[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สยาม ในอดีต => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 10 กรกฎาคม 2563 16:30:43



หัวข้อ: หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา เจ้านายสตรี ผู้นำผ้าทออีสาน สู่ราชสำนักสยาม
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 10 กรกฎาคม 2563 16:30:43
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/19040143655406_1_320x200_.jpg)

หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา
เจ้านายสตรีฝ่ายอีสานผู้นำเอกลักษณ์ผ้าทออีสาน สู่ราชสำนักสยาม

หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา  นามเดิม อัญญานางเจียงคำ บุตโรบล (อัญญานางเทียบเท่ากับเจ้านาง)

อัญญานางเจียงคำ เป็นเจ้านายสตรีของเมืองอุบลราชธานี (ประเทศราชของราชอาณาสยามมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) อัญญานางเจียงคำถวายตัวเป็นหม่อมใน พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ พระราชโอรสองค์ที่ ๑๑ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) กับเจ้าจอมมารดาพึ่ง เพื่อเป็นการกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างราชสำนักสยามกับเจ้านายพื้นถิ่นเมืองอุบลราชธานีให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ในช่วงที่มีนโยบายปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕)

#ชาติกำเนิด
หม่อมเจียงคำ เกิดเมื่อ วันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๒๒ ที่เมืองอุบลราชธานี เป็นธิดาคนสุดท้อง ของท้าวสุรินทรชมภู (หมั้น บุตโรบล) กับอัญญาแม่ดวงจันทร์ บุตโรบล มีศักดิ์เป็นหลานปู่ในเจ้าราชบุตร (สุ่ย บุตโรบล) (บรรดาศักดิ์เดิมที่ ท้าวสุริยะ) กับอัญญาแม่ทอง บุตโรบล มีศักดิ์เป็นเหลนทวด ในท้าวสีหาราช (พูลสุข หรือ พลสุข) กรมการเมืองอุบลราชธานีชั้นผู้ใหญ่ กับอัญญาแม่สุภา ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าโคตรซึ่งเป็นพระราชโอรสในเจ้าพระวรราชปิตา (เจ้าพระตา) และเจ้าพระวรราชภักดี (เจ้าพระวอ) เจ้าผู้ครองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน นอกจากนี้ เจ้าโคตร ยังถือเป็นต้นสายสกุล “บุตโรบล” ยังมีศักดิ์เป็นพระอนุชาของเจ้าพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราช องค์ที่ ๑ กับเจ้าพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ องค์ที่ ๓ ด้วย อันสืบสายมาจากเจ้าพระวรราชปิตา (เจ้าพระตา) และเจ้าพระวรราชภักดี (เจ้าพระวอ) แห่งเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน(เมืองหนองบัวลุ่มภูหรือเมืองกมุทาสัย) ที่สืบทอดมาจากราชวงศ์สุวรรณปางคำแห่งนครเชียงรุ้งแสนหวีฟ้า

#การถวายตัว
พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ได้ดำรงตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการมณฑลลาวกาว (ภายหลังเปลี่ยนเป็นมณฑลอีสาณ) เมื่อครั้งที่พระองค์ได้เสด็จมาปรับปรุงและจัดระบบราชการที่เมืองอุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๓๖ ได้ทรงพอพระทัยต่ออาชญานางเจียงคำ จึงทรงขออาชญานางเจียงคำต่อเจ้านายผู้ใหญ่ในเมืองอุบลราชธานี คือ พระอุบลศักดิ์ประชาบาล (กุคำ สุวรรณกูฏ) พระอุบลการประชานิตย์ (บุญชู พรหมวงศานนท์) และได้เข้าพิธีบายศรีสู่ขวัญตามจารีตประเพณีของบ้านเมืองลาวดั้งเดิม

การถวายตัวเป็นหม่อมห้ามของเสด็จในกรมนั้น เท่ากับเป็นการสร้างการยอมรับอำนาจการปกครองจากส่วนกลางในหมู่เจ้านายเมืองอุบลราชธานีมากขึ้น และยังทำให้เจ้านายพื้นเมืองบางส่วนขยับฐานะตนเองจากการเป็นเจ้านายในราชวงศ์สายล้านช้างอันเก่าแก่ มาเป็นส่วนหนึ่งในพระราชวงศ์จักรีของสยาม

เมื่อหม่อมเจียงคำตามพระสวามี มาพำนักอยู่พระนคร ก็ได้นำเอกลักษณ์การแต่งการของชาวอีสานเข้ามาและประยุกต์ใช้จนให้เป็นที่รู้จักในราชสำนักกรุงเทพฯและเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป อีกทั้ง ข้าหลวงจากวังเสด็จในกรมพระองค์นี้ ก็แต่งกายแบบหม่อมเจียงคำทั้งนั้น ว่ากันว่า นอกจากสำนักพระราชชายาเจ้าดารารัศมี พระมเหสีในรัชกาลที่ ๕ แล้วก็มี วังเสด็จในกรมพระองค์นี้ ที่แต่งกายผิดแปลกไปจากชาวพระนครทั่วไป ทั้งภาษาพูด ทั้งการแต่งกาย ทั้งดนตรีและการละครต่างๆก็ล้วนนำมาจากบ้านเดิมทั้งสิ้น

ซึ่งในภาพนี้จะเห็นได้ว่าท่านนุ่งซิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวลาวอีสานโบราณที่จะนุ่งซิ่น"ลายล่อง"หรือ"ทางยาว"แตกต่างจากชาวล้านนาที่นุ่งซิ่นลายขวาง

พระราโชบายที่จะทรงเชื่อมความสัมพันธ์กับเชื้อสายตระกูลเจ้าเมืองอุบลราชธานี ปรากฏเด่นชัดในการเสกสมรสระหว่างกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์กับเจ้านายสตรีของเมืองอุบลสองท่านคือ หม่อมเจียงคำ บุตรีคนสุดท้องของท้าวสุรินทรชมพู ( หมั้น บุตโรบล ) และอัญญาแม่ดวงจันทร์ บุตโรบล ส่วนอีกท่านหนึ่ง หม่อมบุญยืน ธิดาของท้าวไชยบุตร ( บุดดี บุญรมย์ ) และยาแม่คำพ่วย

กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์สนพระทัยความสามารถของสตรีชาวอุบลในการทอผ้าไหมและผ้าฝ้าย ทรงให้การสนับสนุนเอาพระทัยใส่ในรายละเอียดของการผลิตเส้นด้ายและสายไหม พร้อมทั้งปรับปรุงการย้อมสี ทรงร่วมคิดค้นกับหม่อมบุญยืน ชายา พัฒนาลวดลายผ้าแบบใหม่ขึ้นจากลายทอของพื้นถิ่นเดิม เพื่อให้งดงามร่วมสมัย นับเป็นการสนองพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เมืองอุบลราชธานีเป็นศูนย์กลางการผลิตผ้าที่สำคัญอีกแห่งของประเทศ อย่างเช่นเมืองเชียงใหม่ และเมืองนครศรีธรรมราช

ผ้าจากราชสำนักเมืองอุบลถูกส่งมายังพระราชสำนักกรุงเทพอย่างต่อเนื่อง และได้รับพระราชทานคำชมเชยจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังลายพระราชหัตถเลขาที่พระองค์ทรงมีถึงกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๓๙

หม่อมเจียงคำได้ประสูติพระโอรส ๒ พระองค์ คือ หม่อมเจ้าอุปลีสาน และ หม่อมเจ้ากมลีสาน ชุมพล

โดยระหว่างที่เสด็จในกรมทรงประทับอยู่ที่เมืองอุบลราชธานีนั้น ได้ทรงสร้างตำหนักชื่อว่า "วังสงัด" ขึ้นบนที่ดินของท้าวสุรินทรชมภู (หมั้น บุตโรบล) เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๖ และทรงประทับอยู่กับหม่อมเจียงคำเป็นเวลานาน ๑๗ ปี ก่อนที่จะนิวัติคืนสู่กรุงเทพมหานคร ต่อมาทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวังและเสนาบดีที่ปรึกษาในพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) เมื่อ ร.ศ.๑๒๙ (พ.ศ.๒๔๕๓) ภายหลังจากนิวัติสู่กรุงเทพมหานคร พระองค์ก็มิได้กลับมาประทับที่เมืองอุบลราชธานีอีกเลย

หลังการสิ้นพระชนม์ของพลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ หม่อมเจียงคำและหม่อมเจ้าชายทั้ง ๒ พระองค์ ได้อุทิศที่ดินจำนวน ๒๗ ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินอันเป็นมรดกตกทอดของพระญาติวงศ์เจ้านายเมืองอุบลราชธานีในดีต ไว้ให้เป็นสาธารณประโยชน์แก่แผ่นดิน ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๔ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการที่สำคัญในจังหวัดอุบลราชธานีหลายแห่ง ได้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี  เทศบาลนครอุบลราชธานี ทุ่งศรีเมือง (อดีตสถานที่ถวายเพลิงพระศพเจ้าเมืองและพระราชทานเพลิงเจ้านายเมืองอุบลราชธานี) โรงเรียนอนุบาลอุบลราชธานี  ศาลจังหวัดอุบลราชธานี  ที่ว่าการอำเภอเมืองอุบลราชธานี  ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี (เดิมเป็นที่ตั้งโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช)  และโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์

หม่อมเจียงคำ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ดังนี้
๑.อัญญานางก้อนคำ สมรสกับ พระอุบลการประชานิตย์ (บุญชู พรหมวงศานนท์) ปลัดเมืองอุบลราชธานี บรรดาศักดิ์เดิมที่ ท้าวสิทธิสาร ผู้ช่วยราชการคณะอาญาสี่เมืองอุบลราชธานี
๒.อัญญานางอบมา สมรสกับ ท้าววรกิติกา (คูณ) กรมการเมืองอุบลราชธานี
๓.อัญญานางเหมือนตา
๔.อัญญานางบุญอ้ม สมรสกับ ท้าวอักษรสุวรรณ กรมการเมืองอุบลราชธานี
๕.อัญญานางหล้า
๖.อัญญานางดวงคำ สมรสกับ รองอำมาตย์ตรี ขุนราชพิตรพิทักษ์ (ทองดี หิรัญภัทร์)
๗.อัญญาท่านคำม้าว โกณฺฑญฺโญ อดีตเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดสารพัดนึก ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
๘.อัญญาไม่ปรากฏนาม (ถึงแก่กรรมเมื่อวัยเยาว์)
๙.อัญญานางเจียงคำ หรือหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา

#อนิจกรรม
หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคอัมพาต เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๔๘๑ สิริอายุ ๕๙ ปี ณ โฮงพระวิภาคย์พจนกิจ (เล็ก สิงหัษฐิต) เลขานุการในพระองค์กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ผู้เป็นญาติใกล้ชิดของหม่อมเจียงคำ ซึ่งตั้งอยู่ ณ ถนนพิชิตรังสรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันทายาทได้นำพระอัฐิของท่านบรรจุไว้ ณ บริเวณฐานตั้งใบเสมาหน้าพระอุโบสถ วัดสุทัศนาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นวัดที่เจ้าราชบุตร (สุ่ย บุตโรบล) ผู้เป็นพระอัยกาและพระญาติวงศ์เมืองอุบลราชธานี ได้ร่วมกันสร้างไว้ตั้งแต่ครั้ง พ.ศ.๒๓๙๖ ก่อนที่เจ้าราชบุตร (สุ่ย บุตโรบล) จะไปราชการศึกสงครามเมืองญวนที่ประเทศเขมร

ชาวจังหวัดอุบลราชธานีทุกภาคส่วน ได้กำหนดจัดพิธีชูเกียรติและรำลึกถึงหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ในวันที่ ๒๐ ตุลาคม ของทุกปี เพื่อแสดงความกตัญญูและรำลึกลึกถึงคุณูปการของท่าน

#ความรู้เพิ่มเติม : คำว่า เจียง เป็นภาษาลาวโบราณ ตรงกับภาษาบาลีว่า จาป หมายถึง ธนู ศร หน้าไม้ กระสุน แล่ง (ที่ทำสำหรับวางลูกธนูหรือหน้าไม้ หรือที่ใส่ลูกธนูหน้าไม้สำหรับสะพาย) บางครั้งชาวลาวเรียกว่า หน้าเจียง หรือ เกียง ดังนั้น นามของหม่อมเจียงคำจึงหมายถึง ธนูทองคำ

หม่อมเจียงคำ เดิมสกุล "บุตโรบล" นามสกุลบุตโรบลเป็นนามสกุลที่ทายาทบุตรหลานเจ้านายเมืองอุบลราชธานีได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖)

---------------------------------------------

ภาพหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา จากคลังเก็บภาพและสิ่งพิมพ์โบราณ หม่อมหลวงภูมิใจ ชุมพล กรุงเทพ
ข้อมูล : เว็บไซต์วิกีพีเดียและเว็บไซต์ไกด์อุบล
ขอขอบคุณที่มา : fb.ประวัติศาสตร์อีสานล้านช้าง