[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สยาม ในอดีต => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 15 พฤศจิกายน 2562 10:39:42



หัวข้อ: “หม่อมเจ้าพรรณราย”พระมเหสีผู้ทรง“ออกรับแขกเมือง” สมัยรัชกาลที่ 4
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 15 พฤศจิกายน 2562 10:39:42
.


(https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/c/cf/Princess_Pannarai.jpg)
พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย (9 พฤษภาคม พ.ศ.2381 — 22 มิถุนายน พ.ศ.2457)
พระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

“หม่อมเจ้าพรรณราย”พระมเหสีผู้ทรง“ออกรับแขกเมือง” สมัยรัชกาลที่ 4

พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย (พ.ศ.2381- 2457) มีพระนามเดิม หม่อมเจ้าพรรณราย (แฉ่ ศิริวงศ์) เป็นพระธิดาในสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ประสูติแต่หม่อมกิ่ม ทรงเป็นพระภรรยาเจ้าในรัชกาลที่ 4 ซึ่งในปี พ.ศ.2405 มีขุนนางอังกฤษระดับผู้บัญชาการเรือรบเดินทางมาเมืองไทย ซึ่งนอกจากจะเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 แล้ว ยังประสงค์จะเข้าเฝ้า “เจ้าข้างใน” แต่ขณะนั้นไม่ได้มีการสถาปนา “สมเด็จพระนาง” รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าพรรณราย “ออกรับแขกเมือง”

ซึ่งเรื่องนี้ ลาวัณย์ โชตามระ เขียนอธิบายไว้ “พระมเหสีเทวี” (สนพ.โอเดียนสโตร์ พ.ศ.2532) ซึ่งขอคัดบางบางส่วนดังนี้

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 4 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงได้รับการกล่าวขวัญถึงว่ามีพระมเหสีและพระสนมนางมากที่สุดพระองค์หนึ่ง ยิ่งฝรั่งนําไปเขียนเป็นนิยาย บรรยายว่าทรงมี “ข้างใน” เป็นจํานวนนับพัน ก็ยิ่งเชื่อกันใหญ่ว่าถ้าไม่จริงแล้วที่ไหนฝรั่งจะเขียนขึ้นเล่า

อย่างไรก็ตาม ได้มีฝรั่งคนหนึ่งเขียนแก้ไว้และมีเหตุผล คือ ดร.เอ.บี.กริสโวลด์ นักโบราณคดีอเมริกัน ได้เขียนเรื่อง King Mongkut of Siam ลงในวารสารแห่งสยามสมาคมเล่ม 44 ภาค 1 เป็นภาษาอังกฤษ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงแปลเป็นไทยไว้ มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“การมีสนมเป็นจํานวนมากเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่าเป็นการสนุกสนานส่วนพระองค์ของพระราชาเท่านั้น แต่คล้ายกับพระอินทร์เทพเจ้าผู้มีนางอัปสรเป็นจํานวนพันๆ บํารุงบําเรออยู่บนสวรรค์ ประเพณีก็สนับสนุนด้วยว่าพระราชาต้องมีสนมหลายคน นอกจากนี้การมีสนมหลายคนก็เป็นเครื่องสนับสนุนทางด้านการเมืองด้วย พระราชาอาจผูกพันความซื่อสัตย์ของเจ้าประเทศราชและขุนนางผู้มีอํานาจได้โดยทรงรับธิดาของท่านเหล่านั้นเป็นเป็นเจ้าจอม…”

หลังจากที่ทรงได้รับราชสมบัติในปี พ.ศ.2394 แล้ว ได้มีการยกพระราชวงศ์ฝ่ายในและบุตรีข้าราชการผู้ใหญ่ขึ้นถวาย บางองค์บางท่านก็มีพระราชโอรสธิดาด้วย แต่บางท่านก็ไม่มี

“ข้างใน” ที่ได้รับการสถาปนาเป็นพระมเหสีพระองค์แรก คือสมเด็จพระนางเธอโสมนัสวัฒนาวดี พระธิดาพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 3 พระองค์เจ้าลักขณานคุณสิ้นพระชนม์ตั้งแต่พระโอรสธิดายังทรงพระเยาว์มาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ 3 โปรดฯ ให้รับมาเลี้ยงไว้ในพระบรมมหาราชวัง และทรงตั้ง “หม่อมเจ้าหญิงโสมนัส” ให้เป็น “พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า” เมื่อถึงรัชกาลที่ 4 ก็ได้ทรงเป็นพระมเหสี

สมเด็จพระนางโสมนัสนั้น แม้จะทรงกําพร้าพระบิดา แต่ก็ทรงเรืองวาสนายิ่งกว่าหม่อมเจ้าหลานเธอองค์ใด เพราะเป็นที่โปรดปรานอย่างยิ่งของสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช นอกจากทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้าดังกล่าวไว้ข้างต้นแล้ว เวลาโสกันต์ก็มีงานเกือบเท่าเจ้าฟ้า และเมื่อทรง “มีครอบครัว” ก็ทรงอยู่ในฐานะสมเด็จพระอัครมเหสี ยิ่งยศกว่าพระมเหสีอื่นๆ ซึ่งเป็นหม่อมเจ้าหลานเธอในรัชกาลที่ 3 ด้วยกัน และยิ่งกําลังทรงพระครรภ์อยู่ด้วย ก็ยิ่งเป็นที่โปรดปรานของพระราชสวามี เพราะพระราชโอรสหรือธิดาที่อยู่ในพระครรภ์นั้นจะต้องทรงเป็นเจ้าฟ้าพระองค์แรกที่ประสูติในเศวตฉัตรอย่างแน่นอน

แต่การณ์ก็มิได้เป็นไปตามที่ทุกพระองค์ทรงคาดหวังและรอคอย พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ข้า บุนนาค) บรรยายเหตุการณ์ ไว้ว่า

“ในเดือน 10 นั้น พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ซึ่งเป็นพระเจ้าหลานเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นบุตรพระองค์เจ้าลักขณา พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงชุบเลี้ยงขึ้น ตั้งให้เป็นสมเด็จพระนางโสมนัสวัฒนาวดี ทรงพระประชวรเป็นพระยอดภายในที่ศูนย์พระนาภี แพทย์หมอไม่รู้ถึงพระโรค เข้าใจว่าเป็นโรคครรภรักษา ก็รักษาไป ครั้นพระครรภ์ได้ 7 เดือน ณ เดือน 11 ขึ้น 7 ค่ำ (วันจันทร์ที่ 20 กันยายน) ก็ประสูติพระราชกุมารออกมาอยู่ได้ 1 วัน ก็ดับสูญ ฝ่ายสมเด็จพระนางโสมนัสวัฒนาวดีนั้น พระยอดเป็นพระบุพโพแก่ ก็แตกออกมาที่ศูนย์พระนาภีบ้างตกข้างในบ้าง ครั้น ณ วันอาทิตย์เดือน 11 แรม 12 ค่ำ (วันอาทิตย์ที่ 10 ตุลาคม) [พ.ศ.2395] ก็สิ้นพระชนม์”

พระราชโอรสที่ประสูตินั้น ยังไม่มีพระนาม แต่เรียกกันว่า สมเด็จเจ้าฟ้าชายโสมนัส ตามพระนามของพระชนนี

เพียงหนึ่งปีบริบูรณ์ หลังจากที่สมเด็จเจ้าฟ้าชายโสมนัส สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงได้พระราชโอรสอีกพระองค์หนึ่ง เมื่อวันอังคาร แรม 2 ค่ำ ปีฉลู ตรงกับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2396 ประสูติแต่ หม่อมเจ้ารําเพย

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ บรรยายว่า

“พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณายิ่งนัก โปรดฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์เสนาบดี สมโภช พระบรมวงศานุวงศ์เสนาบดีจึงเข้าชื่อกันกราบทูลว่า ทุกวันนี้เจ้าฟ้าก็ไม่มีเหมือนแต่ก่อน ขอให้ยกขึ้นเป็นเจ้าฟ้าจะได้สมเยี่ยงอย่างแต่โบราณมา…”

ก่อนที่จะทรงยกพระราชโอรสขึ้นเป็นเจ้าฟ้า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ได้ทรงยกหม่อมเจ้ารําเพย ขึ้นเป็นพระองค์เจ้ารําเพยภมราภิรมย์ ทั้งนี้ตามธรรมเนียมราชตระกูลในเมืองไทยที่ว่า “เมื่อเป็นหม่อมเจ้าอยู่ดังนั้นก็ไม่สมควรที่จะเป็นพระมารดาเจ้าฟ้า เมื่อพระเจ้าแผ่นดินจะโปรดให้เป็นเจ้าฟ้า จึงต้องยกขึ้นให้เป็นพระองค์เจ้า”

พระราชโอรสที่ประสูติในวันที่ 20 กันยายน 2396 ได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระองค์เจ้ารําเพยภมราภิรมย์ยังทรงมีพระราชโอรสธิดาต่อมาอีก 3 พระองค์ คือสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงจันทรมณฑล สมเด็จเจ้าฟ้าชายจาตุรนต์รัศมี และสมเด็จเจ้าฟ้าชายภาณุรังษีสว่างวงศ์ พระองค์น้อยประสูติเมื่อปีมะแม พ.ศ.2402

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกย่องพระองค์เจ้ารําเพยเป็นพระอัครมเหสีมีตราประจําพระองค์ในตําแหน่งพระราชเทวีเป็นรูปมงกุฎกษัตรีบนพานแว่นฟ้า สองข้างเป็นลายกนก ทรง “อินเวนท์” ให้แต่งพระองค์ทรงพระภูษาเยียรบับ ทรงสพักผ้าตาดตะแบงมานสองพระอังสาคล้ายผ้าห่มนาง และทรงกระบังกรอบพระพักตร์ตามแบบ “ควีน” ของฝรั่ง นอกจากนั้นยังทรงฉายพระบรมรูปคู่กับพระนางเธอรําเพยภมราภิรมย์ เพียงพระองค์เดียว เป็นการยกย่องว่าพระนางเธอทรงเป็นเอก เพราะแม้จะทรงมีพระมเหสีอื่นๆ แต่ก็ไม่ได้ทรงฉายพระรูปคู่ด้วยเลย และก็กลายเป็นพระราชนิยมกลายๆ ว่าเมื่อใดที่องค์พระมหากษัตริย์ทรงฉายพระบรมรูปคู่กับพระมเหสีพระองค์ใด เมื่อนั้นก็แปลว่าพระมเหสีพระองค์นั้นทรงเป็นเอก

พระนางเธอรําเพยภมราภิรมย์ เริ่มทรงพระประชวรกระเสาะกระแสะตั้งแต่ประสูติพระราชบุตรองค์เล็กในปี พ.ศ.2402พระอาการมีแต่ทรงกับทรุด และในที่สุดก็สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2404

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาเมื่อวันพุธ แรม 13 ค่ำ เดือน 10 (วันที่ 2 ตุลาคม) ถึงคณะทูตไทยที่ไปเจริญทางพระราชไมตรียังประเทศฝรั่งเศส ทรงเล่าเรื่องที่พระนางเธอรําเพยฯ สิ้นพระชนม์ และทรงแนะนำคระทูตในการปฏิบัติตลอดจนการแต่งกายอันเหมาะสมว่า

“แม่เพอยนี้ ถึงในกรุงเทพฯ ท่านทั้งปวงรู้ว่าเป็นแต่เจ้าเล็กนายน้อยก็ดี ในเมืองที่มาทําสัญญาไมตรี และลูกค้าพาณิชต่างประเทศเป็นอันมาก เขานับถือว่าเป็นคนใหญ่คนโตตั้งแต่วันสิ้นชีวิตลงแล้ว กงสุลต่างประเทศบรรดาที่มีธง เขาก็ลดธงครึ่งเสาให้สามวัน เรือกําปั้นที่ทอดอยู่ในแม่น้ําทุกลํา กงสุลเขาก็ป่าวร้องให้ลดธงและไขว้เชือกสําแดงความให้รู้ว่าเศร้าโศกสามวัน”

พระบรมศพสมเด็จพระนางเธอรําเพยภมราภิรมย์ ได้ รับพระราชทานเพลิงที่ท้องสนามหลวงในวันที่ 19 เมษายน พ.ศ.2405

ในระหว่างที่สมเด็จพระนางเธอ รําเพยภมราภิรมย์ ยังทรงดํารงพระชนม์อยู่นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงมีพระมเหสีอื่นๆ ที่ทรงมีพระราชโอรสธิดากับพระองค์ แต่ก็ไม่ได้ทรงโปรดฯ ให้พระราชโอรสธิดาเป็นเจ้าฟ้าแต่ประการใด “ข้างใน” บางท่านก็มีที่เป็นพระธิดาเจ้าประเทศราช ก็ได้ทรงมีพระราชปรารภว่า จะให้พระราชโอรสธิดาเป็นเจ้าฟ้า บางท่านถึงกับได้รับเฉลิมพระยศเป็นพระองค์เจ้าไว้ล่วงหน้าเช่น นักเยี่ยม ธิดาสมเด็จพระเจ้านโรดม พระเจ้ากรุงกัมโพชาก็โปรดให้เป็น พระองค์เจ้ากำโพชราชสุดาดวง และเป็นขุนนางมียศมีศักดิ์มีตําแหน่งเป็นผู้บังคับการเรือรบ

ในพระราชหัตถเลขาที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงมีถึงกรมหมื่นบวรวิชัยชาญทรงเล่าถึงเรื่องราวตอนที่โปรดฯ ให้พระมเหสีองค์หนึ่งออกรับแขกเมือง เมื่อต้นเดือนมกราคม 2405 นั้นว่า

“ครั้นวันศุกร์แรม 6 ค่ำเดือนอ้าย เลอร์ด ยอนเฮ กับขุนนาง เรือรบ 8 นาย กับกงสุลอังกฤษพากันลงเรือไปเที่ยวรอบพระนคร แล้วไปหากรมหลวงวงษาธิราชสนิทแห่งหนึ่ง เจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์แห่งหนึ่ง เจ้าพระยารวิวงษ์มหาโกษาธิบดี แห่งหนึ่ง ก็ไม่ได้ไปพูดจาว่าขานการสิ่งไร เป็นแต่เชิญพวกนั้นนัดให้ไปกินโต๊ะที่บ้านกงสุลแล้วก็กลับไป ครั้นวันเสาร์แรม 7 ค่ำ เดือนอ้าย เลอร์ด ยอนเฮ กัปตันอาเล็กแษนเดอร์กับขุนนางมียศเป็นเซอร์ แลหมอรวมกัน 9 นาย เข้ามาหา ฯข้าฯ  ในท่ามกลางเจ้านายขุนนาง

ฯข้าฯ ได้ปราไสว่าท่านมานี้ด้วยประสงค์ธุระสิ่งไร ก็ว่าไม่มีธุระอันใด เป็นแต่ได้ฟังกิตติศัพท์ว่า พระเจ้าแผ่นดินฝ่ายไทยโปรดอังกฤษมาก จนหัดเรียนเขียนอ่านภาษาอังกฤษได้ เลอร์ด ยอนเฮ อยากเห็นอยากชมก็เข้ามา แลว่าเวรที่จะต้องอยู่ในทะเลยังเหลืออยู่อีก 5 เดือน แล้วจะไปลอนดอน จะได้กราบทูลแก่ควีนวิกตอเรียว่า ได้เข้ามาเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินไทย และจะใคร่เฝ้าเจ้าข้างใน แต่หาได้มาทันในเวลาโน้นไม่ ทราบว่าเจ้าข้างในสิ้นพระชนม์เสียแล้ว

เดี๋ยวนี้ตั้งเจ้าข้างในใหม่ขึ้นฤายัง ถ้าตั้งขึ้นแล้ว จะขอเฝ้าให้เป็นเกียรติยศ ได้ตอบว่า เจ้าข้างในใหม่ยังไม่มี กงสุลอังกฤษว่าแซกเข้ามาว่า น้องสาวของเจ้าข้างในเก่าที่ล่วงแล้วนั้นมีอยู่ให้มารับคํานับแทนก็ได้ เลอร์ด ยอนเฮ ก็ดีใจ รับว่าจะขอเฝ้าเจ้าน้องข้างในแค่ให้รับคํานับแทน จึงได้ไปเรียกหม่อมเจ้าพรรณรายออกมาให้รับคํานับด้วย”

หม่อมเจ้าพรรณราย ทรงร่วมพระบิดากับสมเด็จพระนางเธอรําเพยภมราภิรมย์ โดยที่เมื่อยังทรงพระเยาว์ “ทรงแสง” ยิ่ง กว่าเจ้าพี่เจ้าน้ององค์ใด จึงทรงมีพระนามสมยา (nick name) ว่า แฉ่ แม้เมื่อทรงเป็นพระมเหสีเทวีแล้ว ในบางครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ก็ตรัสเรียกว่าหญิงแฉ่ ในใบพระราชทานพระนามพระราชโอรส ทรงระบุว่า “หญิงแฉ่พรรณราย” และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งตรัสเรียกและทรงระบุถึงว่า “น้าแฉ่” เท่านั้น

หม่อมเจ้าพรรณราย ทรงมีพระราชธิดาเป็นพระองค์ใหญ่ จึงมิได้ทรงรับเฉลิมพระยศแต่ประการใด เมื่อทรง “ออกรับแขกเมือง” นั้น กําลังทรงครรภ์อยู่อ่อนๆ จากนั้นอีก 5 เดือนเศษ ก็ประสูติพระราชโอรส ในวันที่ 28 เมษายน 2460 ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานพระนามว่า “จิตรเจริญ” ทรงเป็นที่รู้จักของคนไทยและคนต่างชาติในฐานะยอดศิลปินของเมืองไทย และได้ทรงกรมมีพระนามกรมว่า “นริศรานุวัดติวงศ์



silpa-mag.com