[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 18 มีนาคม 2563 16:21:06



หัวข้อ: ตำนานรัตนสูตร
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 18 มีนาคม 2563 16:21:06

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/97125161563356_18_124_1_320x200_.jpg)
ภาพวาดพุทธประวัติ : พระเจ้าพิมพิสารเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
ฝีมือ ครูเหม เวชกร

ตำนานรัตนสูตร (ยังกิญจิ)

รัตนสูตร คือ พระธรรมบทปรากฏในอรรถกถารัตนสูตร มีความโดยสังเขปว่า แต่เดิมกรุงเวสาลี นครหลวงแห่งแคว้นวัชชี มั่งคั่งด้วยข้าวปลาธัญญาหาร อาณาประชาราษฎร์ร่มเย็นเป็นสุข มาคราวหนึ่งในสมัยพุทธกาลเกิดฝนแล้ง ขาดแคลนอาหารถึงขนาดคนยากจนอดตาย ซากศพถูกทิ้งเกลื่อน พวกอมุษย์ได้กลิ่นก็พากันเข้าไปทำอันตรายซ้ำเติมทำให้คนตายมากขึ้น  อหิวาตกโรคก็เกิดระบาด ทำให้คนตายเหลือที่จะคณานับ

นครเวสาลีประสบภัย ๓ ประการพร้อมกัน คือ ทุพภิกขภัย (ข้าวยากหมากแพง)  อมนุษย์ภัย (ผีรบกวน) และโรคภัย (เกิดอหิวาตกโรค)

ชาวเมืองชวนกันร้องทุกข์ต่อพระราชาว่า การเกิดภัยร้ายแรงนี้ชะรอยผู้ครองรัฐจะประพฤติมิชอบ จึงเกิดยุคเข็ญเช่นนี้ พระราชาจึงโปรดฯ ให้ชาวเมืองประชุมกันที่ศาลากลางเมืองเพื่อวิจัยความผิดของพระองค์ ก็ไม่พบความผิดของพระราชาเลย จึงปรึกษากันต่อไปว่าทำอย่างไรภัยร้ายแรง ๓ ประการนี้จึงจะสงบ ผลสุดท้ายจึงตกลงให้เชิญเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาโปรด

เวลานั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ  ในสมัยพระเจ้าพิมพิสาร ชาววัชชีเกรงพระเดชานุภาพของพระเจ้าพิมพิสาร จึงแต่งให้เจ้าลิจฉวี ๒ องค์เป็นราชทูตคุมเครื่องบรรณาการไปถวายพระเจ้าพิมพิสาร ทูลความให้ทรงทราบ แล้วขอพระราชทานวโรกาสกราบทูลเชิญเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปโปรดชาววัชชี ซึ่งก็ได้รับพระราชานุเคราะห์เป็นอันดี  ทูตชาววัชชีได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์กราบทูลเล่าความทุกข์ยาก แล้ววิงวอนเชิญเสด็จไปโปรดชาวเวสาลีให้พ้นภัย

พระบรมศาสดาทรงสดับดังนั้นแล้ว ทรงคำนึงเห็นว่าหากพระองค์ไปกรุงเวสาลีในครั้งนี้ จะได้ประโยชน์ถึง ๒ อย่าง คือ ภัยจะสงบไปอย่างหนึ่ง และชาววัชชีได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้วจะได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุมรรคผลเป็นอันมาก อีกอย่างหนึ่งนับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการแผ่พระศาสนา จึงทรงรับนิมนต์

พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบเช่นนั้น ก็โปรดฯ ให้รีบแต่งทางเสด็จพระพุทธดำเนินระยะทางจากกรุงราชคฤห์ถึงแม่น้ำคงคา อันเป็นพรมแดนแห่งแคว้นทั้งสองนั้น ๕ โยชน์ รับสั่งให้ปราบพื้นถมดิน ทำทางให้เรียบ ให้ปลูกที่ประทับแรมทุกโยชน์ เตรียมให้เสด็จวันละโยชน์ แล้วทูลเชิญเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จออกจากกรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูป มีการส่งเสด็จอย่างเอิกเกริกมโหฬาร

ฝ่ายกรุงเวสาลีมีความยินดีหาที่เปรียบมิได้ เตรียมการรับเสด็จเป็นการใหญ่ เมื่อเรือส่งเสด็จใกล้ฝั่งวัชชีเข้าไป บัดดลก็มีเมฆฝนมืดมาทั้ง ๔ ทิศ ฟ้าแลบแปลบปลาบ ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงย่างพระบาทแรกเหยียบดินที่ฝั่งแม่คงคาแดนวัชชี ฝนโบกขรพรรษก็ตกพรูลงมา ใครอยากเปียกก็เปียก ใครไม่อยากเปียกก็ไม่เปียก ฝนตกมากและนาน น้ำไหลนองพัดพาสิ่งโสโครกต่างๆ ลงแม่น้ำลำคลองไปสิ้น ก็ชุ่มเย็นและสะอาดทั่วไปในแดนวัชชี โดยเฉพาะบริเวณกรุงเวสาลีอันเป็นแดนภัย การนำเสด็จจากฝั่งแม่คงคาถึงกรุงเวสาลีเป็นเวลา ๓ วันพอดี

ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จถึงกรุงเวสาลี พระอินทร์พร้อมด้วยเทพบริวารเป็นอันมากก็มา ณ ที่นั้น ทำให้พวกอมนุษย์ต้องถอยร่นหลีบหลีกไปเป็นอันมาก

พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับยืนที่ประตูพระนครเวสาลี รับสั่งให้พระอานนท์เรียนรัตนสูตรแล้วให้เข้าไปทำปริตรภายในกำแพงสามชั้นแห่งกรุงเวสาลี พร้อมด้วยเจ้าชายลิจฉวีทั้งหลายติดตามห้อมล้อมไปด้วย พระอานนท์เรียนจำรัตนสูตร ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับยืนตรัสบอกที่ประตูเมืองได้แล้ว ก็ขอพุทธานุญาตใช้บาตรของพระพุทธองค์ใส่น้ำ เดินสวดรัตนสูตรพลางซัดน้ำในบาตรไปจนทั่วพระนคร

พอพระเถระเจ้าสวดขึ้นบทยังกิญจิ วัตตัง พวกอมนุษย์หัวดื้อที่ไม่ยอมหนีไปแต่แรก ก็ทนอยู่ไม่ไหวอีกต่อไป ชิงกันหนีออกทางประตูเมืองทั้ง ๔ แน่นอัดยัดเยียด พอพวกอมนุษย์ออกไป โรคในตัวมนุษย์ก็หาย จึงพากันลุกออกมาบูชาพระเถระเจ้าด้วยเครื่องบูชาต่างๆ

เมื่อเชิญเสด็จพระพุทธองค์ไปประทับที่ศาลากลางเมือง ภิกษุสงฆ์ คณะเจ้าลิจฉวี และราษฎรก็ไปเฝ้าที่นั่น แม้ท้าวสักกเทวราชก็ทรงพาเทวดาทั้งปวงมาเฝ้าด้วย ฝ่ายพระอานนท์เที่ยวทำการรักษาทั่วกรุงเวสาลีแล้วมาเฝ้าที่นั้น มีชาวนครเวสาลีติดตามมาเฝ้าเป็นอันมาก รวมเข้าด้วยกันเป็นมหาสมาคม

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสรัตนสูตรซ้ำอีกในมหาสมาคมนั้น เมื่อจบเทศนาสรรพอุปัทวันตรายภัยพิบัติก็สงบหาย ความสวัสดีและสุขกายสบายใจแผ่ไปทั่ว พุทธเวไนยได้ศรัทธาปสาทะและเกิดความรู้ธรรมเป็นอันมาก ฯลฯ แต่นั้นฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล พืชพรรณธัญญาหารกลับอุดมสมบูรณ์เหมือนดังเดิม ด้วยอำนาจแห่งพระพุทธปริตร คือ รัตนสูตร ดังพรรณนามาฉะนี้

รัตนสูตรเป็นบททำน้ำมนต์ พระที่เป็นหัวหน้าจะเริ่มหยดเทียนลงในน้ำมนต์ตั้งแต่ “เย สุปปะยุตตา” หรือ “ขีณังปุราณัง” เป็นอย่างช้า พอถึง “นิพพันติ ธีระ ยะถายัมปะทีโป” ก็ดับเทียนโดยจุ่มลงในน้ำมนต์


ขอขอบคุณข้อมูล ตำนานรัตนสูตร (ยังกิญจิ) สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ จัดพิมพ์โดย มูลนิธิธนาคารไทยพาณิชย์ฯ