[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม => ข้อความที่เริ่มโดย: เงาฝัน ที่ 23 มิถุนายน 2554 11:44:19



หัวข้อ: สัทธรรมปุณฑริกสูตร บทที่ 18 ว่าด้วยอานิสงส์ของผู้กล่าวธรรม
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 23 มิถุนายน 2554 11:44:19


(http://board.palungjit.com/attachment.php?attachmentid=434837&stc=1&d=1225441416)
พระสูตรสัทธรรมปุณฑรีกะ
วัดโพธิ์แมนคุณาราม
นายชะเอม แก้วคล้าย แปลจากต้นฉบับสันสกฤต
บทที่ 18
ธรรมภาณกานุคำสาปปริวรรต
ว่าด้วยอานิสงส์ของผู้กล่าวธรรม


       ขณะนั้น พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกะพระสตตสมิตาภิยุกตโพธิสัตว์มหาสัตว์ว่า กุลบุตรหรือกุลธิดาคนใด จักจดจำ ท่อง แสดง หรือคัดลอก ธรรมบรรยายนี้ กุลบุตรหรือกุลธิดานั้น จักได้ซึ่งคุณลักษณะแห่งจักษุทั้ง800 ประการ คุณลักษณะแห่งโสต 1,200 ประการคุณลักษณะแห่งฆานะ 800 ประการ คุณลักษณะแห่งชิวหา 1200 ประการ  ด้วยคุณลักษณะมากมายอย่างนี้ บ้านคืออินทรีย์ 6 ของเขา จึงสะอาดบริสุทธิ์ เขาย่อมมองเห็นโลกธาตุทั้งสาม ซึ่งมีจำนวนหลายพัน ด้วยตาเนื้อ(มังสจักษุ) ที่เกิดจากมารดาบิดา ซึ่งปรากฏโดยอินทรีย์จักษุอันบริสุทธิ์ ทั้งภายในและภายนอก รวมทั้งภูเขาและป่ารกชัฎ ลึกลงไปจนถึงอเวจีมหานรก สูงขึ้นไปจนถึงขอบโลกพิภพทั้งปวง ด้วยตาเนื้อที่ปรากฏ เขาจะมองเห็นสัตว์ทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นในภพนั้น และจะรู้วิบากกรรมของสัตว์เหล่านี้ด้วย

        ในเวลานั้น พระผู้มีพระภาค จึงได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า

1       ท่านจงฟังคุณลักษณะของบุคคล ผู้เป็นปราชญ์ ไม่มีความเดือดร้อน พึงกล่าวประกาศพระสูตรนี้ ในท่ามกลางบริษัททั้งหลาย จากเรา

2       จักษุของเขามีคุณลักษณะ 800 ประการ สมบูรณ์ด้วยประการทั้งปวง จักษุของเขาไม่มีมลทิน บริสุทธิ์ ไม่ขุ่นมัว

3       เขาย่อมมองเห็นโลกธาตุนี้ พร้อมด้วย ภูเขา ป่า และบ้านเมือง ด้วยตาเนื้อที่เกิดจากมารดาบิดานั้น

4       เขาจะมองเห็นภูเขา เขาพระสุเมรุ และจักรวาลทั้งปวง เขาได้มองเห็นภูเขาส่วนอื่นๆ และมหาสมุทรด้วย

5       เขาย่อมมองเห็นสิ่งทั้งปวง ต่ำสุดจนถึงนรกอเวจี สูงสุดถึงขอบโลกพิภพ ตาเนื้อของเขา ย่อมมีผลเช่นนี้

6      จักษุทิพย์ของเขาย่อมไม่มี และยังไม่เกิด วิสัยเช่นนี้ย่อมมีแก่ตาเนื้อของเขาเท่านั้น

       ยิ่งกว่านั้น ดูก่อนสตตสมิตาภิยุกตะ กุลบุตรหรือกุลธิดาผู้นั้น ผู้กำลังประกาศธรรมบรรยายนี้ และยังสัตว์เหล่าอื่นให้ฟังอยู่ เป็นผู้ประกอบด้วยสุดคุณจำนวน 1,200 ประการเหล่านั้น เสียงต่างๆ ที่แผ่ไปในโลกธาตุทั้งสาม ซึ่งมีจำนวนหลายพันโลกธาตุ ตั้งแต่อเวจีมหานรก จนถึงสุดขอบโลกพิภพ ทั้งภายในและภายนอก เช่นเสียงช้าง เสียงม้า เสียงอูฐ เสียงโค เสียงแพะ เสียงในชนบท เสียงรถ เสียงคนร้องไห้ เสียงคนเศร้าโศก เสียงคนกลัว เสียงสังข์ เสียงระฆัง เสียงกลองรบ เสียงกลอง เสียงการละเล่น  เสียงเพลง เสียงการฟ้อน เสียงดุริยางค์ เสียงดนตรี เสียงสตรี เสียงบุรุษ เสียงทารก เสียงธรรม เสียงอธรรม เสียงคนมีความสุข เสียงคนมีความทุกข์ เสียงคนพาล เสียงบัณฑิต เสียงของผู้ที่เป็นเจ้าหญิง เสียงของผู้ที่มิได้เป็นเจ้าหญิง เสียงเทวดา

เสียงนาค เสียงยักษ์ เสียงรากษส เสียงคนธรรพ์ เสียงอสูร เสียงครุฑ เสียงกินนร เสียงมโหรคะ เสียงมนุษย์ เสียงอมนุษย์ เสียงไฟ เสียงลม เสียงน้ำ เสียงชาวบ้าน เสียงชาวนคร เสียงภิกษุ เสียงพระสาวก เสียงปัจเจกพุทธเจ้า เสียงพระโพธิสัตว์ เสียงพระตถาคต จนกระทั่งเสียงใดๆ ที่แผ่ไปในโลกธาตุทั้งสาม ซึ่งมีจำนวนหลายพันโลกธาตุ ทั้งภายในและภายนอก เขาย่อมได้ยินเสียงเหล่านั้นด้วย โสตินทรีย์ที่บริสุทธิ์ตามที่ปรากฏนั้น เขายังไม่ได้รับโสตอันเป็นทิพย์ แต่เขาย่อมรู้ ย่อมเข้าใจ ย่อมจำแนกเสียงของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ด้วยโสตินทรีย์ที่ปรากฏ เขาย่อมได้ยินเสียงสัตว์ต่างๆเหล่านั้น แต่เสียงทั้งปวงเหล่านั้น ไม่สามารถครอบงำโสตินทรีย์ของเขาได้ ดูก่อนสตตสมิตาภิยุกตะ รูปอย่างนี้ คือการได้โสตินทรีย์ของพระโพธิสัตว์มหาสัตว์นั้น ทั้งที่เขายังไม่ได้ทิพยโสต

       เมื่อพระผู้มีพระภาคได้ตรัสอย่างนั้นแล้ว พระสุคตศาสดาจึงได้ตรัสพระถาคาเหล่าอื่นอีกว่า

7      ตราบเท่าที่โสตินทรีย์ของบุคคลนั้น บริสุทธิ์ ไม่ขุ่นมัว ปรากฏชัดเจน เขาย่อมได้ยินเสียงต่างๆในโลกธาตุนี้ โดยไม่มีส่วนเหลือ

8      เขาย่อมได้ยินเสียง ช้าง ม้า รถ โค แพะ แกะ กลองใหญ่ กลองเล็ก เสียงของผู้ประกาศ เสียงพิณใหญ่ เสียงขลุ่ย และเสียงพิณเล็ก

9      เขาย่อมได้ยินเสียงขับร้อง อ้นไพเราะจับใจ แต่เขาผู้เป็นปราชญ์ ย่อมไม่ข้องติดในเสียงนั้น เขาย่อมได้ยินเสียงมนุษย์ จำนวนหลายโกฏิ ที่คุยกันถึงเรื่องใดๆ ในที่ใดๆก็ตาม

10    เขาได้ยินเสียงของเทวดาเป็นนิตย์ และได้ยิงเสียงเพลงขับ เสียงดนตรี อันไพเราะจับใจ และเขาได้ยินเสียงของบุรุษ สตรี เด็กชาย เด็กหญิงทั้งหลายด้วย

11    เขาย่อมได้ยินเสียงสัตว์ที่อาศัยตามภูเขาทั้งหลาย เสียงนกการเวก นกดุเหว่า นกยูง และบรรดานกน้อยใหญ่ทั้งหลาย ที่มีชีวิต เขาย่อมได้ยินเสียงอันไพเราะของสัตว์เหล่านั้น

12    เปรตทั้งหลายที่เจ็บปวดด้วยทุกขเวทนาในนรก ย่อมส่งเสียงร้องอย่างโหยหวน แม้พวกเปรตที่ถูกบีบคั้นด้วยทุกขเวทนาเรื่องอาหาร ก็ส่งเสียงร้องอย่างนั้นเหมือนกัน

13    เช่นเดียวกับอสูรและสัตว์ทั้งหลาย ที่อาศัยอยู่ในท่ามกลางทะเล ย่อมส่งเสียงร้องต่างๆกัน เขาผู้แสดงธรรมที่กำลังยืนอยู่บนโลกนี้ ย่อมได้ยินเสียงทั้งปวงและเสียงนั้นไม่อาจครอบงำเขาได้

14    เขาผู้ยืนอยู่บนโลกนี้ ย่อมได้ยินเสียงต่างๆ มากมายของสัตว์ทั้งหลาย ที่กำลังสนทนากัน ในแหล่งที่อยู่ของตน

15    เขาย่อมได้ยินเสียงของเทพที่อยู่ในพรหมโลก ที่อยู่ในอกนิษฐพรหม และอาภัสรพรหม ซึ่งกำลังสนทนากัน

16    เขาย่อมได้ยินเสียงของภิกษุทั้งหลายในโลกนี้อยู่เป็นนิตย์ ที่กำลังสาธยายธรรมอยู่ ครั้งได้รับคำสั่งจากพระสุคต จึงแสดงธรรมในท่ามกลางบริษัททั้งหลาย

17    เขาย่อมได้ยินเสียงต่างๆของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ในโลกธาตุนี้ ที่กำลังสาธยายธรรมและสนทนาธรรมต่อกัน

18    พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ผู้เป็นนายสารถีฝึกนรชน ย่อมตรัสธรรมอันประเสริฐนี้ ในบริษัททั้งหลาย พระโพธิสัตว์ผู้รักษาพระสูตรนี้ จักได้ฟังธรรมอันประเสริฐนั้นในกาลครั้งหนึ่ง

19    สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงในสามพันพุทธเกษตรนี้ ย่อมส่งเสียงต่างๆ จำนวนมากทั้งภายในและภายนอก โดยต่ำสุดถึงนรกอเวจี สูงสุดถึงขอบโลกพิภพ

20    เขาย่อมได้ยินเสียงสัตว์ทั้งปวง ถ้ากายินทรีย์ของเขายังปกติ อินทรีย์ 4 ยังรับรู้หน้าที่ของตน ๆ โสตินทรีย์ ก็จะปรากฏแจ่มแจ้งเช่นกัน

21    บุคคลผู้ไม่พยายามทำโสตของตนให้เป็นทิพย์ แต่ให้คงอยู่โดยธรรมชาติ นี้คือคุณความดีของผู้รักษาพระสูตรนี้

       ดูก่อนสตตสมิตาภิยุกติ นอกจากนั้น ฆานินทรีย์ของพระโพธิสัตว์มหาสัตว์ ผู้รักษา ประกาศ ศึกษา และคัดลอกพระสูตรนี้ เป็นฆานินทรีย์ที่บริสุทธิ์ ประกอบด้วยคุณลักษณะ 800 ประการ เพราะฆานินทรีย์ที่บริสุทธิ์นั้น เขาจึงรับรู้กลิ่นต่างๆ ในโลกธาตุทั้งสาม ซึ่งมีจำนวนหลายพัน ทั้งภายในและภายนอก เช่นกลิ่นเหม็น กลิ่นที่น่าพึงพอใจ กลิ่นดอกไม้ทั้งหลายซึ่งมีประการต่างๆ เช่น กลิ่นดอกมะลิซ้อน กลิ่นดอกมะลิ กลิ่นดอกจำปาและกลิ่นดอกกุหลาบ เป็นต้น เขาสามารถรับรู้กลิ่นเหล่านั้น เขาย่อมรับรู้กลิ่นต่างๆ ของดอกไม้ แม้ที่เกิดในน้ำ เช่น เขารับรู้กลิ่นดอกอุบล กลิ่นดอกบัว กลิ่นดอกโกมุท และกลิ่นดอกปุณฑริก เขาย่อมรับรู้กลิ่นดอกและกลิ่นผลของไม้ดอกและไม้ผลต่างๆ เช่น เขาย่อมรับรู้กลิ่นไม้จันทน์ กลิ่นใบยาสูบ กลิ่นดอกพุด กลิ่นต้นกฤษณา และกลิ่นดอกสารภี
 
เขาผู้ยืนอยู่ในที่เดียว ย่อมรับรู้กลิ่นทั้งปวง ที่แยกได้ร้อยพันกลิ่นแตกต่างกัน เขาย่อมรับรู้กลิ่นต่างๆ ของสัตว์ทั้งหลาย เช่น เขาย่อมรับรู้กลิ่นของ ช้าง ม้า วัว แพะ และสัตว์เลี้ยงทั้งหลาย เขาย่อมรับรู้กลิ่นกายของสัตว์ต่างๆที่ถือกำเนิดในสัตว์ ดิรัจฉาน เขาย่อมรับรู้กลิ่นอาตมภาวะของสตรีและบุรุษ เขาย่อมรับรู้กลิ่นอาตมภาวะของเด็กชายและเด็กหญิง เขาย่อมรับรู้กลิ่นของหญ้า พุ่มไม้ สมุนไพร และต้นไม้ทั้งหลาย ซึ่งอยู่ในที่ไกล เขาย่อมรับรู้กลิ่นทั้งหลายตามความเป็นจริง เขาไม่เสื่อม ไม่หลงจากกลิ่นเหล่านั้น แม้ยืนอยู่ในที่นี้ เขาย่อมได้กลิ่นเทวดาทั้งหลาย เช่น ได้กลิ่นดอกไม้ทิพย์ของต้นปาริชาติ ต้นโกวิทาระ ต้นมณทารพน้อยใหญ่ และต้นคำน้อยใหญ่ เขาย่อมรับรู้กลิ่นผงกฤษณาและผงไม้จันทน์อันเป็นทิพย์ เขาย่อมรับรู้กลิ่นดอกไม้ประเภทต่างๆ อันเป็นทิพย์หลายร้อยพันชนิด

และเขาย่อมรู้จักชื่อของดอกไม้เหล่านั้น เขาย่อมรับรู้กลิ่นอาตมภาวะของเทวบุตรทั้งหลาย เช่นกลิ่นอาตมภาวะของท้าวสักกะ ผู้เป็นใหญ่แห่งเทพทั้งหลาย เขาย่อมรู้ว่า ท้าวสักกะนั้น กำลังเล่น กำลังยินดี หรือกำลังเพลิดเพลินอยู่ในปราสาทไวชยันต์ หรือกำลังแสดงธรรมแก่เทพทั้งหลาย ที่สุธรรมาเทวสภา บนสวรรค์ชั้นตรัยตรึงศ์ หรือกำลังไปเพื่อการเล่นในสนามแห่งอุทยาน เขาย่อมรับรู้กลิ่นอาตมภาวะของเทวบุตรทั้งหลายเหล่าอื่น ไม่เว้นแต่ละองค์ เขาย่อมรับรู้กลิ่นอาตมภาวะ ของเทพกุมารีและเทพสตรีทั้งหลาย เขาย่อมรับรู้กลิ่นอาตมภาวะของเทพกุมารทั้งหลาย เขาย่อมรับรู้กลิ่นอาตมภาวะของเทพกุมาริกาทั้งหลาย แต่เขาไม่ยึดติดด้วยกลิ่นเหล่านั้น โดยปริยายนี้ เขาย่อมรับรู้กลิ่นอาตมภาวะของสัตว์ทั้งหลาย

แม้ผู้ที่อุบัติขึ้นที่สุดขอบของโลกพิภพ เขาย่อมรับรู้กลิ่นอาตมภาวะของเทวบุตรทั้งหลาย ผู้เป็นกลุ่มของพระพรหมและกลุ่มของท้าวมหาพรหม โดยปริยายนี้ เขาย่อมรับรู้กลิ่นอาตมภาวะของกลุ่มเทพทั้งปวง เขาย่อมรับรู้กลิ่นอาตมภาวะของพระสาวก พระปัจเจกพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์และพระตถาคต เขาย่อมรับรู้แม้กลิ่นที่ประทับของพระตถาคต เขาย่อมรับรู้ว่า พระตถาคต พระอรหันต์ และพรสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมประทับอยู่ในที่ใด ฆานินทรีย์ของเขาจะไม่ถูกขัดขวาง ไม่ถูกรบกวนและไม่ถูกเบียดเบียนจากกลิ่นต่างๆ เหล่านั้น เมื่อปรารถนา เขาย่อมสามารถอธิบายกลิ่นต่างๆ เหล่านั้น ให้แก่บุคคลอื่นได้ และความจำของเขา จะไม่ถูกรบกวน

        ในเวลานั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า

22    เมื่อฆานินทรีย์ของเขายังบริสุทธิ์ เขาย่อมรับรู้กลิ่นต่างๆ จำนวนมากทั้งหมดที่มีอยู่ในโลกธาตุนี้ทั้งกลิ่นดีและกลิ่นเสีย

23    กลิ่นหอมของมะลิซ้อน ของดอกมะลิ ของใบยาสูบ ของไม้จันทน์ ของดอกพุด ของต้นกฤษณา ของดอกไม้และผลไม้ต่างๆ

24    เขายืนอยู่ในที่ไกล ย่อมรู้กลิ่นของสัตว์ทั้งหลาย ผู้ชายและผู้หญิง เด็กชายและเด็กหญิง เขาจะรู้ตำแหน่งที่อยู่ของชนเหล่านั้น ด้วยกลิ่น

25    เขาย่อมรู้กลิ่นของพระราชา ผู้เป็นจักรพรรดิ ขุนนางผู้เป็นจอมทัพ ขุนนางผู้ปกครองแว่นแคว้น รวมทั้งกลิ่นของกุมารและอำมาตย์ เขาย่อมรู้ชนทั้งปวงภายในเมือง เพราะกลิ่นของชนเหล่านั้น

26    พระโพธิสัตว์ย่อมรู้รัตนะสำหรับใช้สอยต่างๆ จำนวนมากและรัตนะเงินที่อยู่บนดินอีกจำนวนมาก ที่ใช้เป็นเครื่องประดับสตรี ด้วยกลิ่นของสิ่งเหล่านั้น

27    พระโพธิสัตว์ย่อมรู้เครื่องอาภรณ์อันวิจิตร ซึ่งประดับที่กายของชนเหล่านั้น เช่น ผ้า มาลัย และเครื่องลูบไล้ ด้วยกลิ่นของสิ่งเหล่านั้น

28    ผู้ฉลาดที่ทรงจำพระสูตรอันประเสริฐนี้ไว้ ย่อมรู้สตรี ที่ยืน นั่ง หรือนอน และย่อมรู้ความยินดีในการเล่น กำลังแห่งฤทธิ์ทั้งปวง ด้วยอำนาจฆานินทรีย์

29    เขาผู้ยืนอยู่นั้น ย่อมได้กลิ่นน้ำมันหอม กลิ่นดอกไม้และกลิ่นผลไม้ชนิดต่างๆและเขาย่อมรู้จักกลิ่นเหล่านั้นว่า มีอยู่ในที่โน้นหรือที่นี่

30    เขาย่อมรู้ไม้จันทน์จำนวนมากที่ผลิดอกระหว่างซอกและสัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในซอกเขานั้น ได้ไม่ยากนัก ก็เพราะกลิ่นของสิ่งทั้งปวงเหล่านั้น

31    สัตว์ทั้งหลายที่อยู่ใกล้จักรวาล ท่ามกลางมหาสมุทรหรือท่ามกลางพื้นพิภพ เขาย่อมรู้จักสัตว์เหล่านั้นได้ด้วยกลิ่น

32    เขารู้จักเทพ ยักษ์ และธิดาของยักษ์ เขารู้จักการละเล่นและความยินดีของยักษ์ ประสบการณ์เช่นนี้ เป็นเพราะพลังแห่งฆานินทรีย์ของเขา

33    เพราะฆานินทรีย์นั้น เขาจึงรู้จักที่อยู่ของสัตว์ 4 เท้าในป่า เช่น สิงห์ เสือ ช้าง งู กระบือ โคและโคป่า

34    จากกลิ่นนั้น เขาย่อมรู้ทารกในครรภ์ของสตรี ซึ่งมีกายกำลังปั่นป่วนอยู่ในท้องว่า เป็นเพศชาย หรือเพศหญิง

35    เขาย่อมรู้ว่า สัตว์มาถึงแล้ว(ใกล้จะคลอด) เขารู้ด้วยว่า สัตว์นั้นจะตายหรือไม่ตาย สตรีผู้นี้ เมื่อหายเจ็บปวดแล้ว จะคลอดบุตรชายผู้มีบุญ

36    เขาย่อมรู้จักคนหลายประเภท เช่นเดียวกับที่เขารับรู้กลิ่นของบุคคลแต่ละประเภท เช่น คนมีความรัก คนเลว คนกลับกลอก และเขาย่อมรู้กลิ่นของบุคคลที่มีจิตสงบแล้วด้วย

37    พระโพธิสัตว์นั้น ย่อมรับรู้ด้วยกลิ่นว่า มีทรัพย์ฝังอยู่ภายในพื้นดิน เช่นทรัพย์ เงิน ทองรูปพรรณ ภาชนโลหะ รวมทั้งทองแท่ง

38    ด้วยกลิ่นนั้นเอง เขาย่อมรู้สิ่งเหล่านั้นทั้งหมด คือสร้อยข้อมือ สร้อยคอ แก้วมณี มุกดา รัตนะต่างๆ อันหาค่ามิได้ รวมทั้งสิ่งที่มีชื่ออันหาค่ามิได้อื่นๆ ซึ่งมีแสงเป็นประกายยิ่ง

39    ผู้เป็นปราชญ์ แม้อยู่ในโลกนี้ ย่อมได้กลิ่นดอกไม้ในสวรรค์ชั้นสูงสุด เช่นกลิ่นดอกมณฑารพ ดอกมัญชูษกะ(ดอกคำ) และดอกปาริชาต

40    ด้วยอำนาจของฆานินทรีย์ เขาผู้ดำรงอยู่ในโลกนี้ ย่อมรู้กลิ่นวิมานของผู้เช่นนี้ สูง ต่ำ ปานกลาง หรือมีรูปทรงงดงามปานใด

41    เขาย่อมรู้พื้นที่ในอุทยาน ที่นั่งของเทพในไวชยันต์ อันเป็นปราสาทที่ดีที่สูดในสุธรรมศาลา เขาย่อมรู้เทพบุตรทั้งหลาย ที่กำลังรื่นเริงอยู่ในที่นั่น

42    เขาผู้อยู่ในโลกนี้ ย่อมได้กลิ่นของเทวดาเหล่านั้น เพราะกลิ่นนั้นเอง เขาจึงรู้จักเทพบุตรทั้งหลาย ผู้กำลังทำงาน กำลังยืน กำลังนอน หรือกำลังเดินอยู่

43    ด้วยกลิ่นนั้น พระโพธิสัตว์ย่อมรู้ว่า นางเทวกัญญา ที่ประดับด้วยดอกไม้นานาชนิด ประดับด้วยอาภรณ์คือมาลักมุกดา กำลังร่างเริงและเดินอยู่ ณ ที่ใด

44    ด้วยกลิ่นนั้น เขาย่อมรู้ว่า เทพ พรหม มหาพรหม ผู้อยู่ในวิมานสูงสุดยอดพิภพ กำลังอยู่ในสมาธิ หรืออกจากสมาธิแล้ว

45    เขาย่อมรู้เทวบุตรทั้งหลาย ผู้อยู่ในชั้นอาภัสระ ที่กำลังจุติและอุบัติขึ้น และเทวบุตรอื่นๆ ที่ไม่มีมาก่อน ฆานินทรีย์อย่างนี้ ย่อมมีแก่พระโพธิสัตว์ผู้รักษาพระสูตรนี้เท่านั้น

46    พระโพธิสัตว์นั้น ย่อมรู้จักภิกษุทั้งปวง ในศาสนาของพระสุคต ผู้ประกอบความเพียรในการจงกรม ผู้มีความยินดีในธรรมบรรยายและการเรียนรู้

47    ด้วยกลิ่นนั้นเขาผู้มีปัญญา ย่อมรู้จักภิกษุ ผู้เป็นสาวกชินบุตรผู้อาศัยอยู่ ณ โคนต้นไม้ และรู้จักภิกษุทั้งปวงเหล่านั้นว่า ภิกษุชื่อโน้น ย่อมอาศัยอยู่ ณ ที่โน้น

48    ด้วยกลิ่นนั้น พระโพธิสัตว์ย่อมรู้ว่าพระโพธิสัตว์เหล่าอื่น มีสติ สมาธิ ยินดีในการบรรยายและเรียนรู้ ย่อมประกาศธรรมในบริษัททั้งหลายเพียงใด

49    ด้วยกลิ่นนั้น พระโพธิสัตว์ย่อมรู้จักพระสุคตมหามุนี ผู้อนุเคราะห์ประโยชน์ ผู้ควรสักการะ ผู้ประกาศธรรมในท่ามกลางหมู่สาวก ซึ่งอยู่ในทิศใดก็ตามว่า นั้นคือพระโลกนาถ

50    พระโพธิสัตว์ผู้อยู่ในโลกนี้ ย่อมรู้สัตว์ทั้งหลายที่ฟังธรรม ครั้นฟังแล้วก็มีความยินดี ทั้งย่อมรู้บริษัททั้งปวงของพระชินเจ้าด้วย

51     อำนาจแห่งฆานินทรีย์ของเขาเป็นเช่นนี้ ทิพยฆานินทรีย์ของเขาย่อมไม่มี เพราะฆานินทรีย์อย่างนี้ของเขาเป็นของธรรมดา ฆานินทรีย์ที่เป็นทิพย์จึงไม่เศร้าหมอง



หัวข้อ: Re: สัทธรรมปุณฑริกสูตร บทที่ 18 ว่าด้วยอานิสงส์ของผู้กล่าวธรรม
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 23 มิถุนายน 2554 12:11:33


(http://board.palungjit.com/attachment.php?attachmentid=396154&d=1220923063)

 ดูก่อนสตตสมิตาภิยุกตะ กุลบุตรหรือกุลธิดานั้น ผู้รักษา แสดง ประกาศ คัดลอกซึ่งธรรมบรรยายนี้ ย่อมได้ชิวหินทรีย์ ที่ประกอบด้วยชิวหาคุณลักษณะ 1,200 ประการเหล่านนั้น เขาย่อมลิ้มรสเหล่าใดด้วยชิวหินทรีย์ที่มีลักษณะอย่างนั้น เขาวางรสเหล่าใดลงที่ชิวหินทรีย์รสเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมให้รสประเสริฐอันเป็นทิพย์ เขาจะไม่ลิ้มรสอันไม่เป็นที่พอใจ โดยประการใด เขาจักลิ้มรสโดยประการนั้น เพราะรสอันไม่เป็นที่พอใจเหล่านั้นที่เขาวางลงบนชิวหินทร์ ย่อมให้รสอันเป็นทิพย์ เขาไปเผยแพร่ธรรมใดในท่ามกลางบริษัท สัตว์ทั้งหลายจักเป็นผู้มีอินทรีย์เอิบอิ่ม มีความปีติ ยินดีปราโมทย์เป็นอย่างยิ่ง กับการแสดงธรรมของเขาสำเนียงของเขานั้น นุ่มนวล ลึกซึ้ง ไพเราะจับใจ น่ายินดี  จักแผ่ซ่านเข้าสู่จิตใจ(ของผู้ฟัง)

สัตว์ทั้งหลายผู้ยินดี ด้วยธรรมของเขา จักมีจิตใจที่สูงขึ้น เขาแสดงธรรมแก่ชนเหล่าใด ชนเหล่านั้นและเทวดาทั้งหลาย เมื่อได้ฟังเสียงอันไพเราะ นุ่นนวลจับใจของเขาแล้ว ย่อมคิดถึงเขาว่า เป็นผู้ที่ตนควรเข้าหา เพื่อชื่นชม ไหว้ เข้าไปนั่งใกล้ และเพื่อฟังธรรม แม้เทวบุตร แม้เทวกัญญาทั้งหลาย ก็คิดถึงเขาว่า เป็นผู้ที่คนควรเข้าหา เพื่อชื่นชม ไหว้ เข้าไปนั่งใกล้ และเพื่อฟังธรรม แม้ท้าวสักกะ แม้พระพรหม และเทวบุตรพรหมกายิกา ก็คิดถึงเขาว่า เป็นผู้ที่ตนควรเข้าหา เพื่อชื่นชน ไหว้ เข้าไปนั่งใกล้ และเพื่อฟังธรรม แม้นาค และนาคกัญญา ก็คิดถึงเขาว่า เป็นผู้ที่ตนควรเข้าหา เพื่อชื่นชม ไหว้ เข้าไปนั่งใกล้ และเพื่อฟังธรรม

แม้อสูรและอสูรกัญญา ก็คิดถึงเขาว่าเป็นผู้ที่ตนควรเข้าหา เพื่อชื่นชม ไหว้ เข้าไปนั่งใกล้ และเพื่อฟังธรรม แม้ครุฑและครุฑกัญญา ก็คิดถึงเขาว่า เป็นผู้ที่ตนควรเข้าหา เพื่อชื่นชม ไหว้ เข้าไปนั่งใกล้ และเพื่อฟังธรรม แม้กินนร กินนรกัญญา มโหรคะ มโหรคกัญญา ยักษ์ ยักษกัญญา ปีศาจ ปีศาจกัญญา ก็คิดถึงเขาว่า เป็นผู้ที่ตนควรเข้าหา เพื่อชื่นชม ไหว้ เข้าไปนั่งใกล้ และเพื่อฟังธรรม  ชนเหล่านั้น จักทำสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยกย่อง นอบน้อม แก่เขา แม้ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ก็ปรารถนาจะพบเขาแม้พระราชา พระราชบุตร ราชอำมาตย์ ราชมหาอำมาตย์ ก็ปรารถนาจะพบเขา แม้พระราชา ผู้เป็นจอมทัพ

แม้พระเจ้าจักรพรรดิ ผู้ประกอบด้วยรัตนะ 7 พร้อมด้วยพระกุมาร อำมาตย์ และบริวารภายในราชสำนัก ต่างก็ปรารถนาจะพบเขา เพื่อทำสักการะ เขาผู้กล่าวธรรมอันไพเราะนั้น จักกล่าวธรรมตามความเป็นจริง ตามที่พระตถาคตตรัสไว้แล้ว แม้บุคคลอื่นๆ คือ พราหมณ์ คฤหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท จักผูกพันกับคำสอนที่มีเหตุผลของผู้กล่าวธรรมนั้น จนกระทั่งสิ้นชีวิต แม้พระสาวกของพระตถาคต ก็ปรารถนาจะพบเขา แม้พระปัจเจกพุทธเจ้า ก็ปรารถนาจะพบเขา แม้พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าก็ปรารถนาจะพบเขา กุลบุตรหรือกุลธิดานั้น อาศัยอยู่ในทิศใดก็ตาม เขาจักแสดงต่อพระพักตร์ของพระตถาคตในทิศนั้น เขาจึงเหมาะสมกับพุทธธรรม เสียงแห่งธรรม อันไพเราะ จับใจ และลึกซึ้งของเขาจึงแพร่ไปด้วยประการฉะนี้

        ในเวลานั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า

52    ชิวหินทรีย์ของเขา จะมีความรู้สึกเป็นเลิศ เขาจะไม่ลิ้มรสที่เสื่อมคุณภาพ รสทั้งหลายเพียงวางลง (ที่ปลายลิ้นของเขา ก็จะกลายเป็นรสทิพย์ และอาหารนั้นก็จะประกอบด้วยรสทิพย์เช่นกัน

53    เขาย่อมกล่าวถ้อยคำที่นุ่มนวล ไพเราะ น่าฟัง น่าปรารถนา น่ายินดี เขากล่าวด้วยเสียงที่ลุ่มลึกน่ารักเสมอ ในท่ามกลางบริษัท

54    ผู้ใดก็ตาม หากได้ฟังธรรมที่เขาแสดงอยู่ ด้วยอุทาหรณ์มากมายหลายหมื่นโกฏิ เขาจะเกิดความปิติยินดี จักทำการบูชาด้วยความเคารพรักอย่างยิ่ง

55    เทพ นาค อสูร และปีศาจทั้งหลาย ย่อมปรารถนาจะพบเขาและฟังธรรมของเขา ด้วรความเคารพตลอดกาลเป็นนิตย์ เพราะคุณธรรมเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมมีอยู่ที่เขา

56    เมื่อปรารถนา เขาสามารถยังโลกธาตุนี้ทั้งหมด ให้รับรู้ได้ด้วยเสียง (ของตน) เพราะเสียงของเขา ไพเราะ ลึกซึ้ง นุ่มนวล มีเสน่ห์ และน่ารักอย่างยิ่ง

57    พระราชาทั้งหลาย ผู้เป็นเจ้าแผ่นดิน ผู้เป็นพระจักพรรดิ พร้อมด้วยบุตรและมเหสีปรารถนาจะทำการบูชา จึงเข้าไปหา ประคองอัญชลีต่อเขา เพื่อฟังธรรมจากเขา ตลอดกาลเป็นนิตย์

58    ยักษ์ นาค หมู่คนธรรพ์ ปีศาจชาย ปีศาจหญิง จะติดตามเขาไปทุกเมื่อ เพื่อแสดงความเคารพ นับถือและบูชา

59    แม้พระพรหม พระอิศวร ผู้เป็นมเหศวร และเทวบุตรก็อยู่ในอำนาจของเขา แม้ท้าวสักกะ เทวบุตรอื่นๆ และเทวกัญญาอีจำนวนมาก ก็เช่นกัน คือ ย่อมเข้าไปหาเข้า

60    พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้มีความเมตตากรุณาต่อชาวโลก พร้อมด้วยพระสาวก เมื่อได้ยินเสียงของเขา ก็ทรงยินดี ทรงคุ้มครอง รักษาเขา ด้วยการปรากฏพระพักตร์ต่อเขาที่กำลังแสดงธรรมอยู่

        ดูก่อนสตตสมิตาภิยุกตะ นอกจากนั้น พระโพธิสัตว์มหาสัตว์  ผู้รักษา ท่อง ประกาศ แสดง หรือคัดลอก ธรรมบรรยายนี้ ย่อมได้รับร่างกายที่ประกอบด้วยคุณลักษณะ 800 ประการ กายของเขาบริสุทธิ์ผ่องใส มีผิวพรรณผ่องใสดุจแก้วไพฑูรย์ เป็นที่รักและน่าทัศนาของสัตว์ทั้งหลาย ในกายบริสุทธิ์นั้น เขาสามารถมองเห็นโลกธาตุทั้งปวง ที่มีจำนวนหลายพันนั้นได้สัตว์เหล่าใดในโลกธาตุทั้งหลายนั้น ทั้งที่ดับไปแล้วและเกิดขึ้น ทั้งเลวและประณีต ทั้งที่มีวรรณะดีและมีวรรณะไม่ดี ทั้งที่อยู่ในสุคติและทุคติ ทั้งที่อยู่ในจักรวาล และมหาจักรวาล ทั้งที่อยู่บนภูเขาหลวงเมรุและสุเมรุ และสัตว์ทั้งหลายที่อยู่ต่ำสุดภายใต้นรกอเวจี จนถึงสูงสุดขอบโลกพิภพ เขาย่อมเห็นสัตว์เหล่านั้นทั้งหมด ในกายของตน พระสาวก พระปัจเจกพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ และพระตถาคต ที่อยู่ในหลายพันโลกธาตุ พระตถาคตเหล่านั้น ย่อมแสดงธรรมใดสัตว์ทั้งหลาย ย่อมเข้าไปนั่งใกล้พระตถาคตเหล่านั้น เขาย่อมเห็น เขาผู้ได้รับอาตมภาวะของสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น จึงเห็นสัตว์เหล่านั้น ในกายของตน ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร? เป็นเพราะกายของเขามีความบริสุทธิ์อย่างยิ่ง

        ในเวลานั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า

61    กายของเขาบริสุทธิ์ผ่องใสอย่างยิ่ง ราวกับสำเร็จจากแก้วไพฑูรย์ ผู้ที่รักษาพระสูตรอันยิ่งใหญ่นี้ ย่อมเป็นที่น่ารัก เป็นที่น่าทัศนาของสัตว์ทั้งหลายเป็นนิตย์

62    โลกทั้งปวงย่อมปรากฏขนกายของเขา เหมือนภาพที่ปรากฏบนแผ่นกระจก เขาผู้เป็นพระสยัมภู ย่อมไม่เห็นสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ เป็นอื่น บนกายอันบริสุทธิ์ของเขา

63    สัตว์ทั้งหลายในโลกธาตุนี้ จะเป็นมนุษย์ เทพ อสูร ปีศาจในนรก ในแปดวิสัย และในกำเนิดดิรัจฉาน ล้วนปรากฏเป็นภาพบนกายของเขา

64    วิมานของเทพจนสุดขอบโลกพิภพ ภูเขา เนิน จักรวาล ป่าหิมพานต์ เขาสุเมรุ และภูเขามหาสุเมรุ ทั้งหมดล้วนปรากฏขนกายของเขา

65    เขาย่อมเห็นพระพุทธเจ้า รวมทั้งพระสาวก พระพุทธบุตรอื่นๆ พระโพธิสัตว์และผู้ประกาศธรรมแก่คณะทั้งหลาย ที่กายของตน

66    นี้คือความบริสุทธิ์แห่งกายของเขา ที่ปรากฏโลกธาตุทั้งปวง แม้กายของเขายังไม่ถึงความเป็นทิพย์ แต่กายตามปกติของเขาก็เป็นเช่นนี้

       ดูก่อนสตตสมิตาภิยุกตะ ยังมีอีก เมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้ว พระโพธิสัตว์มหาสัตว์ผู้รักษา แสดง ประกาศ คัดลอก อ่าน ธรรมบรรยายนี้ ย่อมมีมนินทรีย์บริสุทธิ์ ที่ประกอบด้วยคุณแห่งมนสิการ 1200 ประการเหล่านั้น ด้งมนินทรีย์อันบริสุทธิ์นั้น โดยที่สุด แม้เขาได้ฟังเพียงคาถาเดียว เขาก็ย่อมเข้าใจความหมายทั้งปวงของธรรมนั้น เขาเมื่อเข้าใจคาถานั้นแล้วย่อมแสดงธรรมอันประถมเหตุ นั้น ตลอดหนึ่งเดือนบ้าง จักแสดงธรรมตลอดสี่เดือนบ้าง หนึ่งปีบ้าง เมื่อเขาแสดงธรรมใดๆธรรมนั้นย่อมไม่ถึงการเลือนหายไป จากความทรงจำของระเบียบสังคมของชาวโลก จะเป็นภาษิตคือมนตราก็ดีเขาย่อมยังระเบียบเหล่านั้นทั้งหมดแสดงออกด้วยกฎแห่งธรรม สัตว์ที่อุบัติขึ้น ย่อมวนเวียนอยู่ในคติทั้งหก ในโลกธาตุทั้งสามซึ่งมีจำนวนหลายพัน เขาย่อมรู้ความคิด ความประพฤติ และความเคลื่อนไหวของสัตว์ทั้งปวงเหล่านั้น เขาย่อมรู้ ย่อมทราบ สิ่งที่สัตว์ทั้งหลาย บูชา คิด และต้องการ แม้ว่า เขายังไม่ได้ฌานอันประเสริฐ แต่มนินทรีย์ของเขาบริสุทธิ์ถึงปานนี้ เขาได้พิจารณาถึงนิรุกติแห่งธรรมแล้วจึงจะแสดงธรรม เขาจึงแสดงธรรมทั้งปวง ตามความเป็นจริง เขาย่อมกล่าวถึงธรรมทั้งปวงนั้นที่พระตถาคตตรัสแล้วทั้งหมด ซึ่งปรากฏอยู่ทั่วไป ในพระสูตรของพระชินเจ้าองค์ก่อน

        เวลานั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า

67    มนินทรีย์ของเขานั้น สะอาด ผ่องใส บริสุทธิ์ ไม่ขุ่นมัว ด้วยจิตที่ผ่องใสนั้น เขาจึงสามารถแสดงธรรมต่างๆ ทั้งต่ำ สูง และปานกลาง

68    ผู้เป็นปราชญ์ ได้ฟังแม้เพียงคาถาเดียว ย่อมเข้าใจอรรถเป็นจำนวนมากของธรรมนั้นได้ แล้วแสดงธรรมนั้นตามความเป็นจริง ตลอดหนึ่งเดือน สี่เดือน หรือหนึ่งปี

69    สัตว์ทั้งหลาย ทั้งที่อาศัยอยู่ภายในและภายนอกโลกธาตุนี้ จะเป็น เทพ มนุษย์ อสูร ปีศาจ นาค และสัตว์ในกำเนิดดิรัจฉาน

70    นักปราชญ์ย่อมทราบความคิดของสัตว์ทั้งปวง ที่อยู่ในคติหกเพียงครู่เดียวเท่านั้น นี่คืออานิสงส์ของผู้รักษาพระสูตรนี้

71    พระพุทธผู้มีลักษณะแห่งบุญ 100 ประการ ย่อมประกาศธรรมแก่ชาวโลกทั้งปวง เขาได้ฟังเสียงของพระองค์ แล้วยึดถือธรรมอันบริสุทธิ์ ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงนั้น

72    เขาใคร่พินิจธรรมอันประเสริฐจำนวนมาก เขาจึงท่องจำธรรมจำนวนมากอยู่นิรันดร์กาล เขาไม่มีการหลงลืมแม้ในกาลไหนๆ นี่ก็เป็นอานิสงส์ของการรักษาพระสูตรนี้

73    เขาย่อมรู้ความสัมพันธ์ ความไม่สัมพันธ์ และลักษณะที่แตกต่างกัน ในธรรมทั้งปวง เขาจึงสอนและอธิบายความหมายไปตามความเข้าใจ

74    พระสูตรใดที่โบราณจารย์ในโลกได้สั่งสอนกันมา เป็นเวลานาน เขาไม่มีความกลัวที่จะสอนธรรมจากพระสูตรนั้น เป็นนิจกาล ในท่ามกลางบริษัท

75    มนินทรีย์ของผู้รักษาและอ่านพระสูตรนี้ ย่อมเป็นเช่นของผู้นี้ เขายังไม่ได้ญาณที่ไม่ติดขัด แต่ญาณของเขาก็เป็นปุพพมรรค

76    ผู้รักษาพระสูตรนี้ของพระสุคต เป็นผู้ฉลาด สามารถอฺธิบายความหมายได้หลายโกฏิ ย่อมตั้งอยู่ในภูมิของอาจารย์ ฟังสอนธรรมแก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง

บทที่ 18 ธรรมภาณกานุศำสาปรวรรต ว่าด้วยอานิสงส์ของผู้กล่าวธรรม
ในธรรมบรรยาย ศรีสัทธรรมปุณฑรีกสูตร อันประเสริฐ
มีเพียงเท่านี้


(http://t0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRcl1sZyVcxqMCBYHJ_4Bat0HOoniGBsKGUecSZg5TRZQ0omrQ&t=1&usg=__FWKgmu0od29u40yNYg0Rch7bEc4=)

http://www.mahayana.in.th/tmayana/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%9B%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%91%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%81/สัทธรรมปุณทรีกะบท17-18-19.htm (http://www.mahayana.in.th/tmayana/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%9B%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%91%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%81/สัทธรรมปุณทรีกะบท17-18-19.htm)