[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 22 ธันวาคม 2562 19:15:47



หัวข้อ: สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 22 ธันวาคม 2562 19:15:47
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/41311652999785_1066_b673_1_Copy_.jpg)

สมเด็จพระสังฆราช (ศุข)
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ

สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดมหาธาตุยุ วราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อปี พ.ศ.2337

ทรงมีพระประวัติในเบื้องต้นเป็นมาอย่างไร ไม่ปรากฏหลักฐานเช่นเดียวกับสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) เมื่อครั้งกรุงธนบุรี ทรงเป็นพระราชาคณะที่พระญาณสมโพธิ อยู่วัดมหาธาตุ ถึง พ.ศ.2323 ในสมัยกรุงธนบุรี ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระธรรมเจดีย์

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดให้เลื่อนเป็นพระพนรัตน ซึ่งเป็นตำแหน่งรองสมเด็จพระสังฆราช

สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ทรงเป็นอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุ รูปที่ 1 ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่ครั้งยังทรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมเจดีย์ ซึ่งสมัยนั้นวัดมหาธาตุยังเรียกว่า "วัดสลัก" เป็นพระอารามที่อยู่ในเขตพระนคร และเป็นพระอารามหลวงมาตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรี

ในการสังคายนาพระไตรปิฎก เมื่อ พ.ศ.2331 อันเป็นการสังคายนาครั้งแรกในยุคกรุงรัตนโกสินทร์นั้น สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ซึ่งขณะนั้นทรงสมณศักดิ์ที่ พระพนรัตน ทรงเป็นพระเถระที่มีบทบาทสำคัญพระองค์หนึ่ง คือ ทรงเป็นแม่กองชำระพระวินัยปิฎก การที่ทรงได้รับมอบหมายหน้าที่สำคัญดังนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่า ทรงเป็นผู้ชำนาญพระไตรปิฎกพระองค์หนึ่ง

พ.ศ.2337 ในรัชกาลที่ 1 สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) สิ้นพระชนม์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งพระพนรัตน (ศุข) เป็นสมเด็จพระสังฆราช นับเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และโปรดให้สถิต ณ วัดมหาธาตุนั้นสืบไป

สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ทรงเป็นที่เคารพนับถือของพระราชวงศ์และทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ของพระราชวงศ์หลายพระองค์ คือ

1.ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ซึ่งทรงผนวชเป็นพระภิกษุเมื่อ พ.ศ.2337 ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ ในคราวเดียวกันนี้ได้โปรดให้ พระพงศ์อมรินทร์ ซึ่งเป็นราชบุตรของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และนักองเอง ซึ่งต่อมาทรงสถาปนาเป็น สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีฯ พระเจ้ากรุงกัมพูชา ทรงผนวชด้วย

2.ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ซึ่งทรงผนวชเป็นครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2339 ณ วัดมหาธาตุ เป็นเวลา 7 วัน จึงทรงลาผนวช

3.ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ของสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานภิมุข กรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ (ไม่ทราบปีที่ทรงผนวช)

นอกจากนี้ ยังทรงเป็นพระอุปัธยาจารย์ของเจ้านายที่ทรงผนวชในช่วงปลายรัชกาลที่ 1 โดยมากด้วย

สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ทรงมีพระชนม์อายุยืนยาวมาถึงรัชกาลที่ 2 และในรัชกาลนี้ ได้ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจสำคัญอีกครั้งหนึ่ง คือทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ซึ่งทรงผนวชเป็นครั้งที่ 2 หลังจากเสด็จกลับจากศึกพม่าถึงกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ.2353 แล้วประชวรไข้ป่าพระอาการมาก ครั้นหายประชวรแล้วจึงเสด็จออกทรงผนวชอีกครั้งหนึ่ง ประทับอยู่วัดมหาธาตุเป็นเวลา 7 วัน จึงทรงลาผนวช

ในยุคที่สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ทรงเป็นมหาสังฆปริณายก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดให้จัดสมณทูตออกไปสืบข่าวพระศาสนา ณ ลังกาทวีป เป็นครั้งแรกในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ หลังจากที่ว่างเว้นการติดต่อกันมาเป็นเวลานานกว่า 50 ปี นับแต่คณะพระสงฆ์ไทยครั้งกรุงศรีอยุธยา ออกไปเมื่อ พ.ศ.2298 เป็นครั้งหลังสุด

สมณทูตคณะนี้ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เมื่อเดือนธันวาคม 2357 เนื่องจากเรือเกิดชำรุด ต้องติดค้างอยู่ที่นครศรีธรรมราชเป็นเวลา 11 เดือน จากนครศรีธรรมราชเดินบกไปขึ้นเรือที่เมืองตรัง ออกเดินทางจากเมืองตรังเมื่อเดือนมีนาคม 2358 ถึงเกาะลังกา เดือนกรกฎาคม 2359

สมณทูตไทยอยู่ในลังกา 12 เดือน จึงเดินทางกลับ ออกเดินทางจากลังกา เมื่อเดือนมิถุนายน 2360 มาพักอยู่ที่เกาะหมาก (ปีนัง) 4 เดือน ถึงกรุงเทพฯ เมื่อเดือนสิงหาคม 2361

ในการจัดสมณทูตไปลังกาครั้งนี้ แม้ว่าจะมิได้โปรดให้สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) เป็นผู้จัดการเรื่องต่างๆ โดยตรง เนื่องจากทรงชราภาพ แต่ก็ทรงเป็นที่ปรึกษาในการนี้ด้วยพระองค์หนึ่ง

สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ทรงดำรงตำแหน่งมหาสังฆปริณายกเป็นเวลา 23 ปี สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 17 เม.ย.2359 ตรงกับวันพุธ แรม 11 ค่ำ เดือน 6 ปีชวดอัฐศก เวลา 2 โมงเช้า

ทรงมีพระชนมายุเท่าใดไม่ปรากฏชัด แต่มีการสันนิษฐานว่าคงมีพระชนมายุเกิน 80 ปี
ข่าวสดออนไลน์