[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 05 ตุลาคม 2561 13:06:25



หัวข้อ: สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ทิม อุฑาฒิโม) วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 05 ตุลาคม 2561 13:06:25
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/80216584271854_view_resizing_images_2_.jpg)

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ทิม อุฑาฒิโม)
 วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ทิม อุฑาฒิโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ และอดีตกรรมการมหาเถรสมาคม ปูชนียาจารย์สำคัญ ผู้มีบทบาทและคุณูปการมากมายแก่วงการสงฆ์อีกรูปหนึ่ง

เกิดในสมัยรัชกาลที่ 5 ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 16 ต.ค.2447 ณ บ้านดอนสะแก ต.โคกโคเฒ่า อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี

มีนามเดิมว่า ทิม พันธุเลปนะ หรือชื่อสกุลเดิมว่า "พันทา" บิดาชื่อ อ่อน มารดาชื่อ เทศ เป็นบุตรคนที่ 7 ในจำนวนพี่น้อง 9 คน

อายุ 9 ขวบ ไปอยู่ที่วัดชายทุ่ง ต.โคกหม้อ ร่ำเรียนอักษรสมัยอยู่ในสำนักพระอาจารย์แสงมีความรู้ขั้นต้น

จึงถูกนำตัวมาฝากเป็นศิษย์ของพระพรหมมุนี (แย้ม อุปวิกาโส) วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม แต่ครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระเทพกวี ในปี พ.ศ.2458

คุณแม่ทองดี ข้าหลวงในพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสมรรัตน์ศิริเชษฐ์ (พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดี พระราชธิดาในรัชกาลที่ 4) เป็นผู้อุปการะสั่งสอน

พ.ศ.2463 บรรพชา เล่าเรียนพระปริยัติธรรมและความรู้วิทยาการสมัยใหม่เพิ่มเติม จนอายุครบ 20 ปีจึงอุปสมบท โดยมีพระพรหมมุนีเป็นพระอุปัชฌาย์ พระอมรโมลี (อาบ อุปคุตฺโต) วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นพระกรรมวาจาจารย์

เข้าสอบจบเปรียญ 5 ประโยคและนักธรรมโท แล้วปฏิบัติหน้าที่เป็นอาจารย์สอนธรรมและบาลีของสำนักเรียนวัดราชประดิษฐ์ ควบคู่ไปกับการปฏิบัติศาสนกิจอื่นๆ

ถึงปี พ.ศ.2488 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐ์ ต่อมาปี พ.ศ.2489 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระเมธีธรรมรส

พ.ศ.2490 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ และเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระเทพเมธากร

พ.ศ.2509 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมปาโมกข์

จนถึงปี พ.ศ.2520 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นรองสมเด็จพระราชาคณะที่ พระธรรมปัญญาจารย์

ก่อนที่จะโปรดเกล้าสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะในราชทินนาม "สมเด็จพระมหาวีรวงศ์" เมื่อปี พ.ศ.2536

เป็นสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ องค์ที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

มีชื่อเสียงว่ามีความรู้แตกฉานทางพยากรณ์ศาสตร์เป็นพิเศษ เจริญรอยตามพระอุปัชฌาย์ คือ พระพรหมมุนี ที่เป็นปรมาจารย์แห่งโหราศาสตร์

ในหมู่นักโหราศาสตร์ และในวงการของผู้สนใจศึกษาในศาสตร์นี้ทราบกันเป็นอย่างดี จึงมักได้เป็นประธานสงฆ์ใน การเจริญพระนววัคคหายุสมธรรมตามวิธีโหราศาสตร์ ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาเป็นประจำ

รวมทั้งได้รับมอบหมายจากทางราชการ ให้เป็นผู้จับสายสิญจน์สำหรับใช้ในพระราชพิธีสำคัญๆ

เคยเป็นเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐ์ เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม คณะธรรมยุต กรรมการมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ฝ่ายบรรพชิต กรรมการหาทุนในโครงการพัฒนาลุมพินีขององค์การสหประชาชาติ ฯลฯ

สนับสนุนงานด้านเผยแผ่แก่คนทุกชั้น ทุกเพศวัยให้เกิดศรัทธาปสาทะและมีสัมมาทิฏฐิในพระพุทธศาสนา

เน้นการศึกษาและจัดส่งพระเปรียญ พระนักธรรมผู้ทรงความรู้ไปเป็นครูอาจารย์สอนธรรม สอนบาลี ปฏิบัติกิจคณะสงฆ์ในสำนักต่างๆ และในต่างจังหวัด

เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นพระเถระที่ใฝ่การศึกษาหาความรู้อย่างมากและตลอดเวลา ไม่ว่าวิชาการสมัยใหม่อื่นใด ไม่ขัดกับพระธรรมวินัย ไม่ผิดกฎกติกาของวัด อันจะส่งตนให้เจริญก้าวหน้าและเป็นประโยชน์แก่ชาติและส่วนรวม ท่านสนใจใฝ่รู้อยู่เสมอ

งานนวกรรมก่อสร้างและปฏิสังขรณ์ ไม่ว่าจะส่วนกลางหรือในชนบทแดนกันดาร ท่านจะนำพุทธบริษัท ทายกทายิกาผู้ใจบุญไปร่วมบำเพ็ญสาธารณูปการแก่วัดวาอารามต่างๆ ไว้มากมาย ที่ปรากฏเป็นรูปธรรมมี อาทิ วัดเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์, วัดพรหมรังษี อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี, วัดวชิราลงกรณ์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา, วัดทรงธรรม อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี, วัดชายทุ่ง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี, วัดบางกุ้ง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ฯลฯ

รวมทั้งวัดโคกโคเฒ่า อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี อันเป็นวัดบ้านเกิด ซึ่งท่านช่วยอุปการะสม่ำเสมอ ด้วยความกตัญญูรู้คุณถิ่นกำเนิดอย่างยิ่ง

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ถึงแก่มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันอังคารที่ 10 ต.ค.2543 เวลา 14.30 น. ที่โรงพยาบาลศิริราช ศพตั้งบำเพ็ญกุศลที่ศาลาอเนกประสงค์ 90 ปี

ได้รับพระราชทานโกศไม้สิบสองประกอบศพ มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมมีกำหนด 7 คืน


อริยะโลกที่ 6