[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ => เครื่องราง ของขลัง พุทธคุณ => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 05 กรกฎาคม 2561 11:21:04



หัวข้อ: จาก “พระพิมพ์” สู่ “พระเครื่อง”
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 05 กรกฎาคม 2561 11:21:04


(https://www.sarakadee.com/wp-content/uploads/prakruang01.jpg)

จาก “พระพิมพ์” สู่ “พระเครื่อง”

ในบทความเรื่อง “ตำนานพระพิมพ์” ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ นักปราชญ์ฝ่ายวิชาโบราณคดีชาวฝรั่งเศสผู้ลือนาม เสนอไว้ว่า ธรรมเนียมการสร้างพระพิมพ์ คือพระพุทธรูปเล็กๆ ตีพิมพ์ด้วยดิน เริ่มต้นจากการเป็น “ของที่ระลึก” ที่พุทธศาสนิกชนนำติดตัวกลับบ้าน หลังจากไปสักการะสังเวชนียสถานสี่ตำบลในอินเดียโบราณ ก่อนที่จะคลี่คลายกลายเป็นการสร้างขึ้นเพื่อหวังผลบุญกุศล พร้อมกับจารึกบาทคาถาที่เป็น “หัวใจ” ของพระพุทธศาสนา คือคาถา เย ธมฺมา ไว้ด้วย โดยอาจมีจุดมุ่งหมายดังที่ท่านเซเดส์พรรณนาไว้ว่า

“บุคคลผู้ได้ทำรูปพระพิมพ์แล้วและบรรจุไว้ในถ้ำและสถูปต่างๆ เป็นจำนวนตั้งหลายพันองค์นั้นจะต้องคิดถึงการประกาศศาสนาในอนาคตอันไกลเป็นแท้ และหวังว่าจะเป็นเครื่องช่วยประกาศศาสนาให้แพร่หลายไปได้อีกหลายพันปี ดูเหมือนพวกพุทธมามกบุคคลจะได้มีความรู้สึกว่าเมื่อครบอายุพระพุทธศาสนาๆ จะเสื่อมลง การได้พบเห็นรูปพระศาสดาจารย์เจ้าและคาถาย่อ อันเป็นคำสั่งสอนของพระองค์ อาจเป็นเครื่องเตือนใจให้ผู้พบกลับเกิดความเลื่อมใสและเชื่อถือขึ้นอีก”

หรืออีกนัยหนึ่ง ตามข้อเสนอของนักวิชาการท่านนี้ คนโบราณคิดทำพระพิมพ์ให้เป็นเหมือน “ไทม์แคปซูล” บรรจุข้อมูลของศาสนาพุทธแบบสรุปย่อ พร้อมรูปภาพประกอบไว้ เพื่อรอวันเวลาแห่งอนาคตเมื่อถึงสมัยที่คนไม่รู้จักพระพุทธศาสนาอีกต่อไป ว่าหากพวกเขาและเธอเหล่านั้นบังเอิญได้มาพบเห็นพระพิมพ์เหล่านี้เข้า ก็อาจสนใจใฝ่รู้ ค้นคว้าศึกษาจนแจ้งใจ แล้วรื้อฟื้นพระพุทธศาสนาขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ดังนั้น สำหรับคนโบราณ พระพิมพ์เหล่านี้จึงมิได้มีฐานะเป็นเครื่องรางของขลังด้วยซ้ำ แต่เป็นการสั่งสมบุญกุศลไว้เพื่อกาลข้างหน้า



(https://www.sarakadee.com/wp-content/uploads/prakruang02.jpg)

คนไทยสมัยก่อนอาจจะโพกผ้าประเจียด แขวนตะกรุด หรือสวมเสื้อยันต์ (ตลอดจนสักยันต์ลงไปบนผิวหนัง) เป็นเครื่องรางของขลังสำหรับตัว แต่ไม่ใช่พระพุทธรูป

ส่วนหนึ่งก็คงเพราะเห็นว่าเป็น “ของสูง” คือเป็นรูปพระพุทธเจ้า อันพึงเคารพสักการะ ตั้งไว้ในสถานที่อันเหมาะอันควร ไม่อาจจะนำมาติดตัว หรือไว้กับร่างกายสังขารของมนุษย์ผู้ต่ำตม ให้พระท่านต้องแปดเปื้อน

และสาเหตุอีกประการหนึ่งก็อาจจะมาจากว่า ไม่รู้จะนำพระพิมพ์เหล่านั้น มาพกไว้กับตัวได้อย่างไร

ในภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยเก่าๆ เราจึงอาจเคยพบรูปคนโพกผ้าประเจียด สักยันต์ ซึ่งถ้าไม่ใช่โจรก็ต้องเป็นพวกทหาร แต่จะไม่เคยพบรูปวาดที่แสดงภาพคนห้อยแขวนพระเครื่องไว้ที่คอเลย



(https://www.sarakadee.com/wp-content/uploads/prakruang02-01.jpg)

(https://www.sarakadee.com/wp-content/uploads/prakruang02-02.jpg)

แล้วจาก “ไทม์แคปซูล” ที่มุ่งหมายประกาศศาสนาแก่ผู้คนในอนาคต พระพิมพ์กลายเป็น “วัตถุมงคล” ที่นำมาไว้ติดตัวได้อย่างไร ?

ในที่นี้อยากเสนอว่า คนไทยน่าจะเพิ่งเริ่ม “ห้อยพระ” หรือ “แขวนพระ” กันเมื่อราว ๑๐๐ กว่าปีมานี้เอง และเริ่มต้นจากธรรมเนียมปฏิบัติของชนชั้นสูงก่อน

“จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาค ๑๙” มีบันทึกถึงเรื่องนี้ไว้ว่า ช่วงต้นรัชกาล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ ณ วันอังคาร แรมสี่ค่ำ เดือน ๘ ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ได้พระราชทาน “พระชัยเล็กซึ่งประดิษฐานในตลับทองคำมีสร้อยร้อยพระสอ” (ศอ คือคอ) กริ่งพร้อมสายสร้อย” แก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระราชโอรส ๔ พระองค์ที่กำลังจะเสด็จไปทรงศึกษาต่อในทวีปยุโรป และในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ก็ยังมีการระบุถึงการพระราชทาน “สายสร้อยตลับพระชัย” แก่พระบรมวงศานุวงศ์อื่นๆ ด้วย

ว่าที่จริง นี่ก็น่าจะเป็นความคิดที่นำเอาสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา คือ “พระชัยเล็ก” (ซึ่งคงเป็นการจำลองพระชัย หรือพระชัยวัฒน์ประจำรัชกาล) มาบรรจุในตลับ แล้วแขวนไว้ติดตัวกับสายสร้อยห้อยคอ ในทำนองเดียวกับที่นักบวชคาทอลิกหรือมิชชันนารีโปรเตสแตนท์ มีสร้อยห้อยไม้กางเขน แจกให้แก่ผู้เข้ารีต ไว้ห้อยคอแสดงตนเป็นคริสตศาสนิกชน

สันนิษฐานว่าจาก “สายสร้อยตลับพระ” ทำนองนี้เอง กลายเป็นสิ่งที่คนทุกระดับในสังคมก็ทำเลียนแบบตามอย่างเจ้านายกันลงมา ทำให้เกิดความนิยมเสาะแสวงหา “พระพิมพ์” เพื่อนำมา “เลี่ยม” แขวนกับสร้อย ทำนองเดียวกันนั้นบ้าง

พระพิมพ์ที่แต่เดิมสร้างไว้เพื่อสืบพระศาสนาจึงเกิดความหมายใหม่ ในฐานะวัตถุมงคล คือ “พระเครื่อง” (เครื่องราง) ขึ้นมา

และเพียงเมื่อถึงช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ พระพิมพ์โบราณก็กลายเป็นสินค้า หรือของซื้อของขายที่นิยมแพร่หลาย นำไปสู่การระดมขุดรื้อทลายหาพระเก่าตามเจดีย์วัดร้างที่ระบาดแพร่ไปทั่ว ดังที่ในหลวงรัชกาลที่ ๖ เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร ทรงพบเห็นเมื่อเสด็จประพาสหัวเมืองเหนือ พ.ศ.๒๔๕๐ ดังที่ทรงบันทึกไว้ในพระราชนิพนธ์ “เที่ยวเมืองพระร่วง” ตอนหนึ่ง หลังจากทรงพบเห็นการลักลอบขุดหาพระเก่าที่เมืองกำแพงเพชรว่า

“เมืองกำแพงเพ็ชร์ต้องนับว่าเปนเมืองเคราะห์ร้าย ที่มีชื่อเสียงเสียแล้วว่ามีพระพิมพ์ดีๆ มีอภินิหารต่างๆ กันสาตราวุธ ฟันไม่เข้า ยิงไม่ออกเปนต้น…นึกๆ ดูก็น่าขันที่เอาพระพุทธรูปไปผูกคอไปเพื่อป้องกันตนในการที่คิดมิชอบต่างๆ มีปล้นสดมภ์ฤๅตีรันฟันแทงเกะกะต่างๆ เปนต้น…”

ธรรมเนียมการนำเอาพระพุทธรูปหรือพระพิมพ์มาห้อยคอนี้ จึงเริ่มมีปรากฏในวัฒนธรรมพุทธของไทยเท่านั้น คนในประเทศพุทธเถรวาทอื่นๆ เช่นลังกา หรือพม่า ก็ไม่ได้ทำกัน มีเราทำอยู่คนเดียว


ที่มา นิตยสาร สารคดี