[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สยาม ในอดีต => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 10 มกราคม 2563 16:23:26



หัวข้อ: “เจ้านายสตรี” ที่ลาออกจากฐานันดรศักดิ์เพื่อสมรสกับสามัญชน
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 10 มกราคม 2563 16:23:26
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/79443418400155_01_5_1_320x200_.jpg)
        หม่อมเจ้าศิริมาบังอร อาภากร

เปิดบันทึกความรักของ
“เจ้านายสตรี” ที่ลาออกจากฐานันดรศักดิ์เพื่อสมรสกับสามัญชน

เจ้านายสตรีในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์มักไม่มีอิสรภาพในการดำรงชีพเท่าใด เพราะถูกจำกัดภายใต้กฎมณเฑียรบาลที่จำต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด แต่ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ด้วยสภาพสังคมและความคิดแบบสมัยใหม่ได้ทำให้เกิดเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตของเจ้านายสตรี หนึ่งในนั้นคือการแต่งงานกับสามัญชน

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงออกประกาศ “กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการเสกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์” พ.ศ.2461 สรุปได้ว่า หากเจ้านายในพระราชวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปจะสมรสกับผู้ใด ให้นำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อนเสมอ หากผู้ใดทำฝ่าฝืน “ถือว่าได้ทำผิดฐานละเมิดต่อพระองค์ผู้ทรงเป็นกุลเชฐในพระราชวงศ์”

ครั้นต่อมาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 รัฐบาลได้ออกประกาศ “กฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสมรสพระราชวงศ์แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2475” เพื่อแก้ไขกฎมณเฑียรบาลในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยขยายความเพิ่มเติมจากกฎเดิม กล่าวคือ หากจะทำการสมรสกับสามัญชนจะต้องกราบถวายบังคมลาออกจากฐานันดรศักดิ์ หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อที่กำหนดไว้ในกฎหมนเทียรบาลก็ให้ถอดออกจากฐานันดรศักดิ์

หม่อมเจ้าพรรณเพ็ญแข เพ็ญพัฒน์ พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒน์พงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม เป็นเจ้านายสตรีพระองค์แรกที่ลาออกจากฐานันดรศักดิ์ หลังจากมีการปรับปรุงกฎมนเทียรบาลฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2475 โดยหม่อมเจ้าพรรณเพ็ญแขได้สมรสกับหม่อมราชวงศ์บรรลือศักดิ์ กฤดากร เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2475

นอกจากนี้แล้วยังมีเจ้านายสตรีอีกหลายพระองค์ที่ทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์เพื่อสมรสกับสามัญชน เช่น หม่อมเจ้าฉวีวงศ์ รุจจวิชัย, หม่อมเจ้าเกษรสุคนธ์ โตษะณีย์, หม่อมเจ้าสุพรรณโนภาศ กาญจนวิชัย, หม่อมเจ้าศรีอักษร วรวุฒิ, หม่อมเจ้าจารุพัตรา อาภากร และโดยเฉพาะคือ หม่อมเจ้าศิริมาบังอร

หม่อมเจ้าศิริมาบังอร อาภากร (ท่านหญิงศิริมาบังอร เหรียญสุวรรณ) ประสูติ ณ วังนางเลิ้ง เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2447 สิ้นชีพิตักษัยเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2518) เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ประสูติแต่หม่อมแฉล้ม อาภากร ณ อยุธยา

หม่อมเจ้าศิริมาบังอร อาภากร ทรงต้องลาออกจากฐานันดรศักดิ์เพื่อสมรสกับสามัญชนตาม “กฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสมรสพระราชวงศ์แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2475” โดยได้สมรสกับนายสถาพร เหรียญสุวรรณ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2482



(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/52371506020426_17_1_320x200_.jpg)
        นายสถาพร เหรียญสุวรรณ
 
นายสถาพร ผู้เป็นสามีได้บันทึกถึงความรักระหว่างทั้งสองคนความว่า

“ตามพระราชประเพณี หม่อมเจ้าหญิงจะทำการสมรสกับผู้มีฐานันดรศักดิ์ต่ำกว่ามิได้ แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม ท่านหญิงศิริมาบังอร อาภากร จึงได้รับพระบรมราชานุญาตให้ทำการสมรสกับข้าพเจ้า โดยต้องทูลลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งราชวงศ์

การที่ท่านหญิงทำการสมรสกับข้าพเจ้าได้นั้น เนื่องด้วยท่านหญิงพรรณเพ็ญแข กฤดากร เป็นเจ้านายพระองค์แรก ที่ได้เปิดทางกั้นพระราชประเพณีนี้ แม้ว่าท่านหญิงพรรณเพ็ญแข กฤดากร จะสิ้นชีพิตักษัยไปแล้ว ข้าพเจ้าขอกราบขอบพระทัยท่านไว้ ณ ที่นี้

ท่านหญิงศิริมาบังอรฯ ได้เสียสละ ‘ฐานันดรศักดิ์แห่งราชวงศ์’ ตัดสินพระทัยเสี่ยงทำการสมรสกับข้าพเจ้าซึ่งเป็นสามัญชนธรรมดาคนหนึ่งนั้น บรรดาญาติที่สนิทของท่านหญิงต่างก็เป็นห่วง ได้ขอให้พลอากาศโท หม่อมเจ้ารังษิยากร อาภากร เป็นผู้ไปขอร้องท่านหญิงให้ระงับความคิดที่จะทำการสมรสกับข้าพเจ้า

ท่านรังษ์ได้รับสั่งกับข้าพเจ้าว่า ‘นี่เติม ลื้อรู้ไหม พี่น้องเขาห่วงพี่เล็กกันมาก แต่ไม่มีใครกล้ามาทูลพี่เล็ก เขาขอร้องให้อั๊วมา แต่อั๊วไม่เห็นด้วย ลื้อเลี้ยงดูพี่เล็กดีดีนะ อั๊วรักพี่เล็กมาก’ ข้าพเจ้าจำประโยคนี้ของท่านรังษ์ได้ได้มิรู้ลืม มีสิ่งใดที่ข้าพเจ้าทำถวาย และช่วยเหลือท่านรังษ์ได้ ข้าพเจ้าทำถวายด้วยความเต็มใจ

เราได้จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2482 ที่อำเภอพระโขนง ปลูกบ้านไม้ชั้นครึ่งหลังเล็กๆ อยู่ที่บางกะปิ ท่านหญิงทำตนเป็นภรรยาที่ดี เข้ากับเพื่อนฝูงข้าพเจ้าได้ทุกคน เป็นที่เคารพรักของเพื่อนข้าพเจ้า ซึ่งเรียกท่านว่า ‘เจ้าพี่’

เราอยู่กันอย่างประหยัด แม้แต่ผมข้าพเจ้ายาวท่านก็ตัดให้ อ้างว่าไปให้เขาตัดเสียเงินและไม่สะอาดด้วย อาหารการกินก็ดูแลเอาใจใส่จัดทำเอง ใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ด้วยความระมัดระวัง ซึ่งตรงข้ามกับข้าพเจ้าที่ออกจะสุรุ่ยสุร่ายกับเพื่อนฝูง

เราสองคนร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาด้วยความยากลำบาก ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ มาเป็นเวลานับสิบปี จนบรรลุผลสำเร็จในบั้นปลายชีวิต มีฐานะดีพอสมควรแก่อัตภาพ พอหาความสุขได้ในวัยชรา แต่แล้วท่านหญิงก็มาด่วนจากข้าพเจ้าและลูกหลานไปโดยมิได้คาดคิด รวมเวลาที่มีชีวิตอยู่ร่วมกันมากกว่า 36 ปี…”

ทั้งนี้เพราะกาลสมัยได้เปลี่ยนแปลงแนวความคิดและวิถีชีวิตของพระบรมวงศานุวงศ์ไปค่อนข้างมากแล้ว เจ้านายสตรีจึงมีอิสระไม่ถูกยึดติดกับกรอบประเพณีอย่างโบราณ แม้แต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ทรงยินยอมให้พระธิดาแต่งงานกับคนสามัญได้เช่นกัน ดังพระดำริถึงเรื่องการแต่งงานของพระธิดาของพระองค์คือ หม่อมเจ้าเราหินาวดี ดิศกุล หรือท่านหญิงเป้า ที่ขอประทานพระอนุญาตแต่งงานกับ หม่อมหลวงฉายชื่น กำภู สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระดำริว่า

“ฉันไม่บังคับลูกให้แต่งงานกับใคร เพราะเห็นว่าการแต่งงานเป็นมูลซึ่งจะนำความสุขทุกข์ดีชั่วให้แก่ตัวเขาทั้ง 2 ไปตลอดชีวิต ตัวเขาควรเป็นผู้รับผิดชอบเองในการเลือกคู่ พ่อแม่ควรแต่แนะนำตักเตือน… เพราะฉะนั้นเมื่อมีผู้มาสู่ขอลูกสาวฉัน ฉันถามลูกสาวก่อนเสมอ ว่าสมัครจะแต่งงานกับชายคนนั้นหรือไม่ ตอบสมัครจึงให้แต่งงาน…

ในเรื่องเจ้าหญิงแต่งงานกับชายต่ำศักดิ์กว่าเจ้า แม้ตามประเพณีโบราณห้ามกวดขันถึงรัชกาลที่ 7 ก็โปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้แต่งได้แล้ว เป็นแต่ให้เจ้าหญิงผู้แต่งงานเวนคืนยศเจ้า มีตัวอย่างมาแล้วหลายราย ข้อนี้ถ้าหญิงเป้าเวนคืนยศเจ้า ฉันก็ไม่ขัดขวาง”




อ้างอิง :
วีระยุทธ ปีสาลี. (มิถุนายน 2559). “บันทึกรักท่านหญิง : ความรักและการแต่งงานของเจ้านายสตรีหลัง พ.ศ. 2475”, ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 37 ฉบับที่ 8.
สถาพร เหรียญสุวรรณ. “36 ปีแห่งชีวิตร่วม”, อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ท่านหญิงศิริมาบังอร เหรียญสุวรรณ (อาภากร) ณ เมรุวัดธาตุทอง วันอาทิตย์ที่ 18 พฤษภาคม พุทธศักราช 2518.


เรื่อง-ภาพ เว็บไซต์.silpa-mag.com