[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 15:45:34



หัวข้อ: วันมาฆบูชา โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 15:45:34
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/30433570924732_13_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/38596691273980_15_Copy_.jpg)
ภาพจาก : วัดมเหยงคณ์ ต.หันตรา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

วันมาฆบูชา
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วันมาฆบูชาเป็นวันบูชาสำคัญวันหนึ่งในพระพุทธศาสนา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเริ่มทำพิธีบูชานี้ขึ้นตั้งแต่เมื่อทรงผนวชอยู่ในรัชกาลที่ ๓ ตามที่มีกล่าวไว้ในตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสว่า “ถึงวันเพ็ญเดือน ๓ ที่กำหนดว่าเป็นวันที่สมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ในที่ประชุมสาวกสงฆ์ ๑,๒๕๐ องค์ ล้วนเป็นพระอรหันต์เอหิภิกขุ มาถึงโดยลำพังมิได้รับเรียกร้อง ซึ่งเรียกว่าจาตุรงคสันนิบาต ทรงทำมาฆบูชา มีเทศนาด้วยเรื่องนั้น” ส่วนการทำมาฆบูชาทางราชการและประชาชนทั่วไปน่าจะมีมาตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๔ และในปลายรัชกาลน่าจะได้มีการทำมาฆบูชากันทั่วไปแล้ว จึงได้มีประกาศว่าด้วยวันธรรมสวนะแห่งปีระกา ตรีศก จ.ศ.๑๒๒๓ ตรงกับ พ.ศ.๒๔๐๔ ตอนท้ายว่า “อนึ่ง ถ้าจะทำพิธีมาฆบูชา ตามนิยมซึ่งมีกำหนดในคัมภีร์อรรถกถาว่าเป็นวันที่ชุมนุมพระสาวก ๑,๒๕๐ และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์นั้น ให้ทำในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ทั้งสองวันเป็นอันถูกต้องแล้ว อย่าได้สงสัยเลย ถ้าไม่เชื่อก็ให้พิเคราะห์ดูพระจันทร์ในอากาศนั้นเทอญ”  คำบูชาเป็นภาษาบาลี ในวันมาฆบูชาที่ใช้กันทั่วไปในบัดนี้ก็เข้าใจว่าเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้ในบัดนี้ เรื่องมาฆบูชาได้เป็นที่ทราบกันโดยมากแล้ว แต่เมื่อวันมาฆบูชาเวียนมาถึงเข้าก็ควรจะกล่าวฟังกันอีก

เรื่องที่เป็นเหตุปรารภให้ทำมาฆบูชาได้เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาลตอนต้น (ตามที่มีเล่าไว้ในพระสูตรและอรรถกถาบางแห่งรวมความโดยย่อว่า เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระธรรมแล้ว ทีแรกได้ทรงพิจารณาเห็นว่าพระธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้เป็นของลุ่มลึกยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ ถ้าจะทรงแสดงพระธรรมสั่งสอนและคนทั้งหลายไม่เข้าใจ ก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไร จะทรงเหน็ดเหนื่อยเปล่า จึงมีพระหทัยน้อมไปในทางจะไม่ทรงแสดงพระธรรม แต่อาศัยพระมหากรุณาตามที่ท่านแสดงว่ามีพระพรหมมากราบทูลอาราธนา (ดังที่ได้ผูกเป็นคำอาราธนาพระแสดงธรรมในบัดนี้ว่า พฺรหฺมา จ โลกา เป็นต้น) ได้ทรงพิจารณาดูหมู่สัตว์โลก ทรงเห็นว่าผู้ที่มีกิเลสธุลีในจักษุน้อยอาจจะรู้ธรรมที่ทรงแสดงได้ก็มีอยู่ จึงตกลงพระหทัยว่าจะทรงแสดงพระธรรมสั่งสอน และทรงอธิษฐานคือทรงตั้งพระทัยว่า จะทรงดำรงพระชนมายุอยู่ต่อไปเพื่อประกาศพระธรรม ประดิษฐานพระพุทธศาสนาและพุทธบริษัทให้ตั้งหยั่งรากลงมั่นคงในโลก จะยังไม่เสด็จดับขันธปรินิพพาน ตราบเท่าที่พระพุทธศาสนาและพุทธบริษัทยังไม่ประดิษฐานหยั่งรากลงมั่นคง ต่อจากนั้นก็ได้เสด็จจาริกไปแสดงพระธรรมสั่งสอนตั้งต้นแต่พระปัญจวัคคีย์ที่อิสิปตนมิคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี เมื่อวันอาสาฬหปุณณมี (คือวันจันทร์เพ็ญหน้าวันเข้าพรรษาต้น) ทรงจำพรรษาแรก ณ ที่นั้น ทรงได้พระสาวกเพิ่มขึ้นโดยลำดับ ออกพรรรษาแล้วทรงส่งพระสาวกไปประกาศพระศาสนาในทิศต่างๆ แยกย้ายกันไป ส่วนพระองค์เองเสด็จตรงไปยังกรุงราชคฤห์ ทรงแสดงธรรมโปรดและได้พระสาวกตามเสด็จมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อใกล้กรุงราชคฤห์ ได้ประทับพักที่ลัฏฐิวัน พระเจ้าพิมพิสารได้เสด็จออกมาเฝ้า และถวายพระเวฬุวันซึ่งอยู่ภายนอกพระนครทางด้านเหนือให้เป็นวัดที่ประทับ พระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระสงฆ์สาวกได้เสด็จไปประทับ ณ พระเวฬุวันพระอารามหลวงนั้น แต่บางคราว ก็เสด็จขึ้นไปประทับบนเขาคิชฌกูฏ ทรงได้พระอัครสาวกทั้ง ๒ คือพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะที่กรุงราชคฤห์นี้ และได้มีเหตุการณ์ที่เรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต ความประชุมแห่งองค์ ๔” ขึ้นที่พระเวฬุวันในวันเพ็ญเดือนมาฆะ (ซึ่งโดยปกติตรงกับวันเพ็ญกลางเดือน ๓ ของไทยเรา)  วันนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่ปริพพาชกผู้หนึ่งบนเขาคิชฌกูฏ  พระสารีบุตรนั่งถวายงานพัดฟังอยู่ด้วย ท่านฟังจบแล้วก็มีจิตพ้นจากอาสวะ (ส่วนพระโมคคัลลานะได้มีจิตพ้นจากอาสวะก่อนนั้นแล้ว)  พระพุทธเจ้าได้เสด็จลงจากเขาคิชฌกูฏไปสู่พระเวฬุวัน ขณะนั้นเป็นเวลาตะวันบ่าย ได้มีพระภิกษุจำนวนรวมกันถึง ๑,๒๕๐ องค์ ซึ่งล้วนเป็นพระอรหันต์เอหิภิกขุมาเข้าเฝ้าพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย กล่าวได้ว่าเป็น “จาตุรงคสันนิบาต ความประชุมแห่งองค์ ๔” คือ

๑. ภิกษุ จำนวน ๑,๒๕๐ ซึ่งมาประชุมกัน ล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้สิ้นอาสวะแล้ว
๒. ล้วนเป็นเอหิภิกขุ คือ เป็นภิกษุซึ่งได้รับอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้าเองด้วย วิธีที่ตรัสเรียกว่าจงเป็นภิกษุมาเถิด อันเรียกว่าเอหิภิกขุอุปสัมปทา
๓. ล้วนมิได้มีการนัดหมายกัน ต่างมาสู่สำนักพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าในพระเวฬุวัน
๔. ในวันอุโบสถมาฆปุณณมี คือวันจันทร์เพ็ญเดือนมาฆะ
(พระพุทธเจ้าจึงทรงทำอุโบสถอันบริสุทธิ์ ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ในสังฆสันนิบาตนั้น)

นึกดูว่าเวลานั้นเป็นสมัยต้นพุทธกาล พระบรมศาสดาเพิ่งจะประกาศพระพุทธศาสนาได้ไม่นาน แต่ก็ได้พระสาวกผู้สำเร็จกิจเป็นพระอรหันต์สิ้นอาสวะแล้วจำนวนมากถึงเท่านั้น เมื่อมานั่งประชุมเฝ้าอยู่พร้อมหน้ากันทั้งหมด โดยมิได้มีรับสั่งเรียกหรือนัดหมายกันเอง ในวันและเวลาที่เหมาะดังนั้น อันเรียกได้ว่าจาตุรงคสันนิบาต พระบรมศาสดาเองก็ได้ทอดพระเนตรเห็นผลงานของพระองค์ที่ได้ทรงทำมาแล้ว ถ้าคิดอย่างจิตใจคนสามัญก็เป็นที่น่าปลาบปลื้มใจเพียงไร แต่พระบรมศาสดามิได้ทรงเพลิดเพลินอยู่กับผลที่ทรงได้รับทั้งปวง ทรงเล็งเห็นประโยชน์ที่จะพึงเกิดขึ้นจากพระสาวกเหล่านั้นต่อไปเป็นอันมาก และขณะนั้นทรงมีบุคคลเป็นเครื่องมือในการประกาศพระศาสนาพรั่งพร้อมแล้ว พระอัครสาวกขวาซ้ายก็ทรงมีแล้ว แต่ยังมิได้ทรงวางหลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสังเขปที่พึงใช้สั่งสอนได้ทั่วๆ ไป จึงทรงใช้โอกาสนั้นทรงทำปาริสุทธุโบสถ คือทรงทำอุโบสถที่บริสุทธิ์ร่วมกับพระสงฆ์ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์แล้วทั้งหมด ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ คือ พระโอวาททั้งปวงถือเป็นหลักเป็นประธาน ชี้ว่าอะไรเป็นพุทธวาทะ อะไรเป็นพุทธศาสนา เพื่อให้พระสาวกทั้งปวงถือเป็นหลักในการประกาศพระพุทธศาสนาให้เป็นไปในทางเดียวกันว่า ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกขา เป็นต้น

อะไรเป็นพุทธวาทะ (วาทะของพระพฺทธะ) ๑ ขันติคือความทนทานเป็นตบะอย่างยิ่ง  ๒ นิพพานเป็นธรรมอย่างยิ่ง  ๓ บรรชิตคือนักบวชผู้ยังทำร้ายว่าร้ายผู้อื่นอยู่หาชื่อว่าสมณะไม่ พระพุทธะทั้งหลายกล่าวอย่างนี้

อะไรเป็นพุทธศาสนา (คำสอนของพระพุทธ)  ๑ การไม่ทำบาปทั้งปวง  ๒ การทำกุศลให้ถึงพร้อม  ๓ การชำระจิตของตนให้ผ่องแผ้ว (ต่อจากนี้มีขยายความออกไปอีกเล็กน้อย แต่ก็รวมอยู่ใน ๓ ข้อนั้น) นี้เป็นคำสอนของพระพุทธะทั้งหลาย

ใจความของพระโอวาทปาติโมกข์มีเพียงเท่านี้ ดูสั้นเหลือเกินแต่ก็รวมสิ่งสำคัญในพระพุทธศาสนาไว้ทั้งหมด ตั้งต้นแต่ระบุบรมตบะ คือ ติติกขา ขันติและบรมธรรม คือ นิพพานตลอดถึงลักษณะของสมณะที่ตรัสในทางปฏิเสธ แต่ก็มีความหมายในทางตรงกันข้ามและโยงความถึงตอนต้นด้วยว่า ที่จะเป็นบรรพชิตเป็นสมณะเต็มที่จำต้องมีธรรมสองข้อข้างต้นนั้น และได้แสดงพระพุทธศาสนาว่าคือการไม่ทำบาป การทำกุสลให้ถึงพร้อม การชำระจิตของตนให้ผ่องใส พระพุทธะทั้งหลายสอนดังนี้ หรือ คำสอนของท่านว่าดังนี้ พระสาวกทั้งหลายจะไปสอนโดยปริยายคือทางใดทางหนึ่งก็ตามแต่ก็ย่อมรวมอยู่ในหลักดังกล่าว  พระโอวาทนี้ตรัสแก่พระอรหันต์ทั้งนั้นมิใช่เพื่อจะโปรดท่านทั้งปวงนั้น แต่เพื่อประกาศข้อที่เป็นหลักเป็นประธานสมดังที่เรียกว่าโอวาทปาติโมกข์ พระอาจารย์แสดงว่าในวันอุโบสถต่อมาทุกวันอุโบสถ พระพุทธเจ้าทรงทำอุโบสถร่วมด้วยพระสงฆ์ ทรงแสดงพระปาติโมกข์ที่เป็นพระโอวาทนี้ด้วยพระองค์เองจนถึงทรงพระอนุญาตให้สงฆ์สวดพระวินัยที่ทรงบัญญัติขึ้นเป็นปาติโมกข์ในวันอุโบสถ จึงทรงหยุดทำปาติโมกข์ร่วมด้วยสงฆ์ ทรงอนุญาตให้สงฆ์ทำปาติโมกข์ตามลำพัง ดังที่ได้ทำสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้

อนึ่ง พระบรมศาสดาได้ทรงประกาศพระพุทธศาสนาตลอดเวลา ๔๕ ปี ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาและพุทธบริษัทลงในโลกเป็นหลักฐานมั่นคงสมดังที่ได้ทรงอธิษฐานพระหทัยไว้แล้ว ก็ได้ทรงปลงอายุสังขาร ตามที่ท่านแสดงไว้ว่าในวันเพ็ญเดือนมาฆะเช่นเดียวกัน และต่อจากนั้นอีก ๓ เดือน ถึงวันเพ็ญเดือนวิสาขก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน

วันมาฆบูชามีประวัติและความสำคัญดังกล่าวมาโดยสังเขปฉะนี้  ฉะนั้น เมื่อถึงวันมาฆบูชา พุทธศาสนิกชนจึงสมควรทำการบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดา พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ การบูชานั้นมี ๒ อย่าง คือ อามิสบูชา บูชาด้วยอามิส มีดอกไม้เทียนธูปเป็นต้น ปฏิปัตติบูชา บูชาด้วยการปฏิบัติ คือ ปฏิบัติกายวาจาใจของตนในคลองธรรมตามที่ทรงสั่งสอน ละบาปคือความชั่ว ทำกุศลคือความดี และชำระจิตของตนให้ผ่องแผ้วบริสุทธิ์จากอารมณ์และกิเลส มีความโลภโกรธหลง เป็นต้น ฝึกใจให้มีขันติคือความอดทนหรือความทนทานต่ออารมณ์และกิเลสดังกล่าว ไม่ยอมประพฤติไปตามอำนาจกิเลส ดังนี้จะชื่อว่าได้หันหน้าไปสู่ทางแห่งพระนิพพาน จะมีความดับร้อนมีความเย็นมากขึ้นทุกที ตรงกันข้ามกับหันหน้าไปสู่ทางกิเลสซึ่งเปรียบเหมือนกองไฟ มีแต่จะทวีความร้อนมากขึ้น.