[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => สมถภาวนา - อภิญญาจิต => ข้อความที่เริ่มโดย: Maintenence ที่ 08 มกราคม 2563 15:17:19



หัวข้อ: ยามที่เรามีความท้อแท้ -พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ สัตหีบ. ชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 08 มกราคม 2563 15:17:19

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/14419066616230_81245968_2638733926164542_4610.jpg)

ยามที่เรามีความท้อแท้
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร. สัตหีบ. ชลบุรี

ยามที่มีความท้อแท้ ขอให้เราเตือนสติ อย่าไปพาลยกเลิก ว่าปฏิบัติมานานแล้ว ไม่เห็นได้ผลเลย สู้ไม่ปฏิบัติดีกว่า ถ้าคิดแบบนี้แล้วก็เป็นการฆ่าตัวตาย เป็นการปิดกั้นอนาคตที่ดี ที่เจริญ ที่รุ่งเรืองไป เพราะจะถูกอำนาจของกิเลสใฝ่ต่ำ ชักจูงให้กลับไปทำในสิ่งที่ไม่ดี ถึงแม้จะมีความสุข มีความสนุก มีความเพลิดเพลิน แต่ก็เป็นความเพลิดเพลินแบบขุดหลุมฝังตัวเองเท่านั้นเอง เวลาไปเที่ยว ไปเสพอบายมุขต่างๆ ก็มีความเพลิดเพลิน แต่ในขณะเดียวกัน ก็กลายเป็นทาสของสิ่งเหล่านี้ จะต้องติดอยู่กับสิ่งเหล่านี้ไป ถ้าติดอยู่กับสิ่งเหล่านี้ ก็จะถูกสิ่งเหล่านี้ดูดความเจริญ ดูดทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่ในตัวเราให้หมดสิ้นไป เมื่อไม่มีทรัพยากรเหลืออยู่แล้ว และไม่มีความสามารถที่จะหามาด้วยความสุจริต ก็ต้องไปหามาด้วยความทุจริต แล้วในที่สุดก็ต้องไปใช้เวรใช้กรรมทั้งในปัจจุบันและในอนาคตที่จะตามมาต่อไป ถ้าคิดอย่างนี้แล้ว ก็จะทำให้มีกำลังจิตกำลังใจที่จะปฏิบัติ ทำคุณงามความดีต่อไป ถึงแม้จะยากลำบากเลือดตาแทบกระเด็นก็ตาม เมื่อคิดถึงผลดีที่จะตามมาต่อไป ก็จะทำให้เกิดมีกำลังใจ

การปฏิบัติความดีจะยากจะลำบากในเบื้องต้น อุปสรรคจะมาก ความทุกข์ ความยาก ความลำบากจะมีมาก แต่เมื่อปฏิบัติไปแล้วความทุกข์ ความยาก ความลำบาก จะค่อยๆ เบาบางลงไป น้อยลงไปเรื่อยๆ แล้วความสุข ความสบาย จะมีเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จนเต็มครบร้อยบริบูรณ์ เป็นความสุขที่สะอาดบริสุทธิ์ เป็นความสุขที่ตั้งอยู่บนลำแข้งลำขา บนกำลังใจของเรา เกิดจากการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เกิดจากความสงบ ความสะอาดของจิต เป็นสิ่งที่จะอยู่คู่เคียงกับเราไปตลอดอนันตกาล ไม่ว่าจะไปที่ไหนแห่งใด ถ้ายังไม่ถึงสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด คุณธรรมความดีเหล่านี้ ความสุขเหล่านี้ ก็จะติดตัวไป ทำให้การปฏิบัติไม่ขาดตอน ไม่สูญเสีย ไม่สูญหายไป ไม่ต้องไปเริ่มต้นใหม่ทุกครั้งที่ไปเกิดในภพใหม่ ชาติใหม่ ไม่ต้องไปเริ่มต้นใหม่ เพราะพลังของจิตไปกับจิต คุณงามความดีนี้แหละคือพลังของจิต ไม่สูญสลายไป จะติดไปกับใจ เป็นนิสัย เป็นบารมี

เหมือนกับพระพุทธเจ้า ที่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาเป็นเวลาอันยาวนาน พระบารมีเหล่านั้นที่ได้ทรงสะสมไว้ในแต่ละภพละชาติ ก็ไม่สูญหายไปไหน ก็ยังอยู่ติดอยู่กับพระทัยของพระพุทธเจ้า กลายเป็นเครื่องมือ สนับสนุนให้ได้ทรงบรรลุถึงธรรมอันสูงสุด คือได้บรรลุเป็นพระอนุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมา เพราะได้ทรงสะสมบุญบารมีมาทุกภพทุกชาติ พวกเราก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน ใครจะไปรู้ว่าหนึ่งในพวกเราที่นั่งอยู่ในศาลานี้ อาจจะกลายเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาในภายภาคหน้าก็ได้ เพราะพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้มาจากผู้วิเศษที่ไหน พระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวกทั้งหลาย ก็มาจากปุถุชนคนมืดบอดอย่างพวกเราทั้งหลายนี่แหละ เพียงแต่ว่ามีศรัทธาความเชื่อ มีฉันทะความยินดี ความพอใจ มีวิริยะความเพียร อุตสาหะ มีขันติ ความอดทนที่จะประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ดีที่งาม ตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงวางไว้ให้ปฏิบัติตาม เรานี่แหละต่อไปจะกลายเป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระอรหันตสาวกขึ้นมา จะช้าหรือเร็วก็อยู่กับตัวเรานี่แหละ

เหมือนกับการขับรถ ถ้าขับช้าก็ไปถึงจุดหมายปลายทางช้า ถ้าขับเร็วก็ไปถึงเร็ว ฉันใดการปฏิบัติก็เป็นเช่นนั้น ถ้าปฏิบัติมากก็จะไปถึงเร็ว ถ้าปฏิบัติน้อย ก็จะไปถึงช้า วันหนึ่งมีอยู่ ๒๔ ชั่วโมง เราปฏิบัติธรรมกันมากน้อยเท่าไร ถ้าปฏิบัติอย่างพระสาวกในอดีตกาล ก็ปฏิบัติตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมาจนกระทั่งหลับไป คืนหนึ่งท่านก็หลับไม่มาก เพียงคืนละ ๔ ชั่วโมงเท่านั้นเอง ปฏิบัติถึง ๒๐ ชั่วโมงต่อวัน จึงไม่เป็นของแปลกอะไรที่จะบรรลุธรรมได้อย่างรวดเร็ว สมัยพุทธกาลจึงปรากฏพระอรหันตสาวกขึ้นมาเป็นจำนวนมากมาย เพราะท่านปฏิบัติกันนั่นเอง ไม่เพียงแต่สักแต่ว่าฟัง แล้วก็ไม่นำเอาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาปฏิบัติ ผลจึงไม่ค่อยปรากฏ เหมือนในสมัยนี้ มีคนเยอะ มีคนถึง ๖๐ ล้านคนในประเทศไทย ที่นับถือพระพุทธศาสนา แต่มีสักกี่คนที่จะบรรลุเป็นพระอริยสาวกของพระพุทธเจ้า แทบจะหาไม่ค่อยได้เลยทุกวันนี้ เหมือนกับงมเข็มในมหาสมุทร เดินไปก็ไม่ค่อยเจอเท่าไร ไม่เหมือนในสมัยพุทธกาล เดินไปก็มักจะเดินชนกับพระอริยเจ้าเสมอๆ สิ่งแตกต่างกันในสมัยพุทธกาลกับในสมัยนี้ก็ไม่ได้อยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่การปฏิบัติของเรานั่นแหละ

ในสมัยพุทธกาลมีการปฏิบัติกันอย่างจริงจัง เวลาฟังเทศน์ฟังธรรมก็ฟังกันอย่างจริงจัง เมื่อฟังแล้วก็นำเอาไปปฏิบัติอย่างจริงจัง ไม่ได้ฟังเพื่อเป็นการสะสมบารมี การสะสมบารมีที่แท้จริงนั้น จะต้องนำไปปฏิบัติ ถ้าฟังแล้วไม่ได้เอาไปปฏิบัติ อย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นการสะสมบารมี เป็นการสูญไปเปล่าๆ เสียเวลานั่งฟัง เสียเวลาของคนที่พูด เพราะไม่ได้นำไปปฏิบัติ การฟังอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ เหมือนกับการรู้ทางแล้วแต่ไม่ได้เดินทางไป อย่างนี้ก็จะไม่ถึงจุดหมายปลายทางที่ปรารถนาได้ ถ้าเดินแบบกระต่ายก็ไม่ดี เพราะเดินในลักษณะประมาท แล้วแต่อารมณ์ วันไหนขยันก็เดินเร็ว พอวันไหนขี้เกียจก็เถลไถล ไปเที่ยว ไปทำโน่น ทำนี่ ก็ไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางสักที ต้องเอาอย่างเต่า ถึงแม้จะก้าวไปทีละก้าวอย่างช้าๆ แต่ไปแบบไม่หยุดไม่หย่อน ไม่ยอมถอยหลัง ไม่เถลไถล รู้หน้าที่ของตนว่าจะต้องเดินทาง ให้ไปถึงจุดหมายปลายทางให้ได้ ก็เดินไปด้วยความแน่วแน่มั่นคง ด้วยความพากเพียร ด้วยความอดทน แล้วในที่สุดถึงแม้จะเดินช้ากว่ากระต่าย แต่ก็ไปถึงจุดหมายปลายทางก่อนกระต่าย เพราะไม่ประมาทนั่นเอง ส่วนกระต่ายนี้ประมาท คิดว่ามีความสามารถจะไปถึงจุดหมายปลายทางเมื่อไรก็ไปได้ ก็เลยผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆ เลยไปไม่ถึงสักที

พวกเรามักชอบผัดไปเรื่อยๆเหมือนกับกระต่าย ว่าตอนนี้ยังอายุน้อยอยู่ ยังหาความสุขในโลกนี้ได้ ไว้รอให้มีอายุมากขึ้นไปก่อน ไว้แก่แล้ว ไม่มีกำลังวังชาที่จะออกไปเที่ยวแล้ว ค่อยเข้าวัดปฏิบัติธรรมกัน ถ้าคิดอย่างนี้แล้ว ก็เป็นการประมาทใน ๒ กรณีด้วยกัน คือ ๑. เรายังไม่รู้เลยว่าจะอยู่ถึงอายุแก่เฒ่าหรือไม่ อาจจะตายในขณะที่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาวก็ได้ ๒. เมื่อแก่เฒ่าแล้วเวลาปฏิบัติธรรมจะยากลำบาก เพราะสังขารร่างกายไม่เอื้ออำนวย นิสัยที่ได้ปลูกฝังไปในทางโลกก็จะคอยกีดขวางให้การปฏิบัติธรรมเป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่ถ้าเริ่มปฏิบัติธรรมเสียตั้งแต่ยังหนุ่มยังแน่นยังสาวอยู่ การปฏิบัติก็จะง่าย เพราะกำลังวังชาร่างกายก็พร้อม นิสัยทางโลกก็จะไม่มากีดขวางในการปฏิบัติ เหมือนกับการดัดไม้ ต้องดัดไม้ตอนที่ไม้ยังอ่อนอยู่ ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก จึงควรรีบเร่งปฏิบัติในขณะที่ยังมีอายุน้อยอยู่ จะได้ไม่เสียใจภายหลัง