[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 02 มกราคม 2563 15:35:07



หัวข้อ: สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 02 มกราคม 2563 15:35:07


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/47679075143403_view_resizing_images_1_320x200.jpg)

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)
วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 16 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ.2508 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

มีพระนามเดิมเมื่อแรกประสูติว่า "ลำจวน ศิริสม" ภายหลังจึงเปลี่ยนเป็น "จวน" ประสูติเมื่อวันที่ 16 ม.ค.2440 ตรงกับวันอาทิตย์ แรม 10 ค่ำ เดือนยี่ ปีระกา นพศก จุลศักราช 1259 (ร.ศ.116) ที่บ้านโป่ง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี

บิดามีนามว่า "หงส์ ศิริสม" เป็นชาวโพธาราม ส่วนโยมมารดามีนามว่า "จีน" นามสกุลเดิมว่า "ประเสริฐศิลป์"

ทรงเป็นบุตรหัวปีในจำนวนบุตรธิดาทั้งหมด 7 คน

พระชนมายุ 14 พรรษา บิดามารดา ต้องการให้เรียนทางพระศาสนา จึงนำไปฝากให้อยู่กับพระมหาสมณวงศ์ (แท่น โสมทัตต) เจ้าอาวาสวัดมหาสมณาราม (วัดเขาวัง) จ.เพชรบุรี ผู้เป็นพี่ของตา

พระวัดเขาวังเล่ากันต่อมาว่า ท่านเจ้าคุณมหาสมณวงศ์เคยออกปากทำนายท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ไว้ว่า "ลักษณะอย่างนี้ ต่อไปจะได้ดี" นัยว่าท่านหมายถึงพระเศียรที่มีลักษณะคล้ายกระพองช้าง

ทรงบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2457 ณ พระอุโบสถ วัดมกุฏกษัตริยาราม โดยมีพระธรรมปาโมกข์ (ถม วราสโย) เป็นพระอุปัชฌาย์

ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักพระอริยมุนี (แจ่ม) ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน ทรงสอบไล่องค์นักธรรมชั้นตรีภูมิของสามเณรได้

พ.ศ.2458 ทรงเข้าศึกษาบาลีกับ พระพินิตพินัย (ชั้น กมาธิโก) เมื่อครั้งยังเป็นพระมหาชั้นเปรียญ 5 ประโยคในโรงเรียนบาลีวัดมกุฏกษัตริย์

พระชนมายุครบ 20 พรรษา ทรงอุปสมบท ณ พระอุโบสถวัดมกุฏกษัตริยาราม เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2460 โดยมี พระธรรมปาโมกข์ (ถม วราสโย) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระศาสนโศภน (แจ่ม จัตตสัลโล) แต่ครั้งดำรงสมณศักด์ที่พระราชกวี เป็นพระกรรมวาจาจารย์

พรรษาที่ 13 ทรงสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค

พ.ศ.2475 ทรงเป็นอาจารย์ใหญ่ โรงเรียนบาลี สำนักเรียนวัดมกุฏกษัตริยาราม ทรงปฏิรูประเบียบแบบแผนการศึกษาบาลีให้ดีขึ้น และเป็นกรรมการวัดพร้อมด้วยคณะอีก 4 รูป

พ.ศ.2476 ทรงเป็นกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย และทรงเป็นกรรมการพิจารณาวางระเบียบบำรุงการศึกษาอบรมปริยัติธรรม และงบประมาณของมหามกุฏราชวิทยาลัยพร้อมด้วยกรรมการอีก 5 รูป

พระสมณศักดิ์ พ.ศ.2476 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระกิตติสารมุนี พ.ศ.2478 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชเวที พ.ศ.2482 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเวที พ.ศ.2488 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมปาโมกข์

พ.ศ.2490 เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะที่ พระศาสนโศภน พ.ศ.2499 เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์

ครั้นเมื่อถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2508 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน อุฏฐายี) ขึ้นเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 16 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สืบต่อจากสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย)

พระเกียรติคุณด้านการศึกษา ทรงชำนาญในอักษรขอม อักษรพม่า อักษรมอญ และอักษรโรมัน จากการที่ได้ตรวจชำระพระไตรปิฎกบางปกรณ์ ตามที่ได้รับมอบ ซึ่งจะต้องสอบทานอักษรไทยกับต้นฉบับอักษรขอม เกี่ยวกับอักษรพม่า และอักษรโรมัน

พระกรณียกิจพิเศษ พ.ศ.2499 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จออกผนวชพระภิกษุ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ ทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ ในพระราชพิธีทรงผนวชครั้งนั้น

พ.ศ.2509 ทรงเป็นประธานสงฆ์ในพิธีแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในโอกาสที่จะเสด็จฯไปทรงศึกษาที่ต่างประเทศ เมื่อวันที่ 3 ม.ค.2509

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี) สิ้นพระชนม์โดยอุบัติเหตุ เพราะถูกรถยนต์บรรทุกขนาดเล็ก ขับสวนทางพุ่งเข้าชนรถยนต์พระประเทียบ วันที่ 18 ธ.ค.2514 เวลา 10.05 น.

ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นเวลา 7 พรรษา (6 ปี กับ 22 วัน)

พระชนมายุ 74 พรรษา 11 เดือน 2 วัน 
  ข่าวสดออนไลน์