[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 21 พฤศจิกายน 2561 15:11:36



หัวข้อ: หลวงพ่อเม้า อิสสโร วัดป่าเลไลย์ (บ้านใหม่) ต.สามแวง อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 21 พฤศจิกายน 2561 15:11:36
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/80304990460475_1_1024x768_.jpg)

พระครูวิมลอิสรธรรม (หลวงพ่อเม้า อิสสโร)
 วัดป่าเลไลย์ (บ้านใหม่) ต.สามแวง อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ 

พระครูวิมลอิสรธรรม หรือที่ชาวบ้านเรียกขานด้วยความเคารพว่า หลวงพ่อเม้า อิสสโร เจ้าอาวาสวัดป่าเลไลย์ (บ้านใหม่) ต.สามแวง อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ เป็นพระนักพัฒนา พื้นเพเป็นชาวอีสานโดยแท้ นิสัยส่วนตัวสมถะ เรียบง่าย รักสันโดษ ติดดิน รักต้นไม้ ชอบอยู่ตามป่าเขา มีอารมณ์สุนทรีย์ ชอบพูดจาตลกปนสารธรรมให้ขบคิด

ท่านเป็นพระสังฆาธิการรุ่นบุกเบิก การศึกษา จบป.4 แต่มีความสามารถด้านการก่อสร้างและพัฒนาคน สามารถพัฒนาท้องถิ่น โดยเฉพาะตำบลห้วยราชและสามแวงให้เจริญก้าวหน้า

เกิดในสกุล "จะรับรัมย์" เมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 พ.ค.2479 ที่บ้านเลขที่ 91 ต.สามแวง อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์

เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ เมื่อวันจันทร์ที่ 15 เม.ย.2499 ที่วัดป่าเลไลย์ (บ้านใหม่) ต.สามแวง อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ มีพระราชธรรมโกศล วัดอิสาณ จ.บุรีรัมย์ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูโพธิคณาจารย์ วัดบ้านเมืองโพธิ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูปราโมทย์ธรรมากร วัดบ้านโคกเหล็ก เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้รับฉายาว่า อิสสโร มีความหมายว่า "ผู้ยิ่งใหญ่"

ภายหลังอุปสมบท พำนักอยู่ที่วัดป่าเลไลย์ คอยปรนนิบัติรับใช้หลวงปู่ต๊ะ ผู้เป็นอาจารย์ และศึกษาพระธรรมวินัยควบคู่ไป พ.ศ.2502 สอบได้นักธรรมชั้นตรี ปีถัดมาสอบได้นักธรรมชั้นโท พ.ศ.2504 สอบได้นักธรรมชั้นเอก พ.ศ.2509 ได้รับแต่งตั้งเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม ประจำสำนัก คอยอบรมสั่งสอนศิษย์ จนสำนักเรียนมีชื่อเสียงระดับจังหวัด

พ.ศ.2512 เป็นเจ้าคณะตำบลห้วยราช พ.ศ.2518 เมื่อตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าเลไลย์ว่างลง

พ.ศ.2526 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าเลไลย์

พ.ศ.2559 เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะตำบลห้วยราช

พัฒนาวัดให้เป็นศูนย์รวมของชาวบ้าน เพราะอำเภอห้วยราช เป็นถิ่นทุรกันดาร เมื่อถึงฤดูแล้งดินแยกแตกระแหง วัวควายไม่มีน้ำกินดื่มใช้ หนำซ้ำยังขาดแคลนอาหาร จึงคิดช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนให้กินดีอยู่ดี เพื่อจะอบรมจิตใจได้ง่ายขึ้น

เมื่อย้อนนึกถึงหลวงปู่ต๊ะ ผู้เป็นอาจารย์ สมัยที่มีชีวิตอยู่มักพาท่านไปขุดดินให้เป็นแอ่งน้ำ เมื่อเข้าสู่ฤดูแล้ง หนองน้ำที่ขุดไว้มีน้ำ ชาวบ้านวัวควายได้อาศัยน้ำวัดกินดื่ม ศรัทธาชาวบ้านหลั่งไหลมาไม่ขาดสาย

แม้ชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับตัวท่านก็เริ่มหันมาเข้าวัดกันมากขึ้น

เมื่อศรัทธาก่อเกิด ชาวบ้านปฏิบัติตามโดยง่าย ท่านจึงเริ่มพัฒนาชุมชนทันที พ.ศ.2520 กั้นทำนบสร้างอ่างเก็บน้ำที่บ้านโคกเหล็ก พ.ศ.2521 ซื้อที่ดินขยายหนองน้ำกั้นทำนบเป็นชลประทานให้บ้านใหม่เนื้อที่ 20 ไร่ และปีต่อมา ขุดสระน้ำขนาดกว้าง 40 เมตร ยาว 40 เมตร ลึก 3 เมตร และซื้อที่ดินเพิ่มขยายชลประทาน

จนกระทั่งมีทำนบขนาดใหญ่เนื้อที่กว่า 300 ไร่ ชาวอำเภอห้วยราชได้ใช้สอยกินดื่ม

ระหว่างปี พ.ศ.2521-2530 ขยายชลประทานไปยังหมู่บ้านที่อาศัยพึ่งใบบุญวัด ทั้งในตำบล สามแวง ตำบลห้วยราช และตำบลโคกเหล็กนับไม่ถ้วน ปัจจุบันมีการจัดระบบเปิด-ปิดเขื่อนกั้นน้ำอย่างเป็นระบบ ทำให้น้ำกระจายไปทั่วทุกหมู่บ้าน ครอบคลุมพื้นที่อำเภอห้วยราช ทำให้ชาวบ้านมีน้ำดื่ม- น้ำใช้ มีประปาหมู่บ้าน

หลวงพ่อเม้าไม่หยุดยั้งความตั้งใจในการพัฒนาชุมชน ปี พ.ศ.2530 สร้างหอกระจายข่าว 5 หมู่บ้าน สร้างสะพานข้ามห้วย ปลูกต้นไม้สักทองและไม้ประดู่บริเวณชลประทานกว่า 1,000 ต้น

พ.ศ.2531 มอบทุนอาหารกลางวันให้เด็กนักเรียนวัดบ้านใหม่ บ้านเพชรประชาสามัคคี บ้านกระสังสามัคคี และบ้านโคกขมิ้นพัฒนา โรงเรียนละ 15,000 บาท เป็นประจำทุกปี

พ.ศ.2532 ขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลให้แก่หมู่บ้านเพชร บ้านบุตาแพง และบ้านห้วยราช จำนวน 19 บ่อ

ครั้นถึงปี พ.ศ.2533 ได้จัดตั้งธนาคารข้าวเปลือกให้แก่หมู่บ้านต่างๆ ในตำบลห้วยราชและตำบลสามแวง รวม 7 หมู่บ้าน

ส่งผลให้ชาวอำเภอห้วยราชไม่ต้องกู้หนี้ยืมสิน หรือไปขายแรงงานในต่างแดน

ขณะทำงานร่วมกับชาวบ้าน จะอาศัยเวลานั้นอบรมสั่งสอน ให้เข้าใจหลักคำสอนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

นอกจากนี้ ยังสอนให้รู้กฎหมายบ้านเมืองที่จำเป็น ให้รู้จักรักษาและหวงแหนศิลปวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามพื้นถิ่นชาวอีสาน สอนให้รู้จักเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ให้รักใคร่สามัคคีปรองดองกัน บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ และช่วยกันรักษาสาธารณสมบัติของส่วนรวม เพื่ออนุชนรุ่นหลัง 


อริยะโลกที่ 6