[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 22 กรกฎาคม 2561 19:13:24



หัวข้อ: วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 22 กรกฎาคม 2561 19:13:24

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/95353388537963_3_Copy_.jpg)
ถือกันว่าวัดแจ้ง เป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต จนกระทั่งสิ้นสมัยกรุงธนบุรี   
ซึ่งสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) ได้อัญเชิญ
มาจากประเทศลาวในคราวที่เสด็จตีเมืองเวียงจันทร์ ได้ในปี พ.ศ.๒๓๒๒

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา และฟากตะวันออกของถนนอรุณอัมรินทร์ ระหว่างคลองนครบาลหรือคลองวัดแจ้งกับพระราชวังเดิม ตำบลวัดอรุณ อำเภอบางใหญ่ จังหวัดธนบุรี ไม่พบหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้างวัดในสมัยโบราณ ตามหลักฐานเท่าที่ปรากฏมีเพียงว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีมาก่อนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.๒๑๙๙-๒๒๓๑) เมื่อแรกเรียกว่า วัดมะกอก ตามทางสันนิษฐานเข้าใจว่าคงจะเรียกคล้อยตามชื่อตำบลบางมะกอก ซึ่งเป็นตำบลที่ตั้งวัด ซึ่งสมัยนั้นมีชื่อว่า “บางมะกอก” ตามคติเรียกชื่อวัดของไทยสมัยโบราณ เพราะชื่อวัดที่แท้จริงมักจะไม่มี จึงเรียกชื่อวัดตามชื่อตำบลที่ตั้ง เช่น วัดบางลำพู วัดปากน้ำ เป็นต้น  ภายหลังเปลี่ยนเป็นวัดมะกอกนอก แล้วเปลี่ยนเป็น วัดแจ้ง  วัดอรุณราชธาราม และวัดอรุณราชวราราม โดยลำดับ  ปัจจุบันเรียกชื่อว่า “วัดอรุณราชวราราม”

ส่วนที่เปลี่ยนเป็นเรียกว่า “วัดแจ้ง” นั้น มีเรื่องเล่าว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงกอบกู้กรุงศรีอยุธยาสำเร็จเรียบร้อย ใน พ.ศ.๒๓๑๐ แล้ว มีพระราชประสงค์จะย้ายราชธานีจากกรุงศรีอยุธยา มาตั้ง ณ กรุงธนบุรี โดยทรงพระราชดำริว่า “กรุงศรีอยุธยา เป็นเมืองใหญ่กว้าง ทั้งพระราชวังก็มีปราสาทสูงใหญ่ถึง ๕ องค์ และวัดวาอารามก็ล้วนแต่ใหญ่โต เมื่อบ้านเมืองถูกพม่าข้าศึกและพวกทุจริตเอาไฟจุดเผาเป็นอันตรายเสียหายจนเกือบหมดสิ้น พึ่งรวบรวมกำลังตั้งขึ้นใหม่ๆ จะเอากำลังวังชาทุนรอนที่ไหนไปซ่อมแซมบ้านเมืองที่ใหญ่โต ซึ่งทำลายแล้วให้กลับคืนคงดีขึ้นเป็นพระนครราชธานีได้เล่า ประการหนึ่ง ถ้ามีข้าศึกศัตรูเข้ามา รี้พลที่จะรักษาหน้าที่เชิงเทินป้องกันก็มีไม่พอ สู้ไปตั้งอยู่ที่เมืองธนบุรีสร้างขึ้นเป็นเมืองใหม่ไม่ได้ ด้วยว่ามีกำลังน้อยก็ทำเมืองแต่เล็ก อีกประการหนึ่ง ถ้าจะมีข้าศึกมาติดเมือง ถึงจะพลาดพลั้งลงประการใด กองทัพเรือก็มีอยู่เป็นกำลัง และทั้งยังทรงชำนาญในการทัพเรือ จะได้พาทัพเรือออกทะเลไปเที่ยวหาที่ตั้งมันได้ง่าย เห็นจะไม่ใช่แต่เฉพาะเรื่องที่ว่าทรงนิมิตฝันไปว่า พระเจ้าแผ่นดินกรุงเก่าทรงขับไล่มิให้อยู่แต่เรื่องเดียว”   จึงเสด็จกรีฑาพลล่องลงมาทางชลมารค พอถึงหน้าวัดนี้ ก็ได้อรุณหรือรุ่งแจ้งพอดี ทรงพระราชดำริเห็นเป็นอุดมมหามงคลฤกษ์ จึงโปรดให้เทียบเรือพระที่นั่งที่ท่าน้ำ เสด็จขึ้นไปทรงสักการบูชาพระมหาธาตุ ขณะนั้นสูงประมาณ ๘ วา ซึ่งประดิษฐานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำหน้าวัด แล้วเลยเสด็จประทับแรมที่ศาลาการเปรียญใกล้ร่มโพธิ์ ต่อมาได้โปรดให้ปฏิสังขรณ์พระอารามแห่งนี้  และสถาปนาเป็นพระอารามหลวง พระราชทานนามว่า วัดแจ้งเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งนิมิตที่ได้เสด็จมาถึงวัดนี้เมื่อเวลารุ่งแจ้งพอดี

ชื่อ “วัดแจ้ง” นี้ มีเรื่องสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทูลสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ไว้ว่า “หม่อมฉันเคยเห็นแผนที่เมืองธนบุรีที่ฝรั่งเศสทำ เมื่อรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯ ในแผนที่นั้นมีแต่ วัดเลียบ กับวัดแจ้ง แต่วัดโพธิ์หามีไม่ ตรงที่วัดพระเชตุพนเวลานั้น ยังเป็นชานป้อมใหญ่ ซึ่งอยู่ราวโรงเรียนราชินี เพราะฉะนั้นวัดโพธิ์เป็นวัดสร้างเมื่อล่วงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯ มาแล้ว

จากหลักฐานนี้ ทำให้เห็นได้ชัดว่า วัดแจ้งมีมาก่อนที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจะทรงย้ายราชธานีมายังกรุงธนบุรีตามเรื่องที่ได้กล่าวมาแล้ว และชาวฝรั่งเศสผู้ทำแผนที่เมืองธนบุรีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น ก็คือ เรือเอก เดอ ฟอร์บัง (Glaude de Forbin) กับนายช่าง เดอ ฟอร์บัง (Claude de Forbin) กับนายช่าง เดอ ลามาร์ (de Lamare) และในวัดนี้เอง ยังมีพระอุโบสถและพระวิหารของเก่าอยู่ ณ บริเวณหน้าพระปรางค์ ซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยา



(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/49422118150525_1_2_Copy_.jpg)
พระพุทธธรรมมิศราชโลกธาตุดิลก พระประธานในพระอุโบสถวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์  เล่ากันว่าหุ่นพระพักตร์ปั้นโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ส่วนพระวรกายปั้นโดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และที่ฐานของพระพุทธธรรมมิศราชโลกธาตุดิลก  ยังเป็นที่
ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยอีกด้วย

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/89846841411458_37_Copy_.jpg)
พระอุโบสถวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงสร้างพระราชวังใหม่นั้น ได้ทรงเอากำแพงป้อมวิชัยประสิทธิ์ข้างฝั่งตะวันตกเป็นที่ตั้งตัวพระราชวัง แล้วโปรด “ให้ขยายเขตกั้นเป็นพระราชวังถึงคลองนครบาล (คลองวัดแจ้ง) เพราะฉะนั้น วัดแจ้งจึงตกเข้ามาอยู่กลางพระราชวังเป็นการยกเว้นเลิกไม่ให้พระสงฆ์อยู่อาศัย เขตพระราชวังตะวันตกจดวัดโมลีโลกย์ซึ่งเป็นตลาดท้ายสนม เรียกว่า วัดท้ายตลาด ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ระยะ ๑๕ ปีนั้น ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ และพระวิหารเดิมของวัดแจ้ง ให้บริบูรณ์ดีขึ้นตามที่จะทำได้”

การที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงสร้างพระราชวังและขยายเขตพระราชฐานจนถึงกับเอาวัดแจ้งเป็นวัดภายในพระราชวังนั้น คงจะทรงถือแบบอย่างพระราชวังในกรุงศรีอยุธยา ที่มีวัดพระศรีสรรเพชญ์อยู่ในพระราชวัง การปฏิสังขรณ์วัดเท่าที่ปรากฏตามหลักฐานในพระราชพงศาวดาร ก็คือ ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถและพระวิหารเก่าที่อยู่หน้าพระปรางค์ กับโปรดให้สร้างกำแพงพระราชวังโอบล้อมวัดดังกล่าวมา และในระยะต่อมาก็คงจะได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุอื่นๆ อีก เพื่อให้สมกับที่เป็นวัดภายในพระราชวัง แต่ไม่ปรากฏรายการว่าได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์หรือก่อสร้างสิ่งใดขึ้นบ้าง

การปฏิสังขรณ์วัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงกระทำมาตั้งแต่ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร และยังประทับอยู่ที่พระราชวังเดิม นั้น ได้สำเร็จลงในต้นปีมะโรง พ.ศ.๒๓๖๓ สมัยรัชกาลที่ ๒ จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีการฉลอง แล้วพระราชทานชื่อใหม่ว่า “วัดอรุณราชวราราม”

ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมอีก แล้วทรงเปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดอรุณราชวราราม ดังที่เรียกกันมาจนในปัจจุบัน



(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/58379187517695_23_Copy_.jpg)
พระบรมรูปจำลองพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ประดิษฐานอยู่ที่โบสถ์น้อย ในวัดอรุณราชวราราม  กรุงเทพฯ

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/28842287924554_24_Copy_.jpg)
พระบรมรูปจำลองพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ประดิษฐานอยู่ที่โบสถ์น้อย ในวัดอรุณราชวราราม  กรุงเทพฯ

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/53998342487547_12_Copy_.jpg)
พระแท่นบรรทม พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒)
เก็บรักษาไว้ที่วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/72654062757889__MG_9427.jpg)
ยักษ์ทวารบาล วัดอรุณราชวราราม

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/44816435832116_34_Copy_.jpg)
สหัสสเดชะ (ทวารบาล)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/33455495660503_35_Copy_.jpg)
ทศกัณฐ์ (ทวารบาล)

“ยักษ์” เป็นอมนุษย์ชนิดหนึ่ง มีกล่าวถึงทั้งในทางศาสนาและวรรณคดี เป็นความเชื่อของไทยที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ โดยเชื่อว่ายักษ์มีหลายระดับขึ้นอยู่กับบุญบารมี ยักษ์ชั้นสูงจะมีวิมานเป็นทอง มีรูปร่างสวยงาม ปกติไม่เห็นเขี้ยว เวลาโกรธจึงจะมีเขี้ยวงอกออกมา ยักษ์ชั้นกลางส่วนใหญ่จะเป็นบริวารของยักษ์ชั้นสูง ส่วนยักษ์ชั้นต่ำที่บุญน้อยก็จะมีรูปร่างน่ากลัว ผมหยิกตัวดำผิวหยาบ นิสัยดุร้าย  จะเห็นได้ว่าในวัดวาอารามต่างๆ มักจะมียักษ์มาประกอบเป็นส่วนหนึ่งของวัดหรือโบราณสถาน ไม่ว่าจะเป็นรูปปั้นยักษ์แบกพระเจดีย์ในวัดพระแก้ว รูปปั้นยักษ์แบกองค์พระปรางค์ในวัดแจ้ง หรือยักษ์วัดโพธิ์ เป็นต้น

ซึ่งตามตำนานเล่าว่า พระพุทธเจ้าได้เทศน์สั่งสอนยักษ์ให้ลดทิฐิมานะ ยักษ์ที่ได้ฟังและเข้าใจในพระธรรม จึงได้กลายมาเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชูพระพุทธศาสนา หรืออีกนัยหนึ่งก็หมายถึงผู้แบกสรวงสวรรค์ และทำหน้าที่เป็นผู้ปกป้องคุ้มครองสถูปสถานและอาคารศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเป็นการค้ำชูพระพุทธศาสนาให้มั่งคงและเจริญรุ่งเรืองสืบต่อมา

ตำนานเรื่องเล่า หลายคนคงเคยได้ยินตำนานกำเนิดท่าเตียน ที่เล่าปากต่อปากกันมาว่า บริเวณท่าเตียนอันเป็นพื้นที่โล่งเตียนนั้นเป็นผลจากการต่อสู้ของ “ยักษ์วัดแจ้ง” กับ “ยักษ์วัดโพธิ์” โดยมี “ยักษ์วัดพระแก้ว” เป็นผู้ห้ามทัพ

ตำนานกำเนิดท่าเตียน มีว่า ยักษ์วัดโพธิ์ซึ่งทำหน้าที่ดูแลวัดโพธิ์และยักษ์วัดแจ้งซึ่งทำหน้าที่ดูแลวัดแจ้งหรือวัดอรุณฯ ฝั่งตรงข้ามนั้น ทั้ง ๒ ตนเป็นเพื่อนรักกัน วันหนึ่งทางฝ่ายยักษ์วัดโพธิ์ไม่มีเงิน จึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปขอยืมเงินจากยักษ์วัดแจ้ง พร้อมทั้งนัดวันที่จะนำเงินไปส่งคืน เมื่อถึงกำหนดส่งเงินคืน ยักษ์วัดโพธิ์กลับไม่ยอมจ่ายหนี้ เบี้ยวเอาเสียดื้อๆ ยักษ์วัดแจ้งเมื่อรอแล้วรอเล่าจนทนไม่ไหว จึงตัดสินใจข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาทวงเงินคืน แต่ยักษ์วัดโพธิ์ไม่ยอมให้

ดังนั้น ในที่สุดยักษ์ทั้ง ๒ ตนจึงเกิดการทะเลาะถึงขั้นต่อสู้กัน แต่เพราะรูปร่างที่ใหญ่โตมหึมาและมีกำลังมหาศาลของยักษ์ทั้ง ๒ ตน เมื่อต่อสู้กันจึงทำให้ต้นไม้ในบริเวณนั้นถูกยักษ์ทั้งสองเหยียบย่ำจนล้มตายลงหมด หลังจากที่เลิกต่อสู้กันแล้วบริเวณที่ยักษ์ทั้งสองประลองกำลังกันนั้นจึงราบเรียบเป็นหน้ากลองกลายเป็นสถานที่ที่โล่งเตียนไปหมด ไม่มีอะไรเหลือเลยซึ่งตามตำนานเรื่องเล่าดังกล่าวยังสรุปไม่ได้ว่า ยักษ์วัดไหนเป็นฝ่ายชนะ

ครั้นเมื่อพระอิศวร (พระศิวะ) ได้ทราบเรื่องราวการต่อสู้กันทำให้บรรดามนุษย์และสัตว์ทั้งหลายในบริเวณนั้นเดือดร้อน จึงได้ลงโทษโดยการสาปให้ยักษ์ทั้ง ๒ กลายเป็นหิน แล้วให้ยักษ์วัดโพธิ์ ทำหน้าที่ยืนเฝ้าหน้าพระอุโบสถวัดโพธิ์ และให้ยักษ์วัดแจ้ง ทำหน้าที่ยืนเฝ้าพระวิหารวัดแจ้ง เรื่อยมา ส่วนฤทธิ์จากการสู้รบของยักษ์ทั้งคู่ที่ทำชุมชนละแวกนี้ราบเรียบเป็นหน้ากลอง ทำให้ชาวบ้านพากันเรียกว่า “ท่าเตียน” เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้
(ขอขอบคุณที่มาข้อมูลตำนาน “ยักษ์วัดแจ้ง-ยักษ์วัดโพธิ์” และกำเนิดท่าเตียน จากเว็บไซต์ลานธรรมจักร มา ณ ที่นี้่ึค่ะ)