[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ตลาดสด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 21 กรกฎาคม 2563 14:57:54



หัวข้อ: หิน ๓ ก้อนของวัดบวรฯ การเป็นพระภิกษุในวัดบวรนิเวศวิหารนั้น มิใช่เป็นเรื่องง่าย
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 21 กรกฎาคม 2563 14:57:54
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/57789538842108_109083308_838574923216880_5191.jpg)

หิน ๓ ก้อนของวัดบวรฯ

ในช่วงพรรษกาล ขอนำบทความเรื่อง "หินสามก้อน" กลับมาเผยแพร่อีกครั้ง เพื่อแสดงให้เห็นว่ากฎเกณฑ์สำคัญในการเป็นพระภิกษุในสำนักวัดบวรนิเวศวิหารนั้น มิใช่เป็นเรื่องง่ายเลย ดังที่ท่านเจ้าคุณราชบัณฑิต (แจ่ม ธมฺมสาโร) เปรียบไว้ว่าดั่งหินสามก้อน

พระราชบัณฑิต (แจ่ม ธมฺมสาโร) เล่าไว้ในหนังสือ "หลงวัดบวรฯ ๕๐ ปี" ความตอนหนึ่งว่า

ก็เป็นอันแน่นอนว่า จำต้องทำอะไร ซึ่งกลับมาที่คณะขาบ และตรวจดูว่าในปีแรกนี้ นอกจากท่องปาฏิโมกข์จะต้องทำอะไรอีก ก็พบหลักสูตรสวดมนต์พิมพ์อยู่ในกระดาษที่ออกดูยาวเกือบศอกมีประมาณ ๑๐๘ สูตร (น่าเป็นลม ภายหลังปรากฏว่าผู้ไม่สู้ก็มีเหมือนกัน) วันต่อๆ มาดูว่าปีแรกนี้ควรจะมีอะไรอีก ก็ปรากฏว่าท่านมหาหลายองค์เตรียมสอบนักธรรมชั้นเอก ซึ่งพูดกันว่าสอบได้ยากสมัยนั้น ท่านเหล่านั้นชวนไปซ้อมก็ตกลงร่วมอีกอย่างหนึ่ง คราวนี้จึงหนักเหมือนแบกหินวัดบวรฯ ไว้ ๓ ก้อน โดยแบกก้อนหนึ่งไว้ที่บ่าซ้าย ก้อนหนึ่งไว้ที่บ่าขวา ก้อนหนึ่งทูนไว้ที่หัว

ก็เป็นอันว่าจากปฐมนิเทศ- แบบถลุงแร่ ๓ อย่าง ท่องปาฏิโมกข์ ซ้อมสวดมนต์ และซ้อมนักธรรมเอก ปีแรกของการอยู่วัดบวรฯ พ.ศ.๒๔๗๔ ไม่ได้เรียนบาลีแน่นอน แต่พวกเรามีบทปลอบใจ "ช้าๆ ได้พร้า ๒ เล่มงาม" ก็เป็นอันว่าแม้ช้าก็มีทางได้ของดีเหมือนกัน

ท่องปาฏิโมกข์ ซ้อมสวดมนต์ และซ้อมนักธรรมเอก ๓ อย่างนี้ ที่ว่าหนักเหมือนแบกหินวัดบวรฯ ไว้ ๓ ก้อน ก็เป็นความเข้าใจ คือ

๑. ไม่ได้ปาฏิโมกข์ไม่รับเป็นพระวัดนี้ ก็เป็นอันว่าอยู่วัดบวรฯ แต่ไม่เป็นพระวัดบวรฯ ก็เหมือนกาฝากอยู่บนต้นมะม่วง แต่ไม่ใช่เป็นต้นมะม่วง และอาจเหมือนมดแดงเฝ้ามะม่วงแต่ไม่ได้รู้รสมะม่วง จึงจำจะต้องรีบท่องให้จบ ความรู้สึกหนักอยู่ที่จำจะต้องรีบนี่เอง ไม่เช่นนั้นก็ไม่ใช่เรื่องหนักหนาอะไร การท่องได้เป็นไปอย่างตั้งใจจะไม่อยู่วัดบวรฯ แบบกาฝาก หรือแบบมดแดงเฝ้ามะม่วง จึงไปซ้อม ๒ เที่ยวก็จบ คือเที่ยวละครึ่ง คือเที่ยวแรกจบนิสสัคคิยปาจิตตีย์ อีกเที่ยวหนึ่งขึ้นปาจิตตีย์-สิกฺขิตฺตพฺพํ ก็เอวัง จึงได้เป็นพระวัดบวรฯ ในพรรษานั้นเอง หินก้อนที่ ๑ หลุดไป

๒. เรื่องซ้อมสวดมนต์นี้หนัก เพราะมีมากสูตรนี้อย่างหนึ่ง และมีกรรมการชื่อพระมหาผ่อน แต่ไม่มีอะไรผ่อนสมชื่อเลย กรรมการร่วม ๒ องค์ คือ พระครูปริตรฯ พระครูวินัยธร ซึ่ง ๒ พระครูนี้ท่านคงถ่อมตัวว่าไม่ได้เป็น "ท่านมหา" เมื่อฟังซ้อมท่านจึงถามว่า "ท่านมหาว่าไง ได้ไหม" ซึ่งท่านมหาก็ตอบเสียงเครียดบ่อย ๆ ว่า "จะไปได้เด้ยอะไร สวดไม่เข้าท่า" ซึ่งผู้ถูกซ้อมก็น่าเบ้ไปตาม ๆ กัน   แม้ นโม ตสฺสฯ ท่านมหาผ่อนก็เคยกักไว้ถึง ๓ คืนจึงจะให้ ทั้งๆ ที่ผู้รับซ้อมนั้นเป็นเปรียญ ๕ ประโยคก็มี เป็นเปรียญ ๓ ประโยคก็มี จึงเกิดจะมีคอรัปชั่นคือหาปิ่นโตเถาใหญ่ๆ นิมนต์ท่านมหาผ่อนมาฉันตอนเพลบ่อยๆ เพื่อให้มีการผ่อนให้สมชื่อสักหน่อยก็ยังดี แต่ไม่ได้ผล เพราะท่านรู้จักเฉพาะตอนในกาล ตอนวิกาลแล้วไม่รู้จัก พระมหาสุดใจผู้ดำเนินการก็อ่อนใจ มิได้มุ่งหมายอะไรมากเพียงเพื่อให้ผ่อนลงบ้างเท่านั้นเอง ท่านมหาผ่อนนี้น่าจะมีวิญญาณเป็น ปปป. ยอดเยี่ยม   ในที่สุดเรื่องหนักคือซ้อมสวดมนต์ก็เอวัง พร้อมกับพระบวชที่วัดบวรฯ องค์หนึ่ง (กติกาพระบวชที่วัดบวรฯ เขาจะซ้อมพรรษาที่ ๒ ไม่เหมือนมาจากที่อื่นเขาจะซ้อมปีแรก) หินก้อนที่ ๒ หลุดไป

๓. เรื่องสอบนักธรรมเอก แม้จะหนักในความรู้สึกว่ายากในสมัยนั้น แต่ไม่มีเกณฑ์อะไร เห็นผู้สอบตกจนคางเหลืองก็ไม่มีกฏของวัดว่าอย่างไร แต่พอดีสอบได้ในปลายปี ๒๔๗๔ นั้นเอง โดยสำนักเรียนวัดบวรฯ ส่งเข้าสอบ ๓ โหล (๓๖) องค์ ได้ ๓ อย่าไปถามว่าใครได้คะแนนสูงสุด หรือที่ ๑ ในจำนวนนั้น เอาแต่เพียงว่า เอวังไปอีกอย่างหนึ่ง หินก้อนที่ ๓ หลุดไปอีก

ถ้าเราเพียงแค่นี้ก็ดูจะเป็นการกลิ้งหินที่หนักให้หลุดจากตัวไปได้ง่าย ความจริงความสามารถเท่าที่มีจำต้องใช้เกือบเต็มอัตรา คือ เมื่อทำวัตรเช้า กลับ ๐๘.๓๐ น.เศษ เข้าห้องปิดประตูกางหนังสือปาฏิโมกข์บนเตียงนั่งกับพื้น ก้มหน้า ลืมตาท่อง โดยอธิษฐานว่า ไม่ได้ยิน "เภรีบริโภค" จะไม่ลุกจากเตียงไปฉันเพล ส่วนตอนบ่ายท่องสวดมนต์เพื่อไปซ้อมในตอนเย็น ซึ่งไม่ค่อยได้เคร่งจริงจังนัก โดยทราบว่ากรรมการท่านหนึ่งชื่อว่า "มหาผ่อน" คงจะผ่อนให้สมชื่อ แต่ที่ไหนได้ ท่านกลับเป็นท่านมหา "ไม่ผ่อน" เท่าขี้เล็บ ซ้อมกันเป็นหมู่ (ประมาณ ๑๕ องค์) ใครทำท่าตีกินโดยทำปากขมุบขมิบ ท่านมหา "ไม่ผ่อน" จะสั่งให้ออกจากแถวไปนั่งหินอ่อน (พื้นพระอุโบสถเป็นหินอ่อน-เย็น-ตรงที่ไม่ปูพรม) เป็นการลงโทษ และใครถูกเช่นนี้บ่อยๆ ก็เป็นเหตุให้ได้ยากต่อไป เพราะถูกท่านมหาผ่อนมองหน้ามองปากมากขึ้น ซึ่งบางท่านก็น่าขบขัน บางทีก็น่าขันแตก แต่ไม่มีอะไรดีไปกว่าขันติ -
เมื่อเจอกรรมการซ้อมสวดมนต์ ไม่ผ่อนสมชื่อ และมีกรรมการอีก ๒ องค์ "สมยอม" เรื่อยๆ จึงจำต้องกางหนังสือสวดมนต์บนเตียงนั่งกับพื้น ท่องชนิดหูดับตับแทบพังอีกระยะหนึ่ง จนจบไปตามแบบพระมหาชนกว่า "เราเป็นลูกผู้ชายต้องพยายามร่ำไป จนกว่าประโยชน์จะสำเร็จ" โดยไม่มีเทพธิดาชาวทะเลช่วยเหมือนพระมหาชนก หรือไม่มีเทพธิดาชาวเขาช่วยเหมือนพระสุวรรณสาม หรือแม้พระบรมศาสดาก็มีเทพธิดาชาวดินชื่อ "สุนทรีวนิดา" ขึ้นมาปิดน้ำในมวยผมช่วย หรือมีใครช่วยอยู่ก็ไม่รู้ หรือโดยอนาถาโดยแท้ ในที่สุดก็จบซ้อมสวดมนต์ ดูจะจบเร็ว เพราะท่านมหา "ไม่ผ่อน" นั้นแหละ -  แต่ต้องนั่งสมาธิแบบนั้นนานๆ อะไรเกิดขึ้น "เหน็บชา-ขาเป๋" เคยลงบันไดด่วน ๗ ขั้นเป็นขั้นเดียวไปครั้งหนึ่ง แต่ก็คุ้มกลิ้งหินหนักๆ ทิ้งไปได้

คิดทบทวนในการขึ้นเฝ้าสมเด็จเจ้าอาวาส และได้ฟังรับสั่งเด็ดขาดต่างๆ และดังๆ ฟังชัดนั้น ก่อให้เกิดความคิดมากมายออกไปอย่างไพศาล ยิ่งคิดก็ยิ่งหลง พระแบบนี้ไม่เคยพบเห็นมาแต่ก่อน จึงได้ตั้งความสังเกตต่อมาโดยลำดับ "ความตรงไป-ตรงมา" ที่ได้ขึ้นเฝ้าเพียงชั่วคราวนั้น. ซึ่งถือว่าเป็นปฐมนิเทศ คือชี้แจงเบื้องต้น และถลุง คือเหมือนหลอมแร่แล้วคัดเอาแต่เนื้อ ย่อมได้ความเข้าใจและขจัดขี้ไคลออกไป เพื่อจะได้ทรงรับเป็นพระวัดบวรฯ


ขอขอบคุณที่มา (เรื่อง/ภาพ) : f.เรื่องเล่า วัดบวรฯ