[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 10 พฤษภาคม 2563 09:08:30



หัวข้อ: พระธรรมราชานุวัตร (หลวงเตี่ย) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) กรุงเทพฯ
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 10 พฤษภาคม 2563 09:08:30
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/34799779454866_view_resizing_images_6_Copy_.jpg)

พระธรรมราชานุวัตร (หลวงเตี่ย)
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) กรุงเทพฯ

พระธรรมราชานุวัตร หรือ หลวงเตี่ย หลวงเตี่ย" อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) และอดีตเจ้าคณะภาค 3 ผู้บุกเบิกวัดไทยในต่างประเทศให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง คือ วัดไทยในลอสแองเจลิส

ฉายา หลวงเตี่ย ที่เรียกขานกันติดปาก ผู้ที่เรียกคนแรก คือ ปราโมทย์ ดิลกมนกุล หรือ โกยี เจ้าของตลาดบางกอกมาร์เก็ต ตลาดไทยใหญ่ที่สุดในนครลอสแองเจลิส

มีนามเดิมว่า หวอยฮั้ว ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็น กมล เกิดเมื่อวันที่ 7 พ.ค.2467 ลูกชาวไร่ชาวนา ต.บางแขม อ.เมือง จ.นครปฐม

อายุประมาณ 7 ขวบ ตามพี่ชายซึ่งบวชเป็นพระอยู่ที่วัดลาดปลาเค้า และเริ่มเรียนหนังสือที่ ร.ร.วัดแห่งนี้ พร้อมกับพี่ชายอีกคน

เมื่อเรียนจบชั้นประถม 5 ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน เพราะมีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาใหม่ ยกเลิกชั้นประถม 6 ให้คงมีแต่ชั้นประถม 4 จึงกลับไปช่วยพ่อแม่ทำงาน แต่ยังไปมาหาสู่พระพี่ชายซึ่งย้ายไปอยู่วัดพระงาม ในตัวเมืองนครปฐม และถูกชักชวนให้บวชเรียน นักธรรมเรียนบาลี

ก่อนตัดสินใจบรรพชาที่วัดห้วยจรเข้ อ.เมืองนครปฐม เมื่อวันที่ 12 ก.ค.2480 มีพระครูอุตตรการบดี (สุข) เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วมาจำพรรษาที่วัดพระงาม

สอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก จากนั้นเบนเข็มมาเรียนสายบาลี โดยพระอุปัชฌาย์นำไปฝากไว้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ในปกครองของสมเด็จพระวันรัต (เผื่อน ติสฺสทตตเถร) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระอุบาลีคุณูปมาจารย์

พ.ศ.2486 สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค

อุปสมบทที่วัดพระงาม เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2487 โดยมี สมเด็จพระวันรัต (เผื่อน) วัดพระเชตุพนฯ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอมรเวที (ปุ่น ปุณณสิริ สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 17) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และพระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (กมล กมโล) เป็นพระอาจารย์ให้ศีล ได้รับฉายาว่า โกวิโท

กลับมาจำพรรษาและเล่าเรียนบาลีที่วัดโพธิ์ สอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค ในปี พ.ศ.2497 และสอบเทียบประโยคเตรียมอุดมศึกษา (ม.8) และสอบประโยคครู พ.ฒ. ได้

ในยุคที่บ้านเมืองเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทำให้วงการสงฆ์ต้องอนุวัตตามฝ่ายบ้านเมือง โดยยกเลิก พ.ร.บ.ลักษณะปกครองสงฆ์ ร.ศ.121 (พ.ศ.2445) แล้วประกาศใช้ พ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ.2484 แทน

สมเด็จพระวันรัต (เผื่อน) ได้รับการแต่งตั้งเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง และหลวงเตี่ยได้รับแต่งตั้งเป็นเลขานุการ

ภายหลังสมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณณสิริ) หรือ สมเด็จป๋า ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบต่อ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเลขานุการเจ้าอาวาส, เลขานุการสังฆมนตรีว่าการองค์การสาธารณูปการ และสังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่ตามลำดับ

เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับ พ.ศ.2505 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเลขานุการเจ้าคณะใหญ่หนกลาง ก่อนได้เป็นเจ้าคณะภาค 14, ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ และเจ้าคณะภาค 3 ดูแลคณะสงฆ์ใน จ.ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท และอุทัยธานี ตามลำดับ

ลำดับสมณศักดิ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะที่พระรัตนเวที, พระราชโมลี, พระเทพโสภณ และพระธรรมราชานุวัตร ตามลำดับ

มีงานด้านการประพันธ์ โดยเป็นผู้เรียบเรียงพระประวัติสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ประวัติวัดพระเชตุพนฯ, ประวัติพระพุทธรูปประจำวันเกิด ฯลฯ

เคยเขียนบทความธรรมะในคอลัมน์หนังสือพิมพ์และวารสารต่างๆ

นอกจากนี้ ยังเรียบเรียง "วัดของเรา" เป็นหนังสืออ่านเพิ่มเติมชุดพระพุทธศาสนาและจริยธรรม ระดับมัธยมศึกษาของกรมวิชาการ

แต่งานที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงมากที่สุด คือ เป็นผู้บุกเบิกการสร้างวัดไทยในลอสแองเจลิส

จึงเป็นพระเถระที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ

วันที่ 2 ก.ย.2545 มรณภาพอย่างสงบ สิริอายุ 78 ปี พรรษา 58
    ข่าวสดออนไลน์