[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 15 พฤษภาคม 2563 15:40:00



หัวข้อ: รวยระรื่น ชื่นนาสา 'กระแจะ' เครื่องหอมยอดนิยมยุคโบราณกาล
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 15 พฤษภาคม 2563 15:40:00

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/77542802525891_2_320x200_.jpg)
ภาพจาก : พระตำหนักแดง ภายในพระบรมมหาราชวัง

รวยระรื่น ชื่นนาสา 'กระแจะ' เครื่องหอมยอดนิยมในโบราณกาล


กระแจะ เครื่องหอมประทินผิวยอดนิยมที่ใช้กันทั่วไปแบบโบราณ มีส่วนผสม ๔ อย่าง คือ ผงไม้จันทน์ ผงเนื้อไม้กฤษณา หญ้าฝรั่น และชะมดเชียง  เมื่อต้องการใช้ ละลายด้วยน้ำดอกไม้ หรือน้ำมันหอม หรือน้ำอบไทยอีกทีหนึ่งก็ใช้ได้ ใช้เจิมหรือทาแล้วแต่ที่ที่จะใช้...

อาจารย์ศุภร บุนนาค อธิบายถึง “น้ำอบแป้งสด” ที่ใช้ละลายกระแจะหรือผงเครื่องหอม ไว้ในหนังสือ “สมบัติกวี” ชุดอิเหนาว่า “...น้ำแป้งอบ คือน้ำอบที่ไม่ใช่น้ำซึ่งรมด้วยควันกำยานใช้น้ำดอกไม้สดลอยดอกไม้ เช่น มะลิ กุหลาบ ชำมะนาด แล้วแต่ชอบ แล้วจึงนำน้ำนั้นมาปรุงด้วยแป้งร่ำและหัวน้ำมันข้างนอก เป็นของปรุงที่หอมชื่นใจกว่าน้ำอบที่ใช้รมควันกำยาน แต่ว่าเก็บไว้ไม่ได้นาน ถ้านานก็จะบูด ต้องปรุงทีละน้อย ใช้หมดก็ปรุงใหม่เรื่อยไป จึงมีใช้แต่ผู้มีฐานะดี คนสามัญชาวบ้านใครจะมานั่งลอยดอกไม้อบน้ำอยู่ทุกวัน..”

กระแจะ หรือ ผงเครื่องหอมนี้มีใช้มานานหลายร้อยปี กวีสมัยอยุธยา เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรหรือเจ้าฟ้ากุ้ง ทรงรำพันถึงนางที่รักไว้ใน “กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก” ดังนี้

ฤดูรูเหมันต์             เนื้อกลิ่นจันทน์อันหอมรวย
น้ำค้างว่างลมชวย     ด้วยไกลสมรที่นอนเย็น

นอกจากผงไม้จันทน์ เครื่องหอมกระแจะ ยังมี “ชะมด” เป็นส่วนผสม  เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร ทรงบรรยายไว้ใน “กาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง” ดังนี้
ชมดเชียงตรึกกลิ่นเจ้า         ทากระแจะเช้าเย็นวังเวง
กลิ่นน้องของเรียมเอง     พี่บรู้อยู่แดนใด ฯ
.     .
ชมดเชียงกลกลิ่นเจ้า     กลเพรง
ทากระแจะวังเวง     กลิ่นเกล้า
กลิ่นน้องของเรียมเอง           หายห่าง
เรียมบ่รู้ว่าเจ้า     อยู่ด้าวแดนใด ฯ”
(อักขรวิธีตามต้นฉบับ)     .

คำว่า “ชมด” (ชะมด) ในที่นี้คือ “ชะมดเชียง” เป็นเครื่องหอมชนิดหนึ่งได้จากกวางตัวผู้ ใช้แต่งกลิ่นหอมและทำยาได้ “กวางชะมดตัวผู้” เป็นกวางขนาดเล็ก ลำตัวป้อม หัวเล็ก หน้าแหลมๆ มีเขา ขนหลากสีค่อนข้างหยาบ แต่หางเป็นพวงสวย พิเศษสุดคือต่อมกลิ่นที่อยู่ระหว่างสะดือกับอวัยวะเพศ ขับสารคล้ายขี้ผึ้งออกมา เรียกว่า “ชะมดเชียง” สารนี้ส่งกลิ่นเป็นสัญญาณเรียกตัวเมียเมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ คนเอาสารที่ว่ามาทำเครื่องหอม

“กระแจะ” และ “ชะมดเชียง” เป็นของคู่กัน เพราะชะมดเชียงเป็นหนึ่งในส่วนผสมของ “กระแจะ” หรือ “ผงเครื่องหอม”

เคล็ดลับของการใช้ชะมดเชียงอยู่ที่ปริมาณ  อาจารย์ศุภร บุนนาค อธิบายว่า “...ชะมดเชียงนั้นใส่แต่น้อย เพราะถ้าใช้มากกลับเป็นเหม็นสาบอย่างประหลาด  ชะมดเชียงนี้เพียงแต่ใช้มือจับ กลิ่นก็ติดมือชวยชายไปนาน แต่ต้องได้กลิ่นรวยๆ มาแต่ไกลจึงจะหอม ถ้าใช้มากๆ สาบทนไม่ได้เอาทีเดียว...ชะมดเชียงนั้นมาจากเมืองจีน ได้เคยไต่ถามพวกซินแส เขาบอกว่าในทะเลทรายแถวๆ โกบี แต่ไม่ใช่กลางทะเลทราย ขอบๆ แถบทะเลทรายนี่แหละมีชะมดพวกนี้มาก กลิ่นหอมแรง และราคาก็แพงมากด้วย
 อ้างอิงบทความ "กรุ่นกลิ่นกาย" มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๒๐๗๔ ประจำวันที่ ๑๕-๒๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๓

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/36998964597781__MG_0064_320x200_.JPG)
ภาพจาก : พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย กรุงเทพฯ