[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เสียงธรรมเทศนา - เอกสารธรรม - วีดีโอ => ข้อความที่เริ่มโดย: Maintenence ที่ 11 มกราคม 2562 09:51:54



หัวข้อ: ข้อวัตรปฏิปทาในพ่อแม่ครูอาจารย์ - หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 11 มกราคม 2562 09:51:54
 
(http://www.doisaengdham.org/images/column_1442037752/S__8355890.jpg)

ข้อวัตรปฏิปทาในพ่อแม่ครูอาจารย์
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน

(http://www.doisaengdham.org/images/column_1442037752/Anm01.gif)


เกริ่นนำ

            บทความนี้ ผู้เขียนได้เรียบเรียงจากประสบการณ์ที่เคยอยู่จำพรรษาศึกษาอบรมธรรม ณ วัดป่าบ้านตาด มานานหลายปี ในช่วงปลายปี ๒๕๒๙ ถึงปลาย ปี ๒๕๓๒  ด้วยจิตสำนึกมุ่งหวังที่จะเทิดทูนพระคุณ และบูชาธรรมของพ่อแม่ครูอาจารย์ ซึ่งถือเป็นมรดกธรรมอันล้ำค่า อันเป็นความงามบริสุทธิ์หมดจดอย่างไม่มีใดเทียม เปรียบประดุจโคตรเพชรเม็ดงามส่องแสงแวววาวบนยอดมงกุฎของพระเจ้าจักรพรรดิ ฉะนั้น
  
           เรื่องราวบางตอนที่เป็นคำบอกเล่า หรือฟังจากผู้อื่นมา อาจมีตกหล่นหรือคลาดเคลื่อนบ้าง ในเรื่องของคำพูดที่ไม่อาจจดจำได้หมดทุกคำ  เพราะกาลเวลาที่ผ่านมานาน ความจำก็มิได้จีรังยั่งยืน  จำต้องขออภัยต่อท่านผู้อ่าน และผู้อยู่ในเหตุการณ์ที่ถูกกล่าวพาดพิงถึงไว้ ณ ที่นี้  แต่โดยเนื้อหาของธรรมแล้ว ผู้เขียนพยายามตรวจตรองดูด้วยสติปัญญาอย่างละเอียดถี่ถ้วนสมบูรณ์ที่สุดแล้ว  หากมีข้อผิดพลาดอันใดหลงเหลืออยู่ ที่ผู้เขียนรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเพราะความที่มีสติปัญญาอันน้อย  ขอให้ท่านผู้รู้โปรดเมตตาให้อภัย   และกรุณาบอกกล่าวแก่ผู้เขียนโดยตรง จักเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

          บทความนี้ ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า  กุลบุตรผู้มาสุดท้ายภายหลัง ที่ยังมิเคยได้ยินได้ฟัง  จักถือเอาประโยชน์ได้บ้างไม่มากก็น้อย  และน้อมนำไปเป็นข้อวัตรปฏิบัติ ขัดเกลากิเลส เพิ่มพูนสติปัญญาบารมีของตนให้แก่กล้า ยิ่งๆขึ้นไป  เพราะนี่คือ  “ข้อวัตรปฏิปทาอันหมดจดงดงามฉลาดแหลมคม”  ที่พ่อแม่ครูอาจารย์  ผู้ได้ชื่อว่า “จอมปราชญ์แห่งยุค” ได้ทิ้งร่องรอยเอาไว้ให้ลูกศิษย์ได้ประพฤติปฏิบัติตาม  ส่วนใครจะเห็นดีเห็นงามด้วย หรือไม่อย่างไรนั้น  ขอมอบให้เป็นเรื่องของภูมิจิตภูมิธรรม ภายในใจของแต่ละท่านจะตัดสินกันเอาเอง

          ผู้เขียนตั้งใจนำเสนอ ในสิ่งที่คิดว่า “ดี” เท่านั้น  ผู้อ่านไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับผู้เขียนไปเสียหมดทุกอย่าง  สิ่งใดไม่เห็นด้วย หรืออันใดที่เห็นว่าไม่ดี  จงปล่อยวางไว้ที่นี่  อย่าได้นำไปให้เป็นข้อขุ่นข้องหมองใจตนเองเสียเปล่า    จงถือเอาแต่สิ่งทีดี และมีประโยชน์ไปเท่านั้นก็พอ  ผู้เขียนเชื่อว่า  “บทความนี้ มีสิ่งดีๆให้ท่านผู้มีปัญญา ถือเอาประโยชน์ได้ตามสมควร”

          อนึ่ง หากท่านผู้ใดจะนำไปพิมพ์แจกเป็นทาน กรุณาทำได้ตามประสงค์  แต่ห้ามมิให้ทำการคัดลอก หรือตัดตอนบางส่วนของบทความ  หรือกระทำการแก้ไขดัดแปลงเนื้อหาให้ผิดไปจากเดิม ไม่ว่ากรณีใดๆโดยเด็ดขาด  และขอสงวนสิทธิ์ ไม่อนุญาตการพิมพ์เพื่อจำหน่าย


พระวิทยา  กิจฺจวิชฺโช
๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๕


๑. จอมปราชญ์แห่งยุค
          "ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน"  แห่งวัดป่าบ้านตาด หรือที่พวกเราเรียกองค์ท่านว่า  "พ่อแม่ครูอาจารย์" หรือ ในราชทินนามสุดท้ายว่า "พระธรรมวิสุทธิมงคล" นี้  กิตติศัพท์กิตติคุณของท่าน ได้แผ่ขจรขจายไปแล้วอย่างกว้างขวาง และยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือนในยุคปัจจุบัน  คำกล่าวขานเกี่ยวกับองค์ท่านนั้นมีมากมาย ดังเช่น ท่านเป็นพระอรหันต์สำเร็จกิจในพระพุทศาสนาแล้วบ้าง  ท่านเคร่งครัดในธรรมในวินัยบ้าง ท่านดุบ้าง เหล่านี้เป็นต้น  ก็จริงอย่างนั้น แม้กิตติศัพท์ของท่านจะฟังดูแล้วน่าเกรงขามนัก แต่กลับยิ่งทำให้ผู้คนหลั่งไหลไปกราบไหว้บูชาคุณของท่านอย่างมากมาย แม้พระเณรก็เข้าไปศึกษาอยู่กับท่านภายในวัดป่าบ้านตาดอย่างเนืองแน่น จนแทบจะไม่มีกุฏิให้อยู่

           อันที่จริงพวกเราก็รู้กันอยู่อย่างเต็มหัวอกแล้วว่า "พ่อแม่ครูอาจารย์" ท่านบรรลุธรรมสิ้นกิเลส เสร็จกิจในพระพุทธศาสนามาตั้งแต่อายุ ๓๖ พรรษาที่ ๑๖ ตรงกับวันจันทร์ที่  ๑๕  พฤษภาคม ปี พ.ศ. ๒๔๙๓  เวลา ๒๓.๐๐ น. เป็นคืนเดือนดับ  แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ปีขาล ที่วัดดอยธรรมเจดีย์  จังหวัดสกลนคร  เหตุที่รู้ มิใช่เพราะพวกเรามีญาณหยั่งรู้จิตของท่าน หรือเพราะได้ยินได้ฟังจากคำบอกเล่าของใครคนใดคนหนึ่ง แล้วเชื่อถือสืบต่อกันมา ไม่ใช่อย่างนั้น  แต่เป็นเพราะว่า  ข้อวัตรปฏิปทาที่ท่านพาดำเนินมานั้น ไม่มีอันใดเลย ที่จะเป็นเหตุทำให้เกิดการสั่งสมกิเลส  มีแต่ข้อปฏิบัติที่มุ่งตรงต่อการทำลายล้างกิเลส  มุ่งตรงต่อมรรค ผล นิพพาน  และเป็นไปเพื่อความหลุดพ้นโดยถ่ายเดียวเท่านั้น ข้อนี้ ย่อมเป็นที่ตายใจได้ว่า  ผู้มีกิเลสไม่มีทางจะทำเช่นนั้นได้

          ใช่แต่เท่านั้น  แม้เทศนาธรรมที่ท่านอบรมสั่งสอนพระเณรนั้นเล่า  ฟังแล้วก็เหมือนกับว่า ท่านถอดเอา มรรค ผล นิพพาน ออกมาจากจิตจากใจของท่าน ให้พระเณรได้ดู ประหนึ่งว่า  "นี่เห็นไหม มรรค ผล นิพพาน อยู่ที่นี่ๆ" เหมือนอย่างนั้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อองค์ท่านเทศน์ถึงการปฏิบัติของท่าน ที่พวกเราฟังแล้วก็รู้สึกว่า ช่างเป็นปฏิปทาที่สุดแสนทรหดอย่างยิ่งยวดจริงๆ และยากที่ใครๆจะปฏิบัติตามได้ องค์ท่านเองก็เคยเอ่ยปากปรารภว่า ถึงขั้นเดนตายโน่นล่ะ  รอดตายมาได้แล้ว จึงมาเป็นครูบาอาจารย์ให้การอบรมสั่งสอนหมู่คณะ  ไม่ใช่ครูบาอาจารย์ประเภท "ชิงสุกก่อนห่าม" หรือ "ขายก่อนซื้อ"  ดังเช่นที่มีอยู่อย่างกลาดเกลื่อนทุกวันนี้ สอนตนเองก็ยังไม่ทันจะได้  ไม่รู้จะเอาอะไรไปสอนคนอื่น  องค์ท่านได้เมตตาเล่าถึงการปฏิบัติไว้ว่า

๒. เร่งความเพียรแบบสุดๆ
           "...ในพรรษาที่ ๑๐ นั้น เป็นพรรษาที่เร่งทำความเพียรอย่างหักโหมที่สุด  โดยนั่งสมาธิตลอดรุ่ง ถึง ๙ คืน ๑๐ คืนกว่าๆ ไม่ได้นั่งติดกันทุกคืน  แต่มีเว้น ๒ คืนบ้าง ๓ คืนบ้าง บางทีก็เว้น ๖-๗ คืน ก็มี จนจิตเกิดความอัศจรรย์ และกล้าหาญไม่กลัวตาย  รู้เท่าต่อความตาย จากการพิจารณาแยกธาตุแยกขันธ์ ดูความเป็นความตาย ธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ สลายตัวลงไปแล้วก็เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ ตามเดิม  อากาศธาตุก็เป็นอากาศธาตุตามเดิม ใจที่กลัวตายก็ยิ่งเด่น มันเอาอะไรมาตาย รู้เด่นขนาดนี้มันตายได้ยังไง ใจก็ไม่ตาย แล้วมันกลัวอะไร กิเลสมันหลอกให้กลัวตายต่างหาก..."

           สำหรับในวงปฏิบัติ  ย่อมเป็นที่รู้กันว่า การทำความเพียรขั้นอุกฤษฏ์นั้น ไม่มีอันใดจะยิ่งไปกว่า การทำความเพียรด้วยการนั่งสมาธิตลอดรุ่ง อย่าว่าแต่นั่ง ๙ คืน ๑๐ คืนเลย บางทีบวชมาตลอดชีวิต แค่คืนเดียว ยังทำได้ยาก  แม้ทำได้ บางทีก็นั่งทนทุกข์ทรมานไปอย่างนั้น ไม่อาจเกิดปัญญารู้แจ้งในธรรมข้อใดๆ ซึ่งอันนี้ก็เป็นเรื่องเกี่ยวพันถึงนิสัยวาสนาในการบรรลุธรรมของแต่ละบุคคล  ที่ได้อบรมสั่งสมมาไม่เหมือนกัน  ดังนั้น ผู้ที่ผ่านการปฏิบัติมาอย่างโชกโชน และเห็นผลอย่างประจักษ์ใจ ย่อมพูดถึงการปฏิบัติของตนเอง และผลแห่งการปฏิบัติ ได้อย่างอาจหาญชาญชัยไม่สะทกสะท้าน และไม่มีลังเลสงสัย ดังที่พ่อแม่ครูอาจารย์ ได้พูดถึงผลจากการนั่งสมาธิตลอดรุ่งของท่าน ไว้ดังนี้

          "...จิตเมื่อเข้าถึงขั้นนี้แล้ว มันแยกได้ ๒ อย่าง อย่างหนึ่ง เวลาจิตรอบแล้ว เวทนาก็เป็นเวทนา ต่างอันต่างจริง กายก็สักแต่ว่ากาย เวทนาสักแต่ว่าเวทนา จิตก็เป็นความจริงของจิต ต่างอันต่างจริงไม่กระทบกัน นี่อันหนึ่ง อีกอันหนึ่ง พอจิตรอบของมันแล้ว เวทนาก็ดับวูบลงไม่มีเหลือเลย กายก็หายพร้อมกันในความรู้สึก  มันเห็นเป็นสองอย่าง แต่จะเป็นอย่างไหนก็ตาม เราไม่ได้ปรุงได้แต่ง มันเป็นผลอย่างนั้นของมันเอง เป็นความรู้สึกอัศจรรย์บอกไม่ถูก และเป็นสักขีพยานซิ เพราะมันเป็นความจริงด้วยกันนี่ มันดับหมดก็เป็นความจริงอันหนึ่ง มันยังคงอยู่ แต่ต่างอันต่างจริง ก็เป็นความจริงอันหนึ่ง..."  

         นี่คือผลอันเกิดจากการนั่งสมาธิตลอดรุ่ง อันเป็นธรรมขั้นกลาง จากนั้นก็ก้าวเดินทางด้านปัญญา พิจารณาอสุภะ จนผ่านกามราคะไปได้ ท่านเมตตาแสดงธรรมไว้ดังนี้

๓. กามราคะกระเด็น
         "...ท่านพิจารณาด้านอสุภะ มองดูคนมีแต่หนังห่อกระดูก มีแต่เนื้อแต่หนังแดงโร่ไปหมด ราคะนี้ไม่ปรากฏเลย ค่อยหมดไปๆ โดยไม่บอกกาล บอกเวลา บอกสถานที่ ว่าหมดไปขณะนั้น เวลานั้น ท่านจึงต้องพลิกเอาสุภะ เดินจงกรมเอารูปสวยๆงามๆเข้ามาบังคับติดแนบกับตัวเอง  ท่านเอาวิธีการนี้มาปฏิบัติได้ ๔ วันเต็มๆ พอคืนที่ ๔ สัก ๓-๔ ทุ่มล่วงไปแล้ว มันมีลักษณะยุบยับภายในจิต เหมือนจะกำหนัดในรูปสวยๆงามๆ  นั่น แสดงว่ายังไม่สิ้น จากนั้น ก็นั่งกำหนดอสุภะไว้ตรงหน้า ตั้งให้คงที่อยู่อย่างนั้น แล้วจิตเพ่งดูด้วยความมีสติจดจ่อ ดูว่า กองอสุภะนี้จะเคลื่อนที่หรือเปลี่ยนตัวไปไหนมาไหน พอกำหนดเข้าไป อสุภะที่ตั้งอยู่ตรงหน้านั้น  มันถูกจิตกลืนเข้ามา อมเข้ามาหาจิต สุดท้ายเลยรู้เห็นว่า เป็นจิตเสียเองเป็นตัวอสุภะนั้นน่ะ  จิตตัวไปกำหนดว่าอสุภะนั้นน่ะ มันกลืนเข้ามาๆ เลยมาที่จิตเสียเองไปเป็น สุภะ และ อสุภะ หลอกตัวเอง จิตก็ปล่อยผลัวะทันที ปล่อยอสุภะ ข้างนอกว่า เข้าใจแล้วทีนี้ เพราะมันขาดจากกัน มันต้องอย่างนี้สิ..."


๔. ดับอวิชชา
          ส่วนในธรรมขั้นละเอียด พ่อแม่ครูอาจารย์ ยังได้เมตตาแสดงภูมิธรรมระดับมหาสติมหาปัญญาไว้แก่ศิษย์เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติอีก ดังนี้

          "...ตอนที่จิตว่างเต็มที่ ความรู้อันนี้จะเด่นเต็มที่ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันรู้รอบหมดแล้ว มันปล่อยของมันหมดไม่มีอะไรเหลือ  เหลือแต่ความรู้นี้อย่างเดียว มันมีความปฏิพัทธ์อ้อยอิ่งอยู่อย่างละเอียดสุขุม มันมีความดูดดื่มอยู่กับความรู้อันนี้อย่างเดียว พออาการใดๆเกิดขึ้นพั๊บ มันก็ดับพร้อม ถ้าครั้งพุทธกาล เรียกว่า มหาสติมหาปัญญา แต่สมัยทุกวันนี้ เรียกว่า สติปัญญาอัตโนมัติก็เหมาะสมกันแล้ว จิตดวงนี้ถึงได้เด่น และสว่างไปหมด...

          "...พอสติปัญญาเริ่มหันความสนใจเข้ามาพิจารณาจิตดวงนี้ ความรู้ชนิดหนึ่งที่ไม่คาดไม่ฝันก็ผุดขึ้นมาภายในใจว่า ความเศร้าหมองก็ดี ความผ่องใสก็ดี ความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดี เหล่านี้เป็นสมมุติทั้งสิ้น และเป็นอนัตตาทั้งมวลนะ  เท่านั้นแล สติปัญญาก็หยั่งทราบว่า จิตที่ถูกอวิชชาครอบงำอยู่นั้นว่า เป็นสมมุติที่ควรปล่อยวางโดยถ่ายเดียว ไม่ควรยึดถือเอาไว้..."

           "...หลังจากความรู้ที่ผุดขึ้นบอกเตือนสติปัญญาผู้ทำหน้าที่ตรวจตราอยู่ขณะนั้นผ่านไปครู่เดียว จิตและสติปัญญา เป็นราวกับว่า ต่างวางตัวเป็นอุเบกขามัธยัสถ์ ไม่กระเพื่อมตัวทำหน้าที่ใดๆ ในขณะนั้นจิตเป็นกลางๆ ไม่จดจ่อกับอะไร ไม่เผลอส่งใจไปไหน ปัญญาก็ไม่ทำงาน สติก็รู้อยู่ตามธรรมดาของตนไม่จดจ่อกับสิ่งใด ขณะจิต สติ ปัญญา ทั้งสามเป็นอุเบกขามัธยัสถ์นั้นแล เป็นขณะที่โลกธาตุภายในจิต อันมีอวิชชาเป็นผู้เรืองอำนาจ ได้กระเทือนและขาดสะบั้นบรรลัยลงจากบัลลังก์คือใจ กลายเป็นวิสุทธิจิตขึ้นมาแทนที่..."

๕. วิสุทธิจิต วิสุทธิธรรม
          "...ท่านผู้ใดบำเพ็ญข้อวัตรปฏิบัติให้สมบูรณ์เต็มภูมิ ดังที่พระพุทธเจ้าได้สั่งสอนไว้แล้ว ธรรมชาตินี้ไม่ต้องมีใครมาบอกจะรู้เองเห็นเอง เพราะอำนาจแห่งมัชฌิมาปฏิปทาเป็นเครื่องบุกเบิกทำลายสิ่งที่รกรุงรังพัวพันอยู่ภายในใจ จะแตกกระจายออกไปหมด เหลือแต่ธรรมล้วนๆ จิตล้วนๆ ที่เป็นจิตบริสุทธิ์ จากนั้นจะเอาอะไรมาเป็นภัยต่อจิตใจ แม้สังขารร่างกายจะมีความทุกข์ความลำบากแค่ไหน ก็สักแต่ว่าสังขารร่างกายเป็นทุกข์เท่านั้น ไม่สามารถที่จะทับถมจิตให้บอบช้ำให้ขุ่นมัวได้เลย เพราะธรรมชาตินั้นไม่ใช่สมมติ ขันธ์ทั้งหมดนี้เป็นสมมติล้วนๆ ธรรมชาตินั้นเป็นวิมุตติ หลุดพ้นจากสิ่งกดขี่ทั้งหลายซึ่งเป็นตัวสมมุติแล้ว แล้วจะเกิดความเดือดร้อนได้อย่างไร เป็นก็เป็น ตายก็ตาย เรื่องของขันธ์สลายลงไปตามสภาพของมันที่ประชุมกันเท่านั้น..."

           "...จิตดวงนี้เป็นอย่างไร ต่อไปนี้จะไปเกิดที่ไหนก็ทราบอย่างชัดเจน จะไปเกิดที่ไหนเมื่อไม่มีเชื้อ ไม่มีเงื่อนต่อทั้งเงื่อนต้นเงื่อนปลาย ทั้งอดีต อนาคต แม้แต่ปัจจุบันก็รู้เท่าทันไม่ได้ยึดได้ถือ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตาไม่ถือมั่นแล้ว เพราะได้รู้ประจักษ์ใจแล้ว เมื่อรู้ประจักษ์ใจและปล่อยวางหมดแล้ว มีธรรมอะไรที่ไม่ใช่อนัตตาไม่ใช่อัตตา คือ วิสุทธิธรรม วิสุทธิจิต จะเรียกวิสุทธิจิตก็ได้ จะเรียกวิสุทธิธรรมก็ได้ จะเรียกนิพพานก็ได้ไม่มีปัญหาอะไรเมื่อถึงตัวจริง ไม่มีกิเลสสมมติใดๆ เข้ามาขัดขวางแล้ว เรียกไม่เรียกก็ไม่มีปัญหาอะไรทั้งนั้น เพราะจิตหลุดพ้นจากปัญหาความยุ่งเหยิงทั้งมวลไปแล้ว..."

           ธรรมที่พ่อแม่ครูอาจารย์เมตตาแสดงต่อศิษย์นั้น เป็นธรรมขั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนาที่พวกเราก็ไม่เคยได้ยินได้ฟังจากท่านผู้ใดมาก่อน ข้อวัตรปฏิปทาที่ท่านพาดำเนิน ก็บ่งชี้ถึงความเป็นผู้ทรงคุณธรรมอันล้ำเลิศ อยู่เหนือสมมติทั้งมวลอย่างไม่มีข้อกังขาใดๆ  เพราะเหตุนั้น พวกเราที่เป็นศิษย์ จึงน้อมถวายความเคารพยำเกรงมีความเคารพรัก และเทิดทูนในพ่อแม่ครูอาจารย์อย่างสูงสุด ในฐานะที่ท่านคือ พระอรหันตสาวกองค์หนึ่งในยุคปัจจุบันนั่นเอง ซึ่งบัดนี้ สักขีพยานที่ปรากฏต่อสายตาของมหาชน ก็คือ อัฐิธาตุของท่าน ได้กลายเป็นพระธาตุไปแล้ว ดังที่พวกเราได้เห็นกันอย่างประจักษ์ใจ

๖. กำเนิดวัดป่าบ้านตาด
          เมื่อพ่อแม่ครูอาจารย์ได้บุกเบิกสร้างวัดป่าบ้านตาดตั้งแต่ ปี ๒๔๙๙ เป็นต้นมา สภาพการณ์ของวัดป่าบ้านตาด ภายใต้การควบคุมดูแลเอาใจใส่อย่างเข้มงวดกวดขันของท่าน  ทำให้บรรยากาศภายในวัดเอื้ออำนวยต่อการบำเพ็ญเพียรทางด้านจิตภาวนาของพระเณร อย่างยากที่จะหาที่ใดเสมอเหมือน ข้อวัตรปฏิบัติต่างๆก็อยู่ในกรอบแห่งธรรมแห่งวินัย ไม่มีผิดพลาดคลาดเคลื่อน สิ่งอำนวยความสะดวกภายในวัด มีเพียงเท่าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ไม่มีความหรูหราหรือฟุ่มเฟือยใดๆ พระเณรองค์ไหน มาอยู่แล้ว ไม่ตั้งอกตั้งใจทำกิจวัตรข้อวัตร ไม่เดินจงกรม ไม่นั่งสมาธิภาวนา  ขยันแต่จะกิน ขยันแต่จะนอน อยู่ได้ไม่ทันไร ก็ต้องถูกขับออกจากวัดไปอย่างไม่ต้องสงสัย

          ด้วยเหตุนี้เอง พระเณรที่ตั้งใจมาศึกษาอบรมอยู่กับท่าน และอยากได้อยู่ไปนานๆ จึงต้องปรารภความเพียรกันอย่างเข้มข้น ถึงขั้นแข่งกันทำกิจวัตรข้อวัตรเลยทีเดียว เรื่องความขี้เกียจขี้คร้านนั้น แทบไม่ปรากฏ มีแต่ความขยันหมั่นเพียร มีความอดทนที่จะต่อสู้กับความทุกข์ยากลำบาก  กินน้อย นอนน้อย สำรวมสติ ไม่พุดคุยกันโดยไม่มีเหตุอันควร  มีความเคารพเชื่อฟังท่านอย่างจริงใจ  เรียกว่า ยอมกราบท่านแบบศิโรราบจริงๆ คือกราบทั้งกาย กราบทั้งใจ  นั่นแหละ จึงจะเป็นที่ชื่นชมของหมู่คณะ  และมีโอกาสที่จะได้จำพรรษาอยู่ในวัดป่าบ้านตาด  ได้รับอุบายธรรมจากท่านอย่างถึงใจ

          อันที่จริง ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย กับการที่จะทำให้วัดใดวัดหนึ่ง มีสภาพบรรยากาศแบบธรรมชาติเป็นเอง ที่เอื้ออำนวย ต่อการบำเพ็ญเพียรทางด้านจิตภาวนา คือ สภาพภายในวัด มีความสงบระงับ ปราศจากมลพิษทางใจ มุ่งเน้นการปฏิบัติที่ตรงต่อหลักธรรม หลักวินัย อย่างเข้มงวดกวดขัน ทั้งพระเณรก็ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติกันเองอย่างจริงจัง โดยที่ครูบาอาจารย์ไม่ได้บีบบังคับเลยว่า จะต้องทำอย่างนั้นๆ หรือมีกฏระเบียบบังคับให้ต้องทำอย่างนั้นๆ  เพราะถือว่า ธรรมและวินัยที่พระบรมศาสดาทรงตรัสไว้ดีแล้วนั้น คือ หลักเกณฑ์ที่พระเณรต้องยึดถือนำไปปฏิบัติต่อตนเองอยู่แล้ว  ขอเพียงตั้งใจปฏิบัติให้เป็นไปตามธรรมและวินัยเท่านั้น  ก็สามารถบรรลุถึงจุดหมาย คือมรรค ผล นิพพานได้อย่างเต็มเปี่ยมบริบูรณ์
 
๗. มหาวิทยาลัยสงฆ์ภาคปฏิบัติ
          แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย   แต่ที่นี่ วัดป่าบ้านตาด ก็เป็นวัดที่มีสภาพบรรยากาศแบบธรรมชาติเป็นเอง ดังที่กล่าวมา  ในแวดวงพระกรรมฐานสายท่านพระอาจารย์ใหญ่ "หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต" ต่างยอมรับกันเป็นเสียงเดียว ว่า ที่นี่ คือ "มหาวิทยาลัยสงฆ์ภาคปฏิบัติ" และเป็นสมรภูมิรบห้ำหั่นกับกิเลส  ที่ขึ้นชื่อลือชาเป็นที่สุด กิตติศัพท์ “ความปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ  ความเข้มงวดกวดขัน  และความดุ”  ร่ำลือกระฉ่อนไปถึงต่างประเทศ ไม่ใช่เฉพาะในเมืองไทย  ทั้งนี้ ก็เป็นเพราะ ความเอาใจใส่อย่างจริงใจของพ่อแม่ครูอาจารย์ที่มีต่อพระเณรที่มาศึกษาอบรมกับท่าน  รวมทั้งปฏิปทาการปฏิบัติในแบบฉบับของพระธุดงคกรรมฐานจริงๆ ชนิดที่ไม่ไว้หน้ากิเลสตัวไหนทั้งนั้น  และการเทศนาอบรมธรรมอย่างดุเด็ดเผ็ดร้อน ดุเดือดเข้มข้นถึงใจ  พร้อมๆกับอุบายธรรมที่หยิบยื่นให้กับลูกศิษย์แต่ละราย  อันเปรียบเหมือนไม้ตายที่ใช้สังหารกิเลสได้อย่างทรงประสิทธิภาพ และเฉียบขาดที่สุด ใช่แต่เท่านั้น  ยังผสมผสานด้วยนิสัยวาสนาที่สั่งสมบารมีธรรมมาเพื่อเป็น "จอมปราชญ์" แห่งยุคอีกต่างหาก  มิฉะนั้น   ที่ไหนเลย จะมีพระเณร ผู้คนให้ความเคารพนับถือ และยำเกรงในองค์ท่านอย่างมากมาย  จนประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้ว่า "ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน"  นี้ คือ "พระผู้เป็นมหาบุรุษรัฐสุดอัศจรรย์ยิ่งใหญ่แห่งโลก" ในยุคปัจจุบัน

          ภายในวัดป่าบ้านตาด ทุกอย่างเป็นบรรยากาศแบบธรรมชาติเป็นเอง พ่อแม่ครูอาจารย์ไม่เคยออกกฏระเบียบบังคับให้พระเณรต้องทำอย่างนั้น หรือทำอย่างนี้ นอกจากท่านจะพูดสั่งสอนด้วยเหตุผลแห่งความถูกต้องดีงามไปตามธรรมและวินัย เท่านั้น  ส่วนการที่ใครจะนำไปปฏิบัติ หรือไม่ปฏิบัติ มอบให้เป็นเรื่องเฉพาะ ของแต่ละรายที่ไปศึกษาอบรมอยู่กับท่าน ว่าจะเห็นสมควรทำอย่างไรตามกำลังสติปัญญาของตนเอง  หากพระเณรองค์ใดตั้งใจปฏิบัติ และมีอุปนิสัยควรมีความเป็นไปได้ในธรรมมากน้อยอย่างไร ตามสมควรแก่ความปฏิบัติ  ท่านก็จะรับเอาไว้ ให้อยู่จำพรรษาปฏิบัติธรรมที่นี่  ตามสมควรแก่อุปนิสัยขององค์นั้นๆ  ส่วนองค์ที่มีความประพฤติไม่เอาไหน ไม่ใส่ใจในคำสั่งคำสอน ท่านก็ขับให้ออกไปจากวัดเสียเท่านั้นเอง

         เพราะเหตุนั้น พระเณรที่มุ่งมั่นมาอยู่ที่นี่ เพื่อรับการศึกษาอบรมจากท่าน ต่างก็เต็มใจขวนขวายที่จะปฏิบัติตามคำสอนของท่านไปเอง  หากจะว่าบังคับ ก็คือ พระเณรบังคับตัวเอง ไม่ต้องให้ใครมาบังคับ  และดูเหมือนว่า จะมีความขลังเสียยิ่งกว่า ครูบาอาจารย์บังคับเป็นไหนๆ  เพราะหลักปฏิบัติจริงๆ ดังพระบรมศาสดา ทรงตรัสไว้  "ตุมฺเหหิ กิจฺจํ อาตพฺปํ  อกฺขาตาโร ตถาคตา”  พระตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอก  กิจในอันประกอบความเพียรเพื่อชำระกิเลส เป็นหน้าที่ที่เธอทั้งหลายต้องทำเอง

๘. จำเป็นต้องพูดความจริง
          ดังนั้น สภาพบรรยากาศภายในวัดป่าบ้านตาด ตั้งแต่ยุคเริ่มต้น จนถึงยุคก่อนเปิดโครงการช่วยชาติ ในปี พ.ศ.๒๕๔๐  คืออยู่ในช่วงประมาณ ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ถอยหลังลงไป เป็นยุคที่ พ่อแม่ครูอาจารย์เข้มงวดกวดขันกับการปฏิบัติของพระเณรอย่างเต็มที่  ความเกี่ยวข้องกับพระเณร ผู้คนไม่ได้มีมากมายล้นหลาม เหมือนดังเช่นในยุคสุดท้ายบั้นปลายชีวิต ที่ท่านมุ่งสงเคราะห์โลกอย่างสุดกำลังความสามารถ  หากใครได้สัมผัสวัดป่าบ้านตาดในยุคที่ท่านเคี่ยวเข็ญเอาจริงเอาจังกับการปฏิบัติของพระเณรแล้ว ก็จะทราบได้ด้วยตนเอง ในข้อวัตรปฏิปทาของพ่อแม่ครูอาจารย์  และกับคำกล่าวที่ว่า "วัดป่าบ้านตาด คือ มหาวิทยาลัยสงฆ์ภาคปฏิบัติ" และเป็นสมรภูมิรบห้ำหั่นกับกิเลสที่ดุเดือดเข้มข้นที่สุด  ย่อมไม่ใช่เรื่องที่เกินเลย

           ที่กล่าวมาทั้งนี้ ไม่ได้มีเจตนาที่จะพูดยกย่องวัดป่าบ้านตาดจนเกินเหตุ  แต่เหตุผลแห่งความเป็นจริงมันเป็นอย่างนั้น  เมื่อได้มีโอกาสสอบถามครูบาอาจารย์แต่ละองค์ ที่เคยอยู่จำพรรษาที่วัดป่าบ้านตาดมานั้น  ล้วนได้รับคำตอบในทำนองเดียวกันว่า

          "ช่วงที่ท่านทำความเพียรอย่างดุเดือด และเข้มข้นที่สุดในชีวิตของท่าน จะเรียกว่า อย่างหนักหนาสาหัสสากรรจ์ก็ว่าได้ และได้รับอุบายธรรมแบบดุเด็ดเผ็ดร้อน อย่างถึงพริกถึงขิง ถึงอกถึงใจ ถึงอรรถถึงธรรม อย่างที่สุดนั้น ไม่มีช่วงไหนจะยิ่งไปกว่า ช่วงที่ได้อยู่จำพรรษากับพ่อแม่ครูอาจารย์  ที่วัดป่าบ้านตาด"
 
ลูกศิษย์ชั้นผู้ใหญ่ของพ่อแม่ครูอาจารย์  ที่สำเร็จกิจในพระพุทธศาสนา เข้าถึงมรรค ผล นิพพานแล้วนั้น ก็มีจำนวนไม่ใช่น้อย ย่อมเป็นสักขีพยานกับคำกล่าวนี้ได้เป็นอย่างดี

๙. นิสัยที่จำต้องเปลี่ยน
          ทำไมจึงบอกว่า พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านเกิดมาเพื่อเป็น "จอมปราชญ์" แห่งยุค ทั้งที่องค์ท่านเอง ก็ไม่มีเจตนาที่จะเป็นครูบาอาจารย์สั่งสอนท่านผู้ใดเลย  มีแต่คอยหลบหนีด้วยซ้ำไป องค์ท่านเคยพูดอยู่เสมอว่า

          "...ปกติเราแต่ก่อนไม่ค่อยสนใจจะสอนใครนอกจากสอนเจ้าของเอง และไม่นึกด้วยว่าจะมีหมู่เพื่อนตลอดถึงประชาชน จะมาเกี่ยวข้องกับเราถึงขนาดที่เป็นอยู่เวลานี้ เมื่อความจำเป็นมาเกี่ยวข้อง จิตที่คิดหรือเป็นความรู้สึกมาดั้งเดิมของเราที่เรียกว่านิสัย ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์ที่มาเกี่ยวข้องมากน้อย เมื่อเป็นเช่นนั้นภาระก็ต้องหนัก ผู้ใดมาเกี่ยวข้องกับเรา เรารับแล้วด้วยเหตุด้วยผล เราจะต้องดำเนินตามหลักธรรมที่เป็นเหตุองค์ประกอบด้วยเหตุผลล้วนๆ รวมลงเป็นธรรม อย่างเต็มสติกำลังความสามารถของเราทุกแง่ทุกมุม แม้จะมีภาระมาก ความเป็นห่วงที่จะต้องอบรมสั่งสอนเราก็เป็นห่วงอยู่ตลอดเวลา เมื่อมีโอกาสก็ต้องมาอบรมเสมอ..."

           "...ขโมยหนีจากหมู่เพื่อนไม่รู้กี่ครั้งกี่หน ไปไหนก็รุมๆกันเข้ามา เพราะถ้าให้เป็นตามอัธยาศัยของเจ้าของแล้ว  วันทั้งวันไม่ได้พบใครเลยก็ตาม พบแต่เจ้าของเท่านั้นพอใจแล้ว ไม่สนใจกับอะไรเลย  ถ้าพูดถึงว่าปล่อย มันปล่อยขนาดนั้นแหละ  เพราะเรียนมันเสียพอ ปฏิบัติมันพอ รู้มันจนกระทั่งเต็มหัวใจแล้ว สงสัยอะไรในโลกนี้ ว่างั้นเลย  นี่ก็หมู่เพื่อนรุม หากขโมยหนีกลับเป็นตกนรกแล้ว ผมนี่จมอยู่ใต้ก้นเทวทัตโน่นแหละ  ขโมยหนีจากหมู่เพื่อนตั้งแต่เริ่มแรกโน่น  อยู่มันไม่สบาย  มีหนึ่งมีสองก็มีความรับผิดชอบกันอยู่ในนั้นแหละ ตามสัญชาตญาณ มีมากเข้าไปเท่าไร ก็ต้องมีความรับผิดชอบมาก หนักมากเข้าไป ขโมยหนีก็ไม่พ้น  ไปอยู่ไม่กี่วันแหละ สองอาทิตย์ สามอาทิตย์ เดี๋ยวรุมไปอีกแล้ว สุดท้ายก็เลยเกาะกันเต็มเรื่อยมาอย่างนี้ละ..."

           แล้วทำไมพระเณรจึงพากันรุมท่านอยู่องค์เดียวล่ะ  เหตุผลมีเพียงหนึ่งเดียว ก็เพราะความเป็น "จอมปราชญ์" ของท่านนั่นเอง  พระเณรที่มุ่งมั่นไปอยู่กับท่าน ก็ไม่ใช่ประเภทโง่ๆเซ่อๆ  ย่อมสัมผัสได้ถึงภูมิจิต ภูมิธรรมภายในขั้นสุดยอด  และอุบายธรรมอันชาญฉลาด ไม่ว่าจะเป็นการเทศน์อบรมสั่งสอน  การแสดงกิริยาอาการทางกายให้รู้   ทั้งการกระทำสิ่งใด หรือไม่กระทำสิ่งใด  ผู้ฉลาด ย่อมถือเอาประโยชน์ได้ทั้งสิ้น  ดูราวกับว่า ยิ่งอยู่กับท่านนานเท่าไร ก็ยิ่งได้รับอุบายธรรม และเพิ่มพูนทางด้านสติปัญญามากขึ้นเรื่อยๆ

๑๐. ลวดลายของจอมปราชญ์
          ทั้งกิริยาอาการที่ท่านแสดงออกต่อพระเณรแต่ละราย เพียงแค่ได้เห็นท่านเท่านั้น  ดูเหมือนว่า กิเลสภายในใจของพระเณรแต่ละองค์  มันทำราวกับจะหมดสิ้นเรี่ยวแรงอ่อนปวกเปียกง่อยเปลี้ยเสียขาไปตามๆกัน  คล้ายกับมันจะยอมให้ฆ่าอย่างง่ายดายอะไรประมาณนั้น  พาเดินจงกรมก็ง่าย  พานั่งสมาธิก็ง่าย มีความขยันขันแข็ง มีความอดทนเป็นเยี่ยม  แม้จะอดนอน ผ่อนอาหาร จนถึงขั้นอดอาหาร ก็ทำได้อย่างง่ายๆสบายๆ ไม่สะทกสะท้านกับอะไรเลย  ก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเหตุใด แต่พอไปจากท่านเท่านั้นแหละ ไม่รู้ว่ากิเลสมันเอากำลังวังชา เรี่ยวแรงมาจากไหน  มันลุกขึ้นรุมเตะรุมต่อยรุมถีบเอาซะเกือบตาย  แทบเอาตัวไม่รอด  เพราะเหตุอย่างนี้แหละ พ่อแม่ครูอาจารย์ จึงเป็นเหมือนแม่เหล็กใหญ่ ที่ดึงดูดพระเณรเอาไว้  ให้เกาะติดท่านอย่างแกะไม่ออกจนถึงทุกวันนี้

           และอีกอันหนึ่งที่สำคัญมาก และเป็นเหตุให้พระเณรในวัดป่าบ้านตาด เกิดความเคารพเทิดทูน และสำนึกในพระคุณของพ่อแม่ครูอาจารย์อย่างไม่รู้ลืมเลย ก็คือ ความเป็นห่วงเป็นใย และเอาใจใส่ต่อการปฏิบัติของพระเณร คอยปกป้องคุ้มครองไม่ให้เกิดความผิดพลาดเสียหาย ประหนึ่ง บิดามารดาห่วงหาอาทรในบุตรธิดา ฉะนั้น ซึ่งพ่อแม่ครูอาจารย์เคยพูดไว้ ฟังแล้วก็เกิดความรู้สึกซาบซึ้ง และประทับใจอย่างสุดจิตสุดใจ
 
๑๑. เป็นห่วงหมู่คณะ
          "...เราเป็นห่วงพระเณรที่มาอยู่อาศัยกับเรานี้ยิ่งกว่าเราห่วงเรา สำหรับเราเอง ไม่เห็นมีห่วงอะไรหวงอะไรทั้งนั้น แต่เกี่ยวกับพระเณรที่มาอาศัยอยู่กับเราแล้ว เราห่วงเราหวงมาก คำว่าหวงก็คือไม่อยากให้ความดีที่มุ่งมารักษาและรักษาแล้วนี้ เสื่อมลงไปหรือผิดพลาดประการใดทั้งนั้น คำว่าห่วงก็เป็นอารมณ์เกี่ยวกับเรื่องความผิดพลาดของพระเณรซึ่งมักมีอยู่เสมอ และกลัวจะไม่เจริญทางจิตใจ เราไม่เคยตายใจกับเพื่อนฝูงที่มาอยู่ด้วย เพราะเมื่อเรารับเรารับด้วยเหตุผลที่ควรรับ เมื่อรับแล้วก็ต้องทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์เต็มกำลังความสามารถ ส่วนจะสมบูรณ์ตามหลักธรรมหลักวินัยหรือไม่นั้นเราไม่กล้าอาจเอื้อม เพราะเป็นความละเอียดของหลักธรรมหลักวินัยอาจจะไม่รู้ทั่วถึงก็ได้ แต่เรื่องความรู้ความสามารถของเรามีเท่าไร เราทุ่มเทลงเพื่อหมู่เพื่อคณะตลอดมา ตั้งแต่วันเกี่ยวข้องกับหมู่เพื่อนในขั้นเริ่มแรกจนกระทั่งบัดนี้ เป็นเวลายี่สิบกว่าปี.."

          "... การอบรมสั่งสอนในด้านใดที่จะเป็นคุณเป็นประโยชน์ เป็นอุบายวิธีการแก้สิ่งไม่ดีทั้งหลายในจิตใจของผู้มาอาศัยอยู่ด้วย เราทุ่มเทลงเต็มกำลังความสามารถทุกแง่ทุกมุม เราไม่ได้ทำเล่นๆ ทำจริงทำจัง สั่งสอนจริงๆ เพราะกิเลสมีหลายประเภทที่ควรแก้และถอดถอน ประเภทที่รุนแรงทำให้จิตหวั่นไหวอยู่ตลอดเวลาก็มี ประเภทที่หมักหมมอยู่ลึกๆก็มี ประเภทที่แสดงอย่างออกหน้าออกตาเห็นได้อย่างชัดเจนจนถึงทำให้จิตให้กายไหวไปตามก็มี ผู้ปฏิบัติซึ่งเป็นนักบวชมุ่งต่ออรรถต่อธรรมด้วยการแก้กิเลสอยู่แล้ว จึงไม่ควรเห็นกิเลสประเภทต่างๆ ว่าเป็นของไม่สำคัญ พอที่จะนอนใจ ไม่คิดอ่านเรื่องสติปัญญาที่จะนำมาแก้สิ่งเหล่านี้ ซึ่งเป็นภัยต่อตนมาแต่กาลไหนๆ..."

          "...ฉะนั้น ขอให้ทุกท่านที่มาอยู่ในสถานที่นี่เพื่อการศึกษาอบรม จงรักษาเจตนาดั้งเดิมของตนไว้ให้สมบูรณ์ อย่าให้บกพร่อง ถ้าเจตนาอันนี้บกพร่อง ความประพฤติ การปฏิบัติตัวจะอ่อนแอลงไปกลายเป็นความท้อถอย ความรู้สึกจะคิดไปในแง่เป็นอกุศลและจะไม่เป็นมงคลแก่ตนและหมู่เพื่อน ตลอดครูบาอาจารย์ที่อยู่ร่วมกัน..."


หัวข้อ: Re: ข้อวัตรปฏิปทาในพ่อแม่ครูอาจารย์ - หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 11 มกราคม 2562 09:53:46


๑๒. ทุ่มเทสุดชีวิต
          "...ผมพยายามที่สุดที่จะให้ท่านที่มาอบรมศึกษาทั้งหลายได้รับความรู้ ความฉลาด ความเข้าอกเข้าใจในวิธีการประพฤติปฏิบัติ  ความเคลื่อนไหวไปมาทุกแง่ทุกมุม ถ้าเห็นว่าผิดพลาดจากหลักธรรมวินัยแล้ว  ผมรีบแนะนำสั่งสอนหรือดุด่าว่ากล่าวทันที เพราะถือว่า สิ่งนั้นคือความเป็นภัย การดุด่าว่ากล่าวจะหนักเบาขนาดไหน ไม่ปรากฏว่ามีภัยในการสอน การให้อุบายแก้สิ่งที่ผิดนั่นเลย เป็นคุณประโยชน์โดยถ่ายเดียว นอกจากผู้ฟังซึ่งเคยเชื่อกิเลสจนฝังนิสัยอยู่แล้ว อาจจะหลงกลอุบายของกิเลส พลิกแพลงความรู้สึกให้ผิดจากความมุ่งหมายของธรรม  และการแสดงไปอย่างอื่นเสีย  อันเป็นข้าศึกต่อธรรม และเป็นฝ่ายกิเลสเข้าโจมตีธรรมภายในตน ว่าท่านดุด่าว่ากล่าวด้วยเจตนาไม่ดีเป็นต้น ก็ช่วยไม่ได้..."

           "...นี่ก็ได้พยายามสอนหมู่สอนเพื่อนจนเต็มเหนี่ยว ผมไม่ได้สงสารผม ไม่ได้ห่วงใยผม  ยิ่งกว่าห่วงหมู่ห่วงเพื่อนนะ จงเห็นใจ หมู่เพื่อนนี่ ผมเอาใจใส่จริงๆ ในจิตของเราปฏิพัทธ์ และรักสงวนหมู่เพื่อนมาก ตาก็แหลม หูก็กางรับหมู่เพื่อนตลอดเวลา  อะไรๆว่าแล้วดุเล่า เพราะอันนั้นมันผิดนี่ จะเปิดโอกาสให้กิเลสมันเหยียบย่ำทำลายลูกศิษย์เราอยู่ได้ยังไง เราเป็นอาจารย์ก็บอกละสิ นั่นเหมือนกับว่า ช่วยตบออก ช่วยตีออก ปิดป้องให้ดีสิ อย่าเปิดตรงนั้น กิเลสจะต่อยตรงนั้น อย่าเปิดตรงนี้ นั่น เหมือนนักมวยเขาฝึกซ้อมมวยกัน ครูกับลูกศิษย์ฝึกซ้อมมวยกัน ครูต้องเตือนเสมอว่า อย่าเปิดตรงนั้นๆ พอครั้งที่สาม ครูก็เตะตูม พอเตะก็เตะ พอศอกก็ศอกเข้าไป พอหมัดก็หมัดเข้าไป พร้อมกับคำเตือนว่า อย่าเปิดตรงนั้น ในเวลาฝึกซ้อมกัน..."

           "...ครูมวยตี ครูมวยต่อย ครูมวยเตะ มันไม่ได้เจ็บเท่าคู่ต่อสู้ตบหรือต่อย คู่ต่อสู้ต่อย ดีไม่ดีตาย ครูนั้นตีบอกตีสอน เตะบอกเตะสอน แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังต้องเตือนบอก ฝึกซ้อมกันไปๆ เตือนบอกกันไปว่า อย่าเปิดตรงนั้น และเตะต่อยที่เผลอ พร้อมบอกว่า แน่ะ! บอกแล้วนะ ฝึกซ้อมกันไปๆ อย่าเปิดตรงนั้น  แล้วฝึกซ้อมกันไป พอครั้งที่สามก็ตูมเข้าไป อย่าเปิดตรงนั้น..."

           "...นี้มันก็ทำนองนั้นแหละ  ดุตรงนั้น ดุตรงนี้ ดุองค์นั้น ดุองค์นี้ ก็เหมือนกับอย่าเปิดตรงนั้นๆ นั่นเอง  เพราะไหวพริบปัญญาของเรามันไม่ทันกิเลส เห็นแต่กิเลสมันเหยียบหัว เตะโน้นเตะนี้ ทั้งศอกทั้งเข่า เรากลิ้งไปกลิ้งมา ยังเพลินหลับครอกๆอยู่ได้ ถูกกิเลสเตะเอาขนาดนั้น  มันก็น่าโมโหละสิ ผู้เป็นครูอาจารย์ฝึกอบรมน่ะ อย่าเปิดตรงนั้นๆ ก็ต้องว่าละสิ ทำไมองค์นั้นเป็นอย่างนั้น ทำไมองค์นี้เป็นอย่างนี้ แน่ะ! ก็เหมือนกับว่า อย่าเปิดตรงนั้น นั่นแล..."

๑๓. พลังธรรมอันแข็งกร้าว
          สำหรับผู้อื่นเมื่อได้ยินเทศนาธรรมของพ่อแม่ครูอาจารย์ เช่นนี้แล้ว จะรู้สึกอย่างไรไม่ทราบได้  แต่สำหรับผู้เขียนเอง ยอมรับอย่างไม่อายว่า “น้ำตามันพาลจะไหลพรากออกมา ด้วยความซาบซึ้งและตื้นตันใจ” ได้แต่ร่ำร้องอยู่ภายในใจว่า ไม่เสียชาติเกิดแล้วที่เราได้มาอยู่ใต้ร่มบารมีธรรมของพ่อแม่ครูอาจารย์  และหนึ่งเดียวที่เราจะทำได้ คือ เราจะขอปฏิบัติบูชาพระคุณท่านด้วยข้อวัตรปฏิปทาที่พ่อแม่ครูอาจารย์พาทำมานี้ อย่างสุดกำลังความสามารถเลยทีเดียว

        เพราะเหตุแห่งความที่ท่านเป็น "จอมปราชญ์" นี้เอง  องค์ท่าน จึงมีความลึกซึ้ง สุขุมคัมภีรภาพ ในอันที่จะปกป้องพระเณร ให้อยู่รอดปลอดภัย เพื่อความสงบร่มเย็นในการบำเพ็ญเพียรภาวนา  บรรดาคลื่นโลกธรรมที่หลั่งไหลโถมทะลักเข้ามายังวัดป่าบ้านตาด ตลอดจนมลพิษทางใจ อันจะเป็นเหตุกระทบกระเทือนจิตใจของพระเณรให้ขัดข้องเรื่องจิตภาวนา จะต้องมาปะทะกับองค์ท่านก่อน  และหลายสิ่งหลายอย่าง ถูกพ่อแม่ครูอาจารย์ ใช้พลังธรรมภายในอันแข็งกร้าว ตีโต้จนแตกกระจัดกระจายถอยร่นไปอย่างไม่เป็นขบวน

         กิจนิมนต์ไปทำบุญในที่ต่างๆไม่รับ (เว้นเฉพาะงานศพที่พระเณรไปปลงธรรมสังเวชได้)  กิจอื่นถ้าจำเป็นต้องไป  ก็ไปตามลำพังท่านองค์เดียว  (นี่พูดถึงสมัยที่ท่านกำลังเคี่ยวเข็ญพระเณรอย่างเต็มที่)  มีผู้จะนำไฟฟ้าเข้ามาภายในวัด ก็ไม่ให้เข้า  จะมาติดตั้งโทรศัพท์ให้ ก็ไม่เอา  จะมาสร้างกุฎิหรูๆให้  ก็ไม่ให้สร้าง  จะมาสร้างโบสถ์หลังงามๆให้  ก็ไม่ให้ทำ  ข้าวของเครื่องใช้เครื่องประดับ สิ่งอำนวยความสะดวกที่ไม่จำเป็น โต๊ะหรูๆ ตู้สวยๆ โซฟาแพงๆ ก็ถูกกีดกันออกไปหมด เปิดโล่งไว้ทางเดียว คือ ให้พระเณรได้ทำความเพียรภาวนากันอย่างเต็มที่ ไม่ให้มีอะไรมากวนจิตกวนใจ จนกลายเป็นพิษเป็นภัยขึ้นมา นอกเสียจาก เจ้าของจะก่อกวนตัวเองด้วยการคิดปรุงแต่งในแง่ที่ไม่ดี ขัดต่อหลักธรรมหลักวินัยเสียเอง  อันนี้ใครๆก็ช่วยไม่ได้

๑๔. สมรภูมิรบหฤโหด
            ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า วัดป่าบ้านตาด คือสมรภูมิรบห้ำหั่นกับกิเลสที่ดุเดือดเลือดพล่านอย่างที่สุด ที่คราคร่ำไปด้วยนักรบลูกศิษย์พระตถาคต ประเภททรหดเดนตาย  มือซ้ายเอาสมาธิเป็นพลังหนุน มือขวาเอาปัญญาเป็นดาบเพชร บุกตะลุยฟาดฟันกับกิเลส ชนิดที่ใครดีใครอยู่  ไม่ว่าจะเป็น ในทางเดินจงกรมก็ดี ในบัลลังก์สมาธิก็ดี  ในธุดงควัตร หรือในข้อวัตรปฏิบัติใดๆก็ดี    ประหนึ่งว่า  ถ้ากิเลสไม่ตาย ก็ให้เราตายเสียดีกว่า ภายใต้การกำกับดูแลของพ่อแม่ครูอาจารย์ ซึ่งเปรียบเหมือนครูมวยชั้นเยี่ยม  ที่คอยอุดช่องว่างช่องโหว่ให้กับลูกศิษย์อย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกัน ก็สอนท่าไม้ตายเด็ดๆ  ชนิดที่จะน็อคคู่ต่อสู้ได้  ให้ลูกศิษย์ได้ฝึกปรือ เพื่อเป็นอุบายปราบกิเลสให้อยู่หมัดให้จงได้

          ฝ่ายผู้เป็นศิษย์นั้นเล่า  เมื่อได้มาฝึกวิชากับพ่อแม่ครูอาจารย์  ที่เป็นปรมาจารย์แห่งยุค  ที่ไหน จะมายอมกิน ยอมนอน อยู่บนเขียงให้กิเลสที่ถือว่าเป็นศัตรูตัวร้ายกาจ มันสับมันยำอย่างง่ายๆ  ครูมวยบอกเตะเป็นเตะ บอกต่อยเป็นต่อย  แม้ไม่บอก ก็ยังอยากจะลุกออกไปเตะไปต่อยกับมันอยู่นั่นเอง   พระเณรวัดป่าบ้านตาดก็เป็นเหมือนอย่างนั้น  ช่วงที่มาศึกษาอยู่กับท่าน ความเพียรมันช่างอาจหาญเสียนี่กระไร บางองค์อดอาหารคราวหนึ่ง ๑๐ วันบ้าง  ๒๐ วันบ้าง  ๓๐ วันบ้าง  จนร่างกายผอมโซ  บางองค์อดนอนตลอดทั้งคืน หรือหลายๆคืน บางองค์นั่งสมาธิตลอดรุ่ง  บางองค์เดินจงกรมตลอดรุ่ง ต่างองค์ต่างก็เร่งทำความเพียรกันอยู่อย่างเงียบๆที่กุฏิของตน ไม่ไปสุงสิงกับใคร
 
          แม้ทำกิจวัตร ปัดกวาด ก็มีแต่เสียงปัดกวาดเท่านั้น  เสียงพูดคุยกันไม่มีเลย  จนโยมต่างถิ่นที่ไม่เคยมาวัดป่าบ้านตาด พอได้มาเห็น ต่างพากันสงสัยและไม่เข้าใจว่า  ทำไมพระวัดนี้จึงไม่ยอมพูดคุยกับญาติโยม ขยับจะถามอะไรสักหน่อย  ท่านก็เดินเลี่ยงหนีไปเสีย  และกับพระด้วยกันเองก็ไม่เห็นท่านคุยกัน  ต่างองค์ต่างทำกิจวัตรของตนอยู่อย่างเงียบๆ  ไม่ยอมพูดยอมจา  ญาติโยมบางคนนอกจากจะไม่เข้าใจแล้ว ยังอาจคิดเลยเถิดไปว่า  พระวัดนี้ดูเหมือนจะไม่ค่อยอยากรับแขก และดูเหมือนจะไม่ค่อยถูกกันหรืออย่างไร  อันที่จริง ที่พระท่านไม่พูดคุยกับญาติโยม และไม่คุยกันเองด้วย  เพราะท่านแอบซุ่มฝึกวิชามวยอยู่อย่างลึกลับภายในใจของท่าน คือการกำหนดจิตไม่ให้เผลอสติไปกับอารมณ์ภายนอกนั่นเอง หากท่านไม่เข้มงวดกวดขันกับตัวเองเช่นนั้น  มันก็ยากที่จะรักษาสติให้มั่นคงอยู่ได้

          สิ่งหนึ่งที่พ่อแม่ครูอาจารย์ย้ำหนักย้ำหนาก็คือ การที่ไม่ให้พระเณรคลุกคลีกัน ไม่ว่าจะเป็นกับญาติโยม หรือกับพระเณรด้วยกันเอง  ไม่ให้ไปมาหาสู่กันโดยไม่จำเป็น  ให้ปฏิบัติตามหลักแห่งสัลเลขธรรม ให้ต่างองค์ต่างอยู่ด้วยความสงบ ปรารภความเพียรภาวนาอยู่ในที่ของตน  แม้ในการพบปะพูดคุยกับญาติโยม  ก็อนุญาตให้แต่เฉพาะพระเวรประจำศาลาที่ได้รับการฝึกแล้วเท่านั้น  และถ้าจำเป็นต้องพบปะกับญาติโยม  ก็ให้มาพบปะสนทนากันในในที่เปิดเผย คือที่บริเวณศาลาเท่านั้น  หากเป็นโยมผู้หญิง ก็ต้องมีโยมผู้ชายอยู่ด้วย และรู้ภาวะเดียงสา
  
          เคยมีพระองค์หนึ่งไปพูดคุยกับโยมผู้หญิงที่ใต้ถุนศาลาตามลำพัง    จะด้วยเหตุบังเอิญหรืออย่างไรก็ไม่ทราบได้  พ่อแม่ครูอาจารย์มาพบเข้าพอดี  ธรรมดาผู้หญิงย่อมถือว่าเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์อยู่แล้ว  ในธรรมท่านก็สอนให้ระมัดระวังอย่างยิ่งยวด  ถึงขนาดว่า ไม่ให้เห็นเสียเลยนั่นแหละ เป็นดี   ถ้าจำเป็นต้องเห็น ก็อย่าพูดด้วย ถ้าจำเป็นต้องพูดด้วย ก็ให้มีสติอย่าให้ผิดธรรมผิดวินัย
 
๑๕. อสรพิษร้าย
          การที่พระพูดคุยกับโยมผู้หญิง ก็เป็นเฉกเช่นไปเล่นกับอสรพิษร้าย  พระบรมศาสดาจึงบัญญัติวินัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างเข้มข้น ด้วยมุ่งหวังจะปกป้องพระเณรมิให้เกิดอันตราย  เมื่อพ่อแม่ครูอาจารย์มาเห็นพระองค์นั้น กำลังพูดคุยอยู่กับโยมผู้หญิง ในลักษณะที่ล่อแหลมต่อการผิดพระวินัย คือ อยู่ด้วยกันสองต่อสอง แม้จะมีพระองค์อื่นอยู่ห่างๆ พอมองเห็นกันได้ คือ ไม่ลับตา  แต่ว่าพูดคุยอะไรกันไม่มีใครได้ยิน ก็เข้าข่ายเป็นที่ลับหู  การกระทำเช่นนี้ ก็เป็นเหมือนกับการอาราธนาเทศน์ดีๆนี่เอง

           "...ท่านองค์นี้ ชอบประจบประแจงญาติโยม มันมีสมบัติอะไรของท่านนักหนา  อยู่ที่ใต้ถุนศาลานั่น..."   ถ้าเรื่องไม่เลวร้ายนัก ท่านก็จะคาดโทษไว้ก่อน  ถ้าเป็นเรื่องรุนแรง ก็ถึงขึ้นขับไล่ออกจากวัดไปเลย  อุบายทรมานพระเณรของพ่อแม่ครูอาจารย์นั้น ต้องยอมรับว่า สุดยอดจริงๆ  พระองค์นั้น ก็ถือโอกาสขึ้นไปที่กุฏิท่าน ไปกราบเรียนแก้ตัวว่า

           "ที่ไปคุยก็เพราะว่า โยมผู้หญิงเป็นคนบ้านเดียวกัน"

           เพราะความกลัวว่าท่านจะลงโทษหนัก  ก็เลยถูกท่านขนาบเข้าให้อีก

           "...ท่านองค์นี้ ผิดแล้วให้รู้จักผิด อย่ามาแก้ตัว  แม้ในพรรษาก็กระเด็นออกจากวัดได้นะ  คนในบ้านตาดก็เป็นคนบ้านเดียวกับผมทั้งนั้น  ท่านเคยเห็นผมไปคุยกับใครแบบนั้นหรือ..."   เจอเข้าไปแบบนี้ พระองค์นั้นก็ได้แต่นั่งก้มหน้านิ่ง ยอมรับผิดแต่โดยดี

          อันที่จริง หากครูบาอาจารย์ตำหนิ ก็ต้องยอมรับผิด อย่างเดียวเท่านั้น  การแก้ตัวนั้น กลับเป็นการทำร้ายตัวเองหนักเข้าไปอีก   เพราะนอกจากเป็นการไม่เชื่อฟังคำสอนแล้ว  ยังเท่ากับไปเถียงท่านอีกต่างหาก  แต่ความยอดเยี่ยมของพ่อแม่ครูอาจารย์ ไม่หยุดเพียงแค่นั้น  พอรุ่งเช้าอีกวันหนึ่ง  พระองค์นี้จะเข้าไปทำข้อวัตร อยู่ใกล้ๆท่าน เช่น การรับประเคนอาหาร หรือจัดอาหารถวายท่าน ปรากฏว่า พ่อแม่ครูอาจารย์ไล่หนีไม่ยอมให้เข้าใกล้อีกเลย  กว่าจะทำความดีจนลบล้างความผิดของตัวเองได้ คือ ท่านยอมให้มาปรนนิบัติรับใช้ใกล้ชิดได้อีก ต้องใช้เวลานานถึงสองสามปีทีเดียว นี่ละ!! อุบายทรมานศิษย์ของพ่อแม่ครูอาจารย์

๑๖. ความน่ารักของพระวัดป่าบ้านตาด
         นี่! ถ้าใครไม่โดนเอง ก็คงไม่รู้  บรรยากาศในตอนที่พ่อแม่ครูอาจารย์กำลังดุพระ นั้นน่ะ!!   มันเป็นบรรยากาศที่บรรยายไม่ถูกเชียวละ  แล้วการดุพระของพ่อแม่ครูอาจารย์  ก็มีหลากหลายรูปแบบ ถ้าพูดแบบภาษาสมัยใหม่ ก็ต้องบอกว่า มีหลายเวอร์ชั่น  ตามแต่ท่านจะเลือกใช้เวอร์ชั่นไหน  เพื่อให้เหมาะกับเหตุการณ์ และบุคคล

        ๑.ดุแบบธรรมดาๆสบายๆ   ๒.ดุแบบข่มขู่หรือปรามไว้ก่อน   ๓.ดุแบบเข่นหนักเอาจริง  สองแบบแรกไม่สู้กระไรนัก  แต่แบบที่ ๓ นี่สิ  ใครเจอเข้าไป ดีไม่ดี อาจช็อคเอาก็ได้ โห!! มันเหมือนกับจะหยุดโลกทั้งโลกไว้ชั่วขณะทีเดียว    แต่มันก็เป็นเรื่องประหลาดไม่ใช่น้อย  พอผ่านพ้นเหตุการณ์ที่เปรียบเหมือนคอขาดบาดตายเช่นนั้นไปแล้ว  กลับพลิกผันบรรยากาศกลายเป็นความตลกขบขันไปได้

         ความน่ารักของพระวัดป่าบ้านตาด ก็อยู่ตรงนี้ คือ ถ้าพ่อแม่ครูอาจารย์เทศน์ว่าใคร จะเทศน์หนักเทศน์เบาขนาดไหน  ท่านก็ไม่ซ้ำเติมกัน ต่างเห็นอกเห็นใจกัน และก็จำไว้เป็นบทเรียน  เพราะส่วนใหญ่ก็จะโดนกันแทบทุกองค์  ขึ้นอยู่กับว่า วันไหนใครจะเป็นผู้อาราธนาเทศน์เท่านั้น  มิหนำซ้ำ ยังมีการสัพยอกกันอีกต่างหาก  ในรายที่สนิทกัน

           "...แหม!  วันนี้ได้ฟังเทศน์เด็ด ท่านนี่ ฝีมือในการอาราธนาเทศน์ยอดเยี่ยมจริงๆ ผมไม่ค่อยได้ยินพ่อแม่ครูอาจารย์เทศน์เด็ดๆอย่างนี้มานานแล้ว วันนี้ถึงใจมาก  วันหน้าเอาอีกนะท่านนะ  ถือเสียว่า ท่านเทศน์ด่ากิเลสก็แล้วกัน ไม่ได้ด่าเราสักหน่อย”

           "...เฮอะ! ท่านไม่ต้องมาทำเป็นพูดดีไป  ลองเป็นท่านโดนบ้างสิ  จะถึงใจไหม  ท่านก็ระวังตัวไว้เถอะ วันนี้ตาผม วันหน้าอย่าให้เป็นตาท่านมั่งก็แล้วไป  ถึงพ่อแม่ครูอาจารย์จะด่ากิเลส  แต่กิเลสมันอยู่ในใจเรา  เราก็พลอยเจ็บไปด้วย  แถมอายโยมอีกต่างหาก..."
 
๑๗. แจกอาหาร ต้องให้เป็นธรรม
          แล้ววันหนึ่ง องค์ที่ไปสัพยอกเขาก็เจอเข้ามั่ง  เรียกว่า กรรมสนองทันตาเห็น  ปกติในเวลาแจกอาหารตอนก่อนฉันเช้า สมัยนั้น ยังใช้ศาลาชั้นบน เป็นที่ฉันภัตตาหารอยู่  พระทุกองค์ต้องช่วยกันแจกอาหาร บางองค์ก็ตักกับข้าวใส่ถ้วย แล้วจัดใส่ถาดแยกเป็นชุดๆส่งให้พวกโยมที่มาพักปฏิบัติธรรมในโรงครัวบ้าง ตามกุฏิต่างๆบ้าง  พ่อแม่ครูอาจารย์ ท่านดูแลไปถึงพวกญาติโยมที่มาพำนักปฏิบัติธรรมภายในวัดด้วย  ผู้ที่จะจัดอาหารเข้าไปในโรงครัวจะทำสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้เด็ดขาด  เรียกว่า ต้องรู้จักจัดอาหารที่เขาจะรับประทานได้ด้วย

           แล้วพระเณรแจกอาหารก็จะทำสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้เช่นกัน  ต้องมีสติปัญญาอยู่ในนั้น  อันใดมีเยอะก็แจกเยอะ  อันใดมีน้อยก็แจกน้อย  ถ้าหากมีไม่พอแจกได้อย่างทั่วถึง ก็ให้สลับกันรับ  เฉลี่ยกันไป  อาหารจะประณีตดีเลวอย่างไร  ก็ให้แจกกันให้ทั่วถึงและเป็นธรรมแก่ทุกคน  หากองค์ใดคอยจ้องจะเอาแต่ของดีๆ ส่วนของไม่ดีเอาไปให้หมู่คณะ  ตัวเองเอาแต่ของดีๆ   ไม่นาน เดี๋ยวสายตาของพ่อแม่ครูอาจารย์ก็จะแวบไปหา  ถ้ายังไม่รู้ตัวประเดี๋ยวก็อาจได้ฟังเทศน์เด็ดๆ  สมัยนั้น พระวัดป่าบ้านตาดทุกองค์  ไม่ว่าจะพรรษาขนาดไหน  ต้องช่วยกันเดินแจกอาหารทั้งหมด  ไม่มีใครกล้านั่งเฝ้าบาตรรอให้หมู่พวกนำอาหารมาให้  จะมีก็เฉพาะพระเถระผู้ใหญ่ ที่นั่งรองจากพ่อแม่ครูอาจารย์เท่านั้น

๑๘. สายตาแบบนี้...ต้องมีเรื่อง
          เป็นที่รู้กันว่า  ถ้าในยามปกติ พ่อแม่ครูอาจารย์จะมองใคร  ท่านจะไม่ให้ผู้นั้นได้เห็นสายตาของท่านเลย  คือจะไม่มีทางรู้ว่าท่านมองดูอยู่  นอกจากจะมีอะไรผิดปกติ หรือท่านมีเจตนาอะไรสักอย่าง ท่านจึงจะมองให้รู้  ให้ได้เห็นสายตาของท่าน ถ้าเห็นแววตาดุๆจ้องมองมาเมื่อไร พระเณรจะรู้ทันที  ว่าตัวเองกำลังทำอะไร หรือคิดอะไรที่ไม่ดีอยู่หรือเปล่า  ถ้าไม่รีบกลับลำ  ประเดี๋ยวก็จะเจอเทศน์แบบเด็ดๆ
  
           ดังเช่น บางองค์เดินแจกอาหารไป หากสายตาเหลือบไปมองสาวๆที่นั่งอยู่ใกล้ๆ  ไม่นานสายตาของพ่อแม่ครูอาจารย์จะแวบไปหาทันที  และไม่ใช่สายตาแบบชื่นชม แต่เป็นสายตาแบบ...   บอกไม่ถูก อยากรู้ต้องเจอเอง   พระองค์ที่สายตาไม่อยู่กับร่องกับรอย จะรู้สึกร้อนวูบวาบขึ้นทันที  และไม่กล้าที่จะส่งส่ายสายตาไปแอบดูใครอีกเลย  นี่ละ! ความชาญฉลาดของพ่อแม่ครูอาจารย์  ไม่เพียงแต่การสอนด้วยคำพูดเท่านั้น  แม้สายตาของท่านก็ยังใช้สอนพระได้  และได้ผลดีเกินคาดอีกด้วย

          ก็ต้องขออภัยต่อญาติโยมผู้หญิงไว้ก่อน  บางทีอาจจะพูดความจริงเกินไปบ้าง   แต่จะทำอย่างไรได้  ความจริงก็คือความจริง  ต้องยอมรับกันอย่างเดียวเท่านั้น  ใครจะปฏิเสธความจริงได้  ขืนปฏิเสธ ก็ไม่ใช่ธรรมน่ะสิ   ก็คู่ต่อสู้ที่ร้ายกาจที่สุดของพระหนุ่มเณรน้อย ถ้าไม่ใช่สาวๆ แล้วมันคืออะไรเล่า  ดังนั้น ถ้าพระเห็นสาวๆสวยๆ  หากสติปัญญาเกิดไม่ทันกับสิ่งที่ตาเห็นแล้ว  มันก็เผลอเพลินไปบ้างนั่นแหละ  ถูกพ่อแม่ครูอาจารย์ขนาบเอาบ้าง  ก็ถือว่าโชคดีแล้ว  มิฉะนั้น  อาจถูกเสือบ้าน (ผู้หญิง) ตะปบเอา เจ็บกว่านี้อีกตั้งเป็นร้อยเท่า

๑๙. หิ้วหูพระหูเดียว
            คราวนี้กรรมก็มาตามสนองพระองค์ที่ไปสัพยอกเขาไว้ ขณะที่พระองค์นั้นกำลังถือหม้อแกงเดินแจกอาหารอยู่นั้น เสียงพ่อแม่ครูอาจารย์ก็ดังขึ้นลั่นศาลาเลยทีเดียว ท่ามกลางผู้คนมากมาย

          "...ใครไปหิ้วหูพระองค์นี้หูเดียวให้ดูหน่อยซิ  หิ้วหูพระองค์นี้หูเดียวดูซิจะเป็นยังไง..."

            พระองค์ที่ถูกว่านั้น  ยังยืนงงทำอะไรไม่ถูก  ไม่เข้าใจความหมายว่า อยู่ๆทำไมจะมาหิ้วหูท่านหูเดียว  แล้วก็ยังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง  ที่แท้พระองค์นั้นกำลังใช้มือข้างซ้ายถือหูหม้อหูเดียว  โดยใช้มือข้างขวาถือทัพพี กำลังตักแกงใส่บาตรพระ  ขณะที่ท่านกำลังยืนงงอยู่ นั้น  พระอีกองค์ต้องเข้ามาช่วยกู้สถานการณ์ โดยเข้าไปถือหม้อแกงแทนท่าน แต่ใช้สองมือจับหูหม้อแกงทั้งสองหู แล้วเอาหม้อแกงวางกับพื้น จึงค่อยเอาทัพพีตักแกงใส่บาตร พอตักแล้ว ก็ยกหม้อแกงเดินแจกอาหารต่อไป แต่ใช้สองมือจับหูหม้อสองหู เวลาจะตักใส่บาตร ก็วางหม้อแกงลงกับพื้นเสียก่อน  เรื่องก็เลยยุติไป แต่พระองค์ที่โดนเทศน์  รู้สึกว่า  วันนั้น ทำเอาฉันข้าวแทบไม่ลงเลยทีเดียว

          แล้วพระองค์ที่เคยโดนเทศน์ก่อนหน้านี้ ก็เข้ามาปลอบใจ แต่จะปลอบให้สบายเบาใจ หรือจะปลอบให้เครียดหนักใจเข้าไปอีก  ก็ไม่รู้ได้

           “...เป็นยังไงบ้างท่าน  ผมเห็นท่านวันนี้แล้ว ผมสงสารแทบขาดใจ ถึงกับยืนเซ่อทำอะไรไม่ถูกเลยเนอะ คงฉันข้าวไม่ลงสินะ เห็นฉันแป๊บเดียวลุกแล้ว  พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านด่ากิเลสหร๊อก ไม่ได้ด่าเราสักหน่อย  ไม่เห็นจะต้องทำหน้าซีดซะขนาดนั้น   ผมว่าท่านนี่อาราธนาเทศน์เก่งกว่าผมอีกนะ  ผมยังโดนใต้ถุนศาลา ไม่ค่อยมีคนเห็นเท่าไร  แต่ท่านเล่นกลางศาลาเลยเด็ดมาก  ท่านนี่แน่มากจริงๆ...”

๒๐. เทศน์ระดับ“ตำนาน”
            ความเป็นจอมปราชญ์ของพ่อแม่ครูอาจารย์เช่นนี้นี่เอง  ทำให้พระเณรต้องคอยระวังตัวอยู่ทุกฝีก้าว ถ้าใครมัวประมาทเลินเล่อ ทำอะไรแบบเซ่อๆซ่าๆไม่คิดอ่านไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อน  ก็มักจะ เจอเทศน์เด็ดๆชนิดที่ไม่คาดฝันอย่างนี้เสมอ ดังนั้น การเทศน์ของพ่อแม่ครูอาจารย์  ไม่ว่าจะเป็นการเทศน์ตำหนิ ติชม ท่านผู้ใด หรือ สั่งเสียเรื่องราวใดไว้อย่างไร  ด้วยเหตุด้วยผลประการใด ก็จะกลายเป็น “ตำนาน” ฝังอยู่ในความทรงจำของพระวัดป่าบ้านตาดอย่างไม่มีวันลืมเลือน ส่วนใครจะสามารถถือเอาประโยชน์ได้มากได้น้อย ก็อยู่ที่กำลังสติปัญญาของแต่ละองค์แต่ละท่านจะพิจารณาเห็นสมควร

          เทศนาธรรมของพ่อแม่ครูอาจารย์ได้กลายเป็นตำนานอันทรงคุณค่ายิ่ง  เปรียบเหมือนลายแทงชี้บอกขุมทรัพย์อันประเสริฐ คือ พระนิพพาน  เพื่อกุลบุตรผู้มาสุดท้ายภายหลัง จักได้ถือเป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อความหลุดพ้น อย่างไม่มีทางจะผิดพลาดคลาดเคลื่อน

          ความละเอียดลออในคำสั่งคำสอนของพ่อแม่ครูอาจารย์นี้  ยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือนได้ในยุคปัจจุบัน ความควบคุมดูแลเอาใจใส่ต่อการปฏิบัติของพระเณรเพื่อไม่ให้ผิดพลาดเสียหายนั้น พ่อแม่ครูอาจารย์ได้ทุ่มเทความอุตส่าห์พยายามอย่างเต็มกำลังความสามารถเลยทีเดียว และด้วยอุบายอันแยบยลในอันที่จะทำให้พระเณรตื่นตัว ตั้งอกตั้งใจประกอบความพากความเพียร และจะเป็นด้วยบารมีธรรมขององค์ท่านหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ ทำให้ใครๆก็อยากจะเข้าใกล้องค์ท่าน  อยากที่จะทำอะไรให้ถูกใจท่าน อยากให้ท่านชื่นชม

๒๑. แรงบันดาลใจ
          เป็นเรื่องแปลกแต่จริง  จะว่าเป็นแรงบันดาลใจจากอะไรหรืออย่างไรไม่ทราบได้ แต่ทุกองค์จะเป็นเหมือนๆกัน   พระเณรในวัดป่าบ้านตาด ถ้าได้ทำอะไรต่อหน้าพ่อแม่ครูอาจารย์ นี่นะ  จิตใจมันคึกคัก บอกไม่ถูก  บางทีก็ดูเหมือนจะกล้า  แต่บางทีก็ดูเหมือนจะกลัว  ขึ้นอยู่กับว่า พ่อแม่ครูอาจารย์จะแสดงกิริยาตอบรับแบบไหน  พระต้องคอยสังเกตให้ดี  และทำให้ถูกธรรมท่านด้วย  ถ้าทำผิดธรรมปั๊บ  สถานการณ์อาจพลิกผันไปในทันที  บางทีเห็นท่านกำลังพูดคุยกับญาติโยมด้วยสีหน้า ยิ้มแย้มแจ่มใส   แต่พอเห็นพระเณรกระทำไม่ดี หรือไม่อยู่ในร่องในรอยเท่านั้น  ก็หันไปกราดเกรี้ยวใส่พระเณรอย่างดุเดือดเข้มข้น ทำเอาญาติโยมพระเณรตั้งรับแทบไม่ทัน

          ก็อย่างที่บอกไว้แล้วก่อนหน้านี้ว่า   การดุพระของพ่อแม่ครูอาจารย์มีหลายเวอร์ชั่นให้เลือกใช้  แล้วแต่ท่านจะเลือกใช้เวอร์ชั่นไหน เพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์  พอดุเสร็จ  ก็หันกลับไปพูดคุยกับญาติโยมเหมือนเดิม  เหมือนกับไม่เคยดุด่าว่ากล่าวใครมาก่อนเลย  ทำเอาญาติโยมตกตลึงพรึงเพริดไปตามๆกัน

          ในยามที่พระกำลังทำข้อวัตรปฏิบัติอย่างขยันขันแข็ง  หรือทำอะไรที่ดีๆอยู่   ยิ่งนึกอยากให้พ่อแม่ครูอาจารย์มาเห็น ไม่ใช่ว่า พระอยากจะทำเพื่ออวดท่าน  แต่มันเป็นสัญชาติญาณลึกลับภายในใจ  แม้ไม่อยากอวด แต่มันก็อยากให้ครูบาอาจารย์ได้เห็นอยู่นั่นแหละ    แต่พ่อแม่ครูอาจารย์ ก็สุดยอดเอาซะจริงๆ  ยิ่งอยากให้ท่านเห็น  ท่านยิ่งไม่เหลือบตาแลดูสักที  บางทีไปทำข้อวัตรอยู่ใกล้ๆท่าน  ถ้าทำไม่ผิด  ท่านก็วางตัวเหมือนมีท่านอยู่องค์เดียวในโลก  ไม่สนใจกับพระที่อยู่ใกล้ๆเลย

          แต่อีตอนที่ทำอะไรผิด  หรือคิดอะไรที่ไม่ค่อยจะดีนี่สิ   เป็นส่งสายตาแวบมาทุกครั้ง  ยิ่งถ้าแอบทำอยู่ตามกุฏิ เช่น จับกลุ่มคุยกัน ก็ต้องมีบ้างนั่นแหละ  ไม่นานก็มักจะเจอองค์ท่านมาเยี่ยมแบบไม่รู้ตัว   เพราะพ่อแม่ครูอาจารย์เดินตรวจวัดวันละหลายรอบ ทั้งเช้า สาย บ่าย เย็น ค่ำ แถมบางวันมีรอบดึก  พอพระเณรได้ยินเสียงฝีเท้า  หรือเสียงกระแอม หรือเห็นแสงไฟฉายเท่านั้น  พระวัดป่าบ้านตาดจะสัมผัสได้เร็วมาก  และรู้ด้วยสัญชาติญาณทันทีว่า  นั่น!  พ่อแม่ครูอาจารย์มาแล้ว  เท่านั้นแหละ  เท้าไวกว่าความคิด  ต่างองค์ต่างขยับหายวับไปในทันที  ใครมาทางไหนก็ไปทางนั้น  โธ่!  ก็สถานการณ์อย่างนั้น  ใครจะกล้าอยู่เผชิญหน้ากับพ่อแม่ครูอาจารย์ได้

         จนบางครั้ง พ่อแม่ครูอาจารย์ ต้องได้เทศน์ปลุกปลอบใจว่า

          “ การไปอยู่กับครูบาอาจารย์อย่าได้กลัวท่านจนเกินเหตุเกินผล  จนถึงกับอยู่ไม่เป็นสุข ไม่เป็นอันทำอะไร จงกลัวในสิ่งที่ควรกลัว และจงกล้าในสิ่งที่ควรกล้า   ครูบาอาจารย์จะดุจะว่า ก็มีขอบเขตเหตุผลแห่งอรรถแห่งธรรมเป็นเครื่องชี้แนะ  มิใช่จะดุจะว่าเอาตามอำเภอใจ ดังนั้น ทุกท่านที่มาศึกษาอบรมที่นี่ ขอให้อยู่อย่างสบาย  อยู่อย่างเป็นผาสุก   จงกลัวใจของตัวเองที่คิดปรุงแต่งไปในแง่ที่ไม่ดี และสร้างพิษสร้างภัยให้กับตัวเอง ให้มากเสียยิ่งกว่าการกลัวครูบาอาจารย์อย่างไม่มีเหตุมีผล ”

           ครูบาองค์หนึ่ง ท่านอดอาหาร และพยายามเดินจงกรมตั้งแต่เช้า ไปจนได้หลายชั่วโมงทีเดียว   ตอนนั้นก็ใกล้เวลาที่พ่อแม่ครูอาจารย์จะเดินตรวจวัด ท่านก็ตั้งหน้าตั้งตาเดินจงกรมไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเหน็ดเหนื่อยปวดเมื่อยจนทนแทบไม่ไหว ท่านก็สู้อุตส่าห์ฝืนทนเดินต่อไป  อันที่จริง ท่านก็ตั้งใจทำความเพียรตามปกติของท่านนั่นแหละ  ก็ไม่ได้คิดว่าจะทำเพื่ออวดครูบาอาจารย์ หรืออยากให้ท่านมาเห็น  แต่มันก็เป็นอะไรที่บอกไม่ถูก  ถึงแม้ไม่ได้เจตนาอย่างนั้น  แต่ส่วนลึกของหัวใจมันหากมีอยู่นั่นแหละ

          ก็อุตส่าห์เดินมาแต่เช้าสี่ห้าชั่วโมงแล้ว  ถ้าให้พ่อแม่ครูอาจารย์ได้เห็นสักนิด ก็คงจะดีไม่น้อย  เพราะใกล้เวลาที่ท่านจะมาแล้ว   เหมือนกับว่า  ถ้าพ่อแม่ครูอาจารย์ได้มาเห็นแล้ว  มันหากทำให้มีกำลังใจเพิ่มขึ้นอีกอักโขอักขัง ประมาณนั้น     แต่ทว่า ก็ยังไม่มีวี่แววว่า พ่อแม่ครูอาจารย์จะมาสักที   สุดท้ายทนไม่ไหวก็ขึ้นกุฏิคิดว่า จะพักผ่อนสักหน่อยก่อน  พอขยับตัวลงนอนไม่ทันไร ก็ได้ยินเสียงฝีเท้าไม่ทราบว่า ใครเดินมา  พอได้ยินเสียงกระแอมเท่านั้น พระองค์นั้นก็ลุกพรวดพราดขึ้นมานั่งทันทีอย่างที่ตัวเองก็ไม่คาดฝันว่า จะลุกได้รวดเร็วปานนั้น ในใจท่านก็ร้องโอดครวญ

            “โธ่! อุตส่าห์เดินจงกรมอยู่ตั้งเป็นหลายชั่วโมง ก็ไม่เห็นพ่อแม่ครูอาจารย์มาสักที  พอขยับจะนอนพักผ่อนสักแป๊บหนึ่ง  ท่านก็มาได้จังหวะพอดี”

อันที่จริง พระท่านจะนอนต่อไปก็ได้ ไม่มีใครบังคับให้ท่านต้องลุกขึ้นมานั่ง  และไม่มีใครบังคับให้ท่านเดินจงกรมอยู่ตั้งห้าหกชั่วโมง  แต่อย่างที่บอก มันหากเป็นธรรมชาติเป็นเอง  มาอยู่กับครูบาอาจารย์ชั้นนี้  ใครจะไปยอมให้พ่อแม่ครูอาจารย์มาเห็นตัวเองกำลังนอนกรนคร่อกๆอยู่  ทั้งที่ไม่ใช่เวลานอน  ถึงแม้จะไม่ได้นั่งจริง แต่ให้พ่อแม่ครูอาจารย์เห็นในท่านั่ง  ก็ยังดีกว่าให้ท่านเห็นในท่านอน

๒๒. กลัวพ่อแม่ครูอาจารย์ยิ่งกว่ากลัวงู
             แต่ใครๆก็สู้ครูบาองค์นี้ไม่ได้ ท่านสร้างวีรกรรมดังไปทั่ววัดเลยทีเดียว  ตามปกติท่านจะเป็นคนกลัวงูอย่างที่สุด  ไม่เคยจับงูมาก่อนในชีวิต  วันนั้นจะเป็นโชคดีของท่านหรืออย่างไร บันดาลให้ท่านเข้าไปทำข้อวัตรปัดกวาดในบริเวณกุฏิของพ่อแม่ครูอาจารย์  ทันใดนั้น  ครูบาก็ได้ยินเสียงพ่อแม่ครูอาจารย์เรียกอยู่บริเวณทางจงกรม

           "เฮ๊ย!!  พระมานี่"  

            ท่านก็รีบวิ่งเข้าไปทันที มือก็ถือไม้ตาดติดไปด้วย  พอไปถึงก็เห็นพ่อแม่ครูอาจารย์ ชี้ไปที่งูตัวหนึ่งกำลังเลื้อยออกมาจากป่า  

            "นั่นงู จับไปปล่อย"

             พอได้ยินคำสั่งเท่านั้น ครูบาลืมหมดว่า ตัวเองกลัวงู   หรืออาจจะกลัวพ่อแม่ครูอาจารย์มากกว่าก็ไม่ทราบได้  มือเท้ามันไปเอง  วิ่งเข้าไปเอาไม้ตาดกดที่หัวงู เอามือกำที่คองู กำจนแน่นเลยทีเดียว  งูมันก็เอาลำตัวพันแขนครูบาเข้าให้อีก  ครูบารู้สึกขยะแขยงอย่างบอกไม่ถูก  รีบวิ่งมาที่โรงต้มน้ำร้อน เพื่อจะเอางูใส่ปี๊บ  พร้อมกับร้องเรียกให้หมู่พวกมาช่วย  พระก็เข้ามาช่วยกัน

           "โห! นี่มัน งูเห่าตัวเท่าแขนเชียวนะท่าน"  ครูบาพอได้ยินคำว่า “งูเห่า” ซึ่งเป็นเจ้าพ่อแห่งอสรพิษร้าย  ความกลัวไม่รู้ว่า แล่นมาจากไหน บันดาลให้กำคองูแน่นเข้าไปอีก  จนมันเกือบตาย มิหนำซ้ำมือยังแข็ง ง้างออกเองไม่ได้  ต้องให้หมู่พวกที่จับงูเป็น เข้าไปช่วยแกะออกทีละนิ้ว  ค่อยๆเอาลำตัวงูที่พันแขน หย่อนใส่ในปี๊บ   แล้วค่อยเอาหัวมันใส่เข้าไป เอาผ้าหุ้มปิด เอายางในรถจักรยาน มัดผ้าปิดปี๊บเอาไว้ กว่าจะเอางูใส่ปี๊บได้ เล่นเอาครูบาเหงื่อแตกพลั่ก หน้าซีดเผือดเลยทีเดียว  และอีกเช่นเคย พอบรรยากาศแห่งความหวาดเสียวผ่านไปแล้ว  ก็กลายเป็นบรรยากาศแห่งความตลกขบขันเข้ามาแทน

           "แหม! ครูบานี่สุดยอดจริงๆ  ไหนว่ากลัวงู จับงูไม่เป็น  วันนี้เล่นจับงูเห่าเลยนะเนี่ย  ต่อไปถ้าเจองู ไม่ต้องไปตามผมไปจับให้อีกล่ะนะ  ฝีมือจับงูของผม เทียบชั้นครูบาไม่ได้แล้ว"

            "นี่!  ท่าน ผมไม่ได้ตั้งใจจะจับมันหรอกนะ  แต่พอได้ยินคำสั่งพ่อแม่ครูอาจารย์เท่านั้น ไม่รู้มันทำไปได้ยังไง  ผมก็ยังงงอยู่เนี่ย  นึกว่าตายแล้วเกิดใหม่เถอะนะ ท่าน  ถ้าปกติธรรมดา  จ้างผมก็ไม่กล้าไปจับมันแหละ"


หัวข้อ: Re: ข้อวัตรปฏิปทาในพ่อแม่ครูอาจารย์ - หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 11 มกราคม 2562 09:56:33


๒๓. กลัวแต่จะไม่ได้อยู่
              จะว่าไปแล้ว พระวัดป่าบ้านตาด ในยุคสมัยนั้น ไม่ค่อยได้พูดคุยกันนัก  เวลาทำข้อวัตร เจอกันก็แค่มองหน้ากันเป็นการทักทาย หรือยิ้มให้กันบ้างเท่านั้น  เพราะต่างฝ่ายต่างก็มุ่งรักษาข้อวัตรภายในของตัว นั่นคือการกำหนดสติอยู่ภายใน ไม่ให้พลั้งเผลอ  ส่วนข้อวัตรภายนอก สมัยนั้น มี การปัดกวาดลานวัด  เช็ดถูศาลาขัดด้วยกะลามะพร้าว  การโยกน้ำ  เข็นน้ำ ใส่ตุ่มล้างบาตร ใส่ส้วม ล้างส้วม ท่านสามัคคีพร้อมเพรียงกันทำแบบไม่มีใครเห็นแก่ตัว  เรียกว่า เอากันจนเหงื่อท่วมทุกวันเลยทีเดียว  องค์หนึ่งโยกน้ำเหนื่อย  อีกองค์ก็เข้าไปผลัดเปลี่ยน
 
            “ครูบาโยกนาน เหนื่อยแล้ว ให้ผมโยกแทนบ้าง”
 
             ก็ผลัดเปลี่ยนกันโยก  ผู้ที่ไม่ได้โยกน้ำ  ก็ไปช่วยกันเข็นรถน้ำไปใส่ส้วม  ก็มีทั้งรถเล็กขนาดบรรจุ ๖ ปี๊บน้ำมันก๊าซ  และรถใหญ่ขนาดบรรจุ ๙ ปี๊บ  เครื่องโยกน้ำสมัยนั้น มันก็หนักแรงไม่ใช่เล่น  ถ้าจะโยกให้น้ำไหลเร็วและแรง ต้องสี่คนช่วยกันโยก คือช่วยกันจับคันโยก  ทั้งหน้า หลัง ซ้าย ขวา แล้วโยกให้เป็นจังหวะพร้อมๆกัน  มันก็เป็นอะไรที่น่าทึ่ง และแปลกมากไม่ใช่น้อย  ทำนองว่า มันไม่มีที่ไหนทำอย่างนี้   เล่นเอาพระวัดป่าบ้านตาดยุคนั้น แต่ละคนมัดกล้ามที่แขนขึ้นเป็นลูกๆทีเดียว  ถ้าพระหนุ่มองค์ไหนไม่มีกล้ามละก้อ ไม่ใช่พระวัดป่าบ้านตาด  ส่วนพระผู้เฒ่าก็ยกไว้  ท่านก็ทำข้อวัตรเบาๆบนศาลา ทำงานเบาๆไป เก็บถ้วย เก็บชาม เก็บกระโถน เช็ดถาดเช็ดช้อน เช็ดแก้ว  สมัยนั้น จะมีแต่พระหนุ่มๆเป็นส่วนมาก  ซึ่งพร้อมจะสู้งานหนัก  ถ้าพระหนุ่มองค์ไหน หนีงานหนักแอบไปทำงานเบาๆ  ไม่นานก็จะได้แต่งของออกจากวัดไป

           การที่พ่อแม่ครูอาจารย์ ไม่ยอมใช้ไฟฟ้า  ไม่ยอมใช้เครื่องสูบน้ำ ไม่ยอมต่อก๊อกน้ำไปตามที่ต่างๆ  ให้พระเณรออกแรงโยกน้ำ เข็นน้ำ ทำกันเองทั้งหมด  กล่าวได้ว่า เป็นอุบายปราบกิเลสตัวขี้เกียจขี้คร้านได้อย่างชาญฉลาด และเห็นผลอย่างชงัดเลยทีเดียว  พอเสร็จกิจวัตรทุกอย่าง เรียบร้อย   แม้แต่ละองค์จะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า  แต่พอสรงน้ำเสร็จ เดินเข้าทางจงกรม หรือนั่งสมาธิ มันช่างแสนเบาสบาย  จิตใจไม่ได้วิตกวิจาร หรือเป็นกังวลไปกับเรื่องแบบโลกเลย  และจิตใจหมุนเข้าสู่อารมณ์แห่งธรรม และหยั่งลงสู่ความสงบเยือกเย็นได้อย่างง่ายและสบาย
  
            จึงกล่าวได้ว่า  “การทำกิจวัตรทุกประเภท หากทำด้วยความขยันหมั่นเพียร และตั้งอกตั้งใจทำจริงแล้ว จะกลายเป็นพลังหนุนให้จิตก้าวเข้าสู่ความสงบได้ง่ายและคล่องตัว  ความขี้เกียจขี้คร้านในกิจวัตรทุกประเภท คือการสร้างหลุมฝังศพให้กับตัวเองดีๆนี่เอง  จิตใจไม่มีทางจะเจริญรุดหน้าทางด้านจิตภาวนา  มีแต่จะเสื่อมลงไปเรื่อยๆ  เช่นนี้  ผู้ปฏิบัติย่อมเห็นผลได้อย่างประจักษ์ใจ”

          สำหรับพระอาคันตุกะที่มาใหม่  บางองค์สู้ข้อวัตรหนักไม่ไหว ก็แต่งของออกจากวัดไป  ส่วนองค์ที่มุ่งมั่นอยากจะจำพรรษาที่นี่  ก็ต้องอดทน สู้ สู้ สู้  ถ้าไม่สู้ ก็ไม่ได้อยู่  แต่ก็น่าเห็นใจ บางองค์มีความมุ่งมั่นอยากจะอยู่อย่างเต็มกำลัง  กลัวแต่จะไม่ได้อยู่  พระเก่าใช้ให้ทำอะไรเป็นทำทั้งหมด  หนักเบาแค่ไหนก็สู้ไม่ยอมถอย  คำว่า “พระเก่า” คือ พระที่ได้จำพรรษาที่วัดป่าบ้านตาดแล้ว  เรียกว่า ขึ้นทำเนียบเป็นพระวัดป่าบ้านตาดเต็มตัว  ส่วนคำว่า “พระใหม่”  คือพระอาคันตุกะ ที่เข้ามาใหม่  ยังไม่ได้อยู่จำพรรษา  จะกี่พรรษา ก็เรียกว่า “พระใหม่”

          วันนั้น ใกล้ถึงวันวิสาขบูชา เป็นช่วงที่จะคัดพระ ว่าองค์ไหนจะได้อยู่จำพรรษา  หรือองค์ไหนจะได้ไปจากที่นี่  ขณะที่พระใหม่หลายองค์ กำลังเตรียมซ้อนสังฆาฏิเข้ากับจีวร เพื่อห่มไปบิณฑบาต  พ่อแม่ครูอาจารย์ก็ขึ้นไปบนศาลา  พอกราบพระประธานเสร็จ  องค์ท่านก็เดินมาที่ระเบียง  พร้อมกับมองไปที่พระใหม่หลายองค์นั้น ด้วยสายตาดุๆ พร้อมทำหน้าขึงขัง  พูดขึ้นว่า

          “นี่ มาอยู่กันพอสมควรแล้วก็ไปเสียนะ  ที่นี่พระเยอะแล้ว  เรารับไม่ได้แล้ว  มาแออัดยัดเยียดกันเหมือนปลากระป๋องไม่ได้นะ”

          ทันใดนั้น พ่อแม่ครูอาจารย์ก็ชี้นิ้วไปที่พระใหม่องค์หนึ่ง ซึ่งกำลังซ้อนสังฆาฏิเข้ากับจีวรอยู่

           “ท่านองค์นี้ อยู่มานานแล้ว เมื่อไรจะไปสักที”
  
             แล้วก็ชี้นิ้วไปที่อีกองค์หนึ่งซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก  และกราดนิ้วไปที่อีกหลายๆองค์

           “ท่านนี้  และ เหล่านี้  เมื่อไรจะไปสักที  เรารับไว้ไม่ได้นะ  ใครพอมีที่ทางจะขยับขยายไปได้ ก็ให้พากันไป อย่ามาแออัดยัดเยียดกันอยู่ที่นี่ ”

           พระใหม่พอเห็นเช่นนั้น  ต่างองค์ต่างก็รีบห่มจีวรเร็วขึ้นอีกเท่าตัว  คว้าบาตรสะพายบาตรลงจากศาลาพึ่บพั่บกันเลยทีเดียว  รู้สึกใจหายใจคว่ำไปตามๆกัน เมื่อมาเห็นพ่อแม่ครูอาจารย์เล่นบทนี้  ซึ่งต่างคนต่างก็ไม่เคยเห็นมาก่อน  พอฉันเสร็จ ทำข้อวัตรปัดกวาดศาลาเสร็จเรียบร้อย  องค์ที่ถูกชี้หน้าว่า  “อยู่มานานแล้ว เมื่อไรจะไปสักที”  ก็ไปปรับทุกข์กับพระเก่า

           “ครูบาๆ พ่อแม่ครูอาจารย์ ชี้หน้าผม แล้วบอกว่า เมื่อไรจะไปสักที  แสดงว่าท่านไล่ผมใช่หรือเปล่า?  แบบนี้ ผมก็ไม่มีทางได้จำพรรษาที่นี่อีกแล้วล่ะสิ”

           “เออ!  ใจเย็นๆ อันนั้น ท่านเพียงแค่ขู่เล่นเฉยๆ  ยังไม่เอาจริงหรอก”

            “หา!  มีขู่เล่นด้วยหรือ?  โหย!  ผมเกือบหัวใจจะวายแล้วครูบา”

            “ถ้าพ่อแม่ครูอาจารย์ จะให้ไปจริงๆ จะไม่เล่นบทนี้  ท่านจะให้อาจารย์ปัญญา หรืออาจารย์สุดใจไปบอกแบบดีๆ  อันนี้แค่ขู่เฉยๆ คอยดูต่อไป”

            “อือ! ค่อยยังชั่ว แล้วนี่ ครูบาว่า ผมจะได้อยู่ไหมเนี่ย? ”

            “อ๋อ! ถ้าถึงวันวิสาขบูชา แล้ว ยังไม่ถูกไล่ออกไป  ก็ได้อยู่  แต่ถ้าให้แน่ ก็รอถึงวันเข้าพรรษานั่นแหละ ชัวร์ ยังไม่เข้าพรรษา อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น  แม้ได้จำพรรษาแล้ว  ทำไม่ดี ก็ยังถูกไล่ออกไปได้อีก”

             พระใหม่ที่เข้ามายังวัดป่าบ้านตาด ด้วยมุ่งมั่นจะจำพรรษาที่นี่ให้ได้  ก็จะมีหัวอกแบบเดียวกันต่างเป็นทุกข์เพราะกลัวจะไม่ได้อยู่  และก็ต้องเจอกับอุบายทดสอบของพ่อแม่ครูอาจารย์ในหลายๆด้าน  แต่สุดท้าย องค์ที่หมู่พวกดูว่า ขยันขันแข็งทำข้อวัตรดี นิสัยดี  เป็นได้อยู่แทบทุกราย  ส่วนรายที่ชอบหลบชอบหลีก ข้อวัตรหนักไม่เอา  เบาก็ไม่สู้  เป็นต้องทยอยแต่งของออกจากวัดไปทีละองค์สององค์
 
              กว่าจะได้จำพรรษาขึ้นทำเนียบเป็นพระวัดป่าบ้านตาดสมัยนั้น ไม่ใช่ของง่ายๆ ต้องผ่านการพิจารณาของพ่อแม่ครูอาจารย์อย่างเดียวเท่านั้น  ไม่มีทางอื่นเลย

๒๔. ของอย่างนี้มันเป็นปัจจัตตัง
            สมัยนั้น มีเณรองค์หนึ่งไม่ทราบว่า ภาวนาดีอย่างไร เข้าใจว่า ตัวเองสำเร็จแล้ว  จึงพยายามจะขึ้นไปกราบเรียนพ่อแม่ครูอาจารย์  ครูบาที่เป็นเวรศาลา เห็นอาการของเณรก็รู้แล้ว พยายามที่จะช่วย

          "นี่เณร ลองเล่าให้ครูบาฟังหน่อยซิ มันเป็นยังไง ไม่ต้องไปกราบเรียนพ่อแม่ครูอาจารย์ก็ได้หรอก ครูบาพอแนะนำได้อยู่น้า"   เณรก็พูดขึ้นว่า

          "ถึงเล่าให้ครูบาฟังก็ไม่รู้เรื่องหรอก ของอย่างนี้มันเป็น ปัจจัตตัง"

            สุดท้าย ครูบาเห็นเณรตั้งท่าจะขึ้นไปกราบเรียนพ่อแม่ครูอาจารย์ให้ได้ ก็เลยปล่อย  เณรก็ก้าวขึ้นกุฏิของพ่อแม่ครูอาจารย์อย่างอาจหาญ  มิหนำซ้ำ ยังบังอาจเคาะประตูกุฏิท่าน อย่างไม่สะทกสะท้าน  ทันใดนั้น เณรก็เห็นพ่อแม่ครูอาจารย์เปิดประตูออกมา  เณรก็รีบกราบเรียนว่า

           "พ่อแม่ครูอาจารย์ครับ ผมสำเร็จแล้วครับ"

            ยังไม่ทันที่จะกราบเรียนว่าอย่างไรต่อ  เสียงพ่อแม่ครูอาจารย์ก็ดังขึ้น ไม่ผิดอะไรกับอสนีบาตฟาดลงที่ข้างหู

          "เณรนี่ มันจะเป็นบ้าแล้วหรือ?  หนี เดี๋ยวนี้นะ"

            เท่านั้นเอง เณรก็เหมือนมีปาฏิหาริย์ กระโจนพรวดพราดลงจากกุฏิไวกว่าสายฟ้าแลบเสียอีก วิ่งหอบแฮ่กๆ  ก็พอดีมาเจอครูบาซึ่งคอยสังเกตการณ์อยู่  ครูบาก็พูดยิ้มๆกับเณร

           "เป็นยังไงบ้างล่ะเณร  ของอย่างนี้มันเป็นปัจจัตตัง  ไม่เจอกับตัวเองก็ไม่รู้หรอกเน้อ ครูบาบอกแล้วก็ไม่เชื่อ"

             อย่าว่าแต่พระเณรวัดป่าบ้านตาดเลย  แม้พระเณรจากที่อื่นก็เช่นเดียวกัน ใครภาวนาเป็นอย่างไร ก็อยากจะมากราบเรียนถวายพ่อแม่ครูอาจารย์ คล้ายๆกับอยากให้องค์ท่านรับรองหรือชมเชย ว่า ตัวเองภาวนาดี อะไรประมาณนั้น  พระเวรศาลาต้องคอยกลั่นกรอง และให้เข้ากราบพ่อแม่ครูอาจารย์ได้เป็นบางราย  พ่อแม่ครูอาจารย์ ท่าน ก็ไม่ชมใครง่ายๆ ด้วยเหตุผลว่า

             "ปากท่านหนัก ถ้าท่านชมใครแล้ว ก็มักจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี"

             คืออาจทำให้พระองค์ที่ถูกชมหลงระเริงได้  ยิ่งเป็นพระวัดป่าบ้านตาดด้วยแล้ว ยิ่งมีแต่กดเอาไว้  หากองค์ไหนทำความเพียรเก่ง ภาวนาดี อย่างมากพ่อแม่ครูอาจารย์ก็มองด้วยสายตาที่ชื่นชม แต่ก็แค่ให้เห็นเพียงแวบเดียวเท่านั้น จะไม่ทำให้เห็นบ่อยๆ   ซึ่งก็มากพอที่จะทำให้เกิดความฮึกเหิมในการประกอบความพากความเพียร  แต่ในบางองค์ท่านก็เอ่ยปากชมเป็นกรณีพิเศษ  ด้วยเหตุผลทางภายในของท่านซึ่งไม่มีใครจะหยั่งทราบ  และในบางรายท่านอาจต้องใช้ความรู้ทางภายในเข้าช่วยประคับประคอง  เพื่อปกป้องรักษาลูกศิษย์

๒๕. เดินจงกรมสู้ฝน
             ครูบาองค์หนึ่ง  ท่านเดินจงกรมกางร่มสู้ฝน จนทางจงกรมแฉะเป็นเลนเป็นโคลน พอฝนหยุดท่านเห็นพ่อแม่ครูอาจารย์เดินผ่านมา  ครูบารีบล้างเท้าหลบขึ้นกุฏิแอบดูอยู่  เพราะถ้าพ่อแม่ครูอาจารย์เห็นพระเดินจงกรม ท่านจะเดินเลี่ยงเข้าป่า  นัยหนึ่งไม่ต้องการให้พระรู้ว่าท่านมาดู  นัยสองไม่เป็นการรบกวนพระทำความเพียร  พ่อแม่ครูอาจารย์มาหยุดดูที่ทางจงกรม ก็รู้ทันทีว่า มีพระเดินจงกรมในระหว่างที่ฝนตก    เย็นวันนั้นพ่อแม่ครูอาจารย์สั่งตีฆ้องเรียกประชุมเพื่อเทศน์อบรม  และท่านก็เทศน์ให้กำลังใจว่า ฝนตกๆก็ยังมีพระเดินจงกรมอยู่  ทำให้ครูบาปลาบปลื้มใจมาก  วันหนึ่ง ครูบาเกิดท้องเสียอย่างรุนแรง  ตอนเช้าเดินไปบิณฑบาตเกือบไม่ไหว แต่ก็แข็งใจไป  และวันนั้นก็ช่างประหลาดเสียเหลือเกิน อยู่ๆพ่อแม่ครูอาจารย์ก็ใช้ให้พระองค์หนึ่ง เอาผลไม้ไปใส่บาตรครูบา พร้อมกับพูดว่า

            "ผลไม้นี้ช่วยแก้โรคถ่ายท้องได้นะ" ครูบาเพียงได้ยินเท่านี้ ยังไม่ทันได้ฉันผลไม้นั้น โรคมันก็ทำท่าจะหายไปเสียแล้ว”

           ครูบาเล่าอีกว่า ท่านเป็นคนขี้อาย และกลัวที่จะถูกตำหนิต่อหน้าผู้คนเยอะๆ ท่านก็เลยอธิษฐานจิต   หากท่านทำอะไรผิด  ขอให้พ่อแม่ครูอาจารย์ อย่าดุด่าท่านต่อหน้าผู้คนเลย ท่านว่าท่านอายคน ท่านรับไม่ได้   ขอให้บอกกับท่านดีๆ  ก็เป็นเรื่องที่แปลกนัก  ท่านทำจานใส่อาหารตกแตกในศาลา เสียงดังเพล้งเลยทีเดียว  พ่อแม่ครูอาจารย์เพียงแค่หันมามอง พอเห็นท่านแล้วก็เฉยๆเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น  ท่านว่า ท่านไม่เคยถูกพ่อแม่ครูอาจารย์ดุด่าต่อหน้าญาติโยมเลย แต่ดุด่าในที่เฉพาะก็มีบ้าง

           เรื่องทำนองอย่างนี้มักจะปรากฏกับพระเณรแต่ละรายไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับภูมิจิตภูมิธรรมของแต่ละท่าน  ผสานกับอุบายธรรมที่พ่อแม่ครูอาจารย์จะพิจารณาเห็นสมควรเป็นรายๆไป  สำหรับองค์ที่ภาวนาแล้วจิตมีความเป็นไปในธรรมตามสมควรนั้น จะสัมผัสกับพ่อแม่ครูอาจารย์ ได้อย่างรวดเร็ว

๒๖. ไม่รู้ว่าจะเป็นบ้าขั้นไหน?
           ครูบาองค์หนึ่ง ท่านเล่าว่า ครั้งนั้น ท่านตั้งใจอดอาหารภาวนา ๑๕ วัน ในวันสุดท้าย จิตท่านเกิดความสงบอย่างประหลาด ชนิดที่ท่านก็ไม่เคยเป็นมาก่อน ท่านเล่าให้ฟังอย่างคร่าวๆว่า จิตของท่านสงบทั้งที่ยังลืมตาอยู่  ท่านเห็นจิต แยกตัวออกจากความคิดความปรุง มาเป็นกลางวางเฉยเป็นเอกเทสอยู่  ขณะที่แยกตัวจากกันนั้น เวลาคิดอะไรในใจ จะมองเห็นความคิดนั้นชัดเจน คล้ายกับว่า ความคิดเป็นอันหนึ่ง จิตผู้รู้ก็เป็นอีกอันหนึ่ง  แยกเป็นคนละอันอย่างเห็นได้ชัด

         ในขณะที่จิตเป็นเช่นนั้น  จิตจะไม่หลงไปตามความคิดเลย  ไม่ว่าจะคิดอะไรแบบไหนก็ตาม จะมองเห็นความคิด ดูราวกับว่าคล้ายเห็นด้วยตา  ประหนึ่งได้ยินด้วยหู เหมือนมีเสียงคนมาพูดอยู่ท่ามกลางหน้าอก  แม้มีเวทนาปรากฎ  จิตก็เห็นเวทนาเป็นเพียงความรู้อันหนึ่ง ไม่ปรากฏเป็นความเจ็บความปวดใดๆ  ไม่สำคัญว่า มีสติหรือไม่มีสติ  จิตจะเป็นกลางวางเฉยรู้เด่นอยู่อย่างนั้น พอสมควรแล้ว จิตก็ถอนออกจากสภาพนั้น ความรู้ของจิตก็ประสานกลมกลืนกันไปกับความคิด   ทำให้เกิดความรู้ความเห็นที่แตกต่างกันสองอย่าง  คือ ๑.เวลาที่จิตประสานเข้ากับความคิดเป็นอย่างหนึ่ง   ๒.เวลาที่จิตแยกตัวออกจากความคิดเป็นอีกอย่างหนึ่ง    ครูบาเล่าว่า มันเป็นรสชาติอันแปลกประหลาดอย่างที่ท่านไม่เคยเจอมาก่อน  หากเป็นผู้มีสติปัญญาเบา อาจสำคัญผิดคิดปรุงแต่งเอาว่า บรรลุธรรมขั้นนั้นขั้นนี้ไปแล้วก็ได้  แล้วครูบาก็เตือนตนเองว่า

          "บรรดาผู้รู้ทั้งหลาย ย่อมรู้ธรรมได้ด้วยสันทิฏฐิโก คือธรรมที่ปรากฏขึ้นเป็นสักขีพยานประจักษ์ชัดอยู่ภายในจิต สิ้นสงสัยในธรรมที่ได้รู้ได้เห็นแล้ว  ทั้งไม่มีความคิดปรุงแต่งสำคัญผิดใดๆว่าตนบรรลุธรรมขั้นนั้นขั้นนี้  เมื่อรู้ธรรม ก็คือรู้เท่าสังขารความคิดปรุงของจิต  เมื่อรู้เท่าสังขารความคิดปรุงของจิต  จิตก็จะไม่หลงไปตามความคิดปรุงแต่งใดๆ  เมื่อจิตไม่หลงไปตามความคิดปรุงแต่งใดๆ   ความคิดนั้นก็เป็นเพียงสักแต่ว่าคิด  คิดแล้วก็ดับไป จะคิดหรือไม่คิด จิตก็ทรงตัวเป็นอุเบกขาวางเฉยอยู่  จะไม่ปรากฏเป็นความสำคัญผิดยึดถือในความคิดนั้นๆเลย   ดังนั้น หากใครภาวนาแล้วเกิดความคิดปรุงแต่งเอาเองว่า ได้บรรลุธรรมขั้นนั้นขั้นนี้  ก็จงระวังไว้ให้ดี  เดี๋ยวภาวนาแล้วไม่รู้ว่าจะกลายเป็นบ้าขั้นไหน"

           ครูบารู้สึกว่า จิตใจมันปลอดโปร่งเบาสบาย  เวลาคิดพิจารณาธรรมใดๆ ก็มองเห็นความคิดนั้น ดูราวกับว่า คล้ายเห็นด้วยตา ประหนึ่งว่าได้ยินด้วยหู  เป็นเช่นนี้อยู่เรื่อยๆ  รู้สึกเพลิดเพลินในการพิจารณาธรรมยิ่งนัก  พอรุ่งเช้าครูบาก็ออกไปบิณฑบาตตามปกติ เช่นที่เคยทำมา  แต่ตอนขากลับจากบิณฑบาตนั้น  พระเณรต้องเดินผ่านพ่อแม่ครูอาจารย์ ในช่วงใกล้ๆจะถึงประตูวัด  อันนี้ก็เป็นอุบายอันชาญฉลาด ที่พ่อแม่ครูอาจารย์ คอยสอดส่องพระเณรในยามบิณฑบาตไปในตัว  ถ้าหากเห็นพระหนุ่มองค์ไหน เดินบิณฑบาตมาช้ากว่าหมู่พวกเป็นประจำ  พระองค์นั้น จงระวังตัวให้ดี  บางทีก็อาจจะได้ฟังเทศน์เด็ดๆตามมา
  
           "พระหนุ่มๆหัวเท่ากำปั้น เดินบิณฑบาตยังกะคนแก่อายุ ๘๐ มันใช้ไม่ได้นะ"

            ครูบาเล่าว่า ได้เดินแซงพ่อแม่ครูอาจารย์ตอนใกล้ๆจะถึงประตูวัด ในขณะที่กำลังจะแซงท่านไปนั้น ก็ได้ยินเสียงองค์ท่านพูดขึ้นเบาๆ พอให้ครูบาได้ยิน

          "พระ!!  ภาวนาแล้วไม่รู้ว่าจะกลายเป็นบ้าขั้นไหน"

            พอครูบาได้ยินคำพูดพ่อแม่ครูอาจารย์เท่านั้น ท่านก็รู้สึกเอะใจทันที

            "เอ! พ่อแม่ครูอาจารย์พูดกับใครหว่า"   แล้วก็หันไปดูรอบๆตัว ก็ไม่เห็นมีใครอยู่เลย  มีแต่ครูบาองค์เดียว  หันไปดูพ่อแม่ครูอาจารย์  ก็เห็นท่านเดินอยู่ตามปกติ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น  ครูบาเล่าว่า มันอัศจรรย์ตรงที่ คำพูดที่พ่อแม่ครูอาจารย์พูดออกมานั้น  มันเป็นคำพูดเดียวกับที่ท่านเตือนตัวเองเมื่อคืนยังไงยังงั้นเลยนี่สิ  แล้วท่านก็เกิดปีติน้ำตาไหลพรากว่า

            "โห! พ่อแม่ครูอาจารย์ไม่ได้ทอดทิ้งให้เราอยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดายเลย  เราอดอาหารทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์มาตลอด ๑๕ วัน ทั้งเดินจงกรมหนัก  ทั้งนั่งสมาธินาน  ล้วนอยู่ในสายตาของพ่อแม่ครูอาจารย์มาตลอด ก็คำพูดเมื่อสักครู่นี้ของท่านย่อมเป็นสักขีพยานได้เป็นอย่างดี  มันน่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก  นี่แหละหนา!!!  การได้อยู่กับครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นนักปราชญ์แท้ๆ ก็เป็นอย่างนี้เอง"

            ครูบาบอกว่า  “มันเกิดกำลังใจฮึกเหิมขึ้นปานจะเหาะจะบินเอาเลยทีเดียว”

            การที่พ่อแม่ครูอาจารย์ใช้ความรู้ภายในของท่านแสดงออกต่อพระเณรเป็นการเฉพาะราย ในบางครั้งบางคราวอย่างนี้นี่แล  มันทำให้พระเณรต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ในรายที่กำลังภาวนาดีๆ ก็เป็นเหตุให้เร่งความเพียรแบบหามรุ่งหามค่ำเลยทีเดียว  จะว่าไป คำพูดของพ่อแม่ครูอาจารย์ ก็เป็นเหมือนกับยาชูกำลังดีๆนี่เอง  ส่วนรายที่ขี้เกียจขี้คร้าน ก็ไม่กล้านิ่งนอนใจ ต้องได้ขยันทำความเพียรบ้างเป็นพักๆไป  เพราะกลัวถูกขับออกจากวัดนั่นเอง
 
๒๗. เรื่องของพระปาติโมกข์
          ครูบาองค์หนึ่ง ท่านสวดปาติโมกข์เก่งมาก สำเนียงเสียงสวดไพเราะ มีจังหวะจะโคน  อักขระฐานกรณ์ก็ชัดเจน เสียงสวดชัดถ้อยชัดคำ เรียกว่า  "อะ"เป็น"อะ" , "อิ" เป็น "อิ" , "อุ" เป็น "อุ" , "อา" เป็น "อา"  ทุกคำเลยทีเดียว สระเสียงสั้น เสียงยาว เสียงหนัก เสียงเบา ไม่มีผิดมีเพี้ยนแม้แต่นิดเดียว ความคล่องแคล่วรวดเร็วก็อยู่ในระดับสุดยอด คือ สวดตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่มีผิดแม้แต่สักตัวเดียว ไม่ติดไม่ขัดไหลลื่นไปตลอด  และก็ไม่ใช่แค่ครั้งเดียว จนหมู่พวกยอมยกให้เป็นหนึ่งในพระปาติโมกข์ชั้นเซียน  ถ้ามีการจัดอันดับพระปาติโมกข์ เข้าใจว่า ต้องติดอยู่ในอันดับต้นๆอย่างไม่ต้องสงสัย  ครั้งนั้นก็เป็นวาระที่ครูบาองค์นี้ต้องขึ้นสวด  ท่านก็อดอาหารฝึกซ้อมปาติโมกข์อยู่ถึง ๑๓ วันเต็มๆ

          ก็เป็นที่รู้กันในหมู่พระปาติโมกข์สมัยนั้น  ถ้าเตรียมตัวไม่พร้อม ก็ไม่มีใครกล้าขึ้นสวด เพราะพ่อแม่ครูอาจารย์ลงฟังปาติโมกข์ด้วยทุกครั้ง  และท่านก็จริงจังกับเรื่องสวดปาติโมกข์เป็นอย่างมาก  ถึงวาระของใครต้องเตรียมตัวให้พร้อม พ่อแม่ครูอาจารย์ ย้ำนักย้ำหนาว่า

          "การสวดปาติโมกข์ คือ การแสดงพระวินัยแทนองค์พระศาสดา จะมาทำเล่นๆไม่ได้เป็นอันขาด"

๒๘. อย่ามาเรียนปาติโมกข์บนธรรมาสน์
           ดังนั้น ถ้าใครขืนมาสวดปาติโมกข์แบบผิดๆพลาดๆ สวดติดๆขัดๆ ต้องคอยบอกคอยทักกันไปตลอด แบบมานั่งเรียนปาติโมกข์อยู่บนธรรมาสน์ มีหวัง เป็นได้ถูกเข่นตกธรรมาสน์อย่างแน่นอน  พระที่สวดปาติโมกข์ได้ ดูเหมือนที่วัดป่าบ้านตาดสมัยนั้น  จะมีจำนวนเยอะมากกว่าทุกที่   เพราะมีจำนวนเกินสิบองค์ขึ้นไป ซึ่งหาได้ไม่ง่ายนัก  แต่องค์ที่จะบรรจุเข้าวาระขึ้นธรรมาสน์สวดปาติโมกข์ที่วัดป่าบ้านตาดได้  มีอยู่ไม่กี่องค์  คือต้องไปสวดให้ท่านอาจารย์สุดใจฟังก่อน  ถ้าท่านเห็นว่าสวดใช้ได้  ก็จะอนุญาตให้ขึ้นธรรมาสน์ได้  ทั้งนี้ ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ไปสวดผิดต่อหน้าพ่อแม่ครูอาจารย์นั่นเอง  ซึ่งอาจจะโดนเข่นแบบไหนไม่มีใครรู้ได้  และไม่มีใครอยากลอง

          ในคืนวันจะสวดปาติโมกข์ ครูบาก็อธิษฐานจิต ตอนประมาณ ๔ ทุ่ม
  
           "เกล้ากระผม ขออาราธนาพ่อแม่ครูอาจารย์เมตตาลงฟังปาติโมกข์ด้วยเถิดครับ กระผมอดอาหารมา ๑๓ วัน ฝึกซ้อมปาติโมกข์อย่างสุดความสามารถแล้ว หากจะมีข้อบกพร่องหรือผิดพลาดประการใด ขอพ่อแม่ครูอาจารย์โปรดเมตตาแนะนำสั่งสอน  เกล้ากระผมไม่ต้องการเห็นตัวเองสวดปาติโมกข์ผิดพลาดแม้แต่เพียงนิดเดียว"

            ครูบาเล่าว่า ในช่วงนั้น พ่อแม่ครูอาจารย์สุขภาพธาตุขันธ์ไม่เอื้ออำนวย ไม่ได้ลงฟังปาติโมกข์มาหลายปักษ์แล้ว  ครั้งนี้ ครูบาตั้งใจจะสวดปาติโมกข์ถวายพ่อแม่ครูอาจารย์อย่างสุดกำลังความสามารถเลยทีเดียว

           แต่ครูบาหารู้ไม่ว่า  ก่อนหน้าที่ครูบาจะอธิษฐานจิตนั้น ตอนประมาณสัก ๑ ทุ่ม พ่อแม่ครูอาจารย์ได้มาสั่งพระเวรศาลาไว้แล้ว ว่า  ธาตุขันธ์ไม่ค่อยสบาย พรุ่งนี้จะไม่ได้ลงมาฟังปาติโมกข์  หมู่พวกไม่ต้องรอ ถึงเวลาก็ให้ทำอุโบสถได้เลย  ปกติ เมื่อถึงวันปาติโมกข์ พระทุกองค์ก็จะไปพร้อมกันที่ศาลา ประมาณ ตี ๔ ปลงอาบัติเรียบร้อย นั่งทำความสงบใจรอเวลา  เมื่อใกล้เวลาก็จะทำวัตรเช้าย่อๆ กะเวลาที่จะเริ่มต้นสวดปาติโมกข์ ว่า เมื่อสวดจบ ก็ให้ได้อรุณพอดี ไม่ให้จบก่อนได้อรุณ หรือหลังอรุณเกินไป

          วันนั้นครูบามาถึงศาลา มองไปที่อาสนะของพ่อแม่ครูอาจารย์ ซึ่งปกติทุกครั้งจะมีการจัดเตรียมอาสนะพร้อมไว้  แต่วันนั้นมีแต่ความว่างเปล่า ไม่ได้จัดเตรียมอะไรไว้เลย  ครูบารู้สึกผิดปกติ ก็จึงเดินไปถามพระเวรศาลา จึงได้ทราบว่า พ่อแม่ครูอาจารย์มาสั่งไว้ตั้งแต่ตอนหัวค่ำแล้วว่า จะไม่ลง  ครูบาเล่าว่า ท่านรู้สึกใจแป้วในทันทีเลย เพราะเตรียมตัวมาอย่างดี หวังจะสวดถวายพ่อแม่ครูอาจารย์อย่างเต็มที่  แต่แล้วก็ต้องทำใจ  พอถึงเวลาก็กราบขอโอกาส หลวงปู่ลี กุสลธโร ซึ่งเป็นประธานสงฆ์ในขณะนั้น มีท่านอาจารย์ปัญญา ปัญญาวัฒโฑ เป็นรองประธาน   ขึ้นธรรมาสน์สวดปาติโมกข์  ครูบาคิดในใจว่า
  
          "เอาเถิด ถึงพ่อแม่ครูอาจารย์ไม่ได้ลงฟังปาติโมกข์  เราก็จงทำหน้าที่ของตัวเองไปให้ดีที่สุด"

           จากนั้นท่านก็หลับตาสำรวมจิต เริ่มต้นสวดบุพพกิจไปเรื่อยๆอย่างช้าๆจนจบ ปาราชิก ข้อที่ ๑ ทันใดนั้น ก็ได้ยินเสียงหมู่คณะพูดขึ้นเบาๆว่า

         “หยุดก่อนๆ พ่อแม่ครูอาจารย์มา”

           พระหลายองค์ก็ลุกพึ่บพั่บ องค์หนึ่งจัดเตรียมอาสนะ องค์หนึ่งเตรียมกระโถน แก้วน้ำ กาน้ำ  พ่อแม่ครูอาจารย์มาถึง ก็กราบพระประธาน และก็ปลงอาบัติทุกกฏตัวเดียว เสร็จแล้วก็มานั่งที่อาสนะ  ครูบาเล่าว่า ท่านดีใจจนน้ำตาไหล ต้องรีบแอบเช็ดน้ำตา ไม่ต้องการให้หมู่คณะเห็น ขณะนั้นครูบาก็ทำอะไรไม่ถูก มันตื่นเต้นมันปลื้มปิติอยู่ในใจ ได้แต่นั่งนิ่งเฉยอยู่  ก็ได้ยินเสียงพ่อแม่ครูอาจารย์พูดขึ้นว่า
  
           "อ้าว! ก็สวดต่อไปสิ  เราก็ไม่ได้ทำผิดวินัยอะไรนี่ ภิกษุผู้มาทีหลัง หากมีจำนวนน้อยกว่าสงฆ์ที่ประชุมกันอยู่ ก็ให้ฟังส่วนที่เหลือต่อไป  หากมีจำนวนมากกว่า ก็เริ่มต้นสวดใหม่  พระวินัยก็บัญญัติไว้แล้วนี่"

            พอได้ยินเช่นนั้น  ครูบาก็เริ่มตั้งสติสำรวมจิต เริ่มสวดปาราชิก ข้อที่ ๒ ต่อไปในทันที  ครั้งนั้น ท่านก็สวดปาติโมกข์ ตั้งแต่ต้นจนจบแบบฉายรวดเดียว ไม่มีผิดแม้แต่สักคำ  พ่อแม่ครูอาจารย์ก็นั่งนิ่งฟังจนจบ ไม่พูดอะไรเลย  เรียกว่า ถ้าสวดปาติโมกข์ต่อหน้าพ่อแม่ครูอาจารย์ได้โดยไม่ถูกติถูกติง ก็ถือว่าเก่งแล้ว

           วันนั้น หมู่คณะต่างพากันงุนงงกันไปตามๆกัน ว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะตามปกติ หากพ่อแม่ครูอาจารย์ได้สั่งเสียอะไรอย่างเป็นมั่นเป็นเหมาะเช่นนี้ ไม่มีทางเสียเลย ที่จะพลิกผันแปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปได้ ไม่เคยมีตั้งแต่ตั้งวัดป่าบ้านตาดมาทีเดียว เพิ่งจะมีคราวนี้นี่เอง  ครูบาก็ได้แต่ยิ้มอยู่คนเดียวภายในใจ ไม่ปริปากบอกใครสักคำ  ได้แต่สำนึกในพระคุณของพ่อแม่ครูอาจารย์อยู่ภายในใจว่า  

           "พ่อแม่ครูอาจารย์ นี้ ท่านมีเมตตาต่อศิษย์อย่างไม่มีที่เปรียบประมาณจริงๆ แม้ธาตุขันธ์ไม่เอื้ออำนวย ท่านก็ยังฝืนธาตุขันธ์มาให้กำลังใจแก่ศิษย์ เพราะเห็นแก่ความตั้งใจอันดีงามของศิษย์นั่นเอง"

            นี่แหละ พ่อแม่ครูอาจารย์ ที่อยู่ในดวงใจของปวงศิษย์ทุกคน เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าจะไม่รัก ใครเล่าจะไม่เคารพ  แม้ท่านจะดุด่าว่ากล่าวเผ็ดร้อนขนาดไหนก็ตาม  ลูกศิษย์ทุกคนก็ซาบซึ้งอยู่ภายในหัวอก ว่า

         "นั่นคือ กระแสแห่งเมตตาธรรมที่หลั่งไหลออกมาจากดวงจิตอันบริสุทธิ์ของพ่อแม่ครูอาจารย์ ด้วยความรักและเมตตา มุ่งหวังอยากให้ศิษย์เป็นคนดี นั่นเอง"

๒๙. ก็พูดเท่านั้นแหละ!!
             ครูบาองค์หนึ่งท่านคิดจะกราบลาพ่อแม่ครูอาจารย์ไปเที่ยววิเวก พอได้โอกาส ท่านก็ครองผ้าขึ้นไปบนกุฏิ เพื่อกราบลาพ่อแม่ครูอาจารย์   แต่ก่อนหน้านั้น ครูบาได้อธิษฐานจิตว่า

           "ถ้ากระผมไปแล้วจะเกิดความเจริญในธรรมในวินัย ขอให้พ่อแม่ครูอาจารย์ได้โปรดพูดอะไรมากกว่าคำพูดที่ว่า "ไปก็ไปสิ"    ที่อธิษฐานดังนั้น เนื่องจาก ก่อนหน้านั้น มีพระหลายองค์ไปกราบลาพ่อแม่ครูอาจารย์ เพื่อไปเที่ยววิเวก  พ่อแม่ครูอาจารย์ก็พูดแค่คำเดียวว่า "ไปก็ไปสิ"  พอครูบาขึ้นไปบนกุฏิก็กราบเรียนพ่อแม่ครูอาจารย์ว่า

           "ขอโอกาส พ่อแม่ครูอาจารย์ครับ กระผมจะขออนุญาตกราบลาพ่อแม่ครูอาจารย์ไปเที่ยววิเวกครับผม"  

          พ่อแม่ครูอาจารย์นั่งอยู่ตรงชานพัก เงยหน้ามองดูครูบาแวบหนึ่ง ก็พูดขึ้นว่า

          "ไปก็ไปสิ"

          จริงดังที่คาดไว้  แล้วท่านก็ลุกเดินเข้าไปในห้อง พร้อมกับปิดประตูห้อง แต่ก่อนที่ประตูจะปิด  ท่านก็เปิดประตูแย้มออกมาอีก  พร้อมกับพูดยิ้มๆขึ้นอีกประโยคหนึ่งว่า
  
          "ก็พูดเท่านั้นแหละ"

          จากนั้นก็ปิดประตูเงียบสนิท ครูบาได้ยินดังนั้น ก็รู้สึกขบขัน และปลาบปลื้มปิติยินดีอยู่ภายในใจ ถึงกับเดินตัวเบาลงจากกุฏิเลยทีเดียว

          นี่แหละ ความเป็นจอมปราชญ์ของพ่อแม่ครูอาจารย์  สุดฉลาดแหลมคม รู้ทั้งภายนอก รู้ทั้งภายใน เต็มเปี่ยมด้วยกระแสแห่งเมตตาธรรม  แม้ในการทำข้อวัตรหยาบทางภายนอก หากผิดพลาดเพียงเล็กน้อย พ่อแม่ครูอาจารย์ก็ไม่ยอมปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายแก่ศิษย์

๓๐. กระโถนเล็ก กระโถนใหญ่
          ครั้งหนึ่ง ขณะที่พ่อแม่ครูอาจารย์ จะนั่งรถออกไปทำธุระข้างนอก ก็ใช้ให้พระเวรศาลา ไปเอากระโถนเล็กมาให้  พระก็ไปหยิบกระโถนผิด เอาเป็นกระโถนใหญ่มา  จะด้วยความรีบร้อนไม่ทันคิดให้รอบคอบว่าท่านสั่งอย่างไร หรืออาจคิดว่า กระโถนอะไรก็ใช้ได้เหมือนกัน  หรือเพราะไม่รู้ขนาดของกระโถน จึงไม่ใส่ใจทำตามที่ท่านบอก
 
           อันที่จริงกระโถนแต่ละขนาดย่อมใช้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน  กระโถนใหญ่ ไว้ใช้สำหรับรองรับเศษอาหารในเวลาฉันอาหาร  กระโถนกลางใช้สำหรับ บ้วนปาก สีฟัน และ บ้วนน้ำหมาก  ตอนฉันหมาก  ส่วนกระโถนเล็กใช้เวลามีธุระต้องนั่งรถไปข้างนอก  พระองค์นั้นก็หยิบกระโถนผิดมา  มิหนำซ้ำ ตอนปิดประตูรถถวายท่าน ก็ยังปิดๆเปิดๆสองทีสามทีกว่าจะล็อคประตูได้  พ่อแม่ครูอาจารย์ จึงต้องได้ทั้งดุ ทั้งปลอบ

          "ท่านองค์นี้มันยังไงกัน บอกให้ไปเอากระโถนเล็ก ก็ไปเอากระโถนใหญ่มา ปิดประตูรถก็ปิดตั้งสองทีสามที ยังปิดไม่เข้า ทำไมจะเซ่อซ่าเอานักหนา  การทำข้อวัตรปฏิบัติครูบาอาจารย์  มันต้องได้ศึกษาคิดอ่านให้รอบคอบถึงหน้าที่การงานที่เกี่ยวข้องในทุกด้าน ที่ตนเองต้องกระทำ เพื่อปฏิบัติหน้าที่นั้นๆให้เหมาะสม และถูกกับอัธยาศัยของครูบาอาจารย์  ไม่ใช่ทำไปแบบไม่รู้เรื่องรู้ราว ไม่ใช้ความคิดความอ่าน อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงความบกพร่องทางด้านสติปัญญา ขาดความเอาใจใส่ในกิจการงานที่ควร  ย่อมไม่สมควรแก่นักปฏิบัติ ผู้มุ่งหวังความหลุดพ้น"



หัวข้อ: Re: ข้อวัตรปฏิปทาในพ่อแม่ครูอาจารย์ - หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 11 มกราคม 2562 09:58:32


๓๑. ครูบาหูทิพย์
             ครูบาอีกองค์หนึ่ง ท่านภาวนาแล้วเกิดสำคัญผิดว่า ตัวเองมีหูทิพย์ขึ้นมา เพราะได้ยินเสียงลึกลับอะไรต่างๆมากมาย ครั้งหนึ่ง ท่านได้ยินเสียงนกร้อง แล้วท่านก็เข้าใจเอาเองว่า  นกมันบอกว่า ฝนกำลังจะตกแล้ว  ท่านก็รีบไปเก็บถ้วยเก็บจานชาม ที่ตากแดดเอาไว้ พอเก็บเสร็จไม่นาน ฝนก็ตกลงมาจริงๆ ยิ่งทำให้ท่านหลงเชื่อเสียงที่ได้ยิน หนักเข้าไปอีก ปรึกษาครูบาองค์ไหน ก็ไม่เป็นที่ลงใจ สุดท้ายก็เลยต้องเข้าหาพ่อแม่ครูอาจารย์  พอก้าวเท้าขึ้นบันไดกุฏิ  ครูบาเห็นพ่อแม่ครูอาจารย์ อยู่ข้างบนจ้องมองดูท่านด้วยแววตาดุๆ  ก็ชักไม่ค่อยจะกล้าขึ้น จึงเอามือชี้มาที่หูของตัวเอง แล้วพูดขึ้นว่า

            "พ่อแม่ครูอาจารย์ครับ  หูผม..." ยังไม่ทันจะพูดอะไรต่อไป  พ่อแม่ครูอาจารย์ก็ขนาบเข้าให้ว่า

           "ท่านนี่...ระวังจะเป็นบ้านะ"

            ครูบาพอได้ยินดังนั้น ก็หันหลังลงจากกุฏิเปิดแนบไปเลย  ตอนหลังพ่อแม่ครูอาจารย์ก็เมตตา เทศน์สอนให้บริกรรมพุทโธถี่ๆๆ และอย่าไปยุ่งกับเสียงที่ได้ยิน เรื่องหูทิพย์ก็เลยจืดจางหายไป

๓๒. อัจฉริยภาพแห่งพ่อแม่ครูอาจารย์
            ตลอดระยะเวลากว่า ๖๐ ปี ที่พ่อแม่ครูอาจารย์ได้เมตตาให้การอบรมสั่งสอนศิษย์นั้น คำเทศน์ของพ่อแม่ครูอาจารย์ ได้กลายเป็นอมตธรรมอันล้ำค่า ไม่มีสมบัติใดๆในโลกจะมีคุณค่ายิ่งไปกว่า  ตลอดจนอุบายธรรมอันยอดเยี่ยม ที่พ่อแม่ครูอาจารย์ ได้เมตตาแสดงต่อศิษย์  ได้ทำการจดจารึกไว้แล้ว ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อความเป็นอมตะ  และอำนวยประโยชน์แก่โลกไปตราบนานแสนนาน  และส่วนที่ฝังอยู่ในความทรงจำของศิษย์อย่างไม่มีวันลืมก็คือ ข้อวัตรปฏิปทาในพ่อแม่ครูอาจารย์ นี้ ที่ศิษย์ทั้งปวงจักพยายามประพฤติปฏิบัติ และเจริญรอยตามพ่อแม่ครูอาจารย์ไปจนสุดความสามารถเท่าที่ความเพียรแห่งสัตบุรุษจะพึงกระทำได้

          ที่แสดงมาทั้งหมดนี้ คือ ข้อวัตรปฏิปทาในพ่อแม่ครูอาจารย์ อันเป็นส่วนละเอียดทางภายใน ที่พ่อแม่ครูอาจารย์ได้เมตตาอบรมสั่งสอนศิษย์แต่ละราย ตลอดจนอุบายธรรมอันชาญฉลาดที่ทุ่มเทให้กับศิษย์นั้น ย่อมแสดงให้เห็นถึงอัจฉริยภาพ ที่ยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือน

๓๓. วัตรปฏิบัติของพระเณร
           ส่วนข้อวัตรปฏิปทา อันเป็นส่วนหยาบทางภายนอก ได้แก่ กิจวัตร ข้อวัตร และธุดงควัตรต่างๆ ที่เป็นแนวทางปฏิบัติ อันเปรียบเหมือนเป็นรอยเท้าของพ่อแม่ครูอาจารย์นั้น จักได้รวบรวมนำมาแสดงพอเป็นสังเขป ดังนี้  แต่ต้องขอทำความเข้าใจก่อนว่า ยุคนั้น เป็นยุคที่ศาลายังเป็นชั้นเดียว ใต้ถุนยังเป็นดินอยู่  ยังไม่ถูกยกเป็น ๒ ชั้น เหมือนเช่นทุกวันนี้

          ๑. ในตอนเช้า พระเณรแต่ละองค์ที่จะลงฉัน จะออกไปที่ศาลาก่อนได้อรุณ  (ถ้าไม่ฉัน ก็ไม่ต้องไป) เวลาที่ถือว่าได้อรุณ ก็คือ เวลาที่สังเกตเห็นใบไม้เป็นสีเขียวอ่อน เขียวแก่ ชัดเจน   เพื่อให้ทันทำข้อวัตรปัดกวาดเช็ดถูบนศาลา  ถ้าใครไปสายไม่ทันหมู่เพื่อนทำข้อวัตร  วันนั้นท่านจะงดฉัน  และที่ศาลา พระเวรศาลาจะจุดเทียนไว้ สองสามเล่มพอให้มองเห็นกัน และจะปูอาสนะ จัดกระโถนเตรียมไว้

          ๒. เมื่อไปถึงศาลา  ก็ให้ไปที่อาสนะอันควรแก่อายุพรรษาของตน คาดเดาไปก่อน แล้วปูผ้านิสีทนะ วางบาตร ขาบาตร บนผ้านิสีทนะ  จะไม่วางบาตรบนขาบาตร เพื่อป้องกันบาตรตกจากขาบาตร อันจะเป็นการประทุษร้ายบาตร แล้ววางกาน้ำ แก้วน้ำ กระโถน ไว้ทางด้านซ้าย พระเวรต้มน้ำร้อนจะทำหน้าที่เลื่อนอาสนะ จัดเรียงลำดับตามอาวุโส ภันเต ทีหลัง พร้อมทั้งดูว่า มีพระมาฉันกี่องค์  อดอาหารกี่องค์  สำหรับพระที่อดอาหาร จะทำบัญชีรายชื่อเอาไว้ที่โรงต้มน้ำร้อน ว่าใครอดมากี่วันแล้ว  เผื่อมีของฉันตอนบ่ายแจก  ก็จะได้แจกจากองค์ที่อดหลายวันก่อน และอีกอย่าง พ่อแม่ครูอาจารย์จะมาดูด้วย ว่าวันนี้มีพระอดอาหารกี่องค์  และใครอดมาก  อดน้อย อย่างไร ซึ่งอันนี้ก็เป็นเหตุให้มีเรื่องขบขันเกิดขึ้น

          คือ พระอดอาหาร กับ พระเวรต้มน้ำร้อน กำลังเถียงกันอุตลุด  พระอดอาหารบอกว่า อดมาได้ ๑๒ วันแล้ว  แต่พระเวรต้มน้ำร้อนเพิ่งนับได้ ๑๐ วัน ก็เลยเถียงกันไม่ยอมลง

        "นี่ ครูบาจะอดอาหารเอาวัน หรือจะอดเอาความเพียร"

         "ผมเอาทั้งสองอย่างนั่นแหละ  แต่จะเอาความจริงด้วย ที่ครูบาเขียนให้ผมมันไม่จริง"    พอแก้ให้เป็น ๑๒ วันเสีย เรื่องก็เลยจบไป

         ๓. พอวางบาตรเสร็จแล้ว  ก็ไปกราบพระประธาน   การกราบพระประธาน พ่อแม่ครูอาจารย์ จะกราบพระทั้งหมด ๗ ครั้ง คือ ๑.กราบพระพุทธ  ๒.กราบพระธรรม   ๓.กราบพระสงฆ์   ๔.กราบหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล   ๕.กราบหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต   ๖.กราบสมเด็จพระสังฆราชกรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ชื่น นพวงศ์)   ๗.กราบพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) พระอุปัชฌาย์    ๘.กราบพ่อแม่ครูอาจารย์  พระวัดป่าบ้านตาดทุกองค์ พร้อมใจกันกราบ

        ๔. จากนั้น เตรียมกะลามะพร้าวให้พร้อมไว้ คนละสองกะลา  ระหว่างนี้ ถ้ายังไม่ได้อรุณ ให้รักษาผ้าครองไว้ด้วย นั่งรอเวลา ณ ที่ใดที่หนึ่ง ทำความสงบใจ หรืออาจไปช่วยเช็ดถาด ถ้วย ชาม ช้อน ทัพพี  เตรียมไว้ใช้ในเวลาแจกอาหาร ซึ่งปกติจะมีพระผู้เฒ่าคอยรับผิดชอบอยู่  ในระหว่างที่อยู่บนศาลา  พระจะไม่คุยกัน  ถ้าจำเป็นต้องพูดกัน  จะพูดกันแบบเบาที่สุด เกือบจะเป็นเสียงกระซิบ   พอได้อรุณปล่อยผ้าครองได้  เสียงกะลามะพร้าวบดกับพื้นศาลา  ก็ดังกระหึ่มไปทั่วทุกทิศทุกทาง
  
          ๕. พอขัดถูศาลาเสร็จ บางองค์ก็หยิบไม้กวาดมากวาดพื้น  การกวาด ก็กวาดตั้งแต่ระดับบนลงมาหาระดับล่าง เป็นทอดๆไป  เพราะพื้นศาลามียกระดับ ถ้าพระใหม่ คือ พระอาคันตุกะที่เพิ่งเข้ามาอยู่ใหม่  ไม่ทันได้สังเกต เห็นเขากวาด ก็กวาดมั่ง ก็มักกวาดสะเปะสะปะไม่ดูตาม้าตาเรือ  ก็ไปกวาดพื้นระดับล่างก่อน ก็อาจถูกหมู่คณะเตือนบ้างแบบเบาๆ

         บางองค์ก็หยิบเสื่อมาปู การปูเสื่อก็ต้องรู้ตำแหน่งที่ควรปู และชนิดของเสื่อที่จะปู ณ ตำแหน่งนั้นๆ และต้องรู้ด้วยว่า  เสื่อที่ปูด้านไหนควรอยู่บน ด้านไหนควรอยู่ล่าง  พอปูเสื่อแล้ว ก็เอากระโถน แก้วน้ำ ขวดน้ำ กระดาษชำระ ไปวางไว้เป็นจุดๆ สำหรับให้ญาติโยมที่มาทำบุญ นั่งรับประทานอาหาร จุดที่จะวาง ก็ต้องดูตำแหน่งที่เหมาะสมด้วย ไม่ให้เกะกะขวางทาง  เช่น แอบตามข้างต้นเสา เพื่อป้องกันคนซุ่มซ่ามเดินมาเตะถูกได้

         ๖. พอปูเสื่อ จัดอาสนะเสร็จหมดแล้ว  หากยังไม่ได้เวลาบิณฑบาต ต่างองค์ก็จะเอาไม้ตาดไปกวาดใบไม้บริเวณรอบๆศาลา และ ทางเข้าวัด บางองค์ก็เอาที่ตักขยะมากวาดก้นบุหรี่ เก็บเศษกระดาษเล็กๆน้อยๆที่ทิ้งอยู่ตามที่ต่างๆไปทิ้ง บางองค์ก็ไปตรวจความเรียบร้อยตามห้องน้ำต่างๆ อีกครั้งหนึ่ง ระหว่างนี้พระเวรต้มน้ำร้อนก็จะจัดเรียงอาสนะเสียใหม่ตามลำดับพรรษา  และรับประเคนบาตรของพระทุกองค์  รวมทั้ง ถาด ถ้วย ชาม ช้อน ทัพพี   เพื่อเตรียมพร้อมไว้ใช้ในเวลาแจกอาหาร

         สำหรับบาตรนั้น หากไปอยู่ในที่ที่ไม่มีผู้ประเคนบาตรให้  ให้เอาน้ำเทลงในบาตรแล้วกรอกกลั้วบาตรเพื่อล้างเศษผงออกจากบาตร แล้วเทน้ำทิ้งไป เขย่าให้สะเด็ดน้ำ ไม่ต้องเอาผ้าลงไปเช็ดอีก  จึงค่อยไปบิณฑบาต  สำหรับแก้วน้ำ หากไม่ได้รับประเคน  ก็ต้องเอาน้ำเทใส่แก้วกรอกกลั้วให้ทั่วแล้วเททิ้งไป เพื่อล้างฝุ่นออกจากแก้วทำเช่นเดียวกับบาตร  

         ๗. พอได้เวลาบิณฑบาต ถ้าสังเกตเห็นว่า  ฝนไม่ตก ให้ซ้อนผ้าสังฆาฏิเข้ากับจีวร ถ้าฝนจะตกก็ไม่ต้องซ้อน  นุ่งสบงขัณฑ์ซ้อนกับผ้าอาบน้ำ  เพื่อป้องกันมิให้ผ้าสบงต้องเปื้อนเหงื่อ   ห่มจีวรซ้อนสังฆาฏิเป็นปริมณฑล  สะพายบาตรที่ไหล่ซ้ายไปก่อน ยังไม่เอาบาตรเข้าในจีวร ทะยอยกันเดินออกจากวัดไป การบิณฑบาตมีสองสาย ให้เฉลี่ยกันไปให้ใกล้เคียงกัน อย่าให้หนักที่สายใดสายหนึ่ง พอถึงหมู่บ้านจึงเอาบาตรเข้าในจีวร สะพายบาตรที่ไหล่ขวา เดินบิณฑบาตไปตามแถว เดินให้ทันหัวแถว ทิ้งระยะห่างพองาม ไม่คุยกันในระหว่างภิกขาจารบิณฑบาต  ขากลับจากบิณฑบาต  ทุกองค์ค่อนข้างจะเดินเร็ว  เพราะต่างองค์ต่างต้องรีบกลับไปเพื่อให้ทันทำข้อวัตรที่เกี่ยวข้องกับพ่อแม่ครูอาจารย์  เฉพาะพระที่ถือธุดงควัตร ข้อที่ไม่รับอาหารที่นำมาภายหลัง  จะรับบิณฑบาตหน้าวัดอีกครั้งหนึ่ง  ส่วนองค์ที่ไม่ได้ถือธุดงค์ข้อนี้  ก็จะเดินเข้าในวัดไปเลย  เพราะสมัยนั้นไม่มีญาติโยมรอใส่บาตรมากมายเหมือนสมัยปัจจุบันนี้

        ๘. การจัดอาหาร ก็จะมีพระทำหน้าที่รับประเคนอาหาร พระผู้รับประเคนต้องได้รับการฝึกมาเป็นการเฉพาะ  จะสุ่มสี่สุ่มห้าไปรับประเคนไม่ได้   เพราะจะต้องรู้ว่า จะรับประเคนให้ถูกวินัยอย่างไร  และควรรับประเคนอะไรก่อนหรือหลัง  และอะไรถูกกับธาตุขันธ์พ่อแม่ครูอาจารย์  ปกติก็จะมีผู้ทำหน้าที่รับประเคน  คอยสับเปลี่ยนกันองค์หนึ่งหรือสององค์    และต้องคอยสังเกตของที่รับประเคนด้วย  หากเป็นพืชที่ยังงอกได้ ก็ต้องทำวินัยกรรม คือ กัปปิยกรรม เสียก่อน โดยถามโยมว่า “ กัปปิยัง กะโรหิ”  โยมผู้ประเคนตอบว่า “กัปปิยะ ภันเต หรือ กัปปิยัง ภันเต”  พร้อมตัดหรือเด็ดพืชนั้นให้ขาดจากกัน  อาหารที่รับประเคนแล้ว จะถูกส่งให้พระผู้ใหญ่ชึ่งจะคอยจัดช้อน หรือทัพพีใส่ตามควรแก่ชนิดของอาหาร เช่น  หม้อข้าว ควรใส่ทัพพีก็ให้ใส่ทัพพี   อย่าเอาช้อนไปใส่  หากเป็นอาหารน้ำ ควรใส่กระบวยก็ให้ใส่กระบวย  อย่าเอาทัพพีไปใส่  เวลาวางช้อน หรือ ทัพพี  ก็ต้องวางให้ปลายหันเข้าหาองค์ท่านเพื่อให้จับได้ง่าย  แม้ยามส่งแก้วถวาย ก็ต้องส่งหูแก้วให้องค์ท่านจับ   และต้องรู้ด้วยว่า อาหารใดถูกกับธาตุขันธ์  หรือไม่ถูกกับธาตุขันธ์ของพ่อแม่ครูอาจารย์    และต้องทำด้วยความเคารพ

          เมื่ออาหารผ่านจากองค์ท่านแล้ว จึงนำแจกจ่ายในสงฆ์ต่อไป  การแจกอาหาร จะเน้นให้แจกอย่างทั่วถึง และเป็นธรรม จะแจกใครก่อนใครหลังก็ได้ทั้งนั้น ไม่ให้เห็นแก่ตัวเลือกเอาแต่ของดี  มีสติอยู่กับการแจกอาหาร อันใดมีมาก  ก็แจกมาก  อันใดมีน้อย ก็แจกน้อย ให้เฉลี่ยกันไป ต้องคอยตรวจตรองดูบาตรของหมู่คณะ  องค์ใดถือธุดงค์ไม่รับอาหารในวัด ท่านก็จะปิดฝาบาตรเอาไว้  ก็อย่าเอาอาหารไปใส่ให้ท่าน  ส่วนองค์ไหนเปิดฝาบาตรไว้  ก็ดูว่าท่านได้อาหารพอขบฉันแล้วหรือไม่  หากมีน้อยก็เติมเข้าไป  อาหารที่เป็นน้ำก็ตักใส่ในบาตร อย่าวางอาหารทับบนข้าว  ส่วนอาหารแห้งก็วางไว้ในถาด ที่อยู่ข้างๆบาตรของแต่ละองค์  และไม่ส่งสายตาไปมองดูญาติโยมโดยไม่มีเหตุอันควร พระทุกองค์จะช่วยกันแจกอาหารทั้งหมด  เว้นเฉพาะพระเถระผู้ใหญ่ ที่นั่งรองจากพ่อแม่ครูอาจารย์เท่านั้น

          ๙. เมื่อแจกอาหารเสร็จ พ่อแม่ครูอาจารย์จะให้พร เมื่อท่านขึ้น ยะถา...  ยังไม่ต้องพนมมือก่อน ปกติองค์ท่านจะให้พรองค์เดียว  คอยสังเกตตอนลงท้าย   ถ้าท่านทิ้งช่วงตอนท้าย   ยะถา....ลากเสียงยาว  ให้องค์รองรับ สัพพี...  จึงค่อยพนมมือตอนนั้น

          ๑๐. การขบฉัน ให้พิจารณาอาหารก่อนตามบทสวด  ปฏิสังขา โย นิโส...  เมื่อพ่อแม่ครูอาจารย์ เริ่มฉัน จึงค่อยลงมือฉัน  อย่าฉันก่อนองค์ท่านเป็นเด็ดขาด  และให้ฉันสำรวมในบาตร ไม่นิยมใช้ช้อนตักลงไปในบาตร  ไม่อ้าปากเคี้ยว  ไม่เคี้ยวให้มีเสียงดัง รักษามารยาทในการฉัน  ระวังอย่าให้จีวรหลุดลุ่ยในระหว่างขบฉัน  และที่สำคัญ จงมีสติอยู่กับการฉัน  ถ้าฉันเพลินปล่อยจิตเคลิ้มไปกับรสอาหาร ฉันมูมมาม ไม่นานสายตาพ่อแม่ครูอาจารย์จะแวบมาให้เห็น

          ๑๑. ไม่ฉันมากเกินไป ให้กะประมาณว่า อีก ๕-๖ คำจะอิ่ม ก็หยุด  ฉันน้ำเข้าไปแล้วอิ่มพอดี อันนี้ว่าไปตามทฤษฎี จริงๆฉันเท่านี้ก็ถือว่ามากแล้ว คือ เท่ากับ ๑๐๐%   ให้ฉันน้อยกว่านี้ คือ การผ่อนอาหารทำได้ตามอัธยาศัย จะผ่อนมาก ผ่อนน้อย เช่น ฉันแค่ ๗๕%  พอ หรือฉันแค่ ๕๐%  หรือฉันแค่ ๒๕%  ก็แล้วแต่จะพิจารณาทำเอง ถ้าไม่ฉันเสียเลย ก็ถือเป็นการอดอาหาร  การขบฉันจะใช้เวลาไม่ถึง ๒๐ นาที  พอฉันได้สัก ๑๐ นาทีหรือกว่านิดหน่อย พระอุปัฏฐาก ก็จะลุกไปเตรียมตัวทำข้อวัตรที่เกี่ยวกับองค์ท่านแล้ว จากนั้นองค์อื่นๆก็จะทยอยลุกตามๆกันไป  ไม่มีใครกล้าฉันอยู่นาน แม้องค์ท่านจะพยายามบอกว่า

          "ให้ฉันตามสบาย ไม่ต้องรีบร้อน ท้องใครท้องเรา ไม่อิ่มก็ฉันให้อิ่ม"  แต่ไม่มีองค์ไหนกล้าพอที่จะไปทำเช่นนั้น  โดยมากจะฉันไม่ค่อยได้อิ่มกันนัก  เพราะเกรงว่า ถ้าฉันจนอิ่ม ก็จะกลายเป็น "หมูขึ้นเขียง" เหมือนที่องค์ท่านเทศน์เตือนอยู่เสมอๆ ว่า

          "ถ้าฉันมากๆมันจะทำให้ง่วง ยิ่งถ้าได้อาหาร ผัดๆมันๆ ยิ่งกล่อมดีนัก ถ้าได้อดอาหารแล้วไม่ค่อยง่วง สติก็ดีอีกด้วย"

          ๑๒. ในระหว่างพระฉันอาหาร  พ่อแม่ครูอาจารย์จะให้ญาติโยมลงไปจากศาลา  เพื่อไม่ให้รบกวนการขบฉันของพระ  เมื่อพระฉันได้พอสมควร พ่อแม่ครูอาจารย์จะเคาะไม้ ส่งสัญญาณให้ญาติโยมขึ้นมารับประทานอาหารบนศาลาได้  เมื่อญาติโยมขึ้นมาบนศาลา พระเณรก็จะลงไปจากศาลา  เพื่อไปล้างบาตร  อันนี้ก็เป็นอุบายอันชาญฉลาดที่พ่อแม่ครูอาจารย์เจตนาที่จะไม่ให้พระเณรกับญาติโยมได้เห็นกัน   เมื่อล้างบาตรเสร็จ ให้เอาผ้าเปียกบิดน้ำให้หมาดๆเช็ดบาตรไปทีหนึ่งก่อน  จึงค่อยใช้ผ้าเช็ดบาตรเช็ดให้แห้งอีกครั้ง   แล้วใส่ถลกบาตร  หากมีแดด ก็ให้เอาบาตรผึ่งแดดเสียก่อน   ผึ่งสักพักกะว่า พอเอามือจับรู้สึกร้อนอุ่นๆก็เก็บได้  รวมทั้งผ้าสบง จีวร สังฆาฏิ  ให้ผึ่งแดดเพื่อขับไล่ความชื้นพอสมควร  จากนั้นก็พับเก็บให้เรียบร้อย ไม่ให้ปล่อยทิ้งเรี่ยราด หรือผึ่งแดดนานเกินไป

         ๑๓. ในระหว่างที่รอญาติโยมรับประทานอาหารนั้น  พระก็จะเข้าไปทำความสะอาดพื้นศาลาบริเวณที่พ่อแม่ครูอาจารย์นั่ง  เพราะจะมีน้ำแกง หรือคราบอาหาร หกหรือตกหล่นอยู่ที่พื้น  หากเจอน้ำแกงหกอยู่ที่พื้นศาลา  จะเอาผ้าแห้งไปเช็ดโดยทันทีไม่ได้  ต้องเอาน้ำล้างน้ำแกงเสียก่อน จึงค่อยเอาผ้าแห้งเช็ด  แม้คราบอาหาร คราบมันที่เปรอะเปื้อนอยู่ตามพื้นก็เช่นกัน  เรื่องนี้ผู้เขียนโดนด้วยตัวเองแบบเต็มๆ  จนจำไม่ลืมกระทั่งบัดนี้  หากเป็นที่อื่น มีน้ำแกงหกตามพื้น เอาผ้าแห้งไปเช็ด  คงจะได้รับการยกย่องว่าดีหรือขยัน  แต่ไม่ใช่สำหรับที่นี่
  
           ในระหว่างนี้พ่อแม่ครูอาจารย์ จะใช้ไม้สีฟัน ซึ่งพระวัดป่าบ้านตาดช่วยกันทำถวายอย่างสุดประณีต เมื่อสีฟันบ้วนปากเสร็จ องค์ท่านก็จะฉันหมาก  หากพระอาคันตุกะจะเข้ามากราบ  ก็ถือเป็นโอกาสอันควรกราบได้  เมื่อญาติโยมรับประทานอาหารเสร็จพร้อมกันแล้ว  พ่อแม่ครูอาจารย์ก็จะเริ่มเทศน์ตามอัธยาศัย จนกระทั่งพ่อแม่ครูอาจารย์เทศน์เสร็จ กลับเข้ากุฏิ  ญาติโยมก็เริ่มทยอยกลับ พระที่เป็นเวรทำความสะอาดศาลา ก็แบ่งกันทำหน้าที่เก็บกระโถน เก็บแก้วน้ำ ขวดน้ำ ไปล้าง และกรอกน้ำฝนใส่ขวดไว้ตามเดิม เก็บผ้าเช็ดเท้าไปซัก และตาก  พร้อมทั้งคอยเก็บเมื่อตากแห้งแล้ว  องค์ที่เหลือก็ปัดกวาด เช็ด ขัด ถู ศาลา จนสะอาดสะอ้านเรียบร้อยดี  จึงกลับเข้ากุฏิได้ ส่วนผู้ไม่ใช่เวร ก็ให้กลับเข้ากุฏิ ทำความเพียรตามอัธยาศัย  เฉพาะวันพระหรือวันสำคัญทางศาสนา ที่มีคนมามาก  ทุกองค์ต้องช่วยกันทำข้อวัตรปัดกวาดขัดถูศาลาก่อน จึงค่อยกลับเข้ากุฏิ และจะไม่ออกมาที่ศาลาอีก โดยไม่มีเหตุอันควร จนกว่าจะถึงเวลาทำข้อวัตรปัดกวาดอีกครั้งในตอนเย็น

          ๑๓. ตอนกลับกุฏิ ให้นำอาหารจำพวก ข้าว ผัก ผลไม้ ขนมปังใส่ถุงหรือกระป๋อง ไปให้พวกสัตว์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณกุฏิที่พัก เช่น ไก่ กระรอก กระแต กระต่าย  แย้ ที่กระจายอยู่ตามที่ต่างๆด้วย  และต้องใช้สติปัญญาจัดการให้รอบคอบ  ระวังอย่านำอาหารไปให้ มากเกินไป หรือน้อยเกินไป ต้องรู้จักสังเกตในแต่ละวัน ด้วยว่า อาหารประเภทใดเหลืออยู่   ประเภทใดถูกกินหมด หรือไม่กินเลย  แล้วนำอาหารมาให้สมควรกัน และต้องเปลี่ยนทุกวัน บางองค์ขี้เกียจ เอามาทีหนึ่งกะให้กินไปสองสามวัน  ไม่นานก็จะถูกเทศน์  เพราะพ่อแม่ครูอาจารย์จะเดินไปดูที่ร้านให้อาหารกระรอกกระแต เพื่อดูความเอาใจใส่ของพระเณรที่มีต่อสัตว์ทั้งหลายด้วย  ท่านว่า

           “พระเณรควรมีความเมตตาต่อสัตว์ จะมีมากหรือมีน้อย ก็สังเกตได้จากพฤติกรรม ความเอาใจใส่ ที่แสดงต่อสัตว์นั่นเอง”  และองค์ที่ไม่ใส่ใจมักจะถูกดุ  "ถ้าพระไม่มีเมตตา แล้วใครจะมี"

            ๑๔. เวลา ๑๒.๔๕ น. เป็นต้นไป พระเณรจะทยอยกันออกมาฉันน้ำร้อน  จะมีพระเวรต้มน้ำร้อนจัดเตรียมน้ำปานะ และจัดของขบเคี้ยวที่อนุญาตให้ฉันตอนบ่ายได้  รับประเคนเตรียมพร้อมไว้  ของฉันสมัยนั้นยังไม่มากมายเหมือนสมัยนี้  และสิ่งใดที่พระเณรจะนำเข้ามาฉันในโรงต้มน้ำร้อนได้  ต้องได้รับอนุญาตจากพ่อแม่ครูอาจารย์ หรือพระผู้ใหญ่เห็นสมควรก่อน  มิใช่สรรหามากินกันเอง หรือ แล้วแต่ญาติโยมจะเอามาถวาย  ของฉันก็มีแบบพื้นๆ จำพวก โกโก้ กาแฟ  ชา ขิง น้ำผึ้ง น้ำส้ม น้ำองุ่น น้ำแอปเปิ้ล น้ำลำใย น้ำอ้อย น้ำตาล น้ำอัดลม เป๊ปซี่ โคล่า กระทิงแดง ลิโพ  สปอนเซอร์  และมีจำพวก ลูกอม ประมาณนี้ ที่พิสดารกว่านี้ นานๆจะโผล่มาให้เห็นสักครั้ง จำพวก เนยคั่ว หรือช็อคโกแล็ต
 
             ในยุคนั้น ท่านไม่อนุญาตให้ฉันคอฟฟี่เมต  เพราะเห็นว่า มันมีส่วนผสมของแป้ง ซึ่งมีคติเป็นอาหาร แต่สมัยปัจจุบันนี้ นัยว่า มันมีคอฟฟี่เมตชนิดที่ไม่มีแป้งผสม   นักปราชญ์สมัยใหม่ก็ว่าฉันได้  ก็พากันฉันคอฟฟี่เมตกันเป็นปกติ   แม้กระทั่งเฉาก๊วย  ซึ่งแต่ก่อนก็ไม่อนุญาตให้ฉัน  เพราะเห็นว่ามันมีส่วนผสมของแป้ง  แต่สมัยใหม่นี้ ก็มีคนบอกว่า เฉาก๊วยบางอย่างไม่มีแป้งผสม  นักปราชญ์สมัยใหม่ก็ว่าฉันได้  ก็พากันฉันเป็นปกติ

            อันที่จริง  ของฉันตอนบ่ายในยุคสมัยนี้ มันมีมากจนกระทั่งหูอื้อตาลาย  จนไม่รู้ว่า อะไรมันจะฉันได้ หรือฉันไม่ได้  แทบจะไม่มีกฏเกณฑ์อันใดหลงเหลือแล้ว  บางองค์ก็บอกว่า  ถ้าไม่สงสัยแล้วก็ฉันไปเถอะ  หากสงสัยก็อย่าฉัน  เพราะวินัยบัญญัติไว้  หากสงสัยแล้วขืนทำ  ท่านปรับอาบัติทุกกฎ
 
             อยากจะขอแทรกความเห็นส่วนตัวไว้สักเล็กน้อย เพราะเรื่องวินัย มีหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ตายตัว  ของที่มีชื่อระบุอยู่ในพระวินัย อนุญาตให้ฉันเป็นยาได้  ก็ฉันไปเถอะ  ไม่มีอะไรต้องสงสัย  แต่ยุคสมัยนี้  ของกินมันเยอะมาก จนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร  และไม่มีชื่อระบุไว้ ในพระวินัย  เนื่องจากสมัยโน้นไม่มีของอย่างนี้   ก็เลยต้องอาศัยการอนุมานเอาเอง  ว่าอันใดจะฉันได้  อันใดฉันไม่ได้  ก็แล้วแต่ใครจะตีความว่ากันอย่างไร

            ทีนี้ จะเอาแต่ความสงสัย หรือไม่สงสัย มาเป็นตัวตัดสินเสียเลยทีเดียว คงไม่ถูกต้องนัก  มันขึ้นอยู่กับความจริงของสิ่งนั้นๆด้วย  เช่น ถ้ามีอาหารปนอยู่  พระรับประเคนตอนบ่าย ท่านปรับอาบัติทุกกฎ  หากฉันลงไปเป็นปาจิตตีย์   แม้ไม่มีเจตนาก็เป็นอาบัติ  เพราะอาบัติมีทั้งที่เจตนา และที่ไม่เจตนา  มิพักต้องกล่าวว่า สงสัยหรือไม่สงสัย  เอะอะก็จะเหมาเอาเองว่า  ไม่สงสัยก็ไม่เป็นไร นึกอยากจะฉันอะไร ก็ฉันไปเรื่อย   มันจะเป็นวินัยสะดวกมากเกินไปไหม?   ขอฝากไว้ให้เป็นข้อคิด

             และอีกอย่าง ของฉันตอนบ่ายในเวลาวิกาล  ท่านอนุญาตให้เฉพาะที่ฉันเป็นยาเท่านั้น  มีเหตุจึงฉัน  ไม่มีเหตุก็ไม่ควรฉัน  หากเจตนาฉันเพื่อเป็นอาหารเอาอิ่มเข้าว่าอย่างเดียว ก็ปรับอาบัติทุกกฎ   แม้เนยที่ตามวินัยถูกจัดไว้ในเภสัชห้า คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นของอนุญาตให้ฉันได้ในเวลาวิกาล  ถึงกระนั้น ก็ยังมีบทบัญญัติเพิ่มเติมอีกว่า  หากไปอยู่ในถิ่นฐานที่ญาติโยมเขารับประทานเนยเป็นอาหาร  พระจะไปฉันเนยเป็นยาย่อมมิบังควร  ก็ยังมีวินัยห้ามไว้  ในกรณีที่เป็นโลกวัชชะเข้าอีกต่างหาก   ดังนั้น อะไรที่ญาติโยมเขารับประทานกันเป็นอาหาร  แล้วพระจะเอามาฉันเป็นยาในตอนบ่าย   ดูมันจะตลกเกินไปหรือเปล่า?

              ที่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดบ้าง  มิใช่ว่าจะไปต่อต้าน หรือ ตำหนิ การฉันหรือไม่ฉันอะไรของใคร  เรื่องการปฏิบัติรักษาพระวินัย มันเป็นเรื่องเฉพาะตัว  ไม่มีใครบังคับใครได้ (สมัยนี้)   ใครรักษาไว้ด้วยดี ผู้นั้นก็จะเจริญในธรรมในวินัยยิ่งๆขึ้นไป  ใครรักษาไว้ไม่ดี ประทุษร้ายต่อธรรมต่อวินัย  ก็เห็นจะมีแต่ความเสื่อมไปเอง  ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปตำหนิติเตียนท่านผู้ใด   เพราะเหตุแห่งการที่เขาไม่รักษาธรรมวินัยนั้นๆ   เพียงแต่อยากจะให้ข้อคิดว่า  พระวินัย มันอยู่ที่การตีความตามความคิดของแต่ละคน กระนั้นหรือ?  ถ้าใครคิดว่าไม่ผิด ก็ฉันไปเถอะ  ถ้าใครคิดว่าผิด  ก็อย่าไปฉัน  แล้วอย่างนี้อีกหน่อย  วินัยมันจะเหลืออะไร?

             การตีความโดยธรรม  ท่านก็ให้ตีความเข้าข้างพระวินัยไว้ก่อน คือให้ยกประโยชน์แก่พระวินัย  ที่จะทำให้พระวินัยแน่นหนามั่นคง   การตีความที่อาจทำให้พระวินัยสั่นคลอน  หรือประทุษร้ายต่อพระวินัย  คือล่อแหลมต่อการเป็นอาบัติ ท่านให้หลีกเว้น ไม่ทำเสียเลยดีกว่า   จะเอาความสงสัยหรือไม่สงสัยมาเป็นบรรทัดฐานตัดสินพระวินัยไม่ได้

            การที่จะไม่สงสัย นั้น  เข้าใจเอาเองว่า  คือ การที่ผู้มีปัญญาใคร่ครวญโดยรอบแล้ว ไม่สงสัยว่า มันจะผิดพระวินัย  อย่างนี้ ท่านให้ทำไปเถอะ ไม่มีโทษอันใด แต่ถ้าพิจารณาแล้วยังไม่ลงใจ ยังสงสัยอยู่ว่า เอ! มันอาจจะผิดพระวินัยก็ได้นะ  อย่างนี้ ท่านห้ามไม่ให้ทำ  ขืนทำท่านปรับอาบัติทุกกฎ  ฉะนั้น การที่จะสงสัย หรือไม่สงสัย มันต้องผ่านการพิจารณาจากท่านผู้รู้โดยรอบเสียก่อน  มิใช่ไม่สงสัย แบบคนไม่รู้พระวินัย  หรือ แบบคนบ้องตื้นที่ไม่รู้จักคิดจักอ่านอะไร  ต้องขออภัย หากเป็นการพูดตรงเกินไป  เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องหนัก และมีความสำคัญต่อการปฏิบัติของพระเณรในภายหน้าเป็นอย่างยิ่ง  จะมาทำกันแบบเล่นๆโดยต่างคนต่างคิดต่างทำเอาเองไม่ได้

            ชื่อว่า พระกรรมฐาน ทำอะไรต้องมีหลักมีเกณฑ์มีเหตุมีผลเป็นเครื่องดำเนิน  และเห็นแก่พระวินัยเป็นใหญ่  ไม่เห็นแก่ปากแก่ท้อง  อย่างน้อยก็เพื่อให้เป็นเนติแบบอย่างแก่กุลบุตรสุดท้ายผู้มาภายหลัง จะได้มีหลักเกณฑ์ ยึดถือเป็นข้อคิด ข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง และดีงามต่อไป  ไม่ใช่มารื้อถอนทำลายหนทางกันเสียแต่บัดนี้ มันจะเร็วเกินไปไหม?
  
              นอกเรื่องไปหน่อย  กลับเข้าเรื่องต่อกันดีกว่า  พระเวรต้มน้ำร้อน จะเป็นผู้รับผิดชอบจัดเตรียมของฉันไว้  และแบ่งปันให้กับพระทุกองค์อย่างทั่วถึง  ทั้งพระอดอาหาร ซึ่งอาจได้รับส่วนแบ่งมากหน่อย ขึ้นอยู่กับว่า อดมากี่วันแล้ว  และพระไม่อดอาหารก็ได้รับส่วนแบ่งเท่าๆกัน  ใครอยากฉันอะไรก็ไปตักชงทำเอาเอง แล้วไปนั่งฉันเงียบๆ  มีโต๊ะตั้งยาปนมัต จำพวก  สมอ  มะขามป้อม ใบชะพลู  ใบบัวบก   พร้อมพริก น้ำตาล เกลือ บางทีก็มียาร้อน  ใครต้องการก็เอาตั่งน้อยไปนั่งฉันได้   เมื่อฉันเสร็จก็ออกมา  ให้ผู้อื่นเข้าไปฉันบ้างสลับกันไป  พอได้เวลาบ่ายสองโมง ก็เก็บทุกอย่างหมดเรียบร้อย ไม่มีการขบฉันอะไรอีกในวันนั้น
  
            ๑๕.  เวลา บ่ายสามหรือตามแต่พระผู้ใหญ่จะกำหนด  พระเณรทุกองค์ เว้นพระอดอาหาร ต้องช่วยกันทำข้อวัตรปัดกวาดตั้งแต่กุฏิตนเอง  ทางเดินสัญจรในวัด  ไปจนถึงบริเวณรอบๆศาลา  ทางเข้าวัด  และลานจอดรถหน้าวัด  การปัดกวาดก็ต้องใช้สติปัญญาพิเคราะห์ไปด้วย  จะกวาดไปทางไหน  ไปกองที่ตรงไหน  กวาดหนัก กวาดเบาอย่างไร  ท่านให้ กวาดเบาๆเอาแต่ใบไม้ไปเท่านั้น ไม่กวาดเอาเม็ดหินเม็ดทรายไปด้วย  ไม่กวาดขูดดินเป็นหลุมเป็นบ่อ กวาดใบไม้รวมกองไว้ในที่ต่ำ  แล้วค่อยหอบไปเผาในหลุมขยะ  พอปัดกวาดเสร็จ พระอาวุโสก็จะขึ้นไปปัดกวาด ขัดถูศาลาด้วยกะลามะพร้าว พระหนุ่มไปช่วยกันโยกน้ำ  ตักน้ำ เข็นน้ำไปใส่ส้วม และตุ่มล้างบาตรทุกใบ สมัยนั้นใช้เครื่องโยกน้ำจากบ่อ ไม่ได้ใช้เครื่องสูบน้ำเหมือนทุกวันนี้  กว่าจะตักน้ำใส่ส้วม ใส่ตุ่มจนเต็มหมดทุกตุ่ม  ต้องโยกน้ำ เข็นน้ำ กันจนเหงื่อท่วมทีเดียว

           ๑๖. เมื่อทำข้อวัตรเสร็จเรียบร้อย  ต่างองค์ต่างไปสรงน้ำที่บ่อตามอัธยาศัย ไม่มีส้วมส่วนตัวในแต่ละกุฏิ จะมีส้วมอยู่ในจุดกลาง ใช้ร่วมกันระหว่างกุฏิที่อยู่ใกล้ๆกัน  ๒-๓ หลัง ต่อ ๑ ส้วม น้ำต้องเข็นเอาจากบ่อ ใครใช้ส้วมหลังไหน ก็ช่วยกันเอาน้ำไปใส่ส้วมให้เต็ม  เพื่อใช้สำหรับราดส้วมเท่านั้น ไม่ได้ต่อท่อน้ำ มีก๊อกน้ำให้เปิดได้อย่างสบายๆเหมือนทุกวันนี้  เวลาสรงน้ำ จึงต้องไปสรงที่บ่อ เมื่อสรงน้ำเสร็จ  ก็ซักผ้า นำผ้ากลับมาตากที่กุฏิ จากนั้นเป็นเวลาทำความเพียรส่วนตัวไปจนถึงได้อรุณวันใหม่

           ๑๗. เวลาประมาณ ๑ ทุ่ม ให้คอยฟังเสียงฆ้อง หากได้ยินเสียงฆ้องเมื่อไร  แสดงว่า พ่อแม่ครูอาจารย์สั่งประชุมเทศน์ ให้เตรียมตัวมาพร้อมกันที่ศาลาทันที ปกติจะไม่มีการทำวัตรสวดมนต์ร่วมกัน เพราะการประชุมแต่ละครั้งย่อมเสียเวลา และเป็นการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ไม่แน่ว่าจะเป็นไปเพื่อความสงบ ให้ต่างคนต่างทำวัตรสวดมนต์ที่กุฏิของตนเองตามอัธยาศัย  อยากสวดมนต์บทไหนก็สวดไป  จะมีทำวัตรสวดมนต์ร่วมกันบ้าง เฉพาะวันลงอุโบสถในตอนเช้า หรือวันสำคัญทางศาสนา

            ที่สำแดงมาทั้งหมดนี้ ก็คือ ข้อวัตรปฏิปทาในแต่ละวันพอสังเขป ณ วัดป่าบ้านตาด ในยุคที่พ่อแม่ครูอาจารย์เคี่ยวเข็ญพระเณรอย่างหนัก และนี่เป็นในมุมมองของผู้เขียน  ซึ่งอาจจะมีมุมมองที่แตกต่างกันได้บ้าง  สำหรับพระที่จำพรรษาที่นั่น ในช่วงเวลาที่ต่างกัน และในสถานการณ์ที่ต่างกัน  เนื่องจากแต่ละองค์ย่อมประสบกับเหตุการณ์ต่างๆมากมายที่ไม่เหมือนกัน  จะให้มองเห็นอะไรเหมือนกันหมด คงเป็นไปไม่ได้  แต่เชื่อแน่ว่า  โดยเนื้อหาหลักใหญ่ใจความแล้ว  ก็ไม่ต่างไปจากที่ได้กล่าวมานี้    ซึ่งข้อวัตรปฏิปทาทั้งหลายเหล่านี้ พระเณรได้ยึดถือปฏิบัติกันมาเป็นเวลานาน และได้หล่อหลอมให้บังเกิด พระสุปฏิปันโน  อุชุปฏิปันโน  ญายปฏิปันโน  สามีจิปฏิปันโน ในพระพุทธศาสนา ประหนึ่งดอกบัวโผล่พ้นจากผิวน้ำ  และแย้มกลีบเบ่งบาน เมื่อต้องแสงอาทิตย์อุทัยสาดส่อง ฉะนั้น

๓๑. กึกก้องกังวาลอยู่ภายในจิต
             ในยุคสุดท้ายบั้นปลายชีวิตนี้ บางสิ่งบางอย่างพ่อแม่ครูอาจารย์ก็อนุโลมผ่อนคลายไปตามสถานการณ์อย่างมากแล้ว ผู้ที่ไม่เคยสัมผัสพ่อแม่ครูอาจารย์มาแต่ต้น อาจไม่เข้าใจ หรืออาจสำคัญผิดในองค์ท่านไปต่างๆนาๆ  หรืออาจได้ยินได้ฟังคำบอกเล่าที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงไปบ้าง  ผู้ฉลาดจึงต้องใช้สติปัญญาพิจารณาใคร่ครวญให้ดีเสียก่อน ส่วนการที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อในสิ่งใด ก็คงต้องมอบให้ "ธรรม" และ "กิเลส" ภายในใจของผู้นั้น จะต่อสู้ตัดสินกันเอาเอง ในธรรมท่านก็เตือนไว้แล้วว่า "ดี หรือ ชั่ว เป็นเรื่องเฉพาะตัว อันใครๆต้องทำเอง และได้รับผลเอง  บุคคลอื่นจะยังคนอื่นให้ ดี หรือ ชั่ว ไม่ได้เด็ดขาด"

            บัดนี้ พ่อแม่ครูอาจารย์ได้ล่วงลับดับขันธปรินิพพานจากพวกเราไปแล้ว  ข้อวัตรปฏิปทาเหล่านี้ ที่พ่อแม่ครูอาจารย์เมตตาพร่ำสอนมาช้านาน  ศิษย์ทั้งหลาย จะตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติรักษาไว้จนสุดกำลังความสามารถทีเดียว  ในยามที่ศิษย์ได้ก้าวเดินตามรอยปฏิปทาของพ่อแม่ครูอาจารย์ไปนั้น มันช่างเป็นความอบอุ่นอยู่ภายในใจ เปรียบเหมือนมีพ่อแม่ครูอาจารย์อยู่ใกล้ๆ  ดูราวกับว่า พ่อแม่ครูอาจารย์ยังคงเฝ้ามองดูศิษย์ทุกคนอยู่ด้วยความห่วงหาอาทร  ไม่ได้บทจรร้างลาจากศิษย์ไปไกล  คำสอนของพ่อแม่ครูอาจารย์ ยังคงดังกึกก้องกังวาลอยู่ภายในดวงจิตของปวงศิษย์ทุกคน


หัวข้อ: Re: ข้อวัตรปฏิปทาในพ่อแม่ครูอาจารย์ - หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 11 มกราคม 2562 09:59:51

 
๓๒. แม้จะทุกข์ยากลำบาก แต่หัวใจจะไม่ท้อแท้
              ข้อวัตรปฏิปทาในพ่อแม่ครูอาจารย์นี้ จะเป็นหลักปฏิบัติอันมั่นคง เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาไปตราบเท่านานแสนนาน  แม้คำสอนที่พ่อแม่ครูอาจารย์ได้เมตตาแสดงไว้  ย่อมถือเป็นมรดกธรรมอันล้ำค่า และเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาอันสำคัญยิ่ง  ที่จะนำไปสู่ แดนแห่งความหลุดพ้น คือ พระอมตมหานฤพาน  พ่อแม่ครูอาจารย์เคยบอกว่า

           "ปฏิปทาของพ่อแม่ครูอาจารย์นี้ เป็นปฏิปทาที่อดอยาก และทรหดอดทนยิ่งนัก"

            แต่ศิษย์ทั้งหลาย จะขอก้าวเดินตามรอยปฏิปทาของพ่อแม่ครูอาจารย์ไป  แม้จะเป็นเสมือนหนึ่ง เหยียบย่ำลงไปบนเส้นทางอันเต็มไปด้วยขวากหนามที่ทุรกันดารอย่างยิ่ง  แต่ศิษย์ก็จะไม่มีวันท้อแท้  ถึงจะต้องผ่านความทุกข์ยากลำบาก และจะต้องอาศัยความทรหดอดทนสักเพียงใดก็ตาม
 
           ศิษย์ทุกคนจะขอมอบกายถวายชีวิต และยอมตายอยู่กับข้อวัตรปฏิปทาที่พ่อแม่ครูอาจารย์พาดำเนินไปนี้  ด้วยความสำนึกในพระคุณอันยิ่งใหญ่ ที่พ่อแม่ครูอาจารย์มีต่อปวงศิษย์ทุกคน อย่าว่าแต่หนทางจะต้องเหยียบย่ำลงไปบนขวากหนาม  ต่อให้มันเป็นหลุมถ่านเพลิงที่มีไฟลุกโชติช่วงอยู่   ศิษย์ทั้งหลายก็จะขอก้าวเท้าตามรอยพ่อแม่ครูอาจารย์ไป  อย่างไม่ลังเลสงสัย และไม่มีวันสะทกสะท้าน

          ศิษย์ทุกคนจะขอสละชีพบูชาธรรม และบูชาคุณของพ่อแม่ครูอาจารย์ ด้วยข้อวัตรปฏิบัติ ที่มุ่งตรงต่อ มรรค ผล นิพพาน อย่างไม่มีเบี่ยงเบน พ่อแม่ครูอาจารย์ได้บรรลุถึงฝั่งอันเป็นแดนแห่งความเกษม คือ พระนิพพานไปแล้ว  หากแม้นศิษย์ทั้งหลายไม่อาจเดินตามพ่อแม่ครูอาจารย์ได้ทัน ด้วยบุญวาสนาบารมีที่สร้างสมมายังไม่แก่กล้าเพียงพอ  ปวงศิษย์จะขอตะเกียกตะกาย เดินตามรอยเท้าของพ่อแม่ครูอาจารย์ไป จนกว่าจะหมดสิ้นเรี่ยวแรงล้มลง  แม้ร่างกายจะเหน็ดเหนื่อย  แม้ลมหายใจจะอ่อนล้า   แม้นัยน์ตาจะพร่ามัว  แต่หัวใจจะไม่มีวันท้อแท้  ยังเต็มเปี่ยมด้วยความสุข ที่ได้เห็นรอยเท้าของพ่อแม่ครูอาจารย์อยู่ตรงหน้า  แม้เพียงเลือนลาง  ณ จุดสุดท้ายบั้นปลายชีวิต อันเป็นสักขีพยานได้ว่า

         “ศิษย์ทั้งหลายยังเดินตามรอยปฏิปทาของพ่อแม่ครูอาจารย์อยู่  ณ ลมหายใจสุดท้าย  และตายใจได้ว่า  จะไม่มีวันพลัดพรากจากมรรค ผล นิพพาน   แม้จะต้องดับดิ้นสิ้นลมปราณลาลับจากโลกนี้ไป”


เอวัง

ขอขอบคุณที่มา วัดป่าดอยแสงธรรมญาณสัมปันโน