[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 18 มีนาคม 2563 14:59:10



หัวข้อ: ปู่แสะ-ย่าแสะ ตำนานยักษ์ผู้ปกปักรักษาผืนป่าดงดอย จังหวัดเชียงใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 18 มีนาคม 2563 14:59:10

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/19427542926536_line_580087084557898_320x200_.jpg)
รูปปั้นปู่แสะ-ย่าแสะ

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/99959198964966_line_580082976769931_320x200_.jpg)
ศาลปู่แสะ - ย่าแสะ ที่เชิงดอยวัดพระธาตุดอยคำ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

ปู่แสะ-ย่าแสะ ตำนานยักษ์ผู้ปกปักรักษาผืนป่าดงดอย
ดงย่าแสะ ต.แม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

ปู่แสะ-ย่าแสะ เป็นชื่อผีที่ดูแลรักษาเมืองเชียงใหม่ ที่ปรากฏในตำนานเชียงใหม่ปางเดิม และตำนานวัดดอยคำ

กล่าวกันว่าผีปู่แสะ-ย่าแสะเป็นผีบรรพบุรุษของพวกลั๊วะที่อาศัยอยู่ในบริเวณเชิงดอยสุเทพ และพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดยักษ์สามตนพ่อแม่ลูกซึ่งยังชีพด้วยเนื้อมนุษย์และเนื้อสัตว์ถึงเชิงดอยคำ

มีเรื่องเล่าว่าในอดีตบรมกาล ก่อนตั้งเมืองเชียงใหม่ “นพบุรีศรีนครพิงค์” มีเมืองหนึ่งเรียกว่า “ระมิงค์นคร” หรือ “บุพพนคร”  ตั้งอยู่เชิงเขาดอยสุเทพและดอยคำ เป็นเมืองของคนเผ่าลั๊วะ  

เมืองระมิงค์นคร มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยภูเขา ป่าไม้ ลำน้ำ ลำห้วย  ทางด้านทิศตะวันออกของเมืองมีภูเขา (ภาษาเหนือเรียกว่า “ดอย”) ทอดยาวเรียงรายสลับซับซ้อนสวยงาม  

ดอยเหนือเรียกว่า “ดอยสุเทพ”  ดอยใต้เรียกว่า “ดอยคำ”  

ในป่าทางด้านทิศตะวันออกของเมืองระมิงค์นคร หรือ “บุพพนคร” มียักษ์สองสามี-ภรรยา และบุตร ๑ ตน อาศัยอยู่

ยักษ์สองสามี-ภรรยา ชื่อจิคำและตาเขียว ซึ่งต่อมาชาวบ้านได้เรียกยักษ์ทั้งสองนี้ว่า “ปู่แสะ – ย่าแสะ” ยักษ์ปู่แสะย่าแสะและบุตร คอยจับมนุษย์และสัตว์น้อยใหญ่กินเป็นอาหาร เมื่อคนลั๊วะ ชาวเมืองระมิงค์นคร เข้าป่าหาอาหารหรือออกล่าสัตว์ก็จะถูกสามยักษ์พ่อแม่ลูกจับกินเป็นประจำ  ในกาลครั้งนั้น ณ ดินแดนแห่งชมพูทวีป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้เป็นองค์ปฐมบรมศาสดา มีพระประสงค์เสด็จโปรดสัตว์และเผยแพร่พระธรรมคำสอน  พระพุทธเจ้าได้เสด็จจาริกพร้อมด้วยพระสาวกมาถึงดินแดนแห่งเมืองระมิงค์นคร หรือบุพพนครแห่งนี้  เจ้าเมืองระมิงค์นครได้ทูลร้องทุกข์กับพระบรมศาสดา ว่า ราษฎรในเมืองได้รับความเดือดร้อนลำบากอย่างหนัก เนืองจากถูกยักษ์ทั้ง ๓ ตน จับคนกินเป็นอาหารเป็นประจำ ทำให้ชาวเมืองตื่นกลัว ไม่กล้าจะที่เข้าป่าหาพืชผักผลหมากรากไม้และล่าสัตว์มาเป็นอาหาร  จนทำให้เมืองระมิงค์นครแทบจะเป็นเมืองร้างผู้คน  ขอให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงช่วยเหลือประชาชนผู้เดือดร้อนด้วยเถิด พระพุทธองค์จึงเสด็จพร้อมพระสาวก มาถึงบริเวณเชิงดอยคำ ยักษ์ทั้ง ๓ ตน ได้เห็นพระพุทธเจ้าก็จะจับกิน พระพุทธองค์ทรงแผ่เมตตาจนยักษ์ทั้งสามเกรงในพระบารมี ก้มกราบเบื้องบาทองค์พระศาสดา

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงเทศนาโปรดยักษ์ทั้งสามตน และให้ยักษ์ทั้งสามตนตั้งมั่นอยู่ในศีลห้า เจริญภาวนา ดูแลรักษาป่า และเก็บผักผลไม้กินเป็นอาหารแทนการกินชีวิตมนุษย์และสัตว์ป่าน้อยใหญ่

ยักษ์ปู่แสะ-ย่าแสะ ไม่อาจรับศีลห้าได้ตลอด จึงได้กราบทูลร้องขอกินเนื้อมนุษย์ปีละสองคน พระพุทธองค์ “ไม่อนุญาต” ยักษ์ทั้งสองจึงกราบทูลขอต่อรองมาเรื่อยๆ จนขอกินเนื้อสัตว์ ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสบอกให้ไปถามเจ้าเมืองเอาเอง แล้วพระพุทธองค์ก็เสด็จจากไป และไว้พระเกศธาตุที่ต่อมากลายเป็นพระธาตุดอยคำ

ยักษ์ปู่แสะ-ย่าแสะ ได้รับอนุญาตจากเจ้าเมืองให้กินควายได้ปีละครั้ง จึงได้มีประเพณีฆ่าควายรุ่น (ควายรุ่นที่มีเขาเพียงหู) ที่เรียกว่า ฅวายเขาฅำ เพื่อเอาเนื้อสดสังเวยผีปู่แสะ-ย่าแสะ ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๙ เหนือ ของทุกๆ ปี

ส่วนยักษ์ผู้เป็นลูกได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ ก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส กราบทูลขอบวชในพระพุทธศาสนา แต่เนื่องจากเป็นยักษ์ ไม่สามารถบวชเป็นพระได้ พระพุทธเจ้าอนุญาตให้บวชเป็น “ฤๅษี” เท่านั้น เมื่อบวชแล้วมีชื่อว่า สุเทวฤๅษี หรือวาสุเทวฤๅษี อันเป็นที่มาของชื่อดอยสุเทพ  



(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/95208741807275_line_580151711116884_320x200_.jpg)
ฅวายเขาฅำ คือ ควายรุ่น เขายังสั้นเสมอเพียงใบหู

ชาวระมิงค์นครเชื่อว่าวิญญาณของยักษ์ปู่แสะ-ย่าแสะสิงสถิตอยู่ในป่า มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ คอยปกป้องรักษาผืนป่า สามารถดลบันดาลความอุดมสมบูรณ์ให้ป่าทั้งสองดอย ช่วยให้ฝนตกตามฤดูกาล ราษฎรทำการเกษตรได้ผลดี ประชาชนอยู่ดีมีสุข ผู้ที่บุกรุกผืนป่าทำลายป่าก็มีอันเป็นไปโดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่อถึงวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๙ เหนือ ของทุกปี เจ้าเมืองและประชาชนจึงได้พร้อมใจช่วยกันจัดขบวนแห่ จัดเครื่องบวงสรวงเซ่นไหว้ดวงวิญญาณปู่แสะ-ย่าแสะ และอัญเชิญวิญญาณยักษ์ทั้ง ๒ ตนมาประทับร่างทรง เพื่อรับเครื่องบวงสรวงดังกล่าว จนเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่นผ่านมาหลายร้อยปี

ต่อมาชาวบ้านตำบลสุเทพ อำเภอเมือง เชียงใหม่ เป็นผู้จัดเลี้ยงผีปู่แสะในบริเวณที่อยู่ของผีปู่แสะ คือ หอผีกลางหมู่บ้านดอยสุเทพ (ในบริเวณคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ในวันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๙ เหนือ คือประมาณเดือนมิถุนายนของทุกปี  ขณะเดียวกัน ชาวบ้านตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง เชียงใหม่ จะเลี้ยงผีย่าแสะที่ “ดงย่าแสะ” บริเวณเชิงดอยคำ ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๙ เหนือ และชาวบ้านจากสองตำบลนี้จะเลี้ยงผีเองโดยไม่มีเจ้าเมืองหรือผู้ว่าราชการจังหวัดไปร่วมพิธี และราวปี พ.ศ.๒๔๘๐ ทางการได้ห้ามจัดการเลี้ยงผี  แต่ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว จึงได้ฟื้นฟูขึ้นอีก แต่ให้ฆ่าควายดำเพียงตัวเดียว และทำพิธีรวมกันที่ดงย่าแสะเชิงดอยคำทางด้านใต้ของดอยสุเทพ ในเดือน ๙ เหนือ คือประมาณเดือนมิถุนายน ชาวเหนือเรียกประเพณีนี้ว่า “ประเพณีเลี้ยงดง” ซึ่งก็ได้ดำเนินประเพณีนี้เป็นประจำทุกปีเรื่อยมา


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/78952341650923__0003_320x200_.jpg)
รูปปั้นปู่แสะ ที่วัดพระธาตุดอยคำ เชียงใหม่


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/80155032997330_line_580114322396377_320x200_.jpg)
รูปปั้นปู่แสะ (ซ้าย) - ย่าแสะ (ขวา)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/58728082022733_line_580131403471266_320x200_.jpg)
หมาก พลู บุหรี่ เครื่องสังเวยปู่แสะ-ย่าแสะ

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/28109299639860_line_580139388438242_320x200_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/97607348114252_line_580179714350467_320x200_.jpg)
บริเวณศาลปู่แสะ - ย่าแสะ ที่เชิงดอยวัดพระธาตุดอยคำ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่