[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สยาม ในอดีต => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 27 ตุลาคม 2561 15:17:23



หัวข้อ: หม่อมศรีพรหมา ปฏิเสธเป็นเจ้าจอมในร.5 กับชีวิตหลังวลี “มิได้รักทางชู้สาว”
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 27 ตุลาคม 2561 15:17:23
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/98692491567797__3627_3617_3656_3629_3617_3624.jpg)
               หม่อมศรีพรหมา กฤดากร (จากหนังสือศิลปวัฒนธรรม)

หม่อมศรีพรหมา ปฏิเสธเป็นเจ้าจอมในร.5
กับชีวิตหลังวลี “มิได้รักทางชู้สาว”

ที่มา - เว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม
เผยแพร่ - วันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2561
อ้างอิง - ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. กรุงเทพฯ : มติชน, 2550


สำหรับสตรีทั่วไปแล้วการได้เข้าวังและได้รับโปรดเกล้าฯเข้ารับราชการในราชสำนักฝ่ายในถือเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและวงตระกูล แต่ในประวัติศาสตร์ไทยบันทึกเรื่องราวของหม่อมศรีพรหมา กฤดากร สตรีที่ปฏิเสธตำแหน่งเจ้าจอมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ออกพระโอษฐ์ขอให้เจ้าศรีพรหมา เข้ารับราชการตำแหน่งเจ้าจอม แต่ท่านกราบบังคมทูลปฏิเสธเป็นภาษาอังกฤษสื่อสารเนื้อหาใจความว่า “เคารพพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์ แต่มิได้รักใคร่พระองค์ในทางชู้สาว” (ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย,2550)

วลีดังกล่าวนอกจากจะทำให้นึกถึงเรื่องราวความนักในวรรณกรรมอมตะที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับความรักท่ามกลางความแตกต่างทางชนชั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังเป็นที่โจษจันและถูกเล่าขานต่อกันมาในฐานะพฤติกรรมที่แหวกมาตรฐานเดิมที่เคยมีมา การได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับราชการในตำแหน่งต่างๆ ถือเป็นเกียรติยศ และมีโอกาสยกฐานะวงศ์ตระกูลหากภายภาคหน้าได้เป็น “เจ้าจอมมารดา” ย่อมถือว่ามีส่วนเกี่ยวข้องเป็นพระญาติกับพระเจ้าแผ่นดิน แต่สำหรับหม่อมศรีพรหมาแล้ว ท่านไม่เลือกเส้นทางนี้

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ผู้เขียนหนังสือ “ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก” อธิบายชาติกำเนิดของหม่อมศรีพรหมาว่า เป็นธิดาพระเจ้าสุริยวงศ์ผริตเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน กับแม่เจ้าศรีคำ ในดินแดนภาคเหนือ วิถีชีวิตอยู่ท่ามกลางธรรมชาติในอาณาจักรล้านนา เมื่ออายุได้ 3-4 ขวบ บิดาของท่านมีพระประสงค์ให้ธิดาเจริญรุ่งเรืองในอนาคต ทรงตัดพระทัยยกให้เป็นธิดาบุญธรรมของ พระยามหิบาลบริรักษ์ และคุณหญิงอุ๊น ขณะดำรงตำแหน่งเป็น พระพรหมสุรินทร์ ข้าหลวงกำกับราชการในฝ่ายเหนือ

ด้วยเหตุนี้ท่านต้องจากบ้านเกิดมาใช้ชีวิตในเมืองหลวง เข้าศึกษาในโรงเรียนสุนันทาลัย และสตรีวังหลัง ซึ่งถือเป็นโรงเรียนสตรีชั้นนำมีชื่อเสียงแถวหน้าในสมัยนั้น

เจ้าศรีพรหมาถูกถวายตัวไว้ในพระอุปการะของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ หลังพระยามหิบาลบริรักษ์ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นอัครราชทูตประจำกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย เจ้าศรีพรหมาจึงได้รับประสบการณ์จากการเลี้ยงดูร่วมกับพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าหลายพระองค์ ได้ศึกษาวิชาความรู้สมัยใหม่ ซึมซับธรรมเนียมประเพณีร่วมกับเจ้านายรุ่นเดียวกัน

เมื่ออายุได้ 12 ขวบ ท่านมีโอกาสเดินทางติดตามบิดามารดาบุญธรรมไปประเทศรัสเซีย บันทึกบางตอนจากการเดินทางของท่านเล่าถึงสภาพรัสเซียหลังจากเปลี่ยนรถจากเยอรมันมาเป็นรัสเซีย เมื่อถึงสถานีชายแดนก็พบเห็นสภาพบ้านเมืองเปลี่ยนไป สถานีเก่า ไม่มีตึก กลายเป็นกระท่อมมุงคามุงหญ้า ผู้คนแต่งตัวไม่เรียบร้อย เครื่องนุ่งห่มสภาพเก่า บ่งบอกถึงสถานะการเงินของผู้คนในพื้นที่ ซึ่งท่านแสดงความคิดเห็นว่า ความแตกต่างระหว่างฐานะในรัสเซียเป็นอีกหนึ่งเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการปฏิวัติในรัสเซีย  “พวกผู้ดีนะๆ น่ะ เวลางานหลวงเขาว่าแต่งตัวกันเครื่องเพชร เครื่องพลอย เพรียบพรึ่บเชียว แสดงว่ามั่งมีแต่ว่าไอ้คนจนกลางถนนนี้มันไม่มีจะกิน เพราะงั้นมันถึงปฏิวัติ

เจ้าศรีพรหมาเข้ารับราชการในพระราชสำนักในหน้าที่นางพระกำนัลหลังจากกลับจากรัสเซีย ท่านรับใช้สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถอย่างใกล้ชิด ผู้เขียนหนังสืออธิบายว่า ช่วงเวลานี้ท่านอยู่ในวัยสาวเปล่งปลั่ง งามตามธรรมชาติ มีวิชาความรู้ เฉลียวฉลาด มั่นใจในตัวเองแบบที่สาวชาววังไม่เป็น

ลักษณะเหล่านี้น่าจะทำให้ท่านเป็นที่พอพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงให้รับราชการตำแหน่งเจ้าจอม แต่ท่านกราบบังคมทูลปฏิเสธด้วยประโยคข้างต้นที่กลายเป็นเรื่องเล่าลือต่อกันมา ไม่เพียงจะเป็นเรื่องที่หาญกล้าแหวกค่านิยมสมัยนั้นแล้ว เรื่องเล่าขานกันต่อมาคือน้ำพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์มิได้ทรงถือโกรธ ยังคงพระราชทานพระเมตตาอย่างสม่ำเสมอ

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย เล่าถึงคำเล่าลือเรื่องพระองค์ทรงฉายพระรูปเจ้าศรีพรหมาด้วยฝีพระหัตถ์ ทรงตั้งรูปนั้นไว้ในห้องพระบรรทมบนพระที่นั่งอัมพรสถานจวบจนสวรรคต

ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เจ้าศรีพรหมาครองตนเป็นโสด กระทั่งในวัย 27 ปี ท่านพบรักกับหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร โอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์

เรียกได้ว่าความคิดของท่านทั้งสองเห็นพ้องตรงกันเรื่องความแตกต่างระหว่างคนจนกับคนรวย หลังการสมรสทั้งสองละทิ้งสังคมเหมืองหลวงไปประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่ฟาร์มบางเบิด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ที่ในสมัยนั้นสภาพทุรกันดาร เดินทางยากลำบาก

ท่านทั้งสองถือว่าสถานที่ฟาร์มบางเบิดเป็นสถานีทดลองการเกษตรสมัยใหม่เพื่อนำวิทยาการด้านเกษตรมาเผยแพร่สู่เกษตรกร โดยไม่ได้คิดว่าจะทำกำไร

อีกหนึ่งเรื่องยากลำบากในชีวิตของหม่อมเจ้าศรีพรหมาคือช่วงที่หม่อมเจ้าสิทธิพร ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏร่วมกับพระองค์เจ้าบวรเดช พระเชษฐา ต้องจำคุกที่บางขวาง และถูกส่งไปกักขังที่เกาะตะรุเตาและเกาะเต่าถึง 11 ปี

ระหว่างนั้นหม่อมศรีพรหมาต่อสู้ชีวิตพร้อมกับโอรสธิดาคือ ม.ร.ว. อนุพร และม.ร.ว.เพ็ญศรี จนกระทั่งหม่อมเจ้าสิทธิพรได้รับพระราชทานอภัยโทษนิรโทษกรรมกลับมาที่ฟาร์มอีกครั้ง

ด้วยความมุ่งมั่นพัฒนาการเกษตร หม่อมเจ้าสิทธิพรทรงรับเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเกษตรฯ เป็นเวลา 7 เดือน การต่อสู้เพื่อพัฒนาการเกษตรของทั้งสองท่านก็ใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัว ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย อธิบายว่า หม่อมศรีพรหมาขายที่ทางไร่นา เครื่องประดับบ้านและร่างกายบางชิ้นเพื่อพัฒนาการเกษตร

ฟาร์มบางเบิดเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องขายออกไป ทั้งสองท่านย้ายมาทำฟาร์มขนาดย่อมในช่วงบั้นปลายชีวิต โดยที่หม่อมเจ้าสิทธิพรเขียนบทความด้านการเกษตรและแสดงความคิดเห็นทั้งสนับสนุนและคัดค้านนโยบายด้านการเกษตรของแต่ละรัฐบาล จนกระทั่งวาระสุดท้ายของหม่อมเจ้าสิทธิพร ในช่วง พ.ศ.2514

หม่อมศรีพรหมา ยังปฏิบัติกิจสืบทอดเจตนารมย์ของคู่ชีวิตมาตลอดตราบจนถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ.2521