[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 23 พฤศจิกายน 2561 10:39:54



หัวข้อ: เกาะลิบง แหล่งท่องเที่ยวเมืองตรัง
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 23 พฤศจิกายน 2561 10:39:54

(https://trang.mots.go.th/images/article/news436/n20180124163826_6247.jpg)
เกาะลิบง ภาพจากเว็บไซต์ trang.mots.go.th

(https://trang.mots.go.th/images/article/news436/n20180124163820_6254.jpg)
ภาพจากเว็บไซต์ trang.mots.go.th

เกาะลิบง แหล่งท่องเที่ยวเมืองตรัง

เกาะลิบงตั้งอยู่ในน่านน้ำทะเลตรัง บริเวณปากแม่น้ำตรังและแม่น้ำปะเหลียน เป็นเกาะใหญ่ที่สุดในอำเภอกันตัง มีพื้นที่ประมาณ ๒๕,๐๐๐ ไร่ และได้ถูกจัดให้เป็นเขตหวงห้ามล่าสัตว์ป่าเพราะเป็นแหล่งรวมของนกหลากชนิด รวมทั้งเป็นที่อยู่อาศัยของปลาพะยูน ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่งที่กำลังจะสูญพันธุ์ และเป็นสัตว์สงวนอยู่ในขณะนี้

เกาะลิบงมีฐานะเป็นตำบลอยู่ในเขตปกครองของอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง มีชาวบ้านอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากแบ่งเป็นหลายหมู่บ้าน ประกอบด้วยชุมชนจำนวน ๘ หมู่บ้าน อยู่บนแผ่นดินใหญ่จำนวน ๓ หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านเจ้าไหม บ้านสุไหงบาตู และบ้านมดตะนอย มีบ้านเกาะมุกด์เป็นหมู่บ้านที่แยกอิสระอยู่บนเกาะมุกด์ ส่วนที่เหลือจำนวน ๔ หมู่บ้าน ตั้งอยู่บนเกาะลิบง ได้แก่ บ้านโคกสะท้อน บ้านหลังเขา บ้านบาตูปูเต๊ะ และบ้านทรายแก้ว ชาวบ้านยังดำเนินวิถีชีวิตแบบเรียบง่ายทำอาชีพประมง สวนยางพารา ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม นอกจากนั้นบนเกาะยังมีเขามุกดา อยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะลิบง เป็นภูเขาหินปูนความสูงประมาณ ๒๐๐ เมตร บนเขาจะมีจุดชมวิว สามารถชมทุ่งหญ้าทะเล ซึ่งเป็นอาหารของปลาพะยูน และอาจจะได้เห็นปลาพะยูนมากินหญ้าทะเลได้ และจากเกาะลิบงสามารถมองเห็นทิวทัศน์ที่สวยงามของเกาะเจ้าไหม และแหลมเจ้าไหม

วิกิพีเดียระบุข้อมูลไว้ว่า ชื่อของเกาะลิบงปรากฏอยู่ในเอกสารหลายแห่ง ซึ่งแต่ละแห่งเรียกผิดเพี้ยนแตกต่างกันไป คือ ปูเลา ลิบง ตะลิงโบง ปลิบง ตาลิบง ลิบอง ปูลูติลิบอง และตะลิบง

ทั้งนี้ หนังสืออักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายความหมายของเกาะลิบง ว่า "เกาะลิบงได้ชื่อมาจากต้นเหลาชะโอน ซึ่งเป็นภาษามลายูเรียกว่า ลิบง เพราะแต่เดิมเกาะนี้มีต้นเหลาชะโอนมาก, เกาะตะลิบง ก็เรียก"

ส่วนคำว่า ปูเลา หรือ ปูลู เป็นภาษามลายู แปลว่า เกาะ เมื่อนำเอาคำว่าปูลูมารวมเข้ากับคำว่าลิบง ก็มีความหมายว่า เกาะที่มีต้นเหลาชะโอน ขณะที่คำว่า "ตะ" มีผู้กล่าวว่าเป็นคำในภาษามลายูเช่นกัน แปลว่า ไม่มี ดังนั้นคำว่า เกาะตะลิบง จึงมีความหมายตรงกันข้ามกับคำว่า ปูลูลิบง อย่างสิ้นเชิง คือแปลความว่าเป็นเกาะที่ไม่มีต้นเหลาชะโอน

ชุมชนบนเกาะลิบงเริ่มมาตั้งแต่สมัยใดยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่จากหลักฐานหลายประการที่ยังเหลืออยู่ ทั้งที่เป็นเอกสาร โบราณสถาน รวมทั้งชื่อบ้านนามเมือง นิทานพื้นบ้าน สันนิษฐานได้ในระดับหนึ่งว่า ชุมชนแห่งนี้เคยมีฐานะเป็นเมืองมาแล้ว โดยครั้งแรกอยู่ภายใต้การปกครองของไทรบุรี ต่อมาถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเมืองตรัง และยังปรากฏหลักฐานว่าในช่วงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นเมืองตรังเคยตั้งอยู่บนเกาะแห่งนี้ด้วย ผลประโยชน์ที่ผู้ปกครองเกาะลิบงได้รับโดยตลอดนับแต่อดีตถึงปัจจุบันคือการเก็บรังนกนางแอ่น และปลิงทะเล

มีหลักฐานว่าประวัติศาสตร์ของเกาะลิบงย้อนไปได้ถึงช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ประมาณพุทธศักราช ๒๒๐๔ ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ครองกรุงศรีอยุธยาอยู่นั้น ที่เมืองเคดาห์ (ไทรบุรี) เป็นรัชสมัยของตนกูลิ ทรงให้พระราชโอรส ตนกูอะตาอุลลาห์ มะหะหมัด ชาห์ (Tunku Attaullah Mohamad Shah) ไปปกครองเมืองเกาะในทะเล คือ ปูเลาปินัง (เกาะลิบง) กระทั่งถึงยุค ตนกูอะหมัด ตายุดดิน ฮาลิม ชาห์ (Tunku Ahmad Tajudin Halim Shah) ที่ครองเมืองนี้อยู่จนถึงพุทธศักราช ๒๒๔๙ ได้เสด็จกลับไปครองราชย์เป็นสุลต่านปกครองเมืองเคดาห์เป็นเวลาประมาณ ๒ ปี แล้วเสด็จสวรรคต

แต่ความเป็นไปของเกาะลิบงว่าดำรงอยู่มาได้ยาวนานอย่างไรไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน แต่จากหลักฐานหลายประการที่ยังเหลืออยู่ทั้งที่เป็นเอกสาร โบราณสถานรวมทั้งชื่อบ้านนามเมือง นิทานพื้นบ้าน และชุมชนเกาะลิบงได้ในระดับหนึ่งว่า ครั้งหนึ่งชุมชนแห่งนี้เคยมีฐานะเป็นเมืองมาแล้ว โดยครั้งแรกอยู่ภายใต้การปกครอง

เกาะลิบงมีสภาพพื้นที่ประกอบไปด้วยภูเขา ที่ราบ และฝั่งทะเล ทรัพยากรธรรมชาติของเกาะจึงมีความหลากหลาย มีป่าบกบนภูเขา ป่าชายเลนตามชายฝั่งคลองที่น้ำทะเลท่วมถึง มีหญ้าทะเลอุดมสมบูรณ์ใกล้กับปากแม่น้ำตรังและแม่น้ำปะเหลียน และมีสัตว์ป่าหลายชนิดอาศัยอยู่ เช่น กวาง ชะมด พญากระรอก ลิง ค่าง นกทั้งที่เป็นนกประจำถิ่นและนกอพยพมาจากต่างแดน และในทะเลมีสัตว์น้ำที่สำคัญ คือ พะยูน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ใกล้สูญพันธุ์ อาศัยอยู่บริเวณรอบๆ เกาะลิบงด้วย



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/82041389081213_1.JPG)
เมืองตรัง

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/32430592800180_c.JPG)
ติ่มซำ อาหารเช้าชาวเมืองตรัง

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/60266196644968_b.JPG)
หมูย่างเมืองตรัง อาหารขึ้นชื่อของจังหวัดตรัง

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/20065765289796_2.JPG)
สามล้อเครื่องรับจ้าง (รถตุ๊กตุ๊กหัวกบ) ในเมืองตรัง


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/18746461926234_5.JPG)
สถานีรถไฟกันตัง สถานีรถไฟสุดทางของสายใต้ (ฝั่งทะเลอันดามัน) อยู่ที่ถนนหน้าค่าย ตำบลกันตัง
อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง สถานีรถไฟสุดทางของทางรถไฟสายใต้ ฝั่งทะเลอันดามัน ปัจจุบันยังคง
ใช้งานอยู่ โดยมีรถไฟสายกรุงเทพฯ - กันตัง เดินรถให้บริการทุกวันแม้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะ
ไม่ได้เดินทางโดยรถไฟก็ตาม แต่สถานีรถไฟแห่งนี้ยังเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวมาถ่ายรูปไว้
เป็นที่ระลึกแห่งการมาเยือน

(https://trang.mots.go.th/images/article/news436/n20180124163823_6250.jpg)
ภาพจากเว็บไซต์ trang.mots.go.th
ปลาพะยูน เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอาศัยอยู่ในน้ำทะเล ตระกูลร่วมกับช้าง มีชื่อว่า หมูน้ำ
ปลาหมู เงือก ทางใต้เรียกด้วยภาษามาลายูว่า "ดูหยง" ซึ่งแปลว่าเงือก พะยูนจะอาศัยอยู่ในน้ำทะเล
น้ำตื้นเขตร้อน ที่ลึกประมาณ ๑-๘ เมตร ในบริเวณที่มีแนวหญ้าทะเล ตัวโตเต็มที่ยาวประมาณ
๓ เมตร หนักประมาณ ๓๐๐ กิโลกรัม สืบพันธุ์ได้อายุไม่เกิน ๙ ปี ออกลูกได้ครั้งละ ๑ ตัว ตั้งท้อง
นานประมาณ ๑๓ เดือน โดยที่แม่ปลาจะเลี้ยงดูลูกนาน ๑ ปี ถึง ๑ ปีครึ่ง เนื่องจากพะยูนกินหญ้าทะเล
๔-๕ ชนิด เป็นอาหาร ได้แก่ หญ้าชะเงาใบสั้นสีน้ำตาล หญ้าใบมะกรูด หญ้าชะเงาใบยาว ซึ่งมีมาก
บริเวณริมเกาะลิบง และลึกพอเหมาะกับที่พะยูนใช้อยู่อาศัย