[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 02 สิงหาคม 2563 20:40:49



หัวข้อ: พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๒๔ กัจฉปชาดก : เต่าตายเพราะปาก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 02 สิงหาคม 2563 20:40:49

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/13576513404647__500_320x200_.jpg)
พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๒๔ กัจฉปชาดก
เต่าตายเพราะปาก

          เมื่อสมัยพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี  พระองค์ทรงมีอำมาตย์เป็นบัณฑิตคนหนึ่งซึ่งคอยแนะนำพร่ำสอนวิชาการความรู้และธรรมะต่างๆ แก่พระองค์เป็นประจำ
          พระเจ้าพรหมทัตนั้น ถึงแม้พระองค์จะทรงทศพิธราชธรรม แต่ก็ทรงมีพระราชนิสัยไม่ดีอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือ พระองค์ทรงชอบพูดมาก ถ้าลงว่าได้ตรัสสนทนากับใครๆ แล้ว คู่สนทนาจะไม่มีโอกาสได้พูดเลยหรือพูดได้น้อยมาก
          อำมาตย์ผู้เป็นบัณฑิตคิดหาทางจะแก้ไขพระราชาไม่ให้ทรงพูดมาก แต่ให้ทรงพูดแต่พอประมาณ แต่ก็ไม่อาจหาได้สักวิธีการเดียว
          จนกระทั่งวันหนึ่งได้มีเต่าแก่ตัวหนึ่งอาศัยอยู่ในสระน้ำซึ่งอยู่ในป่าหิมพานต์ เต่าตัวนั้นได้ผูกมิตรกับลูกนกหงส์ ๒ ตัว ที่บินมาเที่ยวหากินอยู่ข้างสระอยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ
สัตว์ทั้งสามคบหาสมาคมกัน จนไว้เนื้อเชื่อใจกันเป็นอย่างดี
          วันหนึ่งลูกหงส์ ๒ ตัว ชวนเต่าไปเที่ยวบ้านของตนซึ่งอยู่ในถ้ำทองของภูเขาจิตตกูฏ โดยพรรณนาถึงความสวยงามต่างๆ นานา
          เต่าฟังแล้วก็หัวเราะ แล้วกล่าวขึ้น
           “ถึงข้าอยากจะไป มันก็ไปไม่ได้อยู่ดี”
          ลูกนกหงส์สองตัวจึงอาสาจะพาไปเอง โดยจะให้เต่าเอาปากคาบไม้ตรงกลางไว้ให้แน่น ส่วนพวกตนจะคาบปลายไม้ไว้คนละข้าง ทั้งนี้เต่าจะต้องไม่อ้าปากพูดอย่างเด็ดขาดไม่ว่าจะพบเห็นอะไร
          เต่ารับปากเป็นดิบดี แต่พอผ่านเข้าไปในตัวเมืองเข้าสู่เขตพระราชฐาน พวกชาวเมืองเห็นนกหงส์พาเต่ามาทางอากาศอย่างนั้นก็พากันตื่นเต้นชวนกันออกมาดู พวกเด็กเล็กเด็กน้อยวิ่งตามกันเกรียวส่งเสียงตะโกนว่า
           “โน่นเต่าเหาะได้ เต่าเหาะได้  หงส์ ๒ ตัวพาเต่าเหาะมา พวกเราออกมาดูกันเร็วเข้า”
เต่าได้ยินเสียงเช่นนั้นก็รู้สึกไม่พอใจ คิดขึ้นว่า
           “เพื่อนเราจะพาเราไปเที่ยวบ้านเขา ทำไมเด็กๆ พวกนี้จึงต้องออกมาป่าวประกาศให้ใครๆ รู้ มันเกี่ยวอะไรกับเด็กๆ พวกนี้”
          ด้วยความอึดอัดไม่พอใจ มันจึงตะโกนออกมาว่า “ข้าจะเหาะไปไหน มันกี่ยวอะไรกับพวกเจ้าด้วยโว้ย”
          พอสิ้นคำ ปากเต่าก็หลุดจากไม้ที่คาบไว้ร่วงลงไปสู่พื้นดินภายในพระราชวัง กระดองเต่ากระแทกเข้ากับพื้นอย่างรุนแรงจนแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย
          ลูกนกหงส์สองตัวตกใจมาก ได้รีบโผบินลงไปช่วยแต่ก็สายไปเสียแล้ว เพราะเต่าได้เสียชีวิตลงเสียแล้วนั่นเอง พวกชาววังต่างแห่กันไปดู แม้พระเจ้าพรหมทัตก็เสด็จไปดูเช่นกัน พอทอดพระเนตรเห็นเต่าตาย ก็ทรงสงสัยว่ามันตกลงมาตายได้อย่างไร จึงตรัสถามอำมาตย์ผู้เป็นบัณฑิตว่า เรื่องราวนี้มีความเป็นไปเป็นมาอย่างไร
          อำมาตย์ฟังพระราชาแล้วก็เห็นเป็นโอกาสทองที่จะได้อุบายสอนพระราชา จึงเข้าไปใกล้ๆ เห็นร่างเละแตกละเอียด เห็นไม้ที่ใช้คาบหล่นอยู่ใกล้ๆ เห็นลูกนกหงส์บินร่อนไปมาอยู่บนอากาศ ก็เข้าใจอะไรเป็นอะไร จากนั้นก็สอบถามชาวบ้านผู้เห็นเหตุการณ์จนรู้ความจริงทั้งหมด จึงกราบทูลว่า
           “ขอเดชะใต้ฝ่าพระบาท! เรื่องราวคงมีว่า ลูกนกหงส์สองตัวให้เต่าคาบไม้ไว้ตางกลาง แล้วพวกมันคาบปลายไม้ไว้ตัวละข้าง พาบินไปในอากาศ มันพบเห็นได้ยินอะไรก็อยากจะพูด พออ้าปากพูดก็หลุดจากไม้แล้วร่วงหล่นลงมาตาย นี่คือผลของการพูดมาก
          ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท! บัณฑิตเห็นเหตุการณ์นี้แล้ว ควรเปล่งแต่วาจาที่ดี ไม่ควรพูดมากจนล่วงเวลาอันสมควร เต่าต้องประสบกับหายนะก็เพราะพูดมากนั้นเอง พระเจ้าข้า”
          พระเจ้าพรหมทัตทรงสดับแล้วก็ทรงทราบความนัยว่าอำมาตย์กำลังกล่าวสอน พระองค์จึงตรัสขึ้น
           “นี่ท่านกำลังสอนเราไม่ให้พูดมากใช่ไหม”
          อำมาตย์เกรงว่าพระราชาจะเสียหน้า จึงกราบทูลว่า ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พระอาญาไม่พ้นเกล้า ไม่ว่าพระองค์หรือจะเป็นใครก็ตาม ถ้าพูดมากเกินไปก็ย่อมจะถึงความพินาศทั้งนั้นแหละ พระเจ้าข้า”
          นับแต่นั้นมาพระเจ้าพรหมทัตก็ตรัสรน้อยลงตามลำดับ บางวันถึงกับไม่ตรัสอะไรออกมาเลยก็มี

 
ธรรมนิทานชาดกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“ปลาหมอตายเพราะปาก”

พุทธศาสนสุภาษิตประจำเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
มุตฺวา ตปฺปติ ปาปิกํ
คนเปล่งวาจาชั่ว ย่อมเดือดร้อน (๒๗/๒๘)

(https://lh3.googleusercontent.com/proxy/0xNUnL2883zBblZvQwtRxLcKGXIRCOJS8AKZXRuzCa6pSjC2DgsNbYzqv8_fgZ75tEA_vo1LdOQRT9VRabHIbn_MHuP_E4oN)
 ขอขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ ธรรมะไทยดอทคอม

คัดจาก : หนังสือ พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ ฉบับสมบูรณ์ / จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดย สถาบันบันลือธรรม