[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => สมถภาวนา - อภิญญาจิต => ข้อความที่เริ่มโดย: Maintenence ที่ 13 มีนาคม 2563 09:43:02



หัวข้อ: เรื่องของขันธ์ ๕ พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จ.ชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 13 มีนาคม 2563 09:43:02
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/49700740103920_89992720_2780072985363968_3586.jpg)

เรื่องของขันธ์ ๕

วันนี้จะขอพูดเรื่องขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ คืออะไร คำว่า “ขันธ์” แปลว่าส่วนประกอบ ๕ ก็คือ ๕, ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ส่วนประกอบ ๕ ส่วนของชีวิตของพวกเรา ชีวิตของพวกเรามีขึ้นมาได้เพราะเรามีขันธ์ ๕ เหมือนกับศาลาหลังนี้ มีขึ้นมาได้เพราะมีส่วนประกอบ เช่น มีไม้มีสังกะสีมีปูนมีอิฐ นี่เป็นส่วนประกอบของศาลา ส่วนประกอบของชีวิตเราก็มี ๕ ส่วนเรียกว่า “ขันธ์ ๕” คำว่าขันธ์นี้ไม่ใช่ขันตักน้ำนะ “ขัน” แล้วมี “ธ์” ตามไปด้วย ภาษาบาลีซึ่งแปลว่ากอง ๕ กอง แต่ถ้าจะแปลเป็นภาษาปัจจุบันก็ต้อง ๕ ส่วน ๕ ส่วน ๕ กอง ที่ทำให้เรามีชีวิตนี้ขึ้นมาได้

ขันธ์ที่ ๑ ส่วนประกอบชิ้นที่ ๑ ก็คือรูป รูปนี้แปลว่าร่างกาย รูปร่างหน้าตานี่คือร่างกายของเรา ทุกคนนี้มีรูปมีร่างกายที่มีอาการ ๓๒ อย่าง เช่น มีผมมีขนมีเล็บมีฟันมีเนื้อมีเอ็นกระดูก อาการ ๓๒ นี้เป็นส่วนประกอบของร่างกายของรูปอีกทีหนึ่ง รูปนี้เป็นส่วนประกอบของชีวิตของพวกเรา พวกเราไม่เพียงมีแต่รูปอย่างเดียว พวกเรามีอีก ๔ ส่วนด้วยกัน คือ ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ

ส่วนที่ ๒ เราเรียกว่า “เวทนา” นี้แปลว่าความรู้สึก เช่น ความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ รู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์นี่เรียกว่าเวทนา พวกเราทุกคนมีเวทนากัน ตอนนี้มีเวทนาแบบไหน ไม่สุขไม่ทุกข์ใช่ไหม จะว่าสุขก็ไม่เชิงจะว่าทุกข์ก็ไม่ใช่ ถ้าหิวข้าวนี่ถึงจะเรียกว่าทุกข์ ถ้ากินข้าวอิ่มก็เรียกว่าสุข ถ้าไม่หิวไม่อิ่มก็เรียกว่าเฉยๆ กลางๆ นี่คือเวทนาส่วนประกอบส่วนที่ ๒ ของชีวิตของพวกเรา

ส่วนที่ ๓ เรียกว่า “สัญญา” สัญญานี้ไม่ได้หมายถึงสัญญาว่าเราจะทำนู่นทำนี่นะ จะเป็นคู่ครองกันไปตลอด สัญญานี้แปลว่าความจำได้หมายรู้ นี่ภาษาพระกับภาษาไทยบางทีมันใช้ตัวเดียวกันแต่มีความหมายต่างกัน เลยต้องมาทำความเข้าใจกันใหม่ เช่น เวทนานี้ก็ต่างกับเวทนาในภาษาไทยแต่สะกดเหมือนกัน เวทนา (ในภาษาไทย) แปลว่าสมเพธ น่าสงสาร แต่(เวทนาในภาษาบาลี) แปลว่าความรู้สึก เวทนานี้เป็นขันธ์ที่ ๒ ในขันธ์ ๕ ขันธ์ที่ ๓ ในขันธ์ ๕ คือสัญญา สัญญาแปลว่าความจำได้หมายรู้ จำหน้าคนนั้นได้รู้ว่าคนนั้นเป็นใคร อย่างนี้ นี่คือสัญญา เราต้องมีสัญญาเราถึงจะคุยกันรู้เรื่อง คนไม่มีสัญญาเรียกว่าคนมีอัลไซเมอร์ ความจำได้หมายรู้บกพร่องไม่ทำงาน เห็นใครก็จำไม่ได้ ไม่รู้ว่าเป็นใครเรียกว่าอัลไซเมอร์ แต่คนที่มีสัญญานี้จะจำได้ พอเห็นหน้าใครก็จะจำได้ อ้อ เคยเห็นคนนี้มาก่อน ชื่อนั่นชื่อนี่ แต่ถ้าอายุมากขึ้นแก่มากขึ้น ความจำได้หมายรู้นี้มันจะเสื่อม เขาเรียกว่าความจำเสื่อม บางทีไม่ได้เห็นหน้ากันนานๆ ก็จำไม่ได้แล้วว่าเป็นใคร นี่คือส่วนประกอบส่วนที่ ๓ เรียกว่าสัญญา

ส่วนที่ ๔ เรียกว่า “สังขาร” สังขารนี้ไม่ใช่ร่างกายนะเดี๋ยวจะเข้าใจผิดกัน สังขารตัวนี้แปลว่าความคิดปรุงแต่ง นี่ความคิดต่างๆ ที่เราคิดกันอยู่ตั้งแต่ลืมตาขึ้นมานี่ คิดว่าวันนี้จะไปทำอะไรดีไปหาใครดี นี่เรียกว่าสังขาร ทุกคนมีสังขาร ตื่นขึ้นมาก็เริ่มคิดกันแล้วว่าวันนี้วันที่เท่าไหร่ วันอะไร ต้องไปทำงานรึเปล่า นี่เรียกว่าสังขารความคิดปรุงแต่ง

แล้วส่วนประกอบที่ ๕ เรียกว่า “วิญญาณ” วิญญาณตัวนี้ต่างจากวิญญาณที่เราพูดถึงคนตาย เวลาคนตายนี้ร่างกายตายไป รูปขันธ์ตายไป แต่จิตใจที่มาครองร่างกายไม่ได้ตายไปกับจิตใจ พอไม่มีร่างกายจิตใจก็เปลี่ยนชื่อเป็นดวงวิญญาณไป แต่วิญญาณในขันธ์ ๕ นี้ คนละตัวกัน วิญญาณในขันธ์ ๕ คือตัวที่ไปรับรู้รูปเสียงกลิ่นรสที่มาทางตาหูจมูกลิ้นกาย คือเป็นผู้รับรู้รูปเสียงกลิ่นรส วิญญาณนี้แหละเป็นตัวที่ไปเกาะพาจิตใจให้ไปเกาะติดกับร่างกาย ร่างกายเป็นรูปขันธ์แล้วเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้เป็นนามขันธ์ เป็นส่วนประกอบของจิตใจหรือของดวงวิญญาณอีกทีหนึ่ง แล้วการที่ดวงวิญญาณจะมาเกาะติดกับร่างกายนี้ได้ก็ต้องอาศัยวิญญาณในขันธ์ ๕ วิญญาณในขันธ์ ๕ นี้เป็นเหมือนสายไฟที่เราใช้เสียบที่เวลาเราใช้หูฟังกับเครื่องมือถือนี้ เราต้องมีสายไฟสายเชื่อมที่จะเชื่อมเครื่องกับหูฟัง อันนี้ก็เหมือนกัน ดวงวิญญาณของเราหรือจิตใจของพวกเราก็ต้องใช้วิญญาณในขันธ์ ๕ เป็นผู้ที่มาเชื่อมเกาะติดกับร่างกาย คือ รูปขันธ์ วิญญาณก็จะมาเกาะที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย เพื่อที่จะได้รับรูปเวลาตาเห็นรูป เวลาร่างกายเห็นรูปเห็นคนนั้นเห็นคนนี้เรียกว่ารูป สิ่งที่เข้ามาทางตานี้เรียกว่ารูป อันนี้คนละรูปกับรูปขันธ์ รูปขันธ์นี้คือร่างกาย ส่วนรูปที่เข้ามาทางตานี้เป็นรูปที่เราเห็นด้วยตา รูปต้นไม้ รูปคนรูปสัตว์ รูปภูเขา รูปอะไรต่างๆ ที่เราเรียกว่าถ่ายรูป นี่คือรูป พอตาเห็นรูปปั๊บใจจะรู้ว่าจะเห็นรูปจากตาได้ก็ต้องมีวิญญาณไปรับมาอีกที วิญญาณในขันธ์ ๕ เป็นเหมือนสายไฟที่เชื่อม เช่น หูฟังนี่ หูฟังต้องมีสายเชื่อมติดกับเครื่อง แล้วเสียงที่ออกจากเครื่องก็จะวิ่งไปในสายไฟ แล้วก็ไปออกที่หูฟังอีกทีหนึ่ง วิญญาณก็เป็นเหมือนสายที่ไปเกาะที่ตาหูจมูกลิ้นกาย มี ๕ สายด้วยกัน วิญญาณทางตา วิญญาณทางหู วิญญาณทางจมูก ทางลิ้น ทางร่างกาย มีอยู่ ๕ สาย พออะไรเข้ามาทางตาวิญญาณก็จะส่งรูปไปให้ใจทันที ใจคือผู้รู้ ใจก็จะรับรู้ว่า อ้อ ตอนนี้มีรูป พอมีรูปแล้ว สัญญาคือตัวจำได้หมายรู้ก็จะมาตรวจสอบว่ารูปนี้เป็นรูปของใคร เคยเห็นมาก่อนหรือไม่ เคยรู้จักมาก่อนหรือไม่ ก็จะรายงานบอกว่ารูปนี้คือคนนั้นคนนี้หรือรูปนี้คือคนไม่เคยรู้จักมาก่อน พอรายงานให้ใจทราบว่ามีรูป รูปนี้เป็นคนนั้นคนนี้ คนนั้นคนนี้เป็นเพื่อนหรือเป็นศัตรู สมมุตินะ พอใจรับรู้แล้วก็จะเกิดความรู้สึกขึ้นมา ถ้าเป็นรูปของเพื่อนก็จะเกิดสุขเวทนาขึ้นมา เกิดความรู้สึกสุขขึ้นมา ถ้าเป็นศัตรูก็จะเกิดความรู้สึกทุกข์ขึ้นมาเพราะจำได้ว่าในอดีตเวลาเจอกันมันทำให้เราทุกข์ ศัตรูไม่เคยทำให้เราสุข เจ้ากรรมนายเวรพอเจอกันก็จะรู้ว่าทำให้เราทุกข์ พอสัญญาความจำได้หมายรู้บอกว่า เฮ้ยศัตรูโว้ย ความทุกข์ก็โผล่ขึ้นมาทันที ความรู้สึกไม่สบายใจขึ้นมา หรือเจ้ากรรมนายเวรหรือเจ้าหนี้ เจ้าหนี้ก็ได้ เจ้าหนี้มาทีไรมาทวงหนี้ทุกที อันนี้ขั้นต้นคือวิญญาณไปรับเอารูปมา แล้วสัญญาก็ทำหน้าที่ตรวจสอบว่าเป็นรูปอะไร เป็นมิตรหรือเป็นศัตรูหรือเป็นกลางๆ ไม่เป็นมิตรไม่เป็นศัตรู ถ้าเป็นมิตรก็ดีใจ อ้อ คราวที่แล้วเจอกันไปเที่ยวกันไปกินไปดื่มไปสนุกสนานกัน คราวนี้คงจะได้ไปเที่ยวกันอีกแล้ว ก็เกิดสุขเวทนาขึ้นมา ถ้าไปเจอศัตรูคราวที่แล้วทะเลาะกันตีกัน เจ็บเนื้อเจ็บตัวก็เกิดทุกขเวทนาขึ้นมา แล้วก็ถ้าเจอคนไม่รู้จักไม่รู้ว่าเป็นใคร ไม่รู้ว่าเป็นมิตรหรือเป็นศัตรูก็เลยรู้สึกเฉยๆ ไปก่อนเพราะยังไท่สามารถตัดสินได้ว่าเป็นมิตรหรือเป็นศัตรู ก็เลยรู้สึกเฉยๆ เป็นกลางไปก่อน

นี่คือการทำหน้าที่ของขันธ์ ๕ ทำมา ๔ ขันธ์แล้วนี่ ตอนต้นก็ร่างกายไปรับรูปมาก่อน รับรูปรับเสียงรับกลิ่นรับ ๕ อย่างด้วยกัน แล้วก็ส่งมาที่ใจผู้รู้ ผู้รู้ก็ใช้สัญญาตรวจสอบว่าเป็นอะไร ถ้าเป็นมิตรก็สุข ถ้าเป็นศัตรูก็ทุกข์ ถ้าไม่เป็นมิตรเป็นศัตรูก็รู้สึกเฉยๆ ถ้าเป็นศัตรูรู้สึกทุกข์ขึ้นมา สังขารก็จะปรุงแต่งตามมา ทำไงดี คิดแล้วสิ หลบได้ไหม ปิดประตูได้ไหม ปฏิเสธไม่ต้อนรับเขาได้ไหม ความคิดก็จะโผล่ขึ้นมา ถ้าเป็นมิตรก็ อ้อ รีบเปิดประตูเลย ต้อนรับ อันนี้เป็นการทำงานของสังขาร นี่แหละคือขันธ์ ๕ ทำงานแบบนี้ ทำงานโดยอัตโนมัติรวดเร็ว ที่พูดมานี่มันยาวเหยียดแต่เวลาเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงๆ นี่เร็วกว่าวินาทีหนึ่งสียด้วยซ้ำไป พอเห็นรูปปั๊บความรู้สึกสัญญาความรู้สึกตามมาสังขารคิดไปแล้วเร็วมากรวดเร็วมาก เห็นไม๊ พองูหล่นลงมาตัวหนึ่งกระโดดปุ๊บเลยนี่ ความรู้สึกจิตใจมันรวดเร็วมาก รูปนี้คือร่างกายที่พูดถึง ส่วนเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้เป็นลูกน้องหรือเป็นผู้รับใช้ใจ เป็น ๒ กลุ่มใหญ่ๆ รูปขันธ์กับนามขันธ์ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เรียกว่านามขันธ์ มากับใจ ส่วนรูปนี้มาด้วยดิน น้ำ ลม ไฟ รูปคือร่างกายนี้ทำมาจากดิน น้ำ ลม ไฟ ข้าวที่เรากินเข้าไปนี้เป็นดินนะ น้ำที่เราดื่มก็เป็นไฟ ความร้อนที่ได้จากแสงอาทิตย์นี้ก็เป็นธาตุไฟ ลมที่เราหายใจเข้าออกก็ธาตุลมทำให้มีรูปขันธ์ขึ้นมา คือมีร่างกาย แล้วขันธ์ทั้ง ๕ นี้ พระพุทธเจ้าทรงค้นพบหลังจากศึกษาอย่างถ่องแท้แล้วว่าไม่มีตัวตนไม่มีเราเขาอยู่ในร่างกายอยู่ในขันธ์ ๕ เป็นเหมือนธรรมชาติเป็นเหมือนฟ้าแลบ เหมือนฟ้าร้อง เวลาฟ้าแลบฟ้าร้องเหมือนกับมีคนตะโกน มีคนเปิดไฟฉายแต่ไม่มีคนไปเปิดไฟไม่มีคนไปส่งเสียงร้อง

ฉันใด ขันธ์ ๕ นี้ ก็ไม่มีตัวตนอยู่ในขันธ์ ๕ นี่เป็นธรรมชาติเหมือนดินฟ้าอากาศ เหมือนฟ้าแลบเหมือนฟ้าร้องแต่ใจของพวกเรานี้ไม่มีใครสอนก็เลยไปหลงไปคิดว่าเป็นเราเป็นตัวเราไป ไปคิดว่าร่างกายนี้เป็นตัวเรา ไปคิดว่าเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นตัวเรา เรารู้สึกทุกข์รู้สึกทุกข์เราคิดเราจำได้หมายรู้ เรารับรู้เราเห็นรูปเสียงกลิ่นรส อันนี้เป็นความเข้าใจผิด ไอ้ตัวนี้แหละที่เป็นตัวปัญหาที่ทำให้เรานี้ต้องทุกข์กันทุกวันนี้เพราะเราไปหลงคิดว่าขันธ์ ๕ นี้เป็นตัวเรา แล้วพอมันเป็นตัวเราๆ ก็เกิดความอยากขึ้นมา อยากให้มันจีรังถาวร อยากให้มันให้ความสุขกับเราตลอด อยากให้มันเป็นของเราอยู่กับเราไปตลอด แต่ตามความเป็นจริงมันไม่เป็นอย่างนั้น มันเป็นตรงกันข้ามกัน ร่างกายของเราก็ไม่เที่ยงไม่ถาวร เกิดแล้วเดี๋ยวก็ต้องตาย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเกิดแล้วก็ดับ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่เรื่อยๆ ตอนนี้สุขเดี๋ยวความสุขก็หายไป ความไม่สุขไม่ทุกข์ก็เข้ามาหรือบางทีความทุกข์ก็เข้ามาแทนที่ สัญญาก็เหมือนกัน บางทีก็จำได้บางทีก็จำไม่ได้ จำวันที่วันเดือนปีบางทีก็จำได้ อาทิตย์ที่แล้ววันที่นั้นวันที่นี้ไปทำอะไรที่นั่นที่นี่ แต่ถ้ามันยิ่งไกลนี้แทบจะจำไม่ได้ ความจำมันมีรัศมี ถ้าเหตุการณ์ใกล้เคียงเกิดขึ้นเมื่อกี้นี้บยังพอจะจำได้ เมื่อวานนี้ชักจะจำยากขึ้นหน่อย ถ้าอาทิตย์ที่แล้วนี้บางทีจำไม่ได้เลย ถ้าอยากจะจำนี้ต้องมาไล่แล้ว ต้องมาเรียงไล่เหตุการณ์ถอยหลังกลับไป วันนี้ เมื่อวานนี้ ต้องไล่กลับไปทีละวันถึงจะจำได้ ต้องนึกต้องใช้ความคิดมาช่วยอีกทีถึงอาจจะจำได้ว่า อ้อ อาทิตย์ที่แล้วเป็นวันพฤหัส วันพฤหัสธรรมดาเราทำอะไรบ้าง บางคนก็มาวัดประจำ ก็เริ่มใช้ความคิดนี้มาช่วยความจำอีกทีหนึ่ง เดี๋ยวพอนั่งคิดไปสักพักหนึ่งก็จะจำได้ อ๋อ วันพฤหัสเวลานี้เรามานั่งฟังเทศน์ฟังธรรมที่นี่ พอเราเจอคนนั้นเจอคนนี้ หลังจากออกจากที่นี่ไปเราก็ไปที่นู่นที่นั่นต่อ อันนี้บางทีต้องใช้ความคิดช่วยขุดค้นความจำขุดค้นอดีตขึ้นมา แต่ความคิดก็เป็นของไม่เที่ยง คิดแล้วก็หยุดหายไป จำได้แล้วก็หยุดหายไป เปลี่ยนไปจำเรื่องใหม่ คิดเรื่องใหม่ รูปเสียงกลิ่นรสที่วิญญาณรับรู้ก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เสียงนี้เห็นไหมพอได้ยินปั๊บมันก็หายไปแล้ว วิญญาณที่รับเสียงมามันก็หยุดทำงาน พอไม่มีเสียงเข้ามาวิญญาณทางหูมันก็หยุดทำงานไป แล้วเดี๋ยวพอมีเสียงเข้ามาใหม่วิญญาณทางหูก็รับรู้ใหม่ มันเกิดดับเกิดดับแต่ทางทางนามขันธ์ คือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้มันเกิดดับเกิดดับแต่มันไม่หายเหมือนร่างกาย ร่างกายนี้มันเกิดแล้วตาย พอตายแล้วมันหายไปเลยเพราะว่าส่วนที่มารวมตัวกันคือดิน น้ำ ลม ไฟ มันแยกตัวไป พอร่างกายไม่หายใจธาตุลมก็หายไป ธาตุไฟคือความร้อนก็หายไป ทิ้งไว้นานๆ ธาตุน้ำก็หายไปเหลือแต่ร่างกายที่แห้งกรอบ เหลือแต่เนื้อหนังมังสาที่แห้งกรอบห่อหุ้มโครงกระดูก แล้วทิ้งต่อไปมันก็ผุผังไปกลายเป็นดินไปกลายเป็นฝุ่นไป ร่างกายนี้หายแล้วหายเลยไม่กลับมาอีก แต่เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้หายไปแล้วแต่กลับมาใหม่ พอสุขแล้วเดี๋ยวมันก็กลับมาทุกข์ใหม่ เดี๋ยวทุกข์แล้วเดี๋ยวมันก็กลับมาสุขใหม่ เดี๋ยวคิดถึงเรื่องนั้นแล้วก็ไปคิดถึงเรื่องนี้ต่อ คิดถึงเรื่องนี้แล้วก็ไปคิดถึงคนนั้นต่อ มันก็คิดอยู่เรื่อยๆ แต่มันเปลี่ยนเรื่องคิดไปเรื่อยๆ ท่านเรียกว่ามันไม่เที่ยงเพราะมันเปลี่ยนแปลง ไม่ได้หมายความว่ามันสูญหาย คำว่าไม่เที่ยงแปลว่าการเปลี่ยนแปลง “อนิจจัง” แปลว่าการเปลี่ยนแปลง

นี่คือเรามาศึกษาส่วนประกอบของชีวิตของพวกเราเพื่อให้เราปล่อยวางเข้าใจไหม อย่าไปถือว่าเป็นตัวเราของเรา เพราะพออะไรเป็นตัวเราของเราเราจะยึดเราจะติด เราจะอยากให้มันไม่เปลี่ยนแปลง เพราะเราชอบของบางอย่างแล้วเราไม่อยากจะเสียมันไปนั่นเอง เราชอบสุขเวทนากัน เราก็เลยไม่อยากให้สุขเวทนาหายไป แต่เราไปควบคุมบังคับมันไม่ได้ มันเป็นธรรมชาติเหมือน นี่ลมพัดตอนนี้เราไปควบคุมลมไม่ได้ เราจะสั่งให้ลมหยุดพัดไม่ได้ เวลามันไม่พัดจะสั่งให้มันพัดก็ไม่ได้ นี่ขันธ์ ๕ ก็เป็นเหมือนลมหรือแสงแดดแสงสว่างหรือฟ้าร้องฟ้าแลบ เป็นธรรมชาติที่ไม่มีใครมาเป็นคนสั่ง มันเกิดขึ้นจากเหตุจากปัจจัยที่ไปกระตุ้นให้มันเกิดขึ้นมา ร่างกายของเราก็เกิดมีปัจจัยทำให้มันเกิดขึ้นมา ปัจจัยที่ทำให้ร่างกายเราเกิดขึ้นมาคืออะไร ก็คือการผสมพันธุ์ของพ่อของแม่ พอมีเชื้อของพ่อกับเชื้อของแม่มาเจอกันปั๊บ ก็เหมือนหนุ่มสาวเจอกันใช่ไหม หนุ่มสาวเจอกันก็แต่งงานกัน พอเชื้อของพ่อของแม่มาเจอกันปั๊บมันก็มาสร้างร่างกายขึ้นมา และจะสร้างสำเร็จก็ต้องมีส่วนประกอบที่ ๓ ก็คือดวงวิญญาณที่มาในรูปของเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี่ วิญญาณก็จะมาเกาะติดกับตาหูจมูกลิ้นกายของร่างกายที่กำลังก่อสร้างขึ้นมาอยู่ในท้องแม่ ตอนที่มีปฏิสนธิตอนที่ตั้งครรภ์ แสดงว่าตอนนั้นส่วนประกอบของชีวิตครบสมบูรณ์แล้ว ส่วนของร่างกายก็มาจากพ่อจากแม่ ส่วนของจิตใจก็มาจากดวงวิญญาณมารวมกันเป็นขันธ์ ๕ ในร่างกาย

การเริ่มต้นของขันธ์ ๕ เริ่มต้นในท้องแม่นี่เอง แล้วอยู่ในท้องแม่ได้ ๙ เดือนก็เจริญเติบโตจนต้องย้ายที่อยู่เพราะที่มันคับแคบเกินไปอยู่ไม่ได้แล้วแน่นท้องแม่ แม่ก็บอก เอ๊ย ลูกออกไปอยู่ข้างนอกดีกว่า แม่แบกไม่ไหวแล้ว แน่นท้องปวดท้อง ก็เลยคลอดลูกออกมา ลูกนี้ก็คือพวกเรานี่คือลูกที่ออกมาจากท้องแม่ด้วยกัน แล้วร่างกายของเรามันก็เปลี่ยนแปลงไปทุกวันตั้งแต่วันแรกที่ออกมาจากร่างกาย มันก็ค่อยเติบโตขึ้นไปทีละนิดทีละหน่อย เพราะมันเติมดินน้ำลมไฟเข้าไปอยู่เรื่อยๆ ลมก็หายใจเข้าไปอยู่เรื่อยๆ น้ำก็ดื่มเข้าไปอยู่เรื่อยๆ อาหารคือดินก็กินเข้าไปอยู่เรื่อยๆ ความร้อนก็ได้จากแสงแดดได้จากผ้าห่มได้จากอาหารที่กินเข้าไปมันก็ผลิตความร้อนให้กับร่างกายด้วย นี่ร่างกายก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ช่วงแรกก็เปลี่ยนแปลงไปในด้านของการเจริญเติบโต เห็นไหมจากทารกขึ้นมก็เป็นเด็กคลาน เด็กคลานแล้วก็เป็นเด็กล้มลุกคลุกคลาน แล้วก็เป็นเด็กยืนได้เดินได้วิ่งได้ แล้วต่อไปก็เริ่มเป็นเด็กโตไปโรงเรียน แล้วก็เป็นเด็กใหญ่ จากเด็กโตก็ไปโรงเรียนก็ไปมหาวิทยาลัย เรียนจบมหาวิทยาลัยออกมาก็ไปทำงานก็เป็นผู้ใหญ่แล้วทีนี้ พอเริ่มทำงานก็เป็นผู้ใหญ่ ทำไป ๔๐ ปี ๓๐ กว่าปีก็เกษียณอายุก็เป็นผู้เฒ่าเป็นผู้แก่ แล้วก็อยู่แบบผู้แก่ไปอีก ๑๐ ปี ๒๐ ปีก็เป็นผู้เจ็บ แล้วก็ต่อไปก็เป็นผู้ตาย นี่คือการเปลี่ยนแปลงของรูปขันธ์คือร่างกายของเรา


สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๓
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดณาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน