[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => สมถภาวนา - อภิญญาจิต => ข้อความที่เริ่มโดย: Maintenence ที่ 18 กันยายน 2562 18:32:14



หัวข้อ: เจริญมรรคให้สมบูรณ์ พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จ.ชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 18 กันยายน 2562 18:32:14
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/30441379298766_67974962_2343709215667016_7851.jpg)

“เจริญมรรคให้สมบูรณ์”

ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มันไม่เที่ยงมันมีการเกิดแล้วมันจะต้องมีการดับไป มีการเจริญแล้วก็ต้องมีการเสื่อมไป พอเกิดการดับเกิดการเสื่อมก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา เพราะผู้ที่ได้สิ่งเหล่านี้จะไม่อยากให้มันดับไม่อยากให้มันเสื่อมนั่นเอง แต่ก็ไม่มีใครที่จะไปเปลี่ยนแปลงความจริงนี้ได้ ความทุกข์จึงเกิดขึ้น ทุกข์เพราะความอยาก อยากไม่ให้สิ่งต่างๆ ที่ได้มาเปลี่ยนไปเสื่อมไปจากไป แต่มันห้ามมันไม่ได้ มันเป็นอนัตตา ผู้ที่จะไม่ทุกข์ก็คือผู้ที่เห็นว่ามันเป็นอนิจจัง เห็นว่ามันเป็นอนัตตา แล้วก็จะรู้ว่าถ้าไปอยากก็จะไม่ได้ดังใจอยาก อยากให้มันไม่เสื่อมมันก็เสื่อม อยากให้มันไม่ดับมันก็ดับ เพราะไปห้ามมันไม่ได้ มันเป็นอนัตตา ก็จะละความอยาก เพราะรู้ว่าอยากไปก็จะเป็นโทษต่อจิตใจ พออยากแล้วก็จะเกิดความทุกข์ทรมานใจขึ้นมา แต่ถ้าไม่อยากความทุกข์ทรมานใจก็จะไม่เกิด ร่างกายจะเจ็บก็ไม่ทุกข์กับความเจ็บของร่างกาย ร่างกายจะแก่ก็ไม่ทุกข์กับความแก่ของร่างกาย ร่างกายจะตายก็ไม่ทุกข์กับความตายของร่างกาย เพราะไม่มีความอยากให้ร่างกายไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย เพราะรู้ว่าความอยากนี้เป็นสมุทัย เป็นต้นเหตุของความทุกข์ใจนั่นเอง ก็เลยหยุดความอยากเพราะเห็นด้วยปัญญา เห็น “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” เห็นด้วยสัมมาทิฏฐิ ก็จะไม่ทุกข์กับอะไรต่างๆ อีกต่อไปถ้ามีสัมมาทิฏฐิ เพราะจะไม่มีความอยากได้อะไร ไม่มีความอยากเป็นอะไร ไม่มีความอยากไม่เป็นอะไร ก็จะอยู่กับสิ่งต่างๆ ตามมีตามเกิดได้ อะไรจะเกิดก็อยู่กับมันไป อะไรจะดับก็อยู่กับมันไป ใจจะไม่วุ่นวาย ใจจะไม่เดือดร้อน ใจไม่มีการสิ้นสุดใจไม่ได้ตายไปกับสิ่งต่างๆ

ใจไม่มีวันตายไม่มีวันแก่ไม่มีวันเจ็บ จึงไม่ต้องไปกลัวความแก่ความเจ็บความตาย สิ่งที่แก่ที่เจ็บที่ตายไม่ใช่ใจ ใจผู้กลัวความแก่ความเจ็บความตายนี้ไม่รู้ว่าตนเองไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย เพราะไปหลงคิดว่าสิ่งที่ตนเองไปหลงคิดว่าเป็นตนเองนั้นต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ไปหลงคิดว่าร่างกายเป็นตนก็เลยต้องไปทุกข์เวลาที่ร่างกายแก่ร่างกายเจ็บร่างกายตาย แต่ถ้ามีสัมมาทิฏฐิมีปัญญาก็จะเห็นว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเราของเรา ร่างกายเป็นธาตุ ๔ ทำมาจากธาตุ ๔ ทำมาจากดินน้ำลมไฟ แล้วเดี๋ยวดินน้ำลมไฟก็จะต้องแยกออกจากร่างกายไป กลับคืนสู่ที่เดิม น้ำก็จะกลับไปหาน้ำ ลมก็จะกลับไปหาลม ไฟก็จะกลับไปหาไฟ ดินก็จะกลับไปสู่ดิน ไม่มีร่างกายไม่มีตัวตนในร่างกาย ต้องพิจารณาให้เห็นอนัตตาในร่างกายให้ได้ ถึงจะปล่อยวางร่างกายได้ ถึงจะไม่หลงไปยึดไปถือว่าร่างกายนี้เป็นตัวเราของเรา พอเห็นมันไม่ใช่เป็นตัวเราของเรา ความอยากให้มันไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย มันก็จะไม่ปรากฏ เพราะรู้ว่าห้ามมันไม่ได้ ร่างกายมันจะต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ไปอยากแล้วก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมาเปล่าๆ โดยที่ไม่ได้ไปเปลี่ยนแปลงอะไร อยากไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย ร่างกายก็แก่เจ็บตายเหมือนเดิม ไม่อยากให้ร่างกายไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตายเฉยๆ กับมัน มันก็แก่เจ็บตายเหมือนเดิม แต่ผลต่างกันที่ตรงที่ใจนี่เอง ใจจะทุกข์หรือไม่ทุกข์ก็อยู่ที่ความอยากให้ร่างกายไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตายหรือไม่ ถ้าไม่มีความอยากไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย ใจจะไม่ทุกข์ จะไม่มีความอยากได้ก็ต้องมีปัญญา ต้องมีสติที่จะสามารถห้ามความอยากได้ รู้ว่าร่างกายนี้มันไม่เที่ยงก็อย่าไปอยากให้มันเที่ยง ถ้ามันอยากให้เที่ยงก็ต้องหยุดมันด้วยสติ ถ้าไม่มีสติก็จะหยุดมันไม่ได้ อย่างตอนนี้พวกเรารู้ว่าร่างกายไม่เที่ยง รู้ว่ามันต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย แต่ก็ยังอดไม่ได้ อดไม่ได้ที่จะอยากให้มันไม่แก่ อยากให้มันไม่เจ็บ อยากให้มันไม่ตาย เวลาดูหน้าในกระจกทีไรนี้อยากจะให้มันกลับไปเหมือนเมื่อ ๒๐ ปีก่อน แต่มันก็กลับไปไม่ได้ แต่มันก็อดไม่ได้ ถ้าแหม ถ้าผมมันไม่หงอกได้ก็ดี ถ้าหนังมันไม่เหี่ยวได้ก็ดี ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันจะต้องหงอกจะต้องเหี่ยว แต่ก็ห้ามใจห้ามความอยากไม่ได้ เพราะความอยากมันเคยอยากอย่างนี้มาเป็นเวลายาวนานจนติดเป็นนิสัยมา

จะหยุดความอยากเหล่านี้ได้ต้องมีสติเท่านั้น จึงต้องมาฝึกสติกัน ถ้าเราฝึกสติได้พอเวลามองหน้าในกระจกแล้วเห็นผมหงอก อยากให้มันไม่หงอก ก็หยุดมันได้ด้วยสติ พุทโธ พุทโธ ไปหยุดความอยากไม่หงอก ก็จะรู้สึกเฉยๆ เวลาเห็นผมหงอก เวลาเห็นหนังเหี่ยวย่นก็จะรู้สึกเฉยๆ ได้ เพราะสามารถหยุดความอยาก แต่ถ้าหยุดความอยากไม่ได้ ทุกครั้งเวลามองไปที่กระจกเห็นผมหงอกเห็นหน้าตาเหี่ยวย่น เห็นมีฝ้ามีอะไรขึ้นมาจะมีความรู้สึกไม่สบายใจขึ้นมาทันที ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่ามันจะต้องเป็นอย่างนี้ แต่ความอยากมันยังไม่ได้ถูกกำจัดมันยังไม่ได้ถูกยุติลง แต่ถ้ามีสติมันก็จะสามารถหยุดความอยากได้ ทุกครั้งที่อยากพอมองแล้วเกิดความอยากไม่แก่อยากไม่เจ็บ พอหยุดความอยากได้ต่อไปความอยากมันก็จะไม่มี ทุกครั้งต่อไปมองหน้าตาในกระจกก็จะเฉยๆ รู้ว่ามันเป็นอย่างนี้ ไม่ต้องไปเปลี่ยนมันไม่ต้องไปแก้มัน ไม่ต้องไปย้อมผม ย้อมกี่วันเดี๋ยวมันก็หงอกขึ้นมาใหม่ หรือดึงหนังให้ตึงกี่ครั้งมันก็หย่อนของมันอยู่ มันจะเหนื่อยไปเปล่าๆ ในที่สุดก็ต้องยอมรับความจริง รับแบบปัญญาก็จะไม่ทุกข์ รับแบบโมหะอวิชชาก็จะทุกข์ มองทีไรก็จะทุกข์กับความแก่ของตน นี่คือวิธีการดับทุกข์ คือกิจที่พวกเราต้องมาทำกัน ที่พระพุทธเจ้าทรงมอบหมายให้พวกเรามาสร้างมรรคกันให้สมบูรณ์ กิจในอริยสัจ ๔ เราต้องมีมรรคก่อน แล้วถึงจะสามารถใช้มรรคนี้ไปกำหนดทุกข์ได้ ไปศึกษาทุกข์ ไปละสมุทัย ไปทำนิโรธให้แจ้งได้ ถ้าไม่มีมรรคนี้จะไม่สามารถกำหนดทุกข์ได้ จะไม่สามารถละตัณหาความอยากสมุทัยได้ จะไม่สามารถทำนิโรธให้แจ้งได้

ดังนั้น เราต้องมาทุ่มเทชีวิตจิตใจ เวล่ำเวลาให้กับการเจริญมรรคให้สมบูรณ์ เจริญสัมมาทิฏฐิ หมั่นพิจารณาอยู่เนืองๆ ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็น “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” เช่นร่างกายต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายเป็นธรรมดา ล่วงพ้นความแก่ความเจ็บความตายไปไม่ได้ จะต้องมีการพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา พอพิจารณาอย่างนี้แล้วจะได้เปลี่ยนความคิด ความคิดที่อยากไม่แก่ก็จะหายไป ความคิดที่จะอยากไม่เจ็บไม่ตายก็จะหายไป จะคิดว่าต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย เป็นเรื่องธรรมดาหนีไม่พ้น ก็จะคิดอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ ใจก็จะละสมุทัยได้ ละความอยากไม่แก่อยากไม่เจ็บอยากไม่ตายได้ พอละได้ก็จะไม่ทุกข์กับความแก่ความเจ็บความตายของร่างกาย อันนี้ ถ้ายังทุกข์อยู่ก็แสดงว่ามรรคยังไม่สมบูรณ์ สติยังไม่สมบูรณ์ ปัญญายังไม่สมบูรณ์ ก็ต้องมาฝึกสติ มาบ่อยๆ มาฝึกสติมานั่งสมาธิทำใจให้นิ่งให้สงบ เพราะเวลาใจนิ่งสงบเท่านั้นแหละถึงจะหยุดความอยาก ถึงจะละตัณหาได้ ถ้าใจยังไม่สงบนี้ละไม่ได้ ถึงแม้จะมีปัญญา ถึงแม้จะรู้ว่าร่างกายเป็น “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” รู้ว่าต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย แต่ก็ยังทุกข์กับความแก่ความเจ็บความตายอยู่ เพราะยังไม่สามารถทำใจให้สงบได้ จึงต้องมาฝึกสติ มานั่งสมาธิ นั่งให้จนกว่าจิตจะรวมเป็นสมาธิเข้าสู่ความสงบได้ แล้วทำความสงบนี้ให้มันมีเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ จนมันสามารถอยู่ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ในสมาธิหรือออกจากสมาธิ ก็สงบอยู่ตลอดเวลา

ถ้าสงบอย่างนั้นแล้วพอมีปัญญาพิจารณาเห็นว่าสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ไม่เที่ยง มีเกิดมีดับ ก็จะไม่รู้สึกมีความทุกข์กับการเกิดการดับของสิ่งต่างๆ จะไม่มีความทุกข์กับการแก่การเจ็บการตายของร่างกาย เพราะสามารถรักษาใจให้สงบให้นิ่งอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้มีความรู้สึกอยากให้ไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย คือใจเป็นอุเบกขาตลอดเวลานั่นเอง ใจจะไม่รักไม่ชังไม่กลัวไม่หลงกับเหตุการณ์ต่างๆ กับบุคคลต่างๆ กับสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเกิดหรือจะดับ จะเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา

ธรรมะบนเขา
วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน