[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 16 กรกฎาคม 2563 12:23:58



หัวข้อ: เรื่องเล่า สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 16 กรกฎาคม 2563 12:23:58

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/33150779662860_92619259_2693357077442065_7356.jpg)
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
ทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร พ.ศ. ๒๔๘๘ - ๒๕๐๑
เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต พระองค์ที่ ๔
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์



(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/85724841472175_92658431_2694602520650854_3718.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/15690429922607_92848430_2694594053985034_6661.jpg)
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์
ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/21338846161961_1_320x200_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/29050359047121_2_320x200_.jpg)

พระแท่นบรรทมของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
พระแท่นบรรทมสร้างขึ้นโดยมีขนาดตรงตามพระธรรมวินัยกำหนดไว้คือ

“ห้ามทำเตียง ตั่ง สูงกว่า ๘ นิ้วพระสุคต”

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/87055706481138_4.jpg)
กระเป๋าหนังสำหรับเก็บของใช้ส่วนพระองค์


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/15110178788502_3_320x200_.jpg)
ชุดเครื่องยาไทย
สมเด็จพระสังฆราชจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงสนพระทัยและมีความรู้เรื่องสมุนไพร
และการปรุงเครื่องยาไทย เครื่องมือในการปรุงยาที่ยังคงเหลืออยู่ ได้แก่ ครกบดยา และของโอสถ



ที่มา (ข้อมูล/ภาพ) : พิพิธภัณฑ์และห้องสมุดเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร
ผู้ที่สนใจศึกษาสามารถเดินทางไปได้ที่ พิพิธภัณฑ์และห้องสมุดเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร
๒๔๘ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๐๐


หัวข้อ: Re: เรื่องเล่า สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 10 มีนาคม 2564 18:43:20

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/95415582466456_2_Copy_.jpg)

วันสมเด็จสิ้นพระชนม์
ธมฺมสาโรภิกขุ วัดบวรนิเวศวิหาร เรียบเรียง.

สมเด็จประชวรหนักมาก!
สมเด็จสิ้นพระชนม์แล้ว!
เชิญพระศพสมเด็จกลับวัดบวร!
สมเด็จเสด็จเข้าพระโกศทอง!
สมเด็จทรงรับสักการะอันยิ่งใหญ่!
สมเด็จประทับในพระโกศทองปีครึ่งเศษ!
สมเด็จมีกำหนดเสด็จขึ้นพระราชรถ!
สมเด็จเสด็จยังพระเมรุวัดเทพศิรินทร์!
เชิญพระอัฐิสมเด็จกลับยังวัดบวรนิเวศและสมเด็จจะประทับอยู่ที่นี่ชั่วนิรันดร ! ! !

แต่ก่อนแต่ไรมา วัดบวรนิเวศวิหาร มีองค์สมเด็จเป็นมิ่งขวัญชั่วระยะเวลายาวนาน ชาววัดบวรนิเวศชินต่อพระสุรเสียงอันกังวาล เสียงทรงพระสรวจ เสียงรับสั่งการการงาน เสียงปรึกษาหารือการงาน เสียงวิจารณ์ธรรมวินัย เสียงพระโอวาท เสียงทรงเล่าเรื่องต่างๆ อันเป็นคติแก่ผู้เข้าเฝ้า ตอนทรงชราก็ทรงไม้เท้าเสด็จไปตามถนนต่างๆ ในวัด ตอนประชวรก็ประทับรถเข็นเสด็จไปลงพระอุโบสถ หรือเสด็จงานผู้ที่มาบำเพ็ญกุศลในวัด ทรงทักทายปราศรัยผู้ที่ทรงคุ้นเคย และอื่นๆ อีกนานาประการ

แต่ ณ บัดนี้  สมเด็จเสด็จจากไปแล้ว โดยมิกลับคืนมา  โอ เจ้าพระคุณสมเด็จ !

หัวข้อข่าวใหญ่ๆ ที่พาดไว้ข้างต้นเพียง ๙ ข้อนั้น แต่ละข้อก็มีความหมายอันลึกซึ้ง สำคัญไปคนละทางทำให้มองเห็นความสำคัญของคนแต่ละคน ความสำคัญของเรื่องแต่ละเรื่อง และความสำคัญของศีลธรรม คือ ความประพฤติสิ่งที่ดีที่ชอบ

ความสำคัญของคน ความสำคัญของเรื่อง ความสำคัญของศีลธรรม ย่อมทำให้มีภาวะอันหนึ่งลอยเด่นขึ้นมาจากพื้นเพเดิม  คล้ายๆ กับว่า ดอกบัวโผล่ขึ้นมาจากโคลนตม แต่ว่าบานรับแสงอาทิตย์สวยงามเหลือเกิน อะไรเช่นนั้น

สมเด็จทรงเป็นบุคคลสำคัญ เพราะมีบุคลิกในพระองค์เองอย่างหนึ่ง เพราะทรงจับเรื่องที่สำคัญอย่างหนึ่ง เพราะทรงประพฤติศีลธรรมยั่งยืนถาวรอย่างหนึ่ง จึงทรงลอยเด่นขึ้นมา และทรงลอยเด่นอยู่ได้ในท่ามกลางความผันผวนแปรปรวนทั้งหลาย ยิ่งทรงชรายิ่งน่าเคารพสักการะยิ่งขึ้น มีบุคคลเป็นอันมากไม่อยากแก่ ก็เพราะไม่รู้จักหาประโยชน์จากความแก่นั่นเอง ถ้ารู้จักหาประโยชน์จากความแก่ ก็จะรู้สึกตนเองว่า ยิ่งแก่นั่นแหละยิ่งดี

สมเด็จทรงเป็นบุคคลตัวอย่าง ยิ่งแก่ยิ่งดี เพราะทรงรู้จักหาประโยชน์จากความแก่ การวางท่าทางให้สมกับคนแก่ การจับเรื่องมาทำ มาพูด มาคิดให้สมกับคนแก่ การเคร่งครัดศีลธรรมให้สมกับคนแก่ เท่านี้เอง คนแก่ก็จะมีความสำคัญกว่าหนุ่มสาวทั้งหลายขึ้นในพริบตา

สมเด็จแก่หรือทรงชรา จนต้องทรงไม้เท้าก็ดี จนต้องประทับรถเข็นก็ดี จนต้องประทับอยู่ในเตียงพยาบาลก็ดี ก็รู้สึกว่า เป็นมิ่งขวัญอยู่ตลอดเวลา แม้จะทรงชรายิ่งชรา เราก็ปรารถให้พระองค์ทรงพระชนม์อยู่ นี่เพราะอะไร ก็เพราะความแก่ของพระองค์เป็นประโยชน์นั่นเอง

ประโยชน์ของคนแก่นั้น ที่มีแก่คนแก่เอง คือ การรู้สึกหาประโยชน์จากความแก่ ที่มีแก่คนอื่น คือ ประสบการณ์ที่คนแก่ผ่านมามาก เป็นรัตตัญญูภาพ ความรู้ราตรีนาน ย่อมเจนจัดในชีวิต สามารถถ่ายทอดความรู้อันเป็นหลักและลัดให้แก่เด็กได้ดีมาก  พระพุทธองค์ทรงยกย่องท่านอัญญาโกณฑัญญะเป็นเอตทัคคะในทางรัตตัญญูภาพ ไอน์สไตน์ ผู้มีความรู้ล้ำยุค ก็เป็นบุคคลหนึ่งที่ชอบคบคนแก่ สมเด็จทรงเป็นคนแก่ที่มีค่าสำหรับพระองค์เอง และมีค่าสำหรับผู้เข้าเฝ้า จึงทรงเป็นคนแก่ที่เป็นมิ่งขวัญ ซึ่งใครๆ ไม่ประสงค์จะให้พระองค์จากไป แต่พระชนม์ ๘๖ พรรษา และประชวรด้วยพระโรค จึงทรงเป็นเหมือนไม้ใกล้ฝั่ง ซึ่งถูกน้ำเซาะเข้ามาทุกที

สมเด็จประชวรหนักมาก ในตอนบ่ายวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๐๑ ก็มีข่าวเช่นนี้เกิดขึ้น ความจริงสมเด็จประชวรมานาน และทรงพักรักษาพระองค์อยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ณ ตึกสามัคคีพยาบาร ซึ่งพระองค์ทรงให้สร้างไว้เอง ข่าวประชวรครั้งนี้ ชาววัดบวรนิเวศเชื่อถือมาก เพราะพ้องกับรายงานของแพทย์ ซึ่งออกทางวิทยุกระจายเสียงว่า สมเด็จประชวรหนักมาก พระอาการเป็นที่น่าวิตก ตามรายงานของแพทย์ไม่เคยใช้ถ้อยคำอันหนักหน่วงเช่นนี้เลย จึงสันนิษฐานกันว่า สมเด็จฯ อาจสิ้นพระชนม์ในครั้งนี้ก็ได้

ในเรื่องรายงานต่างๆ นั้น รายงานของแพทย์ดู ดูยังเป็นที่เชื่อถืออยู่มิใช่น้อย ยิ่งเป็นคนไข้รายใหญ่ๆ ก็มีความผิดพลาดได้ยาก  โดยเฉพาะสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ซึ่งเป็นพระอุปัชฌายะของพระมหากษัตริย์และทรงเป็นราชูปถัมภ์อยู่เช่นนี้ รายงานย่อมแม่นยำเป็นพิเศษ

ความจริงในทางวิชาการนั้น ไม่ว่าในแขนงไหน ถ้าผู้ใช้จะได้นำมาใช้อย่างเต็มสมรรถภาพ และโดยความซื่อสัตย์สุจริตแล้ว มันก็มีความผิดพลาดได้ยากด้วยกันทั้งนั้น

บ่ายวันนี้ จึงเป็นบ่ายที่ภายในวัดบวรนิเวศวิหารได้มีความเคลื่อนไหวผิดปกติมาก ภิกษุสามเณรเดินกันขวักไขว่ จากกุฏินี้ไปกุฏิโน้น แล้วก็ทะยอยกันออกประตูวัดไป ไปเฝ้าเยี่ยมสมเด็จ ณ โรงพยาบาลดังกล่าวนั่นเอง

ตั้งแต่บ่ายถึงค่ำกริ่งโทรศัพท์ ระหว่างวัดบวรนิเวศ – ตึกสามัคคีพยาบารดังมิได้ขาด รายงานพระอาการก็มีแต่ว่าหนักมาก และหนักขึ้นโดยลำดับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพระอาการโดยด่วน จนเวลาบ่ายมากในวันนั้น  ทั้ง ๒ พระองค์จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับ หลังจากได้ทรงเฝ้าทอดพระเนตรพระอาการประชวรของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าอย่างใกล้ชิดด้วยพระราชปริวิตกเป็นอย่างยิ่ง ทรงวางพระองค์สมกับที่เป็นยอดศิษย์ของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าโดยแท้

สมเด็จสิ้นพระชนม์แล้ว คืนวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ดึกเข้าโดยลำดับ ๒ ทุ่ม ๓ ทุ่ม ๔ ทุ่ม ๕ ทุ่ม และ ๖ ทุ่ม ผ่านไปอย่างยากเย็นเหลือเกินสามัคคีพยาบารคืนนี้คับคั่งไปด้วยผู้เฝ้าเยี่ยมพระอาการด้วยความเป็นห่วง และคารวะในองค์สมเด็จเป็นอย่างยิ่งพิเศษ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินอีกในตอนเที่ยงคืนผ่านไปแล้ว  เพราะข่าวประชวรหนักอย่างยิ่ง ได้มีรายงานเข้าไปกราบบังคมทูล

ในที่สุด สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ก็ทรงสิ้นพระชนม์เวลา ๐๑.๐๘ น. ย่างขึ้นวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๐๑ ต่อพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเฝ้าทอดพระเนตรอยู่ตลอดเวลา พระองค์อาจเป็นพระประมุขสงฆ์พระองค์เดียว ที่สิ้นพระชนม์ต่อพระพักตร์พระมหากษัตริย์ เสียงรายงานเบาๆ ออกมาจากห้องประชวรว่า “สมเด็จสิ้นพระชนม์แล้ว” ทันใดนั้น ผู้เฝ้าฟังพระอาการอยู่ข้างนอกก็หมอบกราบลงพร้อมๆ กัน  แล้วความเงียบสงัดก็เกิดขึ้น ณ ที่นั้นเป็นครู่ใหญ่  จอมพลสฤษดิ์ หัวหน้าคณะปฏิวัติพร้อมด้วยคณะได้เข้าเฝ้าเยี่ยมพระศพที่สามัคคีพยาบาร เวลาประมาณ ๔ นาฬิกา นั่นเอง

เวลาตี ๓ ตี ๔ ตี ๕ ของวันนี้ ได้มีภิกษุสามเณรและเสด็จวัดที่ติดตามไป ต่างทะยอยกันกลับวัดบวรนิเวศวิหารเรื่อยๆ และข่าวก็แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็วว่า “สมเด็จสิ้นพระชนม์แล้ว” ความสังเวชสลดใจได้เกิดขึ้นโดยทั่วกัน ทั้งภิกษุสามเณรและศิษย์วัด เป็นการสูญเสียพระองค์ผู้ทรงเป็นมิ่งขวัญของชาววัดบวรนิเวศ อันมีอยู่ชั่วระยะเวลาอันยาวนานไปเสียแล้ว

เชิญพระศพสมเด็จกลับวัดบวร ในตอนเช้าวันที่ ๑๑ พฤศจิกายนนั้นเอง  พระศพสมเด็จก็ได้รับการอัญเชิญเสด็จจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มาวัดบวรนิเวศ เข้าทางประตูหนักตำหนักเพ็ชร ณ ที่นี่มีภิกษุสามเณรรอรับอยู่ด้วยใบหน้าอันเคร่งขรึม พระศพเข้าสู่ตำหนักจันทร์ ท่ามกลางบรรยากาศที่เย็นยะเยือก ลมกำลังสงบใบไม้กำลังเงียบ ทุกสิ่งทุกอย่างนิ่ง นอกจากพระศพและผู้เชิญพระศพกำลังเคลื่อนช้าๆ ขึ้นตำหนักจันทร์ลับหายไป แล้วก็มีบุคคลทะยอยกันตามเข้าไป มีเสียงเด็กวัดก็ซุบซิบกันว่า สมเด็จเสด็จกลับวัดบวรแล้ว  สักครู่เดียวข่าวนี้ก็แพร่ไปทั่ววัด  หลังจากนั้นเด็กวัดจากคณะต่างๆ ก็มามุงเฝ้าสมเด็จแน่นที่ถนนด้านคณะแดงบวร ตามบันทึกภาพเหตุการณ์ในวันนั้น ซึ่งผู้เขียนจารึกไว้ในหนังสือ วิญญาณสมเด็จฯ ว่า

“ในทันใดนั้นเอง เด็กวัดจากคณะต่างๆ ก็พากันหลั่งไปสู่ตำหนักจันทร์ เพื่อเห็นสมเด็จที่เคารพของเขาเป็นครั้งสุดท้าย แต่สายไป สมเด็จเสด็จขึ้นตำหนักจันทร์ชั้นบนเสียแล้ว เด็กวัดส่วนน้อยเท่านั้นที่ได้เห็นพระศพผ่านขึ้นไป นอกนั้นมาไม่ทัน ได้พากันมุงดูอยู่นอกรั้ว ด้วยอาการเงียบขรึม แม้แต่เด็กวัดที่หน้าทะเล้นที่สุด ทั้งนี้ก็เพราะเด็กวัดได้ฝากความเคารพไว้ในสมเด็จเป็นอันมาก

หลังจากนั้นมิทันช้า ก็มีภิกษุสามเณรและบุคคลประเภทต่างๆ หลายชั้นวรรณะ ตลอดถึงเด็กวัดบางคนได้รุมกันมาจากไหนกันบ้างก็ไม่ทราบรวดเร็วเหลือเกิน บัดเดี๋ยวเดียวเท่านั้นตำหนักจันทร์ก็คราคร่ำไปด้วยผู้คนเรียงแถวกันเข้าถวายน้ำสรงแด่สมเด็จ...”

สมเด็จเสด็จเข้าพระโกศทอง เวลา ๑๗.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาถวายน้ำสรง แล้วเชิญพระศพสู่พระโกศทองอันสูงเกียรติ ตั้งประดิษฐาน ณ ท้องพระโรงตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเป็นสถานที่อันโอ่โถงเหมาะสมที่สุด สมพระเกียรติและสมเกียรติที่จะบำเพ็ญพระราชกุศลและกุศลทุกประการ เมื่อสมเด็จเสด็จเข้าพระโกศทองแล้ว ก็มิได้มีผู้ใดเห็นพระองค์อีกเลย นอกจากพระรูปถ่ายขนาดใหญ่ซึ่งเชิญตั้งไว้เคียงข้างพระโกศนั้น

สมเด็จทรงรับสักการะอันยิ่งใหญ่ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จบำเพ็ญพระราชกุศลแล้ว คณะสงฆ์ กระทรวง ทบวง กรม คณะบุคคลโรงเรียนต่างๆ และเอกชนเป็นจำนวนมากหลายได้พากันมาบำเพ็ญกุศลถวายและเฝ้าพระโกศ ณ ตำหนักเพ็ชรเนืองๆ จากหลายทิศหลายทางด้วยกัน ทั้งใกล้และไกลเป็นชนิด ทิฏฐกามบุคคล บุคคลผู้ใคร่เพื่อเห็นบ้าง ชนิด วันทิกามบุคคล บุคคลผู้ใคร่ถวายนมัสการกราบไหว้บ้าง ชนิด ปูเชตุกามบุคคล บุคคลผู้ใคร่บูชาด้วยพวงหรีด พวงดอกไม้ และจตุปัจจัยเพื่อใช้ในงานบ้าง ดังที่ได้บันทึกไว้ในหนังสือสมเด็จผู้มหาชนนิยมนั้น รวมความแล้วก็คือ สมเด็จทรงรับสักการะอันยิ่งใหญ่

สมเด็จประทับในพระโกศปีครึ่ง ตั้งแต่วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๐๑ ถึงวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๐๓ เป็นเวลาปีครึ่งเศษ  ในช่วงระยะเวลาอันยาวนานสำหรับงานพระศพตำหนักเพ็ชรเปิดทุกวันคืน เป็นการบำเพ็ญกุศลถวายที่มากมาย และเวลายาวนานพิเศษอย่างยิ่ง

สมเด็จมีกำหนดเสด็จขึ้นราชรถ วันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๐๓ ตอนบ่ายมีกำหนดเชิญพระศพสมเด็จขึ้นราชรถ ประกอบด้วยกระบวนอิสริยยศ และกระบวนแห่ ข่าวนี้แสดงว่าสมเด็จจะจากวัดบวรไปหลังจากนั้นวัดบวรนิเวศวิหารหรือโดยเฉพาะตำหนักเพ็ชร ก็คงจะเงียบเหงามิใช่น้อย สำหรับพวกเราซึ่งมาที่นี่ทุกวัน เมื่อพระโกศบรรจุพระศพยังตั้งอยู่ จนรู้สึกว่าเป็นกิจวัตร หรือเป็นสโมสรพิเศษ ที่เราจะขาดไม่ได้ ต่อแต่นี้ก็คงจะนานๆ มาสักครั้งหนึ่ง

สมเด็จเสด็จไปยังพระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส ในวันเวลาตามที่กล่าวแล้ว ราชรถเปล่าออกจากกรมศิลปากร มาหยุดที่ประตูหน้าวัดบวรนิเวศวิหาร แล้วเชิญพระศพขึ้นแห่ไปตามถนนพระสุเมรุ ข้ามสะพานผ่านฟ้าลีลาศไปตามถนนหลานหลวง เลี้ยวขวาไปตามถนนกรุงเกษม ถนนหลวง เข้าสู่วัดเทพศิรินทราวาสทรงด้านใต้  ราชรถพระศพนี้ขาดยอดสูง ๔๗๐ ซม. กระบวรอิสริยยศและกระบวนแห่มโหฬาร ประชาชน ๒ ฟากถนน ชมและถวายความเคารพพระศพตลอดระยะทาง

เชิญพระอัฐิสมเด็จกลับวัดบวรนิเวศ และสมเด็จจักประทับอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหารนี้ชั่วนิรันดร!  วันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๐๓ เวลาเช้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เลี้ยงพระสามหาบ [อาหารคาวหวานสามคู่] สดับปกรณ์ เชิญพระอัฐิและพระอังคารไปวัดบวรนิเวศ พระอังคารบรรจุในฐานพระพุทธรูปฉลองพระชนม์ที่หน้ามุขพระวิหารเก๋ง และสมเด็จจักประทับอยู่ที่นี่ชั่วนิรันดร และทรงเป็นมิ่งขวัญตลอดไป

สมเด็จวัดบวร ทรงมีความพิเศษในพระองค์อยู่หลายประการ  ประการแรกทรงมีบุคลิก คือพระรูป พระโฉมสง่างาม พระสุรเสียงกังวาล ประการที่ ๒  ทรงมีกรณียกิจที่สำคัญคือ ทรงจับงานที่สำคัญ งานสำคัญย่อมทำให้บุคคลมีความสำคัญ ประการที่ ๓ ทรงมีพระจริยวัตรทางพระธรรมวินัยคือทรงประพฤติเคร่งครัดตลอดพระชนมชีพ  ธรรมวินัยย่อมทำให้สมณะเป็นสมณะที่ดีที่แท้

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ หรือที่เรียกกันติดปากว่า สมเด็จวัดบวร ได้สิ้นพระชนม์ไปแล้วโดยสภาพธรรม ซึ่งมีเกิดในเบื้องต้น แปรปรวนในท่ามกลาง และดับไปในที่สุด แต่ในพระชนมชีพของพระองค์ในท่ามกลางความแปรปรวนทั้งหลาย ภูมิธรรมเป็นสิ่งที่พระองค์มิได้เคยละทิ้ง

คนหน้าตาดีๆ ถ้าทิ้งภูมิธรรม เสียอย่างเดียว หน้านั้นก็ไม่เห็นจะน่านับถือที่ตรงไหน

สมเด็จสิ้นพระชนม์ไปแล้ว แต่มิได้ทรงสิ้นภูมิธรรม เราจึงถวายความเคารพสักการะสมเด็จฯ ได้ตลอดไป

เมื่อสมเด็จทรงพระชนม์อยู่ ก็ทรงมีพระกัลยาณเกียรติในพระองค์เอง สมเด็จมิได้เป็นพระปลุกเสก ทรงปลุกพระองค์เอง ทรงหาความดีจากความดี ทรงทำความดีเพื่อความดี

เมื่อสมเด็จสิ้นพระชนม์แล้ว ก็ทรงมีพระกัลยาณเกียรติ์ พระโกศทองน้อย รองรับพระศพตั้งประดิษฐานถึงปีครึ่งเศษ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เจ้าพนักงานเปลื้องพระโกศทองน้อย ประกอบพระโกศทองใหญ่ มีพุ่มเฟื่องประดับ อันเป็นเครื่องสูงในทางศิลปไทย มิงแล้วตะลึง สูงส่งในทางอิสริยยศ มองแล้วรู้สึกเป็นพระเกียรติยศยิ่งนัก แต่ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า ทรงสูงด้วยคุณธรรม มองแล้วรู้เคารพสักการะ

เมื่อวันออกพระเมรุ กระบวนพระอิสริยยศ กระบวนแห่อันมโหฬาร ปี่ กลอง แตรฝรั่ง แตรงอน และสังข์ จะออกเสียงทำให้บังเกิดความสะท้านหัวใจยิ่งนัก ขณะพระศพเคลื่อนจากวัดบวรนิเวศวิหารไป

แต่พระอัฐิและมิ่งขวัญแห่งคุณงามความดีของสมเด็จย่อมเสด็จกลับวัดบวรนิเวศวิหาร และประทับเป็น สมเด็จวัดบวร อยู่ชั่วนิรันดร.


(ที่มา ธมฺมสาโร ภิกฺขุ. วันสมเด็จสิ้นพระชนม์. ในพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ พระสุธีสมุทรสาร วัดเกตการาม จังหวัดสมุทรสงคราม พิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศล ๒๖ เมษายน ๒๕๐๓. พระนคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๐๓.)


หัวข้อ: Re: "พระศาสนาไม่มีกำหนดอายุ" เรื่องเล่า สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 06 เมษายน 2566 19:31:53
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/14592512903941_imagesSKQOQ47X_Copy_.jpg)

"...พระศาสนาไม่มีกำหนดอายุ..."

มีอาจารย์บางท่านแสดงไว้ว่า
พระพุทธศาสนาเมื่อล่วงไปได้ ๑๐๐ ปี จะไม่มีพระอรหันต์
ล่วงไปอีก ๑๐๐ ปี จะไม่มีพระอนาคามี
ล่วงไปอีก ๑๐๐ ปี จะไม่มีพระสกิทาคามี
ล่วงไปอีก ๑๐๐ ปี จะไม่มีพระโสดาบัน
ในบัดนี้พระพุทธศาสนาล่วงมาถึง ๒๕๐๐ ปีแล้ว
ก็เป็นอันไม่มีพระอริยะ

ท่านที่แสดงเช่นนี้ค้านกับพระพุทธภาษิตที่แสดงพระคุณธรรมไว้ว่า อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาล คือใครประพฤติเมื่อไร ก็ได้ผลเมื่อนั้น ตามสมควรแก่ปฏิบัติ

แม้พระพุทธภาษิตตอนที่แสดงไว้ในเวลาจะปรินิพพานก็แสดงว่า "เมื่ออริยมรรคยังมีองค์ ๘ ยังมีอยู่เพียงไร โลกก็จะไม่ว่างเปล่าจากพระอรหันต์" นี้ควรหมายความว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ มีที่บุคคลผู้ใด ในเวลาใด ในเวลานั้นโลกก็จะไม่ว่างเปล่าจากพระอรหันต์

อย่าว่าถึงพระพุทธศาสนาที่มีอยู่เลย แม้สิ้นพระพุทธศาสนาแล้ว ท่านก็ยังแสดงว่าพระปัจเจกโพธิ ท่านผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ และรู้เฉพาะตน ก็ยังปรากฏขึ้นได้

ด้วยเหตุนี้แหละ คนที่เข้าใจว่าศาสนาล่วงมาเท่านั้น หมดพระอริยะชนชั้นนั้น จนบัดนี้หมดพระอริยะดังนี้ เป็นความเห็นที่ค้านพระพุทธศาสนา คือคำสอนของสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่า "สัจจธรรมเป็นอกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลดังนี้"


ที่มา : (พระพุทธศาสนาไทย ลาว กัมพูชา) พระพุทธศาสนาไม่มีกำหนดอายุ ใน "นัยแห่งความจริง" พระนิพนธ์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ , พิมพ์ครั้งที่ ๒, โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย.