมวังเป็นการในพระราชมนเทียรอย่างเดียว แต่ส่วนจดหมายขุนหลวงหาวัดนั้นก็ยกความเรื่องถือน้ำไปว่านอกพระราชพิธี มีเค้ารูปความคล้ายคลึงกับที่ได้ยินเล่ากันมาบ้าง แต่พิสดารฟั่นเฝือเหลือเกินจนจับได้ชัดเสียแล้วว่ามีผู้แทรกแซมความแต่งขึ้นใหม่ ด้วยเหตุว่าพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนหาได้เสด็จพระราชดําเนินออกให้ข้าราชการถวายบังคมถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาถึงวัดไม่ พึ่งจะมาเกิดธรรมเนียมนี้ขึ้นในรัชกาลที่ ๔ ก็เหตุใดในคําให้การขุนหลวงหาวัด จึงได้เล่าเหมือนหนึ่งเกิดในรัชกาลที่ ๔ ในกรุงรัตนโกสินทร์จนแต่งตัวแต่งตน และมีเสด็จโดยกระบวนพระยุหยาตราวุ่นวายมากไป ซึ่งไม่ได้เคยมีมาแต่ก่อนเลยดังนี้ ก็เห็นว่าเป็นอันเชื่อไม่ได้ในตอนนั้น พึ่งมีปรากฏในฉบับที่ตีพิมพ์นี้ฉบับเดียว[๒]สำนวนที่เรียงก็ผิดกับอายุขุนหลวงหาวัด ถ้าของเดิมขุนหลวงหาวัดได้กล่าวไว้ถึงเรื่องนี้จริง เมื่อเราได้อ่านทราบความก็จะเป็นที่พึงใจเหมือนหนึ่งทองคําเนื้อบริสุทธิ์ ซึ่งเกิดจากตำบลบางตะพาน เพราะท่านเป็นเจ้าแผ่นดินเอง ท่านกล่าวเองก็ย่อมจะไม่มีคลาดเคลื่อนเลย แต่นี่เมื่อมีผู้ส่งทองให้ดูบอกว่าทองบางตะพาน แต่มีธาตุอื่นๆ เจือปนมากจนเป็นทองเนื้อต่ำ ถึงว่าจะมีทองบางตะพานเจืออยู่บ้างจริงจะรับได้หรือว่าทองทั้งก้อนนั้นเป็นทองบางตะพาน ผู้ซึ่งทําลายของแท้ให้ปะปนด้วยของไม่แท้เสียเช่นนี้ ก็เหมือนหนึ่งปล้นลักทรัพย์สมบัติของเราทั้งปวง ซึ่งควรจะได้รับแล้วเอาสิ่งที่บริสุทธิ์ลงเจือปนเสียจนขาดประโยชน์ไป เป็นที่น่าเสียดายยิ่งนักไม่ควรเลยที่ผู้ใดซึ่งรู้สึกตัวว่าเป็นผู้รักหนังสือจะประพฤติเช่นนี้ หนังสือนี้จะเคลื่อนคลาดมาจากแห่งใดก็หาทราบไม่ แต่คงเป็นของไม่บริสุทธิ์ซึ่งเห็นได้ถนัด

บัดนี้จะขอแยกข้อความออกว่าตามลำดับ ซึ่งได้เรียงมาตามอย่างแต่ก่อนนั้น แยกข้อความพิสดารของการเก่าใหม่ไว้เป็นหมวดๆ ตามรายวันของการพระราชพิธีและการพระราชกุศลนั้นๆ การในเดือน ๕ เริ่มต้น  :-

  
-------------------------------------------------------------------------------------
[๑] สักกลับ คือวิธีสักไพร่หมายหมู่ ถ้าแผ่นดิน ๑ สักท้องแขน ถึงแผ่นดินใหม่สักหลังแขน กลับกันให้สังเกตง่าย
[๒] คําให้การขุนหลวงหาวัดฉบับนี้พิมพ์ที่โรงพิมพ์หมอสมิธ เมื่อปีมะแม จุลศักราช ๑๒๔๕ พ.ศ.๒๔๒๖


เดือนห้า
การสังเวยเทวดา สมโภชเครื่อง เลี้ยงโต๊ะปีใหม่

๏ การสมโภชเครื่องในท้ายพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ เป็นธรรมเนียมมีมาแต่เดิม แต่ครั้นเมื่อถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดําริเสาะหาแบบอย่างการพระราชพิธีต่างๆ ซึ่งมีในกฎมนเทียรบาล มาประกอบกับธรรมเนียมใหม่ๆ แล้วตั้งขึ้นเป็นแบบอย่างย่อๆ ต่อมามีหลายอย่าง แต่ในการเรื่องเลี้ยงโต๊ะนี้ เกิดขึ้นด้วยการสมโภชเลี้ยงลูกขุน มีในพระราชพิธีเก่าๆ หลายแห่ง มีการบรมราชาภิเษกเป็นต้น ทรงเห็นว่าตรงกันกับเรื่องเลี้ยงโต๊ะอย่างฝรั่ง ก็ดูเป็นการน่าเล่นอยู่ เพราะได้ทั้งการเก่าการใหม่ เป็นเหตุให้เกิดความสมัคสโมสรพร้อมมูลกัน จึงได้ทรงตั้งแบบขึ้นในวันขึ้นค่ำหนึ่งเดือน ๕ นี้ เวลาเช้ามีการพระราชกุศลสดับปกรณ์พระบรมอัฐิ ยกไปทําที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เวลาค่ำว่างอยู่ จึงให้เชิญพระสยามเทวาธิราชซึ่งตั้งอยู่ในพระราชพิธีแล้วนั้น ออกมาตั้งที่บุษบกมุขเด็จพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และให้เชิญเจว็ดมุกกับทั้งเทวรูปที่หอแก้วมาตั้งด้วย ตั้งเครื่องสังเวยโต๊ะจีนเรียงติดๆ กันสามโต๊ะ ที่พื้นชาลาหน้ามุขเด็จตั้งพระแท่นเป็นราชอาสน์ตรงอัฒจันทร์ข้างตะวันออกมุขเหนือ แล้วกั้นฝาเฟี้ยมเสมอหน้าทิมคดเป็นฉากโรงละคร กั้นรอบทิมคดเป็นในโรง มีละครหลวงเล่นเรื่องต่างๆ คือจับต้นมีพระและนางออกจุดเทียนแล้วรําดอกไม้เงินทอง พระสองคราวหนึ่ง นางสองคราวหนึ่ง ต่อไปเป็นจับลิงหัวค่ำเป็นอย่างที่เล่นยืนเสมอทุกปี ต่อนั้นไปบางทีเป็นพระรามเข้าสวนพิราพบ้าง เป็นนนทุกบ้าง เรื่องสั้นๆ คล้ายๆ เรื่องเบิกโรง เปลี่ยนกันไปเป็นปีๆ เล่นกลางแจ้ง แล้วให้ตั้งโต๊ะเลี้ยงเครื่องต้นกับพระเจ้าลูกเธอ ตั้งบนพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ เจ้านายโต๊ะหนึ่ง ข้าราชการผู้ใหญ่ชั้นเสนาบดีโต๊ะหนึ่ง ชั้นพระยาและพระที่สำคัญโต๊ะหนึ่ง หลวงโต๊ะหนึ่ง ขุนโต๊ะหนึ่ง แต่โต๊ะฝรั่งนั่นไม่แน่ เดิมก็มีโต๊ะเดียว เป็นโต๊ะยาวกว่าทั้งปวง ตั้งริมโรงละคร ดูก็เรียบร้อยกันมาได้หลายปี ภายหลังเกิดเหตุขึ้นที่มีกงสุลถือตัว ว่าต้องนั่งโต๊ะเจือปนกับคนเลวๆ พากันกลับไปเสียไม่ยอมนั่ง จึงได้แยกใหม่เป็นสองโต๊ะ โต๊ะหนึ่งเป็นสำหรับกงสุล โต๊ะหนึ่งสำหรับพ่อค้ามิชชันนารีบาทหลวง พวกพ่อค้าก็เกิดอาละวาดกันขึ้นอีก ว่าตัวเคยนั่งได้กับกงสุล ทําไมจึงต้องแยกย้ายกัน กลับไปเสียบ้าง คงอยู่บ้าง ข้างฝ่ายกงสุลกับกงสุลเองก็เกิดรังเกียจว่าเป็นกงสุลดิปโลมาติก กงสุลพ่อค้า บางคนก็ยอมนั่ง บางคนก็ไม่ยอมนั่ง ภายหลังแยกออกไปอีกเป็นสี่โต๊ะห้าโต๊ะ ก็วุ่นวายกันอยู่เสมอไม่มีที่สุดลงได้ ด้วยการที่เชิญนั้นไม่ได้เชิญเฉพาะว่าตัวผู้หนึ่งผู้ใด บอกไปตามกงสุลทุกๆ กงสุลตามแต่จะพาใครมาก็มากันหมดๆ เมืองทุกคราว แต่คําที่ว่าหมดเมืองนี้หน่อยจะเข้าใจกันว่ามากไป หมดที่มีในเมืองไทยประมาณสักหกสิบคนเท่านั้น แต่วิวาทกันเหลือเกินไม่ได้หยุดหย่อนเลย คงเรียบร้อยดีอยู่แต่พวกมิชชันนารีกับพวกบาทหลวง จึงต้องตกลงเป็นอันเลิกเสียด้วยความรำคาญก่อนสิ้นรัชกาลหลายปี คงเลี้ยงแต่เจ้านายขุนนางข้าราชการ เครื่องโต๊ะที่เลี้ยงนั้นก็เป็นอย่างเก่าๆ กับข้าวไทยบ้าง จีนบ้าง ฝรั่งบ้าง ทั้งหวานทั้งคาวตั้งพร้อมกันเต็มบนโต๊ะ มีมีดซ่อมช้อนตะเกียบสำรับเดียว ดูก็เป็นการอย่างเบื่อๆ กันอยู่ไม่สู้สนุกสนานอันใด เวลาเมื่อทรงจุดเทียนสังเวยแล้วทรงเจิมเครื่องที่พระแท่นและเจิมเทวรูปด้วย เสด็จขึ้นอยู่ใน ๕ ทุ่ม หรือ ๒ ยาม ครั้นเมื่อแผ่นดินปัจจุบันนี้ในปีแรกพระบรมศพอยู่บนพระมหาปราสาท การพระราชพิธีย้ายไปทำที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ท่านผู้เป็นประธานในราชการเวลานั้น ต่างคนต่างเบื่อเลี้ยงโต๊ะ ต้องอดตาหลับขับตานอน ก็ตกลงพร้อมใจกันขอให้เลิกเสีย การเลี้ยงโต๊ะใหญ่ตามซึ่งเกิดขึ้นในรัชกาล ๔ จึงได้เป็นอันเลิกสูญไปแต่นั้นมา

ครั้นต่อมาภายหลัง เมื่อใช้ธรรมเนียมฝรั่งชุกชุมนั้น มีการเลี้ยงโต๊ะในวังเนืองๆ จนถึงปีจอ ฉศก ๑๒๓๖ เมื่อย้ายมาอยู่พระที่นั่งนี้[๑] จึงได้เกิดการเลี้ยงปีใหม่ขึ้นเป็นคราวแรก แต่เลี้ยงเฉพาะพระบรมวงศานุวงศ์ประมาณหกสิบพระองค์ตลอดมา เว้นไว้แต่ปีใดซึ่งมีเหตุการณ์ขัดข้องก็เลื่อนไปเป็นสงกรานต์บ้าง ยกเสียทีเดียวบ้าง บางปีก็มีแต่งพระองค์ต่างๆ ตามซึ่งเรียกอย่างฝรั่งว่าแฟนซีเดรสส์ บางปีก็แต่งพระองค์ตามธรรมเนียม และมีการเล่นต่างๆ ต่อเวลาเลี้ยงโต๊ะแล้วเป็นอย่างเล่นโยนน้ำบ้าง เล่นกลบ้าง เล่นเธียเต้อร์บ้าง มีแฟร์ขายของครั้งหนึ่งเมื่อปีกุนนพศก ๑๒๔๙ มีละครที่หน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในเวลาค่ำด้วยทุกคราว และในเวลาที่เลี้ยงปีใหม่นี้ มีฉลากของพระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์ที่มานั่งโต๊ะด้วยทุกๆ พระองค์ และมีขนมพระราชทานเจ้านายข้าราชการในหมู่กรมต่างๆ หลายแห่ง การบางปีก็สนุกครึกครื้นมาก บางปีก็ไม่สู้สนุกครึกครื้น บางปีก็ประชุมกันอยู่จนเวลารุ่งเช้า บางปีก็เลิกไปในเวลาดึก

อนึ่ง การสังเวยเทวดา ซึ่งเคยมีที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทแต่ก่อนนั้น ก็โปรดให้มีตามเคย แต่ย้ายไปทําเวลาเช้า ที่พระที่นั่งทรงธรรมในพระบรมมหาราชวัง มีเครื่องสังเวยและละครหลวงซึ่งยังเหลืออยู่ ออกมาจุดเทียนคู่หนึ่ง แล้วต่อไปก็หาละครผู้มีบรรดาศักดิ์มาเล่น จนตลอดเวลากลางวัน พอต่อกันกับการเลี้ยงเวลากลางคืน การปีใหม่เป็นเสร็จกันในวันเดียวนั้น
 

-------------------------------------------------------------------------------------
[๑] คือย้ายมาประทับหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เวลานั้นเรียกว่าพระที่นั่งใหม่


เดือนห้า
พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล
(ถือน้ำพิพัฒน์สัจจา)

๏ เป็นพระราชพิธีใหญ่สำหรับแผ่นดินมีสืบมาแต่โบราณ ไม่มีเวลาเว้นว่าง มีคําอ้างถึงว่าเป็นพิธีระงับยุคเข็ญของบ้านเมือง กําหนดมีปีละสองครั้ง คือในเดือน ๕ ขึ้น ๓ ค่ำครั้งหนึ่ง เดือน ๑๐ แรม ๑๓ ค่ำครั้งหนึ่ง

เมื่อจะคิดหาต้นเหตุการถือน้ำให้ได้ความว่า เหตุใดเมื่อให้คนอ่านคําสาบานทําสัตย์แล้วจึงต้องให้ดื่มน้ำชำระพระแสงด้วยอีกเล่า ก็เห็นว่าลัทธิที่ใช้น้ำล้างอาวุธเป็นน้ำสาบานนี้ ต้นแรกที่จะเกิดขึ้นด้วยการทหาร เป็นวิธีของขัตติย หรือกษัตริย์ ที่นับว่าเป็นชาติทหารในจำพวกที่หนึ่งของชาติ ซึ่งแบ่งกันอยู่ในประเทศอินเดีย คล้ายกันกับไนต์ของอังกฤษ หรือสมุไรของญี่ปุ่น ชาติขัตติยเป็นชาติที่ไม่ได้หากินด้วยการค้าขายไถหว่านปลูกเพาะ หรือรับไทยทานจากผู้ใดผู้หนึ่งให้ ย่อมหาเลี้ยงชีวิตด้วยคมอาวุธ แต่มิใช่เป็นผู้ร้ายเที่ยวลอบลักทําโจรกรรม ใช้ปราบปรามโดยตรงซึ่งหน้าให้ตกอยู่ในอำนาจ แล้วและได้ทรัพย์สมบัติโดยผู้ซึ่งกลัวเกรงกำลังอำนาจยกยอให้ แต่การที่ประพฤติเช่นนี้ เมื่อว่าโดยอย่างยิ่งแล้วก็อยู่ในเป็นผู้ร้ายนั้นเอง แต่เป็นผู้ร้ายที่มีความสัตย์ และคิดแบ่งการที่ตัวประพฤติ (ถึงแม้ว่าไม่เป็นธรรมแท้ของโลก) ออกเป็นสองภาค ภาคหนึ่งถือว่าการซึ่งตนจะกระทำเช่นนั้นไม่เป็นการผิดธรรม ภาคหนึ่งถ้าตนจะกระทำเช่นนั้นเป็นการผิดธรรม คำว่าธรรมในที่นี้เป็นธรรมของชาติขัตติย มิใช่ธรรมของโลก เมื่อว่าเท่านี้จะยังเข้าใจยาก จะต้องยกตัวอย่างให้เห็นหน่อยหนึ่ง ว่าตามลัทธิความประพฤติของชาติขัตติยโบราณ คือเหมือนหนึ่งว่าผู้มีอำนาจเป็นชาติขัตติยใต้ปกครองแผ่นดิน ทราบว่าลูกสาวของขัตติยเมืองอื่นมีอยู่สมควรแก่ตน ตนยังไม่มีคู่ซึ่งจะได้อภิเษก เมื่อไปขอบิดามารดาของหญิงนั้นไม่ยอมให้ ขัตติยผู้ที่ไปสู่ขอถือว่าการที่ตัวคิดนั้นเป็นการชอบธรรม ด้วยใช่ว่าจะเอามาทําอันตรายอย่างหนึ่งอย่างใด ประสงค์จะมายกย่องให้เป็นใหญ่โต บิดามารดาของหญิงที่ไม่ยอมให้นั้นหมิ่นประมาทต่อผู้ซึ่งไปสู่ขอ เป็นการประพฤติผิดธรรมประเพณี เพราะไม่รักษากิริยาอันดีต่อกัน ผู้ซึ่งไปสู่ขอสามารถที่จะประกาศแก่ทหารของตัว ว่าการซึ่งตัวประพฤตินั้นเป็นการชอบธรรม แต่บิดามารดาของหญิงประพฤติไม่ชอบธรรม จะต้องยกไปรบชิงเอานางนั้นให้จงได้ แล้วก็ยกกองทัพไปทําลายบ้านเมืองนั้นเสียได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการผิดธรรม หรือเมื่ออยู่ดีๆ เชื่อตัวว่ามีวิชาความรู้ กําลังวังชาแข็งแรง ยกไปชวนพระราชาที่เป็นชาติขัตติยอื่นซึ่งเสมอๆ กัน ให้มาต่อสู้ลองฝีมือกัน เมื่อผู้ใดแพ้บ้านเมืองก็เป็นสินพนัน ก็ถือว่าการซึ่งขัตติยผู้ไปชวนนั้นไม่ได้ประพฤติผิดธรรมเหมือนกัน

ก็ถ้าขัตติยนั้นไปพบลูกสาวชาวบ้านซึ่งเป็นชาติต่ำมีกําลังน้อยไม่สามารถที่จะต่อสู้ ฉุดชิงมาด้วยอำนาจและกําลังพวกมาก หรือเห็นคนยากไร้เดินอยู่ตามถนน เอาศัสตราวุธประหารให้ถึงแก่ความตายหรือป่วยลำบาก ขัตติยผู้ซึ่งประพฤติการทั้งสองอย่างนี้เป็นประพฤติผิดธรรม การยุติธรรมและไม่เป็นยุติธรรม หรือต้องด้วยธรรมและไม่ต้องด้วยธรรมของพวกขัตติยนั้นเป็นดังนี้ จึงกล่าวว่ามิใช่ยุติธรรมของโลก

เมื่อขัตติยทั้งปวงประพฤติในการซึ่งถือว่าเป็นธรรมและใช่ธรรมอยู่เช่นนี้ ผู้ใดมีวิชาชำนิชํานาญในการใช้ศัสตราวุธและพวกพ้องมาก พวกพ้องเหล่านั้น ก็ย่อมถือการชํานิชำนาญในศัสตราวุธเป็นที่ตั้ง ปราบปรามขัตติยทั้งปวงให้ตกอยู่ในใต้อำนาจได้มาก คนทั้งปวงก็ย่อมเป็นที่หวาดหวั่นกลัวเกรง จึงยกขึ้นให้เป็นพระราชาสำหรับที่จะได้ดูแลบังคับผิดและชอบในบ้านเมือง แล้วแบ่งสรรปันส่วนทรัพย์สมบัติอันตนหาได้ให้เป็นเครื่องเลี้ยงอุดหนุนแก่ขัตติยผู้เป็นพระราชานั้น ด้วยเหตุว่าขัตติยเป็นผู้ถือลัทธิว่าหาเลี้ยงชีวิตด้วยคมอาวุธเช่นนี้ จึงเป็นที่คนทั้งปวงยําเกรงมากกว่าตระกูลอื่นๆ คนทั้งปวงจึงมักจะเลือกตระกูลขัตติยขึ้นเป็นพระราชา ด้วยความเต็มใจหรือความจําเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง มากกว่าที่จะเลือกตระกูลอื่นๆ มีชาติพราหมณ์เป็นต้นขึ้นเป็นพระราชา จนภายหลังมาคําซึ่งว่าขัตติยหรือกษัตริย์ ในประเทศไทยเรามักจะเข้าใจกันว่าเป็นชื่อแห่งพระราชา หรือพระเจ้าแผ่นดิน แต่ที่แท้เป็นชื่อแห่งชาติตระกูลของคนพวกหนึ่ง มิใช่เป็นชื่อยศของพระราชาเลย เป็นเพราะเหตุที่ชาตินี้ตระกูลนี้ได้เป็นพระราชามากกว่าชาติอื่นตระกูลอื่น แล้วเป็นพระราชาสืบตระกูลต่อๆ กันไป ก็ยังคงเป็นชาติขัตติยอยู่ทุกชั่วทุกชั้น คําที่เรียกพระราชากับที่เรียกขัตติยจึงปนกันไปเท่านั้น

ก็เมื่อชาติขัตติยถือว่าคมอาวุธเป็นทางหากินเช่นนี้แล้ว ก็เป็นการจําเป็นที่จะเสาะแสวงหาศัสตราอาวุธที่เป็นอย่างดีวิเศษ สำหรับตัวที่จะได้ใช้ให้คล่องแคล่วสมดังประสงค์ อาวุธนั้นย่อมเป็นที่รักยิ่งกว่าทรัพย์สมบัติอื่นๆ มีไม่วางห่างกายเลยเป็นต้น และเมื่อถืออาวุธนั้นไปทํายุทธสงครามกับผู้ใดได้ชัยชนะ ก็ย่อมถือว่าอาวุธนั้นเป็นของดีมีคุณวิเศษ เมื่อมีเหตุการณ์อันใดซึ่งควรจะประกอบให้เห็นได้เป็นอัศจรรย์ ก็พาให้เห็นได้ว่าอาวุธนั้นมีสิ่งซึ่งสิ่งรักษา เป็นเครื่องช่วยกําลังตัวที่จะประหัตประหารแก่ศัตรู เมื่อมีผู้ใดมาอ่อนน้อมยินยอมอยู่ในใต้อำนาจ จึงได้เอาอาวุธนั้นล้างน้ำให้กินเป็นคู่กับคําสาบาน เพราะเชื่อว่าอาวุธนั้นสามารถที่จะลงโทษแก่ผู้ซึ่งคิดประทุษร้ายตนอย่างหนึ่ง เพราะรักเกือบจะเสมอด้วยตนเองและวางอยู่ใกล้ๆ ตัวที่จะหยิบง่ายกว่าสิ่งอื่น จึงได้หยิบอาวุธนั้นออกให้ผู้ซึ่งมายินยอมอยู่ใต้อำนาจทำสัตย์ การซึ่งทำสัตย์กันเช่นนี้ในชั้นแรกคงจะได้ทำสัตย์กันในเวลาอยู่ที่สนามรบ มากกว่าเวลาที่อยู่ในบ้านเมืองโดยปรกติ เมื่อใช้ลงเป็นตัวอย่างครั้งหนึ่งแล้วก็ใช้ต่อๆ ไป จึงเห็นว่าการซึ่งถือน้ำด้วยอาวุธนี้คงจะเกิดขึ้นด้วยชาติขัตติยเป็นต้น ถ้าพราหมณ์เป็นพระราชาบางที่จะถือน้ำด้วยคัมภีร์เวทได้บ้างดอกกระมัง

แต่ยังมีเรื่องประกอบอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ในคำประกาศคเชนทรัศวสนาน ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในภายหน้า ว่าด้วยน้ำล้างพระแสงขรรค์ชื่อทีฆาวุ นับว่าผู้ได้กินนั้นได้รับความสวัสดิมงคลคล้ายน้ำมนต์ ซึ่งถือเช่นนี้เห็นจะเป็นเกิดภายหลังเหตุที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว เพราะฉะนี้การถือน้ำจึงต้องใช้พระแสงชุบน้ำให้บริโภคด้วย เป็นแบบมาแต่โบราณ

ครั้นเมื่อประเพณีการถือน้ำ ต้องการที่จะใช้ขึ้นในประเทศอื่นๆ ซึ่งอยู่ใกล้เคียงประเทศอินเดีย รับธรรมเนียมอินเดียมาใช้เป็นประเพณีบ้านเมือง หรือบางเมืองก็มีเรื่องกล่าวว่า พวกขัตติยซึ่งได้เป็นพระราชาในประเทศอินเดียนั้น ด้วยหลบหลีกข้าศึกศัตรู มาสร้างพระนครใหม่บ้าง ด้วยคิดอ่านแผ่อาณาเขตออกมาตั้งอยู่นอกประเทศอินเดียบ้าง ก็ยกเอาแบบอย่างถือน้ำด้วยอาวุธนี้มาตั้งลงในประเทศที่ใกล้เคียงเป็นต้นเดิม เมื่อต่อมาถึงผู้มีบุญวาสนาจะตั้งตนขึ้นเป็นใหญ่ในแผ่นดิน โดยจะไม่ได้เป็นขัตติยสืบแซ่ตระกูลมาแต่ประเทศอินเดีย เมื่อมีอํานาจเป็นพระราชาปกครองแผ่นดินขึ้น คนทั้งปวงก็ย่อมสมมติตระกูลนั้นว่าเป็นขัตติยตระกูล จึงได้ประพฤติตามขัตติยประเพณี คือใช้อาวุธเป็นเครื่องล้างน้ำให้คนบริโภคแสดงความซื่อสัตย์สุจริต ลัทธิแสดงความสัตย์เช่นนี้ก็มีแต่ในประเทศทั้งปวง ซึ่งถือว่าพระราชากับราชตระกูลเป็นขัตติย ไม่ตลอดทั่วไปในประเทศอื่น เช่นเมืองจีนหรือเมืองแขกอื่นๆ ซึ่งถือศาสนามะหะหมัด เป็นต้น

การถือน้ำที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ นี้มีห้าอย่าง คือถือน้ำแรกพระเจ้าแผ่นดินได้รับราชสมบัติอย่างหนึ่ง ถือน้ำปรกติ ผู้ที่ได้รับราชการอยู่แล้วต้องถือน้ำปีละสองครั้งอย่างหนึ่ง ผู้ซึ่งมาแต่เมืองปัจจามิตรเข้ามาสู่พระบรมโพธิสมภารอย่างหนึ่ง สามอย่างนี้เป็นถือน้ำอย่างเก่า ยังทหารซึ่งเป็นผู้ถืออาวุธอยู่เสมอ ต้องถือน้ำทุกเดือนพวกหนึ่ง ผู้ซึ่งเป็นที่ปรึกษาราชการต้องถือน้ำพิเศษในเวลาแรกเข้ารับตำแหน่งอีกพวกหนึ่ง ในสองพวกนี้เป็นถือน้ำเกิดขึ้นใหม่ ในการถือน้ำของพวกที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๕ ไม่มีกําหนดว่าเมื่อใด แล้วแต่เหตุการณ์นั้นๆ และต้องอ่านคำสาบานตลอดทั่วหน้าไม่มียกเว้น แต่ถือน้ำอย่างที่ ๒ นั้น พระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยแล้ว ไม่ต้องอ่านคําสาบาน เป็นแต่ดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัจจา การถือน้ำทั้งสามอย่าง คือ ที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๕ นั้น นับว่าเป็นการจร แต่ถือน้ำอย่างที่ ๒ ที่ ๔ นั้นเป็นการประจําปี ซึ่งจะนับเข้าในหมวดพระราชพิธี ๑๒ เดือน อันเป็นเรื่องที่จะกล่าวอยู่นี้

กําหนดที่ถือน้ำอย่างที่ ๒ ซึ่งเป็นการประจําปีปีละสองคราวนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ในวิธีอธิษฐานน้ำพระพิพัฒน์สัจจา ซึ่งได้ลงในหนังสือพิมพ์วชิรญาณวิเศษเล่ม ๒ หน้า ๑๕๙ และหน้า ๑๖๗ มีเนื้อความพิสดารอยู่แล้ว จะย่นย่อแต่ใจความมากล่าวในที่นี้เป็นสังเขป เพื่อให้ผู้ซึ่งไม่อยากจะต้องขวนขวายค้นหาหนังสือวชิรญาณเก่า มาอ่านได้ทราบเค้าความว่า กําหนดถือน้ำแต่ก่อนนั้นเคยใช้กําหนดในท้ายพระราชพิธีสารทครั้งหนึ่ง ท้ายพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ครั้งหนึ่ง ใช้น้ำมนต์ซึ่งตั้งในการพระราชพิธีนั้น ทำน้ำพระพิพัฒน์สัจจา การพระราชพิธีสารทเริ่มแต่วันเดือน ๑๐ แรม ๑๓ ค่ำ ไปเสร็จลงในวันเดือน ๑๐ แรม ๑๕ ค่ำ เวลาเช้า การถือน้ำสารทคงอยู่ในวันเดือน ๑๐ แรม ๑๕ ค่ำ หรือเดือน ๑๑ ขึ้นค่ำหนึ่ง การพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์เริ่มแต่วันเดือน ๔ แรม ๑๑ ค่ำ ไปเสร็จลงในวันเดือน ๔ แรม ๑๕ ค่ำเวลาเช้า คงถือในวันเดือน ๔ แรม ๑๕ ค่ำ หรือเดือน ๕ ขึ้นค่ำหนึ่ง ว่าเป็นธรรมเนียมเดิมมาดังนี้ แต่เพราะเหตุที่เดือน ๔ ต้องกับนักขัตฤกษ์ตรุษ เป็นเวลาที่คนทั้งปวงเล่นการนักขัตฤกษ์ต่างๆ มีเล่นเบี้ยเป็นต้น และคนเมามายตามถนนก็ชุกชุม ต้องตั้งกองลาดตระเวนรักษาโจรผู้ร้าย ต่างคนต่างไม่เต็มใจที่จะมาถือน้ำในท้ายพระราชพิธีตามกำหนดเดิม จึงได้คิดเลื่อนกำหนดเสีย ซึ่งเลื่อนกำหนดไปจนถึงเดือน ๕ ขึ้น ๓ ค่ำปีใหม่นั้น เพราะตั้งแต่วันแรม ๑๓ ค่ำ มาถือว่าเป็นวันจ่ายตรุษ วันแรม ๑๔ ค่ำ แรม ๑๕ ค่ำ ขึ้นค่ำหนึ่ง เป็นวันตรุษ วันขึ้น ๒ ค่ำเป็นวันส่งตรุษ เมื่อตั้งวันขึ้น ๓ ค่ำเป็นวันถือน้ำ ก็เป็นอันพ้นเขตตรุษ ซึ่งถือน้ำปีหลังเกี่ยวเข้าไปในปีใหม่นั้น ถือว่ายังไม่เป็นปีใหม่ เพราะยังมิได้เถลิงศกเปลี่ยนศักราชใหม่ คงนับเป็นถือน้ำปีหลัง เมื่อถือน้ำตรุษเลื่อนวันไปเช่นนี้แล้ว จึงมีผู้คิดเลื่อนถือน้ำสารทเข้ามาเสียก่อนพระราชพิธี ให้ตกอยู่ในวันเดือน ๑๐ แรม ๑๓ ค่ำ ด้วยจะให้เป็นที่สังเกตง่าย ว่าเมื่อถือน้ำสารทนี้เป็นวันไร คือวันอาทิตย์หรือวันจันทร์ ถือน้ำตรุษในปีนั้นก็คงเป็นวันอาทิตย์หรือวันจันทร์ตรงกัน ที่ว่าดังนี้ต้องเข้าใจว่าถือน้ำสารทเป็นคราวแรก ถือน้ำตรุษเป็นคราวหลัง คือเหมือนอย่างถือน้ำจํานวนปีชวด สัมฤทธิศกนี้ เมื่อถือน้ำสารทเป็นวันพุธเดือน ๑๐ แรม ๑๓ ค่ำ ถือน้ำตรุษในปีฉลู ยังเป็นสัมฤทธิศก ซึ่งนับว่าเป็นถือน้ำจํานวนปีชวด สัมฤทธิศก ก็คงตกในวันพุธ เดือน ๕ ขึ้น ๓ ค่ำ เป็นวันพุธต่อวันพุธตรงกันดังนี้
แต่ส่วนถือน้ำที่ ๔ ซึ่งเป็นส่วนถือน้ำประจำเดือนของทหารนั้นใช้วันขึ้น ๓ ค่ำ ทุกๆ เดือนไม่ได้เปลี่ยนแปลง ซึ่งกำหนดเอาวันขึ้น ๓ ค่ำนั้น ก็เพราะเหตุที่ทหารเปลี่ยนกันเข้ามารับราชการเป็นเดือนๆ กําหนดเช้าวันขึ้นค่ำหนึ่งไปจนวันขึ้น ๓ ค่ำเป็นกําหนด ถ้าพ้นขึ้น ๓ ค่ำไป ทหารไม่มาเข้าเวรเป็นกําหนดเกาะเหมือนกันกับเลขไพร่หลวงจ่ายเดือนทั้งปวง แต่ที่ต้องทําน้ำพระพิพัฒน์สัจจาสำหรับทหารต่างหากอยู่เพียงสิบเดือน ในเดือน ๔ กับเดือน ๑๐ ทหารคงถือน้ำพร้อมด้วยพระราชพิธีประจําปีเหมือนข้าราชการทั้งปวง การถือน้ำประจําเดือนเป็นการย่อๆ ลงกว่าถือน้ำสารทและตรุษ จะได้กล่าวภายหลัง

การพระราชพิธีถือน้ำสารทและตรุษที่จัดเป็นแบบอย่าง ก็เหมือนกันทั้งสองคราว แต่มีเหตุการณ์อื่นๆ มาบรรจบร่วมเข้าในเดือน ๕ ก็ทําให้เห็นว่าดูเหมือนถือน้ำตรุษจะเป็นใหญ่กว่าถือน้ำสารท การซึ่งเป็นเหตุมาบรรจบเข้านั้น คือเรื่องสมโภชพระพุทธรูปเท่าพระชนมพรรษาอย่างหนึ่ง การเสด็จพระราชดําเนินวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นกระบวนพยุหยาตราอย่างหนึ่ง เรื่องสมโภชพระพุทธรูปพระชนมพรรษานั้น ก็เพราะเป็นวันใกล้กับวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงสร้างพระนั้นเป็นครั้งแรก จึงได้ตั้งการสมโภชไว้ในวันถือน้ำ ก็เลยติดต่อมามิได้ยกเว้น ส่วนการที่เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตรานั้น พึ่งเกิดมีขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะนั้นในวัดพระศรีรัตนศาสดารามและในพระบรมมหาราชวังยังไม่มีท่อน้ำ หรือมีแล้วแต่ตื้นตันไปไม่ได้แก้ไข ถ้าเวลาฝนตกลงมาน้ำฝนย่อมจะขังนองทั่วไป ถึงคืบหนึ่งคืบเศษ วันหนึ่งสองวันจึงได้แห้ง และการถือน้ำสารทมักจะถูกเวลาฝนตก เมื่อเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราเป็นกระบวนเดินช้า ก็มักจะถูกฝนกลางทางและต้องลุยน้ำ ไม่เป็นที่งดงามและทำให้เครื่องอานเปียกฝน จึงได้ยกการเสด็จพยุหยาตราในถือน้ำสารทเสีย คงใช้อยู่แต่ถือน้ำตรุษซึ่งเป็นเวลาแล้ง แต่ถึงดังนั้นก็ไม่เป็นการประจําเสมอทุกปีนัก ต่อปีใดที่มีแขกเมืองประเทศราชหรือต่างประเทศมาอยู่ในพระนคร จึงได้เสด็จเป็นกระบวนพยุทยาตรา แต่อยู่ในคงเป็นปีที่พยุหยาตรามากกว่าที่ไม่ได้พยุหยาตรา ไม่เหมือนอย่างแผ่นดินปัจจุบันนี้ เพราะฉะนั้นการตกแต่งตัวข้าราชการที่ต้องเข้ากระบวนเสด็จพระราชดําเนิน ก็ต้องตกแต่งมากขึ้นกว่าถือน้ำสารท จึงเห็นถือน้ำตรุษเป็นการครึกครื้นใหญ่กว่าถือน้ำสารท

การถือน้ำครั้งกรุงเก่า ซึ่งได้ความตามคำเล่าสืบมาก็ว่าเหมือนกันกับที่กรุงรัตนโกสินทร์นี้ เช่นแบบอย่างในรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ แปลกแต่ข้าราชการถือน้ำที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ แล้วย้ายไปที่วิหารพระวัดมงคลบพิตร เมื่อถือน้ำแล้วมีดอกไม้ธูปเทียนเข้าไปถวายบังคมพระเชษฐบิดร ซึ่งเป็นพระรูปพระเจ้าอู่ทอง คือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ซึ่งได้สร้างกรุงทวาราวดีศรีอยุธยา แล้วจึงได้เข้าไปถวายบังคมพระเจ้าแผ่นดินพร้อมกัน แต่พระราชวงศานุวงศ์นั้นไม่ได้เสด็จไปถือน้ำวัด ดังกฎมนเทียรบาลซึ่งได้ยกมากล่าวไว้ข้างต้นแล้วนั้น

ครั้นในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ข้าราชการก็ไปพร้อมกันถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วมีธูปเทียนมาถวายบังคมพระบรมอัฐิ ในรัชกาลที่ ๑ โปรดให้ถวายบังคมพระอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาปัยกาธิบดีแทนพระเชษฐบิดร ในรัชกาลต่อๆ มาก็ถวายบังคมพระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเสด็จสวรรคตล่วงไปโดยลําดับนั้นด้วย แล้วจึงพร้อมกันเฝ้ากราบถวายบังคมพระเจ้าแผ่นดินในท้องพระโรงเหมือนอย่างแต่ก่อน แต่พระราชวงศานุวงศ์ตั้งแต่กรมพระราชวังเป็นต้นลงไป เจ้าพนักงานนำน้ำมาถวายให้เสวยในท้องพระโรงหน้าพระที่นั่งเวลาที่เสด็จออกข้าราชการถวายบังคมนั้น

ครั้นเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อประชุมพร้อมกันเชิญเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัตินั้นเป็นเวลาทรงผนวช เสด็จพระราชดําเนินมาประทับอยู่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทําสัตยานุสัตย์ถวายครั้งแรก ก็ต้องทำที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไม่ได้มาทำที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เหมือนอย่างเมื่อเปลี่ยนรัชกาลที่ ๑ เป็นที่ ๒ รัชกาลที่ ๒ เป็นที่ ๓ รัชกาลที่ ๔ เป็นที่ ๕ จึงทรงพระราชดําริว่า การที่ประชุมพร้อมกันทําสัตยานุสัตย์ ถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาเฉพาะพระพักตร์พระมหามณีรัตนปฏิมากร และพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งเป็นพระฉลองพระองค์สมเด็จพระบรมอัยกาธิราช สมเด็จพระบรมชนกนาถทั้งสองพระองค์นี้ ดูเป็นการสวัสดิมงคลและพร้อมเพรียงกัน ดีกว่าที่แยกย้ายกันอย่างแต่ก่อน จึงได้เสด็จพระราชดำเนินออกวัดพระศรีรัตนศาสดารามในเวลาถือน้ำต่อๆ มา ด้วยอ้างว่าเป็นเหตุที่ทรงเคารพต่อพระมหามณีรัตนปฏิมากร และพระพุทธรูปฉลองพระองค์ทั้งสองพระองค์นั้น เมื่อเสด็จพระราชดําเนินออกวัดดังนี้ การเพิ่มเติมต่างๆ และเปลี่ยนแปลงการเก่าก็เกิดขึ้นหลายอย่างดังที่ได้เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้


หัวข้อ: Re: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 27 มิถุนายน 2561 19:59:54

พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล (ต่อ)

บัดนี้จะกล่าวด้วยเรื่องพระพุทธรูป อันเนื่องในการพระราชพิธีศรีสัจจปานกาล ถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจานี้โดยย่อ พอให้เป็นเครื่องประกอบทราบเรื่องราวตลอดไป คือเริ่มต้นแต่พระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกตซึ่งมีตำนานเรื่องราวยืดยาว ที่ควรเชื่อได้ว่าเป็นพระพุทธปฏิมากรของโบราณ เป็นที่นับถือของมหาชนทั้งปวงเป็นอันมากนั้นด้วยพันปีล่วงมา พระพุทธปฏิมากรพระองค์นี้ได้ตกไปอยู่ในประเทศต่างๆ หลายแห่ง แต่มิได้เคยมาอยู่ในกรุงทวาราวดีศรีอยุธยาโบราณนั้นเลย ต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จขึ้นไปปราบปรามเมืองเวียงจันท์ได้ชัยชนะเชิญพระพุทธปฏิมากรพระองค์นี้ลงมา เจ้ากรุงธนบุรีซึ่งเป็นใหญ่ในเวลานั้น ก็เผอิญเกิดวิกลเสียจริตคลั่งคลุ้มไป ชนทั้งปวงพากันเชิญพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ให้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ปราบปรามยุคเข็ญทั้งปวงสงบเรียบร้อย ประดิษฐานพระนครขึ้นใหม่ ทรงพระราชดําริเห็นว่าพระมหามณีรัตนปฏิมากรองค์นี้เป็นสิริแก่พระองค์และพระนคร จึงได้ขนานนามกรุงใหม่ว่ากรุงรัตนโกสินทรมหินทรายุธยา เพราะเป็นที่ประดิษฐานและเป็นที่เก็บพระมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้ เพราะเหตุฉะนั้นการพระราชพิธีอันใดซึ่งเป็นการใหญ่ ก็ควรจะทำในสถานที่เฉพาะพระพักตร์พระมหามณีรัตนปฏิมากรนั้นประการหนึ่ง

อนึ่ง เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระปรารภถึงพระราชพงศาวดารซึ่งมีปรากฏมาว่า สมเด็จพระราชาธิบดีที่ ๒ ทรงหล่อพระศรีสรรเพชญ์หุ้มด้วยทองคําสูงแต่พระบาทถึงยอดพระรัศมี ๘ วา ทองที่หล่อหนักห้าหมื่นสามพันชั่ง ทองคําหุ้มหนัก ๒๘๖ ชั่ง และพระเจ้าแผ่นดินภายหลังก็ได้ทรงหล่อพระรูปสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ คือพระเจ้าอู่ทองซึ่งเป็นปฐมบรมราชาธิราชผู้สร้างกรุงขึ้นไว้เป็นที่นมัสการ ด้วยอาศัยปรารภเหตุสองอย่างนี้ จึงทรงพระราชศรัทธาจะสร้างพระพุทธรูปใหญ่หุ้มด้วยทองคําให้เป็นพระราชกุศลใหญ่ และเป็นพระเกียรติยศบ้าง แต่มีพระราชประสงค์ที่จะให้เป็นพระฉลองพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แทนพระเชษฐบิดรที่กรุงเก่านั้นด้วย จึงได้ทรงปรึกษาด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่เมื่อยังทรงผนวชอยู่ ในขณะนั้นเป็นเวลาที่คิดกะส่วนสืบค้นจะให้ได้ความว่าพระพุทธเจ้าสูงเท่าใดเป็นแน่ ไปตกลงกันว่าอยู่ในราวหกศอกช่างไม้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถวายพระพรด้วยเรื่องนี้ จนทรงเห็นชอบตกลงเป็นลดส่วนพระพุทธรูปนั้นให้ย่อมลง และเพราะเพื่อที่จะแบ่งให้เป็นสององค์ขึ้นทั้งที่ย่อมลงนั้น จะตกแต่งให้งดงามดีกว่าใหญ่โตเหมือนอย่างแต่ก่อน จึงได้ทรงสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างจักรพรรดิราชสองพระองค์ หุ้มด้วยทองคำเครื่องต้นประดับด้วยเนาวรัตน์ เป็นฝีมือช่างอย่างวิจิตรประณีตยิ่งนัก น้ำหนักทองคําซึ่งหุ้มพระองค์ และเครื่องทรงพระพุทธรูปทั้งสองพระองค์นี้หนักถึงพระองค์ละหกสิบสามชั่งสี่ตำลึงเศษ แล้วบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระเมาฬีทั้งสองพระองค์ และเพราะเหตุซึ่งไม่โปรดคำที่คนเรียกนามแผ่นดินว่า แผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศ และพระพุทธเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศอย่างหนึ่ง หรือเรียกว่าแผ่นดินต้นแผ่นดินกลางอย่างหนึ่ง จึงได้ทรงขนานพระนามถวายพระพุทธรูปองค์ข้างเหนือว่า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชจักรพรรดินาถบพิตร องค์ข้างใต้ถวายพระนามว่าพระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย ซึ่งภายหลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแปลงเป็นนภาลัย ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถธรรมิกราชบพิตร และประกาศให้ออกนามแผ่นดินรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ ตามพระนามแห่งพระพุทธรูปทั้งสองพระองค์นี้สืบมา ด้วยเหตุผลซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชดําริเริ่มการซึ่งจะสร้างพระพุทธรูป ๒ พระองค์นี้ขึ้น เพื่อจะเลียนอย่างพระเชษฐบิดรครั้งกรุงเก่า จึงเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริเห็นการสมควร ซึ่งจะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการพระพุทธรูปทั้งสองพระองค์นี้ ในวันพระราชพิธีศรีสัจจปานกาลให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการได้กราบถวายบังคมอย่างพระเชษฐบิดรตามพระราชดําริเดิมนั้นด้วย

อนึ่ง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริถึงเรื่องสร้างพระโพธิสัตว์ ๕๕๐ พระชาติ ซึ่งมีปรากฏมาในพระราชพงศาวดาร ว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ทรงสร้างขึ้นนั้น ทรงเห็นว่าเป็นสร้างรูปสัตว์รูปสิงห์เหมือนทำเครื่องเล่นอยู่ ไม่เป็นที่ชักชวนความเลื่อมใสยินดี จึงทรงพระราชดําริยักอย่างใหม่ ให้กรมสมเด็จพระปรมานุชิตทรงตรวจพระอิริยาบถของพระพุทธเจ้าซึ่งมีปรากฏมาในพระคัมภีร์ต่างๆ จะมีสักกี่อย่างกี่ปาง ในเวลานั้นตรวจกันได้ว่ามี ๓๗ ปาง เป็นเวลาที่แร่ทองแดงเมืองจันทึกเกิดขึ้นใหม่ จึงโปรดให้หล่อพระพุทธรูปปางต่างๆ นั้นไว้ทั้ง ๓๗ ปาง เมื่อเสร็จแล้วก็ตั้งไว้ที่หอพระปริตร

ภายหลังมาทรงพระราชศรัทธาสร้างพระพุทธรูปด้วยเงินเป็นน้ำหนักองค์ละชั่งห้าตําลึง เท่าพระชนมพรรษาปีละองค์ ทรงสร้างถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยด้วยทั้งสองพระองค์ พระพุทธรูปนั้นก็เป็นขนาดเดียวกันกับที่ทรงหล่อพระปางต่างๆ ไว้แต่ก่อนทั้งสามสำรับ เปลี่ยนแต่พระอาการเป็นปางต่างๆ ในรัชกาลที่ ๑ นั้นเป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพชรพระหัตถ์ห้อย ในรัชกาลที่ ๒ เป็นพระพุทธรูปมารวิชัย ในรัชกาลปัจจุบัน (คือรัชกาลที่ ๓ นั้น) เป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิพระหัตถ์ขวาซ้อนพระหัตถ์ซ้าย และพระพุทธรูปทั้งสามสำรับนี้มีพิเศษเพิ่มเติมขึ้น คือมีฉัตรเงินก้าไหล่ทองจําหลักปรุสามชั้นกั้น เท่าจํานวนที่ได้เสด็จดํารงสิริราชสมบัติ นอกนั้นซึ่งเท่าจํานวนพระชนมพรรษาเมื่อยังไม่ได้เสด็จดำรงราชสมบัตินั้นไม่มีฉัตรกั้น พระพุทธรูปทั้งสามสำรับนี้สำรับที่ ๑ ที่ ๒ ตั้งไว้ในช่องกระจกหอพระบรมอัฐิ แต่สำรับที่ ๓ ตั้งไว้ในหอพระเจ้า เป็นที่ทรงนมัสการเช้าเย็นเป็นนิตย์ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ ก็ทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วยในพระราชดํารินี้ จึงได้ทรงสร้างพระพุทธรูปเท่าพระชนมพรรษา มีอาการนั่งขัดสมาธิเพชรพระหัตถ์ขวาซ้อนพระหัตถ์ซ้าย แปลกกับปางเดิมไปอีกอย่างหนึ่ง และเปลี่ยนลักษณะอาการส่วนสัดตามพระราชประสงค์ และฐานนั้นก็ทําเป็นกลีบบัวคว่ำบัวหงายอย่างโบราณ ไม่เป็นฐานพระพิมพ์อย่างแต่ก่อน มีเลขหมาย ๑. ๒. ๓. ๔ ไปตามลำดับพระชนมพรรษาทุกพระองค์ และพระสำรับที่สามนั้นก็ย้ายไปไว้ที่หอพระบรมอัฐิ พระสำรับที่ ๔ นี้ ตั้งแทนที่กันในหอพระเจ้าต่อไป ครั้นมาถึงในรัชกาลปัจจุบัน ปางพระซึ่งได้ทรงหล่อไว้แต่ก่อน ๓๗ ปาง เป็น ๓๘ ทั้งพระชนมพรรษา ในรัชกาลที่ ๔ ก็ยังไม่สิ้น มีระลึกได้ขึ้นใหม่ซึ่งได้ละลืมไว้เสียอีกบ้าง เมื่อจะสร้างพระชนมพรรษาตามแบบที่เคยทำมา จึงได้ตกลงเลือกพระคันธารราษฎร์เป็นพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาในรัชกาลปัจจุบันนี้ ทรวดทรงสัณฐานคล้ายคลึงกันกับพระชนมพรรษาในรัชกาลที่ ๔ แปลกบ้างเล็กน้อย และภายหลังนี้สังฆาฏิกว้างขึ้นตามกาลเวลาที่ใช้ เมื่อถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ พระพุทธรูปสำหรับพระชนมพรรษาสำรับที่ ๔ ก็ย้ายไปอยู่พระที่นั่งบรมพิมาน ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิ สำรับที่ ๕ ตั้งในหอพระเจ้าแทนที่สืบมา และตั้งแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้มีการสมโภชพระพุทธรูปเท่าพระชนมพรรษานี้ ที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณพร้อมกับการพระราชพิธีสัจจปานกาลเดือน ๕ ก็ยังคงเป็นแบบสืบมาจนถึงปัจจุบันนี้ เพราะฉะนั้นพระพุทธรูปประจําพระชนมพรรษานี้จึงได้เป็นอันเกี่ยวข้องด้วยพระราชพิธีถือน้ำอีกอย่างหนึ่ง

ส่วนพระพุทธรูปปางต่างๆ ทั้ง ๓๗ อย่างซึ่งอยู่หอพระปริตรนั้น พระราชดําริเดิมของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงประการใดก็หาทราบไม่ แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเห็นว่าเป็นเค้าเงื่อนชอบกลอยู่ จึงโปรดให้หล่อเป็นฐานเฉียงเติมขึ้นอีกชั้นหนึ่ง แล้วให้ก้าไหล่ทองคำทั้ง ๓๗ ปาง เมื่อเสร็จแล้วจึงได้โปรดให้จารึก ทรงพระราชอุทิศแด่พระเจ้าแผ่นดินในกรุงทวาราวดีศรีอยุธยาโบราณ และกรุงธนบุรี ๒๔ องค์ ในกรุงรัตนโกสินทร์สามพระองค์ คือ
 ๑. พระพุทธปฏิมากรทรงนั่งกวักพระหัตถ์เรียกเอหิภิกขุ ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑
(อู่ทอง)
 ๒. พระพุทธปฏิมากรทรงนั่งพระหัตถ์ปกพระเพลาทั้งสองสำแดงชราธรรม ในคําจารึกนั้นว่าทรงพระราชอุทิศถวายแด่พระเจ้าพฤฒิเดช นัยหนึ่งว่ามหาเดช ซึ่งทรงพระนามสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพะงั่ว)
 ๓. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งมีนาคปรก ทรงพระราชอุทิศเฉพาะเจ้าทองจันทร์ นัยหนึ่งว่าเจ้าทองลั่น
 ๔. พระพุทธปฏิมากร ทรงนั่งยกพระหัตถ์ขวาเสยพระเกศ ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระราเมศวรที่ ๑
 ๕. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งโบกพระหัตถ์กับพระวักกะลี ทรงพระราชอุทิศเฉพาะต่อพระเจ้าราม (พระยาราม)
 ๖. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งรับผลมะม่วง ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระมหานครินทราธิราช (อินทราชาที่ ๑)
 ๗. พระพุทธปฏิมากรทรงนั่งทําภัตกิจ ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระเจ้าสามพระยา ซึ่งทรงพระนามสมเด็จพระบรมราชาธิราชเป็นที่สอง
 ๘. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งชี้พระหัตถ์เดียว แสดงเอตทัคคฐาน พระอัครสาวก พระอัครสาวิกา ทรงพระราชอุทิศ ถวายสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
 ๙. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งยกพระหัตถ์อธิษฐานบาตร ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระอินทราชาธิราช (ที่ ๒)
๑๐. พระพุทธปฏิมากรทรงนั่งยกพระหัตถ์ขวาห้ามมาร ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระรามาธิบดีที่สอง
๑๑. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งรับน้ำด้วยบาตร ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระบรมราชามหาพุทธางกูร
๑๒. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งฉันมธุปายาส ทรงพระราชอุทิศเฉพาะพระรัษฎาธิราชกุมาร
๑๓. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งฉันผลสมอ ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระชัยราชาธิราช
๑๔. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งยกพระหัตถ์ขวาปลงพระชนม์ ทรงพระราชอุทิศเฉพาะต่อพระยอดฟ้า
๑๕. พระพุทธปฏิมากร นั่งยกพระหัตถ์ซ้ายสำแดงโอฬาริกนิมิต ทรงพระราชอุทิศถวายพระมหาจักรพรรดิราชาธิราช
๑๖. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งสนเข็ม ทรงพระราชอุทิศเฉพาะต่อพระมหินทราธิราช
๑๗. พระพุทธปฏิมากร ทรงยืนผันพระองค์ทรงแลด้วยอาการนาคาวโลก ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช (เป็นพระนามเดิม พระนามราชาภิเษก คือ สรรเพชญที่ ๑)
๑๘. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนยกพระหัตถ์ทั้งสองห้ามสมุทร ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (สรรเพชญที่ ๒)
๑๙. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนประสานหัตถ์ทั้งสองถวายพระเนตร ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระเอกาทศรถมหาราช (สรรเพชญที่ ๓)
๒๐. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนยกพระหัตถ์ซ้ายห้ามแก่นจันทน์ ทรงพระราชอุทิศเฉพาะต่อพระศรีเสาวภาคย์ (สรรเพชญที่ ๔)
๒๑. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งห้อยพระบาท ณ เรือขนาน ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงธรรม (บรมไตรโลกนาถที่ ๒ หรือบรมราชาที่ ๑)
๒๒. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งห้อยพระบาทแบพระหัตถ์ขวารับช้างปาลิไลยก์ ทรงพระราชอุทิศเฉพาะต่อพระเชษฐาธิราช (บรมราชาที่ ๒)
๒๓. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ทั้งสองรับมธุปายาส ทรงพระราชอุทิศเฉพาะต่อพระอาทิตยวงศ์
๒๔. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งลอยถาด ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระรามาธิเบศร์ปราสาททอง (สรรเพชญที่ ๕)
๒๕. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนยื่นพระหัตถ์ขวารับกำหญ้าคา ทรงพระราชอุทิศเฉพาะต่อเจ้าฟ้าชัย (สรรเพชญที่ ๖)
๒๖. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนยกพระหัตถ์ทั้งสอง ประทับพระอุระรำพึงพระธรรม ทรงพระราชอุทิศเฉพาะต่อพระศรีสุธรรมราชา (สรรเพชญที่ ๗)
๒๗. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนยกพระบาทซ้าย พระหัตถ์ทั้งสองประทับพระเพลาจงกรม ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาเอกาทศรถราช (รามาธิบดีที่ ๓)
๒๘. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนห้อยพระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย ถือธารพระกรปลงพระกรรมฐาน ทรงพระราชอุทิศเฉพาะต่อพระรามาธิเบศร์ (พระมหาบุรุษเพทราชา)
๒๙. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนยกพระหัตถ์ขวาลูบพระกายสรงน้ำ ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี (สรรเพชญที่ ๘ พระพุทธเจ้าเสือ)
๓๐. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนอุ้มบาตรด้วยพระหัตถ์ทั้งสอง ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระภูมินทรมหาราชา (สรรเพชญที่ ๙ ท้ายสระ)
๓๑. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนเหยียบรอยพระพุทธบาท ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระบรมมหาราชาธิราชที่สาม (บรมโกศ)
๓๒. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนกางพระหัตถ์ทั้งสองเปิดโลก ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระอุทุมพรมหาพรพินิตราช (บรมราชาธิราชที่ ๔) (เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ)
๓๓. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนลีลา ห้อยพระหัตถ์ซ้าย ยกพระบาทซ้าย ทรงพระราชอุทิศเฉพาะต่อพระบรมเอกทัศอนุรักษ์มนตรีราช (บรมราชาที่ ๓ สุริยามรินทร์)
๓๔. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งพระหัตถ์ทั้งสองประทับพระอุระทําทุกรกิริยา ทรงพระราชอุทิศเฉพาะต่อเจ้ากรุงธนบุรี (บรมราชาที่ ๔ ขุนหลวงตาก)

พระพุทธรูปทั้ง ๓๔ พระองค์นี้ไม่มีฉัตร แต่พระพุทธรูปยังอีก ๓ ปาง ซึ่งตรงกันกับพระพุทธรูปพระชนมพรรษาทั้งสามรัชกาลที่ล่วงไปแล้วนั้นโปรดให้มีฉัตรเพิ่มพิเศษขึ้น แล้วจารึกทรงพระราชอุทิศทั้งสามพระองค์ แต่พระนามซึ่งจารึกในฐานพระนั้นใช้ตามพระนามซึ่งทรงขนานถวายใหม่ สำหรับจารึกกล่องศิลาซึ่งบรรจุพระบรมอัฐิในพระบรมโกศซึ่งทรงสร้างขึ้นใหม่ เพื่อจะให้เป็นเครื่องป้องกันมิให้พระบรมอัฐิอันตรธานไป ด้วยต้องน้ำอบซึ่งสรงในเวลาสงกรานต์อยู่เสมอทุกปี เป็นต้น

พระนามซึ่งจารึกนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จารึกว่าทรงพระราชอุทิศถวายฉลองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชา มหาจักรีบรมนาถ นเรศวรราชวิวัฒนวงศ์ ปฐมพงศาธิราชรามาธิบดินทร์ สยามพิชิตินทโรดมบรมบพิตร

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จารึกว่าทรงพระราชอุทิศถวายฉลองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระบรมราชพงศเชษฐมเหศวรสุนทร ไตรเสวตคชาดิศรมหาสวามินทร์ สยามรัชฎินทรวโรดม บรมจักรพรรดิราช พิลาสธาดา ราชาธิราช บรมนาถบพิตร

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จารึกว่าทรงพระราชอุทิศถวายฉลองพระเดชพระคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมาธิวรเสฐ มหาเจษฎาธิบดินทร์ สยามินทรวโรดม บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร

พระพุทธรูปทั้งปวงนี้ เมื่อทําเสร็จแล้ว โปรดให้เชิญเข้าไปตั้งไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามทั้งสิ้น แต่แบ่งเป็นสองพวก พวกกรุงเก่าและกรุงธนนั้นตั้งโต๊ะจีน อยู่หน้าลับแลบังฉากข้างเหนือ แต่อีก ๓ องค์นั้นตั้งโต๊ะจีนอยู่หน้าลับแลบังฉากข้างใต้ ต่อเมื่อใกล้จะเสด็จสวรรคตจึงโปรดให้สร้างหอพระขึ้นที่กําแพงแก้ว หลังพระอุโบสถสองหอ หลังข้างเหนือเป็นที่ไว้พระพุทธรูป ๓๔ องค์ ผนังเขียนเรื่องพระราชพงศาวดารกรุงทวาราวดี หลังบานหน้าต่างมีพระราชพงศาวดารย่อบอกเรื่องที่เขียน พระราชทานนามว่าหอราชกรมานุสร หลังข้างใต้ไว้พระพุทธรูปสามองค์ ผนังเขียนเรื่องพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์[๑] หลังบานมีพระราชพงศาวดารย่อบอกเรื่องที่เขียนเหมือนกัน พระราชทานนามว่าหอราชพงศานุสร ครั้นในแผ่นดินปัจจุบันนี้ ก็ได้สร้างพระพุทธรูปขนาดเดียวกันกับสามองค์ก่อนนั้น มีพระอาการเหมือนอย่างพระพุทธรูปประจําพระชนมพรรษาในรัชกาลที่ ๔ เพิ่มขึ้นอีกองค์หนึ่งเป็น ๔ องค์ และพระพุทธรูปทั้ง ๓๘ พระองค์นี้ เมื่อการพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา ก็มีธูปเทียนดอกไม้เครื่องนมัสการทรงบูชาตามส่วนองค์พระด้วยทั้งสองคราว จึ่งเป็นพระพุทธรูปซึ่งเกี่ยวข้องในการพระราชพิธีถือน้ำอีกอย่างหนึ่ง

ในการจัดที่ถือน้ำอันเนื่องด้วยสมโภชพระพุทธรูปเท่าพระชนมพรรษาฝ่ายในนั้น ได้ทําที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณแต่เดิมมา เมื่อซ่อมแซมพระที่นั่งครั้งนี้จึงได้ย้ายมาที่พระที่นั่งบรมราชสถิตมโหฬารที่ห้องเหลือง ครั้นเมื่อการแล้วเสร็จ ก็ย้ายไปพระที่นั่งไพศาลทักษิณตามเดิม บุษบกที่ตั้งพระพุทธรูปนั้นตั้งข้างตอนตะวันออก นับแต่หอพระเจ้าเป็นต้นมา ถึงมุมตู้ลับแลที่ตั้งพระสยามเทวาธิราชได้ห้าบุษบก ที่ตั้งพระของเดิมเป็นเตียงเท้าคู่แปดเหลี่ยมเขียนลายน้ำมัน มีเสาดาดเพดานระบายเป็นตาข่ายดอกไม้สดข้างบนปักฉัตรดอกไม้ห้าชั้น มีฐานเฉียงรองเป็นแปดเหลี่ยมเหมือนกัน ตั้งถ้วยขนาดถ้วยแชรีอย่างเลวๆ ปักพุ่มดอกไม้สด มีขวดคอปล้องปักดอกไม้สดคั่น ที่พื้นล่างตั้งตะเกียงน้ำมันมะพร้าวรายรอบที่ตั้ง พระพุทธรูปเป็นเช่นนี้ อยู่สามสำรับ มีมาแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่สำรับที่ ๔ นั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ทำเป็นบุษบกลายจําหลักปิดทองประดับกระจก แต่คงใช้ระบายดอกไม้สดฉัตรดอกไม้สดอย่างเดิม เครื่องปักดอกไม้ที่ประดับก็เป็นอย่างเดียวกัน พระพุทธรูปสามสำรับก่อนนั้นใช้เครื่องทองทิศ สำรับที่ ๔ ใช้โต๊ะถมพานทองสองชั้น ครั้นเมื่อถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้ ก็ทําที่ตั้งพระสำรับที่ห้าเหมือนที่สี่ใช้มาหลายปี ภายหลังเห็นว่าตั้งอยู่แถวเดียวกัน ไม่เหมือนกันก็ไม่งาม จึงได้ให้ทำบุษบกขึ้นอีกสามสำรับ ให้เหมือนกันทั้งห้า แต่เครื่องนมัสการโต๊ะถมย้ายลงมาเป็นสำรับที่ห้า สำรับที่สี่ใช้เครื่องทองทิศเหมือนสามสำรับก่อนนั้น การตกแต่งบุษบกและจัดพุ่มดอกไม้เครื่องประดับทั้งสิ้นนี้ เป็นหน้าที่พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุตรี ทรงทํามาแต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นส่วนลงทุนรอนของท่านเอง ตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ แต่ฉัตรดอกไม้ยอดบุษบกนั้นจะเป็นดอกไม้สดทั้งห้าองค์ร้อยไม่ไหว จึงได้ใช้ดอกไม้สดแต่บุษบกที่ ๕ อีกสี่สำรับใช้ดอกไม้แห้ง บายศรีที่สำรับเวียนเทียนไม่ได้ตั้งตรงหน้าบุษบกพระพุทธรูป ใช้ตั้งที่หน้าตู้พระสยามเทวาธิราชที่หน้าตู้นั้นมีโต๊ะจีนตั้งโต๊ะของเดิมตั้งอยู่ตรงกลางโต๊ะหนึ่ง จัดไว้เป็นที่สำหรับตั้งพระแสง มีโต๊ะมาเทียบอีกข้างละโต๊ะ ข้างเหนือจัดไว้เป็นที่ตั้งพระพุทธรูปชัยวัฒน์และพระสุพรรณบัฏ ข้างใต้เชิญพระสยามเทวาธิราชลงมาจากวิมานตั้งไว้แต่ในเวลากลางคืนวันขึ้น ๒ ค่ำ ในบุษบกทั้งห้านั้นแต่เดิมก็ตั้งแต่พระพุทธรูปเท่าพระชนมพรรษาปี ภายหลังเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระพุทธรูปพระชนมพรรษาวัน ทรงพระราชอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยขึ้น จึ่งโปรดให้เชิญมาตั้งอยู่ตรงกลางบุษบก พระพุทธรูปพระชนมพรรษาประจําปีตั้งรายล้อมรอบ ส่วนสำรับที่สามนั้นให้เชิญพระพุทธรูปห้ามสมุทร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างมาตั้ง แต่เขื่องไปไม่ได้ขนาดกัน ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ จึ่งได้สร้างถวายใหม่องค์หนึ่งได้ขนาดกัน สำรับที่สี่นั้นโปรดให้เชิญพระพุทธสิหิงค์น้อยมาตั้งก็ติดต่อมาจนแผ่นดินปัจจุบันนี้ สำรับที่ห้าก็ตั้งพระชนมพรรษาวันซึ่งทรงหล่อขึ้นใหม่ เป็นเรื่องเดียวกันทั้งห้าสำรับ ในเวลาค่ำนี้เจ้านายฝ่ายในมีดอกไม้ธูปเทียนขึ้นมานมัสการพระพุทธรูปพร้อมกัน เวลาก่อนที่จะเสด็จพระราชดําเนินออกวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เสด็จทรงนมัสการก่อน มีดอกไม้สำหรับโปรยปรายบนบุษบกและสุหร่ายน้ำหอมประพรม เมื่อเสด็จออกแล้วท้าวนางผู้ใหญ่จุดแว่นเวียนเทียนสมโภชพระชนมพรรษา และพระสยามเทวาธิราชด้วย

ส่วนการที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ใช้ธรรมาสน์ศิลาซึ่งตั้งอยู่สำหรับพระอุโบสถ เป็นพระแท่นมณฑลทั้งพระพุทธรูปชัยวัฒน์เงินรัชกาลที่ ๑ องค์หนึ่ง พระชัยแผ่นดินปัจจุบันองค์หนึ่ง พระชัยเนาวโลหะน้อยสำหรับนำเสด็จพระราชดําเนินองค์หนึ่ง พระปริยัติธรรมสามพระคัมภีร์ และเทวรูปพระอิศวร พระอุมา พระนารายณ์ พระพรหม พระแสงศรสาม พระแสงหอกเพชรรัตนหนึ่ง พาดบันไดแก้ว เทวรูปเชิญพระขรรค์ธารพระกรข้างหนึ่ง ที่เคยเชิญหีบพระราชลัญจกร เปลี่ยนให้เชิญหีบลุ้งพระสุพรรณบัฏข้างหนึ่ง พระแสงต่างๆ ซึ่งสำหรับจะทําน้ำนั้นบรรจุในหีบมุก ตั้งอยู่หน้าโต๊ะหมู่พระพุทธรูป มีพระขันหยก เทียนสำรับพระราชพิธี และพระถ้วยโมราจานรองกรอบทองคำประดับเพชรเครื่องต้นสำรับหนึ่ง ริมฐานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีม้าเท้าคู้ทองเหลืองตั้งหม้อน้ำเงินสิบสองหม้อ ขันสาครตั้งข้างล่างสองขัน โยงสายสิญจน์ถึงกันตลอด การสวดมนต์ถือน้ำแต่ก่อนใช้พระสงฆ์น้อย ครั้นมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงพระราชดําริจารึกทรงพระราชอุทิศพระพุทธรูปประจําแผ่นดิน ๓๗ ปางนั้นแล้ว จึงให้เพิ่มพระสงฆ์สวดมนต์ขึ้นเป็น ๓๗ รูป ครั้นถึงในรัชกาลปัจจุบันนี้เพิ่มขึ้นอีกรูป ๑ เป็น ๓๘ ใช้เจ้าพระพระราชาคณะผู้ใหญ่และพระราชาคณะที่เป็นเปรียญทั้งสิ้น เครื่องประโคมในพระราชพิธีนี้ ใช้พิณพาทย์ทั้งข้างหน้าข้างใน แต่ไม่มีมโหรี

เมื่อเสด็จออกทรงศีลแล้วอาลักษณ์อ่านคําประกาศ เริ่มความรัตนพิมพวงศ์ย่อ และกระแสพระราชดําริในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงวินิจฉัยในฝีมือช่าง ซึ่งสร้างพระมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้แล้ว จึ่งสรรเสริญพระคุณของพระมหามณีรัตนปฏิมากรว่าเป็นเครื่องคุ้มกันอันตรายต่างๆ ดำเนินข้อความเป็นจดหมายเหตุย่อในการแผ่นดินซึ่งได้เกิดขึ้น จําเดิมตั้งแต่พระมหามณีรัตนปฏิมากรลงมาประดิษฐานอยู่ในกรุงเทพฯ แล้วสรรเสริญพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งห้าพระองค์ ลงปลายเป็นคําตักเตือนข้าราชการทั้งปวง ให้ทําราชการโดยซื่อสัตย์สุจริต แล้วอธิษฐานขอพรเทพยดาตามธรรมเนียมคําประกาศทั้งปวง เมื่อจบคําประกาศแล้วพระสงฆ์จึ่งได้สวดมนต์ ใช้มหาราชปริตรสิบสองตํานานเป็นแบบมา เมื่อสวดมนต์จบแล้ว พราหมณ์อ่านดุษฎีคําฉันท์ เป็นคําสรรเสริญพระแก้วและสรรเสริญพระเกียรติ และอธิษฐานตามการพระราชพิธี เมื่อเสร็จการดุษฎีคําฉันท์แล้ว ราชบัณฑิตจึงได้ทําอธิษฐานน้ำพระพิพัฒน์สัจจาต่อไป เป็นเสร็จการในเวลาค่ำ

รุ่งขึ้นเวลาเช้า แต่ก่อนมีการเลี้ยงพระสงฆ์ในพระอุโบสถ เสด็จพระราชดำเนินออกทรงปฏิบัติพระสงฆ์ก่อน แล้วจึงได้ทําน้ำพระพิพัฒน์สัจจา ครั้นภายหลังมาการที่ยกสำรับเลี้ยงพระสงฆ์มักจะหกเปื้อนเปรอะที่ซึ่งข้าราชการจะเข้ามารับพระราชทานน้ำ และเป็นการสับสนอลหม่านด้วยข้าราชการอยู่หน้าพระอุโบสถมาก จึงได้ตกลงกันให้ย้ายไปเลี้ยงพระเสียที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ เมื่อเสด็จออกเมื่อใด พราหมณ์ก็เข้ามาอ่านโองการแช่งน้ำทีเดียว[   ๓]

โองการแช่งน้ำนี้เรียกว่าโคลง เขียนเป็นหนังสือพราหมณ์แต่เมื่อตรวจดูจะกําหนดเค้าว่าเป็นโคลงอย่างไรก็ไม่ได้สนัด ได้เค้าๆ บ้างแล้วก็เลือนไป แต่เนื้อความนั้นเป็นภาษาไทย ถ้อยคำที่ใช้ลึกซึ้งที่ไม่เข้าใจบ้างก็มี ตามคําบอกเล่าว่าเป็นของเกิดขึ้นในแผ่นดินพระนารายณ์มหาราช แต่ข้าพเจ้ามีความสงสัยว่าจะช้ากว่านั้น ด้วยถ้อยคำในนั้นไม่คล้ายคลึงกับพระราชนิพนธ์ เช่นสมุทโฆษคำฉันท์หรือพระลอลิลิตซึ่งว่าเกิดในรัชกาลนั้นเลย ถ้าจะเดาโดยพระนามซึ่งว่าเป็นสมเด็จพระรามาธิบดีก็น่าจะเป็นพระรามาธิบดีที่ ๑ หรือที่ ๒ มากกว่ารามาธิบดีที่ ๓ คือพระนารายณ์ และถ้อยคําในโคลงนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่า คงจะตกหล่นและผิดเพี้ยนเสียเป็นอันมาก ถ้อยคํานั้นก็ลึกซึ้งจนฟังถ้าไม่ใส่ใจก็เกือบจะเป็นเสกคาถาภาษาอื่นได้ เรื่องที่ว่านั้นสรรเสริญพระนารายณ์ก่อน แล้วสรรเสริญพระอิศวร แล้วสรรเสริญพระพรหม ความต่อไปจึงเดินเรื่องสร้างโลก แล้วสรรเสริญพระเดชพระคุณพระเจ้าแผ่นดิน แช่งผู้ซึ่งทรยศคิดร้าย ให้พรผู้ซึ่งตั้งอยู่ในความสัตย์สุจริตจงรักภักดีเป็นจบความกัน พิเคราะห์ดูในคำโคลงแช่งน้ำนี้ ไม่มีเจือปนพระพุทธศาสนาเลย เป็นของไสยศาสตร์แท้ จนน่าสงสัยว่าจะมิใช่เกิดขึ้นในครั้งพระรามาธิบดีที่ ๑ ซ้ำไปอีก น่ากลัวจะแปลลอกคัดต่อๆ กันมาจากเมืองที่ถือไสยศาสตร์ ไม่ได้ถือพระพุทธศาสนาแต่โบราณ แต่การซึ่งจะชุบพระแสงศรสามองค์นี้ พึ่งเกิดขึ้นใหม่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ได้ทราบความจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมสมเด็จพระบําราบปรปักษ์ ว่าเมื่อปีฉลูเบญจศก จุลศักราช ๑๒๑๕ พระยาจุฬาราชมนตรี (นาม) นำหวายเทศมาถวายสามอัน เป็นที่ต้องพระราชหฤทัยว่างดงามดี จึ่งทรงพระราชดําริว่าจะทําอะไร ครั้นจะทําเป็นธารพระกรก็มีอยู่แล้ว และมากหลายองค์นัก แต่ทรงพระราชดําริอยู่หลายวัน ภายหลังจึ่งดำรัสว่ากรุงเทพฯ นี้ก็อ้างชื่อว่าศรีอยุธยา เป็นเมืองนารายณ์อวตาร พระนามซึ่งใช้แช่งน้ำอยู่ก็ใช้นามรามาธิบดีเป็นการยุติลงกันอยู่แล้ว ควรจะสร้างพระแสงศรขึ้นไว้สำหรับใช้ในการพระราชพิธีถือน้ำจะได้เข้าเรื่องกัน จึงโปรดให้กรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา เหล่ารูปพระแสงศรประกอบกับด้ามหวายเทศที่พระยาจุฬาถวาย ครั้นตกลงอย่างแล้ว จึ่งให้หาฤกษ์ตามตำราพิชัยสงคราม ตั้งโรงพระราชพิธีในโรงแสง รวมเหล็กตรอนตรีสินตีเป็นพระแสงศรสามองค์  ในขณะเมื่อตีนั้นมีประโคมแตรสังข์พิณพาทย์ฆ้องชัยตลอดจนแล้ว ภายหลังจึงโปรดให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ปั้นเทวรูปพระพรหมทรงหงส์ พระนารายณ์ทรงครุฑ พระอิศวรทรงโค ให้ทําพิธีพราหมณ์หล่อที่วังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ แล้วติดกรึงที่ด้ามพระแสงศรทั้งสามองค์ แล้วจึ่งให้ขุดเหล็กฝังทองที่บ้องพระแสงเป็นตัวอักษรพราหมณ์ พระราชทานชื่อพระแสง องค์หนึ่งชื่อพรหมาสตร์ องค์หนึ่งประลัยวาต องค์หนึ่งอัศนิวาต ปลายด้ามถักผนึกด้วยลวดทองคำผูกขนนกหว้า เมื่อถึงเดือนสิบข้างขึ้นจึงโปรดให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเสด็จขึ้นไปตั้งพิธีชุบพระแสงที่ทะเลชุบศรเมืองลพบุรี ตั้งโรงพระราชพิธีมีพระสงฆ์สวดภาณวาร เมื่อเวลาชุบพระแสงศรมีพระฤกษ์ประโคมแตรสังข์พิณพาทย์ฆ้องชัยยิงปืนใหญ่ ๔ ทิศ และยิงปืนเล็กจนตลอดเวลาชุบพระแสง แล้วเวียนเทียนสมโภชตั้งกระบวนแห่ไปที่ศาลวัดปืน ต่อยศิลาศรนารายณ์บรรจุในบ้องมียันต์พรหมโองการ อิศวรโองการ นารายณ์โองการ ห่อด้ามบรรจุทั้งสามองค์ แล้วตั้งกระบวนแห่กลับลงเรือศรีมากรุงเทพฯ ทันการพระราชพิธีถือน้ำสารทในปีฉลู เบญจศกนั้น


หัวข้อ: Re: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 27 มิถุนายน 2561 20:05:09

พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล (ต่อ)

การที่ชุบพระแสงศรเป็นหน้าที่ของพระมหาราชครูพิธี ผู้อ่านโองการแช่งน้ำ เมื่อเวลาจะอ่านเชิญพระขันหยกมีรูปนารายณ์ทรงธนูตั้งอยู่ในกลางขัน เชิญพระแสงศรประนมมือว่าคําสรรเสริญพระนารายณ์ จบแล้วชุบพระแสงศรสามครั้ง แล้วจึงรับพระแสงองค์อื่นมาทําต่อไปจนครบทั้งสามองค์ แล้วประนมมือเปล่าว่าไปจนตลอด เมื่อจบแล้วพระอาลักษณ์จึ่งได้อ่านคําสาบานแช่งน้ำ ในคําประกาศนั้นเชิญเทพยดาทั้งปวงมาประชุมในที่มหาสมัยสโมสรอันอุดม ที่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ฝ่ายทหารพลเรือน กรมฝ่ายหน้าฝ่ายใน หัวเมืองเอกโทตรีจัตวาปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือ และเจ้าประเทศราช แต่ล้วนชื่นชมยินดีจะกระทําสัตยานุสัตย์ถวาย ออกพระนามเต็ม แล้วจึ่งสรรเสริญพระเดชพระคุณที่ได้มีแก่ชนทั้งปวง อธิษฐานน้ำพระพิพัฒน์ ขอให้มีฤทธิอำนาจอาจจะให้เป็นไปตามคําสาบาน แล้วจึ่งแช่งผู้ซึ่งคิดคดทรยศไม่ซื่อตรง ให้พรผู้ซึ่งตั้งอยู่ในความกตัญญูสุจริต เมื่อจบคําประกาศแล้วเจ้ากรมพราหมณ์พฤฒิบาศ จึ่งได้รับพระแสงจากเจ้าพนักงานกรมแสง มีผ้าขาวรองมือเชิญพระแสงออกจากฝัก ชุบน้ำในหม้อเงินและขันสาครทุกหม้อทุกขัน พระแสงซึ่งใช้ชุบน้ำอยู่ในปัจจุบันนี้ คือพระขรรค์ชัยศรี พระแสงหอกเพชรรัตน พระแสงคาบค่าย พระแสงดาบใจเพชร พระแสงเวียต ทั้งนี้เป็นพระแสงในรัชกาลที่ ๑ พระแสงญี่ปุ่นฟันปลาประดับพลอย เป็นพระแสงในรัชกาลที่ ๒ พระแสงแฝด พระแสงขรรค์เนาวโลหะ เป็นพระแสงในรัชกาลที่ ๓ พระแสงทรงเดิมฝักประดับมุก พระแสงตรีเพชร ธารพระกรเทวรูป ธารพระกรศักดิ์สิทธิ์ พระแสงกั้นหยั่น พระแสงปืนนพรัตน์ เป็นพระแสงในรัชกาลที่ ๔ พระแสงฝักทองเกลี้ยงเครื่องประดับเพชร เป็นพระแสงทรงเดิมในแผ่นดินปัจจุบันนี้ จัดเป็นลำดับกันตามสมควร เมื่อขณะพราหมณ์แทงน้ำอยู่นั้น พระสงฆ์สวดคาถา สจฺจํ เว อมตา วาจา เป็นต้น ประโคมแตรสังข์พิณพาทย์ฆ้องชัยจนตลอดกว่าจะทําน้ำแล้ว ฝ่ายพระบรมวงศานุวงศ์นั้นตั้งแต่เสด็จพระราชดําเนินออกก็ขึ้นไปเฝ้าอยู่บนพระอุโบสถ แต่ข้าราชการอยู่หน้าพระอุโบสถ มีกําหนดว่าเมื่ออาลักษณ์อ่านคําประกาศจบแล้ว ข้าราชการจึงขึ้นไปอ่านคําสาบาน คําสาบานนี้เป็นคำสาบานย่อ รูปเดียวกันกับที่อาลักษณ์อ่าน เป็นแต่ตัดความให้สั้นลง เมื่อชุบพระแสงเสร็จแล้วพระมหาราชครูพิธีแบ่งน้ำที่ชุบพระแสงศรลงในพระถ้วยโมราเครื่องต้น เจือกับน้ำพระราชพิธีพราหมณ์ซึ่งอบมีกลิ่นหอม แล้วเจ้ากรมพฤฒิบาศจึงได้รับพระขันหยกไปเทเจือปนในหม้อเงินและขันสาคร

ธรรมเนียมเดิมมา พระเจ้าแผ่นดินก็ไม่ได้เสวยน้ำพระราชพิธี พึ่งมาเกิดขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยทรงถือว่าน้ำชําระพระแสงศรนั้นเป็นสวัสดิมงคลอย่างหนึ่ง เพื่อจะแสดงพระราชหฤทัยเมตตากรุณาโดยเที่ยงธรรม ซึ่งได้ทรงปฏิบัติอธิษฐานในพระราชหฤทัยเป็นนิตย์ ให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งปวงได้ทราบ เป็นที่ชื่นชมยินดีทั่วหน้า จึงโปรดให้พระมหาราชครูพิธีนำน้ำซึ่งสรงเทวรูปและพระแสงศรมาถวายเสวยก่อน แต่ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ เมื่อแรกๆ ท่านผู้บัญชาการในพระราชพิธีทั้งปวงก็ได้ยกเลิกน้ำที่ถวายพระเจ้าแผ่นดินเสวยเสีย จะเป็นด้วยตัดสินกันประการใด หรือเกรงใจว่าไม่ได้รับสั่งเรียกก็ไม่ทราบเลย ภายหลังมาเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเป็นอย่างไว้แล้ว เมื่อยกเลิกเสียโดยมิได้ปรากฏเหตุการณ์อย่างไร ก็ดูเหมือนหนึ่งไม่ตั้งใจที่จะรักษาความสุจริตกระดากกระเดื่องอย่างไรอยู่ จึ่งได้สั่งให้มีขึ้นตามแบบเดิม ตั้งแต่ปีบรมราชาภิเษกครั้งหลังมา เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสวยแล้วจึ่งได้แจกน้ำชำระพระแสงในหม้อเงินทั้งปวง แด่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการให้รับพระราชทานต่อไป ถ้ามีวังหน้าเจ้ากรมพฤฒิบาศเป็นผู้นำน้ำไปถวาย ใช้ขันสรงพระพักตร์ลงยาราชาวดี มีนพรัตน์ในกลางขัน แต่คงใช้น้ำในหม้อเงินเหมือนพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งปวง ขันซึ่งสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์เสวยนั้นเป็นขันลงยาเชิงชายสำหรับข้าราชการขันทองขันถม ถ้วยที่สำหรับตวงเป็นถ้วยหูก้าไหล่ทองบ้างสำริดบ้าง จารึกคาถาเป็นอักษรขอมว่า สจฺจํ เว อมตา วาจา เป็นต้น

ผู้กํากับถือน้ำและแจกน้ำ ในพระอุโบสถนี้ คือพราหมณ์พฤฒิบาศ พราหมณ์โหรดาจารย์ สนมพลเรือน และพระยาผู้กํากับถือน้ำในกรมพระกลาโหมคนหนึ่ง ในกรมมหาดไทยคนหนึ่ง[๔] พระบรมวงศานุวงศ์เสวยน้ำฟากพระอุโบสถข้างใต้ตรงที่ประทับ พระบวรวงศ์เธอ พระวรวงศ์เธอ ซึ่งเสด็จอยู่หน้าพระอุโบสถขึ้นประตูกลาง แต่มาเสวยน้ำข้างใต้ ส่วนหม่อมเจ้านั้น แต่เดิมไม่ได้ขึ้นไปถือน้ำบนพระอุโบสถ ภายหลังทรงพระราชดําริว่า ก็นับว่าเป็นหลานเธอของพระเจ้าแผ่นดิน มีศักดินาสูง ส่วนข้าราชการผู้น้อย ที่ต่ำศักดินากว่าก็ขึ้นไปถือน้ำบนพระอุโบสถได้ จึงโปรดให้ขึ้นไปถือน้ำบนพระอุโบสถในสองสามปีนี้ แต่แยกออกไปอีกสายหนึ่ง คือขึ้นทางประตูข้างใต้ กลับลงทางประตูข้างใต้ ข้าราชการขึ้นประตูเหนือ ถือน้ำฟากพระอุโบสถข้างเหนือ กลับลงประตูกลาง จางวางหัวหมื่น นายเวรมหาดเล็กขึ้นประตูกลาง แต่ไปถือน้ำข้างเหนือแล้วกลับลงประตูกลาง ในขณะเมื่อข้าราชการลงมือถือน้ำนั้น ทรงพระเต้าษิโณทก พระสงฆ์ยถา เมื่อพระสงฆ์กลับ ต้องเบียดเสียดข้าราชการที่มาถือน้ำออกไปอยู่ข้างจะเป็นการกันดารกันทุกปี[๕] แต่ก่อนมาเมื่อข้าราชการถือน้ำหมดแล้ว เจ้ากรมปลัดกรมกองมอญขึ้นมาอ่านคําสาบานเป็นภาษารามัญหน้าพระที่นั่ง ต่ออ่านคําสาบานจบแล้วจึ่งได้เสด็จขึ้น แต่ครั้นมาถึงในแผ่นดินปัจจุบันนี้ ทีหลังๆ มานั่งคอยอยู่ก็หายไป ถามก็ว่ามี แต่อย่างไรจึงรวมๆ ไปอยู่ต่อเวลาเสด็จขึ้นแล้วก็ไม่ทราบ เวลาเมื่อข้าราชการถือน้ำเสร็จแล้วเสด็จขึ้นทางข้างใน เพื่อจะให้ท้าวนางและภรรยาข้าราชการที่มาถือน้ำข้างในได้เฝ้า มหาดเล็กเชิญพระแสงตามเสด็จพระราชดําเนินทางข้างในด้วย กําหนดผู้มีบรรดาศักดิ์ฝ่ายในได้ถือน้ำนั้น ว่าภรรยาข้าราชการที่มีศักดินาตั้งแต่ ๔๐๐ ขึ้นไปต้องมาถือน้ำ ท้าวนางนั้นแต่เดิมมาก็ไปถือน้ำวัดพระศรีรัตนศาสดารามทั้งสิ้น แต่ครั้นมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ยกเว้นท้าวนางที่เป็นเจ้าจอมมารดา ไม่ให้ต้องออกไปถือน้ำวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และข้างในต่างวังคือห้ามเจ้านายที่ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัด และบุตรีท่านเสนาบดีซึ่งได้รับพระราชทานเบี้ยหวัด และภรรยาข้าราชการซึ่งผัวตายแต่ยังคงได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดอยู่ ก็โปรดให้เข้ามาถือน้ำข้างใน ภรรยาข้าราชการที่ถือน้ำนั้นมีพราหมณ์อ่านโคลงแช่งน้ำ อาลักษณ์อ่านคําสาบานอีกเที่ยวหนึ่ง เมื่อเสด็จขึ้นแล้ว เมื่ออ่านคําสาบานจบแล้ว ยื่นหางว่าวบอกรายชื่อตัว ถ้าส่งการ์ดอย่างฝรั่งก็ใช้ได้ลงกัน แก่ท้าวนางผู้กํากับแล้วจึ่งได้รับพระราชทานน้ำ แต่หางว่าวนั้นตกลงเป็นรู้จักกันเสียโดยมาก ท้าวนางก็หลวมๆ ไปไม่เข้มงวดเหมือนอย่างแต่ก่อน ท้าวนางวังหลวงนั่งเรียงตามผนังด้านใต้ ท้าวนางวังหน้านั่งเรียงตามฐานพระด้านเหนือ ภรรยาท่านเสนาบดี นั่งต่อท้าวนางวังหลวง ต่อไปจึงเป็นภรรยาข้าราชการที่มีบรรดาศักดิ์สูงๆ ภรรยาข้าราชการผู้น้อยนั่งที่มุขหลังพระอุโบสถ ภรรยาพวกมอญนั่งตามเฉลียงพระระเบียง ตั้งแต่เลี้ยวประตูฉนวนมาจนตลอดถึงประตูหลังพระอุโบสถ แต่ก่อนนั่งรายเต็มตลอด แต่เดี๋ยวนี้ก็ร่วงโรยไปมาก

ทางเสด็จพระราชดําเนินตามพระระเบียง ตั้งแต่ประตูฉนวนเลี้ยวมาออกประตูด้านตะวันตก ถ้ากระบวนพยุหยาตราเสด็จพระราชดําเนินออกพระที่นั่งอนันตสมาคม ประทับเปลื้องเครื่องศาลาเรียนหนังสือ ขากลับประทับพลับพลาเปลื้องเครื่องที่ข้างประตูพระระเบียงข้างตะวันตก เสด็จกลับประทับเกยพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ กระบวนเสด็จพระราชดําเนินแห่สี่สายเหมือนพยุหยาตรากฐิน แต่ตำรวจมหาดเล็กนุ่งท้องขาวเชิงกรวย ทรงเครื่องขาว ฉลองพระองค์ครุยกรองทอง ทรงพระมหามงกุฎมหาชฎา แต่ไม่มีทรงโปรยเงินอย่างเช่นพยุหยาตรากฐิน

การแต่งตัวถือน้ำมีกําหนด ถ้าผู้ใดจะไปถือน้ำที่วัดจึงต้องนุ่งขาว ถ้าไม่ได้ไปถือน้ำที่วัดก็ไม่ต้องนุ่ง คือพระบรมวงศานุวงศ์แต่ก่อนถือน้ำในท้องพระโรง ก็ทรงผ้าลายอย่างและคาดทรงสะพักสีตามธรรมเนียม ข้าราชการที่ไปถือน้ำวัดต้องนุ่งขาว แต่ครั้นเมื่อจะกลับเข้ามาถวายบังคมในท้องพระโรง ก็นุ่งสองปักตามธรรมเนียม พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการบรรดาที่ถือน้ำข้างในก็ไม่ต้องนุ่งขาวทั้งสิ้น ส่วนท้าวนางและภรรยาข้าราชการตลอดจ่าทนายเรือนโขลนที่ออกไปถือน้ำวัดพระศรีรัตนศาสดารามต้องนุ่งขาว เมื่อแรกๆ เสด็จพระราชดําเนินออกถือน้ำวัดพระแก้ว เจ้านายทรงผ้าลายพื้นขาวเขียนทองบ้าง ลายเปล่าบ้าง ยกท้องขาวเชิงชายบ้าง ฉลองพระองค์กระบอกผ้าขาวตามธรรมเนียม คาดฉลองพระองค์ครุย ภายหลังมาจะราวปีระกา ตรีศก[๖]หรือปีจอ จัตวาศกจึงโปรดให้เจ้านายต่างกรมทรงฉลองพระองค์ผ้าปักทองแล่งเย็บเป็นรูปเสื้อกระบอก ใช้มาจนตลอดรัชกาลที่ ๔ และในแผ่นดินปัจจุบันนี้ตอนแรกๆ ตั้งแต่ปีระกา เบญจศก[๗]แล้วมาจึงได้เปลี่ยนเป็นเยียรบับขาว ข้าราชการนั้นนุ่งสองปักท้องขาวเชิงกรวย สวมเสื้อผ้าขาวคาดเสื้อครุยเสมอมาจนปัจจุบันนี้ เป็นแต่เปลี่ยนรูปเสื้อไปตามกาลเวลา เจ้านายต่างกรมทรงพระวอ พระองค์เจ้าทรงเสลี่ยง ที่ได้รับพระราชทานพระแสงและเครื่องยศก็มีมาเต็มตามยศ ท้าวนางข้างในนุ่งผ้าม่วงพื้นขาวจีบ ห่มแพรชั้นใน ห่มผ้าปักทองแล่งชั้นนอก มีหีบทองหีบถมเครื่องยศพร้อมทั้งกาน้ำและกระโถน ออกไปตั้งตรงหน้าที่นั่งในพระอุโบสถด้วย ภรรยาท่านเสนาบดีบางคนที่ได้รับพระราชทานเครื่องยศหีบทองเล็ก กา กระโถน และผ้าปักทองแล่ง ก็แต่งเต็มยศที่ได้พระราชทานตั้งเรียงต่อท้าวนางไป ภรรยาข้าราชการที่ถือน้ำนี้แต่ก่อนเล่ากันว่าเป็นการประกวดประขันกันยิ่งนัก ตัวผู้ที่เป็นภรรยาถือน้ำต้องนุ่งขาวห่มขาว แต่แต่งภรรยาน้อยที่มาตามห่มสีสัน ถือเครื่องใช้สอยต่างๆ กระบวนละมากๆ

ว่าในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งไม่ได้เสด็จออกวัดนั้น พวกมหาดเล็กคอยอยู่ที่ประตูข้างริมฉนวนแน่นๆ กันไป ภายหลังมาก็กร่อยๆ ลง ต่อเตือนเอะอะกันขึ้นจึงได้แน่นหนาขึ้นเป็นคราวๆ เจ้าประเทศราชหัวเมืองลาวและเจ้าเขมรซึ่งเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่ในกรุงเทพฯ ถือน้ำในพระอุโบสถพร้อมด้วยข้าราชการทั้งปวง แต่เมืองแขกประเทศราชถือน้ำตามศาสนาแขกที่ศาลาถูกขุน ภายหลังย้ายมาที่มิวเซียม[๘] พวกฝรั่งเข้ารีตมีบาทหลวงมานั่งให้ถือน้ำ เดิมถืออยู่ที่ศาลกรมวังซึ่งเป็นตึกทหารมหาดเล็กเดี๋ยวนี้ ทำตามอย่างฝรั่ง คำสาบานก็เปลี่ยนแปลงไปตามที่นับถือทั้งแขกทั้งฝรั่ง ข้าราชการผู้น้อยและขุนหมื่นที่ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดถือน้ำหน้าพระอุโบสถเป็นอันมาก แต่ที่มีเวรอยู่ในพระบรมมหาราชวังรับน้ำมาถือที่ห้องที่คลังก็มีบ้าง

การถือน้ำในชั้นหลังๆ นี้ เมื่อต้องคราวที่ทรงพระประชวร จะเสด็จออกวัดพระศรีรัตนศาสดารามไม่ได้ ก็มีแต่ข้าราชการไปถือนํ้าที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเข้ามาถวายบังคมในท้องพระโรง พระบรมวงศานุวงศ์มาเสวยน้ำในท้องพระโรง ทรงเครื่องสีตามปรกติเหมือนอย่างธรรมเนียมแต่ก่อน

การถวายบังคมพระบรมอัฐิซึ่งมีในหมายเดิมนั้นว่า เมื่อเปิดพระแกลหอพระประโคมแตรสังข์กลองชนะครั้งหนึ่ง ให้ข้าราชการจุดธูปเทียนกราบถวายบังคมแล้วหมอบเฝ้าอยู่ครู่หนึ่ง ประโคมอีกครั้งหนึ่งปิดพระแกลว่าเป็นเสด็จขึ้น ถวายบังคมอีกครั้งหนึ่งจึงให้กลับออกมา แต่ที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ไม่ได้เป็นดังเช่นหมายนั้น เป็นด้วยที่คับแคบแดดร้อนและกําหนดกลองชนะก็ไม่ถูกจังหวะอย่างเก่า เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อพระแกลเปิดจึงได้ประโคม เมื่อเสด็จถึงพระที่นั่งสนามจันทร์แล้วจึงรับสั่งให้พระเจ้าลูกเธอขึ้นไปบอกให้พนักงานหอพระเปิดพระแกล ถ้าใครถูกเป็นผู้เข้าไปบอกให้เปิดพระแกลแล้วเป็นเคราะห์ร้ายอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าเคยถูกเกือบจะไม่ขาดสักคราวหนึ่ง แต่เป็นผู้เร่งที่ ๒ ที่ ๓ ดีกว่าเป็นผู้ไปที่ ๑ ถ้าเป็นผู้ไปที่ ๑ มักจะถูกกริ้วว่าไปเชือนแชเสีย ด้วยความลำบากในการที่จะไปบอกนั้น คือเวลาถือน้ำเช่นนี้ ถ้ามีพยุหยาตราก็ต้องถึงสวมเกี้ยวสวมนวม ถ้าไม่มีพยุหยาตราก็เพียงสร้อยประแจ มันสารพัดจะหนักไปหมดทั้งตัว พอเข้าพระทวารไปก็ต้องคลานตั้งแต่พระทวารจนถึงหอพระ เมื่อขึ้นไปถึงหอพระแล้วจะต้องไปส่งภาษากับคุณยายเฝ้าหอพระ แสนที่จะเข้าใจยาก ไก๋แล้วไก๋เล่ากว่าจะลุกขึ้นได้ ถ้าถูกเร่งหลายทอดหนักเข้าต้องไปกระชากเปิดเอาเองก็มี กว่าจะเปิดได้ต้องทรงคอยอยู่ในไม่ต่ำกว่าสิบมินิต แต่ในปัจจุบันนี้กําหนดสัญญาณกันเสียใหม่ว่า เมื่อพระราชยานประทับเกยก็ให้ประโคม เมื่อพนักงานได้ยินเสียงประโคมก็ให้เปิดพระแกลทีเดียว ดูค่อยรวดเร็วสะดวกดีขึ้น แต่เมื่อว่าตามตําราแล้วก็อยู่ข้างจะผิดท่าอยู่หน่อยหนึ่ง ที่ต้องเปิดพระแกลคอยอยู่สักครู่หนึ่งจึงได้จุดเทียนเครื่องนมัสการ เวลาซึ่งจะถวายบังคมพระบรมอัฐินั้นสวมเสื้อครุย ยังคงทําตามแบบอยู่แต่พระเจ้าแผ่นดิน คือเมื่อทรงฉลองพระองค์แล้วเสด็จขึ้นไปบนพระที่นั่งสนามจันทร์ถวายบังคมสามครั้ง ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการแล้วถวายบังคมอีก เฝ้าอยู่ครู่หนึ่ง จึงถวายบังคมอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงเสด็จขึ้นพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เปลื้องเครื่องทรงเครื่องสีตามธรรมเนียม ด้วยเป็นการมิใช่ถือน้ำวัดตามซึ่งกล่าวมาแล้ว เจ้านายข้าราชการจึงได้เข้ามาจุดธูปเทียน ถวายบังคมสามครั้งแล้วถอยออกไป เมื่อหมดคนที่กราบถวายบังคมเมื่อใด ก็ปิดพระแกลหยุดประโคมเมื่อนั้น

การถือน้ำข้างในแต่ก่อนๆ มา มีกําหนดรับน้ำที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเข้ามาห้าหม้อ ตั้งที่ท้องพระโรงหน้า เวลาเสด็จขึ้นเสวยกลางวันแล้วเสด็จออกประทับที่ช่องพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พนักงานพระสมุดอ่านคําสาบาน เนื้อความก็เหมือนกับที่อาลักษณ์อ่านที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่างแต่อาการความประพฤติ คือเช่นเอาใจไปเผื่อแก่ไทต่างด้าวท้าวต่างแดน เปลี่ยนเป็นเอาใจไปเผื่อแผ่แก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการฝ่ายหน้าเป็นต้น แล้วเจ้านายและข้าราชการฝ่ายในรับพระราชทานน้ำหน้าพระที่นั่ง เจ้านายประทับที่หน้าเสาท้องพระโรงหน้า ข้างตะวันตกตอนข้างเหนือตลอดเข้าไปจนในเฉลียง ตอนข้างใต้ท้าวนางเจ้าจอมมารดาเก่าเถ้าแก่เฉลียงด้านตะวันออก หม่อมเจ้าต่างวัง แต่เจ้าจอมอยู่งานนั้นอยู่บนพระที่นั่งไพศาลทักษิณบ้าง อยู่บนพระมหามนเทียรบ้าง ต่อถึงเวลารับพระราชทานน้ำจึงได้ลงไปที่ท้องพระโรง ครั้นมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดเพิ่มเติมใหม่ คือมีโต๊ะสามโต๊ะเช่นได้กล่าวมาแล้ว เมื่อเสด็จขึ้นพระที่นั่งไพศาลแล้วจึงให้เรียกเจ้าพนักงานเชิญพระชัย พระสุพรรณบัฏ พระแสง เข้ามาตั้ง ทรงนมัสการพระพุทธรูปพระชนมพรรษาเหมือนเวลาค่ำแล้ว จึงได้ทรงเครื่องนมัสการพระชัยและเทวรูป ที่ซึ่งอ่านคําสาบานนั้นมีเครื่องบูชาแก้วสำรับหนึ่งตั้ง แล้วโปรดให้อ่านโองการแช่งน้ำอย่างพราหมณ์อ่าน แต่ต้องเลือกผู้ซึ่งเป็นตระกูลพราหมณ์ให้เป็นผู้อ่าน ท้าวหนูมอญซึ่งเป็นบุตรเจ้าพระยาอภัยภูธร เป็นพนักงานพระสมุดอยู่ในเวลานั้นเป็นเชื้อพราหมณ์ จึงได้โปรดให้เป็นผู้อ่านตลอดมา ครั้นในแผ่นดินปัจจุบันนี้ท้าวหนูมอญถึงแก่กรรม จึงโปรดให้ท้าวสมศักดิ์บุตรเจ้าพระยาภูธราภัย ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกันนั้นอ่านสืบต่อมา ผู้ซึ่งอ่านโองการแช่งน้ำและคำประกาศนี้ นุ่งขาวห่มขาวและพระราชทานให้ห่มผ้าปักทองแล่งด้วย

ที่นั่งพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการเปลี่ยนไปไม่เหมือนอย่างแต่ก่อน คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระเจ้าพี่นางเธอ พระเจ้าน้องนางเธอ นั่งรายริมช่องกบพระที่นั่งไพศาลทักษิณตลอดไปจนถึงหอพระเจ้า แล้วเจ้านายวังหน้าต่อด้านสกัดหุ้มกลองเลี้ยวมาจนริมผนังด้านเหนือ สมเด็จพระนางและพระเจ้าลูกเธอ ประทับรายตั้งแต่ช่องกบกลางไปตามริมช่องกบตลอดจนถึงที่สุด เป็นพระองค์เจ้า หม่อมเจ้าในสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอและในเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ต่อไปจนถึงหอพระอัฐิ ริมผนังข้างเหนือเป็นที่สำหรับเจ้าคุณท้าวนางผู้กํากับถือน้ำนั่ง ชานพักสองข้างเป็นที่หม่อมเจ้า ที่ท้องพระโรงเฉลียงด้านตะวันตก เป็นที่เจ้าคุณราชินิกุลบุตรภรรยาข้าราชการผู้ใหญ่นั่ง ตอนข้างเหนือ ตอนข้างใต้เป็นที่เจ้าจอมอยู่งานนั่ง เฉลียงด้านตะวันออกตอนข้างใต้เป็นที่เจ้าจอมมารดาเก่าข้างในต่างวัง ข้างเหนือเป็นที่มโหรีละครนั่ง เจ้าจอมมารดาในพระราชวังบวรฯ และมารดาหม่อมเจ้านั่งที่เก๋งและชาลาด้านตะวันตก

เมื่ออ่านคําสาบานจบแล้วเสด็จพระราชดำเนินขึ้นทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการทองน้อยในหอพระบรมอัฐิอีกครั้งหนึ่ง เจ้านายก็มีธูปเทียนขึ้นไปถวายบังคมพระบรมอัฐิเหมือนกัน ข้าราชการผู้น้อยโขลนจ่าถือน้ำที่ศาลา

การถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาหัวเมือง บรรดาหัวเมืองทั้งปวงต้องถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาเหมือนอย่างในกรุงเทพฯ กําหนดวันถือน้ำนั้นตรงตามกรุงเทพฯ นี้โดยมาก ที่ยักเยื้องไปบ้างนั้นด้วยเหตุสองประการ คือที่คงถืออย่างเก่า ท้ายพิธีตรุษ ท้ายพิธีสารทนั้นอย่างหนึ่ง เป็นเมืองใหญ่ที่มีเมืองขึ้นหลายๆ เมือง เจ้าเมืองกรมการในเมืองขึ้นเหล่านั้นต้องเข้ามาถือน้ำในเมืองใหญ่ทั้งสิ้น บางเมืองที่มาล่าต้องรั้งรอกันไป กำหนดวันก็เคลื่อนออกไป แล้วก็เลยตั้งเป็นแบบเคลื่อนวันอยู่เช่นนั้น อาวุธซึ่งใช้ทำน้ำนั้นใช้กระบี่พระราชทานสำหรับยศเจ้าเมือง วัดที่ถือน้ำวัดใดวัดหนึ่งซึ่งเป็นวัดสำคัญในเมืองนั้น หรือเป็นวัดหลวง ต่อมาถึงในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนครคิรีและพระราชวังจันทรเกษมขึ้น ก็โปรดให้ย้ายเข้าไปถือน้ำในพระราชวังนั้นๆ แต่การที่สวดมนต์เลี้ยงพระนั้นไม่เหมือนกันทุกเมือง บางเมืองก็ทํามากบ้าง เช่นเมืองสงขลา ถึงสวดมนต์สามวัน บางเมืองก็ทําน้อย ในหัวเมืองบรรดาที่เป็นไทย เรียกตามคําเก่าว่าเมืองนํ้าพระพิพัฒน์สัจจา เมืองนอกนั้นไม่เรียกว่าเมืองน้ำพระพิพัฒน์สัจจา การแต่เดิมมาจะอย่างไรยังไม่ทราบสนัด แต่ในปัจจุบันนี้ ถึงเมืองลาวเมืองแขก ก็ถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาเกือบจะทั่วกัน เช่นในเมืองแขก เมืองกลันตันเป็นทําการใหญ่กว่าทุกเมือง มีพระสงฆ์สวดมนต์ถึงสามวัน ที่หง่อยๆ อย่างเช่นเมืองตานี เมื่อถึงวันกําหนดถือน้ำก็พากันเอาน้ำไปที่วัด พระสงฆ์สวดพาหุงเสียจบหนึ่งแล้วก็ถือน้ำกันก็มี การซึ่งแบ่งเมืองเป็นเมืองถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา และไม่ใช่เมืองน้ำพระพิพัฒน์สัจจานี้ดูไม่น่าจะแบ่งเลย

อนึ่ง ข้าราชการทั้งปวง บรรดาซึ่งไปราชการตามหัวเมือง เมื่อถึงกําหนดถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาที่เมืองใด ก็ต้องไปพร้อมด้วยเจ้าเมืองกรมการถือน้ำในเมืองนั้น ด้วยการพระราชพิธีถือน้ำนี้เป็นแบบอย่างอันเดียวกันตลอดพระราชอาณาเขต เป็นพิธีที่มีกฎหมายบังคับเช่นมีในกฎมนเทียรบาลเป็นต้น วางโทษไว้ว่าผู้ใดขาดถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาโทษถึงตาย เว้นไว้แต่ป่วยไข้ ถ้าเป็นพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่สำคัญ เจ้าพนักงานก็ต้องนำน้ำไปให้รับพระราชทานที่วังและที่บ้าน ต้องมีของแจกบ่ายเจ้าพนักงานผู้ที่นำน้ำไป ที่สุดจนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรไม่ได้เสด็จมาถือน้ำได้หลายปี เจ้าพนักงานนำน้ำขึ้นไปถวาย ก็ต้องพระราชทานเสื้อผ้าเป็นรางวัลปีละมากๆ ทุกคราว แต่ซึ่งเป็นแบบใหม่มีในหมายรับสั่งนั้นว่าถ้าขุนหมื่นในเบี้ยหวัดผู้ใดขาดถือน้ำให้เอาตัวสักเป็นไพร่หลวง และข้อห้ามจุกจิกซึ่งยกเว้นเสียแล้ว ซึ่งมีมาในกฎมนเทียรบาล คือ “ห้ามถือ (คือสวม) แหวนนาก แหวนทอง และกินข้าวกินปลากินน้ำ ยา และข้าวยาคูก่อนน้ำพระพิพัฒน์ ถ้ากินน้ำพระพิพัฒน์จอกหนึ่ง และยื่นให้แก่กันกิน กินแล้วและมิได้ใส่ผม เหลือนั้นล้าง (คือเทเสีย) โทษเท่านี้ในระหว่างขบถ” การซึ่งห้ามเช่นนี้ ห้ามไม่ให้กินอยู่อันใดนั้น ก็จะเป็นด้วยถือน้ำแต่ก่อนเวลาเช้า ครั้นเมื่อถือน้ำสายๆ ลงมา ข้อห้ามปรามอันนี้ก็เป็นอันเลิก แต่ซึ่งกินน้ำแล้วรดศีรษะนั้นยังเป็นประเพณีที่ประพฤติเกือบจะทั่วกัน เป็นการแสดงความเคารพ ไม่มีผู้ใดซึ่งเป็นผู้ใหญ่หรือผู้รู้แบบอย่างจะได้ยกเว้นเสียเลย มีบ้างแต่คนที่เป็นเด็กหลุกๆ หลิกๆ หรือผู้ใหญ่ที่เถื่อนๆ กินแล้วก็ไป มีน้อยตัวทีเดียว เป็นจบเรื่องการพระราชพิธีศรีสัจจาปานกาลถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาประจําปีเท่านี้ เดือนสิบก็เหมือนกันกับเดือนห้านี้ ยกเสียแต่ไม่มีตั้งพระพุทธรูปพระชนมพรรษาที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณเท่านั้น ในเดือนสิบจะไม่ต้องกล่าวถึงการพระราชพิธีถือน้ำต่อไป

คำตักเตือนในการถือน้ำนี้ เมื่อแต่ก่อนมาดูก็ไม่ใคร่จะมีอะไรขาดเหลือในหน้าที่อื่นนอกจากมหาดเล็ก จำเดิมตั้งแต่เครื่องโต๊ะตาภู่ตกมาอยู่ที่เด็กชาอย่างหนึ่ง ย้ายถือน้ำข้างในมาพระที่นั่งบรมราชสถิตมโหฬาร ย้ายถวายบังคมพระบรมอัฐิไปพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เมื่อกลับไปพระที่นั่งอัมรินทรใหม่ก็เลอะใหญ่ลืมกันหมดไม่มีใครจําอะไรได้เลย โต๊ะที่เคยตั้งหน้าตู้พระสยามสามโต๊ะ เมื่อเดือนสิบก็ตั้งทั้งสามโต๊ะ แต่เอาเทวดาไว้กลาง พระพุทธรูปอยู่ตะวันตก พระแสงอยู่ตะวันออก เป็นการเซอะของภูษามาลา ของกรมแสง ของเด็กชา ครั้นถึงเดือนห้านี้ เด็กชาเลิกโต๊ะสองข้างเสีย ตั้งแต่โต๊ะกลางโต๊ะเดียว เอาม้าตั้งจะให้ไปประชันกันขึ้นบนนั้น ทั้งพระแสงและพระพุทธรูป และพระสุพรรณบัฏและเทวดา ครั้นต่อว่ากรมหมื่นประจักษ์เข้าไปจัดใหม่ ตกลงเป็นเทวดาไปอยู่กลางอีกเหมือนเมื่อปีกลายนี้ ต้องขนรื้อกันเวยวายในเวลาจะถือน้ำนั้น ขอให้ท่องไว้เสียให้จําได้ พระพุทธรูป พระสุพรรณบัฏตะวันออก พระแสงกลาง เทวดาตะวันตก อนึ่ง เทียนทองที่กลางขันหยกสำหรับพระราชพิธีนั้นไม่มีเหตุอันใดที่จะยกเว้น เทียนเครื่องนมัสการมีเทียนพานตามเคยพานหนึ่ง เทียนมัดบูชาพระ ๓๘ ปางอีกพานหนึ่ง คงจะทรงจุดเป็นแน่ อย่านึกว่าเผื่อจะไม่ทรงบ้าง อนึ่ง พวงมาลัยเปียสามพวง ที่มีออกไปนั้น คือแขวนที่ครอบแก้วหน้าพระสัมพุทธพรรณีพวงหนึ่ง พระพุทธยอดฟ้าพวงหนึ่ง พระพุทธเลิศหล้าพวงหนึ่ง อนึ่ง ขอเตือนไว้อีกอย่างหนึ่ง ในเวลานี้ก็ไม่สำคัญอันใด แต่เคยมีมาครั้งหนึ่ง คือพระอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาปัยกาธิบดี เมื่อไปถวายบังคมที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท หาได้เชิญไปไม่นั้นเป็นการไม่สมควรแท้ ท่านได้เคยรับข้าราชการถวายบังคมมากว่าสองร้อยคราวถือน้ำมาแล้ว พึ่งจะมาขาดครั้งเดียวเท่านั้น ถ้าต่อไปจะมีที่เชิญพระบรมอัฐิไปถวายบังคมในพระราชพิธีถือน้ำแห่งใด ขออย่าให้ลืมเป็นอันขาด

การถือน้ำประจำเดือนของทหาร ซึ่งได้กล่าวมาด้วยกำหนดวันว่าเคยพร้อมกันถือน้ำในวันขึ้นสามค่ำเดือนใหม่แล้วนั้น ไม่เป็นการพระราชพิธีมีพระสงฆ์สวดมนต์ เป็นแต่เมื่อถึงกําหนดวันนั้น กรมราชบัณฑิตเชิญพระชัยเงินองค์น้อยในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งสำหรับใช้ในการพระราชพิธีอย่างกลางๆ มีคเชนทรัศวสนานเป็นต้น กับพระธรรมไปตั้งที่ธรรมาสน์มุก กรมแสงหอกดาบเชิญพระแสงรูปอย่างคาบค่ายสามองค์ขึ้นพานทองสองชั้นไปตั้ง สังฆการีนิมนต์พระสงฆ์ ๕ รูปตามแต่จะได้มานั่ง อาลักษณ์อ่านคําสาบานจบแล้ว พราหมณ์เชิญพระแสงชุบน้ำ พระสงฆ์สวดคาถาสัจจังเว อมตา วาจา หรือชยันโตเป็นพื้น แล้วตัวนายขึ้นไปรับพระราชทานน้ำบนพระอุโบสถ แล้วมาเรียกให้ทหารเข้าแถวที่หน้าพระอุโบสถ นายอ่านคำสาบานจบแล้วตัวทหารจึงได้ถือน้ำ บรรดาผู้ซึ่งประจําการในพระบรมมหาราชวัง เช่นนายประตูเป็นต้น ก็ต้องถือน้ำเดือนด้วยทั้งสิ้น ผู้กํากับถือน้ำสี่กรม คือ มหาดไทย กลาโหม ชาววัง มหาดเล็ก นายทหารต้องยื่นหางว่าวแก่ผู้กํากับ เป็นการตรวจคนที่ได้มาเข้าเดือนรับราชการครบหรือไม่ครบด้วยอีกชั้นหนึ่ง เมื่อทหารถือน้ำแล้วหันหน้าเข้ามาในพระบรมมหาราชวัง ทําอาวุธคํานับเป่าแตรแล้วเป็นเสร็จการ แต่การถือน้ำเดือนเช่นนี้ เดี๋ยวนี้ได้เลิกเสียไม่ได้ใช้แล้ว เปลี่ยนไปเป็นธรรมเนียมตัวทหารที่เข้ารับราชการใหม่ และนายทหารซึ่งจะได้รับตําแหน่งใหม่ต้องถือน้ำทุกครั้งที่ได้เปลี่ยนตำแหน่งนั้น แต่ถือน้ำเช่นนั้นเป็นถือน้ำจร มิใช่การพระราชพิธีประจําเดือน ซึ่งได้กล่าวอยู่ในบัดนี้ ๚
 
-------------------------------------------------------------------------------------
[๑] รูปเขียนทั้ง ๒ หอนี้ เป็นฝีมือ “ขรัวอินโข่ง” พระวัดราชบูรณะ นับถือว่าเป็นช่างเอกในสมัยนั้น
[๒] ตู้พระสยามเทวาธิราช เป็นตู้ลับแลทั้งตรงพระทวารเทวราชมเหศวร หลังตู้ทําวิมานตั้งพระสยามเทวาธิราช เดี๋ยวนี้เลิกตู้เปลี่ยนเป็นลับแลทําด้วยฝาเฟี้ยมรดน้ำตอน ๑
     ย้ายมาแต่พระมหาปราสาท พระสยามเทวาธิราชย้ายไปประดิษฐานไว้มหิศรปราสาท
[๓] ต่อมาทรงพระราชดําริว่าพระสงฆ์ต้องมาแต่เช้า คอยอยู่ช้านานนักลำบากแก่พระ จึงเลิกเลี้ยงพระในพิธีถือน้ำ
[๔] ตำแหน่งพระยากำกับถือน้ำมีขึ้นในรัชกาลที่ ๔ ฝ่ายกลาโหมเป็นพระยาวิเศษสัจธาดา ฝ่ายมหาดไทยเป็นพระยาพฤฒาธิบดี ในรัชกาลที่ ๕ เติมพระยาจิรายุมนตรี พระยาวจีสัตยารักษ์ ขึ้นอีก ๒ คน
[๕] ตั้งแต่เลิกเลี้ยงพระ ไม่มียถา เป็นแต่ถวายอติเรก ถ้าไม่เสด็จออก สวดท้ายสัพพี แต่อภิวาทนสี ลิสฺสนิจฺจํ ไป และภวตุสัพ
[๖] ตั้งแต่เลิกเลี้ยงพระ ไม่มียถา เป็นแต่ถวายอดิเรก ถ้าไม่เสด็จออก สวดท้ายสัพพี แต่อภิวาทนสี ลิสฺสํ นิจฺจํ ไป และภวตุสัพ
[๗] ปีระกา จุลศักราช ๑๒๓๕ พ.ศ.๒๔๑๖
[๘] คือตึกใหญ่หน้าประตูพิมานชัยศรี


หัวข้อ: Re: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 28 มิถุนายน 2561 15:25:14

พระราชพิธีเดือนห้า
พระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน

๏ การพระราชพิธีทอดเชือกดามเชือก เป็นพิธีของพราหมณ์พฤฒิบาศ ได้ทําในเดือนห้าครั้งหนึ่ง เดือนสิบครั้งหนึ่ง เป็นกระบวนเรื่องคชกรรมการของหมอช้าง ว่าทําเพื่อให้เจริญสิริสวัสดิ์มงคลแก่ช้าง ซึ่งเป็นราชพาหนะและเป็นกําลังแผ่นดิน และบําบัดเสนียดจัญไรในผู้ซึ่งเกี่ยวข้องอยู่ในการช้างทั้งปวงด้วย แต่การพระราชพิธีนี้ เฉพาะเหมาะกับคราวที่ควรจะประกอบการอื่นๆ หลายอย่าง คือเป็นต้นว่าเมื่อทําการจะให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ช้างม้าก็ต้องรดน้ำมนต์ช้างม้า เมื่อจะเอาไปรดเทซ่าๆ กับโรงเช่นนั้นก็ดูไม่เป็นประโยชน์อันใด และผู้รดจะเหน็ดเหนื่อยกว่าจะทั่ว จึงเห็นว่าถ้าปลูกเกยขึ้นแล้วจัดให้ช้างม้าเดินมาเป็นกระบวน พราหมณ์และราชบัณฑิตซึ่งเป็นผู้จะประน้ำมนต์นั่งคอยอยู่บนเกย เมื่อกระบวนมาถึงก็ประพรมไปจนตลอดกระบวนง่ายกว่า ทั้งจะได้ทอดพระเนตรตรวจตราชมเชยราชพาหนะทั้งปวงปีละสองครั้งด้วย อนึ่ง ธรรมดาพระมหานครใหญ่ ก็ต้องตระเตรียมให้พรักพร้อมด้วยเครื่องสรรพศัสตราวุธและพลทหารให้พร้อมมูลอยู่ เมื่อมีราชการศึกสงครามอันใด ก็จะได้จับจ่ายกะเกณฑ์ไปโดยง่ายโดยเร็ว เป็นการตรวจตราเครื่องศัสตราอาวุธและไพร่พลอย่างริวิ้วคราวหนึ่ง อนึ่ง ตามแบบอย่างแต่เดิม ซึ่งมีมาในเรื่องนพมาศ เป็นต้น จนถึงในกฎมนเทียรบาลความก็ลงกัน ว่าในการพระราชพิธีทอดเชือกดามเชือกและสนานใหญ่นี้ เป็นเวลาที่ประชุมท้าวพระยา ข้าราชการทั้งในกรุงและหัวเมือง เอก โท ตรี จัตวา ทั้งเจ้าประเทศราชเข้ามาเฝ้า กําหนดถวายดอกไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการ เป็นการประชุมใหญ่ครั้งหนึ่ง เวลานั้นก็ควรที่จะประชุมพลโยธาทวยหาญทั้งปวงให้พรักพร้อมเป็นการป้องกันพระนครด้วย แสดงพระเดชานุภาพให้หัวเมืองประเทศราชทั้งปวงเป็นที่เข็ดขามยำเกรงพระบารมีด้วย เพราะฉะนั้นการสนานใหญ่นี้จึงได้มีทั้งกรุงสุโขทัยและกรุงทวาราวดี มิได้เว้นว่างเหมือนอย่างพิธีสัมพัจฉรฉินท์ ที่มียิงอาฏานาบ้างไม่ได้ยิงบ้าง

วิธีออกสนาม ซึ่งมีการในหนังสือนพมาศนั้น ว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เสด็จออกมุขเด็จพระที่นั่งอินทราภิเษก พระศรีมโหสถซึ่งเป็นปุโรหิตใหญ่ขึ้นนั่งเหนือตั่งอันหุ้มด้วยเงิน ทูลเบิกท้าวพระยาและรับสนองพระโอษฐ์ตรัสปราศรัยสามนัดแล้วเสด็จขึ้น ต่อนั้นไปมีการฟ้อนรำและเลี้ยงท้าวพระยาทั้งปวง ในการประชุมนี้ข้างในร้อยดอกไม้เป็นรูปต่างๆ บรรจุเมี่ยงหมากถวายให้พระราชทานลูกขุนทั้งปวง ต่อรุ่งขึ้นพราหมณ์จึงได้ตั้งพระราชพิธีบูชาธนญชัยบาศ ที่สถานพระเทวกรรม บรรดาพระหลวงในกรมช้างกรมม้าโปรยข้าวตอกดอกไม้ รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งจึงได้เสด็จออกพระที่นั่งชัยชุมพล พร้อมด้วยพระอัครชายา พระราชวงศานุวงศ์สนมกํานัลนาง ส่วนข้าเฝ้าทั้งปวงนั้นนั่งบนร้านม้าห้าชั้น เป็นหลั่นลดตามผู้ใหญ่ผู้น้อย ภรรยาข้าราชการนั่งตามระหว่างช่องสีมาหน้าพระกาฬศาลหลวง ราษฎรทั้งปวงมาคอยดูกระบวนในรางเรียงท้องสนาม ได้เวลาสมควรจึงให้เดินกระบวน กระบวนช้างก่อนแล้วจึงถึงกระบวนม้า เดินสนานนั้นสามวัน วันแรกเดินพระยาช้างและม้าระวางต้น วันที่สองเดินช้างม้าระวางวิเศษ วันที่สามเดินช้างม้าระวางเพรียว เวลาเมื่อแห่แล้วมีการมหรสพขับร้อง เวลาค่ำมีหนัง จุดดอกไม้เพลิง สมโภชพระเทวกรรม ตามเรื่องที่กล่าวมานี้ การที่เสด็จออกพระที่นั่งอินทราภิเษกคือต้องกันกับเรื่องที่ถือน้ำแล้วถวายบังคมสมโภชเลี้ยงลูกขุน การพระราชพิธีในเวลากลางคืนอีกคืนหนึ่งนั้น ก็คือทอดเชือกดามเชือก แห่ช้างม้าสามวันนั้นก็อย่างแบบสระสนาน ตามที่ว่านั้นดูเหมือนที่สุโขทัยจะมีทุกปีไปไม่มีเวลาขาด

ส่วนข้อความที่ได้จากกฎมนเทียรบาล ดูยุ่งยิ่งเข้าใจยากไปกว่าหนังสือเรื่องนพมาศ เห็นจะเป็นด้วยภาษาที่จดนั้นจะเจือคำเงี้ยวเป็นไทยเหนือมาก หนังสือนพมาศเป็นตัวไทยใต้ เมื่อพระนครลงมาตั้งอยู่ข้างใต้ ถ้อยคำที่พูดจากันภายหลังก็กลายเป็นสำนวนไทยใต้ไป กฎมนเทียรบาลซึ่งเป็นของไทยเหนือแต่ง ถึงแม้ว่าภายหลังหนังสือนพมาศซึ่งเป็นของไทยใต้แต่งก็ดี ยังต้องเป็นที่เข้าใจยากกว่าหนังสือนพมาศซึ่งแต่งไว้ก่อนแล้ว เพราะเปลี่ยนสำนวนที่พูดไปตามภูมิประเทศ ในกฎมนเทียรบาลนั้นลงกําหนดไว้ว่าเดือนห้าขึ้นห้าค่ำออกสนามใหญ่ ซึ่งบอกกําหนดว่าขึ้นห้าค่ำนี้ ดูยังคลาดกันอยู่กับวันที่ใช้อยู่เดี๋ยวนี้ แต่ถ้าเป็นสระสนานแห่สามวันแล้ว ก็คงต้องเกี่ยวถึงวันห้าค่ำอยู่เอง ข้อความที่ว่าไว้นั้นมัวๆ รางๆ ดูว่าย้อนไปย้อนมา สังเกตดูก็จะเป็นสองเรื่องปนกัน แต่ผู้ที่คัดลอกต่อๆ กันมาไม่เข้าใจเนื้อความก็ลงปนกันเลอะไป เห็นจะเป็นเสด็จออกถวายบังคมเลี้ยงลูกขุนเสียนั้นครั้งหนึ่ง แล้วจึงได้ออกสนามแห่สระสนานอีกสามวันอย่างเช่นพระร่วง การที่เสด็จออกถวายบังคมเลี้ยงลูกขุนนั้น ว่าในพระบัญชรชั้นสิงห์ตั้งฉัตรเก้าชั้นเจ็ดชั้นห้าชั้นสามชั้นสองชั้น ชั้น ๑ ที่ ประทับสมเด็จหน่อพุทธเจ้าอยู่เฉียงฝ่ายซ้าย ที่ว่านี้เห็นจะเป็นฝ่ายซ้ายที่ประทับ คือถ้าเป็นมุขเด็จพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท คงจะอยู่ตรงโรงถ่ายรูปกระจกออกมาได้แนวกับมุขเด็จ ส่วนสมเด็จพระอุปราชและเจ้านายอื่นๆ ไม่มีพลับพลา นั่งเฝ้าหน้าทิมดาบ แต่ทิมดาบนี้ไม่ปรากฏว่าคดหรือไม่คดอย่างไร บางทีจะเป็นโรงยาวๆ สองหลัง เช่น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำไว้ที่พระที่นั่งวิมานรัถยาที่วังจันทรเกษมก็ว่าเลียนอย่างเก่า หรือที่วังหน้าเมื่อยังไม่มีท้องพระโรงที่เรียกพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยก็มีทิมมหาวงศ์เป็นที่เฝ้า เพราะธรรมเนียมพระราชวังแต่ก่อนไม่มีท้องพระโรงอย่างเช่นพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เมื่อภายหลังมีพระที่นั่งทรงปืนใช้แทนท้องพระโรง ก็เป็นพระที่นั่งตั้งลอยออกมาต่างหาก เหมือนพระที่นั่งศิวโมกข์ในวังหน้า ทิมที่เฝ้านี้คงจะเป็นสองหลังซ้ายขวา มีระหว่างเป็นที่แจ้งอยู่กลางและคงจะไม่ยกพื้นสูงเหมือนอย่างทิมดาบคดที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทนี้ด้วย จึงได้มีกำหนดว่าที่ประทับสมเด็จพระอุปราชสูงสองศอก มีหลังคามีม่านพนักอินทรธนู พระราชกุมารกินเมืองสูงศอกหนึ่ง มีหลังคาลดลงมาอีกชั้นหนึ่ง พระราชกุมารพระเยาวราชเตียงสูงคืบหนึ่ง แต่พระราชนัดดาออกชื่อไว้แต่ไม่ได้ความว่านั่งอย่างไร ไปว่าแต่หน้าหลังเฉยๆ หรือจะล้อมๆ กันอยู่เหล่านั้น ตรงหน้าพระที่นั่งตั้งเตียงสำหรับพระอาลักษณ์นั่งสนองพระโอษฐ์ สูงสิบศอก ต่อนั้นลงไปจึงมีผู้นั่งต่ออาลักษณ์ลงไปอีก ไม่ได้ความว่าจะเป็นปลัดทูลฉลองหรือใคร วิธีซึ่งใช้อาลักษณ์สนองพระโอษฐ์นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเลียนมาใช้ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ให้อาลักษณ์ทูลเบิกและรับพระบรมราชโองการคราวแรกในเวลาเสด็จออกท้องพระโรง แต่ไม่ต้องนั่งเตียง ถ้าเสด็จออกมุขเด็จพระมหาปราสาท ไม่นั่งเตียงก็เห็นจะเต็มตะโกน การที่เสด็จออกตามที่ว่ามานี้ ก็เห็นจะเป็นออกเฝ้าถวายบังคมเลี้ยงลูกขุน ส่วนการออกสนามก็มีเค้าที่เห็นได้ชัด เช่นมีขุนหาญทั้งสิบขี่ช้างยืนที่เป็นต้นเป็นอย่างแห่สระสนาน ครั้นจะแปลหรือพิจารณาข้อความในกฎมนเทียรบาลลงให้ชัดแจ้ง ก็จะเสียเวลาและผิดๆ ถูกๆ เพราะรัวๆ รางๆ เป็นโคลงจีนทีเดียว

ส่วนในจดหมายขุนหลวงหาวัด ในเดือนห้านี้ก็ไม่ได้พูดถึงสระสนานเช่นได้กล่าวมาแล้ว ไปพูดถึงเอาต่อเดือนสิบซึ่งไม่มีเรื่องอื่นจะว่า พูดย่อๆ แต่ว่า เดือนสิบจึงรําขอและรำทอดเชือกดามเชือกสนานช้างต้นม้าต้น เห็นว่าในตอนหลังนี้จะเลิกเสียไม่ได้แห่แหนอันใดแล้วทั้งสองคราว เพราะฉะนั้นธรรมเนียมที่กรุงรัตนโกสินทร์นี้ จึงยังไต่ตามแบบกรุงเก่าในท่อนปลายนี้สืบมา คือมีพระราชพิธีทอดเชือกดามเชือกทั้งสองคราว แต่ไม่มีการออกสนาม เว้นไว้แต่นานๆ แผ่นดินหนึ่งจึงได้มีเสียคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นพระเกียรติยศ หรือให้เป็นการสนุกเล่นแบบกันคราวหนึ่ง การซึ่งเลิกออกสนามแห่สระสนานเสียนี้ ก็ด้วยตําราที่แรกตั้งขึ้นประสงค์การอย่างหนึ่ง ครั้นต่อมาการกลายไปเป็นอย่างหนึ่ง แรกคิดนั้นเห็นเป็นประโยชน์ แต่ครั้นเมื่อการเคลื่อนคลายไปเสียก็กลับเป็นโทษ คือเมื่อพิเคราะห์ดูการแห่สระสนานในครั้ง ๑๒๐๐ ปีล่วงมาแล้ว ในครั้งพระร่วงเมืองสุโขทัยนั้น เดินช้างเดินม้าเปลี่ยนกันทั้งสามวันเช่นกล่าวมาแล้ว ซึ่งเดินเช่นนั้นเพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าช้างม้าพาหนะมีมาก ถ้าจะเดินวันเดียวให้หมดก็จะต้องเปลืองเวลามาก หรืออยากเล่นให้เป็นสามวันตามธรรมดาไทยๆ ชอบสามชอบห้าชอบเจ็ด ก็ยังคงจะมีช้างม้ามาก จึงได้แบ่งออกเป็นกระบวนได้สามกระบวนไม่ซ้ำกัน ศัสตราอาวุธที่จะใช้แห่ก็ต้องใช้มาก เป็นการตระเตรียมไพร่พลให้พรักพร้อมอยู่เสมอ ปีหนึ่งได้ริวิ้วใหญ่ถวายตัวเสียสองครั้ง พาหนะและไพร่พลจะทรุดโทรมเสื่อมถอยไปอย่างไร หรือบริบูรณ์ดีอยู่ก็ได้ทอดพระเนตรตรวจตราทุกปี บรรดาคนทั้งปวงซึ่งได้เห็นกําลังพลทหาร และพาหนะของพระเจ้าแผ่นดินพรักพร้อมบริบูรณ์อยู่ ก็เป็นที่ยําเกรงไม่ก่อเหตุการณ์อันใดขึ้นได้ จึงมีคํากล่าวมาแต่โบราณว่า พระราชพิธีนี้เป็นพิธีที่สำหรับทำให้ประชุมชนทั้งปวงมีใจสวามิภักดิ์รักพระเจ้าแผ่นดิน และเป็นมงคลแก่ราชพาหนะ เป็นที่เกรงขามแก่ข้าศึกศัตรู การก็เป็นจริงเช่นนั้น แต่ซึ่งกลับเป็นโทษไปจนต้องเลิกเสียนั้นเพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าช้างม้าพาหนะที่มีอยู่ในกรุงไม่พอที่จะเข้ากระบวนแห่ อย่าว่าแต่สามผลัดเลย แต่ผลัดเดียวเต็มกระบวนสระสนานที่เคยมีมาแต่ก่อนก็ต้องเอาช้างหัวเมืองเข้ามา นั่นก็เป็นความลําบากเกิดขึ้นเพราะจะเล่นพิธีอย่างหนึ่งแล้ว ศัสตราอาวุธที่จะใช้ในกระบวนแห่ก็มีไม่พอ จะทำอาวุธเครื่องเหล็กขึ้นก็ไม่เป็นที่ไว้ใจกันหรือราคาจะแพงมาก ต้องทำอาวุธไม้ อาวุธไม้นั้นไม่มีประโยชน์อันใดนอกจากที่จะถือแห่ให้เห็นงามๆ ก็เป็นอันป่วยการเปลืองเงินเปล่ายิ่งกว่าทำเครื่องละครที่ยังได้เล่นหากินอยู่ได้เสมอ เครื่องอาวุธเหล็กเข้ากระบวนแห่พึ่งมามีขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระราชดำริเห็นว่า ทำเครื่องอาวุธไม้เป็นการป่วยการเช่นกล่าวมานี้ ส่วนคนที่จะใช้ในกระบวนแห่นั้นเล่า แต่โบราณมาเขาจะใช้คนที่เป็นหมู่ทหารซึ่งประจํารักษาพระนคร และระดมทหารนอกจากเวรประจํามาให้เข้ากระบวนทัพถือเครื่องศัสตราอาวุธเป็นการฝึกหัดใหญ่ปีละสองครั้ง เมื่อได้เข้ากระบวนฝึกหัดอยู่ทุกปี ก็คงจะเรียบร้อยคล่องแคล่วกว่าที่ทอดทิ้งไม่ได้ฝึกหัด และเวลาบ่ายที่เสด็จขึ้นแล้วก็มีมวยปล้ำกระบี่กระบองต่อไป เป็นการฝึกหัดศัสตราอาวุธในการทหารแท้ทั้งนั้น ตกมาภายหลังเมื่อสิ้นการศึกสงครามแล้ว ทหารประจําเมืองก็เอาลงใช้เป็นพลเรือนเสีย ไม่ได้เคยถูกต้องศัสตราอาวุธ ไม่ได้เคยเข้ากระบวนทัพ เอามาจัดเข้ากระบวนก็เป็นการกะร่องกะแร่งรุงรัง คนจ่ายเดือนประจําพระนครไม่พอ ต้องเกณฑ์เอาคนนอกเดือนเข้ามาแทนทหารระดมอย่างแต่ก่อน มาบ้างไม่มาบ้าง คนแห่ไม่พอ เดินไปพอพ้นหน้าพลับพลาแล้ว ก็ต้องกลับมาเดินกระบวนหลังต่อไปใหม่ ก็ไม่เป็นประโยชน์อันใดในการที่จะตรวจตราผู้คน และไม่เป็นพระเกียรติยศที่จะเป็นที่เกรงขามอันใด เพราะใครๆ ก็เห็นว่ากระบวนหน้าวิ่งมาเป็นกระบวนหลังกลับเสียพระเกียรติยศไป ส่วนขุนนางผู้ที่ต้องแห่นั้นเล่า แต่ก่อนตัวเสนาบดีจตุสดมภ์มนตรีทั้งปวง ล้วนแต่เป็นแม่ทัพชำนิชํานาญในการขี่ช้างขี่ม้า ทั้งมีบ่าวไพร่สมกําลังที่ได้เคยไปการศึกสงคราม เมื่อมาเข้ากระบวนเดินสนานก็ไม่เป็นการเดือดร้อนอันใด ภายหลังมาขุนนางไม่ชำนิชำนาญในการทัพศึก ประพฤติตัวเป็นพลเรือนไปหมด จะถูกขี่คอช้างเข้าก็กลัวกระงกกระเงิ่น จะไปขี่เฉยๆ ไม่ฝึกหัดก็กลัว จะฝึกหัดก็อาย ว่าเป็นผู้ใหญ่แล้วต้องฝึกหัด บ่าวไพร่สมกําลังก็เอามาใช้สอยอยู่ในบ้านบ้างเก็บเอาเงินบ้าง จะเรียกหาเป็นการจรก็ไม่ใคร่จะได้ และประกวดประขันกันไปจนเกินกว่าที่มีกําลังจริงๆ ต้องเที่ยวหยิบยืมบ่าวไพร่ผู้อื่น กระบวนหน้าต้องกลับลงมาตามกระบวนหลัง เมื่อเอาคนของผู้อื่นมาใช้อย่างนั้น ก็ต้องแจกบ่ายให้ปันเปลืองเงินเปลืองผ้าเข้าไปอีก ขุนนางก็พากันเบื่อหน่าย เห็นเป็นบ่อแห่งความฉิบหายเกิดขึ้น การสระสนานจึงได้ต้องเป็นอันเลิก คงได้มีอยู่แผ่นดินละครั้งพอเป็นพิธีหรือเป็นพระเกียรติยศ แต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ไม่ได้มีสระสนาน อันที่แท้นั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดในการพระราชพิธีอย่างเก่าๆ มาก ได้ทรงลองหลายอย่าง จนถึงที่ไปส่งพระผู้เป็นเจ้าที่เทวสถานเป็นกระบวนช้างเป็นต้น แต่ทรงพระปรารภไม่สำเร็จอยู่สองเรื่อง คือเรื่องพิธีอาสวยุช ตําราพราหมณ์หายเสีย กําลังจะคิดจัดการใหม่ก็พอสวรรคตเสีย เรื่องหนึ่งสระสนานใหญ่ทรงอยู่เสมอไม่ขาด ว่าถ้าได้ช้างเผือกใหม่จะมีสระสนาน แต่ครั้นเมื่อทรงพระปรารภกับสมเด็จเจ้าพระยาเมื่อไร[๑]ท่านก็ออดแอดบิดเบือนไปทุกครั้ง เรื่องขี่ช้างเป็นต้น จนตกลงเป็นจะให้ขี่เสลี่ยงก็ยังบ่นตุบๆ ตับๆ อยู่ เผอิญช้างเผือกก็ไม่ได้มา เป็นอันเลิกกันไป

เมื่อว่าที่แท้การพระราชพิธีทั้งปวง ถ้าเป็นพิธีเก่าแท้มักจะมีเหตุที่เป็นการมีคุณจริงอยู่ในพระราชพิธีนั้น แต่เมื่อการรวมๆ ลงมา ก็กลายเป็นแต่การทำไปตามเคยเพื่อสวัสดิมงคล จนเป็นการที่เรียกกันว่าพิธีสังเขปหรือต่างว่า เลยขาดประโยชน์ที่ได้จากความคิดเดิมนั้นไป ความคิดเรื่องถือสวัสดิมงคลนี้มักจะเผลอไปถือเอาสิ่งที่ไม่มีคุณ หยิบยกออกมาเห็นได้ว่าเป็นมงคล เหมือนกลับกลัวจัญไรที่ไม่มีตัวหยิบยกออกมาเห็นได้ว่าเป็นจัญไร ไม่เลือกค้นหาสิ่งที่เป็นจริง ถึงมีอยู่ในอาการที่ประพฤติก็ไม่ใคร่จะรู้สึก ไปถือสิ่งที่ไม่ใช่ความจริงว่าเป็นความจริงเสียโดยมาก เหมือนอย่างเช่นเข้าในใต้ถุนถือว่าเป็นจัญไร ก็ถ้าเป็นเรือนฝากระดานหรือเรือนฝากระแชงอ่อนอย่างไทยๆ ปลูกอยู่กับที่เป็นพื้นโคลนฉำแฉะ คนอยู่บนเรือนถ่ายอุจจาระปัสสาวะ และกวาดขยะฝุ่นฝอยทิ้งลงมาที่ใต้ถุนเรือน ผู้ใดเข้าไปในใต้ถุนเรือนเช่นนั้น ก็คงพบแต่สิ่งซึ่งโสโครกเปื้อนเปรอะไปทั้งสิ้น นับว่าเป็นจัญไร มิใช่จัญไรเพราะอยู่ภายใต้ผู้อื่นอยู่ข้างบน จัญไรเพราะเปื้อนเปรอะเห็นปานนั้น แต่ผู้ที่ถือนั้นไม่ถือแต่เฉพาะเรือนเช่นนั้น ถือทั่วไปไม่ว่าเรือนดีเรือนเลวอันใด เอาแต่ชื่อใต้ถุนเป็นตัวจัญไร ส่วนที่เป็นมงคลนั้นเล่าเช่นกับอาบน้ำรดน้ำมนต์ ถ้าผู้ใดอาบนํ้ารดน้ำชำระกายให้บริสุทธิ์ ก็ย่อมจะเป็นที่สบายตัวสบายใจรู้สึกความหมดจดดีกว่าที่เปื้อนเปรอะอยู่ แต่ผู้ซึ่งปรารถนามงคลเชื่อเสียว่าน้ำที่เสกเป่าแล้วนั้น ถูกตัวแต่นิดหน่อยหนึ่งก็เป็นสวัสดิมงคล ไม่ต้องคิดถึงการที่ชำระกายให้บริสุทธิ์ ที่ว่านี้เป็นแต่การภายนอก เมื่อพิจารณาตามคำที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอน เช่นมาในมงคลสูตร เป็นต้น สวัสดิมงคลย่อมมาด้วยความประพฤติของผู้ที่ปรารถนามงคล ไม่ได้มาโดยมีผู้ใดมาเสกเป่าให้ หรืออ้อนวอนขอร้องได้ ความจริงเป็นอยู่เช่นนั้น แต่หากผู้ซึ่งจะประพฤติตามทางมาของสวัสดิมงคลไม่ได้ตลอด ความปรารถนาตักเตือนเร่งรัดเข้า ก็ต้องโวยวายขวนขวายไปอย่างอื่น หรือทําแต่พอเป็นสังเขป เพราะการสิ่งใดที่เป็นการไม่จริง ย่อมง่ายกว่าการที่จริง คนทั้งปวงก็ลงใจถือเป็นแน่นอนเสียตามที่แก้ขัดไปนั้น ว่าเป็นการใช้ได้จริง แล้วก็บัญญัติเพ้อๆ ตามไป เช่นกับกินมะเฟืองกินน้ำเต้าเสียสง่าราศีอะไรวุ่นไป เป็นบัญญัติที่เกิดขึ้นใหม่จากผู้ที่เข้าใจซึมซาบในวิธีที่เขาลดหย่อนผ่อนผันลงมาว่าเป็นความจริง การออกสนามใหญ่ คือสระสนานนี้ เมื่อพิเคราะห์ดูตามความจริงก็เห็นว่าเป็นการมีคุณแก่พระนครมาก เป็นเหตุที่จะให้ข้าศึกศัตรูครั่นคร้ามขามขยาดได้จริง แต่ต้องทําอย่างเก่าให้มีตัวทหารมีช้างมีม้าจริงๆ ถ้าจะเป็นแต่การหยิบๆ ยืมๆ ร่องแร่งอย่างเช่นทํากันมาแล้ว ไม่แห่ดีกว่าแห่ พรรณนามาด้วยวิธีแห่สระสนานที่แห่ขึ้นเพราะเหตุใด และเลิกเสียเพราะเหตุใด ยุติเพียงเท่านี้ ๚

  
-------------------------------------------------------------------------------------
[๑] คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ แต่ยังเป็นเจ้าพระยาที่สมุหพระกลาโหม


เดือนห้า
พิธีทอดเชือก ดามเชือก

๏ บัดนี้จะได้กล่าวถึงการพระราชพิธีทอดเชือกดามเชือก ซึ่งมีทําอยู่เสมอมิได้เว้นว่าง ถึงไม่ได้แห่สระสนานคเชนทรัศวสนานทั้งอย่างเก่าอย่างใหม่ พิธีทอดเชือกดามเชือกนี้ก็ยังทําเสมออยู่ เมื่อพิเคราะห์ดูคําว่าทอดเชือกอย่างหนึ่ง ดามเชือกอย่างหนึ่งนั้นจะแปลว่ากระไร วิธีที่เรียกว่าทอดเชือกนั้น คือเชือกบาศที่สำหรับคล้องช้างเป็นขดๆ อยู่ จับขึ้นทั้งขดแยกออกเป็นสองส่วนตั้งกางไว้ เรียกว่าทอดเชือก เชือกที่กางไว้นั้นกลับพับลงวางเป็นขดๆ ตามธรรมเนียม เรียกว่าดามเชือก บางทีคำว่าทอดเชือกนั้นจะตรงกันกับว่าคลี่เชือก ดามเชือกนั้นจะตรงกันกับว่าขดเชือก ดูเหมือนหนึ่งจะเป็นพิธีที่ถึงกำหนดตรวจเชือกบาศหกเดือนครั้งหนึ่งก่อนที่จะไปทำการ คลี่ออกดูเมื่อชำรุดเสียหายอันใด ก็จะได้ซ่อมแซมแก้ไข เมื่อดีอยู่ก็ขดเข้าไว้อย่างเดิม แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีผู้ใดที่จะคิดเห็นเช่นนั้น เพราะเหตุว่าผู้ที่จะคลี่เชือกออกดูนั้น เชื่อเสียแล้วว่าเชือกดีอยู่ก็เอาออกตั้งกางๆ ไว้พอเป็นสังเขป ไม่ได้บอกเสียก่อนว่า “ไม่ต้องตรวจดอกหนาเชือกดีอยู่ทําเท่านี้ก็พอ” ลูกศิษย์ลูกหาที่เห็นต่อๆ มา ก็เข้าใจซึมซาบว่าการที่ทำสังเขปย่อๆ นั้นเป็นเต็มตําราแล้ว เมื่อนึกแปลไม่ออกว่าทําเช่นนั้นประสงค์จะเอาประโยชน์อย่างไร ก็ต้องไหลไปตามทางที่เป็นประโยชน์อันไม่มีรูป คือว่าเป็นสวัสดิมงคลเท่านั้น สวัสดิมงคลจะมาด้วยอะไรก็นึกไม่ออก และไม่ต้องนึก เพราะผู้ใหญ่ท่านทํามา การที่มีวิธีบูชาโปรยข้าวตอกรําพัดชาอันใดต่อไปนั้น ก็เป็นอยู่ในเรื่องบูชาครูไหว้ครู การพระราชพิธีนี้ ได้ลงมือทําการทอดเชือกในวันเดือนห้า แรมสามค่ำเวลากลางคืน ดามเชือกในวันแรมสี่ค่ำเวลาเช้าครั้งหนึ่ง ในเดือน ๑๑ ขึ้น ๔ ค่ำ เวลาค่ำทอดเชือก ขึ้น ๕ ค่ำ เวลาเช้าดามเชือกอีกครั้งหนึ่ง การพระราชพิธีทั้งสองคราวนี้ ในกรุงรัตนโกสินทร์ทําที่หอเชือก ไม่ได้ไปทําที่เทวสถานเหมือนอย่างเช่นว่ามาในเรื่องนพมาศ ชะรอยที่กรุงเก่าก็คงจะทําที่หอเชือกเหมือนกันเช่นนี้ แต่หอเชือกที่กรุงเทพฯ ซึ่งตั้งอยู่ที่สนามหลวงตรงหน้าวังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เป็นที่รกเรี้ยวเหมือนอย่างตั้งอยู่ในกลางกองฝุ่นฝอย จึงเป็นที่ไม่สมควรที่พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จเข้าในพระราชพิธีนั้นด้วย ก็เคยยกมาทําที่อื่นได้ ได้เคยยกมาหลายครั้ง เหมือนอย่างในแผ่นดินปัจจุบันนี้ เมื่อข้าพเจ้าฝึกหัดขี่ช้างไหว้ครู ก็ได้ยกมาทําที่โรงละครวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่ถึงว่าเมื่อทำพิธีอยู่ที่โรงเชือกแต่ก่อนมา ก็ว่ามีเจ้านายเสด็จไปมิได้ขาด จนในร่างรับสั่งทุกวันนี้ก็ยังมีว่าให้จัดอาสนะ พระเจ้าพี่ยาเธอน้องยาเธอที่จะเสด็จไปเข้าพระราชพิธีไปทอดทั้งสองเวลาอย่าให้ขาดได้ การที่เจ้านายเสด็จนั้น พึ่งจะมาเลิกไม่ได้เสด็จในชั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอหลังๆ และพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เพราะไม่ได้ฝึกหัดวิชาช้างม้าเหมือนอย่างแต่ก่อน ตามคําที่เล่าว่า เมื่อในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระเจ้าลูกเธอต้องฝึกหัดทรงช้างให้ชำนิชำนาญทุกองค์ จนถึงฝึกทรงบาศทิ้งที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ในเวลาเย็นๆ ทุกวันมิได้ขาด เจ้านายซึ่งทรงฝึกหัดวิชาช้างเหล่านี้ต้องเข้าพระราชพิธีทั้งสิ้น ข้าราชการซึ่งจะต้องขี่ช้างยืนสนานปีใดจะมีสระสนาน ก็ต้องเข้าพระราชพิธีในวันแรมสามค่ำเวลากลางคืน ไม่ว่าผู้ใดเคยไหว้ครูแล้วหรือยังไม่ได้ไหว้ครูคงต้องไปเข้าพระราชพิธีทั้งสิ้น ลัทธิหมอช้างอย่างไทยถือเสนียดจัญไรจัดนัก มีวิธีหลายอย่างซึ่งถือว่าเป็นการอัปมงคลที่ผู้ซึ่งเขาว่า ครอบหมอมอญไม่ถือ เช่นหลวงคชศักดิ์เดี๋ยวนี้เป็นต้น ในการพระราชพิธีนี้หวงแหนอย่างยิ่ง ห้ามมิให้ผู้หญิงเข้าไปในโรงพิธีเป็นอันขาด และไม่ให้คนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องในการพระราชพิธีเข้าไปในโรงพิธี ด้วยกลัวว่าจะไปเลียนวิธีท่าทางออกมาทําเล่น ถือกันว่าทําให้เสียจริตได้ ดูก็อยู่ข้างจะจริง เช่นรำพัดชาถ้านั่งอยู่ดีๆ ใครลุกขึ้นรำก็บ้าแน่ ถ้าจะตั้งพระราชพิธีแห่งใดก็มีม่านผ้ากั้นวงรอบจนปี่พาทย์ราดตะโพนก็ไม่ให้เข้าไปอยู่ในโรงพิธี ใช้ตะโกนบอกหน้าพาทย์ออกมาข้างนอก แต่เมื่อว่าตามจริงแล้ว พระราชพิธีนี้อยู่ข้างจะน่าดูสนุกดีอยู่ การในโรงพิธีขึ้นตั้งเตียงเทวรูปและตั้งกลดสังข์เป็นบันไดสามคั่น ตามแบบพิธีพราหมณ์ทั้งปวงเช่นกล่าวมาแล้ว เตียงเพดานชั้นต้นตั้งรูปพระอิศวร พระนารายณ์ มหาวิฆเนศวร เตียงลดลงมาตั้งกลดสังข์เบญจคัพย์ที่หน้าเทวรูป ตั้งเตียงวางเชือกบาศที่ปิดทองสามเตียง เชือกบาศปิดเงินเตียงหนึ่ง มีเครื่องกระยาบวชที่หน้าเตียงนั้นทั้งสี่ ตรงหน้าเตียงเชือกบาศทั้งสี่นี้ออกมา มีอีกเตียงหนึ่งวางเครื่องช้างชนักขอเชือกรำพัดชา ตรงหน้าเตียงนั้นออกมามีบายศรีแว่นเวียนเทียน เวลาค่ำโหรต้องหาฤกษ์เวลาที่จะลงมือทําพิธีทุกครั้ง เริ่มแต่กระสูทธิ์ อัตมสูทธิ์ บูชาเบญจคัพย์ บูชากลดบูชาสังข์ตามแบบแล้ว จนถึงสรงน้ำพระประโคมพิณพาทย์เชิญพระขึ้นภัทรบิฐ จุดแว่นเวียนเทียนสมโภชเจิมพระเทวรูปแล้ว จึงได้รดน้ำสังข์บรรดาผู้ซึ่งไปประชุมอยู่ในโรงพิธีขึ้น แล้วอ่านเวทพรมน้ำเชือกบาศ เวลานั้นประโคมพิณพาทย์สาธุการถึงเจ็ดลา แล้วตัวพระครูพฤฒิบาศและเจ้ากรมปลัดกรม กรมช้างเข้าประจําหน้าเตียงเชือกคุกเข่ายกเชือกบาศขึ้นกางไว้เป็นทอดเชือก ต่อนั้นไปให้นายท้ายช้างคนหนึ่งมาหมอบที่กลางโรง พระครูพฤฒิบาศซึ่งเป็นหมอเฒ่าจึงเอาชนักมาวางคร่อมหลัง เอาด้ามขอสอดในพรมชนักปลายด้ามขอขึ้นข้างบน นายท้ายช้างที่หมอบนั้นมือกํายื่นขอไว้ จึงให้หราหมณ์พฤฒิบาศสองคนอ่านดุษฎีสังเวยอย่างเก่าที่ขึ้นว่า อัญขยมบังคมภูวสวะเป็นต้น จบลาหนึ่งเป่าสังข์ ในเวลาเมื่ออ่านดุษฎีจบเป่าสังข์นั้น บรรดาผู้ซึ่งประชุมในที่นั้นโปรยข้าวตอกดอกไม้อย่างเช่นไหว้ครูละคร ข้าวตอกดอกไม้นั้นมีพานทองสองพาน พานเงินสองพาน พานทองนั้นเป็นของสำหรับพระเจ้าแผ่นดินทรงโปรย พานเงินเป็นของข้าราชการ ว่าเป็นธรรมเนียมมีมาแต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะท่านเสด็จเสมอไม่ขาด ถึงว่าพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์จะไม่เสด็จ ก็ยังมีพานข้าวตอกดอกไม้ทองคู่หนึ่ง เงินคู่หนึ่ง อยู่ดังนี้เสมอไม่ได้ขาดจนทุกวันนี้ ครั้นดุษฎีสังเวยจบสามลาแล้ว จึงสมมติเจ้ากรมปลัดกรมกรมช้างคนใดคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนรำพัดชาเป็นคล่องแคล่วชำนิชำนาญว่าเป็นพระนารายณ์เมื่อแปลงพระพักตร์เป็นช้าง ลงมาสอนวิชาคชกรรมให้แก่คนสี่คน เมื่อไปปราบช้างเอกทันต์แล้วมานั้น เมื่อแรกลงมือรํา พิณพาทย์ทําเพลงคุกพาทย์รัว กราบสามครั้ง กราบนั้นอยู่ข้างกระดุกกระดิกมาก ไม่ใช่กราบธรรมดา เข้าเพลงพิณพาทย์ แล้วจึงนั่งท่าเรียกว่าพุทธรา พิณพาทย์ตีเพลงตระบองกัน เมื่อเสร็จแล้วรัวกราบอีกสามครั้ง แล้วจึงลุกขึ้นยืนรําส่องแว่น พิณพาทย์ทําเพลงบาทสกุณี ส่องแว่นครบสามคราวแล้วทรุดลงนั่ง รัวกราบอีกเป็นคราวที่สาม แล้วจึงไปนั่งคุกเข่าข้างหนึ่งที่ข้างม้า ยกมือขึ้นจีบบนศีรษะเอนตัวเข้าไปที่เชือกบาศ เรียกว่าไหว้ครู พิณพาทย์ทําเพลงเหาะเสร็จแล้วรัวกราบอีกเป็นครั้งสี่ ต่อนั้นไปพิณพาทย์ทําเพลงชุบรําส่องแว่น แล้วแผลงกลับจับขอพายซ่นยินและฉะพายตามวิธีเพลง จะว่าให้เข้าใจนอกจากที่เห็นไม่ได้ เมื่อเสร็จแล้วคุกพาทย์รัวกราบอีกเป็นครั้งที่ห้า ต่อนี้ไปพิณพาทย์เปลี่ยนเป็นรุกร้นเดินส่องแว่นและออกแผลงอีก เปลี่ยนขอจับเชือกบาศใหม่ รำท่าซัดบาศเหวี่ยงเชือกให้พ้นตัวไปข้างหนึ่งสามรอบ แล้วคลายออกเหวี่ยงให้พันข้างหนึ่งอีกสามรอบแล้วให้คลายออก เป็นเสร็จการ ลงนั่งคุกพาทย์รัวกราบอีกครั้งหนึ่ง เป็นสิ้นวิธีรําพัดชา เมื่อเวลาที่รำเชือกบาศนั้น มีนายท้ายช้างอีกคนหนึ่งนั่งจับสายกระแชง คือท้ายเชือกบาศ สมมติว่าเป็นควาญช้างอยู่จนตลอดเวลารํา การที่รำพัดชานี้ ถือว่าถ้าผู้ใดได้เห็นเป็นสิ้นเสนียดจัญไร พระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนๆ ที่ทรงชำนิชํานาญในการช้าง เช่นพระนารายณ์มหาราช พระมหาบุรุษเพทราชาเป็นต้น เสด็จขึ้นพระพุทธบาทก็ทรงรําพัดชาเหนือกระพองช้างต้น ถวายพระพุทธบาททุกครั้ง เป็นเสร็จการพระราชพิธีในเวลาค่ำ

การพระราชพิธีดามเชือก ในวันขึ้นสี่ค่ำเวลาเช้าก็เหมือนกันกับเวลาค่ำ แปลกแต่พับเชือกบาศที่กางไว้นั้นเรียกว่าดามเชือก แต่ไม่ได้มีการเสด็จหรือมีผู้ใดไปประชุมดังเช่นเวลาค่ำ แต่เดิมมาในการพระราชพิธีนี้มีเงินที่พราหมณ์จะได้ตําลึงเดียว นอกนั้นได้แต่ผ้าขาวที่รองอาสนะเทวรูป และรองเชือกทั้งของบูชาต่างๆ ๚





หัวข้อ: Re: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 28 มิถุนายน 2561 15:28:42


เดือนห้า
แห่สระสนานใหญ่

๏ การแห่สระสนานใหญ่ในรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ ไม่ได้แบบอย่างไว้ว่าอย่างไร พบแต่ริ้วสระสนานในรัชกาลที่ ๓ เมื่อปีขาล โทศก ๑๑๙๒ เดินแห่ ๓ วัน คือวันขึ้น ๔ ค่ำ ๕ ค่ำ ๖ ค่ำ ตั้งกระบวนหน้าวัดชนะสงคราม ผ่านหน้าพระราชวังบวรฯ ลงมาทางถนนท้องสนามชัย กระบวนในรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ ก็คงเหมือนกันกับครั้งนี้ จะแปลกก็แต่กระบวนพระยาช้างพระยาม้าที่มีตามกาลตามเวลา กับเสนาบดีที่ไม่ชราก็คงจะขี่ช้าง ริ้วกระบวนนั้นดังนี้

ตํารวจถือธงห้าชายออกหน้า มีสารวัดธงคนหนึ่ง ต่อนั้นเป็นกระบวนพระยาช้าง กระบวนที่ ๑ พระยาช้าง พระเทพกุญชร ธงสามชายคู่หนึ่ง ธงมังกร ๕ คู่ ธนูหางไก่ ๒๐ สารวัตรธนู ๑ ธงมังกรคั่นคู่ ๑ ทวน ๒๕ คู่ สารวัตรทวน ๑ แล้วแส้หวาย ๑๐ คู่ กระบองกลึง ๕ คู่ เดินสายนอก สายในธงฉาน ๒ คู่ กลองชนะ ๑๐ คู่ จ่าปี่ ๑ จ่ากลอง ๑ สารวัตรกลอง ๑ แตรงอน ๖ คู่ แตรฝรั่ง ๔ คู่ สังข์คู่ ๑ สารวัตรแตร ๑ สารวัตรกรมช้าง ๑ ช้างพังนำ ๑ ตัวพระยาช้างพระเทพกุญชรนั้นมีข่ายคนถือกั้นสี่ด้าน คนถือข่าย ๘ คน กระฉิ่งเกล็ด ๔ แส้หางม้าคู่ ๑ ถือเครื่องยศ ๖ คน คือกล้วยโต๊ะ ๑ อ้อยโต๊ะ ๑ มะพร้าวโต๊ะ ๑ หญ้าโต๊ะ ๑ หม้อน้ำสองหม้อ ใช้เครื่องเงินทั้งนั้น ต่อนั้นไปช้างพังผูกเกณฑ์ตะพัด คือมีเครื่องที่สำหรับหัดช้างให้เดินฝีเท้าเรียบช้างหนึ่ง ช้างพังตามคู่ ๑ ช้างพังทูนบาศเป็นช้างเชือกคู่ ๑ ต่อนั้นไปกระบวนพระบรมฉัททันต์ ลดลงกว่าพระเทพกุญชร คือมีธงสามชายคู่ ๑ สารวัตรธง ๑ ธงมังกร ๕ คู่ ธนูหางไก่ ๑๕ คู่ สารวัตรธนู ๑ ธงมังกรคั่นคู่ ๑ ทวน ๒๐ คู่ สารวัตรทวน ๑ แส้หวาย ๘ คู่ กระบอกกลึง ๕ คู่ สายนอก สายในธงฉานคู่ ๑ กลองชนะ ๕ คู่ จ่าปี่ ๑ จ่ากลอง ๑ สารวัตรกลอง ๑ แตรงอน ๔ คู่ แตรฝรั่ง ๒ คู่ สังข์คู่ ๑ สารวัตรแตร ๑ สารวัตรกรมช้าง ๑ ช้างพังนำ ๑ คนถือข่าย ๘ กระฉิ่งเกล็ด ๔ แส้หางม้าคู่ ๑ เครื่องยศ ๖ ช้างพังผูกเครื่องเกณฑ์ตะพัด ๑ พังตามคู่ ๑ ช้างเชือกทูนบาศคู่ ๑  กระบวนที่ ๓ พระบรมคชลักษณ์เหมือนกันกับกระบวนที่ ๒ กระบวนที่ ๔ พระบรมไอยรา ลดธนูลงคง ๑๐ คู่ ทวน ๑๕ คู่ กลองชนะ ๕ คู่ มีแต่จ่าปี่ ไม่มีแตรสังข์ กระบวนที่ ๕ พระบรมนาเคนทร์ เหมือนกันกับกระบวนที่ ๔ กระบวนที่ ๖ พลายไอราพต ลดธงมังกรลงคงแต่สามคู่ แส้หวายคงแต่ ๖ คู่ กระบองกลึงคงแต่ ๔ คู่ ไม่มีกลองชนะ ช้างพังนํา ๑ กระฉิ่งเกล็ดคู่ ๑ พลายไอราพตเป็นช้างดั้ง มีกลางช้างถือเส้า มีแส้หางม้าและเครื่องยศสาม พังผูกเครื่องเกณฑ์ตะพัดตาม ๑ กระบวนที่ ๗ เจ้าพระยาปราบไตรจักร กระบวนที่ ๘ พลายมณีจักร กระบวนที่ ๙ พลายอัษฎาพงศ์ ในกระบวนที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ นี้เหมือนกันกับกระบวนที่ ๖ เป็นช้างดั้งทั้งสี่ กระบวนที่ ๑๐ พลายชัยนาเคนทร์ ธงมังกรคู่ ๑ ธนู ๑๐ คู่ ธงมังกรคั่นคู่ ๑ ทวน ๑๐ คู่ สารวัตร ๑ กระบวนที่ ๑๑ พลายมงคลรัตนาศน์ กระบวนที่ ๑๒ พลายแสนพลพ่าย กระบวนที่ ๑๓ พลายศิลป์นารายณ์ กระบวนที่ ๑๔ พลายสกลฤทธิ์ กระบวนที่ ๑๕ พลายเอกราวุธ กระบวนที่ ๑๖ พลายประกายมาศ กระบวนที่ ๑๗ พลายศรพระกาล กระบวนเหล่านี้เหมือนๆ กันกับที่ ๑๐ ตัวช้างแต่งอย่างพระยาช้าง หมอควาญซึ่งขี่พระยาช้างนุ่งสองปักลาย คาดราดตะคดสวมเสื้อครุยลอมพอก ถ้าพระยาช้างพลายใช้สีชมพู พระยาช้างพังใช้สีขาว ต่อนั้นไปเป็นกระบวนพระยาเพทราชา บโทนขัดดาบ ๓๐ คู่ ตัวพระยาเพทราชาขี่ช้างพังมีสัปทนกั้น ทนายขัดดาบริ้วหลัง ๒๐ คู่ ทนายตามแถวละยี่สิบคน ๕ แถวเป็น ๑๐๐ คน ต่อนั้นไปถืออาวุธต่างๆ เดินเป็นสี่สายๆ ละสี่สิบคน รวมคนในกระบวนพระยาเพทราชา ๒๐๐ คน กระบวนพระยากําแพง บโทน ๒๕ คู่ ทนายขัดดาบตามหลัง ๑๕ คู่ ทนายตามแถวละ ๑๖ คน ๕ แถว ๘๐ คน อาวุธต่างๆ ตามหลัง ๔ แถวๆ ละ ๓๕ คน รวมกระบวนนี้ ๑๗๐ คน ที่ ๓ กระบวนพระยาพระกฤษณรักษ์ บโทนขัดดาบนำ ๒๐ คู่ ทนายขัดดาบตาม ๑๒ คู่ ทนายตามแถวละ ๑๒ คน ๕ แถว ๖๐ คน อาวุธต่างๆ สี่สายๆ ละ ๒๙ รวม ๑๑๖ คน ต่อนั้นไปกระบวนเจ้าพระยามหาเสนา บโทน ๖๐ คู่ กระฉิ่ง ๔ เจ้าพระยามหาเสนาขี่เสลี่ยงแปลง คนหาม ๘ มีบังตะวัน ทนายขัดดาบข้างหลัง ๔๐ ทนายตามแถวละ ๔๐ คน ๕ แถว ๒๐๐ คน อาวุธตาม ๔ แถวๆ ละ ๘๐ คน รวมกระบวนนี้ ๓๒๐ คน กระบวนเจ้าพระยาธรรมา เจ้าพระยายมราช เจ้าพระยามหาโยธา เป็นกระบวนเสลี่ยงแปลงเหมือนกันทั้งสามกระบวน มีบโทน ๕๐ คู่ ทนายขัดดาบ ๓๒ คู่ ทนายตามแถวละ ๓๒ ห้าแถว ๑๖๐ คน อาวุธต่างๆ ตาม ๔ แถวๆ ละ ๖๙ รวมเป็นกระบวนละ ๒๗๖ คน ขุนนางที่ไปเสลี่ยงนี้สวมเสื้อครุยลอมพอก แต่ที่เป็นกระบวนช้างไม่ได้สวม ต่อกระบวนเสลี่ยงนี้ไปเป็นกระบวนช้าง ที่ ๑ เจ้าพระยาบดินทรเดชา กระบวนเท่ากันกับเจ้าพระยามหาเสนา มีสัปทนบังตะวัน กระฉิ่งเหมือนกัน กระบวนที่ ๒ เจ้าพระยาพระคลังเท่าเจ้าพระยาบดินทรเดชา กระบวนที่ ๓ พระยาศรีพิพัฒน์ ที่ ๔ พระยาราชสุภาวดี ที่ ๕ พระยาจ่าแสนยากร เท่าเจ้าพระยาธรรมา กระบวนที่ ๖ พระยาสุรเสนา บโทน ๔๐ คู่ ทนายขัดดาบ ๒๗ คู่ ทนายตามแถวละ ๒๖ คน ๕ แถว ๑๓๐ อาวุธตามแถว ๕๔ คน ๔ แถว รวม ๒๑๖ คน กระบวนที่ ๗ พระยามหาอำมาตย์ กระบวนที่ ๘ พระยาท้ายน้ำ กระบวนที่ ๙ พระยาสีหราชเดโช กระบวนที่ ๑๐ พระยาเพชรพิชัย กระบวนที่ ๑๑ พระพงศ์อมรินทร์ กระบวนที่ ๑๒ พระยาราชมนตรี กระบวนที่ ๑๓ พระยาเกษตรรักษา กระบวนที่ ๑๔ พระยาพิชัยบุรินทรา กระบวนที่ ๑๕ พระยาไกรโกษา กระบวนที่ ๑๖ พระยานครเขื่อนขันธ์ กระบวนที่ ๑๗ พระยาศรีสรไกร กระบวนที่ ๑๘ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี กระบวนเท่ากันกับพระยาสุรเสนา เมื่อกระบวนแห่เหล่านี้มาถึงหน้าพลับพลา ขุนนางผู้ขี่ช้างถวายบังคม แล้วเลี้ยวเข้าไปยืนเรียงประจําอยู่หน้าพลับพลา แล้วโปรดให้เรียกช้างน้ำมันมาผัดพาฬล่อแพนอยู่ในสามช้างสี่ช้าง ผู้ซึ่งขี่ช้างน้ำมันนั้น ใช้เจ้ากรมปลัดกรมในกรมช้าง มีพระยาราชวังเมืองเป็นต้น ต่อผัดพาฬล่อแพนแล้วจึงได้เดินกระบวน โคกระบือม้ารถต่อไป กระบวนโคธงเสือปีกนํากระบวน ๑ นำริ้วคู่หนึ่ง ประตัก ๑๐ คู่ ตะพด ๑๐ คู่ พิณพาทย์ตีสามหามสี่หว่างริ้วสำรับหนึ่ง คนจูงโคๆ ละ ๔ โค ๕ ตัว ๒๐ คน กระบวนกระบือก็เท่ากัน กระบวนม้าธงห้าชายนำกระบวน ๑ ธงสามชายนําริ้ว ๒ ธงตะขาบ ๑๐ คู่ สารวัตรธง ๑ ธนู ๑๐ สารวัตรธนู ๑ ธงตะขาบคั่นคู่ ๑ ทวน ๒๐ สารวัตรทวน ๑ ธงตะขาบคั่นคู่ ๑ แส้หวาย ๔ คู่ ธงตะขาบคั่นคู่ ๑ กระบองกลึงคู่หนึ่ง สายในปี่กลองมลายู ๑๘ คนสำรับ ๑ กลองชนะห้าคู่ กระฉิ่งเกล็ดคู่ ๑ ขุนหมื่นกรมม้าขี่ม้านํา ๑ ม้าต้นคนจูง ๔ สารวัตรกรมม้า ๑ ถือเครื่องยศ ๒ เจ้ากรมปลัดกรมกรมม้าขี่ม้าตามคู่ ๑ กระบวนม้าอีก ๑๙ กระบวน มีธงตะขาบคู่ ๑ แส้หวาย ๔ คู่ แล้วธงตะขาบคั่นอีกคู่ ๑ กระบองกลึง ๒ คู่ กระฉิ่งเกล็ดคู่ ๑ ขุนหมื่นม้านํา ๑ ม้าตาม ๒ จูงม้าต้น ๔ สารวัตร ๑ เครื่องยศ ๒ เหมือนกันทุกๆ กระบวนทั้ง ๑๙ แล้วถึงพิณพาทย์จีนคั่น ๑๔ คน ต่อนั้นไปเป็นกระบวนขุนนางขี่ม้า ที่ ๑ พระยาศรีสุริยพาห บโทนขัดดาบสองแถว ๓๐ คู่ ทนายขัดดาบตามหลัง ๒๐ คู่ ทนายตาม ๕ แถวๆ ละ ๒๐ คน อาวุธต่างๆ สี่แถวๆ ละ ๔๐ คน เป็น ๑๖๐ คน กระบวนที่ ๒ พระยาเทพวรชุน กระบวนที่ ๓ พระยาราชนิกูล กระบวนที่ ๔ พระยาพิชัยสงคราม กระบวนที่ ๕ พระยารามกําแหง กระบวนที่ ๖ พระยาราชโยธา กระบวนที่ ๗ พระยาเสนาภูเบศร์ กระบวนที่ ๘ พระยาณรงค์วิชัย กระบวนที่ ๙ พระยาอภัยสงคราม กระบวนที่ ๑๐ พระยาราชวังสรรค์ มีกระบวนเท่าๆ กันกับพระยาศรีสุริยพาห สวมเสื้อเข้มขาบกั้นสัปทนทั้งสิ้น ต่อนั้นไปกระบวนรถอีกสาม กระบวนที่ ๑ พระยาจุฬาราชมนตรีขี่รถเก๋งม้าคู่กั้นสัปทน มีคนจูงม้าชักรถ ๒ แขกวรเทศแทนบโทนนำหน้า ๓๐ คนตามเท่ากันกับขุนนางขี่ม้า ที่ ๒ พระยาศรีราชอากร ขี่รถจีนเรียกว่ารถเกี้ยวคนจูง ๒ กั้นสัปทน ๑ บโทนใช้จีน ๔๐ คู่ ทนายขัดดาบตามหลัง ๒๗ คู่ ทนายตาม ๕ แถวๆ ละ ๒๖ คน อาวุธต่างๆ สี่แถวๆ ละ ๕๔ คน เป็นคน ๒๑๖ คน ที่ ๓ พระยาวิเศษสงคราม ขี่รถฝรั่งสี่ล้อเทียมม้าคู่ คนจูง ๒ กั้นสัปทน ๑ ฝรั่งแทนบโทนแห่หน้า ๓๐ คู่ กระบวนตามเหมือนพระยาจุฬาราชมนตรี กระบวนม้ากระบวนรถนี้ไม่ได้ยืนหน้าที่นั่ง เมื่อผ่านพ้นไปแล้วจึงให้เรียกม้าห้อ ม้าห้อนั้นกําหนดว่า ๑๒๐ ม้า แต่จะเป็นม้าต่างหากหรือม้าในกระบวนที่เดินแห่แล้วกลับลงมาห้อ แล้ววนกลับมาอีกเล่านั้นไม่ทราบเลย รับประกันไม่ได้

การแห่สระสนานใหญ่เช่นนี้ ไม่ได้แห่เวลาเย็นเหมือนคเชนทรัศวสนาน ใช้แห่แต่เวลาเช้ากว่าจะสิ้นกระบวนเสด็จขึ้นเกือบตกบ่าย เวลาเสด็จขึ้นแล้วข้าราชการที่ต้องแห่สระสนาน ยืนช้างอยู่หน้าพลับพลานั้น ลงจากช้างมารับพระราชทานเลี้ยงที่ที่พัก แล้วมีมวยมีกระบี่กระบองไปจนเวลาเย็น เสนาบดีเป็นผู้ตกรางวัล ต่อเวลาเย็นเลิกการเล่นทั้งปวงแล้วจึงได้กลับไปบ้าน ตามที่เล่ากันมาว่าในเวลาแห่สระสนานนั้น คนดูเป็นผู้ชายน้อย ด้วยต้องเข้ากระบวนเสียโดยมาก เวลาแต่ก่อนนี้คนในกรุงเทพฯ ก็ยังไม่มากเหมือนอย่างทุกวันนี้ ดูคงจะบางตาไปได้บ้างจริง อาวุธเครื่องแห่ในรัชกาลที่ ๓ นี้ ที่ทําเป็นอาวุธเหล็กจริงขึ้นนั้น เมื่อเสร็จการสระสนานแล้วพระราชทานเงินหลวงให้ตามราคา รวบรวมมาไว้ในคลังสรรพยุทธ คงยังได้ใช้ราชการแห่แหนมาจนทุกวันนี้ เพราะการสระสนานต้องลงทุนรอนมาก และเป็นการเล่นพิธีเช่นนี้ จึงได้มีแต่แผ่นดินละครั้ง ภายหลังมาในสองรัชกาลนี้ก็ไม่ได้มี ๚
 


เดือนห้า
คเชนทรัศวสนาน

๏ เรื่องคเชนทรัศวสนานนี้ พึ่งมีขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้นเหตุนั้นมีเป็นสองเรื่อง เรื่องหนึ่งคือในหนังสือนพมาศ ซึ่งกล่าวว่าในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอรุณมหาราชกรุงสุโขทัย ได้มีการแห่สนานช้างต้นม้าต้นปีละครั้ง ดังได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว และการพระราชพิธีทอดเชือกดามเชือกที่ยังคงมีอยู่เป็นพิธีพราหมณ์ ไม่มีการอันใดซึ่งเกี่ยวข้องในพระพุทธศาสนา ก็การพระราชพิธีอันใดซึ่งเป็นพิธีประจําพระนคร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเพิ่มเติมให้เกี่ยวในพระพุทธศาสนาลงอีกหลายอย่าง การพระราชพิธีนี้ อยู่ข้างจะเป็นช่องเหมาะมีที่อ้างอิง ตัวอย่างว่าเป็นการพิธีมงคลมีมาแต่โบราณ จึงได้ทรงเทียบเคียงการเก่ามาตั้งเป็นแบบฉบับขึ้น

ข้อซึ่งนับว่าเป็นการเนื่องในพระพุทธศาสนานั้น คือได้มาจากทีฆาวุชาดก ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสยกเรื่องมาเป็นตัวอย่างเพื่อจะระงับความแตกร้าวกันในหมู่พระสงฆ์ มีเนื้อความตามนิทานชาดกนั้นว่า ในปางก่อน มีพระมหากษัตริย์องค์หนึ่ง ทรงพระนามพระเจ้าพรหมทัต ผ่านสมบัติในเมืองพาราณสี เป็นพระราชธานีนครใหญ่ มีกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามพระเจ้าทีฆีติโกศล ผ่านสมบัติในโกศลราฐ มีเขตแดนใกล้กับเมืองพาราณสี ด้วยจารีตของขัตติยซึ่งถือว่าการที่ไปปราบปรามกษัตริย์ผู้อื่น ถึงแม้ว่าจะไม่มีเหตุอันใดพอที่จะยกขึ้นกล่าว นอกจากที่ไม่ได้อ่อนน้อมยอมอยู่ในใต้อํานาจ ไม่เป็นการผิดธรรมนั้น พระเจ้าพรหมทัตได้ตระเตรียมกองทัพพรักพร้อมจะไปตีเมืองโกศลราฐ พระเจ้าทีฆีติโกศลทราบข่าวศึก เห็นว่ากำลังน้อยจะต่อสู้มิได้ ก็พาพระมเหสีหนีออกจากพระนครก่อนกองทัพยังไม่มาถึง แปรเพศเป็นปริพาชกเข้าไปอาศัยช่างหม้ออยู่ในเขตแดนเมืองพาราณสี ฝ่ายพระเจ้าพรหมทัตยกกองทัพไปถึงเมืองโกศลราฐไม่มีผู้ใดต่อสู้ ก็เก็บทรัพย์สมบัติกวาดครอบครัวกลับคืนพระนคร พระเจ้าทีฆีติโกศลกับพระมเหสีอาศัยอยู่กับนายช่างหม้อ ไม่นานพระมเหสีก็ทรงพระครรภ์ ด้วยอำนาจพระราชโอรสซึ่งปฏิสนธิในครรภ์มีบุญสมภารใหญ่ จึงบันดาลให้พระมเหสีปรารถนาจะใคร่ดูจตุรงคเสนาสี่เหล่าอันมีอาวุธพรักพร้อมอย่างในยุทธภูมิ และอยากจะดื่มน้ำล้างพระแสงทรงของพระเจ้าแผ่นดิน จึงทูลแก่พระราชสามี พระเจ้าทีฆีติโกศลก็ขัดข้องในพระหฤทัย ด้วยสิ้นอํานาจเสียแล้ว จึงไปแจ้งความแก่พราหมณ์ปุโรหิตซึ่งเป็นที่ไว้ใจ พราหมณ์ปุโรหิตผู้นั้นชำนาญในการสังเกตนิมิตเข้าใจว่าพระราชโอรสนั้นจะมีบุญญาธิการ จึงรับธุระมาทูลพระเจ้าพรหมทัตขอให้ประชุมพลจตุรงค์ และให้ชำระพระแสงเพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่พระนคร พระเจ้าพรหมทัตก็โปรดให้จัดการตามคําปุโรหิตกราบทูล พระราชเทวีพระเจ้าทีฆีติโกศล ก็ได้เห็นพลจตุรงค์เสนาและได้ดื่มน้ำล้างพระแสงสมดังความปรารถนา อยู่มามินานพระราชเทวีก็ประสูติพระราชโอรสประกอบด้วยธัญญลักษณสมบัติ จึงขนานนามว่าทีฆาวุกุมาร ครั้นเจริญขึ้นแล้วพระบิดามารดามิได้ไว้พระหฤทัยด้วยอาศัยอยู่ในเมืองปัจจามิตร ถ้ามีผู้รู้เหตุผลภัยมาถึง ก็จะพลอยพาให้พระโอรสถึงความพินาศด้วย จึ่งได้พาทีฆาวุกุมารไปฝากนายหัตถาจารย์ไว้ นายหัตถาจารย์ก็บํารุงพระราชกุมารจนเจริญวัย

การที่พระเจ้าทีฆีติโกศลมาอาศัยอยู่ในเมืองพาราณสีนั้นไม่มิด มีผู้กราบทูลพระเจ้าพรหมทัต พระเจ้าพรหมทัตจึงสั่งให้พนักงานฆ่าโจรไปจับพระเจ้าทีฆีติโกศลและพระมเหสีผูกมัดมาจะพาไปยังที่สำเร็จโทษ เมื่อทีฆาวุกุมารได้ทราบเหตุก็รีบติดตามมาพบพระบิดามารดาที่กลางทาง เมื่อพระเจ้าทีฆีติโกศลเห็นโอรส ก็ทําเพิกเฉยเสียเหมือนไม่รู้จัก แล้วตรัสเปรยๆ ไปว่า ทีฆาวุเอ๋ยเจ้าอย่าเห็นแก่การสั้น และอย่าเห็นแก่การยาว เวรไม่ระงับด้วยเวร เวรย่อมสงบระงับไปด้วยไม่มีเวร ฝ่ายเจ้าพนักงานฆ่าโจรไม่ทันสังเกตเนื้อความนั้น ก็เข้าใจเสียว่าพระเจ้าทีฆีติโกศลตรัสเพ้อไปด้วยความกลัวภัยเป็นอย่างพิกลจริต แต่ทีฆาวุกุมารรู้ว่าพระบิดาให้โอวาท ก็กําหนดจําไว้มั่นคง ฝ่ายพวกพนักงานฆ่าโจรก็พาสองกษัตริย์ไปประหารด้วยอาวุธ บั่นเป็นท่อนๆ ไว้ในทิศสี่ตามธรรมเนียมฆ่าโจร เมื่อพวกฆ่าโจรสำเร็จโทษสองกษัตริย์เสร็จแล้ว ทีฆาวุกุมารจึงเก็บดอกไม้ไปบูชานบนอบประทักษิณพระศพเสร็จแล้ว ให้สินบนแก่พวกพนักงานฆ่าโจร ให้ช่วยเก็บศพพระบิดามารดาเผาเสียแล้วก็อาศัยอยู่กับนายหัตถาจารย์ต่อมาจนเจริญใหญ่ นายหัตถาจารย์จึงได้นำเข้าไปถวายตัวให้ทําราชการในพระเจ้าพรหมทัต ด้วยบุญญาภินิหารของทีฆาวุกุมารบันดาลให้พระเจ้าพรหมทัตโปรดปรานใช้สอยอย่างสนิทชิดชอบพระอัธยาศัยทุกประการ

ครั้งหนึ่งพระเจ้าพรหมทัตเสด็จไปประพาสป่า โปรดให้ทีฆาวุกุมารเป็นสารถี ทีฆาวุกุมารขับรถพระที่นั่งไปโดยเร็วจนกระบวนล้าหมดตามเสด็จไม่ทัน เมื่อไปในราวป่าถึงต้นไทรใหญ่ร่มชิด พระเจ้าพรหมทัตจึงสั่งให้หยุดรถประทับพักเหนื่อยอยู่ใต้ร่มไทร โปรดให้ทีฆาวุนั่งลง แล้วเอนพระเศียรพาดตักทีฆาวุกุมารบรรทมหลับไป ฝ่ายทีฆาวุกุมารคิดว่า พระเจ้าพรหมทัตฆ่านี้บิดามารดาเราเสีย ครั้งนี้เป็นช่องที่เราจะตอบแทนได้แล้ว เราจะประหารชีวิตพระเจ้าพรหมทัตเสียบ้าง คิดแล้วเอื้อมไปชักพระแสงออกจากฝักจะฟันพระเจ้าพรหมทัต แล้วได้สติคิดถึงโอวาทของพระบิดาว่า เวรไม่ระงับด้วยเวร เวรย่อมสงบระงับไปด้วยไม่มีเวร เราจะล่วงละเมิดคำสอนของบิดานั้นไม่ควร คิดแล้วสอดพระแสงเข้าไว้ในฝักดังเก่า แล้วกลับคิดอีกว่าเมื่อไรเล่าจะได้ช่องอย่างนี้ เราจะตอบแทนเสียให้ทันท่วงทีดีกว่า จึงชักพระแสงออกจากฝักจะประหารพระเจ้าพรหมทัตอีก แล้วมีสติระลึกถึงโอวาทพระบิดายั้งไว้ได้อีก สอดพระแสงเข้าไว้ในฝักดังเก่า แต่ทําดังนี้อยู่หลายครั้งจนพระเจ้าพรหมทัตบรรทมตื่นขึ้นตรัสถาม ทีฆาวุกุมารจึงกราบทูลว่า ถ้าพระองค์ไม่ถือโทษโปรดให้ชีวิตข้าพเจ้าแล้วข้าพเจ้าจึงจะกราบทูลความเรื่องนี้ พระเจ้าพรหมทัตก็ทรงอนุญาตประทานความสัตย์แก่ทีฆาวุกุมาร ทีฆาวุกุมารก็ถวายสัตย์แก่พระเจ้าพรหมทัต ว่าจะไม่ประทุษร้ายกันแล้วจึงได้เล่าเหตุถวายตามที่เป็นนั้นทุกประการ พระเจ้าพรหมทัตก็มิได้มีพระหฤทัยรังเกียจ โปรดให้อภัยแก่ทีฆาวุ ให้ขับราชรถกลับคืนยังพระนคร แต่นั้นมาพระเจ้าพรหมทัตก็โปรดปรานทีฆาวุกุมารยิ่งขึ้น ชุบเลี้ยงให้มียศศักดิ์ศฤงคารคล้ายกับลูกหลวงเอก อยู่ไม่นานนักก็โปรดให้ทีฆาวุไปครองโกศลชนบท ซึ่งเป็นที่เดิมของบิดา ครั้นอยู่นานมาพระเจ้าพรหมทัตสวรรคต ไม่มีพระราชโอรส ทีฆาวุกุมารก็ได้รับราชสมบัติในเมืองพาราณสี ดํารงพิภพทั้งสองพระนคร เป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบวงศ์กษัตริย์ต่อไป

มีข้อความในทีฆาวุชาดกดังนี้ จึงถือว่าการซึ่งประชุมจตุรงคเสนาสี่หมู่ และชําระพระขรรค์เป็นการสวัสดิมงคลให้เจริญความสัตย์และระงับเวรแต่โบราณมา เป็นพระราชพิธีเนื่องกันทั้งถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา และการพระราชพิธีนี้ เรียกชื่อติดกันว่าขรรคโธวนพิธีศรีสัจจปานกาล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงเพิ่มเติมการพระราชกุศลขึ้นเป็นพิธีสงฆ์ ตั้งที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาทซึ่งเป็นที่ทอดพระเนตรกระบวนแห่ พระแท่นมณฑลที่ใช้ในการพระราชพิธีนี้ ใช้เครื่องช้างเครื่องม้าตั้งแทน คือตั้งม้าทองใหญ่เรียงติดๆ กันไปสามม้า ข้างเหนือตั้งพระที่นั่งกาญจนฉันท์ที่สำหรับทรงพระชัยนำเสด็จ พระที่ตั้งในการพระราชพิธีนี้ใช้พระชัยเงินองค์น้อย ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งเคยใช้อยู่ในการช้างๆ เป็นอันมาก และพระชัยเนาวโลหะน้อยมีหม้อน้ำสำริดติดเทียนเล่มหนึ่งตั้งใบหนึ่ง หีบเครื่องพิชัยสงคราม ๒ หีบ ใต้กูบวางเครื่องช้างชนักต้น หลังพระที่นั่งกาญจนฉันท์นี้ผูกราวบันไดแล้วพาดพระแสงขอ คือ พระแสงเจ้าพระยาแสนพลพ่าย พระแเสงขอเกราะ พระแสงขอหอก พระแสงขอธารพระกร พระแสงของ้าวดับเพลิง พระแสงขอต่างๆ นี้อย่างละองค์หนึ่งบ้างสององค์บ้าง รวมด้วยกันเป็นพระแสงขอ ๑๑ องค์ มีม้ากลางตั้งพระคชาธารปักบวรเศวตฉัตร ๗ ชั้น ประดับด้วยเครื่องพระคชาธาร คือธงนารายณ์สองข้าง และตรงกลาง เป็นสามธงด้วยกัน มีราวพาดพระแสงสองข้าง คือพระแสงทวนคู่ ๑ พระแสงตรีด้ามยาวคู่ ๑ พระแสงง้าวคู่ ๑ พระแสงหอกซัดคู่ ๑ แพนหางนกยูงคู่ ๑ พระแสงซึ่งตั้งพระราชพิธีถือน้ำแล้วเชิญไปตั้งบนพระคชาธาร คือพระแสงศรสาม พระขรรค์ชัยศรี พระขรรค์เนาวโลหะ พระแสงเวียต พระแสงฟันปลาฝักประดับพลอยแดง พระแสงทรงเดิมฝักมุก พระแสงฝักทองเกลี้ยง เครื่องประดับเพชร พระแสงตรีเพชร พระแส้หางช้างเผือก พระแสงทั้งนี้ตั้งบนพานทองสองชั้น แต่ธารพระกรเทวรูป ธารพระกรศักดิ์สิทธิ์ ผูกควบคันพระเศวตฉัตร หีบพระแสงจีบกับพระแสงปืนสั้นวางอยู่กับพื้นพระคชาธาร มาข้างตะวันตกตั้งเครื่องม้าพระที่นั่ง คือพระที่นั่งอานเทพประณม ๑ อานครุฑกุดั่น ๑ อานฝรั่งปักทอง ๒ เป็น ๔ เครื่อง พระแส้สององค์ ตั้งเต้าลอนทองเหลืองสี่เต้า และบาตรน้ำมนต์ด้วย พระสงฆ์ที่สวดมนต์ใช้พระราชาคณะไทยนำ พระครูปริตรไทย ๔ พระราชาคณะรามัญนำพระครูปริตรรามัญ ๔

เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกไม่ใคร่ขาด เพราะใกล้พระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงจุดเครื่องนมัสการทรงศีลแล้ว อาลักษณ์อ่านคําประกาศ คําประกาศนั้นเริ่มว่า ขอประกาศแก่พระสงฆ์และเทพยดา ว่าพระเจ้าแผ่นดินได้เถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ทรงพระราชดําริถึงการแต่ก่อน เคยทําพระราชพิธีซึ่งเรียกว่าขรรคโธวนพิธีศรีสัจจปานกาล ชําระอาวุธและดื่มน้ำพระพิพัฒน์ ซึ่งเรียกว่าพระราชพิธีธรรมิกมงคล ให้เจริญความสามัคคีซื่อตรงต่อพระเจ้าแผ่นดิน ในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งปวง ช่วยกันปราบปรามหมู่ปัจจามิตรรักษาพระราชอาณาเขต เป็นการยั่วยวนใจให้หมู่ทหารทั้งปวงเกิดความกล้าหาญ เคยทําปีละสองครั้งเป็นกําหนด ทรงพระราชดําริถึงพระคุณพระเจ้าแผ่นดินแต่โบราณสืบมา จึงได้ทรงบําเพ็ญพระราชกุศลและให้ตั้งการพระราชพิธี เพื่อจะให้บรมราชพาหนะทั้งปวงเป็นสุขสบายด้วยอำนาจที่ได้ทรงบําเพ็ญพระราชกุศล และการพระราชพิธีนี้บันดาลให้คชตระกูลทั้งปวงมาสู่พระบารมี คือช้างนั้นช้างนั้นออกชื่อพระยาช้างทั้งปวงเต็มตลอดสร้อย จนถึงพระยาปราบไตรจักร พลายปานพลแสน พลายเล็บครบ และช้างวิเศษพลายพังอยู่ในกรุง อีกช้างต่อช้างเถื่อนพลายพังทั้งปวงที่อยู่กรุงเก่าและกองนอกหัวเมือง ม้าก็ว่าชื่อม้าระวางบรรดาที่มีอยู่ จนตลอดถึงม้าเกราะทองซ้ายขวา ม้าแซงนอกซ้ายขวา แล้วจึงได้ว่าถึงเรื่องนิทานที่มาในขันธกวินัย คือทีฆาวุชาดกโดยย่อดังได้กล่าวพิสดารมาข้างต้นแล้วนั้น ลงท้ายก็เป็นคําขอพรตามแบบประกาศทั้งปวงแปลกบ้างเล็กน้อยตามเหตุผลของพระราชพิธี แล้วพระสงฆ์จึงได้สวดมนต์

รุ่งขึ้นเวลาเช้าพระสงฆ์รับพระราชทานฉัน ที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปักปะรำ ปะรำละสามห้อง สี่ปะรำเรียงห่างกันเป็นระยะเป็นที่จตุรงคเสนาสี่หมู่มายืน วิธีจัดเสนาในเรื่องจตุรงค์สี่หมู่นี้จัดตามแบบซึ่งมีมาในวินัย ที่ว่าพระสงฆ์ดูกระบวนเสนาต้องอาบัติปาจิตตีย์ มีคําอธิบายว่าเสนานั้นคืออย่างไร จึงได้ชี้แจงวิธีซึ่งจัดทหารเข้ากองเป็น ทัพช้าง ทัพม้า ทัพรถ ทัพพลเดินเท้า ซึ่งกรมสมเด็จพระปรมานุชิตก็ได้ทรงยกมาว่าไว้ในหนังสือนครกัณฑ์อีกแห่งหนึ่ง เป็นวิธีจัดทหารเป็นหมู่เช่นกับเซกชัน แล้วรวมเป็นกัมปนี เป็นเรยิเมนต์ เป็นแบ็ดตะเลียนขึ้นไปตามลำดับ แต่ตำราที่ค้นได้กันนี้ คงจะไม่พอตลอดที่จะรู้ได้ทั่วถึงว่าวิธีจัดทหารอย่างโบราณนั้น เขาจัดหมวดจัดกองกันอย่างไร เพราะไม่ประสงค์ที่จะว่าให้เป็นตําราทหาร ประสงค์แต่จะว่า ว่าเมื่อภิกษุดูกองทหารเช่นนั้นเท่านั้น นับว่าเป็นกระบวนเสนาต้องอาบัติปาจิตตีย์เหมือนกับกําหนดว่าภิกษุถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ให้ ตั้งแต่ห้ามาสกหรือสองสลึงเฟื้องขึ้นไปเป็นต้องอทินนาทานปาราชิก แต่ฝ่ายเราที่ต้องการจะยกมาจัดเอาอย่างบ้างนั้น ด้วยความประสงค์ที่จะให้เหมือนกับจตุรงคเสนาที่พระมเหสีพระเจ้าทีฆีติโกศลได้เห็นนั้นอย่างหนึ่ง และเป็นการพระราชพิธีอยู่ ถ้าเข้าบาล่ำบาลีอยู่บ้างดูเป็นมงคลมากขึ้น จึงจัดอย่างย่อๆ เพียงเซกชันหนึ่ง ตามที่มีปรากฏชัดเจน แต่ที่แท้พระมเหสีพระเจ้าทีฆีติโกศลคงจะได้ดูริวิ้วใหญ่ คงจะไม่ใช่ดูย่อๆ เช่นนี้เป็นแน่ ถ้าเรามีริวิ้วใหญ่ ประชุมทหารหมู่ใหญ่ได้เมื่อใด จะนับว่าเป็นสวัสดิมงคลยิ่งกว่าดูจตุรงคเสนานี้ได้เป็นแน่ จตุรงคเสนาที่จัดมายืนในเวลาเช้าสี่หมู่นี้ คือปะรําหนึ่ง พลช้างสามช้าง ผูกสัปคับเขน มีหมอควาญประจำ บนสัปคับมีทหารปืนนกสับนั่งช้างละสองคน พลล้อมเชิงถือดาบสองมือประจําเท้าช้างเท้าละสองคน เป็นแปดคน ปะรำที่ ๒ พลม้าสามม้า นายทหารม้าขี่สามคน พลล้อมเชิงถือง้าวสองคน เครื่องม้าผูกแพนหางนกยูง ปะรำที่ ๓ พลรถสามรถ รถนั้นเป็นรูปเกวียนทาเขียวๆ มีเพดาน เทียมโคผูกเครื่องอาวุธต่างๆ มีเสนารถคนหนึ่ง สารถีคนหนึ่ง คนล้อมรถถือดาบเขนรถละสี่คน ปะรำที่ ๔ พลเดินเท้าสามพวกๆ ละ ๑๒ คน พวกหนึ่งถือดาบเชลย พวกหนึ่งถือทวน พวกหนึ่งถือตรี รวมทั้งสี่ปะรำ เป็นคน ๙๓ คนนับเป็นกัมปนีหนึ่ง เมื่อใช้ทั้งสี่อย่างปนกันหรือเป็นอย่างละเซกชันในหมู่ทหารพวกหนึ่งๆ เมื่อเวลาเลี้ยงพระสงฆ์แล้วเคยโปรดให้กระบวนเสนาทั้งสี่หมู่นี้เดินไปเดินมาตามถนนหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์

เมื่อเสด็จขึ้นแล้ว พระพฤฒิบาศเชิญหม้อสำริดซึ่งตั้งอยู่ในพระราชพิธี ลงมาอ่านเวทพระอุเทน เป่าสังข์ถึงเจ็ดลา แล้วเชิญพระแสงซึ่งไปตั้งในพระราชพิธีนั้น ลงชุบในหม้อ น้ำในหม้อนี้สำหรับส่งข้างใน ถวายพระอัครมเหสีและพระสนมกํานัล เสวยและรับพระราชทาน แต่ภายหลังมานี้ดูรวมๆ กันไปอย่างไรไม่ทราบ ด้วยลัทธิที่ถือกันว่ามีครรภ์ กินน้ำมนต์แล้วลูกตกมีหนามาก อีกนัยหนึ่งที่เพ้อกันไปว่า เป็นน้ำล้างศัสตราอาวุธจะเข้าไปบาดลูกบาดเต้าหรือเป็นลูกของท่านไม่ต้องถือน้ำ ดูอุบๆ อิบๆ กันอยู่อย่างไรไม่เข้าใจชัด อยู่ในเป็นถ้าเวลาถือน้ำใครมีครรภ์ก็ไม่ไปถือน้ำโดยมาก จนคนนอกวังพลอยถือด้วยก็มีชุม ส่วนคนในวังที่เป็นคนดีๆ ไม่เชื่อถือตำรานี้ เวลามีครรภ์อ่อนๆ ไปถือน้ำ ก็ไม่มีผู้ใดเป็นอันตรายอย่างใด เว้นไว้แต่เวลาที่มีครรภ์แก่ ไม่งามที่จะเข้าประชุมจึงได้งดเว้นก็มีอยู่บ้าง อีกนัยหนึ่งพึ่งได้ทราบมาว่า มีผู้ถือกันว่าทารกที่เกิดมาในครรภ์นั้นเป็นสัตว์ไม่มีบาป ถ้ามารดามาถือน้ำมีใจทุจริตคิดประทุษร้ายอยู่อย่างหนึ่งอย่างใด ก็จะพาให้ทารกที่อยู่ในครรภ์ซึ่งเป็นสัตว์ไม่มีบาปนั้นพลอยเป็นอันตรายด้วย ความคิดอันนี้เป็นการผิดมากไปยิ่งกว่าที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นสองอย่างหรือสามอย่าง คือข้อซึ่งว่ามีครรภ์อยู่กินน้ำมนต์มักจะทําให้ลูกตก ที่ถือเช่นนี้ไม่เลือกว่าน้ำมนต์อันใด น้ำพระพิพัฒน์นี้ก็นับว่าเป็นน้ำมนต์ ซึ่งพระสงฆ์ได้สวดปริตรแล้วอย่างหนึ่งเหมือนกันจึงถือด้วย เหตุที่ถือกันขึ้นนี้คงจะเกิดขึ้นด้วยน้ำสะเดาะ ที่เวลาคลอดลูกขัดข้องไม่สะดวก ก็มักจะมีผู้หลักผู้ใหญ่หรือมดหมอเสกน้ำสะเดาะให้กิน คาถาที่เสกน้ำสะเดาะนั้นมักจะเป็น ยะโตหัง ภะคินิ อะริยายะชาติยา ชาโต เป็นต้น หรือมีคาถาที่เป็นภาษาไทยแต่งอย่างมคธซึมซาบต่างๆ ตามลัทธิที่เคยถือมา ก็สวดปริตรทั้งปวง เช่นสิบสองตำนาน เจ็ดตํานานก็คงมีบทว่า ยะโตหัง ภะคินิ ด้วย กลัวจะไม่รั้งรอจะไปช่วยผลักช่วยรุนออกมาเสียแต่ยังไม่ถึงกําหนด ก็เอาเถิดว่าเป็นคนขี้เชื่อก็เชื่อไป อีกอย่างหนึ่งซึ่งกลัวว่าเป็นน้ำศัสตราวุธจะไปบาดเด็กในท้องนั้นก็เป็นการถือยับถือเยินด้วยความขลาด ให้เสียวไส้ไป ดูก็ไม่กระไรนัก การที่ถือว่าเป็นลูกเป็นเต้าของท่านไม่ต้องถือน้ำนั้น ก็เป็นอย่างซึมซาบเซอะซะเหลวเลอะไป เพราะเจ้านายลูกเธอเขาก็ต้องถือน้ำด้วยกันทั้งสิ้น ดูก็เป็นเซอะซะไปเสียไม่สู้กระไรนัก แต่ข้อซึ่งกลัวว่ามารดามีใจทุจริตจะพาให้ทารกซึ่งเป็นสัตว์ไม่มีบาปพลอยเป็นอันตรายด้วย จึงไม่ถือน้ำเป็นการทําวินัยกรรมแก้ไขหลีกเลี่ยงนั้นเป็นการโกงมาก และโกงก็ไม่รอดตัวด้วย ใครผู้ใดจะเป็นประกันได้ ว่าคำสาบานและน้ำพระพิพัฒน์ที่ได้ถวายสัตย์และดื่มไว้แล้วหกเดือนล่วงมานั้น จะจืดสิ้นพิษสงลงในหกเดือนเป็นแน่แล้ว หรือจะมีผู้ใดมารับประกันว่าให้คิดการทุจริตอย่างไรอย่างไรก็คิดไปเถิด แต่ให้เว้นดื่มน้ำพระพิพัฒน์เสียคราวหนึ่งแล้วจะไม่มีอันตรายอันใดเลย ก็ถ้าหากอันตรายที่ดื่มน้ำพระพิพัฒน์ในเวลามีครรภ์อยู่นั้น จะทำอันตรายแก่ตัวมารดาซึ่งมีใจทุจริตได้ น้ำพระพิพัฒน์ที่ดื่มมาแต่ก่อนๆ ก็คงจะตามมาทำอันตรายได้เหมือนกัน จึงเห็นว่าการที่ถืออย่างชั้นหลังนี้ใช้ไม่ได้ ถ้าพูดออกก็เห็นเป็นการโกงไม่งามเลย มีดีอยู่ท่าเดียวแต่เพียงว่าเวลามีครรภ์ไม่สมควรจะเข้าในที่ประชุม มีความอับอายเป็นสนิทกว่าอย่างอื่นหมด ก็แต่น้ำซึ่งทําในพระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน ซึ่งไม่มีผู้บริโภคนี้จะเป็นมาแต่ครั้งไรก็ไม่ทราบ คงจะเป็นด้วยเหตุที่ถือลัทธิเล็กน้อยเหล่านี้นั้นเอง ยังคงอยู่แต่ถ้าพระอัครมเหสี พระราชเทวี หรือเจ้าจอมอยู่งานคนใดมีครรภ์ ก็ออกไปที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ดูจตุรงคเสนาและรับน้ำสังข์ ซึ่งพราหมณ์พฤฒิบาศมารดให้เป็นธรรมเนียมสืบมาจนทุกวันนี้ เป็นเสร็จการในเวลาเช้า

ครั้นเวลาบ่ายจึงได้ตั้งกระบวนแห่เดินแห่คเชนทรัศวสนานก็อย่างสระสนานนั้นเอง เป็นแต่ย่อเตี้ยๆ ลงพอสมควร คือ
กระบวนแรกธงห้าชายนำ ๑ ธงมังกร ๑๕ คู่ ธนูหางไก่ ๕ คู่ ธงมังกรคั่นคู่ ๑ ทวน ๕ คู่ แล้วธงมังกรอีก ๕ คู่ จึงถึงกลองชนะ ๕ คู่ มีแต่จ่าปี่ ไม่มีจ่ากลอง พระที่นั่งกาญจนฉันท์ผูกช้างพลายมีชื่อทรงพระเทวกรรม เดินข้างช้าง แส้หวาย ๑๐ คู่ กระบองกลึง ๖ คู่

กระบวนที่ ๒ ช้างดั้ง เมื่อยังไม่มีทหารช้างก็แต่งกระบวนมีพลล้อมเชิง เหมือนอย่างเช่นที่มายืนหน้าพลับพลาเวลาเช้า แต่ครั้นเมื่อมีทหารช้างแล้ว เปลี่ยนเป็นกระบวนทหาร มีธง แตร ออกหน้า ช้างทหาร ๖ ช้างผูกสัปคับเขน มีทหารประจํากลางสัปคับ ๒ หมอ ๑ ควาญ ๑ มีทหารเดินเท้าคั่น ๖ ตับๆ ละ ๒๔ คน เป็นกระบวนหนึ่ง

กระบวนที่ ๓ ธงห้าชายนํากระบวน ธงสามชายนำริ้ว ธงมังกร ๕ คู่ ธนูหางไก่ ๑๐ คู่ ธงมังกรคั่นคู่ ๑ ทวน ๑๐ คู่ ธงเสือปีก ๒ คู่ กลองชนะ ๑๐ คู่ มีจ่าปี่จ่ากลอง แตรงอน ๖ คู่ แตรฝรั่ง ๔ คู่ สังข์คู่ ๑ ช้างพังนำผูกเครื่องสักหลาด แส้หวายข้างช้าง ๘ คู่ กระบองกลึง ๖ คู่ กระฉิ่งเกล็ดคู่ ๑ จึงถึงพระยาช้าง เครื่องยศตาม กล้วยอ้อยมะพร้าวหญ้า หม้อน้ำสอง แส้หางม้าคู่หนึ่ง ช้างพังทูนบาศตามคู่หนึ่ง ต่อนั้นพระยาวานรเผือก คนหามไม้คานสอง สัปทนกั้นหนึ่ง มีโต๊ะเครื่องยศสอง เป็นกระบวนหนึ่ง กระบวนเช่นนี้พระยาช้างมีอยู่กี่ช้างในเวลานั้น ก็จัดกระบวนขึ้นตามรายตัว จํานวนคนก็เกือบๆ จะเท่ากัน ลดบ้างเล็กน้อย แต่พระยาวานรนั้น เฉพาะมีแต่กระบวนช้างเผือกพัง ที่ว่านี้อยู่ข้างจะเป็นอย่างหมาย แต่ที่จริงนั้นมักจะเห็นเต็มกระบวนอยู่เพียงสองกระบวนหรือสามกระบวน ที่พระยาช้างเหลือกว่านั้นมักจะเดินต่อๆ กันมาเปล่าๆ โดยมาก



หัวข้อ: Re: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 28 มิถุนายน 2561 15:43:33


เดือนห้า
คเชนทรัศวสนาน (ต่อ)

ต่อนั้นไปเป็นกระบวนช้างอย่างโท เครื่องแห่ก็คล้ายๆ กันกับกระบวนก่อน เป็นแต่ลดน้อยลงไป ใช้กลองชนะเขียว ยกแตรสังข์จ่ากลอง คงแต่จ่าปี่ประโคมอย่างที่เรียกว่าสี่ไม้ กระบวนโทนี้ก็เกณฑ์เป็นรายตัวช้างอีก แต่ก็มีกระบวนเดียวเดินต่อๆ กันทุกครั้ง

ถัดนั้นจึงถึงพระที่นั่งละคอ ถ้าหน้าแล้งคือเดือน ๕ ผูกเครื่องแถบกุดั่น หน้าฝนคือเดือน ๑๐ ผูกเครื่องลูกพลูแถบกลม ผูกพนาศน์พระที่นั่งทั้งสองคราว

ต่อนั้นไปเป็นกระบวนพระราชวังบวรฯ มีช้างพังสีประหลาดซึ่งพระราชทานไปแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวช้างหนึ่ง แต่งกระบวนอย่างโท ช้างพลายอีกช้างหนึ่ง ผูกพระคชาธารปักเศวตฉัตรห้าชั้น มีคนฟ้อนแพนกลางช้าง เป็นสิ้นกระบวนช้าง

ต่อนั้นไปกระบวนม้า มีธงห้าชายนำกระบวน ๑ ธงสามชายนำริ้วคู่ ๑ ธงตะขาบ ๑๐ คู่ ธนูหางไก่ ๑๐ คู่ ธงตะขาบคั่นทวน ๑๐ คู่ ปี่กลองมลายูเดินหว่างริ้ว กลอง ๔ ปี่ ๒ ฉาบ ๔ กลองชนะ ๕ คู่ มีแต่จ่าปี่ กระบองกลึง ๕ คู่ ทหารม้าเกราะทอง ๒๔ เดินสองแถว ตัวนายกรมม้าสวมเสื้อเยียรบับโพกสีขลิบทองนำคู่ ๑ แล้วจึงถึงม้าพระที่นั่งคนจูง ๔ กระฉิ่งสอง เครื่องยศ ๒ แส้ ๑ ม้าที่ใช้เดินอยู่ใน ๖ ม้าเป็นกําหนด ม้าพระที่นั่งตัวหนึ่ง มีเจ้ากรมปลัดกรมกรมม้าขี่ม้านําคู่ ๑ ทุกม้า แต่ไม่มีกระบวนธนูและทวน แยกเป็นกระบวนใช้เดินต่อๆ กัน มีแต่กระฉิ่งเกล็ดเครื่องยศคั่น

ต่อนั้นไปเป็นกระบวนม้าวังหน้าสองม้า ปลายกระบวนพิณพาทย์จีนสำรับหนึ่ง

สิ้นกระบวนม้าแล้วถึงกระบวนโค ธงเสือปีกนำกระบวน ๑ นำริ้ว ๒ ประตัก ๑๐ คู่ ธงเสือปีกคั่นคู่ ๑ ตะพด ๑๐ คู่ กลองแขกหว่างกระบวนสำรับหนึ่ง จึงถึงโค ๖ โค คนจูงโคละ ๔ สิ้นกระบวนโคแล้ว กระบวนกระบือเหมือนกันกับกระบวนโค แต่มักจะควบเป็นกระบวนเดียวกันโดยมาก

ต่อนั้นไปเป็นกระบวนรันแทะเทียมโคเหมือนอย่างที่มายืนหน้าพลับพลาเวลาเช้าสามรันแทะ ต่อไปจึงเป็นรถพระที่นั่งทรงที่นั่งรองซึ่งใช้อยู่เป็นปรกติ

ต่อไปเป็นกระบวนทหารปืนใหญ่สามบอก มีธง ขลุ่ย กลอง หมดทหารปืนใหญ่แล้ว ถึงทหารปืนเล็ก มีแตรวง ทหาร ๒๐๐ กระบวนเหล่านี้เดินลงไปถึงท้ายป้อมมณีปราการ มีเกยข้างถนนสองเกย เกยข้างตะวันออกราชบัณฑิตคอยประน้ำพระพุทธมนต์ เกยข้างตะวันตกพราหมณ์สองคนคอยรดน้ำสังข์ กระบวนทั้งปวงเดินเลี้ยวทางถนนท้ายสนม แต่ทหารปืนเล็กเดินเวียนกลับเข้าไปในสนามมายืนรายหน้าพลับพลา

เมื่อเดินกระบวนสิ้นแล้ว ถ้าเป็นเดือน ๕ แต่ก่อนเคยมีผัดพาฬปักปะรําสองข้าง คนออกผัดพาฬบ้าง ขี่ม้าล่อแพนบ้าง บางปีก็มีช้างหนึ่ง บางปีก็มีสองช้าง แต่ก่อนๆ มีทรงโปรยทานเวลานั้นด้วย ใช้ทรงโปรยด้วยไม้ทานตะวันออกไปถึงกลางสนาม คนเข้ามาแย่งกันในเวลาผัดช้างดูมันช่างไม่กลัวเกรงกันเลย จนไปมีเหตุขึ้นครั้งหนึ่งกําลังคนเข้าไปแย่งทานอยู่ ครั้งนั้นพระบรมไอยเรศกําลังคลั่งมันจัด เห็นคนกลุ่มๆ อยู่ก็วิ่งผ่าเข้าไปในกลางคน คนก็ต่างคนต่างวิ่งหนีไป แต่คนหนึ่งนั้นกําลังคว้ามะนาวอยู่ล้มถลาไป พระบรมไอยเรศตรงเข้าเหยียบศีรษะแบนกับที่ แต่นั้นมาก็ไม่ได้ทรงโปรยทานในเวลาผัดช้างต่อไปอีก

เมื่อช้างน้ำมันกลับแล้ว จึงถึงม้าห้อ ม้าห้อนั้นใช้ม้าซึ่งเข้ากระบวนทั้งสิ้น ยกเสียแต่ม้าพระที่นั่ง มีจำนวนกำหนดว่า ๕๐ แต่ม้าในกระบวนก็ไม่ครบ ๕๐ เมื่อห้อไปถึงท้ายพระที่นั่งสุทไธสวรรย์แล้ว ก็เดินจูงม้ากลับมาทางห้างวิสหลุย[๑]มาห้อหน้าพลับพลาอีกจนครบจํานวน ๕๐ เป็นการเกรียวกราวเอิกเกริกสนุกสนานกันมากทั้งผัดช้างและม้าห้อ แต่เดือน ๑๐ เป็นฤดูฝน สนามเป็นหลุมเป็นโคลนไม่ได้มีผัดช้าง ม้าห้อนั้นบางปีก็ได้ห้อ บางปีก็ไม่ได้ห้อ

ครั้นวันเดือน ๕ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ขึ้น ๖ ค่ำ เจ้าพนักงานจัดบายศรีไปตั้งสมโภชเวียนเทียนพระยาช้างและช้างวิเศษ ช้างพระที่นั่ง ม้าพระที่นั่ง ทุกโรง เป็นเสร็จการพระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน

คําตักเตือนสำหรับการพระราชพิธีนี้ แต่ก่อนๆ มาเคยเสด็จพระราชดำเนินออกพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ทุกๆ คราวมิได้ขาด แต่ในรัชกาลปัจจุบันนี้ เพราะที่ประทับห่างที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ จึงไม่ใคร่จะได้เสด็จพระราชดำเนิน แต่ถึงอย่างไรก็ดี ควรที่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่จะมาเฝ้าตามปรกติจะเข้ามาแต่เย็นหน่อยหนึ่ง เผื่อว่าถ้าเสด็จออกจะได้เฝ้าหน้าพลับพลาและบนพลับพลาให้แน่นหนาตามแบบอย่าง การตักเตือนนอกนั้นก็ไม่มีอันใด นอกจากที่จะเตือนกรมยุทนาธิการว่า ถ้าจัดการริวิ้วให้ได้คนมากๆ จริงๆ จะเป็นการสวัสดิมงคลแก่พระนคร และเป็นที่เกรงขามแก่ศัตรูหมู่ปัจจามิตร เป็นเหตุให้ราษฎรมีความสวามิภักดิ์รักใคร่ในพระเจ้าแผ่นดิน ยิ่งกว่ามีพระราชพิธีสระสนานหรือคเชนทรัศวสนานเป็นแท้ ๚
 

-------------------------------------------------------------------------------------
[๑] นายหลุยซะเวีย ภายหลังได้เป็นขุนภาษาบริวัติ เรียกกันในรัชกาลที่ ๔ ว่าวิสหลุย ตั้งห้างขายของที่ตึกแถว ๒ ชั้นของหลวง อยู่ตรงกับมุมวังสราญรมย์ตึกยังอยู่จนทุกวันนี้


เดือนห้า
พิธีสงกรานต์

๏ การซึ่งกำหนดปีใหม่ของไทยเราเป็นสองขยัก คือเดือนห้าขึ้นค่ำหนึ่งนับว่าเป็นปีใหม่ เพราะเปลี่ยนชื่อปีตามสิบสองนักษัตรคือ ชวด ฉลู ขาล เถาะ เป็นต้นเสียชั้นหนึ่ง แต่ยังไม่เปลี่ยนศก คือท้ายศักราช เพราะศักราชนั้นยังไม่ได้ขึ้นปี ด้วยตามวิธีโหรของเรานับตามโคจรของพระอาทิตย์ ต่อพระอาทิตย์ยกขึ้นราศีเมษเมื่อใด จึงขึ้นศักราชในวันเถลิงศก ในระหว่างซึ่งยังไม่ได้ขึ้นศักราชจึงต้องใช้ปีใหม่ แต่ต้องจดหมายว่ายังเป็นศกเก่าอยู่ การที่ใช้ศกบอก เอก โท ตรี ไปจนกระทั่งถึงสัมฤทธิศกควบท้ายปีลงด้วยนั้น เพราะประสงค์จะจดหมายวันคืนเดือนปีให้สั้น ด้วยเหตุว่าถ้าจะเรียกแต่ปีมีชื่อสิบสองชื่อ เมื่อครบสิบสองปีเข้าแล้ว ต่อไปก็จะวนลงเก่า ถ้าจะจําอะไรมากๆ ยาวๆ ก็มักจะชวนให้เลอะเทอะ วิธีนับปีมีชื่อสิบสองปีนี้ เป็นของคนโบราณนับมีด้วยกันหลายประเทศตลอดจนเมืองจีนเมืองญี่ปุ่น ที่นับตลอดจนถึงเดือนถึงเวลาทุ่มโมง เป็นสิบสองนักษัตรก็มี คนโบราณไม่ใคร่จะสังเกตสังกาจําอันใดมากนัก นับแต่พอรู้อยู่ในเวลาที่ต้องการแล้วก็แล้วกัน แต่เป็นวิธีนับง่าย คนรู้จําได้ซึมซาบใจทั่วถึงกัน เพราะใช้มาช้านานเช่นเมืองจีน เห็นจะได้นับมากว่าสี่พันปีแล้ว จนเหมือนหนึ่งในปัจจุบันนี้ ถ้าจะไปถามคนเก่าๆ ว่าอายุเท่าใด คงจะบอกชื่อตามนักษัตรของปีนั้นทุกคน ที่จะบอกศักราชได้นั้นเกือบจะไม่มีเลยสักคนเดียว เว้นไว้แต่ผู้ที่เป็นโหร ถ้าจะสอบสวนให้รู้ว่าอายุเท่าใด ก็ได้แต่จะต้องคะเนหน้าเอาว่าทรวดทรงสัณฐานจะอยู่สักกี่รอบสิบสองปีมาแล้ว หรือบางคนจะบอกได้เองว่าอยู่มากี่รอบ เพราะนับสั้นสังเกตอันใดไม่ได้เช่นนี้ ครั้นจะนับศักราชก็ดูเป็นการยากที่จะจํากันอย่างยิ่ง และจะต้องเขียนหนังสือยาวไป จึงมีผู้คิดบอกศกลงไว้ข้างท้ายเมื่อปลายศักราช เป็นเศษ ๑ ก็ให้ใช้เอกศก เป็นเศษ ๒ ก็ให้ใช้โทศกไปตามลำดับจนถึงสัมฤทธิศกเป็นสิบปีรอบหนึ่ง ทำให้การที่นับวนๆ กันอยู่ยาวออกไปอีกได้เป็น ๖๐ ปี จึงจะลงเค้าซ้ำเดิม คือชวดสัมฤทธิศก ก็คงเป็นชวดสัมฤทธิศก ฉลูเอกศกก็คงเป็นฉลูเอกศก เมื่อจะใช้เขียนหนังสือก็เขียนได้สั้นๆ ไม่ต้องลงศักราช เหมือนอย่างปีฉลูเอกศกนี้ เลขข้างหน้าพันสองร้อยห้าสิบนั้น เป็นอันจําไว้ในใจไม่ต้องเอามานับ ลงแต่เศษ ๑ เป็นพอแล้ว ถ้าจะเขียนตามความคาดคะเนว่า เมื่อยังไม่เกิดบอกศกท้ายปีขึ้น ก็คงจะต้องเขียนว่าปีฉลูจุลศักราช ๑๒๕๑ (การที่ใช้ว่าปีฉลู ๑๒๕๑ เปล่าๆ เช่นนี้ เป็นของเกิดขึ้นใหม่เมื่อเลียนฝรั่งในเร็วๆ นี้ แต่ก่อนไม่มีใครนึกใช้กัน) การที่ลงเศษศกข้างท้าย จึงทําให้สั้นกว่าที่จะออกชื่อศักราชและเขียนตัวเลข แต่ที่ใช้ๆ กันอยู่ลงทั้งเศษศกทั้งศักราชด้วย เช่นกับปีฉลูเอกศกจุลศักราช ๑๒๕๑ ดูอยู่ข้างจะเฝือต้องทําธุระมากอยู่หน่อยหนึ่ง เพราะเหตุที่ชื่อปีเปลี่ยนเอาต้นเดือนห้าเป็นประมาณ เพื่อจะให้จําง่าย หรือเป็นของนับกันมาเก่าแก่ก่อนที่จะใช้ศักราช ซึ่งตัดเอาพระอาทิตยํขึ้นราศีเมษเป็นเปลี่ยนปี อันเลื่อนไปเลื่อนมาไม่ใคร่คงที่ เพราะสงกรานต์คือเปลี่ยนศักราชนับตามสุริยคติ ปีเดือนนับตามจันทรคติคลาดเคลื่อนกัน จึงได้ต้องเป็นปีใหม่สองหนต่อมา

ในเรื่องที่เปลี่ยนปีนี้ ตามพระบรมราชาธิบายของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงไว้ในคําประกาศแห่งหนึ่งได้นำมาลงไว้ในหนังสือวชิรญาณเล่ม ๒ ฉบับที่ ๑๓ จํานวนเดือน ๑๑ ปี ๑๒๔๗ มีข้อใจความซึ่งว่าด้วยแรกที่จะกําหนดปีนี้ โบราณคิดเห็นว่าฤดูหนาวเป็นเวลาพ้นจากมืดฝนสว่างขึ้นเปรียบเหมือนเวลาเช้า คนโบราณจึงได้คิดนับเอาฤดูหนาวเป็นต้นปี ฤดูร้อนเป็นเวลาสว่างร้อนเหมือนกลางวัน จึงได้คิดว่าเป็นกลางปี ฤดูฝนเป็นเวลามืดคลุ้มโดยมาก และฝนพรำเที่ยวไปไหนไม่ใคร่ได้ จึงได้คิดเห็นว่าเป็นเหมือนกลางคืน คนทั้งปวงเป็นอันมากถือว่าเวลาเช้าเป็นต้นวัน กลางคืนเป็นปลายวันฉันใด คนโบราณก็คิดเห็นว่าฤดูเหมันต์ คือฤดูหนาวเป็นต้นปี ฤดูคิมห คือฤดูร้อนเป็นกลางปี ฤดูวัสสานะ คือฤดูฝนเป็นปลายปี เพราะเหตุนั้นจึงได้นับชื่อเดือนเป็น ๑ มาแต่เดือนอ้าย ข้อความอื่นๆ ถ้าผู้ใดอยากจะทราบ จงอ่านหนังสือวชิรญาณที่อ้างถึงมาข้างต้นนั้นเถิด ที่ยกมาว่าเดี๋ยวนี้เพื่อจะมาพิจารณาให้เห็น ว่าเหตุใดจึงไม่ตั้งปีใหม่ที่เดือนอ้าย ซึ่งแปลว่าเดือน ๑ มาตั้งปีใหม่ต่อเดือน ๔, เดือน ๖ คิดเห็นว่าความที่ตั้งเดือนอ้ายเป็นเดือน ๑ คงเป็นการถูกต้องตามกระแสพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงไว้นี้ แต่วิธีนับเดือนเช่นนี้เห็นจะมีมาก่อนที่นับศักราชเป็นเรื่องเดียวกันกับนับปี เป็นชวด ฉลู ขาล เถาะ ครั้นเมื่อมีผู้ตั้งศักราชขึ้นใช้ อาศัยเหตุที่จะเริ่มต้นตั้งศักราช เช่นพระพุทธศักราช นับตั้งแต่วันปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ก็ต้องไปตั้งสงกรานต์เอาในวันวิสาขบุรณมี ซึ่งเป็นหัวรอบเหมือนอย่างกับนับเป็นเดือน ๑ ขึ้นใหม่นั้นอย่างหนึ่ง ด้วยมีเหตุที่จะสังเกตตัดวิธีกระบวนคิดอ่านได้ง่ายเช่นกับสงกรานต์ของจุลศักราช กำหนดเอาพระอาทิตย์ขึ้นสู่ราศีเมษซึ่งเป็นราศีดาวที่ฤกษ์ขาดตอนไม่ขนาบคาบเกี่ยวกับราศีอื่นๆ เป็นต้นนี้อย่างหนึ่ง เพราะเหตุเหล่านี้จึงได้ทิ้งชื่อเดือนที่ ๑ เดิมเสีย ให้ไปตกอยู่กลางปีหรือปลายปีตามแต่จะเป็นไป แต่ชื่อเดือนเช่นนั้นเคยใช้เข้าใจกับซึมซาบมาแล้ว ก็ทิ้งให้เคลื่อนอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง หรือเปลี่ยนแปลงก็ไม่มีผู้เรียกตาม

ศักราชต่างๆ ซึ่งใช้กันอยู่ในประเทศทั้งปวง ย่อมตั้งเอาตามเหตุตามเค้าที่มีเหตุซึ่งเป็นต้นจะนับศักราชนั้นอย่างหนึ่ง ตามที่จะคำนวณง่ายนั้นอย่างหนึ่ง ดังเช่นกล่าวมาแล้ว แต่ที่ตั้งต้นปีอยู่ในฤดูหนาวมีมากกว่าที่ไปตั้งต้นปีในฤดูอื่น อย่างเช่นต้นปีฝรั่ง ถึงว่าศักราชเขาใช้ศักราชพระเยซูเกิดก็จริง แต่การนับวันคืนเดือนปีเขาไม่ได้อาศัยเหตุประจบรอบศักราช เหมือนอย่างพระพุทธศักราช เขาใช้กำหนดเอาพระอาทิตย์ปัดไปใต้ที่สุดเป็นอายันต์สงกรานต์ ถึงข้างเมืองจีนก็ใช้เช่นนั้น เป็นแต่เขาจะมีวิธีคํานวณตัดเวลาอย่างไรแปลกไป จึงไม่ตรงกันเข้ากับฝรั่ง ถอยคลาดมาจากเวลาที่พระอาทิตย์เป็นอายันต์สงกรานต์ ตกอยู่ในระหว่างที่พระอาทิตย์ยังไม่เป็นสามัญสงกรานต์ เห็นว่าเมื่อเรายังไม่ได้ใช้จุลศักราชคงจะใช้กำหนดเปลี่ยนปีอาศัยอายันต์สงกรานต์ใต้เหมือนกัน เพราะเป็นเวลาประสบช่องกับฤดูหนาว ซึ่งนับว่าเป็นเวลาเช้าที่กล่าวมาแล้ว เดือนอ้ายจึงเป็นเดือน ๑ แขวนอยู่เป็นพยาน

ศักราชเคยใช้มาในกรุงสยามนี้ เป็นสามศักราช คือพระพุทธศักราชซึ่งนับแต่พุทธปรินิพพานมานั้นอย่างหนึ่ง มหาศักราชซึ่งไม่ปรากฏของผู้ใดตั้งนั้นอย่างหนึ่ง จุลศักราชซึ่งว่าเป็นของพระร่วงซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยาม ณ กรุงสุโขทัยตั้งนั้นอย่างหนึ่ง ในศักราชสามอย่างนี้ พระพุทธศักราชใช้ในการซึ่งจะกล่าวถึงพุทธภาษิต หรือการที่เกี่ยวด้วยพระพุทธศาสนา แต่ในส่วนราชการที่คงใช้อยู่บัดนี้ เป็นประกาศใหญ่ๆ เช่นตั้งกรมก็ยังใช้อยู่ แต่ก่อนมาที่ใช้ในราชการอย่างอื่นอีกก็มีบ้าง เช่นกับพระราชสาส์นสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีไปถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ พระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศส ที่ได้สำเนามาแต่ประเทศยุโรปก็ใช้พระพุทธศักราช แต่พระพุทธศักราชก็ไม่ลบล้างเดือนซึ่งนับเป็น ๑, ๒, ๓, ๔ ของเก่า มีประหลาดอยู่แห่งหนึ่งในหนังสือลาโลแบร์ ที่เป็นราชทูตฝรั่งเศสเข้ามาครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่งว่าด้วยเรื่องเมืองไทย ได้จดวันอย่างหนึ่งว่า วันแรมแปดค่ำ เดือนที่ ๑ (คือเดือนอ้าย) ปี ๒๒๓(๑/๒)๒ ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๑ เดือนดิเซมเบอร์ คริสต์ศักราช ๑๖๘๗ ตามหนังสือนั้นเขาได้กล่าวว่า “ข้อนี้ดูเหมือนอาการที่ลงวันอย่างนี้หมายความว่าปีนั้นเมื่ออยู่ในเดือนนี้ จะเรียกว่าปี ๒๒๓๑ หรือ ๒๒๓๒ ก็ได้” เมื่อจะคิดดูตามข้อความที่เขาว่าเช่นนี้ จะถือว่าแต่ก่อนเขาจะเปลี่ยนปีในเดือนอ้ายตามอย่างเก่า แต่ศักราชไปขึ้นต่อเมื่อถึงกำหนดสงกรานต์ของศักราชนั้นจะได้บ้างดอกกระมัง แต่ในหนังสือนี้ไม่ได้ว่าถึงจุลศักราช กล่าวแต่ถึงพุทธศักราช สงกรานต์ของพุทธศักราชอยู่ต่อวันวิสาขบุรณมี แต่ปีเปลี่ยนที่เดือนอ้าย ครั้นจะเปลี่ยนศักราชไปเป็น ๒๒๓ ทีเดียวก็ยังไม่ถึงสงกรานต์ของพุทธศักราช จึงเขียนเป็นสองแปลงไว้ แต่ที่ไปมีเลข ๒ อยู่ข้างปลายอีกตัวหนึ่งนั้นดูกระไรอยู่ หรือจะเป็นเขียนควงอย่างไทยๆ เขียนเช่นนี้ ๒๒๓ ๑/๒ แต่วิธีเครื่องหมายควงเช่นนี้แปลกกันไปกับฝรั่ง เมื่อเวลาแปลจะเข้าใจผิดไปด้วยเครื่องหมายควงของไทย ถ้าขมวดหัวโตๆ จะอ่านเป็นเลขสองไปได้บ้างกระมัง เพราะเลข ๒ โบราณเขียนขี้มักใช้หางลาๆ คล้ายกับที่เราใช้คำซ้ำอยู่เดี๋ยวนี้ เช่น “ต่างๆ” ถ้าเป็นเช่นนั้นเลข ๒ ข้างปลายนั้น ก็จะเป็นทางที่เข้าใจผิดของผู้แปลได้ ถ้าลงศักราชเป็นสองแปลงเช่นนี้ ก็เป็นอันตรงกันกับที่ใช้เขียนการ์ดกันอยู่ในเร็วๆ นี้อย่างหนึ่ง เช่น ๑๒๔๘ - ๙ แต่วิธีเขียนเช่นนี้เป็นเอาอย่างฝรั่งโดยความเข้าใจโก๋นิดๆ ของคนชั้นใหม่ๆ คือ จะหมายความว่าตั้งแต่เตือน ๕ ขึ้นค่ำหนึ่ง มาศักราชยังเป็น ๔๘ อยู่ไม่ยกเป็น ๔๙ แต่คงจะเป็น ๔๙ เมื่อถึงวันเถลิงศกแล้ว ถ้าจะเขียน ๑๒๔ ก็จะเข้าใจได้เหมือนกันหรือง่ายกว่า เพราะดูไทยแท้ขึ้น ถ้าคำที่ลาโลแบร์ได้กล่าวไว้นี้เป็นคำแน่นอน และเราอ่านเข้าใจถูกต้องตามเนื้อความที่เขาหมาย ก็คงจะเป็นนับเปลี่ยนปีเช่นเดือนอ้าย ใช้ศักราชสองแปลงไปจนวิสาขบุรณมีจึงเปลี่ยนขึ้นศักราช ถ้าเช่นนั้นก็จะต้องเข้าใจว่า การซึ่งนับเวลาเปลี่ยนชื่อปีในเดือน ๕ นั้น จะเป็นภายหลังพระนารายณ์มหาราช

แต่มหาศักราชนั้น ไม่มีข้อความปรากฏว่าผู้ใดตั้ง และสงกรานต์ของมหาศักราชนั้นจะเป็นเมื่อใด เมื่อไปสอบค้นดูในหนังสือ ซึ่งใช้มหาศักราชเช่นคําจารึกเสาศิลาเมืองสุโขทัย ซึ่งอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ทรงแปลทั้งสองต้น ซึ่งได้ลงพิมพ์ในหนังสือวชิรญาณเดือน ฉบับที่ ๓ จํานวนเดือน ๒ ปี ๑๒๔๖ หน้า ๒๓๙ นั้นแล้ว มหาศักราชในนั้นก็แก่มาก สอบดูกับจุลศักราชก็ถึงเวลาที่พระเจ้าอู่ทองได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียแล้ว ไม่เป็นที่สันนิษฐานแน่นอนอย่างไรได้ มหาศักราชไม่มีผู้ใดที่จะรู้วิธีใช้ชัดเจนอย่างไร นอกจากที่จะรู้เกณฑ์บวก สอบที่ไหนก็เลอะทุกแห่ง แต่ตามการประมาณดูเห็นว่าจะเป็นศักราชที่ใช้กันอยู่ในตอนแผ่นดินสยามข้างใต้ ซึ่งในเวลานั้นเขมรมีอํานาจปกแผ่เข้ามามาก จะเป็นชั้นเดียวกันกับพระนครวัดนครธม ซึ่งเป็นคราวเล่นปราสาทศิลาตลอดเข้ามาจนเมืองพิมาย เมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรี เมืองสิงห์ ข้างแควแม่น้ำน้อยเมืองกาญจนบุรี เมืองนครชัยศรี หรือเมืองนครศรีธรรมราชด้วย ครั้นภายหลังพวกชาวสยามข้างเหนือซึ่งต้องอ่อนน้อมต่อชาวสยามข้างใต้ ได้พระร่วงเป็นผู้มีสติปัญญาเกิดขึ้นเห็นปรากฏชัด เช่นกับสานชะลอม (คือสานครุหรือกะละออมยาชัน) ตักน้ำไปส่งส่วย ไม่ต้องใช้ตุ่มใช้ไห ซึ่งเป็นภาชนะอันหนักอย่างแต่ก่อน เป็นต้น ก็มีความนิยมยินดีควบคุมพวกพ้องได้มีกําลังมากขึ้นคิดขับไล่พวกเขมร ซึ่งมีอํานาจปกแผ่เข้ามาในแผ่นดินสยามข้างใต้ให้อยู่ในอำนาจได้ ตั้งเมืองหลวงขึ้นฝ่ายเหนือแล้วจึงมาคิดเห็นว่าคงจะใช้มหาศักราชอยู่ตามเดิม ก็จะเหมือนหนึ่งเป็นพยานให้เห็นอยู่ว่าเคยอยู่ในอํานาจพวกข้างใต้ ด้วยมหาศักราชนั้นจะตั้งขึ้นตามกําหนดปีราชาภิเษกของพระเจ้าแผ่นดินข้างใต้องค์ใดองค์หนึ่ง หรือจะเป็นปีที่ปราบปรามพวกฝ่ายเหนืออยู่ในอำนาจเองก็ไม่ทราบ จึงเป็นที่รังเกียจด้วยศักราชนั้นยกเลิกเสีย ตั้งจุลศักราชขึ้นใช้แทน แต่มหาศักราชจะเปลี่ยนปีเมื่อใดไม่ได้ความชัดนั้น สงสัยว่าบางทีก็จะเปลี่ยนปีอาศัยพระอาทิตย์ที่สุดข้างใต้ เป็นอายันต์สงกรานต์คล้ายกับเมืองจีน หรือเปลี่ยนต้นเดือนอ้าย จึงไม่เป็นการประหลาดอันใดที่จะต้องมีผู้กล่าวไว้ เพราะเดือนอ้ายบอกหนึ่งชัดเจนอยู่แล้ว มหาศักราชนั้นถ้าจะนับมาจนถึงปีนี้เป็น ๑๘๑๑ แต่ยังติดใจสงสัยเกณฑ์บวกที่พวกโหรจำไว้กลัวว่าจะเลอะเทอะเสียหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ เพราะสอบอันใดไม่เห็นถูกต้องเลย บางอาจารย์ก็ว่า ๖๕๐ บางอาจารย์ก็ว่า ๕๖๐ แต่ในแสดงกิจจานุกิจตั้งเกณฑ์ไว้ถึง ๗๖๐ เลอะเทอะป้วนเปี้ยนกันอยู่แล้ว บางทีจะตกพันเสียอีกตัวก็จะได้[๑]

ส่วนจุลศักราชนั้นในพงศาวดารเหนือของเรากล่าวว่าพระร่วงซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยาม ณ กรุงสุโขทัยเป็นผู้ตั้ง ฝ่ายพม่าเขาก็ว่ามีพระเจ้าแผ่นดินของเขาองค์หนึ่งชื่อสังฆราชาเป็นผู้ตั้งขึ้น แต่ศักราชนี้ได้ใช้ทั่วไปทั้งเมืองไทย เมืองพม่า เมืองมอญ เมืองเงี้ยว เมืองอาสัม ที่เรียกว่าไทยใหญ่ เมืองลาว ทั้งเฉียง ทั้งกาว หรือพุงขาว พุงดํา เมืองเขมร ถ้าจะคิดดูว่าข้อซึ่งต่างคนต่างเถียงกันเช่นนี้ ถ้าต่างคนต่างนับเหตุจึงจะตรงกันได้ หรือจะกล่าวว่าเมืองใดตกอยู่ในอํานาจเมืองใดที่บังคับให้ใช้ตามกันได้ ก็จะต้องตกอยู่ในบังคับกันช้านาน จนเกือบจะรวมเป็นชาติเดียวกัน ถ้าไม่ฉะนั้นก็คงจะกลับใช้ศักราชอื่นเสีย เมื่อเวลาตั้งตัวแข็งเมืองขึ้นได้ คือเช่นพระร่วงไม่ยอมใช้มหาศักราช หรือพม่าไม่ยอมใช้ศักราชซึ่งพระเจ้าปราสาททองลบ ถ้าจะคิดเดาเกลี่ยไกล่ดูอีกอย่างหนึ่ง จะเป็นอย่างนี้ได้บ้างดอกกระมัง คือจะมีโหรหรือพราหมณ์ผู้รู้วิชาโหรผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นที่คนทั้งปวงนับถือมาก เที่ยวไปเที่ยวมาอยู่ในประเทศทั้งปวง ไม่ได้อยู่ในอํานาจผู้ใด ประพฤติตัวเป็นพระกลายๆ เมื่อคิดเห็นวิธีนับปีเดือนวันคืนอย่างใหม่ขึ้นได้ จะเที่ยวชี้แจงแก่เจ้าแผ่นดินทั้งปวงให้ลงเห็นชอบเป็นอันหนึ่งอันเดียว ยอมเปลี่ยนใช้จุลศักราชพร้อมกันทุกเมืองก็ดูเหมือนจะเป็นได้ ด้วยการที่จะคิดเห็นว่าจะมีการประชุม คองเกรส อย่างเช่นในประเทศฝรั่งเศสประชุมกันในระหว่างประเทศทั้งปวง ตั้งกฎหมายแบบอย่างอันใดลงแล้วถือใช้ทั่วกันไปนั้น ในประเทศตะวันออกข้างฝ่ายเรานี้มีไม่ได้ และไม่เคยมีตัวอย่างที่เล่าบอกกันมาเลย การซึ่งพม่า ลาว ไทย เขมร นับวัน คืน เดือน ปี เคลื่อนคลาดกันอยู่บ้างนั้น ก็เป็นแต่ผลของวิธีที่หนุนอธิกมาสอธิกวารผิดกันไป อย่าว่าแต่ประเทศซึ่งตั้งอยู่ห่างกันจะเป็นเลย แต่ในกรุงเทพฯ นี้เองก็ได้เคยเกิดวันคืนหลีกเลี่ยงกันด้วยตำราลงอธิกวารไม่ต้องกันเมื่อไม่สู้ช้านักนี้ครั้งหนึ่ง ประดิทินที่เถียงกันอยู่ก็ยังพอจะหาพบได้ ส่วนการที่จะลงต่อไปข้างหน้าก็ยังมีข้อเถียงกันอยู่ ดังเช่นได้กล่าวไว้ในประกาศใช้วันคืนซึ่งได้ออกใหม่ครั้งนี้ แต่ถึงว่าวันคืนจะหลีกเลี่ยงกันตั้งแต่วันหนึ่งถึงเดือนหนึ่งสองเดือน ศักราชก็ยังมีเวลาใช้ตรงเท่ากัน จึงเห็นว่าน่าที่จะมีครูผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้แนะนําให้ตั้งขึ้น พม่าและไทยเป็นมหานครใหญ่ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ต่างคนต่างไม่ยอมที่จะรับว่าทําตามกัน เพราะความจริงก็เป็นต่างคนต่างตั้ง เป็นแต่ร่วมอาจารย์เดียวกัน คําที่ว่านี้เป็นแต่อนุมาน แต่เห็นว่าพอจะยุติด้วยเหตุผลได้ ครั้นเมื่อเรียงหนังสือนี้แล้ว ได้พบอ่านความเห็นของผู้ซึ่งแปลพงศาวดารพม่าเป็นภาษาอังกฤษ เมื่อว่าถึงสังฆราชาตั้งศักราช เขาเห็นว่าท่วงทีกิริยาที่คิดใช้ทั้งปวงในเรื่องศักราชนี้คล้ายกับฮินดูมาก เห็นจะมีโหรฮินดูผู้ใดผู้หนึ่งเข้ามาช่วยคิดอ่านแนะนำในการตั้งศักราช ความเห็นของเขาเช่นนี้ก็เป็นอันลงกันกับความคิดเดาเช่นได้กล่าวมาแล้ว ถ้าพม่าได้โหรฮินดูผู้ใดเป็นครู ก็ดูเหมือนผู้นั้นเองจะเป็นครูของไทยด้วย เพราะเหตุว่าจุลศักราชนี้ไม่ปรากฏว่าต้องกันกับศักราชเก่าๆ ซึ่งใช้อยู่ในประเทศอินเดียที่มีเป็นหลายศักราชนั้น ถึงแม้ว่าแบบแผนที่คิดจะเป็นอย่างฮินดู ก็คงจะมาคิดตัดคิดลบตั้งขึ้นใช้ใหม่สำหรับประเทศที่ใกล้เคียงอินเดีย ถึงว่าพระร่วงและสังฆราชาจะไม่เป็นผู้ตั้งศักราชขึ้นได้เองโดยลำพังพระองค์ ก็คงจะเป็นผู้มีวิชาความรู้และสติปัญญาพอที่ผู้ที่มาแนะนํานั้นจะชี้แจงให้เข้าพระทัยเห็นดีได้ง่ายกว่าเจ้าแผ่นดินประเทศอื่นๆ จนอาจจะเล่าบอกชี้แจงวิธีคํานวณทั้งปวงได้ถ้วนถี่ จึงปรากฏว่าเป็นผู้ตั้งศักราชอยู่แต่สองประเทศ ไม่มีเจ้าแผ่นดินในเมืองอาสัม เมืองมอญ เมืองเงี้ยว เมืองลาว เมืองเขมร องค์อื่นที่ได้อ้างว่าเป็นผู้ตั้งศักราชอีก เป็นแต่ใช้ขึ้นเงียบๆ ตามที่เห็นชอบในคําแนะนำนั้น ผู้ที่คิดตั้งจุลศักราชขึ้นนั้น เป็นผู้มีความรู้มากคิดประกอบเหตุผลโดยรอบคอบ ถึงแม้ว่าแบบคํานวณวิธีนับจะยังไม่ละเอียดถึงที่ ก็เป็นอย่างดีมาก กว่าจะรู้ว่าเคลื่อนคลาดได้ก็ช้านาน แต่เพราะเหตุที่เห็นช่องดาวฤกษ์ว่าอยู่ที่ราศีเมษดังเช่นกล่าวมาแล้ว จึงได้ย้ายปีใหม่มาเสียไม่เอาตามอายันต์สงกรานต์ใต้ เปลี่ยนมาเอาสามัญสงกรานต์ขาเข้า คือเวลาพระอาทิตย์กลับมาตรงศีรษะเป็นเวลาสงกรานต์ เพราะฉะนั้นสงกรานต์จึงได้เลื่อนเข้ามาอยู่ในเดือนห้าหรือเดือนหก ไม่เร็วกว่าเดือน ๕ ขึ้น ๔ ค่ำ ไม่เกินเดือน ๖ ขึ้น ๔ ค่ำออกไป สงกรานต์คงอยู่ในระหว่างเดือนหนึ่งนั้น เพราะเหตุดังนี้ปีใหม่จึงได้เป็นสองครั้ง คือเปลี่ยนชื่อปีครั้งหนึ่ง เปลี่ยนศักราชครั้งหนึ่ง

แต่การที่ตัดสงกรานต์ปีตามตำรานี้ ถึงว่าเป็นการละเอียดมากอยู่แล้วก็ยังไม่ถูกแท้ได้ เพราะปีหนึ่งคิดคติโคจรของพระอาทิตย์ ตามตําราที่โหรอย่างไทยคิดเป็น ๓๖๕ วัน ๖ โมง ๑๒ นาที ๓๖ วินาที เพิ่มอธิกมาส อธิกวารแล้วก็ยังไม่พอ ยังมีเศษน้อยๆ สะสมกัน เมื่อนานมาวันซึ่งคิดตามสุริยยาตร ว่าพระอาทิตย์ยกนั้นก็เคลื่อนคลาดจากที่พระอาทิตย์ยกจริงๆ ไป เหมือนอย่างในปัจจุบันนี้ วันสงกรานต์ก็เคลื่อนกับอาทิตย์ยกที่จริงแท้ถึง ๒๑ วันล่วงมาแล้ว แต่เพราะเคลื่อนทีละน้อยไม่ถึงเปลี่ยนฤดูกลับร้อนเป็นหนาวจึงไม่ใคร่มีผู้ใดรู้สึก แต่ถ้านานไปอีกหลายพันปีก็คงจะกลับร้อนเป็นหนาวได้ เพราะฉะนั้นจึงได้มีวิธีนับวันขึ้นใหม่ ซึ่งได้ออกประกาศไปให้ใช้ ซึ่งเห็นว่าเป็นอย่างใกล้กับความจริงที่สุดที่จะเป็นได้ ถ้าวันเช่นนั้นใช้ทั่วไปได้ทุกประเทศ ก็คงจะไม่เกิดเหตุที่เคลื่อนคลาดเดือนวันกัน เช่นเมืองไทย เมืองพม่า เมืองลาว เมืองเขมร เคลื่อนกันอยู่ในบัดนี้ ด้วยวิธีที่จะลงอธิกสุรทินเป็นการง่ายอย่างยิ่ง ไม่เหมือนวิธีลงอธิกมาสอธิกวารอย่างแต่ก่อน ซึ่งเกือบจะว่าไม่มีตำราใดจะตัดสินเป็นเด็ดขาดลงได้ และจะนับปีถอยหลังขึ้นไปให้พ้นปูมได้โดยยาก ซึ่งพรรณนามาด้วยสงกรานต์นี้ เพราะเห็นว่าวิธีนับอย่างใหม่เป็นการง่าย และเป็นการใกล้จริงคงจะอยู่ยืนยงแพร่หลาย วิธีนับอย่างเก่าจะมีแต่ยากไปทุกวัน บางทีจะลืมต้นสายปลายเหตุเลยไม่มีผู้ใดจดจำไว้ เพราะด้วยเวลานี้ต่างคนต่างเข้าใจอยู่ด้วยกันหมด จะจดจําไว้ก็เป็นการจืดๆ ครั้นนานไปเมื่อสิ้นชั้นผู้ที่เข้าใจชำนิชำนาญก็จะเลยสูญเสีย ไม่มีผู้ใดรู้เรื่องเหมือนอย่างมหาศักราช

แต่การซึ่งขึ้นชื่อว่าสงกรานต์นี้ มีเรื่องราวเป็นนิทานประกอบเกิดขึ้นด้วยความอดไม่ได้ของคนที่มักจะคิดเล่าสู่กันมา นำมาลงไว้พอฟังเล่นสนุกๆ บรรดาเด็กๆ ทั้งปวงคงจะได้ยินเล่าให้ฟังแทบจะทั่วทุกคน เรื่องราวนั้นก็ลงเค้าเดียวกัน ว่าพระมหาสงกรานต์นั้นไปพนันกับใครมักจะบอกว่าก็ไม่รู้ ถามปัญหาว่าเวลาไรราศีอยู่ที่ใด ผู้ที่เรียกว่าใครก็ไม่รู้นั้นทายถูก พระมหาสงกรานต์จึงเด็ดศีรษะให้ ศีรษะนั้นตกลงแผ่นดินก็เกิดเป็นไฟลุกขึ้น นางลูกสาวเจ็ดคนจึงผลัดกันมารับพานซึ่งรองศีรษะชูไว้ ปีหนึ่งออกเวรทีหนึ่ง คือเข้าเวรปีหนึ่ง ออกเวร ๖ ปี และมีคำทำนายที่พูดกันอยู่โดยมากว่าถ้าปีใดกินถั่วกินงาแล้วก็ร้องกันว่า “เออปีนี้ข้าวปลาจะสมบูรณ์” ถ้าปีใดกินเลือดแล้วสั่นหัวดิกๆ ไป ครางออดๆ แอดๆ ว่า “ปีนี้จะตีกันหัวร้างข้างแตกมาก” ถ้าปีใดถือปืนก็ว่าปีนั้นฟ้าจะคะนอง นัยหนึ่งว่าถ้าหลับตาแล้วคนมักจะเป็นตาแดงมาก นัยหนึ่งว่าถ้าลืมตาแล้วคนมักจะเป็นตาแดงมาก ถ้าจะถามไล่เลียงเอาแน่นอนให้เล่าให้ตลอดเรื่อง ก็มักจะบอกจําไม่ได้ไปแทบทุกคน เว้นแต่อย่างไรไม่ทราบ ช่างเชื่อถือกันแน่นหนามั่นคงทั่วทุกคน สุดแต่ถ้าถึงสงกรานต์แล้วเป็นโจษกันไปได้จนตลอดทั้งสามวัน บ่นตุบๆ ตับๆ เออๆ ออๆ ไป แล้วต้องอธิบายต่อ ว่าเรื่องสงกรานต์นี้มีมาแต่เมืองจีน เมืองจีนเขาเห็นก่อน ถ้าวันใดจะสงกรานต์แล้วเขาตระเตรียมช่างเขียนไปคอยอยู่ที่ริมทะเลหลายๆ คนด้วยกัน พอเวลาเช้ามืดพระสงกรานต์ขึ้นจากทะเลพอแลเห็นเขาก็วาดรูป คนหนึ่งวาดรูปตัวนาง คนหนึ่งวาดรูปตัวพาหนะ อีกคนหนึ่งวาดรูปบริวาร พูดเหมือนอย่างพระยะโฮวาสร้างโลก เพราะการที่พระยะโฮวาสร้างโลกนั้นมนุษย์คนเดียวต้องสร้างเสียวันยังค่ำ แต่สัตว์ทั้งหลายนับด้วยโกฏิด้วยล้านสร้างวันเดียว เท่ากันกับสร้างคนๆ หนึ่งฉันใด เจ๊กที่วาดรูปพระมหาสงกรานต์นี้ก็เหมือนกัน ตัวนางมหาสงกรานต์คนเดียวช่างเขียนคนหนึ่ง พาหนะตัวเดียวช่างเขียนคนหนึ่ง บริวารแสนโกฏิเขียนคนเดียวเหมือนกัน แต่ว่าช่างเถอะอย่าทักเลย ที่ต้องเขียนหลายคนออกไปเช่นนี้ เพราะเวลาที่เห็นนั้นน้อยนัก ถ้าผู้ที่จะคอยเขียนพริบตาลงเมื่อไรก็ไม่เห็นพระสงกรานต์แล้ว ถ้าคนกระพริบตาถี่ๆ เห็นจะให้เป็นช่างไปคอยเขียนไม่ได้ แต่ถ้าเวลานี้พวกจีนจะลงทุนซื้อเครื่องถ่ายรูปม้าห้อสักเครื่องหนึ่งไปตั้งไว้ พอสงกรานต์ขึ้นมาบีบปราดเดียวก็จะได้รูปเทวดาอันวิเศษมาขายมีกำไรมากกว่าที่ลงทุนซื้อเครื่องถ่ายรูปหลายร้อยเท่า เรื่องสงกรานต์มาแต่เมืองจีนนี้ยังไม่ได้เค้ามูลว่าเกิดขึ้นด้วยเหตุใดเลย จะไต่ถามผู้ที่เล่าหาต้นเหตุก็จดไม่ติด เพราะเรื่องนี้แล้วไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร ผู้ใดเล่าขึ้น ถ้าไปซักถามแล้วโกรธทุกคน ดูเป็นขนดหางของคนแก่โดยมากทั่วๆ ไป แต่พิเคราะห์ดูเห็นว่าท่านผู้ที่เล่าและที่โกรธนั้น ก็เห็นจะไม่รู้เหมือนกัน และคงจะเคยถามมาแต่เมื่อเด็กๆ และถูกโกรธมาแล้วเหมือนกัน จึงได้เอาอย่างมาโกรธบ้าง ว่าเป็นประเพณีที่เป็นผู้ใหญ่แล้วต้องโกรธ เพราะฉะนั้นเรื่องสงกรานต์เห็นที่เมืองจีนนี้ เห็นจะเป็นขนดหางของคนแก่แต่โบราณสืบมา จนไม่มีผู้ใดรู้ว่าต้นเหตุมาจากอันใด


หัวข้อ: Re: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 28 มิถุนายน 2561 15:49:23


เดือนห้า
พิธีสงกรานต์ (ต่อ)

ที่ว่ามาข้างต้นนี้ ตามคำเล่าบอก ส่วนที่จารึกแผ่นศิลาประจำรูปเขียนไว้ที่วัดพระเชตุพน อ้างว่าเรื่องมหาสงกรานต์นี้มีพระบาลีฝ่ายรามัญ ว่าเมื่อต้นภัทรกัลป์อันนี้ เศรษฐีคนหนึ่งไม่มีบุตร บ้านอยู่ใกล้กับนักเลงสุรา นักเลงสุรามีบุตรสองคน มีผิวเนื้อเหมือนทอง วันหนึ่งนักเลงสุรานั้นเข้าไปกล่าวคําหยาบช้าต่อเศรษฐี เศรษฐีจึงถามว่าเหตุใดจึงมาหมิ่นประมาทต่อเราผู้มีสมบัติมาก นักเลงสุราจึงตอบว่า ถึงท่านมีสมบัติก็ไม่มีบุตร ตายแล้วสมบัติจะสูญเปล่า เรามีบุตรเห็นว่าประเสริฐกว่าท่าน เศรษฐีมีความละอายจึงบวงสรวงพระอาทิตย์พระจันทร์ตั้งอธิษฐานขอบุตรถึงสามปีก็มิได้มีบุตร อยู่มาถึงวันนักขัตฤกษ์สงกรานต์ พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ เศรษฐีจึงพาบริวารไปยังต้นไทรอันเป็นที่อยู่แห่งฝูงนกทั้งปวงริมฝั่งน้ำ จึงเอาข้าวสารล้างน้ำเจ็ดครั้ง แล้วหุงขึ้นบูชาพระไทร ประโคมพิณพาทย์ตั้งอธิษฐานขอบุตร พระไทรมีความกรุณาจึงเหาะไปเฝ้าพระอินทร์ขอบุตรให้เศรษฐี พระอินทร์จึงให้ธรรมบาลเทวบุตรลงมาปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี เมื่อคลอดแล้วจึงให้ชื่อธรรมบาลกุมาร ปลูกปราสาทเจ็ดชั้นให้อยู่ที่ใต้ต้นไทรริมฝั่งน้ำนั้น กุมารเจริญขึ้นก็รู้ภาษานก แล้วเรียนไตรเพทจบเมื่ออายุได้เจ็ดขวบ ได้เป็นอาจารย์บอกมงคลการต่างๆ แก่มนุษย์ทั้งปวง ในขณะนั้นโลกทั้งหลายนับถือท้าวมหาพรหมและกบิลพรหมองค์หนึ่ง ว่าเป็นผู้แสดงมงคลแก่มนุษย์ทั้งปวง เมื่อกบิลพรหมทราบจึงลงมาถามปัญหาธรรมบาลกุมารสามข้อ สัญญาไว้ว่าถ้าแก้ปัญหาได้จะตัดศีรษะบูชา ถ้าแก้ไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ธรรมบาลกุมารผัดเจ็ดวัน ครั้นล่วงไปได้หกวันก็ยังคิดไม่เห็น จึงนึกว่าพรุ่งนี้จะตายด้วยอาญาท้าวกบิลพรหมไม่ต้องการ จําจะหนีไปซุกซ่อนตายเสียดีกว่า จึงลงจากปราสาทไปนอนอยู่ในใต้ต้นตาลสองต้น มีนกอินทรีสองตัวผัวเมียทํารังอาศัยอยู่บนต้นตาลนั้น ครั้นเวลาค่ำนางนกอินทรีถามสามีว่าพรุ่งนี้จะได้อาหารแห่งใด สามีบอกว่าจะได้กินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งท้าวกบิลมหาพรหมจะฆ่าเสีย เพราะทายปัญหาไม่ออก นางนกถามว่าปัญหานั้นอย่างไร สามีจึงบอกว่าเช้าศรีอยู่หน้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างหน้า ข้อหนึ่งเวลาเที่ยงอยู่อก มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ข้อหนึ่งเวลาอัสดงศรีอยู่ที่เท้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างเท้า ธรรมบาลกุมารได้ยินดังนั้นก็กลับไปปราสาท ครั้นรุ่งขึ้นท้าวกบิลมหาพรหมมาถามปัญหา ธรรมบาลกุมารก็แก้ตามที่ได้ยินมา ท้าวกบิลมหาพรหมจึงตรัสเรียกเทวธิดาทั้งเจ็ด อันเป็นบริจาริกพระอินทร์มาพร้อมกัน แล้วบอกว่าเราจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร ถ้าจะตั้งไว้ยังแผ่นดิน ไฟก็จะไหม้ทั่วโลกธาตุ ถ้าจะทิ้งขึ้นบนอากาศฝนก็จะแล้ง ถ้าจะทิ้งในพระมหาสมุทรน้ำก็จะแห้ง จึงให้บุตรทั้งเจ็ดนั้นเอาพานมารับศีรษะ แล้วก็ตัดศีรษะให้นางทุงษผู้บุตรใหญ่ นางทุงษจึงเอาพานรับพระเศียรบิดา แล้วแห่ทักษิณรอบเขาพระเมรุ ๖๐ นาที แล้วก็เชิญประดิษฐานไว้ในมณฑปถ้ำคันธธุลีเขาไกรลาส บูชาด้วยเครื่องทิพย์ต่างๆ พระเวสสุกรรมก็นฤมิตโรงแล้วด้วยแก้วเจ็ดประการ ชื่อภควดี ให้เป็นที่ประชุมเทวดา เทวดาทั้งปวงก็นำเอาเถาฉมูนาดมาล้างในสระอโนดาตเจ็ดครั้ง แล้วแจกกันสังเวยทุกๆ พระองค์ ครั้นถึงครบกําหนด ๓๖๕ วัน โลกสมมติว่าปีหนึ่งเป็นสงกรานต์ นางเทพธิดาเจ็ดองค์จึงผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรท้าวกบิลมหาพรหมออกแห่ประทักษิณเขาพระเมรุทุกปี แล้วกลับไปเทวโลก ที่จารึกในวัดพระเชตุพนมีใจความดังนี้

ข้อซึ่งอ้างว่าเรื่องนี้มีในพระบาลี ดูไม่มีเค้ามูลอันใดที่จะเกี่ยวข้องเข้าไปได้ในพระพุทธศาสนาแต่สักนิดหนึ่งเลย แต่การที่อ้างไว้ว่าพระบาลีฝ่ายรามัญนั้นประสงค์จะให้รู้ว่าเป็นการชั่งเถอะ ด้วยมีเรื่องราวตัวอย่างที่ได้ฟังเล่าบอกมา ว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเก็บหนังสือประเทศต่างๆ แต่งเป็นภาษามคธ สุดแต่อ้างว่าเป็นบาลีหรืออรรถกถาฏีกาโยชนาอย่างใดไม่ว่า มีอยู่แล้วให้มาถวายเทศนาเวรในคราวรอบใหญ่ตลอดทุกอย่าง แต่พระที่มาถวายนั้น ถ้าเป็นเรื่องสัพเพเหระเช่นนี้ก็มักจะใช้เปรียญมอญ เปรียญลาว เปรียญเขมร ครั้งหนึ่งเปรียญรามัญถวายเทศน์เรื่องสุวรรณเศียร เรียกชื่อว่าสุวรรณเซียน ท่านก็ทรงล้อเรื่องหนังสือรามัญเป็นเซียนไปทั้งนั้น ว่าที่สุดจนเรื่องเงาะกับนางรจนาก็มีในบาลีฝ่ายรามัญเช่นนี้ ก็ได้ถวายเทศน์ในท้องพระโรงเหมือนกัน แต่ไม่ทรงเชื่อถืออันใด เป็นเหมือนหามาเล่านิทาน แล้วดำรัสล้อๆ เล่น คำที่ว่ารามัญท้ายคำบาลีนั้น ถ้าจะแปลตามสำนวนทุกวันนี้ ก็ตรงกับคําชั่งเถอะ ซึ่งโปรดให้ไปเขียนไว้ที่ตามศาลาข้างหลังวัด ก็เพราะทรงเห็นว่าเป็นเรื่องที่คนรู้ซึมซาบทั่วถึงกัน พอจะได้ไปอ่านเออออกันให้เป็นที่สนุกรื่นเริงของผู้ที่ไปมาเที่ยวเตร่ในวัดเท่านั้น

เมื่อพิเคราะห์เรื่องราวตามที่ว่า ก็เห็นว่านิทานนี้จะเกิดขึ้นเมื่อภายหลังตั้งจุลศักราช เป็นไปตามนิสัยของคนโบราณไม่ว่าชาติใดภาษาใด ตลอดจนฝรั่ง มักจะคิดจะเขียนเรื่องที่นึกเดาๆ ขึ้นในใจให้เป็นที่พิศวงงงงวย ไม่ได้นึกว่าผู้ใดจะขัดคอเมื่อภายหลัง เพราะในเวลานั้นถ้าผู้ใดขัดคอก็ตวาดเอาเสียก็แล้วกัน แต่ที่คําเช่นนี้ยืนยาวมาได้ก็ด้วยอาศัยความรู้ของชนแต่ก่อนยังมีน้อยอยู่ ได้ลงเชื่อถือมั่นคงเสียแล้วก็รับเป็นผู้โกรธผู้ตวาดแทนกันต่อๆ มาจนถึงทุกวันนี้ เรื่องที่เล่าว่านักเลงสุรามีลูกสองคนผิวพรรณเหมือนทอง เด็กสองคนนั้นมีบุญสมภารประการใด ก็ดูหายเงียบไปไม่กล่าวถึง แต่นัยหนึ่งเล่ากันตามซึมซาบว่า นักเลงสุรานั้นเองเป็นผู้ทายปัญหาออก เมื่อพระมหาสงกรานต์คือกบิลมหาพรหมมาถามปัญหา ลูกเศรษฐีแก้ไม่ออก ฝ่ายเจ้าขี้เมาเมาเหล้าเดินโซเซไปนอนใต้ต้นไม้ จึงได้ยินนกอินทรีพูด แล้วมาบอกให้ลูกเศรษฐีอีกต่อหนึ่ง ลูกเศรษฐีจึงเอาไปทาย ที่ว่าเช่นนี้เพราะไม่รู้เรื่องที่ลูกเศรษฐีรู้ภาษานกเป็นการวิเศษกว่าคนทั้งปวง หมายว่าสัตว์พูดภาษาคนได้ ตามแบบที่เล่านิทานกันเป็นอันมาก ก็เมื่อว่าจะตามทางที่แก้ปัญหากัน ธรรมบาลกุมารจะได้ยินนกพูดก็ดี หรือคนขี้เมามาบอกก็ดี ก็ไม่ใช่ความคิดของตัวคิดเอง เอาไปหลอกพระพรหมว่า เป็นความคิดของตัวนั้นเป็นการนุ่งแท้ ส่วนพระพรหมนั้นเล่าก็มีหูทิพย์ตาทิพย์ จะเล็งจะเอียงฟังดูว่ามันจริงจังอย่างไรบ้าง ก็ไม่เล็งไม่เอียง ใจเบายอมให้ง่ายๆ ดูงุ่มง่ามเต็มที ในการที่จะตัดหัวว่าตกถึงแผ่นดิน ไฟก็จะไหม้เป็นต้นนั้น ในเรื่องราวที่ว่านี้ เป็นเอาพานรองแล้วตั้งไว้ในมณฑปที่ถ้ำคันธธุลี แต่ตามซึมซาบเล่ากันว่านางธิดานั้นต้องมาถือชูอยู่เสมอ เพราะจะตั้งลงไปที่แผ่นดินกลัวไฟจะลุกฮือขึ้น เมื่อว่าไปตามที่จริง เรื่องเดิมจะชามากกว่าที่พวกซึมซาบเล่า เพราะตั้งที่พานแล้ว เอาพานตั้งบนมณฑป มณฑปตั้งที่แผ่นดิน ดูก็ไม่ห่างไกลอะไรกันนัก ใครจะเรียกว่าตั้งกับแผ่นดินหรือตั้งอยู่กับอะไร ถ้าไม่เรียกว่าตั้งอยู่กับแผ่นดินแล้ว คนเราเมื่อขึ้นอยู่บนเรือน ก็นับว่าไม่ได้อยู่บนแผ่นดินเหมือนกัน หรือว่าหัวนั้นเหมือนไฟ แผ่นดินเหมือนดินดำ ต่อเปลวถึงกันจึงจะลุก ถ้าเช่นนั้นเอาไม้เสียบไว้อย่างเช่นที่เขาตัดหัวคนโทษก็เห็นจะได้ หรือถ้าแผ่นดินไม่สู้ไวไฟเหมือนดินดำนัก เอาใบไม้หรือกระดาษรองเสียสักนิดหนึ่งวางที่ไหนก็วางได้ พออย่าให้แจะลงกับพื้นดินเป็นแล้วกัน ท่านพวกซึมซาบจะออกเห็นกระไรกระไรอยู่ จึงได้เข้าใจช่วยไปเสียตามอย่างหัวอินทรชิตคือให้นางลูกสาวมาถือพานชูไว้ ที่จะเหาะลอยอยู่เสมอด้วย ดูค่อยแยบคายขึ้น แต่ไม่เล่าว่าเจ็ดนางลูกสาวนั้นเป็นเมียพระอินทร์ ส่วนท่านตําราเดิมนั้นจะกลัวพระอินทร์หึงเมียหรืออย่างไรจึงต้องให้กลับขึ้นไปเสีย เอาแต่พานตั้งทิ้งไว้ แต่ที่แท้ถึงโดยจะให้อยู่ตามเรื่องซึมซาบว่า ก็ดูจะไม่สู้กระไรนัก ด้วยพระอินทร์ท่านไม่สู้จะหึงหวง จึงปล่อยให้อยู่ชั้นจาตุมหาราชิกา ไม่พาขึ้นไปดาวดึงส์ เรื่องเถาฉมูนาดที่สำหรับเอาไปเซ่นศพนั้น ดูเป็นกิ่งไม้แห้งๆ ไม่น่ากิน จึงได้ค้นหาดูได้ความจากในฎีกาสงกรานต์อย่างเก่าซึ่งโหรถวาย มีอธิบายยืดยาวออกไป เมื่อเอาไปล้างน้ำสระอโนดาตเจ็ดครั้งแล้ว เถาฉมูนาดนั้นละลายออกเป็นเหมือนน้ำมันเนย ทํานองก็จะเป็นเฉาก๊วยหรือเยลลี แต่เฉาก๊วยต้องเข้าไฟ เยลลี่ต้องแช่น้ำแข็งยังธุระมากไปกว่าหน่อยหนึ่ง เปลือกส้มโอหรือเปลือกมังคุดซึ่งเด็กๆ คั้นเล่นแล้วแข็งเป็นวุ้นเข้าเองเห็นจะใกล้กว่า ถ้าหวานๆ หน่อยหนึ่งก็เห็นจะพอเหวยได้ ดูก็น่ากินอยู่ เทวดาทําบุญสุนทันเลี้ยงดูกันด้วยเถาฉมูนาดคั้นนี้ จึงได้คุ้มกันอันตรายอันจะเกิดแต่สงกรานต์ได้ หน้าตาถ้ำคันธธุลีนั้นคล้ายถ้ำที่วัดบ้านถ้ำเมืองกาญจนบุรี แต่เดี๋ยวนี้ศาลาทลายเสีย ถ้าทําศาลาเสียให้ดีแล้วจะเป็นถ้ำอย่างมิเนียเอเชอของถ้ำคันธธุลีได้ทีเดียว พอเล่นขึ้นถ้ำคันธธุลีกันอย่างขึ้นพระบาทวัดบางว้าได้

ชื่อนางเทพธิดามหาสงกรานต์ และคําทํานายต่างๆ ตามตํารานั้นแต่ก่อนโหรถวายฎีกาสงกรานต์ มีว่าด้วยตําราเหล่านี้ตลอด คือตั้งต้นว่าพระอาทิตย์จะยกจากราศีมีนขึ้นราศีเมษในวันนั้นเวลานั้น ทางโคณวิถีใกล้พระเมรุมาศ ขณะนั้นมีนางเทพธิดาองค์หนึ่งทรงนามอย่างนั้นมาแต่จาตุมหาราชิกา ทรงพาหุรัดทัดดอกอันนั้น อาภรณ์แล้วด้วยอย่างนั้นๆ ภักษาหารอย่างนั้น พระหัตถ์ขวาทรงสิ่งนั้น พระหัตถ์ซ้ายทรงสิ่งนั้น ทําอาการอย่างนั้น มาด้วยพาหนะอย่างนั้น เป็นมรรคนายกนำอมรคณาเทพยดาแสนโภฏิ มารับเศียรท้าวกบิลมหาพรหม อันใส่พานทองประดิษฐานไว้ในถ้ำคันธธุลีที่เขาไกรลาสแดนหิมวันตประเทศ ขณะนั้นเทพยดากระทําคารวบูชายาควิธีตามวิสัยจารีตโบราณ แล้วแห่ทักษิณาวรรตเขาพระเมรุราชคํารบหกสิบนาที แล้วก็เชิญเข้าประดิษฐานในถ้ำคันธธุลีดังเก่า ต่อนั้นไปก็ว่าด้วยเรื่องเถาฉมูนาดและทําบุญสุนทันอะไรของเทวดาแล้ว จึงบอกวันนั้นเป็นมหาสงกรานต์ วันนั้นเป็นวันเนา วันนั้นเป็นวันเถลิงศกคือพระยาวันศักราชขึ้นในเวลานั้นๆ ต่อนั้นไปจึงว่าด้วยผลทํานายยกศัพท์มาว่า พสุ อาจินต์ สามัญสงกรานต์เป็นสามประการดังนี้ แล้วก็อธิบายไม่ออกว่าแปลว่ากระไร ไถลไปว่าอธิบายเป็นสามัญทั่วประเทศในสกลชมพูทวีป เป็นแต่ยกขึ้นมาอวดเล่นครึๆ เท่านั้นเอง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้กริ้วในเรื่องข้อนี้ว่าไม่รู้แล้วยังยกขึ้นมาว่า ได้ทรงอธิบายไว้ในประกาศที่ได้อ้างถึงมาแต่ก่อนชัดเจนแล้ว จะยกมาว่าในที่นี้ก็จะยืดยาวไป จะขอเดินความในหมายสงกรานต์ที่พูดถึงบัดนี้ต่อไป เมื่อว่าด้วยสงกรานต์สามอย่างแล้วจึงบอกเกณฑ์พรุณศาสตร์ คือฝนจะตกมากน้อยเท่าใดตามปีอย่างหนึ่ง เกณฑ์ธาราธิคุณ บอกน้ำท่าจะมากน้อยเท่าใดตามปีอย่างหนึ่ง เกณฑ์ธัญญาหาร บอกข้าวในภูมินา จะได้กี่ส่วนเสียกี่ส่วนตามปีอย่างหนึ่ง บอกเข้าพรรษาออกพรรษาอย่างหนึ่ง ลงท้ายก็บอกเวลาสรงมุรธาภิเษกในวันเถลิงศก ฎีกาเช่นนี้ว่าแต่ก่อนโหรยื่นมหาดเล็ก มหาดเล็กมาอ่านถวาย แต่ในชั้นหลังตั้งแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โหรถวายพร้อมด้วยประดิทินทองในวันแรมสิบห้าค่ำ แต่ฎีกานั้นทรงแก้เสียหมด ให้คงบอกแต่ว่าวันนั้นเป็นวันสงกรานต์พระอาทิตย์ยก วันนั้นเป็นวันเนา วันนั้นเป็นวันเถลิงศก เสด็จสรงมุรธาภิเษกเวลานั้น แต่ฉากรูปสงกรานต์เคยเขียนแขวนที่ท้องพระโรงแผ่น ๑ แขวนที่ทิมดาบข้างหน้าแผ่น ๑ ที่ศาลาในพระบรมมหาราชวังแผ่น ๑ ทรงเห็นว่าคนยังชอบใจอยากรู้กันอยู่มาก จึงโปรดให้คงแขวนไว้ตามเดิม ถึงในประกาศสงกรานต์ไม่ทรงด้วยเรื่องนี้ ตัดเสียว่าให้ไปดูรูปฉากที่แขวนนั้นเถิด

นางสงกรานต์ตามตํารานั้น ถ้าวันอาทิตย์ชื่อทุงษ ทัดดอกทับทิม เครื่องประดับปัทมราค ภักษาหารผลมะเดื่อ อาวุธขวาจักร ซ้ายสังข์ พาหนะครุฑ
วันจันทร์ชื่อโคราค ทัดดอกปีบ เครื่องประดับมุกดา ภักษาหารน้ำมัน อาวุธขวาพระขรรค์ ซ้ายไม้เท้า พาหนะเสือ
วันอังคารชื่อรากษส ทัดดอกบัวหลวง เครื่องประดับโมรา ภักษาหารโลหิต อาวุธขวาตรีศูล ซ้ายธนู พาหนะสุกร
วันพุธชื่อมัณฑา ทัดดอกจําปา เครื่องประดับไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย อาวุธขวาเข็ม ซ้ายไม้เท้า พาหนะลา
วันพฤหัสบดีชื่อกิริณี ทัดดอกมณฑา เครื่องประดับมรกต ภักษาหารถั่วงา อาวุธขวาขอ ซ้ายปืน พาหนะช้าง
วันศุกร์ชื่อกิมิทา ทัดดอกจงกลนี เครื่องประดับบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ อาวุธขวาพระขรรค์ ซ้ายพิณ พาหนะกระบือ
วันเสาร์ชื่อมโหทร ทัดดอกสามหาว เครื่องประดับนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย อาวุธขวาจักร ซ้ายตรีศูล พาหนะนกยูง

พิเคราะห์ดูชื่อเสียงนางทั้งเจ็ดคนนี้ อยู่ข้างจะเป็นยักษ์ๆ ความประสงค์เห็นจะอยากให้ดุให้กลัวกัน ก็สมกับที่เกณฑ์ให้อยู่ชั้นจาตุมหาราชิกา ด้วยเข้าใจว่าชั้นนั้นเป็นยักษ์มาก และยังมีคําเล่าบอกกันอย่างซึมซาบว่าที่ข้างจีนเขาเห็นรูปพรรณสัณฐานและศัสตราวุธนั้นน่ากลัวยิ่งกว่าที่เขียนนี้ แต่เขากลัวคนจะตกใจ จึงได้เขียนลดหย่อนลงเสีย ไม่สู้ให้น่ากลัวเหมือนอย่างที่มาจริงๆ เห็นจะเป็นเหตุออกจากเรื่องชื่อนี้เองเป็นต้น แต่เครื่องประดับและดอกไม้ทัดนั้นทํานองจะแต่งตามวัน วันอาทิตย์ วันจันทร์ วันอังคาร ก็ดูถูกต้องเรียบร้อยมา แต่วันพุธ วันพฤหัสบดีนั้นไขว้กันไป ไพฑูรย์ควรจะอยู่วันพฤหัสบดี มรกตควรอยู่วันพุธ เห็นจะเป็นด้วยหลงฟั่นเฟือน ถึงดอกไม้ ดอกจำปาก็ดูเหมือนจะเป็นของวันพฤหัสบดี ดอกมณฑาจะเป็นของวันพุธ แต่ลืมดอกกระดังงาดอกขจรเสียหรือจะไม่รู้จัก จึงเห็นสามกลีบที่หุ้มดอกมณฑาเขียวๆ อยู่พอใช้ได้ แต่วันศุกร์นั้นประสงค์คําบุษอย่างเดียว บุษราคัมนั้นจะมากเกินไป ถ้ายกเสียก็จะลงร่องรอยกันดีตลอดจนวันเสาร์ แต่พาหนะและอาหารกับทั้งอาวุธนั้นไม่มีเค้ามูลว่าจะได้ร่องรอยมาจากอันใด อยู่ข้างจะเป็นอันไรเดเบอล อันอีเตบอล อันดริงเกบอล ทั้งสิ้น

ในท่านทั้งเจ็ดที่มานี้ อยู่ข้างจะทรงพาหนะนั้นแข็งๆ ด้วยกันทุกองค์ สู้คนขี่ม้าเซอคัสได้ เสด็จมาแล้วไม่ขี่ตามปรกติเลย ทรงแผลงท่าต่างๆ ไป คือพระอาทิตย์ยกตั้งแต่เช้าจนเที่ยง ไม่ว่าองค์ใดมายืนทั้งสิ้น แต่ไม่ต้องทรงถือบังเหียนเหมือนเซอคัส ตั้งแต่เที่ยงไปจนค่ำนั่งทั้งสิ้น ตั้งแต่ค่ำไปจนเที่ยงคืน นอนลืมตาทั้งสิ้น ตั้งแต่เที่ยงคืนไปจนรุ่งนอนหลับตาทั้งสิ้น เพราะเหตุที่นางมหาสงกรานต์เล่นเซอคัสท่าต่างๆ คนละสี่ท่าสี่ท่าเช่นนี้ จึงเป็นยี่สิบแปดท่าเปลี่ยนกันไป จนคนที่ดูฉากเขียนนั้นเห็นมีแปลกๆ เสมอ น่าเชื่อว่าจีนเขาเขียนมาแต่เมืองจีนก่อนจริง เพราะว่าถ้าเขียนไว้เป็นตําราสำหรับแขวนวนๆ กันไปแล้วก็คงจะเหมือนกันบ่อยๆ หรือเป็นระเบียบเรียบร้อย นี่แปลกกันถึงยี่สิบแปด และลักๆ ลั่นๆ เช่นนี้ เห็นปีละครั้งก็พอเหลือที่จะจำได้ และวันใดเป็นวันมหาสงกรานต์ วันใดเป็นวันเนา วันใดเป็นวันเถลิงศกคือพระยาวัน และสงกรานต์ยืนนั่งนอนตื่นนอนหลับมีคําทํานายต่างๆ ในคําทํานายนั้น ถ้าวันใดถูกวันมหาสงกรานต์หรือวันเนาแล้วเป็นการไม่ดีทั้งสิ้น เป็นแต่เปลี่ยนกันทักไปตามวัน คือวันอาทิตย์ทักบ้านทักเมือง วันจันทร์ทักนางพระยาและเสนาบดี วันอังคารทักอะไรต่ออะไรต่อไปให้เป็นห่วงแม่ม่ายไร้ทานจะทุกข์จะร้อนต่างๆ ตามวิสัยคำทํานายของโหร ธรรมดาคําทํานายของโหรแล้ว มักจะห่วงอะไรขันๆ อยู่สองสามสิ่งพอใจพูดถึงร่ำไป คือทารกอย่างหนึ่ง แม่ม่ายอย่างหนึ่ง หมอยาอย่างหนึ่ง เรือสำเภาอย่างหนึ่ง ผีมาแขกอย่างหนึ่ง ปวดท้องอย่างหนึ่ง โรคในศีรษะอย่างหนึ่ง ถึงว่าจะไม่มีใครวานให้ช่วยดูช่วยแลให้ เขาให้ดูแต่เฉพาะตัวเขาก็พอใจบ่นถึงพวกเหล่านี้ จะเป็นทุกข์บ้าง จะได้ลาภบ้าง เป็นห่วงบ่วงใยกันอย่างยิ่ง เรื่องคําทํานายวันสงกรานต์วันเนานี้ จนพวกซึมซาบไม่มีใครจําได้ ว่าวันใดเป็นวันสงกรานต์ วันใดเป็นวันเนา จะมีเหตุมีผลอย่างใดที่เป็นการทั่วๆ ไป เพราะกลัวสะท้านเกินไปเสียจนกลายเป็นตำราว่า ถ้าวันเกิดของผู้ใดต้องวันเนา ให้เอาดินปั้นเท่าหัวไปถมโคนโพ ให้ตัดไม้ไผ่ทะลุปล้องเสียเอาเบี้ยกรอกในนั้นไปค้ำต้นโพ ได้ถามว่าเบี้ยนั้นสำหรับทําอะไร ผู้ใหญ่บอกว่าสำหรับให้เป็นทาน เมื่อถามเข้าไปอีก ว่าไม้ค้ำโพนั้นเพื่อจะค้ำไว้มิให้กิ่งโพหัก เป็นการปฏิสังขรณ์ต่ออายุก็ชอบอยู่แล้ว แต่ที่เอาเบี้ยไปกรอกไว้ให้เป็นทานในปล้องไม้นั้นด้วย ได้เจาะช่องไว้สำหรับให้คนล้วงหรือไม่ ถ้าไม่เจาะช่องไว้จะมิต้องไปแย่งเอาไม้ที่ค้ำโพไว้นั้น มาล้วงเอาเบี้ยหรือ ก็ได้คำตอบว่าเขาก็ปลดไม้นั้นมาเทเอาเบี้ย ได้ถามต่อไปว่าผู้ที่เทเอาเบี้ยนั้นมีอะไรบังคับ ที่เป็นการจำเป็นต้องให้เอาไม้นั้นขึ้นค้ำโพอีกหรือไม่ ก็ว่ามันเทเอาเบี้ยแล้วมันก็ทิ้งไม้ไว้ ได้ค้านว่าถ้าเช่นนั้นจะมิไม่เป็นประโยชน์อันใดแก่ต้นโพเลยหรือ ถ้าจะให้ทานต่างหากค้ำโพต่างหากจะดีกว่าดอกกระมัง พอเอ่ยขึ้นเท่านี้ก็เป็นประหารขนด โกรธฉิวขึ้นมาทีเดียว บ่นตุบตับไปว่าไม่ทําให้ผิดอย่างบุรมบุราณเขาไปได้ เลยไม่ต้องเล่าอะไรกันอีกต่อไป การที่คนกลัววันสงกรานต์วันเนายังทำเช่นนี้มีโดยมาก แต่ถ้าวันใดถูกวันเถลิงศก คือพระยาวันแล้วอยู่ข้างเรี่ยมตลอดทั้งนั้น วันอาทิตย์เป็นเจ้าแผ่นดิน วันจันทร์เป็นนางพระยาและพระสนม วันอังคารเป็นอำมาตย์ วันพุธเป็นข้าพเจ้าเองของท่านโหร วันพฤหัสบดีเป็นพระ วันศุกร์เป็นพ่อค้า วันเสาร์เป็นทหาร จะดีทั้งหลายแหล่ ในส่วนที่เล่นเซอคัสนั้นเล่าถ้ายืนๆ นั่งๆ แล้วเอาเป็นไม่ดี ถ้าเหยียดยาวไปแล้วเป็นใช้ได้ แต่ที่จะพรรณนาพิสดารไปนั้น ดูก็วุ่นวายเร่อร่านัก ไม่น่าจะมาว่าในหนังสือนี้ แต่ส่วนเกณฑ์พรุณศาสตร์ เกณฑ์ธาราธิคุณ เกณฑ์ธัญญาหาร ซึ่งมีในท้ายฎีกาของโหร ดูเป็นการคนละเรื่องอยู่ ไม่สู้เกี่ยวกันกับเรื่องสงกรานต์นัก จึงหาได้เก็บเอามาว่าในที่นี้ไม่ ๚

  
-------------------------------------------------------------------------------------
[๑]  เกณฑ์มหาศักราชสอบได้แน่นอนเมื่อทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเรื่องนี้แล้ว



หัวข้อ: Re: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 28 มิถุนายน 2561 16:01:19

เดือนห้า
การพระราชกุศลก่อพระทรายและตีข้าวบิณฑ์

๏ เรื่องสงกรานต์นี้ ในหนังสือนพมาศได้กล่าวไว้แต่ว่าเมื่อถึงกําหนดพระสุริยเทพบุตรเสด็จโคจรจากราศีมีน ประเวศขึ้นสู่ราศีเมษ สมมติว่าเป็นวันสงกรานต์ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการถวายบังคมถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา แล้วก็พระราชทานเบี้ยหวัดผ้าปี ข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายหน้าฝ่ายในทั้งปวง ไม่เห็นพูดถึงการพระราชกุศลอันใด ชะรอยจะเป็นเวลาที่แรกเกิดสงกรานต์ขึ้นใหม่ๆ ยังเป็นการกร่อยอยู่ ด้วยราษฎรผู้ซึ่งจะรู้กําหนดสงกรานต์นั้นจะน้อย จึงยังไม่เป็นนักขัตฤกษ์ใหญ่โตอะไรได้ จึงยกเอาการถือน้ำแจกเบี้ยหวัด เป็นส่วนของราชการมาใช้ในกําหนดวันเปลี่ยนปีใหม่นั้น ส่วนในกฎมนเทียรบาลก็ไม่ได้พูดถึง คงจะไม่เป็นการทําใหญ่โตอันใด ตลอดมาจนถึงแรกตั้งกรุงทวาราวดี มามีปรากฏต่อชั้นหลังในจดหมายขุนหลวงหาวัดว่า สรงสนานแล้วสรงน้ำพระชัยและพระไสยศาสตร์ จึงนิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะสรงน้ำพุ ฉันถวายไทยธรรมสามวัน ก่อพระวาลุกาเจดีย์ วัดพระศรีสรรเพชญองค์หนึ่ง พระทรายเตียงยกองค์หนึ่ง วัดกุฎีดาวองค์หนึ่ง พระทรายน้ำไหลเพนียดองค์หนึ่ง พระสงฆ์ฉันถวายไทยธรรม ตั้งศาลาฉทาน ๖ ตําบลๆ ละสามวัน ตลาดยอดแห่งหนึ่ง วัดสุมงคลบพิตรแห่งหนึ่ง ตะแลงแกงแห่งหนึ่ง สะพานช้างแห่งหนึ่ง ศาลาดินแห่งหนึ่ง สะพานสกูลแห่งหนึ่ง เลี้ยงพระสงฆ์คฤหัสถ์ มีข้าวและกับข้าวของกินหมากพลู มีทั้งน้ำอาบน้ำกิน แป้งน้ำมันหวีกระจก มีช่างตัดผม หมอนวด หมอยา ทั้ง ๖ ตําบล ว่ากลมๆ ไปอย่างนี้ แปลกกับที่กรุงเทพฯ ก็ที่พระเจดีย์ทรายก่อแต่เฉพาะสี่องค์ ในสี่องค์นั้นพระทรายวัดพระศรีสรรเพชญ พระทรายเตียงยก พระทรายน้ำไหล คงเป็นของเก่า แต่พระทรายวัดกุฎีดาวเป็นของเกิดขึ้นใหม่ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

การก่อพระทรายกรุงเก่ากับที่กรุงเทพฯ นี้ ความประสงค์ เห็นจะไม่ต้องกัน เรื่องต้นเหตุที่เกิดก่อพระทรายในเวลาสงกรานต์นี้ ได้สืบสวนไต่ถามกันหนัก ก็ยังไม่ได้ความว่าเกิดขึ้นแต่เมื่อไร เกิดขึ้นเพราะอะไร ได้ยินแว่วๆ คำเล่าว่าเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จลงเรือขนาน ชนทั้งปวงพากันก่อพระทรายที่ข้างลำน้ำ และก่อในแพลอยเป็นเครื่องบูชา เมื่อให้ไปค้นเอาจริงเข้าก็ไม่มีข้อความเรื่องพระทราย กลายเป็นนิทานซึมซาบไปเสีย ได้ให้เผดียงถามพระราชาคณะเปรียญทั้งปวงดู เมื่อได้ความประการใดจึงจะลงในรายเล่ม รวมพระราชพิธีซึ่งคิดจะออกต่อไป แต่พระทรายสี่อย่าง ซึ่งมีปรากฏมาในจดหมายขุนหลวงหาวัด พระทราย ๒ อย่าง คือพระทรายวัดพระศรีสรรเพชญอย่าง ๑ พระทรายวัดกุฎีดาวอย่าง ๑ จะเป็นอยู่ในเรื่องพระทรายบรรดาศักดิ์ พระทรายบรรดาศักดิ์นั้น ตามที่เข้าใจในกรุงเทพฯ นี้ ว่าเป็นการประสงค์ที่จะให้ได้ทรายไปประสมปูนในการก่อสร้าง ไม่ให้ต้องซื้อนั้นอย่างหนึ่ง ประสงค์จะให้มีทรายถมพื้นลานวัด กับพื้นที่เป็นโคลนตม และมิให้หญ้างอกนั้นอย่างหนึ่ง ความประสงค์อันนี้เห็นจะเป็นของเก่าที่ได้เคยใช้มาแต่ครั้งกรุงเก่า แต่จะใช้เป็นครั้งเป็นคราวในเวลาเมื่อทําวัด เมื่อสิ้นคราวทําวัดแล้วก็เป็นอันเลิกไป คงเป็นแต่ก่อพระทรายสังเขปของหลวง ที่วัดพระศรีสรรเพชญแห่งหนึ่ง เป็นวัดในพระราชวัง เมื่อมีการก่อสร้างอันใดก็คงจะโปรดให้ก่อพระทรายทุกคราว มีตัวอย่างซึ่งเห็นได้ในครั้งหลังนี้ คือเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มสร้างพระพุทธปรางค์ปราสาทในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ก็โปรดให้เจ้านายและเจ้าจอมข้างในออกไปก่อพระทรายในเวลาสงกรานต์ แต่พระทรายบรรดาศักดิ์ก็คงก่ออยู่ตามเดิมไม่ได้ยกมาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศนั้นทรงปฏิสังขรณ์วัดกุฎีดาว ชะรอยจะยกพระทรายบรรดาศักดิ์ไปวัดกุฎีดาว วัดพระศรีสรรเพชญที่เคยก่ออยู่แต่ก่อน จึงให้คงมีอยู่แต่พระทรายหลวง ครั้นเมื่อการวัดกุฎีดาวแล้วเสร็จ ก็จะเลิกพระทรายบรรดาศักดิ์เสียทีเดียว คงก่ออยู่แต่ของหลวงพอเป็นสังเขป ในจดหมายขุนหลวงหาวัดจึงไม่ได้กล่าวถึงพระทรายบรรดาศักดิ์ แต่ครั้นเมื่อถึงกรุงเทพฯ ทรงสถาปนาพระอารามขึ้นใหม่ๆ จึงโปรดให้มีพระทรายบรรดาศักดิ์ขึ้นติดต่อกันไปไม่มีระหว่างยกเว้น ด้วยเห็นว่าเป็นประโยชน์ดีกว่าก่อพระทรายโคมๆ อย่างอื่น ด้วยที่แผ่นดินกรุงเทพฯ เป็นโคลนเลนลุ่มมาก แต่ถ้าถมเสียให้สูงถึงที่น้ำไม่ท่วม ก็เป็นแผ่นดินที่ดอนเรียบร้อยตลอดไปได้ในครั้งเดียว ไม่เหมือนอย่างที่กรุงเก่า ที่กรุงเก่านั้นถึงว่าที่แผ่นดินไม่สู้เป็นเลนตมเหมือนอย่างที่กรุงเทพฯ แต่ที่จะถมให้พ้นน้ำท่วมนั้นเป็นอันยาก เพราะฉะนั้นการก่อพระทรายจึงไม่เป็นที่ต้องการและเป็นประโยชน์มากเหมือนที่กรุงเทพฯ จึงได้มีเวลาเลิก หันลงเล่นพระทรายสังเขปเสีย ส่วนพระทรายเตียงยกอีกองค์หนึ่งนั้น เมื่อดูตามลัทธิที่คนใช้อยู่เดี๋ยวนี้ เห็นเขามักทำเสาปักขึ้นที่ริมรั้วบ้าน แล้วมีกระดานข้างบน ก่อพระทรายขึ้นไว้บนนั้นทิ้งอยู่ตาปีตาชาติ ดูเป็นของคู่กันกับศาลพระภูมิ จะแปลว่ากระไรก็ไม่ทราบ จะเป็นพระทรายพวกนั้น แต่ของหลวงนี้เป็นก่อขึ้นสำหรับยกไปวัดหรือประการใดก็ไม่ทราบ ได้ตรวจดูในหมายรับสั่งของเก่าที่กรุงเทพฯ ซึ่งว่าด้วยเรื่องพระทรายเตียงยกนี้ แปลกกันกับที่ขุนหลวงหาวัดว่าที่กรุงเก่ามีองค์เดียว แต่ที่นี้ใช้ถึงสิบองค์ คือ เป็นพนักงานตำรวจในซ้ายขวา ก่อ ๒ องค์ ทหารในซ้ายขวาก่อ ๒ องค์ ฝีพายก่อ ๖ องค์ ที่รองพระทรายนั้นเป็นม้าสี่เหลี่ยมสี่ขา กว้างประมาณศอกหนึ่ง ก่อพระทรายในกลางม้า มีราชวัติฉัตรธงกระดาษล้อมรอบ สังเกตดูในหมายรับสั่งของเก่า เหมือนหนึ่งจะก่อหน้าที่นั่ง คือมีกำหนดให้มาคอยก่ออยู่ที่ข้างพระที่นั่งอัมรินทร์ ทีแต่เดิมจะไปทรงแตะๆ เขี่ยๆ อะไรบ้าง แต่ครั้นเมื่อมีพระราชธุระมากและจืดๆ ลงก็คอยเปล่าไปไม่ใคร่จะเสด็จออก ตกลงเป็นเจ้าพนักงานก่อกันเสียเอง เมื่อไม่ได้รับสั่งให้เลิกหมาย จึงยังคงขึงอยู่ตามเดิม แต่เห็นว่าพระทรายเตียงยกนี้ จะเกิดขึ้นด้วยขี้เกียจไปก่อที่วัดและไปทำบุญฉลองถึงวัด จึงเอาม้าลาอะไรมาตั้งก่อขึ้นฉล่ำฉลองกันเสียให้เสร็จแล้ว จึงให้เขายกไปถมวัดเป็นการย่อๆ ลงอีกชั้นหนึ่ง พระทรายที่ก่ออยู่ตามรั้วบ้าน ถ้าไม่มีเรื่องราวแบบอย่างอื่นใด ที่ว่าก่อไว้เป็นเครื่องบูชาสำหรับบ้าน ให้เป็นสวัสดิมงคลหรือคุ้มกันอันตรายอย่างใดเช่นศาลพระภูมิแล้ว ก็กลัวจะเป็นขี้เกียจเอาไปวัด จึงตั้งไว้ที่รั้วบ้านย่อลงไปอีกชั้นหนึ่ง ถ้ามิฉะนั้นก็จะเกิดขึ้นด้วยเสียดายเครื่องตุ๊กตุ่นตุ๊กตา คือราชวัติฉัตรธงพัดโบกจามรที่ทำเป็นเครื่องประดับ เพราะระลึกได้ว่าเมื่อเล็กๆ เขาเกณฑ์ให้ก่อพระทรายน้ำไหล ในเวลาที่ก่อนั้นสนุกหาที่เปรียบมิได้ ขลุกขลุ่ยไปวันยังค่ำ เมื่อเวลาที่ก่อเสร็จจะยกยอดก็ต้องร้องอูแอประโคมกันกึกก้องแล้ว ประเดี๋ยวรูปร่างไม่ดีไป ต้องรื้อก่อกันใหม่ ยกยอดร้องอูแออีกหลายๆ เที่ยว เมื่อเสร็จแล้วจะบรรจุใบโพนั้นต้องถึงจับสายสิญจน์โยงสวดมนต์เย็นฉันเช้า เวลาบรรจุก็ต้องประโคมและชยันโตแล้วแต่งเครื่องประดับต่างๆ สวดมนต์ฉันเช้าฉลองต่อไป เขาจะเอาไปลอยก็ไม่ใคร่จะยอมให้ไป เอาทิ้งไว้นานๆ จนเขาว่าหยวกจะเน่า เขาลักไปลอยเสียจึงได้เลิกเล่น เครื่องประดับพระทรายรั้วบ้านเช่นนี้ บางทีก็ทําวิจิตรพิสดารต่างๆ บางทีจะเสียดายอย่างนั้นได้บ้างดอกกระมัง จึงได้ตั้งทิ้งไว้ ที่ว่าพระทรายน้ำไหลที่เพนียดอีกองค์หนึ่งนั้น ก็เห็นจะเป็นเรื่องเดียวกันกับเรื่องพระทรายน้ำไหลที่เขาก่อกันอยู่ทุกวันนี้ ตามลัทธิซึมซาบเล่ากันว่า เป็นการล้างบาปลอยบาปอยู่ด้วย คือต่อแพหยวกแล้วเอาทรายมาก่อขึ้นบนแพหยวก ทรายนั้นต่างว่าบาปที่ได้ทําไว้ตลอดปี เอาไปปั้นเป็นพระให้เป็นการบุญเสีย แล้วปักราชวัติฉัตรธงบูชาด้วยข้าวบิณฑ์ แล้วจึงเอาพระทรายนั้นไปลอยน้ำ กําหนดให้ลอยในเวลาน้ำขึ้นอายุยืน ถ้าลอยในเวลาน้ำลงอายุสั้น พระทรายนั้นจะเป็นกองบาปหรือเป็นตัวของตัว หรือเป็นพระอะไรเลือนๆ ตามปรกติของคนที่ไม่ได้นึกทีเดียวตลอดเรื่อง อะไรมันหลุดขึ้นมาก็ปล่อยอะลุ้มอล่วยไป พระทรายน้ำไหลที่เพนียด จะไปก่อบนบกที่น้ำท่วม หรือก่อบนแพลอยเหมือนอย่างพระทรายน้ำไหลทุกวันนี้ก็ไม่ปรากฏ แต่ถ้าก่อบนบกให้สายน้ำปัดทลายแล้ว เรียกว่าพระทรายน้ำเซาะเห็นจะถูกดีกว่าพระทรายน้ำไหล ถ้าใช้ก่อบนแพเหมือนพระทรายน้ำไหลตามธรรมดา ทําไมจึงต้องไปก่อถึงเพนียดก็ไม่ได้ความ เป็นการรวมๆ อยู่เช่นนี้ แต่การก่อพระทรายนี้ยังเป็นที่นิยมยินดีว่าเป็นการบุญใหญ่ทั่วไปของคนทั้งปวง ค่อนจะอยู่ข้างถ่ายบาปได้นิดๆ หนึ่ง เช่นกับสร้างพระทรายแปดหมื่นสี่พัน แต่ลัทธิก่อพระทรายนี้ต้องนับว่าเป็นการมีประโยชน์ดีกว่าเรื่องตีข้าวบิณฑ์มาก

ข้าวบิณฑ์นั้นออกจากการที่อยากตักบาตรพระพุทธเจ้าเป็นต้น จึงมีวิธีถวายข้าวพระต่างๆ ซึ่งประพฤติอยู่ด้วยกันโดยมาก ถ้าอย่าฝันไปว่าเซ่นและนึกว่าพระพุทธเจ้าจะได้รับประโยชน์นั้นจริงๆ เหมือนเซ่นเจ้าผีหรือเซ่นศพแล้ว ก็นับว่าเป็นเครื่องบูชาอย่างหนึ่ง แต่ที่ย่อลงจนถึงเตี้ยๆ เท่าข้าวบิณฑ์เช่นนี้ ก็เป็นไปด้วยเหตุที่รู้ว่าสิ่งของที่ไปตั้งนั้นไม่เป็นของบริโภคจริงอย่างหนึ่ง เพื่อจะให้งดงามและยกรื้อได้ง่ายๆ นั้นอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างกับบายศรีสมโภช การสมโภชกันนี้ก็แปลว่าเลี้ยงกันตรงๆ คำที่มีมาในกฎมนเทียรบาลว่า “สมโภชเลี้ยงลูกขุน” นี้ใช้เต็มทั้งอรรถทั้งแปล เมื่อพิเคราะห์ดูเครื่องที่มาตั้งในการสมโภชทั้งปวง ก็ล้วนแต่เป็นของบริโภคทั้งสิ้น บายศรีแก้ว บายศรีทอง บายศรีเงิน ก็เป็นภาชนะเครื่องรองอาหารเหมือนโต๊ะหรือพาน บายศรีตองก็เป็นกระทงที่สำหรับบรรจุอาหาร แต่เป็นการออกหน้าประชุมคนพร้อมๆ กัน ก็คิดตกแต่งให้งดงามมากมาย ชะรอยบายศรีแต่เดิมจะใช้โต๊ะกับข้าวโต๊ะหนึ่ง จานเรียงซ้อนๆ กันขึ้นไปสูงๆ เหมือนแขกเขาเลี้ยงที่เมืองกลันตัน ภายหลังเห็นว่าไม่เป็นของแน่นหนา และยังไม่สู้ใหญ่โตสมปรารถนาจึงเอาพานซ้อนกันขึ้นไปสามชั้นห้าชั้น แล้วเอาของตั้งรายตามปากพาน ที่เป็นคนวาสนาน้อยไม่มีโต๊ะมีพาน ก็เย็บเป็นกระทงตั้งซ้อนกันขึ้นไปสามชั้นห้าชั้นเจ็ดชั้น แต่ถ้าจะใช้กระทงเกลี้ยงๆ ดูไม่งาม ก็เจิมปากให้เป็นกระทงเจิมให้เป็นการงดงาม ผู้ใดซึ่งเป็นผู้จะรับมงคล คือถูกทำขวัญนั้นก็มานั่งบริโภคอาหารนั้นในที่ประชุม เป็นการกลับกันกับที่ประพฤติอยู่ทุกวันนี้ ผู้ที่มาช่วยเหลือต้องมาช่วยกันปรนนิบัติเลี้ยงดูผู้เจ้าของงาน ทุกวันนี้ผู้เจ้าของงานต้องเลี้ยงผู้อื่น ภายหลังเห็นว่าการที่ไปนั่งบริโภคอาหารในที่ประชุมเช่นนั้นเป็นความลำบากหลายอย่าง คือกับข้าวที่จะตกแต่งบายศรีนั้นก็ต้องหาอย่างดี เพราะเป็นการออกหน้าเปลืองเงินมาก ผู้ที่จะไปบริโภคคือเด็กที่โกนจุกเป็นต้น ก็ถูกแต่งตัวออกเพียบ มือและหน้าก็ผัดทาฝุ่นแป้งเข้าไว้ออกขาวนวล และเมื่อเวลาต้องไปบริโภคในที่ประชุมเช่นนั้น กิริยาของเด็กที่จะเปิบอาหารก็ไม่ใคร่เรียบร้อย มักจะมูมๆ มามๆ จนหน้าตามือไม้เลอะเทอะสิ้นสวยสิ้นงาม ถ้าถูกเด็กที่ตะกรามก็จะนั่งกินไม่รู้แล้ว จนคนที่มาทำขวัญนั้นเบื่อ ถ้าเด็กนั้นเป็นคนขี้กระดากกระเดื่องไม่กินก็เสียดายของตกแต่งไว้เป็นหนักเป็นหนา จึงตกลงเป็นเลิก เล่นย่อๆ กันเถอะ แต่งข้าวของไปแต่เล็กน้อย กินแต่เพียงน้ำมะพร้าวอ่อนเป็นสังเขปก็ได้ เพราะฉะนั้นพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้ปรนนิบัติใหญ่ จึงได้เอาช้อนไปเที่ยวตักโคมๆ ตามบายศรีเอามาเทลงในมะพร้าว ต่างว่าของเหล่านั้นรวมอยู่ในมะพร้าวหมดแล้ว จึงเอาน้ำมะพร้าวนั้นมาป้อนให้กิน สมมติว่าเป็นได้กินของในภาชนะนั้นทั่วทุกสิ่ง ธรรมเนียมซึ่งกินของทําขวัญมีไข่ขวัญเป็นต้นเช่นนี้ ก็ยังมีปรากฏเป็นพยานอยู่ในเวลาทำขวัญไปรเวตในครอบครัว ซึ่งตกแต่งลงในขันทองขันเงิน มีผู้ใหญ่มาว่าให้พรยกขึ้นโห่ฮิ้ว เมื่อจุณเจิมผูกด้ายเสร็จแล้วก็ให้เด็กบริโภคของที่ทําขวัญนั้น เพราะเป็นเวลาไม่ได้แต่งตัวและไม่มีผู้อื่น ถึงจะกินมูมมามหรือช้าเร็วประการใด ก็ไม่เป็นที่อับอายขายหน้าอันใด แต่วิสัยคนเราไม่เข้าใจต้นเหตุความประสงค์เดิมว่าเขาคิดอย่างไรแล้วก็ไม่พอใจถาม หรือถามแล้วก็ไม่พอใจบอกกัน ก็เป็นแต่ทำตามกันมามืดๆ เช่นนั้น การถือลัทธิมงคลอัปมงคลไม่มีรูปก็เข้าครอบงำ จนกลายเป็นมีสิ่งหนึ่งเรียกว่า “ขวัญ” ขวัญนั้นหลบหนีได้และเที่ยวตกอยู่ตามหนทางก็ได้ เรียกก็มา เข้าใจภาษา แต่เป็นวิสัยของขวัญแล้วชอบสุนทรกถาเป็นพื้น ไม่ชอบขู่ตวาด สุนทรกถานั้นจะเท็จหรือจะจริงก็ไม่เป็นไร เชื่อได้ทั้งนั้น เป็นต้นว่าอาหารนั้นจะขยี้ขยําเน่าบูดอย่างไร บอกว่าประกอบด้วยนมเนยมีโอชารสวิเศษเหมือนของทิพย์ เหย้าเรือนเคหาถึงจะเป็นรังกา บอกว่าสนุกสบายวิเศษเหมือนกับวิมานพระอินทร์ ขวัญนั้นก็เชื่อกลับมาให้ด้วย กินก็อร่อยด้วย ตัวขวัญนั้นดูเหมือนมีแต่โสตินทรีย์ โสตะสัมผัสอย่างเดียว อินทรีย์และสัมผัสอื่นๆ อ่อนหมดทุกอย่างหรือไม่มีเลย เมื่อเข้าใจกันว่ามีตัวขวัญอยู่เช่นนี้ การทําขวัญก็กลายเป็นจะล่อลวงและจะยอตัวขวัญให้มาอยู่กับตัวเด็กอย่างเดียว การที่พราหมณ์ไปตักโคมๆ ก็กลายเป็นไปตักตัวขวัญมาแช่น้ำมะพร้าวไว้ให้เด็กกิน ของที่จัดมาในบายศรีนั้นน้อยลงๆ จนลืมไปไม่หมายว่าเป็นของกิน นึกตึงตังขึ้นมาว่าขวัญจะไม่มีอะไรกิน ต้องมีเครื่องกระยาบวชมาตั้งอีกสำรับหนึ่ง หัวหมูมาตั้งอีกหัวหนึ่งก็มี

วิธีที่ทําอะไรแล้วลืมๆ ไหลๆ ต่อๆ กันมาเป็นตัวอย่างเช่นนี้ฉันใด ข้าวบิณฑ์นี้ก็เรื่องเดียวกันกับบายศรีนั้นเอง เห็นว่าเป็นเวลาตรุษสุดปีและสงกรานต์ขึ้นปีใหม่ อยากจะถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระพุทธเจ้าให้เป็นของประณีตวิเศษก็จัดไปตั้งบูชา ก็แต่พระพุทธรูปท่านไม่ฉันบกพร่องอันใดลงไป จัดไปมากก็เปลืองเปล่า และยกรื้อเร่อร่าไม่งดงาม ก็ค่อยผ่อนลงๆ จนถึงรูปข้าวบิณฑ์ที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ แต่เรื่องข้าวบิณฑ์นี้ดูประหนึ่งจะสูญ เพราะค่อนจะอยู่ข้างโคมมาก ฟังตามที่ท่านผู้ใหญ่เล่ามาแต่ก่อน ตรุษคราวหนึ่งสงกรานต์คราวหนึ่งคนทั้งปวงแต่งตัวทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ให้งดงามดี แล้วมีข้าวบิณฑ์ไปเที่ยวบูชาในพระอุโบสถวัดต่างๆ จะว่าแต่เฉพาะในพระราชวังที่เจือเป็นราชการ บรรดาเจ้านายซึ่งเป็นลูกเธอ เมื่อถึงเวลาสงกรานต์สามวันก็แต่งพระองค์ทรงเกี้ยวทรงนวม เสด็จไปตีข้าวบิณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนบ้าง วัดบวรสถานบ้าง ที่มีกำลังข้าไทมากก็เสด็จไปหลายๆ วัด ไม่ต้องทูลล่ำทูลลา เมื่อเสด็จไปเช่นนั้นแล้วก็มีข้าวบิณฑ์รองพานแก้วสองชั้นบ้าง พานทองสองชั้นบ้าง ไปเที่ยวบูชาในพระอุโบสถ มีธูปเล่มหนึ่งเทียนเล่มหนึ่งไปว่า อิมํ ปิณฺฑปาตํ พุทฺธสฺส เทม แล้วตั้งไว้ครู่หนึ่ง ก็ยกกลับมาเช่นนี้ทุกปีมิได้ขาด ครั้นมาเมื่อในรัชกาลที่ ๔ รับสั่งถามถึงเรื่องตีข้าวบิณฑ์ไม่มีผู้ใดได้ทำ ก็รับสั่งให้พระเจ้าลูกเธอแต่งพระองค์ไปตีข้าวบิณฑ์อย่างเก่าที่วัดพระเชตุพนคราวหนึ่ง แต่ข้าพเจ้าโตเสียแล้วหาได้ถูกเกณฑ์ไม่ จะได้มีอยู่กี่ปีก็ไม่ทราบ เดี๋ยวนี้การตีข้าวบิณฑ์ก็เป็นอันเลิกสูญไป ยังคงอยู่แต่ข้าวบิณฑ์ของหลวงๆ นั้นเป็นสองอย่างอยู่ ถ้าอย่างพานสองชั้น พานชั้นบนใช้พุ่มดอกไม้ แต่ใช้ฉัตรปรุปิดทองสามชั้นแทนยอดพุ่ม พานชั้นล่างตั้งจานเล็กๆ เช่นรายปากบายศรีสำรับเล็กมีขนมพิมพ์รูปต่างๆ เป็นหงส์บ้างกินนรบ้างสีต่างๆ กัน อย่างอันอีเตเบอล วางจานละแผ่นรายรอบ แล้วมีเชิงเทียนเชิงหนึ่ง เชิงธูปเชิงหนึ่ง ใช้เครื่องทองคําทั้งสิ้น ข้าวบิณฑ์เช่นนี้สำหรับตั้งเครื่องนมัสการในวันตรุษสามวัน สงกรานต์สามวัน อีกอย่างหนึ่งนั้นใช้พานทองเหลืองชั้นเดียว มีกรวยใบตองบรรจุข้าวสุกในนั้น ยอดปักฉัตรปรุปิดทองสามชั้น มีจานขนมพิมพ์รายรอบกรวย บางทีก็เห็นมีซองพลูหมากสงลูกหนึ่งเหน็บอยู่ที่ปากซองวางไปด้วย เทียนติดปากพานเล่มหนึ่งไม่มีธูป บางทีก็มีธงเศษผ้าเล็กๆ เสียบตามกรวยรอบด้วย ข้าวบิณฑ์เช่นนี้สำหรับใช้บูชาพระทรายในเวลาสงกรานต์อย่างหนึ่ง สำหรับบูชาเทวดาที่รักษาพระชนมพรรษาและแทรกพระชนมพรรษาประจำทุกวันตลอดปีอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเป็นข้าวบิณฑ์สำหรับบูชาเทวดาเช่นนี้ ใช้สีและจํานวนธงตามกําลังวันของเทวดานั้น การเรื่องข้าวบิณฑ์นี้ก็เห็นจะเป็นเรื่องสมโภชพระพุทธรูปและพระทรายเหมือนอย่างบายศรีนั้นเอง เป็นแต่ผู้ที่ทําไม่รู้ว่าที่มาเป็นอันเดียวกัน และวิธีที่ย่อลงยักเยื้องกันไป เพราะเป็นความคิดของคนที่คิดคนละคราวคนละพวก ก็ทำให้เข้าใจว่าเป็นคนละอย่างไปทีเดียว

การพระราชกุศลที่ยังคงอยู่ในเวลาสงกรานต์ปัจจุบันนี้ มีเป็นสองอย่าง ซึ่งข้าพเจ้าลืมเสียหาได้กล่าวข้างต้นไม่ คือสงกรานต์สามวันอย่างหนึ่ง สงกรานต์สี่วันอย่างหนึ่ง ในเรื่องสงกรานต์สามวันสงกรานต์สี่วันนี้

คือว่าถ้าปีใดพระอาทิตย์ยกจากราศีมีนขึ้นสู่ราศีเมษเวลา ๒ ยามเที่ยงคืนแล้วไป โหรเขานับว่าเป็นวันใหม่ แต่ส่วนคนปรกติไปนับวันใหม่ต่อเวลารุ่ง จึงยังต้องเข้าใจว่าพระอาทิตย์ยกก่อนวันใหม่ ๖ ชั่วโมงจนถึงชั่วโมงหนึ่งเป็นที่สุด การที่ถือเถียงกันอยู่ดังนี้ จึงอะลุ้มอล่วยลงเป็นกลางให้ได้ทั้งสองฝ่าย เติมนักขัตฤกษ์สงกรานต์ขึ้นเสียอีกวันหนึ่งเหมือนอย่างในปีฉลูเอกศกนี้ พระอาทิตย์ยกเฉพาะเวลา ๒ ยามตรงจึงต้องขยายสงกรานต์ออกเป็นสี่วัน การซึ่งแบ่งชื่อวันสงกรานต์ออกเป็นสามอย่าง คือ วันมหาสงกรานต์ วันเนา วันเถลิงศก อันที่จริงก็จะเป็นสามอย่างไทยๆ พอใจกำหนดการทั้งปวง เช่นตรุษสามวัน สารทสามวันเป็นต้น แต่นี่มีแยบคายขึ้นอีกนิดหนึ่ง ที่รอเถลิงศกขึ้นศักราชใหม่ไปไว้วันที่สาม ด้วยวันที่หนึ่ง วันที่สอง คือวันสงกรานต์และวันเนา ว่าพระอาทิตย์พึ่งจะเยี่ยมขึ้นสู่ราศียังไม่ถึงที่ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ได้เปรียบไว้ในหนังสือแสดงกิจจานุกิจว่า “เหมือนบุคคลจะขึ้นเรือนวันสงกรานต์นั้นเหมือนขึ้นไปเพียงบันได วันเนาเหมือนขึ้นไปถึงนอกชาน วันเถลิงศกคือพระยาวันเหมือนเข้าถึงในเรือน” คําอุปมาของท่านนี้ก็เพื่อจะให้เข้าใจซึมซาบง่ายๆ ก็ดูเหมือนจะพออยู่แล้ว แต่อุปมานี้ว่าด้วยสงกรานต์สามวัน คือพระอาทิตย์ยกก่อนเวลาเที่ยงคืน นับว่าวันต้นเป็นวันมหาสงกรานต์ วันที่สองเป็นวันเนา วันที่สามเป็นวันเถลิงศก ถ้าจะอุปมาสงกรานต์สี่วัน เห็นจะต้องว่า วันแรกมาถึงเชิงบันไดหรือก้าวขึ้นไปได้คั่นหนึ่งสองคั่น วันเนาที่ ๑ ถึงยอดบันได วันเนาที่ ๒ ถึงนอกชาน วันเถลิงศกคือพระยาวันถึงในเรือน

การพระราชกุศลนั้น เริ่มแต่วันจ่าย คือวันก่อนหน้าสงกรานต์วันหนึ่งตั้งสวดมนต์พระปริตรในการที่จะสรงมุรธาภิเษก วันเถลิงศกบนพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ มีเครื่องตั้งคือตั้งโต๊ะหมู่สูงชนกันสองตัว ตั้งพระพุทธรูปห้ามสมุทรฉันเวรและพระชัยเนาวโลหะ โต๊ะหมู่อย่างต่ำสองตัวตั้งพระครอบมุรธาภิเษกรองพานแว่นฟ้า มีเครื่องนมัสการตระบะถมฉันเวรสำรับหนึ่ง พระสงฆ์ที่สวดมนต์นั้นพระครูปริตไทย ๔ รามัญ ๔ ไม่มีพระราชาคณะนำ เพราะไม่เป็นการเสด็จออกเลย สวดสามวัน คือวันจ่ายวันหนึ่ง วันสงกรานต์วันหนึ่ง วันเนาวันหนึ่ง ถ้าปีใดสงกรานต์ ๔ วันก็เลื่อนไปตั้งสวดต่อวันมหาสงกรานต์ รุ่งขึ้นวันเถลิงศกเป็นวันสรง พระสงฆ์ที่สวดมนต์ทั้ง ๘ รูปนั้นเข้ามาสมทบฉันในท้องพระโรง ถวายชยันโตในเวลาสรงมุรธาภิเษกด้วย มีของไทยธรรมจีวร ร่ม รองเท้า พัดขนนกเล่มหนึ่ง

และในวันจ่ายสงกรานต์นั้น เป็นวันสวดมนต์ฉลองพระทรายบรรดาศักดิ์ด้วย พระทรายบรรดาศักดิ์นี้มีมาแต่ปฐมรัชกาลในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ เริ่มต้นแต่สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่อมาวัดใดที่แรกทรงสถาปนาหรือทรงปฏิสังขรณ์การยังไม่แล้วเสร็จ ก็เกณฑ์ยกพระทรายบรรดาศักดิ์ไปก่อที่วัดนั้น ไม่เป็นกำหนดวัดแน่นอน เช่นในแผ่นดินปัจจุบันนี้ เดิมก่อที่วัดราชบพิธ แล้วย้ายไปที่วัดเทพศิรินทร์จนถึงในปีนี้ ที่เรียกว่าพระทรายบรรดาศักดิ์นั้นเพราะมีพระทรายหลวงเรียกว่าพระมหาธาตุองค์หนึ่ง หน้าที่แปดตำรวจก่อสูง ๘ ศอก พระทรายบริวารสูง ๒ ศอก หน้าที่ตํารวจสนมก่อ ๕๒ องค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการบรรดาที่ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดมีกําหนดขนาดให้ก่อ คือเจ้าต่างกรม เจ้าพระยาสูง ๕ ศอก พระองค์เจ้าและพระยาสูง ๔ ศอก พระสูง ๓ ศอก หลวงสูง ๒ ศอกคืบ ขุน ๒ ศอก ขุนหมื่นเลวสูงศอก ๑ เพราะเกณฑ์ก่อตามบรรดาศักดิ์เช่นนี้ จึงเรียกพระทรายบรรดาศักดิ์ แต่พระทรายบรรดาศักดิ์นี้ เป็นเรื่องที่ยับเยินกันมาต่างๆ แต่ไหนแต่ไร บางทีเจ้านายและข้าราชการที่มีบรรดาศักดิ์ ใหญ่ๆ ไม่ได้คิดจะบิดพลิ้วอย่างไร แต่ไม่ใส่ใจหลงลืมละเลยเสียไม่ไปก่อก็มี ที่มอบให้แก่เจ้ากรมบ่าวไพร่ ไปก่อนุ่งกันยับเยินไปอีกชั้นหนึ่งก็มี ที่ตระหนี่เหนียวแน่นเป็นแต่สักว่าไปก่อลดหย่อนไมได้ขนาดก็มี ที่เกียจคร้านไม่ก่อเป็นแต่ขนทรายไปกองไว้ก็มี ที่เจ้าพนักงานรับจ้างก่อเอาเงินเสียไม่ก่อก็มี ที่รับแต่เงินเปล่าๆ ไม่ต้องทําอะไรเลยก็มี แต่เงินนั้นก็ไม่ได้เป็นของพระ การเช่นนี้มีอยู่เสมอมิได้ขาด จึงต้องมีผู้ตรวจ คือมหาดไทย กลาโหมเป็นผู้เกณฑ์ก็อยู่ในหน้าที่ตรวจด้วย ราชบัณฑิตก็เป็นผู้รู้บุญรู้บาปจึงให้ไปตรวจอีกนายหนึ่ง มหาดเล็กก็เป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดสำหรับดูรายงานต่างๆ ก็ให้ไปตรวจอีกนายหนึ่ง แต่ถึงทั้งมีผู้ตรวจก็ดี ได้แต่แรกๆ นานไปก็รวมๆ ลงไปจนต้องมีเวลาเกาะกุมกันเสียครั้งหนึ่ง ก็ค่อยดีไปได้แล้วก็กลับเป็นไปใหม่ อาการเป็นอย่างเดียวกันกับสำรับอย่างสูง ถ้าเสด็จพระราชดําเนินที่พระทรายนั้น ราชบัณฑิตผู้ตรวจก็ต้องเข้ามาตะโกนอย่างปลาปล่อยที่หน้าพระก่อนยะถา ถ้าไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินก็รอไว้ตะโกนต่อวันเนา จํานวนที่ตรวจนั้นจริงเท็จอยู่กับผู้กล่าว เขาว่าตรวจได้ในปีนี้พระมหาธาตุองค์ ๑ บริวาร ๕๒ องค์ ของเจ้านายข้าราชการที่มาก่อ ในพระบรมมหาราชวัง ๔๕๗๕ องค์ ฝ่ายพระราชวังบวรฯ ๑๓๘๒ องค์ รวม ๕๙๕๗ องค์ ประมูลทราย คือกองทรายที่ผู้ถูกเกณฑ์ไม่ได้ก่อ ขนทรายกองไว้ในพระบรมมหาราชวัง ๒๘ เกวียน พระราชวังบวรฯ ๖ เกวียน รวม ๓๔ เกวียน คิดเฉลี่ยเป็นองค์ ๓๒๖๘ องค์ รวมทั้งที่ก่อไว้เป็น ๙๒๒๕ องค์

การฉลองพระทราย ก็สวดมนต์ในวันจ่ายนี้มีพระสงฆ์สวดมนต์ ๓๐ รูป ใช้พระราชาคณะวัดที่ใกล้เคียงบ้าง ในวัดนั้นเองบ้าง นอกนั้นพระครูเจ้าวัดพระครูมีนิตยภัตทั้งสิ้น พระพุทธรูปที่ใช้ตั้งในการทําบุญนั้นใช้พระในวัดนั้นเอง มีแต่เครื่องนมัสการทองทิศไปตั้งที่พระมหาธาตุของหลวงมีเครื่องนมัสการตระบะมุก เวลาเย็นสวดมนต์ไม่เคยเสด็จพระราชดําเนินเลย ต่อเวลาเช้าเลี้ยงพระในวันสงกรานต์จึงได้เสด็จพระราชดำเนิน เริ่มมีข้าวบิณฑ์ของหลวงตั้งแต่วันนั้นไป ในการพระทรายบรรดาศักดิ์ส่วนพระมหาธาตุเวลาเช้ามีข้าวบิณฑ์อย่างพานสองชั้นตั้งสำรับหนึ่งสำหรับพระทราย บริวารข้าวบิณฑ์อย่างพานทองเหลืองชั้นเดียวอีก ๕๒ พาน เมื่อเสด็จทรงจุดเครื่องนมัสการแล้ว เคยพระราชทานเทียนชวนให้พระเจ้าลูกเธอไปจุดตระบะมุกและข้าวบิณฑ์เหล่านี้ก่อน ต่อเมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จ จึงเสด็จพระราชดำเนินทรงประน้ำหอมในที่พระเจดีย์ทรายทั้งปวงทั่วไป ไม่เฉพาะแต่พระทรายหลวง ดูเป็นการเสด็จไปทรงอนุโมทนาในการกุศลของพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการอยู่ด้วยกลายๆ ของไทยธรรมพระสงฆ์มีผ้าชุบอาบผืนหนึ่ง กับธูปมัดเทียนมัดและหมากพลู การที่เสด็จพระราชดําเนินในวันเลี้ยงพระฉลองพระทรายบรรดาศักดิ์นี้ ถ้าเป็นวัดที่ใกล้ๆ เช่น วัดราชประดิษฐ์ วัดราชบพิธ เคยเสด็จพระราชดําเนินทุกปีมิได้ขาด แต่ถ้าเป็นวัดไกล ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่นวัดพระนามบัญญัติ[๑] วัดมหาพฤฒารามไม่ได้เสด็จพระราชดําเนิน ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ วัดเทพศิรินทราวาสพระราชดําเนินบ้างไม่ได้เสด็จบ้าง ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระทรายวัดอรุณเสด็จพระราชดําเนินไม่ขาด

ในวันมหาสงกรานต์ เวลาค่ำสวดมนต์สรงน้ำพระ ในพระบรมมหาราชวัง แต่ก่อนๆ มาในรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ จำนวนพระสงฆ์ไม่เป็นแน่แล้วแต่ที่ทรงนับถือ ถึงว่าไม่ได้เป็นราชาคณะ แต่เป็นอาจารย์วิปัสสนาก็ได้เข้ามาสรงน้ำ ครั้นตกมาในรัชกาลที่ ๓ เมื่อทรงหล่อพระพุทธรูปเท่าพระชนมพรรษาแล้ว ใช้จํานวนพระสงฆ์เท่าพระพุทธรูปเรียกว่าฉลองพระพุทธรูปพระชนมพรรษา พระราชทานไตรแพรทั้งสิ้น พระที่สรงน้ำนั้นก็เป็นอันเท่าจํานวนพระชนมพรรษาเพิ่มขึ้นปีละองค์ ในรัชกาลที่ ๔ ใช้ตามแบบรัชกาลที่ ๓ มิได้ยักเยื้อง พระสงฆ์ที่จะสรงน้ำนั้นเลือกที่มีอายุมาก ถ้าได้แก่กว่าพระชนมพรรษาเท่าใดก็ใช้ได้ทั้งสิ้น ถ้ายังไม่ครบจํานวนพระชนมพรรษา ก็เลือกพระราชาคณะที่มีอายุมากกว่าทั้งปวงเติมเข้า ยกเสียแต่พระองค์เจ้าหม่อมเจ้าพระราชาคณะ ถึงพระชนมพรรษาน้อยก็ได้สรงน้ำ ครั้นตกมาในรัชกาลปัจจุบันนี้ แรกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติพระชนมพรรษาเพียงสิบหก ถ้าจะสรงน้ำพระแต่สิบหกรูป พระสงฆ์ซึ่งเคยได้รับพระราชทานสรงน้ำสงกรานต์แต่ก่อนก็จะขาดประโยชน์ดูไม่สู้ควร จึงโปรดให้พระสงฆ์ซึ่งเคยได้สรงน้ำมาแต่ก่อนนั้นคงได้สรงน้ำอยู่ทั้งสิ้น ครั้นเมื่อถึงมรณภาพล่วงไปก็โปรดให้ตั้งอัตราลงไว้ว่า ๖๐ รูป เมื่อขาด ๖๐ รูปไปก็เลือกพระราชาคณะที่มีอายุมากเติมขึ้นอีกให้ครบ ๖๐ การสรงน้ำพระจึงได้คงเป็นจำนวนหกสิบมาจนถึงปีนี้ ถ้าสงกรานต์เป็นสี่วัน ก็แบ่งสวดมนต์แบ่งฉันในวันเนาทั้งสองวันๆ ละ ๓๐ รูป ดูจะไม่โหรงน้อยเกินไป ถ้าจะแบ่งวันละ ๘ รูป หรือ ๑๐ รูป ตามจํานวนพระชนมพรรษาอย่างเช่นแต่ก่อนก็ดูจะน้อยโหรงนัก ในการสรงน้ำสงกรานต์นี้ เพราะเป็นการฉลองพระพุทธรูปพระชนมพรรษาด้วย พระพุทธรูปซึ่งตั้งในการสวดมนต์เลี้ยงพระ จึงได้เชิญพระพุทธรูปเท่าพระชนมพรรษาออกตั้ง เริ่มแต่รัชกาลที่ ๓ สืบมาจนบัดนี้


หัวข้อ: Re: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 28 มิถุนายน 2561 16:05:25

เดือนห้า
การพระราชกุศลก่อพระทรายและตีข้าวบิณฑ์ (ต่อ)

เมื่อพระพุทธรูปพระชนมพรรษาออกตั้งเช่นนี้ ก็มีเครื่องนมัสการวิเศษเพิ่มขึ้น คือมีเทียนธูปเล่มเล็กๆ เท่าพระชนมพรรษาองค์ละคู่ ดอกไม้องค์ละดอก เมื่อทรงจุดเทียนธูปเครื่องนมัสการนี้แล้ว พระราชทานดอกไม้ให้ภูษามาลานำขึ้นไปวางรายตรงหน้าพระพุทธรูปองค์ละดอก พระแท่นเครื่องนมัสการก็ใช้โต๊ะถมพานทองสองชั้น ไม่ใช้เครื่องทองใหญ่ตามธรรมเนียม รุ่งขึ้นในวันซึ่งเป็นวันเนา พระสงฆ์ฉันเช้าสำหรับตามธรรมเนียมเวลาหนึ่ง แล้วทรงถวายไตรแพรพัด แต่ก่อนใช้พัดด้ามจิ้ว แต่ครั้นภายหลังมาเกิดความกริ้วเปรียญองค์หนึ่งซึ่งยังอยู่จนทุกวันนี้ เรื่องไว้เล็บยาวและถือพัดด้ามจิ้วกรีดกรายทํากิริยาที่พัดนั้น ไม่งามเป็นที่ทรงรังเกียจ จึงได้โปรดให้เลิกพัดด้ามจิ้วเสีย ใช้พัดขนนกแทน แต่ก่อนมาพระสงฆ์ที่จะไปแห่งใด ตลอดจนเข้าในพระราชวัง มักจะมีพัดด้ามจิ้วมาในย่ามด้วยทุกองค์ พระธรรมยุติกามักจะใช้พัดอย่างเลวๆ ที่เป็นสีเปลือกโปลง หรือสีม่วงไม่มีลวดลาย ในเวลานั้นมีชุมมาก เป็นแฟชันเนเบอลสำหรับถวายพระธรรมยุติกา ซึ่งเป็นต้นตำราถือพัดด้ามจิ้ว แต่พระมหานิกายที่เป็นผู้ใหญ่ๆ ก็ดูไม่ใคร่มีใครใช้ นอกจากได้วันสรงน้ำ พวกหนุ่มๆ เอาอย่างธรรมยุติกาไปถือหนามาก แต่มักจะใช้พัดที่งามๆ มีลวดลาย ตั้งแต่เปรียญองค์นั้นถูกกริ้วแล้ว การถือพัดด้ามจิ้วก็ซาไปจนไม่ใคร่จะเห็นมีผู้ใดถือเข้าวัง แต่ข้างนอกอย่างไรไม่ทราบเลย ข้าพเจ้าเป็นคนหูอยู่นาตาอยู่ไร่ ไม่รู้ไม่เห็นอะไร ว่าไม่ถูก แต่ที่จริงตามใจข้าพเจ้าเองไม่ได้นึกรังเกียจอันใดที่พระสงฆ์จะถือพัดด้ามจิ้ว ถึงการที่กริ้วครั้งนั้นก็ดูเป็นการเลยไปจากเล็บยาวดอก โดยจะถือกันขึ้นอีกก็จะไม่ว่าอันใด ด้วยการที่ห่มผ้าสองชั้นซ้อนเช่นธรรมยุติกาในฤดูร้อนเป็นความลําบากร้อนรนมาก แต่ถ้าใช้พัดเกลี้ยงๆ สีดําหรือสีม่วงอย่างเช่นเคยถือมาแต่ก่อนนั้นจะดีกว่าที่จะใช้เป็นสีแปลบปลาบหรือมีลวดลายทองหยอง เว้นไว้แต่ถ้าผู้ใดไปเอาพัดแพรที่ผู้หญิงฝรั่งถือมาใช้แล้ว เห็นจะต้องตั้งวิวาทบ้าง แต่ในการสรงน้ำสงกรานต์นี้ เป็นเฉพาะองค์พระสงฆ์ที่ทรงนับถืออยู่ ถึงว่าจะชราอาพาธมาไม่ได้ก็ไม่ได้ยกเว้น ต้องให้ฐานานุกรมมาแทน ถ้าเป็นฐานานุกรมมาแทนเช่นนั้นเพิ่มขวดน้ำหอมขึ้นอีกขวดหนึ่ง เพื่อจะได้ไปถวายแก่ผู้ที่ได้รดน้ำนั้น เมื่อได้รับไตรแล้วจึงออกไปสรงน้ำ เว้นไว้แต่ผู้ที่มาแทนไม่ได้สรงน้ำด้วย ที่สรงน้ำแต่ก่อนว่าใช้อ่างหรือขันเชิง มีกาลักน้ำบัวตะกั่วอย่างไทยๆ แต่ข้าพเจ้าไม่ได้เห็นหรือจําไม่ได้ มาจําได้เห็นแต่ที่สรงหน้าพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์คือที่พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทเดี๋ยวนี้ และที่หน้าโรงกระษาปณ์เก่า ภายหลังที่สนามหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทบ้าง เขาไกรลาสในสวนขวาบ้าง ที่สรงนั้นดาดปะรำผ้าขาวแขวนพวงดอกไม้สด ถ้าเป็นที่มีแดดส่องเข้าไปถึงที่สรงก็ใช้บังตะวันอันหนึ่งบ้างสองอันบ้าง มีคนมาถือบ้าง ใช้บัวอย่างฝรั่งที่เปลี่ยนสายน้ำต่างๆ เพราะใช้น้ำท่อซึ่งสูบมาแต่แม่น้ำ ในเวลาที่สรงนั้นประโคมแตรสังข์พิณพาทย์ มีสุหร่ายอย่างหนึ่งซึ่งเป็นเครื่องราชบรรณาการมาในครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่เดี๋ยวนี้จะหาซื้อไม่ได้ ด้วยเขาเลิกแบบนั้นเสียแล้ว แต่ข้าพเจ้าอยู่ข้างหยอดมาแต่เล็กจนเดี๋ยวนี้ดูน่าเล่นนัก สุหร่ายนั้นไม่ได้กรอกน้ำตามธรรมเนียม ใช้ขันควงติดกับกระบอกฉีด กระบอกฉีดนั้นวางลงในขันแล้วสูบเข้าไปข้างก้นสุหร่าย อัดเข้าไปทั้งน้ำทั้งลมพร้อมกัน เมื่อเต็มที่แล้วหันสุหร่ายออกจากกระบอกฉีดมาตั้งไว้เท่าใดเท่าใดก็ได้ เวลาที่สรงน้ำพระจึงเปิดก๊อก น้ำก็ฉีดออกจากสุหร่ายเอง ไม่ต้องฟาดต้องเขย่าหรือบีบอย่างหนึ่งอย่างใดเลย น้ำเป็นสายเล็กพุ่งไปได้ถึงสิบศอกสามวา รดถึงองค์พระได้ทุกองค์ เว้นแต่ท่านขุนศรีสยุมพรแกมักขลุกขลักเกิดความบ่อยๆ คือน้ำอบที่แกสูบเข้าไปนั้นมีผงเสียมากๆ บางทีสายน้ำก็เบี้ยวเฉโก๋ไป บางทีก็ไหลปรีดๆ อยู่เสมอปากช่องสุหร่าย บางทีก็ถึงต้องแหย่ต้องเป่ากันประดักประเดิด และอะไรมันจะหลวมๆ เพราะเก่าอยู่หน่อยหนึ่ง ถ้าสูบเต็มๆ มาตั้งไว้มักเป็นน้ำซึมซาบอาบเอิบอยู่ทั่วๆ สุหร่าย แต่ถ้าแก้ไขให้ดีคงดีได้ สุหร่ายเช่นนี้มีสองอันพอสูบผลัดเปลี่ยนกันทันไม่ขาดพระหัตถ์ ดูความคิดเก่าในเรื่องนี้เขาดีกว่าเครื่องบีบน้ำอบฝรั่งที่มีมาใหม่ๆ แต่ชมเพ้อเจ้อจะห้องเส็งหรืออย่างไรไม่ทราบเลย สุหร่ายสองอันนี้ดูเป็นใช้น้ำอบอย่างเทือกแป้งสด แต่น้ำอบดีๆ อย่างพระสุคนธ์ใช้สุหร่ายลงยาอันหนึ่ง สุหร่ายเงินอันหนึ่ง สุหร่ายลงยานั้นทรงประเวลาที่พระจะขึ้นจากสรงน้ำ สุหร่ายเงินพระราชทานพระเจ้าลูกเธอไปประเวลาเมื่อพระเดินไปจากที่สรงน้ำ แต่สุหร่ายสองอันนี้ต้องใช้ฟาดอย่างเมื่อยแขน และมักเปียกเสื้อทั้งสองสุหร่าย แล้วยังมีน้ำอบกรอกขวดอัดอย่างเก่าไปเทซ่าๆ ลงในมือพระอีกแห่งหนึ่งด้วย พระสงฆ์ที่ลงสรงน้ำทีละสองบ้างสามบ้างสี่บ้าง ตามบรรดาศักดิ์และตามที่มากที่น้อย ใช้นุ่งสบงห่มอังสะของเดิม สรงน้ำแล้วจึงไปห่มไตรแพรซึ่งได้พระราชทานใหม่ แล้วกลับไปฉันข้าวแช่ในท้องพระโรง ไม่มีของไทยธรรมอันใดนอกนี้อีก วันนี้พระสงฆ์อนุโมทนามีสัพพพุทธาด้วย

ในเวลาบ่ายของวันเนานั้น เป็นเรื่องฉลองพระทรายเตียงยกคือพระทรายที่ก่อบนม้า ๑๐ องค์ ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ตั้งไว้ที่เฉลียงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยด้านตะวันออก เวลาค่ำพระราชาคณะสวดมนต์ ๓๐ รูป

รุ่งขึ้นวันเถลิงศก เวลาเช้าพระพุทธรูปก็เปลี่ยน เชิญพระพุทธรูปพระชนมพรรษาที่ตั้งบนพระที่นั่งเศวตฉัตรกลับ พระที่นั่งเศวตฉัตรไว้เป็นที่ตั้งพระบรมอัฐิ พระพุทธรูปที่ใช้ในเช้าวันนี้ตั้งที่โต๊ะหมู่หรือบนธรรมาสน์ เชิญพระชนมพรรษาวันของพระบรมอัฐิ และพระอัฐิซึ่งได้กล่าวมาแล้วในการทําบุญกาลานุกาลแต่ก่อนออกตั้งและเติมพระสงฆ์ฉันขึ้นตามจำนวนพระอัฐิที่สดับปกรณ์ในท้องพระโรง พระสงฆ์สำรับนี้ก็ฉันเช้าเพลเหมือนกัน แต่ไม่มีสรงน้ำ คือตั้งแต่เวลาเช้าเสด็จทรงบาตร เป็นการทรงบาตรนักขัตฤกษ์เหมือนอย่างเข้าพรรษาและตรุษ แล้วเสด็จขึ้นหอพระ เจ้าพนักงานเชิญพระบรมธาตุในระย้ากินนรออกมาตั้งไว้บนพานแก้ว แบ่งเป็นห้าส่วนตามโกศพระบรมธาตุ และมีเครื่องพระสุคนธ์ตั้งอยู่ข้างนั้น ทรงฉลองพระหัตถ์ลงยาสรงพระบรมธาตุแล้ว ทรงสุหร่ายประพรมพระพุทธรูปในหอพระนั้นทั่วทุกแห่งแล้วจึงเสด็จหอพระบรมอัฐิ เจ้าพนักงานเชิญพระบรมอัฐิลงมาตั้งไว้ที่ม้ายาวเรียงตามลําดับ เปิดพระโกศไว้ทุกองค์ ทรงน้ำหอมสรงพระบรมอัฐิและพระอัฐิซึ่งอยู่ในหอพระแล้ว จึงสรงพระอัฐิซึ่งไม่ได้อยู่ในหอพระที่เจ้าพนักงานเชิญมาตั้งไว้ที่พระแท่นสีหบัญชร แล้วจึงได้เสด็จออกทรงประเคน พระสงฆ์รับพระราชทานฉันเช้า ถ้าพระฤกษ์สรงมุรธาภิเษกเช้า ก็สรงมุรธาภิเษกก่อนแล้วจึงได้สดับปกรณ์และเลี้ยงพระเพล ถ้าพระฤกษ์สายบางทีก็สดับปกรณ์ก่อนฉันเพล แล้วจึงสรงมุรธาภิเษก ไม่เป็นกําหนดแน่ ผ่อนไปผ่อนมาตามฤกษ์ การตกแต่งตั้งพระบรมอัฐิก็เหมือนกันกับกาลานุกาลอื่นๆ แปลกแต่พระบรมอัฐิเชิญออกช้ากว่าการอื่นๆ ด้วยในเวลาเสด็จขึ้นหอพระนั้น พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในนำผ้าคู่ขึ้นมาถวายสดับปกรณ์พระบรมอัฐิ มีน้ำอบขึ้นมาสรงพระบรมอัฐิพระอัฐิด้วย เมื่อเสด็จออกข้างหน้าแล้วจึงได้สรง ต่อสรงแล้วเจ้าพนักงานจึงได้เชิญพระบรมอัฐิออก

บัดนี้จะว่าด้วยเรื่องสรงมุรธาภิเษก ซึ่งเป็นธรรมเนียมมีมาแต่โบราณ พระเจ้าแผ่นดินสรงในวันเถลิงศกสืบมามิได้ขาด ไม่มีคราวยกเว้น มีบ้างไม่มีบ้าง มากบ้างน้อยบ้าง เหมือนอย่างการเฉลิมพระชนมพรรษารับเปลี่ยนทักษา จันทรุปราคา สุริยุปราคา หรือสนานพระราชพิธีต่างๆ เช่นมีมาในกฎมนเทียรบาล การสรงมุรธาภิเษกสงกรานต์นี้ ดูเป็นตําแหน่งของพระเจ้าแผ่นดิน ที่จะต้องสรงสำหรับบ้านเมือง มิใช่สรงอย่างพระหรืออย่างคนแก่ได้รดน้ำ ก็เป็นการแปลกอยู่อย่างหนึ่ง ที่ธรรมเนียมสงกรานต์แล้วลูกหลานพี่น้องต้องไปรดน้ำผู้ใหญ่ในตระกูลที่เป็นที่นับถือ แต่พระเจ้าแผ่นดินถึงจะทรงพระชราเท่าใด พระบรมวงศานุวงศ์ไม่มีผู้ใดได้ถวายน้ำเหมือนอย่างพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงพระชราอื่นๆ เลย มีแต่สรงมุรธาภิเษกนี้อย่างเดียว

พระแท่นสรงมุรธาภิเษก แต่ก่อนก็ใช้แต่พระแท่นแว่นฟ้า มีบัวกลุ่มทาขาวปิดทองตามขอบ ตั้งบนฐานเฉลียงมีพนัก ปักฉัตร เครื่องมุรธาภิเษก ไม่ได้ใช้ทุ้งสหัสธารา ทรงตักในขันสรงเหมือนอย่างทรงเครื่องใหญ่ตามธรรมเนียม ด้วยเพดานพระแท่นนั้นมีแต่ระบายรอบ ไม่ได้ปักเศวตฉัตรสหัสธารา คงใช้แต่เวลาบรมราชาภิเษก ด้วยมณฑปพระกระยาสนานเป็นซุ้มยอดเป็นที่ซ่อนถังน้ำได้ เพราะเหตุที่ไม่ใคร่จะได้เคยใช้สหัสธาราเช่นนั้น เมื่อบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพนักงานจัดการไม่ชํานาญ เมื่อเวลากระตุกเชือกแป้นขัดเสีย กระตุกแรงเชือกขาดน้ำไม่เดินต้องถึงปีนขึ้นไปเปิด แต่นั้นมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระราชดําริพระแท่นสรงขึ้นใหม่ ให้ใช้สหัสธาราได้ทุกครั้ง คือให้มีเศวตฉัตรตั้งอยู่บนหลังเพดานพระแท่น เป็นที่บังถังน้ำ พระแท่นเช่นนี้เมื่อจะว่าไป ดูงามยิ่งกว่ามณฑปพระกระยาสนานเสียอีก เมื่อจะตั้งจะประกอบควบคุมก็ง่าย ด้วยเป็นของเบาๆ ทั้งสิ้น เป็นพระราชดําริอันดียิ่งนัก และสหัสธารานี้ยกไว้เป็นพระเกียรติยศใหญ่ ใช้ได้แต่เฉพาะพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวแต่โบราณมา ถึงว่าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช หรือพระมหาอุปราช สมเด็จพระเจ้าลูกเธอซึ่งพระราชทานพระเกียรติยศให้สรงพระเต้าเบญจคัพย์ ทรงพระที่นั่งพุดตาล ได้บวรเศวตฉัตรเจ็ดชั้น ก็ไม่ได้เคยพระราชทานให้สรงสหัสธาราแต่สักครั้งหนึ่งเลย สหัสธารา เป็นของคู่กันกับนพปฎลมหาเศวตฉัตร เมื่อพระแท่นมียอดเป็นนพปฎลมหาเศวตฉัตรแล้วมีสหัสธาราภายใต้นั้น ดูก็ยิ่งสมควรถูกเรื่องมาก น้ำซึ่งใช้ในสหัสธารานั้นใช้น้ำสี่สระ น้ำสระแก้ว สระเกศ สระคา สระยมนา รวมกัน น้ำสี่สระนี้[๒]เป็นน้ำสำหรับบรมราชาภิเษกมาแต่ครั้งพระร่วงกรุงสุโขทัย มีลัทธิถือกันว่าน้ำสี่สระนี้ ถ้าผู้ใดเอาไปกินอาบเป็นเสนียดจัญไร มักให้เปื่อยพังและมีอันตรายต่างๆ ที่ว่านี้ตามคำกล่าวไว้แต่โบราณ ผู้ที่มีความเคารพยําเกรงต่อพระเจ้าแผ่นดินอยู่ ก็ไม่มีผู้ใดที่จะคิดอ่านทดลอง ได้ทราบคำเล่าบอกว่ามีผู้ที่ฟุ้งๆ วุ่นวายได้ทดลองก็บังเกิดอันตรายต่างๆ เพราะผู้นั้นมีจิตใจไม่สู้สุจริตอยู่แล้ว ครั้นจะพรรณนายืดยาวไปก็ดูเป็นจะเชื่อถือกระไรมิรู้อยู่ ขอสงบไว้ทีหนึ่งตัวสหัสธารานั้นทำด้วยเงินมีช่องปรุเป็นฝักบัว แล้วมีดอกจำปาทองคำห้อยรายรอบ เมื่อเสด็จขึ้นสู่ที่สรงทรงเครื่องพระกระยาสนานเสร็จแล้ว จางวางและเจ้ากรมภูษามาลาจึงได้กระตุกสายเชือกให้แป้นที่ขัดเคลื่อนเปิดน้ำลงตามทุ้งสหัสธารา แต่พระแท่นนั้นเพราะเป็นการสรงประจําปีอยู่เสมอ จึงได้โปรดให้ก่ออิฐหุ้มศิลาขึ้นไว้ที่ปากอ่างปลาเงินปลาทองข้างพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย เมื่อเวลาจะสรงมุรธาภิเษกก็มีแต่เสาโครงเพดานและอ่างสรงมาตั้ง ถ้าไม่ใช่เวลาสรงก็เป็นพระแท่นโถงสำหรับประทับประพาสชมปลาเงินปลาทอง ต่อเวลาสรงมุรธาภิเษกในที่อื่น จึงได้ตั้งพระแท่นไม้อย่างแต่ก่อน ถาดซึ่งเป็นเครื่องรองที่สรงนั้น ในการบรมราชาภิเษกมีตําราให้ใช้ถาดทองแดง ถาดนั้นเป็นรูปกลม แต่การสรงมุรธาภิเษกตามธรรมเนียมเช่นนี้ใช้อ่างไม้รูปรี เป็นไม้หน้าใหญ่ทั้งแท่ง ที่ขอบอ่างนั้นปิดทองคำเปลว พื้นอ่างคงไว้เป็นไม้ ม้าที่สำหรับประทับสรงเรียกว่าตั่ง ทำด้วยไม้มะเดื่อรูปกลมมีขาสี่หุ้มผ้าขาว ตั่งไม้มะเดื่อนี้เป็นเครื่องสำหรับอภิเษก ใช้เฉพาะแต่พระเจ้าแผ่นดิน พระอัครมเหสี พระราชเทวี และพระสังฆราช กับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า เคยโปรดให้มีในเวลาลงสรง และโสกันต์ รับพระสุพรรณบัฏ ไม่เป็นของใช้ทั่วไป เป็นของเฉพาะแต่ผู้ที่ได้รับอภิเษก เมื่อวันที่สรงมุรธาภิเษกนั้นเป็นวันใด ก็จัดที่สรงผันพระพักตร์ต่อทิศศรีของวันนั้น ผันพระขนองตรงทิศกาลกิณี ในพื้นอ่างซึ่งเป็นที่ห้อยพระบาทริมตั่งนั้น ทอดใบไม้นามกาลกิณี เป็นที่ทรงเหยียบในเวลาสรง ที่ตรงพระพักตร์ตั้งถาดสรงพระพักตร์ มีครอบเครื่องพระมุรธาภิเษก เมื่อเพลาทรงเครื่องมุรธาภิเษกไขน้ำสหัสธาราแล้ว ภูษามาลาจึงได้ถวายพระเต้าต่างๆ อย่างเช่นที่กล่าวมาแล้วในเรื่องจัดพระแท่นมณฑลในการพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ ยกเสียแต่พระเต้าปทุมนิมิต ๔ องค์ เป็นแต่สรงตามธรรมเนียมเช่นนี้ไม่ได้ใช้ เมื่อสิ้นพระเต้าภูษามาลาแล้ว ชาวที่ใหญ่จึงได้ถวายพระเต้าห้ากษัตริย์และพระเต้าทองขาว โหรถวายพระเต้านพเคราะห์ พระมหาราชครูพิธีถวายพระเต้าเบญจคัพย์ พระเต้าเบญจคัพย์นี้ ซึ่งไปเป็นหน้าที่ของพราหมณ์ถวายนั้น เพราะไม่ได้เป็นน้ำพระพุทธมนต์ เป็นน้ำพราหมณ์ เรื่องเดียวกันกับการพระราชพิธีต่างๆ ที่จะทําแล้วต้องสรงน้ำเทวรูปด้วยน้ำเบญจคัพย์ เช่นได้กล่าวมาในพระราชพิธีตรียัมพวายเป็นต้น พระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้ได้รับยศและการปฏิบัติบูชาของพราหมณ์ เหมือนอย่างพระเป็นเจ้า คือพระอิศวรนารายณ์องค์หนึ่ง จําเดิมแต่บรมราชาภิเษกมา พราหมณ์ก็ถวายพระเต้าเบญจคัพย์ให้สรงและเชิญเสด็จขึ้นภัทรบิฐซึ่งวางคาโรยแป้งอย่างเช่นเชิญพระเป็นเจ้าขึ้น และอ่านเวทสรรเสริญไกรลาส เบญจคัพย์นั้นมีคนหูป่าตาเถื่อนแต่ช่างเดาเขาเดาเล่าต่างๆ แต่ที่แท้พระเต้าเบญจคัพย์สำหรับพระเจ้าแผ่นดินนี้ผู้ใดเดาไม่ถูก ผู้เล่าเรื่องที่ไม่รู้จักได้ออกชื่อเมื่อตะกี้นี้นั้น แต่จะแปลชื่อเบญจคัพย์ก็ไม่ออก แต่ถึงว่าจะไปหาผู้รู้แปลชื่อออก จะเป็นพระราชาคณะผู้หลักผู้ใหญ่ผู้ใดก็แปลออกแต่ชื่อ ที่จะบอกลักษณะอาการของพระเต้านั้นไม่ถูกเลย เว้นไว้แต่ได้เห็น ด้วยพระเต้านั้นไม่ต้องกันกับชื่อ ถ้าคิดตามชื่อ คงจะต้องเข้าใจว่าห้าห้องหรือห้าลอน ที่แท้พระเต้านั้นเป็นเต้าตามธรรมเนียม มีแผ่นทองคําลงยันต์กลมๆ ห้าแผ่นแช่อยู่ในน้ำก้นพระเต้า การที่ชื่อพระเต้าไม่ถูกกันกับพระเต้านี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชดําริหลายอย่าง ทรงเห็นว่าของเดิมเขาจะเป็นห้าห้องดอกกระมัง ก็ได้โปรดให้ลองทำขึ้นองค์หนึ่ง มีดอกนพเก้าอยู่กลาง ภายใต้ดอกนพเก้ามีขายื่นลงไปห้าขา ใช้โลหะขาละอย่าง เป็นห้ากษัตริย์ ลงยันต์เบญจคัพย์ตามขาทั้งห้าขา เป็นแต่ทรงทําลองขึ้น ไม่อาจที่จะเปลี่ยนพระเต้าเบญจคัพย์เก่า คงใช้เป็นแต่สำหรับภูษามาลาถวายเหมือนพระเต้าอื่นๆ พระเต้าเบญจคัพย์องค์เก่ามีมาแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ดูก็เป็นอัศจรรย์อยู่ ที่บ้านเมืองเวลานั้นไม่ปรกติเรียบร้อย เหตุใดสิ่งของซึ่งมีราคามากงดงามถึงเพียงนั้นจึงได้เข้ามาขายถึงกรุงเทพฯ พระเต้านั้นทำด้วยโมราสีเหลืองทั้งแท่งมีหูในตัว ทรวดทรงสัณฐานนั้นก็เป็นอย่างแขกหรืออย่างฝรั่ง ที่ขอบฝาและตัวพระเต้ามีเฟื่องประดับด้วยเพชรเป็นเรือน ทับทิมเป็นดอก พระเต้านี้มีมาแต่ประเทศอินเดีย พ่อค้าแขกผู้หนึ่งได้รับพระบรมราชานุญาตไปจัดซื้อมาพร้อมกับเครื่องราชูปโภคอื่นๆ หลายอย่าง พิเคราะห์ดูฝีมือที่ทำไม่ใช่เป็นฝีมือแขก เห็นจะมาแต่ประเทศยุโรป จะเป็นมหารายาในประเทศอินเดียองค์ใดองค์หนึ่งสั่งให้ทํา แต่ภายหลังจะมีเหตุขัดสนอย่างไรจึงได้ซื้อขายเป็นการเลหลังมา ราคาจึงไม่สู้แพง เมื่อว่าตามฝีมือที่ทํา ทั้งเพชรและพลอยทับทิมซึ่งเป็นพลอยมีราคามากในเวลานี้ ถ้าจะสั่งให้ทําใหม่ราคาคงจะไม่ต่ำกว่าร้อยห้าสิบชั่ง พระเต้าองค์นี้ได้ใช้เป็นพระเต้าสำหรับบรมราชาภิเษกมาแต่ปฐมรัชกาล และในเวลาเมื่อเสด็จขึ้นพระที่นั่งอัฐทิศ ราชบัณฑิตถวายภูมิสถานพระราชอาณาเขตด้วยน้ำ ก็ทรงรับด้วยพระเต้าเบญจคัพย์องค์นี้ทั้งแปดทิศ แต่พระเต้าองค์นี้ไม่ได้ใช้สรงแต่เฉพาะพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียว มีตําราว่าบรรดาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า ซึ่งพระมารดาเป็นลูกหลวงหลานหลวงในพระบรมราชวงศ์ มิใช่เช่นเจ้าฟ้ากุณฑล ถ้าพระเจ้าแผ่นดินโปรดพระราชทานให้สรงก็สรงได้ ไม่มีเสนียดจัญไร แต่ต้องพระราชทานเองด้วยพระหัตถ์ ไม่ได้ใช้พราหมณ์ถวาย ได้เคยพระราชทานมาแต่เดิมหลายพระองค์ แต่ถ้าเจ้านายซึ่งพระมารดาไม่ได้เป็นลูกหลวงหลานหลวง ถึงจะได้รับบรรดาศักดิ์ใหญ่ เช่นกรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพ ได้รับอุปราชาภิเษกนั่งตั่งไม้มะเดื่อมีเศวตฉัตรเจ็ดชั้น และกรมสมเด็จพระปรมานุชิตได้ทรงรับสมณุตมาภิเษกนั่งตั่งไม้มะเดื่อ ก็ไม่ได้พระราชทานพระเต้าเบญจคัพย์ ด้วยถือว่ากลับเป็นเสนียดจัญไร การที่ถือเช่นนี้มาตามทางลัทธิพราหมณ์ ซึ่งถือชาติอย่างเช่นเป็นอยู่ในประเทศอินเดีย ต่อเป็นขัตติยสองฝ่ายจึงนับเป็นขัตติยแท้ พราหมณ์สองฝ่ายจึงนับเป็นพราหมณ์แท้เป็นต้น ธรรมเนียมพระราชทานพระเต้าเบญจคัพย์นี้ยังคงยั่งยืนมาจนปัจจุบันนี้ แต่พระเต้าเบญจคัพย์ใหญ่ ใช้ต่อเมื่อเวลาสรงมุรธาภิเษกเป็นการใหญ่ การประจําปีใช้แต่วันเถลิงศกและเฉลิมพระชนมพรรษา ถ้าสรงมุรธาภิเษก สุริยุปราคา จันทรุปราคา ใช้พระเต้าเบญจคัพย์น้อย ศิลาหยกเขียวจุกเป็นดอกนพรัตน์ไม่มีเครื่องประดับอื่นๆ แต่มียันต์ห้ารองเหมือนพระเต้าเบญจคัพย์ใหญ่ เมื่อพระมหาราชครูถวายพระเต้าเบญจคัพย์แล้ว จึงถวายน้ำพระมหาสังข์ที่พระหัตถ์แล้ว ถวายข้างพระขนอง  เจ้ากรมปลัดกรมพราหมณ์ทั้งปวงนอกนั้นถวายพระมหาสังข์ห้าซึ่งยังเหลืออยู่สี่องค์ คือพระมหาสังข์ทอง พระมหาสังข์เงิน พระมหาสังข์นาค พระมหาสังข์งาจำเริญและสังข์สำริด เครื่องมุรธาภิเษก หน้าที่พราหมณ์พฤฒิบาศถวาย เมื่อพราหมณ์ถวายน้ำสังข์เสร็จแล้ว จึงเสด็จขึ้นเปลื้องพระภูษาถอด คือพระภูษาขาวและทรงสะพักขาว พระราชทานแก่พระมหาราชครูพราหมณ์ ในขณะเมื่อสรงนั้นประโคมสังข์ทักษิณาวัฏ สังข์อุตราวัฏ บัณเฑาะว์ฆ้องชัยแตรสังข์พิณพาทย์ มีมโหรีกรมภูษามาลา ซึ่งเป็นของมีมาแต่เดิม สูญไปเสียในรัชกาลที่ ๔ มาจัดขึ้นใหม่ปัจจุบันนี้อีกสำรับหนึ่ง ถ้าวันใดเป็นวันที่สรงมุรธาภิเษกก็ทรงพระภูษาตามสีวัน แต่ลัทธิสีวันของกรมภูษามาลาไม่เหมือนกันกับที่ใช้สีตามกําลังวันอยู่สองสี คือวันพฤหัสบดี ตามที่โหรว่าเป็นสีเหลือง ภูษามาลาว่าสีน้ำเงิน วันศุกร์ซึ่งว่าเป็นสีเลื่อมประภัสสรหรือใช้สีน้ำเงินกันอยู่นั้น ภูษามาลาว่าสีเหลือง เรื่องสีที่เถียงกันนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงซักไซ้ไล่เลียงพระยาอุทัยธรรม (เพชร) ปู่พระราชโกษาเดี๋ยวนี้[๓] หลายครั้งหลายคราว แกไม่ยอมเลยเป็นอันขาด ว่าตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ก็ได้เกิดถุ้งเถียงกันแล้วตกลงตามอย่างภูษามาลาเช่นนี้ ว่าเคยใช้มาแต่ครั้งกรุงเก่า เพราะตระกูลนี้เขาเป็นภูษามาลามาแต่แผ่นดินพระมหาบุรุษเพทราชา สืบเนื่องตระกูลกันมาไม่ได้ขาด บิดาพระยาอุทัยธรรม (เพชร) เป็นผู้อยู่งานเครื่องสูงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า เมื่อเสด็จกลับจากเมืองนครเสียมราฐ เมื่อจะปราบดาภิเษก เสด็จประทับพลับพลาหน้าวัดพระเชตุพน เวลานั้นเป็นแต่มหาดเล็กเลว รับสั่งเรียกให้มาอยู่งานเครื่องสูง ยกย่องว่าเป็นตระกูลเก่า พระยาอุทัยธรรม (เพชร) ก็ได้รับราชการทรงเครื่องใหญ่ มาแต่รัชกาลที่ ๑ จึงเป็นที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนับถือว่าเป็นผู้รู้มาก การที่ยืนยันเรื่องสีวันนี้ก็ทรงยอม ถ้าสรงมุรธาภิเษกแล้วก็ทรงพระภูษาสีวันแบบภูษามาลา เว้นไว้แต่ถ้ารับเปลี่ยนทักษาต้องตกลงยอมตามสีโหร การเรื่องเถียงกันในภูษามาลาเช่นนี้ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง คือพระชฎากลีบ และพระชฎาเดินหน ก็เป็นเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งอยู่เสมอ แต่ทรงถือเสียว่าเป็นลัทธิภูษามาลา ลัทธิอื่นไม่เห็นทรงตัดสินเด็ดขาด ถ้าจะเป็นการผิดในภูษามาลา ก็คงจะเลือนเหมือนเรื่องเครื่องแต่งตัวนางมหาสงกรานต์ที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น เมื่อทรงเครื่องเสร็จแล้ว ใบไม้อันใดต้องกับสีวันพระชนมพรรษาเดิม ก็ทรงทัดดอกไม้นั้น ใบไม้อันใดต้องกับเดชวันพระชนมพรรษาเดิม ก็ทรงถือใบไม้นั้น แล้วจึงเสด็จออกทรงสดับปกรณ์ หรือถ้าสดับปกรณ์แล้วก็ออกพระสงฆ์ยถาสัพพี วันนี้มีอทาสิเม พระทรายเตียงยกนั้น เมื่อเวลาพระสงฆ์ไปแล้ว ทรงสุหร่ายประพรมน้ำหอม และในเวลาเมื่อพระสงฆ์ฉันมีข้าวบิณฑ์ตั้งที่พระทรายทุกองค์ด้วย เวลาเสด็จขึ้นแล้วตั้งบายศรีเวียนเทียนพระทรายเสร็จแล้ว จึงได้มีกระบวนแห่พระทรายออกไปส่งวัดมหาธาตุ จํานวนกระบวนแห่ธงมังกรหน้า ๓๐ หลัง ๒๐ คู่ แห่หน้า ๓๐ หลัง ๒๐ กลองชนะ ๒๐ จ่าปี่ ๑ จ่ากลอง ๑ แตรงอน ๖ แตรฝรั่ง ๔ สังข์ ๑ พระทรายนั้นไปเทไว้ตามลานวัดเฉยๆ ไม่มีพิธีรีตองอันใด

เครื่องไทยทานซึ่งสำหรับใช้สดับปกรณ์ในการสงกรานต์นี้ ใช้ผ้าคู่คือผ้าขาวเนื้อหนาขนาดผ้านุ่งผืนหนึ่ง ผ้าขาวเนื้อบางขนาดผ้าห่มผืน ๑ อย่างพระภูษาถอดที่สรงมุรธาภิเษกนั้นเอง เป็นผ้าสำหรับคฤหัสถ์นุ่งห่มไม่เป็นของสำหรับพระสงฆ์เลย แต่ซึ่งเกิดใช้ผ้าคู่เช่นนี้ทำบุญขึ้นนั้น เห็นว่าจะมาจากผ้านุ่งห่มรดน้ำสงกรานต์ซึ่งใช้กันอยู่ทั่วๆ ไป ถึงพระเจ้าแผ่นดินก็พระราชทานรดน้ำพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่ที่สูงอายุ สืบมาจนถึงปัจจุบันนี้ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จะพระราชทานรดน้ำผู้ใดบ้างสืบไม่ได้ความ ได้ความแต่เพียงที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งเล่าว่าได้ทรงเป็นผู้รับผ้าหลวงน้ำหลวงไปสรงเจ้าครอกวัดโพ คือกรมหลวงนรินทรเทวี ซึ่งได้เป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอในเวลานั้น เมื่อเวลาเสด็จไปถึงแล้ว ท่านเคยรับสั่งเรียกกรมหมื่นนรินทร ซึ่งเป็นพระสามีให้มาเฝ้า สอนให้กราบเสีย ว่าเจ้าไม่ได้เป็นเจ้าเป็นนาย กรมหมื่นนรินทรก็มาหมอบอยู่ที่เฉลียงต่ำๆ รับสั่งเล่าเป็นการสนุกในเรื่องหนึ่งต่างหาก แต่พอได้เค้าว่ากรมหลวงนรินทรเทวีเป็นผู้ได้รดน้ำองค์หนึ่ง แต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นได้ความว่า พระราชทานรดน้ำแต่พระบรมวงศ์ผู้ใหญ่น้อยพระองค์ นอกนั้นมีเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๒ ซึ่งมีอายุไล่เลี่ยกับกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัยห้าหกคน ท่านพวกนั้นได้พระราชทานเงินคนละ ๒ ชั่งด้วย ส่วนที่สรงน้ำกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัยนั้น มีผ้าลายผ้าแพรขาวสองสำรับ ผ้าลายกุลีหนึ่งต่างหาก แพรขาว ๒ ม้วน ตาดอีกม้วนหนึ่ง เงินตรา ๒๐ ชั่ง ในรัชกาลที่ ๔ บรรดาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ และพระเจ้าพี่นางเธอ เสนาบดี ซึ่งมีอายุแก่กว่าพระชนมพรรษา ถ้าอายุครบ ๖๐ ปีถ้วน ก็ได้พระราชทานรดน้ำทุกพระองค์ทุกท่าน ในรัชกาลปัจจุบันนี้ก็เหมือนอย่างแบบรัชกาลที่ ๔ เว้นแต่กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร ใช้ตามแบบกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย นอกนั้นฝ่ายหน้าได้พระราชทานผ้าลายสำรับหนึ่ง ผ้าพื้นสำรับหนึ่ง ฝ่ายในผ้าลายทั้งสองสำรับ ยังมีท่านเรืองซึ่งเป็นขรัวยายทวดรับเบี้ยหวัดมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ เป็นขรัวยายสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ ได้พระราชทานรดน้ำผ้าลายแพรขาว ๒ สำรับ และเงิน ๓ ชั่งเสมอมา ที่กล่าวยืดยาวด้วยเรื่องรดน้ำนี้ เพื่อจะแสดงราชประเพณี ซึ่งพระราชทานรดน้ำในเวลาสงกรานต์นี้ด้วย และเพื่อจะยกเป็นเหตุพิจารณาในเรื่องผ้าคู่สดับปกรณ์ด้วย จึงได้กล่าวไว้ในที่นี้ เพราะการพระราชกุศลในสงกรานต์นี้อยู่ข้างสับสนหลายเรื่องหลายอย่างนัก บัดนี้จะได้กล่าวด้วยเรื่องผ้าคู่ต่อไป ผ้าคู่ที่ใช้ทำบุญอยู่เป็นอย่างคฤหัสถ์นั้น คงจะออกจากผู้ที่ได้เคยรับพระราชทานผ้ารดน้ำแต่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ถ้าจะใช้ผ้าลาย ผ้าแพรอย่างเดิม ก็จะยิ่งไม่เป็นประโยชน์อันใดแก่พระสงฆ์หนักขึ้น จึงได้เปลี่ยนใช้เสียเป็นผ้าขาว คำที่เรียกว่าผ้าคู่นั้นดูเสียงอยู่ข้างจะเพราะ เข้าเค้าบาล่ำบาลีดี มีผู้ให้คู่ผ้าแก่ใครๆ เป็นรางวัล มีผู้ถวายคู่ผ้าแด่พระพุทธเจ้าเช่นโกมารภัจเป็นต้น คําว่าคู่ผ้าที่ใช้มาในบาลีเช่นนี้ คงจะเป็นผ้าสองผืน แต่ผืนโตๆ สำหรับใช้นุ่งผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่ง เพราะปรกติคนในประเทศอินเดีย เวลานั้นจนตลอดเวลานี้ก็ดี ยังใช้ผ้านุ่งผืนโตๆ ผ้าห่มผืนโตๆ สองผืน คนที่เป็นคฤหัสถ์กับพระสงฆ์แต่งตัวจะไม่ใคร่ผิดกันนัก จะแปลกแต่สีเป็นย้อมฝาดพวกหนึ่ง ใช้ผ้าขาวล้วนหรือสีต่างๆ พวกหนึ่ง คู่ผ้าของคฤหัสถ์เมื่อถวายพระสงฆ์ๆ ก็ใช้นุ่งห่มได้พอ แต่ผ้าคู่ของเรานี้ไม่ได้การ อยู่ข้างจะไม่เป็นประโยชน์แก่พระเลย เกือบๆ จะเหมือนได้พัดหางปลาเป็นของไม่มีราคาอันใด เพราะจะบริโภคใช้สอยไม่ได้ สำหรับแต่จะให้ปันแลกเปลี่ยนเท่านั้น แต่ชื่อยังเพราะดีอยู่ และไม่เปลืองอันใดด้วยจึงยังได้ใช้สืบมา ผ้าคู่ของหลวงที่สำหรับสดับปกรณ์นั้นแต่เดิมมาก็มีแต่เฉพาะพระบรมอัฐิ พระอัฐิที่สดับปกรณ์ในท้องพระโรง (คือหมายเอาพระอัฐิกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์อยู่วังหลวงด้วย) นอกนั้นก็ไม่มีผ้าคู่ของหลวง ใช้ผ้าคู่ที่พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าฝ่ายในนํามาถวายสำหรับสดับปกรณ์ เฉลี่ยไปพระราชวังบวรฯ บ้าง หอพระนาคบ้าง ไม่ได้เฉพาะพระองค์พระอัฐิเจ้านายๆ ที่อยู่ในหอพระนาคก็มี ที่ไม่ได้อยู่ในหอพระนาคก็มี ถ้าพระอัฐิใดที่ไม่ได้อยู่ในหอพระนาคก็เป็นแล้วกันไป ด้วยการพระราชกุศลแต่ก่อนอยู่ข้างเขม็ดแขม่ไม่มีการใหญ่โตอันใด การพระราชพิธีสำหรับแผ่นดินแล้วก็ผ้าอาบผืนเดียวทั้งสิ้นตลอดจนบรมราชาภิเษก การพระราชกุศลวิเศษเป็นการจรมีไทยทานมากๆ พึ่งเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๓ ที่ ๔ แต่การสดับปกรณ์สงกรานต์นี้ยังเป็นธรรมเนียมเก่าตลอดมาจนรัชกาลที่ ๓ เมื่อถึงรัชกาลที่ ๔ จึงโปรดให้มีผ้าคู่ของหลวงสำหรับพระราชวังบวรฯ และหอพระนาคขึ้น แต่ผ้าคู่สำหรับหอพระนาคนั้นก็ไม่ทั่วพระองค์เจ้านาย ทรงเลือกแต่ที่ทรงรู้จักคุ้นเคย บางองค์ทรงรู้จักแต่ไม่ต้องพระอัธยาศัยก็ไม่พระราชทาน แล้วให้มีฉลากพระนามเขียนในผ้าเช็ดหน้าด้วยทุกพระองค์ ถึงที่ไม่ได้พระราชทานผ้าหลวงใช้ผ้าเจ้านายก็มีฉลากด้วย แปลกกันแต่ที่ผ้าหลวงพระราชทานจัดพระสงฆ์ตามวัดซึ่งพระอัฐินั้นได้ปฏิสังขรณ์บ้าง เป็นนายด้านทําการบ้าง ถ้าไม่มีเช่นนั้นก็ใช้วัดที่เป็นวัดหลวงในแผ่นดินนั้น หรือวัดของพี่น้องที่สนิท หรือพระนั้นเป็นญาติกับพระอัฐิ เช่นพระราชพงศ์ปฎิพัทธกับพระองค์ใยเป็นต้น ส่วนผ้าคู่ซึ่งมิใช่ของหลวงนั้นแล้วแต่จะได้พระองค์ใด อยู่ในพวกที่ได้ผ้าคู่ของหลวงสดับปกรณ์ซ้ำอีกเที่ยวหนึ่งสองเที่ยวเป็นพื้น แต่ธรรมเนียมผ้าคู่ของหลวงนี้ตั้งลงแล้วก็ดูเป็นการไม่สู้แน่ เมื่อเจ้านายสิ้นพระชนม์ลงภายหลัง ถึงไม่เป็นที่ต้องพระอัธยาศัยแต่ทรงเกรงใจก็พระราชทานเรื่อยๆ เลอะๆ ไป เช่นกรมหมื่นอุดมก็ได้ผ้าคู่ของหลวง เกือบจะตกลงเป็นใครตายลงใหม่ได้ผ้าคู่ของหลวง ที่จัดแบ่งปันนั้นเป็นแต่ครั้งแรกครั้งเดียว ครั้นตกมาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้ เจ้านายที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรู้จักคุ้นเคยได้ผ้าคู่ของหลวงอยู่แล้ว ไม่ทรงรู้จักเสียเป็นอันมาก ถ้าจะจัดการตามแบบที่วางลงแต่แรกก็ควรจะต้องเลิกเสีย คงไว้แต่ที่ทรงรู้จัก แต่ครั้นจะเลิกเสียก็ดูกระไรๆ มิรู้อยู่ ก็ต้องคงให้มีไปตามเติม ส่วนเจ้านายที่สิ้นพระชนม์ลงใหม่ก็ไม่มียกเว้น เลยเป็นผ้าคู่ของหลวงทั้งสิ้น ธรรมเนียมที่จัดผ้าคู่ของหลวงและไม่ใช่ของหลวงนี้ ก็เป็นแต่การที่จัดพอให้เรียกพระยุ่งๆ ขึ้นเท่านั้น ยังเรื่องแถมเล็กแถมน้อยก็มีอีกอย่างหนึ่งเป็นชั้นๆ คือที่หนึ่งนั้นมีผ้าคู่ ธูปเทียน ผ้าเช็ดปาก


หัวข้อ: Re: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 28 มิถุนายน 2561 16:09:49

เดือนห้า
การพระราชกุศลก่อพระทรายและตีข้าวบิณฑ์ (ต่อ)

พัดด้ามจิ้ว ขวดน้ำอบ ชั้นที่สองยกขวดน้ำอบเสีย ชั้นที่สามยกธูปเทียนขวดน้ำอบเสีย ยังอีกนัยหนึ่ง พระราชเทวีและพระเจ้าลูกเธอที่เป็นผู้น้อยไม่พระราชทานผ้าคู่ เปลี่ยนเป็นจีวรสบง เพราะเป็นผู้ซึ่งไม่ควรจะได้พระราชทานรดน้ำสงกรานต์ แต่ส่วนพระเจ้าราชวรวงศ์เธอที่นับว่าเป็นพระราชภาคิไนยและอ่อนพระชนมพรรษากว่า ก็ได้ผ้าคู่เหมือนเจ้านายทั้งปวง ที่แท้นั้นก็เป็นการทรงพระราชดำริคนละคราว ผ้าสบงผืนหนึ่งก็ยังมีราคาดีกว่าผ้าคู่ เพราะทรงพระกรุณาจะพระราชทานก็พระราชทาน ที่เนือยๆ อยู่ก็ปล่อยเรื่อยไปตามเดิม การเรื่องนี้อยู่ข้างจะจุกจิกรุงรัง แต่เห็นไม่เป็นสลักสำคัญอันใดก็ปล่อยเรื่อยไปตามเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแก้ไข

อนึ่ง อัฐิเจ้าคุณอัยยิกาทั้งปวง ซึ่งอยู่บ้านสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่บ้างองค์น้อยบ้าง จะได้พระราชทานบังสุกุลมาแต่ครั้งไรก็ไม่ทราบเลย แต่ท่านพวกนี้เมื่อมีชีวิตอยู่ได้พระราชทานรดน้ำมาแต่เดิม เพราะได้ยินคําพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งเล่าว่า เมื่อถึงหน้าสงกรานต์แล้ว ท่านพวกคุณย่าเหล่านี้มาประชุมกันที่ตำหนักกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ ขึ้นนั่งบนเตียงอันหนึ่งด้วยกันทั้งหมด เจ้านายที่เป็นหลานๆ พากันไปตักน้ำรด ท่านได้เสด็จไปรดน้ำ แลเห็นหลังคุณย่าทั้งปวงลายเหมือนๆ กันเป็นการประหลาด จึงได้รับสั่งถามว่าทําไมหลังคุณย่าทั้งปวงจึงลายเหมือนกันหมดเช่นนี้ คุณย่าทั้งนั้นทูลว่าขุนหลวงตากเฆี่ยน[[๔]แล้วก็เล่าเรื่องแผ่นดินตากถวาย รับสั่งเล่าถึงเรื่องแผ่นดินตากต่อไปเป็นอันมาก เพราะเหตุที่ได้อยู่พระราชทานรดน้ำมาแต่ยังมีชีวิตอยู่เช่นนี้ จึงได้พระราชทานบังสุกุลแต่ในเฉพาะเวลาสงกรานต์คราวเดียวสืบมา ครั้นพระราชทานชั้นเจ้าคุณอัยยิกาลงไว้แล้ว เมื่อตกลงมาถึงชั้นเจ้าคุณวังหลวง ซึ่งโปรดให้เรียกว่าเจ้าคุณพระสัมพันธวงศ์ ด้วยความที่ทรงนับถือสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่องค์น้อยเป็นต้น ก็โปรดพระราชทานต่อลงมาอีกชั้นหนึ่ง และในตระกูลนี้ได้รับราชการเป็นผู้หลักผู้ใหญ่อยู่มาก เมื่อลงมาอีกชั้นหนึ่งก็เลยได้พระราชทานลงไปอีกชั้นหนึ่ง แต่ไม่ทั่วกัน[๕]เมื่อจะว่าโดยทางเชื้อสายราชินิกุล ตั้งแต่ชั้นพระสัมพันธวงศ์ลงมาที่เป็นชั้นเดียวกันไม่ได้พระราชทานรดน้ำมีโดยมาก ถ้าจะเทียบกับเจ้านายวังหน้า คือพระเจ้าบวรวงศ์เธอชั้นที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ พระเจ้าบวรวงศ์เธอทั้งสิ้นนั้นยังสนิทกว่าพวกราชินิกุลเหล่านี้มาก แต่ก็ไม่มีพระองค์ใดได้รับพระราชทานสดับปกรณ์ในเวลาสงกรานต์แต่สักพระองค์เดียว เพราะฉะนั้นการที่พระราชทานบังสุกุลในบ้านสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่องค์น้อยนั้น ต้องนับว่าพระราชทานโดยการที่ทรงนับถือพิเศษ หรือเป็นรางวัลความชอบ ไม่ใช่ได้โดยเนื่องในพระวงศ์แท้ จํานวนพระสงฆ์รายวัดสำหรับพระบรมอัฐิพระอัฐิ และรายไทยทานที่สดับปกรณ์พระบรมอัฐิพระอัฐิชั้นใดอย่างใด จะว่ามาในหนังสือนี้ก็จะยืดยาวเหลือเกินนักจึงของดไว้ ถ้ามีโอกาสและเป็นการสมควรที่จะลงในหนังสือพระราชพิธีที่จะรวมเล่มจึงจะลงต่อไป ของสดับปกรณ์รายร้อยในนักขัตฤกษ์สงกรานต์นี้ มีในท้องพระโรง ๕๐๐ พระราชวังบวรฯ ๓๐๐ หอพระนาค ๒๐๐ บ้านสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่องค์น้อย ๒๐๐ แต่ที่ในท้องพระโรงนั้นมีของสดับปกรณ์มากขึ้นอีกหน่อยหนึ่ง คือผ้าคู่ที่พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าฝ่ายในถวาย เมื่อแบ่งไปหอพระนาค ๑๐๐ แล้วเหลืออยู่มากน้อยเท่าใด เอามารวมเป็นกองๆ เท่าจำนวนพระสงฆ์ที่มาฉัน เมื่อพระสงฆ์ถวายพระพรลาแล้วไปนั่งสดับปกรณ์ผ้าคู่ของเจ้านายต่อไป แต่ก่อนๆ มาได้องค์ละกี่คู่ต้องสดับปกรณ์เท่านั้นเที่ยว แต่ทุกวันนี้ใช้เที่ยวเดียวรวบทั้งกอง แล้วจึงได้สดับปกรณ์ราย ๕๐๐ ของหลวงต่อไป

อนึ่ง ตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ มา เมื่อสิ้นสงกรานต์แล้วโปรดให้เชิญพระบรมทนต์สามพระองค์ และพระทนต์กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ออกตั้งที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ให้ข้าราชการที่เป็นข้าหลวงเดิมเป็นต้น ได้สดับปกรณ์ในเวลาสงกรานต์ ก็มีพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน และข้าราชการบางคนที่ไม่ได้เป็นข้าหลวงเดิมพลอยไปสดับปกรณ์บ้าง ท้าววรคณานันต์ (มาลัย) เป็นผู้เที่ยวบอกกล่าวชักชวน ไม่เป็นการกะเกณฑ์อันใด ก็มีการสดับปกรณ์ทุกปี พระสงฆ์อยู่ในห้าหกวัด วัดละเที่ยวหนึ่งบ้าง สองเที่ยวบ้าง สามเที่ยวบ้าง แล้วทำบัญชีผู้ที่ออกเรี่ยไรขึ้นถวายพระราชกุศล คิดดูไทยทานที่ไปทำบุญกันปีหนึ่งก็อยู่ในไม่เกินห้าชั่งขึ้นไป ครั้นมาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้จึงเพิ่มพระบรมทนต์ขึ้นอีกองค์หนึ่ง และข้าหลวงเดิมในกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ ขอให้เชิญพระทนต์กรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ออกอีกองค์หนึ่ง ผู้สดับปกรณ์ก็มากขึ้น รวมไทยทานก็มากขึ้นถึงเจ็ดชั่งแปดชั่ง ครั้นเมื่อท้าววรคณานันต์ (มาลัย) บอกชราไปแล้ว ท้าวศรีสัจจาเป็นธุระอยู่ตลอดมาจนกระทั่งถึงท้าววรจันทร์[๖]คนนี้ไม่รู้ว่าไปเกณฑ์กันหรือไปเที่ยวเรี่ยไรกว้างขวางออกไป หรือจะเป็นด้วยผู้ซึ่งทำบุญมือเติบขึ้นตามส่วนอย่างไร เงินวางขึ้นไปถึงเกือบยี่สิบชั่ง ข้าพเจ้าเห็นว่าเงินสดับปกรณ์มากเหลือเกินนัก เวลาที่จะทำก็ไม่ใคร่พอ พระสงฆ์ได้ไปองค์ละเฟื้ององค์ละสลึง ก็ไม่สู้เป็นประโยชน์อันใดนัก เห็นว่าวัดพระศรีรัตนศาสดารามก็เป็นสถานที่ทรงสร้างทรงปฏิสังขรณ์มาด้วยกันทุกพระองค์ พระทัยของพระบรมอัฐิพระอัฐินั้นก็ย่อมทรงเลื่อมใสพระมหามณีรัตนปฏิมากรเป็นอันมาก จึงได้ขอแบ่งเงินสดับปกรณ์ที่ได้ขึ้นใหม่นี้ ไว้เป็นเงินสำหรับรักษาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม คงให้สดับปกรณ์แต่พอไล่เลี่ยกันกับที่เคยสดับปกรณ์มาแต่ก่อน เหลือนั้นได้มอบให้กอมมิตตี[๗]ซึ่งจัดการรักษาวัดพระศรีรัตนศาสดารามใช้ในการวัด ในปีนี้ได้เงินถึงสิบสี่ชั่งเศษ

ในการสงกรานต์นี้ แต่ก่อนมาพระเจ้าแผ่นดินต้องสรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์แต่เฉพาะที่กล่าวมาแล้ว ครั้นมาถึงในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีเสด็จออกสรงน้ำพระมหามณีรัตนปฏิมากรที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเพิ่มขึ้น เมื่อสมโภชเวียนเทียนแล้วเสร็จ จึงเสด็จพระราชดําเนินทรงสดับปกรณ์พระอัฐิเจ้านายที่หอพระนาคเป็นการพิเศษขึ้นกว่าแต่ก่อน ที่เสด็จพระราชดำเนินเอง สดับปกรณ์นั้นมีมาแต่เดิมแล้ว ถึงการเวียนเทียนนั้นก็มีทั้งตรุษสามวันสงกรานต์สามวันแต่เดิมมาแล้ว ดอกไม้เพลิงซึ่งจุดบูชาในเวลานักขัตฤกษ์เช่นนี้ เกิดขึ้นแต่รัชกาลที่ ๔ มา ในเวลาสงกรานต์นี้ก็มีด้วยทุกคืนทั้งสามวันหรือสี่วันตามเวลาที่กำหนดสงกรานต์ เป็นสามวันหรือสี่วัน

อนึ่ง วัดพระเชตุพนนั้น ก็เป็นธรรมเนียมเก่ามีมาแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสงกรานต์สามวันเปิดให้ข้างในออกสรงน้ำพระ ตีข้าวบิณฑ์โปรยทานและเที่ยวเล่นแต่เช้าจนเย็น กั้นฉนวนเหมือนอย่างพระเมรุท้องสนามหลวง เป็นที่ชาววังไปเที่ยวรื่นเริงสนุกสนานมากตลอดมา ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดําเนินออกวัดพระเชตุพนเสด็จออกทางฉนวนข้างใน โปรดให้เจ้าจอมเถ้าแก่และท่านเถ้าแก่แต่งตัวเป็นตํารวจ นุ่งสองปักลาย สวมเสื้อเข้มขาบเยียรบับซับใน สวมเสื้อครุยชั้นนอก ผ้าโพกศีรษะสะพายกระบี่แห่เสด็จ เหมือนอย่างตํารวจแห่เสด็จพยุหยาตราอยู่ในเวลานั้น เมื่อถึงพระอุโบสถก็มีพนักงานชำระพระบาท สนมพลเรือนถวายเทียนชนวน ล้วนแต่เถ้าแก่พนักงานแต่งตัวเป็นผู้ชายทั้งสิ้น ข้าพเจ้าจําได้แต่ว่าเป็นการสนุกสนานกันมาก แต่จะเล่าให้ละเอียดทีเดียวก็ฟั่นเฟือนไปด้วยเวลานั้นยังเด็กอยู่ เข้าใจว่าเสด็จพระราชดําเนินครั้งเดียวเท่านั้น แต่จะมีเวลาอื่นที่จําไม่ได้อีกอย่างไรไม่ทราบเลย ครั้นมาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้ พระพุทธบุษยรัตนซึ่งแต่เดิมอยู่ที่หอพระเจ้าเชิญย้ายไปอยู่ที่พุทธรัตนสถาน และมีพระสถูปก้าไหลทองขึ้นบนพุทธมนเทียร ก็ต้องเสด็จพระราชดำเนินไปสรงน้ำเพิ่มขึ้นอีก จึงรวมเป็นการที่ต้องเสด็จพระราชดำเนินในวันเถลิงศกนั้นหลายแห่ง คือเบื้องต้นตั้งแต่สรงน้ำพระบนหอพระจนตลอดสดับปกรณ์พระบรมอัฐิแล้วเสร็จ เสด็จขึ้นแล้วเลี้ยงโต๊ะข้าวแช่พระบรมวงศานุวงศ์ในเวลากลางวัน แล้วทรงโปรยทานอัฐทองแดงใหม่ๆ ไปจนเวลาเย็นพลบ สรงน้ำพระพุทธบุษยรัตนน้อยและพระสัมพุทธพรรโณภาษซึ่งประดิษฐานอยู่บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทชั้นสูง แล้วเสด็จพระราชดําเนินพระพุทธมนเทียรสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์[๘]ซึ่งอยู่มุขใต้ และพระสถูปซึ่งอยู่กลางพระที่นั่ง แล้วจึงเสด็จพระราชดําเนินพระพุทธรัตนสถานสรงน้ำพระพุทธบุษยรัตน และเมื่อเวลาพระที่นั่งยังไม่สู้ชำรุดมากนักเสด็จพระราชดําเนินขึ้นพระที่นั่งบรมพิมาน สรงน้ำพระพุทธรูปเท่าพระชนมพรรษารัชกาลที่ ๔ แล้วเสด็จพระราชดำเนินออกวัดพระศรีรัตนศาสดารามทางพระที่นั่งอนันตสมาคมหรือทางประตูแถลงราชกิจ สรงน้ำพระมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัยและพระคันธารราษฎร์[๙]นมัสการเสร็จแล้วพราหมณ์จึงจุดแว่นเวียนเทียน บายศรีซึ่งสมโภชพระพุทธรูปเช่นนี้ไม่ใช้ของบริโภคต่างๆ อย่างเช่นกล่าวมาแต่ก่อน จานซึ่งจัดปากบายศรีใช้ดอกไม้สดสีต่างๆ ประดับทั้งนั้น ครั้นเมื่อเวียนเทียนเสร็จแล้วเสด็จพระราชดําเนินทางหลังพระอุโบสถสู่หอราชกรมานุสร สรงน้ำและนมัสการพระพุทธรูป ซึ่งทรงพระราชอุทิศถวายพระเจ้าแผ่นดินกรุงทวาราวดีศรีอยุธยาโบราณ แล้วเสด็จหอราชพงศานุสร สรงน้ำและนมัสการพระพุทธรูปซึ่งทรงพระราชอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสี่พระองค์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ก่อนมาเมื่อทรงนมัสการทั้งสองหอนี้แล้ว เสด็จพระราชดําเนินทางพระระเบียงด้านตะวันตกไปหอพระนาคทีเดียว ครั้นเมื่อรัตนโกสินทรศกปีที่ ๑๐๑ คือบรรจบครบ ๑๐๐ ปีตั้งแต่สร้างกรุง ฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้วทรงพระราชดําริว่า ที่พระมณฑปและพระศรีรัตนเจดีย์ถ้าไม่เสด็จพระราชดําเนินอยู่เสมอ ก็จะชํารุดทรุดโทรมไป จึงได้เสด็จพระราชดําเนินขึ้นนมัสการพระไตรปิฎกบนพระมณฑปก่อน แล้วจึงเสด็จนมัสการพระสถูปในพระศรีรัตนเจดีย์ แล้วเสด็จลงทางซุ้มประตูด้านเหนือสู่หอพระนาค นมัสการต้นนิโครธและพระวิหารยอด ซึ่งอยู่ใกล้เคียงที่นั้นด้วย แล้วจึงได้สดับปกรณ์ ที่หอพระนาคนั้น แต่เดิมเป็นที่ไว้พระพุทธรูปต่างๆ หลายสิบองค์ หุ้มทองบ้างหุ้มเงินบ้างหุ้มนาคบ้าง ทั้งรูปพระเชษฐบิดร คือรูปสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑[๑๐]ซึ่งสร้างกรุงทวาราวดีศรีอยุธยาโบราณ ที่แปลงเป็นพระพุทธรูปเสียแล้วนั้น ก็ประดิษฐานอยู่ด้วยพระอัฐิเจ้านายซึ่งไปอยู่ในหอพระนาคนั้น เก็บอยู่ในตู้ผนังข้างหลังพระวิหาร เป็นแต่เวลาสงกรานต์ก็เชิญมาตั้งบนม้าสดับปกรณ์ดูสับสนรุงรังมาก ในครั้งเมื่อทรงปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามครั้งนี้ โปรดให้เชิญพระพุทธรูปทั้งปวงนั้น ขึ้นไปไว้เสียบนพระวิหารยอด จัดหอพระนาคไว้เป็นที่เก็บพระอัฐิเจ้านายอย่างเดียว พระอัฐิที่ไม่มีพระโกศเป็นแต่ห่อผ้ากองๆ ไว้แต่ก่อนนั้น ก็ให้มีพระโกศปิดทองบรรจุไว้ทั้งสิ้นเป็นการเรียบร้อยดีขึ้นกว่าแต่ก่อน การสดับปกรณ์นั้นก็เหมือนกันกับที่กล่าวมาแล้วด้วยเรื่องของสดับปกรณ์แต่ก่อนนั้น เมื่อสดับปกรณ์เสร็จแล้วเสด็จพระราชดําเนินกลับทางพระระเบียงด้านตะวันตก

การเสด็จพระราชดําเนินวัดพระเชตุพนนั้น บางปีก็มีบ้าง ถ้าเสด็จพระราชดำเนินแล้ว ก็มักจะเป็นวันมหาสงกรานต์หรือวันเนา ซึ่งไม่มีพระราชธุระมาก เสด็จทางใน แต่ไม่มีกระบวนแห่เหมือนอย่างในรัชกาลที่ ๔ ถ้าเปิดวัดพระเชตุพนแล้วก็โปรดให้มีพนักงานคอยเก็บเงิน ถ้าเป็นไพร่ๆ ก็เสียเล็กน้อยตามแต่จะมีใจศรัทธา ถ้าเป็นผู้ดีก็ตั้งแต่เฟื้องหนึ่งจนถึงกึ่งตําลึง สงกรานต์สามวันปีหนึ่งได้อยู่ในสามชั่งเศษสี่ชั่ง ถวายพระพิมลธรรม[๑๑]สำหรับปฏิสังขรณ์ปัดกวาดถางหญ้าถอนต้นไม้ในวัด ตั้งแต่พระวิหารทรุดโทรมลงมาก คนที่ออกวัดพระเชตุพนก็น้อยไปกว่าแต่ก่อน ในปีหนึ่งสองปีนี้ไม่ได้เปิด

อนึ่ง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ซึ่งเป็นพระบรมราชูปัธยาจารย์ เสด็จสถิตอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งเป็นพระกรรมวาจาจารย์ สถิตอยู่วัดราชประดิษฐ์[[๑๒]เมื่อพ้นจากวันสงกรานต์ไปวันหนึ่งบ้างสองวันบ้าง เสด็จพระราชดําเนินไปถวายไตรจีวรผ้าเนื้อดีสรงน้ำเป็นการพิเศษอีกส่วนหนึ่ง เมื่อเสด็จพระราชดําเนินถึงพระอารามเช่นนั้น ก็ทรงนมัสการสรงน้ำพระพุทธชินศรี พระมหาเจดีย์ พระศรีศาสดา พระพุทธไสยาสน์ พระศรีมหาโพธิ์ และพระพุทธวชิรญาณ พระพุทธปัญญาอัคคะ ซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระวิหารเก๋งก่อน แล้วจึงเสด็จพระราชดําเนินที่พระตําหนัก ส่วนที่วัดราชประดิษฐ์ก็ทรงนมัสการและสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์[๑๓]และพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี พระศรีศาสดา จําลองทั้งสามองค์ ทั้งพระมหาปาสาณเจดีย์ พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย

อนึ่ง ในการสงกรานต์สามวันหรือสี่วันนี้ เจ้าพนักงานก็จัดหม้อน้ำเงิน ขวดแป้งสด ผ้าทรงพระ ถวายจบพระหัตถ์แล้วไปเที่ยวสรงพระพุทธรูป คือที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามสรงพระศรีมหาโพธิ์แห่ง ๑ วัดพระเชตุพนสรงพระพุทธเทวปฏิมากรแห่ง ๑ วัดมหาธาตุสรงพระมหาธาตุแห่ง ๑ วัดอรุณราชวรารามสรงพระประธานแห่ง ๑ วัดสุทัศนเทพวรารามสรงพระศรีศากยมุนีและพระศรีมหาโพธิ์รวม ๒ แห่ง วัดบรมนิวาสสรงพระประธานแห่งหนึ่ง วัดบวรนิเวศสรงพระพุทธชินศรี พระพุทธไสยาสน์ รวม ๒ แห่ง วัดสระเกศสรงพระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร พระศรีมหาโพธิ์ รวม ๒ แห่ง วัดปทุมวันสรงพระศรีมหาโพธิ์แห่ง ๑  วัดราชาธิวาสสรงพระศรีมหาโพธิ์แห่ง ๑ และมีผ้าห่มพระพุทธรูปและพระศรีมหาโพธิ์สิบสามผืนกํากับขวดน้ำไปด้วยทุกแห่ง และตั้งศาลาฉทานเหมือนอย่างเทศกาลตรุษที่ได้กล่าวมาแล้วแต่ก่อนนั้น

อนึ่ง การตรุษก็ดี สงกรานต์ก็ดี เป็นเวลาที่คนทั้งปวงถือกันว่าเป็นฤดูหรือเป็นเวลาที่สมควรจะเล่นเบี้ย เป็นธรรมเนียมเข้าใจซึมซาบ และเคยประพฤติมาช้านาน ไม่มีผู้ใดจะอับอายหรือสะดุ้งสะเทือนในการเล่นเบี้ยที่กําลังเล่นอยู่หรือเล่นแล้ว ไปที่แห่งใดก็เล่าโจษกันถึงการเล่นเบี้ยได้ไม่เป็นการปิดบัง บางทีก็ขยับจะอวดตัวเป็นนักเลง มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดว่องไว อาจจะเอาชัยชนะพวกพ้องได้ ราวกับว่าไปทัพมีชัยชนะอย่างเตี้ยๆ อะไรมา การที่ถือว่าเล่นเบี้ยไม่เป็นการเสียหายอันใด ในเวลานักขัตฤกษ์เช่นนี้ ก็เพราะเป็นการที่ได้อนุญาตเป็นพยานว่าเจ้าแผ่นดินไม่ขัดขวางห้ามปรามหรือพลอยเห็นสนุกด้วย จึงได้ยกหัวเบี้ยพระราชทานให้นักขัตฤกษ์ละ ๓ วัน

การที่พระเจ้าแผ่นดินอนุญาตหรือทรงเห็นดีด้วยในเรื่องเล่นเบี้ยนี้ก็คงจะเป็นความจริง แต่คงจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินบางองค์เช่นขุนหลวงตากเจ้ากรุงธนบุรี ไปตีเมืองนครศรีธรรมราช ได้พระราชทานเงินให้ฝีพายเล่นกําถั่วหน้าพระที่นั่ง ถึงเอาขันตักเงินแจก ความประสงค์ที่ขุนหลวงตากทําเช่นนั้น เพราะตัวท่านเองอยู่ข้างจะเล่นเบี้ยจัดอยู่แล้วนั้นประการหนึ่ง ท่านก็เห็นใจกันกับพวกทหารทั้งปวงว่าการสนุกอะไรไม่เสมอเล่นเบี้ย ประสงค์จะให้ทหารเป็นที่รื่นเริงลืมความลําบากที่ต้องทนยากจึงได้ปล่อยให้เล่นเบี้ยเป็นการเอาใจ แต่เพราะการเล่นเบี้ยเป็นการไม่ดีได้สนุกสนานเสียแล้วก็ชวนให้ติด เมื่อเข้ามาถึงในกรุงแล้วก็ยังเล่นต่อไปบ่อยๆ การที่เล่นเบี้ยนั้นย่อมมุ่งหมายจะต่อสู้เอาทรัพย์กันและกัน ผู้ซึ่งมีอํานาจวาสนาเสมอๆ กันเล่นด้วยกัน เมื่อความปรารถนาอยากได้นั้นกล้าขึ้นก็ชักให้ฉ้อฉลบิดพลิ้วคดโกงกันไปต่างๆ ส่วนผู้ซึ่งมีวาสนามากเล่นกับผู้มีวาสนาน้อย เช่นเจ้านายเด็กๆ หรือเจ้านายผู้ใหญ่บางองค์ซึ่งเขาเล่ากันมา เล่นไพ่กับข้าหลวงและมหาดเล็กก็ต้องถวายแปดถวายเก้า ไม่ถวายก็ขัดเคืองไป ก็อย่างเช่นขุนหลวงตากซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินมีอำนาจมากเห็นปานนั้น เมื่อมีความปรารถนาขึ้นมา และอาศัยความมัวเมาในเรื่องอื่นซึ่งทําให้สติเลื่อนลอยด้วย จนลืมถึงการบ้านเมือง คิดแต่จะหาทรัพย์สมบัติโดยทางเล่นเบี้ย ก็รีดเร่งทรัพย์สมบัติคนทั้งปวง เป็นหนี้หลวงไปทั้งบ้านทั้งเมือง จนภายหลังลงไม่ต้องเล่นเบี้ยก็เร่งเอาได้เปล่าๆ น้ำใจชั่วของขุนหลวงตากนี้ เกิดขึ้นด้วยการเล่นเบี้ยเป็นต้น ถึงโดยว่าแรกคิดจะเป็นอุบายที่ดีตามเวลาต้องการ ผลที่ออกภายหลังก็ไม่เป็นผลอันดีแก่ตนและผู้อื่น พากันได้ทุกข์ยากลำบากไปทั่วหน้าตลอดจนถึงตัวเอง เพราะเหตุฉะนั้นถึงแม้ว่าพระเจ้าแผ่นดินภายหลังจะมิได้เลิกธรรมเนียมยกหัวเบี้ยพระราชทานในเวลาตรุษเวลาสงกรานต์เสียก็ดี แต่ก็ไม่ได้โปรดให้เล่นเบี้ยในพระราชวังหรือทรงสรรเสริญการเล่นเบี้ยว่าเป็นการสนุกสนานอย่างหนึ่งอย่างใดเลย

เพราะเหตุที่พระบรมราชวงศ์ปัจจุบันนี้ พระเจ้าแผ่นดินดำรงอยู่ในคุณความประพฤติดี ๓ ประการ คือไม่ทรงประพฤติและทรงสรรเสริญในการที่เป็นนักเลงเล่นเบี้ยการพนันอย่าง ๑ ไม่ทรงประพฤติในการดื่มสุราเมรัยและกีดกันมิให้ผู้อื่นประพฤติอย่าง ๑ ไม่ทรงประพฤติล่วงในสตรีที่เป็นอัคคมนิยฐานนี้อย่าง ๑ เป็นความประพฤติซึ่งพระเจ้าแผ่นดินในพระบรมราชวงศ์นี้ได้ทรงงดเว้นเป็นขาดสืบๆ กันมา พระบรมราชวงศ์นี้จึงได้ตั้งปกครองแผ่นดินอยู่ยืนยาวกว่าบรมราชวงศ์อื่นๆ ซึ่งได้ปกครองแผ่นดินมาแต่กาลก่อนแล้ว บ้านเมืองก็เจริญสมบูรณ์ปราศจากเหตุการณ์ภายในซึ่งจะให้เป็นที่สะดุ้งสะเทือนหวาดหวั่นแก่ชนทั้งปวง ไม่มีตัวอย่างในพระราชพงศาวดารระยะใดตอนใดจะเทียบเทียมถึง เพราะฉะนั้นเมื่อกล่าวถึงการที่ยกหัวเบี้ยพระราชทานในเวลาสงกรานต์ ซึ่งจะไม่กล่าวถึงก็จะเป็นอันไม่ได้กล่าวข้อความเต็มบริบูรณ์ ในพระราชกุศลสำหรับเดือนห้าจึงต้องกล่าว แต่ขอเตือนพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการบรรดาที่จะได้อ่านหนังสือให้มีสติระลึกไว้ ถึงแม้ว่าได้ยกหัวเบี้ยพระราชทานดังนี้ ก็มิได้ยกพระราชทานโดยพระราชประสงค์จะให้เล่นเบี้ยกันให้สบาย เป็นแต่พระราชทานไปตามประเพณีซึ่งมีมาแต่ก่อน โดยทรงพระมหากรุณาแก่ชนทั้งปวงว่าได้เคยรับประโยชน์อันใดแล้วก็ไม่มีพระราชหฤทัยที่จะให้ยกถอนเสีย แต่การเล่นเบี้ยนั้น เป็นที่ไม่ต้องพระอัธยาศัยมาทุกๆ พระเจ้าแผ่นดิน เพราะฉะนั้นควรที่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ซึ่งมีความนับถือเคารพต่อพระบารมีและพระเดชพระคุณพระเจ้าแผ่นดินสืบๆ กันมา ควรจะตริตรองให้เห็นโทษเห็นคุณตามที่จริง และงดเว้นการสนุก และการหาประโยชนในเรื่องเล่นเบี้ยนี้เสีย จะได้ช่วยกันรับราชการฉลองพระเดชพระคุณทะนุบำรุงแผ่นดิน เพิกถอนความชั่วในเรื่องเล่นเบี้ยซึ่งอบรมอยู่ในสันดานชนทั้งปวงอันอยู่ในพระราชอาณาเขต เป็นเหตุจะเหนี่ยวรั้งความเจริญของบ้านเมืองให้เสื่อมสูญไป ด้วยกําลังที่ช่วยกันมากๆ และเป็นแบบอย่างความประพฤติให้คนทั้งปวงเอาอย่าง ตามคํานักปราชญ์ย่อมกล่าวไว้ ว่าการที่ทําให้เห็นเป็นแบบอย่างง่ายกว่าที่จะสั่งสอนด้วยปาก ถ้าเจ้านายขุนนางประพฤติการเล่นเบี้ยอยู่ตราบใด คนทั้งปวงก็ยังเห็นว่าไม่สู้เป็นการเสียหายมาก ผู้มีบรรดาศักดิ์จึงยังประพฤติอยู่ ถ้าผู้มีบรรดาศักดิ์ละเว้นเสีย ให้เห็นว่าความประพฤติเช่นนั้นเป็นของคนที่ต่ำช้าประพฤติแล้ว ถึงแม้ว่าจะเลิกขาดสูญไปไม่ได้ก็คงจะเบาบางลงได้เป็นแท้

การพระราชกุศลในนักขัตฤกษ์สงกรานต์ หมดเพียงเท่านี้ ๚
 
-------------------------------------------------------------------------------------
[๑] คือวัดมกุฎกษัตริย์ พระราชทานนามนั้นในรัชกาลที่ ๔ แต่แรกคนไม่เรียก ด้วยเกรงว่าพ้องกับพระบรมราชนามาภิไธย จึงโปรดให้เรียกว่าวัดพระนามบัญญัติพลาง ให้เปลี่ยนเป็นอย่างเดิมเมื่อรัชกาลที่ ๕
[๒]  สี่สระอยู่ในเขตสุพรรณบุรี
[๓]  คือพระยาอุทัยธรรม (หรุ่น) เวลานั้นยังเป็นพระราชโกษา เป็น บุตรพระยาราชโกษา (จันทร์)
[๔]  เมื่อในคราวขุนหลวงตากเสียพระสติ เมื่อจะสิ้นแผ่นดิน
[๕]  ได้พระราชทานผ้าคู่ แต่ที่เป็นบุตรธิดาภรรยาหลวงของสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่องค์น้อย นอกนั้นมีแต่อัฐิเจ้าพระยาทิพากรวงศ์
[๖]  ท้าวศรีสัจจา (กลิ่น ณ นคร) ท้าววรจันทร์เจ้าจอมมารดาวาด ในรัชกาลที่ ๔
[๗]  กอมมิตตี (Committee) คือกรรมการ
[๘]  พระพุทธบุษยรัตนน้อย ได้มาในรัชกาลที่ ๕ พระสัมพุทธพรรโณภาษทรงหล่อในรัชกาลที่ ๕ พระพุทธสิหิงค์น้อยทรงหล่อในรัชกาลที่ ๔
[๙]  พระคันธารราษฎร์ ทรงหล่อสําหรับพิธีขอฝนในรัชกาลที่ ๑
[๑๐]  รูปพระเชษฐบิดรนี้ ว่าเดิมอยู่ที่ซุ้มพระปรางค์วัดพุทไธสวรรย์กรุงเก่า ราษฎรเชื่อถือกันว่าดุร้ายนัก จึงโปรดให้กรมหลวงเทพพลภักดีเชิญลงมาแล้วแปลงเป็นพระพุทธรูป ที่ซุ้มพระปรางค์ก็ปั้นพระพุทธรูปไว้แทน ยังปรากฏอยู่
[๑๑]  พระพิมลธรรม อ้น
[๑๒]  ต่อมาเป็นสมเด็จพระสังฆราช
[๑๓]  คือพระประธานในพระวิหารหลวง ทรงหล่อจำลองพระพุทธสิหิงค์  


เดือนห้า
คําตักเตือนวันมหาสงกรานต์

ถ้าเสด็จพระราชดําเนินเลี้ยงพระสงฆ์ ฉลองพระเจดีย์ทราย มหาดเล็กต้องเตรียมเทียนพานซึ่งสำหรับนมัสการพระพุทธรูปในวัดนั้น และต้องคอยเชิญเสด็จพระเจ้าลูกเธอไปทรงจุดเทียนข้าวบิณฑ์ และรับพระสุหร่ายเงินไปคอยถวายสำหรับสรงพระทรายด้วย เวลาค่ำสวดมนต์ฉลองพระชนมพรรษา ภูษามาลาคอยรับดอกไม้ซึ่งทรงจบพระหัตถ์ แล้วขึ้นไปรายหน้าพระพุทธรูปเท่าพระชนมพรรษา และรับพระสุหร่ายลงยาราชาวดีคอยถวายสรงพระพุทธรูปด้วย ในวันเนาเวลาเช้าสรงน้ำพระ ภูษามาลาต้องรับพระสุหร่ายลงยาราชาวดี มหาดเล็กรับพระสุหร่ายเงินถวายสรงน้ำพระสงฆ์ และภูษามาลารายดอกไม้หน้าพระเหมือนกันทั้งเช้าทั้งเย็น วันเถลิงศกมหาดเล็กต้องคอยถวายเทียนชนวน ทรงจุดเครื่องทองน้อยที่พระบรมอัฐิ อาลักษณ์ฉลากพระนาม เวลาค่ำคงจะเสด็จพระราชดําเนินวัดพระศรีรัตนศาสดารามไม่ใคร่ขาด พานเทียนสำหรับในพระอุโบสถ สำหรับหอราชกรมานุสร หอราชพงศานุสร สำหรับพระมณฑป สำหรับพระเจดีย์ สำหรับต้นนิโครธ สำหรับวิหารยอด สำหรับหอพระนาคเอง ดูต้องตะโกนโวยวายอยู่เนืองนิตย์ ถ้าจะให้ดีแล้วตัวนายหุ้มแพรนายรองถือเองตามเสด็จให้ติดๆ ไป ดูก็จะไม่สู้เสียเกียรติยศและหนักหนาอันใดนัก ดีกว่าต้องวิ่งเถลือกถลาเรียกมหาดเล็กเวร ทางเสด็จพระราชดําเนินตํารวจก็มักจะไม่มีใครจําได้ว่าอย่างไร มักนําไปเก้อแล้วเก้อเล่าแทบทุกปี คือแรกเสด็จพระราชดําเนินเข้าทางประตูพระระเบียงด้านตะวันออก เลี้ยวไปหน้าศาลารายข้างเหนือเข้าช่องกําแพงแก้วด้านเหนือ ขึ้นพระอุโบสถด้านพระทวารข้างใต้ ทรงจุดเครื่องนมัสการทองใหญ่แล้วสรงน้ำพระพุทธรูป และทรงจุดเครื่องนมัสการตามหน้าพระ ในขณะนั้นพราหมณ์จุดเทียนเบิกแว่นทีเดียว ไม่ต้องรอให้นมัสการแล้ว ตํารวจซึ่งขึ้นไปเวียนเทียนอยู่ในพระอุโบสถนั้น พอเทียนเข้าแว่นต้องลงมาคอยรับเสด็จพระราชดําเนินอยู่หลังพระอุโบสถ จะเสด็จพระราชดําเนินลงทางพระทวารหลังพระอุโบสถข้างใต้ ขึ้นหอราชกรมานุสรก่อน แล้วจึงหอราชพงศานุสร เมื่อเสด็จจากหอราชพงศานุสรออกทางช่องกําแพงแก้วหลังพระอุโบสถด้านเหนือ ขึ้นซุ้มประตูตรงพระเจดีย์ด้านใต้ แล้วไปขึ้นพระมณฑปทางพระทวารด้านตะวันตก เสด็จกลับทางเดิมนั้น ขึ้นช่องคูหาพระศรีรัตนเจดีย์ด้านตะวันออก แล้วเสด็จออกทางช่องคูหาด้านเหนือ ตรงไปลงซุ้มประตูด้านเหนือ ทรงบูชาต้นนิโครธและวิหารยอด แล้วเสด็จเข้าหอพระนาค เวลากลับเสด็จตามพระระเบียงด้านตะวันตกออกประตูด้านตะวันตก

เสด็จพระราชดำเนินวัดบวรนิเวศ พานเทียนมหาดเล็กเกิดความอย่างยิ่งทุกปี พนักงานนมัสการก็ยังไม่รู้สึก เทียนที่จัดไปยังไม่พอ ถ้ามหาดเล็กผู้ใดจะรับเทียนตรวจเสียด้วยได้จะดี ที่นมัสการที่วัดบวรนิเวศนั้น คือเทียนพระพุทธชินศรีคู่ ๑ พระนิรันตรายคู่ ๑ จุดที่โต๊ะข้างซ้ายทั้ง ๒ คู่ ในพระเจดีย์ ๒ คู่ พระที่เก๋งเล็กบนทักษิณพระเจดีย์คู่ ๑ พระศรีศาสดาคู่ ๑ พระพุทธไสยาสน์คู่ ๑ พระศรีมหาโพธิ์คู่ ๑ พระพุทธวชิรญาณคู่ ๑ พระพุทธปัญญาอัคคะคู่ ๑ วัดราชประดิษฐ์ พระพุทธสิหิงค์คู่ ๑ พระพุทธชินราชคู่ ๑ พระพุทธชินศรีคู่ ๑ พระศรีศาสดาคู่ ๑ พระนิรันตรายคู่ ๑ ทั้งนี้ในพระวิหารหลวงทั้งสิ้น พระปาสาณเจดีย์คู่ ๑ พระบรมรูปคู่ ๑ และให้มหาดเล็กคอยรับผ้าไตรจีวรและน้ำสรงธูปมัดเทียนมัด อย่าให้ต้องโวยวายทั้งสองวัดด้วย ๚
   


หัวข้อ: Re: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 02 กรกฎาคม 2561 15:51:31

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/66283886507153_CX_EV_CR91_1_.jpg) (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/99790366035368_35927174_410501056132247_38455.jpg)

พระราชพิธีเดือนหก
• พระราชพิธีพืชมงคล และจรดพระนังคัล
• การวิสาขบูชา
-----------------------------------

พระราชพิธีพืชมงคล และจรดพระนังคัล


๏ การพระราชพิธีกล่าวเป็นสองชื่อ แต่เนื่องกันเป็นพิธีเดียวนี้ คือปันในวันสวดมนต์เป็นวันพระราชพิธีพืชมงคล ทําขวัญพืชพรรณต่างๆ มีข้าวเปลือกเป็นต้น จรดพระนังคัลเป็นพิธีเวลาเช้าคือลงมือไถ ถ้าจะแบ่งเป็นคนละพิธีก็ได้ ด้วยพิธีพืชมงคลไม่ได้ทําแต่ในเวลาค่ำวันสวดมนต์ รุ่งขึ้นเช้าก็ยังมีการเลี้ยงพระต่อไปอีก การจรดพระนังคัลนั้นเล่า ก็ไม่ได้ทำแต่วันซึ่งลงมือแรกนา เริ่มพระราชพิธีเสียแต่เวลาค่ำวันสวดมนต์พิธีพืชมงคลนั้นแล้ว พระราชพิธีพืชมงคลเป็นพิธีสงฆ์ทำที่ท้องสนามหลวงในพระนคร พระราชพิธีจรดพระนังคัลเป็นพิธีพราหมณ์ ทําที่ทุ่งส้มป่อยนอกพระนคร พิธีทั้งสองนั้นก็นับว่าทําพร้อมกันในคืนเดียววันเดียวกัน จึงได้เรียกชื่อติดกันว่า พระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัล

ฤกษ์การพระราชพิธีนี้ ต้องหาฤกษ์วิเศษกว่าฤกษ์อื่นๆ คือกำหนดสี่อย่าง ฤกษ์นั้นอย่าให้ต้องวันผีเพลียอย่างหนึ่ง ให้ได้ศุภดิถีอย่างหนึ่ง ให้ได้บุรณฤกษ์อย่างหนึ่ง ให้ได้วันสมภเคราะห์อย่างหนึ่ง ตำราหาฤกษ์นี้เป็นตําราเกร็ด เขาสำหรับใช้เริ่มที่จะลงมือแรกนา หว่านข้าว ดำข้าว เกี่ยวข้าว ขนข้าวขึ้นยุ้ง แต่ที่เขาใช้กันนั้นไม่ต้องหาฤกษ์อย่างอื่น ให้แต่ได้สี่อย่างนี้แล้ว ถึงจะถูกวันอุบาทว์โลกาวินาศก็ใช้ได้ แต่ฤกษ์จรดพระนังคัลอาศัยประกอบฤกษ์ดีตามธรรมเนียมด้วยอีกชั้นหนึ่ง ตามแต่จะได้ลงวันใดในเดือนหก ดิถีซึ่งนับว่าผีเพลียนั้น ข้างขึ้นคือ ๑, ๕, ๗, ๘, ๙, ๑๐, ๑๑, ๑๕ ข้างแรม ๑, ๕, ๖, ๗, ๘, ๑๐, ๑๓, ๑๔ เป็นใช้ไม่ได้ ศุภดิถีนั้นก็คือดิถีตาว่างซึ่งไม่เป็นผีเพลียนั้นเอง บุรณฤกษ์นั้น คือ ๒, ๔, ๕, ๖, ๘, ๑๑, ๑๔, ๑๗, ๒๒, ๒๔, ๒๖, ๒๗ วันสมภเคราะห์นั้น คือ วันจันทร์ วันพุธ วันพฤหัสบดี วันศุกร์ กับกําหนดธาตุอีกอย่างหนึ่ง ตามวันที่โหรแบ่งเป็น ปถวี อาโป เตโช วาโย ให้ได้ส่วนสัดกันแล้วเป็นใช้ได้ จะพรรณนาที่จะหาฤกษ์นี้ก็จะยืดยาวไป เพราะไม่มีผู้ใดที่จะต้องใช้อันใด

การแรกนาที่ต้องเป็นธุระของผู้ซึ่งเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เป็นธรรมเนียมมีมาแต่โบราณ เช่นในเมืองจีน สี่พันปีล่วงมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินก็ลงทรงไถนาเองเป็นคราวแรก พระมเหสีเลี้ยงตัวไหม ส่วนจดหมายเรื่องราวอันใดในประเทศสยามนี้ ที่มีปรากฏอยู่ในการแรกนานี้ก็มีอยู่เสมอเป็นนิตย์ไม่มีเวลาเว้นว่าง ด้วยการซึ่งผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินลงมือทําเองเช่นนี้ ก็เพื่อจะให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร ชักนำให้มีใจหมั่นในการที่จะทํานา เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้อาศัยเลี้ยงชีวิตทั่วหน้า เป็นต้นเหตุของความตั้งมั่นและความเจริญไพบูลย์แห่งพระนครทั้งปวง แต่การซึ่งมีพิธีเจือปนต่างๆ ไม่เป็นแต่ลงมือไถนาเป็นตัวอย่าง เหมือนอย่างชาวนาทั้งปวงลงมือไถนาของตัวตามปรกติ ก็ด้วยความหวาดหวั่นต่ออันตราย คือน้ำฝนน้ำท่ามากไปน้อยไป ด้วงเพลี้ยและสัตว์ต่างๆ จะบังเกิดเป็นเหตุอันตราย ไม่ให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิ และมีความปรารถนาที่จะให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิเป็นกําลัง จึงได้ต้องแส่หาทางที่จะแก้ไข และทางที่จะอุดหนุน และที่จะเสี่ยงทายให้รู้ล่วงหน้าจะได้เป็นที่มั่นอกมั่นใจ ก็การที่จะแก้ไขเยียวยาน้ำฝนน้ำท่าซึ่งเป็นของเป็นไปโดยฤดูปรกติเป็นเอง โดยอุบายลงแรงลงทุนอย่างไรไม่ได้ จึงต้องอาศัยคำอธิษฐานเอาความสัตย์เป็นที่ตั้งบ้าง ทำการซึ่งไม่มีโทษนับว่าเป็นการสวัสดิมงคล ตามซึ่งมาในพระพุทธศาสนาบ้าง บูชาเซ่นสรวงตามที่มาทางไสยศาสตร์บ้าง ให้เป็นการช่วยแรงและเป็นที่มั่นใจตามความปรารถนาของมนุษย์ซึ่งคิดไม่มีที่สุด

ก็ธรรมเนียมการแรกนา ซึ่งมีมาในสยามแต่โบราณตามที่ค้นได้ในหนังสือต่างๆ คือในหนังสือนพมาศเมื่อครั้งกรุงสุโขทัยนั้น มีข้อความว่า “ในเดือนหก พระราชพิธีไพศาข จรดพระนังคัล พราหมณ์ประชุมกันผูกพรตเชิญเทวรูปเข้าโรงพิธี ณ ท้องทุ่งละหานหลวงหน้าพระตำหนักห้างเขา กําหนดฤกษ์แรกนาว่าใช้วันอาทิตย์ พระเจ้าแผ่นดินทรงเครื่องต้นอย่างเทศ ทรงม้าพระที่นั่งพยุหยาตราเป็นกระบวนเพชรพวง พระอัครชายาและพระราชวงศานุวงศ์ พระสนมกํานัลเลือกแต่ที่ต้องพระราชหฤทัย  ขึ้นรถประเทียบตามเสด็จไปในกระบวนหลัง ประทับที่พระตำหนักห้าง จึงโปรดให้ออกญาพลเทพธิบดีแต่งตัวอย่างลูกหลวง มีกระบวนแห่ประดับด้วยกรรชิงบังสูรย์ พราหมณ์เป่าสังข์โปรยข้าวตอกนำหน้า ครั้นเมื่อถึงมณฑลท้องละหาน ก็นำพระโคอุสุภราชมาเทียมไถทอง พระครูพิธีมอบยามไถและประตักทอง ให้ออกญาพลเทพเป็นผู้ไถที่หนึ่ง พระศรีมโหสถซึ่งเป็นบิดานางนพมาศเองแต่งตัวเครื่องขาวอย่างพราหมณ์ ถือไถเงินเทียมด้วยพระโคเศวต พระพรเดินไถเป็นที่สอง พระวัฒนเศรษฐีแต่งกายอย่างคหบดี ถือไถหุ้มด้วยผ้ารัตกัมพลแดง เทียมด้วยโคกระวินทั้งไม้ประตัก พระโหราลั่นฆ้องชัยประโคมดุริยางค์ดนตรี ออกเดินไถเวียนซ้ายไปขวา ชีพ่อพราหมณ์ปรายข้าวตอกดอกไม้ บันลือเสียงสังข์ไม้บัณเฑาะว์นำหน้าไถ ขุนบริบูรณ์ธัญญา นายนักงานนาหลวงแต่งตัวนุ่งเพลาะคาดรัดประคดสวมหมวกสาน  ถือกระเช้าโปรยปรายหว่านพืชธัญญาหารตามทางไถจรดพระนังคัลถ้วนสามรอบ ในขณะนั้นมีการมหรสพ ระเบงระบําโมงครุ่มหกคะเมนไต่ลวด ลอดบ่วงรําแพนแทงวิสัยไก่ป่าช้าหงส์รายรอบปริมณฑลที่แรกนาขวัญ แล้วจึงปล่อยพระโคทั้งสามอย่างออกกินเลี้ยงเสี่ยงทายของห้าสิ่ง แล้วโหรพราหมณ์ก็ทํานายตามตํารับไตรเพท ในขณะนั้นพระอัครชายาก็ดำรัสสั่งพระสนมให้เชิญเครื่องพระสุพรรณภาชน์มธุปายาสขึ้นถวายพระเจ้าอยู่หัวเสวย ราชมัลก็ยกมธุปายาสเลี้ยงลูกขุนทั้งปวง” เป็นเสร็จการพระราชพิธีซึ่งมีมาในเรื่องนพมาศ

ที่มีมาในกฎมนเทียรบาลว่า “เดือนไพศาขจรดพระนังคัล เจ้าพระยาจันทกุมารถวายบังคม ณ หอพระ ทรงพระกรุณายื่นพระขรรค์ พระพลเทพถวายบังคมสั่งอาญาสิทธิ์ ทรงพระกรุณาลดพระบรมเดชมิได้ไขน่าลออง มิได้ตรัสคดีถ้อยความ มิได้เบิกลูกขุน มิได้เสด็จออก ส่วนเจ้าพระยาจันทกุมารมีเกยช้างหน้าพุทธาวาสขัดแห่ขึ้นช้าง แต่นั้นให้สมโภชสามวัน ลูกขุนหัวหมื่นพันนา นาร้อยนาหมื่นกรมการในกรมนาเฝ้า และขุนหมื่นชาวศาลทั้งปวงเฝ้าตามกระบวน” ได้ความในกฎมนเทียรบาลแต่เท่านี้ เป็นข้อความรวมๆ ลงไปกว่าหนังสือนพมาศหลายเท่า การที่ไปแรกนาไปทำอย่างไรก็ไม่ได้กล่าวถึง วิธีที่จัดการพระราชพิธีนี้เห็นจะไม่เหมือนกันกับที่สุโขทัยเลย ดูเป็นต่างครูกันทีเดียว ข้างสุโขทัยดูการพระราชพิธีนี้เป็นการคล้ายออกสนามใหญ่ เจ้าแผ่นดินยังถืออำนาจเต็ม ออกญาพลเทพเป็นแต่ผู้แทนที่จะลงมือไถนา ส่วนข้างกรุงเก่ายกเอาเจ้าพระยาจันทกุมาร เป็นผู้แทนพระองค์ มอบพระแสงอาญาสิทธิ์ให้ ส่วนพระพลเทพคงเป็นตําแหน่งเสนาบดีผู้ออกหมายตามกระทรวงเจ้าแผ่นดินนั้น เป็นเหมือนหนึ่งออกจากอํานาจจําศีลเงียบเสียสามวัน การที่ทําเช่นนี้ก็เห็นจะประสงค์ว่าเป็นผู้ได้รับสมมติสามวัน เหมือนอย่างเป็นพระเจ้าแผ่นดินไปแรกนาเองดูขลังมากขึ้น ไม่เป็นแต่การแทนกันเล่นๆ ต่างว่า แต่วิธีอันนี้เห็นจะได้ใช้มาจนตลอดปลายๆ กรุงเก่า ด้วยได้เห็นในจดหมายเหตุขุนหลวงหาวัด ความนั้นก็ลงรอยเดียวกันกับกฎมนเทียรบาล เป็นแต่ตัดความไปว่าถึงเวลาไปทำพิธีชัดเจนขึ้น คือว่าพระอินทกุมารฉลองพระองค์ ส่วนพระมเหสีนั้นนางเทพีฉลองพระองค์ ขี่เรือคฤหสองตอนไปถึงทุ่งแก้วขึ้นจากเรือ พระอินทกุมารสวมมงกุฎอย่างเลิศขี่เสลี่ยงเงิน นางเทพีสวมมงกุฎอย่างเลิศไม่มียอดขี่เสลี่ยงเงินแห่มีสัปทนบังสูรย์เครื่องยศตาม บรรดาคนตามนั้นเรียกว่ามหาดเล็ก มีขุนนางเคียงถือหวายห้ามสูงต่ำ ครั้นเมื่อถึงโรงพิธีแล้ว พระอินทกุมารจับคันไถเทียมโคอุสุภราชโคกระวิน พระยาพลเทพถือเชือกจูงโค นางเทพีหาบกระเช้าข้าวหว่าน ครั้นไถได้สามรอบแล้วจึงปลดโคออกกินข้าวสามอย่าง ถั่วสามอย่าง หญ้าสามอย่าง ถ้ากินสิ่งใดก็มีคําทํานายต่างๆ ซึ่งชื่อผู้แรกนาแปลกกันไปกับในกฎมนเทียรบาล ข้างหนึ่งเป็นจันทกุมาร ข้างหนึ่งเป็นอินทกุมาร ข้างหนึ่งเรียกเจ้าพระยา ข้างหนึ่งเรียกพระ การที่ชื่อแปลกกันนั้นได้พบในจดหมายขุนหลวงหาวัดนี้เอง เมื่อว่าถึงพระราชพิธีเผาข้าวว่าพระจันทกุมารเป็นผู้ได้รับสมมติไปทำพิธี เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจว่า มีทั้งพระอินทกุมารพระจันทกุมาร ๒ คน ที่ในการพระราชพิธีจรดพระนังคัล ข้างหนึ่งว่าพระอินทกุมาร ข้างหนึ่งว่าพระจันทกุมาร ก็เห็นจะเป็นไขว้ชื่อกันไปเท่านั้น หรือบางทีก็จะผลัดเปลี่ยนเป็นคนนั้นแรกนาบ้าง คนนี้แรกนาบ้าง แต่ยศที่เรียกว่าเจ้าพระยาหรือพระอย่างใดจะเป็นแน่นั้น ตามที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวท่านทรงพระราชดําริเห็นว่าจะเป็นเจ้าราชินิกุล คำที่เรียกว่าพระๆ นี้ดูใช้ทั่วไปในชื่อเจ้านาย อย่างเช่นนั้นแรกๆ พระเทียรราชา พระราเมศวร พระมหินทราธิราช อีกชั้นหนึ่งในเวลาเดียวกันนั้นเช่นพระศรีเสาวราช พระเหล่านี้เป็นลูกหลวงเอกทั้งนั้น ในชั้นหลังๆ มีเจ้าเติมหน้า ก็ดูเป็นเหมือนกับจะเรียกนำติดปากไป พอให้รู้ว่าเป็นพระราชตระกูล มิใช่พระขุนนาง เช่น เจ้าพระพิชัยสุรินทร การซึ่งเห็นว่าพระอินทกุมารหรือจันทกุมารจะเป็นราชินีกุลนั้น ด้วยได้รับยศใหญ่กว่าเจ้าพระยาพลเทพ แต่เมื่อค้นดูในตําแหน่งนาพลเรือน ที่มีชื่อเจ้าราชินีกุลหลายคน ก็ไม่มีชื่อสองชื่อนี้ มีแต่ชื่อพระอินทรมนตรี มีสร้อยว่าศรีจันทกุมารอยู่คนหนึ่ง ถ้าจะคิดว่าตําแหน่งพระอินทกุมาร พระจันทกุมารนี้ จะเป็นตําแหน่งพระอินทรมนตรี ศรีจันทกุมารคน ๑ พระมงคลรัตนราชมนตรี ถ้าจะเติมศรีอินทรกุมารเข้าอีกคน ๑ ก็จะเข้าคู่กันได้ชอบกลอยู่ เพราะกรมสรรพากรนี้ได้บังคับบัญชาการตลอดทั้งปวง ดูแต่ก่อนเป็นตําแหน่งใหญ่ การแรกนานี้เกี่ยวข้องอยู่กับกรมสรรพากรบ้าง เช่นหมายรับสั่งทุกวันนี้ก็ยังใช้ว่า อนึ่ง ให้คลังมหาสมบัติสรรพากรใน หมายบอกกำนันตลาดบกตลาดเรือกรุงเทพฯ เป็นต้น ที่อ้างถึงนี้ใช่จะว่าความตามรูปหมายที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ เพราะรูปหมายทุกวันนี้เป็นแต่ให้เป็นผู้ประกาศให้ลูกค้ารู้ ที่จะว่าเดี๋ยวนี้ประสงค์จะให้รู้ว่าการเกี่ยวข้องกับกรมสรรพากรบ้าง และกรมสรรพากรแต่ก่อนเป็นกรมใหญ่ บางทีตำแหน่งจันทกุมารอินทกุมารนี้ถึงเป็นราชินิกุล จะได้บังคับบัญชากรมสรรพากรบ้างดอกกระมัง หลวงอินทรมนตรีจึงมีสร้อยศรีจันทกุมารติดท้ายอยู่ แต่ตําแหน่งมงคลรัตน์นั้นไม่มีอินทกุมารหายไป ธรรมเนียมสร้อยชื่อของเก่ากรมใดมักจะใช้สร้อยชื่อเรื่องเดียวกันไปทั้งชุด เช่น กรมช้างใช้สร้อยชื่อสุริยชาติ เป็นต้น ตลอดทั้งจางวางและเจ้ากรม ถ้าสร้อยชื่อจันทกุมารอินทกุมารเป็นของกรมสรรพากร ก็คงจะเป็นกรมสรรพากรแรกนา แต่เมื่อคิดอีกอย่างหนึ่งหรือจะเป็นผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งควรจะแรกนาแล้ว โปรดให้ไปแรกนาเหมือนอย่างชั้นหลังๆ ไม่ว่าตําแหน่งใด ถ้าผู้ใดไปแรกนา ก็เรียกผู้นั้นเป็นพระอินทกุมารหรือพระจันทกุมารจะได้ดอกกระมัง แต่ในชั้นหลังครั้งขุนหลวงหาวัดนี้ เรื่องให้อํานาจจนถึงยื่นพระขรรค์เห็นจะเลิกเสียแล้วจึงไม่ได้กล่าวถึง ดูก็จะได้รับยศคล้ายๆ ขุนนางแรกนาอยู่ทุกวันนี้

ยังมีอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นคําพูดกับมาชุมๆ คู่กันกับพระยาพลเทพยืนชิงช้าตีนตกต้องริบตะเภาเข้ามาวันนั้นต้องเป็นของพระยาพลเทพ ในการแรกนานี้ตะเภาเข้ามาก็เป็นของผู้แรกนาเหมือนกัน แต่มีวิเศษออกไปที่เรื่องว่าได้กำตากด้วย เรื่องกำตากนี้มีคำพูดกันจนถึงเป็นคำพูดเล่น ถ้าผู้ใดจะแย่งเอาสิ่งของผู้ใดเป็นการหยอกๆ กัน ก็เรียกว่ากําตากละ เรื่องกําตากนี้ได้ค้นพบในจดหมายขุนหลวงหาวัด ว่าระหว่างพิธีสามวันนั้น ถ้าเป็นพ่อค้าเรือและเกวียนและพ่อค้าสำเภาจักมาแต่ทิศใดๆ ทั้ง ๘ ทิศ ถ้าถึงในระหว่างพิธีนั้น พระอินทกุมารได้เป็นสิทธิ อนึ่ง ทนายบ่าวไพร่ของพระอินทกุมาร ในสามวันนั้นจะไปเก็บขนอนตลาดและเรือจ้างในทิศใดๆ ก็ได้เป็นสิทธิ เรียกว่าทนายกําตาก มีข้อความของเก่าจดไว้ดังนี้ พิเคราะห์ดูเห็นว่า ข้อที่ว่าเกวียนและเรือสำเภามาถึงในวันนั้นเป็นสิทธิ ดูเหมือนหนึ่งบรรดาสินค้าซึ่งมาในเกวียนและสำเภานั้น จะต้องริบเป็นของพระอินทกุมารทั้งสิ้น แต่ที่จริงนั้นมุ่งหมายจะว่าด้วยค่าปากเรือและค่าเกวียนซึ่งเป็นภาษีขาเข้าอย่างเก่า การที่อนุญาตให้นั้นอนุญาตค่าปากเรือและค่าเกวียนในส่วนที่มาถึงวันนั้นให้เป็นรางวัล แต่ก็คงจะไม่เป็นประโยชน์ที่ได้เสมอทุกปี เพราะการค้าขายแต่ก่อนมีน้อย ที่จะหาสำเภาลําใดและเกวียนหมู่ใดให้มาถึงเฉพาะในวันพระราชพิธีนั้นได้เสมอทุกปีคงหาไม่ได้ คงจะมีผู้ได้จริงๆ สักครั้งหนึ่งหรือสองครั้ง เพียงห้าชั่งหกชั่งก็จะนับว่าเป็นเศรษฐีปลื้มกันเต็มที จึงได้นิยมโจษกันไม่สิ้นสุดจนถึงทุกวันนี้ ส่วนประโยชน์ที่ได้จริงๆ เป็นของเสมออยู่นั้น คงจะเป็นค่าตลาดค่าเรือจ้างส่วนวันนั้น เป็นยกพระราชทานให้ผู้แรกนาเก็บ ค่าตลาดที่กล่าวนี้คือที่เก็บอยู่อย่างเก่า พึ่งมาเลิกเสียในรัชกาลที่ ๔ นายอากรตลาดนั้น มักจะเป็นผู้หญิงที่เป็นคนค้าขายทํามาหากิน รับผูกจากพระคลังไปเก็บ เช่นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีท้าวเทพากรคนหนึ่งเป็นผู้ไปเก็บ ท้าวเทพากรนั้นก็นับว่าเป็นเศรษฐี เป็นที่นับถือชื่อเสียงเลื่องลือเหมือนอย่างเจ้าสัวคนหนึ่ง ถ้าใครอยากจะสำแดงตัวว่าเป็นผู้มีเชื้อแถวและทรัพย์สมบัติบริบูรณ์ เมื่อไต่ถามว่าเป็นลูกใครหลานใคร ถ้าเกี่ยวข้องเป็นญาติลูกหลานของท้าวเทพากร ถึงห่างเท่าใดก็ต้องอ้างว่าเป็นลูกหลานของท้าวเทพากร ข้าพเจ้าเคยได้ยินมาดังนี้ แล้วผู้ที่ฟังฉันก็เข้าใจซึมซาบว่า เป็นคนมั่งคั่งบริบูรณ์ พิกัดเก็บอากรตลาดนั้น เก็บตามแผงลอยร้านหนึ่งเก็บวันละเฟื้อง แต่ผู้ซึ่งเก็บอากรนั้นไม่ใคร่จะเก็บตามพิกัด ด้วยเวลานั้นใช้ซื้อขายกันด้วยเบี้ย มักจะตักตวงเอาเหลือเกินกว่าพิกัด ครั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดําเนินไปตลาดท้ายสนม ดำรัสถามพวกชาวร้านด้วยเรื่องเสียอากรตลาด ทรงเห็นว่าราษฎรที่มีของสดเล็กน้อยมาขายต้องเสียอากร นายตลาดเก็บแรงเหลือเกิน จึงได้โปรดให้เลิกอากรตลาดเสีย เปลี่ยนเป็นภาษีเรือโรงร้านตึกแพ อากรตลาดซึ่งเก็บอย่างแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เป็นอากรในแบบซึ่งมีมาแต่ครั้งกรุงเก่า การซึ่งว่าทนายของผู้แรกนาไปเที่ยวเก็บอากรขนอนตลาดได้เป็นสิทธิทุกแห่งนั้น ก็คือยกอากรที่เก็บร้านละเฟื้องในส่วนวันนั้นพระราชทานให้แก่ผู้แรกนาไปเก็บเอาเอง จึงได้มีหมายให้คลังมหาสมบัติสรรพากรหมายบอกกํานันตลาดบกตลาดเรือ ให้ประกาศป่าวร้องให้ลูกค้ารู้จงทั่วกัน คือให้รู้ว่ากําหนดวันนั้นให้เสียอากรแก่ผู้แรกนา ถ้าเรือสำเภาเข้ามาก็ให้เสียค่าปากเรือค่าจังกอบแก่ผู้แรกนา เมื่อได้พระราชทานอนุญาตเช่นนี้ ผู้แรกนาก็แต่งทนายออกไปเที่ยวเก็บอากร ผู้แรกนาเองก็เป็นเวลานานๆ จะได้ครั้งหนึ่ง มุ่งหมายอยากจะได้ให้มาก ทนายซึ่งไปนั้นเล่าก็อยากจะหาผลประโยชน์ของตัวเป็นลําไพ่บ้าง เก็บอากรจึงได้รุนแรงล้นเหลือเกินพิกัดไปมาก นุ่งยิ่งกว่าที่นายตลาดนุ่งอยู่แต่ก่อน จนลูกค้าชาวตลาดทั้งปวงพากันกลัวเกรง เมื่อจะเอาให้มากผู้ที่จะให้ก็ไม่ใคร่จะยอมให้ ข้างผู้ที่จะเอาก็ถืออํานาจที่ได้อนุญาตไป โฉบฉวยเอาตามแต่ที่จะได้ จนกลับเป็นวิ่งราวกลายๆ คำที่ว่ากำตากจึงได้เป็นที่กลัวกัน จนถึงเอามาพูดเป็นยูดี ในเวลาที่จะแย่งของอันใดจากกันว่า กําตาก แต่ส่วนคำกำตากเองนั้นดูก็เป็นภาษาไทยแท้ แต่แปลไม่ออกว่าอะไร มีท่านผู้หนึ่งได้แปลโดยการเดา ลองคิดดูเห็นว่าคำ กำ นั้น แปลว่า ถือ ตาก แปลว่าของที่ตั้งเปิดเผยไว้ ดังคําที่เรียกว่าเอาของผึ่งตากเป็นต้น คือจะถือเอาใจความว่า ร้านตลาดที่เวลาออกอยู่เปิดอยู่เอาพัสดุสินค้าออกตั้งวางเพื่อจะซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน โบราณาจารย์จะเรียกว่าตากดอกกระมัง คำว่ากำนั้น ก็คือทนายของพระยาไปเที่ยวฉกฉวยสิ่งของตามร้านตลาด ก็ต้องเอามือกํามาจึงได้ของ ก็คําสองคํานี้เข้าเป็นสมาส จึงเป็นกำตาก ความเห็นได้กล่าวดังนี้ ข้าพเจ้ายังไม่เห็นด้วย ได้คิดเดาแปลลองดูเองบ้าง สงสัยว่าคําตากนั้นจะเรียกลากยาวไป บางทีจะเป็นตักดอกกระมัง ด้วยแต่ก่อนมาการซื้อขายกันในตลาดใช้เบี้ยหอย ตลาดแผงลอยเช่นนี้ มักจะมีกระจาดหรือกระบุงไว้คอยรับเบี้ยจากผู้ที่มาซื้อ และทอนเงินทอนเบี้ยกัน ในที่ๆ ไว้เบี้ยเช่นนั้น มักมีถ้วยน้ำพริกปากไปล่ หรือจอกทองเหลืองคว่ำครอบอยู่ที่กลางกองเบี้ย สำหรับใช้ตักตวง เมื่อเวลาพระยาผู้แรกนาได้รับอนุญาตให้เก็บเงินค่าอากรตลาดในวันแรกนา ก็ไปเก็บอากรนั้นด้วยเบี้ยจากกระบุงหรือกระจาดที่ไว้เบี้ยนั้น แต่การที่พระราชทานอนุญาตเช่นนั้น เมื่อแรกอนุญาตก็คงจะยกเงินอากรให้แก่นายตลาด ชาวตลาดต้องเสียแก่พระยาผู้แรกนาฝ่ายเดียว แต่ครั้นภายหลังมานายอากรตลาดก็คงจะผลัดเปลี่ยนกันไป เจ้าพนักงานก็คงจะผลัดเปลี่ยนกันไป เมื่อการจืดๆ ลงมาภายหลัง เงินอากรก็จะไม่ได้ยกให้นายตลาดหรือนายตลาดจะยอมเสียว่าเล็กน้อย ไม่ต้องลดเงินหลวงลงเพราะมีกำไรอยู่มากแล้ว เจ้าพนักงานก็ไม่ต้องเป็นธุระอันใดต่อไป ในเรื่องที่จะยกเงินอากรให้ในวันนั้น จนเลยลืมไม่มีใครรู้ว่าเคยลด ข้างส่วนนายอากรที่จะมาเก็บอากรตลาดใหม่ต่อไป ก็ไม่รู้สึกว่าวันนั้นเป็นวันจะต้องยกเว้นอันใด หรือรู้สึกแต่ถือว่าเงินหลวงต้องเสียเต็มไม่ได้ยกเว้นให้ ก็คงเก็บตลาดอยู่ในเวลาที่แรกนานั้นมิได้ยกเว้น แต่ส่วนทนายของพระยาผู้ซึ่งแรกนา ที่เคยได้ประโยชน์หรือรู้ว่าเป็นธรรมเนียมได้ประโยชน์มาก็ออกเที่ยวเก็บตลาด ฝ่ายชาวตลาดจะเถียงว่าได้เสียอากรแล้วไม่ยอมให้ พวกทนายนั้นก็คงไม่ฟัง ล้วงมือลงไปกำหรือเอาถ้วยเอาจอกตักเบี้ยในกระบุงเอาไปพอแก่ที่จะฉกล้วงเอาได้ ข้างฝ่ายชาวตลาดจะไปร้องฟ้องว่ากล่าวอันใดก็ป่วยการ ได้ไม่เท่าเสียเพราะเบี้ยที่ทนายพระยามาเอาไปนั้นก็เพียงกำหนึ่งตักหนึ่ง จะเสียค่าธรรมเนียมยิ่งกว่านั้นหลายเท่า จึงตกลงใจว่าเบี้ยกําหนึ่งตักหนึ่งช่างเถิด ครั้นต่อมาภายหลังผู้ที่ไม่ทราบต้นเหตุ เห็นถึงวันแรกนาแล้ว พวกทนายของพระยามาเที่ยวกําเที่ยวตักเบี้ยตามร้าน ก็เรียกว่าพวกกําพวกตักมา ต้องเสียเบี้ยกําเบี้ยตัก ลงเป็นธรรมเนียมว่า วันนั้นแล้วเป็นต้องเสียอากรอีกชั้นหนึ่ง ร้านละกําละตักหนึ่ง ครั้นคำที่เรียกว่าพวกทนายกําทนายตัก เรียกชินๆ ปากเข้าก็ขี้เกียจซ้ำทนายอีกครั้งหนึ่ง คงเรียกแต่ทนายกําตัก ก็เมื่อนานมาคําพูดอยู่ชินๆ ปากของผู้ที่เข้าใจแล้ว หมายว่าไม่เป็นอัศจรรย์อันใด ไม่ได้แปลให้กันฟังต่อๆ ไปไม่มีผู้รู้มีนนิง[๑] คือความหมายเดิมว่ากระไร ผู้ที่พูดตามๆ มาก็พูดไปอย่างนั้นไม่เข้าใจคำแปลว่ากระไรเลย เข้าใจว่าทนายกําตักนั้นเป็นภาษาสำหรับพูดแปลว่าแย่งเบี้ยในร้าน ก็อย่างเดียวกันกับคำที่พูดกันอยู่ทุกวันนี้ว่าโคมลอยก็ดี ว่านุ่งก็ดี ก็มีมีนนิงอาจที่จะชี้แจงชักเรื่องได้ยืดยาว ถ้าไม่ได้จดหมายชี้แจงไว้นานไปภายหน้าพูดกันอยู่ยังไม่จืด ก็คงจะต้องเข้าใจว่าโคมลอยนั้นแปลว่าเหลว นุ่งแปลว่าโกงหรือฉ้อ คําพูดเช่นนี้เป็นคําล้อหน่อยๆ หนึ่ง ไม่ได้แปลที่มาแห่งคำเรียกนั้นไว้ก็เลยไม่มีผู้ใดทราบได้ อนึ่งคําสั้นกับคํายาวมักจะเรียกกลายๆ กันไปได้ เช่นคําว่าไก่ ท้าวสุภัติการ (นาก) ที่ตายในเร็วๆ นี้ เรียกว่าก่ายเสมอ คําอื่นๆ ที่ผู้อื่นๆ เรียกเช่นนี้มีมากหลายคำหลายคน ก็คำที่เรียกว่ากำตักนี้ จะเรียกยาวออกไปว่ากำตากได้บ้างดอกกระมัง เมื่อผู้ที่พูดคำลากยาวเช่นนี้ ได้เขียนหนังสืออันใดลงไว้ ว่ากำตากกำตาก ถึงแม้ว่าผู้ที่ยังเรียกกำตักอยู่ตามเดิมบ้าง เรียกกำตากตามหนังสือบ้าง จะเกิดถุ้งเถียงกันขึ้น ก็คงจะต้องอ้างเอาหนังสือเป็นหลักฐานว่าเป็นถูก เมื่อไม่มีผู้ใดรู้ความมุ่งหมายของคํานั้น จะชี้แจงตัดสินว่าอย่างไรถูกอย่างไรผิด ก็คงต้องตกลงตามหนังสือจึงได้ปรากฏมาว่าทนายกําตาก หรือเก็บกําตาก เสียค่ากําตาก ได้กําตาก ความที่ว่ามาทั้งนี้ เป็นเรื่องเดาทั้งสิ้น ผิดถูกอย่างไรขอโทษที แต่เรื่องกําตากนี้ จะได้มียกอากรหลวงพระราชทานมาเพียงใดก็ไม่ปรากฏ เป็นแต่ความนิยมของคนที่พูดกันอยู่ จนถึงทุกวันนี้ แต่ที่กรุงเทพฯ นี้ ถึงแต่ก่อนมาก็ไม่ปรากฏว่าได้ยกอากรพระราชทาน ค่าปากเรือค่าจังกอบก็ไม่ได้ยินว่าพระราชทาน ได้ยินแต่เล่ากันว่า พวกทนายของพระยาเที่ยวเก็บเที่ยวชิงเบี้ยตามตลาด เมื่อไม่ได้เบี้ย สิ่งของอันใดก็ใช้ได้ เรียกว่าไปเก็บกำตาก เรือสำเภาลำใดมาถึงก็ลงไปเที่ยวเก็บฉกๆ ฉวยๆ เช่นนี้ เป็นเก็บกำตากเหมือนกัน อาการที่ทนายของพระยาไปทํานั้น ตามที่เข้าใจกันว่าในวันนั้น พระยาได้เป็นเจ้าแผ่นดินแทนวันหนึ่ง ถึงบ่าวไพร่จะไปเที่ยววิ่งราวแย่งชิงกลางตลาดยี่สานก็ไม่มีความผิด เป็นโอกาสที่จะนุ่งได้วันหนึ่งก็นุ่งให้เต็มมือ ฝ่ายผู้ที่ถูกแย่งชิงนั้นก็เข้าใจเสียว่าฟ้องร้องไม่ได้ ด้วยเป็นเหมือนวันปล่อยผู้ร้ายวันหนึ่ง ไม่มีใครมาฟ้องร้องว่ากล่าว เป็นแต่บ่นกับพึมๆ พำๆ ไปต่างๆ จนเป็นเรื่องที่สำหรับเอามาพูดเล่น ใครจะแย่งของจากผู้ใดก็เรียกว่ากําตากละ แต่ที่แท้ธรรมเนียมกําตากนี้ ก็ได้เลิกเสียช้านานหลายสิบปีมาแล้ว แต่การที่คนมากๆ ด้วยกันไม่ชอบความประพฤติเช่นนั้นก็ยังเล่ากันต่อมา จนถึงชั้นเราได้รู้เรื่องดังนี้ ส่วนผู้ที่แรกนาในทุกวันนี้ แต่เดิมมาได้พระราชทานเบี้ยเลี้ยง ๑๐ ตำลึง ครั้นเมื่อเกิดภาษีโรงร้านตึกแพขึ้น โปรดให้หักเงินภาษีเป็นค่าเลี้ยงเกาเหลาในการแรกนาอีกชั่งหนึ่ง ครั้นถึงพระยาอภัยรณฤทธิ[๒] แรกนาออดแอดไปว่ากำลังวังชาไม่มีต่างๆ จึงได้ตกลงเป็นให้เงินเสียคราวละ ๕ ชั่งสืบมา

การแรกนาที่ในกรุงเทพฯ นี้ มีเสมอมาแต่ปฐมรัชกาลไม่ได้ยกเว้น แต่ถือว่าเป็นตําแหน่งเจ้าพระยาพลเทพคู่กันกับยืนชิงช้า เจ้าพระยาพลเทพแรกนายืนชิงช้าผู้เดียวไม่ได้ผลัดเปลี่ยน ครั้นตกมาภายหลังเมื่อเจ้าพระยาพลเทพป่วย ก็โปรดให้พระยาประชาชีพแทนบ้าง และเมื่อเจ้าพระยานิกรบดินทร์ยืนชิงช้าก็โปรดให้แรกนาด้วย ในครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เกือบจะตกลงเป็นธรรมเนียมว่าผู้ใดยืนชิงช้าผู้นั้นเป็นผู้แรกนาด้วย ครั้นมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยาพลเทพ (หลง) แรกนา เผอิญถูกคราวฝนแล้งราษฎรไม่เป็นที่ชอบใจติเตียนหยาบคายต่างๆ ไป[๓]จึงโปรดให้เจ้าพระยาภูธราภัยแรกนา ถูกคราวดีก็เป็นการติดตัวเจ้าพระยาภูธราภัย ไดัแรกนามาจนตลอดสิ้นชีวิต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกย่องว่าเป็นผู้แรกนาดี และรับสั่งว่าต่อไปภายหน้า ถึงเจ้าพระยาภูธราภัยจะป่วยไข้แรกนาไม่ได้ ก็จะโปรดให้วงศ์ญาติพวกนั้นเป็นผู้แรกนา เมื่อเจ้าพระยาภูธราภัยถึงอสัญกรรมแล้ว จึงได้ให้พระยาอภัยรณฤทธิเป็นผู้แรกนา ตามพระกระแสเดิมมาจนถึงปีนี้ พระยาอภัยรณฤทธิป่วยแรกนาไม่ได้ จึงได้ให้พระยาภาสกรวงศ์ที่เกษตราธิบดี ผู้เจ้าของตำแหน่งเป็นผู้แรกนา

การแรกนาที่กรุงเทพฯ นี้ ไม่ได้เป็นการหน้าพระที่นั่ง เว้นไว้แต่มีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรเมื่อใด จึงได้ทอดพระเนตร เล่ากันว่าเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ขณะเมื่อทรงปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ ในปีมะแมเบญจศกศักราช ๑๑๘๕ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการทุกวัน ครั้นเมื่อถึงพระราชพิธีจรดพระนังคัลจะใคร่ทอดพระเนตร จึงโปรดให้ยกการพระราชพิธีมาตั้งที่ปรกหลังวัดอรุณฯ ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นทุ่งนา ไมได้เผาศพฝังศพในที่นั้น ครั้นมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรแรกนาที่ทุ่งส้มป่อยครั้งหนึ่ง ภายหลังโปรดให้มีการแรกนาที่กรุงเก่าและที่เพชรบุรี ได้เสด็จพระราชดําเนินทอดพระเนตรพระยาเพชรบุรี (บัว) แรกนาที่เขาเทพนมขวดครั้งหนึ่งหรือสองครั้ง ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ ก็ได้เสด็จพระราชดําเนินทอดพระเนตรแรกนาที่ทุ่งส้มป่อยครั้งหนึ่ง การพระราชพิธีจรดพระนังคัลแต่ก่อนมีแต่พิธีพราหมณ์ ไม่มีพิธีสงฆ์ ครั้นมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงเพิ่มพิธีสงฆ์ในพระราชพิธีต่างๆ จึงได้เพิ่มในการจรดพระนังคัลนี้ด้วย แต่ยกเป็นพิธีหนึ่งต่างหากเรียกว่าพืชมงคล โปรดให้ปลูกพลับพลาขึ้นที่หน้าท้องสนามหลวง และสร้างหอพระเป็นที่ไว้พระคันธารราษฎร์สำหรับการพระราชพิธีพืชมงคลอย่างหนึ่ง พรุณศาสตร์อย่างหนึ่ง แต่ก่อนมาพระยาผู้จะแรกนาก็มิได้ฟังสวด เป็นแต่กราบถวายบังคมลาแล้วก็ไปเข้าพิธีเหมือนตรียัมพวาย กระเช้าข้าวโปรยก็ใช้เจ้าพนักงานกรมนาหาบ ไม่ได้มีนางเทพีเหมือนทุกวันนี้ เมื่อโปรดให้มีพระราชพิธีพืชมงคลขึ้น จึงได้ให้มีนางเทพีสี่คน จัดเจ้าจอมเถ้าแก่ที่มีทุนรอนพาหนะ พอจะแต่งตัวและมีเครื่องใช้สอยติดตามให้ไปหาบกระเช้าข้าวโปรย เมื่อวันสวดมนต์พระราชพิธีพืชมงคล ก็ให้ฟังสวดพร้อมด้วยพระยาผู้จะแรกนา และให้มีกรมราชบัณฑิตเชิญพระเต้าเทวบิฐ ซึ่งเป็นพระเต้าเกิดขึ้นใหม่ในรัชกาลนั้นประพรมที่แผ่นดินนำหน้าพระยาที่แรกนา ให้เป็นสวัสดิมงคลขึ้นอีกชั้นหนึ่ง

การพระราชพิธีนี้ ในเวลาบ่ายวันที่จะสวดมนต์ที่กระบวนแห่พระพุทธรูปออกไปจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กระบวนแห่นี้เกิดขึ้นก็ด้วยเรื่องแห่เทวรูปออกไปที่โรงพระราชพิธีทุ่งส้มป่อย เป็นธรรมเนียมมีมาเสียแต่เดิมแล้ว พระพุทธรูปจะไม่มีกระบวนแห่ ก็ดูจะเลวไปกว่าเทวรูป จึงได้มีกระบวนแห่ กําหนดธงมังกร ๑๐๐ ธงตะขาบ ๑๐๐ กลองชนะ ๒๐ จ่าปี่ จ่ากลอง แตรงอน ๑๐ แตรฝรั่ง ๘ สังข์ ๒ เครื่องสูงสำรับหนึ่ง คู่แห่ ๑๐๐ พิณพาทย์ ๒ สำหรับกลองแขก ๒ สำหรับ ราชยานกง ๑ เสลี่ยงโถง ๑ คนหามพร้อม มีราชบัณฑิตประคองและภูษามาลาเชิญพระกลด พระพุทธรูปซึ่งตั้งในการพิธีแห่ออกไปจากพระราชวัง คือพระคันธารราษฎร์นั่งก้าไหล่ทององค์ใหญ่ ซึ่งอยู่ที่หอในวัดพระศรีรัตนศาสดารามองค์ ๑ พระคันธารราษฎร์ยืนก้าไหล่ทององค์ ๑ พระคันธารราษฎร์อย่างพระชนมพรรษาเงินองค์ ๑ เกิดขึ้นในแผ่นดินปัจจุบันนี้ พระทรมานเข้าอยู่ในครอบแก้วสร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๓ องค์ ๑ พระชัยประจําแผ่นดินปัจจุบันองค์ ๑ พระชัยเนาวโลหะน้อยองค์ ๑ พระพุทธรูปทั้งนี้เชิญไปจากหอพระเจ้าในพระบรมมหาราชวัง เทวรูป ๖ องค์นั่งแท่นเดียวกัน ๑ รูปพระโค ๑ แล้วเชิญพระพุทธรูปพระคันธารราษฎร์จีนก้าไหล่ทอง ซึ่งไว้ที่หอพระท้องสนามหลวงลงมาอีกองค์ ๑ พระพุทธรูปทั้งนี้เชิญขึ้นตั้งบนโต๊ะทองใหญ่ ในพระแท่นมณฑลองค์น้อย มีเชิงเทียนราย ๔ เชิง พานทองคําดอกไม้ ๒ พาน กระถางธูปหยกกระถาง ๑ ตามรอบม้าทองที่ตั้งพระ บนพระแท่นมณฑลและใต้ม้าทอง ไว้พรรณเครื่องเพาะปลูกต่างๆ คือข้าวเหนียวข้าวเจ้าต่างๆ ตามแต่จะหาได้ เมล็ดน้ำเต้า แมงลัก แตงต่างๆ ถั่วต่างๆ ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ลูกเดือย งา ของทั้งนี้กําหนดสิ่งละ ๒ ทะนาน เผือก มันต่างๆ สิ่งละ ๑๐ เหง้า ที่ควรกรอกลงขวดอัดก็กรอกลงขวดตั้งเรียงรายไว้รอบ มีเครื่องนมัสการทองทิศสำรับ ๑ ที่พลับพลาโถงมุมกําแพงแก้ว ซึ่งเป็นที่ทอดพระเนตรนา[๔] ตั้งโต๊ะจีนมีเทวรูป ๖ องค์ และรูปพระโคเหมือนที่ตั้งในพระแท่นมณฑล แต่เป็นขนาดใหญ่ขึ้น รอบโรงพระราชพิธีปักราชวัติฉัตรกระดาษวงสายสิญจน์



หัวข้อ: Re: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 02 กรกฎาคม 2561 15:58:16

เดือนหก
พระราชพิธีพืชมงคล และจรดพระนังคัล (ต่อ)

เวลาค่ำเสด็จออกทรงถวายผ้าสบงจีวรกราบพระ พระสงฆ์ที่สวดมนต์ ๑๑ รูป พระที่สวดมนต์นั้นใช้เจ้าพระราชาคณะ คือพระราชประสงค์เดิมนั้น จะใช้หม่อมเจ้าพระสังวรวรประสาธน์[๕] ซึ่งถือตาลิปัตรงาเป็นราชาคณะฝ่ายสมถะ ต่อมาจึงได้ติดเป็นตําแหน่งเจ้าพระ พระที่สวดมนต์อีก ๑๐ รูป ใช้พระเปรียญ ๓ ประโยคเป็นพื้น พระสงฆ์รับผ้าไปครองเสร็จแล้วกลับขึ้นมานั่งที่ จึงได้ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการ ทรงตั้งสัตยาธิษฐานในการพระราชพิธีแล้วทรงศีล พระยาผู้ที่แรกนานั่งที่ท้ายพระสงฆ์ มีพานธูปเทียนดอกไม้ขึ้นไปจุดบูชาพระรับศีลและฟังสวด เวลาที่สวดมนต์นั้นหางสายสิญจน์พาดที่ตัวพระยาผู้แรกนาด้วย นางเทพี ๔ คน ก็นั่งฟังสวดในม่านหลังพระแท่นมณฑล เมื่อทรงศีลแล้วทรงจุดเทียนพานเครื่องนมัสการที่พระแท่นมณฑล และที่หอพระที่พลับพลา ทรงสุหร่ายประพรมน้ำหอม และเจิมพระพุทธรูปเทวรูปทุกองค์ ในขณะนั้นอาลักษณ์นุ่งขาวห่มขาวรับหางสายสิญจน์พาดบ่า อ่านคําประกาศสำหรับพระราชพิธี คําประกาศสำหรับพระราชพิธีนี้เก็บรวบรวมความบรรดาที่เกี่ยวข้องในเรื่องการนา ที่มีมาในพระพุทธศาสนามาว่าโดยย่อๆ เป็นคำอธิษฐานในการพระราชพิธี เพื่อให้เกิดสวัสดิมงคล

คำประกาศนั้นมีข้อใจความดังต่อไปนี้ เริ่มต้นว่าคาถาเป็นทํานองสรภัญญะ สำหรับสวดอธิษฐานในการพระราชพิธี ตั้งแต่ นโมตัสส๎สะ ภควโต สุนิพพุตัสส๎สะ ตาทิโน จนถึง สัม๎ปัชชันเตวสัพ๎เพโสติ เป็นที่สุด พระคาถานี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นใหม่ เก็บข้อความย่อเป็นคำอธิษฐาน ดังจะได้กล่าวคำแปลสืบไปภายหน้า และพระคาถานี้มีพระนามพระเจ้าแผ่นดินอยู่ที่ต้องใช้ผลัดเปลี่ยนตามพระนาม คือ อัม๎หากัญ์จ มหาราชา เมื่อรัชกาลที่ ๔ ใช้ ปรเมน์โท มหิป์ปติ ในรัชกาลปัจจุบันนี้ ใช้ ปรมิน์โท มหิป์ปติ นอกนั้นก็คงอยู่ตามเดิม เมื่ออ่านพระคาถาเป็นคําสรภัญญะจบลงแล้ว จึงได้เดินเนื้อความเป็นสยามพากย์คำร้อยแก้ว เริ่มตั้งแต่ขยมบาทบวร อาทรถวายอภิวาทเป็นต้น ข้อความที่ยกมาอธิษฐานเป็นเนื้อความ ๔ ข้อๆ หนึ่งสรรเสริญพระพุทธคุณที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ธรรม อันเป็นเครื่องระงับความเศร้าโศก เพราะสละกิเลสทั้งปวงได้สิ้น ชนทั้งปวงซึ่งเร่าร้อนอยู่ด้วยตัณหา ไม่ควรเป็นที่งอกแห่งผล ได้สดับธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนก็ให้อุบัติงอกงามขึ้นได้ในสันดาน พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น กับทั้งพระธรรมพระสงฆ์เป็นเนื้อนาอันวิเศษ เหตุหว่านพืชเจริญผล อนึ่งพืชคือกุศลอาจจะให้ผลในปัจจุบันและภายหน้า ขอจงให้ผลตามความปรารถนา คือในเดือนนี้กําหนดจรดพระนังคัลจะหว่านพืชในภูมินา ขอให้งอกงามด้วยดี อย่ามีพิบัติอันตราย เป็นคำอธิษฐานข้อที่ ๑ ต่อไปยกพระคาถาภาษิตซึ่งมีมาในภารทวาชสูตร มายกขึ้นเป็นคำอธิษฐาน ความในพระสูตรนั้นว่าพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อกสิภารัทวาชะ ไปทํานาอยู่ในที่นาของตน พระพุทธเจ้าทรงเห็นอุปนิสัยว่าจะได้มรรคผล เวลาบิณฑบาตพระองค์เสด็จไปยังที่พราหมณ์ไถนาอยู่ แล้วตรัสปราศรัย พราหมณ์จึงติเตียนว่าสมณะนี้ขี้เกียจ เที่ยวแต่ขอทานเขากิน ไม่รู้จักทำไร่ไถนาหาเลี้ยงชีวิตเหมือนเช่นเรา พระองค์จึงตอบว่า การทํานาเราก็เข้าใจ เราได้ทํานาเสร็จแล้ว แก่การนาของเราไม่เหมือนอย่างของท่าน เครื่องที่เป็นอุปการะในการนาของเรามีครบทุกสิ่ง คือศรัทธาความเชื่อเป็นพืชข้าวปลูก ตบะธรรมซึ่งเผากิเลสให้เร่าร้อน และอินทรียสังวร ความระวังรักษาอินทรีย์ กับทั้งโภชนะมัตตัญญู รู้ประมาณในโภชนาหารเป็นน้ำฝน ปัญญาเป็นคู่แอกและไถ หิริเป็นงอนไถ ใจเป็นเชือกชัก สติเป็นประตักสำหรับเตือน ความสัตย์ เป็นท่อสำหรับไขน้ำ ความเพียรที่กล้าหาญสำหรับชักแอกไถ ความสำรวมใจเป็นของสำหรับปลดแอกไถ นำไปบรรลุที่อันเกษมจากกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ ย่อมไปยังสถานที่ไม่รู้กลับ เป็นสถานที่ไม่เศร้าไม่โศก มีแต่ความสุขสำราญ การไถของเราเช่นนี้ มีผลเป็นอมตะไม่รู้ตาย บุคคลมาประกอบการไถเช่นว่านี้แล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์นั้นทุกประการ ใจความในพระสูตรนั้นดังนี้ ที่ยกมาอธิษฐานในคําประกาศพระราชพิธีว่าเฉพาะแต่พระคาถา ยกว่าเป็นความจริงตามที่พระพุทธเจ้าตรัส ขออํานาจความสัตย์นั้น ให้ข้าวที่หว่านงอกงามทั่วชนบท และให้ฝนอุดมดี คําอธิษฐานนี้นับเป็นข้อที่ ๒ ต่อนั้นไปยกคาถาซึ่งมีมาในเตมียชาดก มีเรื่องราวว่า พระเจ้าพาราณสีมีพระราชโอรสพระองค์หนึ่งชื่อเตมียกุมาร เมื่อยังทรงพระเยาว์อยู่พระบิดาอุ้มประทับในพระเพลาในเวลาเสด็จออกว่าราชการ สั่งให้ลงราชทัณฑ์แก่ผู้มีความผิดต่างๆ พระเตมียกุมารได้ฟังก็มีพระราชหฤทัยท้อถอยไม่อยากจะรับราชสมบัติต่อไป จึงแกล้งทําเป็นใบ้เป็นง่อยเปลี้ยพิกลจริตจนทรงพระเจริญใหญ่ขึ้น พระบิดาสั่งให้นายสุนันทสารถีเอาไปฝังเสียในป่า พระเตมียกุมารจึงกล่าวคาถาแสดงผลที่บุคคลไม่ประทุษร้ายต่อมิตรสิบคาถา แต่ที่ยกมาใช้เป็นคำอธิษฐานในการพระราชพิธีนี้แต่สองคาถา เริ่มตั้งแต่ ภาสิตา จยิมา คาถา มีเนื้อความว่า ศาสดาผู้เป็นใบ้และเป็นง่อยได้ภาษิตไว้ว่า ผู้ใดไม่ประทุษร้ายต่อมิตร โคที่จะเป็นกําลังไถหว่านของผู้นั้น จะมีแต่เจริญไม่รู้เป็นอันตราย พืชพรรณใดๆ ที่ผู้นั้นได้หว่านลงในไร่นาแล้ว ย่อมงอกงามดีมีผลให้สำเร็จประโยชน์ ผู้นั้นย่อมได้บริโภคผลของพืชพรรณนั้นสมประสงค์ ไม่มีพิบัติอันตราย อีกพระคาถาหนึ่งนั้นว่า ข้อหนึ่งผู้ใดไม่ประทุษร้ายต่อมิตร ผู้นั้นจะไม่รู้เป็นอันตรายด้วยข้าศึกศัตรูหมู่ปัจจามิตร จะคิดทำร้ายก็ไม่อาจจะครอบงําย่ำยีได้ เปรียบประหนึ่งต้นนิโครธใหญ่ มีสาขากิ่งก้านรากย่านหยั่งลงกับพื้นแผ่นดินมั่นคงแน่นหนา แม้ถึงลมพายุใหญ่จะพัดต้องประการใด ก็ไม่อาจเพิกถอนต้นนิโครธให้กระจัดกระจายไปได้ฉะนั้น ข้อความในเรื่องเตมียชาดกมีดังนี้ ยกคาถานี้มาอธิษฐาน ด้วยอำนาจไมตรีจิต ขอให้ข้าวที่หว่านลงในภูมินาทั่วพระราชอาณาเขตงอกงามบริบูรณ์ เป็นคำอธิษฐานข้อที่ ๓ ต่อนั้นไปอ้างพระราชหฤทัยพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งทรงพระเมตตากรุณาแก่ประชาราษฎร ตั้งพระราชหฤทัยจะบำรุงให้อยู่เย็นเป็นสุขทั่วหน้าเป็นความสัตย์จริง ด้วยอํานาจความสัตย์นั้น ขอให้ข้าวงอกงามบริบูรณ์ทั่วพระราชอาณาเขต เป็นคำอธิษฐานข้อที่ ๔ คำอธิษฐานทั้ง ๔ ข้อนี้ ที่เป็นสยามพากย์แปลเนื้อความลงกันกับพระคาถาที่กล่าวแล้วข้างต้น เป็นจบตอนหนึ่ง ต่อนั้นไปดําเนินคําประกาศเทพยดาแสดงพระราชดําริซึ่งทรงพระปรารภเรื่องพระพุทธรูปซึ่งเรียกว่าคันธารราษฎร์ ยกนิทานในวาริชชาดกมากล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จอยู่ ณ พระเชตวันในเมืองสาวัตถี ฝนแล้ง ข้าวกล้าในนาแห้งทั่วทั้งเมือง น้ำในลำธารห้วยคลองหนองบึงทุกแห่งก็แห้ง จนถึงสระโบกขรณีที่เคยเป็นพุทธบริโภคน้ำก็แห้งจนเห็นตม ปลาทั้งหลายก็ได้ความลำบากด้วยฝูงกามาจิกกินเป็นอาหาร ต้องมุดซ่อนอยู่ในตม ในขณะนั้นพระพุทธเจ้าเสด็จไปทรงบิณฑบาตเห็นเหตุดังนั้น ก็มีพระหฤทัยกรุณา เมื่อเสด็จกลับมาทําภัตกิจแล้วจึงตรัสเรียกพระอานนท์ให้นำผ้าอุทกสาฎกมาถวาย พระอานนท์ก็ทูลว่าน้ำในสระแห้งเสียหลายวันแล้ว พระองค์ก็ตรัสเรียกผ้าอุทกสาฎกยืนคําอยู่ พระอานนท์จึงได้นำมาถวาย พระองค์ทรงรับผ้ามา ชายส่วนหนึ่งนั้นทรง ส่วนหนึ่งนั้นตระหวัดขึ้นบนพระอังสประเทศ เสด็จยืนที่ฝั่งสระแสดงพระอาการ พระหัตถ์ขวากวักเรียกฝน พระหัตถ์ซ้ายหงายรองน้ำฝน ขณะนั้นฝนก็ตกลงมาเป็นอันมาก ท่วมในที่ซึ่งควรจะขังน้ำทุกแห่ง มนุษย์และสัตว์ทั้งปวงก็มีความชื่นชมยินดีกล่าวคําสรรเสริญต่างๆ เมื่อพระองค์ทรงทราบจึงตรัสว่า แต่กาลปางก่อน นฬะปะมัจฉะชาติ คือปลาช่อน ก็อาจตั้งสัตยาธิษฐานให้ฝนตกลงได้ แต่ในคำประกาศนี้หาได้ยกคาถา นฬะปะมัจฉะชาติ มากล่าวไว้ไม่ ด้วยท้องเรื่องของคาถานั้นเป็นเรื่องขอฝน ในคําประกาศนี้ประสงค์แต่จะกล่าวถึงเรื่องพระพุทธรูปคันธารราษฎร์ ซึ่งยกเรื่องนิทานมากล่าวก็เพราะเรื่องเนื่องติดกันเท่านั้น เพราะฉะนี้จึงจะของดเสียไม่นำคาถาพระยาปลาช่อนอธิษฐาน มากล่าวอธิบายในที่นี้ เหมือนอย่างเรื่องเตมียชาดก ด้วยคาถานั้นบางทีจะต้องกล่าวในพิธีพรุณศาสตร์ จึงจะขอว่าความตามคําประกาศนั้นต่อไป ว่าเมื่อพระพุทธเจ้า เสด็จปรินิพพานแล้วได้สองร้อยปีเศษ มีพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งได้ครอบครองเป็นใหญ่ในคันธารราษฎร์ มีความเลื่อมใสในพระมัชฌันติกะเถระ จึงได้รับพระพุทธศาสนาไปถือสืบต่อกันมาหลายชั่วแผ่นดิน ภายหลังพระเจ้าแผ่นดินในคันธารราษฎร์องค์หนึ่งได้ทรงฟังเรื่องพระพุทธเจ้าทรงบันดาลให้ฝนตกนั้น ก็ทรงเลื่อมใส ให้สร้างพระพุทธปฏิมากรมีอาการอย่างจะสรงน้ำทําปริศนาเรียกฝนเช่นนั้น ครั้นเมื่อปีใดฝนแล้งก็ให้เชิญพระพุทธปฏิมากรนั้นออกตั้งบูชาขอฝน ฝนก็ตกลงได้ดังประสงค์ ภายหลังมามีผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาสร้างพระพุทธรูปมีอาการเช่นนั้น ต่อๆ มาก็เรียกสมญาว่าพระพุทธคันธารราษฎร์ เพราะเหตุที่ได้สร้างขึ้นในเมืองคันธารราษฎร์เป็นตัวอย่างต้นเดิมมา ครั้นเมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธรูปมีอาการเช่นนั้น จึงได้โปรดให้หล่อขึ้นใหม่ ก้าไหล่ทองคําไว้สำหรับตั้งในการพระราชพิธี เป็นจบเรื่องพระคันธารราษฎร์ ต่อนั้นไปว่าด้วยการพระราชกุศลที่ทรงบําเพ็ญในการพระราชพิธีนี้ ทรงพระราชอุทิศแก่เทพยดา เป็นต้น แล้วเป็นความอธิษฐานตามพระราชพิธีลงปลายตามธรรมเนียม

ครั้นเมื่ออ่านประกาศจบแล้ว พระสงฆ์จึงได้สวดมนต์มหาราชปริตรสิบสองตำนาน เมื่อถึงท้ายสวดมนต์สวดคาถา นโม ตัส๎ส ภควโต สุนิพ๎พุตัส๎ส ตาทิโน เหมือนอย่างเช่นอาลักษณ์อ่านเป็นทํานองสรภัญญะซึ่งกล่าวมาแล้ว เมื่อสวดมนต์จบแล้วพระราชทานน้ำสังข์ใบมะตูม ทรงเจิมหน้าเจิมมือพระยาผู้แรกนาและนางเทพีทั้งสี่ แต่พระยาผู้แรกนานั้นได้พระราชทานพระธํามรงค์มณฑปนพเก้าให้ไปสวมในเวลาแรกนาด้วยสองวง แล้วพระครูพราหมณ์พฤฒิบาศมารดน้ำสังข์ให้ใบมะตูมต่อไป ขณะเมื่อพระราชทานน้ำสังข์นั้น พระสงฆ์สวดชยันโต ประโคมพิณพาทย์ เป็นเสร็จการในเวลาค่ำ รุ่งขึ้นเลี้ยงพระสงฆ์แล้วแห่พระพุทธรูปกลับ เป็นหมดพระราชพิธีพืชมงคล

พระราชพิธีจรดพระนังคัล เริ่มแต่เวลาบ่ายวันสวดมนต์พระราชพิธีพืชมงคล มีกระบวนแห่ๆ พระเทวรูปพระอิศวร ๑ พระอุมาภควดี ๑ พระนารายณ์ ๑ พระมหาวิฆเนศวร ๑ พระพลเทพแบกไถ ๑ กระบวนแห่มีธงมีคู่แห่เครื่องสูงกลองชนะ คล้ายกันกับที่แห่พระพุทธรูป เป็นแต่ลดหย่อนลงไปบ้าง ออกจากในพระบรมมหาราชวังไปโดยทางบก เข้าโรงพิธีที่ทุ่งส้มป่อยนาหลวง เวลาค่ำพระมหาราชครูพิธีทําการพระราชพิธีเหมือนอย่างพิธีทั้งปวง ไม่มีการแปลกประหลาดอันใด

รุ่งขึ้นเวลาเช้าตั้งแต่กระบวนแห่ๆ พระยาผู้แรกนา กําหนดเกณฑ์คนเข้ากระบวนแห่ ๕๐๐ กระบวนนั้นไม่เป็นกระบวนใหญ่เหมือนอย่างแห่ยืนชิงช้า คือธงตราตําแหน่งของผู้แรกนาทํา แล้วบโทนนุ่งตาโถงสวมเสื้อแดง สะพายดาบฝักแดงฝักเขียวสองแถว กระบวนสวมเสื้อเสนากุฎกางเกงริ้วสองแถวๆ ละ ๑๕ ถัดมาบโทนขุนหมื่นสวมเสื้อเข้มขาบอัตลัดสะพายดาบฝักเงินแถวละ ๑๕ กลองชนะ ๑๐ คู่ จ่าปี่ ๑ กรรชิงหน้าคู่ ๑ เสลี่ยงพระยาผู้แรกนา สัปทนบังสูรย์ มีหลวงในมหาดไทยคู่ ๑ กลาโหมคู่ ๑ กรมท่าคู่ ๑ กรมนาคู่ ๑ กรมวังคู่ ๑ กรมเมืองคู่ ๑ เป็นคู่เคียง ๑๒ คน นุ่งผ้าไหมสวมเสื้อเยียรบับ กรรชิงหลังคู่ ๑ บ่าวถือเครื่องยศและถืออาวุธตามหลังเสลี่ยง คู่แห่หลังถือดาบเชลยแถวละ ๑๕ ถือหอกคู่แถวละ ๑๕ ถือกระบองแถวละ ๑๕ พระยาผู้แรกนาแต่งตัวเหมือนยืนชิงช้า เมื่อถึงโรงพระราชพิธีเข้าไปจุดธูปเทียนบูชาเทวรูป แล้วตั้งสัตยาธิษฐานจับผ้าสามผืน ผ้านั้นใช้ผ้าลายหกคืบผืน ๑ ห้าคืบผืน ๑ สี่คืบผืน ๑ ถ้าจับได้ผ้าที่กว้างเป็นคําทํานายว่าน้ำจะน้อย ถ้าได้ผ้าที่แคบว่าน้ำจะมาก เมื่อจับได้ผ้าผืนใดก็นุ่งผ้าผืนนั้น ทับผ้านุ่งเดิมอีกชั้นหนึ่ง นุ่งอย่างบ่าวขุนออกไปแรกนา มีราชบัณฑิตคนหนึ่ง เชิญพระเต้าเทวบิฐประน้ำพระพุทธมนต์ไปหน้า พราหมณ์เชิญพระพลเทพคนหนึ่ง เป่าสังข์ ๒ คน พระยาจับยามไถ พระมหาราชครูพิธียืนประตักด้ามหุ้มแดง[๖] ไถดะไปโดยรีสามรอบ แล้วไถแปรโดยกว้างสามรอบ นางเทพีทั้ง ๔ จึงได้หาบกระเช้าข้าวปลูก กระเช้าทอง ๒ คน กระเช้าเงิน ๒ คน ออกไปให้พระยาโปรยหว่านข้าว แล้วไถกลบอีกสามรอบ จึงกลับเข้ามายังที่พัก ปลดพระโคออกกินเลี้ยงของเสี่ยงทาย ๗ สิ่ง คือ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่ว งา เหล้า น้ำ หญ้า ถ้าพระโคกินสิ่งไรก็มีคําทํานาย แต่คําทํานายนั้นมักจะว่ากันว่า ถ้าพระโคกินสิ่งใดสิ่งนั้นจะบริบูรณ์ แต่ก็ดูว่ากันไปหลวมๆ เช่นนั้น ไปนึกไม่ออกเสียที่กินเหล้าอะไรจะบริบูรณ์ เพราะจะสังเกตคำทำนายที่ถวายทุกๆ ปีก็สังเกตไม่ได้ เพราะข้าพเจ้าได้เห็นคำทำนายมา ๒๑ ครั้งแล้วก็มีแต่ว่า ข้าพระพุทธเจ้าโหรพราหมณ์รับพระราชทานพยากรณ์ว่าในปีอะไรๆ ศกนี้ ธัญญาหารผลาหารจะบริบูรณ์ เหมือนกันเป็นตีพิมพ์ทั้ง ๒๑ ครั้ง การเท่านี้เป็นเสร็จพระราชพิธีจรดพระนังคัลแห่พระยากลับ แล้วแห่เทวรูปกลับ ในการจรดพระนังคัลเป็นเวลาคนมาประชุมมาก ถึงจะอยู่บ้านไกลๆ ก็มักจะมาด้วยมีประโยชน์ความต้องการเมื่อเวลาโปรยข้าวปลูกลงในนา พอพระยากลับแล้วก็พากันเข้าแย่งเก็บข้าว จนไม่มีเหลืออยู่ในท้องนาเลย เมื่อรัชกาลที่ ๔ ได้โปรดให้ไปชันสูตรหลายครั้งว่ามีข้าวงอกบ้างหรือไม่ ก็ไม่พบเหลืออยู่จนงอกเลย เมื่อทอดพระเนตรแรกนาที่เพชรบุรี พอคนที่เข้ามาแย่งเก็บพรรณข้าวปลูกออกไปหมดแล้ว รับสั่งให้ตํารวจหลายคนออกไปค้นหาเมล็ดข้าวว่าจะเหลืออยู่บ้างหรือไม่ ก็ไม่ได้มาเลยจนสักเมล็ดหนึ่ง พันธุ์ข้าวปลูกซึ่งเก็บไปนั้น ไปใช้เจือในพรรณข้าวปลูกของตัว ให้เป็นสวัสดิมงคลแก่นาบ้าง ไปปนลงไว้ในถุงเงินให้เกิดประโยชน์งอกงามบ้าง การแรกนาจึงเป็นที่นิยมของคนทั้งปวงไม่จืด ยังนับว่าเป็นพระราชพิธีซึ่งเป็นที่ต้องใจคนเป็นอันมาก

หัวเมืองซึ่งมีการแรกนา มีของหลวงพระราชทานเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๔ คือกรุงเก่าเมือง ๑ เพชรบุรีเมือง ๑ แต่เมืองซึ่งเขาทําแรกนามาแต่เดิม ไม่มีของหลวงพระราชทาน คือเมืองนครศรีธรรมราช เมืองไชยา ๒ เมืองนี้เป็นเมืองมีพราหมณ์ๆ เป็นธุระในการพิธี แต่ผู้ว่าราชการเมืองไม่ได้ลงแรกนาเอง มอบให้หลวงนาขุนนาเป็นผู้แรกนาแทนตัว เมืองสุพรรณบุรีอีกเมืองหนึ่งก็ว่ามีแรกนา ไม่ได้เกี่ยวข้องในการหลวงเหมือนกัน แต่ในปีนี้ได้จัดให้มีการแรกนาขึ้นเป็นการหลวงอีกเมืองหนึ่ง[๗] อนึ่ง พลับพลาที่ท้องสนาม รื้อย้ายไปที่ริมศาลหลักเมือง การแรกนาจึงได้ย้ายไปทําที่พลับพลาใหม่ ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป

คำตักเตือนในการพระราชพิธีพืชมงคล มหาดเล็กต้องรับพานเทียนคอยถวายเมื่อเวลาทรงศีลแล้ว และคอยเชิญเสด็จพระเจ้าลูกเธอขึ้นไปบนหอพระและที่พลับพลาโถง ภูษามาลาต้องเตรียมพระสุหร่ายและแป้งเจิม รับพระธํามรงค์นพเก้าจากข้างใน และสังข์และแป้งเจิมที่สำหรับจะรดน้ำพระยาและนางเทพี คอยถวายเมื่อพระสงฆ์สวดมนต์จบ นอกนั้นไม่มีขาดเหลืออันใด
 

-------------------------------------------------------------------------------------
[๑] มีนนิง (Meaning) คือความหมาย
[๒] พระยาอภัยรณฤทธิ (แย้ม บุณยรัตพันธุ์) ภายหลังเป็นพระยาสีหราชฤทธิไกร ได้แรกนาต่อเจ้าพระยาภูธราภัยผู้บิดา ด้วยเป็นตระกูลพราหมณ์มาแต่กรุงเก่าฯ
[๓] ในระหว่างปีกุน พ.ศ. ๒๔๐๖ จนปีฉลู พ.ศ. ๒๔๐๘ ฝนแล้งติดต่อกัน ๓ ปี
[๔] พลับพลาและหอพระในท้องสนามหลวงรื้อเมื่อทำท้องสนาม ภายหลังทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเรื่องนี้ แต่เดิมมาถึงเรียกว่าสนามหลวง ก็เป็นอย่างท้องนา หน้าแล้ง
     แผ่นดินแห้งจึงใช้ปลูกพระเมรุ หน้าฝนปิดน้ำขังไว้ทํานาในท้องสนามหลวง จึงมีพลับพลาสำหรับเสด็จประทับทอดพระเนตรนา การที่ทำนาในท้องสนามหลวง เล่ากัน
     มาว่าด้วยประสงค์จะให้แขกเมือง คือทูตญวนเป็นต้น แลเห็นว่าเมืองไทยข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ แม้จนชานพระราชวังก็เป็นที่ไร่นาเพาะปลูก
[๕] หม่อมเจ้าพระสังวรวรประสาธน์องค์นั้น ชื่อหม่อมเจ้าพระเล็กในกรมหมื่นนราเทเวศร์ อยู่วัดอมรินทร สิ้นชีพตักษัยในรัชกาลที่ ๕ ต่อมาหม่อมเจ้าพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัด)
     วัดพระเชตุพน ในกรมหลวงเสนีบริรักษ์ แต่ยังเป็นหม่อมเจ้าพระพุทธุปบาทปิลันทน์อยู่วัดระฆัง แล้วถึงหม่อมราชวงศ์พระสังวรวรประสาธน์ พยอม อยู่วัดอมรินทร หม่อมเจ้าพระ
     สังวรวรประสาธน์ ชัชวาลย์ วัดบวรนิเวศในกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ เเล้วถึงหม่อมราชวงศ์พระพิมลธรรม (เจริญ อิศรางกูร ณ อยุธยา) อยู่วัดระฆัง
[๖] ในรัชกาลปัจจุบันนี้ ค้นได้พระเเสงประตักด้ามหวายเทศองค์ ๑ เดี๋ยวนี้พระราชทานพระเเสงนั้น พร้อมกับพระธำมรงค์ในวันสวดมนต์
[๗] เเรกนาหัวเมืองทีหลังเลิกหมด ด้วยฤดูทํานาหัวเมืองทําก่อนกรุงเทพฯ โดยมากราษฎรไม่ลงมือไถนาก่อนฤกษ์เเรกนา บางปีฝนมีก่อนฤกษ์ การที่รอเสียประโยชน์การทํานา จึงโปรดให้เลิกแรกนาหัวเมืองเสีย


หัวข้อ: Re: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 02 กรกฎาคม 2561 16:07:32

เดือนหก
การวิสาขบูชา

๏ พระอรรถกถาจารย์เจ้ากําหนดไว้ว่า พระพุทธเจ้าได้ประสูติและตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ และเสด็จปรินิพพานในวันเพ็ญพระจันทร์เสวยฤกษ์วิศาขะ วันกําหนดนี้จึงเป็นนักขัตฤกษ์ ซึ่งชนทั้งปวงผู้นับถือพระพุทธศาสนาได้ทําการบูชาพระรัตนตรัย เป็นการระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า คล้ายกับทําเฉลิมพระชนมพรรษาหรือแซยิดปีละครั้งแต่โบราณมา การกําหนดที่พระจันทร์ในวันเพ็ญเสวยวิสาขนักขัตฤกษ์นี้แต่โบราณมาถือว่าตรงในเพ็ญเดือน ๖ เสมออยู่ไม่ยักเยื้อง ตลอดมาจนถึงในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวางวิธีแบบปักขคณนาคิดวันพระจันทร์เพ็ญให้ใกล้กับที่จริงเข้ากว่าแต่ก่อน วันวิสาขนักขัตฤกษ์จึงได้เคลื่อนไปเป็นเพ็ญเดือนเจ็ดบ้างในบางปี แต่ยืนอยู่ในเดือนหกโดยมาก ก็การที่ถือว่าพระจันทร์เพ็ญเสวยฤกษ์วิศาขะเป็นนักขัตฤกษ์ที่ควรประกอบการบูชาใหญ่ในพระรัตนตรัยซึ่งถือกันอยู่ในเมืองที่นับถือพระพุทธศาสนามาแต่โบราณนั้น จะให้ได้ความชัดว่าตั้งแต่พระพุทธศาสนาได้มาประดิษฐานในแผ่นดินสยามแล้ว คนทั้งปวงได้ทําการบูชานั้นมาแต่เดิมหรือไม่ได้ทํา ก็ไม่มีปรากฏชัดในที่แห่งใด จนถึงกรุงสุโขทัยจึงได้ความตามหนังสือที่นางนพมาศแต่งนั้นว่า “ครั้นถึงวันวิสาขบูชา สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินและราชบริรักษ์ฝ่ายหน้าฝ่ายใน ทั้งอาณาประชาราษฎรทั่วทุกนิคมคามชนบท ก็ประดับพระนครและพระราชวังข้างหน้าข้างในจวนตำแหน่งท้าวพระยา พระหลวงเศรษฐี ชีพราหมณ์ บ้านเรือน โรงร้าน พ่วงแพ ชนประชาชายหญิง ล้วนแต่แขวนโคมประทีปชวาลาสว่างไสวห้อยย้อยพวงบุปผชาติประพรมเครื่องสุคนธรส อุทิศบูชาพระรัตนตรัยสิ้นสามทิวาราตรี มหาชนชวนกันรักษาพระอุโบสถศีล สดับฟังพระสัทธรรมเทศนาบูชาธรรม บ้างก็ถวายสลากภัตตาหารสังฆทานข้าวบิณฑ์ บ้างก็ยกขึ้นซึ่งธงผ้าบูชาพระสถูปเจดีย์ บ้างก็บริจาคทรัพย์จําแนกแจกทานแก่ยาจกทลิททก คนกําพร้าอนาถาชราพิการ บ้างก็ซื้อไถ่ชีวิตสัตว์จตุบททวิบาทชาติมัจฉาต่างๆ ปลดปล่อยให้ได้ความสุขสบาย อันว่าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินและราชตระกูล ก็ทรงศีลบําเพ็ญการพระราชกุศลต่างๆ ในวันวิสาขบูชาพุทธศาสนาเป็นอันมาก เวลาตะวันฉายแสงก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยราชสุริยวงศ์และนางใน ออกวัดหน้าพระธาตุราชอารามหลวงวันหนึ่ง ออกวัดราษฎร์บุรณพระวิหารหลวงวันหนึ่ง ออกวัดโลกสุทธราชาวาสวันหนึ่ง ต่างนมัสการพระรัตนัตตยาธิคุณ โปรยปรายผกาเกสรสุคนธรสสักการบูชา ถวายประทีปธูปเทียนเวียนแว่นรอบรัตนบัลลังก์ ประโคมดุริยางคดนตรีดีดสีตีเป่า สมโภชพระชินศรี พระชินราช พระโลกนาถ พระสัฏฐารส โดยมีกมลโสมนัสศรัทธาทุกตัวคน” แล้วมีคําสรรเสริญว่า “อันพระนครสุโขทัยราชธานี ถึงวันวิสาขนักขัตฤกษ์ครั้งใด ก็สว่างไปด้วยแสงประทีปเทียนดอกไม้เพลิง แลสล้างสลอนด้วยธงชายธงประดากไสวไปด้วยพู่พวงดวงดอกไม้กรองร้อยห้อยแขวน หอมตลบไปด้วยกลิ่นสุคนธรสรวยรื่น เสนาะสำเนียงพิณพาทย์ฆ้องกลองทั้งทิวาราตรี มหาชนชายหญิงพากันกระทำกองการกุศล เสมือนจะเผยซึ่งทวารพิมานฟ้าทุกช่อชั้น” กล่าวไว้เป็นการสนุกสนานยิ่งใหญ่ เหมือนอย่างในหนังสือโบราณก่อนๆ ขึ้นไป ที่ได้กล่าวถึงวันวิสาขบูชาดังนี้

แต่ส่วนที่ในกรุงเก่า มิได้ปรากฏมีในจดหมายแห่งหนึ่งแห่งใด ดูเป็นการลืมเสียทีเดียว ตลอดลงมาถึงกรุงรัตนโกสินทรซึ่งเป็นลูกศิษย์กรุงเก่า ก็ไม่ได้มีการพระราชกุศลวิสาขบูชา ตลอดมาจนปีฉลู นพศก จุลศักราช ๑๑๗๙ (พ.ศ.๒๓๖๐) รัตนโกสินทรศก เป็นปีที่ ๓๖ ในรัชกาลที่ ๒ สมเด็จพระสังฆราชมี ซึ่งมาแต่วัดราษฎร์บุรณถวายพระพรให้ทรงทำวิสาขบูชาเป็นครั้งแรก การที่ทำนั้นถึงว่าในหมายอ้างว่าเป็นมหายัญญบูชาใหญ่ก็จริง แต่การที่จัดนั้นดูเหมือนหนึ่งจะต้องถามกันว่าจะให้ทําอย่างไรจะควร ท่านพระสังฆราชนั้นจะต้องถวายพระพร อธิบายว่าที่ทํากันมาแต่ก่อนนั้น คือจุดโคมตามประทีปบูชาทั้งในพระอารามและตามบ้านเรือนทั้งปวง จึงโปรดให้ทําโคมปิดกระดาษเสาไม้ไผ่ยอดผูกฉัตรกระดาษ เหมือนกับโคมบริวารการพระราชพิธีจองเปรียง แปลกแต่เสาทาปูนขาวเสีย เหมือนโคมชัย โคมประเทียบ ให้ไปปักตามพระอารามหลวง พระอารามละสี่เสาเป็นส่วนตามประทีปในวัด ส่วนที่ตามประทีปตามบ้านเรือนนั้น ก็ให้อำเภอกํานันป่าวร้องให้ราษฎรจุดโคม เป็นการคร่าวๆ แรกๆ ก็เห็นจะมีบ้างแห่งละใบสองใบมีโคมข้าวแขกเป็นต้น เป็นส่วนที่จุดประทีปตามบ้านเรือนต้องด้วยอย่างเก่า อีกประการหนึ่งนั้นมีพวงดอกไม้แขวนบูชาตลอดทั้งสามวัน ก็ให้เกณฑ์ข้าราชการร้อยดอกไม้มาแขวนในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วันละร้อยพวงเศษ อีกประการหนึ่งนั้น มีดอกไม้เพลิงเป็นเครื่องสักการบูชา ก็ให้มีพุ่มดอกไม้เพลิงมาปักจุดที่หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อีกประการหนึ่งมีพระธรรมเทศนาและรักษาอุโบสถศีล ก็ให้มีเทศนาของหลวงตามวัดฝั่งตะวันออกสิบพระอาราม ฝั่งตะวันตกสิบพระอาราม และให้อำเภอกํานันป่าวร้องให้ราษฎรรักษาศีล อย่าให้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และให้ชักชวนกันไปฟังพระธรรมเทศนา อีกประการหนึ่ง ว่ายกธงขึ้นบูชา ก็ให้ทําธงจระเข้ไปปักตามวัดหลวงวัดละคัน อีกประการหนึ่ง ว่าเคยเลี้ยงพระสงฆ์และถวายสลากภัต ก็โปรดให้เลี้ยงพระสงฆ์ในท้องพระโรง และสดับปกรณ์พระบรมอัฐิด้วยข้าวสลากภัต และประกาศให้ราษฎรชักชวนกันทำสลากภัตถวายพระสงฆ์ การที่จัดไปทั้งปวงนี้เห็นชัดว่าเป็นจัดตามแบบโบราณที่เคยทำมา เมื่อจะดูเทียบกันกับจดหมายนางนพมาศ ก็เกือบจะมีการบูชาทุกอย่างเต็มตามที่จดหมายไว้ เป็นแต่อาการที่ทํานั้นคนละอย่าง ในจดหมายนางนพมาศดูเป็นการครึกครื้นพร้อมเพรียงกัน ทั้งพระเจ้าแผ่นดินและราษฎร เป็นนักขัตฤกษ์ที่รู้ทั่วกัน เป็นที่รื่นเริงทั่วกัน ในการที่จัดขึ้นชั้นหลังตามแบบเก่า ดูเป็นแต่การสังเขปย่อๆ พออย่าให้เสียโบราณ หรือคิดจะจัดให้เป็นการครึกครื้นจริง แต่หากคนทั้งปวงไม่ได้ประพฤติมาแต่ก่อนพากันเนือยๆ เฉยๆ ไปเสีย ก็เลยจืดจางไป แต่เมื่อพิเคราะห์ดูจริงๆ แล้ว เห็นว่าถึงส่วนในราชการก็อยู่ข้างจะเลือนๆ เป็นแต่การเสียไม่ได้อยู่ เพราะไม่ได้เคยทำเคยนึกถึงมาเสียช้านานแล้ว จนชั้นหลังในปัจจุบันนี้ การวิสาขบูชามีผู้ทํามากขึ้น ก็ยังเป็นการของชาววัดแท้ พวกชาวบ้านที่เกี่ยวข้องบ้างก็แต่พวกที่จําศีลภาวนา แต่คนทั้งปวงที่เฉยอยู่ไม่รู้สึกนั้นโดยมาก ไม่เหมือนนักขัตฤกษ์ตรุษสงกรานต์ ชั้นต่ำก็สารทยังดีกว่ามาก เมื่อจะคิดไปดูก็ไม่น่าจะเป็นเช่นนี้ ถ้าพระเจ้าแผ่นดินองค์อื่น ซึ่งได้ดํารงราชสมบัติมาในชั้นต้น จะว่าไม่ทรงทราบชัดเจนในพระพุทธศาสนา จึงไม่ได้ทรงทําก็ตามเถิด แต่พระเจ้าทรงธรรมซึ่งเป็นพระพิมลธรรมอยู่ก่อน ว่าแตกฉานในพระไตรปิฎก และทรงพระธุระในการพระพุทธศาสนามาก จนถึงเสด็จออกไปนั่งเป็นอาจารย์บอกหนังสือพระสงฆ์วันละร้อยรูป และทรงพระวิตกเป็นห่วงบ่วงใยกลัวชาดกต่างๆ จะสูญตามคําทํานายของพระอรรถกถาจารย์เจ้ากล่าวไว้ในปัญจอันตรธาน จึงทรงพระอุตสาหะแต่งมหาชาติคำหลวงขึ้นไว้ให้สืบอายุพระพุทธศาสนา และทรงเสาะแสวงหาเจดียฐานอันเป็นที่ชอบใจคนทั้งปวง ให้ก่อเกิดความศรัทธาเลื่อมใสได้ใหญ่โตยืดยาวอย่างเช่นพระพุทธบาท การซึ่งทรงเป็นพระธุระในพระพุทธศาสนาทั้งสามอย่างนี้ ก็เพื่อจะสำแดงให้เห็นความรู้ซึ่งได้ทรงคึกษาในพระพุทธศาสนาทั่วถึงโดยมาก แต่การวิสาขบูชานี้ก็น่าที่จะทรงสำแดงความรู้อีกสักอย่างหนึ่ง แต่เหตุใดจึงทรงลืมเสียก็ไม่ทราบเลย หรือจะเป็นด้วยพระธุระในการบอกหนังสือ และในการแต่งพระมหาชาติมากเสียจนไม่มีเวลาจะทรงค้นคว้าได้ เพราะย่อมจะทรงเห็นว่าการซึ่งแต่งพระมหาชาตินั้นเป็นการบำรุงพระศาสนาสำคัญกว่าการวิสาขบูชาที่เป็นแต่การบูชาภายนอก จึงไม่เป็นพระราชธุระ

จะขอพูดนอกเรื่องสักหน่อยหนึ่ง ในเรื่องปัญจอันตรธานนี้มีคำทำนายที่พระอรรถกถาจารย์ได้กะไว้ว่าจะเสื่อมลงมาตามลำดับ คือธรรมที่ดีๆ ตั้งแต่พระปรมัตถ์ลงมาจนถึงชาดก ในกระบวนชาดกด้วยกันมหาเวสสันดรชาดกจะเสื่อมก่อน เพราะเป็นชาดกดีกว่าชาดกทั้งปวง ความคิดซึ่งคิดเห็นเช่นนี้ โดยเชื่อมั่นว่าต่อไปภายหน้าคนจะเรียวลงไปทุกชั้น สติปัญญาความรู้ก็จะน้อยลงทุกชั้น ถ้อยคําสั่งสอนอันใดที่เป็นคําลึกก็จะไม่มีผู้ใดอยากฟังและฟังก็จะไม่เข้าใจ เมื่อชั้นปลายๆ ลงก็จะเหลือแต่นิทานสุวรรณเศียรหรือเจ้าเงาะกับรจนา เป็นธรรมอันอุดมที่ชนภายหลังจะได้สดับ เพราะความคิดเห็นเช่นนี้มั่นอยู่ในสันดาน เมื่อจะแต่งหนังสืออันใดก็แต่งตามชอบใจ เพิ่มเติมข้อความลงไว้ให้มากๆ ล่อให้สนุกและพิศวงงงงวย สำหรับแก่ปัญญาผู้ที่เลวทรามในชั้นหลังจะได้เชื่อถือ เมื่อเชื่อถือเพลิดเพลินค้นไปค้นไปจะได้ล่อให้ไปถึงธรรมที่ลึก ความเห็นของผู้ที่แต่งหนังสือมากๆ เกินเหตุ คิดเห็นว่าไม่เป็นมุสาด้วยเป็นประโยชน์เช่นนี้ จึงได้ไม่ว่านิทานอะไรๆ ก็เก็บเอามาเรียบเรียง ที่สุดจนฝอยของนิทานอาหรับราตรีก็มีถูกกับชาดกหลายเรื่อง ความคิดที่เกิดขึ้นเช่นนี้ ก็เพราะได้สังเกตดูเด็กที่มันเกิดมาเมื่อเวลาตนมีอายุมากแล้วนั้นดูโง่กว่าตัวมาก กว่าเด็กนั้นจะมีอายุมากเท่าตัวผู้สังเกต ผู้สังเกตก็ตายไปเสียก่อนแล้ว ไม่ได้ชั่งได้เทียบกันว่ามันจะดีเท่าตัวได้หรือไม่ แต่ที่แท้นั้นโลกตั้งมานานเท่าใด มนุษย์ก็ขุดคุ้ยวิชาความรู้เปิดเผยขึ้นทุกวันทุกคืนตามลำดับ ชนซึ่งเกิดภายหลังย่อมจะรู้การอะไรได้ดีได้เร็วกว่าเราซึ่งเป็นผู้กำลังขุดคุ้ยอยู่ เปรียบเหมือนหนึ่งมีผู้รู้ว่าดูเหมือนจะมีแร่เงินแร่ทองอยู่ในแผ่นดินตรงนั้นๆ ผู้ที่รู้นั้นยังต้องเคลือบแคลงว่าจะเป็นการจริงหรือเท็จไม่แน่อยู่ ครั้นเมื่อขุดลงไปในเวลาที่ขุดนั้นก็ยังไม่ทราบแน่ ต่อเมื่อขุดลงไปได้แร่ขึ้นมาสูบถลุงหล่อหลอมออกเป็นเนื้อเงินเนื้อทอง จึงจะรู้ว่าเป็นแร่เงินแร่ทองมีอยู่ในที่นั้น เมื่อมีผู้เดินมาภายหลังได้เห็นเนื้อทองเนื้อเงิน หรือเห็นบ่อที่ขุดแร่นั้นก็ดี มีผู้บอกว่าเงินทองนี้ขุดขึ้นมาได้จากบ่อแห่งนั้น หรือบ่อแห่งนั้นมีแร่เงินแร่ทอง ผู้นั้นก็จะรู้ได้ทันทีว่า ที่บ่อนั้นมีแร่เงินแร่ทองจริง เร็วกว่าระยะที่ผู้รู้ข่าวว่ามีแร่เงินแร่ทองแล้วและไปเสาะแสวงหาสายแร่ จนขุดขึ้นมาสูบถลุงหล่อหลอมได้เนื้อเงินเนื้อทอง จึงจะรู้ว่ามีจริงนั้นมาก อุปมาที่กล่าวนี้ฉันใดก็เปรียบเหมือนกับคนที่เกิดภายหลัง ได้อาศัยกําลังคนแต่ก่อนขุดคุ้ยวิชาความรู้ขึ้นไว้แล้ว เมื่อมีครูอาจารย์บอกเล่าก็เรียนรู้ได้โดยเร็ว เพราะฉะนั้นผู้ซึ่งเกิดภายหลังถ้าได้ร่ำเรียนแล้ว ก็รู้วิชาทันผู้ที่เกิดก่อนได้โดยเร็วกว่าผู้ที่เกิดก่อนจะเสาะหาวิชาเอง เพราะฉะนั้นความคิดที่คิดเห็นว่าต่อไปภายหน้ามีแต่จะเลวทรามลงนั้นจึงเป็นการผิด ด้วยคําอันใดที่เขียนไว้เกินจริง ด้วยประสงค์จะอนุเคราะห์ก็ดี จะให้พิศวงงงงวยก็ดี จึงไม่เป็นการมีคุณได้สมประสงค์ กลับเป็นเรื่องรุงรังรกเรี้ยวปิดบังของที่ดีที่วิเศษแท้จริงนั้นเสีย เพราะถ้อยคำที่แต่งไว้นั้นไม่ควรแก่ปัญญาชนภายหลังจะคิดเห็นตามได้ ก็ชักให้เคลือบแคลงสงสัยจนเห็นว่าไม่มีแก่นสารอันใดที่จะสืบเสาะหาของดีในกองฝุ่นฝอยนั้นได้ ก็ถ้าเป็นผู้ซึ่งมีความเพียรประสงค์จะเสาะสางหาของที่ดีจริงๆ ก็ต้องกวาดคุ้ยขยะฝุ่นฝอยนั้นทิ้งเสีย เลือกถือเอาแต่ของที่ดี การอันตรธานที่จะเป็นไปได้จริงๆ ก็คงต้องอันตรธานไปในของที่ไม่เป็นแก่นสารก่อน ถ้าจะให้ข้าพเจ้าทํานายแล้วข้าพเจ้าทํานายว่าชาดกอันตรธานก่อน เพราะเป็นของรกเรี้ยวต่างๆ มีมาก ธรรมะที่ดีถึงว่าจะไม่มีผู้ใดถือโดยตรงๆ ก็คงยังต้องประพฤติตามธรรมะที่ดีอยู่นั้นเอง ถึงว่าผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งไม่ได้เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา แต่หากเป็นคนดีอยู่ก็คงต้องประพฤติต้องตามพระพุทโธวาทโดยมาก จะตรวจค้นดูในปัจจุบันนี้มีถมไป เว้นไว้แต่จะเชื่อถือเสียว่าต่อไปภายหน้าจะไม่เป็นอย่างเช่นปัจจุบันนี้ได้โดยไม่มีพยานอันใดที่จะเชื่อถือ นอกจากว่ากันมาว่าอย่างนั้นแล้ว ก็ยังคิดเห็นไปได้อยู่เอง

ข้าพเจ้าอยากจะพาโลความเห็น และความเชื่อถือที่ว่าไปภายหน้าจะเรียวลงไปนี้ เป็นความคิดอันให้โทษยิ่งใหญ่แก่ผู้ที่ถือเพราะทําให้อ่อนใจวางมือวางตีนไปเสียหมดไม่มีอุตสาหะที่จะสั่งสอนกัน เพราะถือว่ามันจะเรียวลงไป ถึงสอนก็เปล่าๆ ไม่มีความอุตสาหะที่จะคิดจะทําอันใดขึ้น เพราะถือว่าคิดไปทําไปก็เปล่าๆ เพราะเรามันเรียวลงมาเสียแล้ว จะให้เหมือนท่านแต่ก่อนไม่ได้ เป็นความคิดที่ชวนให้ท้อถอย ตั้งหน้าลงสู่ความเสื่อมอย่างเดียว เพราะฉะนั้นชาติใดที่เชื่อถือการเรียวอย่างนี้จึงมีความขวนขวายปรารถนาน้อย บ้านเมืองจึงไม่เจริญได้เร็วเหมือนอย่างพวกที่เขาไม่ถือการเรียว เพราะฉะนั้นเราท่านทั้งหลายจะชวนกันลืมๆ เรื่องเรียวนี้เสียสักหน่อย ตั้งหน้าขวนขวายหาความรู้และประกอบการทั้งในศาสนาและในการบ้านเมือง คงจะยังได้รับความดีมีผลเหมือนท่านแต่ก่อน หรือยิ่งขึ้นไปกว่าได้เป็นแท้

การที่กล่าวมานี้นอกเรื่องจริงๆ ขอโทษเถิด เป็นเพราะอดไม่ได้แท้ทีเดียว เมื่อจะวนลงอะลุ้มอล่วยไม่เข้าเรื่องกันสักหน่อยหนึ่ง ก็จะต้องกล่าวว่าพระเจ้าทรงธรรมที่ท่านทรงเชื่อถือการเรียวยิ่งใหญ่นั้น ท่านเรียวลงมากว่าสุโขทัยมาก จึงไม่ได้ทําวิสาขบูชา แต่ครั้นเมื่อถึงกรุงรัตนโกสินทร์นี้ กลับป่องขึ้นอีกหน่อยหนึ่ง เพราะได้ทำวิสาขบูชา ควรจะเห็นเป็นตัวอย่างได้ ว่าไม่ใช่จะเรียวลีบลงไปทีเดียวดอก ถ้าอุตส่าห์อยู่แล้วคงยังจะโตได้เป็นแน่ แต่ขอให้เข้าใจเสียว่าที่ได้กล่าวถึงพระเจ้าทรงธรรมแต่งมหาชาติคําหลวงนี้ ว่าถึงแต่ข้อพระราชปรารภแรกที่จะทรง แต่ตัวหนังสือมหาชาติคำหลวงที่ท่านทรงขึ้นไว้นั้น ข้าพเจ้าไม่ติเตียนเลย เพราะเป็นหนังสือดีฉบับหนึ่งในเมืองไทย

บัดนี้จะว่าด้วยการวิสาขบูชาต่อไป การวิสาขบูชาที่ทำมาแต่ในรัชกาลที่ ๒ เป็นต้น ตลอดจนรัชกาลที่ ๓ ก็เป็นการคงยืนที่อยู่ คือมีการพระราชกุศลเช่นได้พรรณนามาแล้วข้างต้น แต่ในท้ายรัชกาลที่ ๓ เมื่อทรงสร้างวัดสุทัศนเทพวราราม โปรดให้ทำเกยขึ้นสำหรับตั้งพระสัตตมหาสถานรอบพระอุโบสถ และวิสาขบูชาก็ให้เชิญพระพุทธรูปออกตั้งแล้วมีเทศนาปฐมสมโพธิ ในสัปปุรุษทายกไปฟังและเที่ยวนมัสการพระพุทธรูป ที่วัดพระเชตุพนก็ให้มีตะเกียงรายรอบกําแพงแก้วเพิ่มเติมขึ้น แต่การอื่นๆ ก็คงอยู่ตามเดิม ไม่ได้มีการเสด็จพระราชดําเนินออกวัดพระศรีรัตนศาสดารามเหมือนอย่างในปัจจุบันนี้

ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทำการวิสาขบูชา เป็นแบบมาแต่ยังทรงผนวชอยู่ จึงได้โปรดให้จัดการเพิ่มเติมขึ้นตามแบบ เช่นพระสงฆ์คณะธรรมยุติกาทําอยู่ เป็นการเพิ่มเติมขึ้นอีกส่วนหนึ่ง ธรรมเนียมเดิมก็คงเป็นไปตามธรรมเนียมเดิม เว้นไว้แต่การเลี้ยงพระสงฆ์ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำนั้นต้องกับงานฉัตรมงคลจึงได้ยกเลิกเสีย คงมีอยู่แต่วันแรมค่ำหนึ่ง วันนั้นเป็นวันเลี้ยงพระที่พระที่นั่งอนันตสมาคม จึงได้ยกกาลานุกาลขึ้นไปทําบนพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ เชิญพระบรมอัฐิตั้งบนบุษบก เมื่อทรงเลี้ยงพระในพระที่นั่งอนันตสมาคมแล้วจึงได้เสด็จขึ้นไปสดับปกรณ์บนพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ เป็นสองงานประดังกันอยู่ ต่อมาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้เปลี่ยนฉัตรมงคลไปเดือนสิบสองแล้ว จึงได้มีการเลี้ยงพระในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำขึ้นเหมือนอย่างแต่ก่อน และการวิสาขบูชาในรัชกาลที่ ๔ นั้น ในตอนกลางๆ โปรดให้เกณฑ์เจ้านายข้าราชการตั้งโต๊ะเครื่องบูชาตามรอบเฉลียงพระอุโบสถ เป็นการครึกครื้นสนุกสนานมาก จนเกิดเล่นเครื่องโต๊ะลายครามกันขึ้น ในเวลานั้นเที่ยวเก็บหาสิ่งของที่มีอยู่แล้วในกรุงนี้ มาประสมกันให้ได้ชุดได้ลายตั้งขึ้นเป็นโต๊ะใหญ่บ้างโต๊ะเล็กบ้าง บรรดาใครเป็นเจ้าของก็มาคอยเฝ้าประชุมพร้อมๆ กัน ถ้าของผู้ใดไม่ดีก็รับสั่งให้ยกสิ่งของนั้นไปตั้งที่ตรงหน้า ถ้าผู้ใดถูกตั้งของที่หน้าเช่นนั้นก็เป็นที่อับอายกัน ต้องเที่ยวขวนขวายหาของที่ดีๆ มาตั้ง จนการที่จัดหาเครื่องโต๊ะนั้นเป็นการจําเป็นที่ต้องหาทั่วๆ หน้ากัน สิ่งของก็มีราคาแพงขึ้น ต่างคนต่างเที่ยวหากันวุ่น เหมือนอย่างเล่นถ้วยป้านอยู่ในปัจจุบันนี้ ก็เป็นที่สนุกครึกครื้น ถ้าถึงวันวิสาขบูชาในวัดพระศรีรัตนศาสดารามก็เต็มไปทั้งพระทั้งคฤหัสถ์ผู้หญิงผู้ชายหาที่ว่างไม่ได้ ครั้นภายหลังพระยาโชฎึกราชเศรษฐีพุก เห็นว่าเครื่องโต๊ะมีราคาหาไม่ใคร่ได้ จึงได้สั่งเครื่องโต๊ะที่ครบชุดลายต่างๆ เข้ามา ๖๐ สำรับ ออกจําหน่ายขายผู้ที่ถูกเกณฑ์ตั้งโต๊ะราคาสำรับละ ๑๐ ชั่ง แต่นั้นมาการเล่นเครื่องโต๊ะก็จืดจางลง ด้วยของเก่าที่จะหาให้ครบสิ่งบริบูรณ์ได้เหมือนของใหม่ก็ไม่ใคร่มี เมื่อไม่มีของครบสิ่งก็ไม่อาจจะมาตั้งเพราะกลัวจะสู้ของใหม่ไม่ได้ ส่วนของใหม่ถึงเครื่องครบบริบูรณ์ก็จริง แต่นักเลงที่จะเล่นไม่ใคร่มีใครนับถือ เพราะเป็นของหาง่าย ไม่ต้องพยายามมากเหมือนหาของเก่า ลวดลายและสีครามก็สู้ของเก่าไม่ได้ ครั้นเมื่อการเล่นเครื่องโต๊ะจืดจางลงก็เป็นแต่ตั้งเป็นราชการ คนก็ไม่ใคร่มีใครๆ มาดู การที่ทรงตรวจตราเลือกเฟ้นนั้นซ้ำหลายปีเข้าก็เงียบๆ ไป ภายหลังจึงได้โปรดให้เปลี่ยนใหม่ เกณฑ์ให้ข้าราชการทําโคมตราตําแหน่งมาตั้งมาแขวน ส่วนของหลวงก็ใช้ตราหลวงแขวนที่ประตูพระอุโบสถทั้งหกประตู ในปีแรกที่เกิดโคมตราขึ้นนั้นก็เป็นการกึกก้องกาหลยิ่งใหญ่ คนที่มาดูกลับมากขึ้นไปกว่าเมื่อตั้งเครื่องโต๊ะ ด้วยโคมนั้นตั้งแขวนตามศาลารายและพระระเบียงโดยรอบเป็นทําเลกว้าง คนจะเดินไปมาดูแลได้สะดวก ตั้งแต่เวลาพลบไปจนดึกแปดทุ่มสามยามยังไม่ขาดคน เป็นการสนุกครึกครื้นมาได้หลายปี จึงค่อยๆ กร่อยลงตามธรรมดา

มาในแผ่นดินปัจจุบันนี้ เมื่อโคมกร่อยนักแล้ว กรมขุนภูวไนยนฤเบนทราธิบาล กรมขุนเจริญผลพูนสวัสดิ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ พร้อมกันทําต้นไม้ทํานองต้นไม้หลังธรรมาสน์มหาชาติในท้องพระโรงแต่ก่อน มีรูปภาพเรื่องต่างๆ ประดับที่กระถางตั้งหน้ามุขพระอุโบสถสามต้น เลียนอย่างต้นไม้คริสต์มาสของฝรั่งด้วยกลายๆ ก็เป็นที่ครึกครื้นมีผู้คนมาดูบ้าง แต่ไม่แน่นหนามากเหมือนอย่างเมื่อครั้งตั้งโต๊ะหรือแรกมีโคมตรา ครั้นเมื่อภายหลังจืดๆ เข้าก็เลิกไป การพระราชกุศลอันใดในการวิสาขบูชาซึ่งเคยมีมาแต่ก่อนก็คงยืนที่อยู่จนถึงในรัชกาลปัจจุบันนี้ มีเพิ่มเติมขึ้นแต่ที่พระพุทธรัตนสถานเมื่อเชิญพระพุทธบุษยรัตน์ไปประดิษฐานในที่นั้นแล้ว จึงโปรดให้มีการบูชาขึ้นอีกแห่งหนึ่ง โปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการฝ่ายในที่เป็นอุบาสิกาเดินเทียนและสวดมนต์ คล้ายกันกับที่ทําที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และมีดอกไม้เพลิงสำรับเล็กบูชาด้วย เป็นการเพิ่มเติมขึ้นในรัชกาลปัจจุบันนี้

การซึ่งจะว่าต่อไปนี้ จะรวบรวมการพระราชกุศลในวิสาขบูชาบรรดาซึ่งมีอยู่บัดนี้มาว่าในที่แห่งเดียวกันเป็นการปัจจุบันต่อไป

คือในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ พระสงฆ์ฉันในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยวันละ ๒๐ รูป ไม่มีสวดมนต์ แต่วันแรมค่ำหนึ่งนั้นเป็นวันสดับปกรณ์กาลานุกาล จึงได้มีพระสงฆ์เพิ่มขึ้นเท่าจํานวนพระบรมอัฐิ พระอัฐิตามที่เคยสดับปกรณ์ และต้องสวดมนต์ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำด้วย การที่สวดมนต์นี้เป็นสวดมนต์แทนพระสงฆ์ฉันเวร ที่ต้องผลัดเปลี่ยนกันสวดประจําทุกวันพระตามธรรมเนียม จึงได้ขึ้นไปสวดบนพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ การสวดมนต์บนพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ไม่ได้จัดเป็นที่สำหรับทรงฟังพระสงฆ์สวดมนต์จนจบ ธรรมเนียมที่เสด็จทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จอยู่แต่ก่อนทุกวันพระนั้นดังนี้ คือตั้งที่รองพระฉันเวรอย่างเก่า มีพระห้ามสมุทรฉันเวรองค์หนึ่งตั้งข้างใต้ หันพระพักตร์พระพุทธรูปไปเหนือ พระสงฆ์ที่สวดมนต์นั่งข้างเหนือหันหน้ามาใต้ตรงพระพุทธรูป ปูอาสนพระสงฆ์นั่งเต็มทั้งพระที่นั่งไม่ได้จัดเป็นแถว ที่หน้าพระพุทธรูปมีเครื่องนมัสการตระบะถมฉันเวร ราชอาสน์ทอดในระหว่างพระสงฆ์กับพระพุทธรูป เป็นที่ทรงกราบ ที่ประทับทอดค่อนมาข้างตะวันออก ไม่ได้ตั้งเครื่องไม่ได้ทอดพระแสง เมื่อเสด็จขึ้นไปทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการแล้ว ไม่ได้ทรงศีล ทรงถวายหมากพลูใบชาธูปเทียนแล้ว รับสั่งถวายวัตถุปัจจัยมูลองค์ละสลึงหรือเฟื้อง ซึ่งชาวคลังมาคอยถวายอยู่ที่อัฒจันทร์ ทรงรับเงินนั้นพระราชทานให้สังฆการี สังฆการีว่าวิปัตติปฏิพาหายะก็เสด็จขึ้น ที่เป็นธรรมเนียมวันพระตามธรรมเนียม พระสงฆ์สวดมนต์จบแล้ว มีบอกวัตรเหมือนอย่างสวดมนต์ที่วัด แต่การสวดมนต์วิสาขนี้เสด็จขึ้นไปจุดเทียนอย่างเดียวกัน แต่ไม่มีของถวายพระ พระสงฆ์ไม่ได้สวดมนต์เข้าลำดับสวดมนต์เวร สวดเจ็ดตํานานเป็นการจร เมื่อจบไม่มีบอกวัตร การที่เกิดสวดมนต์บนพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์นี้ พึ่งเปลี่ยนไปในรัชกาลที่ ๔ สวดมนต์เวรแต่ก่อนก็สวดในท้องพระโรง และการวิสาขบูชานี้ แต่ก่อนเมื่อไม่ได้เสด็จออกวัด ก็เห็นจะสวดมนต์ในท้องพระโรงทั้งสามวัน ครั้นเมื่อเลิกสวดมนต์เลี้ยงพระส่วนวิศาขะในรัชกาลที่ ๔ ขาดตอนมาคราวหนึ่ง มากลับมีขึ้นในรัชกาลปัจจุบันนี้ เมื่อมีการพระราชกุศลที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเวลาค่ำอยู่แล้ว จึงได้เลิกสวดมนต์เสีย เพราะจะซับซ้อนกันหลายอย่าง ยังคงแต่สวดมนต์วันสิบห้าค่ำไว้ เพราะเป็นการแทนสวดมนต์เวรซึ่งเคยสวดอยู่ทุกวันพระ คงเป็นเลิกอยู่แต่วันขึ้นสิบสี่ค่ำกับวันแรมค่ำหนึ่ง การสวดมนต์เลี้ยงพระวิศาขะนี้เกือบจะเหมือนกับตามธรรมเนียมไม่เป็นงานการอันใด จํานวนพระสงฆ์ก็เท่ากับฉันเวรวันพระ แปลกแต่เป็นพระราชาคณะทั้ง ๒๐ รูป การสดับปกรณ์กาลานุกาลก็เหมือนกับกาลานุกาลอื่นๆ แปลกแต่พระสงฆ์รายร้อยสี่ร้อยรูปเป็นสดับปกรณ์ข้าวกระทง เรียกว่าสลากภัต ส่วนเครื่องที่พระราชทานตามพระอาราม คือเทียนประจํากัณฑ์และธงจระเข้ ในวันแรกมีเจ้าพนักงานนำเข้ามาทูลถวาย จบพระหัตถ์หน้าพระสงฆ์ตามแบบแล้วจึงได้จ่ายไปตามวัด คือโคมวัดละสี่ใบ ธงจระเข้วัดละคัน

จํานวนวัดที่ได้จ่ายของเครื่องบูชา คือวัดราษฎร์บุรณะ วัดพระเชตุพน วัดสระเกศ วัดมหาธาตุ วัดจักรวรรดิราชาวาส วัดสังเวชวิศยาราม วัดชนะสงคราม วัดสามพระยา วัดราชคฤห์ วัดคูหาสวรรค์ วัดปากน้ำ วัดหนัง วัดนางนอง วัดราชกุฏิยาราม วัดยานนาวาราม วัดราชาธิวาส วัดระฆังโฆสิตาราม วัดอมรินทราราม วัดดาวดึงส์ วัดจุฬามณี วัดพระยาทํา วัดนาคกลาง วัดราชสิทธาราม วัดเศวตฉัตร วัดโมฬีโลก วัดหงสาราม วัดอรุณราชวราราม วัดสังข์กระจาย วัดภคินีนาฏ วัดบวรมงคล วัดคหบดี วัดรังษีสุทธาวาส วัดบวรนิเวศ วัดเครือวัลย์ วัดปทุมคงคา วัดเกาะแก้ว (คือวัดสัมพันธวงศ์) วัดบวรสถานสุทธาวาส วัดบพิตรภิมุข วัดโสมนัสวิหาร วัดทองนพคุณ วัดราชโอรส วัดประยูรวงศ์ศาวาส วัดอัปสรสวรรค์ วัดนวลนรดิศ วัดโชตนาราม วัดรัชฎาธิษฐาน วัดกาญจนสิงหาสน์ วัดบุปผาราม วัดเขมาภิรตาราม วัดชัยพฤกษมาลา วัดมหรรณพาราม วัดบรมนิวาส วัดเทพธิดา วัดราชนัดดา วัดดุสิดาราม วัดสุทัศนเทพวราราม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดอินทาราม วัดจันทาราม วัดทองธรรมชาติ วัดกัลยาณมิตร วัดอนงคาราม วัดเฉลิมพระเกียรติ วัดสุวรรณาราม วัดปทุมวนาราม วัดชิโนรสาราม แต่วัดที่ออกชื่อมาแล้ว ๖๖ นี้เป็นวัดเก่าบ้างใหม่บ้าง จะเข้าใจว่ามากวัดเท่านี้มาแต่รัชกาลที่ ๒ ไม่ได้อยู่เอง คงจะมีเพิ่มเติมขึ้นตามที่ทรงสร้างขึ้นใหม่อย่างเทียนพรรษา แต่วัดจุฬามณีวัดหนึ่งซึ่งมีชื่อมาข้างบนไม่รู้จักว่าวัดใด ได้สืบถามทั้งพระทั้งคฤหัสถ์หลายแห่งก็ไม่ได้ความ ไล่ไปมาก็ไปเวียนวนลงวัดจุฬามณีที่กรุงเก่าเสียบ้าง ได้เค้าแล้วไปเกลื่อนหายไปเสียบ้าง ภายหลังเมื่อทําหนังสือนี้แล้ว กรมหมื่นประจักษ์ให้ปลัดวังขวาไปสืบตามเค้าที่สังเกตดูในบัญชีว่า เหมือนหนึ่งจะเป็นฝั่งตะวันตก ไปได้ความมาจากนายเกดตำรวจวังหน้าอายุ ๗๘ ปี อำแดงปาน ภรรยาอายุ ๗๗ ปี ซึ่งอยู่ในคลองบางมดแจ้งความว่า คือวัดที่ราษฎรเรียกชื่ออยู่ว่าวัดยายร่มในคลองบางมดนั้นเอง เป็นวัดจุฬามณี ว่าเดิมยายร่มเป็นผู้สร้าง มีโบสถ์ฝากระดานหลังหนึ่ง การเปรียญหลังหนึ่ง กุฎีหลังหนึ่ง มีพระสงฆ์อยู่รูปเดียวมาประมาณ ๒๐ ปีเศษ พระศิริสมบัติปู่ท้าววรจันทร์เดี๋ยวนี้ไปปฏิสังขรณ์สร้างพระอุโบสถขึ้น เป็นฝาตึกสามห้อง มีกุฎีฝากระดานหลังหนึ่ง ฝาจากสี่หลัง ศาลาการเปรียญฝากระดานหลังหนึ่ง หอระฆังหลังหนึ่ง แล้วถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าแต่ยังทรงผนวช ได้เสด็จไปผูกพัทธสีมา จึงพระราชทานชื่อว่าวัดจุฬามณี แล้วได้เสด็จไปอยู่กรรมในที่นั้น ๗ วัน เวลาที่อยู่กรรมเสด็จไปประทับอยู่ที่ห้างสวนหลังวัด ถ้าเสด็จกลับเข้ามาในวัดก็ประทับที่การเปรียญ การที่อ้างว่า พระศิริสมบัติถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าแต่ยังทรงผนวช และเสด็จไปอยู่กรรมในที่วัดนั้น เห็นจะเป็นการแน่นอนได้ แต่ที่ว่าพระราชทานชื่อนั้นดูน่าสงสัยอยู่บ้าง ด้วยดูอย่างเก่านัก ถ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าพระราชทานชื่อ มักจะประกอบด้วยเหตุผลอย่างหนึ่งอย่างใด หรือจะเป็นชื่อเขาตั้งกันเอง เป็นแต่ได้เสด็จไปผูกโบสถ์และไปอยู่กรรมดอกกระมัง อีกประการหนึ่ง บรรดาวัดที่ได้ของสักการะในวันวิสาขบูชานี้ ล้วนแต่เป็นวัดหลวงทั้งสิ้น มามีวัดราษฎรอยู่แต่วัดจุฬามณีวัดเดียว ถ้าจะว่าเกิดขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เพราะเป็นวัดที่ถวายและเสด็จไปประทับอยู่กรรม เหตุใดจึงไม่ทรงยกขึ้นเป็นวัดหลวง และวัดเช่นได้เสด็จไปอยู่กรรมเช่นวัดชัยสิมพลี จนได้เสด็จไปพระราชทานพระกฐินก็ครั้งหนึ่ง เป็นกฐินข้างในอยู่ก็หลายปี ทั้งอยู่ในจำนวนที่ทรงกะจะพระราชทานพระนิรันตรายด้วย เหตุใดจึงไม่พระราชทานเครื่องสักการะเหมือนกันเล่า การที่ถวายวัดเป็นหลวงมีมากชุกชุมมาก็แต่ในรัชกาลก่อนๆ ในรัชกาลที่ ๓ เป็นอย่างมาก ในรัชกาลที่ ๔ ทรงรับเป็นวัดหลวงน้อยและทรงตัดเสียก็มี หรือวัดจุฬามณีนี้จะได้ถวายไว้แต่ในรัชกาลก่อนๆ เป็นวัดหลวง ทรงตัดเสียในรัชกาลที่ ๔ ก็ไม่ทราบ แต่ร่างหมายจะเอาเป็นประมาณแน่นักไม่ได้ การอะไรที่เลิกแล้วไม่ใคร่ลบถอน มีการใหม่มาก็เติมลงไป การเก่าที่ไม่ได้ลบถอนเสียก็โคมๆ อยู่อย่างนั้น ไม่ต้องมีใครทําตาม วัดจุฬามณีนี้คงจะไม่ได้เครื่องสักการะนี้มาช้านานแล้ว ถึงวัดอื่นก็น่าสงสัยอยู่ ข้าพเจ้าไม่ได้เคยเป็นธุระเรื่องนี้เลย เพราะฉะนั้นวัดซึ่งสร้างใหม่ๆ ในรัชกาลปัจจุบันนี้ จึงไม่มีชื่อในหมายรับสั่งนี้ด้วย แต่ส่วนที่มีเทศนาตามวัดนั้นไม่ใช่เป็นแต่วัดหลวงแล้วมีทั่วไป เป็นพระราชประสงค์ที่จะให้มีธรรมทานให้สะดวกแก่คนทั้งปวงที่จะไปฟัง จึงได้แบ่งออกเป็นฟากละ ๑๐ พระอาราม เป็นเทศนาวันละยี่สิบกัณฑ์ มีเทียนดูหนังสือเล่มหนึ่ง เทียนธูปบูชากัณฑ์อย่างละสิบเล่ม ผ้าผืนหนึ่ง กระจาดเครื่องบริโภคกระจาดหนึ่ง วัดที่มีเทศนาฝั่งตะวันออกสิบวัด คือ วัดราษฎร์บุรณ วัดสระเกศ วัดสุทัศนเทพวราราม วัดพระเชตุพน วัดมหาธาตุ วัดปทุมคงคา วัดราชาธิวาส วัดบวรนิเวศ วัดชนะสงคราม วัดจักรวรรดิราชาวาส ฝั่งตะวันตกสิบวัด คือ วัดอรุณราชวราราม วัดโมฬีโลก วัดหงสาราม วัดประยูรวงศ์อาวาส วัดระฆังโฆสิตาราม วัดสุวรรณาราม วัดราชสิทธาราม วัดราชโอรส วัดหนัง ของเครื่องกัณฑ์นั้นเกณฑ์ให้เจ้ากรมปลัดกรมจางวางเจ้านายมารับไปถวายทุกวัดทั้งสามวัน รวมเป็นเทศนา ๖๐ กัณฑ์



หัวข้อ: Re: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 02 กรกฎาคม 2561 16:12:00

เดือนหก
การวิสาขบูชา (ต่อ)

จํานวนวัดที่ได้จ่ายของเครื่องบูชา คือวัดราษฎร์บุรณะ วัดพระเชตุพน วัดสระเกศ วัดมหาธาตุ วัดจักรวรรดิราชาวาส วัดสังเวชวิศยาราม วัดชนะสงคราม วัดสามพระยา วัดราชคฤห์ วัดคูหาสวรรค์ วัดปากน้ำ วัดหนัง วัดนางนอง วัดราชกุฏิยาราม วัดยานนาวาราม วัดราชาธิวาส วัดระฆังโฆสิตาราม วัดอมรินทราราม วัดดาวดึงส์ วัดจุฬามณี วัดพระยาทํา วัดนาคกลาง วัดราชสิทธาราม วัดเศวตฉัตร วัดโมฬีโลก วัดหงสาราม วัดอรุณราชวราราม วัดสังข์กระจาย วัดภคินีนาฏ วัดบวรมงคล วัดคหบดี วัดรังษีสุทธาวาส วัดบวรนิเวศ วัดเครือวัลย์ วัดปทุมคงคา วัดเกาะแก้ว (คือวัดสัมพันธวงศ์) วัดบวรสถานสุทธาวาส วัดบพิตรภิมุข วัดโสมนัสวิหาร วัดทองนพคุณ วัดราชโอรส วัดประยูรวงศ์ศาวาส วัดอัปสรสวรรค์ วัดนวลนรดิศ วัดโชตนาราม วัดรัชฎาธิษฐาน วัดกาญจนสิงหาสน์ วัดบุปผาราม วัดเขมาภิรตาราม วัดชัยพฤกษมาลา วัดมหรรณพาราม วัดบรมนิวาส วัดเทพธิดา วัดราชนัดดา วัดดุสิดาราม วัดสุทัศนเทพวราราม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดอินทาราม วัดจันทาราม วัดทองธรรมชาติ วัดกัลยาณมิตร วัดอนงคาราม วัดเฉลิมพระเกียรติ วัดสุวรรณาราม วัดปทุมวนาราม วัดชิโนรสาราม แต่วัดที่ออกชื่อมาแล้ว ๖๖ นี้เป็นวัดเก่าบ้างใหม่บ้าง จะเข้าใจว่ามากวัดเท่านี้มาแต่รัชกาลที่ ๒ ไม่ได้อยู่เอง คงจะมีเพิ่มเติมขึ้นตามที่ทรงสร้างขึ้นใหม่อย่างเทียนพรรษา แต่วัดจุฬามณีวัดหนึ่งซึ่งมีชื่อมาข้างบนไม่รู้จักว่าวัดใด ได้สืบถามทั้งพระทั้งคฤหัสถ์หลายแห่งก็ไม่ได้ความ ไล่ไปมาก็ไปเวียนวนลงวัดจุฬามณีที่กรุงเก่าเสียบ้าง ได้เค้าแล้วไปเกลื่อนหายไปเสียบ้าง ภายหลังเมื่อทําหนังสือนี้แล้ว กรมหมื่นประจักษ์ให้ปลัดวังขวาไปสืบตามเค้าที่สังเกตดูในบัญชีว่า เหมือนหนึ่งจะเป็นฝั่งตะวันตก ไปได้ความมาจากนายเกดตำรวจวังหน้าอายุ ๗๘ ปี อำแดงปาน ภรรยาอายุ ๗๗ ปี ซึ่งอยู่ในคลองบางมดแจ้งความว่า คือวัดที่ราษฎรเรียกชื่ออยู่ว่าวัดยายร่มในคลองบางมดนั้นเอง เป็นวัดจุฬามณี ว่าเดิมยายร่มเป็นผู้สร้าง มีโบสถ์ฝากระดานหลังหนึ่ง การเปรียญหลังหนึ่ง กุฎีหลังหนึ่ง มีพระสงฆ์อยู่รูปเดียวมาประมาณ ๒๐ ปีเศษ พระศิริสมบัติปู่ท้าววรจันทร์เดี๋ยวนี้ไปปฏิสังขรณ์สร้างพระอุโบสถขึ้น เป็นฝาตึกสามห้อง มีกุฎีฝากระดานหลังหนึ่ง ฝาจากสี่หลัง ศาลาการเปรียญฝากระดานหลังหนึ่ง หอระฆังหลังหนึ่ง แล้วถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าแต่ยังทรงผนวช ได้เสด็จไปผูกพัทธสีมา จึงพระราชทานชื่อว่าวัดจุฬามณี แล้วได้เสด็จไปอยู่กรรมในที่นั้น ๗ วัน เวลาที่อยู่กรรมเสด็จไปประทับอยู่ที่ห้างสวนหลังวัด ถ้าเสด็จกลับเข้ามาในวัดก็ประทับที่การเปรียญ การที่อ้างว่า พระศิริสมบัติถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าแต่ยังทรงผนวช และเสด็จไปอยู่กรรมในที่วัดนั้น เห็นจะเป็นการแน่นอนได้ แต่ที่ว่าพระราชทานชื่อนั้นดูน่าสงสัยอยู่บ้าง ด้วยดูอย่างเก่านัก ถ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าพระราชทานชื่อ มักจะประกอบด้วยเหตุผลอย่างหนึ่งอย่างใด หรือจะเป็นชื่อเขาตั้งกันเอง เป็นแต่ได้เสด็จไปผูกโบสถ์และไปอยู่กรรมดอกกระมัง อีกประการหนึ่ง บรรดาวัดที่ได้ของสักการะในวันวิสาขบูชานี้ ล้วนแต่เป็นวัดหลวงทั้งสิ้น มามีวัดราษฎรอยู่แต่วัดจุฬามณีวัดเดียว ถ้าจะว่าเกิดขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เพราะเป็นวัดที่ถวายและเสด็จไปประทับอยู่กรรม เหตุใดจึงไม่ทรงยกขึ้นเป็นวัดหลวง และวัดเช่นได้เสด็จไปอยู่กรรมเช่นวัดชัยสิมพลี จนได้เสด็จไปพระราชทานพระกฐินก็ครั้งหนึ่ง เป็นกฐินข้างในอยู่ก็หลายปี ทั้งอยู่ในจำนวนที่ทรงกะจะพระราชทานพระนิรันตรายด้วย เหตุใดจึงไม่พระราชทานเครื่องสักการะเหมือนกันเล่า การที่ถวายวัดเป็นหลวงมีมากชุกชุมมาก็แต่ในรัชกาลก่อนๆ ในรัชกาลที่ ๓ เป็นอย่างมาก ในรัชกาลที่ ๔ ทรงรับเป็นวัดหลวงน้อยและทรงตัดเสียก็มี หรือวัดจุฬามณีนี้จะได้ถวายไว้แต่ในรัชกาลก่อนๆ เป็นวัดหลวง ทรงตัดเสียในรัชกาลที่ ๔ ก็ไม่ทราบ แต่ร่างหมายจะเอาเป็นประมาณแน่นักไม่ได้ การอะไรที่เลิกแล้วไม่ใคร่ลบถอน มีการใหม่มาก็เติมลงไป การเก่าที่ไม่ได้ลบถอนเสียก็โคมๆ อยู่อย่างนั้น ไม่ต้องมีใครทําตาม วัดจุฬามณีนี้คงจะไม่ได้เครื่องสักการะนี้มาช้านานแล้ว ถึงวัดอื่นก็น่าสงสัยอยู่ ข้าพเจ้าไม่ได้เคยเป็นธุระเรื่องนี้เลย เพราะฉะนั้นวัดซึ่งสร้างใหม่ๆ ในรัชกาลปัจจุบันนี้ จึงไม่มีชื่อในหมายรับสั่งนี้ด้วย แต่ส่วนที่มีเทศนาตามวัดนั้นไม่ใช่เป็นแต่วัดหลวงแล้วมีทั่วไป เป็นพระราชประสงค์ที่จะให้มีธรรมทานให้สะดวกแก่คนทั้งปวงที่จะไปฟัง จึงได้แบ่งออกเป็นฟากละ ๑๐ พระอาราม เป็นเทศนาวันละยี่สิบกัณฑ์ มีเทียนดูหนังสือเล่มหนึ่ง เทียนธูปบูชากัณฑ์อย่างละสิบเล่ม ผ้าผืนหนึ่ง กระจาดเครื่องบริโภคกระจาดหนึ่ง วัดที่มีเทศนาฝั่งตะวันออกสิบวัด คือ วัดราษฎร์บุรณ วัดสระเกศ วัดสุทัศนเทพวราราม วัดพระเชตุพน วัดมหาธาตุ วัดปทุมคงคา วัดราชาธิวาส วัดบวรนิเวศ วัดชนะสงคราม วัดจักรวรรดิราชาวาส ฝั่งตะวันตกสิบวัด คือ วัดอรุณราชวราราม วัดโมฬีโลก วัดหงสาราม วัดประยูรวงศ์อาวาส วัดระฆังโฆสิตาราม วัดสุวรรณาราม วัดราชสิทธาราม วัดราชโอรส วัดหนัง ของเครื่องกัณฑ์นั้นเกณฑ์ให้เจ้ากรมปลัดกรมจางวางเจ้านายมารับไปถวายทุกวัดทั้งสามวัน รวมเป็นเทศนา ๖๐ กัณฑ์

กาลเวลาค่ำซึ่งเป็นของเกิดขึ้นใหม่นั้น เมื่อในรัชกาลที่ ๔ พระพุทธบุษยรัตน์ ยังอยู่ที่หอพระเจ้าในหมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน มีเทียนรุ่งของหลวงคืนละสองเล่ม แต่ได้จุดต่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ แรมค่ำหนึ่ง มีพานแก้วเจียระไนจัดของคาวหวานผลไม้ต่างๆ ทํานองเป็นอย่างถวายข้าวพระ ตั้งแต่เวลาเช้าแล้วเลยอยู่จนค่ำหลายพาน ราวสักเก้าพานสิบพานได้ ตั้งม้ามีขวดน้ำเพ็ญวันพุธ ซึ่งทรงตักขึ้นไว้แต่ในเดือนสิบสอง มีไข่นกออสตริชซึ่งเรียกว่าโอทเรศบ้างตั้งหลายใบ วงสายสิญจน์ เสด็จขึ้นทรงนมัสการถวายข้าวพระแต่เวลาเช้าก่อนทรงบาตรเวลาหนึ่ง เวลาค่ำตั้งแต่พลบไปจนยามหนึ่ง สี่ทุ่มบ้างอีกเวลาหนึ่ง ซึ่งประทับอยู่ในหอพระนานนั้น ทรงสวดมนต์และเสกน้ำมนต์ลงยันต์ต่างๆ หลายสิบอย่างทุกๆ วัน แล้วจึงได้จุดดอกไม้ ดอกไม้นั้นมีแต่พุ่มดอกไม้เทียนสิบพุ่ม เหมือนอย่างลอยพระประทีป เมื่อภายหลังลงมาว่าเสด็จไปนมัสการที่พระพุทธสิหิงค์บนพระพุทธมนเทียร ไม่ได้เสด็จมาที่หอพระ และบางทีแต่ก่อนย้ายไปนมัสการที่หอพระบนหลังคาตัดพระที่นั่งภาณุมาศจํารูญก็มี ถ้าเช่นนั้นข้าพเจ้าเคยถูกเกณฑ์ขึ้นไปจัดเครื่องนมัสการบนนั้น และยกของที่ตั้งข้าวพระลงมาเปลี่ยน เพราะห้ามไม่ให้ผู้หญิงขึ้นไป เวลาค่ำที่เสด็จขึ้นไปนมัสการบนนั้นก็ต้องขึ้นไปรับใช้ แต่จะจําให้ชัดเจนว่าทําอะไรบ้างก็ไม่ถนัด เพราะเวลานั้นปอดเสียเป็นกําลัง ด้วยเรื่องกลัวผีเป็นอย่างยิ่ง ถ้าขึ้นบันไดทีหนึ่ง ลงบันไดทีหนึ่งหน้าแข้งแตกทุกครั้ง จนเป็นจําได้ดี ว่าถึงเวลาวิสาขะแเล้วหน้าแข้งคงเป็นแผล ด้วยทางที่ขึ้นลงนั้นเป็นซอกแซก เมื่อก้าวขึ้นไปเสียงฝีเท้าตัวเองดังตึงๆ ก็นึกว่าผีวิ่งตาม ถ้าพอลุกออกไปถึงบันไดไม้ ที่พาดบนหลังคาพระที่นั่งนงคราญเป็นกลางแจ้ง แลดูเข้ามาข้างในมืด ยิ่งกลัวก็รีบก้าวหนักขึ้นไป บันไดนั้นคมเพราะเป็นไม้บางจึงได้กัดหน้าแข้ง แต่ขึ้นไปทําอยู่บนนั้นจะสักกี่ปีก็จําไม่ได้ ดูหลายปีอยู่ จะเลิกเสียเพราะเหตุใด หรือเพราะเกิดไฟไหม้ขึ้นในการเฉลิมพระชนมพรรษาก็จําไม่ได้อีก เพราะอายุข้าพเจ้าในระหว่างนั้นอยู่ในเก้าขวบสิบขวบ การพิธีอย่างนี้ไม่ได้สนใจจะจํา ถามใครก็เห็นจะไม่ใคร่ได้ความ เพราะไม่มีใครได้ขึ้นไป ต้องขอตกลงเป็นว่ารวมๆ ไว้เพียงเท่านี้ทีหนึ่ง แต่สังเกตได้ว่าไม่มีเทียนรุ่งบนนั้น เทียนรุ่งคงมีแต่ที่พระพุทธบุษยรัตน์ ภายหลังมาเกิดขึ้นที่พระพุทธสิหิงค์อีกคู่หนึ่ง ครั้นเมื่อในแผ่นดินปัจจุบันนี้ย้ายพระพุทธบุษยรัตน์ไปที่พุทธรัตนสถานแล้ว วันสิบสี่ค่ำไม่ได้จุดเทียนรุ่งและไม่ได้เดินเทียน ต่อวันสิบห้าค่ำแรมค่ำหนึ่ง จึงได้จุดเทียนรุ่งและเดินเทียน เสด็จลงทรงจุดเทียนรุ่งที่พระพุทธสิหิงค์ เทียนเจ้าเซ็นที่พระเจดีย์ แล้วจึงจุดเทียนรุ่ง และเครื่องนมัสการที่พระพุทธรัตนสถาน ทรงนมัสการแล้วจ่ายเทียนพวกอุบาสิกาสวดนมัสการ แล้วออกเดินเทียน พระเจ้าลูกเธอที่ยังทรงพระเยาว์ กับอุบาสิกาและละครเด็กๆ โขลน ข้าเจ้านาย ออกเดินเทียนไปรอบอ่างแก้วข้างใต้ เลี้ยวขึ้นชาลาหลังพระพุทธรัตนสถานไปลงอ่างแก้วข้างเหนือ เลี้ยวมาบรรจบรอบหน้าพระพุทธรัตนสถาน[๑] ในขณะนั้นเจ้านายฝ่ายในทรงจุดเทียนรายตามพนักทั้งสองชั้น และจุดเทียนซึ่งปักฉัตรเช่นเรือพระที่นั่งลอยพระประทีป ที่ตั้งรายอยู่ตามชาลาชั้นล่าง ประโคมมโหระทึกพิณพาทย์ทั้งข้างหน้าข้างใน การที่ตกแต่งนั้นมีโคมตราเจ้านายฝ่ายในแขวนรายรอบเฉลียงพระพุทธรัตนสถาน และตั้งโต๊ะหมู่ที่มุขเด็จเป็นส่วนของเจ้าต๋ง[๒] โต๊ะหนึ่ง ตั้งที่มุมกําแพงแก้วข้างละโต๊ะ ตั้งที่ศาลาใกล้ประตูอมเรศสัญจรสองโต๊ะ เป็นส่วนของเจ้านายฝ่ายใน ตามกําแพงและพนักทั้งปวงนั้นรายโคมสว่างทั่วไป พระเจ้าลูกเธอและเจ้าจอมข้างในมีเทียนรุ่งมาจุดคืนละหลายๆ สิบเล่ม เมื่อเดินเทียนแล้วอุบาสิกาทําวัตรสวดมนต์ พระราชทานเงินแจกคนละสลึงทุกวัน แล้วจึงเสด็จไปทรงจุดดอกไม้ที่หน้าหอเทวราชรูป มีเครื่องดอกไม้เพลิงเล็กๆ คือ พุ่มสิบพุ่ม กระถางสิบกระถาง ระทาสิบระทา พะเนียงไข่ห้าสิบ เวลาทรงจุดดอกไม้มีประโคมพิณพาทย์ แล้วเสด็จออกทางประตูแถลงราชกิจ

ทรงจุดดอกไม้ที่หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พุ่มสิบพุ่ม มีซุ้มระย้าโคม ๔ ซุ้ม ซุ้มดอกไม้รุ่ง ๔ ซุ้ม ปักบูชาที่หน้าวัด ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามรายโคมตามพนักกําแพงแก้ว พระพุทธปรางคปราสาท พระมณฑป พระศรีรัตนเจดีย์ และรอบพระอุโบสถ โคมตราข้าราชการแขวนบ้างตั้งบ้าง ตามชาลาและศาลารายพระระเบียงทั่วไป เสด็จขึ้นในพระอุโบสถทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการและเทียนรุ่งแล้วทรงนมัสการต่อไป แต่เทียนรุ่งเจ้านายและข้าราชการนั้น พระราชทานเพลิงไฟฟ้าออกมาให้จุดแต่หัวค่ำก่อนเสด็จพระราชดําเนินออก เทียนรุ่งเจ้านายข้าราชการตั้งที่ริมธรรมาสน์บ้าง ที่ข้างฐานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัยทั้งสองข้างเป็นอันมาก ภายหลังนี้มีเชิงเทียนเถาเจ็ดเชิง ตั้งที่ตรงพระพุทธยอดฟ้าเถาหนึ่ง พระพุทธเลิศหล้าเถาหนึ่ง เมื่อทรงนมัสการแล้ว ทรงสุหร่ายบูชา ประพรมเทียน และโปรยปรายดอกไม้ที่หลังธรรมาสน์และบนธรรมาสน์ สนมจึงรับเทียนนั้นไปแจกข้าราชการผู้จะเดินเทียน และติดรายตามราวรอบพระอุโบสถ ทรงจุดเทียนชนวนลงไป พระราชทานให้ข้าราชการจุดต่อจากพระหัตถ์ อาลักษณ์และราชบัณฑิตเป็นเจ้าของหน้าที่นุ่งขาวห่มขาว นอกนั้นข้าราชการที่เป็นขุนนางกรมต่างๆ บ้าง ตำรวจบ้าง เป็นผู้เดินเทียน เมื่อจุดเทียนแล้วนั่งลงกราบพระว่าคำนมัสการ แล้วจึงลุกขึ้นยืน ผู้ที่ชักนำว่าคํานมัสการว่ารับพร้อมๆ กัน แล้วจึงเดินประทักษิณรอบพระอุโบสถภายในกําแพงแก้ว เจ้านายซึ่งยังทรงพระเยาว์เสด็จก่อน แล้วจึงถึงพวกที่นุ่งขาว ข้าราชการอื่นๆ เดินไปต่อภายหลัง กระบวนข้างในท้าวนางเป็นหัวหน้า แล้วจึงถึงโขลนและข้าเจ้าบ่าวข้าราชการ คอยบรรจบเข้ารอบที่หลังพระอุโบสถ ในขณะเมื่อเดินเทียนนั้น ทรงจุดเทียนรายตามราวเทียนรอบพระอุโบสถ และพระราชทานเทียนชนวนให้พระบรมวงศานุวงศ์ ทรงจุดเทียนรายตามพนักกําแพงแก้วและราวเทียน เมื่อครบสามรอบแล้ว จึงได้เสด็จพระราชดําเนินขึ้นบนพระอุโบสถ ทรงจุดเทียนต่อไป ที่เขาต่อไม้และที่ราวเทียนรอบฐานชุกชี แล้วทรงธรรมเทศนาในการวิสาขบูชานี้ ทั้งภาษามคธและภาษาไทย วันแรกตั้งแต่ประสูติจนถึงพรรณนาด้วยมหาปุริสลักขณะ วันที่สองตั้งแต่เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ จนตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ วันที่สามตั้งแต่เทศนาธรรมจักร จนถึงปรินิพพาน เครื่องกัณฑ์มีจีวรเนื้อดีผืนหนึ่ง หมากพลูธูปเทียน เงินสามตำลึง และขนมต่างๆ จัดลงโต๊ะเงินย่อมๆ อย่างละโต๊ะ เมื่อเทศนาจบแล้วก็เป็นเสร็จการในส่วนวันนั้น เทียนที่ใช้ในการวิศาขะ เทียนรายเล่มละหกสลึง ที่พุทธรัตนสถาน ๖๐๐ เล่ม ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ๓,๐๐๐ เล่ม พระราชทานวัดบวรนิเวศ วัดราชประดิษฐ์ วัดราชบพิธ เทียนรุ่งวัดละสองคู่ เทียนรายวัดละห้าร้อยเล่ม[๓ ]

ครั้นเมื่อวันแรมแปดค่ำ ซึ่งนับว่าเป็นวันถวายพระเพลิงก็มีการบูชาและเดินเทียนอีกวันหนึ่งเหมือนกัน ยกเสียแต่โคมตราข้าราชการไม่ได้มีมาตั้งมาแขวน ถวายเทศนาเริ่มต้นตั้งแต่การบูชาพระพุทธสรีระ จนถึงเจดีย์สิบ แต่เทียนรุ่งและเทียนรายที่พระราชทานไปวัดนั้น เปลี่ยนไปเป็นวัดบรมนิวาส ใช้เทียนรายหนักเล่มละบาท

อนึ่ง ตั้งแต่ทรงสร้างวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ ขึ้นที่เกาะบางปะอินก็พระราชทานเทียนรุ่ง ๓ คู่ เทียนรายเล่มละหกสลึง ๑,๓๐๐ เล่ม เล่มละบาท ๑,๐๐๐ เล่ม ถ้าประทับอยู่ที่บางปะอิน ก็เสด็จพระราชดําเนินทรงทําวิสาขบูชาที่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ เหมือนเช่นวัดพระศรีรัตนศาสดารามมิได้ขาด พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่ตามเสด็จพระราชดําเนิน และอุบาสกอุบาสิกาในวัดนั้นเดินเทียน แล้วทรงธรรมเป็นการวิเศษขึ้นอีกกัณฑ์หนึ่ง ด้วยที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้นก็คงอยู่ตามเดิมมิได้ลดหย่อนการวิสาขบูชา วันแรมแปดค่ำในชั้นหลังมักจะเสด็จพระราชดําเนินวัดนิเวศน์ธรรมประวัติมากกว่าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

คําตักเตือนในการวิสาขบูชานี้ เรื่องโคมตราที่ต้องเกณฑ์นั้นมักจะมีผู้ที่เกียจคร้านไม่อยากจะทําบิดเบือนเสียก็มี ที่ขึ้นชื่อว่าต้องเกณฑ์อะไรแล้ว แก้ไขหลีกเลี่ยงได้ด้วยโวหารไม่ให้ต้องเป็นผิด ถือว่าเป็นการฉลาดดีกว่าคนทั้งปวงที่เซอะซะยอมให้เขาเกณฑ์ก็มี ที่เฉยๆ เสียไม่ได้คิดจะบิดพลิ้วอย่างไร แต่เฉยๆ อยู่ไม่ได้เป็นธุระ เพราะหลงลืมก็มี การที่ต้องลงทุนทําโคมนั้นก็ไม่มากมายอันใดนัก ทําครั้งเดียวก็ใช้ไปได้ตลอดอายุ เป็นแต่ต้องซ่อมแซมเยียวยาบ้าง ตะเกียงที่มาจุดนั้นก็เพียงดวงเดียว ไม่สิ้นไร้ไม้ตอกอันใดนักเลย ไม่ควรที่จะบิดเบือนเชือนแชเสีย ถึงโดยจะบิดได้ก็ดูไม่ฉลาด และไม่เป็นเกียรติยศอันใดนัก มหาดเล็กต้องเตรียมพานเทียน และคอยรับเทียนทรงธรรมตามเคย ดูก็คล่องแคล่วอยู่แล้ว ไม่สู้ต้องโวยวายนัก เดี๋ยวนี้จะมากาหลอยู่เรื่องเดียวก็แต่โคมไฟฟ้า ซึ่งเป็นคู่กันกับพระเต้าษิโณทก มหาดเล็กก็ไม่พอใจเรียก ที่แท้ข้างในก็ไม่พอใจส่งด้วย ขึ้นชื่อว่าวิศาขะในสามวันแล้วคงจะต้องเกิดเรียกไฟไม่ได้วันหนึ่ง ทุกปีไม่ใคร่ขาด ยังแป้งเจิมภูษามาลาอีกอย่างหนึ่งก็มีกาหลบ้าง แต่ห่างๆ การนอกนั้นก็ดูไม่ใคร่จะมีอะไรขาดเหลือนัก เพราะการเสมอๆ และไม่สู้ออกหน้าออกตามาก ๚
   
-------------------------------------------------------------------------------------
[๑] สถานที่ที่ทรงพรรณนาตรงนี้รื้อหมดแล้ว ยังคงแต่พระพุทธรัตนสถาน
[๒] คือหม่อมเจ้าประวิชในกรมขุนราชสีหวิกรม เรียกกันเป็นสามัญว่า หม่อมเจ้าต๋ง
[๓] พิธีวิสาขบูาที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่อมาแก้ไขเมื่อในรัชกาลที่ ๕ นั้น ทําแต่วัน ๔ ค่ำ เสด็จออกทรงเดินเทียนพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการทั้งปวงทั้งหมด แล้วจึงทรงสดับพระธรรมเทศนา พิธีวันแรม ๘ ค่ำ นั้นก็เลิก


หัวข้อ: Re: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 04 กรกฎาคม 2561 14:52:58

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/66283886507153_CX_EV_CR91_1_.jpg) (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/99790366035368_35927174_410501056132247_38455.jpg)

พระราชพิธีเดือนเจ็ด
• พระราชพิธีเคณฑะ   • พระราชพิธีทูลน้ำล้างพระบาท
• การพระราชกุศล สลากภัต• สลากภัต
• พระราชพิธีเคณฑะ   • การพระราชกุศล หล่อเทียนพรรษา
• การพระราชกุศล วันที่ ๓๑ พฤษภาคม
-----------------------------------

๏ พระราชพิธีเดือน ๗ นี้ ตามตำราของพราหมณ์ก็ว่าเคณฑะคือทิ้งข่าง ต้องกันกับจดหมายนางนพมาศซึ่งกล่าวไว้ด้วยเรื่องทิ้งข่างเป็นเนื้อความพิสดาร แต่ในกฎมนเทียรบาลเรียกว่าทูลน้ำล้างพระบาท วิธีที่ทำก็ดูต่างกันไกลนักไม่ลงรอยกันเลย เห็นจะเป็นต่างครูกันแท้ทีเดียว พิธีเคณฑะดีร้ายจะไม่ได้ทำที่กรุงเก่าเลย แต่เรื่องทูลน้ำล้างพระบาทมีพยานที่อ้างอีกแห่งหนึ่งในคำให้การขุนหลวงหาวัด แต่ก็เป็นคำพยานที่ให้การผิดประเด็น ต้องฟังกลับความเอาจึงจะพอได้ เค้าในคำให้การขุนหลวงหาวัด พิธีเดือนเจ็ดว่าตุลาภาร พิธีเดือนเก้าว่านารายณ์บรรทมสินธุ์ แต่ในกฎมนเทียรบาลพิธีตุลาภารไปอยู่ในเดือนเก้า เดือนเจ็ดเป็นทูลน้ำล้างพระบาท พิธีทูลน้ำล้างพระบาทกับนารายณ์บรรทมสินธุ์ ข้อความคล้ายคลึงกัน คืออยู่ในเจ้าแผ่นดินเสด็จสู่ที่สรง ลางทีขุนหลวงหาวัดให้การนั้นเป็นแต่จำไว้ด้วยใจเปล่าๆ ไม่มีตำรับตำราค้นนับไขว้เดือนกันไปก็จะเป็นได้ หรืออีกอย่างหนึ่ง กฎมนเทียรบาลเป็นแบบเก่าแรกสร้างกรุง ตกลงมาชั้นหลังจะเปลี่ยนแปลงไปเสีย ด้วยความประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด เช่นพิธีตรียัมพวายก็จะเป็นได้ ถ้าจะลองค้นหาเหตุดูว่า เหตุที่จะเปลี่ยนนั้นอย่างใดได้บ้าง ก็เห็นมีอยู่อย่างเดียว แต่ถ้าทำพิธีตุลาภารในเดือนเก้าเป็นเวลาฝนชุก การพิธีตุลาภารมีแห่แหนอยู่ จะย้ายไปไว้เสียเดือนเจ็ดซึ่งฝนยังไม่สู้ชุกนัก เปลี่ยนพิธีทูลน้ำล้างพระบาท หรือนารายณ์บรรทมสินธุ์มาไว้ในเดือนเก้าจะได้บ้างดอกกระมัง แต่ที่จะเรียบเรียงต่อไปนี้ จะต้องเอากฎมนเทียรบาลเป็นหลัก ยืนทูลน้ำล้างพระบาทไว้เดือนเจ็ด ยกนารายณ์บรรทมสินธุ์มาไว้ในเดือนเจ็ดด้วย เพราะเห็นว่าเป็นพิธีเดียวกัน จะขอกล่าวด้วยพิธีเคณฑะทิ้งข่าง ซึ่งมีมาในหนังสือนางนพมาศ นับว่าเป็นการเก่าขึ้นไปกว่ากรุงเก่านั้นก่อน  


เดือนเจ็ด
พระราชพิธีเคณฑะ คือทิ้งข่าง  

๏ในเรื่องพระราชพิธีทิ้งข่างนี้ ของเก่าเขาเรียบเรียงไว้สว่างไสวดีมาก ถ้าจะว่าใหม่ก็ดูเหมือนจะไม่แจ่มแจ้งเหมือนของเก่าเขาจึงจะขอคัดของเก่ามาว่า เป็นแต่แทรกข้อความเป็นตอนๆ ตามสมควร ในจดหมายเก่านั้นว่า

“ครั้นถึงเดือน ๗ นักขัตฤกษ์พระราชพิธีเคณฑะ ชาวพนักงานก็ตกแต่งสถานพระสยมภูวนาถ อันเป็นเทวสถานหลวงให้สะอาดสะอ้าน ชาวพระนครก็มาสันนิบาตประชุมกัน คอยดูพราหมณาจารย์จะทิ้งข่างเสี่ยงทาย จึงพระครูเพทางคศาสตร์ราชไตรเพทกับหมู่พราหมณ์ ก็ผูกพรตบูชาสมิทธิ พระเป็นเจ้าเป่าสังข์ถวายเสียงแล้วสังเวยบวงสรวงข่าง อันกระทําด้วยเนาวโลหะใหญ่ประมาณเท่าผลแตงอุลิด สมมติว่าพระสยม สามกําลังบุรุษจึงจะชักสายทิ้งข่างให้หมุนได้ อันข่างนั้นเป็นที่เสี่ยงทายตามตํารับไตรเพท ถ้าข่างดังเสียงเสนาะหมุนนอนวันได้บาทนาฬิกา มีแต่ยิ่งมิได้หย่อนก็กล่าวว่าเป็นมงคลประเสริฐนัก พระมหากษัตราธิราชเจ้าจะทรงสุรภาพเกียรติยศปรากฏไปในนานาประเทศทั้งปวง สมณะชีพราหมณ์คฤหบดีเศรษฐี และไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน สิ้นทั้งพระนครขอบขัณฑสีมาอาณาเขตอันกว้างใหญ่ไพศาล จะอยู่เป็นสุขปราศจากภยันตรายต่างๆ หนึ่งโสดแม้นว่าข่างหมุนมิได้นอนวัน ทั้งสำเนียงก็ไม่เสนาะสนั่นอันตรายด้วยเหตุต่างๆ พราหมณาจารย์ก็ทำนายว่าบ้านเมืองจะมิสบายในขวบปีนั้น”

ในตอนนี้เป็นกล่าวด้วยตำราเสี่ยงทายก็อยู่ในเรื่องพิธีกะติเกยาซึ่งข้าพเจ้าได้กล่าวแล้ว ว่าเป็นพิธีให้อุ่นใจเหมือนอย่างแทงพระบทลองดู หรือเป็นพิธีทำอุบายที่จะห้ามการประทุษร้ายไม่ให้เกิดขึ้นในเมืองโดยเสี่ยงทาย เห็นว่าพระบารมีพระเจ้าแผ่นดินยังมากอยู่ ถึงผู้ใดจะคิดปองร้ายก็ให้เห็นว่าดินฟ้าอากาศยังไม่เล่นด้วย จะได้เป็นที่ย่อหย่อนความมุ่งร้ายไม่ให้เกิดขึ้นได้ ต่อนั้นไปจึงได้กล่าวถึงการที่ทําในครั้งที่นางนพมาศได้ดูนั้นว่า “ครั้นได้เวลา พระครูเพทางคศาสตร์ราชไตรเพท ก็ให้นาลิวันนายพนักงานเชิญข่างขึ้นภัทรบิฐ (แล้ว) หมู่พราหมณ์ทั้งปวงก็ดำเนินแห่ห้อมออกจากเทวสถานไปยังหน้าพระลานชัย อันแวดวงด้วยรั้วราชวัติเป็นที่ทิ้งข่าง จึงเอาสายไหมเบญจพรรณยาวสิบศอก พันคันข่างร้อยช่องผัง ตั้งเท้าลงกับนางกระดาน อันวางเหนือหลังภูมิภาคปถพี พระครูพรหมพรตพิธีศรีบรมหงส์ ก็อ่านอิศรมนต์กําเนิดข่างสิ้นวาระสามคาบ นาลิวันสามนายชำนาญข่างก็ประจําข่างคอยทิ้ง ครั้นได้ฤกษ์โหราลั่นฆ้องชัย นาลิวันก็ทิ้งข่างวางสาย เสียงข่างดังกังวานเสนาะสนั่นดุจเสียงสังข์ หมุนนอนวันคันไม่สะบัดได้บาทนาฬิกาเศษ ข่างสำแดงความเจริญให้เห็นประจักษ์ถ้วนคำรบสามครั้ง ฯลฯ ต่อนั้นไปจึงแสดงผลปัจจุบันของการที่ทิ้งข่างในวันนั้นว่า “ชีพ่อพราหมณ์และท้าวพระยาบรรดาราษฎรซึ่งประชุมกันทอดทัศนาข่างเห็นดังนั้นแล้ว ก็ยินดีปรีดาโห่ร้องเต้นรำบอกเล่ากันต่อๆ ไปว่า ในปีนี้บ้านเมืองจะอยู่เย็นเป็นสุข พราหมณ์ก็เชิญข่างคืนเข้าสู่เทวสถาน”

ความต่อไปนี้ ว่าด้วยการที่นางนพมาศ ได้ไปดูพระราชพิธีนี้ การพระราชพิธีนี้ไม่ได้ทําหน้าที่นั่ง ข้างในก็ไม่ได้เคยไปดูมาแต่ก่อนเลย แต่เพราะนางนพมาศเป็นคนเข้าใจอยู่ในการพิธี และเป็นผู้รักจดจำการต่างๆ อยู่ จึงได้โปรดให้ไปดู พร้อมด้วยพระสนมผู้อื่น ซึ่งเป็นเชื้อพราหมณ์อีกหลายคน ที่ซึ่งไปนั่งดูนั้น ว่านั่งที่โรงมานพ ซึ่งข้าพเจ้าได้เดาไว้ในพระราชพิธีตรียัมพวายว่ามาฬก แต่ในที่นี้เขาว่าเป็นที่พราหมณ์แสดงมนต์ ดูเหมือนหนึ่งจะเป็นโรงที่ทำอย่างแน่นหนา คล้ายศาลาอยู่หน้าเทวสถาน มิได้ปลูกขึ้นใหม่

แต่การพระราชพิธีนี้ ที่ไม่ได้กล่าวถึงเลยในกรุงเก่านั้น จะเป็นด้วยเป็นพิธีของพราหมณ์ทำ ไม่เกี่ยวข้องในการเสด็จพระราชดำเนิน จึงไม่ว่าไว้ หรือเป็นการจืดไม่อัศจรรย์เลิกเสียอย่างหนึ่ง ถ้าจะว่าเป็นเหตุอย่างเช่นกล่าวก่อน พระราชพิธีกะติเกยา ไม่เกี่ยวข้องอันใดกับพระเจ้าแผ่นดินก็มีกล่าวไว้ จะว่าตําราสูญ พราหมณ์เดี๋ยวนี้เขาก็ยังรู้อยู่ เห็นว่าจะเป็นด้วยจืดมากกว่าอย่างอื่น
 


เดือนเจ็ด
พระราชพิธีทูลน้ำล้างพระบาท

การพระราชพิธีนี้ ที่มีมาในกฎมนเทียรบาล เป็นความรวมๆ อย่างยิ่ง เหมือนอย่างพิธีอื่น คือว่าในรัตนสิงหาสน์เบญจาเก้าชั้น ฉัตรทอง ฉัตรนาก ฉัตรเงิน ฉัตรเบญจรงค์ เสด็จบนเบญจาเก้าชั้นและชั้นเจ็ด ฝ่ายซ้ายขุนราชแพทย์ ฝ่ายขวาสมุหประธานนาหมื่น หัวเมืองทั้งสี่ขึ้นก่อน จึงนาหมื่นจตุสดมภ์ ลงมาถึงนาพันหกร้อยและนาห้าพันหลังเอง กว่านั้นสมุหประธานรับหลัง นาหมื่นกะละออมทอง นาห้าพัน นาสามพัน กะละออมนาก นาพันหกร้อย กะละออมเงิน นอกราชวัตินอกฉัตร ขัดแห่หัวหมื่นองค์รักษ์นารายณ์ ผูกพระปราบพระชายานุภาพยืนที่ อ่างทองรองพระบาท ครั้นเสด็จทูลน้ำล้างพระบาทเสด็จออกเลี้ยงเอากะละออมน้ำตั้งศีรษะ ผ้าพอกโอบกะละออมน้ำ ตรัสยื่นหมากสามคําเอาศีรษะรับ มีข้อความในกฎมนเทียรบาลเพียงเท่านี้

ข้อความในจดหมายขุนหลวงหาวัดว่า “เดือนเก้า (ซึ่งข้าพเจ้าเปลี่ยนมาเป็นเดือนเจ็ดตามเหตุที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น) ชื่อพิธีนารายณ์บรรทมสินธุ์ เสด็จสรงสนานในมณฑปกลางสระ ปุโรหิตจึงถวายพระมุรธาภิเษก แล้วจึงถอดฉลองพระองค์ แล้วเปลื้องพระภูษาให้แก่พราหมณ์” มีความเพียงเท่านี้

ข้อซึ่งว่าด้วยที่สรงหรือที่ทำพิธีแปลกกัน คือแห่งหนึ่งว่าในรัตนสิงหาสน์ คําว่า “ในรัตนสิงหาสน์” นี้มักใช้เป็นตรงหน้าพระบัญชรหรือหน้ามุขเด็จซึ่งเป็นที่เสด็จออก มณฑปพระกระยาสนานนั้นคงจะตั้งอยู่หน้าปราสาทซึ่งเป็นที่ชาลากว้างๆ แต่อีกอย่างหนึ่งซึ่งว่ามณฑปในกลางสระนั้น จะเป็นยักย้ายไปใหม่อย่างไรอยู่ ตามที่ว่าก่อนดูเหมือนต้องทํามณฑปพระกระยาสนาน เช่นใช้ในการราชาภิเษกขึ้นใหม่ปีละครั้ง หรือตัวไม้เก่านั้นแลแต่รื้อลงเสียต้องกลับคุมขึ้นใหม่ปีละครั้ง ทั้งเบญจาเก้าชั้นคือยกพื้นขึ้นไปเป็นชั้นๆ ถึงเก้าชั้นต้องทําทุกปี กว่าจะแล้วก็คงหลายๆ วัน ต้องทําต้องรื้ออยู่เสมอ ที่ว่าเป็นมณฑปกลางสระนั้น มณฑปก็ลงกันกับมณฑปพระกระยาสนาน หรือจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินภายหลังทรงเห็นว่าต้องทําๆ รื้อๆ เป็นการลำบาก จึงได้คิดทำขึ้นเสียเป็นเครื่องไม้จริง อยู่คงที่ไม่ต้องรื้อ เมื่อถึงเวลาการพระราชพิธี จึงตกแต่งผูกม่านปักฉัตรประดับประดาเครื่องสดขึ้นคราวหนึ่ง เมื่อเวลาอยู่ปรกติจะทิ้งไว้แต่มณฑปโทงเทงเช่นนั้น ก็จะไม่สู้งามและไม่สู้มีประโยชน์อะไร จึงได้คิดขุดสระประกอบแวดล้อม ให้เป็นที่ประพาสชมผักชมปลาอะไรชนิดเดียวกันกับพระแท่นมุรธาภิเษก ที่ปากอ่างปลาเงินปลาทองข้างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยก็เป็นได้ สถานที่ที่ทำพิธีจึงได้แปลกกันไป แต่อาการซึ่งประพฤติพระราชพิธีนั้น ข้างฝ่ายหนึ่งว่าเป็นชำระพระบาท ข้างฝ่ายหนึ่งว่าเป็นสรงมุรธาภิเษก ไกลกันเป็นพระเศียรข้างหนึ่ง พระบาทข้างหนึ่งทีเดียวนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าซึ่งจะไปนั่งชําระพระบาทแล้วไม่สรงด้วยนั้นดูกระไรๆ อยู่ หรือคำที่เรียกว่าทูลน้ำล้างพระบาทนั้น จะเป็นแต่คำยกย่องให้สมควรแก่พระเจ้าแผ่นดิน เช่นคําว่าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท คำว่าทูลน้ำล้างพระบาทจะเป็นถวายน้ำสรงเสียดอกกระมัง มีเค้ามูลอยู่อีกอย่างหนึ่งในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแต่ครั้งใดๆ มา เจ้านายข้าราชการไม่มีได้เคยถวายน้ำเลย มีแต่สมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะและพระอาจารย์วิปัสสนา กับเจ้าพนักงานภูษามาลาชาวที่ และพราหมณ์อีกพวกหนึ่งเป็นผู้ได้ถวายน้ำ พระสงฆ์นั้นถวายน้ำรดพระขนองอย่างผู้ใหญ่รดผู้น้อย ภูษามาลาชาวที่เป็นแต่ส่งหม้อถวายอย่างข้าส่งน้ำถวายเจ้า แต่พราหมณ์นั้นพระมหาราชครูพิธีคนเดียวได้ถวายพระขนอง นอกนั้นถวายที่พระหัตถ์ แต่ครั้นมาเมื่อบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ มีพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเมื่อยังไม่ได้บวรราชาภิเษกเป็นต้น ข้าราชการมีสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ เมื่อยังเป็นเจ้าพระยาพระคลังเป็นต้น ถวายน้ำหลายองค์หลายคนด้วยกัน ทรงจัดพระเต้าเป็นลำดับยศให้ถวาย แต่ที่ถวายนั้นก็เป็นแต่เข้าไปยืนถวายเหมือนอย่างเจ้าพนักงานภูษามาลาและชาวที่ แล้วทรงรับมาสรงเอง ถึงการบรมราชาภิเษกในรัชกาลปัจจุบันนี้ ก็ได้ใช้ตามแบบนั้นต่อมา แต่ไม่ได้ยินพระกระแสรับสั่ง หรือได้ยินผู้ใดแปลว่าธรรมเนียมนี้เกิดขึ้นด้วยเหตุใด ก็ธรรมเนียมที่ถือกันอยู่ในปรกติ เชิญรดน้ำตั้งกรมเป็นต้น ก็ย่อมเลือกเชิญผู้มีอายุสูงกว่า หรือที่มียศบรรดาศักดิ์ใหญ่กว่าให้เป็นผู้รดน้ำ ไม่เชิญผู้ที่มีอายุต่ำกว่าหรือมียศต่ำกว่าให้รดน้ำ ก็ในการบรมราชาภิเษกของพระเจ้าแผ่นดิน พระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดจะมียศยิ่งขึ้นไปกว่าพระเจ้าแผ่นดินนั้นก็ไม่มีแล้ว จะว่าที่เจริญพระชนมพรรษากว่ามีอยู่ก็ตามเถิด ก็พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็อ่อนพระชนมพรรษากว่า เหตุใดจึงโปรดให้ถวายน้ำด้วยเล่า เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาในทางกฎหมายละเอียดลออมาก และในการพระราชพิธีนี้ก็เป็นของโปรดมาก ทรงเสาะแสวงหาแบบเก่ามาทําโดยตรงๆ บ้าง โดยเอาแทรกปนเจือกับการอื่นๆ บ้าง การเรื่องถวายน้ำนี้ คงได้ทรงพระราชดําริโดยรอบคอบแล้ว ทรงเห็นว่าไม่เป็นการที่ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศลง กลับเป็นการเพิ่มพระเกียรติยศให้ยิ่งขึ้น จึงได้โปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ถวายน้ำ เหตุซึ่งทรงพระราชดําริยกมาเป็นตัวอย่างนั้น เห็นจะเรื่องทูลน้ำล้างพระบาทนี้เอง แต่จะเอาเค้าเงื่อนให้แน่นอนเป็นพิธีต่างหากไม่ถนัด ด้วยเลือนเหลือที่จะเลือนเช่นคัดมาข้างต้นนั้น จึงได้ทรงยกไปใช้เสียในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เหตุทูลน้ำล้างพระบาทอย่างเก่า ถ้าคิดดูตามที่กําหนดศักดินาไว้ ว่าเป็นผู้ซึ่งควรถวายน้ำนั้น ดูจะหลายสิบคนเต็มที เพราะกําหนดตั้งแต่นาหมื่นลงมาจนถึงนาพันหกร้อย หรือจะแบ่งจําเพาะแต่ที่เป็นจตุสดมภ์มนตรีและหมอๆ ครูๆ พวกนายทหารเช่นเจ้ากรมพระตํารวจ กรมช้างกรมม้าจะไม่ใช้ดอกกระมัง ด้วยพวกเหล่านั้นมีหน้าที่ประจําการ ต้องแห่เสด็จต้องแวดล้อมตามราชวัติ ข้อซึ่งขุนหลวงหาวัดว่า สรงแล้วเปลื้องเครื่องพระราชทานพราหมณ์นั้น ก็ไม่เป็นการอัศจรรย์อะไร สรงมุรธาภิเษกก็คงต้องเปลื้องพระภูษาพระราชทานพราหมณ์ทุกครั้ง การพระราชพิธีนี้ดูจะจัดคล้ายการบรมราชาภิเษก หรือการออกแขกเมือง คือมีช้างพระที่นั่ง ม้าพระที่นั่ง ยืนประจําเกย ซึ่งได้ออกชื่อเจ้าพระยาไชยานุภาพ เจ้าพระยาปราบไตรจักรไว้ และจะมีการสมโภชเลี้ยงลูกขุน คือเลี้ยงแบงเควสใหญ่เหมือนอย่างการพระราชพิธีออกสนามใหญ่นั้นด้วย

ข้าพเจ้าไปจนเสียแต่เรื่องลงปลาย ที่เอากะละออมน้ำตั้งศีรษะ แล้วตรัสยื่นหมากสามคําเอาศีรษะรับ ที่ว่านั้นว่าในเวลาเลี้ยงเมื่อเสร็จการสรงแล้วด้วย เป็นจนความคิดไม่รู้ว่าจะแปลว่ากระไร ถ้าจะเล่นเอากะละออมตั้งหัวขุนนางทุกคนดูก็จะเหลือทน จะไปถูกลื่นๆ เข้าบ้างหรืออย่างไรตั้งไม่อยู่ จึงต้องเอาผ้าพอกโอบเป็นเสวียนขึ้นรับไว้ การที่จะยื่นหมากลงไปนั้นดูจะยากทั้งผู้รับผู้ยื่น ถ้ามีผมอยู่ก็พอจะแทรกเสียดอยู่ในผมได้ ถ้าถูกเกลี้ยงๆ จะทรงวางก็จะเลื่อนตกบ่อยๆ โดยว่าทรงวางได้แล้ว ผู้ที่ได้รับพระราชทานจะถอยหลังกลับออกมา ก็จะต้องย่องอย่างเอก ถ้าเป็นเดี๋ยวนี้เห็นจะได้ฮากันลั่นๆ ไป การซึ่งว่าไว้เช่นนี้ จะเป็นด้วยแต่งสั้นเกินไป หรือจะเป็นด้วยมีผู้ใดแป้นอย่างเอกขึ้นสักคนหนึ่ง เวลาที่จะขึ้นไปถวายน้ำยกขึ้นทูลศีรษะมือประคองขึ้นไป เวลาที่พระราชทานหมากก็เอาศีรษะยื่นเข้าไปรับแทนผ้ากราบ แล้วจึงเอามือหยิบเหมือนผู้หญิงถวายของพระอย่างนั้นบ้างดอกกระมัง แต่การพระราชพิธีทั้งสองคือทูลน้ำล้างพระบาทหรือนารายณ์บรรทมสินธุ์นี้ ก็ไม่มีปรากฏว่ามีพิธีพราหมณ์อย่างใด ดูพราหมณ์ก็ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร และพิธีทั้งสามอย่าง คือ เคณฑะ ทูลน้ำล้างพระบาท และนารายณ์บรรทมสินธุ์นี้ ไม่ได้มีทําที่กรุงรัตนโกสินทรนี้เลย นับว่าเป็นพิธีเลิกสูญแล้วทั้งสิ้น ๚
 


เดือนเจ็ด
การพระราชกุศล สลากภัต

๏ การพระราชพิธีสำหรับเดือนเจ็ด เลิกเสียไม่ได้ทําทั้งสิ้นแล้ว การพระราชกุศลอันใดในเดือนเจ็ดก็ไม่มี ตลอดจนการสดับปกรณ์พระบรมอัฐิซึ่งมีแทบจะทุกเดือน ในเดือนเจ็ดก็จำเพาะถูกคราวเว้นการจรที่เป็นการมงคลก็ไม่ทำในเดือนเจ็ด การเผาศพใหญ่ๆ ก็ไม่ใคร่ทําในเดือนเจ็ด ด้วยเป็นฤดูฝน เพราะฉะนั้นในเดือน จึงได้เว้นว่างอยู่ทั้งเดือน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้โปรดให้มีสลากภัตเป็นการพระราชกุศลเพิ่มขึ้นในเดือนเจ็ด

การสลากภัตนี้ เมื่อจะว่าโดยเหตุเดิม ตามที่คนโบราณได้ทํามาก็ไม่เป็นกำหนดฤดู ที่มีมาในวินัยบาลี คัมภีร์จุลวรรคว่าพระผู้มีพระภาคเสด็จอยู่ ณ เวฬุวันเมืองราชคฤห์ ครั้งนั้นข้าวแพง ชนทั้งหลายที่เคยถวายสังฆภัตทั่วๆ ไปไม่มีกําลังจะถวายได้ จึงได้พากันคิดจะถวายอุเทศภัตเพียงรูปหนึ่ง สองรูป สามรูปอย่างหนึ่ง นิมันตภัต คือเฉพาะแต่ที่นิมนต์ไปถวายอย่างหนึ่ง สลากภัตคือให้พระสงฆ์จับสลากตามแต่ผู้ใดจะได้นั้นอย่างหนึ่ง ปักขิกภัต ถวายเฉพาะวันหนึ่ง ในปักษ์ข้างขึ้นปักษ์ข้างแรมนั้นอย่างหนึ่ง ปาฏิปทิกภัต ถวายเฉพาะในวันขึ้นค่ำหนึ่ง และแรมค่ำหนึ่งนั้นอย่างหนึ่ง ยักย้ายไปตามชอบใจของตนๆ ภิกษุทั้งหลายนำความขึ้นกราบทูลพระผู้ทรงพระภาค พระองค์จึงอนุญาตให้พระสงฆ์รับภัตทั้ง ๗ นี้ สลากภัตนับเป็นภัตอันหนึ่งใน ๗ อย่าง ก็ไม่เป็นกำหนดฤดูหรือกำหนดเหตุอันใด ที่เป็นกาลควรทำใช่กาลที่ควรทํา ในกรุงสยามแต่ก่อน ที่ได้กล่าวถึงถวายสลากภัตแก่พระสงฆ์ ในส่วนราชการและส่วนราษฎร ก็มีมาอย่างเช่นในหนังสือนพมาศเป็นต้น ก็ว่าถวายกันในเดือนหก ประจวบนักขัตฤกษ์วิสาขบูชา ถึงที่ในกรุงรัตนโกสินทร์เกิดสลากภัตขึ้น ก็ทําในการวิสาขบูชาเหมือนกัน และสลากภัตใหญ่วัดพระเชตุพน เมื่อปีมะโรง อัฐศก จุลศักราช ๑๒๑๘ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสลากภัตวิเศษนอกจากวิศาขะคราวแรก ก็ทําในเดือนหกเหมือนกัน ที่ย้ายลงมาเดือนเจ็ดนั้น เห็นจะย้ายลงมาหาตาว่างอย่างเดียวเท่านั้น การซึ่งกำหนดสลากภัตในเดือนเจ็ด ก็ด้วยอาศัยผลไม้บริบูรณ์ ผลไม้อื่นก็ทำเนา ดูเป็นข้อใหญ่ใจความอยู่ที่ทุเรียน ถ้าฤดูสลากภัตต้องคราวทุเรียนชุกชุมแล้ว ก็เห็นจะเป็นใช้ได้ทั้งสิ้น

การเรื่องถวายภัตต่างๆ หรือจีวรต่างๆ ตามที่มีมาในพระวินัย ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงอนุญาตไว้นั้น ดูเป็นการทำเล่นต่างว่าไปหมดทุกอย่าง ด้วยเหตุว่าภูมิประเทศบ้านเมืองไม่เหมือนกัน ทั้งผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาก็ไม่เหมือนกัน ในประเทศอินเดียมีทุพภิกขภัยฝนแล้งข้าวแพง จนถึงมนุษย์และสัตว์ต้องตายด้วยอดอาหาร ในประเทศสยามนี้การเช่นนั้นไม่เคยพบเห็น เพราะแผ่นดินอุดมดีกว่าในประเทศอินเดียบางแห่ง การที่จะเสาะแสวงหาอาหารของภิกษุไม่เป็นที่อัตคัดขัดสน คนในพื้นเมืองประเทศอินเดียเป็นหลายสิบพวกหลายสิบเหล่าประกอบด้วยทิฐิมานะกระด้าง ถือชาติถือโคตรถือลัทธิบูชาเซ่นสรวงต่างๆ กัน ลัทธิที่ถือเหล่านั้นล้วนแต่หึงหวงพวกอื่นๆ สอนให้หมิ่นประมาทพวกอื่น ให้ถือพวกอื่นเป็นศัตรูอบรมกันมาช้านาน ถึงโดยว่าพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นจะแพร่หลายไปได้มากเพียงเท่าใด ก็ไม่พอที่จะลบล้างทิฐิเดิมให้สิ้นเชื้อสิ้นซากได้ และไม่พอที่จะสั่งสอนคนให้ทิ้งละทิฐิเดิม กลับมาถือพระพุทธศาสนาทั่วกันไปได้ ส่วนในแผ่นดินสยามนี้ แต่เดิมมาก็คงจะเป็นแต่ถือเจ้าถือผีเช่นเมืองลาว เจ้าและผีเหล่านั้นไม่มีกฎหมายข้อบังคับที่ได้สั่งสอนคนให้ประพฤติตัวอย่างหนึ่งอย่างใด เหมือนอย่างคัมภีร์เวท หรือคัมภีร์ไบเบิลที่มีผู้มาชี้บอกเล่าสั่งสอน เป็นแต่นับถือก็เซ่นสรวงบูชาไปลองดู เมื่อได้สมประสงค์จงใจ ก็เข้าใจเอาเป็นว่าการที่ตัวทำนั้นถูก ถ้าไม่ได้สมประสงค์จงใจ ก็เข้าใจว่าการที่ตัวทำนั้นเป็นการผิดไม่ชอบใจเจ้า คิดยักย้ายทำอย่างอื่นไป ที่สุดจนการหยาบๆ คายๆ ที่คนกล้าๆ บ้าๆ ไปทำ เมื่อคนที่ทำไม่มีอันตรายอันใด ก็ถือว่าเป็นถูกใจเจ้าเช่นกับนิทานเขาเล่าว่าขโมยบนถวายควายเขาเกะแค่หู เมื่อได้ควายมาแล้วมาผูกไว้ที่เสาศาล ควายนั้นออกวิ่งไป กระชากเชือกที่ผูกเสาศาลจนศาลทลาย เมื่อผู้ที่ทําเช่นนั้นไม่มีอันตรายอันใด ก็ตกลงใจว่าเจ้าชอบการที่เป็นตลกขันๆ เป็นต้น การที่ถือลัทธิไม่มีข้อบังคับเป็นแต่การทดลองเช่นนี้ จึงไม่เป็นเหตุให้เชื่อถือมั่น จนถึงเป็นทิฐิมานะกระด้างแข็งแรง ครั้นเมื่อพราหมณ์นำศาสนาอิศวรนารายณ์เข้ามา ถึงว่าศาสนานั้นมีกฎหมายบังคับความประพฤติของคน แต่วิธีลักษณะอาการก็ไม่สู้ผิดกันไปกับเจ้าผีซึ่งเคยถือมาแต่ก่อนนัก เมื่อรับมาถือก็เข้าใจว่าเป็นผีอย่างเก่านั้นเอง แต่เป็นผีผู้ดีขึ้นไปกว่านั้นอีกหน่อยหนึ่ง หรือเป็นเจ้าแผ่นดินของผี ถึงว่าจะนับถือดีขึ้นไปกว่าผีที่เคยนับถือมาแต่ก่อน ก็ไม่มีใครปฏิบัติตามกฎหมายแบบอย่าง เป็นแต่นับถือบูชาหลวมๆ อยู่อย่างเช่นผีอย่างเก่านั้นเอง ครั้นเมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามา เป็นลัทธิแปลกไปใหม่ ไม่เหมือนอย่างที่เคยถืออยู่แต่ก่อนเลย เป็นการลึกซึ้งเข้าใจยากต้องร่ำเรียน ครั้นเมื่อร่ำเรียนรู้แล้ว ก็ยิ่งเห็นความอัศจรรย์ในคำสั่งสอนนั้นมากขึ้น ได้รับผลแห่งความปฏิบัติแน่นอนดีกว่าที่ได้จากผีไพร่หรือผีผู้ดีที่เคยถือมาแต่ก่อน ก็ทำให้ความเลื่อมใสศรัทธาเจริญกล้าขึ้น เมื่อมีผู้ร่ำเรียนรู้มากขึ้น คําสั่งสอนของพระพุทธเจ้าก็ยิ่งแพร่หลายออกไป หยั่งลงตั้งมั่นในประเทศสยามแน่นหนามั่นคง ยิ่งกว่าศาสนาพราหมณ์ เพราะเป็นคำสอนที่มีแก่นสารให้ผลปรากฏในปัจจุบันไม่มีสับปลับพลิกแพลงเลย ถึงว่าศาสนาเก่าที่เคยถือมาทั้งสองอย่าง จะไม่ละทิ้งเสียได้ด้วยใจอ่อน ก็ยังเหลือแต่ความเกรงใจมากกว่าที่นับถือจริง ประเทศสยามเป็นภูมิภาคที่สมควรจะทรงพระพุทธศาสนามากกว่าประเทศอินเดีย ด้วยที่นับถือเดิมนั้นอ่อน จึงได้แพร่หลายมั่นคงมีผู้นับถือปฏิบัติบูชาแก่พระสงฆ์ทั้งปวงทั่วหน้า ถึงตาพระสงฆ์ทั้งปวงไม่มียามขัดสนกันดารเหมือนอย่างประเทศอินเดีย ด้วยอาศัยภูมิประเทศเป็นที่บริบูรณ์อย่างหนึ่ง ด้วยความนับถือของชนทั้งปวงทั่วถึงและมั่นคงประการหนึ่งดังกล่าวมานี้

การซึ่งมีแบบอย่างมาจากประเทศอินเดีย ในเรื่องภัตทานก็ดี จีวรทานก็ดี เป็นเรื่องสำหรับประเทศที่หาอาหารยากและหาผ้ายากทั้งสิ้น ไม่ต้องกันกับในประเทศนี้เลย แต่หากผู้ซึ่งมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอยากจะหาช่องหาอุบายบําเพ็ญทานต่างๆ ให้เจริญความยินดีปรีดาในสันดาน ก็ยักย้ายทําไปตามลัทธิที่กล่าวมาแต่ก่อนอย่างนั้นบ้างอย่างนี้บ้าง แต่มักจะเป็นการไม่แท้โดยมาก อย่างเช่นว่าให้ผ้าปังสุกุลจีวรได้อานิสงส์มาก ก็มาทําย่อๆ เอาผ้าพาดโยงจากศพ แล้วเอาจีวรไปพาดบนผ้านั้น นิมนต์พระสงฆ์ตามที่ตัวนับถือชอบใจ มาชักผ้านั้นเป็นปังสุกุลจีวร ที่จริงผู้ทําก็รู้ว่าผ้านั้นพระสงฆ์จะเอาไปอธิษฐานเป็นปังสุกุลจีวรไม่ขึ้น พระสงฆ์ก็ไม่ได้เอาไปอธิษฐานเป็นปังสุกุลจีวรเลย แต่ก็ยังถวายผ้าปังสุกุลอย่างนั้นอยู่ได้เสมอ เป็นการสังเขปต่างว่าย่อๆ เพราะความจริงพระสงฆ์ในประเทศสยามนี้ ไม่ต้องการที่จะใช้ปังสุกุลจีวรเลย ด้วยผ้าที่ทายกถวายมากมายเหลือใช้ยิ่งนัก ถึงการสลากภัตนี้ก็เหมือนกัน สักแต่ชื่อว่าสลากภัต เมื่อทำไปถวายที่วัดใดก็ได้ทั่วๆ กันทั้งวัดเป็นสังฆภัต แต่ยักเรียกเสียว่าเป็นสลากภัต ที่สลากภัตหลวงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ก็เป็นนิมันตภัต ยักเรียกว่าสลากภัต บรรดาสสากภัตของหลวงทั้งสิ้นไม่เป็นสลากภัตแท้ เป็นแต่สมมติว่าเป็นสลากภัต เหมือนอย่างที่ทําบุญการศพ สมมติว่าเป็นได้ทอดผ้าปังสุกุลฉะนั้น ๚
 


เดือนเจ็ด
สลากภัต

๏ บัดนี้จะว่าด้วยการสลากภัตซึ่งเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๔ ข้าพเจ้าได้เคยจําได้ว่าได้ดูแห่สลากภัตไปวัดพระเชตุพน ที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ครั้งหนึ่ง มีกระบวนเป็นอันมาก แต่กระบวนทั้งปวงนั้นจําไม่ได้หมดว่ามีอะไรบ้าง ไปจําได้อยู่สองอย่างแต่ว่ามีสหัสเดชะขี่เกวียนตัวหนึ่ง หัวโตสักเท่าตุ่มขนาดย่อมๆ มีมือหลายมือ ถืออะไรต่ออะไรหลายอย่าง จําก็ไม่ได้ว่าถืออะไรบ้าง เห็นแต่เวลาเกวียนเดินแล้วสั่นหรกๆ มาแต่ไกล ได้ตั้งตาดูแต่เหนือพลับพลา แล้วแลตามตลอดจนท้ายพลับพลา อยู่ข้างจะชอบใจมากกว่าสิ่งอื่น อีกกระบวนหนึ่งนั้นพิเภกคนๆ เราแต่งเป็นโขน มีลิงตามเป็นกองโต ถือผลไม้ต่างๆ เขามีพิณพาทย์ตี พิเภกและลิงนั้น เต้นตามเพลงพิณพาทย์ออกสนุกอีกอย่างหนึ่ง ได้ดูจําไว้ได้แต่สองอย่างเท่านี้ จะได้มีปีใดก็ไม่ทราบแน่ และไม่ไว้ใจตัวว่า การที่จําไว้นั้นจะถูกต้องหรือไม่ เที่ยวสอบถามใครๆ เขาดู เขาก็ว่ามีสลากภัตวัดพระเชตุพนจริง แต่จะมีกระบวนเช่นข้าพเจ้าจําได้หรือไม่นั้น เขาไม่ทราบหรือจําไม่ได้ ก็ยิ่งออกหนักใจขึ้นกลัวว่าจะไปเฟือนเอาเล่นโขนชักรอกเมื่อพิธีน้ำทิพย์มาฝันเห็นไปดอกกระมัง แต่ยังจําได้แน่นอนนัก จึงได้ค้นดูจดหมายเหตุเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ก็ได้ความว่า สลากภัตนั้นได้มีเมื่อปีมะโรงอัฐศก อายุข้าพเจ้าได้สามขวบเต็ม แต่ไม่มีสหัสเดชะดังเช่นที่ฝันเห็นไปนั้น เป็นแต่พรรณนาความกว้างๆ ว่า “ของหลวงไปหน้า แต่งละครข้างในหาบสลากภัตเป็นคู่ๆ ถึงท่านที่ต้องเกณฑ์ก็คิดทําประกวดกัน จัดหญิงศีรษะจุกและหญิงรุ่นสาวมาตกแต่งให้นุ่งผ้ายกบ้าง นุ่งสังเวียนบ้าง ห่มเข้มขาบบ้าง หาบสลากภัตเป็นสี่แถว แล้วก็มีคนถือสำรับคาวหวาน เครื่องไทยทานเป็นขนมผลไม้ต่างๆ ที่จะถวายพระสงฆ์ในสลากภัตนั้น ตามไปเบื้องหลังเป็นอันมาก ลางแห่งก็แต่งเป็นละครยืนเครื่องและนางเป็นคู่ๆ กันหาบสลากภัต ลางแห่งก็แต่งเป็นยักษ์บ้างลิงบ้าง ลางแห่งก็แต่งเป็นเสี้ยวกางแทงพิสัยไปข้างหน้า ลางแห่งก็แต่งเป็นงิ้วรบกัน ลางแห่งก็แต่งเป็นนางต่างภาษา ทูนกระบุงสิ่งของเป็นอันมาก ลางแห่งก็จัดเป็นรถและเกวียนบรรทุกสิ่งของเป็นคู่ๆ ลางแห่งก็จัดเอาเด็กที่รุ่นมาแต่งตัวถือผลไม้ต่างๆ ไปเป็นอันมาก ตามแต่ปัญญาผู้ใดจะเห็นดีก็ทําไป มีพิณพาทย์จีนพิณพาทย์ไทยไปบนเกวียนบ้างทุกๆ กระบวน ตั้งกระบวนที่หน้าประตูวิเศษชัยศรี ไปเลี้ยวป้อมเผด็จดัสกร เดินกระบวนไปวัดพระเชตุพน คิดกระบวนหนึ่งคนที่อย่างน้อยทั้งหญิงทั้งชายเพียงร้อยเศษ ที่อย่างมากก็ถึงสองร้อยเศษ แต่ล้วนถือสิ่งของทั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นทอดพระเนตรอยู่บนพระหนึ่งสุทไธสวรรย์” ได้ความจากจดหมายเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่าดังนี้ ได้ความจากผู้อื่น คือท้าวเจ้าจอมมารดาอิ่มว่าตัวเองได้แต่งเป็นคนแก่ คนหาบสลากภัตนั้น ดวงคําเจ้าจอมมารดาหาบทอง จีบหาบถม แว้งหาบเงิน ละครแต่งเป็นพราหมณ์ เป็นศีรษะจุกสวมเกี้ยว ถือดอกไม้ธูปเทียน นอกนั้นมีละครสวมชฎา เป็นมนุษย์บ้าง ยักษ์บ้าง ขี่ม้าเป็นคู่ๆ และมีแต่งเป็นจีนเดินแห่ด้วย นี่เป็นกระบวนหลวง ได้ความจากผู้อื่นอีก ว่ากระบวนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า มีแคนใหญ่อันหนึ่งวางบนล้อเลื่อนไป มีลาวขับแคนเดินแวดล้อมไปด้วย แล้วจึงมีปราสาทผึ้งใหญ่หลังหนึ่งวางบนล้อเลื่อนลากไปเหมือนกัน ของสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย มีช้างบรรทุกทุเรียน ของผู้อื่นก็มีเป็นละครบ้างงิ้วบ้าง อีกกระบวนหนึ่งไม่ทราบว่าของใคร มีทุเรียนประดับ เป็นทุเรียนผลใหญ่ขึ้นล้อเลื่อน ได้ความเฉียดๆ ไปอย่างนี้ แต่เรื่องสหัสเดชะของข้าพเจ้ายังไม่ได้ยินใครเอ่ยถึง เป็นแต่มีสลากภัตครั้งหนึ่งนั้น นับว่าเป็นถูกแน่มิใช่ฝัน แต่กระบวนนั้น บางทีคนอื่นเขาจะชอบใจอย่างอื่น แต่ข้าพเจ้าเป็นเด็กโคมจะไปชอบใจโคมที่เขาไม่ชอบกัน จึงไม่มีใครจำไว้หรืออย่างไรก็ไม่ทราบ แต่สังเกตได้ว่า ถ้าเด็กเช่นนั้นไม่ชอบใจอย่างยิ่งแล้วไม่จําได้ ถ้าจำได้แล้วไม่ลืมเลย สลากภัตวัดบวรนิเวศ ซึ่งว่ากันว่ามีครั้งหนึ่งก่อนหรือภายหลังวัดพระเชตุพน ข้าพเจ้าไม่ได้นึกวี่แววได้เลยสักนิดเดียว ถามใครก็ดูรวมๆ ไปหมดทั้งสิ้น


หัวข้อ: Re: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 04 กรกฎาคม 2561 15:02:57

เดือนเจ็ด
สลากภัต (ต่อ)

การสลากภัตทั้งสองคราว คือวัดพระเชตุพน และวัดบวรนิเวศต้องนับว่าเป็นการจร ส่วนสลากภัตที่ลงเป็นการประจำปีนั้น ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นการมีในเดือน ๗ แต่จะเป็นขึ้นแปดค่ำหรือขึ้นสิบห้าค่ำจําไม่ถนัด คงอยู่ในวันพระ เป็นแต่สลากภัตของหลวงกับเจ้านายข้าราชการฝ่ายใน แห่ออกทางประตูราชสำราญ ผ่านหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมไป เข้าประตูหน้าพระอุโบสถ ทอดพระเนตรที่ศาลาบอกหนังสือ สลากภัตเช่นนี้ มีกระบวนแห่เป็นผู้หญิงถือธงชาย ๑๐ ธงตะขาบ ๑๐ มีพิณพาทย์ ผู้หญิงตีสาม หามสี่ไปในระหว่างสำรับหนึ่ง ต่อไปละครขี่ม้า บางทีก็อย่างละสองคู่ บางทีก็อย่างละคู่ คือยืนเครื่อง พราหมณ์ ลิง ยักษ์ ในระหว่างละครขี่ม้านี้ มีพิณพาทย์อีกสำรับหนึ่ง ต่อนั้นไปเป็นละครเด็กๆ ถือดอกไม้คู่หนึ่ง ธูปคู่หนึ่ง เทียนคู่หนึ่ง แต่แต่งตัวนั้นยักเยื้องกันไปเป็นคราวๆ บางคราวก็แต่งศีรษะจุกทั้งหกคน บางคราวก็แต่งเป็นพราหมณ์ทั้งหกคน บางคราวก็แต่งเรียกว่าอย่างเจ้าหนุ่ม คือแต่งเป็นละครแต่โพกผ้าสีทับทิมติดขลิบ ต่อนั้นลงมาเป็นหาบหลวง ทองหาบหนึ่ง เงินหาบหนึ่ง กระเช้าที่หาบนั้น ใช้ไม้เป็นแป้นหกเหลี่ยมปิดทองปิดเงิน ร้อยสายโซ่โยงขึ้นไปเป็นสาแหรก ในสาแหรกนั้น ตั้งพานทองพานเงินข้างหนึ่งเป็นกระทงข้าวเหนียว ข้างหนึ่งเป็นกระทงสังขยา คนที่หาบแต่งตัวนุ่งยกบ้าง สังเวียนบ้าง ห่มซับในแพร ห่มตาดชั้นนอก ต่อไปจึงถึงงานกลางเชิญเครื่องโต๊ะเงินผูกถุง ทั้งคาวหวานและเคียง พวกงานกลางนุ่งผ้าลาย นุ่งหยี่ ห่มซับในแพร ขึ้นนอกอัตลัดดอกราย ต่อนั้นไปจึงถึงหาบเจ้านายข้าราชการฝ่ายในเดินเป็นคู่ๆ กระเช้าที่หาบทําเป็นกระทงเจิม เป็นเครื่องขี้รักปิดทองบ้าง เครื่องอังกฤษบ้าง ปลายคานที่หาบเป็นศีรษะนาคหางนาค มีกระทงในกระเช้าทั้งสองข้าง มีซองพลูหมากธูปมัดเทียนมัดอยู่ในกระเช้า แล้วมีธงกระดาษปักฉลากหมายที่ ๑ ที่ ๒ บอกชื่อเจ้าของ สบงพาดศีรษะคานผืนหนึ่ง คนที่หาบนั้นแต่งตัวนุ่งสังเวียนบ้างยกบ้าง ที่เลวๆ ลงไปยกไหมก็มี ห่มตาดเยียรบับเข้มขาบอัตลัด ตามแต่ผู้ใดจะมีและจะหาได้ จํานวนหาบมากและน้อยตามจํานวนพระสงฆ์ที่มาฉัน ปรกติเห็นจะอยู่ใน ๓๐ รูป แต่ก่อนๆ มาใช้ทุเรียนทั้งผลกระเช้าหนึ่ง กระทงข้าวเหนียวกระเช้าหนึ่ง พึ่งจะมาเกิดกริ้วกันขึ้นเมื่องานสมโภชช้าง เห็นจะเป็นครั้งพระเศวตรสุวภาพรรณ ไปเหม็นตลบอบอวลขึ้นอย่างไรรับสั่งให้ไปทิ้งเสียทั้งสิ้น ภายหลังจึงได้กลายเป็นสังขยาบ้าง ผลไม้ต่างๆ บ้าง กระเช้าหนึ่งบางทีก็มีทั้งสังขยาและผลไม้ด้วย หาบหลวงและเครื่องโต๊ะเงินนั้นเป็นข้าวพระทั้งสองสำรับ นอกนั้นก็ถวายพระสงฆ์ตามที่ ๑ ที่ ๒ เป็นลำดับกัน เวลาทรงประเคนสำรับ ทรงประเคนกระเช้าสลากภัตด้วยทีเดียว การเลี้ยงพระก็ไม่แปลกประหลาดอันใด จืดๆ เหมือนเลี้ยงขนมเบื้อง ถ้ามีการสมโภชบ้าง ก็เลิกสสากภัตตามธรรมเนียมเสีย ไปมีสลากภัตในการสมโภชช้างสามวัน พระสงฆ์มากออกไปเป็นร้อยแปดรูป ถ้าเช่นนั้นก็ต้องเกณฑ์เจ้านาย เจ้าคุณ ท้าวนาง เจ้าจอมมารดาใหม่ เจ้าจอมมารดาเก่า จนกว่าจะพอ บางปีก็ยกไปวัดราชประดิษฐ์ก็มี วัดราชบพิธก็มี บางทีก็เลยลืมๆ ไปเสียไม่ได้ทําก็มี แต่ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ สลากภัตตามธรรมเนียมวัดพระศรีรัตนศาสดารามไม่ได้มี มีแต่การสมโภชช้างและไปวัดราชบพิธเท่านั้น จะว่าเป็นพระราชกุศลที่เลิกแล้วทีเดียวก็ว่าไม่ได้  จะว่ายังคงอยู่ก็ว่าไม่ได้ ขยับจะกลายไปเป็นการจร ๚  

เดือนเจ็ด
การพระราชกุศล หล่อเทียนพรรษา

๏ ส่วนการที่ยังคงประจำอยู่ไม่ขาดนั้น คือการหล่อเทียนพรรษา เทียนพรรษา แต่ก่อนใช้หล่อด้วยสีผึ้งทั้งสิ้น บรรดาวัดที่เป็นวัดหลวงมีนิตยภัตสองสลึงแล้ว มีเทียนพรรษาวัดละเล่มบ้าง กว่านั้นบ้างทุกๆ วัด เทียนนั้นมากน้อยตามกำหนดวัดซึ่งเกิดขึ้นทุกๆ รัชกาล จนถึงปลายรัชกาลที่ ๓ เทียนเกือบถึงร้อยเล่ม กำหนดเทียนเล่มหนึ่งหนักสีผึ้ง ๑๖ ชั่ง สิ้นสีผึ้งเป็นอันมาก เวลาที่จะหล่อนั้นก็บอกบุญพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน เจ้าภาษีนายอากร เอาสีผึ้งมาช่วยหล่อ แล้วก็เป็นการประชุมใหญ่ในวันเดือน ๗ ขึ้นแปดค่ำ ทุกปีมิได้ขาด ถ้าปีใดมีอธิกมาส รอการหล่อเทียนไว้ต่อวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๘ บุรพาสาฒ ครั้นมาถึงรัชกาลที่ ๔ ทรงทราบลัทธิของพวกข้าพระที่ได้ผลประโยชน์อยู่ในเทียนพรรษาทั่วทุกพระอาราม คือว่าจำเดิมตั้งแต่จุดเทียนพรรษาแล้วก็ตัดทอนเทียนนั้นเสีย เหลือไว้ยาวสักคืบหนึ่ง เวลาเสด็จพระราชดำเนินกฐิน ยังซ้ำรวงลงไปพอให้ขังน้ำมันได้ จุดตะเกียงพอรับเสด็จชั่วเวลากฐินสักชั่วโมงทั้งเผื่อทั้งคอย แล้วก็ดับเอาก้นที่ตัดไว้คืบหนึ่งนั้นไปอีก ตกลงเป็นเทียนพรรษาเล่มหนึ่งได้จุดบูชาพระสีผึ้งหนักไม่ถึงบาท นอกนั้นเป็นประโยชน์ของข้าพระทั้งสิ้น เป็นอยู่เช่นนี้โดยมาก จึงได้โปรดให้เลิกเทียนหล่อเสีย ให้ทำด้วยไม้ ปั้นลายรักปิดทอง คงไว้แต่กาบข้างปลายเป็นลายสีผึ้ง แล้วให้ทำกระบอกตะกั่วเป็นรูปถ้วย ถวายทรงหยอดสีผึ้งพอเต็มถ้วย ตั้งลงในช่องปลายเทียนไม้ จุดในวันแรก ต่อนั้นไปจ่ายน้ำมันให้เติม จุดเป็นตะเกียง แต่น้ำมันที่จ่ายนั้น ก็เป็นการเตกเกเบอร์เหมือนกัน จะเป็นหมดท่าแก้หรือแกล้งทรงนิ่งๆ เสียไม่ทราบเลย น้ำมันนั้นก็ยังคงจ่ายอยู่ ส่วนเทียนสีผึ้งอย่างเก่านั้น ให้คงไว้แต่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเล่มหนึ่ง พุทไธสวรรย์เล่มหนึ่ง หอพระเจ้าสองเล่ม เป็นเทียนหลวงเล่มหนึ่ง เทียนเรี่ยไรเล่มหนึ่ง พระพุทธบาทเล่มหนึ่ง วัดพระเชตุพนเล่มหนึ่ง วัดอรุณเล่มหนึ่ง วัดราชโอรสเล่มหนึ่ง วัดบวรนิเวศเล่มหนึ่ง วัดบรมนิวาสเล่มหนึ่ง พระศรีสากยมุนี วัดสุทัศน์เล่มหนึ่ง ภายหลังเกิดพระปฐมเจดีย์ขึ้นอีกเล่มหนึ่ง พระพุทธชินราชเมืองพิษณุโลกอีกเล่มหนึ่ง ครั้นเมื่อทรงสร้างวัดราชประดิษฐ์ โปรดให้หล่อเทียนเล่มย่อมๆ เป็นสองเล่ม ภายหลังเกิดขึ้นที่พระพุทธสิหิงค์อีกสองเล่ม หอเสถียรธรรมปริตเล่มหนึ่ง หอพระคันธารราษฎร์ที่ท้องสนามเล่มหนึ่ง ครั้นในแผ่นดินปัจจุบันนี้มีขึ้นที่วัดราชบพิธอีกสองเล่ม พระพุทธรัตนสถานสองเล่ม เล่มใหญ่มีขึ้นที่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติเล่มหนึ่ง พระศรีรัตนเจดีย์เล่มหนึ่ง ในอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเพิ่มขึ้น เมื่อไม่มีวังหน้าแล้วแทนเทียนวังหน้าอีกเล่มหนึ่งให้เป็นคู่กัน ภายหลังนี้เกิดเทียนอย่างเล็กลงไปกว่าเช่นที่วัดราชประดิษฐ์ขึ้นอีกสองเล่ม สำหรับพระพุทธบุษยรัตน์น้อย รวมเป็นเทียนอย่างใหญ่ ๑๖ เล่ม อย่างกลาง ๑๐ เล่ม อย่างเล็ก ๒ เล่ม เทียนวัดพระเชตุพน วัดอรุณ วัดราชโอรส ให้มีเป็นวัดสำหรับรัชกาลละวัด ในเวลานั้นทำนองจะยกวัดบรมนิวาสเป็นวัดสำหรับรัชกาลที่ ๔ แต่ครั้นเมื่อเปลี่ยนมาเป็นวัดราชประดิษฐ์แล้ว เทียนวัดบรมนิวาสก็มีเลยไป เทียนวัดนิเวศน์ธรรมประวัติก็เกิดขึ้นตามเลยของวัดบรมนิวาส แต่ส่วนเทียนวัดบวรนิเวศเป็นเทียนสำหรับองค์พระเหมือนอย่างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือพุทไธสวรรย์ พระบาทและพระปฐมเจดีย์ การหล่อเทียนแบ่งเป็นข้างหน้าข้างใน เทียนหอพระและเทียนพุทธมนเทียรแบ่งเข้ามาหล่อข้างใน เจ้านายข้างในทรงหล่อ นอกนั้นหล่อข้างหน้าทั้งสิ้น

รูปสัณฐานของเทียนพรรษานั้น วังหลวงใช้อย่างหนึ่ง วังหน้าใช้อย่างหนึ่ง วังหลวงใช้อย่างบัวปลายเสาวังหลวง วังหน้าใช้อย่างบัวปลายเสาวังหน้า ซึ่งแบ่งเป็นอย่างกันมาแต่ครั้งกรุงเก่า ต้นเหตุนั้นเห็นจะเกิดประชันกันขึ้น ครั้งขุนหลวงท้ายสระสร้างวัดมเหยงค์ ขุนหลวงบรมโกศสร้างวัดกุฎีดาว ก็เลยถือติดต่อลงมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์นี้ด้วย ถ้าการก่อสร้างอันใดในพระบรมมหาราชวังแล้วไม่ใช้บัวกลมเลย ถ้าการก่อสร้างอันใดในพระราชวังบวรแล้วไม่ใช้บัวเหลี่ยมเลย เป็นธรรมเนียมติดต่อกันมา จนกระทั่งถึงเทียนพรรษาก็พลอยเป็นเช่นนั้นด้วย ๚
 


เดือนเจ็ด
การพระราชกุศล วันที่ ๓๑ พฤษภาคม

๏ การพระราชกุศลในเดือน ๗ มีแต่หล่อเทียนพรรษา ก็เป็นการหง่อยๆ เช่นกล่าวมาแล้ว ยังมีอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นการเกิดขึ้นใหม่ตั้งแต่ปีมะเส็ง ตรีศก จุลศักราช ๑๒๔๓ คือ การทำบุญวันสิ้นพระชนม์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ แต่เคยทำกำหนดสุริยคติกาล คือวันที่ ๓๑ เดือนพฤษภาคมแต่เดิมมา บางปีก็ไม่ตกในเดือน ๗ แต่มักจะอยู่ในเดือน ๗ โดยมาก จึงได้ยกมาวางไว้ในเดือน ๗ ครั้นภายหลังสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสิริราชกกุธภัณฑ์สิ้นพระชนม์ตรงวันที่ ๓๑ เดือนพฤษภาคมนั้นอีก จึงได้เพิ่มขึ้นอีกองค์หนึ่ง การที่ทำนั้นก็อย่างเดียวกับทำบุญวันประสูติและสวรรคต ซึ่งล่วงเลยมาเสียยังมิได้กล่าวในหนังสือพิมพ์วชิรญาณนี้เลย คือมีพระสงฆ์วัดราชประดิษฐ์ ๕ รูป วัดราชบพิธ ๕ รูปสดับปกรณ์ผ้าไตร แล้วรับพระราชทานฉัน สมเด็จพระนางเจ้า พระนางเจ้า ทรงถวายเครื่องไทยทานต่างๆ แล้วสดับปกรณ์รายร้อย ของหลวงร้อยรูป ของสมเด็จพระนางเจ้าและพระนางเจ้าร้อยรูป เวลาค่ำพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์อนัตตลักขณสูตรและมาติกา สวดมนต์จบแล้วเทศนาของหลวงกัณฑ์หนึ่ง ของสมเด็จพระนางเจ้ากัณฑ์หนึ่ง เป็นเสร็จการพระราชกุศลในวันเดียวนั้น การที่ทำมาแต่ก่อนเคยทำที่พระที่นั่งบรมราชสถิตมโหฬาร พระพุทธรูปประจำวันสำหรับพระอัฐิและพระอัฐิตั้งโต๊ะหมู่คนละหมู่ แต่ในปีนี้โปรดให้ย้ายไปทำที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ตั้งบุษบกไม่มีเครื่องสูง โปรดให้เชิญพระอัฐิสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย พระรูปสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ พระอัฐิสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าตรีเพชรุตม์ธำรง พระรูปสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา พระอัฐิพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ออกตั้งด้วย เพิ่มพระสงฆ์ขึ้นเป็น ๒๐ รูป สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร มีของไทยทานถวายพระสงฆ์ด้วย การนอกนั้นก็คงตามเดิม

การทำบุญพระอัฐิหมู่ใหญ่ ในวันที่ ๓๑ พฤษภาคมนี้ ไม่เป็นการพระราชกุศลซึ่งควรจะตั้งอยู่ประจำแผ่นดิน เป็นแต่ตามกาลสมัย เหมือนหนึ่งเป็นการในส่วนพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน เมื่อต่อไปภายหน้าการพระราชกุศลเฝือนัก ก็ควรจะเลิกเสียไม่ต้องทำ ซึ่งยกมาว่าไว้ในที่นี้ เพื่อจะแสดงให้เห็นว่าการในปัจจุบันที่เป็นอยู่บัดนี้ มีพระราชกุศลเรื่องนี้เป็นการประจำเดือน ๗ อยู่อีกอย่างหนึ่ง

คำตักเตือนในเดือน ๗ นี้ เกือบจะไม่มีอะไรสำหรับเตือน เพราะไม่เป็นการสลักสำคัญอันใดสักอย่างหนึ่ง ในการหล่อเทียนมีอย่างเดียวแต่มหาดเล็กจะคอยเชิญเสด็จพระเจ้าลูกเธอทรงหล่อเทียน ซึ่งไม่มีใครมาหลายปีแล้ว นอกนั้นก็เป็นการตามธรรมเนียมทั้งสิ้น ๚
 


หัวข้อ: Re: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 04 กรกฎาคม 2561 15:08:59

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/66283886507153_CX_EV_CR91_1_.jpg) (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/99790366035368_35927174_410501056132247_38455.jpg)

พระราชพิธีเดือนแปด
• การพระราชกุศลฉลองเทียนพรรษา      
• การเสด็จพระราชดำเนินถวายพุ่ม
-----------------------------------

๏ ในเดือนแปดนี้ การพระราชพิธีที่มีมาในกฎมนเทียรบาลในรายย่อจดหมายไว้ว่า “เดือนแปดเข้าพระวัสสา” แต่ในรายพิสดารจำหน่ายว่าขาด ไม่ได้ถ้อยความอันใดเลย ในจดหมายขุนหลวงหาวัดก็กล่าวแต่การพระราชกุศล ไม่ได้พูดถึงการพิธีอันใด ค้นดูตำราพราหมณ์ที่กรุงเทพฯ นี้มีแต่บานแพนกชื่อพิธีว่า เดือนแปดพระราชพิธีวสันตปฐมวสา เข้าพระวสาตั้งเบญจธาตุฝ่ายเดียว และให้อาจารย์ประกอบสตุติสามร้อยนั้น แล้วจดลงไว้ข้างท้ายว่ายก มีข้อความรวมอย่างยิ่ง ที่พระมหาราชครูพิธีเองก็ไม่เข้าใจว่าแปลว่ากระไร แต่ในหนังสือนางนพมาศถึงได้กล่าวไว้ว่า เป็นการในพระพุทธศาสนา ก็เว้นกล่าวถึงพราหมณ์ซึ่งเป็นตระกูลของตัวไม่ได้ แต่การที่พราหมณ์ทำนั้นดูเป็นอนุโลมตามพระพุทธศาสนา หาเป็นพิธียั่งยืนแปลกเปลี่ยนอย่างไรกันไปไม่ เพราะฉะนั้นการพระราชพิธีเดือนแปดนี้ จึงน่าที่จะเรียกการพระราชกุศลมากกว่าจะเรียกการพระราชพิธี ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แต่ก่อนแล้วว่าการพระราชพิธีพราหมณ์ในเดือนแปดนี้ ชะรอยแต่เดิมมาจะเป็นพิธีที่เป็นการไม่สุจริตในไตรทวารอย่างหนึ่งอย่างใด เมื่อถือพระพุทธศาสนาแล้วจึงได้ยกเลิกเสียช้านานมา จนไม่มีผู้ใดจะจำได้ว่าเคยทำอย่างไร พิธีพราหมณ์ซึ่งนางนพมาศได้กล่าวไว้ก็จะเป็นพิธีตั้งขึ้นใหม่พออย่าให้อยู่เปล่า แทนของเก่าที่เลิกเสียนั้น เพราะฉะนั้นจึงจะขอกล่าวด้วยเหตุผลซึ่งพระสงฆ์ต้องจำพรรษา ตามนิยมซึ่งมีมาในพระวินัยคัมภีร์มหาวรรคให้ทราบเค้ามูลก่อน

ประเพณีในมัชฌิมประเทศคืออินเดีย ชนที่เที่ยวไปมาอยู่เสมอจากเมืองโน้นไปเมืองนี้ คือคนที่เที่ยวค้าขายก็ดี ที่ไว้ตัวเป็นสมณะไม่มีห่วงบ่วงใย เที่ยวไปเที่ยวมาอยู่เช่นพวกซึ่งเรียกว่าเดียรถีย์และปริพาชกถือลัทธิต่างๆ ก็ดี เมื่อถึงฤดูฝนก็หยุดแรมอยู่ในเมืองใดเมืองหนึ่ง สิ้นสามเดือนแล้วจึงได้ออกเดินต่อไป ถึงแม้ว่าพระพุทธเจ้าซึ่งเสด็จเที่ยวไปมาอยู่ในเมืองทั้งปวงตลอดมัชฌิมประเทศ มิได้เสด็จอยู่ในเมืองใดเมืองหนึ่งประจำทุกปี เมื่อถึงฤดูฝนพระองค์ก็ย่อมเสด็จหยุดฤดูฝนในเมืองใดเมืองหนึ่ง เหมือนเช่นคนทั้งปวงประพฤติอยู่ พระสงฆ์ทั้งปวงเมื่อยังมีน้อยอยู่ และดำรงในโลกุตรคุณ ก็หยุดอยู่จำพรรษาในที่สงัดแห่งใดแห่งหนึ่ง เหมือนเช่นพระพุทธเจ้าทรงประพฤติอยู่ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ไม่มีเหตุอันใดซึ่งพระพุทธเจ้าจะทรงบัญญัติให้พระสงฆ์อยู่จำพรรษา การก็สงบมาจนครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ที่เวฬุวันกลันทกะนิวาปะสถาน ณ เมืองราชคฤห์ มีพระสงฆ์พวกหนึ่งเรียกว่า ฉัพพัคคีย์ เที่ยวไปมาตลอดฤดูหนาว ฤดูร้อน ฤดูฝน ไม่ได้หยุดแรมฤดูเลย เมื่อคราวฝนตกแผ่นดินชุ่มด้วยน้ำฝนเที่ยวเหยียบข้าวกล้าอ่อนๆ และหญ้าระบัดเขียว และสัตว์เล็กๆ ตายด้วยกำลังเหยียบย่ำ ชนทั้งปวงก็พากันติเตียน ว่าแต่พวกเดียรถีย์ปริพาชกเขาก็ยังหยุด ที่สุดจนนกยังรู้ทำรังยอดไม้หลบหลีกฝน แต่พระสมณะศากยบุตรทำไมจึงมาเที่ยวอยู่ทั้งสามฤดู เหยียบหญ้าและต้นไม้ที่มีอินทรีย์เป็นของเป็นอยู่ ทำสัตว์ทั้งหลายให้ตายเป็นอันมากฉะนี้ เมื่อภิกษุทั้งหลายได้ยินคำติเตียนนั้น จึงนำขึ้นกราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงอนุญาตให้พระสงฆ์จำพรรษา แต่ยังมิได้นิยมเวลาชัดเจน พระสงฆ์มีความสงสัยว่า ฝนย่อมตกทั้งฤดูฝนและใกล้ฤดูฝน จะไม่มีอะไรเป็นเครื่องกำหนด พระองค์จึงตรัสอนุญาตให้อยู่แห่งเดียวในวัสสานะ คือกาลที่นิยมว่าเป็นฤดูฝน ภิกษุยังมีความสงสัยอีก จึงได้ทูลถามกำหนดว่าจะอนุญาตให้เป็นคราวเดียวหรือหลายคราวเช่นอุโบสถ พระองค์จึงตรัสว่าเป็นสองคราว เข้าพรรษาครั้งแรกตั้งแต่บุรณมีอาสาฬหะ คือเพ็ญเดือนแปดไปแล้ววันหนึ่ง พึงเข้าวัสสูปนายิกาต้น บุรณมีอาสาฬหะไปได้เดือนหนึ่ง คือตั้งแต่เพ็ญเดือนแปดแล้วเดือนหนึ่ง พึงเข้าวัสสูปนายิกาหลัง ภายหลังมาท่านพวกฉัพพัคคีย์สำรับเก่านั้นเอง เข้าพรรษาแล้วเที่ยวไปในกลางพรรษา เขาติเตียนอีกเหมือนครั้งก่อน จึงได้ทรงห้ามว่า เมื่อเข้าพรรษาแล้วห้ามไม่ให้เที่ยวไป ถ้าภิกษุใดเที่ยวไปในกลางพรรษาต้องอาบัติทุกฏ เพราะฉะนั้น พระสงฆ์จะแกล้งออกจากอาวาสไปเสียไม่จำพรรษา หรืออธิษฐานจำพรรษาแล้วอยู่ไม่ครบสามเดือนไม่ได้ เว้นไว้แต่มีอันตรายใหญ่เกิดขึ้นที่จะอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีอันตรายไม่จำพรรษาอยู่ครบสามเดือนต้องอาบัติทุกฏ เพราะเหตุฉะนี้พระสงฆ์จึงต้องอยู่จำพรรษา คืออยู่ในวัดแห่งเดียว ไปข้างไหนไม่ได้สามเดือน จึงเป็นธรรมเนียมนิยมว่าเมื่อถึงกำหนดพรรษา ภิกษุจะจำพรรษา ไม่มีเสนาสนะก็ไม่ควร เมื่อจะเข้าพรรษาให้เปล่งวาจาในที่พร้อมกันว่า “อิมสฺมึ อาวาเส อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุปมิ” สามหน แปลเนื้อความว่า ข้าพเจ้าเข้าถึงกาลฝนคือจำพรรษาในอาวาสนี้ตลอดสามเดือนอันนี้ คำอธิษฐานพร้อมกันเช่นนี้เป็นอธิษฐานกำหนดเขตวัด เมื่อกลับไปถึงที่อยู่ปัดกวาดเสนาสนะ ตั้งน้ำใช้น้ำฉันไว้แล้ว ให้อธิษฐานที่อยู่อีกชั้นหนึ่งว่า “อิมสฺมึ วิหาเร อิมํ เตมาสํ วสฺสํ วุเปมิ” วิธีซึ่งอธิษฐานนี้ เป็นความคิดของพระอรรถกถาจารย์ ที่จะทำให้เป็นการมั่นไม่เป็นแต่ตั้งใจเปล่า ให้ออกวาจาเสียด้วย เหมือนอย่างอธิษฐานอะไรๆ ทั้งปวง เช่นผ้าผ่อน เป็นต้น การที่อธิษฐานนั้นก็แปลว่าตั้งใจผูกใจจะทำสิ่งนั้น ถ้าจะไม่ออกปากอธิษฐาน เป็นแต่ผูกอาลัยไว้ในใจก็ใช้ได้

เหตุซึ่งถือว่าเป็นการใหญ่ในเรื่องพระสงฆ์จำพรรษา เป็นช่องที่จะได้บำเพ็ญการกุศลซึ่งเป็นที่นิยมของผู้นับถือพุทธศาสนามาแต่โบราณนั้น ด้วยเหตุว่าภิกษุในมัชฌิมประเทศประพฤติอาการผิดกันกับภิกษุในกรุงสยาม ตั้งแต่พระพุทธเจ้ายังดำรงพระชนม์อยู่ตลอดมา ท่านไม่อยู่ในวัดใดวัดหนึ่งแห่งเดียวเป็นกำหนด และไม่ใคร่จะอยู่ในวัดที่อยู่ในบ้านในเมือง นอกจากเวลาฤดูฝนสามเดือน ย่อมเที่ยวไปอยู่ในป่าในเขา อาศัยแต่หมู่บ้านเป็นระยะพอเที่ยวภิกขาจารเวลาหนึ่งเวลาหนึ่ง ความประพฤติเช่นนี้ก็เป็นที่พระพุทธเจ้าสรรเสริญ ข้อบัญญัติอันซึ่งได้บัญญัติสำหรับให้ภิกษุประพฤติ ก็ลงรอยความประพฤติเช่นนี้โดยมาก คือให้มีบริขารแต่แปดสิ่ง ไม่ให้สะสมสิ่งของไว้มาก เพื่อที่จะได้เที่ยวไปข้างไหนได้โดยง่าย ไม่มีห่วงใยเป็นต้น เมื่อพระสงฆ์ประพฤติตัวมีห่วงใยน้อยและเที่ยวไปเที่ยวมาอยู่เช่นนี้ ก็ไม่มีกุฎีในวัดซึ่งเป็นที่หวงแหน ว่าเป็นกุฎีขององค์นั้นองค์นี้ เมื่อไปจากที่นั้นแล้วกุฎีก็ไม่มีข้าวของอันใดเก็บไว้ ไม่ต้องลั่นประแจ ต่อจวนถึงฤดูฝนจึงได้คิดตั้งใจมุ่งหมายว่าจะอยู่จำพรรษาในวัดใด แล้วแสวงหาที่อยู่ในวัดนั้น จนต้องมีพระเรียกว่าเสนาสนะคาหาปกะ คือเป็นผู้ชี้ที่แบ่งปันให้อยู่จะได้ไม่เกิดวิวาทกัน เมื่อเป็นเช่นนั้นคฤหัสถ์ทายกที่มีใจเลื่อมใส ก็มีช่องที่จะได้ช่วยซ่อมแซมตกแต่งเสนาสนะที่พอจะอยู่ได้สามเดือน ข้อซึ่งพระอรรถกถาจารย์ว่าไว้ให้ปัดกวาดกุฎีเสนาสนะ ตักน้ำใช้น้ำฉันให้พร้อมบริบูรณ์ แล้วจึงให้อธิษฐานที่อยู่นั้น ก็เพราะเสนาสนะนั้นรกร้างและไม่มีของที่จะใช้สอยอยู่บริบูรณ์ จึงต้องปัดกวาดตกแต่งจัดหาไว้ให้พร้อมบริบูรณ์ พอที่จะอยู่เป็นสุขได้ตลอดสามเดือน ก็และในระหว่างที่พระสงฆ์มาอยู่ในที่แห่งเดียวสามเดือนนั้น จะไปเที่ยวภิกขาจารในที่ไกลๆ เปลี่ยนตำบลไปไม่ได้ จำจะต้องภิกขาจารอยู่ในเขตจังหวัดใกล้อาวาสนั้นๆ เพราะฉะนั้นทายกผู้มีใจเลื่อมใส จึงได้มีความอุตสาหะที่จะถวายทานแก่สงฆ์ มีถวายบิณฑบาตเป็นต้น ยิ่งขึ้นกว่าฤดูอื่นๆ และในเวลาเมื่อพระสงฆ์อยู่ในที่แห่งเดียวทั้งสามเดือนเช่นนั้น ก็เป็นโอกาสของสัปปุรุษทายกทั้งปวง ที่จะได้เข้าไปสู่หาฟังธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีล การจำศีลภาวนา ฟังธรรมเทศนาจึงได้มากในฤดูฝนสามเดือน ด้วยเหตุว่าในฤดูอื่นๆ พระสงฆ์ท่านไม่ใคร่อยู่ประจำที่ ตลอดลงมาจนถึงเครื่องสักการบูชาต่างๆ เป็นต้นว่าเทียนพรรษา พุ่ม ต้นไม้ เทียนร้อย ไม้ขูดลิ้น ไม้ชำระ ไม้สีฟัน ที่จัดถวายพระสงฆ์ในเวลาเข้าพรรษานั้นก็ให้เป็นของพอที่จะทนอยู่ได้ และจะต้องใช้ในกำหนดสามเดือนเวลาที่พระสงฆ์อยู่ในอาวาสนั้น เมื่อล่วงสามเดือนแล้วท่านก็ต่างองค์ต่างไป ความประพฤติของพระสงฆ์ในประเทศอินเดียเป็นดังนี้ การที่ทำสิ่งใดในเรื่องเข้าพรรษาทั้งหลาย จึงได้เป็นสามเดือนสามเดือนอยู่หมดทุกอย่าง

แต่ครั้นเมื่อพระพุทธศาสนาตั้งในกรุงสยาม ความประพฤติของภิกษุทั้งปวงไม่เหมือนอย่างเช่นภิกษุในประเทศอินเดีย มาประพฤติอยู่ในที่แห่งเดียวไม่ได้เที่ยวไปเที่ยวมา ตามชาติชาวสยามเคยประพฤติ กุฎีเสนาสนะก็เป็นกุฎีมีเจ้าของ ขึ้นชื่อว่าขององค์นั้นองค์นั้น ถึงว่าจะมีเสนาสนะคาหาปกะ ก็สมมติกันไปโคมๆ เหมือนอย่างกับเล่นตั้งพิธี ที่แท้พระสงฆ์ก็อยู่ในที่เดิมนั่นแล้วทั้งสิ้น การที่จะซ่อมแซมปัดกวาดเสนาสนะอันใดก็ไม่ต้องทำ เคยอยู่มาอย่างไรก็อยู่ไปอย่างนั้น การที่จะต้องเสาะแสวงหาเครื่องใช้สอยอันใดตลอดมาจนตักน้ำใช้น้ำฉันก็ไม่ต้องแสวงหา ด้วยมีพร้อมบริบูรณ์เป็นปรกติอยู่แล้ว การที่ทายกจะต้องปฏิบัติถวายอาหารบิณฑบาตเป็นต้น ก็ถวายเสมออยู่แล้ว การที่จะหาโอกาสรักษาอุโบสถศีลและฟังธรรมเทศนาในเวลามิใช่ฤดูฝนเมื่อใดก็ได้เสมออยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการเข้าพรรษาในกรุงสยามนี้ก็เหมือนอย่างกับทำพิธีไปตามแบบโบราณเท่านั้น เมื่อถึงกำหนดอธิษฐานเข้าพรรษาพระสงฆ์ก็อธิษฐานไป แต่ในใจก็รู้สึกอยู่ว่าถึงออกพรรษาแล้วเราก็จะอยู่ในที่นี้ต่อไป ไม่เป็นการแปลกประหลาดอันใดขึ้นในใจพระสงฆ์เลย การที่ทำบุญถวายทานแก่พระสงฆ์มากขึ้นในฤดูฝน ก็เป็นแต่ประโยชน์วิเศษของพระสงฆ์ที่จะได้มากขึ้นเท่านั้น การที่รักษาอุโบสถและฟังธรรมเทศนา เช่นมีเทศน์ เข้าวัสสาสามเดือนนั้น ก็เป็นแต่โอกาสที่พระสงฆ์เข้าพรรษานั้นมาตักเตือนใจให้คนรักษาศีลฟังธรรมมากขึ้น แต่ที่แท้ถึงจะมีเทศน์เช่นนั้นไปตลอดทั้งปี ก็ไม่ขัดธรรมกถึกที่จะแสดงธรรมเหมือนอย่างแต่ก่อน เพราะฉะนั้นเมื่อรวบความลงข้างปลายแล้วพอที่จะกล่าวได้ว่า การที่พระสงฆ์เข้าพรรษานี้เป็นพระราชพิธีสงฆ์แท้ เหมือนอย่างกับพราหมณ์ทำพิธีเหมือนกัน การพิธีอันใดที่ทำๆ อยู่ก็คงมีต้นเหตุเช่นนี้ทุกอย่าง เว้นแต่เลือนๆ ลงมาจนไม่รู้รากเหง้าของเดิมว่าเกิดขึ้นด้วยอันใด เพราะฉะนั้นในเดือนแปดนี้ จะว่าขาดพระราชพิธีไม่ได้ ต้องเรียกว่าพระราชพิธีเข้าพรรษาเป็นพิธีสงฆ์

บัดนี้จะว่าด้วยการพระราชพิธีเข้าพรรษา อันประพฤติมาในกรุงสุโขทัย ซึ่งนางนพมาศได้กล่าวไว้ทั้งการหลวงการราษฎร์ จะได้เก็บแต่ข้อความที่ว่าด้วยการหลวงมากล่าว เพื่อผู้ที่แต่งการราษฎร์จะได้มีข้อความว่าบ้าง ข้อความในหนังสือนางนพมาศนั้นว่า “ครั้นถึงเดือน ๘ นักขัตฤกษ์บูชาใหญ่ การพระราชพิธีอาษาฒมาส พระวรบุตรพุทธชิโนรสในพระศาสนาจะจำพรรษาเป็นมหาสันนิบาตทุกพระอาราม ฝ่ายพราหมณาจารย์ก็จะเข้าพรตสมาทานศีล บริโภคกระยาบวชบูชาคุณ (หรือกุณฑ์) พิธีกึ่งเดือน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงดำรัสสั่งนายนักการ ให้จัดแจงตกแต่งเสนาสนะทุกพระอารามหลวง แล้วก็ทรงถวายบริขารสมณะ เป็นต้นว่าเตียงตั่งที่นั่งนอนเสื่อสาดลาดปูเป็นสังฆทาน และผ้าวัสสาวาสิกพัตร์ สลากภัต คิลานภัต ทั้งประทีปเทียนจำนำพรรษา บูชาพระบรมธาตุ พระพุทธปฏิมากร พระปริยัติธรรม สิ้นไตรมาส ถวายธูปเทียนชวาลาน้ำมันตามไส้ประทีปแด่พระภิกษุสงฆ์ บรรดาจำพรรษาในพระอารามหลวง ทั้งในกรุงนอกกรุงทั่วถึงกันตามลำดับ ประการหนึ่งทรงพระราชอุทิศเครื่องกระยาสังเวยพลีกรรมพระเทวรูปในเทวสถานหลวงทุกสถาน ทั้งสักการะหมู่พราหมณาจารย์ซึ่งจำพรต อ่านอิศวรเวทเพทางคศาสตร์ บูชาพระเป็นเจ้าด้วยเศวตรพัสตราภรณ์และเครื่องกระยาบวช ทั้งประทีปธูปเทียนวิเลปนให้บูชาคุณ (หรือกุณฑ์) โดยทรงพระราชศรัทธาในพุทธศาสนาไสยศาสตร์เจือกัน”

ต่อนั้นไปจึงว่าด้วยราษฎรเป็นข้อความยืดยาว เมื่อพิเคราะห์ดูตามที่ว่ามานี้ ก็จะเห็นได้ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ว่าพิธีอาษาฒของพราหมณ์นี้เห็นเป็นทำเอาอย่างไปจากพระพุทธศาสนา การที่จำพรตนั้นดูก็ไม่แปลกอันใดกันกับที่นางนพมาศได้กล่าวถึงราษฎรพากันจำศีล มีกำหนดต่างๆ อย่างยิ่งจนถึงตลอดสามเดือนสี่เดือนก็มี แปลกอยู่แต่ที่พราหมณ์กินเครื่องกระยาบวช ก็เหมือนกับสัปปุรุษข้างญวนข้างจีนเขาถือศีลแล้วกินเจด้วย การพิธีนั้นดูก็ไม่มีแปลกประหลาดอันใด นอกจากบูชาบูชาอยู่อย่างนั้น แต่การหล่อเทียนพรรษาดูอยู่ข้างจะกาหลใหญ่โตไปกว่าชั้นหลังนี้มาก ถึงกับมีกระบวนแห่ๆ เทียนไปวัด แต่ดูก็น่าที่จะกล่าวซ้ำถึงเรื่องแห่สระสนานอีก ว่าการซึ่งแห่เทียนพรรษาในครั้งนั้นเห็นจะไม่เป็นการลำบากอันใดมากกว่าที่ถ้าจะทำขึ้นในชั้นหลังๆ เมื่อเลิกทหารประจำการสำหรับพระนครเสียแล้ว ด้วยในจดหมายนั้นกล่าวว่าเป็นหน้าที่ของกรมทหารที่จะแห่เทียนไปวัด เมื่อไพร่พลทหารมีพรักพร้อมอยู่ก็เห็นจะไม่สู้เป็นการลำบากนัก ในข้อความที่กล่าวไว้นั้นว่า “ครั้นถึงวันจาตุททสีศุกลปักษ์เป็นธรรมเนียมฤกษ์ นายนักการทหารบกทหารเรือก็ตั้งกระบวนแห่เชิญเทียนประทีปจำนำพรรษาขึ้นตั้งบนคานหาม และลงเรือเอกชัยใส่บุษบกบัลลังก์ทอง ประโคมกลองอินทเภรี แตรสังข์ธงทิวไสว แห่ไปตามท้องสถลมารคและชลมารค ประชาราษฎร์ก็ซ้องสาธุการอนุโมทนาพระราชกุศล ครั้นประทับถึงพระราชอารามหลวงตำบลใด ชาวพนักงานก็เชิญเทียนประทีปเข้าในพระวิหาร หอสธรรมมนเทียร โรงอุโบสถจุดตามไว้ในที่นั้นๆ ทุกพระอาราม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระราชอุทิศสักการบูชาพระรัตนตรัยสิ้นไตรมาสสามเดือน” ต่อนั้นไปว่าด้วยการแห่เทียนของราษฎร แล้วจึงไปกล่าวถึงการที่เสด็จพระราชดำเนินพระอารามหลวงว่า “ครั้นวันกาฬปักษ์เอกดิถีเวลาตะวันชายแสง พระพุทธชิโนรสสันนิบาตประชุมกัน เข้าพระวสา ณ พระอุโบสถทั่วทุกพระอาราม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จพระราชดำเนินออกวัดหน้าพระธาตุ พร้อมด้วยพระอัครชายาและพระบรมวงศาพระสนมกำนัล” ต่อนี้ไปว่าความรวบกับราษฎรทั้งปวง ไม่เฉพาะแต่พระเจ้าแผ่นดินและราชตระกูล แสดงการซึ่งจะให้ทราบว่าเสด็จไปวัดนั้นไปทรงการอันใด แต่ข้อซึ่งไม่กล่าวชัดเฉพาะพระองค์เจ้าแผ่นดินในที่นี้ ชะรอยท่านจะไม่ใคร่จะได้ทรงอันใดนัก จะเป็นแต่ไปนมัสการตามธรรมเนียม จึงได้เกลื่อนความรวมเข้าเสียว่า “บรรดาชนทั้งปวงในตระกูลต่างๆ มีขัตติยตระกูลและพราหมณ์ และตระกูลคหบดีเป็นต้น ต่างชักประเทียบบริวาร ทั้งบุตรหลานญาติและมิตร ออกไปสโมสรสันนิบาตพร้อมเพรียงกัน ณ พระอารามใหญ่น้อยทั่วทุกแห่งทุกตำบลอุทิศอุทกสาฎก และปัจจัยการถวายแก่ภิกษุสงฆ์สามเณรทั่วถึงกัน แล้วมหาชนชายหญิงต่างตั้งเบญจางคประดิษฐ์ สมาทานอุโบสถศีลอันมีองค์แปด ในสำนักพระมหาเถรเจ้าทั้งหลาย บ้างก็ออกวจีเภทว่าข้าพเจ้าจะรักษาอุโบสถเป็นปาฏิหาริยปักษ์อุโบสถสิ้นวัสสันตฤดูสี่เดือน บ้างก็สมาทานเป็นเตมาสิกนิพัทธอุโบสถ คือรักษาศีลในพรรษาสิ้นไตรมาสสามเดือน บ้างก็สมาทานเป็นเอกมาสิกนิพัทธอุโบสถ คือรักษาศีลตั้งแต่เพ็ญเดือนสิบเอ็ดไปจนถึงเพ็ญเดือนสิบสองเสมอทุกวัน บ้างก็สมาทานเป็นอัฒมาสิกนิพัทธอุโบสถ คือรักษาศีลเสมอทุกวันในศุกลปักษ์กาฬปักษ์กึ่งเดือน บ้างก็รักษาแต่ปรกติอุโบสถเดือนละแปดครั้ง บ้างก็สมาทานเป็นปฏิชาครอุโบสถ มีวันรับวันส่งเดือนหนึ่ง รักษาศีลสิบเก้าวัน และสดับฟังพระธรรมกถึกสำแดงพระธรรมเทศนา และพระภิกษุสงฆ์สาธยายพระปริตรในที่นั้นๆ เสมอเป็นนิตย์ทุกวันมิได้ขาด ตราบเท่าสิ้นไตรมาสสามเดือนโดยนิยมดังนี้ ต่อนี้ไปแสดงต้นเหตุซึ่งเกิดเครื่องบูชาของแห้งในการเข้าพรรษา มีพุ่มเป็นต้น ซึ่งนางนพมาศเคลมว่าตัวเป็นต้นคิด เหมือนอย่างพานพระขันหมาก ดอกบัวลอยประทีปเป็นต้น ว่า “อันว่าพิธีอาษาฒมาสบูชาใหญ่ ข้าน้อยได้คิดกระทำพนมดอกไม้ทอง และกอโกสุมปทุมทองอันวิจิตรด้วยวาดเขียนนำขึ้นถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ทรงบูชาพระรัตนตรัยบ้าง พระเทวรูปบ้าง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็พึงพอพระอัชฌาสัย จึงดำรัสชมว่าข้าน้อยเป็นคนฉลาดคิด โปรดพระราชทานสักการรางวัลเป็นอันมาก แต่นั้นมามหาชนชายหญิงทั่วทั้งพระนคร ก็ถือเอาเป็นอย่างต่างพนมดอกไม้และกอปทุมชาติ มีพรรณต่างๆ บูชาพระรัตนตรัยในพระราชพิธีอาษาฒมาสมากขึ้นทุกปี ฝ่ายนางในทั้งหลายก็ถืออย่างกระทำพนมดอกไม้ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานรางวัลตามฝีมือและปัญญาด้วยกันเป็นอันมาก จึงพระบาทสมเด็จพระร่วงเจ้าแผ่นดินมีพระราชบริหารสาปสรรว่าเบื้องหน้าแต่นี้ไป ชนชายหญิงในพระราชอาณาเขตประเทศสยามภาษา บรรดาเป็นสัมมาทิฐิให้กระทำพนมดอกไม้กอบัวบูชาพระรัตนตรัยในพระราชพิธีอาษาฒมาส ให้เรียกนามพนมดอกไม้ พนมพรรษา จงอย่ารู้สาบสูญตราบเท่ากัลปาวสาน ข้าน้อยนพมาศก็ถึงซึ่งชื่อเสียงว่าเป็นคนฉลาดปรากฏนามอยู่ในแผ่นดิน ได้อีกอย่างหนึ่ง” เรื่องกอบัวเข้าพรรษานี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่ข้างจะทรงเป็นพระราชธุระมาก รับสั่งว่าต้องตำราของเก่า ถ้าปีใดไม่มีผู้ถวายกอบัวก็รับสั่งบ่นไปจนผู้ที่เคยถวายต้องทำมาถวาย จะเป็นพวกเจ้านายในพระราชวังหลัง หรือกรมขุนอิศรานุรักษ์พวกใดพวกหนึ่งเคยถวายอยู่ แต่เดี๋ยวนี้หายไปไม่เห็นมี เพราะวิธีที่ใช้กันเดี๋ยวนี้มักจะให้มีของเครื่องรองเป็นสิ่งที่ใช้ได้ อย่างต่ำที่สุดจนถึงกลักไม้ขีดไฟ กระถางบัวหมากพนมซึ่งเป็นของโปรดในรัชกาลที่ ๔ นั้น เห็นเป็นอันยูสิเบอลกันเสียไม่มีใครทำ รูปร่างกระถางบัวนั้นใครๆ ก็คงเคยเห็นอยู่ด้วยกันโดยมาก แต่บางทีจะนึกไม่ออก คือมีกระถางดินปิดกระดาษทอง มีลายดอกไม้เขียนด้วยน้ำยา ในกระถางมีไม้ดูกอันหนึ่งเสียบดอกบัวกระดาษแดงซ้อนกันสามชั้น ยอดและเกสรเป็นทองอังกฤษ ขอบปากกระถางมีดอกและใบเล็กๆ รายรอบ กระถางบัวอย่างนี้รับสั่งว่า เป็นอย่างโบราณแท้ ที่เป็นของเก่ารองลงมาอีกนั้นหมากพนม คือเป็นพานแว่นฟ้าปั้นด้วยดินสองชั้น ทาสีเขียนน้ำกาว ที่ปากพานมีกระดาษเจิมเหมือนใบตอง แล้วมีกรวยกระดาษทาสีขาวๆ ตั้งที่ตรงกลาง รอบล่างมีดินปั้นก้อนกลมๆ รูปร่างเหมือนประทัดลมต่างว่าหมาก ทาสีเขียวหรือสีขาวก็ได้ แล้วมีน้ำยาสีอื่นขีดเป็นสาแหรกห้าสาแหรก เห็นจะต่างว่ารอยผ่าเป็นคำคำ มีทองอังกฤษติดที่ใจสาแหรก ต่อนั้นขึ้นไปมีรูปภาพสีผึ้ง เป็นหงส์ เป็นเทพนม หรือเป็นใบไม้ติดไม้เสียบกับกรวยเป็นชั้นๆ เรียวขึ้นไปจนถึงยอดพุ่มเป็นทองอังกฤษ ตัวสีผึ้งที่ติดนั้นห่างๆ โปร่งแลเห็นกรวยที่เป็นแกนข้างใน ถ้ายกขี้หกล้มอย่างเอก เพราะเชิงพานชั้นบนเล็ก นี่ก็เป็นของโปรดอีกอย่างหนึ่ง ที่ขาดไม่ได้เหมือนกัน เพราะเป็นของมีมาช้านาน

เป็นที่น่าสงสัยอยู่อย่างหนึ่ง ว่าเมื่อครั้งเมืองสุโขทัย เจ้านายและผู้มีบรรดาศักดิ์ทั้งปวง จะต้องบวชเมื่ออายุครบปีบวชหรือไม่ ดูไม่มีปรากฏกล่าวถึงในหนังสือนางนพมาศเลย ถ้าหากว่าจะมีบวชรับพรรษาเช่นธรรมเนียมทุกวันนี้ ก็น่าที่นางนพมาศจะได้กล่าวไว้ในหนังสือนี้บ้าง เพราะดูก็เป็นการพระราชกุศลสำคัญอยู่ บางทีเขาจะไม่บวชกันเฉพาะรับพรรษาเหมือนกับชั้นหลังๆ การที่จะบวชเรียนจะเป็นการจรไปเสียจึงไม่ได้กล่าว

ส่วนในหนังสือขุนหลวงหาวัด กล่าวถึงพิธีอาษาฒ ว่าบวชนาคหลวงเท่าพระชนมายุ แต่ก็ไม่ได้กล่าวถึงทรงผนวชเจ้านาย การที่บวชนาคเท่าพระชนมายุนี้เห็นจะเป็นในแผ่นดินพระบรมโกศ ทรงพระราชศรัทธาตั้งธรรมเนียมขึ้นใหม่ เทือกช่วยคนบวช แต่การบวชนาคเท่าพระชนมายุนี้ เห็นจะไม่ใช่คนช่วยไถ่ค่าตัว ถ้าช่วยไถ่ค่าตัวถึงหกสิบเจ็ดสิบคนก็จะหลายสิบชั่ง ทั้งค่าผ้าไตรบาตรบริขาร ทุกปีทุกปีคงลมจับไม่อาจทำ ชะรอยจะใช้นาคมหาดเล็กและตำรวจข้าราชการไม่ว่าหมู่ใดกรมใด พระราชทานแต่ผ้าไตรบริขารอย่างบวชนาคมหาดเล็กที่เป็นนาคหลวงในชั้นหลังๆ หรือจะนับทั้งพระองค์เจ้าหม่อมเจ้าด้วยประการใดก็ไม่ทราบ ดูว่าก็จะเป็นอันได้บริจาคพระราชทรัพย์มากพอควรอยู่แล้ว ต่อนั้นไปว่า “ครั้นวันเพ็ญเดือนแปด จึงทรงเทียนพระวสาวัดหลวงทั้งในกรุงและนอกกรุง (ที่เรียกว่าในกรุงเห็นจะหมายในกำแพงที่น้ำล้อมรอบ นอกกรุงเป็นนอกกำแพง จึงว่าต่อไปว่า) และหัวเมืองเอกเมืองโทเป็นเทียนเป็นอันมาก” มีความในจดหมายขุนหลวงหาวัดเพียงเท่านี้ การแห่แหนอันใด เห็นจะไม่มีมาแล้วทั้งสิ้น

ส่วนที่กรุงรัตนโกสินทร์นี้ การพระราชพิธีพราหมณ์ในเดือนแปดไม่มีอันใด ไม่ได้พระราชทานเครื่องสักการบูชาเทวรูปอย่างใด เป็นไม่รู้ไม่เห็นกันเลย เริ่มการก็มีแต่ทรงผนวชเจ้านาย การทรงผนวชเจ้านายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นพระองค์แรกทีเดียวนั้น คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพราะฉะนั้นบรรดาเจ้านายภายหลัง ที่เป็นเจ้าฟ้า พระองค์เจ้า หม่อมเจ้า ทั้งในวังหลวงวังหน้าไม่มีพระองค์ใดที่ได้ทรงผนวชที่อื่น นอกจากวัดพระศรีรัตน-ศาสดารามเลย เว้นแต่พิการเป็นที่รังเกียจอย่างหนึ่งอย่างใด เพราะฉะนั้นจึงได้ถือกันว่าถ้าเจ้านายองค์ใดไม่ได้ทรงผนวชในวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว ย่อมเป็นคนที่เสียคนแล้ว หรือจะเสียคนต่อไปเป็นแน่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถือจนชั้นบวชเณร ด้วยมีเหตุขึ้นคือหม่อมเจ้าสถิตเสถียรครบปีที่จะบวชเณร ในปีที่พระราชทานเพลิงพระศพ กรมหมื่นวิศณุนารถนิภาธร จึงโปรดให้ออกไปทรงผนวชเณรที่พระเมรุอย่างบวชหน้าศพ ครั้นเมื่อหม่อมเจ้าสถิตเสถียรเสียจริตไป ก็รับสั่งพาโลว่าเพราะไม่ได้บวชที่วัดพระแก้ว

การทรงผนวชรับหน้าพรรษานี้ ไม่ว่าเป็นการใหญ่การปรกติอย่างใด คงจะอยู่ในระหว่างขึ้นห้าค่ำไปหาขึ้นสิบเอ็ดค่ำสิบสองค่ำเป็นเขต แต่การทรงผนวชนั้นมีแบบอย่างต่างกัน จะพรรณนาไปให้ครบอย่างก็จะยืดยาว ขอว่าแต่การปรกติประจำปีก่อน วันที่จะสมโภช พระองค์เจ้าและหม่อมเจ้าซึ่งจะเป็นนาคนั้น นำดอกไม้ธูปเทียนเข้ามากราบถวายบังคมลาในท้องพระโรง เมื่อวันสมโภชทรงเครื่องที่ทิมคดพระมหาปราสาท ภูษามาลาจำเริญพระเกศาและพระมัสสุ แล้วสรงน้ำที่พระแท่น มีขันสาครตั้ง แต่งพระองค์ทรงผ้าเยียรบับ ผ้ายก ฉลองพระองค์ครุยสวมพระกรซ้ายพระกรขวาบงเฉียง คาดรัดพระองค์ทับผ้าทรง ทรงพระธำมรงค์แปดนิ้วพระหัตถ์ แล้วทรงเสลี่ยงกั้นพระกลดกำมะลอ มาจากพระมหาปราสาทเข้าท้องพระโรง ในท้องพระโรงตั้งบายศรีแก้วทองเงินอยู่ตรงกลาง สองข้างตั้งเทียนและกรวยดอกไม้ทั้งเครื่องบริขารต่างๆ ซึ่งจะเป็นของพระราชทานภายหลังทรงผนวช แต่ผ้าไตรที่จะทรงผนวชรองพานทองคำสองชั้น บาตรรองพานถม ตั้งที่ตรงหน้าบายศรีตรงพระพักตร์ เจ้าที่จะทรงผนวช เมื่อยังไม่ได้เปลี่ยนธรรมเนียมยืน ราชอาสน์เลื่อนลงทอดหน้าพระแท่น มีพระยี่ภู่พับเป็นที่ประทับ ไม่ได้เสด็จขึ้นพระแท่น ครั้นเมื่อเปลี่ยนเป็นธรรมเนียมยืน เจ้าที่ทรงผนวชนั่งเก้าอี้ ก็ใช้พระที่นั่งโธรน แต่เลื่อนลงตั้งที่พื้นท้องพระโรงเหมือนกัน ในเวลาเมื่อเข้ามานั่งคอยยังไม่เสด็จออก ผันพระพักตร์เข้ามาสู่ที่เฝ้า ต่อเมื่อเสด็จออกแล้ว รับสั่งให้ผันพระพักตร์ไปข้างบายศรี จึงได้กลับผันพระพักตร์ไปข้างบายศรีของผ้าไตร พราหมณ์จุดแว่นเวียนเทียน แต่ก่อนๆ มาเมื่อเวียนเทียนแล้วก็เป็นแล้วกัน แต่ครั้นเมื่อถึงในรัชกาลที่ ๔ มีพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ใบมะตูมและทรงเจิม ธรรมเนียมนั้นก็ติดมาจนปัจจุบันนี้ เมื่อสมโภชแล้วธรรมเนียมแต่ก่อนบังคับให้บรรทมอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่ภายหลังมานี้ไม่มีผู้ใดกวดขันบังคับบัญชา ต่างองค์ต่างกลับไปวังกันทั้งสิ้น

แต่ก่อนมาพระสงฆ์ซึ่งนั่งหัตถบาสในการทรงผนวชนี้ ก็ใช้พระราชาคณะสำรับเดียวสามสิบรูป สมเด็จพระสังฆราชเป็นอุปัชฌาย์ ถ้าเจ้านายที่จะทรงผนวชมากก็แบ่งเป็นสองวัน ถ้าน้อยก็วันเดียว ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ ถ้าหม่อมเจ้าที่จะทรงผนวชในคณะธรรมยุติกาและมหานิกายก้ำกึ่งกัน ก็มักจะแบ่งออกเป็นสองวัน เป็นธรรมยุติกาล้วนเสียวันหนึ่ง เป็นมหานิกายปนวันหนึ่ง ในชั้นหลังๆ ลงมานี้เกือบจะไม่มีเจ้านายทรงผนวชในคณะมหานิกาย ก็มีแต่คณะธรรมยุติกา แต่ถ้าปีใดทรงผนวชมหานิกายสักองค์หนึ่งสององค์ มหานิกายก็ได้เข้าในหัตถบาสวันหนึ่ง พระสงฆ์ซึ่งมานั่งหัตถบาสนั้นฉันเพลในพระอุโบสถ ถ้าเสด็จพระราชดำเนินออกวัดก่อนเพลนานๆ ก็แบ่งทรงผนวชเจ้าไปพลาง เมื่อเวลาเพลก็หยุดฉันเพล เจ้าที่ทรงผนวชแล้วเสวยบนพระอุโบสถนั่งตรงผนังระหว่างพระทวารข้างเหนือและพระทวารกลาง ที่ยังไม่ได้ทรงผนวชเสวยที่มุขหน้าพระอุโบสถ ถ้าเสด็จออกสายไปก็เลี้ยงพระเสียก่อน

เจ้าที่จะทรงผนวช แต่งพระองค์ที่ทิมคดพระมหาปราสาทเหมือนอย่างเมื่อสมโภช แล้วทรงเสลี่ยงกั้นพระกลดกำมะลอ มีมหาดเล็กตามเป็นกระบวนๆ ตามลำดับยศ ออกไปที่เกยปลูกขึ้นใหม่ตรงพลับพลาเปลื้องเครื่อง รายมาตามหน้าหอมิวเซียมครบองค์ เจ้าที่ทรงผนวช เมื่อถึงพร้อมกันแล้วก็เสด็จขึ้นเกย ภูษามาลาขึ้นไปกั้นพระกลดถวายอยู่ที่บันไดเกยด้วยคนหนึ่ง กำกับอีกคนหนึ่ง เสด็จประทับทอดพระเนตรอยู่ที่พลับพลาเปลื้องเครื่อง เจ้าพนักงานคลังนำเงินขึ้นถวายจบพระหัตถ์ แล้วจึงไปจ่ายให้ขุนหมื่นนำขึ้นไปถวายเจ้าทรงโปรยทุกเกย ถ้าหม่อมเจ้าองค์ละห้าตำลึง พระองค์เจ้าองค์ละสิบตำลึง ท่านพวกพนักงานที่ขึ้นไปอยู่บนเกยทั้งสามคนนั้นย่อมถือเอาโอกาสที่ตัวได้ไปกำกับอยู่ พัดเจ้านายให้แจกตัวก่อน ที่จะรอจนทิ้งทานแล้วไม่ได้เลยเป็นอันขาด จึงดำรัสสั่งให้ทิ้งทานแล้ว ก็มักจะต้องรอหงุบๆ หงับๆ กันอยู่ ไม่ได้ทิ้งทานได้ทันทีเนืองๆ เห็นจะเป็นเรื่องต่อตามกันอย่างไร ข้าพเจ้าเองก็ไม่เคยถูกพัด และมีการอีกอย่างหนึ่งที่ต้องช้าเพราะต้องถอดแหวน ท่านภูษามาลาผู้กำกับนั้นเป็นผู้รับแหวน การที่ทิ้งทานนั้นก็มีน่าที่จะเกิดอันตรายอยู่บ้าง แต่อันตรายนั้นหากจะเกิดขึ้นก็ด้วยเจ้านั้นพระทัยอยู่ข้างจะโลเลเอง เจ้าพวกข้าไทที่ตามไปมักจะเข้าไปล้อมอยู่รอบๆ เกย เพื่อจะให้เจ้าโปรยลงมาให้ตรงๆ ได้ง่ายๆ ข้างเจ้านั้นก็อยากจะโปรยลงไปให้มหาดเล็กของตัว อ้ายคนอื่นมันเห็นเงินปลิวลงไปขาวๆ มันก็อดไม่ได้ ดันเบียดเสียดกันเข้าไป เกยก็ปลูกไม่สู้แน่นนัก รวนกันกระทบเสาโงนเงนน่ากลัวจะล้ม ถ้าเจ้านายที่ดีๆ เขาก็ไม่โปรยลงไปใกล้เกย แต่อย่างนั้นก็ไม่ใคร่ฟัง ยังโดนเสาเกยเยือกไปเยือกมาครั้งหนึ่งสองครั้งแทบทุกคราว แต่ยังไม่ปรากฏว่าเกยล้มเลยสักครั้งหนึ่ง ถ้าล้มลงไปแล้วจะงามถึงไม่ได้บวชแน่



หัวข้อ: Re: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 04 กรกฎาคม 2561 15:13:50
พระราชพิธีเดือนแปด (ต่อ)

เมื่อโปรยทานเสร็จแล้วเสด็จเข้าไปในพระอุโบสถ รอพิณพาทย์ไว้ไม่ประโคม จนเจ้าที่จะทรงผนวชไปถึงกำแพงแก้วจึงได้ประโคมแล้วขึ้นพระอุโบสถทางพระทวารกลาง ตรงเข้าไปจุดเทียนทองเล่มหนึ่ง ที่ปักอยู่ที่ราวเหล็กรอบฐานชุกชี แล้วจึงกลับออกมานั่งรายริมผนังด้านหุ้มกลองในระหว่างพระทวารกลางและพระทวารข้างเหนือ มีผ้าไตรและบาตรตั้งอยู่ตรงหน้า ภูษามาลาจึงได้หยิบผ้าไตรส่งถวายเจ้า เข้าไปขอบรรพชาตามลำดับ การที่ทรงผนวชในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ใช้ขานนาคอย่างเก่า คือลุกขึ้นยืนว่า อุกาสะ วันทามิ ภันเต สืบๆ กันมา ทั้งที่ทรงผนวชฝ่ายคณะธรรมยุติกาและมหานิกาย จนตลอดถึงเมื่อข้าพเจ้าบวชเณร รับสั่งว่าเป็นการออกหน้าออกตาประชุมใหญ่ คนเก่าๆ เขาจะขวางหูก็ให้ว่าขานนาคตามธรรมเนียมเก่า แต่ครั้นเมื่อพระเจ้าลูกเธอทรงผนวชภายหลังมา ใช้ว่า เอสาหํ ภันเต อย่างธรรมยุติกา แต่หม่อมเจ้ายังคงใช้ยืนว่า อุกาสะ วันทามิ ภันเต อยู่ตามเดิม ต่อมาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้ หม่อมเจ้าซึ่งทรงผนวชอย่างธรรมยุติกา จึงได้พลอยว่า เอสาหํ ภันเต บ้าง การซึ่งบอกอนุศาสน์นั้น ก็คงใช้ยืนบอกนอกหัตถบาสสงฆ์เสมอมา นั่งบอกอนุศาสน์เป็นครั้งแรกขึ้นเมื่อข้าพเจ้าบวชเณร เพราะครั้งนั้นโปรดให้ขอนิสัยด้วย เป็นครั้งแรกที่สามเณรได้ขอนิสัย แต่รับสั่งว่าเป็นอย่างใหม่ ไม่ให้ต้องว่า อุกาสะ วันทามิ ภันเต เหมือนอย่างเช่นที่ทรงผนวชพระกันมาแต่ก่อน ด้วยเป็นการเกิดขึ้นใหม่อย่างธรรมยุติกา และรับสั่งให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ตั้งตาลิปัตรบอกอนุศาสน์ในท่ามกลางพระสงฆ์อย่างเช่นบอกกันอยู่ในธรรมยุติกา การซึ่งให้ขอนิสัยและบอกอนุศาสน์ครั้งนั้น เป็นการทรงพระราชดำริขึ้นใหม่ในทันใดนั้น กว่าจะตกลงกันต้องรออยู่ช้าหน่อยหนึ่ง เพราะไม่เคยทำ แต่ทรงอธิบายชี้แจงการตลอด ก็เป็นการตกลงกันไปได้ ธรรมเนียมขอนิสัยและบอกอนุศาสน์สามเณรจึงได้มีแต่นั้นมาเป็นคราวแรก การทรงผนวชเจ้าที่หลายๆ องค์พร้อมกัน ที่เป็นภิกษุ เมื่อทรงผนวชแล้วนั่งที่ปลายอาสน์สงฆ์ ในเวลาทรงผนวชองค์อื่นต่อไปจนแล้วเสร็จ จึงได้ถวายผ้าพระสงฆ์ที่มานั่งหัตถบาส ธรรมเนียมแต่เดิมมาไม่ว่าเจ้าฟ้าและพระองค์เจ้า หม่อมเจ้า พระสงฆ์ที่มานั่งหัตถบาสได้ผ้าอาบผืนเดียว แต่ครั้นเมื่อรัชกาลที่ ๔ เจ้าฟ้าใช้ผ้าไตรสลับแพร พระองค์เจ้าใช้ผ้าไตร แต่ที่ทรงผนวชตามธรรมเนียมจึงเป็นผ้าอาบผืนหนึ่ง คงได้กระจาดเครื่องบริโภคองค์ละกระจาดเหมือนการพระราชพิธีโสกันต์ เมื่อเจ้าที่ทรงผนวชถวายผ้าแล้วจึงได้มารับของพระราชทาน รับของหลวงแล้วถึงว่าจะมีวังหน้าเสด็จมาอยู่ในที่นั้น ก็ต้องเข้าไปรับของข้างในที่ปากฉากก่อนแล้วจึงออกมารับของวังหน้าและเจ้านายผู้ชายต่อไป ว่าเป็นธรรมเนียมดังนี้แต่เดิมมา เมื่อรับผ้าเสร็จแล้วที่เป็นเจ้าพระก็ไปนั่งที่ปลายอาสน์สงฆ์ ที่เป็นเจ้าเณรนั่งอยู่ที่เดิม คือริมผนังด้านหุ้มกลอง ทรงพระเต้าษิโณทก พระสงฆ์ยถา เจ้าที่ทรงผนวชก็กรวดน้ำด้วยทุกองค์ เป็นเสร็จการทรงผนวช ถ้าอย่างมากแบ่งสามวันก็มี แต่สองวันและวันเดียวเป็นพื้น ๚
  

เดือนแปด
การพระราชกุศลฉลองเทียนพรรษา

๏ เทียนพรรษาที่ต้องลงทุนลงรอนมากอย่างแต่ก่อน ก็เป็นที่น่าจะชื่นชมยินดีในส่วนพระราชกุศล และเป็นที่น่าจะอวดให้พระสงฆ์ได้อนุโมทนา เพราะฉะนั้นยกเสียแต่เทียนพรรษาหัวเมือง เมื่อประดับประดาเครื่องพิมพ์สีผึ้งภายนอกเสร็จแล้ว มาถวายตัวทรงจบพระหัตถ์ ส่งขึ้นไปก่อนจะได้จุดทันกลางเดือน ที่เหลือนอกนั้นเป็นส่วนกรุงเทพฯ ให้ยกเข้ามาตั้งที่เฉลียงท้องพระโรง มีสายสิญจน์วงรอบแล้วให้มีการสวดมนต์ พระสงฆ์ราชาคณะ ๒๐ รูป เริ่มสวดมนต์ตั้งแต่วันขึ้น ๑๓ ค่ำ แต่พระพุทธรูปใช้พระห้ามสมุทร ฉันเวรตามธรรมเนียม รุ่งขึ้นวัน ๑๔ ค่ำเลี้ยงพระ ก็คล้ายกันกับฉันเวรนั้นเอง แต่มีศุภรัตน์เข้ามาตะโกนทูลจำนวนเทียนที่หน้าพระสงฆ์ เพื่อจะให้ได้ทรงอนุโมทนา พระสงฆ์กลับไปแล้ว ทรงพระสุหร่ายประพรมและเจิมเทียนพรรษานั้นทุกเล่ม เจ้าพนักงานจึงนำไปตั้งในพระอุโบสถต่างๆ ตามที่มีกำหนด ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำเวลากลางคืนนั้นว่าง ต่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำเวลาเช้า จึงเสด็จพระราชดำเนินออกวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เลี้ยงพระสงฆ์ราชาคณะ ๓๐ รูป ทรงจุดเทียนพรรษาในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

เทียนพรรษาที่จะจุดนั้น ต้องใช้ไฟฟ้าส่องด้วยพระแว่นลงยาราชาวดี เรื่องที่ใช้ไฟฟ้าซึ่งส่องด้วยแก้วหนาเช่นนี้ ถือว่าเป็นไฟบริสุทธิ์ เป็นธรรมเนียมของชาวอินเดียประพฤติมาแต่โบราณ ได้พบหนังสือหลายแห่งที่กล่าวถึงเรื่องไฟส่องด้วยแว่นเช่นนี้ ใช้ทั่วไปในการทั้งปวง ตั้งแต่ส่องไฟที่จุดขึ้นบูชาอาหุดีเป็นต้น และบางทีตัวแว่นนั้นเอง หรือศิลาและเหล็กซึ่งใช้ตีให้เกิดเพลิงขึ้น ก็เป็นเครื่องบูชาของคนบางจำพวกด้วย แต่ไฟนี้ จะเรียกว่าเป็นสำหรับการมงคลอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องถือว่าต้นตำราที่คิดเห็นชอบใจใช้ไฟอย่างนี้นั้น ถือว่าเป็นไฟบริสุทธิ์ที่มาจากดวงพระอาทิตย์ ใช้ทั่วไปทั้งการมงคลและการอวมงคล ไฟฟ้าเช่นนี้ที่ใช้อยู่ในราชการที่ถือว่าเป็นการมงคลนั้น คือจุดเทียนชัยในการพระราชพิธีต่างๆ ติดเชื้อกวนข้าวทิพย์ ที่เป็นส่วนการอวมงคล คือพระราชทานเพลิงเจ้านายใช้ส่องด้วยแว่น พระราชทานเพลิงข้าราชการใช้ตีเหล็กไฟ อีกส่วนหนึ่งเป็นเครื่องบูชาที่บริสุทธิ์ คือจุดเทียนพรรษา จุดเทียนรุ่งในการวิสาขบูชา จุดเทียนพระมหามงคล เทียนเท่าพระองค์ในการเฉลิมพระชนมพรรษา นับว่าเป็นบูชาด้วยเพลิงบริสุทธิ์ แต่ในการที่ต้องใช้เพลิงส่องแว่น ถ้าไม่มีโอกาสที่จะส่องจากดวงอาทิตย์ได้ ก็ต้องใช้ศิลาและเหล็กไฟ แต่แบ่งเป็นส่วนที่สำหรับใช้ในการมงคลและอวมงคล ขีดไฟเป็นของเกิดขึ้นใหม่ จะใช้ได้หรือไม่ได้ยังไม่เคยมีผู้ใดตัดสิน ถ้าจะเป็นอันใช้ไม่ได้ ก็คงจะเป็นเพราะเป็นของที่คนทำแท้มากไปกว่าเหล็กที่เอามาสูบถลุงและตีให้แบนๆ เป็นรูปเหล็กสำหรับตีเหล็กไฟ และศิลาที่ไปต่อยมาจากภูเขา ยังพอชัดว่าเป็นของเป็นเองได้ ขีดไฟนั้นดูจะเป็นพิธีน้อยไปสักหน่อยหนึ่ง แต่ในการเผาศพถ้าลั่นหน้าเพลิงไม่ติด ข้าพเจ้าก็เคยใช้บ่อยๆ แต่ถ้าถูกที่สลักสำคัญส่องแว่นไม่ได้ ก็ต้องยอมตีเหล็กไฟโกกกากให้ลดลงมาแต่ชั้นเดียวอย่าให้ถึงสองชั้น

แต่การที่จุดเทียนพรรษาเล่มแรกนั้น เคยจุดในหอพระเจ้าเป็นที่หนึ่ง ด้วยว่าเวลาเช้าเสด็จลงทรงบาตรในการนักขัตฤกษ์พรรษา การบิณฑบาตพรรษาตั้งแต่วันขึ้น ๑๔ ค่ำมา เป็นเวลาที่พระสงฆ์สามเณรบวชใหม่ ได้เข้ารับบาตรในพระบรมมหาราชวัง พระองค์เจ้า หม่อมเจ้า ทั้งพระทั้งเณร ได้เข้ารับบาตรทั่วกัน แต่พระมหาดเล็ก กรมธรรมการต้องทำบัญชีขึ้นถวาย ต่อโปรดให้ผู้ใดเข้ามาจึงจะมาได้ การทรงบาตรพระใหม่นี้ มีของไทยทานวิเศษเพิ่มเติม คือเป็นผ้าเช็ดปาก ผ้าเช็ดหน้า ใบชา และของเล็กๆ น้อยๆ เปลี่ยนกันไปทุกวัน เฉพาะได้แต่พระที่บวชใหม่ ส่วนของเพิ่มเติมตามเทศกาล มีธูปเทียน ไม้สีฟัน หมากพลูนั้น ได้ทั่วไปแก่พระสงฆ์ที่มาบิณฑบาต

เมื่อทรงบาตรเสร็จแล้ว เสด็จขึ้นจุดเทียนพรรษาในหอพระแล้วจึงเสด็จวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่ครั้นเมื่อตกลงมาในรัชกาลที่ ๔ ชั้นหลัง เสด็จออกทางพระที่นั่งอนันตสมาคม เสด็จขึ้นทางพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เทียนพรรษาที่หอพระก็เป็นอันจุดภายหลังวัดพระศรีรัตนศาสดารามไป เมื่อมีเทียนพรรษาขึ้นที่พระพุทธสิหิงค์ ทรงจุดเทียนพรรษาที่พระพุทธสิหิงค์ก่อน แล้วจึงเสด็จออกวัดพระศรีรัตนศาสดาราม การตั้งเทียนพรรษาวัดพระศรีรัตนศาสดารามแปลกอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าไม่สังเกตก็จะไม่นึกถึง ตำราจะตั้งอันใดถ้าสิ่งใดเป็นใหญ่แล้ว ต้องตั้งไว้ข้างฝ่ายเหนือหรือฝ่ายตะวันออก สิ่งใดเป็นน้อยหรือต่ำกว่าแล้วต้องตั้งไว้ฝ่ายใต้หรือฝ่ายตะวันตก แต่เทียนพรรษานี้ เทียนวังหลวงตั้งข้างใต้ เทียนวังหน้าตั้งข้างเหนือ ถือเอาที่ประทับของเจ้าของเทียนเป็นประมาณ ถึงที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ในพระราชวังบวรฯ ก็ตั้งเช่นนั้นเหมือนกัน ทรงจุดเทียนพรรษาแล้ว ถวายต้นไม้เงินทองพระมหามณีรัตนปฏิมากรคู่หนึ่ง และเครื่องสักการะ พุ่มต้นไม้ขนาดใหญ่ เทียนแพ ธูปแพ และดอกไม้รองพานทองสองชั้นสองสำรับ สำหรับพระสัมพุทธพรรณี ย่อมลงมาสำรับหนึ่ง แล้วถวายต้นไม้เงินทองและพุ่มต้นไม้ขนาดกลาง พานทองสองชั้นรองธูปเทียนดอกไม้ที่พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระพุทธเลิศหล้านภาลัยอีกสองแห่ง แล้วจึงได้ถวายพุ่มพระราชาคณะต่อไป พุ่มนั้นจัดลงในตะแกรงเรียกว่าตะแกรงตากรวย กำหนดให้กว้างศอกหนึ่ง สูงสี่นิ้ว เกณฑ์กรมต่างๆ ให้สาน กำหนด ๙๐๐ ใบ ในหมายบังคับว่า ให้ตรวจตราอย่าให้เม็ดพริกไทยลอดได้ แต่ที่แลเห็นอยู่นั้น บางใบเม็ดกันภัยก็ลอดได้ บางใบลูกพุทราทั้งลูกก็เห็นจะลอดได้ หมายขึงกันไปตามบุญตามกรรมเช่นนั้น แล้วส่งให้ทหารในปิดกระดาษเขียนลายป้ายๆ ตามบุญตามกรรม เป็นเครื่องสำหรับบรรจุของถวายพระ คือ พุ่มสีผึ้งพุ่มหนึ่ง กระถางต้นไม้กระถางหนึ่ง กระทงเมี่ยงเป็นกระทงเจิม ปากกว้างกว่าแปดนิ้วหรือสิบนิ้ว ในนั้นมีเมี่ยงเท่าหมากตำคำหนึ่ง เทียนมัดหนึ่งร้อยเล่ม ไม้สีฟัน ไม้ขูดลิ้น ไม้ชำระ อย่างละมัด หมากพลูซองหนึ่ง บรรดาพระสงฆ์ที่เป็นราชาคณะ พระครูเจ้าคณะ ทั้งในกรุงและหัวเมืองที่ใกล้ คือ เมืองนนทบุรี ปทุมธานี นครเขื่อนขันธ์ นครชัยศรี และเจ้าพระ เจ้าเณร พระมหาดเล็ก บางองค์เข้ามารับต่อพระหัตถ์ในพระอุโบสถ พระครู เปรียญ ฐานานุกรม พระพิธีธรรมพระปริตทั้งปวงนั่งรายอยู่ตามพระระเบียง ก่อนเวลาที่เสด็จโปรดให้เจ้านายไปถวายแล้วทรงแจกเทียนชนวนที่สำหรับจุดเทียนพรรษา แก่พระบรมวงศานุวงศ์ ให้ไปจุดเทียนพรรษาตามพระอารามต่างๆ การจุดเทียนพรรษานี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รับสั่งว่าเคยได้พระราชทานไปทรงจุดเทียนที่วัดพระเชตุพนทุกปีเสมอมาจนตลอดสิ้นรัชกาลที่ ๒ ครั้นเมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว จึงได้เสด็จพระราชดำเนินทรงจุดเทียนพรรษาวัดพระเชตุพน ในเวลาบ่ายวันขึ้น ๑๕ ค่ำนั้นเสมอทุกปี จนอายุข้าพเจ้าได้สิบขวบ จึงโปรดให้ข้าพเจ้าไปจุดต่อมา จนตลอดแผ่นดินปัจจุบันนี้ พึ่งจะมาเปลี่ยนให้ลูกชายใหญ่[๑] ไปจุดได้สองปี กรมหลวงวงศาธิราชสนิท เป็นผู้ซึ่งทรงเป็นพระธุระในเรื่องจุดเทียนพรรษามาก โดยจะไม่ได้เสด็จเข้ามาในวังช้านานเท่าใด ถ้าวันจุดเทียนพรรษาแล้วเป็นเสด็จเข้ามาไม่ได้ขาดเลย เว้นไว้แต่ประชวรจนเสด็จลุกขึ้นไม่ได้ เมื่อหายประชวรแล้วยังต้องจูงอยู่ก็ให้จูงมา ท่านประพฤติเช่นนี้จนสิ้นพระชนม์ จึงได้ความจากท่านรับสั่งเล่าว่า เจ้านายเดี๋ยวนี้สบาย ต้องไปจุดเทียนพรรษาแต่คนละวัดสองวัด เมื่อในรัชกาลที่ ๒ มีผู้ซึ่งจุดเทียนพรรษาอยู่สามสี่องค์ คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าองค์หนึ่ง พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าองค์หนึ่ง ท่านองค์หนึ่ง กับใครอีกองค์หนึ่งสององค์ ข้าพเจ้าจำไม่ได้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าและพระปิ่นเกล้าเสด็จไปน้อยวัด ท่านต้องไปกว่ายี่สิบวัด แต่เช้าจนค่ำจึงได้กลับ ท่านรู้สึกพระองค์ว่าการจุดเทียนพรรษานี้เป็นหน้าที่ของท่าน ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าได้ทรงปักหน้าที่ไว้ จึงได้ทรงพระอุตสาหะตามเคยเสมอมาตลอดจนถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ เมื่อในรัชกาลที่ ๓ ก็ว่าพระเจ้าลูกเธอเสด็จไปจุดโดยมาก แต่เมื่อในรัชกาลที่ ๔ นี้ พระเจ้าลูกเธอไปจุดก็หลายวัด แต่เฉพาะวัดเดียวๆ คือแต่เดิมข้าพเจ้าไปจุดวัดราษฎร์บุรณ ด้วยอาศัยเหตุที่วังพระองค์เจ้ามงคลเลิศที่เป็นลุงข้าพเจ้า อยู่ที่วังกรมหมื่นนฤบาลมุขมาตย์เดี๋ยวนี้ ที่บ้านพระยาพิชัยสงครามอ่ำนั้นลงมือทำการครั้งแรก จะเป็นบ้านข้าพเจ้าในที่นั้น[๒] เมื่อไปจุดเทียนวัดราษฎร์บุรณ จะได้แวะไปที่บ้านลุงและบ้านใหม่นั้นด้วย พระองค์เจ้าโสมาวดีซึ่งโปรดให้เป็นลูกเลี้ยงสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดีเมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว คือเป็นผู้ได้มรดกนั้น โปรดให้ไปจุดเทียนพรรษาวัดโสมนัสวิหาร กรมหลวงพิชิต สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นตาๆ หลานๆ กันอยู่ จึงโปรดให้ไปจุดเทียนวัดประยูรวงศ์ เพื่อจะได้แวะบ้านนั้น ส่วนกรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์โปรดให้ไปจุดเทียนวัดเครือวัลย์ จะได้ไปแวะบ้านเจ้าพระยาภูธราภัย ซึ่งเป็นตาจริงๆ ที่พระราชทานพระเจ้าลูกเธอ เป็นแต่ที่มีต้องการอย่างอื่นอยู่เช่นนี้ เพราะพระเจ้าลูกเธอยังทรงพระเยาว์อยู่โดยมาก พระเจ้าน้องยาเธอที่ได้ทรงจุดเทียนพรรษา ก็เห็นมีแต่กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เก่าแก่ นอกนั้นก็พระเจ้าราชวรวงศ์เธอบ้าง หม่อมเจ้าบ้าง รายกันไปมากพระองค์ ที่วัดบวรนิเวศ วัดรังษี วัดมหรรณพาราม วัดบุญศิริ วัดเทพธิดา วัดราชนัดดา ในห้าหกวัดนี้มักจะตกอยู่ในพระองค์เจ้าและหม่อมเจ้า ที่ทรงผนวชอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร พระราชทานเทียนชนวนในเวลาที่มารับพุ่ม ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ พระเจ้าน้องยาเธอ และหม่อมเจ้าจุดคล้ายในรัชกาลที่ ๔ เมื่อผู้ใดได้รับเทียนชนวนแล้ว ก็รับโคมไฟฟ้าไปด้วยโคมหนึ่ง แล้วให้มหาดเล็กรับพุ่มเครื่องนมัสการสำหรับในพระอุโบสถไปด้วย วัดใดเทียนพรรษากี่เล่มก็มีพุ่มเครื่องสักการะนั้นเท่ากันโดยมาก เว้นไว้แต่วัดสำคัญ เช่น วัดพระเชตุพน วัดบวรนิเวศเป็นต้น จึงได้มีพุ่มมาก ถ้าถูกวัดพระเชตุพนแล้ว ต้องมีบ่าวมากจึงจะรับของไปหมด แต่เทียนที่พระศรีรัตนเจดีย์ พระมณฑป หอพระมนเทียรธรรม หอพระคันธารราษฎร์ท้องสนามหลวง หอเสถียรธรรมปริต ที่เหล่านี้พระราชทานพระเจ้าลูกเธอที่ยังทรงพระเยาว์ไปจุด จำนวนเทียนพรรษาวัดใดมีเท่าใดต่อไปดังนี้

ที่หอพระในพระบรมมหาราชวัง เทียนหล่อใหญ่ ๒ เล่ม หอพระเสถียรธรรมปริตร เทียนหล่อเล็ก ๑ เล่ม หอพระคันธารราษฎร์สนามหลวง เทียนหล่อเล็ก ๑ เล่ม พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรฯ เทียนหล่อใหญ่ ๑ เล่ม พระที่นั่งพุทธมนเทียร เทียนหล่อเล็ก ๒ เล่ม พระพุทธบุษยรัตน์ เทียนหล่อเล็ก ๒ เล่ม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระอุโบสถ เทียนหล่อใหญ่ ๒ เล่ม หอพระคันธารราษฎร์ เทียนสลัก ๑ เล่ม วิหารยอด เทียนสลัก ๑ เล่ม พระศรีรัตนเจดีย์ เทียนหล่อใหญ่ ๑ เล่ม หอพระมนเทียรธรรม เทียนสลัก ๑ เล่ม รวม ๖ เล่ม วัดราชประดิษฐ์ เทียนหล่อเล็ก ๒ เล่ม วัดราชบพิธ เทียนหล่อเล็ก ๒ เล่ม ในพระอุโบสถ เทียนสลัก ๑ เล่มที่พระเจดีย์ วัดมหาธาตุ เทียนสลัก ๑ เล่มในพระวิหาร[๓] เทียนสลัก ๑ เล่มในพระอุโบสถวัดพระเชตุพน ในพระอุโบสถ เทียนหล่อใหญ่ ๑ เล่ม วิหาร ๔ ทิศ เทียนสลัก ๔ เล่ม พระพุทธไสยาสน์ เทียนสลัก ๑ เล่ม รวม ๖ เล่ม วัดสุทัศน์เทียนหล่อใหญ่ ๑ เล่ม ในพระวิหาร เทียนสลัก ๑ เล่มในพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศ เทียนหล่อใหญ่ ๑ เล่มในพระอุโบสถ เทียนสลัก ๑ เล่ม ในพระเจดีย์ เทียนสลัก ๑ เล่ม ในวิหารพระศาสดา วัดบรมนิวาส เทียนสลัก ๑ เล่ม ในพระวิหาร เทียนหล่อใหญ่ ๑ เล่มในพระอุโบสถ วัดอรุณ เทียนหล่อใหญ่ ๑ เล่ม ในพระอุโบสถ เทียนสลัก หอไตร ๑ เล่ม การเปรียญ ๑ เล่ม พระวิหาร ๑ เล่ม รวม ๔ เล่ม วัดราชโอรส เทียนหล่อใหญ่ ๑ เล่มในพระอุโบสถ เทียนสลักที่พระพุทธไสยาสน์ ๑ เล่ม วัดราชาธิวาส เทียนสลัก ๑ เล่ม  วัดราษฎร์บุรณะ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดราชาธิวาส เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดราษฎร์บุรณะ เทียนสลักในพระวิหาร ๑ เล่ม ในพระวิหาร ๑ เล่ม รวม ๒ เล่ม  วัดสุวรรณาราม เทียนสลักในพระวิหาร ๑ เล่ม ในพระอุโบสถ ๑ เล่ม วัดสระเกศ เทียนสลักในพระวิหาร ๑ เล่ม ในพระอุโบสถ ๑ เล่ม วัดชัยพฤกษมาลา เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดประยูรวงศาราม เทียนสลักในพระวิหาร ๑ เล่ม ในพระอุโบสถ ๑ เล่ม วัดนวลนรดิศ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดปากน้ำ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดโมฬีโลก เทียนสลักในพระวิหาร ๑ เล่ม ในพระอุโบสถ ๑ เล่ม วัดหงส์ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดหนัง เทียนสลักในพระวิหาร ๑ เล่ม ในพระอุโบสถ ๑ เล่ม วัดนางนอง เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดรัชฎาธิษฐาน เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดกาญจนสิงหาสน์ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดชนะสงคราม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดอัปสรสวรรค์ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดบพิตรพิมุข เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดสัมพันธวงศ์ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดทองธรรมชาติ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดราชคฤห์ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดปทุมคงคา เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดยานนาวา เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดเทพธิดา เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดราชนัดดา เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดพิชัยญาติ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดอนงคาราม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดโชตนาราม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดทองนพคุณ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดเทพศิรินทราวาส เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดเศวตฉัตร เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดเขมาภิรตาราม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดหิรัญรูจี เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดศรีสุดาราม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดกัลยาณมิตร เทียนสลักในพระอุโบสถ ๑ เล่ม ในพระวิหาร ๑ เล่ม วัดอินทาราม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดจันทาราม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดอภัยทามริการาม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดคูหาสวรรค์ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดสังข์กระจาย เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดราชสิทธาราม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดเครือวัลย์ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดนาคกลาง เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดพระยาทำ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดระฆัง เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดอมรินทร์ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดดุสิดาราม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดดาวดึงส์ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดคฤหบดี เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดชิโนรสาราม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดภคินีนาฏ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดเทวราชกุญชร เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดจักรวรรดิราชาวาส เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดสามพระยา เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดสังเวชวิศยาราม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดรังษีสุทธาวาส เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดไพชยนต์พลเสพ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดบุปผาราม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดมหรรณพาราม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดโสมนัสวิหาร เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดพระนามบัญญัติ เทียนสลักในพระวิหาร ๑ เล่ม ในพระอุโบสถ ๑ เล่ม รวม ๒ เล่ม วัดส้มเกลี้ยง เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดเวฬุราชิณ เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดปทุมวัน เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดมหาพฤฒาราม เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดบวรมงคล เทียนสลัก ๑ เล่ม วัดวงศมูลวิหาร เทียนสลัก ๑ เล่ม ๚
 
-------------------------------------------------------------------------------------
[๑] คือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ
[๒] ที่นี้อยู่ในกำแพงเมืองริมปากคลองตลาดฝั่งใต้ ต่อเชิงสะพานไปทางถนนจักรเพชร
[๓] ภายหลังเป็นเทียนหล่อ


เดือนแปด
การเสด็จพระราชดำเนินถวายพุ่ม

๏ เมื่อพระราชทานแจกเทียน ให้พระบรมวงศานุวงศ์ไปจุดตามวัดเสร็จแล้วเสด็จขึ้น เป็นสิ้นการในเวลาเช้า เวลาบ่าย เมื่อในรัชกาลที่ ๔ เสด็จพระราชดำเนินออกทางพระที่นั่งอนันตสมาคม เสด็จวัดพระเชตุพนก่อน แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินกลับทางพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เพื่อจะทรงจุดเทียนสวดมนต์ที่พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ คือพระสำหรับซึ่งจะฉันในการสดับปกรณ์กาลานุกาลในวันแรมค่ำหนึ่งเวลาเช้า แต่ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ต้องมีพระราชกิจเพิ่มเติมขึ้นอีก คือต้องเสด็จพระราชดำเนินพระพุทธมนเทียร และพระพุทธรัตนสถาน พระที่นั่งบรมพิมานก่อน แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินวัดพระเชตุพนทางพระที่นั่งอนันตสมาคม เสด็จขึ้นพระอุโบสถก่อน ทรงจุดเทียนพรรษาและถวายเครื่องสักการะเสร็จแล้ว จึงได้เสด็จพระราชดำเนินถวายเครื่องสักการะที่พระโลกนาถ แล้วทรงจุดเทียนพรรษาและถวายเครื่องสักการะในพระวิหารทั้งสี่ทิศ พระเจดีย์ทั้งสี่องค์ และพระพุทธไสยาสน์ แล้วเสด็จพระราชดำเนินออกทางประตูข้างการเปรียญ ข้ามถนนไปตำหนักกรมสมเด็จพระปรมานุชิต ถวายเครื่องสักการะพระอัฐิ แล้วเสด็จพระราชดำเนินกุฎีพระพิมลธรรม ถวายพุ่มแต่เฉพาะองค์เดียว ถึงว่าเมื่อพระธรรมเจดีย์ยังอยู่ก็ไม่ได้พระราชทาน เพราะเหตุว่าพระพิมลธรรมเป็นผู้รักษาพระอัฐิ[๑] การเสด็จพระราชดำเนินวัดพระเชตุพนนี้ กว่าจะนมัสการเสร็จทุกแห่งอยู่ในชั่วโมงครึ่งทุกปี

วันแรมค่ำหนึ่งเวลาเช้า เสด็จพระราชดำเนินออกสดับปกรณ์กาลานุกาลเหมือนอย่างเดือนอื่นๆ ทุกคราว แปลกแต่มีเครื่องสักการะสำหรับเข้าพรรษา ทรงประเคนองค์ละตะลุ่ม เมื่อพระสงฆ์กลับแล้ว เสด็จพระราชดำเนินออกเปลื้องเครื่องพระมหามณีรัตนปฏิมากร ในรัชกาลที่ ๔ มีเสด็จพระบวรราชวัง ตามคำเล่าว่าในวัน ๑๕ ค่ำนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ยังทรงสบายปรกติอยู่ ก็เสด็จพระราชดำเนินลงมาเฝ้าในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงจุดเทียนพรรษาเหมือนกัน แต่ตัวข้าพเจ้าเองไม่ได้จำได้ว่าเสด็จลงมาเลย เคยเห็นแต่เสด็จลงมาในการอื่นๆ คือถือน้ำสองคราวเป็นต้น ปีหนึ่งไม่เคยสังเกตว่ามากกว่าสามครั้ง แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เสด็จพระราชดำเนินพระบวรราชวังปีละครั้งหนึ่งไม่ขาดเลย ถ้าจะเป็นสองครั้งก็มีโสกันต์ การที่เสด็จพระราชดำเนินนั้น อยู่ในเวลาเที่ยงหรือบ่ายโมงหนึ่ง ประทับที่พระที่นั่งศิวโมกข์นมัสการพระเสริม[๒]แล้ว จึงเสด็จขึ้นบนพระที่นั่งพุทไธศวรรย์ จุดเทียนพรรษา แล้วสดับปกรณ์พระอัฐิกรมพระราชวังสามพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า เสด็จออกมาเฝ้าที่ปากฉากข้างใต้ตรงที่ประทับ เมื่อเวลาเสด็จพระราชดำเนินเช่นนั้น มีพระยาณรงค์วิชัย เดี๋ยวนี้ ยังเป็นจมื่นมหาสนิท[๓]อยู่ ตั้งเครื่องพระสุธารสมีเครื่องแกล้มทุกคราว ประทับอยู่จนบ่ายสองโมงบ้างสามโมงบ้าง จึงได้เสด็จพระราชดำเนินกลับ

แต่ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ ไม่มีการเสด็จพระราชดำเนินพระราชวังบวรฯ เลย เป็นแต่เสด็จออกสดับปกรณ์ และเปลื้องเครื่องพระแก้วแล้วเสด็จขึ้น บางทีก็ย้ายเสด็จพระราชดำเนินจุดเทียนพรรษาวัดพระเชตุพนมาไว้วันแรมค่ำหนึ่ง ถ้าเช่นนั้นเวลาเช้ามักจะไม่ใคร่เสด็จพระราชดำเนินออกเปลื้องเครื่องพระแก้ว ด้วยเป็นเวลาแดดร้อนจัดนัก
ในวันแรมสองค่ำ เมื่อรัชกาลที่ ๔ เสด็จพระราชดำเนินวัดบวรนิเวศ แต่มักจะเสด็จพระราชดำเนินเวลาค่ำโดยมาก ทรงนมัสการพระชินศรี พระเจดีย์ พระศรีศาสดา[๔] แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินขึ้นบนพระตำหนักกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ พระราชาคณะฐานานุกรมเปรียญในวัดบวรนิเวศนั้น รับเสด็จอยู่บนตำหนักพร้อมกัน ทรงถวายพุ่มทั่วทุกรูป แต่พระอันดับไม่ได้พระราชทานด้วย แล้วประทับรับสั่งอยู่จนห้าทุ่มบ้างสองยามบ้าง เสด็จพระราชดำเนินขึ้นบนพระปั้นหยา[๕]เป็นการเยี่ยมเยียนด้วยทุกปี การถวายพุ่มทั่วทั้งวัด มาเกิดมีขึ้นที่วัดราชประดิษฐ์ในชั้นหลัง ตั้งแต่ปีแรกพระสงฆ์มาอยู่ เมื่อไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินจุดเทียนพรรษาวัดพระเชตุพนแล้ว เสด็จพระราชดำเนินในวันแรมค่ำหนึ่งซึ่งเป็นวันพระสงฆ์เข้าพรรษา ทรงถวายพุ่มทั้งวัด ครั้นมาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้ ก็เสด็จพระราชดำเนินวัดบวรนิเวศในวันแรมสองค่ำเหมือนอย่างแต่ก่อน แต่พระสงฆ์อันดับในวัดบวรนิเวศ ที่ทรงคุ้นมาแต่เมื่อทรงผนวชเป็นสามเณรยังมีอยู่โดยมาก ที่ไม่ทรงรู้จักนั้นมีน้อย จึงได้ทรงถวายพุ่มทั้งวัด เมื่อพระสงฆ์ถึง ๕๐ เศษ ๖๐ รูปเช่นนั้น จึงได้ย้ายลงมารับพุ่มพร้อมกันในพระอุโบสถ เว้นไว้แต่พระเจ้าน้องยาเธอที่ทรงผนวชภิกษุและสามเณร ยังคงเสด็จพระราชดำเนินไปถึงที่ตำหนัก แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินกลับมาถวายพุ่มที่วัดราชบพิธและวัดราชประดิษฐ์ทั่วทั้งวัด เสด็จพระราชดำเนินแต่เวลาเย็น อยู่ในยามหนึ่งจึงได้กลับพระบรมมหาราชวัง

สถานที่มีเครื่องสักการะถวายในการเข้าพรรษา ในพระบรมมหาราชวังที่หอพระเจ้าแห่งหนึ่ง สำหรับพระพุทธรูปฉลองพระองค์และสำหรับพระพุทธรูปเท่าพระชนมพรรษา ใช้พุ่มย่อมๆ เท่าจำนวนพระ หอพระบรมอัฐิสำหรับพระพุทธรูปพระชนมพรรษาสามรัชกาล หอพระน้อยสำหรับสมเด็จพระสังฆราช และพระพุทธโฆษาจารย์[๖] พระที่นั่งบรมพิมานสำหรับพระพุทธรูปพระชนมพรรษารัชกาลที่ ๔ พระที่นั่งไพศาลทักษิณสำหรับพระสยามเทวาธิราช พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทสำหรับพระพุทธบุษยรัตน์น้อย พระสัมพุทธพรรโณภาศ พระพุทธรัตนสถาน สำหรับพระพุทธบุษยรัตน์มีต้นไม้ทองเงินด้วยคู่หนึ่ง พระพุทธมนเทียรสำหรับพระเจดีย์ พระพุทธสิหิงค์ พระฉลองพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ หอศัสตราคม หอเสถียรธรรมปริต พระภูมิหอแก้ว วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระมหามณีรัตนปฏิมากร พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระสัมพุทธพรรณี พระศรีรัตนเจดีย์ พระมณฑป หอพระมนเทียรธรรม หอราชกรมานุสร หอราชพงศานุสร พระคันธารราษฎร์ พระวิหารยอด พระศรีมหาโพธิ หอพระนาค เลยมาตามของเก่า เดี๋ยวนี้ไม่มีพระพุทธรูปแล้ว ก็เห็นจะไปรวมกันอยู่วิหารยอด หอพระคันธารราษฎร์ท้องสนามหลวงในพระราชวังบวรฯ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระที่นั่งวังจันทร์คืออิศเรศราชานุสร วัดพระเชตุพน พระพุทธเทวปฏิมากร พระพุทธไสยาสน์ พระโลกนาถ พระวิหารทิศทั้ง ๔ พระเจดีย์ ๔ พระศรีมหาโพธิหนึ่ง พระอัฐิกรมสมเด็จพระปรมานุชิตหนึ่ง วัดบวรนิเวศ พระพุทธชินศรี มีต้นไม้ทองเงินด้วยคู่หนึ่ง พระศรีศาสดา พระนิรันตราย พระมุขตะวันออก พระมุขตะวันตก หอไตร พระไพรีพินาศ พระพุทธไสยาสน์ พระเจดีย์ พระศรีมหาโพธิ พระพุทธวชิรญาณ พระพุทธปัญญาอัคคะ วัดราชประดิษฐ์ พระพุทธสิหิงค์ พระชินราช พระชินศรี พระศาสดา พระนิรันตราย พระศรีมหาโพธิ หอไตร วัดราชบพิธ พระประธาน พระนิรันตราย พระเจดีย์ พระศรีมหาโพธิ วัดนอกนั้น บรรดาที่มีเทียนพรรษา ก็มีเครื่องสักการะสำรับหนึ่งทุกๆ วัด อนึ่ง วัดบรมนิวาส วัดปทุมวนาราม สองวัดนี้พระสงฆ์เคยได้รับพระราชทานเทียน ๑๐ เล่ม ธูป ๑๐ ดอก พุ่มเล็กพุ่ม ๑ มาแต่ในรัชกาลที่ ๔ ครั้นในรัชกาลปัจจุบันนี้ก็คงได้อยู่ตามเดิม เติมวัดเทพศิรินทร์ขึ้นอีกวัดหนึ่งได้เหมือนกัน อนึ่ง ต้นนิโครธที่สวนสราญรมย์ ก็มีเครื่องสักการะด้วยสำรับหนึ่ง

ส่วนพระราชาคณะฐานานุกรมหัวเมือง คือกรุงเก่า เพชรบุรี ราชบุรี ลพบุรี สระบุรี ก็ได้พระราชทานกระจาดเครื่องสักการะเทียนร้อยเหมือนกัน แต่ให้เจ้าพนักงานส่งออกไป ลางทีก็ได้ถึงพระบ้าง ตกเรี่ยเสียหายโดยมาก ครั้นมาในแผ่นดินปัจจุบันนี้พระสงฆ์หัวเมืองเข้ามากรุงเทพฯ ในการฉลองไตร พากันมาทวงที่เจ้าพนักงานในกรุงว่าไม่ได้เทียนเนืองๆ ภายหลังตกลงยินยอมกันเองกับเจ้าพนักงาน ให้เก็บรอไว้จนเวลาฉลองไตรจึงได้มารับโดยมาก การถวายเครื่องสักการะเข้าพรรษานั้นก็ยิ่งเป็นการเล่นมากขึ้น พระสงฆ์ผู้ที่ได้รับต้องการก็แต่เทียนร้อยมัดเดียว พุ่มและต้นไม้ก็กระนั้นแล แต่กระจาดกับกระทงเมี่ยงแล้วกลับเป็นการอันหนัก เมื่อจะสังเกตดูก็ได้ วันถวายพุ่มที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จะแลเห็นกระทงเมี่ยงทิ้งเกลื่อนไปตามพระระเบียงมากกว่าอย่างอื่น รองลงไปก็กระจาดมีทิ้งอยู่บ้าง พุ่มกับต้นไม้หักๆ โค่นๆ เกลื่อนกลาดอยู่ก็มี การซึ่งผัดกันไปจนออกพรรษาแล้วจึงมารับนั้น ก็แปลว่ารับเทียนร้อยนั่นเอง แต่ครั้นภายหลังมานี้ เวลาเข้าพรรษาแล้วเคยเสด็จพระราชดำเนินพระราชวังบางปะอิน ทรงถวายพุ่มพระพุทธรูปและพระสงฆ์วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ จึงโปรดให้เป็นกำหนดเสียว่า วันแรมแปดค่ำให้พระราชาคณะฐานานุกรมเปรียญในกรุงเก่าและหัวเมืองที่ใกล้เคียงมารับพระราชทานฉันในพระอุโบสถบ้าง การเปรียญบ้าง ศาลาบ้าง แล้วทรงถวายพุ่มเหมือนอย่างในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ก็เป็นอันได้ไปจริงๆ ทั่วกัน คงมารับในเวลาฉลองไตรแต่หัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันออก

เครื่องสักการะสำหรับวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ คือ พระพุทธนฤมลธรรโมภาศ ๑ พระสาวก ๘ พระนิรันตราย ๑ พระลอยถาด ๑ พระจงกรม ๑ พระศรีมหาโพธิ ๑ พระคันธารราษฎร์ ๑ พระฉลองพระองค์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ ที่การเปรียญ ๑ พระนาคปรกศิลา ๑ หอไตร ๑ พระสงฆ์อันดับและสามเณรวัดนิเวศน์ธรรมประวัติได้เทียนแพหนักเล่มละกึ่งตำลึง พุ่มขนาดกลาง วัดเสนาสนาราม วัดชุมพลนิกายาราม วัดกระวิศราราม วัดมณีชลขันธ์ ได้เทียนกำพุ่มเล็กเหมือนวัดบรมนิวาส


หัวข้อ: Re: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 04 กรกฎาคม 2561 15:17:12
เดือนแปด
การเสด็จพระราชดำเนินถวายพุ่ม (ต่อ)

อนึ่ง ตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๔ มา โปรดให้ข้างในออกถวายพุ่มพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ที่พระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดารามในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ และบางปีที่ข้าพเจ้าจำได้นั้นเมื่อข้าพเจ้าบวชเณร โปรดให้ข้างในไปถวายพุ่มพระสงฆ์สามเณรที่วัดบวรนิเวศวิหารครั้งหนึ่ง และวัดราชประดิษฐ์หลายครั้ง ในรัชกาลปัจจุบันนี้การถวายพุ่มพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศคงอยู่ เพิ่มพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรสขึ้นอีกองค์หนึ่ง และเมื่อเสด็จพระราชดำเนินเกาะบางปะอิน โปรดให้ข้างในไปถวายพุ่มพระสงฆ์วัดนิเวศน์ธรรมประวัติทุกปี ๚

อนึ่ง ในวันนักขัตฤกษ์เข้าพรรษาสามวันนี้ มีการสวดมหาชาติคำหลวงในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามมาแต่โบราณ เรื่องพระมหาชาติคำหลวงนี้เป็นของพระไตรโลกนาถทรงธรรม ได้ทรงเรียบเรียงขึ้นไว้ด้วยทรงพระปรารภอย่างใด มีข้อความปรากฏในหนังสือพิมพ์วชิรญาณวิเศษปีนี้ แผ่นที่ ๓๖ หน้า ๔๒๗ แล้ว ข้าพเจ้าไม่กล่าวซ้ำถึงพระราชปรารภเดิมนั้นอีก จะขอกล่าวถึงแต่ตัวหนังสือพระมหาชาติคำหลวงนั้นเป็นเครื่องส่องให้เห็นความรู้ของพระเจ้าทรงธรรม ว่าพระองค์ทรงทราบอักขรวิธี ทั้งภาษามคธภาษาไทยและพากย์ภาษาอื่นต่างๆ ลึกซึ้ง และประกอบด้วยพระสติปัญญา ฉลาดในการที่จะประพันธ์ผูกลิลิต ร่ายกาพย์ โคลงฉันท์ ให้ไพเราะได้เป็นอย่างยิ่ง การที่ทรงแปลภาษาคาถามคธลงเป็นภาษาไทยให้เป็นลิลิตโคลงฉันท์กาพย์ต่างๆ สลับกันไป อาศัยข้อความที่จะต้องการกล่าวช้ากล่าวเร็วให้สมควรแก่เนื้อความ ความคิดที่ทรงแต่งหนังสือเช่นนั้นเป็นอย่างแปลกประหลาดเกิดขึ้นใหม่ มิได้มีประสงค์ที่จะเลียนแบบจากแห่งใด เหมือนอย่างนักปราชญ์ทุกวันนี้พอใจแต่เลียนหนังสือเก่านั้นเลย ถ้อยคำซึ่งกล่าวไว้ในพระมหาชาติคำหลวงเป็นคำที่ลึกซึ้งเกินกว่าคำพูดที่เราพูดจากันอยู่ทุกวันนี้ ที่แปลไม่ออกว่าจะหมายความอย่างไรมีมากคำ เป็นหนทางที่ผู้มีความรู้และมีสติปัญญาจะพิจารณาตริตรอง สืบสวนหาศัพท์โบราณ เสาะหาทางมาแห่งศัพท์ซึ่งใช้กันอยู่ในภาษาไทย ที่แปลไม่ออกไม่ทราบต้นเหตุที่มาได้กว้างขวางมาก แต่เป็นที่น่าเสียดายอยู่ ด้วยหนังสือมหาชาติคำหลวงนั้นขาดหายเสียในครั้งบ้านแตกเมืองเสียหลายฉบับหาไม่ได้ ที่ยังคงอยู่เดี๋ยวนี้ คือ ทศพร หิมพานต์ วันประเวศ ชูชก มหาพน กุมาร มหาราช นครกัณฑ์ ส่วนฉบับที่ขาดนั้น มีผู้ทำเพิ่มเติมขึ้น แต่โวหารและความรู้ห่างไกลกันไม่ถึงพระราชนิพนธ์ของเก่า แต่ซึ่งเรายังได้พบอ่านเท่าที่มีอยู่นี้ก็นับว่าเป็นการดีนักหนาอยู่แล้ว ควรจะสรรเสริญท่านที่ได้ทรงแต่งหนังสือนี้ไว้ ให้เราได้รู้ถ้อยคำของคนโบราณซึ่งเป็นที่น่าจะรู้อย่างยิ่ง

แต่เมื่อจะพิเคราะห์ความรู้ของพระเจ้าทรงธรรม โดยละเอียดแล้ว ก็เห็นว่าพระองค์จะทรงทราบพระไตรปิฎกมากจริง และทรงทราบอักขรวิธีในภาษาไทยเป็นที่หนึ่งไม่มีผู้ใดเสมอในกาลครั้งนั้น แต่ถึงว่าทรงทราบมากเช่นนั้น ก็เห็นจะหาเป็นพระราชธุระในการที่จะสอดส่องเสาะหาธรรมที่ลึกที่วิเศษโดยละเอียดนักไม่ จะเป็นแต่ทรงสนุกในการหนังสือมากกว่าที่ประพฤติพระองค์ทดลองเลือกฟั้นให้ได้จริงในทางธรรม เหตุใดจึงได้กล่าวดังนี้ เหตุว่าการที่พระองค์ทรงประพฤติทั้งปวง มีบอกหนังสือพระสงฆ์เป็นต้นนั้น ก็เป็นแต่การที่จะชี้แจงอักขรวิธีในภาษามคธ เมื่อจะทรงเรียบเรียงเป็นพระราชนิพนธ์ ก็เรียบเรียงเพียงชั้นมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งเป็นเรื่องออกสนุกชวนอ่าน เพื่อจะเล่นทางอักขรวิธีทั้งภาษาไทยภาษามคธอย่างเดียว ส่วนในการพระพุทธศาสนา ไม่มีปรากฏว่าพระองค์ได้คิดชำระมลทินปลดเปลื้องการซึ่งเศร้าหมองอย่างใดให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนเลย เมื่อว่ารวบยอดแล้ว การซึ่งพระองค์ได้เถลิงถวัลยราชสมบัติปราบดาภิเษกขึ้นนั้น ก็อาจส่อให้เห็นได้ว่าพระองค์ทรงสนัดและโปรดทางเล่าเรียนมากกว่าการปฏิบัติ จึงไม่สู้สนพระหฤทัยที่จะบำรุงในทางปฏิบัติมากนัก

อนึ่ง มหาชาติคำหลวงนี้ มีทำนองที่สวดประกอบด้วยเม็ดพรายสูงต่ำลึกซึ้ง จนไม่สามารถที่จะจำไว้ได้ หรือจะนึกทำให้ถูกขึ้นใหม่ ต้องมีเครื่องหมายที่ขึ้นที่ลงที่สูงที่ต่ำระดะเต็มไปทุกๆ วรรค ทำนองนั้นก็ไม่คล้ายคลึงเทียบเทียมกับทำนองอย่างอื่นเลย เป็นทำนองอันเกิดขึ้นจากพระราชดำริของพระเจ้าทรงธรรมนั้นเอง ส่อให้เห็นว่าท่านคงเป็นผู้ชำนาญในการสวดเรียนต่างๆ ทุกอย่าง มีพระสุรเสียงอันไพเราะคล่องแคล่ว อาจจะบัญญัติทำนองขึ้นใหม่ให้แปลกเปลี่ยนกับที่เคยมีมาแต่ก่อนได้ แล้วทรงพระอุตสาหะฝึกหัดด้วยพระองค์เอง ให้ราชบุรุษผู้เจ้าพนักงานรับเครื่องราชบรรณาการ เป็นกรมนักสวดด้วย ชะรอยว่าคนพวกนี้จะเป็นคนที่รับราชการอยู่ในพระราชมนเทียรสนิทสนม ด้วยเป็นภิกษุสามเณรหรือคฤหัสถ์ที่เป็นศิษย์ทรงใช้สอยสั่งสอนมาแต่เดิม สึกมาหมายเป็นข้าหลวงเดิม ด้วยได้เคยทรงใช้สอยสนิทสนมมาแต่ก่อน จึงได้ใช้สำหรับต้อนรับแขกและเฝ้าใกล้เคียง เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยโปรดปรานมาก ถ้าเป็นเดี๋ยวนี้ คงต้องทรงซื้อสร้อยนาฬิกาที่สายโตๆ พระราชทานให้แขวนโตงเตงไปตามกัน เพราะคนพวกนี้เป็นคนสนิทชิดชมได้ทรงซักซ้อมให้สวดได้เนืองๆ ดีกว่าที่จะเอาผู้อื่นมาฝึกหัด พระสงฆ์ผู้ที่ชำนาญในการสวดเรียนต่างๆ ย่อมจะเป็นฝ่ายสมถวิปัสสนาธุระโดยมาก สืบมาจนเราได้พบได้เห็น และวิชาซึ่งพระสงฆ์ศึกษาในเวลานั้นเล่า ก็นับว่าฝ่ายวิปัสสนาธุระอย่างนั่งพระธรรมเป็นใหญ่ ตลอดมาจนกรุงรัตนโกสินทร์นี้จึงเห็นว่าคุณวิเศษของพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งเป็นที่นับถือของคนทั้งปวงจนถึงเป็นเจ้าแผ่นดินได้นั้น จะเกิดขึ้นทางวิปัสสนาธุระนั่งพระธรรมมากกว่าทางคันถธุระ เมื่อจะสังเกตดูในพระราชพงศาวดารก็จะเห็นได้ว่าตั้งแต่เหนือแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรมขึ้นไป การที่จะสรรเสริญเวทมนตร์คาถาอันใด น้อยกว่าตั้งแต่พระเจ้าทรงธรรมลงมา ตั้งแต่แผ่นดินพระเจ้าทรงธรรมลงมาแล้ว มักจะกล่าวถึงอยู่คงกระพันชาตรีล่องหนหายตัว ทำเสน่ห์เล่ห์ลมเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น เพราะเหตุว่าพระเจ้าทรงธรรมเป็นแต่พระราชาคณะองค์หนึ่งเท่านั้น สามารถที่จะชิงสมบัติจากพระเจ้าแผ่นดินอันสืบพระวงศ์เนื่องในประพันธ์กันมาถึงยี่สิบชั่วกษัตริย์ จึงเป็นเหตุให้คนเชื่อถือในทางวิชาเหล่านั้นแก่กล้าขึ้น ซึ่งแผ่นดินกรุงสยามในระยะนั้นชุ่มโชกไปด้วยน้ำมนต์และน้ำมันนั้น คงจะเป็นเหตุเพราะพระราโชบายของพระเจ้าทรงธรรมที่จะรักษาสิริราชสมบัติของพระองค์ให้มั่นมิให้มีผู้ประทุษร้ายได้ แต่เพราะเหตุที่คนที่เชื่อถือเท่านั้น ย่อมเชื่อถือฤทธิ์เดชต่างๆ อันพระอรรถกถาจารย์เจ้าพรรณนาไว้ ก็ต้องเชื่อปัญจอันตรธานอนาคตวงศ์ด้วย เมื่อถือเช่นนั้นแล้วก็ต้องถือว่าผู้ซึ่งเกิดมาภายหลัง ย่อมจะเสื่อมลงไปเสื่อมลงไปจากผู้ที่เกิดก่อน อีกประการหนึ่งถ้าเจ้าแผ่นดินองค์ใดไม่ว่าในพงศาวดารไทยหรือพงศาวดารต่างประเทศแห่งใด ยกย่องพระองค์ว่าดีกว่าพระราชโอรสซึ่งจะสืบสันตติวงศ์ หรือดีจริงๆ พระราชโอรสตามไม่ทันไล่เลี่ยกัน ราชวงศ์อันนั้นก็มักจะเสื่อมสูญลงไปในเร็วๆ นั้น เหมือนอย่างพระเจ้าทรงธรรมนี้ พระราชโอรสก็เรียวลงไปเป็นปางฉะนางทีเดียว ผู้ซึ่งได้ร่ำเรียนวิชาตามทาง ถึงแม้นว่าเป็นพระราโชบาย แต่ยังเป็นที่นิยมของคนอยู่ ก็อาจประทุษร้ายชิงเอาแผ่นดินได้โดยง่าย ตามทางซึ่งพระเจ้าทรงธรรมได้ทำอุบายไว้นั้นเอง เชื้อสายก็เพาะปลูกกันต่อๆ มา จนแผ่นดินไม่มีความสุขได้เลยตลอดจนเสียกรุง ยังมิหนำซ้ำมาเบียดเบียนเอากรุงธนบุรีไปด้วย ซึ่งอธิบายมานี้อยู่ข้างจะเลื้อยเกินเหตุ เป็นแต่อยากจะพูดออกความเห็นเท่านั้น ขอรวบเนื้อความลงว่า พระเจ้าทรงธรรมนั้นทรงถนัดในทางอักขรวิธีอย่างหนึ่ง การปฏิบัติของพระองค์ในเวลาทรงผนวชนั้นเป็นฝ่ายวิปัสสนาธุระ ตามลัทธิอาจารย์เคยถือมา มิใช่สอดส่องหาธรรมที่ดีมาปฏิบัติเพื่อความบริสุทธิ์ อย่างเช่นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะฉะนั้นพระองค์จึงทรงสันทัดในทางที่จะทำทำนองสวดเรียนต่างๆ ตามลัทธิของพวกอาจารย์วิปัสสนาชอบเล่นอยู่เป็นปรกติ จึงได้ทรงคิดทำนองมหาชาติคำหลวงได้ร่ำเรียนสวดกันมาทุกกาลวันนี้ ถึงว่ามีผู้แต่งหนังสือมหาชาติคำหลวงเพิ่มเติมที่ขาดลงได้ ก็ไม่สามารถที่จะกะแบบทำนองสวดลงในหนังสือนั้นได้ มหาชาติคำหลวงที่สวดอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามทุกวันนี้ก็สวดอยู่เท่าที่ขาดนั้นเอง

การสวดมหาชาติคำหลวง เป็นธรรมเนียมมีมาแต่ในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม นัยหนึ่งเรียกว่าโอ้เอ้พิหารราย คำที่ว่าโอ้เอ้พิหารรายนี้ได้สอบถามผู้หลักผู้ใหญ่ดูว่า จะหมายเอาสวดพระมหาชาติคำหลวงหรือจะหมายเอาที่นักเรียนโรงทานอ่านหนังสือสวดเป็นทำนองตามศาลาราย ก็ได้ความว่าที่นักเรียนโรงทานสวดตามศาลารายนี้ พึ่งเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๔ คำว่าโอ้เอ้พิหารรายมีเรียกมาก่อนนั้นแล้ว ตามความเข้าใจของผู้ที่บอกนั้น ว่าคำโอ้เอ้พิหารรายนั้น คือสวดพระมหาชาติคำหลวงนั้นเอง ดูคำแจ้งความนี้ไม่ยุติกันกับชื่อที่เรียก คำที่เรียกว่า “โอ้เอ้” ดูไม่เป็นคำสรรเสริญแท้นัก เป็นคำค่อนจะอยู่ข้างเยาะๆ ว่าสวดไม่ดี และคำ “พิหารราย” นั้นเล่า ก็บ่งตรงว่าไม่ได้สวดในพระวิหารหรือพระอุโบสถใหญ่ สวดตามวิหารน้อยๆ ที่รายอยู่โดยรอบ และคำ “ราย” นั้นดูเป็นพหูวจนะในภาษาไทยเหมือนว่าหลายๆ แห่ง มิใช่แห่งเดียว ก็ถ้าจะสวดพระมหาชาติคำหลวงอยู่ในพระอุโบสถหรือพระวิหารใหญ่แต่แห่งเดียวแล้ว จะเรียกว่าโอ้เอ้พิหารราย ความไม่ลงกันเลย จึงพิเคราะห์เห็นว่าการที่สวดพระมหาชาติคำหลวงก็ดี หรือจะเรียกว่าโอ้เอ้พิหารรายก็ดี คงได้ความชัดว่าสวดในวัดพระศรีสรรเพชญ ซึ่งเป็นวัดในพระราชวัง เมื่อตรวจดูแผนที่วัดพระศรีสรรเพชญ ก็เห็นได้ว่ามีปราสาทสามองค์ คือไพฑูรย์มหาปราสาท เวชยันตปราสาท ไอศวรรย์ปราสาท เรียงกันไปสามองค์ มีระยะว่างห่างๆ กันเป็นปราสาทย่อมๆ ที่ได้สร้างขึ้นเป็นพระราชวังครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ผู้สร้างกรุง ครั้นแผ่นดินพระบรมไตรโลกนาถที่ ๑ มิใช่ทรงธรรม ยกวังทำเป็นวัด ลงมาสร้างพระราชวังใหม่ฝ่ายริมน้ำ ปราสาททั้งสามองค์นั้นก็เป็นวัดไป จึงสร้างพระเจดีย์แทรกลงในหว่างปราสาทนั้นอีกสามองค์ ชักทักษิณเดินถึงกันได้รอบ ปลายแถวของพระเจดีย์และปราสาทข้างตะวันออก เป็นพระวิหารใหญ่ที่ประดิษฐานพระศรีสรรเพชญ ปลายแถวข้างใต้ก็มีพระวิหารใหญ่อีกหลังหนึ่ง แต่ย่อมลงไปกว่าวิหารพระศรีสรรเพชญมาก พระวิหารและพระเจดีย์กับปราสาทนี้ เป็นแถวกลางพื้นเดียวติดกันตลอด คล้ายพระพุทธปรางค์ปราสาทพระมณฑปศรีรัตนเจดีย์ ที่ลานวัดนั้นมีพระวิหารอย่างย่อมๆ รายเป็นระยะไป เหมือนศาลารายรอบพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่ใหญ่กว่าและมีผนัง เห็นจะไม่เท่ากันทุกหลังด้วยตั้งอยู่เป็นระยะรายไปโดยรอบ คำที่เรียกว่า “พิหารราย” นี้ ชะรอยว่าการซึ่งฝึกซ้อมสวดพระมหาชาติคำหลวงนี้ จะไม่ได้ซ้อมสวดแต่สี่คนพอครบสำรับหนึ่ง จะซ้อมด้วยกันมากๆ แล้วเลือกคัดแต่ที่สวดได้ดีเต็มทำนองสมพระราชประสงค์ เข้าไปสวดถวายในพระวิหารใหญ่เป็นที่ทรงฟัง ส่วนพวกที่ฝึกซ้อมไว้มากด้วยกันนั้น ให้ไปสวดตามวิหารราย สำหรับสัปบุรุษทายกทั้งปวงไปฟัง พวกเหล่านั้นก็จะสวดดีบ้างไม่ดีบ้าง ที่สวดไม่ดีก็จะต้องถูกคนทั้งปวงติเตียน จึงเรียกเป็นคำขึ้นชื่อเสียว่าโอ้เอ้พิหารราย แปลว่าสวดที่วิหารรายนั้นแล้ว ไม่ดีเหมือนในวิหารใหญ่ แต่ครั้นเมื่อตกมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ฝึกซ้อมขึ้นแต่สำรับเดียว สำหรับสวดในพระอุโบสถ คนทั้งปวงชินใจชินปาก ในการที่เคยไปฟังโอ้เอ้พิหารราย จึงได้เรียกติดไปว่าโอ้เอ้พิหารรายเป็นคำตลาด ส่วนในราชการก็คงใช้ว่าสวดมหาชาติคำหลวง เพราะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงพระราชดำริเห็นชื่อไม่สมกับความจริงเช่นนี้ แต่ครั้นจะให้ฝึกหัดสวดมหาชาติคำหลวงขึ้นให้มาก คนในกรมนั้นก็มีน้อย และดูไม่เป็นประโยชน์อันใด ด้วยทุกวันนี้ก็ไม่มีผู้ใดชอบใจฟัง ด้วยฟังก็ไม่ใคร่จะเข้าใจ จึงได้โปรดให้จัดนักเรียนโรงทานอ่านหนังสือสวดตามที่ตัวเล่าเรียน เป็นทำนองยานี ฉบัง สุรางคณางค์ ตามแต่ผู้ใดจะถนัดสวดเรื่องใดทำนองใดทุกศาลาราย ศาลาละสองคน พระราชทานเงินคนหนึ่งวันละสลึงเป็นรางวัล ถ้าผู้ใดสวดดีอาจารย์ก็กันมาไว้ศาลาที่เป็นทางเสด็จพระราชดำเนิน ถ้าสำรับใดสวดดี บางปีก็ได้พระราชทานรางวัลเพิ่มเติมบ้าง เป็นการล่อให้นักเรียนมีใจฝึกซ้อมในการอ่านหนังสือ แต่ส่วนที่สวดพระมหาชาติคำหลวงสำรับใหญ่นั้น คงสวดอยู่ในพระอุโบสถตามอย่างแต่ก่อน เริ่มตั้งแต่วันขึ้นสิบสี่ค่ำไป จนต่อวันแรมค่ำหนึ่งเป็นกำหนดสามวัน ที่ซึ่งสวดนั้นตั้งเตียงโถงไม่มีเพดาน มีตู้มาลัยสำหรับรองหนังสือ แต่ไม่ได้ปักตาลิปัตร มีเครื่องนมัสการตระบะมุกสำรับหนึ่ง มีพานหมาก กระโถน ขันน้ำ ยาเสียง ตั้งคล้ายๆ เตียงพระสวด ผู้ที่สวดคือขุนทินบรรณาการ ขุนธารกำนันเป็นต้น นุ่งขาวห่มขาวสี่คน สวดคาถาสองคน ว่าคำแปลสองคน ถึงเวลาที่พระสงฆ์มานั่งอยู่กับพื้นพระอุโบสถ พวกที่สำแดงธรรมสี่คนนั้นก็นั่งอยู่บนเตียง ต่อทรงจุดเครื่องนมัสการทรงศีลจึงได้หยุดลงจากเตียง เมื่อพระสงฆ์ฉันไปแล้วก็ขึ้นสวดบนเตียงต่อไปใหม่ ผู้ที่สวดนี้ได้เงินคนหนึ่งวันละ ๑ บาท

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จับโปรดขึ้นมาครั้งหนึ่ง รับสั่งให้เข้ามาสวดที่พระที่นั่งทรงธรรมในพระบรมมหาราชวังให้ข้างในฟัง คนแก่ๆ เฒ่าๆ ก็มีธูปเทียนดอกไม้ มานั่งจุดบูชาฟังเหมือนอย่างฟังเทศน์ วันแรกดูแน่นหนา ที่เป็นสาวแส้ก็มีมาฟัง รุ่งขึ้นวันที่สองก็หายไปหมด เหลือแต่ท่านพวกที่หลับตาหลับตา เหมือนอย่างเช่นยายหงเป็นต้น และที่ไหลๆ เหมือนอย่างเช่นยายหุ่นสวรรค์เป็นต้น นั่งฟังอยู่ห้าหกคน ก็ตกลงเป็นได้มีปีเดียว รุ่งปีขึ้นก็เลิกไป พวกเด็กที่สวดตามศาลาราย ก็นุ่งขาวห่มขาว มีธูปเทียนเครื่องบูชาเล็กน้อยทุกๆ ศาลาเหมือนกัน ดูก็ครึกครื้นดีอยู่ ถ้าเข้าพรรษาไม่มีสวดตามศาลารายและสวดในพระอุโบสถหน้าตากลิ่นอายจะไม่ใคร่เป็นเข้าพรรษา เมื่อมีสวดอยู่เช่นนี้ พอเข้าพระระเบียงไป ความรู้สึกที่เคยชินมาแต่เล็กๆ นั้น ก็รู้สึกชัดเจนว่าเข้าพรรษา ถ้าจะมีสวดเช่นนี้ในเดือนหกเดือนเจ็ด แล้วทำลืมเดือนหกเดือนเจ็ดเสียให้หายขาด เข้าไปในวัด หน้าตากลิ่นอายคงเป็นเข้าพรรษาเหมือนกัน ว่ามาด้วยเรื่องมหาชาติคำหลวง สิ้นความเท่านี้

อนึ่ง การเปลื้องเครื่องพระมหามณีรัตนปฏิมากร ซึ่งมีกำหนดในเวลาเปลี่ยนฤดู ปีละสามครั้งล่วงมายังหาได้กล่าวถึงไม่ บัดนี้กล่าวถึงกาลเข้าพรรษา เป็นเวลาที่บรรจบฤดูเปลื้องเครื่องพระมหามณีรัตนปฏิมากรครั้งหนึ่ง จึงจะขอกล่าวรวบรวมไว้ในที่แห่งเดียวนี้ พระมหามณีรัตนปฏิมากรนั้นทรงเครื่องเป็นสามฤดู คือตั้งแต่เดือนแปดแรมค่ำหนึ่ง เข้าวัสสานฤดู ไปจนเดือนสิบสองขึ้น ๑๕ ค่ำ ทรงเครื่องอย่างห่มดอง คือผ้าทรงนั้นทำด้วยทองคำเป็นกาบๆ จำหลักลายประดับพลอยทับทิม ลายทรงข้าวบิณฑ์ เมื่อประกอบแล้วก็เหมือนหนึ่งผ้าทรงอย่างห่มดอง พระศกทำด้วยทองคำลงยาราชาวดีสีน้ำเงินแก่ ที่ปลายพระเกศาที่เวียนเป็นทักษิณาวรรต ประดับด้วยนิลเม็ดย่อมๆ ทั่วไป พระรัศมีลงยาราชาวดีสีต่างๆ ตั้งแต่เดือนสิบสองแรมค่ำหนึ่งไปจนถึงเดือนสี่ขึ้นสิบห้าค่ำเป็นเหมันตฤดู เครื่องทรงเปลี่ยนเป็นผ้าทรงคลุม ผ้าที่คลุมนั้นทำด้วยทองคำเป็นหลอดลงยาราชาวดีร้อยลวดเหมือนตาข่าย คลุมทั้งสองพระพาหา พระศกใช้คงเดิมไม่ได้เปลี่ยน ตั้งแต่เดือนสี่แรมค่ำหนึ่งไป จนถึงเดือนแปดขึ้นสิบห้าค่ำเป็นคิมหฤดู ทรงเครื่องต้น เป็นเครื่องทองคำลงยาราชาวดีประดับเพชรพลอยต่างๆ พระมงกุฎที่ทรงเป็นมงกุฎมีท้ายเทริดยอดประดับเพชรเม็ดใหญ่ การที่เปลี่ยนเปลื้องเครื่องทรงทั้งสามฤดูนี้ เมื่อถึงกำหนดตำรวจก็ผูกเกยขึ้นไปเสมอบุษบก มีบันไดไม้จริงขึ้นข้างด้านหลัง เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปสรงน้ำพระแก้วบนเกยนั้น มีโถแก้วพระสุคนธ์สองโถ พานแก้วรองผ้าซับพระองค์สองผืน เมื่อเสด็จขึ้นไปถึงบนเกยนั้นแล้ว ทรงหยิบพระสังข์ทักษิณาวรรต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถวายบูชาไว้ ในมังสีมีด้ามเหมือนทวยปักอยู่ที่บุษบกตรงพระพักตร์พระมหามณีรัตนปฏิมากร มารินพระสุคนธ์ลงในพระสังข์นั้นสรงพอทั่วพระองค์ครั้งหนึ่งแล้ว เจ้าพนักงานเชิญสังข์ทักษิณาวรรตอีกองค์หนึ่งมาถวาย ก็ทรงสรงพระอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงทรงผ้าซับพระองค์ผืนหนึ่ง ชำระล้างละอองสิ้นทั้งพระองค์ แล้วจึงทรงผ้าแห้งอีกผืนหนึ่ง ซับพระสุคนธ์ให้แห้งแล้ว เจ้าพนักงานจึงได้ถวายพระศกหรือพระมงกุฎตามฤดู ทรงถวายพระมหามณีรัตนปฏิมากรด้วยพระหัตถ์ แล้วก็เสด็จกลับลงมา พระสุคนธ์ซึ่งเหลือในพระสังข์นั้นทรงรินลงในโถแก้ว พระสุคนธ์ที่ติดผ้าซับพระองค์ผืนแรกชุ่มนั้น ก็บีบลงในโถแก้ว ครั้นเมื่อเสด็จพระราชดำเนินลงมาถึงพื้นพระอุโบสถแล้ว ประทับที่ม้าตั้งพระสุคนธ์มุมฐานชุกชีด้านเหนือ ทรงรินพระสุคนธ์ในโถลงในพระสังข์ทักษิณาวรรตแล้วทรงรดพระเศียรก่อน แล้วจึงรินลงในผ้าซึ่งซับพระองค์ทั้งสองผืนให้ชุ่ม ผ้าสองผืนนี้เป็นผ้าซับพระพักตร์ บางทีก็พระราชทานแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งทรงพระกรุณาจะพระราชทาน ที่ได้เฝ้าอยู่ในเพลานั้น ตัวข้าพเจ้าได้รับพระราชทานผืนหนึ่งเกือบจะเสมอทุกคราว แล้วจึงทรงรินพระสุคนธ์ในพระสังข์นั้น ลงในหม้อแก้วหม้อทองหม้อถม เจือน้ำอบที่อยู่ในหม้อนั้นเต็มแล้วสำหรับแจกจ่ายประพรมทั่วไป แล้วจึงรินพระสุคนธ์ลงในพระสังข์ รดพระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์ทั่วทุกองค์ ส่วนข้าราชการที่มาเฝ้าในเวลานั้นก็ทรงรินพระสุคนธ์ในพระสังข์ลงในพระสุหร่ายประพระราชทานทั่วไปแล้ว จึงเสด็จพระราชดำเนินไปเปลี่ยนพระรัศมีพระสัมพุทธพรรณี พระรัศมีนั้นมีสี่ คือก้าไหล่ทองหนึ่ง นากหนึ่ง แก้วขาวหนึ่ง แก้วน้ำเงินหนึ่ง ฤดูฝนใช้แก้วน้ำเงิน ฤดูหนาวใช้แก้วขาวบ้างนากบ้าง ฤดูร้อนใช้ก้าไหล่ทอง มีควงบิดเปลี่ยนลงที่กันได้ทั้งสี่ แล้วทรงสุหร่ายประพรมพระสัมพุทธพรรณีและพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แล้วจึงทรงจุดธูปเทียนนมัสการต่อไป ในขณะเมื่อเสด็จพระราชดำเนินลงมาจากเกยนั้นแล้ว เจ้าพนักงานคลังทองขึ้นประดับเครื่องแต่งพระองค์พระมหามณีรัตนปฏิมากรเบื้องล่าง เมื่อเสร็จแล้วพราหมณ์จุดแว่นเวียนเทียนสมโภช ประโคมแตรสังข์ฆ้องชัยพิณพาทย์มโหระทึก เป็นเสร็จการเปลื้องเครื่องคราวหนึ่ง อย่างนี้เสมอทุกปีมิได้ขาด

คำตักเตือนในการทรงผนวช วันสมโภช ภูษามาลาต้องเชิญพระมหาสังข์มาตั้งไว้ที่โต๊ะข้างพระที่นั่ง และต้องเก็บใบมะตูมให้พอแก่เจ้าที่ทรงผนวช เพราะภูษามาลาก็รู้จำนวนอยู่เองแล้ว ไม่ควรจะให้ใบมะตูมขาดไม่พอกัน เจ้าที่ทรงผนวชต้องนั่งหันหน้าเข้ามาทางพระที่นั่ง จนได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กลับหน้าไปข้างบายศรีจึงกลับได้ เมื่อพราหมณ์ป้อนน้ำมะพร้าวแล้ว ก็ต้องกลับหน้ามาทางที่เฝ้าในทันทีเหมือนกัน เวลาทรงผนวช มีสำคัญเรื่องพระเต้าษิโณทกเคยเกิดความเสมอ ด้วยเวลายาวมหาดเล็กไม่ใคร่สังเกต ควรจะสังเกตว่าถ้าเจ้าที่ทรงผนวชออกมารับผ้าเจ้านายข้างหน้าเสร็จแล้ว คงจะทรงพระเต้าษิโณทก การสวดมนต์ฉลองเทียนเดี๋ยวนี้ตกเป็นพิธีมืดๆ ไม่ใคร่จะเสด็จพระราชดำเนินออก ส่วนการเสด็จพระราชดำเนินทรงจุดเทียนพรรษามีวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นต้น จำจะต้องมีโคมไฟฟ้าขาดไม่ได้ การเสด็จพระราชดำเนินวัดบวรนิเวศ วัดราชบพิธ วัดราชประดิษฐ์ จำจะต้องเตรียมพานเทียน เหมือนอย่างที่ตักเตือนไว้แล้วในเดือนห้า การเปลื้องเครื่องพระแก้ว เวลาที่เสด็จพระราชดำเนินขึ้นบนเกย มหาดเล็กต้องเชิญพระแสงตามเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปนั่งอยู่ที่บันไดเกย เวลาจะเสด็จพระราชดำเนินกลับลงมา ต้องล่วงหน้าลงมาก่อน คอยอยู่ที่ปลายบันได พานเทียนนั้นต่อทรงเปลี่ยนพระรัศมีพระสัมพุทธพรรณีแล้วจึงถวาย การนอกนั้นไม่มีอันใด ๚
 

-------------------------------------------------------------------------------------
[๑]  ครั้งนั้นพระธรรมเจดีย์ อุ่น เป็นเจ้าอาวาส ทรงตั้งพระพรหมมุนี ยิ้ม วัดสุทัศน์ เป็นพระพิมลธรรมมาอยู่วัดพระเชตุพน เป็นเจ้าคณะพระอัฐิ
     แต่ไม่ได้เป็นเจ้าอาวาส ต่อมาตั้งแต่สมเด็จพระวันรัต สมบุญ รวมอยู่ในองค์เดียว
[๒]  พระเสริมนี้ เดิมอยู่เมืองเวียงจันท์ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพให้เชิญมาไว้ที่เมืองหนองคายเมื่อปราบขบถเวียงจันท์ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
     โปรดให้เชิญมากรุงเทพฯ ครั้นเสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เชิญไปไว้เป็นพระประธานในพระวิหารวัดปทุมวัน
[๓]  พระยาณรงค์วิชัยนี้ชื่อ ทัด รัตนทัศนีย์
[๔]  พระชินศรีเดิมอยู่วัดมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพเชิญลงไปวัดบวรนิเวศเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๓๗๒ พระศรีศาสดานั้น
     เดิมก็อยู่วัดมหาธาตุเมืองพิษณุโลกแห่งเดียวกับพระชินศรี เข้าใจว่าเพราะวิหารพัง อธิการวัดบางอ้อช้าง แขวงเมืองนนทบุรรี เชิญลงมาไว้วัดนั้น
     เข้าใจว่าเมื่อในรัชกาลที่ ๒ ถึงรัชกาลที่ ๓ สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยปฏิสังขรณ์วัดประดู่ เชิญไปไว้เป็นพระประธานวัดนั้น ถึงรัชกาลที่ ๔ โปรด
     ให้เชิญลงมาไว้วัดสุทัศน์เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕ ตั้งไว้ที่มุขโถงหน้าพระอุโบสถ จนปีชวด พ.ศ. ๒๔๐๗ จึงเชิญไปไว้ในวิหารวัดบวรนิเวศ
[๕]  พระปั้นหย่านี้ เป็นที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับเมื่อทรงผนวช พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสร้างพระราชทาน.
[๖]  สมเด็จพระสังฆราช ศุข (ณาณสังวร) ที่เรียกกันว่าพระสังฆราชไก่เถื่อน เป็นพระกรรมวาจา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นพระอุปัชฌาย์
     พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงผนวชเป็นสามเณร สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ขุน วัดโมฬีโลก
     เป็นพระกรรมวาจา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว.


หัวข้อ: Re: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 10 กรกฎาคม 2561 15:23:28

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/66283886507153_CX_EV_CR91_1_.jpg) (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/99790366035368_35927174_410501056132247_38455.jpg)

พระราชพิธีเดือน ๙
• พระราชพิธีพรุณศาสตร์  
• การพระราชกุศลในวันประสูติและสวรรคต

-----------------------------------

๏ ได้กล่าวมาแต่เมื่อเดือนเจ็ดว่า เป็นพิธีไขว้กันอยู่ในกฎมนเทียรบาล และจดหมายขุนหลวงหาวัด ได้ตัดสินไว้แต่ก่อนว่าจะยกพิธีตุลาภารมาว่าในเดือนเก้าตามกฎมนเทียรบาล เพราะฉะนั้น บัดนี้จึงจะได้กล่าวถึงพิธีตุลาภาร

การพระราชพิธีนี้ เป็นสะเดาะพระเคราะห์หรือบำเพ็ญทานอย่างหนึ่ง แต่ในจดหมายนางนพมาศไม่ได้พูดถึง ทั้งเดือนเจ็ดเดือนเก้า ชะรอยจะไม่มีพิธีตุลาภารในครั้งกรุงสุโขทัย เพราะเป็นต่างอาจารย์กัน ในจดหมายขุนหลวงหาวัดก็มีความย่อ เพียงว่า “เดือนเจ็ดนั้นชื่อพิธีตุลาภาร คือเอาเงินนั้นชั่งให้เท่าพระองค์ แล้วจึงสะเดาะพระเคราะห์แล้วให้แก่พราหมณ์” มีข้อความเพียงเท่านี้ จะสันนิษฐานว่าพระราชพิธีนี้เป็นการเคยทำอยู่เป็นนิตย์ จนไม่เห็นเป็นการแปลกประหลาดจึงไม่กล่าวพิสดาร หรือจะเข้าใจว่าเป็นพิธีไม่ได้ทำ กล่าวเพียงแต่ให้ครบเดือนตามตำราที่มีอยู่ก็พอใช้ได้ แต่เมื่อดูตามทางที่ว่า ดูเหมือนเป็นอย่างกลางๆ นอกจากสองอย่างนี้ คือจะเป็นแต่ทำการสะเดาะพระเคราะห์ แล้วพระราชทานเงินแก่พราหมณ์ ไม่ได้แห่ออกไป “ถีบดุล” ตามอย่างที่ว่ามาในกฎมนเทียรบาล และพระมเหสีไม่ได้เกี่ยวข้องในการพระราชพิธีนี้ด้วย ถ้าเทียบอย่างกลางเช่นนี้ก็น่าจะเป็นจริงได้ ด้วยในเวลาซึ่งขุนหลวงหาวัดได้เห็นนั้น เป็นกรุงเก่าชั้นหลัง จะลดทอนการแห่แหนใหญ่โตลงมาเสียแล้ว แต่ที่มาในกฎมนเทียรบาลนั้นเป็นการใหญ่ พระราชพิธีตั้งที่พระที่นั่งมังคลาภิเษก มีตราชูใหญ่ตั้งอยู่กลางพระโรงกั้นม่านวงรอบ เสด็จโดยกระบวนใหญ่ ทรงพระราเชนทรยาน พระครูพราหมณ์ลูกขุนและจตุสดมภ์เป็นคู่เคียง พระอัครมเหสีก็ทรงเทวียาน เมียพระโหราพระราชครูและเมียจตุสดมภ์นำและเป็นคู่เคียง เดินกระบวนทักษิณพระมหาปราสาทเก้ารอบ แล้วจึงเสด็จขึ้นพระมหาปราสาทประทับในม่านกั้น มีเจ้าพนักงานประจำหน้าที่คือชาววังนั่งนอกม่าน พระครูทั้งสี่และสมุหประธาน คือจตุสดมภ์ทั้งสี่นั่งในม่าน พระศรีอัครราชคือพระคลังถือพระขรรค์ พลเทพถือพิณ วังถือดอกหมาก พระยมราชถือแพนชัย ขุนศรีสังขกรเป่าสังข์ พระอินทโรตีอินทเภรี พระนนทเกศตีฆ้องชัย ขุนดนตรีตีมโหระทึก เสด็จขึ้นถีบดุล คือประทับในตาชั่งข้างขวา ข้างซ้าย ‘ใส่สรรพทรัพย์’ พระเจ้าแผ่นดินทรง ‘ถีบ’ (คือชั่ง) แล้วพระอัครมเหสีเจ้า ‘ถีบ’ พระราชทานทรัพย์นั้นแก่พราหมณ์ แห่กลับแล้วมีการสมโภชการเลี้ยง ในนั้นว่า ‘ซ้ายเงินขวาทอง’ แต่จะเป็นสิ่งใดก็ไม่ทราบ เห็นจะเป็นบายศรี เป็นเสร็จการพระราชพิธีมีเนื้อความที่เก็บได้เพียงเท่านี้

พิเคราะห์ดู การที่จัดวางตำแหน่งในการพระราชพิธีนี้ชอบกลอยู่ ดูเหมือนหนึ่งจะมีเรื่องอะไรเป็นตัวอย่าง เช่นกับพิธีตรียัมพวาย ว่าพระเป็นเจ้าลงมาเยี่ยมโลก มีเทวดาหรือท้าวโลกบาลมาถีบชิงช้ารำเสนงถวาย สมุหประธานซึ่งถือเครื่องต่างๆ คงจะมีที่หมายเป็นตัวแทนเทวดาองค์ใดองค์หนึ่งทั้งสี่ การที่ไม่มีสมุหนายก สมุหพระกลาโหมในที่นี้ ควรจะเข้าใจได้ว่าตำแหน่งทั้งสองนั้นยังไม่ได้ตั้งขึ้น จนถึงแผ่นดินพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งย้ายวังลงมาตั้งริมน้ำ กฎมนเทียรบาลนี้เป็นแบบครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรที่ ๑ ก่อนเวลาที่ตั้งตำแหน่งทั้งสอง จึงได้ยกจตุสดมภ์ทั้งสี่เป็นสมุหประธาน ตามแบบเสนาทั้งสี่ แต่จะสืบหาต้นเหตุเรื่องเทียบของพระราชพิธีนี้ จากพราหมณ์ในทุกวันนี้ก็ไม่ได้ความ แต่ถ้ามีผู้ที่อุตสาหะสืบเสาะค้นในเรื่องศาสนาพราหมณ์ต่างๆ ที่เขาแปลเป็นภาษาอังกฤษออกใหม่ๆ คงจะหาเหตุผลประกอบให้รู้ต้นเหตุของพระราชพิธีนี้ได้

อนึ่ง การที่มีแห่พระอัครมเหสี ถ้าชั้นคนเราทุกวันนี้ฟัง และจะให้คิดกระบวนแห่ก็ดูจะเป็นการยาก เพราะผู้หญิงของเราเลิกเครื่องแต่งตัวที่เป็นเครื่องยศเสียช้านานแล้ว แต่เครื่องแต่งตัวผู้หญิงมีปรากฏอยู่ในกฎมนเทียรบาล ลดกันเป็นชั้น คือว่าพระอัครมเหสี พระราชเทวี ทรงราโชปโภค มีมงกุฎ เกือกทอง อภิรมสามชั้น พระราชยานมีจำลอง พระราชเทวี พระอัครชายาทรงราโชปโภค ลดมงกุฎ ทรงพระมาลามวยหางหงส์ เกือกกำมะหยี่สักหลาด มีอภิรมสองชั้น เทวียานมีมกรชู ลูกเธอเอกโท ทรงพระมาลามวยกลม เสื้อโภคลายทอง หลานเธอเอกโท ใส่ศิรเพฐน์มวยกลม เสื้อโภคแพรดารากรเลว แม่เจ้าสนองพระโอษฐ์ (คือท้าวนาง) ใส่สนองเกล้า เสื้อแพรพรรณ ชะแม่ (คือเจ้าจอม) หนูนยิกใส่เกี้ยวดอกไม้ไหวแซม นางกำนัล (คือพนักงาน) นางระบำนายเรือน หนูนยิกเกี้ยวแซม โขลนเกล้ารักแครง เมียนาหมื่นหัวเมืองทั้งสี่ เมื่องานใส่ศิรเพฐน์นุ่งแพรเคารพ จตุสดมภ์เกล้าหนูนยิกเกี้ยวแซมนุ่งแพรจมรวด เมียนาห้าพันนาสามพัน หนูนยิกเกี้ยวแซม ห่มตีนทองบ่า ขุนหมื่นพระกำนัลก็ดี ราชยานก็ดี อภิรมก็ดี โพกหูกระต่ายเสื้อขาว นุ่งผ้าเชิงวัลย์ ชื่อเครื่องประดับผมและผ้านุ่งห่มเหล่านี้ดูแปลกหูไปทั้งสิ้น จะคะเนรูปและสีสันลวดลายไม่ใคร่ถูก เพราะกาลล่วงมาถึงห้าร้อยปีเศษแล้ว ไทยเราไม่สนัดในการที่จะเขียนรูป และถือกันว่าเป็นการต่ำสูงบ้าง เป็นที่รังเกียจว่าจะเอาไปทำให้เป็นอันตรายต่างๆ บ้าง จึงไม่มีผู้ใดกล้าที่จะเขียนรูปผู้มีบรรดาศักดิ์ แต่เพียงราษฎรด้วยกันเอง ถ้าจะเขียนรูปกันให้เหมือน ก็เป็นที่สงสัยหรือเป็นการดูถูกกันเสียแล้ว การที่จะเขียนรูปให้เหมือนนี้ จึงไม่เป็นวิชาของคนไทยที่ได้เล่าเรียนมาหลายร้อยปี จนถึงถ่ายรูปกันในชั้นหลัง คนแก่ๆ ก็ยังมีความรังเกียจมาก เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ได้เห็นรูปเจ้าแผ่นดินหรือผู้มีบรรดาศักดิ์เก่าๆ ซึ่งถึงว่าจะเขียนรูปไม่เหมือน แต่เครื่องแต่งตัวคงยังปรากฏอยู่เช่นรูปเขียนเก่าๆ ของฝรั่ง แต่เป็นเคราะห์ดีอย่างหนึ่ง ที่ยังพอได้เห็นแววๆ ได้บ้าง เมื่อปีขาล อัฐศก จุลศักราช ๑๒๒๘ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกรุงเก่า เป็นเวลากำลังสร้างวัดราชประดิษฐ์ที่กรุงเทพฯ จึงเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรวัดราชประดิษฐานที่กรุงเก่า ได้ทอดพระเนตรเห็นลายเขียนที่ผนังโบสถ์ มีรูปผู้หญิงสวมเครื่องประดับศีรษะต่างๆ ไม่เหมือนรัดเกล้าละคร ดำรัสว่าเป็นแต่งตัวอย่างที่มีมาในกฎมนเทียรบาล ด้วยวัดราชประดิษฐานนั้นคงจะต้องสร้างก่อนแผ่นดินพระไชยราชา จึงเป็นที่พระมหาจักรพรรดิเมื่อยังเป็นพระเทียรราชาออกไปทรงผนวชอยู่ในวัดนั้น เป็นวัดของพระเจ้าแผ่นดินในบรมราชวงศ์เชียงราย ซึ่งสืบเนื่องมาแต่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ทรงสร้าง ในขณะนั้นลายเขียนยังอยู่เกือบจะเต็มผนังทั้งแถบ ได้โปรดให้กรมขุนราชสีห์ลอกถ่ายลงมา ครั้นภายหลังข้าพเจ้าไปอีกครั้งหนึ่ง หลังคาชำรุดลงมามาก ลายเขียนก็ยังอยู่เกือบครึ่งผนัง แต่ครั้นไปเมื่อปีก่อนนี้ หลังคาชำรุดพังหมด ยังเหลือลายเขียนอยู่บ้าง พอเห็นเค้าได้ถนัด แต่รูปทั้งปวงนั้น เป็นเวลาที่ผู้หญิงยังไว้ผมมวยทั้งสิ้น เกล้าอย่างที่เรียกว่าโซงโขดงหรือโองโขดง คือรวบขึ้นไปเกล้าบนขม่อมเป็นห่วงยาวๆ มีเกี้ยวหรือพวงมาลัยสวมโดยมาก การที่ผู้หญิงเลิกเครื่องแต่งตัวเหล่านี้เสีย ก็จะเป็นด้วยพระเจ้าแผ่นดินในชั้นหลังๆ ไม่มีพระอัครมเหสี หรือมีแต่เนือยๆ ไป เช่นพระนารายณ์มหาราช ก็จืดจางไปนั้นอย่างหนึ่ง เพราะตัดผมสั้นเป็นผมปีกแกมประบ่า เล่นกระบวนตกแต่งผมด้วยสีผึ้งน้ำมัน ไม่มีที่สอดสวมเครื่องประดับ เครื่องแต่งตัวผู้หญิงจึงได้ค่อยสูญไปๆ ใครจะตกแต่งเข้าก็เป็นเร่อร่า โดยการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมดาซึ่งเป็นอยู่ทั่วทุกประเทศ เหมือนตัดผมปีกและไว้ผมยาวในปัจจุบันนี้ เครื่องประดับศีรษะผู้หญิง ก็เป็นอันสาบสูญจนไม่มีเค้าเงื่อน การที่มีแห่เสด็จในพระราชพิธีตุลาภาร ก็คงจะเป็นอันเลิกไปในหมู่ที่เลิกเครื่องประดับศีรษะนั้นเอง แต่พระราชพิธีนอกจากมีแห่เสด็จจะได้เลิกเสียเมื่อใดก็ไม่ได้ความชัด แต่ในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ไม่ได้เคยมีพระราชพิธีนี้เลย เป็นพิธีสูญแล้ว ๚



เดือนเก้า
การพระราชพิธีพรุณศาสตร์

๏ พิธีนี้เหตุใดจึงไม่มีในกฎมนเทียรบาล และในจดหมายขุนหลวงหาวัดทั้งสองแห่งก็ไม่ทราบเลย จะว่าไม่เคยทำที่กรุงเก่าก็ว่าไม่ได้ ด้วยในตำราของพราหมณ์ก็มีอยู่ว่าเดือน ๙ พระราชพิธีพรุณศาสตร์มหาเมฆบูชา มีวิธีซึ่งจะทำชัดเจน อนึ่งการพิธีขอฝนนี้ก็ดูเป็นพิธีสำคัญ มีเครื่องเตือนที่จะให้เลิกไม่ได้อยู่ คือถึงว่าเจ้าแผ่นดินจะดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรมมิได้ปรวนแปร ซึ่งคนบางพวกมักพาโลว่า ดินฟ้าอากาศมักจะเป็นไปตามอาการของเจ้าแผ่นดินประพฤติ การฝนแล้งข้าวแพงนี้ ดูก็ไม่ใคร่จะเลือกเวลา มีเรื่องราวโบราณและเรื่องใหม่ๆ หลายเรื่อง ที่ได้กล่าวถึงว่าเวลาฝนแล้งข้าวแพง เจ้าแผ่นดินนั้นตั้งอยู่ในยุติธรรม ทรงพระกรุณาแก่อาณาประชาราษฎร์ที่ต้องอดอยาก ทรมานพระองค์ต่างๆ เพื่อจะให้ฝนตก เช่นมีมาในคัมภีร์มหาวงศ์พงศาวดารลังกา พระเจ้าแผ่นดินลงบรรทมอยู่ในลานพระเจดีย์ด้วยตั้งอธิษฐานว่า ถ้าฝนไม่ตกลงมาขังลานพระเจดีย์จนพระองค์ลอยขึ้นก็จะไม่เสด็จลุกขึ้นเป็นต้น ก็เป็นความดีส่วนพระเจ้าแผ่นดินที่ปกครองแผ่นดินอยู่ในเวลาข้าวแพงนั้น ฝนก็แล้งข้าวก็แพงได้ อนึ่งในประเทศที่ใกล้เคียงกรุงสยาม เช่นอินเดียและจีน ฝนแล้งข้าวแพงถึงคนตายนับด้วยพันด้วยหมื่น ก็มีตัวอย่างเป็นอยู่เนืองๆ จะพาโลผู้ปกครองแผ่นดินว่าทำให้ฝนแล้งข้าวแพงนั้นเป็นการไม่ควรเลย แต่กระนั้นคนก็ยังคิดเห็นกันอยู่โดยมากว่าเป็นได้ ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าก็มีปีข้าวแพงหลายครั้ง จะทิ้งพระราชพิธีนี้เสียเห็นจะไม่ได้ แต่บางทีจะคิดเห็นว่าเป็นพระราชพิธีจร เพราะปีใดฝนบริบูรณ์ ก็ยกเว้นเสียไม่ทำ ต่อปีที่ฝนแล้งจึงได้ตั้งพระราชพิธีตามที่มีเป็นแบบอย่างสืบมาจนถึงทุกวันนี้

แต่เมื่อครั้งกรุงสุโขทัย คงจะเป็นพระราชพิธีประจำปี นางนพมาศได้กล่าวถึงโดยเนื้อความละเอียด แต่พิธีที่ทำนั้นดูต่างอย่างไปกว่าตำราพราหมณ์ของเรา เห็นจะเป็นเรื่องต่างครูกันอีก พิธีตามตำราพราหมณ์ทำเป็นอย่างจะขอฝนให้ตกเดี๋ยวนั้น ด้วยอาศัยเสกเวทมนตร์เรียกบ้าง ด้วยอาศัยล้อพระพิรุณบ้าง แต่พิธีสุโขทัยนั้นเป็นตั้งท่าขอให้บริบูรณ์ทั่วไปแต่ต้นมือ

ข้อความที่นางนพมาศกล่าวไว้นั้นว่า “ครั้นถึงเดือน ๙ พราหมณาจารย์ก็พร้อมกันกระทำการพระราชพิธีพรุณศาสตร์ ตั้งเกยสี่เกยที่หน้าลานเทวสถานหลวง ประดับด้วยฉัตรธงอันกระทำด้วยหญ้าคาหญ้าตีนนก อ่างทองสัตตโลหะสี่อ่างๆ หนึ่งเต็มไปด้วยเปือก ปลูกชาติสาลีมีพรรณสอง คือ ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว สามอ่างนั้นใส่มูลดินอันเจือด้วยโคมัย ปลูกถั่วงาอ่างหนึ่ง ปลูกม่วงพร้าวอ่างหนึ่ง ปลูกหญ้าแพรกหญ้าละมานอ่างหนึ่ง ตั้งไว้บนนางกระดานแป้นปักตรงหน้าเกย ครั้นถึงวันกำหนดฤกษ์ หมู่พราหมณ์ทั้งหลายมีพระครูพรหมพรตพิธีศรีบรมหงส์เป็นประธาน ต่างน้อมเบญจางค์บวงสรวงสังเวยพระเป็นเจ้า ตั้งสัตยาธิษฐานขอฝนให้ตกชุกชุม ทั่วทุกนิคมคามเขตขอบขัณฑสีมากรุงพระมหานครสุโขทัยราชธานีบุรีรัฐ ให้ชุ่มแช่ชาติสาลีอันมีพรรณต่างๆ ซึ่งเป็นของเลี้ยงชีพประชาชายหญิงสมณพราหมณาจารย์ทั่วทั้งแผ่นดิน จงบริบูรณ์ด้วยเม็ดรวง ปราศจากด้วงแสน ด้วยอำนาจวัสสวลาหกและพรพระสยม อนึ่งโสดอันว่าลดาชาติทั้งหลายมีถั่วงาเป็นต้น ขอจงบริบูรณ์ด้วยพืชผลให้ล้นเหลือ จะได้เป็นเครื่องกระยาบวชบำบวงสรวง อนึ่งเล่าพรรณรุกขชาติต่างๆ มีม่วงพร้าวเป็นต้น ขอจงบริบูรณ์ด้วยดอกดวงพวงผล จะได้เป็นอาหารแห่งหมู่มนุษย์นิกรทั้งผอง ประการหนึ่งติณชาติต่างพรรณอันเขียวขจิตงามด้วยยอดและใบ มีหญ้าแพรกหญ้าละมานเป็นต้น สำหรับเป็นภักษาหารช้างม้าโคกระบือ ขอจงงอกงามตามชายหนองคลองน้ำไหล ด้วยอำนาจวัสสวลาหกให้บริบูรณ์ ครั้นกล่าวคำอธิษฐานแล้วจึงพราหมณาจารย์ทั้งสี่ ผู้ทรงไว้ซึ่งพระเวทเพทางคศาสตร์ แต่งกายสยายมวยผมนุ่งอุทกสาฎก ถือเอาธงประดากสีมอดุจเมฆมืดฝนอันรายยันต์พรุณศาสตร์ตามขอบข้างละสี่คู่ ซึ่งปักบูชาไว้คนละคันโดยสักกัจจเคารพ พระครูพรหมพรตพิธีเป่าสังข์ดำเนินหน้า หมู่พราหมณ์ทั้งหลายก็แห่ห้อมออกจากเทวสถานไปยังเกย ขึ้นสถิตยืนอยู่บนเกยๆ ละคน ต่างอ่านโองการประกาศแก่วัสสวลาหก โบกธงธวัชกวัดแกว่งบริกรรมอิศรเวท ขอฝนตามตำรับไตรเพทสิ้นวารสามคาบ แล้วก็ลงจากเกยคืนเข้าสู่พระเทวสถาน พราหมณ์ทั้งหลายผู้รู้พระมนต์พรุณศาสตร์ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นยืนบนเกย โบกธงร่ายเวทขอฝนวันละสองเวลา คือเช้าและเย็นถ้วนคำรบสามทิวาในวันนักขัตฤกษ์” ลงท้ายนางนพมาศแสดงเวลาที่ตัวได้ไปเห็นพระราชพิธีนี้ ว่าได้ตามบิดาไปเมื่ออายุ ๗ ขวบจึงได้จำไว้ได้

การพิธีที่สุโขทัยมีแต่พิธีพราหมณ์ การซึ่งเกิดพิธีสงฆ์ขึ้นจะพึ่งมีในภายหลัง แต่พิธีพราหมณ์ที่ทำอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นคนละอย่างกันกับที่นางนพมาศกล่าว ทำพร้อมกันกับพิธีสงฆ์ แต่แยกออกไปทำอยู่ที่ทุ่งส้มป่อย เพราะอยู่ข้างจะเร่อร่าหยาบคาย การตกแต่งโรงพระราชพิธีและเทวรูป ก็คล้ายกันกับพระราชพิธีอื่นๆ คือปลูกโรงพิธีขื่อกว้าง ๕ ศอก ยาว ๑๐ ศอก สองห้อง เฉลียงรอบ แต่ในประธานไม่มุงหลังคา มุงไว้แต่ที่เฉลียงรอบ สำหรับที่จะให้พระผู้เป็นเจ้าซึ่งตั้งในโรงพิธีนั้น ต้องอยู่กลางแดดกั้นม่านรอบ มีไตรทวาร ไม้อุณาเทวา พรหมโองการทั้งแปดทิศตามธรรมเนียม หน้าโรงพิธีในหมายว่าทิศพายัพ (พระมหาราชครูว่าทิศบูรพา) ห่างออกไปสามศอก ปลูกเกยสูง ๔ ศอก ๕ นิ้ว กว้าง ๒ ศอก ๕ นิ้ว มีพนักสามด้าน บันไดขึ้นลง ตรงหน้าเกยออกไปขุดสระกว้าง ๓ ศอก ยาว ๓ ศอก ลึกศอกหนึ่ง มีรูปเทวดาและนาคและปลาเหมือนสระที่สนามหลวง ยกเสียแต่รูปพระสุภูต ตรงหน้าสระออกไปปั้นเป็นรูปเมฆสองรูป คือปั้นเป็นรูปบุรุษสตรีเปลือยกายแล้วทาปูนขาว การที่จะปั้นนั้น ต้องตั้งกำนล ปั้นพร้อมกันกับที่พิธีสงฆ์ มีบายศรีปากชามแห่งละสำรับ เทียนหนักเล่มละบาทแห่งละเล่ม เงินติดเทียนเป็นกำนลแห่งละบาท เบี้ย ๓๓๐๓ เบี้ย ข้าวสารสี่สัด ผ้าขาวของหลวงจ่ายให้ช่างปั้นช่างเขียนนุ่งห่ม ช่างเหล่านั้นต้องรักษาศีลในวันที่ปั้น เทวรูปที่ตั้งในการพระราชพิธี คือ พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหมธาดา พระมหาพิฆเนศวร วันแรกตั้งพระราชพิธี มีกระบวนแห่ๆ พระเป็นเจ้าออกไปส่งโรงพิธี กระบวนแห่ก็เหมือนกันกับการพระราชพิธีจรดพระนังคัล แต่เทวรูปนั้นตั้งกึ่งกลางโรงพิธี การบูชาเวลาค่ำทำเหมือนพระราชพิธีอื่นๆ แต่ไม่ได้ตั้งนพเคราะห์ การที่เป็นวิเศษสำหรับพิธีฝนนั้น คือเวลาเช้าพระมหาราชครูพิธี ขึ้นบนเกยอ่านเวทโบกธงผ้าขาวซึ่งรายยันต์พรุณศาสตร์ ยาว ๕ ศอก กว้างเท่าผืนผ้า ติดปลายไม้ลำมะลอก ยาว ๓ วา โบกไปมาสามครั้งเป่าสังข์แล้ว เจ้ากรม ปลัดกรม ขุนหมื่น พราหมณ์โหรดาจารย์แปดคน นั่งล้อมเทวรูปในโรงพระราชพิธีซึ่งเป็นกลางแจ้ง เพราะมิได้มุงหลังคานั้น ชักประคำ คาถาซึ่งสำหรับชักประคำนั้นเปลี่ยนตามวันทั้ง ๗ วัน ครั้นเวลา ๕ โมงเช้าหยุดพักตอนหนึ่ง ตอนบ่ายชักประคำไปอีกจนเวลาแดดลบ พระมหาราชครูขึ้นโบกธงเหมือนอย่างเวลาเช้าอีกครั้งหนึ่งแล้วเป็นเลิก ไปจนเวลาดึกจึงได้บูชาพิธีตามธรรมเนียม ทำเช่นนี้ทุกวันกว่าจะเลิกการพระราชพิธี การพิธีพราหมณ์นี้เป็นอันรอฟังพระราชพิธีสงฆ์ ที่ทำอยู่ท้องสนามหลวง เมื่อพิธีข้างในเลิกเมื่อใดก็พลอยเลิกด้วย มีกระบวนแห่พระเป็นเจ้ากลับ ในร่างรับสั่งเก่าว่า แห่มาเวียนทักษิณพระราชวัง ถวายชัยเจ้าแผ่นดินแล้วจึงได้กลับเทวสถาน แต่ได้ถามพระมหาราชครูว่า ภายหลังนี้ไม่ได้มา ด้วยไม่มีผู้ใดสั่งใคร ตกลงเป็นรวมเลิกไปเหมือนอย่างแห่พระประน้ำในการพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ ประโยชน์ที่พราหมณ์ได้ คือผู้ซึ่งชักประคำได้ผ้าขาวนุ่งห่มคนละสำรับ ได้เงินทักขิณบูชา ๖ บาท หม้อกุมภ์หม้อละเฟื้อง ผ้าขาว หม้อ มะพร้าว ข้าว ตามอย่างพิธีอื่นๆ การพิธีพราหมณ์ต่อพิธีพราหมณ์เทียบกัน ครั้งกรุงสุโขทัยและในปัจจุบัน ไม่เหมือนกันเช่นนี้

ส่วนการพระราชพิธีสงฆ์ เห็นความได้ชัดว่าคงเกิดภายหลังพิธีพราหมณ์ และเอาอย่างพราหมณ์นั้นเอง ด้วยในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่เกิดพระพุทธศาสนานั้น เป็นประเทศที่มีฝนลักลั่นไม่ทั่วถึง และเกิดวิกลวิการต่างๆ จนถึงคนต้องอดอาหารตายบ่อยๆ จนถึงในปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นอยู่เนืองๆ พราหมณ์ซึ่งเป็นผู้มีความรู้เป็นที่นับถือของคนในประเทศนั้น จึงได้คิดวิธีที่จะบูชาเซ่นไหว้ขอร้องต่อพระเป็นเจ้าซึ่งเขานับถือว่าเป็นผู้สร้างและเป็นผู้ให้โทษให้คุณแก่มนุษย์ทั้งปวง แต่วิธีที่ทำนั้นก็คงจะไม่เหมือนกันทั่วไป ตามอัธยาศัยของผู้ซึ่งแรกคิดขึ้น ด้วยเหตุว่าไม่สามารถที่จะถามพระเป็นเจ้าว่าจะชอบอย่างไรได้ จึงต้องคิดทำตามใจที่ตัวเห็นว่าดีทดลองดู เมื่อสบช่องที่ดีได้ฝนดังปรารถนา ตำรานั้นก็ตั้งเป็นแบบอย่างต่อมา ก็ถ้าผู้ที่ตั้งพิธีฝนพร้อมกันสามแห่งสี่แห่งในที่ใกล้ๆ กัน แต่ความคิดเห็นที่จะทำพิธีนั้นต่างกันไปทั้งสามแห่งสี่แห่ง เมื่อฝนตกลงมาก็ตกทั้งสามแห่งสี่แห่ง พิธีนั้นก็ขลังทั้งสามแห่งสี่แห่ง ลัทธิที่ทำจึงได้แยกเป็นสามอย่างสี่อย่าง แต่ถึงพิธีนั้นจะขลังศักดิ์สิทธิ์ทุกครั้งก็ดี ไม่ศักดิ์สิทธิ์ทุกครั้งก็ดี เมื่อผู้ใดตั้งขึ้นที่ใด ก็คงเป็นที่ชอบใจของผู้ซึ่งมีความนับถืออย่างเดียวกัน ด้วยจะได้จริงมิได้จริงก็เป็นความประสงค์อันดี เหมือนอย่างคนสองคน คนหนึ่งมาพบเราเข้าให้พร เราก็รู้อยู่ว่าคำที่คนๆ นั้นให้พรไม่เป็นการแน่นอนที่จะได้จริงเช่นนั้น แต่เรายังชอบใจถ้อยคำของคนๆ นั้น เพราะมีความปรารถนาดีต่อเรา ฝ่ายคนอีกคนหนึ่งมาถึงมาแช่งให้เรา เราก็รู้ว่าคำแช่งของคนผู้นั้นจะไม่เป็นจริงตามปาก แต่เป็นการแสดงน้ำใจร้ายต่อเรา เราก็ไม่ชอบใจจะฟังถ้อยคำผู้นั้น เพราะเหตุฉะนี้ พิธีฝนทำเหมือนหนึ่งให้พรให้ฝนตกบริบูรณ์ จะได้จริงหรือมิได้จริงก็ไม่มีผู้ใดโกรธแค้น ซ้ำเป็นการเกาถูกที่คัน คือความปรารถนาที่จะอยากได้น้ำฝนนั้นแรงกล้าอยู่ด้วยกันทั่วหน้าแล้ว จึงเป็นที่ชอบใจเกิดมีพิธีขอฝนต่างๆ ขึ้น และยังไม่รู้สาบสูญจนถึงบัดนี้

ครั้นเมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น เมื่อว่าโดยอย่างอุกฤษฏ์แล้ว พระพุทธเจ้าก็หาได้เกี่ยวข้องในการดินฟ้าอากาศอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ แต่ยังมีเหตุการณ์ที่กล่าวถึงว่าพระพุทธเจ้าได้เกี่ยวข้องในการธุระเรื่องนี้บ้าง แต่ถ้าเป็นผู้ซึ่งเลือกฟั้นอย่างอุกฤษฏ์แล้ว ก็จะต้องกล่าวคัดค้านข้อความที่กล่าวถึงนี้เสีย ว่ามากเกินไป ความนั้นก็อยู่ข้างจะเป็นจริง แต่ถ้าจะกล่าวอะลุ้มอล่วยให้พอไม่เคร่งครัดนัก ก็จะต้องว่าพระพุทธเจ้า ก็ถึงได้ละกิเลสกับทั้งวาสนาขาดจากพระสันดานแล้ว แต่พระองค์ยังประกอบไปด้วยพระมหากรุณาอันยิ่งใหญ่ เมื่อได้เห็นมนุษย์และสัตว์ทั้งปวงต้องมีทุกข์อันใหญ่หลวงด้วยทุพภิกขภัยเช่นนั้น ก็คงจะเป็นเหตุให้เกิดพระมหากรุณาขึ้นในพระหฤทัยเป็นแท้ แต่การที่พระองค์ได้ทรงกระทำตามที่กล่าวมาในเรื่องพระคันธารราษฎร์ จะได้ตั้งพระหฤทัยทำจริงหรือมิได้ตั้งพระหฤทัยทำจริง แต่ไปประจวบกาลที่ฝนจะตกลงมาก็ดี ชนทั้งปวงในเวลานั้นย่อมได้ยินหรือเชื่อถือการขอฝนได้อยู่ทั่วกัน เมื่อได้เห็นมหัศจรรย์เช่นนั้น ก็คงต้องเข้าใจว่าเป็นด้วยพุทธานุภาพ ก็ถ้าเรื่องนิทานอันนี้จะเป็นของมีผู้คิดอ่านตกแต่งขึ้นภายหลังแท้ทีเดียว ไม่มีเค้าเงื่อนเหตุผลอันใดซึ่งเนื่องมาจากองค์พระพุทธเจ้าเลย ก็คงเป็นความคิดอันดีของผู้ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนา เหมือนอย่างผู้ที่มาถึงแล้วให้พร เพราะฉะนั้นการบูชาพิธีขอฝนของผู้ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนา จึงยังมียั่งยืนสืบมาจนถึงบัดนี้

เรื่องราวซึ่งกล่าวถึงว่าพระพุทธเจ้าได้บันดาลให้ฝนตกใหญ่ครั้งหนึ่งอย่างไร ได้กล่าวมาแล้วในประกาศพระราชพิธีพืชมงคล เพราะฉะนั้นจึงยกเสียไม่กล่าวซ้ำในที่นี้อีก แต่เพราะเหตุที่มีนิทานกล่าวถึงเช่นนั้น จึงได้เกิดพระพุทธรูปแสดงอาการพระหัตถ์ขวากวัก พระหัตถ์ซ้ายหงาย ซึ่งได้สมญาว่าพระคันธารราษฎร์ เป็นพระสำคัญซึ่งสำหรับใช้ในการพระราชพิธีอย่างหนึ่ง และในท้ายเรื่องราวของพระคันธารราษฎร์นั้น มีเรื่องราวกล่าวถึงวาริชชาดกที่ข้าพเจ้าได้ผัดไว้ไม่เล่าถึงเมื่อพิธีพืชมงคลนั้น ในนิทานวาริชชาดก ว่าพระยาปลาช่อน อาศัยอยู่ในบึงตำบลหนึ่ง คราวนั้นเป็นเวลาแล้งน้ำในบึงแห้งขอดเป็นตม ฝูงกาลงกินปลาในบึงนั้นอยู่เกลื่อนกลุ้ม พระยานฬปะจึงผุดขึ้นในตมแหงนดูอากาศเสี่ยงบารมี ตั้งสัจจาธิษฐานแล้วกล่าวคาถา ว่า อภิตุถนยปชุณฺณ เป็นต้น ว่าข้าแต่ปชุณณะเทพยดา เป็นผู้มีอำนาจอาจจะให้ฝนตกได้ ขอท่านจงบันดาลให้เมฆฝนตั้งขึ้น แล้วจงให้ห่าฝนตกลงเป็นท่อธารใหญ่ ท่วมบึงบ่อทั้งปวงเถิด จงทำนิธิขุมทรัพย์ของฝูงกาทั้งหลายให้พินาศไป ทำฝูงกาให้โศกเศร้าเพราะอดอาหาร และขอท่านจงกรุณาเปลื้องปลดข้าพเจ้ากับหมู่ญาติทั้งหลายให้พ้นภัยพิบัติโศกเศร้า พ้นอำนาจหมู่กาซึ่งจะมาเบียดเบียนเป็นภัยอันใหญ่หลวงนี้เถิด ด้วยอำนาจสัจจาธิษฐานของพระยาปลาช่อน ห่าฝนใหญ่เป็นท่อธาร ก็บันดาลตกลงมาไหลลบล้นท่วมบึงบ่อทั่วทุกสถาน หมู่วาริชชาติก็ได้พ้นภัยพิบัติทั่วกัน เพราะฉะนั้นจึงได้ขุดสระมีรูปปลาช่อนในการพระราชพิธีนี้ด้วย

ยังมีเรื่องราวซึ่งเกี่ยวข้องในการพระราชพิธีพรุณศาสตร์ ทั้งมีรูปและเป็นเนื้อความในคาถาซึ่งสวดขอฝนมาในคัมภีร์พระอรรถกถาแห่งหนึ่ง มาในเรื่องตำราขอฝน ซึ่งเขาแต่งเป็นภาษามคธแห่งหนึ่ง ความมุ่งหมายก็เห็นจะกล่าวถึงพระเถระองค์เดียวกันนั้น แต่ชื่อเสียงและเนื้อความแปลกเพี้ยนกันไปบ้าง จะเล่าตามที่มาในคัมภีร์พระอรรถกถาก่อน ในคัมภีร์นั้นออกชื่อว่าพระสุภูตเถร เริ่มเรื่องว่าพระเถรเจ้าองค์นี้ ได้ปรารถนาฐานันดรอันหนึ่ง ณ บาทมูลพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วบำเพ็ญกุศลให้เป็นอุปนิสัยแห่งพระอรหัตเป็นลำดับมา จนถึงมาเกิดในตระกูลสุมนเศรษฐีมีนามว่าสุภูต ครั้นในพุทธกาลนี้ ได้บรรพชาอุปสมบทในวันเมื่ออนาถปิณฑิกคหบดีฉลองพระเชตวัน เจริญสมณธรรมบรรลุพระอรหัต พระผู้ทรงพระภาคย์ได้ยกย่องว่าเลิศกว่าภิกษุบริสัช บรรดาซึ่งเป็นอรณวิหารี ครั้นเมื่อได้บรรลุพระอรหัตแล้วเที่ยวมาโดยลำดับ ถึงพระนครราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบก็เสด็จมายังสำนักพระมหาเถร ตรัสปฏิญาณว่าจะทำที่อยู่ถวาย แต่เพราะราชการมากก็หาได้ทำถวายตามคำปฏิญาณไม่ พระเถรเจ้าไม่มีเสนาสนะ ก็อยู่แรมในที่แจ้ง ในเวลานั้นเป็นฤดูฝนที่ควรจะตก ก็บันดาลไม่ตก มนุษย์ทั้งหลายคิดหวาดหวั่นที่ฝนไม่ตกตามฤดูกาล จึงพร้อมกันเข้าไปกราบทูลพระมหากษัตริย์ พระเจ้าพิมพิสารทรงพระดำริหาต้นเหตุ ว่าซึ่งฝนไม่ตกนั้นจะเป็นด้วยเหตุใด จึงทรงอนุมานว่าเห็นจะเป็นเหตุด้วยพระเถรเจ้าพักอยู่กลางแจ้ง จึงรับสั่งให้ทำกุฎีมุงและบังด้วยใบไม้ถวาย ครั้นเมื่อพระเถรเจ้าเข้าไปในกุฎีแล้วนั่งในที่ลาดด้วยหญ้า ฝนก็ตกเล็กน้อยยังหาเต็มตามที่ไม่ พระเถรเจ้าคิดจะกำจัดภัย คือฝนไม่ดีไม่งามนั้น จึงได้กล่าวคาถาแสดงว่าตนได้พ้นอันตรายแล้วให้เทพยดาทราบ ว่าขอวัสสวลาหกทั้งหลายจงยังฝนให้ตกในที่ทั้งปวงเถิด อันตรายภายนอกไม่มีแก่เราแล้ว เพราะกุฎีของเรามุงดีแล้ว ควรเป็นฐานที่ตั้งแห่งความสุขสำราญ และมีบานประตูหน้าต่างอันชิดสนิทดีไม่มีช่องลม ขอเทพยเจ้าจงยังฝนให้ตกตามปรารถนาเถิด อนึ่ง อันตรายภายในก็ไม่มีแก่เรา เพราะจิตของเรามั่นด้วยสมาธิพ้นพิเศษจากกิเลสแล้ว ในบัดนี้เราปรารภเริ่มความเพียร เพื่อทิฏฐธรรมสุขวิหารอยู่ ณ ขณะอิริยาบถ ขอเทพยเจ้าจงยังฝนให้ตกทั่วที่ทั้งปวงเถิด ครั้นกล่าวพระคาถานี้จบลงแล้ว ในทันใดนั้นมหาเมฆตั้งขึ้น ฝนตกทั่วทิศด้วยอานุภาพพระสุภูต ควรเป็นอัศจรรย์ ใจความในพระอรรถกถาได้กล่าวเรื่องราวมาดังนี้

ก็ถ้าจะคิดดูตามเรื่องราวที่กล่าวนี้ กับการที่ทำในพระราชพิธีดูไม่ต้องกัน คือปั้นรูปพระสุภูตเถรนั่งแหงนหน้าดูอากาศตั้งไว้ที่ปากสระ ก็ถ้าฝนไม่ตกเพราะพระมหาเถรอยู่กลางแจ้ง ไปปั้นรูปพระมหาเถรไว้กลางแจ้ง ก็น่าที่จะเป็นเหตุให้ฝนไม่ตก ดูเหมือนว่าจะต้องทำโรงร่มคลุมรูปพระมหาเถรนั้นให้มิดชิด แล้วจึงสวดคาถาซึ่งพระมหาเถรกล่าวแก่เทพยดา อาการที่ทำและถ้อยคำที่กล่าวจึงจะตรงกัน

การที่ปั้นรูปพระมหาเถรนั่งกลางแจ้งนั้น เห็นจะมาตามเค้านิทานซึ่งแต่งเป็นภาษามคธ แต่มีท่านนักปราชญ์ผู้รู้มากได้กล่าวว่าเป็นหนังสือแต่งขึ้นภายหลังแท้ เนื้อความในนิทานนี้ ซึ่งเรียกว่าสุภูติสูตร ว่าครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์บริวารประมาณ ๕๐๐ เสด็จจารึกไปในมคธชนบท ถึงอังคุตตรนิคม ประทับอยู่ในที่นั้น ในขณะนั้นเกิดฝนแล้งข้าวแพง พระองค์จึงตรัสแก่พระสุภูติเถร ว่าสุภูติไปสิ ท่านจงอาศัยความกรุณาแก่โลก นั่ง ณ ที่แจ้งเข้าอาโปกสิณสมาบัติแล้วให้ฝนตกลงมา ให้ประโยชน์ความสุขสำเร็จแก่เทพยดาและมนุษย์ พระสุภูติเถรรับพุทธพจน์แล้วออกไปนั่ง ณ กลางแจ้ง เข้าอาโปกสิณสมาบัติแล้ว และขึ้นไปบนอากาศเปล่งอุทานวาจาอธิษฐานขอฝน เมื่อเทวดาได้ฟังคำอธิษฐานก็ชอบใจ อนุโมทนาในถ้อยคำพระมหาเถร แต่ตัวคาถาที่พระมหาเถรกล่าวนี้ยืดยาว จะว่าเป็นคำอุทานตลอดไปก็ไม่ได้ จะว่าจบลงเพียงใดก็ไม่ได้ รวบรวมใจความนั้นขอให้เทวดาช่วยบ้าง อ้างคุณพระรัตนตรัยบ้าง ขอให้ฝนตก แต่ท่านผู้ที่รู้ๆ ท่านกริ้วกราดกันเสียว่าเลอะเทอะนัก จึงไม่ยอมให้ลงในหนังสือนี้ ข้าพเจ้าจึงไม่ได้ลงคำแปลคาถานั้นมาโดยละเอียด ซึ่งกล่าวถึงนี้เพื่อจะให้ได้ความสันนิษฐานว่าการซึ่งปั้นรูปพระสุภูตินั่งแหงนหน้าอยู่กลางแจ้งในการพระราชพิธีพรุณศาสตร์นี้ มาตามทางนิทานที่เรียกว่าสุภูติสูตร เป็นลัทธิเกิดขึ้นแต่ผู้ที่เชื่อถือหนังสือสุภูติสูตร จึงได้มีติดอยู่ในการพระราชพิธี แต่ส่วนคาถาซึ่งสวดสำหรับพระราชพิธีนั้น ไม่ได้สวดตามเรื่องสุภูติสูตร ไปสวดตามเรื่องที่มาในพระอรรถกถา คำที่สวดกับรูปที่ปั้นไว้นั้นไม่ตรงกัน ถือเสียว่าเป็นคนละลัทธิ ถึงลัทธิสุภูติสูตรจะเหลวแหลกประการใด ก็นับเอาเป็นเหมือนคนมาให้พรให้ได้เงินหม้อทองหม้อ ก็ไม่ควรที่จะไปขู่ผู้ให้พรนั้นว่าข้าไม่เอา หรือเหลวไหลประการใด ตกลงเป็นเรื่องที่มีความปรารถนาดีแล้ว เป็นใช้ได้เช่นกล่าวมาข้างต้นนั้น


หัวข้อ: Re: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 10 กรกฎาคม 2561 15:30:00

เดือนเก้า
การพระราชพิธีพรุณศาสตร์ (ต่อ)

ยังมีพระพุทธรูปอีกอย่างหนึ่ง เป็นของมาแต่เมืองมอญ พระมอญพอใจเอามาถวาย ตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๔ มาจนถึงในรัชกาลปัจจุบันนี้มีมากหลายองค์ เป็นรูปพระเถระนั่งก้มๆ หน้า มีใบบัวคลุมอยู่บนศีรษะ และมีเข็มตุ้มปักตามหัวไหล่ตามเข่าหลายแห่ง ฐานรองนั้นเป็นดอกบัวคว่ำดอกหนึ่ง หงายดอกหนึ่ง ใต้ฐานมีรูปดอกบัว ใบบัว เต่า ปลา ปู ปั้นนูนๆ ขึ้นมา เป็นพระทำด้วยแก่นพระศรีมหาโพธิลงรักปิดทองเบาๆ ว่าเป็นพระสำหรับขอฝน มีเรื่องราวนิทานได้ยินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล่าอยู่ แต่ข้าพเจ้าจำไม่ได้ ในท้องเรื่องนั้นก็คล้ายๆ พระสุภูตะ หรือสุภูติเถระนี้เอง ได้สอบถามพระสุเมธาจารย์[๑]แจ้งว่าเป็นรูปพระสุภูติที่ขอฝนนั้นเอง เข็มตุ้มที่ปักอยู่ตามพระองค์ ซึ่งท่านเรียกว่าหมุดว่าเป็นช่องที่บรรจุพระบรมธาตุ ฟังดูที่กล่าวนั้น ก็เคล้าหาเรื่องสุภูติอย่างไทยๆ ไม่แปลกอะไร

แต่ได้สอบถามพระคุณวงศ์[๒] แจ้งความไปคนละเรื่อง อ้างผู้บอกเล่ามีเรื่องราวยืดยาวว่า เมื่อท่านออกไปนมัสการพระบรมธาตุที่เมืองรางกูนกลับมาถึงวัดกะนอมซอน พักอยู่สองคืน ภิกษุพม่ารูปหนึ่งซึ่งอยู่ในวัดนั้น นำพระเช่นนี้มาให้องค์หนึ่ง พระนันทยะสัทธิงวิหาริกของท่านได้ถามว่า พระเช่นนี้เรียกพระอะไร พระพม่านั้นบอกว่า เรียกพระทักขิณสาขา ได้มาจากเมืองอังวะ ผู้ถามจึงถามว่า เหตุใดจึงมีหมวกสวมอยู่บนศีรษะ พระพม่าอธิบายว่า พระอุปคุตตะเถระองค์นี้ อยู่ในปราสาทแก้วใต้น้ำ เดินไปในกลางฝนเหมือนอย่างมีร่มกั้นไม่เปียกกาย บางทีเห็นนั่งบนน้ำ ลอยขึ้นล่องแสงแดดไม่ต้องกาย มีคำกล่าวกันว่าชาวเมืองรางกูนผู้หนึ่ง ได้ตักบาตรพระอุปคุตแล้วได้เป็นเศรษฐี ชาวเมืองรางกูนทั้งปวงจึงพากันหุงข้าวแต่ยังไม่สว่าง คอยตักบาตรพระอุปคุตจนทุกวันนี้ก็ยังมีความนับถือพระอุปคุตเช่นนี้แพร่หลายมากขึ้น แต่ไม่มีผู้ใดได้โอกาสตักบาตรพระอุปคุต จึงได้กล่าวว่า ถึงว่าไม่ตักบาตรแต่เพียงได้ทำสักการบูชา ก็จะมีผลานิสงส์เหมือนกัน จึงได้พากันสร้างรูปพระอุปคุตขึ้นทำสักการบูชา ซึ่งทำเป็นใบบัวคลุมอยู่บนพระเศียรนั้น สมมติว่าเป็นเงาที่กันน้ำฝนและแดดรูปเหมือนใบบัว พวกเมืองอังวะทราบเรื่องจึงเลียนไปทำแพร่หลายมากขึ้น

นัยหนึ่งว่าพระเจ้าอังวะองค์หนึ่ง ประสงค์จะใคร่สร้างพระพุทธรูปด้วยกิ่งพระศรีมหาโพธิ แต่มีความสงสัยอยู่ว่าจะควรหรือไม่ จึงให้ประชุมพระเถรานุเถระปรึกษา พระเถระทั้งปวงเห็นพร้อมกันว่าเป็นการควร จึงได้แต่งบรรณาการให้อำมาตย์ ๘ คนกับไพร่ ๓๖๐ ให้ไปเชิญกิ่งพระศรีมหาโพธิที่ว่านี้ ดูทีเหมือนจะไปอินเดีย ก็พากันไปตายสูญเสียเป็นอันมาก เหลือมา ๑๖ คน ไม่ได้พระศรีมหาโพธิมา จึงให้ไปเชิญกิ่งเบื้องขวาพระศรีมหาโพธิที่เมืองลังกา ได้มาแล้ว ให้สร้างเป็นพระพุทธรูปหน้าตักกว้างศอกหนึ่ง เศษเหลือนั้นให้สร้างพระสาวก พระพุทธรูปที่มีปลา ปู ดอกบัว อยู่ใต้ฐานนั้น สำหรับสังเกตว่าเป็นรูปพระอุปคุต พระพุทธรูปเดิมนั้นสร้างด้วยทักขิณสาขาของพระศรีมหาโพธิจริง แต่ภายหลังมามีผู้สร้างมากขึ้นก็ใช้กิ่งไม้อื่นบ้าง ข้อความที่กล่าวมานี้ท่านทราบจากพระพม่ารูปนั้นบ้าง ที่ผู้ใหญ่เล่ามาแต่เดิมบ้างดังนี้

ฟังดูเรื่องที่เล่าก็เป็นเฉียดๆ ไปกับเรื่องเดิม อย่างไรจะถูกก็ตัดสินไม่ได้แน่ แต่พระเช่นนี้ใช้ตั้งในการพระราชพิธีฝนหลายองค์ ยังรูปพระมหาเถรอีกองค์หนึ่ง ที่แขนเป็นลายรียาวเรียกว่าพระมหาเถรแขนลาย ก็เป็นพระตั้งขอฝนอีก มีเรื่องราวเล่าเป็นเกร็ดๆ อย่างเดียวกันกับพระที่คลุมใบบัว ข้าพเจ้าก็จำไม่ได้เสียอีก จะถามผู้ใดก็ยังนึกหน้าไม่ออกว่าผู้ใดจะจำเรื่องราวได้ แต่พระองค์นี้อยู่ที่หอพระคันธารราษฎร์ท้องสนามหลวง เป็นพระหล่อด้วยทองสำริดรมดำไม่ได้ปิดทอง

การซึ่งมีพระพุทธรูป หรือรูปพระเถระสำหรับขอฝนต่างๆ นี้ ก็คงจะเกิดขึ้นด้วยมีเหตุสบช่องเหมาะครั้งหนึ่ง เช่นเล่าว่าพระพุทธเจ้าจะเสด็จลงสรงน้ำในสระโบกขรณี เป็นเวลาฝนแล้งน้ำแห้งขอด เผอิญฝนตกลงมามากในเวลานั้น ก็นับว่าเป็นด้วยพุทธานุภาพฉันใด พระเถระทั้งหลายเหล่านี้ บางทีจะไปมีการอันใดประกอบเหตุให้ฝนตก ก็เลยนับถือว่าพระมหาเถรองค์นั้นมีอานุภาพอาจจะบันดาลให้ฝนตก เหมือนกันกับพวกที่ถือศาสนาโรมันคาทอลิกนับถือแปตรอนเซนต์ ที่พวกหมอๆ มิสชันนารีแปลกันว่านักบุญ คือที่เป็นลูกศิษย์พระเยซูนั้นเป็นต้น ท่านพวกเหล่านั้นก็เป็นเจ้าของต่างๆ กัน การที่พวกโรมันคาทอลิกถือเช่นนี้ ก็เป็นการไหลมาตามลัทธิกรีก ที่ถือว่ามีเทวดาสำหรับการสิ่งนั้นสิ่งนี้ เราที่เป็นผู้ถือพุทธศาสนาเล่าก็เคยถือลัทธิพราหมณ์ว่ามีเทวดาสำหรับสิ่งนั้นสิ่งนี้ ถึงการที่นับถือเทวดายังไม่ขาดก็อ่อนลงไปเสียมากแล้ว นับถือพระพุทธศาสนามากกว่า แต่พระพุทธศาสนาไม่แก้ความอยากความทะยานสดๆ ได้ดังใจ ก็ต้องแส่หาพระพุทธเจ้าบ้างพระเถระบ้างมาบูชาเซ่นสรวงแทน หรือให้ช่วยแรงเทวดา ด้วยถือว่ามีอานุภาพมากกว่าเทวดา เรื่องพระเถระขอฝนทั้งปวงนั้นคงเป็นมาด้วยเหตุอันนี้อย่างหนึ่ง ยังมีอีกอย่างหนึ่งก็เป็นแต่ความคิดของผู้ใดผู้หนึ่งคิดขึ้น เช่นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระทรมานมิจฉาทิฐิ เป็นพระนั่งอยู่ในครอบแก้ว มีทะเลอยู่ตรงหน้า เรือกำปั่นมาแตกจมอยู่ตรงนั้น ก็เกิดขึ้นด้วยเรือเซอร์เยมสบรุกเข้ามา เรือติดที่สันดอน ประสงค์จะบำเพ็ญพระราชกุศลเหมือนอย่างเป็นการสมโภชพระพุทธศาสนา ที่พวกมิจฉาทิฐิไม่มาย่ำยีได้ก็สร้างขึ้น ยังมีที่เป็นคู่กัน คือทรมานข้าว พระพุทธเจ้านั่งอยู่บนฐานในครอบแก้ว ตรงหน้าออกมาเป็นท้องนามีข้าวกำลังเป็นรวง ตามครอบแก้วก็เขียนเป็นรูปห้างคนขับนกและฝูงนกที่บิน พระพุทธรูปครอบแก้วที่เรียกว่าทรมานข้าวนี้ ก็ใช้ตั้งในการพระราชพิธีแรกนา

เพราะฉะนั้นพระพุทธรูปก็ดี รูปพระเถระก็ดี ที่ใช้ในการขอฝนนี้ บางทีก็จะเป็นนึกขึ้นใหม่โดยไม่มีเหตุมีมูล เป็นแต่ประสงค์จะขออานุภาพให้มาระงับความอยากกระวนกระวายเช่นนี้ก็จะเป็นไปได้

พระพุทธรูปอย่างพระคันธารราษฎร์ ที่ใช้ตั้งในการพระราชพิธีนี้ก็มีอาการและสัณฐานต่างกัน คือพระพุทธคันธารราษฎร์พระองค์ใหญ่ซึ่งอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น เป็นของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสร้างขึ้น ตามในประกาศที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไว้ ว่าสำเร็จ ณ ปีเถาะ เบญจศก จุลศักราช ๑๑๔๕ เดิมลงรักปิดทอง แต่ภายหลังมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงก้าไหล่ทองขึ้นใหม่ และติดเพชรเม็ดใหญ่เป็นพระอุณาโลม พระพุทธรูปพระองค์นี้เป็นพระนั่งผ้าทรงเป็นอย่างที่พาดสังฆาฏิตามธรรมเนียม ดวงพระพักตร์และทรวดทรงสัณฐานเป็นอย่างพระโบราณ พระรัศมีกลมเป็นรูปดอกบัวตูมเกลี้ยงๆ ด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทอดพระเนตรเห็นพระโบราณ จึงให้ช่างถ่ายอย่างหล่อให้เหมือนพระพุทธรูปตัวอย่าง แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริตามเรื่องพระคันธารราษฎร์ ในท้องเรื่องนั้น เวลาที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จลงสรงในสระโบกขรณีนั้น ว่าเสด็จยืนอยู่ที่ปากสระ จึงโปรดให้หล่อองค์ย่อมอีกองค์หนึ่ง ทรงผ้าอุทกสาฎก ตวัดชายคลุมพระพาหาข้างหนึ่ง เสด็จยืนอยู่บนบัวกลุ่ม ที่ฐานมีคั่นอัฒจันทร์ลงไปสามคั่น ให้เป็นที่หมายว่าเป็นคั่นอัฒจันทร์ลงในสระ พระพุทธรูปคันธารราษฎร์จึงมีอาการเป็นสองอย่าง แต่ก็ใช้ในการพระราชพิธีทั้งสององค์ ยังพระคันธารราษฎร์จีน ก็ยกพระหัตถ์คล้ายกันกับพระคันธารราษฎร์สององค์ แต่ดวงพระพักตร์เป็นอย่างจีน มีแต่พระเมาฬีไม่มีพระรัศมี ผ้าที่ทรงจะว่าเป็นจีวรก็ใช่ เป็นผ้าอุทกสาฎกก็ใช่ ใช้คลุมสองพระพาหา แหวกที่พระอุระกว้างทำนองเป็นเสื้อหลวงญวน อย่างเช่นพระจีนทั้งปวง พระหัตถ์ที่ยกนั้นน่าสงสัยว่าบางทีจะเป็นใช้บทอย่างทำกงเต๊ก แต่ไม่ถึงกรีดนิ้วออกท่า เป็นกวักตรงๆ แต่รูปร่างหมดจดงดงามดี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนับถือโปรดปรานมาก โปรดให้ทำจอกน้ำมนต์วางในพระหัตถ์ซ้าย ช้อนสำหรับตักน้ำมนต์ลงยันต์สอดในหว่างนิ้วพระหัตถ์ขวา มีจงกลติดเทียนทองอยู่ที่ฐานตรงพระพักตร์ แล้วโปรดให้ก้าไหล่ทองทั้งพระองค์และเครื่องประดับสำหรับตั้งพระราชพิธีพืชมงคลและพรุณศาสตร์ เป็นพระคันธารราษฎร์อีกอย่างหนึ่ง ครั้นมาถึงในรัชกาลปัจจุบันนี้ พระที่เหลือจากทรงพระราชอุทิศถวายพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนมีอยู่สองปาง คือพระลองหนาวและพระคันธารราษฎร์ จึงได้เลือกพระคันธารราษฎร์เป็นพระชนมพรรษา ตามที่ได้กล่าวไว้ในพิธีเดือนห้าแล้วนั้น

แต่พระอาการของพระพุทธรูปนั้น ยังเป็นข้อวินิจฉัยอยู่ ด้วยมีคำเล่ามาว่า เมื่อจะจารึกพระพุทธรูปปางต่างๆ ทรงพระราชอุทิศถวายพระเจ้าแผ่นดินกรุงเก่านั้น ทรงกะพระปางนั้นจะจารึกถวายองค์นั้น ได้มีพระกระแสประภาษว่าชั้นหลังๆ ลงมาให้ยืนให้เดินบ้างก็ได้ เอาพระพุทธรูปที่นั่งๆ ไปถวายชั้นแรก เพราะชั้นแรกท่านยังนั่งแน่นอยู่ ทำนองที่ว่านั้นดูเหมือนหนึ่งว่า ถ้าพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดอยู่ในราชสมบัติยั่งยืนยืดยาว หรือเป็นต้นพระวงศ์จะใช้พระนั่ง องค์ใดที่อยู่ในราชสมบัติน้อยหรือมีเหตุอันตราย ซึ่งเป็นการหมดแผ่นดินไปโดยไม่ปรกติ ให้ใช้พระยืน แต่ครั้นเมื่อพิเคราะห์ดูตามรายพระนามก็ไม่เป็นเช่นนั้น พระเจ้าแผ่นดินในบรมราชวงศ์เชียงราย ตั้งแต่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ลงมา จนถึงพระมหินทราธิราช เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ๑๖ พระองค์ ใช้พระพุทธรูปนั่งทั้ง ๑๖ ก็พระเจ้าแผ่นดินใน ๑๖ พระองค์นี้ เจ้าทองจันทร์ได้สมบัติก็เพียง ๗ วัน พระราเมศวรฆ่าเสีย พระเจ้ารามอยู่ในสมบัติ ๑๕ ปี ต้องนิรเทศ พระรัษฎาธิราชอยู่ในสมบัติ ๕ เดือน พระไชยราชาฆ่าเสีย พระยอดฟ้าอยู่ในสมบัติปีเศษขบถภายในฆ่าเสีย พระมหินทราธิราชอยู่ในสมบัติปีเศษเสียกรุงแก่รามัญ ก็ถ้าจะใช้พระยืนเป็นที่หมายอันตรายจริงเช่นนั้น ท่านเหล่านี้ก็ควรจะใช้พระยืน เหตุใดจึงใช้พระนั่ง ส่วนพระมหาธรรมราชา พระนเรศวร พระเอกาทศรถ พระศรีเสาวภาคย์ เป็นพระยืนทั้งสี่องค์ ถ้าจะว่าตามเค้าที่ว่า ก็ควรยืนแต่พระศรีเสาวภาคย์องค์เดียว ครั้นต่อมาในวงศ์พระเจ้าทรงธรรมสามองค์ ก็ดีอยู่แต่พระเจ้าทรงธรรมองค์เดียว ต่อมาอีกสององค์ไม่เป็นการ ทำไมจึงพลอยนั่งไปด้วยกันทั้งสามองค์ มาสมความที่ว่าอยู่แต่ชั้นวงศ์พระเจ้าปราสาททอง มีนั่งแต่พระเจ้าปราสาททององค์เดียว นอกนั้นยืนทั้งสิ้น จึงเห็นความว่าชะรอยผู้ที่ฟังพระกระแสนั้นจะไม่เข้าใจชัดเจน ที่มีพระกระแสนั้นจะทรงหมายความว่าพระพุทธรูปทั้ง ๓๔ ปางนี้ จะตั้งอยู่ในที่แห่งเดียวกัน ก็คงจะต้องเรียงเป็นแถวๆ พระเจ้าแผ่นดินแรกๆ คงต้องอยู่แถวหน้า พระเจ้าแผ่นดินชั้นหลังๆ ก็ต้องอยู่แถวหลัง ถ้าจะใช้พระนั่งไว้แถวหลังพระยืนอยู่แถวหน้า ก็คงบังแถวหลัง จึงรับสั่งว่าชั้นแรกๆ ให้เป็นพระนั่ง ชั้นหลังๆ ให้เป็นพระยืน เมื่อตั้งในหมู่เดียวกันจะได้แลเห็นตลอดไม่บังกัน พระราชดำริคงเป็นแต่หมายความเพียงชั้นเท่านี้ แต่ผู้ฟังคิดมากไป แล้วไม่ได้ตริตรองเทียบเคียงดู จึงได้กล่าวไปตามความเข้าใจของตัว ที่ข้าพเจ้ากล่าวเช่นนี้ก็มีข้อสงสัยอยู่อีกอย่างหนึ่งซึ่งจะมีผู้กล่าวคัดค้านได้ ว่าเหตุใดพระเจ้าแผ่นดินในวงศ์พระมหาธรรมราชาจึงได้เป็นพระยืน จะเป็นด้วยทรงหมายว่าเป็นปลายวงศ์เชียงราย ตามเช่นพงศาวดารนับว่าเป็น ๒๐ พระองค์ วงศ์พระเจ้าทรงธรรมเป็นต้นวงศ์ตั้งขึ้นใหม่ จึงได้เป็นพระนั่งดอกกระมัง ถ้าจะว่าเข้าทางอ้อมเชื่อเอาว่า พระมเหสีของพระเจ้าปราสาททองแปดพระองค์ ซึ่งเป็นพระราชธิดาพระเจ้าทรงธรรมร่วมพระมารดาเดียวกัน ได้เป็นพระมารดาเจ้าฟ้าไชยองค์หนึ่ง พระมารดาพระนารายณ์องค์หนึ่งตามคำขุนหลวงหาวัดว่า จึงรวมวงศ์พระเจ้าปราสาททองเข้าเป็นวงศ์เดียวกับพระเจ้าทรงธรรมเช่นนั้นแล้วก็เป็นพอจะว่าได้ แต่ถ้าจะว่าอีกอย่างหนึ่งตามเรื่องเกร็ดที่เล่าว่า พระเจ้าปราสาททองเป็นพระราชโอรสลับของสมเด็จพระเอกาทศรถแล้ว จะมิต้องนับว่าวงศ์พระเจ้าปราสาททอง เป็นวงศ์เชียงรายคืนมาได้ราชสมบัติหรือ ข้อความที่กล่าวทั้งสองฝ่ายนี้ ไม่มีในพระราชพงศาวดารซึ่งกรมสมเด็จพระปรมานุชิตทรงเรียบเรียง ท่านแยกวงศ์พระเจ้าทรงธรรมกับพระเจ้าปราสาททองออกเป็นคนละวงศ์ แต่มีข้อสงสัยจริงอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าก็ยังคิดไม่ตกลงตลอด ว่าเหตุที่ทรงเลือกพระถวายพระเจ้าแผ่นดินกรุงเก่านั้นจะทรงหมายความอันใดบ้างหรือไม่ ถ้ามีที่หมาย บางแห่งก็เห็นได้ บางแห่งก็มืดไม่แลเห็นได้เลย ที่เห็นได้ง่ายชัดเจนนั้น คือพระยอดฟ้าเป็นพระพุทธรูปนั่งยกพระหัตถ์ขวาปลงพระชนม์ พระที่นั่งสุริยามรินทร์เป็นพระลีลา ที่ไม่เห็นเสียโดยมาก ถ้าเช่นนั้น พระพุทธรูปสำหรับพระนเรศวรใช้พระห้ามสมุทร จะเป็นที่หมายว่าพระเดชานุภาพมาก พระถวายเนตรเป็นของพระเอกาทศรถ จะแปลว่าเป็นผู้ชื่นชมยินดีในสมบัติและอำนาจที่มีชัยชำนะแล้วได้บ้างดอกกระมัง เพราะฉะนั้นพระยืนจึงได้ไปแทรกอยู่ในวงศ์พระมหาธรรมราชา แต่ครั้นเมื่อมาถึงพระเจ้าทรงธรรม น่าจะเหยียบรอยพระพุทธบาทเต็มที่ ทำไมกลายเป็นนั่งเรือขนานไปก็ไม่ทราบ พระปาลิไลยก์ พระฉันมธุปายาส ของท่านโอรสอีกสององค์นั้น ก็ดูไม่มีเค้ามูลอะไรเลย จะว่าพระเชษฐาเป็นเด็กจึงให้ชอบช้างชอบลิง ท่านก็ไม่เด็ก จะว่าพระอาทิตยวงศ์ต้องถูกถอด เพราะพี่เลี้ยงแม่นมต้องตามเอาพระอาหารไปเที่ยวป้อน ให้ฉันมธุปายาส แปลว่าตะกลามก็ดูทักเหลือเกินนัก แต่เรื่องนี้ยังชอบกลมากน่าคิด แต่ถ้าจะเป็นผู้ที่รู้เรื่องราวในพระพุทธศาสนามากๆ แต่ไม่ทราบเค้าพระกระแสที่เคยทรงพระราชดำริการทั้งปวงอย่างไร ก็คงจะพาเข้าวัดเข้าวาไปไม่ถูก ถ้าจะเป็นแต่ผู้รู้แต่พระกระแส ไม่สันทัดในเรื่องราวในพระพุทธศาสนา ก็จะไปลงรอยพระฉันมธุปายาส เพราะตะกลามเช่นข้าพเจ้าว่านี้แหละ จึงยังตัดสินเรื่องนี้ไม่ตลอดได้ แต่ข้อซึ่งว่าด้วยเรื่องพระยืนพระนั่งนี้ ข้าพเจ้ายังลงเนื้อเห็นข้างทรงมุ่งหมายในเรื่องที่ตั้งมากกว่าหมายความลึกซึ้งไปเท่าที่กล่าว แต่มีคำที่กล่าวขึ้นเช่นนี้แล้ว ก็ควรจะละเว้นไม่ให้เป็นที่สงสัย เพราะฉะนั้นเมื่อเวลาจะสร้างพระพุทธรูปพระชนมพรรษา ข้อที่ปรึกษากันเลือกพระคันธารราษฎร์ เพราะเป็นพระปางเหลืออยู่นั้นอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่ท่านผู้ใหญ่ๆ ท่านก็เห็นว่า เมื่อปีฉลูเบญจศก ซึ่งข้าพเจ้าเกิดนั้น ฝนแล้งมาแต่ปีชวดจัตวาศก ครั้นถึงปีฉลูต้นปีฝนก็แล้งนัก จนข้าวก็ขึ้นราคา ข้าวในนาก็เสียมาก เวลาเมื่อประสูติข้าพเจ้า ในทันใดนั้นฝนตกมาก ตามชาลาในพระราชวังท่วมเกือบถึงเข่า เห็นกันว่าเป็นการอัศจรรย์อยู่ พระองค์เจ้าอินทนิลจึงได้ประทานข้าวเปลือกเป็นของขวัญตลอดมา และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าก็พอพระทัยรับสั่งประภาษถึงเรื่องนี้เนืองๆ รับสั่งให้ข้าพเจ้าเป็นหน้าที่สำหรับทำพิธีฝนแต่เล็กมา ท่านผู้ใหญ่จึงได้ตกลงกันให้ใช้พระคันธารราษฎร์เป็นพระชนมพรรษา แต่ไปเกิดข้อรังเกียจกันด้วยเรื่องจะนั่งหรือจะยืน ตามเหตุว่ามาแล้ว คำตัดสินนั้นตกลงว่าถึงที่ยืนเป็นถูกต้องตามที่กล่าวมาก็จริง แต่เป็นพระพุทธรูปพึ่งเกิดขึ้นใหม่มีองค์เดียว พระเก่าๆ ที่มีมาก็เป็นพระคันธารราษฎร์นั่งทั้งสิ้น จึงได้ตกลงให้สร้างพระคันธารราษฎร์นั่ง กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ท่านโปรดพระชนมพรรษานี้มาก จึงได้ขอหล่อขึ้นอีกองค์หนึ่งต่างหาก ไม่ก้าไหล่ทอง ท่านได้ไปตั้งพิธีฝนหลายครั้งก็ว่าขลังดีวิเศษ จึงได้ขอให้พระองค์นั้นเข้ามาตั้งในการพระราชพิธีพรุณศาสตร์ด้วย เป็นอันมีพระคันธารราษฎร์แปลกออกไปอีกอย่างหนึ่ง มีดวงพระพักตร์เป็นพระอย่างใหม่ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ พาดสังฆาฏิกว้าง ไม่มียอดพระเมาฬี มีพระรัศมีแหลมเหมือนอย่างใหม่ๆ พระคันธารราษฎร์ที่ตั้งในการพระราชพิธีมีเป็นสี่อย่างด้วยกันดังนี้

การพิธีพรุณศาสตร์เป็นพิธีประจำปี เว้นแต่ถ้าปีใดฝนบริบูรณ์อยู่แล้วก็งดเว้นเสียไม่ทำ เพราะดูเหมือนหนึ่งว่าจะขอซ้ำให้มากเกินไป การที่จะได้ทำพระราชพิธีหรือไม่ได้ทำ มีเขตกำหนดอยู่เพียงเดือน ๙ ถ้าฝนภายในเดือน ๙ เข้ามาบริบูรณ์ดี ถึงจะไปแล้งในปลายมือประการใดก็ไม่เคยทำพระราชพิธี ถ้าฝนต้นปีภายในเดือน ๙ แล้ง จึงได้ทำพิธี แต่การที่จะทำพระราชพิธีนั้น มีวิธีแก้ไขอย่างอื่น และตั้งพิธีอย่างน้อยไปหลายๆ วันก่อน เมื่อเห็นฝนยังไม่ตกบริบูรณ์จึงได้ตั้งพิธีใหญ่ต่อไป อาศัยการที่ทำพิธีล่วงหน้าเช่นนี้ พอผ่อนผันให้การพระราชพิธีใหญ่ได้ช่องตามที่เคยสังเกตว่าเป็นเวลาฝนมักจะตกนั้นด้วย

การล่วงหน้าพระราชพิธี ซึ่งเป็นแบบอย่างโบราณมา ก็คือให้โขลนร้องนางแมวอย่างหนึ่ง ตัดต้นคนทีสออย่างหนึ่ง ช้างบำรูงาอย่างหนึ่ง วิธีร้องนางแมวนั้นก็ไม่ประหลาดอันใด เด็กๆร้องเป็นอยู่ด้วยกันทั่วหน้า ไม่ต้องการจะกล่าวถึง ตัดต้นคนทีสอนั้นเล่าก็ตัดเราดื้อๆ อย่างนั้นเองไม่ต้องกล่าวถึง จะขอว่าด้วยช้างบำรูงาซึ่งเป็นการเลิกเสียไม่ได้เล่นมาช้านาน วิธีที่จะให้ประงากันนั้น ช้างมีน้ำมันสองช้าง ปักแท่นตะลุงเบญจพาส ห่างกันยี่สิบวา ท้ายแท่นออกไปมีเสาปองสองแถวๆ ละห้าต้น เป็นสิบเสา ระยะเสาปองห่างกันศอกหนึ่ง เสาปองนั้นทำด้วยไม้จริงโตสองกำ สูงพ้นดินศอกหนึ่ง มีแผงตั้งบนล้อบังในระหว่างกลางแท่นช้างทั้งสองข้างมิให้เห็นกัน เมื่อนำช้างซึ่งแต่งเครื่องมั่นมีหมอถือขอเกราะขี่คอ ควาญท้ายถือขอเรียกว่าขอช้างพลาย ปลายด้ามขอนั้น มีปืนด้ามยาว ๔ ศอกบ้าง ๕ ศอกบ้าง มายืนแท่นผูกตะลุงอย่างช้างยืนโรงเรียบร้อยแล้ว เมื่อจะให้บำรูงาเมื่อใดจึงติดเชือกบาศที่เท้าหลังข้างละสองเส้นทั้งสองช้าง ปลายเชือกบาศพันเสาปอง เป็นลำดับกันไปทั้งห้าเสา แล้วจึงถอดปลอกปลดเชือกมัดขา นำช้างลงจากแท่น ชักแผงบังตาเสีย ช้างทั้งสองช้างยังห่างกันอยู่ ก็คัดเชือกออกจากเสาปองทีละคู่ๆ โรยให้ใกล้กันเข้าไป พองาประกัน ช้างทั้งสองที่กำลังคลั่งมันก็ย่อตัวโถมปะทะงาประกัน เสียงดังกึกก้องแต่ไม่มีอันตรายถึงตัวช้าง ด้วยมิได้หย่อนให้มากจนถึงแทงกันได้ นัยหนึ่งกล่าวว่าไม่มีแพ้ชนะกัน แต่อีกนัยหนึ่งกล่าวว่ามีแพ้ชนะกัน การที่แพ้ชนะกันนั้น คือช้างใดได้ล่างงัดงาช้างหนึ่งแหงนหงายขึ้นไป เหวี่ยงสะบัดไม่กลับลงได้ ช้างที่ต้องงัดนั้นแพ้มักจะร้องให้เสียง เมื่อแพ้ชนะกัน หรือประงากันพอสมควรแล้ว หมอก็กดให้ถอยหลังออกมา ในเวลาที่จะให้ถอยนั้นเป็นการยากลำบากของหมอ ด้วยช้างกำลังโทสะกล้าทั้งสองข้าง บางทีก็หันหน้ากลับเอางาเสยเชือกบาศที่หย่อนอยู่ข้างหลังนั้น ยกขึ้นตวัดไปบนหลัง หมอต้องคอยก้มหลบหลีกเชือกให้ว่องไว ถ้าหลบไม่พ้นเชือก กำลังช้างหันมาโดยเร็วเชือกพานตัวมีอันตรายต่างๆ บางคราวก็ถึงชีวิต เมื่อนำช้างพรากกันออกมาได้แล้ว รักษาไว้ให้สงบหายคลั่งทั้งสองฝ่าย หมอควาญจึงได้รำเยาะเย้ยกัน หมอควาญช้างตัวที่ชนะรำก่อน ลักษณะที่รำนั้นมีท่าและมีชื่อเรียกต่างๆ ตามแต่ผู้ใดจะชำนาญท่าใด ท่าที่หมอรำนั้น เรียกว่าปัดเกล้าบ้าง แป้งผัดหน้าบ้าง นางกรายบ้าง ท่าที่ควาญรำเรียกว่าลำลำจะพุ่งบ้าง ชมพูพาดบ่าบ้าง จูงนางลีลาบ้าง แต่เมื่อจะจบเพลงร้องโผะ เป็นการโห่เยาะเย้ยผู้ที่แพ้ แล้วผู้ที่แพ้รำแก้หน้าบ้าง ร้องโผะเยาะเย้ยเหมือนกัน แล้วนำเข้าประงากันใหม่ และรำขอเยาะเย้ยกันครบสามครั้ง เป็นเสร็จการบำรูงา

การช้างบำรูงานี้ ไม่เป็นแต่สำหรับพิธีฝนอย่างเดียว ถือว่าเป็นการสวัสดิมงคลแก่พระนครด้วย การพระราชพิธีคเชนทรัศวสนานใช้แทนผัดช้างก็มีบ้าง การอื่นที่เป็นการสำคัญก็มีบ้าง ซึ่งถือว่าเป็นสวัสดิมงคลนั้น ก็คงจะเป็นเหตุมาจากที่ฝึกหัดช้างทหาร ให้กล้างาเป็นกำลังในการศึกสงครามเป็นต้นเหตุ แล้วภายหลังจึงกลายลงมาเป็นอาการที่ช้างเอางาต่องาประกันนั้นเป็นมงคลไป และในเวลาซึ่งช้างประงากันเช่นนั้นจะถูกฝนตกหลายคราว จึงกลายเป็นเครื่องทำให้ฝนตกได้ เป็นการสำหรับขอฝนไปอีกชั้นหนึ่ง ในเรื่องช้างบำรูงานี้ ชะรอยแต่ก่อนท่านจะเล่นกันอยู่เสมอๆ จนไม่เป็นการอัศจรรย์อะไร ไม่มีผู้ใดใคร่จะกล่าวถึง ไปกล่าวถึงแต่เมื่อมีเหตุที่เป็นอัปมงคล คือแผ่นดินพระยอดฟ้า จุลศักราช ๘๙๐ ปีชวด สัมฤทธิศก มีช้างบำรูงา ช้างหนึ่งชื่อพระฉัททันต์ กับช้างชื่อพระยาไฟ ครั้นเมื่อช้างประงากัน งาช้างพระยาไฟหักเป็นสามท่อนก็ถือกันว่าเป็นนิมิตอัปมงคล จึงเกิดเหตุการจลาจลในแผ่นดินภายหลังไม่ช้านัก การช้างบำรูงาที่ไม่มีเหตุผลอันใดก็ไม่ได้กล่าวถึง จนชั้นเช่นในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้มีช้างบำรูงาครั้งหนึ่ง ผู้ซึ่งควรจะได้เห็นนั้นมีมาก ก็ไม่ใคร่มีใครกล่าวถึง ตั้งแต่ครั้งนั้นมาก็ยังไม่ได้มีช้างบำรูงาอีกเลย

วิธีขอฝนล่วงหน้า ซึ่งเกิดขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือแห่พระวิมลรัตนกิรินี พระวิมลรัตนกิรินีนี้ ลงมาถึงกรุงเทพฯ ในปีฉลู เบญจศก สมัยเดียวกับปีข้าพเจ้าเกิดนั้น ในวันที่แห่เข้ามายืนโรงสมโภชในพระบรมมหาราชวัง ฝนก็ตกมากอีกครั้งหนึ่ง จึงต้องเป็นพนักงานขอฝนด้วยอีก การที่ให้ไปขอฝนนั้น คือแต่งเครื่องทองแทบกลม มีกระบวนแห่อย่างช้างเผือกลงน้ำในเวลาสมโภช แห่ออกจากในพระบรมมหาราชวังไปยืนแท่นผูกตะลุงที่เกยหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์เวลาบ่ายๆ ทุกวัน มีโปรดให้ข้าพเจ้าไปรดน้ำบนเกยครั้งหนึ่ง จะเป็นด้วยเหตุใดพระราชประสงค์อย่างใดไม่ทราบเลย เพราะเวลานั้นยังเด็กอยู่

อนึ่งการที่พิธีล่วงหน้าเช่นนี้ เป็นธรรมเนียมมีมาแต่โบราณ รับสั่งให้สังฆการีไปเผดียงพระสงฆ์ทุกๆ พระอารามหลวงให้สวดขอฝน แต่ครั้งเมื่อในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีพิธีหลวงอย่างน้อยขึ้น พิธีหลวงอย่างน้อยนี้เริ่มลงมือพร้อมกันกับพระสงฆ์สวดตามวัด ทำบนหอพระที่ท้องสนามหลวง ตั้งพระพุทธรูปที่เกยต่อออกมากับเฉลียงหอ มีโต๊ะทองใหญ่โต๊ะหนึ่ง ตั้งพระคันธารราษฎร์จีน พระมหาเถรแขนลาย พระขอฝนของรามัญหลายองค์ มีราวเทียน ไม่ได้ตั้งเครื่องนมัสการ เทียนที่ทรงจุดนมัสการนั้นใช้อย่างเล่มละสองสลึง ตามกำลังวันในวันที่ทำพิธีนั้น ธูปเท่ากัน ดอกไม้ตามสีวันเท่ากัน พระสงฆ์ที่สวดมนต์ก็เท่ากันกับกำลังวัน ใช้พระราชาคณะนำองค์หนึ่ง นอกนั้นพระพิธีธรรมทั้งสิ้น ทรงจุดเทียนนมัสการแล้วประพรมน้ำหอมทรงเจิม แล้วจึงทรงตั้งสัตยาธิษฐาน พระสงฆ์สวดเจ็ดตำนานถึงท้ายสวดมนต์สวดคาถาขอฝน เริ่มต้นตั้งแต่ ภควา อรหํ สัมมาสัมพุทโธ ไปจนจบ สวดเท่ากำลังวัน พระสงฆ์นั้นนั่งตามเฉลียงหอพระ หันหน้าเข้าข้างใน การพิธีน้อยเช่นนี้ เสด็จพระราชดำเนินออกโดยมาก ถ้าไม่เสด็จพระราชดำเนิน ก็โปรดให้ข้าพเจ้าไปทำทุกครั้ง ไม่มีผู้อื่นผลัดเปลี่ยนเลย แต่ไม่ได้ประทับอยู่จนสวดมนต์จบ ทรงจุดเทียนแล้วประทับอยู่ช้าบ้างเร็วบ้าง แต่ไม่ทันพระสงฆ์สวดจบก็เสด็จกลับ ถ้าวันใดฝนตกก็พระราชทานรางวัลพระสงฆ์สำรับนั้น มากบ้างน้อยบ้าง ที่เพียงองค์ละเฟื้องก็มี ข้าวสารองค์ละถังก็มี เงินองค์ละบาทเป็นอย่างมาก การพระราชพิธีอย่างน้อยเช่นนี้ ตั้งติดๆ กันไปเก้าวันสิบวันจนถึงสิบห้าวันก็มีบ้าง ไม่เป็นกำหนด สุดแต่ฝนตกมากแล้วก็เป็นหยุดเลิก ถ้าเช่นนั้นก็ไม่ตั้งพระราชพิธีใหญ่ต่อไป ถ้าตั้งพระราชพิธีใหญ่ก็สวดไปจนบรรจบวันตั้งพระราชพิธี แต่สวดขอฝนตามวัด ในเวลาตั้งพระราชพิธีใหญ่ก็สวดอยู่ด้วย

การพระราชพิธีพรุณศาสตร์ใหญ่เคยทำมาทุกรัชกาล แต่เห็นจะห่างๆ กว่าในรัชกาลที่ ๔ และในรัชกาลปัจจุบันนี้ ด้วยได้ไต่ถามดูว่าในรัชกาลที่ ๓ เคยทำอย่างไรทำที่ไหน ก็ได้ความจากผู้ที่แจ้งความนั้น ว่าจำได้ว่าทำสองครั้ง ทำที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ฟังดูก็ยุติด้วยเหตุผล คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าทรงสร้างพระคันธารราษฎร์ใหญ่ขึ้น ก็ประดิษฐานไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อีกประการหนึ่ง การพระราชพิธีพรุณศาสตร์ในรัชกาลที่ ๔ ถึงว่ายกออกไปทำที่พลับพลาท้องสนามหลวง ก็ยังโยงสายสิญจน์เข้ามาที่พระมหามณีรัตนปฏิมากรในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในสามรัชกาลนั้นคงจะทำที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามทุกครั้ง ต่อรัชกาลที่ ๔ จึงได้ย้ายออกไปทำที่พลับพลาท้องสนามหลวง พระแท่นมณฑลในการพระราชพิธีจัดเหมือนพืชมงคล เพิ่มแต่พระแท่นสวดตั้งท้ายพลับพลาข้างเหนือ มีกระโจมเทียนชัย น้ำหนักขี้ผึ้งและไส้เทียนชัยเหมือนพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ พระพุทธรูปที่ตั้งบนพระแท่น ตั้งพระบรมธาตุระย้ากินนรครอบพระเจดีย์ถม พระคันธารราษฎร์องค์ใหญ่ พระชัยวัฒน์ประจำรัชกาล พระห้ามสมุทร พระชัยเนาวโลหะน้อย พระทรมานข้าว พระธรรม มีกระบวนแห่พระเหมือนอย่างพิธีพืชมงคล โยงสายสิญจน์พระแท่นต่อพระแท่นถึงกันเหมือนอย่างพระราชพิธีที่มีท้องภาณทั้งปวง ที่หน้าพลับพลากลางแจ้งขุดสระ กว้างสี่ศอก ยาวสี่ศอกสี่เหลี่ยม ลึกศอกหนึ่ง พูนดินเป็นคันรอบสูงศอกหนึ่ง ปั้นรูปพระสุภูตนั่งริมฝั่งสระหันหน้าไปข้างเหนือรูปหนึ่ง ตัวทาสีคราม หน้าทาเสน ผ้าห่มสีเหลือง นั่งขัดสมาธิแหงนหน้าดูฟ้า มุมสระมีนาคมุมละตัว โลกบาลมุมละรูป ที่กลางสระมีรูปพระอินทร์ พระยาปลาช่อนและบริวารสิบรูป มีกบ เต่า ปู ปลา บ้างตามสมควร มีราชวัติฉัตรกระดาษกั้นสี่มุม ตั้งศาลลดโหรบูชาห้าศาล ที่พลับพลาโถงตั้งเทวรูป รอบกำแพงแก้ว พลับพลาท้องสนามหลวงมีราชวัติฉัตรกระดาษ ปลูกต้นกล้วยอ้อยวงสายสิญจน์รอบไป



หัวข้อ: Re: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 10 กรกฎาคม 2561 15:42:13

เดือนเก้า
การพระราชพิธีพรุณศาสตร์(ต่อ)

การพระราชพิธีมีท้องภาณอย่างน้อยเช่นนี้ มีกำหนดพระสงฆ์เพียง ๒๕ รูป คือเป็นแม่การเสียรูปหนึ่ง นั่งปรก ๔ สวด ๔ สำรับๆ ละ ๕ รูป แต่เช้าจนเที่ยง แต่เที่ยงจนค่ำ แต่ค่ำจนสองยาม แต่สองยามจนรุ่ง เวลาเย็นสวดมนต์พร้อมกัน เช้าฉันพร้อมกัน เวลาเพลฉัน ๑๒ รูป แม่การในพระราชพิธีพรุณศาสตร์นี้ เป็นหน้าที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ เสด็จแต่เวลาจุดเทียนชัย สวดมนต์วันเดียว ต่อนั้นไปสวดมนต์และฉันเป็นวันละ ๒๔ รูปเท่านั้น ไม่มีตั้งน้ำวงด้าย เริ่มจุดเทียนชัยเวลาบ่าย พราหมณ์โหรดาจารย์ติดพระราชพิธีทุ่งส้มป่อย จึงเกณฑ์พราหมณ์พฤฒิบาศมาเป่าสังข์ เวลาจุดเทียนชัยมีขับไม้บัณเฑาะว์ด้วย ทรงถวายสบงจีวรกราบพระและย่ามสีน้ำเงิน พระสงฆ์ห่มผ้าแล้วจึงจุดเทียนชัย คาถาที่พระสงฆ์สวดในเวลาจุดเทียนชัย ก็ใช้ พุทโธ สัพพัญญุตญาโณ เหมือนอย่างพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ เปลี่ยนแต่บทท้ายที่ต่อ เอตัสส อนุภาเวน เป็น เทโว วัสสตุ กาลโต วัสสันตรายา มาเหสุํ ปลายลงอย่างเดิมว่า สัพพโสตถี ภวันตุ เต แล้วราชบัณฑิตอ่านคำประกาศ ต้นเป็นภาษามคธสรรเสริญพระพุทธคุณแล้วว่าสัคเคประกาศเทวดา แล้วจึงกล่าวคาถาภาษิตซึ่งมาในเทวตาสังยุตที่มีข้อความเกี่ยวข้องด้วยเรื่องฝนจบแล้ว จึงได้กล่าวคำนมัสการเป็นสยามพากย์แปลจากภาษามคธนั้นเอง ในคำสรรเสริญพระพุทธคุณ แต่มิได้แปลสัคเคประกาศเทวดา ต่อท้ายสรรเสริญพระพุทธคุณว่า พระผู้มีพระภาคย์พระองค์นั้น ได้ดำรัสภาษิตพระคาถาสองพระคาถานี้ไว้ ว่าแต่บรรดาสระที่น้ำไหลไปทั้งหลาย มีน้ำฝนเป็นอย่างยิ่ง เหล่าสัตว์ทั้งหลายผู้อาศัย ณ แผ่นดินย่อมเลี้ยงชีวิตพึ่งน้ำฝน ดังนี้ แล้วจึงลงคำอธิษฐานว่าพระพุทธภาษิตทั้งสองนั้น ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายคิดตามก็เห็นเป็นความจริง ด้วยอำนาจคำจริงนี้ วลาหกเทพยดาทั้งหลาย จงให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ให้สรรพธัญญาหารงอกงามบริบูรณ์ด้วยรวงผล เป็นประโยชน์แก่ประชุมชนทุกประการ แล้วจึงไขความพิสดารในสองพระคาถานั้นต่อไป ว่าเทพยดาองค์หนึ่งทูลว่าของรักซึ่งจะเสมอด้วยบุตรไม่มี ทรัพย์สิ่งของอันมนุษย์จะพึงถนอม ซึ่งจะยิ่งกว่าโคไม่มี แสงสว่างซึ่งจะยิ่งกว่าพระอาทิตย์ไม่มี สระที่น้ำไหลไปทั้งหลายมีสมุทรสาครเป็นอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าตรัสตอบแปลงเสียใหม่ว่า ของรักซึ่งจะเสมอด้วยตนไม่มี ทรัพย์สิ่งของอันมนุษย์จะพึงถนอมซึ่งจะเสมอด้วยข้าวเปลือกไม่มี แสงสว่างซึ่งจะเสมอด้วยปัญญาไม่มี สระที่น้ำไหลไปทั้งหลาย มีน้ำฝนเป็นอย่างยิ่ง แล้วจึงกล่าวคำอธิษฐานเช่นว่ามาแล้วอีกครั้งหนึ่ง ต่อนั้นไปจึงว่าด้วยคาถาเทพยดาทูลถาม ว่าสิ่งอะไรเป็นวัตถุที่อยู่ของมนุษย์ทั้งหลาย อะไรเป็นสหายอย่างยิ่งของมนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายผู้อาศัยในแผ่นดินพึ่งอะไรเลี้ยงชีวิต ทรงวิสัชนาว่า บุตรเป็นวัตถุที่อยู่ของมนุษย์ทั้งหลาย ภริยาเป็นสหายอย่างยิ่งของมนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายผู้อาศัยในแผ่นดินพึ่งน้ำฝนเลี้ยงชีวิต แล้วก็ลงคำอธิษฐานเหมือนที่กล่าวมาแล้ว เพิ่มแต่ที่ปลายว่า ตามพระบรมราชประสงค์ ทุกประการเทอญ ก็เป็นจบกันเท่านั้น แล้วพระสงฆ์ก็สวดมนต์ต่อไป มีสวดคาถา ภควา อรหํ สัมมาสัมพุทโธ นับจบตามกำลังวันเหมือนอย่างพระราชพิธีอย่างน้อย ถ้าถูกวันที่มีกำลังมากเช่นวันศุกร์เป็นต้น อยู่ในสองชั่วโมงเศษสามชั่วโมงจึงได้จบ

ข้อความในคาถาที่สำหรับสวดนี้ เก็บเรื่องต่างๆ มารวบรวมกันผูกเป็นคาถา แต่เดิมมาที่พระสงฆ์สวดขอฝนก็ใช้คาถาสุภูติสูตร ต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระราชธุระในเรื่องการพระราชพิธี ให้มีราชบัณฑิตอ่านประกาศขึ้นด้วยเป็นต้น จึงทรงผูกคาถานี้ให้ติดเนื่องเป็นประพันธ์อันเดียวกันสำหรับการพระราชพิธี เริ่มเนื้อความในคาถา เริ่มต้นตั้งแต่ ภควา อรหํ สัมมาสัมพุทโธ ฌายินํ วโร ยกความว่าพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐกว่าผู้เพ่งอารมณ์ทั้งหลาย พระองค์เป็นผู้อุดมพิเศษสูงสุดกว่าผู้มีฤทธิ์ทั้งหลาย พระหฤทัยเยือกเย็นไปด้วยความเอ็นดูในหมู่สัตว์ เป็นคำสรรเสริญเบื้องต้น ต่อนั้นไปจึงกล่าวถึงเรื่องนิทานพระคันธารราษฎร์ ดำเนินความตั้งแต่พระพุทธเจ้าเสด็จอยู่จำพรรษา ณ เชตวันอารามของอนาถปิณฑิกคฤหบดีเมืองสาวัตถี ในกาลนั้นแว่นแคว้นโกศลชนบทเกิดฝนแล้งข้าวแพง พระผู้ทรงพระภาคย์เสด็จไปบิณฑบาต ประชุมชนอาราธนาเพื่อจะให้ฝนตก พระองค์อาศัยความกรุณาในประชุมชน เสด็จกลับประทับที่ฝั่งสระโบกขรณีที่น้ำแห้งจะสนานพระกาย ทรงผลัดผ้าอันตรวาสก ทรงอุทกสาฎก ชายข้างหนึ่งคลุมพระองค์ ในขณะนั้นมหาเมฆตั้งขึ้นมาข้างปัจฉิมทิศ ยังฝนให้ตกเพียงพอประโยชน์ความประสงค์ของมหาชน ต่อนั้นไปจึงเป็นคำอธิษฐานว่าด้วยอานุภาพพระพุทธเจ้านั้น ซึ่งยังปรากฏอยู่ตลอดมาถึงกาลปัจจุบันนี้ ขอเทพยเจ้าจงบันดาลให้ฝนตกโดยกาลอันควร ให้มั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยธัญผลเสมอไป นี่เป็นตอนหนึ่ง ต่อไปอีกตอนหนึ่งเป็นคาถาคำอธิษฐาน เริ่มตั้งต้นแต่ มหาการุณิโก นาโถ พระพุทธเจ้าผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณาแลเป็นที่พึ่งของสัตว์ เปลี่ยนความเที่ยวแรกว่า อัตถาย สัพพปาณินํ ทรงบำเพ็ญบารมีเพื่อความต้องการแก่สรรพสัตว์ จบที่ ๒ ว่า หิตาย สัพพปาณินํ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ จบ ๓ ว่า สุขาย สัพพปาณินํ เพื่อความสุขแก่สรรพสัตว์ แล้วไปรวมความว่าได้บรรลุถึงพระสัมโพธิญาณอันอุดมแล้ว ด้วยวาจาภาษิตอ้างพระกรุณาคุณขันธ์เป็นสัตยาธิษฐานนี้ ในจบต้นว่า เทโว วัสสตุ ธัมมโต ขอเทพยเจ้าจงบันดาลให้ฝนตกโดยธรรม จบ ๒ ว่า กาลโต โดยกาล จบ ๓ ว่า ฐานโส โดยฐานะ สวดคำอธิษฐานนี้เป็นสามจบ แล้วจึงว่าด้วยเรื่องพระสุภูต เริ่มตั้งแต่ สุภูโต จ มหาเถโร มหากาโย มโหทโร เป็นต้น จนตลอดคำอธิษฐานของพระเถรเจ้าตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ต่อนั้นไปยกคำอธิษฐานของพระยาปลาช่อนมาว่าตั้งแต่ อนุสสริต๎วา สตํ ธัมมํ ปรมัตถํ วิจินตยํ เนื้อความเบื้องต้นซึ่งยังไม่ได้กล่าวมา ใจความว่าข้าพเจ้าตามระลึกถึงธรรมของท่านผู้ระงับทั้งหลาย คิดค้นหาปรมัตถ์อยู่ ได้ทำสัจกิริยาซึ่งเป็นของเที่ยงยั่งยืนในโลก คือจำเดิมแต่ข้าพเจ้าระลึกจำตนได้ ย่อมไม่รู้ไม่เห็นว่าได้เคยแกล้งเบียดเบียนสัตวอื่นแม้แต่ตัวหนึ่ง ด้วยสัจวาจาภาษิตนี้ ขอปชุณณเทพยเจ้าจงยังฝนให้ตกเถิด ต่อนั้นไปลงร่วมความกับคาถา อภิตถนยํ ปชุณณ นิธึ กากสสนาเสย ซึ่งได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ไปลงความข้างปลายว่า เอวรูปํ สัจจกิริยํ กัต๎วา วิริยมุตตมํ ข้าพเจ้าทำสัจกิริยาซึ่งเป็นความเพียรอันอุดม อาศัยกำลังอำนาจความสัจให้ฝนตกได้ตามปรารถนา ธรรมอันใดอันหนึ่งซึ่งจะเสมอด้วยความสัจไม่มี การที่ทำสัจกิริยาปลดเปลื้องตนแลบริษัทให้พ้นมรณภัยได้นี้เป็นสัจบารมีของข้าพเจ้า คาถาที่สวดมีเนื้อความเพียงเท่านี้ เมื่อสวดมนต์จบแล้วจึงสวดภาณวารต่อไป ภาณวารนั้นสวดสุภูติสูตร มีราชบัณฑิตนุ่งขาวห่มขาวชักประคำอยู่ที่ปากสระคนหนึ่ง ผลัดเปลี่ยนกันทั้งกลางวันกลางคืนกว่าจะเสร็จการพระราชพิธี ที่บนเกยข้างหอพระคันธารราษฎร์ตั้งพระคันธารราษฎร์จีน พระมหาเถรแขนลาย พระบัวเข็มรามัญ มีธูปเทียนดอกไม้เครื่องนมัสการตามวันอย่างพิธีน้อย ยกแต่พระสงฆ์สวดมนต์

การพระราชพิธีพรุณศาสตร์ไม่มีกำหนดกี่วันเลิก สุดแต่เทียนชัยยังยาวอยู่ ถ้าฝนยังตกน้อยก็ตั้งต่อไป บางคราวถึงห้าวันหกวันจึงได้เลิกก็มี เมื่อเลิก พระราชาคณะที่นั่งปรกซึ่งเป็นผู้ใหญ่กว่าทุกองค์เป็นผู้ดับเทียนชัย พระสงฆ์สวดคาถาดับเทียนชัยตามธรรมเนียม แต่ในเวลาเลี้ยงพระเช้าตลอดจนวันดับเทียนชัย ไม่มีการเสด็จพระราชดำเนินตลอดพระราชพิธี เสด็จพระราชดำเนินแต่เวลาเย็นจนพระสงฆ์สวดมนต์จบ ถ้าฝนตกมากก็พระราชทานรางวัล ตั้งแต่องค์ละบาทจนถึงองค์ละ ๔ บาท ตามฝนมากฝนน้อย อนึ่ง การพระราชพิธีพรุณศาสตร์นี้ไม่มีกำหนดที่ บางปีก็ยกขึ้นไปตั้งกรุงเก่า ในรัชกาลปัจจุบันนี้ยกขึ้นไปตั้งที่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติครั้งหนึ่ง

อนึ่ง การห้ามปรามอยู่ข้างจะกวดขัน ในสิ่งซึ่งถือว่าไม่บริสุทธิ์ คือตั้งต้นแต่พระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งจะเสด็จออกไปทรงตั้งสัตยาธิษฐานขอฝนนั้น ต้องสรงน้ำชำระพระกายด้วยดินสอพองให้หมดจด และห้ามมิให้ทรงถูกต้องกายสตรี ในจังหวัดพลับพลาซึ่งวงสายสิญจน์ก็ห้ามมิให้ผู้หญิงเข้าไป ถ้าการพระราชพิธีพรุณศาสตร์ครั้งใด ก็เป็นการเดือดร้อนของพระเจ้าลูกเธอที่เป็นพระราชบุตรีอันต้องห้ามไม่ให้ตามเสด็จ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ มาทุกครั้ง ถึงพระสงฆ์ที่จะสวดมนต์ในการพระราชพิธี ก็มีหมายให้ตั้งที่สรงน้ำ แต่จะรวมเสียหรือประการใดไม่ทราบ บรรดาผู้ที่จะเกี่ยวข้องในการพระราชพิธีตลอดจนช่างปั้น ก็บังคับให้ชำระกายให้หมดจดทั่วไป ถ้าฝนแล้งในปีใด ราษฎรทั้งปวงก็บ่นหาว่าเมื่อไรจะตั้งการพระราชพิธี เจ้านายและเสนาบดีผู้ใหญ่แต่ก่อนๆ ก็พอใจเป็นธุระกราบทูลตักเตือนให้ตั้งการพระราชพิธีมีอยู่เนืองๆ แต่ปรกตินั้นพระเจ้าแผ่นดินทรงฟังรายงานน้ำฝนต้นข้าวอยู่เสมอ เมื่อทรงเห็นว่าฝนไม่ปรกติตามฤดูกาล สมควรจะตั้งพระราชพิธีก็โปรดให้ตั้งพระราชพิธี ไม่ทันมีผู้กราบทูลตักเตือนหรือร้องหานั้นโดยมาก การพระราชพิธีพรุณศาสตร์นี้เป็นที่ชอบใจของราษฎรชาวนา มักจะคอยสังเกตว่า ถ้าตั้งพระราชพิธีฝนมีบริบูรณ์ก็เป็นที่อุ่นใจโจษกันไปไม่ใคร่จบ ถ้าฝนขัดข้องก็มักจะบ่นหนักอกหนักใจไม่ใคร่สบายไป พระราชพิธีพรุณศาสตร์จึงเป็นเครื่องประคองใจของราษฎรให้เป็นที่ชื่นชมยินดี มีความนิยมอยู่โดยมาก จึงเป็นพระราชพิธียั่งยืนมาด้วยประการฉะนี้

อนึ่ง ข้าพเจ้าลืมกล่าวถึงการบูชาขอฝนอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งได้ลงพิมพ์ไปเสียแล้ว จะแทรกไม่ทัน การบูชาเช่นนี้จะมีมาแต่ครั้งใดก็ไม่ปรากฏ แต่ดูเหมือนจะมีมาช้านาน เป็นของโบราณ จนในคำให้การขุนหลวงหาวัดก็ได้มีกล่าวถึงว่า “ถ้าฝนไม่ตก ให้เอาคำโองการออกอ่านฝนก็ตก” ดังนี้ คำโองการนี้เห็นจะไม่ใช่เรื่องอื่นเสียแล้ว คงเป็นตำราที่จะว่าต่อไปนี้เอง บางทีจะเกิดขึ้นในแผ่นดินบรมโกศนั้นเองก็จะได้ ด้วยตั้งแต่แผ่นดินพระเจ้าทรงธรรมมา เรื่องเสกๆ เป่าๆ เชื่ออะไรต่ออะไรยับเยินมีมาก ยิ่งชั้นหลังลงมาดูยิ่งหนักแก่มือขึ้นไป จนเหลวเกือบไม่เป็นชิ้นได้ เหมือนโยคีคนหนึ่งที่จดหมายชื่อไว้ว่าอาตมารามสัญญาศรี เล่าว่าตัวบวชเป็นโยคีแล้วออกเดินป่ามา ได้พบเมืองถึงสองร้อยเศษ เห็นหงส์ กินนร นาค  เมืองหนึ่งไถนาด้วยหนูและจามรี เห็นลิงใหญ่ตาแดงเหมือนแสงไฟ มีบริวารประมาณสักห้าพันเศษ ได้เห็นศาลรามสูรมีขวาน และได้ไปที่สังขเมษาธารมีดอกบัวที่ตูมโตเท่าบาตร ที่บานโตเท่าดุมเกวียน ได้พบฤๅษีกอดต้นไม้บริกรรมอยู่จนเล็บยาวกึ่งตัว บางองค์นกกระจอกก็อาศัยทำรังอยู่ในหนวด ลางองค์นั่งอยู่กับพื้นแผ่นดิน ใบไม้หล่นลงมาจนมิดกาย แล้วยังบอกต่อไปว่ามีอีกมากจะพรรณนาไปก็จะยาว ถ้อยคำที่โยคีแจ้งความนี้เป็นที่น่าเชื่อถือ ไม่ควรที่จะสงสัยเลย เพราะพระเจ้าแผ่นดินได้รับสั่งให้พระราชวังเมืองไปซักไซ้ไต่ถาม แกล้งตลบทบทวนหลายอย่าง ก็แจ้งความยั่งยืนไม่ฟั่นเฟือนแฝงแคลง อายุโยคีนั้นกว่าร้อยปี ผมยาวกว่าสี่วา กินแต่ผลไม้เป็นอาหาร กำลังกายสิทธิ์และฌานนั้นแก่กล้านัก โยคีนั้นอยู่ที่วัดนางแมนนอกกรุง คือนอกกำแพงเมือง นี่แลถ้อยคำของขุนหลวงหาวัดคือเจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิจ ที่เป็นกรมพระราชวังแล้วเป็นเจ้าแผ่นดิน ทรงเชื่อถือมั่นคงเช่นนี้ พอจะเป็นตัวอย่างให้เห็นได้ว่าในเวลานั้นผู้มีบรรดาศักดิ์ใหญ่ก็ดี ผู้มีบรรดาศักดิ์น้อยก็ดี ที่อายุมากก็ดี อายุน้อยเช่นขุนหลวงหาวัดนี้ก็ดี จะเชื่อถือและมีความรู้หลักเป็นประการใด ข้าพเจ้าจึงสามารถที่จะประมาณเอาว่า ถ้าตำราขอฝน เช่นจะว่าต่อไปนี้ จะเกิดขึ้นในแผ่นดินพระบรมโกศเองก็เห็นจะได้ ตำรานั้นเลื้อยเจื้อยเปรอะอย่างยิ่ง ได้ทำการบูชาแทรกในพระราชพิธีอยู่แต่ก่อนนั้น คือในเวลาพระราชพิธีพรุณศาสตร์ บ่าย ๓ โมงพราหมณ์เชิญฤๅษีกไลยโกฏินั่ง ๑ ยืน ๒ มาตั้งที่แท่นกลางแจ้งหน้าหอพระราชพิธีเก่าในพระราชวัง มีเครื่องบูชาธูปเทียนข้าวตอกดอกไม้จัดลงตระบะเครื่องบูชาเหมือนอย่างบริขารกฐิน แล้วขุนหมื่นพราหมณ์อ่านเทพชุมนุมจบ ๑ เป่าสังข์สองคน อ่านวันละสามจบทุกวัน แล้วตั้งรูปพระฤๅษีนั้นผึ่งแดดตรำฝนไว้ตลอดพระราชพิธี

การที่จะอ่านเทพชุมนุมนี้ มีข้อบังคับไว้ว่า เมื่อจะสังวัธยายพระมหาเทพชุมนุมนี้ ให้นมัสการเป็นเบญจางคประดิษฐ์ ตั้งนโมสามจบ แล้วว่าพระไตรสรณคมน์ แล้วจึงว่าคำนมัสการพระศิวลึงค์อีกสามจบ แล้วตั้งอธิษฐานปรารถนาก่อนแล้วจึงอ่าน ในเรื่องเทพชุมนุมนั้น ขึ้นต้นขอนมัสการพระรัตนตรัย และนมัสการคุณพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี พระศรีศากยมุนี พระพุทธรูป พระสถูป พระศรีมหาโพธิ พระพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์ พระศรีอริยเมตไตรย พระพุทธเจ้าอีก ๒๘ พระองค์และพระพุทธเจ้าสามพระองค์ และพระธรรมแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ พระแก้ว พระบาง พระแก่นจันทน์ พระพุทธสิหิงค์ แล้วต่อไปออกชื่อพระอรหันต์ปนกันเลอะไปกับชื่อพระพุทธเจ้าแต่ก่อนๆ แล้วไปลงนวโลกุตรธรรม ปีติ ๕ กรรมฐาน ๔๐ วิปัสสนา ๔๐ แล้วไหว้พระพุทธบาทอันมีในสถานที่ต่างๆ ทั้งพระจุฬามณี พระเชตวัน พระรัตนบัลลังก์ ภายใต้พระศรีมหาโพธิ พระสารีริกธาตุ พระปัจเจกโพธิ แล้วไหลไปพระสิริสุทโธทน พระสิริมหามายา แล้วไปออกชื่อกษัตริย์โสฬสบางองค์ ซึ่งได้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาตลอดลงมาจนพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช แล้วออกชื่อเทวดา พราหมณ์ๆ ทั้งพระอิศวร พระนารายณ์ พระอุมาเป็นต้นอีกมากหลายองค์ จนถึงเทวดานพเคราะห์ และเทวดาที่รู้จักง่ายๆ เช่น นางมณีเมขลาเป็นต้น และภูมิเทวดา และชั้นกามาพจร ๖ พรหมโลกอีก ๑๖ ออกชื่อตลอด เชิญพระอินทร์และมเหสีทั้งครัว ท้าวโลกบาล พระยายมราช นายนิรยบาล โขมดฟ้าผ่า ยักขินี และปู่เจ้าต่างๆ มีสมิงพรายเป็นต้น เทวดาและยักษ์ที่เป็นอารักขเทวดาและเทวดาตีนพระเมรุ เลยไปจนถึงปลาตะเพียนทอง ช้างน้ำ ต้นไม้ประจำทวีป แล้วจึงนมัสการพระฤๅษีที่อยู่ในป่าพระหิมพานต์แปดหมื่นสี่พัน ที่ออกชื่อก็หลายองค์ มีฤๅษีกไลยโกฏิเป็นต้น แล้วเลยไปถึงเพทยาธรกินนรอะไรๆ อย่างยีโอกราฟีของไตรภูมิแล้ว ไปหาสัตว์ซึ่งมีฤทธิ์ คือช้างเอราวัณ ช้างฉัททันต์ อุโบสถ อัฐทิศ ราชสีห์ แล้วไปจับเรื่องจักรพรรดิ และเจ้าแผ่นดินในเรื่องนิทานรามเกียรติ์ อุณรุท เช่นท้าวทศรถ บรมจักรกฤษณ เป็นต้น จนถึงท้าวพระยาวานรและยักษ์ เช่นสัทธาสูร มูลพะลำ นกสำพาที มีชื่อตามแต่จะนึกได้ หมดชื่อเหล่านี้แล้วจึงต่อว่าเทวดา ว่าเมื่อพระพุทธเจ้าจะเข้าสู่ปรินิพพาน ได้ฝากพระพุทธศาสนาไว้แก่เทวดาประจำทวีปทั้งสี่ มีพระอินทร์เป็นต้น ได้รับปฏิญาณว่าจะช่วยค้ำชูพระศาสนาพระสัพพัญญูถ้วนห้าพันพระวัสสา บัดนี้มีเข็ญร้อนทุกเส้นหญ้าทั่วทุกสรรพสัตว์ ขัดฟ้าฝนไม่ตกลงมาตามฤดูบุราณราชประเพณี มีวิบัติต่างๆ ผิดอย่างบุราณราช ผิดพระพุทธโอวาทให้เคืองใต้ฝ่าพระบาทพระบรเมศวรบรมนาถ บัดนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว จึงใช้ให้ข้าพเจ้ามาทำพิธี ร่ายพระมนต์มหาจินดา ต่อนั้นไปบ่นพึมพำ ถึงพระมหาบุรุษลักษณ พระไตรสรณคมน์ เมตตาพรหมวิหาร ไตรลักษณญาณ และอะไรต่างๆ ขอให้กำจัดวิบัติราชภัย โจรภัย อัคคีภัย อุทกภัย จัญไรทั้งปวง แล้วเชิญพระกรรมฐาน ๔๐ วิปัสสนา ๔๐ ลงอยู่ในศีรษะ ท้าวมหาพรหมอยู่หน้าผาก พระอินทร์อยู่แขนซ้าย พระนารายณ์อยู่แขนขวา แม่น้ำพระคงคามารองดวงใจ แล้วซ้ำเอาพระเสาร์มาไว้ข้างซ้าย เอาพระนารายณ์มาไว้ข้างขวา แล้วเอาพระอังคารไปไว้ข้างซ้าย เอาพระอาทิตย์มาไว้เป็นตัว เอาพระอิศวรมาไว้ในดวงใจ ทำการสิ่งใดให้สำเร็จดังปรารถนา แล้วขอคุณพระมหากษัตริย์และเทวดาให้มาประสิทธิ์ ลงท้ายกลายเป็นคาถาไม่เป็นภาษาคนสองสามคำแล้ว ก็จบผุบลงไปเฉยๆ อยู่ข้างจะเร่อร่าเป็นของคนเถนๆ อะไรแต่งขึ้นเรื่องเดียวกับสรรเสริญจระเข้ หรือปัดพิษติดแสลง แต่เล่าย่อๆ มานี้ก็ดูบ้าพอใช้อยู่แล้วขอยุติเสียที แต่การบูชาเช่นนี้เดี๋ยวนี้ไม่ได้ทำมาเสียนานแล้ว นับว่าเป็นตำราสูญ

คำตักเตือน
การพิธีฝนอย่างน้อย มหาดเล็กต้องคอยรับเทียนนมัสการประจำวัน และเทียนพานตามเคยไปถวายที่เกยบนหอพระ ภูษามาลาคอยถวายพระสุหร่ายและแป้งทรงเจิม สนมคอยถวายเทียนชนวนตระบะมุกในหอพระ มหาดเล็กต้องถวายเทียนพานด้วยอีกครั้งหนึ่ง

พระราชพิธีใหญ่ ภูษามาลาจงอย่าได้ลืมเทียนทองสำหรับจุดเทียนชัย แต่ก่อนเคยขาดมามีตัวอย่าง มหาดเล็กอย่าลืมโคมไฟฟ้า แล้วให้คอยถวายเทียนพาน ภูษามาลาถวายพระสุหร่ายและทรงเจิม เสด็จขึ้นหอพระ หน้าที่มหาดเล็กภูษามาลาสนม เหมือนพระราชพิธีน้อย แล้วให้มหาดเล็กคอยเชิญเสด็จพระเจ้าลูกเธอ และถือพานเทียนตามไปจุดเครื่องนมัสการเทวรูปที่พลับพลาน้อยด้วยทุกวัน

อนึ่ง ในการพระราชพิธีพรุณศาสตร์ใหญ่ เสด็จพระราชดำเนินออกทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการทองใหญ่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามก่อนแล้ว จึงเสด็จพระราชดำเนินพลับพลาท้องสนามหลวงทุกวัน มีพานเทียนสำหรับวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งมหาดเล็กเคยถวายด้วย ๚

-------------------------------------------------------------------------------------
[๑] พระสุเมธาจารย์ ศรี วัดชนะสงคราม
[๒] พระคุณวงศ์ สน วัดปรมัยยิกาวาส


เดือนเก้า
การพระราชกุศลในวันประสูติและสวรรคต

๏ การพระราชกุศลอย่างนี้ มีกำหนดตามวัน ซึ่งตรงกับวันประสูติและสวรรคต ของพระบรมอัฐิแลพระอัฐินั้นๆ รายไปตามเดือนวันต่างๆ กัน แต่ข้าพเจ้าลืมเสียหาได้กล่าวตามรายเดือนที่ได้บำเพ็ญพระราชกุศลนั้นไม่ ครั้นเมื่อนึกขึ้นได้แล้ว ก็คิดเห็นว่าการพระราชกุศลนั้นเป็นแบบเดียวกันทุกครั้ง เป็นแต่ต่างวันกันไปเท่านั้น ควรจะรวมว่าในที่แห่งเดียว เหมือนอย่างเปลื้องเครื่องพระมหามณีรัตนปฏิมากรได้ จึงได้รอไว้จนเดือนเก้า ซึ่งเป็นเดือนสวรรคตพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก นับว่าเป็นที่หนึ่งและเป็นเดือนที่มีการน้อยพอจะแทรกแซงได้

การพระราชกุศลเรื่องนี้ พึ่งเกิดมีขึ้นในรัชกาลที่ ๔ การที่ทำนั้นเป็นการข้างใน คือเชิญพระบรมอัฐิไม่ต้องมีประโคมกลองชนะ ด้วยพระราชประสงค์จะให้เป็นแต่การเงียบๆ จึงได้ทำที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณตรงหอพระอัฐิลงมา เหมือนทำในหอพระอัฐิเอง การที่จัดนั้น พระบรมอัฐิตั้งแว่นฟ้าทองคำสองชั้น บุษบกทองคำมีเครื่องสูงบังแทรก ตั้งเครื่องราชูปโภคบริโภคบนม้าทองใหญ่สองข้างแว่นฟ้า เครื่องนมัสการโต๊ะทองคำลงยาราชาวดี มีเครื่องทองน้อยสำหรับพระบรมอัฐิสำรับ ๑ ถ้ามีพระอัฐิ ใช้พานทองสองชั้นใหญ่รอง ตั้งบนโต๊ะจีน ม้านมัสการทองน้อยอีกสำรับ ๑ โยงพระภูษาเส้นหยาบ ให้เนื่องกันกับพระบรมอัฐิ พระภูษาโยงใหญ่รองพานมหากฐินมีแต่เฉพาะที่พระบรมอัฐิ ตั้งโต๊ะหมู่ที่ผนังด้านหุ้มกลองตรงรูปพระเทวกรรม์ ตั้งพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาวันของพระบรมอัฐิ แลพระอัฐิ พระสงฆ์ซึ่งใช้ในการพระราชกุศลนี้มีกำหนดพระบรมอัฐิ ๑๐ รูป พระอัฐิ ๕ รูป แต่ถ้าพระอัฐิแยกออกต่างหาก ใช้ ๑๐ รูป แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงตามสมัยรัชกาลอยู่ดังนี้

คือเมื่อรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทำวันประสูติคราว ๑ วันสวรรคตคราว ๑ พระสงฆ์คราวละ ๑๐ รูป ไตรๆ ๑ ผ้าขาว ๙ พับ กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ มารวมพร้อมกันกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระสงฆ์คราวละ ๕ รูป ผ้าไตรคราวละไตร ผ้าขาวคราวละ ๔ พับ

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทำทั้งวันประสูติและวันสวรรคต พระสงฆ์คราวละ ๑๐ รูป ผ้าไตรคราวละ ๑๐ ไตร

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีเลี้ยงพระสวดมนต์มีเทศนาแต่วันประสูติ วันสวรรคตสดับปกรณ์พร้อมด้วยกาลานุกาล พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระสงฆ์คราวละ ๑๐ รูป ไตรคราวละไตร ผ้าขาวคราวละ ๙ พับ กรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย มีแต่คราวที่พร้อมกับวันประสูติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสงฆ์ ๕ รูป ผ้าไตร ๆ ๑ ผ้าขาว ๔ พับ

กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ทำตามวันประสูติและวันสวรรคตของท่าน ไม่ได้รวมในการพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ใช้พระสงฆ์คราวละ ๑๐ รูป ผ้าไตรคราวละ ๑๐ ไตร แปลกแต่ที่ตั้งพระอัฐิใช้โต๊ะจีน พระอัฐิรองพานสองชั้นใหญ่ มีเครื่องอุปโภคบริโภคตั้งสองข้าง พระภูษาโยงใหญ่ใช้พานมหากฐิน เครื่องนมัสการใช้โต๊ะถมพานทองสองชั้น มีเครื่องทองน้อยสำรับ ๑

แต่ครั้นเมื่อถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ พระอัฐิกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ยกไปทำพร้อมกับพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบรมอัฐิใช้ผ้าไตรคราวละไตร ผ้าขาวคราวละ ๙ พับ พระอัฐิใช้ผ้าไตรคราวละไตร ผ้าขาวคราวละ ๔ พับ เหมือนอย่างพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์

เพิ่มการพระราชกุศลวันประสูติ และวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ขึ้นใหม่ แต่วันประสูติและวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ้องกับการพระราชกุศลออกพรรษา การออกพรรษาแต่ก่อนเคยเลี้ยงพระสงฆ์อยู่วันละ ๒๐ รูป ทั้ง ๒ วันแล้ว พระสงฆ์ที่ทำบุญในการพระบรมอัฐิจะลดลงเป็น ๑๐ รูป ตามแบบเดิมก็ไม่ควร จึงได้คงเป็นวันละ ๒๐ รูป ผ้าไตรเป็นวันละ ๒๐ ไตร เชิญพระบรมอัฐิออกตั้งสดับปกรณ์ที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ซึ่งเป็นที่เลี้ยงพระในการออกพรรษาอยู่เดิมนั้น จึงต้องกลายเป็นมีประโคมแตรสังข์มโหระทึกกลองชนะ เป็นการนอกพระราชวังแปลกไปงานหนึ่ง แต่กรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ คงใช้ตามแบบกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ เมื่อในรัชกาลที่ ๔ นั้น

ในการทำบุญพระบรมอัฐิ และพระอัฐิทั้งปวงนี้ มีสดับปกรณ์ ๒๐๐ รูป ในเวลาพระสงฆ์ฉันแล้ว เวลาค่ำสวดมนต์จบมีเทศนากัณฑ์ ๑ เครื่องกัณฑ์ ผ้าจีวรเนื้อดีผืน ๑ ธูป ๑๐๐ เทียน ๑๐๐ หมากพลู และสิ่งของเครื่องบริโภคต่างๆ เงินติดเทียน ๓ ตำลึงเหมือนกันทุกครั้ง เว้นไว้แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในกลางเดือน ๑๑ เคยมีเทศนาวิเศษ เครื่องกัณฑ์ไตรแพรบริขารกฐิน เงินติดเทียน ๑๐ ตำลึงอยู่แล้ว จึงได้คงไว้ตามเดิม

การที่ทำนั้นเวลาเช้าเลี้ยงพระสงฆ์ เมื่อรัชกาลที่ ๔ ไม่โปรดในการที่พระเจ้าแผ่นดินทรงถวายสำรับเป็นสังฆทาน พระสงฆ์รับสาธุและอปโลกน์แล้ว จึงทรงประเคน ซึ่งเป็นธรรมเนียมมีมาทุกรัชกาลแต่ก่อนๆ ด้วยทรงเห็นว่าของที่พระสงฆ์ฉันไม่หมด เหลือไปให้ลูกศิษย์กินเป็นกินของสงฆ์ พระสงฆ์ผู้ที่รับและผู้ที่ให้นั้นต้องอาบัติจึงได้ทรงเลิกเสีย เวลาพระสงฆ์ถวายพรพระจบลงก็ทรงประเคนทีเดียว เป็นส่วนบุคลิก แต่ในการทำบุญพระอัฐิเช่นนี้ เคยทรงเป็นการพิเศษอย่างหนึ่ง คือมีคนโทกรอกน้ำถ้วยครอบทรงถือลงมาด้วย เวลาพระสงฆ์ถวายพรพระจบแล้ว สดับปกรณ์ผ้าไตรผ้าขาวพับ พระสงฆ์กลับไปนั่งที่เรียบร้อยแล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินไปที่ต้นแถว ทรงรินน้ำลงในถ้วยแก้ว แล้วรับสั่งด้วยภาษามคธ ข้าพเจ้าไม่เข้าใจว่ากระไรแลไม่สนใจจะฟังด้วย เห็นแต่เมื่อจบลงแล้วทรงประเคนถ้วยน้ำนั้น พระสงฆ์รับไปลูบหน้าบ้าง รินลงในขันน้ำบ้าง ส่งต่อๆ กันไปจนตลอดแถวแล้วจึงได้ทรงประเคน แต่มาในแผ่นดินปัจจุบันนี้ ข้าพเจ้าไม่เข้าใจก็ไม่ได้ทำอย่างนั้นเลย เป็นแต่ประเคนสำรับตามธรรมเนียม เมื่อพระสงฆ์ฉันแล้วในชั้นหลังๆ ทรงชักเงินที่สำหรับแจกเจ้านายและเจ้าพนักงาน ออกพระราชทานให้สังฆการีถวายพระสงฆ์องค์ที่มาฉันองค์ละสลึง ก็เลยเป็นตำราชาวคลังจัดมาพอครบองค์ละสลึงต่างหาก พระที่ฉันกลับไปแล้วจึงได้สดับปกรณ์รายร้อย มีสวดมาติกาถวายยถาอีกครั้งหนึ่ง พระราชทานเงินสดับปกรณ์รายร้อยสำหรับพระสงฆ์รูปละเฟื้องให้สังฆการี แล้วพระราชทานแจกพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการที่เนื่องในพระวงศ์เสมอองค์ละสลึง เหลือนั้นพระราชทานให้เจ้านายองค์ใดองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นผู้บังคับเจ้าพนักงานบางกรม มีกรมหมื่นอุดมรัตนราศี ซึ่งบังคับกรมสังฆการีเป็นต้น ให้แจกเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องในการทำบุญนั้นทั่วทุกกรม เป็นเสร็จการในเวลาเช้า ครั้นเวลาค่ำพระสงฆ์ที่ฉันเวลาเช้านั้น มาสวดมนต์อีกเวลาหนึ่ง ไม่ได้ทรงศีล สวดธรรมจักกัปปวัตนสูตรจบแล้วมาติกา ต่อภายหลังมาในรัชกาลปัจจุบันนี้ เมื่อหนังสือสวดมนต์ปีมะโรงโทศกออกแล้ว วันประสูติจึงได้สวดธรรมจักกัปปวัตนสูตร วันสวรรคตสวดอนัตตลักขณสูตร เมื่อสวดมนต์จบแล้ว สดับปกรณ์ผ้าเช็ดปาก ธูปเทียน และทรงประเคนหมากพลู ใบชา แล้วพระสงฆ์ที่เทศนาเข้ามานั่งเข้าแถวพระสงฆ์ที่สวดมนต์นั้น เวลาที่พระเทศน์เข้ามา รับสั่งให้พระเจ้าลูกเธอไปเชิญเสด็จเจ้านายข้างในขึ้นไปทรงธรรมที่ชานพัก มีโต๊ะดอกไม้ธูปเทียนเครื่องนมัสการด้วยทุกองค์ เวลาเทศน์จบสดับปกรณ์ผ้าจีวรของหลวงแล้ว เจ้านายฝ่ายในถวายผ้าสบง หมากพลู ธูปเทียนองค์ละสำรับ การที่ถวายของพระในปัจจุบันนี้ยังคงอยู่ แต่เครื่องนมัสการนั้น เจ้านายชั้นหลังท่านจะทรงเห็นเร่อร่ารุงรังอย่างไร ดูเลิกหายไปเงียบๆ ไม่มีเหตุการณ์อันใด พระสงฆ์ที่สวดมนต์รับสัพพีอติเรกถวายพระพรลากลับพร้อมกันกับพระเทศน์ เสร็จการในเวลาค่ำ

แต่การทำบุญพระอัฐิในชั้นหลัง ตั้งแต่พระพุทธมนเทียรแล้วเสร็จ ย้ายไปทำที่พระพุทธมนเทียรมุขเหนือ ตามพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยเรื่องที่ทรงพระราชดำริจะให้พระพุทธมนเทียรไม่เป็นที่ร้างเปล่า และจะให้เป็นที่เก็บแว่นฟ้าและบุษบกทองคำ ไม่ต้องให้ยกไปยกมาซึ่งเป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรมมากนั้น การพระราชกุศลทั้งปวงก็คงอยู่ตามเดิม เป็นแต่เปลี่ยนที่เท่านั้น

กำหนดวันทำบุญพระบรมอัฐิ และรายวัดพระสงฆ์ซึ่งใช้ประจำอยู่ในการพระบรมอัฐิ พระอัฐิ ดังนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก วันประสูติเดือน ๔ แรม ๕ ค่ำ พระสงฆ์วัดพระเชตุพน วันสวรรคตเดือน ๙ แรม ๑๓ ค่ำ พระสงฆ์วัดพระเชตุพนบ้าง วัดสระเกศบ้าง กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระสงฆ์วัดรัชฎาธิษฐาน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย วันประสูติเดือน ๔ ขึ้น ๗ ค่ำ วันสวรรคตเดือน ๘ แรม ๑๑ ค่ำ ถ้าเป็นอธิกมาศใช้เดือน ๘ อุตราสาฒ พระสงฆ์วัดอรุณราชวราราม กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระสงฆ์วัดเขมาภิรตาราม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติเดือน ๔ แรม ๑๐ ค่ำ พระสงฆ์วัดราชโอรส สวรรคตเดือน ๕ ขึ้นค่ำ ๑ พระสงฆ์วัดสุทัศนเทพวราราม กรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระสงฆ์วัดหนัง กรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ ประสูติเดือน ๘ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ถ้าเป็นปีอธิกมาศก็ใช้เดือน ๘ อุตราสาฒ สวรรคตเดือน ๑๐ ขึ้น ๕ ค่ำ พระสงฆ์วัดเทพศิรินทราวาสทั้งสองคราว แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น วันประสูติและวันสวรรคตติดกันอยู่ คือประสูติเดือน ๑๑ขึ้น ๑๔ ค่ำ สวรรคตเดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ จำนวนพระสงฆ์ก็มากถึง ๔๐ รูป และพระสงฆ์ที่เคยฉันในการออกพรรษาแต่ก่อนก็เคยใช้พระราชาคณะวัดต่างๆ กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ จึงได้ทรงเปิดวันประสูติให้เป็นพระสงฆ์วัดต่างๆ แต่เลือกวัดที่ได้ทรงสถาปนาบ้าง ทรงปฏิสังขรณ์บ้าง คือวัดโมฬีโลก วัดมหาพฤฒาราม วัดชัยพฤกษ์มาลา เป็นต้น ต่อวันสวรรคตจึงได้ใช้วัดราชประดิษฐ์ทั้งวัด พระสงฆ์ที่ถวายเทศน์ ก็อยู่ข้างจะเกือบประจำตัว เป็นพระสงฆ์ในวัดที่ทรงสร้างบ้าง เป็นหลานเธอในรัชกาลนั้นบ้าง

คำตักเตือนในการพระราชกุศลเรื่องนี้ ถ้าเป็นแต่ก่อนก็จะต้องเตือนเรื่องตั้งเครื่องนมัสการ แต่ในปัจจุบันนี้ตั้งเครื่องนมัสการเสียเสร็จแล้วก็ไม่ต้องมีอะไรเตือน ยังมีอยู่อย่างเดียวแต่ถ้าพระอัฐิออกพร้อมกับพระบรมอัฐิ เครื่องทองน้อยที่ตั้งอยู่บนโต๊ะจีนหน้าพระอัฐิ แปลว่าสำหรับเจ้าแผ่นดินนมัสการพระอัฐิ มิใช่สำหรับพระอัฐิทรงธรรม ซึ่งควรจะจุดในเวลาทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการทรงธรรม เครื่องทองน้อยหน้าพระอัฐิเช่นนี้ ต้องทรงจุดก่อนหน้าพระสงฆ์ฉันหรือเวลาสวดมนต์ มหาดเล็กต้องคอยถวายเทียนชนวน มีเรื่องที่จะเตือนอยู่อย่างเดียวเท่านี้ ๚
   



หัวข้อ: Re: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 10 กรกฎาคม 2561 15:56:40
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/66283886507153_CX_EV_CR91_1_.jpg) (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/99790366035368_35927174_410501056132247_38455.jpg)

พระราชพิธีเดือน ๑๐
• การพระราชกุศลกาลานุกาล  
• การพระราชกุศลตักบาตรน้ำผึ้ง
• การเฉลิมพระชนมพรรษา
-----------------------------------

๏ ในกฎมนเทียรบาล รายบัญชีย่อ บอกแต่ว่าภัทรบทพิธีสารท แต่ในรายละเอียด มีความชัดออกไปว่าเดือน ๑๐ การพิธีภัทรบท ทอดเชือกดามเชือก ถวายบังคมเลี้ยงลูกขุน ถือน้ำพระพิพัฒน์ เมื่อดูในคำให้การขุนหลวงหาวัด บอกชื่อชัดออกไปอีกนิดหนึ่งว่า “เดือน ๑๐ ชื่อพิธีภัทรบท” แล้วก็เลยต่อความว่า “ฉลองนาคหลวง” แล้วจึงรำขอและรำทอดเชือกดามเชือก สนานช้างต้นม้าต้น เมื่อได้ทราบความเท่าที่จดหมายไว้ในหนังสือสองแห่งนี้ ต้องเข้าใจว่า พิธีชื่อภัทรบทสำหรับทำในเดือน ๑๐ ก็คือพิธีสารทนั้นเอง เมื่อถามพราหมณ์ทุกวันนี้ก็ได้ความตามจดหมายย่อ ว่าเดือน ๑๐ พระราชพิธีมัทเยนักษัตเตรสาตตรำ แปลไว้ว่าสารทกลางปี สงฆ์พราหมณ์ร่วมกัน เมื่อไล่เลียงดูว่า การพิธีที่ทำนั้น คือพิธีสารทหรือมีอย่างอื่นอีก ก็ได้ความว่าพิธีสารทนั้นเอง จึงเกือบจะตกลงใจแน่ว่า พิธีภัทรบท เป็นพิธีสารท พิธีการหลวง เช่นทำอยู่ทุกวันนี้เอง

แต่ที่แท้ไม่ใช่เช่นนั้นเลย เป็นคนละพิธีทีเดียว พราหมณ์เดี๋ยวนี้ตื้นแน่ ข้าพเจ้าได้พบในหนังสือนพมาศ ได้ความชัดว่า พิธีภัทรบทเป็นพิธีของพราหมณ์ทำอย่างไสยศาสตร์แท้ ไม่ได้เกี่ยวกับพุทธศาสน์ แต่เป็นเครื่องนำหน้าพิธีสารท พิธีเดือน ๑๐ คงเป็นอันที่พราหมณ์ทำส่วนของพราหมณ์เอง ในกลางเดือนพิธีหนึ่ง เพื่อจะเป็นการชำระบาปของตัว ให้บริสุทธิ์ไว้ทำการพระราชพิธีสารทซึ่งจะมีต่อปลายเดือนภายหลังพิธีแรก คือพิธีกลางเดือนนั้นเรียกว่าพิธีภัทรบท พิธีหลังคือพิธีปลายเดือนนั้น เรียกว่าพิธีสารท

การพิธีกลางเดือน พิเคราะห์ดูคล้ายกันกับพิธีศิวาราตรี ที่เป็นพิธีของพราหมณ์ทำเอง ทำนองเดียวกันกับมหาปวารณา ไม่มีเงินทักขิณบูชา และเครื่องสักการะต่างๆ ของหลวงจ่ายเหมือนอย่างการพระราชพิธีซึ่งทำเป็นของหลวงทั้งปวง เมื่อพราหมณ์ประพฤติศาสนาของตัวเสื่อมคลายลง จนไปตรงกับคำนุ่งคำกู การพิธีซึ่งไม่มีประโยชน์ และไม่มีใครบังคับให้ทำจึงได้ละเลยเสีย ไม่ทำทั้งพิธีศิวาราตรีและพิธีภัทรบท พิธีศิวาราตรีก็พึ่งมากลับมีขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๔ เป็นตัวอย่าง

จะป่วยกล่าวไปไยในพิธีพราหมณ์ ซึ่งหลวมโพรกมาแต่เดิมแล้ว แต่การทำอุโบสถเดือนละสองครั้ง มหาปวารณาปีละครั้งของพระสงฆ์ แต่ก่อนก็ไม่ได้ทำมากกว่าทำ พึ่งจะมาเข้มงวดกันขึ้นในรัชกาลที่ ๔ เมื่อทรงเป็นพระราชธุระตรวจตรา จนมีชื่อวัดว่าเป็นวัดปวารณาเดิม ปวารณาตาม เป็นพยานอยู่จนเดี๋ยวนี้ ก็เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าการที่ทำอุโบสถและปวารณาไม่มีผลประโยชน์อันใด และไม่มีผู้ใดตรวจตราบังคับบัญชาให้ทำการสวดปาติโมกข์ทำอุโบสถ จึงต้องมีเครื่องล่อคือกระจาดและผ้าไตร ก็มีสวดปาติโมกข์มากขึ้น แต่ปวารณายังไม่มีอะไร ก็เงียบอยู่จนถึงเลิกกระจาดปาติโมกข์วันมหาปวารณามาเฉลี่ยแจก และตรวจตรากันเข้มงวดขึ้น จึงได้มีพระปวารณา

ชักตัวอย่างมาว่านี้ เพื่อจะให้เห็นว่า การพิธีที่เป็นส่วนของผู้ถือศาสนาทำเอง เมื่อความศรัทธาเสื่อมคลายลง ก็ทำให้ย่อๆ ลงไปจนเลยหายไปได้ เช่นพิธีศิวาราตรี พิธีภัทรบท แต่พิธีศิวาราตรี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าทรงเกณฑ์ให้ทำขึ้นใหม่ได้ พิธีภัทรบทอย่างไรจึงไม่ทรงให้ทำก็ไม่ทราบ หรือจะเป็นด้วยทรงพระราชดำริเห็นว่าเดือนที่ทำพิธีศิวาราตรีเป็นเดือนว่างพิธีอื่น แต่ในเดือน ๑๐ นี้มีพิธีสารทอยู่แล้ว ปล่อยให้รวมกันเสียทีหนึ่งอย่างไรไม่ทราบ แต่ถ้าจะเถียงว่า ถ้าพิธีภัทรบทมีจริงดังว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้ามิโปรดให้ทำเสียเหมือนพิธีศิวาราตรีแล้วหรือ การที่ว่ามีพิธีต่างหาก จะเป็นข้าพเจ้าเดามากเกินแล้ว ข้าพเจ้าจะขออ้างพยาน ยกหนังสือซึ่งนางนพมาศได้แต่งไว้ มากล่าวให้พิจารณาดูในที่นี้ ในหนังสือนางนพมาศนั้นว่า “ครั้นเดือน ๑๐ ถึงการพระราชพิธีภัทรบท เป็นนักขัตฤกษ์มหาชนทำมธุปายาสทานและจะเด็ดดวงข้าวสาลี เป็นปฐมเก็บเกี่ยว ชีพ่อพราหมณ์ทั้งปวงก็เริ่มการพลีกรรม สรวงสังเวยบูชาพระไพสพ ตั้งปัญจสาครเต็มด้วยน้ำในพระเทวสถาน อบรมน้ำด้วยเครื่องสุคันธชาติและบุปผชาติให้มีกลิ่นหอมเป็นอันดีแล้ว จึงเชิญพระเทวรูป ๑๖ ปาง ลงโสรจสรง อ่านพระเวทเผยศิวาลัย เพื่อจะให้บำบัดอุปัทวจัญไรภัยพยาธิทุกข์โทษต่างๆ อันว่าหมู่พราหมณ์บรรดาซึ่งได้เล่าเรียนไตรเพท ย่อมถือลัทธิว่าเดือน ๑๐ เป็นปฐมคัพภสาลี มหาชนเก็บเกี่ยวมาทำมธุปายาสยาคูเลี้ยงพราหมณ์ เพื่อจะให้เป็นมงคลแก่ข้าวในนา อันเมล็ดรวงข้าวนี้เป็นปางพระไพสพ แม้นชาติพราหมณ์ผู้ใดยังมิได้ลอยบาปจะพึงบริโภคมธุปายาสและยาคู อันบุคคลกระทำด้วยปฐมคัพภชาติสาลี ก็บังเกิดทุกข์โทษอุปัทวจัญไรแก่ตน ทั้งปราศจากความสวัสดิมงคลแก่นรชาติทั้งหลาย เหตุดังนั้นพราหมณาจารย์ผู้รู้เพทางคศาสตร์ จึงกระทำพิธีภัทรบททลอยบาป” ความว่าด้วยพิธีภัทรบทยกมูลเหตุชัดเจน ว่าเป็นพิธีลอยบาป เพื่อจะรับมธุปายาสและยาคูคัพภสาลีชัดเจนดังนี้ แต่ถึงว่านางนพมาศไม่กล่าวถึงพิธีภัทรบทชัดกว่าตำราอื่นๆ เพราะไปว่าถึงพิธีสารทปนเข้าเสียในระหว่างกลางๆ คือไปกล่าวถึงการกุศลซึ่งคนทั้งปวงทำมธุปายาสและยาคูถวายพระสงฆ์ ด้วยอ้างว่าเป็นการพุทธศาสน์และไสยศาสตร์เจือกัน ข้อซึ่งนางนพมาศมิได้แยกออกเป็นสองพิธีให้ชัดเจน ก็ควรจะเห็นได้ว่าหนังสือที่นางนพมาศแต่งนั้น ไม่ได้ตั้งใจจะแยกออกเป็นพิธีๆ ว่าเดือนหนึ่งมีกี่พิธี ดังเช่นข้าพเจ้าแต่งนี้ประสงค์เอาแต่รายเดือนเป็นที่ตั้ง เกือบจะเลือกว่าเดือนหนึ่งจะว่าถึงพิธีหนึ่ง จนครบสิบสองเดือน คงเป็นอย่างเช่นตั้งใจจะทำเช่นเรียกว่าทวาทศมาสแท้ ความซึ่งข้าพเจ้าจะคัดมาชี้ให้เห็นเดี๋ยวนี้ ประสงค์แต่จะให้เข้าใจชัด ว่าพิธีภัทรบทกับพิธีสารทต่างกันเป็นสองพิธี จึงจะขอข้ามความที่นางนพมาศกล่าว ต่อที่ได้ยกมาว่าแล้ว ไปเก็บความแต่ที่จะต้องการขึ้นว่าให้เห็นชัดเจนได้ ดังความที่จะว่าต่อไปนี้ “ครั้นถึงวันขึ้น ๑๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรมค่ำ ๑ หมู่พราหมณาจารย์ผู้ซึ่งจะลอยบาป คือพระศรีมโหสถบิดาข้าน้อยนี้เป็นต้น ต่างถือสังข์บ้างกลดสำริดบ้าง มายังพระเทวสถาน บูชาพระเป็นเจ้าแล้ว จึงเชิญปัญจมหานทีในขันสาคร ซึ่งสมมติว่าเป็นน้ำล้างบาปใส่สังข์ใส่กลดแล้ว ก็นำลงไปยังท่าน้ำพร้อมด้วยบริวารยศ แหงนหน้าดูดวงพระอาทิตย์อันส่องแสง แม้นเห็นบริสุทธิ์ปราศจากเมฆหมอก จึงเอาเป็นฤกษ์ต้องที่จะล้างลอยบาป บางคนก็กระทำในเวลาราตรี เอาบริสุทธิ์แห่งดวงพระจันทร์เป็นฤกษ์ พราหมณ์ทั้งหลายนั่งห้อยเท้าเหยียบสายน้ำไหล อ่านอิศวรอาคมสิ้นวาระสามคาบ จึงรินวารีในสังข์ในกลดลงในลำคงคา แล้วจุ่มกายสยายมวยผม อาบน้ำดำเกล้าชำระขัดสีกรัชกายให้ปราศจากเหงื่อไคลบริสุทธิ์สบายกายสบายจิตเป็นอันดีแล้ว จึงขึ้นนั่งยังฝั่งน้ำผลัดอุทกสาฎกทั้งนุ่งทั้งห่มออกจากกาย วางเหนือแพหยวกบ้าง วางเหนือเฟือยสวะบ้าง ขอนไม้บ้าง ให้ลอยตามกระแสน้ำไหล ซ้ำร่ายพระเวทลอยบาปบอกบริสุทธิ์ต่อพระคงคา แล้วกลับคืนยังเคหะฐานแห่งตนและตน” ต่อนี้ไป เริ่มความว่าพิธีลอยบาปนี้ลอยได้แต่สามวัน วันต้นพราหมณ์ที่เป็นมหาศาลตระกูลลอยไปหมดฉบับอยู่เสียเพียงเท่านี้ ไม่ทราบว่าจะมีความอย่างไรต่อไป แต่ในความที่ค้างอยู่นี้ คงจะกล่าวว่าวันที่ ๒ พราหมณ์ชั้นนั้นลอย ที่ ๓ พราหมณ์ชั้นนั้นลอย แต่ถึงความขาดเช่นนี้ แต่พอได้ความสันนิษฐานในเรื่องที่ประสงค์จะกล่าวว่าพิธีภัทรบทต่างกันกับพิธีสารทอยู่แล้ว

แต่ข้อซึ่งข้าพเจ้าได้ยกพิธีศิวาราตรี และพิธีภัทรบทขึ้นเป็นคู่กัน กล่าวโทษพราหมณ์ว่าละเลยการในศาสนาของตัว เพราะไม่มีผลประโยชน์นั้นตัดสินเอาเป็นเด็ดขาดทีเดียวเช่นว่า ก็อยู่ข้างจะแรงเกินไปหน่อย ด้วยทำนองการพิธีของพราหมณ์ครั้งกรุงสุโขทัย และพราหมณ์ครั้งกรุงเก่าอยู่ข้างจะต่างแตกกันหลายอย่าง หรือบางทีพวกสุโขทัยเขาจะทำในเดือน ๑๐ พวกกรุงเก่าจะทำเดือน ๓ เพราะเป็นคนอาจารย์ อย่างไรไม่ทราบเลย แต่สังเกตดูลักษณะที่ทำเป็นคนละอย่าง ข้างพิธีศิวาราตรี ใช้น้ำสรงพระศิวลึงค์ชำระบาป ข้างพิธีภัทรบทใช้น้ำสรงเทวรูป ๑๖ ปางเป็นน้ำล้างบาป บางทีก็จะทั้งสองอย่างได้ เช่นได้กล่าวโทษจริงบ้างดอกกระมัง แต่มีข้อเถียงอยู่อีกอย่างหนึ่ง ว่าถ้าพราหมณ์จำจะต้องลอยบาปสองครั้งเช่นนั้น พราหมณ์สุโขทัยไม่ได้ทำพิธีศิวาราตรี จะมิเป็นอันละการลอยบาปเสียครั้งหนึ่งหรือ ถ้าจะแก้แทนพราหมณ์สุโขทัย จะต้องกล่าวว่าให้พิเคราะห์ดูหนังสือนางนพมาศแต่ง ไม่ได้ตั้งใจจะนับรายชื่อพิธี เช่นได้กล่าวมาเมื่อตะกี้นี้ ในเดือนสามนั้นมีพิธีธานยเทาะห์ ที่ได้กล่าวไว้สนุกสนานแล้ว พิธีศิวาราตรีเป็นแต่พิธีของพราหมณ์เล็กน้อย อีกประการหนึ่ง นางนพมาศเป็นผู้หญิงมีมรรยาทอันเรียบร้อยระวังถ้อยคำที่จะกล่าว ข้อความอันใดที่ไม่เป็นการสมควรที่ผู้หญิงจะกล่าวถึง ก็ไม่กล่าวถึง ละทิ้งเสียเหมือนอย่างพิธีพรุณศาสตร์ ก็คงมีปั้นเมฆเหมือนกัน แต่หลีกเสียไม่กล่าวถึงปั้นเมฆเลย ถึงว่าพระศิวลึงค์จะเป็นของนับถือของพราหมณ์ในประเทศอินเดีย ไม่เป็นที่รังเกียจว่าหยาบคายอันใด แต่นางนพมาศเป็นพราหมณ์เมืองไทย ซึ่งพื้นบ้านพื้นเมืองถือกันว่าเป็นการหยาบ จึงละเสียไม่กล่าวถึงพิธีศิวาราตรี ทางแก้มีอยู่เช่นนี้ การถุ้งเถียงกันนี้ต้องยกไว้ จะกล่าวแต่ความมุ่งหมายของหนังสือที่จะแต่งไปบัดนี้ว่า ในเดือน ๑๐ นี้ มีพิธีอย่างหนึ่งแต่เห็นจะเป็นพิธีเปล่า มิใช่พระราชพิธี ที่เรียกว่าภัทรบททำในกลางเดือน ซึ่งมีชื่ออยู่ในตำราจดหมายเรื่องพิธีต่างๆ ชื่อต้องกันเป็นอย่างเดียวทุกฉบับได้ทำในกลางเดือน แต่เป็นพิธีสูญซึ่งมิได้ทำอยู่ในบัดนี้อย่างหนึ่ง

การที่จะต้องกล่าวในเดือน ๑๐ มีการพระราชกุศลซึ่งเกิดขึ้นใหม่ คือตักบาตรน้ำผึ้งและการเฉลิมพระชนมพรรษา การตักบาตรน้ำผึ้งเป็นของเกิดขึ้นใหม่และกร่อยๆ อยู่ การเฉลิมพระชนมพรรษาก็เลื่อนไปเลื่อนมา ถ้าจะกล่าวตามลำดับการพระราชกุศลสองอย่างนี้ ก็คงจะถึงกำหนดก่อนพระราชพิธีสารทโดยมากแต่เป็นส่วนที่เป็นพระราชกุศล มิใช่เป็นการพระราชพิธีประจำพระนคร เรื่องที่กล่าวถึงเดี๋ยวนี้จะว่าด้วยการพระราชพิธี เพราะฉะนั้นดูเหมือนจำเป็นที่จะต้องกล่าวการพระราชพิธี ซึ่งเป็นการประจำพระนครมีมาแต่โบราณก่อน บัดนี้จึงจะได้กล่าวด้วยการพระราชพิธีสารท ซึ่งอยู่ข้างจะนับว่าเป็นการเนื่องกับพิธีภัทรบท ซึ่งได้กล่าวแล้วนั้นต่อไปเป็นลำดับ

สารทซึ่งเป็นนักขัตฤกษ์เป็นที่นิยมของคนทั้งปวงทั่วไป ว่าเป็นสมัยที่จะได้ทำบุญ เมื่อ ปี เดือน วัน คืน ล่วงมาถึงกึ่งกลางรอบ ด้วยเหตุว่าเราถือเอากำหนดพระอาทิตย์ลงไปที่สุดทางใต้ กลับขึ้นมาเหนือถึงกึ่งกลางเป็นต้นปี ครั้นเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นไปเหนือจนสุดทางจะกลับลงใต้มาถึงกึ่งกลางก็เป็นอันพอบรรจบกึ่งปี ซึ่งไม่ทำการพระราชกุศลในกลางเดือนเหมือนการอื่นๆ เช่นลอยประทีปเป็นต้น ก็เพราะกำหนดที่จะถึงหกเดือนไปอยู่ในปลายเดือน ๑๐ ต้นเดือน ๑๑ เหมือนกับปีใหม่ก็อยู่ในปลายเดือน ๔ ต้นเดือน ๕ ฉะนั้น

อนึ่ง เมื่อถึงกึ่งกลางปีแล้ว ก็เป็นกำหนดที่จะถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาอีกครั้ง ๑ ควรจะถือในวันเดือน ๑๐ สิ้นเดือน หรือเดือน ๑๑ ขึ้นค่ำ ๑ แต่เพราะเหตุที่เปลี่ยนแปลงกำหนดไปดังได้กล่าวแล้วในการถือน้ำเดือน ๕ การถือน้ำเดือน ๑๐ คือถือน้ำสารทจึงได้เลื่อนเข้ามาอยู่ในวันเดือน ๑๐ แรม ๑๓ ค่ำ ก่อนพระราชพิธีสารท เพราะฉะนี้คเชนทรัศวสนานกลางปีนี้ จึงต้องแยกห่างกันไปกับพระราชพิธีศรีสัจจปานกาล ไม่ติดต่อกันเหมือนเดือน ๕ ทั้งที่ขึ้นชื่อนับว่าเป็นพิธีเนื่องกันอยู่ฉะนั้น การพระราชพิธีคเชนทรัศวสนานทอดเชือกดามเชือกได้เริ่มในวันเดือน ๑๑ ขึ้น ๔ ค่ำ สวดพระพุทธมนต์ทอดเชือก วันเดือน ๑๑ ขึ้น ๕ ค่ำ ดามเชือกและเดินสนาน การพระราชพิธีถือน้ำเดือน ๑๐ และคเชนทรัศวสนาน ทอดเชือกดามเชือก เดือน ๑๑ นี้ ได้กล่าวรวมไว้แล้วในถือน้ำ และคเชนทรัศวสนานเดือน ๕ จึงจะไม่กล่าวซ้ำอีกในเดือน ๑๐ นี้ การที่แปลกกันในพิธีต่อพิธีถือน้ำแปลกแต่ไม่ได้ตั้งพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา และไม่มีพยุหยาตราเลย ตั้งสวดในวันแรม ๑๒ ค่ำ คเชนทรัศวสนานช้างพระที่นั่งผูกเครื่องแถบกลมสำหรับฝน แต่โบราณมาในการเดินสนานเดือน ๑๐ นี้ ถ้าเดือน ๕ มีสนานใหญ่ เดือน ๑๐ ก็เป็นอันเลิกไม่มี จะมีก็แต่ครั้งกรุงสุโขทัย และคเชนทรัศวสนานอย่างน้อยตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๔ มาเท่านั้น

บัดนี้จะกล่าวด้วยพระราชพิธีสารท การพิธีสารทนี้เป็นของพราหมณ์ พุทธศาสนาทำตามอย่างพราหมณ์ การที่กวนข้าวปายาสหรือข้าวทิพย์ก็ดี ทำยาคูด้วยข้าวใหม่ซึ่งออกรวงเป็นน้ำนมก็ดี ก็เป็นลัทธิของพราหมณ์หรือของประเทศซึ่งนับถือพราหมณ์ทำเลี้ยงพราหมณ์ ซึ่งเป็นที่นับถือของคนในประเทศนั้นมาก่อนมีพระพุทธศาสนาช้านาน คำถือคนจำพวกที่เรียกว่าพราหมณ์ ซึ่งในหนังสือต่างๆ เรียกควงคู่กันอยู่กับสมณะเช่นกล่าวว่า “เป็นที่ร้อนอกสมณะพราหมณาจารย์” เป็นต้นเช่นนี้ ต้องเข้าใจว่าพราหมณ์กันพระนั้นเสมอกัน แต่เมื่อมาพิเคราะห์ดูพราหมณ์ทุกวันนี้ และสังเกตความนับถือของไทยเราทุกวันนี้ พราหมณ์เลวกว่าพระมากหลายเท่า ไม่น่าจะควงติดเป็นคู่กันเลย จนมีผู้แก้คำที่ใช้ว่าสมณะพราหมณาจารย์ เป็นสมณาจารย์เสียเปล่าๆ เช่นนี้ก็มี การซึ่งเป็นเช่นนี้เพราะเหตุใด เพราะเราเห็นว่าพราหมณ์นั้นไม่ผิดกับคนๆ ธรรมดาเลย เวลาจะไปไหนหรืออยู่บ้านเรือน ไม่ได้เข้าวังหรือไปในการมงคล ก็นุ่งผ้าสีต่างๆ อย่างคนเราธรรมดา แปลกแต่ไว้ผมยาวเกล้ามวยที่ท้ายทอย การที่เป็นเช่นนี้เพราะความเรียวของพราหมณ์ ซึ่งมาอยู่ในประเทศอื่นไม่มีตระกูลพราหมณ์มาก ก็เสื่อมทรามลงไป ตระกูลก็เจือปนกับคนในพื้นเมือง ความประพฤติก็หันเหียนไปตามคนในพื้นเมือง ก็อย่างเดียวกันกับพวกแขกเจ้าเซ็น หรือพวกฝรั่งโปรตุเกสที่เรียกกันว่าฝรั่งเข้ารีต ที่แท้เดิมก็เป็นแขกเป็นฝรั่งจริงๆ แต่ครั้นเมื่อมามีเกี่ยวดองพัวพันกันเข้ากับคนในพื้นเมือง นานมาก็คลายลงเป็นไทย ยังคงถืออยู่แต่ศาสนาเดิมเท่านั้นเอง

พราหมณ์ซึ่งเขานับถือกันเป็นคู่กับสมณะนั้น คือมีคนตระกูลหนึ่งซึ่งต้นเดิมจะเกิดขึ้นเพราะเหตุใดไม่มีผู้ใดจะรู้ได้ เพราะกาลล่วงมาหลายพันปี ต้องรู้ได้แต่ตามที่พราหมณ์เขาเล่าเอง ว่าเป็นผู้เกิดจากพรหม ความนับถือของคนพวกนี้ เป็นที่นิยมทั่วไปในพวกชนชาติฮินดูทั้งปวง ที่มีหลายตระกูลแตกกันออกไปอีก พราหมณ์นั้นมีประเพณีที่จะพึงประพฤติมากมายหลายอย่างนัก เป็นต้นว่าเกิดมาในตระกูลพราหมณ์จะไปแต่งงานมีสามีภรรยากับตระกูลอื่นก็ไม่ได้ จะกินข้าวกินน้ำร่วมกับตระกูลอื่นก็ไม่ได้ อย่าว่ากินร่วมเลย ถ้าพราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่งเจ็บจวนจะตายกระหายน้ำอย่างยิ่งเพียงเท่าใด เมื่อไม่มีพราหมณ์อยู่ในที่นั้น ไม่สามารถจะไปตักน้ำกินเองได้ ผู้ใดจะตักน้ำมายื่นให้ก็รับไม่ได้กินไม่ได้ ห้ามนั้นห้ามแต่ของบริโภค แต่ถ้าเป็นเงินทองข้าวของผู้ใดจะให้รับได้ พราหมณ์พวกนี้ถ้าเป็นผู้หญิงต้องมีการวิวาหะอาวาหะแต่ภายในอายุ ๑๒ ปีลงมา ถ้าอายุเกิน ๑๒ ปีขึ้นไป จะทำการวิวาหะอาวาหะกับผู้ใดไม่ได้ ต้องนับว่าเป็นคนที่เสียคนแล้ว ต้องเป็นนางพราหมณีสำหรับบูชาเทวรูปในเทวสถานไปจนตลอดสิ้นชีวิต เพราะฉะนั้นจึงมักต้องทำการวิวาหะอาวาหะเสียแต่ยังเด็กๆ หรือแต่แรกเกิดมาทีเดียว ถ้าเด็กหญิงผู้ใดเคราะห์ร้าย เด็กชายซึ่งได้ทำการอาวาหะวิวาหะไว้แต่ยังเล็กอยู่ ตายไปเสียต้องนับว่าเป็นม่ายทั้งไม่ได้อยู่กินด้วยกันเช่นนั้น บางทีเด็กอายุขวบหนึ่งสองขวบเป็นแม่ม่าย เด็กม่ายเช่นนั้น เมื่อโตขึ้นอายุครบ ๑๒ ปี ต้องโกนศีรษะแต่งตัวด้วยผ้าหยาบ จะสวมเครื่องประดับอันใดก็ไม่ได้ เกณฑ์ให้ชักประคำสวดมนต์ภาวนาไปจนตลอดสิ้นชีวิต ทรัพย์มรดกของบิดามารดา จะรับจะรักษาก็ไม่ได้ ต้องตกไปแก่ญาติผู้อื่นที่เป็นผู้ชาย ถ้าญาติผู้นั้นมีใจเมตตากรุณาอยู่ก็เลี้ยงดู ถ้าไม่มีใจเมตตากรุณาละเลยเสีย จะไปฟ้องร้องแห่งใดก็ไม่ได้ ต้องขอทานเขากิน แต่มีข้อบังคับสกัดข้างฝ่ายชายไว้เหมือนกันว่า ถ้าผู้ใดไม่มีบุตรที่จะสืบตระกูล บิดาและปู่ของผู้นั้น จะต้องตกนรกขุมหนึ่งซึ่งเรียกชื่อว่าปุต ถ้าลูกของตัวมีภริยามีบุตรชาย ก็เป็นอันพ้นทุกข์ ถ้ามีหลานเหลนสืบลงไปอีก ทวดปู่และบิดาก็ได้รับผลอันพิเศษเลื่อนขึ้นไปตามลำดับ

มีนิทานตัวอย่างปรากฏมาในคัมภีร์มหาภารตะ ว่ามีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อชรัตกะรุ ประพฤติพรตตั้งความเพียร ได้ฌานสมาบัติเที่ยวไปนมัสการสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ครั้นเวลาค่ำก็เข้าฌาณสมาบัติ อาศัยแต่ลมเป็นอาหาร ไม่นอนเลย เมื่อเที่ยวไปวันหนึ่งพบบรรพบุรุษของตัวห้อยศีรษะลงตรงปากหลุมอันใหญ่ เท้าชี้ขึ้นสู่ฟ้า ชรัตกะรุจึงได้ถามว่าท่านทั้งหลายนี้เป็นผู้ใด จึงมาต้องผูกห้อยศีรษะอยู่ด้วยเชือกของเถาวีรนะ ตรงปากหลุมใหญ่มีหนูทั้งหลายกัดแทะเนื้ออยู่โดยรอบในที่นี้ บรรพบุรุษนั้นจึงได้ตอบว่า เราทั้งหลายเป็นฤๅษีซึ่งเรียกตามคณะว่า ยะยะวะระ ซึ่งต้องมาได้ความลำบากเช่นนี้ เพราะไม่ได้มีพืชพรรณ เราทั้งหลายมีลูกอยู่ชื่อว่าชรัตกะรุ แต่เป็นความทุกข์ของเรา เพราะลูกเราผู้นั้นประพฤติตัวละเว้นเสียมิให้มีพืชพรรณ ด้วยไม่มีภริยา เราจึงมาต้องทนทุกข์ลำบากเห็นปานนี้ เมื่อชรัตกะรุได้ทราบเช่นนั้น จึงแสดงตัวว่าตัวเป็นชรัตกะรุ และรับปฏิญาณว่าจะมาหาภริยาให้ได้มีบุตรสืบตระกูล แต่เพราะความไม่ชอบใจในการที่จะมีภริยาของชรัตกะรุ จึงได้ตั้งปฏิญาณว่า ต่อเมื่อพบหญิงผู้ใดมีชื่อว่าชรัตกะรุเหมือนตัวและมีผู้มายกให้เป็นทาน จึงจะรับเป็นภริยาเพื่อจะสงเคราะห์แก่บรรพบุรุษนั้นอย่างเดียว ครั้นเมื่อชรัตกะรุเที่ยวไป จึงมีพระยานาคชื่อวาสุกี ที่มีความร้อนรนด้วยต้องคำแช่งแห่งมารดา นำน้องสาวผู้ชื่อว่าชรัตกะรุมายกให้เป็นภริยา ได้อยู่กินด้วยกันจนมีบุตร ชื่ออัษฎิกะ ภายหลังบวชเป็นฤๅษีมีคุณานุภาพมาก เมื่อชรัตกะรุมีบุตรเช่นนั้น บรรพบุรุษของชรัตกะรุก็ได้พ้นจากทุกข์ที่กล่าวมาแล้วนั้น เพราะฉะนั้นคำซึ่งเรียกว่าบุตระ เขาจึงยกมูลเหตุว่ามาจากคำปุต คือขุมนรกที่บรรพบุรุษต้องไปทนทุกข์ เพราะไม่มีลูกหลานที่จะสืบตระกูล ครั้นเมื่อมีลูกออกมาลูกนั้นเรียกว่า บุตระ เพราะเป็นผู้ทำให้บรรพบุรุษของตนพ้นจากขุมนรกที่เรียกชื่อว่าปุตนั้น

นี่แหละถึงว่าฝ่ายผู้ชายไม่มีข้อบังคับที่พราหมณ์ผู้ใหญ่จะลงโทษแก่ตนในปัจจุบัน เพราะข้อที่ไม่มีภริยา เหมือนอย่างผู้หญิงที่ไม่มีสามีนั้นก็ดี แต่ยังมีข้อซึ่งปรากฏมาในคัมภีร์ที่พราหมณ์เชื่อถือว่าเป็นการลงโทษแก่บรรพบุรุษได้เช่นนี้ จึงเป็นเครื่องบังคับให้พราหมณ์ผู้ชายต้องแสวงหาภริยา ไม่ละเลยเสียจนผู้หญิงต้องตกไปเป็นม่ายได้มากเกินไป และพราหมณ์ทั้งปวงมักเป็นคนหาเลี้ยงชีวิตด้วยขอทานเกือบจะทั่วไป ถึงพราหมณ์ที่มีทรัพย์สมบัติบริบูรณ์อยู่ ก็ไม่ละเว้นการขอทานหรือบิณฑบาต ซึ่งคนทั้งปวงเต็มใจจะให้ ด้วยถือว่าเป็นเนื้อนาบุญอันวิเศษ เพราะพราหมณ์พวกนี้คนทั้งปวงนับถือว่าเป็นตัวพรหมนั้นเอง แต่หากมีกรรมการที่ได้ทำผิดไว้ จึงต้องมาใช้กรรมในโลกมนุษย์ เป็นผู้มีสุคติเบื้องหน้าแน่นอนแล้วว่า ถ้าสิ้นกรรมเมื่อใดก็จะไปสู่พรหมโลก ผู้ใดทำอันตรายพราหมณ์เป็นบาปกรรมอันยิ่งใหญ่ พราหมณ์ย่อมเป็นที่เคารพของชาติอื่นๆ มีขัตติยชาติเป็นต้น

หน้าที่ของพราหมณ์ที่จะต้องทำนั้นก็คือ ต้องตื่นแต่พระอาทิตย์ยังไม่ทันอุทัย อายน้ำชำระกายแล้วนุ่งผ้าที่ชุ่มด้วยน้ำ ซึ่งถือว่าเป็นการบริสุทธิ์ เข้าไปทำสักการบูชาพระเป็นเจ้า แล้วจึงหาอาหารกินต่อไป การเล่าเรียนก็เรียนคัมภีร์เวทซึ่งเป็นตำราสะสมมาแต่โบราณ ที่พราหมณ์ทั้งปวงถือว่าพระฤๅษีผู้มีนามว่า กฤษณะ ไทวปายะนะ ผู้มีความรู้มากได้เรียบเรียงไว้ ตามที่วิยสะผู้เป็นเชื้อพรหม ได้แต่งขึ้นเป็นคำกลอนแล้วไปสาธยายถวายพระพรหม พระพรหมเห็นชอบสมควรด้วย จึงยกขึ้นเป็นข้อบังคับศาสนาสำหรับโลก ได้ประพฤติตามต่อกันมาแต่แรกสร้างโลก และพราหมณ์ทั้งปวงมักเป็นผู้รู้คัมภีร์โหราศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาอย่างหนึ่งนับในเวทางค์ ๖ อย่าง รู้คติทางดำเนินของพระอาทิตย์ และพระจันทร์ พระเคราะห์ต่างๆ เป็นผู้ทำประดิทินสำหรับที่จะให้คนทั้งปวงใช้ วัน คืน เดือน ปีถูกต้องกัน เป็นผู้ทายสุริยุปราคา จันทรุปราคา เป็นผู้สำหรับเซ่นไหว้เสกกล่อม ในเวลาที่ชนทั้งปวงไปบูชาพระเป็นเจ้า เป็นผู้บำบัดเสนียดจัญไรของคนทั้งปวงและการอื่นๆ ในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งคนทั้งปวงถือว่าพราหมณ์เป็นผู้มีคุณแก่โลก เพราะเป็นนายหน้าที่จะนำให้พูดถึงพระเป็นเจ้าเป็นต้น ธรรมดาคนซึ่งจะประพฤติตัวเป็นเช่นนี้ ก็คงดีบ้างชั่วบ้างเป็นธรรมดาด้วยมากด้วยกัน เพราะฉะนั้นพราหมณ์บางพวกจึงได้บัญญัติลัทธิต่างๆ แยกย้ายกันออกไปบ้าง ความนับถือก็มีแตกเป็นพวกเป็นเหล่ากันออกไป

จะชี้ตัวอย่างพราหมณ์นับถือพราหมณ์ ซึ่งข้าพเจ้าได้ไปพบเองในเวลาไปอินเดีย เมื่ออยู่ที่เมืองบอมเบย์ มีพราหมณ์คนหนึ่งเป็นมหาศาลตระกูลใหญ่ ได้มาหาข้าพเจ้า ว่าเป็นโอกาสดีที่ได้มาพบ ท่านพราหมณ์ผู้นี้มีบริวารบ่าวไพร่มาก เที่ยวจาริกไปตามหัวเมืองต่างๆ เพื่อจะโปรดสัตว์ การที่โปรดสัตว์นั้นอย่างไรหรือ คือผู้ใดมีบุตรสาวซึ่งยังมิได้มีสามี ก็เชิญท่านพราหมณ์ผู้นี้ไปอยู่ด้วยวันหนึ่ง แล้วท่านพราหมณ์ก็ละไปที่อื่น ลูกสาวซึ่งเสียตัวกับพราหมณ์นั้น ถือว่าเป็นได้รับสวัสดิมงคลอย่างยิ่ง แล้วทำการอาวะหะวิวาหะกับผู้อื่นต่อไป ผู้ซึ่งได้รับหญิงที่ท่านพราหมณ์ได้เยี่ยมเยียนแล้วนั้น เป็นผู้มีหน้ามีตาได้เมียดี กลับเป็นเช่นนี้ไปได้ พราหมณ์ย่อมทำมาหากินมีเรือกสวนไร่นา เป็นทหารฝึกซ้อมศัสตราวุธได้ทุกอย่าง ไม่มีข้อห้ามปราม และมีการบูชายัญเผาตัวทั้งเป็น เพื่อจะได้ขึ้นสวรรค์บ่อยๆ และถ้าเป็นแม่ม่ายสมัครจะเผาตัว ก็ทำรูปสามีที่ตายด้วยไม้ วางเคียงตัวเผาไปด้วยในกองเพลิง ก็เป็นอันได้ไปอยู่ด้วยกันในโลกหน้า การที่ภรรยาตายตามสามีเช่นนี้ตามเรื่องราวโบราณของพราหมณ์ ดูเหมือนจะเป็นประเพณีที่จำจะต้องตายตามกันเกือบทุกคู่ จนมีคำกล่าวปรากฏมาในคัมภีร์มหาภารตะ ในเรื่องนางศกุนตลาตัดพ้อพระสามีกล่าวว่า “ที่สุดจนเมื่อสามีจะไปจากโลกนี้ สู่ยมโลก ภริยาผู้ซื่อตรงก็ย่อมติดตามไปด้วยในที่นั้น ถ้าภริยาต้องไปในที่นั้น (คือยมโลก) ก่อนก็ต้องไปคอยสามี แต่หากว่าสามีไปก่อน ภริยาซึ่งผูกพันรักใคร่ย่อมตามติดไปในเบื้องหลัง” เพราะฉะนี้ จึงได้ความสันนิษฐานว่าภริยาตายตามสามีเช่นนี้ เห็นจะมีโดยมาก และการทำลายชีวิตบูชาพระเป็นเจ้าต่างๆ ก็มีอีกมากเป็นอเนกประการ ยังเป็นไปเสมออยู่ จนอังกฤษได้เป็นใหญ่ในประเทศอินเดียแล้วช้านานจึงได้ห้ามเสีย แต่การอื่นๆ ซึ่งไม่สำคัญถึงชีวิต เช่นพราหมณ์เที่ยวจาริกไปโปรดลูกสาวคนทั้งปวง อังกฤษไม่ได้ห้ามปราม ยังคงมีอยู่จนปีที่ข้าพเจ้าไปอินเดีย



หัวข้อ: Re: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 10 กรกฎาคม 2561 16:04:36

พระราชพิธีเดือน ๑๐ (ต่อ)

คนพวกที่ถือศาสนาพราหมณ์หรือตัวพราหมณ์เองมักจะเป็นผู้ที่มีใจดุร้าย การที่จะบังคับกดขี่กระทบกระเทือนเรื่องศาสนาแล้ว ชวนจะเป็นขบถลุกขึ้นง่ายๆ ดูความเจ็บแค้นด้วยกันนั้นแรงกล้า มิใช่เจ็บร้อนในพวกพราหมณ์ด้วยกัน ตลอดไปถึงชาติฮินดูทั้งปวง การที่ประเทศอินเดียต้องถูกแขกถือศาสนามะหะหมัดเข้าแทรกแซงเป็นเจ้าเป็นนายมาเสียช้านาน ก็เพราะเหตุที่ต่างคนต่างถือชาติ ไม่สมัครสมานปรองดองกัน แต่กระนั้นแขกก็ต้องยับเยิน เพราะไปเกี่ยวข้องด้วยศาสนาบ่อยๆ ครั้นเมื่อฝรั่งได้แผ่นดินจากแขกบ้างจากฮินดูบ้าง รู้ลัทธิหลีกเลี่ยงเสียไม่ใคร่เกี่ยวด้วยการศาสนาก็ค่อยเรียบร้อย แต่กระนั้นอังกฤษก็ยังเกิดเหตุใหญ่ได้ยับเยินมากเหมือนกัน ภายหลังนี้ต้องระวังเรื่องศาสนาเป็นอย่างยิ่ง จึงได้รักษามาได้ พราหมณ์ทั้งปวงก็ยังมีแพร่หลายอยู่ในประเทศอินเดีย ยังนับถือยั่งยืนกันอยู่ไม่ลดถอย การที่พุทธศาสนาตั้งไม่ติดได้ในประเทศอินเดีย ก็เพราะทนพราหมณ์พวกนี้ไม่ไหว ด้วยพระพุทธเจ้าบัญญัติลัทธิตรงกันข้ามเสียกับพราหมณ์มากหลายอย่างนัก เป็นต้นว่าพราหมณ์มีเมียได้ และถือว่าถ้าไม่มีลูกสืบตระกูลต้องไปตกนรก พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าเพราะเหตุที่มีเมียมีลูก เป็นเหตุให้เกิดความคิดฟุ้งซ่านเป็นเครื่องก่อเกิดโลภะโทสะโมหะมาก ตัดเสียไม่ให้พระสงฆ์มีเมีย พราหมณ์ถือลัทธิลอยบาปด้วยผ้านุ่งผ้าห่ม เป็นพิธีภัทรบท พระพุทธเจ้าให้พระสงฆ์เอาผ้านุ่งผ้าห่มนั้นและกลับมานุ่งห่ม พราหมณ์ถือว่าถ้าต้องโกนผมเป็นผู้ซึ่งไม่มีใครควรคบหาได้ เป็นขาดชาติ เช่นลงโทษแม่ม่าย พระพุทธเจ้ากลับให้พระสงฆ์โกนหัว พราหมณ์ถือว่าจะรับของที่ผู้อื่นทำมากินไม่ได้เป็นขาดชาติ ต้องหุงกินเอง พระพุทธเจ้ากลับห้ามไม่ให้หุงกินเอง กลับขอเขากิน จะพรรณนาถึงการที่ตรงกันข้ามเช่นนี้ไปเท่าใดก็ไม่รู้หมด ซึ่งพระพุทธเจ้าบัญญัติให้กลับตรงกันข้ามกับพราหมณ์เกือบทุกเรื่องไปเช่นนี้ เพราะเหตุใด เพราะเหตุที่พระองค์เห็นว่า เป็นถือลัทธิไปทางข้างทิฐิมานะ ไม่มีประโยชน์อันใด เป็นแต่ชักพาให้คนหลงถือไปตามทางที่ผิดๆ ก็นั่นแหละคิดดูเถิด เมื่อพระพุทธเจ้าเวลายังไม่ได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ก็นับว่าเป็นผู้ถือศาสนาเหมือนคนทั้งปวงเช่นนั้นแล้วและละทิ้งเสียไปตั้งลัทธิขึ้นใหม่ ถึงว่ามีผู้ได้ถือตามมาก (แต่เห็นจะไม่มากเหมือนอย่างเช่นที่พระอรรถกถาจารย์ได้พรรณนาในหนังสือต่างๆ ถ้ามากเช่นนั้น คนเห็นจะถือพุทธศาสนาแล้วทั้งโลก) ศาสนาเดิมคนถือมาทั่วทั้งแผ่นดินมานานหลายพันปี พระพุทธเจ้าดำรงพระชนม์อยู่ก็ไม่สักกี่สิบปี ถึงว่ามีคนนับถือพระพุทธศาสนามาก ก็ทนพวกเก่าที่มากกว่าไม่ไหว นี่หากว่าธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นธรรมที่ปราศจากเวร ปราศจากเบียดเบียนผู้อื่น จึงไม่เกิดเหตุการณ์ใหญ่โตขึ้น เช่นพระเยซูสั่งสอนลัทธิใหม่ จนถึงตัวต้องตรึงไม้กางเขน เพราะทนพวกที่ถือศาสนาเก่าไม่ไหว มาเป็นเหตุต่อเมื่อพระศาสดาดับขันธปรินิพพานแล้วช้านาน ก็เป็นแต่เพียงพระพุทธศาสนาต้องกระจัดกระจายแผ่ออกไปในประเทศที่มิได้ถือศาสนาพราหมณ์เคร่งครัดมาแต่เดิม มีทวีปลังกาเป็นต้น พุทธศาสนาที่ยังเหลืออยู่ในประเทศอินเดีย ก็ต้องอะลุ้มอล่วยเข้าหาศาสนาพราหมณ์เดิม ข้าพเจ้าได้ไปเห็นเองหลายวัด แต่วัดหนึ่งที่เมืองเบนาริส คือเมืองพาราณสีนั้น ได้เข้าไปจนถึงในโบสถ์ มีพระพุทธรูปศิลาขาวอย่างพระศิลาพม่า เป็นพระพุทธรูปเราดีๆ ไม่แปลกประหลาดอันใดเลย การบูชาก็ต่างลัทธิกันกับฮินดู แต่เรียกชื่อศาสนาเฉไปเสียว่า เยนะ คือ ชินะ ได้พบผู้ซึ่งถือศาสนานั้นเป็นขุนนางอยู่ในบังคับอังกฤษผู้หนึ่ง ชื่อศิวประสาท เป็นผู้รู้มาก เป็นอาจารย์สอนหนังสือสันสกฤต มีศิษย์เรียนอยู่ประมาณสัก ๓๐ คน ได้เล่าว่าศาสนาเยนะนี้ คือศาสนาพระโคดมแท้ แต่หากผู้ที่ถือนั้นมีความกลัวพวกฮินดูที่ได้เคยไม่มีความกรุณาต่อผู้ที่นับถือพุทธศาสนาจะเบียดเบียน จึงได้อ้างว่าถือศาสนาพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ขึ้นไป ไม่นับถือพระโคดม แต่ครั้นเมื่อถามลัทธิที่ถือว่ายักเยื้องกันไปอย่างใดบ้างหรือ ก็บอกว่าเป็นแต่ชั่วเลิกพระสงฆ์ มีไม่ได้ มีแต่อาจารย์สำหรับสั่งสอน ถามถึงนับถืออย่างไร ก็สวด อิติปิโส ภควา อรหํ สัมมาสัมพุทโธ เช่นเราสวดนี้เอง เป็นแต่การบูชาอยู่ข้างจะเจือไปข้างฮินดู มีเรื่องสรงน้ำพระ เรื่องอาบน้ำอะไรเปรอะเปื้อนอยู่ตามลานวัด การที่ใจถืออย่างหนึ่งประพฤติภายนอกอย่างหนึ่งเช่นนี้ ก็มีเป็นลำดับต่อๆ มา จนถึงตัวศิวประสาทที่ข้าพเจ้าพบเอง เมื่อเวลาที่ได้พบในที่ประชุมการรับรอง แต่งตัวเป็นแขก แต่ครั้นเมื่อไปพบที่วัดและที่โรงเรียน ก็แต่งตัวนุ่งผ้าขาวปล่อยชายโจงชายอย่างเช่นฮินดู ตัวเขาได้เล่าเอง ว่าที่ต้องแต่งเป็นแขกเช่นนี้ก็เพราะเจ้าแผ่นดินแขกแต่ก่อนๆ ไม่ชอบแต่งตัวอย่างฮินดู จึงต้องแต่งหันเหียนตามพอเอาตัวรอด ลงมาจนฝรั่งไปเป็นใหญ่ในบ้านเมือง ไม่ได้บังคับกดขี่ในการแต่งตัว แต่ธรรมเนียมคนที่ทำราชการแต่งเป็นแขกติดมาแต่เมื่อเจ้าเป็นแขกก็ยังคงอยู่ การซึ่งถือศาสนาและประพฤติลัทธิหลบหลีกไปเช่นนี้ เป็นธรรมเนียมเคยมีมาในอินเดียตามลำดับ

เมื่อพราหมณ์มีสืบเนื่องกันมาช้านานหลายพันปีเช่นนี้ จึงเป็นที่นับถือของคนทั้งปวง ในหนังสือต่างๆ ซึ่งชนที่นับถือพระพุทธศาสนาแต่ง ที่สุดจนธรรมจักกัปปวัตนสูตรเป็นต้น ซึ่งอ้างว่าเป็นพุทธภาษิตแท้ ก็ยังเรียกสมณะกับพราหมณ์เป็นคู่กัน พราหมณ์เป็นที่นับถือไม่มีผู้ใดอาจหมิ่นประมาท ถ้าพราหมณ์เหมือนอย่างเช่นบ้านเราอย่างนี้แล้ว ก็เห็นจะไม่ยกขึ้นเป็นคู่กับสมณะ พราหมณ์เป็นที่นับถืออย่างเอกอย่างนับถือพระสงฆ์เช่นนี้ จึงได้เป็นที่สำหรับผู้ซึ่งปรารถนาความเจริญคืออยากจะให้ข้าวในนาบริบูรณ์ จึงเอาข้าวที่กำลังท้องมาทำยาคูเลี้ยงพราหมณ์ และกวนข้าวปายาสเลี้ยงพราหมณ์ เมื่อว่าเช่นนี้ก็จะมีที่สงสัยอยู่อย่างหนึ่ง ถ้าสิกล่าวไว้ว่า พราหมณ์จะรับของบริโภคจากผู้อื่นไม่ได้ เหตุใดคนทั้งปวงจึงจะทำยาคูข้าวปายาสไปให้พราหมณ์บริโภคได้เล่า อธิบายว่า ถ้ากุ๊กคือคนทำครัวเป็นพราหมณ์แล้วพราหมณ์ทั้งปวงบริโภคได้ การที่ต้องหานางพรหมจารีกวนข้าวทิพย์นี้ แต่เดิมจะเป็นนางพราหมณีซ้ำไปดอกกระมัง

เพราะการที่เป็นประเพณีในประเทศอินเดียซึ่งยังไม่มีพระในพุทธศาสนา หรือมีแล้วกระจัดกระจายไปอยู่เสียที่อื่น ทำบุญสารทคือฤดูข้าวรวงเป็นน้ำนมนี้แก่พราหมณ์ เมื่อการพระราชพิธีของพราหมณ์ตกเข้ามาในแผ่นดินสยาม ก็พลอยประพฤติตามลัทธิพราหมณ์ด้วย สมคำซึ่งนางนพมาศได้กล่าวไว้ ว่าเป็นฤดูที่ชนทั้งปวงกวนข้าวปายาส และทำยาคูเลี้ยงพราหมณ์ เมื่อสมณะและพราหมณ์เป็นคู่กันอยู่เช่นนั้น ผู้ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาในชั้นแรกที่เข้ารีตใหม่ เคยถือศาสนาพราหมณ์เดิมได้ทำบุญตามฤดูกาลแก่พราหมณ์มาอย่างไร ครั้นเมื่อมาเข้ารีตถือพุทธศาสนาแล้ว เมื่อถึงกำหนดที่ตัวเคยทำบุญ ผู้ใดเลยจะนิ่งเสียไม่ทำ เมื่อเชื่ออยู่ว่าพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญอันวิเศษยิ่งขึ้นไปกว่าพราหมณ์ ก็ต้องมาทำถวายพระสงฆ์ เหมือนเช่นเคยทำอยู่แก่พราหมณ์ ถ้าผู้ใดจะละทิ้งศาสนาพราหมณ์เดิมของตัวให้ขาดไม่ได้ เพราะความเกรงใจก็ลงเป็นทำทั้งสองฝ่าย ถวายทานแก่สมณะด้วยพราหมณ์ด้วย พิธีพราหมณ์จึงได้มาระคนปนเจือในพุทธศาสนา จนนางนพมาศซึ่งเป็นผู้ถือสองฝ่ายได้กล่าวว่า “ฝ่ายข้างพระพุทธศาสนาพระราชพิธีภัทรบทนี้ เป็นสมัยหมู่มหาชนทำมธุปายาสยาคูอังคาสพระภิกษุสงฆ์ และเลี้ยงสมณะพราหมณ์ ทั้งบูชาพระรัตนตรัยด้วยพรรณผ้ากระทำเป็นธงแล้วอุทิศส่วนกุศลผลบุญให้แก่ญาติอันไปสู่ปรโลก อันเป็นปรทัตตูปชีวีเปรตและนักขัตฤกษ์พระราชพิธีภัทรบทนี้ พุทธศาสน์ไสยศาสตร์เจือกันโดยโบราณราช” ตอนปลายที่กล่าวถึงทำธงและอุทิศต่อปรทัตตูปชีวีเปรตนี้ ความมุ่งหมายนางนพมาศจะกล่าวด้วยเรื่องข้าวกรู แต่ข้าพเจ้าไม่ประสงค์จะกล่าวถึงเรื่องนั้นในที่นี้ ประสงค์แต่เฉพาะความซึ่งนางนพมาศได้อ้างว่าเป็นพิธีพราหมณ์และสงฆ์เจือกัน แต่ข้าพเจ้าปฏิเสธว่าไม่เป็นพิธีสงฆ์ เป็นพิธีพราหมณ์ มีผู้มาทำให้แก่สงฆ์จึงเลยติดมาเป็นพิธีสงฆ์ด้วย แต่การซึ่งทำทานเช่นนี้ เป็นการไม่มีโทษ จึงได้เป็นความประพฤติของผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาสืบต่อมา

เมื่อตรวจดูในคำประกาศ สำหรับการพระราชพิธีสารท ซึ่งเกิดกวนข้าวมธุปายาสหรือข้าวทิพย์ขึ้น จะมีมูลเหตุมาแต่อันใดก็ไม่ปรากฏชัดเหมือนอย่างยาคู ท่านก็คงค้นกันหนักแล้ว ที่จะหามูลเหตุให้เข้ารอยทางพระพุทธศาสนา ไปมีเงาอยู่ที่เรื่องนางสุชาดาถวายข้าวปายาสก่อนอภิสัมโพธิกาล แต่เขาก็ถวายในเดือนหก และเป็นการจร มิใช่การประจำปี จะไปยกเอามาเป็นมูลเหตุก็ขัดอยู่ จึงได้ไม่มีมูลเหตุในคำประกาศ เป็นแต่ว่าเคยทำมาแต่โบราณ ซึ่งที่แท้เป็นพระราชพิธีพราหมณ์นี้เอง แต่เรื่องยาคูนั้นค้นหลุดออกมาได้ พอยกเป็นมูลเหตุขึ้นประกาศเรื่องที่ค้นเอามาได้นั้น คือมาในคัมภีร์ธรรมบทแห่งหนึ่ง มาในคัมภีร์มโนรถบุรณีอีกแห่งหนึ่ง เป็นเรื่องเดียวกัน ว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงบุรพชาติของพระอัญญาโกณฑัญญที่ได้บำเพ็ญกุศล และปรารถนาที่จะตรัสรู้พระอรหัตผลวิมุติก่อนชนทั้งปวง ให้พระภิกษุทั้งหลายฟัง ว่าเมื่อพระพุทธวิปัสสีได้อุบัติในโลก กุฎุมพิกะสองพี่น้อง คนหนึ่งชื่อมหากาฬ คนหนึ่งชื่อจุลกาฬ หว่านข้าวสาลีลงในนาใหญ่แห่งเดียวกัน ภายหลังจุลกาฬน้องชายไปที่นาข้าวสาลีซึ่งกำลังท้อง ผ่าเมล็ดข้าวออกเคี้ยวกินเห็นว่ามีรสอร่อยหวาน จึงมีความปรารถนาที่จะทำทานข้าวสาลีที่กำลังท้องนั้นแก่พระสงฆ์ จึงไปบอกแก่พี่ชายตามความประสงค์ พี่ชายจึงว่าแต่ก่อนก็ไม่เห็นใครเคยทำมา ต่อไปภายหน้าก็คงจะไม่มีผู้ใดทำ อย่าทำเลยข้าวจะเสียเปล่า จุลกาฬก็ไม่ฟังอ้อนวอนอยู่บ่อยๆ พี่ชายจึงว่า ถ้าเช่นนั้นก็ให้ปันนาออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นของเรา ส่วนหนึ่งเป็นของเจ้า ส่วนของเจ้านั้นตามแต่จะทำเถิด จุลกาฬก็ยอมแบ่งที่นาเป็นสองส่วน แล้วจึงหาคนมาช่วยกันเก็บข้าวในนาส่วนของตัวผ่าเมล็ดข้าวซึ่งกำลังท้อง ให้ต้มด้วยน้ำนมสดล้วนไม่เจือน้ำท่า แล้วเจือเนยใส น้ำผึ้ง น้ำตาลกรวด เป็นต้น ถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ครั้นเสร็จการภัตกิจ จึงทูลความปรารถนาแด่พระพุทธเจ้าว่า คัพภสาลีทานนี้จงเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าบรรลุธรรมวิเศษก่อนชนทั้งปวง ครั้นเมื่อจุลกาฬถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์แล้วไปคูนา ก็เห็นดาดาษไปด้วยรวงข้าวสาลี เหมือนคนผูกไว้เป็นช่อๆ ก็ให้เจริญความปีติยิ่งขึ้น ครั้นเมื่อเมล็ดข้าวควรจะเป็นข้าวเม่า ก็ให้ข้าวเม่าเป็นทานอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเกี่ยวข้าวอีกครั้งหนึ่ง เมื่อทำเขน็ด คือตะบิดฟางเป็นเชือกสำหรับมัดฟ่อนข้าวอีกครั้งหนึ่ง เมื่อทำฟ่อนอีกครั้งหนึ่ง เมื่อขนข้าวไว้ในลานอีกครั้งหนึ่ง เมื่อนวดข้าวอีกครั้งหนึ่ง เมื่อรวมเมล็ดข้าวอีกครั้งหนึ่ง เมื่อขนขึ้นฉางอีกครั้งหนึ่ง จึงเป็นอันได้ทำทานในฤดูข้าวกล้าอันหนึ่งถึงเก้าครั้ง ข้าวในนาจุลกาฬก็ได้บริบูรณ์ยิ่งขึ้นมิได้บกพร่องไป จุลกาฬซึ่งมาเป็นพระโกณฑัญญะได้ทำทานเป็นการใหญ่อีกครั้งหนึ่งถึงเจ็ดวัน เมื่อพระประทุมุตรได้อุบัติในโลกนี้ ก็มีความปรารถนาอย่างเดียวกับที่ได้ปรารถนาไว้แต่ก่อน เพราะฉะนั้นพระอัญญาโกณฑัญญะจงได้ตรัสรู้เป็นองค์พระอรหันต์ก่อนพุทธสาวกทั้งปวง มีเรื่องราวที่ได้กล่าวถึงถวายข้าวอ่อนเป็นทานแก่พระสงฆ์ ให้ผลเป็นทิฏฐธรรมเวทนียมีมาในพระอรรถกถาดังนี้ จึงเป็นเหตุที่ยกมาประกอบเรื่องที่จะให้การพระราชพิธีหรือการพระราชกุศลอันนี้ เป็นอันทำตามที่มาในพระพุทธศาสนา ก็เป็นอันนับได้ว่าเป็นการกุศลซึ่งทำตามตัวอย่างชนที่นับถือพระพุทธศาสนาแต่ปางก่อนได้ทำมา จะถือว่าเป็นการจำเป็นที่ผู้ถือพระพุทธศาสนาจะต้องทำ เพราะมีข้อบังคับไว้ให้ทำ ซึ่งจะนับว่าเป็นพระราชพิธีในพระพุทธศาสนานั้นไม่ได้ แต่เมื่อว่าที่จริงแท้แล้ว ก็เป็นการเอาอย่างพราหมณ์ การพิธีเดิมนั้นเป็นของพราหมณ์ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่เรื่องตัวยาคูและข้าวปายาสที่กล่าวถึงในหนังสือต่างๆ ที่เป็นของทำในประเทศอินเดีย เราจะนึกหมายว่าข้าวปายาสเหมือนข้าวทิพย์ ยาคูเหมือนข้าวยาคูของเรานั้นเห็นจะไม่ได้

ข้าพเจ้าได้ให้ค้นตามหนังสือต่างๆ ที่กล่าวถึงอาหารสองอย่างนี้ จะให้ได้ความว่าทำอย่างไร เพราะเห็นว่าพระอรรถกถามักจะเล่าเรื่องอะไรต่างๆ ละเอียด ลางทีจะมีตำรากวนข้าวปายาส ตำราทำยาคู เหมือนอย่างตำราทำกับข้าวแขก ซึ่งมิสเตอร์เลนได้อธิบายในหนังสืออาหรับราตรีของเขาบ้าง ก็ได้ความรัวๆ ไปไม่ชัดเจน เห็นจะเป็นเพราะอาหารสองอย่างนี้เป็นของทำกันอยู่เสมอ กินกันอยู่บ่อยๆ จนไม่ต้องกล่าวถึง เหมือนกับจะหาตำราหุงข้าวปิ้งปลาในเมืองไทย ก็จะหาไม่ได้ นอกจากหนังสือประดิทินบัตรที่ว่าด้วยปากะวิชาซึ่งออกใหม่ในเร็วๆ นี้[๑] เพราะจืดรู้อยู่ทั่วกันแล้วไม่ต้องอธิบาย ได้ความแต่พอเป็นเค้าเหมือนอย่างเช่นข้าวยาคู ที่ได้กล่าวมาในเรื่องจุลกาฬ ก็ดูต้องผ่าต้องต้ม ไม่ได้ บีบคั้นเหมือนยาคูของเรา ผิดกันเสียตั้งแต่ตัวเมล็ดข้าวมาแล้ว เครื่องที่จะประกอบก็ใช้นมใช้เนยซึ่งเป็นอาหารทิพย์ของคนในประเทศนั้น เจือจานไปด้วยน้ำตาลเป็นยาคูหวาน ส่วนยาคูที่มีมาในพระวินัยที่พระสงฆ์ตื่นขึ้นเช้า ดื่มยาคูก่อน เป็นอาหารเช้าอย่างเหลวๆ เช่นฝรั่งจะเรียกว่าไลต์ฟูด จะว่าเป็นข้าวต้มก็ไม่ใช่ ดูเหลวกว่าเพราะดื่มได้ แต่ในหนังสือบุพสิกขาวัณนาที่พระอมราภิรักขิต (เกิด) แต่ง และหนังสือพระวินัยคำแปลตีพิมพ์ ที่สมเด็จพระวันรัต[๒]แต่ง ท่านแปลคำข้าวยาคูนี้ว่าข้าวต้มทุกแห่ง ที่แปลว่าข้าวต้มนั้นเห็นจะเป็นความประสงค์ที่จะให้คนไทยเข้าใจซึบซาบโดยง่าย เพราะถ้าจะแปลว่ายาคู ก็จะต้องเข้าใจว่าเป็นของหวานที่เจือใบข้าวสีเขียวๆ เช่นเลี้ยงพระพิธีสารท ที่ไม่มีเวลาที่พระสงฆ์จะฉันนอกจากการพระราชพิธีหรือการจรเป็นครั้งเป็นคราว ถ้าใช้ว่าข้าวต้มแล้วก็เป็นถูกกับที่พระสงฆ์จะพอใจฉันอยู่เนืองๆ ท่านกล่าวในหนังสือนั้นประสงค์ความประพฤติของพระสงฆ์ มิได้ประสงค์จะกล่าวถึงประเภทแห่งยาคูว่าเป็นอย่างไรๆ ยาคูหรือข้าวต้มที่มีมาในพระวินัยนี้ ยังมีแปลกออกไปอีกกว่าของเราทั้งสองอย่าง คือเจือขิงเจือใบกะเพราและเกลือ จะทำให้รสเค็มๆ ฉุนๆ ไปข้างเทือกสะกดลมสะกดแล้งอะไร เช่นคนแก่ๆ พอใจกินข้าวต้มกับเกลือและพริกไทยหรืออย่างไร ยาคูเช่นนี้พระสงฆ์ฉันในเวลาเช้าก่อนเวลาฉันอาหาร จึงเป็นอันฉันอาหารสวยอยู่แต่วันละหนเดียว ไม่ได้ฉันข้าวสวยเช้าเพลเหมือนพระสงฆ์ทุกวันนี้ บิณฑบาตจึงได้เป็นครั้งเดียวก็พอ คงได้ความว่ายาคูมีสองอย่าง คือยาคูเค็มที่เป็นข้าวต้มอย่างหนึ่ง ยาคูหวานที่เป็นข้าวอ่อนต้มเจือน้ำตาลอีกอย่างหนึ่ง ถ้าจะเทียบกับข้าวยาคูของเรา ก็จะใกล้ข้างยาคูหวาน แต่รสชาติสีสันและกิริยาที่ทำต่างกันแท้ไม่เหมือนเลย

ข้าวปายาสนั้นยิ่งมืดหนักไปในที่กล่าวถึง เมื่อนางสุชาดาหุงถวายพระพุทธเจ้า ก็ได้ความแต่ว่าหุงด้วยนมโคสด ในมงคลทีปนีว่าด้วยนิทานเศรษฐีขี้ตระหนี่ หุงข้าวปายาสกิน ก็ว่าใช้ข้าวสารน้ำตาลน้ำนมดูไม่เหมือนกับข้าวทิพย์ที่เรากวน ไกลมากไปยิ่งกว่ากระยาสารท กระยาสารทดูยังใกล้ข้าวปายาสนั้นมาก แต่ไปมีกรอบๆ กรุบๆ เสียด้วย จึงได้ชักให้ผิดเรื่องไป จนทำให้เห็นว่าข้าวเหนียวแก้วหรือข้าวเหนียวแดงจะใกล้กว่า แต่ขึ้นชื่อว่าอาหารของไทยจะไปเปรียบกับของพวกประเทศอินเดียแล้ว เป็นต้องไม่เหมือนกันอยู่ยังค่ำ ถึงโดยจะไปได้ตำรามาชัดเจนหุงขึ้นเป็นไม่มีใครกินได้เป็นแน่ เพราะขึ้นชื่อว่าเนยแล้ว เป็นของพึงเกลียดของคนไทยอย่างยิ่ง แต่เป็นอาหารที่มีรสอร่อยของชาวอินเดียอย่างยิ่ง เหมือนกับกะปิเป็นของพึงเกลียดของคนชาติอื่น แต่เป็นของอร่อยอย่างยิ่งของคนไทยโดยมาก บรรดากับข้าวอันใดถ้าเจือนมเนยก็เป็นกับข้าววิเศษ น้ำมันเนยนั้นใช้แทนกะทิด้วย ใช้แทนน้ำมันด้วย ถ้าจะเทียบข้าวปายาสที่ทำสองพันสี่ร้อยปีเศษล่วงมาให้ได้จริง เทียบกับอาหารของพวกฮินดู หรือพวกแขกจะใกล้กว่าเทียบอาหารไทยมาก เมื่อข้าพเจ้าไปที่เมืองพาราณสี พระเจ้าพาราณสีจัดของมาเลี้ยง ตั้งโต๊ะอย่างฝรั่งแต่มีซ่อมช้อนเฉพาะตัว คล้ายกันกับเลี้ยงโต๊ะอย่างไทยโบราณ บนโต๊ะนั้นตั้งอาหารเต็มไปทั้งโต๊ะ มีเป็ดไก่ปิ้งย่างอย่างไรแล้วปิดทองคำเปลวทั้งตัว มีขนมต่างๆ ที่ปิดทองคำเปลวหลายอย่างตั้งรอบใน แล้วมีชามข้าวตั้งอยู่ริมจานที่วางซ่อมช้อนมีมากหลายที่รายไปรอบโต๊ะ ข้าวเช่นนั้นแลเห็นเป็นเม็ดข้าวเหมือนข้าวเหนียวแก้ว แต่สีเหลืองๆ เป็นมันย่อง ที่มีเม็ดจิสมิดโรยก็มี มีอะไรเป็นชิ้นๆ คล้ายฟักฉาบเครื่องจันอับเจ๊กอยู่ในนั้นก็มี ชิมดูมีรสหวานจัด มีรสน้ำมันเนยและกลิ่นกล้าจนกินไม่ได้ ไม่มีข้าวอย่างขาวๆ เลี้ยงเลย ต้องหันไปกินเป็ดกินไก่ทั้งนั้น ข้าวปายาสคงจะเป็นข้าวคล้ายๆ เช่นนี้ เห็นจะไม่ละเอียดเหมือนข้าวทิพย์ และไม่กรอบเหมือนกระยาสารท ตกลงเป็นข้าวทิพย์และกระยาสารทของเรานี้ก็เป็นอย่างไทย ทำสำหรับคนไทยกินอร่อย เป็นแต่ยืมชื่อของเก่ามาใช้เท่านั้น

ข้าวทิพย์ที่เรากวนอยู่ ในการพระราชพิธีทุกวันนี้ เห็นจะเกิดขึ้นด้วยนึกเอาเอง ดูตั้งใจจะให้มีถั่วงานมเนยและผลไม้ต่างๆ ให้พร้อมทุกอย่าง เป็นอันรวบรวมรสต่างๆ มาลงเป็นอันหนึ่งอันเดียวจนเรียกกันในคำประกาศว่าอเนกรสปายาส สิ่งของที่ใช้ในเครื่องกวนนั้น เมื่อตรวจดูตามบัญชีจ่ายของ มีจำนวนคือ ถั่วดำ ถั่วขาว ถั่วแม่ตาย ถั่วราชมาษ อย่างละ ๓ ถัง ถั่วเหลือง ๓ ถัง ๑๐ ทะนาน ถั่วทอง ถั่วเขียวอย่างละ ๔ ถัง ถั่วลิสง ๖ ถัง เมล็ดงา ๕ ถัง ผลเดือย ๓ ถัง ๑๐ ทะนาน สาคูวิลาด ๒ ถัง สาคูลาน ๑ ถัง เมล็ดแตงอุลิด ๓ ถัง ข้าวโพด ๓๐๐๐ ดอก ข้าวฟ่าง ๒๐๐๐ รวง ข้าวเม่า ๕ ถัง เผือก มันเทศ อย่างละ ๓๐๐ ศีรษะ กระจับสด แห้วไทย อย่างละ ๓ ถัง ข้าวสารหอม ๒ ถัง ผลไม้แดง ๑๐ ทะนาน ผลบัว ผลมะกล่ำใหญ่อย่างละ ๓ ถัง น้ำนมโค ๑๐ ทะนาน เนย ๔ ทะนาน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยอย่างละ ๑๐ ทะนาน มะพร้าวแก่ ๕๕๐ ผล มะพร้าวอ่อน ๕๐๐ ผล ชะเอมเทศหนัก ๔ ชั่ง น้ำตาลกรวดหนัก ๒๕ ชั่ง น้ำตาลทรายหนัก ๕๐ ชั่ง น้ำตาลหม้อ ๓๐๐ หม้อ ข้าวตอกขนมปังจืดไม่มีกำหนด ผลไม้สดที่หาได้ คือทับทิม น้อยหน่า เงาะ ลางสาด ละมุด พลับสด สาลี่ แห้วจีน กล้วยหอม กล้วยไข่ กล้วย ส้มต่างๆ คือ ส้มเขียวหวาน ส้มมะแป้น ส้มซ่า ส้มเกลี้ยง ส้มตรังกานู ผลไม้แห้ง คือ ลิ้นจี่ ลำไย พุทราริ้ว พลับแห้ง อินทผลัม ผลไม้แช่อิ่ม คือ ผลชิด ผลสะท้อน ผลไม้กวน คือ ทุเรียนกวน สับปะรดกวน และข้าวอ่อนที่เป็นน้ำนม ชะเอมสด อ้อยแดง ของเหล่านี้ไม่มีกำหนดว่าเท่าไร แต่ครั้นเมื่อสอบถามตามที่ได้กวนจริงๆ ประสมส่วนอย่างไร ไปได้ความว่า ได้ใช้ถั่วต่างๆ อย่างละ ๒ ถัง คงเหลืออย่างละถังหนึ่งบ้างสองถังบ้าง งาใช้สามถัง คงเหลือสองถัง ผลไม้แดงใช้ ๕ ทะนาน เกลือ ๕ ทะนาน มะกล่ำใหญ่ได้ใช้แต่ ๕ ทะนานเท่านั้น เหลือถึง ๕๕ ทะนาน ผลเดือยกับผลบัวใช้อย่างละถัง เหลืออย่างละ ๒ ถัง ข้าวฟ่างข้าวโพดนี้ใช้อย่างละ ๒๐๐ ฝัก เหลือถึงพันเศษสองพันเศษ เมล็ดแตงอุลิตใช้ถังเดียว เหลือสองถัง นมนั้นไม่ได้ความว่าใช้อย่างไร แต่เนยแล้วโถน้ำวุ้นเดียวเป็นแน่ ซึ่งว่า ๔ ทะนานนั้นจะชั่งอย่างไรไม่ทราบ สาคูลานใช้หมด สาคูวิลาดเหลือถังหนึ่ง ชะเอมเทศจ่ายหนัก ๔ ชั่ง แต่ได้ใช้เล็กน้อย เผือก มันเทศจ่ายอย่างละ ๓๐๐ ใช้อย่างละยี่สิบสามสิบศีรษะเท่านั้น น้ำตาลกรวด น้ำตาลทราย น้ำตาลหม้อ มะพร้าวอ่อน มะพร้าวแก่เหล่านี้ ไม่ได้ความว่าใช้สิ้นสักเท่าใด แต่เห็นจำนวนจ่ายมากมายนัก ถ้าประมาณดูกับส่วนที่ลด ก็คงจะเหลือกว่าครึ่งตัว เพราะฉะนั้นการที่จะเอาส่วนแน่ของข้าวทิพย์นั้นไม่ได้ เจ้าพนักงานผู้กวนแก้ไขออดแอดไปว่าของเหลือก็ใช้ในการพระราชกุศลอื่นๆ ต่อไป แต่ที่จริงก็เห็นจะเป็นสีเหลืองไปเสียนั้นและโดยมาก วิธีที่จะระคนสิ่งของทั้งปวงนี้ให้เป็นผงสำหรับกวนนั้น คือของที่ควรจะหั่นฝานเป็นชิ้นเล็กๆ ก็หั่นฝาน ที่ควรจะโขลกตำก็โขลกตำ ที่ควรจะเปียกจะหุง เช่น สาคูวิลาด สาคูลาน ผลเดือย ข้าวสารหอม ก็เปียกก็หุงเคล้าด้วยของทั้งปวง น้ำตาลสำหรับกวนมีชื่อต่างๆ คือ น้ำผึ้ง น้ำอ้อยสด น้ำอ้อยแดง น้ำตาลกรวด น้ำตาลทรายนั้นก็ดูเป็นแต่สังเขป ที่ใช้จริงๆ เป็นพื้นนั้นก็น้ำตาลหม้ออย่างเดียว กะทิที่ใช้, ใช้คั้นด้วยน้ำมะพร้าวอ่อน เป็นอันได้เจืออยู่ทั้งมะพร้าวอ่อนมะพร้าวแก่ ชะเอมเทศ ชะเอมสด ข้าวอ่อนที่เป็นน้ำนมใช้ลงครกโขลกเจือน้ำคั้น น้ำที่ใช้นั้นใช้น้ำมนต์ ผลไม้ที่ควรจะคั้นน้ำเช่นทับทิมและส้มต่างๆ นั้นก็คั้นน้ำสำหรับใช้เจือเมื่อเวลากวน พร้อมกับเนยด้วย ฟืนที่ใช้ติดไฟเคี่ยวกะทิและกวนนั้นใช้ไม้ชัยพฤกษ์และไม้พุทราสองอย่าง เชื้อไฟก็ใช้ส่องด้วยแว่นซึ่งเรียกว่าไฟฟ้า เมื่อตรวจดูเครื่องที่ใช้ในข้าวทิพย์ของเรา ซึ่งเห็นว่าเป็นเนื้อหนังอยู่นั้นก็คือเรื่องข้าวๆ และกะทิกับน้ำตาลเป็นขนมอย่างไทยๆ ที่เอาผลไม้ต่างๆ มาเจือนั้น ไม่ได้นึกหวังจะให้รสผลไม้นั้นรู้สึกเลย เป็นแต่สักว่ามีอยู่ในนั้น เรื่องนมเนยมีพอให้สมกับที่เป็นพิธี ที่แท้ก็ได้เจือกระทะละช้อนซุบ ๑ หรือสองช้อนเท่านั้น ไม่ได้เกินกว่านั้นเลย แต่กระนั้นอุปาทานของคนไทยๆ เรา ที่รู้ว่าเจือเนยด้วย ไม่เข้าใจชัดว่า เจือสำหรับออกชื่อให้ดังครึ บางคนกินไม่ได้เลยร้องว่าเหม็นเนย ลางคนก็ทักว่าปีนี้เหม็นเนยไป มีบ่นกันแทบทุกปี แต่ที่แท้นั้นเหม็นชื่อเนยจริงๆ ไม่มีตัวเนยที่สำหรับพอจะให้เหม็นได้เลย นี่เป็นตัวอย่างที่ให้เห็นความเกลียดเนยของไทยได้ ถ้ากวนอย่างแบบอินเดียจริงๆ แล้ว เป็นต้องเหลือทั้งแปดกระทะ ถึงจะปั้นลูกกลอนกลืนตามแบบคนที่เกลียดเนยที่มีเป็นอันมาก ก็คงถึงกระท้อนกลับเป็นแน่

การกวนข้าวทิพย์ ถึงว่าไม่ได้ออกชื่อในหนังสือเก่าๆ ชัดเจน ก็คงจะได้กวนมาแต่ครั้งกรุงเก่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดให้มีการกวนข้าวทิพย์ในรัชกาลที่ ๑ นั้นตลอดมา ใช้พระเจ้าลูกเธอฝ่ายในทรงกวนทั้งสิ้น

ตามที่ถือกันว่า ผู้ซึ่งสำหรับกวนข้าวทิพย์นั้นต้องเป็นสาวพรหมจารี คือที่ยังไม่มีสามีนั้นประการหนึ่ง อีกนัยหนึ่งคือหญิงซึ่งยังไม่มีระดูกล่าวว่าเป็นพรหมจารีแท้ แต่การที่ถืออย่างหลังนี้ อยู่ข้างจะมาจากซึมซาบ ก็ถ้าจะคิดตามคำที่ว่าพรหมจารี ซึ่งตามสำนวนในพุทธศาสนา คือผู้ที่ประพฤติอย่างพรหม ไม่บริโภคกามคุณ ผู้ซึ่งยังไม่มีระดูปราศจากเดียงสา จะถือว่าประพฤติอย่างพรหมอย่างไรได้ เพราะไม่ได้คิดจะละเว้น เป็นแต่ยังไม่ถึงกำหนด ถ้าจะใช้พรหมจารีให้แท้แล้วดูเหมือนจะต้องใช้ผู้ที่บริโภคกามคุณได้ แต่หากมาละเว้นเสียเพื่อจะประพฤติให้เหมือนพรหม แต่คำว่าพรหมจารีที่มีมาในคัมภีร์พราหมณ์ ซึ่งเรียกว่ามหาภารตะนั้น ดูต่างกันกับพรหมจารีที่มีมาในพระพุทธศาสนา เขากล่าวปริยายไว้ในเรื่องจำแนกพวกผู้ประพฤติตน ๔ จำพวก จำพวกหนึ่งเรียกว่าคฤหัสถ์ จำพวกหนึ่งเรียกว่าภิกษุ จำพวกหนึ่งเรียกว่าพรหมจารี จำพวกหนึ่งเรียกว่าวันปรัษฏ์ ในจำพวกที่เรียกว่าพรหมจารีนั้น จำจะต้องประพฤติ คือเวลาที่อยู่ด้วยอาจารย์ต้องรับคำสั่งสอน และทำตามซึ่งอาจารย์จะบังคับให้ทำ และจำจะต้องรับการงานของอาจารย์ ไม่ต้องรอคำสั่งอาจารย์ก่อน จำจะต้องตื่นก่อนนอนภายหลังอาจารย์ จำจะต้องเป็นผู้อ่อนน้อมและต้องอดกลั้นความปรารถนาทั้งปวงให้อยู่ในบังคับตัว และต้องอดกลั้นคือตั้งอยู่ในขันตี เป็นผู้มีพยายามกล้า และมีความเพียรที่จะเล่าเรียน ต่อเป็นผู้ที่ประพฤติเช่นนี้ จึงเป็นผู้ควรที่จะคิดว่าจะสำเร็จได้สมหมาย ความประพฤติของพรหมจารีที่กล่าวมานั้น ดังนี้ แต่ความมุ่งหมายของพรหมจารีที่มุ่งจะได้นั้นคือได้ความรู้ที่ได้เล่าเรียนเวท ซึ่งเป็นตัวคัมภีร์เดิมที่พระพรหมหยิบออกจากกองเพลิงเป็นต้น และเวทางค์ซึ่งเป็นวิชาประกอบกันกับเวท ๖ ประการ มีวิชาโหรเป็นต้น และศาสตระคือกฎหมายแบบอย่างความประพฤติสำหรับตัดสินผิดและชอบ มีมนูสารศาสตร์เป็นต้น และมนตร์ คือถ้อยคำที่สวดเสกอ้อนวอนต่อพระเป็นเจ้าหรือคำอธิษฐาน วิชาทั้งปวงนี้เป็นพื้นที่สำหรับพวกพรหมจารีจะเล่าเรียน ถ้าอาจารย์นั้นมีวิชาวิเศษยิ่งขึ้นไป คือวิชาสัญชีวะชุบชีวิตที่ตายให้กลับเป็นขึ้นได้เป็นต้น เมื่ออยู่ไปกับอาจารย์ อาจารย์ชอบใจในการปฏิบัติที่ตัวได้ทำเมื่อใด ก็ประสิทธิ์วิชานั้นให้ นับว่าเป็นจบพรหมจารีที่ตนได้ตั้งความเพียร ในเวลาเมื่อตั้งอยู่ในพรหมจารีนั้น ก็ย่อมตั้งความเพียรในการที่จะทรมานกายเพ่งต่อฌานสมาบัติไปด้วย ผู้ที่ประพฤติพรหมจารีเช่นนั้น ย่อมมีเวลาจะละความเพียรมามีภรรยา หรือมีภรรยาไปด้วย ในเวลาตั้งความเพียรไปเช่นนี้ ดูคำที่เรียกว่าพรหมจารีนั้น ไม่ประสงค์จะแปลความว่าละการบริโภคกามเหมือนอย่างพรหมจารีในพระพุทธศาสนา ประสงค์เอาความเพียรที่จะให้ได้วิชา และจะให้บรรลุฌานสมาบัติซึ่งจะทำให้เป็นพรหมเป็นที่ตั้งพรหมจารีมีเป็นสองอย่างอยู่เช่นนี้ พรหมจารีที่ใช้กวนข้าวทิพย์นี้ จะหมายเอาพรหมจารีพวกใดก็ไม่ทราบ แต่ตามความเห็นของข้าพเจ้า จะคิดลึกเกินไปหรือประการใดสงสัยอยู่ เห็นว่าคำที่เรียกผู้กวนข้าวทิพย์ว่าสาวพรหมจารีนี้ เดิมจะเป็นพราหมณีดอกกระมัง ข้อที่ถือตามซึมซาบกันอยู่ต่อไปอีกว่านางพรหมจารีนั้นต้องเป็นคนที่ยังไม่มีระดู จึงจะเป็นพรหมจารีแท้นั้นเล่า ถ้าจะคิดไปตามทางที่ว่าพรหมจารีเป็นพรหมณีแล้ว ก็จะเคยใช้นางพราหมณีที่ยังไม่มีสามี ธรรมดาพราหมณีที่มีระดูแล้ว ก็มีสามีทั้งสิ้น หรือถ้าไม่มีสามีก็คงเป็นคนเสียคนแล้ว จะมาใช้ในการมงคลไม่ควร จึงต้องเป็นการเลือกฟั้นเอานางพราหมณีซึ่งยังไม่มีระดูที่เป็นคนบริสุทธิ์มากวน การที่เราพลอยถือไปว่า ต่อเด็กที่ยังไม่มีระดูจึงจะเป็นพรหมจารีแท้นั้น จะเป็นด้วยฟังแว่วๆ ในเรื่องเขาเลือกนางพราหมณี แต่ไม่รู้มูลเหตุและลัทธิศาสนาพราหมณ์จึงได้เข้าใจกันเป็นการซึบซาบรวมๆ สืบมา ก็ถ้าหากเมื่อว่าการกวนข้าวทิพย์ เป็นการจำเป็นจะต้องใช้นางพราหมณีซึ่งยังไม่มีสามีเช่นว่ามาแล้วนี้ พราหมณ์ในเมืองไทยเรานี้มีน้อย จะหาธิดาพราหมณ์ซึ่งยังไม่มีกำหนดอาวาหะวิวาหะมงคลได้ยาก จะมีเวลาขัดข้องในการที่จะทำพระราชพิธีขึ้น พระเจ้าแผ่นดินองค์ใดองค์หนึ่งจึงได้ทรงตัดสินว่า เมื่อไม่มีธิดาพราหมณ์จะกวนข้าวทิพย์แล้ว เอาลูกเจ้านายที่นับว่าเป็นขัตติยชาติสูงกว่าตระกูลพราหมณ์มากวนจะไม่ได้หรือ ท่านพราหมณ์ผู้จะทำพิธีนั้น ก็ค่อนจะอยู่ข้างเรียวลงด้วย จะหาธิดาพราหมณ์ก็ไม่ได้ด้วย จึงได้ตกลงเป็นว่ายอมใช้ได้ตามกระแสพระราชดำริ การกวนข้าวทิพย์จึงได้ยกเป็นหน้าที่ของลูกเจ้านายกวน แต่เลือกเอาลูกเจ้านายเป็นพรหมจารี คือที่ไม่มีสามีเป็นพรหมจารีตามอย่างพระพุทธศาสนา ที่ทรงพระเยาว์ให้ได้ขนาดกับนางพราหมณีซึ่งยังไม่มีสามีที่เคยกวนมาแต่ก่อนนั้นด้วย จึงได้เรียกว่าสาวพรหมจารี และวิธีที่เลือกเด็กอายุอ่อนที่กลายเป็นซึมซาบไป จึงได้ยังเหลือซึมซาบอยู่จนบัดนี้


หัวข้อ: Re: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 10 กรกฎาคม 2561 16:07:51

พระราชพิธีเดือน ๑๐ (ต่อ)

ครั้นต่อมาในรัชกาลที่ ๒ ที่ ๓ การกวนข้าวทิพย์ละเว้นไป คงมีแต่ยาคูเสมอมา ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ กวนข้าวทิพย์พึ่งมาเกิดขึ้นใหม่อีกในรัชกาลที่ ๔ การที่เปลี่ยนแปลงในวิธีที่ทำก็คงจะมีหลายอย่าง ที่จับได้ชัดเช่นขนมปังดังนี้ แต่ก่อนคงไม่มี แต่ในครั้งนั้นใช้หม่อมเจ้า ลูกเจ้านายต่างกรมยังไม่ได้ตั้งกรม ไม่เฉพาะแต่ที่ยังทรงพระเยาว์ กวนเรื่อยไปจนเป็นสาวใหญ่ๆ เช่น หม่อมเจ้าทับทรวงในพระองค์เจ้าเกยูรเป็นต้นก็มี ทรงพระปรารภจะให้พระเจ้าลูกเธอกวนอยู่ไม่ขาด แต่ยังทรงพระเจริญไม่พอ ก็พอเสด็จสวรรคตเสีย ครั้นในแผ่นดินปัจจุบันนี้ ใช้ตามแบบรัชกาลที่ ๔ แต่ได้มีพระเจ้าน้องนางเธอและพระเจ้าลูกเธอกวนสองคราว การที่ตกแต่งกันอยู่ข้างใหญ่โต และที่ที่กวนก็ไม่เป็นปฏิรูปเทศจึงไม่ได้เป็นการติดต่อกันไปทุกปี กลับลงเป็นอย่างเก่า ครั้นนานมาหม่อมเจ้าที่ทรงพระเยาว์มีน้อย หม่อมเจ้าที่ขึ้นบัญชีใหม่ชั้นหลังยังไม่ทรงพระเจริญ ด้วยต้องหาในระหว่างเกศากันต์แล้วแต่ยังไม่ทันเป็นสาวใหญ่ ก็หายากขึ้นทุกปี ลงต้องมีหม่อมราชวงศ์เจือปน นานเข้าก็เรื่อยลงไปจนหม่อมหลวง เมื่อชั้นหลังๆ ลงมานี้ ถึงคนสามัญเข้าปลอมใช้บ้างก็มี แต่ต่อไปภายหน้า ถ้าเจ้านายชั้นหลังทรงพระเจริญแล้ว ก็คงจะไม่ต้องมีคนอื่นเจือปน การแต่งตัวฟังสวดของพวกสาวพรหมจารีนี้ แต่ก่อนมาก็เห็นจะนุ่งขาวทั้งสามวัน แต่ครั้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้แต่งเครื่องสีสองวัน ในวันที่แต่งเครื่องสีนั้นนุ่งจีบ แต่วันกวนข้าวทิพย์นุ่งขาว เดิมก็ใช้นุ่งจีบ แต่เจ้านายที่ต้องกวนข้าวทิพย์มักเป็นเด็กๆ ไม่รักษากิริยาให้เรียบร้อย ผ้านั้นบางและแข็งเดินปลิวกระจุยกระจายไป จึงโปรดให้นุ่งโจงกระเบนเสีย ว่าที่จริงดูก็ควรจะนุ่งขาวทั้งสามวัน ตามธรรมเนียมที่ฟังสวดทั้งปวงใช้นุ่งขาวเป็นพื้น ยกเสียแต่งานบ่าวสาว เพราะเห็นว่าแต่งตัวนุ่งขาวไม่มีสีสัน ทำให้ผู้ที่แต่งนั้นเสียสวยไป การที่ฟังสวดพิธีสารทนุ่งห่มสีนี้ ก็เห็นจะเป็นเรื่องจะให้สวยนั้นเอง ใช้สวมสังวาลสายสร้อยผูกของข้อพระหัตถ์พระบาท เว้นแต่ที่สาวโตแล้วก็ใช้แต่สังวาลและสายสร้อย แต่พระองค์เจ้ากวนในชั้นหลังนี้ ทรงผ้าเยียรบับ ทรงสะพักตาดปัก ที่ยังทรงพระเยาว์ก็ใช้เครื่องประดับเต็มที่ แต่ที่ทรงพระเจริญแล้วไม่ได้ใช้พระสังวาล แต่งอย่างไปกฐิน ปีที่พระองค์เจ้ากวนนั้นคราวใด ก็เป็นการครึกครื้นใหญ่คนดูหลายร้อยคน แต่บางปีที่มีแต่การพระราชพิธีไม่มีกวนข้าวทิพย์ก็มีบ้าง เหมือนอย่างเวลาพระบรมศพอยู่บนพระมหาปราสาทเป็นต้น

ส่วนในการพระราชพิธีที่พราหมณ์ตั้งนั้น ตั้งตามแบบ เหมือนพิธีอื่นๆ ที่ในพระบรมมหาราชวัง ไม่มีแปลกประหลาดอันใดเลย การพิธีสงฆ์พระแท่นมณฑลจัดคล้ายพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ แต่ยกพระบรมธาตุและพระพุทธรูปต่างๆ เสียทั้งสิ้น คงอยู่แต่พระชัยวัฒน์ประจำรัชกาลที่ ๕ ไม่มีเทียนชัย เพราะไม่ได้สวดภาณวาร ที่พระแท่นสำหรับพระสงฆ์สวดเป็นที่ตั้งสิ่งของต่างๆ ซึ่งจะใช้ในการกวนข้าวทิพย์ พระสงฆ์ที่สวดมนต์เปลี่ยนกันทั้งสามวัน คือใช้พระราชาคณะ พระครูเจ้าวัด พระครูนิตยภัตร พระมหาดเล็กบางองค์ ซึ่งได้รับพุ่มในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่ได้บิณฑบาตในพระบรมมหาราชวัง ปันกันเป็นสามพวก วันแรกคณะใต้ วันกลางคณะเหนือ วันหลังคณะกลาง และคณะธรรมยุติกา พระสงฆ์มากบ้างน้อยบ้างขึ้นๆ ลงๆ ตามที่มีตัว ไม่กำหนดแน่ได้ แต่คงไม่ต่ำวันละ ๓๐ ไม่เกินวัน ๔๐ รูป ตั้งสวดเริ่มพระราชพิธีในเวลาบ่ายวันแรมสิบสามค่ำ สาวพรหมจารีที่มานั่งฟังสวดนั่งในฉาก มีสายสิญจน์โยงมงคลเหมือนอย่างเจ้านายโสกันต์ ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการแล้ว อาลักษณ์อ่านคำประกาศ คำประกาศเดิมเป็นคำร้อยแก้วคล้องจองกันไม่มีกำหนด แต่ภายหลังพระยาศรีสุนทรโวหาร[[๓] แต่งขึ้นเป็นคำร่าย ได้ใช้อยู่ทุกวันนี้ เริ่มคำประกาศนั้น รับพระบรมราชโองการประกาศแก่พระสงฆ์ซึ่งจะสวดพระพุทธมนต์ และเทพยดาซึ่งรักษาพระนครและในสถานที่ต่างๆ ในประกาศนี้ออกพระนามย่ออย่างกลาง ทรงพระราชดำริว่า การกวนข้าวทิพย์เป็นพระราชพิธีเคยทำมาแต่โบราณ ทั้งเป็นเวลาที่ได้ถวายทานยาคูในเวลาที่ข้าวเป็นน้ำนม ซึ่งเกิดมีขึ้นแต่ปฐมรัชกาล การกวนข้าวปายาสนั้น เป็นพิธีเพื่อจะให้เกิดสวัสดิมงคลแก่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการบรรดาที่อยู่ในกรุงเทพฯ รับพระราชทานระงับโรคภัยอันตรายต่างๆ ส่วนยาคูนั้น นับว่าเป็นเหตุที่จะป้องกันข้าวในนามิให้มีอันตราย ด้วยมีนิทานกล่าวมาว่าพระโกณฑัญญะเมื่อเป็นกุฎุมพีจุลกาฬ ได้ถวายยาคูแก่พระสงฆ์สาวกพระพุทธวิปัสสี ข้าวในนาก็งามบริบูรณ์ขึ้นเป็นทิฏฐธรรมเวทนีย์ ทรงพระราชดำริเห็นว่าควรจะทำ จึงให้นำข้าวรวงซึ่งเป็นน้ำนมมาจ่ายแจกไปให้พระบรมวงศานุวงศ์ทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน และข้าราชการ ทำยาคูและโถฟักเหลืองเป็นภาชนะที่รอง ประดับด้วยดอกไม้ต่างๆ เป็นประณีตทานถวายพระสงฆ์ เสด็จพระราชดำเนินออกเลี้ยงพระสงฆ์สามวัน จึงมีพระบรมราชโองการ ให้ประกาศแก่พระสงฆ์ซึ่งจะสวดพระพุทธมนต์ขอให้มีจิตมั่นด้วยเมตตา และยึดเอาคุณพระรัตนตรัยทั้งสามเป็นที่พึ่ง และด้วยอำนาจพระรัตนตรัยอันเป็นนิรัติศัยบุญเขต ขอให้เกิดสวัสดิมงคลและระงับโรคภัยแก่ผู้ที่ได้รับพระราชทานข้าวปายาสนี้ และขอให้เทพยดาจงนำสุรามฤตย์มาเจือโปรยปรายในอเนกรสปายาส ให้คุ้มกันสรรพอันตรายทุกประการ ต่อไปจึงเป็นคำอธิษฐานว่าด้วยอำนาจพระมหากรุณาของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งมีแก่ประชาชนทั้งปวง และอำนาจพระราชกุศลที่ได้ทรงบำเพ็ญในเวลานี้ จงให้มีพระชนม์ยืนนานปราศจากพระโรค ให้ศัตรูเป็นที่เกรงขาม และขอให้ฝนตกเติมเพียงพองามในเวลาที่ข้าวเป็นรวง และผลไม้ต่างๆ เมื่อถึงฤดูก็ให้ออกบริบูรณ์ทั่วทุกสิ่งทุกอย่าง ด้วยอำนาจบุญฤทธิ์พระเจ้าแผ่นดิน ผู้บำรุงข้าราชการและประชาราษฎร คำสัตย์ซึ่งได้กล่าวนี้ ขอให้สำเร็จเป็นสวัสดีเทอญ

เมื่ออ่านประกาศแล้วพระสงฆ์จึงได้สวดมนต์ วันแรกสวดจุลราชปริต วันกลางสวดมหาราชปริต วันหลังสวดธรรมจักกัปปวัตนสูตรและมหาสมัยสูตร รุ่งขึ้นเลี้ยงพระ วันแรกเป็นโถยาคูข้าราชการ วันที่ ๒ เป็นของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้า วันที่ ๓ เป็นของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน

วิธีที่ทำโถยาคูกัน แต่ก่อนๆ มาทราบว่าใช้ฟักเหลืองกลึงเป็นรูปต่างๆ ประดับด้วยดอกไม้ฟักทองมะละกอย้อมสีเครื่องสด มีกระบะหรือถาดรองใบหนึ่ง ที่ใช้เป็นโต๊ะไม้รองบ้างก็มีแต่อย่างย่อมๆ ชมกันในขบวนฝีมือช่างแกะฟักทองมะละกอเลียนดอกไม้สด แต่ที่ทำนั้นไม่ต้องเหมือนดอกไม้จริง จะให้งามขึ้นไปกว่ากี่ร้อยเท่าก็ได้ ถ้ายิ่งงามขึ้นไปเท่าใดยิ่งดี แบบเดียวกันกับช่างเขียนไม่ต้องเขียนให้เหมือนจริง การที่ทำนั้นต้องทำในเวลากลางคืน อยู่ข้างจะเป็นการเอะอะประกวดประขันกันมาก แต่เจ้านายฝ่ายในท่านไม่โปรดดอกไม้ฟักทองมะละกอ ด้วยเห็นไม่เหมือนจริง และไม่มีกลิ่นหอม ทั้งไม่ได้มีฝีพระหัตถ์จัดทำอะไรด้วยในโถยาคูนั้นเลย จึงเป็นธรรมเนียม ถ้าพระองค์ใดถูกโถต้องยกเข้ามาถวายแต่เช้า ถอนดอกไม้ฟักทองมะละกอออกเสียหมด เอาดอกไม้สดเสียบไม้กลัดปักประดับ แบบที่สำหรับประดับนั้นดูไม่ใคร่จะแปลกกันนัก ข้าพเจ้าเคยเล่นดอกไม้ฟักทองมะละกอที่ถอนออก และได้เคยช่วยประดับดอกไม้สดเสมอทุกปี อยู่ข้างจะชำนาญมาก ยอดโถนั้นดูเป็นจำเป็นจะต้องใช้ดอกมณฑามัดเป็นช่อสี่ดอก เป็นยอดดอกหนึ่ง รองลงมาสามดอก โดยมากกว่าดอกอื่นๆ ถ้าผิดจากดอกมณฑาก็เป็นดอกขจรซ้อนบ้าง ดอกกุหลาบบ้าง มัดเป็นช่อใหญ่เหมือนกัน รองลงมาก็เป็นดอกจำปาดอกจำปีงอกลีบปักเรียงเป็นวงรอบ แล้วจึงถึงดอกกุหลาบ เป็นท้องไม้อีกรอบหนึ่ง แล้วดอกจำปาดอกจำปีเป็นขอบนอกอีกสองรอบ เป็นหมดส่วนฝา ในส่วนตัวโถนั้นก็ประดับเป็นรอบๆ เช่นนี้เหมือนกัน ตามแต่พระองค์ใดจะโปรดสลับสีดอกไม้อย่างไร แปลกกันไปต่างๆ แต่คงอยู่ในใช้กุหลาบ จำปี จำปา มณฑา สี่อย่างนี้เป็นพื้นทั่วๆ ไป ถ้าวันโถข้างในแล้วก็เป็นดอกไม้สดครึดไปทั้งสิ้น ถ้าวันโถข้างหน้าแล้วหาดอกไม้สดสักดอกหนึ่งก็ไม่มี เป็นดอกไม้ฟักทองมะละกอทั้งสิ้น ข้างฝ่ายผู้ชายก็ค่อนว่าโถเจ้านายผู้หญิงว่าไม่รู้จักงาม เอาแต่ดอกไม้เข้าพอก ข้างผู้หญิงก็ค่อนว่าผู้ชายว่าไม่เห็นเป็นดอกไม้ดอกไหล้อันใด เป็นแต่ฟักทองมะละกอ เหม็นเขียวเหม็นบูดไปทั้งโถ เถียงกันเช่นนี้ดูมีอยู่เสมอไม่ขาด ที่จริงประดับดอกไม้ของเจ้านายข้างในก็งามไปอย่างหนึ่ง เสียแต่เป็นแบบเดียวไม่ใคร่จะยักย้ายและเป็นวงๆ แน่นทึบกันไป ไม่มีฝีมือช่างในนั้นเลย ถ้าจะประดับเหมือนอย่างเช่นเจ้านายเดี๋ยวนี้ จัดจานดอกไม้อย่างใหม่ๆ สอดสีสอดสันให้มากก็จะงามพอใช้ ส่วนของผู้ชายนั้นเล่า ที่จริงก็เป็นฝีมือช่างที่ต้องใช้มีดเล็กมีดน้อยแกะซอกแซกต่างๆ ดอกไม้แต่ละดอกก็ต้องแกะกันช้านาน เป็นที่เทียบฝีมือดีฝีมือชั่วกันได้ เสียแต่ไม่ตั้งใจจะทำให้เหมือนดอกไม้จริงๆ เลย มักจะไปเข้าเรื่องดอกไม้จีนเสียโดยมาก ถ้าผู้ที่ดูไม่ใช่คนที่เรียกว่า “เป็น” คือที่เคยทำได้หรือที่เคยเห็นมากๆ แลดูก็ไม่น่าพิศวงงงงวยอันใด ให้เนือยๆ ไป ต่อฟังที่ท่านเป็นๆ ติชมกันจึงได้เห็นและเข้าใจว่าดีอย่างไรชั่วอย่างไร การแต่งโถมาแผลงขึ้นใหม่ในโถของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ใช้ดอกไม้ฝรั่ง ที่เป็นคราวกำลังท่านเล่นอยู่หมู่หนึ่ง คือดอกรักเร่ ดอกเหนียงนกกระทุง และดอกเบญจมาศ กุหลาบฝรั่งต่างๆ ทั้งอย่างดอกเล็กๆ ประดับทั้งดอกทั้งใบ สลับกันไปไม่ไว้จังหวะ เป็นดอกไม้ใบไม้ทึบทั้งโถแปลกมาใหม่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดชมเชยมาก ได้พระราชทานรางวัลด้วย แต่ไม่มีผู้ใดอาจทำตามอย่างนั้น คงมีอยู่แต่โถเดียว โถนอกนั้นเล่นเพิ่มเติมทางเครื่องตั้ง เป็นชั้วเป็นชั้น มีของหวานจัดลงจานตั้งบ้าง เครื่องไทยทานต่างๆ ประดับประดาบ้าง บางทีก็มีงามๆ แต่ยังไม่โตถึงโถทุกวันนี้ พอยกเข้าประเคนข้างสำรับได้ เป็นบางโถทีเดียวจึงจะต้องยกเข้าไปแต่เฉพาะโถ แต่ในปัจจุบันนี้ มีความคิดยักย้ายเปลี่ยนแปลงออกไปทั้งตัวโถและเครื่องตกแต่ง สนุกสนานงดงามยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนหลายเท่า จนถึงใช้เครื่องกลเครื่องไกบ้างก็มี เปลี่ยนรูปทุกปีไม่ได้ซ้ำ เป็นกระจาดใหญ่อย่างเล็กๆ ดูสนุกสนานน่าดูมาก แต่โตๆ ขึ้นไป จนการที่จะยกเข้าไปประเคนพร้อมกับสำรับนั้นเป็นไม่ต้องคิดถึง ได้แต่ตั้งเรียงเป็นแถวอยู่ตรงหน้าพระเท่านั้น ของเจ้านายข้างในก็ไม่ใช้ดอกไม้เหมือนอย่างแต่ก่อน ไปเล่นท่วงทีประดับประดาแข่งกันกับข้างหน้าดูก็คล้ายๆ กันทั้งสามวัน ถ้าผู้ใดถือแบบเก่าใช้แต่โถรองถาดหรือรองกระบะ ด้วยถือว่าเป็นแบบอย่าง มีทิฐิมานะไม่ยอมเปลี่ยนใหม่ และเสียดายเงิน ถึงจะประดับประดาตกแต่งงดงามเท่าใด ก็คงลงไปเข้าพวกพระยาพระกะร่องกะแร่งที่เกณฑ์เหลือเผื่อขาด ไม่ใคร่จะได้ประเคนพระที่มาฉัน

การที่จะจำหน่ายโถยาคูนั้น เจ้าพนักงานจัดโถของผู้มีบรรดาศักดิ์ใหญ่ๆ ที่ไม่ดีขึ้นเป็นข้าวพระ ตั้งไว้ที่หนึ่ง ดูเหมือนหนึ่งจะเป็นเกียรติยศใหญ่ ที่ได้เป็นส่วนของพระพุทธเจ้า แต่ที่แท้แปลว่าเลวแต่เกรงใจ จึงเอาไปตั้งข้าวพระแล้วจะได้ยกเอาไปให้พระที่เลวๆ หรือที่มานั้นแล้วและที่จะมาฉันต่อไปเป็นได้ซ้ำอีกโถหนึ่ง ส่วนโถที่เหลืออยู่นั้น สังฆการีมีธงฉลากชื่อพระไว้คอยถวาย เมื่อเสด็จออกทรงศีลแล้ว จึงเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร โถทรงปักฉลากชื่อพระสงฆ์ ตามแต่จะโปรดพระราชทานองค์ใด โถยาคูที่เกณฑ์มานั้นคงจะเหลือพระสงฆ์อยู่ในวันละ ๓ โถ ๔ โถ โดยมาก จึงทรงเลือกพระราชทานพระองค์เจ้าพระ พระองค์เจ้าเณรที่ไม่ได้มาฉัน บางทีก็ซ้ำในพระราชาคณะผู้ใหญ่ ซึ่งไม่ใช่วันที่มาฉันบ้าง ตามแต่จะมีโถเหลือมากเหลือน้อย สิ่งซึ่งต้องห้ามในโถยาคูนี้ คือห้ามมิให้ใช้โถแก้วแทนโถฟักเหลือง ซึ่งเคยไม่โปรดมาทุกคราว ที่มีเครื่องตกแต่งตามแต่จะตกแต่งอย่างไร สุดแต่ให้มีโถฟักเหลืองเป็นเครื่องบรรจุยาคูอยู่แล้วเป็นใช้ได้ บางทีใช้ฟักทั้งผลซึ่งมิได้ปอกเปลือกและมิได้ตกแต่งอันใดด้วยฝีมือช่าง ที่ความประสงค์ของผู้ที่ทำนั้น ก็ประสงค์จะอวดที่หาฟักโถนั้นได้ใหญ่ดี มีตัวอย่างเล่ามาว่า เมื่อครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ปีหนึ่งมีฟักเหลืองเข้ามาแต่เมืองจีน ผลใหญ่หลายๆ กำ ข้าราชการที่เป็นคนค้าสำเภาซื้อมาทำโถยาคูหลายคนด้วยกัน ไม่ได้ตกแต่งอันใดมากนัก และไม่ได้ปอกเปลือก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็โปรดปรานเชยชม ครั้นมาถึงในรัชกาลที่ ๔ มีผู้หาฟักเหลืองผลใหญ่ได้ ทำเข้ามาเช่นนั้นบ้างก็ไม่โปรด รับสั่งว่าเป็นการมักง่าย การเรื่องที่จะเลี้ยงยาคูพระสงฆ์ทำไมจึงต้องบรรจุโถฟักเหลืองนี้คงจะไม่มีมูลเหตุอย่างอื่นนอกจากที่จะให้เป็นของประณีตของงาม

สวดมนต์วันที่สาม ไม่ได้ประโคมพระขึ้น รอเวลากวนข้าวทิพย์ มีอ่านคำประกาศและพระสงฆ์สวดมนต์เหมือนอย่างสองคืนมาแล้ว สวดมนต์จบแล้วพระสงฆ์ก็อติเรกถวายพระพรลากลับไป ไม่ได้มีประโคมเหมือนกัน แล้วพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ใบมะตูม และทรงเจิมสาวพรหมจารีทั้งปวง แต่ที่ไม่ได้เป็นหม่อมเจ้าพระราชทานน้ำด้วยพระเต้า แล้วท้าวนางก็นำออกไปที่โรงพิธี โรงซึ่งทำขึ้นสำหรับกวนข้าวทิพย์แท้นั้นคือ หอนิเพทพิทยาทุกวันนี้ พระราชทานชื่อว่าหอราชพิธีกรรม แต่ภายหลังเป็นที่ประทับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ และพระเจ้าน้องยาเธอ และเป็นที่ใกล้หอธรรมสังเวช ซึ่งเป็นที่ไว้พระศพ จึงได้ปลูกโรงขึ้นใหม่ตรงหน้าพระมหาปราสาทลงไป ครั้นเมื่อที่นั้นทำเป็นโรงราชยาน ก็ใช้โรงราชยานนั้นเป็นโรงพิธี เมื่อย้ายพระราชพิธีไปทำที่พระที่นั่งอนันตสมาคมคราวหนึ่งนั้น เลิกกวนข้าวทิพย์ แต่ในครั้งนี้ทำพระราชพิธีที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ปลูกโรงกวนข้าวทิพย์ตรงท้องพระโรงหลังขวางออกไป การที่ตกแต่งโรงในพระราชพิธีนั้น คือก่อเตากระทะสิบเตา เรียงตามยาวเป็นแถวกัน ๘ เตา เป็นที่กวนข้าวทิพย์ อยู่ด้านสกัดสองเตาเป็นที่กวนกระยาสารทเครื่องต้น หน้าเตาทั้งแปดนั้นตั้งม้าวางโต๊ะตะลุ่มถุงเครื่องที่จะกวน ข้างหลังเตาเข้าไปยกพื้นพอต่ำกว่าปากกระทะหน่อยหนึ่ง เป็นที่สำหรับสาวพรหมจารีนั่งกวนกระทะละคู่ ตามเสาแขวนหิ้งตั้งเทวรูป มีธูปเทียนดอกไม้บูชาตามทิศ เป็นหน้าที่ของมหาดเล็กต้องออกไปจุดเทียนบูชาเทวดานี้ ที่ต้นแถวตั้งเครื่องบูชาพานถมถ้วยแก้วอย่างเครื่องทองน้อย เป็นของวิเศษ บูชาใครไม่ทราบ เห็นจะเป็นครูปัธยาย มีขวดน้ำส้มนมเนยตั้งอยู่ที่นั้นด้วย เป็นหน้าที่ท้าวอินทร์สุริยาและท้าววิเศษปลัดเทียบระดมมาช่วยกันทุกโรง ผู้ซึ่งทำการกวนข้าวทิพย์ทั้งปวงสวมมงคลทั่วกัน ครั้นเมื่อสาวพรหมจารีขึ้นนั่งประจำที่แล้ว เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปทรงรินน้ำในพระมหาสังข์ลงในกระทะ แล้วทรงเจิมพายที่พาดอยู่ปากกระทะ กระทะละสองพายด้วยยันต์มหาอุณาโลมและเครื่องหมายสามทุกเล่มพาย แล้วทรงรินน้ำในพระเต้าศิลาจารึกอักษรและพระเต้าเทวบิฐต่อไปทั่วทุกกระทะ โปรดให้พระเจ้าลูกเธอทรงรินน้ำส้ม และเติมเนยตามไปจนตลอดทั้งแปดกระทะเสร็จแล้ว พวกท้าวปลัดเทียบวิเศษซึ่งประจำกระทะจึงได้เทถุงเครื่องที่จะกวนลงในกระทะ ซึ่งมีกะทิและน้ำตาลเคี่ยวได้ที่แล้ว สาวพรหมจารีจับพายลงมือกวน ประโคมแตรสังข์ฆ้องชัยพิณพาทย์มโหรี พระมหาราชครูพิธีรดน้ำสังข์ทุกกระทะแล้วก็เสด็จขึ้น พอเสด็จขึ้น สาวพรหมจารีก็เป็นอันเลิกกวนกลับเข้าในพระบรมมหาราชวัง ต่อนั้นให้ฝีพายมากวน ประโคมพิณพาทย์จนสุกเสร็จ กระยาสารทอีกสองกระทะก็กวนพร้อมกัน

บรรดาผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานข้าวทิพย์ก่อนนั้น คือฝีพายผู้กวนมีอำนาจที่จะควักไปได้คนหนึ่งเต็มใบพายที่จะคอนไปได้ และเวลาสุกแล้วจัดมาตั้งเครื่องในเวลาค่ำก่อน และบรรจุเตียบสำริดขนาดใหญ่ไปตั้งบนเตียงพระมณฑล ๔ เตียบ สำหรับเป็นเครื่องต้นและจัดลงอ่างหยกสำหรับตั้งหน้าพระสยามเทวาธิราชอ่างหนึ่ง เวลาเช้าเสด็จพระราชดำเนินออกเลี้ยงพระ โปรดยกเตียบบนพระแท่นมณฑลลงมาจัดข้าวทิพย์ประเคนพระสงฆ์ฉัน แล้วจึงได้แจกข้าวทิพย์นั้น พระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายในและพระสงฆ์ มากน้อยตามบรรดาศักดิ์ ข้าวทิพย์ที่แจกนั้นมีห่อเป็นสามขนาด ขนาดใหญ่สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ ขนาดรองลงมาสำหรับข้าราชการ ขนาดเล็กสำหรับข้าราชการชั้นต่ำๆ ลงไป ที่ออฟฟิศต่างๆ จ่ายรวมไปมากๆ ก็มี พระสงฆ์ที่เคยได้รับพระราชทานข้าวทิพย์อยู่แต่ก่อนนั้น คือเจ้าพระ ราชาคณะ ฐานานุกรม เปรียญ ตลอดจนพระพิธีกรรม พระปริตร พระอนุจร ได้มาเดิมแต่วัดพระเชตุพนทั่วทั้งวัด ครั้นภายหลังในรัชกาลที่ ๔ พระราชทานวัดบวรนิเวศและวัดราชประดิษฐ์อีกสองวัด ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ เกิดวัดราชบพิธ วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ วัดเทพศิรินทราวาส วัดปรมัยยิกาวาสขึ้นอีก และมีห่อทรงบาตรทรงประเคนบ้าง

อนึ่งในวันเดือน ๑๑ ขึ้นค่ำหนึ่ง เป็นวันสดับปกรณ์กาลานุกาล แต่พระสงฆ์ซึ่งฉันในพระราชพิธีสารทมาก จึงได้แบ่งพระสงฆ์ซึ่งจะมาสดับปกรณ์กาลานุกาลนั้น ให้ได้รับข้าวกระทงจัดตั้งบนโต๊ะลาว มีผ้าเช็ดปากแดง ผ้าเช็ดหน้าขาว ทำเป็นธงปักยอดฝาชี ให้เข้าเรื่องข้าวกรูซึ่งจะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า ของที่สดับปกรณ์นั้นก็ใช้ผ้าสบงผืนหนึ่งตามเคย มีกาน้ำซึ่งกรอกน้ำด้วยเสร็จใบหนึ่ง ร่ม รองเท้า ในการที่เริ่มทำขึ้นนั้นคือพระสงฆ์ฉันโถยาคูนั้นเป็นเวลาฉันเช้า เมื่อพระสงฆ์ที่ฉันในการพระราชพิธีกลับแล้ว จึงได้สดับปกรณ์ทรงประเคนข้าวกระทงกล่องข้าวปัดและกาน้ำ ร่ม รองเท้า เพื่อจะให้รับไปฉันเพลที่วัดหรือในพระบรมมหาราชวังแห่งใดแห่งหนึ่งตามอัธยาศัย แต่ครั้นเวลาล่าลงมาเป็นเลี้ยงพระสาย ก็กลายเป็นต้องส่งข้าวกระทงนั้นไปถวายพระฉันเสียก่อน แต่กาน้ำซึ่งกรอกน้ำแล้วนั้นไม่ได้ถวายด้วย พระต้องไปหาน้ำฉันเอาเอง กาน้ำยกมาไว้ประเคนพร้อมกับร่ม รองเท้า อยู่ข้างจะโคม ถ้าถูกพระสงฆ์ที่ไม่เคยมาและชาๆ อยู่ด้วย รับกาน้ำไปแล้วถือเอียงคว่ำหกเปื้อนผ้าผ่อนบ่อยๆ แต่พระสงฆ์ที่ฉันในการพระราชพิธีทั้งสามวันนั้น ได้ผ้าชุบอาบองค์ละผืนอย่างพระราชพิธีใหญ่ทั้งปวง

ในการพระราชพิธีสารทนี้ เป็นกำหนดทรงบาตรในการนักขัตฤกษ์อีกครั้งหนึ่งทั้งสามวัน ของทรงบาตรมีวิเศษขึ้น คือข้าวทิพย์และกระยาสารท แต่ข้าวทิพย์นั้นได้ทรงวันเดียวแต่วันหลังกระยาสารทเป็นขนมตามฤดู ทำนองก็จะมาจากข้าวปายาส แต่จะให้อร่อยถูกปากไทยเท่านั้น

เมื่อทรงบาตรแล้ว เสด็จพระราชดำเนินขึ้นหอพระ ในหอพระนั้นมีกระทงข้าวกรูตั้งบนโต๊ะเงินกระทงหนึ่ง กระทงข้าวเปรตตั้งบนโต๊ะเงินอีกโต๊ะหนึ่ง ข้าวกรูและข้าวเปรตนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดอย่างยิ่ง ถ้าทรงทอดพระเนตรเห็นเมื่อใดก็รับสั่งเป็นการล้อเล่นต่างๆ แต่ยังทรงจุดเทียนและรินน้ำหอม เป็นการเล่นเสมอทุกปี และทรงแปลคาถาที่สำหรับบูชา ซึ่งรับสั่งว่าพูดไม่เป็นภาษาคน เที่ยวล้อเถ้าแก่ท้าวนางต่างๆ เกือบจะทุกปี กระทงข้าวกรูนั้นใช้กระบุงมีกระบอกสักหวายติดอยู่กลางกระบุง แล้วหุ้มใบตอง จัดของกินคาวหวานลงในกระบุงหรือกระทงนั้น แล้วมีต้นไม้ปักที่กระบอกกลางกระบุง บนต้นไม้นั้นมีธงจระเข้ตัดด้วยเศษผ้านุ่งผ้าห่มเล็กน้อยแขวนรุงรังไป มีดอกไม้จีนประดับช่วยให้งามด้วย ที่ลำต้นของต้นไม้นั้นผูกดอกตะแบกช่อหนึ่งหรือสองช่อ มีเทียนธูปเสียบไม้กลัดอย่างดอกเหน็บที่ปากกระบุงสำหรับทรงจุด เมื่อทรงบูชาพระพุทธรูปแล้ว กระทงข้าวกรูนี้ยกไปถวายพระสงฆ์ฉัน ข้าวเปรตอีกโต๊ะหนึ่ง มีกระทงเล็กๆ มีข้าววางอยู่นั้นหน่อยหนึ่ง (เห็นจะไม่ถึงซ้องหัตถ์ตามอารามิกโวหาร) มีของกินคาวหวานกองปนๆ กันโรยอยู่หน้า มีธงเล็กๆ ปักอันหนึ่ง ดอกตะแบกดอกหนึ่งหรือสองดอกโรยปนอยู่กับอาหาร มีหมากคำหนึ่งพลูจีบหนึ่ง มีธูปเล็กๆ ดอกหนึ่ง เทียนเล็กๆ ดอกหนึ่ง เสียบลงไปกับข้าวดื้อๆ เช่นนั้น กระทงเช่นนี้มี ๘ กระทง มีกระทงน้ำอีกกระทงหนึ่ง ขวดคอปล้องกรอกน้ำดอกไม้สดขวดหนึ่ง สำหรับรินลงในกระทงเวลาเมื่อบูชาหรืออุทิศ ข้าพเจ้าไม่สู้เข้าใจวิธีถวายกันอย่างไรชัดเจน เป็นแต่จุดเทียนเล่นอยู่เสมอ

แต่การถวายข้าวกรูนี้พอสืบหามูลเหตุได้ชัดเจน ดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือว่ามีมาในเปตะวัตถุสังเขปความว่า มีพรานเนื้อคนหนึ่ง เมื่อไปไล่เนื้อกลับมาถึงบ้าน ก็แจกเนื้อให้แก่เด็กๆ ทั้งปวง วันหนึ่งพรานไปไม่ได้เนื้อ จึงเก็บดอกตะแบกหรือดอกราชพฤกษ์ก็ว่า ประดับกายและหาบมาเป็นอันมาก ครั้นเมื่อมาถึงประตูบ้าน เด็กๆ ทั้งปวงก็มาขอเนื้อตามเคย พรานจึงแจกดอกตะแบกให้คนละช่อ ครั้นพรานนั้นตายไปเกิดในเปตะนิกาย มีดอกตะแบกเป็นเทริดประดับศีรษะเดินไปในน้ำ หวังจะไปหาอาหารที่บ้าน ในเวลานั้นโกฬิยะอำมาตย์ของพระเจ้าพิมพิสารออกไปชำระความผู้ร้ายตามหัวเมือง ล่องเรือมาเห็นเปรตนั้น ไต่ถามได้ความแล้วก็มีความกรุณา จึงว่าข้าวสัตตูของเรามีทำไฉนท่านจึงจะได้ เปรตนั้นตอบว่า ถ้าในเรือนี้มีอุบาสกตั้งอยู่ในสรณะ ท่านจงให้ข้าวสัตตูนั้นแก่อุบาสก แล้วอุทิศส่วนกุศลนั้นให้แก่เรา อำมาตย์นั้นก็ทำตาม เปรตได้อนุโมทนาตั้งอยู่ในความสุขแล้ว จึงสั่งว่าให้ท่านทั้งหลายกรุณาแก่เปตะนิกาย เมื่อทำกุศลสิ่งใดๆ แล้วให้อุทิศส่วนบุญให้ ครั้นเมื่ออำมาตย์กลับมาถึงบ้าน นิมนต์พระพุทธเจ้ากับพระสงฆ์บริสัชมาถวายทาน แล้วกราบทูลเรื่องเปรตนั้นให้ทรงทราบ พระองค์จึงทรงอธิษฐานให้มหาชนประชุมพร้อมกัน แล้วแสดงเปตะนิกายให้ปรากฏ มีเรื่องราวกล่าวมาดังนี้

เรื่องเปรตนี้ เป็นสัตว์จำพวกหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเรียกในศาสนาพราหมณ์โบราณ ตามสำนวนสันสกฤตว่าปิตรี หมายเอาว่าเป็นผีจำพวกหนึ่งซึ่งเป็นปู่ย่าตายายญาติพี่น้องของชนทั้งปวงตายไปเป็นปิตรี มีออกชื่อและเล่าเรื่องราวที่มาทำวุ่นวายต่างๆ ถี่ๆ เปรตคือออกจากปิตรีนี้เอง ที่มามีกล่าวถึงในพระพุทธศาสนาด้วย ก็จะเป็นอนุโลมมาจากศาสนาเดิม ซึ่งคนในประเทศอินเดียถือกันอยู่ว่ามีมาแต่โบราณแล้วนั้น จะตัดสินคัดค้านเสียว่าไม่มีกล่าวถึงในพระพุทธศาสนาแต่เดิมเลยก็ยากอยู่ แต่การที่ทำการกุศลเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว โดยจะอุทิศให้แก่สัตว์หมู่ใดพวกใด ก็ไม่เป็นการทำให้กุศลสิ่งที่ดีนั้นเสื่อมทรามไป จึงต้องถือว่าเป็นอันไม่มีข้อที่จะคัดค้านอันใด แต่การที่เปรตเหล่านั้นจะได้รับประโยชน์ก็ต่อเมื่อทำทานอุทิศให้ เหมือนนิทานตัวอย่างซึ่งโกฬิยะอำมาตย์ได้ทำ แต่เรื่องข้าวเปรตที่ไม่ได้ทำบุญสุนทันอันใด เป็นแต่เอาไปกองไปทิ้งให้อย่างเซ่นผี เป็นที่น่าสงสัยนัก ก็ถ้าหากว่าการที่จัดอาหารลงกระทงเล็กๆ ไปทิ้งเช่นนั้น เปรตจะได้รับจริงแล้ว พรานที่ตายไปเป็นเปรตควรจะบอกแก่โกฬิยะอำมาตย์ ว่าให้เอาข้าวสัตตูสักซ้องหัตถ์หนึ่งใส่ในกระทงลอยน้ำมาเถิด ข้าพเจ้าจะได้กินเป็นอาหารทิพย์ หรือขอเศษผ้าอะไรทิ้งลงมาให้อีกสักหน่อยหนึ่งจะได้เอามาเป็นผ้าทิพย์ นี่เปรตก็ไม่ว่าเช่นนั้น บอกแต่ขอให้ทำทานอุทิศให้

การที่เกิดเซ่นเปรตขึ้นนี้เห็นจะมาจากทางอื่นคือ ลัทธิฮินดูเป็นต้นเค้า ด้วยเขาถือการเซ่นผีปู่ย่าตายาย คล้ายกันกับจีนที่เซ่นศพเซ่นป้าย ถ้าผู้ใดไม่มีบุตรชายสืบตระกูล ไม่ได้ขนมเซ่นศพ แล้วก็เป็นผู้มีความทุกข์ในภายหน้า ถ้าจะเอาผู้อื่นมาเซ่นแทนก็ว่าไม่ได้ เฉพาะต้องบุตรขนมนั้นจึงจะได้แก่ผู้ที่ตายไปแล้ว เพราะฉะนั้นจึงต้องมีลัทธิที่จะหาบุตร นับแจกออกไปได้ ๑๒ จำพวก คือบุตรที่เกิดด้วยภรรยาตนที่แต่งงาน ๑ บุตรที่เกิดแต่ภรรยาของตนกับผู้ที่รู้จบไตรเพท อันมุ่งต่อความกรุณา ๑ บุตรที่เกิดจากภรรยาของตนโดยผู้อื่นซึ่งเห็นแก่ทรัพย์สินจ้างเป็นเครื่องสักการะ ๑ บุตรที่เกิดแต่ภรรยาภายหลังสามีตายแล้ว ๑ บุตรที่เกิดแต่นางสาว[๔] หรือหลานที่เกิดแต่บุตรีที่บิดารับเป็นลูก (คืออธิบายว่าบิดามีแต่บุตรหญิง ให้บุตรหญิงนั้นไปมีสามี ครั้นบุตรหญิงนั้นมีบุตรออกมาเป็นชาย บิดาทำพิธีตามแบบรับมาเป็นลูก) ๑ บุตรซึ่งเกิดแต่ภรรยาที่ไม่บริสุทธิ์ (หมายความว่ามากชู้หลายผัว) ๑ บุตรที่เขาให้ ๑ บุตรที่ซื้อมาโดยความเสน่หา ๑ บุตรที่ใจตัวเด็กสมัครเอง ๑ บุตรที่ได้มาด้วยแต่งงานกับเจ้าสาวซึ่งมีครรภ์มาแล้ว ๑ บุตรของพี่ชายน้องชาย ๑ บุตรซึ่งเกิดด้วยภรรยาที่มีชาติต่ำกว่าตน ๑ บุตรเหล่านี้เซ่นศพได้ ๖ จำพวก เซ่นศพไม่ได้ ๖ จำพวก ในบุตร ๖ จำพวกข้างต้นนั้นนับว่าเป็นผู้รับมรดกสืบตระกูลได้ ด้วยเป็นเชื้อวงศ์ของตนด้วย เป็นบุตรที่เซ่นศพได้ บุตร ๖ จำพวกหลังเป็นผู้รับมรดกและสืบตระกูลไม่ได้ เป็นแต่นับว่าเป็นเชื้อวงศ์ เป็นบุตรที่เซ่นศพไม่ได้ บุตรที่เกิดด้วยฤๅษีหรือพราหมณ์มาเพาะกับภรรยานั้น นับในพวกที่เซ่นศพได้ ลัทธิที่ถือการจำเป็นจะต้องมีบุตรเป็นสำคัญเช่นนี้ ยังถือกันแข็งแรงอยู่ในประเทศอินเดียทุกวันนี้ การเซ่นศพก็ยังมีอยู่เสมอ ถึงอังกฤษมาเป็นผู้ปกครองทะนุบำรุงเจ้านายพวกฮินดูก็ต้องยอมรับว่า บุตรที่บิดาเขารับตามศาสนาเช่นนี้ เป็นบุตรสืบตระกูลได้ด้วยเหมือนกัน ไปห้ามเสียแต่ที่เมื่อเวลาผัวตายแล้ว รานีผู้เป็นภรรยาจะรับลูกเลี้ยงในเวลาผัวตายไม่ได้ ด้วยได้เคยเกิดเหตุมาหลายครั้ง ด้วยรานีนั้นประสงค์จะมีอำนาจ เป็นผู้รั้งราชการแทนผัวต่อไป จึงได้คิดหาเด็กมารับเป็นลูกเลี้ยงตัวว่าการแทน เมื่อเด็กลูกเลี้ยงที่เป็นรายาคนใหม่โตขึ้น ยอมมอบสมบัติและอำนาจให้โดยปรกติก็มี ที่ไม่ยอมให้เกิดวิวาทกันขึ้นก็มี เพราะเป็นการนุ่งในส่วนรานีเช่นนี้ อังกฤษจึงได้ไม่ยอมรับลูกเลี้ยงซึ่งเลือกเมื่อเวลาผัวตาย ก็ยังมีเหตุเคลือบแคลงด้วยอ้างเอาว่า รายาผู้ตายได้รับเป็นบุตรเลี้ยงเมื่อจวนจะตาย เช่นนานาสหิบซึ่งอังกฤษไม่ยอมรับ ภายหลังเป็นขบถ ด้วยถือโอกาสเอาในเวลาที่พวกทหารแขกของอังกฤษเป็นขบถ ก่อเหตุใหญ่โตในประเทศอินเดียได้

การที่เราทำข้าวกรูคงจะมาตามในหนังสือที่มีเจือมาในพุทธศาสนา แต่ข้าวเปรตนี้ เห็นจะติดมาแต่ผู้ที่เคยเซ่นผีปู่ย่าตายายอย่างฮินดู ถ้ามิฉะนั้นดีร้ายก็จะมาจากลาวอยู่ในเรื่องเซ่นผี ธรรมดาการที่เซ่นๆ ทั้งปวงไม่ต้องใช้ของมาก ครั้นเข้าใจว่าของน้อยจะเป็นของมาก เหมือนอย่างบัตรบูชาเทวดาใส่ขนมเล็กขนมน้อย แต่เต่าจะกินก็ไม่พออิ่ม แต่คำที่โหรว่านั้นสารพัดจะดีวิเศษเกินกว่าจริงได้ร้อยเท่าพันเท่าแล้วก็ไม่เป็นปด เพราะของเหล่านั้นจะกลับไปเป็นมาก ไม่เลี้ยงแต่เฉพาะเทวดาที่เป็นนายองค์เดียว เลี้ยงทั้งเทวดาบริวารตลอดไปด้วย บริวารนั้นนับด้วยโกฏิทั้งนั้น การที่ใช้ของน้อยๆ เซ่นไหว้เช่นนี้ ผู้ต้นคิดเห็นจะคิดเพื่อจะให้เป็นแต่แสดงความเคารพ ด้วยเห็นอยู่แก่ตาว่าถึงจะหาของไปให้มากมายเท่าใด ก็ไม่บกพร่องลงไป ไม่เหมือนเลี้ยงพระที่ฉันได้ต้องเติมของซึ่งเป็นที่ชื่นชมยินดีของทายก ตลอดไปจนถึงข้าวพระซึ่งรู้อยู่แล้วว่าการที่ถวายข้าวพระนั้น ใช่จะไปได้แก่พระพุทธเจ้าอย่างหนึ่งอย่างใด คือจะได้รับสิ่งของนั้นโดยทางเซ่นหรือทางอุทิศส่วนบุญก็ไม่มี คงเป็นแต่อามิสบูชาอย่างเดียวกันกับธูปเทียนดอกไม้ ไม่ต้องใช้มาก สิ่งละหยิบเล็กหยิบน้อยก็พอ แต่ซึ่งเชื่อถือกันว่าของน้อยจะไปกลายเป็นมากในโลกหน้านั้น เห็นจะเกิดขึ้นจากเรื่องทำบุญเฟื้องหนึ่งได้ร้อยเฟื้องพันเฟื้อง เป็นไปตามอัธยาศัยคนเช่นที่เรียกว่าเก็บเบี้ยใต้ร้าน เห็นเป็นท่าที่จะได้อย่างไรก็เอาทุกอย่าง การที่ทำข้าวกรูกระทงใหญ่สำหรับถวายพระเมื่อภายหลังนั้น เห็นจะมาตามทางนิทานเรื่องเปรตซึ่งเป็นพรานที่กล่าวมา แต่เรื่องข้าวเปรตเห็นจะมาจากเครื่องเซ่น


หัวข้อ: Re: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 10 กรกฎาคม 2561 16:12:42

พระราชพิธีเดือน ๑๐ (ต่อ)

ในหนังสือนพมาศกล่าวว่า ข้าวกรูที่ทำกันในครั้งนั้น ประสงค์อุทิศต่อปรทัตตูปชีวีเปรต ก็ดูต้องกันกับคำที่เล่าๆ อยู่ในชั้นหลังนี้ การที่จำแนกชื่อเปรตต่างๆ ดูเป็นตามคัมภีร์ซึมซาบมากกว่าที่มาในพระบาลีหรืออรรถกถาชั้นสูงๆ เช่นในคัมภีร์โลกสัณฐานและมิลินทปัญหา ที่มาในคัมภีร์ชั้นสูง คือมาในจตุตถปาราชิกคัมภีร์อาทิกรรม แต่จำแนกประเภทเปรตก็ต่างกัน กล่าวไว้ในโลกสัณฐานและคัมภีร์อาทิกรรมคัมภีร์ละสิบสองพวก ในสิบสองพวกทั้งสองคัมภีร์นั้นก็ไม่ตรงกัน ว่าไปคนละอย่าง ฟังดูก็เป็นการง่ายที่จะคิดพรรณนา เป็นแต่ว่าให้แปลกๆ กันไป จะเอาสักสองร้อยพวกก็เห็นจะได้ แต่ในมิลินทปัญหานั้น มีย่นกล่าวโดยสังเขปอีกชั้นหนึ่ง คือว่าถ้าจะย่นเข้าก็คงเป็นสี่จำพวก ที่เขาจะปันอาการตามที่คล้ายๆ กันเป็นพวกหนึ่งๆ คือ อุตูปชีวี เลี้ยงชีวิตด้วยมลทินแห่งครรภและหนองเลือดทั้งปวงพวกหนึ่ง ขุปปิปาสิกะ อยากข้าวอยากน้ำอยู่เป็นนิตย์พวกหนึ่ง นิชฌามะตัณหิกะ เพลิงเผาอยู่ภายในเป็นนิตย์พวกหนึ่ง ปรทัตตูปชีวี เลี้ยงชีวิตด้วยผลแห่งทานที่ผู้อื่นให้ จิตระวังแต่ที่จะรับส่วนกุศลอย่างเดียวพวกหนึ่ง เปรตพวกหลังนี้ คือเปรตที่ทำข้าวกรูอุทิศให้ คำที่เรียกว่าข้าวกรูนั้นชะรอยจะมาจากภาษามคธว่ากุระ แปลว่าข้าวอย่างหนึ่ง ตามดิกชันนารีชิลเดอร์แปลว่าข้าวต้มให้สุกแล้ว แต่เรียกซึบซาบกันไปก็กลายเป็นกรู ครั้นเมื่อกรูแปลไม่ออกแล้วจึงมีผู้เดาเป็นตรูต่อไปอีก เพื่อจะให้ได้ความ แต่เหตุใดจึงมาทำข้าวกรูกันในฤดูสารทไม่ได้ความ หรือจะทำให้เป็นคู่กันกับข้าวผอกกระบอกน้ำ ซึ่งได้ทำในเวลาตรุษสุดปีบ้างดอกกระมัง

อนึ่ง ในการพระราชพิธีสารทนี้ ก็มีข้าวบิณฑ์เช่นได้พรรณนาแล้วเมื่อสงกรานต์นั้นเหมือนกัน เพราะเป็นพิธีกึ่งกลางปี ๚
 

-------------------------------------------------------------------------------------
[๑] หนังสือประดิทินบัตรนี้ ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ พิมพ์ขาย
[๒] สมเด็จพระวันรัต (ทับ) วัดโสมนัสวิหาร
[๓] พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ในรัชกาลที่ ๕
[๔] ศัพท์ “นางสาว” ตรงนี้เป็นพระราชนิพนธ์เดิม เฉพาะตรงกับที่บัญญัติใช้ทีหลัง


เดือนสิบ
การพระราชกุศลกาลานุกาล

๏ ในกำหนดพระราชพิธีสารท ได้กล่าวถึงข้าวกระทงและของสดับปกรณ์มาเสร็จแล้ว ในที่นี้จึงไม่ต้องกล่าวพิสดาร ขอบอกแต่ว่าในเดือน ๑๑ ขึ้นค่ำ ๑ เจ้าพนักงานได้เชิญพระบรมอัฐิ และพระอัฐิเท่าจำนวนที่เคยสดับปกรณ์มาแต่ก่อน ออกไปประดิษฐานบนพระที่นั่งเศวตฉัตรและโต๊ะจีน ทั้งในพระราชวังบวรฯ และหอพระนาค ก็มีการพระราชกุศลตามเคยเหมือนกาลานุกาลอื่นๆ พระสงฆ์ที่สดับปกรณ์ก็เกือบจะเป็นสำรับเดียวกันนั้นเอง  

คำตักเตือนในพระราชพิธีสารท
 
การสวดมนต์ในเวลาค่ำ ก็เป็นตามธรรมเนียมเรียบร้อยดีอยู่ มีแต่ในวันกวนข้าวทิพย์ ภูษามาลาต้องเก็บใบมะตูม ให้พอแก่ที่จะพระราชทานเจ้ากวนข้าวทิพย์ คืออย่าให้ต่ำกว่าสิบหกใบลงไป ถ้าต่ำลงไปแล้วเคยเคอะมาหลายครั้ง ถ้ามากจนถึงสามสิบสองใบยิ่งดี อนึ่งใบมะตูมที่เก็บมานั้นเป็นอย่างใช้ไม่ได้แท้ๆ มักจะต้องห้อยหูมากกว่าทัด คือเหี่ยวอ่อนเหลือเกิน ด้วยเก็บมาไว้ช้า หรือไปรวบกระชากมาแต่ที่ใบอ่อนๆ จนสีแดง การที่ได้เตือนในหนังสือวชิรญาณแต่ก่อนก็มี แต่ภูษามาลาไม่มีผู้ใดได้รับหนังสือวชิรญาณ ท่านอธิบดีผู้ซึ่งบังคับภูษามาลาทุกวันนี้ก็ทรงหนังสือไม่ออก ฉัตรมงคลครอบพระกริ่งยังขาดได้ ถึงนินทาไว้ดังนี้คงไม่รู้ ช่างเป็นไร ยังมีเรื่องที่เคยกาหลในพิธีสารทอีกอย่างหนึ่ง คือข้าวกระทงที่สำหรับสดับปกรณ์พระบรมอัฐินั้น เคยมาตั้งอยู่ที่หลังฉากมุขใต้ แต่ก่อนมาถ้าเวลาจวนเพลแล้วเถ้าแก่เคยขนส่งมหาดเล็ก ทางพระทวารฉากข้างตะวันตก มหาดเล็กส่งกรมวังและทนายเลือกนำลงไปถวายพระสงฆ์ที่มาคอยสดับปกรณ์ แต่บางปีมหาดเล็กเฉยๆ อยู่ กรมวังก็เคยไปเรียกเอาเองก็มี ถ้าถูกเฉยเข้าด้วยกันหมดแล้วเป็นเกิดความทุกคราว การอื่นๆ ก็ดูไม่ใคร่มีขัดข้องขาดเหลืออันใดนัก ๚  


เดือนสิบ
การพระราชกุศลตักบาตรน้ำผึ้ง

๏ การตักบาตรน้ำผึ้งนี้ ไม่ได้เป็นพระราชกุศลซึ่งมีมาในเรื่องราวเก่าๆ ปรากฏในหนังสือแห่งใด เป็นการพึ่งเกิดขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๔ เหมือนอย่างวิสาขบูชาและมาฆบูชา ทำอนุโลมตามผู้ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาแต่ก่อนได้เคยทำมา แต่การที่ทำนั้นก็ไม่สู้จะเป็นราชการสำหรับแผ่นดินแท้นัก ทำเป็นส่วนธรรมยุติกา หรือเฉพาะแต่วัดบวรนิเวศด้วยอีก เป็นการของวัดมากกว่าของบ้าน คือเมื่อเวลาทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศ ได้เคยมีการวิสาขบูชา มาฆบูชา ตักบาตรน้ำผึ้ง เมื่อได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว จึงได้ทรงยกเข้ามาทำในวัดพระศรีรัตนศาสดารามอีกส่วนหนึ่ง พระสงฆ์ที่ฉันในการตักบาตรน้ำผึ้งเดิมก็ใช้ราชาคณะฐานานุกรมวัดบวรนิเวศวัดเดียวทั้งสิบรูป ต่อภายหลังเมื่อทรงสร้างวัดราชประดิษฐ์ จึงได้มีพระราชาคณะฐานานุกรม วัดราชประดิษฐ์ เข้าในจำนวนสิบรูปนั้นด้วย ครั้นภายหลังเมื่อปีข้าพเจ้าบวชเณรย้ายเข้ามาเลี้ยงพระที่พระที่นั่งพุทธมนเทียรใต้ มีเจ้าพระเจ้าเณรที่บวชใหม่ เติมนอกจากจำนวนสิบรูปขึ้นไปอีก ต่อมาภายหลังก็เลยเป็นแบบ เจ้าพระเจ้าเณรทรงผนวชใหม่เข้ามาฉัน และได้น้ำผึ้งที่ทรงบาตรนั้นด้วย เป็นฉลองเจ้าพระเจ้าเณรด้วยกลายๆ ครั้นในรัชกาลปัจจุบันนี้ เชิญพระพุทธบุษยรัตน์ไปประดิษฐานที่พระพุทธรัตนสถานแล้ว จึงย้ายเลี้ยงพระไปที่พระพุทธรัตนสถาน แต่ที่แคบไม่พอพระสงฆ์ จึงต้องแยกไปฉันที่พระตำหนักทรงผนวชบ้าง แต่ก่อนทรงบาตรที่มุขหลังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภายหลังจึงย้ายมาที่พระที่นั่งทรงธรรม ครั้นเมื่อไปเลี้ยงพระที่พระพุทธรัตนสถาน การทรงบาตรก็ย้ายไปที่ชาลาใต้ต้นจันทน์หน้าประตูกมลาสน์ประเวศมาจนทุกวันนี้ บาตรที่ทรงนั้นมีบาตรพระพุทธรูปในที่ต่างๆ และบาตรพระสงฆ์ มีแต่ตัวบาตรไม่ได้หุ้มถลกตั้งเรียงบนม้า ทรงด้วยขันเงินทรงบาตร บาตรละขัน มีผลสมอทิ้งลงไปในบาตรนั้น บาตรละเก้าผลสิบผลตามแต่จะมีมากมีน้อย ต่อนั้นไปเจ้านายฝ่ายในเสด็จขึ้นมาทรงบาตรน้ำผึ้ง ตามแต่พระองค์ใดจะทรงศรัทธามากน้อยเท่าใดไม่มีกำหนด แต่น้ำผึ้งคงได้เต็มทุกๆ บาตร เพราะบกพร่องบาตรใดก็คงเติมจนเต็มจำนวนบาตรที่ทรงบาตรน้ำผึ้งดังนี้ ในการทรงบาตรน้ำผึ้งนั้น เสด็จลงทรงจุดเครื่องนมัสการทรงศีล พระสงฆ์ถวายพรพระทรงประเคนแล้ว เสด็จทรงบาตรน้ำผึ้ง เมื่อเสด็จกลับก็พอใกล้กับเวลาที่พระสงฆ์ฉันแล้ว ทรงถวายไทยทาน หมากพลูธูปเทียน และน้ำผึ้งขวดอัดขนาดเล็กขวดหนึ่ง พระสงฆ์ถวายอนุโมทนาด้วยกาเล และยัสสะทาเนนะแล้วก็เสด็จขึ้น มีการเทศนาเรื่องตักบาตรน้ำผึ้งต่อไป การเทศนาเป็นกัณฑ์หลวงแต่ไม่ได้เทศน์หน้าที่นั่ง เทศน์ที่พระที่นั่งทรงธรรม เจ้านายและข้าราชการฝ่ายในฟัง เรื่องที่เทศน์นั้นว่าด้วยนิทานเรื่องตักบาตรน้ำผึ้ง ที่มีมาในเภสัชขันธ์ เป็นการแสดงมูลเหตุอนุโมทนาในมธุทานที่ได้ทำในวันนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าควรจะนำมูลเหตุตามทางที่เทศนานั้นมากล่าวในที่นี้ พอจะได้รู้เรื่องตลอดว่าเหตุการณ์อย่างไรจึงได้เกิดตักบาตรน้ำผึ้งขึ้น และน้ำผึ้งซึ่งดูก็ไม่เป็นประโยชน์อันใดนัก สู้ข้าวสารไม่ได้ ทำไมจึงได้ต้องถึงตักบาตรตักพกดูก็น่าจะถามอยู่ แต่เรื่องที่ข้าพเจ้าจะเล่านั้น จะไม่เดินเนื้อความแต่ตามที่เทศนาอย่างเดียว จะขอแสดงความเห็น และตามที่ตัวทราบเพิ่มเติมปนลงบ้างตามสมควรแก่ข้อความ

ใจความในเภสัชขันธ์นั้นว่า พระพุทธเจ้าเสด็จอยู่ในเมืองสาวัตถี ประทับ ณ เชตวนาราม อารามแห่งอนาถปิณฑิกคหบดี ครั้งนั้นพระภิกษุทั้งหลายอาพาธเรียกว่าสรทิกาพาธ แปลกันว่าไข้เกิดในสรทกาล อาการที่เป็นนั้น คือ “ฉันยาคูและภัตไม่ตั้งอยู่ตามปรกติได้ ยาคูที่ดื่มแล้วก็พิบัติขึ้นเสีย ออกเสียจากมุขทวาร ไม่อยู่ได้นานในอุทรประเทศ” คำที่ว่านี้เป็นโวหารแปลจากภาษามคธ ถ้าพูดกันอย่างไทยๆ ก็ว่าในฤดูนั้นพระสงฆ์ฉันยาคูก็ดี อาหารอื่นก็ดี ให้เกิดโรคอาเจียนออกมาเสียอาหารไม่ตั้งอยู่ได้ เป็นเหมือนกันมากๆ ก็พากันหิวโหยอ่อนเปลี้ยไป ร่างกายก็ผ่ายผอมเศร้าหมอง ผิวเหลืองขึ้นเหลืองขึ้น เมื่อผอมไปเช่นนั้น เส้นก็สะพรั่งขึ้นตามกายเพราะโรคที่เป็นนั้น พระพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็นตรัสถามพระอานนท์ พระอานนท์ก็กราบทูลตามเหตุที่เป็นนั้น ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าอยู่ ณ ที่สงัด จึงทรงพระปริวิตกถึงทุกข์พิบัติซึ่งเกิดขึ้นแก่พระสงฆ์นั้น จึงได้ทรงพระดำริจะหาสิ่งใดอนุญาตให้แก่พระสงฆ์ให้เป็นยาด้วยเป็นอาหารด้วย แต่จะไม่ให้เป็นอาหารหยาบ เมื่อทรงพระดำริเช่นนั้น จึงทรงคิดเห็นยาห้าอย่าง คือ เนยใสอย่างหนึ่ง เนยข้นอย่างหนึ่ง น้ำมันอย่างหนึ่ง น้ำผึ้งอย่างหนึ่ง น้ำอ้อยอย่างหนึ่ง ถือกันว่าเป็นยาด้วย เป็นอาหารด้วย แต่ไม่เป็นอาหารหยาบ เนยใสเนยข้นที่กล่าวในที่นี้ จะเข้าใจว่าเป็นบัตเตอและชีสตามอย่างเช่นของฝรั่งมีขายเดี๋ยวนี้ไม่ได้ ตัวนวนิตเนยข้นนั้นเหลวกว่าบัตเตอ ที่เราเรียกว่าเนยเหลวของฝรั่ง สัปปินั้นกลับเหลวคว้างยิ่งขึ้นไปเป็นน้ำมัน แต่เป็นของเกิดด้วยน้ำนมทั้งสองอย่าง ต้องเข้าใจว่าเป็นเนยอย่างซ้องหัตถ์ชนิดหนึ่งเช่นนี้ ส่วนน้ำมันนั้นเล่าก็หมายเอาน้ำมันงาเป็นที่ตั้ง แต่ท่านรวบรวมน้ำมันบรรดาที่ออกจากผลไม้และเปลวสัตว์เข้าไว้ในหมวดน้ำมันนี้ด้วย น้ำผึ้งนั้นเป็นอันมีอย่างเดียวไม่ต้องคิดถึง น้ำอ้อยนั้นรวบน้ำตาลต่างๆ เข้าในหมวดนั้นด้วย เภสัช ๕ อย่างนี้ พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าควรจะอนุญาตให้พระสงฆ์ทั้งหลายฉันในเวลาเช้าชั่วเที่ยง จึงได้ทรงอนุญาตแก่พระสงฆ์ทั้งปวงเป็นครั้งแรก คำซึ่งเรียกว่าอนุญาตในที่นี้ ถ้าจะว่าตามความเห็นเราไทยๆ ในเวลาเช้าชั่วเที่ยงอาหารเหล่านี้ก็ไม่เป็นที่ห้ามปรามไม่ให้พระสงฆ์ฉันมาแต่ก่อน เมื่ออนุญาตก็ไม่ได้อนุญาตให้ฉันนอกกาล คือนอกเวลาที่พระสงฆ์ฉันอาหารได้ตามปรกติ ถ้าเป็นคนเราทุกวันนี้ก็น่าจะเรียกว่าชวนหรือสั่งให้ฉัน ด้วยความมุ่งหมายคิดเห็นว่า จะให้แก้โรคด้วยแก้หิวด้วย ไปมีฝืนกันอยู่คำหนึ่งที่ว่าทำไมจึงต้องหาที่ไม่ให้เป็นอาหารหยาบ เพราะในเวลาเช้าเช่นนั้น อาหารหยาบพระสงฆ์ยังฉันได้อยู่ เห็นว่าที่หาไม่ให้เป็นอาหารหยาบนั้น คือจะทรงเห็นว่า อาหารหยาบไม่ย่อยซึมซาบไปได้โดยง่าย ต้องไปตั้งอยู่ช้านานจึงได้กระท้อนอาเจียนออกมาเสีย ถ้าเป็นอาหารละเอียดเช่นนี้ถึงว่าอาหารหยาบจะอาเจียนออกมาเสีย อาหารละเอียดคงจะเหลืออยู่ได้เป็นกำลังแก้หิวโหย และของห้าอย่างนี้ ในประเทศนั้นถือกันว่าเป็นยา บางทีจะเป็นเครื่องบำบัดโรคที่เป็นนั้นได้ด้วย ครั้นเมื่อพระสงฆ์ได้รับอนุญาตเช่นนั้น ก็พากันบริโภคเภสัช ๕ อย่าง แต่ไปกลับเกิดขลึกขลักมากไป ตามสำนวนเทศน์ท่านว่า “โภชนที่เศร้าหมอง ของบริโภคตามปรกติทั้งหลาย ยังไม่ชอบใจแต่ภิกษุเหล่านั้นแล้ว จะไปกล่าวถึงโภชนที่ระคนให้เหนียวด้วยสัปปินวนิตเป็นต้นนั้นเล่า ครั้นมาระคนเข้าให้เหนียวด้วยสัปปินวนิตเป็นต้นแล้ว ก็ยิ่งไม่เป็นที่ชอบใจฉันไม่ได้โดยพิเศษกว่าโภชนะที่เศร้าหมองตามปรกติอีกเล่า อาศัยสรทิกาพาธนั้นด้วย บริโภคฉันภัตตาหารไม่ได้ด้วย ทั้งสองโทษนี้ภิกษุทั้งหลายนั้นก็ผ่ายผอมหนักไปกว่าแต่ก่อน” ข้อความที่ว่ามานี้ คือแปลว่าอาหารเดิมที่เป็น อันอีเตเบอล ไม่น่ากินหรือกินไม่ได้อยู่แล้วนั้น มาคลุกเคล้าเข้าด้วยเนยเหลวเนยข้นเป็นต้น ก็ยิ่งอันอีเตเบอลกินไม่ได้หนักไป เมื่ออาหารตามปรกติก็อาเจียนอยู่แล้ว ยิ่งคลุกเคล้าเข้าด้วยซ้องหัตถ์ทั้งหลายเหล่านี้ก็ยิ่งทำให้อาเจียนมากขึ้นด้วย และกินเข้าไปไม่ได้ด้วย เพราะอาหารยิ่งน้อยลงไปเช่นนี้พระสงฆ์จึงผอมหนักไปกว่าแต่ก่อน ครั้นพระพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็น จึงตรัสถามพระอานนท์อีก เมื่อพระอานนท์กราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายอนุญาตให้รับเภสัช ๕ ประการ บริโภคฉันได้ในเวลาวิกาล คือตั้งแต่เที่ยงแล้วไปจนรุ่งสว่างอีกชั้นหนึ่ง เพื่อจะให้ได้เลี่ยงเวลากันกับฉันอาหารและอยู่ข้างจะสำหรับแก้หิวด้วย ดูก็เป็นการตกลงเรียบร้อยกันไป แต่ไม่ได้มีกำหนดว่ารับไว้บริโภคได้เพียงใด เป็นทางที่ผู้เลื่อมใสจะถวายคิลานปัจจัยเภสัชบริขารแก่พระสงฆ์มากขึ้น พระสงฆ์รับแล้วก็เก็บไว้ฉันต่อๆ ไป ไม่มีกำหนด จนไปเกิดเหตุขึ้น คือมีพระอรหันต์องค์หนึ่งชื่อว่าพระปิลินทวัจฉะ ชำนาญในอิทธิวิธญาณ วันหนึ่งพระเถรเจ้าปรารถนาจะทำที่อยู่ที่เงื้อมเขาในเมืองราชคฤห์ ให้ชำระปัดกวาด พระเจ้าพิมพิสารเสด็จไปเห็น จึงดำรัสถามว่าพระผู้เป็นเจ้าจะต้องการอารามิกบุรุษ คนรักษาอารามหรือ พระผู้เป็นเจ้าถวายพระพรว่า พระพุทธเจ้ายังมิได้อนุญาต พระเจ้าพิมพิสารจึงว่าขอให้พระผู้เป็นเจ้ากราบทูลแล้วบอกให้ข้าพเจ้าทราบด้วย แล้วพระผู้เป็นเจ้าจึงให้นำข้อความนั้นไปทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาต ครั้นเมื่อพระเจ้าพิมพิสารเสด็จออกไปครั้งที่สอง ถามพระมหาเถรได้ความว่าพระพุทธเจ้าทรงพระอนุญาตแล้ว จึงตรัสว่าจะถวายคนรักษาอารามคนหนึ่ง แต่ครั้นเมื่อเสด็จกลับเข้าไป มีราชการมากทรงลืมเสีย ล่วงมาช้านานจึงทรงระลึกได้ รับสั่งถามสัพพัตถกะอำมาตย์ ว่าเราจะถวายคนรักษาอารามแก่พระปิลินทวัจฉะนั้น ได้ถวายแล้วหรือยัง อำมาตย์ทูลว่ายังไม่ได้ถวาย ดำรัสถามว่าล่วงมาได้กี่มากน้อยแล้ว อำมาตย์ทูลว่าตั้งแต่ทรงรับมาวันนั้นจนถึงวันนี้ได้ห้าร้อยราตรี พระเจ้าพิมพิสารจึงสั่งให้ถวายอารามิกมนุษย์ห้าร้อยคน ทวีขึ้นราตรีละคน หมู่บ้านเลขวัดนั้น คนทั้งปวงจึงเรียกว่าอารามิกคามบ้าง ปิลินทคามบ้าง พระปิลินทวัจฉะ ก็เป็นกุลูปกะเข้าออกอยู่ในหมู่บ้านนั้น วันหนึ่งมีการเล่นมหรสพเป็นการเอิกเกริก เด็กๆ ในบ้านนั้นแต่งตัวด้วยเครื่องประดับและดอกไม้ต่างๆ เล่นการมหรสพ พระปิลินทวัจฉะเข้าไปบิณฑบาต เมื่อไปถึงเรือนแห่งหนึ่ง ลูกหญิงของเจ้าของเรือนนั้นเห็นเด็กๆ ทั้งปวงแต่งตัว ก็เข้าไปขอเครื่องแต่งตัวและดอกไม้กับบิดามารดา พระปิลินทวัจฉะทราบว่าเด็กนั้นอยากจะได้เครื่องแต่งตัวบ้าง จึงถือเอาเสวียนหญ้าอันหนึ่งส่งให้แก่มารดาให้สวมศีรษะเด็กหญิงนั้น เสวียนหญ้าก็กลายเป็นดอกไม้ทองงามควรชม ถึงนางในพระราชวังก็ไม่มีดอกไม้ทองงามเปรียบเหมือนได้ เมื่อคนทั้งปวงเห็นดังนั้นก็เข้าใจว่าจะได้มาด้วยโจรกรรม จึงกราบทูลพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าพิมพิสารก็สั่งให้จับข้าพระตระกูลนั้นไปจำไว้ ครั้นคราวที่สอง พระปิลินทวัจฉะไปที่เรือนนั้นอีกไม่พบเจ้าของเรือน จึงได้ถามผู้ที่อยู่ใกล้เคียงได้ความว่า เพราะดอกไม้ทองพวงนั้นเป็นเหตุให้ต้องจำ จึงได้เข้าไปในพระราชวัง แล้วทูลถามพระเจ้าพิมพิสารว่า เอาข้าพระตระกูลนั้นมาจำไว้ด้วยเหตุอันใด พระเจ้าพิมพิสารจึงตอบว่า ดอกไม้ทองเช่นนั้นแต่คนที่อยู่ใกล้เคียงข้าพเจ้ายังไม่มี คนจนเช่นนั้นจะไปได้มาแต่ไหน คงจะต้องไปขโมยเขามาไม่ต้องสงสัย เมื่อพระปิลินทวัจฉะได้ยินเช่นนั้นก็อธิษฐานให้ปราสาทพระเจ้าพิมพิสารเป็นทองคำ แล้วถวายพระพรถามว่า ปราสาททองคำนี้พระองค์ได้มาแต่ไหน พระเจ้าพิมพิสารจึงตอบว่า ข้าพเจ้าทราบแล้วว่าเป็นด้วยอานุภาพฤทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้า ถึงดอกไม้ทองนั้นก็จะเป็นเช่นนี้ จึงรับสั่งให้ปล่อยข้าพระตระกูลนั้นจากเวรจำ เมื่อคนทั้งปวงได้ทราบก็มีความเลื่อมใสมาก พากันนำเภสัชทั้ง ๕ นี้มาถวายมากจนล้นเหลือ พระผู้เป็นเจ้าไม่สะสมเภสัชที่ได้นั้นไว้ แจกจ่ายให้แก่ภิกษุที่เป็นบริวาร ภิกษุที่เป็นบริษัทมักมากก็เก็บเภสัชที่ได้แจกนั้นไว้ในภาชนะต่างๆ จนถึงห่อผ้ากรองน้ำบ้าง ถุงบ้าง ห้อยเกี่ยวไว้ตามบานหน้าต่าง เภสัชเหล่านั้นก็ไหลซึมซาบอาบเอิบเปรอะเปื้อนเสนาสนะ หนูทั้งปวงก็เข้าประทุษร้ายเสนาสนะทั้งของเป็นอันมาก คนทั้งปวงเห็นก็พากันติเตียนว่า สมณะศากยปุตติย์เหล่านี้ มีคลังเหมือนพระเจ้าพิมพิสารมคธราช เมื่อภิกษุที่มักน้อยสันโดษมีความละอายและมักสงสัยก็พากันยกโทษติเตียน และกราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงได้ประชุมพระสงฆ์ไต่ถาม ภิกษุพวกนั้นรับเป็นสัตย์ ทรงติเตียนเป็นอันมาก แล้วจึงตั้งบัญญัติสิกขาบทว่า เภสัชทั้ง ๕ นี้ ภิกษุรับแล้วสะสมไว้บริโภคตลอดเจ็ดวันเป็นอย่างยิ่ง ถ้ารับแล้วเก็บไว้พ้นเจ็ดวันไป ของนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุเจ้าของต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะมีบัญญัติเช่นนี้ ของทั้งปวงนั้นจึงเรียกว่าสัตตาหกาลิก คือมีกำหนดเจ็ดวัน ตั้งแต่วันรับไป เป็นกาละ ถ้าไม่สละเสียในเจ็ดวัน หรือไม่ได้ตั้งใจเสียในเจ็ดวันว่าจะไม่กินเลย เมื่อล่วงเจ็ดวันไปถึงอรุณวันที่แปด ของนั้นเป็นนิสสัคคีย์ เจ้าของต้องอาบัติปาจิตตีย์ นับตามของมากของน้อย ต้องเสียสละของนั้นก่อน จึงจะแสดงอาบัตินั้นได้ เมื่อเทศนาเล่าเรื่องมาถึงเพียงนี้จะจบลงจึงได้ว่าเพราะพระพุทธานุญาตสมัยมีมาฉะนี้ บัณฑิตชาติผู้นับถือพระพุทธศาสนาจึงได้บูชาพระพุทธานุญาตนั้นบริจาคน้ำผึ้ง อันนับภายในยา ๕ ประการ ในพุทธบริษัทในสมัยถึงสรทะ หรือจวนใกล้สรทกาลเป็นธรรมเนียมมีมาด้วยประการฉะนี้

เรื่องยา ๕ สิ่งนี้ ถ้าจะคิดตามประเทศของเรานอกจากน้ำผึ้งแล้วก็เป็นของแสลง ที่หมอจะพึงห้ามไม่ให้คนไข้กินทั้งนั้น จะเป็นเพราะเหตุนั้นหรืออย่างไร การถวายเภสัชทั้ง ๕ ในสรทกาลนี้ จึงคงถวายอยู่แต่น้ำผึ้งอย่างเดียว ถวายด้วยความมุ่งหมายว่าจะให้ใช้เป็นยาตามเรื่องเก่า ไม่ได้ถวายอย่างหมากพลู น้ำตาลทราย ใบชาเช่นในเวลาอื่นๆ แต่ในประเทศอินเดียตลอดลงมาจนถึงลังกา เภสัช ๕ อย่างนี้ดูอยู่ข้างหยอดกันมาก จนถึงนิทานในมหาวงศ์[๑] มีเรื่องราวกล่าวถึงเรื่องน้ำผึ้ง ว่าด้วยชาติก่อนของพระเจ้าศรีธรรมาโศก และพระเจ้าเทวานัมปิยดิศ เจ้านิโครธ สามเณร ทั้งสาม ชาติก่อนเป็นกฎุมพีพี่น้องกัน เป็นพ่อค้าน้ำผึ้งทั้งสามคน พี่ใหญ่พี่กลางไปซื้อน้ำผึ้งมาให้น้องสุดท้ายขาย พระปัจเจกโพธิองค์หนึ่งอยู่ที่เขาคันธมาทน์เป็นวัณโรคอันควรจะเยียวยาด้วยน้ำผึ้ง ได้ความเวทนารุ่มร้อนด้วยโรคอันนั้น พระปัจเจกโพธิอีกองค์หนึ่ง ทราบว่าโรคนั้นจะหายด้วยน้ำผึ้ง จึงเหาะมายังเมืองพาราณสี เพื่อจะหาน้ำผึ้ง พบผู้หญิงชาวบ้านที่รับจ้างเขาลงไปตักน้ำ จึงถามว่าร้านขายน้ำผึ้งอยู่แห่งใด นางนั้นก็ชี้บอกร้านให้ เมื่อไปถึงที่ร้านก็ไปหยุดยืนอยู่ พ่อค้าน้ำผึ้งคนเล็กมีความเลื่อมใส จึงรับบาตรไปรินน้ำผึ้งลงเต็มบาตรแล้วส่งถวายพระปัจเจกโพธิ น้ำผึ้งก็ล้นไหลลงยังพื้นแผ่นดิน พ่อค้านั้นจึงได้ตั้งความปรารถนา ขอให้ได้เอกราชสมบัติใหญ่ในสกลชมพูทวีป และให้มีอาณาจักรแผ่ไปเบื้องบนโยชน์หนึ่ง ภายใต้แผ่นดินโยชน์หนึ่ง เพราะเหตุนั้นพระเจ้าศรีธรรมาโศกจึงได้มีเดชานุภาพมาก น้ำผึ้งแก้โรคได้จนถึงเป็นฝีเช่นนี้ ก็แปลกกับยาบ้านเรามาก แต่ดูยังไม่สู้วิเศษเสมอน้ำมันเนย ซึ่งเพราะไม่ได้น้ำมันเนยเท่านั้นถึงแก่ตายได้ มีเรื่องราวในมหาวงศ์เหมือนกัน ว่ามีพระเถระสององค์ พี่ชื่อดิศ น้องชื่อสุมิทธิ์ เป็นพระอรหันต์ พระดิศเถรถูกพิษแมลงบุ้งได้ความทุกขเวทนา พระสุมิทธิ์น้องชายจึงถามว่าทุกขเวทนาครั้งนี้เห็นจะหายด้วยอันใด ท่านพี่ชายบอกว่า ถ้าได้เปรียงมาสักซ้องหัตถ์หนึ่งก็หาย แต่ท่านดิศองค์นั้นจะถือธุดงค์บิณฑบาตอยู่อย่างไร จึงได้สั่งว่าอย่าให้ไปขอแก่ท้าวพระยาผู้ใดเป็นคิลานภัต ให้แต่ไปเที่ยวบิณฑบาตในเวลาเช้า พ้นเพลแล้วได้มาก็ไม่เอา ท่านน้องชายไปเที่ยวบิณฑบาต ตั้งแต่เช้าจนเพลก็ไม่ได้ ความเวทนานั้นกล้าขึ้นพ้นกำหนด โดยจะได้เปรียงมาบริโภคสักร้อยหม้อก็ไม่หาย พระดิศเถรตาย พระเจ้าศรีธรรมาโศกทราบเข้า จึงได้สั่งให้ขุดสระใหญ่ไว้ทั้งสี่ประตูพระนคร ให้ก่ออิฐถือปูนผิวข้างในให้มั่นคง แล้วยังสระใหญ่ทั้งสี่ประตูพระนคร ให้เต็มไปด้วยน้ำมันสระหนึ่ง เต็มไปด้วยสัปปิคือเนยใสสระหนึ่ง น้ำผึ้งสระหนึ่ง ขัณฑสกร คือน้ำตาลกรวดสระหนึ่ง อุทิศถวายแก่พระสงฆ์อันมาแต่จาตุทิศ เพื่อจะมิให้ลำบากต้องเที่ยวบิณฑบาตเภสัช ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกบ้าง แต่ยกมาสองเรื่องนี้พอเป็นตัวอย่างให้เห็น ว่าตามความคิดของเรา จะคิดเห็นคุณประโยชน์ของยานี้อย่างไรคิดไม่ถึงได้เลย ถ้าตามความเห็นเราแล้วต้องเห็นว่า โรคที่พระมหาเถรเจ็บ ชั่วแต่ถูกบุ้งเท่านี้ถึงแก่ความตายได้ ก็โคมเต็มที ยาที่เสาะแสวงหาจะแก้หรือก็หาน้ำมันเนย กินแก้ถูกพิษบุ้งก็โคมอีกเหมือนกัน ถ้าเป็นใจเราถูกบุ้งเข้าเช่นนั้น คงจะคิดหาขี้ผึ้งหรือแป้งอันใดมาคลึงให้ขนมันออกเสียก็แล้วกัน และไม่ตายเป็นแน่ด้วย นี่ท่านหาเนยกันซ้องหัตถ์เดียวเท่านี้ ถึงแก่ความตายได้ แต่บุ้งกัดเท่านี้จะหายารักษา ยังต้องนึกถึงเนยแล้ว การที่พระพุทธเจ้าทรงนึกถึงเนยในเวลาที่พระสงฆ์ป่วยสรทิกาพาธ ก็ไม่เป็นการอัศจรรย์อะไร ยังเข้าเค้าเข้าเรื่องมากกว่าถูกบุ้ง เรื่องเนยเป็นอาหารทิพย์หรือเป็นยาทิพย์ของประเทศนั้น ก็ยังเป็นไปอยู่จนถึงเวลาปัจจุบันนี้ เมื่อข้าพเจ้าไปที่อินเดียไปตามถนนที่เป็นแขกล้วน มีร้านขายขนมสองข้างทาง เช่นถนนที่ตรงเข้ามาเยียมัมมัสจิต[๒] ที่เมืองเดลีเป็นต้น เป็นร้านขายขนมทั้งสองข้าง เมื่อแลเห็นไปแต่ไกล มีขนมใส่ภาชนะต่างๆ ตั้งเรียงราย มีไหทำนองไหกระเทียมหรือหม้อเล่าอ๋วยกรอกน้ำมันเนยตั้งอยู่หลายๆ ไหทุกร้าน เยี่ยมเข้าไปถึงปากตรอกถนน เหม็นเหลือกำลังที่จะทน จนจะอาเจียน เข้าไปไม่ได้ต้องกลับมา และเมื่อกลับจากเมืองพาราณสี (เบนนาริส) พระเจ้าอิศวรีประสาทเจ้าเมืองพาราณสี ให้นำขนมมาส่งให้ในรถไฟที่พ่วงมาข้างท้าย มีขนมยี่สิบตะแกรงใหญ่ น้ำมันเนยใสห้าไห เป็นเวลาชุลมุนไม่ทันรู้ เขาก็เอาบรรทุกรถข้างท้ายมา ครั้นเมื่อถึงสเตชั่นลงมาเดินได้กลิ่นน้ำมันเนยฟุ้งซ่าน ถามจึงได้ความว่าเป็นของพระเจ้าพาราณสีให้ รถกระเทือนไหน้ำมันเนยแตกไหหนึ่งจึงได้ส่งกลิ่นกล้านัก สั่งให้ยกของทั้งนั้นมาให้พวกแขกอยู่ที่สเตชั่นนั้นกิน ดูแย่งกันหยุบๆ หยับๆ อร่อยเหลือทน ขนมนั้นท่วงทีคล้ายๆ ทองพลุ จิ้มน้ำมันเนยแทนน้ำตาลเชื่อม ผู้ที่เขาเคยไปอยู่ที่อินเดียนานเขาเล่าว่า ความที่นับถือเนยกันนั้น ถ้าเป็นผู้มีอันจะกินจึงจะมีน้ำมันเนยกิน เมื่อกินแล้วยังต้องอวดมั่งมีต่อ คือเอาน้ำมันเนยนั้นทาริมฝีปากให้เป็นมันย่อง แสดงว่ากินข้าวมาแล้วกับเนย เป็นคนมั่งมี กรมหมื่นสมมตได้เคยซื้อมาให้แขกฮินดูคนหนึ่ง ซึ่งเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ กิน เอาคลุกกับข้าวสุกเอาน้ำตาลทรายเจือหน่อยหนึ่ง กินเอร็ดอร่อยมาก น้ำมันเนยที่เหลืออยู่ก็ลูบทาไปตามเนื้อตามตัวดูสบายเต็มที น้ำมันเนยนี้เป็นเครื่องสักการบูชาอย่างวิเศษ ด้วยใช้สำหรับประพรมในไฟบูชายัญมากว่าสามพันปีแล้ว เรื่องที่ทาจุดเทียนโคมจองเปรียงนี้จะไม่ใช่อื่นไกลเลย คือเรื่องบูชายัญนั้นเอง คงจะเห็นเป็นกลิ่นหอมกันเป็นแน่ เพราะสิ่งของเหล่านี้เป็นอาหารและเป็นยาเป็นที่นับถือ ทั้งเป็นเครื่องบูชาสืบมาช้านาน พระพุทธเจ้าจึงได้อนุญาตให้เป็นยาสำหรับพระสงฆ์ พระสงฆ์ผู้ที่ได้รับอนุญาตนั้นก็คงพอใจสบายดีทีเดียว และจะใช้กันอยู่เสมอ พระเจ้าศรีธรรมาโศกจึงต้องถึงขุดสระใหญ่ไว้สำหรับให้ใครๆ ไปตักได้ทุกเวลา แต่สระนั้นน่ากลัวจริงหนอ ให้เห็นเป็นว่าแมลงวันจะลอยเหมือนกับแหนในหนองน้ำ ถึงจะกันแมลงวันได้ก็เรื่องมดยังหนักใจมาก แต่ตกลงเอาเป็นใช้ได้ด้วยพอความปรารถนากันในชั้นนั้นแล้ว แต่ส่วนพระสงฆ์ในประเทศเราที่ไม่สมัครฉันยาห้าอย่างนี้ ดูได้ความลำบากน่าสงสาร เมื่อเวลาป่วยไข้ที่จะฉันในเวลาเช้าไม่ได้ เวลาบ่ายก็ฉันไม่ได้ ครั้นจะหายาและอาหารที่พระพุทธเจ้าอนุญาตให้ฉันได้ในเวลาวิกาล หมอก็ห้ามว่าแสลงและแสลงจริงด้วย ขืนกินเข้าไปก็ตายจริงด้วย คงใช้ได้บ้างแต่น้ำผึ้ง แต่น้ำผึ้งที่ได้ไปถึงบาตรใหญ่ๆ หรือสองบาตร ก็มีพระสงฆ์สักองค์เดียวที่ข้าพเจ้าเคยเห็นฉันได้หมดบาตร หรือจะมีผู้อื่นจะฉันได้อีกบ้างก็คงจะมีอีกเพียงองค์หนึ่งหรือสององค์เป็นแน่ นอกนั้นก็ไม่เห็นเป็นประโยชน์อันใด มีอีกอย่างหนึ่งก็กวนยางมะตูมหรือเคี่ยวตังเม เหลือนั้นก็ทิ้งหายหกตกหล่นหรือใครๆ กินเท่านั้น ดูไม่รู้สึกว่าเป็นหยูกยาอันใดเลย ถ้าสิ่งซึ่งจะให้เป็นอาหารสำหรับภิกษุป่วยไข้ในประเทศเราเช่นนั้น อะไรจะมาดียิ่งกว่าน้ำข้าวต้มไปเป็นไม่มี ข้าพเจ้านึกแน่ใจว่า ถ้าพระพุทธเจ้ายังดำรงพระชนม์อยู่ ถ้าทรงทราบประเพณีบ้านเมืองข้างเราแล้ว คงจะอนุญาตให้ภิกษุไข้ฉันน้ำข้าวต้มได้เป็นแน่ ความคิดซึ่งเห็นว่าควรอนุญาตเช่นนี้ข้าพเจ้าจะชี้แจงได้ยืดยาว แต่ก็ไม่เป็นประโยชน์อันใดซึ่งจะกล่าว เพราะจะแก้ไขอันใดไม่ได้ในเวลานี้ เพราะฉะนั้นการที่ถวายเภสัชซึ่งเป็นยาด้วยเป็นอาหารด้วย จึงยังคงมีที่พอจะทำได้อยู่แต่น้ำผึ้งอย่างเดียว การพระราชกุศลถวายเภสัชจึงมีแต่บาตรน้ำผึ้ง เภสัชอีกสี่อย่างนั้นต้องเป็นอันยกเว้นเสีย เพราะแสลงโรคและไม่เป็นอาหารที่จะฉันได้

ในการตักบาตรน้ำผึ้งแผ่นดินปัจจุบันนี้ ไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินเสียหลายปี เป็นแต่การพระราชกุศลนั้นยังคงอยู่ตามเคยอย่างหริบหรี่ๆ ๚
 

-------------------------------------------------------------------------------------
[๑] หนังสือมหาวงศ์เป็นพงศาวดารของลังกาทวีป
[๒] เยียมัมมัสจิต เป็นสุเหร่าแขกสำคัญอยู่ที่เมืองเดลี




หัวข้อ: Re: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 10 กรกฎาคม 2561 16:26:17

เดือนสิบ
การเฉลิมพระชนมพรรษา

๏ เฉลิมพระชนมพรรษานี้ นับว่าเป็นการพระราชกุศลแท้ ไม่มีพระราชพิธีพราหมณ์เจือปนเลย เมื่อจะกล่าวโดยทางค้นคว้าหาเหตุผลตัวอย่างชั้นต้นของที่เกิดแห่งพระราชพิธีพราหมณ์ทั้งปวงในหนังสือโบราณๆ เช่นหนังสือมหาภารตะ ที่ข้าพเจ้ากำลังอ่านอยู่บัดนี้ยังไม่ถึงครึ่ง ก็ไม่ได้พบเห็นแบบอย่างที่เจ้าแผ่นดินองค์ใดทำบุญวันเกิดเลย ได้พบแต่ในพงศาวดารอินเดียในชั้นหลัง เมื่อแขกเข้าไปครอบครองเป็นใหญ่ แต่เจ้าแผ่นดินแขกทั้งหลายเหล่านั้น เมื่อมาเป็นเจ้าแผ่นดินอยู่ในประเทศอินเดีย ก็ย่อมละทิ้งศาสนามะหะหมัด ถือเลือนๆ ปนกันไปกับศาสนาพราหมณ์แทบทุกองค์ ที่เลยจะทิ้งศาสนามะหะหมัด จนไหลไปไม่รู้ว่าถือศาสนาอะไรทีเดียวก็มี ที่คงถือศาสนามะหะหมัดเคร่งครัดมีน้อยตัว หนึ่งหรือสองทีเดียว ท่านพวกเจ้าแผ่นดินที่ถือศาสนาเลือนๆ เหล่านี้ เมื่อถึงวันเฉลิมพระชนมพรรษาแล้วมีการประชุมใหญ่ เสด็จขึ้นบนตาชั่ง ชั่งพระองค์ด้วยเงินทองสิ่งของเท่าน้ำหนักพระองค์ แล้วพระราชทานเงินทองเหล่านั้นแก่พราหมณ์และพระแขก เป็นพิธีสำหรับเฉลิมพระชนมพรรษา เห็นว่าการพิธีอันนี้ ตรงกับพิธีตุลาภารแท้ทีเดียว ชะรอยพิธีตุลาภาร คือชั่งพระองค์เจ้าแผ่นดิน ซึ่งมีอยู่ในพระราชพิธีสิบสองเดือน จะเป็นพระราชพิธีสำหรับเฉลิมพระชนมพรรษาของเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนเสียดอกกระมัง การซึ่งกำหนดพิธีตุลาภารไว้ในเดือน ๙ นั้น ชะรอยเจ้าแผ่นดินเก่าที่เป็นต้นตำรานั้น จะประสูติในเดือน ๙ หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ อู่ทองเองจะประสูติในเดือน ๙ จึงวางพิธีตุลาภารลงไว้ในเดือน ๙ ก็จะเป็นได้ วิสัยคนแต่ก่อนย่อมปิดบังวันเดือนปีที่เกิด ด้วยเชื่อว่าผู้ใดรู้วันเดือนปีแล้ว อาจจะไปประกอบเวทมนตร์ ทำอันตรายได้ต่างๆ จึงมิได้ปรากฏว่าเป็นการเฉลิมพระชนมพรรษา ครั้นผู้ตั้งตำราเดิมนั้นล่วงไปแล้ว ผู้ที่บัญชาการชั้นหลังไม่รู้ถึงมูลเหตุ จึงไม่ได้ย้ายพระราชพิธีมาให้ตรงกับวันประสูติของพระเจ้าแผ่นดินชั้นหลังซึ่งดำรงราชสมบัติอยู่ ถ้าการที่คาดคะเนนี้ถูก ก็ควรจะว่าพระราชพิธีตุลาภารนั้น เป็นพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาอย่างโบราณ แต่ข้าพเจ้าไม่ยืนยันเป็นแน่ว่าถูกตามนี้ เพราะวิชาที่เรียนยังตื้นนัก พึ่งจะรู้แต่เรื่องเจ้าแผ่นดินที่เก่าแก่ชั้นบูชายัญ พระราชพิธีที่มีปรากฏในหนังสือที่ได้พบเห็น ก็มีแต่เรื่องบูชายัญอัศวเมธราชสิยาเป็นต้น ยังไม่ได้กล่าวถึงพิธีชั้นหลังนี้เลย เรื่องนี้จะต้องขอผัดไว้สอบสวนค้นคว้าต่อไปอีกก่อน

แต่เรื่องทำบุญวันเกิดในประเทศสยามนี้ไม่เป็นแบบอย่างเหมือนเช่นเมืองจีนหรือประเทศยุโรป ดูไม่ใคร่มีผู้ใดถือว่าจำจะต้องทำอย่างไรในวันเกิดของตัว มักจะนิ่งเลยๆ ไปหรือไม่รู้สึกโดยมาก เมื่อเวลาเด็กๆ ที่เป็นเจ้านายบางทีก็มีสมโภช แต่สมโภชนั้น ก็ตามวันจันทรคติซึ่งนับบรรจบรอบ แต่ดูก็ทำแต่เมื่อเด็กๆ โตขึ้นก็ไม่ใคร่ได้ทำ ถ้าเป็นคนไพร่ๆ แล้วไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่รู้สึกเกือบทั้งนั้น เพราะเหตุว่าการที่นับอายุมากขึ้นไปอีกปีหนึ่งนั้น ไปนับเสียแต่เมื่อเดือนห้าขึ้นค่ำหนึ่ง หรือเถลิงศกขึ้นศักราชใหม่ ว่าเป็นอายุมากขึ้นไปอีกปีหนึ่งแล้วเป็นพื้นธุระกันอยู่แต่เรื่องรับเทวดาเสวยอายุ เมื่อปีใดเป็นเวลาจะเปลี่ยนทักษา เป็นเจ้านายก็มีตำราสะเดาะพระเคราะห์โหรบูชา เสด็จขึ้นเกยส่งเทวดาเก่ารับเทวดาใหม่ มีสวดมนต์เลี้ยงพระเป็นการบุญเจือในพระพุทธศาสนาด้วย ถ้าเป็นชั้นผู้ดีที่มีความรู้หรือมีใจศรัทธาทำบุญ หรือเชื่อหมอดูกลัวเทวดาที่จะเสวยอายุงกงันไป ก็ถวายสังฆทานบ้าง ตักบาตรบ้าง มีลัทธิที่จะเรียกร้องเช่นรับพระเสาร์ พระราหู เลือกพระดำๆ เป็นต้น แต่การที่ทำทั้งปวงนี้ ก็ดูเฉพาะปีใดจะต้องรับเทวดาโดยมาก ในปีปรกติก็มักจะเฉยๆ ไป นัยหนึ่งที่ถือกันว่าผู้ใดเคยรับแล้วต้องรับทุกคราว เว้นเข้าก็ไม่สบายป่วยไข้หรือมีอันตราย ไม่รับเสียเลยดีกว่า ผู้ที่เชื่อถือเช่นนี้ไม่ทำอะไรเลยจนตลอดอายุทีเดียวก็มี บางคนก็ถือแต่ชื่อวันที่เกิด เมื่อถึงวันนั้นก็รักษาอุโบสถศีล เหมือนวันพระอีกวันหนึ่งตลอดไป การเฉลิมพระชนมพรรษาของพระเจ้าแผ่นดินเล่า แต่เดิมมาก็ไม่มีแบบอย่างที่กล่าวถึงอย่างหนึ่งอย่างใด นอกจากรับเทวดาคราวหนึ่ง ต่อมาถึงในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมาเกิดสร้างพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา เป็นบำเพ็ญพระราชกุศลในการเฉลิมพระชนมพรรษาทุกปี แต่ก็ไม่ตรงตามกำหนดวันที่บรรจบรอบ ตามสุริยคติกาลหรือจันทรคติกาลอย่างหนึ่งอย่างใด ลงลัทธิล่วงเข้าถึงปีใหม่ นับว่าพระชนมพรรษาเจริญขึ้นอีกปีหนึ่ง ก็สร้างขึ้นอีกองค์หนึ่ง

การทำบุญวันเกิดทุกๆ ปี ในเมื่อบรรจบรอบตามทางสุริยคติกาล เช่นทำกันทุกวันนี้เกิดขึ้นโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทำเป็นต้นเดิมมาแต่ยังทรงผนวชใช่ว่าจะตามอย่างจีนหรืออย่างฝรั่ง ด้วยทรงพระราชดำริเห็นว่าการซึ่งมีอายุมาถึงบรรจบครบรอบปีไม่ตายไปเสียก่อนเป็นลาภอันอุดมอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ควรยินดี เมื่อผู้มารู้สึกยินดีเช่นนั้น ก็ควรจะบำเพ็ญกุศลซึ่งเป็นประโยชน์ตนและผู้อื่น สมกับที่มีน้ำใจยินดี และควรที่จะทำใจให้เป็นที่ตั้งแห่งความไม่ประมาท ด้วยไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า จะอยู่ไปบรรจบรอบปีเช่นนี้อีกหรือไม่ ควรที่จะบำเพ็ญการกุศล และประพฤติหันหาสุจริตธรรม วันเกิดปีหนึ่งเป็นเครื่องเตือนใจครั้งหนึ่ง ให้รู้สึกว่าอายุล่วงไปใกล้ต่อความมรณะอีกก้าวอีกคั่นหนึ่ง เมื่อรู้สึกมีเครื่องเตือนเช่นนี้ ก็จะได้บรรเทาความเมาในชีวิต ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเป็นตัวอกุศลธรรมนั้นเสีย การที่ทรงพระราชดำริ มาโดยทางความคิดของบัณฑิตชาติที่นับถือพระพุทธศาสนาแท้ดังนี้ จึงได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นนิตย์มาช้านาน แต่การที่บำเพ็ญพระราชกุศลในเวลาทรงผนวชแต่ก่อน จะทรงทำประการใดบ้าง ได้สืบดูได้ความจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์[๑] ว่า เคยมีสวดมนต์เลี้ยงพระบนพระปั้นหยา ๑๐ รูป เป็นการอย่างน้อยๆ เงียบๆ เสมอมา แต่การพระราชกุศลที่จะมีคราวพิเศษแปลกประหลาดอย่างใด ก็ไม่ใคร่จะจำได้ เพราะไม่ใคร่จะมีใครทราบพระราชดำริพระราชประสงค์ชัดเจน ด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอันใด มักจะทรงค้นหาเค้ามูลของเก่า หรือเหตุการณ์ที่เกิดใหม่ เป็นต้นว่าปีใดกาลกิณีมาเล็งมาทับร่วมธาตุหรืออะไรๆ ต่างๆ ตามวิธีโหรที่ถือว่าร้ายกาจอย่างใด การพระราชกุศลก็ทรงยักย้ายไปตามกาลสมัยเช่นนั้นด้วย และไม่ใคร่จะดำรัสชี้แจงให้ผู้ใดฟังนัก เมื่อทรงพระราชดำริเห็นควรจะทำอย่างไร ก็มีรับสั่งให้จัดการเช่นนั้นๆ ผู้ที่ได้รับกระแสพระราชดำริในเรื่องเหล่านี้เป็นอย่างมาก ก็คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์พระองค์หนึ่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์องค์หนึ่ง นอกนั้นจะมีอีกบ้างก็พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอได้รับสั่งแก่ข้าพเจ้าเองว่า มีพระราชดำริในเรื่องการพระราชกุศลเหล่านี้ ท่านเป็นผู้รับพระบรมราชโองการมาสั่งหมาย บางทีก็เข้าพระทัยตลอด บางทีก็ไม่เข้าพระทัยตลอด พระราชดำรินั้นมักจะลึกซึ้งกว้างขวางจนคะเนหรือเดาไม่ถูกโดยมาก เพราะฉะนั้นการพระราชกุศลที่ทรงมาแต่ยังทรงผนวชก็ดี การเฉลิมพระชนมพรรษาที่ทำเมื่อได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้วก็ดี จะว่าลงเป็นแบบอย่างเดียวอย่างไรก็ไม่ได้เพราะไม่เหมือนกันทุกปี ซ้ำแบบอย่างที่จะพอชักมาให้เห็นชั่วปีหนึ่งหรือสองปี คือร่างหมายรับสั่งปีใดปีหนึ่ง ก็สาบสูญค้นไม่ได้เลยจนสักฉบับเดียว จะไต่ถามผู้ใดเอาให้แน่นอนในเวลานี้ ก็ไม่มีตัวผู้ที่จะชี้แจงได้ จำเป็นที่จะต้องเล่าแต่ตามที่สังเกตจำได้ และที่สืบสวนได้พอเป็นเค้าๆ คือได้ความจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์รับสั่งว่า ท่านทรงจำได้ว่าแต่ก่อนทำที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณตามจันทรคติกาล มีพระสงฆ์ ๑๐ รูปเหมือนอย่างเมื่อทรงผนวช ภายหลังมาหลายปีจึงได้ทำตามสุริยคติขึ้น แต่เลี้ยงพระสงฆ์ ๕ รูป ที่พระที่นั่งราชฤดี ไม่มีสวดมนต์ ใช้โต๊ะฝรั่งนั่งเก้าอี้ ว่ามีเช่นนั้นอยู่หลายปี การที่พระที่นั่งไพศาลนั้นคงอยู่ตามเดิม ท่านได้เสด็จมาฉันสองครั้ง ภายหลังการที่พระที่นั่งราชฤดีนั้น มีพระมากขึ้น แต่จะเป็นจำนวนเท่าใดก็ทรงจำไม่ได้ สวดมนต์บนพระที่นั่งราชฤดี แล้วลงมาฉันที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ครั้นเมื่อเสด็จไปอยู่พระที่นั่งใหม่ มีสวดมนต์เลี้ยงพระบนพระที่นั่งภาณุมาศ ๑๐ รูป แต่ท่านรับสั่งว่าเป็นทางจันทรคติ การซึ่งฉลองพระพุทธรูปพระชนมพรรษากองใหญ่ ท่านรับสั่งว่าไม่ทรงทราบ บางทีท่านจะไม่ถูกสวดมนต์ เพราะเป็นพระมหานิกายปน การที่สวดมนต์ ๑๐ รูปบนพระที่นั่งภาณุมาศนั้นเห็นจะเป็นสุริยคติ ใช้พระสงฆ์ธรรมยุติกาทั้งสิ้น เพราะท่านไปทรงระลึกได้ถึงเรื่องเทศนา ๔ กัณฑ์ ทรงออกพระองค์อยู่ว่าลืมเสียโดยมาก จนเฉลิมพระชนมพรรษาใหญ่เมื่อปีชวด ฉศก[๒] ก็ทรงจำไม่ได้เลย แต่ไปได้ความดีอย่างหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าลืมเสียนึกไม่ออกเลย คือการเฉลิมพระชนมพรรษานี้ เคยทำบนพระที่นั่งภูวดลทัศไนย มีครั้งหนึ่งหรือสองครั้งจริง นึกได้

ส่วนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์นั้น ก็ได้ความเป็นท่อนๆ คือ ตอนเมื่อทรงผนวช และประทับพระที่นั่งเก่านั้นต้องกันกับที่สมเด็จกรมพระปวเรศรับสั่ง ตอนเมื่อเสด็จไปอยู่ที่พระที่นั่งใหม่ ทำที่พระที่นั่งภูวดลทัศไนย พระที่นั่งภาณุมาศต้องกัน แต่ไปได้แปลกออกไปว่า ทำพระที่นั่งบรมพิมานก็มี ข้าพเจ้าจำไม่ได้เลยว่าเป็นการเฉลิมพระชนมพรรษาหรืออะไร แต่จำได้ว่าพระสงฆ์ขึ้นไปสวดมนต์ชั้นบน แล้วลงมาฉันโต๊ะยาวที่ชั้นล่าง นั่งล้อมรอบอย่างเลี้ยงโต๊ะฝรั่งมากด้วยกัน เคยเห็นจะกี่เที่ยวกี่คราวไม่ทราบจนจำได้ ยังอีกเรื่องหนึ่งไปลงเป็นคำเดียวกัน ทั้งสมเด็จกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ซ้ำพระเทพกวี[๓]ด้วยอีกองค์หนึ่ง ว่าในการเฉลิมพระชนมพรรษาเช่นนี้ ครั้งหนึ่งดำรัสว่าพระสงฆ์ฉันอาหารต่างๆ มามาก ให้กรมขุนวรจักรทำอาหารเก้าอย่างเรียกว่าปณีตโภชนตามบาลี คือ สัปปิ เนยใส นวนิต เนยข้น เตลัง น้ำมัน มธุ น้ำผึ้ง ผาณิต น้ำอ้อย มัจฉะ ปลา มังสะ เนื้อ ขีระ นมสด ทธิ นมส้ม อาหารทั้งนี้ จัดลงในกระทงย่อมๆ แล้วลงกระทงใหญ่อีกกระทงหนึ่ง ทรงประเคน ตามคำพระเทพกวีว่าฉันไม่ได้เลย ต้องกันไว้เสียต่างหาก ลงฉันอาหารไทยๆ ทั้งนั้น การเลี้ยงเช่นนี้ว่ามีคราวเดียว นอกนั้นจะสืบหาเอาความอันใดอีกก็จำไม่ได้ แต่ตามที่ข้าพเจ้าจำได้เองนั้น คือการในวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น มีพระสงฆ์สวดมนต์ ๕ รูป มีเทียนเท่าพระองค์ และเทียนพระมหามงคล มีจงกลบูชาเทวดานพเคราะห์สำหรับที่ใช้อยู่ทุกวันนี้เอง ที่ทำอยู่ทุกวันนี้ก็เป็นแบบเก่าที่เคยทำมาทุกปี แต่ดูไม่มีผู้ใดทราบว่าเรื่องอะไร ข้าพเจ้าตามเสด็จทุกปี แต่ไม่ได้ยินใครเล่าอย่างไรเลย เสด็จออกทั้งสามวัน การสวดมนต์นั้นมีอย่างหนึ่ง สวดมนต์ในพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ ซึ่งเป็นที่พระบรรทม แต่ก่อนบนดาดฟ้ามีเรือนไม้หลังคาตัด คล้ายกันกับเก๋งเรือไฟ ตั้งโต๊ะหมู่ มีพระพุทธรูปและพระเต้าตั้งเต็มไป มีเทียนเท่าพระองค์ เทียนพระมหามงคล และเทียนวัฒน เทียนหายนะอยู่ในนั้นด้วย แต่แรกพระสงฆ์ขึ้นไปสวดมนต์บนนั้น มีเจ้านายข้าราชการแต่เฉพาะที่เลือกฟั้นน้อยองค์ เวลาสวดมนต์จบแล้วทรงเสกน้ำมนต์และลงยันต์ต่างๆ ต่อไปจนดึก มีเวลาเว้นว่างแต่เสด็จลงมาเสวย แล้วก็เสด็จกลับขึ้นไปใหม่จนเวลาจวนสว่าง ไม่มีผู้ใดเฝ้าอยู่ในเวลานั้น ข้าพเจ้าเคยขึ้นไปรับใช้ก็รับสั่งไล่ให้ลงมานอน ต่อเวลารุ่งเช้าจึงได้ขึ้นไปแต่งดอกไม้ในที่นมัสการทุกๆ วัน เพราะพนักงานไม่ได้ขึ้นไป ในเก๋งนั้นถ้าเวลาเสด็จลงมาข้างล่างปิดพระทวาร ร้อนอ้าว เข้าไปเหงื่อแตกโซมทีเดียว จนคราวหนึ่งเทียนเท่าพระองค์ร้อนละลายพับลงมาไหม้ตู้ และไหม้โต๊ะหมู่ดูน่ากลัวเต็มที แต่เผอิญเป็นเดชะพระบารมี เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปทอดพระเนตรเห็น ยังไม่ทันลุกลามถึงติดตัวเก๋งขึ้น ทรงดับด้วยน้ำพระพุทธมนต์ที่ตั้งอยู่ เมื่อไฟดับแล้วจึงทอดพระเนตรเห็นสายสิญจน์ด้ายพรหมจารีกลุ่มหนึ่ง ซึ่งวางอยู่บนโต๊ะหมู่ที่ไฟไหม้นั้น ยังเป็นกลุ่มดีปรกติ เป็นแต่ข้างนอกดำไป ด้วยอยู่ในกลางเพลิงนาน ด้ายสายสิญจน์กลุ่มนั้นรับสั่งว่าขลังสำหรับได้ผูกพระกรเจ้านายต่อมา ตั้งแต่เกิดเพลิงไหม้นั้นขึ้นแล้ว ก็เป็นอันเลิกไม่ได้ไปทำที่เก๋งนั้น ลงมาทำที่ห้องฉากซึ่งจัดไว้เป็นหอพระ ตรงที่พระบรรทมข้างตะวันออก แต่ถึงเวลาที่สวดมนต์อยู่บนดาดฟ้าก็ดี ลงมาสวดมนต์ข้างล่างแล้วก็ดี การเลี้ยงพระสงฆ์ก็เลี้ยงอยู่ที่ห้องนมัสการ พระสงฆ์นั่งเลี้ยวมาตามผนังฉากห้องพระบรรทม และมีโถยาคูเจ้าจอมมารดาชั้นใหญ่ๆ ถูกเกณฑ์คนละโถ และโถยาคูนั้นดูบางปีก็มี บางปีก็ไม่มี ข้าพเจ้าอยู่ข้างจะเลือนมาก เพราะไม่ได้ทราบพระราชดำริพระราชประสงค์ที่จะทรงทำอย่างหนึ่งอย่างใด และก็ไม่สู้เอาใจใส่นัก มาจำได้ชัดเจนมาเป็นรูปก็เมื่อปีชวด ฉศก พระชนมพรรษาครบ ๖๐ ปี ในครั้งนั้นมีเจ้านายขุนนางทำบุญวันเกิดกันชุกชุมขึ้นแล้ว เรียกว่าซายิดบ้าง แซยิดบ้าง เป็นทำอย่างจีน ชะรอยก็จะเกิดขึ้นเมื่อสมเด็จเจ้าพระยาอายุห้าสิบเอ็ดคือห้าสิบถ้วน พวกจีนที่ประจบฝากตัวอยู่ทั่วกัน จะแนะนำขอร้องให้ทำอย่างไร จึงได้ทำกันขึ้นเป็นครั้งแรก ภายหลังการทำบุญเช่นนั้นก็ดูทำทั่วไปในบรรดาผู้ซึ่งมีบรรดาศักดิ์ใหญ่ มีผู้ไปมาหาสู่ประจบประแจงอยู่ ดูการที่ทำบุญสุนทันอย่างไรก็เล็กน้อย เป็นแต่ประชุมคนแสดงเกียรติยศให้ปรากฏว่ามีผู้นับถือมาก ตั้งโรงครัวเลี้ยงกันไปวันยังค่ำ ค่ำแล้วมีละคร และผู้ใดที่นับถือก็มีของไปช่วยไปให้กันอย่างของกำนัล การโรงครัวก็ไม่ต้องออกเงินออกทองอันใด เมื่อผู้ใดได้บังคับการกรมใดมีเจ้าภาษีสำหรับกรม ก็เกณฑ์เจ้าภาษีนั้นมาเลี้ยง แล้วขอแรงตั้งโต๊ะอวดป้านกันบ้าง เป็นการสนุกสนานครึกครื้นมาก ไม่เงียบๆ กร่อยๆ เหมือนการหลวง จนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบ ก็พลอยพระราชทานของขวัญ ตามทางคำนวณวันเดือนปี ที่โปรดทรงคำนวณอยู่ คือพระราชทานทองทศเท่าปี เงินบาทเท่าจำนวนเดือน อัฐตะกั่วเท่าจำนวนวัน สำหรับให้ไปแจกจ่ายทำบุญ พระราชทานพระราชหัตถเลขาให้พรด้วย แต่ทองเงินอัฐเหล่านั้น ก็ไม่เห็นใช้ในการบุญอันใด เป็นประโยชน์เกิดขึ้นอีกประตูหนึ่ง เมื่อถึงงานแซยิดใครๆ ก็เป็นการเล่าลือกันไปหมู่ใหญ่ ตั้งแต่เริ่มงานจนงานแล้ว ที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยา ถึงเจ้านายลูกเธอต้องออกไปนอนค้างอ้างแรมกันก็มี เจ้านายขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยก็ไม่มีผู้ใดขาดได้ ถ้าไม่ช่วยงานแซยิดกันแล้วดูเหมือนเกือบไม่ดูผีกันทีเดียว เมื่องานข้างนอกๆ เป็นการใหญ่โตอยู่เช่นนี้ แต่การเฉลิมพระชนมพรรษาในพระบรมมหาราชวังกร่อยอย่างยิ่ง ขุนนางผู้ใหญ่แต่จะมาเฝ้าก็ไม่มี เพราะการที่ทรงนั้นเป็นคนละอย่างกันกับที่เขาทำๆ กันอยู่

เมื่อมาถึงปีชวด ฉศก กำลังการทำบุญแซยิดสนุกสนานถึงอย่างเอกอยู่นั้น จึงมีพระราชประสงค์ที่จะให้การเฉลิมพระชนมพรรษาเป็นการครึกครื้นบ้าง อาศัยที่พระชนมายุครบ ๖๐ ปี ต้องแบบข้างจีนเรียกว่าบั้นสิ้วใหญ่ สมเด็จเจ้าพระยาท่านก็เห็นด้วย จึงได้คิดจัดการเป็นการใหญ่ มีพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ที่ท้องพระโรงหกสิบรูปเท่าพระชนมายุ แล้วป่าวร้องให้เจ้านายข้าราชการทำบุญสวดมนต์เลี้ยงพระทุกวังทุกบ้าน แล้วให้จุดประทีปตามวังเจ้าบ้านขุนนางราษฎรทั่วไป เจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ๆ ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น จัดของถวายต่างๆ ตามแต่ผู้ใดจะคิดทำคิดสร้างขึ้น แต่ไม่สู้ทั่วกันนัก เจ้านายถวายมากกว่าขุนนาง พวกจีนก็ถวายเทียนดอกไม้และแพร มีเสด็จออกพระที่นั่งอนันตสมาคมคล้ายออกแขกเมือง เจ้านายและขุนนางอ่านคำถวายชัยมงคลทีละคราว แล้วพระราชทานเหรียญทองคำตรามงกุฎหนักตำลึงทองแจกจ่ายทั่วไปเป็นอันมาก เหรียญนั้นที่พระราชทานพวกจีน มีหูร้อยสายไหมสำหรับสวมคอ ข้างล่างมีห่วงสำหรับห้อยพู่ ครั้นเมื่อพระราชทานพวกจีนไปแล้ว ก็พากันห้อยคอเฝ้าในเวลาแต่งเต็มยศ แต่ไทยๆ ที่ได้รับพระราชทานก็ไปเก็บเงียบๆ อยู่ จึงรับสั่งให้ให้ทำห่วงติดเสื้อเสียบ้างก็ได้ เจ้านายขุนนางบางคนก็ทำติดเสื้อ เป็นห่วงขึ้นมาติดกับเข็มกลัดข้างล่างห้อยพู่ก็มี ไม่ได้ห้อยพู่ก็มี ที่ทำเป็นดอกจันทน์ด้วยแพรสีต่างๆ รองแล้วเย็บติดกับเสื้อก็มีต่างๆ ตามแต่ใครจะทำ ที่ติดก็มีไม่ติดก็มี บางคนก็เอาไปทำหลังตลับยาแดงสูบกล้องบ้าง ตลับยาใส่หีบหมากบ้าง งานเฉลิมพระชนมพรรษานั้นทำอยู่สามวัน มีเทศนา ๕ กัณฑ์ มีสรงมุรธาภิเษก การทั้งปวงนั้นก็เป็นรูปเดียวกันกับเฉลิมพระชนมพรรษาทุกวันนี้ทุกอย่าง เป็นแต่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัยที่บ้านเมืองบริบูรณ์ขึ้น และคนทั้งปวงเข้าใจชัดเจนขึ้น แต่ในครั้งนั้นก็เป็นการเอิกเกริกสนุกสนานมาก โปรดให้มีหมายประกาศห้ามไม่ให้ฆ่าสัตว์ในเวลาเฉลิมพระชนมพรรษานั้นด้วย แต่การต่อมาในปีฉลู ปีขาล ปีเถาะก็กร่อยๆ ไปเกือบจะลงรูปเดิม คงอยู่แต่พระราชกุศล แต่การข้างนอกยิ่งครึกครื้นใหญ่โตมากขึ้น ถึงมีจุดฟืนจุดไฟเลียนอย่างเฉลิมพระชนมพรรษาออกไปอีกด้วย จนถึงเมื่อจะพระราชทานสุพรรณบัฏเจ้าพระยายมราชเป็นเจ้าพระยาภูธราภัยที่สมุหนายก สมเด็จเจ้าพระยาได้รับสุพรรณบัฏไว้แต่เดิม เป็นแต่ว่าที่สมุหพระกลาโหม ด้วยในเวลานั้นสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ยังอยู่ ครั้นภายหลังจะพระราชทานสุพรรณบัฏให้เป็นที่สมุหพระกลาโหม ท่านไม่ยอมรับ เกะกะกันอยู่หลายปี ภายหลังต้องมาตกลงกันเป็นให้เสด็จพระราชดำเนินงานแซยิด แล้วพระราชทานสุพรรณบัฏด้วย แต่ไม่ยอมรดน้ำ พระราชทานแต่น้ำสังข์ เป็นอันได้เสด็จพระราชดำเนินในการแซยิดสมเด็จเจ้าพระยาครั้งหนึ่งแต่ปีชวดนั้นมา ก็เริ่มทรงพระราชดำริเตรียมการที่จะให้มีแซยิดใหญ่เป็นการตอบแทน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมหลวงวงศา สมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งจะถึงร่วมกันเข้าในปีมะโรงสัมฤทธิศก ปีเดียวกันทั้งสามราย แต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า สวรรคตเสียก่อน กรมหลวงวงศา สมเด็จเจ้าพระยา ยังไม่ถึงวันเกิด พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าก็เสด็จสวรรคตเสีย ได้มาทำในแผ่นดินปัจจุบันนี้ ก็ทำเป็นการใหญ่ทั้งสองราย แต่ที่กรมหลวงวงศานั้น ดูเหมือนจะน้อยไปกว่าที่กะคาดจะทำแต่เดิมมาก แต่ที่สมเด็จเจ้าพระยานั้น ยิ่งมโหฬารดิเรกมากขึ้น งานแต่ก่อนๆ เคยทำมาทั้งตัวงานและบริวารเพียงเจ็ดวันแปดวัน ในปีมะโรง สัมฤทธิศกนั้น มีละครมีงิ้วเลี้ยงดูเรื่อยเจื้อยไปกว่าสิบห้าวัน บรรดาเจ้าภาษีนายอากรที่มีงิ้ว หรือมีพวกพ้องมีงิ้วก็หางิ้วไปเล่นและเลี้ยงดูด้วย คนละสองวันสามวันจนทั่วกัน การทำบุญวันเกิด หรือที่เรียกว่าแซยิดนั้น ผู้ใดทำได้ผู้นั้นจึงเป็นผู้มีเกียรติยศยิ่งใหญ่ หรือมีประโยชน์ขึ้นอีกมุขหนึ่งดังนี้

แต่ส่วนตัวข้าพเจ้าเองนั้น เมื่อครั้งไปบวชเณร กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์รับสั่งแนะนำชักชวนตามกระแสพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงพระราชดำริทำการพระราชกุศลในวันประสูติตั้งแต่ยังทรงผนวช เช่นได้กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น ข้าพเจ้าเกิดความเลื่อมใสเห็นจริงด้วย จึงได้เริ่มทำบุญวันเกิดนั้นมาตั้งแต่ปีขาล อัฐศก ๑๒๒๘ ทำอย่างอาราม คือมีสวดมนต์เลี้ยงพระและแจกฉลากสิ่งของต่างๆ ตามที่มีเหลือใช้สอย แก่พระสงฆ์ในวัดบวรนิเวศบ้าง วัดอื่นบ้าง ครั้นเมื่อสึกมาอยู่ที่สวนกุหลาบในปีเถาะ นพศก ๑๒๒๙ นั้น ก็ได้ทำอีกครั้งหนึ่งอย่างอารามๆ เช่นทำที่วัด ไม่ได้บอกเล่าให้ใครรู้ ครั้นในปีมะโรง สัมฤทธิศก ๑๒๓๐ เมื่อถึงวันเกิดนั้น ข้าพเจ้าเจ็บหนักจนไม่รู้สึกสมประดีตัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระประชวรด้วย จึงได้เว้นไปปีหนึ่งไม่ได้ทำ ครั้นมาถึงปีมะเส็ง เอกศก ๑๒๓๑ เป็นเวลาพระบรมศพยังอยู่ และจะคิดทำอะไรก็ยังไม่คล่องแคล่วไปได้ เลยค้างไปอีกปีหนึ่ง

ครั้นเมื่อปีมะเมีย โทศก จึงได้ปรึกษากับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เรื่องที่จะหล่อพระชนมพรรษาตามแบบที่เคยหล่อมาแต่ก่อน เพราะในเวลานั้นไม่มีผู้ใดนึกฝันอันใดให้เลย การถือน้ำเดือนห้าในปีมะเส็งเอกศก ก็ตั้งพระพุทธรูปพระชนมพรรษาแต่สี่รัชกาล กรมสมเด็จท่านก็ทรงเห็นสมควรที่จะหล่อตามแบบอย่างแต่ก่อน จึงได้คิดเริ่มจะหล่อพระชนมพรรษาในต้นปีมะเมีย โทศก ๑๒๓๒ แต่สมเด็จเจ้าพระยาท่านไม่เห็นด้วย ท่านว่าจะมานั่งใส่คะแนนอายุด้วยพระพุทธรูปเปลืองเงินเปลืองทองเปล่าๆ แต่ก่อนท่านทรงพระชราท่านจึงทำต่อพระชนมพรรษา นี่ยังเด็กยังหนุ่มอยู่จะต้องทำทำไม เมื่ออธิบายกันไปในเรื่องที่จะต้องตั้งถือน้ำเป็นต้น จึงได้ตกลงเป็นอันได้หล่อ ครั้นเมื่อหล่อพระแล้วก็จะต้องฉลอง และข้าพเจ้ามีความปรารถนาที่จะฉลองพระพุทธรูปนั้น ในเมื่อถึงกำหนดวันเกิดที่เคยทำบุญมาแต่ก่อน จึงได้คิดกำหนดการที่จะฉลองพระพุทธรูปพระชนมพรรษาด้วย ทำบุญวันเกิดด้วย ซึ่งนับว่าเป็นการใหญ่ ทีแรกซึ่งข้าพเจ้าจะได้ลงมือทำบุญ ในครั้งนั้นเป็นเวลาที่เลียนธรรมเนียมฝรั่งใหม่ๆ ได้ไปเห็นเขาตกแต่งฟืนไฟกันในการรับรองที่สิงคโปร์บ้าง ที่ปัตเตเวียบ้าง พวกที่ไปด้วยกัน และพวกที่มีความจงรักภักดี อยากจะช่วยตกแต่งในการทำบุญนั้นให้เป็นการครึกครื้นสนุกสนานเหมือนอย่างที่เคยไปเห็นมา และจะให้เป็นที่ชอบใจข้าพเจ้าด้วย จึงได้มีผู้มารับเป็นเจ้าหน้าที่ จะตกแต่งตามชาลาพระบรมมหาราชวังให้เป็นการสนุกสนาน แต่สมเด็จเจ้าพระยาท่านตกใจไปว่าจะทำการแซยิดอย่างจีนหรืออย่างไทยแกมจีน ซึ่งถือกันว่าเป็นเกียรติยศใหญ่สำหรับผู้ใหญ่ คือสูงวัยและสูงบรรดาศักดิ์ในเวลานั้น จึงเข้ามาห้ามไม่ให้ทำ โดยยกแบบอย่างจีนว่า ถ้าอายุยังไม่ถึงห้าสิบเอ็ดปีเขาห้ามไม่ให้ทำ ถ้าผู้ใดทำแล้วจะมีอายุสั้น ก็ได้อธิบายกันมาก ว่าที่จะทำนี้เป็นการฉลองพระและทำบุญกันอย่างไทยๆ แท้ไม่เกี่ยวกับจีนเลย ก็ยังไม่ตกลง ถึงเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มาค้นตัวอย่างในเรื่องจีนต่างๆ อธิบาย ดูเป็นการใหญ่โตกันมาก ข้าพเจ้าก็ไม่ยอมรับว่าเป็นอย่างจีนอยู่ถ่ายเดียว ภายหลังตกลงเป็นอันได้ทำ แต่การที่จุดฟืนไฟนั้นประกาศห้ามปรามกันแข็งแรง ล่วงมาอยู่หลายเดือน คนหนุ่มๆ ที่ได้รับทำก็ไม่ฟังขืนทำการที่ตระเตรียมทำนั้นก็เฉพาะที่ในวังแห่งเดียว แต่เป็นด้วยการถุ้งเถียงกันนั้นโด่งดังมากอย่างไรนั้นอย่างหนึ่ง เพราะผู้ที่รับทำที่ในวังแล้วดื้อไม่ยอมเลิก เลยไปคิดทำที่บ้านตัวต่อไปอีกบ้างหรืออย่างไรก็ไม่ทราบเลย ไม่ได้มีประกาศบอกเล่าอันใดเหมือนอย่างปีชวด ฉศก ๑๒๒๖ แต่ครั้นเมื่อถึงงานเข้าจริงมีผู้จุดไฟในลำแม่น้ำและตามถนนมากถึงห้าวันหกวันด้วยการครั้งนั้นหลายวันติดกัน ครั้นเมื่อจุดไฟหลายวันพวกฝรั่งก็พลอยจุดด้วยบ้าง และมีผู้ให้พรในวันเกิดนั้นขึ้นด้วย จึงได้มีเหรียญรางวัลบรรดาผู้ซึ่งแต่งซุ้มไฟในวังเป็นรางวัลที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ การแต่งซุ้มไฟครั้งแรกนั้นเป็นการเอิกเกริกสนุกสนานอย่างยิ่ง ที่ราษฎรไม่เคยเห็นงดงามเช่นนั้น ความนิยมเต็มใจในการแต่งไฟก็มีขึ้นในวันหลังๆ มากขึ้นทุกวัน การที่เห็นเป็นข้อขัดข้องเสียหายอย่างใด ก็ดูเป็นไม่มีผู้ใดพูดถึง เมื่อมีผู้ไปพูดต่อว่าฝรั่งหรือชี้แจงเหตุผลตามแบบอย่างข้างจีนให้ฝรั่งฟังก็ไม่ถูกอารมณ์ฝรั่งเข้าได้ ด้วยเขาถือวันเกิดเจ้าแผ่นดินเป็นแนชันนัลฮอลเดย์ก็กลับเห็นดีไปด้วย การที่ยกข้อขัดข้องอย่างจีนนั้นก็เป็นอันสงบ เป็นแต่ผู้ซึ่งเชื่อถือตำราจีน หรือไม่เชื่อถือแต่ชอบใจตำราก็บ่นอุบๆ อับๆ ไปด้วยความหวังใจว่าจะตายเร็วบ้าง เป็นห่วงด้วยทรัพย์สมบัติของคนอื่นจะสิ้นไร้ไม้ตอกไปบ้าง ในปีนั้นเองมีพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการอ่านคำถวายพรอย่างเฉลิมพระชนมพรรษาปีชวด ฉศก ๑๒๒๖ ขึ้นเป็นคราวแรก คำตอบจึงได้มีคำขอบใจที่จุดไฟติดท้ายอยู่ ซึ่งดูไม่น่าจะกล่าว แต่ที่กล่าวในเวลานั้นเพราะเป็นที่หมายแห่งความจงรักภักดี การจุดไฟในการเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นอันพร้อมมูลทั่วถึงขึ้นโดยลำดับโดยไม่ต้องกะเกณฑ์ขอร้องอันใด ในปีที่สองคือปีมะแม ตรีศก ๑๒๓๓ เว้นไว้แต่บางแห่ง พึ่งมาเป็นอันจุดทั่วถึงกันในปีระกา เบญจศก ๑๒๓๕ เป็นล่าอย่างยิ่งอยู่เท่านั้น เพราะฉะนั้นการจุดไฟในงานเฉลิมพระชนมพรรษานี้ เกิดขึ้นโดยความเต็มใจของคนทั้งปวงแท้ ไม่ได้มีขอร้องอย่างหนึ่งอย่างใดเลย จนถึงทุกวันนี้ก็เป็นนักขัตฤกษ์อย่างหนึ่ง ซึ่งคนทั้งปวงรู้สึกว่าเป็นหน้าที่หรือเป็นธรรมเนียมที่จะต้องทำเหมือนอย่างตรุษสงกรานต์ ก็เป็นอันต้องกับแบบอย่างประเทศอื่นๆ ยกเสียแต่เมืองจีน หรืออย่างไรที่ยกมาว่ากันอยู่นั้น


หัวข้อ: Re: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 10 กรกฎาคม 2561 16:32:30

เดือนสิบ
การเฉลิมพระชนมพรรษา (ต่อ)

การพระราชกุศลในการเฉลิมพระชนมพรรษามากขึ้นบ้างตามปีที่ผิดปรกติ น้อยลงบ้างตามปีที่เป็นปรกติ แต่คงนับว่าค่อยทวีขึ้นตามลำดับเป็นตอนๆ จนกว่าจะคงรูปเช่นทำอยู่ในปัจจุบันนี้ ก็หลายคราวที่เปลี่ยนผลัดยักเยื้องกันไป จะต้องกล่าวแต่ปีซึ่งเป็นปรกติ เป็นท้องเรื่อง การเฉลิมพระชนมพรรษา มีชื่อปรากฏเป็นสองตอน คือฉลองอย่าง ๑ เฉลิมอย่าง ๑ คำที่เรียกว่าฉลองนั้น คือฉลองพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา ซึ่งมีมาแต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้สมโภชในวันสวดมนต์ถือน้ำเดือน ๕ และวันสรงน้ำสงกรานต์เป็นการฉลอง ครั้นมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยกการฉลองพระชนมพรรษามาทำในเดือน ๑๑ การฉลองพระชนมพรรษาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถ้าดูตามจำนวนพระสงฆ์ที่สวดมนต์ และที่ทำการในท้องพระโรง อยู่ข้างเป็นการใหญ่กว่าเฉลิมพระชนมพรรษา ยกเสียแต่ปีชวด ฉศก ๑๒๒๖ การที่เป็นเช่นนั้นก็จะเป็นด้วยแต่เดิมเมื่อแรกจะทรงทำนั้น ทรงเห็นว่าวันตามทางจันทรคตินับบรรจบรอบอย่างไทยๆ นั้น เข้าใจง่ายทั่วกัน การพระราชกุศล เช่นวันประสูติ วันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๓ พระองค์ที่ล่วงแล้ว และการพระราชพิธีฉัตรมงคลก็ทำอยู่ตามจันทรคติ แต่ส่วนที่จะทำการเฉลิมพระชนมพรรษานั้น เคยทรงมาแต่ก่อนตามสุริยคติ และโปรดว่าต้องกันกับทางคำนวณอย่างที่ใช้ในประเทศยุโรปด้วย ถ้าในเวลาแรก จะกำหนดการเฉลิมพระชนมพรรษาตามสุริยคติ ผู้ซึ่งทราบวิชาโหรอยู่ก็จะเข้าใจ ผู้ซึ่งไม่ทราบก็จะบ่นสงสัยไปต่างๆ เห็นเป็นเลื่อนไปเลื่อนมา เพราะนับเชื่อทางจันทร์เสียซึบซาบแล้ว จึงได้โปรดให้ยกการฉลองพระชนมพรรษามาฉลองในวันพระชนมายุบรรจบรอบตามทางจันทรคติ เป็นการออกหน้าออกตา การเฉลิมพระชนมพรรษาตามสุริยคติ ไว้ทำเป็นการลับๆ ซ่อนๆ ไม่ต้องบอกเล่าให้ผู้ใดรู้ ภายหลังเมื่อเกิดทำบุญซายิดขึ้นแรกๆ ก็ทำกันไปอย่างไทยๆ ทางจันทรคติ เมื่อทรงทราบทรงอดไม่ได้ จึงได้แนะนำให้ทำตามสุริยคติ ข้าพเจ้าเคยได้เคยได้ยินเองเนืองๆ เมื่อจวนผู้ใดจะทำบุญวันเกิด เห็นเคยเข้ามากราบทูล ทรงคำนวณวันพระราชทานบ่อยๆ เพราะการที่นับวันฝรั่งนั้น อยู่ข้างจะไม่มีใครทราบเหมือนทุกวันนี้ ต่อปลายๆ ลงมาเรื่องนับวันอย่างฝรั่งค่อยเข้าใจกันขึ้น จึงได้รับสั่งบอกสมเด็จเจ้าพระยาเป็นต้น ว่าเมื่อถึงวันเท่านั้นเดือนฝรั่งแล้วเป็นวันเกิด  สมเด็จเจ้าพระยาเองยังได้เคยชี้แจงบอกเล่าแก่ข้าพเจ้าว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า วันเกิดตามสุริยคตินั้น ตรงกันกับวันฝรั่งทีเดียว ถ้าคำนวณวันเกิดแรกนั้นให้รู้เสียว่าเป็นวันที่เท่าใดของฝรั่งแล้ว เมื่อถึงบรรจบปีคำนวณอย่างไทยเข้าดู คงโดนกันเปรี้ยงทีเดียว คำสมเด็จเจ้าพระยาซึ่งข้าพเจ้ายกมากล่าวในที่นี้ ถ้าคนทุกวันนี้ฟังก็จะเห็นว่าจืดเต็มที แต่ที่แท้ในเวลานั้นไม่จืดเลย กำลังเข้มงวดเป็นวิชาลับอย่างหนึ่งซึ่งขยับจะปิดกันด้วย การที่โจษกันขึ้นนี้ เพราะเรื่องวันเกิดข้าพเจ้า เมื่อคำนวณตามอย่างโหราศาสตร์ไทยๆ มักจะไปบรรจบรอบในวันที่ ๒๐ เวลาเที่ยงคืนแล้วเนืองๆ แต่วันกำหนดซึ่งลงไว้ในประดิทินหมอบรัดเลเป็นต้น ว่าเป็นวันที่ ๒๑ เดือนเสปเตมเบอ เคลื่อนจากวันที่ข้าพเจ้าเกิดจริงๆ วันหนึ่ง แต่เพราะเวลาที่บรรจบรอบนั้น มักจะล่วงเที่ยงคืนไปแล้ว การอะไรต่างๆ มีสรงมุรธาภิเษกเป็นต้น ข้าพเจ้าจึงให้เลื่อนไปไว้วันที่ ๒๑ เพื่อจะให้เป็นเวลากลางวันพรักพร้อมกัน และจะไม่ให้ต้องเป็นข้อทุ่มเถียงกันกับฝรั่ง ซึ่งได้ทราบมาเสียนานแล้ว ว่าเกิดวันที่ ๒๑ สมเด็จเจ้าพระยาท่านเข้าใจว่าเกิดวันที่ ๒๑ ครั้นเมื่อท่านทราบว่าโหรคำนวณตกในวันที่ ๒๐ จึงได้เกิดเถียงกันขึ้น ยกคำที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้ารับสั่งนี้มาเล่า เพราะท่านเป็นผู้รับหน้าที่คำนวณวันเกิดให้ใครๆ มีท่านเจ้าพระยาภูธราภัยเป็นต้น แทนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ที่แท้ท่านไม่ได้คำนวณอย่างไทย ท่านนับวันอย่างฝรั่งเช่นนี้ ในเวลานั้นเป็นวิชาลับที่ไม่มีผู้ใดทราบก็เข้าใจกันว่าคำนวณอย่างไทย จึงได้เกิดเถียงกันขึ้นกับโหร จนได้ทราบความจริงในการที่ผิดไปเพราะวันเกิดของข้าพเจ้า ดังเช่นกล่าวมาแล้ว

เพราะการที่จะคำนวณวันเกิดตามสุริยคติมีผู้ทราบน้อยเช่นนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงทำการเฉลิมพระชนมพรรษาเป็นการข้างใน ฉลองพระชนมพรรษาเป็นการข้างหน้าแต่เรียกว่าฉลองพระชนมพรรษา เพราะฉลองพระพุทธรูปพระชนมพรรษา การฉลองพระชนมพรรษาแต่ก่อน ทำที่พระที่นั่งอนันตสมาคม พระพุทธรูปพระชนมพรรษาปีเก่าๆ ตั้งบนพระที่นั่งเศวตฉัตร แต่องค์ที่หล่อใหม่นั้น ตั้งบนพานทองสองชั้น แล้วตั้งบนโต๊ะจีน อยู่ตรงหน้าพระแกล ตรงพระที่นั่งบรมพิมานลงมาที่พระแท่นถม (เดิมตั้งอยู่ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม หน้าพระที่นั่งเศวตฉัตร) ตั้งเทียนบูชาเท่าองค์พระพุทธรูป ใช้เทียนเล่มละสองสลึงติดเชิงเทียนแก้ว ธูปใช้ธูปกระแจะ พระสงฆ์นั่งมุขเหนือ ประทับข้างมุขใต้ พระสงฆ์ใช้เท่าพระพุทธรูป สวดมนต์เย็นฉันเช้า แล้วถวายเทศนามงคลวิเศษเวลาค่ำกัณฑ์หนึ่ง มีดอกไม้เพลิงด้วยทั้งสองคืน การฉลองพระชนมพรรษา เป็นการแทนมหาชาติที่เคยมีมาแต่ก่อน

ครั้นในแผ่นดินปัจจุบันนี้ ในคราวแรกการเฉลิมพระชนมพรรษา กับการฉลองพระชนมพรรษาวันใกล้กัน จึงได้ฉลองที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย แล้วงานเฉลิมพระชนมพรรษาต่อไป ครั้นภายหลังงานเฉลิมพระชนมพรรษาใหญ่ขึ้นตามลำดับ เมื่องานฉลองพระชนมพรรษา มีกำหนดวันห่างกับเฉลิมพระชนมพรรษาจะออกไปทำท้องพระโรงอย่างแต่ก่อน ก็จะเป็นงานใหญ่สองงานใกล้กันไป จึงได้ย้ายเข้ามาทำเสียที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ใช้บุษบกดอกไม้ที่ตั้งสมโภชในวันสวดมนต์ถือน้ำเดือนห้า มาตั้งพระพุทธรูปปีที่ล่วงมาแล้ว องค์ที่หล่อใหม่แยกไปตั้งโต๊ะหมู่ไว้ต่างหากเหมือนอย่างที่ตั้งโต๊ะจีนแต่ก่อน เทียนนมัสการเท่าองค์พระพุทธรูป ปักเชิงแก้วเหมือนอย่างแต่ก่อน เว้นแต่ใช้เล่มยาวขึ้นสองเท่า เพื่อจะให้ทนอยู่ได้ตลอดเวลาสวดมนต์ ใช้ตั้งรายตามฐานบุษบก แต่ธูปนั้นเปลี่ยนเป็นธูปจีน ก่อนเวลาที่สวดมนต์ มีพระสุหร่ายทรงประพรมน้ำหอม และทรงเจิมพระพุทธรูปด้วย พระที่หล่อใหม่ทรงห่มแพรสีทับทิมขึ้นไหม ที่หน้าบุษบกพระพุทธรูปตั้งพระเต้าน้ำพระพุทธมนต์ คล้ายกันกับเฉลิมพระชนมพรรษา พระสงฆ์ที่สวดพระพุทธมนต์ในรัชกาลก่อน ใช้พระราชาคณะพระครูเปรียญต่างวัด แต่ในรัชกาลปัจจุบันนี้ใช้พระสงฆ์ราชาคณะฐานานุกรมเปรียญจนอันดับวัดราชบพิธสิ้นทั้งวัด ถ้าปีใดไม่พอ ก็ใช้พระราชาคณะฐานานุกรมเปรียญวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ เพิ่มเติมเท่าจำนวนพระพุทธรูป ของไทยทานที่ถวายในเวลาค่ำนั้น บางทีก็มีไตรสลับแพรบ้าง ไตรผ้าบ้าง ย่ามโหมดเทศ ที่มีพัดบ้างก็มีในคราวแรกฉลอง ทรงถวายไตรพระสงฆ์ห่มผ้าแล้วจึงได้สวดพระพุทธมนต์ สวดธรรมจักกัปปวัตนสูตรและเจ็ดตำนาน กำหนดการฉลองพระชนมพรรษานั้น คงจะอยู่ในวันเดือนสิบแรมสามค่ำ สวดพระพุทธมนต์ แรมสี่ค่ำฉัน เว้นแต่บางปีดิถีเคลื่อนจึงได้เลื่อนสวดมนต์ไปแรมสี่ค่ำ ห้าค่ำฉันบ้าง สวดมนต์จบแล้วจุดดอกไม้เพลิง มีพุ่มกระถางระทาฝนแสนห่า สหัสธารา ตู้พ้อม เวลาเช้าเลี้ยงพระ มีของไทยทานที่เป็นส่วนของหลวง และส่วนที่มีผู้ถวายช่วยในการพระราชกุศล เท่าจำนวนพระชนมายุบ้าง แต่ไม่มีกำหนดแน่ว่ามากน้อยเท่าใด บางทีก็ฝันกันไปเสียอย่างไร รอไว้ถวายต่อเฉลิมพระชนมพรรษา ซึ่งมักจะอยู่ภายหลังฉลองพระชนมพรรษาโดยปรกตินั้นก็มี เพราะฉะนั้นเครื่องไทยทาน จึงขึ้นๆ ลงๆ ไม่แน่ ตามแต่จะมีผู้ถวายมากและน้อย และสิ่งของนั้นบางทีก็ซ้ำกันหลายๆ สิ่ง เช่นโคมสามใบสี่ใบเป็นต้น เพราะทรงพระราชอุทิศไว้ว่า ผู้ใดถวายของคำรบพระชนมพรรษา ทันกำหนดการฉลองพระพุทธรูปนี้แล้ว ก็ให้ใช้เป็นเครื่องไทยทานในการฉลองพระนี้ทั้งสิ้น เมื่อพระสงฆ์ฉันแล้วถวายยถา มีสวด ยัสมี ปเทเส กัป์เปติ และยานี คาถารัตนสูตร ดับเทียนครอบพระกริ่งเหมือนการฉัตรมงคลวันกลาง แล้วทรงปล่อยสัตว์ สุ่นภริยาพระยาโชฎึกราชเศรษฐี[๔] เป็นผู้จัด พระราชทานเงินเป็นราคาปีละร้อยบาท เวลาบ่ายเจ้าพนักงานตั้งบายศรีเวียนเทียนสมโภชพระพุทธรูป ครั้นเวลาพลบค่ำสรงมุรธาภิเษกในที่พระบรรทม ไม่ได้ประโคมพิณพาทย์ แล้วสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ถวายเทศนามงคลวิเศษต่างๆ เหมือนอย่างในรัชกาลที่ ๔ มีดอกไม้เพลิงอีกคืนหนึ่ง เป็นเสร็จการฉลองพระพุทธรูปพระชนมพรรษา

การเฉลิมพระชนมพรรษา ที่มีกำหนดงานอยู่เป็นปรกตินั้น เป็นสี่วันบ้าง ห้าวันบ้าง คือวันที่ ๑๙ เดือนกันยายน เป็นวันเริ่มสวดพระพุทธมนต์สะเดาะพระเคราะห์ ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ วันที่ ๒๐ เวลาเช้าพระสงฆ์ฉัน เวลาค่ำพระสงฆ์ธรรมยุติกาสวดมนต์ที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย วันที่ ๒๑ เวลาเช้าฉันแล้วสรงพระมุรธาภิเษก เวลาเที่ยงพระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการถวายชัยมงคล ถ้าปีที่เป็นปรกติไม่มีการไว้ทุกข์ในราชตระกูล มีการเลี้ยงโต๊ะในเวลาค่ำ ก็งดสวดมนต์ ไว้ต่อวันที่ ๒๒ พระสงฆ์มหานิกายจึงได้สวดมนต์ที่ท้องพระโรง วันที่ ๒๓ เช้าฉัน แล้วจึงได้มีเทศนาต่อไปอีก ๔ กัณฑ์ ถ้าเช่นนี้งานเป็น ๕ วัน ถ้าไม่มีเลี้ยงโต๊ะ พระสงฆ์มหานิกายสวดมนต์ ในวันที่ ๒๑ วันที่ ๒๒ ฉัน งานก็เป็น ๔ วัน แต่การเทศนานั้นไม่แน่ บางเวลามีพระราชกิจอื่นหรือไม่ทรงสบาย ก็เลื่อนวันไปจนพ้นงานก็มี สวดมนต์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ๓ วัน มักจะเริ่มในวันที่ ๑๙, ๒๐, ๒๑ บางปีเลื่อนไปวันที่ ๒๐, ๒๑, ๒๒, การที่เลื่อนไปเลื่อนมามักจะเป็นด้วยการเฉลิมพระชนมพรรษากระชั้นกันกับฉลองพระชนมพรรษานั้นอย่างหนึ่ง กระชั้นพระราชพิธีถือน้ำสารทอย่างหนึ่ง เป็นปีเปลี่ยนทักษา ซึ่งต้องสรงพระมุรธาภิเษก ตรงกำหนดเวลาเต็มนั้นอย่างหนึ่ง จึงจะกำหนดเอาแน่ทีเดียวนักไม่ได้ จำจะต้องฟังหมายสงกรานต์ หรือหมายที่ลงในราชกิจจานุเบกษาตามปีเป็นประมาณด้วย

สวดมนต์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
๏ การสวดมนต์ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เกิดขึ้นด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเคารพต่อพระมหามณีรัตนปฏิมากรเป็นอย่างยิ่ง ถ้าการพระราชพิธีใหญ่ๆ อันใดเช่นบรมราชาภิเษก โสกันต์เขาไกรลาส ก็โปรดให้ล่ามสายสิญจน์มาแต่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ถึงพระแท่นมณฑลด้วย เหมือนอย่างพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ ด้วยแต่ก่อนมาพระมหามณีรัตนปฏิมากร เคยเชิญมาตั้งในพระแท่นมณฑลด้วยทุกครั้ง พึ่งเลิกเสีย เมื่อเชิญขึ้นประดิษฐานบนพระเบญจาสูงตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ในการเฉลิมพระชนมพรรษานี้ ก็นับว่าเป็นการใหญ่ ถึงว่าจะล่ามสายสิญจน์มาก็ยังเป็นการสมควรที่จะทรงสักการบูชาพระมหามณีรัตนปฏิมากรในเวลาที่เป็นมหาสมัยมงคลการนั้น จึงได้โปรดให้มีเทียนพระมหามงคลและเทียนเท่าพระองค์ด้วยสำรับหนึ่ง มีพระสงฆ์สวดมนต์วันละห้ารูปเปลี่ยนทั้งสามวัน เป็นสามสำรับ ตามในบริเวณพระอุโบสถ หลังพนักกำแพงแก้วตั้งโคมรายรอบ แต่ครั้นมาถึงในแผ่นดินปัจจุบันนี้ มีการตกแต่งศาลาราย และกำแพงแก้วพระพุทธปรางค์ปราสาท พระศรีรัตนเจดีย์เพิ่มเติมขึ้นอีก ในพระอุโบสถก็จุดเทียนรายจงกลตามชั้นบุษบก และมีเทียนเถาเล่มใหญ่ๆ จุดที่ตรงหน้าพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ข้างละเจ็ดเล่มด้วย ตรงพระทวารกลางขึ้นไป ตั้งเสากิ่งจงกลบูชาเทวดานพเคราะห์เก้าต้น มีรูปเทวดาปักประจำทุกต้น มีเทียน ธูป ดอกไม้ ฉัตร ธง ตามสีและตามกำลังของเทวดานั้นๆ เมื่อเสด็จออกทรงถวายไตรย่ามพระสงฆ์ที่มาคอยสวดมนต์รับออกไปครองผ้าแล้ว ทรงจุดเทียนพระมหามงคล และเทียนเท่าพระองค์ เทียนพานตามหน้าพระแล้วเสร็จ พอพระสงฆ์กลับเข้านั่งที่พร้อมจึงได้ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการทองใหญ่ สังฆการีว่าวิปัตติทีเดียวไม่ต้องทรงศีล แล้วเสร็จทรงจุดเทียนธูปตามจงกลบูชาเทวดานพเคราะห์ เจ้ากรมปลัดกรมโหรว่าบูชาเทวดาด้วยภาษาโหรและแปลเป็นภาษาไทยตามลำดับที่เวียนของพระเคราะห์นั้นๆ ไม่ได้ประทับอยู่จนเวลาสวดมนต์จบ ด้วยมีการพระราชกุศลอยู่ข้างใน การที่เสด็จพระราชดำเนินวัดพระศรีรัตนศาสดารามเช่นนี้ เหมือนกันทั้งสามวัน แต่เวลาเช้าไม่ได้เลี้ยงพระ รอไว้มาฉันต่อวันพระสงฆ์มหานิกายฉัน ในวันที่ ๒๒ และ ๒๓ และได้รับของไทยทาน เหมือนกับพระสงฆ์มหานิกายที่สวดมนต์ในท้องพระโรง ๚

สวดมนต์สะเดาะพระเคราะห์
๏ การสวดมนต์สะเดาะพระเคราะห์นี้ พึ่งมาเกิดขึ้นเมื่อปีขาล สัมฤทธิศก ๑๒๔๐ ซึ่งเป็นปีเปลี่ยนทักษา พระเสาร์รักษาพระชนมายุ ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่จะต้องมีโหรบูชารับส่งตามแบบแต่ก่อน การเฉลิมพระชนมพรรษา ตั้งแต่ปีมะแม ตรีศก ๑๒๓๓ มา ทรงบำเพ็ญแต่พระราชกุศลอย่างเดียว มิได้มีการบูชาเทวดาหรือบูชาพระเคราะห์อย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งเกี่ยวข้องกับโหรเลย เพราะทรงทำตามอย่างที่เคยทรงมาแต่เมื่อยังทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่ เป็นการในพระพุทธศาสนาแท้ ครั้นเมื่อถึงกำหนดที่จะเปลี่ยนทักษาไปเข้าแบบอย่างพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อน ที่เมื่อถึงกำหนดเช่นนี้ต้องทำการรับส่งอย่างไสยศาสตร์ ซึ่งเป็นราชประเพณีมีมามิได้ขาด สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ จึงได้ทรงจัดการตามแบบอย่างแต่ก่อน คือจะให้มีโหรบูชาสะเดาะพระเคราะห์รับส่งด้วย แต่ท่านไปทรงคิดตำราบูชาขึ้นใหม่ให้ดีกว่าที่โหรทำเหลวๆ มาแต่ก่อน คือให้มีการสวดมนต์แทรกด้วยในระหว่างบูชาเทวดา นับเป็นธรรมพลี แต่ก่อนๆ ก็เห็นจะมีตำราทำมา แต่ข้าพเจ้าไม่เคยทำและไม่ได้เคยเห็น เป็นแต่ได้ยินเล่า เขาจัดคาถาต่างๆ ตามองค์เทวดา ว่าเทวดาองค์นั้นเสวยอายุ ให้สวดคาถาอย่างนั้นกี่จบตามกำลังวัน คือพระอาทิตย์สวด อุเทตยัญจักขุมา ๖ จบ พระจันทร์สวดยันทุนนิมิตตัง ๑๕ จบ พระอังคารให้สวดยัสสานุภาวโตยักขา ๘ จบ พระพุธให้สวดสัพพาสีวิสชาตินัง ๑๗ จบ พระเสาร์ให้สวดยโตหัง ๑๐ จบ พระพฤหัสบดีให้สวด ปูเรนตัมโพธิสัมภาเร นิพพัตตัง โมรโยนิยัง ๑๙ จบ พระราหูให้สวด กินนุสันตรมาโนว ๑๒ จบ พระศุกร์ให้สวดอัปปสันเนหินาถัสส ๒๑ จบ พระเกตุให้สวดชยันโต ๙ จบ จะสวดสลับกับโหรหรือสวดคนละทีอย่างไรก็ไม่ทราบเลย แต่ท่านทรงเห็นว่าโคมแท้ จึงได้ไปปรึกษาเจ้าคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดราชประดิษฐ์ จัดพระสูตรที่มีกำหนดนับได้ ตรงกันกับกำลังเทวดา เช่นอริยมรรคแปดตรงกับพระอังคารเป็นต้น ถ้าที่ไม่ครบ ก็ใช้สองสูตรสามสูตร พอให้บรรจบครบจำนวนกำลังวัน จัดเป็นส่วนของเทวดาองค์นั้นๆ ตามลำดับ คือพระอาทิตย์สวดอนุตตริย ๖ พระจันทร์สวดจรณ ๑๕ พระอังคารสวดอัฏฐังคิกมรรค ๘ พระพุธสวดพละ ๕ อินทรีย์ ๕ โพชฌงค์ ๗ รวม ๑๗ พระเสาร์สวดทศพลญาณ ๑๐ พระพฤหัสบดีสวดทสสัญญา ๑๐ อนุบุพวิหาร ๙ รวม ๑๙ พระราหูสวดสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ รวม ๑๒ พระศุกร์สวดอริยทรัพย์ ๗ สัปปุริสธรรม ๗ สัมมาสมาธิปริกขาร ๗ รวม ๒๑ พระเกตุสวดอาฆาตวัตถุ ๙ มีคาถาแผ่ส่วนบุญและให้พรเจ้าของงานผู้ที่บูชา แทรกสลับไปทุกหมวด ถ้อยคำที่โหรจะบูชานั้นก็แต่งใหม่ ให้เป็นภาษามคธดีขึ้นกว่าภาษาโหรเดิม ที่เป็นคำไทยก็ใช้เรียงเป็นคำร่าย โหรเริ่มบูชาไหว้ครูและบูชานพเคราะห์ทั่วกันก่อน แล้วพระสงฆ์เริ่มสวดมนต์ตั้งแต่นโมไปจนจบคาถาที่สำหรับสวดก่อนสูตรต่างๆ แล้วหยุดไว้ โหรจึงบูชาเทวดารายองค์ ตั้งแต่อาทิตย์เป็นต้นไป ว่าภาษามคธเป็นทำนองสรภัญญะแล้วว่าภาษาไทยแปล เชิญเทพดาองค์นั้นกับทั้งบริวารให้รับอามิสพลีธรรมพลี และให้ป้องกันรักษาเจ้าของงานผู้ทำ พอจบองค์หนึ่งหยุดไว้ พระสงฆ์สวดสูตรต่างๆ สลับกันไปทุกๆ องค์เทวดา เมื่อหมดแล้วโหรจึงได้ว่าคำอธิษฐาน และคำให้พรรวบท้ายอีกครั้งหนึ่ง พระสงฆ์ก็สวดคาถาให้พรรวบท้าย แล้วสวดคาถาเมตตสูตร ขันธปริตร และท้ายสวดมนต์จึงเป็นอันจบ อยู่ใน ๔ ชั่วโมง ๕ ชั่วโมง วิธีที่สวดเช่นนี้ กรมสมเด็จท่านทรงทำที่วังมาช้านานแล้ว ครั้นเมื่อถึงปีขาล สัมฤทธิศก ๑๒๔๐ เป็นเวลาที่จะต้องทำการบูชาเทวดา สะเดาะเคราะห์ตามแบบอย่างเก่า ท่านจึงได้นำแบบใหม่นี้มาแก้ไขตกแต่งถ้อยคำให้ต้องกันกับการหลวง มาขอให้ทำเสียอย่างใหม่ ด้วยอย่างเก่านั้นเร่อร่าแหลกเหลวนัก ครั้นเมื่อได้ทำในปีขาลนั้นเป็นคราวแรกแล้ว ปีต่อๆ มาท่านก็ขอให้ทำเหมือนๆ กันต่อไปตามเคยที่ได้ทำแล้ว จึงได้มีการสวดสะเดาะพระเคราะห์ล่วงหน้าก่อนวันสวดมนต์ใหญ่ขึ้นอีกวันหนึ่ง

การที่จัดพระแท่นมณฑลในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ก็เป็นอันพึ่งมีใหม่ขึ้นในครั้งนั้นเหมือนกัน พระแท่นมณฑลองค์น้อยระบายสามชั้นทำขึ้นใหม่องค์หนึ่งตั้งพระพุทธรูปในแบบ พระแท่นมณฑลอย่างเตียงฝรั่งตั้งพระพุทธรูปนอกแบบ และเทวรูปเครื่องบูชาเทวดาพระแท่นหนึ่ง แต่พระพุทธรูปและเทวรูปซึ่งตั้งบนพระแท่นทั้งสองนั้น เกิดขึ้นตามลำดับแล้วผลัดเปลี่ยนกันไปตามกาลสมัย จะว่ายืนที่เป็นแน่ไม่ได้


การสวดมนต์พระสงฆ์ธรรมยุติกา
การที่จัดตกแต่งพระที่นั่งและสวดมนต์ทั้งปวง คงตามแบบเดิมตั้งแต่เริ่มมีการเฉลิมพระชนมพรรษาขึ้น ไม่ได้ยักเยื้องเปลี่ยนแปลงเลย คือตั้งม้าหมู่บนพระที่นั่งเศวตฉัตร ที่ม้ากลางตั้งพระพุทธรูปชัยวัฒน์สำหรับแผ่นดินปัจจุบันนี้ พระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาวัน และพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาปี ม้าสองข้างและตรงหน้าตั้งเชิงเทียนพานพุ่มเครื่องนมัสการพอสมควร ที่ม้าหน้าและที่พื้นพระแท่นตั้งพระเต้าเครื่องสรงมุรธาภิเษกต่างๆ ทั้งขันหยกเชิงเทียนมีเทียนทองปัก เหมือนอย่างพระราชพิธีทั้งปวง ตามชั้นเตียงลาก็ตั้งเชิงเทียนพานพุ่ม ที่ฐานเฉียงตั้งต้นไม้ทองเงินสี่ทิศ และมีระย้าโคมไฟขวดปักดอกไม้ตั้งรอบ ที่พระแท่นถมตั้งเทียนพระมหามงคล เท่าองค์พระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา กลางตั้งโต๊ะถมวางครอบพระเกี้ยวยอดทรงเดิม และครอบมยุรฉัตรตั้งพานพุ่มทองคำสองชั้น สลับลายกันกับเชิงเทียนตามสมควร เครื่องนมัสการโต๊ะทองคำลงยาราชาวดี ข้างพระแท่นเศวตฉัตรตั้งตู้เทียนเท่าพระองค์ทั้งสองข้าง บนพระที่นั่งบุษบกตั้งเครื่องศิริราชกกุธภัณฑ์ และพระแสงประจำรัชกาล มีเครื่องนมัสการทองน้อยด้วยสำรับหนึ่ง

พระสงฆ์ที่สวดมนต์นั้น ทรงพระราชดำริว่า เมื่อการฉลองพระชนมพรรษา ใช้พระสงฆ์เท่าองค์พระพุทธรูปแล้ว ครั้นการเฉลิมพระชนมพรรษา จะใช้พระสงฆ์เท่าจำนวนนั้นอีก เวลานั้นพระชนมายุน้อย พระสงฆ์ที่จะสวดมนต์ก็น้อยรูป การที่จะบำเพ็ญพระราชกุศลก็น้อยไป ไม่สมควรกับที่เป็นการใหญ่ ด้วยการสะเดาะพระเคราะห์และการที่พระสงฆ์มหานิกายสวดมนต์อีกวันหนึ่งนั้นยังไม่มี จึงได้โปรดให้นิมนต์พระสงฆ์ธรรมยุติกาสวดมนต์หกสิบรูป ประจำเสมอทุกปีไม่ขึ้นลง เพราะเหตุที่การฉลองพระชนมพรรษา ได้สวดธรรมจักกัปปวัตนสูตรไว้แล้ว ในการเฉลิมพระชนมพรรษา จึงได้เริ่มสวดมหาสมัยสูตรก่อนแล้วจึงได้สวดเจ็ดตำนาน ทรงถวายไตรและย่ามโหมดเทศก่อนเวลาสวดมนต์ เหมือนการฉลองพระชนมพรรษา รุ่งขึ้นเช้าพระสงฆ์รับพระราชทานฉัน และถวายชยันโตในเวลาสรงมุรธาภิเษก การสรงพระมุรธาภิเษกนั้นก็เหมือนกับสรงมุรธาภิเษกอื่นๆ แปลกแต่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ถวายน้ำครอบพระกริ่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานไว้สำหรับพระองค์ท่าน ครั้นเมื่อล่วงมาถึงปีจอ ฉศก ๑๒๓๖ เมื่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์วัดราชประดิษฐ์ได้เป็นพระกรรมวาจาจารย์ในเวลาทรงผนวชแล้ว จึงได้โปรดให้ถวายน้ำเต้าศิลาอีกรูปหนึ่ง บรรดาพระเถระในธรรมยุติกา ก็มีน้ำพระพุทธมนต์ส่งมาองค์ละเต้าศิลา แต่มิได้ถวายเอง เจ้าพนักงานนำขึ้นถวาย

เต้าศิลานี้ มีมาแต่ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้กลึงขึ้น จะมีจำนวนเดิมมากน้อยเท่าใดไม่ทราบ แล้วพระราชทานไปไว้ตามพระเถระในธรรมยุติกา เมื่อถึงเวลาเฉลิมพระชนมพรรษาแล้ว ก็ต่างองค์ต่างทำน้ำมนต์ถวายเข้ามาทุกๆ รูป ครั้นเมื่อถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ทำการเฉลิมพระชนมพรรษา ท่านก็ทำส่งเข้ามาตามเคย เป็นการแปลกขึ้นกว่าสรงมุรธาภิเษกอื่นๆ แต่พระเต้าศิลาของพระเท่านี้

เมื่อสรงมุรธาภิเษกแล้ว ทรงถวายเครื่องไทยทานพระสงฆ์อยู่ในองค์ละสามสี่สิ่ง เป็นเสร็จการในส่วนเวลานั้น การที่ทำน้ำมนต์กับเทียนครอบพระกริ่งที่ท้องพระโรงนี้ ใช้ทำในเวลาสวดมนต์วันที่ ๒๐ ไม่ได้รอไว้ต่อเวลาเช้าเหมือนอย่างการฉลองพระชนมพรรษา


สวดมนต์พระสงฆ์มหานิกาย
การสวดมนต์พระสงฆ์มหานิกายแต่เดิมก็ไม่มี เกิดขึ้นพร้อมกันกับปีที่สวดมนต์สะเดาะพระเคราะห์ เพื่อจะให้เป็นสวดมนต์สามวัน แต่ครั้นเมื่อพระสงฆ์เคยได้รับพระราชทานหนหนึ่งแล้ว ครั้นจะงดเว้นเสียดูก็ไม่สู้ควร จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการสวดมนต์พระสงฆ์มหานิกายติดต่อมาทุกปี กำหนดพระสงฆ์ ๓๐ รูป ทรงถวายไตรผ้า ย่ามสักหลาด เหมือนอย่างพระสงฆ์สวดมนต์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามแบบนั้น ในวันพระสงฆ์มหานิกายนี้สวดสิบสองตำนาน แต่ที่ยักเยื้องไปเป็นอย่างอื่นบ้างก็มี การทั้งปวงก็เหมือนกับวันสวดมนต์ใหญ่ เว้นแต่วันเลี้ยงพระนั้น พระสงฆ์ที่สวดมนต์วัดพระศรีรัตนศาสดารามสามสำรับสิบห้ารูป มาฉันด้วย จึงรวมพระสงฆ์ฉันเป็นสี่สิบห้ารูป ทรงถวายเครื่องไทยทานเหมือนกัน

ถวายเทศนา
การถวายเทศนานี้ มีมาแต่เริ่มตั้งการเฉลิมพระชนมพรรษา เทศน์เนื้อความตามแบบที่มีมาแต่รัชกาลที่ ๔ คือ มงคลสูตรกัณฑ์ ๑ รัตนสูตรกัณฑ์ ๑ เมตตสูตรกัณฑ์ ๑ เทวตาทิศนกถากัณฑ์ ๑ ประจำที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลง พระสงฆ์รูปใดเทศน์ก็ยืนตัว เว้นไว้แต่ชราอาพาธจึงได้ผลัดเปลี่ยน แต่ก่อนมาเริ่มงานก็ถวายเทศน์ก่อนสวดมนต์ คือ มงคลสูตร รัตนสูตร สองกัณฑ์ เหลือไว้ภายหลังฉันเช้าแล้วสองกัณฑ์ เทศน์ก่อนนั้นมีสายสิญจน์โยงไปที่ธรรมาสน์ พระสงฆ์ที่เทศน์ถือกลุ่มสายสิญจน์ด้วย ครั้นตกมาชั้นหลังเมื่อมีสวดมนต์สะเดาะพระเคราะห์และเลี้ยงพระเช้าเสียแล้วไม่มีเวลาว่าง จึงได้เลื่อนเทศนาไปไว้วันเลี้ยงพระมหานิกายทั้งสี่กัณฑ์ แต่บางปีก็เลื่อนต่อไปอีกจนนอกงานก็มี แล้วแต่เวลาว่างจะมีเมื่อใด เครื่องกัณฑ์เทศนานั้นเหมือนเทศนาวิเศษ เป็นแต่เปลี่ยนไตรย่าม เป็นของสำหรับเฉลิมพระชนมพรรษาและเพิ่มเติมเครื่องไทยทานต่างๆ บ้าง มีเงินประจำกัณฑ์ ๑๐ ตำลึง และเครื่องกัณฑ์ขนมด้วย ๚

การแจกทาน
๏ แจกทานนี้ ได้มีในการเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปีชวด ฉศก ๑๒๒๖ ครั้งหนึ่ง ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ ตั้งแต่เริ่มมีการเฉลิมพระชนมพรรษามาก็ได้เคยพระราชทานผ้าสองสำรับ เงินสิบตำลึง แก่ข้าราชการที่สูงอายุ มีกำหนดเท่าปีพระชนมายุ ทวีขึ้นทุกปีตามลำดับ แบ่งเป็นฝ่ายหน้ากึ่งหนึ่ง ฝ่ายในกึ่งหนึ่ง ฝ่ายหน้านั้นเป็นข้าราชการที่เข้ามาในการเฉลิมพระชนมพรรษาโดยมาก แต่ฝ่ายในมักเป็นข้าราชการที่ชราพิการ ไม่ได้ทำราชการแล้ว มาแต่บ้านบ้างแต่เรือนบ้าง จึงโปรดให้มีสำรับเลี้ยงอาหารด้วย แต่ก่อนมา เมื่อผู้ซึ่งได้รับพระราชทานต่อพระหัตถ์แล้วก็ถวายพรตามใจตัวจะกล่าว บางทีก็นิ่งเฉยๆ ไปบ้าง ครั้นเมื่อพระยาศรีสุนทรโวหาร[๕] ท.จ. คนนี้ เป็นผู้กะบัญชีข้าราชการฝ่ายหน้า เห็นว่าเมื่อข้าราชการได้รับพระราชทานแล้วถวายพรอย่างไหลๆ เลือนๆ บ้าง ไม่ได้ถวายพรบ้าง รำคาญมาหลายปี จึงได้คิดผูกคาถาถวายชัยเป็นภาษามคธ และแปลเป็นคำไทยให้ว่าทุกคน คือว่า ชยตุ ชยตุ เทโว นิรามโย นิรุปัท์ทโว ทีฆายุโก อโรโคจ โสต์ถินา เนตุ เมทนึ ขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเจริญพระชนมายุยิ่งกว่าร้อยพรรษา คำถวายชัยเช่นนี้ ได้ใช้อยู่แต่ข้าราชการฝ่ายหน้า ข้าราชการฝ่ายในยังบ่นพึมๆ พำๆ หรือนิ่งๆ อยู่อย่างเก่า เพราะไม่มีใครแนะนำสั่งสอน ทรงพระราชดำริว่า ครั้นจะให้ท่องให้บ่นตามแบบข้าราชการฝ่ายหน้า ก็จะเป็นที่เดือดร้อน เพราะอยู่ข้างจะชราหลงใหลฟั่นเฟือน หรือซึมซาบอย่างยิ่งอยู่ด้วยกันโดยมาก จึงโปรดให้เป็นไปตามอย่างแต่ก่อน ส่วนที่แจกทานราษฎรนั้น พระราชทานตามพระชนมายุวันกำหนดขึ้นวันละสลึงแต่เดิมมา ถ้าปีใดเป็นปีที่มีพระราชกุศลวิเศษ ก็พระราชทานมากขึ้นอีกส่วนหนึ่ง ๚



หัวข้อ: Re: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 10 กรกฎาคม 2561 16:40:12

เดือนสิบ
การเฉลิมพระชนมพรรษา (ต่อ)

การประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการถวายชัยมงคล
๏ ธรรมเนียมนี้ได้เกิดมีขึ้นเมื่อเฉลิมพระชนมพรรษาใหญ่ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปีชวด ฉศก ๑๒๒๖ นั้น เสด็จพระราชดำเนินออกบนพระที่นั่งเศวตฉัตร พระที่นั่งอนันตสมาคม อย่างแขกเมืองใหญ่ ฝ่ายพระบรมวงศานุวงศ์ พระเจ้าบวรวงศ์เธอ กรมขุนนรานุชิตเป็นผู้ทรงอ่านคำถวายชัยมงคล ฝ่ายข้าราชการเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ซึ่งยังเป็นเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์เป็นผู้อ่าน ด้วยท่านทั้งสองนี้เป็นผู้มีชนมายุมากกว่าพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการทั้งปวง เมื่อเจ้านายอ่านคำถวายชัยมงคลแล้วถวายบังคมสามครั้งเหมือนอย่างขุนนาง เป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้เคยเห็น ข้าราชการก็เหมือนกัน แต่ไม่มีพระราชดำรัสอันใด เป็นแต่พระราชทานพรย่อๆ เล็กน้อยแล้วก็เสด็จขึ้น ในเวลาประชุมใหญ่นั้น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้เสด็จลงมา เพราะเป็นเวลาทรงพระประชวรอยู่ข้างจะซูบผอมมากอยู่แล้ว แต่ครั้นเวลาเย็น ทรงพระอุตสาหะเสด็จลงมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ไม่ทรงทราบ เวลานั้นข้าราชการก็ไม่สู้มีใคร ข้าพเจ้าเดินดูเครื่องตกแต่งในพระที่นั่งอนันตสมาคมอยู่ไม่ทันรู้ตัว เสด็จขึ้นมาจับศีรษะสั่นเหลียวหลังไปจึงเห็น ตกใจเป็นกำลัง รับสั่งให้เข้าไปกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินออกมา พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าถวายของ และถวายชัยมงคล ครู่หนึ่งก็เสด็จกลับด้วยไม่ทรงสบาย ดูเหมือนจะเป็นครั้งที่สุดที่ได้เสด็จลงมาพระบรมมหาราชวังในเวลานั้น คนต่างประเทศก็มีถวายชัยมงคลเหมือนกัน แต่เป็นคนละเวลากับข้าราชการ ไม่ได้เสด็จขึ้นพระที่นั่งและไม่สู้จะเป็นการพรักพร้อมกันครั้งเดียวนัก

อนึ่ง ในการเฉลิมพระชนมพรรษานี้ มีการปล่อยปลาตามแบบเฉลิมพระชนมพรรษาครั้งปีชวดฉศก ๑๒๒๖ เป็นราคาวันละ ๑๐ ตำลึง กรมวังทูลถวายพระราชกุศลตามแบบ

ในวันที่ ๒๑ มียิงปืนใหญ่สลุต ทั้งทหารบกและเรือรบซึ่งจอดรายอยู่ในลำน้ำ แต่ก่อนมาใช้เวลาละ ๒๑ นัด ยิงเวลาเช้า ๒ โมง เวลาเที่ยง เวลาบ่าย ๕ โมง ตั้งแต่ปีมะเมีย จัตวาศก ๑๒๔๔ ปีรัตนโกสินทรศก ๑๐๐ จึงได้ยิงถัวกันสามเวลา ครบ ๑๐๑ นัด

การแต่งประทีปในพระบรมมหาราชวังเป็น ๕ คืน แต่ข้างนอกแต่ง ๓ คืน เพราะการที่แต่งประทีปไม่ได้เป็นการกะเกณฑ์ ผู้ที่ตกแต่งก็อยากจะได้ถวายตัวให้ทอดพระเนตร จึงได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสตามลำน้ำ ในเวลากลางคืนวันที่ ๒๑ ทุกปีเสมอมามิได้ขาด กระบวนเสด็จพระราชดำเนินนั้น ใช้เรือไฟลำเล็กๆ แล่นขึ้นไปเหนือน้ำก่อนแล้วจึงได้ล่องลงไปข้างล่าง เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงหน้าบ้านหน้าห้างใหญ่ๆ บางราย ก็จุดพลุแทนปืนสลุต ๒๑ นัดบ้าง จุดพุ่มพะเนียงกรวดตะไลดอกไม้เทียนต่างสีบ้างตามแต่ผู้ใดจะหาได้ เป็นการแสดงความชื่นชมยินดี

และในวันที่ ๒๑ นั้น เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี เมื่อยังว่าการต่างประเทศ จัดการเชิญคนต่างประเทศประชุมเต้นรำที่บ้าน ให้เป็นการเฉลิมพระเกียรติยศในการเฉลิมพระชนมพรรษาขึ้น เมื่อทรงทราบจึงได้พระราชทานเงินทุนในการที่จะใช้จ่ายนั้นให้ ต่อมาก็มีการเต้นรำเช่นนั้นเสมอมาทุกปี เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับขึ้นมาตามลำแม่น้ำก็หยุดประทับที่ศาลาว่าการต่างประเทศ ให้คนต่างประเทศได้เฝ้าครู่หนึ่ง แล้วจึงเสด็จคืนพระบรมมหาราชวัง ครั้นเมื่อพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ ว่าการต่างประเทศ ย้ายการเต้นรำมาที่วังสราญรมย์ การเสด็จพระราชดำเนินประพาสลำน้ำคงอยู่ ต่อเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับแล้ว จึงได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสทางบก ประทับที่วังสราญรมย์ให้คนต่างประเทศเฝ้าเหมือนอย่างแต่ก่อน

การเฉลิมพระชนมพรรษานี้ จะว่าให้ละเอียดเป็นแน่นอนไปทีเดียวไม่ได้ ด้วยการยังเป็นปัจจุบันแท้ มีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัยเป็นคราวๆ เมื่อก่อนมาแรกที่จัดตั้งมิวเซียมขึ้นที่ศัลลักษณสถาน[๖] ในการเฉลิมพระชนมพรรษาก็เปิดให้ราษฎรมาดู ราษฎรพากันมาดูวันหนึ่งหลายๆ พันคน จนกว่าจะแล้วงานนับด้วยหมื่น ได้เปิดมาหลายปี ครั้นเมื่อจัดการยักย้ายไปอย่างอื่น ก็ไม่ได้เปิด การพระราชกุศลที่เป็นวิเศษ บางปีก็มีตามกาลสมัย คือเวลาข้าวแพงพระราชทานข้าวสารองค์ละถัง และปลาเค็ม แก่พระสงฆ์ทั่วทั้งแขวงจังหวัดกรุงเทพฯ เวลาที่ตั้งพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุก็จ่ายพระราชทรัพย์พระคลังข้างที่ออกช่วยทาสปล่อยให้เป็นไทหลายสิบคน เวลาเมื่อเสด็จพระราชดำเนินประพาสเกาะสีชัง ซึ่งเป็นที่คนป่วยไข้ออกไปอยู่รักษาตัว ก็บริจาคพระราชทรัพย์พระคลังข้างที่ พระราชทานให้สร้างอาศัยสถาน สำหรับคนป่วยไข้ออกไปอยู่เปลี่ยนลมอากาศ การเหล่านี้มีพิเศษเปลี่ยนแปลกกันไป ไม่เสมอทุกปีและไม่เหมือนกันทุกครั้ง จึงไม่ว่าลงเป็นแบบได้แน่ ๚


คำตักเตือนในการฉลองพระชนมพรรษาและเฉลิมพระชนมพรรษา
๏ ข้อความที่จะต้องตักเตือนนั้น ดูก็มีน้อยอย่างดอก เพราะครอบพระกริ่งซึ่งจะดับเทียนในวันพระสงฆ์ฉัน การฉลองพระชนมพรรษา ตั้งอยู่ในที่พระมณฑลแล้ว มีแต่จะต้องเตือนภูษามาลาว่าการสรงฉลองพระชนมพรรษานั้นโหรไม่ได้กำหนดฤกษ์ เคยสรงเวลาพลบค่ำก่อนทุ่ม ๑ ทุกวันไม่มีเวลายักเยื้องเลย ในการฉลองพระชนมพรรษาก็ดี เฉลิมพระชนมพรรษาก็ดี ที่เป็นข้อสำคัญของมหาดเล็กและพนักงานข้างในนั้น คือโคมไฟฟ้าซึ่งสำหรับทรงจุดเทียนเท่าพระองค์และเทียนพระมหามงคล ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามแห่ง ๑ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยแห่ง ๑ พระที่นั่งไพศาลทักษิณแห่ง ๑ ถ้าเสด็จพระราชดำเนินแห่งใดในเวลาค่ำแล้ว เป็นมีโคมไฟฟ้าทุกแห่งทุกวัน ขาดไม่ได้เลย ไม่ควรที่จะเข้าใจว่า เผื่อจะอย่างนั้นอย่างนี้ การอื่นๆ ก็ดูไม่สำคัญอันใด ๚

.  จบพระราชนิพนธ์เพียงเท่านี้   .
 
-------------------------------------------------------------------------------------
[๑] คือสมเด็จพระสังฆราช วัดราชประดิษฐ์
[๒] ปีชวดจุลศักราช ๑๒๒๖ พ.ศ. ๒๔๐๗
[๓] พระเทพกวี นิ่ม อยู่วัดเครือวัลย์
[๔] พระยาโชฎึก เถียร ต้นสกุลโชติกะเสถียร เป็นข้าหลวงเดิมทั้งสามีภริยา
[๕] พระยาศรีสุนทรโวหารน้อย
[๖] คือตึกใหญ่หน้าประตูพิมานชัยศรี ต่อมาเป็นหอพระสมุดอยู่คราว ๑



หัวข้อ: Re: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 12 กรกฎาคม 2561 14:08:22

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/66283886507153_CX_EV_CR91_1_.jpg) (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/99790366035368_35927174_410501056132247_38455.jpg)
พระราชพิธีเดือน ๑๑
-----------------------------------

พระราชพิธีประจำเดือน ๑๑ ในกฎมนเทียรบาลว่ามีพิธีแข่งเรือ ความพิสดารในกฎมนเทียรบาลกล่าวไว้ดังนี้

“เดือน ๑๑ การอาษยุชพิธี มีโหม่งครุ่มซ้ายขวาระบำมโหระทึกอินทรเภรีดนตรี เช้าทรงพระมหามงกุฎราชาปโภค กลางวันทรงพระสุพรรณมาลา เย็นทรงพระมาลาสุกหร่ำสะพักชมพู สมเด็จพระอัครมเหสีพระภรรยาทรงสุวรรณมาลานุ่งแพรลายทองทรงเสื้อ พระอัครชายาทรงพระมาลาราบนุ่งแพรดารากรทรงเสื้อ ลูกเธอหลานเธอทรงศรีเภทมวยทรงเสื้อ พระสนมใส่สนองเกล้าสะพักสองบ่า สมรรถไชยเรือต้น ไกรสรมุขเรือสมเด็จพระอัครมเหสี สมรรถไชย ไกรสรมุขนั้นเป็นเรือเสี่ยงทาย ถ้าสมรรถไชยแพ้ไซร้ ข้าวเหลือเกลืออิ่มสุขเกษมเปรมประชา ถ้าสมรรถไชยชนะไซร้ จะมียุค”
แต่พิธีแข่งเรืออย่างว่าไว้ในกฎมนเทียรบาล ได้ทำมาเพียงในชั้นกรุงเก่า มาถึงครั้งกรุงรัตนโกสินทรหาได้ทำไม่
พระราชพิธีประจำเดือน ๑๑ ที่คงทำในกรุงรัตนโกสินทร์ มีดังนี้คือ :-
ขึ้น ๔ ค่ำ พิธีทอดเชือกดามเชือก
ขึ้น ๕ ค่ำ แห่คเชนทรัศวสนาน
ขึ้น ๖ ค่ำ สมโภชพระยาช้าง
ขึ้น ๑๔ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรมค่ำ ๑ พิธีออกพรรษา และลอยพระประทีป ตั้งแต่แรม ๕ ค่ำ จนสิ้นเดือน พระกฐิน

พิธีเดือน ๑๑ ที่ทำในกรุงรัตนโกสินทร์ดังกล่าวมานี้ เห็นจะทำมาแต่ครั้งกรุงเก่าแล้วทุกอย่างหรือโดยมาก เพราะพระราชพิธีในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ตั้งขึ้นตามแบบแผนครั้งกรุงเก่าแทบทุกอย่าง จะเป็นแต่ด้วยพิธีเหล่านั้น ทำกันขึ้นในกรุงเก่าภายหลังตั้งกฎมนเทียรบาล จึงปรากฏในกฎมนเทียรบาลแต่พิธีแข่งเรืออย่างเดียว

พิธีทอดเชือกดามเชือก และแห่คเชนทรัศวสนานทำอย่างไร ความพิสดารแจ้งอยู่ในพระราชนิพนธ์ประจำเดือน ๕ นั้นแล้ว ในเดือน ๑๑ ก็ทำอย่างเดียวกัน พิธีลอยพระประทีปกลางเดือน ๑๑ ก็เหมือนกับลอยพระประทีปในเดือน ๑๒ ซึ่งมีข้อความพิสดารแจ้งอยู่ในพระราชนิพนธ์พิธีประจำเดือน ๑๒ ผิดกันแต่เดือน ๑๑ ไม่มีกระทงใหญ่

เนื้อความขาดแต่พิธีออกพรรษา และพิธีพระกฐิน ๒ พิธีเท่านั้น ฯ
 
 

อธิบายศัพท์แผลง
มีในพระราชนิพนธ์ พระราชพิธี ๑๒ เดือนโดยทรงตามคำพูดกันในสมัยนั้น

คำว่า    “กาหล”    หมายความว่า วุ่นวาย หรือ อลหม่าน พูดเป็นคำแผลง แทน โกลาหล เหตุแต่มีชื่อขุนนางตำแหน่งเจ้ากรม
.    .    แตรสังข์ว่า หลวงกาหล เกิดโจษจันกันขึ้นว่า จะมาจากศัพท์ โกลาหล หรืออะไรเห็นกันต่างๆ เกิดแต่
.    .    จะพูดล้อผู้ที่เห็นว่าเป็นศัพท์เดียวกัน ใครเห็นอะไรอลหม่านหรือ วุ่นวาย จึงว่า กาหล เลยเป็นคำแผลงขึ้น
คำว่า    “กู”    หมายความว่า ประพฤติทุจริตไม่มีละอาย แต่แรงว่า คำว่า “นุ่ง” ซึ่งมาแต่ติเตียนภิกษุอลัชชีว่าเหมือน
.    .    คฤหัสถ์นุ่งเหลือง เมื่อเกิดคำแผลงว่า “นุ่ง” ขึ้นแล้ว ต่อมามีเรื่องที่จะกล่าวถึงภิกษุที่ประพฤติเป็นอลัชชี
.    .    โดยเปิดเผยนอกหน้า จึงติว่าราวกับอวดว่า “กูเป็นอลัชชี” ทีเดียว จึงเกิดคำ “กู” ขึ้นในคำแผลง
คำว่า    “เก๋”    มาแต่คำภาษาอังกฤษว่า “เค” หมายความว่าโอ่โถงเป็นต้น ได้ยินว่าเมื่อเสด็จอินเดียครั้งนั้น แรกแต่งตัว
.    .    อย่างฝรั่ง มีข้าราชการที่ไปในเรื่อพระที่นั่งคนหนึ่งผูกผ้าผูกคอสีแดง มีข้าราชการอีกคนหนึ่งเป็นเชื้อญวน
.    .    ได้ไปเรียนวิชาที่เมืองอังกฤษแต่ดึกดำบรรพ์ จะชมโดยคำอังกฤษ จึงพูดเป็นสำเนียงว่า “เก๋จริงคุณ” ผู้ที่ไป
.    .    ตามเสด็จในคราวนั้น ที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษยังมีมาก จึงเอามาพูดว่า เก๋ ส่วนผู้ที่รู้ภาษาอังกฤษก็เห็นขันที่สำเนียง
.    .    จึงพูดว่า เก๋ บ้าง คำว่าเก๋จึงเลยเป็นคำแผลง เก่าแก่กว่าคำอื่นๆ บรรดาได้อธิบายมาทั้งหมด  
คำว่า    “โก๋”    หมายความว่า หลง มาแต่เจ้านายแต่ก่อนพระองค์หนึ่ง มีมหาดเล็กสำหรับขึ้นท้ายรถตามติดพระองค์ ชื่อโก๋
.    .    เวลาจะต้องประสงค์อะไรก็เป็นเรียกอ้ายโก๋ บางทีอ้ายโก๋ไม่อยู่ ก็หลงเรียกด้วยติดพระโอษฐ์ ทีหลังมีผู้ใด
.    .    ร้องเรียกอะไรหลงๆ จึงว่ากันว่า หลงราวกับเรียกอ้ายโก๋ คำว่า โก๋ จึงเลยเป็นคำแผลง หมายความว่า หลง
.    .    
คำว่า    “ขนดหาง”    คำนี้ใช้พูดกันตามอุปมาโบราณ คือว่าโกรธเหมือนพระยานาค อันบุคคลประหารที่ขนดหาง เพราะฉะนั้น
.    .    เเมื่อพูดเป็นคำแผลงว่า ขนดหาร หรือ ขนด หมายความว่า โกรธอย่างฉุนเฉียว
คำว่า    “ค้างคาว”    คู่กับคำว่า “กา” สำหรับใช้อุปมาด้วยบุคคลผู้นอนดึกและนอนหัวค่ำ พวกนอนหัวค่ำเรียกพวกนอนดึก
.    .    ว่าเป็นพวกค้างคาว ข้างพวกนอนดึกก็เรียกพวกนอนหัวค่ำว่าเป็นพวกกา พอพลบก็ง่วงเหงาหาวนอน  
.    .    คำว่า “ค้างคาว” และ “กา” จึงเลยพูดกันเป็นคำแผลง
คำว่า    “คร่าว”     หมายความว่า สั่งอย่างเหลวๆ มาแต่จางวางตำรวจแต่ก่อนคนหนึ่ง ไม่สันทัดกระบวนปลูกสร้าง
.    .    ไปตรวจงานที่ตำรวจทำ ไม่รู้ว่าจะติอย่างไร ไปสั่งเปรยๆ แต่ว่า คร่าวอย่างไรไม่ติด ที่จริงตรงนั้นคร่าว  
.    .    จึงถูกไม่เป็นที่มีหัวเราะเยาะเลยเอาคำ “คร่าว” มาอุปมาในบรรดาการที่สั่งเหลวๆ
คำว่า    “ครึ”    หมายความว่า ยากที่จะเข้าใจ มาแต่ว่าผู้ที่อธิบายอะไรๆ มายกศัพท์แสงต่างๆ ให้ฟัง ยกดังครึคระๆ
.    .    คนฟังไม่ใคร่เข้าใจ
คำว่า    “โค้ง”            หมายความว่า อย่างจีน มาแต่กิริยาที่จีนคำนับประสานมือ แล้วโค้งตัวลงไป จึงเรียกกันว่า โค้งแทน
.    .    เรียกว่าคำนับ ทีหลังเลยใช้เป็นคำแผลง แทนที่หมายจะว่า เป็นอย่างจีน ในสิ่งและการทั้งปวง เป็นต้นว่า
.    .    เห็นหน้าตาท่าทาง ผู้ใดออกจะเป็นจีน ก็มักพูดกันว่า ดูโค้งๆ อยู่อย่างไรดังนี้เป็นตัวอย่าง
คำว่า    “โคม”    ย่อมาแต่โคมลอย แปลว่า เหลวไหล มูลเหตุของศัพท์นี้มาแต่หนังสือพิมพ์ตลกของอังกฤษอย่างหนึ่ง  
.    .    เรียกซื่อว่า ฟัน ใช้รูปโคมลอยเป็นเครื่องหมายอยู่หลังใบปก หนังสือพิมพ์นั้นเล่นตลกเหลวไหลไม่ขบขัน
.    .    เหมือนหนังสือพิมพ์ตลกตลกอย่างอื่น คือ ปันช เป็นต้น จึงเกิดคำติกัน เมื่อใครเห็นเล่นตลกไม่ขบขัน
.    .    จึงว่าราวกับหนังสือพิมพ์ฟันบ้าง ว่าเป็นโคมลอย (เครื่องหมายของหนังสือนั้น) บ้าง จะพูดให้สั้น
คำว่า    “ชา”    หมายความว่า ไม่รู้สึกเสียเลย เหมือนกับเป็นเหน็บชา
คำว่า    “ช่างเถอะ”    หมายความว่า ไม่น่าเชื่อ มาแต่มีบางคนที่เจรจาเท็จ จนผู้อื่นรู้เช่นกันเสียโดยมาก เมื่อมีผู้มากล่าวขึ้นว่า
.    .    คน (เจรจาเท็จ) นั้น เขาบอกว่าเช่นนั้นๆ ผู้ที่ฟังมักพูดว่า คนนั้นบอกว่ากระไรก็ช่างเถอะ คำช่างเถอะ
.    .    จึงเลย เป็นคำแผลง สำหรับ หมายความว่าไม่น่าเชื่อ
คำว่า    “ซึมซาบ”    หมายความว่า ความนิยมในคติอย่างหนึ่งอย่างใด อันเป็นคติที่ผิดและควรจะคิดเห็นได้ แต่หลงเชื่อ
.    .    ว่าถูกต้อง  ถ้าว่าใครซึบซาบ ก็หมายว่าเป็นผู้เชื่อถือคติเช่นนั้น อุปมาเหมือนคติอันนั้นซึมซาบอยู่ใน  
.    .    สันดานเสียแล้ว ทำอย่างไรๆก็ไม่ถอนออกได้
คำว่า    “ซ้องหัตถ์”    หมายความว่าเนยแขก มาแต่คำแปลคัมภีร์ ภาษามคธ มีเรื่องต่างๆ ที่กล่าวถึงเนย มักประมาณ
.    .    ตวงด้วยซ้องหัตถ์ บางทีเนยขาดไปเพียงซ้องหัตถ์หนึ่ง ก็ถึงเกิดวิวาทบาดทะเลาะ หรือได้
.    .    บริโภคเนยเพียงซ้องหัตถ์เดียวก็หายไข้ หายเจ็บ ขบขันที่เนยแขกสิเหม็นเหลือทน แต่ใน
.    .    คัมภีร์ นับถือถึงตวงด้วยซ้องหัตถ์ ทีหลังมีเรื่อง พูดกันถึงเรื่องเนย มีผู้อยากทราบว่าเป็นเนย
.    .    อย่างไหนผู้หนึ่งประสงค์จะบอกว่าเนยแขก บอกว่า “เนยอย่างซ้องหัตถ์นั้นแหละ” ฮากัน
.    .    แต่นั้นจึงมักชอบเรียกเนยแขกกันว่าเนยซ้องหัตถ์
คำว่า    “ตะโกน    หมายความว่าทำบุญอวดพระ มาแต่ประเพณีการพระราชกุศลที่มีปลาปล่อย เซ่นตรุษจีน เป็นต้น  
.    “ปลาปล่อย”    เจ้าพนักงานต้องเข้าไปกราบทูลรายงานต่อหน้าพระสงฆ์ว่าปล่อยปลาแล้ว รับสั่งว่า “ทำบุญ อวดพระ”
.    .    การทำบุญอวดพระอย่างอื่นๆ จึงรวมเรียกเป็นคำแผลงว่า “ตะโกนปลาปล่อย”
คำว่า    “ตื้น”    หมายความว่า ไม่รู้จริงจัง มาแต่มีบางคนชอบพูดสำทับผู้อื่น เมื่อแสดงความเขลาที่ไม่รู้ของตนขึ้น  
.    .    ผู้นั้นมักติเตียนว่า “รู้ตื้น ๆ ก็เอามาพูด ด้วย” ผู้ที่ฟังเห็นขบขัน เอาอย่างมาล้อกันเอง จึงเลยเป็น
.    .    คำแผลง ถ้าใครแสดงความที่ไม่รู้ใน คติอันควรรู้ มักติกันว่า “ตื้น”
คำว่า    “เตี้ย”    หมายความว่า “พูดโดยไม่เกรงใจ” มาแต่ขุนนางคนหนึ่งชอบทักใครๆ โดยไม่เกรงใจ จะยกตัวอย่าง
.    .    ครั้นนั้นมีผู้กล่าวกันว่า พระราชาคณะองค์หนึ่งเล่นหนัง เวลาขุนนางคนนั้นพบพระราชาคณะองค์นั้น
.    .    ทีหลังได้ยินมักทักว่า “เจ้าคุณตโจ สบายดีหรือ” ผู้ที่ได้ยินพากันสั่นหัวว่าทักกันอะไรอย่างนั้นน่ากลัว
.    .    ใครพูดหรือทำอะไรอย่างไม่เกรงใจ จึงกล่าวกันว่า ราวกับขุนนางคนนั้นทักปฏิสันถารคำว่า “ทัก”
.    .     จึงเป็นคำแผลงสำหรับใช้ หมายความว่า พูดโดยไม่เกรงใจ
คำว่า    “ทึ่ง”    หมายความว่า ต้องการจะใครรู้ มาแต่อาการของนกอิมิว นกกระจอกเทศอย่างหนึ่ง ได้มาแต่
.    .    ออสเตรเลีย เลี้ยงปล่อยไว้ในสนามหน้าพระที่นั่งจักรี เวลานกนั้นเห็นคนหรืออะไรที่แปลกประหลาด
.    .    อยากรู้ว่าเป็นอย่างไร เดินทำกิริยาเข้าไปเลียบเคียง เปล่งเสียงจากอกดังทึ่งๆ ทึ่งๆ ทีหลังเมื่อใคร  
.    .    เห็นผู้อื่นไต่ถามอยากรู้เรื่องอะไรเซ้าซี้ มักว่า มาทึ่งๆ ราวกับนกอิมิว จึงเกิดเป็นคำแผลงว่า “ทึ่ง”  
คำว่า    “นุ่ง”    หมายความว่า คดโกง มาแต่ติเตียนภิกษุอลัชชี ว่าเป็นแต่คฤหัสถ์นุ่งเหลือง มิใช่พระใช่สงฆ์
.    .    แต่แรกมักใช้แต่เฉพาะที่เนื่องด้วยภิกษุอลัชชี ดังเช่นเห็นพระสงฆ์ จะไต่ถามกันว่า ภิกษุองค์นั้น
.    .    องค์นี้เป็นอลัชชีหรือไม่ มักถามกันว่า นุ่งหรือไม่นุ่ง คำว่า “นุ่ง” จึงเลยเป็นคำแผลง
คำว่า    “ใบโต”    มาแต่คำแผลงว่า โคมลอย นั้นเอง พูดกันว่า “โคมลอยใบโต” หมายความว่า เหลวไหลเต็มที
คำว่า    “ปา”    และ “ทุ่ม” ๒ คำนี้แปลว่า ยอให้ชอบใจ ย่อมาแต่ปา และทุ่มก้อนหินผาลงไปในเหว จงดูอธิบายที่คำ “เหว”
คำว่า    “แป้น”    หมายความว่า นบนอบอย่างที่สุด มาแต่พูดกันว่า หมอบจนก้นแป้น
คำว่า    “ปอดเสีย”    หมายความว่า ตกใจกลัวอย่างแรง มาแต่หมอฝรั่งตรวจว่าเป็นโรคปอดเสีย แต่แรกก็เฉยๆ ครั้นแปล  
.    .    ได้ความว่าเป็นฝีในท้อง ก็ตกใจดีฝ่อ คำว่า “ปอดเสีย” จึงเป็นที่หมายของความตกใจกลัวอย่างแรง
คำว่า    “พโยมยาน”    มาจากศัพท์โคมลอยนั้นเอง หมายความก็อย่างเดียวกัน จงดูอธิบายที่ศัพท์ โคมลอย
คำว่า    “พัด”    หมายความว่า รบเร้า มาแต่มีขุนนางคนหนึ่งชอบถือพัดด้ามจิ้วติดตัวเสมอ ขุนนางคนนั้น เมื่อมีกิจ
.    .    กิจจะไต่ถามอะไรต่อราชเลขาธิการ ไปนั่งเกาะเก้าอี้ เอาพัดๆ ตัวเองบ้าง พัดราชเลขาธิการบ้าง  
.    .     อยู่จนเสร็จธุระหาไม่ก็ไม่ไป จึงเกิดเป็นคำพูดขึ้นในห้องราชเลขาธิการ ถ้าใครไปรบเร้าจะเอาอะไร
.    .    ก็ว่า นี่จะมาพัดเอาให้ได้ อย่างขุนนางคนนั้นหรือคำว่า “พัด” จึงใช้เป็นคำแผลง หมายความว่า “รบเร้า”
คำว่า    “พื้น”    เดิมหมายความว่า อารมณ์ พื้นเสีย พื้นเก่า พื้นโบราณ หมายความว่าอารมณ์ไม่ผ่องใส คือมีโทสะ
.    .    เจือปน ถ้าพื้นดี พื้นใหม่ พื้นเรี่ยม หมายความว่าอารมณ์ผ่องแผ้ว มีปีติยินดีเป็นเจ้าเรือน แต่การที่ใช้
.    .    คำพื้น มักพูดกันถึงที่อารมณ์เป็นโทสะโดยมาก ภายหลังเมื่อพูดแต่ว่า พื้น คำเดียว มักเข้าใจว่ามีโทสะ  
.    .    เรื่องวัตถุนิทานของคำนี้ เดิมไทยที่ไปยุโรปกลับมาชั้นเก่าๆ มักมาเล่าว่า ที่ทะเลแดงนั้นร้อนนัก เพราะ
.    .    พื้นเป็นแต่หินและกรวดทราย ต่อมาบางคนในพวกนั้นเกิดโทสะ ผู้ที่เห็น กระชับกันว่า ถึงพื้นทะเลแดง  
.    .    หรือยัง คำว่า พื้นและ ทะเลแดง จึงกลายเป็นคำแผลง หมายความว่าโทสะกลัาและเกิดคำคู่กันขึ้นว่า  
.    .    พื้น อยู่นอธโปล คือหัวโลกช้างเหนือที่น้ำแข็งเสมอ หมายความว่า อารมณ์เยือกเย็น ทีหลังมาเมื่อเห็น  
.    .    ใครๆ นั่งบึ้งๆ ซึมๆ จึงมักถามกันว่าพื้นอยู่ที่ไหนต่อมาอีกคราวนี้ถ้าเห็นใครนั่งบึ้งๆ ก้มหน้าเหมือนกับ
.    .    แลดูพื้นเรือนที่ตรงนั้น จึงถามผู้ที่ไปด้วยกัน ให้ได้ยินถึงคนที่นั่งก้มหน้าว่าพื้นตรงนั้นเก่าหรือใหม่  
.    .    เป็นการกระทบสัพยอกผู้ที่ก้มดูพื้น จึงเกิดคำ พื้นใหม่พื้นเก่า พื้นเก่ากลายมาเป็นพื้นโบราณอีก
คำว่า    “มีด”    หมายความว่า ไม่รู้เค้าเงื่อนทีเดียว ย่อมาแต่ “มืดมนอนธกาล” หรือ “มืดเแปดด้าน” นั้นเอง
คำว่า    “ยูดี”    หมายความว่า ประชด มาแต่ชื่อหนังสือพิมพ์ตลกของอังกฤษฉบับหนึ่งชื่อ ยูดี หนังสือพิมพ์ยูดี
.    .    นั้นมักประชดรัฐบาล ใครพูดจาประชดประชัน จึงว่า “พูดราวกับหนังสือยูดี” ด้วยเหตุนี้คำว่า
.    .     “ยูดี” จึงมักใช้ในความอย่างว่าประชด
คำว่า    “หยอด”    หมายความว่า ชอบมาก มาแต่พูดกันว่า “เป็นของรักราวกับจะหยอดลงไปในนัยน์ตา
.    หรือ “หยอดตา”    .
คำว่า    “รวมๆ”    หมายความว่า ไม่กระจัดชัดเจน มีผู้ใหญ่บางคนแต่ก่อนอธิบายอะไรผู้อื่นไม่ใคร่เข้าใจ จึงกล่าวกันว่า
.    .    ท่านผู้นั้นอธิบายอะไรดัง รวมๆ รวมๆ คำ “รวม” จึงเลยเป็นคำแผลง
คำว่า    “เรียว”     หมายความว่า เลวลงทุกที เหมือนกับของที่เรียวเล็กลงไป
คำว่า    “ลมจับ”    หมายความว่า เสียดายเป็นอย่างยิ่ง มาแต่เรื่องเล่ากันถึงคนขี้ตระหนี่คนหนึ่ง เพื่อนฝูงขออะไรเล็กน้อย
.    .    ขัดไม่ได้ต้องให้ไป ครั้นเมื่อเขาไปแล้ว เกิดเป็นลมด้วยความเสียดายของ
คำว่า    “เหว”    หมายความว่า ชอบให้ยอ มาแต่พูดกันถึงคนชอบยอว่าคนนั้นๆ ถึงจะยอเท่าไรก็ไม่อิ่มใจ เหมือนกับ
.    .    จะเอาหินผาทุ่มลงไปในเหวที่ลึกไม่เต็มได้ ใช้เป็นคำแผลงสังเขปลงว่า “เหว” บ้าง บางทีพูดแผลง
.    .    ไปเป็น “เหว” (คือ เว มี ห นำ) อีกอย่างหนึ่ง แปลความก็อย่างเดียวกัน
คำว่า    “เหวย”    ก็คือ “เสวย” นั้นเอง ที่ใช้พูดกันว่า “เหวย” มาแต่เลียนล้อเจ้านายที่ยังทรงพระเยาว์ เพราะตรัส
.    .    ตามอย่างพี่เลี้ยงแม่นม แต่ไม่ชัด จึงว่า “ฉันจะเหวยนั่นเหวยนี่”
คำว่า    “สัพพี”    หมายความว่า ประจบประแจง มาแต่เจ้านายผู้ใหญ่แต่ก่อนบางพระองค์ มีพระไปเฝ้าเวลาคํ่าทุกคืน
.    .    ถึงฤดูเข้าวสาทรงธรรม พระที่ไปเฝ้าก็มีธูปเทียนจุดบูชาธรรม ครั้นเทศน์จบพระที่ไปเฝ้าก็พากันเข้าไป  
.    .    ไปนั่งรับสัพพี ผู้ที่มีความคิดอย่างใหม่ๆ บางคนติเตียนว่าเป็นการสัพพีประจบประแจงเพราะไม่ได้นิมนต์
.    .    และไม่ได้รับทาน ทีหลังเมื่อเห็นผู้ใดทำกิริยาประจบประแจง จึงพูดว่า “ราวกับพระสัพพีที่วังนั้น”
.    .    คำ “สัพพี” จึงเลยใช้เป็นคำแผลงกันทั่วไป
คำว่า    “สีเหลือง”    ตรงนี้ ตรงกับ “นุ่งสีเหลือง” หมายความอย่าง เดียวกับคำว่า “นุ่ง” นั่นเอง
คำว่า    “อี๋”    หมายความว่า สนุกรื่นรมย์ มาแต่ขุนนางคนหนึ่ง มีอัธยาศัยแปลกกับผู้อื่น ถ้าเกิดรื่นรมย์สนุกสนานอะไร
.    .    ขึ้นมาก็เที่ยวบอกแก่คนนั่นคนนี้ บอกพลางหัวเราะดังอี๋ๆ ไปด้วยพลาง คนทั้งหลายเห็นขบขันเมื่อได้ยิน
.    .    เสียงจึงมักถามว่า “นั่นอี๋อะไร” ด้วยเข้าใจว่าคงมีเรื่องอะไรสำหรับบอก คำว่า “อี๋” จึงเลยเป็นคำแผลง
คำว่า    “อูแอ”    เป็นคำเจ้านายที่ทรงพระเยาว์เลียนเสียงสังข์แตรเครื่องประโคม ใช้เป็นคำแผลงมักหมายความว่า แห่
คำว่า    “ฮ่องเส็ง”    หมายความว่า อ้างถึงอะไรๆ อย่างเหลวไหล มาแต่ผู้ซึ่งชอบแสดงความจดจำของเก่าแก่แต่ก่อน
.    .    อวดพวกชั้นหนุ่มๆ ที่ไม่เคยเห็น มีผู้หนึ่งแสดงว่า เมื่อกระนั้นที่ในท้องพระโรงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย  
.    .    มีนาฬิกาฮ่องเส็งตั้งอยู่เรือนหนึ่ง แต่ครั้นไล่เลียงว่านาฬิกาฮ่องเส็งนั้นรูปร่างเป็นอย่างไร และเหตุใด
.    .    จึงเรียกนาฟิกาฮ่องเส็ง ก็ไม่สามารถจะอธิบายได้จึงเป็นข้อขัน ทีหลังใครมาอธิบายอะไรอย่างลึกลับ
.    .    ให้เกิดสงสัยจึงมักกล่าวกันว่า อย่างนาฬิกาฮ่องเส็งละซิ จึงเลยมาพูดกันเป็นคำแผลง