[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 08 มีนาคม 2563 18:32:13



หัวข้อ: สะพานข้ามแม่น้ำแคว เงาทมึนหยาดเหงื่อเชลยศึก จ.กาญจนบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 08 มีนาคม 2563 18:32:13

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/28513931607206_4_Copy_.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/77025926237304_2_Copy_.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/44852461583084_3_Copy_.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/79560008852018_5_Copy_.JPG)

สะพานข้ามแม่น้ำแคว
อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี

ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติมาก ในเดือนกรกฏาคม พ.ศ.๒๔๘๐ ญี่ปุ่นมีความประสงค์ที่จะครองความเป็นใหญ่ทางเศรษฐกิจในเอเชียและแปซิฟิก จึงยกกองทัพเข้าไปรุกรานประเทศจีน เพื่อจะเข้ายึดครองจีนเหนือและมองโกเลียชั้นใน แต่ญี่ปุ่นคาดการผิด การสงครามในประเทศจีนมิใช่ของง่ายอย่างที่ได้เคยคิดไว้ จีนเกิดมานะที่จะต่อสู้กับญี่ปุ่นไปจนถึงที่สุด ได้พยายามต่อต้านญี่ปุ่น จนเป็นศัตรูกับญี่ปุ่นอย่างจริงจัง

การรุกรานของญี่ปุ่นที่กระทำต่อประเทศจีนนั้น ได้ทำให้สหรัฐอเมริกาและประเทศประชาธิปไตยในประเทศยุโรป เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ตำหนิติเตียนญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก ซึ่งญี่ปุ่นก็ถือว่าประเทศเหล่านี้เป็นศัตรูของตน แต่ญี่ปุ่นก็ยังมีประเทศพันธมิตรอยู่ในยุโรปอีกสองประเทศซึ่งเป็นประเทศเผด็จการ คือ เยอรมัน และอิตาลี  


สงครามโลกครั้งที่ ๒
การทำสงครามกับประเทศจีนซึ่งยืดยื้อมาถึงสี่ปี ทำให้ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ ประเทศประชาธิปไตยในตะวันตกต่างพากันระงับการส่งสินค้าที่จำเป็นให้แก่ญี่ปุ่น หากปล่อยต่อไปแล้วจะเป็นการทำลายกำลังญี่ปุ่นลดน้อยลงไปอย่างมาก ญี่ปุ่นก็จะทำสงครามในจีนได้โดยยากและอาจจะต้องเสียความยิ่งใหญ่ในทางทหารซึ่งเคยมีมาก่อนในตะวันออกไกล  

ในปี พ.ศ.๒๔๘๔ เกิดสงครามขึ้นในยุโรป ระหว่าง เยอรมันกับอังกฤษ ฝรั่งเศส และประเทศพันธมิตรอื่นๆ โรงงานต่างๆ ในยุโรปต้องเลิกผลิตสินค้าตามปกติเพื่อหันมาผลิตสินค้าที่ใช้ในการสงคราม  

ญี่ปุ่นซึ่งคำนึงถึงความรุ่งเรืองในทางเศรษฐกิจก็เห็นว่าโชคดีของตนได้ปรากฏขึ้นแล้ว ญี่ปุ่นย่อมจะมีโอกาสที่จะขยายอาณาจักรทางเศรษฐกิจออกไปได้อย่างกว้างขวาง  เพราะในตอนแรกแห่งสงครามนั้นเยอรมันทำท่าว่าเป็นฝ่ายได้เปรียบและอาจจะชนะสงคราม  ในระยะนั้นประเทศในตะวันออกไกลไม่มีผู้ใดสนใจสงครามใหญ่ในยุโรป ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ ญี่ปุ่นซึ่งมีอำนาจทางทหารจึงเห็นว่ามีทางเดียวที่จะแก้ลำที่สหรัฐอเมริกาไม่ยอมจะปรองดองกับตนและยังกล่าวหาว่าญี่ปุ่นรุกรานจีน และเป็นการแก้ปัญหาในการที่ประเทศเหล่านั้นห้ามส่งสินค้าที่จำเป็นมายังประเทศญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นจึงโจนเข้าสู่สงครามครั้งนั้นโดยปราศจากความยั้งคิดและเป็นการนำมาซึ่งความปราชัยในที่สุด

ในวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๔๘๔ ญี่ปุ่นที่เคยช่วยให้ไทยได้ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงมาจากฝรั่งเศส ได้ส่งเอกอัครราชทูตเข้าพบนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อเวลา ๒๓ นาฬิกา เพื่อขออาศัยดินแดนไทยเป็นทางผ่านในการเคลื่อนทัพ ก่อนการประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐฯ ในวันที่ ๘ ธันวาคม แต่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น อยู่ระหว่างเดินทางไปราชการที่ต่างจังหวัด ทำให้ขาดผู้มีอำนาจในการสั่งการ

ญี่ปุ่นไม่รอช้ายกพลขึ้นบกทางอ่าวไทย แล้วแยกย้ายกันไปตั้งค่ายในพื้นที่ชายฝั่งทะเลของไทย พร้อมกัน ๗ พื้นที่ แม้ว่าทางการไทยจะยังมิได้ให้ความยินยอม จนนำไปสู่การสู้รบระหว่างกองทัพญี่ปุ่นกับเจ้าหน้าที่ไทย ที่อ่าวมะนาว จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และที่ปัตตานี หลังจากที่เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นเดินทางไปขอพบนายกรัฐมนตรีไทยเพียงไม่กี่ชั่วโมง ก่อนที่ไทยจะออกประกาศให้ทหารและตำรวจหยุดยิงและให้อำนวยความสะดวกให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านดินแดนไทย เพื่อไปมาเลเซีย สิงคโปร์ และพม่า

ต่อมาในวันที่ ๙ ธันวาคม ได้มีการเรียกประชุมวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรเป็นการด่วนเพื่อที่รัฐบาลจะได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ทางรัฐบาลได้ยินยอมให้ญี่ปุ่นผ่านประเทศไทยเพื่อไปมาเลเซีย สิงคโปร์ และพม่า “เพราะไม่มีทางจะต่อสู้ต้านทานกำลังกองทัพญี่ปุ่นได้จึงยอมตามคำขอ”  

นายประเสริฐ ปัทมะสุนธ์ อดีตเลขาธิการรัฐสภา  กล่าวว่า “...เป็นการประชุมที่แสนเศร้าที่สุด ทั้งสมาชิกสภา รัฐมนตรี ได้อภิปรายซักถามโต้ตอบกันด้วยน้ำตานองหน้า ความรู้สึกของทุกคนในขณะนั้น คล้ายกับว่าเด็กถูกผู้ใหญ่ที่มีกำลังมหาศาลรังแก จะสู้ก็สู้ไม่ได้ ทั้งมีความวิตกว่า ประเทศไทยได้สูญเสียเอกราชอธิปไตยไปแล้ว”


อนุสรณ์สถาน : สะพานข้ามแม่น้ำแคว
สะพานข้ามแม่น้ำแคว สร้างขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟสายมรณะที่แม่ทัพญี่ปุ่นต้องการใช้เป็นเส้นทางส่งกำลังบำรุงจากสิงคโปร์ผ่านทะลุมาเลเซีย มุ่งเหนือขึ้นไทยเพื่อจะเข้าไปตีกองทัพอังกฤษในประเทศพม่า โดยแม่ทัพญี่ปุ่นได้บอกกับ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ว่าจะสร้างทางรถไฟจากสถานีชุมทางหนองปลาดุก อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ข้ามแม่น้ำแควใหญ่ที่บริเวณท่ามะขาม (สมัยนั้นเรียกว่าบ้านท่าม้าข้าม) ตำบลท่ามะขาม อำเภอเมืองกาญจนบุรี ซึ่งอยู่เหนือตัวเมืองกาญจนบุรี ประมาณ ๔ กิโลเมตร ไปเมืองซันบูซายัต ประเทศพม่า รวมระยะทาง ๔๑๕ กิโลเมตร อยู่ในเขตไทยประมาณ ๓๐๓.๙๕ กิโลเมตร และอยู่ในเขตประเทศพม่า ๑๑๑.๐๕ กิโลเมตร โดยมีจุดมุ่งหมายจะโจมตีกองทัพอังกฤษซึ่งตั้งฐานทัพอยู่ในประเทศพม่า  

ช่วงแรก ญี่ปุ่นได้เร่งรัดให้สร้างสะพานรถไฟเพื่อใช้สัญจรไปมาข้ามลำน้ำแควใหญ่เป็นการชั่วคราวก่อน เนื่องจากอุปสรรคความยากลำบากของภูมิประเทศ เพราะลำน้ำแควใหญ่ช่วงที่จะทำการสร้างสะพานข้ามนี้ เป็นช่วงที่แม่น้ำมีความกว้าง น้ำลึก กระแสน้ำเชี่ยวกราก และพื้นดินด้านล่างมีความหนาแน่น จึงสร้างเป็นสะพานไม้ ห่างจากสะพานปัจจุบันไปทางใต้ประมาณ ๑๐๐ เมตร ใช้เวลาในการก่อสร้าง ๓ เดือน

ต่อมา สะพานไม้ชั่วคราวถูกทำลายเพราะพายุฝนกระหน่ำอย่างหนัก ญื่ปุ่นจึงได้นำชิ้นส่วนสะพานเหล็กสำเร็จรูปบรรทุกเรือมาจากอินโดนีเซีย สร้างเป็นสะพานเหล็กถาวรโดยนำเหล็กมาประกอบกัน วางราง โดยให้เชลยศึกประกอบขึ้น สะพานมีความยาวทั้งหมด ๓๐๐ เมตรแบ่งเป็นสะพานเหล็กโค้ง ๑๑ ช่วง (ตอม่อคอนกรีต) ช่วงอื่นๆ เป็นสะพานไม้  สะพานสร้างเสร็จเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๖ เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๕  ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๖ แล้วจึงรื้อสะพานชั่วครามเดิมออก  

ทหารญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้ชื่อว่ามีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว อาจเป็นด้วยการปลูกฝังค่านิยม “ยอมตายไม่ยอมแพ้” จึงรบสุดใจขาดดิ้น สามารถรบชนะในทุกสมรภูมิ และจับเชลยศึกได้นับหมื่นคน  กองทัพญี่ปุ่นจึงนำเชลยศึกซึ่งเป็นทหารฝรั่ง สัญชาติ อังกฤษ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย อเมริกา ฯลฯ ซึ่งถูกจับกุมในบริเวณต่างๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และย่านแปซิฟิก มาใช้เป็นแรงงานก่อสร้างสะพานและทางรถไฟในจังหวัดกาญจบุรี

เชลยศึกที่สร้างสะพานข้ามแม่น้ำแควใหญ่นี้ไม่อาจระบุจำนวนที่แน่นอนได้ เชลยกองทัพเหล่านี้ได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัสจากการทำงานอย่างหนักในป่าดงดิบของกาญจนบุรี ต้องขาดแคลนอาหาร ไม่มีเสื้อผ้าจะใส่ถึงขนาดต้องนุ่งผ้าเตี่ยว ต้องป่วยตายจากมาลาเรีย อหิวาต์ แผลเน่าติดเชื้อ โรคบิด และขาดอาหาร

ศพนับหมื่นถูกฝังไว้เรี่ยราด ตายตรงไหนก็ฝังตรงนั้น  เชลยศึกคนหนึ่งกล่าวว่า “สะพานนี้เปรียบเสมือนหลุมศพของหลายๆ ชีวิต”

เมื่อสงครามยุติลง หน่วยงานชื่อ Commonwealth War Grave Cemetery (CWGC) ที่ดูแลด้านการศพและสุสานของกลุ่มประเทศเครือจักรภพ (ของอังกฤษ) เข้ามาย้ายศพเหล่านี้ไปยังสุสานและทำพิธีฝังอย่างสมเกียรติ  สุสานอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี ๒ แห่ง และในประเทศพม่า ๑ หลัง


สะพานเชิญแขก
สะพานข้ามแม่น้ำแคว เป็นสะพานที่สำคัญที่สุดของเส้นทางรถไฟสายมรณะ  ใช้เวลาในการสร้างเพียง ๑ ปี แต่สะพานแห่งนี้ “เชิญแขก” เรียกเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรมาทิ้งระเบิดทำลายหลายครั้ง  ซึ่งกองทัพญี่ปุ่นก็บังคับเชลยศึกซ่อมบำรุงอยู่ตลอดเวลา และการทิ้งระเบิดก็ไม่ได้ทำให้สะพานเสียหายมากนัก เพราะกองทัพญี่ปุ่นมักบังคับให้เชลยศึกขึ้นไปอยู่บนสะพาน ฝ่ายสัมพันธมิตรจะทิ้งระเบิดถล่มสะพานก็ไม่กล้าทิ้งระเบิด  จนกระทั่งวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๗  เวลาประมาณบ่ายสามโมง เครื่องบินบี ๒๔ ของฝ่ายพันธมิตรก็บินระยะต่ำจากทางทิศตะวันตกข้ามเขาปูนแล้ววกขึ้นทางเหนือพร้อมทิ้งระเบิด ทำให้สะพานช่วงที่ ๔-๕-๖ เสียหาย สะพานหักขาดจากกันรวม ๓ ช่วง ทำให้ญี่ปุ่นไม่สามารถใช้เป็นเส้นทางลำเลียงได้อีกเลย

หลังสงครามสงบลง การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ซ่อมแซมเปลี่ยนช่วงที่เสียหาย เป็นสะพานเหล็ก ๑๒ ช่วง โดยบริษัทญี่ปุ่นร่วมทุนในการจัดสร้างซ่อมแซมใหม่เป็นการใช้หนี้สงคราม พร้อมทั้งเปลี่ยนสะพานไม้ปลายทางเป็นสะพานเหล็ก ๖ ช่วง ด้วยดังที่เห็นในปัจจุบันนี้

แม้สะพานข้ามแม่น้ำแควใหญ่ในปัจจุบันจะมิใช่สะพานเดียวกับสะพานที่สร้างในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่อยู่ห่างออกไปทางใต้เล็กน้อยก็ตาม สะพานข้ามแม่น้ำแควใหญ่แห่งนี้ ก็ยังดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากมาเยี่ยมชมอนุสรณ์สถานแห่งนี้

อดีตเชลยศึกชาวอังกฤษชื่อ Harry Motteram ที่รอดชีวิตจากความเป็นทาสนรกสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแคว เป็นอดีตเชลยศึกคนสุดท้าย เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ตอนอายุ ๙๔ ปี เคยเล่าให้ลูกฟังก่อนเสียชีวิตว่า ต้องทำงานวันละ ๑๘ ชั่วโมง ได้ทานข้าวเพียงวันละ ๑ ถ้วยกาแฟ ก่อนเสียชีวิต ทาสเดนตายคนนนี้เคยขอกลับมาเยี่ยมชมสะพานและทางรถไฟมรณะที่กาญจนบุรี เพื่อยืนยันกับลูกหลานว่า สถานที่แห่งนี้คือ
นรก


ขอขอบคุณข้อมูล จาก  
- ฉากญี่ปุ่น เขียนโดย ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ดอกหญ้า
- ภาพเก่า...เล่าตำนาน สะพานโหด ข้ามแคว ฝรั่งหาย ตายนับหมื่น โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก  จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์มติชน
- สะพานข้ามแม่น้ำแคว  โดย บุญรอด ชลารักษ์  จัดพิมพ์โดย สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์
- ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกแผ่นดินไทย จัดพิมพ์โดย นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๒
- สะพานข้ามแม่น้ำแคว เว็บไซตฺ์ จังหวัดกาญจนบุรี
- สงครามโลกครั้งที่สอง เว็บไซต์ วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี