[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 20 ธันวาคม 2561 11:54:42



หัวข้อ: หลวงพ่อคง ธัมมโชโต วัดบางกะพ้อม อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 20 ธันวาคม 2561 11:54:42
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/35987886786460_view_resizing_images_3_1024x76.jpg)

หลวงพ่อคง ธัมมโชโต
วัดบางกะพ้อม อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

พระอุปัชฌาย์คง หรือ หลวงพ่อคง ธัมมโชโต อดีตเจ้าอาวาสวัดบางกะพ้อม อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เป็นพระเกจิคณาจารย์แห่งลุ่มแม่น้ำแม่กลองอีกรูปหนึ่งที่มีวัตรปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาจากสาธุชนและคณะศิษยานุศิษย์อย่างยิ่ง

ได้รับความเลื่อมใสศรัทธาไม่แพ้ หลวงพ่อแก้ว พรหมสโร วัดพวงมาลัย

เกิดในสกุล จันทร์ประเสิรฐ เมื่อวันที่ 3 เม.ย.2407 ณ ต.บางสำโรง อ.บางคนที จ.สุมทรสงคราม บิดา-มารดา ชื่อ นายเกตุ และนางทองอยู่ จันทร์ประเสริฐ

เล่ากันว่าท่านเกิดในเรือนแพ ซึ่งมีความเชื่อกันว่า ถ้าใครถือกำเนิดในห้องเล็กที่ใต้เรือนแพ จะต้องเป็นผู้ชายและครองสมณเพศเป็นพระภิกษุตลอดชีวิต โดยบิดา-มารดาของหลวงพ่อคง ได้ซื้อเรือนนี้มาอีกทอดหนึ่ง

พออายุได้ 12 ปี บรรพชาที่วัดเหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม และสนใจในวิชาเมตตามหานิยม

กระทั่งอายุได้ 19 ปี ลาสิกขาเพื่อไปช่วยครอบครัวประกอบอาชีพ

ครั้นเมื่อมีอายุครบ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดเหมืองใหม่ เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือนสิงหาคม 2427 โดยมีพระอาจารย์ด้วง เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการจุ้ย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการทิม วัดเหมืองใหม่ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า ธัมมโชโต แปลว่า ผู้รุ่งเรืองในธรรม

จำพรรษาอยู่ที่วัดเหมืองใหม่ คอยอุปัฏฐากรับใช้พระอุปัชฌาย์ ด้วยอุปนิสัยที่รักการศึกษาเล่าเรียน ได้ศึกษาเล่าเรียนทั้งทางคันถธุระ วิปัสสนาธุระ กับพระอุปัชฌาย์เป็นพื้นฐาน ต่อมาได้ไปศึกษากับพระเถระชื่อดังในยุคนั้นอีกหลายรูป

ได้ศึกษาคัมภีร์มูลกัจจายน์ ซึ่งเป็นตำราเรียนบาลีไวยากรณ์ในสมัยโบราณ เต็มไปด้วยสูตรสนธิต่างๆ หลวงพ่อคงศึกษาพระคัมภีร์นี้กับอาจารย์นก ซึ่งเป็นอุบาสกในละแวกนั้นเป็นเวลา 13 ปี จนมีความคล่องแคล่วสามารถแปลธรรมบทตลอดจนคัมภีร์ต่างๆ ได้

นอกจากนี้ ยังสนใจการศึกษาวิทยาคม โดยศึกษากับพระเกจิชื่อดัง เริ่มแรกศึกษาคัมภีร์นี้กับพระอาจารย์ด้วง ซึ่งเชี่ยวชาญการลบผงวิเศษ เป็นที่นับถือในสมัยนั้น รวมทั้งเล่าเรียนกับหลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง พระเถระผู้ที่มีวิทยาคมอันแก่กล้า โดยเฉพาะวิชานะปัดตลอด

อีกทั้งไปศึกษากับหลวงพ่อหรุ่น วัดช้างเผือก ผู้เชี่ยวชาญในพระกัมมัฏฐาน

หลวงพ่อคงยังเอาใจใส่การดูแลก่อสร้างเสนาสนะ เนื่องจากหลวงพ่อคงมีฝีมือในเชิงช่าง ในเบื้องต้นของหลวงพ่อคงได้ซ่อมแซมหอไตรที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรมให้มีสภาพที่ดีขึ้น พร้อมกับนั้น ท่านได้สร้างปั้นพระป่าเลไลยก์ด้วยฝีมือของท่านเอง

จนกระทั่งพรรษาที่ 21 ในปี พ.ศ.2448 ชาวบ้านใน ต.บางกะพ้อม อาราธนาท่านมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบางกะพ้อม ด้วยตำแหน่งเจ้าอาวาสว่างลง ซึ่งในขณะนั้นวัดบางกะพ้อมไม่มีสมภารปกครองวัดและวัดก็อยู่ในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรม หลวงพ่อคงตกลงรับคำอาราธนา

ฟื้นฟูบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุภายในวัด ซึ่งชำรุดทรุดโทรม ด้วยท่านมีฝีมือในการพัฒนาเป็นทุนเดิม จึงทำให้การสร้างความเจริญให้แก่วัดสำเร็จลุล่วงในเวลาอันสั้น

พ.ศ.2464 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลบางกะพ้อม และแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

แม้จะมีภาระงานปกครองวัด แต่ในเดือน 4 ของทุกปี ท่านจะไปปักกลดในป่าช้าข้างวัดเป็นเวลาราว 1 เดือน เรียกกันว่า รุกขมูลข้างวัด โดยถือว่าเป็นการชำระจิตใจให้สะอาด หลังจากยุ่งกับเรื่องราวทางโลกเกือบตลอดทั้งปี

ช่วงบั้นปลายชีวิต อาพาธด้วยโรคชรา เนื่องจากว่าท่านมีงานอยู่หลายอย่างต้องทำ ด้วยเป็นกิจของสงฆ์ ทั้งงานการสร้างพระพุทธรูป การสร้างวัตถุมงคล จึงทำให้ท่านไม่มีเวลาพักผ่อน

เมื่อวันที่ 6 ก.พ.2486 ขณะที่นั่งร้านเพื่อตกแต่งพระขนงพระพุทธรูปประธานองค์ใหม่ เมื่อท่านสวมพระเกตุพระประธานแล้วเสร็จ ท่านก็เกิดอาการหน้ามืด คล้ายจะเป็นลม แต่มีสติดี เอามือประสาน ในท่านั่งสมาธิจนหมดลมถึงแก่มรณภาพในอาการสงบ

คณะศิษย์เห็นท่านนั่งอยู่นาน จึงประคองร่างลงมาจากนั่งร้าน จึงรู้ว่าท่านมรณภาพแล้ว สิริอายุ 78 ปี พรรษา 58


อริยะโลกที่ 6 ข่าวสดออนไลน์