[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 05 กันยายน 2561 17:43:37



หัวข้อ: จาก วัดเขากบ ถึงยอดเขากบ อ.เมือง จ.นครสวรรค์
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 05 กันยายน 2561 17:43:37
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/88313250616192_1.JPG)
เจดีย์สมัยสุโขทัย วัดวรนารถบรรพต (วัดกบ) อ.เมือง จ.นครสวรรค์

วัดกบ (วัดวรนาถบรรพต)
ถนนธรรมวิถี ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์


วัดวรนาถบรรพต พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ ๑๘๘ ถนนธรรมวิถี ต.ปากน้ำโพ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ตั้งเมื่อ พ.ศ.๑๙๖๒ ในสมัยสุโขทัย ผู้สร้างคือพระยาบาลเมือง สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่พระยารามผู้น้อง ซึ่งได้สิ้นพระชนม์ในระหว่างทำศึกสงครามกับหัวเมืองฝ่ายใต้ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ปรากฏในศิลาจารึก ๒ หลัก ซึ่งกรมศิลปากรได้จากยอดเขากบใกล้กับรอยพระพุทธบาทจำลอง และได้จากเมืองนครชุม จ.กำแพงเพชร ซึ่งกล่าวถึงพระเจ้าลิไทกษัตริย์สุโขทัยองค์ที่ ๕ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้นำพระพุทธบาทจำลองจากลังกาซึ่งส่งมาให้เป็นบรรณาการนำไปประดิษฐานไว้บนยอดเขากบ ดังปรากฏในปัจจุบัน
 
เดิมมีชื่อเรียกว่า วัดกบ หรือ วัดเขากบ เหตุที่มีชื่อเรียกเช่นนี้ก็เพราะเรียกตามชื่อของภูเขา ซึ่งวัดนี้ตั้งอยู่เชิงเขากบ หรือมีชื่อเรียกตามหลักฐานในศิลาจารึกสมัยสุโขทัยอีกชื่อหนึ่งว่า วัดปากพระบาง ต่อมาท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) อดีตอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ กรุงเทพฯ ซึ่งสมัยนั้นท่านเจ้าคณะมณฑลได้มาตรวจการคณะสงฆ์จังหวัดนครสวรรค์ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัตเห็นว่า “วัดกบ” หรือ “วัดเขากบ” ตั้งอยู่ที่เชิงเขาจึงได้เปลี่ยนชื่อให้ใหม่และเรียกเป็นทางการว่า วัดวรนาถบรรพต

อย่างไรก็ตามประชาชนโดยทั่วไปมักเรียกชื่อ วัดกบ หรือ วัดเขากบ กันจนติดปากมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

ในอดีต เขากบมีความสำคัญต่อเมืองพระบาง (ชื่อเดิมของเมืองนครสวรรค์) โดยถูกกำหนดให้เป็นกำแพงเมืองชั้นนอกด้านทิศเหนือ ในขณะที่แม่น้ำปิงเป็นคูเมืองบชั้นนอกด้านตะวันออก  หลักฐานทางโบราณคดีแสดงให้เห็นความรุ่งเรืองทางพุทธศาสนาและความสำคัญของเมืองพระบางในสมัยสุโขทัย
 
วัดเขากบมีปูชนียวัตถุที่สำคัญ ได้แก่เจดีย์ใหญ่สร้างในสมัยสุโขทัย พระพุทธไสยาสน์ (พระนอน) ยาวประมาณ ๑๐ วาเศษ อุโบสถหลังเก่า ซึ่งมีรูปปั้น ตากบ-ยายเขียด ที่หลวงพ่อทองสร้างอยู่ด้านหน้า

บนยอดเขากบก็เป็นส่วนหนึ่งของวัดวรนาถบรรพต มีปูชนียวัตถุที่สำคัญซึ่งทางกรมศิลปากรได้นำขึ้นทะเบียนโบราณสถาน โบราณวัตถุ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๗๕ วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๘ คือ
๑.รอยพระพุทธบาทจำลองสมัยสุโขทัย บนยอดเขากบ ซึ่งตามศิลาจารึกหลักที่ ๓ กล่าวว่า เป็นหนึ่งในบรรดารอยพระพุทธบาทสี่แห่งที่สร้างในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทย นับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีชิ้นสำคัญที่ช่วยยืนยันว่า “เมืองพระบาง” ที่กล่าวถึงในศิลาจารึกสุโขทัยหลายหลักนั้น คือ “เมืองนครสวรรค์”
๒.เจดีย์บรรจุพระบรมธาตุ ๒ องค์ เป็นเจดีย์แบบทรงสุโขทัย ปัจจุบันอยู่ในวัดวรนาถบรรพต (วัดกบ)
๓.วิหารและพระนอนใหญ่
๔.ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ได้นำมาจากพุทธคยา ประเทศอินเดีย ได้นำมาปลูกเมื่อวันเพ็ญ วิสาขบูชา พ.ศ.๒๕๒๘
๕.พระอุโบสถหลังเก่า แบบโบราณ
๖.พระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยสุโขทัย หน้าตัก ๒๐ นิ้ว
 
วัดแห่งนี้มีความเก่าแก่และทรงคุณค่าอย่างยิ่งของจังหวัดนครสวรรค์ ตัววัดตั้งอยู่บนยอดเขาและเชิงเขากบ  ซึ่งเป็นภูเขาเตี้ยๆ ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ ๑๘๗ เมตร มีบันไดคอนกรีตขึ้นสู่ยอดเขา จำนวน ๔๓๗ ขั้น และมีถนนลาดยางให้รถยนต์ขึ้นสู่ยอดเขาได้อีกทางหนึ่ง ระยะทางยาว ๑,๑๐๐ เมตร ส่วนทางลงยาว ๕๙๐ เมตร

บนยอดเขากบจะมีจุดชมทัศนียภาพของตัวเมืองนครสวรรค์และบริเวณโดยรอบได้อย่างชัดเจน รวมทั้งบริเวณต้นแม่น้ำเจ้าพระยาและบึงบอระเพ็ด  เขากบจึงเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวเมืองนครสวรรค์แห่งหนึ่งและยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด  กล่าวกันว่า ผู้มาเยือนเมืองนครสวรรค์ถ้าไม่ได้ขึ้นเขากบก็ถือว่ายังมาไม่ถึงนครสวรรค์ อาจเป็นเพราะว่า “เขากบ) เป็นสัญลักษณ์คู่บ้านคู่เมืองนครสวรรค์มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย



(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/40130604513817_6.JPG)
หุ่นขี้ผึ้งเท่าองค์จริงของหลวงปู่ทอง วัดเขากบ

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/12387129829989_1.JPG)

หลวงปู่ทอง วัดเขากบ : หลวงพ่อทอง หรือหลวงปู่ทอง  ตามประวัติของท่าน เป็นชาวบ้านทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์  ท่านได้เดินธุดงค์ผ่านมา และแวะปักกลดที่วัดร้างแห่งนี้ ต่อมาท่านได้รับนิมนต์จากชาวบ้านให้อยู่ช่วยบูรณะวัด นับว่าท่านได้เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดเขากบ (วัดวรนาถบรรพต)  หลวงพ่อทองท่านเป็นพระสุปฏิปันโน ที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยมาก โดยเฉพาะธุดงค์วัตร ๓ ข้อ มีบิณฑบาต (ฉันอาหารมื้อเดียว) อยู่โคนไม้เป็นวัตรและใช้ผ้าบังสุกุลจีวร ๓ ผืน เป็นวัตรจนตลอดชีวิตของท่าน  มาระยะหลังท่านชราภาพ มีอายุมากแล้ว ท่านก็ยังออกบิณฑบาต โดยนั่งบนสามล้อมีลูกศิษย์เป็นผู้ถีบให้

หลวงพ่อทองท่านเป็นพระเถระที่มีเมตตาสูง และมีวิชาอาคมขลังรูปหนึ่งของจังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดใกล้เคียง ท่านเป็นพระกัมมัฏฐานสายของสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร (สุก ไก่เถื่อน) วัดราชสิทธาราม (วัดพลับ)  ตามตำนานของวัดราชสิทธาราม (วัดพลับ) ปรากฏว่า หลวงพ่อทองท่านได้ไปศึกษากัมมัฏฐานที่วัดพลับนี้ โดยใช้ชื่อว่าหลวงพ่อกบ แห่งวัดเขากบทวาศรี สมัยพระสังวรานุวงศ์ (ชุ่ม) พร้อมด้วยพระมหาเถระอีกหลายรูป อาทิ หลวงพ่อสด วัดปากน้ำภาษีเจริญ  หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก  หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค  หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี  หลวงปู่นาค วัดระฆัง  หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม เป็นต้น

หลวงพ่อทอง ท่านเป็นพระที่มีอาคมขลังรูปหนึ่ง ของจังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดใกล้เคียง ถึงแม้ว่าท่านมรณภาพ มานานแล้วก็ตาม แต่ชื่อเสียงเกียรติคุณของท่านหาได้หมดไปไม่ ยังอยู่ในความทรงจำของประชาชนตลอดเวลา



(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/69809101646145_2.JPG)

หลวงพ่อทอง ชอบการธุดงควัตรเป็นนิจศีล จนได้มาพบที่รกร้างอันเป็นปูชนียสถานเก่าแก่ อันกลายเป็นตำนานเล่าขานสืบกันมาถึงการเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกแห่งวัดวรนาถบรรพต หรือวัดเขากบ ดังนี้

…คราหนึ่ง มีพระธุดงค์รูปหนึ่งนามว่า ทอง ท่านเดินธุดงค์มาปักกลดอยู่ข้างหมู่บ้านเชิงเขาแห่งหนึ่งใน จ.นครสวรรค์ ทุกเช้าท่านจะเดินบิณฑบาตเพื่อโปรดสัตว์ จนวันหนึ่งไปพบเจดีย์ใหญ่เก่าแก่มาก จึงตรงไปที่บ้านเล็กๆ ที่อยู่ใกล้ๆ เพื่อสอบถาม ได้พบสองตายายจึงถามว่า “โยมชื่ออะไร ที่ดินแปลงนี้เป็นของใคร”

ตาตอบว่า “พระคุณเจ้า ตัวชื่อ ตากบ อยู่ด้วยกันกับยายเขียด ที่แห่งนี้เป็นของฉันเอง มีอยู่ร้อยไร่เศษ กว้างคลุมยอดเขานั่นเทียว ส่วนเจดีย์นั้นเป็นเจดีย์เก่าแก่ ชาวบ้านแถบนี้นับถือกันมาก หากหลวงพ่อจะใช้ที่ดินแห่งนี้เป็นที่พำนัก ฉันก็ยินดีถวายให้เป็นที่สร้างวัด เพราะฉันกับยายก็แก่มากแล้ว”

หลวงพ่อทองได้รับถวายที่ดินจากตากบและยายเขียด

ต่อมาชาวบ้านจึงได้ช่วยกันสร้างกุฏิเล็กๆ ก่อนสร้างอุโบสถและศาลาขึ้น เพื่อชาวบ้านได้ใช้ประกอบพิธีทางศาสนา ต่อมาเมื่อตากบและยายเขียดถึงแก่กรรม หลวงพ่อจึงกำหนดที่ดินทั้งหมดเป็นที่ดินของวัด และตั้งชื่อวัดนี้ว่า “วัดเขากบ” ตามชื่อเจ้าของที่ดิน

หลังจากการฌาปนกิจสองตายายแล้ว ท่านได้ให้ช่างปั้นรูปจำลองตากบและยายเขียดไว้ที่หน้าอุโบสถ เพื่อเป็นที่ระลึก ปรากฏอยู่กระทั่งทุกวันนี้

…เนื่องจากในสมัยนั้น เชิงเขากบเป็นป่าสักมากมาย หลวงพ่อจึงตั้งชื่อว่า เขากบทราวสีจอมคีรี ณ ป่าสัก ซึ่งต่อมา เจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพฯ ขณะนั้นเป็นเจ้าคณะมณฑล เห็นว่าวัดกบตั้งอยู่เชิงเขาจึงเปลี่ยนชื่อให้เป็นวัดวรนาถบรรพต แปลได้ว่า ภูเขาซึ่งเป็นที่พึ่งอันประเสริฐ



(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/33328282170825_5.JPG)
พระพุทธชัยมงคล (หลวงพ่อโต)  เป็นพระพุทธรูปปางประทานพร หน้าตักกว้าง ๖ วา
๑ ศอก ๙ นิ้ว สูง ๘ วา ๒ ศอก สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๒ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พญาบาลเมือง
และพญาราม กษัตริย์เชื้อพระวงศ์สุโขทัยสองพี่น้อง ผู้ได้สร้างวัดวรนาถบรรพต (วัดเขากบ)
แห่งนี้ขึ้นเมื่อ พ.ศ.๑๙๖๒
 


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/14668453526165_4.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/65900755880607_2.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/32867838276757_3.JPG)
พระอุโบสถ วัดวรนารถบรรพต อ.เมือง จ.นครสวรรค์

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/92200970401366_7.JPG)
ทิวทิศน์เมืองนครสวรรค์ จากจุดชมวิวยอดเขากบ

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/73007027929027_9.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/39676551851961_10.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/20944661895433_12.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/59966338343090_13.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/69040790738330_3.JPG)
ความสวยงามของมหาเจดีย์ ในยามค่ำคืนของวัดที่ตั้งอยู่บนยอดเขาอีกแห่งหนึ่งในตัวเมืองนครสวรรค์