[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 14 กันยายน 2561 15:26:53



หัวข้อ: สัมผัสทรัพย์ในดิน กลิ่นไอเกลือ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 14 กันยายน 2561 15:26:53
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/71002954079045_IMG_2659.JPG)
เกลือสินเธาว์ ที่อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน

สัมผัสทรัพย์ในดิน กลิ่นไอเกลือ
อำเภอบ่อเกลือ  จังหวัดน่าน

บ่อเกลือ” คือ อำเภอหนึ่งในจังหวัดน่าน อำเภอนี้มีชื่อด้วยมีแหล่งเกลือสินเธาว์ ที่มีเรื่องราวและสถานที่ให้เรียนรู้และสัมผัส จากตัวเมืองน่าน เรามุ่งหน้าสู่อำเภอบ่อเกลือ ในเส้นทางอันลาดชัน ลดเลี้ยวเคี้ยวคด  สองข้างทางเต็มไปด้วยป่าต้นน้ำที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ โดยมีจุดหมายปลายทางที่ “ภูฟ้า”  เพียงเพื่อจะชมแหล่งผลิตเกลือสินเธาว์  “เกลือภูเขา” ที่มีเพียงแห่งเดียวในโลก  

เกลือที่ได้จากที่นี่ถูกส่งไปเลี้ยงผู้คนถึงสุโขทัย ลาว แคว้นล้านนา ไปจนถึงเชียงตุง และในเขตสิบสองปันนาของจีนมาแต่โบราณ นับเวลาได้หลายร้อยปีแล้ว

ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑๐ เรื่อง “พงศาวดารเมืองน่าน” มีข้อความกล่าวถึงแหล่งผลิตเกลือที่เป็นเหตุให้พระเจ้าติโลกราชยกทัพมายึดเมืองน่าน เมื่อ พ.ศ.๑๙๙๓ โดยอ้างว่าต้องการเกลือจากบ่อมางไปเป็นส่วยค้าให้กับทางเมืองเชียงใหม่  เกลือจากบ่อมางดังกล่าวนี้ น่าจะหมายถึงบ่อเกลือที่บ้านบ่อหลวง ซึ่งติดกับน้ำมางแห่งนี้เอง

เดิมทีบ่อเกลือมีชื่อว่า “เมืองบ่อ” ซึ่งก็น่าจะหมายถึงบ่อน้ำเกลือสินเธาว์ รวมทั้งสิ้น ๙ บ่อ ได้แก่ บ่อหลวง ตั้งอยู่ที่บ้านบ่อหลวง  บ่อหยวก บ่อตอง ตั้งอยู่ที่บ้านหมู่หยวก บ่อเวร ตั้งอยู่ที่บ้านเวร  บ่อน่าน บ่อกึ๋น ตั้งอยู่ที่บริเวณหุบเขาต้นน้ำน่าน  บ่อน้ำแคะ ตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านน้ำแคะ  บ่อเกร็ด ตั้งอยู่ที่บ้านสว้า  และบ่อเข้า ตั้งอยู่ที่บ้านส้าน

มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาเกี่ยวกับการค้นพบดินแดนแห่งบ่อเกลือ สรุปความได้ว่า ในอดีตกาลก่อนที่ผู้คนจะอพยพมาตั้งรกรากทำมาหากินที่บริเวณบ่อเกลือ  บริเวณนี้เป็นป่ารกทึบมาก่อน  มีนายพรานคนหนึ่งออกมาล่าสัตว์ และสังเกตเห็นว่า สัตว์ป่ามักจะมาดื่มน้ำในพื้นที่แห่งนี้เสมอ เมื่อทดลองชิมดูจึงรู้ว่าน้ำมีรสเค็ม  ความได้ทราบไปถึงพระญาภูคาและเจ้าหลวงบ่อ ทั้ง ๒ พระองค์พากันมาดูเกลือนั้น และได้ขึ้นไปบนยอดดอยภูจัน ได้เกิดการแข่งขันพุ่งสะเน้า (หอก) เพื่อครอบครองบ่อน้ำเกลือ พระยาภูคาพุ่งหอกออกไปทางทิศตะวันตกของลำน้ำมาง ตรงที่ตั้งหอนกในปัจจุบัน  ในขณะที่เจ้าหลวงบ่อพุ่งหอกไปทางทิศตะวันออกของลำน้ำมาง ตรงที่ตั้งหอเจ้าพ่อบ่อหลวงในปัจจุบัน  ชาวบ้านที่ไปชมการพุ่งหอกในครั้งนั้น ได้นำเอาก้อนหินมาก่อเป็นที่สังเกตแล้วตั้งเป็นโรงหอทำพิธีระลึกตอบแทนบุญคุณเจ้าหลวงทั้งสองเป็นประจำทุกปีจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ชาวบ้านเชื่อกันว่าบ่อน้ำเกลือแต่ละบ่อนั้นมี “เจ้าซางคำ” คอยปกปักรักษาอยู่ ดังนั้นทุกวันแรม ๙ ค่ำ เดือน ๕  ชาวบ้านบ่อหลวงจะทำพิธีบวงสรวงเจ้าหลวงบ่อเรียกว่า “พิธีแก้ม” มีการเลี้ยงเจ้าหรือเลี้ยงผี เพื่อขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ได้ปกป้องคุ้มครองและให้เกลือแก่พวกเขาใช้ทำมาหากินมาตลอดระยะเวลา

การเดินทางไปสู่อำเภอบ่อเกลือ สามารถไปได้ ๒ ทาง คือ จากจังหวัดน่านผ่านอำเภอสันติสุขถึงอำเภอบ่อเกลือเป็นระยะทางประมาณ ๑๕๒ กิโลเมตร และอีกทางหนึ่งคือจากตัวจังหวัดน่านถึงอำเภอปัวแล้วตัดตรงข้ามเขาเข้าอำเภอบ่อเกลือ อีก ๔๘ กิโลเมตร เป็นระยะทางทั้งหมดประมาณ ๑๑๘ กิโลเมตร

ในอำเภอบ่อเกลือจะมีบ่อเกลืออยู่หลายแห่ง บ่อเกลือเหล่านี้ปัจจุบันไม่มีการต้มเพื่อขายอีกแล้ว นอกจากบ่อเกลือบางบ่อ เช่น บ่อหยวก ซึ่งในอดีตเคยมีการผลิตเป็นจำนวนมาก ก็เปลี่ยนมาเป็นต้มเพื่อใช้บริโภคกันในครัวเรือน  อนึ่ง บ่อเกลือบางบ่อถูกน้ำพัดดินมาถล่มกลบบ่อจนกู้คืนอีกไม่ได้

สำหรับบ่อเกลือที่ยังมีการผลิตเกลือจำหน่าย และถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของจังหวัดน่านก็คือ บ่อเกลือที่บ้านบ่อหลวง ซึ่งอยู่ในบริเวณตัวอำเภอ เป็นบ่อเกลือสาธารณะซึ่งมีอยู่ ๒ บ่อ (หมายถึงผู้ใดก็มีสิทธิ์ใช้น้ำเกลือได้) เรียกว่า บ่อ ๑ และ บ่อ ๒ หรือบ่อเหนือและบ่อใต้  บ่อเกลือทั้ง ๒ บ่อนี้ ได้กรุขอบบ่อด้วยดอกไม้เพื่อกันดินปากหลุมถล่ม และมีที่นั่งร้านสำหรับยืนตักน้ำเกลืออยู่ข้างๆ ด้วย กล่าวกันว่าบ่อเกลือทั้ง ๒ นี้ มีน้ำเกลือซึ่งมีความเข้มข้นสูงกว่าบ่อเกลือแห่งอื่นๆ ในเขตตำบลบ่อเกลือเหนือ ทั้งนี้สามารถวัดความเข้มข้นได้จากการใช้ปริมาณเชื้อฟืนและเวลาที่ใช้ในการต้มน้ำเกลือซึ่งพบว่าน้อยกว่าที่อื่น

วิธีทำเกลือสินเธาว์ที่อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน

บ่อเกลือที่นี่น่าจะทำลำรางสำหรับส่งน้ำเกลือจากบ่อไปยังโรงต้ม การตักน้ำเกลือจากบ่อซึ่งอยู่ลึกลงไปจะทำได้โดยใช้แร้ว (อ่าน “แฮ้ว”) คือโพงตักน้ำ เมื่อตักขึ้นมาแล้วจะเทใส่ลำราง น้ำเกลือจะไหลไปสู่บ่อพักในโรงต้มเกลือใกล้กับเตาต้ม จากนั้นจึงตักใส่กระทะต้มซึ่งมีขนาดใหญ่ ใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลง เคี่ยวจนข้น ใช้เวลาต้มประมาณ ๔ ชั่วโมง จะมีเกลือนอนก้นอยู่ ตักเกลือใส่ในตะกร้าเพื่อให้สะเด็ดน้ำ

บ่อเกลือเมืองน่านจะมีศาลเจ้าพ่อบ่อเกลือ ชาวบ้านในท้องที่จะมีพิธีกรรมการทรงเจ้า การเลี้ยงผี หรือเทวดาอารักษ์ที่รักษาบ่อเกลือ เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลทุกปี ซึ่งพิธีกรรมดังกล่าวได้รับการปฏิบัติสืบต่อกันมานานจนถึงปัจจุบัน




(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/33335419164763_IMG_2661.JPG)

เกลือสินเธาว์ เป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่ง ลักษณะเม็ดเล็กๆ สีขาว มีรสเค็ม  ได้จากหินเกลือ ดินโป่ง หรือดินเค็ม พบในดิน  มีมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
และภาคเหนือ เช่น ชัยภูมิ มหาสารคราม ยโสธร อุบลราชธานี อุดรธานี พิษณุโลก และ น่าน  เกลือสินเธาว์ มีความบริสุทธิ์ของโซเดียมคลอไรด์สูง แต่ไม่มี
ส่วนผสมของธาตุไอโอดีนเหมือนเกลือสมุทรหรือเกลือแกง ดังนั้น จึงไม่เหมาะสำหรับมาประกอบอาหารแต่เหมาะกับงานอุตสาหกรรมมากกว่า เนื่องจากถ้านำ
มาประกอบอาหารจะทำให้ร่างกายขาดสารไอโอดีน ซึ่งจะทำให้เกิดโรคคอพอกและร่างกายแคระแกรน สมองเจริญเติบโตไม่เต็มที่   ที่จังหวัดพิษณุโลก มีการ
ทำเกลือสินเธาว์โดยนำน้ำเกลือไปต้มในกระทะใบบัว ใส่เปลือกไม้สะแข่  ชาวบ้านเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าไม้มะเขี้ย เพื่อให้เกลือจับตัวเป็นก้อน  ใช้เวลาเคี่ยว
ให้เหือดแห้ง ๖-๗ ชั่วโมง แล้วใส่ไอโอดีนผสมลงไปก่อนนำไปบริโภค


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/83467270433902_IMG_2842.JPG)
ภาพวาดแสดงวัฒนธรรมการแต่งกายของหญิงเมืองน่าน : จิตรกรรมฝาผนัง ต.ป่าคา อ.ท่าวังผา จ.น่าน

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/92392919750677_IMG_2858.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/78331841280062_IMG_2875.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/53905795721544_IMG_2879.JPG)
ชาวอำเภอบ่อเกลือ  ส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าถิ่น (ขมุ) รองลงมาคือชาวเขาเผ่าม้ง ไทยวน ประกอบอาาชีพเกษตรกรรม และเลี้ยงสัตว์ พืชที่สำคัญได้แก่
ข้าวไร่ ข้าวโพด ข้าวบาเลย์   พื้นที่ของอำเภอตั้งอยู่ในร่องเขาสูงซึ่งเต็มไปด้วยป่าไม้ อากาศจึงหนาวเย็นตลอดปี โดยเฉพาะตอนกลางคืนในฤดูหนาว
อากาศจะหนาวจัด อุณหภูมิลดลงเหลือ ๐ องศาเซสเซียส  อำเภอบ่อเกลือจึงมีเพียง ๒ ฤดู คือ ฤดูฝน และฤดูหนาว


อ้างอิง : - สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์
          - ข้อมูลจาก สำนักบริหารการปกครองท้องที่ กรมการปกครอง
          - เกร็ดความรู้ดอทเน็ต
          - www.thairath.co.th