[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 23 พฤศจิกายน 2562 18:32:23



หัวข้อ: "พระแท่นดงรัง” วัดพระแท่นดงรังวรวิหาร อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 23 พฤศจิกายน 2562 18:32:23
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/69375135625402_5_Copy_.JPG)
ในยามสุดท้ายแห่งราตรีวิสาขปูรณมี เพ็ญเดือน ๖  สุภัททะปริพพาชก มาขอเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา พระอานนท์ได้ห้ามไว้ด้วยเกรงเป็นการรบกวนพระพุทธองค์
ซึ่งทรงพระประชวร แต่พระบรมศาสดาทรงอนุญาตให้เข้าเฝ้า สุภัททะกราบทูลถามปัญหาธรรม, ทรงแสดงพระธรรมเทศนาและโปรดให้อุปสมบทเป็นภิกษุจนบรรลุ
เป็นพระอรหันต์ในคืนนั้นเอง อันเป็นปัจฉิมสาวก  จากนั้นได้ตรัสแก่พระอานนท์...“อานันทะ ดูก่อน อานนท์ วาจาที่เราสอนคนและพระนี่ มากมายเหลือเกิน
ใช้เวลาถึง ๔๕ ปี สำนวนแห่งพระสัทธรรมเทศนานี้ก็มีมาก แต่ว่าจะสรุปรวมคำสอนทั้งหมดชั่ว ๔๕ ปีนี้  จะรวมได้โดยย่อว่า อปฺมาเทน  สมฺปาเทถ
สังขารทั้งหลาย ย่อมมีเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลาย จงยังกิจให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด..”  อันเป็นปัจฉิมพุทโธวาท แล้วเสด็จสู่มหาปรินิพพาน
ในตอนย่ำรุ่งของราตรีนั้น ณ พระแท่นกลางดงรัง.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/68556145620014_1_Copy_.JPG)
"พระแท่นดงรัง” วัดพระแท่นดงรังวรวิหาร อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี ลักษณะเป็นแท่นหินขนาดใหญ่ ราบคล้ายเตียง รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/56819665928681_2_Copy_.JPG)

พระแท่นดงรัง วัดพระแท่นดงรังวรวิหาร
หมู่ที่ ๑๐ ตำบลพระแท่น อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี

วัดพระแท่นดงรังวรวิหาร เป็นพระอารามหลววงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ในเขตอำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี พื้นที่พระแท่นดงรัง เป็นเนินเขาเตี้ย และป่าไม้เบญจพรรณ  เนื้อที่ประมาณ ๒,๓๙๐ ไร่ เป็นเขตวัดพระแท่นดงรัง ประมาณ ๑๐๐ ไร่ นอกนั้นเป็น “เขตป่าสงวนแห่งชาติ พระแท่นดงรัง”

“พระแท่นดงรัง” นี้ ตั้งอยู่ในป่าดงทึบของไม้รัง จึงเรียกตามสภาพว่าพระแท่นดงรัง ค้นพบในสมัยกรุงศรีอยุธยา บริเวณป่าดงรัง มีเทือกเขา ๒ หย่อม ด้านทิศตะวันตกเรียกว่าเขาถวายพระเพลิง ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง สมมติเป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้า ส่วนด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นเทือกเขาเตี้ยๆ มีแท่งหินขนาดใหญ่คล้ายเตียงนอน รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลาดเอียง เหนือ-ใต้ ยาว แนวเหนือ-ใต้ ๕.๔๐ เมตร กว้าง เหนือ ๒.๒๐ เมตร ใต้ ๒.๐๐ เมตร สูง เหนือ ๑.๓๐ ซม. ใต้ ๐.๖๐ ซม. เล่ากันมาแต่โบราณว่าเป็นที่บรรทาปรินิพพานของพระพุทธเจ้า แต่เดิมมีต้นรังขึ้นอยู่ติดพระแท่นข้างละต้น (ดังปรากฏในนิราศพระแท่นดงรังของสามเณรกลั่น เมื่อครั้งเดินทางมานมัสการกับสุนทรภู่ เมื่อเดือน ๔ ปีมะเส็ง พ.ศ.๒๓๗๖ และฉบับของเสมียนมี หมื่นพรหมสมพัตสร แต่งไว้เมื่อเดือน ๔ ปีวอก พ.ศ.๒๓๗๙)

ในสมัยก่อนผู้คนเชื่อกันว่าเป็นพระแท่นที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ต่อมาเมื่อความรู้และข้อเท็จจริงที่ระบุชัดเจนว่าทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน ในประเทศอินเดีย ลักษณะความเชื่อจึงเป็นการจำลองสถานที่ปรินิพพานไว้แทน

สุจิตต์ วงศ์เทศ นักโบราณคดีอาวุโส เคยให้ความเห็นว่าพระแท่นดงรังมาจากคติการบูชาหินขนาดใหญ่ของคนในสมัยโบราณ เมื่อมีแนวคิดในพระพุทธศาสนาแผ่ขยายเข้ามาจึงทำให้ความเชื่อเปลี่ยนไปเป็นความเชื่อที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าแทน

พระแท่นดงรังวรวิหารสร้างในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าคงสร้างในสมัยพระเจ้าบรมโกศ (พ.ศ.๒๓๗๕-๒๓๐๐) เมื่อครั้งทรงค้นพบพระแท่นดงรัง และทรงโปรดให้ช่างหลวงสร้างพระพุทธบาทจำลองไม้เกะสลักประดับมุก ถวายเป็นพุทธบูชาไว้ ณ วิหารพระแท่น ภายในวัดมีปูชนียสถานและโบราณวัตถุ ประกอบด้วย มณฑปเขาถวายพระเพลิง รอยพระพุทธบาทจำลอง ลานนางฟ้า บันไดแก้ว บันไดนาคเจ็ดเศียร พระพุทธทวารวดีศรีมหาโชค พระสังกัจจายน์ (หลวงพ่อโต) พระอุโบสถจัตุรมุข วิหารพระแท่น วิหารบดยา วิหารพระอานนท์ พระพุทธบาทไม้ประดับมุก มณฑปพระบรมสารีริกธาตุ บ่อบ้วนพระโอษฐ์ วิหารพระพุฒมงคล รวมทั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านซึ่งตั้งอยู่ภายในวิหารพระพุฒมงคล



(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/41651188954710_8_Copy_.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/36077116305629_10_Copy_.JPG)
พระประธาน ประจำพระอุโบสถวัดพระแท่นดังรังวรวิหาร

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/88535600196984_6_Copy_.JPG)
พระอุโบสถวัดพระแท่นดงรังวรวิหาร ลักษณะ แบบจัตุรมุขทรงไทย หลังคาลดระดับ กึ่งกลางหลังคามีสายล่อฟ้ารูปฉัตร ๕ ชั้น ขนาดภายใน กว้าง ๔ วา ๒ ศอก ๙ นิ้ว
ยาว ๑๔ วา ๙ นิ้ว สูงถึงช่อฟ้า ๑๑ วา ๙ นิ้ว พื้นปูหินอ่อน ประตู หน้าต่างสลักลวดลายไทย และภาพชาดก หน้าบันพระอุโบสถด้านหน้า ภาพปั้นพญาครุฑอัญเชิญ
พระปรมาภิไธยย่อ ภปร หน้าบันด้านหลัง ภาพปั้นเทพเจ้าสุนทรีย์  หน้าบันด้านทิศตะวันออก ภาพปั้นพระพรหมธาดาทรงหงส์ และหน้าบันด้านทิศตะวันตก ภาพปั้น
พระนารายณ์ทรงครุฑ    สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺนมหาเถระ) ขณะดำรงสมณศักดิ์ ที่ พระสาสนโสภณ
วัดบวรนิเวศวิหาร ขอแบบจากกรมศิลปากรให้ เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๑๒  ระยะเวลาก่อสร้าง เริ่มเดือนมิถุนายน ๒๕๑๒ แล้วเสร็จสมบูรณ์เดือนมิถุนายน ๒๕๒๑
งบประมาณก่อสร้าง ๙ ล้านบาท ไม่รวมซุ้มครอบเสมา สิงห์คู่ และค่าปิดทองบานประตู-หน้าต่าง

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/58791462828715_11_Copy_.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/97055578645732_7_Copy_.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/79243070466650_12_Copy_.JPG)
รูปปั้นสิงห์ หน้าพระอุโบสถวัดพระแท่นดงรังวรวิหาร

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/45934208109974_3_Copy_.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/19757462872399_4_Copy_.JPG)


พระแท่นเป็นสังเวชนียสถานซึ่งมีอยู่แห่งเดียวในประเทศไทย จึงเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสแก่ชนทุกชั้นตลอดมา นับแต่สมัยโบราณเมื่อถึงกลางเดือน ๔ ของทุกๆ ปี มหาชนจากทุกสารทิศจะเดินทางรอนแรมมาเป็นเดือน ด้วยความลำบากอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะเชื่อกันว่าเป็นบุญกุศลอย่างมาก จะช่วยให้มีความสุขและเป็นมงคลแก่ชีวิตตลอดไป แม้ในปัจจุบัน เมื่อถึงกลางเดือน ๔ ยังคงมาค้างแรมกันเป็นจำนวนมากเช่นกัน  

พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ก็โปรดเสด็จมานมัสการ คือ

๑. พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (เจ้าฟ้าจุฬามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์) พ.ศ.๒๔๐๒
๒. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๘ และเคยเสด็จขณะทรงสมณเพศอยู่ในรัชกาลที่ ๓ ครั้นเมื่อเสวยราชย์แล้วโปรดให้บูรณะพระอาราม ซึ่งปรากฏตามพงศาวดารว่า “เบญจศก ๒๔๐๖ ที่พระแท่นดงรัง ก็โปรดให้ผู้ว่าราชการเมืองกรมการเมืองราชบุรี ทำวิหารและพระอุโบสถที่ค้างอยู่ให้แล้วเสร็จ แล้วให้ทำพระเจดีย์ขึ้นที่หลังพระแท่น ๑ องค์...” อาศัยเหตุนี้กระมังชาวบ้านมักกล่าวกันว่า “วัดพระแท่นเป็นวัดกษัตริย์สร้าง”  เหมือนกัน
๓. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๘ และ พ.ศ.๒๔๒๐ (วันอังคาร แรม ๔ ค่ำ ปีฉลู) พร้อมทั้งเสด็จประพาสน้ำตกไทรโยค
๔. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำคณะเสือป่ามาประทับแรมและนมัสการ เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๔
๕. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเมื่อ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๑๒ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันวิสาขบูชา และ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕ ทรงยกช่อฟ้าพระอุโบสถ และทรงเททองหล่อพระประธานในพระอุโบสถ
๖. พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘  เสด็จครั้งที่สองเมื่อ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๒ และเสด็จครั้งที่สามเมื่อ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๒๙
๗.สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงนมัสการพระแท่นดงรัง เมื่อ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๑๕


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/74754976315630_6_320x200_.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/60183850551644_13_Copy_.JPG)
พระพุทธบาทไม้ ประดับมุขโบราณ

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/15059375887115_14_Copy_.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/52700530240933_15_Copy_.JPG)

รอยพระพุทธบาทไม้ ประดับมุก วัดพระแท่นดงรังวรวิหาร

รอยพระพุทธบาทไม้ประดับมุกโบราณองค์นี้ ประดิษฐานประจำอยู่ที่วัดพระแท่นดงรัง มาเป็นเวลานับร้อยปี พุทธศาสนิกชนที่มาสักการบูชาแต่อดีตได้ปิดทองเป็นพุทธบูชาตามแบบที่บรรพบุรุษได้ปฏิบัติสืบมาโดยไม่ขาดสาย โดยไม่มีใครทราบมาก่อนว่าพระพุทธบาทที่ตนได้ปิดทองคำเปลวทับอยู่นั้นมีลายประดับมุกอันมีความวิจิตรบรรจงเป็นเลิศอยู่ภายใน   

ต่อมาเมื่อต้นปี ๒๕๓๗ คณะผู้เชี่ยวชาญการสืบค้นรอยพระพุทธบาท นำโดย ดร.วอลเคมาร์ ซี ไซเลอร์ ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ได้มาสำรวจรอยพระพุทธบาทในจังหวัดกาญจนบุรี ได้ขออนุญาตตรวจพิสูจน์และล้างลอกเอาทองคำเปลวออก จึงพบว่าพระพุทธบาทไม้องค์นี้ เป็นศิลปะประดับมุกทั้งแผ่น  สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือประดับมุกของช่างหลวงสมัยอยุธยาตอนปลาย ดร.ไซเลอร์ หัวหน้าคณะปรารภว่า ถ้าไม่ได้มาเห็นด้วยตาตนเองขณะนั้น จะไม่เชื่อว่าสมบัติชิ้นนี้ยังคงมีหลงเหลือให้เห็นในประเทศไทย ณ วัดพระแท่นดงรัง

ข้อสันนิษฐาน : รอยพระพุทธบาทไม้ประดับมุกองค์นี้ น่าจะเป็นฝีมือช่วงหลวงสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พ.ศ.๒๒๗๕-๒๓๐๐ ยุคอยุธยาตอนปลาย ลักษณะลวดลายสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อเรื่องสัญลักษณ์อันเป็นมงคล ๑๐๘ ประการ เหมือนกันกับลวดลายรอยพระพุทธบาทที่เขียนบนผืนผ้าที่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงส่งเป็นเครื่องราชบรรณาการเพื่อเจริญพระราชไมตรีกับพระเจ้าสีหะกิตติ ประเทศศรีลังกา เมื่อปี พ.ศ.๒๒๙๙ (ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์เมืองแคนดี้)

ศิลปะการติดกระจกล้อมรอบขอบอาจเป็นการทำเพิ่มเติมในสมัยรัชกาลที่ ๓  อย่างไรก็ตาม รอยพระพุทธบาทไม้ประดับมุกองค์นี้ คงไม่เป็นแค่เพียง มรดกชาติไทย เท่านั้น แต่น่าจะเป็น มรดกโลก ก็ได้  ดร.ไซเลอร์ หัวหน้ากลุ่มอนุรักษ์ กล่าวในที่สุด


หัวข้อ: Re: "พระแท่นดงรัง” วัดพระแท่นดงรังวรวิหาร อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 24 พฤศจิกายน 2562 18:59:49

ศาสนวัตถุโบราณ อันสำคัญยิ่ง
ของวัดพระแท่นดงรังวรวิหาร อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/46055205166339__MG_2774_Copy_.JPG)

๑.พระบฏ

พระบฏ มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลีว่า ปฏ อ่านว่า ปะตะ แปลว่า ผ้าทอหรือผืนผ้า

หลักฐานเก่าแก่ที่สุดของไทยที่กล่าวถึงภาพพระบฏ คือ จารึกวัดช้างล้อม หลักที่ ๑๐๖ สมัยสุโขทัย กล่าวถึงการจัดสร้างภาพพระบฏในพุทธศักราช ๑๙๒๗ โดยนักบวช (พระ?) นามว่า พนมไสดำ สร้างภาพพระบฏขนาดใหญ่ สูงถึง ๗ เมตร ถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จพระมหาธรรมราชา

ภาพพระบฏ ผืนที่ค้นพบว่าเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย คือภาพพระบฏ แห่งวัดดอกเงิน ในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นภาพสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปางลีลาเสด็จจากดาวดึงส์ ประมาณอายุเก่าแก่เกือบ ๕๐๐ ปี ศิลปะทางเหนือ ฝีมือช่างสกุลล้านนา หรือประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งตรงกับสมัยอยุธยาตอนกลาง

แต่หากนับว่าเก่าที่สุดในอุษาคเนย์ น่าจะเป็นพระบฏแห่งพุกาม พม่า พุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ อายุประมาณ ๑,๐๐๐ ปี ปลายทวารวดี ....
*จากวารสารเมืองโบราณ/เรือนไทย

สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระราชนิพนธ์เล่าเรื่องพระแท่นดงรัง ครั้งเสด็จพระราชดำเนินประทับแรมและทรงสมโภชน์พระแท่นดงรัง คราวเสด็จประพาสไทรโยค เมื่อวันอังคาร แรม ๔ ค่ำ เดือน ๒ ปีฉลู พุทธศักราช ๒๔๒๐ มีความบางตอนดังนี้

“........วิหารที่ก่อครอบพระแท่นไว้นั้นเป็นสี่เหลี่ยม ดูข้างในกว้างประมาณ ๔ วา ๒ ศอก มีเสาสี่เสา ผนังหนา ข้างนอกมีเฉลียงรอบ กว้างสัก ๖ ศอก ยาวรตลอด ๗ วา ๒ ศอก ในโบสถ์ (วิหารพระแท่น) แขวนพระบฏต่างๆ........”

“........(ในมณฑปเขาถวายพระเพลิง).....ในนั้นมีพระบาทอยู่เชิงตะกอน มีรูปพระสงฆ์ไปยืนไหว้อยู่ข้างพระปราศณางค์พระบาท เห็นจะเป็นพระกัสสป มีราวเทียนเหมือนดังตามที่เคยมี และแขวนพระบฏต่างๆ........ที่เสาหนึ่งมีพระบาทสองข้างติดอยู่กับแผ่นกระดานปิดทองมีเดือย ทำนองเป็นด้านสกัดของหีบศพ”

๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ พระราชวิสุทธาภรณ์ พระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดพระแท่นดงรังวรวิหาร ได้เมตตานำพระบฏสองผืนที่ท่านได้เก็บรักษาไว้อย่างดีเป็นเวลานานเกือบ ๓ ศตวรรษ ออกสู่สายตาศิษย์ใกล้ชิดเพื่อนำสู่การอนุรักษ์และเปิดเผยต่อสาธารณชน แน่นอนว่าทั้งสองผืนย่อมเป็นส่วนหนึ่งของพระบฏ (หลายผืน) ที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงกล่าวถึงในพระราชนิพนธ์ดังกล่าวข้างต้น  

แม้ไม่สามารถระบุได้ว่าผืนไหนเคยแขวนที่ใด ระหว่างมณฑปเขาถวายพระเพลิงหรือในวิหารพระแท่นก็ตาม แต่เป็นที่ประจักษ์ว่าทั้งสองผืน คือโบราณวัตถุที่สำคัญยิ่งของวัดพระแท่นดงรังวรวิหาร จึงนับว่าเป็นโชคดีของสยามประเทศ ที่ท่านเจ้าคุณฯ ในฐานะพระอธิการ ได้ใช้ความมานะ อุตสาหะและความสามารถส่วนตน กอปร์ด้วยใจรักในศิลปะ ค่อยๆ เพียรพยายามประกอบชิ้นเล็กชิ้นน้อยของพระบฏอันล้ำค่านี้ จนสมบูรณ์ที่สุด และเก็บรักษาไว้อย่างดีเท่าที่ทำได้ ให้เราได้ชื่นชมกัน ท่านได้เมตตาเล่าถึงความเป็นมาพอสังเขปดังนี้........

“........จำได้ว่าประมาณปี พ.ศ.๒๕๓๐ หลังจากช่างซึ่งขึ้นไปซ่อมแซมแก้ไขกระเบื้องหลังคาศาลาการเปรียญ (ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน) ที่แตกเป็นบางจุดเสร็จแล้ว ช่างได้แจ้งว่า ข้างบนเพดานมีของเก่ามากอยู่หลายรายการ อาทิเช่น คัมภีร์เทศน์ใบลาน-สมุดข่อย ตู้พระธรรมลายรดน้ำ และอื่นๆ จึงได้นำลงมาเป็นบางส่วน ในบรรดาของเหล่านั้น มีเศษผ้าเก่าๆ อยู่มัดหนึ่ง สังเกตเห็นว่าชำรุดและกรอบมาก จึงได้ค่อยๆ คลี่ออกดูด้วยความระมัดระวัง  ปรากฏชัดว่าเป็นภาพเขียนสีฝุ่นเกี่ยวกับพุทธประวัติ รวม ๓ ชิ้น ค่อนข้างสมบูรณ์ชัดเจน ๒ ภาพ อีกภาพชำรุดเสียหายมาก ในขณะนั้นก็สันนิษฐานว่าเป็นภาพเขียนที่เก่าแก่ของวัด ซึ่งอดีตเจ้าอาวาสสามารถเก็บรักษาไว้ได้ ทั้งที่วัดพระแท่นได้มีการย้ายหลักแหล่งถึง ๓-๔ ครั้ง ก่อนที่จะมาตั้งอยู่ในปัจจุบันนี้  อดีตเจ้าอาวาสที่เก็บตกทอดมาถึงสมัย พระครูพุทธมัญจาภิบาล (ทองหล่อ) จึงให้นำมาเก็บไว้บนฝ้าศาลา นับว่าปลอดภัยในระดับหนึ่ง ซึ่งท่านเจ้าอาวาสแต่ละรูปนั้น จะต้องเห็นความสำคัญในศิลปะของผืนผ้าอย่างแน่นอน ไม่เช่นนั้นคงจะเผาทิ้งไปพร้อมๆ กับเศษไม้ไปหมดแล้ว เพราะจะนำมาใช้สอยไม่ได้เลย แม่แต่ทำผ้าถูพื้นกุฏิ

ด้วยความอนุเคราะห์ของบรรพบุรุษ ภาพเขียนเหล่านั้นได้มาถึงยุคถึงมือของข้าพเจ้า (พระราชวิสุทธาภรณ์) ครั้นได้มาแล้วจึงได้ทำการอนุรักษ์ ตามความคิดความเข้าใจของตนเอง อาจไม่ถูกกรรมวิธีของการรักษาภาพที่ถูกต้องก็ตาม ขั้นตอนคือการทำปฐมรักษาก่อนก็แล้วกัน ส่วนวิธีที่ถูกต้องค่อยทำทีหลังเมื่อถึงมือผู้ชำนาญการ คือข้าพเจ้าให้ทำผ้าดิบผืนใหญ่ขนาดภาพนั้นๆ แล้วทากาวลาเท็กซ์ให้ทั่วผืนผ้าที่ดาม แล้วนำเศษผ้าที่เป็นภาพเขียนแปะลงทีละชิ้นๆ เหมือนแปะจิ๊กซอว์ทำนองนั้น ทำเช่นนี้ได้สองภาพ ส่วนอีกภาพชำรุดมาก กอปร์กับความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงได้ทิ้งไป (บางท่านกล่าวว่า น่าเสียดายมาก น่าจะเก็บส่วนใดส่วนหนึ่งของภาพเขียนไว้บ้าง) เมื่อแปะเสร็จเรียบร้อยก็เก็บเงียบไว้เฉยๆ (ด้วยเกรงปัญหาด้านโจรกรรม) ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนเมื่อต้นปี พ.ศ.๒๕๕๗ ได้พบกับ “คุณโยม” คนหนึ่ง ซึ่งไปช่วยงานด้านประชาสัมพันธ์วัดร่วมกับอาจารย์สุมนมาลย์ อินทรง (ครูกุ้ง) เห็นว่าน่าจะเป็นผู้เห็นคุณค่าของพระบฏและคงสามารถร่วมกันอนุรักษ์และเผยแผ่สู่สาธารณชนได้ ซึ่งย่อมเป็นการดีกว่าที่จะเก็บไว้รอการสูญสลายโดยไร้ประโยชน์ จึงมอบหมายให้ดำเนินการ ซึ่งต่อมาได้ทราบว่ามีคุณอุตสาห์ กิจอันเจริญ ร่วมสมทบเป็นเจ้าภาพทำกรอบภาพพระบฏ เป็นเงิน ๒,๐๐๐ บาท จึงขออนุโมทนาบุญทุกท่านรวมทั้ง “คุณโยม” ที่มีส่วนในการอนุรักษ์โบราณวัตถุอันทรงคุณค่านี้เสร็จสิ้นทันวาระอันเป็นมงคลเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ สิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๗.....”


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/49835232148567__MG_2775_Copy_.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/33212599572208__MG_2776_Copy_.JPG)

ขนาดภาพ           ทั้งสองผืนใกล้เคียงกัน ประมาณ ๘๐ x ๑๖๐ เซนติเมตร
ยุคสมัย         รอการพิสูจน์จากผู้เชี่ยวชาญว่า เป็นศิลปะสมัยพระเจ้าบรมโกษฐ์ (ประมาณ ๓๐๐ปี)
.     หรือสมัยรัตนโกสินทร์ (ร.๓ - ร.๔) ๑๖๐-๑๙๐ ปี
กายภาพ         ผ้าดิบเก่ากรอบ อายุน่าจะเกินรัตนโกสินทร์? ชำรุดหลายจุด
เทคนิค         สีฝุ่น สหรงค์บนผืนผ้า ปิดทองเฉพาะส่วนพุทธสรีระ เส้นพู่กันเล็กสุดขนาดเส้นด้ายของเนื้อผ้า ชำรุดหลายจุด
เนื้อหา       ภาพแรก พุทธประวัติปางปรินิพพาน ภาพพระพุทธองค์ประทับนอนบนพระแท่น
.     ปรินิพพานระหว่างนางรังคู่ มณฑารพโปรยดอกลงมาจากสวรรค์
.     ศิลปินวาดภาพพระพุทธองค์กลับด้านเป็นหันเศียรทางขวา ทรงแสดงธรรมโปรดสุภัททปริพาชก
.     พระสาวกองค์สุดท้าย รายล้อมด้วยพระอานนท์และพุทธสาวกอีกจำนวน ๑๗ องค์ ด้านล่าง
.     ของภาพชำรุดและซีด น่าจะเป็นภาพการเข้าเฝ้าถวายราชสักการะของกษัตริย์แคว้นต่างๆ?
.         ภาพสอง ค่อนข้างสมบูรณ์ เป็นภาพพระพุทธองค์ปางประทานอภัย ประทับยืน
.         บนพระแท่น ขนาบซ้ายขวาด้วยเอกอัครสาวกทั้งสอง ภาพนี้มีองค์ประกอบ
.           และรูปแบบคล้ายคลึงกับพระบฏสมัย ร.๕ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงเทพฯ
.         ต่างกันเพียงซุ้มดอกไม้กับลายหยักฟันปลา และความเก่าแก่?

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/53395888085166__MG_2779_Copy_.JPG)
กนกไม้สักแกะสลักลายเทพนม ลงรักปิดทอง ส่วนหนึ่งของหน้าบันวิหารพระแท่น ที่ผุกร่อน หล่นร่วงลง เมื่อปลายเดือนกรกฏาคม ๒๕๕๗

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/85592174323068__MG_2780_Copy_.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/90482699498534__MG_2755_Copy_.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/88282078049249__MG_2754_Copy_.JPG)
หน้าบันวิหารพระแท่นดงรัง

กระหนกไม้แกะสลัก

ไม้สักแกะสลัก ลงรักปิดทอง ส่วนหนึ่งของหน้าบันลายเทพนม วิหารพระแท่นดงรัง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อ ๑๕๑ ปี ล่วงมาแล้ว
ในคราวบูรณะวิหารพระแท่น เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๐๖ โดยพระราชศรัทธาแห่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔
ผุกร่อนตามกาลเวลา หล่นร่วงลงมาตามกฏข้อแรกของพระไตรลักษณ์ เมื่อปลายเดือนกรกฏาคม ๒๕๕๗

โปรดติดตามตอนต่อไป
เรื่องควรจะจบตั้งแต่เมื่่อวาน แต่ก็จบไม่ลง มีเวลาเข้ามาในเว็บไซต์วันละไม่มากนัก



หัวข้อ: Re: "พระแท่นดงรัง” วัดพระแท่นดงรังวรวิหาร อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 07 ธันวาคม 2562 17:36:25
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/34793776232335_1_320x200_.JPG)
วิหารหินบดยา เดิมเรียกวิหารพระทรมานร่างกายหรือวิหารทรมานพระกาย หลังการบูรณะในปี ๒๕๑๔  มีการเปลี่ยนแปลงเพียงส่วนโครงหลังคาวิหาร เป็นทรงแหลม
สูงกว่าเดิม ช่อฟ้าใบระกาหายไป ปรับเป็นแบบใหม่ บันได เข้าวิหารถูกขยายให้กว้างขึ้น ประตูเข้าวิหารเป็นแบบเดิม เช่นเดียวกับฐานรอบวิหารและหน้าต่าง

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/99086361005902_2_320x200_.JPG)
วิหารหินบดยา ภาพก่อนการบูรณะในปี ๒๕๑๔  

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/13060725770062_5_320x200_.JPG)
รูปปั้นพระทรมานกาย การบำเพ็ญทุกรกิริยา เป็นการกระทำกิจที่ทำได้โดยยาก ใช้ในบริบททางศาสนาและจิตวิญญาณ
หมายถึงการทรมานร่างกายตนเอง เพื่อชำระตนให้บริสุทธิ์จากบาป


การแสวงหาธรรม หลังจากเจ้าชายสิทธัตถะทรงออกบวชแล้วได้ทรงศึกษาในสำนักอาฬารดาบส ที่กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ เมื่อสำเร็จการศึกษา
จากสำนักนี้แล้ว พระองค์ทรงเห็นว่าไม่ใช่หนทางการพ้นจากทุกข์ตามที่พระองค์ได้ทรงมุ่งหวังไว้ พระองค์จึงลาอาฬารดาบสและอุททกดาบส เดินทาง
ไปแถบแม่น้ำคยา ในตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แห่งกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ทรงคิดแสวงหาความรู้ด้วยพระองค์เอง เริ่มด้วยการทรมานพระวรกาย
ตามวิธีการของโยคี เรียกว่า การบำเพ็ญทุกรกิริยา ณ บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา พระมหาบุรุษได้ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาเป็นเวลา ๖ ปี ก็ยังคง
หาทางหลุดพ้นจากทุกข์มิได้ จึงทรงเลิกการบำเพ็ญทุกรกิริยา แล้วกลับมาเสวยพระกระยาหารเพื่อบำรุงพระวรกายให้แข็งแรง จะได้มีกำลังคิดค้น
วิธีดับทุกข์ใหม่  เมื่อพระมหาบุรุษล้มเลิกการบำเพ็ญทุกรกิริยา ปัญจวัคคีย์ก็ได้ชวนกันละทิ้งมหาบุรุษไปทั้งหมดเป็นผลทำให้พระมหาบุรุษได้อยู่
ตามลำพังในที่สงบเงียบ ปราศจากสิ่งรบกวนทั้งปวง พระองค์ได้ทรงตั้งพระสติและเดินทางกายกลาง คือ การปฏิบัติตนในความพอเหมาะพอควร
และในที่สุดทรงบรรลุความสำเร็จ จิตพ้นจากกิเลสทั้งปวง พระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระชนมายุ ๓๕ พรรษา ในวันเพ็ญ เดือน ๖
ปีระกา ธรรมสูงส่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น คือ อริยสัจ ๔ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และ มรรค

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/82163330167531_3_320x200_.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/47291824387179_4_320x200_.JPG)
แท่นรองและหินบดยา ใช้สำหรับบดยาสมุนไพรให้ละเอียดเป็นผง แล้วปั้นเป็นลูกกลอน ให้ผู้ป่วยรับประทานได้ง่าย

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/91427085755599_7_320x200_.JPG)
รูปปั้นชีวกโกมารภัจจ์ แพทย์ประจำพระองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในวิหารหินบดยา

ชีวกโกมารภัจจ์ เป็นแพทย์อินเดียในสมัยพุทธกาล  เป็นแพทย์ประจำพระองค์พระโคตมพุทธเจ้าและพระเจ้าพิมพิสารแห่งแคว้นมคธ

ชีวกโกมารภัจจ์ เป็นโอรสบุญธรรมของเจ้าชายอภัยราชกุมาร หลานของพระเจ้าพิมพิสาร มหาราชแห่งแคว้นมคธ  ครั้นเติบใหญ่ขึ้น เขาเดินทางไปตักษศิลาเพื่อเรียนวิชาแพทย์  ณ สำนักของอาจารย์เมืองตักกสิลา เป็นเวลา ๗ ปี  ชีวกโกมารภัจจ์ถูกทดสอบความรู้โดยการให้ถือเสียมและตะกร้าออกจากประตูเมืองไปด้านละ ๑ โยชน์ ประตูละ ๑ วัน เพื่อหาสิ่งที่ใช้เป็นยาไม่ได้  หลังจาก ๔ วันผ่านไป ชีวกโกมารภัจจ์ได้นำตระกร้าเปล่ากลับไปหาอาจารย์และรายงานว่าไม่พบสิ่งใดที่ใช้เป็นยาไม่ได้ ทุกสิ่งที่พบสามารถใช้เป็นยาได้ทั้งสิ้น

เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ได้มีโอกาสรักษาคนป่วยด้วยวิชาแพทย์แผนโบราณ โดยรักษาชายคนหนึ่งที่วิ่งสะดุดหินหกล้มใกล้หนองน้ำ ศีรษะกระทบหินกะโหลกบุบถึงอาการสลบ และคนที่ไปพบได้ช่วยกันพาส่งบ้านอาจารย์ของชีวกโกมารภัจน์ แต่อาจารย์หาวิธีการรักษาไม่ได้ เพราะปรากฏว่ามีเขียดตัวหนึ่งเข้าไปอยู่ในแผลนั้น ชีวกโกมารภัจจ์จึงหาภาชนะปากกว้างใส่น้ำให้เต็มนำไปล่อเขียด เมื่อเขียดเห็นภาชนะใส่น้ำนั้นก็ค่อยๆ ออกมาโดยไม่ได้ทำอันตรายแก่สมองนั้นแต่อย่างใด  เมื่อเขียดออกมาแล้วก็ชำระล้างบาดแผลให้สะอาดและทำการผ่าตัดกระโหลกศีรษะของคนป่วยนั้นแล้วใส่ยารักษาแผลต่อไป ชายผู้นั้นจึงรอดตายไปได้  การรักษาที่สร้างชื่อเสียงอีกครั้งหนึ่งคือ การรักษาโรคในสมองเรื้อรังของภรรยาเศรษฐีชาวสาเกตคนหนึ่ง และได้รับค่ารักษาพร้อมเครื่องบรรณาการอื่นๆ  เมื่อเดินทางมาถึงกรุงราชคฤห์ท่านได้ถวายเจ้าชายอภัยราชกุมาร แต่เจ้าชายอภัยราชกุมารทรงมอบทรัพย์สินเหล่านั้นคืนให้แก่ชีวกโกมารภัจจ์ และทรงอนุญาตให้พำนักอยู่ในวังของพระองค์ด้วย

ชีวกโกมารภัจจ์ได้รักษาโรคของคนทั่วไปเป็นจำนวนมาก ต่อมา พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงแต่งตั้งชีวกโกมารภัจจ์เป็นแพทย์หลวง และได้ทรงแต่งตั้งให้เป็นแพทย์ประจำพระองค์พระพุทธเจ้าพร้อมกับทรงมอบเรือนหลวง เครื่องแต่งบ้าน อุทยานสวนมะม่วง และมีบ้านส่วยซึ่งมีรายได้ปีละประมาณแสนกษาปณ์ให้ด้วย

การรักษาโรคของชีวกโกมารภัจจ์จากหลักฐานต่างๆ มีดังนี้ คือ การผ่ากะโหลกศีรษะเศรษฐีเมืองราชคฤห์ ซึ่งมีพยาธิอยู่จนหายเป็นปกติ  รักษาโรคลำไส้พิการของลูกชายพระเจ้าจัณปัตโชต  ประกอบพระโอสถพิเศษสำหรับถ่ายพระนาภีถวายพระพุทธเจ้า ต่อมาพระพุทธเจ้าได้ถูกสะเก็ดหินที่พระเทวทัตกลิ้งมาเพื่อให้ทับพระองค์ หินกระเด็นมาถูกพระบาททำให้ห้อพระโลหิต ชีวกโกมารภัจจ์ก็ได้ประกอบยาถวายอีกครั้งหนึ่ง  การที่ชีวกโกมารภัจจ์ถวายงานต่อพระพุทธเจ้า เขาก็ยิ่งเลื่อมใสในพุทธศาสนา ที่สุดจึงได้เป็นอุปถัมภกคนสำคัญของศาสนานี้ ทั้งได้สร้างวัดนามว่า "ชีวการามวิหาร" ถวายพระพุทธเจ้าด้วย

ผู้เป็นอาจารย์ของชีวกโกมารภัจจ์คือ อาจารย์อทรียะ แห่งเมืองตักกสิลา และ อาจารย์โรคา มฤตินทร์  การแพทย์แผนโบราณไทยได้ยกย่องและนับถือบูชารูปของชีวกโกมารภัจจ์เป็นอันดับแรก รองลงมาคือ พระฤๅษีซึ่งถือว่าเป็นครูอาจารย์ที่ได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาแพทย์แผนโบราณให้กับอินเดียและไทยด้วย




(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/57093780860304__MG_2723_320x200_.JPG)

ภาพจิตรกรรมในพระอุโบสถวัดพระแท่นดงรัง
เป็นภาพพุทธประวัติ ภาพแสดงถึงสังคม วัฒนธรรม ประเพณีของคนในชุมชน ซึ่งผูกพันกับพุทธศาสนาอย่างเหนียวแน่น

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/67796200803584__MG_2740_320x200_.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/31737752796875__MG_2715_320x200_.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/44381011153260__MG_2733_320x200_.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/27759079221222__MG_2731_320x200_.JPG)