[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 21 กันยายน 2563 19:32:36



หัวข้อ: คามวาสี - อรัญวาสี มีมาแต่กรุงสุโขทัย
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 21 กันยายน 2563 19:32:36

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/48801360113753_119744732_10224166809266238_46.jpg)

คามวาสี - อรัญวาสี มีมาแต่กรุงสุโขทัย

คามวาสี เป็นชื่อเรียกสายคณะสงฆ์ที่อยู่ในเมือง เนื่องจากมีการแบ่งการปกครองสงฆ์ ซึ่งเริ่มใช้เป็นหลักในการปกครองคณะสงฆ์ครั้งแรกในสมัยสุโขทัย มีหลักฐานปรากฏในหนังสือพงศาวดารเหนือ ตอนหนึ่งว่า “ครั้งพระนครสุโขทัย เป็นราชธานีนั้น จัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์เป็นฝ่ายขวา ๑ ฝ่ายซ้าย ๑”

ความข้อนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ในหนังสือทำเนียบสมณศักดิ์ว่า “ทำเนียบคณะสงฆ์ที่ปราฏในหนังสือพงศาวดารเหนือดังนี้  อาจเป็นการซึ่งจัดขึ้นในครั้งพระมหาธรรมราชา (ลิไท) ถ้าจริงดังนั้น เห็นได้ว่าในชั้นหลังลงมา วิธีการปกครองคณะสงฆ์ครั้งสุโขทัยแปลกกว่าเดิม ๒ อย่าง คือแยกการปกครองออกเป็น ๒ คณะอย่างหนึ่ง เกิดประเพณีมีราชทินนามที่พระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งสังฆนายกขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ทั้งสองอย่างนี้เป็นต้นเค้าของลักษณะปกครองคณะสงฆ์ซึ่งมีสืบมาในประเทศไทยจนตราบเท่าทุกวันนี้”

จากการที่ยุคกรุงสุโขทัยรับพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทหรือหินยานจากลังกามาถือปฏิบัติกัน ปรากฏว่าในยุคนั้น แบ่งพระออกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายคามวาสีอยู่วัดใกล้หมู่บ้านฝ่ายหนึ่ง และฝ่ายอรัญวาสีอยู่วัดป่าฝ่ายหนึ่ง

คามวาสีเป็นฝ่ายเล่าเรียนคันถธุระ อันได้แก่ การเล่าเรียนพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เรียกว่า "พระไตรปิฎก” คือ พระวินัย เรียก วินัยปิฎก  พระสูตร เรียก สุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมเรียก อภิธรรมปิฎก  การเล่าเรียนพระไตรปิฎกนี้ เรียกว่า “ปริยัติ” หรือ “ปริยัติธรรม”  พระสงฆ์ฝ่ายคามวาสีจะต้องเล่าเรียนพระปริยธรรมจนจำได้ เทศน์ได้ และสอนได้

อรัญวาสี เป็นฝ่ายเล่าเรียนวิปัสสนาธุระ มีกิจวัตรประจำวันเน้นหนักไปในทางวิปัสสนาธุระ คืออบรมจิต เจริญปัญญา นุ่งห่มด้วยผ้าสีปอนหรือสีกรัก มุ่งการปฏิบัติธรรมและการเผยแผ่เป็นหลัก ไม่เน้นงานด้านการบริหารปกครอง การศึกษาพระปริยัติธรรม และสาธารณูปการหรือการก่อสร้างพัฒนาวัด

การปกครองคณะสงฆ์ในครั้งกรุงสุโขทัย กำหนดไว้ว่า ในหัวเมืองใหญ่มีพระสังฆราชาปกครองทุกเมือง ในเมืองเล็กมีพระครูปกครอง และปกครองเฉพาะในเมืองนั้นๆ  แต่ในราชธานีกำหนดไว้ว่า คณะคามวาสีมีพระพุทธโฆษาจารย์เป็นเจ้าคณะใหญ่  คณะอรัญวาสีมีพระวันรัตเป็นเจ้าคณะใหญ่ และเป็นอยู่ดังนี้ตลอดยุคสุโขทัย

ในหนังสือ ตำนานพระอารามหลวงและทำเนียบสมณศักดิ์ ตอนหนึ่งว่า มูลเหตุที่แบ่งพระสงฆ์เป็นฝ่ายขวาฝ่ายซ้ายครั้งสุโขทัยนั้น น่าจะเป็นด้วยเรื่องมีพระสงฆ์ต่างนิกายกันเกิดขึ้น กล่าวคือในประเทศไทยนี้ มีพระสงฆ์อยู่แล้วแต่เดิมจำพวกหนึ่ง และมีพระสงฆ์ที่ออกไปบวชแปลงที่เมืองลังการับลัทธิลังกาวงศ์เข้ามาอุปสมบทแพร่หลายขึ้นอีกพวกหนึ่ง พวกพระสงฆ์ลังกาที่เข้ามาในครั้งนั้นคงจะเป็นพวกอรัญวาสีซึ่งนิยมอยู่ในที่เงียบสงัด ไม่ชอบที่จะมาอยู่ในบ้านเมืองอย่างพระสงฆ์นิกายเดิม จึงปรากฏในศิลาจารึกว่า พระเจ้าแผ่นดินซึ่งครองกรุงสุโขทัยทรงจัดให้พระมหาสวามีสังฆราชที่มาจากลังกาได้พำนักอยู่ ณ อรัญญิกประเทศ คือ อัมพวนาราม หรือวัดสวนมะม่วง ตั้งอยู่นอกพระนคร   พระภิกษุสงฆ์ผู้เล่าเรียนคันถธุระซึ่งอยู่ตามวัดในบ้านเมือง คงจะเป็นพระสงฆ์นิกายเดิมเสียเป็นส่วนมาก  ส่วนคณะอรัญวาสีหรือพระสงฆ์ที่นิยมอยู่ตามป่าตามเขาอันเป็นที่เงียบสงัดเป็นปกติ คือพระสงฆ์ซึ่งเล่าเรียนวิปัสสนาธุระ

ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา การปกครองคณะสงฆ์ได้แบ่งออกเป็นฝ่ายขวาฝ่ายซ้าย ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ได้แบ่งการปกครองคณะสงฆ์ออกเป็นฝ่ายขวาฝ่ายซ้าย คือ คามวาสีฝ่ายซ้ายให้สมเด็จพระอริยวงศาญาณปกครอง  สมเด็จพระวันรัตสังฆราชคามวาสีเดิมนั้นปกครองคณะปักษ์ใต้ฝ่ายขวา คามวาสีจึงแบ่งออกเป็นสองคณะตั้งแต่นั้นมา

โดยนัยนี้ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงแบ่งการปกครองคณะสงฆ์ ดังนี้
๑. คณะคามวาสีฝ่ายขวา มี สมเด็จพระวันรัต เป็นเจ้าคณะใหญ่ มี ธรรมโคดม เป็นผู้ช่วย
๒. คณะคามวาสีฝ่ายซ้าย มี สมเด็จพระอริยวงศาญาณ เป็นเจ้าคณะใหญ่ มี สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ และพระพิมลธรรม เป็นผู้ช่วย
๓. คณะอรัญวาสี มีพระพุฒาจารย์ เป็นเจ้าคณะใหญ่  มี พระญาณไตรโลก เป็นผู้ช่วย และเป็นเจ้าคณะฝ่ายสมถะและวิปัสสนา คณะลาว คณะรามัญ ทั้งปวงด้วย

เมื่อถึงกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น การปกครองคณะสงฆ์ก็ดำเนินตามมาอย่างในสมัยอยุธยา  พอถึงในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้รวมพระอารามหลวงและวัดราษฎร์ในกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งเข้าเป็นอีกคณะหนึ่งต่างหาก เรียกว่า คณะกลาง ในสมัยนี้จึงมีคณะสงฆ์ทั้งหมด ๔ คณะ คือ คณะเหนือ คณะใต้ คณะกลาง และคณะอรัญวาสี   เมื่อแยกปกครองออกเป็น ๔ คณะแล้ว  คำว่า “คามวาสี” ในการปกครองคณะสงฆ์ก็ได้หมดความหมายลงเพียงแค่นั้น  ต่อมาคำว่า “อรัญวาสี” ก็ได้หมดความหมายลงอีก เมื่อได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.๑๒๑ คณะอื่นๆ ที่เหลือได้หมดความหมายในการปกครองคณะสงฆ์ตั้งแต่ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๔๘๔

ปัจจุบันนี้ คำว่า “คามวาสี” และ “อรัญวาสี” คงมีปรากฏเป็นสร้อยชื่อพระราชาคณะตั้งแต่ชั้นราชขึ้นไปถึงชั้นรองสมเด็จพระราชาคณะ สำหรับชั้นสมเด็จพระราชาคณะทุกคณะ ยกเว้นคณะอรัญวาสีและคณะธรรมยุติกนิกายมีสร้อยชื่อว่า คามวาสี อรัญวาสีต่อสร้อยทุกองค์ 


ที่มา : - คามวาสี สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, ๒๕๔๒
        - th.wikipedia.org