[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม => ข้อความที่เริ่มโดย: มดเอ๊ก ที่ 15 กรกฎาคม 2561 15:03:32



หัวข้อ: ซาโตริต่างกับนิพพานอย่างไร ? ( เซนสักนิด ชีวิตเป็นสุข)
เริ่มหัวข้อโดย: มดเอ๊ก ที่ 15 กรกฎาคม 2561 15:03:32
(https://scontent.fbkk2-2.fna.fbcdn.net/v/t1.0-9/fr/cp0/e15/q65/37112772_1523012877803078_7107318384001286144_o.jpg?_nc_cat=0&efg=eyJpIjoibCJ9&_nc_eui2=AeHslJGrLBX1vGMj4iY5dRXOtvD3uBJ9I266LMJ1noPCGR9UBCm7R4UExkymwcAci8BtuLRBmUqS_awz3wp16Ogx6nf9swVO4r8K-QawuY-ugQ&oh=d5668528110b3820e8462343277f23ac&oe=5BD4F904)

อ่านเรื่องเซนทีไร ก็มีคำว่า 'ซาโตริ' ปนมาอยู่เรื่อย

มันคืออันหยัง?

คงต้องเริ่มที่คำถามว่า อะไรคือเป้าหมายหลักของปรัชญาพุทธ

คอนเส็ปต์หลักน่าจะคือ 'การปลดปล่อยตนให้เป็นอิสระ'

ในทางพุทธก็คือการบรรลุนิพพาน (nirvana) ในทางเซนคือการบรรลุพุทธภาวะ เรียกว่า ซาโตริ (satori)

ทั้งสองอย่างก็คือการกำจัดความคิดปรุงแต่ง (delusive thinking) ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาทุกอย่างของมนุษย์ เมื่อขจัดมันไปได้ ก็ทำให้โลภ โกรธ หลง หายไปด้วย พูดง่าย ๆ ก็คือการทำลายอุปาทานในขันธ์ เพื่อให้อัตตาสิ้นไป เมื่อไม่มีอัตตา ก็เป็นอิสระ

เจ้าชายสิทธัตถะทรงละทิิ้งชีวิตฆราวาสไปเป็นดาบส ทรงหาทุกวิถีทางที่จะปลดปล่อยพระองค์เป็นอิสระ แต่ทรงไม่สามารถบรรลุจุดหมายนั้นด้วยหนทางแห่งความสุดโต่ง จนกระทั่งหลังจากเจ็ดปีของการค้นหาแบบสุดโต่ง ก็ทรงละทิ้งวิถีนั้น และเมื่อนั้นเองที่ทรง 'ตื่น' และเข้าสู่สภาวะแห่งการเข้าใจหรือที่เรียกว่า การตรัสรู้ (enlightenment) โดยการพิจารณาสิ่งที่เป็นไปในโลกใต้ต้นโพธิ์ ผ่านทั้งราตรีจนแสงสว่างของเช้าวันใหม่มาถึง ก็ทรงเข้าพระทัยทุกสิ่งอย่างแจ่มแจ้ง หลุดพ้นโดยสิ้นเชิงจากมายาและวงจรการเวียนว่ายตายเกิด (สังสารวัฏ) เป็นสภาวะที่เรียกว่า อนุตตรสัมมาสัมโพธิ ซึ่งถือเป็นปัญญาสูงสุดที่ไม่มีสิ่งใดมาเทียบเคียงได้ (unexcelled, complete awakening)

การหลุดพ้นก็คือการตื่น นี่คือที่มาของคำว่า พุทธะ แปลว่า ผู้ตื่นแล้ว (บางครั้งใช้คำว่า โพธิ ในความหมายของการตื่นเช่นกัน)

ตื่นจากอะไร?

ตื่นจากมายา ปลดปล่อยตัวเองจากมายาและสิ่งห่อหุ้มธรรมชาติเดิมของเรา

แล้วซาโตริต่างจากนิพพานหรือไม่? อย่างไร?

มีการให้ความหมายของนิพพานและซาโตริต่างกันออกไป บางตำราใช้คำนิพพานกับซาโตริในความหมายเดียวกัน บางตำราว่าภาวะการรู้แจ้ง (enlightenment) มาก่อนภาวะนิพพาน (nirvana) บางตำราก็แบ่งการบรรลุธรรมออกเป็นหลายระดับ เช่น นิพพาน, ซาโตริ, เคนโซ

คำว่า ซาโตริ แปลตรงตัวว่า การเข้าใจ บางทีก็ใช้สลับกับคำว่า เคนโซ (kensho) ซึ่งมักหมายถึงการบรรลุธรรมในขอบเขตของเซน

เคนโซ แปลตรงตัวว่า การมองเห็นธรรมชาติที่แท้จริงของตนเอง เคนโซจึงไม่ได้มีความหมายถึงการตื่นอย่างสมบูรณ์ในความหมายของนิพพาน

มีผู้เปรียบว่า การบรรลุเคนโซก็เช่นการเตะลูกบอลวิถีไกลโค้งข้ามสนามเข้าประตูอย่างสวยงามเพียงครั้งเดียวไม่ได้หมายความว่าคุณคือ เดวิด เบคคัม หรือการขว้างลูกบาสเก็ตบอลเข้าห่วงในทีเดียว ก็ไม่ได้ทำให้คุณเป็น ไมเคิล จอร์แดน คุณจะเป็น เดวิด เบคคัม หรือ ไมเคิล จอร์แดน ก็เมื่อคุณทำประตูได้มากพอ นานพอจนสามารถคุมลูกบอลได้ดั่งใจ หรือหากใช้สำนวนนิยายจีนกำลังภายในก็คือ คุณเชื่อมเป็นหนึ่งเดียวกับลูกบอลจนไม่เหลือตัวตนของลูกบอล!

ผู้รู้ด้านเซนหลายท่านอธิบายว่า ซาโตริมักมีความหมายของการตื่นเล็ก นิพพานมีความหมายของการตื่นใหญ่ นั่นคือนิพพานเป็นผลรวมของการบรรลุซาโตริ สรุปแบบหยาบ ๆ ได้ว่า คนเราสามารถบรรลุซาโตริได้หลายครั้ง แต่บรรลุนิพพานได้ครั้งเดียว

ตัวอย่างที่ดีที่สุดน่าจะเป็นกรณีของอาจารย์ฮาคุอิน ปรมาจารย์เซนคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของญี่ปุ่นสมัยศตวรรษที่ 15 ว่ากันว่าท่านมีประสบการณ์ซาโตริหลายครั้ง เช่นครั้งหนึ่งขณะที่เดินฝ่าฝน น้ำท่วมขึ้นมาถึงหัวเข่า ขณะจิตนั้นท่านนึกถึงบทธรรมที่เคยอ่านนานมาแล้ว พลันท่านก็ตื่น ส่งเสียงหัวเราะก้องกังวาน อาจารย์ฮาคุอินมักตื่นกะทันหันและหัวเราะก้องเช่นนี้เสมอ เป็นตัวอย่างว่าการตื่นมีหลายระดับ และเกิดขึ้นซ้ำได้

ชาวพุทธไม่น้อยตีความคำว่า วงจรการเวียนว่ายตายเกิด (สังสารวัฏ) ตรงตามคำว่าเป็นการเกิดใหม่โดยพลัง (หรือพลังงาน) ที่เรียกว่า กรรม และกรรมนี้เองเป็นตัวกำหนดคุณลักษณ์และบทบาทของชีวิตที่เกิดใหม่ จนกว่าจะสามารถ 'ตื่น' เมื่อนั้นวงจรนี้ก็จะสิ้นสุด เรียกจุดหมายปลายทางนี้ว่า นิพพาน

แต่ในทางเซนและมหายานบางสายตีความคำว่า สังสารวัฏ แตกต่างออกไป เซนชี้ว่ากระบวนการเกิดใหม่นี้เกิดขึ้นเป็นช่วงขณะจิต เพราะตัวตนของเราทุกคนเกิดใหม่เรื่อย ๆ ทีละชั่วขณะจิต อันเป็นการกระทบกันของปัจจัยหนึ่งสู่อีกปัจจัยหนึ่งตามหลัก ปฏิจจสมุปบาท ซึ่งใช้อธิบายสภาวะของจิตของฝ่ายเถรวาท

จะเห็นว่าในเรื่องเดียวกันแท้ ๆ ก็มีการตีความไปต่าง ๆ นานา

อ่านแล้วง่วงหรือเปล่า?

ไม่แปลกถ้าง่วงนะ ก็เหมือนเรื่องเสือดำ เรื่องนาฬิกา และอื่นๆ นั่นแหละ ตีความได้หลายอย่าง ตีความไปตีความมา ก็ง่วงนอนได้

คำว่าเซนจึงต้องเขียน Zen ไง ZZZZ เป็นสัญลักษณ์ของความง่วง

.……………...

วินทร์ เลียววาริณ
เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/ (https://www.facebook.com/winlyovarin/)