[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม => ข้อความที่เริ่มโดย: มดเอ๊ก ที่ 03 พฤศจิกายน 2562 15:57:08



หัวข้อ: ผู้คนรู้จัก"พระถังซัมจั๋ง"เป็นอย่างดี ผ่านวีรกรรมการเดินทางจาก จีนไปสู่ ชมพูทวีป
เริ่มหัวข้อโดย: มดเอ๊ก ที่ 03 พฤศจิกายน 2562 15:57:08
(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn%3AANd9GcScxkXVUkeIjZvXvC_LXVSO6oQwg5EQNPZT2KAgv6pkvAdGL9G2)

ผู้คนรู้จัก"พระถังซัมจั๋ง"เป็นอย่างดี ผ่านวีรกรรมการเดินทางจาก"จีน"ไปสู่"ชมพูทวีป"เพื่ออัญเชิญ"พระไตรปิฎก"

พระถังซัมจั๋ง มีชื่อจริงว่า “ภิกษุเสวียนจั้ง”   เมื่อเกิดมานั้นชื่อว่าเฉินหุยหรือเฉินยี่ เป็นคนมณฑลเหอหนาน มีชีวิตอยู่ในช่วงประมาณ ปี พ.ศ. 1143-1207    ช่วงชีวิตของเสวียนจั้งคาบเกี่ยวกับสมัยราชวงศ์สุยกับสมัยราชวงศ์ถัง  (ยุคเดียวกับพระนางจามเทวี แห่งหริภุญชัย)

เสวียนจั้งเกิดมาในตระกูลขุนนางเดิม และเป็นตระกูลที่ทรงความรู้และให้ความสำคัญกับการเล่าเรียนอ่านเขียน เสวียนจั้งเป็นน้องเล็กสุดในบรรดาพี่น้องทั้งหมด 4 คน ทวดของเสวียนจั้งรับราชการเป็นนายอำเภอ ส่วนปู่ของเสวียนจั้งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นปราชญ์ ส่วนบิดาของเสวียนจั้งเป็นนักคิดนักปราชญ์ขงจื้อตามแบบดั้งเดิมที่ลาออกจากตำแหน่งหน้าที่และมาปลีกตัวอยู่อย่างเงียบๆ เพราะเกิดความวุ่นวายทางการเมือง

ในวัยเยาว์ เสวียนจั้งเป็นเด็กที่มีความเฉลียวฉลาดมากและฉายแววทางภูมิปัญญามาตั้งแต่เด็กๆ ขยันขันแข็งและกระตือรือร้นในอ่านตำรับตำราทางศาสนา ส่วนใหญ่เป็นตำราเก่าแก่ของจีนและงานเขียนของนักปราชญ์ยุคโบราณของจีน ถึงแม้ว่าในวัยต้นๆ จะได้รับการศึกษาตามแบบขงจื้อก็ตาม ผู้ที่ให้การศึกษาตามแบบขงจื้อให้แก่เสวียนจั้งและพี่น้องชายหญิงก็คือบิดาของพวกเขานั่นเอง แต่เสวียนจั้งนั้นมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีพี่ชายคนหนึ่งอุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา

เมื่อบิดาของเสวียนจั้งเสียชีวิตลงในปี พ.ศ.1154  เสวียนจั้งไปอาศัยอยู่กับพี่ชายที่ที่วัดชิงตู (Jingtu Monastery – 淨土寺) ตั้งอยู่ในเมืองลั่วหยัง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของมลฑลเหอหนาน อันเป็นเมืองในอาณัติของราชวงศ์สุย โดยเสวียนจั้งอาศัยอยู่ที่วัดแห่งนั้นนาน 5 ปี โดยระหว่างนั้นก็ศึกษาหาความรู้ทางศาสนาพุทธแบบมหายาน เมื่อมีอายุได้เพียง 11 ปีเสวียนจั้งสามารถสวดพระคัมภีร์ได้ พอมีอายุได้เพียง 13 ปีจึงทำการบรรพชาเป็นสามเณร

เมื่อมีอายุได้ 18 พรรษาท่านจึงกลายเป็นสามเณรที่มีชื่อเสียงมาก ได้รับการยกย่องว่าเป็น “อาจารย์แห่งพระไตรปิฎก” เพราะเป็นผู้มีความแตกฉานในสุตตันตปิฎก วินัยปิฎก และอภิธรรมปิฎก และยึดมั่นในปรัชญาของพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด อีกทั้งยังสามารถแสดงธรรมเทศนาที่เข้าใจง่าย

ในปี พ.ศ.1161 เมื่อเกิดความวุ่นวายและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของจีน เพราะเวลานั้นเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากรัชสมัยจากราชวงศ์สุยไปเป็นราชวงศ์ถัง ซึ่งราชวงศ์สุยล่มสลายลง สามเณรเสวียนจั้งกับพระภิกษุพี่ชายจึงหนีไปอยู่ที่เมืองเฉิงตูที่ตั้งอยู่ในมณฑลเสฉวนและในขณะที่บรรพชาเป็นสามเณร สามเณรเสวียนจั้งก็ออกเดินทางเพื่อไปกราบไหว้พระภิกษุสงฆ์ที่มีชื่อเสียงตามที่ต่างๆ ทั่วอาณาจักรจีน และเพื่อไปศึกษาหาความรู้จากตำราทางศาสนาพุทธที่กระจัดกระจายกันอยู่ตามที่ต่างๆ โดยได้หมั่นศึกษาพระธรรมคัมภีร์จนท่านกลายเป็นสามเณรที่มีความสามารถในการแสดงธรรมเป็นอย่างมาก

ในปี พ.ศ.1175 มีอายุได้ 20 ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่เมืองเฉิงตู แล้วเที่ยวเดินทางศึกษาพระธรรมไปทั่ว   จนไปถึงเมืองฉางอานของพระเจ้าถังไท่จงฮ่องเต้องค์ที่ 2 ของราชวงศ์ถัง  (ฉางอาน เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน   เป็นเมืองแห่งประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของโลกเมืองหนึ่ง เป็นเมืองหลวงของมณฑลส่านซี ในประเทศจีน และเป็นหนึ่งในเมืองสำคัญในประวัติศาสตร์จีน ได้เป็นเมืองหลวงของ 13 ราชวงศ์ รวมทั้ง โจว ฉิน ฮั่น และ ถัง  ซีอานยังเป็นเมืองปลายทางของเส้นทางสายไหม ซีอานมีประวัติอันยาวนานมากกว่า 3,100 ปี โดยชื่อเดิมว่า ฉางอาน )

 พอเรียนรู้พระคัมภีร์มากเข้า พระภิกษุเสวียนจั้งก็รู้สึกว่าพระคัมภีร์ที่มีอยู่ในจีนเวลานั้นไม่ค่อยเพียงพอ เนื้อความแปลได้ไม่ครบถ้วนและตีความไม่ถูกต้อง
ท่านสังเกตเห็นว่าแม้คัมภีร์เพียงหนึ่งเล่ม กลับมีคนแปลไปในความหมายที่แตกต่างส่วนใหญ่ เนื้อหามักจะขัดแย้งซึ่งกันและกัน ไม่มีตำราเล่มไหนจะเป็นมาตรฐานในการศึกษาได้เลย ท่านจึงปรารถนาที่จะศึกษาพระพุทธศาสนาให้ถ่องแท้ลึกซึ้งและถูกต้องมากกว่านี้ จึงเกิดความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเดินทางไปศึกษาพระธรรมที่อินเดียอันเป็นแหล่งต้นกำเนิดดั้งเดิมของพระพุทธศาสนา

ที่เมืองฉางอัน ภิกษุเสวียนจั้งพยายามเล่าเรียนภาษาสันสกฤตและศึกษาพระธรรมมากขึ้น เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมที่จะเดินทางไปศึกษาพระธรรมที่อินเดีย พอปี พ.ศ.1179 ก็เรียนรู้จนเกิดความเชี่ยวชาญชำนาญในภาษาสันสกฤต
ในปี พ.ศ.1180 พระภิกษุเสวียนจั้งตัดสินใจออกเดินทางไปแสวงธรรมและศึกษาพระธรรมที่มหาวิทยาลัยนาลันทา ที่อินเดีย จุดที่ท่านเริ่มออกเดินทางคือเมืองฉางอาน

ขณะนั้นมหาวิทยาลัยนาลันทาถือว่าเป็นแหล่งศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงและกิตติศัพท์อันเลื่องลือมาก เหมือนชะตากรรมได้ชักนำไว้แล้ว พระศีลภัทร ซึ่งเป็นพระอธิการบดีของมหาวิทยาลัยนาลันทา เสด็จมาเยือนฉางอัน และได้พบกับพระถังซัมจั๋ง เมื่อทราบถึงความตั้งใจของพระถังซัมจั๋งแล้ว ท่านจึงกล่าวเอาไว้ว่า “การที่ท่านจะได้เรียนรู้ความหมายของพระธรรมอันศักดิ์สิทธิ์อย่างแท้จริง ท่านควรจะมาเรียนที่มหาวิทยาลัยนาลันทาแห่งนี้ โดยเราจะเป็นพระอาจารย์ผู้ฝึกสอนท่านด้วยตัวเราเอง”

พระภิกษุเสวียนจั้งมีผู้คุ้มกันพระภิกษุเดินทางไปด้วย ณ เวลานั้นพระเจ้าถังไท่จงห้ามมิให้ผู้คนในอาณาจักรเดินทางไปดินแดนภายนอก เพราะเวลานั้นราชวงศ์ถังกำลังทำสงครามกับพวกเติร์กตะวันออกอยู่ และทรงมีราชโองการให้ปิดเส้นทางการเดินทางสู่ตะวันตกเอาไว้ โดยอนุญาตให้ชาวต่างชาติและขบวนสินค้าผ่านได้เท่านั้น [โดยบัญญัติไว้ว่า หากผู้ใดฝ่าฝืนกฏนี้ จะต้องโทษถึงขั้นประหารชีวิต]   กฎนี้ทำให้พระสงฆ์มากมายที่ต้องการจะเดินทางสู่ตะวันตกต้องหยุดความตั้งใจเอาไว้ แต่พระถังซัมจั๋งท่านเห็นว่า อุปสรรคเพียงเท่านี้ไม่สามารถจะเปลี่ยนความตั้งใจท่านได้

พระภิกษุเสวียนจั้งและคณะลอบเดินทางออกจากอาณาจักรผ่านทางเมืองเหลียงโจวของ มณฑลกานซู่และผ่านไปทางมณฑลชิงไห่ ต่อจากนั้นก็เดินทางผ่านทะเลทรายโกบีไปที่เมืองคูมุลหรือเมืองฮามิที่ปัจจุบันอยู่ในมณฑลซินเจียง ทะเลทรายโกบีขึ้นชื่อในเรื่องที่เป็นแหล่งที่ฝังร่างของนักเดินทางจำนวนมากมาย เนื่องจากในเวลากลางวันทะเลทรายแห่งนี้จะมีอุณหภูมิสูงมาก แต่พอในเวลากลางคืนกลับหนาวมาก และนอกจากอากาศที่เลวร้ายอยู่แล้วยังเป็นแหล่งที่ขาดแหล่งน้ำและแหล่งอาหาร

[เล่ากันว่า ระหว่างทางท่านก็เกือบจะถูกทางการจับไปลงโทษแต่ก็มีญาติธรรมคอยช่วยเหลือท่านอยู่เสมอ อย่างเช่นที่เมืองหนึ่งที่ท่านเดินทางผ่าน หมายจับจากทางการก็มาถึงพร้อม ๆ กัน แต่เจ้าหน้าที่ ที่ปฏิบัติหน้าที่ในเมืองนั้นเป็นผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก จึงแกล้งทำเป็นไม่เห็นท่าน ปล่อยให้ท่านสามารถเดินทางต่อไปโดยไม่ถูกจับกุมเสียก่อน]
แม้ท่านจะสามารถรอดพ้นอันตรายจากทางการมาได้ แต่อันตรายอีกมากก็ยังคงรอท่านอยู่เบื้องหน้า ซึ่งถึงแม้จะไม่ใช่ปีศาจที่จ้องจะกินเนื้อท่านเพื่อความเป็นอมตะตามนิยาย “ไซอิ๋ว” ก็ตาม แต่อันตรายเหล่านั้นก็อันตรายถึงชีวิตท่านโดยไม่แตกต่างกัน อุปสรรคแรกที่รอท่านอยู่คือทะเลทรายโกบีที่มีอุณหภูมิสูงมากในเวลากลางวัน และหนาวจับขั้วหัวใจในยามค่ำคืน อากาศที่เลวร้ายอยู่แล้ว รวมกับการขาดแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร ทำให้ทะเลทรายแห่งนี้เป็นที่ฝังร่างของนักเดินทางจำนวนมากมาย กลิ่นอายแห่งความตายอบอวลตลอดทางเดินสู่ตะวันตก

 ระหว่างทาง ท่านพบเห็นโครงกระดูก ซากพระพุทธรูปมากมาย ซึ่งท่านก็ทราบดีแก่ใจว่า เขาเหล่านี้คือผู้ที่ต้องการจะแสวงบุญไปยังดินแดนตะวันตกเช่นเดียวกับท่านนั่นเองระหว่างทะเลทรายก็มีป้อมตรวจการของทางการอยู่อีก ซึ่งพวกทหารได้รับคำสั่งมาว่า ใครก็ตามที่ผ่านมาโดยไม่มีใบผ่าน อนุญาตจากทางการแล้ว ให้ทำการปลิดชีวิตเสีย ซึ่งพระถังซัมจั๋งก็เกือบจะต้องเสียชีวิตลงจากลูกธนูของป้อมเหล่านี้ ท่านทำได้เพียงแต่หนีอย่างสุดชีวิต จนท่านหลงทางกลางทะเลทรายโดยไม่มีอาหารและน้ำดื่ม ในขณะที่ท่านใกล้จะสิ้นลมในวันที่ 5 นั้น ม้าของท่านก็พาท่านไปพบกับโอเอซิสกลางทะเลทรายซึ่งทำให้ท่านมีชีวิตรอดต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม ในเหตุการณ์นี้ พระลูกศิษย์ของท่านในภายหลังได้ทำการจดบันทึกไว้ว่า ในวันที่ 5 นั้น พระถังซัมจั๋ง นอนจมอยู่กับทรายรอความตายมาเยือนจากการขาดน้ำ ได้มีชายคนหนึ่งซึ่งมีขนาดเท่ากับยักษ์ มาเรียกท่าน แล้วบอกให้ท่านฝืนใจเดินต่อไปตามทางที่ชายผู้นี้บอก ซึ่งต่อมาก็ได้นำไปพบกับโอเอซิสนี่เอง ซึ่งชายคนนี้ถูกเชื่อว่าเป็นเทพเจ้าแห่งทราย

เมื่อผ่านทะเลทรายโกบีแล้วไปถึงเมืองฮามิ ต่อจากนั้นท่านก็เดินทางผ่านเทือกเขาเทียนซานที่อยู่ทางด้านตะวันตก และพระภิกษุเสวียนจั้งและคณะเดินทางไปถึงเมืองทูร์ฟาน (Turfan) (ปัจจุบันอยู่ในมณฑลซินเจียงในเขตปกครองตนเองของอุยกูร์) เมืองทูร์ฟาน พระภิกษุเสวียนจั้งได้พบกับผู้เจ้าเมืองนี้ที่นับถือศาสนาพุทธ  จึงได้สั่งให้สามเณรจำนวน 4 รูปพร้อมทั้งพุทธบริษัทอีก 25 คนร่วมทางเพื่อคอยอำนวยความสะดวกให้ท่านด้วย  ซึ่งได้จัดหาเสบียงให้ท่านสามารถเดินทางต่อไปได้ รวมทั้งยังทรงมอบสาส์นรับรอง ทรงมีรับสั่งไว้ว่า ไม่ว่าท่านเดินทางผ่านเมืองใด ให้แสดงสาส์นนี้ แล้วชาวเมืองกับข้าราชการในเมืองนั้นจะรับรองดูแลท่านเป็นอย่างดีอีกด้วย และของมีค่าเพื่อใช้เป็นทุนรอนในการเดินทางให้ติดตัวไปด้วย

ท่านเดินทางต่อไปโดยมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก ระหว่างเส้นทางนั้นย่อมมีโจรผู้ร้ายคอยปล้นสะดมผู้เดินทางผ่านไปผ่านมา ท่านและคณะต้องใช้เส้นทางเลี่ยงโจรผู้ร้าย โดยในระหว่างนั้นท่านได้เดินทางท่องไปตามวัดที่อาณาจักรคูชา (Kucha) ซึ่งเป็นอาณาจักรโบราณที่นับถือศาสนาพุทธและอยู่ในเส้นทางสาขาของเส้นทางสายไหม ท่านและคณะเดินทางผ่านเมืองอักสู (Aksu อยู่ในซินเจียงปัจจุบัน) และวกขึ้นไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเพื่อข้ามช่องเขาเทียนซานที่ปกคลุมไปด้วยหิมะและน้ำแข็ง เพื่อเดินทางเข้าเขตที่เป็นประเทศคีร์กีซสถานในปัจจุบัน

ในระหว่างการเดินทางนั้น มีอยู่ระยะหนึ่งที่ท่านต้องนำคณะเดินทางผ่านเขาที่ปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง ซึ่งที่นี่นั้น คณะเดินทางของท่านส่วนหนึ่งได้เสียชีวิตลงจากเหตุการณ์หิมะถล่ม บ้างถูกแท่งหิมะแทงจนเสียชีวิต บ้างก็โดนหิมะกลบฝังทั้งเป็น บ้างก็พลัดตกเหว บ้างก็หนาวตาย แต่ท่านมุ่งมั่นว่าไม่ว่าอุปสรรคจะยากเย็น ยิ่งใหญ่เพียงใด ความตั้งใจของท่านก็ไม่อาจจะสั่นคลอนได้

ปราการด่านต่อไปคือทะเลสาบอิสซิก กูล (Issyk Kul) ที่อยู่ทางตอนเหนือของเทือกเขาเทียนซาน ท่านและคณะเดินทางเลียบทะเลสาบนี้ไปจนไปถึงเมืองต็อกมัก (Tokmak ปัจจุบันอยู่ในประเทศอุซเบกิสถาน) ที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลสาบ และได้พบกับข่านแห่งเติร์กตะวันตกที่มีความสัมพันธ์อันดีกับฮ่องเต้แห่งราชวงศ์ถัง ข่านได้จัดงานเลี้ยงรับรองให้กับท่านและคณะหลังจากนั้นก็เดินทางต่อไปทางทิศตะวันตกและจากนั้นก็วกลงไปที่ทิศตะวันตกเฉียงใต้มุ่งหน้าไปที่เมืองทาสเคนท์ (Tashkent ซึ่งปัจจุบันเป็นเมืองหลวงของประเทศอุซเบกิสถาน) จากจุดนี้ไปนั้น ท่านต้องเดินทางข้ามทะเลทรายเพื่อเดินทางไปต่อที่สมาร์คานด์ (Samarkand ปัจจุบันเป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของอุซเบกิซถาน) ที่ตอนนั้นตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรเปอร์เซีย และได้พบกับวัดร้างมากมาย และท่านได้เทศน์ผู้ปกครองของดินแดนนั้นจนผู้ปกครองอาณาจักรนั้นเกิดความรู้สึกประทับใจมาก

ต่อไปคือการมุ่งหน้าลงใต้ คณะของท่านต้องเดินทางข้ามแหลมของเทือกเขาพามีร์ (Pamirs) แล้วเดินทางไปที่แม่น้ำอาร์มู ดาร์ยา (Amu Darya) และเมืองเตเมซ (Termez ปัจจุบันเป็นเมืองทางตอนใต้ของอุซเบกิสถานติดกับชายแดนอัฟกานิสถาน) ท่านได้พบชุมชนที่มีพระสงฆ์มากกว่าพันคนอยู่ในชุมชนแห่งนั้น และต่อไปก็คือการเดินทางไปทางทิศตะวันออกเพื่อผ่านเมืองคุนดุซ (Kunduz ปัจจุบันเป็นเมืองที่อยู่ทางตอนเหนือของอัฟกานิสถาน) และได้รับคำแนะนำให้เดินทางไปต่อยังเมืองบาคห์ (Balkh ในอดีตเป็นเมืองที่มีความสำคัญมากแต่ถูกทำลายลง และกลายเป็นเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งในอัฟกานิสถาน) เพื่อไปเยี่ยมชมพุทธสถานและพระสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าที่อยู่ในเมืองนั้น และท่านก็ได้พบกับพระสงฆ์จำนวนมาก และได้ทำการศึกษาพระคัมภีร์ที่มีอยู่ที่นี่และรวบรวมคัมภีร์สำคัญไว้มากมายที่เวลาต่อมาท่านได้แปลไปเป็นภาษาจีน

ท่านเดินทางผ่านเมืองบามยาน (Bamyan ปัจจุบันอยู่ในอัฟกานิสถาน) ตลอดทางท่านได้พบปะกับเหล่าภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ได้แลกเปลี่ยนความรู้ โต้วาที และได้เยี่ยมชมวัดวาอารามของดินแดนแห่งนั้น แสดงให้เห็นว่าศาสนาพุทธมีความรุ่งเรือง และได้ขยายตัวมีผู้นับมือเป็นจำนวนมากในดินแดนที่เป็นประเทศอัฟกานิสถานในอดีต

คณะของพระภิกษุเสวียนจั้งเดินทางไปถึงเมืองจาลาลาบัด (Jalalabad) และลาห์มาน (Laghman) ซึ่งทั้งสองเมืองอยู่ในเขตของประเทศอัฟกานิสถานในปัจจุบัน และการเดินทางมาถึงเมืองลาห์มานนั้นพระภิกษุเสวียนจั้งถือว่าท่านได้เดินทางมาถึงอินเดียแล้ว

พระถังซัมจั๋ง เดินทางมาถึงนาลันทา พ.ศ. ๑๓๐๐ (ค.ศ. ๗๕๗) ได้บันทึกไว้ว่า พระเจ้าหรรษวรรธนะ แห่งราชวงศ์คุปตะ พ.ศ. ๑๑๔๙–๑๑๙๑ (ค.ศ. ๖๐๖–๖๔๘) ทรงให้ความอุปถัมภ์อย่างแข็งแรง โดยทรงสร้างกุฏิเป็นโลหะทั้งหลัง ถวายราชทรัพย์ที่ได้จากภาษีหมู่บ้าน ๑๐๐ หมู่ ให้แก่มหาวิทยาลัยทั้งหมด และทรงกำหนดให้ชาวบ้าน ๒๐๐ ครัวเรือน ในหมู่บ้าน คอยดูแลจัดหาข้าวสาร นมเนย ถวายพระภิกษุในมหาวิทยาลัยไม่ให้บกพร่อง

พระเสวียนจั้งใช้เวลาศึกษาพระไตรปิฎกที่มหาวิทยาลัยนาลันทา เป็นเวลา 6 ปีก่อนออกเดินทางไปทั่วประเทศอินเดียเพื่อเปิดโลกทัศน์ให้กับตนเอง ก่อนจะออกเดินทางกลับประเทศจีนพร้อมกับพระไตรปิฎกที่คัดลอกมาจากต้นฉบับในปี พ.ศ.1186

ในเส้นทางขากลับจากอินเดีย พระเสวียนจั้งใช้เวลาเดินทางน้อยกว่าขาไปครึ่งหนึ่ง คือ ใช้เวลา 2 ปี โดยกลับถึงนครฉางอานเมื่อ ปี พ.ศ.1188 พร้อมกับอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ 150 องค์ พระไตรปิฎกจำนวน 257 เล่มสมุด บรรทุกด้วยม้าจำนวน 20 ตัว รวมระยะเวลาที่ท่านจากบ้านไปอัญเชิญพระไตรปิฎกที่อินเดียนานถึง 19 ปี รวมระยะการเดินทางกว่า 50,000 ลี้

“ระหว่างเส้นทางของการเดินทางกลับของพระเสวียนจั้ง ในบางช่วงท่านอาศัยเดินทางกับคณะพ่อค้าที่กำลังเดินทางมาค้าขายที่ฉางอาน แต่ก็โชคไม่ดีนักที่ คณะรวม 24 คนถูกโจรปล้นฆ่าเอาสินค้าไปไม่น้อย โดย สุดท้ายเมื่อมาถึงเมืองฉางอาน จากจำนวน 24 คน ต้องเสียชีวิตไปเสีย สองในสาม เหลือรอดมาได้เพียง 8 คน โดย พระเสวียนจั้งต้องขอร้องให้โจรละเว้นตัวท่านกับพระไตรปิฎกที่อุตสาหะไปนำมาจากอินเดีย”

“เมื่อกลับมาถึงเมืองจีน การเผยแพร่ศาสนาพุทธของ พระเสวียนจั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากในราชสำนักขณะนั้นฮ่องเต้ยังคงยึดถือลัทธิและคำสอนของขงจื๊อเป็นหลัก โดย กว่าที่จะกล่อมองค์ฮ่องเต้ให้หันมานับถือศาสนาพุทธได้นั้น พระเสวียนจั้งก็ต้องใช้เวลากว่า 20 ปี ตั้งแต่ ฮ่องเต้ถังไท่จง เรื่อยมาจนถึงพระราชโอรส ฮ่องเต้ถังเกาจง”

(ในยุคของถังเกาจงผู้ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการบำรุงพระพุทธศาสนาคือพระนางบูเช็กเทียน  เพราะพระนางเคยบวชเป็นแม่ชี เป็นผู้แสวงหาความรู้ อ่านเขียนได้เหมือนผู้ชาย  ทำให้พระนางเลื่อมใสในพุทธศาสนามาก เมื่อทรงมีอำนาจขึ้นจนเป็นจักพรรดินีของจีนจึงทุ่มเททุกอย่างเพื่อพุทธศาสนา จนถึงกับให้ช่างแกะสลักภูเขาหินเป็นถ้ำและพระพุทธรูปที่มีพระพักตรเหมือนพระนาง และพุทธศาสนาก็กลายเป็นศาสนาประจำชาติของจีนในยุคนี้นี่เอง  ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ศาสนิกของขงจื้อซึ่งเป็นผู้ชายและผู้คงแก่เรียนจำนวนมากไม่พอใจ การบันทึกประวัติของพระนางบูเช็กเทียนจึงออกมาทางเลวร้าย  เป็นคนโหดร้าย กิเลสหนาตัณหาจัด เลี้ยงชายหนุ่มไว้บำเรอกาม เป็นต้น  ซึ่งก็เป็นธรรมดาของโลก เมื่อถือว่าเป็นศัตรูกันก็ย่อมต้องทำลายกัน เหมือนทักษิณและยิ่งลักษณ์ถูกพวกสลิ่มและ ปชป.เขียนด่าว่าอยู่ทุกวี่วัน  เหมือนคสช.ก็ถูกฝ่ายเสื้อแดงเขียนด่าอยู่ทุกวี่วัน  ไม่ว่ายุคไหนก็เป็นเช่นนี้  แต่ในประวัติศาสตร์จีนได้ระบุไว้ว่ายุคพระนางบูเช็กเทียนบริหารประเทศนี่เองประเทศจีนและประชาชนมีความเจริญรุ่งเรือง อยู่กันอย่างมีความสุข ยกเว้นพวกเสนาบดีที่หาทางโค่นอำนาจพระนางเท่านั้นที่ถูกกำจัด ก็ถือเป็นเรื่องปกติของการแก่งแย่งอำนาจ  ถ้าพระนางไม่เข้มแข็งจะปกครองพวกบุรุษผู้ร้ายกาจได้อย่างไร)

ในเวลาต่อมาด้วยการอุทิศตนของ พระเสวียนจั้ง ท่านได้แปลพระไตรปิฎกฉบับดั้งเดิมให้เป็นภาษาจีน จำนวนมากถึง 75 เล่มสมุด 1,335 ม้วน ซึ่งในปัจจุบัน พระไตรปิฎกฉบับแปลโดย พระเสวียนจั้ง ดังกล่าวก็ยังคงใช้กันอย่างแพร่หลายในวงพุทธศาสนาของประเทศจีน

นอกจากพระไตรปิฎกฉบับแปลเป็นภาษาจีน ที่พระเสวียนจั้งได้ทิ้งไว้เป็นมรดกอันล้ำค่าสำหรับชาวจีนและชาวเอเชียตะวันออกแล้ว ท่านยังได้ทิ้ง ‘บันทึกดินแดนตะวันตกในสมัยถัง (大唐西域记)’ บันทึกประวัติศาสตร์อันมีค่ามหาศาลไว้เป็นมรดกทาง วัฒนธรรม สำหรับชาวโลกรุ่นหลังอีกด้วย

โดย https/somdejwangna blogspot.com