[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ใต้เงาไม้ => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 27 มิถุนายน 2562 15:10:37



หัวข้อ: จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 27 มิถุนายน 2562 15:10:37

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/29169551490081_spd_2012090285139_b_1_320x200_.jpg)

จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี

ทางพิจารณาหาตัวผู้เขียนจดหมาย
หนังสือฉบับนี้ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ คัดสำเนามาให้เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน รัตนโกสินทร์๔๑ศก ๑๒๗ ว่าในการที่หาหนังสือสำหรับหอพระสมุด ได้หนังสือฉบับนี้จากข้างวังน่า เห็นว่าเปนจดหมายเหตุที่มีข้อความเพิ่มเติม แต่เปนคนละอย่างกับสยามประเภท ฤๅจะพูดตามภาษาที่เรียกกันอยู่ว่า “มีกุ” แต่ไม่ใช่กุอย่างสยามประเภท

ครั้นเมื่อได้มาแล้ว ก็มีใจผูกพันอยู่ที่จะอ่าน เพราะพลิกๆ ดูเห็นข้อความชอบกล เมื่อหมดธุระแล้วจึงได้เปิดขึ้นอ่านดะไปโดยเร็ว เพราะอยากรู้ความ จบในพักเดียวนั้น ความคิดแรกที่เกิดขึ้นในใจก็นึกว่า ซึ่งกรมหลวงดำรงกล่าวว่าเปน กุ ชนิดหนึ่งนั้นผิดไปเสียแล้ว เห็นจะได้อ่านดะ ๆ ไม่ได้พิจารณา หนังสือฉบับนี้มีข้อความแปลกปลาดน่าฟังอยู่ จะต้องอ่านอิกครั้งหนึ่งในเวลาอื่น

ในเบื้องต้นนั้นความวิตกวิจารณก็เกิดขึ้นว่า ใครหนอจะเปนผู้เรียบเรียงหนังสือฉบับนี้ มีหลักอันหนึ่งที่ว่าได้มาแต่วังน่า แต่จะเปนใครในวังน่าได้เรียบเรียงฤๅประการใด จึงตั้งวงคิดหาตัวผู้เรียงจนถึงได้เขียนลงเปนจดหมายบรรทึก ดังที่ได้คัดลงไว้ต่อไปนี้

“หนังสือที่จดลงนี้ ปรากฎโดยโวหารแลทางดำเนินความ ใช้ถ้อยคำเปนสำนวนจดหมายผู้หญิง คงจะเปนเจ้านาย แต่จะเปนเจ้านายเก่าฤๅเจ้านายใหม่ซึ่งเปนราชตระกูลนี้ แต่เนื่องในเชื้อวงษ์เจ้ากรุงธนบุรี ฤๅจะมีเกี่ยวข้องในเชื้อวงษ์เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งได้เปนตระกูลในเวลานั้นคราวหนึ่งก็อาจจะเปนได้”

“ข้อที่เห็นเช่นนี้ เพราะผู้เขียนนับถือเจ้ากรุงธนบุรี เรียกว่าแผ่นดินต้น ใช้ถ้อยคำกล่าวถึงโดยความเคารพ เหมือนอย่างลูกหลานเจ้ากรุงธนบุรีพูด ตามที่ได้เคยฟังมาเปนอันมาก เมื่อกล่าวถึงสัญญาวิปลาศก็กล่าวด้วยความเห็นใจ ว่าเปนการบังเอินเปนไปเช่นนั้น ด้วยเปนเวลาเคราะห์กรรม แลเปนเวลาจะสิ้นบุญสิ้นวาศนา เมื่อกล่าวถึงการดุร้ายก็ค่อนจะเปนคำอยู่ข้างอวด ๆ ว่าเก่งกาจฤๅใจฅอเด็ดเดี่ยว อย่างเดียวกันกับลูกหลานขุนหลวงเสือกล่าวถึงขุนหลวงเสือ ยกย่องในการที่มีความเห็นล่วงน่า เช่น รู้สึกตัวว่าสิ้นบุญแล้ว เมื่อเขาเชิญให้บวชก็ยินดีปรีดาที่จะออกบวช ครั้นเมื่อเจ้าบุญมีรามลักษณ์ไปชวนให้สึกก็ไม่ยอมสึก ว่าสิ้นบุญแล้ว อย่าไปสู้เขาเลย ดังนี้เปนต้น แลเปนผู้รู้กิริยาอัชฌาไศรยเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งลูกหลานเขาเล่ากันอยู่ว่า เมื่อจะรับสั่งกับใคร ๆ ย่อมเรียกพระองค์เองว่าพ่อ ดังนี้ ข้าพเจ้าเปนผู้คุ้นเคยในหมู่ลูกหลานเจ้ากรุงธนบุรีมาก คือคุณปลัดเสงี่ยมบุตรพระพงษ์นรินทร์ได้เลี้ยงมา ทั้งได้คุ้นเคยกับเจ้านายผู้หญิงลูกหม่อมเหม็นหลายองค์ จึงได้รู้เรื่องราวของเจ้ากรุงธนบุรี แลพระกิริยาอัชฌาไศรย ทั้งทราบถ้อยคำของลูกหลานเหล่านั้น เคยยกย่องกันอย่างไรด้วย”

“อนึ่งในหนังสือฉบับนี้ กล่าวถึงประสูตรเจ้าฟ้าเหม็น ดูเปนรู้เรื่องราวสนิทสนมมาก จนความที่ไม่จำเปนจะต้องยกขึ้นกล่าวเช่นพระพุทธยอดฟ้า เสด็จพระราชดำเนินตามพระศรีสากยมุนีไปถึงพลับพลา เซ กรมขุนกระษัตรานุชิตประคองพระองค์ไว้ ดังนี้”

“ข้อซึ่งคิดเห็นว่าผู้เขียนตั้งอยู่ในพระบรมราชวงษ์นี้ คือแสดงความเคารพนับถือ ยกย่องพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้ามาก เช่นเรียกเจ้าฟ้ากระษัตริย์ศึกเปนต้น ทั้งถ้อยคำที่จะออกพระนามพระเจ้าแผ่นดิน ก็ออกพระนามเหมือนอย่างเจ้านายเก่า ๆ รับสั่ง คือเรียกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าว่า สมเด็จพระไอยกา เรียกพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เรียกกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาทว่า พระพุทธเจ้าหลวง สมเด็จพระไอยกาวังบวรสฐานมงคล เรียกกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ว่า สมเด็จพระบิตุฉาวังบวรสฐานมงคล เรียกกรมพระราชวังหลังว่า พระวังหลัง”

“การที่เรียกพระนามเช่นนี้ ปรากฎว่าหนังสือฉบับนี้ได้เขียนในรัชกาลที่ ๓ ก่อนที่เรียกพระนามตามพระพุทธรูปฉลองพระองค์ เรียกตามแบบกรุงเก่า เปนธรรมเนียมพระเจ้าแผ่นดินซึ่งสวรรค์คตไปองค์ใหม่เปนขึ้นแทนแล้ว เรียกองค์เก่าว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกษฐ์ ถ้าถวายพระเพลิงแล้ว บางทีก็เปลี่ยนเปนสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ถ้ามีองค์ที่ ๓ ขึ้น องค์ที่ ๑ ก็เปนสมเด็จพระไอยกา องค์ที่ ๒ เปนสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง นี่เปนคำใช้อย่างเขียนหนังสือฤๅพูดทางราชการ แต่ถ้าเปนคำพูด มักจะเรียกรัชกาลที่ ๑ ว่า แผ่นดินต้น รัชกาลที่ ๒ ว่า แผ่นดินกลาง อันเปนเหตุให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรังเกียจว่า ถ้าเช่นนั้น รัชกาลประจุบันก็เปนแผ่นดินปลาย เปนคำไม่เพราะ จึงโปรดให้ใช้พระนามตามพระพุทธรูปฉลองพระองค์เสีย แต่ถึงดังนั้น เจ้านายผู้ใหญ่ท่านยังรับสั่งอยู่ตามเดิม ไม่ใคร่จะเปลี่ยนแปลงไปได้จนเคยได้ยิน หนังสือฉบับนี้แต่งก่อนบัญญัติให้เรียกพระนาม แต่เมื่อฟังก็เข้าใจได้ง่าย เพราะเคยได้ยินมา”

“ข้อซึ่งคเนว่าจะเกี่ยวข้องเปนเชื้อตระกูลเมืองนครศรีธรรมราชนั้น เพราะเห็นว่ากล่าวถึงเจ้านครแลเรื่องพระพงษ์นรินทร์ ต้องกันกับที่เคยได้ยินจากเชื้อสายพระพงษ์นรินทร์ มีคุณปลัดเสงี่ยมเปนต้น เล่าความเกี่ยวข้องพัวพันกันในเชื้อวงษ์เจ้ากรุงธนบุรี กับพวกนครศรีธรรมราช มีเรื่องราวมาก จึงน่าจะสันนิษฐานว่า ผู้เขียนหนังสือฉบับนี้ เปนเจ้านายในราชตระกูลนี้ แต่คงจะมีเชื้อสายเกี่ยวพันเชื้อวงษ์เจ้ากรุงธนบุรี แลนครศรีธรรมราชด้วย”

“เมื่อเห็นความเช่นนี้แล้ว จึงตั้งวงพิจารณากันให้แคบเข้าว่าหนังสือนี้เปนสำนวนผู้หญิงฤๅผู้ชาย ก็เห็นปรากฎชัดว่าเปนสำนวนผู้หญิง แลถ้าเปนผู้หญิงแล้ว จะเปนชาววังหลวงฤๅชาววังน่า เทียบสำนวนคล้ายพระเจ้าบวรวงษ์เธอชั้น ๒ พระองค์เจ้าประทุมเมศ ซึ่งเขียนหนังสือประทานพรในเวลาสรงน้ำสงกรานต์ทุก ๆ ปี จึงลงเนื้อความเห็นเอาว่าคงเปนเจ้านายผู้หญิงในวังน่า ข้อความที่แต่งนั้นไม่ใช่เปนจดหมายไม่ใช่พงษาวดาร เปนแต่นึกอะไรได้ก็จดลงไป ความรู้การงานรู้มากเปนช่อง ๆ แต่ไม่เปนหลักถานในทางราชการ รู้เรื่องในวังเลอียดกว่านอกวัง หนังสือฉบับนี้พึ่งได้เขียนในรัชกาลที่ ๓ แลไม่ทันแล้วสำเร็จ ฤๅจะไม่กล้าเขียนแผ่นดินประจุบันหยุดไว้เสีย ฤๅห่างเหินไปไม่รู้การประจุบันอย่างใดอย่างหนึ่ง”

“เมื่อได้ความเช่นนี้แล้ว ก็ไปตรองหาเจ้านายวังน่าทีเดียว เจ้านายวังน่าที่เปนพระราชนัดดาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ก็มีสองพวก คือพระเจ้าบวรวงษ์เธอชั้น ๒ พระองค์เจ้าในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ พระเจ้าบวรวงษ์เธอชั้น ๓ พระองค์เจ้าในกรมพระราชวังบวร มหาศักดิพลเสพย์”

“เมื่อเช่นนี้ตรวจดูก็เห็นแต่พระองค์เจ้าประชุมวงษ์ แลพระองค์เจ้าขนิษฐา ซึ่งเปนพระเจ้าบวรวงษ์เธอชั้น ๒ อันเจ้าจอมมารดาเปนธิดาเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อเปนพระองค์เจ้ามีนามว่า พระองค์เจ้าปัญจปาปี ภายหลังเรียกว่าคุณสำลี เปนกำพร้า รักใคร่กันกับเจ้าฟ้าเหม็นพี่ชายมาก ครั้นเมื่อเจ้าฟ้าเหม็นเปนโทษ จึงพลอยต้องถูกประหารชีวิตรด้วย ฤๅมารดาคุณสำลี จะเปนชาวนครดอกกระมัง ถ้าเช่นนั้นก็จะสมกับตั้งเกณฑ์ไว้ ๓ ข้อ”

“อิกองค์หนึ่งก็พระองค์เจ้าอรุณ อันเปนพระเจ้าบวรวงษ์เธอชั้น ๓ ด้วยเจ้าจอมมารดากรมพระราชวังก็เปนบุตรีเจ้าพระยานคร (พัด) เจ้าจอมมารดาพระองค์อรุณก็เปนน้องท่านผู้หญิงอิน ภรรยาเจ้าพระยานคร (น้อย) ไม่ปรากฎว่าเกี่ยวข้องอันใดกับเจ้ากรุงธนบุรี ฤๅจะเกี่ยวพันกัน ด้วยเหตุที่กรุงธนบุรีกับเมืองนครเกี่ยวพันกันมาก เช่นกล่าวมาแล้ว แต่หากจะไม่รู้”

“ใน ๓ พระองค์นี้ พระองค์เจ้าขนิษฐาแลพระองค์เจ้าอรุณรู้จักคุ้นเคยอยู่ เพราะท่านอยู่จนแผ่นดินประจุบันนี้ แต่องค์แรก ถ้าหากว่าแต่ง น่ากลัวจะฉาดฉานเกินนี้ เพราะดูท่านอยู่ข้างเก่งกาจอยู่ แต่องค์หลังดูท่านจะเรียบนัก น่าจะไม่แต่ง อิกประการหนึ่ง เหตุไฉนท่านจะไปนิ่งเงียบอยู่เพียงแผ่นดินพระพุทธเลิศหล้า ท่านคงจะต้องกล่าวถึงกรมพระราชวังพระบิดาของท่าน อันเปนที่ควรจะรื่นเริง เพราะมีบุญเกินปรกติ”

“คราวนี้ยังเหลืออยู่องค์เดียวแต่พระองค์เจ้าประชุมวงษ์ ซึ่งถึงว่าจะสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๔ ก็สิ้นพระชนม์เสียแต่แรก ไม่ทันรู้จักท่าน แต่ดูจะเปนผู้ใหญ่มีหลักถานมั่นคง พระชัณษาคงจะราวกันกับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ก็คือจวน ๒๐ ปีฤๅ ๒๐ ปีแล้วตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๑ เรื่องราวที่แต่ง ความมากอยู่ในรัชกาลที่ ๑ บางทีท่านจะเสด็จเข้ามาอยู่ในวัง ความในแผ่นดินพระพุทธเลิศหล้าน้อยไป ท่านคงเสด็จขึ้นไปอยู่วังน่า ครั้นเมื่อวังน่าสวรรค์คตแล้ว เสด็จกลับลงมาอยู่วังหลวง ในรัชกาลที่ ๓ กรมพระราชวังสวรรค์คตแล้ว ก็เสด็จขึ้นไปเปนแม่วังอยู่วังน่า ความจึงได้ไปขาดอยู่เพียงนั้น จึงปลงใจว่าน่าจะเปนพระองค์เจ้าประชุมวงษ์ เปนผู้ได้เรียงจดหมายฉบับนี้”

ครั้นเมื่อเขียนข้อความข้างต้นนี้แล้วเสร็จ มีเวลาว่างได้อ่านหนังสือนั้นซ้ำอิกทีหนึ่ง ไปกระทบคำที่สงไสยเข้าคำหนึ่ง มีแต่ว่ากรมหมื่นไม่ได้ออกพระนาม นึกว่าคนที่คัดจะคัดตก เหมือนอย่างที่มีในหนังสือแห่งหนึ่งว่า เจ้าทัศพงษ์ เจ้า แล้วก็เลยไปอื่น สงไสยว่าตั้งใจจะเขียนว่าทัศไพ แต่ตกเสีย เห็นแต่วันแรกแล้ว มาอ่านวันหลังนี้จึงไปพบเข้าอิกแห่งหนึ่งมีความว่า “วันเดือนแปดแรมค่ำหนึ่ง ปีมโรงสัมฤทธิศก เจ้าฟ้ากรมพระสุนทรเทพสิ้นพระชนม์ ไว้พระศพบนปราสาท พระโองการตรัสสั่งกรมหมื่น ว่าสิ้นลูกคนนี้แล้ว พระเนตรมืดสี่ด้าน พระกรรณตึงสี่ด้าน อากรขนอนตลาดเจ้าดูชำระเถิดอย่าทูลเลย” อิกแห่งหนึ่งว่า “ณเดือนห้าจุลศักราช ๑๑๗๙ ปีฉลูนพศก กรมหมื่นสิ้นชนมายุ ประชุมเพลิงณวัดราชบุรณ” เมื่อได้ความเช่นนี้ก็มาปรากฎชัดว่า ข้อความที่คิดเดามาแต่แรกนั้นผิดหมดทั้งสิ้น กรมหมื่นองค์นี้ คือกรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ พระนามเดิมหม่อมมุก เปนบุตรเจ้าพระยามหาสมบัติกรุงเก่า เปนพี่เจ้าพระยาพลเทพ (ปิ่น) บิดาเจ้าพระยาบดินทรเดชา ซึ่งเปนตาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงษ์ เมื่อแผ่นดินเจ้ากรุงธนบุรีได้เปนนายกวด เปนพระสามีของเจ้ากุ พระเจ้าน้องนางเธอพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เรียกกันว่า เจ้าครอกวัดโพ เพราะตั้งวังอยู่ท้ายสนมแถบวิหารพระนอนวัดพระเชตุพน เจ้าครอกวัดโพนี้ ได้เก็บตลาดท้ายสนมจนตลอดพระชนมายุ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๓ ต่อเมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว กรมหมื่นอับศรสุดาเทพจึงได้เปนผู้เก็บต่อมา ถ้อยคำที่จดลงไว้ ไม่ใช้ว่าสิ้นพระชนม์ ไม่ใช้ว่าถวายพระเพลิง เช่นจดเรื่องสิ้นพระชนม์ของพระองค์อื่น นี่ก็เห็นปรากฎถูกต้องตามข้อความที่เล่ากันมาว่า กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ ไม่ไว้พระองค์เปนเจ้าแท้ กรมหลวงนรินทรเทวีก็อยู่ข้างจะกดขี่ มีตัวอย่างกรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ทรงเล่าว่า เจ้านายไปทูลลาโสกันต์ กรมหลวงนรินทรเทวีประทับบนยกพื้นในประธานท้องพระโรง เรียกเจ้าที่ไปทูลลาให้ขึ้นไปนั่งบนยกพื้นด้วย แต่กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์มานั่งอยู่ที่พื้นเฉลียง แลหมอบกราบเจ้านายที่ไปทูลลา เพราะเหตุฉนั้นผู้แต่งหนังสือนี้ จึงได้ใช้คำผิดกับเจ้านายองค์อื่นสิ้นพระชนม์ กรมหลวงนรินทรเทวี กับกรมหมื่นนรินทรพิทักษ์มีพระโอรส เปนกรมหมื่นนรินทรเทพองค์หนึ่ง กรมหมื่นนเรนทร์บริรักษ์องค์หนึ่ง ครั้นเมื่อขยายพระบรมมหาราชวังออกไปชิดวัดพระเชตุพน จึงได้โปรดให้ย้ายไปอยู่ในที่ซึ่งเปนวังบุรพาภิรมย์เดี๋ยวนี้ กรมหมื่นนเรนทร์เปนปู่พระยาอร่ามมณเฑียรทุกวันนี้ ครั้นเมื่อถึงรัชกาลที่ ๔ พระราชทานเฉลิมพระนามพระอัฐิขึ้นเปนกรมหลวงนรินทรเทวี ด้วยเหตุดังนี้ ท่านจึงสนิทชิดชมกับรัชกาลที่ ๑ มาก ข้อที่เรียกกรมหมื่นเปล่า ก็เหตุที่เปนพระสามีของท่าน แลยิ่งทำให้ปรากฎว่าหนังสือฉบับนี้ ท่านไม่ได้มุ่งหมายที่จะเรียงเปนพงษาวดารฤๅจดหมายเหตุให้ผู้อื่นอ่าน เปนแต่ลูกหลานพี่น้องไปไต่ถามการเก่า ๆ ก็เล่าให้ฟังแล้วเขียนลงไว้ ที่นึกได้ก็เขียนนึกไม่ได้ก็แล้วไป ประมาณพระชนมายุ คงจะได้ประสูตรแต่ครั้งกรุงเก่ายังไม่เสีย เทียบด้วยพระชนมายุพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ซึ่งประสูตรเมื่อปีกรุงเสีย ท่านคงแก่กว่าพระพุทธเลิศหล้าหลายปี ตั้ง ๑๐ ปีขึ้นไป พระพุทธเลิศหล้าสวรรค์คต พระชนมายุนับเรียงปีว่า ๕๘ เมื่อเรียงหนังสือฉบับนี้ในรัชกาลที่ ๓ พระชนมายุกรมหลวงนรินทรเทวี คงอยู่ในเรือน ๗๐ เมื่อได้ความดังนี้ ก็เปนที่โล่งใจเปนอันมาก ไม่มีท่าทางที่จะพลาดพลั้งเปนอย่างอื่นเลยแน่แล้ว ข้อความทั้งปวงที่กล่าว ยุติด้วยเหตุผล คือท่านทรงทราบการเรื่องกรุงเสียโดยฟังคำเล่า ได้ทรงเห็นการในแผ่นดินเจ้ากรุงธนบุรีเอง เพราะเหตุที่พระมารดาเจ้าฟ้าเหม็นเปนหลานของท่าน ท่านจึงทราบเรื่องแมลงมุมแลจิ้งจกตก เพราะเหตุที่พระสามีของท่านเปนข้าราชการในครั้งกรุงธนบุรี จึงได้นับถือเจ้ากรุงธนบุรี เพราะเหตุที่ท่านเข้าวังออกวังอยู่ จึงทราบการในวัง ข้อความที่ได้จดลงไว้นี้ ถึงว่ามีที่เคลื่อนคลาศแลห่างเหินอยู่บ้าง เปนอย่างที่คนแก่พูดกัน แต่มีข้อสำคัญซึ่งน่ารู้ ไม่ได้รู้จากที่อื่นอยู่หลายอย่าง ที่เปนสำคัญในทางราชประเพณี คือเจ้าต่างกรมมีเจ้ากรมเปนพระยาเรียก กรมพระยา ในทางคำยกย่องเจ้าฟ้าฝ่ายในเรียก ตรัสสา บานพระวิหารวัดสุทัศน์ เปนฝีพระหัดถ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าทรงสลักเปนต้น เปนเรื่องที่น่ารู้ฤๅไม่

แต่ชื่อซึ่งผู้คัดจดหมายนี้เขียนมาว่า “จดหมายเหตุตั้งแต่กรุงเก่าเสียแล้วเจ้าตากมาตั้งกรุงธนบุรี” นั้นไม่ได้เรื่อง คงจะเปนด้วยผู้ได้คัดหนังสือนี้จากฉบับเดิม นึกไม่ออกว่าจะจดชื่ออย่างไร ก็ตั้งชื่อไปตามบุญตามกรรม ผิดจากความจริงที่ได้จากหนังสือนี้ จึงได้แก้เสียใหม่เช่นจ่าไว้ข้างน่าว่า “จดหมายความทรงจำ ของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพ) ตั้งแต่จุลศักราช ๑๑๒๙ ถึงจุลศักราช ๑๑๘๒ เปนเวลา ๕๓ ปี”

พระที่นั่งอัมพรสถาน
วันที่ ๒๘ มิถุนายน รัตนโกสินทร๔๑ศก ๑๒๗  


คำนำเรื่องซึ่งมีในจดหมายความทรงจำ  
บัดนี้จะขอเริ่มต้นด้วยเหตุการบ้านเมือง พอให้ความคิดเราเดินมาสู่เวลาที่กรมหลวงนรินทรเทวีทรงจดหมายฉบับนี้ โดยนึกถึงต้นเหตุพม่าตีกรุงเก่าก่อนแต่เวลาตีค่ายบางระจัน เหตุการเปนเช่นนี้

การเมืองพม่าที่จะเปนศึกกับเมืองเราครั้งใด เกิดขึ้นด้วยเจ้าแผ่นดินพม่าองค์นั้นมีอภินิหารปราบเมืองมอญ เมืองยักไข่รวมกันเข้าได้ครั้งไรเปนร้อนถึงเมืองเรา ด้วยหวังจะแผ่อำนาจรวมให้เปนอาณาเขตรอันเดียว

แต่เหตุที่เกิดขึ้นในเมืองพม่าตอนหลังระยะมาตีกรุงนี้ อยู่ข้างจะแปลกปลาด ดูเหมือนว่าที่กรุงเวลานั้นจะทราบการไม่ใคร่ทันท่วงที ว่าการผลัดเปลี่ยนอำนาจในเมืองพม่าได้ดำเนินไปอย่างไร ในแผ่นดินเจ้าฟ้าพร ซึ่งเรียกพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ ตลอดมาจนเวลาเสียกรุง ถือเคร่งครัดในประเพณีที่ไม่ใช่สำคัญอันใดมาก หูตาไม่ใคร่ไวถือแบบเปนพื้น จึงได้โทรมมากอยู่แล้ว เหตุที่คนเกิดชั้นหลังในแผ่นดินนั้นดีไม่ทัน ฤๅไม่มีท่าทางที่จะดีได้ เพราะคนที่มีสติปัญญาแลฝีมือดี ๆ ได้ตายเสียตั้งแต่เกิดขบถทำลายวงษ์เจ้าแผ่นดินโบราณ เมื่อราวจุลศักราช ๙๖๐ ปีมา แต่นั้นมาก็ไม่เปนสมประดี ไม่มีเวลาที่เว้นจากฆ่ากันลงไปนานถึง ๔๐ ปีเลย เมื่อเปลี่ยนพวกกันอยู่เสมอไม่มีเวลาตั้งมั่น ความรู้แลความคิดก็เสื่อมลงไปทุกคราวเปลี่ยน

เมื่อแผ่นดินเจ้าฟ้าพรนี้ มอญซึ่งเปนชาติหนึ่งแต่ตกอยู่ในอำนาจพม่าไม่มีกระษัตริย์มาช้านาน ได้ตั้งแขงเมืองยกคนในชาติของตัวเองขึ้นเปนกระษัตริย์ ถึงว่าจะมีการหยุกหยิกกันในเมืองจนเรารู้คือสมิงทอหนีเข้ามาอยู่ในกรุงเก่า ก็ยังรักษาอำนาจต่อรบพม่าจนจับเจ้าแผ่นดินพม่าได้ เวลานั้นทางไมตรีเมืองเรากับพม่าดูสนิทสนมกันอยู่ แต่ไม่ได้คิดอ่านที่จะช่วยเหลือด้วยกำลังอย่างหนึ่งอย่างใด เพราะกำลังแย่งสมบัติกันเพลินอยู่ทางนี้

ในเหตุที่เจ้าแผ่นดินพม่าเสียเมืองตกมาเปนเชลยนั้น จึงมีอองไจยะนายบ้านมุกโชโบไม่ยอมอยู่ในอำนาจมอญ ตั้งตัวขึ้นต่อสู้มอญจนในที่สุดถึงยกทัพมาตีเมืองหงษาวดี ซึ่งเจ้าแผ่นดินพม่าของตัวยังเปนเชลยต้องขังอยู่ กลับเอาเจ้าแผ่นดินมอญไปเปนเชลยเหมือนกับที่มอญเอาเจ้าแผ่นดินพม่ามาเปนเชลยแต่ก่อนได้

เจ้าพม่าต้นเชื้อวงษ์นี้ ซึ่งเรารู้ชื่อว่ามังลอง เขาเรียกกันว่าอลองพญา แปลว่าโพธิสัตว์ ซึ่งตีเมืองยักไข่ได้ไม่ช้าก็คิดตั้งหน้าจะตีเมืองไทยทีเดียว ข้อที่ว่าที่กรุงจะไม่ทันรู้ตัวนั้น คือไม่รู้ตัวว่ามังลองจะได้มีอำนาจใหญ่โตสักเท่าใด เคยคบกับแผ่นดินพม่ามาก่อนนั้น ก็เปนเวลาพม่าอ้อแอ้อย่างเดียวกับเมืองไทยในเวลานั้น แลพเอินยิ่งร้ายไปกว่าก่อน คือเจ้าฟ้าพรซึ่งเปนเจ้าแผ่นดินสวรรค์คตเสีย เหลือแต่ลูกซึ่งกำลังเคี่ยวฆ่ากันจะหาที่มีความสามัคคีกันถึง ๒ คนพอเปนคู่คิดก็ไม่มี ทั้งเจ้าแผ่นดินก็เปนคนที่โฉดเขลา อันไม่มีใครเกรงใจที่จะกล่าวถึงแลประกาศโดยตรง ข้าราชการก็เกือบจะเรียกว่าไม่มีได้ เหลือแต่ชื่อตำแหน่งแล้วแต่จะหาใคร ๆ มาเปน ถ้าเปนลูกกระสุนปืนก็หลวมฤๅคับลำกล้องแทบทั้งนั้น

ในเมื่อแผ่นดินไทยได้เลื่อนลงมาถึงที่สุดแห่งความเสื่อมได้ปีเศษเท่านั้น ทัพมังลองเจ้าแผ่นดินพม่า ซึ่งกำลังมีอำนาจอุไทยขึ้นแก่กล้าก็ได้มาถึงพระนคร แต่เปนเคราะห์ดีชั่วคราว มังลองเจ็บแลตายเสียกลางทางในเมื่อได้เข้ามาตั้งประชิดกำแพงอยู่หน่อยหนึ่ง แต่ถึงดังนั้น ทางที่กองทัพเดินผ่านตั้งแต่เมืองกุยเข้ามา แลผ่านออกไปทางกำแพงเพชร์ ก็โทรมไม่ทันฟื้น แต่การที่เมืองพม่าผลัดแผ่นดิน ทำให้ศึกช้าลงไปได้อิก ๓ ปี จนเจ้าแผ่นดินพม่าล่วงไปอิกคนหนึ่ง ถึงคนที่สามชื่อ มังระ เปนเจ้าแผ่นดินขึ้น

สาเหตุที่พม่าจะเกิดศึกขึ้นใหม่คราวนี้ เมืองมฤท ตนาว เปนของเรา แต่เมืองทวายเปนของพม่า เมื่อเมืองพม่าผลัดแผ่นดินรหว่างมางล๊อกกับมังระ เมืองทวายฆ่าพม่าเสีย แล้วส่งบรรณาการเข้ามาที่กรุง พม่ารู้จึงได้ยกกองทัพมาตีเมืองทวาย แล้วเลยได้เมืองตนาวศรีแลมฤทด้วย ข้างฝ่ายกรุงเทพ ฯ ไม่ได้อุดหนุนฤๅคิดอ่านแก้ไขอย่างไรเลย กองทัพพม่าที่มาตีทวายนั้นเอง เห็นไม่มีใครต่อสู้ ก็เดินทัพเลยเข้ามาตีเอาเพชร์บุรี ราชบุรี กาญจนบุรี แล้วจึงได้รู้ จัดกองทัพออกไปรับตึงตัง ก็รับไม่อยู่แต่สักครั้งเดียว กองทัพพม่าครั้งนั้น มาไม่ได้เปนกระบวนทัพกระบวนศึก มาอย่างกองโจร แยกกันตีปล้นกวาดมาตามแต่จะมีอไรเปนผลประโยชน์อันจะพึงได้ ถ้าหากว่ามาเปนกองทัพจริง จะได้กรุงในเวลามาถึงนั้นทีเดียว นี่แยกย้ายกันไปเที่ยวเก็บริบปล้นสดมในที่ต่าง ๆ จนรอบไปแล้ว จึงได้เข้ามาถึงกรุง นานถึง ๓ ปีจึงได้พระนคร

จดหมายซึ่งกรมหลวงนรินทรเทวีทรงนี้ ท่านไม่ได้กล่าวถึงพม่ามากวนอยู่ตามหัวเมือง เพราะเปนการเหลือกำลังที่จะกล่าวถึง เหมือนคโมยเข้ามาปล้นอยู่รอบ ท่านตั้งค้นกล่าวเมื่อตีค่ายบางระจันซึ่งนับว่าเปนการต่อสู้เข้มแขงอยู่แห่งเดียว ตั้งต้นข้อความดังต่อไปนี้



คำบรรยายความเห็นแลความคิดที่จะเรียบเรียงหนังสือนี้  
จดหมายฉบับนี้เปนลักษณจดหมายเก่า ซึ่งผู้หลักผู้ใหญ่ชั้นนี้จด ใช้วิธีแลสำนวนอย่างนี้ ไม่ใช่ผู้ที่มีภูมรู้อรรถธรรม ฤๅความสามารถแต่งหนังสือ อย่างเช่นที่เรียกกว้างขวางกันอยู่ในเวลานี้ว่าจินตกระวี อันแปลว่าเปนนักปราชผู้นึก แต่ของเดิมเขาใช้สำหรับผู้ซึ่งผูกประพันธ์ขึ้นเปนบทกลอน ในชั้นหลังนี้ดูเหมือนผูกขึ้นเปนเรื่องใดไม่ต้องเปนบทกลอน จะเท็จก็ตามจริงก็ตาม น่าจะหมายใจว่าตัวเปนจินตกระวีเหมือนกัน บางทีที่นึกแซกแซมลงตามความคิดบ้า ๆ อย่างสยามประเภท ก็จะตั้งตัวว่าอยู่ในเปนจินตกระวีด้วย จะว่าเขาผิดก็ไม่ได้ เพราะเขาก็นึก ต่างแต่นึกเปนกุศลเจตนาแลอกุศลเจตนา

จดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีนี้ ไม่ใช่ผู้รู้แต่งจดหมายเหตุแลพงษาวดาร ไม่ใช่จินตกระวีทั้งสองอย่าง เปนข้อความที่ท่านทรงจำไว้ ตั้งแต่จำความได้จนตลอดเวลาที่เขียน คงจะเปนเวลาที่ทรงพระชรา มีผู้ทูลว่าข้อความจะสูญเสียหมด ขอให้จดลงไว้ จึงได้พยายามจดลงไว้ตามแต่ที่จะนึกได้ โดยไม่ได้อาไศรยหลักอไรเลย คือพงษาวดารฉบับที่กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสทรงเรียบเรียง ก็ยังไม่ได้เรียบเรียงแลยังไม่ได้พิมพ์ ถ้าหากว่าจะมีพงษาวดารเก่าที่ท่านได้ทรง ก็คงเปนจดหมายย่อ ๆ อย่างนี้ที่ใคร ๆ จดไว้แต่ก่อน แลคำบอกเล่ากับทั้งที่ได้เห็นด้วยพระเนตรเอง

แต่ถึงดังนั้น ควรจะเห็นเปนอัศจรรย์ในความทรงจำของท่าน ฤๅถ้าหากว่าจะเปนเหตุให้มีผู้สงไสยความทรงจำ จะได้ถึงเพียงนี้ทีเดียวฤๅ ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า ข้าพเจ้าเคยเห็นเจ้านายฝ่ายในที่ทรงแม่นยำเช่นนี้หลายพระองค์ แต่ไม่ยิ่งกว่าแลไม่สิ้นพระชนม์ภายหลังที่สุด เช่นพระเจ้าไอยิกาเธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา อันสิ้นพระชนม์แล้วได้ ๘ เดือนนี้ ทรงจำแม่นจนกระทั่งวันคืนเดือนปี อันเกิดเหตุการอย่างใดอย่างหนึ่งทั่วไปทุกสิ่ง ลักษณความจำเช่นนี้ อย่างเดียวกับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะอ้างให้เห็นได้ว่าในจดหมายหลวงอุดมสมบัติ ความที่ทรงจำวันคืนแม่นก็ปรากฎอยู่ฉนั้น จึงเห็นได้ว่ากรมหลวงนรินทรเทวีนี้ ความทรงจำของท่านคงเปนลักษณะเดียวกันกับกรมหลวงวรเสรฐสุดา

ส่วนข้อความที่จดนั้น ท่านได้เปรียบอย่างหนึ่ง เพราะท่านมีพระสามี อาจจะรู้ราชการจากทางนั้นได้ แต่ก็ปรากฎว่าถ้าเปนการแผ่นดินแท้เช่นการทัพศึก ท่านเห็นเกินความสามารถที่ท่านจะพรรณาให้ถูกต้องได้ ได้ว่าความรวบเข้าเปนหมวด ๆ พอให้รู้เหตุการ ถ้าเปนเรื่องราวซึ่งออกจะปกปิดกันในเวลานั้น ฤๅเรื่องราวซึ่งท่านเห็นไม่สู้เปนพระเกียรติยศ ท่านได้จดลงไว้แต่ย่อพอเปนเครื่องสังเกต ข้อที่ท่านจดลงพิศดารกว่าที่อื่น ล้วนเปนเรื่องที่ท่านพอพระไทย แต่เมื่ออ่านทั้งหมดแล้ว จะเห็นได้ว่าพระญาณของท่านในทางทรงจำ แลความพอพระไทยเข้าพระไทยในเหตุการสูงอยู่กว่าคนแก่สามัญเปนอันมาก

มีผู้มักจะอ้างพระนามบ่อย ๆ เช่นกรมหลวงบดินทร์เปนต้นมักรับสั่งถึง อ้างเอาเปนเจ้าของผู้เล่าเรื่องก็จริงอยู่ ท่านคงเปนผู้ทรงทราบการมาก จึงได้เขียนได้ดังนี้ แต่คำที่มีผู้อ้างเช่นนั้นแล้วแลมาเขียนลงเปนจดหมายที่เคลื่อนคลาศไว้ ทำให้มีผู้คิดเห็นว่ากรมหลวงนรินทรเทวี จะเปนพระองค์หนึ่งในผู้เล่าอะไรมาก ๆ ไป เปนเคราะห์ดีอย่างยิ่งที่จดหมายฉบับนี้มาปรากฎขึ้นล้างมลทิน อันผู้แต่งหนังสือซึ่งไม่คิดถึงบุญคุณ ได้ใช้พระนามท่านในที่มัวหมอง

จดหมายฉบับนี้ ปรากฎชัดว่าได้จดลงโดยความซื่อตรงแลความที่จำได้ ไม่มีนึกแต่งให้พิศดารเปนอัศจรรย์ ให้ผู้อ่านพิศวงอย่างหนึ่งอย่างใดเลย ถ้าจะมีการตื่น ท่านก็ตื่นส่วนพระองค์ท่านเอง ตามความเห็นที่จับใจท่านขึ้นมาอย่างไร เวลาก็ดี ข้อความก็ดี ที่เคลื่อนคลาศบ้าง ก็เปนธรรมดาหนังสือที่ท่านไม่ได้จดลงไว้โดยทันที มาเขียนต่อภายหลัง แต่ข้าพเจ้ายืนยันได้ว่าหนังสือฉบับนี้ ไม่มีความเท็จเลย ความที่เคลื่อนคลาศนั้นด้วยลืมบ้างด้วยทราบผิดไปบ้าง เรียงลงไม่ถูกเปนภาษาไม่สู้แจ่มแจ้งบ้าง ทั้งวิธีเรียงหนังสือในอายุชั้นนั้น ไม่สู้จะมีเครื่องมือสำหรับเขียนบริบูรณ์แลคล่องแคล่วเหมือนอย่างทุกวันนี้ ถ้าจะเขียนหนังสือแล้วคิดนาน ๆ บรรจุความให้แน่นในวรรคหนึ่งแล้วจดลงไป ผู้ใดแต่งหนังสือให้สั้นแลให้จุความมากได้ ผู้นั้นแต่งหนังสือดี ไม่เหมือนอย่างเวลานี้ ที่เขียนน่ากระดาษหนึ่งได้ใจความสักบรรทัดเดียว มีแต่ “เอกชน” “เพื่อนมนุศย์” “โดย” อไรต่าง ๆ เต็มไปทั้งน่ากระดาษ อิกประการหนึ่ง ภาษาในรัชกาลที่ ๔ เปลี่ยนจากภาษาใน ๓ รัชกาลก่อนมากนัก ครั้นตกมาถึงรัชกาลประจุบันนี้ยิ่งเปลี่ยนเร็วนักขึ้นอิก ผู้ที่จะอ่านหนังสือโดยความตริตรอง กลับน้อยลงไปด้วยเหตุหลายอย่าง จนถึงนักเรียนชั้นใหม่ ๆ จับไปอ่านหนังสือเก่า ซึ่งเขียนใน ๓ รัชกาลแรก ไม่เข้าใจแลไม่พยายามที่จะอ่าน ด้วยเห็นว่าเร่อร่างุ่มง่าม ไม่มีความรู้บริบูรณ์เหมือนเดี๋ยวนี้ ถ้าจะมีผู้พยายามอ่าน ก็อ่านด้วยความประสงค์ที่เปนอกุศล หวังจะเอามาเปนต้นเหตุนึกเอาใหม่โดยอยากเปนจินตกระวี ไม่สอบสวนเอาความจริงตามที่จดไว้ นึกเสียว่าไม่มีใครรู้จะเติมลงเท่าไรก็เติมได้ เพราะความคิดที่จะค้นคว้าสอบสวน วินิจฉัยความย่อให้แจ่มแจ้งยุติด้วยเหตุด้วยผล ไม่ใช่ของง่าย ต้องลำบากในการค้นคว้าต้องมีพื้นภูมความรู้จึงอาจจะสอบค้นได้

แต่เปนเคราะห์ดีที่สุดที่จดหมายกรมหลวงนรินทรเทวีฉบับนี้ ไม่ปรากฎแก่นักเลงแต่งหนังสือในรัชกาลที่ ๔ ฤๅในรัชกาลประจุบันนี้ ตกอยู่ในก้นตู้ได้จนถึงรัตนโกสินทร๔๑ศก ๑๒๗ นี้ นับว่าเปนหนังสือพรหมจารี ไม่มีด้วงแมลงได้เจาะไชเลย ความยังคงเก่าบริบูรณ์ เว้นไว้แต่ตัวหนังสือไม่ใช่เปนตัวหนังสือเก่าแท้ เมื่อกรมหลวงดำรงคัดมาให้ด้วยพิมพ์ดีด เห็นข้อที่เคลื่อนคลาศสำคัญ คือลงวันกับศักราช ผู้คัดถนัดอ่านพงษาวดารพิมพ์ซึ่งตั้งต้นเปนวรรคย่อ ขึ้นลุศักราช เมื่อไปเห็นวันอยู่น่าศักราชยกเอาไปหยอดท้ายวรรคข้างน่าเสีย ขึ้นวรรคใหม่แต่ลุศักราชตั้งเปนวรรคย่อ วันคืนเดือนไปอยู่วรรคหนึ่ง ศักราชแลปีไปอยู่วรรคหนึ่ง ถ้าผู้อ่านไม่สังเกตก็พาโลว่าหนังสือเหลว นี่เปนโทษของผู้คัดหนังสือทุกวันนี้ ที่แบ่งบรรทัดย่อต้นวรรคเอาอย่างฝรั่งเหลว ๆ ไหล ๆ มีเปนอันมาก เมื่อเห็นเช่นนี้จึงนึกสงไสยขึ้นมาว่าจะเคลื่อนคลาศจากฉบับเดิมมาก จึงได้ขอฉบับเดิมมาดูก็ได้ความว่า ผู้ที่พิมพ์ได้ทำคลาศเคลื่อนแต่แยกวันแลศักราช กับกระจายควงเคลื่อนคลาศบ้าง นอกนั้นไม่ใคร่ผิด ฉบับเดิมเปนฉบับที่ไม่ได้ลอกคัดจากจดหมายของกรมหลวงนรินทรเทวีทรงเขียนเอง มีผู้หนึ่งมาอ่านบอกผู้เขียนประกอบอักขรวิธีตามความรู้ของตัว ไม่ใช่สกดตัวอย่างเก่า เมื่อเปนเช่นนั้นความคิดที่ได้ตั้งไว้เดิมว่า ถ้าหนังสือต้นฉบับเปนของได้เขียนไว้แต่ครั้งกรมหลวงนรินทรเทวี สกดตัวใช้ตัวหนังสืออย่างไรจะใช้แบบนั้น แต่ครั้นเมื่อปรากฎว่าหนังสือนี้ เปนแต่ความรู้ของเสมียนผู้หนึ่งก็ไม่เปนอัศจรรย์อไร จึงยอมรับฉบับพิมพ์ดีดที่เขาแก้ถ้อยคำเปนคำใหม่ ๆ ให้ถูกต้อง คงไว้แต่ถ้อยคำซึ่งเรียกกันอย่างเก่าเช่น “นรา” ว่า “ดารา” เปนต้น

ทางที่จะทำเดี๋ยวนี้ ได้คัดจดหมายความทรงจำตามฉบับเดิมด้วยตัวพิมพ์อักษรใหญ่ลงไว้ข้างต้น ถ้าผู้อ่านอยากอ่านฉบับเดิมว่าเปนอย่างไรก็ให้อ่านตอนนั้น ส่วนการที่ทำตามทางพิจารณานั้นได้แยกข้อความตามที่เห็นว่าเปนใจความของจดหมายเดิมนั้นอย่างไร หมายเลขเปนลำดับพิมพ์ไว้ซีกหนึ่ง ความเห็นที่เห็นอย่างไรฤๅสอบสวนได้หลักถานอย่างไร พิมพ์ไว้อิกซีกหนึ่งตรงกัน สำหรับผู้อ่านจะได้สอบสวนได้โดยง่าย ในทางพิจารณานี้มีข้อขัดข้องบางแห่งซึ่งข้าพเจ้าไม่สามารถจะวินิจฉัยลงไปได้ ก็ได้ละทิ้งไว้ตามความสงไสย

ความคิดที่ทำนี้ ไม่ได้พยายามที่จะเรียงขึ้นเปนหนังสือซึ่งถ้าจะเรียกว่า พงษาวดารกรมหลวงนรินทรเทวีทรงแต่ง ฤๅพงษาวดารตามที่ได้จากจดหมายกรมหลวงนรินทรเทวีดังนั้นเลย เขียนด้วยมีความประสงค์จะให้เปนที่ค้นคว้าง่ายของผู้ที่จะเรียงพงษาวดาร ถ้าจะพูดเปนทำนองความอย่างเก่าก็เปนชี้สองสถาน แลปฤกษาใส่ด้วยบท ผู้อ่านจะเห็นเปนหนังสืออย่างใหม่ ที่ต้องอ่านหนังสือมีเรื่องซ้ำกันแลขาดเปนท่อน ๆ ไม่เปนลำดับเรื่องเรื่อยไป อ่านต้องสังเกตเปนความประดักประเดิด อ่านด้วยเครื่องจักรไม่ได้ แต่มีความประสงค์เพื่อจะนำผู้อ่านหนังสือให้รู้จักทางพิจารณาหนังสือที่ตัวอ่าน การที่ทำเช่นนี้ไม่เปนการอัศจรรย์อไรแก่ท่านผู้ที่มีความรู้มาแต่ก่อนแลประจุบันนี้เลย แต่เปนทางที่จะให้ผู้ที่ไม่มีความรู้ ละเลิกความคิดแต่งหนังสือเพิ่มเติมปลอมว่าเปนของเก่านั้นเสีย มาเล่นทางข้างสอบสวนเช่นนี้ เล่นอย่างเก่าที่เราเรียกกันว่า “กุ” ฤๅ “กุละ” ทำอันตรายหนังสือมากนัก ถ้าเปนคนรักจะแต่งหนังสือแต่งอย่างนี้ก็สนุกเหมือนกัน จะเดาไปอย่างไรก็เชิญเดา แต่เขียนไว้ต่างหากอย่าเอาคลุกกันกับของเก่า ทำให้เลือกยากว่าไหนเก่าไหนใหม่



หัวข้อ: Re: จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 27 มิถุนายน 2562 15:38:38
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/14850401961141_spd_2012090285139_b_1_320x200_.jpg)

คำบรรยายความเห็นแลความคิดที่จะเรียบเรียงหนังสือนี้  (ต่อ)
จดหมายความทรงจำนี้ ควรจะมีข้อความตลอดจนถึงรัชกาลที่ ๓ ถึงไม่มากก็มาเพียงเวลาที่เริ่มจดหมายความทรงจำนี้ขึ้น จะว่าท่านจะกลัวจดหมายเหตุแผ่นดินประจุบันมีความผิดก็ไม่ใช่ เพราะฉบับที่ได้มานี้ ยังค้างแผ่นดินพระพุทธเลิศหล้าอิกถึง ๔ ปี แลข้อความตามวิธีที่ท่านจดนี้ จดด้วยความรวังแลความซื่อตรง ไม่มีอันตรายอย่างใดเลย หนังสือที่หมดลงเพียงนี้ก็พอหมดน่าสมุดเล่ม ๑ เพราะฉนั้นจึงเห็นว่าคงจะมีเล่ม ๒ ต่อไปอิกแต่หายเสียหาไม่ได้ ฤๅผู้คัดหนังสือหาสมุดไม่ได้ ไปเขียนปนลงไว้ในสมุดเล่มที่มีเรื่องอื่นไปหลงอยู่ ถ้าค้นตามไปที่รังเก่าอันหนังสือนี้มา น่าจะยังค้นได้ มีข้อที่ควรจะปลงใจว่า ท่านได้ทรงจดไว้เพียงเท่านี้อย่างหนึ่ง คือได้เห็นหมายการพระศพกรมหมื่นอินทรพิพิธพร้อมกับกรมหมื่นเสนีเทพ พระโอรสองค์ใหญ่ของท่าน ถ้าท่านจดแต่ว่ากรมหมื่นอินทรพิพิธสิ้นพระชนม์เท่านั้นก็จะคเนว่า กรมหมื่นเสนีเทพยังไม่สิ้นพระชนม์ในเวลาที่เขียนนั้น แค่นี่มีว่าถวายพระเพลิงวัดรฆัง ท่านไม่กล่าวถึงกรมหมื่นเสนีเทพ จะเปนเหตุที่อัดอั้นตันพระไทยอย่างไร เลยไม่เขียนต่อไปได้ดอกกระมัง เพราะเหตุที่ข้อความกรมหมื่นอินทรพิพิธสิ้นพระชนม์นี้เกือบจะอยู่ที่สุด ต่อไปก็สวดมนต์ทีเดียว แต่ในระหว่างที่ได้ข้อความมาแต่เพียงเท่านี้ ก็ทำไว้เสียที เพราะเรื่องนี้ไม่เปนเรื่องที่แล้วสำเร็จ มีทางที่ผู้อ่านจะช่วยพิจารณาหาข้อความวินิจฉัยในข้อซึ่งยังมิได้วินิจฉัยอยู่อิกมาก ข้อที่วินิจฉัยแล้ว ก็อาจจะหาความพิศดารให้ถูกถ้วนได้ดีขึ้นอิก โดยพบตำหรับตำราฤๅท้องตราร่างหมาย ฤๅเรื่องราวที่ผู้ใดเขียนไว้แห่งใด เมื่อสอบสวนได้มากแล้วรวบรวมเข้า พิมพ์ออกเปนครั้งที่ ๒ ที่ ๓ ต่อไปได้

ขอเชิญท่านทั้งหลายผู้มีความพอใจในโบราณคดี พิจารณาค้นหาข้อความเพิ่มเติมตามที่จะหาได้ให้บริบูรณ์เท่าใด ก็ยิ่งดีนักแล



จดหมายเหตุ ตั้งแต่กรุงเก่าเสียแล้ว เจ้าตากมาตั้งเมืองธนบูรี    

๏ กรุงเก่าพม่ายกมา ๕๐๐๐ ล้อมประชิดตั้งค่ายบ้านรจัน โพสามต้นค่ายใหญ่ ล้อมรอบเกาะเมืองอยู่กลาง พลในเมืองขึ้นน่าที่ประจำช่องเสมาเมืองถึง ๗๐๐๐๐๐ ประจุปืนทุกน่าที่มิให้ยิงสู้ข้าศึก แผ่นดินต้นอยู่น่าที่วัดแก้ว ได้ยิงสู้พม่าครั้งหนึ่ง ต้องคาดโทษมิให้ยิง ให้แจ้งศาลาก่อน พม่าล้อมไว้สามปี แผ่นดินต้นหนีออกจากเมืองกับผู้คนพรรค์พวก ๕๐๐ มีปืนถือติดมือแต่ท่าน หนีข้ามฟากไปตวันออก ณวัน ๗ ๔ฯ ๕ ค่ำ หนีออกจากเมือง พม่าขุดอุโมงค์เข้า เผาเมืองได้ด้านวังน่าก่อน ๗ ๑๑ฯ ๕ ค่ำ

๏ ลุศักราช ๑๑๒๙ ปีกุญนพศกเพลายามเศษ เข้าเมืองได้ กวาดครัวผ่อนหย่อนสายเชือกให้ลงข้ามช่องใบเสมา ประตูเมืองไม่เปิดให้ออกกลางคืน อยู่สัก ๑๕ วัน ตั้งให้นายทองสุกเปนเจ้า อยู่โพสามต้น ให้นายบุญสงเปนเจ้าเมืองธนบูรี พม่าเลิกทัพกลับไป แผ่นดินต้นกับไพร่ ๕๐๐ ไปปะพระเชียงเงินให้พลายแหวนกับพังหมอนทรง ไปตีเมืองตราษเมืองจันทบุรี ตีระยองเมืองชลเข้าปากน้ำเมืองธนบูรีณเดือน ๑๒ ปีกุญนพศก มีแต่ซากศพเผาเสียคนโทษอยู่สองสาม ๓๐๐๐ ไปตีโพสามต้นได้หม่อมเจ้ามิตหม่อมกระจาด ได้ปืนใหญ่พม่าเอาไปไม่ได้ค้างอยู่ ให้ระเบิดเอาทองลงสำเภา ซื้อเข้าถังละ ๑ - ๒  เลี้ยงคนโซไว้ได้กว่า ๑๐๐๐ ไปตีเกยไชยถูกปืนไม่เข้า ไปตีพิศณุโลกได้หม่อมฉิม ลูกเจ้าฟ้าจีตในปลายปีกุญกลับมาถวายพระเพลิงที่นั่งสุริยาอำมรินทร์ เจ้าแผ่นดินกรุงเก่ามีการสมโภชพร้อมเสร็จ

๏ ณปีชวดสำฤทธิศก ไปตีเมืองนครหนังราชสีมา กรมหมื่นเทพพิพิธเจ้าศรีสังข์ไปอยู่ ภิมายต่อสู้รบประจัญกัน จับได้กรมหมื่นเทพพิพิธบุตร์ชาย ๒ บุตร์หญิง ๑ กับเจ้าศรีสังข์ กรมหมื่นเทพพิพิธ ท่านให้สำเร็จโทษเสีย เจ้าศรีสังข์หนีไปเมืองขอม บุตร์กรมหมื่นสุนทรเทพหม่อมประยง โปรดให้เปนเจ้าอนิรุทเทวา บุตร์กรมหมื่นจิตร์สุนทรหม่อมกระจาดให้ชื่อบุษบา บุตร์กรมพระราชวังหม่อมเจ้ามิตประทานชื่อประทุม บุตร์กรมหมื่นเทพพิพิธหม่อมมงคล หม่อมพควม พี่หม่อมอุบล บุตร์เจ้าฟ้าจีตเลี้ยงเสมอกันทั้งสี่คน แต่โปรดหม่อมฉิมหม่อมอุบล ประทมอยู่คนละข้าง วิบัติหนูกัดพระวิสูตร์ รับสั่งให้ชิตภูบาลชาญภูเบศ ฝรั่งคนโปรดทั้งคู่ให้ เข้ามาไล่จับหนูใต้ที่เสวยในที่ด้วย เจ้าประทุมทูลว่าฝรั่งเปนชู้กับหม่อมฉิมหม่อมอุบล กับคนรำสี่คนเปนหกคนด้วยกัน รับสั่งถามหม่อมอุบลไม่รับ หม่อมฉิมว่ายังจะอยู่เปนมเหษีคี่ซ้อนฤๅมาตายตามเจ้าพ่อเถิด รับเปนสัตย์หมด ให้เฆี่ยนเอาน้ำเกลือรดทำประจานด้วย แสนสาหัสประหารชีวิตร์ผ่าอกเอาเกลือทา ตัดมือตัดเท้าสำเร็จโทษเสร็จแล้ว ไม่สบายพระไทยคิดถึงหม่อมอุบล ว่ามีครรภ์อยู่สองเดือน ตรัสว่าจะตายตามหม่อมอุบล ว่าใครจะตายกับกูบ้าง เสมเมียกรมหมื่นเทพพิพิธว่าจะตามเสด็จ หม่อมทองจันทร์ หม่อมเกษ หม่อมลา สั่งบุษบาจะตามเสด็จด้วย ประทานเงินคนละ ๑ ชั่ง ให้บังสกุลตัวทองคนละ ๑ บาท ให้ทำพระแล้วให้นั่งในแพหยวกนิมนต์พระเข้ามาบังสกุล แล้วจะประหารชีวิตรคนที่ยอมตามเสด็จนั้นก่อน แล้วท่านจะแทงพระองค์ท่านตามไปอยู่ด้วยกันเจ้าข้า พระสติฟั่นเฟือนเจ้าคุณใหญ่ทรงกันดาร กับเตี่ยหม่อมทองจันทร์ นิมนต์พระเข้ามามากชุมนุมสงฆ์ถวายพระพร ขออย่าให้ทำหาควรไม่ ว่าที่จะได้พบกันนั้นหามิได้แล้ว ถวายพระพรขอชีวิตรไว้ ได้พระสติคืนสมประดื ประทานเงินเติมให้แก่ผู้รับตามเสด็จนั้น เจ้าหอกลางประสูตร์เจ้าเปนพระราชกุมารแผ่นดินไหว ฉลูต้นปีโปรดปล่อยคนโทษในคุกสิ้นหมายสมโภชเจ้าฟ้าน้อย แล้วเสด็จไปตีเมืองนครเสด็จเปนทัพเรือ ทรงพระที่นั่งศรีสักกระหลาด เข้าปากน้ำเมืองนคร ณวัน ฯ ๑๐ ค่ำ ฯ

๏ ลุศักราช ๑๑๓๑ ปีฉลูเอกศก เจ้าพระยายมราช เจ้าพระยาอไภยราชา เจ้าพระยาดาฤทธิรงค์ ยกทางสถลมารคสามทัพไม่ทันเสด็จ เข้าเมืองได้แล้วเปนวัน ทรงพระพิโรธคาดโทษให้ตามเจ้านครที่หนีไปอยู่เมืองจะนะ พระฤทธิ์เทวาเจ้าเมืองรู้ ว่ากองทัพยกติดตาม กลัวพระบารมีส่งตัวเจ้านคร กับพวกพ้องพงษ์พันธุ์ ทั้งลครผู้หญิงเครื่องประดับเงินทองราชทรัพย์สิ่งของ ส่งถวายมาพร้อม เสด็จลงมาสมโภชพระบรมธาตุมีลครผู้หญิงแล้วให้ตั้งแห่ สระสนานสามวันเสด็จอยู่นาน จนจีนนายสำเภาเอาของปากสำเภามาถวาย จึงให้เจ้าดาราสุริวงษ์อยู่กินเมือง เสด็จกลับมากรุงธนบูรี นางห้ามประสูตรเจ้า ท่านสงไสยว่าเรียกหนเดียวมิใช่ลูกของท่าน รับสั่งให้หาภรรยาขุนนางเข้าไปถาม ได้พยานคนหนึ่ง ว่าผัวไปหาหนเดียวมีบุตร จึงถามเจ้าตัวว่าท้องกับใครว่าท้องกับเจ๊ก เฆี่ยนสิ้นชีวิตรในฝีหวาย แต่เจ้าเล็กนั้นสมเด็จพระพุทธิเจ้าหลวงพระไอยกาเอาไปเลี้ยงไว้

๏ ปีขานโทศก ไปตีเมืองสวางคบุรี พระฝางมีช้างเผือกลูกบ้านออกยังไม่จับหญ้า รู้ว่าทัพเมืองใต้ยกขึ้นไปจะรบเอาช้างเผือก จึงเสี่ยงหญ้าว่าช้างนี้คู่บุญเมืองเหนือให้รับหญ้าเมืองเหนือ คู่บุญเมืองใต้ให้รับหญ้าเมืองใต้ รับหญ้าเมืองใต้ พอทัพถึงเข้าตีได้เมือง พระฝางพาช้างหนีติดตามไปพบช้าง อยู่ชายป่าแม่น้ำมืด ได้มาถวายรับสั่งให้สมโภชนางพระยาแล้ว ให้รับลครผู้หญิงขึ้นไปสมโภชพระฝาง ๗ วัน แล้วเสด็จไปเหยียบเมืองพิศณุโลกสมโภชพระชินราช พระชินศรี ๗ วัน มีลครผู้หญิงเสร็จแล้ว แล้วเสด็จกลับมาที่หาดสูง เสด็จทรงพลายแหวนประหารชีวิตรผู้ทำผิดคิดมิชอบเสร็จแล้ว ให้พลายแหวนเปนพระยาปราบ พังหมอนเปนแม่นมนางพระยา แล้วเสด็จกลับมากรุง ฯ

๏ ณปีเถาะไปตีกำภูชาพุทไธมาศก็ได้ เสร็จกำภูชาให้องค์รามอยู่กินเมือง พุทไธมาศให้พระยาพิพิธว่าราชการเปนพระยาราชาเสรษฐี ได้เจ้าน้ำก๊กเล่าเอี๋ย ขับต้อนครอบครัวเข้ามาเมืองธนบูรี ประทมอยู่แว่วเสียงลูกอ่อนร้องที่ข้างน่า กริ้วว่าลูกมันหาเอาไปกับแม่มันไม่ ยังจะทำพันธุ์ไว้อีก สมเด็จพระไอยกาทราบ ทรงพระดำริห์ระแวงผิด จึงส่งให้เจ้าวังนอก ว่าสุดแต่เธอก็ทำตามกระแสรับสั่งสำเร็จโทษเสีย ฯ

๏ ปีมโรงมัตมะแตกพระยาเจ่ง พาครัวหนีมาพึ่งพระบารมี พระยาจ่าบ้านแขงเมืองอยู่ไม่ลงมา เสด็จขึ้นไปตีไม่ได้ ถอยล่าทัพยั้งอยู่เนิน รื้อกลับขึ้นไปตีเชียงใหม่กลับลงมา ณปลายปีพม่ายกไล่หลังมาห้าทางล้วนทัพหมื่น แต่สู้รบกันอยู่เปนสามปีเสียพิศณุโลก กลับขุดอุโมงค์เข้าไปตีค่ายพม่าแตกออกจากค่าย รื้อตั้งล้อมกลางแปลงจับได้พม่าแม่ทัพใหญ่ได้พม่าหลายหมื่น พม่าแตกเลิกทัพไป สมเด็จพันปีกรมพระเทพามาตย์ประชวรหนัก อยู่แล้วเสด็จสู่สวรรคาไลย เสด็จมาตั้งเขาวงกฎโดยสูงแลสุดสายตา ถวายพระเพลิงบนยอดเขาเสร็จ เจ้าเสง เจ้าดาราอยู่เมืองนครสิ้นพระชนม์ รับพระศพเข้ามาประทานเพลิงวัดบางยี่เรือ มีการสมโภชพร้อมเสร็จแล้ว บุตร์เจ้านครเก่าเปนสนมเอกมารดาเจ้าทัศพงษ์เจ้าได้ขวบเศษ โปรดรับสั่งให้เจ้าตาไปเปนเจ้าแผ่นดินเมืองนครศรีธรรมราช ให้รับพระโองการเมียรับพระเสาวณี ให้ฝึกลครผู้หญิงเปนเครื่องประดับ มารดาเจ้าเทียบที่กรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ โปรดให้ลูกเขยไปเปนเจ้าช่วยราชการเมืองนคร ได้กลับคืนไปเมืองปีมแมสัพศก ฯ

๏ ปีวอกเข้าวัสสันตรดูฝนนางพระยาล้ม ฯ เดือนอ้าย

๏ ลุศักราช ๑๑๓๙ ปีระกานพศก เจ้าฟ้ากระษัตริย์ศึกเสด็จยกพยุหทัพไปตีเมืองป่าศัก เมืองโขง เมืองอัตปือ กลับมาเดือน ๑๐ ปีจอสำฤทธิศก ณเดือนอ้ายปีจอกลับไปตีเมืองศรีสัตตนาคนหุต ยังตั้งมั่นล้อมอยู่แรมปียังไม่เข้าเมืองได้ ฝ่ายผู้รักษากรุงเก่า เชื่อถือมหาดาว่าผู้มีบุญ จะมารื้อถ่ายการนำจะขนทรัพย์ขึ้นสร้างวัดพระราม ผูกโครงช้างเผือกผู้งาดำ ผ้าขาวหุ้มโครงผ้าดำหุ้มงา เพลาเย็นรอน ๆ ชูรูปช้างไว้วัดถมุฆราช คนที่ไม่รู้ด้วยในกลเชื่อถือมาก เมืองมือด่างโกหกอยู่วัดสังขจาย ซื้อน้ำยาเสน่ห์ล่วงอาญาจักร์ หม้อละห้าตำลึง ไปประสมมหาดาวัดพระราม ได้แจกลงมาถึงข้างใน วิเศษต้นเถ้าแก่แม่เจ้าได้ทาด้วยหลายคน ผู้รั้งกรมการหลงเชื่อถือหมด จะได้รื้อถ่ายการน้ำก็หามิได้ มหาดาคิดกลฬ่อลวงถ่ายเททรัพย์ ผู้เชื่อถือมาบุรณทำบุญด้วยเปนอันมาก จนได้ปิดทองพระเกือบแล้ว กิตติศัพท์รู้ลงมาถึงท่านราชาคณะ พระพนรัตน์วัดระฆังถวายพระพร รับสั่งให้นิมนต์มหาดาลงมาณวัดแจ้ง ให้ชุมนุมสงฆ์ไล่เลียงดูถามกิจสมณะ มหาดาว่าจะบุรณะวัดที่ชำรุดพม่าเผาเสีย จะบุรณะปฏิสังขรณ์พระวิหารพระอุโบสถ พระพุทธรูปเจดียถานขึ้นดังเก่า โดยสติปัญญา พระพนรัตน์ถวายพระพร แผ่นดินต้นเห็นด้วย รับสั่งให้มหาดาขึ้นไปสร้างวัด อิ่มเอิบกำเริบอิทธิฤทธิ ว่าจะฆ่าไม่ตายได้กลับขึ้นไป ผู้คนหลงไหลเชื่อว่ามหาดามีบุญจริง จะขี่ช้างเผือกผู้งาดำ ขึ้นปราสาทสุริยาอัมรินทร์ เมื่อมหาดากลับขึ้นไปรับสั่งให้ สุริยภักดีธรมาแตงขึ้นไปฟังดูแยบคาย ว่าจะศรัทธาจริงหรือจะคิดเปนการแผ่นดิน ดูแยบคายให้แน่ สุริยภักดีธรมาแตงเพลาสงัด ถือดาบเดินขึ้นไปบนปรางวัดพระราม เห็นมหาดานอนตื่นอยู่ในปรางแต่สองคน กับที่เรียกพระท้ายน้ำ มหาดาตกใจกลัวยกมือคำนับผิดกิจสมณะ เขาซักว่าได้เงินทองเอาไปเสียไหน มหาดาว่าถ่ายเทกันเก่าไปใหม่มา เห็นเปนกลโกหกแน่กลับลงมาทูล จึงรับสั่งให้เจ้าลูกเธอ กรมอินทรพิทักษ์ขึ้นไปจับ เธอเมตตาสัตว์ที่หลงทำบุญเชื่อถือมหาดา ให้ฝีพายกระทุ้งโห่ร้องขึ้นไป ที่ได้ยินเสียงอื้ออึงหนีได้มาก ที่ยังอยู่ในบริเวณวัดนั้นจับส่งลงมา ทั้งผู้รั้งกรมการกรุงเก่า ข้าราชการที่อยู่แขวงกรุงหลงเชื่อถือจับส่งลงมาหมด รับสั่งว่าตั้งเดโชท้ายน้ำจัตุสดมภ์ ยังขาดแต่พระยายมราชอยู่ในรวางโทษ ฝากไปกับมหาดา วิเศษต้นเถ้าแก่ยายเลี้ยง ที่ได้ทายาเมืองมือด่างล่วงอาญาจักร์ไปประจบกับมหาดา รับสั่งให้ประหารชีวิตร์เสียด้วยกัน แต่มารดาเจ้ากับอยู่งานสี่คนด้วยกัน ลงพระราชอาญาคนละร้อยจำไว้ เจ้าฟ้ากระษัตริย์ศึกเข้าเมืองได้ณวัน ๒ ๓ฯ๑๐ ค่ำ เจ้าเมืองหนีได้พระแก้วพระบาง พระไอยกาเข้าเมืองได้ ๓ วัน เจ้าลูกทรงครรภ์ประสูตร์เจ้าณวัน ๖ ๗ฯ๑๐ ค่ำ ประสูตร์เปนพระราชกุมาร ประโคมแตรสังข์ลั่นฆ้องไชย แมงมุมทั้งไข่ จิ้งจกตกพร้อมกัน แมงมุมอนิจกรรม จิ้งจกไปได้ ๑๒ วันเจ้าแม่สิ้นพระชนม์ ส่วนเจ้าลูกให้พระพี่นางเธอเอาไปเลี้ยง ให้นามเจ้าสุพันทวงษ์ ศพนั้นก่อกุฎไว้ณวัดบางยี่เรือ ให้ประโคมทุกเพลา ฯ ณเดือนอ้าย มีศุภอักษรขึ้นไปถึงเจ้าฟ้ากระษัตริย์ศึก ว่าสำเร็จการศึกแล้วให้กลับลงมา บุตรนั้นเสียแล้วยังแต่หลานเปนผู้ชาย แล้วรับสั่งให้หาเจ้านครด้วย เจ้าฟ้ากระษัตริย์ศึกทราบแล้ว เร่งรีบการที่จะส่งพระพุทธปฏิมากร แก้วมรกฎลงมาประทับแรมมาถึงกรุงเก่า ณวัน เดือน ๔ รับสั่งให้ตั้งพลับพลาที่ประทับ ณบางธรณีสวนมปราง ฯ

๏ ณวัน ฯ ๕ ค่ำลุศักราช ๑๑๔๒ ปีชวดโทศก รับสั่งให้ข้างในลงเรือประพาศสี่ลำ ข้างน่าสี่ลำให้เจ้านครแต่งประพาศสองลำ หกลำด้วยกันให้พร้อมลำแต่ตีสิบเอ็ด เรือข้าราชการสวนเรือพระที่นั่ง เจ้าคันธวงษ์ล่มน่าวัดระฆัง พี่เลี้ยงทั้งสี่รับเสด็จไว้ได้ พอสว่างเรือประพาศข้างในถึงน่าวัดไชยชนะสงคราม ดวงพระสุริยเยี่ยมเพียงปลายไม้ ฤกษ์บนนั้นวิปริต รูปเมฆเปนอาวุธผ่ากลางดวงพระอาทิตย์เปนอัศจรรย์ พอสายงายถึงพร้อมกันที่ประทับ ทราบว่าเรือพระที่นั่งพระองค์เจ้าคันธวงษ์ เรือข้าราชการสวนเรือเจ้าล่ม พี่เลี้ยงทั้งสี่รับเสด็จไว้ได้ กริ้วบโทนพันที่นั่ง ให้ลงพระราชอาญาคนละร้อย ฝีพายคนละห้าสิบ ขุนนางบรรดาตามเสด็จให้ลงพระราชอาญาภรรยาแทนผัว ๆ จะได้แห่พระแก้ว เสด็จกลับรับพระแก้วพระบางลงมา เรือประพาศดอกสร้อยศักรวา มโหรีพิณพาทย์ลครโขนลงแพ ลอยเล่นมาตามกระแสชลมารค พยุหบาตรากระบวนเรือ ประทับท่าวัดแจ้งเชิญพระแก้วขึ้นทรงพระยานุมาศแห่มา ณโรงพระแก้วอยู่ที่ท้องสนาม พลับพลาเสด็จอยู่กลาง ลครผู้หญิงลครผู้ชายอยู่คนละข้าง เงินโรงผู้หญิง ๑๐ ชั่ง เงินโรงผู้ชาย ๕ ชั่งมี ๗ วัน ต้นกัลปพฤกษ์ ๔ ต้น ๆ ละ ๑ ชั่ง บรรดาการมโหรศพสมโภชพร้อม เครื่องเล่นดอกไม้พุ่มระทาถ้วนเสร็จวันละ ๑ ชั่ง แจกทานคนแก่อายุ ๖๐ ๑ - ๒     อายุ ๘๐/ ๒     อายุ ๑๐๐ ๒ - ๒    สมโภชถ้วนสัตตวาร ให้มีลครผู้หญิง ประชันกับลครเจ้านครวันหนึ่งเงินโรง ๕ ชั่ง ลครหลวงแบ่งออกประชันกันเองโรงละ ๕ ชั่ง มีอีกสามวันถวายเงินกัลปนาให้ซื้อทองคำเครื่องประดับพระแก้ว ๑๐๐ ชั่ง เสร็จการสมโภชแล้วให้ทอผ้าไตรเอกไตรละ ๑ ชั่งร้อยไตรถวายทั้งวัด ถวายเงินไปที่วัดชำรุดคร่ำคร่า ในแขวงกรุงธนบูรีวัดละ ๑๐ ชั่ง ให้เจ้าวัดจัดแจงทำเครื่องบนขึ้นบุรณปฏิสังขรณ์ โดยกำลังสมณะเปนหลายวัด ให้ปลูกไม้ไผ่ ๑๐๐๐ ไม้แก่น ๑๐๐๐ ไว้ท่าท่าน ผู้มีบุญจะมาข้างน่าจะได้สร้างปราสาทไม้ไผ่จะทำร่างร้าน ไม้แก่นดูกในก่อตั้งเสาปราสาทปลูกไว้สำหรับผู้มีบุญจะมา พระองค์ท่านจะเหาะแล้ว ให้แต่งสำเภาทรงพระราชสาสน์ไปถึงพระเจ้าปักกิ่ง ว่าจะขอลูกสาวพระเจ้าปักกิ่ง ให้เจ้าพระยาศรีธรมาธิราชผู้เถ้ากับหลวงนายฤทธิ์ หลวงนายศักดิ์ เปนราชทูตหุ้มแพร มหาดเล็กเลวไปมาก แต่งเครื่องบรรณาการไปกล่าวขอลูกสาวเจ้าปักกิ่ง ทรงพระราชสาสน์ไปแล้ว เขาฟ้องว่าญวนเขมรรู้กันคิดขบถต่อแผ่นดิน รับสั่งให้ประหารชีวิตร์เจ้านำก๊กเล่าเอียลูกชาย บรรดาพวกญวนฆ่าเสียครั้งนั้นมาก แล้วกริ้วข้างในนางอยู่งาน ลูกขุนนางไม่ใช้ ให้เก็บลูกพลเรือนชาวตลาด ญวนงานกลางยกขึ้นไปเปนนางอยู่งาน มารดาเจ้าอยู่งานเก่า ให้เปนเข็ญใจโทษนุ่งเล็ดงาห่มผ้าวาสลึง ขับเจ้าหอกลางไปอยู่ที่วังนอก เจ้าลูกเธอทรงผนวช แล้วเงินนอนเจ้าลูกเธอข้างในองค์ละ ๑๐๐ ชั่งทองเครื่องประดับ ๑ ชั่ง มอบให้พี่เลี้ยงนางนมคุมของไว้ พี่เลี้ยงยกขึ้นไปเปนสมศรีสมทรง ดูพระจริตฟั่นเฟือนเข้าแต่ฆ่าญวน มีโจทยฟ้องว่าขายเข้าเกลือลงสำเภามาราย ๆ จนกลางปีฉลูได้ยินข่าวราชการกำภูชา ว่าเขมรดงยกมาล้อมพุทไธเพ็ชร์ ยังแต่ลูกองค์โตนองค์เองได้ ๙ ขวบว่าราชการอยู่ เจ้าฟ้ากระษัตริย์ศึกเสด็จไปปราบกำภูชา ทัพหัวเมืองพร้อมกรมอินทรพิทักษ์ลาผนวชเสด็จกับทัพหัวเมือง อยู่ภายหลังกรุงธนบูรีเกิดโกลี พันศรีพันลายื่นฟ้องว่าขุนนางแลราษฎรขายเข้าเกลือลงสำเภา โยธาบดีผู้รับฟ้องกราบทูล รับสั่งให้เร่งเงินที่ขุนนางราษฎรขายเข้าเกลือ ให้เฆี่ยนเร่งเงินเข้าท้องพระคลัง ร้อนทุกเส้นหญ้าสมณาประชาราษฎร ไม่มีศุขขุกเข็ญเปนที่สุดในปลายแผ่นดิน เงินในคลังในหาย ๒,๐๐๐ เหรียญ ๆ ละ ๑ บาท ๓ สลึง ๑ เฟื้อง แพรเหลือง ๑๐ ม้วน รับสั่งเรียกหาไม่ได้ ชาวคลังต้องเฆี่ยนใส่ไฟย่างแสนสาหัศ ท่านสงไสยว่าข้างในขโมยเงินในคลัง จนพระมาตุฉา พระพี่นางเธอ ให้จำหม่อมเจ้านัดดาแทนมารดาเจ้า แทนอยู่งาน คนรำใหญ่ให้เฆี่ยนคนละ ๑๕๐ คนละ ๑๐๐ คนละ ๕๐ คนรำเล็กให้พ่อให้แม่พี่น้องทาษรับพระราชอาญา ๑ - ๑๐๐ ให้เจ้าตัวแต่คนละ ๒๐ ที คนละ ๑๐ ทีตามรับสั่งหลวงประชาชีพโจทย์ฟ้องว่าขายเข้า รับสั่งให้ตัดศีศะหิ้วเข้ามาถวาย ที่เสด็จออกทอดพระเนตร เหตุผลกำม์ของสัตว์พื้นแผ่นดินร้อน ราษฎรเหมือนผลไม้ เมื่อต้นแผ่นดินเย็น ด้วยพระบารมีชุ่มพื้นชื่นผลจนมีแก่น ปลายแผ่นดินแสน ร้อนรุมสุมรากโคน โค่นล้มถมแผ่นดิน ด้วยสิ้นพระบารมีแต่เพียงนั้น ผู้รักษากรุงเก่าพระชิตณรงค์ผูกขาดขึ้นไปจะเร่งเงินไพร่แขวงกรุงเก่า ให้ได้โดยจำนวน ๕๐๐ ชั่ง เร่งรัดไพร่เมืองยากครั้งนั้นสาหัศ รับสั่งให้ขุนแก้วน้องพระยาสรรค์ เอาปืนขึ้นไปต่อยศิลาปากนกปืน ๑๐๐๐ ไปคบคิดกับกำนันบ้านแขวงกรุงเก่า ปักหนังสือชวนผู้รักษากรุงว่าจะเข้าด้วยกันหรือไม่เข้า เพลาสองยามจะเข้าเผาบ้าน ผู้รักษากรุงว่าไม่เข้า จะเผาก็เผาเสีย เพลาสองยามผู้ร้ายเข้าล้อมบ้าน ได้สู้รบกันอยู่สามารถ กองผู้ร้ายทิ้งพลุระดมเผา บุตร์ผู้รักษากรุงโจนน้ำหนี ผู้ร้ายพุ่งหอกซัดถูกบุตร์พระยาอินทอะไภย ผู้รักษากรุงกับบุตร์ภรรยาสิ้นชีวิตร์ในไฟสี่คน พระยาอินทร์อะไภยกลับมาทูล ฯ

๏ ลุศักราช ๑๑๔๓ ปีฉลูตรีนิศก รับสั่งให้พระยาสรรค์ไปจับผู้ร้าย ที่เผาบ้านผู้รักษากรุงเก่า พระยาสรรค์ขึ้นไปน้องพระยาสรรค์เปนกองผู้ร้าย จับพระยาสรรค์ตั้งเปนแม่ทัพลงมา ๗ ๑๑ฯ ๔ ค่ำ เพลาตี ๑๐ ทุ่ม ตั้งค่ายมั่นคลองรามัญยิงระดม ลูกปืนตกในกำแพง เสียงสนั่นหวั่นไหว ข้างในตกใจร้องอื้ออึง ประทมตื่นคว้าได้พระแสงทรงเสด็จขึ้นบนที่นั่งเย็น ตรัสเรียกฝรั่งที่ประจำป้อม ฝรั่งได้รับสั่งยิงปืนใหญ่ออกไป ถูกเรือข้าศึกล่ม เขาไปจับบุตร์ภรรยาฝรั่งมาให้ฝรั่งยิง พอรุ่งสว่างเห็นหน้าว่าไทย ฝรั่งโจนกำแพงลงไปหากัน ผู้คนเบาบางร่วงโรยนัก เสด็จออกหน้าวินิจฉัย ทราบว่าพระยาสรรค์มาปล้นตีเมือง ให้จำภรรยากับบุตร์ไว้ เสด็จเข้ามาฟันตารางปล่อยคนโทษข้างใน พระยาธิเบศร์ พระยารามัญ พระยาอำมาตย ต่อสู้ลากปืนจ่ารงขึ้นป้อม ข้าศึกถอยหนี เสด็จกลับออกไป มีรับสั่งห้ามว่าสิ้นบุญพ่อแล้ว อย่าให้ยากแก่ไพร่เลย พระยาธิเบศร์ พระยารามัญ พระยาอำมาตย มิให้สู้อยู่ตายด้วยเจ้าเข้าแดง พระยาสรรค์ให้นิมนต์พระราชาคณะให้ถวายพระพร ให้ทรงบรรพชาชำระพระเคราะห์เมืองสามเดือน ทรงพระสรวลตบพระเพลา ว่าเอ้หิภิกขุลอยมาถึงแล้ว ให้เชิญพระกันบิดออกไป เพลาสามโมงเช้าทรงพระบรรพชา ๑๒ฯ ๔ ค่ำ อยู่ในราชสมบัติ ๑๔ ปีกับสี่เดือนทรงผนวช ณวัน ๔ ๑๔ฯ ๔ ค่ำ พระยาสรรค์ขึ้นนั่งซัง แจกเงินข้างในกลับออกไปนอนอยู่ข้างน่า สั่งว่าจะฟังลครร้องอยู่ข้างใน จะฟังแต่น้ำเสียง ครั้นคนเสียงคลอดบุตร พระยาสรรค์ให้ประโคม ท่านให้ไปห้ามว่าอย่าให้ ทำเลยมันสุดชาติ์แล้ว พระยาสรรค์มีเทศนาให้ข้างในออกไปฟังธรรม ไฟเทียนเจ้าคุณใหญ่ไหม้ม่าน ได้ยินเสียงคนอื้ออึงชักหอกดาบที่ท้องพระโรง ข้างในกลับเข้ามาเพลา ๒ ทุ่มสองยามเกิดศึกกลางเมือง พระยาสรรค์ปล่อยเจ้ารามลักษณ์ออกไป เรียกท่านที่ทรงผนวชว่าประจุออกเถิด ท่านว่าสิ้นบุญเราแล้วอย่าทำเลย เจ้ารามลักษณ์ออกไปจุดไฟบ้าน ไหม้ตลอดลงมาถึงวังหลัง ได้สู้รบกันจนแสงทองขึ้น พระยาเจ่ง ขุนแก้ว น้องพระยาสรรค์ลากปืนใหญ่มาช่วยพระวังหลัง เจ้ารศจาแต่งกองมอญเปนทัพเรือ ตีกระหนาบหนุนพระวังหลัง เจ้ารามลักษณ์สู้แต่ผู้เดียวโดยโมหาร เหลือกำลังแตกหนีไปอยู่วัดยาง พระวังหลังติดตามจับได้ ไต่ถามได้ความจริงว่า พระยาสรรค์ปล่อยเธอออก ความตกอยู่พระยาสรรค์สิ้น ฯ สมเด็จพระไอยกา เจ้าฟ้ากระษัตริย์ศึก เสด็จอยู่กรุงกำภูชา ถอยมาประทับด่านกระบิน ทราบว่ากรุงธนข้นเข็ญเปนศึกขึ้นกลางเมืองถึงสองครั้ง จึงเสด็จกลับเข้าพระนคร ฯ

๏ ณวัน ๗ ฯ ๕ ค่ำ ลุศักราช ๑๑๔๔ ปีขานจัตวาศกเพลาสองโมงเศษศุขสวัสดิฤกษ เสด็จเข้าพระนครปราบดาภิเศก อดิเรกเฉกชมสมบัติ จักรพรรดิ์ตราพร้อมถวาย ๑๒ พระกำนัล/คลัง แล้วมีพระราชโองการรับสั่ง ให้ตั้งกรุงเทพมหานคร ยังฝั่งบุรทิศ พระสุริยทรงกรด ๗ วัน เมื่อตั้งทวาราวดี อุดมโชคเข้าเหยียบกรุงธนบูรี แรกเสด็จยั้งประทับ ณวัดควงไม้พระมหาโพธิ์บันลังก์ ประจญพระยามารด้วยพระบารมี ๓๐ ทัศ เปนประถมกระษัตริย์ สมเด็จเอกาทศรถพระเจ้าปราสาททอง เสด็จข้ามฟากฝั่งมหรณพเฉลิมภพกรุงทวาราวดี พระโองการให้ถาปนาที่ท้องสนามใน เปนพระอุโบสถหอไตรเสร็จ เชิญพระแก้วมรกฎมาประดิษฐาน ส่วนพระธรรมไว้หอไตร ก่อพระเจดียถานประจุพระบรมธาตุพร้อมเสร็จ ให้บุรณวัดโพ ณปลายปีองค์เชียงสือมาสู่โพธิสมภาร


๏ ณปีเถาะต้นปี มีบัณฑิตย์สองคนเข้าวังน่า จับตัวได้ประหารชีวิตรทั้งผู้รู้เห็น เอี้ยงบุตร์หญิง ๑ บุตร์ชาย ๒ เกษบุตร์ชาย ๒ จุ้ยบุตร์หญิงอยู่วังหลวง พระยาไภยโนฤทธิ์บุตร์หญิง ๒ อยู่วังหลวง พระโองการทรงสิ้นทั้งสามคน ให้ประหารชีวิตร์พร้อมกันพ่อแม่ลูกเปนเสร็จ ณกลางปีเถาะในวังหลวง เพง, ทองคำ, มอนงานที่, ทำผิดคิดมิชอบสืบสวนเปนสัตย์ เฆี่ยนคนละร้อยประหารชีวิตร์ทั้งขุนแก้วน้องพระยาสรรค์ ณปลายปีพระโองการรับสั่งให้กรมหลวงเทพหริรักษ์ยกไปตีไกรเกรีน ณปีมโรงฉอศก ถวายพระเพลิงแผ่นดินต้นที่วัดบางยี่เรือ มีการมโหรศพสมโภชพร้อมเสร็จ เจ้าฟ้ากรมหลวงธิเบศร์บดินทร์สิ้นพระชนม์ ถวายพระเพลิงที่วังเก่า แล้วมีพระโองการให้หาบรรดาเมืองขึ้นเอกโทตรีจัตวาปากใต้ฝ่ายเหนือ ให้เข้ามาเฝ้าพร้อมณกรุงเทพมหานคร บรรดาสุริยวงษ์กำภูชา ทรงเข้ามากรุงณเดือน ๘ ปีมเสง พระโองการรับสั่งให้มีงาน ลครผู้หญิงโรงใหญ่สมโภชพระแก้ว ประทานเงินโรงวันละ ๑๐ ชั่งสามวัน สำรับพระสงฆ์ทรงประเคน แล้วทรงถวายน้ำผึ้งไม้ท้าว ศาลาฉ้อทานตั้งรายรอบพระนคร ทิ้งต้นกัลปพฤกษ์สามวันต้น ๑ ชั่ง มีการมโหรศพสมโภชพร้อมเถลีงพระนครด้วย พระบางประทานคืนไปเวียงจัน ปีมเสงน้ำมาก เข้าสารเกวียนละ ๑ ชั่ง พระโองการรับสั่งให้จำหน่าย เข้าฉางแจกราษฎรให้ทั่วถึงกัน ฯ

๏ ลุศักราช ๑๑๔๘ ปีมเมียอัฐศก เข้ายังแพงเสมอ ได้ข่าวพม่ามาทำนาปลายแดน ณเดือน ๑๒ พม่าตั้งฉางเข้าฉางเกลือ มาถึงสามศพลาดหญ้า เจ้าอังวะยกแยกทางเหนือทางใต้ เปนทัพกระษัตริย์ทั้ง ๕ ทาง สมเด็จพระพุทธิเจ้าหลวง พระไอยกาธิราชทั้งสองพระองค์ เสด็จพระราชดำเนิรพลทัพยี่สิบหมื่น ออกตัดศึกที่ฮึกหาญ ไม่ต้านทานพระบารมี เจ้าอังวะหนีณวัน ๑๔ฯ ๓ เสด็จกลับมาถึงกรุงณเดือน ๔ ฯ ปีมแมไปตีตานี, กลิอ่อง, มฤท แล้วทำเมืองใหม่ ณปีวอกนพศก ทรงพระดำริห์จะรื้อ ยกพระไตรปิฎก ให้พระพุทธสาสนารุ่งเรือง โปรดเบื้องสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ ได้ศุขในอนาคตภายภาคน่าโดยกำหนดการที่จะเลี้ยงพระทั้งข้างน่าข้างใน รับเลี้ยงจนจบพระไตรปิฎก แต่ปถมกระษัตริย์ลำดับมาถึง ที่นั่งสุริยาอัมรินทร์สิ้นกระษัตริย์จนแผ่นดินเดิม หาได้เพียรเพิ่มบารมีที่จะทรงสร้างไม่ แต่สมเด็จพระไอยกาเปนประถม ได้ยกพระไตรปิฎกเสร็จแล้วฉลองหอไตร ออกโรงลครเล็กเลิกแล้วเพลาค่ำ จุดดอกไม้ตกลงหลังคาหอไตรไหม้ แต่พระไตรปิฎกรื้อขนได้สิ้น ที่อุโบสถพระแก้วลูกไฟไม่ถึงยังบริบูรณ์ดีอยู่ พระโองการตรัสว่าเทวดารักษาบำรุงพระสาสนาเห็นว่าหอไตรยังต่ำอยู่ จึงจำเภาะให้ไหม้แต่หอไตร ลูกไฟไม่ตกถึง พระอุโบสถจะชำรุดมัวหมองนั้นหาไม่ จะให้ทรงสร้างพระมรฎปขึ้นทรงพระไตรปิฎก ณวัน ๑ ฯ ๗ ค่ำปีรกาเอกศกเพลาบ่าย สามโมงหกบาท อสุนีบาตพาดสายตก ติดน่าบันมุขเด็จ เบื้องทิศอุดรไหม้ตลอดทรงบนปราสาท ปลายหักฟัดฟาดลงพระปรัศซ้ายเปนสอง ซ้ำลงซุ้มพระทวารแต่จำเภาะไหม้ พระโองการตรัสว่าเราได้ยกพระไตรปิฎก เทวดาให้โอกาศแก่เรา ต่อเสียเมืองจึงจะเสียปราสาท ด้วยชะตาเมืองคอดกิ่วใน ๗ ปี ๗ เดือนเสร็จสิ้นพระเคราะห์เมือง จะถาวรลำดับกระษัตริย์ถึง ๑๕๐ ปี แล้วพระยาราชวังเมืองสมุหคชบาล กราบทูลว่าครั้งพระเจ้าปราสาททอง เพลิงฟ้าผ่าปราสาทสามปีได้เมืองทวาย มาเปนเมืองขึ้นแต่ครั้งนั้น พระราชทานเงินพระยาราชวังเมือง ๑ ชั่ง ต้องกับคำพระโหราทูลเมื่อผึ้งจับต้นจันทน์ที่เกยทิศประจิม ว่าจะได้นางกับเครื่องบรรณาการมาต่างประเทศ ฯ

๏ ลุศักราช ๑๑๕๔ ปีชวดจัตวาศก พระยาทวายแต่งเครื่องบรรณาการ กับนางเข้ามาถวายยังกรุงเทพมหานคร พม่ารู้ฆ่าบิดามารดาพระยาทวาย แล้วแต่งคนลงมาผลัดให้พระยาทวายขึ้นไปอังวะ พระยาทวายฆ่าพม่าที่ลงมาผลัดเปนเจ้าเมืองนั้นเสีย แขวงเมืองอยู่ฝ่ายเจ้าอังวะรู้ แต่งกองทัพมาป้องกันเมืองทวายไว้ พระยาทวายแต่งศุภอักษรถวายมา ว่าพระยาทวายกับสรรพสัตว์ในเมืองทวาย ให้สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงพระเมตตาแก่สัตว์ในเมืองทวายเหมือนเกิดแต่สายพระอุทร ด้วยพระราชนัดดาของพระองค์แต่ครั้งกรุงเก่าแตกมาอยู่ณเมืองทวาย จะขอพระบารมีแผ่ไปช่วยครั้งนี้ จะได้เชิญพระราชนัดดาออกมาถวาย แล้วจะถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาถวาย ต่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ให้ไทยผู้มีชื่อถือมาเปนหนังสือลับของพระราชนัดดา ได้ทราบในศุภอักษร แน่ว่าพระราชนัดดาจริง ยกพยุหทัพหลวงเสด็จไปเหยียบเมืองทวาย ได้พระราชนัดดา กับพระยาทวาย ไทยทวายมาเปนฟุ่นเมือง กรุงเทพมหานครพูลศุขเกษมมา รับสั่งพระโองการตรัส วัดสแกให้เรียกวัดสระเกษ แล้วบุรณปฏิสังขรณ์ เห็นควรที่ต้นทางเสด็จเข้าพระนคร ประทับชุมพลทหารพร้อมณวัดโพ เหมือนครั้งนารายน์เปนเจ้าชุมพล จึงสร้างวัดไว้ในเกาะสองชั้น ให้เรียกวัดนารายน์ชุมพลอยู่จนตราบเท่าแผ่นดินนี้ ฯ

๏ ลุศักราช ๑๑๕๕ ปีฉลูเบญจศก มีการสมโภชพร้อม โขนลครหุ่นงิ้วมอญรำ ครบการเครื่องเล่น ทำฬ้อเลื่อนตามทางสถลมารค สุดอย่างที่งามตา ได้เห็นเล่าฟังมาแต่ก่อน ๆ ไม่เสมอแห่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ องค์เอง, พระพงษ์ณรินทร์, ตามเสด็จ ส่วนเสด็จทรงเครื่องต้น ฉลองพระศอพระกรน้อย ทรงประพาศเครื่องประดับพระองค์เสร็จ ทรงพระมหามงกุฎ เสด็จทรงพระยานุมาศ องค์เองใส่พระมหากถินใหญ่ พระพงษ์ณรินทร์ใส่พระชฎาเบื้องกันเจียกทัด ขึ้นยานนุมาศตามเสด็จ มีการสมโภชแห่เครื่องเล่นเรื่องรามเกียรติ์ อุณรุท อิเหนา มิใช่แห่รูปรูปภาพ แต่ล้วนลครโขน ขึ้นรำร้องบนจักร์ชัก ฬ้อเลื่อนตามทางสถลมารค มีตาแต่สองตาดูแห่ไม่เห็นทั่ว จะพรรณาเหลือกำลัง ทั้งคนร้องคนรำยังอยู่ จึงรวมงามไว้ในตา อันการมโหรศพสมโภชทรงผนวชเฉลิมวงษ์พงษ์กระษัตริย์สืบมา ณเดือน ๑๐ ทิ้งไฟในวัง ทิ้งหนังสือเปนสัตย์ใส่ด้วยบทประหารชีวิตร์ที่จากแดง ข้างในทำกลลวงฬ่อต่อทรัพย์ จับรูปสักนาม โจทย์ ๓ จำเลย ๒ รวม ๕ คนประหารชีวิตร์ที่วัดเขียน ปีเถาะสัพศก พระโองการรับสั่ง ให้ช่างทำพิไชยราชรถขึ้น จะทรงพระโกษพระอัฐิ ๗ รถ ให้ตัดเสาพระเมรุตั้งทรงประดับเครื่องให้เสร็จ แล้วแต่ในปีเถาะ ได้พระคชาธารเจ้าพระยามงคลจักรพาฬเล็บครบ พระอินทร์ไอยรา ฯ

๏ ลุศักราช ๑๑๕๘ ปีมโรงอัฐศก เชิญพระอัฐิทรงพิไชยราชรถ รถพระรถชักรถโปรยเข้าตอก รถที่นั่งรองรถจันทน์ ๒ รูปสัตว์ แรดทรงสังเค็ตเพลิงแห่น่า รูปสัตว์ถ้วนพรรณทรงสังเค็ตผ้าไตรบาต ตั้งแห่ในราชวัตรฉัตรจรงเรียง ชักแห่เข้าพระเมรุทิศมุขแทรกมุขกระสันต์ ประดับชั้นสามสร้าง เสี้ยวกางประจำประตู ชั้นในฉัตร์เงินลำยองฉัตรทองฉัตร์นากบรรจง เยี่ยมทรงอย่างปรางค์ปราสาทเทวราชประนมกร เก้าชั้นอย่างพระเมรุพระบรมโกษพระพุทธิเจ้าหลวงกรุงเก่า ชักพระอัฐิเข้าพระเมรุทอง ถวายพระเพลิงสมเด็จพระไอยกาพระพุทธิเจ้าหลวงแผ่นดินกลาง กรมหลวงณรินทร์รณเรศร์สิ้นพระชนม์ต้นปีมเสง ถวายพระเพลิงที่พระเมรุ ณวันฯ ๔ ค่ำ อ้ายมาลักเพศเข้าวังหลวงจับตัวได้ประหารชีวิตร์ที่วัดตะคียน ณวัน ๑๒ฯ ๘ ค่ำ ฯ



หัวข้อ: Re: จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 27 มิถุนายน 2562 15:45:03
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/14850401961141_spd_2012090285139_b_1_320x200_.jpg)
จดหมายเหตุ ตั้งแต่กรุงเก่าเสียแล้ว เจ้าตากมาตั้งเมืองธนบูรี  (ต่อ)

๏ ลุศักราช ๑๑๖๑ ปีมแมเอกศก สมเด็จตรัสสาเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ เสด็จสู่สวรรคาไลย ณวัน ๑๑ฯ ๑๒ ค่ำ สมเด็จตรัสสา เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี เสด็จสู่สวรรคาไลย เชิญพระโกษไว้ที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ฟ้าผ่าปราสาทแต่ไม่ไหม้ ณเดือน ๕ ปีวอกโทศก เชิญพระโกษขึ้นทรง พิไชยราชรถตามกัน เข้าพระเมรุทองร่วมชั้นพระเบ็ญจาเดียวกัน ถวายพระเพลิงเสร็จแล้ว ได้คชาธารพระเทพกุญชร มาเปนศรีพระนครสืบลำดับกระษัตริย์ พระโองการรับสั่ง ให้ขุดคลองรอบเกาะให้บ่ายเรือที่นั่งได้เรียกว่าคลองมหานาค ณเดือน ๖ ระกาตรีนิศก ฉลองวัดพระเชตุพน ผลทานมากทิ้งฉลากพระราชโอรส พระราชนัดดานักสนม สินธพคชานาเวศ เปนยอดยิ่งบารเมศจำหน่ายทาน ฉลากละ ๕ ชั่ง ๔ ชั่ง ๓ ชั่ง ต้นกัลปพฤกษ์ ๘ ต้น ทรงโปรยน่าพลับพลา ดอกไม้เงินทอง แต่ทรงสร้างจนฉลองจาฤกไว้ ณแผ่นศิลาอยู่ในพระสาศนา ๕๐๐ สิ้นเสร็จมีโขนโรงใหญ่ ดอกไม้พุ่มพลุไฟพเนียง กรวดเสียงประโคมฉลองเสร็จ ณเดือน ๑๒ ฉลองวัดสเกษ มีพระโองการรับสั่งให้ข้างน่าข้างใน ตั้งเลี้ยงพระให้สิ้นทั้งวัด ประทานเงินหลวง ต้นกัลปพฤกษ์โปรยทาน การมโหรศพสมโภชเสร็จ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอหลานเธอแต่งเรือประพาศคู่เคียงประสานเสียง ดอกสร้อยศักรวาดุริยางค์จำเรียงถวายลำร้องรับกับเสียงดอกไม้น้ำ สทาโป้งปีบไฟพเนียงพุ่มพลุกรวดเสียงสนั่นครื้น แผ้วพื้นเมฆาจันทราทรงกรดหยุดยั้งรถ โมทนาทานเจ้าหล้าเหลือแหล่ พึ่งแผ่พระบารมีสมโภชครบสัตตวาร เสร็จการฉลองวัดณปีจอจัตวาศกปลายปี กรมหลวงเทพหริรักษ์ สิ้นพระชนม์ถวายเพลิงที่วังณวัดราชบุรณะ ณวัน ๕ ฯ ๑๒ ค่ำ ฯ

๏ ลุศักราช ๑๑๖๕ ปีกุญเบ็ญจศก พระพุทธิเจ้าหลวงสมเด็จพระไอยกา วังบวรสถานมงคล เสด็จสวรรคต อยู่ในราชสมบัติได้บุรณะวัดมหาธาตุ ทรงสร้างพระมรฎปประจุพระบรมธาตุ แล้วบุรณะวัดสุวรรณ วัดไชยชะนะสงคราม สละราชสมบัติทรงผนวช ๗ วัน ยอดศีลบารมีอยู่ในราชสมบัติ ๒๒ ปี เจ้าลำดวนเจ้าอินทปัตคบคิดกับอนกลาโหม, พินาศอัคคี, สกลนิกร, จะทำศึกเสี้ยนแผ่นดินสมเด็จพระพุทธิเจ้าหลวงพระไอยกา นายเวร นายปลัดเวรฟ้องกราบทูล ไต่ถามรับเปนสัตยลงพระราชอาญาคนละร้อย ให้สำเร็จโทษณวัดประทุมคงคา ทั้งนั้นให้ประหารชีวิตร์ศีศะเสียบไว้สำเหร่ ณวัน ๑๕ฯ ๑๒ ค่ำ ปีชวดฉอศก พระองค์เจ้าพระชันษา ๗ ขวบ ตามเสด็จลงที่นั่งบัลลังก์ตกหว่างเรือไม่จมลอยพระองค์ได้ โปรดประทานพระนามหมายสมโภช เจ้าฟ้ากุณฑลสามวัน เฉลิมพระขวัญพร้อมพระญาติวงษ์ ข้าราชการสมโภชถ้วนหน้า ณปีฉลูสัพศก สามพระยามรณภาพ ประทานเพลิงวัดสุวรรณทาราม ฯ ณวัน ฯ ๑ ค่ำปีขานอัฐศก วังสถานภิมุขอยู่ในราชสมบัติ ๒๕ ปีสวรรคาไลย ฯ ณวัน ๕ ฯ ๔ ค่ำ ราชาภิเศกกรมพระราชวังบวรสถานมงคล กรมหลวงเสนานุรักษ์ รับพระบัณฑูรน้อย ณเดือนหกปีเถาะนพศก ตั้งเขาไกรลาศแห่โสกันต์ เจ้าฟ้ากุณฑลทรงเครื่องต้น ประดับพระองค์ทรงพระมหามงกุฏสมมุติวงษ์อย่างเทวอับศร สมเด็จพระพุทธิเจ้าหลวงพระไอยกาจูงพระกรเสด็จขึ้นยอดเขาไกรลาศ กรมขุนอิศรานุรักษ์ เปนพระอิศวรทรงพระมหากฐิน ทรงประพาศเครื่องต้นเปนพระอิศวรประสาทพร สมเด็จพระพุทธิเจ้าหลวงพระไอยกาจูงพระกรขึ้นส่งถึงยอดเขา พระอิศวรรดน้ำสังข์ทักษิณาวัตร์ แล้วประสาทพระพร เจ้าบุตร์แก้วรับพระกรลง จากยานุมาศขึ้นบนเกยพระมหาปราสาท ฯ ณวัน ๑๐ฯ ๓ ค่ำ กรมหลวงจักร์เจษฎาสิ้นพระชนม์ ถวายพระเพลิงวัดมงคลภิมุข ฯ ณวัน ฯ ๘ ค่ำ ปีมโรงสำฤทธิศก เจ้าฟ้ากรมพระสุนทรเทพสิ้นพระชนม์ไว้พระศพบนปราสาท พระโองการตรัสสั่งกรมหมื่น ว่าสิ้นลูกคนนี้แล้วพระเนตร์มืดพระกรรณตึง ๔ ด้าน อากรขนอนตลาดเจ้าดูชำระเถิดอย่าทูลเลย ฯ ถวายพระเพลิงที่พระเมรุทอง ณเดือน ๔ ฉลองวัดพระศรีรัตนสาศดาราม มีพระราชโองการรับสั่งให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าหลานเธอ ข้างน่าข้างใน ข้าราชการ เจ้าพระยาแลพระยาผู้ใหญ่ผู้น้อยรับเงินทำสำรับละ ๑ บาท เลี้ยงพระณวัดพระศรีรัตนสาศดาราม วันละ ๕๐๐ ทรงประเคนครบตตียวารแล้วถวายไตรบาตใส่น้ำผึ้งเต็มบาต ๕๐๐ ครบเครื่องไทยทาน ต้นกัลปพฤกษ์ ๘ ต้น ทรงโปรยดอกไม้เงินทอง เปนทานครบการฉลอง ทั้งปฏิสังขรณ์บุรณเสร็จ มีลครผู้หญิงสามวัน การมโหรศพพร้อมเครื่องสมโภชเสร็จ ฉลองพระศรีรัตนสาศดาราม พระโองการรับสั่งให้สร้างวัด ขึ้นกลางพระนคร ให้สูงเท่าวัดพนัญเชิง ให้พระพิเรนเทพ ขึ้นไปรับพระใหญ่ณเมืองโศกโขไทย ชลอเลื่อนลงมากรุง ประทับท่าสมโภช ๗ วัน ณวัน ๑๕ฯ ๖ ค่ำ ยกทรงเลื่อนชักตามทางสถลมารค พระโองการตรัสให้แต่งเครื่องนมัสการพระทุกหน้าวัง น่าบ้านร้านตลาดตลอดจนถึงที่ประชวรอยู่แล้ว แต่ทรงพระอุสาห เพิ่มพระบารมีหวังที่หน่วงโพธิญาณจะโปรดสัตว์ ทำนุกบำรุงพระสาศนา เสด็จพระราชดำเนิน ตามกระบวนแห่พระ หาทรงฉลองพระบาทไม่ จนถึงพลับพลาเสด็จขึ้น เซพลาดเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรารับทรงพระองค์ไว้ พระศรีสากยมุนี มีลายจาฤกไว้ในแผ่นศิลา ตั้งศักราชว่าไปข้างน่าลุงจะให้สัตย์ต่อหลานผู้น้อยจะเปนผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่จะได้เปนผู้น้อย จาฤกไว้แต่แรกสร้างยังอยู่ แล้วยกพระขึ้นที่ เสด็จกลับออกพระโอษฐเปนที่สุด เพียงได้ยกพระขึ้นถึงที่สิ้นธุระเท่านั้นแล้ว ณเดือน ๗-๘ ทรงประชวรหนักลง ณเดือน ๙ ข้างขึ้นทรงพระองค์ไม่ได้ ประทมแจกเบี้ยหวัด มีลครฉลองทานที่ท้องพระโรง ณวัน ๕ ๑๓ฯ ๙ ค่ำ

๏ ลุศักราช ๑๑๗๑ ปีมเสงเอกศก เพลายาม ๔ บาท พระพุทธิเจ้าหลวงสมเด็จพระไอยกาเสด็จสวรรคต อยู่ในราชสมบัติ ๒๘ ปี บุญนาคพลเทพข้าหลวงเดิม ปลายแผ่นดินต้นเข้ากับขุนแก้วน้องพระยาสรรค์ มาตีกรุงธนบูรี สมเด็จพระไอยกาได้ปราบดาเปนพระประถม ครั้นเสด็จสวรรคต สมเด็จพระพุทธิเจ้าหลวงจะได้ราชสมบัติ กลับเข้ากับพระหน่อแผ่นดินต้น เจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรา, อินทร์เดชะ, สท้านมณเฑียร, รอดทรงราม, พระตะเบิต, จางวางกองมอญ, เพชปาณี, พลเทพ, ลุงหลานเปนกำลังกรมขุนกระษัตรา จะเกิดศึกกลางเมือง ยังหาได้ถวายพระเพลิงไม่ สมเด็จพระพุทธิเจ้าหลวงได้ปราบดาลำดับวงษ์เปนสองครั้ง ณวัน ๒ ฯ ๑๐ ค่ำ เจ้าพระยาอะไภยภูธร จับเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตราที่ทวารสองชั้น ณวัน ๔ ฯ ๑๐ ค่ำ สำเร็จโทษ ตัดไม้ไม่ไว้หน่อ ฆ่าพ่อไม่เลี้ยงลูก สำเร็จโทษเสียด้วยกัน ณวัดประทุมคงคา ทั้งนั้นประหารชีวิตร์ที่สำเหร่ พระโองการให้ตั้งการพระเมรุ มีศึกพม่าแซกกลาง มาล้อมประชิตเมืองถลาง สมเด็จพระบิตุฉากรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จไปปราบพม่าที่ล้อมถลางไว้ เดชะพระบารมีที่ได้ยกพระไตรปิฎกขึ้นไว้ ให้พระพุทธสาศนารุ่งเรือง พม่าได้ยินเสียงคลื่นกระทบฝั่ง ดังดั่งกำลังเสียงปืนใหญ่ พม่าหนีเลิกทัพกลับไป มีไชยชะนะด้วยพระบารมี กลับคืนเข้าพระนคร ณวัน ๗ ฯ ๖ ค่ำ ฯ

๏ ลุศักราช ๑๑๗๓ ปีมแมตรีนิศก เพลาอุดมฤกษ์ เชิญพระบรมโกฐทรงพระพิไชยราชรถ ชักแห่เข้าพระเมรุทอง พระเบ็ญจาทองคำเปนรูปภาพ ประดับเก้าชั้นทรงพระบรมโกฐ ๗ วันถวายพระเพลิง สมโภชพระอัฐ ๓ วัน เอกาทศวารการเสร็จ เชิญเสด็จพระบรมโกฐทรงยานุมาศแห่กลับเข้าพระราชวัง ทรงประดิษฐานไว้ณหอพระอัฐิ ณวัน ๑๑ฯ ๔ ค่ำปีวอกจัตวาศกสมเด็จพระปิตุฉากรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จขึ้นไปรับ เจ้าพระยาเสวตร์กุญชร พร้อมกำหนดพิธีลงสรงทูลกระหม่อมฟ้ามงกุฎไตรภพ ได้พระคชาธารเผือกผู้ เปนศรีพระนครมาถึงแผ่นดินนี้ ณเดือน ๑๐ ปีรกาเบญจศก ข้างในทำผิดคิดมิชอบ พระโองการให้ประหารชีวิตร์ทั้งผู้หญิงผู้ชาย แล้วทรงพระดำริห์ให้ช่างเขียนอย่างเส้นลายบานประตูวัดพระใหญ่ ยกเข้าไปทรงพระศรัทธา ลงลายพระหัตถ์สลักภาพ กับกรมหมื่นจิตร์ภักดี มีพระโองการให้ช่างแต่งทรงพระมรฎป ให้ทรงเครื่องบนสูงกว่าเก่า จะทรงพระพุทธบาท แล้วบุรณปฏิสังขรณ์วัดแจ้ง ให้บริเวณกว้างกว่าเก่า ณปีจอต่อกุญได้พระคชาธารเผือกผู้ เจ้าพระยากลาง ณวัน ๔ ฯ ๕ ค่ำ ลุศักราช ๑๑๗๘ ปีชวดอัฐศก พม่าออกจากคุก ฆ่าธำมรงพัศดีเปนศึกขึ้นกลางเมือง ณวัน ๖ ฯ ๕ ค่ำ เจ้าฟ้ากุณฑลประสูตร์เจ้าฟ้าอำพร ได้จัตดุรงคโชคไชยชะนะสิ้นเสร็จ พระยาทวาย, ปลัดทวาย พระโองการปราบราบเลี่ยนสิ้นเสี้ยนแผ่นดิน ยิ่งด้วยบารมีที่สุด ยังสมบัติมนุษย์ยังไม่ได้เห็นแก่ตา ว่ามีพระคชาธารเผือกผู้คู่ควร ไม่ได้บาศซัดคล้อง เมืองปัตตบอง, เมืองเชียงใหม่, เมืองน่าน, ถวายเปนเครื่องบรรณาการ ด้วยบารมีบุญฤทธิ์ พระพุทธิเจ้าหลวงสมเด็จพระเจ้าช้างเผือก ณวันฯ ๓ ค่ำ กรมศรีสุเรนทร์ถึงอนิจกรรม์ในรวางโทษ ฯ

๏ ณเดือน ๕ ลุศักราช ๑๑๗๙ ปีฉลูนพศก กรมหมื่นสิ้นชนมายุ ประชุมเพลิงณวัดราชบุรณะ ฯ เจ้ากระสัตรีทำผิดคิดมิชอบ พระโองการรับสั่งใส่ด้วยบท สำเร็จโทษณวัดประทุมคงคา ณวัน ฯ ๘ ค่ำ สมเด็จพระบิตุฉาวังบวรสถานมงคลเสด็จสู่สวรรคาไลย อยู่ในราชสมบัติ ๗ ปีกับ ๑๐ เดือน ณปีขานสำฤทธิศก พระโองการให้ตั้งเขาขุดท่อ ผ่าเส้นกลางไขระหัดน้ำเข้าในวังที่สวนขวา รื้อขนสิลามาก่อ เปนหอพระเจ้าอยู่กลาง ทรงสร้างพิมานเสร็จเถลิง สมโภชมีดอกสร้อยศักรวา เกษมษาสำราญบานจนถึงกาล ฯ

๏ วัน ๕ ฯ ๖ ค่ำ ลุศักราช ๑๑๘๒ ปีมโรงโทศกฉลองวัดแจ้ง ประดับแต่งเครื่องไทยทานเหลือหลาย บรรยายไม่ครบประมวญการ มีลครผู้หญิงโรงเล็ก การมโหรศพสมโภชพร้อมเสร็จจัตวาร ณวัน ๖ ฯ ๖ ค่ำประจุบันกาลเกิดมรณสงครามยุทธ์ เพียงแผ่นดินจะซุดล่ม ด้วยลมพยุห์ไข้วิบัติเปลือง ฝุ่นเมืองม้วยพินาศรอดชีวาตด้วยเทรงษ์ ดำรงทรงปัตพิน เปนปิ่นสุธาโลก ดับโรคระงับเข็ญ กลับชุ่มเย็นระงับร้อน ผ่อนถึงพรหมลิขิต ณวัน ๖ ฯ ๗ ค่ำ กรมอินทรพิพิธสิ้นพระชนม์ ถวายพระเพลิงที่วัดระฆัง พระโองการรับสั่งให้รื้อยกสังคายนายสวดมนต์ ลำดับกระษัตริย์แต่ก่อนหาได้ยกไม่ แต่พระพุทธเจ้าหลวง สมเด็จพระไอยกาบรมโกษเปนประถม สมเด็จพระพุทธิเจ้าหลวง ในพระโกษแผ่นดินกลาง ฯ



หัวข้อ: Re: จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 02 กรกฎาคม 2562 16:13:59
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/14850401961141_spd_2012090285139_b_1_320x200_.jpg)

๑ กรุงเก่าพม่ายกมา ๕๐๐๐ ล้อมประชิดตั้งค่ายบ้านระจัน โพธิ์สามต้นค่ายใหญ่ล้อมรอบเกาะเมืองอยู่กลาง
๑ ในที่นี้กล่าวชื่อค่ายแต่สองค่าย บอกจำนวนคน ๕๐๐๐ แยกกันอยู่สองค่ายเห็นจะถูก ค่ายโพธิ์สามต้นเปนค่ายมั่นซึ่งตั้งภายหลังที่สุด ค่ายบางระจันเปนค่ายที่ดีที่กล้า มีจดหมายไว้ในปูมว่า “ศักราช ๑๑๒๗ พม่ายกมาตั้งดงรังหนองขาว” “วัน ๒ ฯ ๘ ค่ำ ปีจออัฐศกศักราช ๑๑๒๘ เสียค่ายบางระจัน” ในเวลาที่กล่าวนี้ คนคงอยู่ที่โพธิ์สามต้นมากกว่าที่บางระจัน แต่ไม่ได้ควบคุมรักษากันอย่างกองทัพที่ตั้งประชิดเมือง แยกย้ายกันเปนกองโจรไปเที่ยวตีปล้นในที่ต่าง ๆ ค้างวันค้างคืนอย่างหละหลวม แต่หากคนในเมืองฝีมืออ่อนเองจึงกำจัดไม่ได้ ดูประหนึ่งเวลานั้นพม่าจะกระจายกันอยู่ในแขวงเมืองกุย, เมืองปราณ, เพ็ชรบุรี, ราชบุรี, กาญจนบุรี, นครไชยศรี, สุพรรณ, อ่างทอง, เมืองพรหม, เมืองธน, เมืองนนท์เหล่านี้ การที่จะออกไปถึงเมืองฉะเชิงเทรา, เมืองปราจิณ, เปนความลำบากของพม่าเสียแล้ว ต้องยกไปเปนคราว หัวเมืองไกล ๆ เช่น จันทบุรี ฤๅเหนือเมืองพรหมขึ้นไป ใช้แต่งไปเกลี้ยกล่อม เมืองอื่น ๆ นอกจากที่กล่าวมานี้ดูเปนปรกติอยู่ มีแต่การรบราฆ่าฟันกันเอง ด้วยไม่เชื่ออำนาจกลางว่าจะคุ้มครองฤๅจะลงโทษอย่างใดได้

๒ พลในเมืองขึ้นน่าที่ประจำช่องเสมาเมืองถึง ๗๐๐๐๐๐
๒ จำนวนคนที่รักษาเมืองตั้ง ๗๐๐,๐๐๐ ในที่นี้น่าจะเปนตรางเกณฑ์เตรียมไว้ก่อนตั้งแต่พม่ากลับไปคราวก่อนแล้ว หากว่าจะได้คิดกันขึ้นใหม่ในเวลาพม่าตีครั้งนี้ก็ทัน เพราะพม่าเข้ามาตั้งทางเมืองกุยรู้เสียเปนนาน จึงได้มาถึงเพ็ชร์บุรี จนจัดทัพไปตั้งคอยอยู่ได้รบกันที่ราชบุรี ทัพที่ออกไปรับแตกแล้วก็ไม่ใช่ไล่รุกร้นขึ้นไปตีกรุง เที่ยวปล้นสดมในลำน้ำท่าจีน, แม่กลอง, ตลอดเข้ามาจนลำน้ำเจ้าพระยา ในสามแม่น้ำที่เปนท่าค้าขายต่างประเทศ ปล้นตีชิงลูกค้าบกแลเรือได้ผลประโยชน์เพลินมาก กว่าจะขึ้นไปถึงกรุงประมาณเกือบปีหนึ่งไป ถ้าจะทำตรางเกณฑ์ทัพก็มีเวลาเกินทัน เอาทัพกรุงลงไปรับข้างล่าง เอาทัพพิศณุโลก, นครราชสิมาเข้ามารักษากรุง แต่เอาไว้ไม่ใคร่อยู่ เช่นกำลังศึกติดเมืองอยู่ พระยาพิศณุโลกก็ทูลลาไปเผาศพแม่ ซึ่งกลับถือว่าเปนการสำคัญยิ่งกว่าการทัพศึก คนที่อยู่ในเมืองน่าจะเปนสำมโนครัวที่กวาดต้อนเข้ามาจากแขวงจังหวัดหัวเมืองที่ใกล้ เปนผู้หญิงแลเด็กเปนพื้น เมื่อเวลาพม่าล้อมกรุงอยู่ ถ้าพอมีกำลังใครจะไปข้างไหนก็ไปได้ จะไปไหนไม่ได้ก็แต่ที่หนีพวกกองโจรพม่าไม่รอดเท่านั้น ครอบครัวจึงตกค้างในเมืองมาก พวกที่ฉกรรจ์เกณฑ์ไปทัพเลยไม่กลับ แลพวกที่คุมกันติด ตีแหกออกไปอย่างเจ้ากรุงธนคงมีมาก ถ้าจะลดจำนวนคนลงเสียสูญหนึ่งแต่ ๗๐๐๐๐ ก็คงเกณฑ์ไม่ได้เท่านั้น

๓ ประจุปืนทุกน่าที่มิให้ยิงสู้ข้าศึก
๓ เรื่องยิงปืนไม่เปนปลายกรุงเก่านี้ ดูเล่าต้องกันมากนัก เครื่องสาตรารุธเห็นจะขัดสนมาก อย่างไขว้เขวกัน มีปืนไม่มีลูก มีลูกไม่มีปืน อาวุธที่จ่ายออกมาก็ชำรุดทรุดโทรม ปืนเอาไปยิงก็จะเกิดอันตรายเนือง ๆ แตกบ้างตกรางบ้าง ยิงไปออกบ้าง ยิงไม่ได้บ้าง เข็ดขยาดเห็นการยิงปืนยากเสียเต็มที คราวนี้ก็เลยกลัวไม่ใคร่จะมีใครกล้ายิงอยู่เองแล้ว ซ้ำเจ้านายแลผู้ดีก็พากันสวิงสวายกลัวอไรต่ออไร ตั้งแต่ฟ้าร้องเปนต้นไป เปนปรกติของผู้ดีชั้นนั้น

๔ แผ่นดินต้นอยู่น่าที่วัดแก้ว ได้ยิงสู้พม่าครั้งหนึ่ง ต้องคาดโทษมิให้ยิง ให้แจ้งศาลาก่อน พม่าล้อมไว้ ๓ ปี
๔ คำที่เรียกว่าแผ่นดินต้น หมายความว่าเจ้ากรุงธนบุรี เรื่องที่เล่าต่อไปถึงจะยิงปืนต้องบอกศาลา มีในที่อื่นคล้ายกัน เช่นจดหมายหลวงอุดม แลมีคำเล่าถึงเรื่องหม่อมเพ็งหม่อมแมน ซึ่งเปนคนขวัญอ่อนกลัวปืน ข้อนี้นับว่าเปนพยานอิกเรื่องหนึ่ง

๕ แผ่นดินต้นหนีออกจากเมืองกับผู้คนพรรคพวก ๕๐๐
๕ เจ้ากรุงธนบุรีหนีออกจากเมืองนี้ หนีออกทางตวันออกเฉียงใต้ไปวัดพิไชย เห็นจะเปนแห่งที่พม่าบางกว่าทางอื่น เพราะพม่าเข้ามาทางฝั่งตวันตก แล้วจึงเดินโอบขึ้นไปข้างเหนือ

๖ มีปืนถือติดมือแต่ท่าน หนีข้ามฟากไปตวันออก
๖ ในที่นี้ดูปืนน้อยเต็มที แต่ตัวนายยังมีปืนบอกเดียวเท่านั้น คนรักษาน่าที่จะไม่มีอะไรถือ นอกจากดาบหอกแหลนหลาวนัก

๗ ณวัน ๗ ฯ ๕ ค่ำ หนีออกจากเมือง
๗ วันที่ลงในนี้ไกลจากพงษาวดารมาก เห็นจะไม่ใช่หมายความว่าเจ้ากรุงธนออกจากกรุง จะว่าด้วยเรื่องกรุงเสีย แต่จะสอบเอาวันให้ตรงกับพงษาวดารว่ากรุงเสียก็ไม่ตรง ในพงษาวดารเขากำหนด วัน ๓ ฯ ๕ ค่ำ ผิดกับวันที่ได้จดไว้ในที่นี้ เห็นจะเชื่อวันคืนเปนแน่ไม่ได้

๘ พม่าขุดอุโมงค์เข้าเผาเมืองได้ด้านวังน่าก่อน
๘ ที่ว่าพม่าขุดอุโมงค์ ในที่นี้ขุดรางลงไปตามริมกำแพง เอาเชื้อเพลิงเผาให้กำแพงทรุด ดูเถอะพม่ามันมีกำลังอะไร จะยกหักเข้าในกำแพงก็ไม่ได้ ดูเถอะชาวเมืองช่างนั่งให้พม่ามันมาสุมไฟริมกำแพงได้ มันเหลวเข้าหากันทั้งสองฝ่ายเช่นนี้

๙ ณวัน ๗ ๑๑ฯ ๕ ค่ำ ลุศักราช ๑๑๒๙ ปีกุนนพศกเพลายามเศษเข้าเมืองได้
๙ มีจดหมายไว้ในปูมว่าวัน ๓ ฯ ๕ ค่ำ เสียกรุงแก่พม่า วัน ๕ ๑๑ฯ ๙ ค่ำ พม่าฆ่าคน วันในที่นี้ช้าไปกว่าในพงษาวดาร ๒ วัน ทีมันจะเข้ามาออด ๆ พึ่งรู้กันเมื่อฆ่าคน ข้อที่จะรู้กันว่าพม่าเข้าเมืองได้นั้น เผาวังแลเผาวัดพระศรีสรรเพชญ์ แต่ไฟไหม้ในเมืองเวลานั้นมันก็ไม่อัศจรรย์ ด้วยคนในเมืองอดโซแย่งชิงกันกินอยู่ ประเดี๋ยวไฟไหม้แห่งโน้นแห่งนี้ จึงรู้ช้าไป ๒ วัน

๑๐ กวาดครัวผ่อนหย่อนสายเชือกให้ลงข้างช่องใบเสมาประตูเมืองไม่เปิดให้ออกกลางคืนอยู่สัก ๑๕ วัน
๑๐ กวาดครัวหย่อนสายเชือกให้ลงข้างช่องใบเสมา คิดไม่เห็นว่าทำไมจึงต้องทำเช่นนั้น ถ้าจะมีเหตุก็แต่เรื่องคนคุมไม่พอเชลยมาก แต่ประตูก็ดูเหมือนว่าเปิดกลางวัน ปิดแต่กลางคืน เมื่อจะมัดเสียให้เสร็จต้อนออกมาเปนพวง ๆ ก็ได้ ด้วยเหตุฉนั้นในข้อนี้ยังเอาเปนอธิบายไม่พอ

๑๑ ตั้งให้นายทองสุกเปนเจ้าอยู่โพธิ์สามต้น
๑๑ ในนี้ว่าตั้งนายทองสุกเปนเจ้า จะเข้าใจว่านายทองสุกคนนี้เปนสุกี้ ที่เรียกว่าพระนายกองฤๅ

๑๒ ให้นายบุญสงเปนเจ้าอยู่เมืองธนบุรี พม่าเลิกทัพกลับไป
๑๒ เจ้าเมืองธนว่าชื่อนายบุญสง ผิดกับพงษาวดารว่าเจ้าทองอิน

๑๓ แผ่นดินต้นกับไพร่ ๕๐๐ ไปปะพระเชียงเงิน ให้พลายแหวนกับพังหมอนทรง
๑๓ พระเชียงเงินมีชื่อในพงษาวดาร แต่พลายแหวนกับพังหมอนพิศดารออกไป

๑๔ ไปตีเมืองตราด เมืองจันทบุรี ตีรยอง เมืองชล เข้าปากน้ำเมืองธนบุรี เดือน ๑๒ ปีกุนนพศก
๑๔ จดหมายนี้กล่าวนอกเปนในไกลเปนใกล้ คือกล่าวถึงตราดก่อนตีย้อนกลับเข้ามา เห็นจะไม่รู้แผนที่ ความจริงเจ้ากรุงธนได้เดินเข้าไปลึก ห่างฝั่งน้ำทางตวันออก ตั้งน่าออกไปนครนายกปราจิณ แล้วไปทางบางลมุง รยอง ไปจันทบุรีทีเดียว เมืองตราดออกไปแต่ไม่ได้ตั้งอยู่ การที่หลบไปทางตวันออกมากเช่นนี้ เพราะในแถบแม่น้ำพม่าเกลื่อนกล่นไปทั้งนั้น ไปจับลงเดินริมทเลตั้งแต่ทองหลางพานทองไป ตั้งแต่เมืองชลไปนั้นพ้นพม่าเสียแล้ว ขากลับยกจากจันทบุรี เดือน ๑๑ มาแวะเมืองชลเข้ามาถึงเมืองธนต่อเดือน ๑๒ นั้นเห็นจะถูก

๑๕ มีแต่ซากศพเผาเสีย
๑๕ ว่ามีแต่ทรากศพเผาเสียนั้น คงจะเปนศพที่ทิ้งอยู่เปนอันมาก เพราะฆ่ากันอยู่เสมอไม่มีใครเผาใคร

๑๖ คนโทษอยู่ สอง- สาม ๓๐๐๐
๑๖ ที่ว่าด้วยคนโทษนี้ จะอ่านว่ากระไร สองสามพันฤๅ เห็นตัวอย่างเคยเขียน อย่างคนเขียนเลขไม่เปน คือสองกับสามเข้าควงกัน แล้วเขียนเลขพันลงไว้ข้างหลังดังนี้ สอง- สาม  ๑๐๐๐ แต่ที่นี้เอา ๓ ไว้น่าสูญไม่ใช่เลข ๑ สองสามเขียนด้วยตัวหนังสือที่ข้างน่านั้นเขียนทำไมก็ไม่รู้ แต่คนโทษถึง ๓๐๐๐ นั้นอยู่ข้างจะมากเกินไป ข้อที่ผิดนี้จะผิดด้วยคนที่คัดหนังสือกันต่อ ๆ มา เข้าใจเลขอยู่บ้าง แต่ความคิดไม่พอรำคาญสองสามเขียนเปนตัวหนังสือ พันเขียนเปนตัวเลข เข้าใจว่าสามพันอยู่แล้ว ก็เปลี่ยนเลข ๑ เปนเลข ๓ เสีย ตัวหนังสือที่เขียนว่าสองสามข้างน่าชา ๆ แลไม่เห็น เลยทิ้งไว้เช่นนั้น

๑๗ ไปตีโพธิ์สามต้นได้หม่อมเจ้ามิด หม่อมเจ้ากระจาด
๑๗ หม่อมเจ้ามิตร, หม่อมเจ้ากระจาด, ว่าได้จากค่ายโพธิ์สามต้น ถูกกันกับพงษาวดาร

๑๘ ได้ปืนใหญ่พม่าเอาไปไม่ได้ค้างอยู่ ให้รเบิดเอาทองลงสำเภา
๑๘ เห็นจะเปนทองที่ย่อยลงมานี้เองได้มาหล่อปืนพระพิรุณที่สวนมังคุด เมื่อวัน ๖ ฯ ๔ ค่ำปีวอกอัฐศก จุลศักราช ๑๑๓๘

๑๙ ซื้อเข้าถังละ ๖ บาท เลี้ยงคนโซไว้ได้กว่า ๑๐๐๐
๑๙ ซื้อเข้าเลี้ยงคนโซ คงจะได้เงินจากค่ายโพธิ์สามต้น

๒๐ ไปตีเกยไชย ถูกปืนไม่เข้า
๒๐ ตีเกยไชย ในพงษาวดารว่าถูกปืนเลิกกลับลงมา ในที่นี้ว่าปืนไม่เข้า เห็นจะเปนความนิยมของราษฎรในเวลานั้น

๒๑ ไปตีพิศณุโลกย์ได้หม่อมฉิม ลูกเจ้าฟ้าจีด
๒๑ หม่อมเจ้าฉิม ในพงษาวดารว่าได้ที่โพธิ์สามต้น ในหนังสือนี้ว่าไปได้เมื่อไปตีเกยไชย

๒๒ ในปลายปีกุนกลับมาถวายพระเพลิง (พระ) ที่นั่งสุริยาอำมรินทร์ เจ้าแผ่นดินกรุงเก่า มีการสมโภชพร้อมเสร็จ
๒๒ การถวายพระเพลิงพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ในพงษาวดารว่าตีค่ายโพธิ์สามต้นได้แล้วก็ทำ ในหนังสือนี้ว่ากลับลงมาจากพิศณุโลกย์จึงได้ทำ พงษาวดารเห็นจะถูก

๒๓. ณปีชวดสัมฤทธิศก ไปตีเมืองนครหนังราชสีห์มา
๒๓ เรียกเมืองนครราชสีมาเติมหนังลงไปเต็มที่ เห็นจะฝันมาจากเรื่องขุนสิงหฬสาคร

๒๔. กรมหมื่นเทพพิพิธ เจ้าสีสังข์ไปอยู่พิมาย ต่อสู้รบประจันกัน จับได้กรมหมื่นเทพพิพิธ บุตรชาย ๓ บุตรหญิง ๑ กับเจ้าสีสังข์ กรมหมื่นเทพพิพิธ ท่านให้สำเร็จโทษเสีย เจ้าสีสังข์หนีไปเมืองขอม
๒๔ เจ้าศรีสังข์ในที่นี้ไขว้เขวกันอยู่ ในพงษาวดารว่าเจ้ากรุงธนบุรีออกไปจันทบุรี เจ้าจุ้ย, เจ้าศรีสังข์, หนีออกไปเมืองพุทไธมาศ ซึ่งเปนเหตุให้ยกขึ้นมีหนังสือไปถึงพระยาราชาเสรษฐีญวนให้มาสวามิภักดิ์ ส่งตัวเจ้าจุ้ยเจ้าศรีสังข์, ลูกกรมหมื่นเทพพิพิธ ในพงษาวดารว่าเจ้าประยง ถึงเจ้าศรีสังข์ที่กล่าวในหนังสือฉบับนี้ ก็จำหน่ายว่าหนีไปเมืองขอม ลงความกัน

๒๕ บุตรกรมหมื่นสุนทรเทพ หม่อมประยง โปรดให้เปนเจ้าอนิรุทธ์เทวา บุตรกรมหมื่นจิตรสุนทร หม่อมเจ้ากระจาด ให้ชื่อบุษบา บุตรกรมพระราชวัง หม่อมเจ้ามิด ประทานชื่อประทุม
๒๕ เจ้าประยงซึ่งพงษาวดารกล่าวว่าหลวงแพ่งจับฆ่าเสีย ในที่นี้กลายเปนภายหลังตั้งให้เปนเจ้าอนุรุทธ์เทวา หวนกล่าวถึงเจ้าผู้หญิงที่ได้มา เจ้ากระจาดลูกกรมหมื่นจิตร ในพงษาวดารว่าให้ชื่อบุบผา ในที่นี้ว่าบุษบา ก็เปนเนื้อความเดียวกัน เจ้ามิตรบุตรกรมพระราชวังให้ชื่อประทุมต้องกัน

๒๖. บุตรกรมหมื่นเทพพิพิธ หม่อมมงคล หม่อมพควม (รำดวน) พี่
๒๖ ลูกกรมหมื่นเทพพิพิธในหนังสือที่คัดมานี้เลอะเทอะอยู่ ว่าหม่อมมงคล, หม่อมพควม, เห็นจะเปนลำดวน แต่คนคัดหนังสือผิด เจ้าสองคนนี้ดอกกระมังที่เปนเจ้าเชษฐกุมารคนหนึ่ง เจ้าอนุรุทธ์เทวาคนหนึ่ง เจ้าอนุรุทธ์เทวานี้ มีชื่อในบานแพนกตั้งเจ้านครศรีธรรมราชใช้ว่าหม่อมเจ้า แต่เจ้าอุบลลูกกรมเทพ เจ้าฉิมลูกเจ้าฟ้าจีดเปนชื่อเดิม

๒๗. หม่อมอุบล บุตรเจ้าฟ้าจีด เลี้ยงเสมอกันทั้ง ๔ คน
๒๗ เจ้าสี่คนนั้นคือ บุษบา ฤๅ บุบผา ลูกกรมจิตร เจ้าประทุมลูกกรมพระราชวัง เจ้าอุบลลูกกรมเทพ เจ้าฉิมลูกเจ้าฟ้าจีด แต่โปรดไม่เสมอกัน

๒๘. แต่โปรดหม่อมฉิม หม่อมอุบล ประทมอยู่คนละข้าง
๒๘ ในที่นี้มีพิศดารออกไปว่า โปรดหม่อมฉิมแลหม่อมอุบล

๒๙. วิบัติหนูกัดพระวิสูตร รับสั่งให้ชิดภูบาล ชาญภูเบศร์ ฝรั่งคนโปรดทั้งคู่ ให้เข้ามาไล่จับหนูใต้ที่เสวย (แล) ในที่ (บรรทม) ด้วย
๒๙ เรื่องเกิดหนูกัดพระวิสูตรนี้ ออกจะถือเปนอุบาทว์ ข้อที่ว่าฝรั่งเปนชิดภูบาล ชาญภูเบศร์ ชื่อนายเวรมหาดเล็กวังน่าก็ชอบกล ฝรั่งนี้เข้าใจว่าโปรตุเกศอย่างพวกกดีจีน

๓๐. เจ้าประทุมทูลว่าฝรั่งเปนชู้กับหม่อมฉิม หม่อมอุบล กับคนรำ ๔ คน เปน ๖ คนด้วยกัน
๓๐ ทำนองเปนความสงไสยว่าเจ้าประทุมหึงเจ้าอุบล แกล้งทูลใส่ความ แต่ที่แท้ก็อาจจะเปนจริงได้ เจ้าอุบลคนนี้เคยตกเปนเมียนายแก่นพวกหลวงแพ่งครั้งหนึ่งแล้ว เจ้าฉิมก็คงซัดเซคเนจรมาแล้วเหมือนกัน อาจจะทำผิดได้

๓๑ รับสั่งถามหม่อมอุบลไม่รับ หม่อมฉิมว่ายังจะอยู่เปนมเหษีขี้ซ้อนฤๅ มาตายตามเจ้าพ่อเถิด รับเปนสัตย์หมด ให้เฆี่ยนเอาน้ำเกลือรด ทำประจานด้วยแสนสาหัส ประหารชีวิตรผ่าอกเอาเกลือทา ตัดมือตัดเท้า
๓๑ หม่อมอุบล, ทีจะเปนคนไม่สู้เหี้ยมหาญ หม่อมฉิมนั้นเห็นจะเปนคนที่มีโวหารกล้า ผู้รับเปนสัตย์คงเปนหม่อมฉิมรับเปนสัตย์ลงไปก่อน หม่อมอุบลจึงได้พลอยรับตาม แก้ความเสียหายด้วยทำเปนทีว่าแค้นขึ้นมาจึงได้รับ

๓๒ สำเร็จโทษเสร็จแล้วไม่สบายพระไทย คิดถึงหม่อมอุบล ว่ามีครรภ์อยู่ ๒ เดือน
๓๒ การที่ทรงพระอาไลยหม่อมอุบลขึ้นมานั้น จะไม่ใช่แต่มีครรภ์ จะคิดเห็นไปว่าหม่อมอุบลพลอยรับไปด้วยตามคำหม่อมฉิม ฤๅบางทีพิจารณา พอหม่อมฉิมรับก็ทึกเอาเปนรับทั้งสองคน จึงได้ทรงพระอาไลยสงสาร

๓๓ ตรัสว่าจะตายตามหม่อมอุบลว่าใครจะตายกับกูบ้าง
๓๓ ข้อที่ว่าจะตายตามหม่อมอุบลนี้ เปนการปรากฎครั้งแรกในหนังสือนี้ รับว่าพระสติอยู่ข้างฟั่นเฟือน

๓๔ เสม เมียกรมหมื่นเทพพิพิธ ว่าจะตามเสด็จ หม่อมทองจันทน์ หม่อมเกษ หม่อมลา สังบุษบาจะตามเสด็จด้วย ประทานเงินคนละ ๑ … บังสกุลตัว ทองคนละ  ๑ ....ให้ทำพระแล้ว ให้นั่งในแพหยวก นิมนต์พระเข้ามาบังสกุลแล้วจะประหารชีวิตรคนที่ยอมตามเสด็จนั้นก่อน แล้วท่านจะแทงพระองค์ท่านตามไปอยู่ด้วยกันเจ้าข้า พระสตินั้นฟั่นเฟือน
๓๔ เสมเมียกรมหมื่นเทพพิพิธที่ยอมตายตามเสด็จคนนี้ เคยตกไปเปนเมียนายย่นพวกหลวงแพ่งครั้งหนึ่งแล้ว ทั้งเวลากรมหมื่นเทพพิพิธเปนเจ้าพิมายอยู่ดังนั้น ทีจะเปนคนแปดเหลี่ยมแปดคม

๓๕ เจ้าคุณใหญ่ทรงกันดาล กับเตี่ยหม่อมทองจันทน์ นิมนต์พระเข้ามามาก ชุมนุมสงฆ์ถวายพระพรขออย่าให้ทำหาควรไม่ ว่าที่จะได้พบกันนั้นหามิได้แล้ว ถวายพระพรขอชีวิตรไว้ ได้พระสติคืนสมประดี ประทานเงินเติมให้แก่ผู้รับตามเสด็จนั้น
๓๕ เจ้าคุณใหญ่ทรงกันดาลผู้นี้ คือท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) เปนไปยิกาของสมเด็จพระเจ้ามไหยิกาเธอ กรมพระสุดารัตนราชประยูรฝ่ายหนึ่ง ซึ่งลงเรือพระที่นั่งมารับเสด็จพระพุทธยอดฟ้าที่วัดโพธาราม แต่ไม่เคยปรากฎว่าเปนเจ้าคุณ คำที่ออกชื่อว่าเจ้าคุณใหญ่แล้วแปลว่าท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) ทั้งนั้น เพราะเหตุที่เปนแม่วังอยู่ดังนี้ จึงได้ลงเรือมารับเสด็จ

๓๖ เจ้าหอกลางประสูตรเจ้าเปนพระราชกุมารแผ่นดินไหว ฉลูต้นปีโปรดปล่อยคนโทษในคุกสิ้น หมายสมโภชเจ้าฟ้าน้อย
๓๖ เจ้าหอกลางมีลูกเปนผู้ชายนี้, แปลก เห็นจะตายเสียจึงมิได้กล่าวในที่อื่น ถ้าอยู่คงแก่กว่าพระพงษ์นรินทร์สักปีหนึ่งสองปี ดูก็ไม่น่าจะฆ่าเสีย เพราะอายุห่างกันน้อยนัก ในเวลาประสูตร เห็นจะเห็นว่ามีบุญ แผ่นดินจึงไหว ปล่อยคนโทษนั้น จะไม่ใช่เพราะเรื่องประสูตร จะประสมให้เข้ารอยกับปล่อยคนโทษเสวยราชใหม่ด้วย

๓๗ แล้วเสด็จไปตีเมืองนครเสด็จเปนทัพเรือ ทรงพระที่นั่งศรีสักหลาดเข้าปากน้ำเมืองนคร ณวัน ฯ ๑๐ ค่ำ ลุศักราช ๑๑๓๑ ปีฉลูเอกศก
๓๗ เสด็จตีเมืองนครศรีธรรมราชนี้เพราะกองทัพส่งออกไปตีไม่ได้ ถอยเข้ามาอยู่ไชยา เสด็จด้วยเรือพายนั้นอยู่ข้างจะแขงมาก

๓๘ เจ้าพระยายมราช เจ้าพระยาอภัยราชา เจ้าพระยาดาฤทธิรงค์ ยกทางสถลมารคสามทัพ ไม่ทันเสด็จ เข้าเมืองได้แล้วเปนวัน (หนึ่ง) ทรงพระพิโรธ คาดโทษให้ตามเจ้านครที่หนีไปอยู่เมืองจะหนะ
๓๘ แม่ทัพไปตีเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าพระยายมราช, ตรงกัน เจ้าพระยาอไภยราชา น่าจะเปนคนเดียวกับพิไชยราชา แต่เจ้าพระยาดาฤทธิรงค์, ไม่เคยได้ยินเลย ถ้าจะเดาให้ค่อยเปนภาษาคนขึ้น ก็จะเปนนราฤทธิรงค์ แต่ชื่อนี้ไม่เคยมี มีอิกชื่อก็แต่เจ้าพระยาจักรกรี เปนแม่ทัพเรือ พระยาเพ็ชร์บุรี, พระยาศรีพิพัฒน์, ตายในที่รบเมื่อคราวแรก เห็นจะไม่เอามาหลงเปนดาฤทธิรงค์ได้ทั้ง ๓ คน

๓๙. พระฤทธิ์เทวาเจ้าเมือง รู้ว่ากองทัพยกติดตาม (มา) กลัวพระบารมีส่งตัวเจ้านครกับพวกพ้องพงษ์พันธุ์ ทั้งลครผู้หญิงเครื่องประดับเงินทองราชทรัพย์สิ่งของส่งถวายมาพร้อม เสด็จลงมาสมโภชพระบรมธาตุมีลครผู้หญิง แล้วให้แห่สระสนาน ๓ วัน เสด็จอยู่นานจนจีนนายสำเภาเอาของปากสำเภามาถวาย
๓๙ ในหนังสือฉบับนี้ ว่าเจ้านครหนีไปอยู่เมืองจะนะ ในพงษาวดารว่าเทพา ให้ลงไปตามที่เทพา จำหน่ายว่าหนีไปตานี แต่ชื่อพระฤทธิ์เทวา สมเปนเจ้าเมืองเทพา ซึ่งเดี๋ยวนี้เปลี่ยนเปนดำรงเทวฤทธิ์ มีจดหมายไว้ในปูมว่าที่เมืองนครศรีธรรมราชพระสงฆ์ลุยไฟ

๔๐ จึงให้เจ้าดาราสุริย์วงษ์อยู่กินเมือง เสด็จกลับมากรุงธนบุรี
๔๐ เจ้าดาราสุริวงษ์นั้น เปนธรรมเนียมที่สำหรับคนเรียกไม่ถูก เช่น กรมนรา, พระยานรา, เรียกว่ากรมดารา, พระยาดารา ทั้งนั้น ที่แท้ก็ตรงกับพงษาวดาร คือเจ้านราสุริวงษ์ เจ้านรานี้มียศเปนพระเจ้า ตั้งเสนาบดีได้

๔๑. นางห้ามประสูตรเจ้า ท่านสงไสยว่าเรียกหนเดียวมิใช่ลูกท่าน รับสั่งให้หาภรรยาขุนนางเข้าไปถาม ได้พยานคนหนึ่งว่าผัวไปหาหนเดียวมีบุตร จึงถามเจ้าตัวว่าท้องกับใคร (ทูล) ว่าท้องกับเจ๊ก เฆี่ยนสิ้นชีวิตรในฝีหวาย
๔๑ เรื่องนางห้ามประสูตรเจ้า นางห้ามคนนี้เห็นจะไม่ได้ตามเสด็จจึงได้ทรงสงไสย คำให้การอยู่ข้างจะขันอยู่หน่อยจึงต้องถูกเฆี่ยนถึงตาย

๔๒. แต่เจ้าเล็กนั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระไอยกาเอาไปเลี้ยงไว้
๔๒ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระไอยกาในที่นี้, น่าสงไสย จะว่าใช้เรียกกรมพระเทพามาตย์ก็มิใช่ ด้วยเรียกกรมพระเทพามาตย์ตรง ๆ ก็มี จะว่าเจ้าฮั่น, แกก็เปนน้า เชื้อวงษ์ผู้ใหญ่เจ้ากรุงธนบุรีมีอยู่ไม่ปรากฎในพงษาวดารเล่มใหญ่อิก ๒ คน คือกรมขุนอินทรพิทักษ์ไม่ใช่เจ้าจุ้ยลูกเธอ ซึ่งจะได้วินิจฉัยในที่อื่น ดูเปนพระญาติวงษ์สำคัญอยู่เพราะอัษฐิอยู่ในวัง อิกคนหนึ่งก็เจ้าแสง สังเกตดูว่าจะเปนคนแก่ น่าจะเปนบิดาเจ้าเสงฤๅเจ้านราสุริวงษ์ด้วย แต่จะสันนิษฐานว่าเจ้า ๒ คนที่ไม่มีชื่ออยู่ในพงษาวดารนี้ก็ขัดข้องอยู่หนักหนา ด้วยกรมหลวงนรินทรเทวีท่านเรียก สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระไอยกา น่ากลัวจะหมายความว่าพระพุทธยอดฟ้า แต่ความมันฝืน ๆ อยู่กับที่หมายเลข ๕๐ ต่อไปข้างน่า รอไว้พิจารณาในที่นั้น

๔๓ ปีขานโทศก ไปตีเมืองสวางค์บุรี พระฝางมีช้างเผือกลูกบ้านออกยังไม่จับหญ้า รู้ว่าทัพเมืองใต้ยกขึ้นไปจะรบเอาช้างเผือก จึงเสี่ยง (ทาย) หญ้า ว่าช้างนี้คู่บุญเมืองเหนือ ให้รับหญ้าเมืองเหนือ คู่บุญเมืองใต้ให้รับหญ้าเมืองใต้ (ช้าง) รับหญ้าเมืองใต้ พอทัพถึงเข้าตีได้เมือง พระฝางพาช้างหนี ติดตามไปพบช้างอยู่ชายป่าแม่น้ำมืดได้มาถวาย รับสั่งให้สมโภชนางพระยาแล้ว ให้รับลครผู้หญิงขึ้นไปสมโภชพระฝาง ๗ วัน แล้วเสด็จไปเหยียบเมืองพิศณุโลกย์ สมโภชพระชินราชพระชินศรี ๗ วัน มีลครผู้หญิงเสร็จแล้ว
๔๓ ตอนนี้, ว่าถูกต้องชัดเจนดีนัก กลับได้ความชัดออกไปว่าไปได้ช้างเผือกจากน้ำมืด

๔๔ แล้วเสด็จกลับมาที่หาดสูง เสด็จทรงพลายแหวน ประหารชีวิตรผู้ทำผิดคิดมิชอบเสร็จแล้ว
๔๔ เสด็จกลับมาที่หาดสูง ประหารชีวิตร์ผู้ทำผิดคิดมิชอบนั้น คงหมายความว่าเรื่องให้พระพิสูทธ์ดำน้ำที่มีในพงษาวดาร

๔๕ ให้พลายแหวนเปนพระยาปราบ พังหมอนแม่นมนางพระยาแล้วเสด็จกลับมากรุง
๔๕ แม่นมนางพระยานี่ผู้คัดเขียนเกินไปเปนแน่ พังหมอนคงไม่ได้เปนแม่นมใคร คงจะเรียกแต่แม่นางพระยาเท่านั้น

๔๖ ณปีเถาะ ไปตีกัมพูชาพุทไธมาศก็ได้ เสร็จกัมพูชา ให้องค์รามอยู่กินเมือง
๔๖ ตีเมืองกัมพูชาให้นักองค์รามครั้งนี้เปนครั้งที่สอง ครั้งแรกยกพร้อมกันกับเสด็จไปเมืองนคร แต่เลิกทัพกลับเข้ามาเสีย ด้วยมีข่าวฦๅว่า เจ้ากรุงธนเสียทัพที่เมืองนคร ยกไปคราวนี้ไปทั้งทัพบกทัพเรือ ทัพบกไปทางเสียมราฐ ตีเมืองประทายเพ็ชร์ได้ ทัพเรือเจ้ากรุงธนเสด็จเอง ไปตีเมืองพุทไธมาศก่อน ได้เมืองให้พระยาพิพิธอยู่รักษา เสด็จยกขึ้นไปตีเมืองเขมร ไปถึงพนมเปญ นักองค์พระอุไทยราชา หนีทัพบกไปก่อนแล้ว จึงตั้งนักองค์รามเปนเจ้ากรุงกัมพูชา

๔๗ พุทไธมาศให้พระยาพิพิธว่าราชการ เปนพระยาราชาเศรษฐี
๔๗ ให้พระพิพิธเปนพระยาราชาเสรษฐี ได้ความว่า พระยาราชาเสรษฐีคนนี้เปนเจ๊ก ภายหลังพระยาราชาเสรษฐีญวนกลับเข้ามาตีคืนได้ พระยาราชาเศรษฐีจีนไปได้กำลังเมืองกำปอช กลับมาตีคืนได้อิก เห็นว่าเมืองพุทไธมาศล่อแหลมจึงให้เลิกครัวกลับเข้ามาเสียกรุงเทพ ฯ พระยาราชาเสรษฐีญวนก็กลับมาอยู่เมืองพุทไธมาศต่อไปใหม่


ในวงเล็บมือเปนคำที่เติมลงไปใหม่ เพื่อจะให้เห็นใจความบริบูรณ์ขึ้น


หัวข้อ: Re: จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 02 กรกฎาคม 2562 16:23:06
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/14850401961141_spd_2012090285139_b_1_320x200_.jpg)

๔๘. ได้เจ้าน่ำก๊กเล่าเอี๋ย
๔๘ ที่ว่าได้เจ้าน่ำก๊กเล่าเอี๋ยนั้นหมายความว่าองเชียงซุน เดิมก็ไม่นึกจะอธิบายอไร เพราะเห็นว่าหนังสือพิมพ์ไว้มีอยู่แล้ว แต่ครั้นอ่านเข้าดูเห็นความมันแตกต่างกันไป จึงนึกว่าจะเก็บเรื่องเมืองญวนลงไว้ดูเล่นสักทีหนึ่ง ผลแห่งการที่สอบสวนนั้นได้เช่นนี้
ในพงษาวดารเก่า ซึ่งควรจะเข้าใจว่า จดลงไว้ตามคำให้การขององเชียงสือ เริ่มความเพียงเวลาองเหี่ยวหูเบืองเปนเจ้าเมืองเว้ จนถึงองเชียงสือเปนเจ้าเมืองไซ่ง่อน

พงษาวดารรัตนโกสินทร์ อ้างว่าเปนพงษาวดารที่องเชียงสือประชุมผู้หลักผู้ใหญ่ข้างญวนที่มาด้วย เรียบเรียงขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ตามพระราชโองการ

เรื่องราวทั้ง ๒ ฉบับนี้ ข้อความลงกัน เปนแต่ยาวแลสั้นตามที่กล่าวกว้างฤๅกล่าวแคบ เชื้อสายองเชียงสือที่ได้จากหนังสือ ๒ ฉบับนี้ ดังที่ได้เขียนโยงลำดับมา เพื่อจะให้เข้าใจง่าย

มีสมุดพงษาวดารญวน ซึ่งว่านายหยองแปลขึ้นใหม่ เร็ว ๆ นี้อิกเล่มหนึ่ง ลองสอบดู ข้อความล้มละลายหายไปในโวหารของผู้แต่ง ซึ่งมิใช่นายหยองแต่งเอง พยายามจะให้เหมือนหนังสือจีนอันเปนหนังสืออ่านเล่น มิใช่พงษาวดาร เพลินไปละลายหายเสียเหลือที่จะเข้าใจว่ากระไร จึงได้คัดทิ้งลงไว้ในนี้ทั้งดุ้น สำหรับผู้มีปัญญาจะพิจารณาเห็นประการใดก็ตาม แต่ได้ตัดข้อความซึ่งไม่มีใจความในนั้น พูดให้ดังครึคระนั้นเสีย ๔ บันทัด ในที่ซึ่งหมายดอกจันท์เรียงเปนแถวไว้นั้น เพราะเปลืองกระดาษ

“พระเจ้าเหงวียงท้ายโต๋กาวว่างเด๊ตั้งตัวเปนกระษัตริย์ต่อวงษ์ตระกูลลงมาคือ พระเจ้าเฮี้ยววังว่างเด๊ ๑ พระเจ้าเฮี้ยวเจียวว่างเด๊ ๑ พระเจ้าเฮี้ยวตงว่างเด๊ ๑ พระเจ้าเฮี้ยวหวอว่างเด๊ ๑ พระเจ้าเฮี้ยวเหง่ตงว่างเด๊ ๑ รวม ๘ พระองค์ นับเปนปีได้ ๒๐๐ ปีเศษ” ...............................

“พระเจ้าเฮี้ยวหวอเด๊ มีพระราชบุตรที่ ๒ คือพระเจ้าเฮี้ยวคางว่างเด๊ พระราชโอรสที่ ๙ คือท้ายตื้อเหี่ยว ๆ อยู่ในยศมีนามยี่ห้อว่าเตวียวเวือง พระราชโอรสที่ ๑๖ ของพระเจ้าเฮี้ยวหวอว่างเด๊ คือพระเจ้าเฮี้ยวเหง่ว่างเด๊ พระราชโอรสที่ ๑๘ คือตงเทิกทัง ๆ อยู่ในยศมียี่ห้อว่าทุกเจื๋องเกอกุ่นกง มาภายหลังเลื่อนยศขึ้นมียี่ห้อว่าเทือกล็องกงท้ายตื๋อเหี่ยว มีพระราชบุตรองค์หนึ่งมีนามว่าเตรื้อง ๆ อยู่ในตำแหน่งยศว่าเตงจิ๊นเวือง”

“พระเจ้าเฮี้ยวคางว่างเด๊มีว่างโหว่ มีนามว่านางเหงวี่งถี่คางว่างโหว่ มีราชบุตรหลายองค์ นับแต่องเทียนสือนั้นเปนพระราชบุตรที่สาม องเทียนสือเกิดในปีมเมียในรัชกาลพระเจ้าเลเฮี้ยวตงว่างเด๊ เปนปีที่ ๒๓ ตรงกับรัชกาลของพระเจ้าเขียนหลงฮ่องเต๊กรุงจีนเปนปีที่ ๒๗ ตรงกันกับจุลศักราช ๑๑๒๔ องเทียนสือมีพระนาม ๓ พระนาม คือเหงีวงเพือกเหวียน ๑ เหงวีงเพือกบ็อก ๑ เหงี่วงเพือกอั๋น ๑”

ข้าพเจ้าไม่เข้าใจชัดเจน ว่าเรื่องที่เล่ามานี้ว่ากระไร บางทีจะเอาชื่อเมื่อเวลาลูกเปนเจ้าแผ่นดินแล้วหองให้พ่อมานับว่าเปนเจ้าแผ่นดินโดยความไม่รู้ จึงไม่สามารถจะอธิบายได้

ส่วนท้องเรื่องที่กล่าวในหนังสือที่เรียกว่าพงษาวดารญวนนี้ กล่าวถึงแต่เจ้าแผ่นดินคนหนึ่ง กับองเทียนสือพระราชนัดดา เจ้านายอื่น ๆ ดูไม่มีผู้ใดมีชื่อเสียงอันใด นอกจากที่ว่าพระวงษานุวงษ์แตกกระจุยกระจายกันไป เมื่อขบถยกมาถึง เจ้าแผ่นดินกับองเทียนสือก็ยกลงมาตั้งเมืองไซ่ง่อน สู้รบด้วยข้าสึกศัตรูกันอยู่สองคนเท่านั้น เต็มไปด้วยเรื่องสามเพลงตกม้าตายอย่างหนังสืออ่านเล่นพอให้สบาย ๆ ปาก ไม่ใช่พงษาวดาร ถ้าจะไปเที่ยวงมหาท้องเรื่องพงษาวดารในหนังสือนี้เปนงมเข็มในพระมหาสมุท อันประกอบไปด้วยละลอกแห่งสำนวนไพเราะต่าง ๆ จึงของดไว้เสียที

ว่าด้วยท้องเรื่องที่ได้จากจดหมายองเชียงสือแต่งเองนั้น มีข้อความโดยย่อดังนี้

ราชธานีของประเทศอานาม ได้อยู่ในประเทศตังเกี๋ยสืบมาแต่โบราณ ในครั้งวงษ์กิม เจ้าแผ่นดินที่ ๖ ชื่อหุงเมืองกรุงจีนให้แม่ทัพชื่อเลียวทางมาตีได้เมืองตังเกี๋ย แล้วเปนเจ้าเมืองต่อมา เกิดผู้มีบุญ ชื่อเลเลย เทวดามาบอกให้ดวงตราแลกระบี่ กับว่าเวียนกรายจะได้เปนอุปราช เมื่อตามหาพบกันแล้ว ช่วยกันซ่องสุมผู้คนเปนขบถจับเจ้าเมืองตังเกี๋ยฆ่าเสีย เลเลยตั้งตัวเปนเจ้าแผ่นดิน เวียนกรายเปนอุปราช เวียนกรายมีบุตร ๒ คน เปนหญิงคน ๑ เปนชายคน ๑ ชื่อจัวเตียน บุตรหญิงนั้นเปนภรรยาตินเกียม ครั้นเวียนกรายชราลาออกจากตำแหน่ง ขอให้บุตรเขยว่าที่อุปราชไปกว่าบุตรชายจะโต บุตรเขยคิดประทุษฐร้ายจัวเตียนน้องภรรยา จัวเตียนทราบแกล้งทำเปนบ้า พี่เขยจึงไปทูลเจ้าแผ่นดิน ขอให้เนรเทศจัวเตียนเสีย จึงได้ส่งมาไว้ที่ป่าแห่งหนึ่ง ชื่อโอจัวเปนที่สำหรับปล่อยคนโทษ มีเขาวงหนทางเข้าออกยาก จัวเตียนเกลี้ยกล่อมผู้คนสร้างเมืองขึ้น จึงได้ชื่อว่าเมืองเว้

ครั้นตินเกียมรู้จึงให้ยกกองทัพมาจับ จัวเตียนกลัวจะเปนศึกยืดยาวไปจึงยอมอ่อนน้อมเปนเมืองขึ้น ก็ได้เปนเจ้าเมืองสืบตระกูลมา ๖ ชั่ว ๆ ที่ ๖ จึงได้แขงเมืองไม่ไปขึ้นตังเกี๋ย เมืองตังเกี๋ยมาตีหลายครั้งไม่ได้ ก็เปนเอกราชมาหลายปี จนถึงองเฮียวฮูเวียงเจ้าเมืองที่ ๖ นั้นตาย เพราะเหตุที่บุตรใหญ่ ๒ คนตายไปเสียก่อน องกวักพอขุนนางผู้ใหญ่ จึงยกองเทิงกวางบุตรที่ ๓ ขึ้นเปนเจ้าเมืองเว้ องกวักพอเปนผู้สำเร็จราชการ ราษฎรไม่พอใจบ้านเมืองเกิดจลาจลต่าง ๆ

จึงมีอ้ายยาก อ้ายบาย อ้ายดาม ๓ คนพี่น้องได้ฝังศพบิดาในที่หองซุ้ยเปนรูปปากมังกร เมื่อขุดหลุมได้ทอง ๒ ไห จึงได้เอาแจกคนช่วยทุกขยาก เกลี้ยกล่อมผู้คนไว้ได้มาก เมื่อเห็นองเทิงกวางแลองกวักพอ ไม่เอาใจใส่ในราชการ เสพสุราแล้วเล่นงิ้วหลงใหลไป ๓ คนพี่น้องนั้นจึงได้ไปหาเจ้าเมืองกวางหนำเข้าทำราชการมีอำนาจสิทธิ์ขาด ได้เปนองขึ้นทั้ง ๓ คน เห็นว่าราษฎรปลงใจรักใคร่องวางตน ซึ่งเปนลูกองดิกมูลูกชายคนใหญ่ขององเฮียวฮูเวียงเจ้าเมืองเว้คนก่อน จึงได้คิดจะยกองวางตนขึ้นเปนเจ้า ตั้งแขงเมืองกวางหนำอยู่ เจ้าเมืองเว้ให้กองทัพมาก็กลับมาเข้าด้วยองบาย แล้วองบายมีหนังสือไปเมืองตังเกี๋ยขอกองทัพมาช่วย เจ้าเมืองตังเกี๋ยให้องกวักเหลา คุมกองทัพมาพร้อมด้วยองบาย ยกเข้าตีเมืองเว้คนละด้าน องเทิงกวางเจ้าเมืองพาองเชียงซุนน้องชายกับองยาบา องเชียงสือ องหมัน หลาน ๓ คนหนีมาอยู่เมืองไซ่ง่อน แต่องวางตนไม่หนี เพราะรู้ข่าวว่าเขาจะยกตัวเปนเจ้า แต่ครั้นเมื่อได้เมืองแล้ว องทั้ง ๓ กลับพาองวางตนไปไว้เสียเมืองกุยเยิน องทางน้องที่ ๕ แม่ทัพเมืองตังเกี๋ยจับไป องวางตนรู้สึกตัวว่าจะต้องเปนเจว็ด จึงได้หนีลงมาหาองเทิงกวางที่เมืองไซ่ง่อน องเทิงกวางคิดจะยกองวางตนขึ้นเปนเจ้า ก็พอกองทัพองทั้ง ๓ นั้นมาตีได้เมืองไซ่ง่อนจับองเทิงกวาง องวางตนได้ให้ฆ่าเสีย องเชียงซุนหนีมาอยู่เมืองประทายมาศ องเชียงซุนมีบุตรชายชื่อองกลัก  บุตรหญิงชื่อมูเซไทยเรียกว่าโกเงิน เจ้ากรุงธนยกทัพออกไปตีจึงได้ตัวมาไว้ในกรุงธน องยาบา องเชียงสือ องหมัน หลบหนีอยู่ในป่า พวกองทั้ง ๓ จับได้องยาบา องหมันฆ่าเสีย รอดไปแต่องเชียงสือ องยากตั้งตัวขึ้นเปนเจ้าเรียกว่าไกเซิน ไปอยู่เมืองกุยเยินยกขึ้นเปนเมืองหลวง จึงตั้งองบายน้องคนกลางเปนอุปราชฝ่ายน่า ชื่อบากบินเยืองอยู่เมืองไซ่ง่อน ตั้งองดามน้องน้อยเปนอุปราชฝ่ายหลัง ไปอยู่เมืองเว้ เมืองตังเกี๋ยกับองทั้ง ๓ นี้บาดหมางกัน เหตุด้วยถูกหลอกว่าจะยกองวางตนขึ้นเปนเจ้า องลองเยืองจึงคิดไปตีเมืองตังเกี๋ย ได้เมืองตังเกี๋ยเจ้าเมืองรากเลือดตาย อุปราชเชือดคอตาย องลองเยืองตั้งให้องเจียวทงหลานเจ้าเมืองตังเกี๋ยเปนเจ้าเมือง องเจียวทงมีหนังสือไปขอกองทัพเมืองจีน จ๋งต๊กกวางตุ้งเปนแม่ทัพมา องลองเยืองตีทัพจีนแตกไป องเจียวทงก็หนีไปอยู่เมืองจีน องลองเยืองจึงตั้งให้องกะวีบุตรเปนเจ้าเมืองตังเกี๋ย องลองเยืองกลับไปอยู่เมืองเว้ ครั้นเมื่อตายลงขุนนางจึงยกองกลักบุตรที่ ๒ ขึ้นเปนเจ้าเมืองเว้

ฝ่ายองเชียงสือหนีไปซุ่มซ่อนอยู่ในป่าได้ ๓ ปี พวกญวนชาวป่ารู้ว่าเปนเชื้อวงษ์เจ้าก็ช่วยทนุบำรุง มีจีนทัดคนหนึ่งคิดอ่านเกลี้ยกล่อมพวกญวนจีนในเมืองไซ่ง่อน ได้มากแล้วก็เข้าปล้นเมืองไซ่ง่อน องบายซึ่งเปนบาบินเยือง หนีไปเมืองกุยเยิน จีนทัดจึงตั้งตัวเปนองกงเซิน แล้วให้ไปเชิญองเชียงสือเข้ามาเปนเจ้าเมือง องเชียงสือตั้งให้จีนทัดเปนองเทืองกง แล้วกลับเคลือบแคลง องเชียงสือทำเปนป่วย องเทืองกงมาเยี่ยมเอายาพิศม์มาจะให้กิน องเชียงสือทดลองดูเห็นว่าเปนยาพิศม์ จึงจับองเทืองกงฆ่าเสีย แล้วคิดจะฆ่าพวกจีนซึ่งเปนพรรคพวกอยู่ในเมืองไซ่ง่อนเสีย จีนแจ จีนเล็ก ลูกค้าห้ามไว้ องเชียงสือเห็นชอบด้วย ก็ให้งดเสีย ไม่ช้าทัพพวกไตเซินก็ยกมาตีเมืองไซ่ง่อน องเชียงสือเห็นว่าจะไว้ใจคนในเมืองไม่ได้เปนสองกังวลอยู่ จึงได้คิดจะหนีเข้ามากรุงเทพ ฯ ไว้คิดการต่อไป จึงได้ลงเรือทเลหนีออกทางปากน้ำสมิถ่อ มาถึงเกาะกระบือ พบพระยาชลบุรี พระยารยอง จึงได้ชวนเข้ามาเฝ้า สิ้นข้อความที่องเชียงสือจดหมายถวายเท่านี้


๔๙ ขับต้อนครอบครัวเข้ามาเมืองธนบุรี
๔๙ ข้อที่ว่าขับต้อนครอบครัวเข้ามาเมืองธนบุรีในครั้งนี้อิก คงจะเปนครัวสมัคพรรคพวกขององเชียงซุน แลพระยาราชาเสรษฐีญวน พระยาราชาเสรษฐีนี้ที่ตั้งบ้านอยู่ฟากตวันออกกรุงธน ซึ่งยกเปนพระบรมมหาราชวัง

๕๐ ประทมอยู่ แว่วเสียงลูกอ่อนร้องที่ข้างน่า กริ้วว่าลูกมันหาเอาไปกับแม่มันไม่ ยังจะทำพันธุ์ไว้อิก สมเด็จพระไอยกาทราบทรงพระดำริห์รแวงผิด
๕๐ คราวนี้รื้อเรื่องเจ้าเล็ก ซึ่งพระพุทธเจ้าหลวงสมเด็จพระไอยกาเอาไปเลี้ยงไว้ ว่าบรรธมอยู่แว่วเสียงลูกอ่อนร้องที่ข้างน่า ถ้าหากว่าสมเด็จพระไอยกาองค์นี้ จะเรียกพระพุทธยอดฟ้าตามที่เรียกมาในหนังสือนี้ เหตุไฉนจึงเข้าไปอยู่ในวังใกล้จนเด็กอ่อนร้องได้ยินถึงพระกรรณ แต่เปนแน่ว่าไม่ใช่กรมพระเทพามาตย์ฤๅเจ้านายผู้หญิง เพราะได้ยินเสียงเด็กนี้ทางข้างน่า เปนข้อที่ควรจะได้พิจารณาต่อไป

๕๑. จึงส่งให้เจ้าวังนอก ว่าสุดแต่เธอ (เธอ) ก็ทำตามกระแสรับสั่ง สำเร็จโทษเสีย
๕๑ เจ้าวังนอกองค์นี้, จะเปนใคร เชื้อวงษ์เจ้ากรุงธนบุรี ที่เปนชายมีชื่อในพงษาวดาร หลานเธอชั้นใหญ่ ๓ คือที่ ๑ เจ้านราสุริวงษ์ซึ่งไปครองเมืองนคร ที่ ๒ เจ้าบุญมี เปนเจ้ารามลักษณ์ ที่ ๓ เจ้าประทุมไพจิตร ตั้งชั้นแรก ยังเหลือเจ้าจุ้ย, ลูกเธอ เจ้าเสง, เจ้าบุญจันท์, หลานเธอ นับว่าเปนชั้นเด็ก ภายหลังเมื่อตั้งเจ้าจุ้ยเปนกรมขุนอินทรพิทักษ์ จึงตั้งเจ้ารามลักษณ์เปนกรมขุนอนุรักษ์สงคราม เจ้าบุญจันท์เปนกรมขุนรามภูเบศร์ เจ้านราสุริวงษ์กับเจ้าเสงตาย, ในพงษาวดารกล่าวเหมือนเผาศพพร้อมกัน เจ้าประทุมไพจิตรยังอยู่จนตั้งเจ้านคร มีชื่อในบานแพนกแต่ไม่ได้เปนกรม

มีเจ้าอิก ๒ คนที่ปรากฎในร่างหมายการศพคือกรมขุนอินทรพิทักษ์ แลเจ้าแสง เวลานิ้คงจะยังมีชีวิตรอยู่ทั้ง ๒ คนแลคงจะอยู่ในกรุงธน แต่เหตุไฉนชื่อเสียงจึงได้ลี้ลับอับอั้น เจ้าแสงนั้นปรากฎว่าอยู่นอกวัง แต่ทีจะเปนคนแก่ เพราะเปนบิดาเจ้าเสง จะไม่ใช่เปนผู้ที่สำหรับจะลงโทษฆ่าผู้ฟันคนได้ จะว่ากรมขุนอินทรพิทักษ์ก็ชอบกลอยู่ ดูเหมือนว่ากรมขุนอินทรพิทักษ์นี้มี ๒ คราว แรกไม่ได้เปนเจ้าฟ้า แลตายในปีวอกอัฐศก จุลศักราช ๑๑๓๘ ภายหลังกรมพระเทพามาตย์ปีหนึ่ง เผาเมรุเดียวกับเจ้านราสุริวงษ์แต่เผาก่อน เจ้าเสงเผาต่อปีรกานพศก คนละปีกันกับเจ้านราสุริวงษ์ ความข้อนี้ปรากฎว่าพงษาวดารผิดเปนแน่ เพราะได้ร่างหมายกำหนดวันคืนเปนสำคัญ

ส่วนเจ้าจุ้ยที่ในพงษาวดารว่าเปนกรมขุนอินทรพิทักษ์ ก็ได้พยานในสารตราแลกฎตั้งเจ้านครศรีธรรมราช ว่าเปนสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ จะตั้งชื่อเดียวซ้ำกันเปน ๒ หนฤๅอย่างไร ถ้าจะว่าด้วยในเหตุที่เปนผู้ฆ่าเจ้าเล็กนี้แล้ว ไม่ใช่กรมขุนอินทรพิทักษ์ที่เปนเจ้าฟ้า ถ้าหากว่าถ้าจะเปนกรมขุนอินทรพิทักษ์ที่ไม่ใช่เจ้าฟ้า ว่าโดยกาลเวลาก็สมควรที่จะเปนเจ้าวังนอกได้ แต่ถ้าเปนเจ้าที่มีอำนาจอยู่บ้าง น่าที่พงษาวดารจะไม่ลืม นี่พงษาวดารช่างลืมเสียจริง ๆ จึงให้เห็นไปว่าคำที่เรียกเจ้าวังนอกนี้ เห็นจะเปนเจ้ารามลักษณ์ ซึ่งเปนคนเข้มแขงกว่าเพื่อน ทำศึกสงครามใช้สอยการสำคัญ เห็นจะไม่ผิดตัว


๕๒. ปีมโรงมะตะมะแตก พระยาเจ่งพาครัวหนีมาพึ่งพระบารมี
๕๒ ตอนนี้คลาศกับพงษาวดาร ในพงษาวดารลงไว้ว่า จุลศักราช ๑๑๓๖ ปีมเมียฉศก มังระเจ้าแผ่นดินพม่าทราบว่าเมืองไทยกลับฟื้นตัวขึ้น จึงให้ลงมาเกณฑ์มอญเมืองเมาะตมะ ตั้งค่ายปลูกยุ้งฉางที่ท่าดินแดงสามสบ เกณฑ์มอญขนลำเลียงผ่อนขึ้นมา แต่เจ้าเมืองเมาะตมะเก็บเงินทองแก่พวกครัวรามัญ พลเมืองได้ความเดือดร้อนนักเปนขบถ ยกตีขึ้นไปได้เมืองจิตตอง เมืองหงษา ไปล้อมเมืองย่างกุ้งไว้ เจ้าอังวะจึงให้อแซวุ่นกี้มาตีพวกมอญแตกกลับลงมา พวกมอญจึงได้หนีเข้ามาเมืองเรา แยกกันเปนหลายพวก มอญคราวนี้ คือมอญพวกพระยาเจ่ง

๕๓. พระยาจ่าบ้านแขงเมืองอยู่ไม่ลงมา เสด็จขึ้นไปตีไม่ได้ ถอยล่าทัพยั้งอยู่เมืองเนิน (เถิน)
๕๓ จดหมายระยะนี้อยู่ข้างจะยุ่งมาก ตีเชียงใหม่ครั้งแรก ซึ่งไม่ได้เมืองถอยลงมาอยู่เมืองเถิน อันเสมียนเขียนผิดว่าเมืองเนินนั้น ตั้งแต่ปีขานโทศก จุลศักราช ๑๑๓๒


องกลักนี้เห็นจะเปนเล่าเอี๋ยในจดหมายกรมหลวงนรินทรเทวี
คนที่พระมเหษีกรุงเวียดนาม มีหนังสือฝากเงินเข้ามาให้ สำเนาอยู่ในท้ายพระราชวิจารณ์นี้
เห็นจะเปนองกะวีนี้เอง ที่เปนผู้มีราชสาส์นเข้ามาเมื่อรัชกาลที่ ๑


หัวข้อ: Re: จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 04 กรกฎาคม 2562 19:33:53
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/14850401961141_spd_2012090285139_b_1_320x200_.jpg)

๕๔ รื้อกลับขึ้นไปตีเชียงใหม่ กลับลงมาณปลายปี พม่ายกไล่หลังมา ๕ ทางล้วนเปนทัพหมื่น แต่สู้รบกันอยู่เปน ๓ ปีเสียพิศณุโลกย์ กลับขุดอุโมงค์เข้าไปตีค่ายพม่าแตกออกจากค่าย รื้อตั้งล้อมกลางแปลง จับได้พม่าแม่ทัพใหญ่ได้พม่าหลายหมื่น พม่าแตกเลิกทัพไป
๕๔ ราชการศึกพม่าในปีมเสง, มเมีย, มแม, ๓ ปีนี้ เปนการเหลือที่ท่านจะจดจำจริง ๆ ตั้งแต่เสด็จขึ้นไปตีเชียงใหม่ครั้งแรกไม่ได้ โปสุพลาซึ่งอยู่รักษาเมืองเชียงใหม่ ยกลงมาตีเมืองลับแลแล้วมาตีเมืองพิไชย เจ้าพระยาสุรสีห์แลพระยาพิไชยขึ้นไปรบพม่าแตกไปถึง ๒ ครั้ง จึงได้เสด็จยกขึ้นไปตีเชียงใหม่ครั้งที่ ๒ เพราะถ้าโปสุพลายังคงตั้งอยู่เชียงใหม่ ก็คงลงมากวนพระราชอาณาเขตรอยู่เช่นนั้นเสมอไป เปนเวลาประจวบกันกับที่ข้างฝ่ายพม่าคิดจะมาตีกรุงสยาม ให้มาเกณฑ์มอญเมาะตมะทำทาง แลปลูกยุ้งฉางที่ท่าดินแดงสามสบ มอญเปนขบถพม่าจะลงโทษ แตกหนีเข้ามาในพระราชอาณาเขตร ทัพหลวงยกขึ้นไปตีเชียงใหม่จุลศักราช ๑๑๓๖ ทัพน่าเจ้าพระยาจักรกรีถึงเมืองเถิน ทัพหลวงตั้งกำแพงเพ็ชร์ ก็ได้ข่าวพม่าตามครัวมอญมาทางเมืองตาก ๒,๐๐๐ รับสั่งให้เจ้ารามลักษณ์คุมคน ๑,๘๐๐ ไปตั้งรับไว้ ทัพหลวงยกขึ้นไปตีเชียงใหม่ ได้เมื่อวัน ๑ ๑๔ฯ ๒ ค่ำ พอถึงแรม ๔ ค่ำก็เสด็จกลับ ด้วยได้ข่าวพม่าเข้ามาทางแม่ลเมา ลงมาถึงรแหง ได้ข่าวงุยอคุงหวุ่นกองน่าคน ๕,๐๐๐ ตแคงมรหน่องกองหนุนคน ๓,๐๐๐ ตีทัพซึ่งให้ไปขัดอยู่ท่าดินแดงแตก พม่าเข้ามาลาดถึงเมืองนครไชยศรี มีค่ายใหญ่ตั้งอยู่ปากแพรกค่ายหนึ่ง บ้านบางนางแก้วเมืองราชบุรีค่ายหนึ่ง รีบเสด็จกลับลงมา ยกออกไปรับทางราชบุรี ทั้งในขณะนั้นก็ได้ข่าวพม่าทางมฤทตีบ้านทับสะแก อาการกิริยาของพม่าที่ยกเข้ามาคราวนี้ ลักษณคล้ายกันกับมาตีกรุงเมื่อครั้งเสียกรุง แยกกันตั้งกองใหญ่อยู่ แล้วแต่งกองเล็ก ๆ ออกเที่ยวลาดตีตามตำบลบ้านแลเมืองต่าง ๆ ทัพหลวงออกไปตั้งล้อมพม่าบ้านบางนางแก้วอยู่ช้านาน งุยอคุงหวุ่น จึงได้ออกยอมแพ้ ข้อที่ท่านลงไว้ในจดหมายว่า จับได้พม่าแม่ทัพใหญ่ แลได้พม่าหลายหมื่น ก็คืองุยอคุงหวุ่นแลพม่าบางนางแก้วนี้ แลแต่งกองทัพไปตีค่ายปากแพรกแลเขาชงุ้มแตก ในเดือน ๔ ปีมเมียนั้น ครั้นเดือน ๑๐ มีข่าวโปสุพลาจะมาตีเมืองเชียงใหม่ เพราะเชียงใหม่ในเวลานี้ข้างเราตีได้ไว้ เจ้าพระยาจักรกรี เจ้าพระยาสุรสีห์ จึงต้องยกขึ้นไปเชียงใหม่ พอถึงพม่าก็ถอย ยกตามออกไปจะตีเชียงแสนซึ่งเปนของพม่า ฝ่ายกองทัพปากแพรกเขาชงุ้มแตกไปหากองทัพใหญ่ อแซวุ่นกี้ซึ่งตั้งอยู่เมาะตมะ อแซวุ่นกี้เห็นว่า กำลังเมืองไทยยังมากเพราะเมืองเหนือยังดีอยู่ จึงรับอาสาเข้ามาตีเมืองเหนือ แมงแยยางูน้องอแซวุ่นกี้เปนทัพน่า คน ๒๐,๐๐๐ อแซวุ่นกี้ตแคงมรหน่อง เจ้าเมืองตองอูคน ๑๕,๐๐๐ กองหนึ่ง ยกเข้ามาทางเมืองตาก ตั้งหน้าจะไปตีพิศณุโลกย์ ยั้งทัพอยู่บางธรณี เจ้าพระยาจักรกรี เจ้าพระยาสุรสีห์ทราบ ถอยทัพลงมาจากเชียงใหม่ถึงศุโขทัย เจ้าพระยาสุรสีห์แยกไปตีพม่าที่บางธรณี เจ้าพระยาจักรกรีมาแต่งเมืองพิศณุโลกย์รับเจ้าพระยาสุรสีห์รับไม่อยู่ถอยเข้าพิศณุโลกย์ พม่ามาตั้งล้อมไว้

ทัพหลวงยกขึ้นไปถึงนครสวรรค์ ตั้งค่ายให้พระยาราชาเสรษฐีอยู่รักษา ทัพหลวงขึ้นไปตั้งปากพิง ตั้งค่ายรายขึ้นไปทั้ง ๒ ฟากน้ำ จนกระทั่งถึงวัดจุฬามณี วัดจันทร์ พม่าเข้าตีเราะตามค่ายที่ตั้งริมลำน้ำเหล่านั้นทั้ง ๒ ฟาก วิธีรบกันในตอนนี้ พยายามที่จะตั้งโอบหลังกัน ประเดี๋ยวพม่าโอบหลังไทย ประเดี๋ยวไทยโอบหลังพม่า ลงปลายที่สุดพม่าแยกกองทัพ ให้ลงมานครสวรรค์แลอุไทยธานีตัดลำเลียง แล้วยกข้ามฟากไปตั้งโอบหลังทัพหลวงที่ปากพิงฟากตวันออก เห็นการหนักแน่น จึงได้ถอยทัพหลวงลงมาตั้งบางเข้าตอก เสบียงอาหารก็ส่งกันไม่ได้ เจ้าพระยาจักรกรี เจ้าพระยาสุรสีห์รักษาเมืองอยู่ได้ถึง ๓ เดือน จนไม่มีอะไรจะกิน จึงได้อนุญาตให้ทิ้งเมืองยกหักออกมาได้เลยไปตั้งอยู่เพชร์บูรณ์ พเอินจอแจกัน ถ้าพิศณุโลกย์ไม่เสียช้าอยู่ได้อิกหน่อยหนึ่ง อแซวุ่นกี้ก็คงจะต้องถอยทัพ เหตุด้วยมังระเจ้าแผ่นดินพม่าตาย การในเมืองพม่าเกิดหยุกหยิก พอได้เมืองพิศณุโลกย์แล้วอแซวุ่นกี้ก็ถอยทัพทันที การทัพนี้ติดต่อกันมาไม่มีเวลาว่างถึง ๓ ปี ท่านจึงได้จดลงไว้ดังนั้น

๕๕ สมเด็จพระพันปีกรมพระเทพามาตย์ประชวรหนักอยู่แล้ว เสด็จสู่สวรรคาไลย เสด็จมาตั้งเขาวงกฎ โดยสูงแลสุดสายตา ถวายพระเพลิงบนยอดเขาเสร็จ
๕๕ เมื่อกรมพระเทพามาตย์ทิวงคตนั้นปลายปีมเมียฉอศก จุลศักราช ๑๑๓๖ กำลังล้อมค่ายพม่าบ้านบางนางแก้ว ปรากฎว่าประชวรพระยอดอัคเนสัน ทิวงคตในวัน ๓ ฯ ๔ ค่ำ ได้พบในจดหมายรายวันทัพ ว่าในวัน ๓ฯ ๔ ค่ำนั้นเอง เจ้ากรุงธนบุรีได้ทราบข่าวประชวรเปนครั้งแรก มีข้อความที่จดไว้ว่า “อนึ่งเพลาย่ำค่ำแล้ว ๕ บาท ขุนวิเศษโอสถหมอ ถือพระอาการทรงพระประชวร สมเด็จพระพันปีหลวงมาถวาย ในพระตำหนักค่ายวัดเขาพระ ครั้นทอดพระเนตรพระอาการแล้ว เร่งให้ขุนวิเศษโอสถกลับไป ถ้าเจ้าคุณเปนเปนเหตุการสิ่งใด ให้เอาหมอจำไว้แล้วริบให้สิ้น แล้วตรัสว่าพระโรคหนักนัก จะมิได้ไปทันเห็นพระองค์ ด้วยการแผ่นดินครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก ครั้นจะไปบัดนี้ ไม่เห็นผู้ใดที่จะไว้ใจอยู่ต้านต่อฆ่าศึกได้”

ข้อที่ทราบข่าวทิวงคต จากหลวงมหาแพทย์ที่ออกไปจากกรุงธนบุรีนั้น เปนการภายหลัง หลวงมหาแพทย์เองนี้แกจะมิออกไปเมื่อถูกริบแล้วฤๅ เหตุใดจึงไม่จำไว้ก็ไม่ทราบ บางทีจะอยากทราบพระอาการให้เข้ามาเอาตัวออกไปซัก ครั้นเมื่อพม่าแตกไปหมดแล้ว จึงได้กลับมาทำเมรุที่วัดบางยี่เรือนอก การเมรุครั้งนี้ทำในรดูเดือน ๖ มีร่างหมายรายการพระศพได้ไว้ เมรุนั้นว่าเปนเมรุมณฑปแต่สูงต่ำเท่าใดไม่ปรากฎ ด้านทำพระมณฑปไม่ได้ใช้ตำรวจ เห็นจะใช้ตัวช่าง พระยาราชสุภาวดีด้านหนึ่ง พระเทพพี่เลี้ยงด้านหนึ่ง พระราชสงครามด้านหนึ่ง หลวงศรีกาฬสมุดด้านหนึ่ง ได้ความแต่ว่าสามสร้าง คลังในขวาทำ ๒ ด้าน คลังวิเศษทำ ๒ ด้าน โดยยาวรอบ ๕ เส้น ๑๒ วา ราชวัตรทึบเกณฑ์เจ้ากรมสี่ตำรวจคนละด้าน ๆ ละ๒๒ ผืน จตุสดมภ์ ๔ ด้าน ฉัตรเบญจรงค์ด้านละ ๒ ราชวัตรเลว ๒๒ ร้านน้ำ ๘ เกณฑ์ข้าราชการทำฉัตรเบญจรงค์คนละคันอิกด้านละ ๔ คน

ส่วนราชวัตรฉัตรรายทางเกณฑ์สนมทหารสนมพลเรือนกรมละคัน พระคลังสวน ๒ คลังวิเศษ ๒ เกณฑ์ราชวัตรเลวทั้ง ๔ กรมนี้ด้วย อาษาหกเหล่าทำทิมพระสงฆ์ ๖ ทิม สัสดีซ้ายขวาทำโรงวิเศษ ๖ โรง กรมแพ่งกลางแพ่งเกษมทำโรงศาลาลูกขุนโรงหนึ่ง คลังพิเศษรวมกันทำศาลาฉ้อทานโรงหนึ่ง ขอเฝ้าในกรมทำโรงใส่สังเคต ๒ โรง ตั้งแต่ราชวัตรทึบออกไปถึงที่ตั้งรทาดอกไม้เพลิง ๒ เส้น ๑๕ วา รทาใหญ่สูง ๗ วา ๑๖ รทา แบ่งเกณฑ์จตุสดมภ์กรมละ ๔ รทา โรงโขนใหญ่ ๒ โรง จตุสดมภ์ ๒ คนต่อโรง โรงรำหว่างรทากรมละ ๓ โรง โรงเทพทอง ๒ โรง จตุสดมภ์ ๒ คนต่อโรง ต้นกัลปพฤกษ์กรมละ ๒ ต้น ชักพระศพซึ่งเรียกว่าสมเด็จพระบรมศพ ถึงเมรุวัน ๓ ฯ ๖ ค่ำ ณวัน ๕ ฯ ๖ ค่ำ ฌาปนกิจ รุ่งขึ้นเพลาเช้าเชิญพระบรมธาตุ (พระอัฐิ) เข้าไปในพระราชวัง เวลาบ่ายพระอังคารลงเรือไปลอยวัดสำเพง งานพระเมรุครั้งนี้เปนรดูฝนเกิดความเลอะเทอะมาก ด้วยเหตุว่าพึ่งจะกลับจากทัพก็รีบทำการเมรุอย่างตลีตลาน ใช้กระดาดน้ำตะกูแทนดิบุก ติดแผงแลแต่งยอดเมรุ ครั้นก่อนวันชักศพเวลากลางคืนฝนตกหนัก ดอกน้ำตะกูร่วงหมด ดอกไม้เพลิงจุดไม่ติดทั้ง ๓ วัน กริ้วว่ามาศก็ของหลวง ดินก็ของหลวง ช่างดอกไม้ทั้งไทยทั้งจีนคิดเอาเงินหลวง จึงให้ลูกขุนปฤกษาว่าจะให้ตามราคาฤๅจะลดลงเสีย ปฤกษากันว่าให้ลดราคาลงเสีย รทาคิดรทาละ ๑๐ บาท หักเสีย ๘ บาทให้แต่กึ่งตำลึง เปนต้น พอเสร็จการศพนี้แล้วหน่อยหนึ่ง ก็เปนเวลาทัพอแซวุ่นกี้ ตีเมืองพระพิศณุโลกย์ การที่รีบร้อนทำศพภายใน ๒ เดือนเช่นนี้ เหตุด้วยเกรงว่าการทัพศึกจะติดพันต่อไป ครั้นเสร็จการทัพอแซวุ่นกี้ เสด็จออกไปบำเพ็ญพระธรรมวัดบางยี่เรือใน เขากำหนดว่าณวัน ๖ ๑๒ฯ ๑ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๓๘ ปีวอกอัฐศก รับสั่งให้จัดการเชิญพระอัฐิสมเด็จพระพันปีหลวง กรมพระเทพามาตย์ ออกไปบำเพ็ญพระราชกุศลณวัดบางยี่เรือนอก ให้ทำโรงทึมไว้พระอัฐิ เปนพนักงานสัศดีได้ทำ ลงไว้ในจดหมายว่า ครั้งนี้เปนการเร็วอยู่ เห็นมิทันจึงให้เกณฑ์กรมการ เมืองนครสวรรค์ เมืองพิจิตร เมืองสรรค์บุรี เมืองกำแพงเพ็ชร์ช่วยทำ พลับพลาข้างในเปนพนักงานสนมตำรวจนอก แต่สนมแลตำรวจนอกต้องไปทำร้านม้ารองโกษฐ์ จึงเกณฑ์ให้กรมการเมืองไชยนาท เมืองสิงคบุรี เมืองอินทบุรี เมืองพรหมบุรีช่วยทำ ตพานเปนน่าที่พนักงานนครบาล ๆ ทำไม่ทัน เกณฑ์กรมการเมืองเพ็ชร์บุรี เมืองอ่างทอง เมืองสุพรรณช่วยทำ แผ้วถางวัดนั้นเกณฑ์ให้กรมการเมืองพิศณุโลกย์ เมืองศุโขทัย เมืองราชบุรี เมืองสระเชิงเทรา กรุง (เก่า) ถางทำงาน ๓ วันเท่านั้น รุ่งขึ้นณวัน ๒ ๑๕ฯ ๒ ค่ำ เพลาเช้าเชิญพระอัฐขึ้นเสลี่ยงงาออกประตูพระราชวังตรงวัดท้ายตลาด มีเครื่องสูงแตรสังข์กลองชนะคู่แห่มาลงเรือที่ตพานประตูใหญ่เหนือโรงฝีพาย

กระบวนเรือ เรือโขมดยาปิดทองทึบ ที่สร้างขึ้นตั้งหีบพระธรรมแห่เมื่อเดือนก่อนนั้น ตั้งมณฑปพระอัฐิ เรือโขมดยาลายใส่เครื่องสูงแห่น่า ๒ ลำ เรือโขมดยาใส่เครื่องสูงแห่หลัง ๑ ลำ เรือสีสักหลาดแตรสังข์ เรือดั้ง ๒ ลำบรรทุกปี่กลองชนะ เกณฑ์เรือกราบข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ๕๒ ลำ เรือแผงเรือมังกุกำนันตลาดนอกเกณฑ์ด้วย ๒๐ ลำ รวมเปนเรือเข้าริ้ว ๗๙ ลำ

ครั้นแห่ไปถึงวัดแล้วโปรดให้แจกเงินผู้ชายคนละสลึงผู้หญิงคนละเฟื้อง รวมทั้งคนที่ทำการแลกระบวนแห่ ผู้ชาย ๒๗๖๐ คน ผู้หญิง ๑๕๖ คน เงิน.......[Math Processing Error] ฝ่ายกระลาโหมแจก กรมอาษาหกเหล่า ตำรวจแลกรมการหัวเมือง เลขสมของข้าราชการนำเข้าห่อไปถวายพระ รวมกลาโหมแจก ๕๖๒ คน เงิน.......[Math Processing Error] สัสดีแจกทำทิมทำฉัตร รวม ๒๗๘ คน เงิน.......[Math Processing Error]  มหาดไทยเวรคนแจก บ่าวผู้ว่าราชการเมืองถางหญ้า ๓๓๒ คน เงิน.......[Math Processing Error]  มหาดไทยเวรทางแจก ฝีพายแลผู้หญิงเจ้าของเรือมังกุ ๑๕๙๕ คน เงิน.......[Math Processing Error]

จำนวนพระสงฆ์สดัปกรณ์ สดัปกรณ์ในที่นี้ดูเหมือนจะเปนอย่างเก่า ไม่ใช่ให้เงินเฟื้องเงินสลึง ไม่ใช้ไทยทาน แจกเข้าห่อรูปละ ๒ ห่อเท่านั้น กรุงเก่าที่เรียกว่าสบสังวาศหมื่นหนึ่งนั้น อย่าได้เข้าใจว่าอะไร ได้เข้าห่อองค์ละ ๒ ห่อเท่านั้น จำนวนพระสงฆ์ที่มาในงานนี้ ๓๒๓๐ รูป เข้าห่อคิดราคาห่อละเฟื้อง ๒ ห่อเปนสลึง ๑ เงิน.......[Math Processing Error]  เถนเณร ๒๗๓๘ รูป ชี ๑๕๓ รวม ๒๘๙๑ รูป รูปละเฟื้อง คือว่าให้แต่ห่อเดียวเปนเงิน.......[Math Processing Error] รวมทั้งหมด ๖๑๒๑ เปนเงิน.......[Math Processing Error] ถูกดีไม่ใช่ฤๅ งานพระอัฐิครั้งนี้ ๔ วัน


๕๖ เจ้าเสง เจ้าดาราอยู่เมืองนครสิ้นพระชนม์ รับพระศพเข้ามาประทานเพลิงวัดบางยี่เรือ มีการสมโภชเสร็จแล้ว
๕๖ เรื่องศพเจ้าเสง เจ้านรานี้ยังไรอยู่ ตามที่ว่าในหนังสือฉบับนี้ เหมือนเจ้าเสงอยู่เมืองนครศรีธรรมราชกับเจ้านราตายลงพร้อมกัน จึงให้รับเข้ามาทั้ง ๒ ศพ ความที่ถูกแท้นั้น เจ้าเสงอยู่กรุงเทพ ฯ ศพได้เผาต่อภายหลัง ในร่างหมายรับสั่งลง วัน ๕ ฯ ๒ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๓๘ ปีวอกอัฐศก ปีเดียวกันกับทำบุญพระอัฐิ ทำบุญพระอัฐิเดือนอ้าย การศพเจ้านราสุริวงษ์เดือนยี่ เข้าใจว่าเมรุนั้นเอง แต่ทำเปลี่ยนแปลงเสียใหม่ เอาเสาเมรุเปนดูกภูเขาแล้วยกพื้นเปนเบ็ญจา หลั่นกันขึ้นไป ๕ ชั้นถึงยอดเมรุตั้งแว่นฟ้าชั้นหนึ่งรองโกษฐ ศพนี้ตั้งกลางแจ้งไม่มีเมรุ เบ็ญจา ๓ ชั้นตั้งแต่พื้นดินขึ้นไปผูกเปนภูเขา แล้วตั้งกระถางต้นไม้ ๓ รอบ ปักฉัตร์เงินฉัตร์ทองทั้ง ๓ ชั้น ถัดเขา ๓ ชั้นนี้ขึ้นไปเปนร้านม้า ปักเครื่องสูงที่มุมร้านม้าทั้ง ๔ ทิศ จึงถึงแว่นฟ้าตั้งโกษฐ จึงมีราชวัตรทึบ แลราชวัตรเลวตามอย่างงานเมรุทั้งปวง

ความคิดที่ทำเช่นนี้ เหมือนกันกับรัชกาลที่ ๔ เมรุกรมหมื่นวิศณุนารถ เปนจตุรมุขไม่มียอด รื้อเครื่องบนลงเสียวางรอดที่ปลายเสาเมรุ ตั้งพระเมรุน้อยขึ้นบนนั้น ข้างล่างผูกเปนเขา แต่คราวนี้ไม่ได้ทำเปนเบ็ญจาผูกอย่างเขาไกรลาศ เรียกว่าบรมบรรพต ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายฉลองพระเดชพระคุณ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย แลกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ๓ วัน แล้วจึงตั้งศพเจ้าฟ้าจันทรมณฑล กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์ แต่เวลาเผาลงมาเผาที่มณฑปเชิงเขาด้านตวันตก ข้างวัดมหาธาตุ แต่ศพที่เจ้ากรุงธนบุรีทำนี้ว่าเผาบนเบ็ญจา ๕ ชั้นนั้นด้วย รูปเบ็ญจา ๕ ชั้นนี้ได้เขียนลงไว้ในตำรา นายด้านผู้ที่ทำเมรุก็ใช้นายด้านเดิมซึ่งได้ออกชื่อมาแต่ก่อนแล้ว ไม่มีอไรทำขึ้นใหม่นอกจากตัวเมรุ

แต่ศพที่เผานั้น เกิดการที่จะต้องวินิจฉัยกันมาก ด้วยตามจดหมายฉบับนี้ ตั้งต้นเริ่มหมายว่าจะพระราชทานเพลิงพระศพในกรมขุนอินทรพิทักษ์ แลพระเจ้านราสุริวงษ์เจ้านครศรีธรรมราช ชื่อกรมขุนอินทรพิทักษ์ตามพงษาวดารกล่าวแต่คนเดียว ว่าพระเจ้าลูกเธอเจ้าจุ้ยเปนกรมขุนอินทรพิทักษ์ ตามหนังสือกรมหลวงนรินทรนี้ ออกชื่อกรมขุนอินทรพิทักษ์ ก็เปนคนเดียวกันกับในพงษาวดาร

แต่ในสารตราที่มีไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช จดไว้ในบานแพนกว่าเฝ้าอยู่ในเวลานั้น เรียกสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ กรมขุนอินทรพิทักษ์จะเปนเจ้าฟ้าก็ตาม มิใช่เจ้าฟ้าก็ตาม มีคนหนึ่งซึ่งต้องถูกเฆี่ยนแลถูกริบ เมื่อทูลแก้แทนภูษามาลาทรงเครื่องไม่หมด ไปทัพก็ได้เคยไป จนในครั้งหลังที่สุด ได้คุมทัพหัวเมืองออกไปกับสมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก เจ้ากรุงธนสั่งสมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึกว่า ได้เมืองเขมรแล้ว ให้เศกกรมขุนอินทรพิทักษ์เปนเจ้ากรุงกัมพูชา ครั้นเมื่อเจ้ากรุงธนบุรีสิ้นวาศนาแล้ว ไพร่พลแตกกระจายทิ้งเสีย จึงได้หนีไปอยู่เขาน้อยจับตัวลงมาได้ ประหารชีวิตรภายหลังเจ้ากรุงธนบุรี มีหลักถานมั่นคงอยู่ดังนี้

ส่วนกรมขุนอินทรพิทักษ์ที่พระราชทานเพลิงนี้ คงจะได้ตายเสียแต่ปีมะแมสัปตศก เปนปีที่ ๗ ในราชสมบัติของเจ้ากรุงธน ก่อนเจ้าจุ้ยเปนกรมขุนอินทรพิทักษ์ เจ้าจุ้ยคงจะได้เปนกรมภายหลังเผาศพกรมขุนอินทรพิทักษ์คนนี้ก่อนตั้งเจ้านคร ถ้าจะคิดสงไสยไปว่าจะเปนคนเดียว หากเรียกเจ้าเสงผิดตัวเปนกรมขุนอินทรพิทักษ์ไปก็ไม่ได้ เพราะเผาศพเจ้าเสง ก็มีหมายอยู่อิกฉบับหนึ่งเหมือนกัน น่าที่จะมีใครในญาติวงษ์เจ้ากรุงธนบุรีได้เปนกรมขุนอินทรพิทักษ์ก่อนเจ้าจุ้ย เมื่อท่านผู้นั้นตายแลเผาศพแล้วจึงได้ตั้งเจ้าจุ้ยขึ้นเปนเจ้าฟ้า รับเอาขุนอินทรพิทักษ์เจ้ากรมของกรมขุนอินทรพิทักษ์ไปเปนเจ้ากรม จึงได้เรียกว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ แต่ไม่ได้ร่องรอยว่าท่านอินทรพิทักษ์คนแรกชื่อไร สังเกตได้แต่ว่าเปนผู้ใหญ่ แลสนิทกับเจ้ากรุงธนบุรี ถึงพระอัฐิเก็บไว้ในวัง เมื่อได้นำให้ผู้อ่านหนังสือรู้จักญาติวงษ์เจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งลี้ลับอับชื่ออยู่เช่นนี้แล้ว จะได้เล่าเรื่องเมรุต่อไป

การเมรุครั้งนี้ลดลงตามบรรดาศักดิ์ คือมีฉัตรนาก ๑๐ ฉัตรทอง ๑๐ ฉัตรเบญจรงค์ ๒๐ ราชวัตรทึบ ๕๐ ราชวัตรเลว ๔๘ โรงพิเศษลดลงเหลือแต่ ๒ โรง ระทา ๘ ระทา โขนโรงใหญ่ ๒ โรง โรงรำฤๅโขนหว่างระทา ๗ โรง เทพทองโรงหนึ่ง ต้นกัลปพฤกษ์ ๔ ต้น งิ้วโรงหนึ่ง ลครเขมรโรงหนึ่ง รามัญใหม่รำโรงหนึ่ง ลดลงกึ่งงานศพกรมพระเทพามาตย์ทั้งสิ้น

ณวัน ๒ ฯ ๓ ค่ำปีวอกอัฐศก ชักศพออกจากพระราชวัง มีคู่แห่ไปลงเรือโขมดยา แห่ไปเข้าเมรุ มีเครื่องเล่นแลดอกไม้เพลิง ๗ วัน ๗ คืน

ณวัน ๕ ๑๕ฯ ๓ ค่ำ จึงเชิญพระศพพระเจ้านราสุริวงษ์ ผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราช ลงเรือขนานณะตพานน้ำน่าบ้านเจ้าแสง ออกไปพระราชทานเพลิงณวัดบางยี่เรือ มีงาน ๓ วัน ๓ คืน

ศพกรมขุนอินทรพิทักษ์ สดัปกรณ์พระสงฆ์ ๑๙๙๖ รูป ๆ ละบาท เงิน.......[Math Processing Error]
เถนเณรรูปชี ๑๖๐๙ รูป ๆ ละสลึง เงิน.......[Math Processing Error] งานศพเจ้านราสุริวงษ์ พระสงฆ์ ๒๐๗๐ รูป ๆ ละบาท เงิน.......[Math Processing Error] เถนเณรรูปชี ๑๖๐๙ รูป ๆ ละสลึง เงิน .......[Math Processing Error] เงินพระราชทานพระอุไทยธรรม์ภูษามาลา.......[Math Processing Error] เหมือนกันทั้ง ๒ งาน

กรมขุนอินทรพิทักษ์ พระราชทานเพลิงณวัน ๑ ๑๑ฯ ๓ ค่ำ แห่พระอัฐิกลับ พระอัฐิใส่พระราเชนทร พระอังคารใส่คานหาม พระอัฐิขึ้นท่าวัดท้ายตลาด

พระศพพระเจ้านราสุริวงษ์ พระราชทานเพลิงณวัน ๖ ฯ ๓ ค่ำ ณวัน ๗ ฯ ๓ ค่ำ เชิญพระอัฐิลงเรือดั้งอาษาใหม่ขุนราชเสนี พระอังคารลงเรือขุนศรีเสนา พระอัฐิไปขึ้นตพานหม่อมเจ้าเสง แห่ไปไว้บ้านหม่อมเจ้าเสง พระอังคารไปลอยน่าวัดสำเพง

ส่วนเจ้าเสงเองนั้นมีหมายว่า เดือน ๙ จุลศักราช ๑๑๓๙ ปีรกานพศก มีหมายมหาดไทยว่า เจ้าพระยาจักรีรับรับสั่งใส่เกล้าฯ สั่งว่าจะได้พระราชทานเพลิงศพเจ้าเสง พระยาศุโขทัย พระยาพิไชยไอสวรรย์ ที่วัดบางยี่เรือ ให้เอาตามอย่างพระศพในกรมขุนอินทรพิทักษ์ แลพระเจ้านราสุริวงษ์ ทำเบ็ญจาแลเครื่องเล่นโขนหนังรำ ศพละ ๓ วัน ๓ คืน เปน ๙ วัน ๙ คืน แต่เงินแจกภูษามาลาเผาศพหม่อมเจ้าเสง.......[Math Processing Error] พระยาศุโขทัย พระยาพิไชยไอสวรรย์คนละ.......[Math Processing Error]

ศพหม่อมเจ้าเสงชักณวัน ๒ ฯ ๑๒ ค่ำ มีร่างหมายการศพชัดเจนดังนี้

๕๗ บุตรเจ้านครเก่าเปนสนมเอกมารดาเจ้าทัศพงษ เจ้าได้ขวบเศษ
๕๗ บุตรเจ้านครที่เปนพระสนมเอกคนนี้ชื่อฉิม เวลาเมื่อบิดาตั้งตัวเปนเจ้านคร เรียกว่าทูลหม่อมฟ้าหญิงใหญ่ มีน้องเปนทูลหม่อมฟ้าหญิงเล็กอิกคนหนึ่ง ลูกที่มามีกับเจ้ากรุงธนบุรี ชื่อทัศพงษ์ ซึ่งภายหลังเปนพระพงษ์นรินทร์ เมื่อเวลาตากลับออกไปเปนเจ้านคร อายุได้ขวบเศษจริง ภายหลังมีลูกอิกคนหนึ่งชื่อทัศไพ แล้วเปนพระอินทรอไภย เปนโทษต้องประหารชีวิตรในรัชกาลที่ ๒

๕๘ โปรดรับสั่งให้เจ้าตาไปเปนเจ้าแผ่นดินเมืองนครศรีธรรมราช ให้รับพระโองการ เมียรับพระเสาวนี มีลครผู้หญิงเปนเครื่องประดับ
๕๘ เจ้านครคนนี้คือหลวงนายสิทธิ์ครั้งกรุงเก่า เมื่อเจ้ากรุงธนบุรีไปตีได้เมืองนครแล้วเอาเข้ามาไว้ในกรุงธน เมื่อเจ้านราสุริวงษ์ถึงแก่พิราไลยแล้ว จึงให้กลับออกไปเปนเจ้านคร มีสำเนาข้อความวิธีตั้งแต่งอย่างไร ปรากฎอยู่ในหนังสือเทศาภิบาล แผ่นที่ ๒๗ วันที่ ๑ มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

ตามข้อความที่ปรากฎนั้นว่า เจ้ากรุงธนบุรีคิดอ่านสืบเสาะหาแผนเก่า ใช้เต็มตามแบบแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ เจ้าฟ้าพร ซึ่งหนาแน่นไปด้วยแบบอย่างกระจุกกระจิกอันไม่เปนสาระอะไร ธรรมเนียมแบบเคร่งครัดเช่นนี้เกิดหนักมือขึ้นตั้งแต่ปีชวดฉศกจุลศักราช ๑๑๐๖ ทูตพม่ามาเจริญทางพระราชไมตรี ไม่ไหว้เสนาบดี รับสั่งให้ต่อว่าทูตแก้ตัวไถลไปว่า ธรรมเนียมเมืองพม่าต้องถวายบังคมพระมหากระษัตริย์เสียก่อน จึงจะไหว้เสนาบดีได้ พอทรงทราบเข้าก็เลยสนุก ว่าธรรมเนียมกรุงเทพ ฯ แต่ก่อนก็เช่นนั้นเหมือนกัน ถ้ามีพระราชโองการตรัสสั่งมหาดเล็ก ให้ออกไปสั่งอรรคมหาเสนาณศาลาณลูกขุนฤๅที่ใด ๆ ก็ดี มหาดเล็กต้องขี่ฅอตำรวจสนม ไปถึงแล้วลงจากฅอยืนสั่งเสนาบดี ข้าราชการที่รับคำสั่ง ต้องประนมมือฟังจนสิ้นข้อแล้วบ่ายหน้าเข้ามาต่อพระราชวังถวายบังคม แล้วมหาดเล็กจึงนั่งลงไหว้เคารพกันได้ เมื่อรับสั่งเล่าออกมาเช่นนี้ แล้วก็เลยสั่งต่อไปว่า “แต่นี้ไปให้ทำตามอย่างธรรมเนียมแต่ก่อนนั้น” ข้อที่จะได้เล่นลครกันเช่นนี้ตลอดไปจริงฤๅไม่ เปนที่น่าสงไสย แต่ที่รู้เปนแน่นั้นตั้งแต่นั้นมา ก็ได้รื้อขุดคุ้ยตำรารับทูตขรแต่ครั้งแผ่นดินพระนารายน์ แลวิธีส่งพระราชสาส์น ธรรมเนียมเฟื้องสลึงกระจุกกระจิกต่าง ๆ รุ่งเรืองขึ้นมาโดยลำดับ ปรากฎเช่นเรื่องทูตไปลังกา ที่มีจดหมายเหตุอยู่ในหอสมุดนั้นเปนต้น

ในครั้งแผ่นดินกรุงธนนี้ ก็ค้นคว้าหาแบบนั้นมาใช้ตกลงเปนสำเร็จรูปการที่ทำนั้นเช่นนี้

หมายลงวันอังคารเดือน ๑๑ ขึ้น ๖ ค่ำปีวอกอัฐศก หมื่นพิพัฒโกษารับรับสั่งเหตุด้วยเวลานั้นเมืองนครขึ้นกรมท่า จัดให้ขุนสกลมณเฑียรกรมวัง ขุนวิเศษนุชิตกรมคลัง นายเทียรฆราษอาลักษณ์ นายจิตรบำเรอแวงตำรวจนอกซ้าย นายบัลลังก์กุญชรแวงตำรวจในขวา แวงจตุลังคบาท จำทูลพระราช โองการ ๑ ตราพระครุธพาห์ ๑ พระสุพรรณบัตร ๑ ออกไปมอบเมืองให้เจ้านคร เปนเจ้าขันธสิมา

พระราชโองการนั้นดูกิริยาอาการ ที่ใช้ว่าจาฤกจริงอยู่ แต่ไม่เห็นบอกจำนวนทองเหมือนสุพรรณบัตร ทีจะไม่ได้เขียนในแผ่นทอง ส่วนสุพรรณบัตรนั้นเปนแผ่นทองหนัก ๖ สลึง มีกลักบรรจุทองชั้นหนึ่ง เงินชั้นหนึ่ง ไม้ชั้นหนึ่ง ทั้ง ๒ อย่าง ตราพระครุธพาห์นั้นประทับในหุ่นครั่ง แล้วบรรจุผอบมีกล่องเงินอิกชั้นหนึ่ง เจียดเขียนลายทองอิกชั้นหนึ่ง แล้วจึงตั้งบนพานแว่นฟ้าผูกกระโจมต่างคลุมสักหลาดแดง แต่การที่จะจาฤกแลจะประทับตรานั้นต้องหาฤกษ์พานาทีตั้งหัวหมูบายศรีใหญ่โตมาก

ข้อความในพระราชโองการนั้น ก็ว่าพระบาทสมเด็จพระเอกาทศรฐอิศวร บรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ตรัสเอาพระยานครเปนเจ้าขันธสิมา ให้ผู้นั้น ๆ เชิญเสด็จพระราชโองการตราครุธพาห์ออกมามอบเมือง ใจความก็เท่านั้นเอง

สุพรรณบัตรว่าทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระยานครคืนเมืองเปนเจ้าขันธสิมา นามขัติยราชนิคม สมมุติมไหสวรรย์ พระเจ้านครศรีธรรมราช เศกไปณวันอาทิตย์เดือน ๑๑ ขึ้น ๓ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๓๘ ปีวอกอัฐศก

ยังมีตั้งพิธีเปนแบบให้สนองพระราชโองการ ส่งไปให้เจ้านครเขียนกลับเข้ามาว่าข้าพระพุทธเจ้าพระเจ้านครศรีธรรมราช ชอกราบถวายบังคมทูลว่า ที่โปรดให้ผู้นั้น ๆ เชิญพระราชโองการตราพระครุธพาห์ พระสุพรรณบัตรเสด็จไปพระราชทานมอบเมืองให้ข้าพระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าเชิญเสด็จพระราชโองการแลตราพระครุธพาห์เสด็จกลับโดยผู้นั้น ๆ เท่านั้นเอง แต่เปน ๒ ตอนอยู่ ตอนล่างทำนองเปนศุภอักษรขึ้นบรมสุจริตปฏิการาธิคุณ อดุลยดิเรก เอกสัตยาในขัติยราชนิคม สมมติมไหสวรรย์ พระเจ้านครศรีธรรมราช ถวายอภิวาทบังคมแด่พระบาทสมเด็จ ฯลฯ เนื้อความก็เปนอย่างเดียวกัน

มีกฎอย่างตั้งผู้ว่าราชการเมืองอิกฉบับหนึ่ง ในกฎฉบับนี้ว่าปนกันทั้งสารตรานำแลกฎ ไม่ได้ใช้แยกกันเปนคนละฉบับเหมือนเช่นชั้นหลัง ๆ มา ผู้ซึ่งมีชื่อในกฎ คือ พระยาราชสุภาวดี พระศรีไกรลาศ พระไชยนาท นี่เปนขุนนางกรุงซึ่งให้อยู่ด้วยเจ้านราสุริวงษ์ ยังรักษาเมืองอยู่เรียกว่าเสนาบดีข้าหลวง ส่วนเสนาบดีเมืองนครนั้นดูเหมือนจะได้เอาเข้ามาไว้เสียในกรุงด้วยเจ้านคร พึ่งจะให้กลับออกไปครั้งนี้ มีรายชื่อคือพระยากระลาโหม พระยาโกษา พระยาอุไทยธรรม พระส้วย

ยกความชอบเจ้านครว่า ครั้งพระนครศรีอยุทธยาเสียแก่พม่าข้าศึก กรมการพลเมืองหาที่พึ่งมิได้ ยกปลัดเมืองขึ้นเปนเจ้าผ่านขันธสีมาได้พึ่งพาอาไศรยสับประยุทธชิงไชยชนะแก่ข้าศึก ทั้งยกความชอบว่าธิดาได้ราชโอรสแลได้ตามเสด็จการสงคราม จะเอาไว้ในกรุงเทพ ฯ ก็มีแต่บ่าวไพร่เล็กน้อยไม่ต้องการอันใด เจ้านราสุริวงษ์สวรรคาไลย จึงควรให้ไปบำรุงพระเกียรติยศแทนสืบไป

กำหนดเกียรติยศนั้นว่า “ฝ่ายพระยานครเคยผ่านแผ่นดินเปนเจ้าขันธสีมาอยู่แล้ว ก็ให้ผ่านแผ่นดินเปนเจ้าขันธสีมา ฝ่ายผู้ซึ่งผ่านแผ่นดินเปนเจ้าขันธสีมาสืบมาแต่ก่อนนั้น เหมือนกับพระยาประเทศราชประเวณีดุจเดียวกัน” มีข้อความมัว ๆ เช่นนี้ ต่อไปก็ว่าด้วยของพระราชทาน ชื่อสิ่งของพระราชทานเรียกอย่างเจ้าหมด มาลามีขนนกการเวก ของพระราชทานนั้นมีจำนวนมาก มีคำสั่งว่า “เครื่องราชาโภคสิ่งใดมิครบนั้น ให้พระเจ้านครศรีธรรมราชเสนาบดีทำนุบำรุงจัดแจงขึ้นจงบริบูรณ์” ต่อนั้นไปว่าด้วยของพระราชทานลูกหลวงได้เสื้อผ้าแลถาดหมากคนโทกาไหล่ทองอย่างเจ้าราชนิกุล เสนาบดีแลมหาดเล็กอิก ๓ คน ได้เสื้อผ้าถาดหมากคนโทเงิน มหาดเล็กอิก ๖ คนได้แต่เงิน ต่อนั้นไปก็ตักเตือนให้บำรุงบ้านเมืองใช้ถ้อยคำเหลิงเจิ้งว่า “อิกประการหนึ่งควรให้เจ้าขันธสีมาบำรุงฝ่ายน่าฝ่ายในให้สรรพไปด้วยสุรางคนางปรางค์ปราสาท ราชเรือนหลวงน้อยใหญ่ในนอกพระนครขอบขันธสีมา”

แต่เมืองธนเองยังไม่มีปราสาท เมืองนครมุงแฝกก็เห็นจะไม่สำเร็จ นอกนั้นก็สั่งตามเคยของกฎตั้งหัวเมือง แปลกแต่เรื่องให้คิดอ่านไปยืมเงินเมืองแขกซื้อปืน

แลได้ความว่าในการที่เจ้านครกลับออกไปครั้งนี้ ให้เจ้าพระยาอินทวงษา อรรคมหาเสนาธิบดี คุมเรือรบเรือไล่พล ๕๐๐ ออกไปส่ง แล้วให้เจ้าพระยาอินทวงษาอยู่เร่งส่วย

มีจดหมายว่าได้นำร่างขึ้นถวาย มีผู้เฝ้าอยู่เวลานั้น คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ พระเจ้าหลานเธอกรมขุนอนุรักษ์สงคราม หม่อมเจ้าประทุมไพจิตร หม่อมเจ้ามงคล เจ้าพระยาอนุวงษราชา เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช เจ้าพระยามหาสมบัติ เจ้าพระยาอินทรงษา เจ้าพระยาราชนายก ต่อนั้นไปมีอิกถึง ๑๙ คน แต่ปลาดที่พระยาจักรี พระยามหาเสนา พระยายมราชลงมาอยู่ในพวกหลังนี้

ต่อนั้นไปมีเรื่องค่าธรรมเนียมหยุม ๆ หยิม ๆ ต่าง ๆ กำหนดว่าเบ็จเสร็จเปนเงิน ๔๑ ชั่ง ๓ บาท แล้วคิดยกค่าตั้งค่าตราออกเสีย ๓๐ ชั่ง เห็นจะเปนตามพระกระแส ยังคงจะต้องเสีย ๑๐ ชั่ง ๑๑ ตำลึง ๓ บาท ถ้าเปนเจ้าพระยาจะได้ลดลงกึ่งหนึ่งนำขึ้นกราบทูล ว่าเจ้าพนักงานเห็นพร้อมกัน ว่าเจ้านครขัดสน จึงจะลดค่าธรรมเนียมแต่กึ่งหนึ่ง เปนเงิน ๕ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ๑ บาท ๒ สลึง รับสั่งว่าอย่างธรรมเนียมจะฟั่นเฟือนไปให้เรียกเต็ม แต่ที่ให้เรียกเต็มนี้เฉพาะที่เจ้าพนักงานจะได้ ส่วนค่าตั้งค่าตราที่จะเปนของหลวงยกพระราชทานให้ ซ้ำพระราชทานเงินเจ้านคร ๓๐ ชั่ง ลูกหลวง ๖ ชั่ง เสนาบดี ๓ ชั่ง มหาดเล็กคนละชั่ง

ภายหลังเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ให้เจ้านครลดยศเสนาบดีลงเสีย เจ้านครก็เกิดกระด้างกระเดื่อง เกณฑ์คนเข้ามาร่อนทองก็ไม่ครบตามเกณฑ์ สักเลขก็ได้จำนวนน้อยไปกว่าแต่ก่อน มีตราให้หาถึง ๒ ครั้งก็บิดพลิ้วไม่เข้ามา จึงให้ยกเจ้านครออกเสียจากเจ้านคร เอาเข้ามาณกรุง ให้เจ้าพัดฝ่ายน่าเปนเจ้าพระยานคร ตำแหน่งเจ้านครก็เปนหมดกันอยู่เพียงนั้น

ข้อซึ่งกล่าวว่าให้รับพระโองการ เมียให้รับพระเสาวนีความน่าจะจริง ไม่เคยได้ยินใครเล่า แต่สังเกตดูสำเนาสารตรา ตั้งเจ้าพัดเปนเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ซึ่งได้ลงในหนังสือเทศาภิบาลแผ่นที่ ๒๘ วันที่ ๑ กรกฎาคม ว่าความยั้งชงักชอบกลอยู่ คือกล่าวว่า

“พระยาตากสินได้ว่าราชการแผ่นดินครั้งนั้น กอบไปด้วยโมหะโลภะ มิได้ประพฤติการให้ชอบโดยขนบบุราณ ตั้งให้เปนถึงเจ้านคร มีอรรคมหาเสนา จตุสดมภ์ มหาดเล็ก ตั้งชื่อข้าเฝ้าเทียมพระเจ้าอยู่หัว”

มาเพียงระยะนี้ได้ความชัดเจนว่า เจ้านครมีอำนาจตั้งเสนาบดีครบตำแหน่งเหมือนอย่างกรุงเทพ ฯ ก็ใกล้เข้าไปมากกับที่จะสมจริงว่า ยอมให้ใช้พระราชโองการด้วยชั้นหนึ่งแล้ว ยังมีความต่อไปอิกว่า

“จะสั่งกิจราชการบัตรหมายประการใดกว่ารับสั่ง ดุจดังอนุวงษ์ราชวงษ์ ถึงอนุวงษ์ราชวงษ์ก็ดี มีแต่รับสั่ง ตั้งแต่เจ้ากรมปลัดกรม หลวงขุนหมื่น นายเวร ปลัดเวร หามีเสนาบดีเหมือนดังนี้ไม่”

เมื่อได้ความเช่นนี้ข้าพเจ้าจึงปลงใจว่า ความซึ่งกรมหลวงนรินทรเทวีทรงจดหมายไว้นี้ ไม่ผิดจากความจริง แต่สารตราจะกล่าวให้ชัดก็เกรงฤๅกระดาก ด้วยไม่ได้มีในตราตั้งเดิม เปนแต่รับสั่งอนุญาต จึงยั้งไว้เสีย จะว่าเปนพระราชโองการเถื่อนแท้ทีเดียวไม่ได้



ปูมปีมเสงเบญจศก จุลศักราช ๑๑๓๕ จดไว้ว่าเดือนอ้ายข้างขึ้น พม่ายกมาตีพิไชย วัน ๓ ฯ ๒ ค่ำ พม่าหนี
  ปูมปีมเมียฉอศก จุลศักราช ๑๑๓๖ ว่าวัน ๓ ๑๑ฯ ๑๒ ค่ำ ยกทัพหลวงไปตีเมืองเชียงใหม่ ครั้นวัน ๗ ๑๓ฯ ๒ ค่ำ เพลา ๑๐ ทุ่มได้เมืองเชียงใหม่ โปสุพลาหนี
ปูมปีมแมสัปตศก จุลศักราช ๑๑๓๗ จดไว้ว่าวัน ๑ ฯ ๕ ค่ำ เพลา ๒ ทุ่ม พม่ายกหนีจากเขานางแก้วไปปากแพรก วัน ๑ ฯ๕ ค่ำ พม่าแตกจากปากแพรก
ปูมปีวอกอัฐศก จุลศักราช ๑๑๓๘ จดไว้ว่า วัน ๕ ๑๕ฯ ๖ ค่ำ เพลา ๒ ยามเสศ เสียเมืองพิศณุโลกย์ เข้าเกวียนละ ๒ ชั่ง  


หัวข้อ: Re: จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 26 สิงหาคม 2562 14:59:51
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/14850401961141_spd_2012090285139_b_1_320x200_.jpg)

๖๐ โปรดให้ลูกเขยไปเปนเจ้าช่วยราชการเมืองนคร ได้กลับคืนไปเมืองปีมแมสัพศก
๖๐ ลูกเขยผู้นี้คือเจ้าพระยานครพัด ที่เรียกกันว่าเจ้าพัด เปนต้นวงษ์ของพวกนครศรีธรรมราช เดิมได้บุตรสาวคนใหญ่ของเจ้านครเปนภรรยา จึงไปเปนมหาอุปราชเรียกกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อเจ้านครเสียเมืองก็ต้องเข้ามาอยู่กรุงเทพ ฯ ด้วย ครั้นเมื่อเจ้านครกลับออกไปเปนเจ้าครั้งนี้ ก็โปรดให้กลับออกไปเปนวังน่าตามเดิม อยู่มาเมื่อปลายแผ่นดินตากชายาเจ้าอุปราชเมืองนครตาย ด้วยความโปรดปรานอย่างตึงตังอย่างไร ฤาเพราะความคิดของเจ้ากรุงธนบุรี ที่จะคิดปลูกฝังลูกให้ได้ครองเมืองอื่น ๆ กว้างขวางออกไป แนวเดียวกันกับให้กรมขุนอินทรพิทักษ์ออกไปครองเมืองเขมรนั้น จึงได้พระราชทานบุตรหญิงเจ้านคร ซึ่งเปนน้องเจ้าจอมมารดาฉิม มารดาพระพงษ์นรินทร์ให้ออกไปเปนชายา บุตรีเจ้าพระยานครคนเล็กนี้ที่เจ้าพระยาพิไชยราชามาขอ กริ้วว่าบังอาจจะมาเปนเขยน้อยเขยใหญ่ ให้ประหารชีวิตรเจ้าพระยาพิไชยราชาเสียนั้น กล่าวกันว่าเมื่อเวลาพระราชทานมีครรภ์ ๒ เดือน เจ้าพัดจะไม่รับก็ไม่ได้ เมื่อรับไปแล้วก็ต้องไปตั้งไว้เปนนางเมืองไม่ได้เปนภรรยา บุตรที่มีครรภ์ไปนั้นเปนชายชื่อน้อย ภายหลังได้เปนเจ้าพระยานครศรีธรรมราช เจ้าพระยานครผู้นี้มีอำนาจวาศนามากกว่าเจ้าพระยานครทุกคน เปนเรื่องที่เขาเล่ากระซิบกันเปนการเปิดเผย แลพวกบุตรหลานเจ้ากรุงธนบุรีก็นับถือว่าเปนพี่น้อง เหตุฉนั้นจึงนับเกี่ยวข้องกันในเชื้อวงษ์เจ้ากรุงธนบุรีกับพวกนครศรีธรรมราช พระยาเสน่หามนตรีบุตรเจ้าพระยานครน้อย ได้คุณปลัดเสงี่ยมบุตรพระพงษ์นรินทร์เปนภรรยา ส่วนบุตรหลานเจ้ากรุงธนบุรีอื่น ๆ ไม่ได้มีสามีเปนขุนนางเลย ได้แต่กับเจ้านายในพระราชวงษ์ประจุบันนี้ทั้งสิ้น นี่เหตุที่นับว่าเปนญาติกันจึงยกให้กัน บุตรีเจ้าพระยานครพัด ที่เกิดด้วยชายาเก่าทำราชการในรัชกาลที่ ๑ สองคน คุณนุ้ยใหญ่อยู่วังหลวงเปนเจ้าจอมมารดา กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ คุณนุ้ยเล็กอยู่วังน่าเปนเจ้าจอมมารดาพระองค์เจ้าปทัมราช คุณนุ้ยเล็กนี้ออกไปอยู่เมืองนครศรีธรรมราช พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนับถือ รับสั่งเรียกหม่อมป้านุ้ย อยู่มาจนรัชกาลประจุบันนี้ บุตรภรรยาน้อยของเจ้าพระยานครพัดที่ข้าพเจ้ารู้จัก คือท่านผู้หญิงหนูภรรยาเจ้าพระยาทิพากรวงษ์

๖๑ ปีวอกเข้าวสันตรดูฝน นางพระยาล้ม
๖๑ นางพระยานี้ได้ฟังจากคำรับสั่งว่าได้ฝึกหัดให้ขึ้นเล่นยืนบนก้นครก แลเล่นอะไรได้ต่าง ๆ ทอดพระเนตรอยู่เนือง ๆ อยู่มากาลวันหนึ่งมีแขกเมืองมาเฝ้า รับสั่งให้นำนางพระยามาเล่นให้แขกเมืองดู นางพระยาดื้อเสียไม่เล่น รับสั่งให้เอาสากเหล็กกระทุ้งเลยตายด้วยความชอกช้ำ

๖๒ เดือนอ้าย ลุศักราช ๑๑๓๙ ปีรกานพศกเจ้าฟ้ากระษัตริย์ศึก
๖๒ เรื่องเจ้ากรุงธนบุรีตั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ เปนสมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก กรมพระราชวังบวร พระองค์ที่ ๑ เปนเจ้าพระยาสุรสีห์นั้น ตามความเข้าใจกัน ดูเหมือนหนึ่งจะว่าพเอินเปนลางที่จะได้เปนกระษัตริย์สืบไปภายน่า แต่ความจริงเจ้ากรุงธนบุรีใช่จะไม่มีสติยับยั้งถึงเช่นนั้น เปนวิไสยของเจ้ากรุงธนบุรีเปนคนกล้า แลชอบการที่ปรากฎว่าสัตรูครั่นคร้าม เรื่องตั้งชื่อนี้เกิดขึ้นด้วยเหตุเมื่อจุลศักราช ๑๑๓๗ ปีมแมสัปตศก อแซวุ่นกี้ยกเข้ามาตีเมืองพิศณุโลกย์ เมื่อแรกถึงกำลังยกเข้าติดเมืองสวรรคโลกย์ จับได้กรมการ ๒ คน ให้ถามว่า “พระยาเสือ” เจ้าเมืองพิศณุโลกย์อยู่ฤๅไม่ พระยาเสือนี้ได้แก่เจ้าพระยาสุรสีห์ สมกับชื่อปรากฎพระนามกรมพระราชวังนั้นว่าพระยาเสือทั่วไปในฝ่ายข้างเหนือ ส่วนพระพุทธยอดฟ้านั้น เมื่อมาตั้งล้อมเมืองพิศณุโลกย์อยู่ อแซวุ่นกี้ขึ้นม้ากั้นร่มระย้ามีพลทหารถือปืนแห่น่า ๓๐๐๐ ถือทวนตามหลัง ๑๐๐๐ เจ้าพระยาสุรสีห์ยกออกโจมตี ได้รบกันถึงตลุมบอน ไทยต้านทานไม่อยู่กลับเข้าเมือง แต่ออกโจมตีแตกกลับเข้ามาเช่นนี้ ๒ ครั้ง เจ้าพระยาจักรีจึงได้ว่ากับเจ้าพระยาสุรสีห์ ว่าทัพเจ้าเปนหัวเมืองสู้ไม่ได้ ข้าจะออกตีเอง เจ้าพระยาจักรียกออกโจมตีชนะบ้างแพ้บ้างถึง ๙ วัน ๑๐ วัน อแซวุ่นกี้จึงให้มาบอก ว่าพรุ่งนี้เราอย่ารบกันเลย ให้ “เจ้าพระยากระษัตริย์ศึก” แม่ทัพออกมาเราจะขอดูตัว เจ้าพระยาจักรีขึ้นม้ากั้นสัปทนออกไปให้อแซวุ่นกี้ดูตัว อแซวุ่นกี้จึงให้ล่ามถามว่าอายุเท่าใด ตอบว่าอายุ ๓๐ เศษ แล้วถามอแซวุ่นกี้ ๆ ตอบว่าอายุ ๗๒ อแซวุ่นกี้ชม ว่ารูปร่างก็งามฝีมือก็เข้มแขง สู้รบกับเราผู้เถ้าได้ จงอุส่าห์รักษาตัวไว้ ภายน่าจะได้เปนกระษัตริย์ แล้วให้เอาเครื่องม้าทองสำรับ ๑ สักหลาดพับ ๑ ดินสอแก้ว ๒ ก้อน น้ำมันดิน ๒ หม้อ มาให้เจ้าพระยาจักรี

การที่อแซวุ่นกี้ทำเช่นนี้ จะเปนการที่ยกย่องสัตรูว่าเข้มแขง เพื่อจะยกฝีมือแลกำลังตัว ว่าถ้าผู้อื่นคงสู้ไม่ได้ ตามธรรมดาข้าศึกต้องสรรเสริญฤทธิ์เดชสัตรู ฤๅจะเปนกลอุบายยุให้กำเริบแตกร้าวกันก็ตาม เจ้ากรุงธนบุรีมิได้ถือว่าเปนเช่นนั้น ถือว่าคำที่สัตรูสรรเสริญนั้น เปนเกียรติยศใหญ่แก่แม่ทัพกรุง ถ้ายิ่งให้คำสรรเสริญนี้เลื่องฦๅมากไปในประเทศทั้งปวง ประเทศซึ่งเคยกลัวอำนาจพม่า ได้ยินว่าอแซวุ่นกี้ซึ่งเปนแม่ทัพใหญ่ แลเปนเชื้อพระวงษ์ ยกย่องสรรเสริญแม่ทัพแผ่นดินสยามเช่นนี้ จะเปนที่ยำเกรงทั่วไปหมด ฝ่ายเจ้าพระยาสุรสีห์มีนามควรจะแปลได้ว่าพระยาเสือ ฤๅจะตั้งตามคำสรรเสริญแต่ก่อนมาแล้ว แต่เจ้าพระยาจักรีชื่อยังไม่ต้องตามที่สัตรูยกย่อง จึงได้ยกขึ้นเปนสมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก พิฦกมหิมา ทุกนครารอาเดช นเรศร์ราชสุริยวงษ์ องค์อรรคบรินายก ณกรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุทธยา ตรงกันกับคำสรรเสริญนั้น

ข้อที่หนังสือกรมหลวงนรินทรเทวีเรียกเจ้าฟ้า เปนคำยกย่องภายหลัง อย่างเดียวกันกับเรียกพระเจ้ามหากระษัตริย์ศึก

๖๓ เสด็จยกพยุหทัพไปตีเมืองปาศักดิ์ เมืองโขง เมืองอัตปือ กลับมาเดือน ๑๐ ปีจอสัมฤทธิศก ณเดือนอ้ายปีจอกลับไปตีเมืองศรีสัตนาคนหุต ยังตั้งมั่นล้อมอยู่แรมปี ยังไม่เข้าเมืองได้
๖๓ กองทัพไปตีเมืองเขมรป่าดง เอามารวมกล่าวกับตีเมืองเวียงจันท์ติดต่อกันตามที่จดหมายฉบับนี้ไม่ตั้งใจ จะกล่าวเรื่องทัพศึกให้แน่นอน ที่จริงตีปาศักดิ์แลเขมรป่าดงปีวอกอัฐศก ปีรกานพศกกลับมาได้รับตำแหน่งเปนสมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก ปีจอสัมฤทธิศกจึงไปตีเวียงจันท์

เรื่องเมืองเวียงจันท์ในคำวิจารณ์นี้ยังไม่ได้กล่าวที่ไหนเลย เพราะไม่อยากจะเก็บข้อความซึ่งปรากฎในพงษาวดารแล้วมาพูดร่ำเรื่องลงไปอิก แต่บัดนี้พบสำเนาพระราชสาส์น แลศุภอักษรที่มีไปมาในแผ่นดินกรุงธนบุรี ซึ่งไม่มีข้อความปรากฎในพงษาวดาร เห็นว่าควรจะนำมาเล่าเติมลงในที่นี้ได้ จะไม่สู้ฟั่นเฝืออันใดนัก แต่สำเนาพระราชสาส์นแลศุภอักษร ยืดยาวมากไม่มีแก่นสาร เปนตั้งพิธีอวดกันไปอวดกันมา ยิ่งสมณสาส์นแล้วเกือบจะหาแก่นมิได้ในนั้น แต่ยังนึกเสียดายว่าเปนหนังสือเก่า ทิ้งไว้ก็จะสูญเสีย จึงได้คัดมาลงติดท้ายหนังสือนี้ไว้

บัดนี้จะได้เล่าเรื่องนำทางพอให้ถึงเวลามีพระราชสาส์นไปมานี้ แลเก็บความในพระราชสาส์นโดยย่อลงในที่นี้ด้วย ถ้าขี้เกียจจะได้ไม่ต้องอ่านสำเนาพระราชสาส์นซึ่งติดอยู่ในท้ายสมุดเล่มนี้

ผู้อ่านควรสังเกตว่า คำที่อ้างถึงพระราชไมตรีฤๅประเพณีโบราณ ที่อ้างถึงในพระราชสาส์น แลศุภอักษรมีไปมากันนี้ ไม่ได้มุ่งหมายจะอ้างข้อความลึกซึ้งขึ้นไปยิ่งกว่าเมื่อจุลศักราช ๑๐๕๗ ปีกุนสัปตศก ในแผ่นดินพระเพทธราชาประมาณ ๗๕ ปีล่วงมาถึงเวลานั้น

มีเรื่องราวในพงษาวดารล้านช้างว่าเจ้าล้านช้างเวียงจันท์คน ๑ ชื่อสุริยวงษาธรรมิกราชาขึ้นเปนเจ้ากรุงล้านช้างเวียงจันท์ ขับไล่พี่น้องไปอยู่ต่างเมืองหมด มีลูก ๓ คน คือเจ้าราชบุตร ๑ กุมารีลงท่า ๑ สุมัง ๑ ในขณนั้นมีเจ้าชาวเมืองแสนหวี ๒ คน ชายชื่ออินทกุมาร ผู้หญิงชื่อจันทกุมารี ลงมาอาไศรยอยู่ที่เมืองเวียงจันท์ นางจันทกุมารีได้กับราชบุตร มีลูกชื่อกิงกิสกุมารแล จันทรโฉม ส่วนอินทกุมารพี่ชายได้ลาวเปนเมีย มีลูกชื่อเจ้านก ราชบุตรเปนชู้กับเมียขุนนางพ่อให้ฆ่าเสีย ครั้นเมื่อเจ้าล้านช้างตายเหลือแต่หลานยังเด็ก พระยาเมืองจันท์อรรคมหาเสนาเมืองล้านช้างจึงรับนางสุมังลูกเจ้าล้านช้างเปนเมียแลขึ้นเปนเจ้า

ฝ่ายเมืองน่านแลเชื้อวงษ์ซึ่งแตกฉานไปอยู่เมืองอื่น ๆ ยกมารบชิงเมืองกันกับพระยาเมืองจันท์จนถึงภายหลังที่สุดนั้นลูกของคนที่หนีไปเมืองญวน ชื่อพระไชยองค์แว มาชิงได้เมืองล้านช้าง กิงกิสะอินทโฉม แลเจ้านก กลัวพระไชยองค์แวจะพยาบาทปู่ว่าขับไล่บิดาไปต่างเมืองจึงหนีขึ้นไปเมืองพง คุมกำลังลงมาตีเมืองหลวงพระบาง ซึ่งน้องต่างบิดาร่วมมารดาของพระไชยองค์แวรักษาอยู่ ผู้รั้งเมืองหลวงพระบางเห็นจะรักษาเมืองไม่ได้ จึงเชิญพระแก้วพระบางลงไปเมืองเวียงจันท์ กิงกิสะกุมารได้นั่งเมืองหลวงพระบาง กลับใช้ชื่อกรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาวอย่างเดิม แยกกันเปนล้านช้างเมืองชวาฤๅเซาหลวงพระบาง เปนล้านช้างเก่าฝ่ายหนึ่ง ล้านช้างจันทร์บุรี คือเมืองเวียงจันท์ ใช้ชื่ออย่างเดียวกันฝ่ายหนึ่ง แล้วเจ้ากิงกิสจึงยกลงไปตีเมืองเวียงจันท์ ด้วยมีสาเหตุแก่กันเช่นกล่าวมานี้ เมืองเวียงจันท์หวังจะหากำลังฤๅเห็นจะต่อสู้ไม่ได้ จึงได้แต่งทูตเชิญพระราชสาส์นมากรุงศรีอยุทธยาว่าจะถวายพระราชธิดา แลขอกองทัพขึ้นไปช่วยป้องกันเมืองศรีสัตนาคนหุต ที่กรุงจึงได้แต่งกองทัพขึ้นไปตั้งอยู่ใกล้เมืองเวียงจันท์ ซึ่งกองทัพเมืองหลวงพระบางมาตั้งติดเมืองอยู่แล้วนั้น แม่ทัพไทยให้ทั้ง ๒ เมืองทำไมตรีปันเขตรแดนกันเสร็จแล้ว ทัพเมืองหลวงพระบางก็เลิกไป เจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตจึงได้แต่งราชบุตรีมีบรรดาศักดิ์เปนพระแก้วฟ้า ทั้งสมบัติวัตถาข้าไทเปนอันมาก ให้ลงมาถวาย แต่นั้นมาก็ไม่เห็นมีเรื่องราวอะไร ที่กล่าวถึงเกี่ยวพันกันต่อไปอิก

เมื่อจุลศักราช ๑๑๓๓ ปีเถาะตรีศก เจ้าวงเจ้าเมืองหลวงพระบางยกลงมาตีกรุงศรีสัตนาคนหุตเวียงจันท์อิก ตั้งล้อมเมืองไว้ เจ้าเวียงจันท์บุญสารออกต่อรบกันอยู่ประมาณ ๒ เดือนไม่แพ้ไม่ชนะกัน เจ้าเวียงจันท์จึงให้ไปขอกองทัพพม่าลงมาตีเมืองหลวงพระบาง เมืองหลวงพระบางถอยกองทัพกลับไปรบพม่า พม่าก็ตีเอาเมืองหลวงพระบางได้

เรื่องพระวอที่เปนสาเหตุที่ทัพกรุงขึ้นไปตีเมืองเวียงจันท์นั้น ได้ความว่าด้วยเหตุที่เชื้อวงษ์เมืองเวียงจันท์เที่ยวกระจุยกระจายตั้งแต่พระยาสุริยวงษาธรรมิกราชขับเสียนั้นคราวหนึ่ง ตั้งแต่พระยาเมืองจันท์ขึ้นเปนเจ้าล้านช้างอิกครั้งหนึ่ง แลพม่ามารบกวนให้บ้านเมืองยับเยินแตกฉานซ่านเซนเปลี่ยนเจ้านายบ่อยบ่อยนั้นด้วย เจ้าหล่อจะเปนลูกใครก็ไม่ปรากฎ ผู้เปนเจ้าล้านช้างเวียงจันท์ ถึงพิราไลยไม่มีลูก นายวอกับนายตา ๒ คน จึงนำกุมารไม่ปรากฎชื่ออันเปนเชื้อวงษ์ในเมืองเวียงจันท์ทางเจ้าตนใดก็ไม่ทราบ ไปให้เปนเจ้า นายวอกับนายตาจะขอเปนอุปราช เจ้าเวียงจันท์ใหม่ไม่ยอม ตั้งให้เปนแต่พระวอแลพระตา ตำแหน่งเสนาบดื จึงเกิดวิวาท พระวอกับพระตายกไปตั้งที่หนองบัวลำภู ตั้งชื่อเมืองว่า จำปานครขวางกาบแก้วบัวบาน เจ้าเวียงจันท์ยกไปรบ พระวอกับพระตาเห็นจะสู้ไม่ได้ จึงไปขอกองทัพพม่ามาช่วย เจ้าล้านช้างแต่งคนไปคอยดักเข้าหาพม่า ขอให้พม่ากลับไปตีพระวอ พม่าก็ทำตาม พระตาตายในที่รบพระวอสู้ไม่ได้ หนีลงไปอาไศรยเจ้านครจำปาศักดิ ภายหลังเกิดวิวาทกับเจ้านครจำปาศักดิ จึงยกขึ้นมาตั้งอยู่ดอนมดแดงแขวงเมืองอุบล ส่งบรรณาการมาขอพึ่งพระเจ้ากรุงธนบุรี เจ้าล้านช้างรู้ว่าพระวอวิวาทกับเจ้านครจำปาศักดิ จึงให้พระยาสุโพลงมาตีพระวอ จับพระวอได้ฆ่าเสีย ท้าวก่ำบุตรพระวอแลท้าวเพี้ยบอกเข้ามา เจ้ากรุงธนบุรีจึงให้ยกทัพขึ้นไปตีเมืองเวียงจันท์ เมื่อปีจอสัมฤทธิศกจุลศักราช ๑๑๔๐ ได้เมืองเวียงจันท์ กับทั้งพระแก้วพระบางแลราชวงษ์ลงมากรุงธน

เรื่องทัพฮ่อฤๅจีนมาตีอังวะครั้งแรกปีชวดสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๓๐ มาถึงเมืองแสนหวี ทางไกลเมืองอังวะ ๑๕ คืน พม่าตีแตกไป

ฮ่อยกมาตีอิกครั้งที่ ๒ ตีหัวเมืองระเข้าไปจนกระทั่งถึงบ้านยองนี ใกล้เมืองอังวะทางคืนหนึ่ง พม่าตีแตกออกไปอิก

ปีฉลูเอกศก จุลศักราช ๑๑๓๑ ฮ่อยกกลับเข้ามาอิก ถึงเมืองกองดุงปะมอทางไกลเมืองอังวะ ๕ คืน เจ้าอังวะเห็นว่าเปนศึกใหญ่จะต่อสู้ไม่ได้ จึงขอเปนไมตรีแต่งเครื่องบรรณาการไปให้แม่ทัพ การศึกสงบ

ข้อที่ฮ่อเข้ามาตีเมืองพม่า ๓ คราวนี้ เปนโอกาศดีของเจ้ากรุงธนบุรีมาก ที่พอได้คุมกันตั้งตัวติด ข้อความที่อ้างถึงทัพจีนตีเมืองพม่าในพระราชสาส์นนั้นคือทัพฮ่อ ๓ คราวนี้

เจ้ากรุงธนบุรีขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรก ปีขานโทศกจุลศักราช ๑๑๓๒ ไม่ได้เมืองเชียงใหม่ เปนเรื่องที่กล่าวในพระราชสาส์นว่าไปลองจดฝีมือพม่า

จุลศักราช ๑๑๓๓ ปีเถาะตรีศก ปรากฎในพระราชพงษาวดารว่า เจ้าอังวะให้โปสุพลามารักษาเมืองเชียงใหม่ เปนคราวเดียวกันกับที่คุมพลมาช่วยตีเมืองหลวงพระบาง แลได้เมืองล้านช้างเปนเมืองขึ้นด้วย

จุลศักราช ๑๑๓๔ ปีมโรงจัตวาศก โปสุพลาลงมาตีเมืองลับแล เมืองพิไชย ๒ คราวในปีเดียว คงเปนคราวเดียวกันกับที่ในพระราชสาส์นเจ้าล้านช้าง ว่าเกณฑ์ให้เจ้าล้านช้างลงมาช่วยตีเมืองนครราชสิมา

จุลศักราช ๑๑๓๖ ปีมเมียฉศก กองทัพกรุงธนบุรีขึ้นไปตีได้เมืองเชียงใหม่ โปสุพลาแตกขึ้นไปเมืองเชียงแสน แลตีค่ายพม่าบ้านบางนางกุ้งเขาชงุ้ม จับได้พม่ามากในปีเดียวนั้นด้วย เปนข้อความที่ได้กล่าวในศุภอักษร ที่ส่งพระยาหลวงเมืองแสนขึ้นไป

ข้อความต่าง ๆ ที่สาธกมากล่าวไว้ตามลำดับที่ได้หมายเลขมาข้างต้นนี้ ล้วนแต่เปนเหตุฤๅเปนเรื่องที่จะประกอบความเข้าใจในการที่กรุงศรีสัตนาคนหุตเวียงจันท์ ได้เปนไมตรีครั้งนั้นเพราะเหตุใด ไม่ใช่ตั้งใจจะเล่าพงษาวดารเมืองลาว ฤๅลำดับเรื่องพระราชพงษาวดารไทย

บัดนี้จะว่าด้วยพระราชสาส์นแลศุภอักษรซึ่งมีไปมา ในพระราชสาส์นล้านช้างฉบับแรก ลงวัน ๒ ฯ ๑๐ ค่ำ ศักราช ๑๓๒ คือตัดเลขพันออกเสีย จะเปนด้วยตามลบรื้ออย่างไรกันอย่างหนึ่ง

ข้อความในศุภอักษรฉบับนี้ ว่ากรุงศรีสัตนาคนหุตกับกรุงมหานครศรีอยุทธยา เคยเปนไมตรีสนิทกันมาแต่ก่อน ข้างกรุงศรีอยุทธยาเกิดเปนแต่เวรกรรม จึงขาดทางพระราชไมตรี ข้างฝ่ายเมืองศรีสัตนาคนหุตก็มีข่าขบถขัดสน เจ้าพระยานครราชสิมาได้ขึ้นไปช่วยตีขบถปราไชยไปตั้งอยู่ดอนมดแดง

ตามความที่ว่านี้ เข้าใจว่าไม่ใช่พระวอ คงจะได้เกิดข่าขบถ ซึ่งแตกลงมาตั้งอยู่ดอนมดแดงก่อนแล้ว เมื่อพระวอออกจากเมืองนครจำปาศักดิจึงมาเข้าพวกข่าขบถนั้น

การที่เจ้าพระยานครราชสิมาขึ้นไปช่วยครั้งนี้ จึงได้ทราบว่ากรุงสยามได้ตั้งขึ้นใหม่เปนบ้านเมืองแล้ว ได้แต่งให้พระยาไทรทรงยศทศบุรี พระยาศรีรัตนาธิเบศร์ไมตรี เชิญพระราชสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการลงมาขอดทางพระราชไมตรี ขออย่าให้กรุงเทพ ฯ ละวางเมืองศรีสัตนาคนหุต ๆ ก็จะไม่ละวางกรุงเทพ ฯ ไพร่พลที่เจ้าพระยานครราชสีมาเอาเข้ามาช่วยราชการนั้น เมื่อเสร็จราชการแล้ว จึงจะให้คืนเมือง ข้อความในพระราชสาส์นเพียงเท่านี้

มีศุภอักษรเสนาบดีกรุงล้านช้าง ถึงเสนาบดีกรุงเทพ ฯ ข้อความก็อย่างเดียวกัน แต่มีเติมออกไปว่า เมื่อศักราช ๑๓๑ ตัว คือ ๑๑๓๑ ข่าขบถ จึงให้อุปฮาดสงครามมีหนังสือไปขอให้เจ้าพระยานครราชสิมาขึ้นมาช่วยตีข่าขบถแตกไปตั้งอยู่ดอนมดแดง ทราบว่าพระเจ้าแผ่นดินได้ตั้งขึ้นใหม่ มีความยินดี จึงให้มาเจริญทางพระราชไมตรี ขอเจ้าพระยานครราชสิมาอยู่ช่วยราชการ แลไทยมอญอันเข้ามาทำราชการอยู่ในมุกคาตาแสงกรุงศรีสัตนาคนหุต ถ้าเสร็จราชการแล้วก็จะให้กลับ แต่หลวงวังแลไพร่ลาวม่วงหวาน ๒๐ ครัว ขอต่ออรรคมหาเสนาธิบดีไว้สำหรับเปนผู้ใช้ท่องเที่ยวเจริญทางพระราชไมตรี ในท้ายศุภอักษรบอกน้ำหนักทองพระราชสาส์น แลกล่อง แลผอบหูสะวินถุง กับเครื่องราชบรรณาการแลของบรรณาการอรรคมหาเสนา

วินิจฉัยด้วยเหตุผลอันใด เมืองล้านช้าง จึงได้เริ่มผูกการพระราชไมตรีขึ้นครั้งหนึ่ง เหตุนั้นคือจีนฮ่อมาตีเมืองพม่าอยู่ถึง ๓ ปี พม่ามือไม่ว่าง ฝ่ายเวียงจันท์กลัวเมืองหลวงพระบางที่เปนอริกันเก่าแก่จะยกลงมาตี เมื่อพม่ามาช่วยไม่ทัน ก็จะเสียท่วงที จึงหวังจะอาไศรยกองทัพข้างกรุงขึ้นไปช่วย

ครั้นเมื่อเกิดขบถขึ้นในเมือง กลัวเมืองหลวงพระบางจะพลอยซ้ำ ครั้นจะขอกองทัพกรุงก็ไม่ทัน จึงขอให้เมืองนครราชสิมาขึ้นไปช่วย

ข้างฝ่ายเมืองนครราชสิมา เมื่อบ้านเมืองข้างนี้เปนจลาจล ผู้คนแตกฉานขึ้นไปทางเมืองลาวมาก หวังจะยกขึ้นไปติดตามด้วย จึงได้ยกขึ้นไปช่วย แลสืบหาผู้คนซึ่งแตกขึ้นไปอยู่เมืองลาว เปนธรรมดาทางดำเนินราชการของเมืองลาว ไม่มีอะไรนอกจากหวงคนยิ่งกว่าอย่างอื่น คิดจะพยายามที่จะชักโอ้เอ้เหลวไหลให้ช้า ๆ ไป กันเอาคนไว้ สบเหมาะกับที่ต้องการกำลังกรุงเทพ ฯ ช่วย เผื่อหลวงพระบางมาตี จึงได้มีราชสาส์นลงมาผูกทางไมตรี แลพูดโยกย้ายจะเอาคนนั้นไว้ พระราชสาส์นครั้งนี้ใช้เสมอกันทั้ง ๒ เมือง ทำยศศักดิ์เอะอะไปตามแผนข้างลาว

ข้างฝ่ายเจ้ากรุงธนบุรี อัชฌาไศรยเปนคนละอย่างตรงกันข้าม ไม่สู้จะรังเกียจ ในการที่จะถ่อมคำลดหย่อนเกียรติยศที่ไม่มีแก่นสาร เปนคนมีความปราถนาใหญ่โตลึกซึ้ง ซึ่งคิดจะรวบรัดเอาด้วยกำลังอำนาจในภายหลัง แต่ในระหว่างที่คบกันนี้ คบก็ให้ได้เปรียบไว้ให้เสมอ จะได้สมคิดฤๅไม่ก็ตาม ถ้าเปนทีควรลองแล้วต้องลอง ไม่ได้ก็แล้วไป อัซฌาไศรยเจ้ากรุงธนบุรีเปนเช่นนี้ จึงได้แต่งพระราชสาส์นตอบ พระราชสาส์นนี้แต่งเอง เขาจดไว้ว่า “วัน ๓ ฯ ๖ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๓๓ ปีเถาะตรีศก ทรงแต่งพระราชสาส์น แลศุภอักษรแล้ว ทรงพระกรุณาดำรัสเหนือเกล้า ฯ สั่งให้พระสุนทรไมตรีราชทูต หลวงภักดีวาจาอุปทูต ขุนพจนาพิมลตรีทูต จำทูลพระสุพรรณบัตรรัตนพระราชสาส์นแลศุภอักษรขึ้นไปยังกรุงศรีสัตนาคนหุต”

ใจความในพระราชสาส์นนั้น ว่าทรงยินดีควรที่จะเปนมิตร เพราะพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต เปนขัติยวงษ์ทรงพิภพอันสูงใหญ่ กรุงศรีอยุทธยาทุกวันนี้ก็อับปางอยู่ ขอให้พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตช่วยทนุบำรุง ให้เปนแผ่นดินเดียววงษ์เดียวกันสืบไป มีสัตรูมาฝ่ายใดก็จะเปนศัตรูของฝ่ายหนึ่งเหมือนกัน ซึ่งจะขอเจ้าพระยานครราชสิมาไว้ช่วยราชการนั้นก็แล้วแต่พระราชดำริห์ ถ้าเห็นว่าจะได้ถ่ายเดียวจึงให้ทำ ถ้าจะได้ส่วนหนึ่งสองส่วนเสียส่วนหนึ่งอย่าให้ทำ ให้ไว้ธุระแก่กรุงเทพ ฯ แล้วอวดอ้างต่อไปว่า มีลิปูต้าทั่งอรรคมหาเสนาบดีจีนเข้ามาที่กรุง ขอให้ทำแผนที่ท่าทางที่จะไปกรุงอังวะส่งออกไป เหตุว่ากองทัพพม่ายกขึ้นไปตีเมืองสีฉวน เมืองห้วยหลำปลายแดนกรุงจีน จีนตีพม่าแตกกลับไป กำลังยกทัพจีนไปตีเมืองอังวะ แล้วจะขอให้กองทัพจีนมาขึ้นที่กรุงศรีอยุทธยาอิกทางหนึ่ง ได้ตอบออกไปว่า ยังขัดสนด้วยเสบียงอาหาร บัดนี้พม่ามาทำแก่เมืองถลาง เมืองกาญจนบุรี เมืองศรีสวัสดิ์ เมืองอุไทยธานี เมืองสวรรคโลกย์ ฝ่ายเหนือฝ่ายใต้ตวันตกตวันออก กองทัพหัวเมืองตีกองทัพพม่าเลิกไป ฝ่ายกรุงศรีอยุทธยายังไม่ได้จดฝีมือดูความคิด จึงเสด็จยกขึ้นไปจดฝีมือพม่าดูที่เชียงใหม่ บัดนี้เห็นแจ้งอยู่แล้ว พอจะทำตอบแทนกรุงอังวะได้ถ่ายเดียว เสบียงอาหารก็มีบริบูรณ์แล้ว จะมีหนังสือออกไปขอกองทัพพระเจ้ากรุงจีนมาขึ้นที่กรุง สมทบทัพขึ้นไปตีเมืองอังวะ แต่ขัดสนอยู่ด้วยม้า จึงให้มีศุภอักษรมาด้วย

พระราชสาส์นนี้ ลงวันที่ได้กล่าวมาแล้วว่าทรงแต่งข้างต้นนั้น

ศุภอักษรว่า ได้นำข้อความที่กรุงศรีสัตนาคนหุต ขอสืบทางพระราชไมตรีนี้ปฤกษาลูกขุนทั้งปวง เห็นว่าแต่ก่อนก็ได้เคยเปนไมตรีกันมา ครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ก็ได้เสด็จปราบปรามราชสัตรูราบคาบสิ้นแล้ว ควรที่จะรับเปนไมตรีตามราชประเพณี สืบดูกฎหมายอย่างธรรมเนียมกรุงศรีอยุทธยากับกรุงศรีสัตนาคนหุต แต่ก่อน ๒ ฝ่ายฟ้าเคยเปนสุวรรณปัถพีสืบราชวงษ์กันมา ครั้งนี้ขอให้มีพระราชสาส์น แลศุภอักษรขึ้นไปว่ากล่าวตามประเพณีแต่ก่อน จะได้เปนศรีสวัสดิในกรุงศรีอยุทธยา เหมือนแหวนเพ็ชร์เรือนทอง ถ้าเสนาบดีล้านช้างเห็นด้วย ให้นำความขึ้นกราบทูล จะขอพระราชบุตรีมาไว้เปนมเหษีกรุงศรีอยุทธยา ได้นำความขึ้นกราบทูล ดำรัสเหนือเกล้า ฯ ให้ทำตามคำปฤกษา จึงให้ทูตจำทูลพระราชสาส์น แลคำลูกขุนปฤกษาขึ้นมา เรื่องเจ้าพระยานครราชสิมามีแจ้งมาในพระราชสาส์นแล้ว แต่เรื่องหลวงวังไทยมอญลาวม่วงหวาน ๒๐ ครัว ซึ่งจะขอไว้นั้นไม่ควร ไม่ได้นำความขึ้นกราบทูล ถ้าอรรคมหาเสนาบดี จัดการเรื่องที่จะเปนบรมกัลยาณมิตรสำเร็จแล้ว เรื่องหลวงวังแลลาวม่วงหวาน ขอไว้นั้นก็จะได้อยู่ อนึ่งจะต้องการม้าใหญ่ศอกนิ้ว ๓๐๐ ม้า ให้ช่วยจัดม้าส่งลงมาให้ตามที่ต้องการ ราคาอย่างไรให้ช่วยทดรอง จะเบิกเงินคลังส่งขึ้นไปให้

เครื่องบรรณาการที่ส่งแลของที่ให้เสนาบดี มากกว่าที่ส่งลงมาหลายเท่า ศุภอักษรนี้ก็ลงวันเดียวกัน

ความคิดที่มีพระราชสาส์นแลศุภอักษรครั้งนี้ เจ้ากรุงธนบุรีมีท่าทางที่ควรหวังว่าจะสมคิดมากกว่าขอลูกสาวเจ้ากรุงจีน ฤๅมีท่าทางที่จะได้ลูกสาวเจ้าล้านช้างมากกว่าที่จะได้ม้า ๓๐๐ ข้อที่ขอม้าไปนั้นไม่ได้มีความมั่นหมายว่าจะได้ แต่เปนข้อหนึ่งซึ่งเปนทางที่จะอวดอ้างกำลัง การที่ลาวได้รับพระราชสาส์น แลศุภอักษรเช่นนี้ ใช่ว่าจะเดือดร้อนอันใด ก็นิ่งโอ้เอ้เสียไม่ตอบเท่านั้น เปนราโชบายอย่างดีของลาว กว่าจะมีอไรไปโดนปังเข้า จึงค่อยแล่นไปใหม่

แต่ไม่น่าจะสงไสยเลย ว่าเจ้าพระยานครราชสิมาคงจะได้รับท้องตรามีข้อความอย่างอื่น คือให้คิดอ่านสืบสวนหาครัวที่แตกฉานซ่านเซนขึ้นไป เอากลับลงมาบ้านเมือง พวกขบถที่แตกไปอยู่ดอนมดแดงนั้น เมื่อไม่มีผลประโยชน์อย่างใด ก็อย่าให้ไปปราบปราม ฤๅคิดเกลี้ยกล่อมเอาใจไว้ สังเกตดูตามศุภอักษรซึ่งจะได้กล่าวต่อไปข้างน่า เจ้าพระยานครราชสิมาได้ทำอย่างที่เดานี้

ต่อนั้นมาข้างฝ่ายกรุงก็มีการทัพศึกพัวพัน ข้างฝ่ายล้านช้าง การวิวาทกับหลวงพระบางก็ไม่แล้ว ในปีเถาะตรีศกจุลศักราช ๑๑๓๓ นั้นเอง เจ้าวงษเจ้าเมืองหลวงพระบางก็ยกลงมาตีเมืองล้านช้างตามที่กลัวอยู่ แต่เวลานั้นศึกพม่ากับฮ่อสงบลง พระเจ้าล้านช้างจึงให้ไปขอกองทัพเมืองพม่ายกลงมาตีเมืองหลวงพระบาง ได้เมืองหลวงพระบางยอมอ่อนน้อมต่อพม่า เมื่อเมืองล้านช้างสิ้นกลัวอันตรายอันใดแล้วก็นิ่งเฉยเสีย ไม่ตอบพระราชสาส์น

แต่ครั้นเมื่อจุลศักราช ๑๑๓๕ ปีมเสงเบญจศก โปสุพลายกมาตีเมืองล้านช้าง ด้วยพระวอไปขอกองทัพพม่ามาช่วยรบ แล้วก็หวนกลับเข้าไปเอาเมืองล้านช้างเอง กวาดต้อนราชบุตรเสนาอำมาตย์ไปเมืองอังวะ แล้วจึงไปตั้งอยู่เชียงใหม่ กำหนดว่าจะยกทัพลงมาตีกรุงเทพ ฯ ซึ่งได้มาตีเมืองลับแลเมืองพิไชย ๒ เที่ยวนั้น มีหนังสือให้เมืองล้านช้างยกมาตีเมืองนครราชสิมา แต่เจ้าล้านช้างหาได้ยกลงมาตามคำสั่งไม่ เมื่อกองทัพกรุงขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ พวกลาวเมืองเวียงจันท์หนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร คือพระยาหลวงเมืองแสนอรรคมหาเสนา พระยาหาญอาษา พระยาจันทวงษ พระยาโคตร พระยาบุตรโคตร แลผู้อื่น ๆ เปนท่วงทีพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงได้ให้มีศุภอักษรขึ้นไป ลงวัน ๖ ฯ ๑ ค่ำ ปีมเมียฉศก จุลศักราช ๑๑๓๖ มีความว่า

ศุภอักษรท่านอรรคมหาเสนาบดีกรุงเทพ ฯ มาถึงอรรคมหาเสนาบดีกรุงศรีสัตนาคนหุต ด้วยมีพระราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสเหนือเกล้า ฯ สั่งว่า พม่ายกมาทำร้ายทางเมืองตาก บ้านระแหง เมืองกำแพงเพ็ชร์ทางหนึ่ง มาทางลันเตท่าดินแดงแขวงเมืองกาญจนบุรี เมืองศรีสวัสดิ ฝ่ายตวันตกทางหนึ่ง พระเดชานุภาพแผ่ไป พวกลาวมอญพากันทำร้ายพม่าล้มตายยับเยิน มอญแลลาวเข้ามาสวามิภักดิ์เปนข้าขอบขันธเสมาบ้าง พาครอบครัวอพยพเข้ามาสู่พระบรมโพธิสมภารบ้าง ที่ตั้งต้านต่อตีรบพม่าเข้าไปก็มีบ้าง พระเดชานุภาพแผ่ไปถึงมอญลาว พระยาจ่าบ้านพระยาลำพูนแลลาวแว่นแคว้นเชียงใหม่ลำพูน ก็มาสวามิภักดิ์ขึ้น ยังแต่โปชุพลาโปมยุง่วน จะเสด็จขึ้นไปสังหารเสียให้สิ้น ให้เสนาบดีทูลพระเจ้าศรีสัตนาคนหุต ให้คอยฟังข่าวเอา กรุงอังวะเห็นจะไม่พ้นเงื้อมพระหัดถ์ จะขึ้นไปเอามาใช้เปนข้า

แต่กรุงศรีสัตนาคนหุตเดิมเปนมิตรแล้วละราชไมตรีเสีย ไปเปนใจด้วยพม่านั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ยังไม่เสียคลองพระราชไมตรี จึงให้ส่งลาวล้านช้างซึ่งพม่าเอาไปมัดผูกจำจอง ขึ้นมาให้อรรคมหาเสนาบดีทูลถวายเจ้าล้านช้าง ให้เร่งเปนใจไปด้วยพม่า จงเกณฑ์กองทัพไปช่วยโปชุพลา โปมยุง่วน ถึงเมืองเชียงใหม่ จะเสด็จขึ้นไปตี ประการหนึ่งให้เร่งตัดท่าทาง ขนเข้าปลาเสบียงอาหาร อย่าให้กองทัพไทยไปถึงกรุงศรีสัตนาคนหุตได้ ประการหนึ่งจงโอบอ้อมเอาไทยข้าขอบขันธเสมากรุงเทพ ฯ ไว้ จะได้กันกรุงศรีสัตนาคนหุตเห็นจะรุ่งเรืองเปนใหญ่ เพราะเปนใจไปด้วยพม่าแท้ อย่าให้ไพร่เมืองลาวเปนศุขได้ แต่ไพร่เมืองลาวก็ไปสู่พระบรมโพธิสมภารประมาณหมื่นหนึ่งแล้ว บัดนี้ได้ส่งพระยาเมืองแสนกับท้าวพระยามีชื่ออิก ๖ คน ไพร่ชาย ๖๑ หญิง ๓ ขึ้นมาให้อรรคมหาเสนาบดีทูลถวายพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต ศุภอักษรฉบับนี้ ให้พระยาหลวงเมืองแสนถือไปเมืองล้านช้าง

ตามข้อความนี้ดูกริ้วมาก แลที่จริงก็ควรจะกริ้ว ศุภอักษรฉบับนี้เรียงข้อความอยู่ข้างแขงดี

คราวนี้ไม่ใช่เวลาที่ลาวจะช้า ได้ข่าวว่าลาวเข้ามาอยู่เมืองไทยถึงหมื่นหนึ่งก็ตาเหลือก ทั้งถูกพม่าทำเสียเจ็บแสบยับเยินมาก จึงได้มีพระราชสาส์นตอบศุภอักษรในเดือน ๔ ปีนั้นเอง หนังสือไปเมืองลาวได้ตอบใน ๒ เดือน นับว่าเปนอย่างเร็วที่สุด แลข้อความในศุภอักษรฉบับนี้ออกจะยกย่องมากขึ้นด้วย ดำเนินความว่าจุลศักราช ๑๑๓๔ ตัว ได้รำพึงถึงทางพระราชไมตรี จึงได้แต่งทูตลงมา แลทัพพระยานครราชสิมาก็ยังจำเริญทางพระราชไมตรีมิได้ขาด ความที่ว่าเช่นนี้เปนการแก้ตัวเก้อ ๆ ด้วยความกระดากใจ แล้วจึงชักความต่อไปว่า

มาจนถึงศักราช ๑๑๓๕ ตัวนั้น โปชุพลาถือมหันตโยธามาข่มเหงกรุงศรีสัตนาคนหุตก็เปนโทรมนัศทุกขาแก่ประชากร ข่มเหงเอาพระราชบุตรแลเสนาอำมาตย์ไปกรุงอังวะค้างอยู่ ตัวโปชุพลาถอยไปเชียงใหม่ ให้มาว่าขอให้เมืองล้านช้างเอากำลังมาทางเมืองนครราชสิมา เจ้าล้านช้างรำพึงถึงทางพระราชไมตรีแต่ก่อน ไม่เคยเปนเวรานุเวรกัน จึงขัดเสียมิมา

อยู่มาศักราช ๑๑๓๖ ตัว สมเด็จพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาทรงพระกรุณาสั่งเจ้าพระยานครราชสิมาให้ส่งศุภอักษร แลพระยาหลวงเมืองแสน มาถึงกรุงศรีสัตนาคนหุต ณเดือน ๒ แรม ๒ ค่ำ พระเจ้าล้านช้างได้แจ้งศุภอักษรแล้ว มีความโสมนัศปราโมทย์ จึงให้อรรคมหาเสนาพร้อมกับอริยสงฆ์ราชครู แต่งตั้งทางพระราชไมตรีให้ถาวรสืบไป จึงแต่งให้พระยาสุธาราชาจ่าบ้านปัญญามงคล พระยามหาอำมาตย์สุรตังรไมตรี จำทูลพระราชสาส์นมงคลราชบรรณาการ ลงมายังพระเจ้ากรุงเทพ

ข้อซึ่งข้าไพร่กรุงเทพอันขึ้นไปอยู่กรุงศรีสัตนาคนหุตนั้น ไม่ได้ห้ามหวงป้องกัน เมื่อพระยานครราชสิมาจะกลับ ก็ได้บอกป่าวร้องให้คืนไป ส่วนผู้ซึ่งมิอยากไป ก็หลบหลีกอยู่ ผู้ที่สมัคไปก็มี ได้ให้คืนไป เจ้าพระยานครราชสิมาคืนไปถึงเมืองแล้วใช้ให้กรมการมาขอ ก็ได้บอกป่าวร้องกะเกณฑ์ให้ไป ภายหลังได้ให้ขึ้นไปขออิก ก็ได้ป่าวร้องให้หัวบ้านหัวเมืองส่งไปให้อิกก็มาก บัดนี้ยังค้างอยู่แต่พวกที่เปนทุกขยากแอบแฝงทำมาหากินอยู่ ไม่ได้มีจำนวนไว้

อนึ่งราชบุตรราชนัดดาเสนาอำมาตย์ อันไปค้างอยู่เมืองอังวะนั้น คืนมาถึงบ้านเมืองเมื่อใด ก็จะให้พร้อมกันแต่งการนำเครื่องมงคลราชาภิเศกสมเด็จพระเจ้ากรุงเทพ

อิกประการหนึ่ง พระราชบุตรพระราชนัดดาเสนาอำมาตย์ ที่ไปค้างอยู่เมืองอังวะ จะหลีกหนีลงมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารกรุงเทพเมื่อใด ขอให้มีความเมตตากรุณาไพร่กรุงศรีสัตนาคนหุต อันกลัวพม่าเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ขอให้กลับไปบ้านเมือง พระราชสาส์นนี้ลงวัน ๔ ฯ ๔ ค่ำปีมเมียฉศก จุลศักราช ๑๑๓๖


ปูมปีวอกอัฐศกจุลศักราช ๑๑๓๘ จดไว้ว่าวัน ๒ ๑๒ฯ ๑๐ ค่ำ เพลาบ่าย ๔ โมง นางพระยาล้มขาดใจ


หัวข้อ: Re: จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 26 สิงหาคม 2562 15:35:07
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/14850401961141_spd_2012090285139_b_1_320x200_.jpg)

ศุภอักษรเสนาบดีมาถึงเสนาบดี อ้างถึงการที่พระยาไทรทรงยศมาครั้งก่อน แลโปสุพลาลงมา ศักราชไม่ตรงกันกับพระราชสาส์นทั้ง ๒ แห่ง เปนด้วยแรงหลวม มีความชัดว่าลูกเจ้าล้านช้างที่ส่งไปนั้น คือเจ้าราชบุตร พระยาหลวงเมืองแสน พม่าเอาตัวขึ้นไปเชียงใหม่ศักราช ๑๓๖ ตัว เดือน ๘ ขึ้น ๙ ค่ำ โปชุพลาให้พม่าสามร้อย ถือหนังสือมาสั่งให้เมืองเวียงจันท์ เข้ามาตีทางเมืองนครราชสิมา เมืองล้านช้างไม่ยอมทำตาม แลที่โปรดให้พระยาหลวงเมืองแสนกลับขึ้นไป เปนที่ยินดี จึงได้ให้พระยาสุพรรณบัตรมงคล พระยาสุพันธุมิตรไมตรี ท้าวตัง นำสมณสาส์น แลศุภอักษรมาถึงอรรคมหาเสนาบดี ต่อนั้นไปก็แก้ตัวเรื่องครัวไทย แลจะให้เสนาอำมาตย์ราชโอรส ลงมาทำอติเรกการมงคล ขอให้ช่วยส่งพลเมืองลาวคืนเหมือนในพระราชสาส์น

มีศุภอักษรพระยาหลวง เมืองแสน เฉพาะตัว มายังเสนาบดีอิกฉบับหนึ่ง บอกว่าได้พึ่งพระบารมีกลับมาถึงบ้านเมือง นำกิจการทุกประการ กราบทูลพระเจ้าล้านช้างแล้ว ทรงยินดีนัก จึงแต่งให้ราชทูตเชิญพระราชสาส์น สมณสาส์น แลศุภอักษรลงมา

ในหนังสือฉบับนี้ว่า มีศุภอักษรโปรดขึ้นไป ให้จับพม่าซึ่งลงมาอยู่ในกรุงล้านช้าง จำส่งลงมาถวายนั้น พม่าที่แตกจากเชียงใหม่ ไม่ได้ไปเมืองล้านช้าง พม่าซึ่งโปชุพลาให้ลงมาขอกำลังนั้น เมืองนครลำปางได้สกัดฆ่าฟันเสีย ไม่ได้มาถึงเมืองศรีสัตนาคนหุต

อิกประการหนึ่งครอบครัวข้าไพร่กรุงเทพฯ ที่อพยบเข้ามาอยู่ในกรุงศรีสัตนาคนหุต มากน้อยเท่าใดมิได้เกียจกัน แจ้งอยู่ในสุวรรณบัตรแลศุภอักษรทุกประการ ขอให้เสนาบดีนำขึ้นกราบบังคมทูล

หนังสือนี้ลงวันศักราช ๓๖ ตัว เดือน ๔ แรม ๖ ค่ำวันจันทร์

มีสมณสาส์นอิกฉบับหนึ่ง มีจดหมายไว้ว่าได้รับวัน ๒ ๑๕ฯ ๖ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๓๗ ปีมแมสัปตศก ข้อความในสมณสาส์นนั้น ครึคระเต็มที แต่งเปนภาษาไทยแล้ว ยังต้องแปลออกเปนภาษาไทยอิกที ใจความนั้นก็ฝากของมาเปนบรรณาการ สมเด็จพระสังฆราช จิวรไหมคู่ ๑ จีวรผ้าด้ายคู่ ๑ บรรจุในลุ้ง กับเสื่อ ๒ ผืน ฉันใดทางพระราชไมตรี ๒ พระนครจะวัฒนาการไปตราบเท่า ๕๐๐๐ พระวรรษา ก็ใส่ไว้ในปัญญาสมเด็จพระสังฆราช

มีการประชุมแปลพระราชสาส์นนี้ พระราชาคณ ๓๐ กับข้าราชการอิกเปนหลายคน สอบสวนว่าเปนถูกต้องแล้ว

ลัทธิโต้ตอบอย่างลาว มีเรื่องอไรมาแต่ครั้งไหนไม่ว่า เก็บร้อยกันลงราวกับจะแต่งพงษาวดาร กล่าวถึงศักราชทุกครั้ง แต่ศักราชนั้นจะห่างกันเท่าใดก็ช่าง เรื่องที่หนังสือมีไป ข้อความจะว่ากระไรก็ช่าง นึกจะตอบอย่างไรก็ตอบ ในตอนนี้เจ้ากรุงธนบุรีกริ้วเสียแล้ว ไม่มีพยายามที่จะแต่งคำนำพระราชสาส์นให้ยืดยาว ขึ้นต้นนิดหนึ่งก็จับใจความทีเดียว ข้อความในพระราชสาส์นนั้นว่า

เมื่อได้เห็นพระราชสาส์นแล้ว จึงสืบพม่าแม่กองทัพซึ่งจับมาได้ เมื่อได้ความแล้วก็ทรงขัดแค้น ว่าต้องข่มเหง เสียราชบุตรราชนัดดาไป ไม่เลี้ยงให้ได้ความอดสู แล้วซ้ำให้ส่งบรรณาการดอกไม้ทองเงิน ถ้ามิใช่พระเจ้าล้านช้างแล้ว ก็จะสู้เสียชีวิตร ที่ไหนจะทนทานมาได้ถึงเพียงนี้ ควรที่จะเสวยพระอสุชลธาราอยู่แล้ว ครั้งนี้กรุงศรีอยุทธยาจะขออาสา แต่ให้พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตบำรุงมาโดยพระราชทรัพย์ช้างม้ารี้พลบ้าง พระนครศรีอยุทธยา กับกรุงกัมพูชาธิบดี ขอรับประกันตีเอารัตนบุรอังวะ ส่งพระราชบุตรพระราชนัดดาไปถวาย ถ้ากรุงล้านช้างกลัวไม่ชนะพม่า กลัวไภยแปดเปื้อน ก็ให้เร่งบอกขึ้นไปยังเมืองอังวะให้ลงมารบกัน จะได้ดูทั้ง ๒ ฝ่าย พระเจ้าล้านช้างเปนอิศรภาพมงกุฎพระนครศรีสัตนาคนหุต จะมานิ่งทรมานอยู่มิกู้คืนพระนครดูก็อัศจรรย์ แต่ฝ่ายกรุงศรีอยุทธยาจะทำไปกว่าจะได้กรุงอังวะ

อิกประการหนึ่งซึ่งทรงพระกรุณาการุญภาพเปนคลองทางบุรราชประเพณีนั้น ชื่นชมโสรมนัศยินดี จะได้มีความสงไสยในพระเจ้าล้านช้าง ผู้เปนโบราณกระษัตริย์นั้นก็หาไม่ แต่สงไสยว่าถ้าไม่ทรงพระกรุณาช่วยกันล้างพม่า ให้มหานครศรีสัตนาคนหุต หลุดพ้นจากทาษมาเปนไทยก่อน พระนครศรีอยุทธยาจะตามไปเปนเขยทาษกรุงอังวะฤา ก็มิเต็มพระราชหฤไทย พระราชสาส์นนี้ลงวัน ๓ ฯ ๗ ค่ำ ภูมิบาลฤกษ ปีมแมสัปตศก จุลศักราช ๑๑๓๗

ศุภอักษรมีกำกับพระราชสาส์นฉบับนี้ ข้อความอย่างอื่นก็เหมือนกันกับพระราชสาส์น แต่ยกเปนคำลูกขุนปฤกษากราบบังคมทูลเห็นควรจะทรงช่วย ยกคำพ้อตัดที่แรง ๆ ออกเสีย เติมคำยอพระเจ้าล้านช้างลงเสียลอยลิ่วทีเดียว เอากรุงกัมพูชาอำมาตย์แขกฝรั่งมอญจีนลาวพม่าเขมร เข้าเปนที่ปฤกษาพร้อมกันด้วย เมื่อนำความขึ้นกราบทูล ก็โปรดให้ทำตามคำปฤกษา แลบอกส่งเครื่องราชบรรณาการ แลพระราชทานเสนาบดี มีของพระราชทานพระยาหลวงเมืองแสนส่วนหนึ่งต่างหากด้วย ศุภอักษรนี้ลงวันเดียวกันกับพระราชสาส์น

ส่วนสมณสาส์นตอบ เปนทีเจ้ากรุงธนบุรีเล่นเสียใหญ่ แต่งให้เปนพระราชาคณนำสมณสาส์นเข้ามาถวายทอดพระเนตร มีรับสั่งแก่พระอย่างไร แล้วจึงนำสมณสาส์นมาปฤกษา ยกย่องพระเกียรติยศ แลพระคุณสมบัติอันมีในพระองค์ ทั้งที่ได้ทรงทนุบำรุงพระพุทธสาสนาแลบำรุงแผ่นดิน ขอให้พระสงฆ์เมืองล้านช้างพิจารณาดู ว่าซึ่งพระมหากระษัตริย์กรุงเทพมหานครทรงปฏิบัติเช่นนี้ จะต้องตามพระพุทโธวาทสมควร ซึ่งพระเจ้าล้านช้างจะเปนไมตรีฤๅไม่ ถ้าเห็นสมควรก็ให้ทูลให้เปนไมตรีกัน จะได้เปนที่พึ่งแก่ประชาชน ให้พระสาสนารุ่งเรืองไปถ้วน ๕๐๐๐ พระวรรษา

ของที่พระสังฆราชถวายมา จิวรไม่ได้ตัดเปนขันธตามพระวิไนยทุติยบัญญัติ ครองจะเปนอาบัติจึงบูชาไว้เปนพุทธบูชา ได้ส่งจิวรที่ตัดเปนขันธตามทุติยบัญญัติไปถวายเปนตัวอย่าง ให้พระสังฆราชห่มแลให้ว่ากล่าวพระสงฆ์ให้ห่มจีวรเปนขันธตามตัวอย่าง สมณสาส์นก็ลงวันเดียวกันกับพระราชสาส์น

เมื่อได้เขียนหนังสือนี้ส่งลงพิมพ์แล้ว ไปได้สำเนาศุภอักษรเมืองล้านช้างมาอิกฉบับหนึ่ง คัดจากหนังสือวชิรญาณ เล่ม ๓ น่า ๔๒ ปีกุนนพศกจุลศักราช ๑๒๔๙ ศุภอักษรฉบับนี้ ลงวัน ๓ ๑๐ฯ ๑๐ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๓๗ ปีมแมสัปตศก ตอบศุภอักษรล้านช้างซึ่งนัดให้ขึ้นไปรับพระยอดแก้วกัลยาณีศรีกระษัตริย์

พระราชธิดาเจ้าล้านช้าง ไม่ยอมไปรับเหตุด้วยเปนเวลาศึกติดพันนั้นประการหนึ่ง ฝ่ายล้านช้างไม่พูดถึงการที่จะเข้ามือกันต่อรบพม่าให้เปนมั่นคงนั้นอย่างหนึ่ง ในศุภอักษรว่า มีเข้าเตรียมอยู่พร้อมให้ขึ้นไปรับ ก็ตอบว่าไม่ขึ้นไปรับ จะเอาลงมาให้ก็ตามใจ

ศุภอักษรฉบับนี้ คงจะเปนฉบับหลังที่สุด ซึ่งปรากฎว่าหนังสือในลำดับเรื่องล้านช้างนี้คงจะหายอย่างมาก ๓ ฉบับ ถ้าหากว่าไม่มีพระราชสาส์น เพราะไม่เห็นกล่าวความถึงในศุภอักษรตามเคย ถ้าไม่มีพระราชสาส์นก็คงขาดศุภอักษรที่เสนาบดีเมืองล้านช้างมีลงมาฉบับเดียว ความจึงจะติดต่อกัน หนังสือนี้ไม่ควรจะหาย เมื่อสังเกตดูอาการกิริยาที่ลงพิมพ์ไว้ในหนังสือวชิรญาณครั้งหนึ่งแล้ว ก็นิ่งหายเงียบไป จนถึงปีชวดสัมฤทธิศก จึงได้ลงต่อ ๆ กันไปอิก ๗ ฉบับ ก็ไม่เปนลำดับกัน หนังสือก็ยังพลัดพรายอยู่ การที่รวมหนังสือลงครั้งนั้น ไม่ได้ดูเนื้อความ ไม่ดูลำดับวันคืน ลงไว้ฟังเล่นเหมือนขานนาค จึงได้บกพร่องอยู่ดังนี้ ว่าโดยท้องเรื่องนั้นสืบอนุสนธิว่า

เมื่อพระเจ้ากรุงล้านช้างได้รับพระราชสาส์น ซึ่งลงวันเดือน ๗ ขึ้นค่ำ ๑ ปีมแมสัปตศก จุลศักราช ๑๑๓๗ อันมีข้อความ ๒ ข้อ ข้อหนึ่งว่าให้ปลดเปลื้องจากเปนเชลยพม่าเสียก่อนจึงจะยอมเปนเขย อิกข้อหนึ่ง ว่าจะรับอาสาไปติดตามพระราชบุตรจากพม่ามาคืนให้ แต่ต้องอุดหนุนด้วยกำลัง ฤๅโดยพระราชทรัพย์บ้าง

เจ้าล้านช้างจะตอบพระราชสาส์น ฤๅจะให้มีลงมาแต่ศุภอักษรข้อความก็เปนอย่างเดียวกัน ว่าพระราชธิดานั้นให้แต่งขึ้นไปรับเถิด ข้อที่จะให้ช่วยอุดหนุนกำลังนั้น ได้เตรียมเข้าไว้ ๕๐๐ เกวียน พร้อมแล้วให้ขึ้นไปขนเอา แลเมืองล้านช้างไม่มีปืนที่จะรักษาบ้านเมืองพอ ขอให้ส่งปืนขึ้นไปให้ ๒๐๐๐ บอก

เจ้ากรุงธนที่จะยอมเสียทีในเชิงเช่นนี้ไม่มี ในเดือน ๑๐ นี้ กำลังพม่าเขาชงุ้มบางนางแก้ว แลที่อื่นแตกเลิกไปหมด เปนเวลาที่กำลังมีไชย จึงได้ตอบขึ้นไปว่า ถ้าพม่าไม่ยกลงมาก็จะยกขึ้นไปตีพม่า จะรับพระราชธิดาเจ้าล้านช้างลงมาไว้ก็เปนห่วง ในเวลาไปทำศึก ทั้งเจ้าล้านช้างก็ไม่รับที่จะช่วยกันต่อสู้พม่า ปืนที่ขอลงมานั้น ถ้าจะสู้พม่าแล้ว จะให้คนขึ้นไปกับปืนคาบศิลาสักสี่ห้าพัน ฝึกหัดชาวล้านช้างให้ยิงปืนเปน เข้าที่จะให้ขึ้นไปรับนั้นก็ไม่ไปรับ เมื่อจะเอามาส่งได้ก็เอามา ถ้ามาไม่ได้ก็แล้วไปเถิด เพื่อจะไว้ชั้นเชิงให้เปนสง่า

เห็นว่าศุภอักษรฉบับนี้ จะเปนฉบับหลังที่สุด เพราะข้อความนั้นเอื้อมเข้าไปเปนทางจะขึ้นไปรักษาเมืองล้านช้าง ทีเจ้าล้านช้างก็จะเปนที่ระแวงใจ อิกประการหนึ่งข้างฝ่ายกรุงในเวลานั้นเอง อแซวุ่นกี้ก็ยกเข้ามาตีเมืองพิศณุโลกย์ เห็นจะเปนยุติสงบเรื่องกันตอนหนึ่ง

มาเกิดขึ้นใหม่ก็เรื่องพระวอ ในปีจอสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๔๐ ซึ่งทัพกรุงยกขึ้นไปตีได้เมืองล้านช้าง แลราชประยุรวงษ์พระแก้วพระบางลงมา

๖๔ ฝ่ายผู้รักษากรุงเก่าเชื่อถือมหาดาว่า (เปน) ผู้มีบุญ จะมารื้อถ่ายการน้ำ จะขนทรัพย์ขึ้นสร้างวัดพระราม ผูกโครงช้างเผือกผู้งาดำ ผ้าขาวหุ้มโครง ผ้าดำหุ้มงา เพลาเย็นรอน ๆ ชูรูปช้างไว้วัดถะมุฆราช (ธรรมิกราช) คนที่ไม่รู้ด้วยในกลเชื่อถือมาก
๖๔ เรื่องมหาดาทำกลโกหกได้ความพิศดารออกไป ชื่อวัดซึ่งเขียนว่าถมุฆราชนี้ คือ วัดธรรมิกราช

๖๕ เมืองมือด่างโกหกอยู่วัดสังฆจาย ขึ้อน้ำยาเสน่ห์ล่วงอาญาจักร หม้อละ๕๕ ไปประสมมหาดาวัดพระราม ได้แจกลงมาถึงข้างใน วิเศทต้นเถ้าแก่แม่เจ้าได้ทาด้วยหลายคน ผู้รั้งกรมการหลงเชื่อถือหมด จะได้รื้อถ่ายการน้ำก็หามิได้ มหาดาคิดล่อลวงถ่ายเททรัพย์ผู้เชื่อถือมาบุรณทำบุญด้วยเปนอันมาก จนได้ปิดทองพระเกือบแล้ว
๖๕ เมืองมือด่างนี้เปนหมออิกคนหนึ่ง ไม่มีปรากฎในพงษาวดาร ซึ่งเรียกเมืองมือด่างเฉย ๆ นี่เปนอย่างลัทธิที่เคยมี แก่แล้วจะไปเรียกอ้ายก็สงสาร เปนผู้สมรู้กับอ้ายมหาดา

๖๖ กิติศัพท์รู้ลงมาถึงท่านราชาคณะ พระพนรัตวัดระฆังถวายพระพรรับสั่งให้นิมนต์มหาดาลงมาณวัดแจ้ง ให้ชุมนุมสงฆ์ไล่เลียงดูถามกิจสมณะมหาดาว่าจะบุรณวัดที่ชำรุดพม่าเผาเสีย จะบุรณปฏิสังขรณ์พระวิหาร พระอุโบสถ พระพุทธรูป เจดียฐานขึ้นอย่างเก่าโดยสติปัญญา พระพนรัตถวายพระพร แผ่นดินต้นก็เห็นด้วย รับสั่งให้มหาดาขึ้นไปสร้างวัด อิ่มเอิบกำเริบอิทธิฤทธิ์ว่าจะฆ่าไม่ตาย ได้กลับขึ้นไป ผู้คนหลงใหลเชื่อว่ามหาดามีบุญจริง จะขี่ช้างเผือกผู้งาดำขึ้นปราสาทสุริยาอำมรินทร์
๖๖ ข้อที่เรียกมหาดาลงมาชำระแล้ว หลงเชื่อปล่อยให้กลับขึ้นไปใหม่ นี่ไม่ได้ลงในพงษาวดาร

๖๗ เมื่อมหาดากลับขึ้นไป รับสั่งให้สุริยภักดีธรมาแตงขึ้นไปฟังดูแยบคาย ว่าจะศรัทธาจริงฤๅจะคิดเปนการแผ่นดิน ดูแยบคายให้แน่ สุริยภักดีธรมาแตง เพลาสงัดถือดาบเดินขึ้นไปบนปรางค์วัดพระราม เห็นมหาดานอนตื่นอยู่ในปรางค์แต่สองคนกับที่เรียกพระท้ายน้ำ มหาดาตกใจกลัวยกมือคำนับผิดกิจสมณะ เขาซักว่าได้เงินทองเอาไปเสียไหน มหาดาว่าถ่ายเทกันเก่าไปใหม่มา เห็นเปนกลโกหกแน่กลับลงมาทูล
๖๗ สุริยภักดีธรมาแตง แปลไม่ออก จะเปนพระสุริยภักดีคนหนึ่ง พระยาธรมาแตงคนหนึ่ง ก็ไม่ใช่ บางทีจะเปนพระสุริยภักดีคนนี้ เปนบุตรพระยาธรมาแตงได้ฤๅอย่างไร ข้อที่ว่าถ่ายเททรัพย์เก่าไปใหม่มา ดูเหมือนจะหมายความว่าเงินที่ได้รับมาแล้ว เอากลับคืนไปให้เข้าเรี่ยรายอิก เพื่อจะให้ปรากฎว่ามีคนนับถือมาก ล่อให้คนนับถือตาม

๖๘ จึงรับสั่งให้เจ้าลูกเธอกรมอินทรพิทักษ์ขึ้นไปจับ เธอเมตตาสัตว์ที่หลงทำบุญเชื่อถือมหาดาให้ฝีพายกระทุ้งโห่ร้องขึ้นไป ที่ได้ยินเสียงอื้ออึงหนีได้มาก ที่ยังอยู่ในบริเวณวัดนั้น จับส่งลงมา ทั้งผู้รั้งกรมการกรุงเก่าข้าราชการที่อยู่แขวงกรุงหลงเชื่อจับส่งลงมาหมด รับสั่งว่าตั้งเดโชท้ายน้ำจตุสดมภ์ ยังขาดแต่พระยายมราช (พระยายมราชของเรา) อยู่ในระหว่างโทษ ฝากไปกับมหาดา วิเศทต้นเถ้าแก่ยายเลี้ยงที่ได้ทายาเมืองมือด่าง ล่วงอาญาจักรไปประจบมหาดา รับสั่งให้ประหารชีวิตรเสียด้วยกัน แต่มารดาเจ้ากับอยู่งาน ๔ คนด้วยกัน ลงพระอาญาคนละร้อยจำไว้
๖๘ กรมหมื่นอินทรพิทักษ์ขึ้นไปจับมหาดานี้ก็ไม่ปรากฎ แต่ข้อที่ใจดีนั้นน่าจะถูกต้อง สังเกตดูเจ้าคนนี้เปนคนอ่อนต้องรับโทษทัณฑ์ก็มาก การทัพศึกก็ดูไม่เข้มแขง ในจดหมายบานแพนกที่ลงในหนังสือเทศาภิบาล เรียกเปนสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ เจ้ากรุงธนบุรีจะเห็นอย่างไรอยู่ จึงได้คิดจะเอาหลบออกไปเปนเจ้ากรุงกัมพูชา ยกเจ้าฟ้าเหม็นขึ้นเปนเจ้าฟ้าสุพันธุวงษ์ ดูเหมือนจะเห็นการภายในว่าจะไปไม่ตลอด แลดูพระพุทธยอดฟ้า ไม่ถือว่าเปนสำคัญอันใดในเจ้าองค์นี้ เมื่อเวลายกทัพออกไปเมืองเขมรด้วยกัน พร้อมกับเจ้าบุญจันท์ กรมขุนรามภูเบศร์ ให้จับเจ้าบุญจันท์สำเร็จโทษ แต่เจ้าจุ้ยกรมขุนอินทรพิทักษ์นี้ ให้แต่เขมรล้อมไว้เท่านั้น ก็แหกหนีเข้าเมืองปราจินได้ แต่ครั้นเมื่อไพร่พลทราบว่าเปลี่ยนแผ่นดินทิ้งเสีย ก็พากันหนีขึ้นไปกับพระยานครราชสีมาเก่า ซึ่งถูกเปลี่ยนสำหรับให้กรมพระราชวังหลังขึ้นไปเปนผู้สำเร็จราชการเมือง พากันไปอาไศรยอยู่ที่เขาน้อยใกล้ปัถวี ทีจะไปอยู่นานไม่เร็วนัก ถึงปลูกต้นหมากรากไม้ไว้ ครั้นได้ตัวลงมาก็ทรงพระกรุณาโปรดจะไม่ประหารชีวิตร แต่หากตัวไม่ยอมอยู่ เห็นจะเปนคนอ่อนมากจนไม่น่ากลัวอันตราย

๖๙ เจ้าฟ้ากระษัตริย์ศึกเข้าเมืองได้ณวัน ๒ ๓ฯ ๑๐ ค่ำ เจ้าเมืองหนี ได้พระแก้ว พระบาง
๖๙ ความตรงนี้เอาเรื่องมหาดาแทรกกลาง เรื่องจึงได้แขวนอยู่ เจ้าฟ้ากระษัตริย์ศึกไปล้อมเมืองเวียงจันท์ อยู่จนวัน ๒ ฯ ๑๐ ค่ำ จึงได้ ๆ เมือง เจ้าบุญสารเจ้าเมืองล้านช้างหนี ได้พระแก้วพระบาง

๗๐ พระไอยกาเข้าเมืองได้ ๓ วัน เจ้าลูกทรงครรภ์ประสูตรเจ้า ณวัน ๖ ฯ ๑๐ ค่ำ ประสูตรเปนพระราชกุมาร ประโคมแตรสังข์ ลั่นฆ้องไชย แมงมุมทั้งไข่จิ้งจกตกพร้อมกันแมงมุมอนิจกรรม จิ้งจกไปได้ ๑๒ วันเจ้าแม่สิ้นพระชนม์
๗๐ เจ้าฟ้ากระษัตริย์ศึกพระไอยกาเข้าเมืองเวียงจันท์ได้ ๓ วัน ข้างนี้เจ้าลูกประสูตร นี่กล่าวโดยความชื่นชมยินดีสนิทสนม เจ้าลูกองค์นี้ คือสมเด็จพระเจ้าปฐมบรมไอยิกาเธอ ทีท่านผู้แต่งหนังสือนี้ จะได้ไปอยู่ที่นั้น เหตุด้วยเปนหลาน จึงรู้เรื่องแมลงมุมแลจิ้งจกตก แลรู้เรื่องสิ้นพระชนม์ใน ๑๒ วัน

๗๑ ส่วนเจ้าลูกให้พระพี่นางเธอเอาไปเลี้ยง ให้นามเจ้าสุพันธุวงษ์
๗๑ คำที่เรียกว่าพระพี่นางในที่นี้ เปนข้อสงไสยอันหนึ่ง ซึ่งยังจะมีต่อไปในข้อที่ลงโทษภายน่า ว่าจะเปนพระพี่นางของเจ้ากรุงธนบุรี ฤๅสมเด็จพระเทพสุดาวดี สมเด็จพระศรีสุดารักษ์ไว้วินิจฉัยต่อไป แต่ข้อซึ่งต้องจดลงไว้ว่าประโคมในเวลาประสูตร แลนามสุพันธุวงษ์ เพื่อจะให้รู้ว่าเทียบที่เจ้าฟ้า

๗๒ ศพนั้นก่อกุฎิ์ไว้วัดบางยี่เรือ ให้ประโคมทุกเพลา ณเดือนอ้ายมีศุภอักษรขึ้นไปถึงเจ้าฟ้ากระษัตริย์ศึก ว่าสำเร็จการศึกแล้วให้กลับลงมา บุตรนั้นเสียแล้วยังแต่หลานเปนผู้ชาย แล้วรับสั่งให้หาเจ้านครด้วย
๗๒ การพระศพสมเด็จพระเจ้าปฐมบรมไอยิกาเธอ ซึ่งเปนพระมารดาเจ้าฟ้าเหม็นองค์นี้ มีหมายว่าจุลศักราช ๑๑๔๒ ปีชวดโทศก มีหมายเวรนายควรรู้อัศว์ ว่าเจ้าพระยาจักรีรับรับสั่งใส่เกล้า ฯ สั่งว่าจะได้พระราชทานเพลิงพระศพพระมารดาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ณวัดบางยี่เรือนอก ให้ทำการเมรุเปนอย่างพระศพเจ้าฟ้า แลเครื่องการพระศพครั้งนี้ เจ้าพระยาจักรีให้ช่างทำสังเคดเอก ฉัตรราชวัตรหีบบุทองอังกฤษทั้งสิ้น แลโรงพิเศษทิมพระสงฆ์สังเคตสามสร้าง แลโขนโรงหนังรำ ระทาดอกไม้เพลิงต้นกัลปพฤกษ์ การทั้งปวงเหมือนอย่างพระศพกรมขุนอินทรพิทักษ์ พระเจ้านราสุริวงษ์ จะได้พระราชทานเพลิงพระศพพระมารดาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ณะเดือน ๗ ปีวอกโทศก หลวงศรีกาฬสมุดให้ตัวอย่าง มีรูปเมรุ ในงานเมรุคราวนี้ พระราชทานเงินโรงการเล่นขึ้นทุก ๆ อย่าง

๗๓ เจ้าฟ้ากระษัตริย์ศึกทราบแล้ว เร่งรีบการที่จะส่งพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกฎลงมา ประทับ (รอน) แรมมาถึงกรุงเก่า ณวันเดือนสี่ รับสั่งให้ตั้งพลับพลาที่ประทับ ณบางธรณีสวนมปราง
๗๓ การรับพระแก้วมรกฎมีในหมายรับสั่งเหมือนกัน เริ่มว่าณวัน ๓ ฯ ๓ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๑ ปีกุนเอกศก เสด็จออกท้องพระโรง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ เสด็จขึ้นไปรับพระแก้วมรกฎ (เสด็จ) ณวัน ๕ ฯ ๓ ค่ำเพลาตี ๑๑ ทุ่ม ถึงท่าเจ้าสนุกณวัน ๖ ฯ ๓ ค่ำ ครั้นณวัน ๓ ๙ฯ ๓ ค่ำ พระแก้วมาถึงท่าเจ้าสนุก ครั้นรุ่งขึ้นณวัน ๔ ๑๐ฯ ๓ ค่ำ ปีกุนเอกศก ตั้งการสมโภช ให้มีเครื่องเล่น ต้นกัลปพฤกษ์ ๓ วัน ๓ คืน กลางวันมีลครหลวงวิชิตณรงค์หนึ่งโรง ช่องระทา ๓ โรง เพลงนายอ้นนายดีหนึ่งวง ปรบไก่นายแก้ว อำแดงนุ่นหนึ่งวง ญวนหก กลางคืนหนังโรงใหญ่พระราชสุภาวดีโรงหนึ่ง หมื่นแก้วโรงหนึ่ง ต้นกัลปพฤกษ์วันละ ๔ ต้น ๆ ละ....(๑)..... ทั้ง ๓ วัน เปนเงิน....(๑๒).... ดอกไม้มีระทา ๔ ระทา จุดทั้ง ๓ คืน๑๐

ครั้นรุ่งขึ้น ณวัน ๗ ๑๓ฯ ๓ ค่ำ เพลาเช้า แห่พระแก้วพระบางไปลงเรือต้นตพานเรือกเก่าฟากตวันตก เปนเรือพระที่นั่ง ๑๓ วา ทรงพระแก้วลำหนึ่ง เรือพระที่นั่ง ๑๕ วา ซึ่งถวายพระสงฆ์วัดชลัก ทรงพระบางลำหนึ่ง โขมดยาทองทึบใส่พระคำภีร์ลำหนึ่ง เรือคู่แห่พระราชาคณะ โขมดยาใหญ่ ๔ โขมดยาน้อย ๓๓ รวมเรือโขมดยา ๓๗ เรือศีศะนก ๑๑ เรือพระสงฆ์กราบ ๑๑ รวมเรือพระ ๕๗ ลำ เรือดั้งมีลครแลพิณพาทย์ครบลำ ๖ เรือกราบขึ้นไปรับพระแก้วพระบาง ๒ ลำ เรือพระที่นั่งกรมขุนอินทรพิทักษ์ลำหนึ่ง เรือตามเสด็จในกรม ๖ ข้าทูลลออง ฯ ๑๖ รวม ๒๒ รวมเปนเรือขึ้นไป ๒๕ ลำ เรือกราบกลับลงมาแต่กองทัพ เรือแฝง ๖ เรือข้าทูลลออง ฯ ๒๐ รวม ๒๖ ลำ รวมเรือกราบข้างฝ่ายคฤหัศ ๕๑ ลำ รวมเรือแห่ทั้งปวง ๑๑๕ ลำ

แห่ลงมาประทับแรมขนานน้ำ ประจำท่าพระราชวังหลวง (กรุงเก่า)

ครั้นรุ่งขึ้น ๑ ๑๔ฯ ๓ ค่ำ แห่มาประทับแรมอยู่ที่ประทับสามโคก ครั้นรุ่งขึ้นวัน ๒ ๑ฯ ๔ ค่ำ ถึงพระตำหนักบางธรณีเพลาค่ำวัน ๑ ๑๔ฯ ๓ ค่ำ ณวัน ๒ ฯ ๔ ค่ำ ให้จุดดอกไม้เพลิง ๒ คืน มีดอกไม้รุ่ง ๔ ขด ฝอยทอง, กังหัน, ช่อม่วง, แลดอกไม้น้ำ,

๗๔ ณวัน ฯ ๕ ค่ำ ลุศักราช ๑๑๔๒ ปีชวดโทศก รับสั่งให้ข้างในลงเรือประพาศ ๔ ลำ ข้างน่า ๔ ลำ ให้เจ้านครแต่งประพาศ ๒ ลำ ๖ ลำด้วยกัน ให้พร้อมลำแต่ตีสิบเอ็ด
๗๔ เรือประพาศที่กล่าวไว้ในนี้แปลว่าเรือดอกสร้อยศักรวา เช่นเขาแต่งว่า “ศักรวามาพร้อมเรือประพาศ” ข้อความที่มีในร่างหมายว่าด้วยเสด็จขึ้นไปรับ วันคลาศเคลื่อนกันกับที่ท่านจดไว้นี้ แต่ควรจะเชื่อหมายรับสั่งเปนแน่ มีข้อความในหมายรับสั่งนั้นว่าดังนี้

“ครั้น ณวัน ๓ ฯ ๔ ค่ำ เสด็จขึ้นไปรับพระแก้วมรกฎ ณพระตำหนักบางธรณี ครั้นเวลาบ่าย ๓ โมง ฯทรงฯ ให้แห่ลงมานครธนบุรี กระบวรแห่น่าเครื่องเล่นโขนลงสามป้านหลวงรักษาสมบัติหนึ่ง งิ้วลงสามป้านพระยาราชาเศรษฐีหนึ่ง หลวงรักษาสมบัติหนึ่ง ๒ ลำ ลครไทยหมื่นเสนาะภูบาลลำหนึ่ง หมื่นโวหารภิรมย์ลำหนึ่ง ลครเขมรหลวงพิพิธวาทีลงเรือสามป้านลำหนึ่ง ปี่กลองจีนหลวงโชฎึกลำหนึ่ง ญวนหกลงเรือญวนลำหนึ่ง หุ่นลาวลงเรือกุแหละลำหนึ่ง ชวารำหน้าลำหนึ่ง มโหรีไทยหลวงอนุชิตธารา มโหรีฝรั่งหลวงศรียศ มโหรีเขมรพระองค์แก้วลำหนึ่ง”

“เรือดั้งเรือโขมดยาลงมาชักเรือลครรำ ๓ รามัญลำหนึ่ง ปลายเชือก ๒ หลัก สามป้าน ๔ คู่ชัก เรือพระที่นั่งทรงหนึ่ง เรือแฝง๑๑ ๘ เรือพระเจ้าลูกเธอ ๒๓ เรือคู่แห่ชัก ๘๔ รวมเรือกราบ ๑๑๒ ลำ แห่หลังเรือเครื่องเล่นงิ้วญวน ๒ ลำ เรือกราบแห่ ๑๖ รวม ๑๙ รวมเปนเรือขึ้นไปรับถึงบางธรณี ๑๕๔ ลำ บรรจบกับที่แห่ลงมารวมเปนเรือ ๒๔๖ ลำ”

พระแก้วมรกฎมาขึ้นที่ตพานป้อมต้นโพธิ์ปากคลองนครบาล คงจะอยู่เยื้องเหนือน่าพระอุโบสถเดี๋ยวนี้ สัศดีเกณฑ์ให้ตั้งราชวัตรฉัตรเบญจรงค์รายทางแลล้อมรอบโรงพระแก้ว ตั้งกระบวรแห่มีเครื่องสูงกลองชะนะคู่แห่ ๔๐ แห่เข้าประตูรามสุนทรมาไว้ในโรง

๗๕ เรือข้าราชการสวนเรือพระที่นั่งเจ้าคันธวงษ์ล่มน่าวัดระฆังพี่เลี้ยงทั้ง ๔ รับเสด็จไว้ได้
๗๕ เจ้าคันธวงษ์คนนี้ไม่รู้ว่าใคร สุพันธุวงษ์เห็นจะไม่เรียกผิด เพราะเปนหลาน วัดระฆังเวลานั้นเรียกวัดบางว้า ที่เรียกวัดระฆังเรียกตามประจุบันเวลาเล่าเรื่อง

๗๖ พอสว่างเรือประพาศข้างใน ถึงน่าวัดไชยชนะสงคราม
๗๖ วัดไชยชนะสงครามนี้ เรียกตามเวลาที่เขียนหนังสือ ไม่ใช่เวลาเมื่อเกิดเหตุเหมือนกัน

๗๗ ดวงพระสุริยเยี่ยมเพียงปลายไม้ ฤกษ์บนนั้นวิปริต รูปเมฆเปนอาวุธ ผ่ากลางดวงพระอาทิตย์เปนอัศจรรย์
๗๗ คงจะได้เห็นกันว่าเปนลาง แต่เห็นจะยังไม่ใช่ลางแผ่นดินแผ่นทรายทีเดียว เปนลางจะถูกเฆี่ยนถูกฆ่ากันมาก

๗๘ พอสายงายถึงพร้อมกันที่ประทับ ทราบว่าเรือพระที่นั่งพระองค์เจ้าคันธวงษ์ เรือข้าราชการสวนเรือเจ้าล่มพี่เลี้ยงทั้ง ๔ รับเสด็จไว้ได้ กริ้วบโทนพัน (พานท้าย) ที่นั่ง ให้ลงพระราชอาญาคนละร้อย ฝีพายคนละห้าสิบ
๗๘ คำที่ว่าบโทนพันที่นั่ง บโทนพานท้ายเรือพระที่นั่งเสียดอกกระมัง

๗๙ ขุนนางบรรดาตามเสด็จ ให้ลงพระราชอาญาภรรยาแทนผัว ๆ จะได้แห่พระแก้ว
๗๙ ถึงไปแห่ก็ไม่สนุกเต็มที

๘๐ เสด็จกลับรับพระแก้วพระบางลงมา เรือประพาศดอกสร้อยสักรวา มโหรีปี่พาทย์ลครโขนลงแพลอยเล่นมาตามกระแสชลมารค พยุหยาตรากระบวนเรือ ประทับท่าวัดแจ้งเชิญพระแก้วขึ้นทรงพระยานมาศ แห่มาณโรงพระแก้ว อยู่ที่ท้องสนาม
๘๐ แห่พระทางเรือตามที่ว่านี้ ลครโขนเล่นมาในเรือ ไม่ใช่ทอดทุ่นน่าพระตำหนักแพ ซึ่งเรือฤๅแพพระมาจอดฉลองอย่างเช่นทำกันในชั้นหลัง ๆ ร้องรำกันลงมาในกระบวนแห่ทีเดียว ดูก็จะครึกครื้นอยู่ ถ้าหากว่าไม่เงียบเหงาด้วยเรื่องเมีย

๘๑ พลับพลาเสด็จอยู่กลาง ลครผู้หญิงลครผู้ชายอยู่คนละข้าง เงินโรงผู้หญิง....(๑๐)....เงินโรงผู้ชาย....(๕)....มี ๗ วัน ต้นกัลปพฤกษ์ ๔ ต้น ๆ ละ....(๑)....บรรดาการมหรศพสมโภชพร้อม เครื่องเล่นดอกไม้พุ่มสะทาถ้วนเสร็จ
๘๑ การฉลองพระแก้วแลพระราชกุศล อยู่ข้างจะได้ความกว้างออกไป พลับพลานั้นเห็นจะเปนพลับพลายาวปลูกขึ้นใหม่ ทอดพระเนตรได้ทั้ง ๒ ด้าน แต่ข้อความในหมายรับสั่งยังมีพิศดารขึ้นไปกว่านั้น คือพระแก้วลงมาถึงโรงแล้ว ไม่ได้สมโภชเปนการใหญ่ทันที จะเปนด้วยการปลูกสร้างฤๅตกแต่งยังไม่เรียบร้อยอย่างหนึ่ง จึงรอไว้สมโภชพร้อมกับวิสาขบุรณมี ในระยะที่ว่างนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พิณพาทย์ไทยพิณพาทย์รามัญ แลมโหรีไทย มโหรีแขก ฝรั่ง มโหรีจีน ญวน เขมร ผลัดเปลี่ยนกันสมโภช ๒ เดือนกับ ๑๒ วัน พระราชทานเบี้ยเลี้ยงผู้ที่มาเล่นนั้น หมื่นราชาราชมโหรีไทยชาย ๒ หญิง ๔ พระยาธิเบศรบดีมโหรีแขก ๒ มโหรีฝรั่ง ๓ พระยาราชาเศรษฐีองเชียงซุน มโหรีญวน ๑๕ พระยาราชาเศรษฐีจีน มโหรีจีน ๖ พระยารามัญวงษ์มโหรีมอญ คนเพลงชาย ๒ หญิง ๔ พิณพาทย์ ๙ หลวงพิพิธวาที มโหรีเขมรชาย ๔ หญิง ๓ หมื่นเสนาะภูบาลพิณพาทย์ไทย ๕ รามัญ ๕ ลาว ๑๒

ครั้น ณวัน ๗ ฯ ๖ ค่ำ เสด็จออกพลับพลายก ฯทรงฯ ให้เรียกเครื่องเล่นคู่มวยคู่ปล้ำ กระบี่กระบองทั้งปวงให้เล่นทอดพระเนตรก่อนการสมโภช ๔ วัน พระราชทานรางวัลถึง....(๒๕)-(๓)....

งานสมโภชแท้นั้นได้เริ่มต่อวัน ๔ ๑๓ฯ ๖ ค่ำ เปนต้น งานติดต่อกันไป ๗ วัน ๗ คืน การสมโภชได้แบ่งออกตั้งทั้ง ๒ ฟากลำน้ำเจ้าพระยา เหตุด้วยเวลานั้นไม่มีกำแพงข้างริมน้ำ ตั้งรทาฟากละ ๑๐ ต้น หว่างรทามีโรงรำ ๙ โรงทั้ง ๒ ฟาก ในโรงรำฟากตวันออกนั้น มีโขน ๓ โรง รำหญิง ๒ โรง งิ้ว ๑ โรง หนังกลางวัน ๑ โรง หุ่นลาว ๒ โรง กลางคืนมีหนังไทยหว่างรทา ๙ โรง หนังจีน ๒ โรงรวม ๑๑ โรง โรงงานมหรศพใหญ่ฟากตวันออก มีหุ่นลาวโรงหนึ่ง ลครเขมรโรงหนึ่ง งิ้วจีนโรงหนึ่ง งิ้วญวนโรงหนึ่ง รวม ๔ โรง การเล่นที่กันมาเล่นฝังตวันออก เปนงิ้วเปนหุ่นลาวลครเขมรเช่นนี้ เพราะเหตุที่ฟากตวันออกเปนหมู่บ้านญวนแลจีน เช่นตลาดสำเพ็ง มีผู้คนมาก

ส่วนข้างตวันตก โรงรำหว่างรทา ๙ โรง นั้นมีโขน ๒ โรง รำหญิง ๒ โรง งิ้ว ๑ โรง หุ่นมอญ ๑ โรง โรงงานมหรศพใหญ่ ลครข้างใน ๑ โรง เงินโรงวันละ....(๑ ) - (๑๐)....โขนโรงใหญ่ ๒ โรง ลครผู้ชายโรงใหญ่ ๑ โรง เทพทอง ๑ โรง รวม ๕ โรง

หกไม้สูงสามต่อต้นหนึ่ง หกไม้ลำเดียวสามต้น ไต่ลวดสายต่ำหนึ่ง ญวนหก คนต่อเท้า ๒ คน ปรบไก่วงใหญ่ ๑ วง โมงครุ่ม รเบง ชวารำหน้า ตรีวิไสย กระอั้วแทงควาย จีนเงาะ กลางคืนหนังหว่างรทา ๑ โรง หนังโรงใหญ่ ๒ โรง มังกร ญวนรำโคม เวลาเย็นมีมวยน่าพลับพลา พระราชทานรางวัลใน ๗ วันนั้นถึง....... [Math Processing Error]

ต้นกัลปพฤกษ์ทิ้งทานฟากตวันออก ๔ ต้น ฟากตวันตก ๘ ต้น รวมวันละ ๑๒ ต้น ๆ ละ....(๑ )....

เขารวมเงินในการรับพระแก้ว ตั้งแต่เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ ขึ้นไปรับที่ท่าเจ้าสนุกวัน ๕ ฯ ๓ ค่ำ มาจนถึงเสร็จการสมโภชวัน ๔ ฯ ๖ ค่ำ ทั้งค่าปลูกสร้าง ค่าเลี้ยง เงินงาน ดอกไม้เพลิง รวมกัน.......[Math Processing Error] ๒ ในท้ายจดหมายนั้นเขียนไว้ว่า “พระราชทานน้ำอฤตย กล่าวครื มรรค ๔ ผล ๔ พระนิพพาน ๑ สัถถาเทวามนุสานัง” ดูปลื้มมาก


๑๐ ถ้าผู้ใดได้เห็นต้นตำราจะเห็นรอยหรดาลจาง ๆ เช่นนี้....[Math Processing Error] จะว่าข้าพเจ้าคัดเพิ่มเติมเอาเองตามชอบใจ ขอให้ดูยอดเงินทิ้งต้นละตำลึงวันละ ๔ ต้น เหตุใดเงินจึงจะเปน ๑๒ ชั่ง ยอดนอกก็ถูกกันหมด การที่เปนเช่นนี้ เพราะเดิมเปนตัวดินสอมาลากเส้นหรดาล แต่ผู้ลากอวดรู้ตามแบบนักเรียนใหม่ ๆ ซึ่งว่าหนังสือเก่าอ่านไม่ออก
๑๑ เรือแฝงนี้เปนเรือประเทียบ



หัวข้อ: Re: จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 26 สิงหาคม 2562 15:43:29
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/14850401961141_spd_2012090285139_b_1_320x200_.jpg)

๘๒ (เงิน) วันละ ๑ .......[Math Processing Error]แจกทานคนแก่อายุ ๖๐.......[Math Processing Error]อายุ ๘๐ .......[Math Processing Error]อายุร้อย .......[Math Processing Error]สมโภชถ้วนสัตวาร
๘๒ เงินเพียงวันละชั่งเดียว แจกคนอายุ ๓ ชั้นนี้ คนแก่เห็นจะมีน้อยเต็มทีจึงได้พอ

๘๓ ให้มีลครผู้หญิงประชันกับลครเจ้านครวันหนึ่ง เงินโรง.......[Math Processing Error]ลครหลวงแบ่งออกประชันกันเอง โรงละ.......[Math Processing Error]มีอิก ๓ วัน
๘๓ ในจดหมายที่ได้ยกมาลงไว้มีแต่มีมโหรีก่อนงาน ซ้อมมวยก่อนงาน ในหนังสือกรมหลวงนรินทรเทวีนี้ กลับได้ความว่ามีท้ายงาน ต่อออกไปอิกถึง ๓ วันดังนี้ ลครเจ้านครนี้ดูออกจะตื่น ๆ กันอยู่อย่างไร แต่เริ่มแรกจับตัวได้ก็กล่าวถึงได้ลคร เมื่อกลับออกไปเปนเจ้านครก็กล่าวถึงเรื่องลคร จะฉลองพระแก้วก็ต้องให้หาตัวเจ้านครเข้ามา เพื่อจะให้เอานางลครลงเรือประพาศ แลเล่นสมโภชพระแก้ว ถึงให้มาเล่นประชันกับลครหลวง ทีลครของเจ้านครจะดีแลน่าจะไม่ใช่ลครชาตรี ที่จะดีเพราะไม่ได้บ้านแตกเมืองเสียด้วยพม่า ยังคุมโรงกันติดอยู่ ส่วนลครหลวงนั้นคงจะพึ่งผสมขึ้นใหม่ บทลครเจ้านครคงเปนบทที่ได้ไปจากกรุงเก่า แต่เมื่ออ่านเวลานี้คล้ายลครชาตรี แลเห็นว่าเปนชาวนอกคัดเขียนออกไป ได้คัดตัวอย่างตามฉบับเดิมไว้พอให้แลเห็น

“มาจ่กล่าวบทไป เถึงสุริวํงเทพใทเรืองษี สีอํงลวนทรํงธรนี ทุกบุรีตรีช่วาใมเทยิมทัน ทาวรวมบิตุเรดมานดา วิดทยายิงยวดกวดขัน อันพระเชตถาภูทรํงทำ งามลำเทวาเนรมิด ผิวภองออ่รสุนทร่าโฉม ประโลมโลกเลิดลำล่ลานจิด ดงงพระนะราวํงทรํงฤทธ ทุกทิดเกรงเดดกระจายจอน”

กล่าวเมืองที่แปลกซึ่งเห็นปรากฎว่ามีแต่กรุงเก่า ไม่มีในกรุงเทพ ฯ

“โรงเคริองโรงแสงใภยจิด เพงพิดเรยิงรันทรงสายขวา ที่นังโถงโรงสุวันอ่ลังกา สาลาใญด่าดภูดูงาม อันที่นังทรํงปีนทังซายขวา เปนสง่าเอกเอยิมเหยิมหาน เก้ยสํงสุมํนทาพิเสกชาน โรงอาลักเรยิงตามเปนลันมา”

หนังสือนี้ที่หอสมุดเขาว่าเปนพระราชนิพนธ์พระพุทธยอดฟ้า แต่ข้าพเจ้าเห็นมิใช่ เปนหนังสือบทลครกรุงเก่า ชาวเมืองนครศรีธรรมราชคัดไป สำเนียงจึงได้กวัดแกว่ง ถ้าหากว่าจะได้เปนพระราชนิพนธ์แก้ไข ก็มีแปลกอยู่แต่ที่ไม่ใช้น่าพาทย์คาบลงที่คำหนึ่งฤๅคำสาม นึกสงไสยว่ากรุงเก่าก็คงจะไม่ใช้กันมาบ้างแล้ว

แต่พระราชนิพนธ์เจ้ากรุงธนบุรีนั้นผิดจากนี้มาก มีเล่ากันว่าดังโฮกฮากหลายตอน เมื่อจวนจะคลั่งอยู่แล้ว พระราชนิพนธ์ที่ต้องถูกเฆี่ยนถูกตีกันมากตอนถวายลิง ว่า

“กลางวันก็ใช้กลางคืนก็ใช้ นั่งยามตามไฟตีเกลาะเคาะไม้อยู่ไม่ได้วังหนีมา”

ต้นเสียงร้องไม่ได้ถูกเฆี่ยนเสียหนักหนาจนร้องได้

ฉบับที่ได้เห็นดูไม่รุนแรงเหมึอนคำเล่าที่กล่าวมาแล้ว แต่ใช้ศัพท์ลึก ๆ รุ่มร่ามอยู่ น่าพาทย์ตามแต่จะต้องการที่ไหน ๆ ได้หมด ร้องได้คำหนึ่งก็ถึงน่าพาทย์ สามคำก็ถึงน่าพาทย์ ลักษณะที่เปนเช่นนี้ไม่ใช่เฉพาะเจ้ากรุงธนบุรี อย่างเก่าก็มีมา ส่วนที่เจ้ากรุงธนบุรีแก้นั้น มักจะปรากฎอยู่ในตอนทัพศึกแลในเรื่องอิทธิฤทธิ์วิชาไปทางนั่งพระธรรม

ตัวอย่างน่าพาทย์นึกจะเอาที่ไหนเอาที่นั่นดังนี้
“๏ ฝ่ายเทพะภาลีคมคัน เชิญพระพอรผายผรรอาษา มาจัดพลแปลงกายา เปนภาษาราชภาลี ๚

ฝ่ายเทวะท้งงนั้นบิดเบือน เหมือนหนึ่งวานรกระบี่ศรี ๚ แพละ

เหาะจากไกรลาศคิริย เข้าทำลายพิทธีทันใด ๚ เชิด กราว

เสนายักษ
๏ ฝ่ายมารซึ่งได้รักษา อหังกาเข้าบุกรุกไล่ ๚ เชิด วานร
พวกภาลีต่อชิงไชย เข้าดับไฟตีอสุรา ๚ เชิด ๒ คำ”

ตอนที่ว่าด้วยการรบทำนองเนื้อความดังต่อไปนี้
“๏ ทศกรรฐครั่นเห็นก็เดือดดาล ทยานเข้าชิงไชยศรี ปีกป้องกองหน้าเข้าราวี อสุรีผลันผลุนชิงไชย ๚ เชิด

ใหล้กระบี่ตีตามฟันฟาด ผาดโผดโจนติดกระชิดใหล้ วานรล้มตายพ่ายไป ใหล้ตามหั้มหั่นไพยรี ๚ เชิด ๔ คำ ๛

๏ พระรามก็ยอทับแดก แยกกองรุกรบยักษี ๚

๏ ฝ่ายกองคอยแอบในพนาลี ก็ตีขนาบข้างมา ๚ เชิด ๛

๏ กลับรบหมู่มารพังพ่าย ล้มตายมอศม้วยสังขา ใหล้รุกบุกบันฟันมา โกลาหะลังเปนโกลี ๚ เชิด กราวรำ ๔ คำ”
บทเข้าพระกรรมฐานร้องช้า ๒๐ คำ เหลือสติกำลังเช่นต่อไปนี้

“ช้า๏ พระมุนีจึงว่าเวรกำม์ มันทำท่านท้าวยักษี อันจะแก้ไขไปให้ดี ต่อกิจพิทธีว่องไว จึงจะสิ้นทิละสาบหยาบหยาม พยายามอะนุโลมลามใหม้ ล้างลนอะกุศลถุละใจ เข้าไปในเชาวะวิญ์ญาณ เปนศิละสุทวุทธิ หิริโดยตะทังคะประหาร คือบาทแห่งโคตระภูญาน ประหารโทษเปนที่หนึ่งไป แล้วจึงทำขึ้นที่สอง โดยเนกขัมะคลองแถลงไข ก็เปนศิลาทับรงับไป อับไพพิฦคะโอฬา อย่าว่าแต่พาละโภยไภย ปืนไฟไม่กินณะยักษา ท้งงหกสวรรคชั้นฟ้า จะฆ่าหย่างไรไม่รู้ตาย อย่าคัละนาไปถึงผู้เข็นฆ่า แต่วิญาคิดก็ฉิบหาย จะทำอย่างใดไม่รู้ตาย อุบายถอยต่ำลงมา อันได้เนกขัมะประหารแล้ว คือแก้ววิเชียรไม่มีค่า ท้งงฤทธิแลจิตระวิชา อิกกุพะนามะโนมัย กอบไปด้วยโสตรประสาทญาณ การชาติหน้าหลังลฦกได้ ถึงนั่นแล้วอันจะบันไลย ไมมีกะตัวถ่ายเดียว อย่าประมาณแต่การเพียงนี้ สามภพะธาตรีไม่คาเคี่ยว สาบไปแต่ในนาทีเดียว หมี่ทันเหลี่ยวเนตรอสุรา จะสาอไรกับรามลักษ ถึงไตรจักรทั่วทศทิศ์ษา ไม่ครันคฤๅฤทธิวิทธยา ถ้าปราถนาเจ้าเรียนเอา ๚ ๒๐ คำ ๛”

ข้อความที่เรียงลงนี้เปนความในใจเจ้ากรุงธนบุรี สำแดงออกให้เห็นชัดเจนดีนัก ที่เชื่อวิชากล้าหาญแลที่เพลิดเพลินในทางกรรมฐาน รูปร่างความคิดเปนเช่นนี้

ลครเจ้านครกับลครหลวงเล่น ก็เห็นจะพอตีรั้งกันไปคนละไม้

สังเกตดูโปรดลครมาก ไปตีเมืองฝางได้แล้ว ยังให้มารับลครขึ้นไปเล่นสมโภชพระฝาง การฉลองพระนี้ดูเจ้ากรุงธนบุรีเองจะสนุกมากกว่าคนอื่น

๘๔ ถวายเงินกัลปนาให้ซื้อทองคำเครื่องประดับพระแก้ว....... [Math Processing Error]
๘๔ พระแก้วเมื่ออยู่เวียงจันท์นั้น การตกแต่งเห็นจะไม่มีอะไรผิดจากพระธรรมดา จึงได้อุทิศเงินถวายไว้ ค่อยซื้อทองทำเครื่องประดับไป

๘๕ เสร็จการสมโภชแล้วให้ทอผ้าไตรย์เอกไตรย์ละ....... [Math Processing Error] ไตรย์ ถวายทั้งวัด
๘๕ การหาผ้าเวลานั้นจะเหลือหา จึงต้องทอ ราคาก็แพงมากอยู่ แต่คำที่ว่าถวายทั้งวัดลงไปข้างท้ายนี้ น่าจะพลาดพลั้งอย่างไรอยู่ ฤๅ “ทั้ง,” จะเปน “ทุก,” ถวายทุกวัด ฤๅสำหรับสวดมนต์ฉลองพระแก้ว

๘๖ ถวายเงินไปที่วัดชำรุดคร่ำคร่าในแขวงกรุงธนบุรี วัดละ....... [Math Processing Error] ให้เจ้าวัดจัดแจงทำเครื่องบนขึ้น บุรณปฏิสังขรณ์โดยกำลังสมณเปนหลายวัด
๘๖ วัดเห็นจะไม่มีหลังคาโดยมาก เงินนี้คงจะสำหรับทำหลังคาครอบโบสถ์เท่านั้น

๘๗ ให้ปลูกไม้ไผ่ ๑๐๐๐ ไม้แก่น ๑๐๐๐ ไว้ท่าท่านผู้มีบุญจะมาข้างน่า จะได้สร้างปราสาท ไม้ไผ่จะทำนั่งร้าน ไม้แก่นดูกในก่อตั้งเสาปราสาทปลูกไว้สำหรับผู้มีบุญจะมาพระองค์ท่านจะเหาะแล้ว
๘๗ เรื่องปลูกไม้ไผ่. ปลูกไม้แก่น เห็นบ้าพูดเปนลาง

๘๘ ให้แต่งสำเภาทรงพระราชสาส์นไปถึงพระเจ้าปักกิ่ง ว่าจะขอลูกสาวพระเจ้าปักกิ่ง ให้เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชผู้เถ้า กับหลวงนายฤทธิหลวงนายศักดิ์เปนราชทูต หุ้มแพรมหาดเล็กเลวไปมาก แต่งเครื่องบรรณาการไปกล่าวขอลูกสาวเจ้าปักกิ่ง
๘๘ เรื่องขอลูกสาวเจ้าปักกิ่งนี้ เคยได้ยินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เจ้าอยู่หัวรับสั่งเล่าให้ฟัง แต่ครั้นเมื่อค้นดูในสำเนาพระราชสาส์นห้องอาลักษณ์ จำนวนจุลศักราช ๑๑๔๓ ได้ความว่าทูตครั้งนั้นเปน ๒ สำรับ ทูตที่เชิญพระราชสาส์นคุมเครื่องราชบรรณาการตามเคยสำรับหนึ่ง แต่พระราชสาส์นนั้น ไม่ใช่ส่งของไปเจริญทางพระราชไมตรี ตามธรรมเนียมเท่านั้น มีข้อความแถมท้ายพระราชสาส์น เหมือนหนึ่งเข้าใจว่าหนังสือฉบับนั้น พระเจ้ากรุงจีนจะได้อ่านเอง

กล่าวโทษเจ้าพนักงาน ว่าเรียกค่าธรรมเนียมรับบรรณาการถึง ๓๐ ชั่ง แล้วก็ลดจำนวนบรรณาการลงเสีย หักเปนค่าธรรมเนียม แลขังทูตไม่ให้เที่ยวเตร่ แลแกล้งทูตไม่ให้กลับด้วยเรือของตัว ต้องโดยสารเรือเข้ามา ข้อความทั้งนี้พระเจ้ากรุงต้าฉิ่งทรงทราบฤๅไม่

ข้อหนึ่งเชลยที่ได้ส่งไปเมืองจีน เมื่อไม่อยากฟังเรื่องศึกพม่าแล้ว ขอให้ส่งกลับเข้ามาให้ถูกตัวถูกฝา คำที่ว่าถูกตัวถูกฝานี้ เจ้ากรุงธนบุรีชอบพูดนัก ตราตั้งเจ้านครก็ใช้ถูกตัวถูกฝา ถ้าเปนกรรมการกิมตึ๋งก็เห็นจะเปนสังฆราชผิดฝา ไม่ปรากฎว่าเชลยครั้งไรส่งไปเมื่อไร ที่จริงเชลยเหล่านี้ ก็คงตกอยู่ตามกวางตุ้งนั้นเอง

ต่อไปอิกว่าด้วยช่วยคนหาปลาเรือแตกพลัดเข้ามาบ้าง ช่วยจีนที่ลงมารบเมืองพม่า พม่าจับได้เอามาไว้เสียปลายเขตรแดนข้างใต้ กองทัพกรุงเทพ ฯ ขึ้นไปรบพม่าได้จีนเหล่านั้นมาเปนคราว ๆ หลายคราว ได้ให้เข้าสารให้เสื้อผ้าคิดเฟื้องคิดสลึง รวมเบ็ดเสร็จเปนเงิน ๔ ชั่งเศษ พระเจ้ากรุงต้าฉิ่งทราบความฤๅไม่

คราวนี้ ถวายของนอกบรรณาการ ฝาง ๑๐๐๐๐ หาบ, งาช้าง ๑๐๐ หาบ, ดีบุก ๑๐๐ หาบ, นอรมาด ๑ หาบ, พริกไทย ๓๐๐๐ หาบ, ช้างพลาย ๑ ช้าง

จะขอแต่งสำเภาบรรทุกสินค้าออกไปเที่ยวละ ๓ ลำ อย่าให้ต้องเสียค่าจังกอบ จะซื้อของที่ไม่ต้องห้าม เช่นอิฐเข้ามาสร้างพระนคร

ขอให้ช่วยหาต้นหนสำเภา จะแต่งไปซื้อทองแดงเมืองยี่ปุ่น เข้ามาทำพระนครเหมือนกัน

ข้อความทั้งนี้ว่าลงไปในพระราชสาส์นหมด พระราชสาส์นลงวันอาทิตย์ เดือน ๗ แรม ๑๑ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๓ ปีฉลูตรีศก

พระราชสาส์นทราบภายหลัง ว่าถูกคืนให้แก้ใหม่ ให้เหมือนอย่างเก่า ไม่สำเร็จประโยชน์อะไรเลย

มีหนังสือเจ้าพระยาพระคลัง ถึงจ๋งต๊กหมูอี้ ขอป้ายสำเภาสร้างใหม่ ๒ ลำ กับให้ช่วยจ้างต้นหนเปนเงินเท่าไรจะเสียให้

อิกฉบับหนึ่ง เปนหนังสือเจ้าพระยาพระคลัง ว่าแต่งให้เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช, พระยาราชสุภาวดี, พระพี่เลี้ยง, หลวงราไชย, หลวงศรียศ, หลวงราชมนตรี, นายฤทธิ, นายศักดิ, นายเวรมหาดเล็กข้าหลวง คุมสำเภา ๑๑ ลำ พาของไปถวาย จำนวนเท่าที่ว่ามาแล้วให้ลิปูต้าทั่ง ฝาง ๑๐๐๐ หาบ เหลือฝางอิก ๙,๐๐๐ หาบ ไม้ดำ ๓๐๐ หาบ ไม้แดง ๑๘๐๒ หาบ ๒๐ ชั่ง, ให้จ๋งต๊กหมูอี้ ฝาง ๕๐๐ หาบ, ไม้แดง ๕๐๐ หาบ, นายห้าง ๔ ห้าง ฝางห้าง ละ ๑๐๐ หาบ, ไม้แดงห้างละ ๑๐๐ หาบ เหลือฝาง ๑๗๐๐ หาบ, ไม้แดง ๙๐๒ หาบ, ไม้ดำ ๓๐๐ หาบ ๗๖ ชั่ง ให้ขายใช้จ่าย, ต้องการเตียบทองแดงสำหรับเลี้ยงพระ ๕๐๐ ใบ พานของคาวทองขาว ๒๕๐ ใบ หวาน ๒๕๐ ใบ หม้อทองแดงใส่ไฟ ๑๐๐ ใบ, ส่งตัวอย่างให้คุมออกไปด้วย แลให้ข้าหลวงมีชื่อเหล่านี้ซื้ออิฐส่งเข้ามาก่อน แล้วจึงให้เรือกลับไปรับทูต

ทูตสำรับเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชนี้ คงมีพระสาส์นฉบับหนึ่งต่างหาก เรื่องขอลูกสาว แต่จะซ่อนแต่งซ่อนแปลกันยังไร ไม่ได้เก็บสำเนาไว้ในห้องอาลักษณ์ทีเดียวจึงไม่ได้ความ

มีบาญชีคิดเงินอยู่ในสมุดสำเนาพระราชสาส์น ว่าถวายเจ้าปักกิ่งเปนของนอกบรรณาการ คิดราคาสิ่งของตามบาญชีที่กล่าวมาแล้ว เปนเงิน ๑๘๖๖ ชั่ง ๓ ตำลึง ๒ บาทสลึง

ให้ลิปูต้าทั่ง คิดราคาของ เปนเงิน ๕๖ ชั่ง ๕ ตำลึง

ให้จ๋งต๊กหมูอี้ คิดราคาของ เปนเงิน ๓๗ ชั่ง ๑๐ ตำลึง

ให้นายห้าง ๔ ห้าง คิดราคาของ เปนเงิน ๓๐ ชั่ง

รวมที่ส่งของไปแจกเปนเงิน ๑๙๘๙ ชั่ง ๑๘ ตำลึง ๒ บาทสลึง

เหลือสิ่งของสำหรับให้จำหน่ายใช้การ เพราะเหตุที่ไม่ได้เอาเงินออกไปจ่าย เอาของออกไปจ่ายต่างเงิน เปนราคา ๔๕๓ ชั่ง ๖ ตำลึง ๓ บาท ๒ สลึงเฟื้อง

รวมเปนสินค้าที่ได้บรรทุกเรือออกไป ๑๑ ลำครั้งนี้ เปนราคาเงิน ๒๔๔๓ ชั่ง ๑๕ ตำลึงบาท ๓ สลึงเฟื้อง

เจ้ากรุงธนบุรีไม่ได้ทราบผลของการที่แต่งทูตออกไปนี้ด้วยหมดเวลา, สังเกตดูถ้อยคำที่จดหมาย อยู่ข้างพลุ่งพลั่ง แต่ไม่ใช่บ้า

๘๙ ทรง (ส่ง) พระราชสาส์นไปแล้ว เขาฟ้องว่าญวนเขมรรู้กันคิดขบถต่อแผ่นดิน รับสั่งให้ประหารชีวิตรเจ้าน่ำก๊ก (แล) เล่าเอี๋ยลูกชาย บรรดาพวกญวนฆ่าเสียครั้งนั้นมาก
๘๙ เรื่องประหารชีวิตเจ้าน่ำก๊กนี้ คือประหารชีวิตรองเชียงซุน กับองกลัดบุตรที่เรียกว่า เล่าเอี๋ย ข้อความในพงษาวดารกล่าวแต่ว่าไม่มีความสวามิภักดิ์ คิดจะหนีกลับไปเมืองญวนจึงได้ประหารชีวิตรเสีย การที่ประหารชีวิตรนี้ดูเปนร้ายกาจมากในเวลานี้ ถ้าว่าตามคติเก่าในเวลานั้น ถือกันว่าเข้ามารู้กิจการบ้านเมืองแล้วกลับออกไปคงจะคิดกลับเข้ามาประทุษฐร้าย จึ่งถือเสียเหมือนเปนคนสอดแนม ถึงครั้งองเชียงสือ กรมพระราชวังก็ทรงพระดำริห์อย่างเดียวกัน แต่มีคำเล่าฦๅต่อกันไป จนถึงจดลงไว้เปนหนังสือในพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ก็มี ว่า “เจ้ากรุงธนนั่งพระธรรม เห็นว่าองเชียงซุนกลืนเพ็ชรลงไปไว้ ถามไม่รับจึงให้ฆ่าค้นเอาเพ็ชร์” ความที่ว่าไม่เห็นจริง เพราะไม่ได้ฆ่าแต่องเชียงซุนคนเดียว ลูกเต้าบ่าวไพร่ก็ตายด้วยกันเปนหลายคน ที่เหลืออยู่ก็ขับไล่ออกไปเสียไม่ให้อยู่ อาการกิริยาเปนกลัวทางเปนไส้ศึก จึ่งมีอยู่บ่อย เช่นจะไปทัพก็ต้องฆ่าพม่าที่ไม่ไว้ใจเสียก็มี ฆ่าทวายเสียก็มี เพราะเหตุที่ไม่น่าเชื่อเช่นนี้ ไปพบข้อความในหนังสือที่เรียกว่าพงษาวดารญวน กล่าวออกจะใคร่ชอบกลว่า “องเชียงสือ เมื่อเวลาได้นั่งเมืองไซ่ง่อน กำหนดว่าเดือน ๖ ปีฉลูตรีศกจุลศักราช ๑๑๔๓ แต่งให้ทามตีนเปนราชทูต จำทูลพระราชสาส์นกับเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวายพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา ขอเปนทางพระราชไมตรี

เวลานั้นเรือสำเภาลำหนึ่งของพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา บรรทุกสินค้าไปขายเมืองจีนกลับมาจากเมืองกวางตุ้ง ถึงน่าเมืองฮ่าเตียง ลือถูทังผู้รักษาเมืองกำปอดแลเมืองฮ่าเตียง คุมสมัคพรรคพวกออกปล้นตีเรือ ฆ่านายเรือตาย เก็บสินค้าเงินทองไป พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาทราบ จึงให้ตีทามตีน ราชทูต แล้วจำขังคุกไว้

พระองค์แก้วเขมรทูลยุยง ว่าเจ้าเมืองไซ่ง่อน ให้ทามตีนถือหนังสือลับมาถึงตงเทกซุน ให้เปนไส้ศึกจะคิดชิงเอากรุงศรีอยุทธยา พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาทรงเชื่อพระองค์แก้ว จึงให้ประหารชีวิตรตงเทิกซุนกับกลินเทียนติ๊ด กับสมัคพรรคพวก ๕๓ คนเสีย คนนอกนั้นเนรเทศให้ออกไปอยู่นอกกรุง” ข้อความที่ว่านี้ดูออกจะแยบคายอยู่สักหน่อย กล่าวต่อไปในที่อื่น ว่าญวนพวกนี้ตกมาถึงรัชกาลที่ ๑ โปรดให้คงคืนกลับเข้าไปอยู่ในกรุง คือพวกญวนบ้านบางโพธิ์

เนื้อความในท้องเรื่องของพงษาวดารฉบับนี้ ออกจะดีมีหลักถาน แต่ปีที่สอบสวนผู้แต่งไม่มีความรู้ หลงไปว่าตัวรู้ เทียบศักราชผิดตั้ง ๒๐ ปี ปรากฎว่าแต่รัชกาลกรุงเทพเปลี่ยนกันเมื่อใดก็ไม่ทราบ ซ้ำแต่งอย่างแปลหนังสือจีนมีกากหยากเยื่อ ที่ไม่มีข้อความเข้าไปปนอยู่มากนัก จึงทำให้หนังสือเสียไปเปนอันมาก

๙๐ แล้วกริ้วข้างในนางอยู่งาน ลูกขุนนางไม่ใช้ ให้เก็บลูกพลเรือนชาวตลาด ญวนงานกลางยกขึ้นไปเปนนางอยู่งาน มารดาเจ้าอยู่งานเก่า ให้เปนเข็ญใจ โทษนุ่งเล็ดงา ห่มผ้าวาสลึง
๙๐ กริ้วข้างในนี่แปลกอยู่ไม่เคยได้ยิน งานกลางเปนญวน เห็นจะเลือกญวนพุทไธมาศที่กวาดมา

๙๑ ขับเจ้าหอกลางไปอยู่ที่วังนอก
๙๑ วังนอกนี้, จะหมายว่านอกพระราชวัง คงจะต้องมีใครอยู่อิกสักคนหนึ่ง เจ้าหอกลางนี้ไม่ใช่ตระกูลอื่นยกขึ้น คงจะเปนญาติของเจ้ากรุงธนบุรีอย่างลูกพี่ลูกน้อง ฤๅเปนลูกของน้า อาจจะเปนลูกเจ้าฮั่นได้ฤๅไม่

๙๒ เจ้าลูกเธอทรงผนวช
๙๒ เจ้าลูกเธอทรงผนวช เข้าใจว่ามีองค์เดียวแต่เจาจุ้ยกรมขุนอินทรพิพักษ์ นอกนั้นยังเด็กอยู่

๙๓ แล้ว (ประทาน) เงินนอนเจ้าลูกเธอข้างในองค์ละ....... [Math Processing Error] ทองเครื่องประดับ....... [Math Processing Error] มอบให้พี่เลี้ยงนางนมคุมของไว้
๙๓ แล้ว ที่เก้ออยู่ตรงนี้ จะว่าแล้วประทานเงินนอนจะเปนอย่างไร ที่ให้พี่เลี้ยงนางนมคุมของไว้ เพราะมารดาเจ้าถูกเนรเทศลงไปเปนไพร่เสียแล้ว

๙๔ พี่เลี้ยงยกขึ้นไปเปนสมศรีเปนสมทรง ดูพระจริต (นั้น) ฟั่นเฟือนเข้า (ตั้ง) แต่ฆ่าญวน
๙๔ สมศรี สมทรง จะตรงกับที่เขมรเขาเรียกว่าหม่อมทรง แปลว่าเมียเจ้าฤๅไม่

๙๕ มีโจทย์ฟ้องว่าขายเข้าเกลือลงสำเภามาราย ๆ
๙๕ ที่นี่เขียนเต็มตามความจริง คือบอกว่าเริ่มลงมือต้องการเงิน

๙๖ จนกลางปีฉลูได้ยินข่าวราชการกัมพูชาว่าเขมรดงยกมาล้อมพุทไธเพ็ชร์ ยังแต่ลูกองค์โตนองค์เองได้ ๙ ขวบว่าราชการอยู่ เจ้าฟ้ากระษัตริย์ศึกเสด็จไปปราบกัมพูชาทัพหัวเมืองพร้อม
๙๖ เขมรฆ่านักองค์รามเสีย ฟ้าทละหะมูตังตัวขึ้นเปนสมเด็จฟ้าทละหะ ทำนุบำรุงองค์เองว่าราชการ

๙๗ กรมอินทรพิทักษลาผนวช เสด็จกับทัพหัวเมือง
๙๗ ได้ความชัดว่าที่ว่าเจ้าลูกเธอทรงผนวชนั้น คือกรมหมื่นอินทรพิทักษ์ ที่ลาผนวชนี้เอง

๙๘ อยู่ภายหลังกรุงธนบุรีเกิดโกลี พันศรี พันลา ยื่นฟ้อง ว่าขุนนางแลราษฎรขายเข้าเกลือลงสำเกา โยธาบดีผู้รับฟ้องกราบทูล รับสั่งให้เร่งเงินที่ขุนนาง (แล) ที่ราษฎรขายเข้าเกลือ ให้เฆี่ยนเร่งเงินเข้าท้องพระคลัง ร้อนทุกเส้นหญ้า สมณาประชาราษฎรไม่มีศุข ขุกเข็ญเปนที่สุดในปลายแผ่นดิน
๙๘ เรื่องห้ามบรรทุกเข้าเกลือ เปนข้อกวดขันมาก เพราะเหตุที่บ้านเมืองไม่ปรกติ เสบียงอาหารไม่บริบูรณ์ แต่เปนช่องเมื่อชำระไม่เปนธรรม ความก็ยิ่งเกิดมากขึ้น ยิ่งอยากได้ก็ยิ่งมีผู้อาสาฟ้องมากขึ้น

๙๙ เงินในคลังในหายสองพันเหรียญ ๆ ละ....... [Math Processing Error] แพรเหลือง ๑๐ ม้วน รับสั่งเรียกแต่หาไม่ได้ ชาวคลังต้องเฆี่ยนใส่ไฟย่างแสนสาหัส ท่านสงไสยว่าข้างในขโมยเงินในคลัง
๙๙ เงินเหรียญที่ว่าหายนี้ ภายหลังได้ในแผ่นดินพระพุทธยอดฟ้า อยู่ในกำปั่นบนตำหนักนั้นเอง กำปั่นนั้น วางแทนลูกหีบเหยียบขึ้นลงทางพระแกล แต่อย่างไรลืมเสีย ในเวลานั้นไม่มีใครนึกได้เลย

๑๐๐ จนพระมาตุฉา พระพี่นางเธอ
๑๐๐ พระมาตุฉาแลพระพี่นางเธอในที่นี้ จะเปนใครแน่ ถ้าหมายความว่าพระมาตุฉาของเจ้ากรุงธนบุรี ก็มีเจ้าฮั่น แต่พระพี่นางไม่ปรากฎ ถ้าจะว่าพระมาตุฉาของแผ่นดินประจุบัน คือรัชกาลที่ ๓ มี แต่พระพี่นางเธอไม่มี ถ้าหากว่าจะเปนพระมาตุฉาแลพระพี่นางเธอของเจ้าฟ้ากระษัตริย์ศึก พระพี่นางนั้นมีแน่แล้ว แต่พระมาตุฉาอาจหมายความว่าเจ้าจอมมารดากรมหลวงจักรเจษฎาทีเดียวฤๅ มีคำกระซิบกันว่า เจ้าจอมมารดากรมหลวงจักรเจษฎา เปนน้องนางของสมเด็จพระบรมราชชนนีรัชกาลที่ ๑ แต่เปนเด็กห่างกันมาก เห็นจะเปนบุตรภรรยาน้อย ได้พบร่างรับสั่งการศพแปลกอยู่ คือเปนศพโกษฐ เผาเมรุวัดสุวรรณาราม เรือที่รับศพใช้เรือศรีตั้งแว่นฟ้า ที่เมรุตั้งแว่นฟ้า ๓ ชั้น สวดสี่สร้าง กัลปพฤกษ์ ๔ ต้น มีโขนมีหุ่นมอญรำหนัง ๒ โรง แต่ฉัตรฤๅเครื่องสูง อย่างใดไม่กล่าวถึง นอกนั้นเปนอย่างศพเจ้านาย เว้นไว้แต่เครื่องประโคมไม่มีแตรสังข์ ไม่มีจ่ากลอง สังเกตดูการศพเปนศพหลวงแท้ จนกระทั่งส่งสำรับเลี้ยงข้าราชการ ตั้งโรงครัว สั่งฝักแค ๓ สาย เห็นจะเปนทรงสายหนึ่ง วังน่าสายหนึ่ง สมเด็จพระพรรวษาสายหนึ่ง ตามที่เคยมา เผาแล้วมีแปรรูป มีเครื่องส่งอังคารเปนส่วนการหลวง อังคารไปลอยไม่ใช่วัดประทุมคงคา เรียกว่าวัดสุวรรณคูหา มีข้อที่จะพึงเห็นว่าเทียบชั้นศพอย่างไรนั้น คือหมายฉบับนี้เจ้าพระยาอภัยภูธรหมาย น่าจะได้สั่งกันว่าให้หมายอย่างศพกรมขุนสุนทรภูเบศร์ จึงได้มีจดหมายลงไว้ว่า พระยาบำเรอภักดิ์ไปต่อเรียนเจ้าพระยาอภัยภูธรว่า ม่านขาวผูกเมรุสี่ทิศนั้นในข้อรับสั่งครั้งกรมขุนสุนทรภูเบศร์๑๒ไม่มี เจ้าพระยาอภัยภูธรว่า ถ้าเช่นนั้นก็ไม่ต้องใช้ หมายฉบับนี้ปีจอฉศก เปนปีที่ ๖ ในรัชกาลที่ ๒ กรมหลวงจักรเจษฎาสิ้นพระชนม์เสียแต่ในรัชกาลที่ ๑ แล้ว เรื่องราวที่กระซิบเล่ากันแลการที่ทำนี้ยกมาสำหรับให้ผู้อ่านพิจารณา ว่ากรมหลวงนรินทรเทวีอาจจะกล่าวถึงผู้นี้ ว่าเปนพระมาตุฉาฤๅไม่ ดูคเนยาก ถ้าหากว่าไม่ใช่พระพี่นางแลพระมาตุฉา ในข้อนี้เปนอันยังไม่ได้ความทั้ง ๓ ฐานตามที่กล่าวมานั้น

๑๐๑ ให้จำหม่อมเจ้านัดดาแทนมารดาเจ้า (แล) แทนอยู่งาน คนรำใหญ่ให้เฆี่ยนคนละ ๑๕๐ คนละ ๑๐๐ คนละ ๕๐ คนรำเล็ก ให้พ่อ, แม่, พี่น้อง (แล) ทาษรับพระราชอาญา....... [Math Processing Error] ๑๐๐ ให้เจ้าตัวแต่คนละ ๒๐ ที ๑๐ ทีตามรับสั่ง
๑๐๑ ที่ว่าให้จำหม่อมเจ้านัดดาแทนมารดาเจ้า ก็มัวมนท์เต็มที จะเดาว่าให้จำลูกกรมขุนอนุรักษ์สงคราม, กรมขุนรามภูเบศร์, แทนมารดาของต่างกรมเหล่านั้นฤๅ ก็ไปมีแทนอยู่งานเดิมลงไปอิก ความก็ยังมัวมาก ความต่อลงไปค่อยชัดขึ้น แต่ที่ลงท้ายเลข ๑ เหนือตีนกาแลเลข ๑๐๐ นั้น เห็นจะเปนร้อยหนึ่งอย่างคนเขียนเลขไม่เปน

๑๐๒ หลวงประชาชีพ (มี) โจทย์ฟ้องว่าขายเข้ารับสั่งให้ตัดศีศะหิ้วเข้ามาถวายที่เสด็จออกทอดพระเนตร
๑๐๒ เรื่องหิ้วหัวหลวงประชาชีพเข้ามาถวายทอดพระเนตรนี้ไม่มีในพงษาวดาร แต่ได้พบจดหมายรายวันทัพ เมื่อเสด็จอยู่เมืองพุดทายมาด ประหารชีวิตหลวงประชาชีพเรื่องฉ้อเข้าหลวง เปนการแต่ต้นแผ่นดินมาเห็นจะไม่ใช่เรื่องนี้ ในพงษาวดารมีว่าทรงตัดหัวเองด้วยพระหัตถ์ที่ต่าหนักแพก็มิใช่หลวงประชาชีพ

๑๐๓ เหตุผลกรรมของสัตว์ พื้นแผ่นดินร้อน ราษฎรเหมือนผลไม้ เมื่อต้นแผ่นดินเย็นด้วยพระบารมีชุ่มพื้นชื่นผลจนมีแก่น ปลายแผ่นดินแสนร้อนรุมสุมรากโคน โค่นล้มถมแผ่นดินด้วยสิ้นพระบารมีแต่เพียงนั้น
๑๐๓ ปรารภถึงเรื่องความเดือดร้อนในที่นี้ เปนสำนวนเก่าดี กล่าวด้วยความสังเวชแลความเคารพ

๑๐๔ ผู้รักษากรุงเก่า พระชิตณรงค์ ผูกขาดขึ้นไปจะเร่งเงินไพร่แขวงกรุงเก่าให้ได้โดยจำนวน....... [Math Processing Error] เร่งรัดไพร่เมืองยากครั้งนั้นสาหัส
๑๐๔ พระวิชิตณรงค์รับผูกขาดขึ้นไปเร่งเงินกรุงเก่า ชัดดีกว่าในพงษาวดาร เรื่องเร่งเงินนี้ ไม่ใช่เรื่องขายเข้าขายเกลือลงสำเภา มาทางกฎหมายที่ว่าขุดทรัพย์แผ่นดินได้ ต้องแบ่งเปนหลวง ในเวลาเมื่อกำลังวุ่นวายที่กรุง ใครมีอไรก็ฝังไว้ทั้งนั้น ครั้นเมื่อพม่ากลับไปแล้ว เจ้าของผู้ฝังจะจำที่ซึ่งตัวฝังทรัพย์ไว้ได้ก็น้อย เจ้าของทรัพย์ที่ฝังไว้ตัวล้มตายหายจากตกไปเปนเชลยพม่า ทรัพย์สมบัติเลยติดอยู่ในแผ่นดินก็มาก ครั้นเมื่อเจ้าของทรัพย์ที่รอดอยู่ขึ้นไปขุดทรัพย์ที่ตัวฝังไว้ ได้บ้างไม่ได้บ้าง ที่ไม่ได้เพราะหลงลืมที่ไปเสีย เพราะเวลาบ้านเมืองปรกติกับเวลาร้างไม่เหมือนกัน มีผู้ขุดพบเก็บไว้เสียก่อนบ้าง ผู้ที่ไปขุดทรัพย์ของตัวไม่พบ ไปพบทรัพย์ของคนอื่นถือเอาเสียบ้าง จึงกำหนดว่าบรรดาใครจะไปขุดทรัพย์ ให้แจ้งต่อรั้วแขวงอำเภอกำนันผู้รักษาเมืองกรมการกำกับคุมไปให้ขุด ถ้าชี้ว่าที่แห่งใดซึ่งตัวฝังทรัพย์ไว้ ให้ขุดแต่เฉพาะที่นั้น ผู้ที่ไปขุดเช่นนี้เปนคนมีทรัพย์มาก ๆ แม่นยำก็ขุดได้จริง ๆ เมื่อได้ทรัพย์มามากก็แบ่งถวายช่วยราชการแผ่นดิน เหตุด้วยเวลานั้น เจ้ากรุงธนบุรีตั้งตัวเปนเหมือนอย่างเถ้าแก่ฤๅกงสี คนทั้งปวงเหมือนกุลี เถ้าแก่เปนผู้หาเข้าหาปลาจำหน่ายให้แก่พวกกุลีแจกเลี้ยงกันกิน เงินจะได้มาทางใดไม่ว่า เจ้ากรุงธนบุรีเปนผู้ซื้อเข้ามาแจกเฉลี่ยเลี้ยงชีวิตรกันในเวลาขัดสน อิ่มก็อิ่มด้วยกันอดก็อดด้วยกัน ครั้นเมื่อได้ทำไร่ไถนาบริบูรณ์ขึ้นแล้วไม่ต้องแจกเข้า แต่เมื่อผู้ใดขุดทรัพย์ได้ ก็ยังต้องถวายช่วยราชการแผ่นดิน ซื้อเข้าซื้อปลาซื้อเกลือขึ้นฉางเปนเสบียงกองทัพ ซึ่งเปนการป้องกันรักษาอันตรายทั่วกันหมดเหมือนกัน ครั้นตกลงมาในชั้นหลัง ทรัพย์ซึ่งเจ้าของฝังไว้ต่างคนต่างไปขุดหมดแล้ว เหลือแต่ทรัพย์ซึ่งไม่มีเจ้าของจึงตกเข้าในกฎหมายลักษณะทรัพย์แผ่นดิน ใครขุดได้ต้องมีแบ่งเปนภาคหลวง คนขุดนั้นไม่มีเวลาหยุดหย่อน ผู้ที่เก็บภาคหลวงก็คือเจ้าเมืองกรมการ ที่ฉ้อฉลปิดบัง อไรกันเกิดขึ้น จึงมีการผูกขาด เช่น พระวิชิตณรงค์รับผูกขาดขึ้นไป จะไปเรียกภาคหลวงจากคนขุดให้ได้ ๕๐๐ ชั่ง แต่เปนธรรมดาข้าหลวงเช่นนี้ หาผลประโยชน์ส่วนตัวด้วยความคดโกงต่าง ๆ เจือในราชการ ราษฎรจึงได้ความเดือดร้อนแลพากันเกลืยดชังมาก

การที่คอยเก็บภาคหลวงในการขุดค้นเงินเก่าเช่นนี้ เลิกในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งความจริงก็เปนเวลาเหลือทรัพย์อยู่น้อยแล้ว ก็กลับเปนช่องเปิดให้พวกที่มีโลภเจตนากล้า ขุดคัดค้นทลายไม่เลือกว่าอไร บรรดาที่สงไสยว่าจะมีทรัพย์อยู่ เลยตลอดไปจนถึงคิดปฤษณา ซึ่งติดต่อมาเกือบร้อยปียังไม่แล้ว จนในคลองเมืองน่าพระราชวัง มีผู้ไปร่อนพลอย ได้พลอยแดง ซึ่งเรียกกันว่าพลอยเมืองมีมาจนรัชกาลที่ ๔ ยังได้เห็น ข้อที่เล่าเรื่องนี้มาได้เลอียดลออเพราะได้ฟังคำเล่าเรื่องพวกเจ้าคุณชาวบางช้างทั้งปวง แลพวกข้างฝ่ายกรมสมเด็จพระศรีสุลาไลย ได้ขอไปขุดทรัพย์แลถูกอันตรายต่าง ๆ มี เรื่องราวมาก จึงนำเรื่องนี้มาเล่า เพื่อจะให้เห็นว่าพระวิชิตณรงค์ผูกขาดนั้น ผูกขาดอย่างไร

๑๐๕ รับสั่งให้ขุนแก้วน้องพระยาสรรค์ เอาปืนขึ้นไปต่อยศิลา ปากนกปืน ๑๐๐๐
๑๐๕ ขุนแก้วน้องพระยาสรรค์คนนี้ไม่มีชื่อในพงษาวดาร มีแต่หลวงเทพ

๑๐๖ ไปคบคิดกับกำนันบ้านแขวงกรุงเก่า ปักหนังสือชวนผู้รักษากรุงว่าจะเข้าด้วยกันฤๅไม่เข้า เวลา ๒ ยามจะเข้าเผาบ้าน ผู้รักษากรุงว่าไม่เข้า จะเผาก็เผาเสีย เพลา ๒ ยาม ผู้ร้ายเข้าล้อมบ้าน ได้สู้รบกันอยู่สามารถ กองผู้ร้ายทิ้งพลุรดมเผา บุตรผู้รักษากรุงโจนน้ำหนีผู้ร้ายพุ่งหอกซัดถูกบุตรพระยาอินทรอภัยผู้รักษากรุงกับบุตรภรรยาสิ้นชีวิตรในไฟ ๔ คน
๑๐๖ ขุนแก้วผู้นี้ชื่อทำไมจึงได้หายไป ไม่มีในพงษาวดารเลย ขึ้นชื่อก็นายบุญนากกับขุนสุรทีเดียว ขุนสุรภายหลัง ได้เปนพระยาสีหราชเดโชในรัชกาลที่ ๑ ขุนชนะอิกคนหนึ่งที่ไม่มีชื่อในพงษาวดาร ก็ได้เปนพระยาสรรค์ในรัชกาลที่ ๑ แต่ขุนแก้วในจดหมายฉบับนี้ ว่าต้องประหารชีวิตรภายหลัง ยังเอาตัวไม่ได้ว่าใคร

๑๐๗ พระยาอินทรอภัยกลับมาทูล
๑๐๗ ในจดหมายนี้ได้ความว่าตัวผู้รักษากรุงมีต่างหาก คือพระยาอินทรอภัย ไม่ใช่พระยาวิชิตณรงค์ ซึ่งรับผูกขาดขึ้นไป พงษาวดารกล่าวความกลมกลืนอยู่

๑๐๘ ลุศักราช ๑๑๔๓ ปีฉลูตรีนิศก รับสั่งให้พระยาสรรค์ไปจับผู้ร้ายที่เผาบ้านผู้รักษากรุง พระยาสรรค์ขึ้นไป น้องพระยาสรรค์เปนกองผู้ร้าย จับพระยาสรรค์ตั้งเปนแม่ทัพลงมา
๑๐๘ พระยาสรรค์คนนี้อัชฌาไศรยชอบกล ความปรากฎทั้งในพงษาวดารแลในจดหมายฉบับนี้ ว่าเปนผู้ถูกเขาจับให้เปนแม่ทัพก็ตกลงเปนแม่ทัพลงมา ครั้นลดเจ้ากรุงธนบุรีลงเสียจากราชสมบัติแล้ว ก็ปรากฎว่าตั้งใจจะถวายสมบัติแก่สมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก ก็ไม่ยั่งยืนอยู่ได้ กลับใจไปปล่อยเจ้ารามลักษณ์ออกให้ไปทำร้ายกรมพระราชวังหลัง จะว่ามีความคิดจะตั้งตัวเองเปนใหญ่ ก็คิดไม่แขงแรงตลอดรอดฝั่งอย่างไร ครั้นเมื่อเขาจับเจ้ารามลักษณ์ได้แล้วก็ควรจะรู้ว่าเจ้ารามลักษณ์คงให้การซัดถึงตัว จะแก้โดยทางสารภาพฤๅแก้โดยทางต่อสู้ก็ไม่แก้ นิ่งเฉยอยู่เช่นนั้น ครั้นพระพุทธยอดฟ้าเสด็จมาถึง ก็ออกมาเฝ้าทำไม่รู้ไม่เห็น เห็นจะเปนคนที่ไม่มีสติปัญญาเปนสลักสำคัญอันใดเลย ใครจับไสให้ไปทางไหนก็จะไปทางนั้น

๑๐๙ ณวัน ๗ ๑๑ฯ ๔ ค่ำ เพลาตี ๑๐ ทุ่ม ตั้งค่ายมั่นคลองรามัญ
๑๐๙ คลองรามัญ คือคลองมอญ ปรากฎว่าชื่อมาจากพวกมอญอยู่ เปนคลองในกำแพงพระนคร

๑๑๐ ยิงรดมลูกปืนตกในกำแพงเสียงสนั่นหวั่นไหว
๑๑๐ ยิงปืนจากคลองมอญลูกปืนตกในกำแพง ๆ พระราชวังเวลานั้นตั้งอยู่แนวคลองนครบาล คือคลองเหนือวัดอรุณราชวราราม

๑๑๑ ข้างในตกใจร้องอื้ออึง ประทมตื่นคว้าได้พระแสงทรงเสด็จขึ้นบนที่นั่งเย็น ตรัสเรียกฝรั่งที่ประจำป้อม ฝรั่งได้รับสั่งยิงปืนใหญ่ออกไปถูกเรือข้าศึกล่ม เขาไปจับบุตรภรรยาฝรั่งมาให้ยิง
๑๑๑ การเอะอะในวังเวลานั้นในที่นี้ว่าเห็นจริง พระที่นั่งเย็นนั้นคงจะอยู่ใกล้น่าวินิจฉัย พอตะโกนกันได้ยินกับป้อมวิไชยประสิทธิ์

๑๑๒ พอรุ่งสว่างเห็นหน้าว่าไทย (ใคร) ฝรั่งโจนกำแพงลงไปหากัน ผู้คนเบาบางร่วงโรยนัก
๑๑๒ พอรุ่งสว่างเห็นหน้าว่าไทย คำนี้ถ้าเปลี่ยนว่าเปนใครจะเข้าความดีกระมัง

๑๑๓ เสด็จออกน่าวินิจฉัยทราบว่าพระยาสรรค์มาปล้นตีเมือง ให้จำภรรยากับบุตรไว้
๑๑๓ ท้องพระโรงเรียกว่าวินิจฉัย เห็นจะเปนต้นเหตุของที่เสด็จออกเรียกว่าวินิจฉัย เช่นอมรินทรวินิจฉัย อิศราวินิจฉัย ราชกิจวินิจฉัย จนเมืองเขมรก็ยังไปตั้งขึ้นใหม่ ว่าเทวาวินิจฉัย

๑๑๔ เสด็จเข้ามาฟันตราง ปล่อยคนโทษข้างใน
๑๑๔ ข้างในนี้เห็นจะเปนข้างในผู้หญิงจะไม่ใช่ตะรางที่ขังผู้ชายในพระราชวัง


๑๒หม่อมเรืองพระสหายกรมพระราชวังที่ ๑ เดิมเปนเจ้าบำเรอภูธร ภายหลังเปนกรมขุนสุนทรภูเบศร์ ตากรมหมื่นอดุลยลักษณสมบัติ


หัวข้อ: Re: จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 26 สิงหาคม 2562 15:45:49
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/14850401961141_spd_2012090285139_b_1_320x200_.jpg)


๑๑๕ พระยาธิเบศร์ พระยารามัญ พระยาอำมาตย์ต่อสู้ลากปืนจ่ารงค์ขึ้นป้อม ข้าศึกถอยหนี
๑๑๕ พระยารามัญวงษ์คนนี้เดิมเปนพระยาบำเรอภักดิ์ แลพระยาอำมาตย์ มีชื่ออยู่ในพงษาวดารเปนพวกพระยาสรรค์ พระยาธิเบศร์หายชื่อไป บางทีจะเปนคนไม่สำคัญ แลไม่ใช่ธิเบศร์เก่าซึ่งได้ตัวในค่ายโพธิ์สามต้น คนนั้นเปนศรีธรรมาธิราชที่ไปเมืองจีน

๑๑๖ เสด็จกลับออกไปมีรับสั่งห้าม ว่าสิ้นบุญพ่อแล้ว อย่าให้ยากแก่ไพร่เลย
๑๑๖ คำที่ว่าเจ้ากรุงธน รับสั่งเช่นนี้ สมกับคำที่เล่าว่ารับสั่งหลายคราว พบตัวอย่างในจดหมายรายวันทัพเล่มซึ่งตั้งต้นแต่ ณวัน ๖ ๑๒ฯ ๒ ค่ำ ปีมเมียฉศก จุลศักราช ๑๑๓๖ เสด็จขึ้นไปตีเชียงใหม่ อันกรมสมเด็จพระปรมานุชิต ได้ทรงเก็บข้อความลงในพงษาวดารหมดแล้ว แต่มีข้อซึ่งจะพึงสังเกตอาการกิริยา อันทางเรียงพงษาวดารท่านไม่ต้องการใช้นั้นเหลืออยู่หลายแห่ง แต่แห่งหนึ่งควรยกมาเปนตัวอย่าง ในข้อซึ่งบรรยายถ้อยคำเจ้ากรุงธนบุรีนี้ได้ คำรับสั่งอันนี้ได้รับสั่งเวลาประทับอยู่ค่ายเขาพระ กำลังล้อมค่ายพม่าบ้านบางนางแก้ว เมื่อณวัน ๒ ฯ ๔ ค่ำปีมเมียฉศก จุลศักราช ๑๑๓๖ เพลาเช้า เมื่อได้ลงพระราชอาญาผู้ซึ่งยิงปืนหามแล่นไม่พร้อมกัน ทีละสามสิบสี่สิบนัดตามรับสั่ง ไปยิงแต่ทีละนัด จนข้าศึกรู้ตัวเสร็จแล้ว จึงมีข้อความจดลงไว้ว่า “อนึ่งเพลาเช้า ๕ โมงเศษ หลวงรักษ์มณเฑียรมาเฝ้า จึงตรัสว่าข้าราชการทั้งปวง ใช้ให้ไปทำศึกบ้านใดเมืองใด พ่อมิได้สกดหลังไปด้วยก็มิได้สำเร็จราชการ ครั้งนี้พ่อไปราชการสงครามเมืองเชียงใหม่ ให้ลูกอยู่ทำราชการข้างหลัง แลมาพ่ายแพ้แก่พม่าให้ขายพระบาทพ่อ แล้วกล่าวโทษกันว่าอดเข้าปลาอาหาร อันทำการศึกครั้งนี้พ่อจะชิงชังแก่ลูกผู้ใดหามิได้ รักใคร่เสมอกัน อันเปนกระษัตราธิราชเจ้าแผ่นดิน ถ้าผู้ใดมีความชอบมิได้ปูนบำเหน็จ ผู้ใดผิดมิได้เอาโทษ ทำฉนี้ก็ไม่ควรแก่ราชการแผ่นดินหามิได้ ประเวณีกระษัตราธิราช ผู้ใดมีความชอบปูนบำเหน็จรางวัล ให้รั้งเมืองครองเมืองตามถานานุกรมลำดับ ถ้าโทษผิดควรจะตีก็ตี ควรจะฆ่าก็ฆ่าเสียจึงจะชอบด้วยราชการแผ่นดิน จะทำสงครามกับพม่าไปได้ แลพ่ออุสาหทรมานเที่ยวทำการสงครามมาทั้งนี้ ใช่จะจงพระไทยปราถนาหาความศุขแต่พระองค์ผู้เดียวหามิได้ อุสาหสู้ยากลำบากพระกายทั้งนี้ เพื่อจะทนุอำรุงพระสาสนาให้สมณะชีพราหมณ์ประชาราษฎร เปนศุขทั่วขอบขันธเสมา เพื่อจะมิให้มีคนอาสัตย์อาธรรม แลครั้งนี้ลูกทั้งหลายทำการพ่ายแพ้แก่พม่า ครั้นจะเอาโทษก็เสียดายนัก ด้วยได้เลี้ยงดูมาเปนใหญ่โตแล้ว ผิดครั้งนี้จะยกไว้ให้ทำราชการแก้ตัวครั้งหนึ่งก่อน แลเอาบุตรภรรยามาจำไว้สิ้นแล้ว แลอันจะตั้งค่ายอยู่เมืองราชบุรีนั้น ถ้าพม่ายกมาตีรับรองหยุด มีไชยชำนะแล้วจึงจะพ้นโทษทั้งนายทั้งไพร่ เร่งคิดอ่านจงดีเถิด อันพ่อจะละพระราชกำหนดบทพระอัยการศึกเสียนั้นมิได้ ถึงมาทตัวจะเปนนายทัพนายกองมิได้ จะพิดทูลขอตัวเปนไพร่ก็ตามใจสมัค ถ้าจะทำไปได้ก็ให้เร่งคิดอ่านทำการแก้ตัวไป ให้รอดชีวิตรเถิด”

ข้อความที่กล่าวมานี้ ไม่ใช่ข้อความซึ่งสำหรับจะกล่าวตรงนี้ สาธกมาพอให้เห็นเปนตัวอย่าง

๑๑๗ พระยาธิเบศร์ พระยารามัญ พระยาอำมาตย์ (ว่าถ้า) มีให้สู้ (จะ) อยู่ ตายด้วยเจ้าเข้าแดง
๑๑๗ ความหวิดหวิดอยู่ แต่ถ้าหากว่าเติมความเสียหายอย่างในวงเล็บมือว่า ถ้ามิให้สู้จะสู้อยู่ตายตัวยเจ้าเข้าแดง ดังนี้แล้วก็เปนใช้ได้ แต่ความในตอนนี้คงปรากฎว่า ผู้ที่นับถือคิดถึงบุญคุณเจ้ากรุงธนบุรีคงมีมาก ขุนนางจึงต้องตายกว่า ๓๐ คน

๑๑๘ พระยาสรรค์ให้นิมนต์พระราชาคณะ ให้ถวายพระพรให้ทรงบรรพชา ชำระพระเคราะห์เมือง ๓ เดือน
๑๑๘ ตามพงษาวดารความตรงกันข้าม ว่ารับสั่งให้นิมนต์พระราชาคณะให้ออกไปเจรจาความเมืองรับผิด ข้อที่หนังสือนี้ว่า พระยาสรรค์ให้พระราชาคณะทูลให้ทรงบรรพชา ชำระพระเคราะห์เมือง ๓ เดือนความเห็นจะลงกันได้ เปนถูกทั้ง ๒ ฝ่ายต่างคนต่างคิด

๑๑๙ ทรงพระสรวลตบพระเพลาว่า เอ้หิภิกขุมาถึงแล้ว ให้เชิญพระกรรบิดออกไป
๑๑๙ ที่ว่าทรงพระสรวลตบพระเพลาว่า “เอหิภิกขุลอยมาถึงแล้ว” นี้สมสำนวนเจ้ากรุงธนมาก รู้เท่าแต่หลงหน่อย ๆ

๑๒๐ เพลา ๓ โมงเช้า ทรงบรรพชา ณวัน ๑๒ฯ ๔ ค่ำ (เสด็จ) อยู่ในราชสมบัติ ๑๔ ปีกับ ๔ เดือน ทรงผนวช
๑๒๐ วันทรงผนวชในพงษาวดารกล่าวรวบตั้งแต่วันให้ไปเจรจาว่าเดือน ๔ แรม ๑๐ ค่ำ เหมือนหนึ่งว่าทรงผนวชในวันนั้น แต่ในที่นี้ว่าแรม ๑๒ ค่ำ

ถูกกับจดหมายในปูมปีฉลูตรีศกจุลศักราช ๑๑๔๓ จดไว้ว่า “วันเสาร์เดือน ๔ แรม ๑๑ ค่ำ พระยาสรรค์ยกมาตีขุนหลวง วันอาทิตย์เดือน ๔ แรม ๑๒ ค่ำ ขุนหลวงบวชวัดแจ้ง”

๑๒๑ ณวัน ๔ ๑๔ฯ ๔ ค่ำ พระยาสวรรค์ขึ้นนั่งซัง แจกเงินข้างในกลับออกไปนอนอยู่ข้างน่า สั่งว่าจะฟังลครร้องอยู่ข้างใน จะฟังแต่น้ำเสียง
๑๒๑ วันนั่งซังของพระยาสรรค์นี้ พงษาวดารว่าแรม ๑๓ ค่ำ ในที่นี้ว่า ๑๔ ค่ำ คำว่าพระยาสรรค์ขึ้นนั่งซังนี้ชอบกลดีอยู่

๑๒๒ ครั้นคนเสียงคลอดบุตร พระยาสรรค์ให้ประโคม ท่านให้ไปห้ามว่าอย่าให้ทำเลย มันสุดชาติแล้ว
๑๒๒ เรื่องห้ามประโคมใช้คำว่าท่านคำเดียว เข้าใจว่าเจ้ากรุงธนที่ทรงผนวช

๑๒๓ พระยาสรรค์มีเทศนา ให้ข้างในออกไปฟังธรรม ไฟเทียนเจ้าคุณใหญ่ไหม้ม่าน ได้ยินเสียงคนอื้ออึงชักหอกดาบที่ท้องพระโรง ข้างในกลับเข้ามาเพลา ๒ ทุ่ม
๑๒๓ มีเทศนาในท้องพระโรงข้างในออกฟัง ทีจะทำให้เปนตามเคย แต่เพราะเหตุที่ความสงไสยรวนกันอยู่ ไฟไหม้ม่านจึงตกใจกันมาก ข้อที่รวนนั้น ก็เหตุด้วยกรมพระราชวังหลังเสด็จลงมาถึง คงจะรู้กันอยู่ว่าเจ้าคุณใหญ่ ซึ่งเปนผู้ทำให้ไฟไหม้ม่านนั้นเปนฝักฝ่ายข้างกรมพระราชวังหลัง

๑๒๔ สองยามเกิดศึกกลางเมือง พระยาสรรค์ปล่อยเจ้ารามลักษณ์ออกไป
๑๒๔ เพราะเหตุที่พระยาสรรค์ตกใจเรื่องไฟไหม้ประกอบกับที่กลัวกรมพระราชวังหลัง จึงปล่อยเจ้ารามลักษณ์

๑๒๕ เรียกท่านที่ทรงผนวชว่าประจุออกเถิด ท่านว่าสิ้นบุญเราแล้วอย่าทำเลย
๑๒๕ เมื่อเจ้ารามลักษณ์หลุดออกไปได้ ก็ตรงไปที่โบสถ์วัดแจ้ง เพราะเหตุว่าตรางที่ขังคงจะไม่ห่างจากโบสถ์นั้นเท่าใด ข้อที่เจ้ากรุงธนบุรีร้องตอบเช่นนี้ตรงกันกับที่เคยได้ยินคุณปลัดเสงี่ยมเล่าว่า พระพงษ์นรินทร์อายุได้ ๑๒ ปี เข้าไปติดอยู่ในโบสถ์วัดแจ้งที่ขังเจ้ากรุงธนนั้นด้วย เจ้ากรุงธนร้องตอบออกมาเช่นนี้ แล้วได้บอกด้วยว่าคงไม่รอด บ้านเมืองเปนของสองพี่น้องเขานั่นแนะ ถ้าไม่ตายก็ฝากตัวเขาให้ดีเถิด ได้ให้ประคำสายหนึ่งที่ติดตัวไปแก่พระพงษ์นรินทร์ในเวลานั้น พระพงษ์นรินทร์ยังได้รักษาประคำนั้นไว้ได้ เปนประคำกระดาษเลขยันต์ลงรักปิดทองทั้ง ๑๐๘ เม็ด

๑๒๖ เจ้ารามลักษณ์ออกไปจุดไฟบ้าน ไหม้ตลอดลงมาจนถึงวังหลัง ได้สู้รบกันจนแสงทองขึ้น
๑๒๖ ที่ซึ่งเจ้ารามลักษณ์จุดไฟนั้น จุดที่เหนือบ้านปูน ๆ ในเวลานั้นน่าจะไม่ใช่บ้านปูนบางยี่ขันทุกวันนี้ ชรอยจะตั้งอยู่ในระหว่างวัดอมรินทร์ ที่เปนวัดบางว้าน้อยกับสวนมังคุด เจ้ารามลักษณ์ตั้งค่ายรายโอบขึ้นไปวัดบางว้า ที่กล่าวในพงษาวดาร คงเปนวัดบางว้าน้อยคือวัดอมรินทร์ ซึ่งอยู่ใกล้กำแพงพระนครด้านเหนือ จุดไฟก็จุดบ้านริมวัดบางว้า เพื่อจะให้ไหม้ลามลงมาถึงบ้านปูนซึ่งอยู่เหนือสวนมังคุด แต่ครั้นเมื่อไฟไหม้ลงมาจวนจะถึงบ้านปูน ด้วยสัตยาธิษฐานของกรมพระราชวังหลัง ลมกลับไปข้างเหนือ ซึ่งเปนทางเจ้ารามลักษณ์ลงมาจุดไฟ การที่ขึ้นไปจุดข้างเหนือนั้น เจ้ารามลักษณ์คงจะเปนผู้ตีข้างเหนือลงมา พระยาสรรค์คงจะรับเปนผู้ตีข้างใต้จากพระราชวังกระทบขึ้นไป แต่ครั้นเมื่อเจ้ารามลักษณ์ไปทำการไม่สมคิด ตัวกลับไปอยู่ข้างใต้เปลวไฟ พระยาสรรค์เห็นเสียทีก็คงถอยทีเดียว เพราะพระยาสรรค์เปนคนสันดานไม่แน่นอน ครั้นเมื่อเจ้ารามลักษณ์แตกไปแล้ว กรมพระราชวังหลังตั้งค่ายรายลงมาแต่บ้านปูนถึงคลองนครบาล คือคลองข้างวัดอรุณราชวราราม ซึ่งเปนคลองคูพระราชวัง ก็แปลว่าได้เมืองฝั่งตวันตกหมด เว้นไว้แต่พระราชวังเท่านั้น เปนส่วนพระยาสรรค์รักษา

๑๒๗ พระยาเจ่ง ขุนแก้ว น้องพระยาสรรค์ ลากปืนใหญ่มาช่วยพระวังหลัง
๑๒๗ ขุนแก้วคนนี้เปนคนโลเล เหมือนอย่างพระยาสรรค์พี่ชาย แต่เวลานี้ยังไว้ตัวเปนพวกกรมพระราชวังหลัง แต่พระยาเจ่งนั้นเปนคนซื่อตรงจงรักภักดีต่อพระพุทธยอดฟ้า เห็นจะไม่ถูกกันกับพระยารามัญวงษ์ จะตรงกันข้าม

๑๒๘ เจ้ารดจาแต่งกองมอญเปนทัพเรือตีกระหนาบหนุนพระวังหลัง
๑๒๘ เจ้ารดจาน่าที่จะไม่ใช่คนอื่น เห็นจะเปนท่านผู้หญิงเจ้าพระยาสุรสีห์ ซึ่งตั้งบ้านอยู่เหนือกำแพงพระนครฟากตวันออก คือวังกรมหลวงจักรเจษฎา เหตุฉนั้นจึงต้องเปนทัพเรือเพราะข้ามฟาก เจ้ารดจาผู้นี้เปนชาวเมืองเชียงใหม่ เปนมารดาเจ้าฟ้าพิกุลทอง กรมขุนศรีสุนทรในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท

๑๒๙ เจ้ารามลักษณ์สู้แต่ผู้เดียว โดยโมหาร เหลือกำลังแตกหนีไปอยู่วัดยาง พระวังหลังติดตามจับได้ ไต่ถามได้ความจริงว่าพระยาสรรค์ปล่อยเธอออก ความตกอยู่พระยาสรรค์สิ้น
๑๒๙ วัดยางในคลองบางกอกน้อยริมวัดลครทำ ซึ่งเขาจะให้อ่านว่านครธรรมก็ได้นั้น เปนระยะไกลจากเมืองพอที่จะหนีไปถึงแลจับได้กันที่นั้นทัน

๑๓๐ สมเด็จพระไอยกาเจ้าฟ้ากระษัตริย์ศึก เสด็จอยู่กรุงกัมพูชา ถอยมาประทับด่านกระบินทร์ ทราบว่ากรุงธนข้นเข็ญเปนศึกขึ้นกลางเมืองถึง ๒ ครั้ง จึงเสด็จกลับเข้าพระนคร
๑๓๐ ในเวลาเมื่อที่กรุงเกิดเหตุนี้เสด็จอยู่เสียมราฐ การที่ไปตั้งเสียมราฐครั้งนั้นดูเหมือนจะรแวงการข้างภายในอยู่มากแล้ว จึงได้รั้งรอไม่สู้จะทำการเดินออกไปเร็ว




หัวข้อ: Re: จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 26 สิงหาคม 2562 17:42:21
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/14850401961141_spd_2012090285139_b_1_320x200_.jpg)

.  ๑๓๑-๒๒๔  .

๑๓๑ ณวัน ๗ ฯ ๕ ค่ำ ลุศักราช ๑๑๔๔ ปีขานจัตวาศก เพลา ๒ โมงเศษ ศุภสวัสดิฤกษ เสด็จเข้าพระนครปราบดาภิเศก อดิเรกเฉกสมบัติจักรพรรตรา พร้อมถวาย ๑๒ พระกำนัล ๑๒ พระคลัง แล้วมีพระราชโองการรับสั่งให้ตั้งกรุงเทพมหานครยังฝั่งบุรพทิศ พระสุริยทรงกลด ๗ วัน เมื่อตั้งทวาราวดีอุดมโชคเข้าเหยียบกรุงธนบุรี
๑๓๑ ตอนนี้ปลื้มมาก เลยรวบความเสียหมด ที่จริงท่าจะจดไว้ให้ถ้วนถี่ก็จะยืดยาวเกินกำลังท่าน

๑๓๒ แรกเสด็จยั้งประทับณวัดควงไม้พระมหาโพธิบัลลังก์ ประจญพระยามารด้วยพระบารมี ๓๐ ทัศ เปนปฐมกระษัตริย์สมเด็จเอกาทศรฐ พระเจ้าปราสาททอง เสด็จข้ามฟากฝั่งมหรณพ เฉลิมภพกรุงทวาราวดี พระโองการให้ฐาปนาที่ท้องสนามในเปนพระอุโบสถหอไตรย์เสร็จ เชิญพระแก้วมรกฎมาประดิษฐาน ส่วนพระธรรมไว้หอไตรย์ ก่อพระเจดียฐานประจุพระบรมธาตุพร้อมเสร็จ
๑๓๒ ท่านนึกของท่านสนุกดี คือเสด็จมาเหยียบเมืองแรกก็ประทับพลับพลาวัดโพธิ์ ซึ่งท่านเรียกว่าโพธิบัลลังก์ ผจญมารก็คือมารฟากตวันตก เสด็จข้ามฟากมาเฉลิมภพกรุงทวาราวดี ก็คือย้ายมาเสียฟากตวันออก ไม่อยู่เมืองธนซึ่งเปนเมืองน้อย

ในเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ เสด็จเถลิงถวัลยราชปราบดาภิเศก จะเล่าซ้ำในที่นี้ก็ออกจืด ๆ จึงอยากจะกล่าวถึงเรื่องพระนามที่ท่านยกย่องไว้ว่า “สมเด็จพระเอกาทศรฐพระเจ้าปราสาททอง”

นามเอกาทศรฐนี้ พระยาประชากิจกรจักร (แช่ม) เปนผู้เดาว่าเปนใหญ่ในแว่นแคว้นสิบเอ็ด ชอบกลอยู่ แต่เขาก็รับว่าเขาเดา เข้าใจว่าเปนพระนามที่เกิดใช้ขึ้นภายหลังตั้งแต่พระนเรศร์ฤๅพระอนุชาพระนเรศร์ เหนือนั้นขึ้นไปจะได้ใช้สมเด็จพระรามาธิบดี ซึ่งเปนนามคู่กับกรุงมาก

นามพระเจ้าอู่ทอง รามาธิบดีศรีสุนทรบรมบพิตร ตรงกับนามนารายน์อวตารมาครองกรุงศรีอยุทธยาซึ่งใช้รามษุนทร

นามบรมราชาธิราช เปนพระราชาที่เปนใหญ่กว่าราชา จะต่อเข้ากับพระนามใดต่อได้ ฤๅจะไม่ต่อกับอไรเรียกเปล่า ๆ ก็ได้ ราชาสามัญนั้นคือ อินทรราชา,ไชยราชา, บรมราชา, นครินทรราชา, เทียรราชา, แลอะไร ๆ อื่น ๆ เหล่านี้ ครองเมืองก็ตาม ไม่ได้ครองเมืองก็ตาม เปนชั้นพระราชา คือเจ้านายแท้ ผู้ซึ่งเปนใหญ่กว่าราชาเหล่านี้ จึงเปนบรมราชาธิราช

สรรเพชญ์ เห็นจะมาจากชื่อไทย อย่างเดียวกันกับสัพเพชังกูรพุทธวงษาที่ยังใช้อยู่ในเมืองสิบเก้าเจ้าฟ้า

นามพระบรมไตรโลกนารถ เปนนามที่คล้ายกับติโลกราชเจ้านครพิงเชียงใหม่ แลที่เชียงใหม่เรียกพระอินทราชาว่าพระยาบรมไตรย์จักร เห็นจะใช้กันหลายเมืองอยู่ในรดูหนึ่งพร้อม ๆ กัน เกี่ยวข้องแก่การข้างฝ่ายพุทธสาสนูปถัมภก

พระเจ้าปราสาททองตรงกันกับเจ้าหอคำ

ธรรมฤกราชฤๅธรรมิกราชาธิราช อันมาจากพระเจ้าทรงธรรม

พระเจ้าช้างเผือก เปนคำที่ยกย่องว่ามีช้างเผือก

พระมหาจักรพรรดิ ยกย่องว่ามีอำนาจมากปราบแว่นแคว้นทั่วถึง

พระนามเหล่านี้เปนคุณนาม อาจจะใช้ทั่วไปได้ทุกพระองค์พระเจ้าแผ่นดินไม่ใช่พระนามประจำ คราวนี้เรียกเช่นนี้ คราวน่าจะเรียกอย่างอื่นก็ได้ ฤๅใช้ตามแบบที่เคยอย่างไรก็ใช้เช่นนั้น เช่นพระนามสมเด็จพระเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบรมบพิตร ไม่ว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใด ถ้าจะมีศุภอักษรถึงเมืองเขมรใช้เช่นนั้น ใช้ปนกับใหม่ก็ได้ เหมือนอย่างศุภอักษร องค์สมเด็จพระหริรักษ์รามามหาอิศราธิบดี (องค์ด้วงบิดานโรดมแลศรีสวัสดิเจ้าแผ่นดินเขมรทุกวันนี้) ซึ่งยังมีอยู่มาก ใช้ว่าขอให้นำขึ้นกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบรมบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าเลอทะบง ดังนี้เปนต้น

เพราะฉนั้นในการที่กรมหลวงนรินทรเทวียกย่องพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าในที่นี้ เปนยกย่องด้วยความเคารพถูกต้องตามแบบอย่าง

๑๓๓ ให้บุรณวัดโพ
๑๓๓ บุรณวัดโพธิ์ตอนนี้เห็นจะบุรณเล็กน้อย เพราะน่าจะไม่มีหลังคาฤๅมุงหลังคาจากเปลี่ยนเปนกระเบื้อง ไม่ใช่ปฏิสังขรณ์ใหญ่ที่กล่าวในพงษาวดาร ข้อวินิจฉัยเรื่องวัดโพธิ์ออกจะยืดยาวอยู่สักหน่อย ผู้อ่านจะต้องรู้ว่ากำแพงพระนครทั้ง ๒ ฝั่งน้ำ ได้สร้างขึ้นแต่ฝั่งละ ๓ ด้าน ข้างริมน้ำไม่มีกำแพง ฝั่งตวันตกกำแพงตั้งแต่ป้อมวิไชยประสิทธิ์ ยืนไปตามลำคลองบางกอกใหญ่ จนถึงคลองข้างวัดโมฬีโลกย์ ไปตามแนวหลังวัดอรุณ ไปออกบางกอกน้อยที่หลังวัดอมรินทร์เปนคูพระนคร แล้วเลี้ยวลงมาตามแนวคลองบางกอกน้อยจนถึงแม่น้ำ ข้างฟากนี้ตั้งแต่ป้อมวิไชเยนทร์ คือที่สุนันทาลัย มาตามแนวคลองตลาด คลองหลอด (ตามที่ปันระยะให้เรียกใหม่ใน รศ๔๑ ๑๒๗ นี้) จนถึงคลองโรงไหมวังน่า เพราะเหตุฉนั้น วัดโพธารามตั้งอยู่หลังวัดลงแม่น้ำ น่าวัดหันมาทางตวันออก ป่าช้าอยู่ต่อน่าวัดยืนไปในดอน เปนที่ยาวรีเหมือนวัดแจ้ง เมื่อเวลาก่อกำแพง จะก่อออกไปให้หมดเขตรป่าช้าเมืองจะกว้างเกินกำลังไป จึงก่อกำแพงตัดเอาป่าช้าออกไปไว้นอกเมือง ทั้งวัดแจ้งวัดโพธิ์ วัดแจ้งเดี๋ยวนี้ที่วัดยังคงยาวยืนเข้าไปในสวนเปนอันมาก ซึ่งเรียกกันว่าปรก แต่ข้างฝ่ายวัดโพธิ์นี้ กลายเปนบ้านเรือนคนไป เพราะเหตุที่ก่อกำแพงพระนครขึ้นใหม่ ขยายกว้างออกไป แนวคลองโอ่งอ่างไปออกบางลำภู กำแพงเดิมที่คั่นในระหว่างป่าช้ากับวัดนั้นรื้อเสีย จึงกลายเปนบ้านคนไป เมื่อเวลาประหารชีวิตรพระยาปังกลิมา ที่กล่าวไว้ในพงษาวดาร ว่าประหารชีวิตที่ป่าช้าวัดโพธาราม นอกกำแพงพระนครฝ่ายตวันออกนั้น ยังเปนกำแพงเก่าอยู่ ที่ป่าช้าที่ประหารชีวิตรนั้นคือที่ห้างแซมสันเดี๋ยวนี้

ยังมีที่เห็นยากยิ่งกว่านั้นขึ้นไปอิก คือตามแถบน่าพระอุโบสถมีคลองขุดพรอนไป มีเกาะเปน ๒ ชั้น ที่คลองแลเกาะ ๒ ชั้นนี้ จะเปนที่อื่นไม่ได้ นอกจากสวนเจ้าเชฐ ซึ่งภายหลังทำคุกทำหอกลองลงในที่เหล่านั้น คลองชั้นในเห็นจะใกล้ข้างพระอุโบสถ จึงได้ปรากฎว่า เมื่อทรงสร้างวัดพระเชตุพนยกใหญ่ได้ถมดินเสียเปนหนักเปนหนา ต้องถึงเกณฑ์คนหัวเมืองเข้ามาถมดิน ในการที่เอาที่วัดข้างตวันออกกลับเปนที่เมืองเสียนี้ คงจะได้ใช้ที่ดินข้างใต้ซึ่งเปนกุฎีวัดอยู่เดี๋ยวนี้แทน วัดแต่ก่อนยาวตามตวันออกตวันตก เปลี่ยนเสียให้เปนยาวตามเหนือตามใต้ ความที่ว่านี้โดยความพิจารณารูปหนังสือ ไม่ใช่ กุ ขอให้ผู้อ่านพิจารณาดูหนังสือให้ทั่วไปเถิดจะลงรูปเช่นนี้ฤๅไม่

๑๓๔ ณปลายปี องเชียงสือมาสู่โพธิสมภาร
๑๓๔ องเชียงสือนี้เปนเชื่อวงษ์เจ้าเมืองญวนข้างใต้ ดังที่ได้กล่าวเรื่องราว ไว้ในคำวิจารณ์ที่ ๔๘ นั้นแล้ว

เวลาเมื่อองเชียงสือเข้ามาอยู่กรุงเทพ ฯ ทรงชุบเลี้ยงอย่างเจ้าประเทศราชที่สนิททำนองเจ้าเขมร แต่นั่งเฝ้าฝ่ายขวาในระหว่างเสา เสมอแนวเจ้ากรมตำรวจเฝ้า ฝ่ายเจ้าเขมรนั้นเฝ้าฝ่ายซ้าย ต่อหลังสมุหนายก ข้อซึ่งไม่ได้ให้เฝ้าในหมู่ขุนนางอย่างเจ้าเขมรนั้น เพราะองเชียงสือนั่งขัดสมาธิ์เฝ้า จึงเข้าไปอยู่หว่างเสาซึ่งตรงกับเฉลียงที่เจ้านายเฝ้า บรรดาพรรคพวกที่เข้ามาได้พระราชทานเบี้ยหวัด มีตำแหน่งราชการ ที่เปนช่างก็ได้ทำการเปนช่างทหารในญวน แลการอื่น ๆ เช่นรำโคม แจวเรือญวนแจวนำกระบวนเสด็จ คนเหล่านี้เปนพรรคพวกองเชียงสือได้ดูแลจัดการ แลบรรดาบ่าวไพร่เหล่านั้นได้อนุญาตให้เข้าออกไปมาทางปากน้ำได้สดวก องเชียงสือได้รับมารดาแลภรรยาเข้ามาอยู่ด้วย เพราะเหตุที่ข้างฝ่ายเมืองญวนนั้น ไม่มีที่พึ่งพาอาไศรย หลบหลีกอยู่ตามเมืองชายทเลแลเกาะ หนีข้าศึกมิใคร่จะพ้น เวลาเมื่อมีการพระราชสงครามรบพม่า ก็ได้ตามเสด็จในกองทัพ ทรงพระกรุณาโปรดให้ยกกองทัพออกไปช่วยตีขบถถึง ๒ ครั้งไม่สำเร็จได้ ในครั้งที่สององเชียงสือได้ออกไปกับกรมหลวงเทพหริรักษ์ ก็ไม่สำเร็จเสียท่วงทีเข้ามา เหตุด้วยพวกขบถยังมีกำลังกล้า เมื่อกรมหลวงเทพหริรักษ์กลับเข้ามาแล้ว องเชียงสือยังอยู่ภายหลัง เห็นเหลือกำลังที่จะทำศึกต่อไปอิกได้ จึงต้องหนีกลับเข้ามาอิกเปนครั้งที่สอง คอยท่วงทีดูกำลังข้างฝ่ายขบถ

ข้อซึ่งองเชียงสือหนีไม่ได้กราบถวายบังคมลาออกไปในครั้งหลังนั้น เหตุด้วยเมื่อเวลาก่อนจะเข้ามากรุงเทพ ฯ องเชียงสือมีพวกพ้องเปนฝรั่งเศสอยู่คนหนึ่ง ไปว่ากล่าวขอให้ช่วย ขอกองทัพฝรั่งเศสมารบขบถ ผู้ที่เปนเพื่อนนั้นก็เปนคนสามัญ มิใช่ข้าราชการฝรั่งเศส องเชียงสือก็เปนคนสิ้นคิดรเหรหนอยู่ กลัวว่ารัฐบาลฝรั่งเศส จะไม่เชื่อถือเอาธุระ จึงได้มอบบุตรอันยังเด็กอยู่ให้ไปเปนจำนำคนหนึ่ง แต่ครั้นเมื่อสหายผู้นั้นพาบุตรองเชียงสือออกไปเมืองฝรั่งเศส พเอินสบช่องกำลังเมืองฝรั่งเศสเปนจลาจล จึงพาไปพักอยู่ที่เมืองฮอแลนด์ องเชียงสือก็ทอดธุระว่าเปนอันไม่สำเร็จ จึงได้มุ่งน่าจะพึ่งกรุงศรีอยุทธยาฝ่ายเดียว

ครั้นมาถึงเวลาเมื่อจะคิดหนีนั้น การเกิดประจวบกัน คือสหายฝรั่งเศสผู้นั้นกลับมาจากเมืองฝรั่งเศส ตามเข้ามาหาถึงในกรุง ครั้นเมื่อความทรงทราบก็เปนที่ทรงรังเกียจ ว่าองเชียงสือคบฝรั่ง แต่ไม่ใช่กริ้วกราดอันใดให้ปรากฎออกมา องเชียงสือรู้ในใจเอง ว่าคงจะเปนที่ทรงเคลือบแคลง ส่วนข้อความที่สหายผู้นั้นนำเข้ามาแจ้ง ก็เพียงแต่ฝรั่งเศสรับว่าจะอุดหนุน ยังมิได้ให้กำลังวังชาอันใดมา องเชียงสือจึงให้ผู้เปนสหายนั้นกลับออกไปเสียจากกรุงเทพ ฯ

แต่มีข้อความที่ได้ทราบข่าวคราวดีอยู่อย่างหนึ่ง ว่าหัวน่าไตเซิน ผู้ที่ตั้งตัวเปนเจ้า ๓ คนนั้น เกิดความบาดหมางกันแลกัน ทั้งที่พวกนั้นได้ปกครองแผ่นดินมาถึง ๓๐ ปีแล้ว การปราบปรามบ้านเมืองไม่ราบคาบได้ทั่วถึง ราษฎรได้ความลำบากยากแค้น เบื่อหน่ายผู้ปกครองในเวลานั้น นึกถึงเชื้อวงษ์ที่เคยปกครองมาแต่ก่อน น่าที่จะได้ราษฎรเปนกำลัง เพราะเหตุที่องเชียงสือเกรงข้อที่จะทรงเคลือบแคลง อย่างหนึ่งเห็นช่องที่พวกขบถจะมีกำลังอ่อนลงอย่างหนึ่งเช่นนี้ จึงได้คิดหนีออกไป มิได้กราบถวายบังคมลา ยกจู่ออกไปก็ตีเมืองไซ่ง่อนได้ จึงได้คิดทำศึกต่อขึ้นไป ในขณะเมื่อหนีไป พอได้เมืองไซ่ง่อน ก็ส่งต้นไม้เงินทอง เครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวาย ขอพระราชทานกำลังอุดหนุน ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานสาตราอาวุธเสบียงอาหารเนือง ๆ องเชียงสือทำศึกอยู่หลายปี จึงได้เมืองกุยเยิน แล้วทำต่อขึ้นไปจนในที่สุดได้เมืองตังเกี๋ย ตั้งตัวขึ้นเปนดึกว่างเด ยี่ห้อแผ่นดินว่า ยาลอง ในราวปีรกาตรีศก จุลศักราช ๑๑๖๓ มาจนปีมโรงสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๘๐ จึงเปลี่ยนเปนแผ่นดินมินมางองค์ที่มีพระราชสาส์นบอกเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ ที่ได้คัดสำเนาลงไว้ในท้ายพระราชวิจารณ์นี้

เรื่องเมืองญวนที่เกี่ยวข้องกับเมืองเราตั้งแต่องเชียงสือเข้ามา มีปรากฎในพระราชพงษาวดารหลายตอน คือน่า ๓๓๗, ถึงน่า ๓๓๙, ๓๙๐, ๓๙๖, ๓๙๘. แต่ชั้นเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ ดูเอาใจใส่สอบสวนในเรื่องไมตรีกับเมืองญวนนี้มาก ท่านได้สำเนาพระราชสาส์นทั้งไปแลมาเกือบหมด มีเหลืออยู่ในห้องอาลักษณ์น้อยนัก แต่ได้ทราบว่าหนังสือที่เอาไปนั้นตกไปที่เจ้าพระยาภาณุวงษ์ ไปปลูกออฟฟิศอยู่ริมน้ำ ๆ เซาะฤๅปลวกขึ้นเสาพังลงน้ำไปหมด แต่ข้อความที่ได้ไปนั้น ท่านได้เก็บใจความลงแล้วในจดหมายเหตุตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชกาลที่ ๓ แต่ข้อความที่เก็บลง น่าจะแปลกแปลงสำนวนฤๅมีเข้าใจผิดอยู่ในนั้นบ้าง ข้อที่ขาดอยู่เปนนิตย์นั้น หนังสือเก่า ๆ ไม่ใคร่ลงศักราชเดือนปีชั้นหนึ่งแล้ว ผู้ที่คัดถึงพบเข้าก็ยิ่งเมินเฉย ไม่เอื้อเฟื้อแก่เดือนปี บางทีลักษณเดิมเขาแต่งหนังสือเอาศักราชตั้งเปนหลัก สุดแต่มีอไรก็จัดลำดับตามรายเดือนไปจนสิ้นปี ไม่กำหนดเรื่อง อิกไนยหนึ่งตั้งใจจะกำหนดแต่เรื่อง ยกความมารวมกันไว้ในแพนกเดียว แต่ถ้าจะทำเช่นนั้น ควรจะยกศักราชมาลงให้ทุกระยะ แต่เขาหาได้ทำดังนั้นไม่ ไม่สังเกตแลไม่ยกศักราชมาลง ทำให้ศักราชสูญไปได้เปนอันมาก เพราะฉนั้น ข้อความที่ปรากฎอยู่ในจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๑ ซึ่งกรมหลวงดำรงมารวมพิมพ์ขึ้น จึงไม่มีศักราชโดยมาก แต่มีข้อความเรื่องเมืองญวนมาก ซึ่งไม่มีสำเนาเหลืออยู่ห้องอาลักษณ์เลย ที่มีอยู่ก็เปนความต่างหาก เห็นจะเปนที่หลงเหลือเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ไม่ได้ไป มีในรัชกาลที่ ๑ บ้าง รัชกาลที่ ๒ มาก แต่บางทีจะไม่ตรงกันกับที่มีในจดหมายเหตุเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ ไม่ได้สอบสวน รัชกาลที่ ๓ ไม่มีเลยแต่สักฉบับเดียว

พระราชสาส์นเมืองญวน ไม่มีกถาคำนำทำนองพระราชสาส์นลาว เปนอย่างหนังสือไปมาธรรมดา เปนการไม่สมควรที่จะนำเอาพระราชสาส์นเหล่านั้น มาลงต่อท้ายพระราชวิจารณ์นี้ให้มากมายเกินไป แต่เห็นว่าพระราชสาส์นญวนนี้ ถ้าหากว่าไม่พลัดพรายได้หมด จะเปนเล่มโตแต่ลำพังพระราชสาส์นไม่มีอื่นปน จะเต็มไปด้วยข้อราชการที่พึงกำหนดชั้นเชิงทางดำเนินในเวลานั้น แต่ครั้นเมื่อหนังสือทั้งปวงหายเสียโดยมาก เหลืออยู่แต่นิดเดียวเท่านี้ น่าเลืยดายที่จะปล่อยให้สูญเสีย เพราะหนังสือเขียนด้วยเส้นดินสออยู่ในสมุดดำอันชื้นราลบเลือนได้ง่าย ถ้าไม่พิมพ์ขึ้นไว้จะกลับร้ายไปกว่าหนังสือที่พังลงน้ำนั้น เพราะเหตุที่หนังสือนั้น เจ้าพระยาทิพากรวงษ์ได้คัดใจความไว้แล้ว แต่หนังสือที่เหลืออยู่นี้ เจ้าพระยาทิพากรวงษ์ไม่รู้สึกเลย เห็นว่าไม่มากมายเท่าใด จึงได้พิมพ์ติดท้ายไว้ สำหรับได้เห็นสำนวนที่มีไปมา

มีข้อความซ้ำอยู่ด้วยเรื่องพระราชสาส์นมีไปถึงเจ้าเมืองตังเกี๋ยฉบับหนึ่ง ซึ่งเก็บความลงไว้ในพงษาวดารรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๑ เลอียดลอออยู่ แต่เห็นปรากฎว่าได้ตัดฤๅได้เปลี่ยนถ้อยคำเสียบ้าง ให้เพราะฤๅให้ความชัดขึ้น แต่ข้าพเจ้าไม่เห็นว่าดีกว่าต้นฉบับ จึงได้คัดสำเนาจากต้นฉบับมาติดท้ายหนังสือนี้ไว้ จะได้อ่านเทียบ

ส่วนหนังสือที่เจ้าตังเกี๋ยมีมาฉบับแรก เจ้าพระยาทิพากรวงษ์เห็นจะได้ไป จึงไม่มีอยู่ในห้องอาลักษณ์ แต่ไปได้คำตอบที่เจ้าเมืองตังเกี๋ยมีมาสืบทางไมตรี ซึ่งเปนพระราชสาส์นโต้ตอบติดกันกับฉบับที่ได้ไว้ ข้อความดีอยู่ จึงได้พิมพ์ไว้อิกฉบับหนึ่งเปนหมวดแรก

ผู้อ่านต้องเข้าใจว่าเจ้าเมืองตังเกี๋ยผู้ที่เขียนหนังสือนี้ เปนเจ้าคนหนึ่งในพวกไกเซิน มาตั้งเปนเจ้าอยู่เมืองแง่อาน ซึ่งมีความเสียใจที่จะกล่าวว่า กรมหลวงนรินทรเทวีเขียนลงไว้ว่า “ไตรเกริน” นั้นไม่ผิด ในหนังสือสำเนาที่มีไปมาต่าง ๆ ใช้ตัว ต, เปนด้วยเสมียนอ่านตัว ต, เปนตัว ก, อย่างซึมซาบ หนังสือก็กลายเปนตัว ก, ไป

เรื่องราวสาเหตุที่จะมีราชสาส์นมานั้น เพราะเมืองเวียงจันท์รบกับเมืองพวน เจ้าเมืองพวนบอกขอกองทัพออกไปเมืองแง่อาน ญวนยกกองทัพเข้ามารบลาวในเมืองพวน แตกลาวไปครั้งหนึ่ง แล้วจะยกลงมาตีเมืองเวียงจันท์ เจ้านันทเสนซึ่งเปนเจ้าล้านช้าง จึงได้มีศุภอักษรลงมาขอกองทัพกรุงขึ้นไปช่วย ทัพกรุงขึ้นไปถึงเมืองเวียงจันท์ ญวนถอยออกไปอยู่เมืองพวน กองทัพไทยยกตามออกไปเมืองพวน ญวนก็เลิกออกไปเมืองติงเง

ข้อซึ่งญวนไม่รบกับเราในเวลานั้น เหตุด้วยรวังหลังอยู่เหมือนกัน ด้วยบ้านเมืองญวนเวลานั้นไม่ปรกติ องเชียงสือซึ่งเข้าพึ่งกรุงเทพ ฯ ได้ขอกองทัพออกไปช่วยต่อรบญวนทางไซ่ง่อนถึง ๒ คราว ปรากฎว่าไทยคิดจะช่วยตีเมืองญวนให้แก่องเชียงสือรู้ทั่วไป แต่หากข้างฝ่ายกรุงมีศึกพม่าพัวพันอยู่ไม่ทำการไปได้น่าเดียว องเชียงสือได้ข่าวกำลังพวกไตเซินอ่อนลงด้วยหัวน่าแตกความสามัคคีกัน เห็นเปนห่วงที จึงได้ออกไปเกลี้ยกล่อมผู้คนยกเข้าโจมตีเอาเมืองไซ่ง่อนคืนได้โดยง่าย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ทรงพระกรุณาองเชียงสือ อุดหนุนด้วยสาตราอาวุธเสบียงอาหาร กำลังคิดจะขึ้นไปตีเมืองเว้ ถ้าหากว่าข้างฝ่ายเมืองตังเกี๋ยจะทำให้เปนสัตรูกันขึ้นกับไทยข้างฝ่ายเหนืออิกทางหนึ่ง ก็จะเปนถูกศึกขนาบ ข้างฝ่ายใต้องเชียงสือตีขึ้นไป ข้างฝ่ายตวันออกทัพกรุงตีออกไป จะเปนการพะว้าพะวัง

เพราะเหตุฉนั้น เจ้าเมืองตังเกี๋ยจึงได้มีพระราชสาส์นเข้ามาผูกพันทางไมตรี อ้างว่าเมืองลาวเหล่านี้เคยส่งบรรณาการฝ่ายญวน เจ้าล้านช้างไปห้ามปรามขัดขวาง เดินทางกลับร้ายเปนดี ขอให้ที่กรุงยกกองทัพออกไปทางหนึ่ง ข้างฝ่ายเหนือจะตีองเชียงสือลงมา ขอให้เราช่วยจับองเชียงสือส่ง เมืองญวนจะทดแทนคุณ

เหตุผลที่เปนเช่นนี้แล้ว ก็เปนธรรมดาที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ จะไม่รับคำชักชวนของเจ้าเมืองตังเกี๋ย แต่เพื่อจะไม่ให้เกิดศึกยืดยาวไป เพราะจะเปนความรำคาญทางหนึ่ง ซึ่งเพิ่มเติมการรบพม่าที่มีอยู่แล้ว จึงได้ตอบไปว่าไม่ได้ห้ามไม่ให้เมืองลาวเหล่านี้ประพฤติตามประเพณีซึ่งมีมาแต่ก่อน แต่ไม่ยอมที่จะแต่งกองทัพออกไปรักษาเขตรแดนฤๅเกี่ยวข้องด้วย พระราชสาส์นฉบับนี้แต่งเปนภูมถานมาก

เจ้าตังเกี๋ยมีหนังสือตอบมา ยอมรับคำอธิบายที่มีไปในพระราชสาส์นทุกอย่าง แลผูกพันทางไมตรีสืบไป พระราชสาส์นญวนฉบับนี้ ลงวันเดือน ๘ แรม ๑๑ ค่ำ ปีเถาะสัปตศก จุลศักราช ๑๑๕๗

คราวนี้หนังสือที่มีอยู่ข้ามไปเปนปีชวดฉศก จุลศักราช ๑๑๖๖ นับเปนหมวดที่ ๒ มีพระราชสาส์นญวน ๒ ฉบับ ไทย ๒ ฉบับ ฉบับหนึ่งเปนพระราชสาส์นเจ้าเวียดนาม องเชียงสือ เมื่อตีเมืองตังเกี๋ยได้แล้ว อ้างว่าเมื่อปีกุนเบญจศก มีพระราชสาส์นให้ทูตออกไปถึงเมืองตังเกี๋ย คุมสิ่งของออกไปพระราชทาน (ของพระราชทานครั้งนี้เปนทีเครื่องอภิเศก เพราะเหตุที่ปราบปรามเมืองญวนอยู่ในอำนาจได้ ทั้งตอนเหนือตอนกลางตอนใต้) ตอบรับสิ่งของแลส่งของเข้ามาถวายด้วย กวางเถิงดาว คำทราย เตียงกวางเฮา ๑ ทานลำเวียนโหย เวียนบะ ๑ เปนราชทูตคุมเข้ามาทางเรือ พระราชสาส์นลงเดือน ๖ ขึ้น ค่ำ ๑ ยาลองศักราช ๑ ปีชวดฉศก จุลศักราช ๑๑๖๖

อิกฉบับหนึ่งตอบพระราชสาสน์เดือน ๔ ขึ้น ๕ ค่ำปีกุนเบญจศก ได้รับข่าวกรมพระราชวังบวร ฯ เสด็จสวรรค์คต คิดถึงพระเดชพระคุณจัดของเข้ามาสดัปกรณ์ พระราชสาส์นลงวันเดียวกัน ทูตสำรับเดียวกัน

พระราชสาส์นกรุงศรีอยุทธยา ตอบรับสิ่งของแลส่งของไปพระราชทาน มีข้อความว่าด้วยเรื่องเจ้าเวียดนามคืนพระมาลามาว่าเปนอย่างสูงไม่เคยใส่ถวายคืน (ทีเขาจะกลัวว่าเปนรับมงกุฎจากเรา) จึงส่งของอื่นไปพระราชทาน ตอบรวมทั้งของที่ส่งมาสดัปกรณ์กรมพระราชวังด้วย พระราชสาส์นลงวัน ๔ เดือน ๙ ขึ้น ๖ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๖๖ ปีชวดฉศก

อิกฉบับหนึ่งมีเนื้อความว่า เสี้ยนหนามหลักตอในเมืองญวนก็หมด เปนศุขอยู่แล้ว แต่พระนครศรีอยุทธยากับกรุงอังวะยังเปนปัจจามิตรกันอยู่ เมื่อเดือน ๖ ปีชวดฉศก ได้ยกขึ้นไปตีเมืองเชียงแสน ล้อมอยู่เดือนเศษจึงได้ มยุง่วนแม่ทัพพม่าถูกปืนตาย อ้ายนาขวาเจ้าเมือง อพยบหนีข้ามแม่น้ำของไปก็ตามจับได้สิ้น ทำลายกำแพงเสียแล้วกวาดครัวลงมา พม่าเห็นจะเจ็บแค้น ตกระดูแล้งจะยกลงมาตอบแทนฤๅประการใดยังไม่ได้ความ ถ้าทัพพม่าไม่มา ทัพพระนครศรีอยุทธยาจะยกไปทำแก่ทางอังวะ แต่เมืองชายทเล คือมฤท, ทวาย, เมาะตมะ, ย่างกุ้ง, ถ้าแต่กำลังทัพบกไปตีมันอุดหนุนกันได้ จำจะต้องมีทัพเรือไปกันทัพพม่า ได้คิดเตรียมทัพหัวเมืองปักษ์ใต้ ตลอดจนเมืองไทร เมืองตานีให้เปนทัพเรือ แต่ไม่สู้สันทัดนัก จะขอกองทัพเรือพระเจ้ากรุงเวียดนาม ๒๐๐ ลำ คิดดูมรสุมลมเดือนอ้ายมาจากเมืองญวน เดือนยี่ถึงมลากา ปลายเดือนยี่ต้นเดือนสามเปนลมสำเภา เลี้ยวขึ้นไปทางเกาะหมากเมืองไทร เมืองถลางได้สดวก ถึงอังกฤษซึ่งตั้งอยู่เกาะหมากนั้น ก็จะมีหนังสือแต่งคนออกไปบอกเสียแล้วก็จะไม่มีวิวาทสิ่งใด กำหนดจะได้ยกเมื่อใด จึงจะมีพระราชสาส์นไปให้แจ้ง พระราชสาส์นลงวันเดียวกันกับฉบับแรก

มีหนังสือเจ้าพระยาคลังถึงองไลโบเสนาบดี ให้นำความขึ้นกราบทูลพระเจ้าเวียดนามฉบับหนึ่ง ดำเนินรับสั่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช กรมพระราชวังบวร ฯ ส่งดีบุกบรีสุทธิ์ไปให้เจ้าเวียดนาม แลว่าด้วยเรื่องสำเภาซึ่งซัดไปอยู่เมืองญวนติดไปอิกฉบับหนึ่ง

ต่อนั้นมามีสำเนาพระราชสาส์นเมืองญวน นับเปนเหมวดที่ ๓ ปีขานอัฐศก จุลศักราช ๑๑๖๘ สามฉบับ ๆ หนึ่งถวายของบรรณาการ ฉบับหนึ่งส่งของสดัปกรณ์กรมพระราชวังหลัง อิกฉบับหนึ่งเปนคำตอบพระราชสาส์น แลบอกข่าวที่ทูตออกไปทางบกตายที่เมืองญวน

ต้นเหตุที่มีพระราชสาส์นออกไปทางบกนี้ ทรงพระราชดำริห์ว่า องเชียงสือเปนไมตรีกับเราดีอยู่ก็จริง แต่เมื่อได้เมืองญวนทั้งหมดแล้ว ด้วยความจำเปนอันเกี่ยวข้องกัน เพราะอาณาเขตรติดต่อกันก็ดี ฤๅมีความกำเริบเปลี่ยนความคิดไปอย่างไรก็ดี ฝ่ายเราไม่รู้ทางบก มีพระราชประสงค์จะให้รู้ทางบกไว้ จึงได้แต่งให้พระยาจักราเปนราชทูต พระยาราชวังสรร ซึ่งเปนผู้คุ้นเคยมีอุปการะกับเจ้าเวียดนาม เปนอุปทูต นายเสน่ห์เปนตรีทูต เชิญพระราชสาส์นออกไปทางบก พระยาจักราแลนายเสน่ห์มหาดเล็ก ไปเปนไข้ป่าตายเสียที่เมืองเว้ เจ้าเวียดนามจึงได้ส่งพระยาราชวังสรรแลไพร่ที่เหลือตายเข้ามาทางเรือ ในพระราชสาส์นฉบับนี้ว่าถึงเรื่องพระยาเชียงเงิน ซึ่งไปกวาดครอบครัวเมืองแถงเข้ามา เห็นจะเปนเมื่อครั้งยกขึ้นไปช่วยเจ้านันทเสน กล่าวความเปนไม่มีเคลือบแคลงสงไสย พระราชสาส์นฉบับนี้ ลงวันเดือน ๑๐ ขึ้น ๓ ค่ำ ศักราชยาลอง ๕ ปีขานอัฐศก จุลศักราช ๑๑๖๘

อิกฉบับหนึ่ง ตอบรับพระราชสาส์น บอกข่าวตั้งกรมพระราชวังบวร ฯ มีทูตเชิญเข้ามาทั้ง ๒ ฉบับ กำทรายกายเก่อถนจ๊กหาว ราชทูต ทำลุนตามเมียงหาว อุปทูต คุมของเข้ามาถวายด้วย พระราชสาส์นลงวันเดือน ๔ แรม ๙ ค่ำ ศักราชยาลอง ๕ ปีขานอัฐศกจุลศักราช ๑๑๖๘

พระราชสาส์นรัชกาลที่ ๑ มีสำเนาอยู่ที่ห้องอาลักษณ์แต่เท่านี้ พระราชสาส์นรัชกาลที่ ๒ มีมาก ถ้าจะกล่าวนำเปนฉบับ ๆ ซึ่งควรจะนับเปนหมวดที่ ๔ เห็นเรื่องจะยืดยาว จึงเปนการจำเปนที่จะกล่าวแต่ย่อพอได้รูปความ

พระราชสาส์นฉบับแรก บอกข่าวสวรรค์คตสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง แลเรื่องลงโทษหม่อมเหม็น ลงวันศุกร เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๒ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๗๑ ปีมเสงเอกศก

มีตำราเรียกว่ากฎสำหรับทำพระราชสาส์นอยู่ในต้นร่างนั้นด้วย แต่พระราชสาส์นญวนตอบ แลทูตญวนเข้ามาเยี่ยมพระบรมศพ ไม่มีฉบับ เห็นจะตกไปที่เจ้าพระยาทิพากรวงษ์เสียแล้ว

แต่พอเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ ก็พอเกิดเหตุขึ้นด้วยเรื่องเมืองเขมร ซึ่งถ้าหากว่าไมตรีในระหว่างองเชียงสือกับกรุงเทพ ฯ ไม่มีอยู่แต่ก่อน แลไม่อาไศรยความผ่อนผันของรัฐบาลในเวลานั้น น่าจะเกิดเหตุถึงรบพุ่งกันได้

สาเหตุที่ทำให้เกิดความลำบากขึ้นนั้น คือ พระนารายน์รามาธิบดี นักพระองค์เองซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์เศกไปให้ครองกรุงกัมพูชา อยู่ได้ ๓ ปี ก็ถึงแก่พิราไลย มีลูกยังเด็กอยู่ ๔ คน คือ องค์จันทร์ ๑ องค์อิ่ม ๑ องค์สงวน ๑ องค์ด้วง ๑ ฟ้าทะละหะซึ่งเปนบิดาเลี้ยงนักองค์เองมาแต่ก่อน ได้เปนผู้บังคับบัญชาราชการสิทธิ์ขาดในเมืองเขมร เวลานั้นญวนกำลังอยู่ในเวลารบกันภายในเมือง ไม่สู้มีอำนาจบังคับบัญชาเขมรได้นัก ฟ้าทะละหะปกครองเมืองเขมรตามคำสั่งของกรุงเทพ ฯ ฝ่ายเดียวโดยมากทุกอย่าง ได้พาองค์จันทร์เข้ามาเฝ้า ๒ ครั้ง จนฟ้าทะละหะนั้นชรามาก มาตายในกรุงเทพ ฯ จึงได้พระราชทานอภิเศกให้นักองค์จันทร์ ซึ่งเวลานั้นมีอายุเพียง ๑๖ ปี ขึ้นเปนสมเด็จพระอุไทยราชา เจ้ากรุงกัมพูชา

ครั้นเมื่อปีมโรงสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๗๐ ราว ๆ กันกับเวลาฉลองวัดพระเชตุพนครั้งหลัง พระอุไทยราชาเข้ามาเฝ้าอิกครั้งหนึ่ง อาการเปนคนอยู่ข้างจะทลึ่งทลั่ง ความคิดนั้นทำนองจะอยากได้เมืองพระตบอง เมืองเสียมราฐ เมืองสวายจิต ที่พระองค์เอง ยอมถวายไว้แต่รัชกาลที่ ๑ นั้นคืน เวลาเช้าเสด็จออกพระแกล ยังไม่มีผู้ใดได้เข้าเฝ้า ก็ตรงเข้ามาเปนทีว่าจะทูลลา กริ้วว่าทลึ่ง องค์จันทร์ได้ความอาย ทั้งไม่สมคิดที่ได้ทำให้ปรากฎไว้ว่าจะเอาเมืองพระตบองเสียมราฐคืน ก็เลยกระดากไม่เดินทางเมืองพระตบอง (ซึ่งเวลานั้นเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ซึ่งเปนบิดาภรรยานักองค์เองถึงแก่อสัญกรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้พระยาวิบุลยราช (แบน) เปนพระยาอภัยภูเบศร์ เปนผู้ว่าราชการเมือง) ลงเรือเสียที่เมืองโตนดล่องลงไปบันทายเพชทีเดียว พอประจวบกันกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์เสด็จสวรรค์คต เมืองเขมรจึงได้แต่งให้นักองค์สงวนแลนักองค์อิ่ม ซึ่งเปนน้องที่ ๒ ที่ ๓ ของเจ้ากรุงกัมพูชาเข้ามาเฝ้า ในการผลัดแผ่นดินใหม่จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งนักองค์สงวน เปนพระมหาอุปโยราช นักองค์อิ่มเปนมหาอุปราช ตามประเพณีตำแหน่งเมืองเขมร กลับออกไปเมือง

พระอุไทยราชามีความรแวงว่าเจ้าสองคนนั้นจะมีกำลังมากขึ้น หวังจะตัดกำลังให้อ่อน จึงให้จับตัวพระยาจักรี พระยากลาโหม ซึ่งเปนผู้เข้ามาด้วยนักองค์ทั้งสอง คราวรับตำแหน่งนั้นไปฆ่าเสีย แลสงไสยว่า พระยาเดโช (เมน) ซึ่งเปนตำแหน่งพระยาสังขโลก เจ้าเมืองกระพงสวาย จะคิดอ่านเปนขบถเข้าด้วยพระยาจักรี พระยากลาโหม จึงให้ยกขึ้นไปตีเมืองกพงสวาย พระยาสังขโลกไม่ทันรู้ตัว ก็หนีเข้ามากรุงเทพ ฯ พระยาอภัยภูเบศร์ ผู้รักษาเมืองพระตบองก็ไม่ไว้ใจ จัดการป้องกันรักษาเมืองพระตบอง เมื่อการครั่นกันอยู่เช่นนั้น พอนักพระองค์แก้ว ซึ่งเคยเข้ามาอยู่กรุงธนบุรีแต่ก่อน ไปเปนผู้ใหญ่อยู่ในเมืองเขมรคู่กับฟ้าทะละหะนั้นตายลง แต่ไม่ได้ตายในเมืองบรรทายเพชร์ องค์สงวนเวลานั้นบวชอยู่สึกออกมา ว่าจะไปปลงศพ ก็เกิดรแวงว่าองค์สงวนจะไปคิดการขบถ องค์สงวนเห็นท่วงทีไม่ไว้ใจได้ จึงได้หนีเข้ามาเมืองโพธิสัตว์ พระอุไทยราชาก็ให้ยกผู้คนติดตาม ข้างองค์สงวนก็ตั้งกองรักษาตัว จะเกิดสู้รบกันขึ้น ข้อความทราบถึงที่กรุงเทพ ฯ จึงโปรดให้พระยาราชรองเมือง แลผู้อื่นยกออกไปฟังการอยู่ที่เมืองพระตบอง

ฝ่ายพระอุไทยราชาตกใจ ได้ข่าวว่ากองทัพกรุงเทพ ฯ ออกไป รแวงผิดอยู่ จึงให้ไปขอกองทัพญวนมาช่วย ญวนเห็นเปนทีที่จะเข้าแทรกแซงได้ถนัด จึงส่งกองทัพขึ้นมาช่วยรักษาเมืองเขมร ฝ่ายองค์อิ่มมหาอุปราช แลองค์ด้วงน้องชายเล็ก ตกใจกองทัพญวนขึ้นมา ก็พากันเปิดหนีเข้ามากรุงเทพ ฯ อิก เมื่อการเปนมากขึ้นเช่นนั้นแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยายมราช พาตัวองค์สงวนลงไป เพื่อจะสมัคสมานกับองค์จันทร์ให้เปนที่เรียบร้อย ยังไม่ทันจะไปถึง องค์จันทร์ได้ข่าวว่ากองทัพกรุงไป ก็เปิดหนีลงไปอยู่เมืองไซ่ง่อน

ด้วยเหตุนี้จึงเปนเรื่องที่ได้มีพระราชสาส์นไปมากันในระหว่างกรุงศรีอยุทธยากับกรุงเวียดนามด้วยเรื่องเมืองเขมร ตั้งแต่ปีมเมีย โทศก จุลศักราช ๑๑๗๒ จนถึงปีรกาเบญจศก จุลศักราช ๑๑๗๕ องค์จันทร์จึงได้กลับขึ้นมาอยู่เมืองพนมเปญ

ทางโต้ตอบกันในระหว่างสองพระนครนี้ ก็ด้วยถือว่าเมืองเขมรอยู่ในบำรุงทั้งสองฝ่าย ข้างฝ่ายญวนก็ฟังเสียงแลพูดตามข้อความที่องค์จันทร์กล่าว แต่ข้างฝ่ายกรุงไว้อาการเปนกลาง ๆ มีข้อซึ่งจะกล่าวได้ถนัด ว่าองค์จันทร์ไม่มีความอ่อนน้อมยำเกรง การที่โต้ตอบไปมาก็มีชั้นเชิงราชการอยู่ในนั้น เช่นกับที่กรุงมีพระราชสาส์นไป ว่าองค์จันทร์กำเริบ เพราะได้กองทัพญวนมาเปนกำลัง แต่ญวนแก้ว่า เห็นว่าเปนเวลากำลังจะทำการพระบรมศพ การของไทยก็เหมือนการของญวน จึงได้ขึ้นมารงับเหตุการไว้

ญวนกล่าวว่าองค์จันทร์ หนีลงไปเมืองไซ่ง่อน เพราะกองทัพไทยยกออกไปตกใจกลัว ข้างไทยแก้ว่าเพราะเห็นว่าเปนระหว่างทุกข์ ของเจ้ากรุงเวียดนาม ด้วยดึกท้ายเห่าพระราชมารดาสวรรค์คต จึงมิอยากจะให้กวนญวน เช่นนี้เปนต้น ถ้าจะเก็บข้อความเหล่านี้มากล่าวจะยืดยาวไป ควรจะพิจารณาในสำเนาพระราชสาส์น ได้มีทูตออกไปเมืองญวนแลทูตญวนเข้ามาหลายเที่ยว ลงปลายที่สุด ก็เปนญวนแลไทยพร้อมกันพาองค์จันทร์คืนขึ้นมาอยู่เมืองเขมร แต่องค์จันทร์บิดพลิ้วไม่ขึ้นมาทันที ต่อญวนพาขึ้นมาแล้ว ไทยจึงออกไปภายหลัง


พระราชพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๑ น่า ๓๑, ถึงน่า ๔๓ หน้า ๕๐, น่า ๕๓, น่า ๑๐๔, น่า ๑๒๑, น่า ๑๓๐, น่า ๑๓๓, น่า ๑๔๙, น่า ๑๕๐, น่า ๑๖๑, น่า ๑๗๘, น่า ๑๙๕, น่า ๑๙๘, น่า ๒๐๗, น่า ๒๑๑, น่า ๒๒๐, น่า ๒๒๑, น่า ๒๒๔, น่า ๒๓๔, น่า ๒๔๒, น่า ๒๔๔, น่า ๒๕๓,
มหาอุปโยราชนี้ เปนตำแหน่งตรงกันกับที่เมืองล้านช้างเรียกว่า “อุปยุวราช” เข้าใจกันว่าเปนฝ่ายหลัง แต่ใหญ่กว่าฝ่ายน่า ฝ่ายน่าเปนอุปราช


หัวข้อ: Re: จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 27 สิงหาคม 2562 17:23:11
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/14850401961141_spd_2012090285139_b_1_320x200_.jpg)


ในตอนปลาย แห่งพระราชสาส์นนี้กล่าวถึงองค์จันทร์ให้กองทัพยกขึ้นมาตีเมืองพระตบอง แต่ได้ความว่าเจ้าเวียดนามให้ขึ้นมาชำระอยู่แล้ว จึงแต่งให้ทูตออกไปฟังความ ท้องเรื่องนั้นการก็เปนอันสงบ องค์จันทร์คงขึ้นอยู่ทั้งสองฝ่าย แต่สนิทข้างญวนรแวงข้างเรา เพราะเหตุที่ฝ่ายน้องทั้ง ๓ คนมาอยู่ข้างเรา

ถึงว่ามีเหตุการ ซึ่งต้องเจรจากันอยู่ในระหว่างสองพระนครนี้ ด้วยเรื่องความเมืองเขมร แต่ทางไมตรีถามข่าวคราวศุขทุกข์เยี่ยมเยียนกันเปนปรกติเรียบร้อย ไม่มีหมองหมางอันใด

มีระหว่างซึ่งไม่ได้มีสำเนาพระราชสาส์นเหลืออยู่ ๒ ปี ไปได้พระราชสาส์นเจ้าเวียดนามมินมางโดยพเอินไปพบหลงปนอยู่ในพระราชสาส์นจีน บอกเตี้ยนวั่งเด๊ คือองเชียงสือสวรรค์คตฉบับหนึ่ง บอกมินมางเสวยราชสมบัติใหม่ฉบับหนึ่ง ในปีเถาะเอกศก จุลศักราช ๑๑๘๑ เพราะทำนองพระราชสาส์นเปนอย่างจีน เขาจึงเข้าใจว่าเปนพระราชสาส์นเมืองจีน ได้เก็บมาพิมพ์ติดท้ายหนังสือนี้ด้วย สำเนาพระราชสาส์นที่เหลืออยู่หมดสิ้นเชิงเพียงเท่านี้

๑๓๕ ณ ปีเถาะต้นปีมีบันทิด ๒ คนเข้าวังน่า จับตัวได้ประหารชีวิตรทั้งผู้รู้เห็น เอี้ยง บุตรหญิง ๑ บุตรชาย ๒ เกิดบุตรชาย ๒ จุ้ย บุตรหญิงอยู่วังหลวง พระยาภัยโนฤทธิ์ บุตรหญิง ๒ อยู่วังหลวง พระโองการทรง (ส่ง) สิ้นทั้ง ๓ คน ให้ประหารชีวิตรพร้อมกัน พ่อ, แม่, ลูก, เปนเสร็จ
๑๓๕ ความในวังนี้ทราบเลอียดออกไปกว่าในพงษาวดาร พระยาอภัยรณฤทธิ ผู้นี้เดิมเปนขุนกลาง

๑๓๖ ณกลางปีเถาะในวังหลวง เพง, ทองคำ, มอญ, งานที่ ทำผิดคิดมิชอบ สืบสวนเปนสัตย์เฆี่ยน คนละ ๑๐๐
๑๓๖ เรื่องนี้ไม่ปรากฏในพงษาวดาร

๑๓๗ ประหารชีวิตรทั้งขุนแก้วน้องพระยาสรรค์
๑๓๗ อ้ายตาขุนแก้วมาตายถึงป่านนี้ด้วยเรื่องอะไรก็ไม่รู้

๑๓๘ ณปลายปี พระโองการ รับสั่งให้กรมหลวงเทพหริรักษ์ยกไปตีไกรเกริน
๑๓๘ การที่ยกทัพไปช่วยองเชียงสือเปน ๒ คราว ครั้งแรกปีเถาะเบญจศก จุลศักราช ๑๑๔๕ โปรดให้พระยานครสวรรค์ยกทัพบกไปทางเมืองกัมพูชา แลให้เกณฑ์ทัพเขมรเข้าบรรจบ ยกลงไปตีเมืองไซ่ง่อน

ในเวลานั้นเมืองไซ่ง่อน ได้แก่พวกขบถไตเซิน องติงเวืองครองเมืองไซ่ง่อนได้รบกับญวนหลายครั้ง พระยานครสวรรค์มีฝีมือเข้มแขงรบญวนชนะ แต่จะเปนด้วยเหตุใดไม่ปรากฎ พระยาวิชิตณรงค์แลขุนนางซึ่งอยู่ในกองทัพนั้น มีใบบอกกล่าวโทษว่าพระยานครสวรรค์ได้เรือแลไพร่ญวนแล้ว ส่งคืนลงไปให้แม่ทัพญวน นายทัพนายกองทั้งปวงพากันสงไสยว่าจะเปนขบถ มีใบบอกเข้ามา ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า นายทัพนายกองไม่ปรองดองกัน จะทำการไปไม่ตลอด จึงให้หากองทัพกลับ พระยานครสวรรค์นั้นต้องรับพระราชอาญาประหารชีวิตร ที่ป่าช้านอกวัดโพธาราม ข้อความทั้งนี้ในพระราชพงษาวดาร แลพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ เนื้อความลงกัน แต่พงษาวดารญวนไม่มี เห็นจะเปนพงษาวดารญวน ตั้งใจจะกล่าวแต่เรื่องราวขององเชียงสืออย่างเดียว เพราะตามทำนองความที่แต่งนั้น ผู้แต่งเรียกว่าพงษาวดาร แต่เอาความประพฤติแลเปนไปขององเชียงสือขึ้นเปนที่ตั้ง ก็กลายเปนประวัติขององเชียงสือเท่านั้น หาใช่พงษาวดารไม่ เพราะองเชียงสือไม่ได้ไปในกองทัพด้วย จึงไม่มีข้อความในประวัติขององเชียงสือ

แต่ครั้งกรมหลวงเทพหริรักษ์ออกไปในปีมโรงฉศก จุลศักราช ๑๑๔๖ นี้ องเชียงสือไปด้วยในกองทัพ จึงได้มีข้อความในพงษาวดารญวน แต่ภูมิ์แผนที่กล่าวต่าง ๆ กันไป ด้วยความรู้ค่อนจะอยู่ข้างอ่อนด้วยกันทั้งนั้น พงษาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ น่าจะเยี่ยมกว่าเพื่อนในชั้นเชิงที่กล่าว แต่จะวินิจฉัยว่าใครถูกใครผิดแน่ นอกจากตรวจแผนที่ให้ได้ความชัดเจนก็จะยังว่าแน่ไม่ได้ ข้าพเจ้าไม่มีแผนที่ในมือที่จะตรวจได้ทันที จึงขอทิ้งไว้ให้ผู้ที่จะแต่งพงษาวดารสอบสวนเอาเอง จะได้บรรยายข้อความที่แปลกกันลงไว้ทั้ง ๓ อย่าง ดังต่อไปนี้

พระราชพงษาวดาร
ว่า กรมหลวงเทพหริรักษ์ยกทัพเรือออกไปกับองเชียงสือ ถึงเมืองพุทไธมาศ เกณฑ์พระยาราชาเศรษฐี พระยาทัศดาเข้าบรรจบทัพ ยกไปตั้งค่ายอยู่อ่าวมนาวริมแม่น้ำแดนเมืองสักแดก เปนหลายค่าย ให้องเชียงสือแต่งขุนนางญวน กับไทยข้าหลวง ไปเกลี้ยกล่อมอาณาประชาราษฎร ในแว่นแคว้นเมืองสักแดก เมืองโลงโห้ เมืองสม่าถ่อ ทั้ง ๓ เมืองมาเข้าด้วยเปนอันมาก

องติงเวืองเจ้าเมืองไซ่ง่อนแต่งกองทัพขึ้นมาตั้งอยู่เมืองสักแดก ได้ต่อรบกันกับกองทัพไทยเปนหลายครั้ง ยังไม่แพ้ชนะกัน วันหนึ่งทัพเรือฝ่ายไทยยกไปรบทัพเรือญวน แล้วถอยขึ้นมาเอาศีศะเรือรบเข้าจอดอยู่น่าค่าย ทั้งเครื่องสาตราวุธปืนใหญ่น้อยไว้ในเรือด้วยความประมาท ครั้นเพลาน้ำขึ้นทัพเรือญวนยกตามขึ้นมาถึงน่าค่าย ยิงปืนเรือรดมขึ้นมาทำลายค่าย ทหารไทยเสียทีลงเรือออกต่อรบมิทัน ก็ทิ้งค่ายแตกหนีเปนอลหม่าน นายทัพนายกองจะกดไว้มิอยู่

ในพงษาวดารรัตนโกสินทร์ว่า ทัพบกนั้นโปรดให้พระยาวิชิตณรงค์เปนแม่ทัพยกไปทางเมืองเขมร เกณฑ์กองทัพเขมรสมทบไปได้ไพร่พล ซึ่งเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์เกณฑ์ให้ ๕๐๐๐ ยกไปทางเมืองเปียมจอซาแดก ถึงแพรกพระยามัน สู้รบกับญวนไตเซินหลายครั้ง ญวนสู้ไม่ได้ถอยไป จึงยกล่วงไปเมืองเปียมบาราย ตีค่ายบ้านป่ายุง

ส่วนทัพกรมหลวงเทพหริรักษ์ ไปได้กองทัพพุทไธมาศเข้าด้วยแล้ว ยกไปเข้าปากน้ำเมืองปาศัก ตั้งอยู่คลองวามนาว ฝ่ายญวนมาตั้งรักษาที่ปากคลองวามนาว ทางจะลงไปซาแดก ล่องโห่ ไซ่ง่อน ทัพไทยจะยกหักลง ไปไม่ได้ จึงยกขึ้นมาตั้งค่ายบนบก หมายจะตีค่ายญวนบนบกให้แตกเสียก่อน ไม่ได้คิดรวังหลัง ครั้นน้ำมากขึ้นญวนเอาเรือรบลัดมาทางคลององเจืองออกแม่น้ำใหญ่ แล้วมาปิดปากคลองวามนาวด้านหลังทางไว้ ฝ่ายทัพญวนด้านปากคลองลำน้ำเมืองไซ่ง่อนก็ตีเข้ามา ข้างฝ่ายลำน้ำสมิถ่อตีรุกหลังเข้าไป ทัพไทยอยู่ในระหว่างศึกขนาบ ก็ทิ้งเรือรบเสีย หนีขึ้นบกไป

ในพงษาวดารญวน ในที่หนึ่งกล่าวว่ากองทัพไทยกับองเชียงสือยกออกไป องเชียงสือเข้าตีได้ด่านเกียมยาง แล้วยกเข้าไปตีได้ด่านเมืองฮ่าเตียง ฝ่ายพวกโดด๊ก เมืองอางยาง (ซึ่งจะเรียกชื่อยาก ถึงเรียกก็จำไม่ได้นั้น) ให้ทหารออกรักษาตำบลซาแด๊ก แลด่านตำบลบาเช่า ตำบลกล้าโอน องเชียงสือตีได้ทั้ง ๓ แห่ง กองทัพกรุงไปตั้งตำบลซาแด๊กออกหมายไปเกลี้ยกล่อม ต่อนั้นไปกล่าวถึงทหารวิเศษอย่างข้างจีน ที่มาอาสาต่าง ๆ อันไม่มีสารอันใดเปนอันมาก แล้วจึงกล่าวว่าพวกไตเซินปฤกษากันถึงสองอย่าง แต่อย่างที่ได้ตกลงทำนั้น ว่าพวกเรา (คือไตเซิน) ตั้งทัพอยู่ที่หมีทอนี้ แล้วจัดทหารไปตั้งซุ่มอยู่ในลำคลองหรัดเคงิมกองหนึ่ง ให้ยกขึ้นไปตำบลซาแด๊ก รบล่อให้พวกองเชียงสือกับกองทัพฝ่ายสยามไล่ลงมาพ้นจากหรัดเคงิม แล้วให้กองซุ่มสกัดต้นน้ำไว้ กองทัพที่หมีทอตีขนาบขึ้นไป ตามที่ตกลงกันนี้เปนอันได้จัดกองทัพมาล่อทัพไทย ให้ไล่ถลำไปดังเช่นความคิดนั้น ส่วนองเชียงสือว่าอยู่ค่ายหนึ่งต่างหาก พวกไตเซินยกไปตีหน่วงไว้ จะไปช่วยกันก็ไม่ได้ (เมื่อจุดประทัดแลตีม้าล่อเปนอันมาก หลายครั้งหลายหนซ้ำ ๆ ซาก ๆ แล้ว) ก็แตกด้วยกันทั้ง ๒ กอง เท่านั้น

กองทัพถอยขึ้นมากรุงกัมพูชา แล้วก็คืนกลับเข้ามากรุงเทพ ฯ ทั้ง ๒ กอง

ในเรื่องรบญวนได้พบจดหมายรายวันทัพ ครั้งเจ้ากรุงธนบุรีประทับอยู่ณเมืองพุทไธมาศ ออกคำสั่งแนะนำกองทัพชอบกลดีอยู่ ในกระแสรับสั่งนั้นว่า “นายทัพนายกองจะรบญวน ให้รู้ทางหนีทีไล่แลทำนองศึกข้างญวน ธรรมดาเรือรบญวนเจาะช่องปืนแคบพอจุปากบอกปืนจะเบนไปซ้ายขวาไม่ได้มากนัก ถ้ากองทัพหลบหลีกฤๅรุกร้นเข้าไปให้พ้นทางปืนแล้ว ญวนเห็นเสียทางปืนแล้วกระโดดน้ำหนีเท่านั้น ให้นายทัพนายกองตีโอบญวนเข้าไปแต่ห่าง ๆ อย่าให้ยิงปืนได้ถนัด ฤๅหลีกให้พ้นทางปืน เมื่อกระชั้นเข้าไปแล้ว ก็ให้รุกขยิกเข้าไปทีเดียว” คำสั่งเช่นนี้ออกจากที่ได้เคยรบกับญวนพวกนี้เอง

๑๓๙ ณปีมโรงฉศก ถวายพระเพลิงแผ่นดินต้นที่วัดบางยี่เรือ มีการมหรศพสมโภชพร้อมเสร็จ
๑๓๙ ฌาปนกิจเจ้ากรุงธนวัดบางยี่เรือตรงกับพงษาวดาร

๑๔๐ เจ้าฟ้ากรมหลวงธิเบศร์บดินทร์สิ้นพระชนม์ ถวายพระเพลิงที่วังเก่า
๑๔๐ พระราชทานเพลิงเจ้าฟ้ากรมหลวงธิเบศร์บดินทร์ที่วังเก่า เพราะวัดแจ้งยังอยู่ในพระราชวัง

๑๔๑ แล้วมีพระโองการให้หาบรรดาเมืองขึ้นเอก, โท, ตรี, จัตวา, ปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือ ให้เข้ามาเฝ้าพร้อมณกรุงเทพมหานคร
๑๔๑ หัวเมืองที่หาเข้ามาครั้งนี้เกณฑ์ไพร่มามาก ปักฉลากกะด้านให้ทำกำแพงพระนครจนแล้วสำเร็จ

๑๔๒ บรรดาสุริวงษ์กัมพูชา ทรง (ส่ง) เข้ามากรุง
๑๔๒ เชื้อราชวงษ์กัมพูชาที่เข้ามากรุงเทพ ฯ ครั้งนั้น คือนักพระองค์เอง นักองค์เมนฤๅมินซึ่งเขาตั้งชื่อว่า “สมเด็จพระมหากระษัตรีย์” นักองค์อีซึ่งเขาตั้งชื่อว่า “สมเด็จพระศรีวรราชธิดา” แลนักองค์เภา ซึ่งยังไม่มีชื่อ องค์เองโปรดให้สร้างวังอยู่คอกกระบือ องค์เมน ในพงษาวดารเขมรเขากล่าวว่าเข้าไปอยู่ในวังน่าเหมือนกัน แต่พงษาวดารไทยว่าตาย เหลือแต่องค์อีกับองค์เภา เข้าไปเปนพระสนมเอกอยู่ในวังน่า นักองค์อีมีพระองค์เจ้า คือพระองค์เจ้าหญิงกัมพุชฉัตรไนย หนึ่งตามที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงไว้แห่งหนึ่งว่า “กัมโพชฉัตร” พระองค์เจ้าหญิงวงษ์มาลา นักองค์เภา มีพระองค์เจ้า คือพระองค์เจ้าหญิงปุก เสด็จอยู่จนแผ่นดินประจุบันนี้ ภายหลังเมื่อองค์จันท์เปนพระอุไทยราชาขึ้น ให้เข้ามาทูลขอออกไปเมืองเขมร ไม่พระราชทาน ว่าแม่ลูกจะพลัดกัน

๑๔๓ ณเดือน ๘ ปีมเสง พระโองการรับสั่งให้มีลครผู้หญิงโรงใหญ่สมโภชพระแก้ว ประทานเงินโรงวันละ ....... [Math Processing Error]  ๓ วัน สำรับพระสงฆ์ทรงประเคน แลถวายน้ำผึ้งไม้เท้า ศาลาฉ้อทานตั้งรายรอบพระนคร ทิ้งต้นกัลปพฤกษ์ ๓ วัน ต้น (ละ) ....... [Math Processing Error]  มีการมหรศพสมโภชพร้อมเถลิงพระนครด้วย
๑๔๓ ปูมปีมโรงฉศก จดหมายไว้ว่า วันจันทร์เดือน ๔ แรม ๑๒ ค่ำ เชิญพระแก้วมรกฎ เข้าวิหารวัดพระศรีรัตนสาศดาราม”

ฉลองวัดพระแก้วคราวแรก เดือน ๖ ปีมเสงสัปตศกลงร่องรอยกันดี มีสวดมนต์รอบกำแพงพระนคร กรมหลวงนรินทรเทวีเอง เปนน่าที่ตั้งศาลาฉ้อทานแห่งหนึ่ง

๑๔๔ พระบางประทานคืนไปเวียงจันท์
๑๔๔ เมื่อเวลาเสด็จขึ้นไปตีเมืองเวียงจันท์ปลายแผ่นดินกรุงธนบุรี ได้เชื้อวงษ์พวกเมืองเวียงจันท์ลงมา มีเจ้านันทเสนเปนลูกคนใหญ่ ตามพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ว่าเจ้าบุญสาร ซึ่งเปนเจ้าล้านช้างที่หนีไปนั้น กลับเข้ามาเมืองเวียงจันท์ จึงโปรดตั้งให้เจ้านันทเสนลูกขึ้นไปเปนเจ้าเวียงจันท์ แต่ได้พบในสำเนาสุวรรณบัตรที่ห้องอาลักษณ์ว่า “ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้านันทเสนคืนเมืองเปนพระเจ้าขันธเสมา นามขัติยราชเปนเจ้านันทเสนพงษ์มลาน เจ้าพระนครพระเวียงจันทบุรี เศกไปณวัน ๕ ๑๔ฯ ๑ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๓ ปีฉลูตรีศก” มีพระราชโองการคล้ายกันกับตั้งเจ้านคร ขึ้นพระนามเอกาทศรฐ
          ขุนสกลมณเฑียร กรมวัง
          นายเทียรฆราษ อาลักษณ์
          ขุนวิเศษ มหาดไทย
          นายจิตรบำเรอ
          นายบังลังก์กุญชร
          แวงจตุลังคบาท จำทูลขึ้นไป

ข้อที่หลงไปว่าตั้งในรัชกาลที่ ๑ นั้น เพราะตัวคงยังไม่ได้ขึ้นไป ด้วยมีเวลาก่อนเปลี่ยนแผ่นดินอยู่ ๓ เดือนเท่านั้น เมื่อเปลี่ยนแผ่นดิน จึงได้พระราชทานพระบาง ให้เชิญกลับขึ้นไปด้วย ในจดหมายเหตุ เจ้าพระยาทิพากรวงษ์ว่าเจ้าอินเปนตาเจ้าฟ้ากุณฑล ผิดกันกับที่รู้จากสมเด็จกรมพระบำราบปรปักษ์แลพระองค์สุบงกช เจ้านันทเสนเปนตาเจ้าฟ้ากุณฑล ต้องกล่าวโทษเมื่อปลายแผ่นดิน จึงตั้งเจ้าอินเปนเจ้าเมือง เจ้าอินนี้เปนตาพระเจ้าราชวรวงษ์เธอ พระองค์เจ้าสุบงกช

๑๔๕ ปีมเสงน้ำมาก เข้าสารเกวียนละ....... [Math Processing Error] พระโองการรับสั่งให้จำหน่ายเข้าฉางแจกราษฎรให้ทั่วถึงกัน
๑๔๕ ปีมเสงน้ำมากนี้ เปนคู่เทียบน้อยกว่าปีเถาะในรัชกาลที่ ๓ มากกว่าปีมแมเบญจศกในรัชกาลประจุบันนี้

๑๔๖ ลุศักราช ๑๑๔๘ ปีมเมียอัฐศก เข้ายังแพงเสมอ ได้ข่าวพม่ามาทำนาปลายแดน
๑๔๖ กระบวนสืบสวนราชการหมู่นี้ อยู่ข้างกวดขันว่องไวมาก

๑๔๗ ณเดือน ๑๒ พม่าตั้งฉางเข้าฉางเกลือมาถึงสามสบลาดหญ้า
๑๔๗ พม่าพึ่งจะย่างเดินเข้ามาในแดนต่อเดือน ๑๒ พอเดือนอ้ายก็ได้ยกออกไปตั้งรับทีเดียว จึงทันท่วงที

๑๔๘ เจ้าอังวะยกแยกทางเหนือทางใต้ เปนทัพกระษัตริย์ทั้ง ๕ ทาง
๑๔๘ กองทัพพม่าครั้งนี้ ทีว่าแยกเปน ๕ ทางนั้น คือทัพที่ ๑ เข้าทางมฤท ตีชุมพรไชยา นาย ๖ ไพร่ ๒,๕๐๐ เปนทัพน่า ทัพหนุน ๔,๕๐๐ แยกเปนกองทัพเรือไปตีเมืองถลางกองหนึ่ง ๓,๐๐๐ จึงรวมคนในทัพที่ ๑ นี้ ๑๐,๐๐๐

ทัพที่ ๒ เปนทัพเมืองทวายปนกับพม่าเข้าทางด่านเจ้าขว้าว มุ่งมาตีราชบุรี กองน่านาย ๕ ไพร่ ๓,๐๐๐ กองหนุนนาย ๔ ไพร่ ๓,๐๐๐ ทัพหลัง ๔,๐๐๐ รวม ๑๐,๐๐๐

ทัพที่ ๓ เปนทัพใหญ่ ประชุมพลเมืองเมาะตมะ เข้าทางด่านพระเจดีย์สามองค์ แม่ทัพใหญ่ ๑ นายทัพ ๑๐ พล ๑๐,๐๐๐ เปนทัพน่า นายทัพใหญ่คนนี้ชื่อเมียนหวุ่น ซึ่งมาเกะกะอยู่บ่อย ๆ ทัพหนุนของกองน่า เมียนเมหวุ่นมาวุ่นอยู่เหมือนกัน นายทัพ ๕ พล ๕,๐๐๐ ตะแคงกามะ ราชบุตรที่ ๓ ขุนนาง ๔ พล ๑๐,๐๐๐ เปนกองที่ ๓ ในทัพนี้ ตะแคงจักกุราช บุตรที่ ๒ ขุนนาง ๔ พล ๑๐,๐๐๐ เปนกองที่ ๔ ในทางนี้ พระเจ้าปดุงตั้งปีกซ้าย ปีกขวาทัพน่าทัพหลังเปนกองหนึ่งต่างหาก พล ๒๐,๐๐๐ เปนกองที่ ๕ ในทัพนี้ รวมพลที่มาทางพระเจดีย์สามองค์นี้ ๔๕,๐๐๐

กองทัพทางที่ ๔ เข้าทางเมืองตากสำหรับตีหัวเมืองเหนือ ทัพน่า ๓,๐๐๐ กองหนุน ๒,๐๐๐ รวม ๕,๐๐๐

ทัพที่ ๕ สโตะมหาศริยอุจนา เจ้าเมืองตองอู คน ๒๓,๐๐๐ เมื่อถึงเมืองเชียงแสนแล้ว แยกมาตีสวรรคโลกย์ ศุโขทัย พิศณุโลกย์ ๕,๐๐๐ ทางแจ้ห่มให้อปะระกามณีเจ้าเมืองเชียงแสนเกณฑ์ลาว ๓,๐๐๐ นายทัพพม่า ๖ นาย คุมพล ๑๕,๐๐๐ รวมเปนคนทางนี้ ๑๘,๐๐๐ ตีตอนข้างเหนือแลตอนพายัพ รวมคนทั้งหมด ๑๐๓,๐๐๐

การที่พม่าคึกคักขึ้นในครั้งนี้ เหตุด้วยไปตีเมืองยะไข่ได้ เรื่องราวนั้นมังระเจ้าแผ่นดินที่ ๓ ตาย จิงกูจาลูกเปนเจ้า มังหม่องลูกมังล็อกเจ้าแผ่นดินที่ ๒ ยกเข้าชิงเมืองอังวะได้ อแซวุ่นกี้ฆ่ามังหม่องเสียขึ้นนั่งเมือง เปลี่ยนเจ้าติด ๆ กันมา ๓ คน ปดุงที่เปนลูกมังลองเจ้าแผ่นดินคนแรก ฆ่าอแซวุ่นกี้แลจิงกูจาเสีย ขึ้นนั่งเมืองเปนเจ้าแผ่นดิน นับว่าเปนที่ ๗ ในเร็ว ๆ นั้นเอง แต่ที่จริงก็เปนชั่วที่ ๒ เท่านั้น เจ้าปดุงคนนี้ออกบ้า ๆ หน่อย ๆ ฟุ้งซ่าน แต่เปนคนกล้าหาญคิดการโผงผาง มีลูกแขง ๆ จึงแต่งกองทัพขึ้นไปตีเมืองธัญวดี ยะไข่ได้ เปนธรรมเนียมของพม่า ถ้าตีเมืองมอญเมืองยะไข่ได้แล้วต้องตีเมืองไทย ปดุงก็เดินทางนั้น จึงได้ยกทัพเข้ามาคราวนี้ เข้ามาด้วยเวลากำลังอำนาจเปี่ยมเต็มที่ จึงได้เกณฑ์คนได้มากตีไม่ให้มีเว้นช่องตลอดพระราชอาณาเขตร คิดจะหุ้มเข้ามาทุกทางทีเดียว แต่การไม่ใคร่จะได้สมคิด ด้วยขุนนางพม่าเปนคนโลภแลกดขี่ไพร่ คนที่เกณฑ์มานั้นก็เปนคนชาติต่าง ๆ เช่น มฤท ทวาย มอญ ลาว เงี้ยว จนการบังคับบัญชาในระหว่างนายทัพกับไพร่พลรแวง ๆ กันอยู่ จึงเดินเข้ามาไม่ได้พร้อมกันทั้ง ๕-๖ ทาง

ผ่ายข้างความคิดกรุงเทพ ฯ ไม่คิดแผ่ออกรับทุกทาง ตั้งต้นรับแต่ ๓ ทาง คือทางทวาย ให้เสนาบดีออกไปตั้งรับราชบุรี ทางเหนือกรมพระราชวังหลังตั้งรับนครสวรรค์ ให้ทัพน่าขึ้นไปตั้งพิจิตร ทัพหลวงวังน่าออกไปรับทัพกระษัตริย์ตั้งลาดหญ้า เสด็จพระราชดำเนินหนุน ในเชิงรบใช้ทางตัดลำเลียง พอเห็นอ่อนจึงเข้าตีโดยแรงหักเอาทัพน่าแตก พอทัพน่าแตกทัพอื่น ๆ ก็ถอย เหตุด้วยการตัดลำเลียง ทำให้กำลังอ่อนลงแล้ว

แต่ทัพทวายที่เข้ามานั้นไม่เข้มแขงอไร ดูเหมือนมาโดยเสียไม่ได้ ทัพกลับจากลาดหญ้าเดินพบกันเข้าตีก็แตก ทัพทางข้างใต้คือทัพมฤทนั้น ตอนต้นทิ้งทีเดียวไม่คิดช่วย ต่อทัพเมาะตมะแลทวายแตกแล้ว วังน่าจึงเสด็จออกไป พม่าได้ตีเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตวันตกยับทั่วไป เหลือแต่ถลางกับพัทลุงเท่านั้น เมืองตวันตกมายับเยินถูกพม่าตีในครั้งนี้ ครั้งก่อน ๆ ก็ไม่ได้เยี่ยมกรายอไร ข้างฝ่ายเหนือพม่าอยู่ข้างจะกระจายมากกว่าทางอื่น จึงต้องเสด็จพระราชดำเนินหนุนขึ้นไป ตีต้อนออกไปเปนตอน ๆ ทัพข้างฝ่ายเหนือนี้ทำท่าคล้าย ๆ อย่างเก่ามาก ต้อนออกทางกำแพงเพ็ชร์บ้าง ออกทางเชียงใหม่บ้าง ถ้าจะว่าพม่าตีกรุงทุกคราวแล้ว ครั้งนี้ใหญ่โตมากกว่าทุกครั้งทุกคราว ท่าน จึงร้องว่าเปนทัพกระษัตริย์ทั้ง ๕ ทาง

๑๔๙ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระไอยกาธิราชทั้ง ๒ พระองค์ เสด็จพระดำเนินพลทัพยี่สิบหมื่น ออกตัดศึกที่ฮึกหาญ ไม่ต้านทานพระบารมี เจ้าอังวะหนีณวัน ๑๔ฯ ๓ ค่ำ เสด็จกลับมาถึงกรุงเดือน ๔
๑๔๙ นี่ออกจะเปนจดอย่างปลื้ม แต่ข้อความที่จริงนั้น ดังเช่นที่กล่าวมาแล้ว ครั้งนั้นพม่าเสียไพร่พลยับเยินมาก ซึ่งจะทำอิกครั้งหนึ่ง ให้ใหญ่เท่านั้นไม่ได้ต่อไป

๑๕๐ ปีมแม ไปตีตานี, กลิอ่อง, มฤท,
๑๕๐ ไปตีตานีนั้น คือกองทัพกรมพระราชวัง ไปรบพม่าทัพที่ ๑ ซึ่งมาตีชุมพร ไชยา แลหัวเมืองตวันตก ครั้นเมื่อพม่าแตกไปแล้วจึงได้ตีตานีต่อไป ส่วนกลิอ่องทำนองจะหมายความที่พระพุทธยอดฟ้า เสด็จออกไปตีทวายครั้งแรก ตีได้ค่ายวังปอ แลเมืองกลิอ่องปีกกากลางทุ่งแล้ว เข้าล้อมเมืองทวาย ขัดเสบียงเลิกทัพกลับทางคมองส่วย ครั้งนั้นได้แต่เมืองกลิอ่อง จึงจดไว้แต่เพียงกลิอ่องกระมัง แต่เมืองมฤทไม่มีเค้ามูลในเวลานี้ เปนแต่พม่าถอยกองทัพที่ ๑ ซึ่งไปตีหัวเมืองตวันตกนั้นกลับไปมฤท

๑๕๑ แล้วทำเมืองใหม่
๑๕๑ ความข้อนี้ ฟั่นเฟือนอยู่มาก พิเคราะห์ดูเวลาวังหลวงเสด็จออกไปตีเมืองกลิอ่องครั้งนั้น วังน่าเสด็จขึ้นไปเชียงใหม่ เหตุใดจึงได้หายสูญไป จะมาสร้างเมืองใหม่ในเวลานี้ เมืองได้สร้างจนถึงสมโภชแล้ว จะมากล่าวในที่นี้อิกเห็นซ้ำซาก จึงอยากจะแก้ตัวหนังสือที่สองในสี่คำนี้ ที่ว่า ทำ ให้เปน ทาง แล้วเติมคำที่สี่ลงว่า เชียง รวมเปน ๕ คำ อ่านว่า แล้วทางเมืองเชียงใหม่ ถ้าจะรวมอ่านกับวรรคที่หมายเลข ๑๔๙ ว่าปีมแมไปตีตานี กลิอ่อง มฤท แล้วทางเมืองเชียงใหม่ ก็ดูเหมือนจะได้ความ ฤๅ ทำ เปลี่ยนเปน ตั้ง อ่านว่า แล้วตั้งเมืองเชียงใหม่ ถ้าหากว่าเปนเนื้อความอย่างใดอย่างหนึ่งเช่นนี้ จะสนิทลงร่องรอยกับพงษาวดารดี แต่ถึงต่อเติมมากจึงไม่กล่าวยืนยัน ขอให้ผู้อ่านพิจารณาดูพงษาวดารระยะนี้เถิด

๑๕๒ ณปีวอกนพศก ทรงพระดำริห์จะรื้อยกพระไตรย์ปิฎก ให้พระพุทธสาสนารุ่งเรือง โปรดเบื้องสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ได้ศุขในอนาคตภายภาคน่า โดยกำหนดการที่จะเลี้ยงพระทั้งข้างน่าข้างใน รับเลี้ยงจนจบพระไตรย์ปิฎก
๑๕๒ ทำสังคายนาย ท่านรู้สึกว่าเปนการใหญ่ ท่านคงถูกเกณฑ์เลี้ยงพระด้วย

๑๕๓ แต่ประฐมกระษัตริย์ลำดับมาถึงที่นั่งสุริยาอำมรินทร์สิ้นกระษัตริย์จนแผ่นดินเดิม หาได้เพียรเพิ่มพระบารมีที่จะทรงสร้างไม่ (มี) แต่สมเด็จพระไอยกาเปนประฐมได้ยกพระไตรย์ปิฎก
๑๕๓ ในที่นี้มีคำเรียกว่าแผ่นดินเดิมแทนแผ่นดินต้น คงแปลว่าเจ้ากรุงธนนั้นเอง

๑๕๔ เสร็จแล้วฉลองหอไตรย์ ออกโรงลครเล็ก เลิกแล้วเพลาค่ำจุดดอกไม้ ตกลงหลังคาหอไตรย์ไหม้ แต่พระไตรย์ปิฎกรื้อขนได้สิ้น ที่อุโบสถพระแก้ว ลูกไฟไม่ถึงยังบริบูรณ์ดีอยู่ พระโองการตรัสว่า เทวดารักษาบำรุงพระสาสนาเห็นว่าหอไตรย์ยังต่ำอยู่ จึงจำเพาะให้ไหม้แต่หอไตรย์ ลูกไฟไม่ตกถึงพระอุโบสถ จะชำรุดมัวหมองนั้นหาไม่ จะได้ทรงสร้างพระมรฑปขึ้นทรงพระไตรย์ปิฎก
๑๕๔ ในที่นี้น่าจะกล่าวถึงแผนที่วัดพระศรีรัตนสาสดาราม สักหน่อย ในรัชกาลที่ ๑ มีพระอุโบสถอยู่อย่างทุกวันนี้ กับมีหอไตรย์อยู่ตรงสูนย์กลาง พระอุโบสถเปนสระใหญ่ หอไตรย์อยู่ในกลางสระ การฉลองหอไตรย์นี้เกิดเพลิงไหม้ จึงได้ถมสระนั้นเสีย ทำเปนพระมณฑปตั้งอยู่เหนือทักษิณซ้อนกัน ๓ ชั้น ที่ทักษิณนั้นมีพนักกำแพงแก้วฤาจะเรียกว่าไพรฑี เจาะเปนคูหาสำหรับตั้งตะเกียง แลมีฉัตรปรุธงจรเข้ปักสลับกัน หลังพนักกำแพงแล้วนั้น มีโคมทองแดงปรุปิดทองคำเปลว ตั้งรายรอบทั้งสามชั้น อัฒจันท์นั้นตรงขึ้นไปทั้งสามชั้น คล้ายอัฒจันท์ขึ้นพระปรางค์ พลสิงห์เปนนาคตัวประดับกระจกศีศะหล่อปิดทอง มีสัตว์หิมพานต์ยืนเชิงอัฒจันท์คู่หนึ่งทั้งสามชั้น เข้าใจว่าเมื่อทำพระมณฑปนี้แล้ว จึงได้สร้างหอพระมณเฑียรธรรม แลหอพระนาค เหตุด้วยหนังสือไว้บนพระมณฑปไม่หมด เพราะฉนั้นพระรเบียงตอนข้างเหนือจึงต้องย่อเปิดกว้างออกไปกว่าข้างใต้ ด้วยจะให้น่าหอพระนาค แลหอพระมณเฑียรธรรมใกล้กันเข้ามาอิกไม่ได้ ด้วยข้างด้านเหนือของพระมณฑป ตรงประตูเหนือนั้น เปนที่ตั้งหอพระเชษฐบิดรที่เชิญมาแต่กรุงเก่า รูปร่างจะเปนอย่างไรไม่ปรากฎ แต่เรียกกันว่าวิหารขาว ครั้นเมื่อรัชกาลที่ ๓ ทรงทำใหม่อย่างเดียวกับวัดพระเชตุพน จึงเปลี่ยนชื่อเรียกว่าวิหารยอด แต่วิหารขาวยังเรียกกันอยู่ก็มี พระเชษฐบิดร ก็ยังคงอยู่ในวิหารยอดจนทุกวันนี้ ด้านข้างตวันออกพระมณฑป มีพระเจดีย์ไม้สิบสองหุ้มทองแดงตั้งบนฐาน มีมารแบก ๒ องค์ ด้านตวันออกนอกพระรเบียงมีพระปรางค์ ๘ องค์ เดิมประดับกระจกสีต่าง ๆ จะเปนพระราชดำริห์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ทรงไว้ฤๅอย่างไรไม่ปรากฎ แต่ได้เห็นร่างหมายในรัชกาลที่ ๓ ว่า “จหมื่นไววรนารถรับพระราชโองการใส่เกล้า ฯ สั่งว่าทรงพระราชศรัทธาสร้างพระปรางค์น่าวัดพระศรีรัตนสาศดาราม ๘ องค์ลงรักปิดทองเสร็จแล้ว จะได้บรรจุพระพุทธเจดีย์องค์หนึ่ง พระธรรมเจดีย์องค์หนึ่ง พระปเจกเจดีย์องค์หนึ่ง พระสาวกเจดีย์องค์หนึ่ง พระภิขุนีสาวกเจดีย์องค์หนึ่ง พระชาฎกโพธิสัตว์องค์หนึ่ง พระสงฆเจดีย์องค์หนึ่ง พระยาจักรเจดีย์องค์หนึ่ง กับจะได้เชิญพระบรมธาตุ ใส่ในกล่องทองคำ บรรจุพระพุทธรูปศิลาขาวในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนสาศดารามองค์หนึ่ง กำหนดพระสงฆ์ ๔๗ เจ้า ๓ รวม ๕๐ จะได้สวดพระพุทธมนต์ ในพระอุโบสถ ณวัน ๙ฯ ๒ ค่ำ ปีมเมียฉศกจุลศักราช ๑๑๙๖ ครั้นรุ่งขึ้นจะได้เชิญพระบรมธาตุ พระธรรมเข้าบรรจุพระปรางค์ แลพระศิลาขาว เจ้า ๓ องค์ในที่นี้ คือกรมหมื่นนุชิตชิโนรส เจ้าฟ้ามงกุฎ พระองค์เจ้าอำไพ”

เมื่อได้ความเช่นนี้ น่าจะสันนิษฐานได้ว่า พึ่งสร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๓ ท่วงทีฐานก็เปนมารเจ๊กแบก ทั้งกำแพงก่อเพิ่มออกไปอิกชั้นหนึ่ง เก๋งบอกหนังสือก็เปนอย่างจีน กำลังเปนเวลาที่เล่นการช่างอย่างจีน จึงควรสันนิษฐานว่าเปนของรัชกาลที่ ๓

ครั้นเมื่อรัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างพระศรีรัตนเจดีย์แลพระพุทธปรางค์ปราสาทขนาบลงสองข้างพระมณฑป ถึงว่าการก่อพระเจดีย์แลพระพุทธปรางค์ปราสาท ได้ก่อสูงขึ้นไปถึงชั้นฐานบัตรแล้วก็ดี แต่ทักษิณซึ่งหุ้มติดกันเปนแผ่นเดียว ยังพึ่งจะก่อขึ้นไปได้สัก ๒ ศอก ฤๅ ๒ ศอกเศษ ถมดินก็ยังไม่ทั่ว เมื่อข้าพเจ้าได้เห็นจำได้ ยังได้เห็นทักษิณพระมณฑปทั้งสามชั้น พร้อมอยู่ด้วยเครื่องประดับ เปนแต่ทักษิณใหม่วงรอบอยู่ข้างนอกเท่านั้น พระเจดีย์ทอง ๒ องค์ พึ่งจะย้ายไปน่าพุทธปรางค์ปราสาทในชั้นหลังทีเดียว แต่เหมือนกับก่อใหม่ทับบนพระเจดีย์เก่า เพราะจมอยู่ในพื้นทักษิณเสียมาก พระรเบียงย่อที่ประตูยอดซุ้มมงกุฎตรงประตูสวัสดิโสภานั้น ย่อในรัชกาลที่ ๔

การที่กล่าวถึงไฟไหม้หอไตรย์ ในหนังสือฉบับนึ้ ก็ไหม้ที่ระหว่างพระมณฑป แลพระพุทธปรางค์ปราสาท เหมือนอย่างเช่นไหม้พระพุทธปรางค์ปราสาทในรัชกาลประจุบันนี้ ถ้าจะเห็นเปนความอัศจรรย์ในข้อที่ไม่ไหม้พระอุโบสถ จะเติมไฟไหม้ชั้นหลังนี้ด้วยก็ได้ นับว่าเปนการข้นอยู่ ที่ไหม้แห่งเดียวกันทั้งสองคราว


  ปูมปีมเมียอัฐศกจุลศักราช ๑๑๔๙ จดไว้ว่า วัน ๕ ๑๔ฯ ๓ ค่ำ ยกทัพหลวงไปไทรโยก ท่าขนุน วัน ๔ ฯ ๔ ค่ำ ตีพม่าสามสบ วัน ๖ฯ ๔ ค่ำ พม่าแตกไ
  ปูมปีมแมนพศกจุลศักราช ๑๑๔๙ จดไว้ว่า วัน ๖ ฯ ๓ ค่ำ ตีค่ายวังปอ วัน ๑ ๑๐ฯ ๓ ค่ำ เวลายามได้ค่ายวังปอ วัน ๔ ๑๑ฯ ๓ ค่ำ ตีกลิอ่อง วัน ๗ ฯ ๔ ค่ำเวลายามได้กลิอ่อง


หัวข้อ: Re: จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 27 สิงหาคม 2562 17:31:04
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/14850401961141_spd_2012090285139_b_1_320x200_.jpg)

๑๕๕ ณวัน ๑ ฯ ๗ ค่ำ ปีรกาเอกศก เพลาบ่าย ๓ โมง ๖ บาท อสนิบาตพาดสายตกติดน่าบันมุขเด็จเบื้องทิศอุดรไหม้ตลอดทรงบนปราสาท ปลายหักฟัดฟาดลงพระปรัศซ้ายเปนสองซ้ำ ลงซุ้มพระทวารแต่เฉพาะไหม้
๑๕๕ พระที่นั่งอัมรินทรมหาปราสาทองค์นี้ มีจดหมายไว้ในปูมปีมโรงฉศก จุลศักราช ๑๑๔๖ ว่ายกยอดเมื่อวันศุกร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เพลาเช้า ๒ โมง ๔ บาท วันที่เพลิงไหม้นั้นถูกต้องกันกับจดหมายนี้

๑๕๖ พระโองการตรัสว่าเราได้ยกพระไตรย์ปิฎกเทวดาให้โอกาศแก่เรา ต่อเสียเมืองจึงจะเสียปราสาท ด้วยชตาคอดกิ่วใน ๗ ปี ๗ เดือน เสร็จสิ้นพระเคราะห์เมือง
๑๕๖ พระราชปรารภที่กล่าวนี้ น่ากลัวจะเปนเรียงลงไม่ชัดเจนเอง อยากจะใคร่เข้าใจว่า กระแสพระราชโองการว่าชะตาเมืองคอดกิ่ว น่ากลัวจะหวั่นกันมาแต่ครั้งมหาโสภีตะ ทำนายเมื่อปลายแผ่นดินกรุงธนบุรี คือจุลศักราช ๑๑๓๙ ที่ว่าจะเสียกรุงบางกอกแก่พม่าข้าศึก คำอันนี้คงเปนที่หวาดหวั่นกันอยู่เสมอ แต่เมื่อนับปีดูก็นานหนักหนาถึงรอบหนึ่งแล้ว ฤๅใครจะถวายพยากรณ์อย่างไรอิกทำนองนั้น จึงถือว่าเปนเวลาชตาเมืองคอดกิ่ว แต่ด้วยเดชะพระราชกุศล ที่ยกย่องพระไตรปิฎก จึงได้มีเหตุแต่เพลิงไหม้พระมหาปราสาท ไฟไหม้พระมหาปราสาทนั้น ก็เปรียบเหมือนเสียเมือง เพราะเมืองต้องเสียก่อนปราสาทจึงไหม้ จึงเปนอันสิ้นเคราะห์พระนครเพียงไฟไหม้ปราสาทเท่านั้น

๑๕๗ จะถาวรลำดับกระษัตริย์ ๑๕๐ ปี
๑๕๗ คำที่ว่าถาวรลำดับกระษัตริย์ถึง ๑๕๐ ปีนั้น ดูปราถนาน้อยเกินนัก ถ้าหากว่าจะใช้กำหนดปี ควรจะใช้ว่าถาวรสืบกระษัตริย์ถึง ๑๕๐ ปี นี่ไม่เช่นนั้น ใช้ว่าลำดับกระษัตริย์ ถ้าจะว่า ๑๕๐ องค์ ฤๅ ๑๕๐ ชั่ว, ไม่ได้ฤๅ อิกประการหนึ่งนั้นบาทสังขยา ในหนังสือนี้เอาแน่ไม่ได้ ผู้คัดเติมสูญตกสูญง่ายนัก จะเห็นต่อไปข้างน่า สิ้นพุทธสาสนา ๕๐๐ ปี ใครจะเชื่อว่าตั้งใจเขียนเช่นนั้นบ้าง เพราะ ๕๐๐๐ พรรษานี้เปนของติดปากคนแก่

๑๕๘ แล้วพระยาราชวังเมืองสมุหคชบาล กราบทูลว่าครั้งพระเจ้าปราสาททอง เพลิงฟ้าผ่าปราสาท ๓ ปี ได้เมืองทวายมาเปนเมืองขึ้นแต่ครั้งนั้น พระราชทานเงินพระยาราชวังเมือง....... [Math Processing Error]
๑๕๘ พระยาราชวังเมืองคนนี้ ว่าเปนพระยาอินทรอรรคราช ปลัดเมืองนครศรีธรรมราชอยู่แต่ก่อน คงจะเปนขุนนางเก่า รู้ขนบธรรมเนียมราชการแผ่นดินมาก เรื่องได้เมืองทวาย อยู่ข้างจะมีพระราชประสงค์ เพราะการยังค้างอยู่, ไปตีไม่ได้

๑๕๙ ต้องกับพระโหราทูลเมื่อผึ้งจับต้นจันทน์ที่เกยทิศประจิม ว่าจะได้นางกับเครื่องบรรณาการมา (แต่) ต่างประเทศ
๑๕๙ เกยต้นจันทน์นี้ ได้รื้อเสียเมื่อทำคลังเครื่องแก้ว เปนเกยติดออกมาจากหลังกำแพงแก้วพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ข้างฝ่ายตวันออกอยู่ที่เก๋งที่ทรงบาตรเดี๋ยวนี้ ข้างฝ่ายตวันตกอยู่ที่ต้นจันทน์ เปนที่สำหรับเสด็จมาประทับกลางแจ้ง ตามธรรมเนียมอย่างเก่าชอบนั่งเล่นบนเกย จนตกมาถึงชั้นพระองค์เจ้ามงคลเลิศยังชอบ ข้าพเจ้าเคยไปนั่งกินเข้าบนเกยที่บ้านเสมอ เกยในวังนี้, ข้างฝ่ายตวันออก เรียกว่าเกยต้นพิกุล ดอกพิกุลจากต้นนั้นเรียกว่าพิกุลเกยใคร ๆ ก็รู้ นับว่าเปนดอกงามกว่าที่อื่น เกยข้างตวันตก, เรียกว่าเกยต้นจันทน์ ต้นจันทน์นั้นก็ใหญ่มากแลลูกโตเกินปรกติ พิกุลเกยนี้สำหรับร้อยมาไลย์เจ้านายทรงทุกองค์ จะเปนกรมหลวงบดินทร์ผิด ฤๅตำราปากะวิชาเข้าใจผิดเองก็ไม่ทราบ ชี้เอาว่าพิกุลข้างพระทวารตวันตกตรงศาลาข้าม เปนพิกุลเกย หลงฤๅเหลวอไรอย่างหนึ่ง

การซึ่งทรงพระวิตก เรื่องไฟไหม้พระมหาปราสาทนี้ เห็นจะได้รับสั่งบ่นไม่สบายพระไทยมาก แลตัวอย่างที่พระยาราชวังเมือง กราบทูลให้เปนที่สบายพระราชหฤทัยขึ้นได้ จึงมีผู้ทำเรื่องราวกราบบังคมทูลถวายไชยมงคล ตั้งแต่กรมพระราชวังลงไป จนพระสังฆราช ราชาคณะ แลข้าราชการ

จดหมายกรมพระราชวังเปนกลอนว่า


“เดือนเจ็ดปีรกาเอกศก
วันอาทิตย์ขึ้นค่ำหนึ่งเปนตกยกศักราชขึ้นพันร้อยห้าสิบเอ็ดปี
เพลาบ่ายสามโมงกับหกบาทลงปราสาทเพลิงฟ้าอสุนีศรี
ไหม้สิ้นพระที่นั่งปรัศตรีฝ่ายซ้ายข้างที่ชลธาร
แล้วผ่าซ้ำซุ้มประตูวังในวันเดียวสองครั้งราชฐาน
เหตุเห็นเปนอัศจรรย์กาลขอประทานทูลถวายทำนายไว้
อันฟ้าลงในวังครั้งนี้จักเกิดสวัสดีมียิ่งใหญ่
จะมีพระอานุภาพปราบไปในทศทิศสิบประการ
แล้วจะแผ่อาณาจักรขอบเขตรทั่วประเทศทิศาศาล
จะเพิ่มพึ่งพระบรมสมภารยังสฐานนิเวศน์อยุทธยา
จะเปนปิ่นปกปักษ์ประชาชนทั่วสกลประเทศทุกภาษา
จะบริบูรณสมบัติวัฒนาจะปรากฎพระเกียรติขจายจร
นานาประเทศทั้งหลายจะถวายสุวรรณสโมสร
จะยงยิ่งสิ่งเกียรติในพระนครจะถาวรเปนบรมจักรา
อันหมู่ปะจาฆ่าศึกแค่หมายนึกก็จะสิ้นสังขาร์
ครั้งนี้กรุงศรีอยุทธยาจะบรมสถาพรพูล
สิ่งซึ่งขัดสนวิกลเหตุจะพ้นเพทสิ้นไภยเสื่อมสูญ
สารพรรณสรรพสิ่งจะอาดูลย์พูลเพิ่มมาด้วยพระบารมี
จะได้ผ่านพิภพจบโลกย์รงับโศกให้ศุขกระเษมศรี
ซึ่งพระที่นั่งอันตรายด้วยอัคคีจะให้มีสังเวชพิจารณา
ในพระไตรลักษณญานประทานโลกย์ให้ล่วงสงสาร์
คือทุกขัง อนิจจัง อนัตตาจะให้ปัญญาเพิ่มพูลภิญโยไป
จะให้สำเร็จโพธิญาณภายน่า             โดยพระไทยปราถนาให้แจ้งใส
อันเหตุอื่นพิปริตจะติดไปไม่มีมั่นคงอย่าสงกา
ขอให้พระชนมายุยืนยาวตราบเท้าร้อยพันพระวษา
สิ่งซึ่งเปนมงคลนานาจงประกอบมาให้ศุขพระองค์เอย”


ฉบับในห้องอาลักษณ์ มีเนื้อความเพียงเท่านี้ แต่อยู่มา ณ กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว กรมหลวงวรเสรฐสุดา ท่านค้นหนังสือที่ตำหนักพบ จึงนำมาประทาน ได้สอบกับฉบับห้องอาลักษณ์ ๆ ความขาดไป เห็นจะเปนด้วยผู้จดจำได้เท่าใดก็เอยลงไปเท่านั้น ฉบับของกรมหลวงวรเสรฐ ท่านมีต่อออกไปอิกยังไม่เอย ว่าดังนี้

“แต่ในประจุบันทันปรากฎจะยิ่งยศยอดโลกย์สูงส่ง
ถ้าพระชนม์ควรกำหนดปลดปลง                จะได้ทรงทิพย์ศุขพิมานอินทร์
ในดาวดึงษพิภพละล่วงลบเทวาทั้งปวงสิ้น
เสวยสมบัติเปนอัมรินทร์อนาคตก็จะภิญโยไป
ถวายพรประจุบันอนาคตจงปรากฎให้สำเร็จเปนศุไข
จะพ้นจตุราผ่าไภยเสร็จในแต่ศุขติภูมิ เอย”

ส่วนพระราชาคณะ สมเด็จพระสังฆราช พระพุทธโฆษา ถานานุกรม พระสงฆ์อันดับวัดบางว้าใหญ่ ถวายพระพรตามแบบ จะได้คัดแต่ใจความว่า “เมื่อพิจารณาดูตำราอย่างธรรมเนียมโบราณ โลกยโวหารนั้น เห็นว่าจะให้จำเริญพระราชอิศิริยยศราชานุภาพ ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ได้แต่ฝ่ายข้างจำเริญสิ่งเดียว ข้างฝ่ายวิบัติอันตรายนั้น เห็นจะเสียแต่พระราชทรัพย์สิ่งของซึ่งเพลิงฟ้าไหม้ ตามพระเคราะห์บ้านพระเคราะห์เมืองจะให้เสียพระราชทรัพย์อันเปนที่รักพึงใจ ได้ชื่อว่าบังเกิดเปนวิบัติอันตรายอยู่แล้ว เห็นว่าจะเสียแต่พระราชทรัพย์เท่านั้น แลอันตรายสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะได้มีแก่พระนครแลสมเด็จบรมบพิตร สืบไปนั้นหามิได้ สมด้วยเรื่องราวในคัมภีร์พระพิมพานิพานนั้น ต่อนี้ไปอ้างพระราชกุศลศีลทานแลพระไทยหวังต่อพระโพธิญาณ เปนที่ตั้ง อาจจะกันอันตรายได้หมด แล้วถวายพระพรด้วยกล่าวอ้างสักกัตวาทั้งอัตถ์ทั้งแปล แล้วอ้างเดชานุภาพพระรัตนไตรย์ ยกพุทธสังฆมังคะลังโลเกเปนต้น แปลข้อความตลอดแล้ว จึงถวายพระราชกุศลถวายพระพรข้างท้าย”

พระพิมลธรรม พระญานสิทธิ ว่าแต่โบราณสืบมาถือว่า “อัสนีบาศตกถูกงอนไถ ถูกคานหาบ ถูกเสากระโดง แลถูกเกวียน ถูกเรือน ลอมเข้ายุ้งเข้าเปนนิมิตรอันดี เจ้าของนั้นจะได้เปนใหญ่ จะได้ลาภต่าง ๆ เปนอันมาก จะเสียแต่ของที่หักแตกไหม้เสียด้วยเพลิง จะมีผลร้ายสืบไปนั้นหามิได้ ดังอสุนีบาศตกลงในโลกธาตุ ถูกต้นไม้แตกหัก ถูกสัตว์ก็ตายตามยถากรรม จะร้ายไปอิกหามิได้ สมด้วยวาระพระบาฬีในคัมภีร์พระพิมพา ว่าอสุนีย์ตกต้องกำแพงแลบ้านเรือนในเมืองใด เปนนิมิตรจะให้เมืองนั้นมีไชยชนะ ฆ่าศึกเมืองอื่นจะอปราไชยพ่ายแพ้แก่ชาวเมืองนั้น ลงท้ายถวายพระพร อายุ วรรณะ ศุขะ พะละ สัพพโสตถีภวันตุเต”

พระพุฒาจาริย์ พระธรรมมุนี พระราชมุนี วัดบางยี่เรือ ว่า “แรกเกิดเหตุตกใจ แต่ครั้นเชิญพระคัมภีร์พิมพานิพานมาดู แลคิดตามโลกยสาตร เทียบโดยอดีตแลประจุบัน ที่ได้ยินบ้างที่ได้เห็นบ้าง อดีตนั้นว่าอสุนีย์ลงถูกศีศะคานซึ่งหามอยู่เหนือปา ทายว่าได้เปนพระมหากระษัตริย์ ก็ได้จริง ยกทัพไปอสุนีย์ถูกช้างพระที่นั่ง ได้บ้านเมืองก็มี อสุนีย์ถูกพระมเหษีได้พระนครก็มี เห็นว่าอสุนีย์ลงถูกทิศอุดรต้องตำราว่าสวัสดีมีไชย จึงไม่ได้ตกใจ” แลถวายพระพรต่อไป

พระธรรมโกษา ถานานุกรมอันดับวัดบางว้าน้อย อ้างคัมภีร์พระพิมพานิพาน แลอ้างพระราชกุศลมียกพระไตรปิฎกเปนต้น ยกธรรมะขึ้นกล่าว ธัมมัญจเรสุจริตัง เปนต้น แปลจนตลอด

พระพนรัต พระญาณไตรโลกย์ ถานานุกรมพระสงฆ์ ข้อความอื่นก็คล้ายคลึงกัน มีอ้างคัมภีร์พิมพานิพาน เปนต้น

พระธรรมไตรโลกย์ พระธรรมเจดีย์ พระวิเชียรมุนี พระอริยมุนี พระอริยวงษมุนี พระญาณรักขิต ถานานุกรมทั้งปวง วัดเจ้าขรัวหงษ์ แสดงความเห็นอย่างเดียวกันกับที่ว่า ๆ มาแล้ว แต่พระธรรมกิตติ์ วัดนาค ถวายพระพรทีเดียว ไม่มีความเห็นอไร

พระเทพมุนี ถานานุกรมพระสงฆ์วัดสังฆจายน์ ข้อความก็ไม่แปลกอไร แต่ออกชื่อพระมหาปราสาท เรียกว่า “พระอัมรินทรมหาปราสาท”

พระราชกระวี พระศรีสมโพธิ์ วัดแจ้ง ข้อความคล้ายกันกับที่ว่ามาข้างต้น แต่ข้างท้ายลงเปนสัจจาธิษฐาน

ฝ่ายข้าราชการนั้น เริ่มข้อความว่า “ข้าพระพุทธเจ้า เจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุน หมื่น พัน ทนาย ฝ่ายทหาร ฝ่ายพลเรือน พระราชวังหลวง กรมพระราชวังบวรสฐานมงคล กรมพระราชวังหลัง เจ้าต่างกรมฝ่ายน่าฝ่ายใน แลข้าทูลลอองธุลีพระบาท ผู้ใหญ่ผู้น้อยพร้อมกัน ขอพระราชทานถวายไชยมงคล ให้จำเริญพระราชศิริสวัสดิทฤฆายุศม์ แลสมเด็จพระบาทบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณแก่ข้าทูลลอองธุลีพระบาท แลสมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎรทั้งปวง ประดุจจะเขาขอบจักรวาฬ อันเปนที่พึ่งแก่สัตว์อันประเสริฐ ด้วยข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวง พิจารณาเห็นด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ในอสุนีย์บาศลงถูกต้องพระอัมรินทรมหาปราสาทครั้งนี้ เมื่อพิเคราะห์ด้วยจักษุเห็นพิฦกพึงกลัว เมื่อพิเคราะห์ดูด้วยปัญญาจักษุ ตามตำราสยามภาค พุกามภาค เตลงภาค ว่าเทพยเจ้าให้ฤกษ จะให้มีกระบะเดชะให้จำเริญพระอิศิริยศราชานุภาพยิ่งขึ้นไป ฝ่ายตำราจีน ว่าถ้าฟ้าลงบ้านเมืองสำเภาผู้ใด ผู้นั้นจะบังเกิดลาภเปนอันมาก ได้แต่ฝ่ายข้างจำเริญฝ่ายเดียว อันผลจะให้วิบัติไปในอนาคตกาลนั้นสืบดูหาอย่างมิได้”

ต่อนี้อ้างคัมภีร์พิมพานิพานอิก แล้วจึงว่า “ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงยินดี ทราบเกล้า ฯ เปนมั่นคงไม่มีความแคลงในเหตุร้ายหามิได้ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวง ขอถวายไชยศิริมงคล ให้พระองค์ปราศจากสรรพทุกขโศกโรคไภย ให้ทรงพระเดชานุภาพปราบไปในทศทิศ ให้มีพระราชลาภมาแต่นานานุประเทศ เปนพระเกียรติยศยิ่งกระษัตราธิราชแต่ก่อน ให้จำเริญพระชนมายุสืบไป ในพระราชศิริสมบัติ ให้ได้ร้อยพระวะษาพันพระวะษา ถ้าพระชนมายุควรแก่กำหนดแล้ว ในอนาคตกาลนั้น ขอให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสวยสมบัติในศุขติภูมิ แล้วให้สำเร็จแก่พระโพธิญาณในอนาคตกาลนั้นเถิด ขอเดชะ”

ณ วันอังคารเดือน ๗ แรม ๙ ค่ำ ปีรกาเอกศก เสด็จออกทอดพระเนตร์พระมณฑป ได้เอาเรื่องราวข้าทูลลออง ฯ ถวายไชยมงคลกราบทูลพระกรุณา เมื่อกราบทูลพระกรุณานั้น
          สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมพระราชวังหลัง
          เจ้าพระยารัตนาพิพิธ
          เจ้าพระยามหาเสนา
          พระยาธรมา
          พระยาพลเทพ
          พระยายมราช
          เจ้าพระยามหาสมบัติ
          พระยาราชรองเมือง
          พระยาสมบัติบาล
          พระยาเดโช
          พระยาวิชิตณรงค์
          เฝ้าอยู่ด้วย

๑๖๐ ลุศักราช ๑๑๕๔ ปีชวดจัตวาศก พระยาทวายแต่งเครื่องบรรณาการกับนางเข้ามาถวายยังกรุงเทพมหานคร พม่ารู้ฆ่าบิดามารดาพระยาทวาย แล้วแต่งคนลงมาผลัด ให้พระยาทวายขึ้นไปอังวะ พระยาทวายฆ่าพม่าที่ลงมาผลัดเปนเจ้าเมืองนั้นเสีย แขวง (แขง) เมืองอยู่
๑๖๐ เรื่องเมืองทวายสวามิภักดิ์นี้ ได้ความว่าเดือดร้อนด้วยพม่าจัดการปกครองใหม่ ให้เมืองทวาย, เมืองมฤท, เมืองตนาว, ขึ้นอยู่ในเมืองเมาะตมะ เจ้าเมืองเมาะตมะ ให้มาลงเอาเงินตามหัวเมืองเหล่านั้น หัวเมืองเหล่านั้นก็เร่งเรียกตามราษฎรแลเจ้าเมืองกรมการเรี่ยรายกัน ครั้นถูกเรียกเงินบ่อย ๆ หนักเข้าก็ขัดแขง เจ้าเมืองเมาะตมะจึงได้ตั้งเจ้าเมืองทวายใหม่ลงมาเปลี่ยน ครั้นเมื่อเจ้าเมืองทวายคนใหม่ลงมา พวกเจ้าเมืองเก่าล่อลวงฆ่าเสียแล้ว ตั้งแขงเมือง พม่าเตรียมทัพจะลงมาตี นางทวายที่ถวายมานี้อยู่จนรัชกาลที่ ๓ เรียกว่านางตะแคง

๑๖๑ ฝ่ายเจ้าอังวะรู้ แต่งกองทัพมาป้องกันเมืองทวายไว้
๑๖๑ คำที่ว่าป้องกันไว้นี้ไม่เข้าทีเลย ถ้าหากจะว่าเมื่อครั้งเสด็จยกไปตีครั้งก่อน ที่เรียกว่าตีกลิอ่องนั้นจะเข้าทีกว่า เพราะในครั้งนั้นกองทัพพม่าที่มาตีหัวเมืองตวันตกยังอยู่ในเมืองทวาย ครั้นเมื่อกองทัพหลวง เสด็จยกออกไปพม่าก็ไม่ไว้ใจทวาย ด้วยเห็นว่าพวกทวายได้ความเดือดร้อนเกลียดชังพม่าอยู่มาก ถ้าหากว่ากองทัพไทยไปถึง พม่าอยู่ในเมืองทวายกลับเปนขบถขึ้น จะถูกขนาบทั้งในเมืองนอกเมือง จึงได้ทิ้งเมืองทวายให้ทวายรักษา พม่ายกออกไปตั้งซุ่มอยู่เสียนอกเมืองดูท่วงทีทั้งสองฝ่าย ทวายกับไทยยังเข้ากันไม่ติด ทวายก็ป้องกันเมืองแขงแรงอยู่ พม่าเห็นท่วงทีเช่นนั้น จึงได้กลับเข้าไปในเมือง จัดการป้องกันเมืองทวายต่อไปใหม่ ในชั้นหลังนี้เมื่อทวายแขงเมืองได้ขับไล่ฆ่าฟันพม่าเสียหมดแล้ว ที่เขียนว่าป้องกันในที่นี้เห็นจะใช้คำผิด

๑๖๒ พระยาทวายแต่งศุภอักษรถวายมาว่า พระยาทวายกับสรรพสัตว์ในเมืองทวาย ให้สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงพระเมตตาแก่สัตว์ในเมืองทวายเหมือนเกิดแต่สายพระอุทร ด้วยพระราชนัดดาของพระองค์ แต่ครั้งกรุงเก่าแตก มาอยู่ณเมืองทวาย จะขอพระบารมีแผ่ไปช่วยในครั้งนี้ จะได้เชิญพระราชนัดดาออกมาถวาย แล้วจะถือน้ำพระพิพัฒสัจจาถวายต่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ให้ไทยผู้มีชื่อถือมาเปนหนังสือลับของพระราชนัดดา
๑๖๒ การรับแขกเมืองทวายครั้งนี้เปนการใหญ่ เห็นจะได้ค้นตำหรับตำรากันมาก ตั้งเปนต้นตำรารับแขกเมือง ลักษณอย่างเดียวกับตั้งต้นราชาภิเศก โสกันต์ ลงสรง

๑๖๓ ได้ทราบในศุภอักษรแน่ว่าพระราชนัดดาจริง
๑๖๓ พระราชนัดดาในที่นี้ควรจะเรียกว่าพระราชภาคินัย คือพระองค์เจ้าชี ภายหลังพระราชทานเฉลิมพระนามพระอัษฐิเปนกรมขุนรามินทรสุดา เพราะเปนพระธิดาของพระเจ้ารามณรงค์ พระเชษฐาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า

๑๖๔ ยกพยุหทัพหลวงเสด็จไปเหยียบเมืองทวาย
๑๖๔ ผลของการที่ทูตทวายเข้ามานี้ ได้กองทัพเจ้าพระยายมราชคุมพล ๕๐๐๐ ออกไปตั้งรักษาเมือง แต่เมื่อไปตั้งอยู่ก็เปนการระแวง ๆ กันอยู่เหมือนกัน เจ้าพระยายมราชตั้งอยู่นอกเมือง แต่ให้มีไทยเข้าไปคุมอยู่ในเมือง ทัพพม่ายังไม่ยกลงมา คงจะเปนเหตุด้วยในเมืองเมาะตมะ ก็รวนเต็มทีเกือบจะลุกอยู่เหมือนกัน แล้วกองทัพหลวงทั้งสองวังจึงได้ยกขึ้นไป ตั้งทัพที่แม่น้ำน้อยเมืองกาญจนบุรี ส่งเจ้าครอกชีลงมาได้เฝ้าที่ค่ายหลวง ส่งเข้ามากรุงเทพ ฯ แล้ว วังน่าจึงได้เสด็จออกไปเมืองทวาย ท่านไปทอดพระเนตรเห็นกิริยาพระยาทวายว่าไม่สนิท จึงคิดจะทำลายเมืองทวายเสียทีเดียว ไม่ให้พม่าเปนที่พักกองทัพยกเข้ามาตีกรุงต่อไปได้ แต่ไม่ต้องด้วยกระแสพระราชดำริห์วังหลวง ข้างวังหลวงท่านอยากจะเอาเมืองทวาย ไว้เปนที่มั่น สำหรับยกขึ้นไปตีเมืองพม่า ต่อไปอิก การที่พระราชดำริห์ต่างกันนี้มีผล คือ พวกกองทัพวังหลวงที่ออกไปก่อน แลพวกทัพวังน่ารู้พระกระแสวังน่าว่าจะเลิกเมือง ก็คิดหาผลประโยชน์ต่าง ๆ ลักลอบพาคนหนีเปนต้น วังหลวงเสด็จประทับอยู่ที่แม่น้ำน้อย ทรงทราบว่าพวกข้าราชการข่มเหงพวกทวายมาก กริ้วให้คอยสกัดทางอยู่ข้างใน ข้างฝ่ายในเมืองทวายเองถูกเข้าเช่นนั้น ก็เบื่อหน่ายกระด้างกระเดื่องมากขึ้น กรมพระราชวัง เพื่อจะให้สมกับที่ทรงพระดำริห์จึงไปหาคนไทย ที่ตกอยู่ในเมืองทวาย สำหรับบอกข่าวคราวให้กองทัพไทยทราบนั้น ได้ตัวตามาที่ทรงรู้จักทั้งสองพระองค์ ตานั่นยืนยันว่าพระยาทวายกลับใจ ด้วยกลัวเจ้าอังวะจะลงโทษบิดา แลได้พยานอื่นอิกบ้าง วังหลวงจึงได้อนุญาตให้ส่งพระยาทวายเข้ามาเลี้ยงไว้ในกรุง แต่กองทัพนั้นคงรักษาเมืองทวายต่อไปอิก

เรื่องตีมฤทที่หนังสือฉบับนี้ได้กล่าวไว้ในวรรคที่ ๑๔๙ เก้ออยู่แห่งหนึ่ง แลที่ทัพหลวงไปตีทวาย อันกล่าวในครั้งนี้เปนเรื่องเดียวกัน คือทรงพระราชดำริห์จะทำตอบแทนพม่า ข้างฝ่ายวังน่าจะเสด็จลงไปทางทเล ต่อเรือข้างหัวเมืองชายทเลตวันตก แล้วจะยกขึ้นไปตีเมืองมฤท ตนาว เมืองเมาะตมะ ย่างกุ้ง ข้างฝ่ายวังหลวงจะเสด็จออกไปเมืองทวายเปนทัพบก ยกตีเมาะตมะขึ้นไปอย่างเดียวกับทัพเรือ แต่ในระหว่างนั้นพม่าเตรียมกองทัพพร้อมยกลงมาเมืองทวาย ฝ่ายทวายในเมืองก็กระด้างกระเดื่อง ลอบออกหากองทัพพม่า ข้างฝ่ายทัพหลวงพรักพร้อมแล้ว ก็เสด็จยกออกทางคมองส่วยไปตั้งอยู่ที่หินดาดไกลเมืองทวาย ๒ คืน การที่กองทัพบังคับบัญชาพวกทวายให้ขนลำเลียงเสบียงอาหารรับกองทัพ ก็ทำกวดขันมากขึ้น ทวายก็กลับเปนขบถ เมืองมฤทก็พลอยเปนขบถด้วย ยกตีกองทัพไทยที่อยู่รักษาเมือง แตกร่นเข้ามาจนถึงทัพหลวง, เลยถอยกองทัพกลับ ข้างฝ่ายทัพเรือยกขึ้นไปตีมฤท ได้รบกันแต่ไม่ได้เมือง แล้วก็ยกกลับมาเหมือนกัน เมืองมฤท แลเมืองทวายก็หลุดไปทีเดียวในครั้งนั้น

๑๖๕ ได้พระราชนัดดากับพระยาทวาย ไทย (แล) ทวายมาเปนฝุ่นเมือง กรุงเทพมหานครภูลศุขเกษมมา
๑๖๕ ความข้อนี้กล่าวรวมกันเหมือนกับเปนคราวเดียวหมด เพราะท่านไม่ได้ตั้งใจจะจดราชการทัพศึกให้ชัดเจน

คำว่าฝุ่นเมือง, แทนพลเมืองนี้ มีถึงสองแห่ง ทีแต่ก่อนจะเคยใช้กัน

ความที่จะกล่าวต่อไปนี้ เปนพระราชดำริห์ที่มีในท้องเรื่อง แต่ไม่ปรากฎเกี่ยวพันในจดหมายกรมหลวงนรินทรเทวีเลย ข้าพเจ้าคิดเห็นว่าถ้ายกมากล่าวไว้ในที่นี้ จะได้เห็นกระแสพระราชดำริห์แต่ก่อน ในเรื่องคิดเอาทัพเรือไปตีเมืองมฤท ขึ้นไปบรรจบทัพบกที่เมืองทวาย แล้วยกขึ้นไปตีเมืองพม่าชัดเจนดีขึ้น อิกประการหนึ่งนั้น สำเนาหนังสือฉบับนี้หอพระสมุดได้ไว้ แลคัดขึ้นเปนตัวพิมพ์ดีด มีข้อความที่มัวมนท์อยู่บ้าง ความที่ชัดอยู่แต่ผู้อ่านไม่เข้าใจความหมาย ฤๅเข้าใจความหมายผิดต่างกันไปกับข้าพเจ้าบ้าง แลไม่รู้จักบทกลอนเลยนั่นแน่ จึงเขียนเส้นดินสอชักชวนจะแก้ลงไว้ข้างล่างหลายแห่ง ซึ่งพอแลเห็นเข้าก็ใจหาย จึงเกิดพยายามที่จะลอกเพลงยาวบทนั้นมาลงไว้ในที่นี้ ตามอัตโนมัต ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าความควรจะเปนอย่างไร แต่หนังสือเก่า ๆ เช่นนี้ก็อาจจะเดาพลาดได้ ถ้าผู้ใดอยากจะสอบสวนบ้าง ขอเชิญให้ไปดูที่หอพระสมุด

แต่ในเบื้องต้นที่จะคัดหนังสือนี้ จะต้องอธิบายเรื่องสำหรับให้ผู้อ่านเข้าใจสักเล็กน้อย คือข้อหนึ่งมีคำทำนายในกาลครั้งนั้น ว่าหงษ์ลงในหนอง พรานผู้หนึ่งยิงหงษ์ตาย ภายหลังเสือกินพรานผู้ที่ยิงหงษ์ตายนั้นเสีย

ผลทำนายเทียบ หงษ์นั้นคือเมืองหงษาวดี เดิมเสียแก่เมืองพม่าสิ้นสูญเชื่อพระวงษ์มาช้านาน เมื่อแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์เจ้าฟ้าพรกรุงเก่า สมิงทอแลพระยาทะละ คิดขบถแขงเมืองตั้งรามัญประเทศขึ้นเปนเอกราช มีเมืองหงษาวดีเปนพระมหานคร ได้กระทำศึกกันกับพม่า รามัญมีไชยชะนะจับเจ้าแผ่นดินพม่าลงมาขังไว้ในเมืองหงษาวดี อองไจยะนายบ้านมุกโชโบ ซึ่งเปนมังลองมาตีเมืองหงษาวดีได้ จึงได้แก่พรานผู้ซึ่งยิงหงษ์ตาย ฝ่ายกรมพระราชวังพระองค์ที่ ๑ เมื่อยังเปนเจ้าพระยาสุรสีห์ ผู้สำเร็จราชการเมืองพิศณุโลกย์ พวกพม่าเรียกกันว่าพระยาเสือ จนมีปรากฎในพงษาวดาร เมื่ออแซวุ่นกี้จะยกมาตีเมืองพิศณุโลกย์ ถามว่าพระยาเสืออยู่ฤๅไม่ ได้ความว่าไม่อยู่ขึ้นไปเชียงใหม่ จึงให้ยั้งทัพอยู่ที่บางธรณี ต่อกองทัพเจ้าพระยาสุรสีห์กลับจากเมืองเชียงใหม่แล้ว จึงได้ยกเข้าตีเมืองพิศณุโลกย์ นามที่เรียกว่าเสือนี้ ย่อมใช้ทั่วไปในประเทศที่ใกล้เคียงทั้งปวง ฤๅนามสุรสีห์คิดขึ้นประกอบให้แปลว่าพระยาเสีอ เช่นกับอแซวุ่นกี้เรียกพระพุทธยอดฟ้าว่าเจ้าพระยากระษัตริย์ศึก จึงประกอบพระนามขึ้นเปนสมเด็จเจ้าพระยากระษัตริย์ศึก เพราะนามผู้สำเร็จราชการเมืองพิศณุโลกย์ ในแผ่นดินกรุงธนบุรี เรียกเจ้าพระยาอนุชิต เช่นกับมีโคลงยอพระเกียรติกล่าวไว้ว่า


“เจ้าพระยาอนุชิตเชื้อ         อาษา
ครองพิศณุโลกาเพริศแพร้ว
เจ้าพระยาพิไชยราชาชื่อ
ครองสวรรคโลกยแผ้วผ่องน้ำใจถวิล”

ดังนี้ ข้อซึ่งเจ้ากรุงธนบุรีตั้งชื่อตามนามประจามิตรเรียก ด้วยเห็นว่าเปนคำซึ่งประจามิตรยกย่องด้วยความเกรงขาม จึงเปนสง่าแก่กรุงศรีอยุทธยา


หัวข้อ: Re: จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 27 สิงหาคม 2562 17:48:36
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/14850401961141_spd_2012090285139_b_1_320x200_.jpg)

บัดนี้จะได้คัดกลอนนั้นมาลง แต่ตอนต้นขาดหายไปหาไม่ได้ คงเปนเรื่องยอเมือง ความที่เหลืออยู่นั้นดังนี้

“ประกอบด้วยโภชนากระยาหาร ทุกถิ่นถานบริบูรณหนักหนา อยู่เย็นเปนศุขทุกทิวา เช้าค่ำอัตราทั้งราตรี ประหนึ่งว่าจะไม่มีค่ำคืน รวยรื่นเปนศุขกระเษมศรี ไม่เห็นเช่นว่าจะเปนถึงเพียงนี้ มาเยินยับอัปรีศรีศักดิคลาย ทั้งถนนหนทางอารามราช มาวินาศสิ้นสุดสูญหาย สารพัดย่อยยับกลับกลาย อันตรายไปจนพื้นปัถพี เมื่อพระกาฬจะมาผลาญดังทำนาย แสนเสียดายภูมิพื้นกรุงศรี บริเวณอื้ออนด้วยชลธี ประดุจจะเกาะอสุรีลงกา เปนคันขอบชอบกลถึงเพียงนี้ มาเสียสูญไพรีอนาถา ผู้ใดใครเห็นจะไม่นำพา อยุทธยาอาภัพลับไป เห็นจะสิ้นอายุพระนคร ให้อาวรณ์ผู้รักษาหามีไม่ เปนป่าหญ้ารกดังพงไพร แต่จะสาบสูญไปทุกทิวา คิดมาก็เปนน่าอนิจจัง ด้วยกรุงเปนที่ตั้งพระสาสนา ทั้งอารามเจดีย์ที่บูชา ปฏิมาฉลององค์พระทรงญาณ ก็ทลายยับยุ่ยเปนผุยผง เหมือนพระองค์เสด็จดับสังขาร ยังไม่สิ้นสาสนามาอรทาน ทั้งเจดีย์วิหารก็สูญไป เสียพระนิเวศน์บุรีวัง พระที่นั่งทั้งสาม งามไสว ตั้งเรียบรเบียบชั้นเปนหลั่นไป อำไพวิจิตรรจนา มุขโถงมุขเด็ดมุขกระสัน เปนเชิงชั้นลวดลายล้วนเลขา เพดาลุในไว้ดวงดารา ผนังฝาดาดแก้วดังวิมาน ที่ตั้งบัลลังก์แก้วทุกองค์ ทวารลงอัฒจันทร์น่าฉาน ปราบพื้นรื่นราบดังพระลาน มีโรงคชาธารตระการตา ทิมดาบคดลดพื้นกำแพงแก้ว เปนถ่องแถวยืดยาวกันหนักหนา เปนที่แขกเฝ้าเข้าวันทา ดั่งเทวานฤมิตรประดิษฐไว้ สืบทรงวงษ์กระษัตริย์มาช้านาน แต่บุราณแล้วไม่นับพระองค์ได้ พระที่นั่งซึ่งตั้งอยู่ข้างใน มีสระชลาไลชลธี ชื่อที่นั่งบรรยงรัตนาศน์ ที่ประพาศมัจฉาในสระศรี ทางเสด็จเสร็จสิ้นสารพรรณมี เปนที่กระษัตริย์สืบมา ก็สูญสิ้นศรีมลายหายหมด จะปรากฎสักสิ่งไม่มีว่า อันถนนหนทางมรรคา คิดมาก็เสียดายทุกสิ่งอัน ร้านเรียบรเบียบด้วยรุกขา ขายของนานาทุกสิ่งสรรพ์ ทั้งพิธีปีเดือนคืนวัน สารพรรณจะมีอยู่อัตรา รดูใดก็ได้เล่นกระเษมศุข แสนสนุกนิ์ทั่วเมืองหรรษา ตั้งแต่นี้แลหนาอกอา อยุทธยาจะสาบสูญไป จะหาไหนได้เหมือนกรุงแล้ว ดังดวงแก้วอันสิ้นแสงใส นับวันแต่จะยับนับไป ที่ไหนจะคืนคงมา ไปปรากฎเหตุเสียเหมือนดังนี้ มีแต่บรมศุขา ครั้งนี้มีแต่พื้นพระสุธา อนิจจาสังเวชทนาใจ ทั้งนี้เปนต้นด้วยผลเหตุ จะอาเพทกระษัตริย์ผู้เปนใหญ่ มิได้พิจารณาข้าไทย เคยใช้ก็เลี้ยงด้วยเมตตา ไม่รู้รอบประกอบในราชกิจ ประพฤติการแต่ที่ผิดด้วยอิจฉา สุภาสิตท่านกล่าวเปนราวมา จะตั้งแต่งเสนาธิบดี ไม่ควรอย่าให้อัคฐาน จะเสียการแผ่นดินกรุงศรี เพราะไม่ฟังตำนานโบราณมี จึงเสียทีเสียวงษกระษัตรา เสียยศเสียศักดินัศเรศ เสียทั้งพระนิเวศน์วงษา เสียทั้งตระกูลนานา เสียทั้งไพร่ฟ้าประชากร สารพัดจะเสียสิ้นสุด ทั้งการยุทธก็ไม่เตรียมฝึกสอน จึงไม่รู้กู้แก้พระนคร เหมือนหนอนเบียฬให้ประจำกรรม อันจะเปนเสนาธิบดี ควรที่จะพิทักษ์อุประถัมภ์ ประกอบการหว่านปรายไว้หลายชั้น ป้องกันปัจจาอย่าให้มี นี่ทำหาเปนเช่นนั้นไม่ เหมือนไพร่ชาติชั่วช้ากระลาสี เหตุไภยใกล้กลายร้ายดี ไม่มีทีจะรู้สักประการ ศึกมาแล้วก็ล่าไปทันที มิได้มีเหตุเสียจึงแตกฉาน ตีกวาดผู้คนไม่ทนทาน เผาบ้านเมืองยับจนกลับไป ถึงเพียงนี้ละไม่มีที่กริ่งเลย ไม่เคยรู้ล่วงลัดจะคิดได้ ศึกมาชิงลาเลิกกลับไป มิได้เห็นจะฝืนคืนมา จะคิดโบราณอย่างนี้ก็หาไม่ ชาติไพร่หลงฟุ้งแต่ยศถา ครั้นทัพเขากลับยกมา จะองค์อาจอาษาก็ไม่มี แต่เลี้ยวลดปดเจ้าทุกเช้าค่ำ จนเมืองคร่ำเปนผุยยับยี่ ฉิบหายตายล้มไม่สมประดี เมืองยับอัปรีจนทุกวัน เหตุเสียกรุงศรีอยุทธยา เหมือนคำที่ว่าไม่เศกสรร ฉล้าใจเคยได้แต่ครั้งนั้น จึงประชิดติดพันแต่นั้นมา แตกยับกลับไปก็หลายหน คิดกลจะลวงให้หลงหา แต่งคนให้ถือหนังสือมา เจรจาความเมืองเปนไมตรี ทำไว้แต่พอให้รอรั้ง ขยับยกเข้ามาตั้งตนาวศรี จะเดินมั่นกันติดทางดี ทำนองทีจะคิดให้ชิดไว้ เห็นจะผ่อนโยธาอาหาร มันคิดการมิให้ใครสงไสย จะนิ่งอยู่ดูเบาเอาใจ เห็นเหตุไภยจะเกิดการมา จะเร่งรัดตัดคิดมันเสียก่อน บั่นรอนอย่าให้ทันแน่นหนา จำจะคิดให้ผิดแต่ก่อนมา เปนทัพน่านาวายกไป ตามทางทเลไปสงขลา จะขุดพระสุธาเปนคลองใหญ่ ให้เรือรบออกประจบเอาเมืองไทร ปากใต้ฝ่ายทเลให้พร้อมกัน จึงจะยกไปตีเอามฤท จะปิดปากน้ำเสียให้มั่น ทัพเรือมันจะพลอยเข้าช่วยกัน จะตีบั่นเกยทัพให้ยับไป รบไหนจะให้ยับลงที่นั่น แต่กึ่งวันไม่ให้ทนทานได้ จะทำการครั้งนี้ให้มีไชย จะไว้เกียรติให้สืบทั้งแผ่นดิน มันทำเมืองเราก่อนเท่าใด จะทดแทนมันให้หมดสิ้น มันจิตรอหังกาทามิฬ จะล้างให้สุดสิ้นอย่าสงกา การเสร็จสำเร็จลงเมื่อไร ซึ่งคิดไว้ขอให้สมปราถนา แม้นมิได้ก็ไม่กลับคืนมา จะเห็นเมืองพม่าในครั้งนี้ เกรงกริ่งอยู่แต่ข้างทัพบก จะไม่ยกหักได้ให้ถึงที่ เกลือกมันกั้นตัดทางดี จะตัดที่สเบียงอาหารไว้ ไม่สมคเนให้เรรวน ทำป่วนไม่หักเอามันได้ เท่านี้ดอกที่วิตกใจ +จะทำให้เสียการเหมือนทวาย เมื่อชนะแล้วกลับแพ้ให้แชไป จึงเสียไชยเสียเชิงไม่สมหมาย พากันหนีแต่ไม่มีอันตราย ถ้าเสียหายอย่างอื่นไม่เปนไร อันกรุงรัตนอังวะครั้งนี้ฤๅ จักพ้นเนื้อมืออย่าสงไสย พม่าจะมาเปนข้าไทย จะได้ใช้สร้างกรุงอยุทธยา แม้นสมดังจิตรไม่ผิดหมาย จะเสี่ยงทายตามบุพเพวาศนา จะได้ชูกู้ยกนัครา สมดังปราถนาทุกสิ่งอัน ถ้าเสร็จการอังวะลงตราบใด จะพาใจเปนศุขกระเษมสันต์ ไอ้ชาติพม่ามันอาธรรม์ เที่ยวล้างขอบขันธทุกภารา แต่ก่อนก็มิให้มีความศุข รบรุกฆ่าฟันเสียหนักหนา แต่บ้านร้างเมืองเซทั้งวัดวา ยับเยินเปนป่าทุกตำบล มันไม่คิดบาปกรรมอ้ายลำบาก แต่พลัดพรากจากกันทุกแห่งหน มันเหล่าอาสัตย์ทรชน ครั้งนี้จะป่นเปนธุลี เพราะเหตุบาปกรรมมาซ้ำเติม จะพูลเพิ่มให้รยำยับยี่ ด้วยทำนายว่าไว้แต่ก่อนมี เหมือนครั้งมอญไปตีเอานัครา คือหงษ์มาหลงกินน้ำหนอง เหตุต้องเมืองมอญหงษา ตัวนายอองไจยมือพรานป่า คิดฆ่าหงษ์ตายจึงได้ดี คือพม่ามาตีเอามอญได้ ก็สมในทำนายเปนถ้วนถี่ ยังแต่พยัฆเรืองฤทธี จะกินพรานที่ยิงหงษ์ตาย บัดนี้ก็ถึงแก่กำหนด จะปรากฎโดยเหตุเปนกฎหมาย ทัพเราเข้าต้องคำทำนาย คือเสือร้ายอันแรงฤทธา จะไปกินพรานป่าที่ฆ่าหงษ์ ให้ปลดปลงม้วยชีพสงขาร์ แล้วมีคำทำนายบุราณมา ว่าพม่าจะสิ้นซึ่งรูปกาย ถ้าผู้ใดใครเห็นให้เขียนไว้ จึงจะได้ประจักษ์สืบสาย เหตุเปนเห็นต้องเหมือนคำทาย อังวะจะฉิบหายในครั้งนี้ ถ้าพร้อมใจพร้อมจิตรช่วยคิดการ จะสำราญทั่วโลกย์กระเษมศรี นี่จนใจสิ่งไรก็ไม่มี เห็นทีจะตะพายไปตามจน จะไปได้ฤๅมิได้ยังไม่รู้ จะเสือกสู้ไปตามขัดสน ถ้าสุดคิดผิดหมายที่ผ่อนปรน ก็จะบนบวงสรวงแก่เทวา เดชะเทเวศรช่วยอวยไชย ที่คิดไว้ขอให้สมปราถนา ตั้งแต่สวรรคชั้นกามา ตลอดจนมหาอรรคพรหม ขอจงมาช่วยอวยพรไชย ที่มาทไว้ให้ได้ดังประสงค์ จงดลใจไทยกรุงให้นิยม ช่วยรดมกันให้สิ้นศึก เอย”

ข้อความตามในพระราชนิพนธ์นี้ ถ้าผู้อ่านพิจารณาด้วยญาณ อันหยั่งลงว่าเปนเรื่องจริง ไม่ใช่อ่านเรื่องวงษ์ ๆ จักร ๆ จะรู้สึกน้ำใจท่านผู้เปนต้นตระกูลของเรา ว่ามีความอัปรยศทุกข์ร้อนลำบากยากเข็ญแค้นเคืองสักเพียงใด ความคิดเช่นนี้ใช่ว่าจะมีแต่กรมพระราชวัง ย่อมมีทั่วไปในผู้มีบรรดาด้กดิ แลผู้มีปัญญาในเวลานั้น

แต่ความคิดทั้งปวงเหล่านั้น เมื่อมาคิดดูภายหลังนี้ เห็นว่าทำไปไม่ไหว เพราะกำลังข้างฝ่ายกรุงอ่อนนัก บ้านเมืองรกร้างเปนป่าไปหมด ผู้คนก็แตกฉานซ่านเซ็น ถึงว่ารวมกันเข้าได้ แลมีน้ำใจองอาจกล้าหาญที่จะต่อสู้พม่าได้จริงน่ากลัวจะทนไม่ได้นาน แต่เปนเคราะห์ดีที่พม่าต้องรบพวกฮ่อ กำลังข้างเมืองหลวงไม่ได้หนุน พวกหัวขโมยซึ่งมาเกลื่อนกล่นอยู่ตามหัวเมืองริมทเลในรามัญประเทศทวายตนาวศรีแลมฤท ซึ่งเปนเมืองต่างชาติจากพม่าเหมือนกัน ได้รับความย่ำยีเดือดร้อนแสนสาหัสเหมือนกัน เหตุที่พม่าคิดจะผูกพันเปนไมตรีในรัชกาลที่ ๑ ด้วยห่วงน่ารวังหลัง คือข้างฝ่ายเหนือจีนฮ่อก็ยกลงมาตีรบกวนอยู่ ข้างฝ่ายตวันตกเฉียงใต้ชายทเลก็ร้อนจวนลุกอยู่ แต่ข้างเราไม่ไว้ใจว่าถ้าเปนไมตรีเข้าแล้ว พวกหัวขโมยเหล่านั้น ก็จะสาดเข้ามาทำอันตราย อำนาจเมืองอังวะก็เอาไว้ไม่อยู่ จึงไม่รับทางไมตรี แลเปนคำที่ปู่ย่าตายายแช่งสาปกันไว้ ไม่ให้เปนไมตรีกับพม่า ถือขลังมาจนรัชกาลที่ ๔ พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์นำสายสร้อยซึ่งพระเจ้าเมงดงเมง ส่งลงมาประทาน มาถวายไม่ทรงรับ ว่าปู่ย่าตายายห้ามไม่ให้คบกับพม่า

การที่พวกฮ่อยกมาตีเมืองพม่า ที่กรุงเทพ ฯ ได้ทราบชัดเจนดี ได้มีพระราชสาส์นไปมาทั้งข้างเมืองจีนแลกรุงศรีสัตนาคนหุต ตั้งแต่แผ่นดินตาก แต่หากกำลังเรายังทำไปไม่ไหว จึงได้เริดร้างมาจนถึงพม่ารบกับอังกฤษ ราชการทัพศึกข้างฝ่ายพม่าก็เปลี่ยนรูปเปนอย่างอื่นไปหมด

๑๖๖ รับสั่งพระโองการตรัสวัดสะแกให้เรียกวัดสระเกษ แล้วบุรณปฏิสังขรณ์ เห็นควรที่ต้นทางเสด็จเข้าพระนคร
๑๖๖ ปฏิสังขรณ์วัดสะแกแลเปลี่ยนชื่อเปนวัดสระเกษ เอามากล่าวปนกับวัดโพธิ์ เพราะเปนต้นทางที่เสด็จเข้ามาพระนคร มีคำเล่า ๆ กันว่า เสด็จเข้าโขลนทวารสรงพระมุรธาภิเศก ตามประเพณีกลับจากทางไกลที่วัดสะแก จึงได้เปลี่ยนนามว่าวัดสระเกษ

๑๖๗ ประทับชุมพลทหารพร้อม ณ วัดโพธิ์ เหมือนครั้งนารายน์เปนเจ้าชุมพล จึงสร้างวัดไว้ในเกาะสองชั้น ให้เรียกวัดนารายน์ชุมพล
๑๖๗ แล้วจึงเสด็จมาประชุมพลที่วัดโพธิ์ จึงพระราชทานชื่อ เทพ ฤๅ เชตุชุมพล แต่ในที่นี้ท่านกล่าวว่าชื่อวัดนารายน์ชุมพล

๑๖๘ อยู่จนตราบเท่าแผ่นดินนี้
๑๖๘ คำที่ว่าอยู่จนตราบเท่าแผ่นดินนี้นั้น ปรากฎเหมือนหนึ่งชื่อวัดพระเชตุพนพึ่งได้เปลี่ยนในรัชกาลที่ ๓

๑๖๙ ลุศักราช ๑๑๕๕ ปีฉลูเบญจศก มีการสมโภชพร้อม โขนลครหุ่นงิ้วมอญรำ ครบการเครื่องเล่น ทำล้อเลื่อนตามทางสถลมารค สุดอย่างที่จะงามตา ได้เห็นเล่าฟังมาแต่ก่อน ๆ ไม่เสมอแห่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ องค์เอง พระพงษนรินทร์ตามเสด็จ
๑๖๙ ข้อความที่ว่าตอนนี้, ดูเหมือนว่าในวันสมโภชทรงผนวช จะได้มีงานมหรศพสมโภชด้วย รุ่งขึ้นพวกที่เล่นมหรศพสมโภชนั้น ขึ้นล้อเลื่อนแห่ไปตามทางอิกเวลาหนึ่ง

๑๗๐ ส่วนเสด็จทรงเครื่องต้นฉลองพระสอพระกรน้อย ทรงประพาศเครื่องประดับพระองค์เสร็จ ทรงพระมหามงกุฎเสด็จทรงพระยานุมาศ
๑๗๐ ท่านว่าด้วยเครื่องต้นเปนสำนวนเก่าดี คือพระกรน้อยทรงประพาศ ฉลองพระสอ พระกรน้อยนั้น คือที่แขนต่อแคบรัด ต่างว่าสรวมเสื้อชั้นใน, แล้วจึงสรวมทรงประพาศ ทรงประพาศนั้นคือตัวเสื้อเปนเสื้อกั๊กมีชาย ในหนังสือเก่า ๆ แลบททรงเครื่องยังใช้ว่าสอดเสื้อทรงประพาศ แต่ภายหลังมานี้ ไม่รู้จักคำที่ว่าฉลองพระองค์ทรงประพาศเปนอย่างไร เหตุด้วยหลงทรงประพาศที่แต่งศพ แลทรงประพาศเครื่องยศผู้ว่าราชการเมืองแลราชทูต ซึ่งมิได้ต่อแขนแลหลวมทูมทาม ผิดกันกับรูปฉลองพระองค์เครื่องต้น จึงเรียกชื่อฉลองพระองค์เครื่องต้นไปเสียต่างหาก เรียกรวมกันทั้งแขนทั้งตัว แต่งอย่างเครื่องต้นเปนแต่งพระกรน้อยทรงประพาศ ถ้าแต่งเครื่องใหญ่คงจะสรวมเสื้อครุยอิกชั้นหนึ่งอย่างแต่งพระศพ

๑๗๑ องค์เองใส่พระมหากระฐินใหญ่
๑๗๑ นักพระองค์เองนี้, พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า เลี้ยงเปนพระราชบุตรบุญธรรม

๑๗๒ พระพงษนรินทร์ใส่ชฎาเบื้อง (เบี่ยง) กรรเจียกทัด ขึ้นยานุมาศตามเสด็จ
๑๗๒ พระพงษ์นรินทร์โอรสเจ้ากรุงธนบุรี มีบรรดาศักดิ์รองเสนาบดี เช่นแห่สระสนานก็ขึ้นช้างต่อเสนาบดี ที่โปรดให้สรวมพระชฎาเบี่ยง แลทัดกรรเจียกนั้น ก็คือชฎาพระกลีบฤๅชฎาเดินหน แต่ความจริงชฎากับกรรเจียกไม่เกี่ยวข้องแก่กัน ชฎาเดินหนไม่จำเปนต้องทัดกรรเจียกด้วย เหตุฉนั้นเจ้านายตามพระบรมศพฤๅชักศพ เมื่อสรวมชฎาเบี่ยงจึงไม่ได้ทัดกรรเจียก การที่โปรดให้ทัดกรรเจียกเช่นนี้ ตัวข้าพเจ้าแลท่านกลางจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ โยงโปรยพระศพกรมสมเด็จพระเทพศิรินธรามาตย์ สรวมชฎาเบี่ยง แต่โปรดให้ทัดกรรเจียกเปนพิเศษ อย่างเดียวกันกับแบบนี้

๑๗๓ มีการสมโภชแห่เครื่องเล่นเรื่องรามเกียรติ์ อุณรุทธ, อิเหนา, มิใช่แห่รูป รูปภาพ แต่ล้วนลครโขนขึ้นรำร้องบนจักรชักล้อเลื่อนตามทางสถลมารค มีตาแต่สองตาดูแห่ไม่เห็นทั่ว จะพรรณาเหลือกำลัง ทั้งคนร้องคนรำยังอยู่ จึงรวมงามไวใน (ไนย) ตา อันการมหรศพสมโภชทรงผนวชเฉลิมวงษ์พงษ์กระษัตริย์สืบมา
๑๗๓ เรื่องทรงผนวชกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ดูผู้แต่งปลื้มสนุกสนานมาก แต่คุมเรื่องไม่ใคร่ติด เล่ากระจัดกระจายไป ถ้าจะเรียงภาษาใหม่, น่าจะกล่าวว่า ไม่เคยได้ยินว่าครั้งใดแต่ก่อนมา ได้เคยมีการแห่ทรงผนวชสนุกแลใหญ่โต เหมือนครั้งทรงผนวชสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ โปรดให้ทรงเครื่องต้นฉลองพระองค์ทรงประพาศพระกรน้อย มีฉลองพระสอแลเครื่องประดับทรงพระมหามงกุฎ ทรงพระยานุมาศ นักพระองค์เองเจ้าเขมร, สรวมชฎาพระมหากระฐิน พระพงษ์นรินทร์, สรวมชฎาเบี่ยงทัดกรรเจียก ขึ้นยานุมาศตามเสด็จเปนหางนาค มีการมหรศพสมโภช โขน, หุ่น, ลคร, งิ้ว, มอญรำ, กระบวนแห่แต่งลคร เรื่อง รามเกียรติ์, อุณรุทธ, อิเหนา, ให้ตัวโขนลครขึ้นบนล้อเลื่อนลากไปในกระบวน, ร้องรำไปพลาง ไม่เคยได้ยินว่าการทรงผนวชครั้งใด จะเปนที่สนุกสนานน่าดูเหมือนครั้งนี้

๑๗๔ ณเดือน ๑๐ ทิ้งไฟในวัง ทิ้งหนังสือเปนสัตย์ ใส่ด้วยบทประหารชีวิตร ที่จากแดง
๑๗๔ มีในพงษาวดาร

๑๗๕ ข้างในทำกลลวงล่อต่อทรัพย์จับรูปสักนาม โจทย์ ๓ จำเลย ๒ ประหารชีวิตรที่วัดเขียน
๑๗๕ น่าจะไม่มีในพงษาวดาร

๑๗๖ ปีเถาะสัพศก พระโองการรับสั่งให้ช่างทำพิไชยราชรถขึ้นจะทรงพระโกษฐพระอัฐิ ๗ รถ ให้ตัดเสาพระเมรุตั้งทรงประดับเครื่องให้เสร็จแล้วแต่ในปีเถาะ
๑๗๖ รถ ๗ รถ ก็คือรถที่ใช้อยู่เดี๋ยวนี้ ตั้งพระราชหฤไทยจะทำขึ้นไว้สำหรับแผ่นดิน แต่เปนการจำเปนอยู่เองที่จะต้องให้ใช้ก่อน สำหรับทอดพระเนตร

๑๗๗ ได้พระคชาธารเจ้าพระยามงคลจักรพาฬเล็บครบ (แล) พระอินทรไอยรา
๑๗๗ ช้างเล็บครบนี้ไม่ปรากฎ พระอินทรไอยรา เปนช้างพังเผือกตรี

๑๗๘ ลุศักราช ๑๑๕๘ ปีมโรงอัฐศก เขีญพระอัฐิทรงพิไชยราชรถ รถพระ, รถชัก (โยง) รถโปรยเข้าตอก รถที่นั่งรองรถจันทร์ ๒ รูปสัตว์แรด ทรงสังเคดเพลิงแห่น่ารูปสัตว์ถ้วนพัน (พรรค์) ทรงสังเคดผ้าไตรย์บาตร ตั้งแห่ในราชวัตรฉัตรจรงค์เรียง ชักแห่เข้าพระเมรุทิศมุขแทรกมุขกระสัน ประดับชั้นสามส้าง เที่ยวกางประจำประตูชั้นใน ฉัตรเงินลำยอง ฉัตรทอง ฉัตรนากบรรจง เยี่ยมทรงอย่างปรางค์ปราสาท เทวราชประนมกร ๙ ชั้น
๑๗๘ พรรณนาด้วยงานพระเมรุ, ถ้วนถี่ พอใช้

๑๗๙ อย่างพระเมรุพระบรมโกษฐพระพุทธเจ้าหลวงกรุงเก่า
๑๗๙ อ้างว่าพระเมรุ ที่ทำครั้งนั้นเหมือนพระเมรุในพระบรมโกษฐ พระพุทธเจ้าหลวงกรุงเก่า คงจะได้ถ่ายแบบครั้งนั้น เพราะตัวนายช่างที่ทำการยังมีชีวิตรอยู่ บางทีท่านผู้แต่งท่านจะได้เห็นเอง แต่เห็นจะยังทรงพระเยาว์

๑๘๐ ชักพระอัฐิเข้าพระเมรุทอง ถวายพระเพลิงสมเด็จพระไอยกาพระพุทธเจ้าหลวงแผ่นดินกลาง
๑๘๐ ในที่จะออกพระนาม สมเด็จพระปฐมบรมมหาไปยกาธิบดี เห็นจะหวังจะให้สั้น จึงได้ใช้สมเด็จพระไอยกาพระพุทธเจ้าหลวงแผ่นดินกลาง เพราะไม่มีคำจะเรียก ก็ซอกเรียกไปพอให้เข้าใจ

๑๘๑ กรมหลวงนรินทร์รณเรศสินพระชนม์ต้นปีมเสง ถวายพระเพลิงที่พระเมรุ
๑๘๑ อธิบายความว่า, กรมหลวงนรินทร์รณเรศ พระราชทานเพลิงเมรุกลางเมือง คือพระเมรุใหญ่นี้เอง

๑๘๒ ณวัน ฯ ๔ ค่ำ อ้ายมาลักเพศเข้าวังหลวงจับตัวได้ ประหารชีวิตรทีวัดตะเคียน
๑๘๒ อ้ายมาเปนเรื่องที่รู้กันอยู่แล้ว

๑๘๓ ณวัน ๑๒ฯ ๘ ค่ำ ลุศักราช ๑๑๖๑ ปีมแมเอกศก สมเด็จตรัสสา เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษเสด็จสู่สวรรคาไลย
๑๘๓ คำที่เรียกว่าสมเด็จตรัสสานี้, ไม่เคยได้ยิน แต่เรียกเจ้านายว่าตรัส, นั้น คงจะได้เรียกอย่างเดียวกับเสด็จ เช่นตัวอย่างตรัสน้อยครั้งกรุงเก่า แต่ตรัสสาจะแยกเปนฝ่ายอิตถีลึงค์ ก็ดูแปลกอยู่สักนิดหนึ่ง ถ้าเรียกแต่เฉพาะองค์เดียว ก็น่าจะเดาว่าเปนอย่างอื่นไปได้ แต่นี่เรียกทั้งสองพระองค์ แปลกไม่เคยได้ยินใครเล่าเลย

๑๘๔ ณวัน ๑๑ฯ ๒ ค่ำ สมเด็จตรัสสาเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี เสด็จสู่สวรรคาไลย
๑๘๔ ขอให้สังเกต สมเด็จพระศรีสุดารักษ์ เรียกเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ แต่สมเด็จพระเทพสุดาวดี เรียกเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี ดูถูกต้องดีหนักหนา เพราะเหตุที่เจ้ากรมสมเด็จพระเทพสุดาวดีเปนพระยาพานทอง เจ้ากรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์เปนพระ

บัดนี้จะตั้งวินิจฉัย ในเรื่องเจ้าต่างกรมแปลว่ากระไร เหตุไฉนชื่อเจ้ากรมจึงเหมือนกับชื่อเจ้า ข้อนี้วินิจฉัยง่ายคือเจ้าฟ้าก็ดี พระองค์เจ้าก็ดี ที่มีข้าไทยเลขสมสังกัดขึ้นมาก การบังคับบัญชาคนข้าไทยเหล่านั้น ต้องมีข้าของเจ้าคนหนึ่งสองคนฤๅสามคน เปนผู้ควบคุม ผู้คนมากด้วยกันจะเปนแต่จางวางนายเวรสมุห์บาญชีชื่อเดิม ควบคุมคนมาก ๆ ก็ดูไม่สมควร เจ้าแผ่นดินจึงได้โปรดให้ยกคนหมู่นั้นขึ้นเปนกรมต่างหากกรมหนึ่ง คงอยู่ในเจ้าองค์นั้น เจ้าองค์นั้นมีอำนาจตั้งเจ้ากรมเปนพระยาพระหลวงขุนหมื่น ปลัดกรมเปนพระหลวงขุนหมื่น สมุห์บาญชีเปนหลวงขุนหมื่นมีชื่อตำแหน่ง ส่วนเจ้าซึ่งเปนผู้ปกครองกรมนั้น เปนเจ้าฟ้าก็คงเปนเจ้าฟ้า เปนพระองค์เจ้าก็คงเปนพระองค์เจ้า แต่การที่ผู้ใดจะออกพระนามเดิมจริง ๆ ดูเปนการไม่เคารพ เช่น กับจะออกพระนามกรมหลวงจักรเจษฎาว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าลา เช่นนี้ก็ดูเปนการต่ำสูง จึงเรียกเสียว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้า กรมหลวงจักรเจษฎา ตามชื่อเจ้ากรมซึ่งเปนหัวน่าข้าไทยของท่าน ส่วนพระองค์เจ้าเล่า ตามอย่างเก่า ๆ เขายังเรียกพระองค์เจ้ากรมหมื่นนั่น พระองค์เจ้ากรมหมื่นนี่ คำที่ใช้จ่าน่าบาญชีเจ้านาย ก็ใช้ว่าพระองค์เจ้ามีกรม แลพระองค์เจ้ายังไม่มีกรมเช่นนี้เปนตัวอย่าง ชื่อเจ้ากรม ปลัดกรมอย่างเก่า ๆ ไม่ได้ใช้คำสูงวิเศษอไร แลไม่ได้ใช้เปนผู้หญิงผู้ชาย เช่นเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาทิพย์ เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพ ก็เห็นได้ตรงว่า พระนารายน์คงไม่ได้ตั้งพระขนิษฐาให้ชื่อโยธาทิพย์องค์หนึ่ง แลพระราชบุตรีให้ชื่อโยธาเทพ ซึ่งเปนชื่อทหารผู้ชายเช่นนั้น เห็นชัดว่าเปนชื่อสำหรับเจ้ากรมเท่านั้น

การค่อย ๆ เข้าใจผิดกันมาทุกทีเพราะเรียกพระนามกรมจนจับหน้าเจ้าองค์นั้นเสียแล้ว จึงกลายเปนชื่อเจ้าองค์นั้น ชื่ออย่างเจ้ากรมของตัว คงเหลืออยู่แต่เจ้าฟ้าซึ่งได้รับพระสุพรรณบัตรเฉลิมพระนามเปนเจ้าฟ้าก่อนเปนกรม เช่นเจ้าฟ้ามหามาลากรมพระบำราบปรปักษ์ ใช้ทั้ง ๒ อย่าง การที่ชักเลอะนั้นเพราะเจ้าฟ้าที่ไม่ได้รับพระสุพรรณบัตร แลชื่ออย่างไทย ๆ เช่นชักตัวอย่างเจ้าฟ้าลา กรมหลวงจักรเจษฎามานั้น เปนเหตุให้ฟั่นเฟือนได้ประการหนึ่ง

สมเด็จพระบรมราชชนนี แต่ไหนแต่ไรมาใช้ว่ากรมพระเทพามาตย์ คงเปน “มาตย” ไม่ใช่ “มาตุ” ที่แก้เปน มาตุ นั้นแก้ตามความหลง ถ้าจะเอามาวินิจฉัยว่าพระราชชนนี ทำไมจึงไม่ใช้สมเด็จ แต่พระอรรคมเหษียังใช้สมเด็จได้ ฤๅเจ้านายอื่น ๆ ยังตั้งเปนกรมสมเด็จได้ ถึงทีพระราชชนนี เหตุใดจึงตั้งเปนแต่กรมพระ ความข้อนี้วินิจฉัยได้ง่าย สมเด็จนั้นอยู่น่าคำนำ ตามแบบโบราณเขาใช้สมเด็จพระพันปีหลวง ฤๅสมเด็จพระราชมารดา สมเด็จพระราชชนนี สมเด็จพระบรมราชชนนี ถ้าหากว่าพระนามของท่าน เปน คำไทย ๆ เช่น สมเด็จพระบรมราชชนนี รัชกาลที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ใครเลยจะกล้าออกพระนามไทย ๆ ต่อท้ายสมเด็จได้ เพราะเหตุฉนั้น สมเด็จพระพันปีหลวงแต่โบราณ ก็มีพระนามไทย ๆ เขาจึงเรียกสมเด็จพระพันปีหลวงกรมพระเทพามาตย์ แต่ด้วยความเคารพยิ่งขึ้นไป จึงไม่ออกพระนามแม้แต่สมเด็จพระพันปีหลวง เรียกแต่ชื่อเจ้ากรม ว่ากรมพระเทพามาตย์ทีเดียว

การที่เปลี่ยนชื่อเจ้ากรมในรัชกาลที่ ๒ เปนพระอมรินทรามาตย์ ด้วยความประสงค์จะแก้จืดแลจะให้สูงขึ้น ได้ยกสมเด็จซึ่งเปนคำนำพระพันปีหลวง มาใช้นำชื่อกรม เปนสมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์ “สมเด็จ” ฤๅจะว่า “สมเด็จของ” กรมพระอมรินทรามาตย์ มีปรากฎในหมายเก่าใช้ “สมเด็จกรมพระอมรินทร์” “สมเด็จกรมพระศรีสุลาไลย” ทุกแห่ง ยังถูกต้องดีอยู่

ข้อซึ่งมาเกิดฟั่นเฟือนมากไปนั้น ด้วยในรัชกาลที่ ๔ มีพระราชบัญญัติ พระศรีภูริปรีชารับพระบรมราชโองการ ออกหมายลงวันเดือน ๑๐ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีชวดจัตวาศกจุลศักราช ๑๒๑๔ ก่อนข้าพเจ้าเกิดปีหนึ่ง สาเหตุข้อพระราชบัญญัตินี้ แลความมุ่งหมายเปนอย่างอื่นแท้ เหตุที่เกิดขึ้นนั้นดังนี้
ทรงได้ยินคำกราบทูลว่า สมเด็จพระเดชา แลสมเด็จพระปรมานุชิต เปนต้น ทรงรแวงไป ว่าดูเหมือนบรรดาศักดิ์จะเสมอสมเด็จพระราชาคณะ อันเรียกว่าสมเด็จพระอริยวงษาคตญาณ สมเด็จพระพุฒาจาริย์แลอื่น ๆ อิกอย่างหนึ่งนั้น มีผู้กราบทูลเรียกพระนามกรมพระว่า พระราม พระพิพิธ พระพิทักษ์ ก็จะเหมือน พระพิพิธเดชะ พระอินทรเทพ แลอื่น ๆ ไป จึงได้บัญญัติลงว่า

“จะออกพระนามพระเจ้าอยู่หัววังหลวงวังน่า ให้ใช้ “พระบาท” นำสมเด็จ ถ้าจะออกพระนามสมเด็จพระเดชา สมเด็จพระปรมานุชิต ให้ใช้ “กรม” นำน่าสมเด็จ จะได้ผิดกับสมเด็จพระราชาคณะ ถ้าจะใช้พระนามกรมพระรามอิศเรศ กรมพระพิพิธ กรมพระพิทักษ์ ให้ใช้ “กรม” นำน่า พระ”

มีข้อความปรากฎ อยู่ในหนังสือวชิรญาณวิเศษเล่ม ๒ น่า ๓๕๘

พระราชบัญญัติอันนี้ ไม่ได้ทรงรฦกถึงแบบเดิม ซึ่งเคยใช้สมเด็จกรมพระอัมรินทร์ สมเด็จกรมพระศรีสุลาไลย ซึ่งคงใช้อยู่ จนถึงเวลาออกพระราชบัญญัตินั้นเลย พระราชประสงค์แต่จะแก้ข้อขัดข้องที่เกิดขึ้นในขณะหนึ่ง ซึ่งเปนเวลาหลงเอาชื่อเจ้ากรม มาเปนชื่อเจ้าเสียช้านานแล้วนั้น

คำที่ใช้ว่า “พระบาท” นำน่าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินนั้น น่าจะมาจาก ศุภอักษร ซึ่งมีข้อความว่า “ท่านเสนาธิบดินทร์ นรินทรามาตย์ ผู้ภักดีบำเรอพระบาทสมเด็จพระเอกาทศรฐ” เปนต้น ถ้าจะชักเอาพระบาทให้ขาดวรรค “ผู้ภักดีบำเรอ พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรฐ” ก็เปนอันเข้าใจใช้ได้ว่า สมเด็จในพระนามของพระเจ้าแผ่นดิน ควรจะมีพระบาทนำ แต่ก็เปนบัญญัติใหม่ เพื่อจะให้ผิดจากสมเด็จพระราชาคณะนั้นเอง ของเก่า ๆ หาได้ใช้เปนหลักถานมั่นคงไม่

แต่กรมนำน่าสมเด็จ ไม่สนิทเหมือนพระบาทนำสมเด็จ กรมนำเข้าข้างน่าต้องเข้าใจว่าเจ้าองค์นั้น พระนามเหมือนเจ้ากรม ถ้าเอากรมต่อท้ายสมเด็จตามแบบเก่า ได้ความว่าเจ้าองค์นั้นเปนสมเด็จ กรมที่ต่อข้างท้ายนั้นเปนชื่อของเจ้ากรม สำเร็จรูปเปนเนื้อความว่า “สมเด็จของกรมซึ่งพระปรมานุชิตเปนเจ้ากรม” เรียกสั้นเปนสมเด็จกรมพระปรมานุชิต เมื่อมีกรมอยู่ข้างท้ายสมเด็จเช่นนี้ จะเหมือนสมเด็จพระราชาคณะที่ไหนได้

ส่วนกรมพระที่ทิ้งกรมข้างน่าเสียนั้นผิดแท้ ไม่ทราบว่าเหตุผลอย่างไร จะเปนด้วยสั้นแลง่าย เคยได้ยินที่สุดจนเจ้านายในกรมนั้นเอง เช่นพระองค์เจ้าชิดเชื้อพงษ์ หม่อมเจ้ายินดี ก็มักจะเรียกว่าพระพิพิธ พระองค์เจ้าสิงหนาท แลหม่อมเจ้าลมุน ก็เรียกพระพิทักษ์ เว้นไว้แต่ถ้าพูดกันมาก ๆ จึงจะเรียกแต่ว่าในกรม เหมือนหม่อมเจ้าทั้งปวงเรียกบิดา ข้อที่หลงไปเรียกชื่อเจ้ากรมเปนเจ้า เช่นพระพิพิธ พระพิทักษ์นี้ เปนหลงอย่างเอก

พระราชบัญญัติที่ได้ยกมากล่าวนี้ ไม่บัญญัติไปถึงพระนามสมเด็จพระพันปีหลวงก็จริง แต่เมื่อบัญญัติลงว่า เจ้านายอันเปนสมเด็จจำจะต้องมีกรมนำ จึงจะผิดกับสมเด็จพระราชาคณะ เช่นนั้นแล้ว ก็ลามมาถึงพระนามสมเด็จพระพันปีหลวงกลายเปนกรมสมเด็จพระอัมรินทร์ กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทร์ กรมสมเด็จพระศรีสุลาไลย ตลอดจนกรมสมเด็จพระเทพศิรินธร์ ก็เปนเช่นนั้นด้วย จนสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอรัชกาลที่ ๑ ซึ่งเปนต้นเหตุแห่งเรื่องที่กล่าวอยู่บัดนี้ อันเปนเจ้าฟ้าทั้ง ๒ พระองค์ ก็ต้องเลิกเจ้าฟ้า เติมกรมนำน่าสมเด็จ เปนกรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ไปด้วย

แต่ครั้นมาในชั้นหลัง จะทรงรแวงขึ้นมา ว่าสมเด็จพระบรมราชชนนี ไปเหมือนกันเข้ากับกรมสมเด็จต่าง ๆ ฤๅอย่างไร จะถวายเทศนาโปรดให้หยอดท้าย เช่นกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ สมเด็จพระบรมราชชนนี พระที่ลืมหยอดท้ายเช่นนี้ต้องถูกลงจากธรรมาศน์ไปก็มี แต่ไม่ได้เติมในฉลากสดัปกรณ์ การจึงได้เปนแบบอย่างมาจนทุกวันนี้

ข้อซึ่งพาให้เลอะลืมต้นเหตุแห่งการตั้งกรมมีอิก คือยกตัวอย่างกรมพระราชวังบวรสฐานมงคล กรมพระราชวังบวรสฐานภิมุข นับว่าเปนเจ้านายอย่างสูงชั้นพระราชา ก็ใช้ว่ากรมพระราชวัง ไม่ได้ใช้ว่ากรมพระยาราชวัง ความวินิจฉัยอันนี้ผิดมาก ที่วังน่าแลที่วังหลังนี้ เขาไม่ได้เรียกตามชื่อบุคคล ผู้ที่เปนข้าราชการสองกรมนั้น มีมากด้วยกัน เขาจึงเรียกเอาตามชื่อวัง วังน่าเรียกว่าวังบวรสฐานมงคล วังหลังเรียกว่าวังบวรสฐานภิมุข ส่วนพระองค์เองท่านเปนสมเด็จพระอนุชาธิราช แลสมเด็จพระเจ้าหลานเธอต่างหาก การที่พาเลอะเพราะเอากรมไปนำวังเข้าอิก ที่จริงกรมในที่นี้ใช้แทนคำว่าฝ่าย เปนหมวดเปนแพนก ไม่ควรจะเอาไปเทียบกับยศเจ้านาย ที่เรียกตามยศเจ้ากรมนั้นเลย

ทางที่พาเลอะอิกเรื่องหนึ่งนั้น คือตามกฎหมายเดิม ไม่มีคำนำพระนามเจ้านายที่เปนผู้ใหญ่กว่าพระเจ้าแผ่นดิน จะเปนพระไอยกาก็ตาม พระอาว์ พระพี่ก็ตาม ใช้คำนำว่า พระเจ้าน้องยาเธอเท่านั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์ว่าเปนการบกพร่อง ถ้าจะเปนการถือเกียรติยศก็ไม่เข้าเรื่อง จึงทรงพระราชดำริห์แก้เรื่องนี้ แต่แรกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ มีข้อความปรากฎอยู่ในประกาศอันข้าพเจ้าเข้าใจว่าจะได้นำมาลงในหนังสือวชิรญาณวิเศษไว้ คงจะอยู่ในเล่มเดียวกับที่ได้อ้างถึงนี้ ฤๅก่อนขึ้นไปเล่มหนึ่ง

พระราชปรารภนั้น ว่าข้อซึ่งบัญญัติให้เรียกพระเจ้าพี่ยาเธอ พระเจ้าพี่นางเธอนี้ ไต่ตามตัวอย่างที่เคยมีมาในรัชกาลที่ ๑ เรียกสมเด็จพระพี่นางทั้ง ๒ พระองค์ ควรจะเดินตามแบบอย่างนั้น จึงได้บัญญัติให้เรียกพระเจ้าพี่ยาเธอ พระเจ้าพี่นางเธอ

แต่เมื่อบัญญัติลงเช่นนี้แล้ว คำนำเช่นนั้นย่อมทั่วไปถึงกรมขุนพิพิธภูเบนทร์ กรมหมื่นพิทักษ์เทเวศร์ พระองค์เจ้าทินกร เพื่อจะยกกรมขุนเดชอดิศร ให้สูงยิ่งขึ้นไปกว่าเจ้านายที่ออกพระนามมาแล้ว จึงได้พระราชทานเพิ่มคำสมเด็จนำพระนาม แลให้เจ้ากรมเปนพระยา เทียบอย่างสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์ใหญ่ ในรัชกาลที่ ๑

แต่มาขาดความพิจารณาไม่ทั่วถึงเสียในระยะนี้เอง ด้วยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์ใหญ่รัชกาลที่ ๑ ท่านเปนเจ้าฟ้า สมเด็จเปนคำนำของเจ้าฟ้า แต่หากไม่เรียกออกพระนามเจ้าฟ้า เรียกแต่สมเด็จเปล่าเอาต่อกับชื่อเจ้ากรม ว่าสมเด็จกรมพระยาเทพสุดาวดี เลยหลงไปว่าสมเด็จนั้นเปนชั้นของเจ้าต่างกรมอย่างยอด อันมีเจ้ากรมเปนพระยา สมเด็จใช้แทนคำว่าพระยาอยู่แล้ว จึงเรียกสำเร็จรูปเปน กรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี ตามบัญญัติกรมนำน่าสมเด็จ ดราวนี้ก็คลาศรอยจับรูปไม่ติดทีเดียว ครั้นตั้งกรมขุนเดชอดิศร จะให้เปนต่างกรมอย่างสูงที่สุด จึงได้เปนกรมสมเด็จพระเดชาดิศร


  พระที่นั่งวิหารสมเด็จ พระที่นั่งสรรเพชปราสาท พระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์
  กล่าวท่อนนี้ด้วยทัพมังลอง
  เห็นจะคิดสืบสวนกัน หาช่องที่ไม่มีเขาสูง แต่ภายหลังคงทราบแล้วว่าทำไม่สำเร็จ ด้วยกว้างเหลือเกินจึงไม่คิดลงไปสงขลาทีเดียว


หัวข้อ: Re: จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 27 สิงหาคม 2562 17:54:47
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/14850401961141_spd_2012090285139_b_1_320x200_.jpg)

แต่ครั้นเมื่อพิเคราะห์ไป ยศเช่นนี้ไปทันกันกับสมเด็จพระพันปีหลวง แลสมเด็จพระพี่นางเธอรัชกาลที่ ๑ ซึ่งท่านเปนเจ้าฟ้าหาที่แปลกกันมิได้ จึงโปรดให้เติมคำนำลงเสียน่าสมเด็จว่า “พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมสมเด็จพระเดชาดิศร” “พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมสมเด็จพระปรมานุชิต” แก้ไขยักเยื้องไปพอให้แปลกกัน เมื่อลงรูปเช่นนี้จะเปนอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากจะต้องเข้าใจว่า พระองค์เจ้ามั่ง องค์นี้พระนามเดชาติศร แต่เหตุไฉนเจ้ากรมจึงมาชื่อพ้องกัน ไม่เคยยกขึ้นสู่ความวินิจฉัย แต่ในชั้นหลัง ๆ มา เมื่อเกิดเซ็นชื่อกัน เจ้านายต่างกรมบางองค์ มีความเดือดร้อนว่าลายเซ็นของตัวเหมือนกับเจ้ากรม ไม่ทันพิศ บางคนหลงว่าลายเซ็นของเจ้ากรมเปนลายพระหัดถ์ของเจ้า

ในเรื่องเจ้านายซึ่งไม่ได้เปนเจ้าฟ้า ได้รับยศเปนสมเด็จนี้ชอบกลอยู่ น่าจะมีเค้ามูลอย่างหนึ่งอย่างใด จะว่าสูงเกินไปจนถึงไม่มีเลยเปนแน่ก็ว่าไม่ได้ แต่ขุนนางยังเปนสมเด็จเจ้าพระยาได้ มีตัวอย่างที่ข้าพเจ้ารงับไว้ยังไม่ได้วินิจฉัยนานมาแล้วเรื่องหนึ่ง คือเมื่อเวลาเรียงพระราชประวัติสามรัชกาลสำหรับเทศนากระจาดใหญ่ เมื่อสมโภชพระนคร ข้าพเจ้าเปนผู้เรียบเรียงรัชกาลที่ ๓ แลรัชกาลที่ ๔ เมื่อเก็บข้อความทั้งปวงรวบรวมจะเรียงขึ้นนั้น กรมหลวงบดินทร์รับสั่งยืนยันว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จออกไปขัดทัพปากแพรก เปนพระองค์เจ้าต่างกรม เจ้ากรมเปนแต่หมื่น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย โปรดให้ออกพระนามในท้องตราว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์” ท่านรับสั่งยืนยันเปนแน่นอน ไม่ใช่อย่างเลอะ ๆ แต่เวลานั้นหนังสือที่ต้องค้นคว้าเรียบเรียงมาก เวลามีไม่พอจึงได้ทูลขอรงับไว้เสีย ว่าถ้าจะลงความข้อนี้ในพระราชประวัติ จะต้องหาหลักถานไว้ต่อสู้เขาให้ดีหน่อยจะเกิดเปนปากเสียง ว่ายกย่องกันเกินไป ครั้งนี้รงับไว้เสียทีหนึ่งเกิด การก็ค้างกันมา

เมื่อพิเคราะห์ดูเจ้านายที่ไม่ใช่เจ้าฟ้า เช่น กรมสมเด็จพระปรมานุชิต กรมสมเด็จพระเดชาดิศรเปนสมเด็จด้วยอไร เปนได้ด้วยพระราชทานให้เปน ไม่ใช่พระราชทานให้เปนเจ้าฟ้า เปนสมเด็จอย่างสมเด็จเจ้าพระยา อย่างสมเด็จพระราชาคณะ จึงมาคิดเห็นว่า น่าจะมีแบบอย่างอไรมาแต่ก่อนบ้าง ถ้าหากว่าคำที่กรมหลวงบดินทร์รับสั่งนี้เปนความจริงก็น่าจะอย่างเช่น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ นี้เปนตัวอย่าง แต่เวลานั้นคิดเห็นไม่ได้ เหตุด้วยเรื่องบัญญัติเอากรมนำน่า สมเด็จเข้าไปขวาง ที่จะคิดเห็นไปว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ความยกย่องเปนกรมสมเด็จพระเจษฎาบดินทร์ไม่ได้เปนอันขาด ไม่มีจดหมายข้อความในที่สฐานใดเลย จึงเปนข้อที่ฉงนต้องขอรงับไว้ก่อน แต่ถ้าหากว่าสมเด็จเปนแต่คำนำ ไม่เที่ยวแก่กรมตามแบบเก่า เช่นเคยใช้สมเด็จกรมพระอัมรินทร์ สมเด็จกรมพระศรีสุลาไลยแล้ว จะใช้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ฤๅอย่างสั้นว่า สมเด็จกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ก็จะขัดข้องอันใด ก็อย่างเดียวกันกับสมเด็จกรมพระยาเดชาดิศร สมเด็จกรมพระปรมานุชิต จะว่าเหมือนสมเด็จพระราชาคณะก็ไม่เหมือน เพราะมีกรมอยู่ท้ายสมเด็จ เห็นว่าแยบคายดีหนักหนา ดีกว่าพระราชบัญญัติแก้ไขให้ใช้กรมนำสมเด็จ

ตัวอย่างความลำบากซึ่งเคยอึดอัดใจอย่างยิ่ง ได้เกิดขึ้นเมื่อครั้งกรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ ท่านเปนกรมพระอยู่แล้ว แต่เพื่อจะยกย่องให้สูง เช่นสมเด็จพระปรมานุชิต ฤๅสมเด็จพระเดชา แต่พระองค์ท่านเปนเจ้าฟ้า เปนสมเด็จอยู่ในคำนำพระนามเดิมแล้ว แลตั้งเปนกรมสมเด็จอิกซ้ำหนึ่ง สมเด็จเดิมทิ้งเสียก็ไม่ได้ สมเด็จใหม่ไม่เติมเข้าก็ไม่สำเร็จกิจการเลื่อนกรม จึงต้องลงทั้งสองอย่าง กลายเปน “สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์” สมเด็จถึงสองหนเผยิบผยาบเต็มที ถ้าหากว่าวินิจฉัยลงว่า คำซึ่งกรมหลวงนรินทรเทวี เรียกสมเด็จพระพี่นางรัชกาลที่ ๑ นี้ ถูกต้องตามแบบอย่างความมุ่งหมายเดิมแล้ว จะเรียกได้ง่าย ว่า “สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์” สนิทสนมดีมาก

ถ้าหากว่าความวินิจฉัย อันนี้ตกลง ผลที่จะเรียกในแผ่นดินประจุบันนี้ จะออกพระนามได้ดังเช่นกล่าวต่อไป
          ๑ สมเด็จพระเจ้าบรมไปยิกาเธอเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี
             ฤๅเรียกอย่างย่อว่า สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี
          ๒ สมเด็จพระเจ้าบรมไปยิกาเธอเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์
             ฤๅเรียกอย่างย่อว่า สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์
          ๓ สมเด็จพระบรมราชไปยิกา กรมพระอมรินทรามาตย์
             ฤๅเรียกอย่างย่อว่า สมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์
          ๔ สมเด็จพระบรมราชไอยิกา กรมพระศรีสุริเยนทรามาตย์
             ฤๅเรียกอย่างย่อว่า สมเด็จกรมพระศรีสุริเยนทรามาตย์
          ๕ สมเด็จพระราชมหาไปยิกา กรมพระศรีสุลาไลย
             ฤๅเรียกอย่างย่อว่า สมเด็จกรมพระศรีสุลาไลย
          ๖ สมเด็จพระบรมราชชนนี กรมพระเทพศิรินธรามาตย์
             ฤๅเรียกอย่างย่อว่า สมเด็จกรมพระเทพศิรินธรามาตย์
          ๗ สมเด็จพระเจ้าบรมไอยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร
          ๘ สมเด็จพระเจ้าไอยกาเธอ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
          ๙ สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร
          ๑๐ สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
          ๑๑ สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์
             ฤๅสมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์

เช่นนี้เปนต้น อาจจะลงร่องรอยได้ เห็นผิดกันที่ในระหว่างที่เปนเจ้าฟ้าแลมิได้เปนเจ้าฟ้า แลผิดกันกับสมเด็จพระราชาคณะ

จึงเห็นว่าข้อความ ซึ่งกรมหลวงนรินทรเทวีเรียก สมเด็จตรัสสาเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี แลสมเด็จตรัสสาเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ น่าจะถูกต้องแยบคายดีหนักหนา

๑๘๕ เชิญพระโกษฐไว้ (ที่พระ) ที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ฟ้าผ่าปราสาทแต่ไม่ไหม้
๑๘๕ เรื่องฟ้าลงปราสาทนี้ไม่ปรากฏในพงษาวดาร

๑๘๖ เดือน ๕ ปีวอกโทศก เชิญพระโกษฐขึ้นทรงพิไชยราชรถตามกันเข้าพระเมรุทอง ร่วมชั้นพระเบญจาเดียวกัน ถวายพระเพลิงเสร็จแล้ว
๑๘๖ พระโกษฐครั้งนี้ทำขึ้นใหม่ทั้งคู่ เรียกว่ากุดั่นใหญ่, กุดั่นน้อยหุ้มทอง ภายหลังจึงรื้อทองคำ ออกไปรวมทำพระโกษฐทองใหญ่

๑๘๗ ได้พระคชาธาร พระเทพกุญชร มาเปนศรีพระนครสืบลำดับกระษัตริย์
๑๘๗ คำที่ว่า, มาเปนศรีพระนครสืบลำดับกระษัตริย์ เพราะเหตุที่ พระเทพกุญชรอยู่จนรัชกาลที่ ๓

๑๘๘ พระโองการรับสั่งให้ขุดคลองรอบเกาะ ให้บ่ายเรือพระที่นั่งได้เรียกว่าคลองมหานาก
๑๘๘ ขุดคลองมหานาค, มีคำว่ารอบเกาะมาอิก เกาะในที่นี้จะเปนอย่างไร บางทีก็จะเหมือนกันกับชั้นหลัง คือมีเกาะในรหว่างโรงเรือกับวัดด้านหนึ่ง เกาะด้านตวันออก ที่เรียกว่าเกาะยายชี ด้านหนึ่ง แต่ในที่นี้เห็นจะหมายความว่าเกาะข้างเหนือวัด อยู่ตรงน่าบ้านชายเสรฐวงษ์ คลองหลังเกาะตื้นกลายเปนฝั่งไปเสียแล้ว

๑๘๙ ณเดือน ๖ รกาตรีนิศก ฉลองวัดพระเชตุพน ผลทานมากทิ้งฉลากพระราชโอรสพระราชนัดดา นักสนมสินธพคชานาเวศ เปนยอดยิ่งบารเมศ จำหน่ายทาน ฉลากละ....... [Math Processing Error] ต้นกัลปพฤกษ ๘ ต้น ทรงโปรยน่าพลับพลา ดอกไม้เงินทอง
๑๘๙ ฉลองวัดพระเชตุพน ทิ้งฉลากเช่นนี้ ในรัชกาลที่ ๓ ฉลองก็ทำเหมือนกัน แต่ดอกไม้เงินทองนี่จะเปนพิกุลเงินพิกุลทองกระมัง

๑๙๐ แต่ทรงสร้างจนฉลองจาฤกไว้ ณแผ่นศิลาอยู่ในพระสาสนา ๕๐๐ สิ้นเสร็จ
๑๙๐ ข้อที่เขียนไว้ว่าอยู่ในพระสาสนา ๕๐๐ สิ้นเสร็จ นี่คงจะผิดตกสูญ เพราะ ๕๐๐๐ พระวษา ย่อมรู้ปรากฎชัดเจนอยู่

เรื่องวัดพระเชตุพนนี้ น่าจะไขความให้กว้างไว้ที่ตรงนี้ได้อิกหน่อย ผู้อ่านจะได้สังเกตข้อความให้ชัดเจน เรื่องราวที่ยกมาว่านี้ เก็บมาจากสำเนาคำจาฤกวัดพระเชตุพน ซึ่งกรมหลวงนรินทรเทวีท่านอ้างในข้อนี้ มีเรื่องราวกล่าวตั้งแต่เริ่มสร้างจนฉลอง ศิลานี้อยู่ที่วิหารพระโลกนารถ เริ่มต้นขึ้นดังนี้ “ศุภมัศดุพระพุทธศักราชล่วงแล้ว ๒๓๓๑ พระวษา ณวัน ๒ ฯ ๑๑ ค่ำ ปีรกานักษัตเอกศก (๑๑๕๑) สมเด็จพระบรมธรรมรึกมหาราชาธิราชพระเจ้ารามาธิบดี บรมนารถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ผู้ผ่านพิภพไอสวริยาธิปัต ถวัลยราชกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชมหาสฐาน เสด็จทอดพระเนตรเห็นวัดโพธาราม เก่าชำรุดปรักหักพังเปนอันมาก ทรงพระราชศรัทธาจะปฏิสังขรณ์สร้างให้บริบูรณ์งามขึ้นกว่าเก่า ที่ซึ่งเปนลุ่มดอนห้วยคลองสระบ่อร่องคูอยู่นั้น ทรงพระกรุณาให้เอาคนสองหมื่นเศษขนดินมาถมเต็มแล้ว รุ่งขึ้นปีหนึ่งสองปีกลับยุบล่มลงไป จึงให้ซื้อมูลดินถม สิ้นพระราชทรัพย์ ๒๐๕ ชั่ง ๑๕ ตำลึง บาท ๓ สลึง จึงให้ปราบที่พูนมูลดินเสมอดีแล้ว ครันณวัน ๕ ๑๑ฯ ๑๒ ค่ำปีฉลู นักษัตเบญจศก (๑๑๕๕) ให้จัดการปฏิสังขรณ์” ต่อนั้นไปจำแนกรายการโดยเลอียด จะบอกแต่ใจความคือ สร้างพระอุโบสถมีกำแพงแก้ว มีพระรเบียงล้อมตามคำจาฤกว่าสองชั้น เห็นจะเปนด้วยกลัวว่าจะพรรณนายาวไป จะกินที่จาฤกมาก ที่แท้พระรเบียงวัดพระเชตุพนนี้หาได้เปนสองชั้นรอบไม่ เพราะเหตุที่ลานพระอุโบสถ ข้างในเปนสี่เหลี่ยม รเบียงจึงต้องเปนสี่เหลี่ยม มีวิหารทิศกลางย่าน พระรเบียงทั้งสี่ทิศ พระรเบียงที่ว่าเปนสองชั้น พระรเบียงชั้นนอกฤๅชั้นที่สองนั้น ไม่ได้กั้นหุ้มมุมพระรเบียงชั้นใน ย่อเข้ามาทั้งสองข้างชนพระวิหารทิศ เพราะฉนั้นเมื่อดูภายนอกรอบพระรเบียงจึงเห็นเปนไม้สิบสอง เปนการช่างอย่างดีซึ่งข้าพเจ้าพอใจเปนอันมาก ได้ชมอยู่เปนนิจ ไม่มีแห่งใดเหมือนเลย ต่อนี้ไปกล่าวถึงพระเจดีย์ตรงมุขวิหารตวันตก ซึ่งเรียกพระเจดีย์ศรีสรรเพชฯดาญาณ ตามนามพระพุทธรูปซึ่งได้บรรจุไว้ในภายใน เรื่องราวนั้นออกจะไม่พอที่ คือพระพุทธรูปองค์ใหญ่ซึ่งหุ้มทองคำอันสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ทรงสร้างไว้ในวัดพระศรีสรเพชฯกรุงเก่า ครั้นเมื่อเสียกรุงพม่าเอาไฟไปสุมให้ทองคำไหลลงมา เพราะเหตุวาพระนั้นหุ้มแผลงจะลอกยาก เมื่อถูกไฟแรงเช่นนั้น หุ่นทองเหลืองข้างในก็พรุนชำรุดไปด้วย ทรงพระราชปรารภจะปฏิสังขรณ์ มีพระราชปุจฉาไปถามพระราชาคณะ ว่าจะยุบลงหล่อเสียใหม่จะได้ฤๅไม่ ท่านพระราชาคณะเหล่านั้นมั่นในตัวหนังสือ ถวายพระพรว่าไม่ควร เมื่อจะทำอะไรไม่ได้เช่นนั้นแล้ว จึงได้ทรงพระราชดำริห์สร้างพระเจดีย์องค์นี้ขึ้น เชิญพระพุทธรูปองค์นั้นเข้าบรรจุไว้เสียในพระเจดีย์ คือพระเจดีย์ไม้สิบสององค์กลางที่วัดพระเชตุพนนั้น มีพระระเบียงล้อมสามด้าน ส่วนองค์ข้างเหนือข้างใต้ ซึ่งเห็นปรากฎอยู่บัดนี้นั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้น เมื่อปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนชั้นหลัง ยังอิกองค์หนึ่งซึ่งสูงอยู่กว่าเพื่อน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้น ด้วยเหตุที่พระเจดีย์สององค์เดิมทรงพระราชอุทิศเปนของรัชกาลที่ ๒ แลที่ ๓ จึงต้องมีรัชกาลที่ ๔ แต่เรื่องนี้ครั้นเมื่อใกล้จะเสด็จสวรรค์คต ได้มีพระราชดำรัสเฉพาะตัวข้าพเจ้า ว่าพระเจดีย์วัดพระเชตุพนนั้นกลายเปนใส่คแนนพระเจ้าแผ่นดินไป ถ้าจะใส่คแนนอยู่เสมอจะไม่มีที่สร้าง ควรจะถือว่าพระเจ้าแผ่นดินทั้งสี่พระองค์นั้นท่านได้เห็นกันทั้งสี่พระองค์ จึงควรมีพระเจดีย์อยู่ด้วยกัน ต่อไปอย่าให้ต้องสร้างทุกแผ่นดินเลยดังนี้ พระเจดีย์องค์ที่ ๔ นั้น ก็พึ่งมาแล้วสำเร็จในรัชกาลประจุบันนี้ พระเจดีย์ห้าองค์ฐานเดียวกันสี่ทิศ ได้สร้างในรัชกาลที่ ๑ พระวิหารคดสี่ทิศ หอไตรย์หลังคามุงกระเบื้องหุ้มดิบุก ฝาแลเสาปิดทองลายรดน้ำ มาทำเปลี่ยนใหม่ในรัชกาลที่ ๓ เปนหอไตรย์ยอด การเปรียญ หอรฆัง วิหารน้อยสำหรับสัปรุษไหว้พระ ศาลาราย เปนของทำในรัชกาลที่ ๑ ทั้งสิ้น กุฎีดูเหมือนจะมีแต่ตอนใน แต่ตอนคณะกุฎิ์จะเปนของเกิดขึ้นใหม่ พระพุทธรูปมาจากเมืองพิศณุโลกย์ สวรรคโลกย์ ศุโขทัย เมืองลพบุรี กรุงเก่า วัดศาลาสี่น่าใหญ่น้อย ๑๒๔๘ พระองค์ มาซ่อมแปลงต่อให้บริบูรณ์ดี พระพุทธรูปซึ่งเปนพระประธาน มาแต่วัดศาลาสี่น่า ถวายพระนามว่าพระพุทธเทวปฏิมากรน่าตัก ๕ ศอกคืบ ๔ นิ้ว พระพุทธรูปยืนสูง ๒๐ ศอก ทรงพระนามว่าพระโลกนารถสาสดาจาริย์ เชิญมาแต่วัดพระศรีสรรเพชฯกรุงเก่า เชิญประดิษฐานไว้ในวิหารตวันออกมุขหลัง มุขน่าพระนาควัดเขาอินทร์ เมืองสวรรคโลกย์ ทิศใต้เทศนาธรรมจักร พระกรุงเก่า วิหารตวันตกพระนาคปรกมาแต่ลพบุรี พระป่าเลไลยวิหารเหนือหล่อใหม่ พระพุทธรูปวิหารคดมาแต่หัวเมืองต่าง ๆ ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ๖๘๙ องค์ พระทำด้วยอิฐปูนของสำหรับพระอารามเก่าชำรุด ๑๘๒ องค์ กำหนดการปฏิสังขรณ์ว่า ๗ ปี ๘ เดือน ๒๕ วันจึงสำเร็จ สิ้นพระราชทรัพย์ทั้งสร้างแลช่วยคนรักษาเปนเงิน ๓๗๘๕ ชั่ง ๖ ตำลึง แต่แพรแดงห่มพระสิ้น ๑๐๐ พับ

การฉลองกำหนดเริ่มงานณวัน ๖ ๑๒ฯ ๕ ค่ำ ปีรกาตรีศก จุลศักราช ๑๑๖๓ เริ่มด้วยทรงถวายพระอารามตามพระบาฬี มอบถวายพระวันรัตน เมื่อถวายเสร็จแล้วพระสงฆ์รับไตรย์ไปสรงน้ำแล้ว ครองไตรย์มาสวดมนต์เวลาเย็นวันละ ๑๐๐๐ รูป พระสงฆ์ฉันเช้าเพลสามวัน ๑๐๐๐ รูป ถวายกระจาดทุกองค์ มีพระพวกทำดอกไม้เพลิงอิกพวกหนึ่งต่างหาก ตั้งโรงฉ้อทาน “แลโขนอุโมงค์โรงใหญ่ หุ่นลครมอญรำรบำโมงครุ่ม กุลาตีไม้ ปรบไก่งิ้วจีนงิ้วญวน หกขเมนไต่ลวดลอดบ่วง รำแพนนอนหอกนอนดาบ โตล่อแก้วแลมวย เพลากลางคืนประดับไปด้วยประทีปแก้วรย้าแก้ว โคมพวงโคมราย แลดอกไม้รุ่ง สว่างไปทั้งพระอาราม มีหนังคืนละ ๙ โรง ดอกไม้เพลิงคืนละ ๒๐๐ พุ่ม รทาใหญ่ ๘ รทา พลุ ประทัด เพนียง ดอกไม้ม้า ดอกไม้กระถาง ดอกไม้กลต่าง ๆ แลมังกรล่อแก้ว ญวนรำโคม เปนที่โสมนัศบูชา โอฬาริกวิเศศ เปนพระราชทรัพย์ทิ้งทานต้นกัลปพฤกษ์ ฉลากพิกัดค่าพระราชกุมาร พระราชบุตรี พระภาคินัยราช แลนางพระสนม ราชกุญชร อัศดรมากฉลากละ ๕ ชั่ง ๔ ชั่ง ๒ ชั่งเปนเงิน ๓๓๘ ชั่ง เงินใส่ผลมนาว ๑๖๘ ชั่ง เข้ากันทิ้งทาน ๕๐๖ ชั่ง คิดทั้งเงินค่าผ้าทรงพระ ดอกไม้สดบูชาพระ เลี้ยงพระสงฆ์ กระจาดณโรงฉ้อทาน เครื่องไทยทาน ทำเครื่องโขน โรงโขน เครื่องเล่นเบ็ดเสร็จ ทั้งถวายระย้าแก้วสำหรับพระอาราม เปนเงินในการฉลอง ๑๙๓๐ ชั่ง ๑๔ ตำลึง รวมกันทั้งสร้าง ๕๘๑๑ ชั่ง ลงท้ายก็เปนพระราชทานส่วนพระราชกุศล แผ่นศิลาที่จาฤก ณวัน ๒ ฯ ๖ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๖๓ ปีรกาตรีศก มีบาญชีรายเลอียดในสิ่งของที่ได้จ่ายการทำพระอารามนี้ ตลอดจนเวลาฉลอง โรงฉ้อทานคราวนี้ เจ้าข้างในโรงหนึ่ง คงจะเปนเจ้าข้างในวังหลัง เจ้าพระยาพลเทพโรงหนึ่ง พระยาพระคลังโรงหนึ่ง พระยายมราชโรงหนึ่ง พระยาศรีพิพัฒน์โรงหนึ่ง วิเศทโรงหนึ่ง ของไทยทานไตรย์แพรพันกะหนึ่งไตรย์ บาตรเหล็กถลก ๑๐๘๙ เพราะพระราชทานพระที่ไม่มีบาตรด้วย ๘๐ ฝาบาตรเชิงบาตร ๑๑๓๘ ธรรมกรกกล่องเข็ม ย่ามมีเครื่องใน มีดอรัญวาสี มีดหมาก แหนบเหล็กไฟ พัชนี ร่มแพร เสื่ออ่อน โอเถา โอคณะ กามะพร้าว ช้อนมุก กลักไม้ ลายใส่เทียน ธูป เทียน น้ำผึ้ง น้ำมันพร้าว น้ำมันงา ไม้เท้า สายรเดียง รองเท้า อย่างละ ๑๑๐๐”

๑๙๑ มีโขนโรงใหญ่ดอกไม้พุ่ม, พลุ, ไฟเพนียง, กรวด, เสียงประโคมฉลองเสร็จ
๑๙๑ โขนโรงใหญ่ที่เรียกว่าโขนอุโมงค์คือชักรอก ดอกไม้เพลิงเกณฑ์พุ่มพระแลมีรทาใหญ่

มีความจาฤกเรื่องพระธาตุเมืองน่านอยู่ในหนังสือวชิรญาณ ไม่ทราบว่าคำจาฤกนี้ได้ติดไว้ในที่แห่งใด น่าจะอยู่ในวัดพระเชตุพน ฤๅบางทีจะร่างไว้แล้วยังไม่ได้จาฤก เพราะเปนเวลาจวนแจ คำจาฤกลงพระพุทธสาสนกาล ๒๓๕๑ ตรงกับปีมโรงสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๗๐ ภายหลังการฉลองเปนช้านาน ก่อนปีสวรรค์คตพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ปีหนึ่ง ดูก็เปนเรื่องราวชอบกลดี เปนกิจการอันหนึ่ง ซึ่งได้เกิดขึ้นแลเกี่ยวในวัดพระเชตุพน

ใจความที่ร่างจาฤกนั้น ว่าเมืองน่านบอกลงมา ว่าเดือน ๙ แรม ๑๒ ค่ำ ปีมโรงสัมฤทธิศก ไหซึ่งบรรจุพระธาตุขุดขึ้นมาลอยวนอยู่หลังน้ำ ตรงปากถ้ำน้ำน่าน ใต้ด่านบ้านแผก สามเณรเก็บได้เปิดขึ้นพบพระธาตุ ๒๓๕ พระองค์ กับเครื่องสักการบูชา เจ้าฟ้าเมืองน่านจะล่องลงมาเฝ้า จึงเชิญพระบรมธาตุลงเรือขนานส่งลงมาถวาย จึงโปรดให้แห่พระธาตุลงมาทำการสมโภช ที่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน แล้วไปตั้งให้ประชุมชนสักการบูชา ที่วัดพระศรีรัตนสาสดาราม แล้วเชิญเข้าบรรจุไว้ในพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี อัญเชิญมาแต่เมืองศุโขทัย พระพุทธชินศรีอยู่วิหารทักษิณ สนองพระองค์ ดุจจะทรงสถิตย์นั่งเสวยผลศุขฌาณสมาบัติภายใต้ร่มไม้จิกแทบขอบสระมุจลินท์ พระชินราชสถิตย์ ณ พระวิหารด้านประจิม สนองพระองค์ดุจจะทรงนั่งตรัสธรรมเทศนาธรรมจักกัปปวัตนสูตร ข้อความเลอียดได้คัดติดท้ายพระราชวิจารณ์นี้ไว้ หมายอักษร (ค)

๑๙๒ ณเดือน ๑๒ ฉลองวัดสระเกษ มีพระโองการรับสั่งให้ข้างน่าข้างใน ตั้งเลี้ยงพระให้สิ้นทั้งวัด ประทานเงินหลวง ต้นกัลปพฤกษ โปรยทานการมหรศพสมโภชเสร็จ
๑๙๒ ฉลองวัดมักจะทำต่อ ๆ กัน เพราะได้อาไศรยไม้ไล่ที่จะทำพลับพลาแลโรงงาน ย้ายไปจากวัดที่ฉลองแรก

๑๙๓ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ, หลานเธอ แต่งเรือประพาศคู่เคียงประสานเสียงดอกสร้อยสักรวาดุริยางค์จำเรียง ถวายลำร้องรับกับเสียงดอกไม้น้ำ
๑๙๓ พลับพลาคงจะได้ปลูกริมคลองมหานาค เปนพลับพลาสองน่า น่าหนึ่งออกสนาม น่าหนึ่งลงน้ำ มีเรือสักรวา, ดอกสร้อย, เพลง, เล่นในคลองมหานาค ดอกไม้เพลิง ก็ได้เล่นดอกไม้น้ำ ทำนองนักขัตฤกษ์ลอยพระประทีป เห็นจะสนุกมาก ฉลองวัดราชโอรสปลูกพลับพลาแลมีงานเช่นนี้

๑๙๔ สทาโป้งปีบ, ไฟเพนียง, พุ่ม, พลุ, กรวด, เสียงสนั่นครื้นแผ้วพื้นเมฆา จันทราทรงกลด หยุดยั้งรถโมทนา ทานเจ้าหล้าเหลือแหล่ ผึ่งแผ่พระบารมี สมโภชครบสัตวาร เสร็จการฉลองวัด
๑๙๔ ขอให้สังเกตคำว่า โป้งปีบ คำที่เรียกดอกไม้เพลิงชนิดหนึ่งว่า ป้องปีบ นั้น เห็นจะมาจากคำว่า โป้งปีบ

๑๙๕ ณปีจอจัตวาศก ปลายปี กรมหลวงเทพหริรักษสิ้นพระชนม์ ถวายเพลิงที่วัดราชบุรณ
๑๙๕ วังท่านอยู่น่าวัด แลวัดท่านก็ปฏิสังขรณ์

๑๙๖ ณวัน ๕ ฯ ๑๒ ค่ำ ลุศักราช ๑๑๖๕ ปีกุนเบญจศก พระพุทธเจ้าหลวง สมเด็จพระไอยกา วังบวรสฐานมงคล เสด็จสวรรค์คต อยู่ในราชสมบัติได้บุรณวัดมหาธาตุ ทรงสร้างพระมรฑปประจุพระบรมธาตุ แล้วบุรณวัดสุวรรณ, วัดไชยชนะสงคราม
๑๙๖ พระพุทธเจ้าหลวงสมเด็จพระไอยกา วังบวรสฐานมงคลนี้ หมาย กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท คำว่าสวรรค์คตใช้ในที่นี้ ที่ใช้ว่าสวรรคาไลย เห็นจะกำหนดว่ารองสวรรค์คต

๑๙๗ สละราชสมบัติทรงผนวช ๗ วัน ยอดศีลบารมี อยู่ในราชสมบัติ ๒๒ ปี
๑๙๗ การทรงผนวชกรมพระราชวังพระองค์แรกนี้ ไม่ปรากฎในพระราชพงษาวดาร ในจดหมายเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ ก็มีข้อความแต่กรมพระราชวังพระองค์ที่ ๒ ทรงผนวชเมื่อหายประชวรอย่างบนตัวบวช

การทรงผนวชกรมพระราชวังองค์แรก มีข้อความเลอียด อยู่ในจดหมายข้างที่ซึ่งเห็นว่าไม่ยาวนัก จึงคัดลงไว้ในนี้ตลอดเรื่อง ดังนี้

๏ “ศุภมัศดุพระพุทธศักราช ล่วงแล้ว ๒๓๓๘ พระวษาเศศสังขยาเดือนหนึ่งกับ ๒๘ วัน ปรจุบัณณะวัน ๓ ๑๔ฯ ๘ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๕๗ ปีเถาะสัพศกเพลาเช้า เสด็จออกมุขมาตยามนตรีกระวีราชโหราจารทั้งปวง เฝ้าพระบาทบงกชมาศเปนอันมาก ณพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน สมเด็จพระอนุชาธิราช ล้นเกล้า ฯ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จลงมาเฝ้าทูลลา ทรงบรรพชากับทรงพระราชศรัทธาที่จะให้เปนหิตตานุหิตประโยชน์แก่คนทั้งปวง อันต้องพันทะนะไภยอยู่ณะเรือนตรุะเรือนจำอันเปน ครุ - ลหุ โทษ แลโทษเจ้านันทเสน กับพวกเจ้านันท ซึ่งเปนกระบถต่อแผ่นดิน แต่โทษเจ้านันทนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้งดไว้ก่อน คนโทษนอกนั้น โปรดให้ออกจากพันทนาสิ้น เว้นแต่ไอ้ พม่า - รามัญ - สลัด ซึ่งเปนฆ่าศึกแผ่นดิน แลพระพุทธสาศนาให้จำไว้ก่อน ศริยคนโทษแต่ได้ออกจากเวรจำเปน ไทย -  จีน -  แขก - เขมน ล้นเกล้า ฯ กรมพระราชวังบวร ฯ ทรงพระราชศรัทธาบวดคนโทษที่ทูลขอได้นั้น ๓๒ คน ครั้น ณ วัน ๔ ๑๕ฯ ๘ ค่ำ ปีเถาะสัพศกเพลาบ่าย ๔ โมง ๘ บาท ล้นเกล้า ฯ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงพระผนวด จนเพลาบ่าย ๕ โมง ๗ บาท เสร็จบรรพชาณะพระอุโบสถพระมหาธาตุพระอารามหลวง สมเด็จพระสังฆราชเปนพระอุปชฌา พระญานสังวรเปนพระกำมวาจา พระธรรมกิจเปนอนุสาวนะ พระสงฆ์คณะหัถบาท ๔๑ รูป เปน ๔๔ พระองค์ด้วยกัน ทรงบรรพชาอุปสมบถณะพระภัทศรีมาวัดมหาธาตุ ครั้นณวัน ๕ ฯ ๘ ค่ำ ปีเถาะสัพศก เพลาค่ำล้นเกล้า ฯ กรมพระราชวังบวร ฯ ทรงขึ้นพระบริยายบำเพ็ญพระธรรมภาวนา ครั้นณวัน ๑ ฯ ๘ คำ ปีเถาะสัพศก เพลาบ่าย ๓ โมง พระสงฆ์ ๕๐๐ จำเริญพระปริตณะพระรเบียงพระอุโบสถวิหารวัดพระมหาธาตุ ครั้นรุ่งขึ้นณวัน ๒ ฯ ๘ ค่ำปีเถาะสัพศก เพลาเช้า พระสงฆ์ราชาคณะห้าร้อยรับพระราชทานฉันเปนพระราชกุศลการฉลอง ล้นเกล้า ฯ กรมพระราชวังบวร ฯ ครั้นณวัน ๔ ฯ ๘ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๕๗ ปีเถาะสัพศก เพลาเช้า ๔ โมง ๖ บาท พร้อมพระฤกษ ล้นเกล้า ฯ กรมพระราชวังบวร ฯ ลาพระผนวดศริทิวาวาร พระเนกขัมมานิสงษเปนสัตะวารดิดถี” ๚ะ๛

๑๙๘ เจ้าลำดวน, เจ้าอินทปัต คบคิดกับอินกระลาโหม พินาศอัคคี สกลนิกร จะทำศึกเสี้ยนแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระไอยกา
๑๙๘ เจ้าลำดวนคนนี้ เปนคนเคยรับราชการทัพศึก สังเกตดูการที่คิดอ่าน เปนอย่างยุง ๆ กระเดื่องไม่เปนล่ำเปนสันอไร ดูเหมือนจะเปนคนมีแต่โวหาร

๑๙๙ นายเวร ปลัดเวรฟ้องกราบทูล ไต่ถามรับเปนสัตย์ ลงพระราชอาญาคนละ ๑๐๐ ให้สำเร็จโทษ ณ วัดประทุมคงคา (คนอื่น) ทั้งนั้นให้ประหารชีวิตรตัดศีศะเสียบไว้สำเหร่
๑๙๙ ในเรื่องหม่อมลำดวน หม่อมอินทปัตก่อเหตุผลอย่างไร มีข้อความอยู่ในจดหมายเจ้าพระยาทิพากรวงษ์เดิม แลที่กรมหลวงดำรงได้แก้ไขเพิ่มเติมนั้นแล้ว ทั้งกิจการที่กรมพระราชวังพระองค์แรกได้ทรงอย่างไร ทั้งในทางราชการแลในส่วนพระองค์ ย่อมมีปรากฎอยู่ในพระราชพงษาวดาร แลในจดหมายทั้งปวงนั้นแล้ว ข้าพเจ้าไม่ได้คิดจะกล่าวซ้ำข้อความซึ่งได้กล่าวไว้ในที่อื่นแล้ว

แต่มีหนังสือซึ่งหอพระสมุดซื้อไว้เรียกว่า “หนังสือนิพานวังน่า” ข้าพเจ้าเห็นตามข้อความในนั้น ว่าเปนของพระเจ้าบวรวงษ์เธอชั้น ๑ พระองค์เจ้ากัมพุชฉัตรพระธิดากรมพระราชวัง ที่เกิดด้วยนักองค์อี ซึ่งเปนธิดาของสมเด็จพระอุไทยราชา เจ้ากรุงกัมพูชา เจ้านายข้างในมี ๒ องค์ ยังพระองค์เจ้าปุกอิกองค์หนึ่ง ซึ่งเปนธิดานักองค์เภา เสด็จอยู่จนข้าพเจ้ารู้จัก ได้ทูลลาโกนจุกแลบวชเณร เห็นได้ว่าไม่ใช่โวหารของพระองค์เจ้าปุก เพราะอัชฌาไศรยไม่มีความสามารถ งึมงำไป พระองค์เจ้ากัมพุชฉัตร ได้ความจากพระองค์เจ้าสุดาสวรรค์ ว่าท่านอยู่ข้างจะเฟื่องฟู ว่าตามพระองค์เจ้าสุดาสวรรค์รับสั่งว่า “ท่านบอ ๆ” คงจะเปนผู้เรียงหนังสือนี้ ไม่ผิดพระองค์ได้

หนังสือนี้ท่านผู้แต่งไม่ทราบอักขรวิธีเขียนด้วยความลำบาก หาอไรต่ออไรบรรทุกลงไปเพื่อจะสำแดงเครื่องหมายให้เข้าใจคำที่หวังจะกล่าว จึงไม่เปนการง่ายแก่ผู้ที่จะอ่าน ถ้าจะอ่านตามตัวแทบจะไม่ได้ข้อความเท่าใด จำจะต้องเดาอ่าน แต่ถึงเดาอ่านดังนั้น ยังจะกลั้นหัวเราะไม่ได้ ไปขันเสียในถ้อยคำที่จดลงไว้บ้าง เบื่อคำครวญครางช้ำซากชวนให้พลิกข้ามไปเสียบ้าง ไม่ใคร่จะได้ข้อใจความถ้วนถี่ ถ้าจะคิดอักขรวิธีรักษาต้นฉบับ จะเปนการลำบากทั้งการเรียงพิมพ์ แลทั้งผู้ที่จะอ่าน จึงเห็นว่าจะคัดลายมือผู้เขียนหนังสือไม่เปนลงไว้ก็ไม่เปนประโยชน์อันใด นอกจากหัวเราะเล่น จึงได้อ่านแปลข้อความตามที่จะอ่านได้ ศัพท์ที่ควรจะแก้ให้ถูกได้ตามความหมายได้แก้ แต่ศัพท์ที่ผิดแท้ไม่ถูกภาษาใดคงไว้ ถ้าจะแก้ก็จะมากเกินไป หนังสือนี้ถ้าจะนำมาลงในคำอธิบายพระราชวิจารณ์ ก็จะยืดยาวมากทำให้ข้อความฟั่นเฟือนไปเสีย แต่ครั้นจะทิ้งเสียก็เห็นมีอันตรายอยู่เฉพาะหน้า คือสมุดทั้ง ๒ เล่มนั้นเก่าชำรุดลบเลือนมาก ถึงเก็บดีก็จะไม่อยู่ได้เท่าใด อิกประการหนึ่ง ถ้าจะปล่อยให้นักปราชเวลานี้อ่านแก้ไขตามชอบใจ กลัวจะเดาผิดมากนัก เพราะได้เห็นปรากฎที่เขาเดาลากเส้นรงขึ้นไว้เล่มหนึ่ง มีคำที่ผิดใจความเปนอันมาก จึงได้คิดอ่านเขียนแปลลงไว้ ติดต่อในท้ายสมุดเล่มนี้ เพื่อว่ามีผู้ใดประสงค์จะอ่านจะได้อ่านได้ ถ้าไม่อ่านก็ไม่ต้องอ่าน แต่ข้อความคงไม่สูญหายเสียทีเดียว

จะบอกแต่ใจความโดยย่อไว้ ในที่นี้ว่า

ตั้งต้นกรมพระราชวังทรงพระประชวร เวลาแรกที่ตกใจกันนั้น ประทับทรงปิดทองพระ เห็นพระฉวีวรรณเศร้าหมอง จึงพากันอยู่ประจำรักษา

อิกตอนหนึ่งทรงอธิฐาน ว่าถ้าจะหายประชวรให้เสวยพระสุธารศลงไปได้ ครั้นเมื่อเสวยพระสุธารศก็ทรงพระอาเจียน ทรงพระดำริห์เห็นว่าจะไม่รอด จึงรับสั่งว่าจะไม่เสวยพระโอสถต่อไป เพราะจะเปนเครื่องหน่วงเหนี่ยวให้พระชนม์ยืนยาวไปอิก ได้ความทุกขเวทนานาน จึงดำรัสสั่งเสียพระองค์เจ้าในกรม แลนางข้างใน

ภายหลังเสด็จออกวัดมหาธาตุ ซึ่งพระมณฑปอันเพลิงไหม้ยังทำไม่แล้ว ขณะนั้นทรงพระประชวรพระยอด มีทุกขเวทนากล้า จึงชักพระแสงดาบออกจะแทงพระองค์เสีย พระโอรสชิงไว้ทูลเล้าโลมได้พระสติรงับเสด็จกลับเข้าพระราชวัง ทอดพระเนตรพระวิมานมณเฑียรด้วยความอาไลย แล้วเสด็จออกท้องพระโรงตรัสบอกข้าราชการว่าจะเสด็จสวรรค์คต ให้อุส่าห์ทำราชการสนองพระเดชพระคุณในพระเชษฐาธิราชโดยความซื่อตรง

สมเด็จพระเชษฐาธิราช เสด็จขึ้นไปเยี่ยมพระประชวร ทูลฝากพระโอรสแลพระธิดา ขอให้ได้คงครองอยู่ในพระราชวังบวรสืบไป สมเด็จพระเชษฐาทรงรับคำเปนมั่นคงแล้ว จึงรับสั่งเรียกกรมพระราชวังหลังมาสั่ง ให้ทำนุบำรุงน้องแลหลาน

เมื่อกรมพระราชวังสวรรค์คตแล้ว สมเด็จพระเชษฐาธิราชเสด็จไปประทับเบื้องพระเศียร ทรงพระกรรแสงเศร้าโศก แล้วดำรัสปลอบเจ้านายที่เปนธิดากรมพระราชวังอันกำลังโศกเศร้าอยู่มาก จนพระองค์เจ้าเกสรเปนลมแน่นิ่งไป แล้วเชิญพระศพออกตั้งที่ ให้หมายบอกโกนศีศะทั่วทั้งพระราชอาณาเขตร

ครั้นเมื่อพระบุพโพตก พระบุพโพนั้นมีสีแดง ซึ่งผู้แต่งหนังสือเห็นว่าเปนเนื้อหน่อพุทธางกูร ได้เชิญพระบุพโพไปพระราชทานเพลิงที่วัดชนะสงคราม

ในกาลวันหนึ่ง ผู้แต่งหนังสือออกไปมีเทศน์ เคาะพระโกษฐ์เชิญให้ทรงฟังธรรม ขณะนั้นพระโกษฐ์ลั่น กำลังเทศนาค้างอยู่ มีผู้มาบอกว่าเชษฐาสองคนเปนโทษ เมื่อไถ่ถามได้ความว่าเปนโทษขบถก็ไม่มีใครปรานี แต่ถึงดังนั้นผู้แต่งหนังสือได้บ่นถึงเชษฐาสองคนนั้น ว่ามีอิทธิฤทธิ์อานุภาพเปนที่ยำเกรงแก่ประเทศราช มีเจ้ากาวิละเปนต้น ได้ทำการทัพศึกมีไชยชนะ รำพรรณไปจนลงปลายถึงว่า ฤๅพระราชบิดาจะมาพาเอาไปเสียด้วย เพราะเห็นว่าดีกว่าอยู่

แต่นั้นไปพรรณนาคร่ำครวญ แล้วก็รื้อความยกย่องพระเกียรติยศ แลพระเดชานุภาพ พระปรีชากล้าหาญของกรมพระราชวังทวนไปทวนมา

เรื่องหนึ่งนั้น กรมพระราชวังจะเสด็จขึ้นไปทรงปฏิสังขรณ์วัดที่กรุงเก่า มีผู้ทิ้งหนังสือท้าทายขู่ว่าจะทำอันตราย ความทราบถึงวังหลวง รับสั่งให้ไปทูลห้าม กรมพระราชวังไม่ฟังเสด็จขึ้นไป ก็ไม่มีเหตุอันใด เห็นจะเปนสร้างวัดสุวรรณดาราราม

ต่อนั้นไปกล่าวถึงความทุกข์ของตัวผู้แต่งหนังสือ ว่าเมื่อเกิดเคลือบแคลงกันขึ้นในระหว่างวังหลวงกับวังน่า ในหนังสือฉบับนี้พูดเปนฝ่ายข้างวังน่า ว่าวังหลวงเกณฑ์เขมรลากปืนขึ้นป้อมก่อน กรมพระราชวังจึงใช้นักองค์อี ให้ไปสืบสวนความจากเขมร ได้ความมากราบทูลว่าปืนนั้นได้ลากขึ้นเมื่อพิธีตรุส การที่ทรงขัดเคืองก็เบาบางลงแล้ว วังหลวงกำลังกริ้วเจ้าลำดวนเจ้าอินทปัต แลขัดเคืองนักองค์อีอยู่ จึงให้ชำระ พระยาพระเขมรผู้หนึ่ง ซึ่งเปนขุนนางอยู่ในองค์พระอุไทยราชา เคยนับถือนักองค์อี กลับเบิกความปรักปรำเอานักองค์อี ว่ายุยงกรมพระราชวัง จึงต้องรับพระราชอาญาจำทั้งตัวแลบ่าวไพร่ ว่าจะประหารชีวิตเสีย ภายหลังรับสั่งให้ไปสืบถามวันทาเจ้าจอมมารดาซึ่งเปนนักโทษอยู่ในเวลานั้น วันทาว่าไหน ๆ ตัวก็ตาย จะให้การตามสัจจริง ดูเหมือนจะเปนด้วยถ้อยคำวันทานั้น แลคำอธิษฐานของท่าน นักองค์อีจึงไม่ต้องประหารชีวิตร ภายหลังจึงทรงพระกรุณาให้พ้นโทษทั้งนายแลบ่าว แลพระราชทานเบี้ยหวัดด้วย

เมื่อสรรเสริญพระเกิยรติยศไปแล้วก็เลี้ยวเข้าหาเมืองเขมร เลยเล่าถึงพงษาวดารเมืองเขมร ตั้งแต่พระเจ้าประทุมสุริวงษ์ จนถึงต้องฤๅษีสาป



หัวข้อ: Re: จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 27 สิงหาคม 2562 18:07:49
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/14850401961141_spd_2012090285139_b_1_320x200_.jpg)

ต่อนั้นไปกล่าวถึงงานพระเมรุ ว่าด้วยเชิญพระบรมศพออก แลพระเบญจาจนถึงพระราชทานเพลิงลอยพระอังคารเชิญอัษฐิกลับ ผู้แต่งรู้สึกเปลี่ยวเปล่าเศร้าใจเพราะพลับพลาไม่มีงานน่าพลับพลา ประชันกับวังหลวงเช่นแต่ก่อน

ครั้นเมื่อเสร็จงานแล้ว ทรงสงไสยว่าพระอัษฐิวังน่าดำ ให้เอานางข้างในมาชำระไต่สวน ที่เห็นเปนคนสัจซื่อบริสุทธิอยู่ ก็ให้รับราชการอยู่ในวังหลวง ที่เปนที่รังเกียจก็พระราชทานไปแก่เจ้านาย

เมื่อคนไปจากวังเสียมากเช่นนั้นความเปลี่ยวเปล่าเหงาง่วงก็มากขึ้น

กล่าวถึงทูตญวนเข้ามาสดัปกรณ์พระบรมอัษฐิ แลเจ้านายผลัดกันจัดธูปเทียนขึ้นไปเฝ้าบูชา ที่พระที่นั่งพรหมเมศร์ธาดา อันเปนที่ไว้พระอัษฐิ

กล่าวถึงได้พระพุทธสิหิงค์ ซึ่งมีนิ้วพระหัดถ์ไม่บริบูรณ์มาแต่โบราณตามตำนานนั้น กรมพระราชวังมีบารมีมากจึงสามารถต่อนิ้วนั้นสำเร็จได้

กล่าวถึงเวลาที่เสด็จออกทรงผนวช ยกเทียบเหมือนพระเวสสันดร วังหลวงเหมือนพระเจ้ากรุงสญไชย กล่าวถึงเรื่องขอชีวิตรเจ้าเวียงจันท์ ซึ่งต้องหาว่าเปนขบถ ความปรากฎอยู่ในจดหมายเรื่องทรงผนวช ซึ่งได้มีอยู่ในหนังสือนี้ ผู้แต่งพ้อตัดว่ากุศลนั้นไม่ช่วย

บ่นถึงความเสื่อมยศเสื่อมเกียรติไม่มีคนยำเกรง แลบอกตำแหน่งของตัวว่า เมื่อยังเสด็จอยู่ทั้งสองพระองค์ นั่งต่างหาก แต่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอสองพระองค์ นอกนั้นเจ้านายทั้งวังหลวงวังน่านั่งเสมอกันปนกัน เสียดายว่ากรมพระราชวังไม่มีพระโอรสด้วยพระอรรคชายาจะได้สืบวงษ์ต่อไป มีแต่ลูกพระสนมจึงได้ถอยยศศักดิ แลแค้นพี่น้องกันเอง ว่าไม่มีความสามัคคีพยาบาทปองร้ายกัน เหมือนไม่ใช่ร่วมบิดาเดียวกัน

ข้อความที่กล่าวรวบรวมทั้งหมดวนไปวนมาก็เปนฝ่ายข้างแค้น แลเสียใจต่าง ๆ แต่ถ้าพูดติเตียนเหน็บแนมแหลมออกมาแล้วก็กลบกลับสรรเสริญวังหลวงแลถวายพระพรต่าง ๆ ลงข้างท้ายก็กลายเปนแช่งคน

ผู้แต่งได้พยายามทำโคลง ทำร่าย ทำกาพย์ ความอย่างเดียวกันวนไปวนมา แต่โคลงเห็นเปนเกินกำลังยิ่งกว่าอย่างอื่นหมด เมื่อรวบรวมความที่ได้อ่านหนังสือนี้แล้ว เห็นว่าผู้แต่งหนังสือ เปนผู้รักเกียรติรักยศ เชื่อฤทธิเดชานุภาพของกรมพระราชวัง ว่าดีกว่าวังหลวงทุกอย่าง เว้นไว้แต่เปนน้องจำต้องอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่า วังหลวงก็ออกจะเกรงใจ ย่อมยกย่องว่าเปนหลักแผ่นดินถึงจะมีข้อขัดเคืองอย่างไร วังหลวงก็อดเอาเบาสู้ ความรักกันในระหว่างพี่น้องเปนการบริบูรณ์มั่นคงดี ความมุ่งหมายที่จะป้องกันรักษาบ้านเมืองร่วมกันเปนอันหนึ่งอันเดียว แต่ข้าไทยทั้งสองฝ่ายต่างถือเปนพวกเปนเหล่า ข้อความทั้งปวงเปนอย่างความคิดพวกวังน่าแท้ ความคิดเช่นนี้ มีตลอดมาทุกคราววังน่าชั้นหลัง ๆ

เมื่อรวบรวมความลงก็ไม่ผิดกับชาววังน่าชั้นหลัง ๆ แลไม่ปองร้ายกันถึงจะหักล้างกันลงข้างหนึ่ง เปนแต่ประมูลอวดดีกัน นินทากัน เตะตีนกัน ซึ่งนับว่าเปนแบบอย่างอันไม่ให้ความเจริญแก่แผ่นดิน ซึ่งการสมาคมกับนา ๆ ประเทศใกล้ชิดกันเข้าเช่นประจุบันนี้ ถ้าหากว่าเปนอยู่อย่างเดิมพลาดพลั้งจะมีอันตรายแก่แผ่นดินได้เปนอันมาก

แต่น่าชมผู้ที่แต่งหนังสือนี้อย่างหนึ่งว่าหนังสือก็ไม่รู้ เรียงข้อความก็ไม่เปน แต่ได้ว่ากลอนดี ๆ ออกมาได้เปนหลายแห่ง ทั้งทำให้ผู้ฟัง มีใจรู้สึกสงสารได้มาก อยู่ในเหตุการที่ตกต้องแก่ตัวผู้แต่ง จึงควรนับว่าสำแดงกลอนแลสำแดงเนื้อความดีอยู่ จึงได้ผลทั้งแต่งหนังสือไม่เปนเช่นนั้น

ให้ผู้ที่มีความประสงค์จะอ่านดูในหนังสือติดท้าย ซึ่งหมายตัว (ฆ)

๒๐๐ ณวัน ๑๕ฯ ๑๒ ค่ำ ปีชวดฉศก พระองค์เจ้าพระชัณษา ๗ ขวบตามเสด็จลงที่นั่งบัลลังก์
๒๐๐ พระองค์เจ้าองค์นี้ มีนามว่าจันทบุรี ตามชื่อเมืองเวียงจันท์

๒๐๑ ตกหว่างเรือไม่จม ลอยพระองค์ได้ โปรดประทานพระนามหมายสมโภชเจ้าฟ้ากุณฑล ๓ วัน เฉลิมพระขวัญพร้อมพระญาติวงษ
๒๐๑ ในจดหมายเหตุ เจ้าพระยาทิพากรวงษ์ ว่าตกหลังเรือบัลลังก์ ในที่นี้ว่าตกหว่างบัลลังก์

๒๐๒ ข้าราชการสมโภชถ้วนหน้า
๒๐๒ การสมโภชแต่ก่อนมีแต่เฉพาะเจ้าฟ้า ทั้งประสูติแลโสกันต์

๒๐๓ ณปีฉลูสัพศก สามพระยามรณภาพ ประทานเพลงวัดสุวรรณทาราม
๒๐๓ ผู้ที่เปนข้าราชการผู้ใหญ่ชั้นเสนาบดี ตายในรัชกาลที่ ๑ เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) เจ้าพระยามหาเสนา (บุญนาค) เจ้าพระยาพระคลัง (หน) พระยาธรรมาธิกรณ์ (ทองดี) ๓ พระยานี้น่ากลัวจะเปนท่าน ๓ คนแรก ถ้าพระยาธรรมดาจะจดไว้ทำไม

๒๐๔ ณวัน ฯ ๑ ค่ำ ปีขานอัฐศก วังสฐานภิมุขอยู่ในราชสมบัติ ๒๕ ปีสวรรคาไลย
๒๐๔ เรื่องกรมพระราชวังหลังทิวงคต จดหมายเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ ว่าเดือนอ้ายขึ้น ๑๐ ค่ำ เหลวไป ไม่รู้ว่าเอามาแต่ไหน ในจดหมายกรมหลวงนรินทรเทวี ต้องกันกับจดหมายในปูมปีขานอัฐศก จุลศักราช ๑๑๖๘ ขาดแต่วันในปูมว่าวันพุฒเดือนอ้ายขึ้น ๗ ค่ำ เวลาบ่าย ๒ โมงเศษ ชักพระศพวันเสาร์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๐ ค่ำ พระราชทานเพลิงวันจันทร์เดือน ๖ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ได้พบร่างหมายเรื่องกรมพระราชวังหลังทรงผนวช ที่จริงก็ไม่มีข้อความในจดหมายของกรมหลวงนรินทรเทวี แต่ร่างรับสั่งที่มีอยู่นั้นเปนสมุดดำ คร่ำคร่าขาดหลุด เขียนด้วยเส้นดินสอ กลัวจะสูญเสีย จึงคัดมาลงไว้ในที่นี้ก็เปนเรื่องปลาดอยู่บ้าง ไม่มีในจดหมาย เจ้าพระยาทิพากรวงษ์ ฤๅแห่งหนึ่งแห่งใด เมื่อกรมพระราชวังหลังทรงผนวชนี้ พระชนมายุมากถึง ๕๖ แล้ว ทรงผนวชได้ ๕ ปีก็ทิวงคต จะเปนด้วยไม่ได้ทรงผนวชมาแต่ก่อน เพราะไม่มีเวลาว่าง ฤๅจะเปนด้วยทรงเกิดสังเวชขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใดก็ไม่ปรากฎ แต่การทรงผนวชนั้นอย่างเปิดเผยเต็มที่ ไม่ใช่อย่างบวชแก้สินบน เช่นกรมพระราชวังที่ ๑ ที่ ๒ ทั้งสองพระองค์ ในร่างรับสั่งมีความว่า “เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช รับ ๆ สั่งใส่เกล้า ฯ สั่งว่าณวันเดือน ๘ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีจอจัตวาศก (จุลศักราช ๑๑๖๔ เปนปีที่ ๒๑ ในรัชกาลที่ ๑) พระฤกษจะได้ทรงผนวชพระเจ้าหลานเธอ กรมพระราชวังหลัง พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวาสุกรี พระองค์เจ้าฉัตร ทรงผนวชเปนหางนาค ณวัดพระศรีสรรเพชญ์๑๐ ทรงผนวชแล้ว จะได้ฉลองถวายเครื่องไทยทานพระสงฆ์ ๕๐ รูป

บัดนี้จะได้คัดแต่ข้อใจความ ไมคัดอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่าตามลักษณหมาย

การสมโภชที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ณวันเดือน ๘ ขึ้น ๙ ค่ำมีเวียนเทียน ครั้นรุ่งขึ้น ณวันเดือน ๘ ขึ้น ๑๐ ค่ำ มีหมายให้ไปแต่งพระที่นั่งสุทไธสวริย์๒๑ แลพลับพลาเปลื้องเครื่อง ๆ นี้คงเปนที่น่าวัดพระศรีรัตนสาสดาราม มีริ้วกระบวนแห่น่าธงไชย ธงสามชายนำริ้วคู ๑ ม้านำริ้วคู่ ๑ ธงรายข้างละ ๕๐ ธงคั่นคู่ ๑ ทวนข้างละ ๕๐ ปืนข้างละ ๕๐ ธนูข้างละ ๒๕ ดาบสองมือข้างละ ๕๐ ดาบโลห์ข้างละ ๕๐ ธงฉานข้างละ ๕ ขุนนางเดินเท้า นุ่งสมปักลายเสื้อครุยขาวสรวมพอก ถือดอกบัวขาวข้างละ ๑๐๐ สายกลางปี่กลองจีนสำรับ ๑ กลองแขกสำรับ ๑ ปี่พาทย์ตี ๔ หาม ๔ หกสำรับ กลองชนะ จ่าปี่ ๑ จ่ากลอง, กลอง ๖๐ แตรงอน ๒๐ แตรวิลันดา ๘ สังข์ ๒ รวม ๓๐ เฉลี่ยงบาตร ๓ เฉลี่ยง กั้นกลด ๑ หาม ๘ ทั้ง ๓ เฉลี่ยง เฉลี่ยงผ้าไตรย์ กั้นกลด ๑ หาม ๘ ทั้ง ๓ เฉลี่ยง เครื่องสูง ๒ สำรับ ๔๐ พระแสง ๔ พระยานุมาศ ๓ ยานนุมาศต่อกัน อินพรหมสำรับละ ๔ ขุนนางเคียงสำรับละ ๔ พระกลดบังสูริยสำรับละองค์ คนหามสำรับละ ๑๐ กระบวนหลัง ขุนนางแห่เดินทางเท้าข้างละ ๕๐ ดาบโลห์ข้างละ ๒๐ ธนูข้างละ ๒๐ ปืนข้างละ ๒๕ ทวนข้างละ ๒๐ สายกลางมหาดเล็กบำเรอเชิญพระแสง ง้าว ๒ ทวน ๒๔ เครื่องสูงสำรับ ๑ ปี่พาทย์ไทยตี ๔ หาม ๔ สองสำรับ ปี่พาทย์ญวนตี ๔ หาม ๔ หนึ่งสำรับ ปี่กองสำรับหนึ่ง ๗ คน

กระบวนเดินทางไหนไม่ปรากฎในหมาย น่าจะออกทางประตูเทวาพิทักษ ฤๅประตูศักดิไชยสิทธิ ไปเข้าประตูสวัสดิโสภา มีเลี้ยงพระสงฆ์เพล


จำนวนพระสงฆ์นั่งหัถบาศ
อุปัชฌา             สมเด็จพระสังฆราช
คู่สวด พระพิมลธรรม
พระธรรมกิตติ์
สมเด็จพระพนรัต
พระธรรมไตรโลกย์ วัดหงษ์
พระธรรมอุดม๑๑วัดราชบุรณ
พระพุทธโฆษา วัดท้ายตลาด
พระโพธิวงษ์วัดจักรวรรดิ
พระธรรมเจดีย์ วัดสุวรรณธาราม
พระอริยมุนีวัดสุวรรณธาราม
พระธรรมโกษา วัดอมรินทาราม
พระพรหมมุนีวัดสระเกษ
พระญาณสมโพธิวัดกลาง
พระเทพเมาฬี วัดหงษ์
พระเทพมุนีวัดสังฆจายน์
พระรัตนมุนีวัดหงษ์
พระญาณสังวรเถร๑๒วัดราชสิทธาราม
พระวินัยรักขิต วัดราชสิทธาราม
พระญาณโพธิวัดสังฆจายน์
พระเทพกระวีวัดปากน้ำ
พระนิกรมวัดปากน้ำ
พระสุเมธใหญ่วัดชนะสงคราม
พระญาณวิริยวัดมหาธาตุ
พระบวรวิริยเถรวัดบางลำภู
พระญาณรักขิตวัดรฆัง
พระญาณสิทธิ ๑๓วัดเชตุพน
พระศรีสมโพธิ วัดแจ้ง
พระสุเมธน้อยวัดราชคฤห์
พระวรญาณมุนีวัดราชบุรณ

รวมที่สังฆรี นิมนต์ ๓๐ รูป๑๔
พระราชวังหลังนิมนต์
พระครู
พระอาจาริย์คง
พระปลัด
พระสมุห์
พระใบฎีกา
พระวินัยธร
พระธรรมบาล
มหาลา
ขรัวทน
ขรัวจู
ขรัวสาน
ขรัวอยู่
มหามี
มหาสน
วัดรฆัง๑๔ รูป
พระอาจาริย์มาก
พระปลัด
วัดอมรินทาราม๒ รูป
อธิการวัดเชิงเลน
พระอาจาริย์ชูวัดมหาธาตุ        
พระอาจารย์วัดโคกมลิ
พระอาจาริย์วัดสังฆจายน์
     รวม    

รวมพระราชวังหลังนิมนต์ ๒๐ มีผ้าสบงแลกระจาด ถวายพระตามธรรมเนียม    

กรมพระราชวังหลังจะเสด็จอยู่วัดใดไม่ได้กล่าวชัดเจน แต่ควรจะเข้าใจว่าเสด็จอยู่วัดรฆัง เพราะนิมนต์พระวัดนั้นมานั่งหัถบาศมาก ส่วนพระองค์เจ้าวาสุกรื พระองค์เจ้าฉัตรนั้น มีหมายสั่งให้จัดขุนหมื่นพันทนาย ตำรวจนอก ตำรวจสนม สนมพลเรือน ชาวที่ หมอโรง ไปอยู่ประจำ แห่งหนึ่งให้มีตำรวจนอกซ้าย ๒ ขวา ๒ ตำรวจสนมซ้าย ๒ ขวา ๒ สนมพลเรือน ๑ ชาวที่ ๑ หมอ ๒ พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าวาสุกรีอยู่วัดพระเชตุพน พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าฉัตร อยู่วัดรฆัง

๒๐๕ ณวัน ๕ฯ ๔ ค่ำ ราชาภิเศกกรมพระราชวังบวรสฐานมงคล กรมหลวงเสนานุรักษรับพระบัณฑูรน้อย
๒๐๕ อุปราชาภิเศกนี้ร่างรับสั่งมีขึ้นต้นว่า “ณวัน ๕ ฯ ๑ ค่ำ ปีขานอัฐศก เพลาเช้า ๓ โมง สมเด็จบรมธรรมิกมหาราชาธิราชบรมนารถบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จออกพระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน พร้อมด้วยมุขมาตยมนตรี กระวีชาติราชประโรหิตา โหราจาริย์ เฝ้าพระบาทบงกชมาศ จึงมีพระราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสเหนือเกล้า ฯ สั่งเจ้าพระยามหาเสนา ให้ตั้งพระราชพิธีมังคลามหาอุปราชาภิเศก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เปนกรมพระราชวังบวรสฐานมงคล ตามอย่างเจ้ากรมขุนพรพินิต พระโอรสของหลวงพระบรมโกษ เปนกรมพระราชวังบวร” จาฤกพระสุพรรณบัตรเดือนยี่ขึ้น ๖ ค่ำ ปีขานอัฐศก เจ้าพระยามหาเสนา เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช จตุสดมภ์ประชุมพร้อมกัน ที่วัดพระศรีรัตนสาสดาราม พระสุพรรณบัตรอย่างเก่า จาฤกว่า “สมเด็จบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทโปรดเกล้า ฯ ดำรัสให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เปนกรมพระราชวังบวรสฐานมงคล ทฤฆายุศะมะศิริสวัสดิ์”

ตั้งพลับพลาเปลื้องเครื่องหลังหนึ่ง เรียกว่าท้องพระโรงหนึ่ง หลังละ ๕ ห้อง ห้องเครื่องหลังหนึ่ง ๓ ห้อง ที่หลังพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ มี ราชวัตรฉัตรรายทางมาตามรอบพระระเบียงวัดพระศรีรัตนสาสดาราม จนถึงประตูสุวรรณบริบาล ซึ่งเรียกว่าวิเศษบริบาล มีพลับพลาเปลื้องเครื่องอิกแห่งหนึ่ง ราชวัตรฉัตรเบญจรงค์รายรอบพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ที่สรงตั้งชาลาพระมหาปราสาทข้างตวันออก ล้อมด้วยฉัตรเงิน ฉัตรทอง ฉัตรนาก ใช้ถาดทองแดงมีตั่ง แต่ไม่มีสหัสธารา บนพระมหาปราสาท จัดพระแท่นมณฑลอย่างพระราชพิธี โรงพิธีพราหมณ์ตั้งข้างประตูสุวรรณบริบาล ซีกข้างตวันตก ตั้งต้นกัลปพฤกษที่นอกระเบียงวัดพระศรีรัตนสาสดาราม หว่างโรงลครเหนือ ๒ ต้น ใต้ ๒ ต้น ทิ้ง ๓ วัน มีทอง ๑๘ ตำลึง เงิน ๒๔ ชั่ง พระสวดมนต์ราชาคณะ ๓๔ พระอาจาริย์ในกรุงแลบางช้างอิก ๖ เจ้าทรงผนวชคงเปนกรมสมเด็จพระปรมานุชิตองค์หนึ่ง ถานา ๑๒ จึงรวม เปน ๕๓ รูป

กระบวนเสด็จ กระบวนน่ามหาดเล็กนายเวร วังหลวง ๔ มหาดเล็ก ๔๐ คู่ รวมเปน ๘๔ คน ตำรวจ ๔๒ คู่ มหาดเล็กวังน่าแห่หลัง นายเวร ๔ มหาดเล็ก ๓๐ แตรงอน แตรฝรั่ง สังข์ ๒๖ กลองชนะ ๒๐ คู่ เครื่องสูงน่าห้าชั้นคู่ ๑ สามชั้น ๖ คู่ บังแทรก ๔ หลังเครื่องห้าชั้นคู่ ๑ สามชั้น ๕ คู่ บังแทรก ๔ มีพระแสงหว่างเครื่องแลคู่เคียง กระบวนนุ่งสมปักลายเสื้อครุย แต่งพระองค์ทรงสนับเพลาเชิงงอน พระภูษาน้ำยาเทศเขียนทองโจงหางหงษ์ รัดพระองค์หนามขนุน ฉลองพระองค์เข้มขาบลายพดกฤชจีบอย่างเทศ ทรงคาดแครงเจียรบาท นอกเจียรบาทรัดพระองค์ปั้นเหน่งประดับพลอยเพ็ชร์ ทรงเหน็บพระแสงกั้นหยั่นฝักประดับเพ็ชร์ถมยาราชาวดี ดอกไม้เพ็ชร์ประจำลาย ทรงพระสังวาลย์ประดับเพ็ชร์ สพักเฉวียงพระอังษา ทรงพระธำมรงค์เพ็ชร์ครบนิ้ว พระหัดถ์ทั้ง ๒ พระกร แล้วทรงพระมาลาเสร้าสูงสีแสด เครื่องประดับเพ็ชร์มีขนนกวายุภัก แต่มีเปลี่ยนเครื่องทรงทุกเวลา วันแรกขากลับ ทรงพระภูษาลายทองเข้มขาบ ฉลองพระองค์เข้มขาบริ้ว พระแสงกั้นหยั่นเปลี่ยนเปนดอกไม้ประดับมรกฎประจำลาย

วันที่ ๒ เวลาบ่าย ทรงลายเขียนทอง แต่ฉลองพระองค์เปนตาดเงินผุดไหม กั้นหยั่นดอกไม้เพ็ชร์ พระธำมรงค์มรกฎ พระมาลาเสร้าสูงสีกุหร่าประดับเพ็ชร์ ครั้นเพลาเสด็จกลับเปลี่ยนทรงเข้มขาบดอกผุดทอง ฉลองพระองค์เข้มขาบริ้วขาวพื้นทอง พระแสงกั้นหยั่นกุดั่นประดับเพ็ชร์

วันทรงฟังสวดที่ ๓ ทรงลายเขียนทอง ฉลองพระองค์เข้มขาบพื้นแดงริ้วทอง ทรงพระธำมรงค์ปทัมราศ พระมาลาเสร้าสูงสีดำ วันนี้มีม้าตามขึ้น ๒ ม้า ครั้นเวลาเสด็จกลับทรงพระภูษาเข้มขาบผุดทอง ฉลองพระองค์เข้มขาบพื้นเขียวริ้วทอง ทรงพระธำมรงค์เพ็ชร์ครบนิ้วพระหัดถ์ พระมาลาเสร้าสูงสีเขียวพลอยมรกฎ

ในวันที่ทรงฟังสวดทั้ง ๓ วันนั้น เมื่อประทับพลับพลาเปลื้องเครื่องแล้ว ทรงพระภูษาลายพื้นขาวโจงหางหงษ์ ทรงรัดพระองค์ปั้นเหน่งประดับเพ็ชร์ พระธำมรงค์เพ็ชร์ครบนิ้วพระหัดถ์ ฉลองพระองค์ครุยกรองทอง ทรงพระมหามงคลจนสวดจบ แล้วจึงเสด็จทางมุขหลังทรงพระเสลี่ยงไปพลับพลา เปลื้องเครื่องเหมือนกันทั้ง ๓ วัน เวลาเช้าทรงพระเสลี่ยงโดยปรกติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินออกทรงถวายสังฆทานเลี้ยงพระ แล้วกรมพระราชวังเสด็จไปประทับทิมสงฆ์ให้ทิ้งทาน แล้วจึงเสด็จกลับพลับพลา ครั้นณวัน ๑ ๑๐ฯ ๒ ค่ำ ปีขานอัฐศก เพลาเช้าทรงเครื่องเหมือนเวลาบ่ายก่อน ๆ เปลี่ยนแต่ฉลองพระองค์เปนอย่างน้อยพื้นตาดผุดไหม ประดับฉลองพระสอลงยาราชาวดีประดับพลอย รัดพระองค์ปั้นเหน่งประดับเพ็ชร์ เครื่องพระมหากระฐิน (พูดอ้อมแอ้มเหลวไหลเต็มที) ทรงพระธำมรงค์ครบ ๒ พระหัดถ์ ทรงพระมหากระฐินน้อย กระบวนแห่ใส่พอกขาว เสด็จมาถึงพลับพลาเปลื้องเครื่องแล้วว่าสรงเสียครั้งหนึ่งก่อน แล้วจึงทรงเครื่องอย่างฟังสวด ขึ้นไปบนพระมหาปราสาท เสด็จพระราชดำเนินออกเลี้ยงพระแลถวายไทยทาน มีกระจาดเทียนใหญ่ ๑๐๐ ธูปใหญ่ ๑๐๐ สบงผืน ๑

เพลาเช้า ๓ โมง ๖ บาท พระลักขณาสถิตย์ราษีมิน เสวยนวางค์ศุกรตรียางค์จันทร์ พระอาทิตย์ พระพฤหัศ พระศุกร เปน ๑๑ กับพระลักขณา พระเสาร์ พระราหู เปนมหาอุดมโยค พระจันทร์สถิตย์ณราษีเมศ เสวยพระมหัถฤกษ์ พร้อมด้วยจตุรงควัฒนา ศุภวารมหาดิถี มงคลมหาพิไชยฤกษ์ เสด็จลงมาที่สรงสนาน พระราชโกษาถวายพระภูษา ฉลองพระองค์ครุยขาวสำรดแผ่ลวด เสด็จนั่งเหนือตั่งบนถาดทองแดง บ่ายพระภักตร์บูรพทิศ หลวงพิพิธภูษาถวายเครื่องพระมุรธาภิเศก

สมเด็จพระสังฆราช
พระพนรัต
พระญาณสังวร
พระพิมลธรรม
พระธรรมอุดม
พระโพธิวงษ์
พระพุทธโฆษาจาริย์        
พระเทพกระวี
พระธรรมราชา
พระปัญญาวิสารเถร
พระวินัยรักขิต
พระราชาคณะ คามวาสี ๙ อรัญวาสี ๒
พระอาจาริย์ทอง
พระอาจาริย์ทอง
พระอาจาริย์มี
พระอาจาริย์วัดบางช้าง
            รวม๑๔

ถวายพระเต้าประทุมนิมัตร ปัญจสุทธินัทที สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ทรงพระเต้าเบญจครรภพระมหาสังข์ทักษิณาวัฎ พระมหาสังข์ทองมหาสังข์เงิน แล้วพราหมณ์ถวายน้ำ ทรงพระภูษาพื้นแดงเขียนทอง ทรงสพักกรองทองขาว เสด็จประทับพลับพลาคอยฤกษ์ ครั้นได้ฤกษ์เสด็จทรงพระเสลี่ยงน้อย เข้ามาประทับคอยในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน มีพระราชโองการให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ออกมาเชิญเสด็จเข้าไปข้างใน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าลูกเธอหลายพระองค์ เชิญดอกไม้ธูปเทียนตามเสด็จ จึงมีพระราชโองการให้พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าอโนทัยมาเชิญพระนามเข้าไป ครั้นเพลาเช้า ๔ โมง ๕ บาทได้ฤกษ์ โหร ๓ คนสั่งให้ประโคม สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว จึงมอบพระราชทานพระนาม ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เปนกรมพระราชวังบวรสฐานมงคล พระราชทานพระแสงดาบยี่ปุ่นฝักมะขามสีหว้าห่ามสำหรับกรมพระราชวังบวร จึงดำรัสฝากพระบวรพุทธสาสนา แลให้ตั้งอยู่ในสุจริตธรรมราชประเพณี แล้วพระราชทานพระพรไชยศิริสวัสดิ์ จึงมีพระราชโองการดำรัสสั่ง สมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมขุนพิทักษมนตรี ให้สั่งรับพระบัณฑูร กรมพระราชวังเสด็จลงเรือพระที่นั่งกราบยาว ๑๓ วา ประทับฉนวนประจำท่าเหนือพระตำหนักแพ มีเรือดั้งคู่ชัก ๓ คู่ กลองแขกเรือตำรวจ ข้าราชการตามเสด็จ ๒๓ ลำ ตามเสด็จข้ามไปพระราชวังบวร ขุนมหาสิทธิโวหารปลัดกรมพระอาลักษณ์ เชิญพานพระนามข้ามไปตามเสด็จ จึงทูลเกล้า ฯ ถวาย ณ พระที่นั่งเสด็จออกข้างน่า พระราชทานเงิน ให้แก่ขุนมหาสิทธิโวหาร ๕ ตำลึง

สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ดำรัสให้ตั้งโรงวิเศษ ๒ โรง เลี้ยงข้าทูลลออง ฯ ผู้ใหญ่ผู้น้อย แลเลี้ยงโต๊ะครบ ๓ วัน ทีฆายุศะมะสวัสดี

ข้อซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ดำรงพระยศเปนกรมพระราชวังบวรสฐานมงคลแล้ว ไม่เสด็จขึ้นไปประทับพระราชวังบวร มีข้อความตามที่เล่าก็ต้องกันกับที่มีปรากฎอยู่ ว่าเปนพระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้คัดมาลงไว้ในหนังสือวชิรญาณวิเศษ เล่ม ๓ น่า ๙๒ ถึงน่า ๙๔ จะได้ตัดข้อความแต่เฉพาะเรื่องนี้มาลงไว้ มีข้อความดังนี้

“ก็แลเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ทรงพระมหากรุณาโปรดตั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย เปนกรมพระราชวังบวร คุณเสือกราบทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ว่าพระบวรราชวังร้างไม่มีเจ้าของซุดโซมยับเยินไป เย่าเรือนข้างในก็ว่างเปล่ามาก ขอพระราชทานให้เชิญเสด็จกรมพระราชวังพระองค์ใหม่ ขึ้นไปทรงครอบครองพระบวรราชวัง จึงจะสมควร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า มีพระราชโองการดำรัสว่า ไปอยู่บ้านช่องของเขาทำไม เขารักแต่ลูกเต้าของเขา ๆ แช่งเขาชักไว้ เปนหนักเปนหนา แลมีรับสั่งว่าพระองค์ก็ทรงพระชรามากอยู่แล้ว กรมพระราชวังพระองค์ใหม่อย่าต้องเสด็จไปพระบวรราชวังเก่าเลย คอยเสด็จอยู่พระบรมมหาราชวังนี้ทีเดียวเถิด อย่าต้องประดักประเดิดยักแล้วย้ายเล่าเลย”

ถ้าผู้ใดอยากจะทราบความเลอียดกว่านี้ ให้ดูหนังสือวชิรญาณวิเศษ เล่ม ๓ น่าที่บอกไว้ข้างต้นนั้น


  กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส
  กรมหมื่นสุรินทรักษ
๑๐  เคยเรียกเช่นนั้นครั้งหนึ่ง เอาอย่างกรุงเก่า ภายหลังจึงเปลี่ยนเปนวัดพระศรีรัตนสาสดาราม
๑๑  พระธรรมอุดมวัดราชบุรณฉันจุ ภายหลังเปนสมเด็จพระวันรัต  
๑๒  พระญาณสังวร วัดราชสิทธ ภายหลังเปนสมเด็จพระญาณสังวร แล้วจึงเปน สังฆราช
๑๓  วัดพระเชตุพน ภายหลังเปนสมเด็จพระวันรัต
๑๔  จำนวนในหมายมี ๒๙ เท่านี้ แต่ยอด ๓๐


หัวข้อ: Re: จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 15:31:26
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/14850401961141_spd_2012090285139_b_1_320x200_.jpg)

๒๐๖ ณเดือน ๖ ปีเถาะนพศก ตั้งเขาไกรลาศ แห่โสกันต์เจ้าฟ้ากุณฑล ทรงเครื่องต้นประดับพระองค์ ทรงพระมหามงกุฎ สมมุติวงษอย่างเทวอับศร
๒๐๖ โสกันต์เจ้าฟ้ากุณฑลนี้ คลาศปีกันอยู่กับในพงษาวดารปีหนึ่ง รายการที่กล่าวไว้ในพงษาวดารเลื่อนลอยมาก ดูเหมือนแลดูตัวอย่างใหม่ ๆ กล่าวประจบให้เปนเก่า ที่จนอั้นก็อั้นทีเดียว เช่นทำเขาไกรลาศที่ไหนไม่รู้ ชี้แผนที่วังไม่ถูก ว่าไปทรงเสลี่ยงทางประตูท้ายที่ทรงบาตร ที่ชาลาพระมหาปราสาท ข้างในไปที่สระอโนดาตไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน

๒๐๗ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระไอยกา จูงพระกรเสด็จขึ้นยอดเขาไกรลาศ
๒๐๗ ในพงษาวดารไม่ได้กล่าวความว่าใครจูงทีเดียว

๒๐๘ กรมขุนอิศรานุรักษเปนพระอิศวร ทรงพระมหากฐิน ทรงประพาศเครื่องต้น เปนพระอิศวรประสาทพร
๒๐๘ ในพงษาวดารว่าถึงกรมขุนอิศรานุรักษ์แต่งพระองค์ ว่าทรงชฎาเดินหน ทรงฉลองพระองค์ครุย เห็นจะเห็นกรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ เมื่อครั้งโกนจุกลูกหญิงศรีวิไลย แต่เชื่อว่าคงจะทรงเครื่องต้นจริง ตามที่กล่าวไว้ในหนังสือนี้ เพราะมีตัวอย่างเมื่อเครื่องต้นทำแล้วเสร็จ พระราชทานให้เจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์ทรงเมื่อแห่ทรงผนวชเปนคราวแรก เพราะพระองค์ของท่านไม่ได้ทอดพระเนตรเห็น อยากทอดพระเนตร กรมขุนเสนานุรักษ์ แลกรมขุนอิศรานุรักษ์นี้ ว่างามนักทั้งสององค์ เห็นจะโปรดให้ทรงทอดพระเนตร ยังมีตัวอย่างต่อมาอิกในรัชกาลที่ ๓ โปรดให้พระองค์เจ้าลักขณานุคุณทรงเมื่อแห่ทรงผนวช รัชกาลที่ ๓ นี้, ถ้าไม่มีตัวอย่างท่านคงไม่ทรงริขึ้น

๒๐๙ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระไอยกา จูงพระกรขึ้นส่งถึงยอดเขา พระอิศวรรดน้ำสังข์ทักษิณาวัฎแล้วประสาทพระพร
๒๐๙ ในชั้นต้นที่จะสอบสวน เรื่องโสกันต์เจ้าฟ้าคุณฑลนี้ ได้ดูจดหมายเหตุเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ ซึ่งกรมหลวงดำรงชำระไว้อื่น ๆ ก็ได้ความชัดเจน แต่ข้อที่เขาไกรลาศตั้งแห่งใดไม่ปรากฎ กับมีข้อความที่จะแปลว่ากระไรไม่ได้ คือ “ณวัน ๖ ฯ ๔ ค่ำ เพลาเช้า แห่มาโสกันต์ที่พระมหาปราสาท แล้วเสด็จกลับทางประตูท้ายที่ทรงบาตรที่ชาลาพระมหาปราสาทข้างใน”

อิกข้อหนึ่งซึ่งกล่าวว่า เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ แต่งพระองค์ทรงฉลองพระองค์ครุยทรงชฎาเดินหน

ข้อความที่คัดลงในจดหมายเหตุนี้ ปรากฎว่าได้คัดในร่างหมายซึ่งยังมีอยู่โดยมาก เว้นไว้แต่ความ ๒ ข้อที่กล่าวมานี้ ผูอ่านหมายไม่เข้าไจ ฤๅปากไวเอาการใหม่ปนการเก่า ก็จะเปนได้ ในร่างหมายนี้เองมีตัวแก้ไขจากลายมือเดิมหลายแห่ง กลัวจะต้องตำรากระทรวงวัง ถ้าจะมีการอไร เอาร่างหมายเก่าออกมาตกแทรกวงกา แล้วให้เสมียนคัดขึ้นเปนหมายใหม่ จึงเลอะเทอะไปก็มี การที่จะอ่านต้องเข้าใจอ่าน ในที่นี้จะเก็บข้อความจากหมายเก่าเอาแต่สิ่งที่สำคัญควรสังเกต

หมายฉบับนี้ “เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช”๑๕ รับ ๆ สั่งใส่เกล้า ฯ กำหนดงานสวดมนต์ณวัน ๑๕ฯ ๔  แรมค่ำ ๑ ๒ ค่ำ ปีมโรงสัมฤทธิศก เพลาบ่าย ๒ โมง ๖ บาท พระสงฆ์ ๕๐ รูปเจริญพระพุทธมนต์ ณวัน ๖ ฯ ๔ แรม ค่ำ พระฤกษจรดพระกัลบิดกรรไกร ณวัน ฯ ๔ ค่ำ ๕ ค่ำ สมโภชเวียนเทียนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ๓ วัน”

เขาไกรลาศพิเคราะห์ดู ได้ความจากวางริ้ว เวลาถึงพระมหาปราสาทแลเวลากลับจากพระมหาปราสาท ว่าตั้งที่เก๋งกรงนก คือใกล้ไปข้างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย กระบวนแห่ก็ตามอัตรา คือคู่แห่เด็ก ๘๐ ๘๔ ทั้งต้นเชือกปลายเชือก แตรใน ๙ เครื่อง ๒๑ พระแสง ๕ บัณเฑาะว์ ๒ พราหมณ์โปรยเข้าตอก ๒ เคียงพระราชยาน ๑๒ อินทร์พรหม ๑๖ หามพระราชยาน ๑๐ เครื่องหลัง ๘ พระแสง ๒ รวมกระบวนใน ๑๗๕ คน กระบวนนอกคู่แห่ผู้ใหญ่ ๘๐ แตร ๔๒ กลองชนะ ๔๐ ในหมายมีแต่กระบวนข้างน่า กำหนดแตรตามระยะทางเช่นโสกันต์ชั้นหลัง ๆ การที่วางกระบวนเมื่อถึงเกย ก็อย่างชั้นหลัง ๆ แต่นางเชิญเครื่องเชิญพระแสงหลังให้เลี้ยวขึ้นอัฒจันท์ปราสาท นางสระเข้าประตูพรหม

มีกำหนดผู้ตรวจตรา ให้เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชเข้ามาจัดกระบวนในพระราชวัง ให้เจ้าพระยายมราชจัดกระบวนที่ประตูราชสำราญ เจ้าพระยามหาเสนาจัดที่ประตูวิเศษไชยศรีข้างใน เจ้าพระยาธรมาจัดที่เกยพระมหาปราสาท เมื่อกระบวนเดินพ้นมาแล้ว จึงให้เจ้าพระยาทั้ง ๓ เดินตามกระบวนมา

วันสรงที่เขาไกรลาศ ให้เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช จัดการที่มุมตวันออกเฉียงใต้ เจ้าพระยามหาเสนา ตวันออกเฉียงเหนือ เจ้าพระยาธรมา ตวันตกเฉียงใต้ เจ้าพระยายมราช ตวันตกเฉียงเหนือ พอโสกันต์เสร็จแล้ว ถวายผ้าสบงแล้ว กลับเข้าไปที่ท้ายพระมหาปราสาท ทรงตักบาตรที่ชาลาพระมหาปราสาท ตักบาตรนี้ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่พระเข้าไปรับ ตักเข้าลงในบาตรสำหรับไปเลี้ยงพระ ซึ่งกำลังสวดถวายพรพระอยู่ ครั้นทรงบาตรเสร็จแล้วเสด็จกลับออกมาทางที่เสด็จเข้าไปนั้น จึงลงมาทรงพระเสลี่ยงน้อย ไปสรงที่สระอโนตาต

มีแปลกอย่างหนึ่ง ดูเหมือนว่าไม่ได้แต่งพระองค์ในมณฑป จะลงมาแต่งที่นักแร้ข้างหนึ่ง ที่เรียกว่ามุมตวันตกข้างเหนือ แต่ข้าพเจ้าไม่เชื่อข้อนี้ เห็นจะแดดร้อนนัก แลตัวหนังสือที่เขียนลงไว้เปนตัวเล็ก ๆ ใครจะเขียนเพิ่มเติมลงไปก็ไม่ทราบ นอกจากนั้นก็ไม่มีแปลกปลาดอไรจากโสกันต์ชั้นหลัง ๆ

๒๑๐ เจ้าบุตรแก้วรับพระกรลงจากยานุมาศ ขึ้นบนเกยพระมหาปราสาท
๒๑๐ เจ้าบุตรแก้วที่สำหรับรับพระกรนี้ ได้เห็นชื่อในบาญชีเปนผู้เลี้ยงพระฉันจุรูป ๑ ในจำนวนมากด้วยกันนั้น พระที่ฉันสำรับเจ้าบุตรแก้ว เปนพระสมุห์วัดบางลำภู ฉันไก่ต้ม ๓ ตัว ไก่จาน ๑ นมโค ๑ โถ ทีจะเปนลูกสาวเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตเวียงจันท์ที่มีชื่อในพระราชสาส์นเวียงจันท์ เมื่อแผ่นดินกรุงธน รับพระกรในที่นี้ คือเวลาไปทรงฟังสวด ไม่ใช่รับที่เขาไกรลาศ

๒๑๑ ณวัน ๑๐ ฯ ๓ ค่ำ กรมหลวงจักรเจษฎาสิ้นพระชนม์ ถวายพระเพลิงวัดมงคลภิมุข
๒๑๑ วัดบพิตรภมุขในครั้งนั้น เห็นจะเรียกว่ามงคลภิมุข

๒๑๒ ณวัน ฯ ๘ ค่ำ ปีมโรงสัมฤทธิศก เจ้าฟ้ากรมพระสุนทรเทพสิ้นพระชนม์ ไว้พระศพบนปราสาท
๒๑๒ เจ้าฟ้าที่เรียกว่ากรมพระสุนทรเทพพระองค์นี้ คือที่เรียกกันว่า ทูลกระหม่อมใหญ่ ปรากฎพระนามบัดนี้ว่าสมเด็จพระเจ้าไอยิกาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ ชื่อที่ใช้พระนามว่ากรมพระ บางทีเจ้ากรมจะได้เปนพระในครั้งใดคราวหนึ่ง เปนพระราชธิดาที่ทรงพระกรุณาโปรดปรานมาก มีเรื่องราวปรากฎ ในเวลาเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพทรงพระประชวร ทรงพระวิตกมากไม่สบายพระราชหฤไทย รับสั่งปรับทุกข์ไต่ถามหาทางที่จะรักษาทั่วไป ทั้งข้าราชการแลพระสงฆ์ สมเด็จพระวันรัต แลพระพุทธโฆษา พระเทพเมาฬี จึงได้ถวายพระพร ถึงวิธีซึ่งจะบำบัดพระโรค ทรงพระกรุณาโปรดให้ทำตามวิธีซึ่งพระราชาคณะทั้ง ๓ ถวายพระพรนั้น มีร่างรับสั่งปรากฎอยู่เริ่มว่า “ณวันเดือน ๖ ค่ำจุลศักราช ๑๑๗๐ ปีมโรงสัมฤทธิศก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพฝ่ายใน ทรงพระประชวรพระโรคนั้นประทังมาจนถึงณวันเดือน ๘ แรม ๒ ค่ำ พระโรคนั้นหนักไป ครั้นณวันเดือน ๙ ขึ้นค่ำ ๑ เพลาเช้าโมงเศษ ล้นเกล้าล้นกระหม่อม เสด็จออกณพระที่นั่งบุษบกมาลา มหาจักรพรรดิพิมาน ข้าทูลลออง ฯ ผู้ใหญ่ผู้น้อย กราบถวายบังคม เฝ้าลำดับตามตำแหน่งโดยขนาด จึงมีพระราชโองการมานพระบันฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสเหนือเกล้า ฯ สั่งจหมื่นไววรนารถหัวหมื่นหมาดเล็ก ว่าสมเด็จพระพนรัตวัดพระเชตุพน ถวายพระพรให้ตั้งมหาสวัสดี พิธีจำเริญพระชัณษาเวลากลางวันกลางคืน ๓ วัน พระพุทธโกษา พระเทพเมาฬี ถวายพระพรให้ตั้งพระราชพิธีตามพุทธวัจนะ จำเริญพระชัณษา เวลากลางวันกลางคืน ๗ วัน ในพระราชพิธี ของสมเด็จพระพนรัตนั้นว่า ให้อาราธนาพระห้ามสมุท ๑ พระห้ามพระญาติ ๑ พระห้ามแก่นจันทน์ ๑ พระคันธารราฐ ๑ พระไชย ๑ ทรงเครื่องทั้ง ๕ พระองค์ มาประดิษฐานบนเตียง เตียงนั้นดาดเพดาลุผ้าขาวบริสุทธิแล้ว ตั้งหม้อน้ำ ๔ ทิศ ขันน้ำ ๔ ทิศ ลอยดอกบัวหลวงหม้อละ ๕ ดอก ขันละ ๕ ดอก ลงยันต์แผ่นดิบุกประจำทุกหม้อทุกขัน แล้วเอาใบบัวหลวงปิดปากหม้อน้ำขันน้ำ จึงเขียนรูปท้าวจตุโลกบาล ประจำทิศทั้ง ๔ แล้วทำฉัตรผ้าขาว ๓ ชั้น ปักเตียงพระพุทธรูป ๔ ทิศ จึงตั้งขันสรงใบหมี่ง ฟั่นเทียนยาวเท่าพระองค์ตาม ๔ ทิศ วันละ ๔ เล่มเทียน หนัก ๓ บาท ด้ายไส้เทียน ๓๒ เส้น ตาม ๔ ทิศวันละ ๔ เล่ม ให้ตั้งตามบนเตียง ๆ ที่จะตั้งนั้น ให้ทำโครงหุ้มผ้าขาวทั้ง ๘ เตียง แล้วให้ก่อพระเจดีย์ทราย วันละสองหมื่นแปดพันองค์ ทำธงน้อยปักให้ครบพระทรายแล้ว ให้ทำไม้ค้ำโพธิ์ ๔๐ อัน ให้แต่งเครื่องบูชาพระพุทธรูป วันละ ๕ สำรับ ท้าวจตุโลกบาลวันละ ๔ สำรับ จึงวงสายสิญจน์ให้รอบในบริมณฑลที่กระทำนั้น จึงเอาดอกมลิซ้อนวันแรก ๑๐๘ ดอก วันกลาง ๒๑๖ ดอก วันสุด ๔๓๒ ดอก ให้เลือกที่ตูมแย้มจะใกล้บานในเพลาเดียวนั้น เมื่อพระสงฆ์นั่งปรกหนึ่ง สวดทิศละ ๕ รูป ๔ ทิศ ๒๐ รวม ๒๑ รูป สวดสามภาณมหากัสสป โมคคัลลานะ จุนทคิริมานน เพลาเดียวให้จบ แล้วให้สวดตั้งแต่โมสปริต (เห็นจะโมรปริต) ไปจนจบพระปริต แล้วสวดพระสักกัตวาทิศละเจ็ดพันสวด ๔ ทิศ วันหนึ่งสองหมื่นแปดพัน สวดสามวันเปนแปดหมื่นสี่พันจบ เมื่อพระสงฆ์สวดเคารพสิ้นแสงพระอาทิตย์แล้ว ให้พระสงฆ์นั่งปรกอธิฐานเฉภาะพระพุทธรูป จึงเอาดอกมลิปรายลง ๑๖ ครั้ง เมื่อปรายดอกมลินั้น ให้บริกรรมด้วยสุคโต แล้วให้อธิฐานน้ำในขันสรงนั้นว่า ขออาราธนาพระคงคาเจ้า มีคุณ ๑๒ (ประการ) เปนมารดาแห่งสัตว์ทั้งหลาย จงรับเอาพระพุทธมนต์ แลคุณพระรัตนไตรยให้เปนน้ำทิพย์โอสถชำระสริรโรค ขอให้พระโรคบันดาที่เกิดนั้น ให้อันตะระทานหายเปนอันขาดทีเดียว

ในการพระราชพิธีของพระพุทธโฆษา พระเทพเมาฬีนั้นว่า นิมนต์พระสงฆ์ ๒๑ รูปสวดพระปริต แล้วให้ปล่อยหมู เป็ด ไก่ หอย เต่า ปลา ทั้ง ๗ วัน วันสุดนั้น ให้อาราธนาพระบรมธาตุมาตั้งบนเตียง แล้วอธิฐานขออานุภาพพระบรมธาตุเจ้า จงเปนที่พึ่ง ขอให้พระโรคที่บังเกิดนั้นอันตะระทานหาย นั้นให้ตั้งการพระราชพิธีตามสมเด็จพระพนรัต พระพุทธโฆษาจาริย์ พระเทพเมาฬีนั้นเถิด แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สั่งให้ตั้งโรงทานเลี้ยงพระสงฆ์เจ้าเณร รูปชีรวมกันกับพระราชพิธีทั้ง ๑๐ วัน”

การพระราชพิธีนี้ ได้ลงมือทำส่วนสมเด็จพระวันรัต ตั้งแต่วันเดือน ๙ ขึ้น ๒ ค่ำ เพลาบ่าย ขึ้น ๓ ค่ำ ๔ ค่ำ ๕ ค่ำ แต่เช้าไปจนรุ่ง การพิธีพระพุทธโฆษา พระเทพเมาฬี ตั้งแต่วันเดือน ๙ ขึ้น ๗ ค่ำ ถึงเดือน ๙ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ครบ ๗ วัน ๗ คืน พระสงฆ์ที่ทำพิธีฉันเช้าเพลทุกวัน โรงพระราชพิธีปลูกในพระราชวัง ที่ชาลาหว่างพระตำหนักตึก๑๖ กับหอพระติดกัน เตียงใหญ่ตั้งพระพุทธรูปในกลางโรง ๕ องค์ เตียงน้อยมีกระโจมเทียนตั้ง ๘ ทิศ ตั้งหม้อน้ำแลขันน้ำประจำ ส่วนพระทรายนั้น ๘ ตำรวจก่อ แลทำธงเล็กปัก มีเทียนบูชาด้วย วันละสองหมื่นแปดพัน ไม้ค้ำโพธิ์ปรากฎว่าเท่าพระชนม์พรรษา ท่อนหนึ่งยาว ๘ ศอกทาดินสอพอง กรอกเบี้ยผ้าขาวหุ้ม ไปค้ำพระศรีมหาโพธิทีเดียว มีเครื่องบูชากระบะมุกบูชาพระ ๕ สำรับ ส่วนเครื่องบูชาจตุโลกบาลจัดลงพานส่งให้โหรบูชา เทียนเล็กสองหมื่นห้าพัน บูชาพระทราย ส่งให้ตำรวจบูชา ให้แผ่ดิบุกส่งไปถวายสมเด็จพระวันรัตลงยันต์ สัตว์ที่ปล่อยให้กรมท่าแลกรมสรรพากรในจัดซื้อ

การพิธีนี้ทำเมื่อจวนสิ้นพระชนม์มากแล้ว วันเดือน ๙ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เปนวันเลิกแห่พระกลับ ครั้นณวันอาทิตย์เดือน ๙ แรมค่ำ ๑ เพลาเช้า ๒ โมง ๗ บาท นิพ์พาน เลยมีร่างหมายรับสั่งเชิญพระศพขึ้นปราสาทต่อไปด้วยในเล่มเดียวกัน ในหมายไม่ได้กล่าวถึงเรื่องพระโกษฐ แลสรงน้ำพระศพ จะอยู่เล่มอื่นฤๅสั่งกันเปล่าประการใด มีแต่บาญชีเครื่องที่ตั้งพระศพ สังเกตดูว่าเปนการใหญ่ มีของหลวง พานพระภูษาโยง เครื่องทองน้อยตั้งน่าพระศพสำรับหนึ่ง ขันเชิงรองแว่น ๒ แว่นกาไหล่ทอง ๒ ต้นไม้เงิน ๒ ต้นไม้ทอง ๒ ชุมสาย ๔ เครื่องสูงห้าชั้น ๑๕ มณฑปเพลิง ๔

ส่วนเครื่องในกรม เครื่องมัสการทองคำเชิงเทียนหงษ์ พระล่วม๑๗ ประดับเพ็ชร์ เครื่องใน ๑๒ สิ่ง บ้วนพระโอษฐทองคำ เครื่องสรงพระภักตร์เครื่องใน ๔ สิ่ง ขันลงยาพานทองคำรอง พานเงินรองผ้าเช็ดพระภักตร์ ถาดเงินตะทองรองน้ำสรงพระภักตร์ พานทองรองเครื่องพระสำอางสำรับหนึ่ง มีเครื่องใน ๑๒ สิ่ง หีบพระฉายทองคำหนึ่ง พระฉายหนึ่ง เครื่องทองคำขันน้ำเสวยรองพานจอกลอย บ้วนพระโอษฐถมปากแตร พานทองเครื่องชำระพระหัดถ์ พานทองคำรองพระภูษา ๒ พัชนีหักทองขวางหนึ่ง พระแซ่ด้ามทองคำหนึ่ง หม้อน้ำถมถาดรองหนึ่ง เครื่องบูชาพระศพในกรม ๓

หมายฉบับหนึ่ง ว่าด้วยสวดพระอภิธรรม ตั้งแต่วันแรมค่ำ ๑ จนถึงแรม ๕ ค่ำ สวดพระอภิธรรม ๒ เตียง พระสงฆ์ ๓๒ รูป เปนส่วนในกรม ตั้งแต่วันแรม ๖ ค่ำไป จึงเปนส่วนหลวงจนถึงกำหนดพระราชทานเพลิง

อิกฉบับหนึ่ง พระราชทานเพลิงพระบุพโพ กำหนดวันศุกรเดือน ๑๐ แรม ๑๒ ค่ำ การพระราชทานเพลิงพระบุพโพก็ตามเคย ไม่แปลกปลาดอันใด

ในพงษาวดารพยายามที่จะกล่าวถึงเรื่องพระโกษฐอย่างหลง ๆ ว่าให้รื้อทองที่หุ้มพระโกษฐ ๆ อไรก็ไม่รู้ มาเติมทองขึ้นอิก ทำเปนพระโกษฐทองคำกุดั่นแปดเหลี่ยม ยอดทรงมงกุฎขึ้นไว้องค์หนึ่ง สำหรับพระองค์ดังนี้ ความที่ถูกต้องนั้นคือ รับสั่งให้รื้อทองที่หุ้มพระโกษฐกุดั่น ทรงพระศพสมเด็จพระพี่นางทั้ง ๒ พระองค์นั้น มารวมกันทำพระโกษฐทองใหญ่ ไม่ใช่มาทำโกษฐกุดั่น ผู้เขียนพงษาวดารหมายว่ากุดั่น แปลว่าลวดลาย ลวดลายอย่างเช่นพระโกษฐทองใหญ่นั้น, ควรจะเรียกว่ากุดั่น แต่ภาษาในราชการ เขาเรียกพระโกษฐสมเด็จพระพี่นางนั้นว่ากุดั่นน้อย, กุดั่นใหญ่พระโกษฐแปดเหลี่ยมยอดทรงมงกุฎ เขาเรียกว่าพระโกษฐทองใหญ่ พระโกษฐทองใหญ่นี้ทำแล้วเสร็จในปีมโรงนั้นทั้งพระลองเงินด้วย รับสั่งให้เชิญเข้ามาตั้งถวายทอดพระเนตรในพระที่นั่งไพศาลทักษิณซึ่งเสด็จประทับอยู่ คุณเสือพระสนมเอกทูลห้ามปรามว่า ทรงอไรเช่นนั้นน่ากลัวเปนลาง เห็นพระโกษฐเข้าก็ร้องไห้ล่วงน่าเสียก่อน รับสั่งว่ากูไม่ถือ ไม่เอามาตั้งดูทำไมกูจะได้เห็น ตั้งถวายทอดพระเนตรอยู่เปนหลายวัน ครั้นทูลหม่อมใหญ่สิ้นพระชนม์ลง ทรงพระโทมนัศมาก จึงรับสั่งว่าให้เอาพระโกษฐทองใหญ่ไปประกอบถวายทอดพระเนตร ยกไว้เสียแต่พระลองเงิน ด้วยเหตุที่พระราชทานครั้งนั้นเปนตัวอย่างต่อมา เจ้านายใหญ่ ๆ ที่สำคัญจึงได้พระราชทาน ตั้งแต่กรมหลวงศรีสุนทรเทพเปนต้นติดต่อกันมา เรื่องราวที่ถูกต้องนั้นดังนี้

๒๑๓ พระโองการตรัสสั่งกรมหมื่นว่าสิ้นลูกคนนี้แล้ว พระเนตรมืดสี่ด้าน พระกรรณตึงสี่ด้าน อากรขนอนตลาดเจ้าดูชำระเถิดอย่าทูลเลย
๒๑๓ ซึ่งเรียกกรมหมื่นเปล่านั้น คือกรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ เพราะเปนพระสามีของท่าน ๆ จึงเรียกกรมหมื่นเปล่า แต่ก่อนตลาดนี้เห็นจะมีส่วนได้ขึ้นในกรมหลวงศรีสุนทรเทพ

๒๑๔ ถวายพระเพลิงที่พระเมรุทอง
๒๑๔ พระเมรุทองนี้ แปลว่าไม่ใช่เมรุผ้าขาว เมรุแผงทำกลางเมือง

๒๑๕ ณเดือน ๔ ฉลองวัดพระศรีรัตนสาสดาราม มีพระราชโองการรับสั่งให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ, พระเจ้าหลานเธอข้างน่าข้างใน ข้าราชการเจ้าพระยาแลพระยาผู้ใหญ่ผู้น้อย รับเงินทำสำรับละ.... เลี้ยงพระวัดพระศรีรัตนสาสดารามวันละ ๕๐๐ ทรงประเคนครบตติยวาร แล้วถวายไตรย์บาตรใส่น้ำผึ้งเต็มบาตร ๕๐๐ ครบเครื่องไทยทาน ต้นกัลปพฤกษ ๘ ต้น ทรงโปรยดอกไม้เงินทองเปนทานครบการฉลองทั้งปฏิสังขรณ์บุรณเสร็จ มีลครผู้หญิง ๓ วัน การมหรศพพร้อมเครื่องสมโภชเสร็จ ฉลองพระศรีรัตนสาสดาราม
๒๑๕ จดหมายของกรมหลวงนรินทรเทวี ท่านก็เขียนดีอยู่ แต่ตอนท้ายว่าฉลองพระศรีรัตนสาสดารามซ้ำอยู่นั้น ถ้ายกรามเสีย ใช้แต่พระศรีรัตนสาสดาก็จะดี

การฉลองวัดครั้งนี้ ร่างหมายมีที่จะตรวจเอาความแน่นอนได้ มีจดหมายบันทึกลงไว้ข้างเบื้องต้นว่า “ณวัน ๖๑๕ฯ ๖ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๗๑ ปีมเสงเอกศก เพลาเช้า ๒ โมงเศษ เสด็จออกขุนนางณพระทีนั่งบุษบกมาลา มหาจักรพรรดิพิมาน มีพระราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสเหนือเกล้า ฯ สั่งเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช พระยามหาอำมาตย์ ว่าทรงสร้างพระอารามวัดพระศรีรัตนสาสดาราม เปนที่พระเชตุพน๑๘ พระพุทธรูปพระแก้วมรกฎ พระเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุ พระธรรมเจ้าเสร็จบริบูรณ์แล้ว จะฉลองเพื่อจะให้เปนหิตาชณะประโยชน์ในพระพุทธสาสนา ให้ถาวรถ้วน ๕๐๐๐ พระวษา ให้จัดแจงเจ้าพนักงานการทั้งปวง ให้พร้อมจงทุกพนักงาน ข้าพระพุทธเจ้าเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช พระยามหาอำมาตย์ รับพระราชโองการใส่เกล้า ฯ จัดแจ้งเจ้าพนักงานในข้อรับสั่งฉนี้”

ต่อนี้ไปขึ้นร่างหมาย มีรอยตกแทรกวงกา จะได้คัดตัดที่วงกาออกเสีย เอาแต่ที่เนื้อความคงไว้ เริ่มต้นหมายว่า

“ณวัน ๖๑๕ ฯ ๖ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๗๑ ด้วยพระยามหาอำมาตย์ รับ ๆ สั่งใส่เกล้า ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สั่งว่า ทรงพระราชศรัทธาทรงสร้างพระอาราม วัดพระศรีรัตนสาสดาราม พระสงฆ์จะได้ตั้งสวดพระพุทธมนต์ณวันเดือน ๖ แรม ๗ ค่ำ ๘ ค่ำ ๙ ค่ำ ปีมเสงเอกศก เพลาบ่ายพระสงฆ์วันละสองพันรูป ทั้ง ๓ วัน จะได้แบ่งพระสงฆ์รับพระราชทานฉัน วัน ๗ ฯ ๖ เพลาเช้า ในจำนวนสองพัน ๖๖๗ รูป เพลาเพลพระสงฆ์ทำดอกไม้ ๑๐๐ รูป รวม ๗๖๗ รูป” วันแรม ๙ ค่ำ จำนวนเท่ากัน แรม ๑๐ ค่ำ ลดรายสองพันลงไปรูปหนึ่ง ถวายกระจาดเช้าเพล ๓ วัน เสร็จแล้ว แลในวันแรม ๘ ค่ำ ๙ ค่ำ ๑๐ ค่ำ มีพระธรรมเทศนาในพระอุโบสถบอกอานิสงษ์วันละกัณฑ์ ครั้นเวลาบ่าย ณวันเดือน ๖ แรม ๑๐ ค่ำ จะได้ตั้งบายศรี แก้ว ทอง เงิน ตอง ในพระอุโบสถเปนบายศรีดอกไม้เวียนพระเทียนวันหนึ่ง ณวันแรม ๑๑ ค่ำ ๑๒ ค่ำ ตั้งบายศรีบูชาไว้ หาได้เวียนพระเท่ยนไม่ มีหนังมีดอกไม้เพลิง ณวัน ๖ ฯ ๖ ค่ำ ไปเปนคำรบ ๗ คืน จะได้มีการเครื่องเล่นสมโภช เพลากลางวันพร้อมกัน ณวัน ๑๑๑ ฯ ๖ ค่ำ เพลาเช้าไปจนถึงณวัน ฯ ๗ ค่ำ เปนคำรบ ๗ วัน แต่โรงฉ้อทานนั้นให้เลี้ยงพระสงฆ์ เถร เณร ชี พราหมณ์ ข้าทูลลออง ฯ อาณาประชาราษฎรชายหญิง แต่ณวัน ๗ ฯ ๖ ค่ำ เพลาเช้าไปทุกวัน จนถึงณวันเดือน ๗ ขึ้น ๒ ค่ำเพลาเย็น จึงเลิกโรงฉ้อทาน แลสำรับปฏิบัติพระสงฆ์ในจำนวนสองพันเปนสำรับกระทงข้างน่าพันหนึ่ง ข้างในพันหนึ่ง สำรับพระสงฆ์ทำดอกไม้ฉันในพระอุโบสถ สำรับข้างในวันละ ๓๐ ที่พระรเบียง นายโรงฉ้อทาน ยกมาถวายวันละ ๗๐ รูป รวม ๓ วัน ๓๐๐ รูป จึงเกณฑ์แผ่พระราชทุศลพระราชทานให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าต่างกรม พระองค์เจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหลานเธอ มีกรมหากรมมิได้ ข้าทูลลออง ฯ ผู้ใหญ่ผู้น้อย ฝ่ายทหารพลเรือน ทำสำรับคาวหวาน แลโรงฉ้อทาน

ในพระอุโบสถ ๓๐ รูป ข้างในปฏิบัติ คาว ๓๐ หวาน ๓๐ สำรับ

หอพระมณเฑียรธรรม ๕๐ กรมพระราชวัง๑๙ปฏิบัติ คาว ๕๐ กระทง หวาน ๕๐ กระทง

พระระเบียงด้านตวันตก แต่ประตูใต้ถึงประตูกลาง พระสงฆ์ ๔๕ รูป ข้างใน แต่ประตูกลางถึงประตูเหนือพระสงฆ์ ๕๐ รูป ข้างใน รวมพระสงฆ์ ๙๕ รูป แต่ประตูเหนือถึงมุม
          กรมหมื่นนราเทเวศ
          กรมหมื่นนเรศโยธี
          กรมหมื่นเสนีบริรักษ๒๐
          กรมหมื่นเสนีเทพ๒๑
          กรมหมื่นนเรนทรพิทักษ์
                    องค์ละ ๑๐ รูป
          พระยาอุไทยธรรม๒๒
                    ๒ รูป
          พระไชยสุรินทร๒๓
                    ๓ รูป รวมพระสงฆ์ ๑๕๐ รูป

พระรเบียงด้านเหนือ แต่มุมตวันตกถึงมุมตวันออก
          ที่ ๑ กรมหลวงเสนานุรักษ๒๔
          ที่ ๒ กรมหลวงพิทักษมนตรี
                    องค์ละ ๒๐ รูป
          ที่ ๓ กรมขุนกระษัตรานุชิต
          ที่ ๔ กรมขุนอิศรานุรักษ์
                    องค์ละ ๑๕ รูป
          ที่ ๕ กรมหมื่นเทพพลภักดิ์
          ที่ ๖ กรมหมื่นศักดิพลเสพย์
                    องค์ละ ๑๐ รูป
          ที่ ๗ พระองค์เจ้าคันธรศ๒๕
          ที่ ๘ พระองค์เจ้าทับทิม๒๖
          ที่ ๙ พระองค์เจ้าทับ๒๗
          ที่ ๑๐ พระองค์เจ้าสุริยา๒๘
          ที่ ๑๑ พระองค์เจ้าดารากร๒๙
          ที่ ๑๒ พระองค์เจ้ามั่ง๓๐
                    องค์ละ ๔ รูป
          ที่ ๑๓ พระมหาอำมาตย์          
          เจ้าพระยาอภัยภูเบศร๓๑
                    คนละ ๒ รูป
          พระยาจ่าแสนบดี
          พระยาราชนิกุล
          หลวงพิศลูเทพ
                    คนละรูปรวม ๗ รูป
          ที่ ๑๔ พระราชสงคราม ๒ รูป
          หลวงวิสูตรโยธามาตย์
          หลวงราชโยธาเทพ
          หมื่นนรินทรเสนี
                    คนละรูปรวม ๕ รูป
          ที่ ๑๕ พระยาสีหราชเดโช
          พระยาท้ายน้ำ
          พระยาพิไชยโนฤทธิ
          พระยาพิไชยสงคราม
          พระยาราชสุภาวดี
                    คนละ ๒ รูป
          หลวงศรสำแดง รูป ๑
                    รวมพระสงฆ์ ๑๑ รูป
          ที่ ๑๖ พระพิเดชสงคราม
          พระรามพิไชย
          คนละรูป รวม ๒ รูป
          ที่ ๑๗ พระยายมราช๓๒
                    ๓ รูป
          พระยาราชมนตรี
          พระยาศรีสุริยวงษ์
                    คนละ ๒ รูป
          จมื่นไววรนารถ
          จมื่นเสมอใจราช
          จมื่นสรรเพธภักดี
          จมื่นศรีสรรักษ
                    คนละรูป รวมพระสงฆ์ ๑๑ รูป
          ที่ ๑๘ พระยาสุรเสนา ๒ รูป

แต่มุมเหนือถึงประตู
          หม่อมขุนเณร๓๓
          พระยามหาโยธา๓๔
          พระยามหาเทพ
          พระอินเทพ
          พระพิเรนเทพ
          หลวงราชรินทร์
          หลวงอินทร์เดชะ
          หลวงพรหมบริรักษ์
          หลวงสุริยภักดี
                    คนละ ๒ รูป
          หมื่นราชามาตย์
          หมื่นไชยภรณ์
          หมื่นไชยภูษา
          หมื่นทิพรักษา
          หมื่นราชาบาล
          หมื่นสมุหพิมาน
          หมื่นประทานมณเฑียร
          หมื่นราชามาตย์นอกราชการ
          หลวงหฤไทย
          หลวงอภัยสุรินทร์
          เลี้ยงพระสงฆ์คนละรูป
          พระยาศรีเสาวพาห ๒ รูป
          หลวงปราบพลแสน
          หลวงสุนทรสินธพ
          หลวงศรีอัศวเดช
          หลวงอภัยเสนา
          หลวงสุเรนทรวิชิต
          หลวงคชสิทธิเปนพระยาวังเมือง
          หลวงพิชวกรรม์
          พระครูประโรหิต
          พระเกษม
          พระไกรสี
          หลวงราชเสนา
          พระประชาชีพ
          หลวงพิพิธสาลี
          หลวงเสนานน
          หลวงพลอาไศรย
                    คนละ ๒ รูป รวมพระสงฆ์ ๔๕ รูป

แต่ประตูเหนือไปประตูกลาง
          พระยาราชประสิทธิ์
          พระยาอภัยสรเพลิง
          พระยาราไชย
          พระยาพิพัฒโกษา
          พระยาธิเบศโกษา
          พระรองเมือง
          พระยาศรีพิพัฒน์
          พระอภัยรณฤทธิ์
          พระยาสมบัติบาล
                    คนละ ๒ รูป
          หลวงสุนทรสมบัติ
          หลวงเทพโยธา
          พระสุรสงคราม
          พระยาราชทูต
          พระรัตนโกษา
          พระราชอากร
          พระพิไชยสวรรค์
          หลวงสุนทรโกษา
          หลวงรักษาสมบัติ
          หลวงสวัสดิโกษา
          หลวงอินทรสมบัติ
          หลวงมงคลรัตน
          นายบุญมีราชนิกุล
                    คนละรูป รวมพระสงฆ์ ๓๑ รูป

ข้างในปฏิบัติพระรเบียงด้านตวันออก แต่เหนือประตูกลางถึงมุมใต้ ๑๐๙ รูป ทิศใต้แต่มุมตวันออกถึงเสมากลาง ๑๐๐ รวมพระสงฆ์ ๒๐๙ รูป

ให้ผู้ต้องเกณฑ์ทำสำรับปฏิบัติคาวหวาน ไปดูอย่างกระจาดคาวหวานรองกระทง ณทิมดาบชาววัง แล้วให้เย็บกระทงน้อย ใส่ของคาว

ของคาว
          ไส้กรอก   ๑
          ไข่เป็ด ๕ ใบ   ๑
          ไก่แพนง   ๑
          หมูผัดกุ้ง   ๑
          มะเขือชุบไข่   ๑
          ไข่เจียว   ๑
          ลูกชิ้น   ๑
          กุ้งต้ม   ๑
          หน่อไม้   ๑
          น้ำพริก   ๑
          ปลาแห้งผัด   ๑
          แตงโม   ๑
          เข้าสาร ๒ ทนานหุงใส่ก้นกระทงใหญ่   ๑

ของหวาน
          ของหวาน ขนมฝอย   ๑
          เข้าเหนียวแก้ว   ๑
          ขนมผิง   ๑
          ขนมไส้ไก่   ๑
          กล้วยฉาบ   ๑
          น่าเตียง   ๑
          หรุ่ม   ๑
          สังขยา   ๑
          ฝอยทอง   ๑
          ขนมตไล   ๑
          รวม   ๑๐ สิ่ง



๑๕  บุญรอด ทวดเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช
๑๖พระตำหนักตึกในที่นี้ ไม่ใช่ที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ซึ่งเปนที่ตำหนักสมเด็จกรมพระศรีสุลาไลย ที่เรียกตำหนักตึกมาแต่รัชกาลที่ ๓ จนถึงเวลาทำพระที่นั่งจักรกรี จนสมเด็จกรมพระสุดารัตนราชประยูร เสด็จอยู่ตำหนักนั้นต่อมา ก็เรียกกันว่าเสด็จตำหนักตึก เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสดับรับสั่งว่าหลงไป ว่าเปนตำหนักตึกที่เคยเสด็จอยู่ ตำหนักตึกที่รับสั่งถึงนี้ คือตำหนักในหมายรับสั่งฉบับนี้ อยู่ที่ตำหนักสมเด็จพระสุดารัตนประทับในรัชกาลประจุบันนี้ ตำหนักตึกกลายเปนแปลว่าตำหนักเจ้านายที่เปนใหญ่ในพระราชวัง  
๑๗  พระล่วมองค์นี้ว่าเปนหัวแหวนเครื่องประดับต่าง ๆ ของเจ้าจอมมารดาวันทา ในกรมพระราชวังที่ ๑ ซึ่งเปนชู้กับนายทองอิน กระลาโหม เปนโทษจะต้องประหารชีวิตร สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ ทูลขอพระราชทานชีวิตไว้ ทรงพระกรุณาโปรดยกโทษประหารชีวิตร จึงนำหัวแหวนทั้งปวงนี้มาถวายทรงทำพระล่วมองค์นี้ขึ้น ยังอยู่ในตู้หอพระธาตุมณเฑียรในพระบรมมหาราชวัง จนบัดนี้
๑๘  พระเชตุพนคำนี้เวลานั้นเห็นจะหมายความว่า เปนที่อยู่ของพระพุทธเจ้า เช่นพระราชมณเฑียรพระราชวัง เพราะฉนั้นข้อความซึ่งกรมหลวงนรินทรเทวีทรงไว้ในเรื่องวัดพระเชตุพน ว่าชื่อวัดนารายน์ชุมพลมาจนทุกวันนี้ เห็นจะไม่ผิด ถ้าจะเอามาใช้เทียบอย่างเรื่องวัดพระแก้วนี้ ว่าได้ทรงสร้างพระอารามวัดนารายน์ชุมพล เปนพระเชตุพน ถวายพระพุทธรูปก็เห็นจะพอไปได้  
๑๙  กรมพระราชวังองค์นี้ คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย
๒๐  กรมหมื่น ๓ องค์แรก ในกรมพระราชวังหลัง
๒๑  กรมหมื่นเสนีเทพ ในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท
๒๒  พระยาอุไทยธรรม์ชื่อกลาง เปนชาวบางช้าง
๒๓  เปนน้องกรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ แลเจ้าพระยาพลเทพ ปิ่น
๒๔  เวลานั้นรับพระบัณฑูรน้อย
๒๕  ภายหลังเปนกรมหมื่นศรีสุเรนทร
๒๖  ภายหลังเปนกรมหมื่นอินทรพิพิธ
๒๗  ภายหลังเปนกรมหมื่นจิตรภักดี
๒๘  ภายหลังเปนกรมหมื่นพระรามอิศเรศ
๒๙  ภายหลังเปนกรมหมื่นศรีสุเทพ
๓๐  ภายหลังเปนกรมสมเด็จพระเดชาดิศร
๓๑  เจ้าพระอภัยภูเบศร แบน
๓๒  พระยายมราชคนนี้ชื่อ บุญมา บุตรพระยาจ่าแสนยากรกรุงเก่า เปนพี่เจ้าพระยามหาเสนาบุญนาค
๓๓  ที่ในพงษาวดารเรียกว่าเจ้าขุนเณร เปนกองโจรมีฝีมือเข้มแขงเมื่อครั้งทัพลาดหญ้า
๓๔  คือพระยาเจ่ง


หัวข้อ: Re: จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 16:01:13
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/14850401961141_spd_2012090285139_b_1_320x200_.jpg)

แล้วให้เอากระโถนขันน้ำไปตั้งทั้งเพลาเช้าเพลาบ่าย เภสัชอังคาดถวายทั้ง ๒ เพลา แต่งน้ำชุบาลถวายเพลาบ่ายด้วย ให้ครบพระสงฆ์ซึ่งได้ปฏิบัติทั้ง ๓ วัน ให้ไปรับเงินที่กรมวัง มาทำสำรับถวายรูปละ ๑ บาท แล้วให้เอาชามไปรับเอาแกงร้อน เข้าอย่างเทศ น้ำยาขนมจีนต่อท่านข้างใน ไปถวายพระสงฆ์ซึ่งได้ปฏิบัติ เปนชามรูป ๑ วันละ ๓ ใบ แล้วให้เอาน้ำชาไปถวายพระสงฆ์ซึ่งได้ปฏิบัติด้วย

แกงร้อนเจ้าคุณข้างใน๓๕ ทำเกณฑ์ยกไปปฏิบัติ หลวงราชมณู หลวงภิเดช ขุนหมื่นในกรม รับเลขพันพุฒ ๑๐๐ คน

เข้าอย่างเทศ เจ้าของหุงเข้า
          พระยาจุฬา๓๖
          หลวงศรีเนาวรัตน
          หลวงศรียศ
          หลวงนนทเกษ
          ขุนราชเศรษฐี
          ขุนศรีวรข่าน
          ขุนสนิทวาที
          หมื่นสนิทวาที
          หมื่นเสน่ห์วาที
          หมื่นศรีทรงภาษา
          หมื่นสำเร็จวาที
          หมื่นพินิตภาษา
          ขุนเมาะตมิข่าน
          ขุนวิวานิข่าน
          ขุนไหวัตข่าน

วังน่าสมทบ
          ขุนกัลยา
          ขุนสุนทร
          ขุนอนุชิต
          รวม ๑๘ คน

ท้าวทองกีบม้าเปนผู้แต่ง ใส่ชามใส่พานรอง ผู้ยกไปปฏิบัติ
          หลวงอรรคเนศร
          หลวงศรสำแดง
          ขุนหมื่นในแสงปืน รับเลขต่อพันพุฒ ๑๐๐ คน

น้ำยาเจ้าคุณข้างในทำ เจ้าตลาดเบิกเข้าทำขนมจีนวันละเกวียน กระจาดซึ่งใส่ขนมจีน พันพุฒ พันเทพราช เกณฑ์

ของนอกจากรายเกณฑ์ ๓ สิ่งนี้ ดูเปนไม่ได้เลี้ยงทั่วไปทุกอย่าง แกงร้อนแลเข้าอย่างเทศ เลี้ยงในรายสองพันแต่สามร้อยสามสิบ คือส่วนข้างในกับพระทำดอกไม้ร้อยหนึ่ง รวมเปนสี่ร้อยสามสิบรูป แต่น้ำยานั้นเลี้ยงในรายสองพันหกร้อยหกสิบเจ็ดเต็มจำนวน เห็นจะเปนใครทำสู้ไม่ได้ น่าที่ยกน้ำยาเข้าอย่างเทศ ที่ได้คนจ่ายกองละร้อย ที่สำหรับพระข้างใน ถ้าเปนส่วนข้าราชการข้างน่า ให้ผู้ปฏิบัติเอาชามไปรับมาถวายพระสงฆ์

กองเลี้ยงน้ำชา เจ้าของ
          พระยาอภัยพิพิธ
          หลวงท่องสื่อ
          หลวงแก้วอายัต
          หลวงเสนี
          หลวงสุนทร
          ขุนท่องสื่อ
          ขุนท่องสมุท
          ขุนเทพภักดี

ผู้ยกไปปฏิบัติ มหาดเล็กจ่าหุ้มแพรเปนนายกอง มหาดเล็กเลวยก เลี้ยงรายสองพันแต่สามร้อยสามสิบสี่ ทำดอกไม้ร้อยรูปเท่านั้น

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพวดี กรมฝ่ายใน ทำกระจาดถวายพระสงฆ์ในสองพัน ทำดอกไม้วันละร้อย พระสัสดีปลูกโรงกระจาดขื่อกว้าง ๑๐ ศอก ยาว ๙ ห้อง ยกพื้นมีพาไลรอบโรง ๑ เกณฑ์หลวงราชฤทธานน หลวงนันทเสน ขุนหมื่นรับเลขต่อพันพุฒ พันเทพราช ๑๐๐ คน ยกกระจาดไปถวายพระที่มาฉันทุกวัน

น้ำชุบาลถวายพระสงฆ์เพลาบ่าย นอกจากข้าราชการปฏิบัติ มีนายวิเสทฉ้อทานต้นจัดโถพานรองพร้อม หัวป่าพ่อครัวต้นด้วย

เกณฑ์ พระยาจันทราทิตย์๓๗
          พระอินทราทิตย์
          หลวงราชฤทธานน
          หลวงนนทเสน
          หลวงทิพรักษา
          หลวงมหามณเฑียร
          ขุนกำแพงบุรี
          ขุนศรีวังราช
          ขุนวิจารณ์
          ใช้เลขจำนวนยกสำรับ

เกณฑ์เปนสารวัด พระรเบียงด้านตวันออก แต่มุมเหนือ ถึงมุมใต้
          หลวงวิสูตรอัศดร
          หมื่นชำนิภูบาล
          หมื่นชำนาญภูเบศร

ตวันตกแต่ประตูใต้ถึงมุมเหนือ
          จมื่นราชนาคา
          จมื่นราชสมบัติ

เหนือแต่มุมตวันตกถึงมุมตวันออก
          หลวงศรีเสาวราช
          หลวงศรีโยวภาศ
          หลวงวาสุเทพ

ใต้มุมตวันออกถึงเสมากลาง
          หลวงราชพิมาน
          พันเงิน
          พันทอง

สารวัตรเหล่านี้สำหรับตรวจ ใครขาดให้เอาความบอกผู้รับสั่ง ทีจะไม่ไว้ใจกันด้วยเรื่องน้ำฤๅอย่างไร จึงเผดียงพระสงฆ์ให้เอากาน้ำมาด้วยทุกองค์

โรงฉ้อทานสัสดี ปลูกตามเจ้าของให้อย่าง
          โรงน่าวัดมหาธาตุ
          เจ้าครอกใหญ่วังหลัง๓๘

โรงท่าพระ
          กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์

โรงรองงาน เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช
โรงสีตพานช้าง๓๙
          เจ้าพระยามหาเสนา๔๐๔๐

โรงตพานตรงวังน่า๔๑
          เจ้าพระยาธรรมา๔๒

โรงหอกลอง พระยาโกษาธิบดี๔๓

จำนวนคนยกสำรับ ๙๘๘ คน

โรงทำน้ำยาเจ้าคุณข้างใน ปลูกที่ริมกำแพงออกประตูสวัสดิโสภา ขื่อ ๑๐ ศอก ยาว ๗ ห้อง มีพาไลยกพื้นน่าหลังกั้นฝาตีรั้วล้อมรอบ

กั้นฝาศาลาออกประตูสวัสดิโสภา เปนโรงแกงร้อน ๒ ศาลา กั้นฝาศาลาออกประตูเทวาพิทักษ์ เปนโรงหุงเข้าอย่างเทศ โรงต้มน้ำชาทั้ง ๒ ศาลา ตีรั้วรอบทั้ง ๔ ศาลา

เครื่องนมัสการ ในพระอุโบสถตั้งทองใหญ่ พระมณฑปตั้งทองน้อย แลได้ความว่าสุหร่ายสำหรับสรงพระ มีใช้แล้วในเวลานั้น จะเปนสุหร่ายอื่นนอกจากที่ต้องอัดเข้าไปด้วยสูบ คู่ที่ใช้อยู่ทุกวันนี้เปนไม่ได้ เพราะเหตุที่มีข้อความดังนี้

“ให้ส่งน้ำดอกไม้เทศให้ช่างสุหร่ายอัดสุหร่าย เตรียมทูลเกล้า ฯ ถวายสำหรับทรงสรงน้ำพระพุทธรูป”

ในหมายนี้ ไม่ได้ว่าถึงการมหรศพ สั่งรวมเปนการตามเคย พึ่งจะฉลองวัดพระเชตุพนแล้วใหม่ ๆ มีข้อความที่สั่งเฉภาะแต่พิณพาทย์ ๔ วง อยู่ ๔ มุมพระรเบียง แลให้แต่งโรงลครข้างใน แลโรงลครผู้ชาย ลครข้างในคงจะเล่นโรงหลังวัด ซึ่งเปนโรงช่อฟ้าใบระกา ประจำอยู่ข้างประตูเข้าวัดพระแก้ว เพราะเหตุฉนั้นจึงมีในหมายแต่ให้ปลูกโรงที่ลครแต่งตัว ทิ้งทานปรากฎว่าวันละ ๖ ต้นเท่านั้น

มีเลี้ยงเจ้าเมืองลาว เมืองพุทไธมาศเมืองบัตบอง แขกเมืองญวน หัวเมืองทั้งปวง เลี้ยงที่ศาลาศาลหลวง แลศาลาสารบาญชี ในเวลานั้น พระอุไทยราชาเจ้ากรุงกัมพูชา มีชื่ออยู่ในพวกแขกเมืองด้วย ไพร่เลี้ยงที่ประตูเทวาพิทักษ์ เจ้าคุณข้างในทำเปนสำรับโต๊ะเงิน คาว ๒๐ หวาน ๒๐ โต๊ะทองขาวเท้าปรุคาว ๑๐ หวาน ๑๐ ขันน้ำนั้นใช้ขันทองพานถมรอง ๓ สำรับ ขันถมพานเงินรอง ๕ สำรับ ขันทองขาวพานรอง ๑๐ สำรับ

ขุนทินตั้งพานหมากเครื่องทองคำ ๔ สำรับ เครื่องนาก ๔ สำรับ เครื่องเงิน ๔ สำรับ นักสวดเลวพานกลึงไปแจก

๒๑๖ พระโองการรับสั่งให้สร้างวัดขึ้นกลางพระนคร ให้สูงเท่าวัดพนันเชิง ให้พระพิเรนทรเทพขึ้นไปรับพระใหญ่ณเมืองโศกโขไทย ชลอเลื่อนลงมากรุงประทับท่าสมโภช ๗ วัน
๒๑๖ วัดสุทัศน์นี้ กำหนดว่าเปนกึ่งกลางพระนคร จึงตั้งเทวสฐานมีเสาชิงช้าลง ณ ที่นั้น ตามประเพณีพระนครโบราณ ข้อซึ่งว่าพระราชประสงค์จะทำให้สูงเท่าวัดพนันเชิงนั้น ก็ชอบกล เพราะถมพื้นสูงขึ้นไปมาก ในพระนครซึ่งเปนที่ลุ่ม

เรื่องสร้างวัดสุทัศน์นี้ ค้นหมายได้ในกระทรวงวัง ตั้งแต่ขุดรากไปจนก่อฤกษ์ แลการสมโภชพระพุทธรูปใหญ่ ซึ่งเชิญลงมาแต่เมืองศุโขทัย ได้ความว่า พระราชดำริห์เดิมได้พระราชทานนามวัดว่า “มหาสุทธาวาศ” ภายหลังจึงได้เปลี่ยนเปนสุทัศน์ ใจความที่ได้จากในหมายนั้นดังนี้

ฉบับหนึ่ง ด้วยพระยาอภัยรณฤทธิรับ ๆ สั่งใส่เกล้า ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสั่งว่า พระฤกษ์จะได้ขุดรากพระอุโบสถ วัดทำใหม่ ณเสาชิงช้า พระราชาคณะ ๒๐ รูป จะได้สวดพระพุทธมนต์ ณวัน ๑ ฯ ๓ ค่ำ ปีเถาะนพศก (จุลศักราช ๑๑๖๙) เพลาบ่าย ครั้นสวดพระพุทธมนต์จบแล้ว พระสงฆ์ราชาคณะ ๕ รูป จะได้ประน้ำพระพุทธมนต์ คนผู้กระทำการเครื่องหัดถกรรมแลที่ขุดทั้งปวง แล้วโหรจะได้บูชาเทวดา ๘ ทิศแลพระภูมิ์เจ้าที่กรุงพาลี ตามประเพณีไสยสาตรนั้น ครั้นรุ่งขึ้น ณวัน ๒ ฯ ๓ ค่ำ เพลาย่ำฆ้องรุ่ง จะได้ตั้งบายศรีซ้ายขวา บูชาพระฤกษ์ ครั้นเถิงเพลาเช้าโมง ๓ บาท ได้พระมหาพิไชยฤกษ์ ให้ลงมือขุดรากพระอุโบสถให้พร้อมกัน ครั้นพระสงฆ์ถวายไชยมงคลแล้ว จะได้รับพระราชทานฉัน ให้นายด้านกองวัดปลูกโรงมีพาไลประดับด้วยราชวัตรฉัตรกระดาดผูกต้นกล้วยต้นอ้อย สำหรับพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์โรงหนึ่ง ให้ตำรวจเอาเตียงมีเสาโครงเพดาลุไปตั้ง สำหรับรองพระพุทธรูปเตียงหนึ่ง เตียงรองเครื่องนมัสการเตียงหนึ่ง สังฆการีเชิญพระพุทธรูปห้ามสมุท ไปตั้งเปนประธานองค์หนึ่ง บาตรน้ำ ๕ มีเทียนติดปากบาตร ต่อนั้นไปก็สั่งตามเคย แปลกแต่ให้ตั้งราวรับสายสิญจน์รอบจังหวัดที่จะขุดแลให้เกณฑ์คนส่งให้นายด้านที่จะขุดราก ๑๒๐๐ คน อย่าให้ขาดได้ตามรับสั่ง อาหารเวลานั้นช่างถูกจริง ๆ เข้าสารจ่ายต่างหาก ส่วนราคากับเข้า สำรับคาวสำรับละสลึงเฟื้อง หวานสำรับละสลึง ให้มีขนมจีนน้ำยาด้วย

อิกฉบับหนึ่ง ด้วยพระยามหาอำมาตย์รับ ๆ สั่งใส่เกล้า ฯ สั่งว่า หลวงโลกทีปโหรมีชื่อ กำหนดพระฤกษ์จะได้ก่อรากพระอุโบสถวัดมหาสุทธาวาศ ทูลเกล้า ฯ ถวาย ณวัน ๔๑๐ ฯ ๖ ค่ำ ปีมโรงสัมฤทธิศก (จุลศักราช ๑๑๗๐) เพลาบ่าย ๒ โมง ๖ บาท พระราชาคณะ ๕๐ รูปจะได้สวดพระพุทธมนต์ ครั้นรุ่งขึ้น ณวัน ๕๑๑ ฯ ๖ ค่ำ เพลารุ่งแล้ว ๒ โมง ๖ บาท พระฤกษ์จะได้ก่อรากพระอุโบสถ แล้วพระสงฆ์จะได้รับพระราชทานฉัน ให้นายด้านปลูกโรงสำหรับพระสงฆ์สวดโรงหนึ่ง มีราชวัตรฉัตรธงประดับต้นกล้วยต้นอ้อย ศาลเทวดา ๔ ศาล ให้ปักไม้พาดราวรับด้ายสายสิญจน์ให้รอบพระอุโบสถ แล้วให้เอาธงจีนไปปักปลายเสาแบบให้ครบทุกเสา ให้แปดตำรวจปลูกพลับพลาข้างน่าข้างใน ฉนวนที่สรงที่ลงพระบังคลให้พร้อม ตั้งเตียงพระพุทธรูป เชิญพระห้ามสมุทไปตั้งเปนประธานองค์หนึ่ง มีหม้อน้ำพระพุทธมนต์ ๕ ทราย ๕ ให้สนมรับเครื่องนมัสการทองน้อยต่อท่านข้างในไปตั้ง ให้สัสดีเกณฑ์ราชวัตรฉัตรเบญจรงค์ปัก ๘ ทิศ เครื่องทองน้อยในที่นี้เห็นจะเปนเครื่องทองทิศ เวลานั้นจะเรียกว่าทองน้อย เพราะมีข้อบังคับว่าให้มีธูปเทียนพุ่มเข้าตอกดอกไม้สำหรับเครื่องให้พร้อม นอกนั้นก็เรื่องเลี้ยงพระตามเคย

อิกฉบับหนึ่ง ด้วยเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชรับ ๆ สั่ง ใส่เกล้า ฯ ด้วยทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สั่งว่า ทรงพระราชศรัทธาให้อาราธนาพระพุทธรูป ซึ่งอยู่ณเมืองศุโขทัยลงมากรุงเทพ ฯ แล้วทอดทุ่นอยู่กลางน้ำน่าพระตำหนักแพ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้มีการมหรศพสมโภช เพลากลางวันกลางคืน ครั้นเถิงณวัน ๓ฯ ๕ ค่ำ (ไม่มีปีไม่มีศักราช เห็นจะเปนปีมโรงสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๗๐) เพลาเช้าพระสงฆ์ ๒๐ รูป รับพระราชทานฉันที่เรือบัลลังก์ แล้วเถิงเพลาบ่าย ๒ โมง จะได้ตั้งบายศรีทอง, เงิน, ตอง, ที่เรือน่าพระพุทธรูป สมโภชเวียนพระเทียนนั้นให้ข้าทูลลออง ฯ ผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายทหารพลเรือนมารับแว่นเวียนพระเทียนให้พร้อมจงทุกหมู่ทุกกรม อย่าให้ขาดได้ตามรับสั่ง

สั่งบายศรีแปลกอยู่ บายศรีเงินสำรับ ๑ ทองสำรับ ๑ ตอง ๒ สำรับ รวม ๔ สำรับ ให้มีพุ่มเข้าขันเชิงพานรองนำวัก แว่น (สำหรับ) เวียนเทียน เทียนติด เทียนยอดบายศรี แป้งหอม น้ำมันหอม

อนึ่งพระพุทธรูปนั้น ไม่ใช่องค์เดียวเห็นจะ ๓ องค์ จึงสั่งเครื่องนมัสการให้สนมพลเรือนรับเครื่องทองน้อย สำหรับบูชาพระพุทธรูปองค์ใหญ่สำรับ ๑ เครื่องกระบะมุก สำหรับบูชาพระพุทธรูปองค์น้อย ๒ สำรับ

หมายฉบับที่ ๓ นี้ ควรจะอยู่ที่ ๒ แต่เหตุไฉนเขาจึงจดไว้เปนที่ ๓ ก็ไม่ทราบ ครั้นจะคัดขึ้นไปไว้ที่ ๒ เกรงจะผิด เหตุด้วยหมายฉบับหลังไม่มีปีแลศักราช จึงได้ลงเรียงไว้ตามลำดับเดิม แต่ไม่เห็นมีท่าทางที่จะผิด ด้วยการที่หล่อแก้ช่อมแปลงได้ทำที่วัดสุทัศน์ มีเดือนปีปรากฎว่าเปนเดือนยี่ปีมโรงสัมฤทธิศก สมโภชพระเดือน ๕ จะเปนเดือน ๕ ปีมเสงเอกศกไม่ได้ เพราะพระยังไม่ได้ไปถึงที่ดังนี้

๒๑๗ ณวัน ๑๕ ฯ ๖ ค่ำ ยกทรงเลื่อนชักตามทางสถลมารค พระโองการตรัสให้แต่งเครื่องนมัสการพระ ทุกน่าวัง, น่าบ้าน, ร้านตลาดจนถึงที่
๒๑๗ การชักเลื่อนพระตามทางบกนั้น แพพระพุทธรูปได้มาเทียบที่ท่าช้าง แต่ที่ท่าช้างประตูเมืองไม่ตรงถนน ถึงว่าจะตรงถนนพระก็ใหญ่กว่าประตูเข้าไม่ได้ จึงต้องรื้อกำแพง เมื่อแห่พระมาถึงแล้วจึงก่อกำแพงขึ้นใหม่ ด้วยเหตุนั้นในราชการจึงเรียกเปนท่าพระมาจนทุกวันนี้

๒๑๘ ประชวรอยู่แล้ว แต่ทรงพระอุสาหเพิ่มพระบารมี หวังที่หน่วงโพธิญาณจะโปรดสัตว์ทำนุบำรุงพระสาสนา เสด็จพระราชดำเนินตามกระบวนแห่พระ หาทรงฉลองพระบาทไม่จนถึงพลับพลาเสด็จขึ้นเซพลาด
๒๑๘ เสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาทตามกระบวนนี้ ดูเปนลักษณอย่างเดียวกันกับแบกตัวลำยอง เห็นจะเสด็จพระราชดำเนินได้จริง เพราะการชักพระเช่นนี้คงเดินไปช้า ๆ แลไปติดไปขัดต้องหยุดเอะอะกันบ่อย ๆ เปนเวลาได้ทรงพัก แต่คงจะทรงเหนื่อยมาก เพราะทรงพระประชวรอยู่แล้วจึงได้เซ

๒๑๙ เจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรารับพระองค์ไว้
๒๑๙ กรมขุนกระษัตราองค์นี้ คือเจ้าฟ้าเหม็น เดิมเปนเจ้าฟ้าสุพันธุวงษ์ แล้วเปลี่ยนเปนเจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์ ได้รับกรม เปนกรมขุนกระษัตรานุชิต

๒๒๐ พระศรีสากยมุนี มีลายจาฤกไว้ (ใน) แผ่นศิลา ตั้งศักราชว่าไปข้างน่า ลุงจะให้สัตย์ต่อหลาน ผู้น้อยจะเปนผู้ใหญ่ ๆ จะได้เปนผู้น้อย จาฤกไว้แต่แรกสร้าง ยัง (มี) อยู่
๒๒๐ คำจาฤกแผ่นศิลา ที่พระศรีสากยมุนี ซึ่งผู้แต่งนำมาลงไว้ในที่นี้ เห็นจะเปนด้วยเห็นจริงในใจว่า กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์เปนอาว์ ถวายสัตย์ต่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเปนหลาน

๒๒๑ แล้วยกพระขึ้นที่เสด็จกลับ ออกพระโอษฐ์เปนที่สุดเพียงได้ยกพระขึ้นถึงที่สิ้นธุระเท่านั้นแล้ว
๒๒๑ ข้อซึ่งกรมหลวงนรินทรเทวีกล่าวถึงยกพระขึ้นที่ในข้อนี้ เมื่อตรวจสอบสวนหลายแห่งเข้า ได้ความว่าท่านไม่ได้หวังจะกล่าวว่าพอแห่พระไปถึงแล้วก็เชิญขึ้นตั้งที่ทีเดียว เปนอันได้ความว่า การเชิญพระขึ้นตั้งที่นั้น คงจะเปนในปีมเสงเอกศกต้นปีจวนสวรรค์คตอยู่แล้ว ถ้าจะลำดับการวัดสุทัศน์แลแห่พระศรีสากยมุนีทั้งน้ำทั้งบกเห็นจะเปนดังนี้

เดือน ๓ ปีเถาะนพศกจุลศักราช ๑๑๖๙ ขุดราก

เดือน ๕ ปีมโรงสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๗๐ พระศรีสากยมุนีลงมาถึงสมโภช

เดือน ๖ แห่ทางบกขึ้นไปวัดสุทัศน์ ในเดือน ๖ นั้นเองก่อฤกษ์ แต่ได้ความต่อไปว่าได้ทรงปฏิสังขรณ์แก้ไขพระศรีสากยมุนี เททองใหม่ที่วัดสุทัศน์นั้นเอง แรกที่จะรู้เรื่องนี้ ได้เห็นคำอาราธนาเทวดาสำหรับราชบัณฑิตย์อ่าน ซึ่งได้มาแต่หอสมุด มีเนื้อความขึ้นนโมสามจบ อิติปิโสแล้วจึงอาราธนาออกชื่อว่า ข้าพระพุทธเจ้า พระยาธรรมปรีชา หลวงธรรมสุนทร หลวงเมธาธิบดี ขุนศรีวรโวหาร ราชบัณฑิตยาจาริย์ทั้งปวง พร้อมกันกระทำอัชเชสนะกิจ อาราธนาสัตยาธิฐาน เฉภาะพระภักตรพระศรีรัตนไตรย์เจ้า ด้วยสมเด็จบรมขัติยาธิบดินทร์ ปิ่นประชามหาสมมติเทวราช พระบาทบพิตรพระเจ้าอยู่หัว ต่อนั้นไปก็สรรเสริญพระบารมีแลพระราชศรัทธา บำรุงพระสาสนาแผ่พระราชกุศล แล้วจึงดำเนินความต่อไปว่า บัดนี้ทรงพระราชศรัทธากระทำการปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปองค์ใหญ่ ที่ตรำแดดตรำฝนต้องเพลิงป่าหาผู้จะพิทักษ์รักษามิได้ อยู่ที่เมืองศุโขทัยนั้น ทรงพระราชกรุณาใท้อาราธนา ลงมาไว้เปนที่เจดียฐาน บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เปนที่ไหว้ที่สักการบูชา ลักขณะอันใดมิได้ต้องด้วยพระพุทธลักขณา ผิดจากพระบาฬีแลอัตถคาถานั้น ทรงพระกรุณาให้ปฏิสังขรณ์ขึ้น ให้ต้องด้วยพระอัตถคาถาพระบาฬี ตั้งพระไทยจะให้พระราชพิธีปฏิสังขรณ์นี้สำเร็จโดยศิริสวัสดิ์ ปราศจากพิบัติบกพร่อง การที่จะใส่ไฟสำรอกขี้ผึ้งเททองนั้น จะให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ต้องด้วยพระราชประสงค์ จงทุกประการ จึงมีพระราชบริหารดำรัสสั่งให้อาราธนาพระเถรานุเถร ราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อย ฝ่ายคามวาสี แลอรัญวาสี มีสมเด็จพระสังฆราชาธิบดีเปนประธาน ให้มาประชุมกันเจริญพระปริต ขอพระรัตนไตรย์ให้ช่วยอภิบาลบำรุงรักษาข้าพระพุทธเจ้าราชบัณฑิตย์มาอาราธนา อัญเชิญเทพยเจ้าทุกสฐานสัคเคกาเมจรูเป ฯลฯ ลงท้ายเปนคำสัตยาธิฐาน ยังกิญจิรตนังโลเก ฯลฯ แล้วก็จบ

เมื่อได้เห็นเช่นนี้ ถึงว่าจะเชื่อว่าเปนประกาศรัชกาลที่ ๑ ก็ยังไม่สู้แน่ ภายหลังได้พบหมายเปนข้อความต้องกัน จึงเอามาเปนแน่ได้ ในหมายฉบับนี้ ว่าพระชำนิรจนารับ ๆ สั่งใส่เกล้า ฯ ทรงพระกรุณาโปรดกล้า ฯ สั่งว่า ซึ่งสั่งไปแต่ก่อน ว่าจะได้หล่อพระพุทธรูปพระองค์ใหญ่ณวัดเสาชิงช้า ณวัน ฯ ๒ ค่ำ ปีมโรงสัมฤทธิศก เพลาบ่าย ๓ โมงนั้น บัดนี้โหรมีชื่อคำณวนพระฤกษ์ทูลเกล้า ฯ ถวายเลื่อนเข้ามา พระสงฆ์ ๓๐ รูปจะได้เจริญพระพุทธมนต์ เพลาบ่ายวันขึ้น ๒ ค่ำ ๓ ค่ำ ๔ ค่ำ ครั้นณวัน ๔ ฯ ๒ ค่ำ เพลาเช้า ๒ โมงบาท ๑ พระฤกษ์จะได้เททอง พระสงฆ์ที่สวดมนต์จะได้รับพระราชทานฉันนั้น ให้นายด้านวัดปถูกโรงทึมสงฆ์ ให้พอพระสงฆ์ แลสั่งอื่น ๆ ต่อไปตามตำราหมาย

มีข้อความยันกัน ว่าอันหนึ่งให้ราชบัณฑิตย์แต่งคำอาราธนาเทวดา แล้วให้นุ่งผ้าขาวสรวมเสื้อครุย ไปอาราธนาเทวดา ณวันเดือน ๒ ขึ้น ๒ ค่ำ ๓ ค่ำ ๔ ค่ำ เพลาบ่าย ๕ ค่ำ เพลาเช้าทั้ง ๔ วัน มีบูชาจุฬาฐทิศทั้ง ๔ วัน

มีเกณฑ์ดอกไม้แขวน แต่เรียกชอบกลว่า แล้วให้เย็บพรหมโหดร้อยพู่กลิ่น ส่งให้สนมพลเรือนออกไปแขวนบูชาวันละ ๑๐๐ พวงทั้ง ๔ วัน แลมีกำหนดอิกว่า อนึ่งให้ล้อมวังเหลาไม้กลัดเข้าไปส่ง ณ ทิมดาบชาววัง จะได้ส่งให้ท่านข้างในเย็บพรหมโหด ๕๐ กำ ๆ ละ ๓๐ อัน ให้ส่งทั้ง ๓ วัน

เมื่อมีการที่ต้องหล่อแก้ไขอยู่เช่นนี้ ก็ต้องกินเวลาไปอิกช้านาน เปนเวลาที่ได้ก่อพื้นพระอุโบสถแลฐานพระขึ้นไปถึงที่ทันกันกับการตกแต่ง คงจะไปแล้วเสร็จได้ยกพระพุทธรูปขึ้นที่ ในปีมเสงเอกศกใกล้เวลาเสด็จสวรรค์คตได้เสด็จพระราชดำเนิน ไปในเวลาเชิญพระขึ้นตั้งที่อันเปนเวลาทรงพระประชวรมากอยู่แล้ว จึงรับสั่งว่า “เพียงได้ยกพระขึ้นถึงที่สิ้นธุระเท่านั้นแล้ว” เหตุด้วยทรงเปนห่วง กลัวจะสวรรค์คตเสียก่อนที่ได้เชิญพระขึ้นที่ การแต่งพระศรีสากยมุนีแลการก่อฐานพระ คงจะได้ทรงเร่งรัดอยู่มาก ครั้นเมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นเชิญพระขึ้นที่ทันสมพระราชประสงค์ ทรงพระโสมนัศ จึงทรงเปล่งอุทานว่า “สิ้นธุระแล้ว”

กรมหลวงนรินทรเทวี นำมากล่าวในที่นี้ ด้วยความยินดีต่อพระราชศรัทธา พระราชอุสาหะ ทั้งหวังจะสรรเสริญพระสติสัมปชัญญ ซึ่งทรงกำหนดทราบกาลของพระองค์ ถ้าหากว่าไม่ทรงประกอบด้วยพระสติสัมปชัญญแลมิได้ผูกพันพระราชหฤไทย ในการที่จะได้ทอดพระเนตรเห็นพระศรีสากยมุนีขึ้นตั้งที่ ไม่ทรงเร่งรัดให้การนั้นสำเร็จไปพร้อมกัน ช้าไปอิกไม่เท่าใด ก็จะไม่ได้ทอดพระเนตรเห็น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ได้ทรงสร้างปราสาทราชมณเฑียรพระราชวังพระนคร แลพระอารามใหญ่อย่างวัดพระเชตุพนเปนต้น มิได้ทรงทอดทิ้งให้การนั้นติดค้างอยู่เลย ย่อมทำให้แล้วสำเร็จ ทันทอดพระเนตรทุกสิ่งทุกอย่าง เว้นไว้แต่วัดสุทัศน์เทพวราราม ซึ่งได้ลงมือในปลายแผ่นดินเสียแล้ว จึงไม่ทรงหวังพระราชหฤไทย ว่าจะได้ทอดพระเนตรการพระอารามนั้น แล้วสำเร็จ ทรงกำหนดพระราชหฤไทยไว้แต่เพียงให้ได้เห็นพระศรีสากยมุนีขึ้นตั้งที่ ก็เปนอันพอพระราชประสงค์ ความที่ทรงมุ่งหมายนั้นได้สำเร็จดังพระราชประสงค์ คำซึ่งรับสั่งว่าสิ้นธุระนั้น กรมหลวงนรินทรเทวี จึงถือว่าเปนคำปลงพระชนมายุ

๒๒๒ ณเดือน ๗ เดือน ๘ ทรงประชวรหนักลง ณเดือน ๙ ข้างขึ้นทรงพระองค์ไม่ได้ ประทมแจกเบี้ยหวัด
๒๒๒ กล่าวกันว่าพระพุทธยอดฟ้าประชวรทรงพระโสภะอยู่ถึง ๓ ปี ไม่ได้เสด็จออก ในที่นี้ปรากฎว่าท่านเสด็จอยู่บ้างไม่ใช่ประชวรไม่เสด็จไปข้างไหน ประชวรหนักทรงพระองค์ไม่ได้แล้ว ยังเสด็จออกบรรธมแจกเบี้ยหวัด

๒๒๓ มีลครฉลองทานที่ท้องพระโรง
๒๒๓ ลครฉลองทานนี้ เห็นจะมีเปนงานประจำปี เมื่อแจกเบี้ยหวัดเสร็จแล้วก็มีงานฉลองทาน

๒๒๔ ณวัน ๕๑๓ฯ ๙ ค่ำ ลุศักราช ๑๑๗๑ ปีมเสงเอกศก เพลายาม ๔ บาท พระพุทธเจ้าหลวงสมเด็จพระไอยกา เสด็จสวรรค์คต อยู่ในราชสมบัติ ๒๘ ปี
๒๒๔ เวลาในพงษาวดารว่า ๓ ยาม ๘ บาท



๓๕  เจ้าจอมมารดาแว่น เรียกกันว่าคุณเสือ แต่ยกย่องเปนใหญ่จึงเรียกเจ้าคุณข้างใน
๓๖  ชื่อแก้วเปนทวดพระยาจุฬาเดี๋ยวนี้
๓๗  ชื่อแก้วเปนทวดพระยาจุฬาเดี๋ยวนี้
๓๘  เจ้าครองทองอยู่เปนชายากรมพระราชวังหลัง 
๓๙  โรงสีตพานช้างนี้ คืออยู่หลังยุทธนาธิการ
๔๐  เจ้าพระยามหาเสนาคนนี้ ชื่อบุญนากบุตรพระยาจ่าแสนยากรครั้งกรุงเก่า สามีเจ้าคุณนวล เปนข้าหลวงเดิมต้นตระกูลฟากข้างโน้น
๔๑  ตพานกรงนี้ที่เดี๋ยวนี้เรียกว่าตพานเซี่ยว เรียกติดมาแต่ตพานเก่าอันมีรูปเซี่ยวเหมือนขนมเปียกปูน แต่ในรัชกาลที่ ๑ เรียกตพานกรง เพราะมีฝาลูกกรงกันทั้ง ๒ ข้าง
๔๒  เจ้าพระยาธรรมคนนี้ชื่อสด เดิมเปนพระยามณเฑียรบาล ข้าหลวงเดิมกรมพระราชวังพระองค์ที่ ๑
๔๓  พระยาโกษาคนนี้ คือเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์กุน เดิมเปนพระราชประสิทธิ์ครั้งกรุงธนบุรี เปนพระยาศรีพิพัฒน์ แล้วจึงเปนพระยาพระคลัง



หัวข้อ: Re: จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 15:04:30
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/14850401961141_spd_2012090285139_b_1_320x200_.jpg)

๒๒๕ บุนนากพลเทพข้าหลวงเดิม ปลายแผ่นดินต้นเข้ากับขุนแก้ว น้องพระยาสรรค์ มาตีกรุงธนบุรี สมเด็จพระไอยกาได้ปราบดาเปนปฐม ครั้นเสด็จสวรรค์คต สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจะได้ราชสมบัติ กลับเข้ากับพระหน่อแผ่นดินต้นเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรา
๒๒๕ ข้อที่จดท้ายบุญนาคพลเทพว่า เปนข้าหลวงเดิมปลายแผ่นดินต้น คำนี้ออกจะเปนเยาะ ๆ ว่าพึ่งมาพึ่งพระบารมีเมื่อปลายแผ่นดินตาก แด่ครั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจะได้ราชสมบัติ กลับวกไปเข้าข้างพระหน่อแผ่นดินต้น คือเจ้าฟ้าเหม็น

๒๒๖ อินทรเดชะ, สท้านมณเฑียร, รอดทรงราม, พระตเบิดจางวางกองมอญ, เพชรปาณี, พลเทพ, ลุงหลานเปนกำลังกรมขุนกระษัตราจะเกิดศึกกลางเมือง ยังหาได้ถวายพระเพลิงไม่
๒๒๖ รอดทรงรามในที่นี้ เห็นจะเปนรอดสงครามรามัญ ออกชื่อไว้ในนี้ ๖ คน แต่ซ้ำเปนพลเทพเสียคนหนึ่ง พลเทพนั้น คือพลเทพบุญนาคนั้นเอง คนที่ไม่ได้ออกชื่อเห็นจะเปนหลานของพลเทพอยู่ในนั้นด้วย

๒๒๗ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ปราบดาลำดับวงษเปน ๒ ครั้ง
๒๒๗ คำที่ใช้ว่าได้ปราบดาลำดับวงษ์เปน ๒ ครั้ง คำว่า ๒ ครั้งเช่นนี้เปนภาษาเก่า ตรงกับคำที่จะใช้เดี๋ยวนี้ว่าครั้งที่ ๒

พระฤกษราชาภิเศก วันอาทิตย์เดือน ๑๐ ขึ้น ๙ ค่ำ เพลาเช้า ๓ โมง ๖ บาท

๒๒๘ ณวัน ๒ ฯ ๑๐ ค่ำ เจ้าพระยาอไภยภูธรจับเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตราที่ทวารสองชั้น
๒๒๘ จับที่ประตูสองชั้นนี้เปนการกึกกักกันมาก ว่าปล่อยให้เสลี่ยงเข้ามาในประตูสองชั้น แล้วปิดประตูทั้งสองข้าง เมื่อเวลาจับนั้น เจ้าฟ้าเหม็นเอามือตบขา พูดติดอ่างว่าจะจับข้าไปข้างไหน

๒๒๙ ณวัน ๔ ฯ ๑๐ ค่ำ สำเร็จโทษ ตัดไม้ไม่ไว้หน่อ ฆ่าพ่อไม่เลี้ยงลูก สำเร็จโทษเสียด้วยกัน ณวัดประทุมคงคา (คนอื่น) ทั้งนั้นประหารชีวิตรที่สำเหร่
๒๒๙ เรื่องตัดไม้ไม่ไว้หนามหน่อ ที่ท่านผู้เขียนท่านมาย้ำลงไว้ในที่นี้ นึกถึงการเก่าเมื่อเวลาเปลี่ยนแผ่นดินครั้งแรก วังน่าทูลขอจะให้เอาลูกเจ้ากรุงธนไปล่มน้ำเสีย ตามคำสุภาสิตเขาว่า ตัดหวายอย่าไว้หนามหน่อ ฆ่าพ่ออย่าไว้ลูก แต่วังหลวงทรงเห็นเปนการดุร้ายเหลือเกินนักไม่ยอมให้ทำ วังน่าจึงทำนายไว้ว่า แล้วจะได้ยากแก่ลูกหลาน ครั้นเมื่อเกิดเหตุครั้งนี้พากันเห็นว่า คำที่วังน่ารับสั่งนั้นถูก

๒๓๐ พระโองการให้ตั้งการพระเมรุ มีศึกพม่าแทรกกลาง มาล้อมประชิดเมืองถลาง
๒๓๐ คือเมรุพระบรมศพค้างปี เพราะเหตุที่พม่ามาตีเมืองกลาง ซึ่งรอดอยู่ครั้งก่อน ตั้งใจจะปล้นทรัพย์สมบัติอย่างเดียว ที่อื่นปล้นได้หมดแล้ว ยังแต่ถลางเปนที่มั่งมี จึงมุ่งมาปล้นถลางด้วยเห็นแก่ทรัพย์ ไม่ใช่เกี่ยวข้องแก่การบ้านเมือง

๒๓๑ สมเด็จพระบิตุฉา กรมพระราชวังบวรสฐานมงคลเสด็จไปปราบพม่าที่ล้อมถลางไว้
๒๓๑ สมเด็จพระบิตุฉานี้ คือกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เสด็จไปไม่ทัน การเสด็จครั้งนี้ เปนเวลาที่นายนรินทรธิเบศร์ อินทร์ แต่งโคลงนิราศที่มีชื่อเสียงมาก

๒๓๒ เดชะพระบารมีที่ได้ยกพระไตรย์ปิฎกขึ้นไว้ให้พระพุทธสาสนาเรียบเรียง พม่าได้ยินเสียงคลื่นกระทบฝั่งดัง ดั่งกำลังเสียงปืนใหญ่ พม่าหนีเลิกทัพกลับไป มีไชยชนะด้วยพระบารมี กลับคืนเข้าพระนคร
๒๓๒ เรื่องพม่าตื่นเสียงคลื่นนี้ จริง เพราะมันเปนหัวคโมย อย่างขี้ขลาด มุ่งมาเอาเงินเท่านั้น

๒๓๓ ณวัน ๗ ฯ ๖ ค่ำ ลุศักราช ๑๑๗๓ ปีมแมตรีนิศก เพลาอุดมฤกษ์เชิญพระบรมโกษฐทรงพระพิไชยราชรถ ชักแห่เข้าพระเมรุทอง พระเบญจาทองคำเปนรูปภาพประดับ ๙ ชั้น ทรงพระบรมโกษฐ ๗ วัน ถวายพระเพลิง สมโภชพระอัฐิ ๓ วัน เอกาทศวารการเสร็จ เชิญเสด็จพระบรมโกษฐทรงยานุมาศแห่กลับเข้าพระราชวัง ทรงประดิษฐานไว้ณหอพระอัฐิ
๒๓๓ พระเบญจา พระพุทธยอดฟ้านี้ ยังอยู่ที่ตำหนักกรมสมเด็จพระปรมานุชิต วัดพระเชตุพน

๒๓๔ ณวัน ๑๑ฯ ๔ ค่ำ ปีวอกจัตวาศก สมเด็จพระบิตุฉา กรมพระราชวังบวรสฐานมงคล เสด็จขึ้นไปรับเจ้าพระยาเสวตรกุญชร
๒๓๔ พระยาเสวตรกุญชรได้จากเมืองเขมร เมื่อขณะกำลังรบกันอยู่ในเมืองเขมร ช้างยังเล็กมากจะให้เดินมาไม่ได้ ต้องทำเลื่อนให้ช้างยืนแล้วลากมา กรมพระราชวังเสด็จขึ้นไปรับ

ปูมปีวอกจัตวาศก จดไว้ว่าได้ช้างเผือกเข้ามาแต่เมืองโพธิสัตว วันพฤหัศบดี เดือน ๔ ขึ้น ๑๐ ค่ำ

๒๓๕ พร้อม (กับ) กำหนด
๒๓๕ คำที่ว่าพร้อมนี้ คือปีเดียวกันกับปีลงสรง

๒๓๖ พิธีลงสรงทูลกระหม่อมฟ้ามงกุฎไกรภพ
๒๓๖ ในที่นี้เรียกว่าทูลกระหม่อมฟ้ามงกุฎไตรภพ ดูเข้าเรื่องกับที่ได้ยินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า เมื่อขนานพระนามมีเจ้านายผู้ใหญ่ทูลว่าถ้าเช่นนั้น จะมิเหมือนพระบุตรที่ชื่อมงกุฎไตรภพฤๅ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า รับสั่งว่าก็จะเปนไรไป พระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามรามาธิบดีทำไมจึงใช้ได้ ทีท่านจะได้ยินเช่นนั้น จึงได้ยึดมั่นว่าพระนามมงกุฎไตรภพ

การพระราชพิธีลงสรงมีตำราเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชเรียงถวาย กำหนดพระฤกษ์วันศุกรวันเสาร์วันอาทิตย์ เดือน ๔ ขึ้น ๔ ค่ำ ๕ ค่ำ ๖ ค่ำ ตั้งพระราชพิธี แล้วเชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพระองค์ใหญ่ทรงเครื่องณพระที่นั่งน่าพระไชย ประดับพระองค์อาภรณ์ขาวตามอย่างพระราชกุมาร มาขึ้นเกยณพระที่นั่งราชมณเฑียรฝ่ายตวันออกตรงสวนขวา แห่ออกประตูราชสำราญมาประทับเกยณพระมหาปราสาท ล้นเกล้า ฯ เสด็จพระราชดำเนินมาที่เกยคอยรับพระกรสมเด็จพระเจ้าลูกเธอจากพระราชยาน เจ้าจอมข้างในซึ่งรับพระกร รับต่อพระหัดถ์ลงมาชำระพระบาทในถาดเงินปากจำหลัก มีผ้าลาด พนักงานถวายน้ำล้างพระบาทด้วยพระเต้าเงินถมยาดำ แล้วเสด็จขึ้นบนพระมหาปราสาท ทรงนั่งอยู่ในพระฉาก ล้นเกล้า ฯ ก็เสด็จพระราชดำเนินตามขึ้นไปต่อภายหลัง ทรงจุดเทียน ทรงศีล ทรงฟังสวดจบแล้ว ล้นเกล้า ฯ เสด็จลงมาณเกยก่อน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอตามเสด็จลงมา ล้นเกล้า ฯ ทรงจูงพระกรส่งลงพระราชยาน แห่กลับเข้าในพระราชวังเหมือนกันทั้ง ๓ วัน ครั้นรุ่งขึ้นวันเดือน ๔ ขึ้น ๗ ค่ำ เพลาเช้าโมงกับ ๓ บาท พระฤกษจะได้เชิญเสด็จขึ้นทรงพระราชยาน ตั้งกระบวนแห่ลงไปประทับเกยที่ฉนวนตำหนักแพ ล้นเกล้า ฯ เสด็จพระราชดำเนินมาคอยที่เกยรับพระกรลงจากพระราชยาน เจ้าจอมข้างในรับต่อพระหัดถ์ลงมาชำระพระบาทแล้ว เจ้าจอมข้างในเชิญเสด็จลงไปพระตำหนักแพเปลื้องเครื่องทรง แล้วทรงพระภูษา (ฉลองพระองค์)  ถอด โหรกับชาววังคอยบอกบาทพระฤกษ์ ครั้นจวนพระฤกษ์ ล้นเกล้า ฯ ทรงจูงพระกรสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเสด็จไปถึงแพพระสนาน เจ้าต่างกรม เข้าต่อพระหัดถ์เชิญเสด็จตามเสด็จล้นเกล้า ฯ เข้าไปในพระมณทป ล้นเกล้า ฯ เสด็จพักอยู่ที่พระเก้าอี้คอยพระฤกษ์ ชีพ่อพราหมณ์ลอยกุ้ง (ทอง นาก เงิน) ปลา (ทอง นาก เงิน)  ลอยหมากพร้าวปิดทอง ๒ คู่ลงในพระกรงสรง โหรลอยบัตรตามสายน้ำ ครั้นได้พระฤกษ์ลั่นฆ้องประโคมพิณพาทย์แตรสังข์ล้นเกล้า ฯ ทรงอุ้มสมเด็จพระเจ้าลูกเธอลงสรง เจ้าต่างกรม ลงในกรงรับต่อพระหัดถ์ สรงแล้วเจ้าต่างกรมเชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอขึ้นบนเตียงสรง พระราชาคณะ ประพระกระยาสนาน (รดน้ำพระพุทธมนต์) ล้นเกล้า ฯ ทรงรดน้ำพระมหาสังข์ แล้วชีพ่อพราหมณ์ถวายน้ำสังข์น้ำกรด แล้วทรงผลัดพระภูษา แล้วเจ้าต่างกรมเชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ตามเสด็จล้นเกล้า ฯ เข้าไปณพระตำหนักแพ ทรงเครื่องอย่างเทศ แล้วเจ้าจอมข้างในที่รับพระกรเชิญเสด็จตามเสด็จล้นเกล้า ฯ ขึ้นมาบนเกยทรงพระราชยานแห่กลับเข้าพระราชวัง ล้นเกล้า ฯ เสด็จพระราชดำเนิน ขึ้นมาณพระมหาปราสาททรงประเคนปฏิบัติพระสงฆ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เปลื้องพระเครื่องแล้วเสด็จมาถวายผ้าพระสงฆ์ ณพระมหาปราสาท ครั้นเพลาบ่าย ๒ โมง ๖ บาท เชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ มาทรงเครื่องตนณพระที่นั่งน่าพระไชย ตั้งกระบวนแห่แต่ในพระราชวัง มาประทับเกยณพระมหาปราสาท ล้นเกล้า ฯ รับลงจากพระราชยาน เจ้าจอมข้างในรับต่อพระหัดถ์มาชำระพระบาทแล้ว เชิญเสด็จเข้าไปสมโภชในพระมหาปราสาท เหมือนกันทั้ง ๓ วัน ขอเดชะ” ๛

๒๓๗ ได้พระคชาธารเผือกผู้เปนศรีพระนครมาถึงแผ่นดินนี้
๒๓๗ ในระยะนี้น่าจะกล่าวถึงพระยาเสวตรกุญชรนั้นเองว่าเปนเผือกผู้ เพราะรัชกาลก่อนมีเผือกพัง

๒๓๘ ณเดือน ๑๐ ปีรกาเบญจศก ข้างในทำผิดคิดมิชอบ พระโองการให้ประหารชีวิตรทั้งผู้หญิงผู้ชาย
๒๓๘ ความที่ว่าย่อในที่นี้ ในเรื่องข้างในคิดมิชอบ เห็นจะหมายความว่าเรื่องคุณไพ

๒๓๙ แล้วทรงพระดำริห์ให้ช่างเขียนเส้นลายบานประตูวัดพระใหญ่ยกเข้าไป ทรงพระศรัทธาลงลายพระหัดถ์ สลักภาพกับกรมหมื่นจิตรภักดี
๒๓๙ เรื่องบานประตูวัดพระใหญ่ ซึ่งทุกวันนี้เรียกว่าพระโต คือพระศรีสากยมุนีวัดสุทัศน์นี้ ได้ความชัดเจนดีนัก ปลาดที่ไม่ใคร่จะมีใครรู้ เล่ากันไปต่าง ๆ นา ๆ แต่ที่ทรงเองเห็นจะเปนบานกลาง เมื่อรัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างพระอุโบสถวัดราชประดิษฐ์ มีพระราชประสงค์อยากจะให้สลักบานอย่างพระวิหารพระศรีสากยมุนี โปรดให้กรมขุนราชสีห์ แลช่างสลักมีพระยาจินดารังสรรค์เปนต้น ไปคิดอ่านสลักให้เหมือนเช่นนั้นไม่สำเร็จ ต้องสลักเปนสองชั้นซ้อนกันลงเพราะถากไม่เปน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าทรงถากรูปหุ่นดีนัก จึงได้ถากลายบานนี้ได้ เพราะเปนการเหลือวิไสย ที่ช่างเขียนฤๅช่างสลักจะทำ

๒๔๐ มีพระโองการให้ช่างแต่งทรงพระมณฑป ให้ทรงเครื่องบนสูงกว่าเก่า จะทรงพระพุทธบาท
๒๔๐ มณฑปพระพุทธบาทนี้ เห็นจะค้างมาแต่รัชกาลที่ ๑ ที่ยกตัวลำยอง จะเปนข้างในฤๅข้างนอก ถ้าครั้งนั้นเปนข้างนอก คราวนี้คงเปนข้างใน

๒๔๑ แล้วบุรณปฏิสังขรณ์วัดแจ้ง ให้บริเวณกว้างกว่าเก่า
๒๔๑ ปฏิสังขรณ์วัดแจ้งครั้งนี้สร้างกุฏิพระอุโบสถทรงสร้างไว้แต่รัชกาลที่ ๑ แล้ว

๒๔๒ ณปีจอต่อกุน ได้พระคชาธารเผือกผู้ เจ้าพระยากลาง
๒๔๒ นี่คือพระยาเสวตรไอยรา ได้จากเมืองเชียงใหม่

ปูมปีชวดอัฐศก จุลศักราช ๑๑๗๘ ว่าวันศุกร เดือน ๑๑ ขึ้น ๖ ค่ำ เพลาบ่ายโมง ๑ พระยาช้างเผือกผู้มาแต่เชียงใหม่ถึงกรุง

๒๔๓ ณวัน ๔ ฯ ๕ ค่ำ ลุศักราช ๑๑๗๘ ปีชวดอัฐศก พม่าออกจากคุกฆ่าพธำมรง, พัศดีเปนศึกขึ้นกลางเมือง
๒๔๓ พม่าแหกคุกนี้ เวลาบ่ายเสด็จออกทรงว่าวอยู่สนาม น่าวัดพระศรีรัตนสาสดาราม พม่าแตกไปหลายแห่งเพ่นพ่านมาก จับกันอยู่ถึง ๒ วัน

๒๔๔ ณวัน ๖ ฯ ๕ ค่ำ เจ้าฟ้ากุณฑลประสูตรเจ้าฟ้าอำภร ได้จตุรงคโชคไชยชนะสิ้นเสร็จ
๒๔๔ เจ้าฟ้าอาภรณ์พเอินมาประสูตรประจวบเวลานี้ จึงได้ถือว่าเปนโชคดี

ถึงปูมก็จดไว้เฉพาะว่า วันพฤหัศบดี เดือน ๙ แรม ๕ ค่ำ เจ้าลูกเธอประสูตรใหม่ บ่าย ๔ โมง ๕ บาท

๒๔๕ พระยาทวาย, ปลัดทวาย พระโองการปราบปรามเลี่ยนสิ้นเสี้ยนแผ่นดิน ยิ่งด้วยบารมีที่สุด
๒๔๕ นี่ว่าไม่ชัดเลย คือพิจารณาได้ความว่าพระยาทวาย ปลัดทวาย ได้นัดหมายรู้เห็นเปนใจกับพม่าในคุกด้วย ต้องรับโทษด้วยในคราวนั้น

๒๔๖ ยังสมบัติมนุษย์ยังไม่ได้เห็นแก่ตา ว่ามีพระคชาธารเผือกผู้คู่ควร ไม่ได้บาศซัดคล้อง
๒๔๖ ในที่นี้ตั้งใจจะว่า ๆ มีช้างเผือกมาถึงเองไม่ต้องไปเที่ยวคล้องโดยพระบารมี

๒๔๗ เมืองปัตบอง, เมืองเชียงใหม่, เมืองน่าน ถวายเปนเครื่องบรรณาการด้วยบารมีบุญฤทธิ์ พระพุทธเจ้าหลวงสมเด็จพระเจ้าช้างเผือก
๒๔๗ เมืองพระตะบอง คือพระยาเสวตรกุญชร เมืองเชียงใหม่ คือพระยาเสวตรไอยรา เมืองน่าน พระยาเสวตรคชลักษณ์ แต่พระยาเสวตรคชลักษณ์มาเมื่อไรลืมเสียไม่ยักกล่าว ยกย่องว่าเปนพระเจ้าช้างเผือก ซึ่งเปนความเห็นทั่วกันในเวลานั้น

ปูมปีฉลูนพศกจุลศักราช ๑๑๗๙ ว่าวันพฤหัศบดีเดือน ๕ แรม ๙ ค่ำ ช้างเผือกผู้เมืองน่านมาถึง เวลาเช้า ๕ โมง ๓ บาท

๒๔๘ ณวัน ฯ ๓ ค่ำ เจ้ากรมศรีสุเรนทร์ถึงอนิจกรรมในระหว่างโทษ
๒๔๘ กรมศรีสุเรนทร์นี่ว่ามิดเม้นมาก

๒๔๙ ณเดือน ๕ ลุศักราช ๑๑๗๙ ปีฉลูนพศก กรมหมื่นสิ้นชนมายุ ประชุมเพลิงณวัดราชบุรณ
๒๔๙ ตอนนี้เปนพยานตอนแรก ว่าข้อที่คิดเห็นว่า กรมหลวงนรินทรเทวีทรงจดหมายนี้นั้นไม่มีคลาศเคลื่อน ท่านจดเรื่องเจ้านายสิ้นพระชนม์แต่ต้นมา ให้สังเกตดูว่าใช้คำว่า สวรรคาไลยฤๅสิ้นพระชนม์แลถวายพระเพลิงทุกแห่ง ที่ไม่ยกย่องก็ใช้ว่าอนิจกรรมเหมือนแมลงมุม ในที่นี้ใช้ว่ากรมหมื่นสิ้นชนมายุ ประชุมเพลิง ณวัดราชบุรณ เพราะตามคำเล่าว่าท่านอยู่ข้างจะกดขี่ฤๅถ่อมพระองค์มาก

๒๕๐ เจ้ากระษัตรีทำผิดคิดมิชอบ พระโองการให้ใส่ด้วยบทสำเร็จโทษ ณวัดประทุมคงคา
๒๕๐ เรื่องพระองค์กระษัตรีก็ว่ามิดเม้น

๒๕๑ ณวัน ฯ ๘ ค่ำ สมเด็จพระบิตุฉาวังบวรสฐานมงคล เสด็จสู่สวรรคาไลย อยู่ในราชสมบัติ ๗ ปีกับ ๑๐ เดือน
๒๕๑ วันที่จดไว้ขาดข้อสังเกตชื่อเดือน ปูมจดไว้ว่า วันพุฒเดือน ๘ อุตราสาธ ขึ้น ๓ ค่ำ เวลาเช้า ๕ โมง ๗ บาท

ในที่นี้ไม่น่าจะใช้สวรรคาไลย จะเปนด้วยเด็กกว่าท่าน ๆ เผลอไปฤาอย่างไร วังน่าองค์แรกท่านเรียกสวรรค์คต

ส่วนการสวรรค์คตของกรมพระราชวังพระองค์นี้ มีร่างหมายว่า “ณเดือน ๘ อุตราสาธ จุลศักราช ๑๑๗๙ ปีฉลูนพศก กรมพระราชวังบวรทรงพระประชวร ล้นเกล้า ฯ พระราชวังหลวง เสด็จขึ้นไปเยือนพระประชวรทุกวันมิได้ขาด พระโรคนั้นหนักไป จึงทรงพระกรุณาสั่ง เจ้าพระยาอไภยภูธร ผู้ว่าที่สมุหนายก ให้จัดแจงเกณฑ์เวรประจำซอง เวรกองเชิงกำแพงรอบพระราชวังหลวงแลพระราชวังน่าชั้นในชั้นนอก แลได้ตั้งกองรายตามถนน ตั้งแต่ประตูวิเศษไชยศรี ตรงขึ้นไปถึงประตูพรหมทวาร แลตามถนนตวันออก ถึงศาลาสารบาญชี ตามถนนตวันตกถึงประตูท่าพระ ให้เจ้าพระยาธรรมา พระยาเพ็ชรพิไชย รักษาพระราชวังหลวง ให้พระยารองเมืองตั้งกองอยู่ทุ่งพระเมรุน่าวัดพระมหาธาตุ ให้พระยาพลเทพ พระยายมราช ตั้งกองอยู่ศาลาริมประตูพรหมทวารวังน่า เจ้าพระยาอไภยภูธร ผู้ว่าที่สมุหนายก ตั้งอยู่ริมประตูมหาโภคราช ข้างเหนือ

ล้นเกล้า ฯเสด็จฯ ขึ้นไปทรงพระทมแรมในพระราชวังบวร”

ต่อนี้สั่งมหาดเล็กเชิญเครื่องแล้ว จึง “ณเดือน ๘ อุตราสาธขึ้น ๓ ค่ำ เพลาเช้า ๕ โมง ๗ บาท กรมพระราชวังบวร เสด็จสู่สวรรค์คต ณะ พระที่นั่งวายุสฐานอมเรศ พระราชวังชั้นใน ล้นเกล้า ฯ เปนประธาน ทั้งสมเด็จพระราชบุตร สมเด็จพระราชนัดดา พระญาติประยูรวงษา มีกรมหากรมมิได้ ฝ่ายน่าฝ่ายใน แลนางท้าวเถ้าแก่ ชาวแม่พระกำนัล พร้อมกันโสดสรงพระบรมศพ พร้อมไปด้วยน้ำพระสุคนธ แลพระสุคนธที่สำอางหอมเสร็จแล้ว จึงชาวพระมาลาชาวพระภูษา เชิญพระเครื่องประดับพระบรมศพ พร้อมไปด้วยเครื่องสุกร่ำ เสร็จแล้วเชิญพระบรมศพเข้าสู่พระบรมโกษฐ เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ ชาวพระราชยานเชิญพระเสลี่ยงแว่นฟ้าเข้าไปรับพระบรมโกษฐในพระราชวังบวร ออกประตูพรหมภักตร เชิญพระโกษฐขึ้นพระยานุมาศสามลำคานเข้ากระบวนแห่ คู่แห่นุ่งสมปักลายเสื้อครุยลำพอกถีอดอกบัว น่า ๕๕๐ หลัง ๕๐ รวม ๒๐๐ คนใช้คนวังหลวงครึ่งหนึ่ง วังน่าครึ่งหนึ่ง เครื่องสูงสั่งชัดเจนว่า ชุมสาย นำน่า ๓ คู่ เครื่องสูง ๕ ชั้น ทองแผ่นลวดสำรับหนึ่ง หักทองขวางสำรับหนึ่ง ๒ สำรับ ๕๔ ฅน รวมเครื่องน่า ๖๐ เครื่องหลังทองแผ่นลวด ๒๐ พระกลด บังสูริย์ พัชนี กลองชนะ จ่าปี่ จ่ากลอง ๔๒ แตรงอน ๘ คู่ แตรฝรั่ง ๔ คู่ สังข์ ๒ ๒๖ อินทร์พรหม ๑๖ พระแสงหว่างเครื่อง ๕ หามพระยานุมาศ ๔๐ ขุนนางในกรมเคียง พระยานุมาศ พระยากระลาโหม พระยาพิไชยบุรินทรา ๑ คู่ พระยาไกรโกษา พระยาราชโยธา ๑ คู่ พระยาเพ็ชร์รัตน พระยาพิบูลย์สมบัติ ๑ คู่ พระยาเทพมณเฑียร พระยาบริรักษราชา ๑ คู่ พระยาทศโยธา พระยาทัศดาจตุรงค์ ๑ คู่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ แลข้าทูลลออง ฯ ผู้ใหญ่ผู้น้อย ฝ่ายทหารพลเรือนนอกกระบวนแห่นั้น ตามเสด็จเปนอันมาก เมื่อชาวพระมาลาชาวพระภูษาเชิญพระโกษฐขึ้นสู่พระยานุมาศนั้น พระองค์เจ้าในกรมพระราชวังบวร คือพระองค์เจ้ากรมหมื่นธิเบศร์บวร พระองค์เจ้าครอกกลาง เสด็จขึ้นบนพระยานุมาศ ประคองพระโกษฐเชิญพระบรมศพมาไว้ณพระที่นั่งสุธาสวรรย์”

นอกนั้นก็สั่งให้ตั้งเครื่องประดับประดาเครื่องตั้ง มีมณฑปเพลิง ๔ ทิศ ตั้งเครื่องสูง ๑๘ พระแท่นพระสวด ๒ ต้นไม้เงินทอง ๔ คู่ มีนางร้องไห้ร้อง ๕ บท ๑ พระยอดฟ้าพระสุเมรุทอง ๒ พระทูลกระหม่อมแก้ว ๓ พระร่มโพธิ์ทอง ๔ พระเสด็จผ่านพิภพแห่งใด ข้าพระบาทจะขอตามเสด็จไป ๕ พระเสด็จสู่สวรรค์ชั้นใด

เดือน ๘ อุตราสาธขึ้น ๙ ค่ำ พระราชทานเพลิงพระบุพโพ ณวัดมหาธาตุ

ณวัน ๔ ฯ ๓ ค่ำ เพลาเช้า ๓ โมง ๖ นาที ยกเสาพระเมรุ ต่อไปก็เปนบาญชีเกณฑ์ รูปสัตว์ ๕๕ ตัว รูปยักษ์ ๘ ตัว เปนน่าที่กรมหมื่นเทพพลภักดิ์เปนผู้ทำ

มีรายเกณฑ์ตั้งศาลาฉ้อทาน เห็นจะเปนจำนวนถวายพระราชกุศลเมื่อเสร็จงาน เปนอย่างที่ไม่เคยเห็นมีในงานเมรุชั้นหลัง อิกประการหนึ่งนั้นเปนตัวอย่างให้เห็น ว่าเขาเรียกสมเด็จพระอัมรินทร์ ซึ่งเปนพระพันปีหลวง ยังทรงพระชนม์อยู่ในเวลานั้นอย่างไร แต่บาญชีที่จดไว้นั้น จดเข้าควงอย่างเก่าจะลำบากแก่การลงพิมพ์ ข้าพเจ้าจึงกระจายควงเสีย เปนอย่างใหม่ดังนี้

สมเด็จกรมพระอัมรินทรามาตย์ เลี้ยงพระสงฆ์ในพระเมรุ ๒๐ อนุจร ๗๗๑ เปน ๗๙๑ สามเณร ๕๑ รวม ๘๔๒ รูป ข้าราชการ ๙๙๙ ไพร่ ชายหญิง ๗,๘๖๘ รวม ๘,๘๖๘ รวมทั้งพระทั้งคฤหัษฐ์ ๙๗๑๐ คน สำรับเอก คาว ๒๐ หวาน ๒๐ สำรับโท คาว ๔๑๐ หวาน ๔๑๐ สำรับตรี คาว ๒๑๒๑ รวมสำรับคาวหวาน ๕๗๐๒ สำรับ เข้าขาวเข้ากลาง ๙๗ ถัง ขนมจีน ๑๒ ถัง น้ำยา ๑๐ นางเลิ้ง แกงร้อน ๖ กระทะ ต้มจีน ๓ กระทะ รวม ๙ กระทะ

แต่นี้จะไม่บอกยอดใน ซึ่งเห็นว่าจะอ่านเบื่อไป จึงจะบอกแต่ยอดนอก

กรมหลวงเทพวดี๑๐ เลี้ยงพระสงฆ์ ๒๑๕๒ สำรับ แลข้าราชการราษฎร ๓๒๐๔ คน เข้าขาว ๔๐ ถัง เข้าแดง ๓๓ ถัง เข้าอย่างเทศ ๑ ถัง ขนมจีน ๑๐ ถัง น้ำยา ๗ นางเลิ้ง

กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์๑๑ พระสงฆ์สามเณรข้าราชการ มีหัวเมืองแลไพร่ ๕๕๘๔ คน สำรับ ๑๗๓๔ สำรับ เข้าขาว ๒๕ ถัง เข้าแดง ๓๘ ถัง

กรมหมื่นสุนทรธิบดี๑๒ พระสงฆ์สามเณร ข้าราชการไพร่ ๔๔๑๕ คน สำรับ ๔๔๓๐ สำรับ กลับมากไปกว่าคน ยิ่งถึงจำนวนเข้า กลับเลอะใหญ่เหตุด้วยเปนเส้นดินสอ ผู้มีปัญญาที่นับนิ้วมือไม่ถ้วนลากลงไปใหม่ จะให้เห็นชัด คงได้แต่ยอดนอก ว่าเกวียน ๑ กับ ๓๔ ถัง ขนมจีนก็มี ๑๐ ถัง แต่น้ำยา ๕ นางเลิ้ง ฤาจะเปนการประมูลกันกับโรงกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เลอะมาแต่เดิมก็ไม่ทราบ

กรมพระราชวังหลัง๑๓ เลี้ยงพระสงฆ์ สามเณร ข้าราชการไพร่ ๔๔๕๔ คน สำรับ ๒๗๘๒ สำรับ เข้าขาว ๒๗ ถัง เข้าแดง ๖๑ ถัง ขนมจีน ๑๒ ถัง รวม เกวียน ๑ น้ำยา ๙ นางเลิ้ง

กรมหมื่นนรินทรเทพ นี่คือโรงกรมหลวงนรินทรเทวี ท่านเคยตั้งมาเสมอ แต่กรมหมื่นนรินทรพิทักษสิ้นพระชนม์เสียแล้ว จึงใช้พระนามกรมหมื่นนรินทรเทพซึ่งเปนพระโอรส พระสงฆ์สามเณรข้าราชการ ไพร่ ๒๙๙๗ คน สำรับ ๒๒๑๐ สำรับ เข้าขาว ๓๕ ถัง ๑๙ ทนาน เข้าแดง ๓๗ ถัง ๑๔ ทนาน ขนมจีน ๕ ถัง รวม ๗๓ ถัง ๑๘ ทนาน น้ำยา ๗ นางเลิ้ง

เรื่องโกนผม มีในหนังสือที่อ้างว่าเปนพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงในหนังสือวชิรญาณวิเศษ น่า ๓๘๐ ถึงน่า ๓๘๗ เปนเรื่องที่เทียบพระชนมายุวังหลวงกับวังน่า ได้คัดมาแต่เฉพาะเรื่องโกนผม แลเฉพาะแต่กรมพระราชวังพระองค์นี้ มีข้อความว่า “ครั้งแผ่นดินที่ ๒ บังคับให้ผู้หญิงทั้งแผ่นดินโกนผมหมด เว้นแต่พระราชวงษานุวงษ์ที่ทรงพระเจริญพระชนม์กว่ากรมพระราชวัง แลหญิงที่ไว้ผมจุกผมมวย แต่ผู้ชายบังคับให้โกนแต่สังกัดขึ้นในพระบวรราชวัง ถึงกระนั้นพระเจ้าลูกเธอในแผ่นดินประจุบันนั้น ก็มีพระราชโองการดำรัสสั่งให้ทรงพระกรรบิดด้วย แต่ข้าในกรมที่เปนชายไม่ต้องโกน”

“อนึ่งเชื้อพระวงษ์ ที่สนิทในสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ ก็โปรดให้โกนผมด้วย โกนแต่นายบ่าวไม่ต้องโกน เชื้อพระวงษ์ที่ไม่สนิท ที่เปนส่วนสังกัดวังหลวงก็ไม่โปรดให้โกน ผู้ที่โปรดให้โกนไม่ยอมโกน หลุดไปได้ก็มี”

พระราชวินิจฉัยในรัชกาลที่ ๔ ไม่ทรงเห็นชอบในการที่บังคับดังนี้ โดยอรรถาธิบายว่า “อนึ่งการโกนผมนั้น ก็เปนที่สำแดงว่าเปนข้าเจ้าสิ้นพระชนม์ ฤๅเปนเมียผัวตาย เปนบ่าวนายตาย ก็จะไปบังคับเมียที่มีผัวอยู่ ปาวที่นายยังอยู่ ข้าที่เจ้ายังอยู่ ให้โกนผมดังนั้นก็เปนอันพันละวันเลอะไป ก็เมื่อให้ผู้หญิงโกนผมหมด ไม่ว่าสังกัดไหนก็ดูเปนผู้หญิงเปนข้าวังน่าไปหมด ข้าวังหลวงมีแต่ผู้ชาย ผัวไม่ต้องโกนแล้วเมียต้องโกนเล่า อย่างไรมิรู้อยู่”

กระแสพระราชปรารภนี้ ทรงเมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรค์คต ว่าด้วยวังน่าตลอด ถ้าผู้ใดอยากจะทราบความเลอียด จงดูหนังสือวชิรญาณวิเศษเล่ม ๓ น่าซึ่งได้ระบุไว้ในเบื้องต้นนั้น



  เกยที่ได้ทราบจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รับสั่งว่าเกยที่ทรงบาตร พระที่นั่งน่าพระไชย เห็นจะเปนพระที่นั่งไพศาลทักษิณ
  เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี
  การสมโภชนี้ว่าแต่ส่วนลงสรง ไม่ได้กล่าวถึงพระราชทานพระสุพรรณบัตร การลงสรงแปลว่าพระราชทานพระสุพรรณบัตรเฉลิมพระนาม ครั้งนี้ว่าพระราชทานก่อนสมโภช พระนามที่จาฤกในพระสุพรรณบัตร ว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ามงกุฎสมมติเทวาวงษ์พงษ์อิศวรกระษัตริยขัติยราชกุมาร
  ประตูพรหมทวาร เปนประตูพระราชวังบวรชั้นนอกข้างใต้ ตรงถนนน่าพระธาตุ
  ศาลาสารบาญชีเปนหอทเบียนสัสดี อยู่ใกล้ศาลเจ้าหลักเมือง
  ประตูมหาโภคราช ประตูวังชั้นกลาง ดรงพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน
  ประตูพรหมภักตร เปนประตูวังชั้นใน อยู่หลังพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน มีทางแวะออกมาจากฉนวนข้างใน
  ๘. พระราชวินิจฉัยครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าสวรรค์คต ว่าพระบรมศพวังน่าใช้เครื่องสูง ๓ ชั้น เหมือนสมุหนายก คลาศเคลื่อนกับในร่างรับสั่งนี้ บางทีจะผิดมาในรัชกาลที่ ๓ มีพระราชปรารภเหตุที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้ารับสั่ง ว่าเมื่อยังไม่ได้เปนวังน่าเคยแห่ฉัตร ๕ ชั้น ครั้นเปนวังน่าขึ้นถูกถอดลงเปนแห่ฉัตร ๓ ชั้น แล้วรับสั่งหยอกกรมหลวงวงษา ว่าพ่อนวมตายที่ศพคงได้ตั้งฉัตร์ ๕ ชั้น แต่ศพฉันมิต้องตั้ง ๓ ชั้นเปนเจ้าวังน่าฤๅ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าทรงพระราชดำริห์ถึงคำนี้ จึงได้โปรดให้ตั้งเครื่องสูง ๕ ชั้นรอบในตามพื้นเดิมที่เปนเจ้าวังหลวง ๓ ชั้นรอบนอกตามพระเกียรติยศที่เปนวังน่า เห็นจะไม่เคยทอดพระเนตรร่างรับสั่งฉบับนี้ซึ่งจะไม่ต้องวินิจฉัยอไรเลย ที่ใช้ฉัตร ๓ ชั้นตั้งพระศพวังน่าเห็นจะเปนหม่อมไกรสรบัญชาผิด เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์
  ๙. นางเลิ้งแปลว่าตุ่ม
๑๐  เปนสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้า ซึ่งยังดำรงพระชนม์อยู่องค์เดียว ในเวลานั้นเรียกว่าทูลกระหม่อมปราสาท
๑๑  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
๑๒   เปนพระเจ้าลูกเธอองค์รอง ที่สิ้นพระชนม์ในเพลิง
๑๓  คำที่เรียกว่ากรมพระราชวังหลังนี้ ไม่ใช่ตัวกรมพระราชวังบวรสฐานภิมุข กรมหมื่นนราเทเวศร์ กรมหมื่นนเรศร์โยธี กรมหมื่นเสนีบริรักษ์ ในกรมพระราชวังหลัง แต่มักจะเรียกสั้น ๆ กันว่า พระราชวังหลัง



หัวข้อ: Re: จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 15:56:51
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/14850401961141_spd_2012090285139_b_1_320x200_.jpg)

๒๕๒ ณปีขานสัมฤทธิศก พระโองการให้ตั้งเขาขุดท่อ ผ่าเส้นกลางไขรหัดน้ำเข้าในวังที่สวนขวา รื้อขนศิลามาก่อเปนหอพระเจ้าอยู่กลาง ทรงสร้างพิมานเสร็จ เถลิงสมโภชมีดอกสร้อยสักรวา เกษมสำราญบานจนถึงกาล

๒๕๒ เขาที่สร้างในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย มีเขตร์กำหนดตั้งแต่ถนนตรงประตูราชสำราญขึ้นมาข้างเหนือ ถึงเขื่อนเพ็ชร์โรงแสง ซึ่งเดี๋ยวนี้เปนหลังพระที่นั่งภาณุมาศ ด้านตวันออกแนวประตูแถลงราชกิจไปหาพระที่นั่งศิวาไลย ด้านตวันตกแนวประตูกลม ซึ่งยังเปนขอบเขตร์อยู่จนบัดนี้ ตอนข้างตวันออกเปนสระ มีเกาะในกลางสระ เห็นหอพระจะอยู่ในที่นั้นคงจะอยู่ในราวที่ตั้งพระพุทธรัตนสฐานเดี๋ยวนี้ พระราชมณเฑียรอยู่ต่อหลังพระพุทธรัตนสฐาน มาข้างตวันตกเปนจตุรมุข มุขตวันออกตวันตกเสมอกันเปนพื้นเดียว แต่มุขเหนือพื้นลดเปน ๒ ชั้น มุขใต้พื้นลดเปน ๓ ชั้น พระราชมณเฑียรนี้เปนเสาไม้ฝากระดานแต่ทำอย่างประณีต เสาเขียนลายทองพื้นแดง น้ำยาสีแดงนั้นมีผู้ผสมถวายได้รางวัลถึง ๓ ชั่ง พระแกลเปิดเปน ๔ บาน พับกลางช่องพระแกลตัดเปนโค้งอย่างฝรั่ง เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีเปนนายช่าง ตรงน่าพระราชมณเฑียรด้านใต้นี้ มีโรงลครใหญ่ทำเปนเก๋งจีนหลังคาสามหลังคาติดกัน พบหมายถึงกำหนดยกเสาพระที่นั่งว่า

ณวัน ๖ ฯ ๙ ค่ำ เพลาย่ำรุ่งแล้ว ๑ โมง ๓ บาท หมายนี่ง่ายกันเต็มที่ ไม่ลงปีว่าปีไร เดือนไร เห็นจะเปนปีเถาะเอกศก จุลศักราช ๑๑๘๑ เพราะในหมายนี้ดูประหนึ่งว่า เก๋งโรงลครนั้นได้ทำแล้วสำเร็จ พระที่นั่งนี้ได้เสด็จเถลิงพระราชมณเฑียร ประทับคืนเดียวเท่านั้น

ครั้นภายหลังมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อสร้างพระที่นั่งหมู่ตวันออกถมสระเสียหมด จึงให้สร้างพระพุทธรัตนสฐานขึ้นที่หอพระเดิม

มีอ่างแก้วสองข้างยาวเสมอพระพุทธรัตนสฐาน กว้างเสมอน่ามุขทิศเหนือทิศใต้ของพระราชมณเฑียร อ่างแก้วนั้นก่ออิฐสูงประมาณ ๓ ศอกเศษ ข้างหนึ่งเปนสระกรุด้วยดิบุก ตั้งร้านให้หุ้มดิบุกก่อเขาบนร้าน เปนเกาะเล็กเกาะน้อย ขังน้ำเสมอเชิงเขา ข้างเหนือเปนเขา บนบกมีพื้นแผ่นดิน แลซอกห้วยชานเขา มีเก๋งจีนแฝดเขียนลวดลายงาม สกัดที่ต่อพระราชมณเฑียรข้างละหลัง

พระราชมณเฑียรแปลงเปนพระพุทธมณเฑียรตั้งพระเจดีย์กาไหล่ทอง ที่กลางมุขใต้ตั้งพระพุทธสิหิงค์น้อยเปนที่นมัสการเพิ่มเติมเขียนฝาพระที่นั่ง เปนลายรดน้ำปฐมสมโพธิ แต่พระที่นั่งนั้นได้ทิ้งร้างมาตลอดรัชกาลที่ ๓ ครั้นมาจับทำงานขึ้นในรัชกาลที่ ๔ การเลอียดก็ทำช้ามาก ไม่ใคร่จะแล้วลงได้ จนตัวไม้เก่าชำรุดทรุดโทรมไป งานใหม่ก็ยังไม่แล้วสำเร็จ มาแล้วสำเร็จแผ่นดินประจุบันนี้ เมื่อก่อนทรงผนวชปีรกาเบ็ญจศก จุลศักราช ๑๑๓๕ แต่เพราะโครงเก่าชำรุดนักเสาขาด แลเปนโพรงตลอดไปทุกต้น เหลือรักษาจึงต้องรื้อ โรงลครนั้นโปรดให้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “พระที่นั่งทรงธรรม” เปนที่สำหรับมีเทศน์ในวัง มหาชาติหลวงก็มีที่นั่น ถ้าเวลามีลครก็เล่นลครบ้างนาน ๆ ครั้งหนึ่ง โดยปรกติเปนโรงลคร สำหรับพระเจ้าลูกเธอเรียนหนังสือ

กรมหลวงดำรงไปค้นได้ร่างตรามีขึ้นไปถึงเจ้าอนุเวียงจันท์ ว่าด้วยเรื่องทำสวนนี้ มีข้อความเลอียดลออไพเราะดีมาก ควรจะเห็นได้ ว่าเปนพระกระแสพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า รับสั่งเรียงเอง ไม่ใช่เจ้าพระยาอภัยภูธรแต่งเปนแน่ ต้องเปนผู้ที่ได้คัดแลได้เห็นงานแล้วจึงจะเรียงลงได้ เพราะราวกับบทลคร เห็นว่าไม่ยาวนักจึงได้คัดลงไว้ในคำบรรยายนี้ทีเดียว


ร่างตราเมืองเวียงจันท์

“๏ ให้พระราชทานแผนที่ อย่างสระอย่างเก๋ง สิ่งของขึ้นไปให้เจ้าเวียงจันท์ ณ ปีเถาะเอกศกศักราช ๑๑๘๑

หนังสือเจ้าพระยาจักรีมาเถิงเจ้าเวียงจันท์ ด้วยทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้า ฯ สั่งว่า ให้ขุดสระแลปลูกพระที่นั่งทำเก๋งในพระราชวัง เปนที่ทรงประพาศสบายพระไทย แลซึ่งเจ้าเวียงจันท์ได้ลงไปช่วยทำการขุดสระครั้งก่อนนั้นเห็นยังคับแคบอยู่ บัดนี้ให้ขยายกำแพงพระราชวังด้านใต้ออกไปอิก จึงให้ขุดสระประจบสระเก่าต่อลงไป โดยยาวแลกว้างรังวัดได้ ๓ เส้น ๔ วา กว้าง ๒ เส้น ๘ วา ทรงพระราชดำริห์เทียบที่เปนเกาะใหญ่เกาะเล็ก ลงเขื่อน กรุอิฐ ทำพระที่นั่งเก๋งจีนแลตึกอย่างฝรั่งขึ้นอิกเปนอันมาก หว่างเก๋งหว่างตึกนั้น ให้ปลูกต้นไม้มีดอกมีผล เอนชายออกไปตามขอบสระร่มแสงแดด ให้เอาศิลาแท่งใหญ่เล็ก มาทำเปนมอเปนแหลม แลหาดปิดบังรื้อเขื่อนเสียสิ้น ในท้องสระนั้นปูด้วยอิฐใหญ่ ให้น้ำใสสอาด ปลูกบัวหลวงบัวเผื่อนที่ชายแหลมชายหาดทุกแห่ง แล้วเลี้ยงปลาสารพรรณ เวลาเช้าเวลาเย็นเสด็จออกณพระที่นั่งเก๋ง โปรยเข้าตอกบ้าง เสด็จณพระแท่นศิลาใต้ร่มต้นไม้บ้าง ทรงโปรยเข้าตอกพระราชทานปลาทั้งปวง ทอดพระเนตรนกโนรีสัตวาแขกเต้ากระตั้ว ซึ่งแขวนไว้ที่กิ่งไม้ นกเป็ดน้ำ นกคับแคลอยเล่นน้ำอยู่ อันนกนอกกว่านี้ก็เลี้ยงปล่อย เลี้ยงแขวนไว้ในสวนเปนหลายชาติ แลซึ่งทรงพระราชดำริห์สร้างพระที่นั่งเก๋ง ขุดสระไว้ในพระราชวังทั้งนี้ เพื่อจะให้พระวงษานุวงษ์ฝ่ายใน เปนที่ประพาศเล่น ด้วยมิได้ไปเห็นภูเขา แลธารน้ำแห่งใด แล้วจะได้ดูสติปัญญาข้าราชการ ซึ่งเปนช่างข้างจะไว้ฝีมือ ช่างจำหลักช่างเขียน ช่างปั้น ช่างปูน ช่างปากไม้ ช่างต้นไม้ ไทยจีน ให้เปนพระเกียรติยศ ปรากฎไปในแผ่นดิน แล้วก็เปนพระราชกุศลอยู่อย่างหนึ่ง ครั้นเถิงเทศกาลผลไม้ชุกชุม ก็ทรงพระราชศรัทธา ให้อาราธนาพระราชาคณะเข้าไปรับพระราชทานฉันในพระที่นั่งเก๋งตามขอบสระ พระราชาคณะก็รับพะราชทานฉันปิยจันหันได้มากกว่าฉันที่อื่น เพราะได้ดูฝีมือช่างซึ่งทำไว้นั้น แลโปรดให้พระเจ้าลูกเธอ หลานเธอ แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยที่สนิท ๆ เข้าไปพายเรือเที่ยวชมเล่น พระราชทานเลี้ยงดูดังนี้เนือง ๆ ถ้าเทศกาลตรุสสงกรานต์ เข้าพระวษาสารทออกพระวษา วันวิสาขบูชาเพ็ญเดือน ๑๑, เดือน ๑๒ ก็ทรงพระราชศรัทธาให้เชิญพระพุทธรูปแก้วผลึก แลพระบรมสารีริกธาตุ ไปสถิตย์ไว้ในพระที่นั่งเก๋งคงคาสวรรค์ กระทำการสมโภชพร้อมด้วยพระบรมวงษานุวงษ์ฝ่ายใน ภรรยาข้าทูลลอองผู้ใหญ่ผู้น้อย เข้าไปร้องศักระวาดอกสร้อย มโหรีเพลงครึ่งท่อน มอญทแยสรรพการมโหรศพต่าง ๆ ให้แต่งเก๋งตั้งเครื่องแก้วแขวนโคมแก้ว โคมแพรหลายอย่าง ตามสักการบูชาพระบรมธาตุ ครั้งละสามคืนบ้างสี่คืนบ้าง แลเมื่อเพ็ญเดือน ๑๒ ปีเกาะเอกศกนี้ พระยานครลำปาง พระยาน่านลงไปเฝ้าทูลลอองณกรุงเทพ ฯ ก็โปรดให้พาบุตรภรรยาเข้าไปเที่ยวชมพระที่นั่งเก๋ง ซึ่งตกแต่งแลการมโหรศพสมโภชสิ้นทุกคน ถ้าเทศกาลแต่งเก๋ง แลเลี้ยงดูข้าทูลลอองครั้งใด ก็มีพระราชหฤไทยคิดเถิงเจ้าเวียงจันท์ทุกครั้ง ด้วยมิได้ลงไปเห็น จึงโปรดให้ถ่ายอย่างเปนแผนที่สระที่เก๋งเก่าใหม่พระราชทานขึ้นมาให้เจ้าเวียงจันท์ดูพอเปนสำเนาพลาง ถ้าเจ้าเวียงจันท์ว่างราชการเมืองเมื่อใด จะลงไปเฝ้าทูลลอองณกรุงเทพ ฯ ก็ให้พาบุตรภรรยามโหรีลคร กับให้หาพายแลนกเขาครมลงไปด้วยจะได้เล่นตามสบายใจ อันเรือสำหรับพายเล่นแลกิ่งไม้ที่น่าแขวนนกนั้น มีอยู่เปนอันมาก

หนังสือมาณวัน ๖ เดือน ๒ ขึ้น ค่ำ ๑ จุลศักราช ๑๑๘๑ ปีเถาะเอกศก

วัน ๖ เดือน ๒ ขึ้นค่ำ ๑ ได้ส่งตรานี้ให้เจ้าราชบุตร แต่งให้ท้าวเพี้ยถือขึ้นไปส่งให้เพี้ยเมืองกลางแล้ว”

๒๕๓ ณวัน ๕ ๑ฯ ๖ ค่ำ ลุศักราช ๑๑๘๒ ปีมโรงโทศก ฉลองวัดแจ้ง ประดับแต่งเครื่องไทยทานเหลือทลาย จะบรรยายไม่ครบประมวญการ มีลครผู้หญิงโรงเล็ก การมหรศพสมโภชพร้อมเสร็จจัตวาร
๒๕๓ ฉลองวัดแจ้งมีลครโรงเล็ก คือพระราชนิพนธ์ตอนหลังบุตรลบ

๒๕๔ ณวัน ๖ ฯ ๖ ค่ำ ปจุบันกาลเกิดมรณสงครามยุทธ์ เพียงแผ่นดินจะซุดล่มด้วยลมพยุไข้วิบัติเปลือง ฝุ่นเมืองม้วยพินาศ รอดชีวาตม์ด้วยเท (วะ) วงษ ดำรงทรงปัตพินทร์ เปนปิ่นสุธาโลก ดับโรครงับเข็ญ กลับชุ่มเย็นรงับร้อน ผ่อนถึงพรหมลิขิต
๒๕๔ คำที่กล่าวดังกึกกักอยู่นี้ คือเกิดอหิวาตกโรคเปนอย่างแรง ที่ออกชื่อกันอยู่ว่าปีมโรง

ถึงในปูมก็จดหมายลงไว้ยืดยาว ว่าวันพฤหัศบดีเดือน ๗ ขึ้น ๖ ค่ำ เพลาค่ำยามเศษ ทิศพายัพเห็นเปนแสงไฟจับอากาศ หมา, คน, เปนโรค ลงรากตายมาก พระยาสมุทหนีจากเมือง วันจันทร์เดือน ๗ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ยิงอัตนา รุ่งเช้าแห่พระประน้ำประทราย คนแห่ตายมาก พระสงฆ์หนีวัด คฤหัษฐ์หนีบ้าน ตาย ๓๐,๐๐๐

๒๕๕ ณวัน ๖ ฯ ๗ ค่ำ กรมอินทรพิพิธสิ้นพระชนม์ ถวายพระเพลิงที่วัดรฆัง
๒๕๕ กรมหมื่นอินทรพิพิธสิ้นพระชนม์นี้ คงจะเปนอหิวาตกโรค พระศพจึงได้ฝังวัดสระเกษ แต่พระราชทานเพลิงในร่างรับสั่งไม่มีปีแลศักราช ควรจะสันนิษฐานได้แต่ว่า อยู่ในเล่มเดียวกันกับหมายตั้งสมเด็จพระญาณสังวร เปนสังฆราชวันพฤหัศบดีเดือนอ้ายขึ้น ๙ ค่ำ ปีมโรงโทศก จุลศักราช ๑๑๘๒ งานเมรุกรมอินทรพิพิธเดือนยี่ขึ้น ๘ ค่ำ ต่องานพระองค์บุบผา ซึ่งพระราชทานเพลิงเดือนยี่ขึ้น ๓ ค่ำ จะเปนปีมโรงฤๅปีมเสง ถ้าจะวินิจฉัยแล้ว น่าจะวินิจฉัยว่าเปนปีมเสงตรีศก เพราะเหตุที่ในจดหมายกรมหลวงนรินทรมีแต่กรมหมื่นอินทรพิพิธองค์เดียว ที่แท้พระราชทานเพลิง พร้อมกับกรมหมื่นนรินทรเทพลูกของท่าน เหตุใดท่านจึงไม่กล่าวถึงก็ไม่ทราบ บางทิจะเปนด้วยกรมหมื่นนรินทรเทพสิ้นพระชนม์นี้ ท่าให้ท่านเศร้าโศกมาก เลยหยุดไม่ได้จดต่อไปอิกก็อาจจะเปนได้

๒๕๖ พระโองการรับสั่งให้รื้อยกสังคายนายสวดมนต์ ลำดับกระษัตริย์แต่ก่อนหาได้ยกไม่ แต่พระพุทธเจ้าหลวงสมเด็จพระไอยกาบรมโกษฐเปนปฐม สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระโกษฐแผ่นดินกลาง
๒๕๖ ความตอนนี้มัวมนท์ อ่านถึง ๓ เที่ยวแล้วยังไม่เข้าใจ จนถึงบอกจำหน่ายไว้แล้ว แต่ผิดสังเกตนักที่ท่านจะจดเลอะเทอะ จึงได้แขงใจพิจารณาดูอิกครั้งหนึ่งก็ได้ความ คือตั้งแต่ปีมโรงความไข้นั้นมา โปรดให้เจ้านายแลข้าราชการฝ่ายใน สวดมนต์ที่หอพระแลพระที่นั่งไพศาลทักษิณทุกวัน สวดเหมือนอย่างพระสงฆ์ สวดตั้งแต่ภาณต้นจนถึงอาฏานาติยสูตร ไม่แต่สวดธรรมดา ซักซ้อมเรียบร้อยมีขัดตำนาน จนถึงออกสวดให้พระสงฆ์ฟังที่พระที่นั่งอมรินทรได้ ข้อที่เขียนว่าสังคายนายในที่นี้ คล้ายกันกับสังคายนารัชกาลที่ ๑ จึงทำให้งงไปไม่เข้าใจ ที่จริงท่านหมายความตามลักษณสังคายนาที่มีมาในเรื่องราว เมื่อพระสงฆ์ที่มาประชุม ตรวจสอบว่าสูตรใดถูกต้องแล้ว ก็ให้สวดสาธยายทรงจำไว้ เพราะสังคายนาแต่ก่อนหาได้จานลงในใบลานไม่ ใช้ท่องบ่นทรงจำไว้ จึงเปนต้นเหตุของการที่สวดมนต์ ในการที่จะยกย่องพระราชดำริห์อันนี้ ท่านจึงยกย่องว่าเปนสังคายนาย อันโบราณกระษัตริย์ไม่ได้เคยทำมาแต่ก่อน ข้างในสวดมนต์นี้มีติดต่อมาจนตลอดรัชกาลที่ ๓ แต่การซักซ้อมไม่สู้เข้มงวดเหมือนรัชกาลที่ ๒ เปนการสวดเอาบุญ แต่รัชกาลที่ ๒ นั้นมีเพิ่มสวดเอาเพราะด้วย

ความในฉบับเดิมแต่เฉพาะเรื่องนี้ก็ยังขาดอยู่ คงจะมีในเล่มต่อไปซึ่งสูญเสียหาไม่พบ


หัวข้อ: Re: จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 16:30:50
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/14850401961141_spd_2012090285139_b_1_320x200_.jpg)

อักษร (ก)
๑ พระราชสาส์นกรุงศรีสัตนาคนหุต มีมายังกรุงธนบุรี
๒ พระราชสาส์นกรุงธนบุรึ ถึง กรุงศรีสัตนาคนหุต
๓ ศุภอักษร เสนาบดีกรุงศรีสัตนาคนหุตกำกับพระราชสาส์น
๔ ศุภอักษรเสนาบดีกรุงธนบุรีกำกับพระราชสาส์น
๕ ศุภอักษรเสนาบดีกรุงธนบุรีรับรับสั่ง มีไปถึงเสนาบดีกรุงล้านช้าง
๖ พระราชสาส์นศรีสัตนาคนหุต
๗ พระราชสาส์นกรุงธนบุรีมีตอบไป
๘ ศุภอักษรเสนาบดีกรุงศรีสัตนาคนหุตกำกับพระราชสาส์น
๙ ศุภอักษรเสนาบดีกรุงธนบุรี กำกับพระราชสาส์นมีไปกรุงล้านช้าง
๑๐ ศุภอักษรพญาหลวงเมืองแสน อรรคมหาเสนาเมืองล้านช้าง ที่ส่งตัวขึ้นไปจากกรุงธน
๑๑ สมณสาส์นมาแต่กรุงศรีสัตนาคนหุต
๑๒ คำแปลสมณสาส์น
๑๓ สมณสาส์นพระสังฆราชกรุงธนบุรีมีตอบไป
• ศุภอักษรครั้งแผ่นดินเจ้ากรุงธนบุรีตอบไปกรุงศรีสัตนาคนหุต

๑ พระราชสาส์นกรุงศรีสัตนาคนหุต มีมายังกรุงธนบุรี
๏ พระราชสารสาขินทศิขารวรชมภูพฤกษ อธิกมํณทลบุบผิด วิกะสิตะ วิรจติปภาหา นันตมหันตคุณ วิบุลมะนุญ สุนธรศุขัดถะประมัดถะ อรรถ หิตะกรณัดถะทัศนาการ สารสุนไสไญย ธรรมา คำภิรโชตินทรสำภาราติเรกอเนกอนัน มหันต มโหฬาร พิสาร พิสิฏ พิพิธ รัตน ราชัยะ ปติมันทิตะพิจิตรวิโรโชติมันทะจันทจรวรรักษ อัคปรมา สาร สิทธิหิตะ ธรรมไม้ตรีในพระบาทสํมเด็จบรมบพิต พระมหาบุญไชยเชฎาจักรพรรดิภูมินทร ธรรมมิกราชาธิราชพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต อุดดมราชธาณีบุรีรํมยบรมนารรถ บรมบพิตรจิตรนา สุภาวิตสัตยา นิตยธรรม ไม้ตรี ศรี รษพจนุตมสมาคม สมเด็จพระมหาเอกาทุศรุทอิศวร มหากระษัตราธิราชบรมนารถบพิตร พระมหานครทวาราวดีศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธาณีบุรีรมยษรดังอุภัยมหานครบวรราชธาณีศรีสุธาก หากเปนสุพัณปัตติเรก เอกฉันทอัญมัญ ยังซึ่งกันแต่พระมหากระษัตราธิราชแต่ในกาลเมื่อก่อนสืบ ๆ มา ดั่งกรุงศรีอยุทธยาก็เกิดเปนแต่เวรกำมบ้านเมิองจึ่งขาดเสียทางพระราชไม้ตรี ดั่งข้ากะบถในขอบขันธเสมากรุงศรีสัตนาคนทุต ก็เกิดขัดสนซอกทางมิได้ขาด ถึงเมือเจ้าพญานครราชสิมาก็ได้เข้าชดช่วยกทำการช่วยเอาราชพร้อมกันฟาดตีเสีย ยังข้ากบถฝูงนั้น กจึ่งปราไชยไปยังต้งงอยู่ดอนมดแดง ดั่งทางพระราชไม้ตรีจึงเปนอันหวะหวาง จึ่งแจ้งว่าพระมหากระษัตราธิราชยังต้งงอยู่ปักไคยหะวรพุทธสาศนา แลรัฎาปรชาราษฎรข้าไพร่ดั่งนั้น จึงได้ทรงพระราชจินดาปราโมทถึงทำนอ่งคลองพระราชประเพณี บให้ขาดราชไม้ตรี จึ่งได้เปสิตาราชทูตยพญาไทรทรงยศทศบุรีย พญาศรีรัตนาธิเดชไม้ตรีจำทูลพระสุพัณบัตรัตนราชสาร แลเครื่องมงคลบรรณาการ มาวัฒนะสวัสดาสมเด็จพระมหากระษัตราธิราชเจ้าในกรุงศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธาณีบุรีรมย เพื่อให้ขอดพันทมิตรสนิทเสน่หาซึ่งพระมหากระษัตราธิราชสืบ ๆ มา กิจราชการกรุงศรีสัตนาคนหุตหากเกิดมีเยิองใดกอย่าให้กรุงเทพมหานครปะวางกิจราชกรุงเทพมหานคร หากเกิดมีเยิองใด กรุงศรีสัตนาคนหุตก็บปะวางบด ประการหนึ่งดั่งเจ้าพญานครราชศรีมา อันได้พาข้าไพร่เอาเข้ามาช่วยราชการดั่งนั้นหากแล้วราชการในกรุงศรีสัตนาคนหุตเมื่อใด กจให้คืนเมิ่อต้งงบ้านเมืองดั่งเก่า ซึ่งประการใดกรุงศรีสัตนาคนะหุตแลกรุงเทพมหานคร จเปนเอกฉันทจิตรสนิทเสนหาซึ่งพระมหากระษัตราธิราชเจ้าแต่ในกาลเมือก่อนให้วรพุทธสาศนาอภัยมหานครจักโชตนายาวะบัญจวัศสหัสจได้ศุขาสมานุศุขนั้น ไว้ในทีปัญาพระเจ้ากรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุทธยามหาดิลกภพนํพรัตนราชธาณีบุรีรมยจงทุกประการ เสด็จสธรรตะกราคะไมยสุไสยราชพัฎะมานุสันธิสังกาศ ร้อยสามสิบสองตัวเดือนญีขึ้นสิบห้าค่ำวันจัน ๚ะ๛


หัวข้อ: Re: จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 05 พฤษภาคม 2563 17:28:54

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/14850401961141_spd_2012090285139_b_1_320x200_.jpg)
๒ พระราชสาส์นกรุงธนบุรึ ถึง กรุงศรีสัตนาคนหุต

วัน ๓ ฯ ๖ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๓๓ ปีเถาะตรีณีศกทรงแต่ง พระราชสาร /ศุภอักษร    ตอบแล้ว ทรงพระกรุณาดำรัดเหนิอเกล้า ฯ สั่งให้... พระสุนธรไม้ตรีราช/... หลวงภักดีวาจาอุป/... ขุนพจนาพิมลตรี ทูตย จำทูลพระสุพัณบัตรัตนพระราชสารแลศุภอักษรขึ้นไปยังกรุงศรีสัตนาคนหุตในใจความนั้นว่า

พระราชสารสฤษดิรักษศักดิสุนธรบวรมงคลสกลโลเกษบวเรษขัติยศะศรีรักษไม้ตรีในสมเด็จพระพุทธเจ้ากรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธาณีบุรีรมย มีปะฏิวากยพระราชสารเปสิดาการใช้ให้...พระสุนธรไม้ตรีราช/...หลวงภักดีวาจาอุป/...ขุนพจนาพิมลตรี ทูตย จำทูลพระสุพรรณบัตรัตนราชสารนำเครื่องมงคลราชบรรณาการ มาจำเริญพระราชสัตยานุสัตย แต่สมเด็จพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต สุทธิรัตนราชธาณีบุรีรมย ด้วยพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต ใช้ให้พญาไทรทรงยศทศบุรีเปนราชทูตย พญาศรีรัตนาธิเดชไม้ตรีมาทูลจำพระสุพรรณบัตรัตนราชสาร แลเครื่องมงคลราชบรรณาการ มาจำเริญพระราชสัตยานุสัตยภาพพระราชสำพันทมิตรไม้ตรีตามบุราณราชประเพณีนั้น ะ ครั้นแจ้งในอรรถลักษณนั้น ก็มีพระราชกมลหฤๅไทยใสสุทอุดดม โสมนัดสาการยินดีเปนอันยิงนักหนาควรที่จเปนอัคมิตรสัณทวะ แต่ทว่าสมเดจ์พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต กอปรด้วยขัติยวงษทรงพิภพอันสูงใหญ่ แลอันกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาทุกวันนี้ ก็อับปางอยู่จะขอให้สมเดจพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต ช่วยทะนุบำรุงให้เปนศรีสุวรรณปัตพีเดิยวจำเริญพระราชวงษสืบไป ถึงมาทว่าจมีปัจจามิตรข้าศึกมาปรการไดในกรุงศรีอยุทธยา ก็จเกรงพระเดชานุภาพกรุงศรีสัตนาคนหุต เพราะพระเดชปกเพิ่อเจิอไปแลซึ่งมิปัจจามิตรข้าศึกมาเบิยดเบิยนกรุงศรีสัตนาคนะหุตนน้นก็จะเปนภาระธุระแห่งกรุงศรีอยุทธยา แลซึ่งข้าศึกไปต้งงอยู่ดอนมดแดง แลจะขอเจ้าพญานครราชศรีมาไว้ช่วยราชการน้นนก็แล้วแต่พระราชดำริสมเดจพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตเถิด แต่ทว่าถ้าเหนจได้ถ่ายเดียวจึ่งให้กระทำการ ถ้าเหนจได้ส่วนหนึ่งสองส่วนจะเสียแต่ส่วนหนึ่งก็อย่าให้กระทำไว้ภารธุระกรุงศรีอยุทธยาจะได้กระทำสืบไป อันหนึ่งซึ่งราชการบ้านเมืองกรุงศรีอยุทธยาทุกวันนี้ เดิมมีลิปูต้าทั่งอัคมหาเสนาธิบดีสมเดจพระเจ้ากรุงต้าฉิงผู้ใหญ่ณเมิองกรุงจีนเข้ามาถึงกรุงศรีอยุทธยาว่าให้ทำแผ่นที่ท่าทางซึ่งจะไปกรุงอังวะนั้นส่งออกไป แลมีเนื้อความว่าพม่ายกกองทับมารบเมืองศรีฉวนเมิองห้วยหลำปลายแดนกรุงจีน ๆ รบพุ่งพม่าแตกกลับไป ฝ่ายกองทับจีนยกไปติดแว่นแคว้นกรุงอังวะอยู่ แล้วจขอไห้กองทับจีนมาขึ้นณกรุงศรีอยุทธยาอีกทางหนึ่งนั้นได้มีหนังสือออกไปแต่ก่อนว่าขัดสนด้วยเข้าปลาอาหาร แลบัดนี้พม่ามากระทำแก่เมิองถลางเมิองกานบูรีเมิองศรีสวัศเมิองอุไทยธาณีเมิองสวรรคโลกยเมิองพิไชยปากใต้ฝ่ายเหนิอตวันตกตวันออก ซึ่งขึ้นแก่กรุงศรีอยุทธยา กองทับหัวเมิองตีทับพม่าแตกเลิกไปฝ่ายกรุงศรีอยุทธยายังมิได้จดฝีมือดูความคิดประการใดหามิได้ ซึ่งเสดจพระราชดำเนิรยกกองทับขึ้นไปจดฝีมือดูความคิดพม่าเมืองเชียงใหม่ บัดนี้เหนแจ้งอยู่แล้วภอกระทำตอบแทนแก่กรุงอังวะได้ถ่ายเดียว แลบัดนี้เข้าปลาอาหารภอมีอยู่แล้ว แลจให้มีศุภอักษรออกไปถึงลิปูต้าทั่งอรรคมหาเสนาธิบดีให้นำเอากราบบงงคมทูลแด่สมเด็จพระเจ้าต้าฉิงผู้ใหญ่ณเมิองกรุงจีนให้ยกกองทับมาขึ้นณกรุงศรีอยุทธยา ๆ ก็จเกนกองทับยกไปกระทำแก่กรุงอังวะ แต่ว่าบัดนี้ขัดสนด้วยม้า ได้มีศุภอักษรขึ้นมาด้วยแจ้งอยู่แล้วเนื้อความอันอื่นนอกกว่านี้มีมาในศุภอักษรเปนหลายปรการแล้ว ปรการใดกรุงพระนครศรีอยุทธยากับกรุงศรีสัตนาคนหุตจะวัฒนาการจำเริญเปนมะหามิตรสนิทเสน่หาสืบไปก็ไว้ในพระราชปรีชาญาณแห่งสมเดจพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต จมีพระราชดำริให้ชอบทุกปรการ พระราชสารสมิทธิเปสิตะภารภูม วารวิสาขมาศกาลปักขทุติยะดิถีตยุลศักราชพันร้อยสามสิบสามสัศะสังวัดฉะระตรีณิศกสิริสวัศดิทิฆายุสม ๏ ๚ะ๛



๓ ศุภอักษร เสนาบดีกรุงศรีสัตนาคนหุตกำกับพระราชสาส์น

๏ กรุงศรีสัตนาคนหุต ๏ ศรีสุวรสัตยา วะจะนิยะปิยามะนาปา พิสิดถะนารถพิสาลพิสุทธาพิรมย พรมสุจริตหิดตัดถะสัชนาการสุจถะหัษนัดถะสัมคาไมยภัยนรวิรหิตา ในอัคมหาเสนาธิบดีศรีสุชนสัปรุศชุติสามีปวาษบาทมุลิกากรบวรรัตนามาตย แห่งพระบาทบรมนารถบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัวในกรุงพระมหานครบวรศรีสัตนาคนหุตวิสุทธรัตนราชธาณีบุรีรมย มีมธุระจิตรสนิทเสน่หา มาถึงอัคมหาเสนาธิบดีศรีสุรชาติอันเปนบาทมุลิกากรบวรรัตนามาตยแห่งพระบาทสมเด็จเอกาทศรุทอิศวรบรมนารถบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัวในกรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธาณีบูรีรมย ด้วยวุฒิสวัศดิษรดั่งพระบวรพุทธสาศนาปรชานาราษฎร สัตรนิกรนัครวาศรีในกรุงพระมหานคร บวรศรีสัตนาคนหุตวิสุทธิรัตนราชธาณีบุรีรมย ก็ยังสวัศดิวิเสษด้วยเดชะพระรัตนไตรยคุณบุญสำภาราทานบารมีศิลาพระบาทสมเดจบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทุกสิ่งทุกปรการ ดั่งพระมหานครบวรราชราชธาณีท้งงสองหากเปนกะดาดทองทิพยอันเดิยวกัน แต่พระมหากระสัตราธิราชเจ้าท้งงสองกรุงหากได้สำพันทสัจปฏิญาณเอาพระศรีรัตนไตรยสหธาตุเจดียถานเปนสักขีพญาณ เท้าห้าพันพระวัดษาเปนปริยเสฏแต่ในอดิตกาลเมิ่อก่อน ดั่งกรุงเทพมหานครก็หากเปนแต่เวรนุเวรก็จึ่งเปนจุลาจลกุลาหล แก่อนาประชาราษฎรข้าขอบขันทเสมากรุงศรีสัตนาคนหุตก็เปนข้ากบถขัดสนซองทางเปนนิรันตรมิได้ขาด ในปีศักราชสามร้อยสิบเบดตัว จึงได้ให้อุปหาชสงครามมีอักษรไปถึงเจ้าพญานครราชศรีมา แลกรมการท้งงปวง เข้ามากระทำราชการช่วย ค่อยท้งงหลายอัคมหาเสนาพร้อมกัน กระทำฟาดตีเสียยังข้ากบถฝูงนั้นเขาก็ปราไชยพ่ายแพ้แตกไปต้งงอยู่ดอนมดแดง จึ่งหวะหวางซอกทางจึ่งได้รู้แจ้ง สมเด็จบรมนารถบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว ทรงทศมิตรราชธรรม์เปนอันยิ่ง จึ่งปไคหะเลิกยกวรพุทธสาศนาอณาประชาราษฎรได้อยู่เอย็นเปนศุขปรกะติดังเก่า ว่าด่งงนี้สมเดจบรมนารถบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัวในกรุงศรีสัตนาคนหุตกทรงพระโศรมนัศพิรมยในพระราชหฤๅไทยเปนอันยิ่งนักหนา จึ่งทรงพระราชจินดาพิรมย ถึงทำนองคลองพระราชประเพนีบให้ขาดราชไม้ตรี ในสมเด็จบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวในกรุงเทพมหานครเปนอันยิ่ง จึ่งเปสนานัตพญาไทรทรงยศทศบุรี พญาศรีรัตนาธิเดชไม้ตรีทูลจ่านำสุพรรณบัตรัตนราชสาร แลเครื่องศุภมงคลบรรณาการมาวัฒนะสวัศดา พระบาทสมเด็จบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวในกรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดีศรีอยุทธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธาณีบุริรมย เพื่อขอดทางพระราชไม้ตรีสืบ ๆ ไป ภายหน้ากับพระวษาเปนปริยเสฏสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว จึ่งทรงพระกรุณาใส่หัวค่อยท้งงหลายอรรคมหาเสนาแต่งพญาสุทธจิตรมงคล ท้าวแก้วเพลานำศุภอักษรมาถึงอรรคมหาเสนาธิบดิในกรุงเทพมหานคร โดยทำนองคลองราชประเวณีให้เปนเอกฉันทสะมัคคากัลยานิมิตรอันหนึ่งอันเดียวกัน ผี้แลกรุงศรีสะตะนาคนหุตหากเกิดมีเหตุการ กอย่าให้อรรคมหาเสนาธิบดีปะวาง เหตุการหากเกิดมีในกรุงเทพมหานครดั่งนั้น ค่อยท้งงหลายกบ่ปะวาง ปรการหนึ่งเจ้าพญานครราชศรีมา แลกรมการซอไว้ให้ช่วยทำราชการก่อนแลดั่งข้าไทมอญอันเข้ามาทำราชการอยู่ในมุกคาตาแสงแห่งกรุงศรีสัตะนาคนหุตนั้น ราชการหากสำเรจธิแล้วบริบวรเมื่อใด ค่อยท้งงหลายอรรคมหาเสนากจพรอมกันให้เมือใส้บ้านเมิองเลิกยกยอวรพุทธสาศนาประชาราษฎรข้าขอบขันธเสมามลฑลกรุงเทพมหานครปรกดิดั่งโบราณราชประเพณี แลดังหลวงวังแลไพร่ลาวมวงหวานญิ่สิบครัวนั้น ขอกับอรรคมหาเสนาธิบดีไว้เปนผู้ใช้ท่องเที่ยวไปมาจำเริญทางพระราชไม้ตรี ให้เปนเชื้อบ้านสายเมือง ฉันใดสมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวท้งงสองพระองค จทรงพระราชกัลยานีมิตรสนิทเสน่หา สถิตยเสถียรเคิยลคาอย่าให้เปนจลาวิจไลไปมาเพื่อให้อุภัยรัษฐาราชธานีท้งงสองคามคำโชตนาวรพุทธสาศนา สมณพราหมณาจารยปรชานาราษฎรสัตวนิกรนัครวาสี จได้อยู่เอย็นเปนศุขาภิรมยไซ้ไว้ในญาณวิสุทธิอุดมปัญาอัคมหาเสนาธิบดีท้งงปวงในกรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธาณีบูริรมยจงทุกปรการ สุพรรณบัตหนักห้อยเบี้ยอูบสุพรรณหนักเจ็ดบาทสวินหมากหูดถุงหนักห้าบาทสุวรรณคำรักษสามห้อยงาช้างสองคู่สาดเวียนสองผืนเปนเครืองศุภมงคลราชบรรณาการคำสองหลิ้มหนักสองห้อย เปนบรรณาการอัคมหาเสนาศุภอักษร ๏ ๚ะ๛


๔ ศุภอักษรเสนาบดีกรุงธนบุรีกำกับพระราชสาส์น

๏ ศรีสวัศดิสุภอักษรวสิฐ พิพิทรัตนอรรถธรรมรัศสิกอธิกธิโรตมโชตยสัมปชัญ อนันตคุณคณาธารสังคามวชิตสิทธิสุนธรบวรธรรมไมตรี อันมีในอรรคมหาเสนาธิบดีศรีสุรพงษจตุรงคนิกรบวรบริณายกรัตนามาตย อันเปนสมิปวาศในบาทมูลแห่งพระศรีสรรเพฯชสมเด็จบรมธรรมิกราชาธิราช พระเจ้ารามาธิบดีบรมจักรพรรดิษรบวรราชาธิบดินทรหริหรินทราดาธิบดี สวิบูลยคุณรุจิตรฤทธิราเมศวร บรมธรรมิกราชเดโชไชย พรหมเทพาดิเทพตรี ภูวนาธิเบศโลกเชฐวิสุทธ มกุฎประเทศคตามหาพุทธังกูร บรมนารกบรมบพิตร พระพุทธเจ้ากรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดีศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธาณีบุรีรมย มีมฤธุดาปราโมชจิตรสินิทสันทวะสหะปฏิวากย มาถึงอรรคมหาเสนาธิบดีแห่งพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตวิสุทธิรัตนราชธาณีบุรีรมย ด้วยพญาสุทธจิตรมงคล แลท้าวแก้วเพลา ถือศุภอักษรแลเครื่องคารวะบรรณาการมาจำเริญทางพระราชไม้ตรีแลไม้ตรีนั้น ครั้นได้แจ้งในลักษณศุภอักษรนั้นแล้วจึ่งนำเอากิจานุกิจท้งงนี้ปฤกษา ด้วยเสนาพฤทธามาตยราชกระวิ มนตรีมุกขลูกขุนท้งงปวงปฤกษาพร้อมกันว่า แต่ในกาลก่อนกรุงศรีอยุทธยากับกรุงศรีสัตนาคนหุต เปนแผ่นสุวรรณปัตพีเดียวเคยไปมาจำเริญทางพระราชไม้ตรีแลไม้ตรีต่อกันมิได้ขาด แลครั้นอยู่มาเปนเวรานุเวรแห่งกรุงศรีอยุทธยา แลกรุงศรีสัตนาคนหุตให้บังเกิดมีปัจจามิตรข้าศึกมาเบียดเบียนท้งงสองฝ่าย จึ่งขาดทางพระราชไม้ตรีแลราชประเวณี ดูจหนึ่งมีสุภอักษรอัคมหาเสนาธิบดีกรุงศรีสัตนาคนหุตลงมา แลครั้งนี้ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชอุษาหะเสดจได้ปราบอรินราชศัตรูหัวเมือง...ใหญ่/…น้อย แว่นแคว้นแดนกรุงเทพมหานคร นน้นก็ปลงพระไทยทำนุกอำรุงเพื่อจให้กระทำตามคลองบุรราชปรเพณีซึ่งมีมาแต่ก่อน แลเดชเดชานุภาพบารมี เพื่อจให้ประจักแก่ไพร่ฟ้าปรชากร ยกไปปราบปรามอริราชศัตรูหัวเมืองใหญ่...ใหญ่/…น้อย แว่นแคว้นแด่นกรุงเทพมหานคร นั้นก็ได้โดยสดวกง่ายอยู่สิ้นแล้ว แลบัดนื้มีศุภอักษรอัคมหาเสนาธิบดีณะกรุงศรีสัตนาคนหุต ลงมาจำเริญทางพระราชไม้ตรีแลไม้ตรีนั้น ควรให้รับเปนไม้ตรีสืบไปตามทางบูรพราชประเพณีซึ่งมีมาแต่ในกาลก่อน แลสืบดูกฎหมายอย่างธรรมเนียมกรุงศรีอยุทธยากับกรุงศรีสัตนาคนหุต ซึ่งเปนทางพระราชไม้ตรีแลไม้ตรีกันแต่ก่อนนน้น ได้เนื้อความว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงศรี...อยุทธยา/…สัตนาคนหุต แต่ก่อนสองฝ่ายฟ้าย่อมจำเริญทางพระราชศรีสวัสดิเปนสุวรรปัตพีเดียวสืบพระราชวงษากันมา แลครั้งนี้ขอให้มีพระราชสารแลศุภอักษรขึ้นไปว่ากล่าวตามบูรพราชประเพณี ซึ่งมีมาแต่ในกาลก่อนนน้น จได้เปนพระราชศรีสวัศดิในกรุงศรีอยุทธยาปรดุจหนึ่งพลอยพระมหาเพฯชรัตนอันสถิตยอยู่ณเริอนพระธำมะรงชมภูนุชธรรมชาติชาตรี ถ้าแลอรรคมหาเสนาธิบดีผู้...ใหญ่/…น้อย  ณ กรุงศรีสัตนาคนหุตเหนด้วยดูจหนึ่งเสนาพฤทธามาตยณกรุงศรีอยุทธยาปฤกษานี้แล้วกให้ช่วยทำนุกอำรุงนำเอาขึ้นกราบบังคมทูลสมเดจพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต ฯ จขอพระราชบุตรีมาเศกไว้ในที่อรรคมเหษีณกรุงศรีอยุทธยา สองฝ่ายฟ้าจได้พึ่งพระเดชเดชานุภาพพระบารมีเปนที่พึ่งพำนักนิแก่เสนาพฤทธามาตย แลอณาประชาราษฎรดูจหนึ่งเสวตรฉัตรแก้วแห่งท้าวมหาพรหมอันกางกั้นร่มเอย็นไปทั่วทิศศานุทิศ จึงนำเอาคำลูกขุนปฤกษานน้นขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาแต่พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวผู้ทรงพระคุณอันมหาประเสริด ทรงพระมหากรุณาดำหรัดเหนือเกล้า ฯ สั่งว่าให้ทำตามปฤกษาแลให้แต่ง...ราชทูต/…อุปทูต /...ตรีทูต จำทูลพระราชสาร แลศุภอักษร แลเครื่องมงคลราชบรรณาการขึ้นมาให้แจ้งจงทุกประการ แลบัดนี้แต่งให้...พระสุนธรไม้ตรีราชทูต/…หลวงภักดีวาจาอุปทูต/...ขุนพจนาพิมลตรีทูต  จำทูลพระราชสาร ขึ้นมาจำเริญทางพระราชไม้ตรีแลไม้ตรีตามราชปรเพณียซึ่งมิมาแต่ในกาลกอร ตามซึ่งลูกขุนปฤกษาเหนพร้อมกันนั้น แต่ข้อซึ่งว่ามีปัจจามิตฆ่าศึกมาเบิยดเบิยนกรุงศรีสัตนา คนหุต แลจขอเจ้าพญานครราชสิมาไว้ช่วยราชการนัน พระบาทสมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัวทรงพระคุณอันมะหาประเสริด ได้มีราชสารขึ้นมาแจ้งอยู่ทุกประการแล้ว แลข้อซึ่งว่าขอหลวงวังแลใทมอรลาวม่วงหวาน ๒๐ ครัวไว้เปนคนใช้สอยไปมาจำเริญทางพระราชสัมพันทมิตรไม้ตรีนั้น เนื้อความข้อนี้มิควร ไม่ได้นำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัวหามิได้ ถ้าแลอรรคมหาเสนาธิบดี ณกรุงศรีสัตนาคนหุตทำนุกบำรุงกรุงท้งงสองฝ่ายฟ้า ได้เปนบรมกัลยานิมิตรสนิจเสน่หาดูจนึ่งกาลก่อนแล้ว ถึงจเอาหลวงวังแลลาวม่วงหวานซึ่งขอไว้นั้นก็ได้อยู่ อนึ่งราชการบาลเมิองกรุงศรีอยุทธยาทุกวันนี้ จใด้คิดอ่านการสงครามตอบแทนแก่กรุงรัตนบุระอังวะเปนการใหญ่ แลจต้องการม้าใหญ่ศอกนิ้ว ๓๐๐ ม้าแลให้อรรคมหาเสนาธิบดีณกรุงศรีสัตนาคนะหุตช่วยทำนุกบำรุงจัดม้าส่งลงมาให้ได้ตามซึ่งต้องการนั้น จเปนราคาประการใดให้ช่วยทดรองจึงจเบิกเงินณพระคลังส่งขึ้นมาให้ครบตามซึ่งได้ทดรองนัน แลแต่ก่อนกรุงศรีอยุทธยากับกรุงศรีสัตนาคนะหุตยังมิได้เปนพันธุมิตร แลบัดนี้กรุงท้งงสองใด้เปนพันธุมิตรสนิทเสน่หาจำเริญพระราชสัตยาณุสัตยต่อกันอยู่แล้ว มาถแม้นกรุงศรีอยุทธยาจมีกิจการณรงสงครามปรการใดให้เปนภาระทุระแห่งอรรคมหาเสนาธิบดีณกรุงศรีสัตนาคนหุต ถ้าแลกรุงศรีสัตนาคนหุด จมิการนรงสงครามปรการใด กจเปนพาระทุระแห่งกรุงศรีอยุทธยา แลเมิองท้งงสองฝ่ายฟ้าใดเปนทิพกัลยานิมิตรสนิจเสน่หาต่อกันดูจหนึ่งแต่ก่อรอยู่แล้ว ถ้าจมีการนรงสงครามปรการใดให้ช่วยกันอย่าให้ละวาง กันเสียตามบุราณราชประเพณี ซึ่งมีมาแต่ในกาลก่อน เครื่องมงคลราชบรรนาการให้ขึ้นมาพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต พระวิสูดพื้นเหลิองระใบปักทองยีปุ่นเคริอต้นไม้ผืนหนึ่ง อานม้าพื้นดำลายทองเครื่องตะกูทองผู้แดง จามจุรีสำรับนึ่ง แพรกระบวนพื้นม่วงผุดทองตาตักกะแตนม้วนนึ่ง แพรกระบวรพืนแดงดอกพุดตานม้วนนึงปืนสั้นแฝดหญ่างยิปุ่นองคนึง ห้าสิ่งเปนเครื่องราชบรรณาการ สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวส่งสิ่งของให้ขึ้นมานอกเคริ่องราชบรรณาการในี แพรพื้นน้ำเงินใหมกี่งไม้สองม้วน แพรพื้นดำลายทองสองม้วน แพรพื้นดำผุดใหมกี่งไม้สองม้วร ผ้าขาวม่ารสาบสองตรา ผ้านำกีงลายสอง ศรีต่างกันเก้าพับ ผ้านำกี่งขาวแปดพับ แพรจินศรีต่างกันแปดพับ ผ้านำกึงดอกคำแปดพับ เจียมลายสองพื้นเหลิองรูปใกฟ้าผืนนึ่ง ชามเบญรงสามหย่างสิสิบใบ ถ้วยเบญรงกลิบบัวสองหย่างสี่สิบใบ ช้างพลายพังสิบช้าง เบี้ยคิดเปนเงินห้าชั่ง พระราชทานเสนาบดีคิดเปนเงินห้าชัง เข้ากันเปนเงินสิบชั่ง แลซึ่งเสนาบดีให้ทองห้อยลงไปถึงเราสองลิมนั้น เราจัดได้ผ้าขาวตรา แลแพรขึ้นมาแก่เสนาบดีในีแพรพื้นแดงผุดลายกิ่งไม้สองม้วน แพรพื้นแดงผุดใหมเหลิองลายกึ่งไม้ม้วนนึ่ง แพรลิ้นลายศรีต่างก้นสามพับ ผ้าขาวยาวสามสิบแขน คงปักสองตรา แลเบี้ยซึ่งให้ขึ้นมานั้น ช้างทิส่งลงไปนั้นน้อย ให้ขึ้นมาไว้แก่พญานครใชศรีเมิองบัวชุมให้เสนาบดีแต่งช้างแลคนลงมารับ เอาเบิ่ยต่อพญานครใชสินนเมิองบัวชุมเถิด ศุภอักษรมาณวัน ๓ฯ ๖ ค่ำจุลศักราช ๑๑๓๓ ปีเถาะตรีนิศก ๏ ๚ะ๛


๕ ศุภอักษรเสนาบดีกรุงธนบุรีรับรับสั่ง มีไปถึงเสนาบดีกรุงล้านช้าง

๏ ศุภอักษร บวรมงคลวิมลพจินสภาสิตสหิตนิกรบวรรัตนกถาปรมาพิฌาไศรย ในอัคมหาเสนาธิบดีนธรณรินทรามาตยอนเปนสมิปวาทบวรบาทมุลิกากรบวรรัตนามาตย แห่งพระบาทสมเด็จเอกาทศรทอิศวรบรมนารถบรมบพิตร พระพุทธิเจ้าอยู่หัวณกรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุทธยามหาติหลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมยอุดพระราชมหาสถาน มิโสมนัศมาแต่อัคมหาเสนาธิบดี กรุงศรีสัตนาคนหุตวิสุทธิรัตนราชธานีบุรีรมย ด้วยมีพระราชโอการมารพระบันทูลสูรสิงหนาถตำหรัดเหนือเกล้า ฯ สั่งว่า พม่ายกพลมาทำรายทางเมิองตากบ้านรแหงแขวงเมิองกำแพงเพฯชฝ่ายเหนือทางนึ่ง มาทางลันเตท่าดินแดงแขวงเมิอง...กาญบุรี/… สีสวัด ฝ่ายตวันตกทางหนึ่ง แต่พระเดษเดชานุภาพแผ่ไปยังไม่พจน ลาวมอญกอันตรายฆ่าฟันอ้ายพม่าล้มตายยับเยินสิ้น ฝ่าย...มอญ/…ลาว ภาเอาเรือ...รบ/…ไล่ ช้างม้าเครื่องสรรพยุทเข้ามาให้ทูลเกล้า ฯ ถวายขอเปนข้าขอบขันทเสมากมีบ้าง ที่ภาครอบครัวอพยบเฃ้ามาสู่พระบรมโพธิสมภารอยู่ในแดนฃ้างนี้กมีบ้าง ที่ต้งงต้านต่อตีรบพม่าเฃ้าไปกมีบ้าง อันพระเดษเดชานุภาพแผ่ไปถึงมอญลาวแล้ว ๆ...พญาจ่าบ้าน/…พญาลำพูน แลลาวแว่นแคว้นเมิอง...เมิองเชียงใหม่/…เมิองลำพูน กสวามีภักดิฆ่าพม่าเสิยขอเปนข้าขอบขันทเสมา พระบาทสมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัวสิ้น ยังแต่โปชุพลาแม่กองทับ กับมะยุงวนเจ้าเมิองเชิยงไหม่นั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัว กจเสด็จขึ้นไปสังหารเสียให้สิ้น ใหอัคมหาเสนาแลเสนาบดีทูลพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต ให้คอยฟังฃ่าวเอา อันพระเดษเดชานุภาพทุกวันนี้กอประด้วย...วิยาคุณ/…ปัญาคุณ/ ...อุเบกขา ประดุจหนึ่งทรงจักแก้วพระขันทแก้วชามเสียซึ่งทาวพระญามหากระษัตร ไนสกลชมภูทวิป สาอไรแก่กรุงบุรัตนอังวะ ปรการไดที่ใหญ่กวากรุงรัตนบุระอังวะกดีทิจงพระไทยแล้ว เหนไม่พ้นเงิอมพระหัษฐ บัดนี้หมายพระไทอาจขึ้นไปเอากรุงรัตนบุระอังวะมาใช้เปนข้า แตกรุงศรีสัตนาคนหุต เปนกัลยานิมิตรสนิดเสน่หากับกรุงเทพ ฯ มาแต่ก่อนแล้ ละคลองราชปรเพณีเสีย เปนไจไปด้วยพม่ากรุงอังวะนั้นพระบาทสมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวยังไป่เสิยคลองทางราชประเพนีก่อน จึงให้ส่งลาวกรุงศรีสัตนาคนหุตซึ่งพม่าเอาไปมัดผูกจำจองขึ้นมาให้อัคมหาเสนาแลเสนาบดีทูล ถวายพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตให้เร่งเปนใจไปด้วยกรุงอังวะ จงเกนกองทับไปช่วย...โปชุพลา/…โปมยุง่วน ณเมืองเชียงไหม่ ฝ่ายพระบาทสมเดจพระพุทธิเจ้าอยู่หัวจขึ้นไปตี ปรการหนึ่ง เร่งตัดถ้าทางขนเฃ้าปลาเสบิยงอาหารอย่าให้กองทับไทไปถึงกรุงศรีสัตนาคนหุต ประการหนึ่ง จงโอบอ้อมเอาไทฃ้าขอบขันทเสมากรุงเทพ ฯ ไว้จได้กันกรุงศรีสัตนาคนหุตเหนจรุ่งเรืองเปนไหญ่เพราะเปนไจไปด้วยพม่าแท้อย่าไห้ใพร่เมืองลาวเปนศุกได้ แตไพร่เมิองลาวเฃ้าไปสู่พระบรมโพธิสมภารปรมานหมืนหนึ่งแล้วบัดนี้ได้ส่ง...พญาหลวงเมิองแสน/…พญาหารอาษา/...พญาจันทอง/…พญาโคต/...พญาบุตโคต/…แวงบาวบูรภา/...ทัพหมูเตริยมทา  กับไพร่...ชาย ๖๑/…หญิง ๓ ๖๔ คน ขึ้นมาไห้อคมหาเสนาแลเสนาบดีทูลถวายแต่พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตตามรับสั่งสุภอักษรมาณวัน ๖ ฯ ๑ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๓๖ ปี มเมิยฉอศก ๛

๏ ไห้พญาหลวงเมิองแสนถือไปลานช้าง๏ ๚ะ๛



๖ พระราชสาส์นศรีสัตนาคนหุต

๏ พระราชสาร ษาขินทศิกขรปวระชมภูพฤกษอติกนันถิตะบุบพิตา วิกสิตะวิโรจนะโชติมหันตะมหาอนันตคุณ วิบุลมนุญสุระธระปวรศุกขวัทน หิตะนิจการะนรหัฎปัศนาการะสารสุธรรมคำภิร โชติวรสำภาราดิเรก อเนกอนันตมหันตเหฬารพิสารวชิรปติมันทิตพิจิต จันทวระลักขปะรมาสารสิทหิตธรรมไม้ตรี ในสมเด็จนรมบพิตรพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตวิสุทรัตนราชธานีบุรีรมย บรมนาฎบพิตรกิจนาสุภาวิตะสัตะนิตรมิตะธรรมไม้ตรีสริปจานุตมสำมาคมะ สมเดจพระมหาเอกาทศรุธอิศวรบรมนาฏบรมบพิตรพระมหานครทวาราวดีศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมยอุดมษามีศรีสุพรรณรัตน พระเจ้าประสาททองเจ้าไชยมหามังคะละรัตนวิสุทธิเสตกุญไชยบพิตร สถิตยในบรมมหาสถานอันมหาปรเสริฎ ในศักราช ๑๑๓๔ ตัวนั้น กจึ่งได้สนทนาในพระราชหฤๅไทยถึงทำนองคลองพระราชไม้ตรีแห่งกรุงเทพ ฯ แต่ในกาลเมื่อก่อนกหากได้เปนพันทมิตรสนิจเสน่หาบได้ขาดยังราชประเพนี จึงได้เปสิตาราชทูตาจำทูลสุพรรณบัตรรัตนพระราชสาร แลมังคลบรรณาการวัฒนากรุงเทพ ฯ เพิ่อไม่ให้ขาดเสียยังราชปรเพนีปรการหนึ่ง ดั่งเจ้าพญานครราชศรีมาก็ยังจำเริญทางพระราชไม้ตรีบได้ขาดแท้ มาจนถึ่งศักราช ๑๑๓๕ ตัวนั้น โปชุกพลากถือมหันตโยธามาขมเหงกรุง ฯ ศรีสัตนาคนหุต กเปนโทรมนัศทุกขาแก่ปรชากรขมเหงเอาพระราชบุตรท้งงเสนาอำมาตย ไปกรุงรัตนบุระอังวะกค้างคาอยู่ โปชุกพลาก็ยกถอยหนีจากกรุงศรีสัตนาคนหุต ไปต้งงอยู่เชิยงใหม่ จึ่งแต่งให้โปมาว่า โปชุกพลาจยกกองทัพไปรบเอากรุงเทพ ฯ ให้กรุงศรีสัตนาคนหุต เอากำลังเข้ามาทางเมืองนครราชศรีมาว่าดั่งนี้ ก็จึ่งได้รำพึงถึงทำนองคลองราชปรเพนีแห่งพระมหากระษัตราธิราชเจ้าแต่กาลเมิ่อก่อนสืบมา ดั่งกรุงศรีอยุทธยาแลกรุงศรีสัตนาคนหุตสองกรุงบห่อรเปนเวรานุเวรแก่กัน จึ่งขัดสนเสิยบถือเอาถอยคำฝูงนั้น จึ่งได้บอกเสนาอำมาตยมิศุภอักษรไปถึงเจ้าพญานครราชศรีมาเล่ากิจานุกิจทุกปรการ อยู่มาศักราช ๑๑๓๖ ตัว สมเดจพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา จึ่งมิเมตากรุณาถึงทำนองคลองราชประเพนีแห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต ทรงพระกรุณาตรัสเหนิอเกล้า ฯ เจ้าพญานครราชศรีมาจึ่งแต่งกรมการมีศุภอักษรส่งพญาหลวงเมิองแสน มาถึงกรุงศรีสัตนาคนหุต ณเดือนยี่แรมสองค่ำนั้นได้แจ้งยังวัจนคดีอันมีในศุภอักษรทุกประการ จึงมีโสมนัศษาปราโมฎโชตนาการ ถึงทานบารมีพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยายิ่งนักหนา จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ อัคมหาเสนาพร้อมกับอริยสงฆราชครูแต่งแปลงสืบไว้ยังทางพระราชไม้ตรีเพิอหมิให้ขาดเสิย ยังราชประเพนี เหตุว่าสองกรุงหากได้วัฒนาปรำปราสืบ ๆ มา จึ่งได้เปสิตา พญาสุธาราชาจาบ้านปัญามงคลพญามหาอำมาตยสุรตังรไม้ตรี จำทูลสุพรรณบัตรรัตนพระราชสารมงคลบรรณาการวัฒนสวัสดิสมเด็จพระเจ้าในกรุงเทพ ฯ เพิ่ออุภัยรัฎจให้เปนสุพรรณบัตเอกอัญมัญสืบ ๆ ไป ประการหนึ่งดั่งข้าไพร่กรุงเทพ ฯ อนพ่ายมาพึงกรุงศรีสัตนาคนหุต นั้นก็บได้ปองกันเข้าไว้แต่ก่อน พญานครราชศรีมา จคืนมาส้างบ้านเมิองกได้บอกป่าวร้องเขาคืนไปท้งงปวงว่าดั่งนี้ ฝูงเขาหมิยากไปเขาจึ่งลับลี้อยู่ ฝูงเขาสมักไปกมีอยู่มากหลายกให้คืนไป เจ้าพญานครราชศรีมาคืนไปถึงบ้านเมิองแล้ว จึ่งใช้กรมการมาขอเอากได้บอกป่าวร้องกะเกนเอาไป ทีหลังใช้ซ้ำมากได้บอกป่าวร้องหัวบ้านหัวเมืองส่งให้กมากหลาย อันยังค้างคาอยู่บัดนี้แต่ฝูงทุกขยากอดหยากเขากลี้ลับอับอยู่ ขวนขวายเลี้ยงชิวิตรอินทรีแห่งเขากหมีได้กฎหมายจำนวรไว้ ปรการหนึ่งเมิ่อใดราชบุตรราชนัดา แลเสนาอำมาดยอันไปค้างคาอยู่กรุงรัตนบุระอังวะนั้นหากคืนมาถึงบ้านเมืองเมิอใด กจบอกเสนาอำมาตยพร้อมกันแต่งการนำเคริองมงคลราชาภิเศกสมเด็จพระเจ้ากรุงเทพฯ เพิ่อให้หมั้นคง ๑๒๐ พระวะษา ให้ชำระปราบทั่วไปในสกลชมภูทวิปท้งงปวง อนึ่งดั่งข้าไปจจัดทอนโรมไว้จให้พร้อมกันบัดนั้น ประการหนึ่งดั่งพระราชบุตรพระราชนัดดาเสนาอำมาตยฝูงค้างคาอยู่กรุงรัตนบุระอังวะนั้น หากยังดั้นจอนมาถึงบรมโพธิสมภารกรุงเทพฯ เมิ่อใดขอให้มีเมตากรุณาทุกประการ อนึ่งข้าไพร่กรุงศรีสัตนาคนหุตอันได้กลัวม่ารเมงพ่ายเข้ามาพึงโพธิสมภารกรุงเทพ ฯ นั้น ขอให้เขาคืนมาส้างแปลงที่บ้านเก่าเมิองหลัง ขอให้สืบต่อยังทางพระราชไม้ตรีไว้อย่าให้ขาดไปประการใดสองกรุงจะวัฒณพันธุมิตรสนิดเสน่หาญาวะปันจสะหัศะพระวะษา ปัจารัฎวัฒณศุกขานุศุขไส่ไว้ในราชปัญาสมเดจบรมบพิตรพระเจ้ากรุงเทพฯ ทุกประการเสรจอย่าให้ช้าจถ้าสวณบรมราชาพจนมานานุสาสนทิศักราช ๑๑๓๖ ตัว เดิอนสิแรมหกค่ำวันพุทปีมเมียฉอศก ฯ๏ ๚ะ๛


๗ พระราชสาส์นกรุงธนบุรีมีตอบไป

๏ พระราชสารสุนธร ในพระนครศรีอยุทธยาปฏิวากยเปสิตาการ พระราชสารมาแต่อิศวรภาพมงกุฎพระนครศรีสัตนาคนหุต ด้วยพญาสุทธาราชาจ่าบ้านปัญามงคล พญามหาอำนาตสุรตังระไม้ตรีจำทูลพระสุวรรณบัตรัตนพระราชสารเคริองศุภมงคลบรรณาการลงมากได้ทัศนาเสรจสิ้นทุกประการครั้นแจ้งซึ่งกิจการแล้ว จึ่งสืบพม่าแม่กองทัพซึ่งจับมาได้ครั้งนี้ให้การแจ้งซึ่งความคุยรหัศแล้วก็โทรมนัศขัดแค้นกระมลราชหฤๅไทยเปนใหญ่หลวง ว่าต้องข่มเหงเสียราชบุตรราชนัดดาไป ใม่เลิ้ยงดูอดสูแล้วหมี่หนำซ้ำให้ส่งบรรณาการดอกไม้ทองเงินอีกเล่า ถ้ามิใช่พระเจ้านครศรีสัตนาคนหุตก็จะสู้เสียพระชนที่ใหนจะทนทานมาได้ถึงเพียงนี้ ควรที่เสวยพระสุชลธาราอยู่แล้ว แต่ทว่าครั้งนี้นครศรีอยุทธยาขออาษา ให้แต่พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตบำรุงมาโดยราชทรัพย์ช้างม้ารี้พลบ้าง ฝ่ายพระนครศรีอยุทธยากับกรุงกำภูชาธิบดีขอรับประกันตีเอากรุงรัตนบุระอังวะเชิญเสดจพระราชบุตรพระราชนัดดาส่งถวายไป ถ้าพระเจ้านครศรีสัตนาคนหุตเหนหาชะนะพม่าไม่กลัวไภยแปดพระนครก็เร่งส่งกิจจานุกิจไปให้กรุงอังวะยกลงมาประจลกัน จะได้ทัศนาท้งงสองฝ่าย ซึ่งฝ่ายพระองคทรงพิภพเปนหลักอิศวรภาพมกุฎพระนครศรีสัตนาคนหุตสุดบูรรพทิศอยู่แล้ว แลจะมานิ่งทรมานอยู่จหมี่กู้พระนครคืนก็ดูอัศจรรย อันฝ่ายนครศรีอยุทธยาหาเงิอดงดไม่จะต้านต่อทำไปกว่าจะได้กรุงอังวะ ขอพระองคจงรู้ซึ่งราชหฤๅไทย ประการหนึ่งซึ่งทรงพระกรุรณาการุญภาพมาเปนคลองทางบูรรราชประเพณินน้นชื่นชมโศรมนัศยินดีจะได้มีวิจิกิจฉากังขาราคีในองคอิศวรภาพมกุฎพระนครศรีสัตนาคนหุต ประการใดประการหนึ่งหามิได้ ขอให้อยู่ในตำริพระผู้พงษแก่นบูราณกระสัตรจงทุกประการ แต่สงไสว่าถ้าไม่ทรงพระกรุณาช่วยกันล้างพม่าให้มหานครศรีสัตนาคนหุตพ้นจากทาษมาเปนไทยก่อน แลจภาพระนครศรีอยุทธยาตามไปเปนเขยทาษกรุงอังวะดังฤๅ ก็หมี่เตมราชหฤๅไทย ปรการใดจชอบจควรกขอให้อยู่ในตำริราชปัญาพระเจ้านครศรีสัตนาคนหุตจงทุกปรการ พระราชสารนิพันทสมฤทธิเปสิตาภาวกาลบริเฉท ตยุลศักราชสัตตะดึงษสตาธิกะสหัสสะอัชะสังวัจฉะระเชษฐมาศสุกขปักข ปาฏิบทตฤถีภูมวาร ภูมิปาลนักขัตฤกษศรีสวัศดิ


หัวข้อ: Re: จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 05 พฤษภาคม 2563 17:42:52

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/14850401961141_spd_2012090285139_b_1_320x200_.jpg)
๘ ศุภอักษรเสนาบดีกรุงศรีสัตนาคนหุตกำกับพระราชสาส์น

๏ ศรีสุวสัตยะวะจะนิยะปิยะมนาปาพิสิถะนารถพิสารพิสุธาพิรมย พรหมสุจริตหิตถะสุชนาภารุสุจัตถหัศ นัตถะสำมัคคคามัย ภัยภิระวิระหิตา ในอรรคมหาเสนาธิบดีศรีสุชนะสปรุศชุติสามิปวาสบาทมูลแห่งพระบาทสมเดจบรมนารถบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว ในกรุงพระมหานครบวรศรีสัตนาคนหุตวิสุทธิรัตนราชธาณีบุรีรมยอุดมสวามี มีมธุระจิตรสนิทเสน่หา มาถึงอัคมหาเสนาธิบดีศรีสุณชาติอันเปนบาทมุลิกากรบวรรัตนามาตแห่งพระบาทสมเด็จเอกาทศรถอิศวรบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวในกรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพราชธาณีบุรีรมย ด้วยวุทธิสีสวัศดิบัดนี้มีพระราชจินดาถึงทำนองคลองบุราณกระสัตราธิราชเจ้าท้งงหลายเมื่อก่อนผ่อนคลองพระราชปรเพณีศรีวรกัลยาไม้ตรี ในปีศักราช ๑๓๒ ตัวนั้น สมเดจพระพุทธเจ้าในกรุงพระมหานครบวรศรีสัตนาคนหุต กทรงพระราชจินดาพระราชหฤๅไทยในทางพระราชไม้ตรีเปนอันยิ่ง จึ่งทรงพระกรุณาตรัสใส่เกล้า ฯ พญาไทรทรงยศทศมงคล พญาศรีสัตนาธิเบศรจำทูลสุพรรณบัตรัตนราชสาร แลมงคลบรรณาการมาวัฒนะ สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัว ในกรุงเทพพระมหานครกได้แจ้งยังกิจราชการทางพระราชไม้ตรีพระมหากระสัตราธิราชเจ้าทั้งสองกรุง เจ้าพญานครราชศรีมา ก็จำเริญสืบพระราชประเพณีมาหมี่ได้ขาด ในปีศักราช ๑๓๔ ตัวนั้นในกรุงศรีสัตนาคนหุต โปชุพลาก็ยกรี้พลพหลโยธามามากหลายเปนคลองข่มเหงบ้านเมิอง ด่งงข้าไพร่กอยู่เปนบั่นเปนท่อนม่านก็ยกกองทัพไปข่มเหงบ้านนอกเมิองนา ไพร่น้อยค่อยเมิองกเปนโทรมนัศอดสูทนาพระพุทธสาศนาจเปนจุลวิจุลไป ด้วยม่านท้งงหลายหากมาล้างลดเสียแล้ว จหายเวรานุเวรแห่งอณาปรชาราษฎรว่าด่งงนี้ สมเดจพระเจ้าอยู่หัวจึ่งได้แต่งยังเจ้าราชบุตรอุดมโอรศแลราชนัดดาเสนาอำมาตยขึ้นไปแต่งแปลงถึงกรุงอังวะ ด่งงพญาหลวงเมิองแสนม่านกนำมาถึงเชิยงใหม่แล้วสมเด็จพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต ให้ต้งงค่ายกวาดครัวเข้ามาอยู่ในกรุงศรีสัตนาคนหุตเพื่อดั่งนน้น อยู่มาศักราช ๑๓๖ ตัวเดือนแปดขึ้นเก้าค่ำโปชุพลาแต่งม่าน ๓๐๐ นำหนังสือแต่อังวะมาถึงว่าให้มหากระสัตรเมืองจันบุรีแต่งเสนาอำมาตยยกรี้พลกำลังเข้ามาตีทางเมืองนครราชศรีมา กองทัพหลวงจะยกเข้าทางเมืองตากบ้านรแหงจึงให้ไปพร้อมกันที่กรุงศรีอยุทธยาว่าดั่งนี้ พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตทรงพระจินดาถึงทำนองคลองบุราณราชประเพณี ดั่งอุกัยรัฎราชธาณีหากเปนกระดานทองทิพอันเดียวกันแก่พระมหากระสัตราธิราชเจ้าเมิ่อก่อน หากได้กระทำมิศพันทให้สัจปฏิยานเอาพระศรีรัตนไตรเปนที่ต้งงยังพระมหาทาตุเจดียเปนศักขีพญานท้าว ๕๐๐๐ พระวษาเปนปาริเฉทอัติการนั้นแล บัดนี้จให้เปนวิวาษวาทารพตีกันก็ไม่สมไม่ควร จึ่งละปะเสียยังถ้อยคำอันนั้นจึ่งส่งไปด้วยดี เขาได้ความฉิบหายอรทารหายไปด่งงพญาหลวงเมือง จึ่งภาท้าวเพี้ยบ่าวไพร่เข้าไปถึงบาทมุลิกากร แห่งสมเดจพระพุทธเจ้ากรุงเทพมหานคร ทรงพระราชจินดาถึงทำนองคลองพระราชปรเพณีเปนอันยิ่ง จึ่งทรงพระกรุณาตรัศเหนิอเกล้า ฯ ให้เจ้าพญานครราชศรีมาแต่งการส่งพญาหลวงเมิองแสนเข้ามาถึงกรุงศรีสัตนาคนหุตด้วยวุธิศรีสวัศดีกได้พร้อมกันชมชื่นยินดีต้อนรับตามฤทตามกองทุกเยิองทุกปรการ จึ่งพร้อมกันนำขึ้นกราบทูลพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตได้แจ้งในศุภอักษรนั้นแล้ว ทรงพระโสมนัศปิติปราโมชในคลองราชไม้ตรีสมเดจพระพุทธเจ้ากรุงเทพมหานครเปนอันยิ่งคนักหนา จึ่งทรงพระกรุณาใส่เกล้า ฯ ให้พญาศรีสุทาราชาจ่าบ้านปัญามงคล พญามหาอำมาตสุรตังไม้ตรีจำทูลพระสุพรรณบัตรัตนราชสาร แลเคริ่องศุภมงคลราชบรรณาการ มาจำเริญสมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรุงเทพมหานครฯ จึงแต่งให้พญาสุพัณปัตมงคล พญาสุพันทมิตไม้ตรี ทาวตัง นำสมณสารมาสำปตาสมาคมสมเดจอรรควรราชครูเจ้าท้งงปวง แลศุภอักษรมาวุธถึงอัคมหาเสนาธิบดีในกรุงเทพ ฯ ขอให้นำขึ้นกราบบังคมทูลพระเจ้ากรุงเทพ ฯ ประการหนึ่งดังฃ้าไพร่กรุงเทพได พ่ายหนีไปพึ่งกรุงศรีสัตนาคนหุตนั้น เมิ่อเจ้าพญานครราชสิมาจกลับคืนมาบ้านมาเมิอง กจัดเอาครอบครัวมามากหลายอยู่ ภายหลังมาเจ้าพญานครราชสีมาแต่งให้กรมการเข้ามาขอเอากได้พร้อมกันป่าวร้องทุกบ้านทุกเมิองใด้เกบส่งให้เอามา บัดนี้กยังแต่ฝูงทุกอดยากซ่านเซนเร้นซ่อนอยู่ใม่ได้กำนฎกฎหมายไว้ บัดนี้พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตกยังคอยถ้าราชบุตรราชนัดา ซึ่งค้างอยู่ณกรุงอังวะนั้น ถ้าได้คืนมาถึงบ้านเมิองด้วยบุญแก้วสามปรการเมิ่อใดพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตบให้ขาดเสิยยังทางพระราชไม้ตรี จได้แต่งแปลงยังเสนาอำมาตราชโอรสนำพระสุพัณบัตรัตนราชสารเคริ่องมงคลราชบรรณาการ พร้อมกับอัคมหาเสนาธิบดีศรีสูรชาติอดิเรกมงคล สมเด็จพระพุทธเจ้ากรุงเทพ ฯ ซ้ำให้ทรงทิพอายุยืน ๑๒๐ พระวษา ให้ฤๅชาปรากฎไปในสกลชมภูทวิปท้งงปวง ดั่งไพร่ฝูงยังคางอยู่มากน้อยเท่าใด ให้โอบอ้อมพร้อมมูลบัดนั้น ปรการดังพระราชบุตรพระราชนัดาแลเสนาอำมาตยังค้างอยู่กรุงองวะนั้น ดั้นจอรมาถึงกรุงเทพฯ พึ่งพระบรมโพธิสมภารขอให้อัคมหาเสนาบดีผู้ใหญ่ มีความเมตาทุกเยิ่ยงทุกปรการ อนึ่งดั่งไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินกรุงศรีสัตนาคนหุต อันกลัวม่านเมงพ่ายแตกเข้าไปพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้ากรุงเทพ ฯ ขอให้คืนไปบ้านเก่าเมิองหลังทำมาหากินสืบทางพระราชไม้ตรีไว้ตามบุราณราชปรเพณีอย่าให้ขาดปรการใด พระเจ้าท้งงสองพระองค์จทรงพรกัลยานิมิตรสถิตเสถียรเวียรการในวรพุทธสาศนา สมณพรามณาปรชาราษฎรสัตววนิกรอันอยู่ในเมืองท้งงสองกรุง ฯ จใด้อยู่เอยนเปนศุขไว้ในปัญาอัคมหาเสนาธิบดีกรุงเทพ ฯ ทุกเยิ่ยงทุกปรการ เคริ่องบรรณาการ งาช้าง ๔ กิ่ง สาศ ๒ ผืน พระสุพัณบัตหนักทอง ๑๐๐ เบี้ยว่าหนัก ๓ l…ผอํบพระสุพัณบัตหนักทอง ๑ l ๓  มากหุดสวิงหนักทอง ๑ l ๑  สุวรรณคำหักหนักทอง ๓ ห้อยว่าหนัก ๗ l ๒ 
ทองคำ ๒ ลิ่มหนัก ๒ ห้อยว่าหนัก ๕ l…  มาวัฒณนำศุภอักษรมาถึงท่านอัคมหาเสนาธิบดี ศักราช ๑๑๓๖ ตัวเดือน ๔ แรม ๖ ค่ำ วันพุทปีมเมียฉ้อศก๚ะ๛



๙ ศุภอักษรเสนาบดีกรุงธนบุรี กำกับพระราชสาส์นมีไปกรุงล้านช้าง

๏ ศุภอักษร บวรมหามงคลวิมลกะถา ในอัคมหาเสนาธิบดินทร นะรินทรามาตย ผู้บาทธมูลิกากร เอกาทศรฐบพิตรพระพุทธิเจ้ายูหัว ณกรุงศรีอยุทธยาชื่นชมโสรมนัศมาแต่อัคมหาเสนาธิบดีณกรุงศรีสัตนาคนหุต ด้วยพญาศรีสุธาราชาจ่าบ้านปัญามงคล พญามหาอำมาตยสุรตังไม้ตรี พญาสุพรรณปัดมงคล พญาสุพันทมิตรไม้ตรี ท่าวตัง จำทูลพระสุพรรณบัดสุวรรณรัตนราชสาร เครื่องศุภมงคลราชบรรณาการ แลเชิญสมณสารถือศุภอักษรลงมาจำเริญทางพระราชไม้ตรีโดยบูรพราชประเพณี พร้อมกันมาถึงกรุงเทพพระมหานคร ณวันจันทเดือนหกแรมสิบห้าค่ำปีมแมสัพศกนั้นกได้ช่วยทำนบำรุง เชิญสมณสารไปถวายแก่สมเด็จพระสงฆราชาคณะ ๆ เข้ามาถวายพระภรตามสมณกิจแล้ว ๆ ได้ภานำพญาศรีสุธาราชาจ่าบ้านปัญามงคล พญามหาอำมาตสุรตังรไม้ตรี พญาสุพัณปัดมงคล พญาสุพันทมิตรไม้ตรี ทาวตัง เข้าทูลอองทุลีพระบาทเฝ้าทูลเบิกถวายพระสุพรรณบัดสุวรรณรัตนพระราชสาร เครื่องสุพมงคลราชบรรณาการแล้ว ๆ อ่านศุภอักษรกราบทูลพระกรุณาถวาย ครั้นแจ้งซึ่งลักษณพระราชสารแล้ว ทรงพระกรุณาให้สืบพม่าแม่กองทัพซึ่งจับมาได้ครั้งนี้ ให้การกราบทูลพระกรุณาต่อน่าทูตานุทูต เปนการคุยรหัศกโทรมนัศขัดแค้นพระราชหฤไทย ให้พระสุนธรใม้ตรีราชทูต หลวงภักดีวาจาอุปทูต ขุนพจนาพิมลตรีทูต จำทูลพระสุพรรณบัดสุวรรณรัตนพระราชสาร แลเคริ่องสุพมงคลราชบรรณาการขึ้นไปถวายแต่พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต ให้อัคมหาเสนาธิบดีภาเข้าบังคมทูลถวายแจ้งราชกิจจงทุกประการ ประการซึ่งเริ่องราวศุภอักษรนั้น ทรงพระกรุณาว่าป่างก่อนพม่ายังไม่มาย่ำยี นครศรีอยุทธยากับพระมหานครศรีสัตนาคนหุตครั้งนั้นเปนเอกะร่วมพฤกษาผลปัตภีดลดั่งสุวรรณรัชตะแกมแก้วงาม เปนอันหนึ่งอันเดียว ฝ่ายองคผู้เปนปิ่นปักมงกุฎพระนครถาวรประดุจดั่งบรมจักรพรรตราธิราช ฝ่ายนารถบริจามเหษีกกอประด้วยแก้วแหวนแสนสัตพิรัตนะราชทรัพย์ท้งงปวง ประดุจหนึ่งอุดรกาโรราชกรรญามาสมัคสโมษรครองทิศท้งงสี่ เหมือนหนึ่งมีเสวตรฉัตรกางกั้นกอประด้วยจัตุรงคโยธาชุ่มเอยนไปทั่วทิศษานุทิศ ครั้นไกล้ถึงเข็นก็เปนไป จนเสียพระนครศรีอยุทธยาสิ้นพระวงษา ยังแต่อิศวรภาพมงกุฎพระมหานครศรีสัตนาคนหุต กทรงพฤทธิภาพหาราชโอรสที่จเปนปิ่นพระนครสืบไปไม่ หากพระองคทรงทศธรรมกอประด้วยวิริยเปนอันดี จึ่งเสียแต่ราชบุตรราชนัดาไปกรุงรัตนบุระอังวะโดยข่มเหงขัดแค้นพระราชหฤๅไทยนัก ส่งพระสุพรรณบัตสุวรรณรัตนพระราชสารเครื่องมงคลราชบรรณาการลงมาท้งงนี้ เพื่อจให้เชิญเสด็จราชบุตรราชนัดากรุงรัตนบุระอังวะ ส่งไปกรุงศรีสัตนาคนหุตนั้น ควรเรายินดีจะได้ขอรี้พลช้างม้าพระเจ้านครศรีสัตนาคนหุต มาเปนกำลังทำสงครามต่อกรุงรัตนบุระอังวะสืบไป เหมือนได้กึ่งพระนครแล้ว ชอบเรากำหนดไปให้ข้าขอบขันทเสมาทำนาหาเสบิยงอาหารได้แล้วเมื่อขะนใด ควรเรายกพลขึ้นไปเชิญเสดจ ฯ ราชบุตรราชนัดาหาความชอบถวายไปแต่พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตจึ่งควร อันซึ่งพระนครแห่งเราอับปาง ท้งงธรมารพระกายเหมิอนว่ายท้องชเลหลวง อุษาหเหลิอบแลดูคลองราชประเพนีกหลุดลับ หามีสิ่งซึ่งจะมุ่งหมายไม่ บัดนี้เทพยุดาบุรรพกุสลหลังหากดนพระไทยให้พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต ทรงพระเมตตาการุญภาพคืนมาเปนคลองทางพระราชประเพนีดั่งนี้ก็เปนมหัศจรรยใหญ่หลวง เหมิอนพระสุเมรุราชอ่อนน้อมลงหาจอมปลวกอันน้อย กซ้ำมั่นคุงเข้าที่จะได้กรุงรัตนบุระอังวะเปนแท้ อันซึ่งพระนครจะสมัคสโมษร เปนสุวรรณรัชตะปัตพีเดียวสืบพระราชวงษต่อไปนั้น ควรเราปลงธุระไว้พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตอันสูงใหญ่ ฝ่ายอัคมหาเสนา แลเสนาพฤธามาตย ราชครูปะโรหิตมุกขลูกขุนราชนิกูลพระวงษกรุงกำภูชาธิบดี อำมาตยแขกฝรั่งมอญลาวจีนพม่าเขมรจเหนปรการใด นั้นมุกขมลตรีลูกขุนท้งงปวง ปฤกษากราบทูลพระกรุณาว่าประเทษได ฝ่ายพงษเจ้าพระนคร กรุงอังวะทุกวันนี้ ก็ย่ำยียับเยินเสรดสิ้นราชการท้งงนามกสูน ยังเหลือแต่อิศวรภาพมงกุฎพระนครศรีสัตนาคนหุตพระองคเปนพงษแก่นกระษัตรแล้วกเปนประเพนีที่จะได้สืบพระวงษาธีราช จละให้เสียราชบุตรราชนัดาไปแปลกปนดังนี้ดูมิควร ขอพระเจ้าอยู่หัวทำการอาษาขึ้นไปเชิญเสด็จราชบุตรราชนัดาหาความชอบถวายไป ประการหนึ่งจได้ยำยีเสียซึ่งอาสัจแลอาธรร โดยพระฤทธพระเดชไว้กฤษดานุภาพไปกัลปาวะสาร อิกประการหนึ่งจได้ส้างกรุงหงษาวดี ยกยอดพระเจดีลเกิงก่อส้างกุศลตามพระพุทธทำนาย ประการหนึ่งฝ่ายองคอิศวรภาพมงกุฎพระนครศรีสัตนาคนหุต กจได้ดีพระไทย ให้รี้พลช้างม้าราชทรัพย์มาเปนกำลังทำการสงคราม สำเรธราชการมาราชาพิเศกเมื่อขะณได ฝายพระองคเปนพงษแก่นโบราณกระษัตรกจได้อวยพระภอรให้ถาวรวัถนาการจำเริญยศยิ่งพระชณศุขสืบไป ขอพระราชทานให้จัดเครื่องมงคลราชบรรนาการถวายไปให้มั่นคงไว้ดังพระเจดียถาน สำเรธราชการแล้วขอทรงพระกรุนาพระนครกรุงศรีสัตนาคนหุต อย่าให้ท้าวพญามหากระษัตรอื่นไปย่ำยีแปลกปน ขอเดชะนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม เหนด้วยให้ทำตามปฤกษา จึงแต่งให้พระสุรธรไม้ตรี ราชทูต หลวงภักดีวาจา อุปทูต ขุนพจนาพิมล ตรีทูล จำทูลพระสุพรรณบัดสุวรรณรัตนพระราชสาร แลคุมเคริองมงคลราชบรรนาการมาถวายแต่พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/80988494348194_95977607_131060208544683_73024.jpg)


แล้วพระราชทานมาแก่พญาหลวงเมืองแสน แพรก้ารแย่งลายทองม้วน ๑ เพิ่อจให้สองฝ่ายฟ้ามั่นคุงเปนสุวรรณรัชตะแกมแก้วรุ่งโรดโชตนาดังมหาเสวตรฉัตกางกั้นสองพระนครไปกัลปาวะสาร แลให้อัคมหาเสนาธิบดี ชวยทำนุบำรุงภาทูตานุทูตเข้ากราบบังคมทูลถวายพระสุพรรณบัดสุวรรณรัตนพระราชสารแลเคริ่องมงคลราชบรรณาการแต่สมเด็จพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต แจ้งราชกิจจงทุกปรการ ศุภอักษรมาณวันอังคารเดิอนเจดขึ้นค่ำหนึ่ง จุลศักราชพัรร้อยสามสิบเจด ปีมแมสัพศก

๏ ศุภอักษรทรงแต่ง นายเชตอาลักษณ์เขียรเปนอักษรไท ๑๑๗ บันทัด เปนกดาษหน้ง ๘ แผ่น ...ขุนสารประเสริด/… นายบุญจันอาลัก  อาลักษณทาน ส่งมาณวัน ๔ ฯ ๗ ค่ำ ปีมแมสัพดกพระคลังในซ้ายได้จัดกระดาษหน้งสำรับ เขียน ...ศุภอักษร /…[ b]สำเนา[/b]  พระคลังวิเสท ใด้จัดกล่องงาใส่ถุงแพรพื้นดำผุดทองแบนระใบ แพรแดงใส่ภานกำมลอสองชั้นใส่ถุงแพรพื้นดำผุดทองแบนระใบ แพรแดงใส่ศุภอักษรกล่องไม้ทาชาดใส่ถุงแพรพื้นดำผุดทองแบนระใบแพรแดงใส่สำเนา ศุภอักษรปิดตราพระราชศรีห์ใหญ่ประจำต่อ ๗ ดวงจำศกดวง ๑ ตราพระราชศรีหน้อยประจำครั่งประจำปากถุงท้งง ๒ ชั้น นายเพ็งล่ามเขียรสำเนาศุภอักษรเปนอักษรลาว ๘๗ บันทัดเปนกะดาษ ๓ แผ่นครึ่ง ปิตราม้าหลวงราชนิกูญประจำต่อนพศก๚ะ๛



๑๐ ศุภอักษรพญาหลวงเมืองแสน อรรคมหาเสนาเมืองล้านช้าง ที่ส่งตัวขึ้นไปจากกรุงธน

๏ ศุภอักษร บวรสุจริตสมมิทมงคลอตุลเสนหาบรมาภิชฌาไสย ในพญาหลวงเมืองแสนราชธาณีบุรีรมยอุดมสมพัทฦศักอัคมหาเสนาธิบดี มีมธุระจิตรสนิทเสนหามาถึงอัคมะหาเสนาธิบดีศรีสุระชาติบาทมุลิกากรบวรรัตนามาต ในกรุงเทพมหานครบวรทวาราอดีศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธาณีบุรีรมย ด้วยวุฒิสวัศติแต่อติทุระธารมากหลาย บรมโพธิสมภารล้นเกล้า ฯ เลิ่อมมุงได้มาลุถึงนครบ้านเมือง ก็ได้ทราบทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ให้รู้แจ้งยังกิจการทุกเยิองทุกประการ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกทรงโสรมนัศปาโมชโชตรนาการในสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว เปนอันยิ่งคหนักหนา จงทรงพระกรุณโปรดเกล้าแตง...ราชทูต/…อุปทูต/...ตรีทูต/…จัตวาทูต กำกับจำทูลพระสุพรรณบัตสุวรรณรัตนพระราชสารมงคลราชบรรณาการ แลสมณสารศุภอัคษรเปนที่บริบวน แล้วจได้ยกยายแลกรมการจนำศุภอักษรเข้ามาถึงก็ได้ต้อนรับตาม...ฤกษ/…กอง แล้วจึ่งพร้อมกันแจ้งในศุกอักษรโปรดขึ้นมาว่าดังพม่าอันลงมาอยู่ในกรุงศรีสัตนาคนหุต นั้นให้ผูกมัดจำจองลงมาทูลถวายสมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวนั้น ดังพม่าแลจะแตกแต่เชิยงไหม่มานั้นหาหมีได้ ดังพม่าหมู่โปชุพลาได้แต่งลงมาขอกำลังนั้น กได้ส่งให้ขึ้นไปถึงเมิองพม่า เมิองลครกสกัดลัดฆ่าฟันเสีย จได้คืนมาถึงกรุงศรีสัตนาคนหุตนั้นหาหมีได้ ปรการหนึ่งดังว่าครอบครัวข้าไพร่สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ อันได้อุปยกครอบครัวเข้ามาอยู่ในกรุงศรีสัตนาคนหุตมีมากน้อยเท่าใดหมิได้ป้องปกไว้ มีมาในท้องสุวรรณบัตแลศุภอักษรทุกปรการ ขอให้อัคมหาเสนาธิบดีผู้ใหญ่ท้งงปวง ขึ้นกราบบังคมทูลสมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวตามมีมาในท้องพระราชสารทุกสิ่งทุกปรการ ศักราช ๓๖ ตัว เดือน ๔ แรม ๖ ค่ำ วัน ๔ ๚ ศุภอักษรจารใส่ใบลานเปนอักษรลาว ใส่ถุงแพรแดงปิตราครั่งปรจำปากถุงเปนรูปบัวห้ากลีบ ๛๚ะ๛


๑๑ สมณสาส์นมาแต่กรุงศรีสัตนาคนหุต

๏ วัน ๒ ฯ๑๕ ๖ ค่ำจุลศักกราช ๑๑๓๗ ปีมแมสัพศกแขกเมิองมาแต่กรุงศรีสัตนาคนหุต นำสมณสารแลบรรณาการมาบังคมทูล ๚ ๛

๏ ในสมณสารนั้นว่า สมณสารสูรพิตัดอัคะดุลาลลาลัตะสาธรปวะระจินตานัตะบรมัดฎคำภิใรยใสย นันตะลาภูอุดมปะรมโสภํคอัคอาจาริยคุณบุญเขตรโลกเสดฐาธิคมพรหมภาณินท์ะมนุชินอินทสกาทยปไต มาในชะไทยภัยวิลหิตวิลชิตะอมิต สำมิวิตันตะรายะชิตมะวรใหยไตยะสริติพะวัคอัคะกุตละวรทิพโพชัญา สุมะคุตะมสำมาคมปะระไมยะตยะวะใหยะอุลยะธยะทิยาชาสุต สมเดจอัควระราชครูมหาวิณายกธปะวระชิโนฦาชาติสาศนหัยยัญานุตระธระธรรมากะกิกะมุนี กะวิบพิตรสถิตยในราชรามาธิปติกลางกรุงจันทบุรีราชธานี มิสมเด็จอัควรราชครู มหาวัณรามาธิปะติเปนประธาน แลสมเด็จพระราชครูสังฆสัมมุติสะระณัคณาคินทชินบุตรพะหูสูตรสาศนายกท้งงหลาย ในกรุงพระมหานครบวรศรีสัตนาคนหุตวิสุทธรัตนราชธานี มีพรหมวิหารวรธรรมมากะอยานุตระวรวณีตะมาถึงสมเดจ์พระสังฆราช ราชาธิบดีศรีสังฆบรินายกดิลกรัตน มหาสวามีศรีวิมลธรรมวิสุทธพุทโฆษาจาริย บพิตรสถิตยในพระศรีรัตนบางว้าอารามมาราชคณาธิบดี กลางกรุงอุตุงคไตรรัตนราชธานี แลสังฆมหานาคคณาธิบดีตรีปิฎกทรจาริยะท้งงหลายในกรุงพระมหานครปวะระทวาระติศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบูรีรมย ด้วยมหาวิสุทธมกุระฎะสมณสาร แลสมณมังคัลปรรณการมีจิวรโกไสยจิวรรกปาศรี เอกยุคลปักขิต สมุดตวันเต สหทวิตัดฎิกะปจัดฐถาระณเอกะยุคละ มาวัฌณสำปัดตาภิรมย สมเดจอัควระระพระศรีสังฆราชราชาธิบดี ศรีสังฆปรินายกะรัตนมหาสวามีศรีวิมลธรรมวิสุทธโฆษาจารยพุทธองคอาริยวงษวะรา ดุลยาธิคุณคณันตสธรรมไตรยโลกยนาถา ษาธุฯหทัยทะโยลุมภทุพิธธระปะระมาจาริยะบพิตร สถิตยในพระศรีรัตนมหาบางว้าอารามาธิบดี แต่อติธุระถาณอาคมสำปัตตา สมเดจพระศรีสังฆราชาธิปะตี ศรีสังฆบรินายกอันเตเทวมหานครปะวะระทวาราวดีศรีอยุทธยา ให้ชาณชัญญาปวุติการ วรพุทธสาศนาปพะจนันโตจันทรบุริ ศรีสัตนาคนหุตวิสุทธิวิรุฬหิธสิทธวิเสษ ด้วยเดชะพระรัตนไตรยคุณ อัพภิสุนทรวรวุฒิทัฬหะสิตกถาสันตาสิตานุกุศลา อาจาริยาสิสานุสิสสันตติปะไภยะในยไภยะวิระหิตะสมิธศุข สัศดินิถีปะณะกาละสมัยโยวาสำมาคมสำมตาสพรหมจารี พระศรีสังฆคณมหายเปสิ ทุตาจึ่งเปสนานคครนายกะบรินายะกะ อาคำมะสำปัตา สมเด็จพระศรีสังฆราชราชาธิบดีศรีสังฆบรินายะกะอันเตเทวะมหานคระทวาระวตีศรีอยุทธยา ให้ชาณชัญาสู่เยิองสูปรการสิงปรการไดมิตรธรรมะตันติปิตุปิตามะหากระษัตร ขติยะอุไภยท้งงสองจักเปนทัฬหาติทัฬะหะตะระ แลให้ชมัยะมหานครราชธานีเหมปตะเลกขเอคำมะทยะ แลให้สมณพราหมณประชารัฐสัตนีกะจระไปมา ในยะนิระทุกขศุฃาโรคะยะนะระสวัตยายิ่งกว่าโบราณมหากระษัตราธิราช แลให้พระรัตนไตรยสาสนาสาริกพระธาตุเจตียศรีมหาโพธิวิสุทธปฏิมาวิโรจโชตนายาวะปัญจะวัสสะหัศปริเฉทกาลนั้นไซ้ไว้ในคำภีรอุตมะวชิระปัญาณ ในยะสมเดจพระศรีสังฆราชาธิบดีศรีสังฆปะรินายะติละกะรัตนมหาสวามีศรีวิมลธรรมวิสุทธพุทธโฆษาจารยะ อาริยวงษ วราดุลยาธิคุณ คะนันตะมันตะสธรรมไตยะโลกนาถาสาธุหุทะยะทะโยสุมพธุทัพ ธะระประมาจายะบพิตรสถิตยในพระศรีรัตนบางว้ารามราชคณะปติกลางกรุงอุตุคะสังมิปะวะรัตนราชธาณี แลสงฆมหานาค ณทิปติติปิตะกะทราจายะท้งงหลาย ในกรุงพระมหานครปะวะระทวาราวดีศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธาณีบุรีรมจงทุกปรการ จุลสัตติงษาธิกะสัต ศักกราช พคุณมาศกาลาฉัฐดิถีพุทธรัศนักขัตะ๚ะ๛



๑๒ คำแปลสมณสาส์น

๏ ข้อหนึ่งเนื้อความแปลแห่งสมณสารว่าภักดีงามเลิดหาที่จะเปรียบไม่ สลวยกอบประด้วยเคารพปรเสริฎิ คิดเนื้อความอันจริงแลฤๅเปนลาภอันปรเสริฎิอุดมงามยิ่งนักเปนพระอาจาริยมีคุณอันเลิดเปนเนื้อนาบุญอันประเสริฎิในโลกยยิ่งเปนใหญ่ในถ้อยคำอันกล่าวปรดุจพรหมแลเปนใหญ่กว่ามนุษแลพระอินทเปนต้น มีความเอนดูเกิดในใจปราศจากไภยรุ่งเรืองจนับหมี่ได้รงับอัณรายเปนอันดีกำจัดซึ่งโทษเปนที่บุชาอันปรเสริฎด้วยศรีท้งงสามยอดไตรภพ ดูจอาหารทิพสมาคมอันประเสริฎิ ทรงไว้ดั่งอันอุดมแห่งสมเดจพระราชครูผู้ประเสริด เปนใหญ่ในที่สั่งสอนซึ่งบุตรแห่งพระเจ้าในพระสาศนา แลทรงญาณอันรู้กล่าวธรรมเปนนักปราชมีคำอันไพเราะห เปนอยู่อารามหลวงณกลางกรุงจันทบุรียเมืองหลวง มีสมเด็จพระราชครูอันเปนใหญ่ในมหาวันอารามเปนประธาน แลสมเด็จพระราชครูสงฆสมมุติ แลพระภิกษุพหูสูตร อันเปนมหานาคอันเลิดผู้เปนชิโนรสท้งงหลาย ในกรุงพระมหานครศรีสะตนาคนหุตวิสุทธิรตนราชธานีมีพรหมวิหารธรรมอันปรเสริด จำเริญพรมาถึงพระศรีสังฆราชราชาธิบดีอันเปนศิริประธาน แก่พระสงฆอันเปนเจ้าอันปรเสริด เปนที่ยินดีแก่โลกยท้งงสาม มีศรีอันปราศจากมลทิล กอปรด้วยธรรมอันบริสุทธิปรากฎดั่งพระพุทธเจ้าบพิตรอันสถิตยอยู่ในพระศรีรัตนมหาบางว้าอารามหลวงเจ้าคณะกลางกรุงอันสูงใหญ่ แลสงฆมหานาคอาจารย อันทรงพระไตรปิฎกท้งงสามท้งงหลาย ในกรุงพระมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมยด้วยยอดสมณสาร แลสมณมงคลบรรณาการ คือจิวรไหมจิวรด้ายสิ่งละคู่ ในภายในลุ้งกับด้วยเสื่อสองผืนเปนเครื่องลาดคู่หนึ่ง จำเริญภิรมยมาถึงสมเดจอัควรพระศรีสังฆราชราชาธิบดีศรีสังฆบรินายกรัตนมหาสวามีศรีวิมลธรรมวิสุทธิ พุทธโฆษาจารย พุทธองคอริยวงษวราดุลยาธิคุณคณันตสธรรม อันเปนที่พึ่งแก่โลกยท้งงสาม มีฤทธิปรกอบด้วยกรุณาเปนอันดีเปนบรมอาจาริย อันทรงซึ่งคุณอันประเสริฎิอันสถิตยอยู่ในพระศรีรัตนมหาบางว้าใหญ่อารามหลวงมาแตใกลมาถึงสมเด็จพระศรีสังฆราชราชาธิลดีผู้เปนประธานแก่สงฆ อันอยู่ในกรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย ให้รู้ซึ่งปรพฤธิเหตุแห่งวรพุทธสาศนาในเมืองจันทบุรีศรีสัตนาคนหุตวิสุทธิอันจำเริญฤทธิอันปรเสริฎวิเสดด้วยเดชะพระรัตนไตรยคุณอันงามจำเริญยิ่งมั่นคงด้วยรัศมีอันเอย็นระงับร้อนตามกุศลแห่งอาจารยแลสัตวผู้...ใหญ่/…น้อย สืบงามปราศจากไภยสำเรจซึ่งศุขสวัศดิสำแดงซึ่งรู้กาลสมาคมมาถึงเพื่อนพรหมจาริย อันเปนเจ้าคณะสงฆผู้ใหญ่จึ่งใช้ทูตผู้เปนเสนาผู้...ใหญ่/…น้อย มาถึงสมเด็จพระสังฆราชาธิบดีศรีสังฆบรินายกดิลกรัตนมหาสวามีศรีวิมลธรรมวิสุทธพุทธโฆษาจารยอยู่ในกรุงเทพมหานครทวาราวดีศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย ให้รู้ทุกสิ่งทุกปรการ ปรการไดมิตรธรรมปรเวณีอันมีมาแต่โบราณบรมกระษัตรท้งงสองฝ่ายจักหมั้นคงยิ่งนัก แลให้สองพระมหานครราชธานีเปนรอยในแผ่นทองอันเดียวกัน แลให้สมณพราหมณปรชาราษฎรจรไปมาให้ปราศจากทุกขโศกโรคไภยมีความศุขยิ่งกว่าบุราณมหากระษัตราธิราช ให้พระสาศนาสาริกะธาตุเจดียศรีมหาโพธิปฏิมากร วิโรจนนาตราบเท่าเคารพห้าพันพระวษานั้นไซ้ ไว้ในปัญาอัษฐอันอุดมดั่งแก้ววิเชียรอันรู้ใญยธรรมแห่งสมเด็จพระศรีสังฆบริณายกดิลกรัตนมหาสวามีศรีวิมลธรรมวิสุทธพุทธโฆษาจาริยสถิตยในพระศรีรัตนบางว้าอารามหลวงเจ้าคณะกลางกรุงอันสูงใหญ่ใกล้เมิองหลวง แลสงฆมหานาคเจ้าคณะผู้ใหญ่อันธรงไตรปิฎกท้งงปวงในกรุงพระมหานครทวาราวดีศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมยทุกประการ จุลศักราช ๑๑๓๖ ตัวเดือนสี่แรมหกค่ำวันพฤหัศบดีวันพุทฤกษสิบแปด๚ะ๛

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/63831528441773_95767312_131060228544681_44004.jpg)


หัวข้อ: Re: จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 05 พฤษภาคม 2563 17:45:25

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/14850401961141_spd_2012090285139_b_1_320x200_.jpg)

๑๓ สมณสาส์นพระสังฆราชกรุงธนบุรีมีตอบไป

๏ สมณสารสุนธรบวรวจน อรรถธรรมรศิกะอธิกะศิลสาราทิไตรย อุภัยโลกะหิตยพิธสมบัดติ สังสิชนัศภัชนานิกรอมรนริศจัตุพิธบรมบรรพสัตวสาศนัศประโยชน โชตนายาวะปัญจะสหัสวัศะบริเฉทเจตนานุทิศสุภาสิตปรสาท ในสมเด็จพระสังฆราชธิบดีศรีสังฆบริณายกติปิฎกธราจารยญาณคำภีรธรรมมัดถาพิศใมย อธิปตัยคณานิกรวรสงฆสถิตยทุวิธธุระธราคณอดุลยเตรัศะธุดงควัถะสิกขัตยสันตุฐีวิสุทธสเลขะอับปิจ์ฉะวิวิธคุณคณาธารสถิตยถาวรรัญาคามวาศรีสักลคณารามรัฐวัฒนะติเรกเอกนิษร ในบวรมหาธาตุอารามหลวง ณกรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุทธยามหาดิลกภพ นพรัตนราชณีบุรีรมย มีมโนนุษรโสมนัศศาประฏิสมณสารมาถึงสมเดจพระสังฆราชาธิบดีด้วยสมเด็จพระสังฆราชาธิบดีณกรุงศรีสัตนาคนหุตมีสมณสารสมณบรรณาการอุทิศมาเปนเรื่องราวบอกปรพฤทธิเหตุ แห่งวรพุทสาศนาเปนศิลวัตตาติเรกเอกชัชวาลยวัฒนะยังสถิตยสมบูรรณอยู่ในกรุงศรีสัตนาคนหุต แลให้ช่วยถวายพระพรธิบายทำนุบำรุงพระราชสุนธรบวรธรรมมิตรมงคลนุสนธิสืบบุราณราชปรเพณีให้จำเนียนนายในทไวยวรรัตนราชธานีเปนศรีศุขสวัศดิพิพัฒนในพระสาศนา สมณาปรชากรทั้งสองฝ่ายฟ้า ครั้นได้ทัศนาสารก็โสรมมนัศจึงนำเรื่องสมณสารสมณบรรณาการเฃ้ามาถวายพระพรธิบายแดสมเดจพระมหากระษัตราธิราชเจ้าณกรุงเทพมหานครได้ทรงฟังสมณสาร ก็ทรงพระมโนภิรมยเบิกบาลวิบุลปราโมชโมทนายิ่งนัก จึงทรงพระกรุรณาโปรดดำรัสพระราชบริหารในท่ามกลางสังฆราชาคณะท้งงปวง ว่าแต่ก่อนยังหมีได้มีสมณสารมาได้แจ้งข่าวว่าพม่าหมู่ร้ายอาธรรมคุมพวกพลมาทำปะไสยหาการข่มเหงเบียดเบียนกรุงศรีสัตนาคนหุตนั้น น้อยกระมลหฤทัยนักขัดแค้นดูจหนึ่งพม่ามาทำแก่อาตมแลญาติอันเปนที่รักแห่งโยมแต่ตำริหมิรู้วาย ด้วยท่าทางที่จะทำนุกบำรุงกรุงศรีสัตนาคนหูต แลวรพุทธสาศนาก็หมีได้ท่วงที บัดนี้มีสมณสารมาถึงพระผู้เปนเจ้าท้งงหลายเปนธุระสงฆอย่าทรงพระปรารภเลย โยมก็ได้ถวายชิวิตรอุทิศต่อพระรัตนไตรยจชั่วดีปรการใดก็แจ้งอยู่ทุกปรการ ขอพระผู้เปนเจ้าเอาสมณสารนี้ปฤกษาพระสงฆราชาคณพร้อมกันตามสมณกิจแล้วตอบไป จึงถวายพระพรลานำสมณสารมาอ่านปฤกษาในท่ามกลางพระสงฆราชาคณอธิการอันดับฝ่ายคันฐธุระวิปัศนาธุระท้งงปวง ๆ ปฤกษาว่าซึ่งพระสังฆราชาธิบดีณกรุงศรีสัตนาคนหุต ส่งสมณสารเรื่องลักษณความท้งงนื้ต้องด้วยพระราชอาการปรนนิบัดดิสมเดจพระมหากระษัตราธิราชเจ้ากรุงเทพมหานคร อันทรงพระราชอุษาหะกรุณาญาณบำรุงพระพุทธสาศนาดัดแปลงสัตวโลกยท้งงปวงให้ต้งงอยู่ในคลองธรรมอันดี แลฝ่ายคณะสงฆท้งงปวงอันรักษาพระพุทธสาศนาอันอยู่ในแว่นแคว้นกรุงเทพมหานคร ก็ทรงพระกรุณาสั่งสอนให้เล่าเรียนพระปาฏิโมกขสังวร ขึ้นปากขึ้นใจท้งงพระบาฬีแลเนื้อความให้ปฏิบัตติตามพระวิไนยสังวโรวาท แล้วซ้ำประสาทสั่งสอนด้วยพระธรรมอันเปนใจพระไตรยปิฎกท้งง ๓ คือให้ต้งงอยู่ในธรรม ๔ ประการ คืออายบาปกลัวบาปเกลียดบาปหน่ายบาป พระสงฆราชาคณะท้งงปวงได้รับพระราชทานพระราชโอวาทมาปรนนิบัดติตามก็เปนศุขสวัสดิสมบูรณด้วยศิลสารสมณปติวัฒนะในพระสาศนาพระกรุณาคุณมีแก่สมณสงฆท้งงปวงณกรุงเทพมหานครหาที่สุดมิได้ ฝ่ายฆราวาศราชบรรพสัชเล่าผู้ใดหมีได้ต้งงอยู่ในสัจธรรมทำให้แผ่นดินจุลาจลทรงพระกรุณาดัดแปลงสั่งสอนทรมานให้อยู่ในสัจสุจริตธรรมบุราณราชปรเพณียมีพระอาการปรนนิบัตินน้นเที่ยงตรงจัตุรัศปรดูจ ดิน น้ำ เพลิง ลม ธาตุท้งง ๔ อันเปนคุณประโยชนแก่บุทคลผู้รักษาดี เปนโทษแก่บุทคลอันหมีรู้รักษาควรจเอาพระราชอาการกิริยา อันเปนอัศจรรยวิเสดกว่าบรมกระษัตราธิราชแต่ก่อนมั่นคงฉนี้ เปนปรฏิสมณสารธรรมบรรณาการตอบไปถวายแก่สมเดจพระสงฆราชาธิบดี แลสงฆมหานาคราชาคณะณกรุงศรีสัตนาคนหุตผู้มีปรีชาญาณคำภีรภาพ ให้พิจารณาพระอาการสมเดจพระมหากระษัตราธิราชเจ้าณกรุงเทพมหานคร ซึ่งปรนนิบัดดิตามราโชวาทราชอณาจักรรักษาสมณพราหมณาจารย เสนาพฤทธามาตยราษฎรฉนี้ยังจะต้องตามพุทโธวาทแลจควรสมเด็จพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต จผูกพระราชสัมพันธกัลยาณมิตรมีประโยชนอิธโลกยปรโลกยแลฤๅ เมื่อวิจารณเหนว่าต้องตามพระพุทธชิโนวาทแล้วเร่งทำนุกอำรุงสมเดจพระมหากระษัตราธิราชณกรุงศรีสัตนาคนหุต ให้ต้งงอยู่ในราชธรรมสุจริตผูกพระราชสัมพันทมิตรให้มั่นคงอย่าแพร่งพราย เปนอันหนึ่งอันเดียวด้วยพระอานุภาพสองบรมกระษัตรต้งงอยู่ในราชธรรมสุจริตอันซื่อตรงฝากพระชนมชีพแก่กันท้งงสองฝ่ายฟ้า ก็จะมีกำลังพระสุจริตธรรมภายในกำลังพระปัญา กำลังพลทหารกำลังราชทรัพยมากขึ้นอาจป้องกันหมู่ปัจามิตร ด้วยอุภัยรัฐราชธานีท้งงทองทิพยปติเรกเอกจิตรเอกฉันทอัญมัญชิวิตรนิสิตะนิไสยชัมไมยหมั้น ในบรมกัลยาณมิตรสนิทเสน่ห์ไป จเนิยรไภยเนิยรโศกสมณพรามณาฃัติยวํงษานุวงษเสนาธิบดีเศรษฐีวานิชนรากรประชาชน ในเมทนิดลท้งงสองฝ่าย จมิศุขประโยชนไชยโชตรนาในวรพุทธสาศนาถ้วนกำหนดวัตษา ๕๐๐๐ จึงมีพระพุทธฎิกาสั่งให้พระครูปลัดลิกขิตคำสงฆปฤกษาเปนอักษรสมณสารส่งตอบมา ประการหนึ่งซึ่งสมเดจพระสังฆราชากรุงศรีสัตนาคนหุต ถวายจิวรสาฎกกับปาสิกพัตรโกไสยภัตรหมิได้ตัดเปนขันธตามพระวิในยทุติยปัญญัตินั้น ครองจะเปนอาบัตติจึงบูชาไว้เปนพุทธบูชาจงโมทนาเอาส่วนกุศล แลได้ถวายสมณบรรณาการผ้าจิวรกับปาสิกะภัตรตัดเปนขันธตามพระวิในยทุติยปัญญัติไตรรัตปคตแพรสองสาย รัตปคตยวนใหมคาดเอวสาย ๑ อังสะแพร ๑ สัณฐัดผุดทอง ๑ ผ้าฃาวตรองอุทกัง ๑ ผ้าฃาวเช็ดมือ ๑ ถวายมาเปนหย่างให้พระสังฆราชาธิบดีครองแล้ว ว่ากล่าวพระสงฆท้งงปวงให้ทรงจิวรตัดเปนขันธดูจหย่างสงฆถวายมานี้จึงต้องพระวิในยทุติยปัญญัติ จึงได้ชื่อว่าทำนุกบำรุงบวรพุทธสาศนาในกรุงศรีสัตนาคนหุตเปนแท้ได้ แลครอบแก้ว ถาดทองฃาวรอง ๑ พะองแก้วคู่ ๑ จอกแก้วคู่ ๑ หมอนกำมหยี่ผุดทอง ๑ พรมเหลี่ยม ๑ เจียมลาย ๑ เสื่ออ่อนตนาว ๑ ร่มแดงกรองคันยาวคู่ ๑ ร่มคันสั้นคู่ ๑ มีดโกนคู่ ๑ รองท้าวเชิงงอนปักทองขวาง คู่ ๑ รองท้าวน่าภับหุ้มสักหลาดคู่ ๑ รองท้าวหน้าภับเลวคู่ ๑ คนโทดิบุกชำระ ๑ หม้อดิบุกกรองมูต ๑ ย่ามสักหลาดแดง ๑ หีบแว่นฟ้าตะบะรอง ๑ ปรการใดสมเด็จพระมหากระษัตราธิราชเจ้าท้งงสองพระนครราชธานี จะมีพระราชวรธรรมมิตรสถิตยหมั้นหมี่ได้จุลาจลในภูมิมณฑลอาณาจักรท้งงสองราชธานีให้วัฒนาวรพุทธสาศนาสืบไปก็ไว้ในคำภิรญาณณุบายแห่งพระสงฆราชาธิบดีณกรุงศรีสัตนาคนหุตจงทุกปรการ

สมณสารสฤทธิในบริเฉทตยุลศักราช ๑๑๓๗ อัชสังวัดฉะระเชษฐศุขปักขดฤถีภูมวารภูมิบาลฤกษบริบูรณ ๚ะ๛



ศุภอักษรครั้งแผ่นดินเจ้ากรุงธนบุรีตอบไปกรุงศรีสัตนาคนหุต

๏ ศุภอักษรบวรกะถา อรรคมหาเสนาธิบดินทร ณรินทรามาตย์ผู้ (ภักดีบำเรอพระ) บาท (สมเด็จพระ) เอกาทศรถบพิตร์ศรีอยุทธยานครมีมโนไนยะ มาแต่อรรคมหาเสนาธิบดีณกรุงศรีสัตนาคนหุต ด้วยพระยาศรีสุธาราชาจ่าบ้านปัญญามงคล พระยามหาอำมาตย์สุระตังระไมตรี ท้าวตัง ถือศุภอักษรลงไปจำเริญทางพระราชไมตรี โดยบูรราชประเพณีถึงกรุงเทพ ณวัน ๒ เดือน ๑๐ แรม ๙ ค่ำปีมแมสัพศก ได้ให้เจ้าพนักงานรับศุภอักษรแปลได้เนื้อความว่า พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตโทรมนัศด้วยพระราชบุตร์พระราชนัดา อันค้างคาอยู่ในกรุงอังวะ พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตมิให้เสียคลองราชประเพณีแห่งมหากระษัตริย์มาวัฒะณะสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพ ฯ บวรทวาราวดีศรีอยุทธยา เพื่อให้อุไภยรัษฐาทั้งสอง เป็นเอกะสุวรรณปัตฦาชาปรากฎทั่วไปในสกลชมภูทวีปทั้งปวง ให้อรรคมหาเสนาธิบดีณกรุงเทพ ฯ จัดแจงขึ้นไปแห่แหนรับพระยอดแก้วกัลยานีศรีกระษัตริยลงมาในเดือนยี่ ประการหนึ่งพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต ให้จัดเข้าในพระคลังไว้ได้ ๕๐๐ เกวียน ให้แต่งช้างโคกระบือขึ้นไปช่วยลากเข็นเอา แล้วว่าขอปืนคาบสิลา ๒๐๐๐ ขึ้นมาไว้สำหรับรักษาบ้านเมืองนั้น ได้แจ้งในลักษณศุภอักษรนั้นแล้ว จึงนำเอาเรื่องราชกิจจานุกิจแลพาพระยาศรีสุธาราชาจ่าบ้านปัญญามงคล พระยามหาอำมาตย์สระตังรไมตรี ท้าวตัง ขึ้นกราบถวายบังคมทูลพระกรุณา แต่พระบาทพระพุทธเจ้าอยู่หัว ครั้นดำรัสทราบใต้ลออง ฯ แล้วก็ชื่นชมโสรมนัศศาการยินดี มีพระราชโองการมารพระ บัณฑูร ว่าถ้าพระเจ้านครศรีสัตนาคนหุต แลเจ้าเสนาพฤทธามาตยพิโรธกรุงอังวะร่วมทุกข์ศุขเปนใจด้วยกันขะเม่นเข่นฆ่าพม่าจะได้ให้รี้พลผู้สันทัดปืน ๆ คาบสิลา ๔ พัน ๕ พันขึ้นไป ฝึกปรือชาวกรุงศรีสัตนาคนหุตป้องกันพระนคร ประการหนึ่งพระราชวงษ์องค์ใด ไม่สันทัดการณรงค์สงครามจะได้ช่วยบำรุงเพื่อจะได้สืบราชวงษาต่อไป ประการหนึ่งโดยเสด็จ ไปได้กรุงอังวะพบรี้พลครอบครัวกรุงใดจะได้ให้คืนพระนครกรุงนั้น อิกประการหนึ่งจะได้ให้เจ้าเสนาข้าทูลลออง ฯ สองฝ่ายฟ้าถือน้ำพระพัฒน์สัจจาเสน่หาสนิทเปนพันธุมิตร์แก่กัน แลซึ่งกิจการณรงค์สงคราม คิดอ่านปฤกษาบำรุงรี้พลช้างม้ากำหนดข้าขอบขัณฑเสมาเสร็จได้มีพระราชสารศุภอักษรขึ้นไปแจ้งแต่ก่อนแล้ว ถ้ากรุงอังวะไม่ยกลงมาฝ่ายศรีอยุทธยาก็จะยกขึ้นไปตี การสงครามติดพันธ์กันอยู่ ครั้นจะเชิญเสด็จรับพระยอดแก้วกัลยานีศรีกระษัตริย์ลงมาไว้พระนคร ก็จะเปนห่วงหน้าห่วงหลังพว้าพวัง ถ้าเจ้าเสนาบดีกรุงศรีสัตนาคนหุตปลงใจร่วมทุกข์ศุขพระนครศรีอยุทธยา เพื่อจะมาล้างพม่าด้วยเปนมั่นแม่นหาผู้ใดจะป้องกันพระยอดแก้วกัลยานีศรีกระษัตริย์ไม่ กลัวจะมีเหตุเภทไภยภายหลัง ถึงจะเชิญเสด็จพระยอดแก้วกัลยานีศรีกระษัตริย์ลงมาพระนครศรีอยุทธยา จะได้แต่งการรับสู้ ถ้าเปนประการดังนี้ก็จะมีศุภอักษรลงมา เมื่อพิจารณาดูข้อความในลักษณศุภอักษรนั้น หาคิดอ่านอุดหนุนมาโดยการสงครามไม่ ยกเนื้อความมาแต่ว่าพระเจ้าอังวะจะลงมาสู่พระบรมโพธิสมภารจึงงดไว้ เนื้อความข้อนี้เปนสัพเพสัตตาไม่มั่นไม่เที่ยงแจ้งไปในศุภอักษรแต่ก่อนแล้ว แลฝ่ายกรุงศรีสัตนาคนหุตหยิบยกเอาบอกลงมาดังนี้ ก็ไม่รู้ว่าที่จะเจรจาหฤาว่าพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต เจ้าเสนาบดีกลัวจะเปนไภยแก่พระราชบุตร์พระราชนัดา หากรุงอังวะนั้นกรุงศรีอยุทธยาขอรับประกันแก้ไขไปโดยวิทยาคมไม่ให้เป็นเหตุการเลย ถ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตไม่เชื่อจงยุยงขึ้นไป ให้พระเจ้าอังวะเร่งยกลงมา ฝ่ายกรุงศรีอยุทธยาจะพิฆาฏให้กลิ้งอยู่ในกลางสมรภูมิ์ อิกประการหนึ่งจะจับเปนให้โลกทั้งปวงเห็นทั่วชั่วดีประการใด กรุงศรีสัตนาคนหุตจะได้ทัศนาทั้งสองฝ่าย แลซึ่งนครศรีอยุทธยาจะแต่งช้างแลคนขึ้นไปขนเข้าลงมานั้น การศึกมิขดสนอยู่แล้ว ถ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตจะเห็นแก่ทางพระราชไมตรีจะเอามาให้ก็ตาม ขัดสนอยู่แล้วก็แล้วไปเถิด ศุภอักษรมาณวัน ๓ เดือน ๑๐ แรม ๑๐ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๓๗ ปีมแมสัพศก. ฯ


หัวข้อ: Re: จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 06 พฤษภาคม 2563 13:00:17
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/14850401961141_spd_2012090285139_b_1_320x200_.jpg)

อักษร (ข) หมวดแรก พระราชสาส์น รัชกาลที่ ๑ มีไปมากับเมืองญวน
(๑) พระราชสาส์น สมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา
(๒) พระราชสาส์นเจ้าเมืองญวน


(๑) พระราชสาส์น สมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา

พระราชสาส์น สมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยาจำเริญทางพระราชไมตรี มาถึงพระเจ้านครตังเกี๋ย

ด้วยแต่งให้ จิ๋วิแหว้ จิ๋วิเชียง จิ๋วิเกวียน จิ๋วิถึด จิ๋วิมัญ จิ๋วิทงควร }  จำทูลพระราชสาส์น คุมขนจามจุรีเปนเครื่องราชบรรณาการ มาจำเริญทางพระราชไมตรีแลไมตรีถามฃ่าวกล่าวความศุขสวัสดิมงคลนั้น ขอบพระไทยเจ้าตังเกี๋ยหนักหนา แลซึ่งว่าแต่ก่อน เมืองเวียงจันท์ เมืองพวน เมืองคำเกิด เมืองนคร ๔ เมืองนี้ เคยขึ้นแก่เมืองตังเกี๋ยแล้วมิได้ไปขึ้น ความข้อนี้ ถึงกรุงมหานครศรีอยุทธยา ยกไปตีได้เมืองเวียงจันท์ เมืองพวน แลเมืองลาวทั้งปวงมาเปนฃ้าขอบขันธเสมา พระเจ้าเวียงจันท์องค์เก่าถึงแก่พิราไลยแล้ว กรุงพระมหานครศรีอยุทธยามีความเมตตากรุณามิให้เสียราชประเพณี ทำนุบำรุงปลูกเลี้ยงตั้งเจ้านันทเสนผู้เปนราชบุตร ให้คืนมาครองเมืองเวียงจันทบุรีสืบตระกูลสุริยวงษต่อไป แลกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา จะได้กำหนดห้ามปรามเมืองลาวทั้งปวงให้ละขนบธรรมเนียมประเพณีบุราณเสียหามิได้ แลเมืองพวนกับเมืองเวียงจันท์เกิดอริวิวาทรบพุ่งกัน แล้วเมืองเวียงจันท์แต่งกองทัพไปตีเมืองพวนอิก และกองทัพเมืองเงอานยกมารบกับกองทัพเมืองเวียงจันท์ แล้วยกมาตีเมืองเวียงจันท์ก็ดี ฝ่ายกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาหาแจ้งเหตุผลไม่ ต่อมีศุภอักษรเจ้านันทเสนบอกลงไป ว่าเจ้าตังเกี๋ยแต่งกองทัพมาตีเมืองเวียงจันท์จึงแจ้งเหตุ ให้กองทัพยกขึ้นไปหวังจะใคร่พบกับกองทัพตังเกี๋ย เจรจาดูให้รู้เหตุผลเปนประการใด ครั้นไปถึงเมืองเวียงจันท์ ก็หาทันกองทัพเมืองตังเกี๋ยไม่ ต้องยกไปถึงเมืองพวน ครั้นจะติดตามไปเล่า เกรงว่าจะล่วงเกินขนธเสมาราชธานี จึงยกกองทัพกลับมา ฝ่ายกรุงพระมหานครศรีอยุทธยานี้ ดำรงทศพิธราชธรรมอันเสมอมิได้คิดเบียดเบียนแก่บ้านเมืองใหญ่น้อยลูกค้าวานิชนานาประเทศ มีแต่เมตตาเปนต้น อุปมาดุจดังเขาพระสุเมรุราชแลมหาสาครสมุทอันเปนที่พำนักนิ์อาไศรยแก่เทวามนุศย์แลฝูงมัจฉาชาติทั้งปวง มิดังนั้นเสมือนหนึ่งมหาพฤกษาชาติต้นใหญ่ เปนที่อาไศรยแก่ฝูงนกทั้งปวงอันเข้าพึ่งพักกระทำรวงรังฟักไข่ ครั้นสกุณโปฎกขนปีกหางบริบูรณ์แล้วก็บินไปทั่วทิศานุทิศ โดยความปราถนาผาศุกแห่งตน แลซึ่งครั้งก่อนองเชียงสือแตกจากเมืองโลกหน่าย หนีเข้ามาพึ่งกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา ก็ทำนุบำรุงเลี้ยงให้เปนศุขโดยตระกูลกระษัตริย์สุริยวงษ แล้วกลับคืนไปเมืองโลกหน่าย อุปไมยเหมือนสกุณปักษาอันมีขนปีกหางบริบูรณ์แลบินไปสู่ประเทศแห่งตนโดยปราถนาหาไภยอันตรายมิได้ ก็เปนที่ยินดีแห่งกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาโดยกรุณาหารังเกียจมิได้ แลซึ่งว่าองเชียงสือไม่อยู่แต่เมืองโลกหน่าย ยกกองทัพไปรุกรบตีบ้านน้อยเมืองใหญ่ จนแดนเมืองตังเกี๋ย ๆ แต่งกองทัพตีองเชียงสือแตกคืนมานั้น ความข้อนี้เปนระยะท่าทางไกล ยังหาแจ้งเหตุผลตระหนักไม่ แลซึ่งว่ากองทัพเมืองตังเกี๋ยจะยกมาตีองเชียงสือ ขอให้กรุงพระมหานครศรีอยุทธยาแต่ง กองทัพไปตั้งอยู่ปลายด่านแดน ถ้าองเชียงสือแตกมาให้ช่วยจับกุมส่งให้เจ้าตังเกี๋ย จะตอบแทนสนองคุณนั้น ฝ่ายกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาเปนมิรู้ที่จะเจรจาเลย ด้วยเหตุทว่าเปนคุณแล้วจะให้กลับเปนโทษดังนี้ ผิดราชประเพณีธรรม ประการหนึ่งกิติศับท์จะฦๅไปนานาประเทศเมืองใหญ่น้อยทั้งปวงว่ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยาเหนแก่ลาภสการเมืองตังเกี๋ยเท่านั้น ช่วยจับกุมองเชียงสือส่งไปให้ ไม่มีความเมตตากรุณาเลย จะคะระหาติเตียนข้อนี้ปรากฎอยู่ฟ้าดินดูมิบังควร อันกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา จะประพฤติการ จะทำได้ก็แต่โดยคลองทศพิธราชธรรมตามประเพณี เจ้าตังเกี๋ยกับองเชียงสือเปนฆ่าศึกกัน ถ้าจะให้รงับว่ากล่าวทั้งสองฝ่ายพอจะเจรจาได้ อนึ่งซึ่งว่าขอให้กรุงพระมหานครศรีอยุทธยาแต่งกองทัพไปตั้งอยู่ปลายแดนนั้น จะยากอะไรมี แต่ทว่ากองทัพองเชียงสือแลกองทัพเมืองเว้เมืองเง้ก็เปนญวนเหมือนกัน ฝ่ายไทยมิได้กำหนดรูปพรรณสัญญา เกลือกจะเกิดอริวิวาทรบพุ่งกัน ก็จะหมองคลองพระราชไมตรีแลไมตรีไป อันประเพณีกระษัตราธิราชเมืองใหญ่น้อยทั้งปวง ก็ย่อมรู้จักกำหนดขอบขันธเสมาราชธานีเขตรแดนซึ่งกันแลกันอยู่สิ้น เจ้าตังเกี๋ยก็ทรงปัญญาดำรงไพร่ฟ้าฃ้าแผ่นดิน ให้ดำริห์จงชอบนั้นเถิด ทางพระราชไมตรีแลไมตรีทั้งสองพระนครจะได้วัฒนาการมั่นคงสืบไป



(๒) พระราชสาส์นเจ้าเมืองญวน

พระราชสาส์นเจ้าเมืองญวนมาเยียนเจ้าน้องกรุงไทยให้ทราบ

ด้วยทูตนำ นายแก้ว นายพรมมา นายทัพสัตุ } พระราชสาส์นกับแพรมังกรออกมาเปนทางพระราชไมตรี เราจึงถามฃ่าวถึงเจ้ากรุงไทยทั้งสองพระองค์จำเริญมั่นคง วัดวาอารามรุ่งเรืองสุกใสยิ่งกว่าแต่ก่อนบุราณสืบมา เรามีความยินดีด้วยเจ้ากรุงไทยหนักหนา แลว่าเมืองเวียงจันท์ปีก่อนทำไม่ดี ยกกองทัพมาตีเมืองพวน จับเจ้าเมืองพวนกับเจ้าหัวเมืองลาวทั้งปวงแลไพร่พลเมืองหนี้มาเมืองเงอาน ว่าแก่เจ้าเมืองเงอาน ๆ จึงบอกหนังสือมาถึงเรา ๆ จึงให้กองทัพยกขึ้นมาถามโทษเจ้าเวียงจันท์ ๆ รู้ว่ากระทำผิด ปล่อยเจ้าลาวทั้งปวงคืนบ้านเมืองตามเก่าแล้ว เจ้าลาวทั้งปวงเคยเอาเครื่องราชบรรณาการไปถวายแก่เมืองญวนตามอย่างแต่ก่อนทั้งนี้ เราจึงโปรดยกโทษความผิดไม่ว่าแล้ว แต่ก่อนเราคิดว่าเจ้าเวียงจันท์อาไศรยเจ้ากรุงไทยคิดทำร้ายตีบ้านเมืองทั้งปวง บัดนี้เราเห็นในพระราชสาส์นว่าเจ้ากรุงไทยชุบเลี้ยงเจ้านันท์ให้ขึ้นมาครองเมืองเวียงจันท์สืบตระกูลมาหาได้ห้ามปรามตามอย่างแต่ก่อนมาหาไม่ เราจึงแจ้งว่าเจ้ากรุงไทยตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมหนักหนา อนึ่งเวียนจุงเมืองญวนกับกรุงไทย หนทางระยะห่างไกลกันข่าวคราวหารู้แจ้งไม่ แต่ก่อนเจ้าชมภูเมืองพวน เจ้าฦๅคำรฎเมืองหลวง ทูลเราว่าเวียนจุงมาอยู่ด้วยเจ้ากรุงไทย ๆ ทรงพระเมตตาชุบเลี้ยง แก้วเวียนจุงคิดอกตัญญ เก็บเอาเครื่องสาตราอาวุธยกกองทัพออกไป มันคิดการทั้งนี้โทษมีแก่เมืองโนัน แลครั้งก่อนเรามีราชสาส์นมาถึงกรุงไทย ว่าเวียนจุงแตกหนีเข้ามา ขอกองทัพจับไว้ บัดนี้มีพระราชสาส์นมาถึงเราจึงแจ้งราชการ เราคิดว่าไพร่ไหน ๆ ก็เปนไพร่ฟ้า ผู้ใด ๆ เปนเจ้าครองเมือง จะใคร่เอาใจราษฎรให้อยู่เยนเปนศุขเปนต้น ไพร่พลเมืองญวนก็เหมือนไพร่พลเมืองไทย เราได้เปนเจ้าพึ่งไพร่ฟ้าราษฎรทั้งปวง จึงสร้างเมืองญวนขึ้นใหม่ กว้าง ขวาง } ได้แว่นแคว้นแผ่นดินถึงหมื่นโยชน์ ทำไมกับเวียนจุงจะละเสียก็ได้ เหตุด้วยเวียนจุงทำร้ายกวนราษฎรฝ่ายเดียว คิดว่าจะยกกองทัพไปจับสัตว์ในป่า ไพร่ราษฎรจะได้ความยากแค้นเดือดร้อน ครั้นจะไม่ทำมันวันนี้มันจะไปลวงเมืองนี้พรุ่งนี้มันจะไปลวงเมืองโน้น ให้เกิดศึกรบพุ่งกันต่อ ๆ สืบไป ไพร่ฟ้าราษฎรจะได้ความยากจน จะฟังคำไว้มันนั้นผิดด้วยประเวณี เราคิดว่าเจ้าเมืองไทยจะไม่แจ้งเหตุผลมันอย่างนั้น บัดนี้แต่งทูตไปมา เมืองเรากับเมืองไทยได้แจ้งน้ำใจกันอยู่แล้ว เจ้ากรุงไทยทรงสัจธรรม จงทรงดำริห์ให้อาณาประชาราษฎรเมืองญวนกับเมืองไทยได้อยู่เยนเปนศุข ทางพระราชไมตรีจะได้วัฒนาการสืบไป ถ้าได้อย่างนั้นเรายินดีหนักหนา ให้เจ้ากรุงไทยทั้งสองพระองค์จำาเริญยิ่ง ๆ ต่อขึ้นไป วัดวาอารามจะได้รุ่งเรืองยิ่งขึ้นไปกว่าแต่ก่อน เมืองญวนกับเมืองไทยท่าทางไกลกัน ให้ราชสาส์นมาเหมือนกับตัวเราได้มาปราไศรยกัน ราชสาส์นมาทั้งนี้เหมือนกับน้ำใจเรา

ราชสาส์นมาณวัน ฯ ๑๑ ค่ำ ปีเถาะ สัพศก



(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/14850401961141_spd_2012090285139_b_1_320x200_.jpg)

อักษร (ข) หมวดที่ ๒
(๓) พระราชสาส์นพระเจ้ากรุงเวียดนาม
(๔) พระราชสาส์นพระเจ้ากรุงเวียดนาม
(๕) พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยาผู้ใหญ่
(๖) พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยาผู้ใหญ่
(๗) หนังสือท่านเจ้าพระยาพระคลังผู้ใหญ่ณกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยา


(๓) พระราชสาส์นพระเจ้ากรุงเวียดนาม

พญาธิเบศโกษาพญาอไภยพิพิธขุนสารประเสริฐหมื่นพจนอักษรกรมท่าหมื่นพินิจอักษรกรมท่านายชำนิโวหารอาลักษณ์ ๑ } นั่งแปลพระราชสาส์นพร้อมกันณะหอพระมณเฑียรธรรม

๓) พระราชสาส์นพระเจ้ากรุงเวียดนามกราบถวายบังคมสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวณกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาให้ทราบ ด้วยณะ ๑๐ฯ ๓ ค่ำ ปีกุนเบญจศก มีพระราชสาส์นให้ทูตานุทูตออกมาถึงเมืองตังเกี๋ยแจ้งในพระราชสาส์นว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ให้คุมเอาสิ่งของออกมาพระราชทาน ฯฃ้าฯ นั้นมีความยินดีนัก ด้วยทรงพระเมตตาชุบเกล้าชุบกระหม่อมเลี้ยง ฯฃ้าฯ เสมอแต่เดิมมาจนคงเท่าทุกวันนี้ พระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้ ฯฃ้าฯ เอาพระเดชพระคุณปกเกล้าปกกระหม่อมมิได้ลืมพระคุณสักเวลาหนึ่งเลย แล ฯฃ้าฯ จะจัดสิ่งของให้ทูตคุมเข้ามาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายด้วยตัว ฯฃ้าฯ อยู่ณะเมืองตังเกี๋ยต่อณะ ๑๑ฯ ๕ ค่ำ ฯฃ้าฯ ลงมาถึงกรุงภูชุน จึ่ง

จัดสิ่งของ} ทองคำ ๕ ลิม เงิน ๕๐ ลิม แพรสีต่างกัน ๕ อย่าง ๑๐๐ พับ ผ้าขาว ๑๐๐ พับ} แต่งให้ กวานเถิงดาว  คำทราย  เตียงกวางเฮา }๑ ทานลำเวียน โหยเวียนบะ } ๑ คุมมาทางเรือ มาณะเมืองไซง่อนเข้ามาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย พระราชสาส์นมาณวัน ฯ ๖ ค่ำ ยาลองศักราช ๓ ปีชวดฉศก๏ ๚ะ๛



(๔) พระราชสาส์นพระเจ้ากรุงเวียดนาม
(๔) พระราชสาส์นพระเจ้ากรุงเวียดนาม ขอกราบถวายบังคมแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวณะกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาให้ทราบด้วยณะเดือน ๔ ขึ้น ๕ ค่ำปีกุนเบญจศก มีหนังสือออกมาว่า ณเดือน ๑๒ แรม ๔ ค่ำ ปีกุนเบญจศก ล้นเกล้าฯ กรมพระราชวังบวร ฯ เสด็จถึงแก่พระนิพพาน ฯฃ้าฯ ได้แจ้งนั้นแล้วมีใจสสดเสียดายลำลึกถึงพระเดชพระคุณอันยิ่งหนักหนา ฯฃ้าฯ จะจัดสิ่งของเข้ามาให้ทันถวายพระเพลิง ทำบุญฉลองพระเดชพระคุณก็มิได้ดังใจด้วยเปนระยะทางไกล ถึงนิพพานไปแล้วก็ดี ฯฃ้าฯ ยังคิดถึงพระเดชพระคุณอยู่มิได้ขาด แลบัดนี้ ฯฃ้าฯ จัดได้ขี้ผึ้งหนัก ๕ หาบ ผ้าขาว ๑๐๐ พับ น้ำตาลทราย ๓๐ หาบ น้ำตาลทรายหลอม ๕ หาบ น้ำตาลกรวด ๕ หาบ แต่งให้แต่งให้กวานเถิงดาวคำทรายเจืองดาวเตืองกวางเฮาทานลำเวียนโฮยเวียนบะ ๑๑ }
กวานเถิงดาวคำทรายเจืองดาวเตืองกวางเฮา๑ทานลำเวียนโฮยเวียนบะ๑ }  คุมเข้ามาทูลเกล้า ฯ ถวายให้ทำบุญ แล้วขอพระราชทานให้ กวานเถิงดาวคำทรายเจืองดาวเตืองกวางเฮา ทานลำเวียนโฮยเวียนบะ  } ไปกราบถวายบังคมพระอัฐิ แทนตัว ฯฃ้าฯ จะได้เหนใจ ฯฃ้าฯ ว่าคิดถึงพระเดชพระคุณ อยู่

พระราชสาส์นมาณวันเดือน ๖ ค่ำ ขึ้น ๑ ค่ำ ยาลองศักราช ๓ ปีชวดฉศก



(๕) พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยาผู้ใหญ่

(๕) พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยาผู้ใหญ่ มาถึงพระเจ้ากรุงเวียดนาม ด้วยมีพระราชสาส์นเข้าไปว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวณกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา แต่งให้ทูตานุทูตคุมเอาสิ่งของเครื่องสำหรับกระษัตริย์ ออกมาพระราชทานนั้น ได้รับไว้แล้ว แต่พระมาลานั้นเปนอย่างสูง ไม่เคยใส่ถวายคืนเข้ามา อนี่งพระเจ้ากรุงเวียดนาม จัดได้สิ่งของให้กว้านเทืองดาวคำทรายเจืองเกอเตืองกวางห้าว หานลำเวียนโหยเวียน
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/38037734437319_95821766_131366685180702_54389.jpg)
เวียดนาม แลว่าพระเจ้ากรุงเวียดนาม ได้แต่งเครื่องสักการบูชาเทพยุดา พระไอยกา พระไอยกี พระราชบิดามารดา แลขอชื่อเปนกรุงเวียดนาม ถ้ามีพระราชสาส์นไปมาก็ดี ขอให้ใส่ชื่อกรุงเวียดนาม แลมีเนื้อความแจ้งอยู่ในพระราชสาส์นสี่ฉบับทุกประการแล้ว แลซึ่งพระเจ้ากรุงเวียดนามให้คุมเอาพระมาลา แลสิ่งของเข้ามาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย แลทำบุญพระอัฐินั้น ได้ให้ชาวพระคลังเจ้าพนักงานรับไว้แล้ว แลสิ่งของซึ่งถวายเข้ามาทำบุญนั้น ได้สัตปกรณ์พระอัฐิ แลได้ให้ทูตานุทูตกราบถวายบังคมพระอัฐิแล้วอนุโมทนาส่วนกุศล ให้พระเจ้ากรุงเวียดนามจำเริญไปในราชสมบัติสบพระญาติพระวงษ์ไปชั่วฟ้าชั่วดินเถิด แลซึ่งพระเจ้ากรุงเวียดนามมีพระไทยอาไลยถึงสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสฐานมงคลนั้น ขอบพระไทยพระเจ้ากรุงเวียดนามยิ่งนัก อนึ่งซึ่งพระเจ้ากรุงเวียดนาม ให้คุมเอาสิ่งของเข้ามาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายนั้น ครั้นจะจัดหาสิ่งของอันใดให้ออกมา ให้ต้องตามประเทศใช้
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/34929502589834_95761823_131368055180565_46242.jpg)
ส่งให้กว้านเทืองดาวคำทรายเจืองเกอเทืองกวางห้าว ๑ หารลำเวียน โหยเวียนบะ ๑ คุมออกมาพระราชทานพระเจ้ากรุงเวียดนาม

พระราชสาส์นมาณวัน ๕ ๑๐ฯ ๙ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๖๖ ปีชวดฉศก



(๖) พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยาผู้ใหญ่

(๖) พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยาผู้ใหญ่ มาถึงพระเจ้ากรุงเวียดนาม ด้วยแผ่นดินเมืองญวนซึ่งเปนเสี้ยนหนามหลักตออยู่นั้น พระเจ้ากรุงเวียดนามอุสาหกระทำความเพียรสำเร็จราชการ แผ่ขอบขันธเสมากว้างขวางเปนศุขอยู่แล้ว แต่กรุงพระมหานครศรีอยุทธยากับกรุงอังวะยังเปนประจามิตรฆ่าศึกกันอยู่ แลณเดือนหกปีชวดฉศก ให้ทัพเมืองเชียงใหม่ เมืองนคร เมืองน่าน ยกไปตีเมืองเชียงแสน ฝ่ายพม่าลาวเมืองเชียงแสนต่อรบพุ่งเปนสามารถ กองทัพเราตั้งล้อมประชิดเมืองเชียงแสนอยู่เดือนเสศ จึงเข้าหักเอาเมืองเชียงแสนได้ มยุง่วนแม่ทัพพม่าซึ่งมารักษาเมือง ถูกปืนตายในที่รบ แต่อ้ายนาขวาเจ้าเมืองพาพรรคพวกอพยบหนีข้ามแม่น้ำของไป กองทัพตามจับได้สิ้น แล้วทำลายกำแพงเผาบ้านเมืองเสีย กวาดเอาครัวอพยบชายหญิงใหญ่น้อยเปนคนสองหมื่นสามพันเสศ เห็นพม่าจะมีความเจ็บแค้น ณเดือนอ้ายเดือนญี่ จะยกกองทัพมากระทำตอบแทนบ้างฤๅประการใดยังไม่ได้เนื้อความ ถ้าทัพพม่าไม่ยกมาในปีชวดฉศกนี้ พระมหานครศรีอยุทธยาคิดจะยกไปกระทำแก่กรุงอังวะ แต่ถ้าว่าเมืองมฤท เมืองทวาย เมืองเมาะตมะ เมืองย่างกุ้ง สี่เมืองนี้เปนเมืองชายชเล ถ้าแต่กำลังทัพบกเราจะไปตี มันรวนเรอุดหนุนช่วยกันได้ จำจะคิดทัพเรือ ไปกันทัพเรือพม่า ทั้งจะได้ตัดเสบียงอาหาร จึงจะเอาไชยชำนะได้โดยสดวก คิดไว้คนเมืองไชยา เมืองนคร เมืองพัทลุง เมืองสงขลา เมืองถลาง บางคลี เมืองตกั่วกุ้ง เมืองตกั่วป่า แปดเมือง กับแขกเมืองไทร เมืองตานี จะเปนกองทัพเรือ แต่ทว่าไม่สู้สันทัดนัก จะขอกองทัพเรือพระเจ้ากรุงเวียดนามสองร้อยสามร้อยลำ ให้สรัพไปด้วยปืนไหญ่น้อยเครื่องสาตราวุธพร้อม คิดดูมรสุมลมเดือนอ้ายมาจากเมืองญวนเดือนญี่ถึงมลากา เดือนญี่ปลายเดือน เดือนสามข้างขึ้นเปนลมสำเภา เลี้ยวขึ้นไปทางเกาะหมากไปถึงเมืองไทร เมืองถลางเหนได้สดวกอยู่ ถึงว่าอังกฤษซึ่งตั้งอยู่ณะเกาะหมากนั้น ถ้าทัพญวนจะได้มาเมื่อใด ก็จะมีหนังสือแต่งคนออกไปบอกราชการเสียแล้วก็จะไม่มีวิวาทสิ่งใดหามิได้ กำหนดจะได้ยกเปนกระทำแก่เมืองพม่าปีใดเดือนใด จึงจะมีพระราชสาส์นบอกมาให้แจ้ง

พระราชสาส์นมาณวันพฤหัศบดีเดือนเก้าขึ้นสิบค่ำ จุลศักราช ๑๑๖๖ ปีชวดฉศก



(๗) หนังสือท่านเจ้าพระยาพระคลังผู้ใหญ่ณกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยา

(๗) หนังสือท่านเจ้าพระยาพระคลังผู้ใหญ่ณกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยา มาถึงองไลโบเสนาบดีขอได้นำขึ้นทูลแต่สมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนามให้ทราบ ด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้ากรมพระราชวังบวรสถานมงคลฝ่ายน่า มีพระราชบัณฑูรดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า พระยาราชวังสรรข้าหลวงมีชื่อกลับเข้าไปครั้งนี้ กราบทูลว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนามมีพระไทยยินดี ต่อสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเปนอันมาก ให้รับเลี้ยงดูผู้ออกมาต่าง ๆ มิให้ขัดสนประการใดนั้น ด้วยสมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนามมีน้ำพระไทยรักในสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวแต่ก่อนฉันใด ก็มีพระไทยเสมอมาจนคุ้มเท่าบัดนี้ แลสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้ากรมพระราชวังบวรสถานมงคล ก็มีพระไทยคิดถึงพระเจ้ากรุงเวียดนามอยู่มิได้ขาด แต่ไม่ทราบว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนามจะต้องพระราชประสงค์สิ่งใดจะได้จัดออกมาถวาย แลครั้งนี้พระยาราชวังสรรกราบทูลว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนาม ต้องพระราชประสงค์ดิบุกบริสุทธิ์สำหรับจะใช้ในการเบ็ดเสร็จ บัดนี้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้ากรมพระราชวังบวรสถานมงคล จัดได้ดิบุกสองร้อยสามสิบสี่ปึก ถวายออกมาก่อน ขอให้สมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนาม ครอบครองสุริยราชสมบัติแผ่นดินเมืองญวนทั้งปวงให้อยู่เยนเปนศุขสืบไป อนึ่งณมรสุมปีขานอัฐศกนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้ากรมพระราชวังบวรสถานมงคลฝ่ายน่า ให้พระอินอากรแต่งสำเภาลำหนึ่ง จีนอิวเจียง เปนนายสำเภา จีนตัวงี ล้าตา จีนชุน ปั้นจุ๊ จีนวอ ผู้กำกับ คุมเอาสินค้าออกไปจำหน่ายณเมืองเอมุย แลสำเภาลำนี้ต่อไม้ยังหามีป้ายสำหรับสำเภาไม่ จะออกไปขอป้ายณเมืองจีน แลมีหนังสือนายสำเภาล้าต้า ฝากพระยาราชวังสรรเข้าไปให้กราบทูลว่าใช้ใบไปกับสำเภาหูทรง ครั้นไปถึงเข้าท่าขัดสนมรสุมกลัวใช้ใบไปเมืองจีนมิได้ เข้าทอดอยู่ปากน้ำเมืองกุยเยนกับสำเภาหูทรงด้วยกัน องโหกุนเจ้าเมืองกุยเยินได้ลงไปดูแลอนุเคราะห์อยู่ แลสำเภาลำนี้จะต้องค้างมรสุมต่อปีน่าจึงจะใช้ใบไปได้ แลณเดือน ๓ เดือน ๔ ปีขานอัฐศก จะให้ผู้ตบแต่งออกไปแต่งสำเภาณเมืองกุยเยิน แลให้องไลโบช่วยกราบทูลแต่สมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนามให้ทราบ

หนังสือมาณวัน ๕ ฯ ๑ ค่ำปีชวดฉศก




หัวข้อ: Re: จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 06 พฤษภาคม 2563 18:25:00
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/14850401961141_spd_2012090285139_b_1_320x200_.jpg)

อักษร (ข) หมวดที่ ๓
(๘) พระราชสาส์นพระเจ้ากรุงเวียดนาม
(๙) พระราชสาส์นพระเจ้ากรุงเวียดนาม
(๑๐) พระราชสาส์นพระเจ้ากรุงเวียดนาม


(๘) พระราชสาส์นพระเจ้ากรุงเวียดนาม 
ณวัน ๕ ฯ ๑๒ ค่ำปีขานอัฐศกเพลาเช้า พระยาโกษาธิบดี๑พระยาพิพัฒโกษา๑พระยาธิเบศโกษา๑พระยาราชวังสรร๑พระยาศรีพิพัฒน์๑พระยาไกรโกษา๑พระยาโชฎิก๑หลวงท่องสื่อ๑ขุนสารประเสริฐ๑ขุนมหาสิทธิโวหาร๑นายเทียรฆราษ๑หลวงราชมนตรี๑ล่ามญวน๑เสมียนตรากรมท่า๑} นั่งพร้อมกันณหอพระมณเฑียรธรรม ให้พระราชมนตรีแปลพระราชสาส์นพระเจ้ากรุงเวียดนาม ในพระราชสาส์นนั้นว่า

(๘) พระราชสาส์นพระเจ้ากรุงเวียดนาม กราบถวายบังคมแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวณกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาให้ทราบ ด้วยณะ เดือน ๙ ปีขานอัฐศก เจ้าเมืองกวางตีมีหนังสือมาให้กราบทูลว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว แต่งให้พระยาจักราราชทูต พระยาราชวังสรรอุปทูต นายเสน่ห์มหาดเล็ก แลไพร่ ๙๕ คน จำทูลพระราชสาส์นไปทางเมืองลาวถึงตานกามโล จึงมีรับสั่งให้เจ้าเมืองกวางตีแต่งให้ขุนนางแลไพร่จัดเรือขึ้นไปรับ ครั้นณวัน ๘ ค่ำ ปีขานอัฐศก รับ ราชทูต อุปทูต ข้าหลวงมีชื่อลงมาถึงกรุงเวียดนาม จึงพระราชทานกงกวนให้อยู่ พระยาจักรา นายเสน่ห์มหาดเล็ก แลไพร่ป่วยหนัก จึงพระราชทานหมอหลวงให้รักษามิฟัง ครั้นอยู่มาณวัน ๘ ค่ำ พระยาจักรา นายเสน่ห์มหาดเล็กตาย พระเจ้าเวียดนามทรงพระเมตตาหนักหนา ทรงพระวิตกว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัสใช้ให้ข้าหลวงออกมาตายเสีย เสมือนหนึ่งข้าราชการในพระเจ้ากรุงเวียดนามก็เหมือนกัน มิได้แจ้งราชการเลย จึงให้แต่งการศพพระยาจักรา นายเสน่ห์มหาดเล็กตามอย่างกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาให้เอาไปเผา ครั้นณวัน ๘ ค่ำ จึงให้รับสั่งเชิญพระราชสาส์นแลข้าหลวงมีชื่อเข้าเฝ้าแจ้งในพระราชสาส์นแล้ว มีพระไทยคิดถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่าทรงพระเมตตาในพระเจ้ากรุงเวียดนามเสมอต้น เสมอปลาย  แลพระยาเชียงเงินก่อเนื้อความชักชวนเอา นายคำทิพ นายคำนักกับครอบครัวไป พระยาเชียงเงินทำทั้งนี้ ให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระวิตก แลกรุงเวียดนามกับกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา ยังเปนทางพระราชไมตรีสืบไปอยู่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว จึงมีรับสั่งให้พระยาเชียงเงินเอาครอบครัว ๑๐๐ เสศคืนขึ้นไปเมืองแถง แลข้อความทั้งนี้เจ้าเมืองทังลวงได้บอกหนังสือมาหลายครั้ง ว่าพระยาเชียงเงินทำเบียดเบียนชักชวนเอาครอบครัวไป แจ้งพระไทยว่าการทั้งนี้พระยาเชียงเงินทำเอง มิได้สงไสยว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจะได้ตรัสใช้หามิได้ จึงมิได้ว่ากล่าวประการใด ครั้นณวัน ๑๕ฯ ๗ ค่ำ ปีขานอัฐศก จึงมีรับสั่งให้เจ้าเมืองทังลวงมีหนังสือไปถึงเจ้าเมืองสือหึงว่าให้หมื่นศรี เพลียจันอาษา แลไพร่มีชื่อ ซึ่งอยู่ณเมืองสือหึงกลับคืนไปเมือง แลพระเจ้ากรุงเวียดนามมึพระไทยคิดถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวมิได้ขาด ซึ่งให้เอาโทษพระยาเชียงเงินนั้นพระเดช หาที่สุดมิได้ ทั้งสองพระนครจะได้เปนทางพระราชไมตรียืดยาวสืบไป อนึ่งซึ่งพระยาเชียงเงินพาเอาครอบครัว ๑๐๐ เศศคืนไปนั้น ยังหาไปถึงเมืองแถงไม่ ครั้นจะให้ข้าหลวงมีชื่อคอยครอบครัวกว่าจะถึงนั้นจะช้าไป พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจะทรงพระวิตก จึงมีรับสั่งให้พระยาราชวังสรรอุปทูต ข้าหลวงมีชื่อกับไพร่ ๖๒ คน ให้กลับเข้ามา แล้วพระราชทานสิ่งของ ครั้นณวัน ฯ ๑๐ ค่ำ พระยาราชวังสรรข้าหลวงมีชื่อกราบถวายบังคมลา พระเจ้ากรุงเวียดนามได้สั่งให้เข้ามากราบทูล พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว อย่าให้ทรงพระวิตกเลย จึงให้ขุนนางจัดเรือแลคนส่ง ครั้นณวัน ฯ ๑๐ ค่ำ พระยาราชวังสรรออกจากกรุงเวียดนาม อนึ่งทูตข้าหลวงมีชื่อจะไปทางเมืองลาวครั้งนี้ลำบากป่วยเจ็บล้มตายเปนอันมาก แต่ลาวเคยไปมาอยู่ยังป่วยเจ็บล้มตาย แต่นี้ถ้าจะแต่งข้าหลวงออกไปกรุงเวียดนามอีก อย่าให้ไปทางเมืองลาวเลย ให้ไปทางเรือขึ้นเมืองไซ่ง่อน แลครั้งนี้จะให้กลับไปทางบกกลัวจะลำบาก จึงมีรับสั่งให้จัดเรือแลคนส่งทางเรือมาขึ้นเมืองไซ่ง่อน ให้เจ้าเมืองไซ่ง่อนส่งต่อ ๆ ไป ขอให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวครองราชสมบัติแลสมเด็จพระเจ้าลูก พระเจ้าหลานเธอ พระญาติพระวงษ ครอบครองอาณาประชาราษฎรให้อยู่เย็นเปนศุขสืบไป

พระราชสาส์นมาณวัน ฯ ๑๐ ค่ำ ศักราชล่วง (ยาลอง) ๕ ปีขานอัฐศก



(๙) พระราชสาส์นพระเจ้ากรุงเวียดนาม 
(๙) พระราชสาส์นพระเจ้ากรุงเวียดนาม ขอกราบถวายบังคมแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ณกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยาผู้ใหญ่ให้ทราบ ณเดือน ๓ ปีขานอัฐศก องไลโบนำเอาพระยาวิสูตรโกษาข้าหลวงมีชื่อ แลหนังสือเจ้าพระยาพระคลังผู้ใหญ่ณกรุงแจ้งว่าเดือน ๑๑ ปีขานอัฐศก สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมพระราชวังหลังประชวรหนัก ถึงณเดือน ๑๐ฯ ๑ ค่ำ สวรรค์คต กรุงพระมหานครกับกรุงเวียดนามเปนทางพระราชไมตรีอยู่ ครั้นได้แจ้งแล้วเสียดายนัก บัดนี้แต่งให้หันลำเบียดบะ ราชทูต เลโปลินซือติเกาทัพกวางประ อุปทูต
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/32844959654741_95804830_131388221845215_48656.jpg)


(๑๐) พระราชสาส์นพระเจ้ากรุงเวียดนาม
(๑๐) วัน ๖ ฯ ๖ ค่ำ ปีเถาะนพศก พระยาพิพัฒโกษา ๑ พระยาธิเบศโกษา ๑ ขุนสารประเสริฐ ๑ ขุนมหาสิทธิ ๑ พระราชมนตรี ๑ } พร้อมกัน ณ หอพระมณเฑียรธรรม ให้พระราชมนตรีล่ามแปลพระราชสาส์นพระเจ้ากรุงเวียดนามออกเปนคำไทย

สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ณกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาผู้ใหญ่ ให้ทราบ ณ เดือน ๑ ปีฃานอัฐศก พระยาราชาเสรษฐีจำทูลพระราชสาส์น แลหนังสือท่านมหาเสนาผู้ใหญ่ ไปถึงองไลโบให้ทราบในหนังสือนั้นแล้ว ว่าสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ทรงพระจำเริญศุขอยู่ แลอาณาประชาราษฎร์ก็อยู่เปนศุขดีพระไทยหนัก แลซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ทรงพระจำเริญพระชัณษาขึ้น สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเศกให้เปนกรมพระราชวังบวร ฯ สืบพระญาติพระวงษาต่อไปแผ่นดินจะได้ยืนยาวไปนั้นยินดีพระไทยหนัก แลทุกวันนี้พระไทยสมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนาม รักใคร่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว เสมอต้นเสมอปลาย จะได้รังเกียจสิ่งหนึ่งสิ่งใดหามิได้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ครองราชสมบัติไพร่ฟ้าประชาราษฎรบ้านน้อยเมืองใหญ่อยู่เยนเปนศุขยืนยาวมานั้น พระเจ้ากรุงเวียดนามยินดีพระไทยนัก บัดนี้แต่งให้ กำหทายกายเก่อถนจกหาว ราชทูตทำลุนตานเมียงหาว อุปทูต }จำทูลพระราชสาส์น คุมเครื่อง

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/22236335691478_95219350_131389475178423_69980.jpg)


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/14850401961141_spd_2012090285139_b_1_320x200_.jpg)
อักษร (ข) หมวดที่ ๔ พระราชสาส์นรัชกาลที่ ๒ มีไปเมืองญวน
(๑) พระราชสาส์น สมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา ปราบดาภิเศกใหม่
(๒) พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา
(๓) หนังสือ เจ้าพระยาพระคลังผู้ใหญ่ณกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยา
(๔) พระราชสาส์นพระเจ้ากรุงเวียดนาม
(๕) พระราชปฏิสัณฐาน
(๖) พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา
(๗) พระราชสาส์น เจ้ากรุงเวียดนาม
(๘) พระราชสาส์น พระเจ้ากรุงเวียดนาม
(๙) พระราชสาส์น สมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา
(๑๐) พระราชสาส์น สมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา
(๑๑) พระราชสาส์น สมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา
(๑๒) พระราชสาส์นพระเจ้ากรุงเวียดนาม
(๑๓) พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา
(๑๔) พระราชสาส์นพระเจ้ากรุงเวียดนาม
(๑๕) พระราชสาส์นกรุงเวียดนาม
(๑๖) พระราชสาส์นพระเจ้ากรุงเวียดนาม
(๑๗) พระราชสาส์นพระมเหษี พระเจ้ากรุงเวียดนาม
(๑๘) พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา
(๑๙) พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา
(๒๐) พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา
(๒๑) พระราชสาส์นพระเจ้ากรุงเวียดนาม
(๒๒) พระราชสาส์นพระเจ้ากรุงเวียดนาม
(๒๓) พระราชสาส์นพระเจ้ากรุงเวียดนาม
(๒๔) พระราชสาส์น สมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา
(๒๕) หนังสือท่านเจ้าพระยาพระคลังผู้ใหญ่ณกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาฯ
(๒๖ เห็นจะเปนร่างครั้งแรก) พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา
(๒๗ เห็นจะเปบฉบับที่แก้แล้วมีไป)
(๒๘) หนังสือท่านเจ้าพระยาพระคลังผู้ใหญ่ ณะกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา
(๒๙) พระราชสาส์น สมเด็จพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา
(๓๐) พระราชสาส์นพระเจ้ามินมาง
(๓๑) พระราชสาส์นเจ้ากรุงเวียดนาม



(๑) พระราชสาส์น สมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา ปราบดาภิเศกใหม่
วัน ๖ ๑๒ฯ ๑๑ ค่ำจุลศักราช ๑๑๗๑ ปีมเสงเอกศก เพลาเช้าโมง บาท ได้ฤกษชุบพระราชสาส์นกระดาษน้ำส้มเส้นหมึกไปกรุงเวียดนาม

พระยาโกษา พระยาอุไทยธรรม์ พระยาทิพโกษา พระอาลักษณ์ พระอไภยพิพิธ ขุนสารประเสริฐ ขุนมหาสิทธิ พระราชมนตรีญวน }  นั่งพร้อมกันหอพระมณเฑียรธรรม หมื่นเทพไมตรีชุบ แล้วปิดตราประจำพระราชสาส์นอักษรไทยตีตราโลโตดวง ๑ พระราชสาส์นคำหับอักษรจีนตีตราโลโตดวง ๑ แล้วเชิญตราพระครุธพาห์นประจำผนึก ๒ ดวง แล้วใส่กล่องไม้กลึง แล้วใส่ถุงโหมด

พระราชสาส์นไป ณวัน ๖ ๑๒ฯ ๑๑ คำ จุลศักราช ๑๑๗๑ ปีมเสงเอกศก

(๑) ๏ พระราชสาส์น สมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา ปราบดาภิเศกใหม่ จำเริญพระราชไมตรีมาแจ้งแก่สมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนาม ด้วยพระบาทสมเด็จบรมนารถบรมบพิดรพระพุทธเจ้าหลวง ผู้ทรงพระคุณอันมหาประเสริฐ เสร็จปราบดาภิเศกครองราชสมบัติ ทำนุบำรุงไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินสมณชีพราหมณ์เสนาบดี แลพระบรมวงษานุวงษ์เปนศุขสืบมาได้ยี่สิบแปดปี ครั้นถึงณเดือนหกปีมเสงเอกศกทรงพระประชวร แพทย์ได้ประกอบพระโอสถถวายต่าง ๆ พระโรคนั้นมิได้คลาย ณเดือนเก้าแรมสิบสามค่ำเพลาสามยามเจ็ดบาทเสด็จสู่สวรรค์คต ได้จัดแจงเครื่องต้นสำหรับกระษัตริยทรงพระบรมศพแล้ว เชิญเสด็จเข้าสู่พระบรมโกษฐทองคำประดับพลอย ตั้งกระบวนแห่แต่พระมหามณเฑียร เชิญมาสถิตย์ไว้ณพระที่นั่งดุสิดามหาปราสาท ประดับด้วยเครื่องสูง มีพระมหาเสวตรฉัตรครบเครื่อง บูชาเฉลิมพระเกียรติยศตามราชประเพณีพระมหากระษัตราธิราชเจ้าสืบมาแต่ก่อน ครั้นเพลาเช้าแลเย็นได้ไปถวายบังคมกระทำสักการบูชาพระบรมศพเปนนิจมิได้ขาด แลพระวงษานุวงษ์ทั้งปวงก็พร้อมมูลกัน จัดแจงแต่งพระบรมศพฉลองพระเดชพระคุณเปนปรกติอยู่ แต่เจ้าเหม็นผู้หลานที่เปนบุตรเจ้าตากแผ่นดินหลัง ซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระเมตตาชุบเลี้ยงให้เปนเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิตนั้น หามีกระตัญญูรู้พระเดชพระคุณไม่ คบคิดกันพี่น้องที่ร่วมบิดาเดียวกันทั้ง ๓ คน แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยไทยมอญเปนขบถ พิจารณาได้ความเปนสัจ จึงให้เสนาบดีปฤกษาเห็นว่าเปนคนหามีความสัจกตัญญูไม่ เลี้ยงไว้จะเปนเสี้ยนศัตรูแผ่นดิน จึงให้ประหารชีวิตรเสียแต่ณเดือนสิบขึ้นห้าค่ำแล้ว กรุงพระมหานครศรีอยุทธยาทุกวันนื้ก็ราบคาบปรกติเหมือนแต่ก่อน อย่าให้สมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนามทรงพระวิตกเลย แลซึ่งการพระเมรุพระบรมศพต่อณเดือนห้าข้างขึ้นสิ้นเทศกาลฝน จึงจะได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพ บัดนี้แต่งให้

พระยาศรีสุริยพาหะพระราชเสนาหลวงจิตรเสน่ห์ขุนศรีเสนาหมื่นหาญชลาไลย ราชทูตอุปทูตตรีทูตล่ามล่าม 
พระยาศรีสุริยพาหะ ราชทูต  พระราชเสนา อุปทูต  หลวงจิตรเสน่ห์ ตรีทูต  ขุนศรีเสนา ล่าม  หมื่นหาญชลาไลย ล่าม
 
จำทูลพระราชสาส์นออกมาเปนอักษร ไทยฉบับ ๑ จีนฉบับ ๑ ญวนฉบับ ๑ } ข้อความต้องกัน

พระราชสาส์นมาณวัน ๖ ๑๒๑๒ฯ ๑๑ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๗๑ ปีมเสงเอกศก ๚๛



(๒) พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา
๏ วัน ๖ ฯ ๓ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๗๒ ปีมะเมียโทศก หมื่นสวัสดิ์อักษร จาฤกพระราชสาส์นไปกรุงเวียดนาม ด้วยกระดาษฝรั่ง ๔ แผ่นเปนอักษร ๔๖ บันทัด ปิดตราโลโตประจำศกตรามังกรคาบแก้วประจำต่อตราไอยราพต ตรามังกรหก ปิดครั่งข้างละดวงประจำปากบอกดวง ๑ ปากถุงดวง ๑ ก้นถุงดวง ๑ พระราชสาส์นใส่พานสองชั้นประดับแว่นฟ้าถุงแพรเหลืองระใบแดง ๒๚

(๒) ๏ พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา จำเริญพระราชไมตรีมาแจ้งแต่สมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนาม ด้วยองไลโบเสนาบดีผู้ใหญ่มีหนังสือเข้าไปว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนามมีพระไทยวิตกถึงการทื่จะถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงผู้ทรงพระคุณธรรมอันมหาประเสริฐเมื่อใดเปนแน่ให้กำหนดออกมาให้แจ้งนั้นขอบพระไทยยิ่งนัก บัดนี้ได้ให้เจ้าพนักงานเร่งรัดทำเครื่องประดับแลพระเมรุทุกวัน จะได้เชิญเสด็จพระบรมศพออกมาถวายพระเพลิง ณเดือนห้าข้างแรมเดือนหกข้างขึ้น อนึ่งองค์จันทร์บุตรองค์เอง ซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงอภิเศกให้เปนพระรามาธิบดีครอบครองแผ่นดินเขมรตามลำดับสกูลวงษ์ แลพระรามาธิบดีถึงแก่พิราไลยแล้ว องค์จันทร์องค์อิ่มองค์สงวนผู้บุตรยังเยาว์นัก ก็บำรุงเลี้ยงรักษามาจนค่อยวัฒนาจำเริญใหญ่ จึงเศกองค์จันทร์เปนพระอุไทยราชาธิราชให้ครองสมบัติแทนพระรามาธิบดี แต่องค์อิ่มองค์สงวนผู้น้องยังหาได้ยศศักดิ์สิ่งใดไม่ จึงเศกขึ้นครั้งหลังเปนวังหลังวังน่า หวังจะให้ช่วยกันทำนุบำรุงอนาประชาราษฎร รักษาแผ่นดินเมืองกัมพูชาโดยประเพณี แลพระอุไทยราชามีความรังเกียจอิจฉาองค์สงวนองค์อิ่มผู้น้อง ให้จับพระยาจักรี พระยากลาโหมซึ่งเปนเสนาผู้ใหญ่ฆ่าเสียโดยจิตรพยาบาท จะได้มีศุภอักษรเข้าไปยังกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาก็หาไม่ นำเอาแต่ความมิจริงแกล้งผูกพันมาทูลสมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนาม ว่าพระยาจักรีพระยากลาโหมกระทำให้ไพร่ได้ความเดือดร้อนกะเกณฑ์กองทัพ จะให้เข้าไปช่วยกรุงพระมหานครศรีอยุทธยารบพม่าฆ่าศึก แลยุยงให้พี่น้องเปนสองแผ่นดินเมืองกะพงสวายซึ่งขึ้นแก่เมืองกัมพูชา ตระเตรียมกองทัพจะยกมาสู้รบ จึงทูลขอกองทัพไปรักษาเมือง สมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนามด้วยยังหาทราบเหตุประการใดไม่ จึงจัดกองทัพให้โดยเมตตา แลดินเตงกรันคำทรายเจิงเกอหั้นลูถูซื่อหึงจันเฮา ขึ้นไปตั้งอยู่ณกะพงหลวงนั้น ให้ขุนนางญวนถือหนังสือไปถึงพระยาอภัยภูเบศร์เปนเนื้อความในหนังสือหลายประการ อนึ่งว่านักถีภรรยาเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์เก่าเปนมารดาภรรยาเจ้าเมืองเขมรให้ส่งลงมาโดยเร็ว ครั้นพระยาอภัยภูเบศร์จะขัดขืนไว้ เกลือกจักวิวาทขัดเดืองกัน จึงให้นักถีมาด้วยขุนนางญวนผู้ถือหนังสือ อันครอบครัวเมืองปัตะบองก็ระส่ำระสายไปเปนอันมาก เพราะพระอุไทยราชา มาก่อ เกิดความอิจฉารังเกียจองค์สงวนองค์อิ่มผู้น้องซึ่งร่วมมารดาบิดาเดียวกัน ให้เสียประเพณีธรรมเนียมกระษัตริย์ แล้วมิหนำซ้ำกล่าวมารยา ขอกองทัพสมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนาม ไปรักษาเมืองให้ลำบากแกรี้พล ครั้นกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาจะให้ออกมารงับว่ากล่าวตามผิดแลชอบ เกลือกดินเติงกรันคำทรายเจิงเกอหั้นลูถูซี่อหึงจันเฮาซึ่งมาช่วยรักษาเมืองกัมพูชานั้นจะมิปรกติผ่อนปรนกัน ทางพระราชไมตรีก็จะมัวหมอง ด้วย สองพระนครร่วมศุขร่วมทุกข์โดยสัจสุจริตยิ่งนัก แต่พม่ายกมากระทำแก่กรุงพระมหานครศรีอยุทธยา สมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนามยังทรงพระวิตกจะให้กองทัพเข้าไปช่วย ก็ยินดีขอบพระไทยเปนที่หวังอยู่ บัดนี้องค์จันทร์กระทำดังนี้ สมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนามจะไม่ช่วยทรงพระโกรธบ้าง ข้าขอบขันธเสมาเมืองขึ้นทั้งปวงก็ยังมีอยู่เปนอันมาก ด้วยกรุงเวียดนามก็สิ้นเสี้ยนหนามเปนบรมศุขอยู่แล้ว แต่กรุงพระมหานครศรีอยุทธยายังกระทำสงครามกับพม่าอยู่ ยากที่จะผ่อนปรนจึงให้พระยาพิพัฒโกษาราชทูตพระยาราชวังสรรอุปทูต พระยานราราชมนตรี ตรีทูตขุนวิเศษวารี ขุนศรีธากร  ล่าม ขุนวิเศษวารี ขุนศรีธากร ล่าม จำทูลพระราชสาส์นออกมาเฝ้าสมเด็จพระเจ้าเวียดนามให้ทราบที่สิ่งใดโดยใจสุจริต ได้สั่งมาแต่ทูตานุทูตทุกประการ ฉันใดกรุงพระมหานครศรีอยุทธยากับกรุงเวียดนามอันหาความรังเกียจมิได้ พระราชไมตรีอันสนิทร่วมรักมาแต่ก่อน ขอสมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนามทรงดำริห์ให้พระเกียรติขจรไปแก่ท้าวพระยานา ๆ ประเทศทั่วแหล่งหล้า ให้ปรากฎไว้คู่ฟ้าแลดิน

พระราชสาส์นมาณวันศุกรเดือนสามขึ้นค่ำหนึ่ง จุลศักราชพันร้อยเจ็ดสิบสองปีมะเมียนักษัตโทศก๚ะ๛



(๓) หนังสือ เจ้าพระยาพระคลังผู้ใหญ่ณกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยา
(๓) ๏ หนังสือ เจ้าพระยาพระคลังผู้ใหญ่ณกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยา มาถึงองไลโบเสนาบดีผู้ใหญ่กรุงเวียดนาม ขอได้นำขึ้นกราบทูลแต่สมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนามให้ทราบ ด้วยสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว กรุงพระมหานครศรีอยุทธยา มีพระราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสเหนือเกล้า ฯ สั่งให้บอกความเดิม เมืองกัมพูชาธิบดีออกมาว่า ด้วยณวัน ๑ ฯ ๑๑ ค่ำ ปีมเมียโทศก พระยาสังขโลกเจ้าเมืองโพธิสัตว์ กับพระยาพระหลวงขุนหมื่นเมืองเขมร พวก พระยาจักรี พระยากระลาโหม  หนีเข้ามาณกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา แจ้งแก่เสนาบดีว่า ณวัน ฯ ค่ำปีมเมียโทศก พระยาแสนท้องฟ้า พระยาราชอาญา คุมคนถือเครื่องสาตราอาวุธ ยกมาทางบก ทางเรือ ผิดสังเกตปลาดอยู่ พระยาสังขโลกกลัวจึงหนีเข้าไปณกรุง ฯ แล้วพวก พระยาจักรี พระยากระลาโหม  นายไพร่ ๒๓ คน แจ้งความว่าพระอุไทยราชาธิราชให้จับ พระยาจักรี พระยากระลาโหม  ฆ่าเสียจะผิดชอบประการใดไม่แจ้ง จึงเอาคำให้การขึ้นกราบบังคมทูล แต่สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ยังเคลือบแคลงพระไทยไม่เห็นจริง ให้ซักถามพระยาสังขโลกขุนหมื่นเขมร ว่าพระอุไทยราชาให้ฆ่า พระยาจักรี พระยากระลาโหม เสียนั้นด้วยเหตุอันใด ก็หาได้ความต่อไปไม่ จึงมีรับสั่งจะให้ออกมาฟังราชการณเมืองกัมพูชาธิบดี ภอมีศุภอักษรพระอุไทยราชาธิราช กำหนดจะให้ยกเข้าไปตามเกณฑ์ กับหนังสือ พระองค์แก้ว ฟ้าทะละหะ } บอกเฃ้าไปด้วยฉบับหนึ่งว่า พระยาจักรี พระยากระลาโหม พระยาสังคโลก คบคิดกันเปนขบถ ได้ปฤกษาด้วยพระยาเขมรเห็นพร้อมกันให้ฆ่าพระยาจักรี พระยากระลาโหม } เสียแต่พระยาสังขโลกหนีไปได้นั้น ทรงพระราชดำริห์ว่า พระองค์แก้ว ฟ้าทะละหะ เปนผู้ใหญ่ในกรุงกัมพูชาธิบดี รู้ผิดแลชอบพอจะเชื่อฟังได้อยู่ โดยทรงพระราชเมตตาวางพระไทยมิได้เคลือบแคลง พระอุไทยราชาธิราชจึงให้จำพระยาสังขโลก (ต้นฉบับขาด)


(๔) พระราชสาส์นพระเจ้ากรุงเวียดนาม
๏ (๔) พระราชสาส์นพระเจ้ากรุงเวียดนาม คำนับมาถึงพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยาให้ทราบ ด้วยกรุงเวียดนามกับกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาเปนทางพระราชไมตรีสนิทกันมาแต่ก่อนจนทุกวันนี้ ถ้ากรุงเวียดนามจะมีเหตุการประการใด กรุงพระมหานครศรีอยุทธยาก็วิตกถึง ถ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยาจะมีเหตุการประการใด กรุงเวียดนามก็วิตกถึง แลซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกษฐเสด็จสวรรค์คต พระเจ้ากรุงเวียดนามมีพระไทยอาไลยรักใคร่คิดถึงยิ่งนัก จึ่งแต่งให้ทูตคุมสิ่งของเข้ามาทำบุญ แลการถวายพระเพลิงณเดือนสามปีมะเมียโทศก จึงแต่งทูตจะให้เข้ามาช่วยทำบุญอีก พอมีหนังสือเจ้าเมืองไซ่ง่อนบอกมาถึง ว่ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยาแต่งให้ทูตจำทูลพระราชสาส์นออกมาแจ้งราชการ จึงคิดว่าทูตออกมานั้น ถ้าจะถวายพระเพลิงเมื่อใดเปนแน่ก็จะมีกำหนดมาในพระราชสาส์น จึงให้งดทูตกรุงเวียดนามไว้ ครั้นพระราชสาส์นไปถึงได้แจ้งในพระราชสาส์นว่ากำหนดจะถวายพระเพลิง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกษฐ ณเดือน ๕ ข้างแรม เดือน ๖ ข้างขึ้น ปีมแมตรีศก จึงแต่งให้ คำทรายเจืองเกอหวานเง่าเค้า ราชทูต ๑ คำทรายถวกโหนยพอเว้วิตรินเตืองเห้า อุปทูต โหโบเกียมชื่อตะวันทันเห้า อุปทูต  เข้าไปให้ทันกำหนดทำบุญ จะได้ยินดีในทางพระราชไมตรีแลไมตรีสืบไป แลมีเนื้อความในพระราชสาส์นเปนหลายประการ ครั้นพิเคราะห์ดูในพระราชสาส์นเห็นเปนที่สงไสย ไม่แจ้งพระไทยกรุงเวียดนาม แลกรุงพระมหานครศรีอยุทธยากับกรุงเวียดนาม เปนทางพระราชไมตรีสนิทมา หามีความรังเกียจสิ่งใดไม่ แลเจ้าเมืองเขมรบอกหนังสือมาว่า กรุงพระมหานครศรีอยุทธยาเกณฑ์กองทัพเขมรเปนกองทัพเรือลงไปทางไซ่ง่อน เจ้าเมืองไซ่ง่อนจะไว้ใจมิได้จึงบอกหนังสือขึ้นไปกรุงเวียดนาม เจ้าเมืองไซ่ง่อนจึงเกณฑ์กองทัพไปรักษาแว่นแคว้นแดนเมืองไซ่ง่อน แลซึ่งเจ้าเมืองไซ่ง่อนจัดแจงให้กองทัพไปรักษาแว่นแคว้นนั้นก็ควรอยู่ พอมีหนังสือเมืองเขมรบอกซ้ำไปอิกในเมืองเขมรวุ่นวายเห็นจะรักษาเมืองมิได้ กรุงเวียดนามคิดว่าเมืองเขมรแต่ก่อนมาเปนข้าสองกรุงใหญ่ บัดนี้เมืองเขมรวุ่นวาย แล้วกรุงมหาพระนครศรีอยุทธยาก็ทำการพระบรมศพ แลมีการศึกด้วย กรุงเวียดนามจะนิ่งดูมิได้ จึ่งให้เจ้าเมืองไซ่ง่อนยกกองทัพขึ้นไปรักษาเมืองเขมรให้ราบคาบอย่าให้เขมรวุ่นวายกัน แว่นแคว้นกรุงเวียดนามจะได้อยู่ปรกติ เมืองเขมรจะได้พึ่งอยู่เย็นเปนศุข แล้วกรุงพระมหานครศรีอยุทธยากับกรุงเวียดนาม สองพระนครจึงจะไม่มีความวิตก กรุงเวียดนามคิดทั้งนี้ เหมือนช่วยกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา ด้วยกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาเปนทางไกล กรุงเวียดนามกับกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาก็ทางไกล หาเห็นน้ำพระไทยพระเจ้าเวียดนามไม่ จึงมีพระราชสาส์นมาให้ทราบ

พระราชสาส์นมาณเดือนหกขึ้นสองค่ำ ยาลอง ๑๐ ปีมแมตรีนิศก ๚ะ๛



หัวข้อ: Re: จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 06 พฤษภาคม 2563 18:29:55

(๕) พระราชปฏิสัณฐาน
๏ องหวานเปนใหญ่เข้ามา พระเจ้าเวียดนามสั่งมาที่เรื่ององค์จันทร์ นอกนั้นกระไรบ้าง แปล๚ นี่แลองหวานองค์จันทร์เปนเด็กไม่ช่างเด็ก ทำผิดแล้วแกล้งเรียกบอกเคลือบแฝงขึ้นไปขอกองทัพจะทำให้เราผิดใจกันจะได้ฤๅ ไม่เหมือนครั้งแผ่นดินไตรเซิน แปล๚ ครั้นจะให้ไปข่มขี่ให้ราบคาบตามประเพณีเมืองขึ้น เกลือกจะไปวิวาทกันกับญวนที่มาตั้งอยู่ พระเจ้าเวียดนามจะน้อยใจ จึ่งให้พระยาพิพัตออกไปบอก แปล

ต่อมีราชสาส์นเข้ามาจึงรู้แน่ว่าพระเจ้าเวียดนามคิดโดยซื่อ เห็นว่าเมืองไทยมีงานการอยู่ จึ่งให้กองทัพมาช่วยรงับเขมรให้ราบคาบ ทั้งนี้ก็เพราะเห็นแก่ข้า แปล

๏ แต่องค์จันทร์มันถือใจว่าให้มาช่วยมัน จึงกำเริบใจไม่ไปมาคำนับตามเคยละประเวณีเสีย จะมาขึงเอาข้าข้าจะอดที่ไหนได้ นี่แลการจะต้องจำเปนจำทำ แปล๚ องหวานกลับออกไป พระเจ้าเวียดนามก็จะแจ้งความชั่วขององค์จันทร์ ถึงองค์จันทร์มันจะทำต่อไปอีกเหมือนแต่หลัง ข้าก็สิ้นวิตกแล้ว แปล๚ พระเจ้าเวียดนามกับข้ารักใคร่เห็นกันมาอย่าเห็นองค์จันทร์ดีกว่าเรา อันเมืองไทยกับเมืองญวนเปนเมืองใหญ่ ถ้ามีธุระแล้วไม่นิ่งดูกันได้ อย่าให้พระเจ้าเวียดนามมีความสงไสยรังเกียจเลย แปล๚ ที่ข้าให้ไปเกณฑ์กองทัพเขมรมาทางเรือ ว่าไม่บอกให้รู้จึ่งต้องมารักษาเขตรแดน ความข้อนี้อย่างไรอยู่ดูเหมือนหาไว้ใจกันไม่ ๚ะ๛



(๖) พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา
วัน ๖ ฯ ๑๒ จุลศักราช ๑๑๗๓ ปีมแมตรีนิศก เพลา ๒ โมงเช้า

เจ้าพระยารัตนาธิเบศ พระยาโกษาธิบดี พระยาพิพัฒโกษา พระยาทิพโกษา พระยามณเฑียรบาล พระยาไกรโกษา พระยาพิไชยบุรินทรา หลวงท่องสื่อขุ นมหาสิทธิโวหาร พระราชโกษา หลวงพิพิธสมบัติ }  นั่งพร้อมกัน ณหอพระมณเฑียรธรรม ครั้นได้พระฤกษประโคมพิณพาทย์ฆ้องไชยแตรสังข์ ขุนสาราบรรจงนอกราชการอาลักษณกรมพระราชวังบวร ฯ จาฤกพระราชสาส์นอักษรไทยด้วยกระดาษฝรั่ง ๔ แผ่นครึ่ง เปนอักษร ๗๑ บันทัด จาฤกแล้วหลวงพิพิธสมบัติเชิญตราโลโตปิดพระราชสาส์นอักษรไทยประจำศกดวง ๑ ตรามังกรคาบแก้วประจำต่อ แล้วม้วนพระราชสาส์นเอาไหมแดงผูก แล้วใส่ในกล่องไม้กลึงทาแดงเขียนมังกรลายทองมีฝา มีเชิง แล้วใส่ถุงโหมดระไบแพรเหลืองสายไหมผูกปากถุงเอาตรา ไอยราพต ตรามังกรหก ปิดงบครั่งประจำปากถุงกล่องพระราชสาส์นดวง ๑ ก้นถุงปากถุงพานแว่นฟ้าข้างละดวงปิดคลุมโหมดทอง แล้วเชิญพระราชสาส์นไปไว้ณหอพระเชฐบิดร

(๖) พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา ขอบพระไทยมายังสมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนาม ด้วยมีอาไลยคิดถึงสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ซึ่งสวรรค์คต จึ่งแต่งให้ทูตานุทูตจำทูลพระราชสาส์น คุมสิ่งของเข้าไปคำนับช่วยทำบุญในการพระบรมศพ หวังจะให้ทันถวายพระเพลิงโดยไกลกันดารยากที่จะไปถึงสองครั้งนั้น ยินดีในราชไมตรียิ่งนัก ก็ได้งดการพระบรมศพไว้ท่าตามในพระราชสาส์นจนถึงเดือนหกแล้ว เห็นทูตหายไปฝนตกหนักมา การที่ทำเปนการใหญ่จะรอไว้อีกมิได้ จึ่งกำหนดให้เจ้าพนักงานเชิญพระบรมโกษฐเข้าสู่เมรุมาศแต่ณวัน ๗ ๕ฯ ๖ ค่ำ ได้มีงานเฉลิมพระเกียรติยศตามราชประเพณีพร้อมด้วยญาติวงษ์ ทำบุญแจกทานอุทิศกุศลถวายเจ็ดวัน จึงได้ถวายพระเพลิง แล้วมีงานสมโภชพระบรมอัฐิทำบุญอีกสามวัน จึงเสร็จการฉลองพระเดช พระคุณ  เปนคำรบสิบวัน สิบคืน ต่อ ณวัน ๗ ๖ฯ ๑๐ ค่ำ ทูตานุทูตจึงถึงกรุงหาทันไม่ ก็ให้พาทูตขึ้นไปบนพระที่นั่งมหาปราสาท ที่สถิตย์ไว้ซึ่งพระบรมอัฐิ ทูตได้กราบถวายบังคมกระทำสักการบูชาก่อนแล้ว จึงเจ้าพนักงานแลล่ามนำทูตานุทูตเข้ามา ครั้นแจ้งในราชสาส์นสมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนามว่าเจ้าเมืองเขมรบอกไปถึงเมืองไซ่ง่อน ด้วยกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาเกณฑ์ทัพเขมรเปนทัพเรือมาทางไซ่ง่อน เจ้าเมืองไซ่ง่อนไม่ไว้ใจจึงบอกขึ้นมายังกรุงเวียดนาม ขอจัดทัพไปรักษาเขตรแดน แล้วเจ้าเมืองเขมรมีหนังสือซ้ำมาอีกว่าในเมืองเขมรวุ่นวาย เห็นจะรักษาเมืองไว้ไม่ได้ สมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนามคิดโดยซื่อ ว่าเมืองเขมรเปนข้าทั้งสองฝ่าย กรุงใหญ่ทั้งสองเปนทองแผ่นเดียวกัน แต่กรุงพระมหานครศรีอยุทธยาติดด้วยการศึกแลการพระบรมศพระยะทางก็ไกล กรุงเวียดนามอยู่ใกล้ว่างเปล่าไม่มีการ รู้เหตุแล้วจะนิ่งดูอยู่มิได้ จึ่งให้เจ้าเมืองไซ่ง่อนยกกองทัพ ซึ่งตั้งรักษาเขตรแดนขึ้นไปเมืองเขมร หวังจะรงับดับความไว้มิให้เขมรวุ่นวาย คิดทั้งนี้เหมือนช่วยบำรุงกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา แต่หากว่าอยู่ไกลเกลือกไม่เห็นน้ำพระไทยกรุงเวียดนาม จึงมีพระราชสาส์นตอบเข้าไปให้สิ้นสงไสยนั้น สมที่เปนกรุงใหญ่รักใคร่สนิทกันชอบหนักหนา แต่ความจริงจะได้มีใจแหนงสงไสยกรุงเวียดนาม ว่าให้ไปกระทำอันตรายกรุงพระมหานครศรีอยุทธยานั้นหาไม่ ด้วยมั่นใจวางใจในราชสาส์นไปมาเปนคำปฏิญาณโดยสุจริตต่อกันทั้งสองฝ่าย กรุงใหญ่ทั้งสองใช่บ้านเล็กเมืองน้อย ควรที่จะเชื่อฟังได้ไปชั่วฟ้าแลดิน แลซึ่งกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา แจ้งความมาในราชสาส์นครั้งก่อนนั้น ด้วยเห็นความว่าองค์จันทร์เจ้าเมืองเขมร พาลฆ่าพระยาจักรีพระยากระลาโหมเสีย โดยอิจฉาขอให้ตั้งน้อง แลเกณฑ์ทัพทำด้วยกำลังโกรธแล้วก็กลัวผิด จึงให้พระยาเขมรมาแจ้งยังกรุงเวียดนาม ครั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนามให้กองทัพไปช่วยรักษาเมืองไว้ ฝ่ายกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาจะให้ผู้ใดออกมาว่ากล่าวกับเมืองเขมรโดยดีตามประเพณีเมืองขึ้น เกลือกจะขัดแขงไม่ปรกติ แม้นจะขืนข่มขี่ให้ราบคาบเล่า ทัพกรุงเวียดนามก็มาตั้งอยู่ หารู้ว่าจะไปช่วยข้างผู้ใดไม่ เกลือกจะขัดข้องในทางพระราชไมตรีอันสุจริตต่อกัน ความเปนดังนี้ จึงให้มีพระราชสาส์นออกมาแจ้งโดยซื่อตรงไม่อำพราง ตามเรื่องความเมืองเขมรกระทำผิดล่วงเกินต่อกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา บัดนี้สมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนาม ก็แจ้งความตอบเข้าไปโดยพระไทยสุจริต ว่าเห็นกับกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาติดการงานอยู่ จึงให้มาช่วยรงับความไว้นั้นควรจะยินดีนับถือยิ่งนัก แต่ทว่าองคจันทร์ผู้เปนเด็กเห็นจะเข้าใจถือว่า กรุงเวียดนามให้กองทัพไปช่วยโดยเมตตาเห็นกับตัวยิ่งกว่าพระมหานครศรีอยุทธยา จึ่งนิ่งเฉยอยู่แต่เกิดความมาจนบัดนี้ ก็ได้มีศุภอักษรยกโทษอไภยให้ออกมาถึงสองครั้งสามครั้งแล้ว ก็ยังหาไปมาคำนับตามเคยเห็นเหมือนแต่ก่อนไม่ เกลือกไปเบื้องน่าจะเอาความอันมิควรออกมาแจ้งดุจดังหนหลัง ให้กรุงใหญ่ทั้งสองอันมีความสุจริตร้าวฉานขัดเคืองแก่กันทั้งสองฝ่าย เหมือนดังมีหนังสือมาเมืองไซ่ง่อนด้วยกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา เกณฑ์ทัพเมืองเขมรเปนทัพเรือเข้าไปรบพม่า ถ้าว่ากล่าวตรงไปตรงมาตามศุภอักษรซึ่งมีมาในกรุงไทยแล้ว เจ้าเมืองไซ่ง่อนก็หามีความสงไสยไม่ ด้วยได้บอกข้อราชการศึกพม่ามาอยู่เนือง ๆ ซึ่งการเปนดังนี้ หากถ้อยทีไม่เบาความจึงได้เห็นจริงกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา แต่ทว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนาม ก็แจ้งความเห็นเหตุว่าองค์จันทร์เจ้าเมืองเขมรไม่สุจริต ถึงจะกระทำต่อไปฉันใดอีก กรุงพระมหานครศรีอยุทธยาก็สิ้นวิตก แลซึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนามจัดสิ่งของให้ทูตานุทูตคุมเข้ามาช่วยทำบุญนั้นก็ขออนุโมทนาบุญด้วย ให้จำเริญไปในราชสมบัติพร้อมพระญาติพระวงษ์จงถาวรสืบไป

พระราชสาส์นมาณวัน ๖ ๑ฯ ๑๒ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๗๓ ปีมแมตรีนิศก ๚๛

นายจ๋าย มหาดเล็ก นายเอี่ยม มหาดเล็กออกไปส่งทูต



(๗) พระราชสาส์น เจ้ากรุงเวียดนาม
(๗) พระราชสาส์น เจ้ากรุงเวียดนามคำนับมายังสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยาให้ทราบ ด้วยกรุงเวียดนามกับกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาเปนทางพระราชไมตรีดีด้วยกันแต่ก่อนมาจนทุกวันนี้ มีธุระสิ่งใดต้องบอกไปมาถึงกันให้ทราบ ครั้นณวัน ๑๔ฯ ๑๒ ค่ำ ปีมแมตรีศก หว้างท้ายเห้าเข้าสู่สวรรค์คต เจ้ากรุงเวียดนามมีความอาไลยกรรแสงทุกข์ถึงหว้างท้ายเห้ายิ่งนัก นุ่งขาวห่มขาวเฝ้าพระศพอยู่คิดจัดแจงการออกปีใหม่จะฝังพระศพ มิได้ดูฟ้อนรำฟังพิณพาทย์ขับร้องสามปี พระญาติพระวงษ์ทั้งปวงหาต้องบอกไม่ แลกรุงพระมหานครศรีอยุทธยากับกรุงเวียดนามเปนทางพระราชไมตรีสนิทกันมาจะมิบอกก็ไม่ควร จึงมีพระราชสาส์นมาให้ทราบ พระราชสาส์นมาณวัน ๑๒ฯ ๓ ค่ำ ยาลองศักราช ๑๐ ปีมแมตรีนิศก


(๘) พระราชสาส์น พระเจ้ากรุงเวียดนาม
(๘) พระราชสาส์น พระเจ้ากรุงเวียดนามคำนับมายังสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยาให้ทราบ ด้วยกรุงพระมหานครศรีอยุทธยากับกรุงเวียดนาม เปนทางพระราชไมตรีเสมอต้นเสมอปลายสนิทกันยิ่งนัก หามีความรังเกียจสงไสยสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ พระไทยพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยากับพระไทยกรุงเวียดนามส่องถึงกัน ครั้งก่อนกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาแต่งให้พระยาพิพัฒโกษาจำทูลพระราชสาส์นออกไป ในพระราชสาส์นนั้นว่าทางพระราชไมตรีสนิทกันกับว่าเรื่องความเมืองเขมรแต่ต้นจนปลาย กรุงเวียดนามก็ทราบพระไทยพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยาแล้ว แลในทางพระราชสาส์นนั้นว่า ข้อความสิ่งใดก็สั่งมาแก่พระยาพิพัฒโกษาแล้ว จึงให้ขุนนางผู้ใหญ่มารับพระยาพิพัฒโกษาไปกินเลี้ยง แล้วพระยาพิพัฒโกษาว่าแก่ขุนนางผู้ใหญ่ให้กราบทูลเจ้ากรุงเวียดนามว่าเจ้าเมืองเขมรหาเข้าไปเฝ้ารับขอโทษตัวไม่ ขอให้เจ้ากรุงเวียดนามสั่งให้เจ้าเมืองเขมรเข้าไปเฝ้าว่าซ้ำถึงสามหน ขุนนางผู้ใหญ่จึ่งทูลเจ้ากรุงเวียดนาม พระเจ้ากรุงเวียดนามก็แจ้งในพระไทยพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา ความทั้งนี้เปนคำทูตหามีในพระราชสาส์นไม่ เมืองเขมรก็เมืองหนึ่งแต่เปนข้าอยู่ทั้งสองเมืองใหญ่ จะเข้าไปฤๅมิเข้าไปก็สุดแต่ใจเจ้าเมืองเขมร ครั้นกรุงเวียดนามจะว่ากล่าวให้เข้าไป เกลือกเมืองเขมรเปนเหตุการประการใด เมืองขึ้นทั้งปวงจะนินทาว่ากรุงเวียดนามรู้กันกับกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาให้เจ้าเมืองเขมรตกหลุมติดบ่วง ความข้อนี้ได้ให้ขุนนางผู้ใหญ่บอกมาแก่พระยาพิพัฒโกษาแล้ว แลราชการเมืองเขมรกรุงเวียดนามก็ได้มีพระราชสาส์นมาแต่ก่อน กรุงพระมหานครศรีอยุทธยาก็แจ้งอยู่แล้ว เมื่อคำทรายเจืองเกอหวันเง่าเค่าราชทูตเข้ามาณกรุง ฯ รับราชสาส์นกลับไป ในพระราชสาส์นกับคำคำทรายเจืองเกอหวันเง่าเค่าต้องกัน กรุงเวียดนามทราบแล้ว กรุงพระมหานครศรีอยุทธยากับกรุงเวียดนามเปนทางพระราชไมตรีสนิทกัน ซึ่งข้อความเมืองเขมรนั้น คำทรายเจืองเกอหวันเง่าเค่ากราบทูลเจ้ากรุงเวียดนามตามรับสั่งพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา กรุงเวียดนามก็ทราบแล้วว่าพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยาหาเอาโทษเจ้าเมืองเขมรไม่ ครั้นมิว่ากล่าวเมืองขึ้นกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาเปนอันมากจะเอาเยี่ยงอย่างกำเริบตามเมืองเขมร แลข้อความในพระราชสาส์นกับคำคำทรายเจืองเกอหวันเง่าเค่า แลคำพระยาพิพัฒโกษาให้กราบทูลแต่ก่อนนั้นคล้ายคลึงกัน เจ้าเมืองเขมรไม่คำนับพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา เหมือนไม่คำนับกรุงเวียดนามเหมือนกัน จึ่งเจ้าเมืองเขมรทำผิดทั้งนี้จะไม่รู้โทษตัวบ้างฤๅ อันกรุงพระมหานครศรีอยุทธยากับกรุงเวียดนามก็เปนทางพระราชไมตรีกันมา เจ้าเมืองเขมรทำให้เคืองพระไทยพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยาทั้งนี้ กรุงเวียดนามจะนิ่งดูได้ฤๅ แต่เปนทุกข์ด้วยการพระศพยังไม่แล้ว จึ่งมีพระราชสาส์นเข้ามาให้ทราบ กรุงพระมหานครศรีอยุทธยาจะคิดทำแก่เมืองเขมรประการใด ผู้ใหญ่ครองผู้น้อยให้ควรเลี้ยงผู้น้อยโดยธรรม์ แล้วให้มีพระราชสาส์นออกไปให้จะแจ้ง แลข้อความทั้งนี้เปนธุระอยู่ทั้งสองพระนคร แต่ทูตไปมาถึงสองครั้งไม่แจ้งว่าจะทำเปนประการใด ด้วยยังหามีพระราชสาส์นออกมาไม่ กรุงเวียดนามก็ไม่รู้ที่จะทำประการใด บัดนี้การพระศพเปนการใหญ่ ระยะทางก็ไกลกันดาร จึ่งให้ขุนนางผู้น้อยจำทูลพระราชสาส์นเร่งรีบมาแจ้งราชการโดยเร็ว เปนแต่ผู้น้อยหารู้ราชการสิ่งใดไม่ ข้อความสิ่งใดแจ้งมาในพระราชสาส์นทุกประการแล้ว พระราชสาส์นมาณวัน ๑๒ฯ ๓ ค่ำ ยาลองศักราช ๑๐ ปีมะแมตรีนิศก๚ะ๛


(๙) พระราชสาส์น สมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา
(๙) พระราชสาส์น สมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยาจำเริญพระราชไมตรีมายังสมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนาม ด้วยขุนวิสุทธิสงครามปลัดกรมอาษาจามซึ่งให้ออกมาส่งทูตานุทูตกลับเข้าไปแจ้งว่าผู้รักษาเมืองพุไทยมาศบอกขุนวิสุทธิสงครามว่า ดึกท้ายห้าวเสด็จสวรรค์คตณเดือนสิบเอ็ดขึ้นเจ็ดค่ำปีมแมตรีศกแล้ว บัดนี้มีหนังสือลงมาแต่กรุงเวียดนาม ห้ามมิให้เล่นงิ้วพิณพาทย์นุ่งห่มสีต่างนอกกว่าสีขาวแลดำ ได้ข่าวดังนี้มีความวิตกอาไลยยิ่งนัก ด้วยกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา กรุงเวียดนามเปนทางพระราชไมตรีร่วมศุข ร่วมทุกข์ อยู่ทั้งสองฝ่าย ครั้นจะงดท่าคอยฟังพระราชสาส์นทางก็ไกลกันดารนักเกลือกจะไม่ทันการด้วยหารู้กำหนดอย่างธรรมเนียมว่าช้าแลเร็ว
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/13293880720933_95442547_131400845177286_14905.jpg)


(๑๐) พระราชสาส์น สมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา
๏ วัน ๗ ฯ ๔ ค่ำจุลศักราช ๑๑๗๓ ปีมแมตรีนิศก ได้จาฤกเพลา ๒ โมงเช้า

พระยาพิพัฒโกษา พระยาทิพโกษา พระยาวิสูตรโกษา พระยาทศโยธา พระยาเกษตรรักษา พระยามณเฑียรบาล พระยาพิพิธไอสวรรย์ หลวงพิพิธสมบัติ ขุนมหาสิทธโวหาร}พร้อมกันณหอพระมณเฑียรธรรม หมื่นสุวรรณอักษร หมื่นบรรจงอักษร } อาลักษณ์จาฤกพระราชสาส์นอักษรไทย หมื่นสุวรรณอักษร หมื่นบรรจงอักษร}บันทัดลงกระดาษฝรั่ง

(๑๐) พระราชสาส์น สมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา จำเริญพระราชไมตรีมาแจ้งแต่สมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนาม ด้วยณวัน ๕ ฯ ๔ ค่ำปีมแมตรีนิศก พระยาอไภยภูเบศรผู้รักษาเมืองปัตบองบอกหนังสือเข้าไปว่า องค์สงวนผู้น้องพระอุไทยราชาธิราชซึ่งร่วมมารดาเดียวกันพาขุนนางเขมร ๗ คนกับไพร่ประมาณ ๑๐๐ เสศหนีพระอุไทยราชาธิราชมาจากกรุงกัมพูชาธิบดี หยุดอยู่ณเมืองโพธิสัตว์ ภายหลังขุนนางเขมรหนีตามมาบอกแก่องค์สงวนว่า พระอุไทยราชาธิราชเกณฑ์กองทัพบก กองทัพเรือ ตามเปนหลายทาง ข้างองค์สงวนซึ่งมาตั้งอยู่ณเมืองโพธิสัตว์นั้น ก็ตระเตรียมผู้คนรักษาตัวเห็นว่าจะเกิดรบพุ่งฆ่าฟันกันเปนมั่นคง ฝ่ายกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาได้ทำนุบำรุง เลี้ยงพระอุไทยราชาธิราช องค์สงวน เปนบ้านเมืองปรกติอยู่แล้ว พระอุไทยราชาธิราชกับองค์สงวนเล่าก็ใช่ผู้อื่นร่วม บิดา มารดา    เดียวกันจะให้เกิดฆ่าฟันกันขึ้นนั้นหาควรไม่ จึ่งให้ขุนนางผู้ใหญ่ออกมารงับห้ามปรามทั้ง ๒ ฝ่ายจะให้สมัค สมาน ประ หนบ ประนอบ  กันตามฉันพี่แลน้อง แต่ทว่าจะปรกติกันผู้ใดฤๅจะกระด้างกระเดื้องอยู่มิฟังบังคับบัญชาเปนประการใดนั้นจึ่งจะให้บอกข้อราชการมาทางเมืองไซ่ง่อนต่อครั้งหลัง บัดนี้แจ้งความมาแต่พอให้สมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนามทราบพระไทย พระราชสาส์นมาณวัน ๗ ฯ ๔ ค่ำ ศักราช ๑๑๗๓ ปีมแมตรีนิศก



(๑๑) พระราชสาส์น สมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา
๏ วัน ๑ ๑๐๘ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๗๔ ปีวอกจัตวาศก ได้ฤกษ ๒ โมงสามบาท

พระยาศรีสุริยวงษว่าที่โกษา พระยาพิพัฒโกษา พระยาธรมา พระยาอุไทยธรรม์ หลวงทองสือ หลวงโชฎิก หลวงสุนทรโวหาร  นั่งพร้อมกัน ณพี่หอพระมณเฑียรธรรม หมื่นเทพไมตรีจาฤกพระราชสาส์นกระดาษฝรั่ง ๒ แผ่น เปนอักษร ๑๙ บรรทัด นายเอี่ยมมหาดเล็กถือไปณวัน ๑ ๑๐๘ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๗๔ ปีวอกจัตวาศก ๚ะ๛

(๑๑) พระราชสาส์น สมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยาจำเริญพระราชไมตรีมาแจ้งแต่สมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนามให้ทราบ เมื่อณเดือนสี่ปีมแมตรีนิศก สมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนามมีพระราชสาส์น ให้ไกโดยเหียรเข้าไปแจ้งด้วยวางทายเห้าสวรรคคตแล้วมีพระไทยวิตกว่าพระอุไทยราชาธิราชไม่คำนับกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาก็เหมือนไม่คำนับกรุงเวียดนาม จะคิดทำแก่เมืองกัมพูชาประการใดขอให้มีพระราชสาส์นออกมาจงแจ้ง นั้นเห็นว่าเปนแต่ความพี่น้องวิวาทกัน ที่ส่วนตัวพระอุไทยราชาธิราช ผิดล่วงเกินก็ยกโทษให้แล้ว เห็นจะหามีความรังเกียจไม่ สมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนามก็ต้องกระทำการพระศพฉลองพระคุณวางทายเห้าเปนการใหญ่อยู่ คิดว่ายังจะมิให้ธุระกรุงเวียดนามก่อน แล้วได้ให้ขุนนางผู้ใหญ่รงับห้ามปราม ก่อนไกโดยเหียรเข้าไปถึงจึงมีพระราชสาส์นตอบออกมา ว่ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา จะว่ากล่าวมิให้เสียประเพณีทั้งสองฝ่าย ครั้นพระยายมราชพาองค์สงวนลงมาณเมืองพุทไธเพชร์ พระอุไทยราชาก็หาอยู่ให้ชำระว่ากล่าวไม่ อบพยบพาครอบครัวลงมาอยู่ณเมืองไซ่ง่อน ความจึงค้างอยู่มิได้ว่ากล่าวสมัคสมานให้พี่น้องดีด้วยกัน เพราะความขัดข้องดังนี้ กรุงพระมหานครศรีอยุทธยา จึงมีพระราชสาส์นออกมาแจ้งแต่สมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนาม จะได้ทรงดำริห์ให้ต้องตามประเพณีทั้งสองฝ่าย

พระราชสาส์นมาณวัน ๑ ๑๐๘ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๗๔ ปีวอกจัตวาศก



(๑๒) พระราชสาส์นพระเจ้ากรุงเวียดนาม
๏ วัน ๗ ฯ ๑ ค่ำ ปีวอกจัตวาศก

พระยาอภัยพิพิธ พระยาทิพโกษา พระยาราชโยธา กรมพระราชวังบวร ฯ พระราชเสนา หลวงโชฎึก หลวงทองสือ ขุนมหาสิทธิพระราชเสรฐีล่าม  นั่งพร้อมกันณหอพระมณเฑียรธรรม

พระราชสาส์นเวียดนามนายเอี่ยมถือมาณวัน ๗ ฯ ๑ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๗๒ ปีวอกจัตวาศก ๚ะ๛

(๑๒) พระราชสาส์นพระเจ้ากรุงเวียดนาม คำนับมาถึงพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยาให้ทราบ ด้วยครั้งก่อนมีพระราชสาส์นออกไป ว่ากรุงกัมพูชาธิบดีพี่น้องวิวาทกัน กรุงเวียดนามมีการที่จะแทนคุณอยู่ มีรับสั่งพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา ใช้ให้ขุนนางผู้ใหญ่ออกไปว่ากล่าวจะให้พี่น้องปรกติด้วยกัน ได้ความประการใด จึงจะมีพระราชสาส์นออกไปครั้งหลัง เมืองเขมรแต่ก่อนมาเปนข้าทั้งสองฝ่ายกรุงใหญ่มาจนทุกวันนี้ พี่น้องวิวาทไม่ชอบกัน พระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา มีพระไทยเมตตานัก นิ่งดูมิได้นั้นก็ชอบอยู่แล้ว เจ้าเมืองไซ่ง่อนมีหนังสือบอกขึ้นไปถึงกรุงเวียดนาม ว่าพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา ให้ยกกองทัพใหญ่มาตั้งณแดนพนมเปน เจ้าเมืองเขมรตกใจกลัวจึงหนีลงไปอยู่เมืองไซ่ง่อน พระเจ้ากรุงเวียดนามแจ้งความอยู่ว่า พระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยาได้มีพระราชสาส์นออกมาแต่ก่อนว่า จะให้ขุนนางผู้ใหญ่ออกไปรงับว่ากล่าวให้พี่น้องดีกัน เหตุไรเจ้าเมืองเขมรจึงหนีไปเล่า พระเจ้ากรุงเวียดนามก็คอยฟังพระราชสาส์น พระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา จะได้รู้เหตุผลต้นปลายก็พอมีพระราชสาส์นพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยาออกมา ในพระราชสาส์นมีจะแจ้งอยู่ว่าขอให้พระเจ้ากรุงเวียดนามช่วยดำริห์อย่าให้เสียประเพณี กรุงพระมหานครศรีอยุทธยามีพระไทยโอบอ้อมเมืองน้อยดังนี้ ทางพระราชไมตรีทั้งสองพระนครจะได้ยืนยาวสืบไป ประเพณีกระษัตริย์ ให้มีพระไทยเปนสัจ เปนธรรม  เหมือนองค์สงวนนั้นเปนข้าก็ไม่ตรงเปนบุตรก็หามีกระตัญญูไม่ เปนน้องก็ไม่อดออม โทษองค์สงวนนั้นใหญ่นัก คิดอย่างหนึ่งเล่าองค์สงวนก็ยังเด็กอยู่ ถ้ารู้ว่าตัวผิดรับขอโทษต่อพี่ก็พอจะหายโทษ ถ้าเปนดังนี้เนื้อกับกระดูกจะได้ร่วมกัน แล้วกรุงเวียดนามจะได้แต่งขุนนางพาองค์จันทร์กลับมาเมืองเขมร กรุงพระมหานครศรีอยุทธยาต้องมีขุนนางผู้ใหญ่ออกไป กรุงเวียดนามจะได้ชี้แจงข้อความพร้อมด้วยขุนนางญวน พาองค์จันทร์คืนมาเมืองเขมรอย่างนี้จึงจะควรด้วยสองพระนครอันใหญ่ แลเมืองเขมรทำมาแต่ก่อนทั้งนี้หนักอกทั้งสองพระนคร จำจะช่วยกันปลูกฝังขึ้นด้วยเปนเมืองน้อย

พระราชสาส์นมาณวัน ๑๑ฯ ๑๐ ค่ำ ยาลอง ๑๑ ปีวอกจัตวาศก ๚ะ๛



(๑๓)พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา

(๑๓) พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา จำเริญพระราชไมตรีมาแจ้งแก่สมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนาม ด้วยขุนอนุรักษภูธรซึ่งออกมาแจ้งเรื่องความเมืองเขมร รับเชิญพระราชสาส์นกรุงเวียดนามเข้าไป เปนใจความเมืองเขมรทำการมาแต่หลังหนักอกสองพระนครอยู่ จำจะจัดแจงเมืองน้อยให้ดี ให้กรุงพระมหานครศรีอยุทธยาจัดขุนนางออกมายังกรุงเวียดนามจะได้ชี้แจงข้อความพร้อมด้วยขุนนางญวน แล้วจะเอาองค์จันทร์ไปส่งณเมืองเขมร อย่างนี้จึงจะต้องตามประเพณีกระษัตริย์ อันมีพระไทยทรงธรรมนั้นก็ควรด้วยดำริห์พระเจ้ากรุงเวียดนามอยู่แล้ว กรุงพระมหานครศรีอยุทธยา ก็คิดว่าเด็กต่อเด็กวิวาทกัน เมื่อใครทำผิดก็คงผิด ตั้งใจจะว่ากล่าวให้ดีทั้งสองฝ่าย โดยเปนที่พึ่งแก่เมืองเขมร จึ่งมีศุภอักษรให้ขุนนางผู้ใหญ่ ออกมาห้ามแต่พอรู้ผิดแลชอบ ขุนนางไทยได้มีหนังสือบอกมาจะแจ้ง เมื่อเปนเด็กไม่ไว้ใจกลัวเกรงอยู่จะให้พระยาพระเขมรไปบอกเหตุผลแก่ขุนนางผู้ใหญ่จึงควร องค์จันทร์ก็ไม่แต่งให้ผู้ใดไปหนังสือก็ไม่ตอบ ครั้นให้นำศุภอักษรซ้ำลงมาก็ขัดแขงไม่รับทำล่วงเกินนัก ความทั้งนี้ก็ปรากฎดังโดยมาก เมื่อได้ทำนุบำรุงเลี้ยงมาแต่เล็ก เคยเข้าไปคำนับทั้งพี่ ทั้งน้อง ก็ละราชประเพณีเสียก็ยังไม่รู้โทษตัว แต่พระเจ้ากรุงเวียดนามได้ดำริห์ดับความไปในพระราชสาส์นแล้ว ก็มิให้ข้องพระไทยมัวหมองในราชไมตรี เมื่อจะสั่งให้ขุนนางญวนแลไทยซึ่งออกมาพาองค์จันทร์ไปส่งเมืองเขมร กรุงพระมหานครศรีอยุทธยาก็ไม่ถือโทษ จะทำนุบำรุงมอบเมืองให้ครอบครองไปตามเดิม แลจึ่งองค์จันทร์องค์สงวนวิวาทกันเห็นความเปนอยู่คนละน้อย แต่องค์สงวนเปนน้องไม่อดออมหาอัชฌาไม่ก็มีโทษ ถ้าสองพระนครยังมีพระไทยเมตตาจะปลูกเลี้ยงอยู่ พี่น้องก็ไม่เสียกันได้กรุงพระมหานครศรีอยุทธยาได้ว่ากล่าวองค์สงวนก็สาระภาพรับผิดอยู่แล้ว บัดนี้กรุงพระมหานครศรีอยุทธยาได้แต่งให้

พระยามหาอำมาตยราชทูต พระยาราชโยธาอุปทูต พระทองสื่อตรีทูต ขุนศรีภากร ล่าม หมื่นหาญชลาไลย ล่าม  จำทูลพระราชสาส์นออกมาเฝ้าโดยดำริห์ พระเจ้ากรุงเวียดนามมีพระราชสาส์นเข้าไป

พระราชสาส์นมาณวัน ๒ ฯ ๒ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๗๔ ปีวอกจัตวาศก  ๚ะ๛



(๑๔) พระราชสาส์นพระเจ้ากรุงเวียดนาม
พระราชสาส์นกรุงเวียดนามแปลณวัน ๒ ฯ ๗ ค่ำปีรกาเบญจศก

พระยามหาอำมาตย์ พระยาราชโยธา หลวงท่องสื่อ ถือมา

(๑๔) พระราชสาส์นพระเจ้ากรุงเวียดนาม คำนับมาถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยาให้ทราบ ด้วยสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา ให้พระยามหาอำมาตย์ทูตมีชื่อ จำทูลพระราชสาส์นออกมานั้น ได้แจ้งข้อความในพระราชสาส์นทุกประการแล้ว ความครั้งก่อนกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา มีพระไทยกวางขว้างโอบอ้อม ไม่เอาโทษเจ้าเมืองเขมร บัดนี้ทรงพระเมตตาให้เจ้าเมืองเขมรกลับไปครองบ้านเมืองเหมือนแต่ก่อน ต้องกันกับพระราชสาส์น ซึ่งกรุงเวียดนามมีเข้ามานั้น ก็ชอบด้วยทางพระราชไมตรีดียิ่งนัก ช่วยกันชุบเลี้ยงเมืองน้อยดังนี้ จึงต้องตามราชประเพณีทั้งสองพระนครอันใหญ่ บัดนี้กรุงเวียดนามแต่งให้ดำทรายยาดึงทันดงดรันเลียงตากุลบินโตเตียงกุญเวียดกุญเกงกับเหยีบตรงตรันกงโบเทียงเธอดินเวิยงเหา ขุนนางมีชื่อพร้อมด้วยพระยามหาอำมาตย์ มีชื่อกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา พาองค์จันทร์เจ้าเมืองเขมรกลับมาเมือง จะได้เปนที่พึ่งแก่พระยาพระเขมร สองพระนครอันใหญ่จะได้สิ้นวิตกเหมือนเทพยุดาเลี้ยงโลกย์ทั้งปวงให้ได้ศุข แต่คิดว่าเจ้าเมืองเขมรกลับไปบ้านเมืองนั้น ขุนนางอาณาประชาราษฎรคนเก่ายังไม่ปรกติราบคาบ จึงให้เจ้าเมืองไซ่ง่อนส่งองค์จันทร์ถึงเมืองเขมรแล้ว ให้ขุนนางแลไพร่อยู่เปนเพื่อนองค์จันทร์จะได้เปนที่อาไศรยกว่าบ้านเมืองจะราบคาบแล้วเมื่อไรจึงให้กลับไปเมื่อนั้น ทำอย่างนี้เมืองเขมรจะได้อยู่เย็นเปนศุข เขตรแดนทั้งสองพระนครจะได้ราบคาบ ทางพระราชไมตรีจะได้เสมอต้นเสมอปลายยืดยาวสืบไป จึงตอบพระราชสาส์นมาให้แจ้ง พระราชสาส์นมา ณวัน เดือนสี่แรมหกค่ำยาลอง ๑๑ ปีวอกจัตวาศก ๚ะ๛



๑๕) พระราชสาส์นกรุงเวียดนาม
๏ วัน ๓ ๑๒ฯ ๑๐ ปีระกาเบญจศก

พระยาศรีสุริยพาหะ พระสุริยภักดี หลวงสารประเสริฐ } ถือมา
หลวงสุนทรภักดี ขุนสนิทนายล่าม} แปลออกเปนคำไทยได้ความว่า

(๑๕) พระราชสาส์นกรุงเวียดนาม คำนับมาถึงพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยาให้ทราบ ซึ่งเมืองเขมรพี่น้องไม่ชอบกันจึงได้เกิดความทั้งนี้ แต่พระราชสาส์นไปมากรุงพระมหานครศรีอยุทธยาก็ทราบความชัดอยู่แล้ว แลกรุงเวียดนามกับกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาแต่ก่อน ก็ทรงพระเมตตาปู่แลบิดาเจ้าเมืองเขมร มาครั้งนี้ก็มีน้ำพระไทยโอบอ้อมเมืองน้อย เจ้าเมืองเขมรจะทำลดเลี้ยวอ้อมวงไปประการใด ทั้งสองพระนครก็ผ่อนตามใจเจ้าเมืองเขมร ด้วยมีพระไทยเมตตาหาถือโทษไม่ ก็ปราถนาจะให้มีใจสาพิภักดิ์ทิ้งความชั่วซึ่งทำผิดมาแต่ก่อนเสีย พี่น้องจะได้รักใคร่กัน ครั้งนี้กรุงเวียดนามสั่งให้ขุนนางผู้ใหญ่คุมกองทัพกับทูตกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาพาองค์จันทร์มาส่งณเมืองเขมร ราชการก็เสร็จอยู่แล้ว ต้องตามประเพณีสองพระนครอันใหญ่ เมื่อทูตกลับเข้ามากรุงพระมหานครศรีอยุทธยาก็จะทราบความอยู่แล้ว กรุงเวียดนามเห็นว่าพระไทยพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา คิดต้องกันกับกรุงเวียดนาม ชุบเลี้ยงเมืองเล็กน้อย ซึ่งเอาเจ้าเมืองเขมรมาส่งก็ต้องช่วยทำนุบำรุงการบ้านเมือง ทั้งนี้เพราะเขาไม่ชอบกัน จึงจัดแจงให้เขาดีกัน บ้านเมืองจะได้ปรกติ กรุงเวียดนามคิดว่าเมื่อทูตกลับเข้ามาถึงแล้ว กรุงพระมหานครศรีอยุทธยาจะมีพระราชสาส์นตอบ กับพาองค์สงวนไปขอสมาองค์จันทร์ แล้วขุนนางผู้ใหญ่กรุงเวียดนามก็อยู่นั่น จะได้ว่ากล่าวอย่าให้องค์สงวนสดุ้ง องค์สงวนสเทิ้น  แล้วอย่าให้มีพยาบาทต่อกัน แลกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา จะว่ากล่าวสั่งสอนองค์จันทร์ออกมาประการใดองค์จันทร์จะได้รู้ แต่ก่อนมาจนทุกวันนี้กรุงพระมหานครศรีอยุทธยา ตั้งพระไทยชุบเลี้ยงเจ้าเมืองเขมร เมื่อแม่ลูกพี่น้องพร้อมมูลกันก็จะได้รู้บุญคุณทั้งสองพระนครอันใหญ่ กรุงเวียดนามกับกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาวิตกทั้งนี้ ก็ด้วยจะชุบเลี้ยงเมืองน้อยให้เปนศุข แต่ทูตกรุงพระมหานครศรีอยุทธยากลับมาได้ ๓ ได้๔  เดือนแล้วยังหามีตอบไปไม่ เมืองเขมรพึ่งจะสงบไพร่บ้านพลเมืองยังระส่ำระสายอยู่ น้ำใจกรุงเวียดนามก็หารักให้กองทัพอยู่ช้าที่นั่นไม่ แลการทั้งนี้ก็ได้สั่งมาถึงขุนนางผู้ใหญ่ให้คิดผ่อนปรนดูการ สุดแต่ควรจะแบ่งขุนนางแลกองทัพ ไว้จะช่วยทำนุบำรุงองค์จันทร์ ฤๅเห็นจะถอยกองทัพมาเมืองไซ่ง่อนได้ก็ตามแต่ขุนนางผู้ใหญ่จะคิด แลกรุงพระมหานครศรีอยุทธยากับกรุงเวียดนาม เปนทางพระราชไมตรีมาแต่ก่อน จะทำการสิ่งใดก็บอกถึงกันทุกครั้ง บัดนี้จึงจะมีพระราชสาส์นบอกมาให้แจ้ง

พระราชสาส์นมาณวัน ฯ ๙ ค่ำ ยาลอง ๑๒ ปีระกาเบญจศก ๚ะ๛



หัวข้อ: Re: จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 06 พฤษภาคม 2563 18:34:59

(๑๖) พระราชสาส์นพระเจ้ากรุงเวียดนาม
๏ วัน ๔ ๑๒ฯ ๓ จุลศักราช ๑๑๗๕ ปีระกาเบญจศก ข้าพระพุทธเจ้า

พระยามหาอำมาตย์ พระยาสุรเสนา พระยาราชรองเมือง พระยาทิพโกษา พระยาราชทูต พระยาสุรินทร์ภักดี หลวงท่องสื่อ ขุนสารประเสริฐ ขุนมหาสิทธิโวหาร นั่งพร้อมกันณหอพระมณเฑียรธรรม รับทูตกรึงเวียดนามขึ้นมา เชิญพระราชสาส์นออกให้พระราชมนตรี หมื่นสนิท ล่ามญวนแปล

(๑๖) พระราชสาส์นพระเจ้ากรุงเวียดนาม คำนับมาถึงพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยาให้ทราบ ด้วยณปีก่อนเจ้าเมืองเขมรพี่น้องหาชอบกันไม่ นักองค์จันทร์เจ้าเมืองเขมรหนีไปอยู่เมืองไซ่ง่อน กรุงเวียดนามน้ำพระไทยรักใคร่เมืองน้อยเปนกำพร้า จึงมีรับสั่งให้เจ้าเมืองไซ่ง่อน กับทูตกรุงพระมหาศรีอยุทธยา มอบเมืองให้เจ้าเมืองเขมรกลับมาเมือง ความอันนี้เสร็จแล้วณเดือนเก้า กรุงเวียดนามได้มีพระราชสาส์นเข้ามาได้แจ้งอยู่แล้ว บัดนี้กรุงเวียดนามทำการฉลองพระเดชพระคุณเสร็จแล้ว ได้พึ่งเทวดาบำรุงพระองค์เปนศุขอยู่ แลกรุงเวียดนามกับกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา แต่ก่อนมาเปนทางพระราชไมตรีสนิทกัน บัดนี้มีรับสั่งให้ ลูกูคำทรายกายเกอเฮวินฮว้าเค้า ราชทูต  พิโนยคำทรายกายโดยค้างเง้าเค้า อุปทูต  คำทรายกายโดยอยู่ดึกเห้า อุปทูต จำทูลพระราชสาส์นเข้ามากรุงพระมหานครศรีอยุทธยาโดยทางพระราชไมตรี กับถามข่าวพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา แลล้นเกล้า ฯ กรมพระราชวังบวร ฯ ทั้งสองพระองค์ให้ทรงพระเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป แลมีเครื่องราชบรรณาการมอบให้ทูตคุม ของพระราชวังหลวง

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/21344208510385_95600058_131426385174732_79939.jpg)
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/55586072305838_95809161_131426361841401_32463.jpg)


(๑๗) พระราชสาส์นพระมเหษี พระเจ้ากรุงเวียดนาม

(๑๗) พระราชสาส์นพระมเหษี พระเจ้ากรุงเวียดนาม มาถึงเวิยนเถือกทงผู้น้องให้แจ้ง ด้วยบัดนี้บ้านเมืองได้พึ่งเทวดาแลพระญาติวงษาซึ่งล่วงแต่ก่อนนั้น มาช่วยทำนุบำรุงรักษาได้อยู่เย็นเปนศุข สมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนาม ก็ครองสมบัติเปนศุขอยู่ แลวงษานุวงษ์ทั้งปวงก็พร้อมมูลทั้งสิ้น แต่มีพระไทยคิดถึงผู้น้องมิได้ขาด ด้วยอยู่เมืองไกลทางกันดาร บัดนี้พระเจ้ากรุงเวียดนาม รับสั่งให้ทูตจำทูลพระราชสาส์นเข้ามากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา พี่ได้ฝากเงิน ๒๐ ลิ่มมอบให้ทูตคุมเข้ามา ให้แก่ผู้น้องจะได้เปนสำคัญ ด้วยน้ำใจรักใคร่สนิทกันดุจแผ่นศิลาเนื้อทองคำ แลเมื่อฝาก ราชสาส์น เงิน } เข้ามากับทูตนั้น ได้กราบทูลพระเจ้ากรุงเวียดนามทรงทราบแล้ว

พระราชสาส์นมาณวัน ๑๕ฯ ๑ ค่ำ ยาลอง ๑๒ ปีระกาเบญจศก ๚ะ๛

(๑๗) พระราชสาส์นพระมเหษี พระเจ้ากรุงเวียดนาม มาถึงเวิยนเถือกทงผู้น้องให้แจ้ง ด้วยบัดนี้บ้านเมืองได้พึ่งเทวดาแลพระญาติวงษาซึ่งล่วงแต่ก่อนนั้น มาช่วยทำนุบำรุงรักษาได้อยู่เย็นเปนศุข สมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนาม ก็ครองสมบัติเปนศุขอยู่ แลวงษานุวงษ์ทั้งปวงก็พร้อมมูลทั้งสิ้น แต่มีพระไทยคิดถึงผู้น้องมิได้ขาด ด้วยอยู่เมืองไกลทางกันดาร บัดนี้พระเจ้ากรุงเวียดนาม รับสั่งให้ทูตจำทูลพระราชสาส์นเข้ามากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา พี่ได้ฝากเงิน ๒๐ ลิ่มมอบให้ทูตคุมเข้ามา ให้แก่ผู้น้องจะได้เปนสำคัญ ด้วยน้ำใจรักใคร่สนิทกันดุจแผ่นศิลาเนื้อทองคำ แลเมื่อฝากราชสาส์น ฝากเงิน เข้ามากับทูตนั้น ได้กราบทูลพระเจ้ากรุงเวียดนามทรงทราบแล้ว

พระราชสาส์นมาณวัน ๑๕ฯ ๑ ค่ำ ยาลอง ๑๒ ปีระกาเบญจศก ๚ะ๛



(๑๘) พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา
๏ วัน ๕ ๑๒ฯ ๔ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๗๕ ปีระกาเบญจศก เพลาสามโมงหกบาทได้พระฤกษ์ จาฤกพระราชสาส์นตอบไปกรุงเวียดนาม ให้องเวียนทูตญวนถือไป

กรมพระราชวัง พระยาไทยธรรม์ พระยาเทพวรชุณ }(๒) พระยาไกรโกษา พระยาพิไชยบุรินทรา }(๒) พระยาราชทูตขุนมหาสิทธิ พระโชฎึก หลวงทองสื่อ นายชำนิโวหาร }(๕) คน นั่งพร้อมกันณหอพระมณเฑียรธรรม ครั้นได้พระฤกษ์ประโคมพิณพาทย์ฆ้องไชย แตรสังข์   หมื่นสุวรรณอักษรอาลักษณ์ นุ่งห่มขาว จาฤกพระราชสาส์นด้วยน้ำหมึกลงกระดาษฝรั่งแผ่นครึ่ง เปนอักษร ๒๐ บันทัด ครั้นแล้วพระราชโกษาเชิญตรามังกรคาบแก้ว ประจำต่อตราโลโตปิดประจำศก พระราชสาส์นอักษรไทยดวง ๑ แล้วม้วนใส่ในกล่องไม้ไผ่กลึงมีฝามีเชิงเขียนลายมังกรทองใส่ในถุงโหมดระใบแพรเหลืองเอาตรา มังกรหก ไอยราพต ปิดงบครั่งบ้าง แลดวงประจำปากถุง แล้วเอาถุงพระราชสาส์นอักษรไทย กับพระราชสาส์นอักษรญวน มิได้ปิตตราใส่ไนพานแว่นฟ้าแล้วเอาตราก้นถุงดวง ๑ ปากถุงดวง ๑ ปิดงบครั่งประจำ มังกรหกไอยราพต  ปิดคลุมโหมดขลิบเขียวแล้วเอาอาลักษณ์เชิญไปณหอพระนาค ๚ะ๛

(๑๘) พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา จำเริญไมตรีมายัง สมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนามให้ทราบ ด้วยแต่งให้ทูตานุทูตจำทูลพระราชสาส์น คุมสิ่งของเข้าไปคำนับถามข่าวกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา แลพระอนุชาธิราชโดยน้ำพระไทยสนิทมาแต่ก่อน แล้วได้ทำการฉลองพระคุณเสร็จแล้วเปนศุขอยู่ กรุงพระมหานครศรีอยุทธยาก็มีความยินดีด้วยยิ่งนัก ซึ่งกระทำดังนี้เปนที่สรรเสริญนับถือทุกประเทศ เทพยดาอันส่องเห็นความดีความควรก็หากจะอวยผล ให้มีความจำเริญสุขสืบไป แลซึ่งกรุงเวียดนามมีพระราชสาส์น ให้เจ้าเมืองไซ่ง่อน กับพระยามหาอำมาตย์ราชทูต พาองค์จันทร์มาส่งคืนเมือง โดยเห็นกับไมตรีพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยาแจ้งความแล้ว คิดว่าองค์จันทร์จะเข้าไปด้วยพระยามหาอำมาตย์ตามจดหมายรับสั่งกรุงเวียดนามแต่ก่อน องค์จันทร์ยังกลัวอยู่จึงต้องผ่อนตามใจเด็ก แต่ได้มีศุภอักษรให้พระยามหาอำมาตย์ กลับมามอบเมืองให้องค์จันทร์ว่ากล่าวไปก่อน ในราชสาส์นที่มีมาแล้ว เปนธุระด้วยพม่าเข้ามาเจรจาเมือง ทูตซึ่งจะมาจำเริญทางพระราชไมตรีขอบพระไทย จึงต้องงดอยู่ฟังความให้แน่ ได้ให้เจ้าพระยาพระคลังผู้ใหญ่ มีหนังสือมาถึงเลโบแจ้งอยู่แล้ว บัดนี้กรุงพระมหานครศรีอยุทธยา แลพระอนุชาธิราชฝ่ายน่าให้จัดสิ่งของแลดอกไม้ซึ่งมีดอกผล  ซึ่งพระเจ้ากรุงเวียดนามต้องพระราชประสงค์ มอบให้ทูตคุมออกมาทรงยินดีในสมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนาม ให้เปนศุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป แล้วจะแต่งให้ทูตจำทูลพระราชสาส์นออกมาจำเริญทางพระราชไมตรีขอบพระไทยต่อภายหลัง

ราชสาส์นมาณวัน ๕ ๑๒ฯ ๔ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๗๕ ปีระกาเบญจศก วัน ๖ ๑๑ฯ ๖ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๗๖ ปีจอฉอศกเพลาเช้าสามโมงหกบาท ได้พระฤกษ หมื่นพิมลอักษร นุ่งห่มขาวจาฤกพระราชสาส์นไปกรุงเวียดนาม ลงกระดาษฝรั่งเปนอักษร ๑๗ บันทัด หลวงพิพิธสมบัติเชิญตราโลโตประจำตรามังกรคาบแก้ว ประจำต่อใส่กล่องไม้ไผ่เขียนลายมังกรทอง ใส่ถุงโหมดระใบเหลือง แล้วใส่พานแว่นฟ้าสองชั้นหุ้มถุงแพรเหลืองระใบแพรแดง แล้วเอาพระราชสาส์นอักษรญวนใส่ในถุงพานรองด้วย แล้วเอาตรามังกรคาบแก้ว ปิดงบครั่งประจำก้นถุง ปากถุง ฝากไว้หอพระนาค๚ะ๛



(๑๙) พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา
(๑๙) พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา จำเริญพระราชไมตรีมายังสมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนาม โดยคำนับด้วยสองพระมหานครสุจริตต่อกัน แต่องค์จันทร์เจ้าเมืองเขมรเปนเด็กพาความหนีมาพึ่งบุญ กรุงพระมหานครศรีอยุทธยาได้มีพระราชสาส์นมาขอดำริห์ แม้นไม่เห็นกับไมตรีอันสนิทก็ไม่ควรที่จะให้ตัวคืนเมือง หากพระเจ้ากรุงเวียดนามเสียประเพณีแผ่นดิน สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวมิได้ช่วยดำริห์ให้ในระหว่างทุกข์ถึงว่างท้ายเห้าสวรรค์คต จึงมีพระราชสาส์นให้เจ้าเมืองไซ่ง่อนกับพระยามหาอำมาตย์ราชทูต พาตัวองค์จันทร์แลขุนนางเขมรไปส่งถึงเมืองพุทไธเพ็ชร์ โดยมีพระอัชฌาไศรยเที่ยงธรรม์ แต่ต้นจนปลายมาก็ควรอยู่แล้ว กรุงพระมหานครศรีอยุทธยา จะให้ทูตออกมาขอบพระไทย แต่ครั้งนั้นก็ฟังความพม่ายังไม่แน่จึงงดอยู่ ให้แต่ขุนนางผู้ใหญ่มีหนังสือแจ้งความมาก่อน บัดนี้กรุงเวียดนามซ้ำให้ทูตานุทูตคุมสิ่งของเข้าไปถามข่าวแจ้งราชการเมืองเขมร ในพระราชสาส์นใหม่แลเก่า ทั้งสองฉบับก็คล้ายคลึงกัน ว่าการเมืองเขมรเสร็จแล้วแต่ณเดือนเก้า กรุงพระมหานครศรีอยุทธยา แลพระอนุชาธิราชฝ่ายน่าก็ยินดีด้วยยิ่งนัก จึงมีพระราชสาส์นให้พระพรหมบริรักษ์ราชทูต หลวงสิทธิโยธารักษ์อุปทูต ขุนอนุรักษ์ภูธรตรีทูต ขุนราชาวดี ขุนศรีเสนาล่ามคุมของออกมาขอบพระไทยโดยราชไมตรียังเปนธุระกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา จะระงับความองค์จันทร์องค์สงวน พี่น้องไม่ชอบกันก็คอยท่าเจ้าเมืองเขมรอยู่ จะเข้าไปหรือประการใดจะรอฟังไปดูก่อน

พระราชสาส์นมาณวันสุกร์เดือนหกขึ้นสิบเอ็ดค่ำจุลศักราชพันร้อยเจ็ดสิบหกปีจอฉอศก ๚ะ๛



(๒๐) พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา
(๒๐) พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา มีพระไทยปรารภถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนาม ด้วยพระเจ้าเมืองไซ่ง่อนบอกพระโชฎึกว่ามเหษีทิวงคตแล้ว กรุงพระมหานครศรีอยุทธยาแจ้งข่าวทุกข์ในกรุงเวียดนามไม่สบาย เปนการใหญ่ดังนี้ก็มีความวิตกด้วย เพราะสองพระมหานครสนิทมา ข้างไหนมีการก็เคยช่วยกันทุกครั้ง ครั้นจะรออยู่ต่อทูตกลับเข้าไปเห็นจะช้านัก จึงให้พระเสนาภักดี หลวงจ่าเนตร หมื่นฤทธิพิไชย หมื่นราชมนตรี หมื่นศรีธากรล่าม เชิญพระราชสาส์นคุมสิ่งของตามทูตออกมา ช่วยทำบุญถามข่าวเยี่ยมเยียนพระเจ้ากรุงเวียดนามโดยสนิท มีความวิตกถึงกัน

พระราชสาส์นมาณวันจันทร์เดือนสิบเอ็ดขึ้นห้าค่ำปีจอฉศก  ๚ะ๛



(๒๑) พระราชสาส์นพระเจ้ากรุงเวียดนาม
วัน ๓ ฯ ๑ ค่ำปีจอฉอศก

นั่งพร้อมกันณหอพระมณเฑียรธรรม

พระยากลาโหมราชเสนา พระยาพิพัฒโกษา พระยาพิไชยบุรินทรา พระวิสุทธิวารี  นั่งพร้อมกันณหอพระมณเฑียรธรรม

พระราชมนตรี หลวงศรีเสนา พระวิสุทธิวารี  ล่ามแปลพระราชสาส์นญวนออกเปนคำไทย

พระวิสุทธิวารี

ในพระราชสาส์นนั้นว่า ๚ะ๛

(๒๑) พระราชสาส์นพระเจ้ากรุงเวียดนาม จำเริญทางพระราชไมตรี มายังสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยาให้ทราบ ด้วยทูตานุทูตพระพรหมบริรักษ์ราชทูต หลวงสิทธิโยธารักษอุปทูต ขุนอนุรักษภูธรตรีทูต เชิญพระราชสาส์น ในพระราชสาส์นขอบพระไทย ด้วยแต่ก่อนส่งเจ้าเมืองเขมรนักองคจันทร์กลับมาเมือง ด้วยเจ้าเมืองเขมรเปนข้าสองพระนครใหญ่ แต่ก่อนเมืองเขมรพี่น้องหาชอบพอกันไม่ แลนักองค์จันทร์หนีลงไปอยู่เมืองไซ่ง่อน ด้วยกรุงเวียดนามและกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา ด้วยแต่มาเปนทางพระราชไมตรีและไมตรี ก็มีพระไทยโอบอ้อมเมืองน้อยรักใคร่เสมอกัน ก็รักให้เจ้าเมืองเขมรกับขุนนางแลอาณาประชาราษฎร พึ่งพระบารมีอยู่เย็นเปนศุข ก็เหมือนขุนนางแลอาณาประชาราษฎรสองพระนครกรุงใหญ่ เปรียบเหมือนผลไม้เม็ดเดียวกัน บัดนี้กรุงพระมหานครศรีอยุทธยาก็มีพระไทยร่วมรักเมืองน้อยด้วย ขอบพระไทยดังนั้นก็จริงอยู่ ด้วยสองพระมหานครเปนทางพระราชไมตรีสนิทกันยิ่งนัก แลบัดนี้เลโบกราบทูลว่าเจ้าพระยาพระคลังผู้ใหญ่ ณกรุงพระมหานครศรีอยุทธยามีหนังสือมาว่าด้วยพม่าเจรจา ความเมืองทุกประการ กรุงพระมหานครศรีอยุทธยาก็ยังหาเชื่อเปนแน่ไม่ แลกรุงเวียดนามทรงคิด กรุงพระมหานครศรีอยุทธยา กับพม่าทำการศึกกันมาช้านานหลายปีแล้วพึ่งจะสงบลง อาณาประชาราษฎรสองพระนครอยู่เย็นเปนศุข กรุงเวียดนามมีพระไทยยินดีด้วย บัดนี้ทูตานุทูตกรุงพระมหานครศรีอยุทธยากลับเข้าไปกรุงเวียดนามจัดทองคำ เงิน มอบให้ทูตานุทูตเข้าไปทรงยินดีทั้งสองพระองค์ เปนทางพระราชไมตรีแลไมตรี

พระราชสาส์นมาณวัน ๑๓ฯ ๑๐ ยาลอง ๑๓ ปีจอฉอศก  ๚ะ๛



(๒๒) พระราชสาส์นพระเจ้ากรุงเวียดนาม
(๒๒) พระราชสาส์นพระเจ้ากรุงเวียดนาม คำนับมาถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยาให้ทราบ ด้วยกรุงพระมหานครศรีอยุทธยากับกรุงเวียดนามเปนทางพระราชไมตรี สนิทเสมอต้นเสมอปลายมาจนทุกวันนี้ ครั้นณเดือนสี่ขึ้นสามค่ำปีระกาเบญจศก ว่างท้ายเห้ามเหษีกรุงเวียดนามทิวงคต เปนการทุกข์อยู่แต่ในกรุงเวียดนาม ครั้นจะแจ้งความเข้ามาให้ทราบเล่าก็ไม่ควร แลกรุงพระมหานครศรีอยุทธยามีพระไทยรักใคร่กรุงเวียดนามยิ่งนัก แต่ทราบความพระโชฎึกราชเสรฐีกราบทูลว่าเจ้าเมืองไซ่ง่อนบอกว่าว่างท้ายเห้าทิวงคตแล้ว กรุงพระมหานครศรีอยุทธยา มีพระไทยคิดถึงทางพระราชไมตรี แต่งให้พระเสนาภักดีทูตมีชื่อ เชิญพระราชสาส์นแลคุมสิ่งของออกมาช่วยทำบุญในการศพ ทูตไปถึงกรุงเวียดนาม ณวัน ฯ ๒ ค่ำครั้น ณวัน ๑๕ฯ ๒ ค่ำ เปนวันเส้นใหญ่ ได้ให้ขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยนำทูตแลสิ่งของซึ่งช่วยทำบุญไปไว้ศพว่างท้ายเห้าตามธรรมเนียมแล้ว แต่การที่ฝังศพว่างท้ายเห้านั้น ให้เลือกวันดีได้ต่อปีใหม่เดือน ฯ ๖ ค่ำจึงจะได้จัดแจงการฝังศพ ซึ่งพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา กระทำดังนี้โดยมีพระไทยรักใคร่ มีพระราชสาส์นออกมาถามข่าวเยี่ยมเยียนแลให้ทูตคุมสิ่งของออกมาให้ช่วยทำบุญ ในการศพได้ก่อนนั้น บุญคุณกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาอยู่กับกรุงเวียดนามยิ่งนัก ครั้นจะแต่งทูตเข้ามาขอบพระไทยตามประเพณีเล่า กรุงเวียดนามอยู่ในการทุกข์ด้วยว่างท้ายเห้าเปนใหญ่ยังไม่สำเร็จ จึงหาได้ว่าราชการอื่นไม่ ได้จัด
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/61281286511156_95367348_131430268507677_66513.jpg)
พระราชสาส์นมาณวัน ๑๐ฯ ๒ ค่ำศักราช ยาลอง ๑๓ ปี ๚ะ๛

พระเสนาภักดี นายจ่านิจถือมา



(๒๓) พระราชสาส์นพระเจ้ากรุงเวียดนาม
วัน ๒ ๑๓ฯ ๓ ค่ำจุลศักราช ๑๑๗๗ ปีกุนสัพศกเพลาเช้า ๔ โมง

พระยาโกษา พระยาธรรมา พระยามหาอำมาตย์ พระยาโชฎึก พระยาทองสื่อ พระราชมนตรีล่าม ขุนสารประเสริฐ ขุนมหาสิทธิ นายชำนิโวหาร หมื่นสุระอักษร } กรมพระราชวัง

พระยาพิไชยบุรินทรา พระยาไกรโกษา พระยาทัศดาจัตุรงค์ พระยาพิพิธไอยสวรย์ }  นั่งพร้อมแปลพระราชสาส์นกัน ณหอพระมณเฑียรธรรม ๚ะ๛

(๒๓) พระราชสาส์นพระเจ้ากรุงเวียดนาม คำนับมาถึงพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยาให้ทราบ กรุงเวียดนามกับกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาเปนทางพระราชไมตรีมาช้านาน ณปีกลายเดือนอ้ายพระเสนาภักดีรับสั่งคุมสิ่งของออกมาช่วยทำบุญ ถึงกรุงเวียดนามได้รับสิ่งของเข้าไปที่บูชาพระมเหษีทำตามอย่างธรรมเนียมเสร็จแล้วมีพระไทยยินดีหาที่สุดมิได้ ในวันนั้นทูตกราบถวายบังคมลา กรุงเวียดนามจัดแจงแต่งพระราชสาส์นกับเครื่องบรรณาการทองเงินสองสิ่งมอบ่ให้ทูตคุมเข้ามาตอบยินดี ด้วยการจัดแจงที่ฝังพระมเหษีในปีนี้เดือนห้าแรมสองค่ำก็เสร็จอยู่แล้วควรที่จะมีพระราชสาส์นบอกเข้ามา จึงให้เหลโบหือทำตรีมึนดึกห้าวราชทูต กงโบเทียมซือทันดึกห้าวอุปทูต คุมพระราชสาส์นกับทองเงินหลายสิ่งเข้ามาทรงยินดี กับถามถึงกรมพระราชวังบวร ฯ ว่าปรกติสบายอยู่ฤๅ ลำฦกถึงกรุงพระมหานครศรีอยุทธยามิได้ขาด จึงคำนับยินดีบอกเข้ามา

พระราชสาส์นมาณวันเดือนอ้ายแรมสองค่ำยาลอง ๑๔ ปี ๚ะ๛

ทรงยินดีในพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา

ทองคำ ๔ ลิ่ม  เงิน ๕๐ ลิ่ม  อบเชยเมืองทันวาหนัก ๓ ชั่งจีน อบเชยเมืองกวางนามหนัก ๒ ชั่งจีน  น้ำตาลกรวดหนัก ๕ หาบ  น้ำตาลปึกหนัก ๕ หาบ  น้ำตาลทรายหนัก ๒๐ หาบ  ศิลาเมืองทันวา ๕๕ แผ่น

ทรงยินดีกรมพระราชวังบวร ฯ

ทอง๒ ลิ่ม  เงิน๓๐ ลิ่ม  อบเชยเมืองทันวาหนัก๒ ชั่งจีน  อบเชยเมืองกวางนามหนักชั่งหนึ่ง  น้ำตาลกรวดหนัก ๓ หาบ  น้ำตาลปึกหนัก ๓ หาบ  น้ำตาลทรายหนัก๑๐ หาบ



(๒๔) พระราชสาส์น สมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา

๏ วัน ๒ ฯ ๔ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๗๗ ปีกุนสัพศกเวลาเช้า ๓ โมง ๓ บาตได้พระฤกษจาฤกพระราชสาส์นตอบไปกรุงเวียดนามให้ เหลโบหือทำตรีมินดึกห้าว ราชทูต  กงโบเตรียมซื่อทันดึกห้าว อปทูต  ถือไป

นั่งพร้อมกัน

เจ้าพระยาโกษา พระยาธรรมา พระยาจ่าแสนบดี ขุนศรีกระวีราช ขุนมหาสิทธิ หลวงท่องสื่อ
 
กรมพระราชวังบวร

พระยาพิไชยบุรินทรา พระยาไกรโกษา พระยาพิพิธไอยสวรรย์ พระยาทศโยธา
 
(๒๔) พระราชสาส์น สมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา ขอบพระไทยสมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนามมาให้ทราบ ด้วยมีพระราชสาส์นให้เหลโบหือทำตรีมินดึกห้าวราชทูต กงโบเตรียมซื่อทันดึกห้าวอุปทูต เข้าไปแจ้งว่าฝังศพพระมเหษีเสร็จแล้ว พระเจ้ากรุงเวียดนามระฦกถึงกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา กับพระอนุชาธิราชฝ่ายน่าไม่รู้ขาด จึงจัดทองเงินสิ่งของให้ราชทูตคุมเข้าไปถามข่าวโดยราชไมตรีก็ยินดีนัก อันกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาแลพระอนุชาธิราชฝ่ายน่าก็มีความสบายอยู่ แต่มีการด้วยต้องเปนธุระพวกมอญกระบถต่อพม่า แล้วพาครัวเลิกบ้านออกมาอยู่ป่าแดนต่อแดน ครั้นขัดอาหารพากันเข้ามาขอเข้ากินก็ต้องแจกจ่ายเข้าเกลือให้ทานเลี้ยงชีวิตรไว้ แต่ณเดือนสี่ปีกลายมาจนบัดนี้ก็หาสิ้นไม่ แลเมื่อจัดแจงให้ทานครัวมอญอยู่นั้นพวกพนมเปญก็ยกไปรบปัตบองด้วย สองพระมหานครตั้งใจบำรุงเมืองเขมรจะให้เปนศุข ทำคุณกลับเปนโทษ ให้ยกกองทัพไปตีเมืองปัตบองอีกเล่า ก็เหมือนทำแก่กรุงพระมหานครศรีอยุทธยาเหมือนกัน ขุนนางกรุงเวียดนามก็อยู่ที่นั่น ให้ความกลับเปนดังนี้ไม่ควรนัก คิดว่าจะให้มีราชสาส์นออกมาแจ้งความปฤกษากรุงเวียดนาม ก็ได้ข่าวว่าให้ขุนนางญวนลงมาชำระอยู่แล้วจึงรอฟังอยู่ ต่อทูตเข้าไปได้ความว่ากรุงเวียดนามพึ่งแจ้ง จึงมีพระราชสาส์นจัดสิ่งของมอบให้ทูตออกมาตอบยินดี แล้วให้เจ้าพระยาพระคลังจดความเดิมซึ่งพวกพนมเปญยกเข้าไปรบเมืองปัตบองออกมาให้พระเจ้ากรุงเวียดนามทราบเหตุก่อน แม้นว่างที่จัดแจงครัวมอญลงเมื่อใด จึงมีพระราชสาส์นให้ทูตออกมาจำเริญไมตรีฟังความภายหลัง

พระราชสาส์นมาณวัน ๒ ฯ ๔ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๗๗ ปีกุนสัพศก ๚ะ๛

เหลโบหือทำตรีมินดึกเห้า ราชทูต  กงโบเกรียมซื่อทันดึกเห้าอุปทูต ถือกลับไปทางทเล



(๒๕) หนังสือท่านเจ้าพระยาพระคลังผู้ใหญ่ณกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาฯ

(๒๕) หนังสือท่านเจ้าพระยาพระคลังผู้ใหญ่ณกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาฯ มาถึงองเลโบเสนาบดีกรุงเวียดนาม ด้วยสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ณกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา มีพระราชโองการดำรัสให้หลวงอนุรักษ์ภูธรราชทูต ขุนวิจารณ์อารุธอุปทูต เชิญพระราชสาส์นออกมาทูลสมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนาม ด้วยพระยารามกำแหงซึ่งโปรดให้ออกมาจัดน้ำรัก แลพระยาอภัยภูเบศรผู้รักษาเมืองปัตบอง บอกเข้าไปว่าทัพเมืองพุทไธเพชรยกล่วงด่านเข้าไปสามทาง ตั้งประชุมอยู่ที่บ้านไอรแวง  พระยารามกำแหง พระยาอภัยภูเบศร  รู้ความแล้ว จึ่งให้ออกมาห้ามทัพไว้ก็ไม่ฟัง ยกรุกเข้าไปตั้งค่ายที่หนองจอกนั้นสี่ค่าย สมเด็จเจ้าพระยาก็ตามเข้าไปอยู่ที่บ้านอลงกูบประมาณคนทั้งสิ้น ๕๐๐๐ เสศ เดิมว่าจะไปเอามูลค้างคาวดูน้ำพระตึก แล้วว่าจะมาหาพระยาอภัยภูเบศร ครั้นจะให้เข้าไปแต่พอสมควรสัก ๔๐๐ สัก ๕๐๐  ก็ว่าจะเข้าไปให้สิ้นทั้งกองทัพ ถึงมิให้ไปจะไปให้ได้ กองพระยาเอกราชก็ยกเข้าไปตั้งค่ายปักขวากริมวัดเขามานนฝั่งน้ำฟากละค่าย ทำตพานเรือกถึงกันยกล่วงเข้าไปบ้านสลึงมาปิดหลังทางโตนดนั้นกองหนึ่ง กองทัพพุทไธเพชร ชิงเอาโคกระบือแลสิ่งของจนผู้คนตื่นแตกเข้าป่า พระยาอภัยภูเบศรจึงให้พระยาวงษาธิราช ออกมารักษาครอบครัวณบ้านบายตำราไว้ แล้วมีหนังสือแจ้งราชการไปแก่เมืองรายทางฉบับหนึ่ง เข้าไปกราบทูลฉบับหนึ่ง ครั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทราบความดังนี้ จึงโปรดให้ พระยารองเมือง พระยาพรหมบริรักษ์  ถือตรารับสั่งออกมาฟังราชการ ห้ามทัพหัวเมืองไว้ก่อน พระยารองเมืองมาพบหนังสือ พระยารามกำแหงบอกซ้ำเข้าไปว่า กองทัพพุทไธเพชรซึ่งตั้งอยู่หนองจอกแลเขามานนนั้น ยกพลเข้าโอบเข้าล้อมพาลวิวาท จะให้ถอยทัพออกไปก็ไม่ถอย แล้วเอาปืนยิงพวกปัตบองก็เกิดรบกันขึ้น ตัวนายแลไพร่เขมรป่วยเจ็บล้มตายทั้งสองข้างเปนหลายคน พวกพุทไธเพชรก็ถอยไปตั้งค่ายรวมทัพอยู่ณเมืองโพธิสัตว์ ทั้งเกวียนซึ่งบรรทุกขวากใส่เสบืยงแลกระสุนดินดำไว้เปนหลายเล่ม กับหนังสือปิดตราซึ่งสมเด็จเจ้าพระยาเร่งทัพให้ตีปัตบองก็ได้ไว้ ข้างฝ่ายเมืองจันทบุรี เมืองตราด  ก็บอกเข้าไปด้วยว่ามีเรือญวนพร้อมด้วยพลแจว แลอาวุธปืนใหญ่น้อยน่าเรือรายแคมเข้าไปทอดอยู่ณะเกาะหมาก เกาะช้าง ในแดนเมืองตราดประมาณ ๓๕ ลำ ไม่รู้จะไปด้วยการสิ่งไร ในคำญวนนายเรือพูดเล่ากับจีนชาวเรือว่าไปป้องกันส่งพระราชสาส์น บอกแก่นายบ้านเกาะหมากว่า พระเจ้ากรุงเวียดนามให้มาตามจับจีนเตาโหว ผู้ร้ายตีเรือลูกค้า ครั้นเจ้าเมืองตราดรู้ข่าว จึงจัดให้ออกมาเที่ยวสืบราชการถึงเกาะกง ก็หาพบเรือพระราชสาส์นแลเรือจีนผู้ร้ายที่ไหนไม่ แต่ไพร่ครัวแลนายบ้านเกาะกงนั้นหายไปสิ้น จึงถามจีนชาวบ้านกับจีนลูกค้า ไปแต่เมืองสือเหงา ได้ความว่ากระลาภาษกับญวนสองลำ ไปกวาดเอาครัวมาเมืองกะปอด แลซึ่งข้อราชการทั้งสองฝ่ายนี้ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวดำรัสว่าจะเบาความหาควรไม่ ด้วยเจ้าเมืองเขมรพึ่งบุญอยู่ทั้งสองฝ่าย กรุงพระมหานครศรีอยุทธยากับกรุงเวียดนามเปนไมตรีกัน องต๋ากุญก็ลงไปสำเร็จราชการเปนผู้ใหญ่อยู่ณเมืองไซ่ง่อน ขุนนางญวนกรุงเวียดนาม ก็ยังอยู่เพื่อนองค์จันทร์ณเมืองพุทไธเพชร เหตุผลต้นปลายประการใดก็ยังไม่รู้ แลความมาเปนดังนี้เห็นไม่ควร จึงโปรดให้หลวงอนุรักษภูธร ขุนวิจารณอาวุธ  เชิญพระราชสาส์นออกมาทูลสมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนาม แม้นพระราชสาส์นแลทูตานุทูตมาถึงเมื่อใด ขอให้องเลโบช่วยทำนุบำรุง นำทูตเข้าเฝ้าทูลถวายราชสาส์นแลหนังสือเรื่องความนี้ ให้สมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนามทราบโดยทางพระราชไมตรีจงสดวก

หนังสือมาณวัน - ค่ำ ปีกุน สัพศก



(๒๖ เห็นจะเปนร่างครั้งแรก) พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา

(๒๖ เห็นจะเปนร่างครั้งแรก) พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยาจำเริญไมตรีมาแจ้งแต่พระเจ้ากรุงเวียดนาม ด้วยองค์จันทร์เจ้าเมืองเขมร ให้กองทัพล่วงด่านแดนเข้าไปจะตีเมืองปัตบอง พระยาพระเขมรณเมืองปัตบองกับข้าหลวงไทย ได้ห้ามปรามหลายครั้งก็มิฟัง พระยาอภัยภูเบศรบอกเข้าไปยังกรุงพระมหานครศรีอยุทธยากับหัวเมืองซึ่งอยู่ใกล้ เจ้าเมืองกรมการรู้ต้องยกมาเปนหลายเมือง กรุงพระมหานครศรีอยุทธยาแจ้งความมิวิตก จึงให้พระยารองเมืองออกมาห้ามปรามดูผิดแลชอบ กองทัพไทยซึ่งออกมานั้นยังมิทันถึงเมืองปัตบอง เกิดรบพุ่งกันขึ้นก่อน ผู้คนล้มตายทั้งสองฝ่ายมิควรเลย ใชว่าเมืองปัตบองเมืองเสียมราฐเมืองสวายจิก สามเมืองนี้จะเกี่ยวข้องในองค์จันทร์ ได้ว่ากล่าวเหมือนเมืองเขมรทั้งปวงก็หาไม่ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจัดแจงเศกองค์เอง ออกมาครองเมืองกัมพูชา ยกเอาพระยาอภัยภูเบศรเข้าไปอยู่ณเมืองปัตบอง ได้ปันเขตรแดนให้ขึ้นทับกรุงเด็ดขาดอยู่แล้ว กรุงเวียดนามก็รู้อยู่ เจ้าเมืองเขมรก็เปนข้าพึ่งสองพระมหานครอันใหญ่ องทวายก็มาอยู่ดูผิดแลชอบ องค์จันทร์บังอาจทำการล่วงเกินถึงเพียงนี้เห็นผิดด้วยกันทั้งแผ่นดิน ซึ่งองค์จันทร์เจ้าเมืองเขมรอันน้อยบังอาจทำดังนี้ ก็หมายใจแต่จะให้กรุงเวียดนามรับเอาเปนธุระ จะทำให้ไมตรีทั้งสองกรุงใหญ่ร้าวฉานเสียให้จงได้ อันกรุงเวียดนามกับกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา เปนที่หวังวางพระไทยรักใคร่สนิทมิได้มีรังเกียจสิ่งใด จะขุ่นหมองด้วยความคิดเขมรอันเปนเมืองน้อย องค์จันทร์อันเปนเด็กดังนี้ อัปรยศกับนานาประเทศยิ่งนัก ถ้ากรุงเวียดนามยังคิดถึงทางพระราชไมตรี มีความรักใคร่ในกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาอยู่ก็ให้ดำริห์ดูเถิด

อนึ่งมอญเมืองมัตมะกระบถต่ออ้ายพม่า ยกครอบครัวหนีมาณกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา แจ้งความว่าเจ้าอังวะแต่งทูตให้ถือราชสาส์นมายังกรุงเวียดนาม ความซึ่งมอญว่าข้อนี้เท็จจริงประการใด กรุงพระมหานครศรีอยุทธยาจะใคร่แจ้งความ แลการทั้งปวงนี้ ครั้นจะไม่แจ้งความมาเหมือนมีรังเกียจแก่กัน จึงแจ้งความมาจะได้เห็นความจริงรู้น้ำใจทั้งสองฝ่าย

พระราชสาส์นมา ณวัน ฯ ค่ำ ปีกุนสัพศก



(๒๗ เห็นจะเปนฉบับที่แก้แล้วมีไป)

(๒๗ เห็นจะเปนฉบับที่แก้แล้วมีไป) พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยาจำเริญไมตรีมาแจ้งแต่พระเจ้ากรุงเวียดนาม ด้วยองค์จันทร์เจ้าเมืองเขมรให้กองทัพล่วงด่านแดนเข้าไปจะตีเมืองปัตบอง พระยาพระเขมรณเมืองปัตบอง กับข้าหลวงไทยได้ห้ามปรามหลายครั้งก็มิฟัง พระยาอภัยภูเบศรบอกเข้าไปยังกรุงพระมหานครศรีอยุทธยากับหัวเมืองซึ่งอยู่ใกล้ เจ้าเมืองกรมการรู้ต้องยกมาเปนหลายเมือง กรุงพระมหานครศรีอยุทธยา แจ้งความมีวิตกจึงให้พระยารองเมืองออกมาห้ามปรามดูผิดแลชอบ กองทัพไทยซึ่งออกมานั้นยังมิทันถึงเมืองปัตบอง เกิดรบพุ่งกันขึ้นก่อน ผู้คนล้มตายทั้งสองฝ่ายมิควรเลย กรุงพระมหานครศรีอยุทธยาคิดว่าทางพระราชไมตรีกรุงเวียดนาม กับกรุงพระมหานครศรีอยุทธยานี้ เหมือนกับภูเขาอันใหญ่มิได้หวาดไหวมั่นคงนัก ยากที่ผู้ใดจะรื้อถอนทำลายได้ ถ้าวงษ์ทั้งสองยังจำเริญอยู่ ไมตรีทั้งสองพระนครก็ยังมิได้ขาด ศุขทุกข์สิ่งใดจะได้พึ่งกัน กรุงพระมหานครศรีอยุทธยายังเปนแผ่นดินใหม่ กับพม่าก็ยังทำศึกกันอยู่ แผ่นดินกรุงเวียดนามสิ้นเสี้ยนหนามราบคาบอยู่แล้ว ผู้คนเหลือใช้เสียอิก เมืองเขมรนิดหนึ่งเท่านี้ องค์จันทร์เล่าเปนเด็กจะขัดได้ฤๅ คิดว่าจะรักใคร่ช่วยทำนุบำรุงกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาบ้าง จึงวางพระไทยมา กรุงเวียดนามผ่อนตามใจองค์จันทร์อยู่ บัดนี้องค์จันทร์กลับมาตีเมืองปัตบองอิกเล่า ใช่ว่าเมืองปัตบอง เมืองเสียมราฐ เมืองสวายจิก สามเมืองนี้จะเกี่ยวข้องในองค์จันทร์ ได้ว่ากล่าวเหมือนเมืองเขมรทั้งปวงก็หาไม่ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จัดแจงเศกองค์เองออกมาครองเมืองกัมพูชา ยกเอาพระยาอภัยภูเบศรเข้าไปอยู่ณเมืองปัตบอง ได้ปันเขตรแดนให้ขึ้นกับกรุงเด็ดขาดแล้ว กรุงเวียดนามก็รู้อยู่ เจ้าเมืองเขมรก็เปนข้าพึ่งสองพระมหานครอันใหญ่ องค์ทวายก็มาอยู่ดูผิดแลชอบ องค์จันทร์บังอาจทำล่วงเกินถึงเพียงนี้ เห็นผิดด้วยกันทั้งแผ่นดิน ซึ่งองค์จันทร์เจ้าเมืองเขมรอันน้อย บังอาจทำดังนี้หมายใจแต่จะให้กรุงเวียดนามรับเอาวิวาท จะทำให้ไมตรีสองกรุงใหญ่ร้าวฉานเสีย ถ้ากรุงเวียดนาม ยังคิดถึงทางพระราชไมตรี มีความรักใครในกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาอยู่ องค์จันทร์ยังเปนดังนี้ จะให้กรุงพระนครศรีอยุทธยาผ่อนปรนประการใด ก็ให้ดำริห์ดูเถิด อนึ่งมอญมัตะมะขบถต่อใอ้พม่ายกครอบครัวหนีมา ณกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา แจ้งความว่าเจ้าอังวะแต่งทูตให้ถือราชสาส์น มายังกรุงเวียดนาม ความซึ่งมอญว่าข้อนี้เท็จจริงประการใด กรุงพระมหานครศรีอยุทธยาจะใคร่แจ้งความ อนึ่งแต่เมืองเขมรเกิดความมาจนทุกวันนี้ หาเหมือนแต่ก่อนไม่ ล่ำฦๅว่าญวนจะไปตีเมืองไทยไทยจะมาตีเมืองญวน พูดจาต่าง ๆ กรุงพระมหานครศรีอยุทธยาก็มิได้เชื่อ อันกรุงพระมหานครศรีอยุทธยานี้ แต่ที่จะคิดเบียดเบียฬขอบขันธเสมากรุงเวียดนามนั้นหาไม่ ถึงกรุงเวียดนามจะไม่รักใคร่ในกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาเลย แต่มิได้ทำสิ่งใดแล้ว กรุงพระมหานครศรีอยุทธยา ก็คงจะรักษาสุจริตอยู่ มิให้นา ๆ ประเทศล่วงติเตียนได้ แลการทั้งปวงนี้ ครั้นจะไม่แจ้งความมา เหมือนมีรังเกยจแก่กัน จึงแจ้งความมาจะได้เห็นความจริง รู้น้ำพระไทยทั้งสองฝ่าย

พระราชสาส์นมา ณวัน ฯ ค่ำปีกุญสัพศก ๚ะ๛



(๒๘) หนังสือท่านเจ้าพระยาพระคลังผู้ใหญ่ ณะกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา

(๒๘) หนังสือท่านเจ้าพระยาพระคลังผู้ใหญ่ ณะกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา มาถึงองต๋ากุญเจ้าเมืองไซ่ง่อน ด้วยสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการดำรัสสั่งให้หลวงอนุรักษภูธรราชทูต ขุนวิจารณ์อาวุธอุปทูต เชิญพระราชสาส์นออกมาทูลสมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนามเปนใจความว่า เมืองพุทไธเพชร์ยกกองทัพล่วงเข้าไปพาลวิวาทตีปัตบอง ซึ่งเปนเมืองน่าด่านชั้นในกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา ฝ่ายเจ้าเมืองจันทบุรี เมืองตราด ก็บอกเข้าไป ด้วยกระลาภาษกับญวน ๒ ลำไปกวาดเอาครัวชาย ครัวหญิง  ที่เกาะกงมาเมืองกะปอด แล้วว่ามีเรือรบญวนพร้อมด้วยพลแจวแลอาวุธปืนใหญ่น้อยน่าเรือรายแคมประมาณ ๓๕ ลำ เข้าไปทอดอยู่ณเกาะช้าง เกาะหมาก ในแดนเมืองตราด พวกญวนพูดเล่ากับจีนแลนายบ้านว่าไปส่งพระราชสาส์น ตามจับจีนเตาโหผู้ร้ายตีเรือลู


หัวข้อ: Re: จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 06 พฤษภาคม 2563 18:36:45
(๒๘) หนังสือท่านเจ้าพระยาพระคลังผู้ใหญ่ ณะกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา

(๒๘) หนังสือท่านเจ้าพระยาพระคลังผู้ใหญ่ ณะกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา มาถึงองต๋ากุญเจ้าเมืองไซ่ง่อน ด้วยสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการดำรัสสั่งให้หลวงอนุรักษภูธรราชทูต ขุนวิจารณ์อาวุธอุปทูต เชิญพระราชสาส์นออกมาทูลสมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนามเปนใจความว่า เมืองพุทไธเพชร์ยกกองทัพล่วงเข้าไปพาลวิวาทตีปัตบอง ซึ่งเปนเมืองน่าด่านชั้นในกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา ฝ่ายเจ้าเมืองจันทบุรี เมืองตราด ก็บอกเข้าไป ด้วยกระลาภาษกับญวน ๒ ลำไปกวาดเอาครัวชาย ครัวหญิง  ที่เกาะกงมาเมืองกะปอด แล้วว่ามีเรือรบญวนพร้อมด้วยพลแจวแลอาวุธปืนใหญ่น้อยน่าเรือรายแคมประมาณ ๓๕ ลำ เข้าไปทอดอยู่ณเกาะช้าง เกาะหมาก ในแดนเมืองตราด พวกญวนพูดเล่ากับจีนแลนายบ้านว่าไปส่งพระราชสาส์น ตามจับจีนเตาโหผู้ร้ายตีเรือลูกค้า ครั้นสืบถามเรือค้าเข้าออกก็ไม่มีใครพบใครเห็น  ว่าเรือพระราชสาส์นแลเรือผู้ร้ายอยู่ที่ไหน เรื่องความแจ้งอยู่ในสำเนาพระราชสาส์น แลหนังสือซึ่งมีมาถึงองเลโบกรุงเวียดนามนั้นแล้ว แต่สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระดำริห์ ว่ากรุงเวียดนามกับกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา ก็เปนทางพระราชไมตรีกันโดยสุจริต องต๋ากุญก็ลงมาสำเร็จราชการเปนผู้ใหญ่ณเมืองไซ่ง่อน ที่เมืองพุทไธเพชรเล่าองค์ทวายก็ยังอยู่เพื่อนองค์จันทร์ดูผิดแลชอบ การควรจะวางพระไทยได้ทั้งสองฝ่ายแล้วเหตุไรกองทัพเมืองพุทไธเพชรจึ่งยกเข้าไปตีเมืองปัตบอง ที่เกาะกงญวนก็มากวาดครัวด้วยเขมร อนึ่งแต่ก่อนจะไปมากิจการก็เคยมีหนังสือสำคัญเข้าไปทุกครั้ง มาบัดนี้ก็เสียอย่างผิดสังเกตไปสิ้น จึงโปรดให้มีหนังสือรับสั่งออกมาถึงเจ้าเมืองไซ่ง่อน ด้วยจะใคร่ทรงทราบเหตุผลต้นปลาย ว่าความเปนอย่างไรอยู่การจึงเปนดังนี้ แล้วให้ช่วยทำนุบำรุงส่งพระราชสาส์นแลทูตานุทูต ขึ้นไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนามโดยสดวก ถ้าทูตกลับลงมาจากกรุงเวียดนาม ถึงเมืองไซ่ง่อนเมื่อใด ขอให้เจ้าเมืองไซ่ง่อนมีหนังสือแจ้งความเข้าไปด้วย จะได้นำขึ้นกราบบังคมทูลให้ทราบ

หนังสือมา ณวัน ฯ ค่ำปีกุนสัพศก



(๒๙) พระราชสาส์น สมเด็จพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา

วัน ๑ ฯ ๘ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๗๘ ปีชวดอัฐศกเพลาเช้า

พระยากลาโหม พระยาทิพโกษา พระยาไกรโกษา พระยาโชฎึก พระยาศรีกระวีราช นั่งพร้อมกันณหอพระมณเฑียรธรรม

นายชำนิโวหารจาฤกพระราชสาส์นไปกรุงเวียดนาม

(๒๙) พระราชสาส์น สมเด็จพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา จำเริญไมตรีมาถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนามให้ทราบ ด้วยณวัน ๑๒ฯ ๓ ค่ำ ปีกุนสัพศก พระเจ้ากรุงเวียดนามมีพระราชสาส์นแต่งให้ทูตานุทูตเข้าไปถามข่าวกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา แลพระอนุชาธิราชฝ่ายน่า ก็ได้มีพระราชสาส์นตอบให้ทูตกลับออกมาแล้ว ๆ ให้เจ้าพระยาพระคลัง มีหนังสือจดหมายเรื่องความฝ่ายพม่าแลเมืองเขมรซึ่งเปนธุระกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาอยู่นั้นออกมาแจ้งก่อน จะแต่งให้ทูตออกมาต่อภายหลัง บัดนกรุงพระมหานครศรีอยุทธยากับพระอนุชาชิราชฝ่ายน่าว่างการซึ่งจัดแจงครัวมอญลง จึงมีพระราชสาส์นแต่ง

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/11204961480365_95617321_131436055173765_88999.jpg)
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/25414023010267_95922150_131436028507101_71046.jpg)
เวียดนามให้ชำระพวกพนมเปญยกเข้าไปตีเมืองปัตบองนั้นด้วย อนึ่งเมืองอังวะแต่งให้ขุนนางถือหนังสือมาถึงขุนนางกรุงเวียดนาม แต่ให้จีนพามาทางเรือ จีนคิดกันฆ่าพม่าเสีย นาย ๑ไพร่ ๘ } ๙ คน ยังเหลือพม่าอยู่นาย ๑ไพร่ ๔  จีนจับมัดเข้ามาส่งพระยาถลาง กับหนังสือพม่าใส่กล่องงาถุงกำมะหยี่ปิดตราประจำผูกเปนรูปหงษ ความแจ้งอยู่ในสำเนาที่แปลนั้นแล้ว แต่กรุงพระมหานครศรีอยุทธยากับกรุงเวียดนามรักใคร่สนิทกันรู้ความจะนิ่งไว้ก็ผิดประเพณี ไม่ควรที่สองพระนครเปนทางไมตรกันจึ่งแจ้งความมายังพระเจ้ากรุงเวียดนาม

พระราชสาส์นมาณวัน ๒ ฯ ๘ ค่ำ ศักราช ๑๑๗๘ ปีชวดอัฐศก ๚ะ๛



(๓๐) พระราชสาส์นพระเจ้ามินมาง
(๓๐) พระราชสาส์นพระเจ้ากรุงเวียดนาม คำนับมายังสมเด็จพระเจ้าพระมหานครศรีอยุทธยาให้ทราบ ด้วยเตียนวั่งเด้ผู้บิดาทำการศึกเที่ยวปราบปรามหัวเมือง ในแว่นแคว้นเมืองญวนประมาณร้อยครั้งจึงสิ้นเสี้ยนหนาม คืนได้บ้านเมืองดังเก่า จึงได้ตั้งเปนกฎหมายอย่างธรรมเนียม แล้วตั้งแต่งขุนนางอาณาประชาราษฎร จึงได้อยู่เย็นเปนศุขสืบมา จนถึงยาลอง ๑๘ ปีเดือนยี่ทรงพระประชวรลง หมอประกอบยาถวายก็หาชอบโรคไม่ ข้าผู้น้อยกับขุนนางทั้งปวงเข้าไปพยาบาลอยู่ทั้งกลางวันแลกลางคืน จนถึงณวันเดือนสามขึ้นสิบเอ็จค่ำ ข้าผู้น้อยแลขุนนางฝ่ายทหารพลเรือน อยู่พยาบาลพร้อมกัน จึงมีรับสั่งให้ช่วยกันรักษาบ้านเมือง แลสั่งสอนแก่ข้าผู้น้อยทุกประการ ครั้นณวันเดือนสามแรมสี่ค่ำเพลาเช้าสี่โมงเศษ เตียนวั่งเด้สิ้นพระชนม์ไปเมืองฟ้า ขุนนางแลอนาประชาราษฎรมีความทุกข์โศกอาไลยยิ่งนัก แล้วก็ช่วยกันจัดแจงไว้พระศพตามอย่างตามธรรมเนียม แล้วเชิญพระศพเข้าไว้ในที่นั่งว่างยินเดี่ยน ผู้น้อยกับเจ้าน้องเจ้าหลาน แลขุนนางทั้งปวงนุ่งขาวห่มขาวอยู่ในระหว่างทุกข์ กว่าจะครบสามปี แล้วสั่งให้เหลโป่ทำหนังสือรับสั่งแจกไปทุกเมือง แลการพระศพนั้นยังให้ขุนนางผู้ใหญ่จัดแจงเครื่องพระศพอยู่ ต่อเมื่อได้จัดครบแล้วจึงจะได้เชิญพระศพไปฝัง แลเตียนวั่งเด้กับสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยาพระองค์ก่อน เปนทางพระราชไมตรีสนิทยิ่งนัก จึงแต่งให้เหลโป่ต๋า ทำตรีมินดึกห้าวราชทูต พิโนยกว๋านทีกล้ากายเกอกรุงเลืองห้าวอุปทูต กงใบเทียมซือหายหยุ่นห้าวตรีทูต เข้ามาแจ้งความให้ทราบ

พระราชสาส์นมาณวันเดือนห้าขึ้นสี่ค่ำ มินมางปีต้น ๚ะ๛



(๓๑) พระราชสาส์นเจ้ากรุงเวียดนาม
(๓๑) พระราชสาส์นเจ้ากรุงเวียดนาม คำนับมายังสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยาให้ทราบ ด้วยข้าผู้น้อยรับสั่งเตียนวั่งเด้ผู้บิดาที่ล่วงไป มอบราชการแผ่นดินอันใหญ่ ไว้ด้วยณวันเดือนสามแรมสิบสองค่ำปีเถาะเอกศก ได้สั่งขุนนางให้ไหว้ฟ้าดิน แล้วเส้นไอยกีไอยกาบวงสรวงเทพารักษ์ ถึงณวันเดือนสามแรมสิบสามค่ำ ให้ขุนนางทั้งปวงมาเส้นที่ศพเตียนวั่งเด้ผู้บิดา ณวันเดือนสี่ขึ้นค่ำหนึ่งได้ครองราชสมบัติณที่นั่งท้ายว่าเตียน จึงให้ใช้มินมางศักราชใหม่ ได้ปล่อยคนโทษ แล้วยกส่วยสาอากรให้แก่ราษฎร แล้วได้มีหนังสือรับสั่งแจกไปแก่หัวเมืองใหญ่น้อยใกล้ไกลทั้งปวง ให้กระทำตามจงทั่ว แล้วให้ขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยพร้อมใจกันทำนุบำรุงบ้านเมืองให้อยู่เย็นเปนศุข บัดนี้ราชการในหัวเมืองใหญ่ แลหัวเมืองทั้งปวงราบคาบปรกติแล้ว คิดถึงเตียนวั่งเด้ผู้บิดา กับสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยาพระองค์ก่อน เปนทางพระราชไมตรีชอบพอเชื่อถือรักใคร่เปนอันมาก บัดนี้ข้าผู้น้อยตามเตียนวั่งเด้ผู้บิดา จะได้ทางพระราชไมตรีมั่นคงยืดยาวเหมือนแต่ก่อน จึงแต่งให้เลโปต๋า ทำตรีมินดึกห้าวราชทูต พิโนยกวานทีกล้าโดยถวกโนยกายเกือตรุงเลืองห้าวอุปทูต กงไปเทียมชื่อหายยุนห้าวตรีทูต จำทูลพระราชสาส์นคุมสิ่งของเข้ามาทรงคำนับ ขอให้สมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา ทรงพระราชจำเริญครองราชสมบัติ ให้อยู่เย็นเปนศุขทางพระราชไมตรีจะได้ยืดยาวต่อไป ทรงคำนับ

กระลำภักหนักสองชั่งจีน อบเชยอย่างดีหนักสามชั่ง จีนแพรแทร้อยทับ แพรแสร้อยพับ ผ้าขาวตังเกี๋ยร้อยพับ น้ำตาลปึกหนักสิบหาบ น้ำตาลทรายหนัก ๒๐ หาบ

พระราชสาส์นมาณวันเดือนห้าขึ้นสี่ค่ำมินมางปีต้น  ๚ะ๛



อักษร (ค) จาฤกแผ่นสิลา ว่าด้วยพระบรมธาตุมาแต่เมืองน่าน
๏ ศุภมัศดุ ๒๓๕๑ นาคสังวัจฉรอาสุขมาสศุกปักษ์ฉะดฤษถีสุริยวารกาลปริเฉทกำหนด พระบาทสมเด็จพระบรมธรรมิกกะราชาธิราชรามาธิบดี ศรีวิสุทธิคุณวิบูลยปรีชา ฤทธิราเมศวรราช บรมนารถบรมบพิตร์พระพุทธเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงทศพิธราชธรรมอนันตวิริยาทิโพธาภิรัต ผ่านสมบัติณกรุงเทพทวาวดีศรีอยุทธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ เสด็จออกณพระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิ์พิมานโดยสถานอุตราภิมุข พร้อมด้วยพระบรมวงษาเสนาพฤฒามาตย์ราชมนตรีกระวีชาติ์ประโรหิตาจารย์ เฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทโดยอันดับ จึงพระยามหาอำมาตยาธิบดีพิริยพาหะ ผู้ว่าที่สมุหนายกกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า เจ้าฟ้าเมืองน่านบอกลงมาว่าณวันเดือนเก้าแรมสิบสองค่ำปีมโรงสัมฤทธิศก พระบรมสารีริกธาตุกระทำพระอิทธิปาฏิหาร บันดาลไหซึ่งใส่พระธาตุนั้นให้ผุดขึ้นมาลอยวนอยู่หลังน้ำ ตรงปากถ้ำน้ำน่านใต้ด่านบ้านแผก สามเณรสององค์ลงไปดูนาวาท่าน้ำแลไป สำคัญใจว่าผลฟักลอยอยู่ ลงเรือไปดูเห็นเปนไหเคลือบเขียวสอาด จึงยกขึ้นสู่นาวาพาเข้ามาบอกพระสงฆ์ช่วยกันเปิดดู เห็นกล่องเงินใหญ่ใส่พระธาตุ ๒๓๕ พระองค์ กับพระพุทธรูปแก้วเงินทอง ๒๗๒ องค์ ทั้งเครื่องสักการบูชามีรูปช้างม้า ต้นไม้คนโทผอบแผ่นเงินทอง กล่องเข็มจอกใส่พลอยทุกสิ่ง สรรพเครื่องวิจิตร์ด้วยสุวรรณหิรัญรัตน์ประดับอยู่ในเห พระสงฆ์สามเณรจึงช่วยกันเชิญพระบรมธาตุไปไว้ที่ควร ชวนกันทำสักการบูชา พอเจ้าฟ้าเมืองน่านล่องลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท แจ้งว่าเจ้าสามเณรได้พระบรมธาตุเปนมหัศจรรย์ หามีสำคัญอารามใกล้น้ำชำรุดซุดพังไม่ พระบรมธาตุกระทำพระปาฏิหารให้ปรากฎดังนี้ ด้วยเดชะพระบารมีพระบรมโพธิสมภาร สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว เจ้าฟ้าเมืองน่านจึงเชิญพระบรมธาตุใส่เรือขนานแห่ลงมาทูลเกล้า ฯ ถวาย ครั้นได้ทรงฟังทรงพระปีติโสมนัศ จึงมีพระราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสสั่งให้เสวกามาตย์ราชมนตรีแต่งที่แลเครื่องสักการบูชา แห่พระบรมธาตุขึ้นมาจากเรือ เชิญสถิตย์เหนือพระแท่นในพระที่นั่งมหาจักรพรรดิ์พิมาน พร้อมด้วยการสมโภชโสรดสรง ทรงถวายเครื่องสักการบูชา แล้วให้ประชุมธรรมธราชาติ์ราชบัณฑิตย์ทั้งปวง มีสมเด็จพระสังฆราชเปนประธาน เลือกจัดพระธาตุได้ต้องพระบาฬีมีศรีสัณฐานต้องด้วยอย่างเปนพระบรมสารีริกธาตุแท้ ๔๙ พระองค์ เหลือนั้นเปนธาตุพระอรหันต์ ๑๘๖ พระองค์ ทรงเชิญพระบรมธาตุใส่ในพระโกษฐ ให้เสด็จอยู่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนสาศดาราม กิติศัพท์ก็ปรากฎทั่วทุกประชาชนชาติ์ เกิดประสาทศรัทธาเลื่อมไสเกลื่อนกล่นกันมากระทำสักการบูชา บ้างถวายหิรัญวัตถาลังการเครื่องประดับ จึงทรงพระราชดำริห์ว่า พระบรมสาริริกธาตุกระทำพระพุทธอิทธิปาฏิหารมาแต่เมืองน่านครั้งนี้ เปนศุภศิริสวัสดิ์มหัศจรรย์นัก ซึ่งจักประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถณวัดพระศรีรัตนสาสดารามนั้น ไปภายน่าเครื่องสรรพสักการบูชาแห่งทายกเก่าใหม่กับเครื่องพุทธบูชา ซึ่งอุทิศไว้ในพระแก้วมรกฎก็จะบริคนกล่นเกลื่อนกันเข้าหาควรไม่ แลพระชินราชกับพระชินศรีซึ่งอยู่ณเมืองศุโขทัยนั้น ต้องแดดฝนตรากตรำคร่ำคร่าเพลิงป่าเผาแตกพัง หาผู้จะรักษาทำนุบำรุงไม่ ให้อาราธนาลงมาปฏิสังขรณ์ พระลักษณสิ่งใดมิต้องด้วยพระพุทธลักษณให้ช่างซ่อมแปลงแต่งให้ต้องด้วยพระอัตถกถาบาฬี บัดนี้ก็สำเร็จแล้วจักเชิญพระบรมธาตุไปบรรจุไว้ ในองค์พระพุทธรุปจึงจะควร ในปีมโรงสัมฤทธิศกนั้น เมื่อได้ศุภสวัสดิฤกษ์ ทรงพระกรุณาให้เชิญพระบรมธาตุในพระราชวัง ๔๑ พระองค์ กับพระบรมธาตุมาแต่เมืองน่าน ๒๓๕ พระองค์ ทรงสรงพระสุคนธ์วารีเสร็จเสด็จเหนือพระยานุมาศ ให้ตั้งพลพยุหกระบวนแห่เปนขนัด พร้อมด้วยเครื่องสูงแลราชวัตร์ฉัตร์ธงผ้าธงประฎาก พิณพาทย์แตรสังข์ดุริยางค์ดนตรี ประโคมแห่ลงไปณวัดพระเชตุวันาราม สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระราชศรัทธาอุสาหเสด็จพระราชดำเนินไป ทรงบรรจุพระบรมธาตุ ในพระราชวังเข้าไว้ในพระชินศรีแต่ ๓๐ พระองค์ แล้วเชิญพระชินศรีสถิตย์ที่พุทธาอาศน์ในพระวิหารด้านทักษิณทิศ สนองพระองค์ดุจทรงสถิตย์ นั่งเสวยผลศุขฌานสมาบัติภายใต้ร่มไม้จิกแทบขอบสระมุจลินท์ แล้วเชิญพระบรมธาตุในพระราชวัง ๑๑ พระองค์นั้นบรรจบกับพระบรมธาตุมาแต่เมืองน่านเข้ากัน ๖๐ พระองค์ กับทั้งให้ใส่เครื่องสักการบูชาเก่าใหม่ทรงบรรจุไว้ในองค์พระชินราช เชิญขึ้นสถิตย์เหนือวิจิตรบวรพุทธาอาศน์ในพระวิหารด้านประจิมทิศไว้เปนที่เจดียถานให้เปนที่สักการบูชาสนองพระองค์ดุจทรงนั่งตรัสพระธรรมเทศนา พระธรรมจักป์ปวัตนสูตร์ปโปรดปัญจวัคคีย์ภิกษุทั้ง ๕ ในอิสีปัตนมฤคทายวัน จึงเชิญธาตุพระอรหันต์ ๑๘๖ พระองค์ ใส่ในพระโกษแก้ว ๕ ใบ ทรงบรรจุไว้ในองค์พระปัญจวัคคียภิกษุสาวกทั้ง ๕ แล้วทรงพระกรุณาให้จัดช่วยคนเปนข้าพระบรมธาตุครัวหนึ่ง ๖ คน เปนเงิน ๗ ชั่ง แลเงินซึ่งทายกบูชามาแต่เมืองน่านมีอยู่แต่ชั่งสิบตำลึง เงินบูชาณกรุงสามชั่งหกตำลึงหาพอไม่ จึงทรงพระราชศรัทธาให้เอาเงินตราณท้องพระคลัง เพิ่มเข้าอีก ๒ ชั่ง ๔ ตำลึงเข้ากันเปนเงิน ๗ ชั่งช่วยถ่ายชายหญิงได้หกคนเปนค่าพระบรมธาตุ สำหรับอภิบาลรักษาไวยาวัจจกร เพื่อจะให้พระบรมธาตุเจดีย์ถาวรวัฒนาการถ้วน ๕ พันพรรษา ให้เปนหิตานุหิตประโยชน์แก่อมรเทพามนุษย์ กระทำสักการบูชาไปภายน่า แล้วทรงอุทิศส่วนพระราชกุศลนี้ให้ไปถึงผู้ศรัทธาสร้างพระพุทธปฏิมากรทั้งผู้บรรจุพระบรมธาตุนี้ไว้ แลให้ทั่วไปแก่สรรพสัตว์ในอนันตจักรวาฬ จงเปนปัจจัยแก่พระปรมาภิเศกสมโพธิญาณ ในอนาคตกาลโน้นเถิด ฯ


หัวข้อ: Re: จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 07 พฤษภาคม 2563 13:26:12
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/14850401961141_spd_2012090285139_b_1_320x200_.jpg)

อักษร (ฆ) เรื่องนิพานวังน่า

นิ ราศบาทเบื้องโอ้     โมฬี
พาน จะโศกทั้งศรี     อยุทธเยศฺ
วัง เย็นสรหงัดตี     อกร่ำ ก่ำเอย
น่า มุขพิมานเมศร์     เมื้อมิ่งแรมหมอง
แต่ พระจอมมงกุฎโลกย์     แรมวัง
แผ่น พิภพเพียงพัง     ม้วยไหม้
ดิน โดยอดูรหวัง     หวั่นเทวศ
ต้น แต่ตีทรวงไห้     ห่อนเว้นวันเสบย
วงษ์อินทกรุงธิปัตเอก     อิศรา
หน่อมงกุฎอยุทธยา     เลื่องโลกย์
สืบสายกรมฝ่ายน่า     แรมนิราศ
ทรงคิดคราววิโยค     พระบิดุร้างสวรรค์
พระปิ่นอยุทธเยศเจ้า     ทรงธรรม์
นุภาพปราบมนุศย์สวรรค์     ฟากฟ้า
สี่ทวีปถวายบรร     ณาน้อม
เกรงบพิตรพระจอมหล้า     โลกย์ลั่นฦๅแขยง
เคยเสด็จออกแสนเส     หนางค์
ร้อยเอ็ดโอนอุตมางค์     นอบน้อม
พระฤทธิ์เรืองปานปาง     สุริเยศ
ทั้งหมื่นกรุงสพรั่งพร้อม     กราบเกล้าเศียรสยอง
พระคุณเฮยแต่นี้เงียบ     วังเยน
เคยเผยสีหเหน     ลูกไห้
ยามศุขกลับไปเปน     ทุกข์เทวศ
คิดฤๅวายวางไข้     จิตรโอ้อาดูร
พระจอมมกุฎสามภพไห้     สั่งเวียง
พระสนมเสนาะเรียง     ร่ำร้อง
หมู่มุขมนตรีเคียง     ครวญคร่ำ
เสียงพิฦกลั่นก้อง     โศกแส้วังโหย
พระกาญจน์ยอดแก้วเฮ่ย             ยังหัน
เสร็จมาเมื้อเมืองสวรรค์     สู่ฟ้า
ฤๅเคียดเสน่ห์ผัน     หุยหุง เสียเนอ
ม้วยแต่นับโมงถ้า     ทุกค่ำคืนหาย
พระร่มโพธิ์เกษมิ่ง     กระหม่อมเฮย
ยามกระเษมแสนเสวย     ศุขภาพ
สุรางค์บำเรอเคย     สพรั่ง พร้อมแฮ
เรียงรอบศิโรราบ     ราชร้างแรมโฉม
โอ้จอมมงกุฎเกล้า     จากจร
กรมพระราชวังบวร     แรมร้าง
ลูกทุ่มทรวงอาทร     เทวศไห้
แสนทุกข์บวายว่าง     ที่เมิ้อจักเห็น
ย่ำยามสดับเสียง     ประโคมวัง
ดุริยางต์เสนาะดัง     พาทย์ฆ้อง
ทีนี้จะเงียบแตรสังข์     สูญถนัด
ฟังแต่เสียงสกุณก้อง     กรู่แก้วเกลื่อนขัน
พระคุณเอ๋ยเคยทรงสร้าง     สมภาร
ปราถนาพระโพธิญาณ     ยอดแก้ว
ออกโอษฐ์ขอคชทการ     นำสัตว์
จากบ่วงสงสารแคล้ว     คลาศพ้นพลันเข็ญ

ครุวารกติกมาเส สุกรอัคสังวชเร เหมันต์จตุมีดิถียัง นาฬินาหึ่ง ๆ ถึงยามสอง ได้สามบาทคาดฆ้องประโคมสังข์ พระมงกุฎปิ่นเกษนิเวศวัง ไม่รอรั้งร้างมิ่งพิมานเย็น พระสฐานสถิตย์เยือกยินแต่เสียง สุรางค์เรียงร่ำเทวศก็เหลือเข็ญ ข้าธุลีมีกรรมจึงจำเปน ไม่เห็นเลยหลักภพพิบัติวาย โอ้พระมิ่งโมฬีที่พึ่งโลกย์ ประชาโศกแสนลห้อยไม่รู้หาย ฤๅผลเวรสัตว์ทำประจำกาย จึงทำลายเจาะจอมกระหม่อมจง พระกฤษดาดังพรหมอุดมเดช ที่ทรงเพศพาหนพระยาหงษ์ เหมือนสุริเยศไขศรีรวีวงษ์ เมื่อเสร็จทรงกลดเยี่ยมโพยมงาม อรินทร์ราชกราบเกรงพระบารเมศ มงกุฎเกษสรวมชีพทวีปสาม เคยเปนฉัตรแก้วกั้นสุวรรณวาม ดังศศิตามส่องโลกย์สว่างวาว เย็นเกษบารเมศบรมจักร ที่พำนักนิ์หายหาชนาหนาว พระอานุภาพเลิศลบจบแดนดาว ปัจจาผ่าวอุรพารอาใจ อันปิ่นราชนิเวศน์วังบวร ดัษกรรื่นราบกราบไสว ถึงรัตนังอังวะที่ฦๅไกร ก็ปราบได้ด้วยพระฤทธิ์เดชาชาย เมื่อปางหลังที่นั่งสุรามรินทร์ อยุทธสิ้นย่อยยับประหารหาย เพราะไพรินทร์ลุยลามตามทำลาย กระหม่อมหมายเมืองล่มไม่เล็งคืน บิตุรงทรงนามธรรมิกราช ทั้งสามโลกย์เนียรนาศไม่อาจฝืน มายกพระสาศนาภิญยายืน ประชาชื่นชมโพธิสมภาร คือล้นกระหม่อมมิ่งมไหวงษ์ สองพระองค์เลิศฟ้ามงกุฎสฐาน แบ่งภาคจากองค์พระอวตาร ผ่านนิเวศน์ปราบดาด้วยบารมี จึงสิ้นยุคศุขกระเษมทั้งสามภพ เทพนบน้อมเกษทุกราษี สรรเสริญเดชาทั้งธาษ์ตรี กรชุลีโปรยทิพย์สุมาลย์มา โอ้พระคุณเคยการุญพำนักนิ์โลกย์ ยิ่งวิโยคยามร้อนไม่ผ่อนหา เมื่อดับเข็ญเย็นแล้วทั้งโลกา ไยนิราร้างราษฎร์อนาถเนาว์ ปางครั้งทศเศียรอสุรภักตร์ เที่ยวหาญหักสามโลกย์ได้โศกเศร้า นารายน์รามตามล้างจึงบางเบา บันเทาทุกข์ทั่วเทพดาคืน สุดกระเษมไตรภพสบกระสัน อภิวันทุกพิมานสำราญรื่น เหมือนปิ่นจอมล้นกระหม่อมเมื่อยังยืน หมื่นนิเวศน์วรถวายสุมาลี จึงนิพนธ์แต่หลังหวังสนอง ให้จำลองสิบกระษัตริย์บดีศรี หนึ่งครุลหุเคียงแต่เพียงตรี ที่ท่านปรีชาช่วยอำนวยกลอน ใครยลอย่าเพ่อเย้ยพึ่งศึกษา ใช่เมธาเจนจิตรบัณฑิตย์สอน แสนถวิลถึงพระปิ่นชนากร สุดนิวรณ์หวั่นเทวศกำศรวญครวญ ปัญญาหญิงไหนจะพริ้งไม่คล่องเคล้า นี่โดยเดานึกคเนอย่าเสสรวล ถ้าผู้ชำนาญอ่านเล่นเห็นสำนวน ปราชช่วยปรวนเติมแต้มให้งามคำ เราใช่ราชกระวีที่เฉลียว ก็เสียวใจจะไม่คมเหมือนลมขำ อ่อนหัดไม่สันทัดพึ่งลองทำ จะริร่ำร่างลงก็งงนาน หนึ่งชุลิตฝ่าธุลีมีพระเดช ซึ่งก่อเกษเลื่องโลกย์ระบือหาญ เสด็จสู่สวรรค์เทวพิมาน ชอมัศการกรน้อมศิโรดม ถวายต่างทิพมาศมโนแผ้ว กราบแล้วจึงลิขิตอักษรสม โอ้พระปิ่นภพร้อนดังเพลิงรม ล้มพระโรคแรกประทับจะอับจน ประชวรแต่มาขมาสเหมันต์ รดูฉันเดือนหนาวเปนคราวฝน สิ้นทั้งวังตั้งแต่ทุกข์รทมทน ถึงยุคลมิ่งแก้วเกษกำนัล เสด็จนั่งเหนือบัลลังก์วิเชียรช่วง ประดับดวงมณฑามาแต่สวรรค์ ดารารายพรายพร้อมเข้าล้อมจันทร์ เหมือนสุริยันย่างเยี่ยมพระเมรุทอง หมู่อับศรเฝ้ารอบหมอบรดาษ พร้อมพระราชธิดาประนมสนอง สุวรรณผุดโพธิญาฝ่าลออง ให้แผ่ปองทรงปิดพระปฏิมา พระรัศมีหมองเหมือนเมื่อเดือนดับ ลูกวาบวับหวั่นทรวงสหัสา พระฉวีเสียศรีสุนทรา ชลนานองเนตรตลึงแล ยลอนงค์นุชนางสนมน้อม งามลม่อมหมอบผจงดังวงแข เคยรองบาทจะบำราศสวาดิแด เหมือนจะแปรปราศจากไม่อยากยล เหนพระไทยจะเปนห่วงหน่วงถนอม จะไกลกล่อมขวัญให้รหวยหน จึงเรียกรศอมฤตยวิเชียรชล เสี่ยงกุศลซึ่งสร้างพระโพธิญาณ แม้นชนม์จะอยู่ช่วยบำรุงทวีป ขอให้รีบรับน้ำรศาหาร ถ้าชีวิตรนั้นจะปลิดไม่เนาว์นาน อย่าให้พานสอคล่องนิยมยิน เทวศว่าต่อพระภักตรพระชนศรี แล้วทวีทรงพระวิตกถวิล พิศฐานเสร็จเสวยวารีริน แต่ชั้นกลิ่นกลืนกลับวิบัติเปน พระอาเจียนเวียนประทะอุรหมอง จึงตรัสร้องว่าโอ้มิพ้นเข็ญ เคยเปนร่มเกล้าโลกย์ได้อยู่เย็น เห็นสุเมรุเอนแล้วจะตรมตรอม สุเรตดังสุรางค์บำเรออินทร์ จะไกลกลิ่นกล่อมกลีบมณฑาหอม เคยสงวนนวลเฉลิมเปนเจิมจอม ยามถนอมแนบชื่นไม่คืนเคียง แต่ครวญคร่ำน้ำพระเนตรนั้นนองเนดร แสนเทวศพร้องเพราะพระสุระเสียง พระสนมรอบร่ำพิไรเรียง เคยชุบเลี้ยงจะนิราศพระบาทา จึงดำรัสเรียกเหล่าบุตรีสมร ประโลมสอนพ่อจะร้างนิราศา ดวงจิตรฝากชีวิตรพระบิตุลา วาศนาหาไม่จงเจียมสกล สมรยากฝากองค์ให้การุญ ถ้าพระคุณเคืองเข็ญไม่เปนผล จะพึ่งพ่อเล่าก็พ่อไม่ยืนชนม์ ยลแต่บาทนะจงตั้งภักดีตรง หนึ่งพระเสาวนีที่มียศ พระธิดาปรากฎมงกุฎหงษ์ จงฝากกายนะอย่าหมายหมิ่นทนง เจ้าเปนวงษ์จงรักษ์ธุลีลออง ที่นี้ถึงเทพถือโอสถทิพย์ ผจงหยิบมาประมูลทูลฉลอง ไม่เสวยเลยให้เวทนาปอง จะต้องเนิ่นทรมานรำคาญเคือง สดับตรัสดังมัจจุราชรีบ ประหาญชีพลูกหายทำลายเบื้อง เมรุมุ่งเคยประจำทวีปเรือง ถ้าล่มแล้วจะมิเนืองน้ำตาตาย บ้างค่อนอกร่ำโอ้มิควรเข็ญ ดังกระเดนเศียรเกล้าของเราหาย เคยปราโมทมีศุขทุกวันวาย เหมือนสายเนตรจะเปนสายโลหิตกอง ถึงยามกระเษมเคยแสนสำเริงรื่น กลับสอื้นนึกโอ้มโนหมอง แต่นั้นมาพร้อมหน้าไม่ไกลลออง หมายฉลองพระคุณคอยรวัง ผลัดโมงกันไม่ให้คลาดสักบาททุ่ม ดังเพลิงรุมร้อนอกวิตกหลัง แต่นั่งยามย่ำฆ้องจนเคาะรฆัง ลูกหวังฟังราชกิจจะหนักเบา ปางปิ่นโมฬีทั้งสี่ทวีป ดังศศิธรร่อนรีบขึ้นเหลี่ยมเขา เสวยทุกข์มิได้ศุขสถิตย์เนาว์ ให้เชิญเอาพระอาการนราพงษ์ พอรตินทิวาเวลาสงัด ดำรัสร่ำคำหวานละลานหลง ตลึงแลดูนิเวศจังหวัดวง ยิ่งแสนทรงพระวิโยคเมื่อยามตรอม ว่าอนิจจังครั้งนี้จะไกลเนตร นึกสังเวชก็แต่บุตรสุดถนอม จะพึ่งวงษ์ไม่จงเหมือนบิตุจอม จะร่ำโอ้ทูลกระหม่อมนิราคลา พรหมภักตรพร้อมภักตรละห้อยหวล แต่นี้นวลนะอย่าโหยละห้อยหา ทั้งพิมานดุสิดาสวรรยา ฤๅจะราแรมร้างจากปรางค์ไป แต่พื้นทรงสมญาปราสาทชื่อ ประสิทธินามไว้ให้ลือพิภพไหว แล้วนึกพระบิตุลายิ่งอาไลย จะเปลี่ยวพระไทยจินดานุชาครัน คราวณรงค์เห็นจะทรงดำริห้คิด เคยร่วมจิตรร่วมคู่เสวตรสวรรค์ ร่วมชีวิตรปลิดพรากไปจากกัน ร่วมสุวรรณเสวตรฉัตรกระจัดนาม จะพินทนาอยู่เออนาโถ จะนึกโอ้ฤๅไม่เอื้อนระคางขาม ฤาจะแสนโศกเทวศถวิลความ เปนเพื่อนไร้ไนยามกันดารนาน พระเดชขจรนครกระษัตริย์สิ้น แต่พื้นผินน้อมเศียรหัดถประสาน ถวายเครื่องทิพย์มาศสุมาลย์ บรรณาการเนื่องแน่นประนมคม ออกพระนามก็ให้ขามขยาดยศ เห็นปรากฎเกียรติเกินพระสยม อาณาราษฎร์ร้องถวายพระพรชม จนประฐมล่วงพระชนม์นรินทร์ ร้อนอาศน์เทวราชอมรเมศร์ เทพเทวศทุกวิมานรังสิน สิบหกชั้นช่อฟ้าดุสิตอินทร์ ประชุมผินผันย้ายราษีจร เข้าสถิตย์สิงสู่กำภูฉัตร กระจัดแจ้งออกด้วยเทพสังหร หวังให้เลื่องบารมินปิ่นนคร กระฉ่อนภพจบหล้าลือขจาย มหัศจรรย์โลกย์ลั่นกำปนาท สุราวาศไหวกระทบคูหาหาย สุเมรุเอียงแทบจะเอนอันตราย สายสินธุ์เปนละลอกกระฉอกฟอง พระสมุทเพียงจะทรุดไม่หยุดคลื่น พุชชงค์ตื่นเผ่นน้ำผันผยอง ประทุมเกตุอาเพทดังสีทอง แสงส่องยลปลาดไม่อาจแล เมฆหมอกออกมัวไปทั่วทวีป พิรุณรีบโปรยกระสินธุ์รินกระแส ฟ้าดินวิปริตเห็นผิดแปร ทีนี้แน่แล้วพระจอมกระหม่อมเวียง ทั้งพโยมก็พยัพพยุฝน ดูฤกษ์บนเทเวศถวายเสียง สุนีย์ฟาดอากาศก้องสำเนียง ดังเปลื่องเปลี้ยงฟ้าลั่นคำรามรน วายุพาพัดปาริกชาติ ก็พินาศพังรเนนไม่ตั้งต้น เสวตรฉัตรหักยับรยำยล ฤๅเทพดลบันดานฟ้ามาเชิญ วิหคร้องในห้องเวหาหาว เหมือนเสียงสาวสมรอับศรเหิน เหมือนสุลีรอยชลอพิมานเกิน คอยพระราชดำเนินเสด็จคลา บังเกิดมีองค์พระศรีมหาโพธิ์ นิโรธร่มฝูงสัตวมนัศา ก็แรมร่วงล่วงลับอยู่โรยรา กลับรย้ายอดลัดรบัดใบ เมื่อจวนจอมรพีพงษ์ทิวงคต โพธิ์สลดเอนล้มรทมไข้ ดังมีจิตรคิดแสนเทวศใจ ดังอาไลยในเบื้องบดินทร์วาย หรือล้นกระหม่อมจอมดาวดึงษเดช แสดงเหตุแจ้งอัถกระจัดถวาย ว่าโพธิ์ทองหมองแล้วจะอันตราย เมื่อลูกหมายเหมือนพระจอมโลกากร ด้วยพระปิ่นจัลโลงอยุทธเยศ ทุกประเทศเกรงจบสยบสยอน จึงสำแดงบารเมศลือขจร ว่าร่มร้อนเกล้าโลกย์เคยอยู่เย็น ครั้งนี้จะเสด็จสู่สวรรค์คต ก็ปรากฎอัศจรรย์จะให้เห็น นิจาโอ้อกเอ๋ยมิเคยเปน จะเกิดเข็ญแน่แล้วสุชลริน บัญชรวายุสฐานอัมเรศ ทั้งพิมานพรหมเมศนรังสิน เสร็จศุขจตุรมุขพระแกลยิน เผยดังพิณพาทย์เพลงบันเลงกลอน ไฉนหมองกลับร้องสำเนียงโหย อดูรโดยด้วยพระมิ่งอดิศร แต่พระที่นั่งดังพินทนาวร นิฤๅเราจะมิค่อนอุระครวญ ชรอยเทพยดารักษาวัง ถวิลหลังบริรักษแรมสงวน เคยรองมุลิกานิรานวล รเหหวลอาไลยธุลีลออง มหัสเหตุให้เทวศทวีร่ำ ยิ่งกลืนรกำกอบกินสุชลหมอง สารพัดจะวิบัติบังเกิดปอง ชวนกันพร้องพร่ำโอ้แต่นี้เรา อันฉัตรแก้วร่มเกษเฉลิมโลกย์ เห็นวิโยครัศมีมณีเศร้า เคยเรืองแสงส่องวามเห็นงามเพรา เสมอเขาพระสุเมรุเอนทำลาย สุกรปักษเหมันติกามาศ เสร็จบำราศเอกานิราหาย กำศรดสั่งยังวิหารอารามพราย ถวายกรวรทูลพระชินวงษ์ มณฑปดังจุฬามณีสวรรค์ พระเพลิงหั่นล้างให้เป็นผุยผง พึ่งทรงสร้างฤๅจะร้างไปเอองค์ จะชีพจงคตสิ้นเสียก่อนกาล สถิตย์เถิดลาแล้วพระชินศรี ชุลีหัดถ์ให้ร่ำด้วยคำหวาน พระวรรณโรครึงรนไม่ทนทาน ทรมานนานเนิ่นก็เกินแรง ประชวรซูบผิดพระรูปร่ำเทวศ ชลเนตรนองภักตรชักพระแสง จะล้างองค์ลงให้วางเสียกลางแปลง โอรสแย่งเคียงยุดพระกรกุม อนิจาอาดูรแล้วทูลห้าม จงโปรดตามอย่าเพ่อทอนพระชนม์ทุ่ม พระเปนที่ร่มฉัตรสัตวประชุม ค่อยเหือดกลุ้มพระอุรสบายคลาย กลับสู่พระนิเวศน์นิวาศสฐาน ถึงพระทวารสั่งเสร็จพระไทยหาย โอ้เวียงเอ๋ยเคยเกษมเปรมปราย ประมาณหมายแม่นมิ่งพิมานอินทร์ ทีนี้จะเงียบเหงาเย็นเปนวังร้าง ดำรัสพลางทอดถอนฤทัยถวิล แต่คัลไลรอบราชวังนรินทร์ แล้วก็ผินเผยผันพระบัณฑูร ว่าอนิจาครั้งนี้จะนิราศ เคยเอนอาศน์ปัจฐรจะสิ้นสูญ พระภักตรหมางหมองเศร้าด้วยอาดูร พูลเทวศทุกทิวานิจากรรม จึงเอื้อนเทวบัณฑูรสั่งสนม ต่างประนมหัดถรับพิไรร่ำ จงค่อยอยู่เถิดวิบากจะจากจำ น้ำพระเนตรอาบชลธารนอง ตรัสสั่งวสันตรพิมานแก้ว จะลาแล้วแรมร้างอย่าหมางหมอง เคยสำราญเนาว์สฐานพิมานทอง จะไกลห้องทิพเยศนิเวศวัง นิเวศเวียงยินแต่เสียงสนมโศก เสน่ห์แสนสุดวิโยคไม่วายหวัง ไม่เว้นว่างนางในไห้ประดัง ประดาหวลครวญตั้งตลอดปี แต่ปางหลังครั้งเบื้องบรเมศร์ บรมบาททุเรศนิราหนี นิราศร้างแสนสุรางค์เทพี เทพินมีแต่ตีอุรกรม อุราเกรียมเทียมแทบไศลทับ ศิลาทุ่มทรวงคับด้วยทุกข์ถม ทุกข์ปะทะถึงบดินทร์สุรินทร์รมย์ สุเรตร้างจะรบมอารมณ์โรย อารามร่ำจำจากจอมนิเวศน์ จงนิวรณ์อ่อนเกษถวิลโพย ถวิลหาถึงฝ่าลอองโอย ลอายอาบเนตรโกยแต่กองชล แต่การชื่นฝืนใจไม่มีศุข มาน่ามุขเหงาเงียบลห้อยหน ลห้อยหวลล้วนล้างพิไรลน พิลาพแล้วจะไม่ยลยุคลคืน ยิ่งฆ้องค่ำย่ำสนทยาหมอง ทเยศหมางห่างห้องหวลสอื้น โหยสอึกนึกอนาถสวาสดิ์กลืน เสวยทุกข์ไม่ชื่นสักนาฬิกา นาฬิกาลฆ้องขานประจวบทุ่ม สุชลชุ่มเนตรทรับกับภูษา มิได้เยื้อนเบือนเบิกสักเวลา ชลนาดังสายพิรุณโปรย จึงโศกสั่งพระที่นั่งสุทธาสวริย ว่าแต่วันนี้จะลารหาโหย เคยจำเริญเมาฬีสวัสดิ์โดย โอ้จะโอยโอฐร่ำรกาครวญ ถึงเกยเคยประทับพระยานุมาศ แล้วลิลาศตามท้องวิถีฉนวน เทพบุตรนำน่าสง่าควร กระบวนแห่แลล้วนประนมเรียง บ้างก็เชิญเครื่องสูงมยุรฉัตร เปนขนัดแตรสังข์ประดังเสียง วรเทพมลายูเปนคู่เคียง เหมือนอิเหนาเข้าเวียงนาดกรมา ล้วนกุมกฤชกรายเยื้องชำเลืองคม ดูสวยสมเมื่อมงุมมงาหรา ฤๅปัณหยี่ที่มาปลอมจอมชวา งามสง่าปางก่อนบห่อนมี ฝูงอนงค์ถือทิพย์ประทุมเมศ ดังสุเรศแรมฟ้าจากราษี ที่เดินถัดเชิญพัดชนีวี เหมือนลักษมีแบ่งภาคจากนารายน์ นางถือพระแซ่แลเลื่อนลอยพโยม งามโฉมดังจะล่องลลิ่วหาย นางเชิญพระแสงแต่งกรีดกระบวนกราย เสมอหมายเหมือนอุเมศคัลไลลง ที่เชิญเครื่องค่อยเยื้องมาเจียนจริต เมื่อพินิจดังนางสุรางค์หงษ์ อันแห่น่ากุมารีมีพงษ์ ล้วนทรงเครื่องประดับสำหรับกาย ถือดอกไม้ทิพย์มณฑาสวรรค์ ดังเทวันว่ายเมฆลงมาถวาย กรประนมสมภักตรประพริ้มพราย ฝรั่งรายเดินคู่ก็ดูงาม อันเกณฑ์แห่แลสล้างดังนางเขียน ก็หันเวียนวงรอบคำรพสาม กระบวนน่าพฤฒาราชกระวีพราหมณ์ เคียงตามโปรยเจียรวิเชียรวรรณ์ อันฝ่ายหลังล้วนฝูงสนมแน่น ประหนึ่งแสนกัญญามาแต่สวรรค์ ดังอับศรจรจากพิมานจันทร์ พระกำนัลนางสระลออองค์ บรรดาหมู่มนตรีที่มีหน้า ก็ต้องมาตามเสด็จโดยประสงค์ พระโอรสรับเครื่องกุภัณฑ์ทรง ดังอินทร์องค์ทรงเอราวรรณจร เสด็จพระราชดำเนินดูสง่า ดังนราหน่อนารายน์เมื่อกรายศร อันเขาแก้วดังแก้วคิรินทร เทียมนครไกรลาศสุลีลือ สงสารแก้วกำพร้าที่อยู่หลัง โอ้จะได้เหมือนยังพระชนม์ฤๅ เคยตั้งการมงคลจนรบือ ข้างน่าคือใครจะช่วยอำนวยนาม ชรอยสิ้นวาศนาโอ้อาภัพ จะแลลับหวั่นเวทนาหวาม ได้พึ่งพระบิตุลาพยายาม จึงงามยศงดยังประทังทน เสด็จออกท้องพระโรงวินิจฉัย ไขเทวบัณฑูรอนุสนธิ์ แต่บรรดาเหล่าข้าฝ่ายุคล ไม่ยลภักตรจะนิราศแรมคลา จึงดำรัสสั่งเสวกามาตย์ เคยรองบาทเปนศุขเถิดทุกหน้า เราจะล่วงชิวงคตคัลไลลา จงชีพใต้ฝ่าธุลีลออง อย่าคิดคดทรยศไม่จงรัก จงตั้งภักดีต่อยุคลสนอง อาษาอย่าได้คิดชีวิตรปอง ฉลองพระเดชกว่าจะสิ้นชิวินปลง เสนางค์ต่างแสนกำศรดเศร้า แล้วรับสั่งใส่เกล้าตลึงหลง สุชลอาบกราบเบื้องบรมวงษ์ โอ้พระทรงคุณโลกย์ได้ความเสบย จะนิราศแรมร้างนิราสฐาน จะแดดาลโดยวิตกนะอกเอ๋ย เมื่อเฝ้าบาทไม่ขาดเวลาเคย จะแลเลยทุกนิรันต์นับวันตรอม พระบิตุลาปรีชาเฉลียวแหลม ขยายแย้มสั่งให้ห้อยมณฑาหอม พระโองการร่ำว่านิจจาจอม ถนอมขวัญตรัสโอ้พระอนุชา ว่าพ่อผู้กู้ภพทั้งเมืองพึ่ง จงข้ามถึงพ้นโอฆสงสาร์ ดำรงจิตรคิดทางพระอนัตตา อนาคตนำสัตว์เสวยรมย์ ครั้นทรงสดับโอ้วาทประสาทสอน ค่อยเผยผ่องเคลื่อนคล้องอารมณ์สม แต่หนักหน่วงห่วงหลังยังเกรงกรม ประนมหัดถ์ร่ำว่าฝ่าลออง บุญน้อยมิได้รองยุคลคืน ยิ่งทรงสอื้นโศกสั่งกันทั้งสอง จึงทูลฝากพระนิเวศน์ที่เคยครอง ประสิทธิ์ปองมอบไว้ใต้ธุลี ฝากหน่อขัติยานุชาด้วย จงเชิญช่วยโอบอ้อมถนอมศรี แต่พื้นพงษ์จงพึ่งพระบารมี จงปรานีนัดดาอย่าราคิน เหมือนเห็นแก่นุชหมายถวายมอบ จงนึกตอบแต่บุญการุญถวิล ก็จะงามฝ่ายุคลไม่มลทิน ก็เชิญผินนึกน้องเมื่อยามยัง อนึ่งหน่อวรนาฎผู้สืบสนอง โปรดให้ครองพระนิเวศน์เหมือนปางหลัง อย่าบำราศให้นิราแรมรัง ก็รับสั่งอวยเออพระโองการ จึงตรัสปลอบพระบัณฑูรอาดูรด้วย ว่าจะช่วยเอาธุระแสนสงสาร เปนห่วงไปไยพ่อให้ทรมาน จะอุ้มหลานจูงลูกไม่ลืมคำ อันเยาวยอดสืบสายโลหิตพ่อ ที่ตั้งต่อสุจริตอุปถัมภ์ ครั้นทรงสดับแน่นึกสำเนาคำ ก็คลายร่ำทุกข์ถ้อยบรรเทาทน จึงออกโอษฐ์เรียกโอ้ปิโยรส ทรงกำศรดซ้ำสั่งอนุสนธิ์ อยู่หลังนะจงเจียมเสงี่ยมตน ฝากชนม์พระบิตุลาอย่าอาวรณ์ อย่าประมาทเกรงราชไภยผิด รวังจิตรนะจงจำคำสอน สุจริตคิดพระคุณดังบิดร พ่อจะจรจากแล้วประโลมลา อันสมเด็จหน่อนารถพระราชบุตร จะเปนมงกุฎสืบสายไปภายน่า อย่าบังอาจล่วงพระราชอาญา พ่อจะนิราร้างเจ้าไม่เนาว์นาน จึงให้หาพระบัญชาวังหลังสั่ง พ่ออยู่หลังเลี้ยงน้องประคองหลาน พระนัดดาน้อมศิราลงกราบกราน ก็จากสฐานเมื้อมิ่งพิมานแมน ครั้นเสร็จสั่งพอได้พิไชยฤกษ บ่ายเบิกบุศบกอมรแสน มาตุลีชักรถออกจากแดน เทวแน่นเภรีลั่นกลองประโคม ลูกยินแว่ววาบกรรณประหวั่นเสียง สำเนียงเพียงพิณพาทย์อมรโฉม แต่ยลเวชยันต์นั้นลอยโพยม คครึกโครมแตรสังข์ทั้งวิมาน พระบิตุรงทรงบุษบกเคลื่อน ลลิ่วเลื่อนออกช่องบัญชรสฐาน ต่างสยองศิโรราบลงกราบกราน ชมโพธิสมภารเอนกนันต์ ปางพระเนาวโลกย์โมฬีล่วง ก็ตกพวงมณฑามาแต่สวรรค์ คราวนี้ก็จะมีพระเกียรติครัน ด้วยอัศจรรย์เห็นแจ้งประจักษ์ความ ผู้ใดสดับอย่าหมิ่นประมาทแหนง ถ้าใครแคลงจงสืบสำเนาถาม ใช่จะยกพระยศยอแต่พองาม เราแต่งตามจริงใจในนิพนธ์ มาทถ้าใครฟังอ่านนิพานนี้ ไม่น้อมศิโรราบกราบสามหน ให้วิบัติอุบาทว์อย่าขาดสกนธ์ แต่ยลเร่งประนมนมัศการ จะเหมือนพรธาดาประกาสิทธิ์ญ ด้วยบพิตรเลิศภพจบสฐาน จะนำสัตว์ลัดล่วงตัดบ่วงมาร โพธิญาณแท้เที่ยงพระชินวร จึงจาฤกนึกดังสุพรรณบัตร ออกพระนามจักรพรรดิ์ในอักษร อย่าเมินหมิ่นว่ารบินเปนราวกลอน จงอ่อนเศียรบังคมให้สมควร อันหน่อสุริย์วงษ์ดำรงโลกย์ สุดวิโยคมิได้วายกระหายหวน ทั้งบุตรีโอรสกำสรดครวญ ฤๅโดยด่วนเด็ดพระอาไลยไป พระคุณเอ๋ยผันภักตรมาสักน้อย ลูกลห้อยชลเนตรนี่เหลือไหล ไหลหยัด ๆ ย้อยแต่ชลใน ในใจนึกที่ไหนจะเสร็จคืน คืนมาวัง ๆ เหงาให้เปล่าจิตร จิตรยิ่งเศร้า ๆ คิดโศกสอื้น สอื้นโอ้ ๆ จะพร่ำรกำกลืน กลืนทุกข์ ๆ ไม่ชื่นมโนตรอม ตรอมในอก ๆ เอ๋ยลูกเคยเหน เหนหาย ๆ เว้นแต่ทูลกระหม่อม กระหม่อมโลกย์ ๆ ร้อนนิวรณ์จอม จอมนิกร ๆ น้อมทั้งหมื่นกรุง กรุงเทพ ๆ พระนครสฐาน สฐานเพียง ๆ พิมานดุสิตมุ่ง มุ่งเหมือนเมือง ๆ แมนแดนผดุง ผดุงเดช ๆ บำรุงโลกาควร ควรเปน่ปิ่น ๆ ปักหลักเฉลิม เฉลิมยศ ๆ เพิ่มกุศลสงวน สงวนงาม ๆ พระเกียรติรบือทวน ทวนภพ ๆ ครวญอยู่เครงคราง ครางครุ่น ๆ ยังหวนรำจวนหา หาองค์ ๆ อิศราขนาง ขนางนึก ๆ เสียดายไม่วายวาง วางโศก ๆ ไม่สร่างอดูรตรม ตรมตรอม ๆ จิตรพระบิตุราช ราษฎร์ร่ำ ๆ อนาถราคินขม ขมก็กลืน ๆ เฝื่อนฝาดรทม รทมแทบ ๆ รบมอุระราญ ราญร้าง ๆ พระจอมกระหม่อมโลกย์ โลกย์ร่ำ ๆ วิโยคทั้งทวยหาญ หาญเหิม ๆ บรรดาข้าราชการ การศึก ๆ สท้านทั้งโลกา ดังนเรศร์อวตารมาผ่านภพ ทหารรบพระนารายน์ฝ่ายสวา เหมือนสิบแปดมงกุฎของรามา ฤๅราเมศรพวกพานรินทร์ราม นารายน์แรมจึงแจ่มขจรเดช กระจ่างดังสุริเยศไพรินทร์ขาม ไพรีเข็ดสั่นเศียรเวียนประนาม หวังประนอมนึกคร้ามพระเกียรติครัน ด้วยมีพระเดชานุภาพ ทั้งสามภพรื่นราบสโมสันต์ เสมอองค์กับพระทรงอาศน์สุบรรณ เสร็จมาปราบอาธรรม์ประไลยลอย โอ้ครั้งนี้มานิราศพระบาทแล้ว ดังหลักแก้วหักล้มรทมถอย ไม่ยลใครชาญสนามจะตามรอย ไหนน้อยยศยามตกอกรกำ แล้วขืนคิดถึงพระบิตุลาเล่า สร่างเศร้าอยู่ด้วยได้ที่อุประถัมภ์ เพราะลั่นรับสัจจาสัญญาคำ เห็นจะลำฦกได้ไม่แปรปรวน ลูกยลล้นกระหม่อมสวรรคต ฝ่าลอองกำศรดแสนกำศรวญ ยังรักน้องคงประคองนัดคาครวญ ถ้าหุนหวนเห็นจะทำเพราะกรรมเคย แต่ทรงเสน่หาพระนุชมาก เมื่อคราวฝากนั้นก็เศร้าโศกเสวย นึกพระน้องหมองฤไทยไม่เสบย เสด็จเลยมาพอยลพระชนม์วาย ทรงสถิตย์เหนือจอมศิโรเพศ เห็นสังเวชหวามวาบพระไทยหาย กรายพระกรกรีดน้ำพระเนตรกระจาย กระหม่อมหมายเหมือนชีวิตรประไลยไป พระสนมตรมทรวงไม่สร่างเทวศ พระบารเมศร์เลิศหล้าจะหาไหน เคยเย็นเกษคุ้มเพทรงับไภย เห็นเขาไห้ก็ลห้อยพระไทยตรอม ดำรัสร่ำเรียกโอ้พ่อมิ่งเมือง ถึงยามเคืองพี่ก็ข้ามตามถนอม สู้เอาใจไม่ถือทั้งอดออม เพราะหมายกล่อมขวัญน้องประคองเคียง ถึงคราวณรงค์เคยรบประจันหน้า หมู่ปัจจาถอยท้อไม่ต่อเถียง ความสุขให้พี่แสนสำราญเวียง อุระเพียงเพียบทุกข์สักพันกอง โองการร่ำว่าโอ้โมฬีเฉลิม เชษฐเติมตวงชลวิมลหมอง เคยดับเข็ญเย็นราษฎร์อำนาจครอง ประชาปองพึ่งพ่อทั้งอยุทธยา มาซัดพี่หน่ายหนีประยุรญาติ พ่อนิราศแต่เออนาถา ดังนเรศร์เรืองฤทธิ์อิศรา พระบิตุลาทรงโศกกำศรดโทรม ฝูงอนงค์ร่ำร้องแล้วนองเนตร ว่าโอ้พระเดชปกจอมกระหม่อมโฉม ดังทินกรจรเยี่ยมเหลี่ยมโพยม ทุกกรุงโน้มน้อมพึ่งพระเดชา ทั้งหมื่นเมืองเลื่องพระยศรย่อขาม ออกพระนามดังนารายน์อยู่ฝ่ายน่า เศียรสยองต้องอ่อนศิโรมา จนชั้นข้าทูลบาทก็เกรงครัน พระคุณเอ๋ยดังองค์พระสุริเยศ เสร็จประเวศเลื่อนล่วงเสวยสวรรค์ ไม่เยี่ยมยอดเขาแก้วสัตภัณฑ์ เหมือนบุหลันลอยฟ้าเมื่อราตรี อันดาวอื่นถึงจะเอี่ยมไม่เทียมแข กระจ่างแลก็แต่จันทร์จำรัสศรี ดังหิ่งห้อยน้อยกว่าพระบารมี ถึงจะชี้แข่งเรียงไม่เคียงดวง ไหนจะเทียมเท่ารัศมีเหมือน สว่างเดือนสีมาดับลับล่วง ดังอกเราก่นแต่เฝ้ารหน่ำทรวง จะตั้งตวงเติมเทวศไม่วายวัน โอ้สุเมรุหลักหล้าโลกาสฐาน มานิพานสู่ฟ้าเสวยสวรรค์ เหมือนคราวพบครั้งไภยประไลยกัลป์ ถึงวิสัญญียุคประจวบเปน เพราะพระมิ่งโมฬีนิราศา หากลอองพระบิตุลาคุ้มเข็ญ คลายร้อนด้วยเอ็นดูให้อยู่เย็น ก็เขม้นหมายพึ่งพระบารมี แต่กำศรดรทดวิมลหมอง จนย่ำฆ้องจวนอรุณรังษี เชิญพระแสงปราบประจามาชุลี แสนทวีโศกถวายยุคลครอง แล้วพิลาปต่างว่านิจจาเอ๋ย พระคุณเคยปกจอมกระหม่อมหมอง พี่นางเกษ ราชสนานอง กลืนแต่กองทุกข์ทบสลบลง เหล่าขนิษฐ์คิดหวั่นอุระร้อน ประคองช้อนเชิญสุคนธ์มาโสรดสรง ยิ่งอาดูรฤๅจะสูญไปตามองค์ พอดำรงฟื้นสมประดีมี ลืมพระเนตรมิได้ยลล้นกระหม่อม สอื้นพร้อมกันพิไรอยู่ในที่ จึงพระจอมบดินทร์ปิ่นธรณี มงกุฎตรีโลกย์เลื่องสุธาดล นึกธรรมสังเวชสมเพทเห็น จะดับเข็ญให้เปนศุขสถาผล ว่าจะเลี้ยงเหมือนปิดรอย่าร้อนรน ดังคืนชนม์ได้ชื่นด้วยโองการ ดังสุริยงรังษีรวิไข เชิญให้บรมเบื้องสรงสนาน ก็ชุบรอยฝ่าพระบาทไว้กราบกราน โศกประสานแส้เสียงสำเนียงรงม จึงเชิญพระศพสถิตย์พระโกษแก้ว ประดับแล้วแห่มาสง่าสม ประทับที่ยิ่งทวีเทวศตรม บอบรบมแต่ด้วยทุกข์ไม่ศุขมี พระโองการสั่งประกาศให้โกนเกษ ทั่วทั้งยุทธเยศบูรีศรี อิกร้อยเอ็จนัคราประชาชี แจ้งคดีกฎหมายมีตราวาง พระคุณเอ๋ยเอกาอนาโถ นิจจาโอ้องค์เดียวอางขนาง เมื่อยามศุขพร้อมพงษ์อนงค์นาง ถิงคราวร้างไร้สวาสดิ์อนาถองค์ ลูกใครตามไปสนองรองธุลี ห่วงมีอยู่เหมือนไม่อาไลยหลง จะทอดทิ้งเล่าก็มิ่งมาตุรง แล้วไร้พงษ์จึงสถิตย์เปนเพื่อนยัง โอ้พระจอมอิศเรศเกษกระหม่อม บุตรีตรอมแสนเทวศถวิลหวัง เพราะมงกุฎประชานิราวัง ร้อนทั้งอยุทธร่ำทุกเวลา ครั้นทรงพระโสภะบุพโพไหล ปลาดใสสีแดงรแวงว่า ลอตลอดแต่พระยอดสัพพัญญา เสด็จมาเมืองแก้วพระนิฤพาน๑๐ พระบุพโพเพียงหรคุณชาต ดังพระบาทปิ่นโลกย์โศกประสาน จะสำเร็จปรมาภิเศกฌาณ อันว่าการมีมาเหมือนบาฬี ฤๅไนย์สืบทรงสร้างพระบารเมศ ไม่เพี้ยนเพศผิดพุทธชินศรี จะนำสัตว์ตัดกิเลศในโลกีย์ ให้ถึงที่วิโมกข์อมรเมือง ฝ่ายคนคอยประจำสำหรับเฝ้า ก็นำเอาพระบุพโพโมฬีเลื่อง เชิญศุคนธ์ปนปรุงอำรุงเรือง ให้กลิ่นเฟื่องรศทิพย์อาบลออง เชิญพระโกษเพชรัตน์จำรัสเนตร นำประเวศชูช้อนกรสนอง ขึ้นอาศน์พระยานมาศทอง คนประคองเคียงตามเสด็จมา อันเกณฑ์แห่แต่งเปนเทพบุตร กรก็ยุดเครื่องสูงสพรั่งหน้า ประโคมฆ้องกลองลั่นปี่ชวา ฝูงประชาโศกแส้สำเนียงพล เห็นเกณฑ์แห่แลตามความวิโยค ว่าโอ้โลกย์แล้วจะไม่จำเริญผล จะนองเนตรเทวศถ้าฝ่ายุคล ราษฎร์รนร้อนร่ำทุกเวลา


หัวข้อ: Re: จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 07 พฤษภาคม 2563 13:30:09
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/14850401961141_spd_2012090285139_b_1_320x200_.jpg)

อักษร (ฆ) เรื่องนิพานวังน่า (ต่อ)

ครั้นถึงวัดไชยชนะสงครามขันธ์ เคยปลุกเครื่องคงกระพันได้ศึกษา จึงหยุดประทับเชิญพระบุพโพมา ขึ้นมหาเชิงตกอนดังเชิงพราย โอ้พระหนึ่งจุลเจิมเฉลิมโลกย์ ข้าพระบาทหวาดวิโยคไม่เหือดหาย จึงจุดเพลิงเริงแรงแสงขจาย ไม่ขาดสายเนตรสอื้นแลคืนวัง พอประจักษ์พวกที่นั่งนามวิเชียร โคมเขียนเพชรพนักฝาผนัง กระหนาบยกเปนกระจกช่องกระจัง ตั้งพระแท่นแว่นฟ้าสง่างาม อันพระจอมจุลจักรสวรรคต ก็รทดทุกข์ซึ่งถวิลหวาม๑๑ จึงโถมถาสาครินทร์ทุเรศตาม ไม่ขามชีพไว้ชื่อให้ลือชาย ก็เลื่องโลกย์เปนตราดังจาฤก อันตายงามนามนึกไม่วายหาย ดังทหารทรงครุธบุตรพระพาย สู้ถวายชีวาตม์บาทบงสุ์ ญยังมีสารนามสังหารคชสีห์ ที่นั่งนี้คู่ศึกเสร็จประสงค์ ดังพระยาไอยเรศสุรินทร์องค์ โดยทรงอานุภาพได้ปราบดา อนิจจาเครื่องประดับสำหรับหาญ อันตรทานโดยเสด็จนิราศา เสด็จอยู่ถึงฤดูดวงผกา เคยพาวรพงษอนงค์นวล ไปรับพวงทิพมาศประทุมเมศ โอ้ถึงเทศกาลแล้วสิหายหวน มหาชาติไตรมาศประจวบจวน เคยประมวญดวงมาลย์ประทานธรรม ยังแต่พระที่นั่งทรงธรรมสถิตย์ ธรรมาศน์แม้นวิจิตรเลขาขำ พระชินวงษช่วยทรงบำบัติกรรม ขอเชิญนำเสด็จคืนสักหมื่นปี ติกมาศกาฬปักษจะชกโคม เคยชวนโฉมสุเรศในราษี สนมน้อมพร้อมพระราชบุตรี ดังศุลีพานางสุรางค์จร ล้วนอนงค์ทรงลักษณ์ลลานโฉม ลอยโพยมมาด้วยเทพอับศร จุดพระเทียนกระทงลอยชโลธร ถวายกรพระคงคาในสาชล ฤดูวสันต์อัสุชมาศา เปนน่ากระฐินทานการกุศล พลแห่โห่กระหึมเสียงคำรน กระสินธุ์วลเวียนลลอกกระฉอกโครม อันพระที่นั่งกิ่งแก้วนำเสด็จ บรรทุกเสร็จไตรเพทวิเศษโสม พยุพยับมืดเมฆมัวโพยม เสียงประโคมครื้นครั่นสนั่นวัง เสด็จตรงลงพระตำหนักแพ ประสานแตรพิณพาทย์ดีดสีสังข์ กระทุ้งส้าวกลองชนะสำเนียงดัง ทรงที่นั่งโคมเพ็ชร์เพียงนารายน์ ประชาราษฎร์ก็ขยาดพระเดชรอบ ประนมหมอบโอษฐ์อวยพระพรถวาย แต่นี้นับทิวาไม่ราวาย ไหนจะคลายเคลื่อนทุกข์ทวีเติม ถึงทวารวดีบุรีร้าง ที่ทรงสร้างพระอารามงามเฉลิม ที่วัดค้างโรยราปัจจาเจิม จะรื้อเพิ่มบารมินภิญโยปอง ประสงค์สร้อยสรรเพชญ์ให้เสร็จสม โดยนิยมโพธิญาณการฉลอง พวกข้าเฝ้าใต้ฝ่าธุลีลออง นำสนองในสำนวนมาลวนลาม ซึ่งข้อคำเหน็บแนมมันแหลมเหลือ หมายว่าเชื่อตั้งกระทู้ขู่ให้ขาม แม้นดีจริงก็จะตรงออกสงคราม นี่บิดนามหลบหน้าท้าแต่มนต์ หมายสู้พระบารมีโมฬีโลกย์ จะกระโชกผุดกลางหว่างพหล เมื่อทัพหลวงล่วงเดินดำเนินพล ประชาชนสามทิวาฉล้าแล จะหักยอดพระสุเมรุทำลายล้าง อวดอ้างห้าวหาญในสารกระแส ประชาชาวยุทธเยศสังเกตแปร สำคัญจิตรคิดว่าแน่ประหม่าใจ ขวัญหายพร้อมถวายบังคมทัด พระบิตุลาทราบอัตถ์ก็สงไสย เสน่ห์พระอนุชายังอาไลย ดำรัสให้หมู่มาตยากร ถือรับสั่งทูลห้ามตามนุกิจ จะทรงพิจารณาในอักษร ชำระเสี้ยนพสุธาให้ถาวร จึงค่อยเชิญบทจรไปจากวัง ปางบรมกรมราชบิตุเรศ ไว้พระเดชมิได้พรั่นประหวั่นหวัง ขัดโองการให้ทหารโห่ประดัง ทรงที่นั่งนามสวัสดิชิงไชย นำโอรสธิดาคณาสนม ไปสร้างสมบารมินแผ่นดินไหว อรินทร์ราบกราบเกรงพระเกียรติไกร ไม่เหมือนในอักขราที่ท้าทาย พลปืน ๆ พลประจำหัดถ์ ให้จัดทวน ๆ จัดประจำหมาย ที่ชักกฤช ๆ ชักจากฝักกราย สพายดาบ ๆ สพายเงื้อกรคอย ง่ากระบี่ ๆ ง่าจะถาโถม กระโจมง้าว ๆ กระโจมไม่ราถอย บางซัดหอก ๆ ซัดสกัดตัดเศียรลอย ตบองพลอย ๆ ตบองลงลองมือ แล้วโบกธง ๆ โบกเอาโชคศึก ล้วนฮึกเหิม ๆ ฮึกกระหึ่มหือ ที่โล่ห์ถือ ๆ โล่ห์โห่กระพือ คือที่ฤทธิ์ ๆ ที่คือทหารราม พระเดชสยองพองเศียรทั้งสามภพ มาเคารพไม่อาจประมาทหยาม เกรงพระยศปรากฎพระเกียรติงาม เปนอุปราชลือนามมงกุฎชาย เสี้ยนสงบหลบคลาดอำนาจขึง ไม่รันดึงกล้าสู้สัตรูหาย แต่ปางหลังครั้งมฤทผิดทวาย แทบจะหมายตนาวได้ไว้วงกร พระบารเมศเลิศหล้าไม่หาถึง ทั้งทรงรำพึงผลบำเพ็ญสอน คือพระราชกุศลมาดลจร สมสมรเทวมิ่งวิมานทอง เคยเสด็จออกตั้งพิไชยอุหธ ทีนี้สุดสิ้นแล้วไม่คืนสนอง จะมิเคืองถึงเบื้องยุคลลออง เห็นจะต้องเปนธุระดำริห์ราญ อันพระเจ้าเอกาทศรฐ ใช่พระยศจะไม่ยิ่งทุกสิ่งหาญ แต่ฝ่ายน่าต่างพระเนตรสังเกตการ เคยเบิกบานเสวยศุขจะขุกเคือง ยังพระราชสมภารสารเสวตร ตระกูลเอกผ่องศรีฉวีเหลือง รัศมีขำขาวดังดาวเรือง ทั้งเมืองกระเดื่องด้วยพระเดชา ควรเปนอาศนบรมจักร ประเสริฐศักดิ์ฉัตรทันต์สุดสรรหา ราษฎร์น้อมพร้อมชมพระโพธิญา ดังเอราวรรณเพชร์ปาณี สมสำอางเปนนางพระยาหญิง๑๒ สองพระองค์เฉลิมมิ่งโมฬีศรี ทุกกระษัตรย์จัดแพ้พระบารมี ปิ่นทวารวดีสถาวร พระนุภาพลือสท้านแต่ผ่านภพ ทุกกรุงกระทบเศียรราบกราบสลอน๑๓อินทปัถจักรพรรดิผ่านนคร พระอินทรลงมาสร้างบุรินทร์ราม พระประทุมสุริวงษดำรงภพ พระเกียรติจบดินฟ้าชนาขาม ประสาทขรรค์ศักดาสง่างาม เคยปราบปรามสามโลกย์เลื่องพระเดชครัน เกิดพระเกษมาลาหน่อนเรศร์ พระเมาฬีมีเพศมาแต่สวรรค์ พระเดชาปรากฎเสมอกัน จนถึงพระขันธกุมารหลานชาย จึงมอบมิ่งอดิเรกเศกฉัตร ให้กระษัตริย์สุริวงษ์ผู้สืบสาย สองพระองค์พงษ์อินทร์นรินทร์กลาย ก็ว่ายเมฆขึ้นสถิตย์พิมานแมน มิได้สวรรคตปรากฎกล่าว ประทุมท้าวคือบุตรอมรแสน อันบดินทร์ที่เปนปิ่นประชาแทน ในพื้นแผ่นธรณีไม่มีปาน นุภาพเพียงสุริโยวโรภาศ เหมือนบิตุราชสืบวงษมหาศาล ลอยโพยมล่องพยับเผ่นทยาน ขึ้นอินทรอัยการพระบิดา รู้ชำแรกปถพีด้วยมีฤทธิ์ ทั้งสิบทิศน้อมทิพย์บุบผา พอนาคินทร์ขึ้นเฝ้าองค์อมรา บังคมคลานผ่านน่าที่นั่งไป แสนพิโรธเคืองดุดุ๊ดูหมิ่น แทรกแผ่นดินเดชาสุธาไหว ถึงบุรียลวาสุกรีไกร พระขรรค์ไชยไล่ล้างวางชีวี โลหิตของพระยานาคราช กระเด็นสาดต้องพระกายสลายศรี กำลังแค้นมุ่งเขม้นก็เปนที เมื่อเหตุมีจะวิบัติอัศจรรย์๑๔ บังเกิดเปนพยาธิเพลิงถเกิงแสง พระโรคแรงขาดเฝ้ามงกุฎสวรรค์ มัฆวานแจ้งการด้วยทิพย์กรรณ์ สงสารขวัญไนยนานัดดาเธอ สั่งเทพย์นิมนต์มุนีนารถ เทวราชฝากทิพย์โอสถเสนอ ฝ่ายกระษัตริย์หมิ่นความตามอำเภอ มิได้เออเอื้อนคิดให้อิดรอา ละเลยไม่เสวยโอสถทิพย์ จนสักจิบวิงวอนไม่ผ่อนหา ถึงเจ็ดครั้งเวียนปลอบประกอบยา อิศราบิดเบือนแต่เชือนไป จึงถวายพรเพิ่มภิญโยยศ ให้ปรากฎพระเกียรติขจรไหว จะชุบโฉมให้ประโลมลานฤไทย เปนฉัตรไชยพำนักนิ์ทั้งจักรวาฬ ถึงจะไม่เสพย์ทิพย์โอสถ ก็ปรากฎผิวพรรณสัณฐาน จะหายประชวรราคินสิ้นสันดาน ดังอวตารงามล้ำอัมรา ปางสมมติเทวันอินทปัถ เวรุวิบัติเมื่อจะน้อยวาศนา เปนกองกรรมที่ได้ทำปาณา ในวิญญาเคลิ้มเขลาเหมือนเมามัว จะสิ้นบุญเสื่อมฤทธิ์วิทย์เวท บันดาลเหตุเห็นดีเปนที่ชั่ว อวิชาครอบงำประจำตัว พเอิญกลัวทิ้งอายอุบายลม จึงไขเทวโองการสารสนอง พระคุณของสิทธาอยู่เหนือผม มัศการขอเผดียงพระโคดม เชิญบรมอิศเรศวิเศษฌาน โยมนี้พรั่นหวั่นหวาดอนาถนึก จงโปรดชักชี้เช่นให้เห็นหาญ เมื่อยลเยี่ยงก็จะเพียรเหมือนเรียนปราณ พระยอดญาณจึงค่อยชุบกระหม่อมตาม พระทรงสิกขาบทประเสริฐศิลป์ ถือกัตเวทินไม่เข็ดขาม ตั้งสัตย์เปนบรรทัดไม่วู่วาม ประสาทสามสิทธิสำอยู่ลำพัง จงชุบกายเถิดถวายบพิตรเห็น เมื่อจะเปนการแล้วจึงกลับหลัง แจ้งเราจะนิวัตรเข้ามาวัง ครั้นเสร็จสั่งคืนที่กุฎีดง ส่วนสามสานุศิศย์ที่ศึกษา มิได้ทราบมารยานราหลง ดำรัสเตือนเดินตามกันสามองค์ เสด็จตรงเข้ากองพิธีกรรม์ ซ้ำซัดทิพย์โอสถถวาย ก็สลายสูญสิ้นเบญจขันธ์ ยังไม่กลับคืนคงเปนองค์ทัน ให้รีบพลันออกไปเททเลลอย ผลบุญเดชะตระบะกิจ พระนักสิทธิ์เสร็จมาน้าวผลาสอย เห็นปริ่ม ๆ ริมกระสินธุ์วารินลอย เหมือนจอกน้อยติดสวะมาปะกัน จึงวินิจพิศดูเปนครู่เพ่ง ปลาดเลงญาณทราบทุกสิ่งสรรพ์ ก็ชุบสามฤๅษีพิธีวัน พระนักธรรม์สาปสรรด้วยคำคม อันพระจอมโมฬีวงษ์ตรีเนตร เคยเรืองเดชแต่ตั้งสุธาปฐม ให้เสื่อมสิ้นศักดาวรารมย์ จงรทมไปชั่วกัลปา อย่าเหาะเหินเดินได้ดังใจหวัง แต่นี้ตั้งไปจนสืบพระวงษา นครวัดอันกระษัตริย์กัมพูชา หญิงชายให้นิรากำจัดวัง ไม่ควรเนาว์พระมณเฑียรอัมเรศ ด้วยผิดเพศเยี่ยงอย่างแต่ปางหลัง เพราะไม่มีขันตีกระตัญญัง อันสัจจังสิ้นหายลลายธรรม ถ้าผู้ใดขืนสถิตย์คงสฐาน จงบันดาลเกิดอันตรายร่ำ๑๕ แต่พระขรรค์ตกไหนจงให้นำ มาประจำคืนมอบสำหรับเมือง อันกรุงอินทปัถนิเวศน์นี้ ถึงใครจะมีเดชลือรบือเลื่อง ผิดวงษอย่าให้ผ่านบุรีเรือง เว้นแต่เนื่องหน่อขัติยามา สาสมที่พระองค์ไม่ทรงสัตย์ จะวิบัติเร็วรุดเพราะมุษษา จงหย่อนตระบะเดชะที่ลือชา ไปจนสิ้นสาสนาทั้งห้าพัน ให้ได้ความเคืองแค้นแสนเทวศ เมื่อไรองค์ประทุมเมศเจ้าของขรรค์ เกิดในสุริวงษ์ดำรงธรรม์ พระเกียรตินั่นจึงจะเรื่องเดชาชาย จะมีพระกฤษดาอานุภาพ ปัจจาราบคอยถือบังเหียนถวาย อาริยเจ้าจะตรัสกำจัดวาย จึงจะหายสิ้นสาปทีหยาบกัน ครั้งนี้ก็มารองบทเรศ บรรณาการน้อมเกษประหวั่นขวัญ เพราะพระบารมีทวีครัน บรรลือลั่นสามโลกย์อรินทร์เกรง โอ้พระจอมดิลกภพนิราศา ทุกทิวาจะระดมกันข่มเหง พระนิเวศน์เย็นเยือกอยู่วังเวง ราษฎร์เครงครวญคร่ำรกำใจ เจ็บอกดังหนึ่งยกไศลทับ มาทอดทุ่มทรวงคับไม่พูดได้ ไม่เลงเหนใครจะเปนที่พึ่งไป เหมือนหาไม่ไร้ญาติขาดรทม เสียมิได้ก็พอกันครหา เมตตานั้นไม่เห็นเท่าเส้นผม แต่หลักโลกย์ยั่งยืนอยู่ชื่นชม เพราะพระร่มเกล้าร่วมครรภาพันธุ์ ถึงเจตรมาศคิมหันต์ประหวั่นโหย สุชลโปรยเปรียบรินพิรุณสรรค์ เคยชำระเบื้องพระบาทอนาถครั้น ดังฉัตรกั้นเกษกลิ้งแต่กายกร ด้วยเคยเห็นสองพระองค์ดำรงราษฎร์ ใจจะขาดถึงพระมิ่งอดิศร ถ้าพระคุณอุ่นวังไม่แรมจร ฤดูร้อนน่านี้สิเทศกาล เคยฉลองกองก่อพระทรายพลาง ด้วยเห็นทางเวียนวงในสงสาร แล้วเสร็จปล่อยมัศยาในท่าธาร หวังจะเพิ่มโพธิญาณบำเพ็ญพูล โดยพระราชประสงค์ทรงดำริห์ พระปีติเลื่อมไสไม่เสื่อมสูญ ก็ไม่ชูชนมาให้อาดูร พระบัณฑูรทิ้งลูกรกำทวี ถึงเวลาฝูงคณาสนมแน่น กำศรดแสนโศกเชิญโมฬีศรี บ้างร่ำโอ้อนิจจาฝ่าธุลี นิราศหนีข้าบาทยุคลจร เสวยเคยถวายสุพรรณภาพ ศิโรราบในมโนสโมสร ดังผะภายรายรอบศศิธร แต่ป่างก่อนไม่นิราศสวาสดิ์วาง พระคุณเอ๋ยเคยทรงพระปราโมทย์ กระเษมโสตรปราไศรยมิให้หมาง โอ้เคยมีมาโนตทุกหน้านาง ถึงยามร้างแต่พระองค์เอกากาย เวลาเฝ้าเปล่าเนตรคนึงบาท เคยบำเรอบำราศฤไทยหาย ที่นั่งเย็น ๆ เหงาสงัดดาย ลูกยิ่งฟายอสุชลนานอง ผคุณมาศอาสาธมาศา ทรงสร้างโพธิญาไม่หาสอง เชิญชักพระชินราชบาทประคอง หอมลอองทิพมาศกระหลบวัง อันทางรัถยานิวาวาศน์ ปารกชาติโปรยปรายถวายหวัง ปิ่นนิเวศน์ไว้พระเดชดังเสร็จยัง เหมือนปางครั้งเนาว์เขตรพระเชตุพน พระเนาวโลกย์เสด็จโดยนภางค์เคลื่อน ลอยลเลื่อนโปรดสัตว์สำเร็จผล พระอรหรรต์ห้าร้อยคอยนิมนต์ ประสาจนก็มีใจศรัทธาทำ คราวนี้ดังสถิตย์ประดิษฐาน เพราะพระราชสมภารอุปถัมภ์ พระพุทธรูปเสด็จดำเนินนำ พระชินวงษประจำไม่ขาดวัน เหมือนพระอรรคสาวกบิณฑบาต เพดาลุดาษห้อยพวงโกสุมภ์สวรรค์ รย้าพู่ดูกลิ่นรคนจันทน์ สำคัญว่าไปชมพิมานทอง พระสฐานปานเมืองอมรเมศ โอ้สังเวชเศร้าศรีมณีหมอง นิราศร้างสุรางค์บำเรอประคอง ฝ่าลอองเอกานิราโรย สุราฤทธิ์สถิตย์บำรุงโลกย์ ยามวิโยคก็ไม่ดับรงับโหย ไยพระราชกุศลไม่ดลโดย กลับโกยทุกข์ทวีไม่มีเสบย ลูกทรงสิโนทกอุทิศถวาย กระหม่อมหมายให้พระคุณศุขเสวย บรรพชายะศิลาธิคุณเลย อกเอ๋ยมีแต่พร่ำรกำกิน ต่างนิมนต์ราชาคณเทศน์ ถวายองค์อิศเรศวิเศษสิ้น แล้วเคาะพระโกษกราบทูลสุชลริน เชิญพระปิ่นเกล้าโลกย์สดับธรรม พระโกษลั่นยินแสยงพอแจ้งเหตุ ถึงสองเชษฐ์๑๖ต้องคดีที่ข้อขำ เขาว่าโทษลึกลับให้จับจำ ก็ค้างคำเทศนาเข้ามาฟัง ต่างคนึงสุดคเนสนเทห์จิตร ไม่ทราบกิจโอ้ไฉนอย่างไรมั่ง ครั้นรู้แน่ว่ากระบถหมดทั้งวัง ชวนกันชังไม่มีภักดีปอง ควรเคืองเบื้องบรมจักรพรรดิ ไม่คิดว่าฉัตรแก้วกั้นเกษสนอง จะได้พึ่งเดชาฝ่าลออง ฉลองบาทบิตุเรศนิราไป พระบิดาบัญชากำชับสั่ง คำหลังลืมพระคุณไม่คิดได้ เพราะทนงนึกประมาทราชไภย ไม่อาไลยถึงถวายพระเพลิงปลง สาใจจนไม่ยลยุคลธเรศ สองเทวศแสนคนึงตลึงหลง ตั้งภักตรจำเพาะเบื้องพระบิตุรง บังคมตรงมาพระโกษวังบวร เสียเชิงที่เปนชาติชายกำแหง หาญเสียแรงรู้รบสยบสยอน เสียพระเกียรติมงกุฏโลกย์ลือขจร เสียแรงรอญอรินทร์ราบทุกบุรี เสียดายเดชเยาวเรศปิโยรส เสียยศบุตรพระยาไกรสรสีห์ เสียชีวิตรผิดแพ้พระบารมี เสียทีทางกตัญญุตาจริง เทพสอดส่องเวไนยสัตว์ ก็เห็นแพ้น้ำพิพัฒสนัดกลิ้ง จึงดลพระไทยไม่อ่อนให้วอนวิง จะมิชิงเชิญเชษฐราคลา ฤๅชรอยทูลกระหม่อมจะตรอมถึง นึกคนึงนำสองโอรสา ไปตามเสด็จเสวยศุขสวรรยา ประเสริฐกว่าน้องยังอยู่วังตรอม นี่หากศุขด้วยพระเดชปกเกษเลี้ยง บวรเวียงสรเสริญไม่สิ้นหอม ค่อยเหือดโหยโดยแต่อาดูรจอม ได้ชื่นด้วยล้นกระหม่อมบันเทาทน พระคุณเอ๋ยคราวหลังเมื่อครั้งเถิน พม่าเกินเกือบจวนจะขัดสน ชนากรร้อนร่ำเสียดายชนม์ ต้องเสด็จไปประจนจึงเมื้อมรณ์ ก็กรีธาพาหน่อดรุณเรศ ดังราเมศรปราบยุคด้วยแสงศร ไปทำศึกไกยเกษธิเบศร์จร พระมงกุฎต่อกรกับพานา พระโอรสเทียมหน่อนารายน์หมาย สังหารหายศึกเสร็จนิราศา ทั้งสิบทิศเกรงพระฤทธิ์ไม่รอรา ไยมิฝ่าฝากชีพในบาทบงสุ์ แม้นซื่อต่อสามองค์มงกุฎเกล้า ไหนจะเศร้าคงจะสืบตระกูลหงษ์ แต่ถาวิลมีวิทยายง ยังขามองค์อิศสยมบังคมเชิญ เสร็จออกช่วยรณรงค์จึงคงชีพ สี่ทวีปแส้ซ้องสรรเสริญ อันพระเจ้าเชียงใหม่แต่ก่อนเกิน หมิ่นประเมินมิได้น้อมประนมคม ครั้งพระลอก็ประหารชีวาวาตม์ นี่เกรงบาทเศียรพองสยองผม เปนข้าทูลลอองธุลีประนม จิตรนิยมยอมพึ่งพระเดชา บรรณาเนืองล้วนเครื่องสุวรรณมาศ มิได้ขาดต่างประเทศทุกภาษา แขกลาวชาวปกันกัมพูชา ก็เข้ามาพึ่งโพธิสมภาร มีพระพุทธสิหิงค์พระมิ่งโลกย์ เปนหลักภพในโอฆสงสาร แต่พระองค์ยังทรงกระเษมฌาน พระยอดญาณโมฬิศสถิตย์ยัง กระษัตริย์หมายหล่อพระโฉมโสมนัศ จะมัศการแทนองค์จำนงหวัง จึงสร้างพระปฏิมาจินดาดัง พเอิญบังเกิดอัศจรรย์เจียว คือพระพุทธสิหิงค์มิ่งมงกุฎ พระอุตคุตหล่อไม่ติดจิตรเสียว เหล่ากระษัตริย์หมื่นแสนแน่นกรูเกรียว แต่ขับเขี้ยวพากเพียรศรัทธาทำ ทุกพระองค์จะประสงค์ไม่สมมาท บุพเพนิวาศไม่เคยอุปถัมภ์ สุดฤทธิที่จะคิดมานะนำ จึงแจ้งคำมีพระพุทธทำนาย พระมหากรุณาธิคุณตรัส แย้มพระโอษฐ์โปรดดำรัสพิกัดหมาย เยื้อนพระพุทธฎีกาวาทีทาย จะมีบดินทร์ดั่งนารายน์สี่กร มายกพระสาสนาตถาคต ให้ปรากฎภิญโยสโมสร จะต่อหัดถ์พระสิหิงค์ได้แน่นอน จะเลื่องยศลือขจรเกียรติ์ขจาย คือ๑๗จอมหริวงษ์องค์บิตุเรศ เรืองพระเดชต่อได้ดังใจหมาย เทวทั่วพรหมโลกย์ก็โปรยปราย กราบถวายบุบผาสาธุการ กระษัตริย์อื่นหมื่นเมืองที่เรืองฤทธิ์ อย่าคิดว่าจะหักทนงหาญ น้อยทั้งวาศนาปรีชาชาญ แต่บันดานเดินดินไม่หมิ่นองค์ พระคุณเอ๋ยไยไม่ช่วยอวยสงวน ให้ประชวรละเลยเสวยสรง ก็ทรงสร้างศรัทธาธิกจง ไฉนปลงพระโรคมารุมรัง รกำกลืนโอ้สอื้นไม่สร่างโศก ยังวิโยคยินทุกข์ปะทะถึง ไม่เล็งเห็นหลักโลกย์โศกตลึง พอที่พึ่งแลลับก็กลับกลาย ด้วยพระมิ่งมงกุฎอยุทธเยศ ในสาเหตุคุมเข็ญเขม้นหมาย ความหลังไม่ประทังประเทืองกาย แทบจะวายชีพรเนนในเวรจำ เพราะพระปิ่นดำรงบวรสฐาน กระหึมหาญหุนเหี้ยมกระหยับย่ำ เหมือนจะวางกลางเมืองเมื่อเคืองคำ พิโรธร่ำดังจะรุกเข้าโรมรัน ครั้นทรงทราบว่าพระจอมบิตุลา ให้พลกัมพูชาลากปืนขัน ประจุป้อมล้อมราชวังจันทร์ จึงมีบัณฑูรสั่งให้สืบความ ตรัสใช้มาตุรงตรงรับสั่ง มิไปฟังราชกิจก็คิดขาม มาสืบเรื่องพระไม่ปลงจะสงคราม ก็ประนามทูลบาทไม่พาดพิง ว่าคำขอมน้อมพจมานสาร ไม่หาญเสน่หาพระนุชยิ่ง แต่พิธีตรุสยืนลากปืนจริง ยังนึกกริ่งกริ้วนั้นพอบันเทา ครั้นสวรรคตนิราศา จอมจุธาเจ็บพระไทยดังไฟเผา กระทู้หลวงตวงฟังดูลาดเลา ก็ไม่เบาทูลกิจให้ผิดคำ จึงหาคหบดีกรุงทิปัต กำลังขัดเคืองเชฐราร่ำ แท้ขยาดเกรงพระราชทัณฑ์ทำ ปดซ้ำเสียที่อ้างเปนอิงความ ให้การเกินเมินไม่รู้จักภักตร เจียนจะหักลงให้หั่นเมื่อวันถาม พระคาดโทษแทบไม่หวังยังแต่นาม มงกุฎสามโลกลงพระอาญา แต่คนใช้ให้พันทนาแน่น สุดแสนพระพิโรธพิไรว่า ครั้งบรมกรมพระราชบิดา เขาก็มาฝากตัวด้วยกลัวเรา ปางพระไอยกาดำรงราช สนองบาทมาตุราเปนข้าเฝ้า ชะคราวนี้ฟังเสียงเห็นเกลี้ยงเกลา ดั่งใช่เชาว์พระนิเวศน์กัมพูชา นี่เดชะผลสัตย์สุจริต ชีวิตรจึงไม่ร้างนิราศา นราพงษ์คือองค์สัพพัญญา จึงไว้ชีพสัตว์สาธุการเกรียว แล้วนรินทร์นึกแหนงรแวงผิด ปะกาสิตสั่งสารโองการเฉลียว ให้สืบถามวันทาสุดาเดียว ไฉนเจียวยุเย้าให้เราแคลง ฝ่ายจอมฉลองโอษฐ์พระบิตุเรศ สดับเหตุให้การไม่เคลือบแผง ว่าคงตายขอถวายสัจแสดง จึงแจ้งจริงสมคำไม่อำพราง พระคุณเอ๋ยถ้าเสด็จยังพร้อมสอง ถึงจะต้องกริ้วกราดเพราะบาดหมาง จะทรงผลัดกันเปนทิพย์นทีทาง พอสว่างโทมนัศให้สัตว์เย็น นี่ยังเดียวแต่ทูลกระหม่อมแก้ว ไม่โปรดแล้วก็ไม่มีที่จะเห็น แม้นล้างแม่แน่ลูกไม่ยอมเปน จะถึงเข็ญแล้วก็ตามเวรามี จึ่งยกพาหาวันทนาสนอง ขอเทเวศร์ทั้งสิบสองราษี อินทร์พรหมยมเรศร์พระสุลี นางเทพธรณีเปนเปนพยาน อิกบรมสมมุติเทวโลกย์ ขอบารเมศทราบโศกอธิฐาน จะเปนตราชูเที่ยงดังนาฬิกาล เชิญเทพย์บันดานดลพระไทย ครั้งนี้พระชนกปกเกษหาย ท่านมั่นหมายชนนีทีสงไสย กระหม่อมฉันก็เปนบุตรสุดอาไลย ไม่ห็นใจด้วยไม่แจ้งกระจัดตรง จึงสาบาลแห่งสัตย์พระชนนารถ แม้นประมาทมุ่งร้ายหมายประสงค์ ประทุษจิตรต่อจอมจุธาพงษ์ ขอให้ปลงชีพสิ้นชีวินวาย ดั่งเชษฐาทั้งสองทรงพิฆาฏ อาญาจักรอย่าให้คลาดตัวขยาย ไม่ปกงำนำถ้อยค่อยระคาย ขอให้หายเคืองข้อที่ราคี ถ้าคดคิดแต่ผิดมีมากนัก ขอเทพย์ชักดลจอมโมฬีศรี อย่าเลี้ยงแต่อย่าล้างเลยชีวี พระบารมีจงแจ้งดั่งส่องญาณ เห็นสุดซื่อต่อลอองธุลีแล้ว ให้ชุบเลี้ยงแก้วแม่กระหม่อมฉาน เทวศตั้งอุเบกขาอภิบาล พิศฐานทั่วเทพย์พโยมยิน พอขาดคำที่พิปรายถวายสัตย์ ถึงเบี้ยหวัดโปรดให้หายเคืองสิ้น จึงเหนจริงไม่กริ่งเสี้ยนแผ่นดิน ถือกัตเวทินตั้งดังทานกร แล้วพระบาทคืนประสาทที่คนใช้ ประทานให้พ้นพันทนาถอน ไม่มีใครกรุณาช่วยว่าวอน ผลสัตย์พเอินอ่อนพระไทยเออ เชิญพระอรหังมาตั้งมั่น ขันตีกตัญญังชั่งเสมอ ดูเจียรดังวิเชียรมนินเธอ สุดเสนอคำขยายสบายมี พระเนาวโลกย์ดับโศกสงสารสัตว์ จนกำจัดอันตรายให้หน่ายหนี ขออุทิศแผ่ทิพย์วารี ถวายปิ่นธรณีเสวยรมย์ อันพระจอมจุลจักรหลักทวีป ประทานชีพแล้วไม่มาทอาฆาฎถม ค่อยสว่างสร่างเศร้าบันเทาตรม ดังได้พรมอำมฤตย์ในเมืองอินทร์ ครั้นทุกข์เปลื้องค่อยประเทืองหวั่นวิโยค โมฬีโลกย์หมายเชิญพระศพถวิล ปิ่นกระหม่อมอยู่ยังจอมรกำกิน เสด็จแล้วซ้ำจะพินทนาครวญ ยิ่งยลมิตรคิดอาไลยใจจะขาด แสนสวาดิหวั่นหวามถึงทรามสงวน จึงกุมกรช้อนคู่ประคองชวน ถนอมนวลนุชขึ้นบนเพลาตรอม เจ้าซบภักตรลงกับตักนั่งสอื้น ทั้งเที่ยงคืนเปลี่ยนให้สไบหอม ไหนจะโศกถึงพระมิ่งมงกุฏจอม ไหนจะผอมเพื่อนยากจะจากวัง เปนสองทุกข์มาปะทะอุรพี่ ฤๅเวรีเราประมาทแต่ชาติหลัง เคยบำราศมยุเรศให้แรมรัง สุดาดังดวงชีวิตรจะปลิดไป พี่รับขวัญ ๆ น้องอย่าหมองโฉม ปลอบประโลมจนแจ้งประจุสมัย เรียมจะร้างโอ้นิราสุมาไลย จำจะไกลกล่อมนุชเสน่ห์นวล เจ้าพี่เพียงจะจากกำจัดเจ้า กำศรวญโศกสุดเศร้าแสนกำศรวญ ครวญครุ่น ๆ ไม่เว้นทิวาครวญ เคยสงวนเสงี่ยมงามไม่ตามเคย ถนอมน้องยิ่งหมองเมื่อยามถนอม รเหยหอมกลิ่นผ้าบุหงารเหย เลยจะลับสายใจไฉนเลย อนิจจาเอ๋ยโอ้มิตรอนิจจา ขวัญเนตรอย่าเทวศพี่มอบขวัญ หาไม่เห็นหวลประหวั่นไม่เห็นหา พงางามทรามสงวนนวลพงา ใจผวาหวั่นจิตรยังมิตรใจ โฉมวิไลยล้ำนางสำอางโฉม ไขแขเด่นพโยมเด่นแขไข ไกลรักเรียมยิ่งราญด้วยกาวไกล นวลโหยนำพี่ให้เมื่อสั่งนวล สายเนตรชลไนยไม่ขาดสาย หวลกระหายนึกนุชคนึงหวล จวนอรุณส่องฟ้าเวลาจวน กรรแสงหวลทนทุกข์ที่จากกัน เวชยันต์มาประทับกับเกยมาศ พิณพาทย์อลเวงเพลงสวรรค์ เชิญพระโกษประดับเพชร์เรือนสุวรรณ กระหนกช่อกระหนาบชั้นนารายน์ทรง ครุธขยับนาคยันสุบรรณบอบ กระจังรอบกระจ่างรายเรือนรหงษ์ อันรูปสัตว์อัดแสนคชาพงษ์ ที่ข้างองค์เคียงอินทร์ดำเนินจร เทเวศร์หัดถ์ถวายมณฑาสวรรค์ สลับคั่นสล้างคชไกรสร จตุภักตรชักพรหมประนมกร ก็ถือฉัตรช้อนวิเชียรชู อันเภรีตีก้องกำปนาถ โลกธาตุลั่นกระทบกระทั่งหู เทวราชดาเรียงมาน่าดู ประนมคู่น้อมเคียงยุคลนรินทร์ มาตุลีตีอัศวราช เผ่นผงาดผาดผงกผกผิน นกอินทรีย์ตีปีกสบัดบิน ก็มีสิ้นมาโศกประชุมกัน เทพนมเทวนองชลเนตร มยุเรศเหมือนจะราปีกผัน อันสิงห์อัดจัดออกมายืนยัน ประโคมลั่นประคองเลื่อนพระโกษมา ปิโยรสเยาวเรศผู้สืบสาย ทั้งสองโปรยโยงปรายทิพย์บุบผา ดังพระลบพระมงกุฎบุตรสีดา กริ่งนราเกรงนารายน์ลงมาดิน ทรงกุภัณฑ์สรรพ์เสร็จพริ้งพร้อม งามลม่อมหมางเศร้าแต่ราศิน ดูภักตรคล้ำผิวหมองเปนมลทิน เนตรรินนุชร่ำแล้วจำจร พระพุทธองค์ทรงวอลอออาศน์ แสนกำศรดทรงพระราชอักษร ข้าทูลบาทมาตยาประชากร ก็อาวรณ์มีแต่ทุกข์รทมโทม ฝ่ายสุรางค์รองบาทบรมเบื้อง ชลเนื่องเศร้าศรีฉวีโฉม ลห้อยหวลครวญตามพระศพโทรม พยัพเมฆมัวพโยมอรุ่มไป อันบุตรีที่เนาว์พลับพลาสถิตย์ ต่างชุลิตแล้วนองสุชลไหล เห็นเกณฑ์แห่แลสพรั่งมาแต่ไกล ยิ่งอาไลยเทวศหาฝ่าลออง เสร็จนิราอนิจจาอยู่ภายหลัง แต่ลูกยังเขาจะย่ำระหน่ำหมอง ที่เคยขามก็จะหยามลเลิงลอง เห็นหายใจจะไม่คล่องสักเวลา จะเหลียวหลังยังพระนามพระองค์สูญ โอ้อาดูรสุดจะดั้นพโยมหา ยังแต่กายหายเกษยิ่งเวทนา ดั่งนิราสูญชีพไม่คงชนม์ แสนวิตกอกเอ๋ยจะเลยลับ ไม่เสร็จกลับคืนแล้วลห้อยหน พอบุษบกประทับพระเมรุบน ก็หมายยลเยี่ยมภักตรประนมชม เขาเชิญชักพระโกษบรมนารถ ขึ้นเหนืออาศน์ชวลิตประสิทธิสม ชั้นหนึ่งเทพย์น้อมศิโรดม ถึงชั้นสองมีพรหมประนมกร อันชั้นสามแลงามจำเริญเนตร อมเรศร์เรียงเทพย์อับศร ที่ชั้นสี่มีเทพย์กินร วิชาทรคนธรรพสลับกัน ชั้นห้ารจนาองค์อิเหนา เมื่อโศกเศร้าแรมห้องคูหาสวรรค์ เหมือนลอองร้างสิบสองพระกำนัล ทั้งแปดหมื่นสี่พันเคยปกครอง ชั้นหกเปนกนกกระหนาบอินทร์ ทรงคิรินทร์เจ็ดเศียรผันผยอง ถึงชั้นเจ็ดเพชร์รับหิรัญรอง เห็นสีส่องแสงรุ้งอร่ามพราย ยลรูปสัตว์ที่ประดับเหมือนกลับหมอง ดั่งจะนองเนตรไห้ไม่ขาดสาย ไม่มีจิตรดอกยังคิดระกำกาย ฤๅอกเราจะมิฟายสุชลโกย มหรศพตระหลบตลอดรุ่ง พระเกียรติฟุ้งทุกประเทศเทวศโหย กัลปพฤกษ์ทิ้งสุวรรณหิรัญโปรย ฝูงประชาพากันโดยประชุมทาน ยามกระเษมมิได้แสนสำเริงศุข คราวสนุกนิ์ก็ไม่นำใจสมาน๑๘เสร็จยังจะมิตั้งประชันงาน ก็จะสำราญเล่นน่าพลับพลาทอง นี่กระไรที่สถิตย์สงัดเงียบ แต่เยือกเยียบเย็นลห้อยเหมือนพลอยหมอง ดั่งมีจิตรคนึงหาฝ่าลออง นี่ฤๅเราจะมินองสุชลตรม ถึงเพลาไปมหาสุเมรุมาศ บังคมบาทแล้วยิ่งทุกข์รทมถม พระสุริเยเอลับเหลี่ยมพนม พระสนมคืนแน่นเข้าสู่วัง ถึงยามดึกวิเวกฤไทยเหงา ให้ปลาบเปล่าทรวงนึกอาไลยหลัง ป่านฉนี้เสด็จเดี่ยวแต่องค์ยัง ก็จะมิตั้งภักตรตรอมคนึงเวียง จะเหลียวซ้ายแลหายพระไทยถอน จะอาวรณ์ยินแต่แว่วประโคมเสียง พระคุณเอ๋ยเคยสุรางค์บำเรอเรียง ประคองเคียงข้างที่ทวีตรอม อนิจจังครั้งนี้มาบำราศ เสร็จอนาถองค์เดียวเปลี่ยวถนอม ยิ่งยลวังสังเวชถวิลจอม ถึงทูนกระหม่อมมิ่งโลกย์ลูกโศกครัน แต่ร่ำร้องนองชลไม่เหือดแห้ง จนส่องแสงรุโนทัยไก่ขัน พอคำรพจะถวายพระเพลิงวัน พระจอมจันทรงสถิตย์เปนประธาน ประชุมพร้อมวงษาคณาสนม ต่างประนมหัดถ์ร่ำด้วยคำหวาน โอ้พระยอดอิศราปรีชาชาญ จะได้พานพบมั่งเมื่อไรมี จะดับแล้วหายเห็นเปนวันสูญ ยิ่งอาดูรด้วยพระมิ่งโมฬีศรี ลูกเคยพึ่งบาทาไม่ราคี ข้าชุลีรองบาทเพียงขาดใจ ดั่งวิเชียรฉัตรสุวรรณกั้นทวีป ทุเรศรีบไว้โลกย์โศกไฉน จอมบดินทร์สิ้นเสร็จเด็ดอาไลย ทิ้งไว้ทั้งนิเวศน์บวรวัง อันกระหม่อมน้อมชีพอยู่รองบาท เสนอนารถอกโอ้มโนหวัง ขอคุณพระดลพระไทยอย่าให้ชัง เชิญช่วยตั้งต่อบุญการุญปอง พระคุณเอ๋ยสุดจะมีที่พำนักนิ์ ยลแต่หลักโลกย์เดียวจะยังฉลอง รงับเข็ญเย็นเกล้ายุคลครอง เปนโพธิ์ทองร่มญาติให้อยู่เย็น แล้วน้อมเศียรกราบสมาฝ่าลออง หัดถประคองค่อนอกเคยปกเข็ญ โอ้พระอิศโรราชขาดกระเด็น ประชาเปนทุกข์ให้พิไรรน จึ่งประนมกรจุดเทียนถวาย ยิ่งใจหายแสนลห้อยรหวยหน พอเพลิงชุมโศกทุ่มทรวงสกนธ์ อนิจาจะไม่ยลยุคลคืน ครั้นเวลาจวนใกล้พระสนทเยศ น้อมเกษลาธุลีไม่มีชื่น กลับหลังยังนิเวศน์รกำกลืน สอื้นโอ้ตั้งแต่จะแลไกล พระยอดยงยุทธยาไม่หาเหมือน ดังดวงเดือนสิ้นศรีมณีไข เจ้ากรุงสัตนาคนหุตไกร จะประไลยล่วงชีพด้วยอาญา พระบิตุรงทรงสัตย์ดังฉัตรแก้ว พระไทยแผ้วผ่องโพธิญาหา ช่วยชีวิตรที่จะปลงคงชีวา ตั้งเมตตาปรากฎพระทศพล เจ้านันท์จึ่งได้เนิ่นนิราม้วย พระสมภารไยไม่ช่วยอำนวยผล ครั้นถึงองค์สิให้ปลงปลิดสกนธ์ ราษฎร์รนร้อนร่ำทุกค่ำครวญ แรมศุขไปเสวยสมบัติสวรรค์ ลูกนี้รันทดทุ่มอุรหวล ต่างสลดหมดศรีไม่มีนวล แสนรำจวนถึงพระมิ่งมงกุฎวัง เคยดับทุกข์บันเทาทุเลาโลกย์ ลูกแสนโศกใจหายเสียดายหลัง แต่เสร็จนิราข้าทูลลอองยัง ยิ่งจะตั้งภักตรตรอมถึงจอมพงษ์ โอ้พระปิ่นอิศเรศเกษกระหม่อม พระเดชจอมเทียมท้าวคัลไลยหงษ์ จักหาไหนได้เหมือนเสมอองค์ ทุกพระวงษ์ร่ำหาฝ่าลออง ไม่คืนแล้วยังแต่จอมกระหม่อมโลกย์ ดับวิโยกราษฎร์คลายให้หายหมอง ต่างเทวศเนตรอาบสุชลนอง จนแสงทองส่องเยี่ยมยุคุนธร พร้อมพระวงษ์ขัติยาธิดาสนม เสียงรงมไห้ร่ำรกำถอน ประคองเชิญสุคนธ์ริ่นกลิ่นขจร ก็สรงช้อนอัฐิใส่พระโกษทอง อันสมเด็จบิตุลาฝ่าพระบาท อยู่เหนืออาศน์บัลลังก์แก้วเกิดสนอง พระทรงโศกวิโยคถึงฝ่าลออง ยลหมองอัฐิคล้ำจำรคาย ก็สุดคิดที่จะใคร่เข้าไปถึง ลูกตลึงแลแล้วก็ขวัญหาย ออกระนี้ฤๅมิมีอันตราย เปนสุดหมายที่จะมุ่งประมาณการ แล้วเชิญภูษาทิพย์โกสัยพัตร ประจงจัดพานช่อวิเชียรประสาน ศิโรราบกราบเชิญพระอังคาร แห่ขนานนำเสด็จถึงนาวิน มาตยาหมอบน่าที่นั่งทรง ไม่ยลองค์อาไลยมิใคร่สิ้น เห็นแต่เครื่องยศหยาดสุชลริน โอ้พระปิ่นเกล้าโลกย์นิราคลา ข้าทูลบาทหมอบกลาดสพรั่งพร้อม แต่พระจอมมงกุฎนิสุดหา ไม่เห็นหากรฟายสุชลนา ทิ้งข้าฝ่าธุลีไม่อาไลย อันเกณฑ์แห่นำเสด็จฝ่าลออง มีแต่หมองทุกแทบน้ำตาไหล พลพาย ๆ พานาวาไป มาจนใกล้ปากชลวาริน จึงเชิญเสด็จลงสู่กระสินธุ์หลวง ข้าพระบาทหวาดทรวงแสนถวิล แล้วทูลลาล้นกระหม่อมจอมแผ่นดิน จึงกลับผินนาเวศนิราไป พระโองการสั่งให้นำอังคารเสร็จ แห่เสด็จลงท่ากระสินธุ์ไหล แล้วโปรดให้เชิญพระโกษแก้วคัลไล สถิตย์ในกรมพระราชวังคืน เชิญจอมอัคราขึ้นยานุมาศ ได้รองบาทสร่างเศร้าบันเทาชื่น ที่ลูกหมองนั้นค่อยคล่องรกำกลืน ประโคมครืนเชิญเสด็จเข้าสู่เวียง เนาว์พิมานรัถยาสง่าเนตร พระนิเวศน์เย็นเยือกสงัดเสียง เวลาเฝ้าน้อมเกล้าศิโรเรียง ยินสำเนียงแต่วิหคประจำวัง พระบัณฑูรมิได้เอื้อนโอษฐเฉลย ประหนึ่งเคยตรัสอย่างแต่ปางหลัง ชุลีกรอ่อนโสตรสดับฟัง ประนตนั่งคอยสนองบัญชามา ก็ไม่เอื้อนพระสุนทรผ่อนกระแส ลูกแล ๆ ลับเนตรนิราศา จึงกราบถวายเทียนทิพย์สุมณฑา โอ้พระยอดขัติยาฝ่าลออง แล้วผลัดกันเฝ้าบาทไม่ขาดภักตร ไม่นานนักพอยินรบินสนอง สงไสยในสุรางค์บำเรอประคอง พระไทยหมองทุกยุภาเปนราคิน จะใคร่ทราบซึ่งคนในกลเม็ด พระอิศเรศให้หาลงมาสิ้น ต่างเทวศเนตรนองสุชลริน สุดถวิลหวั่นทรวงไม่สร่างเสบย ให้สาบาลต่อพระพุทธชิโนเนตร บ้างน้อมเกษแล้วก็ร่ำคำเฉลย ขอบารมินปิ่นโลกย์ที่ล่วงเลย พระคุณเคยปกเกล้าบันเทาทน เดชะสัตย์ซื่อต่อฝ่าพระบาท ให้นิราศอันตรายจำเริญผล ที่ไม่มีราคินมลทินรคน จอมสกลโลมเลี้ยงสำราญวัง ไหนราคีฝ่าธุลีลอองหมาง คิดระคางมิได้เอื้อนสวาดิหวัง จัดให้ออกนอกเขตรทุเรศยัง สั่งให้โปรดประทานประยูรพงษ์


หัวข้อ: Re: จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 07 พฤษภาคม 2563 13:34:10
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/14850401961141_spd_2012090285139_b_1_320x200_.jpg)

อักษร (ฆ) เรื่องนิพานวังน่า (จบ)

อันพระจอมโมฬิศบิตุลา งามสง่าไม่ลเลิงในเชิงหลง ทรงธรรม์ทศเที่ยงไม่เอียงตรง ดำรงราชขาดพะวงโลกีย์รอญ แต่ซึ่งทรงพระวิตกตรอมถวิล เพราะนรินทร์แรมพงษ์อดิศร พระอัฐิคล้ำสีฉวีวร จึงเคียดค้อนสนมบรมวงษ์ ครั้นสำราญผาศุกทุกข์ประเทือง แขกเมืองเข้ามาน้อมจอมประสงค์ จะเฝ้าบาทอิศราชวราพงษ์ จึงเอื้อนโองการสั่งให้พาจร พระโอรสเคารพรับสั่งโปรด ก็ปราโมทย์มาจัดปัจฐร ชิวงคตพระยศยังทุกนคร ดัษกรอ่อนเศียรศิโรพิน พระบารเมศเลิศหล้าเฉลิมภพ เลงจบทุกทวีปไม่เทียมถวิล อันพระราชนิเวศน์ดังวังอินทร์ พิมานเมืองอมรินทร์ชลอมา ถวายไว้ในเสวตรเอกตระฉัตร ยี่ภู่ดัดด้วยสุวรรณบุบผา รย้าเพ็ชรห้อยพวงสุมณฑา ดูสง่าเมื่อจะออกประชาชน เชิญพระบรมโกษคัลไลยเคลื่อน ลอยละเลื่อนเหนือแท่นที่โสรดสรง แล้วลั่นดุริยางค์ประโคมระงม กรมฝ่ายน่าสนองประนมทูล ว่าพระเจ้าแวดนามนมัศการ ไทยทานถวายบดินทร์สูรย์ ขอพระเดชดับเข็ญเย็นประยูร ให้เพิ่มพูลยศยิ่งภิญโยยง พระจอมภพมิได้ผินยินประพาศ ทูตอนาถน้อมเกล้าตลึงหลง สดัปกรณ์แล้วถอนใจพะวง ว่าโอ้พระทรงคุณโลกย์แต่ปางเคย มาเฝ้าบาทอิศราบัญชาทัก อาไลยนักฤๅพระยอดอยู่หัวเอ้ย เขาร่ำร้องนองเนตรไม่มีเสบย จนสุริยงลงเลยศิขรินทร์ ประนตน้อมเศียรศิโรเพศ ลาประเวศคืนที่สถิตย์ถวิล ให้เชิญพระโกษแก้วจอมบดินทร์ เข้าสู่ถิ่นพระนิเวศน์ที่เคยเนาว์ แล้วผลัดเวรแต่งเครื่องนมัศการ ค่อยสำราญตามเคยแต่ก่อนเฝ้า ไม่ยลยินแต่พระเดชร่มเกษเรา วังก็เหงาเงียบง่วงอยู่โรยริน พิมานทองดังห้องพระหิมเวศ จะสังเกตเย็นเยือกสงัดสิ้น ดุเหว่าร้อง ๆ โหยแล้วโบยบิน สกุณินขานขันสนั่นเวียง เมื่อโมฬิศยังสถิตย์สำเริงรื่น วังก็ครื้นพิณพาทย์ประสารเสียง เคยประนอมพร้อมภักตรบำเรอเรียง อนงค์เคียงคอยเฝ้าประนมคม ครั้งนี้ฟังแต่ฝูงวิหกร้อง วิเวกก้องต่างสำเนียงนางสนม ลูกไปเฝ้าเช้าเย็นยิ่งอกกรม เมื่อไรร่มเกษกระหม่อมจะเสร็จคืน อนิจจังยังแต่พระราชฐาน ดูตระหง่านสง่าเนตรตลอดรื่น ตำหนักตึกพิลึกยังคงยืน วังสอื้นแรมร้างอยู่อาทวา ครั้งพม่าตีสงขลาถลางได้ แล้วลุกไล่ตกั่วทุ่งตกั่วป่า ถึงปาตลีบุตรแตกยับอัปรา ก็หนีล่าทัพถอยไม่ต่อกร จึงถวายสารามาทูลแถลง ครั้นทรงแจ้งในศุภอักษร ยกพยุหยาตราคัลาจร คืนนครได้ด้วยพระบารมี สั่งให้ลุยล้างพม่าปัจจามิตร รักชีวิตรแพ้พ่ายกระจายหนี ให้ผู้รั้งตั้งมั่นทุกธานี เสร็จคืนกรุงศรีอยุทธยา เมื่อพระองค์ยังดำรงพระนิเวศน์ ทุกประเทศนอบน้อมศิรสา มยุรยูงนำฝูงคณามา อ่อนศิราถวายเสียงเพียงดนตรี เหมือนสังคีตบรรเลงเพลงสวรรค์ เสนาะกรรณรี่เร่ยดั่งดีดสี นกนิยมชมพระบารมี โอ้ปางนื้ไร้สัตว์สงัดคน พระสุริเยศอาเพทจำรัสแสง ไม่แจ่มแจ้งเปนพยัพพโยมฝน ภาณุมาศอยู่ถึงราชรถบน กระหม่อมยลดังวิโยคพระบารมี ด้วยพระบาทอำนาจดังทิณกร มาเขจรจากจักรราษี เคยเยี่ยมฟ้าส่องหล้าทุกราตรี ให้โลกย์ทวีหวาดตวงสุชลเติม พระสุริยงลงลับเมรุมาศ แลปลาดดวงจันทร์เมื่อวันเฉลิม ไฉนแขจึ่งไม่ไขวิไลยเติม ฤๅพูลเพิ่มทนเทวศเพราะเหตุเรา เห็นกำพร้าเวทนากระมังมาก ไม่เคยยากถอยยศกำศรดเศร้า จึงอับแสงศศิฉายไม่พรายเพรา ให้เห็นเงารัศมีใหมีงาม แต่มีงานดูงานมาหลายครั้ง ตำแหน่งนั่งต่อรองกันสองสาม เมื่อสององค์ยังดำรงวราราม เลื่องพระนามไตรภพจบขจร เว้นแต่จอมพระธิดาดวงกระษัตริย์ เปนปิ่นฉัตรพระบุตรีศรีสมร ด้วย๑๙สองสรวมร่วมมาตุโครทร ไม่อาวรคิดเคียดรังเกียจกัน อันหน่อนางสุรางค์บรมนารถ ให้ร่วมอาศน์สองวังนรังสรร มิใช้นำคนละอย่างจะต่างพันธุ์ พระบิตุลาทรงธรรม์ยังตามเคย เพราะพระไทยอนุกูลประยูรวงษ์ โอ้พระองค์จงทิพย์ศุขเสวย ไหนนิ้วร้ายทรงตัดสลัดเลย พระคุณเอ่ยสุจริตดังบิดา จะพึ่งเขาพระสุเมรุก็เอนหาย สุดจะว่ายเมฆข้ามไปตามหา ดังม้วยดินสิ้นดวงพระสุริยา เหมือนนิราปิ่นเกษบวรวัง ลูกคิดถึงพระบิดาน้ำตาตก สงสารอกแสนพวงแลธงหลัง จะเหลียวดูธงน่าดั่งฟ้าบัง กระไรช่างไกลกันสักพันวา โอ้พระคุณบุญน้อยไม่มีบุตร เปนมงกุฎสืบสายไปภายน่า จะสนองแทนลอองอิศรา กับพระอรรคชายาไม่เลงยล มีแต่หน่อพระสนมไม่สมยศ สวรรคตว้าเว่รเหรหน กองกรรมจำนิราศบาทยุคล บรรดาชนฤๅจะชื่นทั้งหมื่นกรุง แต่นิราฝ่าลอองบิเรศ ดังฉัตรเกษหักหายไม่หมายมุ่ง โอ้พี่น้องควรประคองเคียงบำรุง มีแต่ยุ่งหยิบความไม่งามเลย วังบวรใครห่อนนิยมหวัง ก็จะชังกันถึงไหนนะอกเอ๋ย ที่ความดีนั้นไม่ยินรบินเปรย มีแต่เฉยกับจะชั่วทุกตัวคน ถึงเพียงนี้น่าทวีเทวศโอ้ พระร่มโพธิ์ที่พึ่งมาสูญผล ควรสวาดิมาทร่วมครรภาสกนธ์ ประสาจนรักกันคุ้มวันตาย เออไฉนไยมามุ่งเขม้นมาท พระบิตุราศแรมร้างยังหมางหมาย ช่างค่อนเคียดเสียดสำคำรคาย ไม่นึกสายโสหิดบิดาเดียว บ้างก็คิดแต่งกลยุบลฬ่อ มีแต่ก่อจะให้เกิดความเฉลียว ไม่ปรกติริกันกระนั้นเจียว คนอื่นฟังเขาจะเกรี้ยวไม่อยากชม ที่ประจบท่านผู้ดีมีบุญมาก เห็นญาติยากหันเหออกเทถม มิใช่โจรก็มาจับประจารลม จะคอยข่มกันให้เข็ดฝีปากกลัว คราวสิ้นวาศนานิจาเอ๋ย กระไรเลยนึกมาก็น่าหัว ราวกะเปนโทษขบถไม่งดตัว ขุนนางพัวรอบข้างมาซักคำ พระคุณเอ๋ยตัวลูกก็เปนหญิง นิราศมิ่งโมฬีที่อุปถัมภ์ มาซ้ำแสนอัปประภาควิบากกรรม กลืนแต่น้ำตาตกในนาภี พระสุเมรุเอนโลกย์เปนหลักปัก เทพย์ชักช่วยชลอคิรีศรี ให้ดำรงคงทวีปสวัสดี จะเปนที่สามภพอำนวยพร ฤๅอนงค์นางตเคียนในเขตรเขา ทั้งอารักษ์สถิตย์เนาว์แนวสิงขร เขาสรวงเส้นธูปเทียนเศียรสุกร สังเวยวอนแรงรับพิรมย์ชม โอ้พิมาน๒๐อมรินทรดั่งอินทร์สว่าง เด่นอยู่กลางสระรอบกระสินธุ์สม มีโศกเรียงเคียงน่าลำดวนดม รำเพยลมกลิ่นแก้วพการาย ทรงไว้พระเนาวโลกย์โมฬีเลื่อง แต่งเครื่องมัสการทุกวันถวาย มณฑาหอมน้อมก้านบานขจาย ดั่งจะหมายน้อมรศเรณูนวล บูชาพระสัพพัญญูคู่ทวีป ขยายกลีบแย้มพุ่มโกสุมภ์สงวน เคยมีสิงหโนภาศบัณฑูรชวน สั่งประมวณหมู่สนมหนึ่งบุตรี ให้สวดมัสการพระชินรัตน์ ตามบัญญัติเพศพุทธชินศรี ประทานทั้งแตรดังรฆังตี จบแล้วก็ชุลีบรมญาณ เคยถวายพระกุศลศรัทธารับ ทรงคำนับน้อมรศพระกรรมฐาน เคยประสาทโภชาพระราชทาน มัจฉซ้องสาธุการถึงเมืองพรพม ประกอบหมู่มัจฉา๒๑ในสาคเรศ ทอดพระเนตรรงับร้อนแรมปฐม แขยงแย่งแย้งเย้ายวลนิยม เนื้อออนอ่อนอ้อนรทมบ้าบ่มใจ เห็นกระแหแห่แห้โบกหางเหิน แก้วลองล่องล้องเดินสายชลไหล แมลงภู่ทองท่องท้องมากินไคล สวายหว่ายว่ายไปแสวงลอย จะหาเหยื่อเผือเผื่อเผื้อภักษา เหล่าเทพาพ่าพ้าสื่อสนสร้อย กระทิงหลายหล่ายหล้ายกรายกรีดลอย นกเขาเข่าเข้าคอยชม้อยดู ได้เคยรับประทานอาหารหาย ตวันบ่ายว่ายเวียนมาเปนหมู่ ไม่ยลพระมิ่งมณเฑียรยกเศียรชู เหมือนจะรู้ว่าพระราชบิดา เสร็จนิราศแรมร้างมไหสูริย์ โอ้อาดูรทุกข์ทั่วถึงมัจฉา ประพาศสวนเสร็จสรวลชวนพงา นำยุพาเคยพายุพินชม คณานางล้วนนางอนงค์แน่น ประดับแสนนับแสนพระสนม สำราญรื่นเริงรื่นชื่นอารมณ์ ถวายลมโบกลมอยู่งานงาม เห็นกาหลงเพลินหลงประสงค์หอม ลูกจันทน์น้อมกิ่งน้อมเหลืองอร่าม ระย้าแก้วแสงแก้วออกแวววาม กุหลาบหนามหลีกหนามเด็ดดอกดม เสาวคนธ์รคนกลิ่นบุหงา จำปาแขกเมื่อแขกมาถวายถม มณฑาหอมหวลหอมยิ่งตรอมตรม จะจากชมชวนชมรบมทรวง ยิ่หุบหุ้มกลีบหุ้มขยายแย้ม ลำเจียกแหลมกลิ่นแหลมล้วนของหลวง ลำจวนเย็นหอมเย็นดูเด่นดวง พิกุลร่วงดอกร่วงลงดาดดิน เสาวรศทรงรศตระหลบฟุ้ง ดั่งจันทน์ปรุงประปรุงรคนกลิ่น ตระการเกษแก้วเกษอินทนิน บุหรงบินรีบบินไปจากรัง ให้หนักจิตร ๆ หวลรันจวนโหย ฤดีโดย ๆ ดิ้นถวิลหวัง เหมือนอกเรา ๆ จะร้างนิราศวัง จึ่งโศกสั่ง ๆ สวนอยุทธยา เทวศโอ้ ๆ สอื้นไม่คืนกลับ จะแล้วลับ ๆ แลนิราศา จะแรมเวียง ๆ เอยไปเอกา มาเห็นหน้า ๆ นุชสุดอาไลย ถนอมขวัญ ๆ ใจอย่าไห้ร่ำ นี่เนื้อกรรม ๆ สร้างแต่ป่างไฉน เคียงหมอบเคียง ๆ ข้างล้วนนางใน จะจำไกล ๆ สงวนยิ่งครวญโครม สุรางค์นาง ๆ น้อมประนมเสนอ ไม่เอื้อนเออ ๆ จะจากจึ่งฉากโฉม เคยชื่นเชย ๆ นวลชวลประโลม จนแสงโคม ๆ สว่างกระจ่างจันทร์ นิจาเรียม ๆ จะร้างนิรารัก ยิ่งพิศภักตร ๆ ผ่องเพียงบุหลัน สพรั่งพร้อม ๆ สิบสองพระกำนัล ชุลีกร ๆ รันอุรตรอม เวรุพราก ๆ เจ้าลำเภาภักตร ธุระรัก ๆ ไม่เหือดจนเผือดผอม ยุคลเคย ๆ ปกเกษพระเดชจอม จะไกลกล่อม ๆ ชวัญอย่าหวั่นใจ ไม่ยลข้อ ๆ รคายมาหน่ายหนี จะเคืองพี่ ๆ นี้ตรงอย่าสงไสย ทุกอนงค์ ๆ นุชสุดพิไร จะพาให้ ๆ เรียมหลงอารมณ์เฟือน ต่างซบเศียร ๆ เกล้าลงกราบบาท ใจจะขาด ๆ ที่ไม่มีเหมือน สงวนบุตร ๆ นางอย่าห่างเรือน จึ่งเอื้อนโอษฐ์สั่งพระหน่อจะขอลา โอ้พระมิ่งมงกุฎอยุทธเยศ ไยทุเรศแรมร้างพระวงษา กระทั่งถือน้ำพิพัฒน์สัจจา มาหยุดน่ามุขน้อมศิโรเรียง ครั้งนี้ยังแต่ที่พรหมภักตร์ ไม่ประจักษ์สิงหนาทประภาศเสียง อันอนงค์ชิดเชยที่เคยเคียง บำราศเวียงจากพระอัฐิเธอ ไปเปนข้าพระนรินทร์ผู้ปิ่นโลก ที่สิ้นโศกสบชื่นไม่คืนเสนอ ไหนยังคิดถึงพระคุณเคยบำเรอ ก็ลเมอร่ำว่าข้าทูลลออง จนจิตรจำนิราฝ่าพระบาท มิได้ขาดชลเนตรคนึงหมอง มายลวังยังลูกผูกประคอง กรตระกองกอดคิดถึงบิตุตรอม เห็นแต่หน่อยุคลกระมลเศร้า สำคัญเท่าแทนองค์ประจงถนอม จะหาไหนที่พึ่งประหนึ่งจอม เหมือนพระมิ่งล้นกระหม่อมไม่เลงปาง ครั้งสละสมบัติทรงบรรพชิต มิได้คิดห่วงไยในสงสาร ไม่ชื่นชมด้วยสนมบริพาร ศฤงฆารทั้งนิเวศน์ไม่เจตนา บุตรีโอรสประนตน้อม ทูลกระหม่อมเมินปลงทรงสิกขา สำรวมพระกายหมายเอกะคตา อิศราโทมนัศดำรัสวอน อ้าพ่อดุจไนยเนตรพี่ อย่าเพ่อหนีออกทรงผนวชก่อน เชษฐเปลี่ยวเอองค์ดำรงนคร เราร่วมร้อนร่วมชีพอันเดียวกัน ช่วยบำรุงราษฎรขจรเดช ดั่งสุริเยศส่องเยี่ยมเหลี่ยมสวรรค์ ประชาชาวหนาวสท้านอารมณ์ครัน แต่รำพรรณเวียนวอนอ่อนพระไทย เหมือนพระเจ้าสญไชยบรมนารถ เชิญพระบาทยศยิ่งมิ่งมไห บรรพชาลาพรตออกจากไพร คืนไอสวรรยาโอฬาฬาร ก็เรืองยศปรากฎพระเกียรติฟุ้ง กระษัตริย์อื่นหมื่นกรุงขยาดหาญ รทดถอยคอยถวายบรรณาการ นับทิวารตั้งแต่จะแลเลย ชิโนรสปรากฎสังวรศิล ก็ยังรินน้ำเนตรไม่วายเสวย ทั่วพิภพจบโลกไม่เลงเสบย พระคุณเคยโอบอ้อมอารีครัน พระยอดขัติยวงษ์ทรงพระเดช ทุกนิเวศน์เกรงหวาดประหวั่นขวัญ ราษฎรห่อนชื่นทุกคืนวัน มีแต่รันอกร่ำอุรรอน ลูกโศกสุดดั่งบุตรสิงหพราก กำจัดจากมงกุฎราชไกรสร แสนรำจวนหวลคิดพระบิดร ชวนกันจรจะไปเฝ้ายิ่งเปล่าใจ สำคัญจิตรคิดจะชื่นขืนวิโยค พระปิ่นโลกย์ลูกเล่าไปเนาว์ไหน นุภาพเพี้ยงสุริโยวโรไกร ฤๅคัลไลล่วงทวีปจักรวาฬ ยลแต่จอมบิตุลานราสรร อันเปนฉัตรแก้วกั้นกระหม่อมหลาน ข้าพระบาทมาทหมายเสมอปาน บิตุเรศข้อยสำราญมโนปรีดิ์ จะดับเข็ญเย็นเกล้าทุเลาร้อน ประนมกรขอบพระเดชโมฬีศรี ขอพระชนม์ยลยืนสักหมื่นปี อย่ารู้มีพระโรคมารุมรึง เชิญสุลีเลิศหล้าธาดาเดช มาคุ้มเพทอย่าให้พ้องพระองค์ถึง ขอวัชรินทร์ปิ่นนิเวศน์ดาวดึงษ์ ประชุมช่วยที่พึ่งให้อยู่เย็น เชิญนารายน์จากสายกระสินธุ์หลวง จะเล็งล่วงทิพเนตรสังเกตเห็น อย่าวิมุติมิได้ทุจริตเปน ไม่ว่างเว้นคิดพระคุณทุกนาที ข้าซื่อต่อแผ่นดินไม่หมิ่นประมาท เทวราชจงจำเริญทุกราษี อันพระปิ่นกรุงทวารวดี หมื่นบุรีอ่อนราบศิโรลาน จงสาพิภักดิ์เปนข้าฝ่าลออง ต่างฉลองพระบาทเบื้องสอดประสาน ขอสุนทรให้เหมือนพรแปดประการ ดั่งมัฆวารอวยศรีสวัสดี ถวายเวสสันดรบรมนารถ ที่จากราชนิเวศน์เปนฤๅษี กับอนงค์ทรงสร้างพระบารมี เธอยกองค์พระมัทรีอำนวยทาน อินทร์พราหมณ์ก็ประนามศิโรเพศ มาเพิ่มพระบารเมศภินิหาร อัศจรรย์ลั่นโลกย์ทั้งจักรวาฬ เทวส้องสาธุการถวายพร ขอคำให้ประสิทธิดั่งอิศราช จึ่งพิวาทจาฤกไว้ในอักษร จะน้อมเกษมัศการประสานกร ให้ถาวรคุ้มโทษบันเทาทำ ถึงจะเนาว์ในพระเพลิงถเกิงแสง อย่าให้ไหม้ร้อนแรงช่วยอุปถัมภ์ ถ้าตกใต้พระคงคาเมตตานำ พระคุณค้ำชูฉันอย่าอันตราย พระบารเมศเคยปกดิลกโลกย์ บำบัติโศกปัทวะเทวศหาย โจรไภยราชไภยอย่าใกล้กลาย ขอถวายชีวินพระชินวร แม้นผู้ใดใส่โทษออกโจทย์หา มุษษาข้าพเจ้าเหมือนคราวก่อน สรรพทุกข์สารพัดอธิกรณ์ ขอเทพย์ย้อนให้ท่านผู้นั้น เอย

ประนมน้อมศิโรราบ บังคมกราบพระบาทา บพิตรพระบิดา อันเปนที่นมัศการ ลูกรฦกถึงฝ่ายุคล จึ่งนิพนธ์ประกอบสาร หวังพระยศในบทมาลย์ ให้ปรากฎพระเกียรติรบือ ดั่งองค์นารายน์ราม ยังพระนามสนั่นลือ ทั้งสามภพบเคียงคือ เหมือนบิตุเรศปิ่นเกษเรา พระอานุภาพมาปราบยุค ให้เปนศุขบันเทาเบา สองพระองค์ดำรงเนาว์ เป็นมงกุฎอยุทธยา ราษฎรสนองมโนปรีดิ์ ก็ยินดีด้วยปราบดา หมายพึ่งพระเดชา ให้เปนศุขสถาผล ทุกประเทศก็เกรงฤทธิ์ ไม่อาจคิดจะโจมผจญ รักกายเสียดายชนม์ ถวายเครื่องบรรณาการ ถึงอังวะที่ระรบ ในแผ่นภพอยุทธราญ สุรามรินทร์นั้นแพ้พาล แต่ครั้งนี้พระมีไชย ดังฤๅเสร็จนิราศัน สู่สวรรค์คัลไล พระกฤษดาสุธาไหว โอ้พระคุณเคยอุ่นวัง ประโคมยามมหรทึก ฟังพิลึกทั้งแตรสังข์ พิณพาทย์เสนาะดัง ดุริยางค์บำเรออินทร์ หนึ่งนางสุรางค์เรียง บังคมเคียงยุคลนรินทร์ ดั่งอับศรในราษิน ถวายกรอยู่งานงาม ทั้งสิบสองพระกำนัล ทิวันรวังทุกทุ่มยาม เสนางค์ล้วนชาญสนาม เคยขึ้นเฝ้าทุกหมวดกรม พระวงษาสพรั่งพร้อม กราบน้อมศิโรดม ประดับแสนสุดาสนม มานิราศพระบาท เอย

ปางปิ่นธรณี โมฬีโลกย์ลือพระเดช ดั่งอิศเรศวโรฤทธิ ชายชาญชิดเลิศภพ ทุกกรุงนภน้อมเกล้า เปนจอมเจ้ามงกุฎหล้า พระเกียรติขจรเฟื่องฟ้า หมื่นนัคราร้อนรีบ ทั้งสี่ทวีปพงษ์จักรพรรดิ ร้อยเอ็ดกระษัตริย์โอนเศียร บังคมเวียนบรรณาถวาย ดั่งนารายน์มาปราบดา จอมยุทธยาล้ำโลกย์ ดับวิโยคเมื่อยามยุค ราษฎร์เปนศุขสรรเสริญ ขอจำเริญพระชันษา ทรงอิศราอาณุภาพ ไพรีราบเกรงรย่อ ทุกกรุงท้อถอยหลัง พระยศยังพระสุริเยศ ส่องทุกประเทศสว่างแผ้ว ดั่งวิเชียรแก้วมณีโชติ แสงรุ่งโรจชัชวาลย์ รัศมีปานทิพากร เทพย์อับศรอยู่เรียงรอบ ชุลีหมอบเมียงชม้าย ส่วนสุริยฉายส่องภพ เร่งรถจบจักรวาฬ แล้วคืนสฐานเมื้อมิ่ง พร้อมเพราพริ้งเลิศลักษณ์ วิไลยลักษณ์ลออโฉม งามประโลมล้วนอนงค์ แทบเทียมองค์เทพกัญญา ดั่งนางฟ้าจากสวรรค์ ผาดผายผันเยี่ยมเมฆ สำอางเอกเอี่ยมลออง สุรางค์รองบทเรศ มงกุฎเกษปิ่นพระสนม เคยชื่มชมสำราญรื่น วังเครงครื้นพิณพาทย์ หมู่อำมาตย์พื้นชาญสนาม ทหารรามพอเท่าถึง พระเกียรติกึ่งบเกินกัน เปนหลักจันบำรุงราษฎร์ พร้อมพระญาติวงษา ทรงศักดากำแหงหาญ ล้วนชำนาญณรงค์รบ ทั้งไตรภพบอาจหยาม ลือพระนามสยองผม ทุกนิคมก้มเกษกราบ ปัจจาราบเกรงพระฤทธิ ทั้งสิบทิศกระถดถอย ประสมสร้อยสรรเพ็ชร์ คงจะเสร็จได้นำสัตว์ ให้ล่วงวัฎกสงสาร พ้นบ่วงมารเปนเที่ยงแท้ บารมีแผ่เผือทั่วโลกย์ ขอข้ามโอฆกันดาน พระโพธิญาณยิ่งแล้ว ทรงดวงแก้วกุมกรกำ อันเทวทำบลืมหลง พระไทยจงจำเริญผล สร้างพระกุศลก่อเกื้อ ป่างหลังเหลือมามาก ยังภายภาคอนาคต กำหนดสี่อสงไขย มีกำไรยิ่งแสนกัลป เอนกนับคนณา จึงสำเร็จปรมาภิเศกสร้าง จะนำทางมนุศย์สวรรค์ องค์พระสัพพัญญูเจ้า เลิศแล้วใครเสมอ


พระองค์เจ้ากัมพุชฉัตร์ผู้แต่งหนังสือนี้ ประสูตร์ปีมเมียอัฐศก จุลศักราช ๑๑๔๘ นักองค์อี ซึ่งเปนธิดาที่ ๒ ของเจ้ากรุงกัมพูชา เขายกเปนสมเด็จพระมหากระษัตรี มี ๒ องค์ด้วยกัน ยังมีน้องอิกคนหนึ่ง
พระอาการทรงพระประชวรว่าเปนนิ่ว เมื่อเสด็จขึ้นไปยั้งทัพอยู่เมืองเถิน ถึงต้องลงแช่น้ำอยู่ในแม่ขัน แต่พระอาการตามที่กล่าวในนี้ น่ากลัวจะกลายเปนมเรงที่เรียกว่าแคนเซอร์ ในพระสอ จึงเสวยพระสุธารศไม่ได้
พระวิมานองค์ตวันตก
คือที่เรียกว่าพุทไธสวรรย์เดี๋ยวนี้
การโสกันต์ใหญ่ ข้างวังหลวงยังไม่ได้ทำ จนกระทั่งเจ้าฟ้ากุณฑล แต่ข้างวังน่าท่านทำเสียตั้งแต่โสกันต์เจ้าลำดวนเจ้าอินทปัต ด้วยเวลานั้นเจ้าฟ้าพินทวดีพระราชธิดาขุนหลวงบรมโกษยังมีพระชนม์อยู่ ได้เปนแม่การ เพราะท่านเคยลงสรงแลโสกันต์มาเอง การที่วังน่าทำก่อนวังหลวง โดยอ้างว่ากลัวตำราจะสูญ เครื่องต้นโสกันต์ที่มีอยู่ ๓ ลำรับเดี๋ยวนี้ เปนของวังน่าทำ ๒ สำรับ กระบวนแห่วังน่าออกประตูอลังการโอฬาร์ข้างเหนือ บางทีก็เข้าประตูโอภาศพิมาณข้างเหนือ เข้ามาน่าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ บางทีก็อ้อมเขื่อนเพชร์มาเข้าประตูมหาโภคราช ซึ่งอยู่น่าพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน แห่ครั้งวังน่าองค์แรกนี้จะเดินทางประตูใดไม่ปรากฎ
โสกันต์ในวังน่าได้มี ๓ ครั้ง คือปีเถาะสัปตศก จุลศักราช ๑๑๕๗ แลปีมเมียสัมฤทศก จุลศักราช ๑๑๖๐ ปีระกาตรีศก จุลศักราช ๑๑๖๓ ได้จากลงสรงแลโสกันต์ ในหนังสือวชิรญาณวิเศษ เล่ม ๒ น่า ๔๗
ดูเหมือนหนึ่งกรมพระราชวัง มีความปราถนาจะให้ลูกเปนวังน่าแทนพระองค์ แต่จะคิดถึงเช่นนั้นก็ดูผิดทางอยู่หน่อยหนึ่ง เพราะจะสูงกว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอวังหลวงทั้ง ๒ พระองค์ ซึ่งในหนังสือฉบับนี้ก็รับยกย่อง
นี่ต้องหมายความว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร
นี่เปนธรรมเนียมที่ต้องส่งคืนพระแสงกันในเวลานั้น
พระองค์เจ้าเกสร ประสูตรปีกุนเอกศก จุลศักราช ๑๑๔๑
๑๐ เรื่องนี้ท่านเอามาแต่ไหน ทีจะมีในเรื่องโลหิตุบาต
๑๑ เห็นจะเปนตำหนักแพพังลงน้ำไป
๑๒ ประสงค์จะกล่าวว่าเปนเจ้าของพระเทพกุญชรทั้ง ๒ องค์ ๑๓ นี่เก็บความมาจากพงษาวดารเขมรท่อนต้น
๑๔ ที่เรียกว่าพยาธิเพลิงนี้ คือโรคเรื้อน เปนโรคซึ่งเจ้านายในราชวงษ์เขมรพระนครหลวง เปนมาทุกชั่วทุกชั้น ยังถือต่อกันมาจนถึงกาลบัดนี้ ว่าถ้าใครเปนผู้ว่าราชการเมืองนครเสียมราฐคงจะเปนโรคเรื้อน แต่ที่ได้เห็นมาผู้ว่าราชการเมืองเสียมราฐเปนโรคเรื้อนหลายคน ผู้ว่าราชการเมืองคนหลังที่สุดในประจุบันนี้ก็ว่าเริ่มเปนโรคเรื้อนแล้ว
๑๕ พระขรรค์นี้อยู่ในมือเจ้าเขมรบ่อย ๆ ครั้นภายหลังหายสูญไป ชาวประมงทอดแหได้ เมื่อจุลศักราช ๑๑๔๖ เจ้าพระยาอไภยภูเบศร์ (แบน) นำเข้ามาทูลเกล้า ฯ กวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ มีจดหมายไว้ว่า เมื่อวันที่พระขรรค์นี้มาถึง อสนีบาตลงในพระนครถึง ๗ แห่ง เดี๋ยวนี้เปนพระแสงเครื่องราชกกุธภัณฑ์ มีนามว่าพระขรรค์ไชยศรี เปนของแลเห็นปรากฎว่าเก่ามาก ฝีมือครั้งเดียวกันกับพระนครวัด
๑๖ พระองค์เจ้าลำดวนประสูตรปีกุนเอกศกจุลศักราช ๑๑๔๑ พระองค์เจ้าอินทปัตประสูตรปีชวดโทศกจุลศักราช ๑๑๔๒ ว่าเจ้าจอมมารดาเปนลาวทั้ง ๒ องค์ แต่น่าสงไสย ไม่สมกับชื่ออินทปัตควรจะเปนเขมร ที่ได้ความนี้อาไศรยบาญชีกรมหลวงบดินทร์ อันจะเชื่อได้แน่นอนอย่างเดียวแต่เรื่องปีประสูตร์ เพราะเหตุว่าการที่จะรู้ปีประสูตรของเจ้านายนั้นไม่ยาก ถ้าได้พบเจ้านายองค์ใดชั้นใดถามคงจะบอกปีพี่น้องเกิดได้หมด เว้นแต่ซึ่งจะบอกเจ้าจอมมารดา ฤๅจะบอกวันสิ้นพระชนม์นั้นเอาแน่ไม่ใคร่ได้ ในบาญชีกรมหลวงบดินทร์ฉบับนี้เลอะเทอะมาก ที่เก่งที่สุดนั้นคือ พระองค์เจ้าหญิงภุมเรศสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๓ ซึ่งแปลว่าพระองค์เจ้าภุมเรศกรมหมื่นอัมเรศรัศมีสิ้นพระชนม์รัชกาลประจุบันนี้ ไม่มีเหตุที่ลืมหลงก็เปนได้ถึงเพียงนี้ จึงได้เกิดความสงไสย ว่ามารดาพระองค์เจ้าอินทปัตจะเปนเขมร ข้อความจึงได้ประชิดนักองค์อีแลพระองค์เจ้ากัมพุชฉัตร์มากนัก
๑๗ ในพงษาวดารหริภุญไชยว่าพระเจ้าพรหมาธิราช เชิญพระพุทธสิหิงค์ไปเมืองเชียงราย แล้วจึ่งปฏิสังขรณ์ตัดพระอังคุลีอันหล่อเดิมนั้นออกเสีย ปั้นขี้ผึ้งเปนอังคุลีเข้าต่อหล่อให้บริสุทธดี เพราะพระเจ้าพรหมามีวิชาฉลาดสามารถจะต่อติดได้ บางทีจะได้ตัดได้ต่อกันบ่อย ๆ ในเวลาที่ผู้ใดได้ไปเห็น ว่ายังไม่งามก็ตัดแลต่อเสียใหม่ กรมพระราชวังเห็นจะได้ทรงตัดแลต่อใหม่จริง การที่หมั่นตัดหมั่นต่อกัน ก็ด้วยเรื่องจะมีบุญตามคำทำนาย
๑๘ เมื่องานพระอัฐ มีโขนกลางแปลงวังหลวงกับวังน่ารบกัน
๑๙ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพวดี
๒๐ พระที่นั่งองค์นี้ เดิมจะสร้างเปนปราสาทอยู่ในรหว่างสระให้เหมือนพระที่นั่งบรรยงรัตนาศน์ที่กรุงเก่า กำลังทำอยู่ถูกฟ้าผ่าจึงเลิกเสียไม่ทำปราสาท เปลี่ยนเป็นหอพระที่ทรงศีล
๒๑ ปลาในสระวังน่านี้ เปนสิ่งหนึ่งซึ่งสำหรับไปดูในเวลาขึ้นไปวังน่า เพราะเป็นปลาใหญ่เกินขนาดด้วยอยู่มานาน อยู่มาจนรัชกาลประจุบันนี้หมดไปเมื่อทำคลังสรรพยุทธ


(http://www.sookjai.com/Themes/default/images/post/xx.gif) จบ